ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เทศน์ที่ธรรมศาสตร์รังสิตครั้งที่๒ไฟล์๑

๑๑ เม.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์ที่ธรรมศาสตร์รังสิตครั้งที่ ๒ ไฟล์ ๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๑
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

 

ฟังเทศน์นะ เทศน์ก่อนแล้วเดี๋ยวจะตอบปัญหา วันนี้ทางราชการเขาให้เป็นวันสำคัญทางครอบครัว มีความสำคัญเพราะว่าเกิดในประเทศอันสมควร ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่แล้วจะเกิดมาจากไหน จิตนี้มันต้องเกิดตลอดเวลานะ ถ้ามีความสำคัญในครอบครัวเห็นไหม พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีความสำคัญ สายบุญสายกรรม ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่เห็นไหมเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศากยบุตร โคตรตระกูลไง ตระกูลชาวศากยะ

เราเป็นชาวพุทธ ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นโอรสเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเวลาบรรลุธรรมขึ้นมา บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นภิกษุ เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ ธรรมทำให้ใจออกจากกรงขังได้ ดูทางวิชาการนะ ในสมัยโบราณความเป็นอยู่ของมนุษย์เรา เราจะอยู่ตามธรรมชาติ เวลามีภัยแล้งขึ้นมาย้ายบ้านย้ายเรือนหนีนะ

แต่ในปัจจุบันนี้ทางวิชาการเจริญ ทางวิชาการเขาจะมีเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกได้ เราก็ไปติดกรงขังกันข้างนอกนะ เราว่าอันนี้อำนวยความสะดวก ในเรื่องของร่างกายเห็นไหม เรื่องของร่างกายคือความเป็นอยู่ ปัจจัยเครื่องอาศัย แต่มันก็เป็นความทุกข์ แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราจะพ้นออกไปจากกรงขังของใจเพราะใจเราโดนอวิชชาขังไว้เห็นไหม

เราถึงต้องมาเกิด พอมาเกิดก็เกิดในตระกูล เกิดในครอบครัวและในครอบครัวถ้าเป็นสัมมาทิฐิ ในครอบครัวนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข เราจะมีความสุขในครอบครัวนั้น ถ้ามีความสุขแล้วความสุขมันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากบุญกุศลนะ ถ้าไม่มีบุญกุศลเราควบคุมใจของเราก็ยาก แล้วเราจะไปควบคุมใจของคนในครอบครัว

แต่การครองเรือน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกการครองเรือนเป็นเรื่องแสนยากเพราะการครองเรือนคือการครองใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกการครองเรือนคือคลังครองใจนะ แต่การครองเรือนของเรา เราก็ดูแต่คนในครอบครัว ดูค่าใช้จ่าย ดูความเป็นอยู่ในครอบครัวเห็นไหม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ดูความรู้สึกของใจเรา ความรู้สึกของพ่อ แม่ ความรู้สึกของ ปู่ ย่า ตา ยาย ความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของคนในครอบครัว

ความรู้สึกมันควบคุมยาก มันมีความต้องการแตกต่างกันไป ความต้องการมุมมองการแสวงหาแตกต่างกันไปเห็นไหม สิ่งนี้มันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากผลบุญผลกรรมไง กรรมคือการกระทำ “กรรมนิยม” มันนิยมอะไร ในการกระทำ กรรมนิยมอะไร นิยมสิ่งที่มันพอใจเห็นไหม มันพอใจสิ่งใดมันก็ต้องการสิ่งนั้น สิ่งนั้นคืออะไรสิ่งนั้นถ้าเราต้องการเราแสวงหาเห็นไหม คือตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาความทะยานอยากคืออะไร ตัณหาความทะยานอยากคือ สมุทัย สิ่งนี้ใช่ไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนในอริยสัจนะ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์ละไม่ได้ ทุกข์ควรกำหนดเพราะทุกข์เป็นเหตุ เหตุให้มันเกิดทุกข์เห็นไหม ถ้าเราไปกำหนดที่ทุกข์เห็นไหม สิ่งที่เหตุ เหตุเพราะมันมีทุกข์ นี้ทุกข์ของเรามันเป็นอาการของทุกข์ ทุกข์เวลามันไม่พอใจมันก็ต้องการแสวงหาสิ่งที่มันจะพอใจ และมันไม่มีความพอใจตามสิ่งที่มันต้องการเห็นไหมมันก็เป็นทุกข์

ทุกข์มันก็ย้อนกลับไปที่สมุทัย สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก อยากผลักทุกข์อยากไม่ต้องการความทุกข์ อยากผลักมันออกไป ความทุกข์นี้อยากผลักมันออกไปด้วยความคิดของกิเลส โลกต้องเจริญเราต้องอำนวยความสะดวกกัน เพื่อจะพ้นจากทุกข์เพื่ออำนวยความสะดวกและมันหายทุกข์ไหม มันไม่หายทุกข์นะเพราะอะไร เพราะเอากิเลสแก้กิเลสไง

ทางวิชาการเห็นไหมเหมือนเราอยู่ในกรงขังของความรู้นะ ความรู้นี่มันขังเราไว้จะต้องเป็นสภาวะแบบที่ทางวิชาการที่เราศึกษามา ทางวิชาการที่เป็นวิชาชีพนะแต่วิชาชีพ ถ้าทางตลาดเขาไม่ต้องการ วิชาชีพนั้นมันจะมีประโยชน์อะไร เราเรียนมาทางสาขานี้แล้วทางตลาดแน่น ตลาดที่เขาไม่ต้องการ เราต้องเรียนสาขาอื่นนะ แล้วสาขาอื่นสิ่งที่โลกมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ลมการเมืองไง ลมเปลี่ยนทิศ กระแสของโลกเปลี่ยนทิศตลอดเวลา

แล้วเราก็ต้องให้ทันโลกนะ ถ้าเราจะทันโลกเราก็ต้องมีการศึกษาของเรา เราก็ต้องพยายามของเรา เพื่อให้ทันโลก แล้วโลกนี้มันอยู่กับที่ไหม โลกนี้เป็นอจินไตย โลกจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป แต่มันแปรปรวนมันเป็นอนิจจังเห็นไหม อจินไตย คือมันมีอยู่อย่างนี้ไม่มีวันที่สิ้นสุด ไม่มีวันสิ้นสุดหรอก มันจะแปรสภาพของมัน แปรสภาพนะทางเสื่อมสภาพ ความเสื่อมสภาพมันก็ไปถ่วงความเจริญอีกจุดหนึ่งเห็นไหม มันแปรสภาพของมันไปตลอดเวลา โลกนี้เป็นอย่างนี้ นี่โลกข้างนอกนะ

แล้วโลกข้างในที่มันขังเราไว้นะโลกทัศน์ภายในความรู้ภายในมันขังเราไว้ความรู้สึกความนึกคิดนะมันขังเราไว้ มันขังนะเพราะความรู้สึกนึกคิดไม่ใช่เรา มันเกิดดับๆ เห็นไหม ตัณหาความทะยานอยากมันเกิดดับ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาวางธรรมและวินัยไว้ให้เราก้าวเดินตาม ธรรมและวินัยศึกษาที่ไหน ศึกษาด้วยหัวใจนะแต่ทางวิชาการเรา

เราศึกษากันเห็นไหม เราศึกษาวิชาการแล้วเราพยายามจะทำ ทดสอบ ตรวจสอบ ทดสอบตรวจสอบให้มันเป็นไปอย่างที่เราต้องการอย่างที่เราปรารถนา ความปรารถนานะมันเป็นเรื่องอัตตา เรื่องอัตตานะเรื่องเป้าหมายที่มันต้องการ แต่ในอัตตาเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่อง อนัตตา เห็นไหมสิ่งที่มันแปรสภาพ มันแปรสภาพชีวิตก็แปรสภาพทุกอย่างแปรสภาพไม่มีอะไรคงที่เลย

แต่มันเป็นธรรมชาติของมัน เพราะไม่มีใครสนใจไม่มีใครแสวงหา มันอยู่จนชินความเคยชิน ความคุ้นชิน จนไม่เห็นคุณค่าของมัน เราไปสถานที่ใหม่ เราไปสถานที่แปลกนะ เราพบเห็นสิ่งใดมันเห็นแล้วมันพอใจเพราะมันเป็นของใหม่ แต่พอคุ้นชินกับมันเห็นไหมชินชา ความชินชาหน้าด้าน กิเลสมันหน้าด้าน พอมันหน้าด้านขึ้นมา มันคุ้นชินกับมัน มันไม่เห็นแล้วมันไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันไม่เห็นมันไม่เข้าใจ

แต่ถ้ามันไม่เห็น มันไม่เข้าใจเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นอดีตอนาคต แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามานะ จิตมันจะสงบเข้ามา มันมีเจ้าของมันเป็นผู้แสวงหา มันเป็นผู้กระทำ มันเป็นปัจจุบันมันใหม่ตลอดเวลาไง ธรรมะนี่สดๆ ร้อนๆ นะ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ดูสิทางโลกเขา สิ่งใดที่มันเป็นตกยุคตกสมัยนะมันจะไม่มีคุณค่าคนจะไม่สนใจคนจะไม่เห็นคุณค่าของมันเพราะมันตกยุคตกสมัย

แต่ถ้าเป็นปัจจุบันไม่ตกยุคตกสมัยเพราะมันไม่มียุคสมัย ยุคสมัยของธรรมนะทันสมัยตลอดเวลา ทันสมัยตลอดเวลาแต่เรามาล้าสมัย เราล้าสมัยเพราะเราเข้าไม่ถึงธรรม เราเข้าไปถึงอาการนะเราเข้าไปถึงวิชาการ แต่เราไม่เข้าไปถึงตัวจริงของธรรม ถ้าเข้าไปถึงตัวจริงของธรรมนะ ไม่ใช่กาลไม่ใช่เวลา ไม่มีกาลไม่มีเวลานะ กาลเวลานะสมมุติ สมมุติว่ามีจริง จริงตามสมมุติเพราะเราสมมุติเพื่อสื่อสารกัน

แต่ความเป็นจริงของมัน มันกินตัวมันเองตลอดเวลา มันเคลื่อนไปนะสิ่งที่เคลื่อนไปครอบครัวของเรา หมายถึงว่า ปู่ ย่า ตา ยาย สิ้นอายุขัยไปเราก็เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย ไปข้างหน้า แล้วก็จะมีลูกหลานขึ้นมา ก็เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย ไปข้างหน้า เป็นอย่างนี้ไปตลอดเวลา

วัฏฏะเป็นอย่างนี้ เวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้เห็นไหม เราอยู่ในครอบครัว นี่วันของครอบครัว ครอบครัวอยู่มีความสุขชั่วคราว ชั่วคราวคือคนในครอบครัวของเรานี่มีความสุขชั่วคราว แล้วเรารักษาของเรา เรารักครอบครัวของเรา เราศึกษาจริตนิสัยเห็นไหม เราจะต้องฝึกต้องฝนเด็กของเรา เราต้องหมั่นฝึกหมั่นฝนเขา ให้เขามีจุดยืนให้เขามีความคิดสิ่งที่ดีๆ ถ้าเขามีความคิดในสิ่งที่ดีๆ ความคิดดีๆ ศีลธรรมจริยธรรม มันขัดเกลาหัวใจไง

ทางวิชาการเห็นไหม เลิศทางวิชาการ ถ้าเลิศด้วยศีลด้วยธรรม เลิศด้วยธรรมเลิศด้วยคุณงามความดี มันก็เป็นความดี แต่ถ้าเลิศเห็นไหมความเลิศความแข่งขัน ความแข่งขันกันตะเกียกตะกายขึ้นมา เพื่อให้ได้สิ่งนั้น สิ่งนั้นพอมันเสมอกันหรือมันเป็นคู่แข่งขันกัน ถ้าเป็นธรรมเห็นไหม ธรรม เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราจะไม่จองเวรจองกรรมกัน

เราจะส่งเสริมกันเราจะดูแลรักษากันเพื่อสังคม เห็นไหมจิตใจเป็นสาธารณะไม่ใช่แข่งขันกันเพื่อเรา ถ้าเขาทำสิ่งที่ของเขามีคุณค่าที่ดีกว่า เราต้องยอมรับแล้วศึกษาเพื่อพัฒนาใจของเรา แต่ถ้าแข่งขันกันด้วยเล่ห์ด้วยกล มันเอาชนะกัน เอาชนะคะคานกัน ทางวิชาการเอาชนะคะคานกัน ศีลธรรมจริยธรรมมันไปไหน ศีลธรรมจริยธรรมถ้ามันเป็นศีลธรรมเห็นไหม ศีล ไม่มุสา ไม่ลักขโมยไม่สิ่งต่างๆไม่เอาสมบัติของเขามาเป็นของเรา

ถ้าเป็นวิชาการของเขา เขาคิดค้นของเขาขึ้นมาเราก็ต้องอนุโมทนาไปกับเขาแล้วเรามาศึกษาเพื่อมาต่อยอด เพราะทางวิชาการมันสิ้นสุดที่แค่ไหนล่ะ มันต่อยอดเราต่อยอดนะ แล้วร่วมกัน ทางวิชาการ เรารวมกันแล้วเราศึกษาค้นคว้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ของสังคม เพื่อสังคมจะได้ประโยชน์ ได้ปัญญา ได้ทฤษฎีอันนี้มาเพื่อต่อยอดกันต่อๆ ไป ไม่จบหรอกทางโลกนี้ไม่จบนะ มันจะค้นคว้าไปได้ตลอดเวลาไม่มีวันจบหรอก ทางวิชาการไม่มีวันจบหรอกโลกไม่มีวันจบ แต่ถ้าเป็นธรรมมันจบ จบที่ไหนจบที่มันรื้อค้นมันทำลายกรงขังของใจ

ถ้าใจยังมีกรงขัง ยังมีอวิชชาอยู่ มันจะต้องเกิดต้องตายตลอดไป แล้วการเกิดและการตายเห็นไหม ภพชาติมันซับซ้อนกันตลอดไป เราจะมาเกิดใหม่เกิดซับเกิดซ้อนถ้าเกิดมนุษย์เป็นมนุษย์เห็นไหม แต่ถ้าเราเกิดด้วยกรรม เกิดบนสวรรค์เกิดบนพรหม มันต้องเกิดตลอดเวลา พอเกิดตลอดเวลาเห็นไหมวัฏฏะ มันเป็นความจริงของวัฏฏะ

ดูกาลเวลาของวัฏฏะ ดูอย่างในโลกปัจจุบันนี้เห็นไหม ดูสัตว์สิพวกแมลงน่ะ ชีวิตของเขา ๗ วัน ๓ ปี ๗ ปี แล้วแต่ว่ากำหนดอายุขัยของสัตว์แต่ละประเภท ของเรามนุษย์ด้วยกัน ๑๐๐ กว่าปี ๕๐-๖๐ ปี ตั้งแต่ ๑๐ ปี ๒๐ ปีตายก็มี เห็นไหม กาลเวลาการเกิดและการตายมันทับซ้อนกันมาอย่างนี้ ถ้าเรามีอายุขัยสัก ๑๐๐ ปีเห็นไหม

ถ้าลูกเราเกิดมาถ้าอายุขัยน้อยกว่า เขาตายเกิดตายเกิดกับเราได้หลายรอบนะ ในวัฏฏะธรรมดา ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ของเขาเป็นหมื่นๆ ปีนะ วัฏฏะมันหมุนอย่างนี้แล้วทางวิชาการเรานะหมื่นๆ ปี ดูสิทางฟอสซิลต่างๆ ที่เขาเก็บมา ดูอย่างไดโนเสาร์เป็นล้านๆ ปี ๔๐ ล้านปี ๖๐ ล้านปี สิ่งนี้เวียนตายมา โลกเป็นอย่างนี้ๆ แล้วเราจะเกิดเวียนตายเวียนอยู่อย่างนี้ ชีวิตจะอยู่เป็นอย่างนี้

ถ้าเราทำลายกรงขังของหัวใจเราไม่ได้ กรงขังที่มันขังใจอยู่ ถ้ากรงขังอย่างนี้เราทำลายของเรา เราจะย้อนกลับมา ศีลธรรมจริยธรรมมันมีประโยชน์อย่างนี้ ทางวิชาการนี้เป็นทางโลกนะ โลกต้องเจริญโลกต้องมีการแข่งขัน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความสะดวกสบายในชีวิต เพราะเราสลดสังเวช ไปดูคนทุกข์คนเข็ญใจเราก็สังเวชเราก็สงสารเขา เพราะเขาต้องทนทุกข์ทนเข็ญใจ

เขาต้องลำบากลำบนของเขา เราก็อยากให้เขาสะดวกสบาย ความสะดวกสบายของเรา ดูสิเราไปเห็นสัตว์ เราไปเอามันมาขังไว้ สัตว์มันอยู่ป่าเป็นธรรมชาติของมันนะ เราไปสร้างกรรมเราไปเอาสัตว์มาขังไว้เพื่อจะอำนวยความสะดวกกับมันแล้วสัตว์มันมีความสุขไหม สัตว์มันอยากจะมีอิสรภาพของมันนะ มันไม่อยากอยู่ในกรงขังหรอก มันอยากจะมีอิสรภาพของมัน

แต่เราก็อยากให้มันสะดวกสบายอยากให้มันมีชีวิตที่ไม่ต้องทุกข์ยาก ไม่ต้องหาเหยื่อ หาอาหารของมัน เราจะเอาอาหารมาป้อนให้มันตลอดเวลา แล้วกลับมาดูมนุษย์ มนุษย์ถ้าอยู่ตามธรรมชาติ อยู่ในธรรมชาตินะเขาต้องหาอยู่หากินของเขาเป็นธรรมชาติ อาหารเป็นของจริงนะเงินเป็นของปลอม เงินกินไม่ได้แต่โลกให้คุณค่าของเงิน เงินนี่มีคุณค่ามาก มีคุณค่าเพราะเราวัดค่ากันเห็นไหม ความเจริญของโลก ค่าของเงินต่างๆ เราไปให้ค่าเงินกันเอง

แต่ความเป็นจริงนะอาหารมันเป็นความจริง เพราะมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่ให้เราดำรงชีวิต เหมือนกันแล้วทางวิชาการเห็นไหม ให้มันเจริญๆ เอามนุษย์มาขังไว้ดูสิ ตึกสูงๆ นะ กับฟาร์มสัตว์เลี้ยงมันต่างกันตรงไหน ไม่ต่างกันเลย มนุษย์นั้นเขาว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ มนุษย์นั้นเป็นผู้ที่ฉลาดเพราะเราไปติดในทางวิชาการของเราเอง วิชาการเพื่อความสะดวกสบาย เพื่อประโยชน์ทางโลก เพื่อประโยชน์กับชีวิต

แต่ชีวิตเราต้องอยู่ในวัฏฏะอยู่ในกาลเวลาอยู่ในการครอบงำของสังคม นี่ไง ถ้าเราอยู่ในสังคม สังคมคือสังคม ธรรมไม่ขัดแย้งกับโลกนะ ธรรมนี้ละเอียดอ่อนมากกว้างขวางมาก ธรรมนี้ไม่เคยขัดแย้งกับโลกเลย เพื่อความสะดวกสบายมันก็เป็นความสะดวกสบาย ถ้าใจเป็นธรรมเราก็ต้องอาศัยเห็นไหม เกิดมากับโลก เกิดมาจากพ่อแม่ร่างกายนี้เกิดมาจากพ่อแม่ แล้วพ่อแม่มีคุณค่าไหม มีคุณค่ามากเลย

ถ้าเราเกิดจากพ่อแม่เห็นไหม กรรมพันธุ์มันติดเรามา ถ้าพ่อแม่แข็งแรง พ่อแม่ไม่มีโรคมีภัยเราก็จะแข็งแรง ถ้าพ่อแม่มีโรคมีภัยกรรมพันธุ์ก็ติดเรามาเห็นไหม สิ่งที่ติดเรามาคือกรรมพันธุ์สิ่งที่ติดมากับกรรมพันธุ์ จิตมันเกิดมาตามสิ่งที่เป็นสายบุญสายกรรม ที่เราเกิดมานี่ ร่างกายนี้มาจากพ่อจากแม่ ร่างกายนะมันเป็นสมมุติไหม มันเป็นสมมุติเราต้องใช้ทางชีวิตนี้ไปไหม ต้องใช้ สิ่งต่างๆ นี่เป็นเรื่องของโลก

