ภูมิจิต-ภูมิธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน คนเราเกิดมาจากกรรมแต่เป็นกรรมดี กรรมดีพาให้เกิด เกิดแล้วพบพระพุทธศาสนา กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน เกิดแล้วทุกคนปรารถนาความสุขทั้งหมด ปรารถนาความสุข ความสุขโดยธรรมชาติคือความเป็นเด็กๆ ความสุขของเด็ก ความสุขของเด็กที่มีความสุขของเขา ความสุขแบบไร้เดียงสาไง โลกนี้ให้อภัยกับเด็กทุกคน โลกนี้เห็นเด็กแล้วเป็นสิ่งที่ว่าน่าทะนุถนอม เพราะว่าจะเป็นผู้ที่ฝากชีวิต ฝากทุกอย่างไว้กับเด็ก เพื่อเด็กจะดำรงสืบต่อไป แต่ผู้ใหญ่ เห็นไหม ผู้ใหญ่ก็มาจากเด็ก ตอนเป็นเด็กมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ ไร้เดียงสา แต่โตขึ้นมาล่ะ โตขึ้นมาก็มีความทุกข์ความขัดข้องใจอยู่ในหัวใจ
กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดไป มันเป็นอำนาจของกรรม สิ่งที่เราทำไว้ต่างหากถึงได้สิ่งที่เราประสบ สิ่งที่เราไม่ได้ทำไว้ เราพยายามขวนขวายขนาดไหนมันก็ไม่ได้อย่างสมหวัง ความสมหวังไม่สมหวังนั้นเป็นตัณหาความทะยานอยาก
ความตัณหาความทะยานอยาก ถ้าโลกว่าอันนั้นสิ่งที่ถูกต้อง มันมีไฟไง มีไฟ สิ่งที่มีไฟทำให้คนนี้เจริญรุ่งเรือง คนหมดไฟ คำว่า หมดไฟ แต่อันนั้นมันเป็นความคิดของเขานี่ คนมีไฟไม่มีไฟ อันนั้น ดูสิ คนแก่หรือคนหนุ่มก็แล้วแต่ ถ้ายังมีความคิดริเริ่มทำไป ความคิดอยู่ในหัวใจ นั่งอยู่เฉยๆ ผู้บริหารคิด แค่เซ็นชื่อครั้งเดียวนะ ผู้ที่ปฏิบัติตาม ปฏิบัติตามไม่หวาดไม่ไหวเพราะโครงการนั้นใหญ่มาก
ผู้ที่แน่น ความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้าไง อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้านะ ความนิ่งอยู่ของผู้รู้ กับความนิ่งอยู่ของผู้ไม่รู้ไง ความนิ่งอันนั้น เห็นไหม เราว่าหมดไฟ ไฟไหนมันจะหมด ในเมื่อชีวิตนี้ เห็นไหม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน จิตนี้เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้มันเป็นไฟเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา เผาผลาญในหัวใจนั่นน่ะ ไฟอันนั้นว่ามันจะหมดไฟ มันจะหมดที่ไหนในเมื่อมันยังมีเศษมีส่วน มีความเร่าร้อนอยู่ในหัวใจ มันมีกิเลสให้ชำระเผาอยู่ตลอดเวลา มันจะหมดไฟไปไหน ไฟมันเผาอยู่โดยธรรมชาติของมัน
โทสัคคินา โมหัคคินา เห็นไหม เป็นโทสะ โมหะ มันเป็นไฟอยู่ตลอดเวลา จะละเอียดอ่อนหรือจะหยาบขนาดไหนก็แล้วแต่ อย่างเด็กนี่โดนขัดใจมันแสดงออกทันทีเลย เพราะอะไร เพราะความไร้เดียงสา ความเก็บของตัวเองมันไม่เป็น แต่พอเราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เราจะเก็บซ่อนเก็บงำของเรา เพราะสังคมสอนมา สังคมสอนมาให้เราเป็นไปอย่างนั้น สังคมสอน สัญชาตญาณมันสอนขึ้นมา ความกระดากอายของเราสอนขึ้นมา อันนั้นเป็นวุฒิภาวะของใจ
ใจเด็กๆ ไง การเกิดมานี่ใจเด็กๆ ใจของเด็ก เด็กมันสะอาดมันบริสุทธิ์ แล้วมันก็สะสมไว้ด้วยการศึกษา การศึกษาเพื่อมาแยกส่วนออกว่าโลกนี้คืออะไร เห็นไหม โลกนี้คืออะไร โลกนี้ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ สีเขียว สีแดง เด็กสะสมมาแล้วแบ่งแยกมัน เราฝึกฝนสังขารตัวนี้มาเป็นปัจจุบัน เราฝึกฝนสัญญา สังขาร ความจำ ความปรุง ความแต่งของเด็ก เด็กคนไหนได้การศึกษาจะเจริญจะดีหรือไม่ดี มันก็มีตัวนี้เราศึกษาเข้าไป
อันนี้เป็นสังขารใหม่ เป็นขันธ์ใหม่ใส่เข้าไป แต่มันมีเชื้อของดั้งเดิมมาจาก...เพราะจิตนี้ไม่ได้เกิดมาชาติเดียว นี่กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน เพราะอันนี้ การเกิดการตาย เห็นไหม เพราะเราเป็นเด็ก พอเป็นเด็กขึ้นมาก่อนแล้วมาเป็นผู้ใหญ่ เราสะสมมาเราก็ต้องการให้เด็กหรือสิ่งที่เราควบคุมอยู่ให้เป็นเหมือนเรา แต่มันจะเป็นไปไม่ได้เพราะว่ากรรมจำแนกสัตว์มาอันนั้นต่างหาก อันของเดิมของเขา สัญชาตญาณของเขา ความชอบความเป็นไป ไอคิวต่างๆ มันมีสะสมมา กรรมอันนั้นสะสมมา แล้วปัจจุบันนี้เข้าไปอีก เพิ่มเข้าไป มันจะไปได้ไปดี มันอยู่ระหว่างกรรมเก่ากับกรรมใหม่
เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราว่าเราศึกษามาก เรารู้มาก เราเป็นไป เราจะสอนให้เด็กเป็นตามเราน่ะ มันมุมกลับ ถ้าเอามาปฏิบัติกัน เด็กบางคนอำนาจวาสนาของเขาไม่มี ถ้าอำนาจวาสนาของคนมี มันเกิดมามันจะได้ออกประพฤติปฏิบัติตั้งแต่เด็กๆ ไง ออกตั้งแต่เด็กได้บวชเณรมาได้อะไรเข้ามานี่ เข้ามาอยู่ในพรหมจรรย์เลย มันสะสมมา
แม้แต่พระนาคเสน พระนาคเสนอุตสาห์ต้องไปเอามาเพื่ออะไร? เพื่อเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่ว่าจรรโลงศาสนา ไม่มีใครสามารถเอาพระเจ้ามิลินท์ได้เลย รออยู่ พระอรหันต์สมัยนั้นมากมาย รอว่าใครจะปราบพระเจ้ามิลินท์ได้เท่านั้น รอพระนาคเสน พระนาคเสนต้องเอาตั้งแต่เด็กออกมาบวช ตอนเป็นพราหมณ์อยู่ต้องให้พระไปติดต่อเอามา พยายามล่อเอามา ออกมาบวชเพื่อจะให้มาจรรโลงศาสนา นี่การสะสมมาไม่เหมือนกัน
แต่เรา จิตใจว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เรารู้มาก ความรู้มาก ความสัญญาเก่ามาก มันเหมือนกับหัวใจที่อ่อนแอ หัวใจที่ว่าเราเข้มแข็งกลับเป็นหัวใจที่อ่อนแอ เพราะว่าสิ่งที่เราสะสมเข้ามาในหัวใจเรามันจะทำให้ใจเราฟุ้งซ่านตลอดเวลา มันสิ่งที่เรารับรู้ขึ้นมา สังขาร ไฟ ธาตุรู้นี้เป็นไฟ ไฟมันเผาป่าเผาทุกอย่าง ไฟป่ามันจะเผาจนกว่าหมดเชื้อมันถึงจะดับ แต่ไฟในใจของเรามันกินอารมณ์ กินอารมณ์เป็นอาหาร มันเผาสิ่งที่เกิดขึ้น ซับอยู่ในหัวใจ นี่มันกระทบกัน
สิ่งเป็นสัญญาต่างๆ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สิ่งที่เคยประสบมา มันจะรวมลงอยู่ที่ใจทั้งหมด แล้วโทสัคคินา โมหัคคินา ความเร่าร้อนของใจ ความหลงของมัน มันก็จะต้องเผาสิ่งนี้ เสวยอารมณ์นี้เป็นอาหาร มันจะเผาไหม้กันตลอดเวลา เผาไหม้กันตลอดเวลา ยิ่งมีเชื้อมาก เรายิ่งมีความเก็บไว้มาก มันจะเผามาก พอเผามาก ความว่าจิตใจเข้มแข็ง จิตใจเป็นผู้ใหญ่แล้วจิตใจจะสูงกว่าเด็ก ถ้าเอามาตามธรรม เอามาเทียบกันโดยความสะอาดของความไร้เดียงสา เห็นไหม ไร้เดียงสาของเด็ก กับความเป็นไปของเราของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นหัวใจที่เป็นโรคเป็นภัยมากกว่าเด็ก เด็กนั้นยังสะอาดบริสุทธิ์มากกว่า เชื้อของโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เชื้อของโรคจะมากกว่า
เพราะว่าการสะสมมา ว่าเป็นความรู้ทางโลก แต่พอมาปฏิบัติมันก็จะมาทำให้หัวใจนี้ฟู หัวใจนี้พองอยู่ตลอดเวลา มันเป็นการทำให้หัวใจนี้ไม่มีความสงบไง มันถึงบอกว่ามันเป็นหัวใจที่ว่าเป็นโรคเป็นภัย เป็นหัวใจที่ว่าจะยืนได้แบบเด็กนั้น เด็กนั้นมันไม่รู้ตามความเป็นจริงของมัน เพราะมันไม่รู้จริงๆ มันสะอาดบริสุทธิ์มากกว่า
วุฒิภาวะของใจที่เราเห็นว่า เราเป็นผู้ใหญ่เราน่าจะสูงกว่าเด็ก...สูงกว่าในทางสมมุติ สูงกว่าโดยการยึดมั่นถือมั่นของเราว่าเราเป็นผู้ใหญ่เราจะข่มเด็กไง แต่ในความบริสุทธิ์ ในความสุขของศาสนา ในทางศาสนาว่าดวงใจดวงไหนจะมีความสุขมากกว่ากัน ดวงใจดวงไหนมันจะเป็นดวงใจที่ว่ามันสะอาดบริสุทธิ์มากกว่ากัน เห็นไหม ไร้เดียงสา ไร้เดียงสาภาวะมันบริสุทธิ์ผุดผ่องมากกว่า มันแสดงออกด้วยความบริสุทธิ์ใจของมัน แต่แสดงออกมาอย่างนั้นมันก็เป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ไร้เดียงสาภาวะมันก็ไม่พ้นไปจากอำนาจของอวิชชาหรอก เพราะการเกิดนี้อวิชชาพาเกิด กรรมพาเกิด หัวใจทุกดวงมีอวิชชา คือเจ้าวัฏจักรทั้งหมด
