เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ. โพธาราม จ. ราชบุรี
พูดธรรมะนะ แต่ธรรมะมันก็มีธรรมะกับอธรรม อำนาจโดยธรรมพระเจ้าอโศกมหาราชเวลาทำสงครามอำนาจโดยอาวุธ อำนาจเกิดจากปากกระบอกปืนไม่ยั่งยืนเพราะเกิดจากความกลัว มันกดความกลัวไว้นะ แต่ถ้าอำนาจโดยธรรมความถูกต้องดีงาม เห็นไหม เราพอใจสิ่งนั้นเพราะมันถูกต้อง มันสุจริต
สุจริตธรรมจะคุ้มครองเรานะ แต่ความสุจริตเรานี่ทำได้ยาก เพราะอะไร เพราะเรามีความขับดันในใจ กิเลสของเรามีความขับดันในหัวใจนะ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ดีทั้งนอก ดีทั้งใน
ดีทั้งนอกคือมารยาทสังคม คือความเป็นไปของสังคม ถ้าเป็นสังคมคือใส่หน้ากากเข้าหากัน แต่การใส่หน้ากากเข้าหากันก็ยังดีกว่าทำร้ายกัน เพราะว่าอะไร สิ่งที่ใส่หน้ากากเข้าหากันเพราะมันขัดข้องหมองใจแต่เราแสดงออกไปไม่ได้ เราต้องแสดงออกไปด้วยคุณธรรม แสดงออกไปด้วยความเมตตา
ถ้าความเมตตาจากภายใน นี่มันดีทั้งนอกดีทั้งใน ถ้าข้างในดีนะ มันมีความเมตตา มีความกรุณา สิ่งต่างๆ มันมีที่พึ่งอาศัยได้ถ้าคนที่มีอำนาจโดยธรรม แต่ถ้าอำนาจโดยอธรรม เห็นไหม ข้างในมันขุ่นข้องหมองใจ ข้างในมันต้องการอำนาจ แต่การแสดงออกต้องการให้มันชอบธรรม.. ถ้าชอบธรรมและไม่ชอบธรรม เราจะทำสงครามโดยความไม่ชอบธรรม ไม่มีใครเขาร่วมด้วยหรอก ถ้าทำสงครามโดยความชอบธรรม เห็นไหม ทุกคนต้องความชอบธรรม แต่ความชอบธรรมของใครล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรื่องของธรรมะ เห็นไหม ธรรมะ! ธรรมะ! ธรรมะมันมีธรรมะฝ่ายขาวและธรรมะฝ่ายดำ.. ธรรมะฝ่ายดำ อกุศลก็คือธรรมะอันหนึ่งนะ อกุศล ความโกรธนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความเป็นไปนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเป็นธรรมะ ธรรมะด้วยความโกรธใช่ไหม ธรรมะด้วยปากกระบอกปืนใช่ไหม ธรรมะด้วยอาวุธใช่ไหม ธรรมะด้วยความข่มเหงกันเหรอ? ธรรมะมีแต่ความเจือจานกัน มันเสียสละกัน แต่ความเสียสละมันเสียสละจากภายใน เพราะความเสียสละ นี่โดยธรรมชาติของกิเลสมันไม่ยอมรับใครหรอก
ธรรมชาติของกิเลส เห็นไหม การยอมรับ.. ครูบาอาจารย์ของเราท่านบอก ท่านลงใจหลวงปู่มั่น ลงใจหลวงปู่เสาร์ ความลงใจของเรากิริยาของคน เวลาหลวงตาท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ ท่านบอกเลยนะเวลาหลวงปู่มั่นท่านถึงวาระสุดท้ายของท่าน ท่านบอกว่า ป่วยคราวนี้จะไม่หายหรอก เหมือนต้นไม้ตายยืนต้น จะรดน้ำพรวนดินขนาดไหนมันก็ไม่ฟื้นหรอก เพราะท่านเป็นวัณโรค สมัยนั้นวัณโรคยังไม่มียารักษา ท่านบอกท่านอุปัฏฐากอยู่ไง
