ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เทศน์ที่ธรรมศาสตร์รังสิตครั้งที่๑ไฟล์๔

๓ ธ.ค. ๒๕๕o

 

เทศน์ที่ธรรมศาสตร์รังสิต ครั้งที่ ๑ ไฟล์ที่ ๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๐
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

 

ถาม : ปัญหามันคือว่า พระกรรมฐานนี่ถ้าให้เข้าไปถวายของ ให้ถวายทางซ้ายมือ ไม่ควรเข้าไปทางขวา ท่านถึงจะเมตตาสงสาร การปฏิบัติที่ถูกต้องควรจะทำอย่างไร เพื่อที่จะรู้วินัยไง วินัยที่เคร่งครัด

หลวงพ่อ : วินัยนะ เวลาผู้ที่ปฏิบัติขึ้นมาแล้ว กฎหมายที่ใช้ในเมืองไทย ถ้าเราชาวพุทธมีศีลธรรมกันหมด กฎหมายแทบจะไม่มีความหมายเลย เพราะเราจะไม่ทำผิดกฎหมายกัน กฎหมายทุกอย่างที่บัญญัติขึ้นมานี่เป็นของสมมุติ แต่มันจำเป็นต้องมี ถ้ามันไม่จำเป็นต้องมี เพราะคนคิดร้ายมี คนที่มีความเห็นต่างๆ มี ดังนั้นมันควรจะมีกรอบ มีขอบ มีเขตของการบังคับคนหมู่มาก

คนหมู่มากนั้นต้องมีสิ่งที่บังคับ ถ้าไม่บังคับ คนมันจะเถลไถลออกไป แต่ในเมื่อเป็นพระกรรมฐานแล้ว เป็นผู้ที่ปฏิบัติ วุฒิภาวะมันต้องสูงกว่านั้น เหมือนกับกฎหมายนี่บังคับกับโยม ญาติโยมนี่โดนกฎหมายบังคับ พระนี่ไม่ควรมีกฎหมาย เพราะอะไร เพราะพระมีธรรมวินัยที่เหนือกว่ากฎหมายอยู่แล้ว พระถ้าไม่ทำผิดธรรมวินัย กฎหมายจะมาบังคับอะไร เพราะมันไม่ผิด มันดีกว่ากฎหมายอีก กฎหมายก็เป็นเรื่องของต่ำๆ ไง

แล้วข้อวัตรปฏิบัติก็เหมือนกัน “ถ้าเราจะเข้าไปถวายพระ ควรจะถวายทางไหน ทางซ้ายมือหรือขวามือ แล้วท่านจะเมตตา” ถ้าเกิดทางซ้ายมือเข้าไม่ได้จะทำอย่างไร ทางซ้ายมือเป็นทางตันจะทำอย่างไร จะต้องเข้าทางซ้ายมือ ทางขวามือเข้ามาไม่ได้หรือ ?

มันเป็นรูปแบบนะ เพราะถ้าเราจะปฏิบัติกัน เราจะเป็นครูบาอาจารย์กัน ถ้าไม่มีพื้นฐาน ไม่มีรากฐาน นี่มันเป็นพิธีการ เราจะเอาพิธีการมาเป็นเป้าหมายไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติของเราคือปฏิบัติเข้าหาเป้าหมาย เป้าหมายคือความสุข ความสงบในหัวใจ แต่นี่มันเป็นพิธีการนะ

จะเล่าเรื่องเด็กๆ ให้ฟังนะ ประเพณีไทยนี่เป็นเรื่องเด็กๆ เวลามาวัดกันจะถวายดอกไม้ธูปเทียน ดอกบัวนี่พับไม่ได้นะ ถ้าพับแล้วจะอาภัพ เขาไม่พับดอกบัวกันนะ บางที่เขาสอนกันอย่างนั้น เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหัวหน้าไม่มีวุฒิภาวะ สิ่งใดที่เป็นวุฒิภาวะควรจะมาสอนกัน เป็นเรื่องของหัวใจใช่ไหม ไอ้เรื่องพิธีกรรมถวายดอกไม้ธูปเทียน ดอกบัวพับไม่ได้ พับแล้วจะอาภัพ ทำแล้วจะไม่เจริญรุ่งเรือง มันเหมือนเด็กๆ

ดูเด็กๆ นะ ลูกเราเด็กๆ ปัญญายังไม่เกิด เวลากินผลไม้ พ่อแม่จะบอกว่า เม็ดผลไม้นี่ห้ามกลืนเข้าไปนะ ประเดี๋ยวมันจะงอกบนศีรษะ เด็กมันก็กลัว มันก็ไม่กล้ากลืนเม็ดผลไม้นั้นเข้าไปในท้อง เพราะเดี๋ยวต้นไม้จะไปงอกบนหัว นี่คืออุบายของพ่อแม่สอนลูก

เพราะลูกมันเด็กเกินไปใช่ไหม แล้วเราจะไปอธิบายเหตุผลว่านี่กลืนไม่ได้นะ เม็ดผลไม้มันจะไปอุดช่องลมนะ เดี๋ยวมันจะมีปัญหา กินเข้าไปแล้วไม่เป็นประโยชน์ จะอธิบายให้เด็กเข้าใจอย่างนี้ เด็กมันจะเข้าใจไหม เด็กไม่เข้าใจหรอก พอเด็กไม่เข้าใจก็เลยบอกว่า ห้ามกลืนนะ เดี๋ยวมันจะไปงอกบนศีรษะ ก็ไม่กล้ากลืน นี่มันเป็นอุบายวิธีการที่เราจะสอนเด็ก มันเด็กเกินไปไง

นี่ก็เหมือนกัน การประเคนของ ถ้าเป็นพิธีการนะ เรามาในพิธีนี่เราอนุโลมไปตามโยมทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะมันเป็นพิธี งานนี้เป็นงานที่เรามาทำบุญกัน เรามาปฏิบัติกันเพื่อถวายแด่ในหลวง มันเป็นงานของชาติ ถ้างานของชาตินะ วันนี้เรียบร้อยที่สุดเลย ถ้าไปอยู่ที่วัดไม่เป็นอย่างนี้เลย เพราะเราจะไม่ให้ติดรูปแบบ เรานี่ปฏิเสธ เพราะรูปแบบทำให้คนติด รูปแบบทำให้คนไม่เข้าถึงความจริง

ฉะนั้นถ้าไปที่วัดเราจะไม่มีรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น เราจะคล้อยตามกันไปแต่ละบุคคล บางคนไปนะต้องการอย่างนี้ๆ เราเห็นว่าถ้าเป็นเด็กๆ เด็กๆ หมายถึงว่าพวกนี้เขาเคยทำบุญกับพระเด็กๆ ทั่วไป เราจะอนุโลมคล้อยตามเขาไป ถ้าเราเห็นว่าจิตดวงนี้ควรจะชักนำได้ เราจะเริ่มขืน แล้วเราจะดึ๊งเข้ามาหาเรา เราจะไม่ปล่อยให้ไปติดรูปแบบ เพราะรูปแบบนั้นมันเป็นสมมุติ แล้วรูปแบบแต่ละรูปแบบมันก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันนะ

เวลาเขาไปทำบุญกันนะ “หลวงพ่อครับ หลวงพ่อ ต้องกรวดน้ำไหม?” พูดถึงถ้าเป็นไปได้ เราบอกว่า กรวดน้ำใจสิ ถ้าเขายังยึกยักอยู่ใช่ไหม เอ้า กรวดก็กรวด เพราะเขาเด็กๆ แต่ความจริงการกรวดน้ำนะ เราเทียบเคียงกัน ถ้าเรากรวดน้ำแล้ว พวกบุญนี่ไม่มีใครได้บุญเท่ากับแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยามันไหลทั้งวันเลย มันกรวดตลอดวัน ๒๔ ชั่วโมง แม่น้ำเจ้าพระยามันไหลอยู่ตลอดเวลา แล้วมันได้บุญไหม? แม่น้ำเจ้าพระยามันไหลอยู่ทั้งวันเลย แล้วบุญเป็นของใครล่ะ ?

มันเป็นพิธีกรรม เพราะว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้วพญามารตามผจญ ทางปริยัติเขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ เป็นบุคคลาธิษฐาน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบรรลุธรรม พญามารเอานางตัณหา นางอรดี เอาลูกมาร่ายมารำ เพื่อจะให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตบะแตก ให้ออกมาอยู่ในวัฏฏะอย่างเดิม

พระพุทธเจ้าเย้ยมารไงว่า เราทำบุญกุศลมามาก แล้วเอาอะไรเป็นพยาน ถ้าไม่มีอะไรเป็นพยาน ก็เอาแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีบีบมวยผม ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยทำบุญกุศลไว้แล้วได้กรวดน้ำ เอาสิ่งนี้เป็นพยาน มันเป็นพยาน มันเป็นบุคคลาธิษฐาน ด้วยความเห็นของชาวพุทธเราก็จะเอาสิ่งนี้เป็นพยานไง เอาการกรวดน้ำนี้เป็นพยานว่าเราได้ทำบุญ ถ้าไม่ได้กรวดน้ำคือไม่ได้บุญ ก็ไม่ต้องทำบุญเลย นั่งเอาน้ำเท กรวดทั้งวันทั้งคืน แล้วได้บุญไหม

มันเกิดจากการกระทำของเรานะ เราได้สละบุญกุศลใช่ไหม แล้วเรากรวดน้ำนี่มันเป็นพิธี แล้วกรวดน้ำนี่มันเป็นเด็กๆ เพราะอะไร เพราะคนที่กรวดน้ำนั้นคือใจโลเล ไม่เคยทำบุญ ชาติหนึ่งก็ทำบุญหนเดียว พอทำทีนะก็ โอ้โฮย.. ต้องทำเป็นพิธีกรรมใหญ่โต ต้องกรวดน้ำเป็นพยาน แต่คนที่เขาทำบุญทุกวันนะ เขากรวดน้ำใจ การกรวดน้ำน่ะเป็นคนโลเล แล้วเขาก็เอาน้ำมาให้เราเพ่งไปที่น้ำ ให้จิตทุกดวงไปสัมผัสที่นั่น ให้พวกเรารวมพลังของจิตให้เป็นกลุ่มก้อน แล้วอุทิศส่วนกุศล คือความรู้สึกนี้ให้กับจิตทุกๆ ดวง

แล้วถ้าจิตของเราเข้มแข็ง จิตของเราฝึกฝนมา ที่ว่าทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับทำสมาธิหนหนึ่ง มีสมาธิร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับมีปัญญาขึ้นมาหนหนึ่ง แล้วเรานั่งสมาธิภาวนาในห้องพระของเรา เวลาจิตเรารวมขึ้นมา แล้วเราอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ให้กับสรรพสัตว์ เอาน้ำที่ไหนมากรวด เอาน้ำใจไง เอาความรู้สึกจากหัวใจไง ถ้าหัวใจมันเริ่มสงบลง จิตมันดิ่งลงมันเป็นสมาธิ เรากรวดสิ่งนั้นไป นี่คุณค่ามันมหาศาลไง

แต่ต้องกรวดน้ำไหม ต้อง เพราะอะไร เพราะในสังคมเรา ตั้งแต่เด็กแล้วเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา แล้วเราจะตายกันไปข้างหน้า แล้วเราจะไม่ฝึกให้เด็กๆ ให้มันทำไว้หรือ ให้เด็กๆ ทำไว้เพื่อรู้รักษาประเพณีวัฒนธรรม แต่ไม่ใช่ไปติดข้องกับอย่างนั้น มันเป็นเรื่องภาระนะ คนเราคนทุกข์คนยาก พยายามแสวงหาความไม่ทุกข์ ไม่ยาก ไม่อด ไม่อยาก คนทุกข์คนยากนะขอแค่มีอาหาร มีเครื่องปัจจัย ๔ ก็มีความสุขแล้ว แต่ถ้าเรามีฐานะขึ้นมาเราจะต้องมีมากกว่านั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันเป็นประเพณี มันก็เป็นสภาวะแบบนั้นนะ เราจะต้องเติบโตขึ้นมา เราต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไป ไม่ใช่ทำบุญแบบเด็กๆ นะ การทำบุญกุศล เรามีความเมตตา เราทำทาน สละทานของเรา มันเป็นเครื่องหมายบอกถึงน้ำใจ ถ้าใจเรามีคุณธรรม ใจเรามีเมตตา เราจะเสียสละของเรา การเสียสละนี้เสียสละที่ไหนก็ได้ เสียสละแล้วมันก็เป็นประโยชน์ เป็นคุณงามความดีของเราทั้งนั้น ทำไมต้องมีพยาน แล้วพอมีพยานขึ้นมา

คนนะ ดูสิเราเป็นผู้ใหญ่ แล้วเด็กทำผิดทำถูก เราจะสอนเขา เด็กนี่นะ ใครมีลูกนะ การสอนลูกนี่แสนยาก เวลาลูกใจแตก ลูกเสียคนแล้วจะให้กลับเป็นคนดี ดูสิ ลูกเราติดยา แล้วจะให้ลูกเราเลิกยา พ่อแม่จะทุกข์มาก

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบเข้ามา มันไปเห็นอะไรต่างๆ มันติดของมัน มันรู้ของมัน มันส่งออกของมัน แล้วมีครูบาอาจารย์องค์ไหนจะช็อกความรู้สึกให้มันย้อนกลับมา ในวงปฏิบัติตรงนี้สำคัญมาก สมาธิก็ติด ปัญญาก็ติด ติดทั้งนั้น เพราะของไม่เคยเห็น ของไม่เคยเป็น แล้วพอมันเห็นพอมันเป็นขึ้นมา มันก็จะบอกว่านี่แหละนิพพาน นี่ของดีทั้งนั้น

แต่ครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้ว เพราะเคยติดมาก่อน ครูบาอาจารย์ทุกคนจะต้องติดมาก่อน จะต้องผิดพลาดมาก่อน สิ่งที่ผิดพลาดนั้นจะเป็นครูสอนเรา แล้วทุกคนจะบอกว่าไม่อยากให้ลูกศิษย์ลูกหาติดในสภาวะแบบนั้น แต่ก็ติด เพราะมันเป็นประสบการณ์ตรงของเขา ประสบการณ์ตรงของจิตมันต้องผ่าน เพราะอะไร เพราะจิตทุกดวงมีอวิชชา จิตทุกดวงมีพญามารครอบงำอยู่ แล้วจะพ้นออกไปจากมาร มันเป็นไปไม่ได้หรอก ที่มารจะบอกว่าขอเชิญๆ มันเป็นไปไม่ได้ มารมันขวางทุกรูปแบบ

ในการภาวนาอยู่มันก็บังเงา มันบังเงานะ ภาวนาไปนะ ตื่นขึ้นมาต้องนั่งสมาธิก่อน ถ้าไม่นั่งสมาธิ เราก็ไม่ได้เป็นคนภาวนา ตื่นขึ้นมานั่ง ๒ นาที เออ..ลุกแล้ว ได้เป็นคนดีแล้ว ได้ภาวนาแล้ว

มันบังเงาอย่างหยาบๆ แต่ถ้าบังเงาอย่างละเอียด ที่รู้ว่าว่างเนี่ย ธรรมะเป็นอย่างนั้น ว่าง… ว่างทั้งนั้น อวกาศมันก็ว่าง ในสิ่งต่างๆ มันว่างทั้งนั้น แล้วมันว่างมันเป็นประโยชน์กับใคร มันว่างก็ว่างโดยธรรมชาติของมันใช่ไหม มันจะว่างหรือมันจะไม่ว่าง ต้องให้เรารู้สึก เพราะกิเลสมันอยู่ที่เรา อาหารในสำรับถ้าไม่ได้กิน อาหารมันก็อยู่ในสำรับนั้นล่ะ ถ้าอาหารเราได้เอาเข้าปาก นั่นมันเป็นอาหารของเรา

มันจะว่างหรือมันจะไม่ว่าง มันต้องปัจจัตตัง มันรู้จำเพาะตน รู้ของเรา ความสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ไหนทำให้ได้ แต่รับรองได้ ทำให้ไม่ได้หรอก เพราะสิ่งนี้มันเกิดเอง ทำให้ไม่ได้ องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า เป็นผู้ชี้ทาง แล้วเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเท่านั้น

นี่ไงมันจะเกิดจริงจากใจของเรา ครูบาอาจารย์ที่ดี ถึงจะไม่ติดรูปแบบอย่างนี้ไง รูปแบบที่ว่า ต้องถวายข้างนั้น ต้องถวายข้างนี้ กลางคืนก็ถวายของไม่ได้ เราจะไม่ได้ก็เฉพาะถ้าผิดธรรมผิดวินัย อย่างเช่น อาหารมาตอนก่อนเพล หรือในเพลก็ไม่ได้ เพราะถือธุดงค์ไง แล้วแต่เขา ถ้าเขาจะขอประเคน ประเคนก็ประเคน ประเคนแล้วของนั้นก็เสียไป พอประเคนเสร็จแล้วเริ่มนับอายุ ของนั้นเสียไปหมายความว่า พระจะไม่ได้ใช้ประโยชน์

ถ้าเขาจะประเคนเลย ก็โอเคประเคนไปเลย ประเคนเสร็จแล้วของนี้จะเอาไปแจกญาติโยมเท่านั้น เพราะพระรับแล้วมันหมดกาล หมดเวลา ถ้าจะประเคนก็ประเคน แต่ของนั้นจะหมดประโยชน์กับพระ แต่จะได้ประโยชน์กับคฤหัสถ์ เพราะของนั้นเราจะไปแจกทานต่อไป เราจะหลบหลีกอย่างนี้ เพราะนานาจิตตังนะ โยมมานี่นานาจิตตังทั้งนั้น แล้วแต่ว่าเขาจะต้องการอะไร เพราะถ้าเราขืน ขืนดีก็เป็นดี ถ้าขืนแล้วมันไม่เป็นประโยชน์ มันก็เสียผลประโยชน์

ฉะนั้นของนี่คุณค่ามันเล็กน้อย แต่หัวใจของคนมีคุณค่ามาก แต่หัวใจของคนมันโดนครอบงำด้วยอวิชชา แล้วก็คิดว่าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่สำเหนียกตรงนี้นะ มันต้องพัฒนาคนนะ เราทุกคนเห็นไหม เด็กมันโตขึ้นมา มันพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น แต่หัวใจมันไม่เคยพัฒนาเลย มันไม่มีวัย มันไม่มีอายุ มันมีแต่จะไหลลงต่ำ ยิ่งแก่ยิ่งงอแง ยิ่งแก่ยิ่งขี้บ่น ยิ่งแก่ยิ่งกิเลสเต็มหัวใจ มันพัฒนาไหม? ร่างกายของมนุษย์มันพัฒนานะ แต่ใจมันมีแต่ไหลลงต่ำ แล้วมันจะไม่มีการฝึกฝนเลยหรือ ?

