เทศน์บนศาลา

เทศน์ในวันมาฆบูชา

๓ มี.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์ในวันมาฆบูชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

การภาวนาคือการทำใจให้สงบ เห็นไหม เมื่อกี้นี้เราก็บอกทำเพื่อเข้าหาใจ เข้าหาใจ ทำใจให้สงบ แล้วเวลาพูดว่า “วัตถุไม่มีความหมาย เวลาหัวใจมีความสุขมันมีค่ากว่าวัตถุ” เวลาพูดนะพูดได้ เวลาเอาจริงๆ เข้าเราจะทำอย่างไร... แต่มันมีค่าจริงๆ ความสุข สุขมหาศาล สุขมาก

พระพุทธเจ้าถึงได้ว่า “ความสุข สุขใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ความสุขใดเท่ากับความสงบภายในไม่มี สุขภายนอกมันสุขแบบจะแปรปรวน สุขแบบเตรียมจะทุกข์ แต่สุขแท้ๆ นี่ อันนี้มันว่าของมันสุขมาก การเข้าหามันก็ต้องพอสมควร เพราะจะว่ายากนักไม่ได้ เดี๋ยวไม่มีกำลังใจ เวลาพูดถึงว่ายาก ว่าสุดวิสัย นี่ทำให้เราท้อใจนะ แต่มันคิดมุมกลับว่าทำไมคนอื่นเขาทำได้ล่ะ

“อย่าเกร็ง” ฟังให้ดีนะ “อย่าเกร็ง” ความตั้งใจ ตั้งใจตั้งสติไว้เฉยๆ ถ้าเราตั้งใจ มุมานะ เกร็งนี่มันก็จะเป็นการเกร็งนะ ทำใจสบายๆ ปล่อยจิตไว้ปกติๆ

เริ่มต้นทุกคนจะถามเลยว่าจะทำอย่างไร ทำอย่างไรจะไม่ให้ง่วงเหงาหาวนอน จะแก้หลับแก้อย่างไร?

จิตเป็นสมาธิคือจิตสงบ พอจิตสงบ เราฟังตามตำรา เราคิดว่าสงบมันจะเป็นการนอนนิ่ง... ฟังนะ เป็นการนอนนิ่ง จิตนี้จะหลับไปเลย...ไม่ใช่ จิตสงบนี้ จิตเราสงบนี่จิตมีพลังงาน เหมือนกับว่าเราตีน้ำ น้ำโสโครก เห็นไหม น้ำที่เราจะทำน้ำสะอาด เขาจะปั่นไง อาการที่ปั่นอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วน้ำสะอาดด้วย จิตนี้มีพลังในตัวเอง ทีนี้จิตนี้ไม่ใช่ว่าสงบแบบเงียบหาย

ฉะนั้น ถ้ามันสงบแบบเงียบหาย เราถึงจะไม่ปล่อยใจให้เบาบางไง เวลาเราภาวนากันอยู่ เราจะปล่อยใจแบบว่าให้พุทโธนี่เบาๆ... มีอยู่ คำสอนมีอย่างนั้นจริงๆ ว่า ถ้าจิตจะสงบ เราไปกำหนดพุทโธขึ้นมา พุทโธนี้จะไปทำให้จิตนี้ไหวออกมาจากความสงบไง เราเป็นห่วงว่าจิตนี้จะสงบลงไปแล้วเราจะไปกวนให้จิตนี้ออกมารับรู้อีก

แต่ความจริงอันนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ขั้นตอนอันแรกมันจะสงบ มันจะนิ่งไม่ได้ เราต้องพุทโธให้ชัดๆ ไว้ก่อนไง... คือปัจจุบันนี้ไม่ต้องพุทโธนะ นี่ฟังเสียง แต่ว่าเราจะเอาธรรมนี่ เราต้องพุทโธไว้ก่อน ให้รุนแรงไว้เลย จิตจะเบา มันจะเบา มันจะสงบลง เราก็ไม่พอใจ เรากำหนดให้พุทโธไว้ให้เข้มไว้ เพราะคำว่า “เข้มไว้” นี่เหมือนกับมันก็ไม่เบาไม่จางใช่ไหม แล้วก็จะไม่ตกไปในห้วงของภวังค์ มันจะไม่ให้เราเสียเวลาไง ถ้าอย่างนั้นแล้วจิตนี้จะไม่ได้ประโยชน์นะ

จิตนี้มีพลังงาน ฉะนั้น ถึงว่าจิตนี้ไม่ใช่ว่านิ่งเงียบหาย เราเข้าใจกันว่าอย่างนั้นน่ะ เราg]pทำใจปล่อยเบาๆๆ เบาจนหายไปเลยก็หลับไปเลย… ตั้งสติไว้ให้ดีๆ ตั้งสติไว้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ารุนแรงจนให้มันเกร็ง ปล่อยตามสบายๆ แต่ให้นึกไว้ตลอดเวลา นึกไว้ ความรู้สึกเอาไว้ ความรู้สึกที่เรามีอยู่นั้นคือสตินะ ความรู้สึกทั้งหมด แต่ถ้าความรู้สึกแล้วคิดด้วย อันนั้นมันจะกวนน่ะ

“ความรู้สึก” ความรู้สึกเรามีอยู่ เห็นไหม เราคิดออก ทีนี้ความรู้สึกมีออกมันก็จะกระตุ้นให้ความคิดนั้นออกไปไกล ฉะนั้น ถึงว่าตั้งสติไว้แล้วให้น้อมเข้ามา นั่นคือจิตเป็นสมาธิไง ฉะนั้น ถึงว่าจิตนี้เป็นหนึ่ง “เอกัคคตารมณ์” จิตนี้เป็นหนึ่ง พอมันสงบขึ้นมา ขนาดแค่หินทับหญ้านั่นน่ะ สุขในสมาธิไง สุขในสมาธิจะตื่นเต้นมากนะ จะร้อง โอ้โฮ! โอ้โฮ! เลยนะ... ไม่เคยเห็น ไม่เคยมีในโลกนี้ พูดภาษาเราเลย ความสุขที่เขามีกันในโลกนี้เป็นความสุขของเขา แต่เขาไม่เคยพบจิตที่เป็นสมาธิ มีเฉพาะผู้ปฏิบัติเท่านั้น มีแต่ผู้ที่ฝึกฝนให้จิตนี้เป็นสมาธิเท่านั้นที่จะได้พบจะได้เสพความสุขภายในอันนี้ แต่โลกไม่มีเลย จะยากดีมีจนอย่างไรก็ไม่มี

ทีนี้ ฉะนั้น เราเป็นผู้หนึ่งที่จะขวนขวายไง เราเป็นผู้หนึ่งที่เราเข้าใจแล้วเราเชื่อมั่น อันนี้เป็นผลต่อไป เป็นผลต่อจากใจของเรา อันที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี่ประเสริฐแล้วนะ นี่ย้อนกลับมาว่าปูพื้นฐานเลยล่ะ

เรามาพบพระพุทธศาสนา แล้วมาเจอช่วงของที่ว่ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้ปฏิบัติอยู่ มันเป็นโอกาสทองของเรา เราอย่าปล่อยโอกาสทองนี้หลุดจากมือไป แต่ความที่เราทำไม่ได้ เราทำอยู่นาน มันทำให้ความชินชาไง ความชินชา ความเคยชินนี่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย เพราะมันไม่ทำให้เรานี้ตื่นตัว ทีนี้เราต้องเข้าใจว่าเรานี่มีบารมีแล้วไง มีบารมีถึงได้มาพบอย่างนี้ ถ้าเมื่อก่อนเราไม่เคยพบแบบนี้ เราคิดอย่างไร เราจะไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย พอเรามาพบโอกาสทองของเราแล้ว เราต้องขวนขวาย จะทุกข์จะยากก็ต้องยอม

ทุกข์เพื่อจะสุข ไม่ใช่ทุกข์เพื่อทุกข์

โลกนี้เขาทุกข์เพื่อจะทุกข์กันต่อไปนะ ทุกข์เพื่อจะทุกข์ต่อไปเท่านั้น รอความเปลี่ยนแปลงให้ใจนี้คลอนแคลนไปตลอดเวลา ไม่มีอะไรตั้งมั่นเลย แต่มันมีสิ่งหนึ่งอยู่ในหัวอกของเราเป็นเรื่องจริง แต่เรามองข้ามไป เรามองข้ามในหัวอกเราเลยนะ ในหัวอกเรานี่มันมีสิ่งหนึ่ง สิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ เราถึงต้องกลับมาดูตรงนี้ว่ามันเป็นสิ่งที่แน่นอนแล้วคงที่ด้วย

ฉะนั้น เราถึงไม่ตื่นออกไปข้างนอกไง เราหันกลับมาดู หันกลับมาดูอันนี้เลย หันมาคือได้ใช้ตาใน คำว่า “หันมาดู” คือตาภายในไง หันกลับมาดู ตั้งจิตให้มั่น ตั้งจิตให้มั่น แล้วก็กำหนดดูไว้ กำหนดดูไว้

จากที่มันคิดไปรอบโลกนะ รอบโลกเลย รอบจักรวาลนี้มันก็คิดไป มันคิดไปเลย เห็นไหม พอยิ่งคิดออกไป จิตมันก็ฟุ้งซ่าน มันตรงข้ามกับคำว่า “จิตสงบ” จิตสงบมันรู้สึกตัวอยู่ แต่ไม่คิดอะไรเลย มันเหมือนกับน้ำเดือด น้ำเดือดอยู่แต่น้ำนั้นไม่ใช่น้ำแกง ไม่ใช่น้ำที่เรามาทำมาประกอบอาหาร แต่น้ำใสเดือดอยู่ นั่นคือจิตธรรมดา น้ำใสนี่ แต่มันมีพลังงานในตัวมันนั่นน่ะ

แต่เพราะมันคิดออกไปสิ มันคิดออกไปมันก็เป็นรสชาติ เห็นไหม เป็นแกงส้ม แกงอะไรก็แกงไปเรื่อย ทีนี้ “คิดออกไป” มันตัวอะไรพาคิดล่ะ? ตัณหาความทะยานอยากในใจเป็นตัวพาคิด อันนี้มันเป็นธรรมชาตินะ เราจะโทษว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผิดนักก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แต่มันมีอยู่อันหนึ่งคือตัวกิเลสน่ะ กิเลส คำว่า “กิเลส” นะ กิเลสคือความเคยใจที่มันสะสมนอนเนื่องอยู่ในใจเรา เพราะใจของเรานี่พระพุทธเจ้าบอกว่า

