เทศน์หลังฉันจังหัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
หลวงพ่อ : ไอ้ผู้ปฏิบัติใหม่ก่อนนะ ผู้ปฏิบัติใหม่ที่ว่าขอกรรมฐาน ขอกรรมฐานมันเป็นประเพณีเฉยๆ ถ้าขอกรรมฐาน ถ้าเป็นทางโลก เขาก็ต้องมีขัน มีพานรอง มีดอกไม้ธูปเทียนไง มันก็เหมือนขึ้นครูน่ะ ถ้าขึ้นครู ทีนี้การขึ้นครูมันเป็นประเพณี ทีนี้ถ้าเป็นพระป่าเรา ตรงนี้เขาไม่ถือ เขาเพียงแต่ เช่น หลวงปู่อ่อน หลวงปู่อ่อนนี่ตามหาหลวงปู่มั่น ตามหาหลวงปู่มั่นมาก เพราะเคารพหลวงปู่มั่นมาก ครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดเลยว่าท่านจะออกปฏิบัติใหม่ๆ ท่านบอกว่าท่านได้ยินชื่อกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่นตั้งแต่ท่านเด็กๆ ฉะนั้น พอปฏิบัติปั๊บ พอใครปฏิบัติ ใครจะออกปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะพุ่งเข้าหาหลวงปู่มั่น เพราะมันได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณไง มันเชื่อใจ มันลงใจ มันก็ไปหาหลวงปู่มั่น
หลวงปู่มั่น แต่พระแต่ละองค์ที่เข้าไปหาท่าน ท่านก็ต้องปูพื้นฐาน อย่างเช่นสมัยครูบาอาจารย์เรา ท่านจะปูพื้นฐานก่อน อย่างเช่นเข้ามา เขาให้ฝึกนิสัยก่อน พระจะบวชนะ ต้องให้หัดฝึกนิสัย อุปัฏฐากพระ แล้วเวลาต่อไปโตๆ ขึ้นไปแล้วไม่ต้องไปเถียงกันว่าอะไรอะไรเป็นวินัยไม่เป็นวินัยไง ฝึกจนเป็นนะ ปะขาวนี่ต้องอยู่ให้ตัดผ้าเป็น ตัดผ้าเป็นถึงจะให้บวช พอบวชเสร็จแล้วมันก็เหมือนกับเราเข้าใจทุกอย่าง ไอ้การตัดผ้าเป็น
แล้วไอ้การภาวนา ไอ้ที่ว่าขอกรรมฐาน มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่แบบว่า ถ้าพูดถึง ถ้าเราจะภาวนาใช่ไหม เรามีลมหายใจ พระพุทธเจ้าสอนไว้ ๔๐ วิธีการ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐานคือทำความสงบ กรรมฐานคือฐานของใจ ต้องทำความเข้าใจคำว่า กรรมฐาน ก่อน เราจะคุยกัน เราบอกว่าเราจะภาวนาๆ เราจะภาวนากัน เราจะไปทำงานกันบนอากาศใช่ไหม เราจะทำงานต้องมีออฟฟิศ เราจะทำอะไรเราต้องมีสถานที่ทำงาน นักกีฬาต้องมีสถานที่ฝึกซ้อม การจะทำจะภาวนามันต้องรู้จักตัวเองก่อน รู้จักจิตก่อน คือห้องทำงาน คือสถานที่ทำงาน
แต่ในปัจจุบันนี้ปฏิบัติกันไม่มีอะไรเลย เราไม่ได้จดทะเบียนบริษัท เราไม่ได้ทำอะไรเลย แต่อ้างกันว่ามีบริษัทใหญ่โต เป็นการคาดหมาย วิปัสสนาสายตรง คิดไปเลย บ้าบอคอแตกกันไป มันกระจายไปทั่วไง
แต่เวลากรรมฐาน กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ในพระป่าเรา กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ทำสมาธิก่อน ทำฐานก่อน หาสนามฝึก นักกีฬาต้องมีสนามฝึกซ้อม นักกีฬา เช้าขึ้นมาอย่างน้อยมันต้องมีที่ว่างให้มันวิ่งออกกำลังกาย ให้มันอบอุ่นร่างกายก่อน ไม่อบอุ่นร่างกายเลย นักกีฬาเก่งๆ ขนาดไหนไม่อบอุ่นร่างกายลงไปนะ น็อกเลย เล่นไม่ออก
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกรรมฐาน ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทุกคนมันเกิดมาตั้งแต่อยู่ในท้อง อยู่ในท้องมันยังหายใจเลย คือกรรมฐานมันมีอยู่แล้ว ทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเราทำกันไม่เป็น พอทำกันไม่เป็นปั๊บ มันเคว้งคว้าง มันไม่มีจุดยืน ไม่มีจุดเริ่มต้น ทีนี้ไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ต้อง นี่ไง การปฏิบัติมันยาก ยากตรงนี้ ยากตรงที่ว่าต้องช็อกพวกเราก่อน ช็อกให้พวกเรากลับมาหาตัวเองก่อน แต่โดยธรรมชาติของมัน มันวิ่งออก มันส่งออก พลังงานมันส่งออก มันคิดไปเรื่องอื่นหมดเลย ถ้าพูดถึงจะภาวนากันก็โน่นพระไตรปิฎก ค้นทางวิชาการ ไปเลย ออกไปนู่น ตกทะเลไปเลย ยังไม่กลับนะ แล้วมันบอกมันภาวนากันน่ะ
แต่ถ้าไปหาครูบาอาจารย์ปั๊บ กลับมาที่เรา กลับมาที่จุดยืน กลับมาที่เท้าเรานี่ กลับมาที่ส้นตีนนี่แหละ ยืนอยู่ที่ไหน กลับมาที่ใจเราก่อนไง ถ้าเรามีสติ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก หลวงปู่ฝั้นบอกว่าหายใจทิ้งเปล่าๆ คือคนเราตั้งแต่เกิดจนตาย ลมหายใจต้องมี แล้วไม่ใช้ประโยชน์มัน ใช้ไม่เป็น เพียงแต่ลมหายใจเป็นออกซิเจนฟอกเลือดเข้ามาให้ผลประโยชน์กับร่างกาย แต่ไม่ได้คิดเลยว่าลมหายใจเป็นอานาปานสติ ถ้ามีสติไปรับรู้มัน ไปเกาะเกี่ยวมัน ทำให้จิตมันมีหลัก มีจุดยืนได้
มีจุดยืนเพราะอะไร เพราะพอมันเห็นการเปลี่ยนแปลงไง บอกลมหายใจหายไป หายหมดเลย โอ๊ย! ไม่หายใจ ช็อกอีก จะตายอีก กลัวอีก แล้วมันหายใจอยู่ทำไมไม่รู้ล่ะ เมื่อก่อนไม่ได้กำหนดลมหายใจมันก็หายใจอยู่นะ แต่ไม่รู้ตัว พอเรากำหนดมันปั๊บ เรามีสติไปอยู่กับมัน แล้วจิตมันเปลี่ยนแปลง เห็นมันว่าง เห็นมันเป็นใส เห็นมันเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไปตกใจอีก อะไรก็ตกใจ ทั้งๆ ที่มันจะก่อตัวไง นี่กรรมฐาน ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ กรรมฐาน พอจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน นี่ฐานที่ตั้งมีแล้ว แล้วฐานที่ตั้งนี่ออกวิปัสสนา พอออกวิปัสสนาก็ออกไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม
สิ่งที่เขาว่าเห็นๆ กันนี่ เราไปคุยกับเด็กสิ เด็กๆ ถามว่ารู้จักกายไหม มันก็จับให้ดู หนูก็รู้ กาย คือมันเป็นสามัญสำนึกของเราไง มันเป็นความคิดเฉยๆ มันไม่ใช่วิปัสสนาหรอก วิปัสสนามันลึกกว่านี้ มันมีโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา โลกียปัญญาคือปัญญาสามัญสำนึกเรานี่ เขาเรียกโลกียปัญญา คือปัญญามาจากฐานความคิด จากกรรมฐาน แต่ไม่รู้จัก ของเป็นของเราทั้งหมดเลย เหมือนกับหลวงปู่ขาว ท่านไปกับหลวงปู่แหวน จะไปหาหลวงปู่มั่น แล้วไปด้วยกัน ๒ องค์ก็คุยกันไง บอก เอ๊! ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะรู้วาระจิตไหม ไปหาหลวงปู่มั่น ท่านจะทายว่าอย่างไร
พอไปกราบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นอัดเอาเลย จิตของตัวก็ไม่ดู จะให้คนอื่นดูให้ แล้วของตัวเอง เงินของเรา เงินในกระเป๋ามาถึงจะมาถามเราว่ามีเงินเท่าไร ก็เงินในกระเป๋าของตัวเองแท้ๆ ก็ไปถามว่า เงินหนูมีเท่าไรคะ ก็เงินของเอ็งน่ะ ไอ้นี่ก็ใจของเราแท้ๆ แต่เราไม่ดู แต่อาจารย์จะรู้ใจเราหรือเปล่าไม่รู้ เห็นไหม มันส่งออก โดยธรรมชาติของจิตมันออกหมด มันไม่มีเข้าหรอก นี่ไง ธรรมะทวนกระแส
โลกียปัญญา โลกียปัญญาคือปัญญาจากฐาน จรวดยิงออกจากฐาน ฐานของความคิด ฐานของภพชาติ ฐานของจิต ฐานของสิ่งที่มีชีวิต คือภวาสวะ คือภพ เราบอกนี่ชาติไทย ภพ ชาติไทย ภพชาติเป็นภพชาติข้างนอก ไร้สาระมาก เอ็งโอนสัญชาติ เอ็งก็เปลี่ยนชาติ เอ็งโอนสัญชาติ เอ็งเปลี่ยนชาติหมดเลย แต่เอ็งโอนการเกิดการตายได้ไหม เอ็งจะชาติใด เอ็งก็เกิดตายเหมือนกัน จะเป็นชาติเทวดา ชาติอินทร์ ชาติพรหมก็เกิดตายเหมือนกัน แม้แต่เป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็เกิดตายเหมือนกัน ทีนี้พอเกิดตาย ไอ้ภพชาติตัวนี้ นี่ภพ ตัวฐาน กรรมฐาน
นี่ขอกรรมฐานๆ ไง
ขอเอาไม่ได้ คือเราปฏิบัติเอา นี่พูดให้เข้าใจไง ทีนี้เพียงแต่นี่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ครูบาอาจารย์เราถึงปฏิเสธพิธีกรรมทั้งหมด พิธีกรรมนี่นะ มันเป็นรูปแบบ เหมือนกับขอศีล มาวัดมาทำไม ถ้าคนเขาไปวัดทั่วๆ ไป มาวัดที่นี่เขาบอกว่าไม่ได้มาหรอก มาวัดเหมือนไม่ทำอะไรเลย แล้วจะได้อะไร ถ้ามาวัดนะ ต้องถวายทานนะ ต้องขอศีล ต้องกราบพระก่อน จุดธูปจุดเทียนกราบพระ อาราธนาขอศีลขอธรรม กว่าจะอีกครึ่งชั่วโมง พอดีครึ่งวันยังไม่ได้ถวายอาหารเลย ไอ้เราตักเสร็จ ใส่บาตรเสร็จ ฉันเสร็จแล้วนะ เขายังทำพิธีกรรมไม่เสร็จน่ะ
แต่ทำพิธีกรรมมันดีสำหรับคนที่เข้ามาวัดมาวา มันจะได้รู้พิธีกรรม ทีนี้พิธีกรรม เราติดมันไม่ได้ ทีนี้พอมาปฏิบัติ พระป่าเอาเนื้อหาสาระ ไม่เอาพิธีกรรม จะบอกพิธีกรรมรู้จักไหม รู้ ทำอย่างไร ทำก็ทำเป็น ให้ทำก็ได้ เริ่มต้นเลย โอ้! กลับมาก็ต้องมาจุดธูปจุดเทียน กราบพระ อาราธนาศีล ถวายทาน โอ้โฮ! สวดมนต์นะ ครึ่งวันยังไม่ได้กินข้าวเลยนะ แมลงวันมันไข่มาเป็นตัวแล้วนะ ไอ้พิธีกรรมมันยังไม่จบ
