ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะศรัทธาเช้า

๒o ธ.ค. ๒๕๕๑

 

คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พูดถึงคำคน ปฏิภาณไหวพริบ การสังเกต ถ้าการสังเกต ถ้าพูดถึงสังเกต ถ้าเป็นกิเลสนะ สังเกตแล้วมันเหมือนกับไปคว้ามา ไปกวาดเอาสิ่งที่ทุกข์ที่ยากมา

เมื่อก่อนเราบวชใหม่ๆ นะ จดบันทึก จดบันทึกไม่รู้เรื่องนะ คิดว่าจดบันทึกเป็นประโยชน์ แต่พอนานไปๆ ทิ้งเอง คือว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อย่างเช่นความทุกข์ ความฝังใจ เราจะคุ้ยขึ้นมาทำไม สิ่งที่ฝังใจ ถ้ามันผ่านไปแล้วก็คือผ่านไป แต่ถ้าเป็นปัญญาของเรา สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ เป็นประโยชน์กับเราเพราะอะไร

เพราะเวลาเราอยู่กับหลวงตา ท่านสังเกตพระอย่างนี้ ถ้าพระองค์ไหนคิดเป็น ทำเป็น เหมือนกับเราสร้างคนน่ะ คนคนไหนคิดเป็น ทำเป็น คนนั้นจะเอาตัวรอดได้ แต่นิสัยของเราเป็นผู้ตาม คิดเองทำเองไม่ค่อยได้ แต่ถ้ามีผู้นำนี่ทำได้

คนมันมีหลายระดับนะ ระดับเรา เราจะคิดเอง ค้นคว้าเอง หรือเริ่มต้นเอง มันคิดไม่ออก แต่ถ้ามีใครพาทำ มันไปได้เลยนะ กับอีกอันหนึ่งไม่ทำอะไรเลย เห็นไหม ในธรรมะรู้แล้วพูดได้ ไม่รู้แล้วพูดได้ รู้แล้วพูดไม่ได้ ถ้ารู้แล้วพูดได้นี่สุดยอด แต่รู้ แต่พูดไม่ได้นะ ครูบาอาจารย์รู้ แต่เปรียบเทียบออกมาไม่ค่อยได้ กับไม่รู้ แต่พูดจ้อยๆ เลย อันนี้กลับไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ตรงนี้มันหายาก หาที่รู้แล้วพูดได้ เพราะอะไร เพราะเวลามันปฏิภาณ ปฏิสัมภิทาญาณก็อย่างหนึ่ง เตวิชโชก็อย่างหนึ่ง ฉฬภิญโญก็อย่างหนึ่ง มันเป็นแต่ละชนิดๆ ไป ทีนี้แต่ละชนิดไป พอถึงที่สุดแล้วมันจะรู้เหมือนกัน รู้เหมือนกัน หมายถึงว่า เข้าใจเหมือนกัน แต่สอนได้ไม่ได้มันอยู่ที่การกระทำมา มันอยู่ที่การลงใจ ถ้าใจมันลงใจ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์หมด

เราคิดถึงนะ เวลาเราพูดไว้ใน “ธงธรรม” ว่าเวลาหลวงตาท่านออกมาเคลื่อนไหว ออกมาทำเพื่อประโยชน์โลก แล้วพระที่ไม่เห็นด้วยต่างๆ เราพูดอย่างนี้เลย เราพูดนะ หนึ่ง ถ้าเราเป็นลูกศิษย์หลวงตา แล้วถ้าเรายังไม่เชื่อท่าน ท่านทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เราไม่ทำตามท่าน หนึ่ง เราไม่เชื่อท่าน คือใจมันไม่ลง

สอง หลวงตาได้รับการการันตีจากหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นบอกไว้แล้วว่า หลวงปู่มั่นท่านรื้อค้น เวลาเข้าไปถามหลวงปู่มั่นว่า ศาสนากึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญตั้งแต่เมื่อไหร่

หลวงปู่มั่นบอกว่าเจริญตั้งแต่พระจอมเกล้าฯ พระจอมเกล้าฯ มาเริ่มรื้อฟื้น เพราะพระจอมเกล้ามาบวชแล้วไม่มีทางไป คือบวชแล้วต้องอยู่ในศาสนา แล้วจะประพฤติปฏิบัติ เพราะตัวเองได้บาลี ไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ตอบไปคนละอย่าง ก็รื้อค้นๆ ของพระจอมเกล้าฯ แล้ววางเป็นรากฐานขึ้นมา ท่านบอกเริ่มเจริญตอนนั้น

เจริญตอนนั้น หมายความว่า พวกเรา อย่างเช่นกฎหมาย กฎหมายมันล้าสมัย กฎมายมันใช้ความไม่ได้ แต่พอถึงสมัยพระจอมเกล้าฯ พยายามตีความกฎหมาย แล้วเอากฎหมายบังคับใช้ให้ได้ พอบังคับใช้ได้ก็เหมือนพวกเราเข้าไปใกล้ธรรมวินัยมากขึ้น พวกเราเข้าไปใกล้ธรรมวินัย แต่ยังประพฤติปฏิบัติไม่ได้ แล้วมาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านมารื้อค้นของท่านจนท่านเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่ไง พอท่านเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

ศาสนาจะเจริญกึ่งพุทธกาลตั้งแต่สมัยพระจอมเกล้าฯ แล้วหลวงปู่มั่นท่านบอกท่านเป็นพระโพธิสัตว์แล้วมากลับ ท่านปรารถนาเป็นพุทธภูมิแล้วท่านกลับ พอกลับ ท่านก็รื้อค้นจนท่านมีหลักมีเกณฑ์ แล้วท่านบอกว่าจะมีพระหนุ่มๆ ที่ต่อไปจะสร้างประโยชน์กับศาสนามหาศาลเลย นี่พูดกับหลวงปู่เจี๊ยะ

หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังอยู่ เวลามีพระมานะ “ใช่องค์นี้ไหม ใช่องค์นี้ไหม”

“จะมีพระมาองค์หนึ่งเหมือนท่านเจี๊ยะ แต่ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ”

เหมือนหลวงปู่เจี๊ยะ แต่ไม่ใช่หลวงปู่เจี๊ยะ แล้วสมัยหนุ่มๆ หลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะจะคล้ายกันไหม แล้วหลวงตาเข้ามา องค์ไหนมาก็ถามว่าใช่ไหมๆ จนหลวงตามาถามว่าใช่ไหม ท่านไม่พูดถึงเลย

เรานะ ถ้าพูดถึงถ้าเรามีปัญญาอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์ท่านพาเราดำเนินมาอย่างนี้ ทั้งปฏิภาณไหวพริบ ปฏิภาณของท่าน ปัญญาของท่าน เราก็เชื่ออยู่แล้ว สอง หลวงปู่มั่นท่านการันตีไว้เลยว่าต่อไปจะมีพระหนุ่มๆ ตามมา แล้วจะสร้างประโยชน์กับศาสนามาก ถ้าเราเชื่อตรงนี้นะ การกระทำของท่าน ความเห็นที่ท่านทำ ไม่ต้องทำอะไรเลย เดินตามสบายมาก

