ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะหมอ

๑๔ เม.ย. ๒๕๕๑

 

คณะหมอ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คุยธรรมะต้องคุยกันแบบ...คุยธรรมะไม่ใช่ว่า อู๋ย! ฉันต้องชนะ ฉันต้องแพ้

ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก ไม่มี

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ไม่หรอก ได้ยินอยู่แล้ว

เราจะบอกว่า ไอ้ที่ว่าเอาพุทโธนะ แล้วเกาะพุทโธ พุทโธ เอาจิตมาผูกไว้ แล้วมันเป็นอิสระไม่ได้ มันเป็นความคิดนะ มันเป็นทฤษฎีทฤษฎีหนึ่ง ความคิดทฤษฎีหนึ่งของพวกอภิธรรม พวกอภิธรรมเขาบอกว่า ให้การภาวนานี้เป็นภาวนาสายตรง ใช้ปัญญา ปฏิบัติโดยสายตรงคือใช้ปัญญา

พอใช้ปัญญาปั๊บก็เลยจะใช้ปัญญา พวกเราใช้ปัญญา ปัญญาพวกเราเพื่อจะชำระกิเลส เพื่อจะแก้ไขกิเลส พระพุทธเจ้าบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ก็เลยคิดว่าการคิดนี้คือปัญญา ก็เลยใช้ความคิดนี้เข้าไปเป็นปัญญา พอความคิดมันจินตนาการน่ะมันเริ่มทำลายล้าง ความคิดเรามันทำลายล้างเหมือนที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ทำลายล้างคือทำลายป่า ป่ารกชัฏ ป่ารกชัฏหมายถึงว่า โอ้โฮ! ความคิดรู้สึก ความรู้สึก ความทิฏฐิมานะ กิเลสตัณหาเรามันรกชัฏในหัวใจ มันปกคลุมใจ

ทีนี้ใช้ปัญญาไปลบล้างการทำลายป่า เห็นไหม ทำลายป่าเพื่อจะให้พื้นที่มันสะอาด มันสว่าง เขาบอกว่านี่คือการวิปัสสนาสายตรง แล้วพอบอกว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเป็นสมถะ พอเป็นสมถะแล้วมันจะไม่มีปัญญา ทุกคนรังเกียจ ทุกคนเกรงกลัว ทุกคนกลัวว่าตัวเองนี้ใจจะเป็นสมถะ กลัวว่าเป็นสมถะแล้วจะไปติดในสมาธิ

เราบอกเลยนะ เรานั่งกัน ๔ คน เรามีเงินกันคนละล้าน เรามีคนละล้านหนึ่ง เงินล้านหนึ่งเราจะปฏิเสธมันไหม ทีนี้เราไม่มีเงินล้านกันใช่ไหม เงินล้านเราต้องหามา กว่าจะได้เงินล้าน ทำธุรกิจมาเราต้องลงทุนลงแรงขนาดไหน

สมาธินี้เปรียบเหมือนเงินล้านนั้น ถ้าเรามีเงินล้านเราจะใช้จ่าย เราจะไปใช้สอย เราจะไปทำต้นทุนเป็นธุรกิจต่างๆ ก็ทำได้จริงไหมถ้าเรามีเงินล้าน ถ้าเราไม่มีเงินล้าน เราทำอะไรไม่ได้เลยจริงไหม ถ้าเรามีเงินล้าน แล้วเงินล้านกว่าจะหาได้มามันทุกข์แสนทุกข์แสนยากนะ เพราะกว่าจะหาเงินล้านมาได้ แต่เราไม่เคยมีเงินล้านกัน แต่เราก็ว่ามีเงินล้านน่ะไม่ดี เพราะมีต้นทุนแล้วไม่ดี ไม่ดีสักอย่างเลย นี่ไง ที่บอกว่าสมาธิไม่ดี ที่ติดสมาธิไง พอติดสมาธิปั๊บ นี่พูดถึงเงินล้านก่อนนะ

แล้วจะย้อนกลับมาตรงที่ว่า จิตนี่นะ ถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธแล้ว พุทโธนี้มันจะไปผูกมัดจิตให้จิตเป็นสมาธิไม่ได้ คนนั้นไม่เคยทำ ถ้าคนนั้นเคยทำนะ คำพูดนี้เราฝากนะ ฝากไว้ทุกคนนะ บอกว่าเจอพระองค์หนึ่ง พระองค์หนึ่งบอกว่า ถ้าบอกว่าพุทโธ พุทโธ แล้วไปผูกจิตไว้ น้านี่กล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่คำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว กรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐาน ๔๐ ห้องคือทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ให้ทำพุทธานุสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดพุทโธนี่เป็นพุทธานุสติ กำหนดธัมโมนี่เป็นธัมมานุสติ กำหนดสังโฆนี่เป็นสังฆานุสติ มรณานุสติ เทวตานุสติ อนุสติ ๑๐ เห็นไหม

แล้วพุทโธ พุทโธนี่มันสงบได้ สงบได้ สงบได้จริงๆ ด้วย สงบได้จริงๆ เพราะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนซะเอง อยู่ในพระไตรปิฎก กรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทธานุสติ พุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธถ้ามันเป็นสิ่งที่ผิด สิ่งที่ไม่เป็นจริง พระพุทธเจ้าจะสอนได้อย่างไร พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้นมา พระพุทธเจ้าสอนไว้เอง

ทีนี้มัน อยากจะบอกไง จะบอกว่าตอนนี้มันมีความเห็นอยู่ วงการปฏิบัติอันหนึ่งเขาจะบอกตรงนี้ บอกว่าพุทโธนี่ทำไม่ดี ทำไม่เป็นประโยชน์ พอทำไม่ดีทำไม่เป็นประโยชน์ เขาก็จะหาว่า พุทโธทำไปแล้วมันจะติดสมาธิ

เราถึงบอกว่า ถ้าติดสมาธิ คนมีเงินล้านกับคนไม่มีเงินล้าน ใครดีกว่ากันวะ กูไม่มีเงินล้านเลยล่ะ แต่กูติไอ้คนเงินล้านเลย โอ้โฮ! มึงมีเงินล้าน มึงชั่ว มึงมีเงินล้าน มึงชั่ว กูไม่มีสักสลึง กูเป็นคนดี

เพราะคนไม่รู้มันถึงไปติ พอไปติแล้วก็บอกว่า ถ้าพุทโธจะเป็นสมถะ แล้วถ้ากำหนดวิปัสสนา คือใช้ปัญญาเป็นปัญญาสายตรง...มันเป็นปัญญาโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาของกิเลส หลวงตาบอกว่าปัญญาของกิเลส กิเลสเอาปัญญานั้นมาใช้ พอเอาปัญญานั้นมาใช้แล้ว พอภาวนามันก็จะเป็นอย่างนี้ จะเห็นนู่นยุบๆ ยิบๆ คือเห็น เห็นวิบๆ แวบๆ ..เป็น จิตเห็น มันจะสงบ มันจะว่าง ผมทำก็สบายดีนะ

โยม เราจะท้าโยมนะ นี่ปฏิบัติมากี่ปีก็แล้วแต่ไม่เป็นไร เรานั่งอยู่นี่ มีคนปฏิบัติมาอย่างนี้ ๔๐ ปี ๕๐ ปี ปัจจุบันนี้อยู่ฝั่งโน้น ....นี่ภาวนามาเกือบ ๑๐ ปี ร้องไห้ทุกวันเลย เป็นคนมีฐานะ นั่งเครื่องบินไปพม่า นั่งเครื่องบินไปทั่วโลก จะหาสำนักปฏิบัติที่ดี อยากจะพ้นจากทุกข์ แล้วไปไหนไม่รอดน่ะ กลับมานั่งอยู่นั่นน่ะ พุทโธอยู่นั่นน่ะ วันนี้เราก็ยังเอ็ดอยู่ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเขาทำกันอย่างนี้มามันได้แค่นี้ มันเป็นตรรกะ มันเป็นปรัชญาของมนุษย์ เป็นปรัชญาของจิต ที่จิตกระทำแล้วจะเป็นอย่างนี้ แต่อ้างอิงธรรมะพระพุทธเจ้ามาหนุนหลัง

พออ้างอิงมาหนุนหลังแล้ว พอพูดถึง นี่ความเห็นของอภิธรรมนะ ตัวอภิธรรมคือตัวพระไตรปิฎก เราไม่ได้ค้าน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะในอภิธรรมมันจะมีญาณ ๑๖ มีญาณ ๑๖ นะ ญาณที่ ๗ หรือญาณที่ ๘ น่ะมันมีสมถะ แล้วถ้าพุทโธ พุทโธมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำไมไปอยู่ที่ญาณที่ ๗ ที่ ๘ เขา

เพราะญาณ ๑๖ ก็มีสมถะด้วย

ทีนี้ไปบอกว่าสมถะมันเกิดมาจากครูบาอาจารย์เรา พระป่า พระป่าคือประสบการณ์ ธรรมมาจากป่า ธรรมออกมาจากประสบการณ์จริง ถ้าประสบการณ์จริงมันไปประพฤติปฏิบัติ มันไปรู้จริงเข้า มันก็เหมือนกับธรรมะคือว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ใครรู้จริงก็เหมือนรู้แบบพระพุทธเจ้า พอรู้แบบพระพุทธเจ้า มันก็เป็นพระไตรปิฎกที่มีชีวิต ความรู้สึกที่มีชีวิตที่สามารถอธิบายให้ใครๆ ทำก็ได้

ทีนี้ใครทำก็ได้ เขาก็ไปบอกว่า มันจะผิดอย่างนั้น มันจะเอาธรรมะพระพุทธเจ้า เอาปรมัตถธรรมนี้มาโต้แย้งว่า เป็นพุทโธไม่ได้ เป็นพุทโธไม่ได้

พุทโธมันเป็นคำสอนที่ให้พวกเรานี้ปรับพื้นฐาน ให้มีเงินล้านกัน

มันมีเมื่อ ๒ วันนี้ก็มา มาจาก...เลย ได้ซีดีนี้ไป ตามซีดีนี้มาเลย แล้วก็บอกว่าเขาก็กำหนด เขาทำมา ๗-๘ ปีก็อย่างนี้ ว่างๆ ว่างๆ ส่วนใหญ่จะมาอย่างนี้ รู้นู่นรู้นี่ ว่างๆ แวบๆ แวบๆ แล้วเป็นอย่างนี้มาเยอะมาก เราถึงบอกว่า โยมทิ้งก่อนนะ โยมกำหนดพุทโธไปเลย ไปฝั่งนู้น ไปอยู่ ๒-๓ วัน ไปกำหนดอยู่ ๒-๓ วันนะ พอพุทโธ พุทโธ เขาก็พิจารณานามรูป ดูจิตกันมาตลอด