นี่ครูบาอาจารย์อยู่ตรงนี้! สิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรสำคัญเลย ไม่มีความสำคัญทั้งสิ้น อาศัยชั่วคราวเท่านั้น มีเราหรือไม่มีเรามันก็จะเป็นอย่างนี้ แต่หัวใจของเรามันพัฒนาไหม เราเกิดมาในพุทธศาสนา แล้วพุทธศาสนาสั่งสอนอะไร สั่งสอนเรื่องของใจ แล้วใจของเราได้พัฒนาไหม ถ้าพัฒนา พัฒนาตรงไหน? ทำบุญยังติดเลย ติดดีและชั่ว

ในการประพฤติปฏิบัติ ติดดีนี่แก้ยาก ติดชั่วมันยังรู้ตัวว่าชั่ว เพราะรู้ว่าชั่ว ทำต้องแอบทำ ไม่ให้ทำ แต่ติดดี ทำดีนี่โฆษณาร้อยแปดเลย เพราะดีใครๆ ก็ชอบ มันยิ่งติดเข้าไป แต่การปฏิบัตินี่ละทั้งดีและชั่วนะ แล้วการกระทำนี่เป็นความดีไหม เข้าไปหาพระนี่ดี การประเคนของทุกอย่างดี ถ้าดีพระไม่ต้องทำอะไรเลย วันทั้งวันนั่งรับประเคน ไม่จบหรอก

ถ้าพระที่มีชื่อเสียง มีคนเคารพศรัทธา นั่งรับประเคนทั้งวัน แล้วประเคนมาทำไม ก็ประเคนมาเพื่อประโยชน์ของโลกใช่ไหม ไม่ใช่ว่าเพราะองค์ท่านหรอก แต่เพราะทุกคนมีหนึ่งปากหนึ่งท้องเหมือนกัน หนึ่งอิ่มเหมือนกัน สิ่งที่มีเหมือนกัน ญาติโดยธรรม เรานี้เกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม มีปากมีท้องเหมือนกัน มีทุกข์เหมือนกัน บีบคั้นเหมือนกัน กระเพาะนี่บีบคั้นเหมือนกัน แต่บีบขนาดไหนก็เป็นสมมุตินะ สมมุติว่าถ้าจิตมันปล่อยวางนะ หิวส่วนหิว หิวไม่ใช่เรา หายหมด ว่างหมด เป็นไปได้

เหมือนการอดอาหารเลย พระพุทธเจ้าฉลาดมาก ภิกษุห้ามอดอาหาร ถ้าอดอาหารพระพุทธเจ้าปรับอาบัติกับผู้ที่อดอาหาร แล้วอวดดีอวดเก่ง แต่ผู้ใดปฏิบัติเพื่อเป็นอุบายวิธีการ เพราะการอดอาหารนั้น มันไม่สามารถฆ่ากิเลสได้ แต่การอดอาหารนั้นเป็นกลอุบายวิธีการที่สุดยอดมาก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหารมา ๔๙ วัน พอถึง ๔๙ วัน มันเกิดพลังงานของมัน เพราะตอนนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม ก็เลยยังไม่เข้าใจ คิดว่าการอดอาหาร คือไม่ให้สิ่งใดที่มันเป็นความตัณหาทะยานอยาก แล้วมันจะเป็นการฆ่ากิเลส

แล้วพออดอาหารไปเฉยๆ มันเกิดพลังงานเฉยๆ เกิดสมาธิขึ้นไง ถ้าทำสมาธินะ ทุกวิธีการถูกหมด แต่! แต่สัมมาหรือมิจฉาเท่านั้น แต่ขณะที่ท่านประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ท่านไปฆ่ากิเลสแล้ว ท่านถึงเห็นกิเลส ดูสิ ขณะที่กำลังจะผ่านพ้นจากกิเลสไป พญามารยังเอาลูกสาวมาล่อทั้งหมดเลย แต่เวลาผ่านพ้นไปแล้ว ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าพูดถึงการอดอาหาร ถ้าคนมีปัญญาขึ้นมา มันก็จะเอาการอดอาหารมาล่อว่า การอดอาหารนี่เป็นการประพฤติปฏิบัติ แล้วจะอดอาหารตายหมดเลย

เพราะการอดอาหารเฉยๆ อย่างในประเทศด้อยพัฒนาที่เขาไม่มีจะกิน อดอาหารตายกันเป็นร้อยเป็นพัน อย่างนั้นเป็นพระอรหันต์หมดเลย อดเฉยๆ มันตายเกลี้ยง! พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ห้ามอดอาหาร! เพราะกิเลสมันฉลาดกว่าผู้ที่ปฏิบัติ ห้ามอดอาหาร!

แต่ถ้าใครฉลาด ใครประพฤติปฏิบัติไปแล้วทางมันตัน มันไปไม่ได้ มันจะไปไม่ไหว เพราะอะไร เพราะกิเลสของเรามันมาก เพราะกิเลสของเรากินอิ่มนอนอุ่น กามราคะมันเกิด มันมีความต้องการในหัวใจมหาศาล จะทำอย่างไรให้กิเลสมันผอมลง ต้องอดนอนผ่อนอาหาร

การอดนอนผ่อนอาหารเป็นการขัดเกลา ธุดงควัตรเป็นการขัดเกลากิเลส เป็นการเปลี่ยนแปลง เป็นการปรับเปลี่ยนให้มันอ่อนตัวลง ฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่สามารถทอนกำลังของมันได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าใครฉลาดแล้วเอาวิธีการอย่างนี้ อนุญาตไง กันไว้เลย ถ้าไม่พูดกันไว้อย่างนี้ รับประกันได้เลย นักปฏิบัติจะอดอาหารตายกันเป็นเบือ เพราะมันคิดว่าการอดอาหารเป็นการฆ่ากิเลสไง การอดอาหารไม่ใช่การฆ่ากิเลส แต่เป็นอุบายวิธีการจะไปฆ่ากิเลสด้วยปัญญา เพราะมันผ่อนแล้ว

การอดอาหารบ่อยๆ เรานะอดอาหารมาเยอะมาก อดอาหารจนเป็นประจำเลย มันจะเหมือนกับคนฟื้นไข้ เราปกติ ร่างกายเราจะเป็นปกติ ถ้าเราเป็นไข้หนักแล้วฟื้นไข้ขึ้นมา ขณะที่ฟื้นไข้ขึ้นมาตัวจะเบาไหม คนที่ฟื้นไข้เขาต้องฟื้นฟูร่างกายทันทีเลย การผ่อนอาหารนานๆ ไปมันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเบามาก เหมือนคนที่ฟื้นจากไข้

คนเป็นไข้ ร่างกายมันใช้พลังงานไปหมด มันฟื้นขึ้นมา มันจะไม่ออกไปนอกลู่นอกทาง การอดอาหารจะเป็นอย่างนั้น เราอดมาทุกอย่าง เราทำมาทุกอย่าง พอมันฟื้น มันเหมือนกับตัวเราเบา กิเลสมันก็เบาลงใช่ไหม แล้วเราจะย้อนไปที่ปัญญาอย่างไร ถ้าย้อนไปที่ปัญญา ปัญญามันจะเกิดขึ้นมา

นี่ไง การอดอาหารเป็นกลอุบายวิธีการ ตัวอดอาหารนั้นมีแต่ตายกับตาย แต่เพราะเราพอใจ เราอยากฆ่ากิเลส เพราะเรารู้อยู่ว่ากิเลสนี้เป็นทุกข์ กิเลสทำให้เราเกิด การเกิดนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง แล้วเราจะทำลายมัน แต่ปัญญาเราอ่อนด้อย เราไม่มีความสามารถที่จะทำลายมันซึ่งๆ หน้า เราถึงใช้กลอุบายเห็นไหม กลอุบายการผ่อนมันไม่ให้มันเข้มแข็งจนเกินไป แล้วเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญของเราเพื่อจะไปฆ่ากิเลส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ผ่านวิกฤตอย่างนี้มา แล้วเข้าใจ ดูสิ ขนาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พญามารยังล่อยังหลอกขนาดนี้เลย แล้วสาวก สาวกะ ลูกหลาน บริษัท ๔ ทำไมมันจะไม่หลอก ถึงได้วางธรรมวินัยไว้อย่างนี้ แต่คนตีความผิด ตีความถูก มันจะคิดเลยว่าจะตีความกันอย่างไร ถ้าตีความผิดเห็นไหม ถึงครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาก็จะเข้าใจเรื่องอย่างนี้หมด

ฉะนั้นเรื่องการประเคนซ้าย ประเคนขวา การประเคนอย่างไรแล้วท่านจะเมตตาหรือไม่เมตตานี่ไร้สาระ! ไร้สาระมาก เพราะอะไร เพราะถ้าเราทำถูกท่านก็เมตตาทั้งนั้นนะ เป็นธรรมนะ

คน! ขึ้นชื่อว่าคน มีศักดิ์ศรีเท่ากัน คนดีก็คือคนดี คนชั่วมันชั่วมาจากไหน มันชั่วมาจากความคิด ถ้าคนชั่วมาจากความคิด ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาองคุลิมาลมาเป็นพระอรหันต์ได้ล่ะ เพราะไม่ได้ชั่วโดยสัญชาตญาณไง ชั่วเพราะโดนหลอก ชั่วเพราะอาจารย์ โดยสัญชาตญาณเป็นคนมีวาสนา อยากได้ดีก็ไปศึกษากับครูบาอาจารย์ แต่ไปคบมิตรเทียม มิตรไม่แท้ ไปคบอาจารย์ที่ไม่มีความสามารถจริง

ทีแรกก็รัก เด็กคนนี้ดีมาก องคุลิมาลดีมาก ทำอะไรก็ได้ เวลาฝึกฝนทุกอย่างก็ง่ายไปหมดเลย ฝึกฝนแล้วเข้าใจเพราะเด็กมันใฝ่เรียน แต่เพราะเพื่อนที่อิจฉาตาร้อนก็ไปฟ้องอาจารย์ ว่าเด็กคนนี้มันจะกินบนเรือน ขี้บนหลังคา เป่าหูทุกวันๆ จนอาจารย์ยังเขวเลย จึงออกอุบายว่า เราจะให้วิชาพิเศษ แต่ต้องแลกมาด้วยนิ้วของมนุษย์ ๑,๐๐๐ นิ้ว ก็อยากได้ เห็นไหม

ไม่ได้ชั่วเพราะฆ่านะ อยากได้วิชา โดนเขาหลอก แต่โดยสามัญสำนึกเป็นคนดี ก็ไปตัด ไปฆ่า จนเหลือนิ้วสุดท้าย เกือบจะฆ่าแม่ เพราะคนหน้ามืด คนอยากได้ เพราะคนมันฆ่าทุกวันมาแล้ว ๙๙๙ ศพ แล้วอีกศพเดียว ใครก็ได้ ขอให้ได้ เพราะมันรอมานาน วันนั้นแม่จะไปห้าม เพราะว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเอากองทัพไปจับ เพราะมันล่ำลือมาก เพราะมันเสียหาย

พระพุทธเจ้ากำหนดเล็งญาณ พุทธกิจ ๕ เช้าขึ้นมาเล็งญาณว่าใครที่มีอำนาจวาสนา นี่ไงเวลาพระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะมารื้อเราหมดหรอก พระพุทธเจ้าจะมาโอบไปหมดเลย ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าจะเล็งหัวใจของโยมก่อน ว่าโยมที่นั่งอยู่นี้ จิตใจของใครอ่อนควรแก่การงาน อินทรีย์คือสถานะของจิต สถานะของจิตคือคนโลภะจริต คนอ่อนแอ คนเชื่อง่าย คนไม่มีจุดยืน ใครมา ลมพัดยังเชื่อเลย ลมพัดใบไม้ไหวก็คิดไปแล้ว คนอย่างนี้มันไม่ไหว ต้องรอสภาวะอินทรีย์ พระพุทธเจ้าเล็งญาณอย่างนี้

องคุลิมาลมีภาวะอันนี้ ถ้าเราไม่ไปเทศน์เอาองคุลิมาล วันนี้จะฆ่าแม่ การฆ่าแม่นี้ปิตุฆาต มาตุฆาต จะปิดกั้นมรรคผล คนที่มีบุญคุณที่สุดคือพ่อแม่ พ่อแม่เป็นแดนเกิด ถ้าฆ่าพ่อฆ่าแม่มันจะปิดกั้น ถึงต้องไปเอาก่อน เห็นไหม โดยภาวะของจิตที่เป็นคนดี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป จะเอานิ้วหนึ่ง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะฆ่า แล้วด้วยเป็นคนดีมาก ดีมากหมายถึงว่ามีวิชา เป็นคนที่วิ่งเร็วกว่าม้า ม้านี่วิ่งเร็วขนาดไหน แต่เขามีวิชาที่วิ่งเร็วกว่าม้า พระพุทธเจ้าก็เลื่อนไปข้างหน้าด้วยฤทธิ์ องคุลิมาลพยายามวิ่งไล่กวด จะฆ่าพระพุทธเจ้าเพื่อจะเอานิ้วนั้น วิ่งอย่างไรก็ไม่ทัน เพราะธรรมดาใครก็หนีไม่พ้น

สมัยนั้นสิ่งที่เร็วที่สุดคือม้า แล้วเขาวิ่งได้เร็วกว่าม้า อะไรมันจะรอดพ้นจากการไล่ตามของเขา พอวิ่งตามไปก็สงสัยไง “สมณะหยุดก่อน สมณะหยุดก่อน” นี่ไงช็อกเลยเห็นไหม นี่คนติดยา คนกำลังอำมหิต คนกำลังจะเข่นฆ่า “เราหยุดแล้ว เธอต่างหากไม่หยุด” ขณะที่ว่าวิ่งเร็วกว่าม้า แล้วบอกว่า “เราหยุดแล้ว เธอเองต่างหากไม่หยุด” มันงงไหม มันช็อกความรู้สึกไง

“สมณะพูดอย่างไรนะ วิ่งเกือบตายยังไม่ทัน แล้วบอกว่าหยุดแล้วเนี่ย”

“เราหยุดทำความชั่ว เราหยุดการเข่นฆ่า เราหยุดทั้งหมดแล้ว แต่เธอต่างหากยังไม่หยุด”

ช็อกสติเลย วางดาบเลย ขอบวชเห็นไหม นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาอย่างนี้ รื้อสัตว์ขนสัตว์ หมายถึงเล็งญาณในความรู้สึก ภาวะของจิตว่าสมควรไหม ถ้าคนสมควรมันจะเห็นถูกเห็นผิด สิ่งใดเป็นผิด เป็นถูก เราจะเห็น เราจะเข้าใจ

ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้ ถ้าจิตมันดี ที่ว่าสภาวธรรม เรามองไปเป็นสภาวธรรม ใบไม้หลุดจากขั้วใบหนึ่งก็เป็นสภาวธรรม เพราะใบไม้มันแก่ มันก็หลุดจากขั้ว ชีวิตเราก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้ามีความรู้สึกสิ่งที่ดีๆ อะไรเกิดขึ้นมันจะเทียบเคียงเข้ามาสู่ใจของเรา นี่ไงถ้ามีภาวะสิ่งที่ดี ทุกอย่างจะเป็นประโยชน์หมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณคือเล็งญาณอย่างนั้น

เวลาพูดถึงปัญญาในโลกนี้ เราเศร้าใจอันหนึ่ง เวลาชาวพุทธเรามีปัญหากัน จะบอกว่า ฟ้องยูเอ็น ฟ้องยูเอ็น ไปฟ้องใคร? เพราะปัญญาในจักรวาลนี้ ไม่มีใครประเสริฐกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมวินัยมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะไปฟ้องหัวดำๆ นี่มันไร้สาระ ไร้สาระมากๆ

พระของเรานะ จะบวชพระต้องผ่านจากสามเณร สามเณรต้องถึงไตรสรณคม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราจะไปฟ้องหัวดำๆ เรามองข้ามพระธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหรือ แล้วเราเป็นสมณะนี่ แล้วเราไม่เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นหลักชัย แล้วเราจะไปฟ้องยูเอ็นไง นี่ไง วิทยาศาสตร์เจริญ โลกเจริญ มันเลยบังธรรมไว้

ในปัจจุบันนี้ทางตะวันตกเขาเห็นคุณค่าของศาสนาเรามาก เขาพยายามมาทำวิจัย แล้วเขาจะไปเขียนเป็นทางวิชาการของเขา อีกหน่อยชาวพุทธจะไปเรียนด็อกเตอร์ศาสนาพุทธจากฝรั่ง แต่ของเรานี่มันเข้าถึงนะ มันต้องเข้าถึงหัวใจ กิริยาข้างนอกมันเป็นเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราก็ดูแลกัน แต่ไม่ได้ไปถือเคร่ง เราต้องรู้สิว่าอะไรเป็นเด็ก อะไรเป็นผู้ใหญ่ อะไรควร อะไรไม่ควร สิ่งใดควรไง

ถ้าติดตรงนี้นะ ถ้าโยมขับรถกันมา แล้วติดว่ารถเป็นของโยมนะ ล็อกประตูขังตัวเองไว้นั่นน่ะ ขึ้นมานี่ไม่ได้หรอก ขับรถมาแล้วทิ้งรถไว้ที่นั่นทำไม ขึ้นมานั่งที่นี่ทำไม เพราะเราอาศัยรถเป็นพาหนะใช่ไหม เราอาศัยรถมา แต่เราขึ้นมาบนนี้ ข้อวัตรปฏิบัติมันก็เป็นเครื่องดำเนินไป เราไปติดไม่ได้ เราต้องอาศัย ต้องมีจุดยืน อาศัยสิ่งนี้ไปถึงเป้าหมาย แต่ไปติดตรงนั้นไม่ได้

ในการประพฤติปฏิบัติเห็นไหม มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด เพราะสิ่งที่มันหยาบ แล้วเราไปยึดว่าหยาบเป็นของเรา หยาบนั้นเป็นสิ่งที่อาศัย แล้วละเอียดเราอยู่ตรงไหนล่ะ ละเอียดที่ใจ ใจมันจะละเอียดเข้ามาเป็นชั้นๆ แล้วใจจะเห็นสิ่งนี้ ใจจะเห็นการกระทำ การกระทำนี้เราทำเพื่อเรานะ ใครจะเห็นหรือไม่เห็นไม่รู้

ความลับไม่มีในโลกนะ เพราะจิตที่มันทำมันรู้ ความคิดที่ว่าไม่มีใครรู้ เราน่ะรู้ บางทีเราคิดแล้วเราละอายใจไหม ถ้าเราละอายใจ นั่นล่ะมันซับลงที่ใจแล้ว มโนกรรมเกิดแล้ว ถ้าคิดมาก คิดบ่อยครั้งเข้า มันจะเกิดความฟุ้งซ่านแล้วยึดติดจนเป็นนิสัย แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ดีปัดทิ้งๆ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาจะไล่ความคิดเข้ามา สิ่งใดที่ไม่ดีปัดทิ้ง เราก็ยังรู้เลยว่าไม่ดี แล้วธรรมะจะเป็นสิ่งดีได้อย่างไร

มันเป็นธรรมะเด็กๆ นะ พิธีกรรม จนในการประพฤติปฏิบัติเดี๋ยวนี้ก็ปฏิบัติโดยพิธีกรรม ถ้าได้ปฏิบัติแล้วได้ก้าวเดิน เราจะบอกว่า หุ่นยนต์โรงงานมันดีกว่าโยมอีก มันทำของมันได้ทั้งวันทั้งคืนนะ หุ่นยนต์โรงงานแล้วมันได้อะไร ไอ้นี่ก็เดินจงกรมเป็นพิธีไง ก้าวย่างไม่มีสติเลย หุ่นยนต์ดีๆ นี่ล่ะ เวลานั่งก็นั่งกันนะ หุ่นยนต์ไม่มีความรู้สึก ที่เขานั่งกันนี่เขาเอาความรู้สึกนะ เอาสมาธินะ

สมาธิมันอยู่ที่ไหน สมาธิมันอยู่ในตำราหรือ ในตำรามันมีแต่ตัวอักษรนะ สมาธิไม่ได้อยู่ที่ไหนทั้งสิ้น แล้วสมาธิของครูบาอาจารย์ สมาธิของใครก็เป็นของท่าน สมาธิของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา นี้สำคัญมากเลย ศีลคือความปกติของใจ ถ้าจิตใจเราไม่ปกติ มันเป็นสมาธิไม่ได้ ใจมันต้องปกติ ใจปกติหมายถึงว่า มันไม่คิดส่ายแส่เลย

เห็นไหมในหนังทางวิทยาศาสตร์ เขาบอกเลยว่า ชีวิตนี้คือพลังงาน เขาก็เอาแบตเตอรี่แห้งมา นี่ชีวิตคืออย่างนี้

แบตเตอรี่มันไม่มีชีวิต! พลังงานที่มีชีวิตเว่ย ธาตุรู้นี่เป็นสสารด้วย เป็นธาตุด้วย แล้วมันมีชีวิตด้วย เพราะมันเกิดดับๆ มันคิดได้ นี่คือจิตเดิมแท้ไง พลังงานตัวนี้เป็นพลังงานส่วนตัว มันไม่ใช่พลังงานอย่างไอ้แบตเตอรี่ที่ออกมาจากโรงงานนั่นหรอก ไอ้นั่นมันเป็นพลังงานที่ไม่มีชีวิต

ธาตุรู้คือตัวธาตุ คือตัวสสาร แล้วไม่มีวันตาย ไม่มีบุบสลาย จะเกิดตายกี่สิบรอบ กี่แสนรอบ กี่ล้านรอบ ไม่เคยตาย ตายไม่เป็น เพราะมันเป็นธาตุ! ธาตุที่มีชีวิต

มหัศจรรย์มาก แล้วเราเข้าไปเห็นมัน แต่ตัวนี้มันไม่เป็นสมาธิเพราะอะไร ไม่เป็นสมาธิเพราะโดนครอบงำด้วยขันธ์ ๕ ด้วยสิ่งเร้าในหัวใจนี่ไง สิ่งเร้าในหัวใจคือกิเลส กิเลสความเคยใจเป็นสิ่งเร้าในใจ มันกระตุ้นขึ้นมา มันก็ไปตามสิ่งเร้านั้น แล้วสิ่งนั้นมันก็ออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ พลังงานนี้มันก็ใช้ไปตลอด มันไม่เคยตายด้วยนะ แล้วคิดดูสิ ถ้าเราเอาปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา พอมันสงบเข้ามา พลังงานมันสะสม

สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด นึกถึงอเมริกาเดี๋ยวนี้สิ เครื่องบินมันบินไปกี่ชั่วโมง นึกถึงเดี๋ยวนี้ก็อยู่เดี๋ยวนี้ นึกถึงสวรรค์เดี๋ยวนี้ก็เห็นเดี๋ยวนี้ มันไปได้เร็วขนาดไหน มันคงที่ของมัน พลังงานมันทรงตัวของมัน

นี่ไง สัมมาสมาธินะ เรื่องเหาะเหินเดินฟ้านี่มันเป็นของเด็กเล่น เด็กเล่นทั้งนั้น!เพราะเข้าสมาบัติแล้วมันสงบ มันมีพลังงานแล้วจะไปไหนก็ได้ เหมือนคอมพิวเตอร์ตั้งโปรแกรมไว้เลย แล้วเข้าสมาธิ ไป! เหาะหมด จะทำอะไรก็ได้ ของเด็กๆ แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับมรรค? เกี่ยวอะไรกับอริยสัจ?