แล้วเวลาทำงานขึ้นมาทำไมมันมีข้อโต้แย้ง

ข้อโต้แย้งมีอยู่ สองประการ ประการหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลเวลาพระพุทธเจ้าออกเผยแผ่ธรรม ดูสิ ท่านแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ลัทธิต่างๆ จะมาท้าแข่งไง เพราะอะไร เพราะมันมีผลประโยชน์ใช่ไหม ผลประโยชน์ทางโลก นี่เขาเห็นผลประโยชน์ทางโลกกัน แต่เขาไม่เห็นผลประโยชน์ทางหัวใจ

ผลประโยชน์ทางโลกคือมันเป็นโลกธรรม ๘ มีสรรเสริญมีนินทา มีลาภเสื่อมลาภ แต่เขาไม่ได้คิดถึงใจของผู้ที่หลุดพ้น ใจที่หลุดพ้นนะ โมฆบุรุษตายเพราะลาภนะ โมฆบุรุษหมายถึงบุรุษที่โง่ พอโง่ขึ้นมา เห็นลาภสักการะ เห็นชื่อเสียง คนมายกยอปอปั้นเสียหมด โมฆบุรุษตายเพราะลาภ ทีนี้เขามองกันแต่ที่ลาภ แต่เขาไม่มองถึงผู้นำ ผู้นำใจที่ผ่องแผ้วแล้ว ผู้นำใจ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เวลาพระอานนท์รำพัน เราพูดบ่อย เพราะเรามันซึ้ง มันกินใจ มันกินใจนะ

เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “ดวงตาของโลกดับแล้ว ดวงตาของโลกดับแล้ว” พระอานนท์รำพันตลอดเวลา

แล้วเรามาเทียบ เทียบถึงหลวงตารำพันตอนหลวงปู่มั่นเสีย หลวงตาท่านเล่าเองนะ ท่านบอกว่าตอนที่หลวงปู่มั่นไปถึงวัดป่าสุทธาวาส มีพระนั่งล้อมรอบอยู่ พระรอบในก็เป็นพระผู้ใหญ่ พรรษาท่านยังเพิ่ง ๑๖ ใช่ไหม ท่านก็อยู่รอบนอก ท่านก็อยู่จนพอหลวงปู่มั่นเสียแล้ว เจ้าคุณจูมก็ดูเวลาว่า “นี่ไม่ใช่เสียแล้วหรือ” พอดูก็เสียแล้ว พอเสียแล้วก็นั่งปลงสังเวชกันสักพักหนึ่งก็กลับ

พอดึกๆ ตี ๓ ตี ๔ ไม่มีใครแล้ว หลวงตาท่านมานั่งอยู่ที่ปลายเท้า ท่านมานั่งรำพันนะ ท่านบอกเลย ท่านเองท่านก็รู้อยู่ ท่านเล่านะ ตอนที่อยู่บ้านภู่ ท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แล้วเวลาหลวงปู่มั่นเป็นวัณโรค แล้วหน้าหนาว เสลดมันจะเยอะมาก แล้วมันหายใจไม่ได้ ท่านจะเอาปากท่านดูด แล้วถ้ามันอยู่ลึก ท่านจะเอาสำลีพันนิ้วล้วงออกมาๆ หลวงปู่มั่นก็เพียบ แล้วพอหลวงปู่มั่นหลับปั๊บ ท่านก็เดินจงกรมอยู่ข้างล่าง

พอเดินอยู่ข้างล่าง ปัญญามันหมุนไง ปัญญามันหมุนปั๊บ ปัญญาคนที่ภาวนาอยู่ ปัญญามันหมุนหมายถึงปัญญา ความคิดของปัญญามันก็จะเดิน ความคิดของกิเลสมันก็ต่อต้านอยู่ แล้วเราก็ปฏิบัติ เราจะไม่ทันมัน พอไม่ทันปั๊บ ท่านก็จะขึ้นไปกราบหลวงปู่มั่น ขณะที่ป่วยอยู่ที่บ้านภู่ ท่านบอกเข้าไปกราบ กราบเสร็จท่านก็รายงานผลว่าพิจารณาไปแล้วเป็นอย่างนั้นๆ

หลวงปู่มั่นเพียบนะ ร่างกายนี่เพียบมาก แต่จะพูดธรรมะ ท่านบอกทะลึ่งขึ้นมาเลย นั่งเลยนะ อ้าว! ฟังนะ แล้วท่านอธิบายๆ ท่านบอกถ้าเข้าใจปั๊บ ท่านจะกราบแล้วลงเลย ถ้ายังไม่เข้าใจ ท่านก็ยังก้มอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าก้มอยู่อย่างนั้นปั๊บ หลวงปู่มั่นท่านรู้ เพราะท่านเคยภาวนามาแล้ว ท่านก็จะอธิบายรอบสอง อธิบายอีกจนกว่าจะเข้าใจ พอเข้าใจปั๊บ เข้าใจท่านก็กราบแล้วก็ลง หลวงปู่มั่นท่านก็นอนลง เพราะท่านเป็นคนป่วย ท่านเป็นวัณโรค แล้วต้นไม้มันก็ใกล้ฝั่ง ท่านก็จะนอนพัก หลวงตาท่านก็เดินลงมาเดินจงกรมตลอดเวลา

ขณะท่านบอก หลวงปู่มั่นร่างกายก็เพียบ แต่ของท่านจิตใจก็เพียบ จิตใจที่กำลังปฏิบัติ สิ่งนี้มันมาตั้งแต่บ้านภู่ จากบ้านภู่ไปวัดป่าสุทธาวาส จากวัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่มั่นก็นิพพาน ท่านมานั่งอยู่ปลายเท้า ท่านพูดท่านรำพึงในตัวเอง ท่านเล่านะ รำพึงเลย กิเลสมันก็ยังมีอยู่ แล้วคนอย่างหลวงตาท่านบอกตัวเราเองถ้าใครไม่มีเหตุผลมันก็ฟังไม่ได้ บัดนี้หลวงปู่มั่นได้นิพพานไปแล้ว แล้วเราจะเอาใครสอน เราจะเอาใครเป็นคนบอก นิสัยตัวเองก็รู้อยู่ว่ามันไม่ฟังใคร ท่านไปนั่งรำพันอยู่ที่ปลายเท้าหลวงปู่มั่น ปลายเท้าศพ จนถึงที่สุดท่านพูดเลย อ้าว! ต่อไปนี้จะไม่ฟังใครแล้ว จะเอาตัวเองเป็นอาจารย์ของตัวเอง คือจะเอาความวิริยอุตสาหะ เอาความตั้งใจของตัวเอง แล้วปฏิบัติเพื่อตัวเอง นี่ไปนั่งรำพึงรำพันนะ