โลกคือต้องให้ชีวิตนี้ดำรงไป แต่ดำรงด้วยศีลธรรม ดำรงด้วยศีลธรรมคือมีปัจจัย ๔ ปัจจัยเครื่องอาศัย คนจะมั่งมีศรีสุข ทุกข์จนเข็ญใจนะ ก็ใช้ปัจจัย ๔ กินมื้อหนึ่งกินอิ่มหนึ่งความเป็นอยู่นะกับปัจจัยใช้สอยเท่านั้นแหละ เท่านั้นจริงๆ แต่ถ้าเราไม่ไปติดในสิ่งที่เป็นเรื่องของโลกเห็นไหม ชีวิตเรามันจะย้อนกลับมา มันมีเวลามาปลดกรงขังหัวใจ ถ้าปลดกรงขังหัวใจนะ กรงขังทางวิชาการ

ทางวิชาการเอาใจเรามาขังกันไว้ แล้วเราก็ติดมัน ติดในทางวิชาการกัน แล้วหัวใจเห็นไหมมันก็โดนอวิชชาขังไว้ ด้วยความขังไว้ของมัน แต่เราใช้ทางวิชาการทางโลกไปแก้มันไม่ได้ เทคโนโลยีนะดูสิแสงเลเซอร์ต่างๆ เวลาเขาผ่าตัดเห็นไหม เขาทำได้หมด แล้วเราจะเอาอะไรเข้าไปชำระใจ เอาอะไรไปแก้ไข เอาอะไรไปทำลายกรงขังหัวใจ ถ้าไม่เอาใจแก้ใจจะเอาอะไรไปแก้มัน ถ้าเอาใจแก้ใจแล้วเอาใจที่ไหนไปแก้มันเห็นไหม เวลาใจของเรานะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์ที่รู้จริง การประพฤติปฏิบัติเห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับฤๅษีชีไพรขณะศึกษากับฤๅษีชีไพรเห็นไหมอาฬารดาบสเวลาเข้าสมาบัติ ๘ เข้าสมาบัติจิตมันสงบไหม จิตมันสงบ แล้วสงบของมันเห็นไหมแต่จิตมันอยู่ข้างนอกๆ คือจิตมันเห็นสภาวะของความเป็นไปพลังงานของมัน แต่มันไม่เข้าข้างใน ไม่เข้าอริยสัจเห็นไหม จิตเวลามันสงบแล้ว มันยังมีจิตนอกจิตใน ถ้าจิตนอกมันก็รู้ไปตามธรรมชาติของจิต รู้ไปตามพลังงานเห็นไหม พลังงานทุกอย่างมันมีความร้อนของมันพลังงานต่างๆ มันใช้ประโยชน์ของมันได้

พลังงานของจิตโดยที่ไม่มีวิชาการของธรรม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเห็นไหม นี่เป็นศาสดา เมื่อเป็นศาสดาขึ้นมา ย้อนกลับขึ้นมาแล้ว ความรู้ต่างๆ ที่รู้ขึ้นมานี่ ส่งออกหมด! การส่งออกคือรู้เรื่องนอกๆ เรื่องของนอกๆ คือเรื่องของมิติ เรื่องของความเห็นของใจ ใจมันเห็นสิ่งต่างๆ มันไปรู้ความข้างนอกเห็นไหม มันเลยไม่เป็นสัมมาทิฐิ มันไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา มันจะย้อนกลับมาที่อริยสัจ อริยสัจมันอยู่ที่ไหนเห็นไหม อริยสัจคือจิตมันรู้ตัวมันเอง จิตมันรู้ตัวมันเอง ถ้าจิตมันรู้เรื่องนอกๆ จิตมันรู้ออกไปข้างนอก มันถึงปลดกรงขังของมันไม่ได้ เราจะชำระทำความสะอาดในบ้านเรือนของเรา เราอยากทำความสะอาดที่บ้านเรือนของเรา แต่เราไปทำความสะอาดที่บ้านเรือนของคนอื่นบ้านเรือนของคนข้างเคียง เพราะเราเข้าใจผิดเห็นไหม ถ้าทำความสะอาดบ้านเรือนของคนข้างเคียงแล้วบ้านเราจะสะอาด เพราะมันคือความเข้าใจผิด คืออวิชชา

จิตมันส่งออก ส่งออกก็ไม่ใช่ตัวมัน มันออกไปรู้ จิตออกรู้ จิตไปกระทำอยู่ข้างนอก พอจิตไปทำอยู่ข้างนอกมันทำความสะอาดตัวมันไหม มันเข้าถึงตัวมันไหม จิตมันไม่เข้าถึงตัวในของมัน จิตไม่ได้ทำความสะอาดในบ้านของตัวเอง จิตส่งออกไปข้างนอกไปทำความสะอาดข้างนอก หมายความว่ารู้นอก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ จิตสงบขนาดไหน เข้าสมาบัติขนาดไหน ก็แก้กิเลสไม่ได้ ทำลายกิเลสไม่ได้ เห็นไหม จนถึงปล่อยวางทางวิชาการต่างๆ ทางโลกทิ้งหมดเลย ทางวิชาการทางฤๅษีชีไพร ทางเจ้าลัทธิต่างๆ มันก็เหมือนทางวิชาการ ที่เราศึกษากันอยู่ เพราะอะไร เพราะศึกษาโดยกิเลส ศึกษาโดยเรา ศึกษาด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่รู้คิดว่ามันเป็นประโยชน์เห็นไหม เราตื่นเต้นไหม

ดูสิ พลังงานจะหมดไป โลกนี้ตื่นเต้นกันหมดเลย โลกนี้เป็นห่วงมากเลย ต้องหาพลังงานมาทดแทน เพราะไม่มีพลังงานจะอยู่กันได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกันในเมื่อจิตมันสงบเข้าไป มันเป็นพลังงานของจิต พอจิตสงบเข้าไปโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นสภาวะแบบนั้น เห็นไหมดูสิน้ำมันสิ่งต่างๆ พลังงานต้องหมดไป พลังงานทดแทน มันก็ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเห็นไหม

พลังงานลม พลังงานแสงแดด พลังงานต่างๆ มันก็ต้องมีเทคโนโลยีเพื่อมาจับเอาพลังงานนั้นมารวมตัวและนำมาใช้งาน จิตก็เหมือนกัน พอมันสงบตัวเข้าไป ทำสมาธิได้ขนาดไหน มันก็เป็นพลังงานอันหนึ่ง แต่พลังงานที่ส่งออก พลังงานข้างนอกทั้งหมดเลย พลังงานเราต้องหาตลอดเวลา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กับเรา จิตมันสงบเข้าไปมันก็เป็นธรรมชาติของมัน เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น

สิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของมัน เป็นธรรมชาติของโลก เป็นธรรมชาติของใจ แต่ไม่ใช่อริยสัจ! ไม่ใช่สัจจะความจริง! ไม่ใช่ธรรม! ขณะที่มันเป็นธรรมขึ้นมาเห็นไหม พอธรรมขึ้นมาสัมมาสมาธิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบมาหมดแล้ว ถ้ามันออกไปข้างนอกมันเป็นของใช้ มันเป็นอนิจจัง มันเป็นสิ่งที่อนิจจัง ที่มันต้องแสวงหา ต้องรักษาต้องถนอมรักษากันตลอดไป

แต่ถ้ามันรักษาตลอดไป แล้วมันได้ประโยชน์อะไรไหม มันก็เสื่อมไปเป็นธรรมดาเห็นไหม นี่กรงขังใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเห็นไหม มากำหนด อานาปานสติ ย้อนกลับเข้ามาที่ใจ พอใจย้อนกลับเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาถึงภายใน เวลามารู้ข้อมูลภายในเห็นไหม ข้อมูลภายในเราส่งออกไปอะไรต่างๆ มันเป็นสิ่งใดพอรู้ข้อมูลภายในมันไปเห็น บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อดีตอนาคต

บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทุกดวงจิตนี้มีนะ จิตมันมีที่มา จิตมันมีที่เกิดที่ตาย เราเกิดจากพ่อจากแม่ เกิดจากพ่อจากแม่นี่เกิดในชาติปัจจุบันนี้นะ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผลัดกันเกิดเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นญาติ ต่างๆ หมุนเวียนกันมาตลอดเห็นไหม เพราะจิตมันมาเกิดชาติเดียวที่ไหน เวลาเกิดนะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันย้อนอดีตไปเห็นไหม อดีตเฉพาะจิตดวงนั้นนะ

จิตของพ่อของแม่ก็เป็นจิตของพ่อของแม่ จิตของ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็เป็นจิตของ ปู่ ย่า ตา ยาย ขณะเกิดขึ้นมาก็เป็นจิตของเขา จิตของเขาจิตดวงเดียวน่ะเกิดตายๆ เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติตลอด แต่ขณะที่เราย้อนของเราเป็น บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันเป็นจิตของเรา เราย้อนข้อมูลของเราเห็นไหม ข้อมูลภายในมันยังเป็นอดีตอนาคต

คำว่าส่งออกๆ น่ะ เพราะไปรับรู้ข้างนอก แต่ขณะที่มันย้อนกลับมา ข้อมูลจากข้างใน ข้อมูลจากภายในแต่ถ้าพลังงานนี้มันยังไม่สมดุล ไม่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่มรรคสามัคคี ไม่รวมตัวมาเป็นพลังงานของตัวมันเอง มันจะมีพลังงานที่ข้อมูล ข้อมูลกับจิตเห็นไหม ตัวจิตคือตัวพลังงาน ภวาสวะตัวภพ ตัวใจเห็นไหม สิ่งที่มันโดนกิเลสขังไว้ มันขังไว้อย่างนี้ มันถึงต้องเกิดต้องตาย จริงๆ คือจิตเราเอง มันเกิดตาย มันมีพลังงานที่มันจะต้องมีแรงขับอวิชชาไปเกิด

แต่ในเมื่อมันเกิด มันเกิดในตัวมันเองเป็นโอปปาติกะ เป็นอินทร์ เป็นพรหมนะมันเกิดโดยกรรม เกิดในสังคมมนุษย์นี่ มันเกิดโดยสายบุญสายกรรม สายบุญสายกรรมสายบุญของพ่อของแม่กับสายบุญของเราเห็นไหม สายบุญสายกรรมๆ เพราะมันเกิดมามันมี ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แต่เวลาเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนี่ พลังงานเฉยๆ มันเกิดเป็นทิพย์ เกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดได้โดยไม่มีพ่อมีแม่มันเกิดได้เอง เกิดด้วยกรรมเห็นไหม สิ่งนี้ย้อนกลับเข้ามา

ถ้ามันเป็นพลังงานอย่างนี้ มันยังพาเกิดพาตายด้วยอวิชชาด้วยพลังงานเห็นไหม ย้อนกลับมาเป็น อาสวักขยญาณ มันเตือนหัวใจเห็นไหม ทำลายกรงขัง ทำลายกรงขังของใจ ถ้าใจมันพ้นจากกรงขังไปแล้วเห็นไหม พอพ้นจากกรงขังไป มันก็มี สอุปาทิเสสนิพพาน จิตก็ยังเหมือนเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด แต่มันไม่มีสิ่งใดๆ ขังมันไว้ไง ถ้าสิ่งใดไม่มีขังไว้เห็นไหม อยู่ในร่างของมนุษย์ ก็ไม่มีกิเลส ไม่มีกรงขัง

เราถึงบอกอยู่ในสังคม อยู่ในทางวิชาการ ทางวิชาการก็คือวิชาการ ในทางต่างๆ ที่มันขังสัตว์โลกไว้สัตว์โลกหมุนเวียนตายเวียนเกิดไป แต่เวียนตายเวียนเกิดกับผู้ที่ติดที่ข้องมันอย่างหนึ่ง กับเวียนตายเวียนเกิดโดยถึงที่สุดเห็นไหม ถึงที่สุดเราทำลายกรงขังของใจแล้ว เราจะไม่ต้องเวียนไปกับมัน เราจะเห็นสภาวะตามความเป็นจริงของมัน เห็นสภาวะตามความเป็นจริงของวัฏฏะ เห็นสภาวะตามความเป็นจริงของสิ่งที่มันเป็นอนิจจัง มันจะเวียนไปตามธรรมชาติอย่างนั้น

แล้วถ้าคนไม่เห็นเห็นไหม วัฏฏะ วิวัฏฏะในเมื่อจิตมันยังไปในวัฏฏะ มันก็ต้องหมุนไปตามวัฏฏะ หมุนไปตามแรงเหวี่ยง มันยังมีแรงเหวี่ยงของมัน มันยังมีอวิชชาของมัน มันจะหมุนไปตามแรงเหวี่ยงของมันเห็นไหม แต่ถ้ามันทำลายพลังงานนั้นหมด มันไม่มีตัวต้นกำเนิดของพลังงานแล้วตัวแรงเหวี่ยงของพลังงานที่เกิดมันก็ไม่มี สิ่งที่ไม่มีเห็นไหมมันจะพ้นมันออกไป ถ้าพ้นออกไปอย่างนี้มันมีอยู่ที่ไหน มันมีอยู่ในศาสนาพุทธของเรา

พุทธศาสนา “พุทธะ” คือผู้รู้ ผู้รู้คือตัวศาสนาของใจ ศาสนานี่ค้นได้ด้วยหัวใจ ค้นได้ด้วยความรู้สึก ความรู้สึกเห็นไหม มันจะย้อนกลับเข้ามาทันความรู้สึกของตัวเองทำลายความรู้สึกของใจ ภาชนะที่ค้นคว้ากันนะ เราไปศึกษากัน ศึกษาทางวิชาการนะศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาสิ่งต่างๆ ศึกษาอย่างนี้ มันก็ศึกษาวิชาการ ก็ศึกษาโดยข้างนอกไง จากภายนอกนะแล้วค่อยฝึกหัดไปประพฤติปฏิบัติเห็นไหม

ปริยัติต้องมีปฏิบัติ พอมาปฏิบัติ ปฏิบัติการทดสอบ การฝึกงาน ถ้าฝึกงานนะถ้าเป็นเข้ามาเห็นไหม การฝึกงาน งานนี้เป็นของเราหรือเปล่า ถ้าฝึกงานเห็นไหม ฝึกงานโดยความคิด ถ้าฝึกงานโดยความคิดนะมันจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ความคิดจะเห็นความถูกความผิด ความทำแล้วสมประโยชน์ไม่สมประโยชน์เห็นไหม แล้วมันจะทดสอบกับใจตัวเอง

ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำอีกเพราะอะไร เพราะมันติด มันติดมันเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นความจริงไง สิ่งสภาวะที่เราพบเราเห็นนั้นเป็นความจริง การฝึกงานว่าเป็นงานของเรา คำว่าฝึกงานไม่ใช่งานของเรา เราฝึกงานจนจิตมันเห็นถูกเห็นผิด เห็นถูกเห็นผิดเห็นไหมมันจะหดย่นเข้ามา กายนอกกายใน กายในกาย ในการวิปัสสนาก็เหมือนกัน มีแต่กายนอก การฝึกฝนจากข้างนอก การฝึกฝนจากข้างใน

แล้วการฝึกฝนจากข้างในนะความเห็นมันคลายตัว คลายตัวนะถ้ามันรู้มันเป็นจริงนะมันจะคลายตัวของมันเห็นไหม ถ้าคลายตัวเวลาชำระกิเลส กิเลสขาดดั่งแขนขาด เราทำความสะอาดนะ ภาชนะของเราสกปรก ถ้าเราทำความสะอาดขึ้นมานี่ ภาชนะเราสะอาด สิ่งที่สกปรกออกไป เราเห็นชัดเจนมากเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเราเวลากิเลสมันขาดออกไป มันมีเหตุมีผลของมันนะ จะต้องมีสิ่งใดขาดออกไปจากใจ

ในการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี้บอกไม่ต้องขาดแค่เรารักษาแค่เราดูแลใจแค่ใจมันสงบนี่ก็คือผลงานความสงบของใจเรานอนหลับมันก็สงบนะเราทำอารมณ์เราสบายๆ มันก็สบายใจนะ ยิ่งถ้ามันต้องการสิ่งใดมาปรนเปรอมันก็พอใจมันเหมือนกัน เห็นไหม ด้วยความเข้าใจของเรากันเอง ว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ทำลายมันไม่ได้ ถ้าจับต้องไม่ได้ทำลายไม่ได้ อะไรคือกรงขังมัน

แล้วเวลาทำลายกรงขัง แล้วอะไรที่มันหลุดรอดออกไป สิ่งที่มันหลุดรอดออกมาจากกิเลส คือความรู้สึกที่มันโดนอริยสัจทำลายแล้ว สิ่งที่มันหลุดรอดออกมามันคืออะไรสิ่งที่ทำลายกิเลสแล้ว มันเหลืออะไร อะไรที่มันเหลืออยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔๕ ปี เทศน์นาว่าการงานอะไร

๔๕ ปีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเผยแผ่ธรรมนั้น วางธรรมไว้ในโลกเรา ที่เหลือนั้นคืออะไร มันรู้มันเห็นของมันการทำลายกรงขัง ถ้าเราอยู่ในครอบครัว วันสำคัญทางครอบครัว เราก็ต้องรู้ มีคนดีนะ มีความกตัญญูกตเวทีเราได้น้ำได้ข้าวจากใครมื้อหนึ่ง เรายังคิดถึงบุญกุศลเขาเลย ยังคิดถึงบุญคุณของเขา แล้วเราเกิดจากพ่อจากแม่เราจะไม่รู้จักบุญคุณของพ่อของแม่เชียวหรือ

แล้วที่พ่อแม่กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงเรามา ทางความเป็นอยู่ การศึกษาเล่าเรียนการส่งเสริมมา ให้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นมา แล้วเราก็จะเป็นพ่อเป็นแม่ต่อไป แล้วเราก็จะมีลูกมีเต้าต่อไป ตระกูลมันเป็นอย่างนั้น กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องแสดงออกของคนดี ถ้าคนดีนะมันจะรู้จักบุญจักคุณ ถ้ารู้จักบุญจักคุณเห็นไหม มันจะรู้จักบุญจักคุณของศาสนา เพราะศาสนาเราเกิดในสังคมไทย

สังคมไทยพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีศาสนาประจำชาติให้เรื่องการเสียสละ ให้รู้ถึงเรื่องอภัยต่อกัน ให้เรื่องทาน ให้เรื่องทางสิ่งที่เป็นเมตตา ทำให้สังคมเรานี่ ใช่! เราอยู่ในสังคม เราก็เบื่อหน่าย ทุกคนก็ต้องเบื่อหน่ายเพราะว่าสังคมเดี๋ยวนี้ มันเรียวแหลมลง ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนคนยังมีเมตตามากกว่านี้ ดูสิ เดินไปตามบ้านเรือนนะจะมีน้ำตั้งไว้หน้าบ้านเขาอยากจะให้ทานกันเพราะว่าอะไร

สมัยพุทธกาลนะผู้ที่มีใจเป็นธรรมเขาจะมีโรงทานเขาจะมีสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์กับสังคมเห็นไหม คนเรานะมันถึงคราวตกทุกข์ได้ยาก คนมั่งมีศรีสุขขนาดไหน เรานะมีเงินเต็มธนาคารเลย เรามีเงินมหาศาลเลย เราไปในสถานที่ไม่มีอาหารอยู่ เงินเรากินไม่ได้หรอก เขายังเจือจานเราได้เห็นไหม เวลาเราตกทุกข์ได้ยากมันมี เวลาคนของเรามันตกทุกข์ได้ยาก บุญกุศลมันจะช่วยผ่อนคลายช่วยซับให้เรา มีโอกาสผ่านพ้นไปได้