“คนเรา ภพชาตินี้ไม่มีต้นและไม่มีปลาย การเกิดนี้เกิดมาซับๆ ซ้อนๆ ซับๆ ซ้อนๆ มาไม่มีที่สิ้นสุด การสะสมมาอันนั้นน่ะ นั่นคือตัวกิเลส”

กิเลสคือความเคยใจ ตัวนั้นเป็นตัวที่กระตุ้นออกมา แต่จริงๆ แล้วไอ้ความคิดนี้มันเป็นธรรมชาติของจิต มันเป็นธรรมชาตินะ มันเป็นธรรมชาติอย่างนี้เลย แต่ไอ้ตัวกิเลสที่มาเสี้ยม มาพาให้คิด แล้วเรายับยั้งตัวนี้ไม่ได้ เช่น เวลาเราคิดดี เห็นไหม เราคิดเรื่องการเรื่องงานนี่คิดดี มันไม่ค่อยคิด แต่ถ้าคิดตามพอใจของมันนะ มันจะรุนแรงมากเลย

ฉะนั้น มันคิดดี มันคิดน้อย พอคิดน้อย พระพุทธเจ้าถึงว่า “ให้ดำริชอบไง” มรรคคือองค์ ๘ ดำริชอบ ดำริคิดน่ะ “ดำริ” เห็นไหม ดำริชอบ คิดในเรื่องอย่างนี้มันไปคิดแบบว่าจืดชืด มันไม่ใช่รสของแกง ถ้าคิดไปทางโลก มันจะคิดรุนแรงเลย ทีนี้ สติเราก็ต้องตามตัวนี้ไง ตามตัวนี้เพื่อยับยั้งความคิดอันนี้ก่อน ยับยั้งไม่ให้ความคิดนี้คิดตามใจของมัน แต่คิดในการควบคุมของเรา เรามีสติควบคุม ควบคุมจากไม่ให้คิดอะไรก่อน แล้วพอคิดก็ให้คิดดี นี่ก็อยู่ในอำนาจเราส่วนหนึ่งแล้ว

จิตนี้อยู่ในอำนาจของเรา กับจิตนี้ไม่เคยอยู่อำนาจของเราเลย เรานี้อยู่ในอำนาจของจิต มันคิดไปตามพอใจของมัน ถ้าเรายับยั้งได้ นี่เรามีอำนาจ เราคุมได้จิตส่วนหนึ่งล่ะ คุมได้ส่วนหนึ่งนะ แต่มันยังต่อสู้กันอยู่ ยังต่อสู้ คิดดีคิดชั่ว ยังต่อสู้กันอยู่ภายในใจนั่นล่ะ นี่จากการที่ทำไม่ได้เลย มันจะไม่เห็นผลงาน

คนเราไม่เห็นผลงาน ทำแล้วมีแต่แพ้ เห็นไหม เล่นกีฬา เล่นแล้วมีแต่แพ้มีแต่แพ้ มันก็หมดกำลังใจ ไม่แพ้ก็เสมอก็ยังดี แล้วก็มีชนะบ้าง แพ้บ้าง ชนะบ้าง แพ้บ้าง ต้องอย่างนี้ ต้องมีชนะบ้างแพ้บ้าง จะแพ้ตลอดก็ไม่ใช่ แต่พอเราแพ้ เราไม่สู้ มันแพ้อยู่บ่อย แพ้แล้วไม่สู้ แพ้แล้วไม่สู้ ถ้าแพ้แล้วสู้ แพ้แล้วสู้ เห็นไหม สู้เรื่อยๆ เข็นครกขึ้นภูเขา แต่เป็นนามธรรม

ความคิดนี้... เวลามันคิดตามพอใจมันนี่มันเตลิดเปิดเปิงนะ แต่ถ้าคิดทำความดี นี่มันก็ก้าวขาไม่ออก ถึงให้ต่อสู้ไง ต่อสู้ได้ ต่อสู้ได้ เห็นผลขึ้นมามันก็มีกำลังใจ มีกำลังใจนั่นคือตัวใหญ่นะ กำลังใจนี่กัดเพชรขาด ใจมันหมาย ถ้าใจนอนเนื่อง ใจก็ไม่ทำ อย่างที่ว่าชินชานั่นน่ะ ถ้าชินชาอยู่เฉยๆ จิตมันจะไม่ก้าวเดินไง ถึงจุดไหนก็แล้วแต่...ไม่ได้เลย

ทีนี้ คำสวดมนต์ของเรามีอยู่คำหนึ่ง เห็นไหม “คุณงามความดีที่สูงขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่” คุณงามความดีนะ ที่สูงขึ้นๆ ไปกว่านี้มีอยู่ทุกขั้นตอน ทุกขั้นตอนเลยจะมีอยู่ เพราะมันไม่ถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นไปโดยธรรมชาติของมันเอง

ฉะนั้น ถ้าไม่มีตัวนี้ ไม่มีตัวพลังงานตัวนี้มาเริ่มก่อน ไม่มีตัวนี้มามันก็ไม่เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิแล้วมันก็จะเริ่มไง เริ่มจะเป็น “โลกุตตระ” จากคิดประกอบการงาน เรียกว่าคิดเป็น “โลกียะ” โลกียะเป็นเรื่องของโลก โลกียะไง เราเกิดมาจากโลก เราเกิดมาจากกามนะ คนนี่เกิดมาจากกาม แล้วก็หมุนไปในกาม แล้วก็อยู่ในกามนี้เหรอ

พระพุทธเจ้าก็เกิดมาจากกาม แล้วก็พ้นออกไปจากกาม

เปรียบเหมือนไม้สด ไม้สด เห็นไหม ไม้สด ถ้าอยู่นี้มันก็เน่าอยู่นี้ แต่ถ้าไม้แห้งล่ะ ไม้แห้งก็จุดติดไฟได้ เป็นประโยชน์ขึ้นมาได้ คือว่าไม่ชุ่มในกามไง เกิดจากกาม แล้วก้าวพ้นออกไปจากกาม นี่โลกียะก็เป็นโลก เห็นไหม เกิดจากโลก แล้วเราก็อยู่ในโลกนี้ แล้วเราก็เพลินอยู่ในโลกนี้เหรอ

ถ้าเห็นโทษของความนอนเนื่องอยู่ในนี้ไง เพราะมันมีสุขและมันมีทุกข์ สุขภาษาโลกนะ แต่พูดถึงธรรมะแล้วทุกข์ทั้งหมด ไม่มีสุขเลย ทุกข์ทั้งหมด แค่พอใจเท่านั้นเป็นสุขของโลกเขา พอใจไง ทำอะไรเราพอใจ ทุกข์มันดับไป เราก็ว่าเป็นความสุข

แต่ความจริงไม่ใช่เลย มันยังไม่สุขหรอก มันเป็นความเคลื่อนไปที่จิตมันพักเท่านั้น เราก็มีความพอใจ หมายถึงบางทีเหมือนกับคนใกล้ตายไง เห็นไหม เรามาตีสัตว์ เราเอาสัตว์มาเฆี่ยนมาตี พอมันเจ็บปวด มันดิ้นนะ มันหลุดจากมือเราไป มันก็พอใจพักหนึ่ง เราก็จับมาตีใหม่

อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสมันเฆี่ยนตีเราอยู่ตลอดเวลานะ มันเฆี่ยนตีหัวใจเรา แต่เราหาทางออกไม่ได้แล้วเราก็ไม่รู้ พอมันเฆี่ยนตีเรา เราก็ว่าเป็นความสุขเสียด้วยนะ พอใจนะ เฆี่ยนตีนะ เพราะมันไสให้เราทำงาน มันไสให้เราทำตามพอใจของมัน มันเฆี่ยนตีเราไหม กิเลสเฆี่ยนตีเราหรือเปล่า? ตี ตีตลอดเวลาเลย แต่เราไม่สงสารใจเราเหรอ นี่ถ้าเห็นโทษอย่างนั้นน่ะ พอคิดแล้วเห็นโทษอย่างนี้ มันก็ว่า อ้าว! ถึงว่าเรายังสู้ไม่ได้ก็ให้ตี ถึงเวลาสู้ได้จะสู้ ถึงเวลาเขาตีเราก็ตีสิ แต่เวลาเราตีเขาได้ต้องมีบ้างสิ ต้องตีเขาได้บ้าง ต้องสู้เขาได้บ้าง

ถึงว่าเป็นโลกุตตระไง เป็นเรื่องของโลกให้เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของธรรมน่ะเป็นเรื่องของธรรม เวลาเป็นเรื่องของธรรมนี่ถือว่าดำริออก ดำริออก เกิดมาจากโลก ถ้าพูดถึงว่าไปติโลกเขาทั้งหมด เราก็โลก เราก็เป็นโลกเหมือนกัน พวกเรานี่ก็เป็นโลก แต่เราเกิดมาแล้วในท่ามกลางโลกไง เหมือนกับเราอยู่ในสังคมนี้ อย่างไรสังคมนี้ก็ต้องเป็นแบบนี้อยู่แล้ว แต่เราต้องดีกว่าสังคมนี้ เราพ้นขึ้นไปจากสังคมนี้

“ดอกบัวเกิดขึ้นจากโคลนตม” พ้นออกไปจากโคลนตม ผุดออกมาจากน้ำนะ บานขึ้นมาน่ะ เห็นไหม แล้วดอกบัวกลับไปเป็นโคลนตมเหรอ มันบานขึ้นมาจากน้ำ มันพ้นออกมาจากน้ำเลย นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาจากโลก แล้วเราก็ชุ่มอยู่ในโลกนี้ แล้วเราไม่ก้าวออกหรือ เราต้องก้าวออกไปจากโลกนี้ อาศัยโลกนี้เป็นฐานไง