คนอายุ ๘๐ เป็นวัณโรคมันก็แสดงกิริยาของมัน กิริยาของขันธ์ กิริยาของการที่เจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม มันเกิดด้วยความสงสัย ท่านบอกมันสงสัยขึ้นมาว่า อืม.. ท่านเผลอหรือเปล่าเนาะ คือพระอรหันต์จะเผลอหรือเปล่าไง มันจะมีความคิดขึ้นมา
ถ้าเราลงใจแล้วกิริยาจากภายนอกนี่เราเข้าใจไม่ได้ เราเข้าใจสิ่งนั้นไม่ถึงไง เราเข้าใจกันว่าพระผู้ที่พ้นจากทุกข์ไปแล้ว ร่างกายมันเหมือนกับวัตถุอันหนึ่ง คือมันไม่มีชีวิต ไม่มีความรับรู้ใดๆ เลย มันต้องมีอยู่ในความคาดหมายของเรา คืออยู่ในความสงบเสงี่ยมตลอดเวลา แต่มันเป็นธรรมดาของมัน เห็นไหม อย่างเส้นเอ็นนี่เวลามันกระตุกของมัน มันเป็นธรรมชาติของมัน แต่เราจะไปควบคุมมันได้อย่างไร
นี่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ภาราหะเว ปัญจักขันธา พระอรหันต์ ธาตุขันธ์นี้เป็นภาระ แต่ของเราธาตุขันธ์เป็นมาร เพราะใจของเราเป็นมาร เห็นไหม นี่ข้างในเราไม่ดี ข้างในของเรามันต้องการแรงปรารถนา มันไม่ต้องการให้สิ่งนี้เป็นไป แต่มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แต่ถ้าข้างในนี้ดีมันเข้าใจไง มันปล่อยวางได้หมดแล้ว พอมันปล่อยวางนี่มันเศษเหลือทิ้งอยู่ อย่างเช่นเทียน เวลาคนหมดอายุขัย คนเราหมดอายุขัยคือเทียนเราจุดจนหมดเล่มไป เวลาเราประสบอุบัติเหตุ เรายังไม่ถึงอายุขัยของเราเทียนมันดับกลางเล่ม เริ่มต้นจุดมันก็ดับ สิ่งที่เหลืออยู่
นี่พูดถึงผลของวัฏฏะ ผลของการเกิดและการตาย เราประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน พอเราชำระกิเลสของเราหมดสิ้นไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ สอุปาทิเสสนิพพาน สิ่งที่หมดอายุขัยนี่มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเหลือเศษแล้วมันเป็นผลของวัฏฏะ กาลเวลามันคร่อมกัน กาลเวลา ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับเทวดาเขา ๑ วัน นี่เทวดาในพระไตรปิฎก มาเที่ยวสวนกัน มาเก็บดอกไม้กัน แล้วคนหนึ่งหายไป มาเกิดในชีวิตหนึ่ง ๑๐๐ ปีกับ ๑ วันไง พอกลับไปตอนบ่าย ไปไหนมาเนี่ย มาเกิดแล้วหนึ่งอายุขัย ๑ ชีวิต
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่อายุขัยมันคร่อมกันอยู่ ทีนี้เวลาเราประพฤติปฏิบัติจนหมดสิ้นกิเลส เห็นไหม เทียนเวลาจุดแล้วลมพัดทั้งไส้ทั้งเทียนมันดับไปเพราะมันทนแรงลมนั้นไม่ได้ แต่เวลาสิ้นกิเลสไปไส้มันไหม้หมดไปเลยในเทียนนั้นเลย แต่เทียนนั้นยังอยู่ไง ไส้ไหม้หมดไปแล้ว กิเลสตัณหาความทะยานอยากโดนธรรมะทำลายสิ้นไปแล้ว มันเหลือแต่เศษทิ้งไง เทียนนั้นก็จุดไม่ได้ ต่างๆ ก็จุดไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น