แล้วมาเปรียบพระอานนท์ พระอานนท์ตอนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “ดวงตาของโลกดับแล้ว เราก็ยังมีกิเลสอยู่ ยังต้องการคนที่ยังชักนำอยู่ พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานเสียแล้ว” ยืนร้องไห้นะ

เวลาผู้ที่ปฏิบัติขึ้นไปมันจะซึ้งใจตรงนี้มาก คนไม่เคยหลงทาง แล้วไม่มีใครมาชี้ทาง มันจะไม่ซึ้งใจคนชี้ทางให้เราหรอก เราหลงทางอยู่ เราไปทางผิดทาง แล้วมีคนมาจูงไป มีคนมาบังคับให้เราเดินไปทางที่ถูก โอ๋ย! อำนาจวาสนาเยอะมาก แล้วสิ่งนี้ แล้วมันเคยหลงเคยพลาดมา เพราะการประพฤติปฏิบัติมันมีตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี แล้วถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันปฏิบัติแต่ละขั้นตอนมันจะมีอุปสรรค มันจะมีสิ่งที่มาชักนำ จะมีสิ่งที่ทำให้เราผิดพลาดมหาศาลเลย แล้วสิ่งที่ผิดพลาดเวลาเกิดกับเรา มันเป็นความคิดของเรา มันอยู่กับเรา แล้วเวลาเราทำขึ้นมา ใครคิดว่าตัวเองจะหลอกตัวเองล่ะ แต่กิเลสมันหลอก

เราจะปฏิบัติเอง เราต่อสู้กับความเห็นของเราเอง เราก็นึกว่าถูกต้องทั้งนั้นน่ะ เพราะเราทำเองใช่ไหม ถ้าคนอื่นมาหลอกเรา เรายังว่าคนอื่นมาหลอกเรา ไอ้นี่มันก็เกิดมาจากใจเรา แล้วเราเองไม่รักเราหรือ เราเองไม่เห็นคุณงามความดี

เราก็เห็นอยู่ พอมันเกิดขึ้นมา เราก็คิดว่ามันเป็นเรา แต่กิเลสมันอยู่ลึกกว่านั้น แล้วมันก็หลอกเราไป แล้วมีคนมาว่าผิดๆ ทีแรกก็ไม่เชื่อ แต่พอทำไปแล้ว เออ! ผิดจริงๆ พอครั้งหนึ่งครั้งสองครั้งสาม มันเข็ด พอมันเข็ด พอท่านพูดอะไรต้องเงี่ยหูฟังเลยล่ะ เอ๊ะ! ท่านว่าอย่างไร เราเห็นอย่างไร

เราเห็นนะ เวลาเราทำไปเราจะเห็นอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะเรายังมีกิเลสอยู่ มีความเห็นของเราอยู่ มันจะเห็นอย่างนี้ แต่ถ้าพูดมามันขัดแย้งกับเราเห็นน่ะ หืม! ใครถูกใครผิด เราเห็นอยู่ หลวงปู่ดูลย์พูดนี่ซึ้งมาก สิ่งที่เห็น เห็นจริงไหม จริง เห็นจริงๆ แต่ความเห็นนั้นไม่จริง

รู้เห็นจริงๆ รู้จากอุปาทาน รู้จากความเห็นของเรา แต่ความเห็นนั้นไม่จริง แต่มันมีจิตเราเห็น มันมีสิ่งที่เราเป็นเห็นอยู่ ทีนี้สิ่งที่เห็นมันจริงเพราะจิตมันจริงๆ อยู่แต่มันโดนกิเลส โดนความเห็นของเรา โดนความเข้าใจของเรามันครอบงำไว้ เหมือนเราใส่แว่น แว่นสีอะไรเราก็เห็นสีนั้นน่ะ ทีนี้จิตมันโดนอวิชชามันใส่แว่นไว้ มันใส่ความครอบงำไว้ เห็นสิ่งใดมันก็เห็นอย่างนั้นน่ะ แต่ตัวเรามีจริงๆ นะ ตัวจิตมีจริงๆ นะ

ท่านพูดอีกอย่างหนึ่ง ไอ้เราก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง เราเห็นอย่างหนึ่งน่ะ เราจะมีทิฏฐิไหม เราจะมีความยึดของเราไหม ทีนี้เรามาเดินจงกรม เรามาพิจารณาไป อืม! มันน่าจะใช่ อืม! ท่านว่าอยู่นี่ มันเป็นทางสองแพร่ง เราทำไมเห็นเป็นอย่างนี้ มันพิจารณาไป พิจารณาไป ทั้งที่ท่านคอยบอกเราด้วย ทั้งที่เราพิจารณาของเราไปด้วย ถึงที่สุดมันเห็นผิด เรานี่ผิดๆๆ ตลอดไป มันถึงซึ้งใจครูบาอาจารย์ ซึ้งใจมาก นี่ครูบาอาจารย์จะมีความสำคัญอย่างนี้ ถ้ามีความสำคัญอย่างนี้มันจะเชื่อมาก

เราถึงพูด ใน “ธงธรรม” เวลาเราพูดออกไปเลย ถ้าเรายังโต้แย้งหลวงตาอยู่ โต้แย้งครูบาอาจารย์อยู่ เท่ากับโต้แย้ง ๒ องค์ องค์หนึ่งคือตัวหลวงตาเอง องค์หนึ่งคือหลวงปู่มั่นที่การันตีไว้ว่าจะมีพระที่จะมาสร้างประโยชน์เพื่อสังคมโลก แล้วสร้างประโยชน์เพื่อศาสนาด้วย นี่มันมีคนค้ำประกันมา ๒ ชั้น ๓ ชั้นเลย ทำไมพระเราทำไมไม่ฟัง

พระเราไม่ฟังอย่างที่ว่า ถ้าไม่ฟังมันก็ธรรมดาของโลกนะ เหรียญมีสองด้าน สังคมมีคนดีและคนเลวอยู่ด้วยกัน สังคมพระ เวลาหลวงตาท่านออกมาช่วยโลก ผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่ามีการกระทำไปแล้วมันจะเป็นศักยภาพของคณะสงฆ์เรา

คณะสงฆ์เรานะ ไม่ใช่ใครหรอก คณะสงฆ์ เพราะสงฆ์ช่วยโลก เวลาหลวงตาท่านพูด พระมาจากไหน พระก็เป็นลูกของสังคม เพราะพระก็เกิดจากพ่อแม่ พ่อแม่ก็เป็นสังคมในสังคมหนึ่ง แล้วพระเป็นลูกของใคร พระก็เป็นลูกสังคมนั้นน่ะ แล้วช่วยสังคมมันจะผิดไปที่ไหน

