ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เทศน์หลังฉันจังหัน

๒๘ ก.ย. ๒๕๕๑

 

เทศน์หลังฉันจังหัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราพูดถึงเรื่องสตินะ เรื่องสติเรื่องสัมปชัญญะ เวลาปฏิบัติ สติ เริ่มต้นปฏิบัติ สติ โดยธรรมชาติเราเกิดเป็นมนุษย์ เราต้องพูดถึงสถานะก่อน สถานของมนุษย์มันต้องมีสมาธิ มีสติ สมาธิมันเกิดจากสติ ถ้ามันมีสติปั๊บ มันต่างจากคนบ้า คนบ้านี่นะ เหมือนเราเลย ร่างกายพร้อมสมบูรณ์ ยิ่งคนบ้านะ ตำรวจบอกว่าเขาจับใครก็ได้ เขาไม่ค่อยจับคนบ้านะ คนบ้าสิ ถ้าคนไปจับมัน มันสะบัดทีเดียวเท่านั้นน่ะ เราล้มเลยล่ะ คนบ้าแรงมาก เพราะว่าเหมือนกับเรา สังเกตได้ไหม เวลาบ้านเราไฟไหม้ ตู้เย็นหรือตู้เซฟใหญ่ขนาดไหนก็แบกได้ เวลามันปล่อยฟรีหมด คนบ้ามันเป็นอย่างนั้นน่ะ แรงมันถึงเยอะมาก แต่พอแบกไปแล้วนะ พอไฟมอด จะแบกกลับ แบกกลับไม่ไหวนะ แต่เวลาไปมันขาดสติ เพราะเรามีสติ

ทีนี้คำว่า “สติ” สติ พอมีสติ มีสมาธิ สามัญสำนึกของมนุษย์ก่อน มนุษย์มันต้องมี แล้วดูอย่างที่ว่า อย่างสัตว์ พวกเสือ พวกแมวที่ว่า สติมันจะดีมากเลย สัตว์บางชนิด สถานะของมนุษย์ก็เหมือนกัน มันมีสติ สติโดยสามัญสำนึก มีสติสมาธิ คนมีสติดี คนสมาธิดี คิดทำธุรกิจหรือทำโครงการอะไรต่างๆ มันจะไม่มีใครหลอกได้ง่ายๆ หรอก แต่บางคนเชื่อคนง่าย อ่อนไหวมาก นี่มันอยู่ที่พื้นฐานการสร้างบุญกุศลกันมาทั้งนั้นน่ะ เขาไม่ได้มองกันตรงนี้นะ มองคนเหมือนคน แต่ไม่ใช่นะ คนเหมือนคน แต่จิตใจมันไม่เหมือนกัน ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกัน

ทีนี้พอเราศึกษาเรื่องศาสนา สติเรามีอยู่แล้ว แต่สติอย่างนี้มันเป็นโลกียปัญญา คือมันเป็นสติเรื่องโลกๆ ไง โลกกับธรรม โลกกับธรรม ทีนี้ธรรมะ สติมันต้องเพิ่มมากขึ้น ความจะมีสติมันแบบว่า ดูสิ ดูอย่างเราตั้งใจทำอะไร เราจะระวังตัวเต็มที่เลย ความผิดพลาดก็น้อย แต่เราไประวังเรื่องนามธรรม ไประวังเรื่องจิตนะ ไประวังเรื่องจิตไม่ให้มันวับแวบออกไป สติมันต้องมากขึ้นกว่านั้นน่ะ ทีนี้เราก็ไปคิดกันว่าเราก็มีสติกันอยู่แล้ว แล้วพอมีสติไป เขาบอกว่าสติไม่ต้องฝึก มันจะเป็นเอง

มันเป็นเอง มันจะเป็นเองเหมือนกับต้นไม้สิ ต้นไม้ ดูสิ อย่างหญ้าไม่ต้องไปปลูกมันหรอก หญ้า พอมันมีเชื้อความชุ่มชื้น หญ้ามันก็ขึ้นแล้ว มันเป็นธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเป็นผลไม้ เป็นอาหาร โอ้โฮ! ดูข้าวสิ ต้องไถต้องหว่าน ต้องทำกันตลอดเวลา

คุณธรรมก็เหมือนกัน สติก็เหมือนกัน มันจะอยู่เฉยๆ มันจะเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นเองมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นวาสนา ดูสิ บางคน “ทำไมคนอื่นต้องไปวัดวะ กูอยู่บ้านกูก็ทำได้ กูอยู่บ้านกูก็ดี”

มันดีโดยสัญชาตญาณ มันดีโดยบุญกุศลที่มันสร้างมานะ แต่พอมันจะดีเข้าอริยภูมินะ เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย มันเป็นไปไม่ได้เป็นเพราะอะไร เป็นไปไม่ได้เพราะว่า สิ่งที่มันเป็นมันเป็น คำว่า “สามัญสำนึก” มันเหมือนกับนกก็บินได้ใช่ไหม นกก็บินได้ ปลาก็อยู่ในน้ำ ก็ธรรมดา ถ้าเรามีสามัญสำนึกมันเป็นอย่างนั้นไง ที่มันจะเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร

เพราะอย่างเช่นเรานี่นะ เราจะจินตนาการเรื่องสวรรค์สิ เราจินตนาการเรื่องนรกสิ เราจินตนาการได้หมดนะ เพราะจิตมันเคยไป แต่มันจินตนาการโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จินตนาการไม่ได้หรอก แล้วพอทำไปนะ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา จินตมยปัญญา จินตนาการ จินตนาการนี้สำคัญมากนะ เพราะจินตนาการเหมือนกับเราตั้งเป้า เราสร้างโครงการแล้วพยายามทำให้ถึง คำว่า “จินตนาการ” แต่ถ้ามันไม่เป็นภาวนามยปัญญา มันเป็นไปไม่ได้

ทีนี้ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างไร พอเป็นอย่างไรก็กลับมาตรงสติแล้ว สติ ที่ว่าสติมันสามัญสำนึก สติมันดี คนสติดีมันก็ทำงานเรื่องโลกๆ แต่ถ้ามันจะเข้าถึงสมาธิ ทีนี้ที่เราสะเทือนใจ แม้แต่พระนะ ไปคุยกับพระ พระก็ยังบอกว่าสมาธิก็เป็นอุเบกขา มันมีอุเบกขามีอะไร

บอกมันไม่ใช่หรอก เพราะสมาธินะ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่นหนึ่งเดียว มันจะเป็นอุเบกขาได้อย่างไร มันหนึ่งนะ หนึ่งที่รู้อยู่ หนึ่งเดียว หนึ่งไม่มีสอง ไอ้เรานี่สองนะ ความคิดกับเราเป็นสอง แล้วถ้ามีอุเบกขามันเป็นอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง มันจะเป็นหนึ่งได้อย่างไร

ทีนี้พอมันพูดอย่างนั้นมา มันบอกอยู่ในตำราล่ะ ถ้ามันมีอยู่ในตำรานะ มันก็ย้อนมาปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เราก็เห็นว่ามันเป็นอารมณ์ความรู้สึกต่อเนื่องกันไป แต่พอเวลาเราปฏิบัติมันเกิดพร้อมกัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าในตำราว่ามีอุเบกขามีอะไร มันก็เป็นตำรา ตำราพระพุทธเจ้า มันเป็นพุทธวิสัยไง ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าในสมาธิมันต้องมีตัวตั้งมั่นตัวยืนอยู่ที่เป็นอุเบกขา ทีนี้ถ้าเป็นอุเบกขา ตัวนี้ปั๊บ พอเราคิดอย่างนั้นปั๊บ อุเบกขา เราก็จะไปไม่รับรู้อะไร คือจะให้จิตเป็นอุเบกขา จิตเป็นอุเบกขาคือมันไม่ส่งออกนะ อุเบกขาคือว่ามันเหมือนพบอุเบกขาคือมันปล่อยวาง ทีนี้มันปล่อย อุเบกขาคือว่ามันเฉยอยู่ อุเบกขารับรู้แล้วเฉยอยู่ แต่สมาธิถ้ามันเป็นของเรานะ สมาธิมันจะรู้อยู่ สักแต่ว่ารู้ขนาดไหนมันจะรู้ของมันอยู่ มันไม่ใช่อุเบกขานะ

ทีนี้เราจะบอกว่า พวกเรานะ สาวกสาวกะเราจะไม่รับรู้อารมณ์อย่างนั้นได้ ทีนี้พอมันไม่รับรู้อย่างนั้นได้ปั๊บ เราจะไปสร้างอารมณ์อย่างนั้น เพราะว่าในสมาธิมีอุเบกขา มีอะไรด้วยนะ เขาว่าอารมณ์อย่างนั้น แต่ว่าเรามาเอาตรงนี้ว่า หนึ่ง เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น จิตมันต้องมีสภาวะที่ละเอียดกว่านั้น ทีนี้พอสติมันรับรู้เข้ามา ทีนี้พอมันที่ว่ามันยังคิดได้ มันเป็นสอง เพราะตัวจิตคือตัวคิดใช่ไหม พอคิดขึ้นมา เราไม่มีสติแล้ว เราขาดสติแล้ว

บางทีถ้าเวลาคิดอยู่ ตอนนี้มีสติแล้ว แต่ก่อนคิดสิ ไอ้นี่ไม่ใช่หลับแล้วหรือ มันจะหลับตอนนั้นล่ะ มันจะช่วงที่มันก่อนมาถึงนั่นล่ะมันอาจจะเผลอไป พอมันเผลอไป พอสติขึ้นมามันก็เตือน เราไม่ใช่หลับไปแล้วหรือ พอบอกเราไม่ใช่หลับไปแล้วหรือ นี่ไม่หลับแล้ว เพราะมันกระตุกความคิดเราออกมาแล้ว พอกระตุกความรู้สึกมันชัดเจน มันจะหลับได้อย่างไร แต่ก่อนหน้านั้นสิ ก่อนที่จะคิด เออ! เราถึงบอกว่า ๕๐-๕๐ ไง

๕๐-๕๐ คือว่าถ้ามันจะหลับ มันหลับก่อนหน้าจะคิด แต่ขณะที่คิดว่านี่เราหลับแล้วหรือ เรากำลังจะหลับ เราทำแล้วไม่มีสติ ไอ้นี่ไม่หลับเด็ดขาด เพราะนี่คือความคิดมันชัดเจน ความคิดว่าเราหลับแล้วหรือ เราจะหลับอะไรอย่างนี้ มันเป็นความคิด มันตื่นตัวตลอดเวลา มันตื่นตัวแล้ว แต่ถ้ามันจะหลับ มันหลับก่อนหน้านั้น หลับก่อนที่เราจะรู้สึกตัวขึ้นมา เวลามันอาจจะหายไป แต่กรณีอย่างนี้แล้ว พอมีสติปั๊บ พอมีความคิดเกิดขึ้นมาปั๊บ เราจะอยู่ปกติอย่างนี้ไป ไม่มีปัญหา คือปัจจุบันไง ถ้าเราจะคิดย้อนไปนะ มันเป็นอดีตมา อดีตมันแก้ไขไม่ได้นะ ถ้าอดีตมันเป็นประวัติศาสตร์เลยนะ อย่างเช่นเราชาติที่แล้ว ชาติแต่ก่อน ที่นี้คำว่า “ชาติที่แล้ว” เราพูดอย่างนี้บ่อยมาก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคำว่า “ชาติที่แล้ว” ชาติต่างๆ ที่มันมาเป็นเรา มันเป็นบุญเป็นกรรมที่สร้างมา คือมันเป็นวิบากที่จะให้ผลในปัจจุบันนี้ แล้วเราจะไปเสียใจทุกข์ใจทำไม เราจะไปเสียใจทุกข์ใจกับอารมณ์ความรู้สึกในปัจจุบันนี้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เป็นปัจจุบันมันเป็นผล มันเป็นวิบากที่เราสร้างมาจากตั้งแต่ จะบอกว่าอดีตชาตินั่นแหละ

ทีนี้พออดีตชาติมันสร้างมาแล้วมันก็มาเป็นปัจจุบันนี้ พอมันเป็นปัจจุบันนี้ เราก็จะมาเสียใจ จะมาตกใจ...ไม่ใช่หรอก ประสาเรานะ เราจะพูดบ่อย พูดว่า มันเป็นผลไม้แต่ละชนิด เงาะ มะม่วง ทุเรียน ลำไย คนละชนิด อะไรก็ได้ที่มันใช้ประโยชน์ได้ คือว่าอารมณ์ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นมาในปัจจุบันนี้ เราทำตบแต่งให้มันดีขึ้น เราไม่ใช่ไปเปลี่ยนว่า จะเอาลำไยไปเป็นทุเรียน จะเอาทุเรียนไปเป็นเงาะ ก็ไปนั่งก่ายหน้าผาก แล้วมันทำไม่ได้หรอก

