ปัญญาหิ่งห้อย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ. ราชบุรี
ประพฤติปฏิบัติ ตั้งใจฟังธรรม ธรรมนี้เป็นของสำคัญมาก ของสำคัญจริงๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำคัญว่า ศาสนาพุทธสำคัญที่ศาสนธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมจนใจนั้นพ้นไปนะ พ้นจากกิเลสออกไป พ้นจากกิเลสออกไปแล้วถึงได้เป็นความสุขในใจนั้นโดยที่ไม่มีทุกข์แม้แต่เม็ดหินเม็ดทรายเข้าไปเจือปนในใจดวงนั้นเลย นี่พระพุทธ พระธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม แค่มีดวงตาเห็นธรรมพระพุทธเจ้ายังเปล่งอุทานเลย อัญญาโกญฑัญญะรู้แล้วหนอ ขณะแค่เห็นธรรมยังแทงไม่ทะลุตลอดธรรมทั้งหมด เพราะว่าไม่มีใครจะพฤติปฏิบัติไง ตอนที่สำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า ใครหนอจะรู้ธรรมอันนี้ได้ มันลึกซึ้งขนาดนั้น ถึงว่าสำคัญ ธรรมนี้สำคัญมาก แล้วไม่คิดว่าจะสอนใครได้เลย เพราะว่ามันละเอียดอ่อนมาก มันมีสัตว์โลกจะมีสติสัมปชัญญะขนาดนั้นหรือ จะเข้าไปรื้อธรรมอันนี้ได้ จนทอดอาลัยแล้วออกมาเทศน์โปรด ออกมาเทศน์ธัมมจักฯ จนพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมถึงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอัญญาโกณฑัญญะเห็นธรรมยังไม่ได้แทงตลอดถึงธรรม พระพุทธเจ้าเปล่งอุทานเลย ถึงว่ามันเข้ายากที่ว่า แทบจะคิดว่าใครเข้าไม่ได้ แต่พระอัญญาโกณฑัญญะเข้าเป็นองค์แรกไง เห็นธรรมเป็นองค์แรก เป็นสงฆ์องค์แรกของในโลกนี้ ในโลกคือว่าในปัจจุบันนี้ไง เข้าถึงธรรมกับเห็นธรรม พระพุทธเจ้าถึงเปล่งอุทานเลย เปล่งอุทานออกมาเลยนะ อ้อ! เห็นแล้วหนอ คือว่าธัมมจักฯ ประกาศแล้วไปได้ผลไง ได้ผลแล้ว คิดว่าจะไม่มีใครรู้
ผู้ที่สร้างบุญญาธิการมา ถึงว่าก็เป็นไปได้ รู้ธรรมอันนี้ ธรรมอันนี้ถึงว่าประเสริฐมาก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถชำระกิเลส กิเลสนี้คือความเคยใจ แต่จริงๆ แล้วสามารถชำระความทุกข์ได้จริง ความทุกข์ในหัวใจชำระได้จริงด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น มันถึงว่าธรรมนี้ถึงเข้าได้ยาก การเข้าได้ยาก เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรม
งานทางโลกใช้แรงงานขนาดไหนเท่าไรก็แล้วแต่ แรงงานใช้ออกไปมันกลับทำง่าย เพราะมันจับต้องได้เป็นวัตถุ ถึงงานการบริหารก็งานใช้สมอง การใช้สมองนั้นมันก็เป็นโลก เพราะการใช้สมองนั้นเป็นทฤษฎี เป็นกฎเป็นระเบียบ เป็นการบริหารออกไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันเป็นกฎเป็นระเบียบอยู่แล้ว เพียงแต่รอจังหวะที่จะบริหารให้มันเป็นไป สิ่งที่ควบคุมให้มันเป็นไปมันเป็นระบบระเบียบ มันเป็นระบบมาอยู่แล้ว
แต่การเข้าทางธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมมันไม่ใช้ร่างกาย ไม่ใช้สมองไง มันใช้ความสงบ ถ้าแรงงานสมองนี่ก็เป็นแรงงานทำให้ใจนี้สงบเข้ามาก่อน มันต้องทำใจให้สงบเข้ามาก่อน แล้วถึงจินตมยปัญญา มันเป็นจินตนาการก็จริงอยู่ หมายถึงว่า มันไม่เป็นระบบ เพราะเป็นระบบไม่ได้ เพราะเป็นระบบนี่มันเป็นสิ่งที่สำเร็จรูป สิ่งที่เป็นสำเร็จรูปมันเข้าไป เพราะหัวใจมันรู้ทันอยู่แล้วเพราะเราศึกษามา ใครจะศึกษาเล่าเรียนกฎทฤษฎีใดๆ มาก็แล้วแต่ กิเลสมันก็อาศัยสิ่งนั้นว่ามันรู้ไปด้วย สิ่งที่เรารู้ทั้งหมดกิเลสรู้ด้วย ฉะนั้นถึงว่า ปัญญาในระบบสมองถึงชำระกิเลสเราไม่ได้ไง
การทำงานทางโลก ทำเข้าไปเท่าไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นว่ากิเลสพาทำด้วย กิเลสอยู่ในการกระทำของเราทั้งหมดเลย นี่คือทำงานทางโลก ทำงานทางธรรมมันเป็นทำงานทางใจ ใจไม่ใช่สมองเหรอ สมองมันเครื่องผ่านของใจออกไป เช่น เรากินข้าว เรากินอาหาร อาหารนั้นกับลิ้น ลิ้นรู้รสอาหารนั้นต่างหาก อาหารนั้นไม่ใช่ลิ้น ลิ้นนั้นไม่ใช่อาหาร แต่ก็รู้รสเข้าไป แล้วถ้าลิ้นเปล่าๆ มันรู้รสได้ไหม รสของน้ำลายที่ออกมามันรู้ได้ไหม รสของน้ำลาย? มันต้องอาศัยรสของอาหาร รสของสิ่งที่มันชอบใจเข้าไปกระทบลิ้น รสเกิดขึ้น ความผูกพันเกิดขึ้น
ความคิดก็เหมือนกัน สัญญาเดิมของเรามีอยู่ แล้วเราศึกษาเข้ามา กิเลสคือความเคยใจมันดัดแปลงความคิดอันนั้น ความที่เราศึกษาเข้ามา การที่เราศึกษาเรื่องวิชาการต่างๆ เข้ามามันกระทบกับใจ มันมีอารมณ์ทางโลก กระทบกับใจ มันมีความรู้สึกออกไป ยิ่งคิดเท่าไรมันก็คิดเรื่องโลกียะ มันเป็นอย่างนั้น เหมือนลิ้นกับอาหารกระทบกัน
นี่ก็เหมือนกัน เราเหมือนกับอารมณ์ความรู้สึก ทฤษฎีการจดจำมามันกระทบกับใจ นี่มันถึงว่าเป็นโลก เป็นโลกอยู่อย่างนั้น เป็นโลกเข้ามามันก็หักเข้ามา งานของใจมันเป็นความเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ผู้ที่ปฏิบัติมันจะเข้าใจตรงนี้ ผู้ที่เคยเจริญแล้วเสื่อม สิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สวดมนต์เช้าสวดมนต์เย็นจะมี สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพทั้งหมด ใจกับอาหาร ใจกับรสที่สัมผัสกันมันก็ต้องแปรสภาพ สิ่งทุกอย่างมันแปรสภาพโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มันแปรสภาพ มันเป็นอนิจจังของมัน แต่มันไม่ให้ประโยชน์อะไรกับเราเลย มันให้แต่ความทุกข์เรามาตลอด
เราก็เห็นอยู่ อาหารเข้าไปกระทบลิ้นแล้วอยู่ในปาก เคี้ยวแล้วต้องกลืนลงไป อารมณ์ที่เกิดขึ้นมันต้องแปรสภาพไปตลอด ความทุกข์ ความเจริญ ปฏิบัติธรรมจนเจริญขึ้นมา จิตนี้เป็นสมาธิก้าวเดินทางปัญญาไปมันก็เสื่อมได้ เพราะมันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันเสื่อม เสื่อมแต่ไม่ให้คุณค่า เสื่อมให้แต่ความทุกข์ เพราะเราเดินตามมันไป มันเป็นอดีต อนาคต มันไม่เป็นปัจจุบันธรรม ความก้าวเดินไปของปัญญาอันนี้ มันเจริญขึ้นแล้วมันก็ต้องเสื่อมลง มันเสื่อมไปเป็นไตรลักษณ์ในเนื้อหาสาระของมัน
แต่มันไม่เห็นไตรลักษณ์ในปัญญาของเรา ปัญญาของเราไม่สามารถเห็นพระไตรลักษณะ พระไตรลักษณ์มีเป็นอนัตตา ความแปรสภาพไปอันนั้นมันเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่เราไม่เห็นตามความเป็นจริง เราเห็นตามเขาไป นี่มันเจริญแล้วเสื่อม มันธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันเจริญขึ้นมาแล้วต้องเสื่อมไป
การปฏิบัติสมาธิก็แล้วแต่ จิตที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแล้วต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นสิ่งที่เรารักษาไว้ได้ยาก ถึงว่า การประพฤติปฏิบัติเพื่อทำความสงบมันต้องอาศัยวสี การชำนาญในการเข้าออก วสีคือการเข้าการออก มันถึงจะทรงรักษาไว้ได้ ความชำนาญงานอันนั้น ความชำนาญในการรักษา ความให้มันคงที่ แต่มันก็แปรสภาพวันยังค่ำ แต่ก็ยังดี เรารู้เหตุใช่ไหม การรักษาเหตุไว้เพื่อให้ผลมันดีไว้ตลอด สำคัญที่รักษาเหตุ การเข้าและการออก
การรักษาใจ เพื่อมันเสื่อมขึ้นมา มันก็มีเหตุเกิดขึ้นมา ให้เจริญขึ้นมาได้
