ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เทศน์หลังฉันจังหัน

๑๒ ต.ค. ๒๕๕๑

 

เทศน์หลังจังหัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เดี๋ยวลองฟังนี่ แปลก แปลกมาก ไม่น่าเชื่อมันจะเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ฟังนะ

“เราควรปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ในใจกันเถิด อย่าเพื่อความเป็นปราชญ์หรือเป็นพระอรหันต์กันเลย เพราะหลงทางกันมามาก เสียเวลาเกินไป เสียเวลามากเปล่าๆ เราควรปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ในใจกันเถิด อย่าเพื่อความเป็นปราชญ์”

อันนั้นหนึ่งนะ

“หรือเป็นพระอรหันต์กันเลย เพราะหลงทางกันมามากแล้ว เสียเวลากันเกินไปเปล่าๆ”

แล้วคนพูดมันขึ้นเป็นปรัชญาเลย เพราะเขาบอกขึ้นที่ของสวนโมกข์

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าคนเขียนอย่างนี้เราต้องตีความก่อนว่า ถ้าคนเขียนอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นปรัชญาของสำนักของเขาอย่างนี้ เขาจะเชื่อเรื่องนิพพานไหม เขาไม่เชื่อไง

๑. เขาไม่เชื่อเรื่องนิพพาน

๒. ใครปฏิบัติแล้วมันจะเสียเวลาเปล่า

แล้วประสาเรานะ ถ้าขึ้นคัทเอาท์ในสำนักเราอย่างนี้นะ เป็นเรานะ เราอายมากเลยล่ะ

“เราควรปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ในใจ”

เออ! อันนี้ฟังดี

“เราควรปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ในใจ”

ก็นี่ไง มันเป็นอนุบาลไง เป็นความคิดของพวกเราว่าเราทุกข์กัน เราควรจะทำทุกข์ มันก็เหมือนพ่อแม่ เด็กร้องไห้ก็โอ๋กันหน่อยก็จบไง ลูกๆ เราเสียใจก็ อ้าว! ให้ปืนฉีดน้ำอันหนึ่ง ให้ตุ๊กตาตัวหนึ่ง เออ! ก็นี่ไง ก็ดับทุกข์ในใจเด็กไง

เราจะบอกว่าคนคิดอย่างนี้มันก็คิดได้แค่นี้ไง คิดว่าใครทุกข์มา โอ้โลมปฏิโลม หรือใครทุกข์มา เราช่วยเหลือเจือจานไปก็จบ คือดับทุกข์ในใจเถิด ดับทุกข์ในใจ

ถ้าคนปฏิบัตินะ อย่างครูบาอาจารย์เรา การดับทุกข์ในใจ ทุกข์ในใจมันมีตั้งขนาดไหน ทุกข์ในใจนะ ดับทุกข์ในใจ แล้วต้องดับใจด้วย ดับทุกข์ในใจจนไม่มีทุกข์เลย แล้วตัวภพล่ะ ตัวใจอยู่ไหน อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ สิ้นอาสวะ จิตเป็นผู้พ้นจากกิเลส

แล้วเสียเวลาเปล่า มันเป็นอย่างนี้มานาน มันเป็นอย่างนี้มานาน เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะว่าถ้าพูดไปมันเหมือนกับว่ามันแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เราไม่อยากแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราพูดถึงข้อเท็จจริงไง ในแนวปฏิบัติ เขาเห็นพระป่าเขาจะสงสารมาก สงสารว่าพระป่าเรา ผู้ปฏิบัติ อัตตกิลมถานุโยค ทำคนให้ลำบาก เราไม่ต้องลำบากหรอก เราอยู่กันสุขสบาย นี่คือการดับทุกข์ของเขา ก็คิดแบบโลกไง โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา

ถ้าเราเข้าถึงโลกุตตรปัญญา มันจะรู้ว่าปัญญาที่เหนือโลก ปัญญาที่จะพ้นจากโลกมันจะลงทุนลงแรงกันขนาดไหน

โลกียปัญญา เขาก็มองกัน มองว่าเศรษฐีมหาเศรษฐีอยู่กันแบบว่าเครื่องอำนวยความสะดวกครบวงจรคือความสุขไง เขามองกันแค่นั้นน่ะ มันต้องมองย้อนหลังไปก่อน มองย้อนหลังไปว่าเขามีความคิดอย่างไร แล้วเขามองผู้ปฏิบัติอย่างไร

ทีนี้ “หรือเป็นพระอรหันต์กันเลย เพราะหลงทางกันและเสียเวลากันมามากแล้ว”

ตรงนี้สำคัญมากนะ ตรงนี้สำคัญมากเลย ถ้าบอกเราปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ แต่เราไม่ต้องการพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ทำให้พวกเราหลง ถ้าอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าเกิดไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าบารมี ๑๐ ทัศ ปรารถนาเป็นอะไร ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าใช่ไหม ปรารถนาถึงนิพพานใช่ไหม เหมือนกับเรา เราทำโครงการอะไรก็แล้วแต่ เป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน แล้วเราบอกเป้าหมายนี้ไม่เอา อันนี้มันเข้ากับอภิธรรมไง อภิธรรมต้องปฏิบัติโดยไม่มีความอยาก แล้วกึ่งพุทธกาลแล้วพระอรหันต์ไม่มี มันมีไม่ได้

เพราะเราสวดมนต์ อกาลิโก ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะคำว่า “พระอรหันต์” ในคำว่า “พระอรหันต์” เขาเห็นว่าการเป็นพระอรหันต์หรือใครเป็นพระอรหันต์ เขามองว่าเชย มองว่ามันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันขึ้นป้ายอย่างนี้โดยปัญญาชนอย่างนี้นะ นี่ไง ที่หลวงตาท่านพูด หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ บอกต่อไปพวกเราพูดธรรมะกันไม่ได้ ถ้าพูดธรรมะไปเขาจะหัวเราะเยาะเย้ยกัน แล้วคนในวัดก็จะไปวัดไม่ได้นะ อาย พวกนี้พวกไม่มีปัญญา ไปให้หลอก เพราะอย่างนี้ไง ดูถูกเหยียดหยามกันไปเองไง

ทีนี้ในการปฏิบัติมันมี มันมีที่ว่าในประวัติหลวงปู่มั่น มีพระองค์หนึ่งปฏิบัติอยู่ทางอีสาน แล้วเข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ สมเด็จมหาวีรวงศ์ฯ วัดพระศรีมหาธาตุ ท่านก็ตั้งพวก ๙ ประโยค ตรวจสอบอยู่ตั้งนาน อย่างไรก็เอาไม่อยู่หรอก เพราะว่าศึกษามาโดยทฤษฎี พอหลวงปู่มั่นลงมาจากเชียงใหม่ เขาก็พาไปหาหลวงปู่มั่น พอเล่าให้หลวงปู่มั่นฟัง หลวงปู่มั่นบอก “เอ็งติดสมาธิ” เท่านั้นแหละ กราบหลวงปู่มั่นเลย ในประวัติหลวงปู่มั่น ไปดูสิ กราบหลวงปู่มั่นใหญ่เลย “ใช่ครับ”

เราจะบอกว่าในการปฏิบัติมันก็ต้องมีอย่างนี้ ในการปฏิบัตินะ มันก็มีแบบว่า เพราะเราปฏิบัติ เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นใช่ไหม มันก็มีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ไอ้เรื่องความผิดพลาดมีนะ เพราะปฏิบัติไป พวกเรากิเลสทั้งนั้นน่ะ มันมืดบอด พอเรามืดบอดขึ้นมา เราพยายามจุดไฟขึ้นมา เราพยายามจะทำให้หูตาเราสว่าง มันก็ต้องมีกิเลสมีทุกอย่างมาเป็นสิ่งที่ทำให้เราคลาดเคลื่อน

คนไม่เคยทำงานคือคนไม่ทำความผิด คนถ้าทำงานต้องมีความผิดเป็นธรรมดา ทีนี้ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องมีความผิดพลาดกันเป็นธรรมดาๆ เราว่าเป็นอย่างนั้นเลย เป็นธรรมดา ทีนี้พอธรรมดาแล้วมันมีครูบาอาจารย์ที่รู้จริงหรือเปล่าที่คอยแก้ไข อ้าว! คนทำงาน เด็กฝึกหัดจะไม่ผิดเลย เป็นไปได้ไหม มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นะ พวกเราปฏิบัติกัน ไอ้เรื่องผิดพลาดเราถือว่าเป็นเรื่องธรรมดานะ คำว่า “ธรรมดา” มันต้องซื่อสัตย์แล้วต้องยอมแก้ไข ต้องยอมคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เราต้องคุยกันด้วย ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ใช่ไหม เราของไม่เคยเห็น ไม่เคยเป็น ไม่เคยรู้ แล้วไปประพฤติปฏิบัติจะให้มันถูกทางเลย มันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ที่ว่าปฏิบัติแล้วจะสะอาดบริสุทธิ์ไปเลย เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญาที่สร้างบุญกุศลมามาก

ทีนี้การปฏิบัติมันผิดพลาดเป็นธรรมดา ทีนี้การผิดพลาดก็แก้ไข

“หลงทางกันมามาก”