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ ใช่อยู่ เวลาเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติเราต้องเอาตัวเราให้รอดได้ เราต้องเอาตัวเราก่อน เอาตัวเรา เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนยังพึ่งตัวเองไม่ได้ จะเอาอะไรไปช่วยเขา ถ้าเราตัวเองยังพึ่งตัวเองไม่ได้นะ ทำไปนะ เตี้ยอุ้มค่อม เดี๋ยวกิเลสมันก็ออก เหมือนที่ว่าชิงสุกก่อนห่าม ถ้าเตี้ยอุ้มค่อมถึงเวลามันจะออกอย่างนั้น แต่ถ้ามันถึงที่สุดแล้วมันเป็นประโยชน์กับโลก มันช่วยโลกได้ ถ้าช่วยโลกได้ แล้วช่วยโลกได้ ครูบาอาจารย์เราถึงที่สุดแห่งทุกข์ตั้งเยอะแยะ ทำไมต้องให้หลวงตานำล่ะ

ช่วยโลกได้มันก็ต้องมีสายบุญสายกรรม มีสิ่งที่ท่านได้สร้างของท่านมา ถ้าไม่สร้างของท่านมา ทำไมหลวงปู่มั่นท่านพยากรณ์ไว้ว่าต่อไปจะมีพระที่จะเป็นประโยชน์กับสังคม นี่ก็เหมือนกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่แต่งตั้งอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา ท่านตั้งพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา พระติเตียนมากเลย บอกพระพุทธเจ้าลำเอียง ถ้าความเป็นจริงพระพุทธเจ้าต้องตั้งพระปัญจวัคคีย์ ตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะ เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรก เป็นพระปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์ ๕ องค์แรก ทั้งพระพุทธเจ้าเป็นองค์ที่ ๖ ทำไมไม่ตั้งนั่นล่ะ

พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ ตั้งตามเนื้อผ้า ตั้งตามเนื้อผ้า หมายถึงว่า ตั้งตามที่ว่าพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะท่านได้สร้างของท่านมา ท่านปรารถนาเป็นอัครสาวก ท่านได้สร้างของท่านมา แล้วพอมาชาติสุดท้าย พอตรัสรู้แล้วเป็นอัครสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ตั้งตามนั้น สิ่งที่ทำของท่านมา

นี่ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาในสมัยที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าต่อไปจะมีพระอย่างนั้นๆ น่ะ เพราะเขาทำของเขามา ไอ้การกระทำมาถึงที่สุดแห่งทุกข์ พระอรหันต์เหมือนกัน แต่เขาได้สร้างบารมีของเขามา เขาทำจังหวะของเขามา มันจะมีสิ่งที่เข้ากันได้ สิ่งที่เป็นไปอย่างนั้นเลย เพราะมันเป็นแรงขับมาจากใจดวงนั้นไง นี่ไง พันธุกรรมทางจิต จิตที่เป็นพันธุกรรม จิตที่มันทำมา มันทำมาของมันอย่างนั้น พอทำอย่างนั้นปั๊บ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา

นกบินได้ ปลาอยู่ในน้ำ นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันสร้างมาอย่างนั้นก็คือธรรมชาติของจิตดวงนั้นน่ะ จิตดวงนั้นจะมีคุณสมบัติอย่างนั้น มันเป็นไปโดยคุณสมบัติของจิตอย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่ใช่ เราก็ไปดูแล้วสงสารเนาะ เอ๊! ทำไมต้องทรมานล่ะ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น เหมือนกับความเห็นคนละมุมมอง แล้วพอเห็นมุมมองของคนที่เขาทำงาน แต่คนที่ทำงานอย่างนั้นมันเป็นเรื่องปกติของเขา เป็นเรื่องธรรมดาที่เขามีอำนาจวาสนาอย่างนั้น มันเป็นเรื่องธรรมดา

เหมือนเราเคลื่อนไหวโดยปกติเป็นธรรมดาของเรา แต่ถ้าเวลาจะปฏิบัตินะ มันต้องมีการแก้ไข มีการบำรุงรักษา ถ้าไม่มีการแก้ไข ไม่มีการบำรุงรักษา เราจะสิ้นกิเลสไม่ได้ นี่พูดถึงเวลาถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์แล้วมันยังเป็นจริตนิสัย แต่ขณะที่ปฏิบัติ จริตนิสัยอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องดัดแปลงมัน เพราะสิ่งที่เป็นจริตนิสัยมันเป็นเรา แล้วกิเลสก็เป็นเรา ทุกอย่างก็เป็นเรา ถ้าเราเชื่อเรานะ เราก็นอนจมกับกิเลส

แต่ถ้าเราแก้ไขมัน ฝืนตัวเองคือฝืนกิเลส ฝืนความคิด คิดอยากเป็น อยากไป อยากกระทำ เราฝืนมัน ขณะที่ปฏิบัติต้องฝืนทั้งหมดเลย จนถึงที่สุดถ้าสิ้นกิเลสแล้วปล่อยตามธรรมชาติแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรต้องฝืน พอมันชำระจนจบแล้ว มันไม่มีอะไรต้องฝืน แต่ขณะที่กำลังจะไปนี่ต้องฝืน

ย้อนกลับมานี่ไง การกระทำ พระพุทธเจ้าบอกปล่อยวาง ปล่อยวางต่อเมื่อเรารู้จริงแล้ว มันจะปล่อยวางโดยสัจธรรม มันไม่ใช่ปล่อยวางเพราะเราอยากปล่อยวาง เราอยากปล่อยวาง ตัณหา วิภวตัณหา คืออยากให้เป็น ไม่อยากให้เป็น อยากก็ผิด ไม่อยากก็ผิด แต่ขณะที่มันเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่อยากและไม่อยาก มันเป็นคุณสมบัติของมันเอง มันเป็นคุณสมบัติของมันเองนะ

แต่กว่าที่จะเป็นคุณสมบัติอย่างนั้น ดูอย่างผลไม้สิ กว่ามันจะสุก เขาต้องเอามาบ่ม หรือมันสุกคาต้นมันถึงจะสุกได้ สิ่งที่มันจะเป็นไป มันจะสุกอย่างไร มันจะสิ้นอย่างไร มันจะชำระกิเลสอย่างไร ถึงที่สุดแล้วมันถึงจะเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีเหตุผลอย่างนั้น ไม่มีเหตุผลของการกระทำ มันเป็นหินทับหญ้า

หินทับหญ้านี่น่ากลัว ขณะที่หินมันทับหญ้าอยู่ เหมือนไม่มีอะไรนะ เรียบ ราบเรียบดีมากเลย แต่ถ้าหญ้านั้นออกไปแล้วนะ หินนั้นออกไปแล้วนะ หญ้าจะงอกงามมาก นี่เหมือนกัน ว่างๆ ว่างๆ ที่รักษาไว้ มันน่ากลัวตรงไหน น่ากลัวเพราะอะไร เพราะคนไม่เคยปฏิบัติ ถ้าคนปฏิบัติจะรู้ว่าเราปฏิบัติวันนี้ดีมาก แล้วจิตมันเสื่อม เวลาจิตเสื่อมทุกข์มาก ทำสมาธิ ทำปัญญาขึ้นมาได้ แล้วมันเสื่อมหมด พอมันเสื่อมหมด เสื่อมคือมันหมดไปแล้วนะ เราก็ถอยกลับมาเป็นปุถุชนอย่างเก่า แต่สถานะที่มันเป็น มันยอมรับไหม

