เทศน์บนศาลา

สมถะยกขึ้นวิปัสสนา

๒๒ ธ.ค. ๒๕๔๒

 

สมถะยกขึ้นวิปัสสนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

...ธรรมถึงได้สำคัญขนาดนั้น สำคัญที่ว่ามันเป็นการรื่นเริง ความรื่นเริงของธรรมนั้นไง วิหารธรรม ผู้ที่มีธรรมแล้ว เวลาสนทนาธรรม ธรรม เครื่องที่ทำให้จิตใจนี้องอาจกล้าหาญนะ มันเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่อาศัย นี่ใจผู้มีธรรมไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ได้ธรรมอันนี้ก่อนเพื่อน เป็นผู้ชำระกิเลสออกไปจากกิเลสทั้งหมด ใจเป็นธรรมล้วนๆ นะ แล้วสั่งสอนเป็นผู้ชี้นำให้สาวกตรัสรู้ตาม เป็นผู้ที่รู้ธรรมตามมา แล้วเวลาสนทนาธรรม เห็นไหม นี่ธรรม ธรรมนี้เป็นวิหารธรรม ธรรมถึงว่า การฟังธรรมเป็นกาลเป็นเวลา เป็นสิ่งสำคัญมาก ธรรมอันนั้นน่ะ

ทีนี้เราย้อนกลับมาสิ ย้อนกลับมาว่า แล้วถ้าปัจจุบันนี้ล่ะ การเข้าหาธรรม ฟังดูสิ ธรรมที่ควรจะเป็นไปนี่มันเป็นไหมล่ะ ควรจะเป็นไปตามธรรมนั้น เพราะอะไรล่ะ เพราะธรรมแล้วมันเป็นธรรมนี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นอันหนึ่ง เป็นพระไตรปิฎก จดจารึกไว้อยู่ในพระไตรปิฎก แต่เวลาเราไปค้นคว้าออกมา เราไปศึกษาออกมา มันมีการตีความของเราเข้าไป

ธรรมที่ในมุตโตทัย องค์หลวงปู่มั่นบอกไว้ว่า ธรรมองค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เหมือนทองคำประเสริฐสุด ประเสริฐมาก แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ เห็นไหม เราน่ะ ผู้ที่ไปค้นคว้าออกมา ผู้ไปศึกษาออกมามีกิเลสอยู่ มันเปื้อนไปด้วยความคิดความเห็นของตัว ความคิดความเห็นของตัวนั้นคือดิน คือความสกปรกที่ไปทำให้ทองคำนั้นมีความสกปรก คือธรรมะนั้นไม่เป็นความเป็นจริง

ธรรมะนั้น ถึงว่าธรรมโอสถนั้นควรจะเป็นยาให้เราผู้ปฏิบัติธรรมนี้ได้ดื่มกินธรรมะอันนั้นเข้าไป มันจะได้มีความสุขขึ้นมาเป็นวิหารธรรม แต่นี่มันศึกษาเข้าไปแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าเรามีของเราอยู่ เรามีความคิดความเห็นของเราอยู่ อันนี้ในหลัก ในหลักของศาสนา ถึงต้องให้ทำความสงบ

ธรรมที่ศึกษามานั้นเป็นปริยัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติแล้วต้องศึกษา เหมือนแผนที่ควรจะศึกษา แต่ถ้าเป็นแผนที่ทางโลกเขา มีแผนที่เป็นความรู้เขา อันนั้นเขาว่าเป็นความรู้ของเขาแล้วทางโลก นี่ไง ถึงว่าเป็นปัญญาทางโลก ธรรมนี้คลุกเคล้ากันไปก็เป็นศีลธรรมจริยธรรม ให้เป็นเครื่องอยู่ของโลกเขา ด้วยความผาสุก ด้วยความสงบ ด้วยความผู้ที่มีศีลธรรมมีจริยธรรม ไม่เบียดเบียนกัน แต่มันเป็นไฟสุมขอนไง

ไม่เบียดกัน ไม่เบียดเบียนกันในภายนอก เพราะว่าเราควบคุมพยายามควบคุมใจแล้วดัดแปลงตน แต่มันดัดแปลงด้วยสุตมยปัญญา ความศึกษามามันขัดอกขัดใจกับความเห็นของตัว ความเห็นของตัวอยากจะอิสระอยากจะเสรี อยากจะทำอะไรตามความเห็นของกิเลสทั้งหมดเลย แต่มันเข้าใจว่าเป็นธรรม เห็นไหม นี่ปัญญาทางโลกเขา

ถ้าศึกษาแผนที่อันนั้นมาแล้ว ก็ว่าเป็นการรู้ธรรม ก็รู้ด้วยการปกปิดไว้ รู้ด้วยการกลบเกลื่อนไว้ เห็นไหม เป็นไปไม่ได้เลยที่กิเลสในหัวใจยังเต็มหัวใจอยู่ แล้วมันจะให้อยู่ในกรอบของศีลของธรรม มันต้องคัดค้าน ต้องต่อต้าน แต่มันต่อต้านอย่างไรก็แล้วแต่ ในเมื่อสังคมเป็นอย่างนั้น ศีลธรรมจริยธรรมเป็นอย่างนั้น นี่ปัญญาทางโลก สุตมยปัญญา

จินตมยปัญญา จินตมยปัญญาก็ใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไป พอใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไป มันมีเหตุผลไง ความผิดความถูกขึ้นมามันจะเทียบเคียงกันว่า ความผิดและความถูก ถ้าเราทำถูกต้อง กับเราทำผิดแล้วมันจะให้ผลเราขนาดไหน นี่จินตมยปัญญาจะย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาที่ว่า ความผิดความถูกเข้าไปเป็นอย่างไร มันจะมีการเห็นโทษไง ถ้าเห็นโทษ มันก็จะทำคุณงามความดีขึ้นมาบ้าง เพราะความเห็นโทษ ถ้ายังไม่เห็นโทษ ไม่เห็นโทษมันก็ต้องพอใจกับตัวมันเอง เพราะมันไม่เห็นโทษ ไม่เห็นโทษ กิเลสมันก็ต้องเต็มที่ของมันไป แต่เพราะความเห็นโทษของมัน เราถึงต้อง...พอเห็นโทษขึ้นมามันจะทำให้ไม่ทำอีก นี่ฝืนตน ฝืนตน นี่จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญายังไม่เกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรา ภาวนามยปัญญา นี่ภาวนามันไม่เกิด ภาวนามยปัญญาเกิดไม่ได้ เกิดไม่ได้ เพราะว่าเครื่องมือไม่พร้อมไง เหตุปัจจัยจะให้เกิดภาวนามยปัญญามันเป็นไปไม่ได้

ถึงเวลาครูบาอาจารย์สอน สอนให้ทำความสงบก่อน เห็นไหม เริ่มต้นต้องทำความสงบก่อน ปัญญาทางโลก แผนที่อะไรก็ต้องวางไว้ก่อน แผนที่นั้นเป็นแผนที่ส่องชี้ทางไปถูกต้องหมด แต่เราเข้าถึงไหม เห็นไหม จินตมยปัญญาก็ยังเป็นจินตมยปัญญา ก็ยังเป็นปัญญาที่ว่าเราคิด เราเห็น เราจินตนาการไป ก็เพียงแต่เห็นโทษเห็นภัยของความคิดนั้น แต่มันก็ยังไม่สามารถจะเข้าถึงจุดทำลายได้ไง

ชีวิตเรานี่เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์ในชีวิตนี้ มันก็เหมือนกับเราอยู่บนภูเขาน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งมันโผล่ขึ้นมาจากน้ำ ส่วนหนึ่งที่โผล่จากน้ำเป็นส่วนเล็กน้อยมาก แต่ภูเขาทั้งลูกจมอยู่ในน้ำ ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ชีวิตนี้ไง ส่วนที่เราเกิดเป็นมนุษย์นี่เหมือนภูเขาที่โผล่ขึ้นมาจากน้ำ มันมีความเป็นภพของมนุษย์ ภพของมนุษย์นี่ภพข้างนอกนะ เพราะไปเกิดเป็นมนุษย์ เหมือนกับโผล่ขึ้นมาจากน้ำส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่จมอยู่ มันเหมือนนิสัยไง ภวาสวะคือภพของใจ กิเลสสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ นี่ภพของใจก็มีอยู่ มีอยู่ส่วนที่ว่ากิเลสอาศัยตรงนั้นน่ะ นี่มันอาศัยอยู่

เราอาศัยอยู่ว่า เหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง เหมือนโลกที่เราอาศัยอยู่ ส่วนที่โผล่ขึ้นมา ความเห็นเราก็เหมือนกัน ส่วนที่โผล่ออกมา ส่วนที่คิดได้แค่นั้นเอง ภาวาสวะไง ส่วนที่จมอยู่ในน้ำแข็งอีกมหาศาล เห็นไหม ถึงได้ต้องทำความสงบ

นี่ทำความสงบๆๆ กำหนดพุทโธๆๆ เข้าไป เพื่อให้จิตนี้สงบไง ทำใจให้เป็นสมถกรรมฐานให้ได้ งานส่วนแรกของผู้ที่จะเข้าถึงธรรมต้องมีสมถกรรมฐานก่อน ถ้าไม่มีสมถกรรมฐาน คิดขนาดไหนก็เป็นแผนที่เป็นความคิดโลก เป็นความคิดที่เอาดินนี้เข้าไปปกปิดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นเลย

เห็นไหม ธรรมนี้เป็นของประเสริฐของเลอเลิศอยู่แล้ว แต่ความคิดความเห็นของเราเข้าไปคัดค้านกับธรรมอันนั้นไง พอคัดค้านหรือว่าเข้าไปปกปิด คือความเห็นของตัว จะใครคัดค้านได้ความคิดความเห็นภายในมันก็ไปตามเต็มที่ของความคิดนั้น ความคิดของเรา เพราะมันอยู่ภายในใช่ไหม มันจะ.นที่ลับที่แจ้งขนาดไหน ความคิดอยู่ในหัวใจมันก็คิดของมันตลอดไป นี่มันปกคลุมไปเลย

“ธรรม” ใจเท่านั้นสัมผัสธรรม ถ้าใจที่มีธรรมจะมีวิหารธรรม มีความสุข แต่ใจนี้มันมีด้วยความมีกิเลสอยู่ในหัวใจ มันก็เผาให้ร้อน อยู่บนภูเขาน้ำแข็งคิดว่าจะเย็นมันก็ร้อน มันให้ความทุกข์กับตัวเอง เห็นไหม ถึงว่ามันเย็นไม่ได้ ถึงกำหนดพุทโธๆๆ เข้าไป พุทโธๆ เรากำหนดพุทโธเข้าไป เหมือนกับนักไต่เขา นักไต่เขาไต่แล้วไต่ขึ้นไปถึงข้างบน มันก็ถึงสุดยอด มันก็เป็นที่พักได้ แต่ในเมื่อยังผูกตัวอยู่หรือโรยตัวจากเขาลงมา โรยตัวจากเขาลงมา นี่กำหนดพุทโธๆๆ ธัมมานุสติก็ได้ ธัมโม สังโฆ กรรมฐาน ๔o ห้อง วิธีการใดวิธีการหนึ่ง กรรมฐาน ๔o ห้อง ทำถึงความสงบทั้งหมด สมถกรรมฐานยังแบ่งถึง ๔๐ ห้อง ๔๐ วิธีการ ที่จะทำให้เข้าไปถึงความสงบของใจ ถึงความสงบของใจ ถึงฐานของภวาสวะ ถึงที่ทำงาน ถึงภูเขาน้ำแข็งที่มันจมอยู่ในน้ำ

ส่วนที่จมอยู่ในน้ำนี้มหาศาลเลย นี่คือสันดาน นี่คือกิเลส นี่คือความที่ว่ามันสะสมไว้ในใจของเราที่มันจมอยู่ในน้ำไง แล้วเราอยู่บนภูเขาน้ำแข็ง แค่ลอยตัวอยู่บนภูเขาน้ำแข็ง เราจะไปดัดแปลงตนเองได้อย่างไร เราจะชำระกิเลสได้อย่างไร