ใช่ หลงทางถ้ามันไม่มีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง สมัยหลวงปู่มั่น ลองไปสิ ขนาดนั่งฟังเทศน์นะ “จับขโมยให้ที” คิดออกข้างนอก มับๆๆ จับเลย “ทำไมคิดอย่างนั้นๆ” แต่พอมาในปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ที่เข้มข้นอย่างนั้นมันมีน้อยลงไป แต่มันก็ยังมีผู้รู้จริง ก็ยังพยายามจะชี้เข้าหาทาง

“ดับทุกข์กันเถิด”

ทุกคนก็ดับทุกข์ เราทุกข์กันอยู่นี่ เข้าห้องแอร์ เปิดแอร์เย็นๆ ก็ดับทุกข์แล้ว หลวงตาบอกว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมือนกับตุ๊กตา คือเป็นของเล่นไง ปฏิบัติธรรมเหมือนของเล่นกัน ศึกษาธรรม ไปวัดไปวาก็ไปคุยให้เพลินๆ ให้มันหายทุกข์ไปเท่านั้นน่ะ ไปถึงก็โอ้โลมปฏิโลมกันนะ เปิดแอร์เย็นๆ นั่งคุยกัน พอสบายใจก็กลับบ้าน ธรรมะเป็นตุ๊กตาของเล่น

แต่ถ้าเอาจริง มันต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ พอถึงปั๊บ ไม่คลุกคลี อยู่ตัวคนเดียว พออยู่ตัวคนเดียวมันคิดมาก พอความคิดมาก เอาความคิดให้อยู่ ถ้าความคิดเราอยู่ได้มันจะจบ ถ้าเอาความคิดอยู่ไม่ได้ ความคิดเราเอาให้อยู่ให้ได้ ถ้าเอาให้อยู่ได้ก็แก้ไขมัน ดัดแปลงมัน ถ้าดัดแปลงมัน มันเป็นไปได้ แล้วถ้าคนไม่เคยทำไม่รู้เรื่องอย่างนี้

แหม! เห็นอย่างนี้แล้ว ประสาเรานะ มันสังเวช เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันมีเป้าหมายใช่ไหม เรื่องความดับทุกข์ในใจ เวลาพูดไป เหมือนกับพวกเราพวกปัญญาชน ถ้าอย่างนี้แล้วมันรับได้ มันเข้าใจได้ ถ้าบอกเป็นพระอรหันต์ แล้วเราค่อยพูดกันว่ากึ่งพุทธกาลไม่มีพระอรหันต์ หรือว่าปฏิบัติไปแล้วพระอรหันต์คืออะไร

ทีนี้เพียงแต่ว่า อ้าว! พูดอย่างนี้เลยก็ได้ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เรา สังคมพระอรหันต์ทำไมจะไม่รู้ว่าพระอรหันต์ อ้าว! หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ นี่พระอรหันต์ หลวงปู่แหวน ครูบาอาจารย์นี่พระอรหันต์ พระอรหันต์กับพระอรหันต์ต้องคุยกันรู้เรื่องใช่ไหม ถ้าบอกว่าไม่มีพระอรหันต์ หรืออย่าไปปฏิบัติถึงพระอรหันต์กันเลย ก็เหมือนทำโครงการกัน แล้วทุกอย่างเอามาให้เรา อย่าเอาเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องมีเป้าหมายถึงที่นั่น

จะพูดอย่างนี้ก็ได้ บอกว่า เราปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ จะเป็นพระอรหันต์ไม่เป็นพระอรหันต์ ช่างมัน เพื่อความพ้นทุกข์

ไอ้นี่ดับทุกข์ในใจ เพราะอย่างนี้ เพราะดับทุกข์ในใจ นิพพานคือความสงบเย็น แล้วก็เย็นๆๆ กัน นิพพานสงบเย็น ขั้วโลกเหนือมันก็เป็นนิพพาน ตีกันอย่างนั้นอย่างนี้ นิพพานคือความสงบเย็น นิพพานคือความว่าง

ความว่างคู่กับไม่ว่าง ความเย็นคู่กับความร้อน เป็นไปไม่ได้หรอก คนไม่ถึงนะ พูดออกมาอย่างไร ปรัชญามันก็ผิดหมด

แต่หลวงตาเวลาท่านพูด ท่านพูดกับเด็กใช่ไหม จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น เวลาพูดกับนักปฏิบัตินะ ธรรมธาตุ จิตไม่มี จิตมีคือมีภพ จิตมีก็เหมือนบ้านว่าง บ้านร้าง เราอยู่ในนั้นน่ะ จิตมีไม่ได้ จิตมีคือมีที่สถานที่ตั้ง ตัวจิตต้องทำลายหมดเลย แล้วทำลายอย่างไร เหมือนผู้มีอิทธิพล ฆ่าเขาหมดเลย เหลืออยู่คนเดียวถือปืนอยู่ ทำอย่างไร ก็ยิงหัวมึงสิ กล้ายิงไหม ฆ่าเขามาหมดเลยนะ ฆ่าสิ่งต่างๆ ฆ่าตัณหาความทะยานอยาก ฆ่าหมดเลย ตั้งแต่กามภพ รูปภพ ฆ่าหมดเลย แล้วตัวมันล่ะ แล้วทำอย่างไร

ถ้าไม่เคยผ่าน พูดไม่ได้ พูดอย่างไรก็ผิด แล้วพออย่างนั้นปฏิเสธว่าไม่มี

เราบอกมันจะดึงฟ้าต่ำ คือจะบอกให้ศาสนาเราแค่เป็นของเด็กเล่น

“ดับทุกข์ในใจกันเถิด”

ดับทุกข์ในใจมันก็มีตั้งหลายอย่าง ดับทุกข์อย่างอะไรก็ได้ โอ้โฮ! ขึ้นอย่างนี้เลยเนาะ แต่ขึ้นอย่างนี้ ถ้าเป็นเรา เราเห็นปั๊บ ประสาเรานะ เราขำกลิ้งเลย แสดงว่าศาสนาพุทธเหมือนกับศาลเข้าทรง แล้วก็ขึ้นยี่ห้อเลย เจ้าพ่อดำ เจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อนี่

นี่ก็เหมือนกัน ขึ้นป้ายอย่างนี้ เราอ่าน โอ๋! เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึกไง มันไม่เข้าถึงธรรม ว่าอย่างนั้นเลย แล้วไม่เข้าถึงธรรมธรรมดานะ

“อย่าเพื่อเป็นปราชญ์หรือเป็นพระอรหันต์เลย”

อย่างนั้นศาสนาเราก็ไม่มีมรรคมีผลน่ะสิ ศาสนาพุทธนี้ไม่มีผลเลยใช่ไหม พูดอย่างนี้เลยนะ ศาสนาพุทธไม่มีมรรคผลแล้วสิ แล้วมึงสอนทำไม

เขาเขียนเอง เขาประจานตัวเขาเอง ไอ้นี่เรื่องประจานไม่ประจาน เราจะบอกว่าก่อนที่เขาทำอย่างนี้ คือว่ามันเป็นตรรกะของเขาอยู่แล้ว มันเป็นแนวคิดอยู่แล้ว เพราะว่าเราอยู่ในวงการ เรารู้เรื่องนี้ดี เขามีความคิดอย่างนี้ คนเรารู้ได้แค่ไหนก็พูดได้แค่นั้น มีความคิดอย่างไรก็คิดได้แค่นั้น แล้วมันแสดงออกมา ความลับไม่มีในโลกหรอก

เราไม่เชื่อแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว อย่างเช่นลูกศิษย์มาหลายคนมากนะ “โอ้โฮ! หลวงพ่อ ผมชอบมาก ไม่มีตัวของกู”

วันนั้นเราพูดไปเขาสะดุ้งเลยนะ ไม่มีตัวของกูคือกู เขาช็อกเลยนะ ไม่มีตัวกูของกูน่ะคือกู เพราะกูเป็นคนพูดว่าไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกูไง กูพูดอยู่นี่

“ครับๆๆๆ ผมได้แล้วครับๆ” กลับเลยนะ “หลวงพ่อไม่ต้องพูดอีก ผมได้แล้ว”

เขาพยายามทำให้หมดไง เขาบอกไม่มีตัวของกู

เราบอกไม่มีตัวของกูนั้นคือกู

คนที่มันใช้ตรรกะอยู่มันจับได้นะ มันจับได้เลย ปั๊บเลย “ผมได้แล้วครับๆ” คือเราปฏิเสธข้างนอกหมดเลย แต่ตัวเรา เราไม่ได้มอง พอให้ย้อนกลับมาไง ใครเป็นคนปฏิเสธ ใครเป็นคนปฏิเสธว่าไม่ใช่กู ไม่ใช่ของกู ใครเป็นคนปฏิเสธ ไอ้คนปฏิเสธนั้นคือกู เขาจับได้เลยนะ จับตัวเขาเองได้เลย “ครับๆๆ” ขนลุกหมดเลยนะ

