ธรรมเกิดในที่สงัด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ในที่สงัด ในที่วิเวก พระบวชใหม่อุปัชฌาย์สอน ต้องให้กรรมฐาน ๕ ก่อน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วบอกให้อยู่ป่าอยู่ตามเงื้อมผา หาที่สงบสงัดจากกิเลส แล้วจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมไง ศาสนาเรา เห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา บวชแล้วบวชกาย ทีนี้พอจะบวชใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งล่ะ อุปัชฌาย์ถึงได้สอนพระทุกองค์เลย ให้กรรมฐานด้วย แล้วยังต้องให้อยู่ รุกฺขมูลเสนาสนํ
เราก็เหมือนกัน เราประพฤติกัน เราทำธุดงควัตรกัน เราทำมา ๓ เดือนแล้วน่ะ วันนี้วันออกพรรษา แต่วันออกพรรษา คิดว่าออกแล้วจะสะดวกสบายไง ออกพรรษาแล้วฉันจะเป็นอิสรเสรี เห็นไหม กิเลสมันพาคิดแล้ว
ถึงว่า ธรรมจะเกิดในที่สงัด ในเมื่อธรรมยังต้องให้เราก้าวเดินต่อไป เราควรจะหาที่สงัด หาที่วิเวก หาที่หลบหลีกเพื่อไม่ให้เราเป็นภัยแก่ตัวเราเองไง ให้จิตใจนี้เป็นผู้ที่ปลอดภัยจากโลกธรรมทั้งหลาย ทางร่างกาย เห็นไหม เชื้อโรคน่ากลัวมากเลย แต่ในเรื่องของใจ โลกธรรม ๘ กระทบกระเทือนใจเราเจ็บปวดนัก
เราถึงว่า ในเมื่อครบไตรมาส ๓ เดือนแล้ว เราทำธุดงค์กันมาแล้ว ต่อไปเราก็ต้องถือของเราไปตามกาลตามเวลา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ บริบูรณ์สมบูรณ์ขนาดไหน เจ้าชายน่ะมีปราสาท ๓ หลัง มีบริษัท บริวาร มีนางขับกล่อมมโหรีทุกอย่างเพียบพร้อมหมดเลย มันเป็นอย่างไรน่ะ คนเคยผ่านประสบการณ์อย่างนั้นมาจะมีความสุขตามประสาโลกเขาว่านะ
ตามประสาโลกเขาว่าสิ่งนั้นมีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแค่ประสบพบเห็นมาก่อน ไม่ใช่คนที่ว่าไม่มีแล้วทำให้ตัวเองทุกข์ยาก...มี แต่ความมีนั้นมันมีแล้วมันเป็นสุขจริงหรือเปล่า นั่นมีความขับกล่อม หน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว ก็มีปราสาท ๓ ฤดูให้หลบหลีกเอา อยู่ที่เป็นสุขเป็นสบายที่จะให้อยู่กับโลกนี้เขาไป แต่ทำไมมีเหตุให้จำเป็นต้องออกหาโมกขธรรมล่ะ เพราะอะไร
เพราะพุทธปัญญา ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สะสมบารมีมา จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเด็ดขาด แต่ก็ยังต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์นี้แล้วอยู่ในวังวนของกิเลสก่อน เห็นไหม มีพ่อ มีแม่ มีทุกอย่างมาหมด แล้วทุกคนในครอบครัวนั้นก็ต้องการให้อยู่ด้วยกัน ไม่มีครอบครัวไหนหรอกต้องการให้คนในครอบครัวสละออกไปจากครอบครัวไปอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีครอบครัวไหน นี่ความเห็นของโลกเป็นแบบนั้น ไม่มีครอบครัวไหน ไม่มีวงตระกูลไหนที่จะบอกว่าจะให้ออกไปเพื่อจะไปหา...จริงอยู่ เป็นโมกขธรรม ความรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ประเสริฐ จะแก้ทุกข์ได้ เข้าใจว่าจะแก้ทุกข์ แต่ยังไม่มีผู้ชี้นำ
แต่สำหรับเราเกิดมากึ่งกลางพุทธศาสนาที่ศาสนาเจริญรุ่งเรืองนี่ เจริญรุ่งเรืองสิ เพราะครูบาอาจารย์มากมายเลย นี่เรายังมีโอกาส ไม่ต้องสมบุกสมบัน เท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันถึงว่าวาสนาบารมีเราต้องมีมากเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นแบบนั้น แต่เป็นแบบนั้นเพราะมีบุญญาธิการมาก ยังต้องทุกข์ต้องทรมานขนาดนั้น เราเทียบเข้าไป เทียบครูเทียบอาจารย์แล้วจะให้เรามีกำลังใจไง
ทุกคนจะน้อยเนื้อต่ำใจ กิเลสเป็นอย่างนั้น น้อยเนื้อต่ำใจถ้าจะทำความดีนะ แต่ถ้าจะทำสิ่งที่สะสมมาเป็นกิเลสนี้มันจะไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจ องอาจกล้าหาญ การทำสิ่งที่ให้ตัวเองทุกข์ยากนี้ องอาจกล้าหาญมาก แต่พอจะทำให้ตัวเองพ้นจากเชื้อโรค จากโลกธรรม ๘ ให้มันแค่สงบใจขณะนี้ มันก็ยังน้อยเนื้อต่ำใจแล้ว เห็นไหม นี่ถึงเทียบองค์ศาสดา องค์ศาสดา ขนาดเป็นศาสดา เกิดมาแล้วก็ยังอยู่ในท่ามกลางของรูป รส กลิ่น เสียง โลกธรรม ๘ อย่างนั้น น่าจะอภิรมย์รื่นรม...ไม่
ออก สละออก กว่าจะสละออก เห็นไหม เพราะลูกเกิดวันนั้นน่ะ ราหุลเกิดวันนั้น อยากมาก อยากจะเข้าไปเห็นหน้าลูก คิดดูสิว่าลูกคลอดมายังไม่ได้เห็นหน้าน่ะ แล้วต้องสละออกมานี่มันสะเทือนหัวใจขนาดไหน ความที่ออกมามันไม่ใช่ออกมาด้วยความสุขหรอก แต่ออกมาด้วยเจตนา ด้วยบุญญาธิการ แต่ความทุกข์ในใจอันนั้นน่ะ นี่มันจะสะสมมา มันมีทุกข์อยู่ในใจ แต่ก็ต้องสละออก นี่ทุกข์ก่อนไง ถึงว่าไม่ใช่ศาสดาที่ชุบมือเปิบ
ศาสดาที่ต้องแสวงหาหลักความจริงที่เป็นสัจจะอริยสัจจะในหัวใจก่อน ต้องรู้ถึงซึ่งในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ไม่เคยปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์เลย ตั้งแต่ออกบวชจนวันสุดท้ายไปหาปัญจวัคคีย์ เธอเคยได้ยินคำนี้ไหม... ถึงว่า วันที่บอกกับปัญจวัคคีย์ เธอเคยได้ยินไหมว่าเราได้สิ้นกิเลสแล้วเป็นพระอรหันต์ เคยได้ยินไหม
แต่ตอนที่จะสละออกยังไม่มีตรงนี้ ทำไมมันจะไม่มีความทุกข์ล่ะ...มันต้องเป็นความทุกข์ สัจจะเป็นความทุกข์ แต่ทุกข์อันนี้ทุกข์แบบสมมุติ ทุกข์แบบโลกทั่วไป มันยังสัจจะอริยสัจจะที่ต้องจับความทุกข์ให้ได้ตามความเป็นจริง เห็นไหม ถึงต้องออกไปแสวงหา ออกบวชไปนี่ไม่มีศาสนา ศาสนาคือลัทธิต่างๆ ก็ไปศึกษาเขา คนที่เคยสุขในชีวิตที่เคยประณีตขนาดนั้น ออกไปโดยที่ไม่มีใครเขารู้จัก ออกไปให้ชาวโลกเขาติเตียนว่าคนที่สิ้นไร้ไม้ตอก คนที่ไม่มีทางไป แล้วเขาจะมาดูดำดูดีอะไรน่ะ มันก็ต้องมีความทุกข์โดยธรรมชาติสิ
เห็นไหม ทุกข์ของหัวใจ เพราะว่าสละครอบครัวออกมา สละลูกที่ยังไม่ได้เห็นหน้าออกมา แล้วออกมาบวช ออกมาบวชแล้วยังไปศึกษาในลัทธิต่างๆ ลัทธิต่างๆ เพราะว่าลัทธิต่างๆ สมัยนั้นประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น เป็นผู้ที่สิ้นกิเลส เป็นผู้ที่สั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องไปเรียนก่อน เพราะอะไร เพราะเป็นผู้ใหม่ ถ้าออกไปแล้วเป็นผู้ใหม่ ในเมื่อมีผู้ค้นคว้าอยู่แล้วก็ควรหาทางที่มันจะสะดวกสบาย หรือหาทางไปได้ ในทุกดวงใจจะเป็นอย่างนั้น ไปเรียนกับอาฬารดาบส เห็นไหม ได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ได้แล้ว แต่มันก็ยังไม่สามารถแก้ทุกข์ได้ ไม่สามารถแก้ทุกข์ได้ แค่ให้ทุกข์สงบลงเท่านั้น
สมาธิธรรม ทำใจให้สงบ เห็นไหม ได้แต่ความสงบลงมา นี่ความสงบความสงัด นี่ไง ถึงควรแก่การงาน ในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้ว บอกว่า สัมมาสมาธิเป็นจิตที่ควรแก่การงาน ควรจะยกขึ้นวิปัสสนา แต่สมัยนั้นยังไม่รู้น่ะ ก็ต้องศึกษาด้นเดาไปก่อนจนเขารับประกันแล้วว่าเจ้าชายสิทธัตถะนี้เป็นผู้ที่รู้เสมออาจารย์ แต่มันก็ยังไม่สามารถจะชำระความทุกข์ ยังไม่สามารถถอนเข็ม ถอนรากเหง้าของกิเลสออกจากใจไปได้ ก็ยังต้องแสวงหาต่อไป
เพราะสมัยนั้นยังไม่มีสิ่งที่เป็นจริง ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา เพราะในลัทธิต่างๆ ทำทรมานตนขนาดไหนก็ทำกับเขา สิ่งที่ว่าควรจะเป็นประโยชน์ที่ว่าจะชำระกิเลสได้ก็สนใจทำกับเขา ทำกับเขาแล้วทำอุกฤษฏ์กว่าเขาเข้าไปอีกน่ะ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นองค์ศาสดายังต้องมีความรู้สึก ต้องมีความวิริยะมีความอุตสาหะเหนือมนุษย์ เหนือคนไง ความเหนืออันนั้นถึงทำให้อุกฤษฏ์เข้าไปอีก อุกฤษฏ์ขนาดไหนก็ทำให้ได้ อดอาหารจนขนหลุดหมด จนสลบไสลไป