ภพของมนุษย์ยันไว้ แล้วให้เป็นภพของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าไม่ใช่พระเท่านั้น ใครก็ทำได้ พระอริยเจ้าหมายถึง “ใจเป็น ใจเป็น” นางวิสาขาที่ว่าเป็นพระโสดาบัน ก็เป็นพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าถึงว่าพระภายในไง อันนี้ถือว่าเป็นปริญญาของทางศาสนาพุทธ ไม่ต้องให้ใครมอบให้

สัจธรรมมอบให้เอง สัจธรรมให้ไว้ตามเป็นจริงแล้วมอบให้กับหัวใจดวงนั้น แล้วหัวใจดวงนั้นไม่ต้องการให้คณะกรรมการไหนมาตรวจสอบ ว่าข้อสอบถูกหรือไม่ถูก มันจะเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน

ก่อนจะเป็นไปนี่ต้องอย่างนี้ ต้องไส ต้องก้าวเดิน ต้องก้าวเดินนะ ฟังคำนี้ว่า “ต้องก้าวเดิน” ใจต้องก้าวเดินออกไปจากความคิดเดิมนี้ เพราะความคิดเดิมๆ นี้เป็นความคิดของโลกมันทำให้คิด เราหยุดความคิดนี้แล้วเราก็ใช้ความคิดอีกอันหนึ่งก้าวเดินออกไปจากฐานของใจนี้ ใจของเรานี่เคลื่อนออกจากที่เดิม เคลื่อนออกไป พอก้าวออกไป อันนั้นน่ะ... แต่ใหม่ๆ มันยังก้าวไม่ได้ ก็ต้องใช้ก้าวอันนี้ออกไป

คิดไง คิดวนกลับมา ลองผิดลองถูก ผิดเป็นครู ถูกเป็นอาจารย์ ลองผิดลองถูก กำหนดดูใจของตัว ให้สงบให้ได้นะ ให้สงบให้ได้ ถ้าไม่สงบมันเป็นโลกหมด คิดมากก็เป็นโลก พอเรากลับมาพัก พักความคิดอันนั้นให้เป็นสมาธิไง หมายถึงว่าไม่คิด พอมันมีพลังงานอีกอันหนึ่ง คือว่ามันปล่อยวางแล้วมันมีแรงขึ้นมาไง แล้วกลับไปคิด สังเกตได้ไหม ถ้าเวลาเราคิดใหม่ๆ นะ เราจะคิดอะไรด้วยการทะลุปรุโปร่ง พอคิดไปแล้วมันจะเมื่อยล้า พอเมื่อยล้ามันจะล้า พอล้าเราคิดไม่ออกแล้ว ก็ต้องกลับมาไง กลับมาพัก กลับมาพัก

ถ้ากลับมาพักแล้วกลับจะได้การได้งานมากกว่าเราคิดตอนนั้นเลย เพราะคิดไปคิดไม่ออกแล้วยังฝืนคิดไปนี่ทำให้เสียเวลาเปล่า แล้วก็ร่างกายนี้เพลียเปล่าด้วย ถ้าเรากลับมา กลับมาพักก่อนแล้วกลับไปคิดใหม่ เริ่มต้นอย่างนั้น พอใจมันพัก ใจมันมีพื้นฐาน เห็นไหม มันก็มีตัวที่จะมาทำงานไง กับอย่างนี้เริ่มต้นนี่มันไม่มีอะไรทำเลย จับไม่ติดน่ะ จับนั่นก็ไม่มี จับนี่ก็ไม่ได้ จับอะไรก็ไม่ติดเลย

พอมันมีสมาธิเป็นตัวพื้นฐานนะ ทีนี้ พอคิดอันใหม่มันจะไม่คิดแบบนี้หรอก เพราะสมาธิมันจะจิตสงบ พอสงบไปมันจะเห็นสภาวะอีกสภาวะหนึ่ง สภาวะนั้นถ้าเป็นผู้ปฏิบัติบางคนจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ถ้าคนที่ไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างหมายถึงว่าร่างกายนะ กายส่วนใดส่วนหนึ่งมันจะเกิดขึ้นในนิมิต ในภาพนั้น

ถ้าคนไม่เป็นอย่างนั้น ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกอันเหมือนกัน ความรู้สึกคือความคิด ความคิดแบบว่าอะไรที่มันซึ้งใจหรือมันคาใจเราอยู่ ความคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมา มันเป็นความคิดนึกขึ้นมาเลย อันนี้เราจับตัวนั้นล่ะมาเป็นตัวเริ่มต้น ตัววิเคราะห์

เพราะจิตนี้มันเป็นพื้นฐานเฉยๆ ใช่ไหม แต่ไอ้ความคิดอันนี้มันเกิดขึ้นมาจากจิต หรือกายนี่มันก็จิตนี้คิดนั่นล่ะ เช่น เราเห็นกาย เห็นรูปของกาย พอจับปั๊บนี่อยู่ พอเห็นปั๊บมันก็จะมีความสุขอันหนึ่งก่อนนะ เช่น เราของหาย เพชรเราหายไปจากของเรานะ แหวนเพชรนี่หายไป แล้วเราหาไม่เจอ เราก็เสียใจใช่ไหมว่าของเราหายไป แล้วเราค้นหาๆๆ จนเจอ เราจะมีความพอใจไหม เราจะมีความสุขไหม

อันนี้เหมือนกัน ถ้าจิตสงบอย่างหนึ่ง ถ้าจิตสงบแล้วเห็นภาพอันนั้นขึ้นมา เหมือนกับเราเจอเพชรเม็ดหนึ่ง มันจะดีใจ มันจะขนพองสยองเกล้าขึ้นมานะ อันนั้นก็เป็นความสุขอันหนึ่ง เห็นไหม เริ่มต้นมันจะมีความสุขค่อยเจือไปๆ ตลอดเวลา การปฏิบัตินี่มันจะมีความสุขให้เราได้ลิ้มรสออกตลอดเวลา มันถึงมีกำลังใจไง มันถึงมีความก้าวเดินไง

ถ้าไม่มีความสุขนี้มาคอยมาเชื่อมไว้นะ เราจะทนไหวเหรอ อะไรก็ทุกข์ อะไรก็ลำบาก อะไรก็ทุกข์ อะไรลำบากไปทุกสิ่งทุกอย่างเลย มันจะมีความสุขอันนี้มาคอยเชื่อมไว้ๆๆ นะ แต่เชื่อมไว้ปั๊บ พอเราก้าวเดินขึ้นไปงานที่หนักกว่า มันก็ทุกข์อีกแล้ว งานที่ใหญ่กว่า

แต่ถ้างานนี้มันก็ผ่านๆๆ น่ะ พอใจได้มีความสุขแบบนี้ มันก็มาเชื่อมไว้ แล้วเราก็ต้องเอาอันนี้มาพิจารณา เอาอันนี้นะ แต่มันเอาไว้ไม่ได้ ใหม่ๆ เพราะมันจะเคลื่อน

๑. เคลื่อน

๒. เราพิจารณาไม่ได้ด้วย

เพราะพอจับขึ้นมาเหมือนแบกตัวเองทั้งก้อน เอ๊ะ! ทำอย่างไร ทำอย่างไร… ทำไม่ถูกนะ พอจับไว้ก่อน ตั้งสติให้ดี แล้วภาพนั้นก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ตั้งไม่ดีภาพมันก็จะหาย ลองผิดลองถูก มันจะลองไม่ได้ ความเป็นกลางของใจไม่คงที่ ภาพนั้นก็จะเคลื่อนเลย

ถ้าจิตนี้ดี สมาธิดีนะ เราตั้งไว้อย่างนี้ ภาพมันอยู่กับที่ แล้วเราไม่พุ่งออกไป เราดูที่ใจเรา ภาพอยู่กับที่เลย แล้วเราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญ เห็นไหม อันนี้จะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนานี้เป็นงานข้ามขึ้นไปจากสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

เราทำสมถกรรมฐานเพื่อต้องการให้จิตนี้สงบ แล้วเอาจิตนี้มาทำงานอันนี้ต่างหากล่ะ ไม่ใช่สงบแล้วอยู่กับความสงบ...ไม่ใช่ แต่ความสงบนั้นก็มีความสุขที่ว่ามาเจือไว้เหมือนกัน แต่ทำความสงบนี้เพื่อจะเอาความสงบนี้มาเป็นมรรคหนึ่งไง เป็นสัมมาสมาธิ

ถ้ามีสัมมาสมาธิก็เหมือนกับคนมีทุน จะไปประกอบการค้าก็ได้ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิคือว่าไม่มีทุน จะกู้มายืมมามันก็ไม่เป็นมรรคสามัคคี มรรคนี้มันเป็นอยู่ มันเป็นอยู่อย่างที่ว่าเราด้นเดาไง เพราะว่าเรายืมมา ไม่ใช่ของๆ เรา

แต่ถ้าเป็นของๆ เรา สมบัติพระพุทธเจ้าก็เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า สมบัติของ

พระสารีบุตรก็เป็นสมบัติของพระสารีบุตร แต่พระสารีบุตรได้ศึกษามาจากพระพุทธเจ้า แต่ก็มาทำจนเกิดขึ้นมาเป็นของพระสารีบุตรเอง เห็นไหม คือว่าเป็นต้นทุนของบุคคลคนนั้น ทุกๆ คนที่มีการฝึกฝนต้องทำขึ้นมาจากภายในของคนเราทั้งนั้น ไม่สามารถไปยืมของใครมาได้เลย ถึงการประพฤติปฏิบัติจะไม่มีใครสามารถจะทำแทนกันได้...ไม่มี

พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดานะ ก็ไม่สามารถทำแทนใครได้ เพียงแต่บอกหนทางเท่านั้น

ฉะนั้นนะ ถึงว่าทำสมาธิแล้วถึงจะเกิดต้นทุนของเราเองไง เราถึงต้องขวนขวายไง อันนี้แค่หาต้นทุนมาใส่ใจเรานะ เราก็ทำพอสมควร ฉะนั้น พอได้อันนี้ขึ้นมาแล้วก็พิจารณาอย่างที่ว่านี่ พิจารณาจนกายมันแตกนะ พอกายมันตั้งอยู่ เรามองเลย เป็นเลือด เป็นเนื้อ อะไรก็แล้วแต่ เป็นก้อนเลือด บางทีเป็นก้อนเลือดแล้วแต่จะคิด เป็นกระดูก ให้มันแปรสภาพสิ ทำใจเบาๆ นะ แล้วค่อยน้อมนึกนะ เขาเรียกรำพึงภายในจิต ให้กายนี้แปรสภาพเลย มันจะเป็นไปทันทีถ้าเรามันพอดี พอดีหมายถึงว่ามรรคนี้เดินพอดี จะพรึ่บๆ เลย จะรวดเร็วมาก