แต่ถ้าเราไม่ได้คิด เราก็ท่องตามเขาไป ไม่ใช่กู ไม่ใช่มึง ก็ว่ากันไป พอบอกก็มึงนั่นแหละพูด เท่านั้นน่ะมันจับได้ ง่ายๆ คนที่ไม่เคยปฏิบัติมันก็พูดแต่ปรัชญาข้างนอก พูดเป็นวิชาการ แล้วคนก็เคลิบเคลิ้มกันไปไง ไม่ได้ทวนกระแสกลับเป็นธรรมะเลย ธรรมะ พอทวนกระแสกลับมา โอ้โฮ! กูทั้งตัวนั่งขวางอยู่นี่ แล้วบอกไม่ใช่ได้อย่างไร ก็ตัวกูนั่งขวางกูอยู่นี่ไง

ปรัชญาของเขากับความเห็นของเขา เราเห็นมานานแล้ว แต่นี่มันเขียนออกมาก็ว่ากันไป คนที่เป็นธรรมมันไม่เป็นอย่างนั้น อันนี้อันหนึ่งนะ อันนี้พูดถึงสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาทำ แล้วถ้าพูดถึงความเห็นของโลก พอเราไปอ่านกันหรือไปเห็นนิยาม เห็นคติธรรมเขา ทุกคนจะทึ่ง แล้วทุกคนจะภูมิใจ ภูมิใจว่า เออ! เราเป็นชาวพุทธ เราปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แล้วเราจะไม่หลงทางกันไง ทุกคนกลัวหลงทาง กลัวผิดพลาด แล้วเขาเอาอย่างนี้มาตีปลาหน้าไซ ว่าถ้าปฏิบัติแล้วมันจะผิดพลาดไง หลงทางกันมามากแล้ว เสียเวลาเปล่า

มันก็เหมือนกับเราฝึกฝนทุกอย่าง ความชำนาญการมันต้องมีขึ้นมา เรื่องทำความสงบของใจ เรื่องหัดใช้ปัญญา แต่ละคนไม่เหมือนกันไง ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย การปฏิบัติของคนมันไม่เหมือนกันเพราะอะไร พูดอย่างนี้เหมือนวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าพูดหลักธรรมนะ พระอรหันต์ต้องสร้างมา ๑ แสนกัป พระพุทธเจ้าต้อง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย แล้วใครสร้างมากสร้างน้อย พอสร้างมากสร้างน้อย ย้อนกลับมาในการปฏิบัติ การเสียสละทาน ใครทำบุญกุศล ใครทำมากทำน้อย สิ่งนี้มันก็เข้าไปถึงที่ใจ

ครูบาอาจารย์ท่านบอก สิ่งที่สละไปมันไม่ไปนรกสวรรค์กับเราหรอก หัวใจไปนรกสวรรค์ แล้วการกระทำของเรามันตกผลึกๆ คนตกผลึก ความตกผลึกมันไม่เท่ากัน บางคนตกผลึกมาก บางคนตกผลึกน้อย ทีนี้พอมาปฏิบัติปั๊บ ตรงนี้แหละมันจะส่งผลให้แตกต่างกันไป พอแตกต่างกันไป สิ่งที่แตกต่างกันไป แล้วนี่มาบอกว่ากลัวหลงทางๆ พูดอย่างนี้ ทุกคนไง แล้วก็มองดูว่าพระปฏิบัติเราเหมือนกับคนเสียสติ เหมือนกับคนหลงใหล เหมือนกับคนไม่มีจุดยืน

ทุกคนอยากพ้นทุกข์นะ แต่ทุกคน วาสนาของคนมันไม่เหมือนกัน ในเมื่อวาสนาของคนไม่เหมือนกัน วิธีการของคน ครูบาอาจารย์ที่จะชักนำไปจะทำอย่างไร ครูบาอาจารย์เราที่ปฏิบัติมาจะมีมุมมองอย่างนี้ไง แต่นี่ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาปฏิบัติ ในศาลาหนึ่งก็ทำเหมือนกันหมดเลย เราถึงเปรียบเทียบบ่อย โตโยต้า รถโตโยต้า รถกระบะทุกยี่ห้อ สายการผลิตรุ่นนั้นจะเหมือนอย่างนั้นเปี๊ยะเลย

ในการปฏิบัติของเราเป็นอย่างนั้นไหม เป็นไปไม่ได้หรอก คนนิสัยไม่เหมือนกัน ทำเหมือนกันนี่แหละ แต่ผล ค่ามันไม่เท่ากันหรอก แต่นี่เพราะอะไร เพราะไปทำให้ตัวเองเคลิบเคลิ้มเองนะ ไม่อยากพูดเลยนะ เวลาปฏิบัติกัน ทำอย่างนั้นกัน โอ้โฮ! แล้วทำเป็นตุ๊กตาไง ตุ๊กตาเวลามันผลิตออกมาเหมือนกันหมดเลย แต่จิตใจคนไม่ใช่นะ ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ของใครของมัน

ถ้าเราพูดอย่างนี้นะ แล้วถึงเวลาถ้าพวกเขาได้ยิน เขาอาจจะแก้ไขเนาะ เขาอาจจะเขียนใหม่ เอ๊ะ! เราเขียนเอง เราผิดเอง ถ้าเขาได้ฟังนะ ก็เหมือนกับที่ดูจิตมาหาเรา เราก็พูดไปเรื่อย เขาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ ทีแรกบอกว่าดูจิต ไม่ต้องทำสติ สติไม่จำเป็น

เราบอกถ้ามีสติ ทำไมมีมหาสติ ทำไมมีสติอัตโนมัติ เท่านั้นน่ะ ตำราเปลี่ยนเลย เขียนใหม่ๆ บอกว่าไม่ใช่ฝึกสติ สติไม่ใช่สร้างไม่ได้ มันจะเป็นเอง...ไม่เป็น ไม่เป็นพูดออกไปผิดทั้งนั้นน่ะ ผิดทั้งนั้นเลย เราเข้าใจเองว่าถูก อันนี้เป็นความเห็นของเขานะ

นี่ย้อนกลับมาผลของการปฏิบัติแล้ว ผลของการปฏิบัติมันต้องมีอย่างนี้ เมื่อกี้เรากินข้าวกัน เรารู้รสอาหารไหม เรามีความอิ่มไหม แล้วมันเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราไปเป็นปริยัติ เราก็นั่งอ่านหนังสือกัน ก็นั่งมองอาหารกัน ไม่รู้เรื่องหรอก มันจะไม่มีผลอะไรถึงหัวใจของตัว

นี่การถามปัญหานะ

ถาม : ๑. การพิจารณากายอย่างไรจึงเป็นสมถะ และอย่างไรถึงเป็นวิปัสสนา

หลวงพ่อ : “การพิจารณากายอย่างไรจึงเป็นสมถะ การพิจารณากายอย่างไรจึงเป็นวิปัสสนา”

เพราะถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ พอเราไปศึกษาธรรมะกัน การพิจารณากาย ทุกคนพิจารณากายผ่านกายคือเป็นพระโสดาบัน ทีนี้พอครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นแล้ว ดูอย่างเช่นหลวงตาท่านจะบอกเลย การพิจารณากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา

อย่างเช่นเรากำนดพุทโธๆ เรากำหนดพุทโธๆ เป็นสมถะ แต่เราพิจารณาความตาย พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยสามัญสำนึก ผลของมันคือสมถะ ผลของมันเป็นสมถะ แล้วเราพิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ จนจิตมันสงบ เพราะสมถะคือจิตสงบ พอจิตสงบแล้ว จิตสงบ พิจารณากายซ้ำต่อไป ตรงนั้นจะเป็นวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาเพราะเวลามันพิจารณาไปแล้ว เวลาเป็นสมถะ มันพิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยวางเข้ามา คือมันจะสงบเข้ามา จิตมันสงบเข้ามา มันสังเวช มันจะสงบเข้ามา แต่เราไปพิจารณาซ้ำเข้าไป พอมันเห็นกายจริง มันสะเทือนหัวใจ พอพิจารณาไป พอมันปล่อย มันปล่อยอุปาทานด้วย ถ้าเป็นวิปัสสนา มันจะถอนสังโยชน์ ถอนอุปาทาน แต่เป็นสมถะ มันสงบตัวลงเฉยๆ

ทีนี้ไอ้ ๒ อย่างนี้มันจะทำไป มันเหมือนกับสิ่งที่มันเกี่ยวเนื่องกัน เหมือนกายกับใจ ถ้าไม่มีหัวใจนะ พวกคนตาย ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ ร่างกายที่เคลื่อนไหวเพราะมันมีหัวใจอยู่ใช่ไหม คนตายแข็งทื่อเลย แต่เพราะมันมีหัวใจใช่ไหม มันอยู่ในร่างกายนี้ ทำให้ร่างกายนี้อบอุ่น มันถึงเคลื่อนไหวได้

ในสมถะ ปัญญาในวิปัสสนา มันก็เหมือนกัน มันต่อเนื่องกันไง มันเกี่ยวเนื่องกัน มันจะตัดให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดช่วงไปเลย มันเป็นไปไม่ได้ แต่ขณะที่แบ่งไง ขณะที่แบ่งว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรวิปัสสนา มันไปเริ่มอย่างนั้น เพราะถ้าไม่แบ่งอย่างนี้ เวลาเราพิจารณาไป ที่เราเห็นกายกัน ทุกคนเห็นกาย เห็นกันจริงๆ นะ แล้วพิจารณาอยู่ แล้วก็ว่างหมดเลย นี่ไง นี่คือสมถะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนที่พิจารณาจะรู้อยู่ว่าเราไม่ได้เป็นอะไร เราเป็นปุถุชนอย่างเดิม เราพิจารณาไปแล้วเราปล่อยวาง แต่ถ้าเป็นวิปัสสนานะ พิจารณากายนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์นะ มันแยก พับ! รู้เลยว่าตัวเองเป็นพระโสดาบัน