เราเคยมีชื่อเสียง เขาเชิดชู แล้วจิตเรามันไม่มีอะไรเลย มันก็ต้องเอาสถานะนั้นมาแสดงออก คือมันหลอกลวงไง ตัวเองเสื่อมก็ทุกข์แล้วนะ แล้วไม่ยอมรับสถานะที่เสื่อม ต้องการสถานะที่สังคมยอมรับ มันก็เลยเลยแสดงออกในแง่มุมต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป มันก็เลยพากันเสียหมด เสียเพราะอะไร เสียเพราะเราไม่เข้าใจ เราออกนอกทางแล้ว ออกนอกทางแล้วเราก็ชักกันไปออกนอกทาง

ตัวเองถ้าจิตเจริญแล้วเสื่อม คือเราทำให้เราเสียหาย มันก็เป็นโทษเป็นกรรมอันหนึ่ง แต่ถ้าเราไปชักจูงให้คนอื่นหลงด้วยนะ ชีวิตของเขานะ เราพัดพาชักจูงไป โทษกรรมมันจะขนาดไหน มันถึงน่ากลัวตรงนี้ไง น่ากลัวที่มันเจริญแล้วเสื่อม แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้สถานะ เรามองไม่ออกหรอก ใครก็มองไม่ออก เห็นกันแต่รูปร่างกาย แต่ไม่เคยเห็นความคิด เห็นหัวใจตัวเองหรอก ความคิดหัวใจของเราน่ะ ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติมันต้องระวังตรงนี้

เจริญแล้วเสื่อมนะ ทุกข์มาก คนเคยมีแล้วมันหายหมดเลย คนเคยมี แล้วมันมีอะไร ถ้าเป็นสมบัติมันยังจับต้องได้ว่าเรามีมากมีน้อยแล้วมันหายไป แต่จิตที่มันมีคุณธรรมของมันแล้วมันเสื่อมไป เสื่อมไปมันร้อนไง มันเร่าร้อน ถ้าจิตมันถึงที่สุด มันจะว่าง มันจะสงบของมัน มันจะดีของมันมาก แล้วถ้ามันพิจารณาของมันไป เวลามันขาดแล้วนะ มันไม่ใช่ว่าง มันไม่ใช่ว่างนะ

คำว่า “ว่าง” นี่คือบุคลาธิษฐาน คือสิ่งเปรียบเทียบ แต่มันเป็นคุณสมบัติอย่างนั้นเลย มันอยู่ของมันอย่างนั้นนะ โสดาบันเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อยู่อย่างนั้นปั๊บ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ เวลาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ทำไมมาเข้าสมาบัติล่ะ เข้าตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ เข้า ถอยๆ แล้วมานิพพานระหว่างรูปฌาน อรูปฌาน ฌานก็คือสมาธิ ฉะนั้น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี สมาธิไม่ใช่โสดาบัน ว่างๆ ไม่ใช่โสดาบัน ว่างๆ ไม่ใช่สกิทาคามี ว่างๆ ไม่ใช่อนาคามี ว่างๆ ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่มันเป็นคำพูดไง พูดว่าว่าง พูดว่าไม่มีสิ่งใดในหัวใจไง

อ้าว! ถ้าเป็นสกิทาคามี พอเป็นสกิทาคามีแล้วเราจะขึ้นเป็นอนาคามี อนาคามี สติ มหาสติ เพราะพระอนาคามีจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญาแล้ว เป็นมหาสติ-มหาปัญญาเพราะอะไร เพราะความคิดมันหดสั้นเข้ามา

เราจะบอกว่า คัทเอาท์ ๔ ตัว ปฏิสนธิจิต เวลามันมีความคิด มันเสวยอารมณ์ขึ้นมา ตรงนี้ถ้าพูดถึงใครทันตรงนี้ ตรงนี้เป็นอรหัตตมรรค แล้วถ้ามันหยาบออกไปอีก มันก็เป็นสิ่งที่เป็นความคิด เป็นขันธ์ใช่ไหม เป็นความคิด เป็นกาย ถ้าใครจับตรงนี้ได้ พิจารณาไปจะเป็นอสุภะ นี่อนาคามิมรรค แล้วถ้ามันเสื่อม ถอยออกมาอีก เป็นสกิทาคามี ถ้าพิจารณาตรงนี้ กายกับจิตมันแยกออกจากกันเป็นธรรมชาติ แล้วถ้ามันถอยออกมาอีก เป็นความเห็นผิดของจิต จิตมันเห็นผิดว่ากายเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา ตรงนี้เป็นสักกายทิฏฐิ ตรงนี้เป็นพระโสดาบัน แล้วถ้ามันออกมาเทียบเป็นอารมณ์ความรู้สึก ดูสิ ความคิดมันหยาบละเอียด มันมีกี่ขั้นตอน ความคิดที่มันไหลออกมา ถ้าพูดถึงคนปฏิบัติเข้าไปมันจะเป็นชั้นๆ เข้าไป มันทำลายเป็นชั้นๆ เข้าไป มันเห็นสายของจิตที่มันออกมา นี่ที่มันหยาบละเอียดไง

ทีนี้มันย้อนกลับ พอย้อนกลับ จากอนาคามิมรรคมันต้องเป็นมหาสติ-มหาปัญญา แต่ถ้าเป็นสกิทาคามิคามรรคมันเป็นสติเป็นปัญญา โสดาปัตติมรรคเป็นสติปัญญา นี่มันหยาบละเอียด สิ่งที่หยาบละเอียดขึ้นไป เวลาจิตมันละเอียดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันพัฒนาเข้าไป แล้วมันทำของมันเข้าไป พอทำของมันเข้าไป มันมีการกระทำ

จะบอกว่า สิ่งที่มันเป็นไป ขณะจิตที่จิตมันพัฒนาการของมัน มันทำของมัน มันพูดนี่มันรู้เลย แล้วมันสรุปสิ้นกระบวนการของการกระทำแต่ละชั้น มันจะเป็นสมาธิไหม เพราะสมาธิเป็นอยู่ในมรรค ๘ นะ เวลามรรค ๘ มีสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิมันเกิดปัญญาด้วย เกิดมรรคญาณ ด้วยเกิดความเพียร ด้วยเกิดงานชอบ ทุกอย่างชอบ เป็นมรรค แล้วมันทำจบไปแล้ว กลับไปเป็นทำสมาธิว่างๆ อย่างเก่าหรือ ในเมื่อตัวที่เป็นมรรคมันมีสมาธิอยู่แล้ว ตัวสมาธิได้ทำลายกิเลสแล้ว แล้วผลที่เกิดจากการทำแล้วมันกลับมาเป็นสมาธิว่างๆ อย่างเก่าไหม