ในปัจจุบันนี้คืออะไร มันเป็นวิบาก เป็นผล คือว่าเราเกิดมาในชาตินี้ อย่างเช่น โทษนะ อย่างผู้หญิง ผู้ชาย เราก็เกิดมาเป็นผู้หญิง เขาเกิดเป็นผู้ชาย แล้วทำไมจะมาเสียใจทำไมล่ะ ก็ในเมื่อเราเกิดมาแล้วใช่ไหม จิตก็เหมือนกัน เราเกิดมาแล้ว เราเป็นอย่างนี้แล้ว มันจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นผลในปัจจุบันนี้ ธรรมะแก้กันที่นี่ไง ธรรมะแก้กันปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้เราจะอยู่ในสถานะ ใด อย่างเช่นในครอบครัวด้วยนะ ในครอบครัว พี่น้อง ๓-๔ คน มันจะทำอะไรกันไม่ได้หรอก ก็พี่น้องมันมากัน ๓-๔ คนนะ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้

แล้วอย่างที่เขามา มันมีบางครอบครัวมาพูด มีพี่กับน้อง แล้วพี่เรียนเก่ง แล้วน้องเรียนไม่ค่อยเก่งนะ แล้วพ่อแม่ก็ว่า “ทำไมไม่ทำเหมือนพี่ ทำไมไม่ทำเหมือนพี่ ทำไมพี่ทำได้ๆ” เขามาหาเรานะ เขาเสียใจมาก พอถึงวันนั้น เขาไปเรียนวิศวะหรือเรียนอะไร แล้วมันแบบว่ามันไปซ่อม แล้ววันนั้นจะไปส่งข้อสอบ แล้วแม่ก็ยังพูดอย่างนี้อีกนะ มันก็บอกว่า “แม่ แม่เอาข้อสอบส่งให้ทีนะ” ขนลุก “แม่เอาข้อสอบไปส่งให้ครูที” แล้วมันเปิดหน้าต่างนะ คอนโดมิเนียม มันวิ่งพุ่งลงไปเลยนะ โอ้โฮ! พ่อแม่ช็อกเลยนะ ก็พูดคำนี้บ่อยไง “ทำไมพี่ทำได้ ทำไมพี่ทำได้ ทำไมไม่ทำเหมือนพี่” พี่เรียนเก่ง ไอ้น้องมันก็เครียด แล้วพอถึงเวลาแล้ว วันนั้นก็ไปเยี่ยมลูก ตายต่อหน้าเลยนะ โดดลงไปต่อหน้า ต่อหน้าเลย โอ้โฮ! พ่อแม่ช็อกเลย เสียใจจนแบบว่าจะบ้า นี่พ่อแม่รักไหม รัก พูดออกไปด้วยความไม่ได้คิดไง ก็ลูกเรา คิดอย่างนั้นไง ก็เขามานั่งร้องไห้กับเรา เขาบอกว่าเขานึกไม่ถึง ทีนี้เพื่อนเขามาด้วย บอกเวลาพูด ถ้าพูดอย่างนี้ “ทำไมพี่ทำได้ ทำไมพี่ทำได้”

นี่จะบอกว่าเราเกิดในสถานะไหน เราเกิดเป็นพี่เป็นน้องกัน เราเกิดมามันจะอยู่กันไปอย่างนี้ เราต้องยอมรับ เราต้องยอมรับ นี่คือผลของกรรม นี่เรื่องในครอบครัวนะ

ทีนี้ถ้าเรื่องในหัวใจล่ะ เรื่องในหัวใจ เวลาภาวนาไป เราเองนะ เราคนเดียวแล้ว ไม่ใช่พี่น้องแล้ว เราคนเดียวเลย ทีนี้เราคนเดียว คิดอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น จะย่นเข้ามาแล้ว ไม่ใช่พี่น้องเรานะ นี่เฉพาะเรื่องในหัวอกเราคนเดียวแล้วนะ มันไม่เป็นอย่างที่เราคิดเลย ทำไมเราไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมเราไม่เป็นอย่างนี้ ทำไม

ถ้ามันไม่เป็น อย่างเรา เราเคยเป็นอย่างนี้มาเหมือนกัน เคยเป็น หมายถึงว่า ทุกคนมีกิเลสเหมือนกัน เราไปอยู่ในป่าก็คิดอย่างนี้ แม่อย่างนั้น ห่วงคนนู้น ห่วงคนนี้ ห่วงไปหมด จริงๆ แล้วมันห่วงตัวมันเอง แล้วพอเราเอาปัญญามันไล่ทัน มันขำนะ เพราะก่อนบวชมันก็เที่ยวหัวราน้ำเหมือนกัน กลับบ้านตี ๑ ตี ๒ ไม่ตี ๒ เข้าบ้านไม่ได้ มันถามตัวเองว่า เมื่อก่อนบวช มึงทำไมไม่ดูแม่มึง มันถามตัวเอง เวลาปัญญามันทันนะ มันจะถามเลยล่ะ แล้วเมื่อก่อน ก่อนที่มึงจะบวช มึงเคยดูพ่อแม่มึงไหม พอไปอยู่ในป่า มึงรักพ่อรักแม่มึงน่าดูเลย เป็นห่วงไปหมดเลย แล้วสมมุติถ้ากลับไปอยู่บ้าน มึงจะดูพ่อแม่มึงอีกไหม มันก็ทำไม่ได้ นี่ความคิด กลับมาที่นี่ ถ้าความคิดปั๊บ ถ้าเราเอาปัญญามันทันนะ พอทันอย่างนั้นปั๊บนะ มันเอาตัวเองอยู่แล้ว พอเอาตัวเองอยู่นะ มันอยู่ในป่าก็อยู่ได้ มันคิดขนาดนี้นะ เวลามันเดินจงกรมอยู่ โอ้โฮ! เวลาเราพลัดพรากไปนะ เราจะคิดถึงทุกๆ คน แล้วพอมันทันขึ้นมา เวลาปัญญามันทันแล้วนะ มันคิดขึ้นมาอย่างนี้เลยนะ

สมมุติว่าในปัจจุบันที่เราอยู่ป่าอยู่นี่ ถ้าแม่เราเป็นอะไรไป แล้วกว่าเราจะรู้มันก็เป็นเดือนนะ กว่าเขาจะสืบว่ามึงอยู่ที่ไหน เพราะมันไปอยู่ในป่า ไม่ใช่อยู่วัดนะ มันไปเรื่อยๆ ใครเขาจะสืบได้อย่างไรว่ามึงอยู่ที่ไหน แล้วกว่าจะตามทันนะ คือว่าโทษนะ งานศพงานอะไรเสร็จหมดแล้วมึงยังไม่รู้เลย นี่ข้อเท็จจริง พอมันคิดอย่างนี้ได้นะ มันก็ไม่มีอะไร แต่ถ้ามันคิดไม่ได้นะ มันห่วงไปหมดเลย นี่เวลาปัญญามันไม่ทันนะ เพราะเรามันคิดอดีตอนาคตมันมาเทียบกับปัจจุบัน แล้วก็เสียอกเสียใจนะ น้อยเนื้อต่ำใจๆ

จริงๆ แล้วไม่ต้องน้อย เพราะอะไรรู้ไหม นี่ไง จับไปสิ ร่างกายมนุษย์เรา มนุษย์สมบัตินี่อริยทรัพย์ อริยทรัพย์จริงๆ เพราะในพระไตรปิฎกนะ เปรียบจิตเหมือนเต่าตาบอด มันอยู่ในทะเล แล้วมันก็มีห่วงห่วงหนึ่ง แล้วเวลามันอยู่ในน้ำ มันโผล่ขึ้นมา ถ้าวันไหนมันโผล่ขึ้นมาในห่วงนั้นได้เกิดเป็นมนุษย์

การเกิดเป็นมนุษย์นี่เสี่ยงขนาดนั้นนะ แล้วเราบอกว่าทำไมมนุษย์ มีคนถามบ่อย เมื่อสมัยเราเรียน ๑๖ ล้าน คนไทย ท่องได้แม่นเลย ประชากรเมืองไทย ๑๖ ล้าน เดี๋ยวนี้ ๖๐ ล้านมันมาจากไหน ทุกคนถามอย่างนี้หมดนะ ๖๐ ล้านมาจากไหน

ทีนี้เราย้อนกลับไปสิ มันน่าสังเวชนะ ดูอย่างการประมงวันหนึ่งเท่าไร แล้วดูปลาตัวหนึ่งเวลามันวางไข่สิ เท่าไร แล้วดูมด ดูปลวก จิตนี้มหาศาลเลย แล้วมันไม่ได้เกิดเป็นคน มันไม่ได้เกิดเป็นคนเท่านั้น เราได้มาเกิดเป็นคน มนุษย์สมบัติไม่ใช่ของได้มาง่ายๆ นะ แต่เวลาเราคิดเสียใจขึ้นมา เราทำร้ายตัวเองเลย นี่ไง ฆ่าตัวตายมันถึงบาปยิ่งกว่าฆ่าคนอื่นตาย เพราะการฆ่าคนอื่นตาย เราไปยิง ไปทำลายเขา ฆ่าตัวเอง เราทำลายตัวเราเอง นี่มนุษย์สมบัติไง มนุษย์สมบัติเกิดได้ยาก ทีนี้พอเกิดมาได้แล้ว พอเกิดมาแล้ว มนุษย์สมบัตินี่สุดยอดเลย

ทีนี้พอเวลาปรมัตถธรรม มันเป็นสมมุติอีกแล้ว ปรมัตถธรรมนะ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา แต่เพราะมันต้องได้มาก่อนมันถึงได้มาค้นคว้า ถ้าเราไม่ได้ร่างกายมา เราเป็นสัตว์ เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราเป็นเทวดาเราก็ไม่คิด ประสาเรานะ เทวดากับมนุษย์คิดต่างกัน เทวดามันคงงงเนาะ เอ๊! มนุษย์ทำไมต้องกินข้าววะ ทำไมมนุษย์มันต้องถ่ายด้วย ทำไมกูไม่ต้องทำ มันก็ไม่มีสถานะ คือว่ามันพิจารณากายไม่ได้ไง ก็มันไม่มีกายให้พิจารณา

ไอ้เราก็คิดว่าเทวดามันกินอาหารอร่อยเนาะ อาหารอร่อยต้องเหมือนอาหารของเรา หูฉลามหูเฉลิม โธ่! เขากินวิญญาณาหาร เขาไม่กินวัตถุอย่างนี้หรอก เราก็ไปคิดกัน เห็นไหม เราขำมากนะ โอ๋ย! ใส่น้ำนะ ถ้าไม่ได้ใส่น้ำเดี๋ยวตายไปแล้วไม่มีน้ำกิน...มึงจะเอาน้ำนี้ไปกินบนสวรรค์หรือ มันก็คิดกันไป นี่ความคิดของโลก

ทีนี้ความคิดอย่างโลกมันเป็นอย่างนั้น มนุษย์สมบัติมันไปบีบคั้นนะ มันไปบีบคั้นว่า กระเพาะอาหารเรา ร่างกายของเรา ลองนั่งสิ นั่งนานๆ ปวดเมื่อยแล้ว โธ่! คนบอกว่าอยากนอนอยากสบาย อ้าว! มึงนอนตลอดชีวิต นอน ๒๔ ชั่วโมงมันก็นอนไมได้แล้ว ๔-๕ ชั่วโมงมันขยับแล้ว ไม่มีใครนอนได้ตลอดหรอก เราไปคิดกันเองว่านอนนี่จะสบาย ถ้านอนสบายนะ เจ้าชายนิทรามันต้องสบายสิ ทำไมเจ้าชายนิทรามันไม่ยอมเป็นล่ะ

โธ่! นอนกดทับนะ เนื้อเน่าหมดเลย พอนอนกดทับเท่านั้นล่ะ ทุกอย่างเสียหายหมดเลย มันต้องพลิก อยู่ไม่ได้หรอก มันอยู่ของมันไม่ได้ แต่อยู่อย่างนี้ เกิดขึ้นมาถ้ามีสติปั๊บ เราจะมีการค้นคว้า ปัญญาพระพุทธเจ้าสำคัญมาก เพราะเห็นสภาวะแบบนี้ เห็นเรื่องของกาย แล้วมันติด มันติดนะ ทุกคนจะไปติด ติดว่านี่เป็นสมบัติของเราแล้วพยายาม

