เทศน์บนศาลา

กิเลสกับธรรม

๕ ม.ค. ๒๕๔๓

 

กิเลสกับธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เป็นวันฟังธรรม วันพระวันธรรมสวนะ วันฟังธรรม ธรรมไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมมีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ธรรมมีอยู่ดั้งเดิมนะ ในธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วบอกไว้ ธรรมมีอยู่ดั้งเดิม แต่คนเข้าไปรู้ธรรม มันหมดกาลหมดสมัย หมดเป็นยุคๆ ไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนี่อะไรพาเกิด? คนเกิดมาต้องกิเลสพาเกิด มีกรรม กิเลส อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาจิตปฏิสนธินั้นเกิดขึ้นมา เจ้าชายสิทธัตถะเกิดขึ้นมาก็มีกิเลส พอมีกิเลสอยู่ เกิดมาเป็นลูกของกษัตริย์ กามคุณ ๕ ในความสุขของทางโลกนี่เต็มที่เลย มันน่าจะหลงใหลไปกับกิเลสอันนั้น

กิเลส คือสัญชาตญาณเดิมของจิตที่มันเกิดนั้นล่ะกิเลส กิเลสคู่กับธรรม

ธรรมคือธรรม ธรรมคือความหลุดพ้นมาจากกิเลส แต่กิเลสมันร้อยรัดใจของเราไว้ ความติดข้องหมองใจของใจนั้นมันติดพันอยู่ ความคิดเห็นแก่ตัวทั้งหมดคือกิเลสทั้งหมด เจ้าชายสิทธัตถะควรจะอยู่เห็นแก่ตัวไง ควรจะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุขเพลิดเพลินในกามคุณนั้น ทำไมไม่เห็นแก่ความสุขอันนั้น ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะถึงได้ออกแสวงหาโมกขธรรม เพื่อหาธรรมอันนั้นมา เพื่อจะให้ในหัวใจนั้นพ้นจากการเกิด การแก่ และการตาย

การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เพราะเจ้าชายสิทธัตถะนี้โดนพ่อพยายามจะรั้งไว้อยู่ในโลก เพื่อเป็นเป็นจักรพรรดิ ตอนเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พราหมณ์พยากรณ์ไว้ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดา แต่ถ้าไม่ได้ออกบวช ครองเรือนอยู่จะได้เป็นจักรพรรดิ เห็นไหม พ่อแม่ก็อยากจะเอาลูกไว้ให้เป็นจักรพรรดิทั้งนั้นล่ะ สนองด้วยกามคุณ ๕ ทั้งหมดที่ในโลกนี้มีอะไรปรนเปรอ ปรนเปรอทั้งหมด เห็นไหม นี่คือเรื่องของกิเลส เจ้าชายสิทธัตถะควรจะติดตรงนั้นถ้ากิเลสเป็นใหญ่ แต่ทำไมไม่ติด ทั้งๆ ที่ไม่มีธรรมนะ สมัยนั้นธรรมะยังไม่มี เพราะมีแต่ลัทธิต่างๆ เพราะด้วยความสลดสังเวช ถ้าจะบอกว่าตามความเป็นจริงก็ได้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะนั้นสร้างบุญบารมีมา จะมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นเพราะมีบุญญาธิการมา บุญบารมีอันเก่าถึงได้ทำให้เกิดความคิดจะแสวงหาออกจากกิเลส นั้นเป็นเพราะว่าเป็นสยัมภูจะตรัสรู้ด้วยตนเอง

ไปศึกษากับลัทธิต่างๆ ก็สอนไปต่างๆ นาๆ สอนไปต่างๆ นาๆ ยังไปตกนรกนะ จากกษัตริย์ กษัตริย์ออกบวชมา แล้วออกมาไม่มีศาสนา ความเป็นอยู่มันยังจากหน้ามือเป็นหลังมือ มีความทุกข์มาก ออกแสวงหาก็ไม่มีใครจะชี้นำให้ได้ นั้นน่ะออกไป ออกไป ถ้าออกมา ออกมาด้วยการถูกบังคับมันก็ไม่ใช่ เพราะว่าออกไปแล้วออกแสวงหาโมกขธรรมไป ไปถึงราชคฤห์ ไปเจอพระเจ้าพิมพิสาร เข้าใจว่าไง เข้าใจว่าการออกมานี้โดนขับไสมา บอกเลยว่าแบ่งกองทัพให้ครึ่งหนึ่ง ให้กลับไปตี ให้กลับไปยึดสมบัติคืน

“ไม่ใช่” เจ้าชายสิทธัตถะบอก “ไม่ใช่หรอก ที่ออกมานี้เพราะออกมาจริงๆ ออกมาเพื่อแสวงหาทางออกจากการเกิด การแก่ การเจ็บและการตาย ออกมาเพื่อจะหาทางพ้นออกมาจากไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย”

พระเจ้าพิมพิสารถึงได้สัญญาไว้ ขอคำมั่นสัญญาไว้ว่าถ้าตรัสรู้แล้วขอให้กลับมาสอนด้วย เห็นไหม ให้กลับมาสอนด้วย แล้วเวลาออกไปแล้วปัญจวัคคีย์ก็ตามออกไป ตามออกไป ทั้งๆ ที่ว่าไม่มีศาสนา ธรรมยังไม่มีเขายังแสวงหา ยังจองสินค้าตั้งแต่สินค้ายังไม่มีน่ะ ธรรมะยังไม่เกิด แต่เขาอยากได้มาก แต่ไม่มีใครสอนได้ บอกว่าให้เจ้าชายสิทธัตถะนี้ถ้าได้ธรรมแล้วให้กลับมาสอนด้วย นั่นน่ะ ออกไปแสวงหาขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีนะ

แต่ปัจจุบันนี้มันมีอยู่ ปัจจุบันนี้ธรรมะพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ววางไว้อยู่ มันจะย้อนกลับมาที่เราว่า ขนาดที่ไม่มีนั้นเขายังพยายามจะขวนขวย แต่ธรรมะปัจจุบันนี้มีอยู่ แล้วเรา...ใช่อยู่ เราไม่ใช่ปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ต้องแสวงหาเอง แต่ธรรมะมีอยู่ เห็นไหม มันถึงว่าย้อนกลับมาดูจริตนิสัย ดูอำนาจวาสนาของเราว่าเรามีอำนาจวาสนาขนาดไหน ของมีอยู่ มรรคอริยสัจจังมีอยู่ แต่เราไม่สามารถก้าวเดินตามธรรมอันนั้นได้ เราไม่สามารถเอาธรรมนี้เข้ามาในหัวใจของเราได้ พระเจ้าพิมพิสารไม่มี แต่ขอร้ององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ก่อน แต่ตอนนั้นยังไม่ตรัสรู้เป็นองค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ถ้าแสวงหาโมกขธรรมเจอแล้วให้กลับมาสอนด้วย

ออกไปประพฤติปฏิบัตินะ ออกไปประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดที่ในสมัยนั้นที่ว่าเขาพยายามทำแบบเต็มที่นะ ทางโยคีต่างๆ ที่เขาทำว่าวิกฤต ในโลกนี้ความเพียรที่อุกฤษฏ์ไม่มีใครทำเกินองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อดอาหารจนร่างกายผ่ายผอม ทุกรกิริยา ทำทุกอย่างที่โลกเขาทำกันอยู่ สมัยนั้นทำกันอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้เองในพระไตรปิฎก “ถ้าในการทำความเพียรไม่มีใครทำความเพียรเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

จนตรัสรู้ออกไปเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ยังว่าอีกนะ “ในบรรดาสัตว์สองเท้า ใน ๓ โลกธาตุถ้าประเสริฐ องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุด”

ในธรรมารส รสของธรรม ไม่มีรสของใดที่ถึงวิมุตติรส เป็นรสที่ประเสริฐสุด

นี่แสวงหาออกไปขนาดนั้นนะ ในสัตว์สองเท้า ใน ๓ โลกธาตุ ไม่มีใครประเสริฐเท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้คือศาสดาของเรา ศาสดาที่จะเป็นเครื่องมือของเรา เราจะกราบครูบาอาจารย์เรากราบที่ไหน เราต้องกราบว่าคนนั้นเหนือคน คนนั้นเหนือเรา...กิเลสไม่ยอมคน กิเลสไม่ยอมหรอก ยอมใครง่ายๆ เป็นไปไม่ได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยสยัมภู รู้ด้วยตนเอง ศาสดาของเราเป็นผู้ที่ว่าเอาชีวิตเข้าแลก อดอาหารทำทุกรกิริยาสลบถึง ๓ หน การสลบ ๓ หนคือการตาย ๓ ครั้งตายฟื้นนี่ ๓ หน แล้วเราจะมาชุบมือเปิบ มันเป็นไปได้อย่างไร นี่เราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องศึกษาประวัติด้วยว่าท่านทำอย่างไร แล้วเราต้องเอามาดัดนิสัยของเรา

นี่กิเลส กิเลสมีอยู่โดยธรรมชาติของการเกิดและการตาย นี้เรื่องของกิเลสทั้งหมด กิเลสเป็นเรื่องของฝ่ายผูกมัด ผูกมัดให้เราจนตรอกจนมุมอยู่ในความเห็นของตัว ความคิดของเรานี้เป็นกิเลสทั้งหมด เพราะเราเกิดมาจากกิเลส กิเลสในหัวใจของเรา กิเลสในหัวใจของเรามันมีอยู่แล้ว มันถึงเป็นความคิดของเรา เห็นไหม นี่คือกิเลส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีกิเลส เพราะเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ การเกิดนั้นอวิชชาพาเกิดทั้งหมด ทำไมท่านไม่ติดล่ะ ทำไมท่านยอมสละความสุขทั้งหมดในโลกที่ว่าเขามีกันอยู่ สละทิ้งไปหมดเลย ออกไปแสวงหาสิ่งที่ว่าโลกเขาไม่ยอมรับกัน โลกเขาว่าเป็นความทุกข์ เป็นคนที่ไร้คุณค่า เป็นคนที่ว่าจนตรอกจนมุม ออกแสวงหาในสิ่งที่เขาไม่เอากัน ทำไมออกไปแสวงหาสิ่งนั้น? เพราะสิ่งนั้นมันแก้ดัดตน การดัดตนคือการดัดกิเลส กิเลสอยู่ในเรา เราตามใจเราคือตามใจกิเลส กิเลสมันหัวเราะเยาะนะ มันไม่ต้องใช้ให้มันทำงานเลยนะ เราทำให้มันก่อน ประเคนให้กิเลส ความคิดของเรา การกระทำของเราประเคนให้กิเลสมันพองขน ในหัวใจของเรามีแต่ยึดพื้นที่ มันพองตัวใหญ่ในตัวของเรา แต่เราไม่สามารถยับยั้งมันได้เลย นั่นน่ะ กิเลสมันโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว นั่นคือว่ากิเลส

ถ้าว่ากิเลสๆ นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้ให้บอกไว้ก่อน แล้วเราก็ฟังธรรมมา เราฟังธรรม ฟังพระพุทธเจ้าว่ากิเลสคืออวิชชา คือความยึดมั่นถือมั่นในหัวใจของเรา คือความเห็นของเรา กิเลสมันคืออะไร ใครเห็นกิเลสที่ตรงไหน? กิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสกับใจ กิเลสกับจิตมันอยู่ด้วยกัน กิเลสกับจิต แต่เราไม่เคยเห็น เพราะเราไม่เคยทำ เราได้ศึกษามาตามตำรา ตามสุตมยปัญญา ความเคยชิน ความจำมา อันนั้นก็กิเลส อันนั้นก็กิเลส ไอ้นั่นมันกิเลสข้างนอก มันเป็นผลของกิเลส เป็นการกระทำออกไปแล้วน่ะ แต่เราจะยับยั้งก่อน เข้าไปต้องยับยั้งให้มันสงบตัวลง กิเลสกับใจ