การอดอาหารนั้นอดอาหารเฉยๆ อดอาหาร เห็นเขาทำก็ทำตามเขา เพราะยังไม่มีผู้รู้ชี้ทางไง นี่การอดอาหารนั้นถือว่าเป็นความว่ามันไม่ใช่มรรคครบองค์ มันเป็นเกร็ดเกร็ดหนึ่งแต่ไม่ครบองค์ประกอบที่จะทำให้ชำระกิเลสได้ ถึงว่า การอดอาหารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงว่าเป็นทุกข์มาก ทุกข์จนสลบถึง ๓ หน พวกเราไม่เคยสลบ เคยแต่นอน ไม่ยอมตื่นอีกต่างหาก เห็นไหม มันถึงว่าเทียบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมันจะมีกำลังใจ นี่ทุกข์ยากขนาดนั้น
จนสุดท้ายแล้วย้อนกลับไง มัชฌิมาปฏิปทาด้วยสัญชาตญาณ นึกถึงตอนที่เป็นเด็กอยู่น่ะ อานาปานสติ การกำหนดความเป็นสมาธิ สมาธิที่ว่าให้เข้าไปตามพื้นฐาน ยกขึ้นจากต่ำขึ้นสูงได้ จากสูงให้มันสงบแล้วถอยเข้าถอยออกได้ มันเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ สมาบัตินั้นเป็นสมาธิที่มันมีพลังงาน เห็นไหม มันต่างกันไง ถึงว่า อัปปนาสมาธิ ทำขึ้นมาเพื่อว่าให้เป็นสัมมาสมาธิไง สัมมาสมาธิ จิตมันสงบ มันควรแก่การงาน แล้วได้พลังงานจากการอดอาหาร การอุกฤษฏ์ทำมาก่อนนะ พื้นฐานอันนั้นมา ทรงไว้แต่ความสงบในหัวใจที่เป็นอุกฤษฏ์ แต่มันไม่ยกขึ้นวิปัสสนา จนถึงว่า บุญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องตรัสรู้แน่นอน แต่ก่อนตรัสรู้นี่พูดถึงความทุกข์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนสิ ไม่ได้ชุบมือเปิบมานี่ ถึงว่าเราประพฤติปฏิบัติก็ต้องคิดอย่างนั้น เห็นไหม
นี่พอปฏิบัติออกมาแล้วสำเร็จ ตั้งแต่ปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อันนั้นมันเป็นการเพิ่มความรู้ไง แต่ความรู้ก็เป็นความรู้ข้องในโลก ความรู้ที่ข้องอยู่ในโลกเป็นความรู้โลกียะ โลกียะที่ว่าเจ้าลัทธิต่างๆ เขาดูอดีตอนาคตกัน เขาดูการเกิดการตายแล้วเขาจะทึ่งกันมากเลย อันอย่างนี้แก้กิเลสไม่ได้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง เห็นไหม
จนกลับไปรู้อาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่ว่า ความรู้เขา รู้อดีตอนาคต ความรู้ออกมาจากใจดวงนั้นมันมีอะไรฝังอยู่ที่นั่น? มีพลังงานฝังอยู่ที่นั่น พลังงานของอวิชชา เห็นไหม อาสวักขยญาณ อาสวะ เป็นอาสวะ เป็นกิเลส นี่อวิชชา อาสวะ นี่ญาณที่ชำระกิเลส อาสวักขยญาณชำระกิเลสหลุดออกจากใจ อันนี้ต่างหาก ไม่ใช่ส่งออกไปรู้อดีตอนาคต อันนั้นถึงจะเป็นธรรม แต่เป็นการที่ว่าสิ่งนั้นมีอยู่ สัจจะความจริงอย่างนี้มีอยู่ แต่มันสัจจะในขั้นไหน สัจจะในขั้นของโลกเขา สัจจะในความรู้ของฌาน สัจจะในความรู้ของมรรคอริยสัจจัง สัจจะของมรรค ๘ ได้เคลื่อนไปแล้ว ธรรมจักรได้เคลื่อนออกไปจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง เห็นไหม
นั่นน่ะ สมบุกสมบันมา เสวยอยู่ในโลกเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ความอภิรมย์ ได้ความรื่นรมย์ของโลกอยู่อย่างนั้น แล้วออกประพฤติปฏิบัติก็ยังได้ความที่ว่าทำอุกฤษฏ์กว่าเขาทุกๆ คนไป เสร็จแล้วพอท่านตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วสิ ความเป็นอยู่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่อย่างไร อยู่ในที่ว่าพอสิ้นจากกิเลสแล้วจะเลือกอยู่อย่างไร เห็นไหม อยู่ในป่า อยู่ในที่สงัด
ธรรมจะเกิดในที่สงัด ผู้ที่ได้ธรรมมาจากความเป็นจริง จากที่สงัดที่วิเวก ต้องรู้ซึ้งถึงคุณอันนั้น ถึงได้บัญญัติธรรมวินัยไว้ แม้แต่กุลบุตรสุดท้ายภายหลังที่จะบวชเรียนต่อมา ต้องให้กรรมฐาน ๕ แล้วยังต้องให้บอกว่า การอยู่ป่า การถือธุดงค์ การถือข้อวัตรปฏิบัติ ออกมาอีก จนว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง ทำเป็นแบบอย่าง จนเผยแผ่ศาสนามา
จนอชาตศัตรูได้ฆ่าพระเจ้าพิมพิสารไปแล้ว แล้วถึงได้ย้อนกลับมา เพราะว่าความอาฆาต ความอยากได้สมบัติ ความหลงผิดไปคบกับเทวทัต เทวทัตจะทำลายพระพุทธเจ้า ให้อชาตศัตรูแย่งราชสมบัติจากพระเจ้าพิมพิสารเสีย นี่ด้วยความคบคนผิด ก็คบคนผิดไป แต่ด้วยทำไปแล้ว ขณะที่ว่าคนคบคนผิด คนที่คบไปนี่สิ่งแวดล้อมพาไป แต่ในหัวใจของพระเจ้าอชาตศัตรูก็เป็นคนดีคนหนึ่ง จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้กับพระอานนท์ว่า ถ้าอชาตศัตรูนี้ไม่ได้ทำปิตุฆาต อย่างน้อยอชาตศัตรูนี้จะต้องได้อนาคามีอย่างสูง ได้โสดาบันอย่างต่ำ นี่อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่ได้ฆ่าพ่อ อย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบัน อย่างมากจะได้เป็นพระอนาคามี แต่เพราะได้ทำปิตุฆาตไว้ ถึงไม่ได้ทำอะไรเลย นี่การคบคนผิด
แล้วพอลูกเกิดวันนั้น คิดถึงมาก รักลูกมาก จะให้ปล่อยพ่อ ว่าพ่อคงจะรักเหมือนเรา นี่สัญชาตญาณของจิตใจเป็นจิตใจที่ดีมาก คิดแค่นั้น ขณะที่ว่ามีผลกระทบยังไม่มีใครเตือนไง มีผลกระทบ มีเหตุการณ์กระทบก็ยังคิดเลย คิดได้ว่าจะให้ปล่อยพระเจ้าพิมพิสาร แต่สายไปเสียแล้ว พ่อตายเสียแล้วไง แล้วได้ขึ้นครองราชย์ก็มีความคิดใฝ่ดีมาตลอด จนสุดท้ายก็มาเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่ก่อนจะเป็นสิ เป็นผู้ที่มีอำนาจมาก มีพวกบริษัทบริวารทั้งหลายชวนกันว่าศาสดาของตัวดี อาจารย์ของตัวดี พยายามจะเอาพระเจ้าอชาตศัตรูนี้ไปเป็นลูกศิษย์ไง จนหมอชีวกโกมารภัจจ์ ก็ไม่พูดถึงอยู่ จนอยู่คราวหนึ่งบอกว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์นี้มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นศาสดา เป็นครู ชวนกันไปไง มีอยู่คืนหนึ่งชวนพระเจ้าอชาตศัตรูไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฟังนะ นี่อยู่ในที่สงัดขนาดนั้นน่ะ พระเจ้าอชาตศัตรูไปกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ ไปถึงกึ่งกลางประตู ให้พวกบริษัทอยู่นั่นก่อน เพราะว่าในที่อยู่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นที่สงัดเป็นที่วิเวกมาก เดินไป ๒ คนกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ ด้วยความเสียวไง ด้วยคนมันเป็นกษัตริย์ ด้วยความมีอำนาจ เอ๊ะ! ไม่ใช่นี่เขาจะหลอกเรามาฆ่านะ ไม่ใช่ว่าหมอชีวกจะหลอกเรามาฆ่า คิดจะแย่งสมบัตินะ จนเอะใจ จะทำร้ายหมอชีวกนะ
หมอชีวก จุ๊ๆ ปากนะ อย่า อย่าทำเสียงดังไป นั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่นั่น
อชาตศัตรู พอเห็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นน่ะ ใจนี้ร่มเย็นไปหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ในที่สงัดในที่วิเวก นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลือกที่อยู่อย่างไรน่ะ? เลือกที่อยู่ในที่สงัด ขนาดว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าไป ขนาดกลัวจนคิดว่าเขาจะชวนตัวมาทำร้ายน่ะ นั่นมันสงบขนาดนั้น เห็นไหม ที่สงัดถึงเป็นที่ควรแก่การงาน ที่สงัดนี้เป็นที่ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม มันถึงจะเจริญรุ่งเรืองไง
ธรรมเกิดในที่สงัด ในที่วิเวก ในที่ที่ขาดแคลน ขาดแคลนของกิเลส ไม่ใช่ขาดแคลนของธรรม มันจะทำให้ธรรมรุ่งเรือง เพราะว่ากิเลสไม่ได้อาหารเข้าไปตามกำลังของมัน เห็นไหม เราตัดทอนเพราะเราไม่มี เราไม่มีอำนาจวาสนา เราไม่มีความสามารถที่ว่าจะกดกิเลสของเราได้ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาชีวิตท่านเป็นเดิมพันก่อน ผ่านจากเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมีความสุขมาก มีความสุขมากประสาโลก แต่มันมีความทุกข์ในหัวใจ ความทุกข์ในหัวใจสะสมมาแล้วมันต้องออก เห็นไหม ความกดไว้อันนั้นก็เป็นทุกข์