แต่พูดถึงขอกรรมฐานไง ถ้าขอกรรมฐานมันเป็นทางโลกเขานะ จะบอกว่าผิด มันแบบประสาเราเลย ถ้าเราเป็นอาจารย์ที่กลวง อาจารย์เหมือนจานกระเบื้อง จานที่ไม่มีกับข้าวเลย ไม่มีอะไรเลย มันก็ต้องบอกทำพิธีกรรมครึ่งวัน มันขลัง แล้วเราก็มีเหตุมาคุยกับโยมไง แต่ถ้าเป็นของจริง เขาลบทิ้งหมดเลย ใบตองก็ใส่ข้าวกินได้ มือเปล่าๆ ก็หยิบข้าวกินได้ สิ่งใดๆ ก็หยิบข้าวกินได้ ข้าวคือสัจจะข้อเท็จจริง ไม่ต้องไปนู่น ไปเปิดตู้เอาจานมาเช็ด มาล้าง มาทำ กว่าจะได้กินนะ เหนื่อยแล้ว กูไม่กินดีกว่า เลิกเหอะ นี่ไม่ต้องเลย นี่กรรมฐานเป็นอย่างนั้น
ทีนี้เวลาเราบอกว่าขอกรรมฐานก่อน ถ้ากรรมฐานนะ นี่ให้เห็นว่าพิธีกรรมกับสัจจะความจริง แล้วเรามีสัจจะความจริงแล้วเราก็ตั้งใจเลย หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธนะ หายใจเข้านี่กรรมฐาน ฐานคือความรู้สึกของเรา ฐานที่ตั้งของการงาน เราจะหาฐานที่ตั้ง เหมือนคนจะหาที่ทำงาน คนเราต้องหาที่จุดยืนของตัว จุดยืนของตัว ทำงานออกจากจุดยืนนั้นจะเป็นความถูกต้อง ฉะนั้น จุดยืนนี่หาด้วยอะไร นามธรรม เราก็กำหนดลมหายใจนี่ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แล้วมันจะมีการเปลี่ยนแปลง มันจะวูบวาบ
แต่เดิมไม่ทำอะไรก็ไม่มีอะไรหรอก พอทำขึ้นไปนะ จะเป็นอย่างนั้น เก่งนะ โอ๊ย! จะล้ม จะนั่ง จะยืน...เวลามันนอนอยู่มันไม่เป็นไรนะ พอเริ่มทำจะมีปัญหาเยอะมากเลย นี่กิเลสมันจะหลอก
มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันจะมีอาการอะไรเกิดขึ้น อยู่กับหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเหมือนหญ้าปากคอก มันเหมือนสิ่งที่มันมีอยู่ มันกระทบอยู่ มันไม่ใช่ว่าไม่มี ไม่ใช่ มี แต่รับรู้แล้วผ่าน รับรู้แล้วผ่าน รับรู้ไว้แล้วผ่านเข้าไปเรื่อยๆ รับรู้แล้วผ่าน
คำว่า รับรู้แล้วผ่าน หมายถึงว่า รับรู้ไว้แล้วปล่อยวางมันไว้ไง คืออย่าไปยุ่งกับมัน ถ้าไปยุ่งกับมันนะ ถ้าร่างกายโคลงเคลง ร่างกายมีอะไร ยิ่งไปรับรู้นะ มันยิ่งชัดเจนนะ มันยิ่งกระเทือนใหญ่เลยนะ ทำอย่างนี้มันก็ไหวนิดหน่อยเดียว พอไปรับรู้มัน ตอนนี้ โอ้โฮ! เหมือนกับโลกจะแตกเลยล่ะ มันจะหวั่นไหวใหญ่เลย เพราะอะไร เพราะอุปาทานไปยึดมัน เราไปให้ค่ามัน เหมือนของ เราพูดบ่อย เมื่อวานก็พูดนะ เพชรคือหิน หินคือเพชร เพชรก็มาจากหินนี่แหละ แต่บอกเพชร โอ้โฮ! มีคุณค่าเลย ถ้าบอกหินนะ คนโยนทิ้ง ถ้าบอกเพชร โอ๊ย! เพชรๆๆ มือไม้สั่นเลยนะ ถ้าบอกว่าแร่ธาตุเป็นหินน่ะ โยนทิ้งเลย
ความรู้สึกของใจที่โคลงเคลง เราไปรับรู้มันมาก เราไปวิตกวิจารณ์กับมันมาก มันจะเป็นเหมือนกับเพชรเลย คือมันมีค่าขึ้นมา พอมีค่าขึ้นมา เราจะไปตกใจกับมัน แต่ถ้าเราบอกว่ามันธรรมดา หินก็แร่ธาตุอันหนึ่ง ก็ธรรมดาของมนุษย์ มนุษย์มันนั่งมันก็มีความรู้สึก ความรู้สึกเราไปรับรู้มัน เรารับรู้แล้วถอยเข้ามา พอเราไม่ให้ค่ามันนะ คือประสาเรา กิเลสมันหลอกเราไม่ได้ พอกิเลสหลอกไม่ได้ เราอยู่กับจุดยืนของเรา อยู่กับผู้รู้ มึงจะเป็นอะไรก็เป็นสิ
แต่ไม่เป็นอย่างนั้นหรอกพวกเราน่ะ พอเป็นอะไรไปนะ มันนึกว่าเราวิเศษไง นึกว่ามันจะนั่งครอบโลกแล้ว โอ๊ย! ใจมันใหญ่โต ไปหลงตัวเอง หลงความรู้สึก ทีนี้อาการมันจะไปใหญ่ การปฏิบัติเริ่มต้น คนที่ปฏิบัติยาก ยากตรงนี้ ยากตรงพอเกิดประสบการณ์อะไรปั๊บ มันไม่รู้ พอไม่รู้ มันจะวิ่งตามไป มันจะให้ค่า ให้ค่ากับความรู้เรา เป็นไอ้นั่นๆๆ ยิ่งอ่านหนังสือมามากนะ ยิ่งสร้างภาพมากเลย
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าท่านศึกษามาขนาดไหนนะ เวลาปฏิบัติต้องวางไว้ไง ท่านบอกนะ ถ้าเราศึกษามาเป็นปริยัติ เป็นแผนที่ ถ้าเราไปขนาบแผนที่ พิกัดของมัน เราไปเกร็งกับมันเกินไป ข้อเท็จจริงในพื้นที่มันละเอียดกว่า นี่ไง พอจิตมันลงไปแล้ว จิตมันจะเป็นไป ไม่ต้องบอกว่าต้องเอาแผนที่ ให้บังคับให้เป็นตามแผนที่นั้น คือจิตมันมีข้อเท็จจริงที่เยอะกว่าเยอะเลย มันจะมีอาการ จะมีอะไร มันจะเป็นไป เว้นไว้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งบางคนไม่มีอะไรเลย คือว่างเฉยๆ ถ้ามันจะว่างเฉยๆ มีสติอยู่ ขอให้มีสติอยู่ มีผู้รู้อยู่ ใช้ได้เลย นี่คือกรรมฐาน อะไรจะเกิดขึ้น รับรู้แล้ววางไว้ รับรู้แล้ววางไว้
ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าต้องขอกรรมฐาน ต้องมีขันต้อง มีพาน ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนนั่นน่ะ ไอ้นั่นมันก็เหมือนกับทางไสยศาสตร์ มันเป็นแบบขึ้นครูนะ เราไม่ใช่ไม่เชื่อนะ อย่างเช่นพวกศิลปะ พวกช่างศิลป์ พวกอะไรนี่ เขาขึ้นครูเขา เราเห็นด้วยนะ คนเราไม่มีครูไม่มีอาจารย์ เราจะเป็นคนดีได้อย่างไร เราก็ต้องมีครูมีอาจารย์ใช่ไหม เราก็ต้องมีที่พึ่งใช่ไหม ไอ้นั่นมันเป็นวิชาชีพของเขา
แต่ถ้ากรรมฐาน เราจะไปเกาะตรงไหนไว้ มันก็จะเป็นประเด็นขึ้นมา ฉะนั้น ให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะคำสอนนี้เป็นคำสอนพระพุทธเจ้า กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ฉะนั้น เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่แล้ว ไม่มีอะไรผิดหรอก ไม่ต้องกลัว คือเรากรรมฐาน เราปฏิเสธตรงนี้เลย นี่พูดถึงขอกรรมฐาน
เราจะบอกว่า ถ้าเราจะขอกรรมฐานหรือเราจะทำอย่างนั้นไป มันเป็นเรื่องโลกๆ ตลอด ถ้าเรื่องโลกๆ ตลอด มันก็จะเป็นโลกไปตลอดนะ เป็นโลกก็เป็นพิธีไง เป็นโลกก็ประสาเราเป็นสมมุติ เป็นการสร้างภาพอันหนึ่งขึ้นมาในหัวใจ ว่าอย่างนั้นเลย ใจมันจะสร้างอะไรขึ้นมาอันหนึ่ง แล้วก็เกาะอยู่ตรงนั้นตลอดไป
แต่ถ้าเราให้อยู่กับข้อเท็จจริง มันจะพัฒนาของมัน จิตนี้จะพัฒนา จากสมาธิของมนุษย์ สมาธิของปุถุชน ถ้ามันละเอียดเข้าไป มันจะเป็นสมาธิของกัลยาณปุถุชน ถ้าสมาธิของกัลยาณปุถุชนมันเป็นสมาธิ กัลยาณปุถุชนมันจะตัดรูป รส กลิ่น เสียง มันจะควบคุมใจได้ง่าย นั่นคือกรรมฐาน
แล้วทำไมถึงเป็นโสดาปัตติมรรค
โสดาปัตติมรรค หมายถึงว่า สมาธินี้ จิตที่เป็นกรรมฐานมันออกไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม การเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี้มันเป็นปัญญา วิปัสสนามันมีปัญญาร่วม เป็นสมาธิ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิคือปัญญาใคร่ครวญ มันเป็นปัญญาแบบสามัญสำนึก คือปัญญาแบบโลกียปัญญา คือปัญญาที่ออกมาจากฐาน พอมันเข้าไปสงบถึงที่ฐานปั๊บ ถ้ามันออกวิปัสสนา มันเกิดปัญญาที่เป็นโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาเพราะอะไร เพราะสมาธิมันไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนคือไม่มีอุปาทาน ไม่มีการให้ค่าสูงหรือต่ำ มันจะเป็นข้อเท็จจริงของมัน ถ้าเป็นข้อเท็จจริงของมัน มันมีปัญญานี้ร่วมเข้ามา มันถึงเป็นโสดาปัตติมรรค
สมาธินะ เป็นปุถุชน กัลยาณปุถุชน พอกัลยาณปุถุชนทำสมาธิได้มั่นคงขึ้น ถ้าน้อมไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นั้นเป็นวิปัสสนา มันถึงเป็นสมถะ-วิปัสสนา วิปัสสนาเพราะสมถะ สุดท้ายกระบวนการของการที่เขาไปภาวนาทั้งหมดคือสมถะหมด ใครจะคิดอย่างไร ใครจะใช้ปัญญาอย่างไรก็แล้วแต่นะ ผลของมันคือกรรมฐาน คือสมถะ คือจิตสงบ มันปล่อยวางเฉยๆ ไม่ได้ชำระกิเลสเลย
แต่ถ้ามันสงบแล้วมันออกไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยพื้นฐานของสมาธินะ นั่นคือเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาเพราะมันเป็นมรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ งานชอบ งานการค้นคว้า งานการถอดถอนอุปาทาน งานการถอดถอนภพชาติ งานอันนี้ถึงเป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันต้องจิตเห็นจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นธรรม จิตเห็น จิตเห็น ไม่ใช่ตาเห็น ไม่ใช่สมองเห็น ไม่ใช่ จิตเห็น จิตเห็น แล้วจิตเห็นเป็นอย่างไร จิตเห็นเป็นอย่างไร คนไม่เคยเห็นก็ไม่รู้อีก แล้วคนไม่เห็นพูดอีกล้านครั้งก็ผิดล้านครั้ง พูดล้านครั้งอาจผิด ๒ ล้านครั้งด้วย เพราะมันนึกอีกด้วย
แต่ถ้าคนเห็นนะ ถูกหมด เพราะมันเห็นเอง มันรู้เอง วิปัสสนาอยู่ตรงนั้น วิปัสสนาของมันไปมันถึงเปิดไง เราถึงบอกว่าสมถะกับวิปัสสนาไง กรรมฐานๆ ต้องมีฐานตรงนี้ ถ้ามีฐานตรงนี้นะ แล้วมันจะเป็นกรรมฐาน กรรมฐานแล้วมันจะถอดถอนกิเลส ถ้าไม่ได้ทำตรงนี้ ลูบคลำกิเลสไง ลูบคลำกันไว้ไง เอากิเลสเข้าใต้พรมแล้วปิดไว้ไง ว่างๆ สบาย ว่างๆ สบาย ไม่มีเหตุผล คือเขาไม่มีเหตุมีผล
เราไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ทำธุรกิจการค้า เอ็งจะไม่มีสตางค์ใช้แม้แต่สลึงเดียว ถ้าเอ็งได้ทำงาน เอ็งได้ทำธุรกิจการค้า เอ็งจะมีผลประโยชน์ เอ็งจะดำรงชีวิตได้ จิตถ้าไม่มีการกระทำเลย ว่างๆ ว่างๆ มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แล้วต่อไปศาสนาจะเสื่อม เสื่อมตรงนี้ เสื่อมตรงศาสนาเรียวแหลม ไม่มีคนรู้จริง ถ้าไม่มีคนรู้จริง กระแสมันแรง พระพุทธเจ้าสอนบอกว่านิพพานคือความว่าง ทุกอย่างว่าง ว่างหมดเลย
เราจะเผาทำลายให้หมดเลย แล้วไปอยู่บนอากาศ อากาศมันว่าง ว่างจริงๆ เลยนะ มันไม่ใช่ว่างในตำรานะ ว่างจริงๆ เลยน่ะ อวกาศน่ะ แล้วเป็นนิพพานไหม ว่างๆ ว่างๆ กันไง
มันเป็นความจริงเข้ามา มันต้องถอนที่นี่ ความจริงมันอยู่ที่นี่ นี่ไง มันถึงว่าศาสนา เราพูดบ่อย ในตำราว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์
เราบอกไม่ใช่ อาศัยโคนต้นโพธิ์นั่งเฉยๆ ตรัสรู้ในใจของพระพุทธเจ้า หัวใจพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ร่างกายนี้อาศัยต้นโพธิ์นั่งเฉยๆ เพราะร่างกายตรัสรู้ไม่ได้ ธาตุรู้ไม่ได้ ต้นไม้ก็รู้ไม่ได้ สรรพสิ่งก็รู้ไม่ได้ แต่เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าอาศัยนั่งตรงนั้นเท่านั้นเอง แต่หัวใจนี่ตรัสรู้ แล้วหัวใจอันนี้สำคัญ แล้วเรามีทุกคนไง คนทุกคนมีหัวใจหมดเลย หัวใจนี้มันพัฒนาได้ จากปุถุชนคนหนานี่แหละ มันพลิกได้ มันเปลี่ยนแปลงได้ อันนี้เป็นกรรมฐานนะ
ทีนี้พอภาวนาไป การภาวนาไป การกำหนดภาวนาของเราไป ถ้ามันจะเกิดเหตุการณ์วิกฤติของเราขึ้นมา ถ้าเกิดเหตุการณ์วิกฤติ เวลาพระเรา พระเราเวลาไปบิณฑบาตมา ตักอาหารใส่บาตรแล้ว ถ้าไม่ได้ปฏิสงฺขา โยนิโส การห่มผ้าต้องปฏิสงฺขา โยฯ การเคลื่อนไหวนี่ปฏิสงฺขา โยฯ เพื่อมีสติตลอด ปัจจัย ๔ ไว้เพื่อกันหนาวกันร้อน กันความละอาย ห่มจีวรห่มต่างๆ เพื่อความกันละอาย ต้องมีปฏิสงฺขา โยฯ คือมีสติว่าเราใช้เพื่ออะไร อาหารที่จะฉัน ถ้าเราพิจารณามัน มีปฏิสงฺขา โยฯ ดูสิ หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาข้าวจนเป็นตัวหนอน ข้าวเป็นตัวหนอนเพราะอะไร
นี่ไง อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค คนเขาไปมองกันว่าอัตตกิลมถานุโยคคือการทำตนให้ลำบาก การนั่งสมาธิภาวนานี่ลำบาก อันนี้มันเป็นเครื่องกิริยา อัตตกิลมถานุโยคมันเป็นเรื่องการพิจารณานี่ ถ้าพิจารณาจนเห็นเป็นตัวหนอน ถ้าเห็นเป็นตัวหนอน มันปัจจุบัน ข้าวไม่ได้เป็นตัวหนอนหรอก ข้าวก็คือข้าว แต่เป็นโดยสภาวธรรม อย่างที่เราบอก บอกว่าเวลาเห็นกาย เห็นกายที่เป็นวิปัสสนา เป็นสภาวธรรม
คนเรานี่คิดผิดนะ คนเราคิดผิด เวลาบอกว่าเวลาพิจารณาไปเห็นซากศพ เห็นกาย กลัวว่าเห็นผี ผีเป็นจิตวิญญาณ แต่ถ้าเห็นสภาวะของร่างกาย มันเห็นสัจธรรม สัจธรรมเพราะอะไร สัจธรรมเพราะจิตเป็นสมาธิ จิตนี้มันมีฐาน พอจิตนี้มีฐาน กำลังมันมี พอกำหนดกายปั๊บ พิจารณาให้กายแปรสภาพ ให้เปื่อยให้เน่า ให้ผุให้พอง มันจะเป็นไปเดี๋ยวนั้นเลย แต่ถ้าเป็นโดยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์ตาย ๗ วันใช่ไหม ๓ วันเน่า มันต้องอาศัยเวลาให้มันเน่าให้มันผุพัง เพราะมันจะเน่าในตัวมันเอง แต่ถ้าเป็นสัจจะทางธรรม พอบอกให้แปรสภาพ มันจะพับ! พับ! พับ! เลย
ทีนี้พอย้อนกลับมาที่ข้าวที่เป็นตัวหนอน มันเป็นตัวหนอนไหม ปัจจุบันนี้มันเป็นไหม เรามองกายนี้เป็นไหม กายก็คือกายนี่แหละ แต่ขณะที่จิตมันเป็นนะ กำหนดเลย ถ้าจิตดีๆ นะ พูดแล้วเหมือนจะโม้ ถ้าจิตดีๆ จิตเราสมาธิดีๆ กำหนดปั๊บ ทะลุหมดเลย มองไปนี่เห็นโครงกระดูกเลย ถ้าให้ถึงตับไตไส้พุงมันจะทะลุพับ! เลย ถ้าจิตแรงๆ ที่เวลาหลวงปู่กงมาท่านมาจากสกลฯ สมัยนั้นรถหวานเย็นจากสกลฯ มาอุดรฯ แล้วอยู่บนรถไง นั่งภาวนาไป จิตมันลง พอจิตมันลง คนในรถนะ เวลาพูด เห็นขากรรไกรงับๆ งับๆ เลย เป็นได้จริง แต่น้อยคนนักที่จะเป็นได้ มีพระเอาตรงนี้ไปหลอกกันเยอะว่า โอ๋ย! เห็นโครงกระดูกๆ...ไม่จริง เห็นโครงกระดูกจริงไหม จริง แต่คนที่เห็นจริงต้องพื้นฐานสมาธิดีมาก
ทีนี้พอพื้นฐานสมาธิดีมาก เวลากำหนดจิต ถ้าจิตแรงๆ พับ! เหมือนกับเรานี่ผ่ามนุษย์ครึ่งหนึ่งเลย ผ่าครึ่งหนึ่งเลย ให้เห็นโครงสร้างข้างในเลย จิตมันแรงได้ขนาดนั้นนะ แต่แรงได้ขนาดนี้ถูกต้องไหม ไม่ถูก กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค มันอยู่ตรงนี้ไง ตรงที่เวลามันพัฒนาไป เทฺวเม ภิกฺขเว ภิกษุไม่ควรเสพทางสองส่วน คืออัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค
อัตตกิลมถานุโยคคือเกินกว่าเหตุ เกินกว่าเหตุ ใครไปทำมัน เกินกว่าเหตุ ไม่ใช่รถนี่ เราเหยียบคันเร่ง ไมล์ก็ขึ้นใช่ไหม เกินกว่าเหตุมันอยู่ที่เท้าเราเหยียบหนักเหยียบเบา ถึงว่าเกินกว่าเหตุ เพราะรถมันวิ่งช้าวิ่งเร็ว มันอยู่ที่คันเร่งที่เราเหยียบไป แต่ขณะที่เราวิปัสสนา ที่มันตกซ้ายขวา กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ใครจะไปรู้มัน
แล้วมัชฌิมาปฏิปทา เราขับรถไป ตามกฎหมาย ๙๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามกฎหมายใช่ไหม ความพอดีของมัน แล้วนี่ความพอดีของจิตที่จะให้ลงมันสมดุลน่ะ นี่ไง เวลาวิปัสสนาที่ว่าจิตมันพิจารณาไปน่ะ มันถึงต้องทำซ้ำทำซากไง เพราะเราไปบนถนน กฎหมายให้ ๙๐ กิโล แต่ทางโล่ง ไม่มีรถเลย แล้วดิ่งเลย เหยียบ ๑๔๐ ก็ไม่มีใครว่า มันก็อยากเหยียบเป็นธรรมดา เพราะมันเป็นไปได้ เวลาวิปัสสนามันเป็นอย่างนั้นไง เวลาวิปัสสนาไป เหยียบ ๑๔๐ นะ มันก็เหมือนกับอยู่คนเดียว มันก็เหมือนกับไป ๒๐-๓๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้นล่ะ เหยียบ ๑๔๐ นะ จิตมันมหัศจรรย์มาก
นี่มันอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ไอ้อย่างนี้มันจะบอกว่ามันไม่มีระดับการวัด มันเป็นเฉพาะระดับของจิต กิเลสใครกิเลสมันไง ฉะนั้น ถ้าใครมีปัญหาอย่างนี้ ปัญหาว่าเวลาพิจารณาไป ข้าวจนเป็นตัวหนอน จนพิจารณาไปจนอาหารกินไม่ได้เลย มันต้องใช้ปัญญาไล่เข้ามา ปัญญาเราเองจะไล่ความคิดเราเข้ามา เพราะในการทำ เวลาภาวนาไม่เป็น ภาวนาแล้วอยากมีพื้นฐานก็ขยันหมั่นเพียร เวลาเราทำอะไรจะได้ผล กิเลสมันบังเงา มันบังเงา จากจิตเรากระทืบไปเลย ตกไปอีกฟากหนึ่ง ธรรมดาขับรถจะตกเลนซ้าย เพราะเราอยู่เลนซ้าย มันจะตกขอบถนนตลอดเลย พอแซงขึ้นมา มาตกเลนขวาอีก
วิปัสสนาไป พอจิตมันออก ฉะนั้น ถ้ามันจะเป็นอะไร มันต้องใช้ปัญญาไล่กลับเข้ามา ไล่กลับมาที่ใจว่า มนุษย์เรามันต้องมีปัจจัยเป็นเครื่องอาศัย อาหาร ๔ ในวัฏฏะ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉานกินคำข้าวเป็นอาหาร เทวดากินวิญญาณาหาร คือกินความคิดเป็นอาหาร ทิพย์ ความคิด อารมณ์ความรู้สึกกับจิตมันสัมผัสกันเป็นอาหาร พรหม ผัสสาหาร แล้วพ้นจากวัฏฏะไป มโนสัญเจตนาหาร ในวัฏฏะนี่นะ ต้องมีอาหารประจำชีวิต สิ่งที่สืบต่อชีวิตมันต้องมีอาหารของมัน เกิดเป็นภพใด อยู่อย่างไร กินอาหารอะไร อยู่เกิดภพชาติ ภพชาติหนึ่งน่ะเกิดอย่างไร สถานะเป็นอย่างไร กินอะไรเป็นอาหารดำรงชีวิตนี้
ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้คือพลังงาน ชีวิตนี้คือไออุ่น ไออุ่นตั้งอยู่บนอะไร ตั้งอยู่บนกาลเวลา ถ้าไม่ตั้งอยู่บนกาลเวลา ชีวิตเราสืบต่อมาไม่ได้ ชีวิตนี้ตั้งอยู่บนกาลเวลา แล้วชีวิตนี้ดำรงด้วยอย่างไร ชีวิตเราดำรงไว้ด้วยอะไร ดำรงไว้ด้วยอาหาร
ฉะนั้น อาหาร ถ้ามันขยะแขยง มันรับไม่ได้ นี่กิเลสบังเงา อัตตกิลมถานุโยค แล้วถ้าอัตตกิลมถานุโยค เวลาปฏิบัติ เวลาพระเราหรือนักปฏิบัติอยากจะปฏิบัติ แต่เวลาปฏิบัติไปทำไมนั่งหลับล่ะ นั่งหลับเพราะว่าอาหารมากเกินไป เราต้องผ่อน เราผ่อนอาหาร เราฉันแต่น้อย พระพุทธเจ้าสอนไว้ ภิกษุให้ฉันข้าวเหมือนกับหยอดน้ำมันบนล้อเกวียนให้มันไม่เสียงดังเท่านั้น เรากินอาหารเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้นนะ เวลาเราสอนพระ พระนี่นะ ดำรงชีวิตนะ กินอาหารเพื่อดำรงชีวิต ไม่เหมือนคฤหัสถ์เขา คฤหัสถ์เขากินเพื่อกาม กินเพื่อเกียรติ ต้องมีเกียรติมากนะ คนมีฐานะกินข้าวแกงไม่ได้ กินเพื่อเกียรติ กินเพื่อกาม กินเพื่อดำรงชีวิต ไอ้เรากินเพื่อดำรงชีวิต ขณะแค่กินเพื่อดำรงชีวิตยังต้องผ่อนปรนมัน ผ่อนปรนมันเพราะว่ามันมากเกินไป มันมากเกินไปในสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ อาหารถ้าฉันแล้ว นั่งแล้วตัวเบา นั่งแล้วปลอดโปร่ง นั้นเป็นอาหารสัปปายะ