โรยตัวลงมาก็เหมือนกัน โรยตัวจากความสูงลงมาให้ยืนอยู่บนพื้นให้ได้ ถ้าใจเรายืนอยู่บนพื้นปั๊บ ถ้าตัวของเรายืนอยู่บนพื้นได้ ตีนของเรายืนอยู่บนพื้นนี่เราจะมีโอกาสทำงานไง ทำงานบนพื้น พื้นดินทำงานได้ง่ายกว่า กับทำงานอยู่บนอากาศที่เอาเชือกผูกตัวไว้ นี่เหมือนกัน พอจิตนี้กำหนดพุทโธๆ เข้าไป การกำหนดพุทโธๆ เข้าไป อาการของใจมันต้องมี เราว่าความสงบ ความสงบเล็กน้อย ความสงบมาก นี่มันลงไม่ถึงฐีติจิตไง มันไม่รวม จิตนี้ไม่รวมขึ้นเป็นตัวมันเองเป็นอิสรเสรี

ความเป็นอิสรเสรีของใจมันพ้นจากความคิดความปรุงของเรา ความคิดความปรุงของเราที่เราว่าเราคิด เรารู้ เราฉลาดนั่นน่ะ มันเอาความคิดอันนี้ มันคิดเข้าข้างตัวเอง มันถึงว่าเป็นความสกปรก ไม่ให้ตัวเองเป็นอิสระ ความที่ไม่เป็นอิสระนี้มันถึงไม่มัชฌิมา ไม่มัชฌิมามันถึงไม่เห็นสภาวะตามความเป็นจริงไง แต่ก็ต้องกำหนดสมถกรรมฐานเข้าไป เห็นไหม สมถกรรมฐานเข้าไปเพื่อให้จิตนี้เป็นกลาง

จิตนี้ให้เห็น ให้เห็นสิ่งใด ให้เห็นความสงบ เห็น ไม่ใช่เห็นสิ่งข้างนอกนะ เห็นนี้เป็นนิมิต เป็นอะไรนี่มันเป็นทางผ่านไง เราจะไปทาง เราจะเดินทางไป สิ่งที่เป็นข้างทางมันจะมีให้เราเห็นภาพต่างๆ ที่จะชวนให้เราแวะเราเวียนมากมายเลย เราไม่ต้องการ เราต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของเราได้ ความปรารถนาของเราก็ต้องการให้ใจเราสงบก่อน

ใจเราสงบนี้เป็นสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานนี้เป็นงานนะ งานอันเอกเลย เพราะว่าจิตได้ดื่มกินความสงบไง จิตสัมผัสกับความสงบ เห็นไหม สมถกรรมฐาน ใจนี้มันเป็นฐานการงาน ฐานที่ตั้ง ถ้าไม่มีฐานที่ตั้งการงาน มันจะไปทำงานได้อย่างไร

งานอะไรล่ะ? งานในวิปัสสนาไง ถ้าวิปัสสนาเกิดขึ้น วิปัสสนาเกิดขึ้น เห็นไหม เห็นในอะไรถึงว่าเป็นวิปัสสนา นี่สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานมันต่างกันตรงนี้ไง ถ้าไม่มีสมถะเป็นวิปัสสนาไปไม่ได้ มันก็เป็นแผนที่โลกเท่านั้น เป็นความคิดของโลกล้วนๆ เลย โลกของเราคิด เราคิดในหมู่เรา ปัญญาอย่างนี้ปัญญาชำระกิเลสไม่ได้ ปัญญาอย่างนี้ ถ้าเป็นตามหลักของศาสนาว่าเป็นแค่สัญญาไง

สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สัญญานี้เป็นระบบออกมา เราศึกษามาเป็นระบบออกมา ระบบทุกอย่างเป็นสัญญาจัดรูปแบบขึ้นมา มันหลอกกันตั้งแต่ความคิดของเราเอง ก็อปปี้มา สัญญาจำมาความหมายมา กิเลสมันหัวเราะเยาะ เราว่าเราจะหาธรรมาวุธเข้าไปชำระกิเลส กิเลสมันหัวเราะเยาะเลย มันหัวเราะเยาะแล้วมันหลอกเราอีกด้วยนะ “ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น”

พอจิตเราสงบเข้าไป เราอยู่บนอวกาศ เราอยู่บนอากาศ เราผูกเชือกโรยตัวลงมา จะลงมาถึงฐานที่ตั้งที่ควรแก่การงาน เรายืนอยู่นั่น ขาเราก็สามารถที่จะแตะกับภูเขาได้ ทรงตัวอย่างไรก็ได้ การทรงตัวอยู่บนภูเขานั้น ที่เรายังโรยตัวลงมาไม่ถึงตีนเขา ตีนนี้ก็แตะถึงตัวภูเขาเหมือนกัน แล้วมันจะพลิกแพลงได้ เอียงซ้ายเอียงขวาก็ได้ จะทำให้ตัวเบาอย่างไรก็ได้ จะตีลังกาอย่างไรก็ได้

จิตนี้ก็เหมือนกัน เวลาทำใจให้สงบเข้าไป ความเห็นเป็นนิมิตต่างๆ ความรู้สึกต่างๆ เป็นความว่างความเห็นต่างๆ นี่มันเป็นได้ ความเป็นอันนั้นเป็นสมถะทั้งหมด จิตนี้จะพิสดารขนาดไหน มันก็เป็นในวงของสมถกรรมฐาน ในวงของสมถะไง ความสงบเข้าไปมันเป็นปีติ พอเป็นปีตินี่มันก็มีมหาศาล ปีติลึกล้ำขนาดไหน ปีติขนาดว่าส่งออกรู้วาระจิตต่างๆ นี้ก็เป็นแค่ปีติ เห็นไหม มันอยู่ในวงของสมถะทั้งหมด มันไม่ใช่ในวงของวิปัสสนา นี่ความเห็น เห็นรูปแบบเข้ามา ความเห็นเป็นนิมิตต่างๆ ความไปรู้ไปเห็น ถึงว่าไม่ใช่วิปัสสนา

วิปัสสนามันต้องวิปัสสนาในกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม จิตนี้สงบเข้าไป ถ้าเห็นกาย ถ้าไม่เห็นกาย ครูบาอาจารย์จะสอนแต่เฉพาะเรื่องของกาย เพราะกายนี้เป็นภาพใหญ่มาก กายนี้ การเห็นกายนี้เห็นยากมาก การเห็นกายเหมือนกับการยกขึ้นวิปัสสนา การเห็นกาย เพราะเห็นด้วยตาของธรรม กับเห็นด้วยตาของตาเนื้อจะต่างกันมาก

ผู้ที่ปฏิบัติตรงนี้สำคัญที่สุด ถ้าการเห็นกาย นี่จะขนพองสยองเกล้า ความเห็นต่างๆ ที่เคยเห็นมานั้นหลุดมือไปหมด ความเห็นเป็นนิมิต ความเห็นรูปแบบต่างๆ เห็นกายนี้ก็เป็นนิมิต เป็นเห็นจากตาธรรม แต่การเห็นกายมันสะเทือนถึงหัวใจ ยกขึ้นวิปัสสนาได้ ยกขึ้นวิปัสสนา เหมือนกับว่า เรานี่จะไป เรามีปัญหากันในเรื่องของแง่กฎหมาย เราต้องฟ้องศาล ศาลนั้นรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องไง ถ้าไต่สวนมูลฟ้อง มีเหตุของมูลฟ้อง นั่นศาลก็จะรับฟ้อง

การเห็นกายก็เหมือนกัน เห็นด้วยนิมิตต่างๆ เห็นด้วยกาย ความเห็นนิมิตมันยังไม่สะเทือนถึงใจ แต่ถ้าเห็นกายด้วยตาธรรมนะ มันสะเทือนถึงใจ มันจะขนพองสยองเกล้า เห็นไหม นั่นน่ะ เป็นการบอกว่า นั่นศาลรับฟ้องแล้ว ไต่สวนมูลฟ้องคือการเห็นกายนั้น เห็นตามความเป็นจริง ไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลนั้นรับฟ้อง ยกขึ้นวิปัสสนา นั่นน่ะวิปัสสนาตรงนั้นไง

ถ้าเป็นความเห็นต่างๆ ข้างนอกที่ยังไม่สะเทือนถึง มันไม่ยกขึ้นวิปัสสนา อันนั้นมันเป็นในวงของสมถะ นี่วงของสมถะ คือความสงบของใจ ใจสงบแล้วมันถึงจะเห็นสถานะ การเห็นนั้นถึงจะเป็นความจริงขึ้นมา แต่ในเมื่อการทำใจสงบเฉยๆ เรายังปฏิบัติในทางกายใช่ไหม ถ้าพิจารณาจิตล่ะ การพิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาจิตคือพิจารณาความคิด ขันธ์ ๕ ไง ขันธ์ ๕ นี้เป็นความคิด พิจารณาความคิด แต่ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสอนตรงนี้ เพราะมันจะฟั่นเฝือได้ มันจะออกไปในทางความเห็นของทางโลกไง เราพิจารณาอยู่ เราใช้ปัญญาอยู่นี่ มันก็เป็นความคิดเหมือนกัน เราก็ว่าความคิดนี้เป็นความคิดแล้วไง เห็นไหม

ทำความสงบอยู่ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ สมาธิอบรมปัญญาก็ได้ ในกรอบเขตของนี้เป็นสมถะทั้งหมด เป็นสมถกรรมฐานทั้งหมดเลย สมถกรรมฐาน คือทำความสงบของใจ ถ้าใจยังไม่สงบอยู่ ความคิดต่างๆ นี้จะเป็นโลกทั้งหมด จะเป็นโลกียะทั้งหมด จะเป็นในวงของการทำความสงบเข้ามาให้ใจมันสงบ ถ้าใจไม่สงบ มันก็มือสกปรกทำงานไป งานนั้นก็จะเป็นของสกปรกไปทั้งหมด

ความคิดนี้ยังไม่เป็นตัวของตัวเอง ความคิดนี้ยังไม่เป็นอิสระ ความคิดนี้ยังมีกิเลสบังคับขับไสอยู่ ความคิดต่างๆ นี้ต้องเป็นความคิดของกิเลสทั้งหมดที่จะให้เกี่ยวอยู่ เกาะเกี่ยวอยู่กับในโลก แต่ในเมื่อเราจะทำความสงบเข้าไป ความสงบของในหลักของศาสนานี้มันมหัศจรรย์ตรงนี้ไง

ก่อนที่ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมก็ได้ศึกษากับลัทธิต่างๆ มาก่อนแล้ว ก่อนที่จะออกแสวงหาโมกธรรม ไปแสวงหาลัทธิต่างๆ ก็มีการสอนทำความสงบ การทำใจให้สงบไง อยู่ในวงของสมถะ แต่เขาว่าเขาเป็นศาสดากัน แล้วในเมื่อเป็นศาสดากัน ความคิดในความคิดอยู่ที่ว่าเขาคิดว่าเป็นศาสดา คำสอนของเขามันก็วนอยู่ในวัฏฏะ แต่ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นผู้ที่พ้นออกไปก่อน เป็นผู้ถึงธรรมก่อน วิหารธรรมในหัวใจเต็มหัวใจแล้ว ถึงได้สั่งสอนออกมา สอนคนก็ดูจริตนิสัย

จริตนิสัยที่ว่า ผู้ที่ใช้ปัญญา ภูเขาน้ำแข็งที่มันจมอยู่ในน้ำ สันดาน คือการสะสมของใจที่เกิดๆ ดับๆ มาต่าง แต่ละภพละชาติไม่เหมือนกัน การสะสมมาจะทำความสงบด้วยกำหนดพุทโธๆ อย่างเดียวนี่ ดวงใจบางดวงทำอย่างนั้นแล้วมันเป็นไปไม่ได้ คือว่ามันขัด มันขัดข้อง มันไม่มีความสงบอย่างนั้น เพราะความเคยชินอันนั้นไม่มี ก็ให้ใช้ความคิด