นั่นน่ะ ถ้าทางโลกเป็นสุขมาก แล้วออกประพฤติปฏิบัติก็ยังต้องไปผจญกับสิ่งที่ว่าในโลก ในปัจจุบันในเหตุการณ์ในอดีตนั้นมีอยู่อย่างนั้น จนผ่านพ้นไป แล้วท่านเลือกความเป็นอยู่อย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เลือกสถานที่ เลือกความเป็นอยู่ได้ แต่ยังอยู่ในที่สงบสงัดขนาดนั้นน่ะ ผู้ที่สิ้นกิเลสไปแล้ว มีธรรมในหัวใจเต็มหัวใจ ยังรู้จักหลบหลีก ยังรู้จักเอาตัวรอดพ้นจากแรงเสียดสีของโลกธรรม ๘ แล้วเราเป็นสาวก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมตตาสงสารมาก วางธรรมและวินัยนี้ให้เราเดินน่ะ ธรรมและวินัยนี้เพื่อความมักน้อย เพื่อความสันโดษ เพื่อความขัดเกลาทั้งนั้นเลย
ฉะนั้น ออกนี้ออกพรรษา ออกจากธุดงค์ เราก็ยังต้องประพฤติปฏิบัติต่อไปไง เราจะไม่ยอมให้กิเลสมันได้ใจหรอก จะออกพรรษาแล้วมันดีอกดีใจ นั่นน่ะมันคึกมันคะนอง แต่ขณะที่ว่ามันอยู่ในพรรษานี้มันหงอยเหงา เพราะกติกาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ให้พวกโง่ๆ เซ่อๆ อย่างพวกเรานี้ได้ดำเนินตามไง มีช่องให้เราได้ดำเนิน ให้เราก้าวเดินให้หัวใจนี้ได้ก้าวเดินออกจากกิเลสชั่วครั้งชั่วคราว เห็นไหม แล้วเราต้องสะสมของเราขึ้นมาจนเป็นความจริงของเราขึ้นมาให้ได้ เป็นความจริงของดวงใจทุกๆ ดวงที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ถึงจะได้หลักความเป็นจริงขึ้นมาให้ยืนขึ้นมาได้ไง ให้พึ่งตนเองได้ก่อน เริ่มต้นนี้เราพึ่งตนเองไม่ได้ เราก็ต้องเชื่อครูเชื่ออาจารย์
ธรรมอยู่ในที่สงัด สัปปายะเป็นที่วิเวก เป็นที่สงบสงัดควรแก่การงาน เราก็ต้องอยู่ในสภาพแบบนั้นแล้ว ดูใจ นี่ย้อนกลับมา สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ว่าเริ่มตัดทอนการคิดการนึก หัวใจที่สิ่งที่กระทบกระทั่งที่มันสาวเข้ามาถึงใจไง มันสาวเข้ามารวมลงที่ใจทั้งหมด ทำให้ใจนี้ฟุ้งซ่าน เห็นไหม เราก็หลบได้แค่กาย กายนี้เข้าไปหลบในที่สงัดที่ไหนก็ได้ แต่หัวใจมันหลบไปด้วยไหม มันถึงจะต้องว่าต้องทำให้ใจนี้สงัดด้วยไง ทำใจให้สงบสงัดจากกิเลส จากการฟุ้งซ่าน ทำจิตให้สงบเข้ามาให้ควรแก่การงาน เห็นไหม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกฝึกกับลัทธิต่างๆ ออกแสวงหาทั้งหมด นั่นน่ะ ทำความสงบเข้ามาขนาดไหนมันได้แค่นั้น เพราะทำความสงบแล้วมันถึงยกขึ้น จิตนั้นสงบแล้วงานต่อไปถึงจะเป็นงานโลกุตตระ ถ้างานความคิดตรึกอยู่ตลอดเวลา ตรึกเอาเป็นผล เห็นไหม ตรึกเอาเป็นผล ความคิดนั้นแล้วตรึก คือตรึกเอา ตรึกนั้นเป็นผลไม่ได้ แต่ถ้าจะทำความสงบด้วยปัญญาอบรมสมาธินั้นเราไม่ใช่เอาความตรึกนั้นเป็นผล
ความคิด ปัญญารอบล่อความคิดของตัวอีกทีหนึ่ง ใช้ความคิดของเรา ต้อนความคิดของเราเข้ามา เห็นไหม ต้อนความคิดเข้ามานี้ไม่ใช่ผล ไม่ใช่ตรึกเอาผลเพื่อต้องการให้ใจนี้สงบ ใจนี้ฟุ้งซ่านออกไป เหมือนไฟมันเผาไหม้ทุกอย่าง เราจะดับไฟให้ไฟไหม้ส่วนเดียว เพราะมันจะดับทั้งหมดไม่ได้ แต่จะดับไฟเข้ามาให้ไฟนี้เผาไหม้เชื้อต่างๆ เข้าไป ทีนี้มันจะดับได้อย่างไร ก็น้ำของธรรมคือปัญญาไง ปัญญาที่ทำความสงบเข้ามา นี่ปัญญาอบรมสมาธินี้อบรมเข้ามา มันไม่ใช่หวังผลนี้เป็นผลที่ว่าเป็นผลของธรรม เป็นผลของสมาธิธรรมต่างหาก สมาธินี้ควรแก่การงาน แล้วมันจะไปมีผลอีกถ้าเราวิปัสสนาไป จนปล่อยเชื้อ ปล่อยโรคภัยไข้เจ็บในใจหลุดออกไป อันนั้นถึงเป็นผล
ถึงว่า การใช้ปัญญาอบรมสมาธิไม่ใช่หวังผลตรงที่ว่าเป็นความสงบ หวังผลว่าสิ่งที่สงบนี้มันแค่ทำใจให้เป็นสมาธิ ยกความสงบนี้ขึ้นกับการงานอีกชั้นหนึ่ง เข้าไปวิปัสสนา เห็นไหม ถ้าไม่มีปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาก่อน ไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน ความคิดนั้นเป็นความตรึกที่จะเอาผลทั้งหมดเลย เอาผลทั้งหมด ผลกับผล น้ำสกปรก ล้างเท่าไร สิ่งนั้นก็ต้องเป็นของสกปรกอยู่ เพราะน้ำนั้นไม่สะอาด ทำน้ำให้สะอาดต้องทำความสงบของใจขึ้นมาก่อน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือครั้งพุทธกาลนี้ โดยพื้นฐานของคนเขามีพื้นฐานตรงนี้อยู่แล้วไง แต่พื้นฐานของเราปัจจุบันนี้เป็นพื้นฐานของสมาธิที่เป็นปุถุชนอยู่ไง เป็นโลกียะ โลกียะ ตรึกด้วยความตรึกขึ้นมามันก็เป็นผล ผลที่ไม่มีใครรองรับได้ไง ผลเหมือนผลการที่ปฏิเสธ การตรึกอันนั้นตรึกแล้วมันเป็นผลมาได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นโลกียะมันก็เป็นโลกียะด้วยกันอยู่นี่ มันก็น้ำสกปรกก็หมุนกันไปๆ ถึงต้องทำความสงบ ความสงบก็คือทำใจสงัด
จากข้างนอกสงัด ต้องให้ข้างในสงัดเข้าไปอีก มันถึงควรแก่การงาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเลือกที่อยู่อย่างนั้น เลือกชัยภูมิให้เป็นแบบอย่างกับพวกเราที่จะก้าวเดินตาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีทุกอย่างพร้อม แล้วมีสิทธิเลือกด้วย ทำไมเลือกอย่างนี้ สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วทำไมยังเลือกอยู่ในที่สงบสงัดในที่วิเวกอยู่
แล้วอย่างพวกเรา ในเมื่อพวกเรานี้เป็นสาวกสาวกะ จะเดินตามครูบาอาจารย์ ทำไมมันจะแผลงออกไปข้างนอก แผลงออกไปทั้งข้างนอกทั้งข้างในนะ ทั้งหัวใจก็เหมือนกัน ทั้งหัวใจเริ่มจะทำให้หัวใจสงัดก่อนมันก็ไม่ทำ มันคิดว่าให้เป็นผลไปเลย จะหาแต่ทางลัดไง ทางลัดเท่าไร ลัดเข้าไป ลัดเพื่อรัดคอตัวเอง ลัดเพื่อจะรัดกิเลสให้แน่นเข้าไปอีกน่ะสิ เพราะมันจะส่งผลให้เป็นความทุกข์ ส่งผลให้เป็นความทุกข์นะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติโดยหวังผลที่ไม่เป็นผล หวังผลด้วยเราคบกิเลส คบกับความคิดของเรา
ความคิดกิเลส เห็นไหม จะคบกับเทวทัตหรือจะคบกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินไปตามธรรม แต่พระเทวทัตจะลัดขั้นตอน ให้สงฆ์นี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ปกครองสงฆ์เถิด ทั้งๆ ที่ว่าขอข้อวัตรทั้ง ๕ เพื่อจะลัดขั้นตอนเข้าไป ลัดขั้นตอนเข้าไปแล้วเป็นอย่างไร
มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้อยู่ว่าคนมีกิเลสกับคนไม่มีกิเลสมันต่างกันอย่างไร ในเมื่อพระเทวทัตนี้ได้ฌานสมาบัติอยู่ เหาะเหินเดินฟ้าได้อยู่ หลอกพระเจ้าอชาตศัตรูได้อยู่ เห็นไหม หลอกให้ใจฟุ้งซ่านออกมา หลอกให้ใจเห็นในเรื่องของฌานสมาบัติ เห็นการส่งออก การส่งออกนั้นทำให้หัวใจไม่สงบสงัดหนึ่ง สอง จะให้ผลการทำความผิดพลาดไป เพราะไม่มีสติไง
สติสัมปชัญญะในการควบคุมดูแลใจที่อยู่ในความสงบนั้นมันถึงเป็นความสงบจริง สติคุมอยู่ คุมให้ใจนี้สงบเข้ามา สงบเข้ามาแค่กึ่งกลาง กึ่งกลางหมายถึงว่าสงบเข้ามาๆ แต่มันจับต้องตัวเองไม่ได้น่ะ มันเป็นสัมมาสมาธิเหรอ นี่ผลของการตรึกที่จะเอาผลไง คิดว่ามันเป็นผล แต่ทำไมมันเข้าไปแล้วจับต้องอะไรไม่ได้ มันเวิ้งว้างๆ ไปหมด เวิ้งว้างในอะไร? เวิ้งว้างในความไม่รู้