น้ำต้ม เราต้มน้ำในกาน้ำ ต้มแล้วพอมันยกออกมาจากเตา มันก็ต้องอุณหภูมิต้องลดลงมาจนเป็นน้ำเย็นธรรมดา นี่ก็เหมือนกัน ใจก็เหมือนกัน ถ้าใช้ตบะธรรมแผดเผาอยู่ตลอดเวลาให้มันเดือดอยู่ ให้น้ำเดือดอยู่ตลอดเวลา ถึงว่า การปฏิบัติธรรมถึงต้องมีสติสัมปชัญญะพร้อมทุกอิริยาบถ รักษาใจของตน การรักษาใจรักษายากที่สุด การจะทำให้เจริญขึ้นมามันก็ยากอยู่แล้ว แล้วมันยังเสื่อมไปต่อหน้าต่อตา ผู้ที่ปฏิบัติจะเห็นการเจริญขึ้นมาแล้วเสื่อมไป เห็นเป็นความทุกข์ นี่ก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง
การประพฤติปฏิบัติเพื่อจะเข้ามาในทางธรรม เขาก็บอก มันก็เป็นคนที่ทางโลกเขาเห็นเป็นคนต่ำต้อยอยู่แล้ว นี่มันก็มีความน้อยอกน้อยใจ มีความมุมาพยายามทำขึ้นมาแล้วมันก็เสื่อมไปต่อหน้า ความเจริญแล้วเสื่อมเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติของมัน ความจริงมันก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าเราวิปัสสนาหรือเราเห็นให้มันมีคุณค่ากับเรา ถ้าเราเห็นไตรลักษณะที่ว่าเราพิจารณาเข้าไป พิจารณาเข้าไป มันปล่อย มันปล่อยวาง ปล่อยวาง ความปล่อยวางนั้นมันก็เป็นการยืนยันกับใจให้มีความมุมา ความมีใจที่มีมุมาอันนี้มันจะเห็นคุณค่า ความเห็นคุณค่ามันก็มีแก่ใจจะประพฤติปฏิบัติจะทำขึ้นไป
เราไม่เคยคิดเลยว่าความมืดอยู่ในรัตติกาลมันมืดสนิทอยู่อย่างนี้ มันมีแสงหิ่งห้อยเข้ามา แสงสว่างในรัตติกาล แสงของหิ่งห้อย แสงของปัญญาเราเข้าไปเปิดความมืดบอดของใจ ใจนี้มืดบอดมืดมนอนธการ ไม่เคยมีอะไรเลย พอมีแสงหิ่งห้อยเข้ามา มันมีแสงสว่างแวบเข้ามาหน่อยหนึ่ง นั่นน่ะ ปัญญาเราได้ก้าวเดินไป มันเป็นปัญญาอย่างนั้น
มันถึงว่าปัญญาอย่างนั้น แสงหิ่งห้อยมันจะไปเป็นตะเกียง หรือจะไปเป็นดวงเจ้าพายุ หรือจะเป็นดวงอาทิตย์ให้โลกนี้สว่างได้อย่างไร กิเลสมันครอบใจไว้ทั้งหมด แสงหิ่งห้อยนั้นเพียงแต่ยืนยันให้เราพอใจ เราพอใจเราก็พยายามทำบ่อยๆ เข้าไป
ฝึกจนกว่าแสงหิ่งห้อยจะกลายเป็นแสงฟ้าแลบ มันสว่างวาบขึ้นไป ความสว่างวาบขึ้นไปจนปัญญามันเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้นโดยการภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น ดวงอาทิตย์ขึ้นมามันสว่างหมดเลย สว่างไปหมด เราจะเห็นไปหมดในความมืดอันนั้น สิ่งใดที่เป็นเหตุเป็นโทษเป็นภัย พวกมีดขวานวางไว้ เราจะไม่ไปเหยียบไปย่ำ สิ่งที่เป็นเชื้อโรคเราจะหลบหลีกได้
นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาถ้ามันแจ้งแทงตลอดขึ้นมาสว่างหมดไปเลย อันนั้นมันแจ้งอยู่กลางวันมันจะไปมืดได้อย่างไร สิ่งที่มันมืด มันปิดหูปิดตาอยู่ มันมืดอยู่ มันก็เปิดได้ มันก็ทำให้สว่างได้ด้วยใจของเรา แต่มันสว่างได้เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้นำไปก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นครูของเรา ทุกข์ยากมาขนาดไหน ทุกข์ยากมาเพื่อจะพ้นจากทุกข์ เราก็เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะพ้นจากทุกข์เหมือนกัน ทีนี้การประพฤติปฏิบัติมันถึงว่าทุกข์ เพราะว่าใจของเรามันเคยชินอยู่กับกิเลส มันถึงได้เจริญแล้วเสื่อมไป เจริญแล้วเสื่อมไป
ในสมัยพุทธกาลนะ พระเจริญแล้วเสื่อม ปฏิบัติธรรมเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม จนสุดท้ายทนไม่ไหว พอเจริญแล้วเสื่อมเอามีดโกน บริขาร ๘ มีมีดโกน เอามีดโกนเชือดคอตนเองเลย นี่ตายไปเพราะอะไร เพราะมันทนความทุกข์อันนี้ไม่ได้ มันทนความทุกข์สิ่งที่มีคุณค่าของเราแล้วหลุดมือจากเราไปถึง ๗ หน ๗ ครั้ง ในพระไตรปิฎกบอกว่าท่านก็สำเร็จไปเพราะว่าความเด็ดขาดอันนั้น ความเด็ดขาดที่ว่าทนไม่ได้แล้วเอามีดเชือดนั่นน่ะ ขณะที่มันเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาเดี๋ยวนั้น ดวงอาทิตย์ขึ้นเดี๋ยวนั้นแล้วขึ้นเลย เห็นหมดเลย แต่เห็นพร้อมดับชีวิตไปด้วย นั่นทุกข์ยากขนาดนั้นนะ การประพฤติปฏิบัติธรรมมันถึงก้าวเดินด้วยใจ ก้าวเดินไปออกไปด้วยใจ
เรามีความสูญเสียอะไร? เราไม่มีความสูญเสีย เราจะมีแต่ความได้มา ยิ่งประพฤติปฏิบัติเข้าไปมันจะเห็นในชีวิตของเรา ในชีวิตของคนอื่น ในการที่ว่าวันคืนล่วงไปล่วงไป เราเกิดมาชาติหนึ่งเราก็ว่าเกิดมาชาติหนึ่ง ชีวิตนี้เราก็ดำเนินไป แต่ความเกิดความตายของสัตว์สรรพสิ่งต่างๆ ทั่วสรรพางค์กายของเราเห็นหมดไหม การเกิดตายในภพชาติต่างๆ ของสัตว์ของอะไรนี่ เพราะสัตว์อายุสั้นกว่าเรา ดูการเกิดการตาย การดำรงชีวิตของเขาดูสิ เขาได้อะไรเป็นสาระกับชีวิตของเขา
นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาข้างนอกเข้ามา ชีวิตของเราเกิดมา ๒๔ ชั่วโมงก็เป็นแบบนี้ ความเจริญสุดๆ เราก็เห็นอยู่ ถึงเราจะไม่เห็นด้วยอย่างไร เราก็มีข่าวสารมาให้เรา ความเจริญไปอย่างนั้น แต่มันเอาอะไรมาให้บ้าง? เอาแต่ความทุกข์มาให้ตลอด เอาความทุกข์เพราะลิ้นกับอาหารไง ใจกับรูปกระทบกันไป แล้วมันเป็นครั้งโบราณกาล ความเจริญไปอย่างหนึ่ง ครั้งปัจจุบันนี้เป็นอีกอย่าง แต่หัวใจมันเกาะเกี่ยวไปได้หมด มันกว้านสิ่งนั้นเข้ามาเป็นความทุกข์ของเรา
การประพฤติปฏิบัติที่ว่ามันจะไม่ได้อะไรเลย มันกลับได้สาระแก่นสารที่ว่า การหมุนไปจากเอกัคคตารมณ์ จิตที่เป็นหนึ่งมันหมุนไป จิตนี้เป็นนักท่องเที่ยว การเกิดและการตายมาสับๆ เปลี่ยนๆ เวียนวนกันมาตลอดนี่มันทุกข์ขนาดไหน ถ้าเราอยู่กับที่ เวลาจิตเราเจริญขึ้นมาแล้วเสื่อมไปนี่มันน้อยเนื้อต่ำใจ มันไม่อยากจะก้าวเดินต่อไป มันทอดอาลัย การทอดอาลัยอันนั้นมันทำให้ทุกข์ มันเศร้ามันหมอง
การเศร้าหมอง เพราะมันอยู่ในขอบเขตของการทำสมาธิด้วย มันต้องเอาปัญญามาเทียบเคียงไง เทียบเคียงให้เห็นคุณ เห็นโทษ เห็นกาล เพราะว่ามันก้าวอยู่กับที่ มันเฉามันเอง เราต้องเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนกิริยา เปลี่ยนความคิดออกไปให้มันเป็นอารมณ์ใหม่ พออารมณ์ใหม่มันก็เป็นแบบว่ามันเป็นปัจจุบัน อารมณ์ใหม่มันทำให้คิดหมุนเวียนออกไป มันต้องก้าวเดินจากใจปัจจุบันนี้ให้มันหมุนออกไป หมุนออกไป ความหมุนออกไปวนออกไป
การจะช่วยเหลือคนจมน้ำ ไม่ใช่กระโดดลงไปกอดกับคนจมน้ำแล้วให้ดึงกันไป เวลาใจมันเศร้าหมองก็สุมกินแต่ความเศร้าหมองนั้น เวลามันเสื่อมก็อยู่กับความเสื่อมนั้น ความที่มันเสื่อมจากสิ่งที่มันเคยเป็นไป แล้วถอยหลังมา แล้วก็สุมอยู่ตรงนั้น เกาะกันจมน้ำไปไง เราเคยมีความสูญเสียอะไร ดูอย่างในสมัยพุทธกาล นางปฏาจารา นั่นน่ะมีครอบครัวไป จะหนีกลับมาทางบ้าน ๒ หน ๓ หน สุดท้ายก็กลับมา คืนนั้นเสียสามีไป โดนงูกัด ข้ามแม่น้ำเสียลูกไปอีก ๒ คน เสียลูกไป ๒ คน กลับมาจะมาหาพ่อแม่ พ่อแม่ก็โดนฟ้าผ่าตายไปคืนนั้น จนเสียสติไป
จากการดำรงชีวิตที่ว่าความเห็นผิด เพราะกรรมมันให้ผลไปก่อน จนเสียสติไป เขาสูญเสียขนาดไหน จนสุดท้ายไปเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ปฏาจารา เธอไม่อายเขาหรือ