นามรูป ดูจิตนี่อันเดียวกัน เราถึงปฏิเสธดูจิต ปฏิเสธนามรูป ปฏิเสธหมด เพราะอันเดียวกัน นามรูปกับดูจิตไม่ต่างกันเลย เหมือนกัน แล้วเหมือนกันแล้วรากเหง้าอันเดียวกัน โรคภัยเดียวกัน ผลตอบสนองแล้วมันก็เหมือนกัน คือไร้ราก ไร้ราก คนไร้ราก คนไร้จุดยืน คนไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีประโยชน์หรอก

แต่ถ้าพุทโธๆ มีสติ พอมีสติเข้ามา เอ็งทำไปเลย แล้วไปพุทโธ พุทโธอยู่หลายวัน ทีแรกก็อึดอัดอยู่ มันก็มาเบ่งที่ท้อง มาเครียดที่ท้อง บอกว่า เอ็งทำไปเถอะ เดี๋ยวมันก็หายเอง พอทำไป ทำไป มันวูบลงน่ะ มือนี้หายหมดเลย เท้านี้หายหมดเลย ความรู้สึก นี่เขาเป็นเอง เขาหลงมาเอง เขาก็ต้องทำของเขาเอง

พอเขาเป็นของเขาเอง เขามาหาเราเลย อู๋ย! พอทำไปแล้วมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันว่างหมดเลย แล้วมาถามเราไง เราเปรียบเทียบ เมื่อก่อนน่ะเอ็งก็ดูจิต ดูนามรูปกันมาตลอด ๗-๘ ปี มันเหมือนกับเลี้ยงหมาตุ๊กตา หมาตุ๊กตานี้มันไม่กินข้าว มันไม่ขี้ มันไม่เยี่ยว ไม่ทำอะไรเลย แต่พอกำหนดพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เอ็งเลี้ยงสุนัข เอ็งเลี้ยงหมาที่มีชีวิต จิตมันมีชีวิต จิตมันมีความรู้สึก แล้วเอ็งเลี้ยงมันด้วยพุทโธ พุทโธ พุทโธน่ะ เอ็งเลี้ยงมันด้วยอาหาร เดี๋ยวมันก็ขี้ เดี๋ยวมันก็เยี่ยว เดี๋ยวมันก็กิน เดี๋ยวมันก็เลียปากมึง คือมันมีอาการไง มันสงบลง มันก็ปล่อย มันก็ว่าง เดี๋ยวมันก็ขี้ มันก็อึดอัด มันก็ปวดนู่น มันก็เครียด เดี๋ยวมันก็เยี่ยว มันก็รดหัว เดี๋ยวมันก็ทุกข์ ประเดี๋ยวมันก็เลียปากมึงนะ อู๋ย! ว่าง สบาย

โยม ๑ : ที่ผมบอกครับ ก็คือว่าภาวนาพุทโธอยู่เป็นหลักอย่างนี้ครับ คือเขาบอกว่าสุดท้ายมันจะไปเหมือนกันกับของเขาใช่ไหมครับ คือว่าเหมือนกันน่ะบอกว่า พุทโธอยู่ดีๆ ก็แบบว่าเราควบคุมไม่ได้ แต่อย่างของเขานี่คือควบคุมได้ว่าให้วาง แล้วจะเข้าไปจุดเดียวกัน

หลวงพ่อ : ไม่มีทาง เรายังพูดไม่จบไง เพราะไอ้ ๒ คนที่มาพูดอย่างนั้นปั๊บ เราก็พูดตรงนี้ไง อันหนึ่งเป็นสัมมาสมาธิ เพราะมันเป็นหมาที่มีชีวิต หมาที่มีชีวิตนี้มันเจริญเติบโตได้ มันกิน มันเยี่ยว มันขี้ มันมีให้ผลประโยชน์เรา ใครเข้ามามันจะคอยกัดคอยเห่า ไอ้หมาตุ๊กตาเราต้องอุ้มมันไปอุ้มมันมานะ หมาตุ๊กตาจะไปตั้งไหนต้องยกมันไปไว้นะ เราจะมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะอภิธรรมทั้งหมด มาร้องไห้ต่อหน้าเราเยอะมาก ร้องไห้อะไรรู้ไหม นี่ว่างๆ ว่างๆ

ว่างๆ อวกาศที่มันว่างอยู่น่ะ มันว่างๆ นะ จิตที่บอกเมื่อกี้นี้ว่าจุดหนึ่งนะ ความคิดมาจากไหน? ความคิดมันมาจากจิต ความคิดมาจากจิต พอจิตมันตั้งไว้มันก็ดูนามรูป ดูความคิด นามรูปเห็นไหม เกิดดับ นามรูปมันเป็นวิปัสสนา มันปล่อยนามรูป มันปล่อย ปล่อยว่าง ว่าง มันสร้างอารมณ์ว่าง เวลาเราฟุ้งซ่านนี่เราฟุ้งซ่านมากใช่ไหม เราตั้งสติดูมัน พอดูมัน เราดูความคิดใช่ไหม ความคิดมันหยุดมันก็อยู่เฉยๆ แล้วสติมันอยู่ไหน ฐานมันอยู่ที่ไหน แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธนี้สติมันอยู่กับพุทโธ แล้วพุทโธมันเป็นกำแพง กำแพงเหมือนเราเล่นเทนนิสเห็นไหม คนหัดฝึกเล่นเทนนิส เล่นเทนนิสมันจะตีลูกเทนนิสชนกำแพงมันกลับมาแล้วก็ตีใช่ไหม

พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่เป็นกำแพง เราตั้งพุทโธ พุทธานุสติ ตั้งชื่อพระพุทธเจ้า เราเอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นกำแพงกั้นความคิดเราไว้ แล้วพุทโธมันสะท้อนกำแพงกลับมาหาเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธนี่พุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้เพราะอะไร เพราะตัวลูกเทนนิสน่ะมันกระเทือน มันสะเทือนเข้ามาในหัวใจ มันเป็น มาอยู่ในหัวใจเลย พออยู่ในหัวใจปั๊บ มันจะเริ่มปล่อยหมด

ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คนไม่เป็นพูดไม่ได้ พอมันเริ่มปล่อย เห็นไหม มันเริ่มปล่อย มันเริ่มว่าง แป๊บๆ ออกมาอีกแล้ว พุทโธ พุทโธเพราะอะไร เพราะกิเลสมันมีอยู่ ว่าง ขณิกะ อุปจาระ ถ้ามันเข้ามาพุทโธ พุทโธถึง มันจะมีความรู้ออก

นี่เราจะบอกว่ามีรากมีฐาน ถ้ามันว่างๆ อย่างที่เขาว่านี่มันจุดเดียวกัน

ไม่ใช่จุดเดียวกัน สมาธิ มีสัมมาสมาธิ มีมิจฉาสมาธิ มีสมาธิหัวตอ โอ๋ย! อีกเยอะแยะ ถ้าพูดถึงสมาธิมันเป็นสมาธิ แล้วสมาธิมันจะเกิดปัญญาได้นะ พระอรหันต์ทั่วประเทศไทยเลย โอ้โฮ! สำนักปฏิบัติทั่วไปหมดเลย แล้วใครๆ ก็ปฏิบัติกันนะ ก็ว่างๆ ว่างๆ น่ะ จับอวกาศมาเป็นพระอรหันต์ให้หมด เพราะมันเป็นความว่างหมดเลย

“โมฆราช เธอจงมองโลกให้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ เพราะความว่าง เพราะจิตมันไปติด แล้วเราก็ไปดูความว่าง ว่ามันไม่มีสิ่งใดเลย มันเป็นความว่าง แล้วถ้าเอ็งไม่ถอนอัตตานุทิฏฐินะ มาดูความว่างน่ะ ความว่างมันอยู่โน่นน่ะ แล้วเดี๋ยวก็ดูว่างไม่ว่าง อยู่นู่นน่ะ ให้กลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิที่นี่ กลับมาถอนที่ราก

เห็นไหม มันต่างกันตรงนี้ไง มันต่างกันตรงที่ว่า พระที่ภาวนาเป็นจะต้องบอกว่าราก จุดยืนของจิต คือตัวจิต ตัวภพ ตัวภวาสวะ ทุกคนต้องแก้กันที่นี่ ไม่ใช่ไปแก้กันที่นู่น

โยม ๑ : แล้วอย่างที่เขาบอกว่า การปฏิบัติ คือมันเริ่มจากอะไรครับ คือมีทวารทั้ง ๖ ใช่ไหมครับ แล้วก็มีจิตเข้าไปรับ รับแล้วก็ปรุงแต่งขึ้นมา เขาบอกว่า พอปรุงแต่งเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา เขาเลยบอกว่าถ้าเกิดตัดอย่างนั้น ตัดตั้งแต่ว่าเข้ามากระทบที่อายตนะ เสร็จแล้วก็ตัดที่จิตเข้าไปรับเลยอย่างนี้ครับ ถูกไหมครับ

หลวงพ่อ : ว่าอะไร เริ่มต้นคำแรกใหม่เมื่อกี้นี้ อะไรทั้ง ๖ นะ ทวารทั้ง ๖

โยม ๑ : อายตนะทั้ง ๖ คือหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีจิตเข้าไปรับ พอเข้ามาปุ๊บก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อไปเป็นอารมณ์ ถ้าเกิดตัดตั้งแต่ตอนที่จิตเข้าไปรับ ให้ไม่เกิดการปรุงแต่งต่อมาเป็นอารมณ์ทีหลัง อย่างนี้ถูกไหมครับ

หลวงพ่อ : มันพูดอย่างนี้นะ มันจะถูกตามพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์น่ะจิตท่านสะอาดแล้ว มันจะเห็นเป็นอย่างนี้ แต่นี่จิตเราสกปรก มันเป็นอย่างนี้ไม่ได้

โยม ๒ : อ้อ! เพราะว่าเรายังไม่ถึงตรงนั้น

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๒ : เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้

หลวงพ่อ : ไม่ได้

โยม ๒ : เพราะเราอยู่อนุบาล เราไม่ได้เป็นระดับปริญญาเอก

หลวงพ่อ : ใช่ การปฏิบัติมันต้องมีพื้นฐานไง แล้วถ้าคนเรามันปฏิเสธพื้นฐานมันจะโตได้อย่างไร แต่ถ้าพูดถึงน่ะ ที่พูดถึง ถ้าจิตพระอรหันต์นะ จิตนี้สะอาด สอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ตายแล้ว พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ มันมีเศษ ไอ้ที่ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันเป็นเศษส่วน มันเป็นภาระของจิต จิตที่พ้นไปแล้ว เห็นไหม