สมบัติของเราจริง จริงๆ ด้วย เวลาเราโต้แย้งกับผู้ที่ภาวนา เขาเรียกว่ามันเป็นกามสุขัลลิกานุโยคก็ได้ คือว่าพิจารณา พอเริ่มต้นพิจารณา กายไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา คือสูตรสำเร็จมาก่อนไง ศึกษาธรรมะมาว่าสรรพสิ่งก็ไม่ใช่เรา แล้วก็ตั้งขึ้นมาเลย ไม่ใช่เรา พยายามคิดว่าไม่ใช่เรา ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มันสักแต่ว่า

ความจริงต้องเป็นเราก่อน เป็นเราจริงๆ นะ ถ้าไม่เป็นเราจริงๆ กินข้าวทำไม ทำบุญทำไม ทำบุญ ทำบุญนี้เป็นของเราไหม ทำบุญนี้ใครเป็นคนทำ เราเป็นคนทำบุญนะ บุญของเรานะ แล้วเอ็งไม่ได้ทำก็ไม่ใช่ของเอ็งนะ

ทีนี้ เอ็ง หมายถึงว่า เราใช่ไหม ตัวเราทำใช่ไหม ตัวเราทำมันเป็นตัวเราทำ ทีนี้ตัวเราทำ เราตายไป จิตของเราเป็นคนทำ มันก็ลึกเข้ามาอยู่ที่จิต พอจิตมันทำ บุญกุศลมันก็อยู่กับจิต จิตมันก็พาไป มันก็มาเกิดดีเกิดชั่วไป มันเป็นเราทั้งนั้นน่ะ

ทีนี้ถ้ามันไม่ใช่เรา ทำไมพระโพธิสัตว์ พระเวสสันดรกับเจ้าชายสิทธัตถะเป็นคนเดียวกันไหม พระเวสสันดรกับเจ้าชายสิทธัตถะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า คนละคน อ้าว! พระเวสสันดรกับเจ้าชายสิทธัตถะ แต่จิตเดียวกัน จิตของเจ้าชายสิทธัตถะ มันเกิดคนละวาระ วาระ วัฏฏะ เจ้าชายสิทธัตถะกับพระเวสสันดรคนละคน แต่ถ้าพูดถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ คนเดียวกัน คือจิตเดียวกัน แต่เกิดคนละชาติ เกิดคนละชาตินะ แต่มันถึงกัน ถ้าไม่อย่างนั้น บุญที่สร้างเป็นพระโพธิสัตว์มันจะต่อเนื่องกันมา อย่าง ๔ อสงไขยมันต่อเนื่องกันมาอย่างไร อ้าว! เอาชั้นนี้เราทำจบที่นี่แล้ว อ้าว! พระเวสสันดรสร้างบุญมาเป็นพระเวสสันดร เจ้าชายสิทธัตถะก็ไปเกิดใหม่ก็ต้องสร้างใหม่

แล้วอย่างที่ว่า อย่างที่เราไปอภิธรรม เวลาไปคุยเรื่องธรรมะ เขาบอก อู้ฮู! กล้าพูดเรื่องนิพพานเชียวหรือ พระอรหันต์อย่างน้อยต้องแสนกัปนะ ต้องสร้างบุญมาแสนกัป

แล้วเราก็ถามกลับว่า อ้าว! แล้วโยมเกิดมาชาตินี้ชาติเดียวหรือ อ้าว! ใครรู้ว่าเราสร้างมากี่แสนชาติ อ้าว! ใครรู้

ไอ้ตรงนี้แหละมันจะย้อนกลับมาปฏิภาณไหวพริบของคน คนที่มีปฏิภาณมีไหวพริบมันมีพื้นฐานมา ปฏิภาณไหวพริบที่ฉลาดมันสะสมมา แต่ดูอย่างจูฬปันถก จูฬปันถกเขาสร้างมาแล้ว จูฬปันถก เวลามหาปันถกเป็นพี่ชาย พี่ชายเป็นพระอรหันต์ ก็ไปเอาน้องชายมาบวช พอน้องชายมาบวชก็ให้น้องชายท่องสูตรสูตรหนึ่ง ท่องไม่ได้ อย่างไรก็ท่องไม่ได้ โง่ขนาดนั้นเลยนะ จนพี่ชายไล่สึกเลย อาย พี่ชายอาย เพราะพี่ชายเป็นอาจารย์ ลูกศิษย์สอนได้หมดเลย น้องชายตัวเองสอนไม่ได้ พอสอนไม่ได้ก็อาย ก็จะให้สึก พระพุทธเจ้ารู้บารมี จะบอกว่าเป็นปฏิภาณไหวพริบ แล้วอย่างนี้ทำไมโง่นักล่ะ

โง่นี่มันกรรม แต่เพราะมันสร้างบุญกุศลมา พอสร้างบุญกุศลมา พอพี่ชายให้ไปสึก น้อยใจนะ ก็จะไปสึก พระพุทธเจ้ากำหนดญาณดูแล้ว นี่บารมีพระอรหันต์ ไปดักอยู่หน้าประตูวัดเลย “จูฬปันถก เธอจะไปไหน”

“พี่ชายให้ไปสึก”

ถาม “เธอบวชเพื่อใคร บวชกับใคร”

“บวชกับพระพุทธเจ้า”

“อ้าว! บวชกับพระพุทธเจ้าใช่ไหม มานี่ ไม่ต้องสึก”

แล้วก็ให้เอาผ้าขาวมาลูบ เป็นภาษาบาลี เราจำไม่ได้ ให้ลูบว่าผ้านี้ขาวหนอ ผ้านี้ขาวหนอ เอามือลูบผ้าขาว ลูบไปอย่างนี้ ลูบไปเรื่อยๆ แล้วผ้ามันจะขาวไหม ผ้ามันเริ่มมัวหมอง มันเริ่มเศร้าหมอง เพราะเหงื่อไคลมันลงไป โอ้โฮ! มันไปกระเทือนบารมี บรรลุเป็นพระอรหันต์เลย มีอภิญญาด้วย

พวกพระก็ถาม ถามว่าทำไมมีอำนาจวาสนาเป็นถึงพระอรหันต์ล่ะ ทำไมท่องตรงนั้นไม่ได้ล่ะ

พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นเพราะกรรม กรรมของพระจูฬปันถก พระจูฬปันถกเคยบวชเป็นพระ เคยบวชเป็นพระ เป็นพระแล้วเป็นนักปราชญ์ ไปบวชเป็นพระชาติหนึ่ง เป็นนักปราชญ์ แล้วมีพระบวชใหม่เข้ามาศึกษา เหมือนกับเราไปเห็นพวกพูดไม่ชัด หัวเราะเยาะนี่แหละ เห็นพระเข้ามาศึกษานะ พระท่องปาฏิโมกข์ แล้วท่องผิดท่องถูก ก็ไปหัวเราะ ไปแกล้งเขา ไปว่าเขาไม่ฉลาด

กรรมอันนั้นน่ะ กรรมไปดูถูกว่าเขาโง่ กรรมไปดูถูกเขา พอเกิดมาชาตินี้ พอเขาจะท่องปาฏิโมกข์ ในวินัยนะ ในวินัยเวลาสวดปาฏิโมกข์มันมีอยู่ข้อหนึ่ง ถ้ามีพระกำลังตั้งใจทำคุณงามความดี เราไปทำให้เขาเสียหายคือไปพูดให้เขาเขว เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ในปาฏิโมกข์ เพราะการสวดปาฏิโมกข์มันเป็นการสัมมนาสงฆ์ให้สะอาดบริสุทธิ์ตลอดเวลา แล้วจูฬปันถกเคยไปแหย่เขา เห็นเขาท่องผิดท่องถูกแล้วไปขำเขา จนพระองค์นั้นอาย อายแล้วไม่ทำอีกเลย จนพระองค์นั้นอายแล้วก็หยุดท่องไปเลย กรรมอันนั้นน่ะทำให้พระจูฬปันถกท่องอะไรก็ไม่ได้ ซื่อบื้อ จำอะไรไม่ได้เลยล่ะ กรรมดีคือสร้างมา

เวลาทำ เราจะบอกว่าปฏิภาณไหวพริบคนมันจะดีตลอด ใช่ พื้นฐานมันดี แต่ขณะที่กรรมให้ผลนะ มันจะเป็นอย่างนั้นชาติหนึ่ง แต่ถ้าต่อไปมันก็เป็นอีก เพราะว่าสร้างมาเยอะ การสร้างมา อันนี้ ตรงนี้นะ ตรงนี้ในวิทยาศาสตร์เขาบอกว่า ตรงนี้พระเอามาหลอกกัน เวลาบอก พระ เวลาพูดอะไรชอบพูดคร่อมชาติ คร่อมอดีตชาติ คร่อมปัจจุบัน คร่อมอนาคต คือเราแก้ไขไม่ได้ ต้องให้พูดเป็นปัจจุบัน คือว่าเป็นปฏิจจสมุปบาท คือพูดเฉพาะในชาตินี้ แล้วสิ้นสุดกันชาตินี้

ใช่ สิ้นสุดกันชาตินี้ แต่ในเมื่อศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาใช่ไหม จะอธิบายถึงเชาวน์ปัญญาของคน เชาวน์ปัญญาของคนแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน มันคิดต่าง แล้วความเห็นมันเกิดจากอะไร แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ก็คือปัจจุบันนี้แหละ ฉะนั้น เวลาปัจจุบันนี้ปั๊บ ก็ย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่ปัจจุบันนี้ ในเมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมา เราต้องพอใจกับสิ่งที่เกิดมาในปัจจุบันนี้ คำว่า “พอใจ” ไม่ใช่ยอมจำนนนะ ถ้าพูดทางวิทยาศาสตร์ กิเลสมันพูดอย่างนี้ บอกไอ้พวกนี้ลัทธิยอมจำนน อะไรก็ยอมรับมันๆ ถ้ายอมรับมัน มันก็ย้อนกลับมาตรงที่ว่าแพ้เป็นพระ แพ้เป็นพระ อ้าว! แพ้ไม่ได้อีก แพ้เป็นพระได้อย่างไร

อ้าว! ถ้าชนะเป็นพระนะ โยมต้องเอาชนะลูกตลอดเวลา แล้วจะได้ไหม นี่แพ้ แพ้เป็นพระ พ่อแม่แพ้ลูกเป็นพระนะ เพราะลูกทำไม่ถูกหรอก ลูกไม่มีประสบการณ์เท่าพ่อแม่หรอก แต่พ่อแม่ เพื่อจะต้องให้ครอบครัวอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เพื่อจะให้ลูกมันโตขึ้นมา ยอมหมดล่ะ ลูกจะมีอำนาจด้วย ร้องไห้ เดี๋ยวต้องควักสตางค์ทันทีเลย จะเอาอะไรต้องควักสตางค์ทันทีเลย แล้วพ่อแม่ก็รู้ว่าผิด ยอมทำไม ยอมทำไม ทำไมไม่เอาชนะมันล่ะ นี่พูดถึงพ่อแม่กับลูกมันเห็นภาพชัด

ทีนี้พูดถึงสังคมล่ะ พูดถึงคนที่เขาได้ทุกข์ได้ยากล่ะ เรายอมเขา เราช่วยเหลือเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย อย่างเช่นหลวงตา หลวงตา ใครไปฟ้องอะไรนะ ท่านจะบอกว่าเรื่องของเขา เรื่องของเรา ทั้งๆ ที่ความรู้สึกของท่านรู้นะ เวลาท่านพูดเป็นภายในกับเฉพาะบุคคล ท่านจะอธิบายเลยว่าผิดถูกนี้ชัดเจนมากเลย แต่ออกมาพูดเป็นสาธารณะ ท่านจะบอกว่าให้อภัย ด้วยเรื่องของสังคม แต่ถ้าพูดกันภายใน เพราะเราต้องรู้สิ อะไรถูกอะไรผิดใช่ไหม เหมือนหมอ หมอจะรักษาคนไข้ หมอต้องรู้สมุฏฐานของโรค ถ้าไม่รู้สมุฏฐานของโรค จะแก้ได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน สังคมมันเป็นอย่างนี้ ในเมื่อสังคมเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันจะแก้วงนอกวงใน ถ้าแก้วงนอกใช่ไหม แก้วงนอกก็แบบว่าต้องให้อภัยต่อกัน ถ้าแก้วงในต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะผู้ทำผิดเป็นต้นเหตุใช่ไหม ถ้าผู้ทำผิดยังทำผิดอยู่ เรื่องจะจบได้อย่างไร มันต้องแก้ที่ผู้ทำผิดนั้นให้ทำให้ถูก พอทำถูกปั๊บ เรื่องนั้นจะไม่มีอีกเลย แต่ถ้าจะไปแก้ที่คนคนนั้น เขายังไม่ยอมรับ มันก็ให้สังคมแพ้เป็นพระ รับรู้กัน เรารู้ว่ามันเป็นวิบาก มันเป็นผลที่เกิดมาอย่างนั้น เราต้องยอมรับอย่างนั้น คำว่า “ยอมรับ” ไม่ใช่ยอมรับแบบว่าไม่มีทางสู้ สู้มันสู้ได้ทั้งนั้นน่ะ สู้มันก็เกิดกรรมใหม่ขึ้นมา เกิดเหตุการณ์ใหม่ขึ้นมาตลอดเวลาไป มันก็เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมไม่จบ