เพราะไม่รู้อะไรเลย ความเวิ้งว้าง ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น นี่เราเป็นเรา จิตนี้เป็นเรา จิตนี้มีอยู่ จิตนี้เป็นหนึ่ง จิตที่มีเราเกิดจากปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ปัญญาหมุนเวียนเข้ามา สิ่งที่คิดไปนี่มันไม่มีคุณค่าหรอก มันหลอก ไฟมันเผา เผาเชื้อฟาง แว็บๆๆ เราก็เชื่อมัน ความร้อนมันให้พลังงานไง พอให้พลังงาน ความคิดก็เกิดขึ้น ไฟมันเผาก็ไฟไหม้ฟางวูบวาบๆ ความคิดก็เป็นอย่างนั้นน่ะ วูบวาบๆ เผาอารมณ์ตัวเอง อารมณ์ตัวเองนี่โยนฟางเข้าไป โยนฟางเข้าไปในธาตุรู้ ธาตุรู้เป็นพลังงานอยู่แล้ว มันก็เผา ยิ่งเผามันก็ยิ่งคิดมากๆ ถ้ามันเผาเราก็ยืนดูสิ
ฟางมันโดนไฟมันต้องไหม้ สิ่งมันไหม้มันให้คุณค่าอะไร ความคิดที่เกิดขึ้นที่เราตกอยู่ เราคิดอยู่ เรามีอารมณ์ขุ่นมัวอยู่กับความคิดนี้ มันมีคุณค่าอะไร มันมีคุณค่ากับไฟไหม้ฟาง มันวูบวาบๆ ไหม้วุบวับๆ ไป นี่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ยืนดูอยู่ ยืนดูจิตนะ นี่จิตมันฟุ้งซ่าน มันเผาไหม้ทุกอย่าง เราทำให้มันสงัดเข้ามาไง ไม่ให้มันเผาเล็มพวกหญ้า พวกฟางหญ้า พวกเศษกระดาษ พวกเศษอารมณ์ เศษความคิด เศษความรู้สึกในหัวใจที่มันตกผลึกในใจนั่นน่ะ มันไม่เคยหลุดออกไปจากใจ มีแต่สะสมให้มากขึ้น แล้วก็เอาไฟนี้มาอุ่นกิน
ความคิดไม่เคยเสียหาย ไม่เคยบูดเน่า ของเก็บไว้ คุณค่าตกยุคตกสมัย ของนี่คุณค่าจะไม่มี ความคิดแต่ปัจจุบันชาติมันก็คิดสะสมมา ยังคิดแต่เรื่องอดีตชาติ คิดร้อยแปดพันเก้า ไม่เคยเห็นเคยคิดว่ามาจากไหน มันมหัศจรรย์ความคิด เห็นไหม นั่นล่ะมันเผาไหม้ตัวเอง นี่ปัญญาอบรมสมาธิมันคุมมาอย่างนั้นไง ทำใจให้สงัดเข้ามาให้ได้ ทำใจให้สงบขึ้นมา ให้ใจนี้วิเวกขึ้นมา ใจนี้ควรแก่การงาน เห็นไหม นี่สงบจากข้างนอก สงัดวิเวกจากข้างนอก สัปปายะข้างนอก ต้องให้ใจเป็นสัปปายะควรแก่การงานด้วย
ใจของเรามันไม่ควรแก่การงาน ถึงต้องมาทรมานอยู่นี่ไง เราต้องทรมานตน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านไปเป็นองค์แรก พระสารีบุตร ครูบาอาจารย์ผ่านตามๆ กันไป ผ่านตามๆ กันไป มันเป็นเรื่องจริง มันเป็นแก่นของธรรม มันเป็นความมีอยู่ แต่เรามันไม่เข้ากับความปลอมในหัวใจของเรา ในหัวใจเรามันปลอม พอมันปลอมมันก็เผาไหม้แต่ของปลอมๆ มันเลยเป็นโลกียะ เห็นไหม
แต่ถ้าจิตมันสงบเข้าไปๆ ความสงบนี้มันมีผลถึงความสุขพร้อมไปอยู่แล้ว จิตนี้สงบเข้าไป ความร่มเย็นของใจที่มันเคยเผา ไฟ พลังงานของความร้อนมันให้ผลเป็นความร้อน สมาธิธรรมเหมือนน้ำ ให้ผลเป็นความเย็น สิ่งที่ร้อนอยู่ แดดออกอยู่ พอเมฆมาบังเข้ามันก็จะมีความเย็นเกิดขึ้นทันที อากาศตรงนั้นมันจะเปลี่ยนอุณหภูมิไปทันที เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ใจมันเคยเผาไหม้ มีแต่ความร้อน มีแต่ความเผาไหม้ของตัวเองตลอดเวลา มีแต่ความทุกข์ เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนึ่ง เราต้องมีวิริยอุตสาหะหนึ่ง เราเชื่ออยู่เฉยๆ เราไม่ทำขึ้นมา เอาอะไรมา
ความเชื่อเป็นความเชื่อ เป็นความศรัทธา ความเชื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นไหม แต่ความสืบต่อของความคิดมันก็ยังมีอยู่ ถึงต้องใช้สติสัมปชัญญะไล่ต้อนเข้ามา ไล่ต้อนความคิดไว้ตลอดเวลา ไล่ต้อนให้เข้ามา พอมันร้อน ไล่ต้อนเข้ามาด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม สติสัมปชัญญะ ขันติ อดทน ต้องพยายามเพ่งดูตลอดเวลา นี่หมุนเข้ามาๆ ไฟร้อน แสงแดดร้อน เมฆเข้ามาบังมันก็จะเย็นขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน ด้วยความขันติอดทนของเรา ด้วยขันตินะ ถ้าไม่มีขันติ ไม่มีความอดทน ลุ่มๆ ดอนๆ ค่อยๆ ทำไป หรือทำสักแต่ว่า
แก่นของกิเลสอยู่บนหัวใจ ไม่มีทางที่หลอกได้ เราจะหลอกใครก็ได้ แต่ไม่สามารถหลอกตนเองได้ หลอกใครก็หลอกได้ชั่วครั้งชั่วคราว เขายังตามทันได้ แล้วหัวใจของเราเอง เราจะเอาอะไรไปหลอก เราหลอกเราก็นึกคำหลอกขึ้นมา เห็นไหม นั่นคือความหลอก คือความไม่จริง เป็นสมมุติ นี้เราพยายามทำ
ถ้าเป็นสมมุติอยู่ มันเป็นสมมุติ เป็นวิมุตติเป็นอย่างไรล่ะ เป็นวิมุตติมันถึงว่าต้องพ้นออกไปจากสัจจะทั้งหมดที่มันเป็นอยู่นี่ เพราะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันก็เป็นสมมุติเหมือนกัน แต่มันเป็นบัญญัติ สมมุติบัญญัติ พ้นจากบัญญัติไปถึงพ้นจากปูนหมายป้ายทางนั้น วิมุตติออกไป ไม่พ้นมือของผู้ที่ปฏิบัติ ไม่พ้นมือของหัวใจที่ทุกข์ๆ ร้อนๆ อยู่นี่
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนยัน เห็นไหม ถึงบอกว่า มรรคผลมีจริง มรรคผลมี ทำประโยชน์ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แน่นอน แล้วเราถึงมีแก่ใจ มีความวิริยะ ถึงว่าทำไม่ลุ่มๆ ดอนๆ ทำลุ่มๆ ดอนๆ ผลมันก็เป็นอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้ แล้วก็จะมาน้อยเนื้อต่ำใจ ใครมันจะมาปฏิบัติมากเท่าเรา ใครมันจะองอาจกล้าหาญในการปฏิบัติเท่าเรา ทำไมเราไม่ได้ผลน่ะ ทำไมเราไม่ได้ผล เห็นไหม นี่กิเลสหลอก
ความเพียรต้องสืบต่อขึ้นไปเพื่อให้เป็นคุณงามความดีของใจขึ้นไป สืบต่อ เห็นไหม ความสืบต่อ ความไม่เป็นไปเพราะความสืบต่อเราขาดช่วงขาดตอนหนึ่ง ความจงใจ ความตั้งใจของเราไม่ละเอียดรอบคอบ เราไม่ละเอียดรอบคอบกับตัวเอง เราจะละเอียดรอบคอบกับคนอื่นนะ คนรอบข้างนี่ต้องทำอย่างนั้นๆ เพราะมันง่าย ว่าเขา ติเตียนคนอื่น ง่ายแสนง่ายเลย แต่รอบคอบกับใจของตัวเองที่มันแว็บออก ความคิดนี่ ไม่เป็นไร เดี๋ยวเอาใหม่ เห็นไหม นี่ไม่ใช่ว่าจะว่ามันนะ ยังส่งเสริมมันอีก นี่ความไม่รอบคอบของเราไง ความไม่รอบคอบ ใจมันคิดออกไปเรื่องนั้นก็ ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราไม่รู้จะทำอย่างไร เดี๋ยวค่อยว่ากันใหม่
มันต้องบอกว่า ทำไมเราเป็นคนอย่างนี้ ทำไมเราแพ้กิเลสทุกที สิ่งนี้เป็นการต่อสู้ เป็นการขัดขวาง เป็นการคัดง้างที่ว่าพยายามปิดช่องทางที่เคยเผาไหม้อยู่ เห็นไหม สิ่งที่ทำความร้อนมาให้กับใจนี่มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเคยเผาไหม้ มันเคยกินมันเคยใช้อยู่ตลอดเวลา เครื่องมือนี้กิเลสพาใช้ ต่อไปนี้เราจะเอาธรรมพาใช้ไง เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาใช้อันนี้ไง เครื่องมืออันนี้จะเป็นเครื่องมือของธรรม พอเครื่องมือของธรรม สติสัมปชัญญะเข้าไป
ถ้ามีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ งานนั้นเป็นธรรม ถ้าขาดสติ นี่สักแต่ว่าทำ พอสักแต่ว่าทำ กาลเวลาจะ ๕ ชั่วโมง ๑๐๐ ชั่วโมงก็สักแต่ว่าเวลาหมุนไป ผลไม่เกิด ไม่ได้ภาวนาเพื่อเอาเวลามากเวลาน้อย ภาวนาเพื่อเอาความสงบของใจ เห็นไหม แต่ถ้าสติสัมปชัญญะอยู่ แค่นาทีสองนาทีก็ดีกว่า ๑๐๐ ชั่วโมงนั้น ๑๐๐ ชั่วโมงมันก็เหมือนคนนอนตายอยู่นั่นมันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะ
เห็นไหม นี่มันต้องยกเข้ามา เทียบเข้ามาดูใจของเรา ถ้าใจของเรามีสติสัมปชัญญะ อันนั้นถึงเป็นธรรม เป็นธรรม หมายถึงว่า ทำแล้วมันจะได้คุณประโยชน์ แต่ที่ยังไม่ได้คุณประโยชน์อยู่นี้เพราะว่าความอยากได้มาก ตัณหาซ้อนตัณหา ตัณหามันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราไปคิดว่าอ่านแล้วหลอกตัวเองไง เราไม่อยากหรอก เราทำสักแต่ว่าทำ แต่เมื่อไหร่มันจะได้สักทีนะ เห็นไหม นี่ตัณหาซ้อนตัณหา
พอตัณหาซ้อนตัณหานี่มันซ้อนเข้าไป ๒ ชั้น พอ ๒ ชั้นนี่ ความเป็นไปของเรามันถึงเป็นไปได้ยากไง พอความเป็นไปได้ยากนี่เราก็ไปโทษธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกแล้วว่าธรรมอันนั้นเราทำเหมือนกับที่ว่าเราศึกษามาเลย...