อาหารสัปปายะไม่ใช่ว่าอาหารกินแล้วอร่อย ใครอร่อยมันก็สัปปายะของมัน ไม่ใช่ กินแล้วมันไม่กดถ่วง มันนั่งแล้วโล่งเบาสบาย แล้วถ้ามันไม่เบาไม่สบาย กินเหลือวันละ ๒ คำ ๓ คำก็พอ ทดสอบไปทดสอบมา แต่จะตัดมันเลยนี่ไม่ได้ ไม่ได้อะไร เพราะอะไร เพราะพระเวลาบวช บริขาร ๘ บาตรคืออาหาร ธมกรกคือน้ำ แล้วก็ผ้า ๓ ผืน แล้วก็เข็ม ด้าย นี่เองการดำรงชีวิตไง เพราะมันต้องมีเครื่องอาศัยไง มันต้องผ้าผ่อน ปัจจัย ๔ บาตรคืออาหาร ธมกรกคือน้ำ มันขาดไม่ได้ พอขาดไม่ได้ แม้แต่พระ พระที่พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ให้เอาอะไรเลย ยังให้พระมีสิทธิมีบริขาร ๘ เพื่อดำรงชีวิต
แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมา พอจิตมันไปเห็นอย่างนั้นเข้า มันจะขยะแขยงอย่างไรแล้ว มันเป็นกิเลสบังเงาไง มันไม่ใช่ธรรม ถ้ามันเป็นธรรมนะ มันเห็นแล้วมันสลดสังเวช สลดนะ เขาเรียกว่าธรรมสังเวช เวลามันสะเทือนธรรมนะ ชีวิตเป็นอย่างนี้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพิจารณาของท่านนะ ชีวิตนี้คือดิน แล้วก็กินดิน จะไม่บอกว่าชีวิตนี้คือขี้ด้วย กินขี้กัน ขี้ดิน อาหารมาจากดิน เราปลูกมันขึ้นมา มนุษย์นี่กินขี้ แต่เรามาบอกเป็นผัก เป็นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ดีๆ ไง ถ้าบอกขี้ กินกันไม่ลงนะ นี่มันเป็นอุบาย อุบายให้เราให้เห็นชีวิตไง อุบายให้เราเห็น นี่มันของสมมุติไง ร่างกายนี้ของหลอก ร่างกายมันเป็นธาตุ ๔
แล้วธาตุ ๔ ทางวิทยาศาสตร์ก็ไปเอาดิน น้ำ ลม ไฟมารวมกัน แล้วมาทำอย่างไร หลอมให้มันเป็นมนุษย์ได้ไหม ไม่ได้ มันก็ต้องใช้สเปิร์ม ใช้ไข่ สเปิร์มกับไข่มันก็เกี่ยวพันกันจากกรรมพันธุ์ เกี่ยวพันกับสายบุญสายกรรม แต่จิตไม่ใช่ ชีวิตนี้มหัศจรรย์มาก ภาวนาไปเถอะ เรื่องอย่างที่เราพูดจะรู้หมด ถ้าไม่รู้นะ มันเกิดความสงสัย ลังเลสงสัยแก้กิเลสไม่ได้ เวลาวิปัสสนาเข้าไปมันจะเคลียร์หมดเลย ปัญหาทั้งหมดต้องเคลียร์หมด ถ้าเคลียร์ออกหมดไม่ได้ อุปาทานถอนไม่ได้
เห็นหมด ชีวิตนี้มาจากไหน เมื่อชาติที่แล้วมึงเป็นอะไร ชาติต่อไปเป็นอะไร ชาติๆๆ เป็นอะไร จิตนี้มาจากไหน จิตนี้บุพเพนิวาสานุสติญาณของพระพุทธเจ้าสาวแล้วไม่มีต้นไม่มีปลาย เวลาเราสาว เวลาเราทำของเราขึ้นมา เราก็ต้องใช้วุฒิภาวะของเรา ใช้ความรู้ของเรา แต่ขณะที่เราทำไป เราก็มีครูมีอาจารย์ใช่ไหม มันก็เทียบเลย เทียบหลวงปู่มั่น เทียบครูบาอาจารย์เลยว่าช่องทางนี้ ช่องทางนี้ถูกไหมๆๆ เพราะประวัติครูบาอาจารย์มีหมดแล้ว ช่องทางทำมาเป็นอย่างไร แล้วเราเทียบของเราเข้าไปเลย
เพราะเวลาภาวนาไป กิเลสมันร้ายมาก เพราะว่าเราเคยเป็นอย่างนี้ เราเคยพิจารณาจนกินข้าวไม่ได้เหมือนกัน แล้วคนที่พิจารณาอย่างนี้ เราสืบประวัติมาแล้ว มีหลวงปู่มั่น มีแม่ชีแก้ว แล้วมีในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎก พระสารีบุตรไปถามพระพุทธเจ้าตรงนี้ พระพุทธเจ้าบอกเราไม่อยากจะตอบเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะโดยธรรมชาติของกิเลสมันขี้เกียจอยู่แล้ว แล้วจะไปบอกว่าไอ้นี่มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันรุนแรงเกินไป พระพุทธเจ้าบอกไม่อยากเทศน์เลย แต่ต้องเทศน์ เพราะมันเป็นความจริง
ในพระไตรปิฎกมีอยู่กัณฑ์หนึ่ง เราดูในพระไตรปิฎกมาแล้ว แล้วเราก็มามองในวงจรของกรรมฐานเราที่เป็นอย่างนี้มีใครบ้าง มีหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกท่านพิจารณาเม็ดข้าวของท่านเหมือนกับตัวหนอนในส้วมเลย ไอ้ที่ตัวหนอนในโถส้วม ไอ้ตัวขาวๆ น่ะ เม็ดข้าวเราน่ะ มันดุ๊กดิ๊กๆๆ ใครเอาเข้าปากได้ แล้วท่านก็พิจารณาของท่านนะ พิจารณานี่พิจารณาปฏิสงฺขา โยฯ ทีนี้ด้วยกำลังของจิต จิตนี้มันมีกำลังของมัน
ไอ้เราเอาบาตรมาตั้งเนาะ จะกินชิ้นไหนก่อน อันไหนอร่อย ไอ้เราพิจารณาว่าอันไหนอร่อยจะกินชิ้นนั้นก่อน แต่ถ้าจิตมันเป็นธรรมนะ มันเป็นตัวหนอนเลย นี่ท่านเล่าเอง พอเป็นตัวหนอน มันก็ขยะแขยงเป็นธรรมดา แล้วใครจะเอามือเปิบตัวหนอนใส่ปาก พออย่างนั้นปั๊บ มันก็ไม่ยอมกิน พอไม่ยอมกิน เวลาเราภาวนาไปนี่นะ เหมือนกับเราทำงานดีๆ พอทำแล้วมันเลยเถิดไป พอเลยเถิด มันตกไปอีกขอบหนึ่ง แล้วจะทำอย่างไรให้มันตบกลับมา แล้วหลวงปู่มั่นเป็น แม่ชีแก้วเป็น แล้วเราเคยเป็น มันกระอักกระอ่วน เวลาจะกินข้าวมันอาเจียน ไม่ได้เห็นข้าวนะ คิดจะกินข้าว มันอาเจียน มันพุ่งออกมาเลย มันขย้อนพุ่งพรวดออกไปเลย โอ้โฮ! อย่างนี้ตายเว้ย อย่างนี้ตาย มันอดอาหารน่ะ อดอาหารเป็นปีๆ อดจนมันตีกลับ มันตีกลับจนนึกว่ากินข้าวไม่ได้นะ นึกจะกินข้าวนี่มันเหมือนมันพุ่งออกมาเลย พุ่งออกไปเลยๆ โอ้โฮ! โอ้โฮ! เดินจงกรมอยู่ ๓-๔ วัน อย่างนี้ตาย อย่างนี้ตาย
แต่ทีนี้ประสาเรา คนภาวนาเป็นมีสตินะ ถ้าไม่มีสติมันก็แก้อะไรไม่ได้ อย่างนี้ตาย แสดงว่ามันไม่อยากตายไง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเรายังมีกิเลสอยู่ เพราะเรายังมีเชื้อไขอยู่ ถ้าตายไปก็ต้องมาเกิดใหม่ มันก็ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ มันเบื่อ ก็ไม่อยากตาย ไม่อยากตายแล้วมันไม่กินข้าว อยู่อย่างไร แล้วก็ถามตัวเองว่าทำไมมึงถึงไม่กินล่ะ
โอ้โฮ! มันน่าเกลียด
ไปรังเกียจอะไรมันล่ะ มันเป็นอะไรถึงรังเกียจมัน
ถ้าจิตเราดีนะ จิตเป็นสมาธินะ มันจะเห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าแก้ง่ายๆ นะ ก็คือออกมาคุย ออกมาพูดให้จิตมันออกมานะ มันก็หาย แต่มันก็ไม่ใช่การแก้ การแก้นี่เขาต้องใช้ปัญญาไล่กัน
แม่ชีแก้วหรืออย่างไรในประวัติหลวงปู่มั่น แล้วหลวงตาท่านเล่าบ่อยเรื่องนี้ เพราะพอแม่ชีแก้วมาก็กินข้าวไม่ได้เหมือนกัน เป็นตัวหนอนเหมือนกัน หลวงปู่มั่นอัดใหญ่เลย ตายนะ ตายนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะรู้ว่านั่นกิเลสมันหลอกเราให้เราตาย กิเลสนี้เราจะฆ่ามันนะ กิเลสเรามันครอบงำเรา จริงๆ แล้วพอเราจะไปสู้กับมันนะ มันหลอกเรา คือมันต้องการ พญามารไง มันต้องการภวาสวะ ต้องการภพ ต้องการจิตนี้อยู่ในอำนาจของมัน
คือมารมันอาศัยอยู่บนหัวใจของมนุษย์ บนหัวใจของสัตว์โลก แล้วถ้าใครภาวนาไปจนพ้นจากกิเลสไป คือทำลายเมืองเมืองหนึ่ง ทำลายสถานที่ที่มารมันอยู่ ทีนี้พอทำลายมัน มันจะไม่ยอมให้ทำลาย มันจะต้องหาเล่ห์หาเหลี่ยม ที่เราภาวนาทุกข์ยากกันอยู่นี่ก็เพราะเล่ห์เหลี่ยมของมารนี่แหละ เล่ห์เหลี่ยมของพญามาร เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสที่มันครอบงำใจเราอยู่นี่ คนมีการศึกษามากมันก็มีเล่ห์เหลี่ยมมาก เพราะปัญญาเรามากขนาดไหน เหมือนสวะ น้ำสูง มันก็ยกขึ้นสูง คนมีการศึกษาน้อยนะ น้ำน้อยใช่ไหม สวะมันอยู่บนน้ำ คนจะมีความรู้สูงส่งขนาดไหนนะ กิเลสครอบงำหมด คนมีความรู้ต่ำต้อย กิเลสครอบงำหมด คนมีความรู้ปานกลาง กิเลสครอบงำหมด กิเลสครอบงำหมด ไม่มีใครพ้นมันเลย
แล้วพอภาวนาไป ถ้ามันทำดีมันจะเจอเหตุการณ์อย่างนี้ แต่น้อยคน แต่มี เพราะเราค้นคว้ามา ในพระไตรปิฎกก็มี เพราะพระสารีบุตรไปถามพระพุทธเจ้าเอง พระพุทธเจ้าบอกเราไม่อยากเทศน์เลย ในพระไตรปิฎกนะ เราไม่อยากเทศน์เลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสามัญสำนึกของมนุษย์มันขี้เกียจกันอยู่แล้ว คือมันจะสบายอยู่อย่างนั้น แล้วบอกว่ามันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทุกคน เออ! ใช่ ทุกคนผ่อนเลย พระพุทธเจ้าพูดขนาดนี้
แล้วพอมาเจอหลวงปู่มั่น ตัวหลวงปู่มั่นก็เป็น แม่ชีแก้วก็เป็น หลวงตาไม่เคยได้ยินท่านพูดตรงนี้ แต่เราเป็น กินไม่ได้เลย กินไม่ได้เลย อ้วกแตกอ้วกแตน ไม่รู้ นึกว่าจะกินเท่านั้นน่ะมันขย้อนเลย มันขย้อนออกเลย ต้องบอก เฮ้ย! ไม่กินๆๆ บอกไม่กินก็หยุดได้ แต่หิวฉิบหายเลยนะ แต่บอกกิน ไม่ได้ คิดดูสิ อดอาหาร ในกระเพาะไม่มีอะไรเลย มีแต่น้ำย่อย เวลามันอาเจียนทีหนึ่ง เปรี้ยวไปหมดเลย ขย้อนแต่สิ่งไอ้พวกน้ำย่อยออกมา แล้วคิดดูว่ามันจะทรมานขนาดไหน เพราะอดอาหารมาเป็นปีๆ นี่คือประสบการณ์ของเรา
นี่เวลาพูด เขาเป็น ว่ามันกินไม่ได้ๆ มันเป็นชั่วที่กิเลสมันแสดงตัว ถ้าพูดถึงนะ ถ้าพระไม่เป็นนะ บอกหยุดภาวนา ถ้าหยุดภาวนานะ คือไม่ใช่การแก้ไข ถ้าพระไม่เป็นนะ เพราะอะไร เพราะว่าพอจิตมันเป็นไปไง เหมือนกับนักกีฬา ร่างกายมันกำลังดี กำลังเป็นไป มันทำอะไรก็ได้ บอกให้หยุดไง ให้หยุด ให้ร่างกายมันเสื่อม ให้ร่างกายมันไม่มีกำลัง แล้วถึงเวลาจะมาฝึกซ้อมก็ต้องมาเริ่มต้นตรงนี้อีก แต่ถ้าเราเป็นนักกีฬาแล้วเราต้องแก้ไข วิทยาศาสตร์ทางกายภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา แก้ไขให้ได้