สิ่งที่เราเกิดมาในสังคมไทยเห็นไหม สังคมไทยสังคมของพุทธศาสนา คุณของศาสนามันอยู่ที่สังคม เขาดูแลเจือจานกัน ความดูแลเจือจานกัน มันออกมาจากใจนะไม่ใช่ออกมาจากกฎหมาย ไม่ใช่ออกมาจากการบังคับ ออกมาจากหัวใจ ออกมาจากความเมตตาธรรม เมตตาในหัวใจเห็นไหม นี่คือสังคมไทยสังคมพุทธ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ศาสนาประจำชาติมันเป็นการหล่อเลี้ยงสังคมให้เข้าหากันเห็นไหม

สิ่งที่จะเป็นโลกก็เป็นโลก เป็นครอบครัวก็เป็นครอบครัว เป็นเรื่องของพ่อของแม่ของลูกเห็นไหม สิ่งนี้ทำให้กันด้วยความรัก ความรักของพ่อของแม่ รักด้วยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน ไม่มีหรอกรักด้วยสิ่งที่มีการตอบแทน สิ่งที่แสวงหาแต่ทางโลกๆ ก็เป็นสภาวะแบบนั้นนะ

แล้วถ้ารักในตัวเองล่ะ รักตัวเองนะทำตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จหมายถึงความตั้งเป้าหมายแล้วพยายามทำให้ถึงเป้าหมายนั้น ถ้าเราทำถึงเป้าหมายนั้น เป้าหมายของเรามันเป็นความเพียรชอบนะ ถ้าเราคิดกันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง เราเป็นคนดีเราจะถึง ปรมัตถธรรม เราจะปล่อยวางโดยที่ไม่ทำสิ่งใดๆ เลย

พระเรานี่นะ เวลาอยู่วัดเวลาออกประพฤติปฏิบัติน่ะ นั่งกันนะนั่งสมาธินั่งตลอดรุ่ง อดนอนผ่อนอาหาร สิ่งนี้ปล่อยวางไหม ถ้าเรามองไปทางโลก นี่เป็นอัตตกิลมถานุโยค นี่เป็นการทำตนให้ลำบาก แต่ไม่ได้คิดหรอก คนเรานี่นะเกิดมา มีกิเลส กิเลสนั้นมันเห็นแก่ตัว ฉะนั้นการเห็นแก่ตัว มันก็ต้องการความสะดวกสบายของมัน แล้วเวลาศึกษาธรรมมา มันบอกว่าสิ่งนี้คือการปล่อยวาง การปล่อยวางโดยที่ไม่มีเหตุมีผลเห็นไหม

แต่ถ้าเราพยายามของเรา ความเพียรชอบ งานชอบ การปล่อยวางอย่างที่ว่านะมันต้องมีการกระทำกัน มันต้องมีสิ่งที่ อริยสัจ มรรคญาณ รวมตัวเข้ามาแล้วทำลายอย่างไรแล้วมีสิ่งใดหลุดออกไปมีการทำกันอย่างไร การปล่อยวางโดยสัจจะความจริงมันปล่อยวางแล้วมันปล่อยเลย ปล่อยเลยนะเป็น อฐานะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์ มันเป็นจริงๆ จิตมันเป็น เป็นเลย

เป็นพระโสดาบันแล้วไม่มีการเสื่อมคายเป็นอฐานะไม่มีการเสื่อมแล้วเป็นพระโสดาบันนี่นะทางวิชาการความรู้ของพระโสดาบันนี่ ใครถามให้ถามมา เป็นพระเป็นพระโสดาบันได้ยังไง เป็นพระสกิทาเป็นพระอนาคาเราเป็นเอง

เราเป็นคนที่กินอาหารเอง เราเป็นคนที่ประกอบอาหารเอง เขาถามมาแล้วเราตอบเขาไม่ได้นี่ เราทำอาหารได้จริงหรือเปล่า ทำไม่ได้หรอกเห็นไหม มันถึงเป็นอฐานะ มันเป็นที่หัวใจ จะไม่มีวันลืมนะ ทางวิชาการเราศึกษาขนาดไหนนะ เวลาเราไม่ได้ใช้เราก็ลืมนะ นักกฎหมายเขาต้องฟื้นฟูตลอด เขาต้องดูแง่มุมกฎหมายออกมาใหม่ๆ ตลอด เพราะอะไร ถ้ากฎหมายใหม่ออกมาต้องศึกษาทันที เพราะเขามีวิชาชีพของเขา ต้องศึกษาตลอด

ถ้ามันเป็นความจริงไม่ต้องศึกษาขณะที่ศึกษานี่เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติยังศึกษาอยู่ แต่ถ้ามันเป็นจริงนะเวลามาว่าจริงๆ ขึ้นมาเป็นอฐานะ อฐานะที่ไม่มีการเสื่อมสภาพ สิ่งที่เป็นนามธรรม แก้ว แหวน เงิน ทอง เพชรนิลจินดา มันยังสึกกร่อนมันยังกัดกร่อนตัวมันเองตลอดเวลา สิ่งที่เป็นโสดาบัน สกิทาคา อนาคาสิ่งนี้คงที่ สิ่งที่เป็นนามธรรมคงที่ คงที่แบบธรรมนะไม่ใช่อัตตา

ถ้าเป็นอัตตานะ อัตตาคือกิเลส อัตตาคือตัวตน อัตตาคือความอหังการ อัตตาคือสิ่งที่ไม่ยอมใคร แต่ถ้าเป็นธรรมะมันไม่มีภวาสวะ มันไม่มีตัวตน มันไม่มีสิ่งที่เป็นอัตตาสิ่งที่ตั้ง สิ่งที่ตั้งนะความคิดทิฐิมานะตั้งอยู่บนภวาสวะ ตั้งอยู่กับความรู้สึกของเรา และมันไม่มีความรู้สึกใดๆ เลย แล้วมันตั้งอยู่บนอะไรๆ มันไม่มีภวาสวะมันไม่มีรายละเอียดอะไรเลย มันต้องศึกษาธรรมะ ธรรมะละเอียดอ่อน ธรรมะลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งมากๆ

ศาสนาพุทธ ถ้าทำสิ่งนี้ได้เราแก้ไขของเราได้นะเห็นไหม มันถึงว่าเป็นความเพียรชอบ ถ้าความเพียรชอบที่เกิดขึ้นมาแล้ว ความเพียรของเรามันทำเป็น มรรคญาณ เข้ามาวนเข้ามา วนเข้ามาเป็นปัญญานะมันจะต้องลงทุนลงแรง สติก็ต้องเป็นสติจริงๆ สมาธิก็ต้องเป็นสมาธิจริงๆ คำว่าปัญญาจริงๆ คือปัญญาอะไรปัญญาก็ต้องเป็นปัญญาจริงๆไม่ใช่เป็นปัญญาที่จำมา ไม่ใช่เป็นปัญญาที่จินตนาการ ไม่ใช่ปัญญาที่เราใช้กัน

เพราะปัญญาอย่างนี้มันเกิดมาจากตัวตน มันเกิดมาจากฐานของความรู้มันเกิดมาจาก ภวาสวะมันเกิดมาจากภพ มันเกิดมาจากเจ้าของ มันเลยมีอวิชชาสอดเข้ามา อวิชชามันสอดเข้ามามันเลยทำให้สิ่งนี้ไม่เป็นกลางไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทามันถึงต้องใช้สัมมาสมาธิ สัมมาสติ แล้วก็พยายามฝึกฝนใคร่ครวญเพราะมันต้องติดมาก่อนนะ ถ้าเราไม่รู้ว่าเราโดนอะไรขังเราอยู่นี่ เราจะไปปลดกรงขังจากใจเราได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่รู้ว่าเราติดคุกกี่ปี เรามีสถานะอะไรที่เราต้องรักษาของเรา แล้วเราจะปลดได้อย่างไร

นักโทษนะ ๖ เดือน ๑๐ ปี ๒๐ ปีเห็นไหม เขายังรู้กำหนดโทษของเขา แล้วเราไม่รู้เลยว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน แล้วมันติดอะไร ศึกษาธรรมะก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะเป็นธรรมชาติ ชีวิตคู่ก็เป็นธรรมชาตินะ การเกิดและการตายก็เป็นธรรมชาตินะ คนเกิดคนตายเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของสมมุติไง มันไม่เป็นธรรมะเหนือโลก ถ้าเป็นธรรมะเหนือโลก มันจะเห็นของมันเห็นไหม

เห็นกิเลสมันคืออะไร กิเลสมันอยู่ที่ไหนเห็นไหมถึงไม่ใช่ปัญญาโดยจินตนาการ ไม่ใช่เป็นปัญญาโดยสมมุติ แต่ปัญญาจริงๆ มันเกิดอย่างไร ปัญญาจริงๆ มันเป็นอย่างไร ปัญญาจริงๆ คือโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่จะพ้นออกไปจากโลก ออกไปจากวัฏฏะ ออกไปจากกรงขังของใจ ถ้าใจมันทำลายกรงขังแล้วความสุขของใจนะโลกนี้อยู่กันไปอย่างนี้

ถ้าทำใจได้ขนาดไหนมันก็วิตกกังวล เวลาจะสิ้นสุดกัน เวลาจะพลัดพรากจากกัน เวลาเราจะต้องตายจากกัน ตายจากกันคือกายกับใจนี้ต้องแยกออกจากกันไม่ใช่เรื่องของครอบครัวไม่ใช่เรื่องข้างนอกหรอก เวลาตายนะเริ่มต้นก่อนตายจะคิดถึงครอบครัวถึงลูกถึงต่างๆ ในครอบครัวของเรา แต่ถึงที่สุดแล้วนะ ระหว่างที่กายกับใจมันจะแยกจากกัน มันจะคิดถึงเรากับเรา เรากับเราทั้งนั้น

ความคิดมันจะหดสั้นเข้ามาๆ ถึงที่สุดแล้ว เราจะไปไหน เราจะไปอยู่ภพไหน เราจะไปอยู่ไหน แต่ถ้ามันยังไม่เข้าถึง หดสั้นเข้ามาถึงตัวใจนะ มันจะคิดถึงคนรอบข้าง คิดถึงทั่วๆ ไปเลย เป็นห่วงคนนั้นเป็นห่วงคนนี้ เป็นห่วงไปหมดเลยเห็นไหม แต่ถึงที่สุดแล้วนะ มันจะหดสั้นเข้ามาเพราะห่วงมันก็คือเรื่องกับเขากับเรา ไม่ใช่ ไม่ใช่ที่เราจะช่วยเหลือเจือจานกันได้ แค่ปลอบประโลมกันทั้งนั้นแหละ

แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วนี่ ผลของเราคือบุญกรรมที่เราสร้างถึงที่สุดแล้วระหว่างกายกับใจที่มันแยกออกจากกัน ชีวิตนี้คือการพลัดพรากเป็นที่สุด แต่เป็นภพเป็นชาติ แต่ถ้าทำลายกรงขังของใจนะ ชีวิตนี้คือไออุ่น ชีวิตนี้คือพลังงาน ชีวิตนี้คือตัวภพจะโดนทำลายทั้งหมดไม่มีสิ่งใดๆ เลย แต่มี เพราะทำลายกรงขังของใจแล้วเห็นไหม

เกิดจากครอบครัวนะ เกิดจากวันครอบครัว ชีวิตนี้เกิดจากพ่อจากแม่ เกิดมาจากพ่อจากแม่ถึงได้มีชีวิต แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วเราถึงต้องศึกษา แล้วศึกษาแล้วเราถึงย้อนกลับมาที่ใจของเรา เราจะมาแก้ไขกันที่ใจของเรา ถ้าใครเข้ามาแก้ไขที่ใจของเรา มันต้องเห็นถึงแก้ได้ ถ้าเราไม่แก้ไขที่ใจของเราไม่ไปดูที่ใจของเรา เราจะแก้ไขสิ่งใดๆไม่ได้เลย เพราะสิ่งข้างนอก สิ่งที่เราศึกษากัน มันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมมันไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามสภาวะของมันอย่างนี้

แต่ใจของเราเอง เรื่องส่วนตัวของเรา เราควบคุมใจของเราเอง แล้วเราทำลายใจของเราเอง เราทำได้ เราทำได้นะ ถ้าใครมีความสนใจแต่ที่ไม่สนใจกันเพราะเราต้องการกันแต่สิ่งที่มันเป็นวัตถุ สิ่งที่มันคำนวณได้สิ่งที่คนเห็นสมบัติของเราได้ แต่ไม่มีใครรู้เลย ว่าสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คำนวณไม่ได้นะ สมาธิจะหยาบจะละเอียด คำนวณไม่ได้ ปัญญาหยาบปัญญาละเอียด ปัญญาละเอียดสุดจากหัวใจ ใครคำนวณไม่ได้

แต่ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ทำด้วยกันคำนวณได้ ธรรมต่อธรรม คำนวณกันรู้เรื่อง ธรรมต่อธรรม สัมผัสสื่อสัมพันธ์กันได้ ถ้าสื่อสัมพันธ์กันไม่ได้ ระดับโสดาบัน ระดับสกิทาคา ระดับอนาคา ระดับสิ้นกิเลส เขาสื่อกันอย่างไร เขารู้กันอย่างไร สื่อได้ รู้ได้ แต่เฉพาะผู้ที่รู้จริงเท่านั้น แต่ขณะการกระทำของเรานี่ เรากระทำจากข้างนอก มันต้องให้ละเอียดรอบคอบเข้ามา ถึงภายในนะ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

เพราะเกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนาแล้วเราได้ทำใจของเรา เป็นตัวศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมอยู่ที่ใจ ศึกษาข้างนอกนะ เวลามันซึ้ง มันซึ้งใจมันกินใจนะ น้ำหูน้ำตาไหลนะ แต่ขณะที่มันกระเทือนหัวใจนะ โลกธาตุหวั่นไหว จิตนี้จะไม่มาเกิดอีก โลกธาตุนี้หวั่นไหวเราอยู่ในฤดูกาลเห็นไหม เวลาเกิดพายุ เกิดลมฝน ดูสิ มันหวั่นไหว มันสะเทือนโลกเห็นไหม

เวลาแผ่นดินไหว โลกธาตุนี่ไหว แล้วเราได้อะไร เรามีแต่ความเสียหาย บ้านเรือนทำลายหมดเลย เรามีแต่ความเสียหายแต่ขณะที่จิตใจมันหวั่นไหว มันทำลายของมัน ธรรมสังเวช มันสะเทือนหัวใจ ครืน! ครืน! ครืน! นะ จนสิ่งที่อยู่ในใจ มันโดนทำลายหมด เราทำลายกรงขังของมัน แล้วเราจะเป็นเจ้าของธรรม ธรรมะส่วนบุคคลนะ โสดาบันของใครก็เป็นของบุคคลคนนั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ พยายามเรียกร้องไว้เห็นไหม

“อานนท์เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปนะ เราเอาแต่ของส่วนตัวเราไป ธรรมที่เราแสดงไว้จะเป็นศาสดาของเธอ”

แล้วใครเข้าถึงจุดเป้าหมายเห็นไหม เวลาพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร จะมาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรินิพพาน องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าบอกว่า

“เธอจงสมควร ให้เห็นแต่ความสมควรของเธอเถอะ”

จงเห็นแก่ความเหมาะสม สมควรไงไม่มีอดีตอนาคต ให้เห็นตามแต่กาลเวลาของใจดวงนั้นเห็นไหม พระอรหันต์กับพระอรหันต์คุยกันนะ ไม่มีอดีตอนาคตเข้ามาเจือปน

“เธอจงเห็นแต่ความสมควร ตามเวลาที่สมควรเถอะ”

สมควรก็มันสิ้นสุดที่ไหนก็ที่นั่น พระอรหันต์ สมบัติส่วนตน สมบัติของพระโมคคัลลานะ สมบัติของพระสารีบุตร สมบัติของพระสีวลี สมบัติของพระอานนท์ ต่างองค์ต่างสมบัติของใจ เราก็มีหัวใจ สมบัติของเรามันควรอยู่ที่นี่ สมบัติของเราไม่ใช่อยู่ที่สถิติ อยู่ที่ทะเบียน อยู่ที่เราจดทะเบียนไว้ เห็นไหม ใครมีมากมีน้อย สมบัติของเราอยู่ที่ใจ ถ้ามันแก้ไขใจได้ มันปลดกรงขังที่ใจได้เห็นไหม เราจะไม่ติดสิ่งใดๆ เลย จะเป็นประโยชน์ของเรา เอวัง

เข้าคำถามมาเลยถ้ามีคำถามเราตอบได้สบายๆ ไปได้ทั้งวัน ถ้าให้พูดคนเดียวพูดได้นะ ถ้าพูดไปเรื่อยๆ แต่ผู้มาใหม่มันจะเมื่อย แต่ถ้าเป็นคำถามมันสนุกกว่า แต่ถ้าเราพูดมันก็ธรรมะนี่แหละไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีประเด็นคนถาม เหมือนหมอตรวจอาการ ตรวจร่างกาย ไม่เป็นโรค ถ้าบอกเป็นโรคนี้ปั๊บ หมอก็ลงเฉพาะโรค แต่เราจะเห็นจะเจอโรคเอง

มันมีคนเคยถามเวลาเราเทศน์นี่ ว่าอุเบกขาเป็นธรรม เราบอกไม่ใช่! อุเบกขาไม่ใช่ธรรมๆ อุเบกขาก็คืออุเบกขา มันมี ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา มันมีอุเบกขา อุเบกขามันจะเอียงข้าง อุเบกขาคือตัวภพเลย ตัวภพคือตัวความรู้สึกเหมือนเราปล่อยวาง ตัวปล่อยวางตัวอยู่เฉยๆ คือตัวอุเบกขา แล้วตัวอุเบกขามันจะเป็นธรรมได้ไง แต่ความเข้าใจของคนว่าอุเบกขานี้เป็นธรรม

ถ้าอุเบกขาขาดสตินะคือตัวไม่รู้เลยล่ะ อุเบกขาถ้าเราไม่มีสติมันก็เหมือนคนเหม่อ คนไม่รับรู้อะไรเลย ถ้าประสาเราก็พวกอัมพฤกษ์อัมพาตนี่เฉย แต่จริงๆ ใจมันเป็นอย่างไร ใจทุกข์ร้อนมากนะ แต่ร่างกายไปไม่ได้ ทีนี้อุเบกขามันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ อุเบกขาเป็นความรู้สึก เป็นจิตไง แต่อุเบกขามันจะเอียงไปสู่ความสุขความทุกข์นะ ถ้าสิ่งที่พอใจมันก็เอียงไปสุข ถ้าสิ่งที่ไม่พอใจมันก็เอียงไปทุกข์ ตัวอุเบกขานี่

เขางงเลยนะ เขาเข้าใจว่าอุเบกขานี้เป็นธรรม อุเบกขานี้คือตัวปล่อยวาง อุเบกขานี้ไม่ใช่ ทีนี้ย้อนกลับมาตรงนี้ ย้อนกลับว่าโดยสามัญสำนึก มันต้องปรุงแต่งใช่! โดยสามัญสำนึกคนต้องปรุงแต่ง ถ้าพูดถึงเห็นไหม เราเป็นหมอ หมอที่ไปตรวจร่างกาย เวลาพูดมันก็วนอยู่ในนี้ วนอยู่ในนี้หมายถึงว่าอาการมันจะเกี่ยวเนื่องกัน ไอ้เรื่องที่ถามมานี่ เรื่องดูจิต ดูปัญญา โดยธรรมชาติมันปรุงแต่ง โดยธรรมชาติของจิต

จิตนี้คือธาตุรู้ ธรรมชาติของธาตุคือตัวรู้ จิตนี้เหมือนกาว เหมือนกาวเหนียววางอะไรไม่ได้เลยติดหมด จิตนี้เหมือนกาวอะไรที่มันพอใจไม่ได้เลยติดทันทีเลย มันจะดูดเข้าเลยแหละมันไปแปะอะไรไม่ได้เลย มันติดเข้าเลย อันนี้ธรรมชาติมันผู้รู้ ผู้รู้มันคิดตลอดเวลา มันต้องปรุงแต่งโดยธรรมชาติของมัน แต่มันปรุงแต่ง คำว่าตลอดเวลา ถ้ามันมีความรู้สึกเฉยๆ นะ แต่มันเหนื่อยมันล้ามันเพลีย มันหยุดของมันเอง