ถ้าเป็นสมถะ มันจะปล่อยวางเป็นสมถะ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนานะ เวลามันปล่อย เป็นตทังคะไปก่อน

เราพูดบ่อย คนที่มีปัญหาไปถามหลวงตาเรื่องการพิจารณา ท่านจะบอกว่า “ถูกต้องแล้ว” ท่านจะพูดคำนี้นะ “ซ้ำไปอีกๆ ถ้าอย่างนี้แล้วคือยังไม่ถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดแล้วนะ เหลืออะไร” ท่านถามเลย “เป็นอย่างไร เหลืออะไร” ถ้าตอบถูก ถูกหมด แต่ถ้ายังไม่ถามอย่างนี้นะ ท่านบอกให้ซ้ำไป แสดงว่า สังเกตได้ไหม หลวงตาตอบปัญหาจะบอกให้ซ้ำ ให้ซ้ำ ให้ซ้ำคือมาถูกทางแล้ว ตทังคปหาน มาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่สิ้นสุดถึงกระบวนการของมัน คือยังไม่จบ มันยังไม่จบ ไม่สรุปไง มันสรุปไม่ได้ คือว่าเราทำงาน เหมือนเราแข่งกีฬามันยังไม่หมดเวลา ยังไม่หมดเวลา ต้องทำไปเรื่อยๆ แล้วอย่างเรา เรายังทำแต้มไม่ได้ คือเราชนะไม่ได้ เราชนะไม่ได้ เราต้องทำซ้ำเข้าไป

แต่โดยสามัญสำนึกของกิเลส พอมันทำอะไรว่างขึ้นมาแล้วมันจะบอกว่านี่คือผลไง คืออยากได้ผลก่อน แล้วพอได้ผลปั๊บ พอได้ผล เขาเรียกติด พอติดแล้วมันไม่ทำงานต่อ พอไม่ทำงานต่อ มันจะรอวันเสื่อมอย่างเดียว เสื่อมนะ เสื่อม

กุปปธรรม อกุปปธรรม กุปปธรรมคือธรรมะที่เจริญแล้วเสื่อม ที่เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่กุปปธรรม อกุปปธรรมคือถึงเป้าหมาย ถึงเป้าหมายแล้วนะ ไม่มีวันเสื่อม อกุปปธรรม อะคืออฐานะที่มันจะแปรปรวน มันจะเป็นสัจจะความจริงอย่างนั้นเลย ถ้าถึงตรงนั้นปั๊บ จบ จบเลย จบกระบวนการหนึ่งของโสดาบัน จบกระบวนการหนึ่งของสกิทาคามี จบกระบวนการหนึ่งของอนาคามี จบกระบวนการของมัน

ฉะนั้น มันถึงว่า ทำไมถึงต้องพูดว่าเป็นสมถะ ทำไมถึงต้องพูดว่าเป็นวิปัสสนาไง ถ้าไม่พูดอย่างนั้น ทำเหมือนกันน่ะ ทำเหมือนกัน ความรู้เหมือนกัน เห็นเหมือนกัน ทำไมผลไม่เหมือนกันล่ะ

เพราะมันจะเรียกร้องนะ เราศึกษาธรรมะมาเราจะเรียกร้องเลย เราก็ทำแล้ว ทำทุกกระบวนท่า ทุกกระบวนการของตำรา ของทฤษฎีที่สอนไว้หมดเลย แล้วทำไมเราไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ

มันไม่เป็นอย่างนั้น หนึ่ง การกระทำของมัน อย่างที่ว่า เราจะบอกว่าพัฒนาการของจิต พัฒนาการของมัน มันจะมีของมัน แล้วมันสำคัญ สำคัญตรงนี้ สำคัญตรงที่อาจารย์คอยบอก

“การพิจารณากายอย่างไรถึงเป็นสมถะ อย่างไรถึงเป็นวิปัสสนา”

มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะว่า คำว่า “สมถะ” คือผลของมันจะเป็นอย่างนี้ วิปัสสนา ผลของมันคือถอนกิเลส ฉะนั้น ถ้าไม่มีสมถะมันก็ยกวิปัสสนาไม่ได้ ไม่มีสมถะใช่ไหม ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา

ตัวสมาธิเป็นตัวแบ่งแยก ตัวสมาธิเป็นตัวแบ่งแยกระหว่างโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ มันก็เป็นเรา ก็เราคิดโดยเรา ตัวสมาธิ ตัวสมถะมันไปกดตัวตนเรา กดความเห็นส่วนตัวของเราลง ถ้าความเห็นโดยพื้นฐานของเรามีอยู่ มันเป็นสมาธิไม่ได้หรอก คือเรารู้ เราเก่ง เราแน่อยู่นี่ มันคาอยู่อย่างนั้นน่ะ กูแจ๋วๆ ทำสมาธิไม่ได้หรอก มึงจะเก่ง ดีขนาดไหนนะ ถ้ามึงยอมลงตัวมึงเอง มึงจะเป็นสมาธิ

พอลงสมาธิปั๊บ สมาธิปั๊บ จิตนี้เป็นสากล สมาธินี้เป็นสากลนะ สากล หมายถึงว่า จิตเสมอภาคหมด แล้วพอเสมอภาคแล้ว มันไม่มีเราแล้ว มันออกไปเป็นสัจธรรม มันออกไป มันเป็นวิปัสสนา มันถึงต้องมีสมถะไง ขาดสมถะมันจะเป็นความคิดเห็นของเรา มันจะเป็นวิปัสสนึก มันจะเป็นการคาดการณ์ มันจะเป็นการให้คะแนนตัวเอง มันจะหวังผลตอบแทนตัวเอง แล้วก็ตัวเองว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์อยู่คนเดียวนะ คนอื่นเขาไม่รับรอง ถ้าไม่มีสมถะมันจะบอกว่าก็สิ้นสุดกระบวนการแล้วก็ต้องเป็นพระอรหันต์สิ แล้วมันเป็นไหม มันไม่เป็น

อันนี้ถึงว่า ทำอย่างไรถึงเป็นสมถะ ถึงเป็นวิปัสสนา

มันจำเป็นนะ แล้วส่วนใหญ่แล้วคนปฏิบัติ พอบอกว่าแล้วเมื่อไหร่เราจะได้วิปัสสนาล่ะ ในเมื่อสมาธิทำไม่ได้

ตรงนี้สำคัญ สมาธิมันก็เหมือนกับน้ำนะ น้ำเต็มตุ่ม เราจะคิดว่าเราต้องตักน้ำให้เต็มตุ่มแล้วเราถึงค่อยใช้น้ำใช่ไหม ถ้าเราตักน้ำสักครึ่งตุ่ม ๑ ใน ๔ ในตุ่ม ๓ ใน ๔ ในตุ่ม เราก็ใช้น้ำในตุ่มนั้นได้ใช่ไหม สมาธิไม่ต้องให้เต็มตุ่ม สมาธิ ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมา เราสามารถใช้ปัญญาได้ เราก็ฝึกฝนปัญญาไปสิ ถ้าเรามีความสงบแล้ว เราหัดคิดปัญญาไป ถ้ายิ่งคิดปัญญาไป ปัญญามันจะออกเดินก้าวหน้าไป ปัญญาอย่างนั้นมันจะทำให้สมาธิทำเข้าง่ายขึ้น

เหมือนกับเรา เราตักน้ำใส่ตุ่ม กำหนดสมาธิ เราทำพุทโธก็ได้ หรือปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ น้ำในตุ่มนั้นมีสัก ๑ ใน ๔ เราได้ใช้น้ำนั้น เราได้ดื่มกินน้ำนั้น เราว่าน้ำนั้นมีประโยชน์มาก เราก็จะขวนขวายตักน้ำได้เร็วขึ้น มันเห็นประโยชน์ เห็นคุณไง

แต่ถ้าเราบอกไม่ได้ ต้องรอให้น้ำเต็มตุ่มเลยถึงจะได้กินน้ำ หาบจนเหนื่อยนะ แก้วหนึ่งก็ไม่ได้กิน ต้องเต็มตุ่มแล้วค่อยได้กินน้ำ แล้วเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนาล่ะ เมื่อไหร่ได้วิปัสสนาล่ะ

มันใช้ปัญญาได้ มันหัดฝึกฝนได้ ในสมถะ เราหัดใช้ปัญญาก็ได้ ถ้าเราพุทโธๆ ไปแล้ว ถ้ามันแบบว่ามันมีปัญหาขึ้นมา เราก็ใช้ปัญญาคิด ตรึกในธรรม ตรึกอะไรต่างๆ ตรึกต่างๆ แล้วพอตรึกแล้ว พอมันเหนื่อยก็กลับมาพุทโธอีก ฝึกปัญญาได้ คือน้ำในตุ่มเราใช้ได้ ในความสงบ เราเอาออกมาใช้ประโยชน์ได้ ใช้ประโยชน์ในแง่ไหนก็ได้

