ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะศรัทธาเช้า

๑๔ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานเราพูดเรื่องปฏิบัติ เพราะเราเห็นโยมมาปฏิบัติกัน เราพยายามจะเน้นที่ปฏิบัติ ถ้าเน้นไปที่ปฏิบัติ พวกเราส่วนใหญ่พอปฏิบัติแล้วคิดว่าการปฏิบัติคือการปฏิบัติธรรมไง แต่เวลาครูบาอาจารย์เรา ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่า “ศีล” คือพื้นฐาน คำว่า “ศีล” ศีลคือความปกติของใจ พอศีลคือความปกติของใจ ความปกติของใจ ถ้าเราอยู่ปกติ เราไม่ทำผิด มันไม่ผิดศีล พอไม่ผิดศีล เวลาทำไปมันจะเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาคือจิตเป็นสมาธิแล้ว สมาธิมันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง

สมาธินะ มีสมาธิขาว สมาธิดำ เขาเรียกมนต์ขาว มนต์ดำ มนต์ขาว มนต์ขาวหมายถึงสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันว่าง ว่างจนบางทีเราไม่รู้เรื่องว่าเป็นสมาธิเลยล่ะ แต่ถ้าเป็นมิจฉา มิจฉาสมาธิ พอมิจฉาสมาธิ ดูสิ เขาทำคุณไสยกัน อย่างเช่นหมอดู อย่างเช่นเขามาดูหมอกัน พวกชาวพุทธเราตื่นมากนะ ใครมาดูหมอ ดูแม่นๆ นั่งสมาธิแล้วดูหมอนะ โอ้โฮ! ตื่นเต้นมากเลย

เขาเคยมาดูเรา เราบวชใหม่ๆ เขามาดูหมอ พระเชื่อกันหมดเลย แล้วก็มีเราอยู่องค์หนึ่งนั่งอยู่ด้วย เขาบอก “ขอดูองค์นี้” เพราะเราไม่ถามอะไรเขาเลย

พอเขาจะมาดูเรา เราบอก “ไม่ให้ดู”

“ทำไมล่ะ”

เราบอก “เราไม่เชื่อ”

“ทำไมถึงไม่เชื่อ” เขาถามนะ หมอ

“โธ่! เราเองนั่งสมาธิทั้งวันๆ เลย มันยังไม่ลงเลย เอ็งมานั่งกำหนดหลับตาแป๊บหนึ่งแล้วก็ทายๆ ว่าสมาธิดี กูไม่เชื่อหรอก”

หมอมันว่าอย่างไรรู้ไหม บอก “เออ! จริง”

มันนั่งหลับตาแล้วก็ทาย นั่งหลับตาแล้วก็ทาย พระเราก็ไปเชื่อเขา เราต้องคิดถึงเหตุผลสิว่าเรานั่งสมาธิเกือบเป็นเกือบตาย เรายังทำสมาธิไม่ค่อยได้เลย แล้วเขาอยู่ดีๆ นั่งหลับตาแล้วก็ทาย นั่งหลับตาแล้วก็ทาย แล้วเอ็งไปเชื่อเขาได้อย่างไร แต่มันเป็นอาชีพของเขาใช่ไหม มันเป็นอาชีพของเขา มันเป็นตรรกะของเขา เป็นความชำนาญของเขา เขาก็นั่งหลับตาให้ดูขลังหน่อยหนึ่ง

นี่ไง ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิมันเอาไปใช้หลากหลาย มันจะเอาไปใช้อะไรก็ได้ อย่างเช่นเราเด็กๆ เด็กๆ การศึกษา ถ้าอ่านหนังสือไม่ออกหรือว่าการศึกษาไม่ดี เราวางตำราไว้ แล้วเรามาทำใจให้สงบก่อน เรากำหนด กำหนดลมหายใจนิ่งๆ แล้วไปอ่านหนังสือมันจะดีขึ้น มันก็ดีขึ้น

ทีนี้ถ้าเราทำสมาธิ ทำสมาธิ สมาธิจำเป็นไหม

สมาธินี่นะ เอาอย่างนี้เลยนะ เอาแบบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นนะ ดูสิ ตั้งแต่หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ฝั้น ไปฟังเทศน์หลวงปู่ดูลย์แล้วมีความศรัทธามาก ก็ไปศึกษากับท่าน ไปปฏิบัติกับท่าน ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นพระอรหันต์ไปฝึกกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนอะไรรู้ไหม หลวงปู่มั่นก็สอนพุทโธนี่ไง ให้ทำสมาธิ ให้ทำความสงบของใจโดยข้อเท็จจริง แล้วเวลาปฏิบัติมันก็จะได้ตามความเป็นจริง

ทีนี้พอเราปฏิบัติกันไป พอเราปฏิบัติกันไป โดยสามัญสำนึก พวกเรามันปลายอ้อปลายแขม หมายถึงพวกเราสร้างบารมีมา ไม่มีอำนาจวาสนา เราก็อยากปฏิบัติกัน เพราะเราฟังครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระอรหันต์ เราก็อยากปฏิบัติกัน ให้ทำสมาธิ เราก็ทำสมาธิกัน สมาธิแบบเด็กๆ ไง สมาธิแบบเด็กๆ เด็กๆ มันเล่นกันโดยธรรมชาติของมัน มันก็สนุกคหรือกครื้นของมัน อันนี้นั่งภาวนากันก็เป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ ก็ว่าเป็นสมาธิกัน เพราะอะไร เพราะไม่มีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง

ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่รู้จริงนะ เวลาลูกศิษย์มาหา ถามปัญหาเรานะ พอเขาทำสมาธิแล้ว พอจิตเขาสงบแล้ว เขาจะดำเนินการต่อไปได้เลย เหมือนนักกีฬาถ้าร่างกายเขาพร้อมแล้ว พอมาฝึก เราบอกเทคนิคเขา เขาจะทำได้เลย

แต่นี้เวลามานั่งบนศาลา พวกทัวร์มานั่งกันเต็มศาลานี้เลย ทุกคนจะถามคำนี้ “หลวงพ่อ ว่างๆ ว่างๆ แล้วทำอย่างไรต่อคะ ทำอย่างไรต่อคะ”

เรารู้อยู่แล้ว นี่ไง คนเป็นไม่เป็น เราบอกว่า “สมมุติว่า” ถ้าเราบอกว่ามันไม่ว่าง เขาก็จะเถียง เราบอก “สมมุติว่ากำหนดพุทโธจะได้ไหม”

“ได้ค่ะ”

“แล้วทำไมไม่กำหนดล่ะ”

“อ้าว! กำหนดได้อย่างไร ถ้ากำหนดแล้วจิตมันก็หยาบไง”

บอกว่างๆ ว่างๆ นี่คือวิปัสสนึก นี่คือความเข้าใจของตัวเองหมดไงว่ามันว่างๆ ว่างๆ โดย การปฏิเสธ แต่พอมานึกพุทโธเขาบอกว่าจิตมันหยาบ แต่ความจริงถ้านึกพุทโธได้ไหมนี่มันฟ้อง สมมุติว่า คือว่าสมมุติว่า ถ้านึก นึกได้ไหม มันได้ ถ้ามันได้มันก็ไม่เป็นความจริงใช่ไหม เพราะมันยังนึกได้อยู่ มันไม่เป็นสมาธิหรอก แต่เขาบอกว่างๆ ว่างๆ

ทุกคน เราจะบอกเลย บอกว่าให้สมมุติว่านึกพุทโธได้ไหม คำว่า “นึกพุทโธได้” มือเรายังจับสิ่งของทุกๆ อย่างได้ มือนี้มันยังทำงานได้อยู่ แต่ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมา มันจะย่อยสลาย เราจะทึ่งมากในการเป็นสมาธินะ ทีนี้มันไม่เป็นสมาธิ พอไม่เป็นสมาธิปั๊บ เราจะบอกว่า สิ่งที่เขาสอนกันมันเป็นมิจฉา มันเป็นการวางยาสลบตัวเอง เรามีสติสัมปชัญญะกัน แล้วเราก็ทำให้เราหายไป คือปฏิเสธความรู้ทั้งหมดแล้วให้มันหายไป แล้วสติมันอยู่ไหน ให้ดูเฉยๆ ดูเฉยๆ แล้วมันว่างไปเอง มันหายไปเอง นี่เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นมิจฉาสมาธิ

แล้วถ้าทำสมาธิกันจริงๆ หลวงตาท่านบอกว่าอย่างนี้ ท่านบอกว่าเวลาท่านเรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี ท่านกำหนดพุทโธๆ เวลาท่านเรียนหนังสือใช่ไหม พอดูหนังสือปั๊บ ท่านก็จะภาวนาด้วย ๗ ปีนี้ท่านเป็นสมาธิได้แค่ ๓ หน ๗ ปี ท่านบอกท่านรวมลง ๓ ครั้ง ฝังใจมาก ฝังในหัวใจท่านมากเลย ขนาดว่ารวมแล้ว ๓ ครั้งนะ ทีนี้พอมาปฏิบัติใช่ไหม กำหนดพุทโธๆ ท่านบอกเวลาพุทโธๆๆ ไป เหมือนกับจอมแหมันจะลากเข้ามา ดึงตัวมันเองเข้ามา หดเข้ามาถึงตัวมันเอง ว่างหมดเลย ว่างแบบรู้ มีสติ ทึ่งมาก พอทึ่งมาก มันมีความสุขมากไง พอมีความสุขมากก็อยากทำอีก อยากได้ พออยากได้นี่เป็นตัณหา พอตัณหา พอทำ ไม่ได้หรอก ลงทุนลงแรงอย่างไรก็ไม่ได้ จนทอดธุระไง เอ้อ! ไม่เอาแล้ว ทำประสาเราไป รวมอีก

นี่เราจะเทียบให้เห็นก่อนว่า คนทำ ตอนที่ท่านเรียนมามันเป็นปริยัติ ท่านยังไม่รู้จริง ท่านก็ทำของท่านต่อไป แล้วมาออกปฏิบัติไง พอออกปฏิบัติมาที่จักราช ในพรรษานั้นกำหนดจิตไว้เฉยๆ กำหนดจิตไว้เฉยๆ มันก็ดูจิตนั่นน่ะ กำหนดจิตไว้เฉยๆ

หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านจะเน้นตรงนี้มากว่า ถ้ากำหนดวางจิต วางไว้เฉยๆ ใช้ไม่ได้