พระพุทธเจ้านี่สุดยอดมาก ถ้าพระพุทธเจ้าเอาสิ่งนี้มาเป็นสิ่งมหัศจรรย์ แล้วออกแสดงฤทธิ์เดช ดูสิเวลาพระโมคคัลลานะ สมัยพุทธกาล คฤหบดีเขาไม่เชื่อว่ามีพระอรหันต์ เอาไม้ไผ่ ๒ ลำต่อขึ้นไป แล้วเอาบาตรไม้จันทน์ไปแขวนไว้ ประกาศเลยถ้ามีพระอรหันต์ขอให้เหาะขึ้นไปเอา มันก็ไม่มีใครขึ้นไปเอาหรอก พอพวกเดียรถีย์มา ก็แนะกันไว้ เดี๋ยวเราจะไปเอานะ แล้วเอ็งก็ไปกับเรา พอเราจะเหาะก็ทำเป็นดึงไว้ โอ้ย อย่าเอานะ จะอวดเขา จะไปหลอกเขา

จนสุดท้ายแล้วเขาประจาน เขาเสียใจมากว่ามันไม่มีของจริงแล้ว ศาสนาก็ไม่มี พระอรหันต์ก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี แล้วมันมาเข้าหู พระโมคคัลลานะก็บอกลูกศิษย์ เธอต้องเหาะไปเอาลงมา พระลูกศิษย์ก็บอกพระโมคคัลลานะต้องเหาะ เพราะมันของเล่น! ของทำได้นี้มันเป็นของเล่น มันเป็นเรื่องธรรมดา ให้เหาะขึ้นไปเอานะ ต่างคนต่างเกี่ยงกันเพราะมันเรื่องธรรมดาไง สุดท้ายพระโมคคัลลานะให้ลูกศิษย์เหาะขึ้นไป หยิบบาตรแล้ววนมา

โอ้โฮ คฤหบดีเจ้าของบาตรดีใจมาก บอกว่า มรรคผลยังมีอยู่ พระอรหันต์ยังมีอยู่ เขาดีใจมาก แต่ผลลบมันเยอะกว่า ตั้งแต่นั้นมาพอใครจะมาใส่บาตร ไม่ใส่ ถ้าไม่เหาะ ต้องเหาะก่อนถึงจะใส่บาตร จนมันปั่นป่วนเห็นไหม แล้วไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงบอกว่า ไม่ได้ ต่อไปนี้นะ การอวดอุตริมนุสธรรม คือธรรมเหนือมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่เหนือมนุษย์ มนุษย์ปกติทำไม่ได้ ถึงบัญญัติไว้ว่าห้ามทำ

พอห้ามทำขึ้นมา มันก็เป็นปาราชิกหนึ่งใน ๔ ข้อนั้น พออย่างนั้นเดียรถีย์ก็ได้ใจ ท้าเลยว่าให้แสดงฤทธิ์ ทุกคนก็แสดงไม่ได้เพราะพุทธเจ้าบัญญัติแล้ว ทีนี้พอไปท้าพระพุทธเจ้า รับท้า เราจะแสดงแก่เขา เพราะการแสดงฤทธิ์นี้มันเหมือนของเด็กเล่น มันเป็นอภิญญา มันเป็นฌานโลกีย์

ดูสิเดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์มันทำได้หมด เหาะเหินเดินฟ้ามันทำได้หมด ใครๆ ก็ทำได้หมด รู้วาระจิตหรือ โธ่ คอมพิวเตอร์ทำได้หมดนะ เครื่องจับเท็จมันก็มี มันเป็นเรื่องปกติที่วิทยาศาสตร์สามารถคิดได้ เพราะมันเป็นฌานโลกีย์ คำว่าฌานโลกีย์ ทางวิทยาศาสตร์มันเจริญ ตรรกะมันควบคุมได้ มันทำได้ ดูสิกล้องมันมาจากไหน มาจากเลนส์ เลนส์มาจากตา สรรพสิ่งของมนุษย์ เขาเอาวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์กัน จนเป็นเครื่องวิทยาศาสตร์ที่เรามาใช้ประโยชน์กัน นี่เขาคิดได้ขนาดนั้น

สุดท้ายแล้วองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เรารับท้า พระโมคคัลลานะก็ขอทำการแทน เธอจะทำอย่างไร จะแสดงฤทธิ์อย่างนั้นๆ พระพุทธเจ้าบอก ไม่ให้ ไม่ให้ พวกคฤหบดีเขาไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติวินัยว่าห้ามแสดงฤทธิ์ เพราะเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแสดงได้อย่างไร ได้! เพราะอะไร ท่านเปรียบเทียบนะ

ถ้าเราเป็นเจ้าของสวนมะม่วง เราห้ามคนอื่นเด็ด เพราะเป็นสวนมะม่วงของเรา แต่เราเด็ดได้ไหม? คฤหบดีบอกว่า ได้ นี่ก็เหมือนกัน ในศาสนานี้เป็นศาสนาของเราตถาคต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา บัญญัติไว้ว่าห้ามทุกคนแสดงฤทธิ์ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา จะแสดงได้ แสดงเพื่อศาสนา การแสดงนี้แสดงเพื่ออะไร เพราะพวกเดียรถีย์กล่าวตู่

พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เราจะแสดงฤทธิ์ใต้โคนต้นมะม่วง เห็นไหม เดียรถีย์ตัดต้นมะม่วงหมดเลย ท่านฉันวันนั้น เม็ดมะม่วงปลูกกับมือ ต้นมะม่วงก็ขึ้นเลยด้วยฤทธิ์ แล้วแสดงฤทธิ์มหาศาล เสร็จแล้วขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงส์ นี่มันของเด็กๆ นะ เพียงแต่ว่า มีผลบวกและมีผลลบจากสังคม แต่การบวกลบในหัวใจนี้สำคัญกว่า ถ้าทำอย่างนั้นได้ มันจะสำคัญตนว่าเป็นผู้วิเศษ

ผู้วิเศษนี่ไม่ใช่มรรค ผู้วิเศษนี่ไม่ใช่อริยผล ถ้าอริยผลมันฆ่ากิเลส มันฆ่าอีโก้ มันฆ่าตัวตน มันฆ่าความอยากดังอยากใหญ่ แต่ถ้าไปเหาะเหินเดินฟ้าได้ มันอยากดังอยากใหญ่ กูแน่กว่ามึง

นี่ไง เข้าสมาบัติกันร้อยแปด ขึ้นคัตเอาท์เข้าสมาบัติ ไร้สาระ! ไร้สาระ!

เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติมันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากเราเป็นนักพรต เราเป็นนักบวช ไม่ใช่เกิดมาจากธรรม ถ้าเกิดมาจากธรรม ธรรมต้องเหนือโลก แล้วไปเข้าสมาบัติเอาอะไรรู้ไหม เอาเศษกระดาษไง เข้าสมาบัติเพื่อไปเอาเศษกระดาษเขา เพื่อไปหาเงินจากเขา สิ่งนั้นหรือเป็นธรรม ธรรมของเอ็งสู้เศษกระดาษไม่ได้หรือ ?

ครูบาอาจารย์เรานะ หลวงปู่มั่นบอกว่า ให้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว ลงมาจากถ้ำเชียงดาว ให้ลงมาตักน้ำ หลวงปู่ขาวเล่าไว้ในวงกรรมฐาน เราจะฟังต่อๆ กันมา พอหลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ขาวลงมาตักน้ำที่ถ้ำเชียงดาว หันขึ้นไปนะ หลวงปู่มั่นเหาะลงมาเลย เก็บไว้ ไม่ได้ลงในประวัติหลวงปู่มั่น หลวงตาบอกว่า ประวัติหลวงปู่มั่นลงแค่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ลงมากกว่านั้นไม่ได้ สิ่งนี้ท่านเร้าให้คนสนใจในศาสนา เพราะสิ่งนี้เป็นเครื่องวิธีการให้เข้าไปหามรรคผล

ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิคือตัวฐานของจิต ถ้ามีสมาธินะ คนเราเข้าสมาธิไม่ได้ เพราะติดฟุ้งซ่าน ติดกับตัวตน การเข้าสมาธิคือตัวตนสงบตัวลง ขณะที่เข้าสมาธิไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งใดเลย มันเป็นสากล คำว่าสากล คือ จิตเป็นสมาธิ ทุกลัทธิ ทุกศาสนา ทำสมาธิได้ แต่ทุกศาสนาเขาบอกว่าเขามีมรรคผล ไม่มี!! ไม่มี!! ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล มรรค ๘ อยู่ที่ไหน มรรค ๘ อยู่ในศาสนาพุทธนี้เท่านั้น แล้วมรรค ๘ อยู่ที่ไหน มรรค ๘ ไม่ได้อยู่ที่ตำรา มรรค ๘ ไม่ได้อยู่ที่ใดเลย มรรค ๘ อยู่ที่หัวใจ!

หัวใจนี้จะเป็นมรรคขึ้นมาได้อย่างไร สมาธิมันอยู่ในตำราหรือ สมาธิมันก็อยู่ที่ใจใช่ไหม สมาธิเป็นความรู้สึกใช่ไหม สิ่งที่มันฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านเพราะใคร ฟุ้งซ่านเพราะเราโง่ แล้วถ้าเราฉลาดขึ้นมา มันก็เป็นกัลยาณปุถุชน มันก็ควบคุมขึ้นมา ถ้ามันเกิดขึ้นมาก็ตรงนี้ไง

โยมทำงานกัน โยมต้องมีออฟฟิศนะ นักกีฬาจะแข่งมันต้องมาหาสนามเลย แล้วจะฆ่ากิเลส ไปฆ่าที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่ไหน? อยากรู้นักว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน มีโรงงานฆ่ากิเลสไหม

กิเลสก็ไม่เคยเห็น สมาธิก็ไม่เคยเห็น สรรพสิ่งไม่เคยเห็นทั้งสิ้นเลย แต่อวดรู้กัน อวดรู้กันเพราะอะไรรู้ไหม เพราะมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อวดรู้เพราะมีพระไตรปิฎก แล้วเอามาวิเคราะห์วิจัยกัน

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เข้าไปที่หัวใจนะ แต่เราไปติดที่ข้อมูล ข้อมูลนั้นชี้เข้าไปที่ใจ หลวงตาบอกว่า “กิริยาของธรรม” เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาที่ใจ แล้วกล่าวคำเทศนาคือวิธีการ วิธีการนั้นย้อนกลับเข้าไปที่ความรู้สึก แต่เราไปศึกษาวิธีการ แล้วก็เอาวิธีการมาวิจัยกัน มันเลยตกทะเลไง ลงทุ่ง ลงหนองไป หาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้สมาธิอยู่ที่ไหน สมาธิมันต้องย้อนกลับมาที่ใจ

คำสั่งสอนทั้งหมดย้อนทวนกระแส คำว่าทวนกระแส คือ ทวนกระแสจิตเข้ามา ไม่ใช่ออกไปว่า ข้ารู้ ข้าแน่ ข้าออกไป ข้าวิจัย ข้ารอบรู้ไปหมดเลย นี่เพราะมันส่งออก สิ่งที่ส่งออกมันถึงไม่เป็นประโยชน์กับบุคคลคนนั้น แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา มีความเมตตามาก รื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วเราเองเหยียบย่ำเรากันเอง เหยียบย่ำนะ

หลวงตาท่านบอกเลยว่า ถ้าเราไม่เคารพธรรมวินัย เท่ากับเราเหยียบหัวพระพุทธเจ้า การเหยียบหัวพระพุทธเจ้าก็คือการเหยียบหัวตัวเอง เพราะเราเป็นผู้คิด เราเป็นผู้กระทำ เราเหยียบคุณงามความดีของเราทั้งหมด เพราะเราหมิ่นแคลนในธรรมวินัย ถ้าเราหมิ่นแคลนในธรรมวินัย เราเหยียบหัวตัวเองนะ แล้วคิดย้อนกลับมาที่เราสิ เราเป็นชาวพุทธ เราจะต้องเคารพ ถ้าเราเคารพตรงนั้นเราจะเป็นประโยชน์มาก อันนี้พูดถึงพิธีกรรมไง การประเคนซ้ายประเคนขวา

ไม่มีหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าพวกโยมนี่เป็นฝ่ายพลาธิการ คือ ฝ่ายส่งเสริม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุกับภิกษุณีเป็นนักรบ แต่โยมเป็นอุบาสกอุบาสิกา เราเศร้าใจนะ แต่มันเป็นความเศร้าใจของเราคนเดียว เพราะคนอื่นจะไม่มีความเห็นแบบเราหรอก เรารู้ ใครจะมีความเห็นแบบเราไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่มีจุดยืน ไม่รู้อะไรจริงเท็จ เราเศร้าใจนะเวลาเราเข้ามากรุงเทพฯ เวลาพระเขาออกจากกุฏิกัน เขาต้องห่มผ้า โอ้โฮ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้นะ เราเศร้าใจ เพราะมันมีวินัยข้อไหนวะ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ตรงไหน มึงบอกกูมา ไม่มี

เพราอะไรรู้ไหม ถ้าไม่ห่มผ้าออกนอกเขตอาวาสไปเป็นอาบัติทุกกฎ เพราะมันไม่สวยงาม แต่อยู่ในเขตวัด เดี๋ยวนี้โลกมันเจริญใช่ไหม วัดนี่เป็นสถานที่จอดรถ เป็นสถานที่โยมเข้าไป แล้วนี่ก็ห่มผ้ากัน ออกจากกุฏิต้องห่มผ้าห่มผ่อน วันนั้นเราไปวัดเทพศิรินทร์ ไม่ห่มล่ะ เปิดอย่างนี้ไปทั่ววัดเลย แล้วเขาถามว่า พระบ้านนอก ไม่สนน่ะ เขาจะห่มก็ห่มไป ฉันไม่ห่ม มันผิดอะไร มึงผิดข้อไหน แต่เพราะสังคมเป็นใหญ่ไง เรามองถึงหัวหน้า ถ้าหัวหน้าอยากให้พระสวยงาม ออกจากกุฏิก็ต้องห่มผ้าห่มผ่อนเรียบร้อย

เวลาไปที่วัดเรานะ เขาจะไปถวายสังฆทาน ต้องพระ ๔ องค์นะ เราบอกไม่มีหรอก มีองค์เดียว.. รับแทน เอ็งจะให้พระกู ๔ องค์มานั่งห่มผ้าเหงื่อโชก เพื่อรับไอ้สังฆทานมึงนี่หรือ สังฆทานกูนี่รับได้ เขาก็บอก อ้าว.. ไม่ครบสงฆ์

ไม่ครบสงฆ์แล้วกูไม่ใช่สงฆ์เรอะ ?

เพราะอะไร สงฆ์เว้นไว้แต่สมมุตินะ ในธรรมวินัย เวลาโยมถวายของขึ้นมา เป็นของของสงฆ์ พระต้องทำอุปโลกน์เพื่อแบ่งกัน ตั้งญัตติ ตั้งแต่เถระขึ้นไป แล้วถ้าไม่มีล่ะ ไปดูในนวโกวาท จะบอกว่าเว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติว่าอะไร สมมุติว่าเป็นคนแจกภัต สมมุติว่าเป็นผู้ที่ทำการแทนสงฆ์ สมมุติว่าเป็นผู้แจกของของสงฆ์ สมมุติว่าเป็นผู้ดูแลสมบัติของสงฆ์ ภิกษุห้ามหยิบเงินและทอง หยิบเงินและทองนี่เป็นนิสสัคคีย์ อาบัติปาจิตตีย์ วัตถุนั้นเป็นนิสสัคคีย์ พระสงฆ์เป็นปาจิตตีย์

แต่พวกโยมมีศรัทธามาก อยากจะหล่อพระทองคำ แล้วหล่อพระทองคำมาตั้งไว้ มันเป็นทองคำ ภิกษุจับเป็นอาบัตินิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ แล้วจะทำยังไง ? สมมุติสงฆ์ให้เป็นผู้รักษา สงฆ์ที่รับสมมุตินั้นจับพระนั้นไม่เป็นอาบัติ

พระพุทธเจ้านี่สุดยอด เพราะมันต้องขับเคลื่อนไปได้ไง สังคมของสงฆ์มันขับเคลื่อนไปได้ มันไม่อั้นตู้หรอก! ฉลาดระดับนี้ ไม่เป็นควายหรอก!

สิ่งที่จับไม่ได้ก็คือจับไม่ได้ แต่สิ่งที่สมมุติให้บำรุงรักษา อ้าว... ของของสงฆ์ใช่ไหม พระพุทธรูปทองคำ แล้วทองคำภิกษุจับเป็นอาบัตินิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ เราก็เถรตรง จับทองไม่ได้ เขาให้พระพุทธรูปทองคำมา ก็ปล่อยให้หยากไย่มันขึ้นเต็มหัวอยู่อย่างนั้น ทำไม่ได้ แล้วมันเป็นบุญหรือเป็นบาป

นี่ความโง่ความฉลาดมันอยู่ตรงนี้ ความโง่ความฉลาดตามธรรมวินัยหรือไม่ตามธรรมวินัยไง มันเป็นประเพณีทั้งนั้น แล้วไปไหนก็มาขังทั้งนั้น แต่ของเราน่ะขังทุกข์ เอาทุกข์มันมาขัง ทุกข์ในใจนี้เอามันมาขังซะ ไอ้ขังอย่างนั้น ไร้สาระ ขังเอาเงินเขาไง ขังหลอกลวง ขังไม่จริง

ขังจริงมึงอย่าขาสั่นสิ วัฏฏะนี้กลัวอะไร ในโลกนี้มันมีสิ่งใดที่น่ากลัวบ้าง ความกลัวเป็นกิเลส ความกล้าบ้าบิ่นก็เป็นกิเลส มันเศร้าใจตรงที่ว่า เขียนว่า “พระกรรมฐาน” ถ้าพระกรรมฐานยังติดในพิธีนะ ตอนอยู่ที่บ้านตาดไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อก่อนก็มี เมื่อก่อนท่านบอกว่าท่านไปอยู่ที่บ้านผือ เป็นโรคเสียดอก แล้วเขานิมนต์ไปกุสลาจนท่านไม่มีเวลาเลย จนท่านเป็นเอง

แต่ในปัจจุบันท่านไม่ให้มาติกาเลย เพราะกุสลาธรรมมา อกุสลาธรรม คือโง่กับฉลาด อกุสลาธรรม คือ ทำความโง่มาทั้งชีวิต กุสลาธรรมมา คือ ทำความฉลาดมา ถ้าทำมาแล้วเป็นเนื้อหาสาระ ไม่ต้องมาสวด ไอ้สวดนี่มันสวดเพื่อเตือนสติกัน แต่คนมันตายไปแล้วนี่มันเสวยภพแล้ว ท่านบอกว่าสวดแล้วก็เท่านั้นล่ะ เห็นไหม เราจะบอกว่า แต่ก่อนท่านก็ทำ เพราะเราอยู่ในสังคม เราอยู่ในกระแสสังคม เรายังไม่สามารถเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ อยู่ในสังคม ต้องยอมรับสังคม

แต่เมื่อท่านเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เป็นผู้นำขึ้นมา ท่านปฏิเสธเลย ท่านไม่ให้ทำ ปฏิเสธเพราะโดยข้อเท็จจริง มันของเล่น มันสมมุติกัน หลอกเอาตังค์กัน หลอกเอาแบงก์ ถ้าพระเห็นแก่แบงก์นะ ไร้สาระ