มันถึงว่า ความเข้าใจของเรา วุฒิภาวะของใจ วุฒิภาวะมันจะสูงขึ้นไม่สูงขึ้นอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่าเราเองเราว่าสูงกว่า แต่สูงกว่าด้วยความทุกข์ยาก สูงกว่าด้วยความเร่าร้อนเผาหัวใจอยู่ มันสงบไปไม่ได้ เพราะว่ามันทำความสงบขึ้นมาไม่เป็น เห็นไหม
ทำความสงบของใจ ใจทำความสงบอย่างไร คำบริกรรม คำบริกรรมว่าพุทโธ พุทโธ หรือคำบริกรรมอะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้จิตใจนี้สงบ นี่เป็นพื้นฐานของใจโดยธรรมชาติของมัน ถ้ามันฟุ้งซ่านขนาดไหน จุดที่สุดของความฟุ้งซ่านนั้นมันก็สงบตัวลงโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของมันอยู่แล้วถ้ามันไปจนสุดฤทธิ์สุดเดชแล้วมันก็ต้องผ่อน แต่ผ่อนนั้นมันไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่เป็นไปโดยธรรมชาติอันนั้นเลย
ถึงว่า มีศาสนาก็มาเทียบตรงนี้ไง เทียบว่าจิตที่สงบ จิตที่ไม่ฟุ้งซ่านกับจิตที่ฟุ้งซ่านมันต่างกันอย่างไร จิตที่มันฟุ้งซ่านหรือมันสงบพอใจของเรา จิตบางดวงไม่ฟุ้งซ่านนะ จิตบางดวงสงบเสงี่ยมอยู่ในหัวใจ สงบเสงี่ยมอยู่ภายใน แต่มันก็ไฟสุมขอนเผาอยู่อย่างนั้น มันเป็นความสงบไปโดยความเป็นในเรื่องของความสงบของใจ เป็นศีล สมาธิ ปัญญาไปไม่ได้ มันสงบโดยสัญชาตญาณ โดยบุญกุศล โดยที่การทำมา มันก็เป็นว่าทุกข์มาก ทุกข์น้อย ทุกข์ปานกลางของใจแต่ละดวงไม่เหมือนกัน เห็นไหม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน
แต่ถ้าลองทำความสงบเข้ามาแล้ว ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเป็นเครื่องกำหนดว่าขนาดไหน ขนาดไหนของความสงบที่ควรจะเป็นระดับของมันเข้าไป เห็นไหม นั่นคือความสงบจริง ความสงบจริงนี้มันเป็นสัมมาสมาธิ ความเป็นสัมมาคือความถูกต้อง จิตนี้สงบแล้วจิตนี้ไม่ให้โทษกับใคร ถ้ามันไม่เป็นสัมมานี่มันเป็นมิจฉา จิตนี้สงบ จิตนี้มีพลังงาน เราจะใช้พลังงานนี้ไปทำในสิ่งที่ผิดพลาด สิ่งที่เป็นอกุศลได้ ถึงว่ามันไม่เป็นสัมมา
ความเป็นสัมมาสมาธิมันต้องควรมีศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นระดับพื้นฐานของความสงบขึ้นมาก่อน ต้องมีศีล พอมีศีลนี่ไม่ทำลายข้างนอก มันก็ไม่ทำลายข้างใน จิตนี้เป็นความสงบเข้าไป ความสงบนี้เกิดขึ้น มันเห็นคุณของศีลไง เห็นคุณของศีล แล้วเห็นคุณของการทำความสงบ
จิตนี้ทำความสงบ เราจะทำความสงบอย่างไรให้มันสงบ เราทำความสงบ ฟังสิ ทำไมเราต้องทำความสงบล่ะ เพราะความฟุ้งซ่านมันเป็นความทุกข์ร้อน ความสงบจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสติสัมปชัญญะ เห็นไหม ความสงบโดยปกติพื้นฐานของปุถุชน เรามีสติสัมปชัญญะพอสมควร เราถึงเป็นปุถุชนธรรมดาอยู่นี้ ถ้าสติสัมปชัญญะเราขาดแคลนไปมันจะมีแต่จิตล้วนๆ
เราว่าเราโตขึ้นมาควรจะมีวุฒิภาวะของใจสูงขึ้นๆ วุฒิภาวะนั้นขาดสติไปจนเหลือแต่จิตเฉยๆ แต่ไม่มีสติ เห็นไหม ดูที่ว่าคนที่เขาเสียสติไป จิตเหมือนเรา มีร่างกายมีหัวใจเหมือนกัน แต่ขาดสติสัมปชัญญะของมนุษย์ปุถุชนของเรา ขาดสติไป ทำให้สตินั้นเสียไปเลยนั้น นั่นหลุดออกไปทั้งๆ ที่มีจิตอยู่ จิตเหมือนเรา จิตมี ร่างกายมี มนุษย์เหมือนกัน แต่เพราะว่าเขาขาดสติ ด้วยกรรมของเขาทำมา หรือเขาจะมีกระทบสิ่งใด เขาเป็นไป อันนั้นกรรมของบุคคล
แต่ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว เราถึงรู้ว่า อ้อ! ทุกข์ บ่นอย่างนั้นทุกข์ อย่างนี้ความขัดข้องหมองใจ มีสติอยู่ แต่ไม่เอาสตินั้นมายับยั้งความคิดไง เอาสตินั้นมาพยายามตั้งต้นความคิดของตัวเองแล้วกำหนดพุทโธ คำบริกรรม หรือจะใช้ความคิดย้อนกลับเข้ามา เอาความคิดแก้ความคิดไง ความคิดว่าความคิดสิ่งที่คิดเดิมนั้นไม่ดี ให้คิดละเอียดเข้ามา เห็นไหม คิดสิ่งที่คิดอยู่ภายนอกออกไป หรือมันคิดฟุ้งซ่านด้วยเรื่องของการงานอยู่ แม้แต่เรื่องของงานก็คิดซ้ำกันได้ ว่าปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำงานอยู่ ทำไมเรายังคิดเรื่องงานอยู่
เพราะเวลาคิดงานควรจะอยู่ในหน้าที่การงานถึงคิดเรื่องงาน ขณะที่เราทำความสงบอยู่ควรจะอยู่ในความสงบ ทำไมใจมันไปคิดเรื่องงาน นั่นน่ะ ความคิดหลังไล่ความคิดหน้าไป ความคิดหลังไล่ความคิดหน้า ปล่อยความคิดอันเก่าเข้ามาด้วยสติด้วยสัมปชัญญะเข้ามาเรื่อย ความคิดจะละเอียดเข้ามาจนอยู่เป็นปัจจุบันว่าเราไม่ควรคิดใดๆ เลย สิ่งที่คิดขึ้นมาก็คิดเกิดดับตลอดเวลา นี่การทำความสงบด้วยใช้ความคิดไง ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือจะใช้คำบริกรรมเพื่อทำสมาธิก่อขึ้นมาแล้วทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา
นั่นน่ะ การทำความสงบขึ้นมาในหลักของศาสนา ในหลักของพื้นฐานของจิตที่สงบกับจิตที่ฟุ้งซ่าน มันจะเห็นไง จิตที่ฟุ้งซ่านคือว่า จิตที่ฟุ้งซ่านด้วยยังถือทิฏฐิมานะว่าตัวเองรู้ ตัวเองเป็นผู้นำ ตัวเองมีวุฒิภาวะสูงกว่าผู้อื่น จะสั่งสอนผู้อื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองยังสกปรก มีแต่ความทุกข์ในหัวใจ ในหัวใจนี้มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเร่าร้อนอยู่ มันจะเอาอะไรไปสอนใคร มันสอนเขาไม่ได้ แต่มันก็ยังมีทิฏฐิมานะ ความถือว่าสูงกว่าต่ำกว่า
นี่วุฒิภาวะของใจ วุฒิภาวะของใจของผู้ที่ทำความสงบได้ ผู้ที่ทำความสงบได้จะมีความสงบร่มเย็น ก่อนจะทำความสงบเข้าไป ในขณะว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ความคิดไล่ความคิด ความคิดใหม่ไล่ความคิดเก่าๆ จนความคิดย้ำอยู่กับที่ จนความคิดนี้ตั้งเป็นความคิดอยู่เฉย ขันธ์หมุนไปเฉยๆ มันหมุนไปด้วยไม่มีอารมณ์ไง ขันธ์มันหมุนไปเฉยๆ ความคิดมันจะหมุนออกมา แต่มันไม่สืบต่อ ไม่สืบต่อเป็นอารมณ์ออกไป นี่ปัญญาอบรมสมาธิ หรือกำหนดพุทโธๆๆ กำหนดอานาปานสติแล้วแต่ จิตมันสงบเข้ามาๆ ความสงบหมายถึงมันย้ำพุทโธอยู่ตลอดเวลา
เดิมความคิด ขันธ์มันหมุนไปเฉยๆ แต่มันมีอารมณ์ต่อเนื่องไป นี่มันเผา โทสัคคินา โมหัคคินา มันเผา มันกินเชื้อ เชื้ออันนี้ไง เชื้อมันหมุนออกไปเป็นอารมณ์ออกไป ขันธ์นี้หมุนไป หมุนไปเฉยๆ แล้วมันเผาอารมณ์ออกไป เผาสัญญา เผาความคิด สังขารความปรุงความแต่งมันเผาอยู่ตลอดเวลา แล้วกำหนดพุทโธๆๆ เห็นไหม มันต่างกัน
คำว่า พุทโธ มันเป็นเชื้อเหมือนกัน มันเป็นอารมณ์ที่ต้องเกิดขึ้นมา วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ องค์ของปฐมฌาน นึกขึ้นมานี่มันวิตก แบ่งแยกพุทโธวิจาร วิตก วิจาร...วิตก วิจาร นึกพุทโธๆๆๆๆ มันย้ำอยู่กับที่ มันไม่สืบต่อออกไป ไฟจะเผาไหม้ออกไปไม่ได้ไง เราให้เชื้อแค่พุทกับโธ เห็นไหม ไฟเอ็งได้กินแค่ฟืน ๒ ท่อนนี้เท่านั้น ท่อนหนึ่งพุท ท่อนหนึ่งโธ ให้ย้ำอยู่กับที่ พุทโธๆๆ มันก็ไม่ฟุ้งซ่านออกไป นี่ทำความสงบไง กำหนด พุทโธๆๆ ตลอดเวลา กำหนดไว้ กำหนด นี่เราให้เชื้ออยู่แค่ฟืน ๒ ท่อนนี้ มันเผาแค่ ๒ ท่อนนี้อยู่ในแค่ ๒ ท่อนนี้
ธรรมชาติของธาตุรู้มันต้องเผาไหม้ทุกๆ อย่างที่ขวางหน้ามัน แต่เดิมมันเผาเหมือนเผาป่า เผาอารมณ์มันทั้งหมด เผาความเร่าร้อนของใจ ใจมีแต่ความเร่าร้อนเพราะมันเผาให้มันสุกมันขุ่นอยู่ในหัวใจ แล้วเราเอาฟืนแค่ ๒ ท่อนนั้นเผา เพราะธรรมชาติของจิตมันเผาผลาญอยู่แล้ว นี่มันเผาผลาญแค่พุทกับโธแค่ ๒ ท่อนให้ย้ำอยู่กับที่ๆ จนจิตมันก็เผาอยู่แค่นั้น ไฟ ในเมื่อเราควบคุมไฟได้ด้วยสติ ด้วยการควบคุมของเรา มันจะอยู่แค่พุทโธๆๆๆ