หลวงปู่เจี๊ยะ ไปฟังเทศน์หลวงปู่เจี๊ยะสิ ถ้ากำหนดจิตเฉยๆ ท่านบอกใช้ไม่ได้ เพราะกำหนดจิตเฉยๆ เป็นสมาธิได้ไหม

หลวงตาท่านกำหนดจิตไว้เฉยๆ ที่จักราช จิตนี้แน่นมาก เป็นสมาธิ แล้วพอไปทำกลดหลังหนึ่งแล้วมันเสื่อม มันเสื่อม หมายถึงว่า เห็นไหม คนเป็นสมาธิกับคนที่เสื่อมจากสมาธิ รู้ชัดเจนมาก แต่นี้เราเป็นสมาธิก็ไม่รู้ เวลาเสื่อมมันไม่มีอะไรเสื่อมไง ก็ไม่รู้ว่าเจริญแล้วเสื่อมเป็นอย่างไรไง ว่างๆ ว่างๆ เป็นสมาธิก็ไม่มีสมาธิ แต่มันคิดว่าเป็น มันเลยไม่มีอะไรเสื่อม มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ มันก็ว่างๆ ว่างๆ กันอยู่อย่างนี้ แล้วมันมีอะไรล่ะ ก็มันไม่ได้เป็นสมาธิไง มันไม่เป็นหลักของใจไง มันไม่เคยมีสมาธิ มันไม่เคยมี แล้วมันจะเอาอะไรมาเสื่อม

คนมีใช่ไหม คนมีสมาธิถึงเสื่อมจากสมาธิ คนไม่มีสมาธิ เอาอะไรเสื่อมสมาธิ ก็มันไม่มีสมาธิแล้วเอาอะไรมาเสื่อม

“ก็มันว่างๆ อยู่ ก็ว่างๆ ก็ฉันว่างๆ แล้วก็ว่างๆ ก็ไม่มีอะไรเสื่อม ก็ว่างๆ อย่างนี้”

แต่ทำอย่างไรต่อไปล่ะ ไม่รู้ ก็ว่างๆ กันอยู่อย่างนั้นน่ะ

หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะบอกเลยว่า วางใจไว้เฉยๆ ไม่ได้ กำหนดจิตไว้เฉยๆ ไม่ได้

หลวงตาตอนท่านทำ เราต้องบอกอย่างนี้นะ เราต้องบอกว่า นักกีฬาทุกคนก่อนที่เขาจะได้ตำแหน่ง เขาต้องเป็นนักกีฬาที่ฝึกหัด เขาต้องเป็นนักกีฬาที่แข่งขันมาก่อน ครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่ปฏิบัติมันก็เป็นอย่างนี้มาทุกองค์ เพราะตอนที่ปฏิบัติมันก็ปฏิบัติแบบปุถุชน ปฏิบัติแบบคนที่ไม่รู้นี่แหละ แต่เมื่อท่านมีเชาวน์ปัญญา สิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ท่านคัดเลือก ท่านบอกท่านดูจิตไว้เฉยๆ มันก็เป็นสมาธิอยู่ พอมันเสื่อมแล้วจะเอาขึ้นอีก กำหนดจิตไว้อย่างนั้นน่ะ ทำแล้วทำเล่า ท่านบอกพยายามเต็มที่เลยนะ มันก็เป็นสมาธิได้ วันสองวันก็เสื่อมอีก วันสองวันก็เสื่อมอีก จนท่านทุกข์มาก ทุกข์ จิตเสื่อมนี่ทุกข์มาก เพราะมันมีสมาธิแล้วเสื่อมจากสมาธิ ไอ้คนไม่มีแล้วไม่มีวันเสื่อมมันก็ไม่รู้จักว่าทุกข์มันเป็นอย่างไร

ท่านถึงบอกว่าเป็นเพราะเหตุใด อ๋อ! เพราะเราขาดคำบริกรรม นี่ไง คำบริกรรมมันเป็นจุดยืน คำบริกรรมพุทโธๆ เหมือนจุดยืนของจิต คนเรามีจุดยืน สิ่งใดมาล่อเรา เราก็มีจุดยืนของเราอยู่ จิตมันมีบริกรรมมันเกาะไว้ เหมือนเด็กหัดฝึกว่ายน้ำ มันต้องมีห่วงชูชีพ ถ้ามีห่วงชูชีพแล้ว มันอยู่กับน้ำ มันจะไม่จมน้ำ จิตก็เหมือนกัน มันต้องมีอะไรเกาะไว้หน่อยหนึ่ง มีพุทโธเกาะไว้

แล้วอย่างที่เราสอนปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาเกาะไว้ จิตนี้มันเป็นนามธรรม เหมือนน้ำเราสาดไปในอากาศ มันจะระเหยไปหมดเลย ถ้าน้ำมีภาชนะใส่ไว้ แล้วเรารักษามัน น้ำในภาชนะนั้นจะมากขึ้นเรื่อยๆ พุทโธๆๆ พุทโธคำหนึ่งมันไม่คิดออกไปข้างนอก มันอยู่กับพุทโธ มันก็พุทโธๆๆ มันเหมือนภาชนะ มันเหมือนสิ่งที่เกาะไว้ ถ้าจิตเกาะไว้ เกาะไว้เรื่อยๆ ทีนี้ที่มันทำไม่ได้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลามาเกาะไว้ มันไม่พอใจ เหมือนเด็ก เด็กให้มันเล่นไปตามธรรมชาติของมัน มันจะอยู่ของมันสนุกมาก ปล่อยมันเล่น มันสนุกมาก บอกให้มันนั่งเฉยๆ สิ หรือให้มันทำงานสิ มันเครียดมาก

จิตโดยสามัญสำนึก กิเลสคือความเคยใจ คนเรา เด็กที่มันใจแตก มันเที่ยวเล่นจนมันเคยใจของมัน กิเลสมันอยู่กับใจเรา มันเคยใจ คือเหมือนเด็กใจแตก มันเอาแต่ใจของตัวมันเอง มันจะอยู่โดยอิสระของมัน แล้วพอเรากำหนดให้มันพุทโธๆ พุทโธ คำบริกรรม บังคับไว้ด้วยสติ ด้วยคำว่า “พุทโธ” พอบังคับด้วยสติ ด้วยคำว่า “พุทโธ” มันจะต่อต้าน โดยธรรมชาติของมัน มันจะต่อต้าน

ทีนี้พอมันจะต่อต้าน เราจะเอาความจริง เราก็ต้องมีกลวิธี เราต้องมีอุบายเข้าไปต่อสู้กับมัน เช่น เราอดนอนผ่อนอาหาร คำว่า “อดนอนผ่อนอาหาร” เพราะอะไร เพราะเวลาเรากินมาก หรือเรานอน ไม่ใช่กินมากหรอก กินโดยสามัญสำนึกนี่แหละ กินโดยธรรมชาตินี่แหละ มันไปเสริมไง เหมือนเราเป็นไข้แล้วเรากินของแสลง ไข้จะหายไหม กิเลสมันอาศัยขันธ์ ๕ อาศัยอายตนะหาเหยื่อ รูปที่ดี เสียงที่ดี รสที่ดี กลิ่นที่ดี ทุกอย่างที่ดีคืออาหารของมัน แล้วเรากินเข้าไป โดยธรรมชาติมันเหมือนกับมันมีกิเลสอยู่แล้ว แล้วเราเอารูป รส กลิ่น เสียงเข้าไปปน เข้าไปให้มันกิน มันก็ได้อาหารด้วย เหมือนเราเป็นโรค เขาบอกว่าอาหารนี้เป็นของแสลง เราห้ามกิน เพราะมันจะไปกระตุ้นให้โรคนี้แรงขึ้น สิ่งที่เรากินอยู่โดยปกติมันก็ไปกระตุ้นกิเลสเหมือนกัน สิ่งที่ดำรงชีวิตนี้ กินอิ่มนอนอุ่น นอนนุ่มๆ นอนดีๆ กิเลสทั้งนั้นน่ะ เราฝืนมัน ศีล ๘ ห้ามนอนในที่นอนสูงใหญ่ ห้ามกินอาหารตอนเย็น นี่ศีล ๘ พอเราไม่กิน เราไม่เพิ่มขึ้นไป ชีวิตเราก็เป็นปกติ เพราะเราชีวิตเรามีศีล แต่กิเลส เราไม่กิน กิเลสก็ไม่ได้กินด้วย พอกิเลสมันไม่ได้กินด้วย เวลาไปปฏิบัติมันก็มีช่องทางแล้ว

เรากิน กิเลสมันก็กินด้วย บางทีกิเลสมันกินก่อนด้วย คือมันอยากกิน มันต้องการแสวงหาให้กิน ถ้าเราเริ่มทอนมัน นี่มันต้องมีอุบายมีวิธีการที่จะไปต่อสู้กับเรา เอาชนะเรา ทีนี้เวลาทำแล้ว “ทำไมทำพุทโธๆ แล้วไม่เห็นได้เลย เวลากำหนดจิตเฉยๆ แล้วมันสบาย”

อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เพราะถ้ามันเป็นสมาธิจริงๆ มันเป็นผลจริงๆ มันมีคุณค่า มันมีคุณค่าเพราะอะไร เพราะมันสงบแล้วมันมีความสุข อันแรกเลยล่ะ มันเป็นของที่มหัศจรรย์ เอ๊อะ! เอ๊อะ! เลยล่ะ จิตมหัศจรรย์มาก มันมหัศจรรย์มากนะ เพราะอะไร เพราะเวลาขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเป็นสมาธิระหว่างลึกตื้นหยาบต่างกัน ทีนี้เพียงแต่เราเอามาเทียบเคียงว่ามันเหมือนกับทฤษฎีที่เราจะอธิบายต่อกัน แล้วเวลามันสงบเข้ามา มันสงบเข้าไป ขนาดขณิกสมาธิ เราก็เริ่มสบายแล้ว แล้วอุปจาระ พอสงบเข้าไปแล้ว อุปจาระ วงรอบของจิตมันจะออกรู้ การออกรู้นี่ออกวิปัสสนา ทีนี้เวลาเราเข้าไป เหมือนทุน เราหาทุนได้น้อย ทุนเราสั้น เราทำอะไรมันก็จะเสี่ยงภัย ถ้าทุนเรายาว ทุนเรามีมาก ทำอะไรเราก็จะมั่นคง

