คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อันนี้ประเด็นแรก แล้วมีประเด็นนี้อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อวานเขาพูดเรื่องสมมุติ เอาประเด็นนี้ก่อน เวลาพระที่ภาวนาไม่เป็นหรือภาวนาแล้วแต่คนมีกิเลส คำว่า กิเลส คืออวิชชา อวิชชามันไม่รู้จักข้อเท็จจริง แต่มันเหมือนไฟ เราจุดไฟ เรารู้ว่าไฟมีคุณมีโทษ ถ้าไฟเราเผาขยะ หรือไฟเรามาใช้ประโยชน์ ไฟจะเป็นประโยชน์ ถ้าไฟมันเผาบ้าน มันจะเผาบ้านเผาเรือน เผาไปหมดเลย เพราะเราเป็นเจ้าของมัน เรารู้ใช่ไหม แต่ตัวไฟมันไม่รู้หรอก ไฟมันซื่อสัตย์ มันเจอเชื้อมันจะเผาไปหมด
อวิชชาก็เป็นอย่างนั้น มันเหมือนไฟ มันไม่รู้เรื่องอะไรหรอก มันมีหน้าที่คือตัวพลังงานนั้นออกไปเพื่อสื่อเป็นความคิดไปเรื่อยๆ มันไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น หน้าที่ของมันคือไฟมันเผาผลาญไปตลอดเวลา นี่อวิชชา ทีนี้พอมีอวิชชาอย่างนั้นปั๊บ ทีนี้มันปฏิบัติใช่ไหม พอมาปฏิบัติ เวลาศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามาว่าดูจิตๆ
ดูจิต โดยธรรมชาติมันเป็นไปไม่ได้หรอก ดูจิตนะ หลวงปู่เจี๊ยะจะพูดไว้บ่อย แบบว่าทำจิตไว้เฉยๆ แช่ไว้อย่างนั้น กำหนดแล้วดูไว้ กำหนดไว้เฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้ ทีนี้พอมันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม แต่พวกเราโดยสามัญสำนึก พวกเราแค่มาทำทาน แค่มาเสียสละก็ว่าเก่งแล้วนะ เพราะทางโลก ธรรมดาของกิเลสมันตระหนี่ มันอยากได้ มันไม่อยากให้ใคร มันอยากจะได้ แต่ถ้าได้นี่เป็นคุณงามความดีของมันใช่ไหม นี่พูดถึงเรื่องของทาน
เราจะบอกว่าธรรมะมันมีหลายซับหลายซ้อนไง ธรรมะมีหยาบมีละเอียด แม้แต่ดูสัตว์มันก็มีธรรม พ่อแม่สัตว์มันจะรักลูกมัน ดูสิ นกกามันจะเลี้ยงลูกมัน มันจะดูแลลูกมัน มันจะฝึกลูกมันจนลูกมันเลี้ยงตัวเองได้ มันจะปล่อยลูกมัน นี่เป็นธรรมไหม แต่ธรรมนี้เป็นธรรมอะไรล่ะ ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ เราค้านมาก
ทีนี้ย้อนกลับมา ในเมื่อเรามีอวิชชา คือเราไม่รู้จริงว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ทีนี้พอเรามีประสบการณ์อะไร ดูอย่างเราไปเที่ยว ไปเที่ยวชายทะเล ไปเที่ยวสิ่งที่มันแปลกประหลาด ไปถึง เราจะตื่นเต้นมากเลย แต่ชาวทะเลเขาอยู่ที่นั่นทุกวันๆ นะ เขาชินชา เขาไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเป็นอาชีพเขา เขาอยู่ทุกวันใช่ไหม เขาอยู่เป็นธรรมดาของเขา แต่เราไปเห็นเข้า โอ้โฮ! เราจะ โอ้โฮ! มันสวยมาก ชื่นใจมาก
ในการปฏิบัติ เวลาจิตเรามันพัฒนาขึ้นไปมันถึงเข้าใจว่าว่างๆ ว่างๆ ไง แต่ความจริงมันยังไม่ใช่ พอไม่ใช่ปั๊บ มีพระอยู่ เราก็ว่าเดี๋ยวจะจัดการอยู่ บอกว่าให้วางจิตไว้เฉยๆ เพราะจิตมันเป็นพุทโธอยู่แล้ว ให้วางไว้เฉยๆ
วางไว้เฉยๆ ดูเฉยๆ เหมือนเรา เราฟุ้งซ่าน เรามีความฟุ้งซ่าน มันมีความเครียดในหัวใจ เราทำใจเราสบายๆ มันสบายไหม ทีนี้โดยสามัญสำนึกพวกเรา เราไม่เข้าใจ เวลาเราทำ กำหนดจิตไว้เฉยๆ มันก็ว่างได้ ท่านบอกเลย ท่านทำอย่างนี้มันว่าง มันปล่อยได้เหมือนกัน เป็นสมาธิได้ แต่วันสองวันก็เสื่อมๆ แล้วพอนานไปๆ ท่านถึงว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ ถึงว่า อ๋อ! มันขาดคำบริกรรม ท่านถึงมาใช้คำบริกรรม พอคำบริกรรม มันจับคำบริกรรม มันมีเหตุไง เหมือนเราทำงานอยู่ตลอดเวลา นักกีฬามันฝึกซ้อมตลอดเวลา เรื่องร่างกายมันต้องแข็งแรงเป็นธรรมดา แต่นี้มันเดินเล่น มันทำอะไรมันก็นึกว่ามันฝึกซ้อมไง ดูจิตไว้เฉยๆ ดูจิตไว้เฉยๆ มันดูของมันเฉยๆ แล้วมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ เพียงแต่คน ตรงนี้มันอยู่ที่วุฒิภาวะ คนเรามันจะจริงไม่จริง ถ้ามันจริงมันจะเลือกเองว่าอะไรดีหรืออะไรไม่ดี
แต่พวกเราเหมือนเด็กๆ เหมือนเด็กๆ นะ พอมันดูจิตขึ้นมา พอมันว่างๆ ว่างๆ มันก็ใช่ แล้วมันเสื่อมไหม มันยิ่งกว่าเสื่อมอีก มันยิ่งกว่าเสื่อมคืออะไร คือว่ามันคงที่ไม่ได้ มันอนิจจัง พออนิจจังปั๊บ เขาคาดการณ์ เวลารู้เห็นอะไรหน่อยหนึ่ง พอรู้เห็นปั๊บเป็นโสดาบัน รู้เห็นอีกทีหนึ่งก็เป็นสกิทาคามี พระผู้ที่ปฏิบัติไม่เป็น ผิดตรงนี้ ผิดตรงนี้ไง เหมือนจิตมันสงบทีหนึ่งก็ว่าเป็นโสดาบัน จิตมันสงบทีหนึ่งก็เป็นสกิทาคามี จิตสงบทีหนึ่งก็เป็นอนาคามี จิตสงบอีกทีหนึ่งก็เป็นพระอรหันต์ แล้วเขาจะรักษาใจอย่างนี้เอาไว้ นี่ความเป็นพระอรหันต์ของเขา พระอรหันต์นึกเอา มันเป็นไปไม่ได้
แต่เวลาครูบาอาจารย์อย่างหลวงตาท่านเป็นของจริง เวลาผู้ที่สอนปฏิบัติท่านจะบอกว่า ไม่เชื่อไปฟังหลวงตาสิ เทียบหลวงตาสิ หลวงตาก็ดูจิต แต่คำที่หลวงตาดูจิตนี่นะ ท่านจะบอกว่าดูแล้วมันผิด ท่านยกเป็นตัวอย่างที่ผิด แต่คนที่ปฏิบัติไม่เป็นนึกว่าเป็นตัวอย่างที่ถูกไง เพราะหลวงตาก็พูดเหมือนกัน แต่หลวงตาท่านพูดในเชิงลบว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ท่านพูดไหม? พูด พอท่านพูดปั๊บ คนก็จะอ้างว่าหลวงตาก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน แต่ไอ้คนที่เข้าไปวินิจฉัยไม่รู้ว่าหลวงตาพูดในเชิงที่ลบหรือพูดในเชิงบวก แต่พูดไหม? พูด ไม่เชื่อไปฟังที่หลวงตาพูดสิ ว่าให้กำหนดดูจิตไว้เฉยๆ กำหนดดูจิตไว้เฉยๆ แล้วมันเสื่อมไป มันคงที่ไม่ได้ เพราะมันไม่มีหลัก ต้องมีคำบริกรรม
แล้วทำไมเขาไม่เสื่อม