นี่ก็เหมือนกัน เราต้องแก้ไขทางปัญญาของเราให้ได้ แก้ไขได้ ที่เราพูดนี่เราพูดเป็นหลักการ แต่เวลาแก้ไข คนเป็นต้องแก้เอง เพราะจิตเราเป็นเอง จิตเรารังเกียจเอง มันรังเกียจไม่กินไง รังเกียจว่าเป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ว่าจิตเรามันพัฒนาขึ้นมาแล้ว แต่มันตกไปอีกฟากหนึ่ง แล้วตกไปอีกฟากหนึ่ง เราก็อยู่กับมัน เพราะถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี
ดูสิ ครูบาอาจารย์บางคน ไม่อยากเอ่ยชื่อ ที่เขาบอกว่าพิจารณาพวกหนังสัตว์เหมือนหนังเราเลยอย่างนี้ ไอ้อย่างนั้นมันเป็นโลก อย่างเช่นเรา เราไปทางถนน เราไปเจออุบัติเหตุ เราไปเจอพวกตับไตไส้พุง เรากินอะไรไม่ได้หลายวันเลย ไอ้นี่เขาเรียกว่ามันเป็นเรื่องโลก มันไม่เป็นธรรมหรอก อย่างเช่นเราไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้าไปดูซากศพ มันซากศพคนอื่นนะ แต่ในวิสุทธิมรรคพูดอย่างนี้ ให้ตั้งสติให้ดีแล้วขึ้นเหนือลม อย่าไปใต้ลม ถ้าไปใต้ลมมันจะได้กลิ่น มันจะตั้งสติไม่ได้ พอได้กลิ่นปั๊บ เราก็กระอักกระอ่วนแล้ว ถ้าไปเที่ยวป่าช้าให้ขึ้นไปเหนือลม ไปเหนือลม แล้วถ้าจิตดีนะ ไปถึงแล้วให้มอง หลับตา ภาพนั้นติดไหม ถ้าภาพนั้นติดนะ ให้กลับ ภาพนั้นติดไหมๆ ไม่ใช่ซากศพนั้น ภาพนั้นติดตาไหม ถ้าติดแล้วกลับมา ถ้าจิตมันดี ติดปั๊บ เหมือนกับภาพติด ขยายภาพได้ไหม อุคคหนิมิต วิภาคะ ขยายส่วนแยกส่วน ถ้าขยายส่วน ถ้าจิตดี ขยายส่วนแยกส่วนได้ เป็นวิภาคะ เป็นวิปัสสนา อุคคหนิมิต นิมิตเฉยๆ เห็นเฉยๆ นี่พูดถึงถ้าเราไม่มีคุณสมบัติ เราต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าจิตเราดี ไม่ต้องไป มันเกิดเอง แล้วถ้ามีคุณสมบัติ พอจิตสงบมันขึ้นเลย ถ้ามันขึ้นเลย นี่เทคนิคมันมีเยอะ เทคนิค หมายถึงว่า คนเรา ดูสิ เราเรียนหนังสือมาด้วยกัน จบมา แบบว่าเราจะมีความรู้เหมือนกัน เราจะมีความชอบเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน มันไม่เหมือนกันหรอก พอไม่เหมือนกันปั๊บ มันก็อยู่ที่เราจะบริหารมันอย่างไร เราจะควบคุมมันอย่างไร ถ้ามันเป็นวิปัสสนานะ ต้องย้อนกลับมา ต้องแก้ คำว่า แก้ มันแก้ที่ใจเรา มันเป็นออกไปจากใจ สิ่งที่เห็นแล้วมันขยะแขยง ที่มันกินไม่ได้เลย เราอยากเห็นน่ะ ให้ค่าเป็นตัวหนอนเลย เราทำจริงนะ ที่อย่างนี้มันต้องมีทำจริง หนึ่ง ต้องทำจริง มันแบบมันต่อเนื่องไง เหมือนกับค่าความร้อน ถ้าค่าความร้อนมันพอ น้ำจะเดือดไง ฉะนั้น ค่าความร้อนไม่พอ น้ำไม่เดือดไง
ทีนี้จิตเหมือนกัน จิตมันพัฒนา ค่ามันมี ค่าของคุณธรรมมันมี พอพิจารณามันเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าพูดถึงจะแก้ง่ายๆ เลย ก็ดับสิ ปิดไฟสิ พอปิดไฟ น้ำก็ไม่เดือด มันก็จบไง พอจิตมันก็ตกมา ตกมาเป็นปุถุชนธรรมดานี่ไง แต่ถ้าค่าความร้อน น้ำจะเดือด ถ้าน้ำเดือด น้ำจะล้น น้ำจะล้น เราจะทำอย่างไร เราจะรักษาน้ำไม่ให้กระฉอกอย่างไร เราจะประคองให้น้ำเดือดด้วย แล้วน้ำเดือดใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปได้ด้วย คือจิตเป็นสมาธิ จิตที่มีคุณค่า จิตที่มันมีคุณค่ามันถึงเห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเห็นสภาวะแบบนั้น เราจะแก้ไขของเราอย่างไร
ต้องแก้ไขไป แก้ไขไปนี่ลองอีก ใช้ความคิดไล่มัน มันเห็นคือมันเห็นนะ แล้วทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ อย่างที่ว่ามันวิปัสสนาไป พอใช้ปัญญาไล่เวทนาไปมันปล่อย
ปล่อยขนาดไหน ทำอีก มันไม่ใช่อันเดิม เราจะบอกว่าอาหารมื้อนี้ มื้อนี้ อาหารจานนี้ มื้อหน้า อาหารจานเดียวไง มื้อหน้าไปก็อาหารจานนั้นแหละ เอ็งเข้าไปกินสิ อาหารจานเดียว มึงสั่งกี่ร้อยหนก็นั่นล่ะ แต่มันจานเดียว จานเก่าหรือเปล่า จานใหม่ใช่ไหม
วิปัสสนาไปก็เหมือนกัน พอมันปล่อยทีหนึ่งก็เป็นอารมณ์หนึ่ง ปล่อยทีหนึ่งก็เป็นอารมณ์หนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกันหรอก แล้วทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ กินอาหารทุกวัน อาหารจานเดียว กินอยู่ทุกวัน กูไม่กิน เบื่อ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าวิปัสสนาไปเรื่อยๆ ปัญญามันเกิดไง ทีนี้เราไปคิดว่า อาหาร เวลาอาหารนี่นะ กินเพราะมันหิวใช่ไหม แล้วถึงเวลาหิว อยากกินอีก แล้วเวลาภาวนา เวทนา พอมันปล่อยแล้ว มันปล่อยแล้วไม่อยากภาวนาอีก ก็อาหารกินทำไมล่ะ ทำไมอาหารเรากินทุกวันล่ะ ทำไมเวทนามันยังเกิดอยู่ มันยังมีอยู่ ก็ต้องซัดกับมันไปทุกวันน่ะ จนกว่ามันจะขาด มันคงที่ของมัน ไม่ต้องถามเลย เราจะรู้ขึ้นมาเอง
พระพุทธเจ้า เวลาพระไปถามปัญหานะ ท่านบอกว่าพูดมาสิ แล้วท่านเป็นคนฟัง แล้วท่านเป็นคนบอกว่าถูกหรือผิดเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าเราจะเอาความถูกความผิดยัดใส่เข้าไปในใจเขา ความถูกความผิด เราเป็นคนทำกันทั้งนั้นน่ะ เราเป็นคนทำกันขึ้นมา แล้วครูบาอาจารย์เป็นคนบอกว่าถูกหรือผิด แต่เราเป็นคนทำขึ้นมาๆๆ นี่เราก็ทำของเราขึ้นมา มันเป็นวิบากกรรม มันเป็นวิบากกรรมของแต่ละคนนะ เวลาภาวนาไป ทุกคนจะไม่เหมือนกันหรอก เหมือนนักมวย นักมวยซ้อมอยู่ค่ายเดียวกัน แต่โค้ช เวลาครูบาอาจารย์ของเขาจะสอนไป ถ้านักมวย อย่างที่ว่าเป็นแชมป์เลย มันจะมีสักกี่คนในค่ายค่ายหนึ่ง
ไอ้นี่เรา การภาวนาก็เหมือนกัน ทำไปเถอะ ทำไป แล้วถึงเวลาแล้วเราก็แก้ไขไปเรื่อยๆ มันจะให้มันเหมือนกัน มันไม่เหมือนหรอก ครูคนเดียวกัน นักมวยเยอะแยะ เขายังสอนต่างๆ กันไปเลย เพราะมันอยู่ที่ความถนัด พรสวรรค์ของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ไอ้พรสวรรค์ก็คือบุญเก่ากรรมเก่าเรานี่แหละ บุญเก่ากรรมเก่าของใครสร้างมา ทีนี้พอพูดอย่างนี้ปั๊บ ทุกคนก็จะเอาไปน้อยใจ
ไม่ต้องน้อยใจ เพราะปัจจุบันนี้ วินาทีนี้ เราเท่ากันหมดนะ วินาทีนี้ เราจะเริ่มต้นจากตรงนี้ ไอ้นั่นเราไปแก้ไขอะไรไม่ได้ วินาทีนี้ หมายถึงว่า เราสนใจในศาสนาไง เราสนในการปฏิบัติไง ดูสิ ต้นไม้เวลาปลูก บางทีต้นไม้เราล้อมมาต้นเบ้อเร่อเลย ไอ้เราเอากล้ามา ต้นเท่าไม้ขีด แล้วใครจะน้อยใจใครล่ะ อีกต้นเหมือนกับไม้ขีด ก้านไม้ขีดเลย ต้นนิดเดียว ล้อมมาต้น ๓-๔ คนโอบ
นี่ก็เหมือนกัน ใจของใครเขาสร้างของเขามาก็เป็นเรื่องของเขา ไอ้ของเราจะเป็นก้านไม้ขีดก็หมั่นรดน้ำพรวนดินไป เพราะมันคือชีวิตเราไง มันคือความจริงของเราไง ในเมื่อเป็นชีวิตจริง เป็นความจริงของเรา เราต้องสู้ ต้องสู้แล้วทำของเราไป
อันนี้มันเป็นเพราะปัญหาหนึ่ง กรรมฐาน
ปัญหาสอง เวลากินข้าว เวลาเห็นเนื้อ กินไม่ได้ เห็นแล้วกินไม่ได้
ไอ้กินไม่ได้นี่ ถ้าเราคิดโลกๆ มันก็เป็นการตั้งแบบโลกที่เขาว่า พอกินไม่ได้ปั๊บก็ปฏิเสธเนื้อสัตว์ ก็จะไปกินพวกพืชๆ อันนี้พูดอย่างนี้นะ มันเป็นเรื่องของกรรม ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ทุกคนต้องเป็นอย่างนั้นหมด ไม่ใช่ ถ้าเป็นอย่างนั้นหมด พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว พระพุทธเจ้าบอกอาหารนะ มันมีอะไรนะ ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่ได้รู้ว่าเพื่อเรา แล้วถ้าอาหารในการปฏิบัติก็อาหารหยาบ อาหารกลาง อาหารละเอียด
อาหารหยาบหมายถึงเนื้อสัตว์ อาหารอย่างกลางคือผักทั่วไป อาหารอย่างละเอียดคือพวกพืช ทุกอย่างนะ ที่โลกเขาที่เขาทำกันเป็นอุดมการณ์ของเขา ในพระไตรปิฎกมีอยู่หมด พระพุทธเจ้าบอกไว้หมดเลย บัญญัติไว้หมดเลย แล้วพระพุทธเจ้าเปิดให้เป็นสิทธิของมนุษย์ที่เลือกเอา พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติตายตัว เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าถ้าบัญญัติตายตัวปั๊บ ใครตรงจริต ใครไปตรงกับความชอบก็ว่าตัวเองถูก คนอื่นผิดหมด ทิฏฐิมันเกิด แล้วมันเกิดมีปัญหา แต่ถ้าพูดถึงว่า เปิดไว้หมด กว้างหมดเลย แล้วใครชอบตรงไหนๆๆ เต็มที่เลยๆ ทุกคนมีสิทธิหมดเลย
ทีนี้เวลาพวกเราสาวกสาวะกะมันไปศึกษาแล้วมันก็อยู่ในประเด็นที่ใครชอบตรงไหนไง ใครชอบตรงไหน ตรงนั้นเป็นประเด็น ชอบตรงไหนเป็นอุดมคติ แล้วก็สร้างเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา แล้วก็ว่าคนอื่นผิด ทั้งๆ ที่ว่ามันเป็นประเด็นหนึ่งในศาสนา มันเป็นจุดนิดเดียวในศาสนา ในศาสนาพุทธนี่ โอ้โฮ! แต่คนเข้าไปศึกษาโง่เอง ไปรู้มันนิดหนึ่งนะ โอ้โฮ! ตัวเองเก่งมาก คนอื่นผิดหมดเลย แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้หมดเลย บัญญัติไว้ หมายถึงว่า อาหาร ๓ ไง อาหารอย่างหยาบ อาหารอย่างกลาง อาหารอย่างละเอียด จะกินอะไรก็ได้ อย่างพวกเรานี่ไม่กินเลยก็ได้