ทีนี้พอถึงอุปจารสมาธิ ถ้าออกรู้เลย บางทีมันก็ยังใช้งานอยู่ ก็ให้มันลึกเข้าไปอีก อัปปนา ถ้าออกมาอย่างนี้เป็นวิปัสสนา แต่ถ้ามันไม่มีล่ะ มันไม่มี มันวิปัสสนึก ที่เขาทำๆ “ว่างๆ ว่างๆ พิจารณากายแล้วปล่อยกาย” มันเป็นความนึกคิด มันเป็นกิเลส มันเป็นอุปกิเลส อุปกิเลสไง มันสร้างภาพ พอจิตมันสงบแล้วมันสร้างภาพ พอสร้างภาพขึ้นมา เราก็เชื่อภาพนั้น พอเชื่อภาพนั้นไป มันเป็นอุปกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียดไง แทนที่เราจะไปฆ่ากิเลส มันกลับไปสร้างทิฏฐิมานะไง เพราะอะไร เพราะมันเป็นสูตรไง มันเป็นสูตร เห็นไหม จิตสงบพิจารณากาย พิจารณากายแล้วก็ปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี มันเป็นสูตรในทฤษฎี แต่ความจริงเรามันไม่เป็น พอไม่เป็นปั๊บ มันเป็นสูตรแล้วใช่ไหม เราก็ว่าเป็นสูตร เป็นตามนั้น แล้วเขาก็ให้ค่ากัน เหมือนไปเรียนหนังสือ ได้กระดาษคนละแผ่นไง เอ็งจบแล้ว เอ็งได้กระดาษไปใบหนึ่ง เอ็งทำงานเป็นไม่เป็น เรื่องของเอ็งนะ เอ็งต้องไปฝึกงานใหม่

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นสูตร มันถึงว่ากำหนดพุทโธๆๆ ถ้ามันไม่ได้ ไม่ได้เพราะความตั้งใจ โดยสามัญสำนึกของคนเรามันมีความปรารถนาดี มีความต้องการอยู่ แล้วพอเราปฏิบัติ เราก็อยากได้อยากดี มันซ้อนไป แต่ถ้าเวลาเราปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติแล้วถ้ามันไม่ได้ สิ่งที่ไม่ได้มันเป็นครู มันสอนเราว่าทำไมเราปฏิบัติแล้วไม่ได้ เป็นเพราะเหตุใด เพราะเหตุใด เราก็ย้อนกลับมาใคร่ครวญ เหมือนกับเราทำงานเสร็จแล้วเราก็มาทบทวนว่างานที่ทำมามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องบ้าง แล้วเอาสิ่งนั้น ตรงไหนบกพร่อง เราก็จะเติมตรงนั้นให้เต็ม งานของเราก็จะดีขึ้น

ในการปฏิบัตินะ งวดนี้มาแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย ก็มาทบทวน ถ้าเป็นกิเลสนะ โอ้! งวดนี้มาแล้วไม่เห็นได้อะไรเลยนะ ไม่ได้อะไรก็ไม่ต้องไป เลิกเลยดีกว่า แต่ถ้าพูดอย่างนี้ไปไม่ได้อะไร ไม่ได้อะไรเลยก็คิดสิ เราไปกี่วัน เริ่มต้นตั้งแต่ไปถึงวัด เราตั้งใจอย่างไร พอเราทำไปแล้วมันเป็นประโยชน์อย่างไร สิ่งที่มันตั้งใจ แล้วย้อนดูเข้าไปในพระไตรปิฎก ถ้ามีตัณหาความทะยานอยาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตัวสมุทัย ตัณหา อยากได้ วิภวตัณหา ผลักไส การผลักไส จิตมันผลักไส ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

แต่โดยสามัญสำนึก ด้วยความอยากเป็น อยากดี ไอ้นี่มันอยู่จิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกของคน ความอยากมันมีอยู่แล้ว แต่เวลาเราอยากในผลอีก ผิด มันถึงต้องทำว่าอยากในเหตุ พอเรามาปั๊บ เราเข้าทางจงกรม เรานั่งสมาธิภาวนา ทำไปอย่างนี้ แล้ววางใจให้เป็นกลาง เป็นกลางนะ แล้ว แล้วขยันหมั่นเพียร คืออยากในเหตุได้ อยากสร้างคุณงามความดี แต่ผลของคุณงามความดี ผลของความที่จะเป็น ให้มันเป็นไปโดยธรรมชาติ โดยสัจธรรม แต่ส่วนใหญ่แล้วเวลาปฏิบัติ ทุกคนไปหวังที่ผลไง

ที่เราไม่ได้ ลองคิดกลับว่า ที่เราตั้งใจ แล้วที่มันเป็นไป สังเกตนะ น้ำเวลามันไหลไป ดูแม่น้ำเรา น้ำจะใส เวลาน้ำป่ามา น้ำจะแดง น้ำจะขุ่นมาก เพราะมันอาศัยเอาดินมา เวลาเราทำ ไอ้น้ำตะกอนนั้นคือกิเลสเรา ในการปฏิบัติมันมีสิ่งนั้นตามมาด้วย

น้ำก็ไม่ใส น้ำก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ใช่ไหม แต่ถ้าตะกอนมันนอนแล้วน้ำใส น้ำใส คือธรรมชาติ จิตมันส่งออกอยู่แล้ว แต่ถ้ามันส่งออกพร้อมเป็นน้ำป่า น้ำป่าคือมันมีความอยาก มีความกระตุ้นของเราด้วยไง ความกระตุ้นของกิเลส ความกระตุ้นของความปรารถนา มันมากับน้ำนั้น น้ำนั้นก็แดง น้ำป่ามันซัด มันพัดเอาบ้านเรือนไปหมดเลยนะ แต่น้ำในคลอง น้ำในแม่น้ำ น้ำใส น้ำสะอาด ใช้ประโยชน์ได้นะ แล้วใช้ประโยชน์ได้ เราก็ต้องการตรงนั้น ถ้าเราต้องการตรงนั้น เราก็ต้องแบ่งแยกตรงนี้ไง

คำว่า “แบ่งแยก” ไม่ต้องแบ่งแยกที่ไหนหรอก ตั้งอารมณ์ไว้ สติตั้งอารมณ์ไว้ แล้วแยกแยะ มันต้องเข้ามาพิจาณาตรงนี้ แล้วถ้ามันเป็นไป ถ้าผลของการกำหนดพุทโธแล้วไม่ได้ หลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านสอนหลวงปู่อ่อน คนอื่นท่านสอนพุทโธๆ นะ หลวงปู่อ่อน ท่านให้กำหนดคำบาลียาวๆ เลย เพราะคนเราบางคนมันง่วงนอนง่าย บางคน จิตมันตกภวังค์ง่าย บางคน จิตมันคึกคะนอง คือมันมีสติมาก มันแก่กล้ามาก มันไม่ฟังอะไร ต้องตั้งสติดีๆ มันไม่มีสูตรสำเร็จหรอก เราเน้นบ่อยมาก พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านวิธีการ แม้แต่กำหนดพุทโธก็ไม่เหมือนกัน ทีนี้เราก็ต้องกลับมาตรงนี้ กลับมาตั้งสติแล้วใคร่ครวญดูวิธีการทำของเรา ถ้ามันไม่ได้ผลนะ คำว่า “ไม่ได้ผล” ที่ไม่มีโอกาสหมายถึงอย่างนี้ สมมุติเรากำหนดพุทโธๆๆ ไปแล้วมันเครียด มันเครียด มันตึงมากอะไรมาก เราเปลี่ยน เราเปลี่ยนให้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่า “พุทโธๆ” เป็นสมาธิอบรมปัญญา ทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วออกวิปัสสนา มันจะเป็นสมาธิอบรมปัญญา แต่ถ้าเป็นพุทธจริต ส่วนใหญ่คนที่มีปัญญากำหนดพุทโธๆ มันเครียด แล้วกำหนดพุทโธ มันไม่มีเหตุมีผล จิตมันไม่ยอมรับ ถ้าจิตไม่ยอมรับ เราต้องใช้ปัญญา ใช้ปัญญา มีสติตามความคิดไป ตามความคิดไป พอตามความคิดไป มันเห็น ตามความคิดไป

ความคิดโดยธรรมชาติของมันต้องหยุด ธรรมชาติของมัน คนเราคิดไม่ได้หรอก อย่างเช่นเราเสียใจอะไรที่สุดซึ้ง เสียใจจนเอาตัวเองแทบไม่รอด ถ้าใช้กาลเวลามันเยียวยาได้ คนจะทุกข์ขนาดไหน คนจะเจ็บปวดขนาดไหน กาลเวลามันเยียวยาหัวใจดวงนั้นนะ ถึงเวลาแล้วมันจะจางไปๆ เพราะมันทุกข์จนเต็มที่แล้วมันก็จะจางไปเป็นธรรมดา อันนี้คือว่ามันเป็นโดยธรรมชาติของมันที่เราไม่ได้ประโยชน์จากมันใช่ไหม แต่ถ้าเรามีสติตามไป ตามความคิดเราไป ทุกข์มากขนาดไหนก็แล้วแต่ พอกาลเวลามันเยียวยา นี่เป็นกาลเวลานะ แต่ถ้าสติมันทัน มันจะเห็นเลยว่าสิ่งนี้มันทุกข์เพราะเราเท่าทั้งนั้นเลย เราไปยึดมัน แล้วยึดเพราะอะไร เพราะเราไปคิดใช่ไหม เราไปคุ้ยสิ่งที่มันฝังใจขึ้นมา มันก็ฟูขึ้นมาทุกทีเลย พอไปสะกิดปั๊บ มันก็จะโผล่ขึ้นมาแล้ว

ไม่สะกิด มันอยู่ใต้หัวใจเรา พอสะกิด มันเห็นการกระทำของใจมันทำ มันจะเห็นโทษไง โทษจริงๆ ก็คือเราไปเอามัน ของมันมีอยู่ แผลมีอยู่ เราไม่สะกิดมันก็ไม่เจ็บ แผลมีอยู่นะ สะกิดมันก็เลือดออก สัญญาข้อมูลในใจมันก็มีอยู่ แล้วเราไปคุ้ยมัน เราไปคิด มันก็เจ็บทุกทีเลย แต่ถ้ามันมีอยู่ เราไม่คุ้ยมัน เรารักษามัน แผลมันก็เป็นแผลเป็น