แต่ถ้าเป็นพระ เป็นพระคือว่ามันจบไง คือเรื่องมันได้ยุติ เรื่องนี้จะยุติ เรื่องนี้จะจบสิ้น ถ้าเรื่องมันยุติจบสิ้นไปแล้ว แล้วเหตุการณ์แก้ไข เราต้องไปแก้ไขกันอีกเรื่องหนึ่ง คือว่าต้นเหตุ นี่วงในวงนอก วงใน หมายถึงว่า ระหว่างผู้เสียหายคุยกันรู้เรื่องได้ นี่พูดถึงแพ้เป็นพระ ถ้าแพ้เป็นพระ

ก็ย้อนกลับมาที่ร่างกาย ถ้าร่างกาย ร่างกายที่มันเกิดมาเป็นมนุษย์สมบัตินี่สุดยอดจริงๆ สุดยอดนะ ถ้าไม่มีมนุษย์สมบัติ ทำไมเทวดามาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ ทำไมเขาเหาะเหินเดินฟ้า เขารู้ความคิดหมดนะ ทำไมเขาไม่รู้เรื่องอริยสัจเลย ไม่รู้เรื่องอริยสัจเพราะอะไร เหมือนคนเรา เขาไม่มีวัตถุ เขาไม่มีร่างกาย เขาไม่มีสิ่งนี้ เขามีเป็นทิพย์นะ เขาจะเพลินของเขา เขาจะมีความสุขมากนะ เหมือนประสาเราอยู่เป็นทิพย์ แบบเรากินเลี้ยงที่ไม่มีวันเลิกรา กินเลี้ยงกันอยู่อย่างนั้นล่ะ จะเลิกราก็คือตาย ถ้าเลิกรา แสงก็เฉาแล้ว แสงเริ่มเฉาลง หมดอายุขัย พอหมดอายุขัยก็ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ คือว่าเขาจะเพลินชีวิตเขาจนกว่าเขาจะตายเขาถึงจะรู้ตัวนะ แต่ของเรานี่นะ ตั้งแต่วันเกิดเลย หิวทุกวัน ไอ้หิวมันก็บีบคั้น ไอ้เจ็บไข้ได้ป่วยก็บีบคั้น มันเตือนสติไง มันเตือนให้เรารู้ตัวตลอดเวลา

เวลาคนตายไปนะ ยมบาลเขาถามว่า เห็นธรรมะไหม

ไม่เห็น ไม่รู้ ไม่เคยสนใจเลย

ยมบาลถามกลับ เคยเห็นคนเกิดไหม เคยเห็นคนแก่ไหม เคยเห็นคนตายไหม เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั่นล่ะคือธรรมะ มันเตือนอยู่ทุกวันเลย ใครเห็นธรรมก็เห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย นี่ล่ะตัวธรรม ไม่มีใครเทศน์มันก็มีกับเรา

นี่ไง พระพุทธเจ้าไปเที่ยวสวนก็ไปเจอ เห็นคนเกิด คนแก่ คนตาย ธรรมะมันเตือน เตือนให้ว่า ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายมันอยู่ที่ไหน แต่ตอนนี้เราก็รู้ๆ กันอยู่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็รู้ๆ กันอยู่ แต่เราก็ไม่สะเทือนใจนะ เราไม่สะเทือนใจหรอก แต่ถ้าวันไหนเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะตาย มันถึงสะเทือนใจ จะตายจริงๆ นั่นแหละมันถึงจะดิ้น แต่ปัจจุบันนี้มันไม่คิด มันไม่คิดหรอก ถ้ามันคิดขึ้นมามันต้องหาทางออกสิ มันต้องแสวงหาสิ ถ้ามันหาทางออกปั๊บ มันก็มีโอกาสไง

เหมือนกับเรา เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เดี๋ยวนี้ทางการแพทย์เขาไม่ใช่ไปรักษาคนป่วยแล้วนะ เขาเริ่มต้นดูตั้งแต่ไม่ให้ป่วยเลย เขาเริ่มต้นตั้งแต่เพิ่มงบประมาณให้ออกกำลังกายให้ทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ชาวพุทธนี้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้ชาวไทยเราจะต้องเสียงบประมาณ เดี๋ยวนี้เขาฉลาดขึ้นแล้ว เมื่อก่อนเขาบอกว่าป่วยมาก่อนแล้วค่อยไปรักษากันปลายเหตุ เดี๋ยวนี้กลับมาต้นเหตุแล้ว

นี่เหมือนกัน ก็มันจะตาย เราไม่กลับมาที่ต้นเหตุล่ะ ไม่กลับมาที่ชีวิตเราล่ะ ถ้ากลับมาชีวิตเรา นี่ไง ยมบาลถามว่าเห็นธรรมะไหม เห็นธรรมะไหม

ไม่เคยเห็น

ไม่เคยเห็นได้อย่างไร คนเกิด คนเจ็บ คนแก่ทุกวัน ในครอบครัวเราก็มี ในบ้านเราก็มีเด็กเกิด มีคนแก่ มีคนตายเหมือนกัน แล้วมันเตือนใจไหม มันไม่เตือนใจ ไม่เตือนใจเพราะอะไร ไม่เตือนใจเพราะมันไม่ได้คิดไง

จริงๆ นะ เราคุยกับฝรั่ง ฝรั่งที่มันเป็นเพื่อนเรา มันบอกเลย คนไทย มันสังเวชมากนะ แต่สังเวชก็เหมือนเรา สังเวช หมายถึงว่า เวลาใจเป็นธรรมไง ถ้าสังเวชมันต้องไม่สึกสิ ฝรั่งบวชมาสักพักหนึ่งก็สึก ส่วนใหญ่แล้วออกไป ไปสึกเมืองนอกหมด เพราะฝรั่งเขาสนใจมาก มันเหมือนเรา เวลาเราศรัทธา เราตื่นเต้น เราอยากจะทำมากเลย พอทำๆ ไปแล้วมันชินชา พอชินชา กิเลสมันกระโดดเกาะแล้ว พอกระโดดเกาะแล้วเดี๋ยวมันก็ชินชา มันก็เฉื่อยชา เดี๋ยวก็เป็นไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเห็นนะ เห็นการเกิด การแก่ มันจะกระตุ้นเราขึ้นมา ถ้ากระตุ้นเราขึ้นมา เราจะแสวงหา ถ้ามีตัวนี้ปั๊บ มีตัวอยากไป แล้วเรามาภาวนา งานทางโลกก็งานทางโลก ทุกคนต้องมีหน้าที่การงานเป็นเรื่องธรรมดา แต่ดูสิ เวลางานทางโลก เวลาเรามันมี อยู่กับงาน เราอยู่กับพุทโธได้ทั้งนั้นน่ะ อยู่กับพุทโธ หายใจเข้าและหายใจออก ถ้าคนมันเป็นนะ คนเป็นมันมีทางออกทั้งนั้นน่ะ แล้วมันเป็นไป

แล้วอย่างปัจจุบันนั่นที่ว่ามีร่างกาย มันเทียบได้ เทียบถึงเทวดา อินทร์ พรหม ลองเทียบนรกอเวจีสิ นรกอเวจี เทวดา เหมือนกันด้วยอายุขัย นานเหมือนกัน แต่อีกอันหนึ่งสุข อีกอันหนึ่งทุกข์เท่านั้นน่ะ ไปอยู่ในนรกอเวจีมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันก็จะทุกข์ไปอย่างนั้นล่ะ ทุกข์จนกว่าจะหมดกรรม เทวดาก็เหมือนกัน อยู่จนจะหมดแสงหมดกรรมเหมือนกัน หมดกรรมก็เวียนมาเกิด พอเวียนมาเกิดปั๊บ ถ้าพระปฏิบัติมันเห็นสภาพแบบนี้นะ มันถึงเห็นเรื่องนรกสวรรค์เป็นเรื่องธรรมดา ผลของวัฏฏะ

แต่ในปัจจุบันนี้ถ้ามีอย่างนี้ปั๊บ มันก็เข้ามาที่สติ ถ้าสติมันทัน มันคิดอย่างนี้ได้ มันเห็นเรื่องอย่างนี้ได้นะ มันเห็นอย่างนี้ปั๊บ เขาเรียกว่าธรรมสังเวช มันอยู่กับโลกนะ เราก็ประกอบอาชีพนี่แหละ เราขวนขวายประกอบอาชีพมาเพื่อครอบครัวของเรา แต่อีกใจหนึ่งมันไม่ยึดมั่น มันไม่ยึดมั่นเพราะอะไร เพราะมีเวลาปั๊บ เราก็จะออกภาวนา อยู่ในบ้านนี่แหละ เราก็ภาวนาของเรา เราสร้างสติของเรา ทำของเราขึ้นไป มันจะเห็นไปเองนะ

อย่างที่พูด สติมันเป็นอย่างนี้ เริ่มต้นสติสร้างยาก ถ้ามีสติปั๊บนะ การปฏิบัติมันเป็นสัมมา เป็นความถูกต้องหมดเลย ถ้าขาดสติมันก็เป็นมิจฉาแล้ว มันก็เป็นมิจฉา แล้วมันขาดสติ การขาดสติอย่างเดียว หลวงตาจะบอกว่า สติ ต้องตั้งสติให้ได้ ถ้ามีสติ ทุกอย่างดีหมดเลย แล้วพอสติมันสร้างยาก มันต้องแสวงหาไปเรื่อยๆ

จนถึงที่สุดบอกว่าสติไม่ใช่จิต สมาธิไม่ใช่จิต ทุกอย่างไม่ใช่จิต จิตเป็นจิต สมาธิเป็นสมาธิ ปัญญาเป็นปัญญา ทุกอย่างเป็นคนละอันหมดเลย แต่พอมันถึงที่สุดแล้วนะ เป็นอันเดียวกัน เป็นพระอรหันต์นี่อันเดียวกันหมดเลย พอเป็นพระอรหันต์ปั๊บ มันรวมยอด ก็ฐีติจิตไง เหมือนกับที่ว่าทุกอย่าง ว่าวมันไปจากเชือกของเรา หลวงตาบอกจอมแห มันหว่านออกไป ถ้ารวบกลับมาที่จอมแห มันจะย้อนกลับมาหมดเลย

ความคิดทุกอย่างมันเกิดจากจิตแล้วมันแผ่ออกไป แล้วเวลามันหดสั้นเข้ามาๆ ถึงที่สุดเป็นตัวมัน แล้วทำลายตัวมัน พอทำลายตัวมัน มันอยู่ที่มัน พออยู่ที่มัน นี่มันพร้อมหมด ถ้าออกปัญญาต้องออกมาจากตรงนี้ สติก็ออกมาจากตรงนี้ เป็นอัตโนมัติไง สติกับจิตอันเดียวกัน พระอรหันต์ สติกับจิตเป็นอันเดียวกัน แต่ทำไมพระอรหันต์เผลอ พระอรหันต์ไม่เคยเผลอเลย เผลอไม่ได้ เผลอไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ทำไมที่ว่าออกมาเป็นสมมุติมันเป็นคนละขั้นตอน