กิเลสเหมือนน้ำ น้ำที่มันผสมอยู่ ผสมสีอยู่ เห็นไหม สีกับน้ำเป็นอันเดียวกัน มันผสมกันไปแล้ว จิตของคนปกติของคนทั่วๆ ไปเป็นอย่างนั้น จิตนี้มันสกปรกไปด้วยความคิดความเห็นของตัว ความคิดความเห็นของตัวที่อยู่ในจิตนั้น นี่ความคิดความเห็น นี่เปรียบถึงความคิดความเห็น แต่มันยังไม่ใช่ความคิดความเห็น มันเป็นจิตเฉยๆ เป็นจิตล้วนๆ จิตกับกิเลสนี้เป็นเนื้อเดียวกัน เราอยากเห็นกิเลส เห็นกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่จิต จิตมันอยู่ไหน จิตมันอยู่ที่ไหน จิตก็ไม่เห็นอีกล่ะ เห็นแต่ว่าเป็นเรา เป็นเรา เป็นเราขึ้นมาแล้ว เราคือเรา นาย ก. นาย ข. นาย ค. เห็นไหม เป็นเรา เป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา ไม่เห็นกิเลสอยู่ที่ไหนเลย มันคิดออกไปพร้อมกับเรา เพราะกิเลสมันพาคิด กิเลสมันพาคิด เราจะเห็นหน้ามันได้อย่างไร

กิเลสเป็นเจ้าวัฏจักร ความคิดนี้เป็นลูกเป็นหลานของกิเลส เป็นคนใช้ของกิเลส เป็นความเห็นของกิเลสมันบังคับขับไสออกมา แล้วจะทำอย่างไรให้เห็นตัวมัน เห็นไหม นี่กิเลสกับจิตมันอยู่กับเรามาตลอด เราถึงไม่เห็นมัน แล้วกิเลสกับขันธ์นน่ะ นี่ถึงว่ากิเลสกับความคิด กิเลสกับขันธ์ไง ขันธ์ ๕ สังขารขันธ์ มันคิดมันปรุงมันแต่ง สัญญาขันธ์ ความจำความหมาย สังขารขันธ์ ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่กิเลส ขันธ์ ๕ กับกิเลสคนละอัน ขันธ์ ๕ จิตกับกิเลสมันอยู่ด้วยกัน แต่ในเมื่อคนเราเกิดมามีกิเลสเกิด พาเกิด กิเลสพาเกิดมาแล้ว ขันธ์นี้ได้พร้อมมากับการเป็นมนุษย์ มนุษย์นี้มีขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี่เป็นมนุษย์ เพราะเรามีบุญวาสนาเราถึงเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์นะ เป็นสมบัติที่มีคุณค่ามากที่สุด แต่ในเมื่อมีกิเลสอยู่ กิเลสยังพาเป็นทุกข์อยู่ ธรรมะถึงได้ชำระกิเลสได้ไง

ธรรม ธรรม ธรรม ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหามันน่ะ เอาความตายเข้าเสี่ยง เอาความทุกข์ร้อน เอาความยากเข็ญเข้าเสี่ยงเพราะอะไร เพราะกิเลสมันไม่ยอมรับ มันชอบแต่ความสุขความสบาย กิเลสมันจะนอนจมนอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา แล้วมันจะยึดพื้นที่ มันจะพองขนในความเห็นของเรา แล้วเราพาเกิดพาตายไปชาติหนึ่งๆ เท่านั้น การเกิดการตายชาติหนึ่งๆ ไปเรื่อยๆ นะ จนพระพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎก “ไม่มีต้นและไม่มีตาย” มานั่งอยู่นี่มันนึกว่าไม่เคยเกิดเคยตาย เกิดมาชาตินี้ชาติเดียวน่ะ ถ้าเกิดมาชาตินี้ชาติเดียว คนมันก็ต้องมีความเห็นเหมือนๆ กันทั้งหมด แต่จริตนิสัยของคนไม่มีเหมือนกัน ความเห็นของคนต่างกันมาก

เพราะการสะสมมาของวัฏจักร การเกิดการตายการสะสมความคิดมาในหัวใจนั้นมันต่างๆ กัน การสะสมมาอันนั้นมันเป็นสันดาน มันเป็นจริตนิสัย นี้ความเห็นถึงต่างๆ กัน มันไม่ใช่ที่ว่าเราเกิดมาชาตินี้แล้วเราอยู่แค่ชาตินี้หรอก เราเกิดตายในวัฏจักรนี้มาหาศาลจนนับต้นนับปลายไม่ได้ เกิดมาก็มานั่งบนกองกระดูกของตัวเอง ของเก่าทั้งนั้นเลย แต่เราเกิดตายนี่เราไม่รู้ ไม่รู้นะ นั่นน่ะกิเลสมันพาเกิด กิเลสมันอยู่ตรงนั้น มันเกิดมาแล้วมันให้เราเป็นทุกข์อยู่อีก

เพราะเราว่าเราเป็นมนุษย์สมบัติ สมบัติควรที่ว่าได้เกิดมาพระพุทธศาสนา เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสั่งสอน เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสตายในขณะที่ว่าประหารกิเลสตายในคืนวันเพ็ญเดือนเพ็ญวันวิสาขบูชา จนตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นคือธรรมเต็มหัวใจ ธรรมเต็มหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ในรสของธรรมไม่มีวิมุตติรสสูงเท่า รสของวิมุตตินี้ประเสริฐที่สุด เป็นรสที่พ้นออกไปจากกิเลสทั้งหมด เต็มหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข จนพอออกมาเสวยวิมุตติสุขจนอิ่ม จนถึงว่า “ทำอย่างไรหนอ ทำอย่างไร” ถึงออกมาสอนสัตว์โลกไง

แล้วเรามีเครื่องมืออันนั้น ถึงชี้ว่าอันนี้คือกิเลสๆ ไง นี่เกิดเป็นมนุษย์มันประเสริฐตรงนี้ ประเสริฐตรงที่ว่ามีความคิดว่าสิ่งนั้นดีและสิ่งนั้นชั่ว ความคิดอันนี้คือขันธ์ ๕ เพราะเป็นมนุษย์แล้วถึงมีขันธ์ ๕ ถ้าเป็นเทวดามีขันธ์ ๔ ถ้าเป็นพรหมมีขันธ์ ๑ แล้วถ้าลงไปในอเวจีล่ะ นั่นก็เป็นโลกของวิญญาณ โลกของเปรตอสุรกาย เป็นอบายภูมิ เป็นผู้ที่หมดโอกาสในการทำบุญ เป็นที่หมดโอกาส เพราะภพของเขาบังคับให้เขาอยู่ที่นั่น เพราะการทำความชั่วไว้ คนเราเกิดมาต้องทำความดีและความชั่วทุกๆ คน ไม่มีคนไหนเคยทำความชั่วและความดีอย่างเดียว ไม่เคยมี ชีวิตของเรามันถึงลุ่มๆ ดอนๆ ชีวิตของเราลุ่มๆ ดอนๆ เพราะว่ากรรมส่งไป

นี่กรรม กรรมเป็นผล นี่วิบากของกรรม กรรมคือการกระทำที่ล่วงมาแล้ว สิ่งที่ทำล่วงมาแล้วอันนั้นวางไว้ เพราะเป็นอดีตอนาคต แก้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนให้ลงที่ปัจจุบันนี้ ถึงต้องทำจิตให้สงบก่อน ทำจิตของเราให้สงบจากความคิดเห็นเดิม กิเลสที่มันทำให้ใจฟุ้งซ่านอยู่นี่ ถ้าใจฟุ้งซ่านอยู่ ความคิดอยู่นั้นกิเลสพาใช้ เราเอากิเลสแก้กิเลสได้ไหม? เราเอากิเลสแก้กิเลสไม่ได้หรอก ต้องเอาธรรมแก้กิเลส

กิเลสกลัวธรรม กิเลสกลัวธรรมนะ กิเลสกลัวธรรม เพราะกลัวธรรมถึงได้บังคับให้ทำให้ธรรมนี้เป็นเหมือนความเห็นของกิเลส กิเลสมันจะบังคับธรรมให้ตามความเห็นของมัน มันบังคับว่าทำอย่างนั้นๆ แล้วจะเป็นผลดีๆ เห็นไหม ที่ว่าธรรมๆ ที่ประเสริฐนี้กิเลสมันก็เอามาเป็นเครื่องมือหลอกใช้เราอีกทีหนึ่ง หลอกใช้เรานะ เราว่าเราปฏิบัติธรรม เราจะพยายามให้เข้าถึงธรรม แต่เราเข้าถึงได้ไหม เพราะกิเลสมันหลอก

เพราะกิเลสมันหลอก ถึงต้องทำความสงบเข้าไป ทำความสงบให้จิตนี้สงบเข้าไปๆ พอจิตสงบเข้าไป กิเลสเริ่มอ่อนตัวลง ทำจิตนี้ให้สงบ ถ้าจิตนี้สงบคือกิเลสมันยอมให้จิตนี้เป็นอิสระชั่วคราว จิตที่เป็นอิสระชั่วคราวนี้ถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม นั้นคือกิเลส มันไม่ใช่กลัวธรรม แต่กิเลสมันยอมแพ้ธรรมเพราะเราเป็นคนจริง ผู้ที่ปฏิบัติธรรม เอาชีวิตนี้เข้าแลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุ่มทั้งชีวิตมาก่อน แล้วเรา เราเป็นใคร เรายกย่อง เรากราบไหว้ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราว่าเราเก่งกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหรอที่ทำง่ายๆ มันเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อศาสดาองค์เอกนี้เอาชีวิตเข้าแลกมา ธรรมที่ได้มานี้เอาชีวิตเข้าแลกมา แล้วเราจะมาแบบว่าเล่นขายของกัน แล้วจะเอาธรรมมาประดับหัวใจ มันจะเป็นไปได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้ ถึงว่านี้คือกิเลสหลอก

กิเลสมันหลอกใช้เรา หลอกใช้ทั้งชีวิตนี้ เกิดมาแล้วก็ตายไปพร้อมกับความทุกข์ พร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น พร้อมกับการไปเกิดในวิบากต่างๆ ที่ทำไว้ในโลกนี้ แล้วยังมาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อจะพ้นจากกิเลส ก็ให้มันหลอกซ้ำสองเข้าไปอีก เห็นไหม หลอกว่าสิ่งนี้ สิ่งนี้ นี่กิเลสด้นเดาธรรม กิเลสจะบังคับธรรมให้ธรรมนี้อยู่ในอำนาจของกิเลส นี่มันไม่ใช่ธรรม

ธรรม ธรรมเป็นอิสระของธรรมเอง ธรรมเป็นอิสระ ธรรมนี้มีอยู่ ธรรมนี้ลึกซึ้งมาก ธรรม ธรรมที่ว่าวิมุตติธรรม เป็นรสของธรรมที่ประเสริฐสุด แต่รสของสมาธิธรรมนั้นเป็นรสของผู้ที่ฝึกหัดปฏิบัติใหม่ สมาธิธรรมคือจิตที่มันปล่อยวาง ปล่อยวางความคิดของเรา เห็นไหม ขันธ์ไม่ใช่จิต ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ ธาตุ ๔ เป็นธาตุ ๔ สิ่งนี้ดั้งเดิมเขาแยกออกจากกัน เขาไม่ได้เป็นอันเดียวมา แต่ดั้งเดิมเป็นความจริง

แต่เพราะเราเกิดมาแล้วเรายึดมั่นถือมั่น เรารู้จากปัจจุบันนี้ เราถึงว่าสรรพสิ่งทั้งหมดเป็นเรา เห็นไหม กิเลสมันซึมไปทุกอย่างเลย กิเลสมันยึดมั่นถือมั่นในโลกธาตุนี้ว่าเป็นของมัน นี่มันร้ายกาจขนาดนั้นน่ะ แล้วมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ในหัวใจของเรา มันยึดมั่นถือมั่น มันถึงคิดทุกอย่าง เกาะเกี่ยวไปทุกอย่าง จิตอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ อาศัยเกาะเกี่ยวคนอื่นไป มันเองอยู่ด้วยตนเองไม่ได้ มันเกาะอารมณ์ความคิดออกไปตลอด เพราะความคิดไปที่ไหนมันก็เป็นไฟ เกาะความคิดออกไป เกาะสิ่งที่ร้อนแล้วมันจะเป็นเย็นได้อย่างไร ถึงว่าต้องกำหนดพุทโธๆ ธัมมานุสติ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เป็นการให้จิตนี้ได้พักคลายตัวออก ให้พักคลายตัวออก