นี่ก็เหมือนกัน ความคิด ข้อมูลที่คิดมันมีอยู่ สัญญามันมีอยู่ ข้อมูลของใจมันมีอยู่ ถ้าสติมันทันนะ พอมันจะไปสะกิดนะ เอ็งจะบ้าหรือ เอ็งอยากน้ำตาไหลอีกรอบหนึ่งใช่ไหม มันก็หยุด หยุด นี้คือปัญญาอบรมสมาธิ การที่หยุดมันเป็นสมาธิ หยุดนี้เป็นสมาธิ หยุดเรื่อยๆ หยุดบ่อยๆ พอหยุดบ่อยๆ ปั๊บ มันมีกำลังของมัน มีกำลังตรงไหน

เราเป็นคนทำสวนทำไร่ เราจะเห็นเลยว่าทำสวนมันจะมีผักมีหญ้าให้เรากินใช่ไหม เราทำไร่ทำนามันจะมีผลให้เราใช่ไหม จิตที่มันเห็นการหยุด จิตที่มันเห็น สติที่มันเห็น เห็นอาการที่ความคิดกับจิต มันเห็นมันหยุด นี่มันมีผลตรงนี้ไง ไม่ใช่ว่างๆ ว่างๆ...ว่างๆ เอาเหตุเอาผลอะไรมา

นี่มันเห็นเหตุเห็นผล ถ้าสติมันตามความคิดทัน มันหยุด มันหยุดมันก็มีผักมีผลไม้ให้กิน มันก็มีความสุขใช่ไหม แล้วเดี๋ยวมันก็คิดอีกแล้ว เดี๋ยวก็คิดอีกแล้ว บ่อยครั้งเข้า ความต่างมันตรงนี้ไง ถ้าเป็นสมาธิเป็นหลักเป็นเกณฑ์ มันมีเหตุมีผล มันจับต้องได้ พอจับต้องได้ มันบ่อยครั้งเข้าๆ บ่อยครั้งไง

ถ้าเราทันความคิดเราสักรอบหนึ่ง สักครั้งเดียวเท่านั้นน่ะ มีครั้งที่ ๑ จะมีครั้งที่ ๒ แล้วมันจะแบบว่าทำได้ยังไม่คล่องตัว ครั้งที่ ๑ ทำได้ กว่าจะทำได้ครั้งที่ ๒ ครึ่งวัน บางทีค่อนวัน ทำบ่อยครั้งๆ เข้า แล้วสักพักนะ ชำนาญขึ้นนะ คิดปั๊บ ทัน คิดปั๊บ ทัน คิดปั๊บ ทันเลย แล้วความคิดมันเร็วขนาดไหน แล้วสติปัญญามันทันหมด พอมันทันหมดมันก็ปล่อยๆๆ มันมีหลักของมัน ถ้ามีหลัก มีสติปัญญาเข้าไปเรื่อยๆ

เวลามันเสวยอารมณ์ จิต เห็นไหม เนื้อส้มกับเปลือกส้ม พลังงานคือเนื้อส้ม ความคิดเป็นเปลือกส้ม ส้มกับเปลือกส้มมันอยู่กันโดยธรรมชาติ ส้มทุกใบจะมีเปลือกกับเนื้อส้ม ความคิดกับจิตมันมีโดยธรรมชาติ มันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่โดยข้อเท็จจริง แต่เราไม่เห็นเราไม่รู้ ไม่เห็นไม่รู้ก็ไม่ใช่วิปัสสนา

แต่ถ้าวันไหน เนื้อส้ม ความรู้สึกของเนื้อส้มมันกระทบกับเปลือกส้ม ความรู้สึกของพลังงานมันเห็นความคิด มันจับความคิดได้ อันนั้นเป็นวิปัสสนา แต่ถ้ามันไม่มีอะไรกันเลย มันมีแต่พูดกันไป

ถึงว่ากำหนดพุทโธแล้วมันยากไหม

ทำงานทุกอย่างนี่ยาก ดูสิ เราทำธุรกิจกัน คนที่ประสบความสำเร็จมันจะมีเท่าไร แล้วคนที่ล้มลุกคลุกคลานมีเท่าไร ในการปฏิบัติมันจะปฏิบัติ มันไม่ใช่เรียนหนังสือนะ เรียนหนังสือมายกชั้นทั้งนั้น ในการปฏิบัติ หลวงปู่มั่น ลูกศิษย์ท่านเป็นหมื่นเป็นแสนนะ ดูสิ พระอรหันต์มีกี่องค์ ๒๐-๓๐ องค์ หลวงตาท่านบอก พระไปหาท่านเป็นแสนเหมือนกัน พระที่เข้าออกๆ บ้านตาดเป็นแสนนะ แล้วเหลือมากี่องค์ เราคำนวณสถิติอย่างนี้สิ แล้วก็คิดมาที่เรา แล้วเรามาปฏิบัติ เราจะอยู่ในหนึ่งผู้ที่มีบุญญาธิการที่จะปฏิบัติได้หรือเปล่า

การปฏิบัติได้มันเหมือนกับการปฏิบัติขึ้นมาเป็นผลขึ้นมา คือจิตมันเป็น ถ้าจิตมันเป็น จะบอกว่ามันก็ไม่ใช่ของง่าย ถ้าเป็นข้อเท็จจริง เป็นความจริง ไม่ง่ายหรอก แต่ก็ไม่สุดวิสัยพวกเราไง แต่ในปัจจุบันนี้การปฏิบัติมันเหมือนกับเป็นอุตสาหกรรมเลย แบบโรงงานน่ะ ปั๊มออกมาเลย แล้วมันเป็นจริงไหม

เรานะ ครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ลูกเรามีกี่คน แล้วเวลาพระที่ปฏิบัติเขาเรียกว่าลูกเกิดจากโอษฐ์ เกิดจากปาก เพราะครูบาอาจารย์พร่ำสอน เกิดจากโอษฐ์ เกิดจากการพร่ำสอนนั้น แต่พวกเรานี่ลูกเกิดจากครรภ์ แล้วมันจะเกิดอีกสักเท่าไร แล้วคนสร้างบารมีมาขนาดไหน

เราถึงมั่นใจมาก เพราะหลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านเหมือนเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ท่านมารื้อสัตว์ขนสัตว์ ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นที่สำเร็จมา ๒๐-๓๐ องค์ เรายอมรับประมาณสัก ๓๐ องค์ แล้วพอมารุ่นต่อไป หลวงปู่ฝั้น เราดูนะ เพราะเราไปอยู่ด้วย ไปค้นคว้าอยู่ เรายอมรับหลวงปู่สุวัจน์องค์เดียว หลวงตานี่ยอมรับ อาจารย์สิงห์ทอง หลวงปู่ลี แล้วก็มีหลวงปู่ผาง ดงเย็น นี่ลูกศิษย์ของท่าน ท่านไม่ได้พูดถึงเลย ท่านเก็บไว้ข้างใน

แล้วพวกนั้นเป็นพระที่ดีไหม ดี พระที่ดีหมายถึงพระที่อยู่ในศีลในธรรม อยู่ในกรอบ แต่คุณธรรมที่มันเป็น มันเป็นไหม ถ้ามันเป็น มันเป็น การเป็นมันเป็นที่ใจ ถ้าใจเป็น กิริยาการแสดงออกมันบอก มันฟ้อง ของเป็นมันคือของเป็น นี้เอามาเปรียบเทียบให้เห็นถึงการปฏิบัติ ผู้ที่จะผ่าน ผู้ที่จะเป็น มันเป็นขนาดไหน

แต่เรา เวลาครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านจะบอกเลยว่า ทุกคนไปถามว่าพวกเราจะมีอำนาจวาสนาไหม

ท่านจะบอกว่า คนที่มีอำนาจวาสนาไม่มีอำนาจวาสนา อยู่ที่เจตนา อยู่ที่ศรัทธา ถ้าเราศรัทธา มานั่งฟังเทศน์นี่มาทำไม มานั่งฟังเทศน์นี่เสียเวลาไหม แล้วมาทำไม แต่ทางโลกเขาบอกว่าคนไปวัด พวกนี้พวกมีปัญหา เขาอยู่บ้าน ทุกคนบอกเลย ฉันเป็นคนดี ดีแล้วไปวัดทำไม...ดีอย่างนั้นมันดี โทษนะ ดีแบบขี้ลอยน้ำ ดี เราว่าดี แต่พวกเรามันรู้ เหมือนคนเจ็บคนป่วย เราจะมารื้อค้นของเรา เราจะมารักษาของเรา

มาวัด เวลาเทศน์อยู่นี่คือให้ยาๆ แล้วยานี้มันกระเทือนหัวใจเราไหม ถ้ามันกระเทือนหัวใจ เราต้องแก้ไขของเรา เราจะพลิกแพลงของเรา เราจะแก้ไขของเรา ถ้าแก้ไขของเราได้ เราจะเอาตัวเรารอดได้ มันอยู่ที่การกระทำ อยู่ที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา แล้วมันเกิดขึ้นมากับใจเรา กับใจเรา ไม่มีใครทำให้ได้ ไม่มีใครการันตีให้ได้ ไม่มี เราทำขึ้นมาเอง พอเราทำขึ้นมาเอง เราปฏิบัติขึ้นมาขนาดไหน ถ้ามันสงสัย ถามอาจารย์ ถ้าอาจารย์ตอบเราผิด อืม! ไม่อาจารย์ผิดก็เราผิด แต่ถ้าเป็นความจริงมันจะไปอันเดียวกันๆ หมดเลย

เวลาพระป่าเรา ในการปฏิบัติ ประสาของเราเหมือนกับทำนา เราต้องทดน้ำเข้านา เราต้องไถนา เราต้องคราดนา เราต้องปลูกกล้า เราต้องดำนา แล้วเราต้องรักษาไม่ให้แมลงมันเข้าไปกัดกินต้นข้าว จนกว่าต้นข้าวมันจะงอกงามขึ้นมา จนกว่ามันจะออกรวง จนกว่าเราจะเกี่ยวข้าว จนกว่าเราจะนำมาเข้ายุงเข้าฉาง มันยากไหม