พอสิ่งที่เราว่า อันนี้นะ มันเป็นของๆ เรา เช่นกายนี่เป็นของๆ เรา ของนี้เป็นของที่ดีมากเลย แล้วมันแปรสภาพให้เราเห็นน่ะ เหมือนกับเราจินตนาการนะ จินตนาการว่าเรา ๘o แล้ว หนังเราจะเหี่ยว เราจะย่น เราจะเป็นอย่างนั้นนะ เราเป็นแผลแล้วแผลเราจะเน่า เห็นไหม ความรู้สึกเราเป็นอย่างไร อย่างเช่นเราเป็นแผล แล้วแผลมันจะเปื่อย มันจะนั่นไป เราก็เห็นรู้สึกว่ามันมีความรู้สึกใช่ไหม

แต่ขณะที่ในการพิจารณานั้น มันจะทำให้เห็นเดี๋ยวนั้นเลย แล้วจิตนี้ไม่มีเราไม่มีเขา มันจะปล่อย ปล่อยเลย เพราะเรามันเห็นการแปรสภาพเดี๋ยวนั้น ก็เหมือนกับเราเป็นแผลเดี๋ยวนั้นแล้วหายเดี๋ยวนั้น มันเร็วไง เพราะนี่คือการวิปัสสนา

ความเห็นภายในกับความเห็นภายนอกจะต่างกันมาก ความเห็นภายนอกนี่เราต้องคิดต้องจินตนาการไป แต่ความเห็นภายในมันเป็นตามความเป็นจริง มันเป็นธรรม มันเป็นธรรมแท้จากภายใน พอมันเห็นสภาพอย่างนั้น มันจะปล่อยวาง มันจะมีความสุข ปล่อยวางนี้จิตนี้จะสงบ จิตนี้ลงไปเลย สุขอันนี้ ความสงบอันนี้เกิดขึ้นจากวิปัสสนา เป็นความสุขที่มากกว่าการทำสมถกรรมฐาน ที่ความสงบอันนั้น

ความสงบที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนามันจะลึกซึ้งกว่า มันจะกว้างขวางกว่า นี่คือผลเกิดจากที่เราทำของเราน่ะ ผลที่เกิดขึ้นจากการภาวนาของเรานะ การพิจารณากายนี่แหละ กายส่วนใดส่วนหนึ่ง “กาย” กายส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเป็นกระดูกก็ได้ พอมันแปรสภาพนี่หมายถึงว่ามันวิภาคะไง มันแปรสภาพ มันต้องแปรสภาพ

ถ้าไม่แปรสภาพ เหมือนสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันเป็นคงที่อยู่นะ ไอ้กิเลสมันต้องอยู่ในนั้นน่ะ กิเลสมันเคลื่อนมาพร้อมกับจิต จิตคือความรู้สึก มันนอนเนื่องมาเหมือนกับผลไม้ดอง ไอ้ที่ดองมาในผลไม้นั้นน่ะ เพราะผลไม้ดองทั้งลูกมันก็ต้องดองมาจากน้ำเกลือน้ำอะไรใช่ไหม เข้าเนื้อใช่ไหม

กิเลสมันจะเข้ามาพร้อมอย่างนั้นเลย ความรู้สึกทุกอย่างมันจะมีกิเลสปนมาด้วย พอมันแปรสภาพอย่างนั้นน่ะ แล้วมันเห็นว่า อ๋อ! อันนี้มันผิด เห็นไหม เพราะกิเลสมันจะหลอกให้เราเห็นว่าถูก แล้วเรายังเห็นว่าผิด มันจะว่ากิเลสหลอกนี่ นั่นกิเลสมันถึงจะคลายออกตรงนี้ไง

วิภาคะหมายถึงว่าเราต้องตีไอ้กายนี้ให้มันแตก ให้มันแปรสภาพ เพื่อจะให้เห็นตัวที่ว่านอนเนื่องอันนี้ พอเห็นตัวนอนเนื่องอันนี้ พอใครไปรู้ทันเข้า มันก็อายไง แบบเช่นขโมยลักของเราไปเห็นไหม เขาก็หลอกเรา เขาไม่ได้ลักๆ เราก็เชื่อเขา “ไม่ได้ลักๆ” วันใดเราไปเห็นหลักฐานเข้า...นี่ลักมา เห็นต่อหน้าๆ เลยลักมานี่ มันจะอายนะ

“ขาด” การขาดอันนี้กับการการที่ว่าหลุดเมื่อกี้ต่างกัน การพิจารณาแล้วปล่อยวางอย่างหนึ่ง การพิจารณาแล้วขาดแล้วปล่อยวางออกไปเลย นั้นอีกอย่างหนึ่ง เพราะอันนี้มันขาดด้วยสมุจเฉทปหาน ขาดออกไปเลย กายนี้ก็คงที่อยู่ คำว่า “ขาด” หมายถึงกิเลสที่ว่าไอ้ที่ดองผลไม้นั่นน่ะหลุดออกไป แล้วคิดดูสิ ผลไม้ดองนี่ไม่สามารถชำระสะอาดได้ใช่ไหม แต่จิตที่มีกิเลส สามารถชำระให้สะอาดได้ เกิดขึ้นมาจากวิปัสสนาญาณอันนี้ วิปัสสนาที่เราก้าวขึ้นไปนี่

จากดำริชอบ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ ชอบลงที่กาย ชอบลงที่ฐานของใจไง ชอบลงที่นี่ วิริยะคือการครองใจ ความเพียรที่ถูกต้อง งานที่ถูกต้อง งานครองใจไง วิริยะประคองใจให้มันหมุนไปได้ครบรอบ พอใจมันจะก้าวมันก็จะถอย ก้าวก็จะถอยเห็นไหม นี่คือว่ามรรคคือองค์ ๘ หมุนไปโดยรอบ แล้วพอดีๆ มันหมุนไปโดยธรรมชาติของมันพอดีเลย จะประหารกิเลส นี่โสดาบัน

พระโสดาบัน กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย ปล่อยวางหมด สบายนะ โล่งโถงเลยนะ โล่งโถงเลย กายนี้ไม่ใช่เราอีกแล้ว กายนี่ กายกับเราเห็นไหม คนเราประกอบด้วยกายกับจิต ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะเห็นชัดว่ากายกับจิตนี้เป็นคนละส่วนกัน

แต่พอเวลาเราอ่านตำราว่ากายกับใจ กายกับใจนะ “กายเป็นบ่าว ใจเป็นนาย” เราก็ว่ากันไปอย่างนั้นน่ะ แต่ความเชื่อในใจมันก็ยังว่ามองไม่เห็น มันมีความลังเลสงสัย มีความมืดตื้ออยู่ในหัวใจ

แต่ถ้ามันผ่านตรงนี้แล้ว ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกายกับใจมันขาดกันต่อหน้าต่อตาเรา จากตาภายใน เห็นชัดๆ ว่ามันขาดออกจากกัน “อ้อ! อันนี้กาย อันนี้ความรู้สึกคือสุขของเราคือจิต มันแยกออกจากกายเลย” เห็นชัดๆ จากภายใน นี่คือปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน แล้วมันจะสงสัยตรงไหน สงสัยคือสีลัพพตปรามาสไง ใช่ไหม ความลังเลสงสัย วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นวิจิกิจฉา ความสงสัยนั้น

ทีนี้ มันก็ต้องเพียรชอบสิ มันก็ทำให้ถูกต้องได้ นั่นคือความเห็นภายในไง ความเห็นภายในก็ก้าวเดินขึ้นไปจากนี่แหละ จากการก้าวเดินไป นี่คือผลจากการพิจารณากาย มีความสุขอยู่ ความสุขนี้มหาศาล เดินนี้ตัวเบาปลิวลอยล่องเลยนะ

“แต่...” เห็นไหม ฟังสิ แต่ความสุขอันนั้นก็เป็นความสุขของผู้ที่มีเงิน ๑ ล้าน คนมีเงิน ๑ ล้านพอมาเทียบกับความสุข มันก็ยังรู้อยู่ใช่ไหมว่าเงินนี่ยังหาได้เป็นร้อยๆ ล้าน เงินยังมีอีกมากมาย แล้วคนที่พอมีเงินอย่างนี้แล้ว มันมีช่องทางไง

อย่างเช่น เราทำบริษัท บริษัทเรากำลังเจริญรุ่งเรือง ใครจะนอนเนื่อง... ก็ต้องรีบขวนขวาย พอผ่านตรงนี้ก็รีบขวนขวาย สุขก็ไว้ในใจ ก็ดูต่อ ดูต่อนะ เริ่มต้นดูต่อ ค้นคว้าต่อ ก็ทำจิตสงบอีกอย่างเก่านั่นล่ะ ทำจิตกลับมาสงบนะ ให้จิตนี้สงบ สงบๆๆ แล้วก็กลับไปดู ดูกายอีก ต้องเจอ เจอนะ ถ้าไม่เจอก็ต้องคิดขึ้นมา ถ้าเรามีความรู้อย่างนี้ คือว่ามีความชำนาญในช่องทางนี้ไง ถ้าเราจะดูกาย

ถ้าจะไม่ดูกาย ไพล่ไปดูจิตก็ได้ ไพล่ไปดูจิตไง เพราะตรงนี้จิตมันมาติดที่กายอยู่ เมื่อกี้นี้เราพิจารณากายนะ กายนี้มันแปรสภาพใช่ไหม แต่ถ้าพิจารณากายซ้ำลงไป มันจะแตกออก อย่างเช่นที่ว่าธาตุ ๔ ไง ดิน น้ำ ลม ไฟใช่ไหม ดิน น้ำ ลม ไฟ กายเราส่วนที่เป็นของแข็งนี่มันจะเป็นดิน ส่วนที่เป็นความอบอุ่นนี้เป็นไฟ ลมหายใจเข้าออก ส่วนที่เป็นน้ำ เห็นไหม น้ำเลือด น้ำหนองเป็นน้ำ แยกออก พิจารณาซ้ำนะ จะพิจารณาซ้ำก็ได้ หรือพิจารณาแบบกายก็แล้วแต่