ภูเขาน้ำแข็งจมอยู่ในน้ำทะเลทั้งหมดเลย เราจะเปิดน้ำทะเลออกให้ภูเขาน้ำแข็งโผล่ขึ้นมา ให้เราเห็นทั้งลูก เราจะทำอย่างไร? ใช้ความคิดวิดน้ำๆออกไป ความคิดนี้ก็คิดวนไปในโลกียะนี่แหละ ในโลกียะคือในความคิดโลกของเรา นี่คิด ความคิดนี้ คิดเข้าไปๆ ความคิดนี้คิดแบบขันธ์ ๕ คิดเข้าไป แต่สติสัมปชัญญะจะพร้อมเข้ามา เพราะเราตั้งใจคิดเพื่อจะให้หยุดคิด เราไม่ใช่ว่าความคิดนี้จะคิดจนกว่าจะไม่มีสถานี ไม่มีป้ายจอดไง ความคิดของเราคือความมุ่งหมายของสมถกรรมฐาน

ในเมื่อเรากำหนดพุทโธๆ โรยตัวลงมานี่มันเสียว มันกลัวที่สูง มันทำไปไม่ได้ เราก็ใช้วิดน้ำออกจากภูเขาน้ำแข็งนั้นแทน วิดน้ำออกจากทะเลทั้งทะเลจะวิดไหวหรือ เราต้องหาทางกั้น ทำทำนบกั้นน้ำทะเลขนาดไหน แล้ววิดส่วนที่ว่าจมภูเขานั้นออกมา วิดส่วนที่เราพอจะวิดได้ไง ปัญญาก็เหมือนกัน คิดขนาดไหน ที่มันจะทำความสงบให้เราได้ คิดเทียบไปสิ ความเป็นอยู่ของโลกเป็นความทุกข์ การเกิดนี้ก็เป็นความทุกข์ ความคิดเกิดๆ ดับๆ ในหัวใจนี้ก็เป็นความทุกข์ ความทุกข์ที่ให้ความเจ็บปวดแสบร้อนในหัวใจนี้มันควรหรือ แต่ทำไมถึงต้องคิดล่ะ? เพราะให้ความคิดนี้มันหมุนตัวออกไป นี่วิดน้ำไง วิดน้ำออกไปๆ

ความคิดนี้เป็นขันธ์ ขันธ์นี้ครอบคลุมใจไว้ ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่จิต มันเกิดจากอาการของจิต ความที่เป็นขันธ์ ๕ คืออารมณ์ที่ความคิดคิดอยู่นี่ ความคิดนี้เกิด รูปของความคิด เวทนา ความพอใจ แบ่งแยก วิญญาณ ความรับรู้ สังขารปรุงไป รูปของจิตเกิดขึ้น หมุนไปๆ นี่มันก็หมุนไป หมุนไปด้วยที่ความคิดที่มันเร่าร้อน สติก็ตามไปๆๆ นี่ทำนบปิดขึ้นเรื่อยๆ ทำนบกั้นเข้าไปเรื่อยๆๆ แล้ววิดน้ำออกๆ นี่มันหมุนไปๆ หมุนไปจนมันเหนื่อย มันคิดเข้ามากๆ เข้า มันต้องหยุดคิดได้

หยุดคิดด้วยความที่ว่ามันเบาตัวลงเองหนึ่ง ด้วยพลังงานอะไรก็แล้วแต่ที่ใช้ไปแล้วมันจะอ่อนตัวลง กับสติสัมปชัญญะนี้คอยดู เห็นไหม แต่เดิมความคิดนี้เป็นความคิดที่เหมือนกับท่อนซุงที่ใหญ่มากที่ทับถมตัวเราขึ้นมา เราสู้ไม่ได้ เราเลาะ เราพยายามถากให้มันเล็กลงๆๆ จนกว่าเราสามารถพลิกแพลงได้

ความคิดก็เหมือนกัน เราตามดูๆ จนกว่าว่าเราควบคุมความคิดได้ เห็นไหม มันหยุดเองหนึ่ง เราก็เห็นความสงบ เอ้อ! ปล่อยวาง ถ้ามันสงบไม่ได้ มันหยุดไม่ได้ เอาสติตามไปๆ ความคิดนี้ต้องหยุดโดยธรรมชาติของมัน แล้วสติก็สืบต่อไป ความที่มันหยุดคิดอันนั้นเป็นสมถกรรมฐาน นี่ใช้ปัญญาออกไป ใช้ความคิดออกไป นี่สมถกรรมฐานเกิดขึ้น สมถกรรมฐานเกิดขึ้นด้วยปัญญาความคิด ปัญญาอันนี้มันชำระกิเลสไม่ได้ ปัญญาของโลกนี้ชำระกิเลสไม่ได้ ความคิดของโลกอันนี้ชำระกิเลสไม่ได้

แต่ถ้ามันปล่อยวางๆ เข้าเรื่อยๆ มันก็ต้องถึงภวาสวะ ถึงภพ ถึงกรรมฐาน ถึงสมถกรรมฐาน ถึงสมถะคือความสงบของใจ พอหยุดคิดๆๆๆๆ ความหยุดคิดนี้บ่อยเข้า มันจะปล่อยเองๆ นี้เป็นในวงของสมถกรรมฐานนะ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ความเคลื่อนไหว ความเหยียดคู้ไปนี่ตามรู้ตลอดๆ แล้วมันจะปล่อยๆๆ อันนี้เป็นในวงของสมถะทั้งหมด จะกำหนดพุทโธๆ หลับหูหลับตาอยู่ว่าโง่เง่า คนทำความสงบอยู่นี้เป็นคนที่ว่าไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมสู้โลก เป็นคนที่หลบ เป็นคนไม่สู้

นี่แหละนักรบ เพราะต้องการอาวุธ ต้องการสิ่งที่จะต่อสู้กับกิเลส ความคิดที่ว่าจะเป็นความคิดเป็นโลกเลย ความคิดที่เป็นปัญญาเลย ชำระกิเลสเลย อันนั้นมันเป็นความคิดของโลกเขา มันก็เป็นในวงสมถะเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าวงอันนี้ ความคิดอันนี้เป็นวิปัสสนา ถ้าเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา มันก็คิดไป เหมือนกับตัวเราลอยอยู่ โรยตัวลงมาจากภูเขา เราอยู่บนเชือกผูกกายอยู่นี่ เราจะพลิกแพลงอย่างไร? ตีลังกาอย่างไรก็ได้ พอตีลังกามันอยู่บนอากาศนี่ เพราะเชือกโรยตัวลงมาจากภูเขาต้องการถึงพื้น

พุทโธๆ ลงมา เห็นไหม ผ่านนิมิต ผ่านความเห็น ผ่านต่างๆ สิ่งที่ว่าความว่างความสงบชั่วคราวเป็นขณิกสมาธิ เป็นปีติเป็นความสุข มันผ่านมาเรื่อยๆ ความผ่านอันนี้ออกมา ถ้าจิตทำความสงบเข้าไป ความสงบเข้าไป มันจะผ่านตรงนี้มา เราไม่ไว้ใจ จนกว่าเราจะเห็นกาย จนจะไต่สวนมูลฟ้อง จะยกขึ้นฟ้องได้ เห็นไหม ถึงเป็นวิปัสสนากรรมฐาน

ความคิดนี้ก็เหมือนกัน มันปล่อยวางโล่ง ปล่อยวางนะ มันจะปล่อย ถึงเวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธินี้มันจะปล่อย ความคิดมากๆ เข้าจะปล่อย ความปล่อยอันนั้นมันก็เหมือนกับที่เราโรยตัวอยู่บนอากาศ เห็นไหม มันเป็นความสงบชั่วคราวไง เป็นความว่าง ความปล่อยชั่วคราว ความปล่อยนี้ มันปล่อยมันว่างด้วยปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นวงของสมถะทั้งหมด มันไม่ยกขึ้นวิปัสสนา

ยกขึ้นวิปัสสนา การยกขึ้นวิปัสสนามันต้องเห็นจิต ตัวของจิต ถ้าพิจารณาจิตเข้ามา เป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้ามานี้มันจะพิจารณาใจนะ พิจารณาใจ มันต้องจับจิตได้ เหมือนกับการที่ว่า สมาธิอบรมปัญญา จิตสงบแล้วเห็นกาย มันสะเทือนถึงหัวใจไง จับจิตได้นี้ก็สะเทือน จับจิตได้คือจับอาการที่มันหลอกๆ จับอาการหลอกของจิตไง อย่างเริ่มต้นเราพิจารณาเข้ามานี้ มันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามาจนจับต้องตัวเองได้ แล้วจับต้องตัวเองได้ สะเทือนถึงหัวใจ

ความสะเทือนถึงหัวใจ เห็นไหม ฟ้องศาล ฟ้องศาลไต่สวนมูลฟ้องไง ถ้าไต่สวนมูลฟ้อง มันสะเทือนหัวใจมาก กับความปล่อยวางเข้ามานั้นต่างกัน การพิจารณาเข้ามาปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวาง นั้นเป็นวงของสมถะทั้งหมดเลย ถ้าไม่มีตรงนี้ ไม่มีการจับต้องกายและจิตได้ ไม่ใช่วิปัสสนา สมถกรรมฐาน เป็นวงของสมถกรรมฐานทั้งหมด วิปัสสนากรรมฐานต้องพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถึงเป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันจะเดินไปด้วยกัน พร้อมกัน ระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสนากรรมฐาน

แต่เริ่มต้นมาต้องทำสมถะเข้ามาก่อน ถ้าเป็นสมาธิอบรมปัญญา ชัดๆ ทำง่ายๆ เลย กำหนดเข้ามาเลยๆ แล้วทำง่ายเพราะเหมือนกำปั้นทุบดิน มันจับต้องง่าย มันเป็นหลักใหญ่ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี้มันเป็นความคิด มันฟั่นเฝือง่าย ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่สอน ไม่สอนนะ ให้ทำสมาธิอบรมปัญญาทั้งหมด

แต่ถ้าในเมื่อเราทำไม่ได้นี่ เราทำไม่ได้ เราเป็นผู้มีการศึกษามาก เรามีความคิดมาก เราต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิตลอด หมุนเข้าไปๆๆ หมุนเข้าไปให้มันปล่อยวางเข้าไป ปล่อยวางอันนี้เป็นการปล่อยวางชั่วคราวๆๆ ทั้งหมด มันไม่ใช่วิปัสสนาหรอก มันเป็นวงสมถะทั้งหมด ปล่อยวางไปเรื่อย ปล่อยวางไปเรื่อย

เพราะปล่อยวางไปเรื่อยแล้ว เรามีสติพร้อมเข้าไปใช่ไหม เหมือนกับคนทำงาน ตั้งใจทำงาน พอตั้งใจทำงาน พยายามจดจ่ออยู่กับในงานนั้น การจดจ่อ การเฝ้าดูอยู่ ต้องพบ ต้องตัวเห็นตัวของจิตได้ ตัวของจิตนั้นคือสัจจะ คือความจริงของตัวขันธ์ ๕ ไง อาการที่ว่าเราพิจารณาขันธ์ ๕ ที่ว่าใช้ปัญญาของโลกเข้ามานั้นมันเป็นเงาทั้งหมด เงาคือผลของตัวเราที่ยืนอยู่แล้วมีเงาใช่ไหม อาการของใจที่แสดงตัวออกด้วยความเร่าร้อน มันแสดงตัวออกไป แต่เราได้ผลแต่เงาของมัน เราได้แต่วิบากความเห็นของขันธ์ ๕ ที่มันปรุงแต่งออกไปแล้วเป็นอารมณ์มา เป็นความทุกข์