ก็เฉยๆ เดินผ่านคันนาเขาไป ข้าวของกูๆ มึงจะบ้าหรือ เดินผ่านคันนาเขาไปนะ อันนี้ก็ของกู อันนี้ก็ของกู...มึงทำหรือ การปฏิบัติก็เหมือนกัน อย่าเชื่อ อย่าไปเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่มีเหตุไม่มีผล แล้วเราได้ไถนาไหม เราได้ลงทุนลงแรงไหม เราได้ปักกล้าไหม เราได้รักษาต้นกล้าไหม เราได้เห็นแมลง พวกสัตว์มันมากินยอดข้าวเราไหม เราไม่เห็นอะไรเลย เราไม่เคยทำอะไรเลย แล้วก็บอกว่าเป็นมรรคผลนิพพานๆ

จะอ้างว่าทางลัดไม่ได้ เพราะทางลัดของมหายาน เขานั่งโศลกกัน เขานั่งปฏิบัติกันเป็นปีๆ ๑๐ กว่าปี เขาทำจริงทำจังกัน แต่มันเป็นโวหารว่าเป็นทางลัด ลัดเพราะอะไร ลัดเพราะไม่ให้กิเลสเราไปเกาะเกี่ยว เวลาพวกเราบอกว่านิพพานเป็นของสูงส่ง เราเชิดชูครูบาอาจารย์กัน มหายานเขาจะบอกว่าทำทานไม่ได้บุญ ทำทานไม่เป็นประโยชน์ ให้ปฏิบัติเลย

แต่ของเรา ทาน ศีล ภาวนา เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าเกิดจากทาน ถ้าทานไม่มีผล พระสีวลีกับพระพาหิยะ พาหิยะเป็นโยมไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ทีแรกไปค้าขายแล้วเรือแตก พอเรือแตกกลับมา อยู่ในทะเลนานไง พอเรือแตกกลับมา ไม่มีเสื้อผ้าใส่ พอขึ้นมาจากทะเล ชาวบ้านเขาเห็นขึ้นมา เขานึกว่าเทพเจ้า เขาเคารพบูชา ก็เลยเอาใบไม้ห่ม เห็นว่าได้ลาภก็เลยทำตัวเป็นศาสดาเลย ทีนี้อดีตชาติเขาเคยไปปฏิบัติกัน แล้วผู้ที่ปฏิบัติสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็มี เป็นพระอนาคามีก็มี เป็นเทวดาก็มี เขามาเตือน “ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ปัจจุบันนี้พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว ให้ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า”

พระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ ไปขอฟังเทศน์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเทศน์คำเดียวเท่านั้นน่ะสำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย เพราะเคยปฏิบัติมา แต่ตอนที่ขึ้นมาจากทะเลมันเห็นได้ลาภ ก็เลยไปติดลาภไง

ก็ขอพระพุทธเจ้าบวช พระพุทธเจ้าบอก “เธอไม่มีบริขาร บวชได้อย่างไร” พระอรหันต์ไปหาบริขาร บาตร จีวร บริขาร ๘ ไปหาบริขารอยู่ โดนควายขวิดตาย พระอรหันต์นะ แม้แต่บริขาร ๘ ยังหาไม่ได้เลย นี่ไง พูดถึงทานไง ระดับของทานทำให้แต่ละคนแตกต่างกันไป อย่างพระที่สร้างบุญกุศลมา เวลาจะบวช พระพุทธเจ้า เอหิภิกขุ มันจะมีบริขาร ๘ เป็นทิพย์ หมายถึงลอยมาจากอากาศเลย แต่มีอยู่หนเดียว อำนาจวาสนาของพระไม่เท่ากัน ที่ว่าลอยจากอากาศๆ ที่ว่าเป็นทิพย์ๆ ลอยมา มี แต่เขาสร้างของเขาไว้ เขาทำของเขาไว้ คือเข้าได้เสียสละไว้

อย่างเวลาเราทำบุญกุศลกัน ได้เสียสละไว้ ได้ทำไว้ ถึงเวลาแล้วมันมา แต่คนที่ไม่ได้เสียสละไว้ พาหิยะไปหาบริขาร ๘ โดนควายขวิดตาย พอควายขวิดตายแล้วจะเผาศพ พระพุทธเจ้ามาเป็นประธานเผานะ พระพุทธเจ้ามาเอง มาเผาให้เลย นี่พระอรหันต์

มันไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกันเพราะการกระทำของเรามามันไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่เป็นท่านสอน ดูสิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ อานาปานสติ มรณานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา ถ้าเป็นสมถะ เหมือนอย่างพวกเราปุถุชน กำหนดเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราท่องเอา การท่องเอาก็เหมือนกับเราท่องพุทโธ การท่องอะไรก็แล้วแต่ การท่องพุทโธ เพราะการท่อง วิตก วิจาร เราต้องนึกคำนี้ขึ้นมา แล้วคำท่อง เราแบ่งเป็น ๒ คำ ๓ คำ นี่วิจาร

วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ คือจิตมันอยู่เฉยๆ มันไม่มีสิ่งใด มันต้องเอาสิ่งนี้ตั้งสติ แล้วทำมันเข้าไป แล้วย่อยสลายมันเข้าไปจนมันเป็นสมาธิ คือสมาธิก็เหมือนกับน้ำ น้ำขุ่นกับน้ำใสนั่นล่ะ ทำให้น้ำใส พอน้ำใสขึ้นมา ว่าน้ำใสจะเห็นตัวปลา น้ำใส ทุกคนก็ทำจิตสงบแล้วก็รอจะเห็นกิเลส...ไม่เห็น

น้ำใสจะเห็นตัวปลา ปลาอยู่ในน้ำใสๆ นั้น ถ้าพูดถึงน้ำใสแล้วเห็นตัวปลานะ ทุกคนทำสมาธิแล้วเห็นกิเลส จะไม่มีใครภาวนาติดเลย จะไปเป็นพระอรหันต์หมดเลย แต่ทีนี้พอน้ำใสแล้วหาปลาไม่เจอ หาปลาไม่เจอ หันซ้ายหันขวา เคว้งคว้าง หาปลาไม่เจอ ถ้าหาปลาเจอ เพราะปลามันอยู่ในน้ำใสๆ นั้น มันต้องมีสติ จิตจะย้อนกลับมากาย เวทนา จิต ธรรม เพราะถ้าจิตมันสงบแล้วเวลามันเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม มันเห็นจากจิต

แต่ถ้าสามัญสำนึก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันเป็นสมถะ มันเป็นสามัญสำนึกเราใช่ไหม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราสร้างภาพได้ใช่ไหม มันเห็นจากความคิดไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป รูปเราคิดขึ้นมา สัญญา สัญญาข้อมูลเราคิดขึ้นมา เวทนา ความรู้ว่ารูปไม่รูป เราก็คิดขึ้นมา มันเป็นความคิด มันเป็นสามัญสำนึก มันเห็นโดยกิเลส แต่ถ้าจิตสงบเข้ามา พอมันเห็นจากจิต พอจิตมันสงบเข้ามา จิตมันสงบเข้ามา เห็นรูป เห็นกาย พอเห็นกายขึ้นมา จิตสงบ ตัวเนื้อส้ม

เราหยิบเปลือกส้มสิ มือเราสัมผัสเปลือกส้ม มันเป็นความรู้สึกอันหนึ่งใช่ไหม ถ้าเราปอกเปลือกส้มออกแล้วเราหยิบถึงเนื้อส้ม เนื้อส้มมันละเอียดอ่อนกว่าเปลือกส้มไหม จิต จิตที่มันเห็นกาย มันเนื้อส้ม ตัวเนื้อส้ม รสชาติมันก็ต่างกัน คุณภาพของเนื้อกับเปลือกก็ต่างกัน พอคุณภาพของเนื้อกับเปลือกมันต่างกัน มันสั่นไหวหัวใจดวงนั้นไง หัวใจ ตัวเนื้อส้มที่มันเห็น มันจะสั่นไหวมาก เห็นกายครั้งแรกผงะทั้งนั้นน่ะ ถ้าเห็นจริงนะ แต่เขาเห็นกันไม่จริง เวลาเห็น เออ! เห็นก็เห็นไง

เราพูดบ่อย หมอที่ผ่าตัดอยู่ในห้องผ่าตัดไม่เคยเห็นกายเลย หมอมันถือมีดอยู่ แล้วมันผ่าตัดคนไข้ทุกวันๆ มันไม่เคยเห็นกายเลย เพราะมันเห็นจากตาเนื้อ มันเห็นจากวิชาชีพ แต่ถ้าหมอนั้นกำหนดพุทโธๆ จิตสงบนะ แล้วหมอนั้นไปเห็นกายโดยจิตนะ หมอนั้นหัวใจจะสั่นสะเทือนมาก การเห็นหัวใจจะสั่นสะเทือนมาก พอสั่นสะเทือนปั๊บ มันจะหลุดมือ แล้วเราพยายามตั้งจิตให้มั่นคง แล้วพิจารณาไปเรื่อยๆ แล้วแยกไปเรื่อยๆๆ มันสะเทือนไปถึง มันไปทอน ทอนอัตตานุทิฏฐิ ถอนอุปาทาน สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด เห็นไหม

อย่างเมื่อวานเขาว่าบอกว่า ใครจะเป็นพระอรหันต์ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นพระอรหันต์ไม่ได้

พวกเราเป็นมิจฉาทิฏฐิหมดเลย เพราะถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นพระโสดาบันไปแล้ว เพราะเราเห็นผิดไง มรรคหยาบ มรรคหยาบมรรคละเอียด

เราบอกว่ากายไม่ใช่เรา มันเป็นความคิด มันเป็นที่ความคิด มันไม่เป็นที่เนื้อส้ม ไม่เป็นที่ความรู้สึก แล้วความรู้สึกพอไปเห็น นี่สัมมาทิฏฐิ เวลามันจะเป็น ทุกคนเป็นมิจฉาทิฏฐิหมด ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมพระพุทธเจ้านี่แหละ เป็นมิจฉาทิฏฐิตรงไหน เป็นมิจฉาทิฏฐิเพราะความเห็นผิดไง ความเห็นผิด ความเห็นคลาดเคลื่อนของใจเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ขณะที่ว่าเป็นฆราวาสใช่ไหม เป็นคฤหัสถ์ มรรคของฆราวาส นี่ไง ทำอาชีพก็ถูกต้อง ทุกอย่างถูกต้องหมดเลย เป็นมรรคไหม เป็นมรรคหรือยัง ฆ่ากิเลสได้หรือเปล่า มันไม่ได้ฆ่ากิเลส เพิ่มกิเลสนะ เพราะยิ่งทำยิ่งรวย ยิ่งรวย กูยิ่งเอา กูไม่ไปไหนแล้ว กูจะเอาอันนี้ นี่ไง มรรคหยาบ ในตัวของฆราวาส ถูก แต่พอมาโสดาปัตติมรรค ผิด มิจฉาไหม ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรค ขณะที่เป็นโสดาปัตติมรรคมันยังเจริญแล้วเสื่อมๆ ขณะที่เสื่อมนี่มิจฉาทิฏฐิ เป็นมิจฉาอยู่ เพราะมันยังไม่ถูกต้อง

ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ ความถูกต้อง มรรคสามัคคี มรรครวมตัว มรรคญาณรวมตัว นั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ นั้นคือความถูกต้องที่สมดุล พอสมดุลปั๊บ กิเลสขาดพับ! ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐินะ กิเลสขาดเลย เพราะมรรคญาณมันเข้ามา แล้วมรรคญาณมันอยู่ที่ไหน มรรคญาณมันก็คือความคิดเรานี่แหละ ความคิดที่มีพลังงาน คือมีสมาธิ มีปัญญา มีสมาธิ ปัญญาอย่างนี้ปัญญาในพระพุทธศาสนา ปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาให้รื้อค้นขึ้นมาจากคนดิบๆ ให้รื้อค้นขึ้นมาจากใจที่มันทุกข์ ใจที่มันทุกข์ใจที่มันยาก เพราะตบะธรรมมันแผดเผา ตบะธรรม สมาธิ ปัญญา มันแผดเผา มันทำขึ้นมาให้มันสุขได้ สุขขึ้นมามันก็พ้นออกไปๆ เกิดจากเรานะ แล้วมันเป็นอันเดียวกัน อันเดียวกัน หมายถึงว่า ถ้าจะเป็นสมาธิอบรมปัญญาหรือปัญญาอบรมสมาธิ โสดาบันก็คือโสดาบัน พูดถูกต้อง พูดถูกต้อง เหมือนกัน เหมือนกันโดยที่รู้

แต่ถ้าไม่เหมือนกันนะ ไม่เหมือนกันที่ว่า “พิจารณากายแล้วปล่อย ขาดๆ” เป็นคำพูด ไม่ได้เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ ขาด ขาดอย่างไร อย่างถ้าเราทำงานจบแล้ว ให้ซักมาสิ ซักมาอย่างไร เราก็สามารถอธิบายได้ คนที่ทำมา คนที่เป็นมา อธิบายได้ทุกแง่มุม แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านจะตรวจสอบ ท่านจะตรวจสอบจากแง่มุมนี้ก็ได้ แง่มุมนี้ก็ได้ คือถามอย่างนี้ก่อน ถามอย่างนี้ก่อน ถามอย่างนี้ก่อน ถ้าเป็นสิ่งที่จำมา ตอบได้หนเดียว ตอบอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ แค่แสดงออก แค่พูดก็รู้แล้ว

เราเคยเจอพระองค์หนึ่ง เขาพรรษาเยอะนะ เขาคงจะรู้จักเราอยู่ พอไปฉันน้ำร้อนกับเขา เขาไม่พูดอะไร แล้วสุดท้ายแล้วพอเรากลับกุฏิ เขาไปหาเลย ห่มผ้ามาเลย เขาบอกว่าเขาพิจารณาของเขาไปถึงที่สุดแล้ว เวลาพิจารณาไป เจ็บไข้ได้ป่วยมาก พอเจ็บไข้ได้ป่วยมาก พิจารณาแล้วมันขาดหมด พอมันขาดหมด มันขาดไป เพราะเวลาเราพูด เขามีเหตุมีผลไง เขาบอกว่าความรู้สึกของเขา อารมณ์ความรู้สึกเหมือนวัตถุอันหนึ่ง ความเจ็บไข้ได้ป่วย เวทนาเหมือนอันหนึ่งเลย แล้วพิจารณาไปแล้วมันขาดเลย พอมันขาดเลย เขาทำได้แค่นี้ไง แล้วเขามาหาเรา แล้วบอกให้ทำอย่างไรต่อไป

บอกว่าให้ซ้ำ ซ้ำเข้าไปอีก ซ้ำอันนี้ไม่ใช้ซ้ำแบบว่ามันไม่ขาด มันขาดแล้ว แต่ซ้ำเข้าไป หมายถึงว่า มันมีขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างหยาบเป็นพระโสดาบันถ้ามันขาดได้ ขันธ์อย่างกลางเป็นสกิทาคามี ขันธ์อย่างละเอียดมันจะเป็นพระอนาคามี พอขันธ์อย่างละเอียดจบแล้ว ตัวเปลือกส้ม ทุกอย่างโดนทำลาย เหลือแต่เนื้อเฉยๆ เนื้อเฉยๆ ตัวพลังงานเฉยๆ มันไม่ใช่ขันธ์ ไม่ใช่ความคิด มันเป็นความรู้สึกเฉยๆ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส ตัวผ่องใสมันต้องไปทำลายตรงนั้นอีก แต่ถ้าคนมันทำไม่เป็น อย่างไรมันก็ไม่รู้

พอมาถามปั๊บ เราแนะนำไป แล้วทำอย่างไรต่อไป ให้เข้าป่าไป แล้วเดี๋ยวนี้เจอกันอยู่ พอเดี๋ยวนี้เจอกันอยู่ เขาจำเราได้ แต่มันไม่มีโอกาสได้คุยกันแล้ว เพราะว่าเขามีชื่อเสียงมาก มันไปนะ ประสาเรา ถ้าเราไปไหน เขาก็ว่าเหมือนกับเราจะไปเกาะคนอื่นทั้งนั้นเลย ไม่มีใครมองว่าเราเป็นคนเลยเนาะ แปลกฉิบหาย ไปหาใคร ใครก็คิดว่าเราจะไปเกาะเขา แต่ไม่ใช่ จะไปคุยถามนี่

นี่พูดเพราะอธิบาย ทำไมทำพุทโธแล้วมันทุกข์มันยาก

เราจะบอกว่าการทำ งานจริงๆ ทุกคนทำแล้วต้องลงทุนลงแรง ถ้าเป็นงาน เป็นเนื้องาน เราต้องออกแรง เราต้องทำด้วยปัญญาของเรา มันถึงจะเป็นเนื้องาน ทีนี้เคยทำกันมา อยู่เฉยๆ กำหนดไว้เฉยๆ

ใช่ กำหนดไว้เฉยๆ เพราะเวลาเราพูดเราก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน แต่เราพูดเป็นการอธิบายว่าสิ่งที่มีอยู่ไง เช่น จิตนี้มีอยู่ ตัวจิตนี้มีอยู่ ตัวจิตมันจะเป็นผู้ที่หลุดพ้น สิ่งที่มันมีอยู่ใช่ไหม มีอยู่ แต่เราจะรื้อค้นมันอย่างไรล่ะ เราจะเอามาใช้ประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้วมันจะเป็นไปเองได้ จิตนี้มีอยู่ใช่ไหม แล้วจิตจะเป็นนิพพานไปเอง อยู่เฉยๆ เป็นนิพพานไปเอง มันก็เหมือนในสมัยพุทธกาลไง มีอยู่ลัทธิหนึ่ง ลัทธิเสวยสุข ชีวิตนี้ใช้แบบเต็มที่ไปเลย เสวยสุข อยู่กับสุขตลอดไป ใช้ชีวิตเต็มที่ไปเลย ๕๐๐ ชาติแล้วจบ แล้วมันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันจะเป็นไป มันจะทุกข์มันจะยาก มันเป็นข้อเท็จจริง แล้วพอข้อเท็จจริงขึ้นมา มันใช้ประโยชน์ได้จริงๆ แต่ถ้าเราวางใจไว้เฉยๆ ว่างไหม? ว่าง เพราะอะไร เพราะเราสร้างอารมณ์ใหม่ เราสร้างไว้ แล้วพอสร้างไว้ก็ยึดไว้ไง เหมือนกับลูกอยู่กับพ่อแม่ มีกินทั้งปีทั้งชาติ พ่อแม่เลี้ยงตลอดชีวิต ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เกาะธรรมะพระพุทธเจ้าไว้ไง ศึกษาธรรมะไว้จะให้มันสบายๆ ไว้ แค่นั้นเอง

เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพานนะ บอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอบอกเขานะ อย่าบูชาด้วยอามิสเลย ให้บูชาด้วยการปฏิบัติเถิด” ทีนี้พอปฏิบัติเถิด การปฏิบัติมันมีความเชื่อถือขึ้นมาก็ปฏิบัติกัน ปฏิบัติโดยปริยัติไง คือทำเป็นพิธีเฉยๆ ไง ว่างๆ ว่างๆ

เวลาภาคปฏิบัติ เวลาออกไปสังคม มันหาข้อเท็จจริงตรงนี้ยาก ถ้าข้อเท็จจริงมันเป็นจริง มันพูดอย่างไรก็ได้ แล้วมันสามารถอยู่กับโลกเขาได้ แต่ถ้าไม่จริง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะปริยัติมันอยู่กับตำรา ตำรานี้เป็นตัวหนังสือ เป็นอักษร มันไม่ตกหายไปไหนหรอก มันเอามายันกับเราได้ แต่ของเราเอาความจริง เอาความรู้สึกยันกับเขา ยันกับเขา มันเป็นอย่างไร มันทำอย่างไร คือมันเป็นข้อเท็จจริงในหัวใจ แต่ตำรา อย่างไรมันก็อยู่ในหนังสืออยู่แล้ว รื้อค้นเมื่อไหร่ก็ได้

ทีนี้เราปฏิบัติจะปฏิบัติแบบตำราก็ไม่ได้ มันเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ภาวนามันต้องเกิดจากจิตที่เรารื้อค้นเอง เรากระทำเอง ฉะนั้นจะบอกว่าพุทโธไม่ได้อะไรเลย แสนยาก...ยอมรับ ยอมรับว่ามันยาก แต่มันยากขนาดไหน ถ้าเราฝืนแล้วทำต่อเนื่อง มันต้องเป็นไปได้