เตือนสติขึ้นมา ถึงได้อายขึ้นมา เพราะเสียสติไปเลย อายขึ้นมาถึงได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ถึงได้ขอบวชเป็นนางภิกษุณี เป็นนางภิกษุณีแล้วประพฤติปฏิบัติ นี่พิจารณาเทียนไง พิจารณาเทียน เห็นความแปรสภาพ มันไหม้ไปไง มันไหม้ไป นี่ผู้มีปัญญา พอมันพิจารณาไป พิจารณาไป เพราะเป็นผู้รักษาเทียนอยู่ไปรักษาอยู่ในวิหาร เทียนนี้มันไหม้มันเผาตัวมันเอง
ชีวิตนี้ก็ต้องเผาตัวเอง การได้อายุขัยมาก็เท่าเผาบุญกุศลที่เราเกิดเป็นมนุษย์ไป ภพของมนุษย์ต้องดับไปเป็นธรรมดา เหมือนกับเทียนอันนั้น
นั่นน่ะ นางปฏาจาราเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย ความสูญเสียของเขา สูญเสียขนาดนั้นนะ ความสูญเสียของเขา แต่ความได้มา เวลาเขาได้มาล่ะ
ในสมัยพุทธกาลไม่ใช่ว่าใครมาก็จะชุบมือเปิบ การชุบมือเปิบมันก็มีไง การชุบมือเปิบ บุญบารมีของคนไม่เหมือนกัน
พาหิยะฟังเทศน์พระพุทธเจ้าครั้งเดียว ขณะพระพุทธเจ้าบิณฑบาตอยู่ ขอฟังเทศน์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังเป็นเวลาบิณฑบาตอยู่
พาหิยะบอกว่า คนเราชีวิตมันไม่แน่นอน ขอพระพุทธเจ้าพูดเถิด
พระพุทธเจ้าพูดบาทเดียว คือว่าพูดไปครั้งเดียวเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย แต่สุดท้ายไปหาบาตรไม่ได้ โดนควายขวิดจนเสียชีวิตไป นี่พาหิยะ
ทำไมมันง่ายดายอย่างนั้น เพราะตัวเองหลงมานะ หลงอยู่ เป็นพ่อค้าต่างเข้ามา แล้วเรือแตกเข้ามา เห็นคนเขานับถือขึ้นมาจากทะเล เขาว่าเป็นเทพเจ้า นึกว่าเป็นพระอรหันต์ไง จนเพื่อนนะ ในพระไตรปิฎกเขียนไว้ว่า มีอยู่ชาติหนึ่งเขา ๕ คนไปด้วยกัน ขึ้นไปบนยอดเขาหน้าผาตัดแล้วถีบบันไดทิ้งลงมา ปฏิญาณกันว่า ๕ คนนี้ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็ให้มันตายไป เขาทุ่มขนาดนั้นแล้วสำเร็จไปได้ ๒ องค์ สำเร็จแล้วไป แต่อีก ๓ องค์ตายอยู่บนนั้น นี่ทุ่มทั้งชีวิตไง แล้วเกิดตายเกิดตายไปจนมาเกิดเป็นพาหิยะนี่ แล้วพอมาหลงตัวเองอยู่ ผู้ที่เป็นพรหมอยู่หรือเพื่อนที่เคยมา ๕ องค์นั้นมาเตือน ถึงได้บอก
บัดนี้องค์สมเด็จพระพระพุทธเจ้าเกิดแล้วในโลก เธอไม่ใช่พระอรหันต์หรอก ให้ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงได้มาขอฟังธรรมอันนี้ นั่นน่ะ กว่ามันจะง่ายอย่างนั้น เพราะมันต้องมีภูมิหลังมา เราก็มีภูมิหลังมา ถ้าไม่มีภูมิหลังมานะ เราไม่ได้มาประพฤติปฏิบัติอย่างนี้หรอก
ศาสนาเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้ว บุพเพนิวาสานุสติญาณ การเกิดการตายมันซับๆๆ มาไม่มีที่สิ้นสุด บุญญาธิการของคนมันถึงไม่เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติมันก็เข้าทาง ถึงว่า มันจะเข้าทางไหนมันต้องเป็นปัจจุบันธรรมของบุคคลคนนั้น มันไม่เป็นการแบบทางโลกเป็นทฤษฎี เป็นสูตรสำเร็จอันนั้นเป็นไปไม่ได้
เราถึงว่าต้องทิ้งตรงนี้ให้ได้ไง ทิ้งสิ่งที่ว่าความคิดของเรานี่ทิ้งออกไป แล้วให้ความคิดที่มันเกิดขึ้นเป็นปัจจุบันไป แล้วเฝ้ามองอันนี้ไป เฝ้ามองด้วยสติ ด้วยความเห็น ปัญญาญาณ ปัญญาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีสติสัมปชัญญะพร้อมไง ถ้าปัญญามันหมุนไปไม่มีสติสัมปชัญญะ มันเป็นโลกียะ มันเป็นปัญญาอยู่เหมือนกัน แต่เป็นปัญญาด้วยระบบคิด ระบบคิดของสมองเคยจำมา อันนั้นมันหมุนไป
ปัญญาอันนี้มันเข้ามาขวางอยู่มันเป็นแสงหิ่งห้อย ปัญญาของแสงหิ่งห้อย แสงหิ่งห้อยไม่ทำความสว่างขึ้นมาในรัตติกาลได้ แต่มันยืนยันกันได้ว่ามันเป็นความสว่างแค่จุดๆ หนึ่งให้เห็นว่าความสว่างกับความมืดในรัตติกาลนั้นมองเห็นได้ ปัญญาอย่างนี้มี แล้วปัญญาเราคิดอยู่มันก็เป็นปัญญาแสงหิ่งห้อยใช่ไหม มันถึงให้เรามั่นใจในหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราใช้ปัญญาอย่างนั้นหมุนไปมันก็เห็นแสงสว่างขึ้นมาจริง เราก็ดีอกดีใจกับปัญญาแสงหิ่งห้อยอันนี้ไม่ได้
จินตมยปัญญาหมุนไป หมุนไปไง มันต้องทำให้ปัญญานี้สว่างโพลงแจ้งแทงตลอด เข้าไปในสมุจเฉทปหานกิเลสออกไป นั่นน่ะ การเดินปัญญา มันถึงว่า อย่าห่วงอย่าอาลัยอาวรณ์ความคิดที่ตัวเราเคยคิดมาแล้วไง อย่าเสียดาย อย่าเสียดายจินตนาการหรือปัญญาที่เคยประสบมา อันนั้นถ้ามาคิดตอนปัจจุบันที่ประพฤติปฏิบัตินี้ อันนั้นเป็นการเหนี่ยวรั้งนะ มันไม่หมุนไปตามสัจจะ
เหมือนช่วยคนจมน้ำ มันต้องผลักปัญญาของเราให้หมุนออกไป หมุนออกไป อย่าห่วงว่าปัญญามันจะส่งออก บางทีหมุนออกไปก่อนแล้วมันค่อยวกกลับมา ถ้าเราไปกอดกันจมน้ำอยู่อย่างนั้นมันไม่ก้าวเดิน มันหยุดอยู่ตรงที่ตรงนั้น แล้วมันจะทำให้เราเฉา หงอย แล้วมันจะทำให้เรามีความทุกข์ขึ้นมา แล้วจะกลับมาติการประพฤติปฏิบัติว่า เราประพฤติปฏิบัติเพื่อจะเอาความสุขนั้น ทำไมมันได้แต่ความทุกข์ มันได้แต่ไฟสุมขอนในใจมันเร่าร้อนอย่างนี้ล่ะ
เราก็มาโทษ โทษอะไร? ก็กิเลสมันไม่รู้ เราก็ไม่รู้ เพราะเราไม่รู้เราก็ปฏิบัติไปตามเรา ถึงว่าปัญญาอันเดิม ปัญญาจริง ปัญญาแสงหิ่งห้อย ทำไปเรื่อยๆ ผลักออกไปบ้าง ดึงเข้ามาบ้าง ผลักออกไปไง ผลักออกไป หมายถึงว่าคิดวนออกไปไม่กอดกับจิตเดิมแท้อยู่ กอดกับความคิดเดิม กอดกับที่จุดประกายขึ้นมาจากระบบความคิดที่เรามีอยู่แล้ว ถ้ากอดกันเยอะมันก็กอดกันอยู่นั่น มันต้องขยับออก บางทีขยับออก
แต่ทีแรกถ้าเป็นโลกียะ มันห่างจากจิตเกินไป มันก็ตัดกิเลสไม่ได้ แต่ถ้ามันเข้าพัวพันกันเกินไปมันก็ไม่เห็นระยะความสมุจเฉทฯ สมุจเฉทฯ คือการตัด นี่มันต้องวนออกไป อย่ากอดอยู่กับที่ ต้องหมั่นใคร่ครวญไตร่ตรองตลอดเวลา ไตร่ตรองให้ปัญญาอันนี้เกิดขึ้นมา ปัญญาอันนี้เกิดขึ้นมาก็หมุนไปๆ ใช้ไปบ่อยๆ ปัญญามันเป็นการชำระกิเลส ไม่ต้องเป็นห่วงว่าปัญญามันจะสูญเสีย มันจะสูญหายไปไหน ให้มันหมดไป สิ่งที่เป็นสัญญาให้ไม่ต้องไปจำไว้ ไม่ต้องไปห่วงอาลัยอาวรณ์กับมัน เราต้องเอาปัจจุบัน อะไรขึ้นมาในปัจจุบันนั้นไง
ความดำริชอบ ความเห็นชอบ การงานชอบ นี่มันต้องเป็นปัญญาในมรรคอริยสัจจัง ปัญญาในมรรคอริยสัจจังอันนี้มันก็หมุนมา หมุนมา เห็นไหมๆ นี่เห็นที่ใจ การประพฤติปฏิบัติธรรมก้าวเดินไปด้วยใจ สมองนี้เป็นแค่เริ่มต้นมาเท่านั้น พอหมุนไปๆ มันจะหมุนไปเอง ปัญญาจะหมุนออกไป หมุนออกไป หมุนออกไป หมุนออกไป
ถ้ามันไม่หมุนต้องกลับมาที่สมาธิ อย่าลืมสมถกรรมฐานเด็ดขาด อย่าห่วงแต่ปัญญาจนเกินไป ห่วงแต่ปัญญาก้าวเดินกันไปจนล้า จนเป็นไปไม่ได้ จนมันล้า ละล้าละลังแล้วก็เกาะกันอยู่อย่างนั้น มันต้องสลัดออก เพราะเราเคยทำใช่ไหม เราเคยทำ เราวิปัสสนาอยู่ตลอดเวลา แล้วมันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้...ทิ้งเลย หันกลับมาทำความสงบให้ได้ กำหนดพุทโธ กำหนดอะไร ถ้ามันไม่อยู่ต้องกำหนดพุทโธๆ เหมือนผู้หัดปฏิบัติใหม่เลย
จิตถ้ามันเคยกับการหมุนของปัญญาตลอด มันจะกลับมานี่มันจะไม่ยอม มันจะเสียดายไง ทุกครั้งไป กิเลสมันอยู่ในการประพฤติปฏิบัติด้วย มันจะเสียดายว่าเราเคยทำมา เราเคยวิปัสสนาไปแล้ว เราก้าวเดินมาแล้วมันจวนเจียนเต็มที จะฟันให้ขาด จะฟันให้ขาด แล้วมันไม่เป็นไปเพราะว่ามันไม่มีพลังงาน บางทีเราต้องสลัดเลย บางครั้งหยุดหมด กลับมาทำสมถกรรมฐานก็ได้