แต่ถ้าน้ำเต็มตุ่มมันก็ดีใช่ไหม ครึ่งตุ่มก็ใช้ได้ ไม่ใช่ว่าต้องรอให้น้ำเต็มตุ่ม หัดฝึกปัญญาได้ ถ้าหัดฝึกปัญญาแล้วมันจะย้อนกลับมา เพราะว่ามันมีปัญญาขึ้นมา คือว่าคำว่า “ปัญญา” หมายถึงว่า มันจะเห็นความผิดพลาดของตัว ปัญญามันจะจับผิดเรา จับผิด เราตั้งสติอย่างไร จับผิดความรู้สึกเราเอง วันนี้ผิดอย่างนี้ วันนี้ทำผิดอย่างนี้ เพราะทำอย่างนี้ ผลตอบมันเป็นอย่างนี้ นี่คือปัญญานะ ปัญญาคือจับผิดตัวเองนะ พอจับผิดตัวเอง เราก็แก้ไขตัวเอง พอแก้ไขตัวเอง แก้ไขให้มันดีขึ้น นี่ผิดพลาดเพราะอย่างนี้ เพราะไม่ตั้งสติอย่างนี้ ผลกระทบจากข้างนอกมาอย่างนี้ นี่คือปัญญาแล้ว พอปัญญาเกิดขึ้นมา ต่อไปก็ต้องตั้งสติขึ้นมา วันนี้พลาดแล้วนะ วันหน้าพลาดให้น้อยลง ทันขึ้นมาเรื่อยๆ จนเราควบคุมมันได้ สมาธิก็ทำได้ง่ายขึ้น แล้วพอสมาธิทำได้ง่ายขึ้น ปัญญามันจะเกิดก็เกิดได้ง่ายขึ้น

ถึงว่าเป็นสมถะ เป็นวิปัสสนา พูดให้มันแยกขาดออกไปอย่างนี้ปั๊บ มันจะมีบางครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าแยกขาดไม่ได้

ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ ถูกต้อง เราจะเปรียบเหมือนกายกับใจเกี่ยวเนื่องกัน สมถะกับวิปัสสนามันเกี่ยวเนื่องกัน เพียงแต่ว่าผลของมันไง ผลของมัน ผลของสมถะ ผลของวิปัสสนา ผลของมันคือปล่อยวางเฉยๆ กับผลของมันที่ถอนกิเลส ถึงแยกออกไปเป็นอย่างนั้น ตอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ต่อไป

ถาม : พิจารณากายแล้วมีอาการคือบางครั้งจิตปล่อยจากที่กำลังพิจารณาอยู่ มาหยุดอยู่เฉยๆ

หลวงพ่อ : มันปล่อยมาหยุดอยู่เฉยๆ มันเป็นเหมือน โทษนะ มันเป็นเหมือน เปรียบเหมือนเรากินอาหาร อาหารในถ้วย บางทีเรากินมื้อนี้อร่อยมากเลย กินมื้อต่อไปบางทีมันก็เฉยๆ มันอยู่ที่ผลตอบสนองหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือว่าสิ่งแวดล้อมสิ่งต่างๆ มันเป็นสภาวะแบบนั้น

ในการใช้ปัญญานะ บางครั้งจิตปล่อยจากการพิจารณาอยู่ มาอยู่เฉยๆ

มาอยู่เฉยๆ มันหลบ หลวงปู่เจี๊ยะจะบอกว่า โกสัชชะ การทำบางอย่าง เขาว่ามันจะขี้เกียจ จิตมันจะขี้เกียจนะ การมาปล่อยอยู่เฉยๆ บางทีมันกลับมา โดยสัญชาตญาณของเราทุกคนอยากสะดวกอยากสบาย ทีนี้พอมันทำงานเหนื่อยแล้วมันก็ถอยกลับ การปล่อยเฉยๆ อย่างนี้ก็มี อย่างนี้ต้องบังคับ บังคับ ถ้าบังคับให้มันทำงานต่อ แต่บางทีมันบังคับไม่ได้ บังคับไม่ได้ เหมือนเด็ก เด็กถ้ามันแบกของหนัก มันแบกไม่ไหว เราก็ต้องให้มันหยุด แล้วก็กลับมาพุทโธให้มันมีกำลังขึ้นมาแล้วค่อยไปทำงานใหม่

เราจะบอกว่า ถ้าจะตอบ มันตอบได้หลายแง่มุมไง แง่มุมที่ว่ามันหดเข้ามาโดยที่มันจะไม่ยอมทำงานก็ได้ แง่หนึ่งคือว่ากำลังมีเท่านี้ การปล่อยอย่างนี้เพราะว่าคนแต่ละคนกำลังไม่เท่ากันใช่ไหม บางทีกำลังไม่ไหวแล้วมันก็ปล่อยเข้ามา ถ้าปล่อยเข้ามา ต้องปล่อยเลย แล้วกลับมาที่พุทโธ กลับมาทำความสงบก่อน สร้างกำลัง แล้วออกไปสู้ใหม่

ของอย่างนี้นะ มันจะเกิดบ่อยครั้งมาก บ่อยครั้งมาก พวกที่ปฏิบัติมันจะมาหาเรา “พิจารณากายแล้วปล่อยแล้วทำอย่างไรต่อไป”

“ก็ซ้ำไง”

“อ้าว! ก็ซ้ำแล้ว ก็ทำไปแล้วนี่”

“อ้าว! แล้วเมื่อวานกินข้าวหรือเปล่าล่ะ วันนี้กินไหมล่ะ”

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราคิดว่าเราทำจบแล้วคือจบ ฉะนั้น ถ้าเราทำการบ้านหรือทำงานอย่างตรวจสอบบัญชี จบก็คือจบ แต่การพิจารณาไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นความรู้สึก ไม่มีวันจบ จะจบต่อเมื่ออกุปปธรรม จะจบต่อเมื่อเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี ถ้ายังไม่ถึงตรงนั้น จบไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นพอจบไม่ได้ปั๊บ ดูสิ เวลาเราปฏิบัติกัน ครูบาอาจารย์ท่านถึงต้องอยู่คนเดียว พยายามอยู่ เพราะการทำต่อเนื่อง ขณะที่มันกำลังได้เสียต้องรีบต่อเนื่องไป ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมันเสื่อม พอมันเสื่อมขึ้นมาแล้วจะเริ่มต้นใหม่นะ ก็ต้องนับหนึ่งใหม่อีกแล้ว ถ้าอย่างนั้นมันอยู่เฉยๆ ต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ

ถาม : บางครั้งจิตก็รวมลง ความรู้สึกกายหายไป แต่ยังมีลมหายใจอยู่

หลวงพ่อ : ใช่ ความรู้สึกนั้นมันหดตัวเข้ามา มันหดตัวเข้ามา กำหนดพุทโธๆ จิต จิตกับกายอยู่ด้วยกัน ถ้าเรากำหนดสมาธิดีๆ อัปปนาสมาธิ มันจะหดเข้ามา เหลือสักแต่ว่า มันปล่อยหมดเลย มันปล่อยร่างกายหมด มันปล่อยหมดเป็นเอกเทศไง กายกับใจมันอยู่ด้วยกัน พอมันหดตัวเข้ามาปั๊บ กายก็นั่งอยู่นี่ จิตอยู่ในกาย ของอยู่ด้วยกัน แต่แยกออกจากกันโดยสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา แต่ถ้าใช้ปัญญาบางทีมันปล่อย พอบางทีมันปล่อยออกมานะ ถ้า “บางครั้งรวมลง ความรู้สึกในกายหายไป และลมหายใจยังอยู่”

มันปล่อยอย่างนี้ แล้วก็ต้องทำซ้ำต่อไป

ถาม : บางครั้งจิตสว่างจ้าขึ้นมา แล้วมีความรู้สึกว่ากายนี้สักแต่ว่ากาย เราไปหมายเอง เป็นโน่นเป็นนี่ก็เพราะสลายกายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ จากสมาธิแล้ว มองดูอย่างอาลัยก็ดูว่ามันหมายไปเอง เวลากลับมาพิจารณากาย เพ่งดูกระดูก กระดูกจะอยู่จางๆ ใสๆ เป็นอยู่ประมาณ ๒-๓ วันก็หายไป อันนี้เป็นผลของสมถะหรือของวิปัสสนา

หลวงพ่อ : มันเป็นผลของวิปัสสนา พอวิปัสสนา เพ่งอยู่ใสๆ ถ้าเป็นสมถะมันจะปล่อยมา ทีนี้ตอนนี้เราจะตอบอย่างนี้ก่อน ตอบว่า ไม่ต้องไปสนใจว่าเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา ถ้าเราไปสนใจตรงนั้นปั๊บ มันเหมือนกับเราจะเกร็งเกินไป ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะบอกว่า ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็ต้องมีสมถะ ถ้าไม่มีสมถะ คือว่าไม่มีสมาธิ เราจะไม่เห็น พิจารณา เราจะไม่เห็น หรือถ้าเห็นแล้วมันจะก้าวเดินได้ลำบาก แต่ถ้ามีสมถะปั๊บ มันจะเห็นได้ชัดเจน พอเห็นชัดเจนแล้วเราพิจารณาไป พิจารณาไปเรื่อยๆ พอพิจารณาไป พอมันปล่อย พอมันปล่อย เราก็พักอยู่กับความสุขนั้น แล้วเดี๋ยวเราก็พิจารณาซ้ำๆๆ