ร่างกายของพระอรหันต์มันเป็นสภาวะแบบนั้น นี่ถ้าใจเป็นธรรม เห็นไหม แต่เราเข้าใจได้ไหมล่ะ เราเข้าใจสภาวะสิ่งนั้นไม่ได้ มันเหนือการคาดหมายไง นี่ธรรมะเหนือธรรมชาติ ธรรมชาติคือการคาดหมายได้ ธรรมชาติสิ่งที่พิสูจน์ได้โดยทฤษฏี ด้วยการวิจัย
แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ลึกลับซับซ้อนมหัศจรรย์นัก นี่ไงถึงว่าถ้าเราลงใจของเรานะ พอลงใจแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมา มันเหมือนเรามองภาพในแง่บวก สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเรามองภาพในแง่ลบ.. ทีนี้คำว่ามองภาพในแง่ลบ มองภาพในแง่บวกนี้ นี่มันเป็นการฝึกหัดดัดนิสัยนะ แต่ในแง่บวกและแง่ลบเพราะคุณค่าของมันมีในตัวมันใช่ไหม ลบก็คือลบ บวกก็คือบวก มันมีคุณค่าของมัน
ทีนี้เรามาปฏิบัติของเราขึ้นมา ใจเราสงบขึ้นมาแล้วเราต้องพิจารณาของเรา เพราะแง่ลบมันก็จะให้ผลลบกับเรา ถ้าแง่บวกมันจะให้ผลบวกกับเรา แล้วเวลาสิ้นกิเลส เวลาจิตใจประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เวลามันข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว มันข้ามพ้นแง่บวกและแง่ลบทั้งหมดเลย เพราะแง่ลบมันก็ให้ผลในแง่ลบไป แง่บวกก็ให้ผลในแง่บวกไป เพราะนี่ผลของวัฏฏะ
ผลของวัฏฏะคือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว! แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติมันทำดีหรือเปล่าล่ะ มันดีเหนือดี เพราะอะไร เพราะทางโลกเขาทำหน้าที่การงานกัน เขาก็ทุกข์ของเขาโดยธรรมชาติของเขา แล้วเวลาเดินจงกรมเป็นงานหรือเปล่า เป็นงานชำระกิเลส งานรื้อค้น งานถอดถอน มันเป็นงาน นี่ไงปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ใครจะมาเจ็บไข้ได้ป่วยกับเรา ใครจะมาเดือดร้อนกับเรา
มีเราเท่านั้นใช่ไหม เราทั้งเหนื่อยทั้งทุกข์ทั้งยากเราทำของเรา แล้วใครเป็นคนทุกข์ล่ะ เพราะความพอใจหรือไม่พอใจ ถ้ามันสุขล่ะ ถ้าจิตมันลงขึ้นมาล่ะ ไม่ใช่ว่าเดินแล้วมันจะทุกข์ไปหมดนะ กิริยาคือกิริยา ถ้าจิตมันลงมันย้อนกลับเข้ามาถึงตัวมัน นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าท่านบรรลุธรรมขึ้นมานะ ทุกคนบอกว่า ทำไมเราโง่ขนาดนี้! ทำไมเราโง่ขนาดนี้! มันรำพึงขึ้นมาทุกทีเลย
ของมันอยู่กับเรานี่แหละ ของมันเป็นอยู่กับเรานี่แหละ แต่เรารู้มันไม่ได้เลย แต่พอรู้ขึ้นมาว่า ทำไมเราโง่ขนาดนี้ ก็โง่สิ! เพราะกิเลสมันคุมอยู่ทำไมมันไม่โง่ มันโง่อยู่วันยังค่ำแหละ โง่เพราะกิเลสอวิชชา ตัณหาความทะยานอยาก มารมันครอบงำอยู่ไง แต่ถ้าเราต่อสู้กับมัน เพราะเราต่อสู้กับมาร เราต่อสู้กับตัวของเราเอง เวลามันสุขมันก็สุขของมันเอง มันทุกข์มันก็ทุกข์ด้วยตัวเอง
เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาเพื่ออะไร ดูสิเวลาเขาทำงานกันต่างๆ เห็นไหม สิ่งต่างๆ เขาต้องการความสมดุลของมัน ถ้ามันสมดุลลงตัวของมัน มันก็สิ้นขบวนการของมันใช่ไหม
นี่ก็เหมือนกัน ในการทำสมาธิ ภาวนาของเรา ถ้ามันสมดุลของมัน มันลงตัวของมัน เห็นไหม แต่ความลงตัวนั้นใครเป็นคนทำให้มันลงตัวล่ะ การลงตัวนั้นทำให้ลงตัวก็เพราะเราต้องพยายามของเรา เอาชนะตนเอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นี่อำนาจโดยธรรม เราประสบเอง เราประสบโดยความชอบธรรม
ถ้ามันเป็นอธรรม มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นผิด มันเป็นธรรมฝ่ายดำ ทำสมาธิภาวนาเหมือนกัน เห็นไหม เวลาจิตสงบขึ้นมา จิตมันลงขึ้นมานี่ฌานโลกีย์ มันมีฤทธิ์มีเดช ทำไมเทวทัตเขาเหาะเหินเดินฟ้าได้ นี่ฌานโลกีย์ ทำไมเขามีความตั้งใจจงใจว่าจะเอาอชาตศัตรูไว้ในอำนาจ นี่แปลงเป็นงูไปบนศีรษะให้อชาตศัตรูมีอำนาจของตัว พออชาตศัตรูกลัวขึ้นมา เพราะว่าพอคิดการกระทำ พอคิดว่าจะปกครองสงฆ์ จะทำลายพระพุทธเจ้า จิตคิดเดี๋ยวนั้นเสื่อมหมดเลย คุณธรรมในหัวใจหมดเลย ต่อไปทำอะไรไม่ได้เลย
เทวทัตเสื่อมลาภ บิณฑบาตก็ไม่มีใครใส่บาตร พอไม่มีใครใส่บาตร เห็นไหม ให้ลูกศิษย์ของตัวไปขออาหารจากญาติพี่น้องของตัวเองมาแล้วล้อมวงฉัน ฉันเป็นคณะโภชนะ เพราะเทวทัตเสื่อมลาภ
พระภิกษุสมัยพุทธกาลฉันอาหารเป็นของส่วนบุคคล ไม่ให้ฉันเหมือนคฤหัสถ์เขา ฆราวาสเขาล้อมวงกิน แต่เวลาพระฉันนี่แยกออกมา เพราะไม่ฉันเหมือนเขา เทวทัตเสื่อมลาภได้ขออาหารจากญาติของลูกศิษย์มา แล้วฉันเป็นคณะโภชนะ พอฉันเป็นคณะโภชนะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แล้วมีคนไปเห็นก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าเพราะพอจิตมันคิดขึ้นมา พอจิตมันคิดอกุศลเกิดขึ้นนี่หมดเกลี้ยงเลย คุณธรรมในหัวใจหมดเลย แล้วไม่มีใครสนใจ เห็นไหม พยายามแสวงหาของตัวขึ้นมา
นี่ถ้าพูดถึงเป็นอธรรมมันทำลายจากหัวใจ ทำลายจากภายใน แม้แต่คุณธรรมที่มีอยู่ฌานโลกีย์ ดูสิสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ สัมมาปัญญา มิจฉาปัญญา ถ้าสัมมา! สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง มรรคญาณมันรวมตัวเป็นธรรมจักร จักรมันหมุนเข้าไป มันไปทำลายกิเลสไง
แต่ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดมันเป็นกงจักร เห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันทำลายตัวเราก่อน เพราะกงจักรมันทำลายเราก่อน กงจักรมันออกไปข้างนอก มันไม่หมุนกลับมาทำลายตัวมันเอง มันหมุนไปข้างนอกมันก็ไปเอาผลประโยชน์จากข้างนอก มันไปทำลายจากข้างนอก นี่อธรรม!
