คณะศรัทธา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ไม่เอ่ยชื่อเลย ครูบาอาจารย์เราตรวจสอบได้หมด เพราะอะไร เพราะเวลาภาวนาไปนะ พอเราเริ่มภาวนาไป วิญญาณในขันธ์ ๕ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท
วิญญาณในขันธ์ ๕ โสตวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ แล้ววิญญาณในขันธ์ ๕ มันมีโดยปุถุชนทุกคนมีหมด
วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทมันเป็นปฏิสนธิจิต เราบอกวิญญาณเกิดตายกับวิญญาณรับรู้มันคนละอัน แล้วเวลาภาวนา เราไปถึงตรงนั้นพอดี แล้วมันเป็นอย่างนั้นปั๊บ ก็ไปถามอาจารย์จวน อาจารย์จวนตอบโชะๆๆๆ เลยนะ เราก็จับไว้ แล้วเวลาเรามาที่บ้านเราก็ไปถามพระไง วิญญาณในขันธ์ ๕ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทอันเดียวกันหรือเปล่าครับ
อย่ามาถามอย่างนี้นะ อย่างนี้สบประมาทกันนะ
โอ๋ย! เวรกรรม มันฟ้องเลยว่าองค์นี้ไม่มีภูมิ ถ้าองค์ที่มีภูมินะ ครูบาอาจารย์นี่นะ เหมือนกับเราเป็นพ่อเป็นแม่คน ถ้าลูกเราไปทำงานมีผลงานมาเสนอพ่อแม่ พ่อแม่จะดีใจไหม พ่อแม่ทุกคนอยากจะให้ลูกทำงานเป็น อยากให้ลูกมีผลงานเข้ามา แล้วลูกเอาผลงานมาเสนอ โอ้โฮ! มันจะชื่นใจนะ
ไอ้นี่บอกว่า อย่างนี้อย่ามาลองภูมินะ มันใช้ไม่ได้ มันเป็นกิเลสไง มันวัดได้ง่ายๆ เลย เวลาไปตั้งปัญหาถาม เวลาเห็นมีพระมาหาเยอะแยะมากเลย พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย เออ! ไม่เป็นไรหันก็หัน ให้เขาพูดจนจบ เพราะฟังมาตั้งแต่ต้นมาจนจบไม่มีอะไรเลย ธรรมะสาธารณะคือจำของพระพุทธเจ้ามา อธิบายได้หมด พูดได้ จ้อยๆๆๆ เลยนะ แต่ฟังแล้วรู้หมดเลยว่านี่ธรรมะสาธารณะ เพราะมันเป็นสัญญา มันไม่มีนะ
ธรรมะมันจะมีสูงมีต่ำ มีหนักมีเบา หลวงตาจะพูดประจำ มีหนักมีเบา เวลาหนักต้องหนัก เวลาเบาต้องเบา มันจะเบาเฉยๆ ไป อย่างเช่นเราอยู่ปกติเป็นมารยาทสังคม โอ๋ย! ผู้ดีกันหมดเลย พูดคำหนักไม่ได้เลย แล้วหลวงตาท่านบอก แล้วเวลาหนักล่ะ
ทำอาหาร เวลาสุก เวลาเราทำอาหารยังมีหนักมีเบา ยังต้องเติมน้ำปลา ต้องเติมอะไรให้รสชาติมันได้คงที่ นี่ใส่อะไรก็ไม่ได้ เสียมารยาท ใส่อะไรก็ใส่ไม่ได้ อาหารเป็นอาหารได้อย่างไร ธรรมะก็เหมือนกัน เวลาพูดถึงจุดที่มันจำเป็น โสดาบันเป็นอย่างไร
มารนิพพานทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะไปฟังครูบาอาจารย์พูดแล้วก็เออตาม แล้วมาหาเรา ใครมาหาก็แล้วแต่ เราจะพูดประจำ ให้เข้าไปหาหลวงตาแล้วถามท่านสิ
ไปแล้วค่ะ
ไปที่ไหน
ไปที่ศาลาค่ะ
แล้วทำอย่างไร
ก็ตั้งจิตถามค่ะ
แล้วท่านก็เทศน์ตอบมา
จบแล้ว
จะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด ไม่กล้า ไม่กล้าหรอก ถ้าเข้าไปกล้า ถ้ากล้า เหมือนกับเราไปหาหมอ เราเอาอาการไข้เข้าไป หมอจะวินิจฉัยได้หมดเลย แต่เราว่าเรามีอาการไข้ เราก็เดินเฉียดเข้าไป แล้วก็ผ่านโรงพยาบาลมา ก็บอกนี่หายแล้ว
พออย่างนั้นปั๊บ เวลาหลวงตาท่านถึงบอกไง บอกว่า ถ้าเข้าไปหามันจะเป็นอย่างไร มันจะรู้ตรงที่ว่าตรงหนักตรงเบา
คนทำอาหารไม่เป็นก็คือคนทำอาหารไม่เป็นวันยังค่ำ คนทำอาหารเป็นอยู่ที่ไหนมันก็ทำอาหารเป็น คนว่ายน้ำเป็น ผลักตกน้ำ มันเอาตัวรอดทันทีเลย จะบอกว่าเคยเป็นแล้ว ลืมแล้ว เป็นไปไม่ได้ คนว่ายน้ำเป็นจะอยู่ที่ไหน ผลักมันตกน้ำสิ มันต้องเอาตัวรอดได้ตลอด ถ้าภาวนาเป็นแล้วนะ ถามอย่างไร ถามเมื่อไหร่ ต้องตอบได้หมด มันเป็นอริยสัจ
หลวงตาท่านพูด มันเป็นอริยสัจนะ มันไม่ใช่เป็นความจำ
ถ้าเป็นความจำ อย่างเช่นศึกษามาเรียนมา มันจำมามันอาจจะเลอะเลือนได้ แต่อริยสัจ ที่ท่านพูดคำนี้เราเป็นห่วงมากเลย เป็นห่วงว่าเวลาท่านล่วงไปแล้ว ท่านบอกว่า เราเผลอ เราลืม อะไรนี่นะ ฝ่ายที่โจมตีจะบอกตลอด
ไอ้เผลอ ไอ้ลืม อะไรนี่มันเป็นสัญญา มันเป็นขันธ์ ๕ นี่ไง ขันธ์ ๕ ที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นเปลือก แต่ถ้ามันเป็นจิต จิตปฏิสนธิ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเป็นปัจจยาการ มันเป็นพลังงานเฉยๆ ถ้าจิตมันสงบ สมมุติว่าเวลาปกติของเรา ระหว่างพลังงาน ที่เราพูดว่าพลังงาน ตัวปฏิจจสมุปบาทนี่พลังงาน แล้วพลังงานโดยอวิชชาด้วย แล้วพลังงานเฉยๆ มันจะใช้งานเองไม่ได้ มันต้องผ่านมาที่สัญญาข้อมูล สังขารปรุงแต่ง แล้วเราอยู่กันตรงนี้ ทีนี้มันก็ฟุ้งซ่านตลอดเวลา เรากำหนดพุทโธหรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะสงบเข้ามา มันจะผ่านตรงนี้เข้าไปอยู่ที่พลังงานตัวนี้ มันถึงเป็นสมาธิได้ไง นี่ไง สมาธิตัวนี้ไง เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต กิเลสมันอยู่ที่พลังงาน ต้องแก้กันที่พลังงานนี้ไง ไม่ได้ไปแก้ที่นามรูป เกิดดับๆ
เกิดดับมันเงา อาการของใจไม่ใช่ใจ ตัวใจเป็นตัวใจนะ อาการของใจมันเป็นอาการของใจนะ แต่เรานี่อาการกับใจอยู่ด้วยกัน เพราะเราอยู่ด้วยร่างกาย ด้วยเงาด้วย มันก็คิดกันออกไป ถ้ามันผ่านเข้ามานะ ถ้าผ่านเข้ามาโดยสมถะ กำหนดพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เข้าถึงสมาธิ มันก็เข้ามาได้แค่นี้ มันไม่เห็นหรอก เพราะมันเหมือนเราสาวหรือเราจะชักใยอะไรมันก็ต่อเนื่องต่อกัน
แต่ถ้าขณะที่วิปัสสนาไปจนเห็นจิตเห็นอาการของจิต คือจิตมันเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ไอ้ที่เขาบอกว่า วิปัสสนาๆ นะ พุทโธมันเป็นสมถะ ไม่มีปัญญา ต้องวิปัสสนาเห็นนามรูป ถึงได้วิปัสสนา...ไร้สาระ ไร้สาระสิ้นดีเลย มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันวิปัสสนาอะไร
วิปัสสนามันต้องมีการโต้แย้ง ต้องมีการหาเหตุหาผล ที่ว่าดูจิตๆ จิตต้องเห็นอาการของจิต หลวงปู่ดูลย์พูดอย่างนี้ จิต ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต ไม่ใช่ดูจิตเฉยๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก
จิตเห็นอาการของจิตแล้วพิจารณาจนมันทำลายกัน การที่ทำลาย โสดาบันเกิดตรงนี้ เพราะอะไร เพราะมันทำลายรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ ไง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ความคิดนี้ไม่ใช่เรา ความคิดที่คิดกันอยู่นี่ ถ้ามันทำลาย ความคิดกับเราแยกเลย ความคิดเป็นความคิด พลังงานเป็นพลังงาน พอเห็นแยกอย่างนี้ปั๊บ โสดาบันเกิดตรงนี้ไง โสดาบันเกิดอย่างนี้ แล้วเกิดอย่างไร
พูดขนาดไหนนะ จำไปเถอะ จำไปแล้วกลับมาพูดกับเราใหม่ เราซักตายห่าเลย เพราะมันจำมา จะนิพพาน จะขนาดไหนที่มาหาเรานะ ปล่อยไปเลย เพราะมันพูดเป็นแบบว่าพื้นๆ จนบางทีเรากัดลิ้นไว้เลยนะ มีคนมาอธิบายเรื่องเป็นขั้นเป็นตอน เราจะกัดลิ้นเราไว้เลย เพราะมันขำ แต่ขำขนาดไหน เราจะปล่อยออกมาไม่ได้ เพื่อให้เขาออกมาให้หมด เพราะอะไรรู้ไหม ถ้าไม่ออกมาให้หมด เวลาคุยไปแล้วก็พูดได้แค่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องปล่อยมาให้หมดเลย พอหมดแล้วเราค่อยมาซักไง
พอมาซัก พิจารณากายอย่างไร พิจารณาขันธ์อย่างไร ตอบไม่ได้สักคน ตอบไม่ได้สักคน มันก็เป็นธรรมะสาธารณะของพระพุทธเจ้า อย่างที่หลวงตาว่าน่ะ จำมา เรียนมาเพื่อชำระกิเลส ไม่ใช่เรียนมาเพื่อยศถาบรรดาศักดิ์ เรียนมาเพื่อว่าข้ารู้ไง เรียนมาเพื่อรู้ แต่กิเลสพารู้ ไม่ใช่รู้จริง
แต่วิปัสสนาเห็นอาการการเป็นไปของมัน มันขาดอย่างไร มันปล่อยวางอย่างไร มันมีไง ตทังคปหาน สมุจเฉทปหาน ตทังคะปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวางอย่างไร ที่ว่าพอเวลาเราปล่อยวางกัน โอ๋ย! ว่าง สบาย นั่นแหละมันชั่วคราว แล้วมันขาด มันขาดอย่างไร มันขาดอย่างไร ทำไมมันถึงขาด มันต้องมีขาดสิ มันต้องมีไม่ขาด มีขาด มีไม่เห็น มีเห็น นี่ไง วันวิปัสสนาเริ่มต้น คำว่า วิปัสสนาเกิด เกิดที่ไหน เกิดตั้งแต่เจ้าหน้าที่ไปจับจำเลย ได้ตัวจำเลยไง
หลวงตานะ ตอนที่ว่า ถ้ายังว่างอยู่ โอ๋ย! ว่าง มองภูเขาทะลุปรุโปร่งไปหมดเลย โอ๋ย! จิตทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ นี่ไง ไม่ได้จำเลย จับผู้วิปัสสนาไม่ได้ พอจิตมันเตือนขึ้นมา ความสว่าง จิตมหัศจรรย์นี้ เกิดจากจุดและต่อมของจิต นี่ไง ได้แล้ว พอได้แล้วค่อยมาวิปัสสนาไปเรื่อยจนเป็นมะพร้าวสองขั้ว มันมีเหตุมีผล แล้วถ้าใครมาพูดอย่างนี้นะ ใครมาพูดบอกวิปัสสนาอย่างนี้นะ ไอ้คนนั้นพูดผิดหมด เพราะมันเป็นวิทยานิพนธ์ของหลวงตา ถ้าคนอื่นมาใช้คือว่าไปก็อปปี้มา เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย แต่ฟังไว้เป็นคติเป็นตัวอย่าง ธรรมะของครูบาอาจารย์ ฟังไว้เพื่อให้องอาจกล้าหาญ ฟังไว้เพื่อความมั่นใจว่าธรรมะมันมีไง ฟังไว้ว่าภูมิของจิตมันมี ความเป็นไปมันมี แต่ของเราทำไปจะไม่เป็นอย่างนี้เด็ดขาด ถ้าเป็นอย่างนี้นะสัญญา
แล้วเวลาใครมาพูดนะ เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น จนขนาดที่บางทีมาพูดนะ เพราะเขารู้ว่าเรายอมรับหลวงตาไง ทำไมอาจารย์ยอมรับหลวงตา ทำไมไม่ยอมรับผม เขายังไม่รู้ตัวขนาดนี้ ก็กูยอมรับหลวงตาเพราะหลวงตาเป็นผู้บุกเบิกไง แต่พวกมึงจำท่านมา แล้วก็มาสร้างภาพ สร้างความเป็นไป จิตมันก็มหัศจรรย์มันก็สร้างได้ มันเป็นความจริงได้อย่างไร
โอ๋ย! มาถึงร้องห่มร้องไห้เยอะมากนะ จะมาโฮๆ นะ ถ้ามาโฮๆ นะ กูกราบเด็กก็ได้นะ เด็กเดี๋ยวก็ร้องไห้ เด็กร้องไห้ทั้งวันแหละ มันเกี่ยวอะไรกับร้องไห้ แต่ของท่านต้องร้องไห้ เพราะมันเป็นคุณสมบัติของท่าน แล้วท่านพูดไม่ได้นะ ถ้าท่านพูด สามัญสำนึกท่านจะหลุดเลย หลุดคือว่าอาการ เขาเรียกว่าธรรมสังเวชมันเกิดไง สิ่งที่มันเคยสัมผัสที่จิต ที่มันฝังที่จิตมันจะเกิด อย่างมีอะไรที่เราเคย เราพูดอยู่นี่ เราเคยสัมผัสสิ่งใดที่มันฝังใจ พอมันสภาพอย่างนั้นปั๊บ ความรู้สึกอันเดิมมันจะมาเลย มาเลย อันนั้นเป็นคุณสมบัติของท่าน ท่านสร้างบุญญาธิการมามหาศาล อย่างพวกเรามันสร้างไม่ทันหรอก มันสร้างไม่ได้อย่างนั้น คืออย่างไรก็แล้วแต่นะ เขาเรียก ขณะ ขณะที่พลิกฟ้าคว่ำดินมันใหญ่มาก ของเราขณะแค่หิ่งห้อย ขอให้กูไปได้กูก็พอแล้ว ไม่ต้องให้ขณะขนาดนั้นหรอก นั่นเรียกขณะทำไม เพราะอะไร เพราะของอาจารย์สิงห์ทอง ไปเรื่อยๆ จนหายไปเรื่อยๆ นั่นคือขณะของอาจารย์สิงห์ทองนะ
ท่านบอกว่าไม่มีขณะๆ เราไม่ใช่โต้แย้งนะ แต่ถ้าความรู้สึกเรา เราเถียง เราเถียงว่ามี อาจารย์สิงห์ทองก็มี แต่มีแบบของอาจารย์สิงห์ทอง มีแบบของหลวงปู่เจี๊ยะ มีแบบของหลวงตา มีแบบของหลวงปู่คำดี มีแบบของหลวงปู่ขาว แบบของใครของมัน วิทยานิพนธ์ไม่มีซ้อน ไม่มีซ้อน แต่เอามาเป็น เราไปอ่านวิทยานิพนธ์ หรือเราไปคัดลอกมาเพื่อเป็นประเด็นที่เราจะทำวิทยานิพนธ์อันต่อไปได้ ไม่ใช่ปิดกั้นไม่ให้ศึกษา ต้องศึกษา ศึกษาแล้วต้องปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง อย่าไปเอามาฝังใจ แล้วตอนนี้จะเป็นอย่างนี้มาก
เราถึงบอกว่าหลวงปู่มั่น เราพูดบ่อยนะ หลวงปู่มั่น พระพุทธเจ้า ท่านรู้ถึงว่ากิเลสมันเป็นอย่างไร แล้วใครมันจะติดไง ท่านถึงพูดแต่เหตุไว้ไง แล้วเวลาพวกที่ลูกศิษย์ตามหลังมาได้มาครึ่งๆ เดียว ได้ไม่จริง ถ้าได้จริงนะ มันจะแตกแขนงออกไปๆ อีกอย่างหนึ่ง แม้แต่คู่แฝดออกมาด้วยกัน นิสัยยังไม่เหมือนกัน วาสนายังไม่เหมือนกัน แล้วประสาอะไรกับครูบาอาจารย์กับพวกเราห่างกันลิบลับ เป็นไปไม่ได้เลย
เวลาถามปัญหา ถ้าจะให้ซักเรื่องภาวนานะ มันเป็นงานถนัดว่าอย่างนั้นเถอะ ง่ายมากเลย ถ้าจะซักนะ มาเถอะ ซัก ๒ ที ล้ม ทุกคนถึงไม่กล้าเข้ามาใกล้ ไม่กล้าเข้ามาใกล้
๑. ประสบการณ์มี
๒. เรามันผ่านตรงนี้มาเยอะ
แล้วฟังๆ พระอรหันต์แล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว
นี่ยกกลับนะ พลิกกลับเป็นฝ่ายทางปริยัติ เขาบอกพระอรหันต์ร้องไห้ไม่ได้ ร้องไห้แล้วเป็นทุกข์ไง นี่เป็นทุกข์ แต่เราพลัดจาก ลูกจากพ่อแม่ จากกันเป็นสิบๆ ปี เจอกันวิ่งเข้ากอดกันด้วยความปลื้มปีติ น้ำตาไหลพรากๆ เป็นความทุกข์ไหม
ไอ้น้ำตามันเป็นธรรมชาติของบ่อน้ำตา เป็นธรรมชาติของธาตุขันธ์ แต่มันจะหลั่งออกมาด้วยความสุขหรือความทุกข์ล่ะ มันแรงกระตุ้นของจิต มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เราบอกเลยนะ เราพูดกับพวกพระที่เขาโต้แย้งเรื่องตรงนี้นะ บอกไม่ต้อง เอ็งไม่ต้องทำอะไรเลย ดูสิ วัยรุ่นมันขับรถเครื่อง มันโดนลม โต้ลม น้ำตามันจะไหลพรากเลย
ไอ้บ่อน้ำตา ไอ้สัญชาตญาณ มันเป็นธรรมดา ตรงนี้เอามาเป็นหลักไม่ได้ แต่ของหลวงตาท่าน ขณะที่ท่านสัมผัส ขณะจิตที่ท่านพลิก ดูสิ หลวงปู่บัว หลวงปู่บัวที่ว่านั่งอยู่ ขางคานขาดเพราะอะไร เพราะหลวงปู่บัวติดตรงนี้สิบกว่าปี พอสิบกว่าปี จิตมันจะเข้าอยู่กับเรื่องของความว่างนี้ตลอด คือพลังงานเหลือเฟือ แต่ไม่รู้จักใช้ พอหลวงตาหักปั๊บ ให้ใช้พลังงานนี้ปั๊บ พอใช้พลังงาน คิดดูสิ ขางคานนี่ขาดคือว่ามันลง พอมันพิจารณา ของหลวงตามันพลิกฟ้าคว่ำดิน แต่ของหลวงปู่บัวมันวูบลง แล้วก็ บึ๊บ! ขางคาน ขางกิเลสขาด บึ๊บ! ลงไปเลย
เช้ามา แต่เดิมหลวงตาซัก ว่ามา
เป็นชั้นๆ รู้หมด บันไดที่ ๑ บันไดที่ ๒ บันไดที่ ๓
ว่ามาสิ
คิดว่าบันไดที่ ๓ เป็นบันไดที่ ๔ ไม่ใช่
กลางคืนทำอย่างนี้ต่อนะ
พอต่อ จากพลังงานที่เก็บสะสมไว้มาก ทำอย่างนี้ต่อนะ หักเข้ามาเลย พอหักเข้ามา พอถึงเวลาปั๊บ มันเต็มที่ของมัน แล้วหลวงปู่บัวไม่เห็นร้องไห้โฮๆๆ เลย
โยม ๑ : หลวงพ่อเจ้าคะ เมื่อกี้ขณะที่หนูทำ หนูนั่งเทพพนม ขานี้ชา เจ็บ ใจก็แบบจะปกติ แต่จนรู้สึกว่า คือจะสู้กับกิเลส จนในที่สุดก็แบบว่าไม่อยากจะเปลี่ยน แต่ก็ดู ดูว่าอยากจะเปลี่ยน แต่ก็ไม่สามารถที่จะทนกับไอ้นี่ได้ แล้วต้องปฏิบัติบ่อยๆ
หลวงพ่อ : ถ้าทำไปอย่างนี้ พอทำไปอย่างนี้ พอมันชานะ ถ้าเวทนาเกิดมันจะเกิดมาก มันจะปวดมาก อันนี้คือเวทนา เวทนามันเป็นมารแล้ว คือเวทนามันบีบ นี่หลวงตาว่าไฟ ขันธ์ ๕ เป็นไฟที่เผาผลาญเราแล้ว ถ้าเราใช้ปัญญาของเราวิปัสสนาไป หรือใช้กำลังเราใคร่ครวญไป มันเสมอกันนะ ถ้ามันเสมอกันนะ มันจะชาอย่างนี้ เวทนาสักแต่เวทนาเป็นอย่างนี้
แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไปนะ เวทนามันเป็นอาการเกิดดับ จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ มี มีเพราะอะไร เพราะเวลาที่เรานั่ง มันด้วยความกดทับ ด้วยอะไร มันมีของมันแน่นอนอยู่แล้ว มันมีอย่างนี้มันก็มี แล้วเราคิดมุมกลับนะ ตุ๊กตาที่เขาตั้งไว้มันมีความรู้สึกไหม เพราะมันไม่มีจิต เพราะมีจิต จิตมันไปรับรู้ไง พอจิตมันไปรับรู้ มันก็ต้องกลับมาที่นี่ ต้องใช้ปัญญาย้อนกลับเข้ามา แต่เพราะกำลังมันไม่พอ กำลังขณะที่มันสมดุลมันก็เป็นอย่างนั้น มันชาๆ อย่างนั้นน่ะ มันชาๆ อย่างนั้น
โยม ๑ : ท่านอาจารย์คะ รู้ว่าอยากจะเปลี่ยน แต่ว่าจะสู้กับกิเลสที่มันเจ็บปวด แต่ก็แพ้มัน
หลวงพ่อ : กำลังไม่พอ กำลังไม่พอ กำลังมันไม่พอไง นี่สมาธิสำคัญตรงนี้ ทุกคนมองสบประมาทสมาธิไง เราบอกพวกนั้นใช้ไม่ได้เลย คนไม่เคยภาวนา
สมาธิสำคัญมากเลย ถ้ามีสมาธินะ ปัญญาเกิดขึ้นมาจะเป็นโลกุตตรปัญญา เพราะตัวสมาธิมันเป็นตัวตัด ตัวตัดตัณหาความทะยานอยาก ถ้าไม่มีสมาธิ เราจะฟุ้งซ่าน เราจะคิดไปตามอารมณ์ของเรา สมาธิคือตัวว่าง คือตัวฟรี เกียร์ว่าง สมมุติรถอยู่ในเกียร์ ติดเครื่องได้ไหม ติดเครื่องไม่ได้ เพราะมันอยู่ในเกียร์ เพราะติดเครื่องปั๊บ รถจะวิ่งเลย แต่ความคิดเราอยู่ในเกียร์ตลอด แล้วทำสมาธิ ทำขึ้นมาให้เกียร์ว่าง เกียร์ว่างติดเครื่องได้ใช่ไหม พอเราติดเครื่องปั๊บ ความคิดอันใหม่จะโลกุตตรธรรมเกิด นี่ตัวสมาธิเป็นทางสองแพร่ง
หลวงตาท่านพูดบ่อย เราจะใช้หลวงตาบ่อย เพราะมันซึ้ง เวลาเราฟังเทศน์หลวงตา เราจะซึ้งหลวงตามาก ดอกเตอร์ๆ เอกตาข้างเดียว ดอกเตอร์เพราะอะไร เพราะมันเป็นโลกียปัญญา ดอกเตอร์เรียนมาจากวิชาการนะ วิชาการนี้วิชาการมาจากใคร มาจากเรา เพราะเราเรียนมา เราคือใคร เราคืออวิชชา เราคือกิเลส ความคิดทั้งหมด วิชาชีพเกิดจากกิเลสทั้งหมดเลย จะใหญ่แสนใหญ่ขนาดไหน อยู่ใต้อำนาจของกิเลสหมดเลย ตัวสมาธินี่ตัวมาฟรี ถ้าฟรีเป็นแล้วนะ ย้อนกลับไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นี่โลกุตตรปัญญา
โลกียปัญญา ร้อยประโยค ห้าพันประโยคก็แล้วแต่ โลกียปัญญา ธรรมสาธารณะ โลกียปัญญาทั้งหมดเลย แล้วโลกียปัญญามันยังมีกิเลสอยู่ มันเข้าไปแล้วจิตมันมหัศจรรย์ เพราะเรื่องของจิตร้ายกาจนัก พอมันไปศึกษาธรรมหรือมันตรึกในธรรม โอ้โฮ! มันเห็นตาม ทำได้หมดเลย ปล่อยอย่างนั้น ว่างอย่างนั้น กิเลสขาดอย่างนั้นร้อยหนพันหน โอ๋ย! กิเลสมันร้ายนัก นี่โลกียปัญญาไง ตรึกในธรรมพระพุทธเจ้าไง มันเป็นจินตมยปัญญาไง มันจินตนาการมันคาดหมายไป แล้วจิตมันเป็นไปได้หมด มันจะพลิกฟ้าคว่ำดินขนาดไหน มันทำอย่างไรก็ได้หมดเลย จิตนี่ แต่ของปลอม
แต่ถ้ามีสมาธิปั๊บ แยกไป พอเป็นสมาธิแล้ว มันสำคัญตรงนี้นะ สำคัญที่สมาธิแล้วจะย้อนวิปัสสนาเป็นหรือไม่เป็น แม้แต่วาสนามาภาวนาก็หนึ่งแล้ว แค่มาภาวนานี่ เพราะอะไร เขาสุขสบายกัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในป่า เขาสุขสบายกัน ทำไมเราต้องมาทุกข์มายาก คนเศษคนเดนก็คือเรา เขาครึกครื้นกัน ไอ้เราต้องมาโอดมาโอย เห็นไหม แค่นี้ก็วาสนาแล้วนะ แค่มาภาวนานี่วาสนาอันหนึ่งแล้ว แล้วถ้ามันสงบแล้ว ถ้ามันย้อนวิปัสสนาได้ วาสนาอันที่ ๒ ตรงนี้สำคัญมากเลย เราจะบอกประจำกับลูกศิษย์นะ นี่ปากซอย ถ้ามึงเข้าซอยถูก มึงจะเข้าบ้านมึงถูก ถ้ามึงเข้าปากซอยไม่ได้ เราวิ่งบนถนนใหญ่ เข้าซอยไม่ถูก เข้าบ้านไม่ถูกหรอก ถ้าเข้าปากซอย เข้าปากซอยนี่วิปัสสนาไง กาย เวทนา จิต ธรรม ของใครของมัน ใครจับตรงไหน นี่ปากซอย