ถึงว่าความดำริชอบมันต้องมีสัมมาสมาธิอยู่ท้าย สัมมาสมาธิอยู่ท้ายพลังงานนี้มันถึงจะคมกล้าไง มันต้องเปลี่ยนพลิกแพลงอยู่ตลอด ปัญญาเราต้องเปลี่ยนพลิกแพลงไปพลิกแพลงมา พลิกแพลงมาเพื่อเกิดพลังงานในตัวของใจนั้นเอง
ในการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เอาใจปฏิบัติอยู่นี้ เอาใจนี้ก้าวเดินอยู่นี่มันต้องพลิกไปพลิกมาพลิก พลิก พลิก จากแสงหิ่งห้อย แสงหิ่งห้อยมันเกิดเป็นการยืนยัน มันจะเกิดเป็นฟ้าแลบ สว่างขึ้นไป สว่างขึ้นไป สว่างขึ้นไป มันเป็นไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว โลกเรานี่เอียงหมุนไป มันก็ถึงว่ามืดสว่าง มืดสว่าง สัจจะความจริงของใจมันก็มีอยู่ มันเกิดดับ เกิดดับอยู่แล้ว แต่มันเกิดดับไปพร้อมกับกิเลส วิปัสสนาอยู่นี้ ความเคยใจมันก็หมุนไป คาดหมาย คาดหวัง อย่าเอากาลเวลาเข้ามายุ่งกับมันเลยนะ
กาลเวลาต้องวางไว้เลย ทำไปสักแต่ว่าทำ แต่เหตุผลของเราต้องเต็มที่ เหตุผล เหตุผลแต่เป้าหมายปล่อยทิ้ง นี่มันเข้ามายืนยันกับการที่เราวิปัสสนากันมาอยู่นี่ว่ามันทำไมเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม มันถึงจะซึ้งคำว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา จะซึ้งใจมากจากผู้ทำจิตเป็นสมาธิมาแล้วเสื่อมไป วิปัสสนาขึ้นไปแล้วเสื่อมไป เสื่อมไป พอเสื่อมไป เสื่อมไป เจริญขึ้นเสื่อมลง เจริญขึ้นเสื่อมลง มันเป็นเนื้อหาสาระตามความจริงของมัน
แต่ปัญญาไม่เคยเห็น ปัญญาไม่เคยจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้ แล้วเห็นขณะนั้น เห็นขณะนั้นก็เห็นขณะว่าแสงหิ่งห้อยที่ยืนยันกันเท่านั้น ที่ยืนยันในแนวทางปฏิบัติ เราว่าเราปฏิบัติมา เราปฏิบัติถูกต้อง ทีนี้ความก้าวเดินออกไป ถึงว่าต้องย้อนกลับมาว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นมันก็ไสไปเอาหัวชนภูเขาไว้ เอาหัวชนภูเขาแล้วก็จะดันภูเขาทั้งลูกผ่านภูเขาไปได้อย่างไร ถ้าถอยออกมาเห็นทางขึ้น เดินผ่านขึ้นภูเขาไป
กาย เวทนา จิต ธรรมก็เหมือนกัน แล้ววิปัสสนาไปมันไปไม่ได้ มันไปไม่รอด หมุนกลับมาพักสมาธิบ้าง หาวิธีการที่จะออก มันต้องเป็นจิตดวงนั้น มันต้องเป็นปัจจุบัน มันต้องถึงบางอ้อของความอ๋อ เห็นไหม พอแสงสว่างเกิดขึ้น ญาณํ อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ญาณปัญญาเกิดขึ้น ความสว่างกระจ่างแจ้งที่ว่าเวลาโลกมันหมุนมา พระอาทิตย์เห็น พระอาทิตย์หมุนเข้าหาพระอาทิตย์มันสว่างขึ้นมา นี่ปัญญาอันนั้น ปัญญาสว่างขึ้นมา
โลกนี้หมุนไป โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือเรา เรามันหมุนอยู่ในซีกของความมืด มันไม่หมุนไปในซีกของความสว่างสักที ความหมุนไป จิตมันพลิกได้ จิตมันเป็นไปได้ จิตที่กิเลสมันครอบคลุม รัตติกาลนี้ความมืดมนอนธการคอยครอบคลุมใจอยู่นั่นน่ะ นี่มันต้องเรา ต้องเราแก้ไข ต้องเราเท่านั้น ต้องเรา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ ครูบาอาจารย์รู้ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร แต่ยิ่งชี้ทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า การฝึกคน การสอนคน พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น ผู้เดินบางคนก็เดินไม่ถึงสิ่งที่ชี้นั้นก็ไปไม่ถึงจุดหมาย ผู้เดินไปตามชี้นั้น เดินหลงทางก็ไม่ถึงจุดหมาย ผู้ที่เดินตามผู้ชี้ไปไม่เชื่อตามทางชี้ไป คนนั้นยิ่งหมดคุณค่าเลย
ความก้าวเดินไปของจิตเรา เราต้องก้าวเดินเองแล้วมันจะถึงบางอ้อเอง ความสว่างมันจะสว่างเอง พอสว่างเอง นี่ขาด ความตัดขาดจากกิเลสอันนั้น ความตัดขาด ขาดด้วยความผูกมัดของกิเลสที่มันผูกใจไว้กับกายนี่ไง ขาดออกไป สมุจเฉทฯ ออกไป มันก็ถึงบางอ้อ ต้องถึงบางอ้อด้วยตัวเอง บางอ้อคือความสว่างของปัญญามันหมุนเข้ามา ความสว่างของปัญญาญาณ อาโลโก อุทปาทิ ปัญญาเท่านั้นชำระกิเลสได้
ปัญญาที่เกิดขึ้นจากแสงหิ่งห้อย แสงหิ่งห้อยขึ้นมาให้มันเกิดขึ้นไป แสงหิ่งห้อยมันก็เป็นเครื่องยืนยัน แสงหิ่งห้อย นี้มันต้องก้าวให้เจริญขึ้นไป นี่มันเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ความเจริญขึ้นมาแล้วเสื่อมไปมันทำให้ไม่มีคุณค่า ไม่มีแก่ใจไง ความมีแก่ใจ การประพฤติธรรมต้ององอาจต้องกล้าหาญ
แต่ขณะที่เฉา อันนั้นคือกิเลส อันนั้นคือกิเลสของเรานะ กิเลสของเรามันเข้ามาในการต้องการว่ากิเลสมันเป็นเจ้าวัฏจักร มันครอบคลุมใจอยู่ มันอยู่ในเหนือหัวใจของเรา มันทำให้เราทุกข์ เวลาเราคิดกันว่าเราเจ็บปวดแสบร้อน ทุกคนไม่อยากจะเกิดอีกเลย ทุกคนอยากจะมีความสุข แต่ทำไมมันไม่กล้า การดื้อรั้น การพลิกตัวออกจากสิ่งควบคุมอันนี้ สิ่งที่มันควบคุมเราอยู่ เรากลับเชื่อมัน จะทำอะไรต้องขออนุญาตมันก่อนไง สิ่งที่ควบคุมอยู่
แต่เวลาเราคิดกันนะว่าเราอยากจะออกพ้นจากอำนาจของมัน ทั้งๆ ที่ว่าเรากำลังจะประพฤติปฏิบัติอยู่เพื่อจะหาอาวุธมาทำร้ายมัน เพื่อขอให้มันเกิดปัญญาญาณเป็นตาข่ายเพื่อจะชำระ เพื่อจะไตร่ตรอง เพื่อจะกรองสิ่งนั้นให้มันจางไปจากใจของเราไง แต่จะทำอะไรจะต้องขออนุญาตมัน ขออนุญาตเพราะอะไร ขออนุญาตเพราะมันขี้เกียจ มันอาลัยอาวรณ์ นี่มันขออนุญาต ประพฤติปฏิบัติอยู่มันก็ลังเลสงสัย นี่บอกไม่ได้ขออนุญาตเพียงแต่ต่อรอง เห็นไหม แค่ต่อรองกับเจ้าวัฏจักร
แต่เวลาพูด พูดนะ เวลาคิดออกมาภายนอก ทุกข์ร้อนเจ็บแสบกับสิ่งที่ควบคุมใจอยู่นี้ อยากจะพ้นไปจากมัน แต่ขณะที่ทำอยู่มันก็อยู่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา มันก็หลอกเรามาตลอด เราก็ยังไม่รู้เล่ห์เหลี่ยมของมัน เห็นไหม แล้วเวลาที่ว่าปัญญามันเกิด ปัญญามันเทียบเคียงขึ้นมาเห็นคุณค่า เห็นคุณค่าของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็เกิดมาในกระแสของธรรมนั้น เราเกิดมาแล้วเราตั้งใจมาประพฤติปฏิบัติ บวชเป็นพระ บวชเป็นเณรกันมาเพื่อจะหาทางออกจากนั้นให้ได้
เราประพฤติปฏิบัติเราก็มาจำศีลเพื่อจะหาทางออก หาทางออกนะ เอาใจนี้เข้ามาไง เอาร่างกายกับหัวใจนี้เข้ามาแล้ว ถึงว่าอันนี้เป็นเครื่องยืนยันความเป็นไป ยืนยันตามหลักความเป็นจริง มันถึงว่ามายืนยันว่าให้กิเลสที่เจ้าวัฏจักรเปิดโอกาสให้เราทำไง
ความเจริญแล้วเสื่อมนี้มันอย่างไรๆ มันก็มีอยู่แล้ว ความเป็นจริงของเรา ถึงเจริญถึงจะเสื่อมขนาดไหนมันก็ต้องเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วเจ้าวัฏจักรยังเข้ามาคุมอีก ให้มันเบื่อหน่ายเข้าไปอีก มันก็ยังก้าวเดินไปด้วยความทุกข์ของเรา ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อจะเอาความสุข แต่ทำไมมันเป็นความทุกข์ล่ะ ทุกข์นักทุกข์หนา ทุกข์อยู่ในหัวใจของเรานี่
เทียบไปเทียบมาๆ พอเทียบไปเทียบมา นี่ยืนยัน เห็น พอเห็น เห็นอะไร? เห็นว่าเรากับกิเลสนี้เป็นคนละอันกัน เรากับกิเลสนะ เวลาเราแพ้มันเราก็เสียอกเสียใจ เวลาเราชนะมันมันหายหน้าไปไหน ถึงว่า การกระทำของเรา การกระทำของสัตว์โลกต่างๆ กรรมมัน...
(เทปขัดข้อง)
...เคยมารับผล เจ้าวัฏจักรมันอาศัยอยู่ มันน่าขยะแขยงมาก...