จากที่ว่ามันเคยเป็นอิสรเสรี กิเลสนี้มันใหญ่มากในหัวใจของเรา ปู่ย่าตายายของกิเลสมันบังคับให้เราออก ให้ลูกหลานมันใช้งานในหัวใจเราตลอดเวลา กำหนดกรรมฐานเข้าไป สมถกรรมฐานทำใจนี้ให้สงบก่อน ให้สงบ ให้จิตนี้เป็นอิสระชั่วคราว การที่เป็นอิสระชั่วคราวนี้ไม่ใช่อำนาจของกิเลส ถึงไม่ใช่ให้กิเลสหลอกไง แต่เดิมให้กิเลสหลอกนี่เป็นโลกียะทั้งหมด คิดเท่าไร คิดเท่าไร มันก็เป็นเรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของการผูกมัด มันเป็นเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น มันไม่ใช่เรื่องของการปล่อยวางตรงไหนเลย รู้มากเท่าไรมันก็สะสมเข้าไปที่ใจเท่านั้นว่าฉันรู้ ฉันเก่ง ฉันรู้ ฉันรู้ฉันพลิกแพลงได้ เห็นไหม นี่คือการบังคับให้ธรรมให้เป็นความเห็นของกิเลส กิเลสบังคับธรรม ไม่ใช่ว่าประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลส

แต่ในเมื่อจิตสงบเข้าไป สงบเข้าไป สงบเข้าไป จนมันปล่อยวางเข้าไปเรื่อยๆ ปล่อยวางเข้าไปเรื่อยๆ ได้เริ่มแต่พยับแดดก่อน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จิตนี้เป็นพื้นฐาน นี่ได้รสของสมาธิธรรม รสของธรรมชนะซึ่งทั้งรสทั้งปวง รสต่างๆ ในโลกนี้ที่ว่าประเสริฐสุด เราเคยติดยึดมั่นถือมั่น เคยคิดร้อยแปดใน ๓ โลกธาตุนี้ยึดเป็นของเราหมด มันซึมไป มันยึดไป เพราะมันไม่รู้ มันไม่มีสิ่งเปรียบเทียบ มันไม่มีสิ่ง...เหมือนกับเราหิวอาหารน่ะ สิ่งใดก็แล้วแต่ผ่านหน้ามาต้องประทังชีวิตไว้ก่อน

จิตนี้หิวโหย จิตนี้ไม่เคยอิ่มพอ จิตนี้เหมือนยิ่งกว่าท้องทะเลใหญ่ น้ำเท่าไรก็ไม่เคยเต็ม ความคิดคิดเข้าไปจนตาย คิดซ้ำคิดซาก คิดแล้วคิดอีก เกิดแล้วตายไปแล้วยังคิดใหม่ได้ ความคิดไม่เคยอิ่มพอไง มันถึงต้องเอากรรมฐานเข้าไปให้จิตนี้อิ่มตัว จิตนี้กำหนดพุทโธ พุทโธ จนจิตนี้อิ่มตัว เพราะอะไร เพราะได้กินอาหารเป็นธรรมคือพุทโธ พุทโธ ก็ไม่สืบต่อ ความคิดไม่สืบต่อ ความคิดตัดขาด ความคิดพุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่ตลอดเวลา จิตนี้จะอิ่มตัวขึ้นมา อิ่มตัวขึ้นมา เป็นอิสรเสรีของตัวเองขึ้นมาได้ จิตที่เป็นอิสรเสรีของตัวขึ้นมา เห็นไหม กิเลสสงบตัวอยู่ชั่วคราว

กิเลสกับจิต กิเลสที่จิตมันสงบตัวลง มันปล่อยให้จิตเป็นอิสระออกมา ออกมาทำงานของมัน ทำงานอะไร ถ้าอิ่มในตัวเอง จิตนี้อิ่มในตัวของตัวของจิตเอง จิตก็สบาย จิตสบายจิตก็เวิ้งว้าง อันนั้นถ้าคนไม่เคยปฏิบัติ อันนี้ว่าจะเป็นผลแล้ว นี่คนจะติดตรงนี้มาก ทุกคนปฏิบัติแล้วติดในสมาธิ ว่าสมาธินี้เป็นผล แต่องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าสมาธินี้เป็นมรรคองค์เดียวในมรรค ๘ เท่านั้น สัมมาสมาธิในมรรค ๘ เห็นไหม ยังต้องเจ็บตัวที่ว่าจะยกขึ้นวิปัสสนาน่ะ นั่นน่ะยกขึ้นวิปัสสนาในอะไร ถ้าจิตอิ่มแล้วมันก็ออกมาหิวอีกได้ จิตนี้จะเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม โดยธรรมชาติมัน ธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วต้องดับไป

ชีวิตเราเกิดมาก็ต้องตายไปเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราตายไป เราประพฤติปฏิบัติได้คุณสมบัติของเราเท่าไรมันก็สะสมไปให้ชีวิตนี้เจริญงอกงามขึ้นมาในการเกิดข้างหน้านั้น เห็นไหม ในธรรมชาติของมันก็เกิดตายโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว อันนี้เป็นวัฏฏะ การเกิดการตายของเราเกิดในวัฏวนนี้ จิตนี้ก็เกิดหมุนไปวนไปในวัฏวนนี้ ไม่เคยเป็นอิสรเสรีได้เลย แต่ในชาติปัจจุบันนี้เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนให้วิวัฏฏะ ให้หักออกจากวัฏฏะให้ได้เป็นวิวัฏฏะ คือไม่วนไปอีกแล้ว ไม่วนไปในอำนาจของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ในเจ้าวัฏจักรอันนั้นไง

อันนี้มันเจริญแล้วเสื่อม ตัวนี้เป็นตัวศูนย์กลางของการหมุน โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือสัตตะ สัตตะผู้ข้อง โลกคือใคร? โลกคือเรา โลกทั้งหมดอยู่ที่กลางหัวใจของเราทั้งนั้น เพราะมีเราถึงมีโลก เพราะมีเรา เราถึงหมุนไปในโลกนั้น เราไม่มี โลกก็หมุนไปธรรมดาของมัน นั่นเป็นโลกของโลกนอก โลกในคือโลกของเรา โลกของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา โลกของกิเลสที่ปักเสียบอยู่ที่กลางหัวใจนั่นน่ะ แล้วมันปักเสียบไม่ใช่ปักเสียบแล้วปักเสียบเฉยๆ ปักเสียบแล้วให้หลอกลวง หลอกลวงให้เราคิดต่างๆ ออกไป หมุนไปข้างนอก นี่กิเลสมันหมุนออกไป หมุนออกไป หมุนออกไปที่ไหน? หมุนออกไปแล้วมันสาดไป สาดไปที่ขันธ์ ๕ ไง

ขันธ์ ๕ นี่ความคิด ความคิดที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นจากกิเลสกับใจอันหนึ่ง ใจกับขันธ์ ๕ อีกอันหนึ่ง ขันธ์ ๕ กับใจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่อาศัยเกิดขึ้นจากจิตที่มีกิเลสนี้วกออกมาถึงขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่เวียนไป หมุนการเกิดความคิดต่างๆ คิดหาคิดกว้านเข้ามา คิดเอาความทุกข์เข้ามาเสียบใจของตัวเองนี้ล่ะ นี่มันเปรียบเหมือนผ้าขาว ผ้าขาวนี้เหมือนขันธ์ ๕ ผ้าขาว เพราะความคิดมันคิดดีและไม่ดีได้ คิดดีก็มี คิดชั่วก็มี เห็นไหม มันเป็นอยู่ที่ว่าสติสัมปชัญญะเราพร้อมไหม เราจะบังคับความคิดเราได้ไหม

ผ้านี้เหมือนผ้าขาว แต่ผ้าขาวนี้ย้อมสี เลอะผ้าขาว เห็นไหม นี่กิเลสมันย้อมขันธ์ ๕ ในเมื่อกิเลสมันย้อมขันธ์ ๕ คือมันเอาขันธ์ ๕ นี้เป็นเครื่องมือ เครื่องมือที่มันจะใช้งานไง กิเลส จิตโดยความคิดเฉยๆ มันเป็นพลังงานอันเดียว พลังงานของกิเลส พลังงานของความคิด พลังงานสกปรก แต่มันจะคิดออกมาเป็นความคิดได้มันต้องผ่านสังขารขันธ์ ผ่านสัญญาขันธ์ ผ่านเวทนา ผ่านวิญญาณขันธ์ที่หมุนออกไป นี่ระหว่างจิตกับขันธ์ ๕ แล้วมีกิเลสที่มันอยู่ที่จิตนั้นมาป้ายให้ขันธ์ ๕ นี้สกปรกไป ฉะนั้น วิปัสสนามันถึงต้องจับตัวนี้ขึ้นมาวิเคราะห์ไง

ตัวขันธ์ความคิดนี้มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันเกิดดับๆ โดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะมันมีกิเลสพา กิเลสมันคิดไป กิเลสบังคับอยู่ ฉะนั้นขันธ์ ๕ นี้ถึงเป็นเครื่องมือของกิเลส ขันธ์ ๕ มันถึงเป็นธาตุ เป็นผู้รับใช้ ถึงบอก นี่ความคิดของเรา กิเลสมันถึงมีอำนาจบาตรใหญ่ มันบังคับขับไสให้ความคิดนี้ก็ต้องอยู่ในอำนาจของมัน ความคิดของเราก็อยู่ในอำนาจของกิเลส เห็นไหม นี่คือการวิปัสสนาขันธ์ ๕ วิปัสสนากายก็เหมือนกัน จิตสงบแล้วต้องยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในสิ่งที่มันสะเทือนถึงใจ สิ่งที่ใจนี้คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้ แสวงหาช่องทางออกไปหาเหยื่อ มันอาศัยช่องทางนี้ออกไปหาเหยื่อ กินเหยื่อ กิเลสมันถึงได้อยู่กับเราแล้วมันก็แสวงหาเหยื่อ เหยื่อคือความที่ให้เราทำผิดทำพลาด ทำแล้วไม่ได้ผล ทำแล้วคือการยึดมั่นถือมั่นในใจของตัว นี้คือเหยื่อของกิเลสทั้งหมด มันไม่เคยอิ่มพอ มันอาศัยตรงนี้เป็นช่องทางออกหากิน แล้วมันก็เอาความทุกข์มาให้เรา

กิเลสเกิดๆ ดับๆ กิเลสนี้เป็นนามธรรม คิดดีก็เป็นบุญกุศล คิดชั่วก็เป็นอกุศล เห็นไหม เกิดๆ ดับๆ อยู่ แต่ถ้าส่วนใหญ่แล้วถ้ามีกิเลสอยู่มันจะคิดแต่มรรคๆๆ เข้าข้างตัวเอง ความคิดเข้าข้างตัวเอง ความคิดทำลายคนอื่น ความคิดทำลายทุกๆ อย่าง นั้นมันจะให้ผลเป็นอะไรล่ะ

ถึงบอกว่ามันอาศัยช่องทางนี้หากิน แล้วเวลาเป็นผลวิบากมันให้จิตนี้รับรู้ ให้จิตนี้รับกรรม กรรมถึงให้ผลกับจิตดวงนั้น จิตดวงที่มาเสวยเป็นมนุษย์ มนุษย์แต่ละบุคคลนั่นน่ะ จิตดวงที่สร้างบุญกุศลมาหรือสร้างกรรมมาต่างกัน มันถึงให้ผลกับมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน มนุษย์แต่ละคนถึงว่ามีกรรมมีบุญกุศลต่างกัน แล้วการแสวงหาก็ต่างกัน จริตนิสัยก็ต่างกัน เพราะกรรมอันที่ว่ามันตกเนื่องค้างอยู่ที่จิตนี้ไง แต่มันเกิดจาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ตัวกิเลสไปแสวงหามาทั้งหมด