จากว่าคำว่า พุทโธ เมื่อก่อนกำหนดพุทโธก็หายปั๊บๆ สติสัมปชัญญะก็ทำไม่ได้ เราไม่สามารถทำความสงบขึ้นมาได้ เรามีทิฏฐิมานะว่าเราเป็นครูผู้ที่มีศักดิ์ศรี ผู้ที่สูง ผู้ที่ใหญ่ ผู้ที่สอนคนอื่นเขา เห็นไหม แม้แต่ความสงบของใจเรา เรายังทำไม่ได้เลย แต่พอเรากำหนดพุทโธๆ เพราะเราเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา ทาน ศีล ภาวนา แล้วแต่ว่าใครจะสร้างฐานอันไหนขึ้นมา
ในเมื่อเรามีความคิดกำหนดพุทโธ เราเชื่อมั่นในความกำหนดว่าพุทโธนี่เป็นพุทธานุสติสามารถจะทำใจให้สงบได้ เรากำหนดพุทโธๆๆ ย้ำอยู่กับพุทโธอยู่อย่างเดียว ย้ำอยู่กับพุทโธว่า จากที่มันเป็นไปไม่ได้เลย มันจะเป็นไปได้ ความเป็นไปได้คือพุทโธจะสืบต่อ จากกำหนดแล้วหาย กำหนดแล้วหาย กำหนดได้ระยะยาวขึ้นๆๆ ยาวขึ้นก็หายอีก ก็ตั้งต้นใหม่ หายก็ตั้งต้นใหม่ ย้ำอยู่อย่างนั้น ให้ไฟเผาอยู่แต่เชื้อที่เราให้เท่านั้น กำหนดพุทโธมันก็ระยะสั้นเข้ามาๆ มันจะเป็นความสงบเข้ามาไง
อย่างไฟที่เผาไหม้ไปกินป่าเวิ้งว้างไปหมด กับไฟที่เราควบคุมได้ นี่มันต่างกัน ไฟที่เราควบคุมไม่ได้มันเผาทุกอย่างไป มันจะเผาไป ทำลาย เผาด้วยนะ ทำลายชีวิตสัตว์ ทำลายหมด พอมันเผาขึ้นมาอารมณ์เราก็ขุ่นมัวไง ทำไมเป็นอย่างนั้นๆๆ เห็นไหม ทำลายชีวิตสัตว์ คือว่าจิตมันคิดอกุศลออกไปเรื่อยๆ กับเราให้อยู่แค่นั้น ไฟอยู่ในขอบของสติ เผาอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมชาติมันเป็นไฟ ธรรมชาติธาตุรู้มันต้องเผาผลาญ แต่เผาผลาญเฉพาะสิ่งที่เราให้มัน นี่กำหนดพุทโธเข้ามา
กำหนดพุทโธเข้ามามันจะสงบเข้ามาเรื่อยๆ ใจนี้มันจะควบคุมได้ พอควบคุมได้บางทีมันจะรวมลง มันจะวูบลง ความวูบลงของใจ สิ่งที่เราไม่เคยเจอ สิ่งที่เราไม่เคยเจอ เราจะตกใจ ตกใจสติสัมปชัญญะมันจะถอนขึ้นไง สติที่ตกใจมันจะเกิดขึ้นมากพิเศษกว่าปกติ เพราะความตกใจ อย่างเช่นเราตกใจสิ่งใดก็แล้วแต่ เราจะตกใจมากจนขนพองสยองเกล้า อันนี้ก็เหมือนกัน แม้แต่มันเป็นความสงบ เป็นน้ำอมฤตธรรมที่เราควรจะได้ดื่มกินนะ แต่ทำไมสติของเราปลุกใจของเราไม่ให้ได้รับผลอันนี้ล่ะ
จิตที่มันจะรวมลงเป็นสมาธิ มันจะรวมลงเข้าไปในความสงบ สงบเข้าไปเรื่อยๆ มันจะรวมลงไป สติมันยังย้อนกลับมาเลย ไหนว่าเราเป็นคนฉลาดไง แล้วออกมาก็มานั่งเสียดายนะ แหม! มันกำลังจะลง รู้อยู่เพราะอะไร เพราะตำราสอนไว้ว่าจิตมันจะลง การเข้าความสงบมันจะเป็นอย่างนั้น จนเราทำหลายครั้งเข้า ในเมื่ออกมาแล้วมันมีความตกใจ มีความกลัว ก็ตั้งสติขึ้นใหม่ แล้วทำเข้าไป มันต้องมีประสบการณ์ถูกและประสบการณ์ผิดไปเรื่อยๆ มันจะไม่มีประสบการณ์ครั้งแรกแล้วจะเข้าได้ตามความเป็นจริงของมันอย่างนั้นหรอก บางทียังตกภวังค์ไปอีกนะ
การทำใจให้สงบแค่นี้มันก็แสนยาก แล้วเราว่าเราเกิดมาเราปรารถนาความสุข ทุกคนปรารถนาอยากได้ อยากเห็น อยากจับต้องความสุข ให้ใจได้สัมผัสความสุขนั้น แต่พอทำแค่พื้นฐานของจิตที่เป็นสมาธิ เป็นพื้นฐานของสัมมาสมาธิ จะก้าวขึ้นไปบนมรรคอริยสัจจังเท่านั้นมันยังทำไม่ได้เลย นี่หรือชาวพุทธ
ชาวพุทธ พุทธะ พุทธะคือผู้รู้ ผู้รู้คือใจของเรา ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต คนเราเกิดมามีกายกับใจ กิเลสอยู่ที่ใจ ใจนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้สมบัติของกายมา มันก็สะสมมา จากเด็กเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ สะสมกิเลสขึ้นมาพร้อมกัน พร้อมกับความที่ว่าเราสะสมขึ้นมา แล้วเราก็สะสมบุญขึ้นมา
บุญ บุญคือความสุข คือความดี ความดีนี่เราต้องขวนขวายเข้ามาเพื่อจะทำให้มันดีขึ้นๆ ไง เราได้ความดีมาแล้ว แต่ความดีมาแล้วมันเหมือนกับเราแลกเปลี่ยนมาแล้ว แลกเปลี่ยนมาแล้วเราต้องหาทุนต่อไปเพื่อแลกสิ่งที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ นี่ถึงว่ากำหนดเข้าไป มันจะตกใจขนาดไหนเราพยายามทำใหม่ๆๆ ตั้งใจให้ดีแล้วกำหนดเข้าไปๆ มันก็จะวูบวาบอย่างนั้นอีก แต่สิ่งที่เคยผิดพลาดมา เคยเสียดายมา เคยออกมาแล้วเสียอกเสียใจ นี้เราก็ตั้งใจเข้าไปใหม่ มันจะตกวูบอย่างไรให้มันตกไป มันจะวูบลง ให้วูบอย่างไรจะให้วูบลงไป
เพราะการวูบของไฟนั้น ไฟ อาการของไฟมันโดนลมมันจะเป่า มันจะโยกมันจะคลอนไป เพราะไฟ อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อไฟมันจะรวมตัวเข้ามาๆ มันจะรวมตัวเข้ามา อาการของใจ การวูบวาบที่มันเป็นวูบไปนี่อาการของใจ อาการของใจ ใจที่จะเปลี่ยนสถานะไง จะเปลี่ยนสถานะจากปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสเป็นกัลยาณปุถุชน ผู้ที่จะเป็นกัลยาณปุถุชนคือต้องควบคุมใจของใจไว้ให้อยู่ในอำนาจของตนได้ก่อน ใจที่อยู่ในอำนาจของตนคือใจที่อยู่ในสมาธิธรรมไง สมาธิธรรมอยู่ในอำนาจของสติ เห็นไหม สติสัมปชัญญะการใคร่ครวญความคิดที่ผิดพลาดไป สติสัมปชัญญะควบคุมอยู่ ใจนี้จะอยู่ในอำนาจของเรา การจะประพฤติปฏิบัติ การทำความผิดพลาดมันจะน้อยลง เห็นไหม นี่ไงถึงบอกว่าการควบคุม การควบคุมที่ว่าเราควบคุมใจของเราได้ ใจนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นจิตที่ควบคุมได้ ทำสมาธิเข้าไป
ที่ทำไม่ได้เพราะว่ามันยังเข้าไม่ถูก มันยังเข้าไม่ชำนาญ การทำใจให้สงบบ่อยๆ เข้าต้องพยายามพิจารณาให้สงบเข้ามาๆ สงบเข้ามาจนตั้งตัวได้นะ นี่คือการทำใจสงบด้วยการใช้คำบริกรรม เป็นสมาธิอบรมปัญญา ทำความสงบขึ้นมามันก็จะต่างกับจิตที่ไม่สงบ จิตที่มีความฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลามันมีอำนาจเหนือเรา ฟังสิ มันมีอำนาจเหนือเรา มันใช้เรา มันทำทุกอย่าง มันมีคิดขึ้นมาก็อยากไปตามอารมณ์อันนั้น ความมีอำนาจคือความอยาก ความคิดที่จะทำอะไรก็ได้ ความคิดไง แต่เรายังไม่ทำออกไป แต่ความคิดนี้พิลึกพิลั่นมาก มันจะคิดได้ตลอดเวลา กับที่ว่าเราควบคุมอันนี้ได้หมด ต่างกันไหม
จิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่มีอำนาจเหนือเรา กับทำความสงบขึ้นมา จิตที่อยู่ในการควบคุมของเรา จิตที่อยู่ในการควบคุม จิตที่เริ่มต้นของความคิด เพราะควบคุมจิตได้ ความคิดควบคุมได้หมด จิตสงบ ทำความสงบได้ นี่วุฒิภาวะของจิตที่สงบกับวุฒิภาวะของจิตที่ไม่สงบนี่ต่างกัน ภูมิจิต-ภูมิธรรมของคนต่างกัน
จะเห็นว่าในวงการพระทำไมเน้นย้ำแต่ภูมิจิต-ภูมิธรรม ภูมิจิต-ภูมิธรรม มันอยู่ตรงไหน ภูมิจิต-ภูมิธรรมของคนน่ะ ภูมิจิต-ภูมิธรรมของผู้ที่ปฏิบัติมันอยู่ตรงไหนถึงเรียกว่า ภูมิจิต-ภูมิธรรม
จากจิตที่เป็นสมาธิกับจิตที่ไม่เป็นสมาธิ นี่ภูมิจิต-ภูมิธรรมของคนต่างกันแล้ว จากคนคนหนึ่งเป็นปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส กำหนดจิตเข้ามาทำความสงบ สิ่งที่มันจะฟุ้งซ่านเพราะอะไร เพราะรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ นี่ไงเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นบ่วงของมาร มันไม่ใช่มาร รูป รส กลิ่น เสียง เสียงที่เพราะ รสที่ดีทุกคนอยากสัมผัสหมด นั่นไงแล้วเวลามันสัมผัส ความสัมผัสโดยปกติมันสัมผัส เวลาเรากลับมาแล้วมานั่งคิดอยู่นี่มันก็อยาก นี่ความอยากอันนั้นทำให้ใจฟุ้งซ่าน
ทีนี้กัลยาณปุถุชนคือตัดพวงดอกไม้ของมาร บ่วงของมารนี่สลัดทิ้งหมดเลย ความสลัดทิ้งบ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร เห็นไหม พวงดอกไม้แห่งมาร นี่ควบคุมใจได้ไง ความสงบเข้าไปบ่อยๆ สงบจนจิตนี้เป็นสมาธิ จิตนี้ตั้งมั่น มันจะเห็นคุณค่าตรงนี้ เห็นคุณค่า อ๋อ! แต่ก่อนไปนี่เวลามันฟุ้งซ่านออกมา เราควบคุมไม่ได้ วุฒิภาวะของใจจะต่างกันตรงนี้ ต่างกัน คนที่ว่าเหมือนกับเครื่องยนต์กลไก คนหนึ่งควบคุมเป็น อีกคนหนึ่งเป็นขี้ข้าของมัน ควบคุมไม่เป็น วิ่งหนีตลอดเวลา เห็นไหม นี่เราควบคุมกลไกของจิต จิตของเรานี่เราควบคุมได้ แม้แต่ทำใจสงบ วุฒิภาวะของคนคนเดียวนั้น แต่พัฒนาใจขึ้นมาเป็นคนคนใหม่ จากปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสกลายเป็นกัลยานปุถุชน