...ใจตั้งมั่นไง ใจตั้งเป็นเอก เห็นไหม ตั้งใจนี้เป็นสติ ความตั้งมั่น สติตั้งมั่น โลกนี้มีเหมือนไม่มี ขณะทำหน้าที่การงานของเรา เราต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ขณะจะทำประพฤติปฏิบัติ ตั้งความเพียรของเรา โลกนี้มีเหมือนไม่มีไง ไม่ให้มีสิ่งใดเลย โลกนี้ไม่มี มีขณะจิตนี้กับพุทโธ หรือจิตนี้กับอานาปานสติ หรือจิตนี้ หรือปัญญาที่ใคร่ครวญ หรือสติสัมปชัญญะอันนี้เท่านั้น ต้องตั้งมั่นอย่างนั้น
ตั้งมั่นเพราะว่าถึงเวลาตั้งมั่น งานทุกอย่างเราวางไว้หมดแล้ว ของทุกอย่าง ข้อวัตรปฏิบัติเราทำนี่เสร็จหมดแล้ว ธรรมและวินัย ศีลนี้ไม่เคยเสื่อมไป เห็นไหม ความองอาจกล้าหาญมันเกิดขึ้น ตั้งมั่นให้ได้ ทำใจให้สงบเข้าไปๆ นี่ความสุขเกิดขึ้น จากความเร่าร้อนนั่นน่ะ ความสุขเกิดขึ้นพร้อมกับจิตที่สงบเข้าไป จิตที่วิเวกเข้าไป นี่วิเวกจากข้างนอก สัปปายะข้างนอกวิเวก สงัด แล้วก็ต้องให้ใจนี้วิเวก พอใจวิเวกมันก็เข้ากันสิ เข้ากับความวิเวกข้างนอก เห็นไหม ความเสียวยอกใจจะน้อยไป
จากที่ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเข้าไปในที่สงัด จนเสียวจนยอกใจ นี่พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ที่สงบที่สงัด ที่เสียวสันหลัง ที่ควรแก่การงานไง ในป่าช้า ในที่รกชัฏ ในที่ที่ว่าเราเข้าไปแล้วเสียวยอกสันหลัง เห็นไหม เสียวยอกใจ นั้นคือชัยภูมิของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ชัยภูมินี้เป็นชัยภูมิ แต่ยังประพฤติปฏิบัติไม่ขึ้นมา แต่นี้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนใจมันสงบวิเวกขึ้นมา มันเข้ากับชัยภูมินั้น เห็นไหม ชัยภูมินั้นก็สงัด หัวใจที่สงบสงัดนี้ก็เข้ากัน พอเข้ากันมันก็รื่นเริง มันก็อาจหาญ มันก็จะซึ้งคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ โอ้โฮ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำไมยอดของยอดของยอดศาสดา ทำไมแค่ธรรมและวินัยนี้ยังทิ้งเป็นหนทางส่องชี้เป็นเครื่องส่งเสริมดำเนินให้เราสาวกะทั้งหลายได้มีถนนหนทางก้าวเดินมาขนาดนี้ มันซึ้งใจตั้งแต่จิตนี้สงบ อ๋อ! ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เห็นไหม จิตนี้สงบจากกิเลส จิตนี้เห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นเงานะ เห็นเงาเพราะว่าอะไร
เพราะเสวยความสุขความสงบขึ้นมา เพราะเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในการประพฤติปฏิบัติ เพราะเลือกชัยภูมิจากสงัดข้างนอก จนหัวใจนี้สงัดเข้ามา นี่จิตตั้งมั่น จิตนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตัวนี้ถึงมีฐานของใจ ฐานของการยกขึ้นเป็นการงาน ฐานของสิ่งที่รับผล เห็นไหม อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ แม้แต่อาสวะสิ้นไป จิตนี้เป็นสิ้นน่ะ อาสวะสิ้นขนาดไหนจิตก็มีอยู่ วิมุตตินี้กับจิตนี้เป็นผู้วิมุตติ เห็นไหม จิตนี้แค่สงบ จิตนี้ถึงเป็นผู้รับผล จิตนี้ถึงเป็นผู้ที่ควรแก่การงาน
ฉะนั้น การวิปัสสนามันต้องมีจิตนี้ยกขึ้นวิปัสสนา เห็นไหม จิตนี้ ความตั้งมั่นนี้เป็นสัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิคือความว่าง คือความสงัด มันถึงไม่ขัดไม่ข้องไปเกาะเกี่ยวกับฌานสมาบัติในการส่งออก ในการส่งออกนี้เป็นวัตถุอันหนึ่ง อารมณ์นี้เป็นวัตถุอันหนึ่ง ความคิดนี้เป็นวัตถุอันหนึ่ง ความเห็นต่างๆ นี้เป็นวัตถุอันหนึ่ง จิตที่มีเชื้อ จิตที่ไม่สงบ จิตนี้มีกิเลสอยู่ มันเกาะติดทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา
สิ่งที่เป็นความสกปรก แล้วสิ่งที่ว่า สิ่งที่สกปรกกับสิ่งที่สกปรก ขั้วของไฟฟ้า ขั้วบวกกับขั้วลบ เจอกันมันต้องสัมพันธ์กันไปตลอด มันต้องสปาร์ก มันต้องทำปฏิกิริยาตลอดไป แล้วเราทำใจเราสงบเข้ามา มันตัดจากขั้วบวกขั้วลบก่อนมันถึงเป็นจิตที่ตั้งมั่นไง จิตที่สะอาด สะอาดชั่วคราว เพราะว่าสิ่งนี้เป็นการทำความสงบ ทำใจให้สงัด มันสงัดเข้ามาเพราะด้วยอำนาจของธรรมครอบหัวมันไว้ ครอบหัวให้ใจที่ฟุ้งซ่านนี้เข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิควรแก่การงานยกขึ้นวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม ตรงนี้ต่างหากถึงให้ใจนี้วิเวกจริงๆ ให้จิตนี้สงัดจากกิเลส
จากที่ทำความสงบมานี้เป็นแค่เครื่องหมายดำเนินจากให้ใจนี้จากความสงัด ยกขึ้นวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมนี้ เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้ทั้งหมด เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องบังคับให้เห็นกายหรือเห็นจิต เพราะอำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคนบางทีเห็นกายได้ง่าย หรือไม่เห็นก็ต้องตรึกขึ้นมา
ตรึกอันนี้ไม่ใช่ตรึกแบบโลก ตรึกแบบโลกนี้เป็นตรึกแบบโลกียะ ตรึกแบบสมมุติ ตรึกแบบความเห็น ตรึกแบบความคิด แต่ตรึกอันนี้ตรึกด้วยจิตนี้ว่าง จิตนี้มันเป็นความว่างอยู่แล้ว สมาธินี้มันน้อมไปได้ไง สมาธินี้ ความคิด ความรำพึงในสมาธินี่มี ความรำพึงคือความคิดเล็กน้อยในสมาธิ ทำได้ ถ้าในสมาธิรำพึงไม่ได้ มันตรึกไม่ได้ มันตรึกให้เห็นกายไปไม่ได้ไง
ถ้าคนที่ไม่เห็นกาย แต่มีวาสนาต้องพิจารณาทางกาย ก็ต้องตรึกขึ้นมาแล้วมันเป็นไปได้ แต่ถ้าทำอย่างไรก็ไม่ได้มันก็ต้องย้อนกลับเข้าไป ความตรึกความคิดทุกอย่างมันเป็นจิต มันเป็นกระแสจิตที่สะอาดแล้ว จิตที่สะอาดกับจิตที่สะอาดต้องทำงานกันเป็นวิปัสสนา นี่ไง ถึงว่า เป็นจินตมยปัญญา เห็นไหม จากสุตมยปัญญาเข้ามาแล้วเป็นจินตมยปัญญา จินตมยปัญญาเพื่อจะชำระล้างให้ใจนั้นสงัดเข้าไปเรื่อยๆ ไง เพราะใจสงบใจสงัด นี่มันถึงเป็นที่เกิดของธรรม
ธรรมจะเกิดในที่สงบที่สงัด ในที่สะอาด ในที่ใจนี้เป็นโลกุตตระ ควรแก่การงาน ถึงจะธรรมแท้ไง ธรรมแท้เป็นธรรมที่มีความสุข เป็นธรรมแท้ที่มีสติสัมปชัญญะ รู้การก้าวเดินเคลื่อนไหวของความคิดของใจไปตลอด สติสัมปชัญญะมันอยู่ในมรรค ๘ เห็นไหม สติสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ ความเพียร เพียรลงไป แต่จะทุกข์จะยากอันนั้นมันเป็นเพราะกิเลสมันต่อต้าน มันจะเกิดความทุกข์ความยาก
การงาน งานใดๆ ในโลกนี้ต้องใช้พลังงานทั้งนั้น งานของร่างกาย งานของความคิด เห็นไหม ผู้บริหารนี้ใช้ความคิดมาก ความคิดนั้นก็เป็นความคิดวิชาชีพ แต่ความตรึก ความพิจารณาเข้ามาข้างในมันยกฐานขึ้น ยกฐานของใจขึ้นนะ จากใจพิจารณาอยู่นี่กายจะละเอียดเข้าไป มันจะแปรสภาพให้เห็นๆ พอแปรสภาพ จากที่ว่าจับได้ใหม่ๆ นี่จะตื่นเต้น โอ้โฮ! ตื่นเต้นมาก จับกายได้เพราะมันสะเทือนถึงใจ ใจที่สะอาดมันไม่มีสิ่งใดเข้ามาปกปิด พอเห็นกายจากตาของธรรม
ที่ว่า เราเห็นกายๆ กันอยู่ เห็นกายด้วยความตรึก จากที่จิตไม่สะอาดอย่างหนึ่ง ถ้าจิตสะอาด เห็นกายอันนี้จะขนพองสยองเกล้า หัวใจนี่หวั่นไหวหมดเลย เห็นไหม มันสงัด มันวิเวก มันควรแก่การงาน ความที่มันสะอาดไง สิ่งที่สะอาดกับวัตถุที่สะอาดมันสะเทือนกัน สะอาดจากความสงบของใจชั่วคราว แล้วจับต้องตัวจริงของมัน ไม่ได้จับต้องเงา ถ้าตรึกข้างนอกนี่เห็นเงาของกาย มันไม่ใช่เห็นตัวของกาย ตัวของกายเห็นด้วยตาธรรม คือตาที่ว่าตาภายใน จับแล้วจะขนพองสยองเกล้า แล้วพิจารณาไป
การพิจารณาคือดูไง จับครั้งแรกนี่ภาพไม่คมไม่ชัด เพราะสมาธิเรา งานก็ไม่เคยกับการงาน งานนั้นมันตื่นเต้น มันดีใจ หายแว็บ หายไปเลยนะ เพราะใจไหวไง ดูสิ ดูพลังงานของไฟฟ้า ไฟฟ้าเข้ามาในเครื่องกำเนิดเครื่องใช้งานต่างๆ ไฟต้องสม่ำเสมอ ไฟต้องพอดีกับเครื่องไฟฟ้านั้น เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นถึงจะทำงานได้ด้วยความสม่ำเสมอ ไอ้ใจนี้ เวลามันดีใจ อุณหภูมิของใจมันพรวดพราดไง พอเราดีใจ เราตื่นเต้นน่ะ ภาพนั้นจะหายวับไปเลย นี่มันเกิดขึ้นมาจากฐานของใจทั้งหมดนะ ใจที่สะอาดบริสุทธิ์นั้นน่ะมันจะเกิดภาพอันนี้ขึ้นมา นี่คือการวิปัสสนากาย
วิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อจะทำใจให้มันสะอาด สะอาดจากกิเลส สงัดจากกิเลส เป็นชั้นๆๆ เข้าไป เป็นชั้นๆ จะปล่อยวางเข้าไป แต่เริ่มต้นเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ก็ต้องอุตส่าห์พยายามนะ ต้องอุตส่าห์พยายาม
มันมีความสุขเข้าไปเรื่อยๆ ตั้งแต่จิตสงบเข้ามา เห็นไหม กับการวิปัสสนาจับกายนี้สะเทือน ขนพองสยองเกล้าเข้าไปอีกแล้ว วิปัสสนาจนเห็นมันแปรสภาพนี่ เพราะมันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นจริงอยู่แล้ว อย่างที่เราทำวัตรกัน เห็นไหม ในข้อธรรมนั่นน่ะ เราเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรมทั้งหมด
ถ้าเราเห็นตามทำนองคลองธรรม เราต้องเห็นธรรมแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่วางธรรมไว้ตามความเป็นจริง แต่เราศึกษาธรรมด้วยกิเลสของเราไง ศึกษาธรรมด้วยความเห็นของเรา แล้วเราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้ามา แต่กิเลสมันปัดมือ มันปิดล้อมเราขนาดไหนเราไม่รู้เลย มันปิดล้อมความคิดว่าให้เราตรึก ให้เรารู้เป็นอย่างนั้นไง รู้แล้ว ว่าเข้าใจ เห็นไหม ความเห็นที่เรารู้เหล่านี้มันเป็นสัญญา มันเป็นความจำได้หมายรู้มา แล้วกิเลสอวิชชาของเรานี่มันก็ดัดแปลงพลิกแพลงไปจะให้เราเห็น พอเราเห็นก็เห็นแบบว่าเราตรึกเอาผลนั่นน่ะ ความเห็นอันนี้คือเห็นแบบตรึกเอาผล ตรึกเอาผลนั่นมันเป็นผล
ธรรมะนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมถึงจะได้ธรรมจริง ผู้ที่ตรึกนี่มันสมควรไหมล่ะ ความตรึกอันนั้นมันเป็นปัญญาไหม มันมีสมาธิพร้อมไหม? มันไม่เป็นภาวนามยปัญญาเลย
ภาวนามยปัญญา ความเคลื่อนไปที่ใจมันพัฒนาขึ้น ที่ว่ายกฐานขึ้น วิปัสสนาแล้วฐานขึ้น วิปัสสนาไปเรื่อย ความเห็นต่างไปเรื่อย ความเห็นละเอียดเข้าไป ความเห็นนะ ความเห็นนี่ใช้ปัญญา ปัญญาการพิจารณากายคือปัญญาดูแล้วเทียบเคียงเข้าไปๆ เทียบเคียงเข้าไปนี่มันจะละเอียดเข้าไป ภาพนั้นคมชัดขึ้น แล้วแปรสภาพได้เร็วขึ้น แปรสภาพนะ ให้มันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ให้มันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติ เรื่องนี้มันเป็นไตรลักษณ์อยู่แล้ว
ไตรลักษณ์คือสิ่งที่มันแปรสภาพไง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป นี่ไตรลักษณะ ไตรลักษณะที่จะเห็นตาม ถ้าเห็น จิตนี้ไม่เคยเห็น จิตนี้ถึงโดนอวิชชาครอบงำ อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้ในความเป็นจริง แต่รู้ในความรู้ของตัว รู้วิชาชีพ รู้ทุกอย่าง รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับการชำระกิเลส รู้แต่สิ่งที่พอกพูนความยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ นี่อวิชชา
ว่าอวิชชาไม่รู้อะไรเลย ทำไมถึงจบการศึกษามาปฏิบัติหน้าที่การงานถึงต้องผ่านเป็นผู้บริหารขนาดนั้นกัน เป็นบ้านก็เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้สั่งสอนลูกหลาน นี่ทำไมไม่รู้ได้อย่างไร ก็รู้อย่างนี้ เถียงอย่างนี้ นี่อวิชชาล้วนๆ เลย ทั้งๆ ที่ตัวเองผิดอยู่นะ ยังไม่ยอมรับ ยังเถียง ยังเข้าใจ เถียงกับตัวเองไง เวลาทำปฏิบัติเข้าไป ไม่ใช่เถียงกับใครนะ เถียงกับคนข้างนอกไม่มีประโยชน์ ชนะคนอื่นหมื่นแสนมีแต่ก่อกรรมก่อเวร มันต้องชนะใจของตัวไง นี่ภาวนามยปัญยามันจะเข้าไปเชือดเฉือนหัวใจ เชือดเฉือนทำลายหัวใจเพราะหัวใจนี้เป็นที่อยู่ของกิเลสทั้งหมด ทำลายกิเลส ทำลายพื้นฐานภวาสวะ ทำลายที่อยู่ของกิเลสทั้งหมด แล้วกิเลสมันจะไปอยู่ที่ไหน มันก็ต้องถอยร่นเข้าไปสิ ถอยร่นเข้าไปอยู่ในที่ว่าตรงไหนมันปลอดภัย
แต่นี่เราใช้ปัญญาของเราวิปัสสนาเข้าไป นี่ปัญญาญาณไง ถึงว่าเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันถึงเกิดได้ธรรมจักร มันถึงได้ไม่เอนเอียงเหมือนกับความตรึกความคิดอันนั้น เห็นไหม ความตรึกจากข้างนอกมันเอนเอียงไหม งานมันสมควรไหม มันเป็นมรรคไปได้ไหม แล้วเราว่าเราเป็นสาวกะ เป็นผู้ฟังธรรม เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะเดินตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป มันก็เหมือนกับที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำไมเลือกอยู่ในที่สงัด ทำไมไม่เลือกอยู่ในที่คลุกเคล้า
ไอ้นี่เราปฏิบัติอยู่ เราอยากปฏิบัติอยู่ แต่เราไม่เลือกใจสงัดก่อน เราไปเลือกว่าจะเอาผลเลยไง เราว่าเราจะลัด เราจะไปทางลัด แต่ไม่รู้ว่ามันรัดคอกิเลสผูกกับใจติดไปอย่างนั้น เลยไม่ได้ผลอะไรขึ้นมาเลย ไม่ได้ผลนะ ความที่ไม่ได้ผล มันไม่ได้ผลเพราะมันไม่ได้ชำระสิ่งใดขาดออกไปจากใจ
การวิปัสสนาเห็นไตรลักษณะ เพราะว่ามันเป็นความจริงอยู่แล้ว ความจริงตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นจริงก่อน ความเป็นจริงของพระอัญญาโกณฑัญญะก่อน เห็นไหม ผู้ที่เห็นจริงสมควรแก่ธรรม อันนั้นถึงเป็นจริงตลอด จริงคือผู้เห็นจริงแล้วสอนใจของตัวเองที่อวิชชานั้น พยายามกระเถิบสถานที่ให้พระอัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ นี่ดวงตาเห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรมนี่ขยับพื้นที่ให้ธรรมยืนอยู่บนใจนั้นได้แล้วส่วนหนึ่ง ใน ๔ ส่วนนั้นยืนอยู่ได้ส่วนหนึ่ง เห็นไหม นั่นคือผู้รู้จริงตั้งแต่เริ่มต้นรู้จริง จนรู้จริง จนเทศน์อนัตตลักขณสูตร จนปัญจวัคคีย์สำเร็จไปหมด นี่รู้จริง
แต่พวกเรานี่รู้จำ ความรู้จำทั้งหมดนี้มันมีอวิชชาอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว อวิชชามันก็พลิกแพลงไปสิ นี่ความรู้จำกับความรู้จริงมันต่างกันตรงนี้ไง ภาวนามยปัญญานี้มันถึงทำให้ใจรู้จริง ให้อวิชชานี้เป็นวิชชาไง อวิชชานี้มันไม่รู้จริง มันรู้จำ รู้จำแล้วยังพลิกแพลง เห็นไหม เอารัดเอาเปรียบ ธรรมะจะเอาชนะ จะเอาทางลัด จะเอาทางง่ายไง นี่มันไม่สงัดจริง มันคลุกอยู่กับอวิชชา มันถึงว่า เหมือนเลือกที่อยู่ในที่คลุกเคล้าไง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านมาหมดแล้วมีสิทธิเลือก ยังไม่เลือกในที่คลุกเคล้า ไม่เลือกในที่พลุกพล่าน เห็นไหม อยู่ในที่สงบวิเวก เพื่อสงวนใจไว้ นี่ขนาดผู้มีธรรมไง เหมือนผู้ที่มีฐานะเขายังรู้จักประหยัดเงินทองของเขา ไอ้เรามันคนไม่มี กู้หนี้ยืมสินแล้วฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย มันก็มีแต่ความทุกข์มาเผาร้อนตัว นี่หัวใจยังไม่สงบ ยังไม่วิเวก ยังไม่เป็นโลกุตตระที่ยกขึ้นวิปัสสนา เราไปตรึกเอาธรรมก่อน เห็นไหม มันยิ่งกว่าคนเป็นหนี้อีกนะ มันจะล้มละลายในความประพฤติปฏิบัติอันนั้นต่างหากล่ะ นี่มันถึงว่าต้องให้ใจสงบเข้ามา
สงบเข้ามาแล้วควรแก่การงาน ควรแก่การงานก็ต้องวิปัสสนาไปโดยที่ว่าไม่หวังผล ไม่หวังคาดการณ์คาดหมาย เพราะการคาดการณ์คาดหมายนี่เราให้ค่ากับใจแล้ว พอให้ค่ากับใจนี่ ความเป็นมัชฌิมา ความหมุนไปของธรรมจักรมันไม่หมุนนี่ มันลูกเบี้ยวน่ะ มันแกว่งไป ถ้าแกว่งไปนี่มันจะสามัคคีได้อย่างไร ปัญญามันแกว่งไปจากความคิดของเราไง ถึงว่าต้องให้เป็นภาวนามยปัญญา
ภาวนามยปัญญาเป็นจักรที่หมุนไป ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากการใคร่ครวญในกาย นี่พูดแต่เรื่องกาย เพราะจะเอาแต่กายก่อน ถ้าเรื่องจิตก็ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม นี่ถ้าพูดถึงเราทำสมาธิเข้ามา จิตเราตั้งมั่นเข้ามา นี่พิจารณากาย
แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิส่วนใหญ่จะพิจารณาจิต นี่ถ้าพิจารณาจิต จิตสงบเข้ามา จากที่ว่าไฟไหม้ฟางมันสงบตัวเข้าไปๆ เราต้องการความสงบอันนั้น ต้องการความสงบให้ไฟมันเผาเฉพาะตัวมันเอง ให้ไฟมันเผา ให้มันเป็นไฟเย็น คือว่าไฟมันเผาน้อยไป ความเย็นจะเกิดขึ้น นี่ความสงบเกิดขึ้น แต่ความสงบอันนี้มันไม่วูบวาบ เห็นไหม