ออกมาที่สมมุติ สมมุติบัญญัติ คำว่า “สมมุติบัญญัติ” คือศัพท์ ศัพท์ทางโลก คำพูดทางโลกนี่เผลอได้ สวดมนต์ก็เผลอได้ เพราะมันเป็นสมมุติบัญญัติ สวดมนต์นี่เราสวดนะ แต่ตัวจิต ตัวนิพพาน มันเป็นอีกอันหนึ่ง ถ้าพูดถึงเผลอ มันพูดออกมาไม่ได้ เขาเรียกว่ามันเสวยอารมณ์ มันกระเพื่อม พอกระเพื่อมสติมันพร้อม ของที่มันไหวตัวมันต้องรู้สึกตัวเป็นธรรมดาใช่ไหม จิตที่มันเป็นนิพพานมันคือตัวจิตล้วนๆ ทีนี้พอจิตล้วนๆ ก็เป็นจิต เป็นภพ นิพพานไม่ใช่จิตเลย มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งเลย ทีนี้ธรรมชาติอันหนึ่งกับความคิดกับคำพูดมันคนละอันนะ ทีนี้มันจะออกมาพูด อย่างที่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้ามันต้องสื่อเข้ามา ไฟฟ้าถึงใช้ได้ ทีนี้ไฟฟ้าออกมา มันมีพลังงานมา นั่นคือตัวสติไง พระอรหันต์ไม่เผลอในอริยสัจ ไม่เผลอในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พอมันขยับนี่มันทุกข์แล้ว ถ้าไม่ขยับ นั่นคือนิพพาน พอขยับคือมันกระเพื่อม กระเพื่อม คำว่า “กระเพื่อม” มันไหวตัว ต้องมีสติ อัตโนมัติอย่างนี้ไง อัตโนมัติเลย แล้วพอออกมา ที่ว่าที่เผลอ เผลอ หมายถึงว่า ออกมาแล้ว ข้อมูล ความจำไง

เราถามเขา เราคุยกับพวกหมอสานิตนี่แหละ ที่ว่าหลวงตาทำไมลมออกหู

เขาบอกว่า หลวงพ่อ มันเป็นธรรมดาของสรีระ มันเป็นธรรมดาของร่างกาย อายุอย่างนี้เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ พอเราอายุมากขึ้น ประสาทหู พวกข้อเข่าเสื่อม มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดาของโครงสร้างของร่างกาย เพียงแต่มันบรรเทาไปเท่านั้นน่ะ

ที่ว่าที่พระอรหันต์จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ ถ้าอยู่อีกกัป อยู่ขนาดไหน ถ้าร่างกายมันแข็งแรงนะ อยู่ได้เลย ทีนี้มันก็ย้อนกลับไปที่พระสีวลี พระสีวลีเป็นพระที่ลาภมาก เป็นพระที่ว่าไม่เคยป่วยเลย มันอยู่ที่บุญกุศลสร้างมา ถ้าสร้างมานะ พระบางองค์ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย แข็งแรงตลอดเวลาเลย บางองค์กระเสาะกระแสะ อันนี้มันเป็นผลของที่เราสร้างมาทั้งนั้นน่ะ ใครจะเป็นอะไร ใครจะมีผลกระทบตอบสนองกับเรื่องของเรา มันเป็นที่เรามีส่วนมา แล้วก็อีกอันหนึ่งก็อยู่ในปัจจุบันด้วย มีส่วนมาขนาดไหน เราแก้ไขได้ เราประคองได้ เราประคองไม่ให้มันเป็นขนาดนั้นได้ ประคอง หมายถึงว่า กรรมปัจจุบันไง กรรมอดีต กรรมปัจจุบัน กรรมอนาคต

ที่เขาบอกว่าๆ พูดว่า พระเรา เถรวาทพูดข้ามภพข้ามชาติ มันแก้ไขอะไรไม่ได้

แต่อดีตอนาคตมันเพียงแต่บอกถึงนิสัย บอกถึงความตั้งมั่น บอกถึงเจตนา บอกถึงความวิริยอุสาหะ ถ้ามันมีอดีตมาดี ปัจจุบันมันจะมีตรงนี้ แต่ถ้าไม่ได้ทำนะ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ถึงต้องปัจจุบันธรรมไง ไม่ใช่อดีตเราสร้างบุญญาธิการมา เจ้าชายสิทธัตถะสร้างมาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วเจ้าชายสิทธัตถะก็นอนอยู่ในราชวังนะ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าหรอก

เจ้าชายสิทธัตถะสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วนะ เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะปั๊บ พระเจ้าสุทโธทนะพยายามจะถนอมไว้ เพราะอยากให้เป็นจักรพรรดิ แต่มันก็มีเหตุบังเอิญ เทวทูตมาให้เห็นเกิด แก่ เจ็บ ตาย พอเห็นเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันสะเทือนหัวใจมาก เอ๊ะ! เราก็ต้องเป็นอย่างนั้น กลัวตายไง กลัวตายฟรี ก็เลยต้องออก ออกแสวงหาอีก ๖ ปี

ถ้าพูดถึงปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วสร้างบุญญาธิการมาแล้วมันจะเป็นไปแบบว่า มันจะเป็นไปธรรมชาติ ออกแสวงหาอยู่ ๖ ปี พระศรีอริยเมตไตรยก็ต้องออกแสวงหา แต่เพียงแต่ว่าใครสร้างมามากมันก็แสวงหาราบรื่นกว่า สะดวกกว่า แต่ถ้าสร้างมา มันมีเหตุปัจจัยที่ว่าต้องมีการทำที่ว่าต้องทนลำบากหน่อยอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันอยู่ที่ผลของคนสร้างมา แต่เวลาเป็นไปมันก็ต้องทำอีก

นี่เหมือนกัน ถ้าเราได้สร้างมานะ ถ้าไม่ได้สร้างมาจริงๆ นะ โยมจะฟังเราไม่เข้าใจ เรากล้าพูดอย่างนี้เลย ถ้าพวกโยมไม่มีพื้นฐานนะ ฟังเราพูด “เอ๊! หลวงพ่อนะ สงสัยบ้า ขาดสติไปแล้ว พูดอะไรที่ไม่รู้เรื่อง สู้ไปหาพระทั่วๆ ไปนะ เขาพูดรู้เรื่อง ปรัชญาไง พูดแบบโลกๆ เออ! อาจารย์นี้ดี พูดแล้วเข้าใจ ไปหาพระบางองค์พูดไม่รู้เรื่องเลย”

ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือจากโลก เหนือจากภาวะของโลกียปัญญา ธรรมนะ จะธรรมเหนือโลก ทีนี้เราจะฟังเข้าใจ เราจะฟังแล้วมีส่วนที่รับรู้ มันต้องมีตรงนี้ แล้วตรงนี้นะ มันจะมีน้อย ยอดของเจดีย์นิดเดียว ฐานของเจดีย์จะกว้างมาก แต่ยอดของเจดีย์ไง ยอดของเจดีย์คือธรรมส่วนยอดนั่น ธรรมที่เป็นแก่น ตรงนี้สำคัญนะ ถ้าฟังรู้เรื่องก็ดีไป ถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็ฟังธรรมไว้ ฟังไว้ก่อน แล้วไปวินิจฉัย อย่าเพิ่ง กาลามสูตร อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่งว่าต้องเป็นอย่างนั้น

ประสาเรา ที่เรากันไว้ ใครถามเราว่าปัญหาเป็นอย่างนั้นๆ ถูกไหม

เราบอกเราตอบเสร็จว่า ผิดหมดเลย ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะเวลาโยมจำของเราไปแล้วโยมไปทำ มันก็จะสร้างกรอบ ฉะนั้น เวลาฟังเราแล้วนะ ฟังให้มันเป็นทางวิชาการ ฟังไว้เพราะเรายังไม่รู้จริง แล้วเราไปปฏิบัติให้มันเจริญขึ้นมาเหมือนขึ้นบันไดเลย บันไดขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ให้มันเป็นไป แต่ถ้าฟังเราปั๊บนะ หลวงพ่อบอกว่าพอพ้นจากบันไดก็ถึงชานบ้านเลย ไอ้นี่มันตั้ง ๑๐ กว่าขั้นนะ แล้วเราจะก้าวอย่างไรให้มันพ้นวะ มันทำไม่ถูก

ฉะนั้น ตรงนี้ ถ้าจำแล้วมันจะเสียตรงนี้ เราถึงบอกว่า เราพูดเป็นความจริงหมดเลย แต่ถ้าเราจำไปแล้วนะ แล้วไปคิดนะ ผิดหมดเลย เพราะมันจะให้เป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราทำของเราขึ้นมานะ มันจะมีพื้นฐานของมัน แล้วเสร็จแล้วก็จะพูดเหมือนเรา คือเวลาพูดนี่นะ บางทีมันขี้เกียจพูดตั้งแต่ขั้นที่ ๑ นะ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ถึงขั้นที่ ๑๐ นะ มันก็คือบันไดนั่นน่ะ อ้าว! ก็ถึงบันไดปั๊บก็ขึ้นชานบ้านเลย ไอ้เราก็ขึ้นบันไดแล้วก็ขึ้นชานบ้านเลย แต่ตั้ง ๑๐ กว่าขั้นนะกว่าจะขึ้นบ้าน

นี่ก็เหมือนกัน กว่าเราจะทำพื้นฐานของเรา เราจะมีหลักเกณฑ์ของเรา เราพยายามของเรา เราทำของเราขึ้นไป หมั่นเพียร หมั่นเพียรไปบ่อยๆ ให้จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้าจิตมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมานะ แล้วมันเป็นความจริง ความจริงมันต้องเป็นแบบนี้ ความจริงมันไม่ใช่อ้อนวอนเอา ขอเอา ก็อปปี้เอา จำเอา ไปขโมยเอา ฟังก็ว่าเรารู้ๆ...เรารู้คือสัญญา รู้อย่างนี้เหมือนกับเราผ่านไป ดูสิ เราเห็นการก่อสร้าง เราเดินผ่านไปเราก็เห็นนะ ห้องน้ำ นี่ส้วม นี่บ้าน แต่โครงสร้างมันล่ะ แล้วข้างในมันมีอะไรบ้างล่ะ ข้างใน กว่าเขาจะสร้างขึ้นมา เขาต้องสร้างโครงสร้าง กว่าเขาจะตบแต่ง เขาจะเอาเฟอร์นิเจอร์เข้าไป มันอีกตั้งหลายขั้นตอน การกระทำเราก็เหมือนกัน เห็นโครงสร้างก็นึกว่าโครงสร้าง กูก็รู้อันนี้ นี้ก็เป็นอย่างนี้ ไม่ได้เรื่อง มันต้องทำของเรา

ถ้ามันได้เรื่องอย่างไร มรรค ๘ นะ ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ งานชอบ งานโครงสร้างชอบ งานตบแต่งมึงไม่มี งานที่พึ่งอาศัย มึงยังไม่มีอีกเลย แล้วมันจะชอบได้อย่างไร มรรคมันก็ไม่สมดุลใช่ไหม แต่เราค่อยๆ ทำของเราเข้าไป ค่อยๆ ทำของเราเข้าไป เออ! อันนี้เรายังขาด ทำเสร็จ เออ! อันนี้ก็ยังขาด ทำเสร็จ เออ! อันนี้ก็ยังขาด ก็หาเติมๆๆ หาเติมจนมีความชำนาญ พอมันสมดุล มรรคสมดุล ผลัวะ! มันจะพูดคำนี้เลยนะ มันซึ้งมาก โอ้โฮ! มรรคสามัคคีเป็นอย่างนี้เอง แต่ก่อนมีแต่ตำรา จำมา มันคาดนะ มันจะเป็นอย่างนั้นๆๆ พอเป็นกลางหัวใจนะ อ๋อ! เป็นอย่างนี้เอง ไม่เหมือนในตำราเลย ตำราพูดเยอะแยะไปหมดเลย แต่เวลามันเป็น ผลัวะ! แต่กว่าจะเป็นนะ แต่ละขั้นตอน เราต้องความเพียรชอบ ต้องวิริยอุสาหะ เวลามันเป็น มันเป็นสมดุลของมันเอง สมดุลเลยล่ะ มรรคสามัคคี มรรค ๘ รวมตัว ตรงนี้เขาเรียกขณะจิต ขณะจิตที่เปลี่ยนจากปุถุชนเป็นโสดาบัน จากโสดาบันเป็นสกิทาคามี จากสกิทาคามีเป็นอนาคามี ไม่อย่างนั้นเราจะพูดถึงขั้นของโสดาบัน ขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี ขั้นพระอรหันต์อย่างไร

ดูสิ ดูเวลาหลวงตาท่านไปพูดกับหลวงปู่บัว “อ้าว! ว่ามา”

ขั้นที่ ๑ ท่านก็เออ! รับ นี่ใช่ ขั้นที่ ๑ ก็จากปุถุชนเป็นโสดาบัน อ้าว! ๑ ใช่ อ้าว! ๒ ใช่ อ้าว! ๓ ใช่ อ้าว! ว่าไปสิ

“หมดแล้ว”

“อ้าว! แล้วท่านคิดว่าอย่างไรล่ะ ก็คิดว่านี่นิพพาน”

