ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

การฟังธรรม

๒๘ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

การฟังธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ ครูบาอาจารย์เวลาท่านจะเทศน์สอนญาติโยม ท่านจะดูคน แล้วถ้าไม่เป็นท่านจะพูดเรื่องธรรมะพื้นฐานให้ก่อน พูดธรรมะพื้นฐานให้ จนกว่าจะเข้าใจ แล้วท่านถึงจะบอกว่าฟังเทศน์เป็น แม้แต่ฟังเทศน์เขาเรียกว่าฟังเทศน์เป็นกับฟังเทศน์ไม่เป็น ฟังเทศน์ไม่เป็นไม่เข้าใจ ฟังเทศน์ไม่เป็น เห็นไหม อย่างพวกเราชาวภาคกลาง ฟังเทศน์เอาบุญ เพราะในหลักธรรมนะ การฟังเทศน์ การฟังธรรมได้บุญมากสุดยอดเลย สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ได้ฟัง สิ่งที่ได้ฟังแล้วได้ตอกย้ำมัน สิ่งที่ฟังแล้วมีความเข้าใจ สุดท้ายทำให้จิตผ่องแผ้ว

การฟังเทศน์นะ โอ้โฮ บุญมหาศาลเลย พวกเราเห็นไหม ก็เรียนพระไตรปิฎก ใช่ไหม เรียนตามตำรา ใช่ไหม ก็ไปนั่งฟังเทศน์กัน พระก็เอาใบลานมากาง ไอ้เราก็นั่งพนมมือหลับ สัปหงกกัน เอาบุญๆ ฟังเทศน์เอาบุญ แล้วพอถามเรานะ ในหลักธรรม การฟังเทศน์นี่นะ เป็นการได้ฟังยากอย่างยิ่ง เราก็บอกอย่างยิ่งได้อย่างไร?

ดูสิ วิทยุออกเป็นร้อยๆ สถานี วิทยุเทศน์ออกเต็มสถานีเลย เราบอกนี่พวกเราคิดกันไม่เป็น ในสมัยพุทธกาลไม่มีเครื่องมือสื่อสารทั้งหมด การฟังเทศน์จะได้ฟังเทศน์จากพระโอษฐ์ การฟังเทศน์จากปากของพระที่ประพฤติปฏิบัติแล้วเท่านั้น แล้วถ้าเกิดว่าเรามาฟังเทศน์ เราบอกเทศน์จากวิทยุมีมากมายเลย มันไม่ใช่ที่ว่ามีวิทยุมากมายนะ มันเป็นที่เราเป็นชาวพุทธต่างหาก

เรามาเกิดเป็นชาวพุทธ เห็นไหม ในสังคมของพุทธศาสนา เอ็งไปอยู่ทางยุโรป เอ็งจะได้ฟังเทศน์อย่างนี้ไหม? ไม่ได้ยินหรอก การฟังเทศน์นะ เราเกิดในประเทศอันสมควร แล้วเกิดแล้วน่ะ มาพบพระพุทธศาสนานี่สำคัญมาก

นี่พอฟังเทศน์ หลักของการฟังเทศน์ จิตผ่องแผ้ว แล้วการฟังเอาบุญกันมันเป็นพิธี เห็นไหม พระไตรปิฎกพูดอย่างนั้นจริงๆ การฟังธรรมนี่สุดยอดเลย เห็นไหม เวลาคนมาถามเรา บอกว่า มาวัด คือว่าไม่ได้ใส่บาตรใช่ไหม? เขาเรียกว่า ภัตตามมา กับใส่บาตรอันไหนได้บุญมากกว่ากัน เราบอกใส่บาตรได้บุญมากกว่า

คำว่าใส่บาตรได้บุญกับภัตตามมานะ เพราะใส่บาตร พระต้องออกบิณฑบาต นี่ไง บริษัท ๔ มันตรวจสอบกันไง ถ้าพระประพฤติตัวไม่ดีเขาไม่ใส่บาตรให้กินหรอก หรือเขาใส่บาตรเขาก็ไม่เอาอาหารของเขา เขารังเกียจของเขา แต่ถ้าพระดีเห็นไหม พระที่ดี นี่มันตรวจสอบกัน มันเป็นภิกขาจารไง มันเป็นวินัยกรรม มันมีการกระทำ