กัลยาณปุถุชน เห็นไหม จิตสงบสงบแล้วมีความสุขมาก จิตสงบจะมีความสุขนะ จะมีว่าแหม! มันเวิ้งว้างหมด จะเป็นอัปปนาสมาธิเข้าไปถึงฐีติจิต มันเวิ้งว้าง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ตรงนี้จะเข้าใจว่าเป็นผล ส่วนใหญ่ผู้ที่ปฏิบัติจะไปติดตรงนี้หมด ติดตรงนี้ไง มันจะสุขมาก ถ้าไม่สุขทำไมทำให้คนติดได้ ทำไมคนติดสมาธิ ติดได้โดยธรรมชาติเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่าตรงข้ามกับความฟุ้งซ่าน มันตรงข้ามกับความทุกข์ไง สิ่งที่ตรงข้ามกับความทุกข์คือความสุข ในเมื่อเป็นความสุข มันสุขทำไมมันไม่ติดสุข ความติดสุขอันนี้มันถึงว่ามันนึกว่ามันเป็นผล
ผลเกิดขึ้นจากการทำความสงบของใจ ไม่ใช่ผลที่เกิดขึ้นจากการชำระกิเลส
การชำระกิเลสมันเป็นงานอีกแขนงหนึ่ง งานอันทำใจให้สงบนี้เป็นงานของการทำใจให้สงบให้เป็นอิสระจากกิเลสชั่วคราว แต่งานทำการชำระกิเลสมันยังก้าวเดินไปอีก เห็นไหม ถ้าเราคิดอย่างนั้น เราเข้าใจอย่างนั้น แต่ความเข้าใจอันนี้มันต้องเทียบเคียงเข้าไปกับในองค์ศาสดาของเราคือธรรมและวินัย พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างไร
แต่ถ้าคนเราใช้ความเห็นของตัวเองเข้าไปสืบต่อ สืบต่อคือเอาความรู้สึกของเราเทียบกับธรรม มันจะเทียบว่าอันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนั้นเป็นอย่างนั้น...ไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่ มันเป็นอุปกิเลส จิตนี้สงบเข้าไป จากกิเลส สันดานกิเลส กิเลสคือนักเลงหัวไม้แล้วเปลี่ยนเป็นอุปกิเลส เห็นไหม จากกิเลสที่ว่าหยาบโลนเป็นกิเลสที่นิ่มนวล เป็นอุปกิเลสที่นอนอยู่ในใจ เห็นไหม มันก็เทียบเคียงไปได้ทั้งหมด เพราะกิเลสตัวนี้มันมีธรรม มีความสงบอยู่ข้างบน เหมือนกับเรา ตอนนี้เขาโกงกันโดยโจรใส่สูทนั่นน่ะ นี่เหมือนกัน จิตเมื่อก่อนนั้นมันลูกทุ่ง เดี๋ยวนี้มันใส่สูทมันก็ยังหลอกเราอยู่อีก เห็นไหม มันต้องคิดเปรียบเทียบอย่างนั้นไง พอเปรียบเทียบอย่างนั้นมันถึงยกขึ้นไง
คนเราจะสะอาดได้ จะหาสูทใส่ได้มันต้องมีสถานะ มีความเป็นไปถึงจะใส่ได้ หัวใจที่มันจะใส่เป็นภูมิของที่สูงขึ้นไป มันจะพัฒนาภูมิของตัวเองขึ้นไปได้อย่างไร ขึ้นจากความสงบของใจอยู่นี่ มันต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญ นี่ถ้าใช้ปัญญาใคร่ครวญ การขุดคุ้ยหาโจทก์หาจำเลยมันเป็นงานชนิดหนึ่ง งานในการยกขึ้น ยกใจขึ้นวิปัสสนานี้ ไม่ใช่ว่าใจมันวิปัสสนาไปเหมือนกับเครื่องยนต์กลไกที่กดติดเครื่องแล้วมันจะหมุนไปจนถึงสุดรอบของมัน อันนั้นเป็นเครื่องยนต์กลไกเป็นวัตถุ
แต่หัวใจมันหมุนไปในวงขอบเขตของไฟ โทสัคคินา โมหัคคินา อยู่ในหัวใจ มันก็เผาไหม้ตลอด เราควบคุมเชื้อของมันจนมันเผาผลาญ เผาสิ่งที่เป็นพุทโธๆ จนมันสงบขึ้นมา มันก็เป็นวงงานของมัน มันเป็นวงงานวงรอบหนึ่งของจิต แล้วจิตนี้จะยกขึ้นวิปัสสนามันต้องยกขึ้นวิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ไง
คนที่จะเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงมันต้องมีจิตทำความสงบให้เป็นเอกัคคตารมณ์ก่อน ไม่ใช่ว่าจิตปกติ เราธรรมดานี่เราก็พิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ อย่างนั้นก็พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ได้ แต่สติปัฏฐาน ๔ อันนั้นเป็นโลกียะไง เป็นโลกียะก็เหมือนกับเด็กมันเล่นขายของ เด็กมันเล่นขายของมันก็ว่าอันนี้เป็นของ มันซื้อขายกันมีความสนุกมาก ผู้ใหญ่ไปยื้อแย่งมันจะร้องไห้ทันทีเลย ไอ้จิตนี้มันเป็นโลกียะอยู่มันก็ว่าเกิดดับๆ สิ่งนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นแล้วเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับแล้วอะไรไปรู้ว่าเกิดดับล่ะ? มันไม่มี ไม่เป็นตามความเป็นจริงเพราะว่ามันยังไม่มีเอกัคตารมณ์ตัวจิตตัวนี้เข้าไปรองรับ มันไม่มีสมาธิตัวที่เป็นพื้นฐาน พื้นฐานที่แยกจากโลกียะเป็นโลกุตตระ
จิตที่เป็นกัลยาณชน ผู้ที่เดินอริยมรรค โสดาปัตติมรรค ถ้าเป็นจิตปุถุชนอยู่ ความคิดนี้จะเป็นโลกียะ เดินมรรคนี้ก็เป็นเดินมรรคสัมมาอาชีวะก็ว่าเป็นสัมมาอาชีวะประกอบอาชีพชอบ แต่ถ้าเป็นโลกุตตระ การประกอบอาชีพชอบ อาชีพอะไรหรือมันจะทำให้ใจนี้ดื่มกินอาหารอะไร
ประกอบสัมมาอาชีวะของโลกเขานี่มันเป็นวัตถุที่เอามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่หัวใจมันเคยกินเคยโดนแผดเผามาด้วยความทุกข์ยาก แล้วมันสงบเข้ามา มันจะเลี้ยงอาชีพอะไรให้มีอาหารให้หัวใจนี้ได้วิปัสสนาได้ขึ้นไป การเลี้ยงชีวิตชอบของโลกุตตระ
คือจิตที่มีกิเลสอยู่ มันกินแต่กิเลส มันกินแต่ความชอบใจของมันอยู่ ความชอบใจมันหลงในอะไร? หลงในกายไง หลงในกาย หลงในเวทนาที่เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็ไม่อยากเป็น เห็นไหม หลงในจิต เวลาเจริญขึ้นมา จิตสงบขึ้นมากก็เห็นว่า โอ้โฮ! จิตฉันนี่มันจะเหาะเหินเดินฟ้า หลงในธรรม ธรรมที่จิต ความรู้ภายในหัวใจ หัวใจที่มันสัมผัสกับความสงบอันนั้น มันว่าอันนั้นเป็นธรรม เห็นไหม นี่กาย เวทนา จิต ธรรม มันก็หลงใหล มันไม่พิจารณาตามความเป็นจริง
มันถึงต้องจับ กาย เวทนา จิต ธรรม นี่สติปัฏฐาน ๔ ที่มีจิตทำความสงบแล้ว ที่มีใจ ใจที่ว่าเป็นเอกัคคตารมณ์ ตัวนี้จะค่อยวิปัสสนาไง จะวิปัสสนาได้ถึงต้องพยายามพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เห็นกาย เห็นกายด้วยตามความเป็นจริง ขณะที่ยกขึ้นเห็นกาย มันจะเกิดความขนพองสยองเกล้า การเห็นกายจากตาของธรรมกับการเห็นกายของตาของเนื้อต่างกัน การเห็นกายของตาของธรรมมันจะเห็นจากภายใน
จากภายในหัวใจ ภายในหัวใจนี้มันเป็นสมาธิ มันเป็นจิตตั้งมั่น มันไม่มีกาลเวลา กาลเวลา ๒๔ ชั่วโมงเป็น ๑ วัน ร่างกายของมนุษย์เรา ตายไปแล้ว ๓ วันจะเน่า เห็นไหม กาลเวลาอันนี้มันเป็นกาลเวลาของโลกียะ แต่ถ้าเป็นโลกุตตระที่เดินอริยมรรคขึ้นมาแล้ว พอมันเห็นกายมันเห็นเป็นปัจจุบัน มันจะขนพองสยองเกล้า ถ้าวิปัสสนาให้กายนั้นแปรสภาพไป มันจะแปรสภาพเดี๋ยวนั้น เดี๋ยวนั้นเป็นปัจจุบัน มันไม่มีมิติ ไม่มีกาลเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตที่เป็นความสงบ มันถึงเป็นธรรมไง ความเห็นที่เป็นธรรมจะวิปัสสนาภายในมันจะเห็นตรงนี้ไง เห็นตรงที่จิตนี้มีพื้นฐาน จิตนี้จับต้องได้ จิตนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตนี้เป็นสัมมาสมาธิไง
ความเพียร เพียรลงในสติปัฏฐาน ๔ ความเพียร ความดำริ ดำริการพิจารณา ดำริว่าจิตนี้ควรจะยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาให้ก้าวเดินออกไปด้วยปัญญา ปัญญาตัวนี้เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากการภาวนาตลอด ภาวนามยปัญญาคือปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนา การภาวนาคือการทำจิตให้สงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนาเป็นงานไง
งานในการภาวนากับงานของนักวิทยาศาสตร์ งานในการตรึกนี่ไม่เหมือนกัน งานจากภายนอก งานจากภายในจะไม่เหมือนกัน ความไม่เหมือนกันของโลกียะ งานของโลกมันเปลี่ยนแปลงมันอาศัยผู้อื่นทำได้ เห็นไหม งานวิปัสสนา...