ถ้าเป็นกำหนดสมาธิเข้ามาเลยนี่ ก่อนที่ใจสงบมันก็ยังเสียวสันหลัง เวลามันจะลงวูบวาบน่ะ นี่ยังกลัวนะ จะเข้าในที่วิเวกก็ยังกลัว กลัวแม้แต่ข้างนอก แล้วกลัวแม้แต่ข้างใน ถ้ากำหนดพุทโธๆ เข้ามา จิตมันจะสงบเข้ามาเรื่อยๆ บางทีมันจะวูบลงเลยนะ มันจะวูบหมด จะวูบ จะดิ่งลงจะอะไรลงนี่กลัวมาก ทั้งๆ ที่มันจะเข้าไปในที่สงบเข้าไปที่สงัดเราก็ยังตื่นเต้น นี่เพราะอะไร เพราะความเคยใจ ใจมันอยู่อาศัยผู้อื่นตลอด อาศัยความคิดมาตลอด นี่มันวูบวาบ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ตรงนี้ไม่มี มันจะไม่วูบวาบอย่างนั้น มันไม่วูบวาบอย่างนั้นเพราะว่ามันเก็บเล็กผสมน้อยเข้ามาด้วยพร้อมกับสติสัมปชัญญะพร้อมเข้าไป เห็นไหม นั่นน่ะ อันนี้เข้ามาเพื่อความสงบ เพื่อจิตที่จะตั้งมั่น พร้อมกับสงบเข้าไปๆ มันตัดไง
พิจารณาเข้าไปจากความคิดที่เผาไหม้นะ จนมันตัดไฟที่ลามออกไปเผาสิ่งต่างๆ เผารูป รส กลิ่น เสียง มันจะเห็นขนาดที่ว่าตัดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ทั้งหมด เพราะอะไร เพราะมันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันให้ใจไปเกาะเกี่ยว เห็นไหม พอปัญญามันไล่เข้ามาๆ ไล่เข้ามาขนาดเห็นว่าบ่วงของมารกับใจนี่ขาดออกจากกัน ขาดออกจากกันอย่างนี้ถึงเป็นกัลยาณชนไง ถึงว่าจิตตั้งมั่น จิตที่สะอาดนี้ไง ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปมันจะเห็นอย่างนี้ อันนี้มันเป็นจิตตั้งมั่นนะ อันนี้ควรแก่การงานนะ นี่ถึงยกขึ้นพิจารณาจิต เพราะอะไร
เพราะว่าจิตนี้ควบคุมได้ง่าย เพราะมันตัดรูป รส กลิ่น เสียงแล้วเก้อๆ เขินๆ ไง ไม่สามารถสืบต่อได้ เราตัดสายเครื่องดำเนินที่จิตออกไปเกี่ยวกับรูป รส กลิ่น เสียงทั้งหมด เราตัดได้เลย จะคิดถึงสิ่งใดเราก็ตัดได้เลย เพราะอะไร เพราะเราตัดบ่วงของมาร ตัดการสืบต่อแล้ว นี่เห็นการตัดอย่างนั้น ตัดอันนี้ ตัดรูป รส กลิ่น เสียง เห็นชัดๆ นะ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาจะเห็นชัดๆ เลย เพราะว่าอะไร เพราะสติสัมปชัญญะพร้อมอยู่ นั่นน่ะ อันนี้จิตตั้งมั่น จิตควรแก่การงาน กับที่สมาธิอารมณ์วูบวาบก็เหมือนกัน นี่คือว่าทำใจให้สงัด เห็นไหม แล้วก็ยกขึ้นวิปัสสนาใจ
จิตไง ใจนี้เป็นขันธ์ ๕ เพราะใจนี่เป็นความคิด เป็นนามธรรม ถ้าพิจารณากาย เห็นไหม ธาตุ ๔ ถ้าพิจารณาใจนี่เป็นขันธ์ ๕...ขันธ์ ๕ คือรูปของจิต ความคิดนี่เป็นรูปร่างแล้ว ความคิดความคิดหนึ่งน่ะ รูปร่างอันหนึ่งๆ รูปร่างนี้ประกอบด้วยอะไร? ประกอบไปด้วยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ขันธ์ ๕ หมุนไป หมุนไปนี้ก็เป็นความคิด นี่เป็นวัตถุก้อนหนึ่งเลยนะ เหมือนกับพิจารณากายตั้งกายขึ้นมาเห็นกาย แต่ถ้าพิจารณาจิต จับตรงนี้ได้เหมือนพิจารณากาย ขนพองสยองเกล้าเหมือนกัน เห็นความแตกต่างเหมือนกัน นี่เห็นฐานของงานไง
กรรมฐานๆ ฐาน ทำฐานของใจให้สงบก่อนถ้าสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานก็ฐานเหมือนกัน ฐานของงาน ฐานของการทำใจให้สะอาดไง นี่จับอารมณ์ได้ จับอารมณ์คือจับความคิดได้นี่ ความคิดนี้ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ ส่วนใดส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็นความคิดทั้งหมดนี้เป็นรูป แยกออก
แยกไม่ออกหรอก ใหม่ๆ นี้แยกไม่ได้ เพราะปัญญาไม่พอ กำลังงานไม่พอ พอกำลังไม่พอมันก็ต้องฉุดลากไป ฉุดลากความคิดนี้ไปเลยนะ ทั้งๆ ที่ว่าเราจะสู้กับมันน่ะ เราว่าเราคิดอยู่ เราพยายามวิปัสสนาอยู่ แต่ความคิดนี้ฉุดลากไปจนหมดพลังงานไป จนหมดพลังงานไปมันก็หยุดเองโดยธรรมชาติของมัน เห็นไหม มันเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติ ดึงอย่างไรมันก็เป็นธรรมชาติ พอมันฉุดไป สติสัมปชัญญะเราพร้อม พอมันหมดพลังงานของมันเราก็เป็นอิสระขึ้นมา เฮ้อ! นี่สติพร้อม นี่ตามรู้ตามเห็นไป พลังงานจะเริ่มซับเข้ามา ตามรู้ตามเห็นหมายถึงว่าตามรู้ความคิดไป
ความคิดนี้คิดจนเผาไหม้ไปรอบหนึ่งก็ยอมมัน เพราะอะไร เพราะกิเลสนี้มันเป็นเจ้าวัฏจักร กิเลสนี้เป็นเจ้าหัวใจนี้มาตลอด แต่เราจับต้องตัวได้ ดีกว่าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธินั้นคือว่ากดไว้อย่างเดียว กดให้สงบเข้ามาอย่างเดียว แต่อันนี้เป็นการเริ่มสะสางแล้ว เริ่มจะเป็นภาวนามยปัญญาแล้วนี่ นี่ตามรู้ตามเห็น ตามรู้ความคิดนี่ไป ตามรู้ไปๆ พอตามรู้ไปเรื่อยๆ นี่พลังงานมันเกิด ภาวนามยปัญญา
ที่ว่ามันเป็นลูกเบี้ยว ลูกเบี้ยวหมายถึงว่ามันมีเรามีเขาปนไปนั้นน่ะ มันจะอยากได้อยากดี อยากเด่น อยากให้เสร็จไวๆ อยากต้องการให้กำหนดเวลาให้เสร็จตามที่เราต้องการ นี่เห็นไหม มันหมุนไป หมุนนี้ไม่เป็นธรรมจักร ไม่มัชฌิมาปฏิปทา ธรรมจักรนี้หมุนด้วยภาวนามยปัญญา แต่มันถูกๆ ผิดๆ ไป ความคิดกระชากไป ความคิดลากเราไป ถูไถจนแบบว่าเลือดสาดไปทั้งตัวนะ ลากเราไปเหมือนกับที่ว่าเรากลิ้งไปกลางถนนนั่นน่ะ นี่ผิวหนังถลอกปอกเปิกหมด เลือดแดงไปหมด
อันนี้ก็เหมือนกัน ความคิดลากเราไปทุกข์ยากมาก ลากเราไปทั้งหมดเลย ลากความคิดไป ความคิดมันลากใจไป พอลากใจไปนี่กลิ้งขลุกๆๆ ไป เห็นไหม นี่ไม่มีพลังงานต่อต้าน พอภาวนามยปัญญาเข้าไปมันเห็นนี่ ถึงลากมาขนาดไหนเอ็งก็ไม่มีพลังงานลากเราไปตลอดชีวิตได้หรอก เอ็งต้องหยุด นี่ตามรู้ตามเห็น
รู้เท่ารู้ทัน เห็นไหม พอความคิดขึ้นมานี่จับความคิดได้นี่ หยุด! หยุดยั้งความคิดได้เพราะอะไร เพราะสตินี้มีพลังงานขึ้นมา สติสัมปชัญญะ ใจนี่ยกฐานขึ้น เพราะมันโดนลากโดนไถไป ความลากความไถไป คนเจ็บปวด เห็นไหม คนเราถ้าโดนอุบัติเหตุมันต้องตาย แต่หัวใจนี่มันเหยียบย่ำ มันกระทืบเหยียบย่ำบีบคั้นขนาดไหนมันก็ไม่เคยตาย แต่สิ่งที่ไม่เคยตายมันต้องเห็นโทษไง คนที่เห็นโทษของกิเลสพาไป คนที่เห็นโทษว่าเราแพ้ทุกครั้งน่ะ มันทำไมจะไม่มีความอุตสาหะขึ้นมา
ความอุตสาหะขึ้นมาการยับยั้งด้วยสัมปชัญญะ ยับยั้งด้วยสติสัมปชัญญะ เห็นไหม สัมปชัญญะคือรู้อยู่ตลอดเวลา สติสัมปชัญญะยับยั้งไว้ๆ พลังงานเกิดขึ้น เราต้องสะสมขึ้นมา อ๋อ! เราสู้ไม่ได้ สู้ไม่ได้ก็กลับมาพุทโธๆๆ ในเมื่อปัญญามันหมุนไม่ไหว กลับมาพุทโธก็ได้ กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ให้ใจนี้ พลังงานนี้มันขึ้นมา นี่มันยับยั้งได้ก็รู้ทัน
รู้เท่า ตามรู้ตามเห็น รู้เท่ารู้ทัน รู้แจ้งแทงตลอด เห็นไหม รู้แจ้งแทงตลอดในอะไร? รู้แจ้งแทงตลอดในการที่ความคิดนี้มันเกิดขึ้นมามันเกิดจากสัญญา เห็นไหม สัญญามันเกิดขึ้นก่อน สัญญาเกิดขึ้น สังขาร พอใจไม่พอใจล่ะ ถ้าเป็นเรื่องเขาตินี่ชอบ คิดใหญ่เลย ถ้าเป็นเรื่องคุณงามความดี คิดเล็กๆ น้อยๆ แล้ววิญญาณรับรู้น่ะ วิญญาณ นี่มันจะเห็นความเป็นไปของขันธ์ ๕ ถ้าเห็นความเป็นไปของขันธ์ ๕ นี่มันรู้เท่ามันก็แยกออก แยกออกเหมือนเกลียวเชือก
เกลียวเชือกนี้มันเป็นเกลียวเชือก ๕ เกลียวฟั่นเป็นเชือก ถ้าเราเอาเกลียวนั้นออก มันเล็กลงน่ะ เราสามารถดึงให้ขาดก็ได้ สามารถกัดกร่อน ใช้ปากกัดก็ได้ แล้วแต่จะให้มันขาดออกไป ถ้ามันขาดได้ทีละอัน นี่เหมือนกัน ถ้าเกิดสังขาร เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัวไหนล่ะ เราแยกออกแล้วหักออกๆ เกลียวเชือกนี้เราตัดบ่อยๆ เชือกขาดไหม? เชือกต้องขาด