ทีนี้ถ้าใส่บาตรได้บุญมากกว่า แต่ถ้ามาวัดในธุดงค์เราได้ใส่บาตรด้วย ทีนี้มาวัดเราได้ฟังธรรมตรงนี้ ตรงที่ฟังธรรม ฟังเทศน์ สำคัญที่สุด ในเรื่องฤทธิ์เดช เราชอบอภิญญารู้วาระจิต รู้ต่างๆ เห็นไหม สิ่งนี้เป็นฤทธิ์ของเรา พระพุทธเจ้าบอก ฤทธิ์นี่ไร้สาระมาก ฤทธิ์ที่ประเสริฐที่สุดนะ อนุสาสนีไง การบันลือสีหนาท การเทศน์ ฤทธิ์ที่สุด เพราะฤทธิ์อันนี้มันปราบกิเลส ฤทธิ์อันนี้มันทิ่มเข้าไปในหัวใจของสัตว์โลก การแสดงธรรมเป็นฤทธิ์ที่หาได้ยากที่สุด

พอเราฟังธรรม เห็นไหม ถ้าฟังธรรมเข้าใจ ฟังธรรมเป็น ฟังธรรมไม่เป็น ฟังธรรมไม่เป็นเราฟังตามประเพณีอย่างที่ว่าไง ในพระไตรปิฎกก็บอกการฟังธรรมได้บุญนะ บุญตั้ง ๓ อย่าง ๔ อย่าง เราก็ฟังธรรมกันนะ ประเพณีของเรา เพราะเราเป็นคนภาคกลาง เราอยู่วัฒนธรรมของคนภาคกลาง แล้วเราไปอยู่ภาคอีสาน เราไปเปรียบเทียบกันไง

ดูภาคกลางเราสิ เวลาพระเดินมาเราจะเดินชนเลยล่ะ พระต้องหลบโยมนะ ไปอยู่อีสานนะ พอพระเดินมานะ โยมจะหลบหมดเลย นั่งกับพื้นกราบด้วย มันทำให้เราหนาวหมดเลยนะ ฉันข้าวเขาแล้ว เขากราบขนาดนี้ มันได้ภาวนาให้เขาหรือเปล่า แต่ภาคกลางไม่มีอย่างนี้หรอก นี่ประเพณีวัฒนธรรมเห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันเกิดมาจากใจ ใจของเขาศรัทธา เห็นไหม

สิ่งที่เวลาฟังเทศน์แล้ว เทศน์นี่ ธรรมเข้าไปถึงหัวใจแล้ว มันแสดงออกถึงกิริยาอย่างนั้นเลย แต่ถ้ามันกระด้างมันไม่ฟัง เห็นไหม มันจะเดินชนพระนะ พระต้องหลบเรานะ พระไม่หลบเราโดนชนหงายเลยล่ะ ดูความเจริญ เห็นไหม ถ้าฟังเทศน์เป็น ฟังเทศน์เป็นนะ

ฟังเทศน์เป็นมันต้องมีพื้นฐาน ถ้ามีพื้นฐานขึ้นมา อนุสาสนีอันนี้ ถ้ามันเข้าไปถึงหัวใจมันจะไปสะเทือนใจของเรา ถ้าสะเทือนใจของเรา เราจะแก้ไขเรานะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นที่พึ่งตรงนี้ไง อยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จี้แล้วจี้อีกนะ โอ้โฮ ครูบาอาจารย์ท่านลำเอียง ทำไมท่านไม่ว่าองค์นู้น ทำไมท่านว่าองค์นี้ ทำไมท่านว่าแต่เรา ทำไมท่านไม่ว่าคนอื่น

แต่ถ้าเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราเห็นเอง เราสำนึกเองว่าเราควรทำอย่างไร? เราผิดหรือเราถูก มันไม่มีบุคคลที่สองมาคอยเตือนเรา เรารู้เราเองนี่ฟังเทศน์ มันรู้เลยว่า เราผิดเราถูก เราควรทำอย่างไร? ถ้าเราควรทำอย่างไรปั๊บ มันเกิดจากเรา แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์พูดนะ หื้อ หื้อ มันต้องค้าน แล้วเป็นทุกคน เราก็เป็น กิเลสเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปโทษว่าคนนู้นถูกคนนี้ผิดนะ

ธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนี้ มันก็ดี เวลาพระบวชใหม่ เห็นไหม มันต้องขอนิสัย ขอนิสัยเพราะอะไร? เพราะมันความเคยชินของการดำรงชีวิตทางโลกไง พอมาวัด ทุกคนเลย เวลาจะมาปฏิบัติที่วัดนี้ จะถามก่อนที่นี่กินข้าวกี่หน? โอย ถ้า ๒ หนก็ไม่ไหวนะ เพราะที่บ้านกินข้าวตั้ง ๓ หน กินข้าวตั้ง ๔ หน

แล้วพอมาวัดนี่แล้วมันไม่เป็นโรคกระเพาะหรือ? แล้วมันไม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือ? นี่ไม่ได้ติใครนะ มันเป็นอย่างนี้หมด เริ่มต้นเข้ามาคนคิดโดยวิทยาศาสตร์ ร่างกายมันขาดอาหารได้อย่างไร มันธรรมชาติขาดอาหารไม่ได้ ขาดอาหารก็เจ็บไข้ได้ป่วยสิ มันเป็นเรื่องสัจจะความจริง แต่มันเป็นเรื่องโลก

แล้วก็บอกนะ ถ้ากินข้าวสองมื้อหรือกินมื้อเดียว เดี๋ยวจะเป็นโรคกระเพาะ มันคิดไปก่อนไง แล้วเราทำวิจัยนะ ไปที่โรงพยาบาลสิ คนที่เป็นโรคกระเพาะนะ นักธุรกิจทั้งนั้นเลย เครียด พระนี่สี่ห้าแสนองค์เป็นโรคกระเพาะกี่องค์ มันไปคิดกันเอาเองไง มันไปคิดกันเอาเอง แล้วมันก็ไปวิตกกันเองไปก่อน เห็นไหม พอวิตกกันไปเอง

พอเริ่มเข้าวัดนะ จะมาปฏิบัติ มาที่วัดนี้ต้องทำอย่างไร? ต้องกินข้าวกี่หน? ทุกคนจะถามตรงนี้ก่อนเลย ไม่ถามเรื่องอื่นเลย โทษนะ คนป่วยไม่ว่ากัน เพราะอะไรรู้ไหม? ถ้าป่วยวินัยยกเว้น เวลาเทศน์ พระนี่นะ พระพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องกิเลสดี ท่านถึงวางธรรมวินัยไว้สุดยอดเลย ท่านยกพระให้สูงกว่า ถ้าเราเคารพบูชาเราจะเปิดใจเราฟัง ภิกษุยืนอยู่ คฤหัสถ์เขานั่งอยู่ แสดงธรรมเป็นอาบัติทุกกฏในเสขิยวัตร

เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะการยืนการนั่ง เขาถือว่าเป็นการเคารพกัน สมัยนั้นนะการยืนคือเคารพคนนั่ง ถ้าเคารพเขาเราต่ำกว่าเขา เขาจะฟังเทศน์เราไหม? เราสอนเขา เขาจะฟังไหม? เขาไม่ฟังหรอก ทีนี้พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติตรงนี้ไง ภิกษุห้ามแสดงธรรมต่อเมื่อเขาไม่เปิดใจฟัง เว้นไว้แต่เขาป่วย

ถ้าป่วยทุกคนป่วยนอนอยู่ คนป่วยลุกไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเขาก็ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมสิ ถ้าป่วยยกเว้นหมดนะ พระป่วย โยมป่วยยกเว้นได้ ไม่ใช่บัญญัติตายตัว มีกฎบัญญัตินะ อาบัติ อนาบัติ เราทำอย่างนี้เราเป็นคนปกติทำเป็นอาบัติเลย แต่ถ้าเรามีข้อยกเว้นปั๊บเป็นอนาบัติ ในวินัยทุกข้อมีอาบัติกับอนาบัติ คือเป็นอาบัติ แต่ถ้าไม่ครบองค์ประกอบไม่เป็นอาบัติ

ทีนี้พอเราอ่านธรรมวินัย คือกฎหมายต้องบังคับหมด ถ้าคนเรายังไม่ปฏิบัติยังไม่เข้าใจเรื่องศาสนาลึกซึ้ง มันเถรส่องบาตร บังคับตายตัว แต่ถ้าปฏิบัติธรรมไปแล้วมันมีข้อยกเว้น ยกเว้นเพราะเหตุใด? อย่างเช่น เราเข้าพรรษาใช่ไหม? เราอธิษฐานธุดงค์ เว้นไว้แต่อะไรล่ะ