เราบอกจิต จิตนี้ พระอรหันต์ไม่มีจิต เพราะถ้ามีจิตปั๊บ จิตเป็นภพ จิตเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ แต่เป็นธรรมธาตุ เป็นความรู้สึก พอเป็นความรู้สึก พลังงานอันนี้มันเป็นพลังงานสะอาด พอสะอาดแล้วเวลามีสิ่งใด เวลาพระอรหันต์จะคุย พระอรหันต์จะพูด เขาเรียกว่าเสวยอารมณ์ มันต้องออกมาจากธรรมธาตุ ออกมาอยู่ที่ขันธ์ ออกมาอยู่ที่นี่ แล้วถึงสื่อออกมาข้างนอก

นี่มันเป็นความสะอาด มันเป็นความสะอาดเพราะอะไร เพราะเราบอกไว้แล้วใช่ไหมว่า อภิธรรมนี่ พระไตรปิฎกเราไม่ได้ค้าน เราค้านคนอ่านพระไตรปิฎก เราค้านคนที่เอาพระไตรปิฎกมาสอน แต่ตัวพระไตรปิฎกไม่ผิดหรอก แต่คนสอนพระไตรปิฎกมันไม่รู้จักพระไตรปิฎก มันเลยสอนผิดๆ

โยม ๑ : แล้วอย่างนี้จะให้เป็น ตัดตรงนั้นได้ยังไงครับ

หลวงพ่อ : การตัดของเขานี่เขาไม่เคยตัด แล้วเขาไม่เคยเห็น เขาไม่รู้ว่าตัดอย่างไรหรอก ไอ้ตัดนี่นะมันก็สร้างภาพตัดภาพ เหมือนเรานี่ พูดถึง เหมือนเรา เขาก็เหมือนเราไง คำว่าเหมือนเรา หมายถึงว่า โยมจะแก้กิเลส แล้วมาฟังธรรมะเรา เราเทศน์น้ำไหลไฟดับ โยมเป็นพระอรหันต์หรือยัง? ไม่เป็น เพราะมันตัดไม่ได้ใช่ไหม

โยม ๒ : เพราะใจ เพราะใจมันเป็นโลก

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ มันข้างนอก

ที่เขาพูดน่ะเห็นไหม อายตนะ จิตมันอยู่ที่อายตนะ เรามาตัดซะน่ะ เหมือนเราก็มาสร้างภาพสิ เราก็ทำ เราก็สร้างสารคดีขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เรื่องอายตนะ เรื่องกิเลส แล้วเรื่องตัดกิเลส แล้วเราก็ฉาย นู่น เราตัดกิเลสขาด โอ๋ย! กูเป็นพระอรหันต์เว้ย เป็นไปได้หรือเปล่า? มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มีอะไรเป็นจริงสักอย่างหนึ่ง ต่างคนต่างสร้างหนังสารคดีคนละเรื่อง แล้วก็มาฉายกัน อู้ฮู! นั่นก็สารคดีเรื่องกิเลส เรื่องอายตนะ โอ้โฮ! ไอ้นู่นก็เรื่องภพเรื่องชาติ ไอ้นู่นก็เรื่องอวิชชา อู้ฮู! ฉายกันเต็มไปหมดเลย...เปรตมันฉาย

มันเรื่องนอกใจหมด จริงไหม อายตนะกับจิตตัวเดียวกันหรือเปล่า? แล้วมันสื่อออกมา แล้วเราไปตัดมัน แต่ถ้าเป็นปฏิบัติแบบครูบาอาจารย์เรานะ ปุถุชน ความคิดนี่ เพราะเราควบคุมไม่ได้ พอคุมมันไม่ได้มันก็เป็นปุถุชน มันก็หมุนไปตามความคิด คือว่ากิเลสเป็นเรา ความคิดเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราหมดเลย เป็นเรานี่มันคลุกเคล้ากัน ขี้เยี่ยวก็คลุกเคล้าไปเป็นอารมณ์หมดน่ะ เราก็ตั้งปัญญาไล่เข้าไปเรื่อยๆ ไล่เข้าไปเรื่อยๆ ไล่ความคิดไปมันก็ปล่อย ปล่อย ปล่อยแล้ว ทำไมมึงไม่ปล่อยให้ขาดล่ะ เดี๋ยวก็คิดเดี๋ยวก็ไม่คิดน่ะ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นน่ะ

เป็นเพราะจิตนี้มันเป็นอวิชชา พอเป็นอวิชชามันก็มีอารมณ์ความรู้สึก ทีนี้พอมีอารมณ์ความรู้สึก มันมีมาร มีบ่วงของมารใช่ไหม บ่วงของมารคืออะไร? คืออายตนะไง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง นี้เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วไอ้ตัวนี้มันก็เป็นมาร บ่วงของมารกับตัวมาร ไอ้บ่วงมันก็ไปหลอกมาร ไอ้มารก็เสือกไปแดกเขา มันก็เลยสร้างอารมณ์ พอมันไปแดกเขามันก็เป็นอารมณ์ขึ้นมา พอเป็นอารมณ์ขึ้นมา เห็นไหม อารมณ์ขึ้นมา ถ้าปัญญาเราไล่ทัน ไล่ทันขึ้นมา มันตัดนะ ตัดนี่ จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชน เพราะอะไร กัลยาณปุถุชนเพราะมันรู้ว่า รูป รส กลิ่น เสียงน่ะมันเป็นธรรมชาติของมัน เสียงนี่นะ พวกสื่อสารมวลชนเขาเอาเสียงมาทำทีวีกัน เขาออกหากิน โอ้โฮ! เขาเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีเลย ไอ้เราเสียงทุกข์ฉิบหายเลย ทำไมเขาเอาเสียงไปหาเงินได้ล่ะ? วิทยุมันเช่า มันแย่งคลื่นกันนั่นน่ะ มันจะฆ่ากันตายอยู่นั่นน่ะ เสียงไหมน่ะ ไหนว่าเสียงเป็นโทษไง ไหนว่าเสียงเป็นกิเลส เสียงเป็นกิเลสเขาประมูลกันน่ะ ดูสิ ไอ้โทรศัพท์มือถือ คลื่นมันแย่งกัน มันขอสัมปทานกัน มันจะฆ่ากันตายอยู่นั่นน่ะ แล้วเสียงไหนเป็นกิเลส

รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร นี่ไง ไอ้ที่ว่าตัดๆ นี่ไง ถ้าพูดถึงนะ เราจะรู้เท่ารู้ทัน รู้เท่ารู้ทันน่ะ พอมันเห็นเข้า เห็นโทษ เห็นโทษมันก็สงบเข้ามา เราใช้ปัญญาไล่เข้าไป เห็นโทษสงบเข้ามา สงบเข้ามา จนถึงที่สุดปัญญามันรวมตัว มันปล่อยขาดนะ รูป รส กลิ่น เสียงไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่รูป รส กลิ่น เสียง นี่ไง พอจิตไม่ใช่รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม พวงดอกไม้เหลืออะไร มันขาดเลยนะ พอขาดปั๊บ นี่กัลยาณปุถุชน

พอกัลยาณปุถุชนมันควบคุมจิตได้มั่น ได้มั่นคง พอจิตมั่นคง นี่ไง ที่ว่าอายตนะ จิตมันกระทบๆ น่ะ จิตมันมีกิเลส มันคุมมันไม่ได้หรอก มันยึดเป็นธรรมชาติของมันเลย แต่พอไล่เข้ามานี่มันหดตัวเองเข้ามา พอหดตัวเองเข้ามาตัวมันเองเป็นจิตแล้ว ที่ว่าจิตเห็นจิต พอตัวมันเองสงบเข้ามา เพราะมันไม่ติด มันไม่คิดใช่ไหม เพราะเป็นบ่วงของมารน่ะ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นความคิด อายตนะเป็นความคิดใช่ไหม แล้วมันสื่อกัน มันกระทบกัน เห็นไหม พอเราทันขึ้นมาด้วยปัญญาน่ะมันขาดเอง มันจะขาดเองนะ ขาดด้วยปัญญานี่มันขาด ขาดเพราะมันตัดรูป รส กลิ่น เสียง

ตัดขาดเลย รูป รส กลิ่น เสียงกับจิตนี้มันจะอยู่ มันจะผสมกันไม่ได้เลย มันจะอยู่กันเก้อๆ เขินๆ อย่างนี้เลย แล้วสติเราทันมันเรื่อยๆ เก้อๆ เขินๆ นี่ยังเป็นปุถุชนเลย เห็นไหม ปุถุชน กัลยาณปุถุชน แล้วมันย้อนออก เวลาธรรมดาอยู่เฉยๆ มันเป็นคนได้ไหม อยู่เฉยๆ เราสื่อสารกับใครได้ไหม? อยู่เฉยๆ มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องคิดใช่ไหม เวลาเราจะกินข้าว คิดว่ากินข้าว พอเวลาบางที พอมันย้อนออกมา ถ้าเราจับตรงนี้ได้ จิตเห็นจิตเพราะอะไร เพราะนี่ความคิด นี่ตัวจิต

นี่ไงที่ว่าดูจิตน่ะ อารมณ์ความรู้สึก รูป รส กลิ่น เสียงมันเป็นฐานของความคิดใช่ไหม แล้วตัวความคิดน่ะ ตัวที่ว่าเราไล่เข้าไปมันบ่วงของมารๆ เห็นไหม นี่ตัดป่าไง กูอธิบายมาตั้งนานแล้วล่ะป่านี่ ตัดป่า ตัดป่า

ทีนี้มันออกมา จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจับตรงนี้ได้วิปัสสนามัน หลวงปู่ดูลย์สอนไง จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต วิปัสสนามัน วิปัสสนา ทำลาย ทำลายมัน

ส้ม เปลือกส้ม เปลือกส้มมันขม แต่ไม่มีเปลือกส้ม ส้มอยู่ไม่ได้ ส้มมันหวาน แต่เปลือกส้มมันขม เปลือกส้มคือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อายตนะนี่แหละ ทีนี้พอเราสงบเข้าไปแล้ว มันเห็นกันแล้ว มันเห็นการกระทำ เห็นการกระทำด้วยปัญญา ความคิดเกิดเพราะอะไร? ความคิด เห็นไหม โดยสัญญา ไอ้ต่อมๆ มึงนั้นแหละ สัญญา