แต่วิปัสสนาเข้าไปแล้ว วิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนา จนตัวจับจิตได้ คือตัวจับขันธ์ ๕ ได้ ถ้าจับขันธ์ ๕ ได้นี่ขนพองสยองเกล้า เหมือนกัน ถ้าถึงการไต่สวนมูลฟ้องอันนี้แล้ว ไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลรับฟ้อง หมายถึงการจับใจได้ จับใจได้ต้องวิปัสสนา สมาธิอบรมปัญญา การจับกายได้ก็ยก ก็ไต่สวนมูลฟ้องเหมือนกัน นี่มันเหมือนกันตรงนี้

ถึงว่า วิปัสสนากรรมฐานต้องเริ่มต้นจากการเห็นกายและเห็นจิต แล้ววิปัสสนาไป วิปัสสนาไป วิปัสสนาไปยังต้องใช้ปัญญา ปัญญาขณะที่วิปัสสนานี้ไม่ใช่ปุถุชนเสียแล้ว เป็นกัลยาณชน กัลยาณชน ผู้ที่ทำความสงบได้ มีสมถกรรมฐาน มีสมถะ ใจนี้เป็นพื้นฐานตั้งมั่น แต่ถ้าทางโลกเขาทำงานไป เขาใช้สติใช้ปัญญาพอสมควร เขาก็ทำของเขาไป ความพลั้งเผลอของเขาก็ไม่มีความผิดพลาด ขนาดที่ว่าทำให้เขาคอขาดบาดตาย

แต่ถ้าเราจะเป็นนักปฏิบัติธรรม ปัญญาอันนี้ ที่ว่าภาวนามยปัญญามันจะเกิด เกิดจากตรงนี้เป็นมูลเหตุมูลฐาน มูลฐานของสมถกรรมฐาน แล้วเป็นพื้นฐาน เป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม สัมมาสมาธิในมรรคองค์ ๘ มรรคองค์ที่ ๘ นั้นเสริมขึ้นมา พอเสริมขึ้นมา ถึงได้แยกออกไปเป็นวิปัสสนา เป็นโลกุตตระไง งานตรงนี้เป็นงานของโลกุตตระ งานจะพ้นจากโลก

โลกียะทั้งหมดที่เป็นในวงของสมถะนี้เป็นโลกียะล้วนๆ ทำขนาดไหนมันก็เวียนตายเวียนเกิดในวัฏวนนี้ ไม่พ้นจากวัฏวนไปได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้ปัญญาตัวนี้ต่างหาก ปัญญาในมรรคอริยสัจจัง ความดำริชอบไง ความดำริจะออกจากกิเลส มันต้องเริ่มดำริออกจากตรงนี้ ตรงที่ว่ายกขึ้นวิปัสสนานี้ พร้อมกับมันต้องมีสัมมาสมาธิ มีความดำริชอบ ความเห็นชอบ วิปัสสนาเข้าไป

วิปัสสนากายก็ได้ วิปัสสนาจิตก็ได้ นี้คือยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนานี้สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีการยกขึ้นวิปัสสนา มันวนอยู่ในวัฏฏะ เราก็จะวนไปในวัฏฏะนี้โดยที่ว่าเราไม่เข้าใจอะไรเลย เราเห็นแต่ความว่าง ความเวิ้งว้าง ความเป็นไปของจิตนี้ทั้งหมดเลย จิตมันวนกับจิต มันคลุกเคล้ากันอยู่ในกิเลสนั้น แต่เรามองไม่เห็น

แต่ถ้าพอเห็นกายกับเห็นจิตนี้ก็หลุดมือไปอีกนะ ผู้ที่ไม่มีวาสนา หลุดมือไป หมายถึงวิปัสสนาไปไม่ไหวไง เดินไปไม่ได้ ถึงว่าผู้ที่เจริญแล้วเสื่อมมีมากเลย เจริญเข้าไปแล้วเสื่อม เจริญเข้าไปแล้วเสื่อม นี้คือปากทางนะ การเห็นกายและจิตนี้คือปากทาง ปากทางเข้าถึงกระแสของพระนิพพาน ยังต้องเดินอีกยาวไกล นี่คือแค่บาทแค่ฐาน เรามีบาทมีฐาน เราจะเดินก้าวเดินเข้าไปให้ได้ไง แต่ถ้าก้าวไปแล้วจิตเสื่อมจิตเห็น เห็นแล้วหลุดมือไป หลุดมือไปนี่ไง

ที่ว่า จากใจดวงหนึ่งให้อีกใจดวงหนึ่ง จากใจดวงหนึ่งนะ ครูบาอาจารย์ถึงสอน พยายามสอน เน้นสอนพวกเรา พวกที่ว่าเริ่มจะหัดวิปัสสนากัน แต่วิปัสสนาแล้วก็ต้องวิปัสสนาให้ถูก วิปัสสนาให้ถูก จะทำให้เราพ้นจากกิเลสได้เป็นชั้นๆๆๆ เข้าไป พ้นจากกิเลสได้ ทำเพื่อให้พ้นจากกิเลสนี่ ไม่ได้ทำเพื่อเสริมกิเลส ถ้าทำเสริมกิเลส เราก็ทำไปๆ เหมือนดินพอกหางหมู ดินพอกหางหมูนั่นน่ะ หนักไปเรื่อยๆๆ

ว่าเราประพฤติปฏิบัติๆ แล้วมันก็หนักไปเรื่อยๆ จนกว่าหางหมูนั้นพอกไปด้วยกิเลสทั้งหมด แต่นี้เราทำสมถกรรมฐานเข้ามา นั่นล่ะมันจะเลาะออกไปเรื่อย หางหมูนี้จะไม่ติดด้วยดิน หางหมูนั้นจะสะอาดอยู่ตลอดเวลา ดวงจิตนี้เป็นอิสระไง ถ้ามันเสื่อม มันเสื่อมมา พยายามตั้งใจนะ จิตเสื่อมนี้เป็นปกติ

การเดินขึ้นไปนี่มันต้องก้าวพลาด ก้าวพลาดกันมาเป็นประจำ ไม่มีใครก้าวเดินแล้วถูกต้องไปหมด ผิดเป็นครู ถูกก็เป็นครู พยายามฝึกฝนเข้าไป ถ้ามันเสื่อมลงมา จิตเสื่อมทำอย่างไร? จิตเสื่อมอย่าไปอาลัยอาวรณ์กับสิ่งที่เราเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งอาลัยอาวรณ์กับผล ส่วนใหญ่จิตที่เสื่อมเพราะคนหวังแต่ผลไง คนไม่สร้างเหตุ

เรากำหนดพุทโธ เรากำหนดพุทโธตลอดไป ถ้าเรากำหนดพุทโธด้วยสมาธิอบรมปัญญา ถ้าเรากำหนดพุทโธไม่ได้ เราใช้ปัญญาหมุนอยู่ เราก็ต้องพยายามใช้ปัญญาใคร่ครวญตลอดเวลา ใคร่ครวญพร้อมสติเข้าไป ทำแค่นี้ ทั้งมีสติสัมปชัญญะอยู่แค่นี้ มีสติความรอบรู้อยู่ พุทโธๆๆๆ จนจิตมันจะสงบเข้ามา แล้วจิตเข้ามา เพราะมันเคยเห็นกายแล้วมันจะเข้าหากายเอง ยกขึ้นหากายเอง

จิตสงบ จิตนี้พิจารณาจิตเข้า ปัญญาอบรมสมาธิเข้า กำหนดปัญญาหมุนเข้าไปๆ ปัญญาคิดไง คำว่า “หมุน” คือคิดในขันธ์ แยกแยะความผิดความถูกของเราตลอดเวลาเข้าไป ไม่หวังผล ถ้าหวังผล เป็นตัณหาซ้อนตัณหา จิตใต้สำนึกใต้ภูเขาน้ำแข็ง สันดานนั้นมันต้องการอยู่แล้ว ความมักง่าย การชุบมือเปิบ มันโดยธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนั้น ความอยากสะดวกอยากสบาย แล้วก็พยายามจะเอาผล แล้วก็จะเสื่อมไปต่อหน้าต่อตา

ความเสื่อมไปต่อหน้าต่อตา เพราะว่าเราไปหวังผล เราไม่สร้างเหตุ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือการสร้างเหตุ ตั้งสติไว้ แล้วกำหนดพุทโธๆ หรือว่าปัญญาอบรมสมาธิตลอดเวลาเข้าไป พอจิตสงบเป็นพื้นฐานมันจะเย็น คนที่เคยเร่าร้อนมันจะสงบเย็น ความสงบเย็น เห็นไหม จิตที่ยืนอยู่บนพื้นบนฐานที่ควร ควรแก่การงาน ควรแก่การงานในวิปัสสนา

ในกายก็วิปัสสนาไปสิ กายข้างนอก ในตำราบอกไว้ ในตำราว่าธาตุ ๔ ต้องมี ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นตำราบอก แต่ความเห็นของเราล่ะ ความเห็นว่ากายแปรสภาพไป ถ้าความเห็นข้างนอกเป็นความเห็นข้างนอก ความเห็นข้างนอกหมายถึงความเห็นของโลกียะ มันเป็นความเห็นความคิด

แต่ถ้าในวิปัสสนานี้ มันจะเป็นไปโดยตามหลักความจริง เราจะไปคาดหมายสิ่งใดๆ ไม่ได้เลย เราเฝ้าดูอยู่ เห็นไหม ถ้าสมาธิ ถ้าสมาธิอบรมปัญญา ดูกายแปรสภาพ ความแปรสภาพของกาย กายนี้จะแปรสภาพต่อหน้า จะละลายไป จะเอาไฟเผา จะให้เป็นอนิจจัง เป็นไตรลักษณ์ นี่ไม่ซ้ำกัน คืนวันนี้ภาวนาอย่างนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ภาวนาใหม่ มันจะเป็นรูปแบบใหม่ไปตลอด จะไม่มีการซ้ำกันเลย การซ้ำกันไปนั้นเป็นสัญญาทั้งหมด เห็นไหม การวิปัสสนาไม่ใช่ว่า เราเห็นว่ากายละลายลงไป แล้วจะให้มันละลายลงไป วันนี้ละลายลงไป พรุ่งนี้มันไม่ละลายจะทำอย่างไร นี่แหละ วิปัสสนาคือการต่อสู้ไง การต่อสู้นี้คือการต่อสู้กันในชั้นวิปัสสนา ในชั้นการให้หาเหตุหาผล หาเหตุหาผลในการต่อสู้กับกิเลส

กิเลสคือความยึดมั่นถือมั่น มันยึดอยู่โดยธรรมชาติของมัน แต่ปัญญาจะเข้าไปแยกส่วนออกระหว่างกายกับจิตออกไป ระหว่างที่กายกับจิตหมายถึงว่า จิตนี้มันมีกิเลสอยู่ เพราะมันหลง มันหลงในอะไร? มันหลงในกายของเราเอง มันหลงในกายของเราเอง มันหลงมาโดยธรรมชาติ ในเมื่อคนหลงไปแล้วนี่เราจะแก้ไขอย่างไรให้หายหลงไง ให้หายหลงต้องให้เห็นสภาวะตามความเป็นจริงว่า กายนี้เป็นจริงเหรอ กายนี้ไม่จริงมันจะไม่จริงอย่างไร หน้าที่ของเราดูความไม่จริงเท่านั้น

แต่ถ้าใช้ปัญญาของเราที่ว่าไม่จริงอย่างนั้น เราคาดหมายไง ไม่จริงอย่างนั้นต้องเป็นแบบนั้น...นี้คือการคาดหมาย การคาดหมายคือการด้นเดา การด้นเดาธรรมมันจะเป็นด้นเดาไม่ได้ นี่เหมือนกัน พอด้นเดาไปแล้วต้องการให้เป็นแบบนั้น นี่คือตัณหาซ้อนเข้าไปอีกแล้ว หน้าที่ของเราต้องพยายามทำจิตของเราให้สงบให้ได้ แล้วดูไป ถ้าจิตเสื่อม คือว่าจับภาพนั้น หรือความเห็นมันไม่ก้าวเดิน เราต้องปล่อยวางไว้ แล้วกลับมาพุทโธๆๆๆ เพิ่มพลังงานของใจตลอดเวลา

การทำงานมันต้องใช้ ใช้พลังงานทั้งนั้น ทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าทางโลก เหนื่อยนี้ต้องพัก ทางธรรมก็เหมือนกัน ใจมันหมุนไปนี่ใช้พลังงานมาก ต้องกลับมาพัก กลับมาพัก พอมีพลังงานในหัวใจ สู้ต่อไป กลับไปย้อนกลับไปสู้ พิจารณา...