อย่าเข้าใจว่าปฏิบัติธรรมหรือว่ามันจะเป็นธรรมะนะ ดูเวลาปฏิบัติไปมันจะเป็นธรรมะหรือเป็นอธรรมล่ะ ถ้าเป็นอธรรมมันจะทำให้เราเสียโอกาส แต่โดยธรรมชาติ โดยสัจธรรม ในหัวใจเรามีกิเลสกับธรรม คือทุกคนใฝ่ดีอยากดี แต่การใฝ่ดีอยากดี แล้วดีจนเกินดีไป
ดูเทวทัตสิ บอกพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าชราภาพมากแล้ว อย่าปกครองสงฆ์เลย จะปกครองให้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เทวทัต.. แม้แต่ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของเรา เรายังไม่ให้เลย เราจะให้เทวทัตปกครองได้อย่างไร เราไม่ให้เทวทัตปกครองหรอก เราจะให้สงฆ์ปกครองกันเอง แล้วให้ธรรมวินัยเป็นศาสดา
ให้สงฆ์ปกครองคือมีธรรมและวินัยนี้ แล้วให้ทุกคนปกครองกันด้วยความเป็นธรรม แต่ถ้ามันเป็นอธรรม เห็นไหม มีพระสมัยพุทธกาล เวลาธุดงค์ไปเจอชาววัชชี เวลาโยมจะใส่บาตรให้เอาเงินเอาทองใส่บาตรไง นี่ไม่รับๆ พอไม่รับก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า เห็นไหม ถ้าปกครองเองถ้าความเห็นผิดไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าให้พระสารีบุตรไปไล่ออกไปเลย ให้ทำพรหมทัณฑ์ ไม่ให้อยู่ในพื้นที่นั้น เพราะภิกษุที่อยู่ในพื้นที่นั้นคุ้นชินกับพื้นที่นั้น นี่มันเกิดอำนาจโดยอธรรม
แต่ถ้าเป็นอำนาจโดยธรรมนะ มันพิสูจน์ได้ มันตรวจสอบได้ พระที่ไหนมาก็แล้วแต่ มันจะเหมือนกันหมดแหละ เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยกล่าวตู่พุทธพจน์ ภิกษุตั้งญัตติสวดถึง ๓ หน ถ้าไม่กลับความเห็นนั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสส แม้แต่กล่าวตู่พุทธพจน์ เห็นผิดในธรรมวินัย ถ้ามีพระเตือนแล้วถ้าไม่เห็นตามนั้นมันจะมีไป
นี่อำนาจโดยธรรมและอำนาจโดยอธรรมนะ แต่นี้มันเป็นสิ่งสังคมภายนอก แต่อำนาจโดยธรรมในหัวใจของเรา เราต้องประพฤติปฏิบัติของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อเป็นความจริงของเรา มันพิสูจน์ตรวจสอบได้นะ ในมงคล ๓๘ ประการ อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ไม่คบคนพาลให้คบบัณฑิต นี่ธรรมะสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง เวลาสนทนาธรรมเป็นมงคลชีวิต
เวลาสนทนาธรรมกันนี่ตรวจสอบกัน สมัยหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเล่าประจำ ถ้ามีพระออกจากป่ามารายงานผลการปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะตอบโดยส่วนตัวไปก่อน สุดท้ายแล้วท่านจะเทศนาว่าการ เพราะอะไร เพราะเอาสิ่งนั้นให้หมู่คณะได้ยินได้ฟังด้วย เพราะมันเป็นประสบการณ์ของพระองค์นั้นที่ออกมาจากป่า มีปัญหาขึ้นมาจะมาถามไง มาถามเพราะอะไร เพราะหลวงตาท่านเตือนพระประจำ ถ้าเราพยายามทำของเราไป อย่างน้อยเสียเวลา เพราะความเห็นของเรา เราจะแก้