เว้นไว้แต่เพราะเราเคยประสบการณ์เรามา ประสบการณ์ พรรษาแรกธุดงค์ เคร่ง บ้าไปหมดเลย เพราะไม่มีใครสอนทำเอง แล้วถึงเวลาแม่ไปเยี่ยม แม่กับพี่สาวไปนะ ทำข้าวหมูแดงไป จะไปเลี้ยงลูกๆ ไง ลูกก็ธุดงค์กินไม่ได้ ไม่กินน่ะ ขาดธุดงค์ มันเคร่งมันเกร็งไง ตอนนั้นมันไม่เข้าใจ ไม่เว้นไว้แต่ไง ก็พ่อแม่เรา

นี่พระพุทธเจ้าถึงบัญญัตินะ ภิกษุขอได้ ๗ ชั่วโคตร ห้ามขอเขย สะใภ้ ทีแรกถ้าฟังมันเป็นเรื่องปกติธรรมดานะ แต่ลองไปศึกษาดูสิ ๗ ชั่วโคตรเพราะอะไร? เพราะพี่เรา น้องเราป้าเราน้าเรา มันเข้าใจในครอบครัวเราเองใช่ไหม? อย่างเช่นเราเป็นพี่ของพระ แล้วพระจะมาขอเรา พระก็ต้องรู้ว่าพี่มีสถานะแค่ไหน พี่มีเงินหรือไม่มีเงิน ไม่ใช่ขอจนเกินกว่าเหตุใช่ไหม? เพราะเป็นพี่โดยสายเลือดมันจะรู้กันอยู่ โดย ๗ ชั่วโคตรนี่ขอได้

แล้วเขย-สะใภ้ทำไมขอไม่ได้ล่ะ เขย-สะใภ้มันไม่ใช่สายเลือดเขาเพิ่งมาใหม่ใช่ไหม เราจะไม่รู้นิสัยกันหรอก นี่ไง วินัยเปิดไว้ ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ๗ ชั่วโคตรให้ขอได้ แล้วถ้าไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา อย่างโยมมานี่ “โยมอาตมาก็ขาดไอ้นั่นขาดไอ้นี่” เราถือว่านี่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณานะ

เราเคยพูดกับพระว่าเราอ่านพระไตรปิฎกมาเหมือนกันนะ อย่างนี้ไม่สมควร ทีนี้พระที่เขาทำอย่างนี้อยู่ เขาบอกว่าท่านคิดอย่างนี้ได้อย่างไร? เราเอาบุญไปให้เขาถึงบ้านนะ บุญ ธรรมะส่วนธรรมะ วินัยส่วนวินัย เอาบุญไปให้ถึงบ้าน พวกโยมต้องการบุญที่บ้านไหม? เห็นพระวิ่งหนีหมดล่ะ พระคิดเองเออเองไง แต่ตามวินัยไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณาเอาซองไปแจกเขาได้อย่างไร? ไม่ได้หรอก

เราบวชมานะไม่เคยแจกซองแม้แต่ใบเดียว ไม่เคยพูดสิ่งเรื่องอย่างนี้เลย เพราะไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณาพูดออกไป สังเกตได้เราไม่เคยพูดอย่างนี้เลย จนมาอยู่ที่โพธาราม ครู....แฟนเขา เขามาหาเรา เขาเป็นครูเขาบอกหลวงพ่อ ธรรมดาอยู่ที่วัด วัดที่เขาสอนอยู่ยุ่งมากเลย เดี๋ยวก็นิมนต์พระองค์นั้นมาทำบุญ พอทำบุญเสร็จแล้วพระที่นิมนต์มาก็ต้องมีศักยภาพ เจ้าฟ้าเจ้าคุณใช่ไหม คนนี้ก็ต้องรับผิดชอบองค์นี้ ใส่ซอง เจ็ดพันแปดพันกี่หมื่นก็ต้องว่าไปตามนั้น

แล้วเขาก็มาวัดเราไง มาอยู่เป็นปีนะ เขาถึงได้เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ทีแรกเขาเล่าเรื่องบอกว่า โอ้โฮ มาวัดหลวงพ่อสบายใจน่าดูเลย คือหลวงพ่อไม่เคยขอสักสลึงเดียว มาแล้วสบายใจ ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะต้องควักสตางค์ สบายใจ แล้วเขาก็เล่าเรื่องของเขาให้ฟัง เราถึงสลดใจนะ เพราะอะไร? เพราะเขาทำอย่างนั้น