(เทปขัดข้อง)
...มันเกิดดีขึ้น มันก็อาศัยดีไปด้วย ถ้ามันทำให้เราตกต่ำไป เราทุกข์ร้อนนะ มันอาศัยไปเฉยๆ อยู่ข้างบนหรืออยู่ข้างล่างมันก็มีความทุกข์เหมือนกัน มีความทุกข์ที่ทุกข์มากกว่านี้ ทุกข์มากกว่าการประพฤติปฏิบัตินี้ ตกนรกหมกไหม้ เวลาเราปฏิบัติ ใจมันนี่น่ากลัวตรงนี้ น่ากลัวตรงสุดความอดทนของมัน มันถึงว่ามันไม่มีใครทุกข์เท่าเรา เวลาจิตเสื่อมขึ้นมา ทำไมพระที่ว่าทำไมถึงเชือดคอได้ เจริญแล้วเสื่อมถึง ๗ หน ทำไมถึงเชือดคอ ทุกข์ในโลกนี้ไม่มีใครทุกข์เท่าเรา แล้วพอคนจนตรอก พอจนตรอกมันก็ต้องเข้าตรงนั้น
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราทุกข์ เวลาเราเข้าไปถึงทางจนตรอก เราถึงว่าไม่มีใครทุกข์เท่าเรา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา คลุมไว้ตลอด ทั้งๆ ที่ว่าถ้าเราพลิกใจหน่อยเดียว จนทุกข์จนมุมตลอดพระโสณะ เดินจงกรมอยู่จนเท้าแตกหมด เลือดเต็มไปหมดเลย ทุกข์หรือไม่ทุกข์ พระพุทธเจ้าบอกว่า พระโสณะอุกฤษฏ์เกินไป ถอยมาให้เป็นมัชฌิมา ให้ถอยออกมามัชฌิมาหน่อย ให้ใส่รองเท้าเดินจงกรมได้ พระโสณะไม่ยอม พระโสณะบอก
ถ้าจะให้พระโสณะใส่รองเท้า ทุกคนต้องใส่ได้หมดในสงฆ์ พระทุกองค์ใส่ได้หมด
พระพุทธเจ้าเลยอนุญาตพระทั้งหมด นี่พระได้ประโยชน์จากพระโสณะไปด้วย แล้วพระโสณะมาทำทางสายกลาง พระโสณะก็ผ่านพ้นไปได้
เวลาเราทำ จนตรอกจนมุม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำอยู่ พระพุทธเจ้าจะสงสารสาวกขนาดไหนพยายามจะหาทางออกให้ได้ แต่เราไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคอยชี้นำ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไป ธรรมมันเกิดนะ เวลาธรรมเกิดจากภายในนี่ธรรมมาสอน เราก็ฟังไว้เป็นคติ
เวลาประพฤติปฏิบัติไปจิตมันจะสงบ แล้วสิ่งที่สงสัยอยู่ในหัวใจมันจะมีบาลีขึ้นมาก็ได้ หรือจะเป็นภาษาไทยขึ้นมา นี่ธรรมเกิด ธรรมเกิด เกิดขึ้นมา ธรรมก็มาสอนได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์มากเลยที่ประพฤติปฏิบัติไปถึงจุดสำคัญอย่างนี้ ความลังเลสงสัยอยู่นี่ จะมีครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ หรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาชี้ทางให้...มี อยู่ที่บารมี อยู่ที่กุศลของบุคคล มีมากในพระไตรปิฎกมีหลายองค์เลยที่มีเรื่องว่าเวลาจนตรอกจนมุมแล้วมีคนชี้ทางออกให้
แต่ในเมื่อเราก็เป็นลูกศิษย์ตถาคตเหมือนกัน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งนั้น เป็นบริษัท ๔ ในศาสนา ทำไมเราทำไปแล้วถึงจนตรอกจนมุมจะไปหาทางออกไม่ได้
ต้องมีทางออก จนตรอกจนมุมนั้นคือกิเลสมันเข้ามุม พอกิเลสเข้ามุม คนเราจะเกิดปัญญามาก การหวังพึ่งคนอื่น การหวังพึ่งคนอื่นมันก็หวังอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเราจนตรอกจนมุมนี่เหมือนคนใกล้จะถึงวาระสุดท้าย เข้าไปถึงจนตรอกจนมุม มันต้องหาทางเอาตัวรอดจนได้
นี่ก็เหมือนกัน เราถ้ามันจะต้อนให้กิเลสจนตรอกจนมุมนะ เราพยายามต้อนเข้ามา ต้อนเข้าไป ต้อนเข้าไป อย่าล้า อย่าอ่อนแอ อย่าท้อถอย มุมานะ อาจหาญรื่นเริงแล้วเข้าไปต่อสู้กับกองทัพกิเลส กับกองทัพธรรม
กองทัพกิเลส มันเหนืออยู่แล้ว มันไม่ต้องว่ามันอยู่ไหน มันอยู่พร้อมกับการเกิดของเรา
กองทัพธรรม เราจัดกองทัพได้กองทัพเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ล่มสลายไป ล่มสลายไป มันถึงว่า กองทัพธรรมไม่สามารถต่อสู้กับกิเลสได้ เราก็เป็นผู้แพ้มาตลอด ผู้แพ้มาก็ทำให้ทุกข์ยากอยู่นี่ ถึงต้องต้อนให้จนตรอกจนมุม คำว่า จนตรอกจนมุม ต้องพลิกด้วย ถ้าจนตรอกจนมุมแล้วเราน้อยเนื้อต่ำใจ โอกาสเราไม่มี จนตรอกจนมุมแล้วพิจารณาดู ต้องมีทางรอด ปัญญาเกิดขึ้นตรงนั้น ปัญญาเกิดขึ้นตรงวิกฤตินั้นไง
ตรงไหนอันตรายที่สุดตรงนั้นปลอดภัยที่สุด
เราตรงไหนอันตรายเราไม่กล้าเข้า จะหาแต่ที่สงบ ที่ว่ามันปลอดภัย ตรงนั้นใครๆ เขาก็รู้ เขาก็ไปดักรอจับอยู่ตรงนั้นน่ะ ความอันตรายที่สุด ขณะที่เวทนาเกิดกล้าที่สุด ขณะที่ความเสียวยอกเกิดขึ้นที่ใจ ขณะที่ว่าใจมันสงบ ใจนี้มันเป็นไป ดูอย่างจิตมันจะลงเป็นสมาธิสิ ตกวูบ วูบลงมานั่น กลัว อันตรายไง ทำให้ถอนมาหมด จิตนี้ถอนขึ้นมา ถ้าจิตมันลงวูบไป นั่นน่ะ อันตรายไหม แล้วมันจะเกิดความสงบขึ้นมา สว่างไสวไปหมดนะ จิตรวมลงสว่างโล่งไปหมดเลย ปล่อยหมด นั่นน่ะ ตรงไหนอันตรายที่สุดตรงนั้นจะปลอดภัยที่สุด ตรงไหนอันตรายต้องเข้า ปัญญาต้องเข้าไปฟัน ฟันตรงนั้น ฟันตรงที่ว่าอันตรายๆ ที่นั้นน่ะ นี่จนตรอกจนมุม เพราะถ้าจนตรอกจนมุมแล้วสู้ไป สู้ไป ผู้ที่ปฏิบัติด้วยความอาจหาญ ปฏิบัติด้วยความรื่นเริงในธรรมนะ
ความเพียรของพระอริยเจ้า ความเพียรเพื่อความรื่นเริงในธรรม ความเพียรของพวกเราผู้ปฏิบัตินี้ ความเพียรของผู้มีกิเลสมันต้องต่อสู้กับกิเลสไปด้วย ถ้าจิตมันสงบมันรื่นเริงในธรรม ถ้าจิตมันปล่อยวางมันรื่นเริงในธรรม มันมหัศจรรย์ในธรรมที่ว่าเป็นตทังคปหานไง ตทังคปหานคือแสงหิ่งห้อยมันตทังคปหาน มันไม่สมุจเฉทปหาน ขณะนั้นก็ยังมีความรื่นเริง แต่ความรื่นเริงมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเหมือนกับสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ในการประพฤติปฏิบัติเราเหมือนกัน สิ่งนั้นเหมือนกัน จนกว่ามันสมุจเฉทปหานเป็นอกุปปธรรม จนพระอัญญาโกณฑัญญะ จนพระพุทธเจ้าเปล่งอุทานนั่นน่ะ นั่นแหละสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นแล้ว อันนั้นไม่แปรสภาพ สิ่งที่ไม่แปรสภาพ มันจะรื่นเริงโดยส่วนหนึ่ง โดยแน่นอนตลอดไป มันไม่เสื่อมไง
ไอ้พวกเรามันเสื่อมอยู่ ความเสื่อมอยู่นี้ทำให้เราพอจะก้าวเดินไปมันถึงเป็นความทุกข์
ความทุกข์เป็นอริยสัจ ความทุกข์เป็นความจริง มันจริงอยู่โดยธรรมชาติของมัน แต่พอเราไปประสบทุกข์ ลิ้นกับรสนั้น เราไม่ดูที่ตัณหาอยู่ที่ไหน กระทบอยู่ มันเป็นสัจจะที่กระทบอยู่ ใจยังมีอยู่ ยังกระทบอยู่ ขันธ์ยังมีอยู่ที่ใจ ยังกระทบอยู่ สิ่งที่กระทบอยู่นั้นมันมีโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เพราะมันมีกันอยู่อย่างนั้น
แต่ถ้าผู้ที่เห็นธรรมแล้ว ความกระทบอันนั้น กระทบเฉยๆ ความกระทบแล้วมีสติรู้พร้อม รู้พร้อม นี่อุปาทานเกิดขึ้นได้อย่างไร? อุปาทานนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ อุปาทานมันรู้แล้วมันกระทบกันมันก็ไม่มีความอุปาทานนั้น พอไม่มีอุปาทานนั้นมันก็เป็นกระทบกันเฉยๆ สติพร้อมไป
แต่ถ้าไม่มีความรู้เท่า ไม่รู้โดยธรรม กระทบแล้วเต็มที่เลย เต็มที่ไปตลอดๆ อุปาทานหมุนไปตลอด ดูตรงนี้ไง ดูเข้าไป ดูเข้าไป นี่การก้าวเดินของใจที่มันจะก้าวเดินออกไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป วุฒิภาวะของใจต้องขยับสูงขึ้น การขยับต้องสูงขึ้นเพื่อจะให้พ้นออกไปจากอุปาทาน ทุกข์เพราะว่าอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นนี้เราทุกคนบอกว่าไม่มี เพราะเราประพฤติปฏิบัติธรรมสิ่งนี้เป็นอกุศล สิ่งที่ไม่ดีเราจะปล่อยวาง...ปล่อยที่ปาก