เขาเสื่อม แต่เขาไม่รับรู้ เขาเสื่อม คนที่หลงพยายามจะให้ค่ามันไง เวลาเสื่อมก็หาเหตุผลว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ แล้วบอกว่ามันไม่เสื่อม แต่ความจริงเสื่อม ตรงนี้เราถึงบอกอินทรีย์พละ อินทรีย์พละคือว่าเหมือนเรามีวุฒิภาวะจะรับรู้ได้ไหม อย่างเด็กมันเล่นอยู่นี่ มันไม่รู้หรอกว่าอะไรเจริญแล้วเสื่อม มันสนุกไปวันๆ หนึ่ง แต่ผู้ใหญ่รู้ว่าเราจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้หรอก เราจะต้องโตขึ้นมา เราต้องมีอาชีพ เราต้องหาอยู่หากิน แต่เด็กมันคิดว่ามันจะสบายไปตลอดชีวิตนะ เด็กน่ะ
อันนี้ก็เหมือนกัน พอเราดูไว้เฉยๆ เราก็คิดว่าเราเฉยๆ ไง มันเป็นวุฒิภาวะของใจของเขา แต่พอเราฟังดูแล้ว คนหนึ่งว่าผิด แล้วทำไมเขาไม่เข้าใจว่าเขาผิดล่ะ
นี่เราลืมไป ลืมไป ไม่เข้าใจว่าคนหลง ถ้าคนหลงคือคนไม่รู้ คนไม่รู้มันจะรู้ขึ้นมาได้อย่างไร ทีนี้พอไม่รู้แล้ว ถ้ามันเป็นโดยธรรมชาติ คนรู้หรือไม่รู้ มันแยกได้ว่ารู้หรือไม่รู้ใช่ไหม แต่เพราะมีกิเลส มีทิฏฐิ มีกิเลสไง มีกิเลสว่าอันนี้มันเป็นความถูกต้อง ก็เลยหาเหตุหาผลมารองรับ หาเหตุหาผลในความรู้สึกของตัวมารองรับสภาวะแบบนี้ว่านี่คือโสดาบัน นี่คือสกิทาคามี นี่คืออนาคามี แต่เป็นภาวะรองรับที่ผิด
ทีนี้พออธิบายไป เวลาเราอธิบายไป คนรู้จริงเท่านั้นถึงจะชี้ถูกชี้ผิดได้ ทีนี้คนที่ไม่มีวุฒิภาวะ เวลาเขาอธิบายว่ามันว่างๆ อย่างนี้ มันถูกต้องอย่างนี้ แล้วเราไม่มีวุฒิภาวะ เขาพูด เราจะเอาอะไรไปโต้แย้งเขาล่ะ
มันสำคัญตรงนี้ไง สำคัญว่าเวลาคนที่ไปคุยกับเขา ไม่มีใครสามารถเอาข้อเท็จจริงไปโต้แย้งกับเขาได้ แต่พวกนี้กลัวมาก กลัวคนที่รู้จริง กลัวมากๆ เพราะคนรู้จริงเหมือนหมอ หมอมันวิเคราะห์มันวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ถ้าเข้าไปหาหมอ หมอวินิจฉัยได้เลยว่าโรคนี้เป็นอย่างไรๆ วินิจฉัยได้ถูกต้อง เขาถึงไม่กล้าเข้าไปหาหมอไง
มีพระมากเลยจะไม่กล้าเข้าไปหาหลวงตา ถ้าเข้าไปหาหลวงตานะ เสร็จทันที เฉียดไปเฉียดมา ไปได้ทุกองค์นะ ที่ไหนนะ เขาจะไปอวดตัวได้ทุกที่เลย แต่ไม่กล้าเข้าไปหาหลวงตา ถ้าเข้าไปหาหลวงตาทีเดียว จบ เป็นอันว่าจบ ฉะนั้น เขาจะหลบหลีกๆ ตลอดเวลา นี่คือพฤติกรรม จริงๆ ที่ว่านี่เขารู้ เขารู้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะความไม่กล้ามันบอก ความไม่กล้า ความหลบหลีก มันก็รู้อยู่แล้วว่าเราไม่จริง ของจริงมันทำไมต้องหลบหลีกใช่ไหม
อย่างเราปฏิบัติ เวลาไปหาครูบาอาจารย์ เราจะทำความคุ้นเคยก่อน เพราะเราอยู่ในสายปฏิบัติ เราจะไปพูดอะไรที่ท่านยังไม่สนิท บางทีท่านไม่พูดออกมา จะต้องไปทำข้อวัตรก่อน ไปสรงน้ำท่าน ไปอุปัฏฐากท่าน อุปัฏฐากจนสนิท จนแบบว่าน่าไว้ใจแล้วเราถึงเริ่มถามธรรมะ มันจะออกดี แต่ถ้าเราไม่คุ้นเคยกับท่าน ท่านก็พูดธรรมะอยู่ แต่มันไม่ลึกซึ้ง ไม่ลึกซึ้ง ไม่เปิดใจ ว่าอย่างนั้น เราต้องไปทำความคุ้นเคย คุ้นเคยแล้วถาม
ปัญหาที่เราเอามาพูดๆ อยู่นี่ เราถามครูบาอาจารย์มาเยอะ เพราะว่าเราจะศึกษามาก่อนเลย อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ คนที่จะพูดเรื่องหลวงปู่เสาร์ได้สนิทก็หลวงปู่บัวพา หลวงปู่บัวพา หลวงปู่อะไรที่อุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์มา เราก็ไปหา ไปอยู่กับท่าน แล้วคุยถามท่านว่านิสัยใจคอ แนวทางท่านสอนอย่างไร
อย่างหลวงปู่มั่นเรา ก็หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะนี่ถามเลย ผมอ่านหนังสือ บอกว่าตอนอยู่บ้านผือแล้วพญานาคมาฟังเทศน์ พอฟังเทศน์เสร็จแล้วจะกลับ หลวงปู่มั่นบอกว่าให้ลงไปทำรอยไว้นะ เผื่อไอ้พระที่ตาบอดมันจะได้ดูอยู่บ้าง เราก็จำไว้ พอไปอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ ถาม ในหนังสือบอกว่าพญานาคมาทำรอยไว้ หลวงปู่เห็นไหม ถามหลวงปู่เจี๊ยะนะ
เห็นสิ
แล้วรอยมันเป็นอย่างไรล่ะ โอ๋ย! ถามเลยนะ รอยมันเป็นอย่างไรล่ะ
รอยมันทำลงจากกุฏิไป แล้วเลื้อยไป ท่านบอกว่ารอยมันเหมือนรอยงู แต่มันใหญ่กว่า รอยงูเลื่อยไป แต่มันใหญ่กว่า รอยใหญ่
เราจะถามปัญหาใคร เราจะศึกษาเรื่องอะไร เราก็ต้องศึกษาของเราเหมือนกันว่าผู้ที่รับตกทอดมามีใครบ้างๆ แล้วถ้าเป็นคนอื่น คนอื่นเขาจะพูดไปอีกแนวทางหนึ่ง คนอื่น แบบประสาเรา เราไปประสบอุบัติเหตุมา เราจะบอกได้เลยว่าเราประสบอุบัติเหตุ โอ้โฮ! มันมีความระทึกใจขนาดไหน แล้วเราเล่าให้คนอื่นฟัง คนอื่นไปเล่าต่อไม่มีความหมายหรอก มันไม่ใช่เจอด้วยตัวเอง
ทีนี้พระที่เขาแอบอ้างอย่างนี้มันมีเยอะ แต่จริงๆ แล้วไม่กล้าเข้าหา ไม่กล้าเข้าหา แล้วพวกนี้นะ เสียโอกาสมาก เราประพฤติปฏิบัตินะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะปีสองปีแรกที่อวิชชาดับต้องเป็นพระอรหันต์ แล้วก็กำหนดไว้ อยู่เฉยๆ จะไม่มีอวิชชา ไปถามใคร ใครก็ตอบไม่ได้ ไปเจอหลวงปู่จวน นั่นน่ะคนจริง อวิชชาอย่างหยาบสงบตัวลง เหมือนความฟุ้งซ่านเรา เรามันมีอารมณ์ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา แล้วเราใช้พุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราควบคุมความคิดได้ ความคิดฟุ้งซ่านก็คืออวิชชา คือความไม่รู้เรื่องความคิด พอมันปล่อยความคิดขึ้นมา อวิชชาอย่างหยาบๆ อวิชชาอย่างหยาบๆ เลยนะ อย่างเราทำผิดพลาด เราไม่รู้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ เราก็จะไม่เข้าใจเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติ ถ้าเราเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้วเราก็ไม่ตื่นเต้นไปใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องความคิดเราเลย เราฟุ้งซ่านอยู่ มันก็เป็นความฟุ้งซ่านใช่ไหม พอเรามีปัญญาไล่ตามทัน มันก็รู้ปรากฏการณ์ของความคิด มันก็ปล่อย มันก็เป็นปรากฏการณ์ความคิดเฉยๆ มันยังไม่เข้าถึงเนื้อหาสาระอะไรเลย นี่อวิชชาอย่างหยาบๆ