...ผู้ที่จะก้าวเดินให้เหนือกรรม ให้กรรมหลุดออกไปจากของตนต้องเป็นผู้ที่ภาวนาเอง ต้องก้าวเดินเอง เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจของทุกๆ ดวง ใจของเรามันเป็นการใจแก้ใจไง งานของภาวนาคืองานของใจ ใจภาวนาในสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม นั้นแหละถึงจะติดกาย เพราะติดกาย ใจก็ไปติด ใจนี้ไปติดกาย ติดกายเราถึงมีกายเขา จะให้คนอื่นรักเรา เราก็รักเขาก่อนเพื่อจะให้เขารักเรา มันเพื่อเราทั้งนั้น สรรพสิ่งใดๆ ทำไปนี้เพื่อเรา เพื่อเราทั้งนั้นเลย
เรารักเรา เราหวงเรา เราห่วงเรา เราอยากให้คนรักเรา อยากให้คนยกย่องเรา เราก็ทำความดีเพื่อเขา เห็นไหม ทำออกไปนั้นก็คือเพื่อเราทั้งนั้นเลย แต่มันเป็นกิเลส ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งเรามองไม่เห็นมัน ตัวนี้มันอยู่ภายใน แล้วมันก็ห่วงคนโน้นห่วงคนนี้ มัน ๒ ชั้น มันรักมันสงวนตัวมันเองไว้ก่อนแล้วก็ยังค่อยบอกว่ารักคนโน้นรักคนนี้ มันถึงว่าพิจารณาเข้ามาเพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงไง เห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เราสงวนไว้ เราหวงเราแหนอันนั้นน่ะมันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นสมมุติ มันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน มันเป็นการชั่วคราวไง
เราเกิดมาชาติหนึ่งเราก็อยากจะพบแต่ความสุข เราอยากพบมาก ความสุข แต่เราไม่พบความสุขเพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่หามานั้นมันเลี้ยงปาก แต่ไอ้สิ่งที่เลี้ยงใจตัวนี้มันไม่มี สิ่งที่เลี้ยงใจมันไม่มี มันเลี้ยงมา เลี้ยงด้วยความหลอกลวงของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ไอ้สมมุติ ไอ้ตัวที่ว่าสงวนเราสงวนเขานี่แหละ เพราะมันไม่รู้จริง พอไม่รู้จริงมันก็ต้องโดนกิเลสลากคอไปตลอดกี่ภพกี่ชาติมาก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น
เพราะเรามีอำนาจวาสนา เราเกิดมาพบพุทธศาสนา เราถึงมาเห็นสิ่งนี้ไง เห็นสิ่งนี้เพราะในการประพฤติปฏิบัติของเราเข้าไปตามความเป็นจริงแล้วตรงๆ หน้า กำลังประจันหน้ากันอยู่กับสิ่งที่เป็นเราเป็นเขาด้วยจิตที่เป็นภาวนามยปัญญา เห็นไหม การเห็นภาวนามยปัญญาสิ่งที่เป็นเราเป็นเขานี้มันไม่ใช่เราไม่ใช่เขา มันไม่ใช่เพราะเรายึดเอง เรายึดเองมันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา ไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราจะหลงในความยึดของเราทำไม มันละอายใจไง นี่ความละอายใจหมุนเข้ามา จิต ปัญญามันจะหมุนเข้ามา ภาวนามยปัญญา วิปัสสนามันจะหมุนเข้ามา พอหมุนเข้ามา ความละอายใจ ความสังเวชใจ ความละอายใจ ฟังสิ เพราะมันเห็นตามความเป็นจริง
เมื่อก่อนใครสอนมันก็ไม่เชื่อ สิ่งที่ข้างนอกสอน ปัญญาข้างนอก ครูบาอาจารย์สอนก็ไม่เชื่อ ถ้าไม่ได้ประสบเองจากปัญญาธรรม จากภาวนามยปัญญาจากภายในของตัวเอง ภาวนามยปัญญานี้คือจะชำระกิเลสได้ไง การชำระกิเลสต้องชำระกิเลสแบบตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงของใจที่มีกิเลสนั้น ใครเล่าใครบอกอย่างไรก็ไม่ซึ้งใจเหมือนการเข้าไปเห็น เห็นแล้วพอพิจารณาเข้าไป พอรู้เท่า มันสลดมันสังเวช มันสงสารเจ้าของ สงสารตัวเอง ทำไมตัวเองนี้ นักปราชญ์ ราชบัณฑิต เวลายกย่องตัวเองนะ เวลากิเลสมันหลอก แล้วพอมันเห็นความเป็นจริง ทำไมบอกว่า ทำไมเอ็งมันโง่ขนาดนี้ นี่ความโง่มันเศร้าสลดใจ มันจะปล่อยๆ การปล่อยนี้
กิเลสนะ มันเคยสะสมมาอยู่ในหัวใจของมนุษย์ของทุกๆ ดวงใจ อย่าว่าแต่มนุษย์ ทุกๆ ดวงจิตดวงใจที่เป็นใจ ดวงจิตนี้มันจะมีกิเลสอยู่ตลอดเวลา จะอยู่ภพชาติไหนมันก็จะยึดมั่นถือมั่นอยู่ภายในไม่มีใครเคยเห็น แต่อันนี้เพราะว่าเราพัฒนาวุฒิภาวะของใจเจริญขึ้นมาจากกัลยาณปุถุชนไง จากกัลยาณชนหมุนขึ้นเดินอริยมรรคขึ้นมาด้วยภาวนามยปัญญา เห็นไหม นี่เราเป็นบุคคล ๑ ใน ๘ จำพวกนั้น เป็นบุคคล
จากบุคคลที่ว่าไม่คิดเลยว่ามันจะก้าวเข้ามาได้ในศาสนาในสังฆคุณที่เราจะก้าวขึ้นมาเป็นสังฆะ วิปัสสนาเข้าไปๆ บ่อยเข้าๆ ต้องทำบ่อยเข้าๆๆ มันจะปล่อยไปเรื่อย การปล่อยนี้ปล่อยเพราะมันไม่เคยปล่อยเพราะว่ามีอำนาจอะไรมาต่อรอง มันปล่อยเพราะปัญญาญาณต่างหาก มันปล่อยเพราะภาวนามยปัญญาเข้าไปไล่ต้อนมัน
กิเลสไม่เคยยอมอำนาจใคร กิเลสมีอำนาจเหนือทุกๆ คน กิเลสนี้เป็นเจ้าใหญ่นายโตกับดวงใจที่เกิดดับทุกๆ ดวง กิเลสมันใหญ่มาก ใหญ่ในหัวใจของเรา ไม่ใหญ่ที่หัวใจของใคร ใหญ่ในหัวใจของเรา แล้วเราก็เที่ยวไปกดขี่คนอื่น เห็นไหม ในเมื่อมันใหญ่มาก มันไม่มีใครเข้าไปต่อรองกับมันได้ ไม่มีใครคัดง้างกับกิเลสได้เลย
ภาวนามยปัญญา ธรรมจักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านปรินิพพานไปแล้วท่านเอาของท่านไป แต่ธรรมจักรที่เกิดขึ้นนี้เป็นการชี้นำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เกิดขึ้นจากผู้ที่ปฏิบัติผู้นั้นที่กำลังปฏิบัติอยู่ ผู้ที่กำลังดำเนินปัญญาภาวนามยปัญญาอันนี้อยู่ต่างหาก ผู้ที่มีภาวนามยปัญญานี้คือเป็นบุคคลที่ ๑ หมุนเข้าไป หมุนเข้าไป มันจะปล่อยไปเรื่อยๆ
ความปล่อยนี้ปล่อยเพราะการต่อสู้ ปล่อยเพราะอำนาจวาสนาที่เรามุมานะขึ้นมา มันไม่ปล่อยด้วยไม่มีเหตุไม่มีผลหรอก มันปล่อย มันปล่อย การปล่อยนั้นคือว่ามันจนตรอก กิเลสจนตรอก กิเลสไม่มีสิ่งมีคุณวิเศษจะสู้กับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เห็นไหม เกิดขึ้นมาจากอำนาจวาสนาของเราที่เราภาวนามยปัญญานั้นเข้าไปต่างหากมันถึงยอม มันยอมนะ มันยอม ยอมแล้วเราก็พยายาม
เพราะเราขึ้นมาได้แล้ว เราก้าวเดินออกไปด้วยวุฒิภาวะของใจเราสูงขึ้นมา สูงกว่าปุถุชนธรรมดา สูงกว่ากัลยาณชน สูงกว่าจนเป็นบุคคลที่ ๑ หมุนเข้าไปๆ หมุนเข้า ซ้ำเข้าๆ ซ้ำเข้าด้วยความมุมานะ ด้วยความอุตส่าห์พยายามของดวงใจดวงนั้น ด้วยความเชื่อมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเชื่อมั่น ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังใจ ด้วยความเห็นว่ากิเลสยอมแพ้เราไปบางครั้งบางคราว เห็นไหม มันเป็นการเครื่องยืนยันกันว่ากิเลสมันปล่อยได้
จากเดิมไม่เคยคิดเลยว่าคนอย่างเรานี่จะสามารถจะชำระกิเลสได้ นักปฏิบัติอย่างเราหรือจะสามารถชำระกิเลส จะชนะกิเลสได้ชั่วครั้งชั่วคราว ขณะนี้กิเลสปล่อยต่อหน้าเรา มันเป็นเครื่องยืนยัน เห็นไหม สิ่งที่ยืนยันกับเราคือกิเลสมันถอยออกไปชั่วคราวๆ ให้เราว่าง มันปล่อยวางๆ นี่อิสระของเราเกิดขึ้น วุฒิภาวะของใจมันจะเทียบเคียงได้กับความสงบ กับที่ว่ากัลยาณชนที่จิตสงบขึ้นมา สงบขึ้นมานั้นมันก็เหนือกว่าคนอื่นขึ้นมา แล้วนี่ก็เหนือขึ้นไปอีก เห็นไหม นี่วุฒิภาวะของใจ ภูมิจิต-ภูมิธรรมของใจมันสูงขึ้น
ความสูงขึ้น เห็นไหม สูงขึ้น ยืนยัน มันยืนยันในการประพฤติปฏิบัติ ยืนยันในการเดินปัญญาญาณของเรานี่แหละ มันยืนยันท่ามกลางหัวใจไง ท่ามกลางสนามกีฬา ท่ามกลางภวาสวะ ท่ามกลางภพของกิเลส ท่ามกลางภพของเราไง ภพในหัวใจของเรา หมุนเข้าไปๆ หลายครั้งเข้า หลายครั้งเข้า กิเลสมันแก่นกิเลส มันไม่เคยยอมแพ้ใครง่ายๆ มันจะต่อสู้จนสุดฤทธิ์สุดเดชของมัน เราก็พยายามหมุนเข้าไปๆ อำนาจวาสนาของเรามีเท่าไรหมุนเข้าไป อันนี้ต่างหากยอดคน