พอปากซอยปั๊บ มันจับได้มันก็วิปัสสนาใช่ไหม พอเราจับได้ เราเข้าใจแล้ว อ๋อ! อยู่ที่นี่ เหมือนกับเราจับได้จำเลยแล้ว แล้ววิปัสสนาคือขึ้นศาลพิพากษา อันนี้ก็เหมือนกัน ระหว่างกิเลสกับธรรม วันนี้ชนะ โอ้โฮ! ว่างหมดเลย ทนายฝ่ายเราซักดี ไอ้นั่นแพ้หมดเลย โอ้โฮ! โล่ง วันไหนพอซักค้านล้มนะ โอ๋ย! ทุกข์น่าดูเลย
นี่ไง ขณะวิปัสสนาไปมันก็จะมีอย่างนี้ ระหว่างธรรมกับกิเลสมันจะต่อสู้กันในหัวใจ หลวงตาบอกว่าเก้าอี้ดนตรี วันนี้กิเลสนั่งหรือธรรมนั่ง ถ้าวันนี้ธรรมนั่ง โอ๋ย! โล่งโปร่งหมดเลย ถ้าวันนี้กิเลสนั่งนะ นักปฏิบัตินี่แหละหัวชนภูเขาเลยล่ะ
โยม ๑ : หลวงพ่อ อย่างนี้แนะนำ
หลวงพ่อ : กลับมาพุทโธ
โยม ๑ : กลับมาพุทโธ
หลวงพ่อ : เราพูดอยู่นี่ไงว่ากำลังมันไม่พอไง ถ้ากำลังมันพอ เห็นไหม มีดมันไม่คมไง หลวงตาบอกว่า มีดถ้ามันคม มันจะเชือดเฉือน มันจะฟันอะไรก็ได้ ถ้ามีดไม่คม เถือแล้วเถืออีกก็ไม่เข้า เพราะคนเราอยากได้ประโยชน์ ทุกคนจะทำแต่ธุรกิจ ทุกคนมีแต่จะขายๆ แต่ทุกคนไม่มีสินค้า มีสินค้าต้องกลับมาพุทโธไง
ทุกคน ถ้ามันไปไม่รอด ถ้าทำไปแล้วนะ หนึ่งนะ มันเข็ดมันล้าไง ถ้ามันไม่ได้ปั๊บต้องกลับมา ต้องกลับมาที่พุทโธ เพราะสมถะ วิปัสสนา มันต้องไปพร้อมกัน เพราะอะไรรู้ไหม ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งนะ นักศึกษาส่งหน่วยกิตไม่ครบ สอบไม่ผ่าน ปัญญาชอบ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ สมาธิมันอยู่ในมรรค ๘ ด้วย ขาดสมาธิ ส่งหน่วยกิตไม่ครบ ใครให้ผ่าน อันนี้พอสมาธิมันอ่อนลง ต้องกลับมาเพิ่มตรงนี้ไง
แหม! ไอ้คนที่สบประมาทว่าสมาธิไม่สำคัญๆ ถ้าไม่สำคัญ เพราะมันเหมือนกับเราทำอาหารแล้วขาดส่วนผสมสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันไม่อร่อย ก็คิดกันอยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะมันไม่รู้จัก ถ้ามีคนเอามาเติมให้ โอ้โฮ! โง่อยู่ตั้งนาน
โยม ๑ : อย่างนี้ก็ให้เจ็บก็เจ็บไป ให้อยู่ที่พุทโธ
หลวงพ่อ : ใช่ ถ้ากลับมาพุทโธนี่เขาเรียกว่านักหลบ หลบมาสร้างพลังงานก่อน หลบมาก่อน การสู้กับเวทนามี ๒ วิธี วิธีหนึ่งคือว่า ถ้าเราคิดสิ่งใด โทษนะ นี่พูดเรื่องจริงเลย ธรรมะเป็นอย่างนี้จริงๆ เช่น เราปวดปัสสาวะหรือปวดหนัก ถ้าเรามีเรื่องอื่นกระทบใจปั๊บ เราจะหายทันทีเลยจริงไหม เราจะบอกว่าจิตนี้มันรับไว้หนึ่งเดียว
ถ้ามันออกไปมันจะออกไปรับรู้เวทนา ถ้าเรา พุทโธๆๆ พุทโธที่ปากไม่หาย ถ้าพุทโธที่ใจมันจะดึงกลับมาหมดเลย เวทนานี่หายได้ หายด้วยหลบ หลบมาสร้างพลังงาน แต่อันนี้ไม่ใช่วิปัสสนา หลบจนกว่าจิตจะมีกำลังแล้ว ถ้าย้อนไปหามัน เวทนาเกิดที่ไหน เวทนาเกิดที่ไหน ไม่มีหรอก เวทนาไม่มี มึงบ้าคนเดียว จิตหลอกจิต
อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ขณะที่ว่าเราปวดขนาดไหนนะ พอมีอะไรมากระทบ เราไปทางอื่นนะ หายหมดเลย เวทนาอยู่ไหน มันเป็นนามธรรม พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว เราถึงบอกว่าพระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างกันตรงนี้ไง พระพุทธเจ้าบัญญัติศัพท์ได้ มันเป็นอาการของใจเกิดชั่วคราว เป็นสมมุติ มีจริง จริงตามสมมุติ เพราะมีจริงตามสมมุติมันถึงมีเหตุให้เราวิปัสสนาได้ไง มีเหตุให้เราใคร่ครวญได้ไง เพราะมันไม่มีตรงนี้ เราถึงวิปัสสนาไม่ได้ไง
ต้องซ้ำไป ทำ มันตทังคปหาน มันชั่วคราว ต้องซ้ำไปจนกว่ามันจะสมุจเฉทฯ สมุจเฉทฯ ปั๊บ นี่โสดาบัน ปุ๊บ! จะพลิกฟ้าคว่ำดิน อฐานะที่ไม่มีวันเสื่อม แล้วตอบได้ตลอด จะเจ็บช้ำขนาดไหนนะ ถามปุ๊บ ตอบได้เลย เพราะมันฝังอยู่ที่ใจ
ไอ้นี่เวลาซักนะ มาหาเราอย่างที่ว่าเยอะมาก จะไปไหนไม่สำคัญ จับซักตรงนี้เริ่มต้นเลย
หลวงตาไปหาหลวงปู่แหวน ปัญหาแรกก่อน ถ้าปัญหาแรกตอบถูก ผลัวะ! สอบปัญหาสอง ถ้าไม่รู้ถามไม่ได้ สอดเข้าไปเลย คือปากซอยเข้าถูกไหม ถ้าคนไม่รู้จักซอย ไม่รู้จัก ตอบไม่ถูก
โยม ๑ : หลวงพ่อ แล้วถ้าอาการแบบถ้านั่งๆ หรือกำหนดแรกๆ อย่างนี้ใช่ไหม นั่งๆ ไปแล้ว สงบลงไป สงบลงไป จนกายไม่มีไปเลย มีแต่ตัวรู้ นี่ใช่สงบขั้นแรกไหม
หลวงพ่อ : เรากำหนดอะไร เรากำหนดอะไร
โยม ๑ : พุทโธ
หลวงพ่อ : พุทโธได้ มันเป็นอย่างนี้นะ
โยม ๑ : ขั้นแรก
หลวงพ่อ : ใช่ เดี๋ยวนะ ขั้นแรกนะ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าพุธโธไปเรื่อยๆ นะ ต้องมีสติไปตลอดนะ มีสติไปตลอด ถ้ามีสติไปตลอด เพราะเราจะบอกว่าอย่างนี้นะ สมาธิมันจะรู้ตลอด ไม่มีช่วงว่าง ถ้าไม่มีช่วงว่างเข้ามา แต่นี้เราจะบอกว่าแค่ไหน มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาของคนนะ ทีนี้ถ้ามันรู้เข้ามานี่ใช่สมาธิ ถ้ามันเข้าไปเรื่อยๆ เข้าไปเรื่อยๆ
โยม ๑ : ปุ๊บๆ เข้าไปแล้วมันก็ปุ๊บ ปุ๊บเข้าไปปั๊บ กายก็หาย
หลวงพ่อ : ถ้าหายแล้วเรารู้อยู่หรือเปล่า
โยม ๑ : รู้ค่ะ
หลวงพ่อ : ต้องรู้อยู่ตลอดเวลา
โยม ๑ : สติรู้อยู่ สติมีตัวรู้รู้อยู่ ถามว่าสติกับตัวรู้นี่ลอยกันอยู่ ชั้นลอยกันอยู่ แต่กายมันไม่มีแล้ว
หลวงพ่อ : อ้าว! ว่าไป
โยม ๑ : อันนี้เขาเรียกสงบขั้นแรกๆ
หลวงพ่อ : สงบไม่แรกแล้วแหละ
โยม ๑ : กายสัมผัสแรกๆ
หลวงพ่อ : ใช่ สัมผัส
โยม ๑ : กายสัมผัสแรกๆ
หลวงพ่อ : ไม่แรก ถ้าตัวหายนี่ไม่แรกแล้ว
โยม ๒ : ถ้ามันเกิด ถ้าคุมจิตอย่างนี้แล้วถ้าจับเลยล่ะ
หลวงพ่อ : อันนี้อีกประเด็นหนึ่งแล้ว
โยม ๑ : เข้าใจว่า ธรรมมาเตือนว่า สติกับตัวรู้กับทางกายไม่สำคัญเลย
หลวงพ่อ : ใช่
โยม ๑ : เข้าใจแบบนี้มาตลอด
หลวงพ่อ : ใช่ ใช่
โยม ๑ : อ๋อ! เข้าใจแบบนี้ เข้าใจถูก