เวลาพูดให้กำลังใจ น้ำหยดลงหินทุกวัน หินมันยังกร่อน ไอ้นี่กำหนดพุทโธๆ ทั้งวันๆ ดูซิ มันจะไม่เป็นก็ให้มันเป็นไป ทีนี้เวลากำหนดพุทโธแล้วบางทีมันน้อยเนื้อต่ำใจ บางทีมันเหนื่อยขึ้นมาแล้ว งานอะไรกูก็ทำได้ งานทางโลกแบกหาม กูทำได้หมดแหละ ทำไมพุทโธกูทำไม่ได้ กูไปทำงานทางโลกดีกว่า ง่ายกว่าเยอะเลย อ้าว! งานทางโลกทำได้ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาจะมาทำงานอย่างนี้ทำไมทำไม่ได้ งานที่เอาใจไว้ในอำนาจของเราทำไม่ได้

แต่งานทางโลกมันไม่จบนะ งานอย่างนี้จบ เห็นใจ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราบอกว่าการทำอย่างอื่น การกำหนดใจไว้เฉยๆ เป็นทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่คนเขาไปทำกันแล้วมันสบายๆ ไอ้ตรงนี้ที่คนไปติด ไอ้ตรงนี้ ก็สบายๆ ใช่ไหม ใช่ เออ! นั่นแหละ จบ แล้วถ้าเป็นประสาเรานะ มิจฉาสมาธิ คือแบงก์ปลอม แบงก์ที่เป็นเงินเทียมใช้ในท้องตลาดไม่ได้ แต่นี่มันไม่ใช่เงินใช่ไหม มันเป็นความรู้สึก

แต่ถ้าเป็นสมาธินี่เงินแท้ เงินจริงๆ ใช้ในท้องตลาดได้ ใช้ในท้องตลาด หมายความว่า ผลมันจะเกิดในวัฏฏะไง มันจะไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมไง แต่ถ้าเป็นเงินปลอมมันก็อยู่ที่นี่ไง อยู่ในโลกนี้ไง อยู่ในความรู้สึกเรานี่ไง แล้วก็ตาย จบที่นี่ แต่จิตก็ไม่เป็น จิตก็เป็นทุกข์

แต่ถ้าเป็นเงินจริงนะ จิตมันไปรู้ จิตเป็นผู้รับ สมาธิก็สมาธิจริงๆ เกิดก็เกิดเป็นพรหม ถ้าเป็นสมาธินะ คนทำสมาธิได้แค่หนเดียว เราทำสมาธิได้หนเดียว เป็นสมาธิ โอ้โฮ! สุขมาก ทีนี้ความสุขอันนี้มันจะฝังใจ พอฝังใจ คนเรามันจะตาย พอคนเราจะตาย พอคนจะตายปั๊บ เขาเรียกกรรมนิมิต คนทำความชั่วไว้มันจะเกิดภาพเลย เห็นภาพก่อนเลยนะ เวลานอนอยู่นี่ เวลาจะตาย ดิ้นโครมๆ ครามๆ นี่ลงนรกอเวจี แต่ถ้าคนนอนนิ่งๆ คนเป็นสุข ตายแบบมีความสุข เพราะจิตมันได้สร้างคุณงามความดีไว้

แต่ถ้าอย่างเราทำสมาธิไว้ เคยทำสมาธิไว้ แล้วมีสติ เวลาใกล้ตายขึ้นมามันจะไปไหนล่ะ มันก็วิ่งเข้าหาสิ่งที่อารมณ์ที่เคยเป็นสมาธิ พออารมณ์สมาธิปั๊บ เวลาเราออกไปพร้อมกับสมาธิ มันก็ไปเกิดเป็นพรหมไง

เวลาคนจะเป็นจะตาย คนเราทำบุญทำกุศลไว้ แล้วเวลาเราจะตาย บางทีมันไปคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีก่อน มันก็ไปก่อน แต่ถ้าสิ่งที่คิดอยู่ ดูสิ ดูอย่างที่ว่าจิตคหบดีจะตาย เทวดาเอารถม้ามารับหมดเลย เพราะอะไร เพราะเขาทำๆๆ ทำทุกวันจนเป็นความเคยชิน พอมันจะมีอะไรเกิดขึ้นมันก็ไม่หวั่นไหว แต่ของบางคนทำดีด้วย ทำชั่วด้วย เวลามันคิดถึงความชั่ว มันชอบ ทีนี้พอทำดี เราทำดีไว้เยอะแยะเลย ทำดีมหาศาลเลย แต่พอจะตายขึ้นมา โอ้โฮ! ทำดีไว้มากมายเลย เอ๊! แต่เราเคยทำชั่วอันนั้นไว้ มันไปพะวงกับไอ้ชั่วนั้นน่ะ ไปเกิดตามความชั่วก่อน

แต่ถ้าเราฝึกใจของเราไว้ หลวงตาท่านบอกว่าจิตของพวกเราเหมือนลิงโดดเกาะกิ่งไม้ไง กิ่งไม้มันโหนไป เกาะไปๆๆ จิตมันคิดไปๆๆ จิต ความรู้สึกมันมีความคิด คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดดเกาะกิ่งไม้นั้น โดดเกาะกิ่งไม้นี้ พอโดดไปเกาะกิ่งไม้แห้ง ตกตุ้บเลย

ทีนี้ถ้าเราไม่ไปเกาะล่ะ จิตเราเป็นสมาธิ มันไม่ไปเกาะ ไม่ไปเกาะกิ่งนั้นๆ กิ่งคือความคิดไง ไปเกาะความคิดนั้นๆ ไง ทีนี้เวลาตายขึ้นมาก็ไปห่วงเรื่องนั้นๆๆ ไง

ถ้าเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ ขันธ์ ๕ เป็นความคิด กิ่งไม้เป็นความคิด นิพพานมันไม่ไปไหนหรอก มันอยู่ที่มัน มันจะเป็นจะตายมันก็อยู่ตรงนั้นน่ะ เพราะกิเลสมันหมดตั้งแต่มันตรัสรู้แล้ว ตั้งแต่บรรลุธรรมแล้ว จิตนี้เป็นหนึ่งเดียว ตัวนี้ตัวธรรม พอมันเป็นตัวธรรมอยู่แล้วมันจะไปไหน มันไม่ไปไหนหรอก มันคงที่ตายตัว

แต่ประสาเรามันคงที่ไม่ได้ พอความคิดมันเกิด เราถึงตายไปพร้อมกับความคิดไง ความคิดคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่ยึดมั่นถือมั่น อันนี้มันให้ผล นี่ไง ดีชั่วลงที่นี่ เพราะอันนี้มันคือสัญญา คือการกระทำ แต่ถึงที่สุดแล้ว อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ตัวจิตปฏิสนธิ ตัวความคิดเราผ่านอายตนะ มันเป็นสามัญสำนึก

เรื่องของจิตนะ เวลาพูด เราจะพูดให้เห็นว่า สิ่งที่ว่าเราทำกันง่ายๆ สะดวกๆ มันเป็นของเด็กๆ เล่นกัน ประสาเราว่าหลอกลวงกันก็ได้ คำว่า “หลอกลวง” นี้คืออะไร คำว่า “หลอกลวง” คนสอนเขารู้ เราถ้าเข้าใจอะไรผิด แล้วเราสอนโยมไปผิดๆ กาลเวลาที่เราไปใคร่ครวญอยู่ เราจะรู้อะไรถูกอะไรผิด คนที่เคยสอนผิด เพราะเราเคยปฏิบัติมา พอเรารู้ได้ขั้นไหน เราจะพูดได้ขั้นนั้น แล้วขั้นที่ละเอียดกว่านี้ เราจะต้องรู้ไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้าเรารู้อยู่ขั้นใดขั้นหนึ่ง มันยังมีความสงสัยอยู่

เราจะบอกว่า คนที่สอนผิดก็รู้ว่าสอนผิด แต่ไม่ยอมรับ ไม่เป็นสุภาพบุรุษ คนที่สอนถูกก็รู้ว่าสอนถูก ถ้าไม่รู้ ทำไมแอบอ้าง แอบอ้างถึงครูบาอาจารย์มารับประกันอยู่ตลอดเวลา คนที่สอนผิด เขาก็รู้ว่าสอนผิด แต่เขาไม่ยอมรับการสอนผิดนั้น แล้วพวกเราเห็นว่าเขาเป็นครูบาอาจารย์ พวกเราก็ไปเชื่อเขา

กาลามสูตร อย่าเชื่อว่าอาจารย์พูด อย่าเชื่อ อย่าเชื่อ อย่าเชื่อทุกอย่าง ให้พิสูจน์ๆๆ แต่เราไปเชื่อ พอไปเชื่อแล้ว มันก็เยอะมาก เยอะมาก นี่ไง ว่างๆ สบายๆ ใช่ไหม ใช่ จบ ก็เลยนอนอยู่นั่นน่ะ กลายเป็นพรหมลูกฟักไง นอนแช่อยู่นั่นน่ะ ไม่ต้องขยับไปไหน ก็ว่างแล้วไง ก็ว่างๆ ก็ว่างๆ มึงก็ว่าง กูก็ว่าง คนทั้งคนทำให้ใจนี้เป็นแร่ธาตุเป็นสสารอันหนึ่ง ไม่มีชีวิตชีวาจะก้าวเดินต่อไป แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธินะ มันมีการก้าวเดิน มันจะเป็นประโยชน์กับมัน

เวลาพูด วันนี้พูดให้กำลังใจว่าพุทโธมันยาก บอกว่ายากไหม? ยาก หลวงตาสอนไว้ การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนแรกกับขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนแรกเหมือนกับการหาน้ำมัน การแสวงหาน้ำมัน ถ้าเรายังไม่รู้ว่าแหล่งน้ำมันอยู่ที่ไหน เขาใช้เทคโนโลยีทั้งหมดหา แต่ถ้าเขารู้ว่าน้ำมันอยู่ที่ไหนแล้วเขาเจาะง่ายๆ