แต่มันไม่มีคำพูด พอเวลามันถึงที่สุดแล้วถึงบอกว่า เออ! มันว่าง ว่างอย่างไรก็แล้วแต่ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน เหตุผลของการกระทำของมัน มันทำของมันสุดของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันทำ มันมีอย่างนี้ไง มันถึงจะบอกว่างๆ ว่างๆ มันมาพูดเพื่อสื่อความหาย แต่มันต้องมีเหตุมีผล เวลาคุยกันด้วยเหตุด้วยผลมันทำอย่างไร แล้วทำอย่างไร มันเหมือนเราเป็นช่าง เราเป็นช่างซ่อมต่างๆ พอสิ่งที่เราชำนาญ เรารู้เลย เห็นมันจะผิดอย่างไร แล้วเราจะแก้ไขได้ เราจะประกอบถอดได้ ประกอบได้ด้วยความชำนาญมาก

จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นจริงนะ พอถาม มันจะตอบได้หมดเลย มันจะรู้ได้ มันจะชำนาญมากเลย แต่คนเราอ้างว่าเป็นช่าง แต่ไม่เคยถอด ไม่เคยรักษาเครื่องยนต์กลไกอย่างนี้เลย มันทำไม่ได้หรอก พอมันทำไม่ได้มันก็พูดผิด อย่างเช่นคำพูด เวลาสิ่งที่พูด เขาว่าพูดกันง่ายๆ พูดกันความเป็นไป มันจะเป็นจริงหรือเปล่า มันไม่เป็นจริงน่ะสิ ถ้ามันเป็นจริงนะ มันเป็นการกระทำของมันจริงๆ มันพูดได้ มันทำได้

เวลามันก้าวเดิน เวลาจิตมันจะเดินของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป การกระทำมันต้องมีอย่างนี้มันถึงฟังแล้วมันมีเหตุมีผล แต่ถ้ามันไม่มีอย่างนี้ มันไม่เป็นไป มันเป็นการพูดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วสังเกตได้ ถ้าคนอย่างนี้ไม่ใช่โมฆบุรุษ มันเห็นโทษเห็นภัย มันเห็นการกระทำ มันจะช่วยเหลือเจือจานของมันขึ้นไป เจือจานนะ ใจมันจะดึง

เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เห็นไหม จิตต้องการคนช่วยเหลือตลอดเวลานะ เวลาเราคับแค้นใจ เวลาใจเราจนตรอกอยู่ในร่างกายเรา มันต้องการคนช่วยเหลือไหม มันต้องการคนช่วยเหลือ แล้วคนช่วยเหลือมันเป็นใครล่ะ ไอ้คนช่วยเหลือกันคือคนนอก เราบุคคลคนหนึ่งให้หมู่คณะช่วยเหลือกัน แต่เวลาจิตเราใครจะช่วยเหลือ มันเป็นความรู้สึก ความรู้สึกอันนี้มันมาจากไหน แต่ถ้าเราตั้งสติปั๊บ เราจะเห็นตัวเราแล้ว

เราตั้งสติเลย ตั้งสติปั๊บ มันมีความรู้สึก แล้วมันควบคุมความรู้สึกเราได้ ถ้าเราไม่ตั้งสติ จิตมันอยู่ที่ไหน แล้วความช่วยเหลือ ใครจะมาช่วยเหลือมัน แต่พอตั้งสติปั๊บ ครูบาอาจารย์ท่านว่า ความคิดเรามันจะทุกข์ขนาดไหน ถ้ามีสติมันยับยั้งได้หมด พอมีสติยับยั้งปั๊บ เรามีคำบริกรรมต่างๆ มันจะเริ่มเป็นสมาธิเข้ามา พอมีสมาธิเข้ามา มันมีที่ทำงานแล้ว

นี่ไง ที่เราหาตัวเราไม่เจอ หาความคิดไม่เจอ หาสิ่งที่เป็นทุกข์ไม่เจอ เพราะเราไม่เห็นสถานที่ที่มันเกิด พอจิตมันสงบเข้าไป มันเกิดจากตรงนี้ เพราะเรามีสติ แล้วเรามีสติใช่ไหม พอสติเรา เรายับยั้งไว้ เรามีคำบริกรรมเข้ามา มันมีฐานขึ้นมา มันสงบที่นี่ มันเลยมีความสุข นี่ไง ว่างๆ มีความว่างคือเป็นสมาธิ มันมีความสุข ความสุขเพราะอะไร เพราะมีสติ มีสติ มีคำบริกรรม สติ คำบริกรรมมีกำลังเหนือกว่าความคิด มันทำให้ความคิดที่เป็นความทุกข์ ความคิดที่มันขึ้นมาเหยียบย่ำใจมันสงบตัวไป พอสงบตัวไป มันก็เป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ คือใจมันสะอาดชั่วคราว พอใจสะอาดชั่วคราว ตัวนี้คือตัวความสุข พอความสุขเราก็ติด นิพพงนิพพานก็ว่ากันไปนะ อย่างนี้เป็นนิพพาน

มันไม่ใช่นิพพาน มันไม่ใช่อะไรเลย มันเป็นแค่ความสงบของใจ ถ้าใจสงบขึ้นมา แล้วถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมา มันก็เป็นสัมมาสมาธิแล้วมันรื้อค้น ถ้ามันรื้อค้นขึ้นไปมันจะเจอตัวมัน แล้วแก้ไขตัวมัน แก้ไขตัวมันถึงจะเป็นประโยชน์ได้ ถ้าไม่แก้ไขตัวมัน มันก็ไม่ได้แก้ไขกิเลส มันก็แค่เป็นสมถะ เป็นแค่ความสงบของใจ

ขนาดความสงบของใจยังหากันไม่เป็นนะ ถ้าความสงบของใจมันหาเป็น รักษาเป็นขึ้นมา แล้วค่อยๆ ค้นคว้าค้นหาไป มันจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคือการฆ่ากิเลส วิปัสสนาคือการแบ่งแยก คือการวิภาคะ คือการขยายส่วนแยกส่วนสิ่งที่มันเกาะเกี่ยวสิ่งนั้นเป็นที่อาศัย ขยายออกแยกออกจนกว่ามันเห็นจริง มันเห็นจริงคือสำรอก สำรอก มันคายออกๆๆ คายออกนี่เป็นตทังคปหาน คือคายออกชั่วคราว ถึงที่สุดแล้วสมุจเฉทปหาน

ตทังคปหาน สมุจเฉทปหาน ถ้ายังไม่ผ่านขั้นตอน ยังไม่เข้าใจว่าอันไหนเป็นตทังคะ มันสำรอกชั่วคราว แต่มันมีกระแส สิ่งเชื้อไขยังมีอยู่ เดี๋ยวมันก็แสดงตัว สำรอกชั่วคราวๆ จนถึงที่สุด สมุจเฉทปหาน ขาด ขาดเป็นขั้นตอนเลย มันจะไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ไม่เหลือในขั้นนั้น แต่สิ่งที่ละเอียดกว่ามันเป็นขั้นตอน เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา

ขิปปาภิญญาหมายถึงทีเดียวชำระหมดเลย ขิปปาภิญญามันมาจากไหน ขิปปาภิญญามันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย นี่เป็นปัจจุบันนะ แต่คนที่จะปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาต้องมีพื้นฐานของเขามาไง คือพันธุกรรมทางจิตที่เขาสร้างของเขามา จะเป็นขิปปาภิญญา ถ้าเป็นเวไนยสัตว์ ตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันก็เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเหมือนกัน เราสร้างมาอย่างนั้นคือว่าเราทำมา ระยะเวลาการกระทำมันน้อยกว่า ผลของมันถึงเป็นอย่างนี้ ระยะเวลาที่ทำมามากกว่ามีผลมากกว่า ผลตอบสนองมันก็คือเร็วกว่า ง่ายกว่า นี่มันเป็นการกระทำมาทั้งหมด มันไม่มีอะไรลอยมาจากฟ้าเลย

คำว่า “ขิปปาภิญญา” มันง่ายในปัจจุบัน แต่มันก็ยากมาจากอดีต อดีตมา เราทำมาพอสมควร ในปัจจุบันนี้เราถึงต้องลงทุนมากกว่า มากกว่าสิ่งที่อดีตเขาสร้างมามากกว่า เขาทำปัจจุบันเขาทำง่ายกว่า แต่อดีตที่เราทำมาน้อยกว่า เราทำมาโดยความนอนใจ เราทำไม่เหมือนเขา ในปัจจุบันนี้เราต้องลงทุนลงกำลังมากกว่า ผลของมันคือเท่ากัน คือโสดาบันเท่ากัน สกิทาคามีเท่ากัน อนาคามีเท่ากัน พระอรหันต์เท่ากันไง ผลของมันคือสะอาดเหมือนกัน แต่เพราะพื้นฐาน เพราะจริตนิสัยที่สร้างมาแตกต่างกัน การกระทำถึงได้แตกต่างกัน

การปฏิบัติ ทุกคนจะแตกต่างกันหมด ไม่มีใครเหมือนกันหมด ไม่มีเลย มันมีแตกต่างกันหมด ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นสอนจะสอนเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องทำอย่างนี้ๆๆๆ...เป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะพื้นฐานมันมาหลากหลาย ในปัจจุบันมันก็หลากหลาย ความคิดก็หลากหลาย แต่ศาสนาพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอดมาก สุดยอดตรงไหน ตรงที่ว่าท่านวางไว้เป็นอริยสัจ เป็นความจริง พระศรีอริยเมตไตรยก็มาตรัสรู้อันนี้ แต่พระศรีอริยเมตไตรยยังสร้างบุญมามากกว่า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย เราอายุน้อยที่สุด เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุ ๘๐ ปี พระศรีอริยเมตไตรยนี่ ๘๐,๐๐๐ แล้วพอบอก ๘๐,๐๐๐ ปี คิดเลย คนอายุ ๘๐,๐๐๐ ปีมีด้วยหรือ

ถ้าเราไปเกิดในช่วงนั้นเราก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราเกิดในช่วงนี้ เราก็มอง เรายังคิดเลย ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บ มองคนโบราณสิ คนโบราณจะรูปร่างกายสูงใหญ่มาก ร่างกายของคนโบราณจะสูงใหญ่กว่าเรามาก แต่ในปัจจุบันนี้ร่างกายของมนุษย์เป็นอย่างนี้หมด แล้วมันเปลี่ยนแปลงได้

ดูสิ สมัยสงครามโลก ญี่ปุ่นตัวเล็กๆ ทั้งนั้นน่ะ แล้วพอเขาแพ้สงครามโลกปั๊บ มันอยู่ในการปกครองของอเมริกา อเมริกาให้เด็กกินนม เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นตัวเท่าฝรั่งเลย เราจะบอกว่าร่างกายมันปรับแต่งได้ แต่หัวใจล่ะ

นี่เราไปคิดกันแต่วิทยาศาสตร์ คิดแต่สิ่งที่จับต้องได้ “มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้”

ก็กิเลสมันบังใจไว้ไง กิเลสในหัวใจเรามันก็บังไว้ให้มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นไปได้สักอย่างหนึ่ง เว้นไว้แต่มันทุกข์เท่านั้นน่ะ ถ้าทุกข์นี่มันเป็นไปได้ เวลาทุกข์หัวใจ เออ! อันนี้จริงๆ เว้ย เพราะมันทุกข์จริงๆ มันหลบไม่ได้ แต่เวลาจะกระทำให้มันมีทางออก “เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้”

ทำหรือยัง ได้ลองหรือยัง ได้ทำสักหน่อยหนึ่งไหม ไม่ได้ทำอะไรเลย “เป็นไปไม่ได้”

เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องทดสอบก่อน พิสูจน์ก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องพิสูจน์ก่อน เรายังไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย เราคิดของเราเองคนเดียว นี่ไง โลกนี้มีเพราะมีเรา เราเป็นใหญ่ ความคิดเราเป็นใหญ่ ทุกคนเป็นใหญ่ ใหญ่บนไหน ใหญ่เพราะมันภวาสวะ ภพไง ความคิดของเรามันอยู่ในอกเรา เราจะคิดอย่างไรก็ได้ เราจะจินตนาการอย่างไรก็ได้ เราเลยใหญ่ ความใหญ่ขนาดไหนมันก็อยู่ใต้มัจจุราช มันต้องตายหมด ใหญ่ขนาดไหนมันก็อยู่ใต้กฎของมาร มารครอบคลุมหมด

แต่เวลาเราทวนกระแส เราต้องแก้เรา นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องแก้เรา ต้องจิตของเรา ต้องทำลายของเรา ต้องมีสมาธิของเรา แล้วเข้าไปทำลายเราเอง ของใครของมัน พอของใครของมัน อำนาจวาสนาก็ของใครของมัน คนอำนาจวาสนามาก เขาก็ต้องลงทุนลงแรงมาก สติปัญญาเขาใหญ่มาก กว้างขวางมาก ถ้าสติปัญญากว้างขวางมากเพราะอะไร เพราะมันเข้าไปทำลายกิเลส มันใช้ปัญญา ใช้สมาธิทั้งหมด มันคิดพลิกแพลงใคร่ครวญ แล้วมันแยกออกได้อย่างไร เพราะกิเลสมันหนา ปัญญามันก็ต้องมากกว่า