ทำไมต้องไปเห็นแก่แบงก์ ธรรมะมีค่าเท่านี้เองหรือ เราถึงเห็นแล้วเศร้าใจมากๆ นะ ไม่ใช่อวดนะ ระบาย เวลาขี่รถมาตามถนนเห็นคัตเอาท์ มันน่าเศร้าใจ มีแต่งานวัดทั้งนั้นเลย มีแต่เก่งๆ ทั้งนั้น ทำไมต้องโฆษณากันอย่างนั้น เอ็งไม่มีข้าวกินหรือ บวชมาแล้วมันพออยู่พอกินแล้ว บิณฑบาตมามันก็มีกินทั้งนั้น แล้วงานตัวเองก็ไม่ทำ สังเกต โยมไปต่างจังหวัดตามทางแยกสิ มันจะมีคัตเอาท์เห็นไหม วัดจัดงานตลอด มันไม่เป็นเรื่อง แล้วทำไมไม่ทำ ถ้าทำมันจะย้อนกลับมาที่เรา

สิ่งที่ทำๆ กันนี่นะ ถ้าจะบอกว่าเป็นอุบาย พระพุทธเจ้าใช้อุบายสอนให้พวกเราเข้ามาในศาสนา กลับเข้ามาในศาสนา คือเข้ามาใกล้ชิด ตั้งแต่เริ่มระดับทาน เด็กเห็นไหมดูสิ เด็กมาเรายังเมตตา ให้ยาคูลท์ ให้อะไรนี่เพื่ออะไร เพื่อให้เขาฝังใจกับศาสนา ให้เขาเข้าใจว่าพระเป็นผู้ให้ ไม่ใช่พระเป็นผู้รับ เวลาโยมถวายทาน สละทานมา แต่เวลาเราให้ธรรมทานนี่นะ เอาปลาไปให้เขากิน กับสอนเขาจับปลากิน มันต่างกันไหม

สอนให้ปลดทุกข์ สอนให้เข้าใจทุกข์ การเทศนาว่าการ ให้ธรรมเป็นทาน ให้สิ่งวิชาการในความรู้สึกของตัว ของใจ อันไหนจะได้บุญมากกว่ากัน แต่ที่โยมไปเห็นนะ พระไม่ได้ทำอะไรเลย พระเอาแต่ได้ เพราะมันไปติดกันตรงนั้นหมด มันก็ออกไปเรื่องของโลกๆ หมด มันก็ไปประสาโลก แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เรื่องนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ไร้สาระมากๆ เลย ศาสนาพุทธเรียบง่ายแต่ขลัง ของจริง

แต่เพราะเราเห็นโลกเจริญ ไปแข่งขัน เทคโนโลยีมันไปไกลมาก จะสร้างขนาดไหน เก่งขนาดไหน สู้โลกไม่ได้หรอก โลกนี่เขาสร้างสองสามร้อยชั้นกันแล้วนะ แล้วพระองค์ไหนจะไปสร้างสู้กับเขา มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย แต่เรื่องจริงๆ ในศาสนาเรามันต้องมาที่นี่ แล้วศาสนาจะไม่มีวันเสื่อม ศาสนาเจริญ เจริญที่ไหน เจริญในใจตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมา ถ้ายังไม่มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ศาสนานั้นยังเศร้าหมอง

เศร้าหมองจากกิเลสในหัวใจของผู้ที่ทรงธรรมทรงวินัย พระภิกษุนักบวชมันมีแต่หัวใจที่เศร้าหมอง มีแต่หัวใจที่ไม่รู้จริง แต่พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นผู้รื้อค้นขึ้นมา มันออกมาจากใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ประกาศตนว่าไม่เป็นพระอรหันต์ พระปัญจวัคคีย์ทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป แต่พอเวลาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว “ปัญจวัคคีย์ เราไม่เคยเป็นพระอรหันต์ เราก็ไม่เคยพูดสักคำใช่ไหม บัดนี้เราเป็นพระอรหันต์ ให้เงี่ยหูลงฟัง”

สุภาพบุรุษ ไม่เป็นก็บอกว่าไม่เป็น เป็นก็บอกว่าเป็น ในเมื่อศาสดาเป็นผู้ที่สะอาด แต่ในลัทธิศาสนาต่างๆ ไม่มีศาสดาใดประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์เลย ไม่มี!! ไม่มีหรอก! ถ้ามันเป็นพระอรหันต์ ต้องถามมันว่าเป็นพระอรหันต์เพราะอะไร ทำไมถึงเป็นพระอรหันต์ มีใครสวมมงกุฎให้มึงเป็นพระอรหันต์ ไม่มี !

พระอรหันต์เกิดมา อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไป ตัวจิตเป็นตัวนิพพาน พระอรหันต์ไม่มีจิต เพราะตัวจิตมันได้กลั่นตัวมันเอง จนทำลายตัวภวาสวะ ทำลายตัวภพหมดเลย ตัวจิตมันเป็นนิพพาน !

แต่ขณะที่เป็นนิพพานแล้ว ไม่มีจิต! แต่ขณะที่กำลังจะเป็นนี้ มี มีตัวจิต แล้วจิตมันกลั่นทำลายตัวมันเอง จนมันเป็นพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์มีจิตอยู่ที่ไหน พระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้ามีจิตคือมีภพ มีภพคือมีกิเลส พระอรหันต์ไม่มีจิต แต่พระอรหันต์มีธรรมธาตุ ธาตุรู้ไง พลังงานที่มันเป็นอยู่ พอพลังงานมันทำลายตัวมันเองแล้ว มันจะมีพลังงานที่ไหนมาอีก แต่มี นิพพานมีเหมือนไม่มี ไม่มีเหมือนมี เอ้า.. มึงถามสิ พอบอกไม่มี ก็บอกมี พอบอกมี ก็บอกไม่มี อย่างนี้มันก็เถียงกันจนวันตายใช่ไหม แต่พระอรหันต์ไม่เถียง รู้จริง

ถ้ามึงบอกว่ามี กูบอกไม่มี เพราะมันเป็นทิฏฐิเกิดแล้ว ถ้าบอกว่าไม่มี มี แต่ถ้าบอกไม่มี พอภาวนาไป มันก็ภาวนาแบบเข้าฌานโลกีย์นี่ไง แล้วก็นิพพานกัน เพราะพูดไม่ได้ ความเห็นนะ ความว่างของฌานโลกีย์มันเป็นอจินไตย ฌานเป็นอจินไตย อจินไตย ๔ พุทธวิสัย กรรม โลก ฌาน แล้วพอมาก็บอก ว่างๆ ว่างๆ

ว่างๆ มันเป็นอจินไตย อจินไตยที่ว่าคุยกันไม่รู้เรื่องล่ะ คุยกันไปเถอะ ไม่จบล่ะ อจินไตยน่ะ แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เข้ามรรคนะ มี! เวลาธรรมจักรมันหมุน ถ้าโลกๆ นะ ธรรมจักรต้องหินแกรนิตนะ เอามาสลักเป็นธรรมจักรแล้วก็กราบไหว้กันนะ

หมามันขี้ มันเยี่ยวรดด้วย

ธรรมจักรมันเกิดจากใจเว่ย ! เวลาปัญญามันหมุนไป จักรมันเกิดจากไหน ธรรมจักรในหัวใจ เวลามันหมุน มันรวมตัว อริยสัจมันหมุนเข้ามา มันมาจากไหน นี่ไง ถ้าบอกว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นอย่างไร? ใครบอกมึงว่าเป็นพระอรหันต์ กิเลสมันสวมมงกุฎให้หรือ ไม่มี!! มีแต่เฉพาะในศาสนาพุทธเราเท่านั้น มีเฉพาะครูบาอาจารย์ของเราเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ

เพราะ! ถ้ามีจริงมันพูดจริง ถ้ามีไม่จริง จะหลอกเอาแบงก์เขา มันเลียบๆ เคียงๆ อ้อมไปอ้อมมา ไม่มีวันจบ พระอรหันต์งงหัวไง พระอรหันต์ไม่รู้จักทิศเหนือ ทิศใต้ มันงง มันตอบไม่ได้ หมุนไปหมุนมา ไม่รู้จักทิศไปทางไหน พระอรหันต์..

ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ถึงบอกว่าพิธีการก็เป็นพิธีการนะ ดูสิพวกโยมถ้าไปอีสานนะ ขึ้นไปบนอาสน์สงฆ์เขาไม่ได้นะ ประเพณีทางอีสานเขาไม่ให้ผู้หญิงขึ้นอาสน์สงฆ์ เพราะเขาเคารพบูชา ไอ้อย่างนี้เราควรเคารพบูชาวัฒนธรรมของเขา วัฒนธรรมของเขา เขาเคารพของเขา เขาให้ผู้ชายขึ้นอาสน์สงฆ์ แต่ผู้หญิงเขาไม่ให้ขึ้น เราต้องเคารพของเขา เพราะว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่เขาสะสมกันมา

แต่ถ้ามาพูดถึงวิทยาศาสตร์ อ้าว ก็อย่าบิณฑบาตกับผู้หญิงสิ ผู้หญิงใส่บาตรทุกวัน แล้วบอกผู้หญิงไม่ให้ขึ้น แล้วเวลาไปบิณฑบาตก็ไปบิณฑบาตกับผู้หญิง ถ้าจะเป็นสุภาพบุรุษใช่ไหม แต่มันเป็นวัฒนธรรมของเขานะ ถ้าเป็นวัฒนธรรมประเพณี สิ่งนี้มันสะสมกันมาตกทอดเป็นประเพณี วัฒนธรรมนี่มันเกิดมาจากไหน รากเหง้าของวัฒนธรรมมันก็เกิดมาจากศาสนาพุทธนี่แหละ

ครูบาอาจารย์แต่ละยุค แต่ละภาค เขาเอาจุดเด่นของศาสนาตรงไหนมายึดเป็นหลัก ไปงานประดับดิน ทางอีสานเลี้ยงเปรต ก็เป็นข้าวต้มมัด เขาเรียกข้าวประดับดิน ทางใต้เลี้ยงเปรตก็เป็นสลิ่มเล็กๆ เพราะเปรตปากเท่ารูเข็ม แล้วเปรตประเทศไทยนี่ทำไมมันไม่เหมือนกันล่ะ นี่คือประเพณีวัฒนธรรม เราอย่าไปลู่ เราอย่าไปลบ เราไม่ลบหรอก เพียงแต่ว่าเราก็ต้องไม่ติด ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าแบ่งแยกนะ เราพูดเรื่องศาสนา เปลือก กระพี้ แก่น เราจะมีเปลือก กระพี้ แก่น แล้วเราจะพัฒนาใจไหม นี่คือกรรมฐานไง

กรรมฐานมันจะหดย่นเข้ามาที่ใจ เริ่มต้นก็ต้องมีเรื่องทาน ศีล ภาวนาเข้ามา แต่บอกว่า อย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก ถูกขณะนั้น ผิดขณะนั้น ผิดขณะที่เป็นเด็ก มันก็ผิดเด็กๆ ถูกเด็กๆ แล้วมันต้องก้าวเข้ามา ถ้าผิดจากเริ่มต้นขึ้นมาเลย เราจะก้าวเดินไม่ได้ ทุกคนมีกิเลสนะ ทุกคนมาจากความรู้สึก แล้วเราจะก้าวเดินออกไปจากความรู้สึก ก้าวเดินออกไปจากจิตที่มันเกิดมันตาย แล้วจิตมันก็มาเกิดมาตายในวัฏฏะ แล้วเราจะภาวนา เริ่มต้นภาวนาไม่ได้เลย

เหมือนทางอภิธรรมเห็นไหม พวกเรานี่ภาวนาไม่ได้ เพราะมีความอยาก ต้องละความอยากก่อน แล้วค่อยมากำหนดนามรูป โอ๋.. พระพุทธเจ้าสอนพระอรหันต์เนาะ ไม่สอนปุถุชนล่ะ เพราะปุถุชนมันต้องมีความอยาก มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นไม่มีความอยาก แล้วต้องไม่มีความอยากนะ ถึงจะกำหนดได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

โดยธรรมชาติของคนมีความอยากโดยสามัญสำนึก แล้วจะบอกให้ไม่มีไม่ได้ แต่ให้มันเป็นความอยากที่ดี เป็นฉันทะ ความพอใจที่จะกำหนด จะปฏิบัติ อยากในสิ่งที่ดี เหมือนเราอยากทำมาหากิน เราอยากมีหน้าที่การงาน เราอยากทำดี ความดีอันนี้เป็นมรรค คือเป็นในแง่บวก แต่ในแง่มุมของชาวพุทธเราตีความหมายผิดไง เช่น ธาตุ ๔ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อวกาศ ก็ไปตีเป็นลม แล้วอากาศล่ะ มันมีธาตุ ๖ อากาศ คือ สูญญากาศ คือในโพรงกระดูก แล้วมีธาตุรู้ ธาตุ ๔ ธาตุ ๖ อากาศธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟนี่คือธาตุ ๔

แล้วนี่ก็เหมือนกัน ไปตีว่าความอยากนี่เป็นความผิดหมดเลย แล้วอยากดี มานั่งอยู่ที่นี่ ถ้าไม่อยาก ขับรถมาไม่ได้หรอก ที่มานี่ถ้าไม่มีความอยากเร้ามา แรงจูงใจของความอยากไม่พามา มานั่งอยู่นี่ไม่ได้หรอก แล้วถ้าไม่มีแรงจูงใจของอยากมาปฏิบัติ จะเอาอะไรมาปฏิบัติ แต่เขาบอกว่าไม่ได้ เขาลืมไปว่า สิ่งที่อยากในแง่บวกมันก็มี สิ่งที่อยากในแง่ลบก็มี ถ้าสิ่งที่อยากในแง่บวกเป็นมรรค เป็นการทำคุณงามความดี

ถ้าครูบาอาจารย์เราสะอาดบริสุทธิ์ มันจะเห็นแม้แต่เรื่องอย่างนี้ เริ่มต้นที่ว่าภาวนา ตั้งแต่เปลือก แก่น กระพี้ ถ้าเริ่มต้นผิดนะ ต้นคดปลายคด ไม่มีทาง ไปตรงไม่ได้ ครูบาอาจารย์เรานะ ถ้าต้นมันตรง เพราะอะไร ตรงเพราะท่านทดสอบ ท่านใช้ชีวิตของท่าน ตั้งแต่สมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วครูบาอาจารย์เรานะ รุ่นเรานี่รุ่นที่ ๓ แล้วนะ หลวงปู่มั่นนิพพานไปแล้ว ๕๐ กว่าปี แล้วก็มีครูบาอาจารย์ต่อๆ กันมา แล้วมาทดสอบตรวจสอบกัน

ครูบาอาจารย์เรา สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เป็นคุณธรรม เขาจะทดสอบ ตรวจสอบกัน อย่างเช่น หลวงปู่มั่นก็สั่งกับครูบาอาจารย์ไว้ บอกว่าถ้าท่านล่วงไปแล้ว ให้ไปหาหลวงปู่ขาวนะ หลวงปู่ขาวได้คุยกันแล้ว แล้วหลวงตา ครูบาอาจารย์ก็ไปคุยกับหลวงปู่ขาว เห็นไหม

การคุยกับหลวงปู่ขาวก็เหมือนกับทางวิชาการ ทางวิชาการเราสัมมนากัน แล้วทางวิชาการสัมมนากันมันจะผิดได้ไหม มันต้องตรวจสอบกัน สังคมมันเจริญอย่างนี้ไง แล้วเวลาสังคมสัมมนากัน ตรวจสอบกัน ตรวจสอบกันที่ไหน ตรวจสอบกันในกุฏิ ในป่า ในเขา สองคนสามคนเฉพาะ

แต่นี่มันบอกว่า จะเข้าสมาบัตินะ มันขึ้นคัตเอาท์กลางถนนสี่แยกเลย ไอ้พวกนี้มันจะตรวจสอบกับแบงก์ แล้วเราก็จะไปเชื่ออย่างนั้นหรือ นี่ไงชาวพุทธ

ชาวพุทธเราถึงบอกว่ามีวาสนา เพราะเราเกิดมายุคนี้ เวลาเราปฏิบัติแล้ว เราจะคิดถึงพระพุทธเจ้าเลย กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เราไม่ได้มองว่าเจริญเพราะว่าเราสร้างมหาวิทยาลัยมากมาย ไม่ใช่นะ มหาวิทยาลัยนี่นะ ตอนนี้นานาชาติจะเข้ามาในเมืองไทย เพราะมหาวิทยาลัยนี่เป็นธุรกิจ ทุกอย่างเป็นธุรกิจทั้งนั้นเลย ขาดทุนกำไร แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์เห็นไหม

หลวงตาบอกว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์อยู่ที่ไหน รุกฺขมูลเสนาสนํ โคนต้นไม้ อยู่ในป่าในเขา มันเจริญตรงนี้ เจริญเพราะว่ามีครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าไม่มีหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์นะ สงฆ์ไทยไม่เป็นแบบนี้ สงฆ์ไทยยุคก่อนหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ สงฆ์ไทยอยู่กันประสาปุถุชน เป็นแต่ตามหน้าที่ เหมือนข้าราชการคนหนึ่ง เหมือนมนุษย์ห่มผ้าเหลือง แต่พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติของท่านขึ้นมาได้ แล้วท่านรู้จริง สามารถพิสูจน์ได้ ใครก็พิสูจน์ได้ แล้วใครอยากรู้ไปหาท่านได้

ท่านเอาลูกศิษย์ของท่าน ดูสิ หลวงตาบอกว่า “เพชรน้ำหนึ่ง” มีกี่องค์ ทางวิชาการมันมีแล้ว ของจริงมีแล้ว เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกปัญจวัคคีย์ ถ้าเราไม่เป็นพระอรหันต์ เราจะไม่ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ในการแสดงธรรมนะ อุปสัมบัน อนุปสัมบัน ภิกษุอวดอุตริมนุสยธรรมต่ออนุปสัมบัน เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ขณะที่แสดงธรรมกับอุปสัมบัน ไม่เป็นอาบัติเพราะอะไร เพราะมันบอกวิชาการอันนี้ วิชาการในการกระทำ

จิตมันมาอย่างนี้ มันจะมีวิธีการของมัน มันจะพัฒนาของมันอย่างนี้ มันจะขึ้นของมันไปอย่างนี้ ครูบาอาจารย์เวลาเทศน์เห็นไหม เหมือนกับเครื่องบินเลย ตั้งแต่แท็กซี่เลย รันเวย์ขึ้นเลย ขึ้นถึงไหนมันไปของมัน แต่ของเรา เราหาสนามบินไม่เจอ แล้วจะขึ้นยังไงก็ไม่รู้

แต่ถ้านักปฏิบัตินะ มันจะรู้เลยจิตสงบเป็นอย่างนี้ แล้วมันจะเหินอย่างนี้ อยู่ที่ระดับของจิตของใครอยู่ที่ระดับไหน มันจะรอตรงนี้ หมายถึงว่า เวลาเรามีปัญหาขึ้นมา เหมือนกับเด็กมันใจแตก พอมันเห็นอะไรขึ้นมา มันจะยึด พอยึดขึ้นมาครูบาอาจารย์จะบอก ต้องเป็นอย่างนี้! แต่ถ้าเรายึดแล้ว ทำไมครูบาอาจารย์บอกว่ามันยังมีสเต็ปต่อไปล่ะ ทำไมยังมีต่อไป แล้วทำไมเราไม่มีต่อไปอย่างนั้นล่ะ

นี่ไงจะทำให้เราปล่อยอันนี้ ให้เราหาทางพัฒนาใจของเราให้ขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่ง ขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าไปถึงที่สุด เข้าใจว่าจบ แล้วมาตรวจสอบกันว่า จบเพราะอะไร นี่ไง ครูบาอาจารย์เรา ถึงบอกว่า ไอ้ตรงนี้มันคิดเป็นตัวเงินไม่ได้ คิดเป็นอะไรก็ไม่ได้เลย ต้องคิดว่าเป็นบุญกุศล กึ่งพุทธกาลศาสนาเจริญอีกหนหนึ่ง แล้วไม่มีใครทำได้ มันเป็นเรื่องของธรรม เรื่องของธรรมชาติ เรื่องของกาลเวลา เรื่องของการสร้างสมบุญมา เกิดเป็นวาระ เป็นครั้งเป็นคราว นี่คือการเกิดร่วมไง