อวิชชาอย่างกลางล่ะ อวิชชาอย่างกลางเรายังควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะมันยังเกิดอยู่ แต่พอเรากำหนดบ่อยครั้งเข้า เราจะควบคุมตัวเองได้ พอควบคุมตัวเองได้ มันไม่คิดไป พลังงานมันสะสมขึ้นไป มันก็จะเป็นสมาธิขึ้นมา พอเป็นสมาธิขึ้นมา อวิชชาอย่างกลางก็สงบตัวลง แล้วปัญญาที่เข้าไปชำระอวิชชาอย่างละเอียดล่ะ
ถ้าคนเป็นมันจะเห็นขั้นตอนของการกระทำ มันจะเป็นชั้นเป็นตอนของมัน ถ้าคนไม่เป็นมันก็ถือว่าเป็นอันเดียวกัน ดูจิตก็จบ มันเสื่อมเด็ดขาด มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันไม่มีอะไรคงที่หรอก เว้นไว้แต่อกุปปธรรมเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นมา
เหมือนกัน เมื่อวานเขาถามบอกว่าเขาเห็นสมมุติ เขาภาวนาไปแล้วเห็นสมมุติ แต่ทำไมเขาทำอะไรไม่ได้เลยล่ะ เห็นสมมุติแล้วก็ไปแบบว่า ไปเงอะๆ งะๆ กับสมมุตินั่นน่ะ
เราบอกว่าเอ็งไม่เห็นหรอก สมมุติเอ็งไม่เห็นหรอก เอ็งสร้างสมมุติขึ้นมาต่างหาก
แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ
เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเขาไม่ได้ทำความสงบของใจ เขาไปเห็นสมมุติไง ความจริงชีวิตประจำวันเรานี่สมมุติ ความคิดทุกอย่างมันเป็นสมมุติในตัวมันเอง แต่เราไปคิดเรื่องสมมุติขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง
ความจริงคือข้อเท็จจริงเราเป็นสมมุติ สมมุติบัญญัติ พอเรามาศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า นี่คือบัญญัติ บัญญัติคือธรรมพระพุทธเจ้า ไอ้พลังงานที่คิด ตัวมันเป็นสมมุติเพราะมันเกิดดับ แต่พลังงานที่คิด ความคิดมันเป็นสมมุติอยู่แล้ว แต่เราไปคิดเรื่องอะไรขึ้นมา เรื่องที่เราคิดมานี่สมมุติใช่ไหม เราแต่งขึ้นมาเหมือนนวนิยายเลย เราไปสร้างสมมุติขึ้นมาอีกสมมุติหนึ่ง แล้วเราก็ไปดูสิ่งที่เราสร้าง คิดเรื่องราวที่เราสร้าง เรารู้ทันเรื่องที่เราสร้าง พอรู้ทันมันก็หยุด แต่ความจริงไอ้ตัวคิด ไอ้ตัวที่มันเป็นอยู่คือตัวสมมุติ ตัวมันน่ะ ตัวความคิดคือสมมุติ แต่เราไปคิดเรื่องขึ้นมา แล้วไปเห็นเรื่องขึ้นมา แล้วพอมันปล่อยแล้วมันทำอะไรไม่ถูก ทำอะไรไม่ถูกก็มาถามเรา มันเงอะๆ งะๆ ทำอะไรไม่ถูกเลย
เราบอกว่าไม่จริง เอ็งเห็นไม่จริง
แล้วมาถามว่าให้ทำอย่างไรต่อไป
ถ้าจะให้ทำอย่างไรต่อไป พุทโธ กำหนดพุทโธเข้าไป หรือปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา พลังงานไม่ใช่ความคิด ตัวพลังงานกับตัวความคิดกระทบกัน นั่นน่ะจะจับตัวสมมุติได้ ขณะที่เราไปเห็นเรื่อง ไปเห็นปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์มันจบไปแล้วใช่ไหม ดูสิ เราดูหนังดูอะไร ดูสิ เขาต้องสร้างหนังขึ้นมาให้เราดู เราไปดูเรื่องต่างๆ ขึ้นมา เราก็รับรู้ มันมีเหตุการณ์อย่างนั้น มันกระทบกันอย่างนั้น มีการปล้นชิงอะไรต่างๆ ก็ไปสมมุติขึ้นมาเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง
พวกอภิธรรมเขามาถามเรา เขาถามว่าเขากำหนดนามรูปมันผิดตรงไหน มันถูกเพราะกำหนดนามรูป
เราบอกผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะเราทำหนังสารคดี เราเป็นคนทำหนังสารคดีแล้วเรามาฉายให้พวกโยมดู โยมดูหนังสารคดีของเราใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า หนังเรื่องนี้ สารคดีเรื่องอภิธรรมเป็นของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สร้าง แล้วเราไปศึกษาธรรมพระพุทธเจ้าขึ้นมา
แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เราจะเป็นผู้สร้าง เราเองจะเป็นผู้สร้าง ทุกคนจะต้องเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง เหมือนเราไปดูหนังสารคดี หนังที่เขาทำมา พวกสารคดี เราเห็นแล้วมันน่าตื่นเต้นไหม แต่ถ้าเราไปถ่ายทำเองล่ะ ข้อมูลมันลึกกว่านั้นอีก เราไปถ่ายทำเอง เราสร้างขึ้นเอง เพราะอะไร เพราะปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน เราต้องรู้เอง เราต้องถ่ายทำเอง ไม่ใช่ไปดูหนังของเขา
กำหนดนามรูปๆ นามรูปนั้นเป็นของใคร นามรูปเป็นธรรมพระพุทธเจ้าสอนไว้เกิดดับนะ เกิดดับ อะไรเป็นเหตุให้เกิด อะไรเป็นเหตุให้ดับ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ แต่เขาไม่ได้ดูที่เหตุ เขาดูการเกิดดับ ดูปรากฏการณ์ของมัน อืม! ก็เห็น ดูสิ พระจันทร์ขึ้นลง ดูสิ พระจันทร์เต็มดวง ปรากฏการณ์ของมัน เราก็ได้ดูด้วยความชื่นบานนิดหน่อยนี่ไง
ทีนี้ในการปฏิบัติ เราพูด พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านวิธีการ ของใครของมัน ต้องรู้เองขึ้นมา ต้องจัดการเองขึ้นมา นี่เราไปดูปรากฏการณ์ คือว่าเหมือนกับพ่อแม่ให้เงินลูก พ่อแม่ให้เงินลูก ลูกยิ้มแป้นเลย ได้เงินไปใช้จ่าย แต่พ่อแม่หาเงินมาทุกข์นะ แล้วถ้าเด็กมันโตขึ้นมามันต้องหาเงินใช้ของมัน ถ้าหาไม่เป็นนะ มันจะอยู่ของมันไม่ได้
จิตก็เหมือนกัน ถ้าเราทำไม่เป็นนะ นามรูปเป็นธรรมะพระพุทธเจ้าไง ธรรมะพระพุทธเจ้านะ เหมือนเงินพ่อแม่ให้ลูก เราเกิดมาเป็นชาวพุทธเป็นสาวกสาวกะ เราอยู่ในวัฒนธรรมของชาวพุทธ เรามีบุญตรงนี้ไง ตกผลึกเป็นวัฒนธรรม ให้อภัยกัน ให้ทำแต่สิ่งที่ดีต่อกัน แล้วเรามาเกิดอยู่ในสังคมอย่างนี้ นี่ธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วเราศึกษาธรรม ศึกษาโดยสมมุติไง ศึกษาโดยเรา มันก็พลาดไปอีก
แต่ถ้าศึกษาแล้ว ศึกษานี่ปริยัติ ปฏิบัติ ปริยัตินี้เป็นการศึกษา ปริยัติคือการศึกษาธรรมพระพุทธเจ้า ปฏิบัติๆๆ ปรากฏการณ์ที่เราทำขึ้นมา มันต้องรู้จักปรากฏการณ์ที่มันทำขึ้นมา โทษนะ เหมือนพ่อแม่ ลูกเกิดจากพ่อแม่ แต่ธรรมะเกิดจากเรา เราต้องทำเองหมดเลย เราต้องเกิดในตัวมันเอง
พระพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่การประพฤติปฏิบัติ หัวใจเกิดเป็นพระพุทธเจ้าอีกทีหนึ่ง ขณะจิตที่มันเปลี่ยน ปรากฏการณ์ที่จิตมันเปลี่ยนเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี มันเปลี่ยนของมัน แล้วมันเปลี่ยนอย่างไร มันต้องมีความเป็นไป มันต้องทำเป็น ทีนี้ทำเป็น พอทำเป็น เราจะทำจริงๆ เราก็บอกว่ามันทุกข์มันยาก เหมือนที่ว่าปฏิบัติกัน ที่ว่าที่เป็นทหารเดินเป็นแถวๆ กัน นี่มันไปสร้าง ไปสร้างการกระทำอีกอันหนึ่ง แต่เวลาปฏิบัติมันต้องเป็นข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคลนะ
เราเดินจงกรมอย่างไร นั่งสมาธิอย่างไร แล้วเวลาจิตมันเป็น มันเป็นอย่างไร มันต้องเป็นของมันเอง มันจะเป็นของมันเอง ถ้าเป็นของมันเอง เป็นความจริงของเรา แล้วเสื่อมไม่เสื่อมเราจะรู้เลย แล้วเราไปเห็นของจริงของปลอม เหมือนแบงก์ เงินจริงเงินปลอมเอามาคู่กันสิ เงินอันไหนจริง เงินอันไหนปลอม มันเห็นใช่ไหม
แต่นี่มันไม่เห็น มันอยู่กับของปลอม แต่เข้าใจว่าจริง ก็ดูกันเฉยๆ นั่นน่ะ มันเหมือนกับว่า ที่ว่าสมาธิคือหินทับหญ้าไว้ ไอ้นี่มันก็ทับหญ้าไว้ มันกดไว้เฉยๆ แล้วกดไว้มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนเขาเป็นศาสดาองค์หนึ่ง ถ้าเขาเป็นไปได้นะ เขาเป็นศาสดาใหม่ เพราะทฤษฎีเขาเป็นอย่างนั้น เขาทำอย่างนั้น แล้วเขาอยู่กันอย่างนั้น เพราะคำว่า ศาสดาใหม่ เพราะอะไร เพราะมันจะเข้าหมู่ไม่ได้ไง ถ้ามันเข้าหมู่มานะ
ดูสิ ดูอย่างท่านเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ท่านให้หลวงตากับหลวงปู่ขาวคุยกัน ให้หลวงตากับหลวงปู่ขาวไปคุยกัน หลวงตาท่านเห็นหลวงปู่แหวนท่านมีชื่อเสียงมาก แล้วท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ทำไมท่านมาออกเหรียญออกอะไรมาก ท่านก็ขึ้นไปคุยด้วย นี่ไง เข้าหมู่ หมู่ ถ้าเป็นความจริง มันคุยกันโดยผู้รู้กับผู้รู้ แบงก์จริงกับแบงก์จริง เอาแบงก์มาวางกัน อันนี้แบงก์ร้อย แบงก์ร้อยกับแบงก์ร้อยเหมือนกัน นี่แบงก์พัน แบงก์พันกับแบงก์พันเหมือนกัน มันเอามาวางต่อหน้า แต่ถ้าเราควักออกมา แบงก์พัน เขาควักแบงก์กงเต๊กมา เฮ้ย! ทำไมมันไม่เหมือนกันล่ะ
ฉะนั้น อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าทำไมไม่เสื่อมๆ ไม่เสื่อมเพราะอะไรล่ะ ไม่เสื่อมเพราะกันตัวเองไว้ กันตัวเองออกไปอยู่โดดเดี่ยว กันตัวเองออกไปอยู่โดดเดี่ยวนะ ไม่เอาแบงก์มาออกตลาดไง คือเขาไม่เอาแบงก์เขามาใช้จ่ายในตลาดว่าใช้จ่ายได้หรือเปล่า แต่สร้างสังคมหนึ่ง กูใช้จ่ายในสังคมกูเอง ไม่เสื่อม ก็กูใช้ในสังคมกูนี่ไง กูสร้างสังคมกูขึ้นมาแล้วก็แบงก์กูที่ใช้กันหมุนเวียนอยู่ในสังคมกูนี่ ออกไปข้างนอกเขาไม่เอานะ แต่ถ้าเป็นของจริงมันออกตลาดได้
เพราะเราไปคิดเองไง เราไปคิดเองไปคาดหมายเองว่าเขาเป็นอย่างไร ของเขาเป็นอย่างไรๆ เราไปคาดหมายเราเอง แต่ความจริงมันพิสูจน์ได้ ความจริงคือความจริง ความเท็จคือความเท็จ แต่เอาความเท็จ เพราะความเท็จมันสร้างได้ ความเท็จสร้างขึ้นมาแล้วอยู่กัน
จริงๆ ที่บางทีเราพูดดังๆ มากก็ตรงนี้ ตรงที่แบบว่าคนเราเกิดมาหนหนึ่งแล้วได้มาปฏิบัติคราวหนึ่ง มันควรจะได้ปฏิบัติรู้ถูกรู้ผิด เพราะชีวิตเราทั้งชีวิตนะ แต่มันเหมือนแบบว่ามันเป็นสายบุญสายกรรม กรรมของเขาชอบพออย่างนั้น เห็นอย่างนั้น เห็นความสะดวกสบายแล้วมันเป็นความน่าเชื่อถือไง เชื่อถือว่าพระพูดแล้วพระโกหกไม่ได้ คิดผิดนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตัวพระเองยังไม่รู้ถูกรู้ผิด มันจะพูดถูกได้อย่างไรล่ะ พระจะไม่พูดผิดต่อเมื่อท่านรู้จริงแล้วนะ
อ้าว! ตัวพระยังไม่รู้จริง มันไม่ได้โกหก แต่มันพูดตามที่รู้ ตามที่รู้ รู้แค่นี้ ก็พูดได้แค่นี้ แล้วก็ว่าความรู้กูจริงไง ก็กูรู้แค่นี้ โกหกได้ไหม
จริงๆ คือโกหก แต่นี่เราพูดในแง่บวกว่าเขาไม่ได้โกหก เขารู้ได้แค่นี้ เขาก็บอกแค่นี้ว่าความรู้อันนี้ถูกต้อง เพราะเรารู้มาแค่นี้ แต่เขาไม่บอกอย่างนั้นว่ารู้มาแค่นี้ เพราะคำว่า แค่นี้ มันยังมีที่ไปอีกไง ถ้ารู้แค่นี้ปั๊บ มันก็จะขวนขวายใช่ไหม จะขวนขวายว่าอะไร แต่นี่มันเวลามันติดบอกนี่คือนิพพาน นี่คือนิพพาน คือสูงสุดของการปฏิบัติแล้ว การจะค้นคว้า การจะเปรียบเทียบมันเลยไม่มีขึ้นมา แต่ถ้าเรายังบอกว่ามันยังมีสิ่งที่ดีกว่า สูงกว่า เราจะเปรียบเทียบ เราจะค้นคว้า
หลวงตาท่านสอนบ่อยเมื่อก่อน บอกว่า พวกเรานี่นะ ให้ตั้งปัญหาถามตัวเอง นี่ไง ถ้าถามปัญหาตัวเองเท่ากับค้นคว้าไง ถามว่าถูกหรือผิด ชีวิตนี้เกิดมาทำไม การปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่ออะไร คนอื่นถามอีกเรื่องหนึ่ง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนตรวจสอบตน ตนใคร่ครวญตน จริงหรือ สิ่งที่ปฏิบัติ มันปฏิบัติมานี่จริงหรือ สิ่งที่รับรู้จริงแล้วหรือ ถ้าจริง มันมีเหตุผลอะไรรองรับ ไม่จริง มีเหตุผลอะไรรองรับ ถ้าเราเริ่มตั้งสติแล้วถามตัวเองอย่างนี้ ถามตัวเอง แล้วพวกเราจะมีความผิดพลาดน้อยมาก จะว่าไม่ผิดเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะเราเกิดมากับอวิชชา เกิดมากับความไม่รู้ พลังงานเฉยๆ กับผู้รู้ พุทธะ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พุทธะคือพลังงาน คือสสารธาตุรู้ที่มีชีวิต ธาตุ ๖ อากาศธาตุ ธาตุรู้ ธาตุรู้เป็นสันตติ มันเกิดตลอดเวลา สันตติเกิดๆๆ สิ่งนี้มันมีอยู่ สิ่งที่หยุด แต่มันเป็นอวิชชาครอบงำ มันก็มีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ความผิดพลาดนี้เป็นธรรมดานะ เพียงแต่ว่าเราต้องรื้อค้น ค้นคว้า แล้วก็ตรงนี้ด้วย ตรงที่เชาวน์ปัญญา เชาวน์ปัญญาของคน