พอซ้ำไปนะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่าท่านพิจารณากายทีแรกมันก็ยาก พอพิจารณา มันจะคล่องแคล่วมาก จนตั้งปั๊บ ดับ ตั้งปั๊บ ท่านบอกเป็นแค่ฟ้าแลบเลย เพราะตั้งปั๊บ พอปัญญาไล่ปั๊บ มันจะปล่อยพับๆๆ เลย เพราะอะไร เพราะความชำนาญ

มันจะหายไปอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องตั้งสติไว้ว่านี่คือผลงานที่ผ่านไปแล้ว แล้วเราจะทำต่อไปเรื่อยๆ ต่อไปเรื่อยๆ ทำต่อไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดนะ เวลาภาวนาไปนะ พอสิ่งที่เราเกิดขึ้นใหม่ รสชาติมันจะลึกซึ้งกว่าสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ถ้าเราไม่พิจารณามาถึงตรงนี้นะ เราจะคิดว่าสิ่งที่ผ่านมาแล้วนี่ยอดเยี่ยมเลย ธรรมะอันนี้สุดยอดเลย แต่พอใช้ปัญญาพับ! มันจะผ่านลึกเข้ามา อันนั้นจะหยาบกว่า จริงไหม

เหมือนกัน แล้วนี่ขนาดละเอียดแล้วนะ เดี๋ยวไป มันจะละเอียดกว่านี้ไปเรื่อยๆ มันจะละเอียดเข้าไปถึงฐีติจิต กิเลสมันอยู่ที่จิต จากหยาบๆ ขึ้นมา มันจะละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ซ้ำไปเรื่อยๆ นี่ไง ต้องซ้ำๆๆๆ

ทีนี้ส่วนใหญ่ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ทำแล้วไม่ได้ซ้ำไง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราอ่านด้วยตัวตนของเรา ธรรมะนี้เป็นของสูงส่งมาก พอไปอ่านหรือเราไปใช้พิจารณาตามหนังสือแล้ว พอเรามาทำปั๊บ โอ้โฮ! มันคิดว่าเหมือนกันไง แต่ไม่ได้คิดว่าความจริงมันจะมีลึกซึ้งกว่านี้อีกไง ทีนี้ถ้าครูบาอาจารย์ที่ผ่านอย่างนี้มาแล้วมันจะลึกซึ้งกว่า มันจะทำไป คือไม่ให้เสียเวลาตรงนี้ไง คือเราทำมาได้แล้ว อย่าชะล่าใจ กิเลสหลอก หลอกอย่างนี้ก็มี

ไม่ต้องไปห่วง คำว่า “สมถะ วิปัสสนา” พูดประสาเรานะ มันก็เป็นศัพท์ที่เราไว้คุยกันเท่านั้นเอง มันเป็นศัพท์ที่เราเอาไว้คุยกันว่าอันนี้เป็นสมถะ อันนี้เป็นวิปัสสนา แต่เวลาไปทำแล้วไม่ต้องแบ่งว่าอันไหนเป็นวิปัสสนา เหมือนกาแฟ อันไหนเป็นนม อันไหนเป็นกาแฟ ก็อยู่ในแก้วเดียวกันแล้ว ก็กาแฟมันชงมาแล้ว แล้วมาตั้งแก้วนี้แก้วไหน ตรงไหนเป็นนม ตรงไหนเป็นกาแฟ อ้าว! ก็มันอยู่ในถ้วยเดียวกันที่เราคนมาแล้ว

สมถะ วิปัสสนา ถ้าคนเป็นแล้ว คนเป็นนะ มันจะรู้จังหวะ จังหวะไหนควรจะทำอย่างไรๆ จังหวะนี้มันคล่องแคล่วแล้ว มันไปได้แล้ว จังหวะมันจะใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ แล้วพอไป มันสะดุด สะดุด หมายถึงว่า จะวิปัสสนาไปมันจะหยุด มันไม่มีกำลัง คือว่าเรารำพึงให้มันเป็นไป มันไม่เป็นไง มันคา นั่นล่ะกำลังไม่พอแล้ว ปล่อยเลย กลับมาพุทโธเลย ถ้าทำบ่อยๆ บ่อยๆ แล้วมันจะรู้จังหวะ เหมือนคนทำงานเป็นมันทำได้คล่องตัวมาก พอทำอย่างนี้ปั๊บ กลับมาทางนี้ กลับไปทางนั้น กลับไปทางนั้น ถึงที่สุดแล้วนะ มันสุกพร้อมกัน มรรคสามัคคีรวมตัวแล้วเดี๋ยวจะรู้ เห็นชัดเจนเลย มรรคสามัคคี ปัญญา ความเพียร สติสัมปชัญญะทุกอย่างจะรวมตัว พับ! จิตเปลี่ยนเลย ตรงนี้สำคัญ จิตจะเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระโสดาบัน ติดใจอันนี้เลยล่ะ เขาบอกอย่าไปทำเลย มันไม่มี โอ้โฮ! ตอนจิตเปลี่ยน ตอนนั้นเป็นขณะจิต

ถาม : ขอความเมตตาท่านอาจารย์อธิบายการพิจารณาจิตว่าแยกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างไร

หลวงพ่อ : การแยกนี่นะ ไอ้พิจารณากายเป็นเรื่องการพิจารณากาย การพิจารณากายอย่างนี้เป็นเจโตวิมุตติ ต้องอาศัยสมาธิเป็นหลัก การพิจารณาจิตนี่นะ โดยสามัญสำนึก การพิจารณาจิตมันเป็นอย่างนี้ การพิจารณาจิต หมายถึงว่า พวกเราปัญญาชน ถ้าไปกำหนดพุทโธๆ มันไม่ค่อยลง มันจะมีปัญหา ทีนี้การพิจารณาจิต พิจารณาความคิด ธรรมดาเราจะพูดอย่างนี้ก่อนนะ ปูพื้นก่อน การพิจารณาจิต เราจะพิจารณากันตรงไหน จิตเป็นนามธรรม เราจะไปเห็นจิตที่ไหน

จิตนี้เหมือนน้ำใสๆ ในแก้ว น้ำเต็มแก้ว น้ำใสๆ เราจะไม่เห็นหรอก ถ้าเติมสีลงไป เราจะว่าในแก้วนี้น้ำสีอะไร เราจะเห็นว่าเป็นน้ำ การพิจารณาจิต จิตถ้าไม่มีความคิด จิตมันอยู่ไหน

จิตคือพลังงานเฉยๆ นะ ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด แต่เวลาคิดขึ้นมาเราถึงเห็นจิตไง ถ้าคิดว่า อ๋อ! เป็นอย่างนี้ๆๆ เพราะความคิดให้ความทุกข์ ความคิดให้ความทุกข์เรา ฉะนั้น ก่อนจะพิจารณาจิตมันต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิก่อนไง เราจะปูพื้นตรงนี้ก่อน ปูพื้นว่าถ้าเราจะพิจารณาจิตๆ เราจะไปพิจารณาจิตที่ไหน แล้วใครเป็นคนพิจารณา จิตอยู่ที่ไหน

นี่ไง ที่เขามาถามเราว่าอยากไปนิพพาน

เราถามว่า แล้วใครจะไปล่ะ ใครจะไปนิพพาน ใครเป็นคนไปนิพพาน เราไปนิพพานได้ไหม เราจะไปไหนได้ เราเป็นมนุษย์

จิตเว้ย! ไปนิพพาน ทีนี้จิตจะไปนิพพาน ถึงต้องทำความสงบของตัวเองเข้ามาให้เป็นตัวจิตก่อน ให้เป็นสัมมาสมาธิก่อน

ทีนี้การที่เราจะพิจารณาจิต เราพิจารณาความคิด ความคิดนี้ไม่ใช่จิต เราจะเปรียบเทียบประจำว่าส้มกับเปลือกส้ม ความคิดนี้เป็นเปลือกส้ม ตัวจิตเป็นตัวส้ม เนื้อส้มกับเปลือกส้ม เอ็งจับส้ม จับไปเท่าไรก็จับแต่เปลือกส้ม จะเอาส้ม หยิบไปทั้งเปลือกส้มแน่นอน แล้วเปลือกส้มเขาไม่เอาไปกินหรอก เขาจะกินแต่เนื้อส้ม

จิตก็เหมือนกัน ในเมื่อความคิดมันล้อมจิตอยู่ ทีนี้ล้อมจิตอยู่ เราพิจารณา เราก็ตั้งสติตามความคิดไป จนความคิดมันหยุด ความคิดมันหยุด พอความคิดมันหยุด มันก็ปอกเปลือก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์ ๕ พอขันธ์ ๕ มันสงบตัวลงๆๆ นี่สัมมาสมาธิ

การพิจารณาจิต แยกว่ารูป เวทนา

พออย่างนี้ปั๊บ พอจิตมันสงบปั๊บ เรามีสติ สติทัน สติทัน มันหยุดไง มันพิจารณาไปมันจะหยุดของมันๆ ทีนี้พอมีสติพร้อม มีสติพร้อมนะ มันจะคิด มันจะออกรู้ นี่เขาเรียกว่าเสวยอารมณ์

ส้มกับเปลือกส้มมันอยู่ด้วยกันนะ เนื้อส้มกับเปลือกส้มอยู่ด้วยกัน แต่มันไม่มีชีวิต มันไม่รู้จักกัน แต่พอจิตมันสงบ มันเป็นเนื้อส้ม มันจะเห็นเลยว่าเนื้อส้มกับเปลือกส้มที่สัมผัสกัน เนื้อส้มกับเปลือกส้มที่สัมผัสกัน ถ้าเนื้อส้มกับเปลือกส้มสัมผัสกัน จิตมันเห็นความคิด จิตมันเห็นความคิด จิตเห็นความคิด นั่นล่ะ พอจับได้ปั๊บ มันจะเป็นวิปัสสนา เพราะในความคิดนั้นประกอบไปด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในความคิด ในความคิดเราประกอบไปด้วยอารมณ์ความคิด ถ้าใครจับได้นะ ความรู้สึก ความคิด ทำไมเวลาเราโมโห เวลาเราเครียด ทำไมให้ผลรุนแรงล่ะ เรามีความสุข โอ้โฮ! นุ่มนวลมาก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิดหนึ่งๆ มันเป็นอารมณ์หนึ่ง อารมณ์หนึ่งประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ ถ้าจิตมันจับได้ พอมันจับได้แล้วมันค่อยแยก มันจะแยกด้วยอะไร

บางทีนะ เราแยก จับรูปคือจับกำปั้นทุบดินเลย จับความคิด ในความคิดนั้นมันประกอบไปด้วยอะไร เวทนา ความสุขความทุกข์เป็นเวทนา แล้วความคิดจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรถ้าไม่มีข้อมูล สัญญาข้อมูลเปรียบเทียบ สังขารปรุง จับแยก จับแยก

จะบอกว่า อยู่ดีๆ จะไปพิจารณาจิตมันพิจารณาไม่ได้ มันไม่มีใครเป็นผู้พิจารณาไง มันไม่มีใครเป็นผู้เริ่มต้น ไม่มีผู้ใดเป็นผู้รับผล มันถึงต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมาก่อน ให้จิตมีพื้นฐานก่อน พอจิตมีพื้นฐานแล้วจิตค่อยออกไปพิจารณา ไอ้ตัวจิตเป็นตัวเก็บข้อมูล เพราะว่าอะไร เพราะจิตมันโง่ มันถึงได้ไปหลงความคิดตัวเอง ไปหลงสิ่งทุกๆ อย่าง แต่พอมันมีพื้นฐานขึ้นมาเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ไอ้จิตมันไปรื้อค้นความคิดของตัว ที่ว่า ความคิดที่เหยียบย่ำตัวเอง ไปแยกแยะออกมาให้เป็นธรรมะ นี่ไง ธรรมเหนือโลก โลกุตตรธรรม

ที่ว่า โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา อยู่ตรงนี้ ปัญญาที่เราคิดกัน ปัญญาอบรมสมาธิ โลกียปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่คิดขึ้นมาโดยสามัญสำนึกมันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาจากเรา แต่ก็ต้องใช้มันไป ใช้มันไปจนมันสงบขึ้นมา แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมาจะเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่ไม่ใช่เกิดจากเรา ไม่ใช่เกิดจากใคร เกิดจากสัจธรรม

แล้วพอมันแยกบ่อยครั้งเข้า พอแยกหมดแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นเป็นกองเลย พอเห็นเป็นกอง กิเลสยังไม่ขาด ทำอย่างไร ไม่ขาด บางคนปล่อย บางคนไม่ขาดๆ ในรูปก็ยังประกอบด้วยขันธ์ ๕ ในเวทนาก็ประกอบด้วยขันธ์ ๕ ในสัญญาก็มีรูป ในสัญญา ในสังขารก็ยังประกอบด้วยขันธ์ ๕ ในสังขาร คือมีรูป เวทนา สัญญา มีครบ แยกเข้าไปอีกๆ

จะบอกว่า กิเลสหนากิเลสบางก็ตรงนี้ไง ถ้าคนกิเลสไม่หนักหนานะ บางทีมันปล่อย มันขาด เป็นพระโสดาบันเลย แต่ถ้าคนกิเลสมันหนา มันสร้างกรรมไว้เยอะ มันแยกได้ขนาดไหนมันก็ไม่ขาด เหมือนคนเรา รากแก้วของเรามันอยู่ลึก รากของเรามันยึดพื้นดินไว้มาก โค่นอย่างไร ต้นไม้ก็ล้มได้ยาก ถ้ามันยากอย่างนี้มันก็ต้องสู้ นี่ไง มันถึงไม่มีสูตรสำเร็จ การกระทำไม่มีของใครที่จะเหมือนใครนะ

เพราะเราพูดบ่อยนะ แม้แต่คู่แฝดเกิดมาในไข่ของแม่ใบเดียวกัน นิสัยยังไม่เหมือนกันเลย แล้วคนทั่วๆ ไป มันจะมาทำให้เหมือนกันมันเป็นไปไม่ได้ ถึงบอกจะมาสอนกรรมฐานให้ทำให้เหมือนๆ กัน ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

การพิจารณาแยกรูปนะ ไอ้อย่างนี้ อย่างที่เขาสอนกันมันสูตรสำเร็จ นามรูป แยกก็จบ แยกก็จบ อย่างนั้นเราว่ามันเป็นพวกใช้แสงเลเซอร์นะ ยิงแก้โรค ผ่าตัดได้หมด แต่เอาจริงๆ แล้วไม่ใช่ แสงเลเซอร์มันผ่าตัดร่างกายของคนนะ สสารธาตุเป็นอย่างนั้น แต่ความคิดความรู้สึกไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้น มันยังต้องลึกซึ้งกว่านั้น

ถาม : การกระทำการต่างๆ ทางกายเกิดจากจิตที่ไปเสวยอารมณ์ของขันธ์ ๕ มาก่อนใช่ไหม

หลวงพ่อ : การกระทำของทางกาย ประสาเรามันเป็นภพนะ การกระทำทางกาย กายมันเป็นไปเพราะมันมีจิต พอตายปั๊บ มันมีแต่กาย กายท่อนฟืน มันเป็นสามัญสำนึก เราถึงพูดได้ว่าเทวดามีขันธ์ ๔ เรามีขันธ์ ๕ พรหมมีขันธ์ ๑ มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ไง สัญชาตญาณของสัตว์ สัญชาตญาณ เวลาร่างกายนี่เป็นวิทยาศาสตร์เลย ดูอย่างสมอง สมองทำงานได้อย่างไร ทางโลก คนคิดเรื่องสมองๆ ไอน์สไตน์สมองก้อนโตมาก ไอน์สไตน์ ทุกคนต้องวิจัยสมอง

เราไม่เชื่อ สมองก้อนโตโง่ก็เยอะแยะไป คนสมองก้อนเล็กๆ มันฉลาดก็เยอะนะมึง เพราะอะไร เพราะเราพูดถึงว่าปัญญาเกิดจากจิตๆ ปัญญาเกิดจากวาสนาของคน ปัญญาเกิดจากวาสนาบารมี เกิดเชาวน์ปัญญา พระอรหันต์ ดูสิ พระอรหันต์มีกี่ประเภท ไอ้นี่เราไปคิดทางวิทยาศาสตร์ไง ถ้าคนสมองก้อนโต อ้าว! เกิดสมองเราก้อนเท่าคน ๒ สมอง แต่สมองเราฝ่อ เราจะฉลาดได้อย่างไร

เราถึงบอกว่าสมองมันเป็นเรื่องของศูนย์ประสาทที่บังคับควบคุมร่างกายนี้ แต่สมองจริงๆ คิดไม่ได้ สมองต้องใช้จิต ใช้พลังงานขึ้นมา ถ้าสมองเรา จิตไม่รับรู้ สมองไม่มีความหมาย มันก็เหมือนเกี่ยวเนื่องกายกับจิต ถ้าไม่มีจิตเสียอย่างเดียว เพราะสมองก็คือสสาร สมองก็คือเนื้อ เพียงแต่มันอาศัยทำหน้าที่มัน ดูแขนสิ ดูเท้า เท้าเอาไว้เดิน มือเอาไว้เอาอาหารใส่ปาก สมองก็ทำหน้าที่อันหนึ่งของมัน ฉะนั้น กายกับจิต มันเป็นบุญของเราที่เกิดเป็นมนุษย์ไง มนุษย์ สภาพของมนุษย์เป็นอย่างนี้ สภาพของสัตว์เขาก็ไม่เหมือนเรา สัตว์ก็มีเหมือนเรานะ สมองเล็กกว่า ทุกอย่างเล็กกว่า สัตว์ก็มีเหมือนเรา แต่ไม่มีอำนาจวาสนาเหมือนเรา อันนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของกามภพ รูปภพ มันเป็นผล ที่ว่านรกสวรรค์ไม่มี