นี่ศาสนาเสื่อม เสื่อมที่ไหน เสื่อมเพราะญาติโยม เห็นพระแล้ววิ่งหนี มันหนักเราไม่ไหว แต่ถ้าพระเรา เห็นไหม มีปัจจัย ๔ มันเหลือเฟืออยู่แล้ว พอเหลือเฟืออยู่แล้วบิณฑบาตมา ทำไมต้องผ่อนอาหาร? การผ่อนอาหารย้อนกลับมาที่ว่าเวลาใครมาวัดนะ จะกินกี่มื้อ? เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะด้วยความคิดของเขา เขาศรัทธาของเขา

แต่ความเคยชินของคฤหัสถ์ นิสัย ๕ ปีขึ้นไปแล้วนะถึงจะได้นิสัยถ้าฉลาดนะ ถ้าต่ำกว่า ๕ ปี ยังไม่พ้นนิสัย ไม่พ้นนิสัยไปอยู่วัดไหนก็แล้วแต่ต้องขอนิสัย ไม่ขอนิสัย ราตรีที่ ๗ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทันทีเลย ถ้าไม่ได้นิสัยนี่ เหมือนกันอุปัชฌาย์เป็ดอุปัชฌาย์ไก่ บวชแล้วก็ทิ้งเลย เอ็งหากินกันเอาเอง

แต่ถ้าเป็นธรรมวินัยนะ จะต้องอยู่ในนิสัย ๕ ปี พอ ๕ ปี เหมือนเรานี่บรรลุนิติภาวะ แต่ ๕ ปีบรรลุนิติภาวะต้องเป็นพระผู้ที่ฉลาด ถ้าโง่นะร้อยพรรษาก็ไม่พ้นนิสัย ฉลาดเขาวัดกันตรงที่ว่า ๕ พรรษาท่องปาติโมกข์ได้ ใครท่องปาติโมกข์ได้ โอ้โฮ เพราะปาติโมกข์คือรัฐธรรมนูญสงฆ์ไง พอเราท่องเห็นไหม อาบัติข้อนั้นๆ อย่างโภชนาวรรค มันเข้าใจ พอมันเข้าใจ เราทำผิดเพราะเรารู้กฎหมาย ทำผิดเราก็หน้าด้านเพราะเรารู้อยู่ แต่ถ้าเราไม่รู้กฎหมายทำอะไรผิดไป ก็เราไม่รู้กฎหมาย เขาวัดกันที่ว่าท่องปาติโมกข์ได้ คือผู้ที่ฉลาดในวินัยจะพ้นจากนิสัยคืออยู่ด้วยตัวเองได้

แต่ถ้ามันยังไม่ฉลาดอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ อยู่ด้วยตัวเอง ถ้าพระอาทิตย์ขึ้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ นี่ต้องขอนิสัย

นี่การขอนิสัย เวลาเราไปเห็นไหม เราเคารพกันพระป่าเราจะเคารพครูบาอาจารย์มาก ถ้าไม่ขอนิสัยนะบางทีครูบาอาจารย์ท่านไม่สอน อย่างเช่นหลวงปู่ลี ตอนอยู่ผาแดงใหม่ๆ ท่านบอกท่านเก็บของหมดเลย มีพระที่มีพรรษามาก แล้วมาอยู่กับท่าน พออยู่กับท่านไม่ขอนิสัย พอครบ ๗ วันท่านเก็บบริขารท่านมาตั้งเลย แล้วท่านจะไปแล้ว

พระพวกนั้นตื่นเลยนะ “อ้าว ทำไมล่ะ”

“อ้าว ก็พวกท่านไม่ขอนิสัยผม ในเมื่อไม่ขอนิสัยผมแล้วผมจะสอนอย่างไร? ผมจะอยู่ได้อย่างไร?” ในเมื่อไม่ขอนิสัยก็เหมือนยึดอำนาจ ฉันก็จะไป พระนี่ตกใจเลยนะ

นี่ผู้ที่อยู่ในธรรมกับผู้ที่ไม่อยู่ในธรรม คือเราไปพรรษาเราน้อยกว่าเราต้องขอนิสัยท่าน คำว่าขอนิสัยก็คือว่ายอมตนให้ท่านเป็นผู้ที่คอยสั่งสอนไง ถ้าเราไม่ขอนิสัย มันไม่ใช่ลูกศิษย์เรา ไปสอนมันเดี๋ยวมันซัดเอาหน้าหงายเลย คำว่าขอนิสัยคือยอมตัวลง เห็นไหม กิเลสมันยอมลง ถ้าไม่ขอนิสัย กิเลสมันไม่ยอมตัวลง การขอนิสัย ในการประพฤติปฏิบัติการเคารพบูชา มันเกิดมาจากตรงนี้ การฟังธรรมมันเป็นอย่างนี้