เด็กเกิดมามันคิดอะไรไม่เป็นหรอก เด็กเกิดมาไม่มีใครรู้อะไรหรอก...“นี่นะ นมนะ นมเป็นอย่างนี้ อร่อยนะ” พอมันกิน อ้อ! นี่นม วันหลังมา “นี่อะไรเนี่ย”...“นม”

นี่สอนมัน หลอกมัน หลอกสมมุติไง หลอกให้มันจำสมมุตินี้ให้ได้ ความคิดนี้มันก็มาจากสัญญา ถ้าไม่มีสมมุติ เราไม่ได้สร้าง ไม่ได้มีข้อมูลไว้ เอ็งจะรู้ได้อย่างไรว่านม ภาษาจีนเขาไม่เรียกว่านมนะมึง

พอมันมีสัญญาขึ้นมา มันมีตัวเปรียบเทียบข้อมูล สังขารปรุง เวทนาดีหรือชั่ว เวทนาดีหรือชั่วปั๊บ วิญญาณน่ะ วิญญาณในขันธ์ ๕ รับรู้ รูปของจิตเกิดเป็นอารมณ์ คิดไป คิดไป ปัญญามันจับได้ มันแยกๆๆ พอแยกนี่ความคิดเกิดไม่ได้ แยกปั๊บดับ แยกปั๊บดับ ความดับ ดับด้วยปัญญาอย่างนี้ พอมันดับด้วยปัญญาอย่างนี้ มันแยก แยกนี่วิปัสสนาเกิดแล้วนะ ถ้ายังไม่แยก วิปัสสนาเกิดไม่ได้หรอก เอ็งจับความคิดมาสิ แล้วมาแยกความคิดว่าในความคิดนี้มันมีส่วนประกอบของอะไรบ้าง

โยม ๑ : รบกวนอาจารย์พูดเรื่องขันธ์ ๕ ความรู้สึก

หลวงพ่อ : นี่ความคิดน่ะ ความคิดคือรูปของจิต จิตเป็นรูปร่าง เอ็งเชื่อไหม เอ็งว่าจิตนี้เป็นรูปร่างไหม ต้องถามก่อน เอ็งไม่เชื่อว่าจิตนี้เป็นรูปร่างใช่ไหม นามธรรมนี้มันเป็นรูปไม่ได้ใช่ไหม

พระสารีบุตรบวช ตอนนั้นพระสารีบุตรเป็นพระอนาคามี เพราะเรียนมาจากพระอัสสชิแล้วมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ พระพุทธเจ้านั่งเทศนาว่าการอยู่ พระสารีบุตรนั่งพัดอยู่ หลานของพระสารีบุตรจะมาต่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเอาพระสารีบุตรบวช เอาตระกูลพระสารีบุตรมาบวชหมดเลย จะมาต่อว่าพระพุทธเจ้า

ทีนี้ต่อว่าด้วยมารยาทผู้ดี ก็ไม่กล้าว่าตรงๆ ไง ก็ทำว่าไม่พอใจ ไม่พอใจนู่นไม่พอใจนี่ไง พระพุทธเจ้ารู้ทัน

“ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นในโลกนี้ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกนั้นเหมือนวัตถุอันหนึ่ง”

ในพระไตรปิฎก อารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นวัตถุอันหนึ่งเลย แล้วถ้าคนไม่เคยภาวนาก็จับตรงนี้ไม่ได้ แล้วถ้าคนภาวนาเข้าไปแล้วนะ จับตรงนี้ได้ อารมณ์ความรู้สึกนี่จับได้ ถ้าจับไม่ได้เราจะเอาอะไรไปวิปัสสนา

คนวิ่ง ๑๐๐ เมตร จุดสตาร์ทของ ๑๐๐ เมตร นี้มันอยู่ที่ไหน วิปัสสนาเกิดจากตรงไหน ถ้าคนไม่รู้จักจุดของวิปัสสนา คนไม่รู้จัก อภิธรรมไม่เคยเห็น ถ้าอภิธรรมมันเห็น มันจะไม่สอนอย่างนั้น เพราะถ้ามันเห็นนะ เห็นจิต อาการของจิตมันจับได้ พอจับได้นี่มันเป็น มันจับได้มันแยกแยะได้

ทางวิทยาศาสตร์นะ จะทดสอบอะไรก็แล้วแต่ ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์เขาต้องมีสารเคมีต่างๆ เขาต้องผสมกันมันจะออกให้ค่าต่างๆ มันต้องมีหมด แล้วเอ็งจะพิสูจน์จิต เอ็งจะจับจิต เอ็งยังจับจิตไม่ได้ เอ็งยังรู้จิตไม่ได้ แล้วเอ็งจะเอาอะไรไปพิสูจน์

รูปเป็นอย่างไร? รูปหมายถึง กูโกรธนี่รูป กูพูดนี่รูป ทุกอย่างเป็นรูปหมด แล้วในรูปมีอะไร ถ้าพูดนี่ ขาวดำนี้คือแบ่งแยก รูปมันต้องเกิดจากสัญญา แล้วกูคิดว่าดีหรือชั่วนี่สังขาร แล้วความรู้สึกดีหรือชั่วนั่นคือเวทนา แล้วถ้าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นส่วนประกอบของความรู้สึก ถ้าไม่รวมกันด้วยวิญญาณ วิญญาณนี่รับรู้ มันรวมกันเป็นความรู้สึกอันเดียวกัน ออกมาเป็นคำ อารมณ์ความรู้สึกหนึ่งๆๆ แต่มันเร็วมาก ผุดๆๆ ความคิดพุ่ง ผุดๆๆ

โยม ๑ : ยังไม่ค่อยเข้าใจ

หลวงพ่อ : หึ! ภาษาว่าพูดอย่างไรก็ไม่เข้าใจหรอก แต่เพียงแต่ว่าเพราะโยมพูดขึ้นมาไงว่าอายตนะกระทบ สิ่งที่จิตกระทบกันนี้กระทบกัน แล้วเขา เพราะเขาสร้างภาพขึ้นมาไง มันเลยพูดไปอย่างนั้น แต่ถ้าเห็นความจริง ที่เราพูด ที่เราพูดตั้งแต่เมื่อกี้ตั้งแต่ตอนแรกแล้ว เราพูดโดยหลัก พูดโดยความรู้จริงเห็นจริง มึงจะถามกูกี่ร้อยหนกี่แสนหนกี่พันหนนะ กูจะนั่งอธิบายให้พวกมึงจนปากฉีกเลย เพราะกูจับได้ไง กูมีหลัก

แต่ไอ้ที่พูด เขาพูดกันนั่นน่ะ เขาพูดด้วยสัญญา จำข้อมูลในพระไตรปิฎกแล้วพูดๆๆๆ แล้วบางทีก็ลืม บางทีก็ผิดพลาด ผิดพลาดกูขอทบทวนไปเปิดพระไตรปิฎกก่อน ปรมัตถธรรมของพระพุทธเจ้านะ กูพูดจริงๆ นะ แต่กูไม่รู้วิธีการทำ เพราะไม่รู้วิธีการทำ พูดธรรมะพระพุทธเจ้าหมด พูดถึงนี่แดดออกฝนตก เย็นร้อน แน่นอน แต่กูไม่เคยทำนา กูไม่เคยมีข้าว กูไม่เคยทำอะไรเลย แต่เรานี่วัวงานเลยล่ะ กูทั้งหว่าน ทั้งไถ ทั้งกินหญ้า กูจะเอาข้าวขึ้นมากินได้เลย

เพราะพอโยมพูดออกมา เราจับประเด็นได้ พอเราจับประเด็นได้เพราะอะไร เพราะเราโต้แย้งกับอย่างนี้มาเยอะ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้หมด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของสังคมไทย พระมีกี่แสนองค์? พระนี่มี ๔ แสนองค์ในประเทศไทย ธรรมยุติมีอยู่ ๔-๕ หมื่น แล้วกรรมฐานเรามีไม่ถึงหมื่น แล้วคิดดูสิว่าสิ่งที่เขาเผยแผ่กัน ๓ แสนกว่า มันไปกินเนื้อที่ของมนุษย์ไปเท่าไร ที่เขามีทัศนคติมีมุมมองกันอย่างนั้นน่ะ แล้วเรามีแค่นี้ แล้วก็ทำไมน่ะ เหลือกูคนเดียวด้วยมั้ง

โยม : อย่างนี้แล้วที่ ที่...เขาสั่งสอนกันนี่มัน..

หลวงพ่อ : เราถึงบอกว่าผิดหมด เรากล้าพูดอย่างนี้เลย เพราะมันมีคนมาหาเรา ดอกเตอร์ อาจารย์สอนอยู่จุฬาฯ มากัน ๔-๕ คน อาจารย์จุฬาฯ หมด ดอกเตอร์หมดเลยนะ เพราะเพื่อนเขาเป็นลูกศิษย์เรา เขาพากันมา

“หลวงพ่อ เดี๋ยวนี้นะพุทโธเขาเลิกใช้กันแล้ว เขาใช้ปัญญากันหมดล่ะ พุทโธเขาไม่เอา”

เราก็ถามว่า “ปัญญาอย่างพวกมึงนี่นะ มึงจบดอกเตอร์มาหมดเลย เอ็งจบดอกเตอร์ที่ไหนวะ”

บอกผมจบดอกเตอร์มาจากอเมริกามั่ง อังกฤษมั่ง แล้วที่อเมริกา อังกฤษพวกนี้เขาไม่นับถือศาสนาพุทธเนาะ เอ็งยังไปเรียนเป็นดอกเตอร์มาได้เลย ฉะนั้น ไม่มีพระพุทธเจ้า เอ็งก็เป็นดอกเตอร์ได้ใช่ไหม แล้วดอกเตอร์มีประโยชน์อะไร เอ็งเป็นดอกเตอร์ เอ็งรู้ว่าเอ็งเกิดมาไหม เอ็งรู้จักกิเลสเอ็งไหม เอ็งรู้จักทุกข์ไหม? ดอกเตอร์ไปรู้วิชาการหมดเลย แต่ตัวเองไม่รู้จักใช่ไหม

เพราะพระพุทธเจ้าไม่ต้องการวิชาการอย่างพวกมึงนี้หรอก พระพุทธเจ้านะ ปัญญาพระพุทธเจ้าคืออาสวักขยญาณ คือปัญญาภายใน ธรรมจักรมันหมุนทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา จนจิตของเราที่โดนครอบงำโดยอวิชชา โดยมาร โดยความรู้สึกนึกคิดอยากดีอยากเด่นอยากใหญ่อยากโต มันโดนทำลายหมด จนจิตปัญญาของเรา จนตัวจิตน่ะ จากที่มันสกปรก มันจะสะอาดของมันขึ้นมา