อย่างเช่น วันนี้เราเกิดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราทำบุญกุศลก็เพื่อท่าน แต่ความจริงก็เพื่อเรานี่ล่ะ เพราะท่านอิ่มเต็มของท่าน สมบัติของท่าน ประเทศไทยของท่าน ในเมืองไทยท่านจะเอาอะไรได้หมด แล้วท่านจะเอาจากเราไหม อย่างโยมนี่ยังต้องแสวงหาอยู่ แล้วจะเอาอะไรไปให้ในหลวง แต่ถ้าเราปฏิบัติก็เพื่อเรา แล้วเราก็เป็นคนดีก็ถวายในหลวง นี่การเกิดร่วม

การเกิดมาในพระพุทธศาสนานี่ โอ้โฮ บอกว่า คิดเป็นตัวเงินไม่ได้ คิดไม่ได้เลย แต่เราก็มาน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่มีวาสนา ทำไม่ได้ ทำแล้วเจ็บ ทำแล้วปวด มันเป็นธรรมดา ถ้าไม่เจ็บไม่ปวดเลย มันเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้หรอก มันต้องผ่านเจ็บผ่านปวด เพราะผ่านแล้ว เขาพูดกับเรารู้เรื่องไง ถ้าเราไม่เคยผ่าน เราไม่รู้เลย เราไม่ใช่ตุ๊กตานะ ตุ๊กตาเห็นไหม สติไม่ต้องเลี้ยงมันหรอก ตั้งไว้ที่ไหนมันก็อยู่ที่นั่น แล้วมันได้อะไรล่ะ นี่มนุษย์นะ มีความรู้สึก มันจะต้องผ่านความรู้สึกอันนี้ ที่พูดนี่พูดเพราะไม่ให้ติดนะ

ฉะนั้นประเคนอย่างไรก็ได้ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านต้องประเคนซ้ายประเคนขวา ประสาเรานะ ไร้สาระ

ถ้ามันจะผิด คือ ๑.ผิดกาล อย่างเช่น หมดเวลา ตอนเย็นนี้ถวายอาหารไม่ได้ แล้วมาประเคน อันนี้ผิด ถ้าผิดอย่างนี้เห็นว่าผิด ทีนี้การประเคนมันเป็นบางพื้นที่ เขาห้ามถวายของพระตอนกลางคืน เราอยู่ที่วัดเรานะ ตี ๔ ตี ๕ มาเถอะ ได้ทั้งนั้น เพราะเขามาแล้วเขาจะกลับไง ถ้าเขามาเขาไป สิ่งใดที่รับแล้วมันไม่ขัดกับศีลธรรม เรารับหมด เพราะอะไร เรียบง่าย เขามาเขาจะกลับ ไม่ใช่เขามานะ ถวายไม่ได้ต้องรอพรุ่งนี้เช้า

คือคนว้าเหว่ คนนะถ้าว้าเหว่อยากมีเพื่อน อยากมีคนอยู่รอบข้าง แต่ถ้าหัวใจมีธรรมนะ อยากอยู่คนเดียว การอยู่คนเดียวมีความสุขมาก แต่การมีสิ่งใดมันก็เป็นภาระรับผิดชอบไปหมดเลย กังวลไง มา ๒ คน เขาไม่อยู่ก็คิดถึง กลับหรือยัง ขึ้นรถหรือยัง ตกรถหรือเปล่า ไม่เห็นมันก็ยังกังวล แต่ถ้ามันเป็นโลก ชอบ ชอบไปไหนให้คนตามหน้าตามหลัง ล้อมหน้าล้อมหลัง นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ นั่งรอเป็นแถวเลย โลกๆ ทั้งนั้นน่ะ

ถ้าเป็นความจริงนะ มา วาง แล้วกลับไป มาเลย วาง แล้วกลับไป บุญได้เต็มๆ สะอาดบริสุทธิ์ เขาก็สะอาด เราก็สะอาด ปฏิคาหก

เขาไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ทำบุญที่ไหนได้บุญมากที่สุด” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า การทำบุญควรทำที่เธอพอใจ เพราะท่านรู้ว่ากิเลสมันร้ายนัก ถ้ามันศรัทธาใคร มันอยากทำที่ใคร ต้องรีบทำเดี๋ยวนั้นเลย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวกิเลสจะบอกว่า ของนี่เก็บไว้ก่อน ของนี้เอาไว้วันหลัง

ถ้าจะทำบุญที่ไหนได้บุญมากที่สุดนะ คือทำบุญที่เธอพอใจ เธอพอใจที่ไหนควรรีบๆ ทำเลย เดี๋ยวกิเลสมันจะดึงกลับ มันไม่ให้ทำ

แล้วถ้าเอาผลล่ะ ถ้าจะเอาผลต้องวัดกัน การทำบุญแม้แต่ล้างถ้วยล้างจาน สาดไปในน้ำครำ ตัวหนอน พวกสัตว์ พวกจุลินทรีย์มันได้กินนั้นก็เป็นบุญแล้วนะ แต่เป็นบุญของโลกๆ แต่ถ้าเธออยากได้บุญมากล่ะ เปรียบเหมือนเนื้อนาบุญ เปรียบเหมือนนา ถ้าที่ดินดีน้ำดี ข้าวจะงอกงามมาก ถ้านานี้มีส่วนผสมของหิน นานี้ไม่สมบูรณ์ ท่านก็เปรียบเลย ตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาบัน สกิทาคา อนาคา ได้บุญมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะมันสะอาดขึ้นไปเรื่อยๆ

เนื้อนาคือตัวผู้รับ ปฏิคาหกคือผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ตรงไหน บริสุทธิ์ด้วยเป็นสัมมาอาชีวะ เราประกอบสัมมาอาชีพมา เราได้เงินมา สิ่งที่เราจะถวายเป็นบุญกุศล ได้มาโดยความบริสุทธิ์ เวลาถวายทาน โอ้โฮ.. มีศรัทธามาก อยากถวายมาก ขณะที่ได้มานั้นได้มาโดยบริสุทธิ์ ขณะที่ให้ ให้แล้ว แหม..ชื่นใจ๊ ชื่นใจ นี่ปฏิคาหก

ผู้รับ ถ้าผู้รับเป็นเปรต ไปให้กับเปรต ไอ้คนให้ก็บริสุทธิ์ ไอ้คนรับเป็นเปรต ไม่บริสุทธิ์หรอก เพราะปฏิคาหก ผู้ให้คือผู้สะอาด ผู้รับเป็นผู้สะอาด รับของเขามาแล้วใช้ประโยชน์ของเขา นี่ปฏิคาหก บุญมหาศาลเลย บุญเกิดตรงนี้ แล้วเรื่องอย่างอื่นเป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่ต้องไปคิดเลย

แต่ถ้าใครไปคิดอย่างนั้น ใครว่าอย่างนั้น เราถึงอยากจะหาคนเขียนว่ามันมาจากไหน เพราะในใบนี้บอกว่ากรรมฐานไง ถ้ากรรมฐานนี่มันต้องเป็นกรรมฐานแท้ๆ อย่าเป็นกรรมฐานแบบผูกกระพรวน ไปไหนมันจะดังก๊องแก๊งๆ นั่นกรรมฐาน แต่ถ้ากรรมฐานแท้มันเงียบนะ ไม่มีกระพรวนผูกคอไป กระพรวนผูกคอกรรมฐานไปเลย ไปไหนก็กูนี่นะเว่ย กรรมฐานนะมึง

 

ถาม : เวลาจิตมันมีเวทนาเกิด บางทีก็รู้ทัน บางทีก็ไม่รู้ทัน

หลวงพ่อ : รู้ทันนี่นะ จิตเวลารู้ทันหรือไม่ทัน มันอยู่ที่การฝึกฝน ทุกคนอย่าเสียใจ ถามว่า “ผู้ฟังยังโง่อยู่ เวลาเวทนาเกิด บางทีก็รู้ทัน บางทีก็รู้ไม่ทัน”

โยมรู้ไม่ทันมาตลอดนะ เพราะอารมณ์ถ้าเราเก็บความรู้สึกทั้งหมด มันเหมือนเครื่องบันทึก โยมบันทึกไม่ทันเลย ทีนี้คำว่าเวทนา บางทีมันเกิดขึ้นมา การจะรู้ว่าเหตุนี้เป็นอะไร บางทีเราไม่เข้าใจหรอก มันผ่านไปเฉยๆ เห็นไหม แค่นี้ก็บันทึกไม่ทันอยู่แล้ว

ฉะนั้น เวลามันเกิดขึ้นมา ถ้ารู้ทันจิตเราก็ดี ถ้ารู้ไม่ทันก็ธรรมชาติ เราพูดบ่อย มีลูกศิษย์มาหา เขาบอกว่าเขาฟังเทศน์มาเยอะ เขาบอกว่า “เขาไม่มีตัวกูของกู” เขาปล่อยวางได้หมด ด้วยความเข้าใจของเขา

เราบอกว่า คนที่ไม่มีตัวกูของกูนี่อยู่ในโรงพยาบาลศรีธัญญาทั้งหมดเลย เพราะมันไม่มีตัวกูของกู อยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมด เขาก็โกรธใหญ่เลย “อ้าว แล้วจะทำยังไงถึงจะไม่มีตัวกูของกู !”

การจะไม่มีตัวกูของกู มันต้องรู้จักกูก่อน ถ้าไม่รู้จักกูแล้วมันจะไม่มีกูได้อย่างไร ก็กูนี่ยังไม่รู้จักเลย แล้วบอกว่าไม่มีตัวกูของกู ไอ้คนพูดก็กูทั้งนั้นน่ะ ไอ้ไม่มีนี่หมามันพูดหรือ ก็ไอ้คนพูดนั่นล่ะบอกว่ามันไม่มี คือมันขาดสติเห็นไหม ไม่มีตัวของกูแล้วกูอยู่ไหน มันต้องเข้ามารู้จักกูก่อน แล้วจะลบกูอย่างไร

ทีนี้การจะลบกู ตัวตนเห็นไหม ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันไม่มีกู ถึงเป็นสัมมาสมาธิได้ แล้วถ้ามันมีกูอยู่ ให้ทำอีกร้อยชาติก็เป็นสมาธิไม่ได้ เพราะไอ้กูนี่มันขวาง มันกลัวผิดกลัวพลาด กลัวเขารู้ทัน กลัวจะเสียเปรียบ กิเลสมันเป็นอย่างนั้น กลัวจะไม่รู้ทัน เวทนามาจะไม่รู้ อยากจะรู้ไปหมด แล้วที่ไม่รู้ทำไมไม่รู้ล่ะ ไอ้ที่ไม่รู้เพราะเราไม่ทันมันไง เราไม่รู้เยอะแยะเลย

สิ่งนี้ไม่เป็นไร ให้ฝึกไป ให้ทำไป แล้วจะไม่มีใครหลอกพวกโยมได้ สิ่งที่เราฟังอยู่ ถ้าเราไม่รู้ทัน เราจะโดนหลอก เราจะเป็นเหยื่อตลอดไป แล้วพอพูดมันก็เป็นปรัชญา ธรรมะสมมุติกับความคิดสมมุติของเรามันเข้ากันได้ แล้วเวลาเขาเทศน์มาเป็นธรรมะสมมุตินี่นะ จุ๊ๆ แหม.. มันซึ้งใจ มันซึ้งมาก.. เพราะมันรู้ เพราะเรารู้ทันได้ ปรัชญา ตรรกะ เราสามารถตีความได้ แล้วธรรมะตรรกะ ธรรมะปรัชญาที่เขาเทศนาว่าการกัน แล้วโยมก็จินตนาการได้ใช่ไหม โอ้โฮ สุดยอดเลย ไร้สาระ

แต่ถ้าเป็นกรรมฐาน เป็นครูบาอาจารย์ ออกมาจากใจ มันเป็นธรรมะนะ “ธรรมเหนือโลก” แล้วจิตเรานี่เป็นสมมุติ รับประกันได้เลยว่าฟังขนาดไหนก็ปวดหัว ฟังขนาดไหนก็ไม่รู้ จนกว่าเมื่อใดที่เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา แล้วเราจะรู้ตามเป็นขั้นตอนๆ ขึ้นไป จิตที่สูงกว่าจะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้นตลอด จิตที่ต่ำกว่าไม่สามารถดึงจิตที่สูงกว่าได้ แล้วเราฟังไป การดึง ดึงด้วยใจ จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง

จากใจของผู้รู้จริงเทศนาว่าการ เหมือนพาดบันไดให้เราเดินเลย เวลาเทศน์นี่นะ พาดบันไดเลย แล้วให้จิตมันก้าวขึ้นมา ให้มันตามขึ้นมา แล้วพอรู้ทันนะ อ๋อ! ไม่ต้องสอนๆ รู้ๆ แต่ถ้าไม่รู้ ถึงไม่สอน วิ่งหนี มันก็ตามถาม แต่ถ้ามันรู้แล้วนะ ไม่เข้าใกล้เลย แต่เคารพนะ เพราะใจได้นี้มาจากใคร ได้มาจากครูบาอาจารย์

ฉะนั้น สิ่งที่รู้ทันหรือไม่รู้ทัน เป็นเรื่องเวทนา มันอยู่ที่การฝึกฝน อยู่ที่วุฒิภาวะ อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราทำจนชำนาญแล้วเราจะรู้ไปหมด ถ้าไม่รู้หมด ไม่เข้าใจหมด จะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคา พระอนาคาไม่ได้ ถ้ามีสิ่งใดเป็นเหลือบแล้วให้กิเลสมันซ่อนอยู่นะ มันสะอาดไม่ได้

ขณะที่เป็นนะ เป็นสมุจเฉทปหานนะ มรรคมันจะรวมตัว ธรรมจักรที่มันรวมตัว มรรคสามัคคีมันทำอย่างไร ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันชอบอย่างไร แล้วมันรวมตัวอย่างไร แล้วมันทำลายกิเลสอย่างไร แล้วมันทำความสะอาดของใจอย่างไร ชัดเจนนะ

แต่ถ้าไม่ชัดเจนนะ ถ้าตัวผู้ปฏิบัติยังสงสัยอยู่ ไม่ต้องไปถามใคร ผิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เอ๊.. ไอ้นี่เป็นอย่างไร โอ้ย ว่างหมดเลย ถ้ายังมาถามอยู่นี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันจริงนะ ไม่ถาม เพียงแต่เวลาเจอครูบาอาจารย์ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง

อย่างหลวงตาท่านพูดบ่อยเห็นไหม ในเทศน์ของท่านว่า ท่านสอนมามาก แต่ไม่มีใครเอามรรคเอาผลมาฝากเลย สอนมาก็มันก็เสีย ทุ่มพลังงานไป แต่ไม่มีผลตอบสนองเลย เหมือนกับทำแล้วไม่ได้ผลตอบแทน แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นไปแล้ว เราไปรู้ไปเห็นเข้า เราไปสนทนาธรรมกับท่าน ท่านจะดีใจ โอ้โฮ ท่านจะครึกครื้นมาก รื่นเริงในธรรม

นี่ไง แล้วไหนว่าพระอรหันต์ไม่มีจิต

รื่นเริงเป็นวิหารธรรม ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติจนวันตาย ดูพระจักขุบาลสิ พระจักขุบาลเป็นพระอรหันต์เห็นไหม ท่านเดินจงกรม ก่อนเป็นพระอรหันต์นี่ตาบอดแล้วสุขวิปัสสโก ให้หลานจูงกลับมา แล้วทำทางจงกรมไว้ให้เป็นราวจูงเดิน คืนนั้นฝนตก พวกแมลงออกมาหากินมาก พระจักขุบาลก็เหยียบสัตว์ตาย คนไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เวลาตาดีก็ขี้เกียจ เวลาตาบอดก็ขยัน พระอรหันต์นะ ขยันเดินจงกรม นี่วิหารธรรมไง

เหมือนกับเครื่องยนต์ ถ้าเราซื้อรถแล้วมาจอดไว้ ไม่เคยติดเครื่องเลย เดี๋ยวก็พัง ต้องอุ่นเครื่อง ต้องติดเครื่อง วิหารธรรมนี่ ระหว่างกายกับจิต ระหว่างขันธ์ ๕ กับจิต เวลาเราทำความเพียร มันจะแยกตัวออกจากกัน มันเป็นวิหารธรรม มันเป็นความอยู่ มันเป็นความสุขของจิต ถ้าไม่มีการเดินจงกรม ไม่นั่งสมาธิภาวนา พระอรหันต์ จิตไม่มีเวลาแล้ว พระอรหันต์จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ จะอยู่อีกกี่ร้อยปีก็อยู่ได้ ถ้าร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าร่างกายชำรุดจะอยู่ไปทำไม

นี่ไง มันถึงต้องอยู่วิหารธรรม พอเดินจงกรมนั่งสมาธิมันจะปล่อยวางหมด มันจะว่างหมด เหมือนเราติดเครื่องอุ่นเครื่องยนต์แล้วก็ดับ อุ่นเครื่องยนต์แล้วก็ดับ จะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ รถจะแข็งแรง รถจะใช้ได้นาน นี่คือวิหารธรรม ขนาดเสร็จแล้วยังวิหารธรรม

พอพระจักขุบาลเดินจงกรมเหยียบสัตว์ตาย แล้วไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่เป็นอาบัติ

เพราะนี่ไง กฎหมายสมมุติ อาบัตินี่บังคับคนที่ตั้งใจทำผิด พระอรหันต์ไม่มีการตั้งใจ อยู่โดยวิหารธรรม ถึงบอกว่า “ปาปมุต” เขาถึงตีความกันผิดว่าพระอรหันต์ต้องเป็นพระพุทธรูป ไม่ทำความผิดเลย ถ้าทำใครยังทำความผิดอยู่ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้

ก็มีแต่พระพุทธรูปเท่านั้นล่ะ เพราะพระพุทธรูปไม่ขยับ ถ้าขยับปั๊บก็เหยียบสัตว์ตาย

เราเดินไปบนถนน เวลาคนไปหาที่วัด “หลวงพ่อๆ ทำบุญหน่อยสิ เมื่อกี้ขับรถเหยียบหมาตาย เศร้าใจมาก” บางคนเศร้าเสียใจมาก เราบอกเลยว่า “ไม่ใช่ หมามันวิ่งมาชนรถมึงตาย ไม่ใช่มึงชนหมาตาย”

เราไม่ได้ตั้งใจนะ จิตใจเราสะอาดบริสุทธิ์ เราอยากทำคุณงามความดี แต่วาระของกรรมมันมาถึง มันเป็นวาระของเขา ของหมาตัวนั้น มันก็วิ่งเล่นของมัน เราก็ขับรถมา แล้วทำไมมันวิ่งมาตัดหน้าเราล่ะ แล้วเราจะไปควบคุมรถเราได้อย่างไร ในเมื่อเราขับมาโดยปกติ แล้วอยู่ดีๆ มันก็วิ่งพรวดออกมาพอดี อย่าคิดนะว่าจะมีกรรมเฉพาะเรา สัตว์โลกนี้มีกรรมกันไปหมดเลย แล้วแต่วาระของใคร

เขามาถามเหมือนกัน “หลวงพ่อ มันเป็นอุบัติเหตุหรือเป็นกรรม? ” เราบอกว่าไอ้อุบัติเหตุนั่นล่ะคือกรรม! ทำไมมันต้องเจาะจงมาเกิดกับเรา แล้วทำไมกับคนอื่นมันไม่เกิด แต่ทางโลกก็บอกว่าเป็นอุบัติเหตุ ไม่ใช่กรรม ไม่ใช่กรรม...