มันต้องเห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของกิเลสแล้วก็เห็นคุณงามความดีของธรรม กิเลสนี้บังคับขับไสตลอด กิเลสนี้บังคับขับไสโดยที่เราไม่มีอำนาจต่อรอง เราไม่มีความสามารถจะยับยั้งกิเลสเราได้เลย เพราะมันเป็นเรา สิ่งใดที่จะทำให้ขัดใจเรานี้ถือว่าเป็นเรา ขัดใจเราไม่กล้าทำ ทุกคนอยากสะดวกอยากสบาย อยากจะทำอะไรตามอำนาจของตัว เห็นไหม นั้นคืออำนาจของกิเลส เราไม่ได้เฉลียวใจตรงนี้

ถ้าเราเฉลียวใจของเราว่ากิเลสมันอยู่กับเรา เราดัดตนคือดัดกิเลส ดัดตน เห็นไหม ความทุกข์ ความทุกข์นะ การนั่งสมาธิ การพยายามทำใจให้สงบ มันจะเป็นความสุขมาจากไหน มันเป็นความต้องต่อสู้ดิ้นรนเท่านั้น ต่อสู้ดิ้นรนกับกิเลสตัวนี้ไง กิเลสตัวนี้มันหน้าด้าน มันว่ามันเป็นความทุกข์เพราะอะไร เพราะมันจะสะดวกสบาย มันจะหลอกเรา กิเลสมันหน้าด้าน แต่เราไม่กล้าว่ามัน เราไม่กล้าติกิเลส เราถึงต้องเป็นขี้ข้ามันมาตลอด

แต่ถ้าเราว่ากิเลสมันหน้าด้าน นี่เราต้องฝืน พอเราฝืน นี่ธรรมมีคุณค่าขึ้นมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจะเป็นความจริง จะมีคุณค่าขึ้นมาต่อเมื่อเราเห็นคุณค่า แต่ถ้าเราไม่เห็นมีคุณค่าขึ้นมา ธรรมนี้อยู่ โดนกิเลสปกปิดไว้หมดเลย แล้วเราก็ปฏิบัติไปลุ่มๆ ดอนๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ปฏิบัติธรรมกันมานะ ประพฤติปฏิบัติกันมา ตั้งแต่ออกบวช ตั้งแต่ออกปฏิบัติกันมา พยายามจะให้ได้ผล แล้วกาลเวลามันกินไปเท่าไรแล้ว กาลเวลานี่กินไปเท่าไร

เพราะพยายามให้สติปัญญาของเราให้ทันกับกิเลส พอทันกับกิเลส พิจารณาเข้าไป กิเลส ถ้ามีคนทันมันนะกิเลสมันจะอาย กิเลสนี้เป็นนามธรรม เกิดจากเรา เกิดจากความคิด เกิดจากความเห็นว่าเราเห็นถูกนี่แหละ เราคิดถูก เราคิดดี เราคิดอะไร แต่พอปัญญาหมุนเข้ามานี่ มันไม่มีอะไรถูกเลย ถ้าถูกสิ่งนั้นต้องเป็นสัจจะ ต้องเป็นความจริง

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สมควรแก่ธรรม คุณค่าของธรรมเกิดขึ้น ผลของกิเลสมันต้องชำระล้างออกไปได้ แต่ทำไมเราปฏิบัติขึ้นมา ทำไมปฏิบัติธรรมอยู่แต่ไม่สามารถสมุจเฉทปหานหลุดออกไปจากใจได้ล่ะ เห็นไหม มันถึงว่ามันไม่สมควรแก่ธรรม มันไม่เป็นผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถึงเป็นธรรมะจริงโดยสัจจะ แต่นี้เป็นธรรมด้นธรรมเดา ธรรมคาดธรรมหมาย ธรรมคาดธรรมหมาย

กิเลสมันอยู่ที่ใจ การคาดการหมายเอาอะไรคาดถ้าไม่เอาใจนี้คาด ถ้าเอาใจนี้คาด ใจนี้มันเปื้อนด้วยกิเลส คาดออกไปเท่าไรมันก็โดนกิเลสหลอกเข้ามาเท่านั้น นั่นไง มันถึงว่าไม่สมควร ถ้าสมควรนี่หมุนไป หมุนไป หมุนไปด้วยกิเลส เห็นไหม โดยสมาธินี้กดไว้ เบาตัวลง เบาตัวลง เบาตัวลง เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิแล้วยกขึ้นวิปัสสนาให้เห็นขันธ์ ๕ ให้ได้ จับขันธ์ ๕ หรือจับกายให้ได้ พอจับกายได้วิปัสสนาไป วิปัสสนาไป การจับกายได้ การตั้งขันธ์ ๕ ได้ การตั้งได้ต้องมีสติมีสัมปชัญญะ เห็นไหม นี่สติชอบ ความเพียรชอบ ความเพียรตั้งอยู่มันจะหลุดมือไปไง การประพฤติใหม่ๆ นี้แสนยาก การทำนี้ยากที่สุดก็คือการเริ่มต้นนี่แหละ

ถ้าเริ่มต้นนี้ถูกต้อง เห็นไหม การเริ่มต้นที่ถูกต้อง “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม ถ้าพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมแล้วเข้ากระแสของนิพพาน เข้ากระแสของนิพพาน ผู้ที่เดินหานิพพานมันง่ายไง แต่ถ้ายังไม่เข้า ไม่มีดวงตาเห็นธรรม มันไม่เข้ากระแส การไม่เข้ากระแสทำไปเท่าไรมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ ความลุ่มๆ ดอนๆ มันก็ไม่ได้ผล แล้วทำให้ทุกข์ใจ ทำให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ทำให้เราไม่มีกำลังใจ

ถ้ากำลังใจ หมายถึงว่า เราทำการค้า เราทำธุรกิจต่างๆ มันก็ได้ผลตอบแทนมา ยิ่งมีผลตอบแทนมากเท่าไรเรายิ่งมีกำลังใจจะทำมากขึ้นเท่านั้น ปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าวิปัสสนาไปแล้วปล่อย วิปัสสนาไปแล้วปล่อย ปล่อยเข้าไป นี่กำลังใจมันเกิด เพราะมันมีความสุขกับการปล่อยวางนั้น การปล่อยวางของกิเลส ฟังสิ เครื่องยนต์ติดขึ้นมาแล้วไม่เคยดับ ตั้งแต่เกิด ความคิดไม่เคยหยุด แล้ววิปัสสนาไป วิปัสสนาไป จนมันปล่อยหมด พอปล่อยหมด เครื่องนี่เราปล่อยเกียร์หมด เกียร์เราปลดว่างหมด เครื่องมันจะหมุนในตัวมันเอง ว่างๆ โล่ง สบาย นั่นน่ะมันปล่อยวางขนาดนั้น อันนั้นเป็นอะไร

รถมันหนักขนาดไหนที่ไม่เคยทดเกียร์ออกมาเลย อยู่แต่ในเกียร์ตลอด หมุนไปตลอด มันต้องหมุนไปตลอด เครื่องยนต์อันนี้ หัวใจต้องหมุนไปตลอด มันจะล้าขนาดไหน มันจะทุกข์ขนาดไหน แล้ววิปัสสนาจนมันปล่อย เห็นไหม มันปล่อย มันปล่อย มันปล่อยหลุดออกไป หลุดออกไป นี้คือผลของความสุข ความสุขที่เกิดจากวิปัสสนาไม่เหมือนกับความสุขเกิดในทำให้กิเลสสงบตัวลง

กิเลสสงบตัวลงนี้มันสงบตัวเฉยๆ แต่มันไม่วิปัสสนา มันไม่ได้เห็นกลไกของจิต ไม่ได้เห็นกลไกของความคิดที่มันยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ วิปัสสนามันเห็นกลไก เห็นความเห็นว่ากิเลสมันเอื้อมมือไป มันหาช่องทาง ช่องทางไหนที่กิเลสมันออกหากิน มันเห็นเข้าไป มันชี้หน้ากิเลส กิเลสมันอาย มันปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา ความปล่อยอันนั้น ความว่างของการวิปัสสนามันว่างลึกซึ้งกว่าความว่างของสัมมาสมาธิมากนัก รสของสมาธิธรรมเราก็ได้ดื่มกินเข้าไปแล้ว อันนี้เป็นกำลังของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป การประพฤติปฏิบัติมันทุกข์ยากแสนยากขนาดไหนมันก็เป็นความทุกข์ แต่มันให้ผลเท่าทวีคูณนะ มันให้ความสุข สุขจนนึกว่าไม่ต้องเกิดและไม่ต้องตายอีก

เกิดก็ไม่มี เอาตายมาจากไหน เกิดเท่าไรตายทั้งหมด ยกไว้แต่พระอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นเกิดเท่าไรตายทั้งนั้น เกิดเข้ามาตายทั้งหมด แล้วขณะที่ว่าไม่มีการเกิดแล้วเอาอะไรมาตาย ไม่มีการเกิดก็ต้องไม่มีการตาย เห็นไหม ผลของการประพฤติปฏิบัติที่ต่อสู้กับกิเลส มันจะเข้าไปถึงจุดหมายปลายทางตรงนั้น แต่การก้าวเดินเข้าถูกทางหรือผิดทางตรงนี้ ยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาในกายกับจิตนี้ ในกายกับจิตที่ว่าความคิดฉลาดแหลมคม

เราว่าเราฉลาด เราแหลมคม ฉลาดในอะไร เป็นขี้ข้าของกิเลสทั้งหมด เอาความฉลาดมาจากไหน แต่มันก็ยังยึดมั่นถือมั่นว่ามันฉลาด มันคือใคร? มันคือกิเลสที่เกิดๆ ดับๆ ในหัวใจนั้น ในหัวใจนี้มันเกิดๆ ดับๆ มันไม่ใช่เรา แต่มันอาศัยการปกครองใจนี้อยู่ แต่มันไม่ใช่เรา ถ้ามันใช่เรามันจะสละหลุดออกไปจากใจได้อย่างไร ถึงมันจะเป็นอนุสัย ถึงเป็นภวาสวะที่อยู่พร้อมกับจิต แต่ก็สามารถชำระได้

ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์แรกที่ก้าวเดินออกไป องค์ของศาสดาที่เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยังเป็นผู้ที่ว่าชี้นำเดินผ่านพ้นนำหน้าเราไปแล้ว ธงชัยของเรา ผู้ที่เราเคารพต้องเหนือคน เหนือเราทุกอย่าง แต่เหนือคนเราก็เป็นคน เราก็เป็นคนเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เป็นคนคนหนึ่งสิ คนคนหนึ่งที่จะเดินพ้นออกไปจากการเกิดและการตาย มันต้องมีความวิริยอุตสาหะ วิริยอุตสาหะเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าของผู้ที่นอนจมอยู่ในกิเลสนั้น

นั่นมันถึงว่าให้ความทุกข์ไง ให้ความทุกข์ในการที่ว่าเราต้องต่อสู้ เราต้องพยายามดัดตน ดัดตนนี้เป็นความทุกข์ของกิเลส กิเลสมันรู้อยู่ว่าพวกนี้จะพ้นจากมือออกไป มันถึงพยายามหาทุกวิถีทาง กลมายาของกิเลสไง กลมายาของกิเลสจะทำให้เราเคลิบเคลิ้มหลงใหล ให้เราไม่ประพฤติปฏิบัติ ให้เราอยู่อำนาจของมัน นี่พอกลมายาของมันมาเราก็ล้ม พอเราล้มนี่เราว่าอันนี้เป็นความทุกข์

ปฏิบัติธรรมมันจะทุกข์ไปไหน เวลาเกิดตายๆ อยู่นี่มันทุกข์มากกว่า การเกิดและการตาย การอยู่ในโลกนี้ การร้องไห้พิไรรำพัน อันนี้เป็นความสุขเหรอ...สุขไม่มี! สุขไม่มี! ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ อริยสัจเลย แต่เราไม่เคยเห็นทุกข์ เราไปเห็น...