หลวงพ่อ : เข้าใจถูก ตัวรู้สำคัญที่สุด แล้วสร้างพลังงานด้วย อย่างนี้นะ ถ้าทำได้ขนาดนี้นะ เวลามันออกมา เวลาจิต
โยม ๑ : ทีนี้เวลามันถอนออกมา มันออกมาเอง
หลวงพ่อ : ใช่ เวลาออกมาเอง เราก็นึกไปที่กายสิ พอนึกเข้าไปที่กายนี่นะ เพราะอะไร เพราะมีดมันลับแล้ว มีดมันคมแล้ว ให้มันหัดฟัน เวลาออกมา จะออกมาเองก็ไม่เป็นไร ให้นึกไปที่กาย นึกไป นึกไปก่อน นึกไปคือฝึกซ้อมไง นักกีฬามันซ้อมนี่นะเป็นปีๆ เลย แข่งไม่ถึงชั่วโมง ฝึกซ้อมๆๆ ถ้าฝึกซ้อมปั๊บ เดี๋ยวมันจะพัฒนาขึ้น อันนี้มันเข้าเองออกเอง เขาเรียกว่าไม่ชำนาญในวสี มันแปลกใจที่ว่ามันออกเอง
ถ้าสมาธินะ กำหนด พุทโธๆ บางทีนะ มันพุทโธๆ มันจะอย่างนี้ มันจะเข้ามานี่ก่อน อธิบายนี้ก่อน พุทโธๆ ไป บางทีมันจะกลัว เหมือนตกจากที่สูง ถ้ามันตกจากที่สูง มันจะวูบลง พอวูบ ทุกคนจะสะดุ้งหมดเลย เพราะโดยสัญชาตญาณมันกลัวตาย พอวูบขนาดไหนนะ ถ้าพูดถึงนะ ถ้าคนเป็นนะ เรานี่วูบ วูบขณะที่ควงขนาดไหนมันจะลง พุทโธๆๆ เชิญตามสบายเลย อันนั้นคือมันจะเข้าสมาธิ แต่ด้วยกิเลสมันทำให้เกิดการสั่นไหว ทีนี้อาการสั่นไหว เพราะมันยังไม่เคยสัมผัส แล้วมันไม่เคยทาง
โทษนะ เหมือนเรากลัวผี เข้าไปป่าช้าเมื่อไหร่ก็กลัว แต่ถ้าพอเข้าไป ฝึกเข้าไป เดินถือเข้าไปเลย เดินเข้าไปจนหายกลัวแล้วนะ ป่าช้านั้นหลอกเราไม่ได้แล้ว อันนี้ก็เหมือนกัน ไอ้อาการวูบอาการกลัว เราต้องกลัวอะไร ถ้าออกมาแล้วนะ อ้าว! คราวนี้กูยอมแล้ว ยอมแพ้ว่ากลัว คราวหน้าต่อไปนะ มันมานั่งใช้ปัญญาเลย จะกลัวอะไรล่ะ ไม่มีสิ่งใดน่ากลัว เราซ้อมก่อนไง เหมือนกับว่าเวลาคนขี้โกรธ โทสจริต เราก็พยายามแผ่เมตตานะว่าพวกนี้เป็นญาติเป็นพี่น้องกันทั้งนั้น เวลาพอเจอหน้า ถ้ามันกระทบ มันก็ยังโกรธอยู่ แต่ก็ฝึกไปเรื่อยๆ ไง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน กลัว เราจะถามตัวเองว่ากลัวอะไร ต้องฝึกตั้งแต่ข้างนอกก่อนไง แล้วพอเข้าไปนะ พอแพ้อีก แพ้อีกแล้ว ฝึกอย่างนี้จนกว่าพอมันไม่กลัว พอคนไม่กลัว กำลังมันก็พร้อม เหมือนเราสาวเชือก ถ้าเรามีกำลัง เราจะดึงตัวเราขึ้นได้ แต่นี่เพราะกำลังไม่พอ อยากจะดึงตัวเองขึ้น แต่ดึงตัวเองขึ้นไม่ได้ นี่ดึงขึ้นนะ แต่เป็นสมาธิมันไม่ใช่ดึงขึ้น มันลง แต่ลงในสมาธิ
แต่ถ้าเป็นภวังค์ มันไม่ลงสมาธิ มันจะพุทโธๆ แล้ววูบไปเลยนะ หายไปไม่มีสติ อันนี้ใช้ไม่ได้ เพราะหายวูบไปเลย แล้วมันจะเถียงว่ารู้อยู่ตลอดเวลา แต่มันไม่รู้ แล้วเวลามันจะออก มันเหมือนกับสะดุ้งตื่น จำไว้เลย ภวังค์นี่นะ เวลาออกนี่นะ เหมือนสะดุ้งตื่น อันนี้เป็นพรหมลูกฟัก อันนี้เป็นภวังค์ อันนี้ไม่ใช่สมาธิ แล้วคนติดกันเยอะ
แต่ถ้าพุทโธๆๆ ถ้าตรงนี้ พุทโธๆๆ แล้วสติมันพร้อมมา มันจะเข้าละเอียด จะบอกว่าไม่มีช่องว่างเลย เข้าสมาธิ แต่พุทโธๆๆ หายวูบไปเลยน่ะ นั่นแหละภวังค์ แล้วเวลาออกนะ แล้วทำไปเรื่อยๆ จะลึกเรื่อยๆ แล้วเข้าใจว่าเป็นสมาธิ ตรงเข้าสมาธิมันก็ต้องตรวจสอบ ต้องคอยเช็คตรงนี้หน่อยหนึ่ง
เพราะถ้าเป็นสมาธิ เราพูดอย่างนี้ พลังงานที่เก็บไว้มันจะมีพลังงานมาก แล้วถ้ามันไม่ใช้พลังงาน มันเป็นแร่ธาตุที่มีพลังงาน มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าคนเข้าสมาธิได้บ่อยๆ นะ พลังงานมันต้องเกิด พลังงานต้องเกิด ถ้ามันน้อมไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมด้วยพลังของสมาธิ เป็นโลกุตรปัญญา เป็นมรรคญาณ
ตัวสมาธินี้เป็นตัวฐานสำคัญเลย ถ้าไม่มีสมาธินะ วิปัสสนึกทั้งนั้น เพราะมันไม่มีพลังงานตัวจริง มันไม่มีความสุขทุกข์ตัวจริงที่บวกเข้าไปด้วยไง กิเลสอยู่ที่ใจนะ กิเลสอยู่ที่สุขทุกข์อยู่ที่ใจ แล้วใจเป็นตัวพลังงานที่เข้าไปวิปัสสนาเขา คือเอาตัวทุกข์นี่ล่ะไปวิปัสสนาเขา จนมันปล่อยทุกข์ได้
แต่นี่เอาทุกข์ซ่อนไว้แล้วก็ไปดูแต่เงามันไง ไปดูอาการของใจไง นู่นก็รู้ นี่ก็รู้ ตัวมันเองนอนกินอิ่มอยู่ตรงกลางนั่นน่ะ วิปัสสนามาทั่ว เป็นพระอรหันต์เต็มตัวเลยนะ กิเลสท่วมหัว
โยม ๓ : หลวงพ่อ ถึงจะเป็นภวังค์ จิตต้องการอยากจะได้อีก แต่ต้องมีตัวรู้อะไร
หลวงพ่อ : ไม่มีตัวรู้เลย
โยม ๓ : มันเงียบเลย เคยนึกว่าตัวเบา อยากได้อีก
หลวงพ่อ : ภวังค์ ถ้าเป็นภวังค์ มันหายไปเลย เราเป็นเยอะนะ ตอนบวชใหม่ๆ ที่พูดนี่นะ โทษนะ ที่เราพูดๆ อยู่นี่ คือเราหลงมาตลอด แล้วเป็นมาตลอด ล็อกได้เลย เพราะอยู่สายหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นจะทำวัตรตอนเย็น นั่งทีหนึ่ง ๓-๔ ชั่วโมง แล้วนั่งนี่ล็อกได้เลย คนอื่นนะ เวลานั่งปั๊บนะ จะปวดปัสสาวะ จะปวดลุก เพราะมันปวดมาก มันจะลุกหนี ใช้เทคนิค ไอ้เรานี่ล็อกเลยนะ นั่ง ๗ ชั่วโมงก็ได้ ๘ ชั่วโมงก็ได้ ปั๊บ หายเลย เวลาล็อก ออกตามเวลาเลย ภูมิใจมากว่าโอ้โฮ! ตัวเองเก่ง
มีอยู่วันหนึ่ง เวลานั่งไปนะ ออกมา เฮ้ย! มันเปียกอะไร เอามาดมดูน่ะ น้ำลาย เฮ้ย! มึงนั่งหลับ ไม่ต้องใครมาบอกเลย มันบอกตัวเองเลย มึงนั่งหลับ มันยันกันอยู่นี่แล้ว ก็จะเริ่มแก้นี่ไง นึกถึงพระไตรปิฎกเลย พระพุทธเจ้าบอกพระโมคคัลลานะให้ตรึกในธรรม พระโมคคัลลานะง่วงนอนไง ให้ตรึกในธรรม เราก็ตรึก ตรึกขนาดไหน พอตรึกปั๊บ แล้วมันก็หลับอีก มันก็ลง
พอลง เพราะอะไร แล้วลองพิจารณาดู อ้าว! เราก็ตรึกแล้วทำไมมันไม่ได้ผลล่ะ เหมือนกับนกเขา มันเปรียบเทียบเองนะ ปัญญามันจะเกิด มันจะหมุนตลอด ปัญญามันจะเกิด เหมือนนกเขา จิตนี้เหมือนนกเขา ถ้าแมวมามันอยู่ที่คอน มันอยู่เฉยๆ แมวกินไม่ได้หรอก แต่นกเขามันตื่น มันจะวิ่งไปตามข้างกรง แมวจะเอาไปกินได้ การตรึกของเราตรึกมากเกินไป ตรึกเหมือนนกเขามันออกไปข้างกรง คือตรึกจนหายไปเลย เออ! กูก็ใช้ไม่ได้เว้ยตำรานี้ เปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนเรื่อย อะไรก็เอาไม่อยู่ สุดท้ายอดอาหาร อดนี่ มึงหลับ กูไม่กิน มึงหลับ กูไม่กิน เอาจนหาย พอหายแล้ว อย่างที่ว่ามันก็ลงๆๆ โอ้โฮ! เออ! สมาธิเป็นอย่างนี้เว้ย ไอ้ภวังค์กูติดมาหลายๆ ปีเป็นอย่างนั้นเว้ย หายวับไปเลย แล้วเวลาออกมาเหมือนสะดุ้งตื่นนิดหนึ่ง ล็อกเวลาได้ จะลง ๗ ชั่วโมงก็ได้ จะลงเที่ยงคืนก็ได้ นั่งสว่างก็ได้ แล้วก็สำคัญตนตอนนั้นน่ะว่ากูแจ๋ว พอไอ้น้ำลายมันมากระทุ้งน่ะ