เราคิดๆ ไปนี่ ดูสิ เวลาเราทำงานเราเครียดบางคนพยายามจะให้หลับให้นอน แล้วนอนไม่หลับโรคที่นอนไม่หลับ เป็นเพราะอะไร นี่โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะธรรมชาติพลังงานมันต้องมีพลังงานตลอดเวลา แต่กิเลสตัวขับตัวเร้า ถ้าสิ่งที่มันไม่ชอบเห็นไหม ที่มันไม่ชอบมันไม่พอใจ กระตุ้นให้คิดมันก็ไม่คิด

แต่ถ้าอะไรที่มันถูกใจนะ ไม่ต้องใช้ให้มันคิดหรอก ผลัวะ! มันไปเลยมันดูดไปเลย นี่คำว่าปรุงแต่ง ธรรมชาติต้องปรุงแต่ง ใช่ มันปรุงแต่ง แต่มันมีเหนือหลังการปรุงแต่งนั้น คือตัวเร้า ตัวเร้าคือตัวอวิชชา นี่ตัวอวิชชาตัวเร้านี่ ทีนี้เราถึงพูดบ่อยว่า บ้าห้าร้อยจำพวก คำว่าบ้าห้าร้อยจำพวกนี่ ไม่ได้ว่าใครนะ

บ้าห้าร้อยจำพวกคือกิเลสมันมีห้าร้อยจำพวก กิเลสชนิดใด มันก็ชอบตรงนั้น กิเลสของใคร ใครรักอะไรใครชอบอะไร มันก็มีสิ่งเร้านั้นคือตัวกิเลสตัวขับ นี่ไอ้ความคิดมันเป็นธรรมชาตินี่มันธรรมชาติ ทีนี้ธรรมชาติมันก็ต้องปรุงแต่งตลอดเวลา แล้วถ้าปรุงแต่งไปแล้ว พอถึงแล้วมันหยุด หยุดนี่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แล้วที่ว่าดูจิตๆ คำว่าดูจิตของเขานี่นะ ดูจิตโดยการปฏิเสธ

คนภาวนาไม่เป็นดูจิตโดยการปฏิเสธเหมือนเด็ก เด็กที่มันโตมา เด็กไม่อยากไปโรงเรียนพ่อแม่บังคับทุกคน ถ้าให้เด็กมันเลือก เด็กบอกว่าแม่หนูอยู่บ้านนะไม่ต้องทำอะไรเลยนะแล้วโตขึ้นมาแม่เอาสมบัติเยอะๆ ไว้ให้หนูกินนะ มันจะคิดอย่างนั้นดูจิตก็เหมือนกัน ดูเฉยๆ แต่ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเหมือนเด็กไปโรงเรียนนะแล้วเรียนหนังสือแล้วตั้งใจเรียนนะแล้วจะมีวิชาจะมีอาชีพต่อไปจะทำมาหากินเป็น

เราดูด้วยสติ ดูด้วยปัญญา พอดูด้วยสติดูด้วยปัญญา มันเห็นการที่จิตมันมีพลังงานที่มันขึ้นที่มันคิดไป แล้วมันเห็นโทษ คิดอย่างนี้เจ็บทุกทีเลย คิดอย่างนี้เสียใจทุกทีเลย คิดอย่างนี้แล้วก็นอนตรอมใจทุกทีเลย แล้วก็ถามตัวเองว่าแล้วทำไมชอบคิดล่ะ ทำไมหักห้ามไม่ได้ อะไรที่อยากให้คิดก็ไม่คิด แล้วไอ้ที่คิดมาก็ให้แต่ความเจ็บปวด สติมันจะตามไปตามความคิดไป คือมันเห็นโทษของความคิด

แต่เดิมเราคิดสะใจนะ ขอโทษนะกูคิด ยิ่งคิดเอ็ดใครคิดนินทาใครสุดยอด เพราะมันทำไม่ดีกับเรา สะใจ แต่ถ้าเป็นธรรมนะ นี่อกุศลคิดอย่างนี้ไฟเผาเราก่อน ไฟเผาเราแล้วนะ แล้วค่อยไปเผาคนอื่น เพราะเราคิดแล้ว เราก็เกิดอารมณ์ เราก็เผาเราจนสุกแล้ว พอเราสุกแล้วนะ เราก็ไปนินทาเขา ไปว่าเขาเห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาอบรมสมาธิมันเห็นโทษเห็นภัย

คิดแล้วเห็นโทษเห็นภัยเหมือนกับเราทำร้ายตัวเอง ความคิดทำร้ายตัวเองแต่เราไม่เข้าใจว่าความคิดทำร้ายตัวเอง คิดแล้วสะใจๆ การทำร้ายตัวเอง คือการย้ำคิดย้ำทำ พอย้ำคิดย้ำทำก็เป็นจริต เป็นนิสัย เป็นความเคยชินเห็นไหม เท่ากับทำลายตัวเอง คือเปลี่ยนนิสัยตัวเองไง เปลี่ยนนิสัยตัวเองให้เป็นนิสัยเป็นอย่างนั้น นิสัยเราเปลี่ยนมันไปเรื่อยๆ เราทำเราเอง เราทำร้ายเราเอง แต่ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองทำร้ายตัวเอง

ถ้าจะดูเฉยๆ ดูเฉยๆ นี่มันขาดสติ พอขาดสติดูเฉยๆ นะ การดูเฉยๆ แล้วมันปรุงแต่ง ปรุงแต่งจนมันหยุดปรุงแต่ง แล้วมันจะปรุงแต่งใหม่นะ มันก็เหมือนกับเราเกิดมาในชีวิตนี่ แล้วใช้ชีวิตสิ้นเปลืองไป เหมือนกับเราทำงานโดยที่ไม่ได้ผลตอบแทน ไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้ามีสติมีการควบคุมเห็นไหม มันไม่เป็นอย่างนั้น ความปรุงแต่งนี้หยุดได้

เพราะความปรุงแต่ง เช่น ไฟฟ้านี่ ปิดสวิตช์ไฟฟ้าต้องดับได้ ไฟฟ้ามันมา ถ้าไฟฟ้าไม่มีสวิตช์ ไม่มีอะไรนี่ จับช็อตตายเลย จิตนี้บอกเด็กไหม บอกมันจะไปเที่ยวมันไม่ยอมไป บังคับมัน มันร้องไห้มันชักดิ้นชักงอเลย เพราะอะไรเพราะไม่มีสวิตช์ ถ้ามีสวิตช์ปั๊บ ดับสวิตช์ ดับหมด

ถ้าเรามีสวิตช์ เรามีสติ สติคือ เห็นไหม หลวงตาบอกว่า สติจับ ปัญญาตัด ถ้าเรามีสวิตช์มันจะมีสติฝึกสติไง สติตั้งมั่นให้ได้ มันจะคิด ให้ฝืนมัน ฝืนมัน มันจะคิดไม่คิดกับมัน มันจะฝืนกับมันเห็นไหม ฝืนมันหัดปิดสวิตช์ก่อน แล้วตอนหลังพอมันทันนะ พอมันจะคิดนะ นั่นแน่ อย่างนั้นเลยนะ เพราะความคิดไม่ใช่เรา เราหยุดได้

ถ้าเราหยุดไม่ได้นะ เราไม่ใช่คนทำงาน มันไม่เป็นสัมมา ถ้าเป็นสัมมาเห็นไหม จิตนี้มันเป็นเอกัคคตารมณ์ พอจิตเป็นเอกัคคตารมณ์เราเป็นคนบังคับเห็นไหม บังคับให้จิตนี้ออกทำงาน สมาธิแก้กิเลสไม่ได้นะ แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ มันเป็นความคิดของกิเลสหมด เป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่ใช้สอยกัน ที่ทำกันอยู่นี้เป็นปัญญาของกิเลส มารเอยเธอเกิดจากความดำริของเรา เนี่ยดำริ ดำริไม่ใช่ความคิดแล้วมารมันอยู่ที่นั่น

แล้วเราใช้ความคิด แล้วมารมันอยู่หลังดำริ ดำริคือความตั้งใจคิด ความคิดนี่เป็นผลเกิดจากที่เรามีเจตสิก เจตนาถึงคิดออกมานะ แล้วมารมันอยู่หลังดำรินั้นแล้วความคิดนี่มารมันกุมบังเหียนไว้แล้ว แล้วความคิดของเรา เขาถึงบอกว่าคำว่า โลกียปัญญา ทั้งๆ ที่ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แหละ แต่ถ้ามีสติปั๊บ มันตามความคิดไป มันหยุดได้

ถึงบอกว่าที่คำว่าผิด ผิดตรงไหนรู้ไหม มันปรุงแต่งโดยธรรมชาติของมัน มันหยุดไม่ได้ คือไม่เคยเห็นมันหยุด ถ้ามันหยุดนะ คิดไม่ได้ สติทันนี่ความคิดเกิดไม่ได้ สติจะทันตลอดทันตัวเองตลอดเลย ความคิดเกิดจากเราไม่ได้เลย พอความคิดเกิดไม่ได้บ่อยครั้งเข้าๆ สมาธิเริ่มมั่นคงขึ้นมั่นคงขึ้นเลย จะคิดทีไรเหมือนเราจับตัวเองมัดไว้ ถ้าขยับนะจะรู้ตัวทันทีเลย จิตมันนิ่งอยู่

พอมันเริ่มเสวยมันเริ่มจะคิดนี่รู้ทันหมด รู้ทันนี่เป็นสมาธิเฉยๆ นะ ยังไม่ได้เป็นอะไรเลย พอเป็นสมาธินี่ เอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่น พอมันออกไป พอมันสงบเข้ามาใช่ไหม แล้วพอมันคลายตัวออกมา มันก็เท่าเดิม เท่าเดิมคือว่า มันไม่มีผลงานไง คือว่าเหมือนกับเราแค่.. อย่างเช่นเราทำความสะอาดร่างกาย เดี๋ยวมันก็ขับเหงื่อขับไคลออกมาอีก นี่ก็เหมือนกันพอมันหยุดคิด มันก็คิดอีก หยุดคิดก็คิดอีกก็เท่านั้น

แล้วเราเกิดมานี่เราจะต้อง อาบน้ำทั้งวันกี่หน ต้องทำความสะอาดร่างกายกี่หนจนตาย เกิดจนตาย นี่ก็เหมือนกันถ้ามันคิดดับอย่างนี้ เกิดจนมันตายแล้วเราได้อะไร แต่ถ้าร่างกายเราสะอาดเราทำอะไรแล้วเราออกไปทำงานเห็นไหม ผลงานที่เราได้ขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน จิตมันสงบแล้ว พอจิตมันสงบขึ้นมา หัดให้มันสงบบ่อยครั้งเข้า แล้วฝึกมัน ฝึกให้มีความคิดที่มันปรุงแต่งโดยที่มันเป็นธรรมชาติของมัน กับที่มีสติควบคุมมัน

มิจฉากับสัมมาอยู่ตรงนี้นะ ตรงที่มันคิดโดยธรรมชาติของมัน คือเราไม่สามารถควบคุมมันได้ แต่ในขณะที่มันคิดแล้วเราควบคุมมัน เราควบคุมความคิดนะ แล้วให้ความคิด คิดในแง่ของ โลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรมคืออะไร ถ้าจิตไม่เห็นคิดไม่ได้ จิตไม่เห็นนะ จิตต้องมีจิตจริง จิตจริงๆ คือสงบจริงๆ พอสงบจริงๆ เท่านั้นแหละ พอมันคิด จิตอาการของจิต ความคิดไม่ใช่ตัวจิตความคิดเป็นเงา

ถ้าความคิดเป็นตัวจริงนะ ตายหมดนะนอนไม่ได้คิดทั้งวันทั้งคืนเลย เวลานอนหลับความคิดไปไหน คนเราเวลาเครียดนอนไม่ได้ นอนไม่ได้เพราะความคิดใช่ไหม เวลาคนคิดมากคิดจนนอนไม่หลับ คิดจนตาสว่างตลอด นี่คืออะไรนี่คือความคิดแล้วเวลาความคิดมันหยุด แค่นอนหลับคนนอนหลับลึกๆ นี่นิพพานของคนเป็นนะ นอนหลับสบายลึก นอนหลับตื่นขึ้นมาสดชื่น นิพพานของคนเป็น มันเป็นอาการของใจไม่ใช่ตัวใจ

แต่ขณะที่เราไม่รู้เขาว่าเป็นอันเดียวกัน แล้วพอเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ โดยมีสติเข้าไปมันจะปล่อยเข้ามาๆ พอปล่อยเข้ามามันเป็นตัวของมัน เป็นตัวจิตไม่ใช่ความคิดแล้วพอมันจะคิด เราจะทันตลอดเวลาเลย แล้วดูมันไง ดูว่าจิตนี้มันเสวยอารมณ์อย่างไร คือตัวจิตกับตัวความคิดมันสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าจับตรงนี้ได้ วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ที่ทำกันมาไม่ใช่วิปัสสนา

ไม่ใช่วิปัสสนาเพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของงาน เหมือนกับโครงการอะไรก็แล้วแต่ คิดโครงการขึ้นมาแต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของโครงการไม่มีใครบริหารจัดการโครงการนั้นโครงการนั้นไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำอย่างนี้เลย แต่ถ้ามีเจ้าของโครงการ ใครทำก็แล้วแต่ เราเป็นเจ้าของโครงการเสร็จมาแล้วก็เป็นผลงานของเรา จิตที่มันเป็นสัมมาทิฐิ มันมีสติสัมปชัญญะพร้อม

มันออกไปเห็นการเสวยอารมณ์ สิ่งที่เราศึกษามา ธรรมที่เราศึกษามา เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดมันก็เหมือนเราซื้อเทคโนโลยีจากเมืองนอกเข้ามา แล้วใช้เก่งกันมาก สร้างก็ไม่เป็นซ่อมก็ไม่เป็นเสียก็ส่งนอก นี่ก็เหมือนกัน ผิดก็พระไตรปิฎกๆ พระไตรปิฎกสอนมาอย่างนั้น จะผิดจะถูกพระไตรปิฎกหมด ตัวเองไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย

แต่ถ้าเป็นของเราสร้างขึ้นมา เทคโนโลยีเราสร้างขึ้นมา เสียเราก็ซ่อมได้เราเป็นคนสร้างขึ้นมา เราเป็นคนใช้เราเป็นคนซ่อมบำรุง เราเป็นคนทำทุกอย่าง ผลที่เกิดขึ้นมาจากมัน คือผลงานของจิต จิตที่มันสงบเข้ามาเห็นไหม พอมันสงบเข้ามามันเห็นจริงๆ เราบอกว่ามันเห็นของมันจริงๆ นะ ถ้าเห็นจริงปั๊บมันจับได้ มันถึงจะเป็นวิปัสสนา

ถ้าถึงเป็นวิปัสสนาแล้ว ถ้าทำแล้วมันไม่ถึงที่สุด มันไม่ถึงที่สุดนะ มันปล่อยวางเป็น ตทังคปหาน จับได้เห็นได้แล้วทำแล้ว มีคนทำได้เยอะมากพอทำแล้วเพราะบางที มันเหมือนกับคนเรา อย่างเช่นทำบุญกุศลส้มหล่น ส้มหล่นหมายถึงว่ามันจับได้โดยที่เป็นบุญกุศล ไม่ใช่จับได้ด้วยความสามารถ แล้วพอมันเป็นไป มันแยกของมันเหมือนกัน แยกเสร็จแล้วนี่มันก็หนเดียว ก็นึกว่าเป็นธรรม

แต่ถ้าเป็นเรา อย่างเรานี่เห็นไหม ถ้าทำอย่างนี้มันเหมือนชีวิตของไอ้พวกมนุษย์เงินเดือน สิ้นเดือนก็รับเงินเดือนเห็นไหม แต่ผลที่เราทำนั้นเป็นของบริษัทใช่ไหม แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัท เราไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนใช่ไหม เป็นเจ้าของบริษัทหมายถึงว่า เราเห็นแล้วเราทำแล้ว ผลงานมันเป็นของจิตไง

พอจิตมันสงบเข้ามา มันเห็นของมัน มันควบคุมได้ เราเป็นเจ้าของบริษัทเราต้องตั้งบริษัทเราต้องประชุมงบดุล ต้องดูกำไรขาดทุนเราต้องวางนโยบาย เราต้อง! เราต้อง! หมดเลย ถ้าจิตนี้มันทำบ่อยครั้งเข้า มันไม่ใช่ทำแบบมนุษย์เงินเดือน มนุษย์เงินเดือนเช้าก็ไปทำงาน เย็นก็กลับ กำไรขาดทุนของบริษัท ความรับผิดชอบต่างกันไหม แล้วถ้าจิตมันทำโดยที่มันเป็นผลบุญไง มัน ไม่รู้ของมันไง ไม่รู้นะ

แต่ถ้าจิตมันเป็นเจ้าของบริษัทนะ เจ้าของบริษัทเขาต้องตั้งทุกอย่างพร้อม มันถึงจะต้องเข้ามาให้จิตสงบแล้วเห็นนะ สังเกตจิตสงบเข้ามาก็รู้ตัวจิตสงบ รู้ตัวจิตสงบ ถ้าจิตไม่สงบนะมันก็ไม่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาคือ มรรค ถ้าเป็นมรรคนะ มันต้องครบมรรค ๘ เพราะมรรค ๘ มันทำไป โลกุตตรปัญญามันเกิด

ถ้าโลกุตตรปัญญามันเกิด มันจะเกิดธรรมจักร ธรรมจักรของเราคือปัญญาที่ธรรมจักรมันหมุน ศีล สมาธิ ปัญญา มารวมตัวกันเป็นธรรมจักร เราไม่เคยเห็นคุณค่าของธรรมจักร เป็นรูปเคารพที่เขาทำกันข้างนอกเลย ดูสิ เวลาหลวงตาไปไหนก็แล้วแต่ ถ้าใครไปซื้อตู้พระไตรปิฎกมาวางไว้ ท่านจะบอกเลยว่า เกาไม่ถูกที่คัน ตู้พระไตรปิฎกตัวแทนของธรรมนะ แต่มันเป็นกระดาษเปื้อนหมึก

ตัวธรรมจริงๆ คือตัวใจ คือตัวจิตที่มันเป็นธรรมจักร คือตัวจิตที่เป็นมรรคที่มันหมุนๆ อยู่นี่คือตัวธรรม ถ้าตัวธรรมมันเกิดมันจะเกิดการกระทำของมันนี่สมบัติส่วนตนมันจะเห็นจากข้างในเห็นจากข้างในรู้จริงเห็นจริงนะ ถ้าไม่รู้จริงเห็นจริง มันจะปล่อยกิเลสไม่ได้ รู้จริงเห็นจริงมันจะปล่อยกิเลสได้ ฉะนั้นบอกว่าใช่ เวลาบอกว่ามันปรุงแต่ง มันต้องเกิดเองได้โดยธรรมชาติ

คำนี้มีคนพูดบ่อยนะ ๑. ต้องเกิดเองโดยธรรมชาติ ๒. มันทำลายกันไม่ได้มันต้องปล่อยไปเป็นธรรม ไม่ใช่! ไม่ใช่! มันธรรมชาติมันหมุนไป โดยธรรมชาติ แต่เราพูดบ่อยมากว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าธรรมะเหนือธรรมชาติเพราะธรรมชาติคือการแปรปรวนคือสภาวะของการเปลี่ยนแปลง นี่คือธรรมชาติ

แล้วบอกถ้าธรรมชาตินะ โลกนี้ต้องมีชีวิตคู่แล้วเราไม่ฝืนธรรมชาติตายเลยเหรอ ธรรมชาติมีชีวิตคู่ใช่ไหม แล้วนี่ไงนี่พรหมจรรย์ไง ธรรมะเหนือธรรมชาตินะ ถ้าเรายังเป็นธรรมชาติอยู่ มันยังเปลี่ยนแปลงอยู่มันยังอยู่ในวัฏฏะอยู่ มันก็หมุนของมันไปอยู่อย่างนั้น แต่นี่มันหลุดออกไปวัฏฏะ วิวัฏฏะไง มันหลุดออกไปจากธรรมชาติเลย มารตามไม่เห็นก็แล้วกันแหละ มารตามไม่ได้อีกแล้ว