ถ้าใครอดอาหารเพื่ออวดอุตริ ฉันอดอาหาร ฉันเก่งกว่า ปรับอาบัติทุกกิริยาการเคลื่อนไหว แต่ถ้าอดอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการ อุบายคืออดแล้วมันหิว อดแล้วร่างกายมันเบา ถ้าอดอาหารเพื่อเป็นกลอุบายวิธีการจะต่อสู้กับกิเลส เราตถาคตอนุญาต แต่ถ้าอดด้วยทิฏฐิมานะ อดด้วยว่ากูเก่งกว่ามึง มึงเก่งกว่ากู ปรับอาบัติหมดเลย ถ้าอย่างนั้นแล้วมันก็เอาทิฏฐิมาอวดกัน อดให้ตายไง มึงอดได้ ๙๐ วัน กูจะอด ๑๐๐ วัน ตายทั้งคู่
แต่ถ้าอดมาเพื่อเป็นอุบาย มันได้ผลจริงๆ นะ อดมาเพื่อเป็นอุบายวิธีการน่ะ อย่างเราจะทำอะไร อย่างเช่นแข่งกีฬา ถ้าเรามีเทคนิคที่ดีกว่า เรามีพรสวรรค์ที่ดีกว่า อุบายไง เรายังมีโอกาสชนะนะ นี่ก็เหมือนกัน เราจะต่อสู้กับกิเลสของเรา เรามีช่องทางออก เรามีวิธีการ เรามีกลวิธีการที่จะหลอกล่อกับมัน เรามีโอกาสมากกว่าไหม แล้วพอไปทางโลกก็ เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานตน...เอ็งเดินมาวัดก็ทรมานแล้ว มันเหนื่อยนะ เดินมาวัด ถ้าทรมาน ทุกอย่างก็ทรมานทั้งนั้นน่ะ มันอยู่ที่คนไปวัดคุณค่า ถ้าคนพอใจก็เป็นสิ่งที่ดี คนไม่พอใจก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วทรมานไม่ทรมาน
เมื่อวานซืนดูทีวี เขาไปถวายช้างหลวงตา เราก็ดูซิหลวงตาจะว่าอย่างไร ท่านก็เฉย พอวันรุ่งขึ้น โอ้โฮ! ท่านว่าเจ็บ เราเป็นเจ้าอาวาส จะมีสิ่งใดต้องปรึกษาเราก่อน นี่ทำอะไรกันไม่ปรึกษาเจ้าอาวาสเลย ข้อวัตรปฏิบัติ การปกครองวัดไม่ใช่ของง่าย
แต่วันแรกไม่พูดสักคำ เราก็ดูซิ เราเห็นแล้ว เราเห็นแล้วทีแรกที่เอาวัวเอาควายมาถวาย แม่บังอรน่ะ แล้วพวกพระเขาไม่รับกัน เขาบอกต่อไปมันจะเยอะมาก แต่นี่ถ้าคิดทางโลกไง คิดทางโลก เราไถ่ชีวิตโคนี่เป็นบุญไหม เราไถ่ชีวิตของเขาเป็นบุญไหม เราปล่อยสัตว์กัน วันเกิดเราปล่อยสัตว์กันเป็นบุญไหม เป็น เป็นทั้งนั้นน่ะ เป็นบุญ เป็นบุญเพราะเราแลกชีวิตเขามา แต่เราแลกชีวิตเขามาแล้วเป็นภาระใครล่ะ ถ้าแลกชีวิตเขามาแล้ว ชีวิตเขายังอยู่ต่อไปได้ไหม การต่อเนื่อง ฉะนั้น ไอ้อย่างโคควายนี่นะ เวลา ๑๒ สิงหาคม ทุกคนจะคิดอย่างนี้ก็ได้ เราก็เห็นด้วยนะว่าพวกเราลูกศิษย์ลูกหาอุตส่าห์ไปไถ่ชีวิตโคมา ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ตัวเพื่อชีวิตท่านสดใสใช่ไหม เราก็เห็นด้วย
แต่ทีนี้ถ้ามันเป็นช้าง เป็นเสือ เป็นสัตว์ที่มันเป็นโทษ พอเขาถวายปั๊บ เราดูว่าใครเป็นคนถวาย พอเห็นว่าเป็นแม่ชีจอยถวาย เราเข้าใจเลย เพราะที่วัดทุ่งสามัคคีธรรมหรือวัดอะไรนี่เขามีเสือนะ เขามีกรงเสือ เขามีอะไรของเขา พอมีกรงเสือ นี่วัดทั่วไปไง คิดแบบโลกๆ วัดมีเมตตา ต้องมีเมตตาสัตว์
คำว่า เมตตาสัตว์ ถ้าเมตตาสัตว์ต้องเมตตาสัตว์แบบวิทยาศาสตร์ ถ้าเมตตาสัตว์ต้องเอาสัตว์ไปปล่อยในธรรมชาติของมัน เมตตาสัตว์ไม่ใช่เอาสัตว์มากักขัง ถ้าเมตตาสัตว์ใช่ไหม เอ็งเอาช้างมา เอ็งก็เอาไปให้ที่ปางช้างลำปางสิ ศูนย์ที่ฝึกช้างน่ะ เออ! เขามีการเลี้ยง มีการอะไรใช่ไหม ถ้ามึงเอามาไว้ที่วัดนี่นะ เราจะบอกว่า ธรรมะมันสูงกว่าทุกๆ อย่างนะ เรามาประพฤติปฏิบัติ เราต้องการเวลา เราต้องการความสงัด เราไม่ต้องการภาระ นิวรณธรรม ครูบาอาจารย์ท่านถึงวัดกรรมฐาน
ที่ว่าพระ ที่โยมเขาไปวัดกรรมฐานแล้วเขาบอก เอ๊! ทำไมวัดนี้เงียบ เขาก็เลยนัดว่าให้ตีระฆัง พระจะออกมา เห็นพระต่างคนต่างมาก็ว่าพระไม่ถูกกัน นี่วัดกรรมฐาน คือมันสงบสงัด มันต้องการความวิเวกเพื่อจะวิปัสสนา ฉะนั้น พอเอาพวกเป็นภาระเข้ามา มันจะวิเวกไหม
นี่เมื่อวานเริ่มเอ็ดแล้ว แล้วดูว่าจะจัดการอย่างไร เพราะอะไร เวลามา มาแบบโลกไง เอ็งมีเมตตาไหม เอ็งลงทุนตั้งหลายแสนซื้อช้างมาถวาย เอ็งได้บุญไหม แล้วทำไมพระมาเอ็ดล่ะ พระเอ็ดเพราะมันเป็นภาระต่อไป อย่างนี้บ่อย เราสังเกตหลวงตาบ่อย เวลาอาจหาญนี่อาจหาญมาก แต่เวลาเป็นอุบาย มีอยู่ช่วงหนึ่งพวกเมืองลาว พระเมืองลาวเขาจัดเป็นทีมมาเลย มาหาท่าน เมื่อก่อนนั้นน่ะ มาขอให้สร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ไง
ท่านบอกว่าท่านไม่ว่าง ท่านมีภาระรับผิดชอบมาก นี่พูดต่อหน้าพวกพระนั่นนะ พอกลับไปแล้ว รุ่งขึ้นท่านพูดอีกทีหนึ่งกับเทศน์ จ้างก็ไม่ให้ มีก็ไม่ให้ เพราะอะไร เพราะพระกรรมฐาน มหาวิทยาลัยป่า มหาวิทยาลัยอยู่ที่โคนไม้ มหาวิทยาลัยอยู่ที่การกระทำ มหาวิทยาลัยอยู่ในหัวใจ ไปสร้างเป็นรูปแบบนั่นมันเป็นเรื่องโลกๆ ไง จ้างก็ไม่ให้ แต่เวลาต่อหน้าเขาไม่พูดเลยนะ
กรณีช้างก็เหมือนกัน ช้าง วันแรกไม่พูดเลย พอเมื่อวานนี้เริ่มแล้ว เดี๋ยวดูวันนี้จะขนาดไหน แล้วจะออกกันอย่างไร เราจะบอก เห็นไหม ความคิดพวกเราคิดเรื่องโลกๆ คิดว่าเมตตาๆ เมตตานะ มันต้องเมตตาให้มันเป็นวิทยาศาสตร์ คือเมตตาแล้วต้องให้เขาอยู่ของเขาได้ เราจะทำอย่างไร ไม่ใช่ว่าฉันเมตตานะ แล้วก็ไปขนมานะ แล้วก็มาทิ้งไว้ให้คนนี้รับผิดชอบ ฉันเมตตานะ แล้วรับผิดชอบไป...ตาย ไอ้คนรับผิดชอบตาย มึงเมตตาไม่จริงนี่หว่า เมตตาครึ่งเดียว เมตตาไปไถ่ชีวิตมา เอ็งเมตตามาแล้ว เอ็งก็ต้องให้คนอื่นหรือ นี่โลกกับธรรม
แล้วเมื่อวานท่านพูด ถ้าเป็นธรรมดานะ ถ้าเป็นพระนะ เสร็จ ขนาดพูดเลย เราสละได้เดี๋ยวเดียวเลย เราไปได้เดี๋ยวนี้เลย ท่านพูดอยู่ เราฟัง เราไปได้เดี๋ยวนี้เลยนะ ใครอย่ามายุ่งกับเรานะ เอาภาระมา คนโน้นเอาอันนู้นมาทิ้ง อันนี้มาทิ้ง ลุกไปได้เลย
คิดกัน ประสาเรานะ เราว่าเป็นเรื่องโลก โลกตรงไหน โลกตรงที่มีการแข่งขันไง เอ็งเอาวัวเอาควายมา กูจะเอาช้างมา เดี๋ยวจะมีคนเอาปลาวาฬมานะ มันจะไปจับปลาวาฬมา เอาปลาวาฬมาถวาย มันเป็นการแข่งขัน โลกๆ เห็นไหม ถ้าเราพูดถึงนะ เราจะไปแข่งความดีนะ เอ็งแข่งขันนะ นั่งทำสมาธิตลอดรุ่งที่กุฏิ ต่างคนต่างภาวนา แข่งอย่างนี้ดีกว่า ไม่เบียดเบียนใคร แล้วเราก็เหยียบย่ำกิเลสเรา เราพยายามทำให้กิเลสเรา แข่งขันอย่างนี้ ไม่ให้วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน ถ้าไปแข่งขันทางโลกนะ เดือดร้อนกันไปหมดเลย คนโน้นก็เดือดร้อน คนนี้ก็เดือดร้อน
ถ้าจะแข่งขันคุณงามความดี นั่งสมาธินี่ ต่างคนต่างนั่ง กำหนดพุทโธๆ แข่งขันอย่างนี้เถอะวะ แล้วเดี๋ยวมันจะรู้อะไรขึ้นมาดีๆ แล้วมันจะกดเราให้อยู่ในหัวใจ ดูในนั้น เราเห็นนะ เพราะเรามองอย่างนี้ปั๊บ เราก็มองกลับไปที่วัดของหลวงพ่อสังวาลย์ วัดหลวงพ่อสังวาลย์เขามีนะ มีกรงเสือ มีกรงช้าง มีกรงอะไร แล้วบางวัดเขาก็เลี้ยงเสือ เลี้ยงช้างกัน แล้วที่ทางดอนเมืองที่มีช้างในวัด แล้วพวกโยมให้ไปปล่อย
ปล่อยไม่ได้ ช้างตัวนี้เรียกคนเยอะมาก ใครๆ ก็มาเพราะช้างตัวนี้
เศร้าใจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไง รัตนตรัย ช้างรัตนตรัย ช้างเป็นที่พึ่ง ไม่มี ไม่มีหรอก อะไรก็ไม่มี แต่พระเขาพูดอย่างนั้นน่ะ พระพูดอย่างนี้ที่วัดดอนเมือง ตอนนั้นมันลงข่าวไง เขาเอาช้างไปเลี้ยง แล้วชาวบ้านเขาเห็นกันเยอะมาก เขาสงสาร เขาก็ไปพยายามพูดให้ไปปล่อย เขาพูดคำนี้ออกมาไง พระนะ เราถึงเทียบวุฒิภาวะของพระกับของโยมไง ของโยม ของคฤหัสถ์เขายังเห็นภาพ เขายังเข้าใจว่าถูกผิดได้ แล้วพระที่ตอบเขาน่าอาย น่าอายมาก บอก ปล่อยไม่ได้หรอก ช้างตัวนี้นะ เรียกโยม เรียกศรัทธาเข้าวัดเยอะแยะเลย
แสดงว่าวัดนั้นอยู่ได้เพราะช้างตัวนี้ไง ช้างมันเลี้ยงพระ ช้างเป็นอาจารย์พระ ช้างหาเงินให้พระใช้ พระไม่มีคุณค่าเลย นี่ไง ศาสนาเรียวแหลม ศาสนาเรียวแหลมมาก
ถ้าศาสนา ศาสนาเป็นที่พึ่ง สัตว์มันมาอย่างไรก็แล้วแต่ นี่พูดถึงการบริหารจัดการนะ เราจะพูดเรื่องค่าน้ำใจ เรื่องมุมมอง ค่าน้ำใจของคน แล้วมองตรงไหน แต่ถ้าใจของคนเข้าวัดใหม่ๆ ก็ใช่ ไถ่ชีวิตสัตว์ทุกอย่างเป็นบุญ แต่มันเป็นบุญเรื่องโลก เป็นบุญกลายเป็นธุรกิจเลย
แล้วเราคิดประสาเรานะ ไถ่ไม่หมดหรอก เพราะโลกเขาเป็นอย่างนี้ มึงจะไถ่มาอีกแสน ๕ แสนตัว ๕ ล้านตัว เขาก็ต้องเพาะขึ้นมาเกินกว่านั้นเพราะตลาดเขาต้องการ แต่ถ้าเราจะช่วย มันเป็นบุญกุศลของเรา เราก็ช่วยด้วยกำลังของเรา เราก็ทำได้ แต่จะบอกว่าให้มันเป็นอย่างที่เราคิด ไถ่ชีวิตให้หมดเลย โลกนี้จะได้ราบรื่น...อย่างนั้นกรรมมันก็ไม่มีสิ อย่างนี้กรรมมันก็ไม่มี อย่างนี้ผลวิบากที่ใครทำมามันก็ไม่เป็นไปตามนั้น