เราอยู่กับหลวงตามา มีที่ว่ามาหาหลวงตา อาจารย์สอนผิด แต่ลูกศิษย์ปฏิบัติไปแล้วมันถูก คำสอนของอาจารย์บอกว่าขาด ขันธ์ขาดแล้ว ขาดไม่มี คือเราเข้าใจว่าการตัดขาดแล้วคือตัดขาด เหมือนเราตัดขาดกัน มันจะขาดกันไป แต่ถ้าเป็นปฏิบัตินะ ขาดมี คือตัดขันธ์ขาด กิเลส สังโยชน์ที่มันรัดอยู่มันขาดออกไป แต่ความจำได้หมายรู้ยังมีอยู่ ถ้าไม่มี ทำไมพระพุทธเจ้าไปสอนสามเณรราหุล ทำไมรู้ว่าเป็นสามเฌรราหุล ทำไมรู้ว่าพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพ่อ นี่คือสัญญาใช่ไหม เรามีความรู้สึกว่านี่พ่อ นี่แม่ นี่ลูก นี่คืออะไร นี่คือสัญญาข้อมูลใช่ไหม แล้วถ้ามันขาดไม่มีเลย ทำไมพระเจ้าสุทโธทนะ ทำไมรู้ว่าพ่อล่ะ คือสัญญา นี่ไง มันขาดมี แต่อาจารย์ของเขาสอนว่าขาดสูญ สุญญตาๆ โอ๋ย! สูญเปล่า...ไม่ใช่ สูญจากกิเลส แต่ผู้ที่เจ้าของสูญมันมีอยู่ เจ้าของความรู้มันมี แต่มันสูญไปจากสิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยากที่มันเร้าใจอยู่ สูญจากกิเลส กิเลสมันสูญสิ้นไปจากใจ แต่ตัวไม่สูญ ความรู้อันนี้ไม่เคยสูญ
พออาจารย์เขาสอนว่าขาดแล้วต้องไม่มี แต่เขามี เขามาถามหลวงตา เขามาหานะ มาถามปัญหา หลวงตาบอกว่าเอ็งถูก พูดอธิบายให้ฟังจนเข้าใจนะว่า ดูอย่างโสดาบัน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเรา ความว่าเป็นเราเป็นต่างๆ มันเข้าไปยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้ามันมีโดยธรรมชาติ ดูสิ มนุษย์คือมนุษย์ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นญาติพี่น้องเรา เราจะรักมากกว่าคนอื่นนะ ถ้าเป็นลูกเป็นเลิกจะรักกว่าคนอื่น แต่ถ้าเป็นเด็กคนอื่น เราก็รักอยู่ แต่เราไม่รักเท่ากับสายเลือดเรา
ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้ามันขาดแล้ว มนุษย์ทุกคนมีค่าเท่ากัน จะเป็นลูกเราหรือจะเป็นลูกใครก็แล้วแต่ มันก็คือมนุษย์ มันมีคุณค่าของมนุษย์ไง เพราะความว่าเป็นเราเป็นเขามันไปยึดว่านี่ลูกเรา นี่หลานเรา นั่นเป็นเด็กเกิดในโลก ไม่ใช่ลูกเรา เป็นหมู่มนุษย์ด้วยกัน แต่พอมันขาดปั๊บ มนุษย์คือมนุษย์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันขาดตรงนี้ ขาดตรงสังโยชน์นี่ไง แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์อยู่ ลูกหลานเรามันก็ยังเป็นลูกหลานเราวันยังค่ำ แต่ความยึดว่าสายเลือดหรือไม่สายเลือดอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่ไง พอมันเป็นความจริงขึ้นมา กิเลสมันขาดๆ แต่สามัญสำนึกมันยังมีอยู่ ธรรมชาติมันมีของมันไง
นี่ไง เวลาพระอรหันต์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ ความคิดความนึก หลวงตาพูดซึ้งมาก ท่านบอกว่า วิมุตติสุข ธรรมธาตุ มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันเป็นนิพพาน แต่เวลาจะคิดขึ้นมา ท่านบอกเลย ความคิดเหมือนท่อนซุง เราคิดหนหนึ่งเท่ากับแบกท่อนซุงท่อนหนึ่ง มันต้องไปเสวยอารมณ์ เสวยความคิด เวลามันปล่อยขึ้นมาแล้ว สภาวธรรมอันนั้นเป็นวิมุตติอันหนึ่ง เวลาคิดทีหนึ่งก็ต้องออกไปรับรู้ ออกไปคิด แต่เราไม่เห็นความคิดไง ความคิดเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราหมดไง
นี่มันขาดมี เราบอกว่าเอ็งถูก อาจารย์เอ็งผิด อาจารย์ผิดนะ ลูกศิษย์มันทำไปถูก แต่ถูกแล้ว ความถูกนี้คนสอนมันผิดใช่ไหม มันก็ว่าลูกศิษย์ผิด อาจารย์กลับถูก ก็อึดอัด มาหาหลวงตา หลวงตาซักไปซักมา ลูกศิษย์ถูก เอ็งปฏิบัติมาถูก ถูกอย่างนี้
เราจะบอกว่าไอ้ที่ถูกอย่างนี้เพราะเขามีอำนาจวาสนาของเขา ทั้งๆ ที่ปฏิบัติมา เวลามันถึงที่สุด เหมือนเราหุงข้าว เราหุงข้าวจนข้าวเราสุกได้ แต่วิธีการของเขา เขาเอาข้าวไปตั้งไว้แล้วไม่ติดไฟ ไม่มีวันสุกหรอก แต่เขาบอกว่าการตั้งหม้อข้าวบนเตาไฟที่ไม่ได้ติดไฟอันนั้นถูกนะ แต่ของเราติดไฟจนข้าวเราสุกแล้วเขายังว่าเราผิด แต่เวลาเรามาถึง ออกสังคมแล้วเราถูก เราเห็นอย่างนี้มาเยอะไง เราเห็นปรากฏการณ์อย่างนี้มาเยอะ แล้วคิดอย่างนี้ เวลาไปพูดให้ใครฟังใครเขาจะเชื่อ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะครูบาอาจารย์แต่ละองค์ชื่อเสียงทะลุฟ้า ชื่อเสียง โอ้โฮ! ดังไปทั่วโลก แล้วเราไปบอกว่าผิด ใครจะเชื่อ แล้วผู้ที่ไปวัดไปวาไปฟังก็ฟังเพราะว่าสังคมยอมรับ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราไม่รู้ ใครรู้ มีใครรู้บ้างล่ะ พออาจารย์พูด พูดก็ใช่ แล้วทำไปเถอะ ทำไปก็นั่นแหละ ไม่เสื่อม จะคงที่ กินข้าวมื้อเดียวแล้วมันจะโตจนตายเลย มันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้เลย กินข้าววันหนึ่งสามมื้อสี่มื้อ แล้วชีวิตนี้ทั้งชีวิตเลย แหม! บอกว่ากินข้าวมื้อเดียวแล้วอยู่ได้ตลอดชีวิต พูดให้ใครฟังก็ฟังไปเถอะ แต่เราไม่ฟังนะ เพราะเวลาปฏิบัติมาใหม่ๆ เราจะหาเหตุผลตลอด หาเหตุหาผล ถ้าเราหาเหตุหาผลคือปัญญาของเรานะ
เราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ เราฟังเทศน์ อาจารย์ท่านเทศน์ อาจารย์ท่านแนะนำ แล้วเราก็คิดด้วย ความคิดที่เราต่อ ที่เราแตกแขนงออกมาจากที่เราฟังมาคือสมบัติของเรา สิ่งที่เราฟังมาคือสมบัติของอาจารย์ ท่านพูดสอนเรา ท่านเปิดทางให้เรา แล้วเราคิดต่อ ต่อยอด ความคิดต่อความคิดนั่นน่ะคือเราฝึกปัญญาของเรา เราสร้างปัญญาของเรา กาลามสูตรนะ ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อว่ามันเข้ากันได้กับความจริง ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่ออะไรเลย ให้เชื่อปัจจัตตัง ปัจจัตตังคือเกิดขึ้นมาจากเรา ให้เชื่อสันทิฏฐิโก ให้เชื่อความจริง ให้เชื่อสิ่งที่เราสัมผัสได้ เรารู้เราเห็น ให้เชื่อสิ่งนั้น ไม่ให้เชื่ออะไรเลย