โยม ๓ : มันเป็นทั้งที่เราไม่รู้ตัว
หลวงพ่อ : ใช่ ไม่เอา เขาเรียกว่าพรหมลูกฟัก ภวังค์ ตกภวังค์ ถ้ามันติดใจอย่างนี้นะ รูปพรหม อรูปพรหมไง ถ้ารูปพรหม อรูปพรหม เวลามันเกิด มันเป็นไป
โยม ๒ : อย่างที่พูดเมื่อกี้ ที่พูดเวลาปวด ปวดปัสสาวะอะไร ถ้าเข้าสงบไปแล้วมันจะหยุดเลย มันจะไม่ต่อเนื่อง
หลวงพ่อ : ไม่มี
โยม ๒ : หมายถึงถ้ากำลังปวด
หลวงพ่อ : อันนี้ไม่ใช่ คนละเรื่องเลย อันนี้เราเอามาเปรียบเทียบให้ดูว่าจิตหนึ่งเดียว จิตรับรู้อันเดียว เราจะเปรียบเทียบว่าจิตนี้รับรู้อันเดียว ทีนี้เพียงแต่ว่าเรามันไม่จริง มันไม่ได้ออกมาจากจิต ออกมาจากสัญญา มันเลยรับรู้มันแตก คิดนี่ คิดซ้อนคิดซ้ำ คิดซ้อนหลายเรื่องได้ แต่ไอ้เรื่องที่ว่าพอเข้าสมาธิแล้ว เรื่องปัสสาวะ ไม่ต้องไปตกใจ เข้าสมาบัตินี่กี่วันก็ได้ ไม่มีปัสสาวะ ไม่มีอุจจาระทั้งสิ้น เพราะอะไร เพราะอวัยวะทุกส่วนหยุดทำงาน
โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)
หลวงพ่อ : ไม่มี นั่ง ๗ วัน ๗ คืนนี่ ไม่มีหรอก ไอ้พวกเราคิดเลย เพราะอะไร เพราะเราคิดวิตกด้วยความรู้สึกปัจจุบันนี้ไง ว่าเราอยู่ปกติ ไตมันขับ มันก็ต้องมีปัสสาวะมีอะไรใช่ไหม แต่เวลาเข้าสมาบัติ ทุกอย่างหยุดหมด
โยม ๒ : หมายถึงเคยเจออยู่ ๒-๓ ครั้ง เรื่องปวด แต่พอสงบเข้าไปแล้วมันหยุด ไม่ปวดอีก กี่ชั่วโมงก็นั่งไป มันหยุด
หลวงพ่อ : ใช่
โยม ๒ : แต่พอออกมาแล้วถึงได้รู้สึก ก็มันปวดอยู่ ก็หยุดอยู่ตรงนั้น แล้วมันหายไปไหน ทำไมไม่ปวดเพิ่ม มันหยุด อ๋อ!
หลวงพ่อ : จิตไม่รับรู้
โยม ๒ : ไม่รับรู้
หลวงพ่อ : ใช่
โยม ๒ : ก็เหมือนกับมันไปหยุดอาการพวกนี้ไว้
หลวงพ่อ : ใช่ ไอ้นี่จิตไม่รับรู้เพราะมันไม่เข้าถึงสมาบัติ ถ้าเข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน ๗ คืนเลย พอเข้าไปถึงจุดนั้นปั๊บ พอมันเข้าไปนะ ตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว พอมันตัดอากาสานัญจายตนะเท่านั้น โอ้โฮ! มันขึ้น เวลามันขึ้นนะ แล้วถึงที่สุดปั๊บ ล็อก ล็อกเลย รู้อยู่
โยม ๒ : ไปรู้อาการอย่างนี้ๆ เพื่อจะได้เข้าใจว่า อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้
หลวงพ่อ : ใช่
โยม ๒ : ที่นักปฏิบัติกัน นั่งกัน อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอีกมุมหนึ่ง มันไม่ไปรับรู้อาการทางนั้น
หลวงพ่อ : ใช่ เรานั่งสมาธินี่นะ มันเป็นรูปฌาน อรูปฌาน ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน มันแค่รูปฌาน พูดถึงฌาน เราจะไม่พูดเรื่องนี้เลย เพราะอะไร เพราะฌานมีแรงขับ กับสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิอันหนึ่งนะ รูปฌานอันหนึ่งนะ
ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาจะปรินิพพาน เข้าตั้งแต่รูปฌาน อรูปฌาน แล้วกลับมาระหว่าง แยกตรงนี้แล้วนิพพาน แล้วจิตพระอรหันต์ทำไมต้องมาเข้าฌาน เพราะจิตพระอรหันต์ไม่ใช่ฌาน ฌานเป็นฌาน ฌานเป็นพลังงาน จิตพระอรหันต์ นี่พูดผิดเลย พระอรหันต์ไม่มีจิต เป็นธรรมธาตุ ถ้าเป็นจิตปั๊บมันเป็นภพ แต่นี้เพียงแต่เวลาสมมุติพูดกับนี่ต้องบอกว่าจิตพระอรหันต์ แต่ความจริงพระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้ามีจิต ยังมีตัว ยังมีผู้รู้อยู่ ยังมีอัตตาอยู่ ยังมีที่สมมุติได้ จิตพระอรหันต์สมมุติไม่ได้ สมมุติจะกล่าวถึงจิตพระอรหันต์ไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าเอามาคุยกันเป็นสมมุติเพื่อให้เราสื่อกันรู้เรื่องเท่านั้นเอง
ฉะนั้นถึงบอกว่า เวลาเข้านี่ เพื่อมันแบบว่ายืนยันไง เป็นการยืนยันว่านิพพานมี ธรรมธาตุมี
โยม ๓ : หลงภูมิใจตัวเองว่า เกิดได้ชิมสมาธิครั้งหนึ่ง แล้วก็ไม่เป็นอีกเลย
หลวงพ่อ : เราก็ว่าน่าจะเป็นสมาธิ ถ้ามันยังรู้ตัวอยู่ ถ้ามันไม่เป็นอีก หลายคนพูดอย่างนี้นะ คิดดูสิ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง แม้แต่รสสมาธิเฉยๆ นะ แล้วเวลามันรสของสมาธิอันหนึ่งนะ เราจะพูดแบบในเทศน์นะ รสของสมาธิมันจะสุขมาก แล้วรสของวิปัสสนาที่มันปล่อย โอ้โฮ! มันต่างกัน ความว่างจากการกำหนดกับความว่างจากการวิปัสสนา นี่อันหนึ่งนะ แล้วความว่างที่ว่า ความว่างของตทังคปหานกับความว่างของสมุจเฉทปหานก็ต่างกัน เพราะมันต้องต่างกัน ไม่ต่างกัน อันหนึ่งมันจะขาดได้อย่างไร พอมันขาดไปแล้ว เป็นอฐานะแล้ว อฐานะที่ว่าจะกลับมาต่ออีก กลับมาอีก เป็นไปไม่ได้
โยม ๒ : หลวงพ่อคะ แล้วอย่างการตั้งจิต ถ้าตั้งจิตกราบพระ กราบพระสงฆ์ ตั้งจิตกราบพระสงฆ์ กราบครั้งเดียว ถ้าตั้งจิตกราบพระพุทธและพระธรรมและพระสงฆ์ ถ้าตั้งจิตอย่างนี้ถูกไหม ถ้าตั้งจิตนึกถึงพระพุทธ แล้วกราบพระพุทธ แล้วกราบพระธรรม ถึงกราบพระสงฆ์ แต่ถ้าตั้งจิตว่าจะกราบพระสงฆ์อย่างเดียว แล้วกราบครั้งเดียว อันนี้ถูกหรือผิด
หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นเรื่องภายนอก อันนี้เป็นเรื่องพิธีกรรม
โยม ๒ : เป็นเรื่องพิธีกรรม ทีนี้ถามว่าถูกหรือผิด พิธีกรรมที่คิดอย่างนี้แล้วกระทำอย่างนี้ถูกหรือผิด
หลวงพ่อ : กรรมฐานไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย หลวงตาท่านอยู่ในป่านะ น้อม ตั้ง ไม่มีอะไรเลย น้อมตั้งใจถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบไป
โยม ๒ : ทีนี้ขณะที่กราบไม่ได้นึกถึงพระพุทธและพระธรรม นึกถึงแต่สงฆ์ กำลังจะกราบสงฆ์อย่างเดียว ทีนี้การกราบสงฆ์อย่างเดียว กราบครั้งเดียวนี่ถูกหรือผิด