ฉะนั้นพอที่ว่ามันเหนือธรรมชาติ มันก็เป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ การปฏิบัติเหมือนนักวิทยาศาสตร์ทดลองนักวิทยาศาสตร์เลย เราเป็นคนทดสอบ คนอื่นเขาทดลองเลย แล้วผิดโอ๋ย เสื่อม ถูกจะปล่อย ทดสอบการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เราถึงบอกเลยนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานในห้องแล็บนะ แต่ภาคปฏิบัติต้องทำงานในหัวใจนะ เห็นชัดเจนมาก

ถ้าไม่เห็นชัดเจนมาก ตัดกิเลสไม่ได้ เห็นชัดเจนมากเลย เป็นรูปธรรมจับต้องได้เลย จิตนี้เป็นรูปธรรม เวลาพระพุทธเจ้าสอนพระสารีบุตรเห็นไหม หลานพระสารีบุตรที่มาต่อว่าพระพุทธเจ้าที่เอาพระสารีบุตรมาบวชไม่พอใจสิ่งต่างๆ ใดๆ เลย ถ้าเธอไม่พอใจในสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจในอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง

คนภาวนาเป็นพูดชัดมากเลย ใช่! อารมณ์ความรู้สึกนามธรรมนี่เป็นวัตถุอันหนึ่งจับต้องได้ จับมั่นคั้นตาย แล้วคั้นตายคามือ คั้นตายเลย พูดอย่างนี้บอกไม่ได้อีกแล้ว แหม ธรรมะพูดอย่างนี้ไม่ได้ พูดตายๆ นี่มันเป็นแบบว่าอาฆาตมาดร้าย แหม กิเลสตายคามือมันจะเป็นอาฆาตมาดร้ายอะไร มันทำอย่างนั้นจริงๆ นะ กิเลสตายคามือ ไม่ใช่ไปทำร้ายใคร

แต่มันเป็นอย่างนั้นคือว่ามันจริงจังไง ถ้ามันโลเล มันไม่จริงจังเหยียบขี้ไก่ไม่ฟ่อทำอะไรไม่ได้หรอก คนต้องมั่นคงทำจริงจัง แล้วบีบคั้นกิเลสตายนี่ ต่อหน้าต่อตา พลิกศพมันเลย โอ้มึงตายแล้วนะ โอ้มึงเป็นอย่างนี้ จับมั่นคั้นตายกิเลสตายเดี๋ยวนี้ ตายตรงนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ พระปฏิบัติเขาคุยกันอย่างนี้นะ ขณะจิตคือที่มันตาย ที่จิตมันเป็นไปมันเป็นอย่างไร

ไม่ใช่ว่า โอ้ พระพุทธเจ้าบอกว่านิพพาน เป็นอย่างนั้น แล้วเราก็สร้างอารมณ์ว่าง นิพพานเหมือนกันเปี้ยบเลย เทียบเคียงตลอด ไปเทียบเคียงอารมณ์เรากับพระไตรปิฎก เวลาทำภาวนากันนี่เทียบเคียงอารมณ์เปรียบเทียบกับพระไตรปิฎก เปรียบเทียบกับทางพระพุทธเจ้า แต่มันไม่เป็นจริง ถ้าเป็นจริงไม่ต้องเปรียบเทียบกับของพระไตรปิฎก ของพระพุทธเจ้าเป็นของพระพุทธเจ้า กลางหัวใจเราที่ทำนี่ของเรา! ของเรา! ของเรา! มั่นคง ชัดเจนเหมือนกัน

ถาม : ยิ่งคิด ว่ายิ่งคิด ยิ่งไม่รู้ต้องหยุดคิดถึงจะรู้แต่ต้องรู้ความคิด

หลวงพ่อ : นี่คนเป็นพูดอย่างนี้ถูก ยิ่งคิดเราคิดด้วยกิเลสไม่รู้หรอกต้องหยุดก่อน ต้องคิดให้มันหยุด การคิดให้หยุดนี่ มีสติตามไปมันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะเป็นปัญญา คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ คือเรามีสติ เรามีปัญญาตามความคิดเราไป ตามความคิดเราไปเรื่อยๆ มันมีสติปัญญาเพราะความคิด

ในความคิดเรา มันมีตัวพลังงาน คือตัวจิต ความคิดจะเกิดโดยธรรมชาติไม่ได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดไม่มีไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดใช้ไม่ได้เลย เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดนี่ ที่มันใช้ได้เพราะมันมีไฟ ความคิดเกิดจากตัวไฟ เกิดจากตัวจิต พอความคิดเกิดจากตัวจิตเห็นไหม มันก็คิดโดยธรรมชาติไง ถึงบอกมันต้องปรุงแต่งไง เครื่องใช้ไฟฟ้าคือความคิดจิตคือตัวพลังงาน แล้วถ้าหยุดไปๆ ก็ไปปิดสวิตช์ไง ไปหยุด ต้องหยุดก่อน

เราต้องเห็นว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ามันเสีย เราจะไปซ่อมขณะที่มีไฟฟ้าอยู่ มันช็อตตายเลย ต้องตัดไฟก่อน การตัดไฟนี่ไงหยุดคิดหยุดให้ได้ หยุดความคิด ทีนี้พอหยุดความคิดแล้ว ถ้าเราซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเสร็จแล้ว ถ้าเราไม่ต่อไฟมา เครื่องใช้ไฟฟ้าจะใช้ได้ไหม นี่ไงยิ่งคิดยิ่งรู้ต้องหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด! แต่ก็ต้องใช้ความคิด! คือปล่อยไฟฟ้ามา เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะอะไร เพราะความคิดหรือร่างกายเรานี่คือ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไม่ใช่ใจ ใจคือตัวพลังงาน

ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ คือ ความคิดคือเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วถ้าไม่มีตัวจิตออกมาเสวยอารมณ์ ออกมานี่ความคิดจะเกิดได้อย่างไร ถ้าเคยเห็นตรงนี้แล้ว มันถึงจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคือการแยกแยะใคร่ครวญ การแยกแยะใคร่ครวญมันถึงจะเป็นวิปัสสนา ถ้าไม่ได้แยกแยะใคร่ครวญ ไม่ใช่วิปัสสนา นี่โลกุตตรธรรม คิดเท่าไรก็ไม่รู้ เพราะมันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นความคิดของกิเลส

ความคิดนี่ คิดเข้าไปเถอะ คิดอย่างใดก็ได้ คิดให้ละเอียดอ่อนขนาดไหน คิดจนว่างไปหมดเลย ขนาดไหนก็แล้วแต่ มันก็แก้กิเลสไม่ได้ เพราะความคิดมันหยุดไม่ได้ เดี๋ยวก็คิดอย่างนั้นนะ หยุดขนาดไหนเดี๋ยวก็คิดใหม่ หยุดเดี๋ยวก็คิดใหม่อยู่อย่างนั้น เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันไม่ได้เริ่มต้น มันไม่ยกขึ้นวิปัสสนาไง เพราะความคิดนี่ถ้าขาดสติ มันเป็นมิจฉา

มิจฉาหมายถึงว่าความผิด เพราะมันทำผิดมันจะผิดไปอย่างนี้ ถ้าได้ทำถูก ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะมีเจ้าของ ถูกเพราะมีสติ สติเป็นเจ้าของนะ สติคือตัวเจ้าของเราเหมือนกันกับการทำงานนี่ ถ้าไม่มีเจ้าของเอกสารทั้งหมดถ้าไม่เซ็นเอกสารใช้ไม่ได้ เอกสารทุกแผ่นถ้าจะให้มีประโยชน์ต้องเซ็นกำกับเอกสารให้ถูกต้อง

แล้วนี่ความคิดที่มันคิดอยู่ตลอดเวลานี่ ความคิดโดยกิเลสนี่มันไม่มีใครเป็นเจ้าของเอกสารใช้ได้ไหม ใช้ไม่ได้หรอก ถ้าเอกสารใช้ไม่ได้ขึ้นศาลเท่าไรก็แพ้ ขึ้นไปที่ไหนเขาไม่รับหรอกเขาโยนทิ้งเลย แล้วเราก็ใช้เอกสารกันอยู่อย่างนี้ คิดกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็ว่าความคิดเราถูกต้องๆ ก็คิดกันอยู่อย่างนี้ เข้าระบบไม่ได้นะ คือเข้าธรรมะไม่ได้ แต่ถ้าเราไล่ของเราไป เราไล่ของเราไปโดยสติ

โดยสติถ้าไม่มีสติเป็นสัมมา สัมมาถ้ามันหยุดเพราะอะไรรู้ไหม ถ้าเป็นความจริงนะ สมาธิก็รู้ว่าสมาธิ รู้ตัวตลอดเราทำอะไร เราเป็นอะไรนี่เราจะรู้ตัวเราเองตลอดเวลา เรามีสติสัมปชัญญะ เราทำอะไรเราจะรู้เลยว่าสิ่งนี้คือไอ้นี่ สิ่งนี้คือไอ้นี่ ไม่อย่างนั้นเวลาเราว่าความ เราขึ้นไปว่าความ ถ้าซักลูกความไม่ได้ เราโต้แย้งเขาไม่ได้มันมีแพ้กับแพ้นะ ชนะไม่ได้หรอก

เราว่าความ เราต้องโต้แย้งทำลายหลักฐานเขาให้ได้ ทำลายข้อมูลเอกสารเขาให้หมด ถ้าเราไม่สามารถทำลายข้อมูลของเขา เราทำลายเอกสารเขาไม่ได้ กิเลสมันเอาไปกินหมด ทีนี้พอเวลาจิตมันสงบเข้ามา พอเวลาจิตมันสงบเข้ามา โลกุตรธรรม มันจะทำลายข้อมูลหมด ทำลายเอกสารเขาทั้งหมดทำลายหมด ทำลายตรงไหน ทำลายตรงที่ว่า ที่คิดนี่ คิดแล้วก็ผิดคนเริ่มคิดก็ผิด

ทุกอย่างที่ทำมานี่ผิดหมด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะมันคิดโดยอวิชชา มันคิดโดยอนุสัยและมันนอนเนื่องมากับจิตมันคิดอย่างนี้มันไปตามกระแสเหมือนร่องน้ำ ฝนตกนี่มันไหลรวมลงร่องน้ำนั้น ไหลไปตามนั้นนะ แล้วความคิดมันก็ไหลลงร่องนี้ อะไรที่มันพอใจชอบใจนี่มันจะลงร่องนี่แล้วบังคับให้ธรรมะเป็นอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันย้อนกลับ นี่มันถึงรู้ว่า แต่มันก็ต้องใช้ความคิดคืออันนี้ นี่เจ้าของทฤษฏีอันนี้

หลวงปู่ดูลย์นี่พูดถูกหมด แล้วคนมันเข้าไม่ถึง ถ้าเข้าถึงนะจะบอกว่าดูจิตเฉยๆ แล้วธรรมะจะเกิดเอง ถ้าอย่างนั้นนะพระอรหันต์ โลกนี้พระอรหันต์หมดเลยล่ะ เพราะต่างคนต่างเฉยๆ นี่ เหมือนกับพระอรหันต์ทั้งนั้น มันเป็นไปไม่ได้หรอก แม้แต่จิตสงบแล้ว อย่างที่พูดตอนเช้า จิตสงบแล้ว มันมีนอกมีใน

สมาธิมีนอกมีใน ถ้าสมาธินอกนี่นะมันเป็นพวกอภิญญา พวกฌานโลกีย์ ถ้าเป็นสมาธิใน สมาธิในสัมมาสมาธินี่ มันเข้าอริยสัจ เข้ามาก็เห็นทุกข์ เห็นสมุทัยด้วยมรรคญาณคือพลังงานที่มันย้อนกลับ การเข้าสมาธินี่มันเข้าไปหาตัวพลังงาน พอได้พลังงานมาแล้ว เราใช้พลังงานถูกผิดเท่านั้นเอง ถ้าเราใช้พลังงานที่ผิดเราเผาผลาญ เราล้างผลาญพลังงานเกลี้ยงเลย

ถ้าเรารู้จักพลังงานเราสะสมมัน แล้วเราเอามาใช้ประโยชน์ พลังงานนี่เราจะใช้ให้มันย้อนกลับได้ นี่ตรงย้อนกลับหรือส่งออกนี่ ตรงนี้วาสนา วาสนานะอำนาจวาสนาบารมี ในหัวข้อสัมโพชฌงค์นี่ถูกต้อง สัมโพชฌงค์นี่ ในธรรมะจริยะมีหมดการวิจัยต่างๆ แต่มันมีพร้อมไง มีสติมีปัญญาทั้งหมด ในสัมโพชฌงค์นี่ถูก มันก็เป็นทางวิชาการ

แต่เราทำนี่ถูกต้องไหม ถ้าเราทำถูกต้องมันก็ถูกต้องถ้าเราทำไม่ถูกต้อง ดูสิเราถอยรถมาคนละคันเรานี่ใช้สมบุกสมบั่น ใช้แล้วปู้ยี้ปู้ยำเลย ปี ๒ ปีนี่พัง มีอีกคนหนึ่งเขาถอยรถมาพร้อมกันเลยเขาถนอมรักษา ๔-๕ ปียังใหม่เอี่ยมเลย ทำไมมันต่างกันล่ะนี่ไง สัมโพชฌงค์ใครใช้ สัมโพชฌงค์นี่ใครใช้ คนเป็นใช้หรือคนไม่เป็นใช้

แล้วคนไม่เป็นก็ไม่รู้คุณค่ามันด้วย อย่าว่าแต่ นี่ถ้าเป็นสัมโพชฌงค์นี่ ถูกต้อง เพราะถ้าเป็นสัมโพชฌงค์นี่มัน พูดถึงอินทรีย์ พละ ความเป็นไปนะ อินทรีย์ความแก่กล้ามันเหมือนกับพุทธวิสัย ๑๖ อสงไขย ๘ อสงไขย ๔ อสงไขยในอินทรีย์แก่กล้าคือมันสะสมมา มันเหมือนในปัจจุบันนี่เมล็ดพันธุ์พืชตัดแต่งพันธุกรรม ถ้าตัดแต่งให้มันแข็งแรง ตัดแต่งให้มันปลอดจากโรค เขาพยายามตัดแต่งกันนะ

จิตก็เหมือนกัน จิตนี่ตัดแต่งด้วยบุญกรรม บุญกรรมนี่สะสมบุญกรรมแล้วตัดแต่งมัน แล้วพัฒนามัน แต่ละภพแต่ละชาตินี่มีสติปัญญาแค่ไหนจะสามารถตัดแต่งใจของตัวได้แค่ไหน และมันทนสิ่งเร้าไหวไหม เวลามันอยากโน้นอยากนี่ นี่ถ้าเราฝืนมันตัดแต่งมัน

ถ้ามันอยากอะไรขึ้นมา ก็เท่ากับเมล็ดพันธุ์ที่มันมีความเสียหายออกมาแล้วเราก็ตัดมัน ตัดมันด้วยสติ ตัดมันด้วยการฝืนมัน พลิกมัน ทำลายมันสู้มันไปเรื่อยๆ นี่ ตัดแต่งพันธุกรรมสู้มันไปเรื่อยๆ อันนี้ถ้ามันเป็นการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติไปมันจะเห็นจริง เห็นจากข้างใน ข้างในจะเป็นจริงอย่างนั้น แล้วทำได้จริงๆ อันนี้เพียงแต่คำพูดโวหาร นี่สิ่งที่เป็นไปอยู่นี่เพราะว่ามันไม่มีใครโต้แย้งแล้วที่หลวงตาท่านพูดบ่อยแล้วท่านบอกว่า

“หลักเกณฑ์ของศาสนานี่มันก็คือกรรมฐาน” เพราะกรรมฐานนี่มันเข้าไปต่อสู้เข้าไปเห็นจริง เข้าไปทำมันจริง มันก็เป็นหลักเป็นชัย แล้วมันเป็นหลักเป็นชัยนี่คือมันมีหลักไงมันไม่คลอนแคลนแล้วพอไม่คลอนแคลน ตัวที่เป็นหลักแล้วนี่ ตอนนี้พอที่เขาจะแบบว่าในการกระทำนี่ เขาก็ต้องทำ พยายามทำตรงนี้ให้มันคลอนแคลน เขาถึงทิ่มตำเข้ามาในกรรมฐานเรา เพราะเราฟังเทศน์ของท่านนะ

ท่านพูดเลยว่า “เพราะกรรมฐานนี่เป็นหลักอยู่ เขาถึงพยายามทำให้มันมีความขัดแย้งกัน” เพราะฉะนั้นบางอย่างนี่มันถึงต้องไม่อยากให้มันขัดแย้งกัน ถ้าเวลามันไม่ขัดแย้งกัน องค์กรมันเข้มแข็ง ทีนี้องค์กรเข้มแข็งเวลามันพูดถึงความจริง ถ้ามันเป็นความจริงนะ ความจริงมันเป็นเห็นจริง แล้วพูดจริง พอเห็นจริง แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นมา

ถ้าคนเรามันรู้จริง มันแก้ไขทุกอย่างได้หมด แต่ถ้ามันไม่รู้จริงเห็นไหม มันจะต้องย้อนกลับไปที่ตำรา ย้อนกลับไปที่ตำราตลอด อันนี้พูดถึงเวลาถึงที่สุดคำตอบคืออันเดียวกันคือว่ามันต้องเป็นมรรคญาณ แล้วมันชำระกิเลสไป แต่วิธีการนี่มันต่างกัน มันต่างกันที่ว่า ถ้าทำวิธีการอย่างนี้มันจะเข้าไม่ถึง ถ้าทำวิธีการอย่างนี้มันจะเข้าถึง ถ้าเข้าไม่ถึงนี่คำพูดมันจะบอกเข้าไม่ถึง เพราะคนเข้าไม่ถึงมันก็ไม่รู้ว่าเข้าถึงคืออะไร แต่ถ้าเข้าถึงนะมันจะเข้าถึงเลย

เรื่องกรงขังใจ นี่กรงขังใจนี่ คำว่ากิเลสนี้เป็นนามธรรม กิเลสนี่เป็นนามธรรมนะ แล้วเวลาความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่ ราคะตัณหานี่ มันเป็นลูกเป็นหลานของกิเลส มันเป็นลูกเป็นหลานไง หมายถึงว่า กิเลสกำลังมันมาก กำลังมันน้อย แต่ถ้ากำลังมันมาก กำลังมันน้อยนี่มันอยู่ที่นิสัยคนชอบ โทสจริตนี่แหย่นิดเดียว เดี๋ยวมันก็ออก แล้วไหนว่ากำลังมันน้อยไง

มันน้อยหรือมันมากคือมันตรงกับจริต ฉะนั้นพอมันตรงกับจริต มันเป็นนามธรรม นี้พอเป็นนามธรรมนี่เวลาเทศน์ออกมา มันก็พยายามพูดมาว่ามันเป็นกรงขังใจ คำว่ากรงขังใจ ใช่! มันเป็นอวิชชา ถ้าคำว่าอวิชชาเราก็ไปจับมันกลางอากาศนี่เหรอ อวิชชามันอยู่ที่ไหนล่ะ เราไปจับกลางอากาศกันดูสิ เวลาในรูปภาพตามฝาผนังในโบสถ์ อวิชชานี่เป็นยักษ์ เป็นมาร อวิชชานี่เขี้ยวยาวมากเลย อวิชชานี่น่ากลัวที่สุดเลย

แต่เวลาครูบาอาจารย์เราไปเจออวิชชานี่ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันผ่องใส มันสว่าง มันสงบ มันโอ้โฮ มันวิจิตรพิสดาร มันเลอเลิศเลย แล้วไหนว่ามันเป็นยักษ์ล่ะ ถ้าเป็นยักษ์เราก็ต้องกลัวมันสิ เพราะมันถือกระบองมาเราต้องวิ่งหนีมัน ไอ้นี่เข้าไปแล้วนี่มันละเอียดอ่อนจนเราต้องไปยอมจำนนกับมันนะ