นี่ก็เหมือนกัน เราหาใจเราไม่เจอ พุทโธ หาใจไม่เจอ เราไม่รู้ว่าแหล่งน้ำมันอยู่ที่ไหน รู้อยู่ว่าอยู่ในใจ แต่หาไม่เจอ แล้วถ้าเราหาเราคลำของเราเจอ เริ่มต้นถ้าจับได้ หญ้าปากคอก ยากมาก เพราะอะไร เพราะมันจับพลัดจับผลู มันสงสัย มันพิสูจน์ เหมือนกับคนฝึกงานทำงานยังไม่เป็น มันยากไปหมด แต่พอผ่านโสดาบันเข้าไปแล้วนะ สกิทาคามี อนาคามีไปได้สบายๆ เลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นสายเดียวกัน คือเราจับปลายเชือก เราสาวเข้ามา จับต้นเชือก สาวจนถึงปลายเชือก จับขันธ์ได้ จับจิตได้ สาวไปเรื่อยๆ พอถึงที่สุด ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์มันก็หมดแล้ว เส้นเชือกนั้นหมดไปเลย แต่เส้นเชือกนั้นมันยังอยู่ อ้าว! งงไหม เส้นเชือกหมดแล้ว เส้นเชือกมันยังอยู่ ทำลายขันธ์ทั้งหมดเลย พลังงานยังอยู่

“โมฆราช เธอจงมองดูโลกนี้เป็นความว่าง แล้วให้กลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ” มองโลกนี้ให้เป็นความว่าง เส้นเชือก มองว่ามันว่างหมดเลย แต่ผู้ที่รู้เส้นเชือก ถอนอัตตานุทิฏฐิ ไอ้คนที่เห็นเส้นเชือก ทำลายตรงนั้นปั๊บ จบ

แต่เขาไม่มีการกระทำ มันเป็นคำสอนหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์สอนถูก รู้จิต รู้ ดู ให้รู้จิต ให้ดูจิต แต่รู้หรือดูของผู้บริหารจัดการ คือรู้ ดูด้วยปัญญา ไม่ใช่รู้ ดูด้วยการเพ่ง พวกเราไปดู รู้ด้วยความเพ่ง ไปดูสิ หลวงปู่ดูลย์เขียนไว้ ให้ดู ดู ท่านเขียนตัวใหญ่ๆ เลย รู้ รู้ตัวใหญ่ๆ เลย ดู รู้แบบผู้รับผิดชอบ รู้ด้วยปัญญารับผิดชอบ ไม่ใช่รู้ ดูด้วยเพ่ง รู้ ดูด้วยไม่เอา อ้าว! ดูแล้ว ดูแล้วก็หันหน้าหนี แล้วมันจะรู้อะไร คือคนสอนสอนไว้มีเป้าหมายอย่างหนึ่ง ไอ้คนไปรับมา มันไปรับมาโดยเป้าหมายแบบเด็กๆ ไง

ดู รู้แบบพ่อแม่ โอ้โฮ! บริษัทเราดู แหม! ยุ่งไปหมดเลย แล้วให้ลูกมันดู มันก็นั่งดูเฉยๆ ไง ดู มันเลยออกมาเป็นอย่างนั้น ถ้ามันรู้จริง มันสอนจริง มันต้องมีเหตุมีผล มันไม่หนีกันหรอก ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ไม่หนีกัน มันเป็นวิธีการถนัดเท่านั้นเอง เราเปรียบเทียบเหมือนมือซ้ายมือขวา คนถนัดซ้ายถนัดขวาเท่านั้นเอง แต่เขียนหนังสือออกมาเหมือนกัน คนถนัดซ้ายเขียนหนังสือมาก็เป็นหนังสือ คนถนัดขวาเขียนหนังสือมาก็ออกมาเป็นหนังสือ แต่เขียนมือซ้ายหรือมือขวาเท่านั้น แล้วบอกว่าหนังสือไม่ต้องเขียน หนังสือจะเกิดเอง กูก็ไม่รู้ว่ากูจะเชื่อใคร

ฉะนั้น ให้ขยันหมั่นเพียร ให้ตั้งใจ แล้วถ้ามันไม่ได้ ไม่ได้อย่างไรเราก็ต้องหาวิธี อย่างที่ว่าเวลาเราผ่อนอาหาร ร่างกายเราจะเบามาก ใครไม่เคยผ่อนอาหาร ไม่เคยอดอาหารจะไม่เข้าใจ เวลาผ่อนอาหาร การผ่อนอาหารมันไม่ใช่วิธีการปฏิบัติ ไม่ใช่การเข้าไปหาจิตหรอก แต่มันเป็นกลอุบาย พอเราผ่อนอาหารปั๊บ ร่างกายจะเบา

เราเคยอดอาหารจนเหมือนคนป่วย มันเบา เหมือนเราเป็นไข้ หายจากไข้ โหวงเหวงไปหมดเลย มันจะเบาอยู่อย่างนั้นน่ะ หลวงตาท่านถึงบอกไง ถ้าอดไป ๓ วันแล้วจะไม่ง่วงนอน ไอ้เรื่องง่วงเหงาหาวนอนจะไม่มีแล้ว แต่หิวไหม? หิว ถ้าหิวแล้วเราก็ต้องหาน้ำหาอะไรที่มันประทังกระเพราะไป เรารู้สิว่าการอดอาหารมันเป็นอุบายที่เราจะเอาชนะความเคยใจ แล้วพอมันเบาแล้ว การปฏิบัติมันก็มีสติ มันก็มีกำลังขึ้นมา มันต้องมีเหตุมีผล

เราจะทำอะไรเราต้องถางทางมา เราต้องเตรียมตัวมา นักกีฬาจะขึ้นแข่งขัน เขาต้องซ้อมทั้งนั้นน่ะ ไอ้นี่ไม่ต้องซ้อมเลย ขึ้นแข่งๆ มันแพ้ทุกวัน นี่ก็เหมือนกัน เราต้องเตรียมตัวเรามา เราดูของเรา เราตั้งสัจจะไง ตั้งสัจจะว่าจะทำอย่างนั้นๆ แล้วทำให้ได้ แล้วคราวนี้ทำไม่ได้ มันยังไม่เป็นสมาธิก็ไม่เป็นไร ทำต่อๆ ไป ทำอยู่ทุกวันๆ โอกาสมันมีอยู่ มันต้องเป็น มันต้องเป็น พอเป็นแล้ว พอมันเริ่มเป็นหนหนึ่งปั๊บ เราจับให้ได้ แล้วค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ ทำไป เพราะอย่างนี้ครูบาอาจารย์เราถึงได้ถนอมนะ ความสงัด ความเป็นไป ครูบาอาจารย์เราท่านจะถนอมมากนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเหตุที่จะให้เป็นไง แต่ในทางโลก อะไรก็ได้ อะไรก็ได้ ปฏิบัติได้ตลอด นี่คนไม่เคยทำ

กายวิเวก จิตวิเวก กายไม่วิเวก จิตมันจะวิเวกได้อย่างไร กายวิเวก เอาสถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก พอจิตวิเวกเข้าไปแล้วมันจะเข้าไปเรื่อยๆ เขาถึงเห็นคุณค่าของมัน

เราจะเอาความจริง เหมือนเราจะเอาแสงแดด เอาพลังงานจากแสงแดด เราต้องมีแผงโซลาร์เซลล์ คิดดูสิ กว่าเราจะตั้งขึ้นไป กว่าจะมีแผงโซลาร์เซลล์ กว่าจะมีแบบ กว่าจะมีอะไร ต้องลงทุนลงแรงไหม อันนี่เราเห็นเขาทำก็นึกเอา มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ทีนี้พอเราลงทุนลงแรง เราทำ มันก็ยากอย่างที่ว่า ยากไหม? ยาก ปฏิบัตินี้ยาก ทำบุญกุศลนี้ง่ายกว่านะ ดูสิ เรามีปัจจัยมา เราไปแลกเปลี่ยนอะไรมา แล้วเรามาทำบุญ นี่คือทำบุญ อามิส แล้วเวลาเราจะเอาชนะใจ แม้แต่ทำบุญ กว่าจะหามา กว่าจะทำอาหารมา ก็ว่ายากแล้วนะ ปฏิบัตินี้นั่งเฉยๆ นะ

งาน เวลาทำงานอย่างอื่นว่าแสนทุกข์แสนยาก เวลานั่งเฉยๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ทำไม่ได้ แล้วจะโทษใครล่ะ โทษใคร ก็โทษกิเลสเรา แล้วถ้ามันหยาบ มันมีกำลังนัก เราก็ทอนมันอย่างที่ว่า ทอนมันด้วยวิธีการ พยายามทอนมัน อาหารการกิน อย่างที่ว่า อาหาร ถ้ากินพวกชีวจิต กินเพื่อสุขภาพ เราเห็นด้วย แต่ถ้ากินเพื่อฆ่ากิเลส ไม่ใช่ เพราะการกินไม่ได้ฆ่ากิเลส การกินเพียงแต่ให้ร่างกายเบาหรือหนักเท่านั้นเอง เพราะการกินคือเป็นเรื่องของร่างกาย แต่เวลาชำระกิเลสมันเป็นเรื่องของปัญญา เรื่องของจิต แต่มันอยู่ด้วยกัน มันเลยเกี่ยวเนื่องกัน ร่างกายกับจิตใจอยู่ด้วยกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน คนมีจิตถึงมีชีวิต จิตไม่มี คนตาย ศพไม่มีความหมาย มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่นะ พอมันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เราก็ต้องมีสติมีปัญญาใคร่ครวญมัน ใช้ประโยชน์มัน ทำให้ได้

คนดีหรือคนชั่วก็ตายด้วยกัน แต่ตายไป ร่างกายทั้งคนดีคนชั่วก็เผาอยู่ที่นี่แหละ แต่จิตที่มันมีคุณค่า ดีไปดี ชั่วไปชั่ว แต่ถ้าสิ้นกิเลสแล้วมีอยู่ แต่ไม่ไปอีกเลย

เห็นใจนะ เพราะเวลาเราทำ เราทำของเราอยู่ในป่าในเขา เรามีครูบาอาจารย์ คนมันน้อย มุทะลุทำอยู่คนเดียว บ้าอยู่คนเดียว โอ้โฮ! ทีนี้พอสังคมมันใหญ่ขึ้นมา พอทำอะไรก็กระทบกระเทือนกันไง คนโน้นมองเรา คนนี้มองเรา เคอะๆ เขินๆ แต่เวลาเรา เราลุยอยู่ของเราคนเดียว ลุยอยู่คนเดียว สู้

ทีนี้พอเราไปศึกษาประวัติครูบาอาจารย์ เห็นท่านทำแล้วว่าจะทำได้ๆ แล้วเราก็ก็อบปี้มาไง แต่ใจเรามันไม่เป็น ต้องทำให้ได้ เพราะถ้าใจมันเป็นแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง