ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เทศน์หลังฉันจังหัน

๕ ต.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์หลังจังหัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพวกเราพวกปฏิบัติมันก็อยากฟังธรรมะปฏิบัติ แต่เวลาคนเขามา เวลาพูดธรรมะปฏิบัติบ่อยๆ ครั้งเข้า เขาบอกหลวงพ่อพูดอะไรก็ไม่รู้ เขาหวังแค่ทำบุญน่ะ ถ้าพูดถึงทั่วไปนะ พูดถึงทำบุญแล้วไปสวรรค์ ได้เป็นเทวดาอย่างนี้ โอ๋ย! เขาชอบใจนะ เวลาพูดธรรมปฏิบัติ เขาบอกพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง

แล้วบางทีถ้าไม่ได้ปฏิบัติ เวลาพูดไปนะ พูดไปจะบอกว่าทำไมพูดแต่มรรคผลๆ พระด้วยกันยังพูดเลย บางทีเหมือนแบบว่าทำไมเน้นย้ำแต่ตรงนี้ เหมือนกับว่ามีดีแล้วอวดดีอะไรทำนองนั้นน่ะ แต่มันไม่ใช่หรอก ความจริงมันพูด มันพูดสัจธรรม ทีนี้พูดเรื่องสัจธรรม สัจธรรม ประสาเราเลย ถ้าพูดถึงคนปฏิบัตินะ มันกลับหาได้ยาก ส่วนใหญ่นะ ถ้าพระทั่วไป สังเกตได้ไหม พระทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่จะทำพิธีนะ ประกอบพิธีกรรมกันครึ่งวัน แล้วนั่งภาวนา ๕ นาทีแล้วก็เลิก เพราะไอ้พิธีกรรมมันทำได้ทั้งหมด มันศาสนพิธีใช่ไหม ศาสนพิธี ดูสิ โต๊ะหมู่ ๗ หมู่ ๙ หมู่อะไร การตั้ง การทำให้ถูกต้อง การจุดธูปจุดเทียนอาราธนา ครึ่งวันไม่จบนะ แล้วถึงเวลาแล้วก็นั่งกันนิดหน่อย

แต่เวลาพระกรรมฐานเรา เราบางทีนะ อย่างทำวัตรเย็น บางทีเราอยากจะให้ทำกันไปเลยไง เราลงมาเราก็เทศน์เลย เพราะอะไรรู้ไหม เวลาทำวัตรเย็น โอ้โฮ! มันเจ็บคอ สวดมนต์ไป เพราะอะไร ถนอมเสียงไว้ออกอย่างนี้ดีกว่า ทีนี้มันก็ไม่ได้อีกล่ะ เพราะอะไร วาสนาผู้นำของคนนะ ถ้าคนนำไม่ได้ มันคุมไม่ได้ ถ้าวาสนาการนำมันมี พอเห็นปั๊บ พระมันจะเกรง พอพระมันเกรง มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง มันจะทำให้เป็นระเบียบ ถ้าไม่เป็นระเบียบมันก็ไม่ได้ นี่พูดถึงเวลาฟังเทศน์

ทีนี้เวลาฟังเทศน์ปั๊บ เวลาเทศน์ปั๊บ เวลากลับมาปฏิบัติ พอกลับมาปฏิบัติ พวกเรารู้อะไรกันมา มาปฏิบัติ อย่างเมื่อวานฟังโยมมุกนั่นน่ะ โอ้โฮ! มันอยู่ที่คนนะ คนที่ปฏิบัติมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรือว่าคนปฏิบัติมาขนาดไหน แล้วบางทีนะ บ้านเราอยู่ใกล้วัดใช่ไหม อยู่ติดกับวัดเลย แล้วเคยสนใจเรื่องศาสนาไหม เราโตกันมา เราโตกันในเมือง ผ่านวัดไปผ่านวัดมา เราก็ไม่เห็นสนใจศาสนาเลย แต่ถ้าคนมันมีวาสนานะ มันแค่เห็นพระนะ แค่เห็นพระนะ มงคลชีวิตนะ เห็นสมณะ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ เห็นสมณะนี่มันแทงใจแล้ว พอมันเห็นสมณะ ดูพระสารีบุตรไปเห็นพระอัสสชิบิณฑบาตมา พอเห็นอย่างนั้นน่ะ “สมณะมีความสงบเสงี่ยมมาก ใจต้องนิ่ง” เดินตามไปเลยนะ เดินตามไป ท่านยังบิณฑบาตอยู่ก็เกรงใจท่าน บิณฑบาตไป พระอัสสชิเป็นพระอรหันต์ พอบิณฑบาตไปถึงไปฉัน ฉันเสร็จแล้วเข้าไปกราบเลย “การเหยียดการคู้มันมีสติ น่าศรัทธามาก ท่านบวชแต่ใดมา บวชกับใคร”

พระอัสสชิบอก “เราบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระบวชใหม่”

“อยากให้แสดงธรรม”

พระอรหันต์นะบอก “พระบวชใหม่”

“ให้แสดงธรรม บวชใหม่ก็ไม่เป็นไร” พระสารีบุตรถือตัวนะ ถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์ไง “พูดเล็กน้อยก็ได้ เป็นหน้าที่ของเกล้ากระผมจะตีความเอง”

พระอัสสชิก็พูดเลยนะ “เย ธมฺมาฯ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนให้ดับที่เหตุนั้น”

ปิ๊ง! พระโสดาบันเลย

เมื่อวานนี้เขาพูด เราถึงแปลกใจ เราถึงว่าเขาภาวนามาขนาดไหน เพิ่งสนใจศาสนา เพิ่งสนใจศาสนา แล้วเวลาทำไป พอจิตนะ ไปอภิธรรมมาปีหนึ่ง เพราะเวลาเราพูดถึงอภิธรรม แกจะบอกว่าแกก็ไปมาๆ พอไปอภิธรรม อภิธรรมเป็นทางวิชาการ สังเกตได้ไหม เวลาพระป่าเราพอปฏิบัติเห็นนิมิตหรือพระป่าเราหลง เขาจะบอกให้ไปอภิธรรม เพราะอภิธรรมใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาแล้ว พระผู้ที่ปฏิบัติจะไม่หลง เพราะมันอยู่กับปัญญา มันจะไม่ฟั่นเฝือ

แต่สำหรับนักปฏิบัติแล้วมันเศร้าใจ อยู่กับปัญญานะ พวกโยมตรึกอยู่ในปัญญา ความคิดอยู่ในปัญญา เหมือนกับเราบอกกระบวนการของมัน มันไปไม่ได้ไง กระบวนการของมันนะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องมีพื้นฐานของสมาธิ

แล้วพระที่เขาใช้ปัญญาๆ เขาแย้งกลับว่า เวลาพระพุทธเจ้าไปสอนปัญจวัคคีย์ไม่ได้ให้ปัญจวัคคีย์ทำสมาธิเลย ทำไมเทศน์ธัมมจักฯ เลย

เพราะพระปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี คิดดูซิว่าเราทำสมถะอยู่ ๖ ปี จิตเราสงบไหม แล้วคนที่มีมาตรฐาน คือว่าคนที่ใฝ่ใจกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี พระพุทธเจ้าทำสมาบัติได้ตั้งแต่อาฬารดาบสรับประกัน สอนสมาธิได้ ฉะนั้น ปัญจวัคคีย์ เรื่องสมาธิพื้นฐานแน่น พอแน่นอยู่แล้วไม่ต้องสอนสมาธิไง ก็เทศน์ธัมมจักฯ เลย พอเทศน์ธัมมจักฯ เลย ก็ได้พระโสดาบัน พระอัญญาโกณฑัญญะได้ก่อน แล้วอีก ๔ องค์ได้ตามมา กระบวนการมันเป็นอย่างนั้น

แต่พอเราใช้ปัญญา ประสาเราว่าใช้ปัญญา มันคนละเรื่องกับสมัยพุทธกาล เพราะสมัยพุทธกาลเขามีพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วใช่ไหม แต่พวกเรามีพื้นฐานไหม ไม่มี แล้วใช้ปัญญา ปัญญาของใคร ปัญญาของกิเลสไง ปัญญาของภพ

เราจะบอกว่าใจเรามันมีอยู่แล้วใช่ไหม ใจเรามันเป็นฐานของความคิด ความคิดมาจากไหน ความคิดมาจากใจ แล้วใจอยู่ที่ไหน ใจนี้คืออะไร ใจคืออวิชชา ใจคือปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณไปเกิดที่ไหน มาเกิดในครรภ์ก็เป็นมนุษย์ ไปเกิดในสัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ตัวนี้ตัวเกิด ทีนี้ตัวเกิด ขณะที่ไม่มีร่างกาย เขาเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เขาก็มีความรู้สึกของเขา เขาก็มีความคิดของเขา ทีนี้มาเกิดเป็นเราใช่ไหม มันก็มีสถานะอย่างนั้นมันก็คิดออกมา ทีนี้ความคิดออกมามันคิดมาจากไหน ก็คิดออกมาจากภพ คิดออกมาอวิชชานี่ไง

แต่ถ้าพูดถึงหลักการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องสงบเข้ามาก่อน สงบเข้ามาก่อน ทีนี้สงบมันไม่มีปัญญา บอกว่าเป็นสมถะ น่ากลัวมาก แต่ถ้าไม่เป็นสมถะมันก็คิดโดยเรา แต่พอเป็นสมาธิปั๊บ มันเป็นสมถะปั๊บ ไม่มีเรา เพราะถ้ามีเรา เป็นสมาธิไม่ได้ สิ่งที่ไม่เข้าสมาธิเพราะมีเรา พอมีเรามันก็คิดฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่าน ความคิดเกิดจากเราหมด ยิ่งเราเข้มแข็งขนาดไหนนะ แต่ถ้าไม่มีเรา ไม่มีเราจะเป็นสมาธิได้อย่างไร ใครเป็นเจ้าของสมาธิ

เจ้าของสมาธิคือสติ คือจิต แต่มันไม่มีตัวอวิชชา ไม่มีตัวนั้น อวิชชาสงบตัวลงชั่วคราวมันถึงเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิ มันไม่มีเราใช่ไหม ไม่มีเรามันก็ไม่มีการคาดหมาย ไม่มีการคาดการณ์ นี่ไง พระพุทธเจ้าบอกว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือมันเป็นสัจธรรม

แต่ในปัจจุบันนี้เป็นสัจธรรมไหม ปัจจุบันที่เราคิดเป็นสัจธรรมไหม เป็นความคิดเรา ทีนี้ในความคิดเรา เราโลเล เราสงสัย เรามีนิวรณธรรม มันเป็นสัจธรรมไหม นี่ไง มันไม่เป็นสัจธรรม มันเป็นความคิดเรา นี่มันอยู่ในปริยัติไง

คือพวกเราถ้าไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย เราก็ไม่ได้ปฏิบัติ ทีนี้พอไม่ได้ปฏิบัติ พอเรามาศึกษาศาสนา มีหลายคนนะ เมื่อก่อนนี้พระเราไปด้วยกันแล้วเอาเหรียญไปแจกเขา เขาไม่เอา เขาบอกว่าพระอยู่ในใจ แล้วเขาอธิบายให้ฟัง เขาบอกว่าเมื่อก่อนนะ เขาไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย แล้วเขาเล่นพระเครื่องกัน แล้วเขาไปได้เหรียญหลวงปู่แหวนมา พอได้เหรียญหลวงปู่แหวนปั๊บ พวกนักเล่นเหรียญเขาต้องสืบประวัติ พอได้เหรียญหลวงปู่แหวนมา เขาก็สืบประวัติหลวงปู่แหวน แล้วเขาก็ศึกษา ศึกษาไปๆ มันเข้าไปซึ้งในสัจธรรม ทิ้งหมดเลย

ปริยัติก็เหมือนกัน ที่เราไปเรียนปริยัติกัน เราไปศึกษากัน เราไปศึกษาปริยัติเพื่อให้เราชุ่มชื่น เพื่อให้เราศรัทธา ปริยัติเราไปศึกษาก็เหมือนกับเขาเล่นพระเครื่อง เขาไปศึกษาประวัติพระเครื่องนั้น ใครเป็นคนสร้างมา ใครเป็นคนทำมา แล้วไปศรัทธาการดำรงชีวิตของท่าน ก็ทำให้เราอยากจะได้ธรรมอย่างนั้นบ้าง

ปริยัติก็เหมือนกัน ที่เราศึกษาๆ ที่ว่าศึกษา ศึกษาแล้วรู้อะไร มันรู้อะไร เพราะศึกษาถึงประวัติของพระพุทธเจ้า ศึกษาถึงการกระทำของพระพุทธเจ้า แล้วมันได้ทำหรือยัง ทีนี้พอจะได้ทำ จะมาปฏิบัติ ปฏิบัติปั๊บ การปฏิบัตินะ มันก็ต้องมีการเข้าไปอย่างที่พูด ลืมตาแล้วต้องเห็นภาพ ต้องรู้สิ่งต่างๆ มันก็ธรรมดา คนทำงานนะ นักวิชาการอะไรก็แล้วแต่ฝึกงาน มันก็ต้องมีคนที่ทำแล้วดีมาก คนทำมีคุณภาพ บางคนทำงานก็ปานกลาง บางคนทำงานก็ทำไม่ได้ การปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้น เพราะมันต้องย้อนกลับมาที่อำนาจวาสนา ย้อนกลับมาที่ธรรมด้วย ดูสิ ขิปปาภิญญา ปฏิบัติเร็วรู้เร็ว ปฏิบัติปานกลาง ปฏิบัติยากรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก มันจะย้อนกลับมาตรงเราสร้างมา ตรงบุญกุศลที่เราสร้างมา ที่เรากระทำมา มันมีมากมีน้อยไง อันนี้มันจะเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ มันจะวัดกันอย่างนั้นไม่ได้ มันถึงต้องให้เป็นไป

ทีนี้ย้อนกลับมาที่เขาทำ ขนาดประสาเรานะ ถ้าทำอย่างนี้มันไม่เหมือนพระ พระเรา ๒๔ ชั่วโมงใช่ไหม เรานั่งสมาธิทั้งวันๆ ใช่ไหม เราควรจะได้ผล แต่เขาทำอาชีพ แล้วเขาต้องเจียดเวลามาภาวนา ทำไมเขาเห็นกาย แล้วเห็นละลายหมด มันลอกหนัง โอ้โฮ! เมื่อวานฟังเขา แต่เราห่วงนะ ห่วงว่าเวลามันเกิดหนหนึ่งแล้ว หนต่อๆ ไปมันจะเกิดยาก มันต้องต่อเนื่องไง การต่อเนื่อง การปฏิบัติต่อเนื่อง ปฏิบัติมันไปเรื่อยๆ ถ้ามันเห็นสภาวะแบบนั้นนะ แล้วเห็นอย่างนี้ปั๊บ มันฝังใจ ทุกคนไปเห็นแล้วมันฝังใจ เหมือนกับได้ทรัพย์ที่ดี พอฝังใจแล้ว พอจะทำอีกมันเป็นสัญญาแล้ว ต้องค่อยๆ ค่อยๆ แบบว่าทำไปสักพักหนึ่งมันก็จะจางไป แล้วก็ทำใหม่ ทำไปเรื่อยๆ

แต่ถ้ามีวาสนานะ คำว่า “มีวาสนา” เราจะเน้นคำนี้บ่อยเลย คำว่า “วาสนา” คือว่าเราสร้างมาไง คือโดยหลักการของใจ ถ้ามีวาสนามันจะไม่ไขว้เขว ถ้าไม่มีวาสนา เหมือนเด็ก เด็กถ้าไม่มีจุดยืน มันควบคุมตัวไม่ได้ แต่ถ้ามีวาสนา เหมือนผู้ใหญ่ มันก็ผิดอยู่ แต่เรามีสติเนาะ ก็ผิดแล้ว แต่ถ้าเด็กมันผิดมันแก้ยาก

ทีนี้ถ้ามีจุดยืน ทำมา เขามีวาสนา เขาจะมีจุดยืนของเขา อันนี้จะเป็นประโยชน์มาก แล้วมันจะลองผิดลองถูก เพราะเวลาเราปฏิบัตินะ บางทีปีสองปีมันล้ามากนะ แล้วปฏิบัติไปมันไม่มีอะไรติดไม้ติดมือ มันอื้อหืม! มันสุดๆ เลย เหมือนลงทุนเท่าไร เจ๊งหมด เท่าไรก็เจ๊ง ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปเลย แต่ก็ฝืนทำไปๆ จนมันหาช่องทางมันได้ หาช่องทางมันได้ มันเริ่มต้นจากตรงนี้ ทำให้จริงให้จัง แล้วทำไป นี่พูดถึงเวลาทำของเขาได้

ทีนี้ย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาการทำแต่ละอย่างๆ ธรรมชาติของจิต เราจะบอกเลยนะ เราเปรียบเทียบเหมือนกัน ที่ว่าปัญญาอบรมสมาธิกับการเพ่งไว้เฉยๆ การเพ่งไว้เฉยๆ มันเป็นเหมือนกสิณ แต่ถ้ากสิณ เขาจะเพ่งสีเขียวสีแดง แล้วพอเห็นสีเขียวสีแดง เห็นว่าเป็นดวง เสร็จแล้วเขาขยายส่วน กสิณพิสูจน์กันตรงนี้ ขีดวงนะ ขีดเป็นสีแดง แล้วเราเพ่งกสิณแดง กสิณไฟ กสิณลม กสิณ เวลาถ้าเราเพ่งได้ เราขยายส่วนได้ มันเหมือนอสุภะ เหมือนกับเห็นกาย ถ้าเห็นกายจะแยกได้

สมมุติเราเพ่งอย่างนี้ปั๊บ ถ้าจิตเราสงบได้ มันพิสูจน์กันตรงนี้ไง ถ้าจิตมันเป็นจริง มันเป็นฌานจริงนะ ไอ้สิ่งที่เห็นมันขยายส่วนได้ มันขยายให้เล็กให้ใหญ่ได้ แต่ถ้าเราเพ่งไว้เฉยๆ เราสร้างภาพไว้เฉยๆ มันก็อยู่อย่างนั้นเฉยๆ ถ้าเพ่งนะ เพ่ง

ทีนี้ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ มันใคร่ครวญ ใคร่ครวญใช้ปัญญา ปัญญาคืออะไร ความคิดเป็นปัญญาหรือยัง ความคิดเป็นธรรมชาติที่มันเกิดใช่ไหม แต่เรามีสติตามความคิดไป แล้วความคิด เราเจ็บปวดกันที่ความคิด เราเสียใจดีใจกันที่ความคิด ความคิดที่มันฝังใจตั้งแต่เด็กๆ เลย ตั้งแต่ที่เราจำความได้เลย อะไรที่ฝังใจ คิดถึงตรงนั้นแล้วมันสะเทือนใจมาก สะเทือนใจมากปั๊บ เราเอาปัญญาไล่มัน สะเทือนใจคืออะไร คือทุกข์ แล้วเอ็งพอใจทุกข์อีกไหม สิ่งที่เกิดมานี่ทุกข์ไหม แล้วทุกข์มันมาจากไหน มันมาจากความโง่ เราโง่ เพราะอะไร สิ่งที่ฝังใจมันจะเกิดโดยธรรมชาติของมัน แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นมามันเป็นเพราะอะไร มันเป็นเพราะสิ่งที่กระทบ อย่างที่อะไรฝังใจที่เกิดขึ้นกับใคร มันเกิดขึ้นจากพ่อแม่ จากคนใกล้เคียงทำอะไรไว้มันก็เจ็บ มันก็ฝังใจ

พอฝังใจ เราก็คิดสิ นี่มันเป็นอดีตไปแล้ว แล้วมันเป็นเพราะอะไรล่ะ ทำไมเขาไม่ทำกับคนอื่น ทำไมทำกับเราล่ะ ที่มันมีเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาก็เพราะมันต้องมีเวรมีกรรมกันมา ทีนี้เวรกรรมกันมา คือสิ่งนี้มันเป็นสัจธรรม สัจจะที่มันเป็นผลของวัฏฏะ วัฏฏะที่เกิดสภาวะแบบนี้ แล้วเราจะไปดีใจเสียใจทำไม คือว่ามันต้องเกิด ไปอยู่กลางแดดต้องร้อน ลมพัดมันต้องเย็น แล้วเราจะไปตีโพยตีพายกับอะไรที่เราไปอยู่กลางแดดล่ะ แต่ถ้าเราหลบเข้าที่ร่ม หายใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าปัญญามันใคร่ครวญ มันไล่ไปอย่างนี้ปั๊บ ต่อไปมันจะเห็นโทษไง เห็นโทษในความคิดของเรา เห็นโทษที่เราไปหน่วงอดีตมาเป็นปัจจุบัน ไปหน่วงมาเฉยๆ นะ มันเป็นอดีตที่มันผ่านไปแล้วใช่ไหม เราไปดึงมาคิดไง ไปหน่วงกลับมาให้เป็นปัจจุบัน แล้วเราก็มาเจ็บแสบปวดร้อนกัน แต่ถ้าเราเห็นโทษขึ้นมาปั๊บ เราก็ปล่อย เวลามันจะไปนะ มันจะคิดอีก มันจะหน่วงไปเหมือนกัน เพราะธรรมชาติอวิชชามันฝังใจ มันพอใจ พอมันจะหน่วงไป สติมันทันนะ สติมันทันเพราะอะไร เพราะมันเห็นโทษ เห็นโทษ ครั้งที่แล้วก็น้ำตาไหลรอบหนึ่งแล้วนะ พอคิดรอบที่ ๒ น้ำตาก็ไหลรอบที่ ๒ นะ คิดรอบที่ ๓ น้ำตาก็ไหลรอบที่ ๓ นะ แล้วใครบ้า ใครบ้า ก็มึงบ้า พอมึงบ้าปั๊บ มันก็ปล่อย นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่า “อบรมสมาธิ” เพราะอะไร ไม่เป็นสมาธิเพราะจิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันฝังใจแล้วมันจะไปหน่วงสิ่งต่างๆ มา พอปัญญามันทันความคิดนะ พอมันจะไปนะ หึ! หยุดเลยนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราใคร่ครวญมันด้วยปัญญาจนมีเหตุมีผลแล้ว คำว่า “สมาธิ” คือว่ามันควบคุมจิต จิตมันไม่ไปตามแรงปรารถนาตัณหาความทะยานอยากไง นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

แต่ถ้าเพ่งดูเฉยๆ ให้เพ่งจนตาย คือมันเพ่งจนตาย เหมือนกับกดไว้ เดี๋ยวมันก็เกิดอีก คือมันไม่มีเหตุผลใช่ไหม มันไม่มีเหตุมีผลเข้าไปแยกแยะว่าถูกผิด ถ้ามีเหตุผลเข้าไปแยกแยะว่าถูกผิด นี่คือคำว่า “ปัญญาอบรม” ปัญญาอบรม อบรมใจ อบรมใจให้เห็นความผิดความถูกของความโง่ความเซ่อของเรา ฉะนั้น ปัญญามันไล่ตามไป มันต่างกันตรงนี้ แล้วมันต่างไป พอมันไล่ไปๆ มันเริ่มเห็นโทษ มันเริ่มหยุดนะ มันเริ่มหยุดไง คือว่ามันหยุด หมายถึงว่า เหมือนเราเอามือไปจับไฟ เรารู้ว่าไฟ เราก็ไม่อยากจะจับ มึงคิดอีกมึงก็เจ็บอีก มึงคิดอีกมึงก็ทุกข์อีก แต่บางที ทุกข์ก็ขอลองหน่อยหนึ่ง ลองหน่อยหนึ่งก็เจ็บนิดหนึ่ง ลองเยอะก็เจ็บเยอะ กิเลสนี่ไม่ได้หรอก มันจะลอง รู้ๆ อยู่ ก็อยากลอง คนเรารู้ๆ อยู่ ไม่ดีก็อยากทำ เอาตัวเองไว้ไม่ได้ไง เพราะเรายังอ่อนแออยู่ไง

แต่ถ้าพอเราโตขึ้นมา โตขึ้นมานะ คำว่า “โตขึ้นมา” จิต วุฒิภาวะมันสูงขึ้น พอสูงขึ้นบ่อยครั้งเข้าๆ สติมันพร้อมขึ้นมา ทำไมมันมีสติล่ะ สติสำคัญมาก สติมันยังยั้ง ยับยั้งแล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร

ความคิดของเราในศาสนา ในสมมุติบัญญัติ บัญญัติพระพุทธเจ้าบอกว่า สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วเรามีปัญญารอบรู้ความคิด มันหยุดความคิดได้ พอหยุดความคิดได้ หยุดความคิดได้นี่ปัญญาอบรมสมาธิเฉยๆ เพราะอะไร เพราะความคิดเป็นเปลือกของใจ ความคิดเป็นเปลือกส้ม ตัวใจเป็นเนื้อส้ม แล้วความคิด ส้ม โดยธรรมชาติของมันจะมีเปลือกส้มอยู่โดยตัวมันตลอดเวลา เราหยิบที่ไหนมันต้องโดนเปลือกส้มโดยธรรมชาติเลย

เราถึงบอกว่า สิ่งที่บอกว่าเป็นสุตมยปัญญา เป็นโลกียปัญญา มึงคิดอย่างไรนะมันก็เปลือกส้ม มึงจะมีความรู้ขนาดไหน มึงจะมีความรู้มาจากฟ้า มึงจะคิดโดยพรหม คิดโดยเทวดานะ เหมือนกันหมด ไม่มีทาง แต่ถ้าทำสมาธิคือปอกเปลือกส้มทิ้ง

ไม่เป็นสมาธิเพราะว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันแรง ขันธ์ ๕ ความคิดมันรุนแรง มันเลยเป็นสมาธิไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้ทันรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปอกมันทิ้ง มันคืออะไร คือตัวพลังงานเฉยๆ สมาธิคือพลังงานเฉยๆ นะ ตัวจิตคือพลังงานเฉยๆ ไม่ใช่ความคิด พลังงานที่มีสติ แต่โดยธรรมชาติเราจุดไฟสิ พลังงานมันจะกระจายตัวตลอดเวลา ธาตุรู้ พลังงานมันกระจายตัวตลอดเวลาโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติ โดยสสาร ความรู้มันจะพุ่งออกตลอดเวลา แต่การพุ่งออกมันมีขันธ์ มีเปลือกส้ม มีสมมุติบัญญัติ สัญญาไง สัญญาคือข้อมูลเรื่องอะไร คนเรียนกฎหมายมามันคิดแต่เปรียบเทียบทางกฎหมาย คนเรียนรัฐศาสตร์มามันเปรียบเทียบทางรัฐศาสตร์ คนเรียนวิศวะมามันเปรียบเทียบทางวิศวะ คนเรียนหมอมามันเปรียบเทียบทางหมอ เปลือกส้มไง เปลือกส้มคือสัญญาไง สัญญา สังขารมันเรียนมาไง มุมมองของจิตมันออกมาจากตัวเปลือก แต่ตัวใจคือตัวพลังงาน ตัวพลังงานเฉยๆ ตัวสมาธิ สมาธิมันเป็นสากลไง สมาธิคือสมาธิเหมือนกันหมด ยากดีมีจน ทุกข์จนเข็ญใจ กษัตริย์ กุฎุมพีต่างๆ เข้าสมาธิคือสมาธิ สมาธิไม่มีสมาธิกษัตริย์ ไม่มีสมาธิคนจน ไม่มี พลังงาน พลังงานเฉยๆ ตัวนี้ตัวสมาธิ แล้วเราเข้าไปนะ โอ้โฮ!

ท้าประจำนะ นาย ก. นาย ข. นาย ง. ไม่ใช่เราหรอก ว่าเป็นเราๆ มึงไปเปลี่ยนทะเบียนบ้านก็เป็นคนอื่นแล้ว แขนเป็นเรา มึงตัดทิ้งสิ หัวใจเป็นเรานะ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ มันเน่าแล้ว ทิ้งไปเลย หัวใจเป็นมึงหรือ ไม่มีอะไรเป็นเราเลยนะ แต่จิตเป็นสมาธินี่คือเรา ปฏิสนธิจิต ฐีติจิต แล้วถ้าเป็นสัมมาสมาธิ มันจะออกวิปัสสนา ถ้าไม่เป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันตกภวังค์ ไม่ใช่สมาธิ

ส่วนใหญ่แล้วอภิธรรม เรากล้าพูดเลย ตกภวังค์หมด ตกภวังค์จริงๆ พุทโธๆๆ หายไป ตกภวังค์โดยเนื้อหาสาระเลย แต่ว่างหมด นั่นภวังค์ของความคิดไง คิดว่าว่างไง คำว่า “ภวังค์” เพราะอะไร เราเปรียบเทียบเลย เราจับไฟ ไฟร้อน ไฟเย็นมีไหม ไฟธรรมชาติต้องร้อนใช่ไหม จิตเป็นสมาธิ คำว่า “สมาธิ” เหมือนไฟที่มีพลังงาน ถ้าจิตเป็นสมาธิมีพลังงาน ทำไมจิตมันไม่มีกำลัง ถ้าจิตที่มีกำลังนะ จิตถ้าเป็นสมาธิแล้วนะ มันมีกำลังของมัน มันรู้ได้ มันเห็นของมันได้ มันเป็นไปของมันได้ นี่ไง ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันต้องมีกำลังของมัน น้ำมัน เราไปซื้อน้ำมันเบนซินมาตั้งไว้ มึงอย่าเผลอนะ จุดระเบิดทันทีเลย แล้วถ้าถังเปล่าๆ ไม่มีน้ำมันล่ะ มีประโยชน์อะไร จิตถ้าเป็นสมาธิ เหมือนถังน้ำมันที่บรรจุด้วยน้ำมันเต็มถังเลย เอาไปทำอะไรก็ได้

ใครมาเราจะถามตรงนี้ ถามตรงที่ว่า แล้วจิตเป็นอย่างไร ถ้าจิตเป็นอย่างไร มันต้องบอกคุณภาพของมันไง ถ้ามันพูดอธิบายคุณภาพของมัน นั่นน่ะคือสมาธิ

“ว่างๆ ว่างๆ”...ถังเปล่า แกลลอนเปล่าๆ ไม่มีน้ำมัน แล้วมาอย่างนี้หมด คือมามีแต่แกลลอนเปล่ามาไง ไม่มีน้ำมันเลย ข้างในกลวง แต่ถ้าเรามา เราถือแกลลอนเรามา น้ำมันเราเต็มแกลลอนเลย น้ำมันเราเต็มถังเลย สมาธิต้องเป็นอย่างนี้ แล้วพอมีสมาธิขึ้นมา ถ้าไม่ทำสมาธินะ มันไม่เป็นมรรค ๘ ไปเรียน เราศึกษาอะไรก็แล้วแต่ ส่งหน่วยกิตไม่ครบ เขาไม่ให้ผ่านหรอก มรรค ๘ สัมมาสมาธิ ถ้าสมาธิไม่ทำ มรรค ๗ ไม่มี มรรค ๗ คือมึงเป็นศาสดาใหม่ ศาสดาใหม่ มึงพาไปไม่รอดหรอก แต่ถ้ามรรค ๘ สัมมาสมาธิ

ถ้าสมาธิไม่จำเป็น มรรค ๗ หน่วยกิตมันตัดทิ้งเลย มันเป็นไปไม่ได้ โดยข้อเท็จจริงมันเป็นไปไม่ได้เลย แต่ทำไมชาวพุทธไม่ถามตัวเองกลับ ถ้าถามกลับสิ ทีนี้คำว่า “สมาธิ” ตอนนี้มันก็มีระดับแล้ว อย่างที่ปัญญาวิมุตติ คำว่า “ปัญญาวิมุตติ” อย่างการปฏิบัติแบบหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่าดูจิต คำว่า “ดูจิต” คำว่าดูหรือรู้ของหลวงปู่ดูลย์ ท่านดูหรือรู้แบบผู้บริหารองค์กร แบบผู้อำนวยการองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ต้องรับผิดชอบเรื่องงบประมาณ เรื่องบุคลากร เรื่องนโยบาย ต้องดูหมด ดูแบบบริหารจัดการ แต่ความมุ่งหมายของลูกศิษย์ที่ไปศึกษามา ดูแบบนักการภารโรงไง ดูแบบการ์ดหน้าประตู มึงมาก็แลกบัตรๆ คือดูเฉยๆ อ้าว! ดูก็ดู ดูแล้ว

เพราะเราไปคุยกับเขามาเยอะ “ก็ดูไงๆ”...มันคนละดู ดูแบบบริหารจัดการกับดูแบบไม่รับผิดชอบอะไรเลย มันคนละดู นี่ไง คำพูดของผู้อำนวยการกับคำพูดของนักการภารโรง คำพูดเดียวกัน แต่ความหมายมันต่างกันราวฟ้ากับดิน

ทีนี้หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดู ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต ไปดูหลวงปู่ดูลย์ฝากไว้สิ จิตเห็นอาการของจิต อาการของจิตคือเปลือกส้ม ส้ม ธรรมดาส้มมันไม่มีชีวิต เปลือกส้มไม่มีชีวิต แต่จิตเรามีชีวิต เพราะจิตเรามีชีวิตนะ เพราะธาตุรู้ สสารที่มีชีวิตที่สืบต่อ สันตติมันจะสืบต่อตลอดเวลา เกิดดับๆๆ ตลอดเวลา แล้วพอไปเกิดเป็นพรหม หนึ่งเดียว เพราะถ้าเข้าสมาธิ พวกฤๅษีชีไพรเข้าฌานสมาบัติได้ตลอดเวลา เวลาตายไป เพราะเขาไม่มีวิปัสสนา เพราะจิตเขาเป็นหนึ่งเดียว เพราะเขาไม่อยู่ในขันธ์ ๕ เวลาเขาตายไป พรหมคือขันธ์เดียว นี่ไง พรหม ผัสสาหาร การกระทบคือผัสสาหาร คืออาหารของพรหม ถ้าทำบุญกุศลไปเกิดเป็นเทวดา เทวดาไม่มีร่างกายเนื้อ แต่มีร่างกายทิพย์ วิญญาณอาหาร นี่ไง

ทีนี้สิ่งที่พลังงานมันมีชีวิตของมัน เวลามันสงบเข้ามา เนื้อส้มกับเปลือกส้ม จิตเห็นอาการของจิต เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา สังขาร วิญญาณ ความเห็นนะ แต่นี่เราไม่เห็น เพราะอะไร ความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราหมด เพราะอะไร เพราะเราแยกไม่เป็น เราไม่เคยทำสมาธิ พอทำสมาธิ พอทำสมาธิขึ้นมา จิตมันสงบตัวเข้ามา มันหดตัวเข้ามา ดูแบบทิเบต ทิเบต ลามะเวลาตายไปเขาจะว่าเขาจะไปเกิดที่ไหน เขาจะตามลามะองค์เก่ามาเกิดใหม่ แล้วเวลาเขาถอดจิต ทำสมาธิ พวกนี้ทำสมาธิดี เขาบอกเวลาเขาเข้าสมาธินะ เขาบอกว่าร่างกายเหมือนเปลือกกล้วย ตัวจิตคือตัวกล้วย เวลาสงบเข้าไปเหมือนเราปอกกล้วย เปลือกกล้วยไม่ใช่กล้วย ร่างกายกับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน เวลาสงบก็เหมือนกัน เวลาทำความสงบเข้ามา จิตมันสงบเข้ามา อัปปนาสมาธิมันสักแต่ว่ารู้ มันทิ้งหมดเลยนะ มันไม่รับรู้เรื่องร่างกายเลย มันละเอียดเข้าไปๆ

เหมือนที่ว่า น้ำในแก้วมีตะกอน ตะกอนมันจะสงบตัวลง จิตมันหดเข้ามาเหมือนกับตะกอนสงบตัวลง น้ำกับตะกอนมันไม่อยู่ด้วยกัน คนละอันกัน อยู่ด้วยกัน แต่คนละอัน จิตมันสงบเข้ามาๆ จนไม่รับรู้เรื่องกายเลย สักแต่ว่ารู้ๆ สมาธิ กายกับจิตแยกจากกันได้ ถ้าคนทำสมาธิเป็น คนเคยเห็นไง

หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต หลวงปู่ดูลย์พูดถูกหมด จิตเห็นอาการของจิต คือเนื้อส้ม มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต มันเห็นเปลือกส้ม คือเนื้อส้มกับส้มมันไม่ใช่อันเดียวกัน มันมีปฏิกิริยาสัมพันธ์กัน มันจับพิจารณาไง พอมันจับพิจารณา ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด แยกแยะออกไป แยกแยะจนเห็นโทษของมันนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกอย่างไร ถ้าปัญญาแยกอย่างนี้ เราจะบอกว่านี่คือปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ท่านบอกพิจารณากายโดยไม่ต้องเห็นกาย ใช้ปัญญาใคร่ครวญ ปัญญาใคร่ครวญ หลวงปู่ดูลย์น่ะ ฟังเทศน์หลวงปู่ดูลย์สิ ในถามตอบเวลามาออกวิทยุเสียงธรรม เราฟังอยู่ตลอดเวลา ชัดเจนมาก

แต่เวลาพวกเราคนที่ไม่เป็น คนที่ไม่เป็น เหมือนกับเทคโนโลยีที่เราซื้อมาแล้วใช้ไม่เป็น มันไม่เป็นหรอก พอไม่เป็นปั๊บ มันจะรับรู้แต่ผลที่เกิดขึ้น แต่พัฒนาการของมัน วิธีการของมัน มันไม่เห็น

แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เป็นสิ่งที่ต้องทำสมาธิ มันกำหนดพุทโธ กำหนดพุทโธๆๆ อานาปานสติต่างๆ จิตมันจะดิ่งลงนะ เวลามันลงมันจะเหมือนคนตกจากที่สูง เหมือนตกจากอะไรต่างๆ อย่างนี้มันจะเป็นผลของสมาธิ พอผลของสมาธิเป็นเจโตวิมุตติ มันก็เหมือนกับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เรา หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ พุทโธไวๆ พุทโธไวๆ พุทโธไวๆ ทางนี้มันเป็นสายของพระโมคคัลลานะ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันเป็นสายทางพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุตติ เป็นแบบหลวงปู่ดูลย์ เวลาท่านพูด พูดสั้นๆ เป็นปัญญาวิมุตติ

ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ พุทโธๆๆ พุทโธจนจิตมันสงบลง พอจิตสงบลง ส้มกับเปลือกส้ม พอตัวจิตมันสงบลง ทีนี้พอสงบลง พอมันออกมาจากอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ ถ้ามีวาสนามันจะเห็นกาย อย่างที่ไอ้มุกมันว่า มันจะเห็นกายนะ แล้วเห็นกาย เห็นแต่ละหนก็ไม่เหมือนกัน เพราะจังหวะที่มันจะเห็น เห็นเป็นกะโหลก เห็นเป็นหู เป็นใบหู เป็นรูขุมขน เป็นเส้นขน มันเป็นของหลวงปู่กิม เราไปศึกษาของหลวงปูกิม หลวงปู่กิมเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ แล้วหลวงปู่ดูลย์บอกว่าหลวงปู่กิมจบ เพราะตอนที่หลวงปู่กิมท่านไปศึกษากับหลวงปู่ดูลย์ ตอนท่านจะทำลายขั้นสุดท้าย หลวงปู่ดูลย์ถามว่า “กิม เห็นจิตไหม”

“เห็นครับ”

“เห็นอวิชชาไหม”

“เห็นครับ”

หลวงปู่ดูลย์บอกเลย “พิจารณามันๆๆ ให้ใช้ปัญญาใคร่ครวญมัน” ท่านไม่บอกให้ดูเฉยๆ หรอก หลวงปู่กิม

“กิม เห็นจิตไหม”

“เห็นครับ”

“เห็นกิเลสไหม”

“เห็นครับ”

“พิจารณามันๆ”

ไม่ใช้ปัญญา ไปไม่รอด แล้วหลวงปู่กิมเวลาท่านพิจารณา เวลาจิตมันสงบ หลวงปู่ดูลย์ท่านไม่เห็นกาย ท่านบอกพิจารณาโดยปัญญา เป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกถ้าเป็นสมาธิมันเป็นธรรมะ ธรรมะคือสัจธรรม แต่มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก ธรรมารมณ์ การพิจาณาธรรมคือการพิจารณาความคิด ความคิดถ้ามีสติ มีสมาธิ มันจะเป็นธรรมะ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มันเป็นโลก มันเหยียบเรา ฉะนั้น เวลามันสงบขึ้นมา มันมีหลักแล้ว พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม

ทีนี้เวลาพิจารณาอารมณ์ใช่ไหม แต่ของหลวงปู่กิมท่านบอกว่าท่านเห็นเส้นผม เส้นผมเส้นเดียว แล้วท่านแยกเส้นผม วิภาคะ นี่ไง ถ้ามันเป็นเจโต จิตมันสงบ เวลามันน้อมไปเห็นเส้นผม เส้นผมเส้นเดียวนะ ท่านขยายส่วนออกมาเป็นท่อนซุง แล้วท่านพูดเอง ท่านเห็น ความเห็นมันชัดเจนมากไงว่าในเส้นผมมันเป็นท่อเหมือนท่อน้ำ มันมีสารอาหาร มีอะไรเข้าไปทางเส้นผมนั้น วิทยาศาสตร์มันต้องใช้เทคโนโลยีขยายส่วน แต่นี่ใช้จิต นี่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติ จิตมันต้องสงบ

เราจะบอกว่า สิ่งที่จิตมันสงบนี่นะ ถ้าสงบโดยพุทโธมันจะลงลึก มันจะได้รสของสมาธิธรรม คือรสของความสุขในสมาธิ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ มันจะพิจารณาไป มันจะสงบเฉยๆ ไม่ได้รับรสอันนี้เพราะมันไม่ลงสมาธิที่ดิ่ง แต่มันจะเป็นความปล่อยวาง จิตมันจะว่าง มันจะมีความรู้สึกว่าว่าง แล้วมีสติควบคุม แล้วถ้ามันใช้ปัญญาในการวิปัสสนาปั๊บ เวลามันปล่อย เหมือนกัน ถึงที่สุดแล้วเวลามรรคสามัคคีนี่ไง มรรค ๘ ไง หน่วยกิตส่งครบ ผลเหมือนกัน อันสุดท้ายเหมือนกัน แต่ขณะที่ทำอยู่ เจโตวิมุตติมันจะได้รสของสมาธิ มันจะมีความดูดดื่ม มีความชุ่มชื่นกว่า มีความสุข ละเอียด แต่มันก็เสียอย่างหนึ่งคือติด คือมันไปติดสุขอันนั้น แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันจะรู้ของมันไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด เป็นโสดาบันเหมือนกัน สกิทาคามี อนาคามีเหมือนกัน

ประสาเรานะ มันจะพิจารณาสายไหน จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ อริยสัจมีอันเดียว ต้องเหมือนกัน จะมาทางไหน คืออริยสัจมีอันเดียว จะมีฤทธิ์มีเดช สุกฺขวิปสฺสโก เตวิชฺโช ต้องเหมือนกันตอนขาด ไอ้เป็น เตวิชฺโช สุกฺขวิปสฺสโก อันนั้นคือผลของข้างเคียงไง เหมือนกับทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศ เงินเดือนก็คือเงินเดือนไง แต่หน้าที่การงานไม่เหมือนกัน เราจะบอกว่าเงินเดือนคือตัวอริยสัจไง คือผลที่ได้รับ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี จะมาแขนงไหน มาทางวิชาการใดก็แล้วแต่ ผลของมันก็คือโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี แล้วพูดเหมือนกัน เหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกันนะ อริยสัจมีสองแล้ว

อริยสัจมีหนึ่งเดียว สองไม่มี

อันนี้มันต้องพิสูจน์ แต่เวลาเราไปถาม เวลาคุยกับเรา เราพูดหลักการอย่างนี้ แต่เวลากลับไปถามอาจารย์ที่ทำมา ท่านก็บอกว่าท่านถูก แล้วเทศน์ไง เพราะเราหลง เราหลงว่าเราถูก เราก็ต้องอธิบายของเราให้ถูก ไอ้คนฟังเอามาถามเรา เราก็ต้องว่าเราถูกนะ แล้วกูอธิบายเข้าอริยสัจหมดเลย ไอ้คนฟังไม่มีภูมิ มันก็ต้องว่าถูก แต่ต้องปฏิบัติสิ ทำสิ พอเวลาปฏิบัติปั๊บ มันไปไม่ได้ เราไปไม่ได้ เราไปไม่ได้เพราะเหตุใด เป็นอย่างนั้นเพราะเหตุใด

เราจะบอกว่าถ้าไปหาอาจารย์ ท่านก็ต้องว่าท่านถูกหมด ถ้ามันถูกนะ เราจะบอกว่า สมมุติเราเป็นนักกฎหมาย ใครเป็นนักกฎหมายแล้วแต่ เวลาพูดกฎหมายโดยหลักผิดไม่ได้ใช่ไหม โดยหลักกฎหมายพูดผิดได้ไหม ถ้าเป็นนักกฎหมาย นักปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา พูด ถ้าอันใดผิด ถ้าหัวใจมันพูดผิด ผิดทันทีเลย

หลวงตาพูดประจำ สติสำคัญที่สุด เรามีสติ สติ ตัวยับยั้งได้ทุกอย่างเลย สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะขาดสติ สติมาปั๊บ ยั้งได้หมดเลย แต่สติแก้กิเลสไม่ได้ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ไม่มีสติ ไม่มีสมาธินะ การปฏิบัติมึงเหลวไหล กิเลสมันเป็นอุปกิเลสไง กิเลสหยาบๆ เราว่าเรามีกิเลส ทุกข์กันมาก แล้วอยากปฏิบัติ พอปฏิบัติไปปั๊บ อุปกิเลสนะ อุปกิเลสคืออะไร สว่าง โอภาส ความว่าง แสงสว่าง อุปกิเลสไง มันละจากกิเลสสามัญสำนึกมา มันไปติดอุปกิเลส

ทีนี้ความว่าง ก็ความว่าง ความว่างเป็นอุปกิเลสนะมึง กิเลสอันละเอียด อุปกิเลส แล้วก็ว่างๆ ว่างๆ...ไม่ใช่ ถ้าเป็นโสดาบัน ว่างเพราะอะไร พิจารณาอย่างไร อะไรมันขาดออกไป หลวงปู่เจี๊ยะอัดประจำ เราไปหาหลวงปู่เจี๊ยะมา พิจารณากายปล่อย แล้วเหลืออะไร เหลืออะไร พิจารณาแล้วพิจารณาอย่างไร แล้วมันปล่อย มันปล่อยอะไรไป แล้วมันเหลืออะไร แล้วอะไรเป็นคนรู้ว่ามันว่าง นี่หลวงปู่เจี๊ยะ ไปเถอะน่า ขนาบ

ไอ้นี่ “ว่างๆ ว่างๆ”...อากาศมันก็ว่างนะ ในตุ่มในไหมันก็ว่าง ในไหในตุ่มมันว่าง ไม่มีอะไรเลยล่ะ

ว่างต้องมีเหตุมีผล เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม หลวงตาพูดประจำ เหตุ ผล เข้ากันแล้ว สรุปแล้วเป็นธรรม

แต่นี่ปฏิเสธ ว่าง ปฏิเสธ ไม่รับรู้อะไรเลย พูดแล้วมันสงสาร สงสารชาวพุทธมาก เพราะชาวพุทธชอบอะไรที่ง่ายๆ แล้วมันเป็นโลกียปัญญาไง เพราะความว่างอย่างนี้จิตนาการได้ เราคิดกันให้ว่างได้ เราคิดให้ว่างกันได้ แต่ไม่เป็นความจริง เราคิดให้ว่าง คิดให้ว่างๆ พยายามเกาะอะไรอันหนึ่งให้มันว่าง แล้วว่างจริงๆ ว่างแบบเอาสิ่งสกปรกซ่อนไว้ๆๆ แต่ในสัจธรรมนะ ต้องดึงมันออกมา ที่ไหนมีเหลื่อม เราพูดไว้บ่อย เวลาเราเทศน์ถึงปัญญา มีเหลื่อมมีมุมไม่ได้ กิเลสมันแอบอยู่ตรงนั้น ต้องมาตีแผ่หมดเลย ไม่มี นี่ไง เวลาปรมัตถธรรม เวลามรรคสามัคคี มันจะต้องไม่มีสิ่งใด ไม่มีจุด ไม่มีสิ่งใดที่จะให้กิเลสมันซุกหัวได้เลย

แล้วเวลาปฏิบัติไป ใช้ปัญญาไป กิเลสบังเงา บังเงาหมายถึงมันสร้างภาพ “ปล่อยวางอย่างนั้น สูตรมันเป็นอย่างนั้น ครบสูตรแล้วปล่อยพับ! ว่างหมดเลย”...กิเลสบังเงา คือเอาธรรมะมาจัดฉาก เราตรึกอยู่ เราใช้ปัญญาอยู่ แล้วมันก็เอาธรรมะมาจัดฉาก จัดฉากให้เราดูนะ “โอ้โฮ! ใช่เว้ยๆ”...เสร็จอีก

โธ่! เวลาปฏิบัติไปมันจะมีลับลมคมในนะ กิเลสเราเองทั้งนั้นมันสร้างภาพ เพราะเราศึกษามามาก ใครไม่ปฏิบัตินะ มันจะไม่รู้หรอกว่ากิเลสหลอกอย่างไร กิเลสหลอกคนปฏิบัติมันหลอกอย่างไร ไม่ใช่ว่ากิเลสมันจะซื่อสัตย์ มาถึงก็ “สวัสดีครับ ฆ่าผมเลยครับ” ไม่มี ไม่มีหรอก มันพลิกแพลง มันหลอกหลวง มันขุดหลุมล่อ แล้วทำกันแบบไม่มีสติ ทำกันแบบซื่อบื้อ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องตีแผ่ ทำแล้ว จับแล้วมาขยายส่วนแยกส่วน ซ้ำ แล้วมันปล่อยนะ เวลามันปล่อย มันเข้าใจแล้ว อย่างที่หลวงปู่เจี๊ยะถามนี่มีเหตุผลนะ อะไรปล่อย ปล่อยแล้วเหลืออะไร

นี่ไง เวลามันตทังคปหานคือมันปล่อยๆ มันปล่อยโดยกำลังของเรา มันปล่อยจริงๆ แต่ไม่รู้หรอก เหมือนเขาซื้อของมาฝาก เอ็งได้ไหม อ้าว! กูมีขนมปังชิ้นหนึ่ง ซื้อมาฝากเอ็งชิ้นหนึ่ง ก็คนละชิ้นเหมือนกัน แต่คนซื้อมาเขาซื้อมานะ ไอ้เราได้รับของแจก เวลามันปล่อย เวลาบอกเลย ตทังคปหานมันปล่อยชั่วคราว มันเหมือนกับเราไม่ได้ได้มาเองไง ไอ้คนที่มันจะได้มาไม่รู้ ไอ้ของที่เราได้ของฝาก เขาก็ฝากมาให้ใช่ไหม อ้าว! เราก็ได้ แต่ถ้าเราไปหามา เราต้องดิ้นรนหามา ตทังคปหานก็ปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ ถึงที่สุดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์

จิตเป็นจิต แล้วมันมีอะไรที่หลุดออกไป มันมีอะไรที่หลุดออกไป

หลุดไปแล้ว ยถาภูตํ เกิดญาณทัสสนะที่รู้ รู้ว่าหลุด

ใหม่ๆ เราฟังหลวงปู่เจี๊ยะพูด เราก็ไม่เข้าใจนะ แล้วเรามาทำของเราแล้วมันพิจารณาไปเรื่อยๆ มันทันกันไง อ๋อ!

พิจารณากาย พิจารณาอย่างไร พิจารณาแล้วใครเป็นคนรู้ รู้แล้วรู้อย่างไร แล้วมันปล่อยอย่างไร ตอบไม่ได้หรอก หลวงตาท่านพูดบ่อย หนังสือที่ท่านเขียนๆ อย่างประวัติหลวงปู่มั่นๆ บางทีเราเบื่อมาก เพราะอะไรรู้ไหม เอามาเรียบเรียงกันใหม่ หลวงตาเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้รู้รอบ ท่านเขียนไว้จบแล้ว พวกมึงอย่ามาเรียบเรียงใหม่ ไร้สาระมาก ไร้สาระมาก วุฒิภาวะอย่างพวกมึงนี่หรือจะมาเรียบเรียงใหม่ แต่มันก็เรียบเรียงกันนะ เรียบเรียงกันแล้วพิมพ์แจกกัน โอ้โฮ! ครึกครื้น

มันเศร้าใจ คือมันเริ่มแบบว่ามันอ่อนไปเรื่อยๆ ข้อเท็จจริงมันจะหยาบไปเรื่อยๆ เพราะปุถุชนเอาความเห็นของปุถุชนบวกเข้าไปๆ ของที่มันสะอาดบริสุทธิ์เลยกลายเป็นของสกปรก เราเห็นทำกันนะ เราเศร้าใจมากเลย แต่พูดออกไปแล้วมันเหมือนกับคนที่มุมมองอย่างนี้มันมีน้อย แล้วพูดไปส่วนน้อยสู้ส่วนใหญ่ไม่ไหว ส่วนใหญ่ก็บอกว่า “ถูกไง ตั้งใจ มีเจตนาอยากเชิดชูครูบาอาจารย์ โอ้โฮ! ขวนขวาย ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ นะ โอ้โฮ!ๆ แล้วลงทุนลงแรงนะ ต้องควักสตางค์นะ”

เวรกรรมฉิบหายเลย มึงอย่าทำนะ มึงอยู่เฉยๆ ดีกว่า มึงนั่งภาวนาเฉยๆ จะมีประโยชน์กว่าอีก กิเลสไง ทิฏฐิมานะของตัวไง เห็นเยอะมากนะ แล้วเห็นมานะ มันชี้ผิด เวลาเราพูด วันนั้นมาจากสภาพัฒน์ เราก็บอกว่าเขาพิจารณากัน เราบอกว่าผิด

“ผิดได้อย่างไร ก็หนังสือพิมพ์ไว้อย่างนี้”

เราใส่กลับเลย แล้วหนังสือใครมันเขียนล่ะ ทุกคนจะอ้างไงว่าทำตามตำรา แล้วตำราใครเขียนล่ะ ตำราใครเขียน ถ้าเด็กมันเขียนตำรามา ผู้ใหญ่ไปอ่านแล้วต้องเชื่อมันไหม เด็กมันเขียนตำรามาแล้วเราไปอ่านจะเชื่อมันไหม มึงก็ต้องบอกว่าตำราถูกหรือผิดก่อนสิ ทำไมมึงบอกตำราแล้วมึงเชื่อไปเลยล่ะ มึงเชื่อมันได้อย่างไร ตำรา มึงเชื่อได้อย่างไร

จริงๆ นะ เรายกขึ้นมาอ่านนะ มันเข้าไม่ถึง มันเป็นนิยายธรรมะ มันเป็นนิยาย เราคิด เราจินตนาการขึ้นมาแล้วเราก็แต่ง อ้าว! เราแต่งนะ มรรค ๘ เป็นอย่างนี้ๆ กูเขียนไปเรื่อยนะ อ้าว! ก็มรรค ๘ ก็ถูก มันก็มรรค ๘ แต่มรรค ๘ ของใคร

เวลามรรค เห็นไหม ฆราวาส สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ โอ๋ย! เขาว่าเลี้ยงชีพชอบ ทำมาหากินชอบ นี่ก็มรรค ๘ มันเป็นมรรคของคฤหัสถ์ แต่ถ้าเป็นมรรคของพระอริยเจ้านะ เลี้ยงชีพชอบ อารมณ์ความรู้สึกตั้งไว้ชอบ เพราะจิตกินอารมณ์เป็นอาหาร ถ้าไม่มีอารมณ์นะ จิตมันเหมือนน้ำใสอยู่ในแก้ว ถ้าเติมสีแดงจะเห็นมันมีสีแดง ถ้ามีน้ำเฉยๆ อยู่ในแก้ว บางทีเราคิดว่าน้ำแก้วเปล่า แต่เราเติมสีอะไรลงไปปั๊บ มันจะออกสีนั้น

จิตมันเป็นธรรมชาติของมัน คิดอะไรก็เหมือนมันมีสี ถ้าคิดดี เลี้ยงชีพชอบ คิดชั่ว เลี้ยงชีพผิด ความคิดเป็นอารมณ์ของใจ ความคิดเป็นอาหารของใจ ใจกินความคิด กินอารมณ์เป็นอาหาร แล้วพอทำพุทโธๆ พอจิตมันอิ่มเต็ม มันไม่หิวกระหาย อะไรผ่านมา กูไม่กิน เสียงไปก็คิดแล้ว มันหิวกระหาย มันบกพร่อง พุทโธๆๆ จนมันอิ่มเต็ม อะไรมานะ เชิญครับ เลยไป ไม่เอา เลยไปๆ นี่เลยไปได้ไหม เลยไปไม่ได้ งับๆ นี่ไง มรรค ๘ มรรคของใคร

แล้วโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค ต่างกันอย่างไร สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค ต่างกันอย่างไร อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ต่างกันอย่างไร มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ โสดาปัตติมรรคไม่ใช่สกิทาคามิมรรค ไม่เหมือนกัน สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน เขียนเหมือนกัน มรรค ๘ เหมือนกัน ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ เหมือนกันหมดเลย คำเขียนเหมือนกันหมดเลย แต่ทุกอย่างไม่เหมือนกัน ไม่เหมือน กิเลสมันหยาบละเอียดต่างกัน ไม่เหมือน แต่คนทำไม่รู้ลึก คนไม่ปฏิบัติไม่รู้เรื่อง

นี่ไง เวลาผู้ปฏิบัติมาถามแค่นี้ตอบไม่ได้แล้ว ถามถึงความรู้สึก ถามอย่างนี้ปั๊บ ตอบไม่ได้ ถ้าตอบไม่ได้คือว่าเขารู้แค่นี้ ฉะนั้นถึงว่าหลอกกันไม่ได้เลย การปฏิบัติหลอกกันไม่ได้เลย หลอกผู้รู้นะ แต่ถ้าผู้ไม่รู้ หลอกได้ เพราะคำพูดเหมือนกัน ที่เราพูดกับพระ กิน รับประทาน เสวย อะไรผิดถูกวะ เขาเถียงกันใหญ่เลยนะ

เราบอกผิดหมดเลย มันเป็นสมมุติ ผิดหมดเลย คำเขียน เอาข้าวใส่ปาก ถูก กิน รับประทาน มันเป็นคำบอกกิริยาเฉยๆ กินก็ผิด เสวยก็ผิด ทุกอย่างผิดหมด มันเป็นคำเขียนบอกถึงกิริยา แต่ถ้าเราได้หยิบใส่ปาก ถูก ไม่ต้องบอกว่ากินหรือรับประทาน แต่กูใส่ปาก อันนี้ถูก คือการกระทำที่มันสัมผัส นี่สมมุติบัญญัติไง

โลกเป็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าไม่ปฏิบัตินะ มันพูดเหมือนกัน ก็เหมือนกิน รับประทานนี่แหละ แล้วไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด

เวลาพูดกับเด็ก วันนี้เราไปบิณฑบาต เด็กมันบอกว่าพี่ชายมันตีผึ้งมา

บอกว่า “น้ำผึ้งเปรี้ยวเนาะ”

“ไม่ หวาน หวาน”

เราบอก “น้ำผึ้งเปรี้ยวเนาะ” เดี๋ยวดูจะตอบอย่างไรนะ

เด็กอายุ ๔ ขวบมันบอกหวาน น้ำผึ้งกินแล้วหวาน นี่พอมันได้กินแล้วมันรู้

เราบอกน้ำผึ้งเปรี้ยวนะ ถ้ามันยังไม่ได้กินมันก็ไม่รู้นะ เด็กไม่รู้เรื่องหรอก มันตีผึ้งมันมาใช่ไหม เราบอกว่า “น้ำผึ้งเปรี้ยวเนาะ”

“ไม่เปรี้ยว หวาน ไม่เปรี้ยว หวาน”

แค่นี้แหละ มันกิน

ปฏิบัติก็เหมือนกัน มันไม่ใช่แต่ตัวหนังสือหรือคำพูดหรอก มันสัมผัสของใจเลย แล้วใจสัมผัสแล้วพูดถูกหมด ถ้าทำอย่างนี้ไป มันก็ย้อนกลับมาตรงนี้ ย้อนกลับมาว่าเวลาเราปฏิบัติกันแล้ว อย่างนั้นเขาปฏิบัติกัน ในทางสังคม ผู้ที่ปฏิบัติแล้วต้องสงบเสงี่ยม ต้องมีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย ต้องมีมารยาทที่นุ่มนวล ผู้ปฏิบัติธรรม นี่มันก็เหมือนกิริยามารยาทใช่ไหม มันก็เป็นสังคม มารยาทสังคม ศีลธรรมจริยธรรม

แต่เวลาปฏิบัติ เวลาเดินจงกรม หลวงปู่มั่นปลิวเลยนะ เดินเร็วมาก แล้วดูหลวงตานะ เวลาท่านอยู่กลางแดด ธุดงค์ไปบางที่มันมีแต่ทุ่ง ท่านบอกท่านเอาผ้าอาบโพกหัว โพกหัวเลย เดินกลางแดดเลย แล้วเวลาเดินจงกรม เวลาจิตมันหมุนอยู่ข้างใน มันไม่รับรู้อะไรเลยนะ เวลาออกจากทางจงกรมมา เห็นน้ำ พุ่งเข้าใส่เลย ขณะที่จิตมันหมุนอยู่ข้างใน อาการคอแห้ง อาการอย่างไร จิตไม่ออกรู้ไง ทำงานอยู่ข้างใน เต็มที่เลย นี่งานของใจเดินแล้ว แต่พอเวลาเลิกเดินจงกรมเท่านั้นน่ะ โอ้โฮ! หิวน้ำ อ่อนเพลีย มันออกรับรู้ร่างกายแล้ว ทีนี้พอข้อเท็จจริงอันนี้ เขาไปเห็นการปฏิบัติของพระป่าเรารุนแรง ไม่มีมารยาท

ถ้ามีมารยาทอยู่ กิเลสมันเอาไปกินหมดไง เรียบร้อยอยู่ แบบว่าเจอข้าศึก จะยิงมันก็ไม่ได้ เสียมารยาท ให้มันวิ่งหนีไปก่อน ถ้าเจอ กูตะครุบมึงเลย เสียมารยาทก็ไม่เป็นไร กูเอามึงก่อน

การปฏิบัติเรามันมีข้อเท็จจริงอย่างนี้ด้วย แล้วเวลาปฏิบัติ เวลากิริยา สักแต่ว่ากิริยาเพื่อเอาใจต่างหาก การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ สักแต่ว่ากิริยาใช่ไหม กิริยาที่เรากำลังจะตะปบกระรอกกระแตที่มันวิ่งหนี เราจะมารยาทสังคมดีๆ อยู่นี่ เราจะเอากระแตกระรอกนั้นไหวไหม เราจะเอาความรู้สึกเราอยู่ไหม เราจะควบคุมเราอยู่ไหม แล้วกิริยามารยาทที่มันจะไม่สวยไม่งาม ไม่สวยไม่งามมันก็อยู่ในที่ของเรา อยู่ในทางจงกรมเรา มันจะเป็นอะไรไป เขามาเทียบกันตรงนี้ไง ประสาเรา เขาจะเอาจุดเล็กน้อยสิ่งที่ทำ เอามาว่าไม่ถูกไม่ต้องไง แต่ถ้าสำหรับเรานะ ข้อเท็จจริง ขณะปฏิบัตินี่ข้อเท็จจริงเลย

เวลาจิตมันจะลงอย่างนี้ แล้วมีใครมาพูดให้กระเทือนออกไป โอ้โฮ! มันพุ่งออกเลย กว่าจะได้นะ อันนี้เวลาสังคมสัปปายะ สังคมปฏิบัติเรา อย่างน้อยต้องกันเรื่องเสียง เรื่องกระทบกระทั่งกัน จะไม่ให้กระเทือนกัน เพราะใจเขาใจเรา เราไม่ต้องการสิ่งนี้ คนอื่นก็ไม่ต้องการเหมือนเรา ใจเขาใจเราเลยนะ เราจะเจอเขา เรามีธุระกับเขา เราจะนัดหรือว่าออกเวลาน้ำร้อน เราจะไปคุยกันตอนนั้น ไม่อย่างนั้นก็ต้องนัดกันไว้ แต่ถึงเวลาแล้วเราจะไม่เข้าไปหาใครง่ายๆ ถ้าเข้าไปหาใครมันต้องนัดกันไว้

มันมีนะ ในประวัติไง หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ขาวเป็นบัดดี้กัน ลาหลวงปู่มั่นออกมาจากเชียงใหม่จะมาธุดงค์กัน แล้วก็มาด้วยกันนะ หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ขาว สมัยที่อยู่เมื่อก่อน จะไปหาองค์ใดองค์หนึ่ง ถ้าบอกว่ามาจากหลวงปู่แหวนหรือหลวงปู่ขาวนะ ท่านจะซักตลอด คือท่านเป็นคู่หูอยู่กับหลวงปู่มั่นด้วยกัน แล้วลาออกมาวิเวกด้วยกัน

นี่มันอยู่ในประวัติหลวงปู่แหวน เสร็จแล้วนะ วันนั้นเขาไปธุดงค์มาใช่ไหม ก็มาพักอยู่ชายป่า หลวงปู่ขาวนั่งภาวนาอยู่ก่อน หลวงปู่แหวนไม่รู้ ก็ตีตาดมา ตีตาดมาคือว่ากวาดใบไม้มา ไอ้นี่ก็นั่งภาวนาอยู่ นั่งภาวนาอยู่ พอเพื่อนกวาดมา โอ้โฮ! มันโกรธมาก โกรธมากนะ ทีนี้หลวงปู่แหวนท่านก็ไม่รู้ใช่ไหม ท่านก็กวาดมาๆ ก็นักภาวนาด้วยกันก็ต้องรู้ พอกวาดมา อ้าว! เห็นหลวงปู่ขาวนั่งอยู่ สะดุ้งเลย ทำผิดแล้ว รีบกลับเลยนะ รีบกลับไปที่อยู่ของตัว ไปนั่งภาวนาบ้าง หลวงปู่ขาวท่านนั่งอยู่ ท่านโดนนะ ท่านเอาไม้กวาดบ้าง ตีเข้าไปใหญ่เลย ตีใหญ่ โกรธ แหม! จิตมันจะลงแล้วมาทำ โกรธมากนะ ไปตีใหญ่เลย หลวงปู่แหวนท่านทำผิดท่านก็นั่งเฉย

หลวงปู่มั่นรู้ เห็นปั๊บ หลวงปู่มั่นมาเลย พอหลวงปู่มั่นมา เทศน์เลย “อ้าว! ก็ไหนว่าจะไปปฏิบัติด้วยกัน อ้าว! ก็ไหนว่าเป็นเพื่อนรักกัน ก็ไหน...” โอ้โฮ! ใส่ จนยอมรับผิดทั้งคู่ กวาดนี่

หลวงปู่ขาวนั่งอยู่ก่อน ธุดงค์มาด้วยกันนะ ๒ องค์มาด้วยกัน มาพักอยู่ แค่เสียงอย่างนี้ ถ้ามีหัวอกแบบนักภาวนานะ สิทธิส่วนบุคคล

เราอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดนะ จะเป็นกุฏิของใครก็แล้วแต่ ห้ามเดินผ่านเด็ดขาด มีอยู่วันหนึ่งเราออกมาจะมาฉันน้ำร้อน ด้วยความมักง่าย เราก็เดินย่องๆ เดินลัดมา เรารู้อยู่ พอนั่งฉันน้ำร้อน พระมันตามมาเลย “หงบ เอ็งเดินผ่านกุฏิกูใช่ไหม”

“ใช่” ต้องบอกว่าใช่เลยนะ ถ้าบอกว่าไม่ใช่นะ เดี๋ยวหน้าแตกไง

“หงบ เอ็งเดินผ่านกุฏิกูใช่ไหม”

“ใช่ ทำไมเอ็งรู้วะ”

“ก็รอยรองเท้าเอ็งน่ะ”

ต้องยอมรับ คิดว่าเดินย่องๆ ที่สุดแล้วนะ คือขี้เกียจเหมือนกัน เราเองนี่แหละ พระอะไรจำชื่อไม่ได้ เราออกมาฉันน้ำร้อนตอนบ่ายโมง แล้วมันต้องเดินไปตามทางใช่ไหม ทีนี้บางทีเห็นว่าเรามีความสามารถไง กูย่องไม่มีเสียงไง ย่องผ่านไป พอมานั่งฉันน้ำร้อนอยู่ เขาตามมานั่งเลย “หงบ เอ็งเดินผ่านกุฏิกูใช่ไหม”

รู้ว่าทำผิดอยู่แล้วไง “ใช่” พอใช่เสร็จก็ถามกลับ “เอ็งรู้ได้อย่างไรล่ะ”

“ก็รอยรองเท้าเอ็งน่ะ”

เวลาเรากวาดไว้ดีแล้ว รอยรองเท้านี่ แล้วประสาเรานะ สายของเรา สมมุติเราอยู่ถนนสายนี้ใช่ไหม มันมีกุฏิอยู่กี่หลังๆ แล้วเวลาหลวงตาท่านจะเทศน์ เวรจะมาบอกเฉพาะหัวแถวนี้ แล้วหัวแถวนี้จะบอกต่อๆ กันไป แบบว่ารวมๆๆ รวม หมายถึงว่า ขึ้นศาลา ขึ้นศาลา หลวงตาจะเทศน์ประมาณทุ่มหนึ่ง ทุ่มหรือสองทุ่ม เวรมันจะไปบอกหมดไม่ไหว มันจะไปบอกปากทางๆๆ แล้วปากทางต้องบอกต่อๆๆ กันไป แล้วต่อๆ กันไปก็รีบเลย พอสัก ๖ โมง ๗ โมงก็เดินจงกรมกันแล้ว นั่งภาวนาแล้ว ก็เรียกกันๆๆ ขึ้นศาลา เรียกกันขึ้นศาลาปั๊บ เรียกกันขึ้นศาลาก็นั่ง พอพร้อมปั๊บ หลวงตาลงมาก็เทศน์เลย เป็นอย่างนั้นน่ะ สองวันสามวันเทศน์ที สองวันสามวันเทศน์ที

อันนี้มันก็รู้จักกันหมดว่าในสายนี้มีใครบ้างไง รู้ว่าเราเดินออกมา เราย่องออกมาไง

“เอ็งเดินผ่านกูใช่ไหม”

บอก “ใช่ เอ็งรู้ได้อย่างไรล่ะ”

“ก็รอยรองเท้าเอ็งนั่นน่ะ”

หวงขนาดนั้นน่ะ การปฏิบัติ แล้วเราปฏิบัติมา เราต้องรู้เรื่องอย่างนี้ ต้องเกรงใจกัน ต้องหมั่นเกรงใจกัน ต้องเห็นหัวอกเดียวกัน แล้วปฏิบัติได้ไม่ได้ เว้นไว้แต่เขามาหาเรา มาคุยกัน นัดกัน คุยกัน นัดกัน คุยกันนะ คุยกันเรื่องปฏิบัติ ทำไมทำอย่างนั้นเอ็งทำได้วะ ทำไมเราทำไม่ได้

เพราะเราเดินจงกรมจนหมู่คณะแปลกใจ เราเดินจงกรมทีอย่างที่ว่าทั้งวันทั้งคืน ๗ วัน ๗ คืน จุดเทียนไว้ โธ่! ทำอะไรไว้ใครจะไม่รู้ เป็นไปได้อย่างไร แล้วพระมาปรึกษา “เฮ้ย! ทำไมท่านเดินจงกรมทั้งวันๆ เลยวะ ทำไมเราทำไม่ได้ เรานั่งฟังเทศน์ม้วนเดียว โอ้โฮ! นั่งหลับแล้ว นั่งฟังยังไม่ถึงหน้าหนึ่งเลยก็นั่งหลับแล้ว ทำไมเห็นเอ็งเดินทั้งวันเลย แสดงว่าเอ็งต้องมีงานทำ งานข้างในไง แสดงว่าเอ็งต้องมีงาน ถ้าไม่มีงานจะอยู่ทางจงกรมไม่ได้หรอก” นี่พระมาถามนะ พระมาถาม มาปรึกษากัน นี่เวลาคุยธรรมะกัน

เวลาคุยธรรมะกันเขาจะถามว่าเอ็งทำอย่างไร คือทุกคนก็อยากทำใช่ไหม ทุกคนก็อยากให้แนะวิธี แนะ ช่วยกันเปิดทางให้ ใครจะไปได้ ใครไปไม่ได้ไง คุยกัน เวลาคุยกัน คุยกันถามกัน ทำอย่างไร แล้วอย่างเช่นสมมุติเราทำอะไรได้ดีขึ้นมาหรือทำแล้วรู้อะไรแปลกๆ เวลาคุยกับพระ อยากฟังแล้ว เอ็งเห็นอะไร เอ็งรู้อะไร แล้วก็คุยกัน ฉะนั้น เวลาออกมาจากบ้านตาด อยู่ด้วยกันจะรู้หมดว่าวุฒิภาวะของใครแค่ไหน ใครสูงใครต่ำรู้หมด เพราะมันอยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำด้วยกัน เห็นกันหมด ใครเป็นไม่เป็น เพียงแต่จะยอมรับไม่ยอมรับอีกทีหนึ่ง คือว่าเขาก็ไม่ยอมรับของเขา นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติ พูดถึงสิ่งที่จะเป็นไปตามข้อเท็จจริง ตามข้อเท็จจริงเพราะคนมันรู้มันเห็นแล้วมันพิสูจน์ได้

แต่อย่างที่ไปทำอย่างนั้น เราคิดเลย เหมือนเทคโนโลยีไง กล้องวงจรปิดมันก็จ้องไว้อย่างนี้ ตามถนน เห็นกล้องตามถนนไหม มันจับอยู่ตามถนน แล้วถามกล้อง เฮ้ย! มึงได้อะไรวะ กล้องบอกกูไม่รู้หรอก มีแต่คนเอาข้อมูลกูไปใช้ แต่กูไม่รู้อะไร นี่กล้องตามถนน จ้อง

เพราะมันทำไปแล้วมันรู้ คนเราปฏิบัติมันรู้นะ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วอย่างพวกอภิธรรม เราบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นไป มันเป็นไป อย่างเวลาเขาพูดกันทางวิชาการเขาบอกว่าพวกเราพวกปฏิบัติมันจะติดนิมิตแล้วมันจะหลง อย่างที่บอกว่ามีปัญหา เขาจะให้ไปอภิธรรม ให้ไปใช้ปัญญาๆ แต่เขาไม่เข้าใจเลยว่าอันนั้นไม่ใช่ปัญญา อันนั้นเป็นสัญญาที่จำมาจากพระไตรปิฎก แล้วพอมันละเอียดเข้ามาให้เป็นข้อเท็จจริงก็ผิดอีก พอจิตของใครจะลง “ไม่ได้ๆ เป็นสมถะแล้วจะเห็นนิมิต”

มันจะเห็นไม่เห็นนะ ไม่สำคัญ เพราะเรานั่งอยู่นี่ พวกที่เป็นอภิธรรมมาให้เราแก้นิมิตเยอะแยะเลย ถ้าจิตมันจะเป็นนิมิตนะ มึงจะกำหนดอะไรก็เป็นนิมิต ไม่ใช่อยู่ที่ว่ากำหนดพุทโธแล้วเป็นนิมิต แล้วไปพิจารณานามรูปแล้วไม่เป็นนิมิต

นามรูปนั่นน่ะตัวนิมิตเลยล่ะ ตัวเห็นเลยล่ะ พุทโธมีสติดีกว่า แล้วเวลามันลง จิตมันสงบกว่าจิต มันลึกกว่า เพราะปัญญามันเกิดก็ปัญญาข้อเท็จจริง แต่ถ้ามันไม่ลงอย่างนี้ปั๊บ มันก็สัญญาไง เหมือนกับความคิด มันก็ไม่บ้าไง ไม่บ้า ไม่ตื่นเต้น เพราะความคิดพื้นฐาน ไม่ให้ไปไหนเลย ล็อกไว้ ถ้าออกนอก ผิด ล็อกไว้เลยนะ ห้ามลงลึก ให้อยู่อย่างนี้ ให้อยู่กับสามัญสำนึกอย่างนี้

แล้วพอมันจะรู้ มันรู้จิตใต้สำนึก เพราะกิเลสมันฝังอยู่ที่จิตใต้สำนึก พอมันลงไปจิตใต้สำนึกปั๊บ มันไปรู้ รู้โดยข้อเท็จจริงนี่นะ มันผงะ โอ๊ะ! คือว่ามันควบคุมไม่ได้ มันไม่ใช่สมาธิหรือสติของปุถุชน

ปกติเรามีสมาธิอยู่แล้ว ถ้าไม่มีสมาธิ กูเป็นคนบ้า เรามีสมาธิ เรามีสติ แต่เป็นสติของปุถุชน ปุถุชน กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนคือมันควบคุมสติสมาธิได้ดีมากแล้ว มันถึงยกขึ้นเป็นโสดาปัตติมรรคได้ โสดาปัตติมรรค ถ้าผลสรุปของมันแล้วจะเป็นโสดาปัตติผล

ทีนี้มันไม่ลงลึกไปอย่างนั้น มันเข้าไปอะไรล่ะ

ก็เหมือนมะม่วง เราถึงพูดถึงข้าวสาร เขากินข้าวสุก แต่เขาปฏิเสธข้าวสารว่าข้าวสารไม่มี ปฏิเสธข้าวสาร ข้าวสารนี้ใช้ไม่ได้ ข้าวสารกินไม่ได้ แต่ข้าวสุกดี แล้วข้าวสุกมันมาจากไหน มันปฏิเสธ ปฏิเสธสมาธิไง มันตัดตอน พอตัดตอน กระบวนการมันจะพัฒนาไปไม่ได้ แต่เขาอยู่กันอย่างนั้นน่ะ เขาถึงปฏิบัติกันอย่างนั้น กึ่งพุทธกาลมรรคผลไม่มี อะไรก็ไม่มี ไม่มีแล้ว แต่ของเรามี ครูบาอาจารย์ของเรามี แล้วทำได้ แล้วทำได้ อธิบายได้ บอกได้ บอกใคร บอกคนที่กำลังจะก้าวเดินขึ้นมา

ไปบอกปุถุชนนะ เหมือนกับผู้ใหญ่คุยกับเด็ก จิตที่มันเป็นปุถุชนเหมือนเด็กอ่อน จะมีอายุมากขนาดไหน เวลาเข้ามาปฏิบัติใหม่ๆ เหมือนเด็กอ่อน ทรงตัวเองยังไม่ได้เลย ถ้าทรงตัวเองได้ เดินได้ นั่นคือมีสมาธิ ถ้ายังทรงตัวเองไม่ได้เหมือนเด็กต้องกลิ้งไปคลานไป ยืนไม่เป็น ยืนไม่ได้ ทรงตัวไม่ได้ จิตตั้งมั่นไม่ได้ จิตตั้งมั่นไม่ได้ มึงทำอะไรกัน กลิ้งกันไปอย่างนั้นน่ะ นอนกลิ้งกันไปกลิ้งกันมานั่นล่ะ แล้วมันไม่บ้าไง ก็มันกลิ้งไปกลิ้งมา มันไปไกลไม่ได้ไง แต่ถ้าลุกขึ้นยืนได้ มันวิ่งไปไกลเลย แต่ลุกขึ้นยืน ผิดอีก เป็นสมถะ ตกไปในสมถะ

มันเป็นทฤษฎีที่เขาสร้างขึ้นมาจนเชื่อ พอเชื่อแล้ว ใครเข้าไปศึกษาแนวทางนี้แล้ว พอบอกว่าวิ่งได้ ยืนได้ ผิด สร้างขึ้นมาจนเชื่อนะ แล้วมันเป็นไปได้อย่างไร คนไม่ลุกยืนแล้วเดินไป ทีนี้มันไม่มีใครโต้แย้ง ไม่มีใครอธิบายไง อ้าว! นั่งอยู่เฉยๆ มันก็ไม่มีปัญหาใช่ไหม พอลุกขึ้นก้าวเดินมันก็เสียมารยาทนิดหน่อย ไอ้เรื่องมารยาทเราถือว่าไม่มีความหมายเลย เพราะเวลาพระปฏิบัติเขาเรียกกิริยา กิริยาไม่ใช่ตัวจริง กิริยามันเป็นอะไรไป ถ้าของจริงมันดีขึ้นมา มันไม่กลิ่นเหม็น กิริยามันจะเป็นอะไรไป แต่นี่ไปดูที่กิริยากัน โอ๋ย! สงบเสงี่ยม แต่ข้างในเน่า เน่าอยู่อย่างนั้นน่ะ

มีอะไรอีกไหม ใครมีอะไรต่อไป เพราะเวลาเราพูด โดยหลักแล้วเราอธิบายเหตุผลแวดล้อมให้ฟัง แล้วถ้าเราพูดอยู่ เราก็จะอธิบายไปเรื่อยๆ เพราะมันจะลงลึกไป ลงลึกไปมันก็เป็นขั้นขณะจิตไปแล้ว แต่ทีนี้โดยพื้นฐานแล้วเราต้องปรับจูน จูนความคิด จูนทัศนคติ สัมมาทิฏฐิไง ถ้าเราไม่ปรับนะ ความคิดของกิเลสมันมิจฉา มิจฉาเพราะเรายึดมั่นความรู้เรา ทีนี้พอปฏิบัติต้องจูนเรื่อยๆ หมายถึงว่า เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ แล้วก็ค้นหาตัวเราเอง เฮ้ย! อย่างนี้เป็นอย่างไรวะ เฮ้ย! อย่างนี้เป็นอย่างไร ถามตัวเอง เป็นสมาธิแล้วหรือ เป็นสมาธิเป็นอย่างนี้หรือ ไม่เป็นสมาธิ เป็นอะไร อ๋อ! เป็นปัญญา ปัญญาใคร

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ คนภาวนาไม่เป็นให้ตั้งปัญหาขึ้นมาถามตัวเอง ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาทำไม ถ้าถามปั๊บ มีโจทย์แล้ว เราจะหาของเราไง ชีวิตนี้คืออะไร มันมาจากไหน นั่งกันอยู่นี่มาจากไหน แล้วจะไปไหนกันต่อ

เอ็งมาจากบ้านก็จะกลับบ้านไง...ไม่ใช่ ย้ายบ้าน ย้ายจังหวัดเลยนะ อยู่เหนือย้ายไปอยู่ใต้ บ้านไปอยู่ใต้แล้ว ชีวิตนี้ ชีวิตที่นี่เกิดนี้ต่างหาก ไม่ใช่ชีวิตที่บ้าน พอถามปัญหาขึ้นปั๊บ มันจะมีเหตุผล เราจะหา ปัญญามันจะเกิดไง ไม่ใช่ซื่อบื้อๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วเวลาภาวนาไป ถามตัวเองตลอด ทำอย่างนี้ถูกไหม ทำอย่างนี้ถูกไหม แล้วทำนี้เป็นประโยชน์ไหม

มีนะ มีลูกศิษย์เขามาหา เขาไปวิตกวิจารณ์มาก แบบว่าญาติเขาปฏิบัติแล้วเครียดมาก เขามาถามว่า “หลวงพ่อ ช่วยแก้หน่อย คนเราปฏิบัติธรรมมันต้องชุมชื่นสิ มันต้องมีความสุขสิ ทำไมนี่ โอ้โฮ! มันวุ่นวายไปหมดเลย”

อันนี้ก็เหมือนกัน คำว่า “วุ่นวาย” นี่นะ ถ้าพูดถึงเรารักษาจิตโดยสติ เราตั้งของเรา จะวุ่นวายบ้างอะไรบ้าง เราก็ต้องรักษาของเรา แต่ถ้ามันส่งออกจนเราไปเบียดเบียนคนอื่นนั่นไม่ใช่แล้ว บางทีมันต้องตั้งใจนะ มันตั้งใจ มันเป็นไปของมัน มันดีของมัน

ไม่มีอะไรจะจบนะ จบแล้วจะเสียใจนะ จะปิดไมค์แล้ว

จิตเห็นอาการของจิตนะ ทีแรกเราจะไม่รู้อะไรเลย จิตนี้เป็นเรา กิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา ทีนี้พอเราพิจารณาไปเรื่อยๆ ความเกิดดับคืออาการ ถ้าเราพิจารณาไปเรื่อยๆ จิตมันจะมีอยู่ตลอดเวลา สติเราทันมันจะหยุดไง หยุด หยุดนี่ยังไม่เห็นนะ ไม่เห็นหรอก หยุด หมายถึงว่า พอเราสติทัน ปัญญาทัน มันจะไม่คิด คำว่า “หยุด” คือไม่คิด ว่างๆ หยุด

นี่ยังไม่เห็น เราจะบอกก่อนไง เดี๋ยวเราจะพูดให้ฟังว่าเริ่มต้นการกระทำมันเป็นอย่างนี้ก่อน คือเหมือนมะพร้าว เราจะปอกมะพร้าว เราเอามะพร้าวมาปอก ครั้งแรกปอก มันก็หลุดไปแค่ชิ้นเดียวใช่ไหม แล้วเราจับลูกมะพร้าวได้หรือยัง ยังใช่ไหม เราต้องปอกไปบ่อยๆ ใช่ไหม ปอกมะพร้าวบ่อยๆ จนกว่าว่าเปลือกมะพร้าวจะออกไป เราถึงจะได้ลูกมะพร้าว จริงไหม

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน การพิจารณาจิตนี่นะ พิจารณาความคิด ความคิดมันหยุด มันก็เหมือนเราได้ปอกเปลือกมะพร้าวไปแค่ส่วนหนึ่ง มันยังไม่ถึงเนื้อลูกมะพร้าวหรอก คือว่าแค่เรารู้ว่า เหมือนมะพร้าวทั้งลูกมันเป็นทั้งลูก มันสมบูรณ์ของมัน พอเราได้ปอกไป ส่วนที่เราปอกไปมันขาดไปแล้ว เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิดูความคิด พอมันหยุด มันก็ส่วนหนึ่งเรารู้ทันแล้ว ส่วนหนึ่งเรารู้ทันแล้ว แต่มันยังไม่เห็น จิตยังตั้งมั่นไม่ได้ ตั้งมั่นไม่ได้คือมันยังทำงานไม่ได้ คือเรายังเอามะพร้าวมาใช้งานไม่ได้เพราะมันยังมีเปลือกหุ้มอยู่ส่วนใหญ่ เราก็ใช้ความคิดเรื่อยๆ คือตามความคิดไปเรื่อยๆ มันก็จะหยุด หยุดบ่อยเข้า มันก็เหมือนกับเราเข้าไปปอกเปลือกได้มากขึ้นๆ จนเราทันความคิดหมดเลย เราจะคิดก็ได้ เราจะไม่คิดก็ได้ สติมันทันหมดนะ ฝึกจนบ่อยครั้งเข้า มันมั่นคงขึ้น

พอมั่นคงขึ้น ตอนนี้สังเกตแล้ว สังเกต จิตเห็นอาการของจิต เราสังเกตแล้ว สังเกตว่าเวลาเราจะคิด ทำไมมันถึงคิด เวลาเราคิดนี่ จิตเห็นอาการของจิต ความคิดมันมาอย่างไร คือเห็นกระบวนการของจิตมันคิดอย่างไร ทำไมมันถึงคิด แล้วเวลาปัญญามันทัน มันทันอย่างไรมันถึงหยุด เขาเรียกจิตเสวยอารมณ์ พลังงาน ส้มกับเปลือกส้มมันสัมพันธ์กัน จิตมันจะคิด คิดอย่างไร แล้วเวลานอนหลับอยู่ทำไมไม่คิดล่ะ เวลาเรานั่งสบายๆ โล่งๆ ทำไมไม่คิดล่ะ อ้าว! แล้วพอมีอารมณ์กระตุ้น ใครมาบอกว่าเขาด่ามึงนะ โอ้โฮ! คิดไปร้อยแปดเลย อันนี้เราควบคุมมันไม่ได้เลย

อ้าว! ว่าไป

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ได้ การนั่งสมาธินี่นะ เรานั่งสมาธิใช่ไหม ทีนี้อย่างที่เรานั่งอยู่เฉยๆ นั่นคือนั่งสมาธิแล้ว การนั่งดูนะ คำว่า “ดู” ของเรา กับดูด้วยความคิด คำว่า “ดู” เขาห้ามคิดใช่ไหม ให้ดูเฉยๆ ตรงนี้เราไม่รับ

เราให้ดู แต่ต้องคิด ตรงคิดนี่ เรานั่งเฉยๆ กับเราเดิน เราเดินนะ ถ้าเราเดินจงกรม เราเดินกำหนดพุทโธใช่ไหม เดินจงกรม แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็เดินเหมือนกัน แต่เราไม่ใช้พุทโธ เราใช้ความคิด เดินไป แต่คิดไปเรื่อยๆ ตามความคิดไป แล้วถ้ามันหยุด มันหยุดปั๊บ มันก็หยุด สบายพักหนึ่ง เดี๋ยวก็คิดอีก ตามไปเรื่อย จนมันละเอียดขึ้น จนความคิดเกิดไม่ได้เลย สติมันทัน ไม่ให้คิดก็ได้ อยู่เฉยๆ สติมันพร้อมตลอดเลย สังเกต มันทีเดียว

ทีแรกสังเกต หมายถึงว่า สังเกตว่ามันคิด ทำไมมันถึงคิด มันมีเหตุอะไรมันถึงคิด นี่จิตเสวยอารมณ์ ถ้าจับได้ มับ! จับจำเลยได้แล้ว ทีเดียว ทีนี้ปั๊บ มันแยกได้แล้ว ความคิดแยกเป็นรูป รูปคืออารมณ์ความรู้สึก เวทนาคือสุขทุกข์ ในอารมณ์เดียวมันมีความพอใจ ความสุขความทุกข์ มันมีเห็นผิดเห็นถูก คือสัญญา คือข้อมูล สังขารมันจะปรุงต่อไป

เราคิดเรื่องมะพร้าว สังขารปรุงต่อเลย มะพร้าวเอาไปทำอะไร จะเอาไปแกง เอาไปทำขนม นี่มันปรุงแล้ว มันปรุง พอมันปรุง มันเป็นธรรมชาติของมันเฉยๆ มันจะเป็นอารมณ์ไปไม่ได้ มันจะมีวิญญาณรับรู้ พอมันปรุงปั๊บ วิญญาณรับรู้มันสมานรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นเนื้อเดียวกัน พอเป็นเนื้อเดียวกันก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกคิดออกมา

แต่พอปัญญาเราทันปั๊บ เราแยกส่วนใดส่วนหนึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่สามารถสมานเป็นอารมณ์ได้ มันแค่มีอาการไหว แต่มันไม่คิด คิดไม่ได้ ถ้าสติมันเข้าไปทัน นี่คือการพิจารณาจิต พิจารณาอาการ เราแยกส่วนได้ ความคิดเรานี่นะ มันมีส่วนประกอบของขันธ์ ๕ ความคิดเรา แต่เราคิดไว้ ความคิดเร็วขนาดไหนแล้ว ในความคิดหนึ่งมันยังมีส่วนประกอบของมันอีก แล้วเราไปแยกมันออก เหมือนเกลียวเชือก ๕ เส้นฟั่นเป็นเส้นเชือก เราดึงไม่ขาด เราเอากระจายมันออก แล้วเราดึงมันขาด ถ้าเรานั่งอยู่ แล้วสติเราทันก็ใช้ได้ ใช้ได้ หมายถึงว่า ใช้แล้วมันหยุดไปเรื่อยๆ เราจะบอกว่า เวลาเดินจงกรมล่ะ เวลาเราเคลื่อนไหวล่ะ เราได้ตลอด เราทำได้ตลอดไง

อ้าว! ว่าไป ไหน

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ล้านที เป็นล้านๆ หน เพราะความคิดมันไวอยู่แล้ว แล้ววันหนึ่งมันแยกบ่อย คำว่า “แยก” อย่างหนึ่ง ขณะปล่อยอย่างหนึ่ง เราใช้ความคิดอยู่นี่มันยังไม่ปล่อย เหมือนกับนักกีฬาเวลามันซ้อมกีฬา มันใช้เวลาซ้อมใช่ไหม ทีนี้เวลามันคิดปั๊บ สติเราตามมันทันไป มันก็เหมือนซ้อมกีฬา มันยื้อกันด้วยเหตุด้วยผล แต่พอเวลามันปล่อย มันปล่อยมันก็ปล่อยทีหนึ่ง พอปล่อยก็ โอ้โฮ! ว่างหมดเลย เดี๋ยวก็อีกแล้ว กีฬามันยังมีเวลาพักนะ แต่ความคิดกับจิตมันไม่มีเวลานะ เพราะความคิดกับเรามันอยู่ด้วยกัน เป็นล้านๆ หน

โยม : คือเริ่มขึ้นมาเฉยๆ ยังไม่ทันรู้ คือว่าดูว่าเริ่มจากไหน แล้วเริ่มมีความรู้สึกขึ้นมา แต่ยังไม่ได้แบ่ง...

หลวงพ่อ : นั่นล่ะหยุดเลย หยุดเลย ใช่ ใช่ อันนี้คือสติไง สติถ้าเข้ม สติที่ดียับยั้งได้หมด พอรู้ตัวปั๊บ หยุดเลย แล้วทำเฉยๆ นะ พอสติอ่อนลงนะ มาอีกแล้ว ทีนี้พอมาอีกแล้ว มันก็จับอะไรไม่ได้ เพราะมันเร็ว นี่ไง สังเกตได้ว่าครูบาอาจารย์สอนทางนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วจะให้พุทโธแล้วดูกาย ไอ้อย่างนั้นมันเป็นงานบนพื้นดินไง คือว่าโดยสามัญสำนึกเราทำงานบนพื้นดิน แต่ถ้าเราพิจารณาจิต เราทำงานบนอากาศ เราต้องทำนั่งร้านขึ้นไป อย่างเครื่องบินมันมีกำหนดของมัน หมดชั่วโมงบิน เวลาบินต้องลงบนพื้นดิน แต่ความคิดมันเป็นนามธรรมไง แต่ถ้าพุทโธๆๆ มันเหมือนเราทำงานบนดิน แต่นี่มันก็อีกล่ะ

เราจะเปรียบเทียบว่าคนถนัดซ้ายถนัดขวา คนถนัดซ้ายเขียนหนังสือก็เป็นมือซ้าย คนถนัดขวาเขียนหนังสือก็เป็นมือขวา คนเขียนหนังสือด้วยมือขวา พุทโธมันส่วนใหญ่ มันเยอะมาก แต่คนถนัดซ้ายมันน้อย คนถนัดขวามากกว่าคนถนัดซ้ายแน่นอน กำหนดสมาธิโดยพื้นฐาน คนถนัดขวามากกว่า คนถนัดซ้ายน้อยกว่า แต่คนถนัดซ้ายก็คือถนัดซ้าย จะฆ่ามันทิ้งมันก็ถนัดซ้าย ฉะนั้น จะฆ่ามันทิ้งไม่ได้ ต้องให้มันทำตามความถนัดของตัว ใครถนัดทางไหนต้องทำอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นการแก้กิเลสมันจะไปไม่ตลอด

มันทำได้อยู่นะ ฝืนให้มันเขียนมือขวาก็ฝืนได้อยู่ แต่เวลาทำจริงๆ แล้วมันไม่คล่องตัว ไอ้ฝืนนี่มันฝืนโดยการเขียนหนังสือนะ แต่การวิปัสสนามันเป็นเรื่องของกิเลสนะ มันเป็นเรื่องสิ่งที่มันโต้แย้งอยู่ในใจนะ มันจะปล่อยๆ

ทุกคนจะถามว่าทำกี่หน แล้วส่วนใหญ่แล้วลูกศิษย์มา จะทำหนสองหนแล้วก็จะมาเอาผลไง “ก็มันหลุดหมดแล้ว ก็มันปล่อยแล้ว”

เราจะถามเลยว่า พรุ่งนี้อย่ากินข้าวนะ กินข้าวทุกวัน เวลากิน กินทุกวันเลย เวลาทำจะเอาหนสองหน เลิก กินวันละกี่หน ต้องทำขยัน

ไม่มีทาง ถ้าเรียบร้อยแล้วมันจะบอกเลย ขณะจิตที่มันปล่อยเป็นโสดาบันนะ มันประกาศกลางหัวใจ นี่มันไม่มีอะไรขึ้นมา เพราะเราเคยเป็นอย่างนี้มาก่อน มันหลงมาเยอะมาก สุดท้ายแล้วมันไม่เชื่อ มันก็เลยพยายามเร่งความเพียร มันจะปล่อยแล้วๆ ช่างหัวมัน มันจะปล่อยกี่หน กูไม่สน กูอยู่กับความเพียรนี่ มันก็ปล่อยของมันไปเรื่อยๆ พิจารณาไปแล้ว เห็นจิตแล้ว พิจารณาแล้วมันก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ปล่อยไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดนะ เวลามัน ปิ๊ง! ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พรึบ!

พิจารณาจิตมันละกายได้อย่างไร ละกายเพราะความคิดผิดไง สักกายทิฏฐิไง ทิฏฐิความเห็นผิดในเรื่องของกาย เพราะมันเป็นขันธ์ พอมันปล่อย พับ! มันมีเหตุมีผล ไม่ถามใครเลยนะ อยู่ในป่าด้วย ใช่ ใช่ ไม่ถามใครเลย แต่ก่อนจะเป็นอย่างนี้ มันเป็นที่ว่าปล่อยๆ วันหนึ่ง ๑๐ หน ๒๐ หนในทางจงกรม อยู่อย่างนั้นน่ะ ว่าง ปล่อยแล้วว่าง เราถึงบอกตทังคปหาน มันมาอ่านพระไตรปิฎกทีหลังไง ตทังคปหานคือการปหานชั่วคราว แล้วมันฟื้นกลับมาได้ สมุจเฉทปหานมีได้หนเดียว มีได้หนเดียว ขาดแล้วมันไม่มีอะไรอีกแล้ว ตทังคปหานมีได้ตลอดไป มีได้ตลอดไป ถ้าทำถึงที่สุดมันจะเข้าสู่สมุจเฉทปหาน ถ้าทำไม่ถึงที่สุด มันจะอยู่ทรงตัวอย่างนั้นแล้วก็เสื่อมไป เสื่อมไป รอวัน เหมือนเล่นบอลเอาเสมอ มีเสมอกับแพ้ ไม่มีชนะ อย่างมากก็เสมอ ปล่อยวางชั่วคราว แล้วก็รอวันแพ้ ไม่มีทางชนะ แต่ถ้าเล่นบอลจะเอาชนะ ต้องรุก รุกไปเรื่อยๆ รุกไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง สักวันหนึ่ง

ทำมาแล้ว ก็มีความคิดอย่างนี้ ทุกคนที่เกิดมาก็เหมือนกันทุกคน ไม่เป็นมาทุกคน แต่เพราะเราเคยโดนตัวเองหลอกมาพอแรงแล้ว เราโดนกิเลสหลอกมาเยอะมาก เราถึงย้อนกลับไปพวกโยม เราคิดถึงเวลาที่เราต่อสู้มาแล้วเราโดนหลอกล้มลุกคลุกคลานมา จนกว่าเราเข้าถึงเป้าหมายได้ เราทำไมจะไม่คิดถึงพวกโยมจะไม่เป็นอย่างเรา

ก็อย่างที่พูด เป็นล้านๆ หนจริงๆ เพราะวันหนึ่งปล่อยเท่าไร ปล่อยจนนับไม่ได้ เพราะมันเป็นนามธรรม มันเคลื่อนไหว ๒๔ ชั่วโมง มันทำอยู่ทั้งวันทั้งคืน อยู่คนเดียว อยู่บ้านตาดคอยดูเวลาเลย เข้าเวรไหม เข้าเวรแล้วกูออกมาฉันข้าวด้วย เข้าเวรด้วย พอออกจากเวร อดอาหารเลย ไม่ต้องออกมาเลย ออกมาบ่ายโมงกินน้ำร้อนอย่างเดียว อดอาหารแล้วข้อวัตรยกหมด ๒๔ ชั่วโมง แล้วก็ท้าตัวเองตลอดเวลา หลวงตาคอยแก้มึง ไม่ต้องห่วงอะไรเลย หลวงตาอยู่บนกุฏิ มีปัญหา วิ่งขึ้นไปหาได้ทันที มันทุ่มไปทั้งตัวเลย ปล่อยแล้วปล่อยเล่าๆๆ ปล่อยอย่างไรก็ช่างมัน มึงมาหลอกกู แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ สังโยชน์มันขาด ครืน! บึ๊บ! ชัวร์ แต่ถ้ามันปล่อยเฉยๆ นะ มันก็เหมือนฝนปรอยๆ เออ! สบายดีๆๆๆ เท่านั้นน่ะ มันต่างกันเยอะมาก

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ไม่ ปล่อยคือเวลาเราจับมันได้ จับความคิดได้ จิตเห็นอาการของจิต แล้วพิจารณามันจนปล่อย บางทีพิจารณาก็ไม่ปล่อย ไม่ปล่อยเพราะอะไรรู้ไหม ไม่ปล่อยเพราะกำลังไม่พอ เราทำอาหาร ถ้าไฟมันอ่อน ไฟมันไม่ดี อาหารจะสุกได้ไหม อาหารไฟแรงเกินไป อาหารก็ไหม้ ไฟอ่อนเกินไป อาหารก็สุกไม่ได้ ไฟกำลังพอดี อาหารก็พอดี การกระทำมันมีไฟแรงไป ไฟอ่อนไป ไฟกลมกลืนไฟ โอ้โฮ! ค่อยๆ ค่อยๆ นี่มันเป็นงานฝีมือเลย สมดุลของเรา มรรคสามัคคีมันอยู่ที่ความสมดุลของโทสจริต โมหจริต ราคจริต จริตของคนไม่เหมือนกัน ความทะนุถนอมจิตมันต่างๆ กัน ไม่มีตายตัว

คนราคจริตมันจะคิดแต่เรื่องที่รุนแรง เรื่องของหัวใจ มันต้องเอาเมตตาธรรมเข้าครอบงำมัน คนโทสจริต คนโทสจริตมีอะไรมันจะกระแทกออกทันที คนโมหจริตนะ โน่นก็ใช่ นี่ก็ใช่ มันจะเชื่อง่าย มันโมหะ แล้วจริตมันก็ไม่เหมือนกัน คำว่า “จริตไม่เหมือนกัน” การกระทำ กำลังสติ พอกำลังสติ เพราะจริตมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันชอบ ถ้าคิดอย่างอื่นมันไม่ชอบ คิดตรงจริตตัวเอง โอ้โฮ! ชอบ ชอบมากๆ ทีนี้พอชอบก็ต้องฝืนมัน พอฝืนมันก็ทุกข์ ใครชอบอะไรต้องฝืนไอ้นั่น ชอบคือกิเลส พอเราจะฝืนมัน พอฝืนมันก็เป็นความทุกข์ของเราแล้ว พอเป็นความทุกข์ก็ “เสียมารยาทแล้ว ทำอย่างนี้ ต้องนิ่งๆ”

อย่าเอาโลกเป็นใหญ่ ถ้าเราเอาโลกเป็นใหญ่ การปฏิบัติของเราลุ่มๆ ดอนๆ เราต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นใหญ่ โลกจะติเตียน โลกจะติฉินนินทา ช่างมันๆ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อโลก เราปฏิบัติเพื่อธรรม อะไรจะเกิดขึ้นมา เราจงใจของเรา เราปฏิบัติเพื่อธรรมของเรา โลกมันจะพูดอย่างไรเรื่องของโลกนะ เราตามโลกไปไม่ได้หรอก เราต้องอยู่กับธรรมะของพระพุทธเจ้า สัลเลขธรรม มักน้อยสันโดษ แล้วจงใจต่อสู้

ไอ้อย่างที่พูด มันปล่อย มันปล่อยนี่นะ มันเป็นพื้นฐาน เราวางพื้นฐานไปเรื่อยๆ มันปล่อยแล้วเราตั้งสติไว้ พอมันคิดขึ้นมา เราก็ใช้ปัญญาไล่ไปมันก็ปล่อย แล้วถ้ามันเบื่อก็พุทโธบ้าง ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ น้ำหยดลงหินน่ะ ขออย่างเดียว ขอให้มีการกระทำ ถ้าไม่มีการกระทำนะ มันจะเขวออก

หลวงตาพูดอย่างนี้นะ ทำไมต้องทำความดีล่ะ ถ้าไม่ทำความดี มันก็จะทำความชั่วไง ถึงต้องทำความดีแล้วฝืนมัน ถ้าเราไม่ฝืนมัน เราไม่ตั้งใจทำความดี เดี๋ยวมันก็แถไปตามอำนาจของมันไง ถึงต้องทำไง ทำบ่อยๆ ตั้งใจทำไปอย่างนี้ ทำความดี ไอ้ที่ว่าต้องทำๆ เพราะเหตุนี้ไง ถ้าเราไม่ทำ กิเลสมันจะทำแทน พอกิเลสทำแทนมันก็ไปประสามันแล้ว

ฉะนั้น ฝืน ได้ไม่ได้ ช่างหัวมัน ปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า แต่เราห่วงอย่างที่ว่า ห่วง หมายถึงว่า ต้องให้ข้อมูลถูกด้วย เข็มทิศชี้ถูก ทุกอย่างถูก มันจะไปถูก เข็มทิศชี้ผิดแล้วเราเชื่อผิด เขาเรียกหลง คิดดูสิ เราจะกลับกรุงเทพฯ แล้วเราออกไปทางนี้ มันก็ออกพม่าไง จะกลับกรุงเทพฯ ไปเลยนะ ขึ้นเขาไปเลยนะ กรุงเทพฯ อยู่ทางนี้ไง โน่น ลงอันดามันโน่นน่ะ กลับกรุงเทพฯ เขาไปทางนี้น่ะ เข็มทิศผิดนะ มึงลงอันดามันไปเลย มันไม่เข้า อันนี้สำคัญ สำคัญ มันต้องมีครูมีอาจารย์นิดหนึ่ง แล้วอย่างว่าครูบาอาจารย์ของใครล่ะ ใครเชื่อใครล่ะ

เวลาพูด เราพูดนะ ให้คนหันไปทางถูก แต่เวลาโยมมามากๆ เราก็ไม่ไหว ปวดหัวพอแรง แต่เวลาสงสารนี่สงสารจริงๆ นะ แต่เวลาโยมมา โทษทีนะ เบื่อฉิบหาย อยากให้เป็นอย่างนี้ มาทีเดียวจบเลย มันได้เยอะๆ ไง บางทีมาคนสองคนแล้วก็ “หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังๆ” แต่ถ้ามานะ มีปัญหานะ เอา เหนื่อยนะ สงสารนี่สงสารนะ แต่อย่างว่า โลกแบกไม่ไหวหรอก โลกมันเยอะ

เราบวชใหม่ๆ เราเอาคติธรรมของหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวอยู่ถ้ำกลองเพล ใครจะมาปั๊บ หนีขึ้นเขา หนีขึ้นเขา ไม่รับแขกเลย แล้วลงมา พระถามว่าทำไมหลวงปู่ทำอย่างนั้นน่ะ ท่านบอกว่าสอนคนสักประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน จะมีคนเข้าใจสัก ๒ คนไหม ให้นั่งพูดกับคน ๒๐๐,๐๐๐ คน ไอ้คนที่มันจะฟังเข้าใจมีอยู่ ๒ คน อีก ๑๙๙,๙๙๘ คน มันทะลุหูซ้ายหูขวา ไอ้คนพูดเหนื่อยฉิบหายเลย นี่หลวงปู่ขาวพูดเองนะ พระที่มีคุณธรรมท่านพูด เราจับ มับ! เป็นคติแนบลงที่ใจเลย

แต่ที่เราพูดกับโยม พูดทุกๆ วันเพราะสงสาร เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราเคยโดนหลอกมาแบบโยม มาบวชใหม่ๆ ไปถามพระองค์ไหนก็ตอบกูไม่ได้ ตอบกูไม่ได้ ทุกข์ฉิบหายเลย ไปเจออาจารย์จวนล่อป๊อกเดียว เออ! นี่อาจารย์กู ใช่ พอเครื่องบินตก ไม่ไหวแล้ว เพราะกูโดนหลอกมาเยอะ เข้าบ้านตาดเลย ไม่ฟังใคร ไปไหนมา สามวาสองศอก ถามอย่างหนึ่ง ตอบอย่างหนึ่ง แล้วให้กูไปปฏิบัติกับใครวะ

เราเป็นอย่างนี้มาก่อน แล้วสมัยนั้นสังคมมันยังรวบยอดอยู่ คือสังคมกรรมฐานมันยังแคบๆ มันตรวจเช็คกันได้ง่ายๆ เดี่ยวนี้สังคมมันกว้างขึ้น แล้วการปฏิบัติมันร้อยแปดพันเก้า เหยื่อทั้งนั้นเลย ที่พูดอยู่นี่เพราะตรงนี้รู้ไหม ที่พูดอยู่เพราะตรงนี้ ไม่ใช่อยากจะแก้ทิฏฐิใคร อยากให้ใครรับรู้...ไม่ใช่ เพราะเราอยู่ในสังคม เรารู้ ที่พูดอยู่นี่ แหกปากอยู่นี่ แต่ก็ดีอย่างหนึ่งนะ กูลงซีดีไว้เยอะ อีกหน่อยมา กูเปิดซีดีให้ฟัง กูไม่ไหวแล้ว อีกหน่อยจะเปิดซีดีให้ฟังเนาะ เอวัง