“อู๋ย! ตาย” ท่านว่านะ ท่านพูดต่อเลย เพราะคนมันเคยผ่าน มันจะรู้อย่างนี้ไง

ขณะจิตที่มันเป็น มรรคสามัคคีนี่แหละ มรรคสามัคคี มรรครวมตัวแล้วสมุจเฉทปหานปั๊บ มันเป็นอกุปปธรรมเลย มันจะคงที่เลย คงที่อยู่ในสภาวะแบบนั้นเลย ไม่มีการเสื่อมสภาพอีกแล้ว พอถึงที่สุดแล้ว พอถึงสุดท้ายแล้วหมดเลย ถ้าหมดแล้ว หมดแล้วเหลืออะไรอยู่ หมดแล้วเหลืออะไร

ธรรมธาตุไง ถ้าเป็นจิต อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ แต่เวลาพูดถึงจิตพระอรหันต์ๆ เวลาพูดถึงจิต พูดถึงสมุฏฐาน พูดถึงตำแหน่ง ตำแหน่งว่าเป็นอย่างนี้ แต่โดยความจริง พระโสดาบันมีจิต เพราะจิตมันปล่อยมา จิตมันยังมีอยู่ พระสกิทาคามีมี พระอนาคามีมี เพราะอะไร เพราะพระอนาคามี ที่หลวงตาบอกว่าว่างจากข้างนอก ทิ้งขันธ์เข้ามาหมดเลย ว่างจากข้างนอกมา แต่ตัวจิต ตัวจิต ตัวจิตยังไม่ว่าง

ตัวจิต ทิ้งขันธ์นอกนะ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด พิจารณากาย ทิ้งมา พิจารณากายซ้ำ กายอยู่สถานะเดิมของมัน คือเป็นดินน้ำลมไฟแยกออก โลกนี้ราบหมด จิตมันทิ้งมา กายแยก แล้วทิ้งกามราคะ อสุภะ ใครเป็นคนดูอสุภะ ใครเป็นคนเห็นอสุภะ จิตเป็นคนเห็น จิตมันพิจารณา พอจิตมันทิ้งอสุภะ อสุภะเพราะอะไร อสุภะเพราะมันมีกามราคะ อสุภะเพราะจิตมันปรารถนาแต่สิ่งที่เป็นสุภะ สุภะคือสวยงาม คือสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่โดยธรรมเป็นอสุภะ พิจารณาถึงที่สุดแล้วมันทิ้ง พอทิ้ง ทิ้งขันธ์ ขันธ์อย่างละเอียด พอทิ้งปั๊บ มันเป็นตัวจิตล้วนๆ แล้ว นี่ไง ว่างจากข้างนอกมา แต่ตัวเองยังไม่ว่าง เพราะมันทิ้งตัวเอง ทิ้งอย่างไร เพราะตัวเองเป็นคนดูเขา ตัวเองเป็นสสารที่มีพลังงาน แล้วตัวสสารพลังงานมันจะรู้ตัวมันเองได้อย่างไร ถ้าเป็นสสารเป็นวัตถุนะ มันจะเป็นอย่างนั้น แต่นี่มันเป็นธาตุรู้ มันเป็นธาตุที่มีจิต จิตเป็นธาตุรู้ มันสามารถรู้ได้ แต่ละเอียดลึกซึ้งมาก พอมันรู้ตัวนี้ปั๊บ แล้วมาทำลายตัวนี้ อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ นี่ไง จิตโดนทำลาย พระอรหันต์ถึงไม่มีจิตหรอก แต่เพียงแต่ว่าเป็นสมมุติ สมมุติคุยกันว่า ภพไม่ใช่ สถานะของพระอรหันต์

เวลาพระ เวลาเราพูดกับโยมอย่างนี้นะ เวลาพระมาพูดกับเราเรื่องธรรมะนะ บอกสภาวธรรม ไม่ฟังเลย เป็นสภาวะเป็นอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าเป็น มีภพ เขาบอกว่าสภาวธรรมเป็นอย่างนั้น พอขึ้นว่าสภาวธรรมนะ เรากากบาทผิดเลย เป็นสภาวธรรม เขาว่าของเขาอย่างนั้นนะ

แต่ถ้ามันขึ้น พอถึงที่สุดแล้วมันรู้กัน แต่เวลาเราคุย เหมือนกับเราพูดกับเด็ก เราจะทำอย่างไร เราต้องพยายามให้เด็กมันรู้ได้ว่าเราจะสื่อความหมายอะไร เราถึงจะต้องให้เด็ก มันเป็นสมมุติไง

เวลามันภาวนาไป ฉะนั้น สติมันไม่ใช่จิต ทุกอย่างไม่ใช่จิต จิตคือจิต สิ่งที่มันเป็นญาณ เป็นสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมา อย่างฌาน อย่างสมาบัติ ไม่ใช่จิตหมด มันเป็นอารมณ์หนึ่ง คือจิตมันเข้าสภาวะได้ชั่วคราวตรงนั้น

ถ้าพูดถึงสมาธิเป็นจิต จิตเป็นสมาธิ สมาธิเกิดแล้วต้องไม่เสื่อม สมาธิมันเสื่อม จิตก็ยังอยู่ เวลาความคิดเกิดขึ้นมา ปัญญาเกิดขึ้นมา ปัญญากับจิตมันก็มี เวลาปัญญาเสื่อมไป จิตก็ยังอยู่ จะทุกข์ร้อนขนาดไหน จิตก็ยังอยู่ จะสุขขนาดไหน จิตมันก็ยังอยู่ จิตมันก็ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์อะไรไปกับเราหรอก ไอ้สุขไอ้ทุกข์มันอาการของจิต อารมณ์ทั้งนั้นน่ะ แต่ตัวมันก็ยังมีอยู่ แต่ถึงที่สุดแล้วไปทำลายตัวมันเอง สิ่งที่ตัวมันเองว่าง พอทำตัวมันเองว่างปั๊บ จบเลย ตอนนี้ปั๊บนะ ทุกอย่างรวมลงที่นั่นเลย หลวงตาบอกจุดและต่อม พอทำลายจุดและต่อมนะ ไม่ใช่จุดและต่อม เป็นพลังงานเฉยๆ ทีนี้พลังงานเฉยๆ ก็พร้อมหมด พร้อมทั้งสติ พร้อมทุกอย่างเลย ฉะนั้น ถึงว่าพระอรหันต์ไม่เคยเผลอเลยนะ แต่เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านพูดโดยสัตย์ซื่อ ความสัตย์จริง “อู๋ย! เราเผลอ เราไปกุฏิแล้วกลับไม่ถูก”

เรายังว่าคนจะคิดมาก ไอ้กุฏิ ไอ้ถนนมันเป็นสมมุติ มันเป็นวัตถุใช่ไหม เพราะมันต้องออกมารับรู้ไง เหมือนกับเราวางของไว้ เช่น เราเอาเงินมาแล้วเราวางไว้ เรายังลืมเลยว่าวางสตางค์ไว้ไหนๆ มันเป็นสัญญาไง อย่างเช่นเราเอาสตางค์วางไว้ แล้วก็ลุกไปนะ แล้วคนมาเอาโทรศัพท์มือถือ เอากุญแจมาทิ้งไว้ที่ส้วมเยอะมากเลย เวลาเข้าส้วมไง ถอดทิ้งไว้ แล้วมันก็ออกไปเลย พอพระไปทำความสะอาด “หลวงพ่อๆ โทรศัพท์ใคร หลวงพ่อๆ นี่แหวนใคร”

นี่เหมือนกัน อันนี้เวลาไปแล้วกลับไม่ถูกนะ “เราออกไปแล้วเรากลับไม่ถูก”

คนถ้าไม่ได้คิด เอ๊! ทำไมพระอรหันต์เป็นอย่างนี้ ทำไมหลงได้ใช่ไหม

มันเป็นเรื่องข้างนอก คือว่าใหม่ๆ ถ้ามันยังใช้งานอยู่ มันจะไม่หลงหรอก แต่พอดีมันไม่ได้ใช้งาน จิตมันไม่ได้ใช้งาน คือว่าใหม่ๆ พอเป็นใหม่ๆ มันก็ยังแบบว่า ประสาเรา เรายังเคยชินกับสภาวะนี้อยู่ พอเราไปอยู่ในสภาวะนั้นนานเข้า สภาวะปกติมันจะทิ้งหมด มันจะหดตัวไปอยู่ที่ตรงนั้น ฉะนั้น เวลาออกมาทำงาน เวลาออกมารับรู้ มันก็ออกมารับรู้แบบแกนๆ ออกมารับรู้แบบ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระอย่างยิ่ง ความคิดเป็นภาระ สัญญา สังขาร ความคิดนี้เป็นภาระนะ จิตต้องแบกหามนะ ถ้ามันปล่อยไปอยู่ที่นิพพานนะ สบาย ไม่รับรู้โลกนี้เลยนะ แต่พอมันจะออกมาบริหาร มันต้องคิดแล้ว แบกความคิดแล้ว

ทีนี้คนแบกหนักไหม ถ้าคนมันทิ้งได้มันจะแบกทำไม มันก็ไม่แบกใช่ไหม พอไม่แบกนานเข้าๆ มันก็สบายอยู่อย่างนั้นใช่ไหม ทีนี้พอออกมามันก็อย่างที่ว่า “เราจำไม่ได้ว่ะ” ก็ขี้เกียจแบกมันน่ะ ขี้เกียจแบกความคิดเว้ย ขี้เกียจจำว่าทางนี้กุฏิกู ทางนี้กุฏิกู กูไม่ต้องจำหรอก กูเข้าออก เห็นไหม ท่านไม่แบกความคิดนี้ ทีนี้พอจะเดินมามันก็ไม่เข้าใจตรงนี้ พอมันไม่เข้าใจตรงนี้ก็ เอ๊ะ! เราหลงว่ะ เราหลงว่ะ ไอ้คนไม่รู้ก็ เออ!

เราไปพูดที่บ้านผือทีหนึ่ง พระมาถามตรงนี้ อธิบายให้เขาฟัง มหาอะไรไม่รู้ เขาบอกว่าเขาฟังวิทยุอยู่ ฟังหลวงตาพูดออกวิทยุ แล้วเขาเป็นมหาด้วย ไปเจอกันอยู่ที่หนองผือ เขามานั่งคุยด้วย มาถามปัญหา เพราะเขาทำหนังสือ เขาเขียนหนังสือเยอะนะ บูรพาจารย์ เขาเป็นคนเรียบเรียง แล้วเขาก็มาถามเรา สงสัยพวกที่เขามาหานั่นแหละ เขาคงเที่ยวเอาไปพูด แล้วเราก็ไปนั่งอยู่ที่หนองผือ ไปปีที่แล้ว แล้วพวกเณรเขาไปด้วย เขาเข้าไปหลบ ไปนั่งที่กุฏิเขา แล้วพูดภาษากลางไง พอพูดภาษากลาง เขาก็ออกจากกุฏิเลย “เณรมาจากไหน”

นี่เณรมาเล่าให้ฟังบนรถ บอก “มาจากราชบุรี”

“ราชบุรีมาจากหนองขาวใช่ไหม”

บอกไม่ใช่ มาจากไอ้บ้าสงบ มาเลย มาหาเราเลยนะ มาคุยด้วยท่านู้นท่านี้ แล้วก็พูดตรงนี้ พอพูดตรงนี้ขึ้นมา เราบอกอย่างนี้มันจะเป็นอย่างนี้ เราอธิบายให้ฟัง

เขาบอกเลยว่าเขาจะตามมาที่วัดเรา แต่ยังไม่เห็นมาเลย คงไม่กล้ามา

แต่พอตอนคุยกันเรื่องทางวิชาการ เขาคงอยากรู้ เขาพูดเองว่าเขาจะมาหาเรา เพราะเขาเป็นเพื่อนกับ... เขาจะมาที่วัดนรนารถฯ แล้วจะมานี่ แล้วยังไม่เห็นเลย ไม่เห็นเพราะอะไร เพราะเวลาพอออกจากเราไปแล้ว พอเขาไปพูดในสังคมเขาน่ะ “ฮื้อ! ไอ้เจ๊กหงบ” เท่านั้นก็จบเลย แต่เวลาคุยกันเนื้อหาสาระนะ เขาพูดเองว่าจะมา ก็มาพูดเรื่องนี้ เราอธิบายให้เขาฟัง เราถึงวิตกวิจารณ์เรื่องนี้พอสมควร คนไม่เข้าใจไง มันก็กรรมของเขาเนาะ ไม่มีใครเข้าใจหรอก เข้าใจไม่ได้ อย่างที่เราพูด เวลาบอกว่ามีพระพาไปเที่ยวนิพพาน บอกกูไปเว้ย ไปเที่ยวนิพพาน ไปแล้วกูไม่กลับ กูขออยู่เลย มีแต่คนพาไปเที่ยวนิพพานกันไง...ไม่เชื่อ อย่างนั้นไม่เชื่อ ทีนี้มีแต่คนว่ากันไป แต่เราจะได้ไม่ได้