พอเราไปยอมจำนนกับมัน ใครก็ชอบสิ ใครก็ชอบสุข ชอบสบายใช่ไหม ทุกคนชอบสุขชอบสบาย ชอบสิ่งที่ว่ามันเป็นนามธรรมที่ดี แต่ไม่รู้ว่า ถ้ามันเป็นอวิชชาล่ะ อันนี้พอเป็นอวิชชาแล้วนี่ เวลาเราแสดงธรรม เราถึงบอกว่ามันเป็นกรงขัง คือพยายามเอาสิ่งที่เป็นนามธรรม เอามาเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรม

เราเคยพูดบ่อยบอกว่า ให้พูดธรรมะมาสิ แล้วพูดมานี่เขาจะบอกว่ามันเป็นยังไง แล้วเขาจะจำ เราบอกว่านี่ผิดหมดเลย เพราะเราพูดเป็นธรรมะปั๊บ เป็นทฤษฎีปั๊บ เราก็ไปยึดที่ทฤษฎี ตายละ เพราะทฤษฎีนี่มันมีหลายหลาก อย่างเช่น เราขับรถไป เราบอกว่านี่ต้องไปเลนส์นี้ตลอด เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ต้องถึงที่สุดเลย แล้วพอไปข้างหน้า บังเอิญไปข้างหน้าเขาขุดท่อ เลนส์นี้เขาขุดท่ออยู่ข้างหน้า

แล้วใจบอกให้ไปเลนส์นี้ แล้วไปไม่ได้ทำยังไง แหม ก็เบี่ยงสิหลบหน่อยก็เข้าเลนส์เก่า ในการปฏิบัติมันยังมีอุปสรรค มีอะไรข้างหน้าอีกมหาศาลเลย ไม่ใช่ว่านี่อาจารย์บอกให้ไปเลนส์นี้นะ แล้วเราก็ต้องไปเลนส์นี้ แล้วข้างหน้านี่เขาขุดท่อ ถนนมันขาดแล้วเราก็ไปหยุดอยู่แค่นี้เหรอ บังคับว่าต้องไปเลนส์นี้ออกจากเลนส์นี้ไม่ได้ ผิดนะเพียงแต่ว่า เวลาเราทำไป มันเป็นเทคนิคของเราว่า ขณะที่เราทำไป อย่างนี้เราควรทำอย่างไร เราแก้ไขของเรา

แล้วถ้ามันทำไปแล้ว มันทำไปแล้วมันไม่ใช่หรือมันติดขัด เราค่อยย้อนกลับมา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหลวงตาเวลาท่านเทศน์นะ ท่านบอกว่า พอพูดถึงจุดสำคัญท่านบอกว่า

“ไม่พูดถึงจุดตรงนี้แล้ว เพราะพูดไป ไอ้คนฟังมันจะจำ”

พอจำนี่วิปัสสนึก มันจะสร้างภาพ พอสร้างภาพขึ้นมานึกว่าเป็นของเรา แล้วก็บอกว่า “นี่ฆ่ากิเลสได้แล้วตัวหนึ่ง” ไม่ใช่ แต่เวลาเราพูดหรือเวลาครูบาอาจารย์พูด ท่านต้องพูดสิ่งนี้มันเป็นเรื่องนามธรรม เรื่องปัญญาอันละเอียดโลกุตตรปัญญา ปัญญาจากข้างใน แล้วพอมันเกิดอะไรขึ้นมา มันเป็นของมัน พอเป็นของมัน ถ้าเราทำอะไรไป

ถ้าเราทำวิธีการของเรา ถ้ามันถูกต้องมันก็ทำลายกิเลสของเรา แล้วพอมาพูดจะเหมือนกันหมดเลย ฉะนั้นถึงว่าไอ้กรงขังใจมันคิดขึ้นมาได้เดี๋ยวนี้มันก็พูดไปเดี๋ยวนี้ ก็พูดเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าใจนี่เห็นไหม เพราะมันเห็นสภาพแบบนี้ปั๊บ มันก็เหมือนกับขังเราไว้ นี่สภาพอย่างนี้ เหมือนกับขังเราไว้เลย เข้ามาอยู่ในนี้กัน ขังเราไว้เพราะเราต้องการมาศึกษาวิชาการ

ศึกษาวิชาการมันก็ขังเราแล้ว เพราะเราต้องการ แล้วเราแสวงหาแล้วก็ติดมัน นี้ติดไอ้นี่ นี้ติดข้างนอก เราถึงย้อนกลับมาติดข้างใน ก็เลยบอกเอากรงขังใจ นี่ถ้าติดข้างในนี่ มันทุกข์กว่านะ ถ้าข้างในมันปล่อยได้ เราอยู่ในนี้เราก็ไม่ติดมัน นี้คืออาชีพ นี้คือสถานที่เรามีอาชีพ เราประกอบสัมมาอาชีวะของเรา แต่ใจเราหลุดพ้น แต่ถ้าใจมันโดนกรงขังอยู่แล้ว มันขังตัวมันเองมันก็ทุกข์แล้วล่ะ

ทำงานที่นี่ก็เบื่อ ทำงานที่นี่ก็ทุกข์ ทำงานที่นี่ก็โดนรังแก ใจโดนขังอีกชั้นหนึ่ง แล้วมาทำงานในสถานที่ สถานที่มันก็ขังเราอีกชั้นหนึ่งละ ตอนเช้าเดินมาเห็นอย่างนี้ นี้ก็สังคมสังคมหนึ่ง นี่สังคมหนึ่งก็ต้องมีกติกา สังคมบังคับ สังคมทุกคนในนี้อยู่ในกติกาอย่างนี้ นี่ก็ติดชั้นหนึ่งละ แล้วใจของเราก็ติดเราอีกชั้นหนึ่ง

นี่เวลาเทศน์เห็นไหม มันเห็นเดี๋ยวนี้ก็พูดเดี๋ยวนี้ มันเป็นการเปรียบเทียบ แต่ถ้าพูดถึงให้เป็นวัตถุเลย ก็ใช่! ใช่! มันเป็นกิเลส เพียงแต่ว่าอยู่ที่เราจะพลิกแพลงพูดไปท่าไหน ท่าไหนเป็นประโยชน์ ท่าไหนเป็นความจริง ท่าไหนเป็นประโยชน์ต่อเรา เป็นอย่างนั้นๆ เปรียบเทียบตลอดๆ เหมือนกันเป็นการเปรียบเทียบกรงขังใจ กรงขังใจ ใจหลอก ใจหลง ใจมืด เทศน์บ่อยเพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ใจบอด ตาบอดนี่ใจไม่บอดมันยังจินตนาการได้ ใจบอดนี่มันเหมือนกับคนตาบอดตาใสนะไม่เห็นอะไรเลย ตาแป๋วๆ นี่ มองอะไรไม่รู้เรื่อง ใจบอดนี่อย่างที่ว่า ความคิดมันคิดมาแล้วนะมันเหยียบตัวเอง นี่ไม่รู้ๆ ก็ความคิดเราใครมารังแกเราไม่มีหรอก ก็ความคิดเรานี่แหละ ถ้าทันความคิดแล้วนะ อ้าว ความคิดมันก็เกิดดับ คำว่าจะเกิด-ดับได้ เราต้องทำให้ตัวพลังงานสะอาดซะก่อน

มันผิดที่ตัวพลังงาน พลังงานสกปรก พลังงานคือตัวใจนี่มันอวิชชา พอพลังงานมันสกปรก พลังงานตัวนี้เคลื่อนออกไปสกปรกหมด เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างสกปรกหมดเลย เพราะมันเริ่มต้นจากตัวพลังงานที่สกปรกคือตัวอวิชชา ตัวอวิชชามันอยู่ที่ตัวภพ ทีนี้ตัวภพนี่มันไม่ใช่ความคิด แล้วตัวภพนี่พลังงานมันเคลื่อนไหวออกมา มันเข้ามาอยู่ในเครื่องใช้ เครื่องใช้ก็สกปรกไปหมด

หลวงตาถึงบอกไง เวลาใครมาให้นะ ถ้าใจสกปรกทุกอย่างสกปรกหมด ถ้าใจสะอาด ของสกปรกก็สะอาด เพราะใจสะอาดมันเอาของสกปรกมา การที่จะแก้ใจที่สกปรก มันก็ต้องแก้จากภายนอกเข้ามามันถึงจะเป็น โสดาบัน สกิทา อนาคาขึ้นมา โสดาบันยังแก้ใจไม่ได้ แก้ความเห็นผิดเรื่องกาย โสดาบันยังแก้ใจไม่ได้ แก้ความเห็นผิดเข้ามาจากข้างนอก แล้วพอมันเข้าไปมันก็จะร่นเข้าไปร่นเข้าไปเรื่อยๆ ร่นเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงสุดท้ายมันเข้าไปถึงใจ มันจะไปถึงใจ

ถาม : มีวิธีการอย่างใดจะป้องกันไม่ให้เกิดมโนกรรมเมื่อมีสัมผัสเกิดขึ้น

หลวงพ่อ : มีสติ! ง่ายๆ เลย มีสตินะ มโนกรรมเพราะมันคิดนี่บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราคิดถูกคิดผิดแล้วเราอยู่วัด มีพระไปหามาก บอกไม่ตั้งใจคิดเลย ไม่ตั้งใจให้มันคิดอย่างนี้เลย พยายามฝืนด้วยยังฝืนไม่ได้เลย มันจะคิดของมันไปเต็มที่เลย คิดแบบกล่าวร้ายกล่าวโทษครูบาอาจารย์ มันจะคิดของมันไปตามธรรมชาติของมันเลย อย่างนี้ก็มี อย่างนี้ทั้งๆ ที่เขารู้ว่าผิดนะ

เขารู้ว่าผิดเขามาหาเรานี่เขาเสียใจมาก เขาเสียใจเลยว่ามันผิดมันไม่ดีเลย แล้วเขาพยายามจะลดมันก็ลดไม่ได้ ไอ้อย่างนี้มันเป็นกรรม เราบอกให้เขาขอขมาเพราะเขาไม่ตั้งใจคิดเขาไม่อยากคิดเขารู้ด้วยเขามีสติด้วย ถึงบอกว่าต้องมีสติแล้วจะยับยั้งได้หมด แล้วเวลาสติมันมีสติขึ้นมาอย่างนี้ แล้วมันยับยั้งไม่ได้ แล้วทำยังไง มีสติมันก็มีอยู่แต่มันยับยั้งไม่ได้

ฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้น เรามีสติก่อน ถ้ามันคิดอะไร เราเอาสติยับยั้งไว้ ถ้ายับยั้งไม่ได้นะมันก็ต้องหาเหตุหาผล เมื่อมีสัมผัสเกิดขึ้น จะป้องกันไม่ให้เกิดมโนกรรม เมื่อมีสัมผัสเกิดขึ้น ความสัมผัสนะ ถ้าไม่มีพลังงานนะ ความคิดเกิดไม่ได้ พอความคิดเกิดขึ้นมาความสัมผัสตัวนั้น ตัวที่ว่ามันสัมผัสขึ้นมานะตัวพลังงานมันสกปรก ตัวที่พลังงานมันสกปรกตัวนั้นคือตัวข้อมูล ตัวนั้นคือตัวที่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตนี่มันเกิดมันตาย

แล้วพอปฏิสนธิจิต ถ้าความคิดมันเป็นเราแน่นอน ตายตัวนะเวลาไปเกิดเป็นพรหม มันมีขันธ์เดียว แล้วความคิดมันมาจากไหน ผัสสาหาร เกิดเป็นเทวดา แล้วเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ทีนี้ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันมีความคิดหยาบคิดละเอียด

ถ้าความคิดหยาบๆ คือความคิดโดยสามัญสำนึก แต่ถ้าความคิดละเอียดเห็นไหม อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ ในมโนนั้น มันมีความคิดอันละเอียดอยู่ ทีนี้ความคิดอย่างหยาบ การกระทบอย่างหยาบ ความเป็นไปมันเป็นไปอย่างหยาบๆ นี่ชีวิตประจำวันของเรา เวลามันย่อยสลายไป มันจะลงไปที่จิตใต้สำนึกไง

ฉะนั้นเวลาตายไป ทำบุญทำกรรมมันไม่มีสูญเปล่า มันจะลงที่ใจดวงนี้ ใจดวงนี้เก็บไว้หมด หมายถึงว่าเวลามีผัสสะเกิดขึ้น ทีนี้พอมีผัสสะเกิดขึ้น จะบอกว่า มันละเอียดจนเราทำไม่ทันหรอก แต่พระอรหันต์ทัน เห็น! แต่โดยสามัญสำนึก มันไม่ทันหรอก เพราะเราพูดบ่อย ความคิดของเราที่มันออกมาเป็นความคิดของเรา มันมีคัทเอาท์มีสวิตช์อยู่ ๔ ชั้น โสดาบันชั้นหนึ่ง สกิทาคาชั้นหนึ่ง อนาคาชั้นหนึ่ง อรหันต์ชั้นหนึ่ง

ความคิดที่มันออกมาจากความคิดเรา พระอรหันต์มีโอกาสตัดสวิตช์ได้ถึง ๔ ครั้งถึงจะออกมาเป็นความคิดได้ แต่พวกเราไม่เห็นเลย พรวด! ออกมาแล้ว ความคิดไปแล้ว มันถึงว่าเกิดผัสสะขึ้น ผัสสะคือจิตมันกระทบกับความคิดมันเลยออกมาเป็นความคิด กระทบกับขันธ์ จิตกับขันธ์ จิตเสวยอารมณ์กระทบกันออกมาเป็นความคิด

ไอ้อย่างนี้ถ้าพูดถึงเป็นอภิธรรม เขาบอกมันเกิดดับ เราตามไปพอตามไปมันก็จบ คือว่าเหมือนกับสวิตช์ เราปิดไฟแล้วมันก็จบ ไฟไม่มา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราสติพร้อม มันทันปั๊บมันก็ดับ แต่สำหรับกรรมฐานนะ ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ ถ้าเกิดดับอย่างนี้ทุกอย่างเกิดดับ ไฟฟ้าก็เกิดดับ จิตสว่าง จิตนี่ว่างหมดนะ

ถ้าสว่างนะ ถนนสว่างหมดไฟฟ้าในถนนสว่าง พระอาทิตย์สว่างกว่าเราอีก ว่าง อวกาศว่างกว่าเราอีก ไอ้นี่มันเป็นคำสมมุติ คำสมมุติที่เอามาสื่อความหมายกันให้มาเปรียบเทียบถึงความรู้สึก ฉะนั้นเวลาคุยกัน คนเราจะคุยกันด้วยอะไร ก็ต้องคุยกันด้วยสื่อ สื่อก็สมมุตินี่แหละ แต่ถ้าจิตมันไม่รู้อะไรมาสมมุติ มันเอาอะไรมาพูด

ฉะนั้นเราไปยึดที่สมมุติเป็นความจริง นิพพานว่าง นิพพานสว่างไสว นิพพานผ่องใส อวิชชาทั้งนั้น อวิชชาล้วนๆ เพียงแต่เรามาสื่อกันเฉยๆ คนเป็นฟังทีเดียวรู้หมด เป็นคำสมมุติไง ก็เราปฏิบัติกันเพื่อพ้นสมมุติ แล้วเราไปติดสมมุติบัญญัติ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนี้เป็นธรรม แล้วเราไปติดคำบัญญัติของพระพุทธเจ้า แล้วเราไปได้ไหม

แต่ถ้าเราพ้นออกไปนะ แล้วเราปล่อยหมด เราปล่อยไปเลย มันเป็นสิ่งที่เราสื่อความหมายกัน ความจริงหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกเลยนะ บอกว่านิพพานหรือความเป็นจริงในหัวใจ เอาออกมาพูดกันไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่เราสื่อออกมาพยายามจะเปรียบเทียบให้เข้าใจ แล้วเมื่อกี้เราบอกว่าธรรมะเปรียบเทียบก็ยังไม่ใช่

ธรรมะเปรียบเทียบไม่ใช่ แต่นี้ธรรมะจริง แต่เปรียบเทียบออกมาคุยกัน แล้วคนที่รู้จริงเท่านั้นถึงจะเปรียบเทียบแล้วคนฟัง ฟังเข้าใจ เพราะมันเปรียบเทียบออกมาจากความรู้สึกอันนั้น แต่ถ้าของเรานะ เพราะเราก็เปรียบเทียบ ใจเราเปรียบเทียบอยู่แล้ว แล้วไปเปรียบเทียบกับทางวิชาการอีก ความเปรียบเทียบเราเลยออกไป ๒ ชั้น ๓ ชั้น ไอ้คนฟังนี่รู้เลย เพราะมันไม่ได้เปรียบเทียบออกมาจากความรู้สึก

มันเปรียบเทียบมาจากความไม่รู้นั้น มันเปรียบเทียบในธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ใจมันรู้จริง มันพูดออกมาเหมือนกัน แต่ถ้าเรา จิตใจเราไม่รู้ แต่เราเปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึกเห็นไหม มันก็ไม่ใช่ตัวใจแล้ว แล้วยังเอามาเปรียบเทียบกับธรรมของพระพุทธเจ้าอีกชั้นหนึ่ง นี่ ๓ ชั้นนะ

ถาม: วิธีการทำปัญญาอบรมสมาธิต่างกับวิธีการดูจิตหรือไม่

หลวงพ่อ: ต่างกัน ปัญญาอบรมสมาธิ เราอธิบายมาเยอะแล้ว ปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้ปัญญา คำว่าปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม คือปัญญาย้อนกลับโลกียปัญญา โลกียปัญญาคือปัญญาโลก ปัญญาโลกคิดว่าเป็นปัญญาแล้วนำมาใช้งานนี่คือโลกียปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ อบรมสมาธิบ่มเพาะ

ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันบ่มเพาะใจ ถ้าปัญญาบ่มเพาะใจ เพราะอะไร คำว่าบ่มเพาะเห็นไหม มันส่งออก คือปัญญาโลกียปัญญาคือใช้ออกไป แล้วปัญญาอบรมสมาธิ มันบ่มเพาะมันใช้ปัญญาไล่ตามความคิดมันหดสั้น พลังงานที่ส่งออกพลังงานที่ทวนกระแส ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นพลังงานที่ทวนกระแส ให้พลังอันนี้ย้อนกลับเพราะอะไร เพราะมันทันความคิดมันก็หยุด

ปัญญาเราคิดไป แล้วเอาปัญญาตามไป พอมันทัน ความคิดมันก็หยุด ตอนหยุดเห็นไหม ปัญญามันไม่ไป แต่ถ้าเราคิดโลกียปัญญา ปัญญามันไปหมด ไปหมดข้างในกลวง ข้างในร้อน แต่คิดออกไปข้างนอก แล้วเถียงกัน เถียงธรรมะกัน พูดเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เถียงกันไปเรื่อยเฉื่อยเลย แต่ข้างในกลวง ข้างในไม่มีพลังงานเลย

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ อย่างที่พูดเมื่อกี้ พอมันคิดไป มันเห็นโทษนะ เห็นคุณเห็นโทษ คิดดีคิดเป็นประโยชน์เห็นคุณ คิดไม่ดีคิดเป็นโทษเห็นโทษ คิดไม่ดีเห็นเป็นโทษเลย คิดต่างๆ คิดแล้วเหยียบย่ำตัวเอง แล้วตัวเองมีแต่ขาดแคลน มีแต่เศร้าหมองคิดทำลายตัวเองแต่มันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ตัดทอนเศร้าหมองเหยียบย่ำขนาดไหนก็ไม่ตาย ก็อยู่อย่างนั้น

ความคิดไม่เคยตาย ความคิดจะมีอารมณ์ความรู้สึกจะมีตลอดไป เหนื่อยหน่ายขนาดไหน เดี๋ยวก็คิดอีก เดี๋ยวก็เป็นอีกอยู่อย่างนั้น เราก็เลยไม่รู้ว่าขาดทุนกำไรตรงไหน ไม่รู้เรื่องเลย ก็อยู่กันอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันไล่ต้อนเข้ามา มันจะไม่เศร้าหมองไม่ขาดแคลนไม่โดนเหยียบย่ำแล้ว เพราะอะไร เพราะมันรู้ เหมือนทางโลกเลย อะไรนะจิ้ม ๕ ล้าง ๑๐ เอามือไปจิ้มกลิ่นเหม็น เหม็นแล้ว ๕ บาท ถ้าจะล้าง ๑๐ บาท ไม่งั้นติดมือไปเลย