ความจำเป็นความจำ การศึกษาเป็นสุตมยปัญญา สุตมยปัญญากิเลสรู้พร้อม เหมือนระบบการศึกษาทางโลก เหมือนกันเลย การศึกษาทางโลกกับการศึกษาทางทฤษฎีเหมือนกัน เพราะกิเลสมันรู้พร้อมอยู่แล้ว เห็นไหม มีแปลนบ้าน มีแผนที่แล้วก็ต้องลงเข้าไปสำรวจแผนที่ สำรวจพื้นที่ในใจแล้ว ถึงจะพ้นออกไป สำรวจแผนที่ในใจแล้วเข้าใจ เข้าใจรู้แจ้งตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง เข้าไปเห็นไง เข้าไปเห็นแต่มันไม่เห็นแจ้ง เข้าไปเห็นแล้วออกมา
นี่คนที่มีวาสนา มันไม่เดินเข้าไป เราต้องไสเข้าไป ไสเข้าไป รู้แล้วรู้ลึกเข้าไป จับให้รู้ลึกเข้าไป รู้ลึกเข้าไป ไม่ใช่รู้แล้วถอยออกมา รู้แล้วๆ รู้แล้ว ใครบอกรู้แล้ว
เวลาพระอาทิตย์เกิดขึ้น ความสว่างเกิดขึ้น พระอาทิตย์หรือบอกว่าเป็นความสว่าง โลกนี้หรือบอกว่าเป็นความสว่าง ใครบอก ใครเห็นความสว่างนั้น เห็นไหม ความรู้แจ้งไง เวลาปัญญามันหมุนไป ปัญญามันเกิดขึ้นใช่ไหม เวลาขันธ์มันขาดไง ขันธ์เป็นขันธ์ ขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ใครรู้? ความรู้อันหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างจิตมันขาดออก นี่พระอาทิตย์ไม่ได้บอกว่าเป็นความสว่าง พระอาทิตย์ไม่รู้ความสว่าง โลกก็ไม่รู้ว่าความสว่าง แล้วความสว่างใครรู้
ปัญญาที่ว่าเวลาปัญญาสมุจเฉทฯ เกิดขึ้นมันจะขาดออกไป แล้วมันมีความรู้หลุดออกไปจากสิ่งที่หมุนกันขึ้นมานี้ สิ่งที่เป็นธรรมจักรหมุนขึ้นไปนี้ ภาวนามยปัญญาหมุนขึ้นไป หมุนขึ้นไป ความสว่างเกิดขึ้น ความรู้อีกอันหนึ่งออกมา อันนี้ต่างหากถึงเป็นรู้แจ้ง รู้แจ้งตามหลักความเป็นจริงไง
อันนี้รู้แล้ว รู้แล้วอยู่นั่น รู้แล้วไม่ใช่รู้แจ้ง
รู้แจ้งมันรู้แล้ว หลุดไปอีกตัวหนึ่ง รู้แจ้ง เห็นไหม ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ความรู้ว่ากิเลสหลุดออกไป แล้วยังรู้ว่าหลุดแล้วด้วย นี่มันถึงว่ามีความสว่าง มีผู้รู้อีกอันหนึ่งออกไป ออกไปจากตรงนั้น มันต้องใคร่ครวญ การใคร่ครวญไปเรื่อย การใคร่ครวญไปนะ นี่การพิจารณาตลอด ใคร่ครวญตลอด ไม่ลังเลสงสัย ความลังเลสงสัย ความเปรียบเทียบ นี่ดันขึ้นไป
ความเปรียบเทียบ ความเทียบเคียง ปัญญาจะก้าวออกไป ก้าวออกไป ก้าวออกไป กับก้าวเข้ามา การก้าวเข้ามา เข้าลงเข้ามาแล้วก็ผลักออกไป เทียบไปเทียบมา เทียบมาเทียบไปอยู่ตลอด ปัญญาไม่ใช่เก็บเอาไว้ เก็บเอาไว้ เป็นความตกผลึก อันนั้นเป็นสัญญา ถ้าเก็บเอาไว้นี่เป็นสัญญาแล้วนะ ความศึกษามาก็เป็นสัญญา ถ้าใช้อยู่ตลอดไป ใช้อยู่จนฟั่นเฟือนนี่เป็นสัญญา เป็นสัญญาเพราะอะไร
เพราะเป็นเรา เราเข้าไปรับอันนี้มาเป็นสัญญา ถ้ามันเกิดขึ้นโดยที่เราทำความเกิดขึ้นมา โดยสมาธิอยู่ อันนั้นถึงว่าเป็นปัญญา ปัญญาถึงว่ามันเกิดได้หลายแง่หลายมุมไง ปัญญามันกว้างขวางมาก เราไม่ใช่ว่าจับประเด็นใดว่าเป็นปัญญา ความลังเลสงสัยว่า อันนี้เป็นปัญญาหรือไม่เป็นปัญญา อันนี้ก็เป็นการกั้นให้เราก้าวเดินแล้ว
สิ่งที่ผิดพลาด ลุยไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ นะ โจมตีเข้าไปเรื่อย ผิดพลาดวางไว้นั่น เทียบเคียงไปเรื่อย ถ้าถูกต้องมันจะปล่อยๆๆๆ
ถ้าผิดแล้ว
๑.ไม่ปล่อย
๒. เหนื่อยมาก เหนื่อยแล้วท้อถอยด้วย ย้อนกลับมาเลย มันจะถอยร่นออกมา
ถ้ามันเป็นความจริง มันจะโล่งเข้าไป โล่งเข้าไป โล่งเข้าไป โล่งเข้าไปแล้วไม่อยู่เฉย ไม่อยู่เฉย ทุกขั้นตอนของปัญญานะ นี่ขนาดว่าขั้นตอนเริ่มจากว่า ดวงตาเห็นธรรมนะ
ถ้าดวงตาเห็นธรรม ขณะนี้ถ้าขึ้นไปมันละเอียดไปเรื่อย สิ่งที่ว่ามันยากอยู่ เพราะว่ามันไม่เคยทำ แต่ถ้าผ่านขั้นตอนไปแล้วมันทำได้ง่ายขึ้นไป แล้วละเอียดเข้าไปลึกซึ้งมาก จากที่ว่าระยะห่าง จังหวะ ๑ จังหวะ ๒ จังหวะ ๒ ไปอย่างหนึ่ง ตะลุมบอนกันอย่างหนึ่ง จิตเข้าไปข้างในเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน ความไม่เหมือนกันมันละเอียดขนาดนั้น ขนาดว่าขั้นเริ่มต้นเราก็ยังว่าเราลำบากขนาดนี้แล้ว ขั้นเริ่มต้น เรายังไม่รู้ว่าเราจะหาทางออกกันอย่างไร
ปัญญาเท่านั้น ถึงว่าวันนี้เน้นปัญญาอย่างเดียวเลย จะให้มีปัญญา แล้วก็เห็นความเจริญแล้วเสื่อมไง แล้วเทียบเคียงกับในครั้งในสมัยพุทธกาล ในที่ว่าครูบาอาจารย์ของเรา ในองค์ศาสดาของเรา ทุกข์ยากมาขนาดนั้น ความทุกข์ยากอันนั้นมันถึงได้ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ
การประพฤติปฏิบัติมันจะน้อยเนื้อต่ำใจว่า
๑. เราไม่มีวาสนา
๒. โอกาสมาถึงแล้วทำไมคนอื่นทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้
ไม่ให้เทียบเคียงเรื่องอย่างนั้น เรื่องของบุคคลใดบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน ปล่อยเขาไป ใครได้ให้มันได้จริงหรือไม่จริงให้ได้ไป แต่เราเข้ามาถูกทางแล้ว ดูอย่างที่ว่า กระรอกที่ว่าลูกตกไปในทะเล เอาหางจุ่มขึ้นมาสะบัด หางจุ่มแล้วสะบัด จนขนาดว่าเทวดายังทนไม่ไหว ถามว่า
กระรอกนี้ทำอะไร
กระรอกบอกว่า ลูกอยู่บนต้นมะพร้าวโดนลมพัดตกลงไปในทะเล เอาหางจุ่มน้ำทะเลขึ้นมาสะบัดเพื่อจะให้น้ำทะเลนี้แห้ง มันสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่เขาก็ทำ นี่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
แต่สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติมันเป็นไปได้ เป็นไปได้จริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอาสิ่งที่สุดวิสัยมาสอนพวกคนที่มีกิเลส ขนาดว่าพวกเราเป็นคนไม่มีปัญญาอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้หูตาสว่าง หูตารู้แจ้ง ผ่านพ้นไปแล้ว แล้วเอาปัญญาอันนั้นสอนลูกศิษย์ลูกหา จนพระอัญญาโกณฑัญญะรู้เป็นองค์แรก ถึงอุทาน มันถึงไม่ได้เป็นความลำบาก แต่เป็นความลำบากขนาดไหนมันเป็นไปได้ไง เป็นไปได้และเป็นเครื่องยืนยัน นี่เอาอันนั้นมาเป็นกำลังใจ
ถ้ามีกำลังใจแล้วมีความองอาจกล้าหาญ ทุกข์เรายังเป็นทุกข์ขนาดนี้ ทุกข์ของเราทุกข์แบบมีคนชี้ทาง ทุกข์แบบมีคนชี้ทางมันอุ่นใจ ไม่มีครูไม่มีอาจารย์เลยมันยิ่งทุกข์กว่านี้อีก ทุกข์แบบไม่มีคนไม่มีพี่เลี้ยง ทุกข์มาก ทุกข์แบบมีครูอาจารย์มันยังทุกข์ แต่มันยัง
๑. เป็นไปได้ตามหลักวินัย
๒. มีคนพูดชี้นำออกไป
ทุกข์แบบไม่มีคนชี้นำเลย ทุกข์แบบเราอยู่กลางทะเล เรือแตกอยู่กลางทะเล ไม่มีใครเลย อยู่กลางน้ำคนเดียว ลำบากมาก นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติมาขนาดนี้มันอุ่นใจแล้ว มันทำให้กำลังใจตัวนี้ตัวเดียว ตัวความคึกคะนอง ตัวความองอาจกล้าหาญ ตัวความเห่อเหิมตัวนี้ เห่อเหิมทะเยอทะยานนั้นเป็นกิเลส เห่อเหิมทะเยอทะยานไง ความเป็นกิเลส
แต่องอาจกล้าหาญ ความฮึกเหิมในการประพฤติปฏิบัติ กัดเพชรขาด ใจอย่างนี้ ใจที่จะกัดเพชรขาด มันถึงว่าความสิ่งที่กิเลสมันเกิดขึ้น ฟากตายไง เพราะฟากตายมันเอาตายเข้ามาสุดท้ายเข้ามาล่อว่า เอ็งต้องตายนะ เอ็งไม่มีปัญญาไป ทำอย่างนี้ไปตายแน่นอน เห็นไหม เราก็ฟากตาย สิ่งที่ตายใครบอก สิ่งที่ควรจะเป็นไปอย่างนี้ โลกจะเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เราทำไป นั่งไปขาจะพิการ จะเสียคนอย่างนี้ ใครบอกอย่างนี้?