ทีนี้ปัญญามากกว่า กิเลสมันหนา มันมีวิธีการมาก ทีนี้วิธีการมาก เวลาเทียบเคียงออกมา เทศนาว่าการออกจากประสบการณ์ การเทศนาว่าการของพระปฏิบัติ องค์ไหนองค์นั้น ออกมาจากจริตนิสัยของท่าน ออกมาจากการกระทำของท่าน ท่านเคยผ่านวิกฤติ ผ่านความทุกข์ยากมาขนาดไหน นั่นล่ะคือประสบการณ์ของท่าน ทีนี้คนมีประสบการณ์มาก คนมีการใคร่ครวญมาก เวลาแสดงออกมามันเทียบเคียงได้มากกว่า นี่ไง พระอรหันต์แต่ละประเภท

ขิปปาภิญญา การปฏิบัติง่ายรู้ง่าย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แต่ทำไมแสดงได้มากล่ะ อำนาจวาสนาสร้างมาอย่างนั้น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะต่างๆ กัน พระอรหันต์แต่ละองค์ไม่เหมือนกันเลย ไม่เหมือนกัน พิจารณาเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน เหมือนเรากินข้าว กินข้าวถ้วยเดียวกัน รสชาติพอใจต่างกัน กินอิ่มก่อนอิ่มหลังต่างกัน นี่กินข้าวสำรับเดียวกัน

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณากายเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน พิจารณาจิตเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน พิจารณาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะอะไร เพราะพื้นฐานของจิต ความหยาบความละเอียดของจิตที่มันเกาะ กิเลสมันเกาะแตกต่างกัน แตกต่างกัน เวลาปฏิบัติไปแล้ว แต่ผลสรุปมันเหมือนกัน ผลสรุปพูดได้ ตรวจสอบได้ที่ผลสรุป ทีนี้ผลสรุปตรวจสอบได้แล้ว สิ่งที่ท่านแสดงออกมาสิ่งที่เป็นไป อันนี้เป็นคุณสมบัติของท่านนะ

เวลาเราไปเจอครูบาอาจารย์มันสำคัญตรงนี้ไง เจอครูบาอาจารย์ที่รู้จริง แต่ท่านไม่ได้แสดงออกมา เราไม่มีตัวอย่างให้เราก้าวเดิน เราก็รับรู้ไว้ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์แสดงออกมา แต่ถ้าผู้ไม่รู้แล้วแสดงออก ผู้ไม่รู้แสดงออก ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เรามีนิสัย เราก็จับพิสูจน์ แล้วเราพิสูจน์ของเราเอง ผิดถูกมันเป็นสันทิฏฐิโกนะ เราจะรู้เองเลย ทุกข์ เราก็รู้ว่าทุกข์ สุข เราก็รู้ว่าสุข ปล่อยก็รู้ว่าปล่อย ขาดก็รู้ว่าขาด ถ้าปล่อย แต่ไม่ขาด เราก็รู้ว่าไม่ขาด

แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เราไม่มีคนชี้นำ ไม่มีคนเทียบเคียง เราก็ต้องเข้าข้างตัวเองเป็นธรรมดา แต่ถ้าวันไหนเรามีครูบาอาจารย์คอยสะกิดเรา เราจะหาทางออกได้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์สะกิดเรา เราจะหาทางออกไม่ได้ นี่ในการปฏิบัติหาทางออกไม่ได้ เราก็จะคาอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าหาทางออกได้ เราจะตัวรอดได้ ถ้าเอาตัวรอดมันก็วาสนาของคน

เกิดร่วมสมัยกับครูบาอาจารย์นี้มีบุญมากนะ เพราะเกิดร่วมสมัยที่ท่านรู้จริง แล้วท่านแสดงออก เพียงแต่มันเป็นวาสนาของเรา ฟังแล้วไม่เชื่อ มันเป็นไปไม่ได้ นี่มันก็เป็นวาสนาของคนนะ แต่ถ้าเราเกิดร่วมสมัย แล้วมันมีทางวิชาการที่วางไว้ แล้วเรารู้ประโยชน์ของเรา เราจะได้ประโยชน์ของเรา จะเป็นประโยชน์ของเรา

การแค่เกิดร่วมสมัยนี่โอกาสแล้ว เกิดร่วมสมัย เจอ สมัยพุทธกาลเจอพระพุทธเจ้า เดินสวนกันไปสวนกันมา ไม่สนใจเลย นั่นน่ะเกิดร่วมสมัยแต่ไม่ได้ประโยชน์ เราเกิดร่วมสมัย เพราะอะไร ชีวิตของเรา ๑๐๐ ปี เกิดแล้วต้องตายหมด ร่วมสมัยแล้วเราใช้ประโยชน์ด้วย แล้วชักนำใช้ประโยชน์กับเรา จะเป็นประโยชน์กับเรา

ไอ้นี่มันเป็นจริตนิสัย ถ้าเราเข้าใจคำว่า “จริตนิสัย” เหมือนต้นไม้ ไม้คด ไม้งอ ไม้ตรง ไม้แต่ละชนิดมันขึ้นมาหลากหลาย ถ้าเราเข้าใจแล้วเราจะไม่ไปเดือดร้อน ถ้าเราไม่เข้าใจนะ เราต้องการแต่ไม้ตรงชนิดเดียว ไม้คด ไม้งอ เราใช้ประโยชน์มันไม่เป็น แต่ถ้าเป็นช่าง ไม้คด ไม้งอ เขาใช้ประโยชน์ได้นะ

คนก็เหมือนกัน ความคิดของเขา ความเห็นของเขา เขารู้ของเขาอย่างนั้น ถ้าเราดัดตรงได้ก็ดัด ถ้าดัดตรงไม่ได้ ไม้งอจะใช้ประโยชน์อะไร อย่างเราปฏิบัติแล้วปฏิบัติอย่างไรมันก็ไปไม่ได้ เราก็ปฏิบัติเพื่อเรา ปฏิบัติเพื่อให้มันหดสั้นเข้ามา ให้ชีวิตมันสั้นเข้ามา ปฏิบัติไม่ได้ จะบอกว่ามันสุดวิสัยก็ได้ บางทีมันสุดวิสัย แต่เราก็พยายามของเราอยู่นะ จะสุดวิสัยขนาดไหน เราก็ดันของเราไป ถ้ามันสุดวิสัยก็เหมือนกับขิปปาภิญญา อนาคตไง คือเราปฏิบัติที่นี่มันก็จะเป็นบุญญาธิการ มันจะสะสมของจิต เพราะจิตเป็นผู้ทำ ความคิด การกระทำของเรามันเกิดจากจิต จิตมันทำแล้วมันก็จะตกผลึกในจิตเรานี่แหละ

คนทำดีทำชั่วมันออกจากจิตแล้วมันกลับมาตกที่จิต ดีก็คือดี ชั่วก็คือชั่ว มันกลับมาตกผลึกที่นี่ ตกผลึกที่นี่ปั๊บ มันพันธุกรรมมันตัดแต่งแล้ว พอมันไปๆๆ มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ก็ทำ ถ้ามันเป็นไปได้ก็สรุป ก็จบ ก็ดีไป เราถึงว่าความดีต้องกระทำ ความดีเราต้องพยายามสร้างของเรา แล้วถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ เอวัง