แต่เวลาแตกออกจะแตกอย่างนี้เลย น้ำเป็นน้ำ ดินเป็นดิน ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ จิตนี้โผล่ออกมาจากธาตุ ๔ นั้น แล้วทำไมเมื่อกี้บอกว่ากายกับจิตนี้แยกกันแล้วล่ะ แยกกันส่วนหนึ่งเพราะกายอย่างนอก กายนอกก็มี กายในก็มี อย่างเช่นเราหลับไป เราหลับไปเราก็มีกายอยู่ใช่ไหม เราหลับไป เพราะเราหลับไป ฐานของจิตอยู่ที่ใจเรานี่ เราหลับไปแล้วเราไม่รู้สึกตัวเลย ทำไมยังเป็นเรา ยังมีอยู่ล่ะ

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตนี้มันยังข้องอยู่ ข้องอยู่ในกายนั้นน่ะ ข้องอยู่เป็นอุปาทานภายในไง เห็นไหม อุปาทานภายใน พิจารณาต่อไปมันจะปล่อยวางกายนี้เป็นโพธิ จิตนี้เป็นกระจกใส หลุดออกมาเลย รู้ขึ้นมาจากภายใน รู้ขึ้นมาจากตามความเป็นจริง ไม่มีใครบอก เพราะมันจะต้องมีอาการบอกของตัวมันเองจากข้างใน ขาดออกไปเลย

ก็ถึงว่าพระพุทธเจ้าบอก “ดั่งแขนขาดนะ”

สิ่งใดที่เราแบกอยู่หนักแสนหนัก ก้อนหินทั้งบ่าซ้ายและบ่าขวาหลุดออกไป ทำไมคนมันจะไม่เบาขึ้นมา การแบกกายมันจะเบานักเหรอ ความแบกในใจนั่นน่ะทุกข์ทุกขั้นตอน แล้วความแบกนี้หลุดออกไป หินทั้งก้อนบนบ่าหลุดออกไป ใครจะไม่รู้ว่าเบา

ไอ้นี่ก็ว่าหินนะ แต่ความยึดเหนี่ยวภายใน แล้วขาดออกไป ทำไมมันจะไม่มีความสุขมหาศาล ความสุขนี้ไม่รู้จะเทียบกับอะไรดี หลุดออกไปจากโลก หลุดออกไปเลย ความรู้สึกหลุดออกไปจากโลกเลย เวิ้งว้างอยู่อย่างนั้นล่ะ ไม่มีอะไรเลยโลกนี้ มันเป็นจิตล้วนๆ เลย มันอยู่ของมันโดยเฉพาะเพราะจิตนี้เป็นกระจกใส

นั่นสุขไม่สุข ฟังสิ... แล้วสุขนี้ไปหาที่ไหน? ไปหาที่ไหน? มันหาในท่ามกลางกายของเรา ในท่ามกลางกายของเรา ในท่ามกลางหัวใจของเรา

ฉะนั้น ต้องกลับมาดูนี่ เห็นไหม ถึงว่าประโยชน์อยู่ที่นี่ไง ประโยชน์อยู่ที่ในกายของเราทั้งนั้นเลย หัวใจกับกายเท่านั้น

เราเกิดมาเป็นมนุษย์น่ะ มีโอกาสมาก พระพุทธเจ้าก็ค้นคว้าลงตรงนี้ พระอริยสงฆ์ต่างๆ มาก็ค้นคว้าลงตรงนี้ ลงท่ามกลางกายกับใจของเราเท่านั้น ความสุขมันถึงเกิดขึ้นไง สุขไม่ใช่สุขธรรมดานะ...ไม่ใช่ เพราะสุขของพระอริยเจ้ามันสุขธรรมดาได้อย่างไร เวิ้งว้างไปเลย

นี่เห็นไหม จากที่ว่ามันครอบ ๓ โลกธาตุน่ะ ความคิดเราไปได้หมดเลย แล้วมันหดเข้ามา หดเข้ามา หดเข้ามาเห็นไหม จากว่าเมื่อก่อนเราสื่อสารทั่วโลกเลย เดี๋ยวนี้ก็ตัดเข้ามาสื่อสารเฉพาะในประเทศไทย เห็นไหม ความคิดเราก็อยู่เฉพาะในประเทศไทย ไอ้นี่ก็ตัดกายนอก ตัดกายในนี้ ใจมันอยู่เฉพาะตัวมันเอง

มีความสุข แล้วพอมีความสุข มันก็ต้องมี... ความสุขคู่กับความทุกข์ เพราะมันยังมีกิเลสอยู่ในหัวใจ เห็นไหม ความสุขอันนั้นมันก็สุขแบบเหมือนกับว่าเรามีของมาก แล้วเราก็ใช้เพลิน ใช้เพลินจนของหมดไป มันก็มีความสุขอยู่เพราะว่าเราก็พ้นจากสถานะเดิมแล้วนี่ สถานะนี้ ความสุขพื้นฐานนี้มี แต่ใจมันก็ยัง เอ้อ! มันก็ยังเฉาๆ อยู่นะ มันรู้นะว่าต้องมีงานต่อไปภายภาคหน้า แต่มันจะทำอย่างไร

งานก้าวเดินขึ้นไปน่ะ งานก้าวเดินขึ้นไป ถ้ายังไม่เห็นงานอันนี้ มันก็ยังเพลิดเพลินอยู่ แต่พอเห็นงานอันนี้นะ นี่มันจะชกหน้าล่ะ กามราคะทันทีเลยล่ะ เพราะจิตน่ะ จิตแท้ๆ จิตดวงนี้ชุ่มไปด้วยกาม ไอ้กายส่วนกายต่างหลุดไปแล้ว จิตดวงนี้ชุ่มไปด้วยกาม แล้วกามนี้มันเกิดจากภายนอกหรือ กามแท้ๆ มันเกิดจากภายในต่างหากล่ะ กามแท้ๆ มันอยู่ที่ใจของเรา มันไม่อยู่ข้างนอกหรอก ข้างนอกนี้มันเพียงแต่ว่ามันเป็นการรูปกระทบ เห็นไหม อายตนะภายในกระทบอายตนะภายนอก ความรู้สึกเกิดขึ้น

แต่ถ้าเป็นใจของเรา มันชุ่มอยู่ของมันเอง แต่เราไม่รู้ เพราะเราไม่รู้ มันก็ต้องอาศัยอันนี้กระทบออกมาข้างนอก เพราะความไม่รู้นี่ ถ้าความรู้เราก็จับต้องตัวมันได้ใช่ไหม เพราะความไม่รู้ ก็เหมือนเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย

เหมือนเด็กน้อยคนหนึ่ง จิตนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้นก็เป็นเหมือนเด็กน้อยคนหนึ่ง จากว่าละกายมาเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นผู้ใหญ่เฉยๆ แต่คราวนี้ก็เป็นเด็กน้อย ถ้าเป็นเด็กน้อยจะทำอย่างไร พอเป็นเด็กน้อยนี่ ต้องทำอย่างไรจะให้จิตนี้หันกลับมาดูมัน พอมันกระทบออกไปแล้วมันรู้นี่ว่าข้างนอกนี้มันกระทบออกไปมันเป็นกาม

แล้วกามนี้มันเป็นของชอบใช่ไหม กามนี้เกิดจากความสวยความงาม ความกำหนัดยินดี ความกำหนัดยินดีต้องเอาอะไรเข้าไปชำระล้างมันล่ะ ก็ต้องเอาความไม่สวยไม่งามเข้าไปชำระล้างใช่ไหม ความไม่สวยไม่งามมันเกิดจากอะไร ก็ต้องเป็นอสุภะสิ คือว่าอสุภะ-อสุภังไง “อสุภะ” ความไม่สวย เอาความไม่สวย เอาความแปรสภาพนี้ไปเปรียบอีก เปรียบให้เห็นหมายถึงว่าอันนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่จริง อันนี้มันแปรสภาพ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา”

จิตนี้เกาะเกี่ยวสิ่งใด สิ่งนั้นก็ต้องดับไปเหมือนกัน แต่มันยังเกาะเกี่ยวอยู่ เพราะคำว่า “ดับไป” มันดับเพราะมันเสวยแล้ว มันดับไปเพราะว่ามันอิ่มพอแล้วมันถึงไปไง ทีนี้มันหลอกเราไปจนร่างกายนี้มันเอาไปใช้จนหมดแรงแล้วล่ะ แล้วก็ค่อยให้ไปพักผ่อนก่อน เดี๋ยวจะเรียกมาใช้งานใหม่

นี่ก็เหมือนกัน มันก็หลอกใจเราออกไปเพ่นพ่าน ออกไปคิดจนพอแรงแล้ว แล้วค่อยกลับมาพัก เราก็ว่าเราจะตามทันมันเหรอ เราก็ต้องกลับมาดู ถ้าไม่มีตัวสมาธินะ เป็นอย่างนั้นเลย มันคิดไปร้อยแปด แล้วไม่ได้คิดเปล่านะ คิดแบบว่าสู้ไม่ไหวเลย เพราะเมื่อก่อนนะมันยังเป็น ๒ ขั้นตอน ตอนนี้เป็นจิตล้วนๆ นี่แหละเขาเรียกสติปัญญากับมหาสติ-มหาปัญญา ถ้าช่วงนี้ต้องเป็นช่วงมหาสติ-มหาปัญญา

แต่การฝึกขั้นนี้ เห็นไหม ก็ละมาแล้ว ๒ ละมาแล้ว ๒ จิตมันสูงขึ้นมาขนาดไหน จากจิตปุถุชนของเรา สติหยาบๆ อย่างนี้น่ะ เราก็ยังพลั้งเผลอกัน แต่เราฝึกมาจนมันเข้มแข็งขนาดนั้นแล้วน่ะ จริงอยู่ ถึงเข้มแข็งแต่ศัตรูมันใหญ่กว่า กองทัพที่เล็กกว่าจะสู้กองทัพที่ใหญ่กว่าไม่ไหว แต่ที่กองทัพที่เล็กกว่าก็มีพื้นฐานของกองทัพที่เล็กกว่านั้นอยู่แล้ว ก็ต้องสะสมกำลังอันนั้น ไพร่พลอันนั้น ให้มันใหญ่เท่ากับไอ้กองทัพที่ใหญ่กว่า การสะสมก็ต้องสะสมจากเราฝึกฝนอีกล่ะ