...ตรงนั้นเหตุหนึ่งทำให้จิตเสื่อม จิตมันจะเสื่อม พอจิตมันเสื่อมเพราะอะไร เพราะมันคาดหมายแล้วไม่สมหมาย มันอาลัยอาวรณ์ ละล้าละลัง ต้องเชื่อมั่นในสัจจะ ในความจริง ในอริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทุ่มไปทั้งตัว ทุ่มไปทั้งหมด ทั้งหัวใจ ทั้งร่างกาย ทุ่มไปในงานนี้ทั้งหมดเลย

งานอื่นๆ ในโลกนี้ เราอยู่หรือเราตายไป คนทำแทนเราได้นะ เราอยู่หรือเราตาย โลกเขาทำแทน ทำหน้าที่การงาน นี่เขาแทน เขาสืบต่อ มีผู้รับผิดชอบแทนกันได้ แต่หน้าที่ชำระกิเลสนี้คือหน้าที่ของบุรุษอาชาไนย ผู้ที่เป็นอาชาไนยเท่านั้น เพราะทุ่มทั้งกายและใจ ความหลงมานี้มันไม่ใช่หลงมาแต่ปัจจุบัน มันหลงมาเนิ่นนานในหัวใจนี้

พอหลงมาเนิ่นนาน จะให้เห็น ให้หัวใจฉลาด ให้หัวใจเห็นตามความเป็นจริง หน้าที่ของเราคือหน้าที่ใคร่ครวญ หน้าที่เอาไฟเผาให้น้ำละลายไป ให้ร่างกายนี้แปรสภาพไป ความแปรสภาพนั้นคืออะไร? คืออนิจจัง คือไตรลักษณ์ นี่เห็นพระไตรลักษณะ ใจมันก็จะเข้าใจขึ้น เห็นพระไตรลักษณ์ พระไตรลักษณ์มาให้เห็นต่อหน้า

อาการว่าความเห็นอันนั้นทำให้หัวใจนั้นฉลาดขึ้น มันปล่อย โอ้โฮ! สิ่งที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็น สิ่งที่ในการศึกษาเล่าเรียนมามันก็เป็นความจำมา มันไม่เคยสะเทือนหัวใจขนาดนี้ ความเห็นของเรามันสะเทือนหัวใจมาก ขนพองสยองเกล้านะ มีความสุข มีปีติ มีความสุข มันจะปล่อย มันจะเวิ้งว้างไปหมดเลย ใจนี้เป็นอิสระชั่วคราว เพราะความเห็นอันนั้นน่ะมันฉลาดขึ้นมา มันปล่อย แต่มันไม่ขาด ความไม่ขาดหมายถึงว่าสังโยชน์มันไม่ขาดออกไปจากใจนั้น

มันฉลาดขึ้นมา ความฉลาดขึ้นมามันก็ยังไม่ฉลาดพร้อมไง ความฉลาดพร้อมนี่ภาวนามยปัญญา ความที่เป็นภาวนามยปัญญาคือมรรคอริยสัจจัง มรรคทั้ง ๘ จะรวมตัวไง ความเพียรชอบ การงานชอบ ความดำริชอบ ความเห็นชอบ สมาธิชอบ มันหมุนไป แต่ขณะที่เห็นมันเห็นชอบอยู่ แต่ความชอบนี้ไม่มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทา ต้องซ้ำเข้าไปๆ มัชฌิมาปฏิปทา

การจะตัดสังโยชน์ขาดออกจากใจ ความตัดสังโยชน์ขาดออกจากใจ มรรค ภาวนามยปัญญาจะคมกล้า ธรรมจักรนี้มันหมุนไป ทีนี้มันหมุนไป ความที่หมุนไป แต่มันยังไม่เป็นจักรที่ยังไม่คมกล้า มันจะปล่อยวางชั่วคราว ความปล่อยวางชั่วคราวนี้จะมีความสุขแปลกประหลาดโลกมาก อันนี้คือรสของธรรมที่ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติกล้าทุ่มไปทั้งชีวิต ทุ่มไปทั้งชีวิต ทุ่มไปทั้งหมด ทุ่มไปทั้งหมดเลยว่าจะเอาให้ได้ อยู่แค่ชั่วมือเอื้อมแล้ว เราเตาะแตะมาๆ ตั้งแต่เริ่มต้น จนก้าวเดินขึ้นมา จนยกขึ้นฟ้องศาล จนไต่สวนกัน จนเราจะเป็นฝ่ายชนะอยู่แล้ว จนจะเป็นฝ่ายชนะอยู่แล้ว ต้องก้าวเดินตามเข้าไป ก้าวเดินตามเข้าไป วิปัสสนาเข้าไป ซ้ำเข้าไปๆ

ไม่ใช่ว่าเห็นกายแตกเห็นกายระเบิดเห็นอะไร แล้วจะปล่อยวาง มันว่างแล้วเราจะนอนใจ...ไม่ได้ ความนอนใจอันนั้น เราตัดกระแส เรากั้นเขื่อนไว้ เราโรยตัวมาจากภูเขาทั้งหมด แล้วพอทำขึ้นไปแล้วเราจะไปนอนใจตรงนั้นได้อย่างไร เขื่อนนั้นน้ำจะกัดเข้ามาได้ เข้ามาปิดบังไอ้ภูเขาน้ำแข็งนั้นได้อีกนะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรานอนใจอยู่ ความยึดมั่นถือมั่นที่เราปล่อยวางไปชั่วคราวมันจะกลับมายึดมั่นถือมั่นให้เป็นงานภาระที่หนักมาก

คนเราเคยเข้าไปรู้เขารู้เรา รู้แพ้รู้ชนะกันอยู่ ถ้าเราไปพลาดอีกทีหนึ่ง เขาจะใช้กลอุบายที่หนักแน่นกว่านั้นมาหลอกเราอีก เห็นไหม ถึงต้องซ้ำเข้าไป จะมีความสุขก็ให้มีความสุข สุขเป็นเครื่องเสวยไป ใจนี้อยู่กับความสุขไป แล้วพอจิตนี้สงบเข้าไป ยกขึ้นวิปัสสนา ซ้ำเข้าไปๆ จนกว่าสังโยชน์ขาดออกไปจากใจ

สิ่งที่สังโยชน์ขาดออกไป มันจะเห็นว่าความหลุดออกไปจากใจ สังโยชน์ขาดออกไป กายนี้กระเด็นออกไปนะ กายนี้เป็นกาย จิตนี้เป็นจิต อาการของขันธ์คือทุกข์คือสุขนี้แยกออกกันหมด สักกายทิฏฐิ ๒๐ ต้องแตกออกไป ออกไปจากหัวใจที่วิปัสสนาอยู่นั้นไง

เราวิปัสสนากายอยู่นี่แหละ วิปัสสนากายอยู่ แต่เวลาขาดอออกไป จิตนี้รับรู้ รับรู้ทั้งหมด อันนี้เป็นปัจจัตตัง ถ้าไม่มีปัจจัตตัง นี้คือการกินข้าวแล้วอิ่ม ถ้ากินข้าวแล้วไม่รู้จักอิ่ม ต้องกินไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะอิ่ม ความอิ่มพอนั้นเป็นปัจจัตตัง กับความปล่อยวางต่างกัน ความปล่อยวางคือความว่างเฉยๆ ความว่าง ความเวิ้งว้าง ความลอยตัวอยู่กลางอากาศ อันนั้นเป็นความว่าง ว่างจากวิปัสสนา ไม่ใช่ว่างจากกำหนดพุทโธ ต่างกัน ความเห็นจะต่างเข้ามา ภาวะของใจ วุฒิภาวะของใจ ใจจะเติบโตขึ้นไปตามขั้นตามตอนในการก้าวเดินออกไปในวิปัสสนาญาณ เห็นไหม

วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว พอสังโยชน์ขาดออกไปนี่เข้าถึงกระแสของพระนิพพาน เราเข้ากระแสของพระนิพพาน เราไม่ใช่ ผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่ใช่ปุถุชนแล้ว ผู้ที่ไม่ใช่ปุถุชน เป็นผู้ที่เข้าถึงกระแสของธรรมแล้ว นี่ก้าวเดินต่อไป

ทางปัญญาก็เหมือนกัน ทางปัญญาอบรมสมาธิ ทางปัญญาอบรมสมาธิก็พิจารณาจิตนี่แหละ พิจารณาเข้าไป พิจารณาอาการของขันธ์ ๕ เข้าไป ไม่ใช่พิจารณากาย พิจารณาอาการของขันธ์ ขันธ์คือความรู้สึก ความรู้สึกความนึกคิด ความยึดมั่นถือมั่น ความเห็นโทษ ความเห็นภัย ความเห็นสุข ความเห็นต่างๆ นี่ความเห็นอันนี้เกิดขึ้นจากไหน? เกิดขึ้นจากเราไม่รู้เท่า

เพราะเราจับจิตได้แล้วใช่ไหม เราฟ้องศาลแล้ว ศาลรับฟ้องแล้ว ในเมื่อศาลรับฟ้องแล้วเราก็ต้องไต่สวนไปตามกฎหมาย ตามเหตุตามปัจจัย วิปัสสนากายๆ ไป แต่วิปัสสนาจิตต้องดูตรงนี้ ตรงการเกิดดับของใจ ใจนี้เกิดดับ เพราะว่ามันเกิดจากขันธ์ ๕ นั้นกับใจนี้ เป็นเหมือนกับสิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกัน สิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกัน ความคิดเกิดขึ้นบ่อยๆ สร้างแต่ความทุกข์ให้เราบ่อยๆ คิดขึ้นมาทีไรจะให้อารมณ์กับใจทุกข์ครั้งไป คิดดี คิดชั่ว จะละเอียดอ่อนหรือความหยาบนั้นต่างกัน นี่ความคิดที่เกิดขึ้นตลอด นี่คือการไต่สวน ไต่สวนในชั้นวิปัสสนา

วิปัสสนาไป ถ้าไม่ไหว เหมือนกัน ถ้าไม่ไหว ก็วิปัสสนาไปๆ ความคิดนี้ฟั่นเฝือหนึ่ง คือคิดไม่ออก เพราะมันจับตัวจิตได้แล้ว จับตัวขันธ์ได้แล้ว คิดไปๆ ขันธ์มีกำลังมากกว่า ความคิดนี้จะก้าวเดินไป มันเป็นเรื่องของโลกียะเลย เป็นเรื่องของสัญญาเลย เป็นเรื่องของระบบ เราต้องพัก พักหมายถึงว่าไม่คิดไง กำหนดใจให้สงบอยู่ กำหนดใจก็ทำได้ กำหนดพุทโธก็ได้ หรือคิดให้ปล่อยวางก็ได้ ใจนี้จะเป็น นี่วงของสมถะ

สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ต้องก้าวเดินไปพร้อมกันแล้วตอนนี้ ตอนที่ว่าความสงบต้องเสริม ถ้าไม่เสริมมันจะเป็นความคิด เป็นสัญญา สัญญานี้ก็เป็นโลกียะ แต่ถ้าเป็นปัญญา เป็นขันธ์ ขันธ์ ๕ ไง ในสังขารขันธ์ สังขารขันธ์นี้ก็เป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง แต่มีสมาธิเข้าไป สมาธิเข้าไปทำให้มันว่างไว้ ไม่ใช่มีตัวตนเราเข้าไปมีส่วน มันจะหมุนไป ความหมุนไปนี่ไต่สวนๆ วิปัสสนาเข้าไปๆ

การเกิดการดับ การเกิดการดับหนหนึ่ง มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับอาการคิดไปถึงขันธ์ ๕ แล้ว ขันธ์ ๕ เห็นไหม รูปของจิต คือรูปกับอารมณ์กับความคิดนั้นไง สัญญาทำให้รูปของความคิดนี้เกิดขึ้น สังขารปรุงไป วิญญาณรับรู้ ในอารมณ์หนึ่งนั้น ขันธ์ ๕ พร้อมไง เราจะแยกขันธ์ออกจากกันอย่างไร แยกความคิดออกไปว่าอันไหนเกิดก่อน อันไหนเกิด อันไหนเกิดก่อน อันไหนรับรู้ อันไหนเป็นตัวก้าวเดิน เป็นตัวปรุง นั่นน่ะพิจารณาเข้าไปวิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนาแยกขันธ์ออก ก็เหมือนกับแยกออก เห็นไตรลักษณ์ คือเห็นกายที่แปรสภาพ แต่นี้แยกออก แยกความคิดออกจากกัน อันไหนเกิดก่อนอันไหนเกิดหลัง อันไหนความรู้สึกน่ะ

วงจรของขันธ์ ๕ หมุนไป อารมณ์หนึ่งๆวิปัสสนาออกไป ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาหมุนเข้ามาๆ นี่ก็ปล่อยวางเหมือนกัน ถ้าใจทันนะ มันจะปล่อยๆ ปล่อยจนความคิดนี้ก้าวเดินไปไม่ได้น่ะ ขัดความคิดของตัวเองได้นะ เก้อๆ เขินๆ อยู่เลยนะ พอมีความคิดเข้าไปเรารู้ทันความคิดเรา พอมันจะเกิดขึ้น “นั่นแน่!” พอเรานั่นแน่ เราชี้หน้าความคิดไง เราชี้หน้าก็เหมือนเราขึ้นศาลแล้วเราฟ้องศาลว่าความคิดนี้คิดจากกิเลส ความคิดนี้เคยคิดมาแต่ไหนแต่ไร ความคิดนี้ไง ความคิดคือขันธ์ แล้วแบ่งออกด้วยว่าความคิดนี้ ๕ คน ไอ้ตัวนี้มันชื่อไอ้เวทนา ไอ้ตัวนี้ชื่อไอ้สังขารคิดก่อน เวทนาคิดก่อน วิญญาณรับรู้ก่อน สัญญา สังขาร นี่คือผู้ทุจริต

ขณะที่มีกิเลสอยู่นี้เป็นผู้ทุจริต ถ้าวิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนาเข้าไป ผู้ทุจริตทั้ง ๕ คนนี้จะแยก ต่างคนต่างอยู่ ปล่อย ต่างคนต่างอยู่คือเขาแยกออกจากกัน ในเมื่อ ๕ ส่วนนี้ขันธ์ ๕ แยกออกจากกัน ความคิดจะเกิดขึ้นไม่ได้ จะว่าง จะโล่ง นั้นน่ะ ซ้ำ ต้องซ้ำ ซ้ำบ่อยๆ ซ้ำบ่อยๆ เพราะสันดานความสะสมมาของใจนี้มหาศาล ความสะสมของใจ มันก็ต้องต่อสู้ กิเลสไม่เคยวางมือกับใคร กิเลสไม่เคยยอมแพ้ใคร กิเลสจะต่อสู้ทุกๆ วิชาการ กิเลสนี้กลัวธรรมมากที่สุด ก็ต่อสู้ธรรมเหมือนกัน ต่อสู้ธรรมในวิปัสสนานี้ไง

กิเลสมันไม่ยอมให้ใครมาชนะตัวเองได้ง่ายๆ เราก็ต้องต่อสู้กับกิเลสหนึ่ง ต่อสู้กับกิเลส กิเลสคือความไม่อยากทำ กิเลสคืออยากจะได้ผลไวๆ กิเลสคือการมั่นหมาย กิเลสคือการที่ความคิดความหมายความตัณหาทะยานอยาก อยากให้ได้ผลไวๆ เหมือนกันเลย นี่วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนามันทันตรงนี้ไง ทันตรงที่เราเห็นความเสื่อม พอวิปัสสนาไปแล้วมันไม่เป็นผลไป วิปัสสนาไปแล้วไม่เป็นผล ไม่เป็นผลเพราอะไร เพราะว่า สมาธิไม่พอ สมถกรรมฐานไม่พอ พยายามกลับมาพักแล้วไป พักแล้วไป ทำงานต้องมีพัก ไม่พักนี่ตาย

พอจะเป็นจะตายขึ้นมาก็พักสักทีหนึ่ง พอเราพักแล้วได้ผล มีพลังงานแล้วกลับไปสู้ใหม่ วิปัสสนาไปเรื่อยๆ จนขันธ์แตกออก จิตนี้เป็นอิสระจากความคิดกรงขังอันนี้ไง ความคิดขันธ์ ๕ นี้ครอบงำจิตอยู่ จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่จิต ขันธ์ ๕ ส่งเข้าไปเจตสิก ถึงเข้าไปรับรู้ถึงจิต จิตนี้ส่งออกมา ออกไปเจตนา ถึงออกไปเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ กับจิตนี้ไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน ถ้าเป็นอันเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ขันธ์ ๕ กับจิตนี้ต่างคนต่างอันอยู่ แต่สมานเนื้อเดียวกันด้วยสังโยชน์เหมือนกัน สมานโดยเป็นความคิด

เราคิดอะไรทีไร ใหม่ๆ เริ่มต้นคิดว่าเป็นเราคิดๆ ทั้งหมดเลย เพราะอะไร เพราะสังโยชน์มันสมานให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่เพราะธรรม ธรรมาวุธ เพราะวิปัสสนาอันนี้ไง พร้อมจากสมถะขึ้นมา เรามีพลังงานขึ้นมาก่อน แล้วใช้วิปัสสนากรรมฐานเข้าไป วิปัสสนาแยกออกๆ สิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกันมันก็แยกออกได้ แยกออกจนหลายครั้งเข้าๆ จนขาดออกจากกัน ขาดออกจากกัน สังโยชน์ก็ขาดออกไป ความขาดออกไปขณะที่อิ่ม

ขณะที่สังโยชน์ขาดออกไป ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฎฐิ ๒๐ ขาดเหมือนกัน ขาดเหมือนกันด้วยปัญญาอบรมสมาธิ กับสมาธิอบรมปัญญา นี่ยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาเหมือนกัน เหมือนกันเลย เพียงแต่จริตนิสัย ความเห็นของแต่ละบุคคล ความเห็นไง ความถนัด อำนาจวาสนาที่สะสมมาต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน นี่ก็เข้าถึงกระแสของพระนิพพานเหมือนกัน ศาลมีกี่ศาลล่ะ? ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ฎีกาแล้ว จบแล้ว ประหารชีวิตแล้ว ก็ยังถวายฎีกากับในหลวงได้ เห็นไหม นี่มรรค ๔ ผล ๔...๓ ศาลยังถวายฎีกาได้อีกชั้นหนึ่ง

นี่ก็เข้าถึงกระแสของธรรม กระแสของธรรม กระแสของธรรมไม่ใช่ตัวธรรม กระแสของธรรมยังมีส่วนบกพร่องอยู่ นี่เข้ากระแสของธรรม แล้วก็ต้องใช้สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานไปตลอด ถ้าเข้ากระแสของธรรมแล้วเป็นธรรม พระอานนท์เป็นพระอรหันต์ พระอานนท์ก่อนจะเป็นพระอรหันต์นี้เป็นพระโสดาบันมาก่อน เป็นพระโสดาบันมาถึง ๒๕ ปี แล้วยกขึ้นถึงเป็นพระอรหันต์ทีหลัง นางวิสาขาก็เป็นพระโสดาบัน แต่นางวิสาขาทำไมตายไปพร้อมกับความเป็นพระโสดาบันนั้นน่ะ ทำไมนางวิสาขาไม่เป็นพระอรหันต์ออกมา ไม่เหมือนพระอานนท์ พระอานนท์เป็นพระโสดาบันแล้วก็ก้าวเดินต่อไปวิปัสสนาต่อไป จนกว่าจะพ้นออกไปถึงธรรมแท้ๆ ไง

ในการตัดสินของศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้ว ถ้าเราไม่ยก...ต้องยกขึ้นศาลอุทธรณ์ เราต้องฟ้องศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังไม่รับฟ้อง เพราะว่าเหตุผลไม่พอ เหมือนกันเลย ถ้าเราไม่วิปัสสนานะ เราไม่เห็นกายกับจิต เราวิปัสสนาไม่ได้ ขันธ์ ๕ ที่ว่าขาดออกไปแล้ว ขาดออกไปแล้ว ขาดออกไปคือสังโยชน์ ๓ ตัวมันขาดออกไป เปลือกของชั้นบนมันหลุดออกไป เห็นไหม นี่เปลือกส้ม เนื้อส้ม ใยของส้ม

ใจก็เหมือนกัน มรรค ๔ ผล ๔ แต่ต้องวิปัสสนาล้วนๆ มันขาดด้วยปัญญา กิเลสขาด ขาดด้วยปัญญา ปัญญาในมรรคอริยสัจจังนี้หมุนออกไป แต่ก่อนที่กิเลสจะขาด มันไปขาดบนฟ้าบนอากาศที่ไหนล่ะ มันก็ต้องขาดที่ใจ ใจนี้มีกิเลสอยู่ใช่ไหม ใจนี้เป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ ใจนี้เป็นผู้ที่ปฏิบัติอยู่ ใจนี้เป็นผู้ที่จะออกจากกิเลสอยู่ นั่นน่ะ มันก็ต้องวกกลับมาที่ตัวใจเรา ศาลมันอยู่ที่นี่ไง ธรรมจักรเกิดจากเราวิปัสสนาของเราขึ้นมา ถ้าเราวิปัสสนาขึ้นมา นี่คือเรามีพร้อม

ถ้าเราไม่มีพร้อม มันยกขึ้นไม่ได้ ยกขึ้นไม่ได้เหมือนกัน นางวิสาขาตายไปพร้อมกับพระโสดาบัน ถ้าเป็นธรรมแล้วมันจะเป็นธรรมโดยอัตโนมัติ เป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็น มันมีสมถะแล้วมันจะยกขึ้นวิปัสสนาโดยธรรมชาติของมัน เป็นไปไม่ได้ ต้องใคร่ครวญหากายหาจิตเหมือนกัน

ผู้วิปัสสนากายแล้ว พิจารณากายซ้ำ สิ่งที่มันขาดไปแล้ว คือสังโยชน์ขาดไป กายนอกขาดไป กายในยังมีอยู่ กายใน กายในกาย แล้วกายบนสุด นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันขาดออกไปแล้วมันปล่อย สังโยชน์ขาดออกไปแล้ว แต่ในอุปาทานยังมีอยู่ไง อุปาทานของโสดาบันหมด แต่ลึกกว่านั้นน่ะ ที่ละเอียดกว่านั้นน่ะ จิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก มันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ความละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ การจะค้นคว้านี่สำคัญตอนค้นคว้า คว้าหาระหว่างกายกับจิต ถ้าค้นคว้าจับต้องได้ การจับต้องได้ การค้นคว้า การจับกายและจิตได้นี้เป็นผลงานอย่างมหาศาล การจะเข้าหาสิ่งใด เราเจอประตูทางเข้าถึงถูกต้อง ถ้าเราไม่เจอประตูทางเข้า เราก็หัวชนภูเขา สิ่งที่เราหัวชนภูเขาคือว่าชนกำแพง มันเข้าไม่ได้ การเข้าไม่ได้นั้นมันจะเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา

นั่นน่ะ ถ้าการเข้าไม่ได้ จิตนี้สงบอยู่ เราทำความสงบ สมถกรรมฐานนั่นแหละ สมถกรรมฐานก็เป็นขั้นๆ ตอนๆ เข้าไป ถ้าสมถกรรมฐานเป็นสมถะเป็นสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง เห็นเอง จะไม่มีพระอริยบุคคลติดอยู่ขั้นตอนใด จะผ่านพ้นไปได้เลยโดยอัตโนมัติ แต่นี่มันไม่ใช่ มันไม่ใช่ มันต้องก้าวเดินเป็นขั้นตอนขึ้นไป การก้าวเดินเป็นขั้นตอนเข้าไปต้องแสวงหาทางกายและใจไง

ถ้าพิจารณากายก็เห็นกายอีก เห็นกายซ้ำเข้าไป เห็นกายซ้ำ วิปัสสนา วิปัสสนาต้องกลับมาพักระหว่างสมถะกับวิปัสสนา พักกลับมาเรื่อย สมถะก็มีสูงชั้นๆ ขึ้นไป เพราะภาวะของใจสูง สูงขึ้นไป แต่สมถะเป็นพื้นฐาน แต่ภาวะของใจ วุฒิภาวะของใจ มันเป็นคนละขั้นคนละตอนขึ้นไป พุ่งขึ้นไป พิจารณากายก็พิจารณาซ้ำเข้าไปๆ พิจารณากายนี้เป็นสิ่งที่ว่าง่ายที่สุด จับต้องได้ที่สุด พิจารณาจิตนี้เป็นสิ่งที่ว่า เหมือนกับไปยืนอยู่บนกลางอากาศ แต่คนที่มีปัญญาต้องใช้วิธีการนั้น ก็วิปัสสนาเข้าไป ต้องจับต้องได้เหมือนกัน

การจับต้องได้นี่ขนพองสยองเกล้าทั้งนั้น รู้เลยว่าเราจับได้หรือจับไม่ได้ ถ้าจับไม่ได้มันเหมือนกับเราเอาหัวชนภูเขา ทำอะไรไม่ได้เลย จับ เหมือนสงบไปเฉยๆ นี่ว่าสงบนะ ถ้าไม่สงบนี่ใจมืด มันมืด มันเข้าไปไม่ได้ไง รู้อยู่ว่ากิเลสยังมีอยู่ รู้อยู่นะ ผู้ที่ผ่านขั้นผ่านตอนมายังไม่ถึงที่สุด รู้อยู่ว่าอันนี้เรามีอยู่ เรายังมีอะไรคาใจเราอยู่ แต่ทำไมเราไม่สามารถจะผ่านพ้นไปได้ล่ะ

ไม่ผ่านพ้นไปได้ เพราะเราไม่มีความรอบคอบพอ เราเชื่อตัวเอง เราโดนกิเลสหลอก กิเลสมันว่าสิ่งนี้ๆ ไง เวลามันสงบขึ้นมา มันเวิ้งว้างขึ้นมาว่าอันนี้เป็นผล อันนี้เป็นผล แล้วเราจะเทียบค่าว่าเป็นผลอย่างนั้น เป็นผลอย่างนี้ แต่ถ้าเราผ่านจากขั้นเข้าถึงกระแสของธรรมมา เราเห็นความขาดไป เห็นความหลุดออกไป เห็นสังโยชน์ขาดออกไป เรายังรู้เลยว่าสังโยชน์ขาดอย่างไรๆ

แล้วเวลามันขึ้นไปนี่มันไม่มีสังโยชน์ขาดออกไปจากใจเป็นชั้นๆ เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไร เวลาวิปัสสนาอยู่ เราจะไม่ให้กิเลสมันหลอก เราต้องมั่นใจในธรรม มั่นใจในธรรมพระพุทธเจ้า แล้วต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญเอง ใคร่ครวญให้เราลงใจว่า สิ่งที่ว่าเราว่าผ่านพ้นๆ มันจะผ่านไปตรงไหน ในเมื่อเราไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นมาเลย เราไม่มีสิ่งใดขาดออกไปจากใจเราเลย เราจะมีสิ่งใด เราจะได้มรรคได้ผลขึ้นมาได้อย่างไร

มรรคผลคือว่าสังโยชน์จะขาดเป็นชั้นๆๆๆ เข้าไป ขาดเป็นชั้นนะ

พอพิจารณากายกับจิตแล้วสังโยชน์อ่อนลง พิจารณากายเป็นธาตุเลยนะ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ใจจะแยกออกเลย พิจารณาจิตก็เหมือนกัน พิจารณาจิตถ้าจับต้องได้ พิจารณาจิต จิตนี้ไง จิตนี้อุปาทานยึดอย่างไร เพราะสังโยชน์ขาดออกไปแล้ว แต่มันยังมีอุปาทานอยู่น่ะ มันปล่อยนะ ถ้าปล่อยกายออกนะ จิตกับกาย สภาพของกายกับจิตมันจะมีไม่มีค่าเลย ขณะที่ปล่อยนี่ร่างกายนี้ไร้ค่ามาก ขยะแขยงมาก มันไม่มีค่าอะไรเลย แต่หัวใจหลุดออกไป ว่างออกไป พ้นออกไป นี่สังโยชน์อ่อนตัวลง กามราคะ ปฏิฆะ อ่อนตัวลงเฉยๆ กายกับจิตจะแยกออกจากกัน ความเห็นจริง อันนี้เป็นจิตล้วนๆ แล้ว จิตล้วนๆ เป็นจิตล้วนๆ

การยกฟ้อง ศาลฎีกา จากอุทธรณ์แล้วจะฎีกา ยกขึ้นศาลฎีกา ศาลฎีกามีเหตุมีผลพอจะรับฟ้องไหม การรับฟ้องนี่ไง จากสมถกรรมฐานยกขึ้นวิปัสสนากรรมฐาน ถ้ายกได้ ศาลฎีการับ ถ้ายกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับ ถือว่าสิ้นสุดจบกันที่อุทธรณ์นั้น ก็ได้แค่ ๒ ขั้น แต่ถ้ายกขึ้นฎีกาได้ อันนี้ยกขึ้นฎีกา จะไม่มี ทางศาลฎีกาก็ต้องไต่สวนละเอียดอ่อนเข้าไป

มหาสติมหาปัญญา จิตที่จะเห็นกามราคะ จิตที่จะเห็นเป็นอสุภะอสุภังไง อสุภะคือการพิจารณากาย กายนี้เป็นอสุภะโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมัน ถ้าผู้ที่เห็นยกขึ้นได้ คือเห็นจับกายได้ การจับกายได้มันจะหวั่นไหวไปทั้งฐานของน้ำแข็งนั้น ฐานของภูเขาจะหวั่นไหวหมด การจับได้นี่หวั่นไหวหมด การจับได้คือการเห็นกาย เห็นอสุภะอสุภังอันนั้นไง มันเป็นมหาสติมหาปัญญา มันไม่ใช่สติปัญญา เพราะมันเป็นจิตล้วนๆ มันเป็นตัวของกามภพอยู่แล้ว เป็นตัวของกาม

จากเราร่นระยะตัดร่นเข้ามาๆ เห็นไหม กิเลสอาศัยออกไป ความคิดออกไปยังขันธ์ ๕ ความคิดออกไปเป็นโลกเลย แล้วเราตัดรอนตัดทอนเข้ามา สั้นเข้าๆ สั้นเข้าไปมันก็ถึงตัวจุดหมายมากขึ้น ความเข้าไปถึงศูนย์กลางอำนาจ แรงต่อต้าน แรงจะหลบหลีกต้องมีมากกว่า นี่การพิจารณาจับกายได้ มันจะมีความสะเทือนเลื่อนลั่น แล้ววิปัสสนาไป วิปัสสนาตรงไหน? วิปัสสนาหมายถึงว่า ร่างกายนี้มันเป็นอสุภะอสุภัง มันอาบไปด้วยเลือด อาบไปด้วยความสกปรกโสมม เห็นไหม นี่วิปัสสนาเข้าไป แต่มันก็ยังย้อนกลับ พลังงานมันแรงขึ้นมาเราจะสู้ไม่ไหว สู้ไม่ไหวหมายถึงว่าวิปัสสนามันไม่ไป มันไปไม่ได้ วิปัสสนา ความคิดมันไปไม่ได้ มันจับไปไม่ได้ เราก็ต้องย้อนกลับมาพักอีก ย้อนกลับมาที่สมถกรรมฐาน แต่สมถกรรมฐาน ในขั้นของการวิปัสสนาอสุภะ

พิจารณากามก็เหมือนกัน ในการพิจารณากามของจิตน่ะ จิตพิจารณาเข้าไปก็เหมือนกัน พิจารณาเข้าไป พิจารณาเข้าไปว่ากามมันเป็นอย่างไร ขันธ์ ๕ ที่ว่าขันธ์มันขาดไปแล้ว ขันธ์ของกายมันขาดไปแล้ว แล้วขันธ์ของจิตล่ะ? ขันธ์ของจิตคือความคิดที่มันคิดปรุงได้ ความที่คิดปรุงได้นั้นน่ะมันก็ยังเป็นขันธ์อยู่ แต่เป็นขันธ์ละเอียดอยู่ในหัวใจนั้น วิปัสสนาเข้าไปมันจะขาดออก ระเบิดขาดออกไปเลย อสุภะก็เหมือนกัน นี่ศาลฎีกาตัดสินกัน

ศาลฎีกาได้ตัดสินแล้ว ประหารชีวิตกิเลส ประหารชีวิตอสุภะอสุภัง ประหารหมด ขันธ์ไม่มีในหัวใจ ความคิดไม่มีในหัวใจ มันควรจะจบ เห็นไหม มันต้องจบกันตรงนี้สิ เพราะฎีกาได้ตัดสินแล้ว แต่ฎีกาตัดสินแล้ว ยังถวายฎีกากับหลักประธานของประเทศได้ ถวายฎีกากับในหลวงได้ ผู้ที่ถวายฎีกาได้

ตอของจิตมันควรจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่มันสิ้นสุดไม่ได้เพราะมันละเอียดอ่อนมาก ตอของจิต ถ้าถวายขึ้นไป เราต้องทำเรื่องถวาย เราต้องยอมรับผิดนะ ผู้ที่มีความผิด ผู้ที่มีความถูกต้อง พอถวายแล้วก็ต้องถวายขึ้นไป ถ้าไม่ถวายก็จบ ถ้าจบตรงนี้ กามภพไง ขาดเลื่อนลั่น สังโยชน์ขาดไปอีก ๒ ตัว เห็นไหม กามราคะ ปฏิฆะขาดหมด นี่สังโยชน์เบื้องต่ำ

สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ตัว สังโยชน์เบื้องบนอีก ๕ ไง รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันเป็นเรื่องของนามธรรมทั้งหมด ไม่มีกายอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องเลย กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ รูปไง รูปของความคิด รูปของจิต ความว่าง อรูปราคะ มานะ ความถืออาการอันนั้น อุทธัจจะ มันเคยในตัวมันเองน่ะ อุทธัจจะนะ มันว่าศาลฎีกาตัดสินแล้ว ว่าง สบายใจ เห็นไหม อุทธัจจะ อวิชชา คือมันไม่รู้ตัวมันเอง