...ไฟเผามันยังไม่ร้องเลย เวลาคนเขาตายเขาไปเผาไฟ เอาไฟเผาเข้าไป ศพไหนมันร้องว่ามันร้อน นี่ถึงว่ากายมันไม่ได้ทุกข์ไง มันทุกข์อยู่ที่หัวใจ แต่เราไม่เคยเห็นความทุกข์ของใจเลย เราก็ได้แต่บ่น บ่นแต่ผลของมัน ผลของความทุกข์ บ่นกันไป บ่นกันไป ถึงไม่เคยเห็นทุกข์ไง ถึงบอกว่าสุขมันไม่มี มันมีแต่ทุกข์...ทุกข์ก็ไม่เคยเห็น ถ้ามันเห็น มันเห็นทุกข์จริง มันเห็นทุกข์มันต้องเห็นอริยสัจสิ ถ้าเห็นทุกข์มันต้องเห็นอริยสัจ แต่นี่มันไม่เห็นทุกข์ มันไปเห็นผลของกิเลสที่มันทำให้ทุกข์มา แล้วก็ร้องไห้รำพันกัน ความร้องไห้พิไรรำพันนี้ในผลของทุกข์ต่างหาก มันไม่เคยเห็นทุกข์เลย

ถ้าเห็นทุกข์ มันเห็นใจ เห็นใจของทุกข์มันก็ต้อง...คนเราเห็นทุกข์ เห็นทุกข์ก็เหมือนกับเรากำไฟอยู่ที่มือนี่ ทำไมมันไม่ทิ้ง ไฟนะ กำไฟ กำถ่านร้อนๆ ในมือ มือไม่พองหรือ ทำไมไม่ทิ้งถ่านออกไป มันต้องทิ้งออกไป ถ้ามันเห็นทุกข์มันต้องทิ้งทุกข์ แต่นี้มันไม่เห็นทุกข์ มันไม่ได้กำถ่าน มันไปเห็นแต่แสงสีที่ว่ามันสวย แสงสีที่ออกมาจากถ่านนั้น โอ๋ย! แสงสีมันแดง สีมันสวย ไม่รู้ก็กำเข้าไป กำเข้าไปมันก็ทุกข์เท่านั้น เห็นไหม ยิ่งกำเท่าไรก็ทุกข์ต่อไป ทุกข์ต่อไป ทุกข์ต่อไป เพราะมันให้ผลเป็นทุกข์โดยธรรมชาติของมัน มันเผาไหม้ไปทั้งหมดเพราะมันเป็นถ่านไฟ นั่นน่ะวิบากเป็นอย่างนั้น นี่เราไม่เห็นตรงนี้ นี่กิเลส

คำว่า “กิเลส” กิเลสกับธรรม ต้องมีกิเลสก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดมาจากกิเลส ไอ้เราก็เกิดมาจากกิเลส ไม่ใช่ว่ากิเลสอย่างเดียวแล้วแก้ไม่ได้ กิเลสอย่างเดียวแล้วแก้ได้ แก้ได้ด้วยธรรมโอสถ ธรรมโอสถนี้สามารถชำระกิเลสพ้นออกไปได้ ตัวอย่างผู้ที่ดำเนินต่อออกไปข้างหน้าแล้วมีพยานหลักฐานไว้มากเลย อันนี้มันไม่เป็นไปอย่างนั้น ก็ให้เห็นโทษของมัน

ถึงว่ากิเลส กิเลสกับธรรม มันคนละอันกัน มันคนละส่วนกัน กิเลสคือกิเลส กิเลสให้ผลแต่ความทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีผลความสุขออกมาจากกิเลส ไม่มี ผลที่ออกมาจากเป็นความสุขบ้าง นี่วิปัสสนา อันนี้ผลจากธรรม ในเมื่อเรามีผลจากธรรมขึ้นมา เรายึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในธรรม ความยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นกิเลสไหม ความยึดมั่นถือมั่นถ้าในสิ่งที่ผิดพลาด สิ่งที่เป็นกิเลสนะ นั้นเป็นกิเลส แต่ถ้าความยึดมั่นถือมั่นในผลของที่เราเคยทำมานั้น มันเป็นมรรค มรรคมันต้องมีสิ

ความอยากในการประพฤติปฏิบัติ ความอยากพ้นทุกข์ อันนี้เป็นกิเลสเหรอ ถ้าเป็นกิเลส เราจะก้าวเดินไปไหนกัน ในเมื่อเราหิวใช่ไหม เราอยากกินอาหาร ความอยากกินอาหารมันเป็นกิเลสตรงไหน มันให้เรามีชีวิตรอดไปใช่ไหม มรรคก็เหมือนกัน ถ้ามรรคเรารู้จักใช้ไง มรรคอริยสัจจัง การวิปัสสนา การทำใจให้สงบ อันนี้ต่างหากทำให้ใจชุ่มชื่นขึ้นมา ใจชุ่มชื่นขึ้นมาแล้วใจมีพลังงานขึ้นมา ใจนี้เป็นอิสรเสรี อิสระคือว่ามันอิสระในตัวมันเอง มันไม่ใช่ว่าต้องคิดไปตามกิเลสทั้งหมด นี่ไง พออันนี้มันเป็นอย่างนี้มันเป็นเรื่องของธรรมจักร

ธรรมจักร ภาวนามยปัญญามันจะเกิด เกิดจากตรงนี้ไง เกิดจากใจที่เป็นอิสระ ใจที่เป็นอิสระแล้วยกขึ้นวิปัสสนาหมุนไป หมุนลงไปที่ว่าผ้ามันสกปรกนั่นน่ะ ผ้ามันสกปรก ผ้านี้เป็นผ้าขาวโดยธรรมชาติ คือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี้มันขาวโดยบริสุทธิ์ของมัน เพราะสอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ที่มีขันธ์ กับปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลสก็มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่ขันธ์ ๕ ปุถุชนคนมีกิเลสนี้ขันธ์ ๕ นี้มันชุ่มไปด้วยกิเลส มันสกปรกไปเพราะกิเลส ใจตัวนั้นน่ะ ใจมันมีกิเลสอยู่ พอใจมีกิเลสอยู่นี่ มันคิดออกมาเป็นขันธ์ ๕ มันก็เปื้อนไปหมด เพราะมันยึดมั่นถือมั่นไว้ด้วยสังโยชน์ เห็นไหม สังโยชน์ผูกใจกับขันธ์ ๕ ไว้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เคยแยกออกจากกัน

แต่สอุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์นั้น ขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระ ท่านชำระขันธ์ ๕ กับใจขาดเป็นชั้นๆๆ เข้าไปนะ กิเลสอย่างหยาบๆ ขาด! อย่างกลาง ขาด! อย่างละเอียด ขาด! อย่างละเอียดสุด ไม่ใช่ละเอียดแล้วจะจบนะ ละเอียดสุดก็ขาด ถึงเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ขันธ์นั้นเป็นขันธ์ที่สะอาดเหมือนผ้าขาว

แต่ของเราไม่ได้ถึงตรงนั้น ของเรานี้ ของผู้ประพฤติปฏิบัตินี้มันสกปรกทั้งหมด เพราะกิเลสมันยึดเป็นเนื้อเดียวกัน มันเอาอะไรมาสะอาดล่ะ มันต้องวิปัสสนาตรงนี้เข้าไป วิปัสสนาว่าขันธ์ ๕ นี้ธรรมชาติของมัน มันสะอาด แต่เพราะมันโดนกิเลสปกคลุมอยู่ กิเลสนี้ใช้ขันธ์ ๕ นี้เป็นสื่อ ใช้กายนี้เป็นที่แสวงหาความทุกข์ความสุข

กายนี้ เจ้านายคือใจ มันสั่งบ่าวคือกายนี้ให้แสวงหาเอาความสุขมาให้มัน เอาความพอใจมาให้มัน แต่มีสิ่งใดบ้างที่ทำแล้วเป็นความสุขสมปรารถนาของมัน มีแต่ได้ไม่เคยพอ วันนี้แสวงหามาเท่านี้ พรุ่งนี้ต้องมากขึ้นไป มะรืนก็มากเข้าไป ปีนั้น ปีนั้น มากเข้าไป จน ๓ โลกธาตุนี้มันก็ไม่พอใจ กิเลสไม่เคยพอ

สิ่งที่เมืองพอคือธรรมเท่านั้น ธรรมเท่านั้นทำให้หัวใจนี้อิ่มเต็ม แม้แค่สมาธิธรรมก็ทำให้ใจเป็นอิสระขึ้นมาได้แล้ว แค่สมาธิธรรม ใจเป็นอิสรเสรีไม่เป็นข้าของมัน จนไม่มีเหตุไม่มีผล ถ้าเป็นสมาธิธรรมเป็นแค่จิตมีเหตุมีผลเท่านั้น มีเหตุมีผลแล้ววิปัสสนา วิปัสสนาในขันธ์ ๕ ในกายนี้ เห็นไหม วิปัสสนา วิปัสสนาว่าผ้าขาวนี้มันเลอะด้วยอะไร ถ้ามันจิตมันไม่เป็นอิสระมันวิปัสสนาไม่ได้ จิตนี้เป็นอิสระวิปัสสนา วิปัสสนาคือการแก้ไขไง ขันธ์นี้มาพลิกดู ขันธ์ ๕ น่ะ ความคิดที่สกปรกสกปรกอย่างไร กิเลสที่มันหลอกใช้ หลอกใช้อย่างไร

วิปัสสนาพลิกดูไง พลิกขันธ์ ๕ อารมณ์อันไหนเป็นสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง อันไหนเป็นสัญญาที่มันคิดมา มันมามันต้องมีเชื้อมา สิ่งใดเกิดขึ้นไม่เคยลอยลม สิ่งใดเกิดขึ้นต้องมีลูก มีพ่อ มีแม่ มีการเกิดและการปฏิสนธิมาทั้งนั้น ทีนี้ความคิดมันเกิดขึ้นมา ว่ากิเลสๆ กิเลสพาคิด คิดอย่างไร แล้วก็ใช้ความคิดของปัญญา ภาวนามยปัญญาก็เป็นปัญญา ปัญญาอันนี้เกิดขึ้นมาจากธรรม ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากกิเลส

กิเลสคือเราคิดขึ้นมา ความอยากมักอยากใหญ่อยากโต อยากไม่มีวันพอ นั้นกิเลสพาคิด แต่ความคิดปลดเปลื้อง ความคิดจดจ่อ ความคิดคอยดูจอมปลวก เหี้ยในจอมปลวกมันออกหากินอย่างไร กิเลสที่ออกมาจากใจออกมาหากินอย่างไร ความคิดอย่างนี้ใครมี ถ้าความคิดอย่างนี้มีขึ้นมา ภาวนามยปัญญาจะเกิด ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาจากใจที่มันพยายามผลักดันความคิดนี้ออกมา ผลักดันมาโดยธรรมชาตินะ ไม่ได้ผลักออกมาด้วยกิเลสหลอกใช้

ถ้าผลักออกมาด้วยกิเลสหลอกใช้เป็นความคิดนั้น มันกิเลสใช้ ใจมันไม่เป็นธรรมชาติ ใจมันไม่เป็นสมาธิธรรม มันเสื่อม ความเสื่อมนั้นเป็นโลกียะ เราต้องกลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเพื่อทำใจให้เป็นอิสระขึ้นมาให้ได้ ใจนี้เป็นอิสระขึ้นมา มันก็หมุนกลับไปวิปัสสนาต่อ ถ้าวิปัสสนาต่อ พลังงานของมันมี พลังงานอิสระของใจที่เป็นอิสระ อิสระจากกิเลสชั่วคราวนั้นมันจะวิปัสสนาไปเป็นภาวนามยปัญญา จะใคร่ครวญในขันธ์ ๕ นี้ไง

สิ่งใดเป็นขันธ์ ๕ นี้เป็นความคิดธรรมดา สิ่งใดที่มันสอดแทรกเข้าไปในขันธ์ ๕ นั้นต่างหาก สลัดมันออก ผ้านั้นต้องขาวได้ เพราะผ้านั้น ขันธ์นี้มันไม่ใช่จิตอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพราะมันโดนจิตนี้หลอกใช้เท่านั้น มันโดนจิตนี้บังคับขับไส วิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนาเข้าไป ถ้าผ้าเลอะสีแล้วเราซักออกมา มันเป็นสิ่งที่มันเป็นวัตถุ แต่หัวใจ ความมันเป็นกิเลสมันเปรอะเปื้อนด้วยนามธรรม นามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันสามารถชำระได้ เพราะพิจารณาวิปัสสนาเข้าไปๆ วิปัสสนาเข้าไปจนบ่อยครั้งเข้านะๆ บ่อยครั้งเข้า ความเห็นละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป เหมือนกับว่าเราทำลายภูเขาน่ะ ทุบอยู่ทุกวัน ภูเขามันก็ต้องราบไปด้วยค้อนของเรา