ปัญญาอย่างนี้ในโลกนี้ไม่มี ในโลกนี้มีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา นักวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์ต่างๆ นี่จินตมยปัญญาทั้งหมด ปัญญาอย่างนี้ ศาสตราจารย์ดอกเตอร์อะไรก็แล้วแต่จะเข้าไม่ถึงธรรมะเด็ดขาดเลย เพราะเป็นโลกียปัญญา แล้วทีนี้ปัญญา เดี๋ยวนี้เขาไม่ใช้แล้ว พุทโธ พุทโธ เขาไม่ใช้แล้ว เพราะที่เขาไม่ใช้พุทโธเพราะเขาไม่รู้จักคุณประโยชน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเขาไม่รู้จักธรรมะ ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าเขารู้จักศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา เราอธิบายอย่างนี้เหมือนกัน สิ่งที่เอ็งรู้ สิ่งที่...เขาสอน เห็นไหม นามรูปๆ มันเป็นเปลือกส้ม พวกมึงน่ะแดกเปลือกส้ม ขมฉิบหายเลย “ว่างๆ ว่างๆ” กูฉีกทิ้งหมดเลย กูกินส้ม กูฉีกเปลือกแล้วโยนทิ้งน่ะ แล้วกูกินเนื้อส้ม พุทโธนี่ พุทโธคือตัวเนื้อส้ม เราอธิบายให้เขาฟังจนเขาเชื่อเราหมดเลย ดอกเตอร์หมดเลยนะ เขาเชื่อเราหมดแล้วเขาพูดคำนี้ขึ้นมา เดี๋ยวเราจะย้อนกลับมาตรงนี้ไง เรายกเหตุนี้ขึ้นมาก่อนเพื่อจะพูดกับคำนี้ของโยมออกมา

“ถ้ามันผิดอย่างนั้นน่ะ ทำไมหลวงพ่อไม่ไปแก้ล่ะ” เขาก็ชวนเราให้ไปแก้ ไปปรับความเห็นของ ของคุณ...

เราบอกว่าไม่ได้หรอก มันเป็นสถาบัน

“แล้ว...ล่ะ?”

ยิ่ง...ยิ่งไม่ได้เลย

คำว่า “สถาบัน” อย่างโยมนี่มาคนเดียวใช่ไหม ผิดถูกเราคุยกันด้วยทัศนคติใช่ไหม เราไม่ได้คุยกันด้วยทิฏฐิมานะ เราไม่ได้โกรธโยมนะ โยมก็ไม่ได้โกรธเรา เราไม่รู้จักกันเลย ไม่เคยเห็นหน้ากันมาสักวันหนึ่งนะ แต่เรามาคุยธรรมะกัน เรามาคุยข้อเท็จจริงต่อกัน ในเมื่อคุยข้อเท็จจริงต่อกัน เราพูดถึงเทคนิคความเป็นจริง เป็นบุคคลเป็นตัวนี่มันพูดได้ แล้วพอพูดได้ ถ้าเหตุผลเราดี โยมฟังเราโยมก็เชื่อใจเห็นดีกับเรา แต่พอโยมเห็นดีกับเรา แต่ทีนี้ความเป็นอยู่ของโยมกับอย่างนี้ไม่เหมือนกัน เพราะเราอยู่ในสังคมของเรา สังคมกรรมฐานมันเชื่อถือกัน มันเห็นกัน มันอยู่ในทิฏฐิ อยู่ในความเห็นเป็นสัปปายะเท่าๆ กัน ทิฏฐิมานะมันเสมอกัน มันก็อยู่ด้วยกันร่มเย็นเป็นสุข

แต่โยมมาอยู่กับเราไม่ได้ เพราะโยมต้องกลับไปอยู่ในหมู่คณะ พอกลับไปในหมู่คณะนะ เขาก็บอกว่า “อืม! ไอ้ที่เขาพูดน่ะก็พูดคนเดียว ไอ้เรามันมากกว่า ไอ้เรามันจะดีกว่า” เดี๋ยวเอ็งก็ไปมีทิฏฐิไปอย่างนั้นอีก ความเห็นน่ะมันพลิกแพลงได้ตลอด

ทีนี้เขาบอกว่า เขาบอกทำไมไม่ไปแก้...

เราบอก มันเป็นไปไม่ได้ แต่เรากล้ายืนยัน การกระทำอย่างนั้นสูญเปล่า ไร้เปล่า เป็นมิจฉา

คำว่า “มิจฉา” หมายถึง ไม่มีสติไม่มีปัญญา ไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์ขึ้นมาเลย เขาชวนเราไปแก้เลยล่ะ เราบอก คำว่าเป็นองค์กรนะ องค์กรจัดตั้ง เราจะบอกเลยนะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ท่านวางธรรมขึ้นมาด้วยใจที่สะอาดบริสุทธิ์ พูดธรรมะโดยเป็นธรรมะ แต่ขณะที่เป็นโลก เป็นคณะเป็นหมู่คณะมันมีการเมือง

การเมืองหมายถึงว่า อภิธรรมนี้มาจากไหน? อภิธรรม สมเด็จฯ พระที่วัดมหาธาตุไปเอามาจากพม่าใช่ไหม แล้วพุทโธมาจากไหน? พุทโธนี้หลวงปู่มั่นเอามาจากพระไตรปิฎก เพราะหลวงปู่มั่นอยากค้นคว้าอยู่ แต่ไม่มีใคร ก็ไปเอามาจากพระไตรปิฎก คือพุทธปัญญา

แล้วอย่างอภิธรรม อย่างนามรูป อย่างยุบหนอพองหนอ มันเป็นสาวกภาษิต ถ้าสาวกภาษิต อย่างถ้ารู้จริงเช่นหลวงปู่มั่น พวกเราเชื่อมั่นว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ เราก็เคารพศรัทธาใช่ไหม แต่นี่เขาไปเอามา ใครเป็นพระอรหันต์

ถ้าพระอรหันต์นะ อย่างเช่นคำว่าพระอรหันต์ของเรา อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์ของเรา อุปัฏฐากท่านอยู่ พระอรหันต์เหมือนหมอจริง เอ็งเป็นโรคอะไรกูจะวินิจฉัยได้หมดเลย แต่เอ็งไปเรียนกับเขา เอ็งเป็นอะไรไปถามเขานะ “อืม! มันน่าจะเป็นอย่างนั้นนะ มันน่าจะเป็นอย่างนี้นะ มันน่าจะ กูก็ไม่รู้น่ะ กูพูดปฏิเสธไปอย่างนั้นน่ะ มันน่าจะ”

แต่หลวงปู่มั่นนะ “จิตเป็นอย่างไร จิตมึงน่ะเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างนี้ต้องแก้อย่างนี้ ต้องแก้อย่างนี้” ผู้รู้จริงสอน ทีนี้คนรู้จริงสอน เอ็งดูสิ ในการศึกษาของเมืองไทย คนเรียนแพทยศาสตร์มีกี่คน คนเรียนต่างๆ ไปเยอะแยะ เห็นไหม คือความเห็นคือจิตที่มันจะรับภาวะที่จะเอาความจริงอย่างนี้มันมีน้อย พอมีน้อย แต่คนอยากเรียนแพทย์มันก็ต้องเตรียมตัวมามากน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราอยากจะปฏิบัติ เราอยากจะทำดีน่ะ เราก็ต้องวิ่งไปหาหลวงปู่มั่น เราก็ต้องมาขวนขวาย ไอ้การขวนขวายของเรา เราต้องไปหาท่าน เพราะการขวนขวายขึ้นมา คือจิตมันเตรียมพร้อม จิตมันเปิดรับไง ถ้ามีปัญหา ท่านจะฟังเรา

ถึงคำพูดว่า ...ไม่ผิดหรือ? ผิด

คำสอน คำว่าผิดนี่นะ เวลาออกไปพูดทางวิชาการน่ะ

“ผิดได้อย่างไรในเมื่อเป็นปรมัตถธรรม”

ใช่ คำสอนอภิธรรมเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปรมัตถธรรม แต่ไอ้คนสอนน่ะ วิธีการน่ะ เราถึงพูด เห็นไหม ในพระไตรปิฎกเป็นวิธีการหมดนะเข้าไปหาเป้าหมาย แต่เขาเอาวิธีการเป็นตัวตั้ง เหมือนกับเมื่อก่อนถนนแถวนี้ไม่มีหรอก ตรงนี้เป็นป่าหมดเลย ฉะนั้น ถ้ามาที่นี่ต้องขี่ช้างเข้ามา เดี๋ยวนี้นะรถเข้ามาไม่ได้ ต้องตีช้างเข้ามา แล้วเดี๋ยวนี้มันมีช้างไหมล่ะ? ก็เดี๋ยวนี้ถนนมันมี ถนนมันมีก็เอารถเข้าไปสิ

แต่เดิมแถวนี้เป็นป่าหมดนะ เมื่อก่อนช้างเต็มไปหมดเลย เดี๋ยวนี้เป็นป่าหมดเลย นี่เขารุกกันเข้ามา แล้วพระไตรปิฎกเขียนไว้ที่ในป่านะ การเข้าในป่ามันก็ต้องขี่ช้างเข้าไปนะ แล้วเดี๋ยวนี้มันมีป่าไหม

เราจะบอกว่าโดยข้อเท็จจริง จะเข้าออกอย่างไรก็แล้วแต่มันเหมือนกัน แต่กาลเวลา กาลเวลามันเปลี่ยนแปลงสภาพหมดใช่ไหม ไอ้สภาพนี่เรื่องข้างนอกนะ แต่ถ้าคนรู้จริงน่ะ สภาพข้างในหรือสภาพกิเลสที่มันต่อต้านเอ็งล่ะ กิเลสที่มันขัดแย้งเอ็งล่ะ กิเลสที่มันจะทำให้เอ็งหลงใหล ให้เอ็งพลิกแพลงน่ะ ไอ้ตัวนั้นน่ะ

ทีนี้อภิธรรมเขาไม่รู้ เราสังเวชมากเพราะว่ามันมีคนเขา...พวกเราพระป่า เวลาไปศึกษาแล้วทุกคนก็อยากรู้ธรรมะ พอเขาบอกว่าพระพุทธเจ้าก็เข้าไปศึกษากัน พวกเราก็มีเปลี่ยนแปลงไปเรียนอภิธรรม พวกอภิธรรมเขาก็มีเปลี่ยนแปลง เขาอยู่ในวงการแล้วเขาก็เบื่อ เขาก็วิ่งเข้ามาหาเรา เขามาเล่าให้ฟังเยอะ เราถึงยิ่งเห็นโทษเข้าไปใหญ่ เพราะอะไรรู้ไหม