นี่เรื่องกิเลสทั้งนั้นเลย กิเลสมันหลอกขึ้นมา เจ้าวัฏจักรที่จะไม่ให้เราพ้นออกไปจากอำนาจของมัน ถ้าเป็นกิเลสหลอก อันนี้พอมันปฏิบัติไป สิ่งนี้จะรู้ได้ต่อเมื่อผู้ที่ผ่านแล้วไง ผู้ที่ผ่านไปแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องเด็กๆ เรื่องที่ว่ามันแค่เริ่มหลอกไม่ให้เราเป็นไปเท่านั้นเอง หลอกให้เราเป็นไป แล้วเราก็เชื่อเพราะอะไร เพราะเป็นเรา ทุกคนเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว ความเป็นเรากับอุปาทานเท่ากันไหม ไหนว่าเราจะฆ่ามัน ไหนว่าเราจะทำลายมัน ทำไมมันแวบขึ้นมา เราเชื่อมัน
สิ่งที่แวบขึ้นมานี่กิเลสนี่เชื่อง่าย สิ่งที่เป็นธรรมจากข้างนอกเชื่อยาก เพราะเป็นเรา มันลำบากตรงนี้ไง ตรงที่ว่าสิ่งที่เป็นเราก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับเรา เราเชื่อความคิดเรา ทั้งที่ผิดก็เชื่อ ผิด ถ้าเราเห็นธรรมตามความเป็นจริง เวลาเราสังฆคุณ ถ้าผู้ใดเห็นธรรมสมควรแก่ธรรม ใจเราต้องเป็นธรรม เพราะเห็นธรรมสมควรแก่ธรรม กับธรรมเป็นอันเดียวกัน
นี่เห็นธรรมด้วยกิเลสพาเห็น ด้วยเจ้ายุทธจักรพาเห็น เห็นธรรม เราว่านี่เป็นธรรม ศึกษานี่เป็นธรรม หมายถึงว่าเป็นความคิดในระบบไง ความคิดในระบบนี้อุปาทานยิ้มเลย เพราะในระบบนั้นอุปาทานมันเป็นการเชื่อมกันให้เป็นระบบ เพราะมันเป็นทางของกิเลสอยู่แล้ว แล้วเราก็คิดให้มันออกมาอย่างนั้นโดยที่เราไม่รู้สึกตัว
ถึงว่าย้อนกลับมาตรงนี้ไง ย้อนกลับมาตรงที่ว่า เราจะย้อนกลับเข้าไปในอุปาทานของเรา เราต้องแยกแยะออก แยกแยะว่าสิ่งนี้เป็นอุปาทาน สิ่งนี้ที่เราคิดออกมา อุปาทานพาให้เราคิด เพราะมันไม่สมจริงอย่างที่เราคิด มันไม่ตามความเป็นจริง คือว่าสิ่งที่หลอกเราขึ้นมา เราเชื่อไง เพราะถือว่าเป็นเรา แล้วความเคยใจด้วย ถึงว่าความเคยใจกิเลสของบุคคลต่างๆ ถึงไม่เหมือนกัน
ความติด เห็นไหม ในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน สอนไม่เหมือนกันเพราะว่ากิเลสในใจของพระนี้ไม่เหมือนกัน กิเลสในใจของพระ ความสะสมของกิเลสไม่เหมือนกัน เราก็เหมือนกัน เราเกิดมานี่คนชอบต่างๆ กันความเคยใจมันชอบต่างๆ กัน สิ่งที่เป็นอุปาทานของคนๆ หนึ่ง ไม่เป็นของคนๆ หนึ่ง สิ่งที่เป็นยึดติดของคนๆ หนึ่ง คนหนึ่งความผิดเล็กน้อยนี่ดิ้นพล่านๆ จะเป็นจะตายเลยนะ บางคนบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระ แต่คนที่เป็นทุกข์นั้นทุกข์มากเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญแก่ชีวิตนั้น
แล้วอะไร? กิเลสหลอก นี่ไง พอกิเลสหลอก ถึงว่า ปัจจุบันใครปัจจุบันมัน อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลาปัจจัตตังรู้จำเพาะตน ปัจจัตตัง ถ้าขาดรู้ว่าขาด ปัจจัตตังของใจดวงไหน ใจดวงที่ก้าวเดินปัจจัตตังดวงนั้น ต้องเป็นของคนๆ นั้น
แต่เวลาครูบาอาจารย์ออกมาจากป่าจากเขามาคุยกัน เวลามาคุยกัน มาปรึกษาธรรมกัน มาพูดเรื่องธรรม พูดเรื่องธรรมเพื่อรู้แนวทางของแต่ละบุคคล แต่ละบุคคลออกมา ประสบการณ์ของครูบาอาจารย์อยู่ในป่าแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ใจของแต่ละดวงไปไม่เหมือนกัน แต่มาเทียบเคียงกันมันจะเหมือนกันด้วยหลักการ หลักการคือว่าทำความสงบมาก่อน แล้วยกขึ้นวิปัสสนาไปเหมือนกัน แต่วิธีการที่จะก้าวเดินไปไม่เหมือนกัน
ฉะนั้น แต่ละดวงใจ แต่ละอำนาจวาสนาบารมี ถึงว่ายกไว้ต่างหาก ไม่ให้เอามาเทียบเคียงให้น้อยเนื้อต่ำใจ ให้เอามาเทียบเคียงแต่ว่า เห็นไหม ทำไมเขาทำได้ เห็นไหม สิ่งนั้นใจดวงนั้นรู้ธรรมได้ สิ่งนั้นยกขึ้นไปเดินนำหน้าเราไปแล้ว เป็นเครื่องยืนยันจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เครื่องยืนยันเหมือนกัน แล้วเราก็ก้าวเดินต่อไป เราจะก้าวเดินตามอันนั้นต้องมีความเด็ดขาด มีความเด็ดเดียว มีความมุมานะ มีความอดทนไง มีความอดทนในความทุกข์นี้ อดทนในการก้าวเดินไป อดทนนะ
ถ้าไม่อดทน ไม่เข้มแข็ง กิเลสมันเจริญ ธรรมมันเสื่อม ความกิเลสมันต้องเจริญขึ้นแน่นอน กิเลสมันจะเจริญไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลส ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมเพื่อเสริมกิเลส ปฏิบัติธรรมเพื่อเสริมกิเลส เห็นไหม เห็นว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมแล้วเสริมกิเลสให้กิเลสกลับมาทำให้เราเจ็บปวดแสบร้อนอีก ทำไมทำแล้วไม่ได้อย่างเขา ทำไมทำแล้วไม่ได้ นี่ปฏิบัติธรรมเพื่อเสริมกิเลส ถ้าเห็นเขาได้ ขนาดเรื่องของทานยังบอกว่า เห็นผู้ใดทาน เราเห็นเขาทำทานแล้วเราอนุโมทนาไปกับเขาเรายังได้บุญเลย
นี่ก็เหมือนกัน ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ที่เขาได้ทำ เราก็ต้องอนุโมทนาไปกับเขา ถ้าอันนั้นเป็นธรรมจริงนะ ในเมื่อเราไม่รู้เราก็อนุโมทนาไปกับเขาก่อน แต่ครูบาอาจารย์ที่รู้ว่าสิ่งนั้นเดินเข้ามาถูกช่องทางหรือไม่ถูกช่องทาง ถ้าถูกช่องทางต้องมรรคอริสัจจังเท่านั้น มรรคอริสัจจังแล้วเข้าไป พูดเรื่องมรรค ผู้ใดเห็นธรรมไง ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นต้องปล่อยวางกิเลสไปตามความเป็นจริง การปล่อยวางกิเลสคือการเข้าประตู ในขณะจิตที่พลิกนั้น
ถ้าขณะจิตที่พลิกไม่รู้ แล้วมันจะเข้าประตูได้อย่างไร ขณะจิตที่พลิก ขณะจิตที่เป็นไป พลิกจากปุถุชนเป็นอริยภูมิขึ้นมา ขณะจิตที่พลิกขึ้นไป พลิกขึ้นไป มันพลิกอย่างอื่นไม่ได้เลย ไม่มีอาวุธ ไม่มีศาสตราอันใดจะไปฆ่ากิเลสได้นอกจากธรรมาวุธ ธรรมะในมรรคอริสัจจังนี้เท่านั้น และขณะพลิกอันนั้นถึงว่า เข้าตามหลักของศาสนา หลักของศาสนา หลักของธรรม
แต่ในเมื่อถ้าใจนี้ไม่พลิก แต่ความคิดว่าอนุโลมเอา อนุโลมว่าเป็นไป มันไม่มีขณะจิตที่ขณะว่าผ่าน ๑ ๒ ๓ ๔ ขึ้นไป ไม่มีขณะขึ้นไปมันก็อยู่ในวังวนของความสงบนี้เท่านั้น อยู่ในความสงบ วิปัสสนึกไง ในอุปกิเลส ๑๐ ในอุปกิเลส ๑๐ นี่มันเป็นโอภาส มันมีความสว่างกระจ่างแจ้งด้วยแล้ว พอมันสว่างแล้วมันก็ต้องเฉาไป เห็นไหม พอมันสว่างขึ้นมาแล้วมันก็ต้องเฉาไปเป็นธรรมดา มันเป็นไตรลักษณ์อยู่แล้ว มันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อยู่ในตามหลักความเป็นจริง
นั่นน่ะ มันต้องเข้าขณะจิตที่พลิกไป พลิกไป พลิกไป ถึงเข้ามาด้วยธรรม นี่ถ้าเข้ามาด้วยธรรมตามหลักความเป็นจริงแล้วมันถึงจะเป็นจริงตามที่ว่า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม มันอยู่ในอุปกิเลสทั้งนี้ แล้วมันไปไหน? มันก็ได้บุญกุศล แค่บุญกุศล บุญกุศลก็ขับเคลื่อนไปสวรรค์ ไปพรหม แล้วก็กลับมาก็มาเกิดอีก แต่ถ้าปฏิบัติธรรม ธรรมนี้มีอาวุธชำระกิเลส มีฆ่ากิเลสได้ สวรรค์ไม่ต้องการไง สวรรค์เป็นที่พักของใจ สวรรค์เป็นที่อยู่ของใจที่ปฏิบัติเป็นกุศล นรกเป็นที่อยู่ของใจที่ทำอกุศล
แต่นิพพานความดับสิ้นไปของกิเลสทั้งหมด จิตนี้ขณะที่ปัจจุบันนี้มีศาสนา มีศาสนาที่จะประพฤติปฏิบัติ ศาสนากำลังเจริญรุ่งเรืองในการประพฤติปฏิบัติ แล้วเรากำลังก้าวเดินไป โอกาสของเราทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย
ฉะนั้นเวลาเรามีโอกาสก้าวเดินไปในศาสนาที่กำลัง...ตลาดกำลังเจริญรุ่งเรืองไง กำลังเจริญรุ่งเรือง กำลังฟูขึ้น แล้วเราอยู่ เราเป็นคนๆ หนึ่งอยู่ในการฟูของศาสนานั้น นี้ถ้าเราอยู่ในขณะที่ว่าเจริญรุ่งเรืองอยู่ เราก้าวเดินไปอยู่ ทำไมใจเรามาถึงมาน้อยเนื้อต่ำใจ
ถึงว่าถ้ามันน้อยเนื้อต่ำใจ มันทำตรงนี้ไม่ได้ มันต้องอยู่ในวังวนของอุปกิเลส ๑๖