หลวงพ่อ : อันนี้ไม่มีบรรทัดฐาน
โยม ๒ : ไม่มีบรรทัดฐาน
หลวงพ่อ : เพราะว่าไอ้เรื่องจริตนิสัย จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ทีนี้เพียงแต่ว่าจริตนิสัย ๒ กรรม
โยม ๒ : เหมือนกับบางครั้ง บางครั้งเรากราบพระสงฆ์ มันจะนึกถึงพระพุทธก่อน พระธรรมก่อน แล้วกราบพระสงฆ์ อันนี้มันก็จะเป็น
หลวงพ่อ : ไอ้นี่ไม่มีปัญหาเลย เราจะทำอย่างไรก็ได้
โยม ๒ : ถามดูไม่รู้ว่าผิดหรือถูก
หลวงพ่อ : ถ้าบอกว่าผิดใช่ไหม มันก็เป็นประเด็นขึ้นมาแล้ว
โยม ๒ : อย่างสมมุติว่ากราบครั้งเดียวไม่ถูกนะ ถ้ากราบ ๓ ครั้งถึงจะถูก ขณะนั้นจิตน้อมระลึกถึงสงฆ์อย่างเดียวก็ครั้งเดียว
หลวงพ่อ : ไม่ ไหว้ธูป ๓ ดอก ไหว้พระ ไหว้ธูปดอกเดียวไหว้ผี อะไรนั่นเหมือนกันไหม มันก็จะออกไปทางนั้นล่ะ เดี๋ยวก็จะไหว้ผี ไหว้พระ
พุทธ ธรรม สงฆ์อยู่ที่ใจ ไม่มีปัญหาเลย ไม่มีประเด็นเลย เพราะเรื่องอย่างนี้นะ ถ้าเราจับเป็นประเด็นแล้ว อย่างว่ามันจะมีการโต้แย้ง ด้วยความถนัดนะ ไม่ต้องโต้แย้ง ผลมันเกิดจากใจเรานี่แหละ ใจเราสัมผัสเอง ทำถูกทำผิด ถ้าถูกนะ เพราะเริ่มต้นมา เวลาอะไรก็แล้วแต่ เราจะฝังใจมาก เวลาหลวงตาท่านจะพูดถึงหลวงปู่มั่น ตั้งแต่เริ่มต้นวิปัสสนาเข้ามานี่ไปไม่ได้เลย วิปัสสนาไปเลย เห็นกายทุกอย่างเลย แล้วไปไม่ได้เลย ออกมาเหมือนปกติ ปกติเลย เพราะอะไร เพราะยังไม่ได้ลาพุทธภูมิ นี่ผิดก็รู้ว่าผิด พอเข้าขนาดไหน ออกมานะ ไม่ใช่ พอออกมา ไม่ใช่ ไม่ใช่
หลวงปู่มั่นเห็นกายไหม เห็นตลอดมา เห็นตลอดนะ วิปัสสนามาตลอดนะ หลวงปู่มั่นน่ะ ก่อนที่จะลาพุทธภูมิ วิปัสสนาเข้าไปนะ เข้าไปเห็นถึงประตูปิดบ้าง ทางขาดบ้าง ทางที่ไปไม่ได้บ้าง นั่นน่ะตอนนั้นติดพุทธภูมิอยู่ มันจะเข้าอริยสัจไม่ได้
จนมาใคร่ครวญจิตของตัวเองไง อ๋อ! ถ้าพระพุทธเจ้าก็พระอรหันต์เหมือนกัน สาวกก็พระอรหันต์เหมือนกัน ถึงตัดใจลา อยากจะไปเต็มทีแล้ว แล้วลาที่ปากก็ไม่ได้หรอก ต้องเข้าสมาธิ พอจิตเข้าถึงที่แล้ว ลาที่นั่น พอลาที่นั่นแล้วออกมา แล้วตอนนั้นเริ่มวิปัสสนาเข้าไป แล้วพออย่างที่ว่า ความว่างที่ว่าขณะวิปัสสนากายโดยตทังคปหานกับความว่างในกายที่สมุจเฉทปหาน มันจะมีรสชาติแล้ว พอวิปัสสนาเข้าไปออกมา เออ! อย่างนี้ถูกทาง
มันสันทิฏฐิโก รู้จากภายในทั้งนั้นน่ะ ผิดก็รู้ว่าผิด ถูกก็รู้ว่าถูก ถ้ามันซื่อสัตย์
มันไม่ซื่อสัตย์กับตัวมันเอง มันให้กิเลสครอบงำ แหม! ทำเป็นพูดธรรมะ
ถ้ามันซื่อสัตย์นะ มันรู้เองนี่แหละ ไม่ต้องใครบอกหรอก มันไม่ซื่อสัตย์กับตัวมันเองต่างหากล่ะ กลิ้งไปตลอด กะล่อนไปตลอด
มันรู้ที่นี่ รู้จริงๆ นะ โธ่! อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็รู้ อย่างพวกเรานี่นะ เราอยากพ้นทุกข์กันไหม เราอยากจะตายฟรีไหม เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ยังอยู่ เข้าบ้านตาดวันแรก มันพูดกับตัวเอง มึงนี่หลงมาตลอดนะ ไม่มีครูบาอาจารย์นะ หลวงตาท่านนั่งอยู่นี่ ภาวนาเข้าไปสิ อดอาหาร ๗ วัน นี่ท่านรอแก้มึง รอแก้มึงนี่ โอ้โฮ! เร่งอย่างเดียวเลย ท่านรอแก้มึงอยู่นี่ ท่านรอแก้มึงอยู่นี่ มันก็ใส่เต็มที่ ทั้งอดอาหาร ทั้งอดนอน อดอย่างเดียวเลย เพื่อจะเอาปัญหาขึ้นไปถามท่าน แต่เดิมก่อนเข้านะ เป็นห่วงเป็นใยมากเลย กลัวจะผิดทาง กลัวจะไม่มีคนสอน กลัวไปทุกอย่างเลย แล้วเวลาท่านรอจะแก้มึง มึงทำไมไม่ทำ
แล้วพอซัดเข้าไปๆ ท่านก็กระทืบฉิบหายเหมือนกัน อัดกันอยู่อย่างนั้นน่ะ กลางศาลา เปรี้ยง! เปรี้ยง! รุ่นเดียวกัน ไปถามสิ ไอ้หงบ โดนด่าทุกวันไหม เพียงแต่เขาจะพูดจริงไม่พูดจริงเท่านั้นแหละ เพราะมันโดนด่ากลางศาลา พยานมันทั้งศาลา ไม่ใช่โดนด่าอยู่คนเดียวใช่ไหม กลางศาลาที่กลางฉันน่ะ คิดดูสิ คน พระเท่าไร แล้วโดนด่าอยู่ทุกวัน รุ่นเดียวกันน่ะเห็นอยู่ เพียงแต่ไม่มีใครพูด
เพราะมันมีความคิดอย่างนี้ไง ทุกข์มากเลย กลัวมากเลย กลัวเกิดตายฟรี เกิดมาปฏิบัติเปล่า เกิดมาแล้วไม่ได้อะไร แล้วคนที่ค้ำประกันมึงอยู่นี่ อยู่นี่ มันท้าตัวเองตลอด ท้าใจตัวเองตลอดเลย นี่คนจะแก้มึงอยู่นี่ๆๆ อยู่บนกุฏินี่ มึงอัดเข้าไปสิ มันก็ใส่ ใส่อย่างเต็มที่เลย
มันผิดมันก็รู้ ถูกมันก็รู้ รู้ เพราะเราเป็นมาหมด โอ้โฮ! วิปัสสนาไปอย่างนี้นะ ปล่อย ผลัวะ! โอ้โฮ! เช้ามาบอกเพื่อนสนิทนะ เฮ้ย! จบแล้ว จนมันเบื่อ มันรำคาญ พูดทุกวัน เป็นมาตลอด
หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูด เวลาวิปัสสนูปกิเลสมันเกิด อยากจะเทศน์มาก พอรู้อะไรขึ้นมานี่ แหม! ธรรมะมันแตก โอ้โฮ! จะสอนเขา พร่ำๆ เลยนะ ไม่ใช่หรอก เป็นมาหมด ตัวเองเป็นมาแล้ว เป็นมานะ ทีนี้เวลาพูดถึงคนโน้นเป็น คนนี้เป็นนะ เพราะอะไร เพราะเราเคยผ่าน เราเคยผ่านไง จะบอกถ้าพูดถึงความผิดเรา ๕ ปีก็ไม่จบนะ เพราะความคิดมันเกิดวันหนึ่งกี่ร้อยครั้งกี่พันครั้ง แล้วระยะเวลามันกี่ปี ความคิดเราเกิดวันหนึ่งกี่พันครั้ง สำเร็จเป็นพันๆ หนเลย วันๆ หนึ่งน่ะ มันถึงผิดมาเยอะมากๆ แล้วพอมันผิดแล้วมันก็ตรวจสอบสิ
๑. เป็นอย่างไร
๒. ขึ้นไปหาท่าน
ท่านก็ถีบหงายลงมา ตรวจสอบก่อน จนมั่นใจแล้ว คราวนี้ชัวร์แน่ๆ เลย ขึ้นไป ถีบหงายลงมา โอ้โฮ! หลายทีเลยเว้ย
มันโชคดีนะ ความคิดแบบประสาเรา แบบคติ เขาเรียกว่าอะไรนะ คนชี้ขุมทรัพย์ให้เรา แล้วมันมีอย่างนี้มันมีที่ไหน เราพูดทุกที เวลาเราพูดกับพวกโยม เราภูมิใจตัวเองที่เกิดมาพบครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ มันก็ยึดว่าเราถูกนั่นแหละ แล้วเราเกิดมาพบ เกิดมาพบครูบาอาจารย์
เรามาอยู่โพธารามใหม่ๆ เขาถามเราว่าแน่ใจได้อย่างไรว่าหลวงตานี่ผู้สิ้นกิเลส