ไม่มีคนคนไหน ไม่มีบุรุษผู้ไหน ไม่มีนักบวช นักปฏิบัติคนไหน จะเก่งมีอำนาจวาสนาเหมือนผู้ที่เดินภาวนามยปัญญา เพราะมันผู้นั้นกำลังจะพ้นเงื้อมมือของมัจจุราชชั่วครั้งชั่วคราวไง พ้นมือจากมัจจุราชนะ เห็นไหม พ้นมือจากมัจจุราชนะ เราต้องเกิดต้องตายไปตลอด แต่อันนี้มันจะพ้นจากมือ อันนี้เป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนาที่สุด นี่วิปัสสนาเข้าไป จนถึงจุดหนึ่งกิเลสมันถอย ถอยจนมันเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ได้ มันก็ต้องขาดสิ กิเลสมันขาดออกไป
ในการยึดว่าเรา ว่ากายนี้กับจิตนี้เป็นเรามันขาดออกไปแล้ว วุฒิภาวะของใจมันเป็นปัจจัตตังประกาศเดี๋ยวนั้นเลย ประกาศที่ขาดเดี๋ยวนั้น เห็นสังโยชน์ขาดไปเดี๋ยวนั้น ความเห็นสังโยชน์ขาด อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ รู้อะไร? รู้ในสิ่งที่ว่า สิ่งที่หลอกลวงอยู่ในใจไง สิ่งที่ยึดมั่นว่าเราไง สิ่งที่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับทั้งหมด แม้แต่ร่างกาย แม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอก แม้แต่การเกิดว่าเป็นเราไง แม้แต่ว่าเป็นเราๆ นี่ก็เกิดขึ้นดับเหมือนกัน มันเกิดขึ้นมา สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นมาเป็นธรรมดา มันต้องดับสลายเป็นธรรมดา มันละเอียดอ่อนมาก นี่มันเป็นความจริงของหัวใจ เป็นอกาลิโก เป็นประกาศกังวานในใจดวงที่หลุดออกไปนั้น นั่นวุฒิภาวะของใจนี้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง นี่ภูมิจิต-ภูมิธรรมของมันสูงขึ้นมา
มันจะมองคนอื่นกับความคิดของโลกจะต่างกัน ความคิดของใจดวงนี้กับความคิดของโลก ถ้าความคิดของโลกที่ว่าหัวใจดวงนี้โง่เขลามาก มีโอกาสก็ไม่แสวงหา ไม่แสวงหาความมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ดึงสมบัติทุกอย่างมาเป็นของเราเพราะอะไร เพราะใจดวงนี้มันเป็นธรรม อำนาจของธรรมมันมีอำนาจเหนือสมบัติทั้งหลายในโลกนี้ หัวใจที่เขามีสมบัติประดับในเรือนในหัวใจของเขา มันมีอำนาจ มันสลัดทิ้งได้ทั้งหมด มันสลัดเรื่องของโลกไว้ทั้งหมดเลย ไม่สีลัพพตปรามาสไง ไม่ผิดในสิ่งความคิดในหัวใจ หัวใจจะสะอาดมาก หัวใจสะอาดมาก นี่ความสุขของใจดวงนี้ไง
ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา แม้แต่เรา เราจะทะเลาะกับคนข้างนอก มันต้องมีการกระทบกระทั่งกัน เราถึงไม่ค่อยพอใจผู้นั้นๆๆ มีเสียงกระทบหูเรา เราก็ไม่พอใจใครว่าเรา อันนี้ในระหว่างกายกับใจกระทบกัน มันก็ไม่เป็นข้าศึกกัน แต่เดิมกายกับใจนี้มีอำนาจเหนือต่างกัน ร่างกายกับหัวใจเวลาปวดขับปวดถ่ายมันจะไปใจก็ไม่อยากไป ใจอยากจะนอนสบายๆ แต่มันจะขับถ่ายมันก็ต้องพยายามบังคับให้ตัวไป เห็นไหม แต่พอมันไม่เป็นกดถ่วงกันแล้ว มันเห็นสภาวะตามความเป็นจริง มันรู้ตามหน้าที่ มันรู้ว่าสิ่งนี้ควรจะทำอย่างไรต่อไป เห็นไหม นี่วุฒิภาวะของใจมันต่างกันอย่างนี้ไง
จากผู้ที่ชำระร่างกายขาดออกไปจากใจ แล้วมันเดินมาอย่างนี้ คนเราเข้าไปถึงจุดหนึ่ง เข้าไปจริงๆ เข้าไปรับรู้ธรรมะ แต่เดิมว่าเรานี่จะไม่มีวาสนา คนอย่างเราหรือจะรู้ธรรมได้ แต่ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ธรรมะนี้เป็นของกลาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ให้กับสาวกสาวกะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่ผู้ปฏิบัตินี้ ทำไมเราจะปฏิบัติไม่ได้ ในเมื่อเราปฏิบัติได้แล้ว วุฒิภาวะเราก้าวขึ้นมาแล้ว มันก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินต่อไปในมรรคอริยสัจจัง เห็นไหม นี่เป็นบุคคลที่ ๑ เป็นบุคคลที่ ๒ ยกขึ้นเป็นบุคคลที่ ๓ สิ บุคคลที่ ๓ ในเมื่อหัวใจมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วเราก็ยกขึ้น ยกขึ้นไป ยกขึ้นไป เดินมรรคต่อไป เดินมรรคนะ ยกขึ้น
พอยกใจขึ้น จิตนี้มันพื้นฐานมีความสงบอยู่แล้ว แต่การจะยกขึ้นมันเป็นงาน งานที่เมื่อก่อนทำความสงบ เราให้ฟืน ๒ ท่อน พุทกับโธเท่านั้นเพื่อให้หัวใจนี้ได้เผาไหม้สิ่งนี้ เพื่อจะให้หดตัวเข้ามาไง หดตัวเข้ามาคือว่าไม่ให้เชื้อนี้เผาไปข้างนอก ให้เชื้อของไฟ พลังงานนี้ส่งออกให้เป็นพลังงานของธรรม พลังงานของธรรมคือเผาไหม้แต่สิ่งที่ว่าเป็นธรรม พุทโธๆ เผาอยู่อย่างนั้น
แต่ทีนี้ยกขึ้นวิปัสสนานี้มันต้องเผาไหม้อะไรล่ะ
จะเผาไหม้ในสติปัฏฐาน ๔ ใช่ไหม หรือจะเผาไหม้ในอะไร
ต้องเผาไหม้ ต้องเป็นการเป็นงาน ต้องมีพลังงานขึ้นมาถึงเป็นงาน สิ่งที่จะทำให้เกิดเป็นงานขึ้นมานี่ยกขึ้นในสติปัฏฐาน ๔ เหมือนเดิม เพราะสติปัฏฐาน ๔ มีนอกมีใน สติปัฏฐาน ๔ ภายนอก กายนอก กายใน พิจารณากายซ้ำเข้าไป พิจารณาเวทนาซ้ำเข้าไป พิจารณาจิตเข้าไป พิจารณาธรรมเข้าไป
เพราะว่ามันเป็นการสืบต่อ พิจารณากายแล้วทิ้งเข้ามา ถ้าพิจารณากายด้วยความมีปัญญา พิจารณากายใน หรือพิจารณาความเป็นไปแปรสภาพของกายข้างใน นี่บุคคลที่ ๓ ถ้าเป็นบุคคลที่ ๓ ได้ มันต้องจับต้องได้ไง จับต้องได้คือการยกขึ้น จิตนี้ต้องมีความรอบคอบ ความรอบคอบในการวิเคราะห์ในการมองซ้ำเข้าไป ในการเห็นจากตาธรรม ตาธรรมจะเห็นธาตุ ธาตุ ๔ มันเป็นธาตุ ๔ จากตามความเป็นจริง
แต่ถ้าเราเป็นสัญญา เราเป็นการเริ่มต้น การเริ่มต้นให้จิตนี้ก้าวเดินไปมันก็ทำได้ เพราะว่าเราจะหาเฉยๆ หาไม่เจอ มันเป็นนามธรรม เรื่องของกิเลสอยู่ที่ใจ ใจนี้เป็นนามธรรม ใจเป็นนามธรรมเกาะเกี่ยวอยู่ภายใน เกาะเกี่ยวอยู่ภายในแล้วออกมาผ่านร่างกาย ผ่านความคิดออกมา เห็นไหม นี่เวลากิเลสมันทำงาน มันทำงานอย่างนั้น กิเลสมันเป็นพื้นฐานอยู่ที่หัวใจอยู่แล้ว แล้วอาศัยช่องนี้เป็นเครื่องหากินออกมา
ธรรมจักรหมุนเข้า เพราะธรรมจักรนี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นธรรมของเรา ธรรมของเราต้องหมุนเข้าไปเชือดเฉือนกิเลสของเรา เข้าไปหาสิ่งที่ว่ามันเป็นฟืนเป็นไฟอยู่ในหัวใจของเรา
การวิเคราะห์การพยายามสอดส่อง การหาจำเลยไง เราว่าเป็นเราๆ เราจับต้องที่ไหน แต่เดิมจิตไม่เคยสงบ ความสงบก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน พอสงบขึ้นมา มันถึงอ๋อ! จิตสงบนี้คือเรา จิตสงบนี้ คือจับต้องได้ มันเป็นเอกัคคตารมณ์ กำหนดจิตได้สติสัมปชัญญะพร้อม แล้วย้อนกลับเข้ามายกขึ้นวิปัสสนา
อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่ายกขึ้นมันต้องมีความสงบ การเห็น การจับต้องได้ไง การจับต้องได้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ ถ้าพิจารณากาย พิจารณาให้แยกออกไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ พิจารณาจิต จิตนี้มีอุปาทานในกายนั้น จิตนี้มีอุปาทานอยู่ จิตนี้ยังเกาะเกี่ยวอยู่ จิตไง จิตเป็นขันธ์ ๕
ขันธ์ ๕ นี้เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ เป็นนามธรรม กายนี้เป็นรูปธรรมข้างนอก แต่ถ้าเป็นกายในนี้เป็นกายที่ว่าจิตนี้มันเกาะเกี่ยว มันเป็นอารมณ์ มันอิงกัน ความอิงกันอันนี้มันอิงกันอยู่ มันถึงว่าเป็นอุปาทานได้
วิปัสสนา วิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนา คำว่า วิปัสสนา คือการเดินมรรค