อุปกิเลส ๑๖ อุปกิเลส ๑๖ นี่ทำประพฤติปฏิบัติมาวนอยู่ตรงนี้เหรอ ถ้ามันไม่ผ่านตรงนี้ถ้าผ่านขึ้นไป พ้นจากนี้ไป พ้นขึ้นไป นี่เข้าขณะจิต ขณะจิตเป็นไป แล้วขณะจิตเป็นไปแล้วถึงสื่อได้ไง ความสื่ออันนี้ สื่ออันนี้ครูบาอาจารย์ที่เวลาออกมาจากป่าคุยกันก็คุยกันตรงนี้ไง คุยกันตรงสื่อตรงนี้ สื่อมาว่าอันไหนเป็นหลักความจริง ในหมู่ประพฤติปฏิบัติที่เฟื่องฟู เฟื่องฟูตรงนี้ เฟื่องฟูที่ว่ามีผู้ที่ปฏิบัติจริงแล้วสื่อกันจริง สื่อกันจริงเลยว่าขณะจิตเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ตรวจสอบกันได้ ตรวจสอบกันได้ในวงปฏิบัติ
ในวงผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ออกมาในการทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจ ก้าวเดินออกไปจากสมาธิธรรม มันมีอยู่ดั้งเดิม ก่อนมีศาสนาก็มีอยู่แล้วทำความสงบ แต่สงบของเขานะ ความสงบของเรามันสงบหรือเปล่า มันสงบลึกกว่าของสมาธิเฉยๆ เพราะเราวิปัสสนากันด้วย วิปัสสนาเวลามันปล่อยวาง มันจะว่างเข้ามาเหมือนแสงหิ่งห้อยที่ว่านั่นล่ะ มันว่างแล้วมันเข้าใจ มันถึงมีความรู้ มีแสงขึ้นมา ความที่มีแสงขึ้นมานะมันว่าง พอมันว่างขึ้นมา ความว่างอันนี้ต่างกับความว่างของสมาธิ
ความว่างของสมาธิเป็นความว่างเข้ามาด้วยกำหนดบริกรรมเข้ามาเฉยๆ ความว่างของการพิจารณาใคร่ครวญ พิจารณาใคร่ครวญคือการงาน คือการซักฟอกไง ความว่างเอาผ้าเข้าไปชุบน้ำขึ้นมาแล้วให้มันสะอาดกลับมาขยี้ ในการขยี้ในการซักผ้าออกมา ในการขยี้ในการซักผ้ามันต้องขาวกว่าสะอาดกว่า นี่ความว่างมันลึกต่างกัน
วิปัสสนา ความว่างในวิปัสสนา แล้ววิปัสสนาไปเรื่อยๆๆ จนมันสะอาดสุด ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติมากี่ปีแล้วจะขอข้างหน้ากำหนดอีกกี่ปี...อย่ากำหนดปล่อยไปเลย สร้างแต่เหตุในหัวใจของเรา ตั้งเหตุไว้ ทำแต่เหตุไปทำแต่เหตุไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ ประกาศเอาไว้ในธรรม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ถ้าปฏิบัติต้องได้ธรรมแน่นอน แต่ของเราที่ว่าปฏิบัติกันไม่ได้ มันไม่เอาตรงนั้น ปฏิบัติ ๗ วันหยุดหรือปฏิบัติ ๗ เดือน หรือไม่ได้แล้วก็ไม่ได้ แล้ว ๗ ปีล่ะ คนที่จะถึง ๗ ปีระยะเวลามันยาวไกล
๗ ปี แต่ถ้าปฏิบัติ ๗ ปี ความปฏิบัติต่อเนื่องมันไม่ต่อเนื่อง ผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ความต่อเนื่อง ความปฏิบัติสม่ำเสมอ ความต่อเนื่องไป ต่อเนื่องไป ความต่อเนื่องแล้วเข็นครกไปเรื่อยๆ มันต้องถึงจุดหมายปลายทาง นี้พอมันขาดตอนมานับหนึ่งใหม่ มานับหนึ่งใหม่ ความนับหนึ่งใหม่อันนั้น มันเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ มันไม่เจริญงอกงาม ธรรมไม่เจริญงอกงามในใจ ใจไม่เป็นธรรม พอใจมันถึงธรรมแล้ว ปฏิบัติแล้วมันทำให้มันเทียบเคียง อีกแล้วหรือ อีกแล้วหรือ ความท้อถอย ความทดท้อใจมันทำให้เกิดขึ้น
แต่ถ้าปฏิบัติจริงตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้จริงนะ ปฏิบัติจริงด้วย แล้วเข้าทางตามความเป็นจริงอันนั้นด้วย มันก็ต้องสมความปรารถนาของใจผู้ปฏิบัติทุกๆ ดวงสิ ใจผู้ปฏิบัติ ใจผู้ปฏิบัติเชื่อเครื่องดำเนินอยู่แล้ว เชื่อทาง มรรคเครื่องดำเนินคือวัตรปฏิบัติไง วัตรปฏิบัติ ผู้ที่วัตรไม่ร้าง วัตรไม่ร้างหมายถึงว่า เราต้องสวดมนต์เช้า เราสวดมนต์เช้า เราทำบุญตักบาตร วัตรเราเคยปฏิบัติอยู่ วัตรไม่ร้าง วัดใจเรา พอเราวัดใจเรา พอทำปั๊บ ถ้าไม่ทำขาด ขาดข้อวัตร
ถ้าเราทำบ้างไม่ทำบ้าง มันก็วัตรร้างบ้างไม่ร้างบ้าง วัตรร้างหรือไม่ร้างมันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราปฏิบัติมันมีเครื่องอยู่ ดำเนินใจของเรา วัตรเราไม่ร้าง พอวัตรเราไม่ร้าง เครื่องวัตรปฏิบัติเราก็มีขึ้นมา นี่คนจะเข้มแข็งขึ้นมาจากกฎกติกาที่สร้างขึ้นมา กฎกติกาของตัวเราเอง เราตั้งกติกา อย่างเช่นในพรรษานี่เราตั้งกติกาว่าเราจะทำอะไรบ้าง นี่วัตรปฏิบัติของเรา ถ้าวัตรปฏิบัติของเราคงที่อยู่ เราปฏิบัติได้ เราก็มีเครื่องดำเนิน มันก็มีความสวยงามมีอาภรณ์ประดับใจ วัตรนี้ไม่ร้าง มีอาภรณ์เป็นเครื่องประดับใจ มีข้อกติกากับเรา ถ้าวัตรเราปล่อย เราขาดไป วัตรเราไม่สมควร นี่วัตรใจ
วัดวาอารามนั้นอย่างหนึ่ง วัดใจของเราอย่างหนึ่ง ถ้าใจเรามีข้อวัตรปฏิบัติของเรา นี่เสริมขึ้นมา เสริมขึ้นมา เสริมขึ้นมา มันมีตรงนี้ขึ้นมาด้วย ถ้ามีตรงนี้ขึ้นมาเราก็ตั้งตนได้ ตั้งตัวได้ ตั้งตัวแล้วก้าวเดินไปเรื่อยๆ ตั้งตัวได้นะ กับล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานเลย แม้แต่วัตรปฏิบัติก็ไม่มี เฉๆ ไฉๆ ไปตามแต่กิเลสมันจะว่าไป แล้วบอกว่านี่ปฏิบัติธรรม
แต่ว่าวัตรปฏิบัติ ผิดมันรู้ไง วัตรปฏิบัติมันมีข้อวัตรปฏิบัติอยู่ เวลาผิดจากกติกาที่เราตั้งของเราไว้ เรารู้แล้วว่าเราผิดอะไรไป อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้วตนเท่านั้นมีความสุขขึ้นมาก่อน ถ้าตนยังพึ่งไม่ได้ มันทุกข์ร้อน แล้วใครจะมาพึ่ง? ไม่มีคนจะมาพึ่งคนทุกข์ร้อนหรอก คนที่จะพึ่งหวังว่าคนนั้นมีความสุขแล้วจริงถึงจะมาพึ่งคนนั้น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เรามีของเราขึ้นมาก่อน แล้วพอเรามีขึ้นมาแล้วเรามีความสุขก่อน
จากความทุกข์ๆ ร้อนๆ นั้นน่ะ จากที่ว่าเราอาบแต่น้ำร้อน เห็นไหม เราก็อาบน้ำเย็น เราไม่เคยมีร่างกายร้อนอยู่แล้ว เจอของร้อนซ้ำเข้าไปอีก แต่ถ้าเราร้อนอยู่แล้วมีของเย็นเข้ามา นี่เราสุขก่อนแล้ว
๑. เราปฏิบัติได้
๒. เรามีความสุข เรายืนของตัวเราเองได้
สุขอันนี้สำคัญที่สุดเลย สุขคือว่ามันไม่กังวลใจ ใจนี้อิ่มใจนี้เต็ม ใจนี้ไม่มีสิ่งที่กดถ่วงมัน นี่มันสุขแล้ว มันถึงจะชี้นำคนอื่นได้ไง นกกาจะอาศัยต้นไม้ที่ยืนต้น นกกาไม่อาศัยยอดหญ้าหรอก มันเกาะไม่ได้ นี่เหมือนกัน ถ้าใจเรายืนอยู่ได้มันจะไปเป็นที่อาศัยของใคร? อาศัยของหัวใจเราก่อน อาศัยจิตที่ตั้งมั่นก่อน จิตนี้ไม่วอกแวกก่อน จิตนี้ไม่กินทุกอย่างที่เป็นความทุกข์เข้ามาเป็นในใจนั้น จิตนี้มันจะเลือกแยกแยะกินแต่สิ่งที่เลือกแยกแยะกิน หมายถึงว่ามันเสวยอารมณ์ไง มันเสวยอารมณ์แต่ที่ว่าไม่ทำให้มันยอกใจ อารมณ์ของตัวนั้นไม่มีความทุกข์ร้อนยอกใจอยู่ในใจของมัน มันเสวยอารมณ์อย่างนั้นมันก็ไม่มีความเผ็ดร้อนในใจของมัน นี่ตั้งมั่นแล้ว มันก็อยู่กับตัวมันเอง สุขของมันในใจนั้นก่อน
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราต้องมีคตินะ มีคติ มีคติสิ่งประจำใจ มีโอกาส ให้โอกาสตัวเอง บีบรัดตัวเองเกินไป บางทีมันก็ทำให้เร่งบีบรัดตัวเองมันก็เกร็งไง ความเกร็งเกินไปกับความผ่อนคลายเกินไป มัชฌิมาปฏิปทามันของใครของบุคคลนั้น เราดูโอกาสของเรา แล้วเราพยายามทำของเราให้มันสืบต่อเนื่องไป การปฏิบัติจะมีเหตุมีผลเพราะการปฏิบัติสืบต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน เอวัง
เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์
แสงหิ่งห้อยปัญญาไม่สว่างพอ ปัญญาแสงหิ่งห้อยคือปัญญาเล็กน้อย ปัญญาที่ไม่สามารถ ปัญญาแสงหิ่งห้อยแล้วเป็นปัญญาแสงฟ้าแลบ มันเป็นปัญญาแบบแสงตะวัน เห็นไหม กว้างต่างกัน
ปัญญาแสงหิ่งห้อย คือปัญญาที่จวนเจียน ยังไม่ถึงขั้นของปัญญาสมุจเฉทฯ ได้ ปัญญาที่ยังสู้กับกิเลสไม่ไหว
ปัญญาของแสงฟ้าแลบ เป็นปัญญาที่แข็งกล้าขึ้นไป
ปัญญาของการข้ามพ้นกิเลส ปัญญาของตะวัน ที่ขึ้นมาแจ้งแทงตลอด หมดทั้งจักรวาล หมดทั้งโลกเห็นสว่างไสว เห็น รู้เท่า รู้ทัน รู้จนไม่เห็นมีอะไรปิดในสายตาที่ยาวไกลออกไปได้ สายตามองเห็น (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)