ความคิดนี้เหมือนกัน ต้องว่าอย่างนั้น เพราะกิเลสนี้มันขับไสมา ภพชาตินี้มันยาวไกล ความยึดมั่นถือมั่นนี้ แก่นของกิเลสนี้เหลือเฟือ ไม่มีความเหนียวอันไหน แก่นอันไหนจะเท่ากับกิเลส กิเลสในหัวใจนี้แหละ สิ่งที่เป็นนามธรรมนี้แหละมันเหนียวแน่นมาก ต้องใช้ความมุมานะ ความจดจ่อ ความจริงจังทั้งหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสลบถึง ๓ หน อัครสาวกที่ก้าวเดินไปนั้นเอาชีวิตเข้าแลกมาทั้งนั้น เห็นไหม ถึงว่าต้องใช้ความละเอียดรอบครอบเข้าไปเต็มที่เข้าไป ละเอียดพลิกไปพลิกมา แต่ไม่สุดวิสัยของผู้ปฏิบัตินะ

จะว่ากิเลสนี้มันแหลมคมขนาดไหน จนจะไม่มีกำลังใจทำ อย่างนั้นก็ไม่ถูก กิเลสนี้มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ธรรมเหนือนั้น ธรรมเหนือกิเลส ถ้าธรรมไม่เหนือกิเลส กิเลสมันจะกลัวธรรมไปได้อย่างไร แต่ธรรมอันนั้นมันต้องให้เป็นภาวนามยปัญญาที่เกิดขึ้นจากความเป็นจริง มันไม่ใช่ธรรมที่จำด้นเดากันมา จำด้นเดามากิเสสมันหัวเราะเยาะ หมูมาอีกแล้ว หมูมาอีกแล้วนะ มันต้อนเข้าไปอยู่ในความคิดมันหมดเลย แต่ถ้ามันเป็นภาวนามยปัญญา มันจะเชือดนะ มันจะทำลายทั้งหมด เห็นไหม มันถึงว่าต้องเป็นภาวนามยปัญญาเท่านั้น วิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนาคือการแยกแยะ การแยกแยะการใคร่ครวญ มันเป็นวัตถุ มันจับต้องได้ความคิดนี่ พอเข้าไปแล้วความคิดนี้มันเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอน จับต้องได้ พลิกแพลงได้ เห็นเป็นวัตถุเลย นั่นคือการยกขึ้นวิปัสสนาได้ตามความเป็นจริง

นี่เห็นกายก็เหมือนกัน เห็นกายโดยเห็นกาย เห็นกายด้วยใจ เห็นกายด้วยตาในนะ เห็นกาย กายนี้พลิกแพลงได้ กายนี้ให้เคลื่อนให้แปรสภาพ ให้เป็นไตรลักษณ์ มันแปรสภาพให้ดูด้วย มันจะเสื่อมสภาพเดี๋ยวนั้นๆๆ ให้เราสลดสังเวชนะ สลดสังเวชมันก็ปล่อยวางชั่วคราวๆ จนมันปล่อยขาด ทั้งกายและจิตปล่อยขาดออกไป สังโยชน์ขาดออกไป ขันธ์ ๕ นี้สะอาด กิเลสร่นเข้าไป กิเลสอย่างหยาบๆ ขาดออกไป ต้องขาดออกไป ขาดออกไป สมุจเฉทปหานออกจากจิตล้วนๆ เลย ออกไปจากใจทั้งหมด เห็นไหม นี่อย่างหยาบๆ ขาดเข้าไป ร่นเข้าไป ร่นเข้าไปก็ต้องตามเข้าไป ตามเข้าไป ตามเข้าไปอีก กิเลสอย่างหยาบขาด กิเลสอย่างกลางล่ะ วิปัสสนาซ้ำกายกับจิตนั่นล่ะ วิปัสสนาซ้ำเข้าไปในอุปาทานของกาย ในอุปาทานของจิต อุปาทานในกายในจิตนั้น วิปัสสนาเข้าไป วิปัสสนาตรงไหน

จิตต้องทำความสงบเข้าไปเรื่อยๆ มรรค ๔ ผล ๔ มรรคของสิ่งแรกเราใช้ไปหมดแล้ว กิเลสหยาบๆ เราก็ใช้มรรคหยาบๆ ขนาดหยาบๆ เรายังทุ่มทั้งชีวิต แต่ในเมื่อมีดวงตาเห็นธรรมแล้วมันเข้ากระแส พอเข้ากระแส ช่องทางเราเดินก้าวเดินเป็น เรายืนอยู่บนหัวถนน เราสามารถเดินถึงปลายถนนได้ เพราะเราขึ้นไปยืนอยู่บนหัวถนนนั้นแล้ว เรายืนบนกระแสของพระนิพพาน ถ้ายืนอยู่กระแสของพระนิพพานมันต้องก้าวล่วงถึงจุดไม่เกิดและไม่ตายได้ ตรงนี้ผู้ที่ปฏิบัติต้องเดินไป แต่เดินไปริมทางนั้นน่ะ ริมทางของถนนนั้นมีสิ่งเย้ายวนไปทั่วไปหมดเลย สิ่งเย้ายวน สิ่งพยายามจะดึงให้เราจมอยู่ตรงนั้น ถึงต้องทำใจให้เป็นอิสระ ต้องทำใจให้เป็นสงบตลอด ทำใจด้วยสมาธิธรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าย้อนกลับมาพุทโธ

เพราะกิเลสอย่างหยาบมันขาดไป เห็นไหม หลานของกิเลส ลูกของกิเลส พ่อของกิเลส ปู่ของกิเลส กลมายาของกิเลสที่มันเหนือขึ้นไป มันจะสลับซับซ้อนมากกว่าข้างล้างนี้อีก เพียงแต่เราจับต้องเข้าไปสาวถึงหาเหตุหาผลได้ เราสาวไปหาเหตุหาผลเจอ แต่กลมายาที่มันจะหลอกลวง ที่มันจะพลิกแพลงให้เราล้มลุกคลุกคานไง เห็นไหม ถึงว่าสติปัญญา มหาสติ มหาปัญญา สติปัญญาอัตโนมัติ ดีสิ เวลาทุ่ม ทุ่มกันขนาดนั้น ไม่ใช่ทุ่มสติปัญญาธรรมดาๆ ที่เราคิดกันอยู่นี้นะ

คนอย่างเราจะมาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มหาสติ มหาปัญญา มันจะเกิดขึ้นมาจากปัญญาของเราได้หรือ คนเราเป็นคนที่ว่าง่อยเปลี้ยเสียขา คนที่ไม่มีวาสนาบารมี เราก็ว่าเราไม่มีวาสนาบารมี เราว่าเราเป็นคนเกิดมาคนทุกข์คนยาก เราจะเอามาจากไหน ฟังแต่ของครูบาอาจารย์ว่านะ มหาสติ มหาปัญญา มหาสติ มหาปัญญา แล้วเราจะมีมาได้อย่างไร

เงินมันมาจากกี่ล้านก็แล้วแต่มันมาจากบาทแรก สติปัญญา มหาสติ มหาปัญญาจะเกิดขึ้นเพราะเราฝึกฝน คนเราจะฝึกฝนได้ มันต้องฝึกฝนได้สิ ฝึกฝนจนกว่าเราจะขึ้นมามีกำลังขนาดนั้นได้ สติปัญญาก็เกิดขึ้นได้จากความจงใจความตั้งใจของเรา ความจงใจความตั้งใจของเรามันจะเกิดขึ้นได้ เห็นไหม มันจะเข้าไปทันกลมายาของความเล่ห์กลของสิ่งที่ว่ากิเลสอย่างกลาง อย่างหยาบขึ้นไปที่มันจะหลอกหลวงเราตลอด มันถึงพยายามต้องมหาสติ มหาปัญญา สติปัญญามากขึ้นไป ต้องกลับมาตรงนี้ มันจะใช้ไปแล้วมันเสื่อมไป เสื่อมไป ความใช้พลังงานใช้ตลอดมันต้องร่อยหรอลงไปเป็นธรรมดา

จิตที่เป็นอิสระนี้ก็เหมือนกัน เราใช้ตลอดแล้วมันต้องยกกลับมา เพราะว่าเราภาวนาไป เราจะชนะตลอดไปหรือ บางทีกิเลสมันก็เป็นฝ่ายชนะ หมายถึงว่าเรายกขึ้นไปแล้วเราสู้ไม่ได้ ความคิดท้อถอย ความคิดทดท้อ ความคิดทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นนะ “อำนาจวาสนาเราแค่นี้ก็พอ” มันจะคิดขึ้นมา อันนี้รู้ได้เลยว่ากิเลสมันเริ่มแสดงตนแล้ว

กิเลส เห็นไหม เราทำลายแต่ส่วนลูกหลานมันเท่านั้น ส่วนที่เป็นเจ้าใหญ่นายโตมากกว่านั้นเรายังไม่ได้เห็นตัวเลย ถึงว่ายกเข้าไปอีก สู้ต่อก้าวเดินเข้าไป ก้าวเดินเข้าไป จนกว่ากิเลสอย่างกลางขาดไป อย่างละเอียดขาดไป อย่างละเอียดนะ อย่างกลางนี้ก็อย่างกลาง อย่างละเอียดนี้อย่างสังคมเลย มันเป็นสังคมแล้ว สังคมของชนชั้นของภาวะของกามภพ นี่มันจะทำให้ใจนี้เป็นอิสระมากเข้าไปอีก นี่ร่นเข้าไป ร่นเข้าไป มันจะหมุนเข้าไปได้

จากกิเลสกับขันธ์ เห็นไหม จากใจกับขันธ์ กับใจกับกิเลส ใจกับขันธ์คือขันธ์ ๕ กามเกิดขึ้นได้เพราะความสัญญาเท่านั้น กามภพเกิดขึ้นได้เพราะสัญญา สัญญาความคิดความแบ่งแยกหญิงและชาย ความคิดอันนั้นเป็นสัญญา สัญญานี้เป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี้อยู่กับจิต ขันธ์ ๕ ข้างนอก ขันธ์ในขันธ์ ทุกข์ในทุกข์ จิตในจิต อันนี้ขันธ์ในขันธ์ ขันธ์ข้างนอก ในสักกายทิฏฐิ ในขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด นี้เป็นช่องทางหากินของกิเลส กิเลสอาศัยช่องทางนี้ออกมาหากิน วิปัสสนาของเรายกขึ้นไป ยกขึ้นไป ยกขึ้นไป ภาวนาขันธ์เข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไปนะ ขันธ์ ๕ ขันธ์นอก ขันธ์ใน จนขันธ์นี้สะอาดเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป

เราตัดทางเดินของกิเลส เห็นไหม เราตัดทางเดินของกิเลสที่มันหลอกใช้เรา มันหลอกนี้เป็นทางหากิน ทางหากินช่องทางของกิเลสที่ก้าวเดินออกมาสร้างกรรม สร้างคุณงามความดีจะสร้างอะไรแล้วแต่ สะสมลงที่ใจทั้งหมด อันนั้นมันเป็นผลต่อเมื่อเราตายไปเป็นอดีตอนาคต แต่ในปัจจุบันนี้เราได้ทำลายลงแล้ว ทำลายสิ่งที่จะเกิดเป็นมรรคเป็นผลข้างหน้าต่อไป เป็นมรรคเป็นผล เห็นไหม ทำลายเข้าไป จนเข้าไปเรื่อยๆ จนขันธ์นี้ออกหมดเลย จนขันธ์นี้สะอาดหมด หลุดออกไปจากใจทั้งหมด นี่อย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดขาดออกไป

แล้วละเอียดสุดล่ะ? ละเอียดสุดคือกิเลสกับใจล้วนๆ กิเลสกับใจแล้ว ไม่ใช่กิเลสกับขันธ์ กิเลสกับขันธ์ เราทำลายขันธ์เข้าไป ทำลายเข้าไปเป็นชั้นเข้าไป ทำลายขันธ์เข้าไปหลุดเข้าไปเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป มันปล่อยวางร่นเข้าไปจนไปอยู่ในตัวของมันเอง กิเลสเข้าไปรวมตัวอยู่ที่ใจ ใจนี้ไม่ใช่ขันธ์ ใจนี้ไม่เคยใช้ขันธ์ เพราะใจมันเป็นพลังงานเฉยๆ แต่พลังงานนั้นเป็นตัวกิเลสทั้งหมดเลย เป็นอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา...อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา คือเป็นเจ้าวัฏจักร เจ้าวัฏจักรคือจิตดวงที่พาตายพาเกิด จิตดวงที่พาตายพาเกิดมันมีกิเลสอยู่ในตัวมันเอง มันถึงวนตายวนเกิด นี่วิปัสสนาเข้าไปจะเห็นตามหลักความเป็นจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทำลายตรงนี้ก่อน แต่ทำลายตรงนี้แล้วถึงได้ปฏิญาณตน บอกกับปัญจวัคคีย์

ปัญจวัคคีย์กับพระเจ้าพิมพิสาร ไม่มีสินค้า ไม่มีสินค้าเลย บอกกล่าวขอชื้อไว้ก่อน ขอบอกไว้ก่อน ว่าถ้ามีแล้วให้ท่านมาสอน ปัญจวัคคีย์นี้อุตส่าห์ไปอุปัฏฐากอยู่ตลอดเวลา เพื่อต้องการธรรมอันนี้ เพื่อจะได้ก้าวเดินหลุดพ้นไปกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่นี่ต้องผ่านตรงนี้ถึงเวลาสำเร็จไปแล้ว ปัญจวัคคีย์นี้เห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมาเสวยอาหารอย่างเก่า อดอาหารไปแล้วกลับมาเสวยอาหาร...ทิ้ง ไม่ยอมฟังเลย ทิ้งพระพุทธเจ้าไว้ ว่าเป็นผู้ที่กลับมามักมาก หลบออกไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่ง กลับไปวิปัสสนาของตัวเอง เพราะไม่มีใครเกาะเกี่ยวอยู่แล้ว ทำใจให้พ้นจากตรงนี้ พ้นจากอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ถึงได้กลับมาเทศน์สอนปัญจวัคคีย์ไง

“เราเคยพูดคำนี้ไหม เราเคยพูดว่าให้ฟังไหม” พระพุทธเจ้าบอกว่า “เคยพูดไหมว่าเป็นพระอรหันต์ เคยพูดไหม เคยพูดว่าสิ้นกิเลสไหม” เพราะว่าเมื่อก่อนยังไม่เห็นตรงนี้ ไม่เห็นจิตกับกิเลสนี้ จิตกับกิเลสนี้เป็นตัวเจ้าวัฏจักร พอทำลายลงตรงนี้ไปแล้วถึงได้กลับไปสอนปัญจวัคคีย์ ให้ปัญจวัคคีย์น้อมใจลงฟัง

“กิจที่ทำเราได้ทำแล้ว” กิจที่ทำ เห็นไหม ญาณ สัจจญาณ ญาณที่เกิดขึ้นแล้ว กิจที่ทำเราได้ทำแล้ว จนสำเร็จไปแล้ว ทำจนงานนั้นสำเร็จลุลวงไปทั้งหมด ถึงได้ย้อนกลับมาสอนปัญจวัคคีย์

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสอย่างหยาบๆ กิเลสกับใจ นี่กิเลสกับใจอยู่ด้วยกันตรงนั้น กิเลสกับขันธ์นี้เราชำระเข้าเป็นชั้นๆเข้าไป แต่กิเลสกับใจ สิ่งที่เห็นใจตัวนั้นน่ะ ใจเห็นใจไง ใจเห็นใจจะเห็นใจได้อย่างไร นี่ว่าตอของจิต ตอของจิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์เป็นขันธ์ ขันธ์นี้เราต้องจับต้องเข้าไปได้ เพราะขันธ์เป็นความคิดไง ความคิดกับความคิดมันหยาบ มันหยาบหมายถึงว่ามันจับต้องเป็นอารมณ์ได้ แต่สิ่งที่ว่าเป็นไฟสุมขอน เป็นกิเลสที่ว่ามันร้อน พลังงานที่มันร้อนอยู่ในตัวของมันเอง สิ่งที่เป็นพลังงานร้อนอยู่ในตัวมันเอง แล้วเอาอะไรไปจับ

นี่มันถึงว่าละเอียดสุดไง สิ่งที่ละเอียดๆ เราก็ทำลายหมดแล้ว อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ทำลายหมดแล้ว แต่สิ่งที่ละเอียดสุดนี้ใครจะไปเห็นได้ ถึงว่าศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาที่ประเสริฐมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์มาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว ศาสดาในศาสนาต่างๆ ไม่มีศาสดาองค์ใดว่าสิ้นกิเลสเลย ก็สอนกันไป

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง สยัมภู เพราะสร้างบุญญาธิการ เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบุญกุศลมาเพื่อจะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาเกิดมาแล้วก็ยังมีกิเลสพาเกิด แต่เพราะมีความมุ่งมั่นอย่างนั้น ใจนี้ถึงได้แยกออกไประหว่างกิเลสกับธรรม แยกเอาธรรม

เราเกิดมาแล้วเราพบพระพุทธศาสนา เราก็มีกิเลสมาเหมือนกัน เราจะเชื่อกิเลสหรือเราจะเชื่อธรรม ถ้าเราเชื่อธรรม เชื่อธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไปแล้ว เราถึงว่าเราเป็นคนที่ประเสริฐ เพราะเกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนาแล้วไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ ไม่เกิดตายเปล่าๆ เกิดมาแล้วก็ตายไปเปล่าๆ ชาติหนึ่งภพหนึ่งตายไปโดยไม่ได้จับสิ่งใดติดไม้ติดมือในศาสนา สิ่งที่เราจับต้องไม่ได้เลย เห็นไหม ถึงว่าเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วมีธรรมอยู่แล้ว ถึงว่าเราเป็นสาวกะ เราไม่ได้สร้างบุญญาธิการมาเป็นพุทธภูมิก็จริงอยู่ ถ้าอย่างนั้นที่ว่าจะเอาแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะท่านสร้างพุทธภูมิมา ถ้าอยากตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องสร้างมา

สาวกะ เราเป็นสาวกะ เกิดมาท่ามกลางพุทธศาสนา ศาสนามีแล้ว พุทธศาสนามีอยู่ ธรรมะมีอยู่ สาวกะ แต่สาวกะก็ทุกข์เหมือนกัน สาวกะก็ต้องหาทางออกเหมือนกัน สาวกะคือผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ผู้ที่มีธรรมอยู่แล้ว สิ่งที่มีอยู่ มันน่าคิดตรงนี้ สิ่งที่ไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังแสวงหาจนพบ ยังแสวงหาจนพบนะ แล้วตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วยังสอนครูบาอาจารย์ก้าวเดินตามกันไป ก้าวเดินตามกันไป เดินตามกันไป แล้วเราเป็นใคร เราเป็นใคร

เวลาพูดถึงคุณงามความดี พูดถึงธรรม ทุกคนอยากจะได้ธรรมสูงๆ ทุกคนอยากได้คุณงามความดีใจในหัวใจ แต่มันต้องแลกมาด้วยความเพียรสิ แลกมากับความเพียร ความจงใจของเรา ความเพียร ความอุตสาหะของใจ เห็นไหม ของใจนะ ไม่ใช่ของกาย ของกายนี้อาศัยไปเท่านั้น

ดูสิ อย่างการอดอาหาร องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหารมาก่อน ๔๙ วัน แล้วบอกว่าทางอดอาหารนี้ไม่ควรทำ ไม่ควรทำเพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดมาแล้วมันไม่ใช่ ไม่ใช่ตรงไหน? ไม่ใช่ตรงที่องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหารเฉยๆ ไง เราอดอาหารไปเฉยๆ แล้วเราคิดว่าการอดอาหารนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ถ้าอย่างนั้นคนที่เขาไม่มีกินมีใช้เขาอดอยู่ ทำไมเขาไม่ประเสริฐล่ะ

การอดอาหารเฉยๆ เพราะว่าความยังไม่มีธรรมอยู่ ยังแสวงหาทางออกอยู่ ก็ลองทุกวิธีการ แต่ในเมื่อปัจจุบันนี้ธรรมนี้มีแล้ว องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า การอดอาหารนี้ถ้าเป็นวิธีการดัดกิเลส ถ้าเป็นวิธีการเป็นอุบายวิธีการตถาคตอนุญาต...อยู่ในบาลี อนุญาตให้เราดัดตน ไม่ให้ร่างกายเรานี่ทับใจ

ร่างกายนี้จะเข็มแข็งขึ้นมา ร่างกายแข็งแรงขึ้นมา เรากินมาก เรากินให้ร่างกายอิ่มมาก เรานั่งเราก็จะนั่งหลับ มันจะทำให้หัวใจนี้โดนธาตุขันธ์นี้กดถ่วงอยู่ ถึงบอกว่าความเพียรของใจ ความเพียรของใจต้องอดนอนผ่อนอาหารเพื่อให้ร่างกายนี้เบาลง ร่างกายปกติของเรามันมีพลังงานเหลือใช้มาก พลังงานเหลือใช้มากมันทำให้เรานั่งไปแล้วสิ่งที่จะเป็นประโยชน์มันไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์เพราะว่ามันง่วงเหงาหาวนอน มันไม่ประโยชน์

พอเราจะอดนอนผ่อนอาหาร การอดนอนผ่อนอาหารมันก็ไปขัดกับกิเลสแล้ว พอไปขัดกับกิเลสมันก็ไม่อยากทำแล้ว ถึงบอกความเพียรของใจต้องอาศัยใจเหมือนกัน ความเพียรของใจต้องเกิดจากใจ ภาวนามยปัญญาเป็นภาวนามยปัญญาที่เกิดที่ใจนะ

ธรรมนี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรม ธรรมารส วิมุตติรสสูงที่สุดในธรรมารสรสนี้ อะไรสัมผัส อะไรสัมผัสธรรมอันนั้น ความจำเหรอ? ไม่ใช่ ความจำเราก็จำแล้วอ่านมาจนกระดาษพับทะลุแล้ว มันไม่เห็นมีความรู้แจ้งมาตรงไหนเลย แต่ถ้าภาวนามายปัญญาเข้าไป จิตนี้สัมผัสเข้าไป มันอ๋อ! เอง ถึงใจนี้ต่างหากสัมผัสธรรม

ความเพียรของใจ ใจนี้ก้าวเดิน ใจนี้วิปัสสนา ใจนี้คิด ไม่ได้คิดด้วยสมองหรอก สมองคิดก็คิดไปเถอะ สมองคิด คิดไปแค่สมอง แค่วิทยาศาสตร์ แต่เวลาวิปัสสนาเข้าไปนะมันลึกล้ำมาก มันลึกล้ำกว่าความคิด ความคิดที่ว่าเราเคยคิดเคยคาดเคยหมายไว้ เป็นไปไม่ได้ เห็นไหม ความคาดความหมายนี้เกิดจากสมองทั้งหมด เกิดจากสมอง เกิดจากความจำ เป็นสัญญา สัญญาคือของเก่ากิเลสมันหัวเราะเยาะไง เพราะสัญญานี้มันก็เป็นเครื่องมือของกิเลสอยู่แล้ว แล้วเราเอาเครื่องมือของมันคือสัญญามาใช้เพื่อจะชำระมัน มันหัวเราเยาะ ๒ ชั้น ๓ ชั้นน่ะ เพราะมันเป็นสัญญา มันไม่ใช่เป็นภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาเกิดที่ใจ ถึงว่าความเพียรของใจ ความเพียรของใจก็แก้ใจได้ ถ้าความเพียรของสมองมันก็แก้แค่เลือดสูบฉีดแรงหน่อยหนึ่ง ความคิดอะไรเกิดมานี่มันพออกพอใจนะ ร่างกายนี้สูบฉีดเลือด เพราะมันเป็นสมอง มันอยู่ร่างกายนี้ แต่ถ้าเป็นความเพียรของใจ ใจมันทุกข์ ใจมันร้อน ใจมันโดนบีบบี้สีไฟ แล้วใจมันก็หาทางออก เห็นไหม ใจเรานี่ประเสริฐสุด