ความคิดนะ คิดไปเรื่อย คิดมันก็เหม็นนะสิ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม มันคิด ไม่ได้คิด คิดเหม็นคิดจิ้มให้มันเหม็น คิดให้มันสะอาด คิดล้าง พอคิดล้างเข้ามามันย้อนกลับๆ ปัญญาอบรมสมาธิ บังเอิญเราทำมา เราถนัดตรงนี้มาก เพราะเราทำมา เราจะตามความคิดไป บางทีมันไม่คิดท้ามันเลย คิดสิมึงทำไมไม่คิดล่ะ สติมันดีคิดสิ ตอนบวชใหม่ๆ ความคิดเกือบตาย ความคิดมันย่ำ ย่ำตัวเองทุกข์มากทุกข์สุดๆ เลย

แล้วพอมันใช้ความคิดไปเรื่อยๆ มันหยุดๆ พอหยุดแล้ว พอมันคิดนี่ มันมีงานทำใช่ไหมพอมันหยุด ความคิดมันหยุด มันจับต้นชนปลายไม่ได้ เหมือนกับเราเคว้งคว้าง พอเราเคว้งคว้าง เราก็ เอ๊ ทำไมไม่คิด มันก็เคว้งคว้าง เพราะตอนนั้นยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ คนปฏิบัติใหม่ๆ จะเป็นอย่างนี้หมด เพราะอะไร เพราะเหมือนกับเรา ดูอย่างนักศึกษาใหม่เข้ามา งงหมดแหละ ไม่รู้เรื่อง พอมันเรียนสักปีสองปีมันคล่อง มันก็ไปได้

นี่ก็เหมือนกัน พอมันเริ่มต้นทำ มันจะเคว้งคว้างมันจะทำอะไรไม่ถูก แต่บังเอิญมันเป็นจริตนิสัย มันทำมาเรื่อยๆ พอทำมาเรื่อยๆ มันดีขึ้นมาเรื่อยๆ พอดีขึ้น มันควบคุมความคิดได้ แล้วความคิดพอควบคุมได้ มันแปลกใจเลย แปลกใจครั้งแรก พอมันควบคุมความคิดมันเป็นพลังงานที่เราควบคุมได้แล้ว มันแปลกใจว่าไหนว่านามธรรมมันไม่มี มันจับต้องได้ขนาดนี้ ไปถามอาจารย์

“อาจารย์ครับไหนว่าจิตมันเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้”

“แล้วใครบอกมึงล่ะ”

คำว่าใครบอกมึง มันไม่เป็นอย่างนั้นเพราะท่านก็ภาวนา ท่านก็บอกมันไม่ใช่หรอกมันจับต้องได้ แต่เวลาพูดกันพูดกันว่ามันจับต้องไม่ได้ มันเป็นนามธรรมแต่เราจับต้องมันได้ จับคามือมันได้เลย จะบอกว่าปัญญาอบรมสมาธิ เป็นสมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ ไม่ใช่เป็นสมาธิว่างๆ ว่างๆ ไม่ใช่สมาธิ ว่างๆ ว่างๆ มันเป็นสมมุติ เป็นคำพูดโดยสมมุติ มันไม่รู้จริง

ถ้ามันรู้จริง แล้วทำอะไรต่อไปๆ เหมือนเราถือมีด เอามีดไปสับอะไรไปทำอะไรเป็นงานขึ้นมา เรานึกว่า เราถือมีดนะ เอ้ ถ้ามีมีดนะเอามีดไปทำอะไร มือก็ไม่ได้ถือมีดอยู่ มันก็แบบว่า ทำอะไรมันก็ไม่ทัน ถ้าเรามีมีดอยู่ เราสับเดี๋ยวนั้น เราทำเดี๋ยวนั้น มันจะเป็นประโยชน์เดี๋ยวนั้นเลย จิตที่มันเป็นสมาธิ มันเป็นอย่างนั้น

ตัวจิตเหมือนกับเราถือมีดอยู่เล่มหนึ่งเลย แล้วมีดเล่มนี้ มันจะฟันอะไรก็ได้ จะเฉือนอะไรก็ได้ ฟันที่ไหนมันก็เจ็บเลย แต่นี่มันไม่มีมีด มีดที่มือเราก็ไม่มีอะไรก็ไม่มีว่างๆ ว่างๆ มันถึงบอกไม่ใช่สมาธิไง ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิก็คือสมาธิแล้วรู้ คนที่รู้ หลวงตาบอกพระที่จะสอนนะ รู้สมาธิก็พูดได้แค่สมาธิ รู้ด้วยปัญญาก็พูดด้วยปัญญา หลวงตาพูดประจำเลย

“พระองค์ไหนทำสมาธิได้ก็สอนได้แค่สมาธิ”

คือจะพูด ไปไหนมา ๓ วา ๒ ศอก จะไปไหนก็แล้วแต่ จะพูดแค่เรื่องสมาธิ พูดเรื่องปัญญาไม่เป็น แต่ถ้าคนพูดปัญญาเป็นจะพูดเรื่องปัญญา ต้อง ศีล สมาธิ ปัญญามันจะเป็นอีกขั้นหนึ่ง แล้วปัญญามันก็ไม่ใช่ปัญญาอย่างที่เราคิดกัน ปัญญาที่เราพูดกันอยู่นี้ โลกียปัญญา ปัญญาทางโลกทั้งๆ ที่จำธรรมะของพระพุทธเจ้ามานั้นแหละ พูดธรรมะพระพุทธเจ้านั่นแหละ แต่ตัวเองเป็นโลก

แต่ถ้าใจเราเป็นธรรมขึ้นมานะ ธรรมของพระพุทธเจ้านั่นแหละ นี่ธรรมของเรา นี่ธรรมของพระสารีบุตร นี่ธรรมของครูบาอาจารย์ นี่ธรรมของส่วนบุคคล ธรรมองค์นั้น มันเป็นธรรมขึ้นมา นี่ปัญญาอบรมสมาธิกับดูจิตต่างกันอย่างนี้ ดูจิตมันดูเฉยๆ ดูจิตมันพูดคำว่าดูจิตๆ ทีนี้คำว่าดูจิตเราก็คิดกันว่า มันจะเป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่เราไม่ได้เปรียบเทียบ

ถ้าดูจิตเราเป็นคนดู คำว่าดูจิตใช่ไหม เราเป็นคนดู เราก็รับรู้ ถ้าดูจิตเปรียบเทียบออกไปเป็นกล้องวงจรปิด กล้องวงจรปิดมันก็ดู มันถ่ายเลย กล้องวงจรปิดมันถ่ายตลอดเวลา แล้วตัวกล้องมันได้อะไร นี้เราก็เปรียบเทียบกลับไปที่จิต ถ้าจิตมันทำงานแค่กล้องวงจรปิด มันได้อะไร ตัวจิตมันทำงานแค่ดูเฉยๆ ตัวจิตมันทำงานแค่นี้แค่เพ่งแค่ดู แล้วใครได้อะไร

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คำว่าปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม มันไม่ได้ดูเฉยๆ คำว่าปัญญาคือแยกเหตุแยกผล คือกล้องวงจรปิดมันมีคนถ่าย ไอ้คนถ่าย ไอ้คนที่มันเก็บข้อมูล ไอ้คนที่เอาข้อมูลจากกล้องวงจรมาใช้ คนนั้นได้ประโยชน์ จิตที่มันใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นเจ้าของ ผู้ดู ผู้เก็บข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล ผู้เห็นโทษเห็นคุณ ผู้เห็นทุกข์เห็นยาก ต่างกันยัง

เขาให้อธิบายปัญญาอบรมสมาธิกับดูจิตต่างกันอย่างไรอธิบายมากเรื่องนี้ อธิบายทุกวันเลย ต่างกัน ดูตามหลังอารมณ์นี้ไม่ได้ วิธีปัญญาอบรมสมาธิต่างกับวิธีดูจิตที่เขาบอกว่าดูตามหลังอารมณ์ที่เกิดขึ้น ตามหลังอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ไฟไหม้แล้วไง โจรปล้นแล้ว ก็ไปดูไง ไฟไหม้บ้านหมดแล้วไปดูขี้เถ้า เขาไม่คิดอย่างนั้นเขาต้องดับไฟ ไฟไหม้บ้านก็ต้องดับไฟ ที่เหลือก็เป็นของเรา ไฟไหม้บ้านก็ดูตามหลังมัน ดูตามหลังอารมณ์

แหม! พูดมาอย่างนี้ ไอ้ที่ว่าดูตามหลังอารมณ์ เราคิดขึ้นเองหรืออาจารย์สอน แผ่นนี้ของใคร ดูตามหลังอารมณ์เราคิดเองหรือเขาสอน ถ้าเป็นเขาสอน คุณค่ามันหมดเลยไง อาจารย์นี้หมดเลย ดูตามหลังอารมณ์คำว่าดูตามหลังคือเหตุมันเกิดแล้วจริงไหม ถ้าดูตามหลัง ไฟไหม้บ้านหมดแล้ว แล้วจะมาช่วยอะไรกู เพราะไฟไหม้บ้านหมดแล้ว เอ็งต้องช่วยดับไฟก่อนสิ ถ้าไฟจะไหม้บ้านนะ ถ้าดับไฟได้ บ้านเรายังอยู่

แต่ถ้าไฟไหม้บ้านหมดแล้วนะ แล้วบอกว่าดูตามหลังอารมณ์จะมาช่วยเหลือนะ มันจะเป็นประโยชน์นะ กลับบ้านไปเถอะไป เพราะเราก็หมดตัวแล้ว ทุกคนก็หมดแล้ว ถ้าหนังสือที่เราอ่านนะ เราจะให้ค่าลบมากๆ เลย เพราะคำนี้ มันฟังแล้ว ดูตามหลังอารมณ์ที่เกิดขึ้น ตามหลัง คำว่าตามหลัง อดีตอนาคตไหม

โยม : (ไม่ได้ยินเสียงผู้ถาม)

หลวงพ่อ : นี่ผิดหมดเลย อย่างนี้ก็ผิด

โยม : .... (เสียงพูดไม่ชัดเจน) เราจะรู้ได้อย่างไร เราจะรู้ พระอาจารย์ก็ต้องบอก

หลวงพ่อ : ไม่เป็นปัจจุบัน

โยม : ก็ปัจจุบัน ยังเป็นทางด้านของสมมุติก่อน ผู้รู้ก่อน เพราะยังไม่ถึงขั้นโลกุตตระ แล้วเมื่อมันละเอียดขึ้นแล้วนี่ มันก็จะไม่มีคำพูดเลย สมมุติกายมันจะต้องมีเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าไม่รู้ แรกๆ เราตามไม่ได้ เพราะสติเรายังไม่ไหวทัน

หลวงพ่อ : เพราะอย่างนี้ไง ถ้าพูดอย่างนี้นะ มันแบบว่าระหว่างสมถะกับวิปัสสนามันเป็นระหว่างสมถะกับวิปัสสนา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะไปปฏิเสธสมถะก่อน เพราะไปปฏิเสธสมถะก่อน วิปัสสนาเลยเกิดไม่ได้ เพราะมันเหมือนกับเราไปปฏิเสธพลังงานของไฟ เราหุงข้าวไม่ได้

เราจะหุงข้าวนี่นะ เราต้องมีข้าว มีน้ำมีหม้อตั้งบนไฟ ถ้าเราปฏิเสธว่าไฟไม่มีประโยชน์ ข้าวเราก็สุกไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าตัวสมาธิ มีสมาธิขึ้นมา ตัวสมาธิคือตัวทำให้เกิด เราจะบอกว่าสมาธินี่นะ ทุกลัทธิ ทุกศาสนามีสมาธิ แต่ทุกลัทธิทุกศาสนาไม่มีปัญญา เพราะ “ศาสนาพุทธเท่านั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา”

แต่ปัญญาตั้งอยู่บนฐานของสมาธิ เพราะตัวสมาธิทำให้เราเกิดเป็นปัจจุบันตลอด ตัวสมาธิถ้ามีสติ ตัวกำหนดปั๊บ มันจะเกิดนิ่ง นิ่งนี้เกิดจากสมาธิ ตัวนิ่งไม่ใช่นิ่งด้วยตัวตนนะ ถ้านิ่งด้วยตัวตนมันเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธินี่ ไฟไหม้บ้านกับไฟทำอาหารต่างกัน ถ้าโดยทั่วไปมันเป็นไฟไหม้บ้าน ไฟเผาเรือน ไฟเผาหมดเลย

แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ไฟเอามาใช้แสงสว่าง ไฟเอามาใช้เพื่อประโยชน์กับบ้านเรือนเรา ฉะนั้นพอเป็นสมาธิขึ้นมาจิตมันเป็นสากล จิตมันหนึ่ง พอหนึ่งปั๊บ มันจะไม่ตามหลัง ตามหลังตามหน้าไม่ได้ ไม่เป็นปัจจุบัน!! ไม่เป็นปัจจุบัน!! ไม่เป็นปัจจุบันแก้กิเลสไม่ได้!! แก้ไม่ได้!!! แก้ไม่ได้!!! มันฟันตรงนั้นไม่ถูก

ระหว่างที่เราต้องฟันนี่นะ เราต้องฟันสิ่งที่เขาขีด เราฟันให้มันคละออกจากกัน เราไปฟันที่ตำแหน่งอื่น ถึงฟันขาดมันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่! เพราะถ้ามันเป็นอย่างนี้จริงๆ เพราะอะไรรู้ไหม ถ้ามันโดย ศีล สมาธิ ปัญญานะ มันมรรคสามัคคี มันรวมกันนี่ มรรคสามัคคีอย่างไร มันจะไปตามหน้าตามหลังได้อย่างไร

เราเคยอ่าน เราเคยฟังครูบาอาจารย์เทศน์มามาก เรื่องมรรคสามัคคี มันก็จำไว้ในสมอง เวลาเราไปปฏิบัติเอง เวลามันรวมตัว อ๋อ! มรรคสามัคคีเป็นอย่างนี้เอง ไม่มีอดีตอนาคต ไม่มีตามหน้าตามหลัง พรึบ! เรียบร้อยหมด “คนไม่รู้พูดไม่ได้ คนไม่เห็นคนไม่เป็นทำไม่ได้” นี่ไงมันถึงต้องมีตัวสมาธินี้เป็นตัวฐาน ตัวฐานให้เราทำงานนะๆ ทีนี้เราไม่มีตัวฐาน ไม่มีคนทำงาน นี่ไงที่กรรมฐานเราว่า “กรรมฐาน” ฐานที่ตั้งแห่งการทำงาน

ทีนี้พอเราไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการทำงาน มันไปทำงานบนอากาศ ไปทำงานโดยสุญญากาศโดยที่มันทรงตัวไม่ได้ คนที่ทรงตัวไม่ได้อยู่บนสุญญากาศมันทำอะไรได้ ปัญญามันคิด มันคิดได้หมด มันคิดของมันไป แต่มันทำอะไรของมันไม่ได้หรอก

แต่ถ้ามีฐานเห็นไหม นี่กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการทำงาน แล้ว “ฐานที่บริสุทธิ์ ฐานที่นิ่ง” หมายถึงฐานที่ไม่เป็นอดีตอนาคต ถ้าฐานไม่นิ่ง เห็นไหม ดูสิการทำงาน ฐานมันเคลื่อน เราทำงานอะไรได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะเป็นมิจฉาเห็นไหม แม้แต่สมาธิมันก็ยังมีขั้นของสมาธินะ หลวงตาพูดบ่อย สมาธิเป็นขั้นของสมาธิ แล้วสมาธิเป็นขั้นของสมาธิมันต้องมีสมาธิก่อน เราถึงต้องมี ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้ามันจะช้าก็ไม่เป็นไร การก่อสร้างบ้านเรือนนี้ นั่งร้านสำคัญมาก การก่อสร้างบ้านเรือนตึกสูง เสาเข็มสำคัญมาก เขาต้องลงเข็ม เวลาก่อสร้างบ้านเรือนเขาต้องมีนั่งร้านขึ้นมา เขาไม่ได้สร้างนั่งร้านนะ เขาสร้างตึกแต่ต้องมีนั่งร้าน ไม่มีนั่งร้านทำงานไม่ได้ สมาธิไม่มีสมาธินะมันจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้ คำว่าไม่ได้ ขอโทษนะขอถอน คำว่าไม่ได้นี่ เพราะ เขาทำของเขา เขาสร้างของเขา เขาต้องทำได้

แต่ทำได้มันไม่มีผล คำว่าไม่ได้คือมันไม่เป็นผล ถ้าคำว่าไม่ได้ คือเราห้ามเขาทำไม่ได้ เพราะสิทธิของแต่ละบุคคล ประทานโทษทำไมทุกคนทำได้ล่ะ ทุกคนทำตามสิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิ์หมด ทุกคนทำอะไรก็ได้แต่ผลมัน คำว่าไม่ได้ของเราคือไม่เป็นผล! ไม่เป็นผล! ถ้ามันเป็นผลนะ เวลากรรมฐานเรา เราเข้าไปในวงของครูบาอาจารย์นี่ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ คือเราพูดกัน

เหมือนเราพูดถึงการขับรถ เกียร์รถธรรมดาทุกคนก็ต้องตบเกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ แล้วมีอยู่คนหนึ่ง พอมันติดเครื่องเสร็จมันเข้าเกียร์ถอยหลัง มันบอกมันไปข้างหน้าจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย กรรมฐานที่มันมั่นคง มั่นคงตรงนี้ไง มั่นคงที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านตรวจสอบกัน ตบเกียร์ ๑ให้กูดู พั๊บ ๒, ๓, ๔ ถ้าเข้าเกียร์ไม่ได้ไปไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เรายังคิดว่าตามหลังอารมณ์ไปทางนู้นเขาเขียนมา ถ้าตามหลังอารมณ์ ทำไปเถอะกี่ร้อยชาติทำไปเลย อยู่อย่างนี้ เพราะมันเป็นอดีต อดีตมันล่วงไปแล้ว เรามานั่งกันอยู่นี้นะ เราแก้ประวัติศาสตร์ไม่ได้ ทุกคนแก้ไม่ได้เว้นไว้แต่ประวัติศาสตร์ผิดแล้วไปแก้ให้มันถูก แต่ทุกคนไม่มีโอกาสได้ไปแก้ประวัติศาสตร์ชีวิต เกิดมาอยู่นี้ นั่งกันอยู่นี้ โตจนป่านนี้ เวลามันผ่านไปแล้วมันแก้ไม่ได้ แล้วตามหลังมันจะไปแก้ได้อย่างไรเป็นไปไม่ได้เลย เป็นไปไม่ได้หรอก ที่เราถามเราอยากรู้ว่ามาจากอาจารย์ไหน ถ้ามาจากอาจารย์ไหนเราจะรู้ว่าอาจารย์นั้นศูนย์ ไม่มีค่า

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ไปพูดให้เด็กๆ มันฟัง ไปพูดกับครูบาอาจารย์นะ หัวเราะก๊ากเลย เพราะความเร็วของจิตเร็วกว่าแสง ทันทีตรงไหน ความคิดนี่เร็วกว่าแสง เอ็งคิดถึงอเมริกาเดี๋ยวนี้สิ เอ็งคิดถึงโลกพระจันทร์สิ

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ไม่มี เพราะจิตมีดวงเดียว อาการร้อยแปด

โยม : ถ้าอย่างนั้นก็ถึงระดับ ถ้าเป็นพระอาจารย์ก็ถึงขั้นโลกุตตระก็เป็นอย่างนั้น สำหรับพวกปุถุชนอย่างผมก็ต้อง สไตล์ก็ต้องค่อยๆ ไปก่อน เพราะจะจู่ๆ ไปอย่างนั้นมันคงไม่ได้

หลวงพ่อ : ไม่ เราเทียบบ่อย ส้ม เปลือกส้ม ส้ม เปลือกส้ม อาการข้างนอกอาการเปลือกส้มก็คือตัวส้ม มันดวงเดียวทั้งหมด เพียงแต่ว่าดวงเดียวนี่ใสมากใสน้อย ละเอียดมาก ละเอียดน้อย แต่อาการที่เคลื่อนไป อาการที่ว่า ๑๐๘ ดวงนี่ อภิธรรม เราไม่ได้ปฏิเสธอภิธรรมนะ อภิธรรมนี้คือวิทยาศาสตร์ทางจิต ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไปแล้วอย่างเช่น ปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเป็นพุทธวิสัย