ทุกคนพยายามปฏิเสธความเป็นจริงแล้วก็พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ พูดบ่อยว่าไร้สาระ... เราจะว่าไร้สาระทุกทีเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะชีวิตพวกเรานี้ชั่วคราวทั้งนั้น แล้วเราจะเอาสิ่งนี้เป็นความจริง แล้วเวลาความจริงมันเกิดขึ้นมาเราก็ไม่เชื่อมัน ไม่เชื่อสิ่งใดใดเลย

เราจะบอกว่าให้พยายามปฏิบัติ ไอ้ที่ว่าบางทีก็รู้ทัน บางทีก็ไม่ทันนี่ มันเหมือนนักกีฬาที่เขาจะฝึกซ้อม นักกีฬาเข้ามาใหม่ รุ่นพี่จะพยายามดูแลรุ่นน้อง แต่พอรุ่นน้องมันชำนาญขึ้นมา รุ่นน้องก็จะดูแลรุ่นน้องต่อไป นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา พอเราชำนาญขึ้นมา จิตมันจะชำนาญ มันจะควบคุม มันจะรู้ทัน แต่ตอนนี้เรายังเป็นรุ่นน้อง เราเพิ่งขึ้นมาหัดใหม่ แล้วจะให้ทันทั้งหมดเลย มันต้องให้นักกีฬารุ่นพี่เขาสอน ค่อยๆ ทำไปอย่าเสียใจนะ

 

ถาม : ถ้าใช้การคิดพิจารณาข้อธรรม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิดเราถูก เป็นสัมมา

ตอบ : ถ้าเราใช้พิจารณา เริ่มต้นขึ้นมาเราพิจารณาโดยกิเลสทั้งหมด แต่กิเลสมันเป็นกิเลสที่ดี คือเป็นมรรค คือเป็นการใฝ่ดี ถ้าเราฝึกบ่อยครั้งเข้ามันจะชำนาญขึ้นมา มันจะปล่อยวางขึ้นมาเรื่อยๆ ปล่อยวางหมายถึงว่ามันทันตัวเรา การคิดพิจารณาข้อธรรมนี่แหละ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

“ถ้าเราใช้ความคิดพิจารณาข้อธรรม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราคิดถูก เป็นสัมมา” เห็นไหม มันเป็นสัมมาเพราะมันหยุดได้ ใหม่ๆ เราตามความคิดเราหยุดไม่ทันหรอก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรียบหัวใจของคนเหมือนกับช้างสารที่ตกมัน ช้างตกมันใครจะบังคับมันได้ โดยธรรมชาติของจิตมันเป็นเหมือนช้างสารที่ตกมัน แล้วไม่มีใครเคยบังคับมันได้เลย มารมันเป็นเจ้าความคิดเรา แล้วมันเอาความคิดเราน่ะตีใส่เรา ดีดดิ้นใส่เรา จนเราทุกข์ยากมาตลอด

จนเรามาเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะแก้ไขมัน เราจะเริ่มต้นบังคับช้างสารที่ตกมัน เอาไม่อยู่หรอก แต่จะเอาไว้ไม่อยู่ขนาดไหน เราก็ต้องมีความมุมานะ เริ่มต้นมาจากศูนย์หมดนะ การประพฤติปฏิบัติทุกคนมาจากปุถุชน ทุกคนมาจากพ่อจากแม่ ทุกคนเกิดมาจากการปฏิบัติหมด ทุกคนเป็นอย่างนี้หมด เวลาปฏิบัติเราก็ว่าเราทุกข์ยาก แต่เราว่าไม่ยาก เพราะมีครูบาอาจารย์ที่คอยแนะนำ

เหมือนหมอ โรงพยาบาลที่มีหมอกับโรงพยาบาลที่ไม่มีหมอ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเกิดมาพบโรงพยาบาล คือ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่มีหมอ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเจ็บไข้ได้ป่วยเอง รักษาเอง พิสูจน์เอง ตรวจสอบเอง จนท่านหลุดพ้นมาได้

แต่ในปัจจุบันเราเกิดมามีโรงพยาบาล แล้วก็มีหมอ แล้วจะมาบอกว่าเราเกิดมาเราจะไม่มีวาสนาได้อย่างไร ฉะนั้นถ้ามีหมอ เราก็ใคร่ครวญของเราขึ้นมา ถ้าจิตมันพิจารณาเข้ามาอย่างนี้ ถ้ามันทันเข้ามา มันจะปล่อยวาง ความถูกต้องหมายถึงว่า เราควบคุมจิตเราได้ เรายับยั้งจิตเราได้ นี่คือเป็นสัมมา

แต่ถ้ายิ่งคิดนะ มันยิ่งไปไกลนะ

มีคนปฏิบัติมาก ไปปรึกษาว่ายิ่งปฏิบัติแล้วยิ่งเครียด ยิ่งไปปฏิบัติแล้วยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งไปปฏิบัติแล้วยิ่ง... อันนั้นน่ะผิด การปฏิบัตินี้เครียด แต่ควบคุมได้จนกว่าจะมารู้ทัน พอเริ่มรู้ทันมันจะหาย เพราะอะไร เพราะเป็นสัมมาไง

การปฏิบัติธรรมนั้น ธรรมะไม่เคยทำลายใคร แต่กิเลสมันทำลายเรา แต่ขณะที่เราปฏิบัติเราก็ไปอ้างว่า ปฏิบัติธรรมนี่แสนยาก อะไรก็แสนยาก เราไปผลักไสความไม่ดีให้ธรรมะหมดเลย แล้วก็เอาความดีมาใส่กิเลสหมดเลย เราดีอย่างนั้น เรานั่งมา ๕ ชั่วโมง ๑๐๐ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง ไม่เห็นได้อะไรเลย เอาความดีทั้งหมดมาใส่กิเลส แล้วเอาสิ่งที่ไม่ดีไปใส่ธรรมะหมดเลย

แต่ถ้าเราปฏิบัติไปนะ มันจะเริ่มทันมาเรื่อยๆ ก็บอกแล้วว่าทุกคนมันต้องทำมา เวลาปฏิบัติ มันจะย้อนกลับ ที่เราเกิดเราตาย เราสร้างบุญกุศลมา “ขิปปาภิญญา” มีนะ ตาปะขาวขณะที่โกนผม พอผมตกก็พิจารณาผม เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์นี้มี เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสร้างบุญไว้มาก แต่ถ้าของเรา เราตั้งใจขนาดนี้แล้วมันยังไม่เป็นไป ก็เพราะเราสร้างมาแค่นี้ไง เขาบอกเลยว่า กรรมนี่เหนือโลก

กรรมอยู่ในมือกูนะ กูกำเอง เพราะเราเป็นคนทำของเราเองทุกคน เราสร้างมาเองทุกคน ที่เราเกิดมานั่งกันอยู่ตรงนี้เราทำกันมาทั้งนั้น แล้วเราทำมาได้เท่านี้ไง

ทุกคนมีบัญชีมาคนละเล่ม แต่บัญชีเบิกได้แค่นี้ แล้วเราจะไปเบิกมากกว่านี้ได้ยังไง ถ้าบัญชีเบิกได้แค่นี้ ก็ต้องต่อสู้อย่างนี้ไป ทำไป พอมันตามไป ถ้ามันปล่อยวาง นั่นคือสัมมา ถ้ามันเป็นสัมมาแล้วพอวิปัสสนาไป พอเราไล่ความคิดไป ถ้ามันหยุดมันจะปล่อยวาง ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันไม่หยุด มันจะไปเรื่อย ไปเรื่อย.. นั่นยังไม่ใช่ นั่นกำลังไม่พอ

ถ้ากำลังสมาธิพอ อย่างนักกีฬาที่มีกำลังจะแข่งอีกกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่ถ้านักกีฬากำลังไม่ดี แค่ในเวลาแข่งขันมันก็เดินป้อแป้แล้ว มันไปไม่ไหวแล้ว ถ้าจิตของเราสมาธิมันไม่มั่นคง เวลาวิปัสสนาแล้วมันก็จะป้อแป้อยู่อย่างนั้น นั้นล่ะคือมิจฉา กิเลสมันเข้าครอบงำแล้ว

“อย่างไรถือว่าเป็นสัมมาถูก”

สัมมาถูกหมายถึงว่า พิจารณาไปแล้วมันหยุด มันปล่อยวาง แต่ถ้าไม่หยุด ไม่ปล่อยวาง ไม่เป็นไร กลับไปตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิก่อน เพราะกำลังไม่พอ

เหมือนกับเขาเลี้ยงวัว เขาอุ้มลูกวัวทุกวัน ก็อุ้มได้หมดเลย จนวัวนี่เป็นวัวหนุ่ม จนเป็นพ่อวัวเขาก็อุ้มได้ เพราะเขาอุ้มทุกวัน เขาจะอุ้มวัวก่อน วัวจะโตขนาดไหนก็อุ้มได้เพราะอะไร เพราะเขาอุ้มลูกวัวทุกวันใช่ไหม เท่ากับออกกำลังกายทุกวัน นี่ไง ทำไมเขาทำได้ล่ะ

อันนี้ก็เหมือนกัน กลับมาที่จิต ถ้าจิตเราอ่อนแอ วัวเล็กๆ ก็ไม่กล้าเข้าไปใกล้ ไม่กล้าจับ ไม่กล้าอุ้ม นี่ไง มันอยู่ที่การฝึก

 

ถาม : “ถ้าเป็นสัมมา เราปฏิบัติไปเรื่อย เมื่อตากระทบรูป เกิดจักขุวิญญาณ ถ้าเราใช้ความคิดมาคั่น ไม่ปรุงแต่งความคิดจะได้ไหม? ”

หลวงพ่อ : ได้ เพราะความคิด สติมันยับยั้งได้หมด หลวงตาบอกว่า กิเลสจะเหนือขนาดไหนก็แล้วแต่ สติจะกั้นได้หมด ความคิดเราจะคิดได้ตลอด ถ้ามีสติปั๊บหยุดได้หมด ที่เราคิดว่าขาดสติ เวลามีความคิดปั๊บมันจะฟุ้งซ่านไปก่อน แล้วมันจะตามไปหมดเลย เพราะเราขาดสตินะ มันจะหมุนไปเลย แต่ถ้ามีสติมานะ “เอ็งบ้าหรือเปล่า ?” ถามตัวเองแค่นี้ มึงบ้า มึงบ้า อย่าไปด่าใครนะ ตัวเองเนี่ย มึงบ้า หยุดหมดนะ มึงบ้าอีกแล้ว.. มึงบ้า มึงบ้า

เพราะการจับผิดตัวเองนี่เป็นคุณสมบัติของสุภาพบุรุษ หลวงตาสอนว่าให้จับผิดตัวเอง ให้รู้ถึงการเคลื่อนไหวของตัวเอง ถ้าจิตใจเราคิดสกปรก คนอื่นเขาดูกิริยาเราออก ความสกปรกภายในของใจเรา เขาก็ดูทัน เราจะปิดขนาดไหน มันเห็นได้

ฉะนั้นถ้าเราพยายามค้นคว้าเราขึ้นมา สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา การเอามาคั่นนั้นคือสติ แต่เอามาคั่นนี่มันไม่ใช่วิปัสสนา เพราะขณะกระทบรูป เราหยุดมันเฉยๆ แต่การหยุดนี้หยุดเพื่อจะพัฒนา จิตจะต้องพัฒนาไป การก้าวเดินของเรา เริ่มต้นจากที่เราจะต้องหยุดก่อน ถ้าเราวิ่งอยู่เราจะมองเห็นภาพอะไรไม่ชัดเลย ถ้าเราเดินเราจะเห็นภาพนั้นเคลื่อนไหว ถ้าเรายืนนิ่งแล้วมองภาพนั้นมันจะชัดเจน

จิตมันยังไหลของมันอยู่ มันยังไม่เป็นสมาธิ เราจะไม่เห็นภาพนั้น ถ้าจิตมันเริ่มนิ่ง เริ่มหยุดของมัน นี่เราถึงต้องทำตรงนี้ แต่ขณะที่มาคั่น มันยังไม่หยุด แต่เราคั่นก่อน เพราะเรากำลังไม่พอ ถ้าไม่คั่นมันจะคิดฟุ้งซ่านไปใหญ่ มันเป็นอุบายวิธีการที่เราจะพลิกแพลงใช้

การประพฤติปฏิบัตินี่เหมือนอาหาร ทุกคนชอบอาหารต่างๆ กัน แม้แต่อาหารที่ชอบเหมือนกันก็รสชาติเข้มอ่อนต่างๆ กัน การปฏิบัตินี่ สติไม่ต้องไปเถียงว่าของเอ็งถูกของข้าผิด ไม่ต้องเถียง เพราะว่ามันเป็นของเขา เขาทำแค่นี้แล้วพอดีของเขา เขาลงของเขา เราก็สาธุ เราทำมากกว่าเขาแล้วไม่ลง อย่างนี้มันเป็นเพราะความกระด้าง ความแข็งของจิตมันไม่เหมือนกัน

อินทรีย์ ๕ เราฝึกพระมาเยอะ พระนี่มาฝึกด้วยมาก แล้วทำมากกว่าเราด้วย เราเดินจงกรมนี่เดินทั้งวันทั้งคืน เขาก็เดินทั้งวันทั้งคืน แต่เขาทำไม่ได้ เขาลงไม่ได้เห็นไหม แต่ถ้ามันลงได้ เขาทำได้ มันอยู่ภายใน กิริยาภายนอกเห็นไหม การเคลื่อนไหวการนั่งนี้คือกิริยาภายนอกนะ เขาถามว่าต้องนั่งอย่างไร ต้องเดินจงกรมอย่างไร ไอ้ที่เรานั่งที่เราเดินกันนี่ เราต้องการเอาจิต

ที่เรานั่งเราเดินกันนี่เราต้องการพลังของใจ แต่ใจถ้าเราไม่นั่งไม่เดินมันอยู่ของมัน มันนอนจมอย่างนั้น ก็เอามันไม่ได้ มันเป็นวิธีการที่เราจะเอาใจ ฉะนั้นการที่นั่งเดิน เพียงแต่ว่าการพูดนี้พูดเพื่อจะไม่ให้ติดนะ แต่เวลาทำต้องมุมานะ “ความเพียรชอบ”

ชาวพุทธเราคิดผิด บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง พอคนจะเร่งความเพียร “ไม่ได้ ไม่ได้ เป็นอัตตกิลมถานุโยค” แล้วเวลากิเลสมันขี่หัวมึงไม่อัตตกิลมถานุโยคหรอ จะทำอะไรก็ว่าอัตตะฯไปหมดเลย

ต้องเข้มแข็ง ความเพียรชอบ ความเพียรที่ถูกต้อง ความเพียรน่ะ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้ปล่อยวาง การปล่อยวางนะ เราจะช็อตตลอด เวลาใครปล่อยวาง เราบอกว่า “ขี้ลอยน้ำ” ถ้าปล่อยวางนะ มันจะปล่อยวางในตัวมันเอง

ไอ้นี่เราไปปล่อยวาง คือเราไปสร้างภาพว่าปล่อยวาง ถ้ามันจะปล่อยวางนะ เราทำขนาดไหน มันปล่อยวาง เหมือนเรามีเงินขนาดนี้ ยิ่งเราจะมีเงินเยอะขนาดไหน เงินนั้นมันจะสุดยอดเลย มันต้องปล่อยวางในตัวมันเอง เหมือนไก่ตาแตก อึ๊ก! โอ้โฮ เป็นสมาธิเขาเป็นอย่างนี้ เอ๊อะ! มันพูดไม่ออก! มันเต็มหัวอก! มันเต็มหัวใจ! มันพูดไม่ได้!!

ว่างๆ ว่างๆ มันจะบ้า!!

มันเต็มหัวอกนะเวลามันเป็น มันแก้กิเลสกันที่นั่น อึ๊ก! อึ๊ก! เลย

มันเป็นอย่างนั้น แต่ถามมาเวลาตอบ เราอยากจะบอกว่าให้มีกำลังใจ ครูบาอาจารย์ท่านบอกอย่างนี้นะว่า การปฏิบัติที่จะรู้จริง ฟากตายทั้งนั้น นั่งกันตลอดรุ่ง ทั้งวันทั้งคืน แล้วทางปริยัติเขาบอกว่าโอ้โฮ อัตตกิลมถานุโยค

อัตตกิลมถานุโยคนี่นะ คือมันทำมาก อย่างเช่นอดอาหารเป็นปีๆ ยังไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยคเลย เพราะกิเลสมันแข็งกว่านั้น เราถึงต้องเอาสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าไปเหยียบย่ำกิเลสให้ได้ แต่ถ้าบอกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยคนะ มันตีความผิดกันไป ในสังฆาทิเสสเห็นไหม พระปฏิบัติไปแล้วเห็นอสุภะ แล้วสะอิดสะเอียนในร่างกายมาก เอาบริขารไปจ้างให้พวกกัลบกเชือดคอตาย

นั่นน่ะคืออัตตกิลมถานุโยค เพราะพระพุทธเจ้าให้เชือดกิเลส พระพุทธเจ้าให้ฆ่ากิเลส ไม่ใช่ให้ฆ่าตัวตาย “โลกนี้มีเพราะมีเรา” เพราะมีเราก็ฆ่าตัวตาย ถ้าฆ่าตัวตายกิเลสมันไม่ตายหรอก กิเลสไม่ตาย แล้วจิตก็ไม่เคยตาย เพราะการทำลาย อย่างเราไปฆ่าคนอื่นโทษอาญานี่แรง เพราะเราไปฆ่าคนตาย แต่เวลาเราฆ่าตัวเราเองตาย โทษอาญาไม่มี แต่ทางธรรมนี่ร้ายกาจมาก การฆ่าคนอื่นตาย เพราะเราไปฆ่าเขาตายด้วยโทสะ แต่ถ้าเราฆ่าตัวเราตายเห็นไหม ถึงมีกรรมมากกว่า เพราะอะไร

เพราะอันนี้เป็นสมบัติ ชีวิตเรามีคุณค่ามาก มีสมบัติมาก แล้วเราทำลายชีวิตเราเอง เราคิดว่าไม่มีกรรม มีกรรม! การฆ่าตัวตายมีกรรมมาก เพราะมันเป็นการทำลายทรัพย์ ทำลายอริยทรัพย์ ชีวิตนี่เป็นอริยทรัพย์นะ

ทรัพย์ในมนุษย์นี่นะ ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐที่สุด ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ เราจะไม่เชื่อในศาสนาเลย เพราะมีศรัทธาความเชื่อ เราถึงได้รื้อค้น เราถึงได้ไปหาครูบาอาจารย์ เราถึงได้มีความเพียรกันขึ้นมา แล้วความเชื่อนั้นมาจากไหน? มาจากชีวิต แล้วชีวิตนี้มาจากไหน? ชีวิตนี้มาจากการสร้างบุญกุศล แล้วเราไปทำลายมัน นี่ไง อัตตกิลมถานุโยค

แต่เวลาทำความเพียรนี้ไม่อัตตกิลมถานุโยคหรอก ดูสิ ในเศรษฐีที่เขาทำธุรกิจกัน เขาลงทุนลงแรงขนาดไหน เขาเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เขาเป็นอัตตกิลมถานุโยคไหม? เขาทำของเขามันเป็นประโยชน์ของเขาใช่ไหม ไอ้นี่ของเราก็เหมือนกัน เราจะเป็นเศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรมนี่เหยาะๆ แหยะๆ ขอทานยังเป็นไม่ได้เลย ขอทานมันนั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรนะ

แล้วอยากเป็นเศรษฐี จะเป็นเศรษฐีนี่มันต้องลงทุนลงแรง ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยคหรอก มันฟังคำนี้เราฟังไม่ได้ ฟังบ่อย เขาบอกว่าพระป่าพระปฏิบัติเนี่ยเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำเกินกว่าเหตุ แต่เวลากิเลสมันขี่หัวมันไม่เคยเห็น

“การจะชนะกิเลสมันต้องเข้มแข็งกว่ากิเลส” แล้วเวลาเราเข้มแข็งกิเลสมันก็เข้มแข็งขึ้นไปด้วย มันจะตามทำลายเราไปตลอด เพราะฉะนั้นเราจะต้องสู้มัน

อย่างสวะในน้ำ น้ำน้อยสวะมันก็อยู่ต่ำ น้ำปริมาณมากขึ้นสวะมันก็สูงขึ้น การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เริ่มต้นงอแงๆ ทำกันไม่ได้ๆ แต่พอเวลาไปปฏิบัติขึ้นมาจริงๆ หลวงตาท่านพูดบ่อย นึกว่าปฏิบัติไปแล้วพอสูงขึ้นไปจะสบาย กิเลสมันจะเริ่มอ่อนลง แต่ที่ไหนได้ โอ้โฮ.. มันยังพลิกแพลงเอาเป็นเอาตายเลย

ถ้ากิเลสมันไม่ต้องการให้เรารอดพ้นจากมันไป มันจะบอกว่า นู่นก็กินไม่ได้ นี่ก็กินไม่ได้ มันจะอดอาหารให้ตายไปเลย เพราะตายแล้วก็ยังอยู่ในอำนาจของมัน

เราจะต้องหาวิธีอย่างใดขึ้นมาเพื่อจะพลิกแพลง สู้กับมัน ใช้ปัญญาใคร่ครวญว่า กินเพื่อดำรงชีวิต เพื่อจะฆ่าไอ้กิเลสที่มันหลอกกูนี่ เวลากิเลสละเอียดๆ นะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดท่านจะเห็นว่า ถ้าพระปฏิบัติมาแง่นี้ มันควรจะพลิกอย่างนี้ แง่นี้ควรจะพลิกอย่างนี้ มันจะพลิกหลบกิเลสมาเป็นชั้นๆ เลย กิเลสมันจะขวาง แล้วมันจะสร้างภาพ

แต่ในปัจจุบันนี้กิเลสมันเคลม มันสมยอม เห็นครูบาอาจารย์ทำอย่างไร มันก็จะไปทำเลียนแบบ ไปก๊อปปี้ไง วิทยานิพนธ์มันไปลอกมา แล้วมันบอกว่ามันได้มรรคผล ไร้สาระ... ถ้ามันไปลอกมาอย่างนี้ ถามธรรมะนี่ตอบไม่ได้ ไม่ใช่เจ้าของวิทยานิพนธ์ ไม่มีการทดสอบ ไม่มีการเก็บข้อมูล มันไม่รู้ว่าเก็บที่ไหน มันไปเห็นแต่วิทยานิพนธ์ที่สำเร็จแล้วไง นี่เวลากิเลสมันหลอกมันหลอกได้ขนาดนั้น ยังไม่ปฏิบัติยังไม่รู้กึ๋นของกิเลสหรอกน่า...