ฉะนั้น อยู่ที่บุญ เพราะว่ามีครูบาอาจารย์นั่งภาวนาอย่างนี้ เห็นเป็นบางครอบครัวเลย เดินเข้าไปในฟาร์มสัตว์ จิตวิญญาณเดินเข้าไปในฟาร์มสัตว์หมดเลย ไปทำไมรู้ไหม ไปเกิด ไปเกิด เพราะเราเกิดไง การเกิดและการตาย อบายภูมิ แล้วทำไมเราเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ มนุษย์เกิดเป็นมนุษย์นะ มนุษย์เกิดเป็นมนุษย์นี่มีบุญมาก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเทวดา อินทร์ พรหมก็อยากเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเกิดเป็นมนุษย์นี่อิสรภาพ แล้วเกิดเป็นมนุษย์ วัดเต็มไปหมดเลยถ้าเกิดในประเทศสมควรนะ ถ้าไปเกิดในทวีปที่ไม่มีวัดก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะเทวดาจะฟังเทศน์ยังต้องลงมานี่ เทวดาจะฟังเทศน์ ทุกอย่างจะฟังเทศน์ ต้องมาหาครูบาอาจารย์ แต่ของเรานี่นะ ใกล้เกลือกินด่าง
ฝรั่งเพื่อนเรามันบอกเลย คนไทยนี่กบเฝ้ากอบัว ผมนี่เป็นฝรั่ง ผมจะบวชนะ ๔ ประเทศแน่ะ ไปอยู่อเมริกา พอค้นคว้าแล้วอยากบวชมาก ก็ไปบวชอินเดีย เพราะตามตำราว่าอยู่อินเดีย ไปบวชเสร็จแล้วไปบวชอินเดียสมัยโน้นนะ ได้แค่เณร เพราะไม่มีพระ บวชเป็นเณร อยากบวชพระ อยากบวชพระต้องมาลังกา เขาก็มาลังกา มาบวชเป็นพระที่ลังกา บวชพระเสร็จอยากปฏิบัติ ถ้าเอ็งอยากปฏิบัติ เอ็งต้องไปประเทศไทย มาญัตติที่วัดบวรฯ
เพื่อนกัน เขาบอกว่า ไอ้ห่า กูนี่กว่าจะได้บวช ๔ ประเทศแน่ะ คนไทยนี่ไม่สนใจ มันพูดให้เราฟังนะ พระด้วยกันเวลาคุยกันมันสะเทือนใจ บอกคนไทยนี่กบเฝ้ากอบัว เอ็งดูกูนี่กว่าจะได้บวชตั้ง ๔ ประเทศ กว่าจะได้ปฏิบัติ ก็ค้นคว้าวิจัย ค้นคว้าปั๊บ ศาสนาเกิดที่ไหน เกิดที่อินเดีย ไปอินเดียเลย ไปบวชที่อินเดีย ได้บวชได้เณร เพราะบวชเณร บวชพระองค์เดียวบวชได้ อยากบวชพระ บวชพระมาลังกา บวชลังกาเสร็จมันไม่ได้ปฏิบัติ อยากปฏิบัติมาเมืองไทย พอมาเมืองไทยแล้ว สยามลังกาวงศ์ก็ไปญัตติที่วัดบวรฯ บวช ๔ หนถึงจะเจอปฏิบัติ ไอ้เรานี่ตำตาทุกวันเลย นี่เขาคุยกับเรานะ
เวลาฝรั่งคุยกับเรา ฝรั่งนี่ แปลก ไอ้เรามันมีเชาวน์ปัญญาดี ไปคุยกับใคร ใครติดนะ ไปคุยกับฝรั่งอีกองค์หนึ่ง ไปเจอกัน ไปเจอกันอยู่ในป่า โอ๋ย! คุยกันถูกใจมาก ไอ้นี่อะไร เขาถามเรา ไอ้นี่อะไร เขาอยากได้ ไอ้พวกบริขาร ไอ้นี่อะไรๆ ก็บอกเขา
เขาถามเราว่าตักคืออะไร ตัก เพราะในวินัย เช็ดบาตรห้ามวางบนตัก เขาถามเรา ตักคืออะไร บอกตักคือกิริยาท่านั่ง ตัก ถ้าเวลาเช็ดบาตร เอาบาตรวางบนตักแล้วเช็ดบาตร เป็นอาบัติทุกกฏ เพราะในบุพพสิกขาบอกไว้อย่างนั้น แต่เขาไม่รู้ว่าตักคืออะไร แล้วบาตรวางบนตัก บาตรวางบนตักเป็นอาบัติทุกกฏ เขาก็งงไง เขาก็มาถามเราว่าตักคืออะไร
บอกตักก็นี่ไง นั่งขัดสมาธิมีตักใช่ไหม แล้วเราวางบาตร เราก็เช็ด เป็นอาบัติทุกกฏ เพราะอะไร เพราะเวลาเช็ดไปก็ปากชอบโม้ชอบคุย พอคุยเสร็จมันเผลอ มันลุก มันก็ตกไง พระพุทธเจ้าห้าม
เวลาเราเช็ดบาตร ท่านั่งเรา เห็นไหม เรานั่งคุกเข่า เพราะมันปล่อยมือไม่ได้ ปล่อยมือ มันตก เวลานั่งคุกเข่านี่นะ เช็ดบาตรต้องเสร็จ ไม่เสร็จมันปล่อยมือไม่ได้ เพราะมันวางไม่ได้ไง มันไหล โอ๊ย! วินัยพระพุทธเจ้าไปอ่านเถอะ
แล้วเขามาถามเรา ตักคืออะไร ตักก็คือท่านั่งนี่ไง ถามเรื่องวินัย ถามเรื่องวินัยเราเยอะมาก ไอ้เราก็มันค้นคว้ามา คุยกันถูกใจมากเลย พอถูกใจมาก ไปหงบ ไปเที่ยวฝรั่งเศส เขาคนฝรั่งเศส ไปเที่ยวฝรั่งเศส
กูไม่ไป
ทำไมล่ะ
เดี๋ยวบาตรกูมันไปทำรังไก่ เพราะตอนนั้นภาวนาอยู่ โอ๋ย! คนชวนไปเที่ยวเยอะนะ พวกฝรั่งชวนไปเที่ยวบ้านเขา
ไม่ไปๆ
เพราะอ่านประวัติ อ่านประวัติครูบาอาจารย์ พระพวกเราพระกรรมฐานไปตายที่เพชรบูรณ์เยอะ เพชรบูรณ์น่ะ เขาธุดงค์ไปที่เชียงใหม่ไง ผ่านไปเพชรบูรณ์ พอไปเพชรบูรณ์แล้ว ส่วนใหญ่แล้วครอบครัวเขาชอบพระกรรมฐาน พระกรรมฐานนี้แข็งแรงเข้มแข็ง เขาจะมา เอาครอบครัวมา อะไรมา พระสึกหมด ในวงการกรรมฐานเขาเรียกว่าเอาบาตรไปทำรังไก่ มันอยู่ในวงพระเขาคุยกันอย่างนี้ ทำให้เรากลัว
เรานี่เวลาปฏิบัตินะ เหตุใดแล้วแต่ที่ออกนอกลู่นอกทางจะไม่ไป พยายามจะปฏิบัติให้คงเส้นคงวา จะมีพระชวนไปเที่ยวเขาบอกว่า เขาเล่าให้ฟังเอง พระองค์นี้สึกไปหรือยังไม่รู้ ส่วนใหญ่ฝรั่ง เราพูดประสาเรานะ ฝรั่งส่วนใหญ่ท้ายๆ แล้วสึกเกือบหมด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะฝรั่ง พอเขานานไปๆ พอจิตเขาเป็นสมาธิแล้ว พวกนี้วิทยาศาสตร์เขาไม่ค่อยเชื่อ หรือพอจิตเขาลงไป จิตเขามีความรู้ความเห็น เขาคิดว่าเป็นมรรคผล แล้วฝรั่งเขาก็จะกลับไปยุโรป กลับไปญี่ปุ่น สึกหมด พระที่มีชื่อเสียงๆ นะ สายอาจารย์ชา ไปสึกที่ญี่ปุ่น ไปสึกเยอะนะ เพราะอะไร
พอเราโตขึ้นมา วิปัสสนึก คือจิตมันยังไม่เป็นไป มันยังไม่ลง มันเป็นวิปัสสนึก มันมีภาพ ที่ว่าว่างๆ ว่างๆ ตอนนั้นจิตมันดี มันก็เหมือนเรานี่พระอรหันต์นะ แต่พอไปมันเจอกระทบไง พอเจอกระทบนะ จิตมันเริ่มตีกลับนะ พอตีกลับ มันไม่มีหมู่คณะ คือสิ่งแวดล้อมมันไม่ช่วยเอื้อ เราไปอยู่คนเดียวใช่ไหม แล้วไปอยู่สังคมอย่างนั้นไง หลวงตาถึงบอกไง พระที่ไปอังกฤษ ท่านไปอังกฤษ ท่านบอกทำไมพระไปเผยแผ่ ไปเสียหมด แล้วท่านก็ตามไปดู พอตามไปดูท่านบอกว่า อ๋อ! อย่างนี้มันถึงเสีย อย่างนี้ พอฉันเสร็จแล้วก็นั่งคุยกันทั้งวันเลย ไม่มีข้อวัตรไง อย่างนี้จะเสียหมด คือฉันเสร็จยังไม่ได้เก็บเลย นั่งคุย คุยจนเย็นเลย แล้ววันแล้ววันเล่า วันแล้ววันเล่าน่ะ ตายหมด
แต่ถ้า ดูสิ เอ็งเห็นพระไหม กติกาเป็นอย่างนี้ คือฉันเสร็จปั๊บ เช็ดบาตรเสร็จ เข้าทางจงกรม นี่เพราะเราเป็นหัวหน้า หัวรถจักร เป็นผู้รับผิดชอบ พอไปแล้วมันก็ต้องไปเร่งความเพียรของตัว คืออยู่ในธรรมวินัย อยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ อย่าคลุกคลี อย่าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันทำให้เราอันตราย เสียหมด
ไปอ่านในลอนดอนน่ะ ท่านบอกเลย ท่านแปลกใจมากว่าทำไมพระไปเผยแผ่ๆ ไปตายห่าหมดเลย ก็ตามไปดู ไปถึงก็กินข้าวเสร็จก็นั่งเจ๊าะแจ๊ะกันได้ทั้งวัน เสร็จแล้วยังไม่ทันไร โยม มีธุระ โยมขับรถพาไป
เขามาฟ้องเยอะนะ อเมริกา ผู้หญิงขับรถ ผู้ชาย พระนั่งกันไปน่ะ ไปกันเรื่อยเฉื่อย เพราะอะไร ปลาอยู่ในน้ำไง ถ้าเราอยู่สังคมพุทธ เอ็งทำอย่างนั้น ชาวพุทธเขารู้นะ พระไม่กล้าทำนะ ไปอยู่ในสังคมเขาน่ะ พระก็ฮิปปี้ไง เขาไม่รู้จักพระหรอก เขานึกว่าคนห่มผ้าเหลือง โกนหัว นั่นฮิปปี้พันธุ์ใหม่ เขาไม่รู้หรอก คือเขาไม่รู้ธรรมวินัย เอ็งก็สะดวก สะดวกไปหลอกเขาสิ แล้วก็พากันไปตาย
นี่จะพูดถึงพระฝรั่งไง ที่ว่าพอสูงๆ ขึ้นมาจะสึก สึกเพราะแบบนี้ พอสึกออกไปๆ ทีนี้สิ่งที่ว่าเขาชวนเราไป เขาชวนไปเพราะเขาเล่าให้ฟัง นี่พูดถึงประวัตินะ นี่เราพูดบ่อย เขาบอกว่าตอนที่เขาเป็นเด็กๆ เขาเป็นลูกชายคนเดียว ลูกเศรษฐี พ่อมีศูนย์การค้าอยู่ที่ฝรั่งเศส ๒ ศูนย์ ตั้งแต่เด็กมาเลย พ่อเปย์ให้ทุกอย่าง อยากได้อะไรได้หมด นิ้ววิเศษ อยากได้อะไร ชี้อะไรได้หมดเลย ในโลกนี้ที่เขาเสพ เขาใช้กัน มันใช้หมดทุกอย่างแล้ว จนอิ่มหนำเปรมเลย สุดท้ายไม่มีทางไปนะ มันอยาก มันอยาก ไม่รู้อยากอะไร ก็ยาเสพติด พ่อแม่ซื้อให้เสพหมด อยากฆ่าตัวตาย
มันอยากอยู่ แต่ไม่รู้จะอยากอะไร เพราะในโลกนี้เขาทำอะไรก็ทำทั้งนั้น ทุกอย่างเลย พ่อเลยบอกว่า มึงอย่าทำอะไรเลยนะ มึงเอาเงินไปเที่ยวรอบโลกไป เขาก็โยนเงินให้ก้อนหนึ่งให้เที่ยวรอบโลก เขาก็เที่ยวมาเรื่อยไง เที่ยวมาถึงอินเดีย นี่เขาเล่าให้ฟังนะว่าเพื่อนเขาสั่งไว้บอก เฮ้ย! ถ้าเอ็งไปเมืองไทยนะ ธรรมดาใช่ไหม เงินน่ะ เที่ยวมันก็อาจจะขาดมือได้ ถ้าเงินขาดมือให้เข้าวัดนะ
เงินเขาขาดมือ พอเข้าวัด เขาเข้าวัดเลย เข้าวัดเพลง แล้วบวชที่วัดเพลง อยู่สายอาจารย์ชา แล้วไปเจอกัน แล้วพอเขาบวช สมัยนั้นเขาได้ ๗-๘ พรรษา เราได้ ๓-๔ พรรษา แล้วเขาก็ชวนเราไปเที่ยว เราก็บอกเราไม่ไป
เขาบอกพ่อแม่มา พ่อแม่มา เพื่อนๆ ที่เป็นฝรั่งเขียนจดหมายเป็นตั้งๆ เลย เขียนมาด่าทุกวัน บอกว่ามึงเอาชีวิตมึงไปจมปลักอยู่อย่างนั้น มึง ชีวิต โอ้โฮ! เขียนมาด่าตลอดนะว่ามึงเป็นคนที่ไม่ก้าวหน้า เขาเอาจดหมายให้เราดูหมดล่ะ แล้วเขาก็ชวนเราไป แล้วพ่อแม่มาถึงก็มาแค่ที่สยาม โรงแรมสยาม แล้วก็จะให้เรียกลูกมา บอกทำไมไม่มา พ่อแม่กลัวงู เขาว่าเป็นเอเชียไง เป็นด้อยพัฒนา นี่ความเห็นของเขานะ