แต่เราเกิดมาแล้วในสังคม เราต้องมีครูมีอาจารย์เหมือนกัน เหมือนลูก พ่อแม่โตขึ้นมาก็เลี้ยงลูกขึ้นมาก่อน พอลูกโตขึ้นมาแล้วลูกมันจะหากินของมัน นี่เหมือนเราอยู่อาศัยครูบาอาจารย์เลี้ยงดู อาศัยฝึกนิสัย ฝึกต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงเราต้องต่อยอด เราต้องคิด ไม่อย่างนั้นครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ ทำไมเวลาพูดธรรมะกันจะต้องปะทะกันตลอดเวลา เพราะธรรมะมันมีอันเดียว ของจริงมีอันเดียว มันไม่ใช่ เออ! ลูกศิษย์เรานะ โอ๋ๆ...มันเข้าไม่ถึงหรอก
เวลาเราโอ๋นี่นะ โอ๋กันด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย มนุษย์ คนเกิดมามีกรรมมาทุกๆ คน ทีนี้พอเกิดขึ้นมามันก็น่าสังเวชน่าสงสาร แต่ถ้าจะให้ทำงานเป็น เราสงสารไม่ได้ อย่างลูกเรา เราสงสารลูก แล้วเราไม่ให้ลูกฝึกงาน ไม่ให้ลูกไปเรียนหนังสือ โอ๋ๆ ไว้ในบ้าน มันจะโตขึ้นมาได้ไหม แต่เราก็ต้องเลี้ยงดูใช่ไหม เราเลี้ยงดูเหมือนครูบาอาจารย์เขาดูแลลูกศิษย์ แต่เวลาพูดถึงธรรมะต้องเป็นธรรมะ ไม่มีการโอ๋ โอ๋เพียงแต่ดูแลเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย ดูแลเรื่องความดำรงชีวิตอยู่ แต่ถ้าจะเข้าหาธรรมะต้องเป็นอย่างนี้อย่างเดียว
เราจะบอกว่านี่ลูกศิษย์เรา ให้มันทำสะดวกสบาย ไอ้นี่ไม่ใช่เราจะบังคับให้เขาเข้มแข็ง ไม่ใช่ มันอันเดียวกัน อันเดียวกัน สัจธรรมมีอันเดียว ต้องทำอย่างนี้เหมือนกัน ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ต้องมีอุบายไง มีอุบายชักนำให้ทำขึ้นมาให้ได้ ให้กำลังใจ กระตุ้น เพราะในการประพฤติปฏิบัติ ดูสิ นักกีฬาทุกคน นักกีฬานะ ใหม่ๆ ขยันซ้อมมาก พอได้เป็นแชมป์ พอได้รางวัลแล้วนะ ขี้เกียจซ้อม ขี้เกียจมากๆ เลย พอขี้เกียจขึ้นไปแล้วขึ้นไปแข่งขัน แพ้ตลอด ทีนี้เราก็ต้องกระตุ้นตรงนี้ไง พอกระตุ้นตรงนี้ปั๊บ เวลาทำไป ใครไม่ทดท้อ ใครไม่ท้อถอย งานน่ะ เดินจงกรมได้อะไรมา ได้เหงื่อ ได้ความเพลียมา ไม่เห็นได้อะไรมาเลย แต่หัวใจมันได้มานะ หัวใจมันเข้มแข็ง หัวใจมันเข้าใจ หัวใจมันรู้ของมัน ฉะนั้น ต้องกระตุ้น กระตุ้นตลอดเวลา
คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ไอ้เรื่องผิดก็ให้มันผิดไป ผิดแล้วเดี๋ยวก็ถูก ถูกแล้วก็ผิด แล้วถ้าผิดแล้วกลัวมันนะ ตั้งอารมณ์อย่างนี้ผิด ความคิดอย่างนี้มันชักนำไปแล้วผิด ถ้าความคิดอย่างนี้มา แหม! มาหลอกแล้ว ไอ้ความคิดอย่างนี้มาหลอกทุกทีเลย สู้กับมันๆ แล้วบอกว่าไม่เอา เราหาความคิดใหม่ เราหาแนวทางใหม่ เดินจงกรมอยู่นี่แหละ เดินจงกรมในทางจงกรมนี่แหละ แต่ความคิดมันหลากหลาย มันเปลี่ยนแปลงได้ แต่กิริยามันก็คืออันเก่านั่นน่ะ เราถึงต้องขยันหมั่นเพียรอยู่ในการเดินอันนั้นน่ะ แล้วปัญญามันจะพลิกแพลงเอง ความคิดในหัวมันพลิกแพลง มันหาเหตุหาผล หาถูกหาผิด ผิดบ่อยครั้งๆ เข้า ถามสิ ไม่เข็ดหรือๆ ถามมัน เข็ดไหม เดี๋ยวก็จะไปจมอยู่นั่นน่ะ ทำอย่างนี้เดี๋ยวก็จะไปนอนตีแปลงอยู่นั่นน่ะ เวลาภาวนาเสร็จ ออกจากทางจงกรมมาก็มานั่งคอตก วันนี้ไม่ได้อะไรเลย เข็ดไหม ถ้าเข็ด ทำไมไม่ตั้งสติ
เราทำอย่างนี้มานะ เวลาเราเดินจงกรมหรือเวลาจะตั้งใจทำอะไร เวลามันทำไม่ได้ โอ้โฮ! จะติเตียนตัวเอง เลวมาก ด่าตัวเองนะ มึงมันชาติชั่ว มึงมันเลวทราม ดูครูบาอาจารย์ทำไมท่านทำได้ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านทำได้ ทำไมเอ็งทำไม่ได้ ของแค่นี้
แต่ของแค่นี้นะ มันหญ้าปากคอก มันมากับมือ หยิบขึ้นมาแล้วบอกไม่เอา มันต้องตัดสินใจนะ ของมันอยู่กับมือ สิทธิของเรา แล้วบอกว่าไม่เอา ตั้งใจว่าไม่เอานะ แต่มันทนไม่ไหว มันเอา มันเอาทุกทีเลย ต้องสู้กับมัน พอต่อไปนะ ทำไมถึงเอา ทำไมถึงเอาอีก เอามาแล้วก็มาทุกข์มายาก เอามาทำไม ไล่กันในทางจงกรม ไล่กันจนมันทันนะ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร พวงดอกไม้มันบูชามา มันบูชามาร แล้วมารมันก็หวั่นไหว มารมันอยากได้ พอมันอยากได้ มันเสพอารมณ์ไปทีหนึ่งนะ ก็ไปด่ามัน ด่ามันๆๆ จนมันเข้มแข็งขึ้นมานะ พอมันรู้ทันปั๊บนะ พอมันจะมานะ หัวเราะเยาะมันได้เลยวันหลังน่ะ นี่มารมันมาล่ออีกแล้ว มันมาบูชาอีกแล้ว เอาไม่เอา เอาก็เจ็บ เอา เราก็ไม่ก้าวหน้า เอา เราก็ไม่เดิน
ที่บูชาคืออะไร ก็คืออารมณ์ความคิดไง อารมณ์เรานี่แหละ ความคิดเรานี่แหละ มันมาบูชาเราเอง ยิ่งใครเดินจงกรมหลายๆ ชั่วโมงสิ กูดีกว่าเขา ไอ้พวกนั้นมันเดินได้ ๒ นาที กูเดินได้ ๕ ชั่วโมง ไม่รู้นั่นน่ะกิเลสทั้งนั้นน่ะ นั่งตลอดรุ่งนะ แหม! เรานั่งได้ตลอดรุ่งนะ ไอ้นั่นนั่งได้ ๒ ชั่วโมง กูดีกว่าเขา...มารทั้งนั้นเลย
ด่ามันๆ ความเพียรของบุคคล ความเพียรของเรา ความเพียรของเขา มันไม่เท่ากัน อารมณ์ความรู้สึกของคนมันแตกต่างกัน หน้าที่ของเราก็หน้าที่ของเรา นั่นหน้าที่ของเขา หลวงตาสอนมาก เห็นไหม ใจเขาใจเรา รักษาใจเรา หน้าที่ของเรา ใจของเขาก็หน้าที่ของเขา ไอ้ใจของตัวเราไม่ดู ไปรับผิดชอบใจของคนอื่นหมดเลย ไอ้โน่นมันทำอย่างนั้น ไอ้โน่นมันทำอย่างนี้ ไอ้ใจดวงนี้ไม่เคยดูเลย ไอ้ใจของตัวให้กิเลสมันเหยียบย่ำ แต่คนโน้นต้องทำอย่างนี้ คนนี้ควรจะเป็นอย่างนั้น คนนั้นๆ ดูสิ ดู เห็นไหม ถ้ามันหดเข้ามาเป็นเรา
เวลาเราคุยกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่การเป็นมงคลอย่างยิ่ง เราสนทนาธรรมกันมาเพื่อทุกคนหาแนวทาง เรามาวิเคราะห์กันว่าควรทำอย่างใด แนวทางใดเป็นทางที่ถูกต้อง นี่เป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่ต้องเป็นธรรม แต่เวลาเราพูดมันไม่ใช่ธรรม มันเป็นกิเลส เพราะจะเอาชนะคะคานกัน ของเอ็งผิด ของกูถูก ของเอ็งไม่ดี ของกูดีกว่าของเอ็ง นี่ไง นี่หมากัดกัน ไม่ใช่ ธมฺมสากจฺฉา หมากัดกัน มันจะเอาชนะคะคานกัน นี่ไง มันถึงไม่เป็นมงคล
การเป็นมงคลนะ เด็ก ความดีของเด็ก ความดีของผู้ใหญ่ ความดีของผู้ชำนาญการ ความดีของแต่ละชั้นไม่เหมือนกัน ทำความดี หลวงตา เราอยู่กับท่านมา ทำดีขนาดไหนก็โดนเอ็ด เราก็ทำดีเต็มที่เลยนะ เข้าไปโดนเอ็ดทุกทีเลย ทีแรกก็งง งงมากเลย ตอนหลัง อ๋อ! เหมือนพ่อแม่น่ะ ลูกเราดีขนาดไหน เราก็อยากให้ลูกเราดีกว่านี้ไง ลูกเรามีกิจการขนาดไหน เราก็อยากจะให้ลูกเรามีกิจการหลายๆ อย่างไง คือท่านดีกับเราอยู่แล้ว ท่านก็พยายามจะดึงให้เราดีขึ้นเรื่อยๆ ทำดีขนาดไหนนะ ท่านก็บอกต้องดีกว่านี้อีก ต้องดีกว่านี้อีก โอ๋ย! เหนื่อยมาก เหนื่อยมากๆ เลย แต่ถ้าไม่เป็นนะ พอได้ทำความดีมานะ โอ๋ๆ นะ มันได้แค่นั้นน่ะ มันไปไม่รอด
ทำดีขนาดไหนก็โดนเอ็ด โดนมาเองๆ โดน โอ้โฮ! เช้า กลางวัน เย็น บางทีนึกว่าทำเสร็จแล้วมันจะไม่มีการเอ็ดอีก เข้าไปนะ ปั๋ง! หงาย ปั๋ง! หงาย จนมาเข้าใจทีหลัง ทีหลังเข้าใจ เข้าใจว่าครูบาอาจารย์ท่านจะทำให้เราพัฒนาตลอด แล้วมันมรรค ๔ ผล ๔ ความดีขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราไปหยุดหรือเราไปพอใจกับตรงนั้น มันจะไม่ก้าวเดิน
เราจะพูดบ่อยนะ อย่างเช่นพวกโยม ถ้าดื้อนี่นะ เราจะให้คนมายกมาอุ้มไปได้เลย ดูคนเจ็บคนป่วยเขามีเปลหามเลยนะ เจ็บไข้ได้ป่วย ยาเป็นหลอดเลย เขาจะฉีดเข้าไปในร่างกายเราได้เลย แต่ถ้าคนเรามันดื้อที่ใจ เอาเราไปเผาทิ้งเลยนะ หัวใจมันก็ยังดื้อ ถ้าใจมันดื้อ แก้ยากกว่าร่างกายมาก คนบ้าไปถึงมันอาละวาดนะ ก็ใส่ชุดคนบ้า ไปไหนไม่รอดแล้ว
แต่ถ้าใจมันดิ้นรน เอาอะไรไปห้ามมัน ใจมันดิ้นรน เอาอะไรไปห้ามมัน แล้วถ้ามันหลงผิด มันดื้อ มันไม่ฟัง จะเอาอะไรไปแก้มัน จะเอาอะไรไปแก้มัน มันดื้อ มันว่ามันถูก ไม่เสื่อม ดูจิตแล้วไม่เสื่อม
มันต้องมีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านจะพูดธรรมะหรือให้เวลามา เวลาพูด สอยเลย เวลาพูดอะไร ย้อนกลับ คือต้องย้อนกลับให้เขาได้สติ เอ๊อะ! นั่นล่ะแก้ได้ การแก้นะ ต้องเข้าไปแก้ที่ใจดำ ต้องพูดเข้าไปให้กระเทือน เหมือนเรา เราภาวนามา โอ๋ย! อันนี้นิพพานนะ โอ้โฮ! ถนอมมากเลย ใครอย่าแตะนะๆ เวลาครูบาอาจารย์ท่านทิ่มเข้ามา ท่านเผาทิ้งหมดเลย เอ๊อะ! มันไม่ใช่นี่หว่า
การแก้จิต เราต้องพูดให้เขาสะเทือนใจ พูดให้เขาเห็นโทษ พูดเข้าไป จี้เข้าไปใจดำ บางทีพูดไปนะ อย่างเราเวลาโดนครูบาอาจารย์ท่านชี้ผิดมา มันสำนึกคุณนะ มันสำนึกคุณนะ น้ำตาไหลนะ แล้วรุ่งขึ้นนะ อยากกราบแล้วกราบเล่าๆ ถ้ามันสำนึกคุณนะ รุ่งขึ้นนะ กูอยากกราบอาจารย์ร้อยหน กูอยากกราบอาจารย์พันหน กูอยากจะกราบอาจารย์หมื่นหน มันอยากกราบ มันอยากเคารพ มันอยากบูชามาก ถ้ามันเห็นโทษ แต่กว่าจะเห็นน่ะ ทำไมว่าเราคนเดียว ทำไมคนอื่นเขาทำเลวกว่าเราทำไมท่านไม่ว่า คนโน้นมันก็ไม่ดี ก็ไม่เห็นว่าเลย เราทำดีเกือบตาย ว่าเราอยู่คนเดียว นี่เวลามันไม่เห็นนะ มันปฏิเสธหมด มันว่าเราดี คนอื่นไม่ดี
แต่ถ้ามันเห็นขึ้นมานะ พอมันรู้ซึ้งขึ้นมานะ โอ้โฮ! อยากจะกราบร้อยหน อยากจะกราบพันหน อยากจะกราบหมื่นหน อยากจะกราบ อยากจะกราบ มันซึ้งบุญซึ้งคุณ ซึ้งมากๆ เพราะถ้าคนเห็นผิดแล้วนะ ถ้าท่านไม่บอกเรา เราจะมีทิฏฐิ มีความผิด ก็เราเห็นผิดแล้ว แต่ถ้ามันยังไม่เห็นอยู่ มันยึด มันยึดว่าถูก มันยึดว่าถูก มันคือกิเลสใช่ไหม มันก็เหยียบย่ำคนอื่นหมด คนอื่นผิด กูถูก ถ้ามันผิดนะ มันจะเหยียบย่ำคนไปหมด เหยียบย่ำหัวไปหมดเลย เหยียบย่ำแม้แต่อาจารย์ของตัวเอง ว่าอาจารย์ตัวเองไม่มีคุณวุฒิเหมือนเรา ถ้ามันเห็นผิดนะ มันเหยียบย่ำไปหมด
ทำไมเทวทัตขอปกครองสงฆ์แทนพระพุทธเจ้าเลย ทั้งๆ ที่เทวทัตนี่ปุถุชนนะ มันกล้าเหยียบย่ำพระพุทธเจ้าเลย แต่ถ้ารู้ว่าถูกแล้วนะ มันจะเคารพ มันจะซึ้ง เพราะอะไร เพราะใครเห็นแล้วนะ ทำไมพระพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร ทำไมพระพุทธเจ้ามาสอนเราได้อย่างไร สิ่งที่รู้ที่เห็น ดูสิ ลูกมันโตขนาดไหน สมบัติในบ้านเราก็คือเราเป็นคนหาให้ มันเข้ามาในบ้านเรานะ สมบัติเรามีเนาะ โน่นก็ของเรา นี่ก็ของเรา...เฮ้ย! ของพ่อแม่มึงนะมึง พอแม่มึงหามา ไอ้ห่า มึงอาศัยบ้านอยู่เฉยๆ นะ แต่เราไม่รู้ ไม่รู้หรอก นี่กิเลสมันเป็นอย่างนี้ไง
ถึงถามว่าทำไมเขาไม่รู้ อวิชชา แล้วอย่างนี้นะ มันแก้ยากแก้ง่าย ในวงกรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ท่านมีหลัก ท่านจะแก้ลูกศิษย์ได้ ถ้าไม่มีหลักนะ ท่านแก้ลูกศิษย์ไม่ได้หรอก แล้วพอแก้ไป พูดไป ดูสิ บางทีต้องรอจังหวะ ต้องรอเวลา
ดูอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจะดูนิสัยลูกศิษย์ ตัดสบง ๕ ขันธ์ แล้วให้เย็บคนละขันธ์ ทั้งๆ ที่เย็บคนเดียวก็ได้ ใครๆ ก็อยากเย็บสบงให้หลวงปู่มั่น ใครจะไม่อยากเย็บ ใครจะไม่อยากได้บุญ แต่ไม่ให้ ให้คนละขันธ์เดียว แล้วเย็บมา มาดูนิสัย เพราะมันมีสติ ล้มกระดูกแล้วเข้ากระดูกทำอย่างไร แล้วทำแล้วกระดูกเล็กกระดูกใหญ่ คนหยาบคนละเอียดเย็บผ้า รู้หมด เย็บผ้า ทำงานที่ละเอียด