อย่างเรานี่อยู่ในอภิธรรม แล้วเราอ่านหนังสือมาก เราจำมาก เราจะขึ้นสอนเลย คนที่สอนอภิธรรมก็คือใครท่องได้จำได้แม่น ก็เอาขึ้นมาสอนกัน แล้ววงการมันอยู่อย่างนี้ แต่กรรมฐานเรามันไม่ได้ มันต้องพระอาจารย์ที่รู้จริงถึงจะสอนได้ มันต่างกันตรงนี้ด้วย

ทีนี้ดูวงการอภิธรรมใช่ไหม โยมมาศึกษา ศึกษาแล้วท่องแม่นๆ เลย เดี๋ยวขึ้นมานั่งนี่แทน แล้วเราจะไปนั่งอยู่ข้างล่าง นี่ไงมันเลยตาบอดกับตาบอด แล้วก็สอนกันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่โยมพูดอย่างนั้นน่ะถูก แล้วพอเวลาเราบอกโยมนี่พูดนะถูก เพราะเราบอกเลย คนที่ภาวนากันอย่างนี้ ๓๐ ปี ๔๐ ปี มาหาเราอย่างนี้ ปัจจุบันอยู่ฝั่งนู้นหลายคนเลย มาเสียใจอย่างนี้ แล้วตอนไปปฏิบัติที่นั่นเขาทุกข์

เราบอกว่านะ หลวงตาท่านพูดบ่อยว่าปฏิบัติเป็นพิธีๆ พวกเอ็งมันทุกข์ เพราะเขามีสตางค์ไง เขาอยากศึกษาเขาก็นั่งเครื่องบินไปพม่า เขาไปได้ทั่วหมด เขามีสตางค์ใช่ไหม แล้วพอมาอยู่ที่มันไม่มีน่ะ มันร้อนน่ะ ทั้งร้อนทั้งเย็นทั้งหนาวทั้งอยากจะกลับไง

เราบอกว่า “อ้าว! ก็มึงฝึกมาเคยน่ะ เอ็งก็ไปฝึกมาจากห้องแอร์ อยู่สุขสบาย แล้วว่างๆ ว่างๆ พอมาเจอของจริงแล้วมันว่างไหม”

เราบอก “เอ็งก็ต้องทนเอาน่ะ”

เพราะอะไรรู้ไหม? นี่ธรรมชาติสัจจะความจริงกับหัวใจมึงมันปะทะกัน แต่เดิมน่ะมึงเอาห้องแอร์ มึงเอาความร่มเย็น เอาวิธีการจัดการธรรมะมาขวางไว้ ความจริงกับธรรมะ ใจมันกระทบกันไม่ได้เลย มันไปติดความสุขนี่ไง แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นความจริงหรือยัง ใจของมึงกับความจริงมันปะทะกันแล้ว แล้วมึงสู้ไหม แต่เดิมมันว่างๆ ว่างๆ นู่นๆ กิเลสอยู่นู่น ห้องแอร์อยู่นี่ ธรรมะพระพุทธเจ้าอยู่นี่ จิตอยู่นู่น อู๋ย! ว่างๆ ว่างๆ ตุ๊กตาไง หมาตุ๊กตาไม่ขี้ไม่เยี่ยวเลยน่ะ แต่พอมันร้อนก็ปะทะ เย็นก็ปะทะ กูจะถามมึงเลย มึงจะสู้ไม่สู้

ถ้ามึงสู้มึงก็ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นี่ปฏิบัติ ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ร้อนก็ร้อน หนาวก็หนาว จริงก็จริง สู้กับของจริง สู้จริงๆ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติหรือยัง ได้เวลา เป๊งๆๆ เข้าห้องแอร์นั่งหลับคร่อก คร่อก โอ๋ย! ว่างๆ ว่างๆ เดี๋ยวนี้ปฏิบัติเยอะนะ จัดเต็มเลย ถึงเวลาเข้าแล้ว ห้องแอร์ นั่งเป็นแถวเลย เขินกันไปก็เขินกันมา

มันไม่เป็นความจริง เราไปสร้างกรอบสร้างภาพ เพราะอยากเป็นนักปฏิบัติกัน แต่เพราะหัวหน้าไม่มีหลัก หัวหน้ามีหลักมันจะไม่กลัวสิ่งใดเลย

โยม ๓ : อย่างนั้นพุทโธไว้นะเจ้าคะ

หลวงพ่อ : พุทโธ! เป็นมันเป็นจริงๆ หุงข้าวน่ะรักษาไฟไว้ ให้ข้าวสุกมา ไม่ใช่ดิบๆ สุกๆ ก็เอามากิน นู่น นั่งอยู่นู่น หุงข้าวไง ไฟก็ไม่ดูเนาะ เห็นน้ำ น้ำดับไปแล้วนะ โอ๋ย! เอาข้าวมากิน พุทโธๆๆ ดูไฟ พุทโธๆๆ ไป ดูสิข้าวมันเม็ดมันยังไม่สุก

อ้าว! ว่ามา

โยม ๔ : ขออนุญาตถาม ปฏิบัติอยู่ แม่ชีไม่ทราบปฏิบัติแล้วมันฟุ้งซ่าน มันไม่สงบ ไม่ทราบว่าเป็นอะไรคะ

หลวงพ่อ : แล้วปฏิบัติอย่างไรน่ะ

โยม ๔ : ตอนนี้ก็ใช้พุทโธอยู่ ตอนแรกใช้ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ สติปัฏฐาน ๔ หรืออะไรอย่างนี้ค่ะ

หลวงพ่อ : อ้าว! ว่าไป

โยม ๔ : แล้วจิตใจมันไม่แข็งแกร่งน่ะค่ะ มันหวั่นไหวอยู่เรื่อย มันอะไรอย่างนี้ค่ะ

หลวงพ่อ : อืม! ว่าไปสิ

โยม ๔ : ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไรดีคะ ให้พระอาจารย์ช่วย

หลวงพ่อ : ไม่หรอก มันต้องดูพื้นฐานของศีล มันต้องลองกลับมาดูที่ศีล ไม่ใช่ว่าพุทโธๆ พุทโธใครก็พุทโธได้ทั้งนั้นน่ะ มันได้ทั้งนั้นน่ะ ทีนี้พอเวลามันฟุ้งซ่านมันต้อง คำว่าเราพุทโธๆ แล้วพุทโธนี้มันถูกต้อง ทีนี้ถ้าพุทโธถูกต้องน่ะ คำว่า “พุทโธถูกต้อง” โจทย์ถูกต้องนะ คนทำไม่ถูกต้องมันจะถูกต้องได้อย่างไร โจทย์คือพุทโธ แต่คนทำโจทย์มันต้องมีศีล ต้องมีพื้นฐานด้วย ถ้าโจทย์มันไม่ โจทย์คือพุทโธใช่ไหม พื้นฐานเราไม่มีใช่ไหม อย่างเรานี่ผิดศีล เราทำอะไรมาเรื่อยๆ แล้วมาถึงพุทโธๆ มึงอย่าหลอกมึงน่ะ เมื่อกี้มึงยังทำผิด ผิดปาจิตตีย์มาอยู่เลย

โยม ๔ : มันคอยฟุ้งซ่านอยู่เรื่อยใช่ไหมคะ จิตมันไม่ค่อยสงบ ใครพูดอะไรก็เครียดหงุดหงิดอะไรต่ออะไรไปแบบนี้ค่ะ

หลวงพ่อ : นั่นแหละ เพราะอย่างนี้ เห็นไหม พอบอกพุทโธก็ทำไม่ได้ ใครว่าพุทโธมันก็ยากน่ะ ไปโทษให้พุทโธเป็นจำเลยหมดไง พุทโธนี่ต้องจับมาฆ่าแล้ว พุทโธทำให้คนทุกข์ทั้งนั้นน่ะ พุทโธนี้พุทโธต้องประหาร ทำให้คนมีแต่ความลำบาก

โยม ๔ : ไม่ค่ะ พระอาจารย์คะ ตอนแรกปฏิบัติของท่านแม่อยู่ เพราะท่านแม่ก็สอนให้สติปัฏฐาน ๔ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ อะไรอย่างนี้ สติปัฏฐาน ๔ ไว้ ทีนี้พอทำไปๆ มาตั้งนานแล้วมันก็ไม่ยอมสงบ แม่ชีก็เลยเปลี่ยนมาพุทโธๆ

หลวงพ่อ : ใช่ พุทโธ ตั้งใจ ตั้งใจจริงๆ สิ อย่างที่พูดเมื่อกี้ พุทโธๆๆ สติปัฏฐาน ๔ อะไรมา ทุกอย่างสติปัฏฐาน ๔ อะไรมันต้องให้จิตสงบก่อนแล้วมันจะเห็นจริง ถ้าจิตเราไม่เห็นจริง สติปัฏฐาน ๔ เราไปใช้สติปัฏฐาน ๔ ก่อน มันหลอกตัวเองไง คือมันสร้างภาพ

โยม ๔ : ปัญญาไม่เกิดนะคะ

หลวงพ่อ : ไม่มีทางหรอก

โยม ๔ : ยิ่งเครียด หงุดหงิดๆ โอ้โฮ! จะแบบ

หลวงพ่อ : ปล่อยมันให้หมดเลย พอปล่อยให้หมดไปแล้วนะ เราก็รักษาศีลของเราให้ดี แล้วเราก็พุทโธๆ ไป พุทโธๆ ทีนี้พุทโธที่มันเครียดเพราะอะไรรู้ไหม? มันเครียดเพราะว่าเด็กนะ เด็กปล่อยให้มันเล่นโดยตามปกติมันอยู่สบายของมัน แต่ถ้าเด็ก บอกเอ็งนั่งเฉยๆ นะ จับให้มันอยู่เรียบร้อยนะ เด็กมันดิ้นตายเลย

โยม ๔ : ปฏิบัติมาเป็น ๒๐ ปีแล้วนะคะ ก็เครียด

หลวงพ่อ : ๒๐ ปีแล้วนะนี่

โยม ๔ : เป็น ๒๐ ปีแล้วทุกข์ใจมากเลย แบบทำไมอยู่ใกล้พ่อแม่ ทำไมหงุดหงิด

หลวงพ่อ : จบ เอานี้ก่อน เราจะบอกว่า ทีนี้

โยม ๔ : กราบขอโทษท่านอาจารย์

หลวงพ่อ : ทีนี้พุทโธๆ นี่นะ คำว่า “พุทโธ” พอเราสติปัฏฐาน ๔ คำว่าสติปัฏฐาน ๔ มัน มันเป็นบันไดขั้นต่อไป ถ้าไม่มีสติปัฏฐาน ๔ มันเกิดวิปัสสนาไม่ได้ วิปัสสนานี่

อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ อริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคมันมรรคในอะไร? ในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย เวทนา ในจิต ในธรรม ทีนี้ในสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นวิชาของขั้นอุดมศึกษา แล้วจิตเราจะเรียนอนุบาล แล้วเด็กจิตที่เป็นอนุบาลมันไปเอาวิชาการของอุดมศึกษามาใช้ก็ไม่เป็นไร ก็เหมือนเรา กศน. เรียนนอกตำราไง พอเปิดหนังสือเราก็ใคร่ครวญได้หมด พอใคร่ครวญได้หมดมันก็คิดของมันไปน่ะ เด็กก็อนุบาลใช่ไหม ก็คิดว่า เออ! กายก็ต้องเป็นอย่างนั้น เวทนาก็เป็นอย่างนี้ มันก็คิดกันไป มันก็คิดได้หมดน่ะ เพราะมันเป็นสิทธิของจิต มันคิดได้ทุกคนน่ะ แล้วมันเอาไปคิด คิดโดยที่ว่าพื้นฐานมันไม่มี มันได้อะไร? มันก็ได้เสียเวลาไง มันได้ผัดวันประกันพรุ่งไปวันๆ หนึ่ง

ทีนี้ถ้าเรามาทำจิตสงบก่อน เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค กับสติปัฏฐาน ๔ ทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ

โยม ๔ : จะแก้แบบไหนคะพระอาจารย์ เอาพื้นฐานก่อน

หลวงพ่อ : เอาพื้นฐาน คือว่าเรากลับมาที่นี่ ไอ้ที่ทำมาแล้ววางให้หมดเลย แล้วเราก็ทำจิตเราให้ดี สำคัญที่สติ สติเรา ตั้งแต่เช้าขึ้นมา เห็นไหม

โยม ๔ : คอยเครียด ใครพูดอะไรไม่ถูกหู เอาแล้ว

หลวงพ่อ : เปล่า ตอนนี้จิตมันผิดปกติแล้ว เราฟังอย่างนี้เราว่าจิตมันผิดปกติแล้ว เพราะความเครียด ความกระทบนี่นะ เพราะไอ้อย่างนี้มันอยู่ในสิ่งแวดล้อม ถ้าสิ่งแวดล้อมมันบีบคั้น แล้วจิตมันโดนบีบคั้นมาจน ประสาเรานี่จิตมันมีปมมีอะไรในหัวใจ ทีนี้พออะไรกระทบปั๊บมันจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเปลี่ยน เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมภายนอก สิ่งแวดล้อมภายใน ถ้าเราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายนอกไม่ได้ เราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายใน

สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่มันปากของเขา ใครจะพูดอะไรมันเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่างพูดถึงเมื่อกี้นี้นะ ถ้าเสียงสิ่งที่กระทบ เสียงที่มันจะมีโทษกับเรา ทำไมเขาไปสัมปทานกัน เขาเอาเสียงมาเป็นประโยชน์ล่ะ

โยม ๔ : ยึดใช่หรือเปล่าคะ ยึดมาปรุงแต่ง

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๔ : เลยทำให้เครียด เลยทำให้หงุดหงิด

หลวงพ่อ : ไม่ ไม่ ไปพูด ไปติเตียนใคร ไปจัดให้เขาพูดดีกับเราไม่ได้ ต้องจัดการใจของเราอย่างเดียว ถ้าจัดการใจของเราอย่างเดียว เราจะเข้ามาจัดการใจของเรา เราจะเห็นว่ารูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมันนะ ธรรมชาติของเสียง แต่เสียงนี้ไม่เป็นธรรมชาติ เพราะเสียงนี้มันมีกิเลส เสียงนี้มันมีตัณหา เสียงนี้มันมีอาฆาต มันถึงได้ด่าเรา คำว่าด่าเราก็เรื่องของเขา เสียงมันเป็นธรรมดา แต่เสียงนี้มาจากจิตไอ้ดวงนั้น ไอ้จิตดวงนั้นน่ะมันมีอาฆาตมาดร้าย ไอ้จิตดวงนั้นมันมีอิจฉาริษยา

โยม ๔ : แม่ชีก็อยากจะเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ให้มันดีขึ้นอย่างนี้ ไม่รู้จะเดินทางแบบไหน

หลวงพ่อ : นั่นล่ะ เราจะปล่อยสิ่งนั้นไว้ก่อนไง เราจะปล่อย ปล่อยเรื่องเสียงไปก่อน แล้วมาควบคุมจิตใจเราให้จิตมันสบาย ให้จิตใจมันไม่โดนกดดัน พอจิตใจไม่โดนกดดันปั๊บ เราตั้งสติให้ดี แล้วกำหนดพุทโธๆ ขึ้นมา ถ้ากำหนดพุทโธๆๆ ขึ้นมามันก็ไม่เครียด

โยม ๔ : ทำค่ะ ทำภาวนามันก็ไม่ค่อยสงบ แต่มันก็ยัง...

หลวงพ่อ : ไม่สงบหรอก มันไม่สงบเพราะอะไรรู้ไหม? มันไม่สงบ ไม่อยากจะพูดว่ามัน ทุกที่ล่ะ หลวงตาท่านพยายามจะไปไหนๆ เพราะท่านพูดอย่างนี้ คนที่รู้แจ้งน่ะ เขาจะรู้ว่าคนรู้แจ้งนี่มันหายาก ทีนี้ถ้าคนรู้แจ้งหายาก สิ่งที่รู้แจ้งจะไปสอนพวกสมมุติมันต้องอาศัยสิ่งที่รู้แจ้งไปสอน สมมุติสอนสมมุตินะมีตายกับตาย สมมุติสอนสมมุติไง ทั้งๆ ที่เรียนอภิธรรมมาสอน นี่สมมุติสอนสมมุติ ถ้าสอน สมมุติสอนสมมุติมันก็แหลกกับแหลก เพราะว่าอะไร

เพราะสมมุติตัวผู้สอนก็ไม่รู้ ตัวผู้เรียนก็ไม่รู้ แล้วสอนกัน เรียนกัน แล้วพอตัวสมมุติ สมมุติมันมีอะไรรู้ไหม? มันมีอคติ ๔ ชัง รักเพราะชัง เกลียดเพราะรัก อคติ ๔ ไง กลัว เพราะกลัวเพราะกล้า

โยม ๔ : กามฉันทะ

หลวงพ่อ : นั่น! เพราะมันเป็นสมมุตินี่ ก็หวั่นไหวน่ะ จะผิดจะถูกก็หวั่นไหว พอหวั่นไหวปั๊บมันก็ควบคุมองค์กรไม่ได้ พอควบคุมองค์กรไม่ได้มันก็เกิดผลอย่างนี้

โยม ๔ : เกี่ยวกับพลังจิตไม่แข็งแกร่งด้วยไหมคะ เกี่ยวกันไหม

หลวงพ่อ : ใช่ เห็นด้วย เห็นด้วย อันนี้เราเห็นด้วยไง เพราะโยมถามว่าจะทำอย่างไรใช่ไหม เราถึงบอก ถ้าเป็นประสาเรามันต้องตั้งสติแล้วรักษาใจเรา พุทโธๆๆ พุทโธไป ถ้าพุทโธไม่ได้อย่างที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ เรื่องของเขานะ แต่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาคิดไป คิดถึงชีวิตนี้ ถามเลยว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม ๒๐ ปีโดนเขาโขกเขาสับอยู่นี่พอใจหรือยัง จะมารอบสองไหม จะมาให้เขาโขกเขาสับหรือเปล่า ถ้าไม่ให้มาโขกมาสับ รอบสองเราก็ต้องหาทางออก หาทางออกก็ย้อนกลับมาที่ตัวเรา เราแก้โลกนี้ไม่ได้

โยม ๔ : ปัญญายังไม่ค่อยแกร่งค่ะท่านอาจารย์

หลวงพ่อ : ถามมัน! ปัญญาจะเกิดไม่ได้ ปัญญาไปกดตู้เอทีเอ็มไม่มีขาย ปัญญามันเกิดจากเราฝึก ถ้าเราไม่ฝึกปัญญา ปัญญาไม่เกิด ถ้าปัญญาเกิดขึ้นได้นะ อาฬารดาบสเป็นพระอรหันต์ไปก่อนพระพุทธเจ้า เพราะมีสมาธิพร้อมแล้วได้สมาบัติ ๘ หมด ปัญญาจะเกิดได้ต่อเมื่อมีการฝึกฝน สมาธิ มีฐานของสมาธิอยู่นี่ ที่เขาพูด เห็นไหม ติดสมถะ บอกพุทโธติดสมถะ เพราะเขาบอกกลัวจะติดตรงนี้ไง

ถ้าไม่มี ไม่มีสมาธิ สมาธิเป็นตัวแบ่งแยกโลกียะกับโลกุตตระ ถ้าไม่มีสมาธิเป็นโลกียะหมด ถ้ามีสมาธิเป็นโลกุตตระ ทีนี้พอไม่มีสมาธิ เห็นไหม ถ้ามีสมาธิแล้วไม่ทำอะไร สมาธิก็คือสมาธิ สมาธินี้เป็นพลัง สมาธินี้คือทุน เงินหนึ่งล้านสำคัญมาก

แล้วเราสังเกตได้ ที่ไอ้ ๒ คนนั้นมันพูดน่ะ พอบอกให้ทำสมาธิ

“อู๋ย! เดี๋ยวติดสมถะ”

แหม! มึงเอ๋ย! มึงรังเกียจ มึงเอาแบงก์ฉีกทิ้งนะ แบงก์มึงในกระเป๋าฉีกทิ้งให้หมด ถ้ามึงเกลียดทุนน่ะ เกลียดสมาธินี่ มึงมีหรือเปล่า คนไม่มีสมาธิเลยก็กลัวสมาธิแล้ว กลัวแต่ทีนี้ นี่หลอกเด็ก หลอกให้ชาวบ้านเขาหลงกันไป หลอกให้คนที่ควรจะมีพื้นฐานทำลายพื้นฐานของตัวเอง หลอกให้คนทำลายรากหญ้าหมด

โยม ๔ : พระอาจารย์คะ ที่นี่ปกติมีแม่ชีปฏิบัติใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : มี ใช่