นี่ก็เหมือนกัน เราวิปัสสนาบ่อยๆ เราทำเข้าบ่อยๆ ถ้าเป็นเชือกทั้งเส้นนี่เราไม่ไหว รูปของจิตเราทำไม่ไหว เห็นไหม จากเริ่มต้นเราทำไม่ไหว มันลากเราไปจนสุดฤทธิ์สุดเดชเลย แต่พอเราไหวขึ้นมา เราทำขึ้นมา ตามรู้ตามเห็นนะ พอตามรู้ตามเห็นนี่มันจะแยกออก เพราะมันเป็นนามธรรม ขันธ์ ๕ นี้เป็นนามธรรม วิปัสสนาญาณนี้ก็เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันก็แยกออกเป็นกองๆ ให้เห็นเลยไง อ๋อ! สังขารความคิดความปรุงเราเป็นอย่างนี้ ถ้ามันมีสติมันก็เป็นปัญญา สังขารนี่แหละ ถ้ากิเลสพาใช้นี่เป็นโทษ ถ้าสติ สมาธิพาใช้นี่เป็นคุณ สติ สมาธิพาใช้นี้เป็นมรรคอริยสัจจัง แต่ถ้ากิเลสพาใช้นี้เป็นอวิชชาพาใช้ นี่เราใช้จิตแก้จิต ใช้ความคิดแก้ความคิด แต่มีที่ว่ามีสมาธิหรือไม่มีสมาธิเข้าไปใช้มันเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีสมาธิ คือกิเลสพาไปหมดเลย
ทีนี้เราก็สร้างสมขึ้นมา สมาธิหรือว่าความที่ว่าเรามีพลังงานของเราสร้างขึ้นมา แล้วความเห็นโทษของมันไง เห็นโทษที่ว่ามันลากเราไป ที่เลือดโชกเลือดไหล นี่เห็นโทษของมัน เฮ้อ! ถึงมันจะมา เราไม่เอาเราก็ไม่ใช้วิปัสสนา เราใช้ขันติยันไว้เฉยๆ
การเห็นโทษน่ะ พอมันเห็นความคิดมานะ โอ๋ย! ตายอีกแล้ว สู้ไม่ได้ ยันมันไว้ไง พอยันมันไว้ นี่คือขันติ อันนี้ไม่ใช่วิปัสสนา แต่ขณะที่ว่าสู้ไม่ไหวมันก็ยังต้องยันกันไว้ แล้วก็สร้างพลังงานขึ้นมา พอสู้ไหวก็หมุนไป นี่คือภาวนามยปัญญา นี่ปัญญาอบรมสมาธิก้าวเดินมาทางนี้ไง แล้วความสงัดของใจก้าวเดินมาทางกายไง
กายกับจิตนี้เป็นที่อยู่ของกิเลส เห็นไหม เริ่มต้นนะ แต่พอสูงขึ้นไปแล้วนี่อยู่ที่ใจอย่างเดียว แต่อาศัยผ่านกายเท่านั้นเอง แต่การพิจารณากายมันเป็นฐานใหญ่ มันเป็นที่ทำงานง่ายที่สุด ที่ทำงานความผิดพลาดน้อยที่สุด ทีนี้ความผิดพลาดน้อยที่สุดก็ควรลงที่กายนี้ แต่ในเมื่อเราทำไม่ได้ คนทำได้นี่อนุโมทนาด้วยนะ คนทำได้ พิจารณากาย ควรพิจารณากายอย่างเดียว มันเป็นสิ่งที่ว่าง่ายที่สุด แต่เราก็เกือบเป็นเกือบตาย เห็นไหม
การพิจารณากายนี้ง่ายที่สุดนะ เหมือนกับชุบมือเปิบ เพราะพระพุทธเจ้าบอกช่องทางไว้ทั้งหมด เราก็ยังแสนทุกข์แสนยาก แล้วยังมีอำนาจวาสนาที่เราสะสมมา ยังไปพิจารณาเป็นปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมาอีก ต้องพิจารณาจิตอีก มันละเอียดอ่อนเข้าไปอีก เห็นไหม ความตั้งใจ ความอุตสาหะ ความตั้งใจต้องมีมากกว่า แต่งานเสร็จแล้ว เวลาสิ้นออกจากกิเลส เวลาชำระกิเลส มรรคอริยสัจจังรวมตัวกัน พระอรหันต์ออกจากอาสวักขยญาณอันเดียว พ้นจากพระอรหันต์ไปแล้วถึงบอกว่าพระอรหันต์นี้ประเภทไหนๆ แต่ต้องอาสวักขยญาณอย่างเดียว
อาสวักขยญาณนี้คืออะไร? อาสวักขยญาณก็คือมรรคอริยสัจจัง เห็นไหม มรรค ๘ รวมตัว สมุจเฉทปหานออกไป ฉะนั้น พระอรหันต์ต้องผ่านอาสวักขยญาณเท่านั้น พิจารณากายหรือจิตมันก็ต้องรวมกันแล้วมันฆ่ากิเลสเหมือนกัน แต่วิธีการ แขนงการต่อสู้ เห็นไหม ถึงว่าใครทุกข์มากใครทุกข์น้อย อย่าไปเสียอกเสียใจนะ ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยนี่อยู่ที่เราสะสมมา เราสะสมของเรามาอย่างนี้ไง แล้วเราสะสมมาแล้วเรายังตั้งใจทำของเรานั่นน่ะ ถึงบอกว่าพิจารณากายก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ แต่ต้องให้ถึงที่ควร
ธรรมเกิดในที่สงบสงัด ธรรมเกิดในที่เป็นสัปปายะ ตั้งแต่ที่อยู่ที่อาศัย จนกายสงบวิเวกออกจากกิเลสชั่วคราวถึงจะควรแก่การงาน แล้วก็ชำระสะสางเข้าไปด้วยวิธีการที่แนะนำมานี่ ต่อสู้เข้าไป ต่อสู้ พยายามวิริยอุตสาหะเข้าไป มันต้องเป็นไปได้สิ ไม่เป็นไปได้ มันไม่มีการมานั่งภาวนาอยู่นี่หรอก เพราะการนั่งภาวนาอยู่นี่ก็ต้องต่อสู้กิเลสแล้วชั้นหนึ่ง เห็นไหม ต่อสู้กิเลสเข้ามาเพื่อว่าเห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิดและการตายน่ะ
เกิดมาแล้วนี้แสนทุกข์แสนยาก ในเมื่อมีชีวิตอยู่ไปนี้ก็มีชีวิตอยู่ไปเพื่อเป็นปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย แต่หัวใจต้องพัฒนาขึ้นไปให้พ้นออกไป เพราะว่าเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบมรรคอริยสัจจัง เห็นไหม มรรคนี้เป็นเครื่องดำเนิน สุภัททะ เธออย่าถามให้เนิ่นช้าไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล สุภัททะนี้เป็นผู้ที่คงแก่เรียนมาในสมัยพุทธกาล เขาว่าอันไหนก็เยี่ยมอันไหนก็ยอด เชื่อเขาไปหมด เห็นไหม แล้วก็มีศาสนาพุทธเราด้วยอันหนึ่ง สุดท้ายแล้วคืนนี้คืนที่ว่าเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธเจ้าจะนิพพานแล้ว ถ้าไม่ถามคืนนี้หมดโอกาสแน่นอน
นี่ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนยันไว้ สุภัททะ เธอย่าถามให้เนิ่นช้าไป ศาสนาไหนไม่มีมรรค... เราอยู่ในศาสนาพุทธกัน เราตรึกเอา เราไม่เป็นมรรคเหรอ ทั้งๆ ที่อยู่ในพุทธศาสนา อยู่ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาวิปัสสนาไปไม่เป็นมรรคก็ว่าเป็นมรรค นั่นคือคบกับกิเลส นั่นคือคบกับความฟุ้งซ่าน นั่นคือคบกับสิ่งที่มันไม่ควรแก่การงาน เห็นไหม ผลของมัน โทษของมันก็ทำให้ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล
นี่เราคบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกสุภัททะแล้ว เราควรจะเป็นสุภัททะนะ เพราะสุภัททะคืนนั้น ได้บวชคืนนั้น แล้วพระพุทธเจ้าให้พระอานนท์บวชให้คืนนั้น จนสำเร็จเป็นสาวกพระอรหันต์องค์สุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วเราเป็นใคร เรามีชีวิตอยู่ เรามีทางเลือกอยู่ เราควรพร้อมอยู่ที่จะทำออกไปให้ได้ เราน่ะเรา เราไม่ใช่ว่านาย ก. นาย ข. ทุกคนนะ เราคือหัวใจทุกๆ ดวง หัวใจทุกๆ ดวงนั่นน่ะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไอ้ชื่อเสียงเรียงนามนี้พ่อแม่ตั้งให้หนึ่ง แถมออกมาแล้วก็ยังมาเปลี่ยน ไม่ถูกใจ เห็นไหม ไม่มีความหมาย สมมุติ
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นจะได้ชื่นชม จะได้ชมเชย จะได้เห็นธรรมในหัวใจของตัว จะได้เห็นจริงตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ก้าวเดินไปตามธรรมไง เห็นไหม เราต้องก้าวเดินไปแบบผู้ที่มีสติ ก้าวเดินแบบผู้ที่เชื่อครูบาอาจารย์ คบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ที่ยังไม่แน่ใจ ไว้ใจไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัย เห็นไหม ตำรามีอยู่ พระไตรปิฎกมีอยู่ เปิดค้นคว้าได้น่ะ เปิดค้นคว้า เปิดหาเอา นั่นน่ะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่กับเรา สดๆ ร้อนๆ นะ วิชาการนั้นเป็นวิชาการ แต่ถ้าเราสร้างขึ้นมาในใจเรา เราทำของเราได้ นั่นคือวิชาการของเรา คือรู้จริงแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้จริงแบบพระอัญญาโกณฑัญญะ รู้จริงต้องรู้อย่างนั้น รู้จริงคือสอนอวิชชา สอนความไม่รู้ในใจจนรู้เท่า เห็นไหม
เพราะใจมันไม่รู้ มันคืออวิชชา ถ้าสอนจนรู้ด้วยวิปัสสนาญาณ...ต้องเรา ต้องเรานะ ต้องใจดวงนั้นนะ ต้องผู้นั้นนะ ผู้นั้นสอนใจดวงที่มันโง่ๆ อยู่นี่ สอนดวงใจที่ไม่รู้ให้มันรู้ขึ้นมา นี่ถึงเป็นรู้จริงไง รู้จริงมันต้องรู้ตรงพื้นฐานของใจที่มันไม่รู้นั่นล่ะ สิ่งที่มันไม่รู้เพราะมันไม่รู้ธรรม แต่มันรู้แต่กิเลส มันถึงทำให้เราเจ็บปวดแสบร้อนอยู่นี่ ถ้ามันรู้จริงมันก็ต้องเข้าใจสิ
พอเข้าใจ อ๋อ! เมื่อก่อนทำไมโง่อย่างนั้นเนาะ ไอ้กิเลสมันก็มาจากเรานี่แหละ เรายึดเรามั่น มานะ ๙ เสมอเขา ดีกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา ทั้งๆ ที่ว่าสูงกว่าเขานะ สำคัญว่าตัวเองสูงกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา...มันจะมีคุณค่าอะไรน่ะ เขาก็คือเขา เราก็คือเรา ความเป็นจริงในหัวใจเรา มันรู้ตรงนี้มันก็หมดไง มานะ ๙ มานะมันสังโยชน์เบื้องบน เห็นไหม ถ้ารู้เท่ามันก็จบ
นี่ถึงว่า จริงๆ ที่มันทุกข์อยู่นี่ก็ทุกข์เพราะมันไม่รู้ ถ้ามันรู้แล้วมันสังเวชตัวเองนะ สังเวชมากๆ เลย ทำไมเมื่อก่อนของอย่างนี้ไม่รู้ เส้นผมบังภูเขา มันถึงว่าต้องใจดวงนั้นไง มันสำคัญตรงนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แล้ว พระอริยสาวกรู้ไปแล้ว (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)