เราถึงบอกว่า สิ่งใดนะ จิตเรา โยมนั่งกันอยู่นี่กับเราด้วย จิตนี้มันเกิดมันตายในวัฏฏะมาเยอะนะ มันเคยไปมาหมดนะ สิ่งที่มันเคยไปมาหมด เราจะถามกลับทุกทีเลย พวกโยมกลัวผีไหม ทำไมกลัวผีกันล่ะ ทุกคนกลัวผี จะมากจะน้อยนี่กลัว ยิ่งไปอยู่คนเดียวนะ อยู่ในที่มืด อยู่ในที่อันตราย ทุกคนกลัวผีนะ เพราะอะไร เพราะมันมีข้อมูลที่ใจไง ใจมันเคยไปวนในวัฏฏะ อย่างไรก็แล้วแต่มันมีข้อมูล มันนึกถึงได้ มันไปสะกิดข้อมูลนั้นได้

แต่พวกเราไม่เคยไปอริยภูมิ โสดาบันจินตนาการไม่ได้ สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ จินตนาการไม่ได้หรอก จินตนาการได้อย่างเดียว ว่างๆ ว่างๆ ก็เลยมาพูดกัน ใครมาก็ว่างๆ ว่างๆ “หลวงพ่อครับ หมดแล้ว กิเลสหมดเลย ว่างๆ ว่างๆ”

รำคาญฉิบหาย มันคิดว่าว่างไง มันคิดว่ากิเลสหมดแล้วไง มันจินตนาการได้แค่นี้ จินตมยปัญญา จินตนาการได้แค่นี้ นิพพานคือว่าง แต่ไม่รู้ว่ามันว่างอย่างไร วิธีว่าง ว่างอย่างไร ว่าง ใครรู้ว่าว่าง ทำไมมันถึงว่าง แล้วว่าง มันเพราะอะไรมันถึงว่าง

หลวงปู่จวนพูด ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ นี่ไง อริยสัจนี้มันแปลกมาก ทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์ ทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์นะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธต้องดับก่อน ดับแล้วมรรคไปอยู่ข้างหลัง ความจริงมันต้องมรรคก่อนค่อยนิโรธนะ ตามเหตุผล ทำไมมันนิโรธก่อนแล้วค่อยมรรคล่ะ

นี่ไง ทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ ทุกข์ดับคือนิโรธ วิธีการดับทุกข์ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันมีวงจรต่อไป เพราะมันเป็นโสดาบัน มันจะเป็นสกิทาคามี มันจะเป็นอนาคามี ถ้าพูดถึงมันดับ มันดับหมด มันดับขาดตอน แล้วมันจะต่อเนื่องจากโสดาบันเป็นสกิทาคามีอย่างไร ไอ้ตรงนี้เราเคยพิจารณาอยู่ ความจริงต้องมรรคก่อนแล้วค่อยนิโรธ ทำไมมันนิโรธก่อนแล้วค่อยมรรค

ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ ทีนี้พอทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ ดับอย่างไร วิธีการดับทุกข์ ทำอย่างไรทุกข์มันถึงจะดับ พอทุกข์มันดับ ทุกข์มันดับแล้วมันจะเป็นขั้นตอนต่อไปๆ

เวลาพระคุยกันเรื่องธรรมะนะ เวลาธรรมะคุยกันมันจะมีเหตุมีผลของมัน แล้วถ้าพูดถึงถ้าคนหนึ่งจริง คนหนึ่งไม่จริง เวลาพูดกัน เราพูดบ่อย เราพูดให้มันตลก เวลาคุยธรรมะกันนะ เราจะบอกเลย ถ้าไม่เอ็งผิดก็กูผิด เออ! จะบอกว่าเขาผิด เราก็ไม่อยากจะพูดใช่ไหม ถ้าบอกว่าเขาผิด เขาอาจจะมีทิฏฐิ เราจะบอกว่า ถ้าเราคุยกัน ๒ คน ถ้ามีความเห็นผิด ไม่เอ็งผิดก็เราผิด จะพูดอย่างนี้ตลอดเลย ๒ คนต้องมีผิดคนหนึ่ง

แต่ความจริงแล้วเราจะบอกว่าเอ็งผิด แต่พูดอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บนะ มันจะเกิดทิฏฐิ คนที่ผิด ความจริงเขาควรจะรู้ตัวว่าเขาผิด แต่พอมีคนมาชี้ว่าเขาผิดนี่นะ เขาพยายามหาเหตุผลให้เขาถูก แล้วจะเกิดทิฏฐิมานะ จะเกิดความยึดปัญญาของตัว ยึดอารมณ์ความที่ผิดนั้นให้มันเกิดทิฏฐิอีกว่ากูไม่ผิด แล้วถ้ากูไม่ผิด กูจะพยายามหาเหตุผลไง ความจริงที่มันจะแก้ไขง่าย มันเลยทำให้ยิ่งแก้ไขยากขึ้นไปอีก

ฉะนั้น เราถึงบอกว่า เออ! เอ็งถูก เออ! เอ็งเก่ง แล้วเดี๋ยวเอ็งผิด เอ็งจะรู้ตัวเอง

ฉะนั้น เวลาเถียงกัน เราจะสะกิดใจ ไม่เอ็งผิดก็เราผิด คนใดคนหนึ่งต้องผิด

แต่ถ้าเวลาพูดถึงอริยสัจนะ ถ้ามันลงตัวอันเดียวกัน เออ! ใช่ ถ้าใช่ ต่างคนต่างจบ ไม่ผิด ธรรมะมีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว แต่ถ้าความเห็นนะ ถ้ามันมีความผิด มันต้องผิด ไม่เขาผิดก็เราผิด ถ้าเราผิด เราอยากแก้ไข

จริงๆ นะ ถ้าเราผิด นิสัยเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไปอยู่กับอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ เพราะเราถือธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ ไปอยู่ไหนปั๊บ เราต้องทำข้อวัตร จะไปอาบน้ำ จะไปสรงน้ำ ต้องทำข้อวัตร แล้วพอมันจะคุ้นเคยปั๊บ สนิทปั๊บ เดี๋ยวเอาแล้ว ถามแล้ว ถามธรรมะแล้ว เราต้องตรวจสอบไง เราต้องตรวจสอบของเราด้วย แล้วถ้าตรวจสอบของเราปั๊บ เราจะวัดภูมิได้เลย ถ้าท่านไม่รู้จริงนะ ท่านจะตอบเราไม่ได้

ออกจากหลวงปู่เจี๊ยะไปปี ๒๕๒๗ ทีนี้พูดถึงเมืองจันท์บ่อย เราไปหาหลวงปู่ถวิล ตอนนั้นหลวงปู่ถวิลเป็นสหธรรมมิกของหลวงปู่เจี๊ยะ ไปอยู่ที่บางระหง ทีนี้พอไปถึงปั๊บ อู้ฮู! ท่านปวดเจ็บ ท่านป่วยมาก เราก็ไม่เข้าไป ทีนี้พอเราไม่เข้าไป เราจะกลับแล้ว เข้าไปหาท่าน ท่านพูดเลยๆ นี่นักรบ ของจริง ของจริงอาจหาญมากไม่กลัวอะไรเลยนะ ท่านรำพึงกับเรานะ “ท่านมาหาเราตั้งหลายวัน ทำไมไม่เข้ามาคุยกับเรา ทำไมไม่เข้ามาคุย” ทำไมไม่เข้ามาตรวจสอบกัน โอ้โฮ! เราก็กราบเลย

ท่าน โอ๋ย! ป่วยนะ ป่วยจนแบบว่าเขาต้อง โรงพยาบาลปิ่นเกล้า เพราะว่าโรงพยาบาลปิ่นเกล้าจะเคารพท่านมาก แล้วจะสร้างเป็นกุฏิของท่านมุงกระจกหมด ต้องควบคุมอุณหภูมิ ต้องควบคุมอุณหภูมิ หนาวก็ไม่ได้ ร้อนก็ไม่ได้ แล้วท่าน อู้ฮู! ป่วยนะ ป่วย เห็นอย่างนั้นเราก็ไม่กล้าเข้าไปพูด เกรงใจ แต่เวลาไปกราบท่าน ธรรมดานะ พระทั่วไป ไปถามเรื่องปัญหานะ จะหลบไปหลีกมา ไม่พูดหรอก ส่วนใหญ่แล้วจะออกข้างๆ เพราะว่าถ้าพูดไปแล้วมันเหมือนกับวัดภูมิกัน แต่นี่ของท่านต้องจริง แล้วเราก็เข้าไป พอเข้าไป ท่านก็บอก “นี่มาอยู่ตั้งหลายวัน ทำไมไม่มาคุยธรรมะกันล่ะ”

โอ้โฮ! เราก็สะเทือนเลยนะ พอเสร็จแล้วเราก็กราบ พอกราบเสร็จแล้วเราก็พูดธรรมะของเราให้ฟัง ไม่ฟังเลยนะ เอาไม้จิ้มฟันนั่งจิ้มฟันเฉย เราพูดไปนะ เหมือนกับเด็กๆ มันเล่านิทาน ท่านไม่สนใจเลยนะ เอ๊! กูก็แปลกใจเว้ย เอ๊! ก็บอกว่าคุยธรรมะ พอคุยแล้วไม่เห็นฟังเลย พอมันคิดทัน พออย่างนั้นปั๊บ เราก็ได้คิด ได้คิดว่าตอนอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะไง

ตอนอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ มาใหม่ๆ เรามาจากบ้านตาด เราก็พูดของเรา พิจารณาจิต เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านไม่ฟัง สุดท้ายแล้วหลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “ถ้ามึงจะพิจารณาต้องพิจารณากาย” เราต้องพิจารณากาย พอเราคิดอย่างนี้ได้ปั๊บ เราอธิบายเลย อธิบายว่าพิจารณากาย อ้าว! หลวงปู่ถวิล พอเราพูดถึงของเราปั๊บ มันเคยชิน ก็พูดแต่ความถนัดนะ พอเราเคยชิน เราก็พูดถึงพิจารณาจิตไง ท่านเอาไม้จิ้มฟันแคะเฉย ไม่ฟังเลยนะ พอเราได้สติปั๊บ ก็พูดกลับเลย “ผมพิจารณากายครับ พิจารณากายปั๊บ มันละลายลงอย่างนั้นเลยครับ พิจารณากายครับ มันแยกออกอย่างนั้นเลยครับ”

“เออ! ไม่พูดอย่างนี้นี่”

มันเลยจับได้ไง มันเป็นความถนัดไง ถ้าท่านเคยพิจารณากายนะ เราไปพูดอย่างอื่นนะ ท่านก็ฟังเฉยๆ ฟังนะ เอาไม้จิ้มฟัน ไม้เกียนั่งแคะเฉย เราก็พูดไป เอ๊ะ! พูดธรรมะ ทำไมท่านไม่สนใจเลย มันสะกิดใจ มันคิดได้ พอมันคิดได้ปั๊บ เราก็พูดถึงการพิจารณากาย ท่านหลุดอย่างนี้เลย จำได้ ท่านหลุดเลยนะ “เออ! มันต้องพูดอย่างนี้สิ” พิจารณาจิตท่านไม่เอาเลย หลวงปู่เจี๊ยะก็ไม่เอา

เมื่อวานคุยกับพระ พูดกับพระ เวลาพูด เขาถามเรื่องพุทโธ ว่าพุทโธเป็นอย่างนั้นๆ หลวงปู่ท่านสอนอย่างนั้น แล้วก็บอกว่าอานาปานสติเป็นอย่างนั้น แล้วหลวงปู่เจี๊ยะว่าอย่างนั้น บอกว่าภาวนาไม่ได้

เราบอกมึงไม่ต้องพูดหรอก กูรู้ดีกว่ามึงอีก หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะบอกว่าอย่างนี้ ท่านบอกว่าไม่ให้ทำอานาปานสติเลย เวลาเราคุยกับท่านจริงๆ นะ โดยทั่วไปท่านจะไม่ให้ทำ แล้วเวลาท่านทำจริงๆ ท่านพูดอย่างนี้ ท่านพูดถึงความรู้สึกของท่านนะ ท่านบอกอานาปานสติ คนต้องมีบารมีมาก คนที่จะทำอานาปานสติได้ก็คือพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านพูดขนาดนี้นะ ท่านให้แต่พุทโธอย่างเดียว แต่เวลาหลวงตาท่านสอน ท่านก็สอนอานาปานสติเหมือนกัน มันอยู่ที่จริตนิสัยไง แล้วโทษนะ สำหรับเรา เรากำหนดลมจนลมหายหมด จนรวมใหญ่เลยนะ เราก็ทำได้ พอเราเคยทำได้ แล้วหลวงปู่เจี๊ยะบอกทำไม่ได้ เราก็งงอยู่นะ แล้วเราก็ไปลองพุทโธของท่านนั่นแหละ พุทโธๆๆ ของท่าน ก็ลงเหมือนกัน แต่ลมเราทำ ก็ลงเหมือนกัน