พอพุทธวิสัย สมเด็จวัดนรนาถฯ เห็นไหม เขียนไว้ที่เป็นปัจจยาการ แล้วให้หลวงตา หลวงตาไปเยี่ยมที่วัดนรนาถฯ มหาดูนี่หน่อย มาดูหน่อย แล้วให้หลวงตาดูผัง ปฏิจจสมุปบาท หลวงตาบอกไม่ดูหรอก ไม่ดู เพราะหลวงตาท่านก็เป็นมหาเหมือนกัน สมเด็จวัดนรนาถฯ ท่านก็เป็นมหาเหมือนกัน คือวิชาการรู้เหมือนกัน แต่ที่เขียนมานี้เพราะวิชาการรู้ใช่ไหม ก็เขียนออกมาเพราะวิชาการมันมีอย่างนั้น

แต่วิชาการนี้มันเป็นบัญญัติของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกนี้พุทธวิสัยนะ พุทธวิสัยมันถึงแบ่งแยกอารมณ์เดียว พรึบ!ๆ ปัจจยาการ พรึบ! อวิชชานี่ จิตเดิมแท้นี่ แต่สิ่งที่มันซ้อนมาแบ่งแยกได้เป็นปัจจยาการ เป็นหนึ่งเดียว เป็นปัจจยาการ แต่ขณะที่เห็นจริง พรึบ!ๆ เราบอกว่า ไฟนี่ จุดไฟจะบอกถึงว่าอะไรเกิดก่อนได้ไหม เบนซินจุดนี่อะไรเกิดก่อน

อันนี้ย้อนกลับมาที่จิตร้อยกว่าดวง มันเป็นปัญญาพุทธวิสัยนะ อภิธรรมไม่เถียงนะ เราไม่เถียงอาการอย่างนี้จิตกี่ดวงกี่ดวงไม่เถียง แต่กี่ดวงกี่ดวงนี้มันมีจิตเริ่มต้น จิตตัวฐาน จิตตัวฐานถ้าเราไม่ได้แก้จิตตัวฐาน นี่กรงขัง กรงขังเวลาคิดออกไปมันออกไปแล้ว แล้วเราไปแก้ข้างนอก แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้ เพราะตัวฐานไม่สะอาดต้องแก้ที่ตัวฐาน

กรรมฐานถ้าแก้ที่ตัวฐาน โสดาบันแก้ที่ฐาน สกิทาคาก็แก้ที่ฐาน อนาคาก็แก้ที่ฐาน อรหันต์ก็แก้ที่ฐาน แต่ฐานหยาบฐานละเอียด ฐานมันซ้อนกันไง ถ้าฐานมันต่างกัน ขิปปาภิญญา ตรัสรู้ พรึบ! ทีเดียว ผ่าน ๔ ขั้นตอน แต่กับที่ เวไนยสัตว์ ผ่านโสดาบัน ผ่านสกิทาคา ผ่านอนาคา ผ่านอรหันต์ มันฐานเดียวกัน แต่ผ่านหลายครั้ง ผ่านหลายครั้งคือว่ามันซับซ้อนกัน คือกำลังเราน้อย ทุนเราน้อย เราใช้ลงทุนแต่น้อย

เราทำกิจการของเราเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป กับทุนใหญ่ซื้อหมดเลย ซื้อบริษัทเลย แต่อย่างไรก็แล้วแต่ มันก็ซ้อนกันอยู่อย่างนี้ มันซ้อนกันอยู่ในจิตดวงนี้ดวงเดียว แต่มันซ้อนกันอยู่ ซ้อนกันหมายถึงว่า บารมี สัมโพชฌงค์ อินทรีย์ พละ พลังที่สะสมมาใครสร้างบุญมากบุญน้อยมา ทำไมพระสีวลีกับพระอรหันต์ถึงแตกต่างกัน นี้ไงตรงนี้ไง แต่อริยสัจมีอันเดียว

อริยสัจมีอันเดียว ในวงกรรมฐานของเรา ประสาเราโทษนะ ถ้าไปคุยกับพระ คุยกับทั่วๆ ไปนะ เขายอมจำนนเพราะว่าเขาไม่มีฐานอย่างเรา แต่ของเรา ตั้งแต่ปฏิบัติมา แม้แต่ไปอยู่ที่โพธารามนะ

“เขาจะให้นักธรรมเอกเราเลย โดยที่ไม่ต้องไปสอบ เพื่อจะตั้งเป็นเจ้าอาวาส เราไม่ยอม ก็ตรงนี้ไง ตรงที่เราเอาไว้ชนกับโลกนี้ไงว่า เราไม่มีการศึกษา ไม่ได้เรียนมา ไม่เรียน!! เขาจะเอาใบประกาศมาให้ฟรีๆ เลย ไม่เอา! ไม่เอา! เพื่อจะยืนยันว่าสิ่งที่รู้มานี้รู้มาจากใจ”

พูดอย่างนี้ดี ดีที่แบบว่ามันมีความเห็น ไม่ใช่ว่าใครนะ เราไม่ได้พูดเราไม่ได้ว่าใครที่ตัวบุคคล เราพูดถึงวิทยาศาสตร์ถึงข้อเท็จจริงแล้วอย่างนี้มันเป็นฐานความคิดมันส่งกันมา เราถึงได้พูดว่าสังคมพุทธเรา ถ้าหลักวิชาการเป็นอย่างนี้ ความเข้าใจเป็นอย่างนี้ โยมนี้นะถ้าเป็นทางอภิธรรม ขอให้ไปฟังของหลวงปู่บุดดา

หลวงปู่บุดดาท่านพูดถึงไปสอบที่สนามหลวง ไปตอบอย่างนี้เขาไม่ให้กินกาแฟหรอก ไปพูดอย่างนี้เขาไม่ให้กินหรอก หลวงปู่บุดดาบอก

“จิตมีหนึ่งเดียว! หนึ่งเดียว! หนึ่งเดียว! หนึ่งเดียวไม่มีสอง”

หลวงปู่บุดดานี้หลวงตาไปกราบ แล้วหลวงปู่บุดดาเป็นมหานิกาย อยู่อย่างนี้ แต่คัดค้านกับความเห็นของเขาหมด คัดค้านกับอภิธรรมหมด แต่ไม่ได้คัดค้านตัวอภิธรรมนะ คัดค้านความเห็นที่ว่าอภิธรรมผิดอย่างไร ถูกอย่างไร แต่โดยหลักอภิธรรมท่านอธิบายให้เห็นไง เหมือนทางวิชาการ จิตเป็นอย่างนั้นๆ แต่เวลาแก้มันไปแก้ที่ตรงนั้น แล้วมันจะเห็นเป็นอย่างนี้ แต่เราไปแก้ แล้วบอกวิธีการกับเป้าหมายไง แล้วเราไปติดกันที่วิธีการกัน แต่พระพุทธเจ้านี้ถึงเป้าหมาย แล้วเอาวิธีการนี้มาอธิบายไว้

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน) ..... ช่วงแรกตอนที่มีกิเลส ก็เห็นตัวกิเลสอาการของจิตก่อน แล้วมาทำสติ ก็เป็นตัวโลกุต เฮ้ย ก็เป็นตัวกสิณ มันก็มองเห็นสภาวะอันนี้ ทำไปเรื่อยๆ มันก็อยู่ตรงนี้ได้ เราก็ดูไปเรื่อยๆ เราก็เจริญสมาธิ เจริญสติ ใช่ไหมครับ เจริญปัญญา ปัญญาหรือเปล่าผมก็ยังต้องดูขณะนี้ก่อน ก็ต้องค่อยไปก่อนมันยังมีกิเลสอยู่ นี้จะให้ไปรวมอย่างพระอาจารย์ปั๊บ ไปเห็นอย่างนั้นผมก็รู้ว่ามันคงไม่ได้ คิดอย่างนั้นก็ยังดูไม่ออก

หลวงพ่อ : ไม่ ไอ้พวกเรานี้นะพูดให้ง่ายที่สุดแล้ว เราพูดถึงครั้งแรกเห็นไหม ที่ว่าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมาพอมีฐานสมาธิขึ้นมามันทำเป็นงานจริงหมด เราไม่ใช่บอกว่าให้ไปแก้ที่อวิชชาตัวเดียว เพราะอวิชชาเราจะบอกว่ามันหยาบละเอียดเราจะให้แก้ที่หยาบๆ นี้ก่อน ใครจะแก้อย่างไรก็แล้วแต่นะ มันเหมือนโทษนะเราหยิบไปที่ไหนก็แล้วแต่ จับส้มมันก็โดนเปลือกส้มทั้งนั้น จับไปที่จิต จับที่อวิชชามันก็โดนแค่สักกายทิฏฐิทั้งนั้น จับไปที่จิตนั้นแหละ ถ้าธรรมะแล้วก็โสดาบันไม่ถึงตัวอวิชชาหรอกแล้วพอชำระเข้าไปเรื่อยๆ มันจะละเอียดลึกเข้าไปเรื่อยๆ จับไปที่ตัวจิต ไม่เห็นจิตมันเป็นเป็นเปลือกของจิต แล้วมันจะไปละกันที่เปลือกของจิต

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน).......ยังไงตอนแรกผมก็ต้องเจอเปลือกก่อน ผมจะทานส้ม ผมก็ต้องแกะเปลือกก่อน ก็ต้องเจอเปลือกก่อน กว่าจะรู้ว่าถึงเนื้อส้ม ได้ทานจริงๆ ก็ต้องไปทำตรงนั้นก่อน เพราะฉะนั้นก็ถึงว่าต้องดูเป็นแต่ละครั้งๆ ไปก่อน

หลวงพ่อ : ใช่ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่เราพูดถึงว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้ามันเป็นอย่างที่ว่าตามหลังอารมณ์ มันไม่เป็นปัจจุบัน มันก็ไม่ถึง มันไม่เข้า มันไม่เข้าเลย ถ้าเป็นปัจจุบันมันถึงเข้า เข้าถึงเปลือกของจิตนี้แหละ ถ้าตามหลังอารมณ์แล้ว มันแบบว่าเหมือนกับ บอลมันช้ากว่าเขาก้าวหนึ่ง เอาเขาไม่อยู่ คือเขายิงประตูพรุนเลย มันตามเขาไม่ทัน คือแบล็คนี้มันเอาศูนย์หน้าของทีมไม่อยู่ คือช้ากว่าวิ่งช้ากว่าเขาก้าวหนึ่ง คือเปิดโอกาสให้เขาเล่น นี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันตามหลังมันเปิดโอกาสให้กิเลสยิงก่อน ไม่ทันหรอก มันต้องทันกันตลอดทันกันตลอดเลย พอทันปั๊บ มันวิ่งมาพร้อมกัน มันกันหมด ไม่มีโอกาสได้ยิง กันอยู่หมด เราวิ่งดักหน้าเลยพอวิ่งดักหน้า เขาเข้าไม่ถึงบอลหรอก แต่นี้มันตามหลัง ตามหลังอารมณ์

โยม : ท่านอาจารย์ครับ ตอนแรกผมก็วิ่งไล่ตามอาจารย์ไม่ทัน ผมก็ต้องวิ่งไล่ตามก่อน ผมจะมีไอ้ตัวพละอะไรขึ้นมาไหมครับ วันหลังตามหลังผมไม่ค่อยมี การที่เราฝึกภาวนาอย่างนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้มันไวขึ้นๆ จะได้ตามได้จะได้ตามทัน ถึงจะได้เห็นปั๊บ เห็นทันที ตรงนั้นมันจะได้รวมเป็นหนึ่งเดียว ตอนแรกก็ต้องเป็นอย่างนั้นก่อน

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าอย่างนี้มันเป็นวิธีการ ถ้าพูดถึงนะเราต้องฝึกไปเรื่อยๆ แล้วมันจะทันไปเรื่อยๆ ทันจนทัน แต่เวลาถึงคำตอบไง คำตอบตามหลังไม่ได้ คำตอบว่าจบนะ จะตามหลังไม่ได้ ต้องเป็นปัจจุบันตลอด คำตอบสุดท้าย ถ้าพูดอย่างนี้ยอมรับว่านี้คือการฝึกเริ่มต้นไปก่อน แต่ถ้าคำว่าถ้าตามหลังอารมณ์ไปตลอดนี้เราพูดถึงกันไว้ก่อน กลัวถึงว่าถ้าตามหลังไปตลอดนะ เอ็งจะต้องตามหลังไปตลอดอย่างนี้

โยม : กระผมถามก็ยังนึกถึงพระอาจารย์นะนี่ คำว่าถ้าเราดูเรื่อง......(เสียงไม่ชัดเจน).....ทุกอย่างก็ไม่ดี เป็นหนึ่งไม่มีสอง มันต้องเป็นหนึ่งเดียวหมด อย่างที่อาจารย์ว่ามันต้องมีจิตดวงเดียว แต่กว่าจะถึงวันนั้นได้นี่ โอ้โฮ มันก็ต้องทำกันตั้งเท่าไร จนกว่าจะตามทันได้นี่ครับ พอเห็นเข้าก็วิ่งไล่ๆ ตาม โอ้โฮ พระอาจารย์ไปไกลแล้ว กว่ามันจะมาถึงมันต้องใช้เวลา

หลวงพ่อ : ใช่ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิไง ถ้าพูดถึงมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ที่พูดนี้นะ เพราะว่าเราพยายามจะพูด ให้ได้หลักได้เกณฑ์ ถ้าไม่อย่างนั้นนะเราถึงพยายามถามเลยว่าอันนี้มันมาจากไหน เพราะว่ามันเขียนมาอย่างนี้ มันบอกมาถึง นี้ไม่ใช่ว่าโยมนะ มันบอกถึงสมมุติเราคิดว่าถ้าเป็นอาจารย์องค์ไหนสอนเขาจะไม่รู้ว่ามีวุฒิแค่นี้ จบแล้ว แค่นี้เองไม่เป็นไร เรายังคิดว่าเพราะมันเกี่ยวกับดูจิต เพราะเขาว่ามันเกี่ยวกับดูจิต

ถ้าเป็นดูจิต แล้วถ้าอาจารย์สอนอย่างนี้นะ นี่คือหลักฐานทางเอกสาร หลวงตาท่านพูดอย่างนี้

“เวลาใครเทศน์ก็แล้วแต่ ไปนั่งฟังอยู่ ถ้าท่านมีคุณธรรมนะ ท่านพยายามปิดมันก็มีหลุดออกมา ถ้าเราไม่มีนะพยายามจะพูดให้เหมือนมันก็ไม่มี คนเป็นกับคนเป็นฟังกันออกหมด”

ฟังเฉยๆ แต่นี้เขียนออกมาเป็นทางวิชาการเลย ที่เราจะบอกว่าในพระกรรมฐานเราทั้งหมด เขาจะไม่กล้าเทศน์ที่พระกรรมฐานเรา สังเกตได้ไหมไม่ค่อยเทศน์ ไม่มีใครเทศน์ เพราะเทศน์ออกไปอัดเป็นหลักฐานไว้ เสร็จกับเสร็จ เพราะคนเป็นมี หลวงตาพูดบ่อยอยู่

“ผู้รู้มี ว่านรกสวรรค์ไม่มีเลย อย่าพูดนะ ผู้รู้จริงเขามีอยู่นะ ผู้รู้จริงเห็นจริงมีอยู่”

ถ้ามันออกมาเป็นอย่างนี้มันจะเสร็จหมดเลย ถ้าพูดถึงเขา ถ้าเป็นฆราวาสก็จบ ถ้าเป็นพระ ถ้าโยมอ่านกันไม่มีประโยชน์ แบบไม่รู้หรอก แต่เราเจออย่างนี้นะ เราวัดค่าของคนเขียนได้หมด วัดค่าได้เลยว่าคนเขียนนี้ศูนย์ เพราะมันเป็นอดีตอนาคต คนตะครุบเงา ไม่ได้ตัวจริงหรอก นี้พูดถึงเขานะ แต่ถ้าพูดถึงโยม บอกว่ามันต้องเป็นสเต็ปอย่างนี้ถูก เพราะทุกคนมาจากสมมุติ ทุกคนมาจากโลก ทุกคนมาจากพ่อแม่

เรานี้ปฏิบัติมา การปฏิบัติเราบอกว่าห้ามปฏิบัติโดยความอย่าอย่าอยากนะ อยากปฏิบัติไม่ได้ บอกบังคับไม่ได้หรอกโดยสามัญสำนึกทุกคนมีอยากอยู่จิตใต้สำนึก แล้วสมาธินี้เป็นตัวกดตัวอยากไว้ ถ้ามีอยากอยู่สมาธิเกิดไม่ได้ สมาธินี่มันกดตัวอยากไว้คือให้มันเป็นสากล คือไม่ให้มีอะไรเข้าไปบวกมัน มันเลยเป็นสัมมาสมาธิคือพลังงานเพียวๆ ไง พลังงานที่ไม่มีสิ่งใดแอบแฝง นี้คือสัมมาสมาธิ

แต่ถ้ายังมีความอยากมีความต้องการอยู่ สมาธิเกิดไม่ได้ ไม่ได้หรอก เพราะตัวอยากนั่นแหละมันไปกั้นสมาธิ ตัวสมาธินี้แหละไปกดตัวอยากไว้ แล้วทีนี้โดยสามัญสำนึกนี้ ปฏิบัติไม่ได้เพราะมีตัวอยากก็ตัวอยากนั่นแหละทำให้เข้าสมาธิไม่ได้ ถ้าเข้าสมาธิได้คือนั่นไม่อยากแล้ว คือไม่อยากได้สมาธิมันถึงเป็นสมาธิ ถ้ามึงอยากได้สมาธิ ไม่ได้สมาธิ แต่ถ้าไม่อยากนะปล่อยโดยธรรมชาตินั้นคือสมาธิ

แล้วสมาธิคือ ไม่มีอยาก มีอยากเป็นสมาธิไม่ได้ นี่ไงคนปฏิบัติเป็น ไอ้การปฏิบัตินี่มันฟ้องเอง มันบอกมันเฉลยเอง ปฏิบัติไปทุกอย่างมันเฉลยในใจเรา มันเฉลยๆๆ เลย โอ้โฮ! แต่ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติไปนะ อ่านแต่ทางวิชาการไปนะ มึงเถียงกันปากเปียกปากแฉะ แต่พอปฏิบัติไปมันเฉลยหมด จริง! พระพุทธเจ้าพูดจริงหมดเลย ไม่มีอะไรผิดเลย จริงๆๆ จริงเหนือจริง!!

ทีนี้ไอ้คนที่พูดนี่ยังไม่ได้ทำ แล้วทำยังไม่ถึงจุดนั้น ก็เลยยังสงสัยอยู่ พอสงสัยอยู่ก็ไปเขียนตำรากัน ทีนี้สังคมมันกว้างจำนวนเขาเยอะแล้วมันกระจายออกไป เลยจับต้นเชือกนี้ผิด ปลายเชือกก็ผิดหมดเลย แต่กรรมฐานเรานี้ทำกันจริงๆ จังๆ แล้วอันนี้มันเขียนออกมามันก็เป็นตำราเป็นวิชาการที่โต้แย้งได้ แต่ส่วนใหญ่ถ้ามันจะจบมันก็จบอย่างนี้

หลวงตาท่านถึงถาม “มีอะไรถามมา” มันต้องเอาธรรมะจริงๆ ธรรมะที่มีชีวิตนี้ซัดกัน มันจบกันที่นี่ ถ้าเขียนเป็นตำราไปนะ เดี๋ยวเขาก็หาข้อมูลโต้แย้งมา มันก็ไปต่างตรงนั้นมันก็ไปต่างตรงนี้ มันก็ว่ากันไปนั่น เพราะว่ามันวิชาการใช่ไหม มันบิดเบี้ยวได้ใช่ไหม มันเสนอข้อมูลใหม่ได้ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นความจริงต้อนจนมุมแล้วอัดเลย จบ ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ เอวัง