งานหยาบๆ ทำได้ ให้เราฟันต้นไม้ ต้นไม้ล้ม กูฟันได้หมด แต่ให้เย็บผ้า เย็บไม่เป็น งานหยาบงานละเอียดไง แล้วถึงว่าเอาแต่ของหยาบๆ เอาแต่ของอาบเหงื่อต่างน้ำไง เวลาเขาบริหารจัดการมันละเอียดขึ้นมา ทำไหม การควบคุมอารมณ์ ทำไหม งานหยาบๆ ก็งานแบกหามไง งานละเอียดก็งานดูใจไง งานเข้ามาไง แล้วยิ่งเอาชนะใจตัวเองมันยิ่งละเอียดเข้าไปอีก มันละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่มันมรรค ๔ ผล ๔ มันพัฒนาการของมัน ความดีไม่มีแค่นั้นหรอก
นี่มาวัด กลับไปบ้าน คุยโม้เลยล่ะ นี่ชาวพุทธนะ มาวัดนะๆ
มาวัดต้องวัดที่ใจ ข้อวัตรปฏิบัติ วัดมันอยู่ที่นี่นะ วัด ด.เด็ก วัฏ ฏ.ปฏัก วัฏฏะ วัดหรือยัง ใจเราวัดหรือยัง ใจเรากว้างแคบแค่ไหน ใจเรามีหลักแค่ไหน วัดใจ ถ้าวัดใจนี่เป็นพระ แต่ถ้าวัดวัตถุ โธ่! วัตถุนะ ใครก็สร้างได้ แต่วัดใจ ไปเห็นวัดหรือยัง ไปวัดเห็นข้อวัตรปฏิบัติของพระ พระมีวัตรปฏิบัติ เสขิยวัตร มีวัตรปฏิบัติ ทุกอย่างจะสะอาดเรียบร้อย มันน่าชื่นใจ มันน่าเคารพบูชา ถ้าไปวัดไหนเขาปล่อยอีเหละเขละขละเลย
กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง กวาดลานเจดีย์ กวาดลานวัด รักษาของของสงฆ์ กิจของสงฆ์อยู่ที่นี่ กิจของสงฆ์ไม่ใช่วิ่งเต้นไปฉันบ้านโน้น ฉันบ้านนี้ นั่นไม่ใช่หรอก นั่นวณิพก กิจของสงฆ์มันอยู่ที่นี่ แล้วเขามาแล้วเขาสัมผัสของเขาแล้ว เขาได้สัมผัสของเขาเอง พอเขาได้สัมผัสของเขาเอง มันเปิดที่ใจนะ ใจมันเปิดขึ้นมาเอง ถ้าใจไม่เปิด มันก็กรรมของสัตว์ใช่ไหม เพราะสัตว์แต่ละประเภท ความรู้สึกความนึกคิดของเขามันหลากหลาย ถ้าเขาเห็นแล้วเขาไม่ชอบใจของเขา มันก็กรรมของสัตว์ มันกรรมของเขาเอง
แต่หน้าที่ของเราล่ะ เราเป็นสงฆ์ เป็นสงฆ์จริงหรือยัง ถ้าเป็นสงฆ์จริง กิจของสงฆ์อยู่ที่ไหน กิจของสงฆ์ โคนต้นไม้นี่กิจของสงฆ์ หน้าที่ของเรา แต่ถ้าคิดทางโลกนะ ดูสิ พระ ครูบาอาจารย์มีชื่อเสียงมากเลย ถึงเวลาก็จับไม้กวาดกวาด คนงานเทศบาลมันก็กวาด แล้วอะไรมันต่างกันล่ะ เวลาพระไปบิณฑบาตก็ว่าขอทาน ขอทานมันก็ถือกะลาไปขอทานตามบ้าน พระก็เอาบาตรไปเดินตามบ้าน พระไปขอทานหรือ
พระนี่ภิกขาจารย์ ภิกขาจารย์ ภิกษุเป็นผู้ขอ ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ภิกษุไม่ประกอบอาชีพทางโลก ในเมื่ออาชีพของพระคือลำแข้ง เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ปลีแข้งนี้ก้าวเดินไป ก้าวเดินไปเพราะเป็นชาวพุทธใช่ไหม บริษัท ๔ มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
อุบาสก อุบาสิกา เขาต้องการบุญของเขา เขาทำบุญของเขา เขามีเจตนาของเขา เขาถวายทานของเขา เขาเอาทานของเขาไว้บนหัวแล้วอธิษฐาน แล้วใส่บาตรมา ขณะที่ไปกินโรงแรมยังสู้เราไม่ได้เลย ไปกินโรงแรมต้องไปสั่งนะ ต้องไปจ่ายสตางค์นะ เขาว่าสิทธิของเราๆ...นั่นเป็นธุรกิจ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพโดยชอบ สะอาดบริสุทธิ์ เดินไปแล้วก็เดินกลับ ให้ก็เรื่องของเขา ไม่มีบุญมีคุณต่อกัน แต่กลับมี กลับมีเพราะมันเป็นทานของเขาด้วยความบริสุทธิ์ นี่ไง แยกกันไม่ออกไง
งาน งานอะไร งานข้อวัตรปฏิบัติใช่ไหม ถ้าเรามอง โอ้โฮ! งานกรรมกร
ถ้าไม่มีข้อวัตรปฏิบัตินะ จิตของคนมันเหมือนเป็นตังเม เราจะตัดตังเม เราต้องดึงตังเมออกมาใช่ไหม แล้วตัด ความรู้สึกนี้เป็นเรา เวลาข้อวัตรปฏิบัติมันจะดึงความคิดเราออกมา ขี้เกียจขี้คร้านนะ เราไม่ต้องกวาดหรอก คนอื่นกวาดแล้ว เราไม่ต้องทำ ส้วมก็ไม่ต้องล้าง คนอื่นล้างให้ มันก็ไม่ดึงกิเลสมันออกมา ไม่ดึงความคิดของตัวออกมา แล้วจะเอาอะไรไปสู้มัน ข้อวัตรปฏิบัติ เครื่องอยู่ มันจะดึงความเห็นแก่ตัว มันจะดึงความตระหนี่ในใจ มันจะดึงออกมา
ถ้าใครปฏิบัติแล้วไปศึกษานะ ฝึกใจๆ ฝึกใจเป็นนามธรรม เอาอะไรฝึก ฝึกใจๆ เอาอะไรไปฝึกมัน เอาอะไรไปสู้มัน ก็นี่ไง กิจของสงฆ์ กิจของผู้อยู่วัด แล้วต่อสู้กับมัน ต่อสู้มันขึ้นมา แล้วพอทำขึ้นมา ถ้าไปบอกว่าเห็นว่าเป็นงานกรรมกร เป็นงานที่ไม่มีคุณค่า ไอ้อย่างนั้นน่ะเขาทำเลี้ยงชีพ เขาทำกรรมกร เขาเก็บกวาด เขาเลี้ยงชีพของเขา เป็นเงินเดือนของเขา เขาทำมาเลี้ยงชีพ แต่เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง แต่อันนั้นเป็นกิจ เป็นวิธีการ เป็นเครื่องดำเนินการเข้าไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม ถ้าเราเห็นของมัน เราทำของเรา ถ้าเห็นแล้ว ไม่อย่างนั้นจะฝึกกันอย่างไร ไม่มีข้อวัตร มันจะเอาอะไรมาฝึก ข้อวัตรเป็นการฝึกใจ ข้อวัตร นิสัยของคฤหัสถ์ นิสัยของภิกษุ นิสัยของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร นี่ฝึกมัน
แล้วพอใจมันเจริญเติบโตขึ้นมานะ เห็น อันนี้เป็นเครื่องมือเอาไว้ฝึกคน ข้อวัตรปฏิบัติเอาไว้ฝึกพระให้ได้นิสัยไง นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ สิ่งที่ควรทำ ๔ อย่าง หรือสิ่งที่ไม่ควรทำ บวชมาพระพุทธเจ้าสอนเลย นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นิสัย นิสัยของสมณะ นิสัยของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร แต่เดี๋ยวนี้โลกมันเจริญใช่ไหม โอ้! เราทำไม่ได้หรอก เราต้องมีคนใช้
บุญก็เป็นของคนใช้หมดไง ตัวเองก็ได้แต่ความว่างเปล่า คนใช้เอาไปหมดไง แต่นี่โลกเขาใช้ เราจ่ายสตางค์เขานะ ถ้าพระใช้เขา เขาก็ได้บุญไปไง มีคนใช้ คนใช้ก็เอาบุญไปสิ ไอ้กูก็โล่งโถงไม่มีอะไรเลยสิ
กิจของสงฆ์ สงฆ์ต้องทำ ภัตกิจ เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ภัตกิจ เวลาเราฉันข้าว นี่ก็คืองาน เวลางาน เราทำงานก็เป็นงาน เวลากินเราก็ว่าเป็นความสุขของเรา กินก็คืองานนะ ภัตกิจ ทำภัตกิจจบแล้ว มันเป็นกิจอันหนึ่งที่จะต้องดำรงรักษาไว้ แล้วกิจทางโลก กิจต่างๆ ถ้าใจเป็นธรรมมันจะเห็นคุณเห็นโทษ เอวัง