เราถึงย้อนกลับมาว่า เออ! จริตนิสัยของจิตแต่ละดวงนี้ไม่เหมือนกัน แล้วความกว้างขวาง อย่างเช่นถ้าเราเป็นแบบหลวงปู่เจี๊ยะนะ เราทำอันใดอันหนึ่งนะ เราก็ว่าของเราต้องเป็นหนึ่ง ทีนี้หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็บอกว่าต้องพิจารณากาย ต้องพุทโธ ต้องเป็นหนึ่ง ท่านจะเอาตรงนี้เป็นหลัก แต่อันอื่นมา ถ้าเป็นหลวงตานะ ท่านจะเปิดกว้าง ท่านจะยอมบ้าง อย่างของเราไม่ใช่อย่างนั้นนะ เราแยก ๒ ฝ่าย ๓ ฝ่ายเลยล่ะ นี่เราได้ประสบการณ์อย่างนี้กับครูบาอาจารย์

ฉะนั้น เวลาเรามาเห็นถึงพระที่สอนบวชใหม่ บอกว่าต้องอย่างนี้อย่างเดียว อย่างอื่นผิดหมด โอ้โฮ! เราสะเทือนใจเลยนะ แต่ของหลวงปู่เจี๊ยะนี่นะ เรายกไว้ หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี สอนเหมือนกัน พุทโธไวๆ พุทโธๆๆ หลวงปู่ชอบก็สอนอย่างนี้ หลวงปู่ชอบ คือว่าคนเดินเส้นทางนี้เยอะไง เส้นทางนี้ผู้ที่ผ่านมาเยอะนะ แล้วอย่างเช่นหลวงตาก็เส้นทางนี้ๆ เส้นทางของใครเส้นทางของคนนั้น คนเคยเดินเส้นทางไหนมันชำนาญเส้นทางนั้นนะ จะพูดเส้นทางนั้นชัดเจน แล้วชอบพูดเส้นทางนั้น การเทศน์ของพระปฏิบัติคือเทศน์ประสบการณ์ของใจ ใจดวงไหนเคยภาวนาอย่างไร ส่วนใหญ่จะลงอย่างนั้น

ของหลวงตานี้มหัศจรรย์ มหัศจรรย์เพราะว่าขั้นแรกเป็นเวทนา ขั้นที่ ๒ มันเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ขั้นที่ ๓ เป็นอสุภะ ขั้นที่ ๔ เป็นจุดและต่อม เป็นจิต สติปัฏฐานเกือบครบเลย มันเวทนาไง ทั้งเวทนา ทั้งกาย อสุภะ ทั้งจิต

หลวงปู่ดูลย์จิตหมดเลย พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย

ถ้าพูดถึงเอาทฤษฏีหลวงปู่ดูลย์กับหลวงปู่เจี๊ยะมาชนกันนะ ผิดคนหนึ่ง เพราะหลวงปู่เจี๊ยะบอกต้องเห็นกาย แล้วต้องวิปัสสนามัน หลวงปู่ดูลย์บอกว่า ไม่ต้องเห็นกาย เพราะของหลวงปู่ดูลย์มันเป็นปัญญาวิมุตติ มันใช้ปัญญาใคร่ครวญ ปัญญาวิมุตติไง แต่หลวงปู่เจี๊ยะเจโตวิมุตติ เพราะหลวงปู่เจี๊ยะบอกเรา หงบเอ้ย ตอนอยู่กับท่านพ่อลี ท่านพ่อลีเพ่งไฟใส่คนนู้น ท่านพ่อลีเพ่งไฟใส่คนนี้ แล้วท่านหลวงพ่อลีก็สอนหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านพ่อลีบอกว่า เจี๊ยะเอ้ย ท่านว่านะ เจี๊ยะเอ้ย เขาเป็นคฤหัสถ์เขายังทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้

ที่ไหนเขามีการทำกสิณนะ ท่านพ่อลีจะไปศึกษาแล้วเอามาใช้ประโยชน์ แล้วอันนี้ที่หลวงปู่เจี๊ยะมาเล่นเรา หลวงปู่เจี๊ยะก็บอกว่า ที่ท่านพูดมานั่นคือท่านจะเล่นเราไงว่าถ้าพิจารณาจิตได้ต้องพิจารณากายได้ ต้องทำได้

เรามาเทียบหมดนะ เวลาเราศึกษาเรื่องครูบาอาจารย์ เราจะเทียบเข้ามา มันเป็นช่องทาง มันเป็นจริตเป็นนิสัย แล้วที่ครูบาอาจารย์ที่เราพูด เราเคารพหมด เป็นพระอรหันต์หมด เราเชื่อหมด แต่แนวทาง แนวทางการเข้าหา แนวทางจริตที่สร้างมาเป็นบุญกุศล อย่างเช่นหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์เป็นปัญญาวิมุตติ พิจารณาโดยปัญญา พวกนี้นะ พวกปัญญาวิมุตติมันแบบว่าพื้นฐานมันทำงานในที่สูง มันไม่เหมือนกับเราทำงานบนดิน ถ้าเจโตวิมุตติ พื้นฐานอยู่บนที่เข้มแข็ง

เวลาเทศนาว่าการมันจะออกมาจากประสบการณ์ของจิต แล้วพอมาฟัง เราฟังเรื่องนี้มากนะ เพราะเวลาปฏิบัติใหม่ๆ ตัวเองปฏิบัติด้วย กลัวผิดกลัวพลาด ถ้ามันผิด มันผิดไปหมด ห่วงชีวิต ก็ศึกษาของครูบาอาจารย์แล้วฟังเทศน์ด้วย แล้วตัวเองมันภาวนามีหลักมีเกณฑ์ มันฟังรู้เรื่อง พอฟังรู้เรื่องแล้วมันจับแนวทางไง คือฟังเพื่อจะหาแนวทาง จับทางไปให้ได้ แล้วก็เปรียบเทียบ แล้วเพื่อเอาทางสะดวกของตัวด้วย แล้วพอมันปฏิบัติไปมันก็จับแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องได้เยอะ

แล้วพอมาในปัจจุบันไปฟังเทศน์พระรุ่นใหม่ มันจับแล้วนะ มันผิดหมด มันถึงได้สังเวช ที่พูดถึงสังเวชนะ แล้วพูดถึงเสียงดังฟังชัด เวลากระตุ้นอย่างนี้ เพราะแนวทางมันไปไม่รอด อย่างที่พูดเมื่อวาน พระเขาเถียงนะ เพราะพระเขาเป็นอย่างนี้หมด ว่างๆ ว่างๆ เวลาไปอ่านเข้า อ้าว! ก็มันเป็นอุเบกขา ในสมาธิเป็นอุเบกขา

กูยกส้นตีนเลย เพราะอุเบกขามันทำให้เรา มันเหมือนกับเราสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งนะ อุเบกขาคือมันวางเฉยใช่ไหม แล้ววางเฉยคือมันไม่รับผิดชอบไง สติมันไม่ดีไง แต่ถ้าเราไม่เอาอุเบกขามาเป็นข้ออ้าง เราตั้งสติให้ดี แล้วลงในแนวลึก แนวลึกคือลงไปที่จิต

ทีนี้คนมันเอาตำราอ้างใช่ไหม กิเลสมันจะเอาอย่างนี้ กิเลสมันจะเอาตำราอ้าง อ้างว่ามันเป็นข้อเท็จจริง พออ้างปั๊บ มันก็สร้างอารมณ์อย่างนั้น พอสร้างอารมณ์อย่างนั้น มันก็เหมือนกับเราจะขึ้นบันไดชั้นที่ ๕ เราอยู่ขั้นที่ ๑ เราบอกว่านี่คือบันได แล้วก็ยืนอยู่ขั้นที่ ๑ จะขึ้นขั้นที่ ๕ ได้อย่างไร

จิตที่ลงสมาธิก็เหมือนกัน มันจะลงไปที่จิต มันจะลงไปที่สมาธิ เราไปอ้างว่าในสมาธิมันมีอุเบกขา อุเบกขามันก็เหมือนกับสิ่งที่ขวางไว้ใช่ไหม ทำให้จิตเราหยาบไว้ มันไม่ลงไปในสมาธินั้น อัดพระเลยนะ แล้วส่วนใหญ่แล้วยึดตรงนี้หมดด้วย ใส่หมดเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตรงนี้มันสร้างได้ มันสร้างเฉยๆ มันคิดว่าเป็นสมาธิไง ติดยังไม่รู้ว่าติดนะ ใส่เลย ใส่เลย แล้วทุกคนจะพูดอย่างนี้นะ โอ้โฮ! ของหลวงพ่อยากมาก ปวดหัวเลย ใครๆ ก็บอกว่าของหลวงพ่อยากมาก ของมันง่าย

ตัวเองโดนกิเลสหลอก แล้วสร้างอารมณ์มันง่ายๆ อย่างนั้น แล้วมาบอกว่าของเรายาก คือทุกคนอยากจะสะดวกสบายไง ทุกคนอยากง่ายๆ แล้วก็คากันอยู่อย่างนั้นน่ะ อ้าว! บอกให้มึงทำข้อเท็จจริงสิ มันจะยากมันจะง่ายก็ต้องลงทุนสิ เราจะเอาจริง อาหาร ถ้าอาหารที่มันดี เรารู้อาหารที่มันดีกับอาหารที่ไม่ดี มันจะกินที่ไม่ดีหรือ อาหารทั่วๆ ไป ใครๆ ก็หาได้ อาหารที่มีคุณภาพ มึงจะหาได้ที่ไหนล่ะ

จิตที่เป็นสมาธิก็เหมือนกัน จิตที่เป็นดีมันก็ต้องลงทุนลงแรงหน่อยสิ พอจะลงทุนลงแรงก็ โอ้โฮ! มันยาก ของหลวงพ่อยาก ฟังแล้วใจอ่อนเลยนะ เราก็ใจแป้วเลย

ถ้าเป็นเรานะ ไม่คิดอย่างนั้น โอ้! เราผิด ถ้าคิดว่าเราผิดนะ เราจะขวนขวายไปหาสิ่งที่ถูก มันถึงจะถูกต้อง พอบอกว่าผิดเนาะ ถ้าผิดปั๊บ มันสะเทือนใจเลยนะ เราจะสลดสังเวชเลย คือเราหลงผิดแล้ว แต่นี่ไม่พูดอย่างนั้นนะ โอ๋ย! ของหลวงพ่อยาก ของผมง่าย

ก็กูพูดอยู่ว่าของมึงผิด พอมันผิดนะ เรานี่นะ เราเป็นพระเป็นสงฆ์ แต่เวลาเขาพูด เขาเชื่อมั่นเพราะอะไร เพราะเขาอ่านในพระไตรปิฎก เขาคิดว่าพุทธพจน์เหมือนกัน เขาคิดว่าคำสอนพระพุทธเจ้า คำสอนพระพุทธเจ้ามันต้องมีน้ำหนักกว่าเรา จริงไหม อย่างเรามันจะเป็นใคร มันก็เศษคน แต่คำสอนของพระพุทธเจ้ามันต้องมีน้ำหนัก กิเลสก็ไปยึดตรงนั้นเข้า ว่าในพระไตรปิฎกบอกไว้ว่าสมาธิจะมีอารมณ์อย่างนี้ๆๆ แล้วก็สร้างอารมณ์อย่างนี้ๆๆ มันก็เลยคา เหมือนปฏิจจสมุปบาทเลย อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ปัจจยาการเป็นอย่างนั้นน่ะ แต่จริงแล้ว พับๆๆ ไม่ทันหรอก อันนี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าแยกแยะ แยกแยะส่วนของสมาธิมันจะมีอะไรบ้าง แต่พวกนี้ไม่ได้คิดเลย

มันต้องเป็นไปนะ สิ่งที่เป็นไป ทำจริงได้จริง

เหนื่อยหรือยังล่ะ โทรกับใคร คุยกับใคร โอ๋ย! ตาย โทรศัพท์ลืมไว้ในห้องน้ำอีกเครื่องแล้ว เห็นไหม เจ้าของก็นั่งอยู่นี่ ไม่เป็นไร นึกว่ากลับไปแล้ว เอาล่ะเนาะ จบแค่นี้ก่อนเนาะ เอวัง