คนเราเกิดมาถึงมีกายกับใจ คนที่ยังมีลมหายใจอยู่ถึงเป็นผู้ที่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ คนที่ตายเท่านั้น ในสมัยพุทธกาลมีนะ พระที่ปฏิบัติอยู่ เสือกินอยู่ ขนาดถึงข้อเท้ายังไม่สำเร็จ ถึงเข่า ถึงเอวนะ ตายท่ามกลางปากเสือแล้วเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เห็นไหม ถ้ายังมีหัวใจอยู่ ถ้ายังมีใจอยู่ขณะใกล้จะตายก็วิปัสสนาไปเรื่อย ขาดได้ไง ถ้าใจยังอยู่

แต่ถ้าตายไปแล้วนะ ถ้าใจขาดไปแล้วนะ อุทกดาบส อาฬารดาบส พระพุทธเจ้าตรัสรู้อยากจะสอนอาฬารดาบสก่อน โอ๋ย! ตายไปแล้ว เสียดายเหลือเกิน นี่พอตายไปแล้วโอกาสไม่มี ในเมื่อยังมีใจอยู่ ใจนี้จะสัมผัสธรรมได้ ใจเรายังมีอยู่เราต้องขวนขวาย ขวนขวายในธรรม ไม่ใช่ขวนขวายในกิเลส ขวนขวายในกิเลสเราจะทำหรือไม่ทำก็เท่านี้ อนาคตเราก็เท่านี้ เพราะว่ามันมีเกิดและมีตาย การเจริญและการเสื่อมของวัตถุนิยมเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน

โลกนี้คือหมู่สัตว์ สมบัตินี้เป็นของโลก ใครมีปัญญาขึ้นมาก็หามาใส่ตัวได้มากได้น้อยก็อยู่ที่ปัญญาของคนคนนั้น แต่มันก็เป็นสมบัติของโลกที่ผลัดกันใช้ ไหว้วานกันเท่านั้นเอง เปลี่ยนมือไปมา เปลี่ยนมือไปมา นั่นสมบัติของโลก

แล้วเรายังมีหัวใจอยู่ สมบัติของใจล่ะ สมบัติของใจเป็นความสุขความทุกข์ที่แท้ไง ความสุขความทุกข์ที่แท้ บุญกุศล ทานบารมี การถวายทานยังอาศัยไปชาติหน้าชาตินี้ขับเคลื่อนไป นี่ทาน ทาน เพราะทานสละทานออกไปแล้วเป็นทิพย์สมบัติ เป็นอริยทรัพย์ ตายไปแล้วไปเสวยบุญกุศล แต่มันก็ขับเคลื่อนไป

แต่ถ้าถึงเมืองพอ กิเลสมันขาดออกไปจากใจ พอกิเลสขาดออกไปจากใจ การเกิดและการตายไม่มี เพราะการตายหลอกกัน มันไม่ตายตั้งแต่ตอนนั้นน่ะ นี่ใจถึงสัมผัสได้เดี๋ยวนี้เลยนะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระ เป็นพระนะ หลวงปู่มั่นก็เป็นพระ เป็นพระเป็นมนุษย์นี่แหละ ทำไมเทวดามาฟังธรรมล่ะ เป็นเทวดาอยู่ทำไมต้องมาฟังพระ พระสอนอยู่ เพราะอะไร เขาควรจะเหนือมนุษย์สิ

นี้เราปรารถนากันว่าเราตายแล้วเราเกิดอยากเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอะไร เกิดไปแล้วไปอยู่ในท่ามกลางความสุขอันนั้น ทิพย์สมบัตินั้นให้เพลินอยู่ในนั้นเหรอ เพลินอยู่อย่างนั้นเดี๋ยวก็กลับมาทุกข์อีก ความเกิดมาทุกข์อีก แหยงไหม

เราเคยทุกข์มาแล้วเราผ่านความทุกข์มา ผ่านความทุกข์นั้นมาแล้วเราไม่อยากกลับไปเจออีกเลย แต่นี่ไม่อย่างนั้นนะ ปัจจุบันนี้ก็ทุกข์ เพียงแต่ว่าจะให้พ้นทุกข์ไปเหมือนกับคนอยู่กลางแดดจะเข้าที่ร่ม เดี๋ยวก็ออกมาแดดอีก การเกิดและการตายเหมือนเข้าร่มแล้วออกแดดนี้เท่านั้นเอง มืดแล้วสว่าง มันไม่มีอะไรจริงจังในวัฏฏะนี้เลย

ถึงบอกให้วิวัฏฏะไง ให้วิวัฏฏะให้ออกไปจากทุกข์นี้ให้ได้ ศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาที่ประเสริฐ ประเสริฐมากๆ ประเสริฐถึงว่าทำให้ใจนี้พ้นไปจากการเกิดและการตายได้ ได้จริงๆ ได้ที่ปัจจัตตังรู้จำเพาะหัวใจดวงที่ประพฤติปฏิบัตินั้นเท่านั้น ดวงใจที่ประพฤติปฏิบัติเป็นของดวงใจนั้น บอกกัน สอนกัน ด้วยสุตตะ ด้วยจินตะ อันนั้นก็สอนแค่ชี้แนวทาง องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ทางให้สาวกให้บริษัท ๔ เดินเท่านั้น ชี้ทางไปสู่นิพพาน คนเดินไปถึงก็มี คนไม่เชื่อไม่เดินเลยก็มี คนเดินไปครึ่งทางก็มี

นี้เราก็เหมือนกัน ในเมื่อธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกนี้ยังเป็นตู้อยู่ เราอ่านพระไตรปิฎกแล้วเราก้าวเดินตามนั้น อ่านพระไตรปิฎกนะ ไม่ใช่จำพระไตรปิฎก อ่านแล้วก้าวเดินตามนั้น

ถ้าจำแล้ว จำคือความจำ คือสัญญา สัญญาคือแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าก้าวเดินไป จิตนี้สัมผัสไปเรื่อย ผิดถูกนี้เป็นครูไปตลอด ความผิดความถูกของใจ ความผิดความถูกที่ใจสัมผัสนั้นมันจะซับเข้ามา ซับเข้ามา แล้วก็ซับเข้าไป ไปสะเทือนถึงของเก่า ของเก่าคือของที่สะสมมา จิตตัวที่สะสมมา เห็นไหม จูฬบันถกจะไปสึก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ลูบผ้าขาวนะ ลูบผ้าขาว ลูบผ้าขาวไปสะเทือนถึงของเก่า สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทันทีเลย จูฬบันถกนั่นน่ะ นั่นสะเทือนของเก่า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ถึงอดีตแต่ชาติ รู้ถึงการสะสมของจิตแต่ละดวงมา แต่เพราะเดี๋ยวนี้พระเข้าไม่ถึงตรงนั้น ถึงว่าแล้วแต่ใครจะพยายามขวนขวายด้นดั้นเข้าไป ความด้นดั้น ความด้นความดั้นเข้าไปในใจของตัวเอง เข้าไปแก้ไง เสืออยู่ในถ้ำ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ในคูหาของใจ คูหาของใจอยู่ที่เจ้าวัฏจักรครองใจอยู่ คูหาของใจคือกลางหัวอกนี้ กลางหัวอกของทุกๆ ดวงใจ ที่จะเข้าไปกำจัดนะ เอวัง

เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์

ปากของเขาปากสกปรก ปากสกปรกกับปากสะอาด ปากสะอาดคือปากพระพุทธเจ้า เอ็งทำนี่มันอยู่ที่เอ็งได้ เป็นคนได้เองเพราะเราเป็นคนทำ เขาไม่ได้ทำกับเรา เขาเอาอะไรมาได้ ถ้าเขาไม่ได้ ไอ้คุณค่าเขาว่าถ้าทำอย่างนี้เวอร์เกินไปแล้ว ทำของเขาเขาได้บุญ เขาไม่ทำแล้วเขาเจริญน่ะ

ไอ้เจริญนั้นเป็นสมบัติเดิม แต่หัวใจไม่เหมือนกัน เอ็งทำนี่นะ ที่ว่าได้หรือไม่ได้นี่ใจเอ็งรู้เอง เมื่อก่อนย้อนไปความคิดเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ความคิดเอ็งเป็นอย่างไร นี่ความคิด คือว่าผลของมันที่เราได้ไง นี่เราได้เอง แต่สิ่งนี้ไม่มีใครมองเห็น เขาถึงได้เอาการค้า เอาเรื่องแบงก์มาวัดกันไง เขาวัดกันตรงนั้นใช่ไหมว่าทำอย่างนี้แล้วต้องเจริญ

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ขนาดว่าเวลามันลดลงมายังหายไปเลย เงินหายหมดเลย จนมากินข้าว ข้าวกับอะไร? ข้าวกับน้ำผักดอง อนาถบิณฑิกเศรษฐี แต่ก็กลับมาอีก นั่นน่ะ เขาก็ว่าอย่างนี้ จนลัทธิศาสนาอื่นๆ เขามาติชมไง ติว่า ดูสิ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ธรรมพระพุทธเจ้าขนาดนี้นะ สร้างวัดทั้งวัดเลย ทำไมทุกข์ยากขนาดนั้น พระพุทธเจ้าบอกพวกนั้นมันตาบอด คนมีขึ้นมีลง พระพุทธเจ้าบอกว่า ถึงจุดหนึ่งแล้วอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะกลับมาอีก

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราทำบุญของเราอยู่ บุญกุศลมันเป็นของของเรา ของเขานี่เขาได้อะไร ถ้าเรายังไปเชื่อเขาอยู่ เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เอ็งไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เอ็งไปเชื่อเขา นี่คือว่าปากเขาสกปรก ทีนี้วกกลับมา วกกลับมาที่ว่าทำให้การค้าเราเสีย การค้าเราเสียจริงหรือเปล่า ตอนนี้ช่วงนี้มันเป็นการค้าที่ว่าเจริญ โลกเขาเป็นอย่างไร

ถ้าการค้ามันก็เป็นส่วนหนึ่ง ปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ นี่เครื่องอยู่อาศัย แต่ปัจจัย ๔ กับหัวใจมันต่างกัน ทีนี้เอ็งมาอย่างนี้ ความจริงเขาต้องชมด้วย ถึงว่าเวอร์เกินไป เวอร์เกินไป เอาอะไรมาเวอร์ เอาอะไรมาวัดกันเวอร์หรือไม่เวอร์ เอาอะไรมาวัดกัน? มันไม่มีอะไรมาวัดได้

โยม : ...แม้แต่เมื่อกี้คุยกับน้องสาว น้องสาวก็ยังเล็กใช่ไหม เขาบอกว่าเขาทำใจไม่ได้...

หลวงพ่อ : เขาต้องชม ตรงนี้เขาต้องชมแล้วว่าเชาวน์ปัญญามันเกิดขึ้นมาจากอะไร นี่ตรงนี้มันแสดงออกแล้วว่าเอ็งพูดได้ ในมุมกลับที่น้องสาวพูดเมื่อกี้เอ็งก็เอาตรงนี้ไปจับสิ น้องสาวเขาพูดได้อย่างเอ็งนี่แหละ เขาทำได้หรือเปล่า? ทำไม่ได้หรอก ความตายนี่ทุกคนกลัวมากนะ ความตายนี้เป็นเรื่องใหญ่โตมาก เรื่องของการเกิดการตายนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เพราะเขาไม่ได้สัมผัสกับตัวเขา

โยม : เขาบอกเขา...

หลวงพ่อ : เขาไม่ได้สัมผัสกับตัวเขา

โยม : ...ยังไม่ได้อยู่บนเวที...

มันได้ระดับหนึ่ง ไม่กลัวได้ระดับหนึ่งไง เข้มแข็งสิ เพราะชีวิตเขาผ่านมามาก ชีวิตเขาต้องผ่านมา ผ่านมา ไอ้การผ่านมานี่ใจมันสัมผัสมาเรื่อยๆ ไอ้ตายไม่ตายมันเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องกลัวตายไม่กลัวตาย คนเรามันต้องตายหมด ไอ้ที่ว่ากลัวๆ นี่ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)