 

ถาม : จะทำอย่างไรให้มีสติรู้ชั่วรู้ดีไปทุกภพทุกชาติ หากว่าชาติหน้ายังปฏิบัติไม่ถึงที่สุด

ตอบ : อันนี้มันอยู่ที่การฝึก ในสมัยพุทธกาล มีพระองค์หนึ่งมีสติดีมาก จนพระด้วยกันทั้งหมดบอกว่า องค์นี้เป็นพระอรหันต์ พอไปบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า สันตะกายเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ แต่เขาสงบเสงี่ยมมาก เวลาเขาเคลื่อนไหว ไม่มีใครจะรู้ได้เลยว่าเขาเป็นอะไร เพราะเขามีสติตลอดไป

การฝึกสติไง สตินี่อยู่ที่ภพชาติ พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ เพราะพระสันตะกายเมื่ออดีตชาติเขาเคยเป็นราชสีห์มา ๕๐๐ ชาติ เป็นเสือ เป็นราชสีห์ เวลาการเคลื่อนไหวของมันจะมีสติมาก พอมาเกิดเป็นพระสันตะกายจะมีสติ นอนสงบเสงี่ยมมาก จนเขาไปบอกพระพุทธเจ้าว่า พระองค์นี้เป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ พอนิมนต์มาปั๊บ ท่านก็เทศน์เลย เรื่องกาย เรื่องการขยับ เรื่องการเคลื่อนไหว เพราะสติเขาดีอยู่แล้ว สำเร็จเป็นพระอรหันต์ตอนนั้นเลย นี่ไงที่บอกว่า “ทำอย่างไรถึงจะมีสติ รู้ไปทุกภพทุกชาติ” เพราะอะไรรู้ไหม เพราะขณะที่เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ เราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร ไม่ได้ว่านะ ถ้าไปเกิดเป็นตัวหนอนล่ะ... อย่าคิดว่าไม่เป็นนะ

พระโพธิสัตว์ เวียนตายเวียนเกิดมาตลอด ดูสิ พระที่ไปเกิดเป็นเล็น ได้จีวรใหม่มา แล้วจะตัดย้อมจีวรให้เสร็จพรุ่งนี้ จะได้เปลี่ยนจีวรใหม่ คืนนั้นเกิดท้องร่วงตาย เพราะใจผูกพันกับจีวรนั้น จึงไปเกิดเป็นเล็นอยู่ในจีวรนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับพระ เพราะโดยวินัยของสงฆ์ ถ้าเป็นของของสงฆ์ พอพระองค์นั้นตาย บริขารสมัยก่อนมันหายาก สมมุติว่าเราตาย เขาจะไม่เผาเราไปทั้งผ้านี้หรอก เขาจะชักผ้านี้ออกหมดเลย เผาแต่ร่างเราไปเฉยๆ แล้วผ้านี้เขาจะแจกกัน

ฉะนั้นเวลาพระติสสะตาย จีวรผืนนั้นก็เป็นสิทธิของสงฆ์ สงฆ์จะแจกกันโดยธรรมวินัย พระพุทธเจ้ามาเบรกไว้ก่อน อย่าเพิ่งแจก แจกไม่ได้ เพราะเดี๋ยวพระติสสะจะโกรธ เล็นนี้จะโกรธไง ให้เก็บไว้ก่อน

ถ้าโกรธ มันต้องคิดถึงเมตตา อันนี้ซึ้งมาก เพราะถ้าพระพุทธเจ้าไม่มาบอกตอนนี้ เล็นจะโกรธ พอเล็น ๗ วันมันตายมันหมดอายุ มันไปเกิดมิติใหม่ด้วยความโกรธ จะลงนรกไปเลย แต่พอพระพุทธเจ้าบอกไม่ให้แจก เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น อยู่จนครบ พอเขาตายแล้วพระพุทธเจ้าบอกว่า ไปสวรรค์แล้ว เพราะอะไร เพราะเขาอยู่กับผ้า เขาอยู่กับความสุขแล้วเขาตายไป เพราะเขาเป็นพระเขาปฏิบัติมา

แต่อารมณ์เห็นไหม ที่บอกว่า เวลาคนจะตายต้องระวังตรงนี้ พอเขาเป็นเล็น เขามีความสุขแล้วไปเกิด พระพุทธเจ้าถึงให้แจกต่อไป นี่เกิดตาย เกิดตาย

ผู้ถามถามว่า “จะทำอย่างไรให้มีสติไปทุกภพทุกชาติ? ” เพราะเรารู้ว่าสติมีคุณค่า เรารู้ว่าสิ่งนี้ดี เราก็อยากจะมีตลอดไป ถ้าเป็นเพชรเป็นแก้วแหวนเงินทอง มันเป็นวัตถุที่เราจะเป็นเจ้าของมัน เราจะหยิบมันไปได้ แต่สตินี่มันเป็นนามธรรม สติเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต

ถ้าเรามีจิตอยู่ เรามีความรู้สึกอยู่ ทำไมเราไม่ฝึกล่ะ เพราอะไร เพราะสติมันเกิดจากจิตใช่ไหม แล้วจิตเรามี เราอยากมีสติตลอดไป เราก็ฝึกตลอดไปสิ เราก็ตั้งสติตลอดไปสิ

สติ คือ ความระลึก เราระลึกนี่ สมมุติว่าเรากำหนดพุทโธ โอ๋.. คำแรกนี่ชัดเจนมากเลย ไปสักพักพุทโธมันจะจางไป นี่สติอ่อนแล้ว เราก็ระลึกขึ้นมาอีก ขึ้นมาอีก มันก็ชัดเจนอีก ขณะที่ชัดเจนนี่คือสติสมบูรณ์ “สติเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต” ถ้าสติเป็นจิต เวลาคนมีชีวิตอยู่ จิตมันไม่เคยออกจากร่าง มันมีจิตตลอดไป สติต้องมีตลอดไปสิ แต่สตินี้มันมีเกิดดับๆ ใช่ไหม เดี๋ยวก็ระลึกดี เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็เผลอ

สติไม่ใช่จิต เกิดจากจิต ไม่ใช่จิต แต่! แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วนะ อัตโนมัติหมด สติกับจิตทุกอย่างเป็นอันเดียวกัน ถึงตอนนั้นแล้วเป็นอัตโนมัติหมดเลย ถ้าไม่อัตโนมัติ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ แต่ขณะที่ฝึกต้องฝึกไปอย่างนี้...

แต่ขณะที่เราเวียนตายเวียนเกิดทุกภพทุกชาติ แล้วจะให้มีสติตลอดไป มันก็มีการฝึกอย่างนี้ มันมีการแก้ไข มันมีการฝึกอบรมอย่างนี้ แล้วสติมันจะดีไปเรื่อยๆ นี่คือการฝึกสตินะ

 

ถาม : จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้จิตได้พิจารณาอย่างไร?

ตอบ : จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนะ... เวลาจิตนี้เราก็ไม่เห็นมัน เวลาอะไรเราก็ไม่เห็นมัน แล้วอะไรมันจะเป็นสติปัฏฐาน เพราะเราเป็นปัญญาชน ตอนนี้ศาสนาเจริญ เจริญด้วยทฤษฎี เราทุกคนก็อยากทำคุณงามความดีกัน ที่ว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราก็ใช้อารมณ์

ที่เราพิจารณานี้เราพิจารณาอารมณ์ เราไม่เคยพิจารณาจิตกันเลย เพราะเรายังไม่เห็นจิต การจะพิจารณานี้ สิ่งต่างๆ มันจะเกิดจากผู้ที่เป็นเจ้าของ ถ้าจิตเป็นเจ้าของ จิตไปเป็นผู้กระทำ มันจะเกิดเป็นวิปัสสนา ถ้าไม่มีจิตเป็นเจ้าของเป็นผู้วิปัสสนานะ ดูคอมพิวเตอร์สิ ทุกอย่างมันทำงานได้หมด มันให้ประโยชน์กับโลกได้หมด แล้วใครเป็นเจ้าของมัน? ใครเป็นคนได้มัน?

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มันต้องทำความสงบของจิตเข้ามา แล้วจิตเห็นจิต การพิจารณาคือจิตมันเศร้าหมอง จิตมันผ่องใส จิตเห็นจิตไง งงไหม? ต้องจิตเห็นจิต!

จิตมันสงบเข้ามา ตัวจิตมันเป็นตัวจิต แล้วมันไปเห็นตัวจิต จิตนี่นะ เวลาพิจารณาเห็นจิต พระสารีบุตรถวายการพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในถ้ำที่เขาคิชฌกูฏ แล้วหลานของพระสารีบุตรมาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนตระกูลของพระสารีบุตรบวชหมด จะมาต่อว่าว่า

“เราไม่พอใจ เราไม่พอใจสิ่งต่างๆ เลย ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับ “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกที่เธอไม่พอใจเขาด้วย”

อารมณ์ความรู้สึกที่เธอไม่พอใจเขานั้น คือวัตถุอันหนึ่ง เป็นวัตถุไหม ? นี่ไง จิตเห็นอาการของจิตถึงจะเป็นวิปัสสนา ขณะที่ทำกันอยู่นี่ พิจารณานามรูปอะไรนี่ ไม่ใช่ มันเป็นสมถะ เป็นสมถะเพราะอะไร เป็นสมถะเพราะตัวเองจิตมีอยู่ แต่ยังไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักจิต!

ถ้ารู้จักจิตคือจิตเป็นสมาธิ สัมมาสมาธินี้คือรู้จักจิต เพราะจิตมันเป็นเรา พอสงบเข้ามานะ เอ๊าะ! ไม่ถามใครเลย นี่จิต! แล้วจิตน้อมออกไปเห็นจิต ถ้ามันไม่น้อมออกไปเห็นจิต รู้จักจิตแต่ไม่เห็นจิต จิตสงบนี่รู้จักจิต แต่ไม่เห็นจิต

วิปัสสนา.. ไม่ใช่วิปัสสนา แต่เป็นสมถะ รู้จักจิตนี้เป็นสมถะ ปัญญาวิมุตติ รู้เท่า รู้ตาม รู้จริง นั่นล่ะ ความรู้เท่า ความรู้ตาม ความรู้จริง

ความรู้จริงนี่เป็นสมาธิ ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่!! ถ้าเป็นวิปัสสนาอย่างนี้ เด็กอนุบาลมันก็วิปัสสนา เด็กอนุบาลมันก็ท่องได้ แล้วมันทำไม่ได้

มันถึงไม่มีผล ถ้ามีผลไม่พูดอย่างนั้น! จิตเห็นจิต ที่เขาพูดกันว่า เห็นนามรูปเป็นวิปัสสนา.. ไม่ใช่ ไม่ใช่ ถ้าเป็นวิปัสสนานะ นกแก้วนกขุนทองที่มันพูดอยู่มันเป็นวิปัสสนาหมด การวิปัสสนาคือใครเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะความจริงจากจิต มันจะสะเทือนหัวใจมาก การที่เห็นๆ กันนี้ ไม่มีใครเคยเห็น ไปถามหมอที่โรงพยาบาลสิ ผ่าตัดทุกวัน ศัลยกรรมนี่เคยเห็นจิตไหม? เคยเห็นกายไหม?

เขาเป็นคนผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะนะ เปลี่ยนหัวใจนะ เปลี่ยนทุกอย่างในอวัยวะทั้งหมดเลย แต่เขาไม่เคยเห็นกาย ไม่เคยเห็น! เพราะเป็นวิชาชีพของเขา เขาเห็นแต่กายของคนอื่น พยายามแต่รักษากายของคนอื่นให้กลับมาหายเจ็บไข้ได้ป่วย เขาไม่เคยเห็นกายเลย! เพราะเขาไม่สะเทือนใจเขาเลย

แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติ จิตมันสงบเข้ามา มันน้อมไป ถ้ามันเห็นกายนะ เห็นกายโดยสัญญา เขาเรียกกายนอก พิจารณารูป รส พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่เขาเรียกกายนอก กายนอกนี่คือมันไปเห็นกายคนอื่นไง อย่างเช่นเราไปเที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพนี่คือกายนอก

กายนอกมันเห็นแล้วมันจะสลดสังเวชแล้วสงบเข้ามา นี่คือสมถะ!! มันปล่อยวางเข้ามา มันเป็นเอกเทศเข้ามา จนมันเป็นเอกเทศของตัวมันเองแล้ว มันน้อมไปเห็นหาย โดยจิตเห็นกาย

จิตเห็น!! ไม่ใช่ตาเห็น ไม่ใช่สัญญาเห็น ไม่ใช่อารมณ์เห็น เห็นจากจิตมันจะสะเทือนหัวใจมาก เห็นจิต เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะสะเทือนหัวใจมาก การสะเทือนหัวใจเพราะอะไร

เพราะเราสบประมาทตลอดว่า พวกเราไม่เคยเห็นกิเลส เพราะตัวกิเลสมันอยู่ที่ใจแล้วมันอาศัย กาย เวทนา จิต ธรรม ขันธ์ ๕ ออกหาเหยื่อ! กิเลสอาศัยการกระทำงานโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ แล้วอาศัยสิ่งนี้ความสามัญสำนึกออกไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่น แล้วเราไปเห็นตัวของมันที่มันอาศัย กาย เวทนา จิต ธรรม ออกไปยึดมั่นถือมั่น นั่นคือเห็นกิเลส!

ถ้าเมื่อได้เห็นหน้ากิเลสนะ หัวใจจะสั่นไหวมาก การเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะความจริง หัวใจจะสั่นไหว สั่นไหวมากๆ เพราะมันไปเห็นหน้าของกิเลสไง เหมือนกันเราเป็นมหาโจร ปล้น ฆ่า มาตลอดเลยแล้วไม่รู้ตัว แล้ววันนี้ไปเห็นข้อมูลว่ามึงอยู่นี่ มึงอยู่ในก้นบึ้งหัวใจกูนี่ มันจะสะเทือนขนาดไหน

โดยสามัญสำนึก เขาว่ากันไป จิตตานุปัสสนาสติปัฐฐาน นกแก้วดีกว่านะ นกแก้วนกขุนทองมันท่องได้ดีกว่านั้น ดีกว่าเยอะมาก นี่ไงเราถึงสังเวชว่าศาสนานี่มันมีของจริง มันมีความจริง แต่เราชาวพุทธใช้กันเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ศาสนาจะเจริญ ศาสนาจะเสื่อมอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงหัวใจ อยู่ตรงความจริง

“จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้จิตพิจารณาอย่างไร? ”

ให้จิตมันสงบ จะทำด้วยกำหนดพุทโธก็ได้ จะทำด้วยปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ จนจิตมันสงบเข้ามา แล้วมันเห็นข้อเท็จจริง

การวิปัสสนา ถ้าจิตสงบเข้ามาเป็นปุถุชนและกัลยาณปุถุชน ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมจริง มันจะเป็นโสดาปัตติมรรค เป็นบุคคล ๘ จำพวก ที่เราทำวัตรกัน สังฆคุณ บุคคล ๘ จำพวก บุคคลที่หนึ่ง คือจิตมันพัฒนาจนเข้าไปเป็นสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน คือดำรงชีวิตถูกต้อง ในศาสนานะ ดำรงชีวิตถูกต้อง ทำงานถูกต้อง ทุกอย่างถูกต้อง ดีขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเห็นจริงมันจะเป็นบุคคลที่ ๑ ในมรรค ๘ แต่มันยังเจริญแล้วเสื่อม จนถ้าวิปัสสนาถึงที่สุดแล้ว มันจะถึงโสดาปัตติผล ถ้าถึงโสดาปัตติผลแล้วมันจะเป็นอกุปปธรรม ในธรรมจักร มันมีอยู่ ๒ ประเด็น คือธรรมะที่เป็น กุปปธรรม กับ อกุปปธรรม

กุปปธรรม คือสามัญสำนึก คือความเจริญแล้วเสื่อม คือความรู้สึกที่มันเกิดดับ คือความจำได้ เดี๋ยวลืมเดี๋ยวจำ แล้วคุณสมบัติ อย่างเช่นผลไม้ มันมีชั่วคราว มันมีการเปลี่ยนแปลง มันแปรสภาพ แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรมนะ คือจิตคงที่ ไม่มีวันเสื่อม เสื่อมไม่ได้ มันเป็นอกุปปธรรม อยู่ในธรรมจักร

 

ถาม : ข้อที่ ๒.เมื่อพิจารณาไปแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป

หลวงพ่อ : จิตนี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และอันนี้ด้วย จะตอบไปด้วยกัน จะตอบให้หมด เหลืออีกใบเดียว

ถ้าพิจารณากายตั้งแต่ทีแรกจนมันปล่อยวาง แล้วว่างหมดเลยนี่นะ เวลาภาคปฏิบัติถ้ามีครูบาอาจารย์ที่จริง มีครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง คำว่าถูกต้องคือมันจะรู้ไป เราจะบอกว่า แต่เดิมมันจะมีนักปฏิบัติมากเลย จะพูดกันอย่างนี้ “แต่เดิมผมเป็นคนขี้โมโห ผมเป็นคนที่กินเหล้าเมายา ผมหยำเปทั้งนั้นเลย แต่เดี๋ยวนี้ผมปฏิบัติธรรม ผมละได้หมดเลย”

เขาพูดกันนะ แล้วสังคมก็เชื่อถือกัน แต่เราไม่เชื่อ.. เพราะสิ่งที่จะทำ คนเราปฏิบัติ วิปัสสนูกิเลสมันมีตลอด ความเป็นไปของจิต ความนึกคิด อาการของจิตมันแสดงตลอดไป สิ่งนี้มันเกิดได้ พอมันเกิดได้ขึ้นมา ถ้าเราไปเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะปล่อยวางแล้วว่างมากเลย แล้วสบายอยู่พักใหญ่ ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ไม่ใช่.. มันเป็นทางผ่าน

อย่างคำว่า “ส้มหล่น” คนเราเกิดมาเคยสร้างบุญกุศล เคยสร้างอะไรไว้บ้าง แล้วเวลามาทำมันจะออกมาทางนี้ แต่คำว่าส้มหล่นคือเราควบคุมไม่ได้ ถ้าในการวิปัสสนา เราจะเริ่มต้นตั้งแต่ว่าจิตเราสงบเข้ามา แล้วเราควบคุมทำงาน

ที่ว่าธรรมจักรที่มันหมุน จักรมันหมุน หมุนอย่างไร แล้วภาวนามยปัญญาที่มันหมุน มันหมุนไปอย่างไร แล้วมันทำลายแต่ละเที่ยว แต่ละครั้งมันทำอย่างไร ถ้ามันปล่อย โดยการภาวนาอย่างนี้ มันเป็นตทังคปหาน มันเป็นการประหารชั่วคราว มันชั่วคราวเดี๋ยวมันก็เกิดอีก แล้วต้องทำอย่างนี้เป็นร้อยๆ หน

ในมุตโตทัย ในของครูบาอาจารย์ ไปถามปัญหาเถอะ ถ้าคนภาวนาขึ้นมาอย่างนี้นะ ครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านจะบอกเลยว่า ให้ซ้ำ ให้ซ้ำ ให้ซ้ำ คำว่า “ซ้ำ” คือพยายามคราด ทำให้ชำนาญกันขึ้นมา

เพราะเดี๋ยวก็ปล่อยอีก เพราะเรามีกิเลสใช่ไหม พอมีอะไรขึ้นมาทุกคนอยากจะถึงเป้าหมาย ทุกคนอยากจะทำงานให้มันสำเร็จเสียที แต่มันไม่สำเร็จหรอก มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือสร้างแต่เหตุความเพียรชอบ ถ้าบอกว่าเราทำความเพียรด้วย แล้วบอกว่าเมื่อไหร่จะถึงเสียที ความเพียรไม่ชอบแล้ว เพราะมันหมายไปอนาคต มันไม่อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันคือทำความเพียรอยู่ แล้วเมื่อไหร่จะถึงเป้าหมายซักที