การสะสมจากภายใน... ใจนี้ใหญ่กว่าฟ้า ใจนี้ใหญ่กว่าโลกธาตุ ถ้ามันสะสม สะสมไปมันใหญ่ขนาดนั้นนะ แต่เราคิดไม่ถึง เราไม่เชื่อ เราคิดไม่ถึง เราก็ไม่กล้าทำ ถ้าเราสะสมไปๆ มันจะมีพลังงานกว่าทุกๆ อย่าง ธรรมะนี้ผ่านทุกอย่างเลย กิเลสมันกลัวอย่างเดียวคือกลัวธรรม ถ้าเราสะสมไปมันจะมีสิ่งที่ใหญ่กว่า

ต่อสู้นะต่อสู้ สู้เข้าไปข้างใน ก็พิจารณาดู ใหม่ๆ เราสู้ไม่ไหว ขึ้นต้นมาก็ล้มแล้ว พอจะเจอตัวมัน ขึ้นต้นก็ล้ม ขึ้นต้นก็ล้ม สู้ไม่ไหวน่ะ ก็สู้ไปเรื่อย กัดฟัน กัดฟันสู้ไปเรื่อย แพ้บ้างชนะบ้าง แพ้บ้างชนะบ้างนะ เพราะอันนี้มันเป็นเรื่องของอสุภะนี่ จุดที่หนักที่สุดคือจุดนี้

จุดการปฏิบัติจุดนี้หนักที่สุดเลย เพราะจุดนี้คือจุดแบบว่าขั้วบวกขั้วลบเลย จุดที่ติด อย่างเครื่องยนต์จะติด ติดตรงนี้เลย ถ้าเครื่องยนต์นี่ไฟไม่ดีไม่ติด ถ้าไฟดีนะ ไฟพอดี...ติด อันนี้ก็เหมือนกัน ใจนี่จุดติดๆ จุดติดเลย จุดติดทุกที แล้วไม่จุดมันก็ติดเองโดยธรรมชาติของมันด้วย

มหาสติ-มหาปัญญานี่มันถึงประหลาดไง มันสามารถเข้าไปยับยั้งได้น่ะ ถ้ายับยั้งหรือว่าพิจารณาจนมันหลุดออกไปแล้วนะ เครื่องยนต์ก็ติดอีก แต่ไม่มีตัวนี้นี่ กามมันขาดออกไป พิจารณาจนกามนี้พอแรงนะ พิจารณาจนต่อสู้กันพอ หลุดออกไปเลย กามนี่หลุดออกไป

พอกามนี้หลุดออกไป... กามโลกไง กามราคะก็เข้ากับกามโลก กามโลก อรูปโลก เห็นไหม กามโลก กามไง โลกของกาม โลกของเทวดาคือกาม กามคือกามฉันทะ คือความพอใจ กามภายในนะ เช่น เราพอใจคิด อันนั้นก็เป็นกามนะ เราคิดอะไรก็แล้วแต่น่ะ กามหมดเลย อย่าเข้าใจว่ากามจะมีเฉพาะไอ้เรื่องของกามนะ

คำว่า “กาม” กามฉันทะนะ ความคิดเรานี่เป็นกามแล้ว กามภายในแต่เราไม่รู้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันคิดไม่ได้ ใจมันคิดไม่ได้ เพราะกามแท้ๆ นี่มันเกิดเริ่มต้นเกิดจากดำริตรงนี้ เกิดจากความคิดอันนี้ ฉะนั้น ถ้าชนะอันนี้แล้วไม่มีเลย ถือว่าขาดออกไปเลย โลกธาตุนี่ไหวเลย

เมื่อกี้ที่ว่าจิตกับกามมันขาดกันทำไมมันไม่ไหวล่ะ? ทำไมคราวนี้มันไหว?

เพราะขาดอย่างนั้นมันขาดซุก ใจนี้มันยังอยู่ ใจยังต้องเกิดอีกใช่ไหม ยังต้องเกิดอีก อย่างเช่น บนเทวดามีเทวดา เป็นเทวดาธรรมดาก็มี เป็นเทวดาพระโสดาบันก็มี เห็นไหม พระโสดาบันยังต้องไปเกิดบนเทวดา เทวดาเป็นพระโสดาบันกับเทวดาที่เป็นเทวดาโดยธรรมดา มีทุกชั้น แต่ถ้าตรงนี้มันขาดแล้ว จะไม่เกิดมาเป็นเทวดาเลย

เราเป็นมนุษย์อยู่ เป็นมนุษย์อยู่นะ แต่พ้นออกไปจากกามโลกนี้ไง ทั้งๆ ที่เราอยู่ในโลกนี้ ก็เหมือนเราอยู่ในบ้านเราน่ะ แล้วเราทำลายบ้านเรา บ้านเราล้มมาทับเราหมดเลย บ้านนี้ไม่มี บ้านของกามนี้ไม่มีแล้ว มันถึงโลกธาตุถึงได้หวั่นไหวไง พิจารณาแล้วโลกธาตุจะไหวไปหมดเลย แล้วหลุดออกไป

จะไม่เกิดเป็นมนุษย์อีก จะไม่เกิดเป็นเทวดาอีก จะไม่เกิดทุกๆ อย่าง เพราะไอ้ว่านรกไม่ต้องพูดถึง นรกไม่เกิดตั้งแต่เป็นโสดาบันแล้ว อบายภูมิ ๔ ไม่มีตั้งแต่เป็นพระโสดาบัน เพราะเป็นถึงกามขาดไป มันจะมาเกิดตรงไหนอีก มันถึงได้ไหวมากเพราะโลกนี้ไม่มีเลย

เราทำลายบ้านนี้แล้ว เราทำลายภพของกามภพหมด เพราะร่างกายเรานี้อาศัยกามเกิดขึ้น อาศัยสมมุติเกิดขึ้น แล้วเราทำลายมัน มันถึงได้ไหวไง ถึงได้ครืนครามไปหมดเลย นั่นมันก็หลุดออกไป

คราวนี้ยิ่งเวิ้งว้างนะ มองไปนี่โอ้โฮ! ที่ว่าอาจารย์ว่าน่ะ มองไปนี่ภูเขาทั้งลูกทะลุหมดเลย ไม่มี ไม่มี จิตช่วงนี้เป็นจิตที่พิสดาร ว่าจิตที่พิสดารมาก จิตช่วงนี้นะ ช่วงนี้จะรุนแรง จะกำหนดอะไรรู้ไปหมดเลย เพราะมันเป็นการแบบยังมีพลังงานอย่างมหาศาลเลย

แต่ถ้าคนเผลออยู่ เห็นไหม เพราะมันว่าง ว่างหมดเลย ว่างหมดนะ ในใจนี้จะว่าง ไม่มีใดๆ ทั้งสิ้นเลย เพราะอะไรล่ะ ก็เหมือนเราถือคบเพลิง เราถือไฟ เราถือไฟไว้ใช่ไหม ดูสิ ไฟมันสว่างออกไปหมดเลย เราจะเห็นทุกอย่างไปหมดเลย เห็นไหม เพราะเราถือไฟอยู่ ไฟจะสว่าง แล้วตานี่ก็มองออกไป ไม่มีอะไรเลย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกภายในก็เป็นอย่างนั้นน่ะ ว่างหมดเลย ว่างหมดเลย แต่ไอ้ความรู้สึกที่ไปรู้ว่าว่างไง เพราะว่าความว่างอย่างเช่นอากาศ มันจะรู้ตัวมันเองไหม ความว่างในโลกนี้มันจะรู้ตัวมันเองไหม

สิ่งใดที่มีค่าในโลกนี้ ใครไปให้ค่ามัน เงิน ๕ ล้าน ๑๐ ล้าน ๑๐๐ ล้านนี่ใครเป็นคนให้ค่ามัน กระดาษมันรู้สึกตัวมันเองไหม เงินในธนาคารมันรู้จักตัวมันเองไหม...ไม่มี มันต้องคนให้ค่าใช่ไหม

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ความว่างๆๆ ในใจนี่ใครไปให้ค่ามัน ใครไปรับรู้ว่าอันนี้ว่าง

แต่มันไม่มีความรู้สึกอันนี้หรอกตอนที่มันว่างน่ะ มันจะเตลิดเปิดเปิง มันจะมีความสุข มันจะพอใจนะ มันจะไปจนสุดเขตสุดแดนของมันนั่นล่ะ มันจะหลงระเริงไปอยู่พักใหญ่ๆ พักใหญ่ๆ ยกเว้นแต่ว่าผู้นั้นอยู่กับครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้ว ท่านจะคอยสะกิด ท่านจะคอยบอกนะ ครูบาอาจารย์ที่ดีท่านจะคอยบอกลูกศิษย์

ท่านจะบอกเป็นขั้นตอนไปเลย ช่วงไหนนะแบบว่ารุนแรง หมายถึงว่าเด็กหรือคนที่ปฏิบัติมากำลังมีความสุขอยู่ ท่านจะปล่อยให้มีความสุขอันนั้นก่อน เพราะอันนี้มันเกิดขึ้นมาจากความเป็นความตายของเรานะ เราเกิดขึ้นมาจากความทุกข์ทรมานสุดแสนความสามารถของเรา จะมีความสุขก็ต้องให้มีความสุขไว้บ้าง จนถึงจุดหนึ่งจะบอกเลยล่ะ

“ไอ้ว่างๆ นั่นมันใครไปรู้มันนั่นน่ะ”

ถ้าไม่บอกมันจะนอนตายอยู่นั่นนะ ต้องเคาะ ถ้าเคาะออกมา... คิดดูสิ ในอากาศ ในความว่างนี่ แล้วจะไปทำอย่างไรให้มันรู้ล่ะ