จิตเราเปรียบเหมือนรถเมล์ รถเมล์จอดป้ายไหน เราก็ลงป้ายนั้น จิตเหมือนรถเมล์ มาจอดที่ภพมนุษย์ ไปจอดที่เทวดา ไปจอดที่พรหม แล้วมันก็วนกลับมา เพราะรถเมล์มันต้องวิ่งรอบ มันก็วนกลับมา เกิดมาเป็นอะไร ถ้ามันวนไปนรกมันก็ไปเกิดที่นรก มันก็วนมาสัตว์เดียรัจฉาน

แต่ถ้ารถเมล์กูไม่ไป กูจะวิ่งป้ายนี้อย่างเดียว คือเกิดเป็นมนุษย์ๆๆ ก็ได้ รถเมล์วิ่งป้ายนี้ เฉพาะป้ายนี้ ไม่ไปทุกป้ายก็ได้ เพราะวัฏวนเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นสภาวะแบบนี้ มันวนไปของมันตลอด วนไปตลอด บุญกุศลมันพาวนไป มันอยู่ที่แรงขับของกรรม ทีนี้พอไปเกิดที่ไหนๆ มันก็เป็น ดูอย่างที่ว่าพระสารีบุตร พระสารีบุตรที่ว่าเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ทำไมนิสัย ทำไมแสดงตัวอย่างนั้น เพราะเคยเกิดเป็นลิง นี่ไง มันวนไง เคยเกิดเป็นลิง เคยเกิดเป็นลิงแล้วปัจจุบันนี้ไม่ใช่ลิง ปัจจุบันนี้เป็นพระสารีบุตร แต่มันก็ตกผลึกมาด้วยนิสัยอันนั้น มันก็ยังแสดงกิริยาอยู่

ทีนี้ถ้าเราสร้างคุณงามความดี มันก็ตกผลึกมา มันเป็นสิ่งที่ดี ปฏิบัติมันก็ง่าย ถ้าตกผลึกมาเป็นสิ่งที่ปานกลางก็ต้องถูต้องไถกันหน่อย อันนี้มันอยู่ที่การลงทุน ทีนี้เราถูไถ เราจะกล้าไหม เราจะนั่งภาวนาไหม เราจะเดินจงกรมไหม เราจะสู้ไหม

ถาม : การทำงานของกาย ความฝันเป็นอาการของขันธ์ ๕ ทำงานใช่หรือไม่

หลวงพ่อ : ถูกต้อง หลวงตาใช้คำว่า “ฝันดิบฝันสุก” ฝันสุกก็ฝัน ฝันดิบ นั่งคิดคือฝันดิบ นอนคือฝันสุก คือการทำงานของขันธ์ ๕ แต่ไม่มีสติ หลวงตาท่านพูดบ่อยเลย ฝันดิบฝันสุก ขันธ์ ๕ นี่แหละ ทีนี้ขันธ์ ๕ เวลาฝัน ทำไมคนเราเวลาฝันแล้วมันจะไปเห็นสภาพแบบนั้น แบบที่เราเคยเห็นเคยเป็น ไอ้นี่มันก็อยู่ที่จิต ดูสิ ดูความฝันของปุถุชนกับความฝันของพระอรหันต์ก็ต่างกัน

เมื่อก่อนในตำราว่าพระอรหันต์ฝันไม่ได้ พระอรหันต์ฝันไม่ได้นะ แต่เวลาหลวงปู่มั่น ที่หลวงตาเข้าไป นี่ฝัน ฝันมันฝันไม่ได้อย่างไร มันก็เหมือนเรามีมือใช่ไหม เรามีมือมีเท้าเหมือนกัน เราทำงานได้ พระอรหันต์ก็มีมือมีเท้าเหมือนกัน ทำไมทำงานไม่ได้ มือเท้าคือขันธ์ ๕ ไง สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เว้นไว้แต่พระอรหันต์ที่ตายไปแล้ว

พระอรหันต์มี ๒ ชนิด เฉพาะที่มีชีวิตนะ สอุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ กับนิพพานไปคือพระอรหันต์ที่ตายแล้ว อันนี้พระอรหันต์ก็ยังแยกออกไปอีก ที่ว่ามีบารมีก็แยกออกไปอีกเป็นอีกประเภท

อันนี้ดีอยู่ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เรารู้ ไปภาวนา พอภาวนาปั๊บมันจะเกิด ภาวนามันจะเกิดปัญญามาก เกิดความรู้ความเห็นเยอะไปหมดเลย แล้วถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์นะ แต่ละข้อก็ต้องมานั่งตรึก มานั่งแก้ กว่ามันจะผ่านมาทีละเปลาะๆ ถ้ามีครูมีอาจารย์นะ ทีเดียวๆ เพราะอาการอย่างนี้ อาการที่แบบเรารื้อค้น เหมือนกับเราจะค้นหาตัวเอง เราจะแสวงหาตัวเราเอง พอเราจะแสวงหาตัวเอง ต้องสู้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะการชำระกิเลสก็ชำระที่เรานี่แหละ ฉะนั้น เรื่องที่เราไปศึกษาขนาดไหนมันก็เป็นส่วนหนึ่ง เราต้องชำระของเราให้ได้ ย้อนกลับมาที่เรา ถ้ามีการปฏิบัติอยู่ มีการค้นคว้าอยู่ มีการกระทำอยู่ มันจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าพูดถึง ย้อนกลับมาที่การปฏิบัติธรรมของเขา เขาไม่มีอย่างนี้ ถ้ามีอย่างนี้ เขาถือว่าจิตตกไปในสมาธิ ในสมถะ มันจะเกิดอาการอย่างนั้น ของเขา เขาถึงพยายามพิจารณาด้วยปัญญา ไม่ให้จิตมันเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยนแปลง เขาถือว่ามันตกลงไปในสิ่งที่มันจะผิดพลาดไง

แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วนะ คนทำงานมันต้องเข้าไปเผชิญกับสิ่งที่เราไม่เคยทำใช่ไหม ถ้าเราจะทำงานให้มันลึกซึ้งไปกว่านั้น เราจะพัฒนาเรา เราต้องทำงานให้ได้มากกว่าสิ่งที่สามัญสำนึกที่มันเป็นอยู่ แต่เขาจะอยู่ที่สามัญสำนึกนี้ ตกจากนี้ไปเขาถือว่าตกสมถะ แล้วจะเกิดนิมิต จะเกิดความรู้เห็นต่างๆ

ก็ความรู้เห็นนั้นมันก็มาจากรากเหง้าของใจนั่นแหละ ถ้าคนมันจะต้องรู้ต้องเห็นนะ มันจะกำหนดด้วยวิธีการอะไร มันก็ต้องรู้ต้องเห็นตามนั้นล่ะ แต่ถ้าคนมันจะไม่รู้ไม่เห็นนะ จะทำอย่างไรให้มันรู้เห็นมันก็เป็นไปไม่ได้

รู้หรือเห็นมันอยู่ที่พื้นฐานนะ พื้นฐานของใจ มันเหมือนกับดินทำนา ดินเปรี้ยวทำนาไม่ได้ ทำอย่างอื่นได้ อย่างบางพื้นที่เขาปลูกป่า บางพื้นที่เขาเอาไว้ทำนา เขาก็วิเคราะห์ดินว่าดินควรทำอะไร ใจคนก็เหมือนกัน เวลาทำไปแล้วจะทำอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร จะทำอย่างไรให้มันหลุดพ้นไปเป็นงานชิ้นหนึ่งๆ เลย

แต่เวลาเขาสอน ไม่ใช่ เป็นสูตรสำเร็จหมด จะต้องทำอย่างนี้ๆๆ เท่านั้น แล้วผลมันเกิด มันเกิดเป็นอะไร ก็เกิดมาเป็นปุถุชนนี่ไง เกิดก็เกิดแค่นี้ คือมันจะลงลึกไปกว่านี้ไม่ได้ไง มันก็รู้แค่ว่างๆ ว่างๆ สบายๆ เท่านั้นน่ะ แล้วก็นิพพานคือสงบเย็น...ไม่รู้ว่านิพพานของใคร

คือว่าประสาเรานะ อนุบาลมาก ถ้าเป็นปริยัติของเขาก็เรื่องของเขา การปฏิบัติของเขา นั่นเรื่องของเขา แต่ถ้าเอาถึงผล ไม่มีเลย ไม่มีผลเลย มันก็มีอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ มีอย่างที่ว่า เวลาพระปฏิบัติเรามันจะมีแง่มุมต่างๆ ที่มันมีการผิดพลาด แต่อย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมดานะ มันถึงต้องมีครูมีอาจารย์ มีครูมีอาจารย์คอยแก้ไข แก้ไขให้มันถูกต้อง

ไม่มีใครทำแล้วถูกหมด พระพุทธเจ้าตั้ง ๖ ปี ทีนี้เราจะปฏิเสธการผิดพลาดเลย เราจะไม่ให้มีความผิดพลาดเลย จะทำให้มันดีหมด

ผิดพลาดก็แก้ไข แล้วต้องมีครูมีปัญญาที่แก้ไขได้ด้วยมันจึงจะเป็นประโยชน์

ทีนี้ อ้าว! มีปัญหาใหม่ ใครมีปัญหาว่ามาเลย

ไม่มีปัญหาก็จะจบเนาะ จบก่อน เอวัง

โอ๋กันหน่