เราอยู่กับอย่างนี้ ประสาเรา ชีวิตเรานี่มันแปลก มันได้คลุกคลีอย่างนี้ แล้วเราก็กลับมามองชีวิตพวกเรานี่ไง แล้วอย่างมองชีวิตพวกเรา พวกเรานี่ประเทศด้อยพัฒนา หมายถึงว่า ทางวัตถุมันน้อย พวกเราก็ปากกัดตีนถีบกัน แต่เราไม่ได้คิดมุมกลับ เรานี่เวลาคิด เราคิดมุมกลับตลอด เราว่าประเทศเรานี่ประเทศอันสมควร ประเทศที่สมบูรณ์ เพราะฝรั่งนะ พวกฝรั่งมันบอกเลยนะ พวกคนไทยนี่แปลก พวกเอเชียอยากไปเที่ยวยุโรป ยุโรปเขาไม่อยากอยู่หรอก เขาบอกสลัมมันเยอะ สลัมทั้งนั้น ไอ้พวกอยู่ในเมือง พวกสลัม อยู่กันทุกข์ๆ ยากๆ เขาบอกมาอยู่กับเรานี่สบาย เพราะประเทศอันสมควรไง เราอยู่บ้านนอกคอกนา เรามีกระต๊อบห้องหอ เราอยู่กันได้นะ ของเขาอยู่ไม่ได้เพราะมันประเทศหนาว
ไอ้นี่พวกเราไม่อย่างนั้นน่ะ เพราะกระต๊อบห้องหอนะ เขามาอยู่กับเรานะ เขาบอกว่าถ้าพูดถึงถ้าพวกเราเป็นชาวนาของยุโรปนะ ตาย มันต้องสร้างเป็นบ้านดินเพื่อความอบอุ่น ไอ้ของเรานะ โอ้โฮ! ผ้าใบผืนเดียวก็อยู่ได้แล้ว เถียงนานี่นอนสบายเลย หาอยู่หากิน มีกินมีใช้ แต่เราไปบ้าวัตถุกันไง บ้านต้องมีทีวี ต้องมีตู้เย็น ตู้เย็นเอาไว้แช่ส้ม ๒ ใบไง ไม่รู้ไปซื้อมาทำไม เราไปบ้าวัตถุกันเอง พวกเราไปบ้ากันเอง
ถ้าพวกเรามีการศึกษานะ แล้วไม่บ้าไปตามเขานะ พวกเราจะ แหม! เกิดในประเทศสมควร เราอยู่กันแบบสุขสบาย เราอยู่ได้ แต่เราไม่คิดกันตรงนั้น เราไปบ้าวัตถุกัน ทั้งๆ ที่ภูมิประเทศของเราไม่ต้องบ้าวัตถุ แต่ของเขาต้องบ้า เพราะไม่บ้า เขาอยู่ไม่ได้
ทีแรกเราคิดอย่างนี้นะ แปลกอยู่ เขาเป็นฝรั่งใช่ไหม พระฝรั่งเจอกัน เวลาหน้าหนาวเขาก็หนาว
เราบอก ไอ้ห่า มึงทำไมหนาววะ มึงอยู่เมืองหนาว มึงหนาวได้อย่างไร
ไอ้บ้า เขาว่านะ ก็กูอยู่เมืองหนาว กูก็มีเครื่องอบอุ่น กูไม่ใช่กูอยู่เมืองหนาวแล้วกูไม่หนาวหรอก
เราเห็นเวลาหน้าหนาวเขาก็ใส่อังสะกันหนาว เราก็ถาม เฮ้ย! ก็มึงอยู่เมืองหนาว ไอ้ห่า มึงจะหนาวอะไรวะ ก็เวลามันติดลบขนาดนั้น ของกูมันแค่นี้เอง
เขาบอก เออ! ไม่หรอก เมืองหนาวก็หนาว
เพียงแต่มันนี่ไง บ้าวัตถุอย่างนี่แหละ เขาต้องบ้าเพราะสิ่งที่บังคับเขา ไอ้พวกเราไม่ต้องบ้า ใส่สูทกันแล้วก็เปิดแอร์ไง บางทีเราเห็นแล้วขำนะ ใส่สูทกันเหงื่อซกเลยนะ ไม่รู้ใส่ทำอะไร ค่านิยมเนาะ
เราถึงพูดนะ เราพูดประสาเรา เราอยู่อย่างนี้นะ เราบอกเลยนะ ถ้าเมื่อก่อนนะ ถ้าศาสนาเราได้กำสื่อสารมวลชน รอยเตอร์ เอพีอะไรต่างๆ ศาสนาพุทธจะไปอีกไกลเลย ทีนี้เพียงแต่ว่าในเรื่องของศาสนานี่คริสต์ ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของสำนักข่าวเป็นยิว พวกนี้เป็นคริสต์ ฉะนั้น โดยสามัญสำนึกก็ว่าเวลาใครมาจากยุโรป เด็กๆ มาจะบอก อุ๊ย! ฝรั่งดีๆๆ
บอกกูไม่เชื่อหรอก กูไม่เคยเชื่อคนมีกิเลสนะ คนมีกิเลสจะดีจะไม่ดีก็แล้วแต่คือมีกิเลส สุดท้ายแล้วนะ เขาต้องรักพวกเขา ไม่มีทางหรอก ไม่มีทาง
ใช่ คนดี บางคนดี ดีจริงๆ แต่ดีขนาดไหนนะ เพราะกิเลสมันไม่รู้จริงหรอก
ฉะนั้น เรื่องศาสนา อย่างที่ว่า ศาสนา นี่ศาสนสัมพันธ์ๆ
เราบอกทุเรศฉิบหายเลย ศาสนสัมพันธ์น่ะ ต้องเอื้ออำนวยกับเขา ต้องไปสมานฉันท์กับเขา มันเป็นไปไม่ได้ คือน้ำกับน้ำมันมันจะรวมตัวกันได้ไหม หลวงตาพูดบ่อย ศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นผู้สิ้นกิเลส ในลัทธิอื่นมีศาสนาไหนบอกสิ้นกิเลส แล้วรู้จักเรื่องกิเลสมีไหม ไม่มี
แล้วเวลาไปศึกษาข้อเท็จจริงในศาสนาเขาน่ะ อย่างเช่น ไม่อยากเอ่ยนะ แต่พูดเป็นหลักฐาน อย่างคริสต์นี่ฆ่าสัตว์ไม่บาป ฆ่าสัตว์เป็นอาหารไม่บาป
อ้าว! แล้วมึงว่าจริงไหม ฆ่าสัตว์ไม่บาปนี่จริงไหม มันเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเราเป็นหัวหน้าใช่ไหม เวลาบอกว่า ถ้าบัญญัติว่าฆ่าสัตว์นี่บาปปั๊บ มันก็ขัดกับหลักศาสนา ฉะนั้น กูเป็นศาสดา กูก็ต้องพูดเพื่อมวลชนด้วย พูดเพื่อความอยู่รอดด้วย เพราะใจกูมันไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ใจกูไม่จริง ก็เลยบอกว่าถ้าฆ่าสัตว์เป็นอาหารไม่บาป ถ้าฆ่าสัตว์เล่นเป็นบาป นี่ไง ถ้าไม่จริงแล้ว การวางศาสนามันถึงครึ่งๆ กลางๆ ผิดๆ ถูกๆ ไม่มีจริงหรอก ไม่มี
ฉะนั้น ที่เราบอกศาสนสัมพันธ์ เราคบกันได้ เราเป็นพวกกันได้ แต่สัจจะความจริงมันผิดถูกมันต้องพูดตามผิดถูก จะมาบาลานซ์กันไม่ได้ ไม่ได้
พูดไปเรื่อยๆ จะด่าเขาเยอะเกินไปน่ะ ใครมีอะไรว่ามา วันนี้พูดได้เต็มที่เพราะว่าวันนี้ไม่ได้เทศน์กลางวัน จะไปเทศน์พรุ่งนี้ เพราะว่าวัดอุโบสถพรุ่งนี้ไง อุโบสถพรุ่งนี้ ปักตกพรุ่งนี้ ทีแรกเรานึกว่าวันนี้ เพราะพระบอกว่าอุโบสถพรุ่งนี้
อ้าว! ใครมีอะไรอีก เคลียร์ไหม พูดไหวไหมล่ะ ตะโกนมาสิ
โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)
หลวงพ่อ : อย่า เดี๋ยว จบก่อน อย่าออกนอกลู่นอกทางมาก อย่าไปมากไง บางทีถ้ามันจะรู้มากไป เราต้องบังคับไว้เลย บังคับให้สติอยู่กับพุทโธไว้ คือบางทีเราไม่ออกไปรู้มาก ถ้ายิ่งออกไปรู้มาก มันก็จะไปมาก ถ้าไม่ให้รู้มาก ตั้งสติไว้ เพิ่มพลังงานดีกว่า ให้จิตมีฐาน บางทีนะ ไม่ให้ไปเลย ให้อยู่กับจิต ให้มันสงบให้ได้ก่อน พอสงบปั๊บ บางทีมันล้างเลย ล้างฟลอร์ ล้างฐานใจเลย ถ้าล้างทีหนึ่งเดี๋ยวก็ค่อยจะดีขึ้น
อันนี้เพียงแต่ว่า มันเหมือนกับว่าอะไรนะ เหมือนกับว่าเราทำความสะอาดอะไรต่างๆ มันยังมีอะไรอยู่ มันก็ยังโต้แย้งอยู่ ถ้ามันล้างให้สะอาดไปเลย คำว่า สะอาด นี่สะอาดในสมาธินะ ยังไม่ได้วิปัสสนาหรอก สะอาด ถ้าเป็นสมาธิมันจะสะอาดของมัน คือมันจะสงบตัวเองสักพักหนึ่ง เขาเรียกว่าจิตคึกคะนอง ถ้าจิตคึกตะนอง ก่อนจะสงบมันจะเด้ง มันจะดิ้น มันจะไปรู้ไปเห็นอะไรเยอะ ไอ้นี่เขาเรียกจิตคึกคะนอง แต่ถ้าเราเอามันอยู่นะ เราปราบพวกม้าพยศ จะใช้ประโยชน์ได้ดีมากเลย แต่ถ้าปราบมันไม่ได้นะ มันจะดีดเราเลย
ถ้าจิตคน ม้าที่มันเรียบง่ายมันก็ควบคุมง่าย ถ้าม้ามันพยศ ม้ามันแรง มันก็ควบคุมยาก ทีนี้การควบคุม เราก็ตั้งสติของเรา เราพยายามควบคุมมัน รักษามัน ไม่ต้องตามดู บางทีหยุดเลย พุทโธอัดกับมันเลย แล้วอย่างที่มันเห็น เดี๋ยวเราก็เห็นอยู่อย่างนี้ ไอ้เห็นอย่างนู้นอย่างนี้มันเห็นเพราะเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันเห็นอะไรก็จับตรงนั้น เราจะคาดหมายไม่ได้ว่าเราจะต้องเป็นอย่างนั้น มันไม่เป็น มันจะเป็นปัจจุบันตลอด
ทีนี้คำว่า ปัจจุบัน บางทีมันฟุ่มเฟือยเกินไปไง คำว่า ฟุ่มเฟือย เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือย กำลังเราไม่พอ เราต้องพักบ้าง เราพักจิตเราบ้างไง ถ้ามันสู้ได้ สู้ ถ้ามันสู้ไม่ได้นะ หยุดเลย ดึงกลับมาหมดเลย เราทำมาอย่างนี้
โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)
หลวงพ่อ : เออ! เอาไปเหอะ ทำไปเรื่อยๆ ประสาเราเลยว่าเรานั่งอยู่นี่
โยม : ฉะนั้น ต้องเอาแล้วแต่ว่ามันจะไปใช่ไหมคะ
หลวงพ่อ : ฮึ! กำหนดให้มันหยุดก่อน คำว่า จะไป คำพูดนี้เราฟังไม่ได้ เพราะถ้ามันเป็นปัญญา มันไม่ใช่แล้วแต่มันจะไป แล้วแต่สติเราคุมต่างหาก ถ้าแล้วแต่มันจะไป มันเหมือนกับมันฟาดงวงฟาดงา มันไปตามอำนาจของมัน แต่ถ้าเป็นปัญญา สติมันคุมไป ปัญญาเราจะบอกเป็นอย่างนั้น เราจะใช้ปัญญาแยกแยะไง เหมือนทำการวิจัย เราวิจัยมัน ไม่ใช่กูรอให้มันวิจัยกู ฉะนั้น ใช้คำว่า ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ได้
โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)
หลวงพ่อ : ใช่ ไม่ใช่ปล่อยให้มันลากเราไป เราควบคุมมัน ไม่ใช่มันลากเราไป
โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)
หลวงพ่อ : ใช่ อะไรขึ้นมาก็ดู แล้วจิตควบคุม หมายถึงว่า ให้เป็นอย่างนี้ๆๆ ให้แปรสภาพอย่างนี้ เห็นไหม เราควบคุม แล้วถ้าควบคุมไม่ได้ หมายถึงว่า มันไม่เป็นอย่างที่เราควบคุม หยุดเลย นั่นคือว่าสติ สมาธิอ่อนแล้ว
ถ้าสมาธิไม่อ่อนนะ เราควบคุมได้ แล้วสั่งได้ แต่ถ้าสมาธิมันเบาปั๊บนะ มันยื้อกัน มันดึงกันเฉยๆ รู้เลย มันดึงกัน มันไม่ไปแล้ว พอไม่ไปปั๊บ ถ้าคนไม่เป็นนะ ตามไปนะ เดี๋ยวเสื่อมหมดเลย ปล่อยเลย ปล่อยแล้วกลับมาพุทโธ ปล่อย พอมีกำลังแล้วเดี๋ยวกลับไปทำใหม่ กลับไปทำใหม่ ไม่ใช่ให้มันดึงเราไปหรือไปตามสภาพ ไม่ใช่ไปตามที่มันลากเราไป
โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)
หลวงพ่อ : ใช่ กำลังดีๆ แล้วพิจารณาเลย เนาะ
มีอะไรอีกไหม จบ เอวัง