โยม ๔ : ฝึกอบรม ฝึกแบบไหนคะ

หลวงพ่อ : ฝึกนี่เราด่าทุกวัน เช้าก็ต้องมาให้เราด่าที่นี่

โยม ๔ : คืออยากรู้ว่าทำปฏิบัติแบบไหนคะ เขาถึงได้อะไรมากกว่าแม่ชี

หลวงพ่อ : พุทโธหมด

โยม ๔ : อาศัยพระอาจารย์ได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่ได้หรอก เรายังไม่รับ ต้องดูก่อน

เราให้พุทโธนะ

หนึ่ง เราให้พุทโธ หรือถ้าพุทโธไม่ได้ ไอ้พุทโธทั้งหมด มันไม่ใช่ทำได้ทุกคนหรอก เพราะเรา เรานักปฏิบัตินี่เรารู้ พุทโธต้องเป็นสัทธาจริต ต้องมีความเชื่อมั่นถึงจะทำพุทโธได้ แต่ถ้าเป็นพุทธจริต ต้องเป็นปัญญาอบรมสมาธิ พุทโธเป็นสายของพระโมคคัลลานะ พวกนี้มีฤทธิ์มีเดช แต่ปัญญาไม่มี แต่ถ้าเป็นปัญญานะมันต้องเป็นฝ่ายพระสารีบุตร เป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตตินี่จะใช้ปัญญา ถ้าปัญญาวิมุตติมันจะใช้ปัญญาไล่มันเข้ามา ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำพุทโธได้นะ

โยม ๔ : ตอนนี้ไม่รับหรือคะ

หลวงพ่อ : ยังไม่รับ เพราะว่าตอนนี้คนมันเข้ามาเยอะไง แล้วถ้าแม่ชีเข้ามานี่นะ

หนึ่ง เช้าขึ้นมา การขบการฉันมันมีปัญหา ทีนี้บางทีมันก็มีแม่ชีมาจากวัดอโศฯ เหมือนกัน แต่พอมีแม่ชีวัดอโศฯ เข้ามา เพราะแม่ชีวัดอโศฯ เขาเป็นเพื่อนๆ กันกับพวกที่อยู่ที่นี่ เขาก็จะแบบว่าพอพระจัดเสร็จแล้วจะให้แม่ชีเอาก่อน คือแม่ชีจะตักอาหารก่อน ตักเสร็จแล้วคฤหัสถ์ถึงได้กินไง เพราะว่าอะไร

เพราะว่าเราทำแบบระบบกรรมฐาน ระบบกรรมฐานคือว่าทุกคนต้องช่วยตัวเอง เพราะทุกคนน่ะให้แบบว่าให้มันเป็นไป เพราะไม่ให้มีการคลุกเคล้าไง ถ้ามีการคลุกเคล้า มีการดูแลกัน มันจะเป็นภาระ มันต่อเนื่องกันไปหมดเลย ทุกคนต้องฟรี ทุกคนต้องอิสระหมด เพราะทุกคนต้องการเวลาไปปฏิบัติหมด ฉะนั้นการเป็นอยู่ไปมันจะไหลไปเหมือนสายพานการผลิตเลย ต้องหมุนออกไปแล้วก็จบเลย จะไม่ให้หมุนออกไปแล้วก็หมุนกลับมา แล้วก็หมุนออกไป หมุนกลับมาไม่ใช่ หมุนออกไปแล้วก็เลิก

โยม ๔ : ต้องใช้อุบายด้วยหรือค่ะ

โยม : ฉันกี่โมงเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ประมาณ ๗ โมงครึ่ง จะให้จบ ให้ถึงสุดออกไปก็จบเลย

โยม ๔ : พระอาจารย์คะ ที่เป็นพยาบาลมาอยู่นี่มีไหมคะ

หลวงพ่อ : เยอะแยะ

โยม ๔ : ไม่ค่ะ ตอนแรกเขาอยู่กับพระอาจารย์ ...ที่อยู่กับพระอาจารย์ อยู่ที่สถานธรรมเก่าน่ะค่ะ มาอยู่กับพระอาจารย์ด้วยหรือเปล่าคะ

หลวงพ่อ : นึกไม่ออกใครบ้าง

โยม ๔ : ชื่อ... ที่เขาอยู่กับพระอาจารย์ เขาไปที่สำนักเรื่อยเลย เขาเป็นพยาบาลแล้วเขาปลดจากพยาบาลมาอยู่กับพระอาจารย์ ตอนนั้น

หลวงพ่อ : ยังอยู่นู่นมั้ง ยังอยู่นู่น

โยม ๑ : พระอาจารย์ครับ ขอเริ่มใหม่ตอนตั้งแต่เช้าที่พระอาจารย์ให้เริ่มดูสติ

หลวงพ่อ : เออ! ตั้งสติให้ดีแล้วพุทโธไป มีทางแก้ไขได้

โยม ๑ : ให้ความรู้ด้วยครับ พระอาจารย์บอกว่าตื่นเช้ามาให้มีสติ แล้วก็ทำอย่างไรต่อ

หลวงพ่อ : ใช่ มีสติใช่ไหม เรามีสติแล้วก็ดูความเคลื่อนไหวน่ะ ดูความเคลื่อนไหวจากภายในกับความเคลื่อนไหวจากภายนอก ดูความเคลื่อนไหวจากภายใน ดู มีสติแล้วดูการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวหมายถึงว่าจิตมันกระทบอะไร ถ้าจิตกระทบอะไรที่มันรุนแรงนะมันจะโกรธ มันจะเกลียด มันจะสะเทือนใจมาก เราจะคุมจิตเราไม่ได้ พอคุมจิตไม่ได้ปั๊บเราก็ต้องมีสติเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามันมีความกระทบ บางวัน เห็นไหม บางทีอารมณ์มันจะรุนแรง บางวันนี่โกรธมากเลย เครียดมากเลย บางวันโปร่งใส พอบางวันโปร่งใส่ การโปร่งใสนี่เรากำหนดมันก็เบาบางได้

แต่ถ้ามันมีรุนแรงนะ การเดินจงกรมกัน เขาจะมีสติมหาสติ มันต้องคุม บางคนเราบางทีมันต้องออกแรงมากออกแรงน้อยไง สติมันจะให้เราออกแรงมากออกแรงน้อย มันจะควบคุมเรา นี่มันจะดูไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ว่าวันนี้ภาวนาดี พรุ่งนี้จะภาวนาดี ไม่ใช่หรอก กินข้าวบางทีอร่อยไม่อร่อย สติเหมือนกันเดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี เดี๋ยววุ่นอยู่อย่างนี้

โยม ๑ : ดูมันเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน

หลวงพ่อ : มันเป็นอนิจจัง ทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง เพราะทุกอย่างมันเคลื่อนไหวหมด ทีนี้เราก็ต้องรักษาตรงนี้ ทีนี้เราต้องตั้งสติไว้ แล้วตั้งสติไว้ตรงนี้ ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงหมดเลย ที่เราพูดนี่เป็นข้อเท็จจริงหมด แต่ที่น้าสอนหรืออะไรสอนนี่มันเป็นนิทาน ทีนี้พอทำไปแล้วมันเป็นนิทาน แล้วพอโยมทำแล้ว อย่าว่าแต่เห็น เขาก็เห็นอย่างนั้น เห็นอย่างนั้นนะ ทมยันตีมันดีกว่ามึงอีก มันเขียนคู่กรรมนะมันขายเป็นโอ้โฮ! รวยเละเลย

คือมันคิดได้ มันสร้างได้น่ะภาพ จิตมันสร้างภาพได้นะ จิตคนเรานี่แปลกมหัศจรรย์มาก นอนหลับยังฝันเลย แล้วมึงแค่ไปยุบยิบๆ อย่างนี้ กรณีอย่างนี้เราเห็นคนเขาเอาไปหากินกันเยอะ เอ็งทำอย่างนี้ให้เป็นอย่างนี้ เขียนเป็นตำราแล้วเขียน พอมาเรียนกับกูปั๊บ อ้าว! นั่งอย่างนี้แล้วเป็นอย่างนี้ พอเป็นจริงนี่เห็นเหมือนกันเลย เออ! จบ

สงสารมาก มันเสียโอกาส เสียชีวิต เสียเวลาทั้งชีวิตเลย

โยม ๑ : อาจารย์ พูดถึงบทหนังที่ว่าเออ! ที่เขาคิดเป็นบทหนังที่มาตัดต่อหรือมาขายต่อ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : ไม่ใช่ของจริง

หลวงพ่อ : จริงไหม

โยม ๑ : จริงครับ จริงครับ

หลวงพ่อ : แล้วคิดดูสิมันเป็นอย่างนั้นหมดเพราะอะไร เพราะมันไม่รู้จริง

โยม ๑ : ครับ

หลวงพ่อ : ถ้ามันรู้จริง มันพูดมาไม่ได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้ามันรู้จริงมันเป็นความรู้สึกของเรา มันเป็นขั้นตอนของเรา เราต้องอธิบายได้ แล้วอธิบายได้เพราะอะไร เพราะจิตดวงหนึ่งจะให้จิตดวงหนึ่ง

หนังนี่กูสร้างเอง พระพุทธเจ้าสร้างไว้ก่อน เห็นไหม พระไตรปิฎก แล้วกูก็เข้าไปทำ กูไปถ่ายทำ กูไปเห็นมาหมดเลย แล้วมาฉายให้กูดู แล้วจะหลอกกูได้อย่างไร มึงก็สร้าง กูก็สร้าง กูก็เคยสร้าง กูก็เคยฉายมาดูเหมือนกัน แล้วอยู่ดีๆ มาบอกว่าหนังอันนี้เป็นสมบัติของมึง

โอ้โฮ! พระพุทธเจ้าสร้างไว้ก่อนมึงอีก แต่โลกมันโดนหลอกน่ะ เราถึงกล้าพูดว่าที่เราไม่ได้ปฏิเสธพระไตรปิฎกนะ เราไม่ได้ปฏิเสธเนื้อธรรมพวกอภิธรรม แต่เราปฏิเสธคนสอนอภิธรรม

โยม ๑ : คนเอาพระไตรปิฎกมาสอน

หลวงพ่อ : มันสอนไม่เป็น มันสอนไม่รู้ แต่ตัวธรรมะไม่ได้ปฏิเสธ เถียงกันอยู่ตั้งนานน่ะ จบตรงนี้ เถียงมาทั้งวันเลยน่ะ จบแค่นี้ ธรรมะน่ะจริงแต่คนสอนสอนไม่เป็น จบเนาะ