ตรงนี้เป็นตรงที่ว่าแสนทุกข์แสนยาก หายาก หายาก หายากมากๆ เลย ก็เหมือนกับตัวเรา เราล้างตัวเราเกลี้ยงหมดเลย แล้วเราจะหาความสกปรกในตัวเราน่ะหาที่ไหน แต่มันไม่รู้หรอกว่าเดี๋ยวมันจะขับเหงื่อออกมาอีก นี่ตอจิตเป็นแบบนั้นน่ะ มันจะว่างหมดเลย แต่ตอของจิตมันยิบๆ ยับๆ น่ะ

เหมือนกับร่างกายเรา เราสะอาด ตัวเรานี่สะอาด ไม่มีอะไรสกปรกเลย ทุกอย่างสะอาดหมด แต่พอนานไปๆ เห็นไหม มันขับออกมา ขับออกมา ความสกปรกออกจากภายใน จิตนี้มันยังมีกิเลสอยู่นี่ มันละเอียดมาก การขับออกมาอันนี้ นี่คือภวาสวะ นี่คือตัวภพ นี่คือตัวจิตเดิมแท้ นี่คือตัวเกิด นี่คือตัวไปเกิด นี่คือจิตปฏิสนธิเลยนะ

เพราะอะไร เพราะถ้าตายลงเดียวนั้นแล้วไม่ได้ปฏิบัติ อันนี้จะไปเกิดบนพรหม พระอนาคาเกิดบนพรหมเท่านั้น นี่คือตัวเกิด แต่ถ้ามันไม่ใช่พระอนาคานะ เป็นปกติของปุถุชนนะ ก็นี่คือจิตปฏิสนธิ

ฉะนั้น เวลาคนเกิดนะ คนเกิดถึงจำอดีตชาติไม่ได้ไง เพราะว่ามันไม่ได้เอาขันธ์ ๕ ไปเกิด ขันธ์ ๕ นี้มันจะหลอมลงมาอยู่ในปฏิจจสมุปบาท มันจะย่อยขันธ์ส่วนใหญ่ให้เป็นขันธ์ส่วนละเอียดซะ แล้วก็ขันธ์ส่วนนี้มันจะซุกอยู่ในปฏิจจสมุปบาทนี้ ก็จะไปเกิดอีก มันถึงจำชาติไม่ได้

แต่ถ้าภาวนาไปแล้วมันจะย้อนได้ เพราะว่ามันจะไปสะสมอยู่ตรงนี้ไง สะสมอยู่ไอ้ที่ว่าตอของจิต ไอ้ตัวภพ ไอ้ตัวพื้นฐานของใจ ไอ้ภวาสวะ

“อาสวะ ๓... กิเลสสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ” เห็นไหม รวมลงทั้งหมดเลย รวมลงตรงนี้หมดเลยนะ อาสวะทั้ง ๓ มาอยู่ตรงนี้เลยน่ะ นี่คืออนุสัย นี่คือตัวนอนเนื่องของใจแท้ มันละเอียดอ่อน โอ๋ย! ลึกซึ้ง ลึกซึ้งมาก

ถึงบอกว่าถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ใครจะสามารถเอาตรงนี้มาตีแผ่ เอาของอย่างนี้มาวางต่อหน้าเรานะ เอาอวิชชาที่อยู่ก้นบึ้งของใจมาวางไว้ที่หน้าเลย แล้วใครก็ไม่เห็น ต้องผู้ที่ปฏิบัติของใครของมัน ต่างคนต่างเห็นออกมา

นี่ไง ถึงว่านี่สำคัญมากว่าเราพบพระพุทธศาสนา พบครูบาอาจารย์ พบพระพุทธเจ้า แล้ววันนี้วันอะไร “มาฆบูชา” เห็นไหม พระสงฆ์นะ อีก ๑,๒๕๐ ผ่านช่วงนี้ไปแล้วนะ ต้องผ่านช่วงนี้ขึ้นไปนะ นี่ถึงว่าเห็นยากไงช่วงนี้ ถึงเอามาแผ่อย่างไรก็ไม่เห็น จนผู้ปฏิบัติย้อนกลับมาดู มันจะมีความเอะใจ ความสงสัย

เพราะว่าความว่างอะไรก็แล้วแต่ มันจะมีความเฉา ว่างหมดมันก็คู่กับความไม่ว่าง สว่างไสวนะ แต่มันก็เศร้าหมองนะ มันมีความเศร้าหมอง เหมือนกับที่ว่าเราใส่ฟืนใส่ไฟเข้าไปเต็มที่ให้มันลุกโพลงตลอดเวลา เดี๋ยวมันก็ต้องยุบยอบลงใช่ไหม เราต้องใส่ฟืนเข้าไปใหม่

จิตสว่างมันก็เป็นแบบนั้นน่ะ มันสว่างด้วยการรักษานี่นะ มันไม่สว่างด้วยธรรมชาติของมันเองน่ะ มันสว่างจากเราดูแลเรารักษาจิตของเราไว้ เพราะจิตมันคุมอยู่ มันกลัวตัวเองว่าจะไม่สว่าง มันกลัวจะไม่ว่าง มันต้องคอยคุมไว้ ดันไว้ๆๆ

การดันไว้เหมือนกับเราว่ายน้ำอยู่ มันไม่ว่ายมันก็จม ความสุขอย่างนี้มันเป็นอย่างนั้น มันสุขจริงๆ อยู่ แต่สุขที่ว่ามันต้องรักษา มันไม่ใช่สุขแท้นี่ ทีนี้ พอมันเกิดความลังเลหรือเกิดความเข้าใจ ย้อนกลับมาดูนะ ลองมันมีญาณหยั่งรู้ขนาดนี้ ย้อนกลับมาเดี๋ยวเดียว ถ้ากลับมาดูนะ มันจะจับตัวนี้ได้ พอจับตัวนี้ได้นะ อย่างที่ว่ามหัศจรรย์ ยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่เลย สิ่งนั้นน่ะ

ในอวกาศนี่ แล้วอวกาศกับอวกาศมันคุยกันน่ะ มันจับต้องกันได้ มันทำกันได้ ความว่างในใจกับไอ้ตัวภายใน มันจับกันได้น่ะ พอจับได้ก็ต้องพิจารณานะ นี่คือตัวอวิชชาแท้ คือว่าอวิชชา

ปัจจยา สังขารา อันนั้นมันเป็นปัจจยาการที่เป็นวิชาการ

แต่ถ้าเป็นภายใน มันจะเกิดดับพร้อมกันหมดทั้ง ๑๒ ปัจจยาการอันนี้

แล้วถ้าญาณหยั่งรู้อันนี้มันเข้าไปทัน จี้เข้าไปถึงตรงกลางปั๊บ มันก็พลิกทันทีเลย “พลิกทันที พลิกทันที” นี่ของแท้มันอยู่ตรงนั้น นี่คือของแท้นะ พอพ้นจากนี้ไป นิพพาน ๑ ไม่ต้องคุยกัน ถ้ามันเป็นสิ่งที่อธิบายได้ พระพุทธเจ้าบอกแล้ว พระพุทธเจ้าอธิบายแล้ว เพียงแต่ว่าเหมือนหรือคล้าย

เช่น พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า

“เหมือนเทียน... มีเทียนอยู่ แล้วดับเทียนไป แต่เราไปเห็นเทียนอยู่ นั่นน่ะความรู้สึกของเรา สิ่งที่เคยมีอยู่แล้วดับไปหมดสิ้นจากใจ”

อวิชชาที่พาเราเกิดมา จากลุ่มๆ ดอนๆ นะ เกิดมาตั้งแต่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีที่เกิดที่ดับนะ มันได้สิ้นลงเดี๋ยวนี้จากใจของเราแล้ว การเกิดอีกไม่มี เห็นไหม ดับสิ้นลงที่ใจเลย การเกิดอีกไม่มีอีกแล้ว ไม่มีการเกิด แล้วมันไปไหน มันตายลงตั้งแต่ตอนนั้น

นี่พรรษา ๖ ของพระพุทธเจ้า บวชมาอายุ ๒๙ อีก ๖ ปีไง สิ้นสุดนะ พระพุทธเจ้าบวชมาแล้วทุกข์อีก ๖ ปี ตอนออกผนวชท่านเป็นกษัตริย์แล้วออกไปเจอแต่ความทุกข์ความยาก ระดับกษัตริย์นะ แล้วยังไม่มีศาสนา พอบวชออกไป ไปขอทานเขากินน่ะ ไม่มีศาสนา ไม่มีการทำบุญใส่บาตรแบบนี้ ไปได้อาหารอะไร ได้อาหารตามแต่เขาจะให้ วณิพกน่ะ จากกษัตริย์ไปทุกข์อยู่อย่างนั้นอีก ๖ ปี คิดดูสิพระพุทธเจ้าทุกข์แค่ไหน

แล้วอย่างเรานี่ทุกข์อะไร ทุกข์ขนาดนั้นเชียวเหรอ... มีคนบอก มีหมู่มีคณะ มีคนมีธรรมเพราะไม่ใช่บุกเดี่ยวแบบพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้านี่ออกไปแบบนอแรดนะ เป็นผู้ไปองค์เดียวแล้วไม่มีใครสอน ไปแบบสุ่มเดานะ แล้วท่านสำเร็จแล้วเป็นพระอรหันต์ แล้ววางศาสนาไว้ เรานี่มีสะพานเดินไง มีถนน มีหนทางให้เราเดินน่ะ มันชุบมือเปิบแล้ว ระดับนี้ก็เหมือนกับว่าเราล้างมือมาแล้วก็เปิบกินเลย เรายังไม่ทำกันเหรอ เรายังไม่สามารถทำได้เหรอ แล้วจะรออีกเมื่อไร

ถึงว่าการเกิดเป็นมนุษย์ของเรานี้ประเสริฐมหาศาลเลย แล้วเกิดมาพบพระพุทธศาสนาที่เป็นทองคำแท้ แต่เราก็ไปศึกษากันเอาทองเหลืองเท่านั้น เอาทองคำแท้ๆ ที่เกิดขึ้นจากในหัวใจสิ ทองคำแท้ๆ นั่นน่ะ เกิดขึ้นมาจากการทำนี่ การฝึกหัด การฝึกฝน อย่าท้อถอยอ่อนใจ อย่าน้อยใจว่าเรานี่ไม่มีวาสนา เรานี่ไม่มีบารมี เราทำไม่ได้

เราก็เกิดเป็นมนุษย์ พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นมนุษย์ พระอริยสงฆ์ที่ต่างๆ มา ท่านก็เป็นมนุษย์ แล้วท่านก็ทำแบบเรานี่ แล้วเราทำไมทำไม่ได้ เราต้องทำได้สิ เราอย่าไปตื่น อย่าไปหลงกับโลกภายนอก หันกลับมา เวลาธรรมน่ะ ธรรมมันอยู่ภายใน อันนี้มันล้ำค่ากว่าทุกๆ อย่างนะ

“สุขแท้ๆ” ว่าสุขแท้ๆ อย่างนั้นเลยนะ ไอ้สุขของเรานี่เป็นสมบัติส่วนตน อันนี้อย่างหนึ่งนะ แล้วพอมันเป็นความเป็นจริงของมันแล้วนะ จะเห็นเลย จะเห็นแล้วมันจะสลดสังเวชนะ ว่า “เรา เอ...ทำไมเราโง่ขนาดนี้” ตอนนี้ก็ว่าฉลาด เวลาทำไปแล้วจะรู้ว่าโง่

แล้วเมื่อก่อนที่เขาว่า เห็นไหม ไอ้ว่าพวกเราโง่มันก็กลับฉลาด ไอ้ที่ว่าฉลาดเหรอมันจะโง่

เพราะมันคนที่ว่าฉลาดๆ มันจะจับอะไรไม่ได้เลย เวลาตายก็ตายไปพร้อมกับความทุกข์ในใจ ตายไปพร้อมกับความกังวล ตายไปพร้อมกับความห่วงใย กับไอ้คนที่ว่ามันทิ้งได้ก่อนตาย มันต่างกันขนาดไหน มันยังไม่ตายเลยแต่ใจมันตายไปแล้ว ความรู้สึกมันตายหมดแล้ว แต่มันมีความรู้สึกอยู่... คิดดูสิ มันต่างกันไหม?

กับเรานี่ยังเป็นๆ อยู่เลย แล้วก็ความห่วง ความกังวล ความ... นี่แค่คิดว่าตายแล้วไปไหนนี่ก็ปวดหัวแล้ว นี่ก็รักกันมากนะ ทั้งพ่อทั้งแม่รักมาก ก็อยากจะไปด้วยกัน อยากจะอะไรนะ เห็นไหม แล้วตัวเองก็ยังมีของตัวเองอีกล่ะ ตัวเองทุกข์ของตัวเองก็ยังไม่พอนะ ยังไปแบกคนอื่นมาอีกเท่าไรล่ะ

แล้วพอมาชำระทั้งหมดเลย ชำระทั้งเรื่องของคนอื่นด้วย ชำระทั้งเรื่องของเราด้วย มันถึงจะเห็น “อ๋อ! อ๋อ!” นะ ร้องอ๋อหมด ต้องถึงบางอ้อ จะอ้อเลย “อ้อ! อ้อ!” นะ มันจะปล่อยไปๆๆ

เห็นไหมนี่การชำระใจ การตัดร่นเข้ามา ย่นเข้ามา ย่นเข้ามา จากกว้างขวางจนจับต้องไม่ได้นะ มันจะเป็นขอบเป็นเขตหดย่นเข้ามา หดย่นเข้ามา หดย่นเข้ามา จนถึงกับว่าเข้าไปถึงจุดของรวมที่สุดคือตรงกลางใจ แล้วก็พลิกคว่ำมันอีกทีหนึ่ง เห็นไหม เลยกลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ จากการนั่งสมาธิภาวนานี่แหละ ทำได้แค่นี้เท่านั้น มันเป็นทางทางเดียว

ถ้ามีทางอื่นนะ พระพุทธเจ้าสอนแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ปล่อยให้เรามาทุกข์มายากหรอก พระพุทธเจ้านี่มีพระเมตตามหาศาล เห็นไหม เราสวดเมื่อกี้นะ “เมตตาๆ ทั้งหมด” เมตตามากนะ “เมตตา” เพราะจะว่ารักก็ไม่ใช่ เพราะ “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”

“เมตตา” เมตตาว่าเปิดสอนให้ทุกอย่าง

แต่ถ้าเราไม่รับ ท่านก็ปล่อยไว้ ท่านปล่อยไว้ตามความ...ไว้อย่างนั้นล่ะ เพราะว่าไม่สามารถที่จะทำได้แล้ว เห็นไหม ไม่ยึดไง เมตตาคือไม่ยึด ถ้าเขาไม่ทำตามเรา เราก็จะเสียใจ เห็นไหม อุตส่าห์บอก อุตส่าห์สอน บอกเกือบเป็นเกือบตายแล้วเขาไม่เอา ก็จะมาทุกข์มายาก อ้าว! ก็บอก ก็สอน ก็มีเมตตาแล้วนะ ถ้าเขารับไม่ได้ก็ต้องเรื่องของเขา มันก็เป็นเท่านั้นเอง

เอาคิดดูสิ ถ้าเรามีความคิด เราเอะใจ เราอ๋อเราเอ๊ะขึ้นมานะ สุขแท้ๆ นะ ว่าอย่างนั้นเลยนะ ว่าสุขแท้ๆ สุขมากๆ ด้วย กับทุกข์-สุขอย่างเรา อย่างสุขๆ ทางโลกนั่นนะ สุขอยู่กลางแดดนั่นน่ะ สุขตากแดด สุขตากลม สุขตากฝนอยู่นั่นนะ อ้าว! ก็อยู่ในโลกธาตุนะ อยู่ใต้ฟ้า ฝนมันยังตก เดี๋ยวก็ฝนตก เดี๋ยวก็แดดออก เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อนอยู่นั่นน่ะ

แต่อันนี้นะ ถ้าเราปฏิบัติแล้วนะ มันพ้นออกไป โลกนี้เป็นโลกนี้

อาจารย์บอกว่าไง

“พระอรหันต์นะ จิตพระอรหันต์กับจิตปุถุชนนะ มันมีธรรมธาตุเหมือนกัน”

ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านบอกว่า

“เช่น เราเดินไปแล้วไปเจอรากไม้ เหมือนว่างูนี่ กระโดดเหมือนกัน คือว่าสัญชาตญาณการหลบภัยเหมือนกัน แต่จะต่างกันด้วยว่าพื้นฐานไง เช่น ถ้าปุถุชนเราตกใจ เราโดดไป มันจะร้อนไปทั้งตัวเลย เลือดมันจะฉีดไปนะ จะตกใจมากนะ จนอกสั่นขวัญหายหมดเลย แต่พระอรหันต์ไม่เป็นอย่างนั้น กระโดดด้วยสัญชาตญาณ แต่จิตปกติ แต่สัญชาตญาณเป็นไปอยู่นะ”

นี่ก็เหมือนกัน ที่ว่าโลกนี่ สุขในโลกไง สุขในผล สุขในอะไร แต่ถ้าพระอรหันต์แล้วจิตพ้น แต่ร่างกายก็อยู่อย่างนี้ ก็เปียกฝนเปียกปอนเหมือนพวกเรานี่แหละ เหมือนกัน ร่างกายนี้เหมือนกัน แต่หัวใจท่านหลุดพ้นออกไปเท่านั้นเอง มันถึงว่าสัญชาตญาณยังอยู่นี่

เพราะว่ากายนี้กิเลสหลุดไปเฉยๆ แต่ขันธ์ ๕ ความรู้สึกมีพร้อม ความรู้สึกทุกๆ อย่างเหมือนกับปุถุชนนั่นล่ะ แต่หมดเฉพาะกิเลสอย่างเดียว หมดเฉพาะยางเหนียว ยางที่คอยเชื่อมใจกับความรู้สึกให้มันเป็นอารมณ์โกรธ อารมณ์ฉุนเฉียว อันนั้นไม่มี แต่ความรู้สึกเหมือนกัน สัญชาตญาณอันเดียวกัน

“สัญชาตญาณ” เพราะสัญชาตญาณนี้มันเป็นธรรมชาติของดวงจิตนั้น สัญชาตญาณการหลบภัย ใครลองลืมตาอยู่ ใครเอานิ้วจิ้มเข้ามาสิ มันจะรีบหลับตา เห็นไหม นี่คือสัญชาตญาณ สัญชาตญาณการหลบภัย นั่นถ้ามันเป็นปกติ ถึงว่าจิตของผู้หลุดพ้น มันตาย ตายเฉพาะกิเลส กิเลสตายจากใจไปเลย แต่หัวใจกับร่างกายนี้มันก็รอเวลา

ฉะนั้น พระอรหันต์จะอยู่หรือจะตายมีค่าเท่ากัน กลางคืนหรือกลางวันมีค่าเท่ากัน ไม่ต่างกันเลย ไม่มีให้ค่าซ้ายหรือขวา จะไม่มากกว่ากัน ซ้ายและขวาเสมอๆๆๆๆ เสมอหมด ไม่มีอะไรให้ค่าได้ ไม่มีการให้ค่าหรือเพิ่มค่า ให้น้อยให้มาก...ไม่มี มันอิ่มในตัวมันเอง นั่นคือจิตของผู้สิ้น

นั่นผู้สิ้นนะ...หมด

แล้ววันนี้วันมาฆบูชา เราก็ฟังข่าวนะ ฟังข่าวว่าพระอรหันต์กับพระพุทธเจ้า เห็นไหม นั่นข่าวของเขา แล้วข่าวของเราล่ะ?

ข่าวของเรา ข่าวของผู้ปฏิบัติ ข่าวข้างใน มันสื่อกับข้างใน รู้ข้างใน แล้วก็ดีใจข้างใน

ข่าวข้างนอก เราก็มาชุ่มชื่นใจได้ เอามาหล่อเลี้ยงหัวใจ เราก็ต้องว่ามีครูมีอาจารย์ไง มีผู้ที่เดินนำหน้าแล้วเราเป็นผู้เดินตาม เราก็อย่างว่าท่านเดินไปแล้ว เราก็จะเดินตามทางนั้นไปนั่นล่ะ จะไปให้ทัน จะไปให้ถึง ให้กำลังใจตัวเอง มันก็มีทางไปนะ

ถ้าไม่ให้กำลังตัวเองนะ มันก็เข่าอ่อนนะ เนาะ อ้าว! จบ