นี่ถ้ายกขึ้นวิปัสสนายิ่งยากเข้าไปใหญ่ จะยกขึ้นวิปัสสนานะ คือการจับต้องตัวได้มันตัดสินกันไปแล้ว จบสิ้นกันไปแล้ว มันอยู่ที่ไหนล่ะ ถ้ามีความรอบคอบ มีความรอบคอบถ้ายกได้ ยกวิปัสสนาได้ ก็เหมือนพระอานนท์ พระอานนท์สิ้นสุดแล้ววันสังคายนาเป็นพระอรหันต์ จบสิ้นจากกิเลสทั้งหมด เพราะว่าวิปัสสนาเต็มที่ วิปัสสนาจนพอแรงแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้แล้วว่าพระอานนท์จะสำเร็จเมื่อวันสังคายนา ทำไมมันไม่เป็นสักที ไม่เป็นสักที ทอดธุระปล่อยวาง พอปล่อยวางปุ๊บ เข้าเลย ปุ๊บเข้าก็สำเร็จคืนนั้น พระอานนท์เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

นี่ถ้าจับต้องตัวนี้ได้ ยกขึ้นวิปัสสนาได้ คือจับเหตุได้ไง จับเหตุคือจับสิ่งที่ผูกมัดอยู่ในใจได้ พอจับได้ก็หมดสิ้นกัน พอจับได้ก็ง่ายขึ้นมา พอจับได้ การจับต้องกิเลสสำคัญที่สุด การจับต้องอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาคือความไม่รู้กับความรู้ของใจเท่านั้น ใจที่เป็นนามธรรมนั้นรู้กับไม่รู้ เห็นไหม นี่พิจารณาอสุภะมาแล้ว ใครเป็นคนพิจารณาอสุภะอสุภังแล้วปล่อยวางไป ใครเป็นคนพิจารณากามราคะแล้วปล่อยวางไป

นี่ไง อาสเวหิ อาสวะอยู่ที่จิต อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ จิตดวงนี้พ้นออกไปจากกิเลส นั้นถึงจะเป็นธรรมไง นี่ไงธรรมอันนี้ถึงประเสริฐ ธรรมในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีวิหารธรรมอยู่ในหัวใจ ธรรมนี้ไม่เคยเสื่อม ธรรมนี้อยู่คงที่คงวา ธรรมอันนี้ถึงว่าประเสริฐในหัวใจของผู้ที่มีธรรมในหัวใจ ยังปรารถนาฟังธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกราบเคารพธรรมอยู่ตลอดเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสั่งสอน สั่งสอนสาวกมาตลอด สาวกขึ้นมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าป่วย ให้พระสวดสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือการก้าวเดินไง ธัมมวิจยะ วิจัยธรรม ความมีสติสัมปชัญญะ ศีล สมาธิ ปัญญา ทางก้าวเดิน

ถ้าเรายังมีทางก้าวเดินกันอยู่ มันจะมีหัวใจ หัวใจที่เข้าถึงธรรมได้ไง หัวใจที่สัมผัสกับธรรมอันนั้นขึ้นมาได้ แล้วพอเข้าไปสัมผัสแล้วยังเคารพในธรรม ยังธมฺมสากจฺฉา ยังคุยธรรม ยังมีวิหารธรรมเพื่อสนองกันเพื่อความสุข แล้วเราผู้ปฏิบัติล่ะ ผู้ที่ปฏิบัติ ฉะนั้นถึงว่าอยู่ตรงไหน อยู่ตรงไหนของศีล สมาธิ ปัญญา...ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นทางก้าวเดิน เราก้าวเดินแล้วใจของเราอยู่ตรงไหนมีพื้นฐาน พื้นฐานของใจของเราที่จะก้าวถึงไง คือพื้นฐานของใจ

พื้นฐานของใจ เรายอมรับความจริง ต้องยอมรับความจริงนะ แล้วถึงจะจับต้อง ถึงจะยกขึ้น ถ้าไม่ยอมรับความจริงนั้นคือกิเลสหลอก ความจริงเราอยู่ตรงไหนต้องตรงนั้น ถ้าเราไปคาด เราหมาย เราไปให้ค่าก่อน พอให้ค่าก่อนนี่มันไปตาม หลงทางไง เราตั้งใจเดินไปบนถนน ตรงแน่วเข้าสู่ธรรม แต่กิเลสบอกว่านั่งอยู่เฉยๆ แล้วจะถึงธรรม นั่งอยู่ตรงหัวถนนนั้นน่ะ ธรรมมันจะมาหาเราเอง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราหลง ก็เราอยู่บนหัวถนนนั้นน่ะ แล้วเรายังไม่ได้ก้าวเดินเข้าไปเลย แล้วว่ามันจะเป็นธรรม มันจะเป็นธรรม แล้วมันจะเป็นธรรมมาจากไหนล่ะ

ถึงว่าสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ถึงสำคัญตรงนี้ไง ถึงเน้นย้ำว่า ครูบาอาจารย์สอน สอนแต่กาย ส่วนใหญ่สอนเรื่องกายมา มันจับต้องง่าย ทีนี้ว่าสอนเรื่องกายก็เป็นเรื่องกาย สอนเรื่องจิต เพราะจิตก็อยู่กับกาย เพราะจิตกับกายอยู่ด้วยกัน จะทางใดก็ได้ จะทางกายก็ได้ จะทางจิตก็ได้ แต่ต้องเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม

กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ ฐานทั้ง ๔ ที่จะควรแก่การงาน ใครเป็นผู้ที่ทำงานนั้น? คือหัวใจของผู้ที่มีกิเลสเต็มหัวใจทั้งนั้นน่ะ หัวใจของผู้ที่มีกิเลส แต่เชื่อในธรรม ในอริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สละตนขึ้นมา ยอมตนมาประพฤติปฏิบัติ ยอมตน กิเลสมันก็ต้องเสียใจหน่อยหนึ่งแล้ว ยอมตนไง ถ้าอยู่กับกิเลส เห็นไหม อยู่กับกิเลสคืออยู่แต่ความพอใจของมันตลอด ให้มันเป็นเจ้านาย มันอยากมันต้องการสิ่งใดก็วิ่งเต้นเผ่นกระโดดตามแต่กิเลสจะตามไป

แต่ในเมื่อยอมทำ เชื่อในอริยสัจ เชื่อในสติปัฏฐาน เชื่อในงานที่ควรแก่การงานไง ยอมตัวเองจากความที่สะดวกสบาย เคยสะดวกสบายอยู่ของตัวตามความเคยชินเดิมของตัว ต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เห็นไหม มีศีลก่อน ศีลที่สะอาด ศีลที่บริสุทธิ์ ศีลที่ควรแก่การงาน

ควรแก่การงาน “ควร” ควรหมายความว่าไง ถ้าศีลบริสุทธิ์ ทำสมาธิมันจะมีความปลอดโปร่ง ทำสมาธิมันจะมีความพอใจ ทำสมาธิแล้วมันไม่กังวล เห็นไหม นี่ควรแก่การงาน ถ้าไม่ควรล่ะ ถ้าไม่ควร ศีลนั้นไม่บริสุทธิ์ นั่งสมาธิแล้วมันก็กังวลไง เราทำผิดสิ่งนั้นไว้ เราทำผิดสิ่งนี้ไว้ พระถึงว่า ถ้ามีศีลไม่บริสุทธิ์ รีบปลงอาบัติ อาบัตินั้นปลงไปแล้วคือเราจะเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่ผิดพลาดไปวางไว้ตรงนั้น แล้วสิ่งที่จะเริ่มต้นใหม่ นี่ศีลควรแก่การงาน สมาธิควรแก่การงานล่ะ มีศีลแล้วถึงมีสมาธิ สมาธิควรแก่การงาน สมาธิที่ออกจากอุปจารสมาธิ เห็นไหม ควรแก่การงาน สมาธิที่บริสุทธิ์มันเป็นสัมมาสมาธิ

ในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ถ้าเราทำเป็นกสิณน่ะควรแก่การงานไหม? ควรแก่การงานของการมีฤทธิ์มีเดช ควรแก่การงานของการรู้วาระจิต ควรแก่การงานของการส่งไป ไม่ควรแก่การงานของการชำระกิเลส

ต้องควรแก่การงานของการชำระกิเลส ถึงเป็นสมถกรรมฐาน เป็นสมาธิไง ควรแก่การงานเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิยกขึ้นเป็นปัญญา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่ชำระกิเลส กับปัญญาที่เห็นแก่ตัว ปัญญาที่จะเอาสะดวกสบาย ปัญญาที่ก้าวเดินที่ว่า ถึงหัวถนนแล้วว่าเป็นธรรมแล้ว นั่นก็เป็นปัญญา แต่ปัญญาของกิเลสหลอกใช้ ปัญญาของกิเลสหลอกใช้กับปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา ไม่ใช่เป็นปัญญาของเรา ถ้าเป็นเรา เรากับกิเลสมันยังแบ่งยังแย่งกันอยู่

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา เป็นธรรมจักร เป็นธรรม เป็นกลาง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ผ่านพ้นไปก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีตรงนี้ไง ถึงมีบุพเพนิวาสานุสติญาณ จตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ เห็นไหม วิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดจากปัญญาอันนี้ไง ปัญญาที่เป็นภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ปัญญาการใคร่ครวญ ปัญญาการตรึก ปัญญาการคาดหมาย

การคาดการหมายอันนั้นโดยธรรมชาติของมันต้องมีกิเลสหลอกใช้ เพราะกิเลสอยู่ในหัวใจโดยพื้นฐาน กิเลสมันมีอยู่แล้วในหัวใจของทุกๆ ดวง มันเป็นอวิชชา มันไม่รู้ตัวมันเองหรอก ถ้ามันรู้ตัวมันเอง มันต้องมีธรรมสิ เห็นไหม ถึงว่าเป็นกิเลสหลอกใช้ เพราะอวิชชาอยู่ในใจของทุกๆ ดวงที่มีการเกิดการตายขึ้นมา มันต้องมีอวิชชาเป็นตัวพาเกิด อวิชชาถึงเป็นพื้นฐานของความคิดอันนั้น ความคิดอันนั้นถึงว่า ถ้าคิดอันนั้นถึงว่าเป็นเรา ถึงเป็นไม่ใช่เรา

ภาวนามยปัญญานี้เป็นธรรมจักร ธรรมจักร จักรนี้เป็นกลาง ธรรมนี้เป็นกลาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้หรือไม่มาตรัสรู้ ธรรมอันนี้ก็มีอยู่ดั้งเดิม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีบารมี มีอยู่ดั้งเดิมแต่ลึกซึ้งกว้างขว้างจนไม่มีใครสามารถจับต้องได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วค้นคว้าออกมา เพราะสร้างสมบารมีเป็นพุทธภูมิมา เป็นพระโพธิสัตว์ จะมาเพราะโพธิญาณนี้ แล้วค้นคว้าเจอ แล้วจึงเสวยธรรมอยู่ในหัวใจ เต็มเปี่ยมในใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน

วิมุตติสุขในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีความสุขมาก แล้วก็เผยแผ่ไง ชี้ทางจะให้ลูกศิษย์ บริษัท ๔ ให้ก้าวเดินตาม แล้วเราก็เกิดมาพบพุทธศาสนา อำนาจวาสนาอันนี้ถึงมหาศาล

อำนาจวาสนาของคนอื่น อำนาจวาสนาเขาต้องไปแสวงหามา อำนาจวาสนาของเรา อยู่ในกำมือไง อยู่ในกำหัวใจ หัวใจปรารถนา หัวใจรู้ หัวใจเข้าใจ พอเข้าใจเรื่องธรรม เข้าใจเรื่องธรรม ถึงยอมตัวลง ถึงว่าให้เห็นคุณค่าของตน ให้เห็นคุณค่าของความตั้งใจของเรา ให้เห็นคุณค่าไง เห็นคุณค่ามา เห็นคุณค่าเราแล้ว แล้วยังได้มาฟังธรรม ธรรมนี้ได้ฟังแสนยาก การฟังธรรมมีโอกาสน้อยมาก การฟังธรรม เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มา (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)