เป้าหมายคืออะไร เป้าหมายคืออนาคต เป้าหมายไม่ใช่ปัจจุบัน แล้วเราทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ใจเราก็โน้มไปเป้าหมายแล้ว มันดึงเราไปเท่าไหร่แล้ว

หน้าที่ของเรา ไม่มีทางที่เราจะจัดการเรื่องของอนาคตได้ เราจะต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าในการปฏิบัตินะ ถ้าคนปฏิบัติแล้วมันจะลองผิดลองถูก ผิดมาตลอด ถ้าเป็นอย่างนี้มันทำได้แล้วมันดีอยู่พักหนึ่ง แล้วพอมันเสื่อมทุกคนจะรู้ แต่ขณะที่มันดีอยู่ มันเหมือนกับเหล็กที่ไฟยังแดงๆ อยู่ ควรจะตีให้ดี ควรจะบังคับให้ดี ถ้ามีครูบาอาจารย์แล้วไฟยังแดงๆ อยู่ มันยังตีได้ ไฟยังแดงๆ คือสมาธิก็พร้อม ทุกอย่างก็พร้อม

แล้วมันพร้อมนี่ไม่ใช่เกิดง่ายๆ นะ จังหวะและโอกาสที่เราเจอครูบาอาจารย์นี่สุดยอดมากเลย พอถึงที่สุดแล้วมันก็เสื่อมไป ตทังคปหานแล้วเสื่อมไป หลวงตาท่านบอกบ่อย เศรษฐีล้มละลาย คนที่ทำธุรกิจใหม่ๆ มันจะทุกข์จะยาก มันก็ทุกข์ยากประสาคนทำธุรกิจ แต่ถ้าใครมีธุรกิจใหญ่โตแล้วล้มละลาย แล้วจะเริ่มต้นใหม่ นี่คือจิตเสื่อม

ถ้าจิตเสื่อมอย่างนี้แล้วก็ต้องกลับมาที่สมถะ กลับมาที่พุทโธ กลับมาทำให้สงบขึ้นมา แล้วเรื่องของกามราคะ คนเข้าใจผิดหมดนะ เพราะส่วนใหญ่เห็นไหม เวลาพูดถึงการปฏิบัติกันนี่ก็ต้องดูอสุภะ ต้องเพ่งอสุภะ ใช่

กายนอกนะ การเห็นกายกับการเห็นอสุภะนี่ต่างกัน การเห็นกายนี่ สักกายทิฏฐิ มีหลายสำนักสอนว่าให้กำหนดเข้าไปเลย แล้วไปแก้กันที่อวิชชา เราบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้

เราเปรียบเหมือนเราเป็นสุภาพบุรุษ เหมือนคฤหัสถ์นี่เราใส่สูท เราแต่งตัวครบ เราใส่สูท จิตปกติมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะเอาเสื้อชั้นในมาซักโดยที่ไม่ต้องถอดสูท ไม่ต้องถอดเสื้อเชิ้ต เราจะไปเอาเสื้อชั้นในออกมาซักได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราจะถอดเครื่องแต่งกายของเรา อันดับแรกคือดึงเอาสูทออกก่อน

สูทก็คือสักกายทิฏฐิ สูทก็คือความเห็นผิดเรื่องกายผิด เราเห็นผิดในเรื่องกาย เราเห็นว่ากายต้องเป็นเรา เห็นผิดโดยสามัญสำนึก แต่เห็นถูกโดยสัญญา เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอกว่า “กายนี้ไม่ใช่เรา” แล้วเราก็เห็นคนเกิดคนตายทุกวัน เห็นเผากันทุกวัน แล้วเราก็ต้องตาย แล้วเราก็บอกว่า “ไม่ใช่เรา” โดยสัญญา แต่โดยสามัญสำนึกมันบอกว่าใช่ ใช่...

โดยกิเลสน่ะ ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องกิเลสนะ อย่ามาหลอก หลอกเราไม่ได้..เพราะเราก็ว่าใช่มาก่อนแล้ว จนกว่าจะไปทำลาย.. ให้บอกว่าอย่างไรถึงไม่ใช่ ถึงอ๋อ... อย่างนี้ถึงไม่ใช่

เวลาเราพิจารณาไป พอจิตสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นกายแล้วเป็นอุคคหนิมิต ถ้าพิจารณากายนะเป็นวิภาคะ อุคคหนิมิตคือเห็นภาพนิ่ง เราต้องให้เป็นภาพเคลื่อนไหว ถ้าเป็นภาพนิ่งเราจะไม่รู้ว่าภาพนิ่งมันมีอะไรปิดซ่อนเร้นอยู่ ถ้าเราให้เคลื่อนไหว ถ้าเราให้แยกส่วน นี้คือวิปัสสนา วิปัสสนาคือการแยกแยะ การขยายส่วน แยกส่วน

การขยายส่วน แยกส่วน การทำลายนี้คือวิภาคะ นี้คือวิปัสสนา แล้วถ้ามันเข้าไปเห็นบ่อยครั้งเข้ามันจะปล่อย ปล่อย ปล่อย พอปล่อยบ่อยครั้งแล้วถึงที่สุดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขาด! เป็นสมุจเฉทปหาน ไม่ใช่ตทังคปหาน

ถ้าสมุจเฉทปหานขาดพั้บ! นี่พระโสดาบัน

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในกาย เป็นไปไม่ได้ เพราะมันขาดแล้ว สีลัพพตปรามาส จากการลูบคลำ ไม่ได้ ! เพราะมันรู้แจ้ง มันจะลูบคลำไม่ได้ แล้ววิปัสสนาเข้าไปอีก ระหว่างกายกับจิตแยกออกจากกัน มันถึงเข้าไปเห็นอสุภะไง

อสุภะ กามราคะ มันอยู่นู่น

กามราคะนี่.. แล้วคนเราปวดเพราะอะไร ปวดเพราะมีปฏิฆะ ปฏิฆะคือข้อมูล คอมพิวเตอร์ถ้าไม่มีข้อมูล เล่นไม่ได้หรอก คอมพิวเตอร์ถ้าไม่มีโปรแกรม คอมพิวเตอร์ก็คือขยะอันหนึ่ง มนุษย์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีข้อมูล ไม่มีปฏิฆะ ปฏิฆะคือมีข้อมูล สเป็ค สเป็คใครสเป็คมัน ถ้ามีข้อมูลพอมันเห็นสเป็คนี้จะถูกใจมาก ไปเห็นเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัว ตัวเองช็อกเลย ถ้าข้อมูลที่มันแทงใจมาก แล้วมันผิดใจนี่โกรธ โกรธ!

กามราคะ ปฏิฆะนี่เกิดจากตรงนี้ โลภ โกรธ หลง เกิดจากข้อมูลของจิตแต่ละดวงบางคนข้อมูลอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้จะกระเทือนใจมาก บางคนจะไม่กระเทือนใจ ความโกรธของคนก็คนละระดับ ความโกรธของคนก็ไม่เท่ากัน นี่ไง แล้วบอกว่า “เมื่อก่อนไม่เคยปฏิบัติเลย แต่เดี๋ยวนี้มาปฏิบัตินะ ละได้หมดเลย โกรธก็เลิกแล้ว หลงก็เลิกแล้ว”

มันต้องไปพูดกับเด็กๆ มาพูดให้เราฟัง ไม่ฟังหรอก เพราะกว่าจะผ่านขั้นตอนมา จะทำลายมา เป็นชั้นเป็นตอนนะ มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๘ จำพวก มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ แล้วมันไต่เต้าขึ้นมาอย่างไร มันทำลายอย่างไร มันทำลายขึ้นมาเป็นขั้นเป็นตอนนะ

สิ่งที่ทำมันเสื่อมไปแล้ว มันก็คือเสื่อมไปแล้ว มันเสื่อมไปแล้วนะ แล้วของที่มันผ่านไปแล้ว ทุกคนที่มีอายุจะบอกเลย ถ้าย้อนอดีตได้จะไม่ทำอย่างนี้.. ถ้าย้อนไปตอนเด็กๆ ได้.. จะไม่ทำอย่างนี้ คือเราจะเลือกสิ่งที่มันจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ไง เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เสื่อมไปแล้วก็คือสิ่งที่ผ่านมาแล้ว จะต้องเกิดในปัจจุบันนี้ นี่ไง การแก้ไขกิเลส มันต้องแก้กันที่ปัจจุบันนี้เท่านั้น ไปแก้ที่อื่นไม่ได้...

 

ถาม : ทำไมเวลาฟังธรรม บางครั้งจิตก็สบาย บางครั้งจิตก็บีบคั้น

ตอบ : ไม่ต้องฟังธรรมบางทีก็สบาย บางทีก็บีบคั้น ไม่ต้องฟังธรรมมันก็เป็น แล้วฟังธรรมมันเป็น มันจะเป็นอะไร? ฟังธรรมแล้วบางทีมันก็สบาย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันตรงกับทัศนคติเรา

บางทีฟังธรรมขึ้นมามันบีบคั้น อย่างเช่น ถ้าเราทำอะไรเป็นความผิดไว้ เราทำทุจริตไว้ แล้วเวลาไปฟังธรรม อาจารย์พูดมาตรงใจเลยนะ โอ้โหย.. ยิ่งบีบคั้นใหญ่เลย บีบคั้นเพราะมันตรงกับความซ่อนเร้นในจิตเราไง กิเลสถ้ามันเห็นสภาวะแบบนั้น บางทีมันก็บีบคั้น บางทีมันก็สบาย สบายเพราะอะไร เพราะเราต้องการสิ่งนี้ เราต้องการบุญกุศล เราต้องการคุณงามความดี แล้วท่านพูดถึงคุณงามความดี พูดถึงการเชิดชู เห็นไหม

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรเชิดชูคนที่ควรเชิดชู ควรกดขี่คนที่ควรกดขี่ ธรรมะตรงไปตรงมา เห็นไหม สิ่งที่ตรงไปตรงมานี่เป็นธรรม ถ้าฟังแล้วสบาย ฟังแล้วดี มันก็เข้ากับการฟังธรรมไง

ฟังธรรมนะ อานิสงส์ของการฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง เราจะได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ตอกย้ำมัน ตอกย้ำไง สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ธรรมะนี่ของเก่าแก่ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ธรรมะเหมือนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็เทศน์อย่างนี้ เพียงแต่ว่า พระพุทธเจ้าจะรู้จริตนิสัย พุทธกิจ ๕ เห็นไหม จะเล็งญาณ จะรู้นิสัย รู้ความต้องการ รู้เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นไป รู้จักอดีตชาติของเรา จะพูดให้ตรงกับข้อมูลไง

เปรียบกับจูฬปันฑก พี่กับน้อง มหาปันฑกเป็นพี่ จูฬปันฑกเป็นน้อง มหาปันฑกเป็นพี่ เป็นพระอรหันต์ เอาน้องชายมาบวช ให้ท่องบาลีข้อหนึ่ง ท่องไม่ได้ อย่างไรก็ท่องไม่ได้ พระอรหันต์นะ ก็เลยบอกว่า ให้สึก อายคนอื่นเขา จูฬปันฑกก็จะไปสึก พระพุทธเจ้ารู้ มองเห็นสิ่งที่เป็นข้อมูลจากหัวใจอันเดิม ก็ไปดักอยู่ที่ประตู

“จูฬปันฑกเธอจะไปไหน ?”

“จะไปสึก”

“ทำไมถึงจะสึกล่ะ”

“พี่ชายให้สึก ”

“เธอบวชเพื่อใคร ”

“บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ”

“มานี่ๆ ไม่ต้องสึก ให้เอาผ้าขาวไปลูบ”

“ผ้านี้ขาวหนอ.. ผ้านี้ขาวหนอ.. ”

ผ้าขาวลูบด้วยมือ ลูบไปลูบมาผ้าก็เริ่มดำขึ้นมา มันปิ๊ง! เป็นพระอรหันต์ มีอภิญญา ๖ ระลึกไปได้หมดเลย แต่ทำไมพี่ชายเป็นพระอรหันต์ ทำไมไม่รู้ข้อมูลตรงนี้ แต่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาข้อมูลตรงนี้มาใช้ได้

นี่ไง การเกิดกับครูบาอาจารย์ที่เป็นของจริง ครูบาอาจารย์ที่เป็นของถูกต้อง ท่านจะแก้ไขตรงนี้ให้เราได้ไง แต่ถ้าเราไปเจอครูบาอาจารย์ที่เป็นขอนไม้ มันจะกลิ้งทับเรานะ เป็นครูบาอาจารย์แต่ต้องให้เราแบกไว้

มันถึงเป็นอำนาจวาสนา ถ้าวาสนาอย่างนี้เกิดขึ้นมา ฟังธรรมขึ้นมามันก็บีบคั้น มันก็เป็นครั้งเป็นคราว บางทีจิตเราก็ดี เราถึงบอกไง ไม่ต้องฟัง มันก็สบาย ถ้ามันสบาย ไม่ต้องฟังบางทีมันก็บีบคั้น

การบีบคั้นหรือการไม่บีบคั้นนี่ จิตของเรามันเป็นอนิจจัง ที่พูดเมื่อกี้เห็นไหมว่า “จิตของเราเปรียบเหมือนช้างสารที่ตกมัน” แล้วใครจะเอามันไว้ในอำนาจได้ เอาไว้ในอำนาจไม่ได้ แต่ก็ต้องพยายามเอา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพวกมีกิเลสอย่างเรานี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สอนพระอรหันต์

แม้แต่เป็นพระโสดาบันแล้ว วางใจได้เพราะพาดกระแส คือเขาต้องถึงเป้าหมายเด็ดขาด เป็นพระโสดาบันแล้ว เขาจะต้องเป็นพระอรหันต์ต่อไปแน่นอน แต่ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ มันอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึก ดูสิ การเกิดและการตาย มันจะผิดตลอด.. มันผิดตลอด.. อะไรที่เราพยายามควบคุมจิตใจเรามาตลอดเลย มาเจอสิ่งใดที่มันสะเทือนใจ มันไปแล้ว เราไม่ได้ทำนะ แต่เราไปเจอเข้า จิตมันตก พอจิตมันตก มันเป็นไปนะ

จิตนี้สำคัญมาก ถ้าจิตเราดี เวลาตายมันเหมือนปุยนุ่น มันจะลอยขึ้นสู่ที่สูง จิตเรารักษาไว้ เวลาออกจากร่างมันเหมือนปุยนุ่นเลย มันจะลอยไปเลย แต่ถ้าจิตเรามีอคติ จิตเรามีความทุกข์ มันจะเหมือนก้อนหิน เวลาตายมันจะตกลง จิตเป็นได้ขนาดนี้

เป็นปุยนุ่นก็ได้ เป็นก้อนหินก็ได้ แล้วทำไมมันถึงเป็นได้ล่ะ เอ้า.. คิดสิ

ทั้งๆ ที่มันเป็นธรรมชาติ ทำไมมันเป็นได้ ฟังสิ เวลาฟังธรรมแล้วสบาย มันว่าง เหมือนปุยนุ่นไหม? เวลามันบีบคั้น มันเหมือนก้อนหินไหม? จิตมันเป็นได้ร้อนสันพันคม มันเป็นได้โดยมหัศจรรย์ แปลกประหลาดมาก แล้วเวลามาปฏิบัติ เวลาวิปัสสนึก เห็นไหม มันเป็นไปหมดนะ แล้วเราว่านี่เป็นธรรม.. นี่เป็นธรรม.. ไม่เป็นนะ

เราต้องเป็นสุภาพบุรุษ เราต้องตรวจสอบใจเราเอง ถ้ามันเป็น เป็นเพราะอะไร ดูสิ หลวงตาท่านอยู่ที่หนองผือ ตอนเป็นโรคเสียดอก ท่านบอกเลย เวลาจิตมันเสวยอารมณ์ แล้วก็ปล่อย เสวยอารมณ์แล้วก็ปล่อย “อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ ?”

เพราะว่าสร้างอำนาจวาสนามาเป็นถึงมหา ตัดทันทีเลย ไม่ใช่! ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะมันลังเลสงสัย “อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ?” ถ้ามันเป็นจริงมันจะไม่ “อย่างนี้” “อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ?”

ถ้าเป็นเรานะ “อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ ?”

“ใช่ๆๆๆๆ”

มันจะตามไปเลย แล้วก็เสร็จ จะไปกลิ้งอยู่นั่นอีกนานเลย ท่านบอก “อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ” “ไม่ใช่ ไม่เอา” แล้วเวลาท่านพิจารณาอสุภะเห็นไหม ที่บอกว่าเวลาพิจารณาไปจนหมดเลย แล้วเอาสุภะมาแนบไว้ เอาความสวยงามมาแนบไว้ จน ๓ วัน

คือเอาสิ่งที่ถูกสเป็คเลย ถูกสเป็คที่สุดแล้วแขวนคอไว้เลย ของเราๆๆ เพราะพิจารณาอสุภะจนปล่อยหมดแล้ว แต่มันไม่ขาด ยังไม่สรุป ไม่จบ จบไม่ได้ ไม่สมุทเฉท ทำไปจนมันทำไม่ได้เลย นี่ไง โธ่.. ปฏิบัติไปเถอะเวลากิเลสมันหลอกแล้วจะรู้ ทำดีนี่มันหลอกไปข้างหน้าตลอด อย่าว่าแต่ทำชั่วเลย ทำชั่วทำผิดนะ ไม่ต้องพูดถึง มันกลิ้งไปอยู่นั่นน่ะ เดี๋ยวมันก็ไปตกน้ำร้อนขึ้นมามันก็จะรู้ มันจะตื่นทันที ทำดีมันยังมีเล่ห์เหลี่ยมนะ นี่อาจารย์สำคัญตรงนี้!

เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสที่มันหลอกมึง มันจะทำมึงให้มึงหัวคว่ำคะมำหงาย ให้มึงอยู่ในอำนาจของมัน กิเลสร้ายกาจนัก!

พอพิจารณาไป มันหมด มันจับอะไรไม่ได้เลย ก็เลยเอาสุภะ คือเอาสิ่งที่ดีที่สุดมาแขวนคอไว้ ใหม่ๆ มันก็บอก ไม่มีๆ จนสามสี่วัน แล้วมันขยับ ไหนล่ะ ไหนว่าไม่มี ขยับหมายถึงว่า จิตมันขยับ จิตมันมีการรับรู้ จิตมันตอบสนอง

สาธุนะ พูดถึงหลวงตาบ่อย แต่เราพูดด้วยความเชิดชู เราไม่ได้พูดด้วยว่า..เขาจะว่าวัดรอยเท้า ไม่ใช่ แต่จะพูดเพราะเวลาท่านเทศน์จริงอย่างนี้มันจะจับ แล้วเอามาเป็นคติไง มันเป็นวิทยานิพนธ์ของท่าน ท่านทำของท่านมา มันมีแต่ละขั้นแต่ละตอน แล้วเราฟัง เวลาคุยธรรมะกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ คนเราน่ะทุ่มทั้งชีวิตเลย ทำมาแล้วมาคุยให้เราฟัง เราจะเก็บข้อมูลตลอด

ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แล้วเวลาท่านพูดเห็นไหม เอามาแนบไว้จนมันแสดงตัวขึ้นมา แล้วท่านถึงวิปัสสนาไป จนถึงที่สุดมันเกิดมาที่จิต แล้วทำลายกันที่จิต นี่กามราคะขาด แล้วเวลามันออกไป ที่ว่า เสวยแล้วปล่อย เสวยแล้วปล่อย “อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ ?” “ไม่ใช่” ปัดทิ้งเลย

จะบอกว่า เราจะปฏิบัติ เราต้องเป็นสุภาพบุรุษ เราต้องตรวจสอบ ถ้าเราเชื่อเราเองนะ มันเป็นธรรมะสมยอมกับกิเลส กิเลสจะอ้างธรรมะ แล้วให้เราสมยอมกับมัน ว่านี่เป็นธรรม นี่เป็นธรรม แล้วเราก็เชื่อมัน เป็นธรรมะสมยอม ไม่ใช่ธรรมะสมยอมนะ กิเลสทั้งดุ้น

 

จะขยายเวลาหรือจะให้หยุดเนี่ย มันได้เวลาแล้วล่ะ ๓ โมง หยุดก่อนเนาะ แล้วเดี๋ยวรอบต่อไปเนาะ เอวัง