เราบอก อ้าว! ไม่ใช่หลวงตาท่านประกันตัวท่านเองที่ไหนล่ะ หลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่ขาว หลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่ฝั้น คุยกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ในกรรมฐานเราตรวจสอบกันเอง แล้วครูบาอาจารย์เราที่สำเร็จ ที่ล่วงไปแล้วเป็นพระธาตุทั้งหมด ไม่ใช่ว่าหลวงตาท่านประกันตัวท่านที่ไหน แต่เจ้าคุณจูมท่านเป็นหลักเป็นชัย ท่านก็เพื่อหมู่คณะ เพื่อความสะอาด เพื่อทำสังคมเราให้สะอาดผุดผ่อง แล้วผลงานของเรามันก็มีมาอยู่แล้ว ทำไมเราจะไม่เชื่อ นี่พูดถึงเวลาคุยกับญาติโยมโดยเอาวัตถุมาคุยกันไง
แต่ประสาเรา ถ้าพูดถึงข้างใน ในหัวใจนะ มึงทำผิดอะไร ท่านก็ชี้ให้มึงผิดหมด แล้วมึงจะไม่รู้ได้อย่างไร อย่างพ่อแม่ ลูกลักสตางค์ พ่อแม่จับได้ทุกวัน ลูกลักสตางค์ๆ ลูกมันจะรู้ได้อย่างไรว่าพ่อแม่รู้หรือเปล่า สตางค์หายทีไร พ่อแม่ก็นับ โอ้! หายไปแล้ว ไอ้นั่นเอาไปแล้ว คือว่าเวลาผิดไง เวลาทำผิด ท่านจะตอบ ชับๆๆ ไอ้นี่มันคือเครื่องยืนยัน มันเครื่องยืนยัน
หลวงตาบอกเลย วงในกรรมฐานจะรู้กันก่อนว่าใครสิ้นไม่สิ้น ไอ้พระธาตุมันเรื่องเศษเดน ทีหลัง ถ้าใจไม่เป็นพระอรหันต์ กระดูกมึงไม่เป็นพระธาตุหรอก เพราะใจเป็นพระอรหันต์ก่อน กระดูกถึงเป็นพระธาตุทีหลัง พระธาตุนั่นเป็นเศษเดนแล้ว แต่เขายึดคุณธรรมอันนี้ต่างหาก ไม่มีคุณธรรมเป็นพระธาตุได้ไหม
โยม ๓ : ไม่ได้
หลวงพ่อ : แล้วไปติดอะไรกับเศษเดนอันนั้น
โยม ๓ : แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ภาวนาเลยนะเจ้าค่ะ เป็นตั้งแต่สมัยแต่นู้น
หลวงพ่อ : เสียดาย คำนี้ พอพูดอย่างนี้ปั๊บ มันคำพูดหลวงปู่ฝั้นไง หายใจทิ้งเปล่าๆ หายใจเข้าหายใจออกทิ้งเปล่าๆ พุท โธ กับหายใจทิ้งเปล่าๆ นี่คำพูดของคนมีคุณธรรม ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย
โยม ๓ : เมื่อกี้นี้ตะโกนเรียก เวียนหัว ต้องกราบขอขมาหลวงพ่อด้วย
หลวงพ่อ : อืม! ไม่มีปัญหา
โยม ๓ : ขาดสติ
หลวงพ่อ : คำพูดของครูบาอาจารย์นะ เวลาท่านเตือนนะ หลวงปู่มั่น เวลาเดินไป ถ้าไม่ใช้ปัญญา เอาหัวเดินต่างเท้าไง เราเดินอยู่นี่นะ เหมือนกับเราเอาหัวเดินแทน คือคนที่ไม่ใช้ความคิดไง หลวงปู่มั่นเวลาท่านด่า เอาหัวเดินต่างเท้า คือในมันสมองมึงมันมีแต่ฝ่าเท้า ๒ อัน
หลวงตา เวลาหลวงปู่มั่นด่า เอาหัวเดินต่างเท้า ซากศพเดินได้ คือคนไม่มีคุณค่าไง ทั้งๆ ที่มันมีจิตดวงนี้สำคัญที่สุด ธรรมะมันสัมผัสด้วยหัวใจ เพราะว่าพระไตรปิฎกมันเป็นตำราเฉยๆ มันเป็นหนังสือ หนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเขียนเรื่องอะไรก็ได้ แล้วเราไปอ่านเข้า เราไปซึ้งเข้าต่างหาก แล้วถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา หัวใจจะสัมผัส หนังสือสัมผัสไม่ได้ หนังสือไม่มีชีวิต หนังสือพูดไม่ได้ หนังสือไม่มีความรู้สึก แต่หัวใจของคนมีความรู้สึก ธรรมะสถิตอยู่ที่นี่ แล้วถ้ามันตายไป จิตนี้ไม่มีเว้นวรรคนะ ตายพับ! เกิดเลย เกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดเป็นสัมภเวสี เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอินทร์ เกิดเป็นพรหม พอเกิดใหม่ ได้สถานะใหม่ ลืมเรื่องเก่าแล้ว เพราะมันไม่รู้จัก บุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วมึงมั่นใจได้อย่างไรว่าตายไปแล้วจะนับถือศาสนาอยู่อีก นี่ประมาทอย่างนี้ไง
ตอนนี้เป็นชาวพุทธนะ อยากเกิดพบพระศรีอารย์นะ มึงตีตั๋วอะไรถึงไปเกิดพบพระศรีอารย์ มึงได้เกี่ยวอะไรกับพระศรีอารย์ไว้ เพราะอ่านตำราไง โอ้! เกิดยุคพระศรีอารย์จะดีอย่างนั้นๆ ก็ว่าอยากไปยุคพระศรีอารย์...ฝัน ฝัน ฝัน แล้วมึงทำอะไรไว้กับพระศรีอารย์บ้าง
มันต้องอธิษฐาน มันต้องตั้งเป้า ไอ้นี่ก็ว่าจะเกิดพบพระศรีอารย์ แล้วก็นอนแผ่ แล้วพระศรีอารย์จะมาอุ้มมึง ประมาทไง นี่ชีวิต ถ้าคนได้สตินะ ได้คิดนะ โอ้โฮ! ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกไม่ทิ้งเปล่าๆ ไม่ทิ้งเปล่าๆ แล้วมันมีโอกาสแก้ไขไง หมดโอกาสต่อเมื่อดินกลบหน้า แล้วถ้าจิตมันไปแล้ว เกิดเป็นเทวดา ในธรรมบทที่ว่า ที่ธรรมศาลา พระอินทร์มีภรรยาอยู่ ๔ คน ๓ คนช่วยสร้างด้วย ภรรยาคนหนึ่งบอกว่าสามีสร้างก็ต้องเป็นของเราด้วย
เวลาไปเกิด พระอินทร์ไปเกิดเป็นพระอินทร์ โอ้โฮ! มา ๓ คน อีกคนไปไหน โน่น นกกระยาง กินอยู่โน่น ไปด้วยกันได้ไหม ต้องไปเทศน์เลย ทำไมมาทำตัวอย่างนี้ล่ะ ทำไมไม่คิดล่ะ ก็เลยทิ้งจากนั้น ตาย พอตายแล้วขึ้นไปเกิดด้วยกัน นี่สายบุญสายกรรม ความผูกพันหนึ่ง ความคิด ถ้ามีความผูกพันนะ มีความเปิดใจ เวลาพูดมันฟังแล้วมันสะดุดใจ แต่ถ้าไม่มีนะ อย่างที่หลวงตาเทศน์ แม้แต่พระพุทธเจ้าเดินมา เขาหาบอาหารมานะ นี่ลูกศิษย์พระกัสสปะ ต้องรอพระกัสสปะมา เดี๋ยวหาบกลับมากินเอง หลวงตาท่านพูดบ่อย เราเชื่อเรื่องนี้มากเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพูดดีหรือพูดไม่ดีขนาดไหนนะ ถ้าไม่มีความสัมพันธ์กันมานะ ฟังแล้วมันไม่ลงใจ แต่ถ้ามีความสัมพันธ์กันมานะ พูดอะไรมันก็ซึ้งใจ ฉะนั้น อย่าอวดว่าพูดแล้วใครจะฟัง ไม่มีหรอก
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ โลกนี้เป็นอย่างนี้มาดั้งเดิม พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ สอนไว้ในพระไตรปิฎก เราเอาข้อนี้มาเตือนใจตลอด เพราะมาอยู่โพธาราม คนด่ามาก แล้วเวลาบอกเลย พระพุทธเจ้านะ ในโลกนี้ถ้าคนจะโดนโลกธรรม ๘ ไม่มีใครหนักเท่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า คนเขาจ้างด่า ในสมัยพุทธกาลเลย เพราะพวกอิจฉาตาร้อน พวกลัทธิต่างๆ พระพุทธเจ้าโดนทุกอย่างเลย ฉะนั้น เวลาจะไปไหน ใครจะด่า โทษนะ นี่เรื่องจริง ไม่ได้พูดเล่น ไปไหน ใครจะเอาขี้ปา ใครจะด่า ใครจะทำอย่างไร เฉย ตั้งแต่มาอยู่โพธารามใหม่ๆ โดนทุกอย่างเลย มันก็ผ่านมาได้
พวกนี้จะกลับเนาะ ไป ถ้าไม่หยุดมันก็ไม่อยากไปเนาะ