ดูสิเวลามีความเห็นผิด สิ่งใดที่ข้องใจเรา ที่เรามีความเห็นผิด กว่ามันจะกลับใจได้มันใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าเรามีความเห็นผิดใช่ไหม รู้เท่าไม่ถึงการณ์ รู้เข้าใจผิด กว่าเราจะรู้จริงขึ้นมา แต่คนที่มีประสบการณ์แล้วบอกว่ามันทำให้เวลาลัดสั้นเข้ามา
๑. ทำให้เสียเวลา
๒. ถ้าเราไม่เข้าใจ โดยความเห็นโดยมารของเราเห็นว่าความเห็นผิด ความเห็นที่เป็นประโยชน์นี้เป็นประโยชน์กับเรา นี่มันจะออกนอกทางไปเลย
๓. หมดโอกาสไปเลย
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์อยู่นี่มันตรวจสอบได้ เราตรวจสอบในพระไตรปิฎก ใครก็อ้างพระไตรปิฎกหมดแหละ พระไตรปิฎกแล้วตีความ เพราะความเห็นของเราว่าพระไตรปิฎกต้องเหมือนเรา เหมือนกฎหมาย นักกฎหมายตีความตลอด นักกฎหมายตีความตามความเห็นของตัว จะเอาตามความเห็นของตัวให้ได้
นี่ก็เหมือนกัน พระไตรปิฎก ทุกคนกิเลสมันตีความ พระไตรปิฎกไม่ให้โทษไม่ให้คุณกับใครเลย แต่ไอ้คนตีความตีความเข้ามาไง อธรรม! แต่ถ้าเป็นธรรมะเราตรวจสอบได้ นี่ตรวจสอบของเราว่ามันจริงหรือไม่จริง ถ้ามันจริงของเราขึ้นมานี่สันทิฏฐิโก มันจริงของเราอยู่แล้ว นี่มันเป็นปัจจัตตัง ประสบต่อซึ่งๆ หน้าเลย
ถ้าธรรมะเป็นธรรมมันจะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราตรวจสอบได้ แล้วเปิดเผยได้ทุกที่ ไม่ต้องหมกเม็ด ไม่ต้องแอบซ่อน นี่ความจริงไง ความจริงเปิดเผยที่ไหนก็ได้ แต่ คนพูดจริงนี่ตายหมดเลย เพราะมันพูดผิดกาลเทศะ คนพูดจริงมันก็ต้องอยู่ในสังคมของบัณฑิต ถ้าคนพูดจริงในสังคมของโจรนะ คนพูดจริงจะไม่มีใครรับหรอก คนจะพูดจริง คนจริงมันต้องรู้ มีสติมีปัญญา ควรหรือไม่ควร เวลาใดควรเป็นประโยชน์กับสังคมและไม่เป็นประโยชน์กับสังคม
สังคมนี่คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก? คนโง่มันมาก ขนโคกับเขาโค ขนโคมันมาก แล้วเขาโคกับขนโคเปรียบเทียบกันมันก็แตกต่างกันมหาศาลแล้ว แต่ขนโคมันไม่รับเพราะมันหาไม่ได้มันมีแต่ขน เขามี ๒ เขา เห็นไหม กาลเทศะถึงเวลาหรือไม่ถึงเวลา นี่วุฒิภาวะของใจก็แตกต่าง การประพฤติของคนก็แตกต่าง อำนาจวาสนาของคนก็แตกต่าง นี่ถ้ารู้จริงแล้ว ควรพูดก็พูด ไม่ควรพูดเราเก็บไว้ก่อน ถ้าถึงกาลเวลาแล้วเขาสนใจแล้วถึงจะพูด ถึงควรจะเป็นประโยชน์กับเรานะ
สิ่งที่ว่าดีนอกดีใน ดีนอกเราก็เห็นสังคมจากข้างนอกนะ แล้วมันเป็นประโยชน์กับเรามากไหม เราต้องอาศัยสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่กับเขา เราอยู่กับโลก ดีในของเรานี่จริงหรือเปล่า สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมา ทำมานี่มันจริงหรือเปล่า ถ้ามันจริงมันจะมีความสงสัยไหม ถ้าไม่สงสัยมันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ
แล้วถ้ามันดีใน นี่ดีนอกดีในถึงจะเป็นความดีแท้ ธรรมและวินัย เห็นไหม เหตุและผลรวมลงแล้วเป็นธรรม ทั้งเหตุทั้งผลพิสูจน์ตรวจสอบแล้ว ถ้ามันเป็นความจริงแล้วนี่มันถึงเป็นธรรม เอวัง