ความดำริชอบ ดำริให้เห็นความเป็นจริงไงว่าทำไมกายกับใจมันอิงกันไว้เพราะเหตุไร ทำไมมันถึงอิงกันไว้ เพราะเราต้องการให้เป็นอิสระออกจากกัน มันอิงกันอยู่ มันอิงกันอยู่เพราะว่ามันปล่อยมาแล้ว ปล่อยคืนมาจากข้างล่างแล้ว วุฒิภาวะของใจสูงขึ้นไปแล้ว สูงขึ้นไปแล้ว นี่ภูมิของธรรมมันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ภูมิของธรรมจะสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป แต่กิเลสมันก็สูงตาม น้ำขึ้น สวะในน้ำก็ลอยขึ้นมาๆ น้ำลง สวะก็ลอยลง
จิตของเราว่าประเสริฐขึ้นมาๆ...ประเสริฐ ประเสริฐจากปุถุชน ประเสริฐจากกัลยาณชน ประเสริฐจากบุคคลที่ ๑ ประเสริฐจากบุคคลที่ ๒ เป็นบุคคลที่ ๓...บุคคลที่ ๓ มันก็มีงานของบุคคลที่ ๓ นี่ งานของบุคคลที่ ๓ ก็คืองานการค้นคว้าไง งานการค้นคว้า ค้นคว้าในสิ่งที่ว่าหัวใจ กิเลสอาศัยผ่านมาเป็นเครื่องมือที่ออกไปทำลายล้างเขาไง ทำลายล้างเขาแล้วก็ทำลายล้างตัวเองด้วยไง ทำลายล้างหัวใจของเรา ให้หัวใจของเรามีแต่ความทุกข์ไง
ความสุขที่ปล่อยเข้ามานั้นปล่อยความทุกข์จากหยาบๆ เข้ามา มันเป็นสิ่งที่ความทุกข์หยาบๆ กับความสุขที่มหัศจรรย์นี้มันก็เป็นความสุขหยาบๆ ที่มันยังมีความสุขที่ละเอียดขึ้นไปกว่านี้อีก ความสุขที่ละเอียดขึ้นไปจนถึงละเอียดสุดในศาสนาพุทธ เห็นไหม วุฒิภาวะของใจมันถึงมีระดับขั้นต่างๆ สูงขึ้นๆ
การสูงขึ้น สูงขึ้นจากการวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่สูงขึ้นจากความนึกคิด ไม่ใช่สูงขึ้นจากสวะที่น้ำขึ้นน้ำลง สวะที่น้ำขึ้นน้ำลงนี้เปรียบให้เห็นว่า ถ้าจิตสูงขึ้นอวิชชามันก็อยู่บนน้ำนั้นตลอด อวิชชาอยู่บนน้ำ มันจะลอยอยู่บนน้ำตลอดไป น้ำนั้นลอยมา แม้แต่หมาเน่ามันยังลอยมาในน้ำนั้นเลย เห็นไหม จิตเราสูงขึ้น อวิชชามันก็หมาเน่าตัวหนึ่ง มันเน่าเหม็นอยู่ในหัวใจไง
เราว่าใจเราประเสริฐอยู่ ใจเราประเสริฐใจเราดีอยู่ มันเผาหัวใจอยู่ วิปัสสนามาขนาดไหน มันก็เผาไหม้เข้ามา หมาเน่าตัวนั้นเราจะไม่เห็น เราจะไปเห็นหมาเน่า น้ำลอยมาเห็นหมาเน่านี่ เราเห็นเราก็ขยะแขยง แต่นี่เราเห็นนี่ แต่นี้น้ำนี่มันไม่ขยะแขยง เพราะน้ำนี่มันไม่รู้ ไม่รู้ว่านั้นเป็นหมาเน่า เพราะน้ำก็รับมา
จิตก็เหมือนกัน อวิชชาอยู่ในหัวใจนี่มันก็ไม่รู้ มันนึกว่าเป็นเราไง หมาเน่าเลยกลายเป็นเนื้อย่างอย่างดีให้มันเผากินอยู่ในหัวใจ เพราะสิ่งไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้คืออวิชชา เห็นไหม มันต้องย้อนกลับมา มันต้องพยายามใคร่ครวญ จิตที่ใคร่ครวญ จิตที่หมุนกลับเข้ามา อันนั้นต่างหากพิจารณาวิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนากาย วิปัสสนาจิต จิตคืออาการของจิต อาการของจิตติดอะไร อาการของกาย กายนี้มันอิงกันอยู่ ถ้าวิปัสสนาจนภาวนามยปัญญาเป็นปัญญาล้วนๆ เข้าไปมันจะเห็นความแยกออกออกไป ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ออกจากกัน แต่เดิมเป็นเรา เป็นเขาในหัวใจ มันยึดมั่นถือมั่น แต่คราวนี้มันอิงกัน มันแปรสภาพ มันหลุดออกไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ
ถ้าพิจารณาจิต จิตกับกายมันติดกันด้วยอะไร คุณค่าของจิตที่มันไปติดกับกาย ถ้ามันปล่อยกายออกมาแล้วพิจารณาจิต คุณค่าของกายนี้ คุณค่าของการติดยึดมั่นถือมั่นนี้มันแค่เศษของขยะชิ้นหนึ่งก็ไม่ได้ มันปล่อยขนาดนั้นเวลาใจมันปล่อยนะ มันปล่อยตรงนี้ เป็นบุคคลที่ ๔ ไง สังโยชน์ไม่มีอะไรขาดไป กามราคะ ปฏิฆะนี้อ่อนลง จิตนี้เวิ้งว้างมาก มีความสุขแบบมหาศาล
ความสุขแบบที่ว่าไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เขา เขาไม่ใช่เรา อันนั้นเพราะมันความยึดมั่นถือมั่น มันปล่อยมาแล้ว อันนี้มันไม่มีการยึดไม่มีการถือใดๆ ทั้งสิ้น มันปล่อยหมด ว่างหมด ว่าง ใจนี้ว่างหมด ความสุขอันนี้เกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ จะเสวยสุขอยู่พักใหญ่ เสวยสุขอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ จะเข้าใจว่าอันนี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์ เพราะอะไร เพราะจิตมันปล่อยกายออกมา วุฒิภาวะของใจนี้สูงขึ้นมาเป็นบุคคลที่ ๔ เห็นไหม บุคคลที่ ๔ สังโยชน์ขาดออก ๓ ไปเป็นกามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง ทีนี้เป็นจิตล้วนๆ เลย
ถ้าผู้ที่จะสิ้นสุดแห่งทุกข์จะกำจัดหมาเน่านั้นให้ได้ มันต้องยกขึ้นวิปัสสนาต่อไป การยกขึ้นวิปัสสนา การเดินวิปัสสนาไง วิปัสสนาในนักปฏิบัติ ในการจะเข้าไปหาหมาเน่า ต้องให้เห็นหมาเน่า เห็นหมาเน่าในหัวใจเรานั่นล่ะ สิ่งที่ลอยมา ลอยอยู่บนหัวใจเรา วิปัสสนาเข้าไป ตรงนี้มันจะเข้าไปเห็นสิ่งนี้ หนุนหมาเน่าไว้ไง หมาเน่าลอยมาในน้ำ
นี่ก็เหมือนกัน โทสัคคินา โมหัคคินา กามราคะอยู่ตรงนี้ทั้งหมด แต่การยกขึ้นวิปัสสนา การเผาผลาญมันเป็นนามธรรม มันเผามันเอาอะไรไปเผาผลาญ จะเผาผลาญกาย เวทนา จิต ธรรม นี่เอาอะไรไปเผาผลาญ เพราะกายนี้ก็เป็นกายใน กายนี้เป็นกายอสุภะ อสุภัง
การค้นคว้าการจะหากายนี้หาได้ยากมาก การหากายด้วยกายนอกนี่นะเป็นกายนอก กายของธรรม เรายังหาแทบไม่เจอ เพราะเราจะเห็นแต่กายวัตถุ กายวัตถุนี้กายตาเนื้อประสบ แต่ถ้าเป็นตาของธรรม เห็นนิมิตภายในเป็นรูปของกาย นั้นคือตาธรรมนั้นคือกาย นี่คือกายนอกๆ แล้วกายของจิตมันละเอียดอ่อนมากมันเป็นกามราคะ ความเป็นกามราคะนี่มันเหมือนกับเข้าไปหา มันเป็นนามธรรมภายใน มันจะเห็นได้ยาก การเห็นได้ยากตรงนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย มันจะเหมือนกับสุดวิสัยเลย จนต้องพยายามพัฒนาจิตนี้ให้เข้มแข็งขึ้นมาก่อน ทำใจให้สงบ ตั้งจิตขึ้นมาให้เข้มแข็งขึ้นมาเป็นบุคคลที่ ๕
บุคคลคนที่ ๕ เห็นไหม การเดินบุคคลที่ ๕ การสร้างมรรคของบุคคลที่ ๕ มันไม่ใช่ว่าเป็นผลแล้วถึงจะเป็นผล การเริ่มต้นของเหตุไง การเริ่มต้นของเหตุ เหตุนี้ต้องเพียงพอ เหตุนี้เพียงพอถึงจะจับต้อง ถึงจะเกิด เราจึงสร้างสิ่งต่างๆ สร้างไฟ ไฟที่มันสงบตัวไป เราจะสร้างไฟนี้ให้เป็นไฟธรรมนะ ไฟของธรรมคือเผาผลาญเชื้อไง
ไฟของกิเลสมันเป็นไฟของกิเลสที่เผาผลาญออกมาข้างนอก ทำภาวนามยปัญญาเป็นไฟที่เราเกิดขึ้น เป็นธรรมจักรที่เราสร้างขึ้น สิ่งที่เราสร้างขึ้นไป เราสร้างขึ้นมา เราสร้างขึ้นแล้วเราจะให้ไปเผาผลาญสิ่งนั้นอีกทีหนึ่ง นี่บุคคลที่ ๕ ถึงต้องพยายาม พยายามคือว่าใจมันสงบขนาดไหนก็ไม่เชื่อ มันจะสงบ มันเป็นอุปกิเลส มันจะว่าสิ้นแล้ว มันเป็นสิ่งที่เหมือนกับสุดวิสัย มันทำได้ยาก มันเวิ้งว้างไปหมด มันเวิ้งว้างอยู่แล้ว
แต่ถ้าเราสร้างขึ้นมา เราสร้างใจขึ้นมาแล้ว เราพยายามมีความวิเคราะห์วิจัย ไม่นอนใจ พยายามหันจิตเข้ามาดู สร้างใจขึ้นมาให้มันเจอ ความเจออันนี้จะขนพองสยองเกล้าเลยนะ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นเหมือนกับว่าสิ่งที่เราคาดหมายไม่ถึง ของที่มันหายไป เพชรเม็ดงามๆ ของเรามันหายไป เราไม่เคยคิดว่าเราจะพบมันอีก เราไปเจอเข้า ทำไมมันจะไม่สะดุ้งสะเทือนใจ เพชรเม็ดงามๆ นี่นะเป็นอสุภะ อสุภังของใจ ถ้าจับต้องได้มันจะมีความขนพองสยองเกล้าอย่างมหาศาล
การทำวิปัสสนามันเป็นงาน ๒ อย่าง งานการหาจำเลย งานในการหาเชื้อหาไฟเพื่อให้ไฟมันเผาผลาญไง หาเชื้อหาเหตุให้ธรรมจักรมันหมุนไปได้ ธรรมจักรมันจะหมุนไปได้มันต้องมีเหตุมีผล มันจะหมุนไปโดยที่ไม่มีอะไรส่งเสริมขึ้นไปได้อย่างไร สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาจะหมุนไป ถ้าเราจับต้องได้ มันหมุนไปได้ มันมีเหตุให้พาไป นี่อสุภะ
ความเป็นอสุภะ เห็นไหม มันเป็นอสุภะโดยธรรมชาติของมัน แต่กิเลสมันบอกว่ามันเป็นสุภะ เป็นของสวยของงาม ของที่ว่าขั้วไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วลบจะต้องมาสปาร์กกันอยู่ตรงนั้น นี่ขั้วของใจ ใจคิดฝักใฝ่กันไง โอฆะเครื่องกั้นของการดำเนินออกไป โอฆะไง ทุกคนเกิดอยู่ที่นี่ ทุกคนตายที่นี่ ข้ามพ้นจากโอฆะอันนี้ไปไม่ได้ การข้ามพ้นไม่ได้มันจะมีพลังงานที่ต่อสู้มาก พลังงานของเราปกติปุถุชนเรายังเอาไว้ในอำนาจของเราไว้ไม่ได้ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องบอกว่าให้มีศีล ๕ ให้คู่ของตน อยู่ในคู่ของตนแล้วไม่ผิดศีลไง นั่นน่ะเพราะว่ามันเป็นธรรมชาติที่มีอยู่
แต่ในเมื่อเราประพฤติพรหมจรรย์ เราจะเข้าไปหาหมาเน่าอยู่ในหัวใจ มันต้องผ่านนางตัณหา นางอรดีไง เข้าไปหาพ่อไง แค่ลูกๆ กิเลสของลูกๆ เราฆ่าหลานมา ฆ่านั่นมา นี่ลูกของมัน เราจะผ่านตรงนี้เป็นเรื่องของทุกข์มาก การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม บุคคลที่ ๕ นึกว่าจะเป็นความสุข การสร้างเหตุ ในเมื่อการประพฤติปฏิบัติ การลงทำการทำงาน งานในการภาวนามยปัญญา งานในการชำระกิเลสเป็นงานที่แสนยาก เป็นงานการทุ่มทั้งชีวิต เพราะถ้าชำระตรงนี้ได้ ชีวิตนี้เป็นอิสระไง ชีวิตนี้ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของความคิด ชีวิตนี้ไม่อยู่ในอำนาจของอวิชชา
การจะทุ่มเพื่อทำลายเจ้าวัฏจักรในหัวใจของเรานะ นี่มันถึงเป็นงานที่แสนยาก งานที่แสนยากมันก็ต้องพยายามค้นคว้าเข้ามา ค้นคว้าเข้ามาเพื่อจะให้ธรรมจักรนี้หมุนไปให้ได้ เพื่อให้ภาวนาปัญญาหมุนไป เพราะไฟได้เชื้อ เชื้อของไฟต้องเผาไหม้ไป ต้องเผาไหม้ไป นี่การค้นคว้ากาย เวทนา จิต ธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ ภายใน กายในกาย เวทนาในเวทนา นี่วิปัสสนาเข้าไป
ตรงนี้เป็นขันธ์ ขันธ์ของใจ เป็นบุคคลที่ ๕ วุฒิภาวะของใจสูงขึ้นมามาก ผู้บริหาร เห็นไหม ผู้ที่บริหารทำงานละเอียดอ่อนมาก งานของผู้บริหารเป็นงานที่ต้องใช้การวิเคราะห์วิจัยมากเพราะอะไร เพราะรับผิดชอบสิ่งต่างๆ มหาศาล ผู้บริหารรับผิดชอบทุกๆ อย่าง รับผิดชอบหัวใจของทุกหัวใจ รับผิดชอบสิ่งที่พึ่งพาอาศัยเรา
นี่ก็เหมือนกัน เราจะเข้าถึงยอด ถึงจุดของหัวใจ จุดของหมาเน่า นี่หมุนขึ้นไปจนจับต้องได้ วิปัสสนาไปๆ วิปัสสนาไปเรื่อยนะ วิปัสสนาไป การต่อสู้ไง ยิ่งเข้าใกล้จุดศูนย์กลางของอำนาจเท่าไร วิชาการของกิเลสมันจะละเอียดอ่อนขึ้นเท่านั้น การหลอกลวง การสร้างเงื่อนไข หลอกให้ใจคิดว่าสิ่งนั้นเป็นผล เห็นไหม เพราะเราเข้าใกล้ศูนย์ของอวิชชา เราเข้าไปใกล้ของหมาเน่า กลิ่นของหมาเน่ามันจะลอยออกมา
นี่ก็เหมือนกัน วิปัสสนาเข้าไป แรงต่อต้านของการวิปัสสนา เรานึกว่าเราเป็นบุคคลที่ ๕ เราจะยกขึ้นเป็นบุคคลที่ ๖ มันจะง่ายๆ ขึ้นไป เหมือนกับเราเป็นนักกีฬาอย่างนี้ เราเล่นชนะขึ้นมามีแต่คนจะให้เหรียญทอง...ไม่มีทาง กิเลสมันจะป้องกันตัวมันเองอย่างสุดความสามารถ มันจะไม่ให้ใครเข้าไปใกล้ศูนย์อำนาจของมันได้เลย นี่ไง การยกขึ้นวิปัสสนาของหัวใจ ยกขึ้นวิปัสสนาไปมันจะต่อต้านทั้งหมด การต่อต้านคือการมันหลอกไง
ความหลอกของกิเลส หลอกว่า สิ่งนั้นเป็นผลแล้ว ภาวนามาภาวนาไปทำไม นอนซะดีกว่า ทุกข์ยากไปไหน เราเป็นคนแล้ว เกิดมาก็มีวาสนา นี่ความเป็นภายในมันจะหลอก หลอกตลอด
วิปัสสนา นี่ปัญญาอันนี้คือปัญญาของกิเลส กิเลสมันก็ใช้อยู่ในวิปัสสนานั้น เพราะเราเข้าไปใกล้แล้วๆๆ เพราะใกล้เท่าไรมันพยายามเอาตัวรอดไง เอาตัวรอดมันก็ต้องสุดวิสัยของมัน มันจะพลิกแพลงของมันไปเพื่อจะทำให้เราอย่างน้อยก็ให้เราหยุดยั้งไว้ก่อนเพื่อจะไม่ให้ไปเห็นหน้าของมัน
นี่ไม่เชื่อ ความไม่เชื่อกิเลส เราต้องเชื่อธรรม เราผ่านเข้ามาจนถึงบุคคลที่ ๖ แล้ว จนบุคคลที่ ๕ จะเป็นบุคคลที่ ๖ อยู่แล้ว เราจะไปอ่อนแอได้อย่างไร ความไม่อ่อนแอนี่ ถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดของภาวนาปัญญา ระเบิดออก กามราคะแตกออก ขันธ์ ๕ ไง ขันธ์ของจิตแตกออกจากจิตทั้งหมดเลย คราวนี้ระบือลือลั่น คำว่าเวิ้งว้างนี่มันต่ำไป มันไม่มีสิ่งใดๆ ในโลก สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นไป จิตนี้อยู่ในร่างกายนี่แหละ อยู่ในความประพฤติปฏิบัติ อยู่ในพระภิกษุ อยู่ในผู้ปฏิบัตินี้ มันก็ยังว่างหมด ความว่างนี้มหัศจรรย์มาก ความมหัศจรรย์นั้นมันอยู่ในหัวใจนั้นไง นี่ความว่างโดยบุคคลที่ ๖ วุฒิภาวะของใจสูงขนาดไหน วุฒิภาวะของใจ ภูมิของธรรมไง
ภูมิของธรรมเป็นบุคคลที่ ๖ มันสูงมาก แต่สูงขนาดไหนมันก็อยู่ใต้ของหมาเน่า นี่มันจะหาหมาเน่าขึ้นไป ถึงตรงนี้ถึงหมาเน่า เพราะหมาเน่านี้ไม่ใช่ขันธ์ หมาเน่านี้เป็นหมาเน่าลอยน้ำ แต่ลอยน้ำมา น้ำนี่ยกขึ้นสูงสุดแล้ว นั่นน่ะคือตัวอวิชชา มันเป็นตอมันเป็นอย่างนั้นอยู่ จับยากมาก แล้วคิดดูสิ หมาเน่าลอยน้ำมา แล้วน้ำที่ไหนมันจะรู้จักหมาเน่าล่ะ นี่ก็เหมือนกัน หมาเน่ามันลอยอยู่ในหัวใจ แล้วหัวใจมันจะเอาอะไรไปรู้ว่าหมาเน่า มันเอาเครื่องมืออะไรไปจับล่ะ มันถึงว่าปัญญาญาณอันนั้น
มันจะทำไม่ได้ สิ่งที่ทำไม่ได้มันเหมือนกับสุดวิสัย แต่มันไม่สุดวิสัยเพราะอำนาจวาสนาของใจดวงนั้น อำนาจวาสนาของผู้ที่ปฏิบัตินั้น มันจะหันกลับมาดู เห็นหมาเน่ามันก็พลิกหมาเน่าทิ้งสิ มันไม่เห็นหมาเน่า มันนึกว่าอันนี้เป็นสิ่งวิเศษ มันนึกว่าเป็นหมาทองคำ มันจะสงวนไว้ไง มันสงวนว่าอันนี้เป็นทองคำลอยมาจะเป็นของประเสริฐ เพราะว่ามันไม่ได้กลิ่นเหรอ ข้างนอกเขาเหม็นกันอยู่อย่างนั้นน่ะ
มันจะเผาใจอยู่ไง มันจะเผาหัวใจอยู่ น้ำรับหมาเน่าไว้ กลิ่นมันต้องขจรขจายไป นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มีอย่างนั้นอยู่ มันจะมีความทุกข์อยู่ เพราะไฟ นางตัณหา นางอรดีเป็นลูกของอวิชชา อวิชชาเป็นเรือนยอดของความคิด เป็นรากเหง้าของความคิด มันอยู่บนน้ำ มันอยู่บนใจ นี่คือตัวอวิชชา...พลิกออก จะพลิกได้ต่อเมื่อต้องเห็น การเห็นนี้เป็นบุคคลที่ ๗ เป็นบุคคลที่ ๗ นี้ เดินมรรคของบุคคลที่ ๗ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
ดูสิบุคคลที่ ๕ เรายังเกือบเป็นเกือบตาย แต่บุคคลที่ ๗ นี่ บุคคลที่ ๗ เป็นเชื้อของไฟ เชื้อที่ละเอียดมาก เชื้อที่ละเอียดสุด แต่มันก็ไม่พ้นจากธรรมจักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ผ่านไป เป็นเครื่องดำเนินไปแล้ว
การเชื่อธรรม เชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อเทคนิควิธีการของหลวงปู่มั่น เชื่อผู้ที่ผ่านพ้นไป ความเชื่อคือศรัทธา ศรัทธาความเชื่อนั้นเห็นคุณเห็นประโยชน์จริง มันจะพลิกได้ มันจะจับได้ มันจะยกขึ้นได้ไง
สุดท้ายแล้วใหม่ๆ มันจะคิดว่าเหมือนกับว่าเป็นไปไม่ได้ สิ่งนั้นจะมีขึ้นมาได้อย่างไร มรรคผลมันพ้นออกไปแล้ว มรรคผลมันกึ่งพุทธกาลมันจะไม่มีมรรคไม่มีผลให้เราสืบต่อ...มี ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติสมควร มันปฏิบัติไม่สมควรมันก็ไม่พบตรงนี้ ปฏิบัติสมควรเพราะอะไร
เพราะครูบาอาจารย์ผ่านพ้นไปแล้ว ครูบาอาจารย์ผ่านตรงนี้ไง ผ่านตรงนี้ก็มาชี้นำไว้ ชี้นำไว้ ชี้นำ ชี้บอก คอยเคาะคอยบอกลูกศิษย์ลูกหาว่าตรงนี้สำคัญนะ ตรงนี้สำคัญนะ ต้องเข้าจุดนี้ให้ได้นะ ถ้าเขาจุดนี้ได้มันก็เห็นหมาเน่า เข้าจุดมันก็หมุนไป หมุนไปมันก็พลิก พลิกไป เห็นไหม เป็นบุคคลที่ ๘ พ้นออกไปเป็นบุคคลที่ ๙