ฟังธรรมเป็น ถ้าฟังธรรมเป็นเขาเรียกว่า ใจมันอ่อน ใจควรแก่การงาน ใจมันกระด้าง เราปฏิบัติกันเห็นไหม ทางวิทยาศาสตร์จะพูดบ่อยมาก พระป่านี่ไม่จริง ถ้าจริงต้องอยู่ในเมืองปฏิบัติสิ อยู่ในเมืองปฏิบัติได้ถึงจะของจริง ครูบาอาจารย์เรานะ ถ้าปฏิบัติได้แล้วนะ จะอยู่ในเมืองหรืออยู่ส่วนตัวไม่มีปัญหาเลย

แต่พวกเรามันเหมือนเรานี่นะร่างกายมีเชื้อโรค เจอของแสลงเชื้อโรคมันจะกำเริบไหม? จิตใจของเราแยกออกมาจากโลกใหม่ๆ แล้วเราอยู่ในสังคมมัน แล้วเมื่อไหร่เราจะแยกออกไป แล้วพวกนี้ไม่เคยเห็นอยู่ป่า พอออกป่านะ ทุกคนออกป่านะ อยู่คนเดียวระวังความคิด

เวลาออกป่ามันจะวิตกวิจารไปหมด มันคิดกลัวไปหมด แต่ถ้าอยู่กับหมู่คณะนะนอนตีแปลงเลย เพื่อนกูเยอะ ใจไม่เคยกลัวอะไรเลย แต่พอแยกออกไป มันจะกลัวผีกลัวทุกอย่าง กลัวนั่นแหละกิเลสมันออกตรงนั้น แล้วถ้าสติเราทันเห็นไหม การออกวิเวกประโยชน์มหาศาลเลย แต่คนไม่กล้าไป กลัวทุกข์ กลัวลำบาก กลัวลำบน กลัวไปทุกอย่างเลย

แต่เวลาพอมาปฏิบัติเห็นไหม พอสร้างเป็นวัดขึ้นมา โอ้โฮ มีคนไหม? มีโยมอยู่หรือเปล่า? ถ้ามีก็จะอยู่ด้วย ไม่มีก็จะไปแล้วล่ะอยู่คนเดียวกลัว มันกลัวมันเหงาขึ้นมา การกระทำเห็นไหม เวลาบิณฑบาตมา เวลาฉันมันเห็นเป้าหมายไง เป้าหมายของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติเราอยากได้ทรัพย์ อริยทรัพย์ อริยทรัพย์จากภายใน

แต่ถ้าเราฟังธรรมไม่เป็น เราฟังแล้วไม่เข้าใจ เราคุ้นเคย คุ้ยเคยกับตรรกะ เห็นไหม ทางนักวิทยาศาสตร์ เวลาอธิบายเรื่องทฤษฎี เราฟังเราเข้าใจนะ อือๆ หมดเลย แต่เราไม่เคยปฏิบัติเราไม่รู้อะไรหรอก ไม่รู้ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าเราไม่รู้จักเป้าหมายว่าภาวนามันคืออะไร แล้วก็สักแต่ว่าทำกันนะ นี่ทำภาวนากัน มันพูดเป็นโลกียปัญญาไง

ปัญญาคือปัญญาที่เกิดจากที่เราสื่อสาร ปัญญาเกิดจากสมอง เราแยกตรงนี้บ่อยนะ ปัญญาในปัจจุบันนี้ ปัญญาเกิดจากสมอง ทั้งๆ ที่สมองคิดไม่เป็นนะ สมองมันเป็นสสาร มันเป็นวัตถุอันหนึ่งมันจะคิดได้อย่างไร? เพียงแต่มันใช้พลังงานจากสิ่งที่มีชีวิต พลังงานของใจ มันสัมพันธ์มันเกี่ยวเนื่องกัน นามธรรมก็คิดออกมาไม่ได้ ก็อาศัยสมอง สมองเป็นศูนย์ประสาทควบคุมร่างกายไง ดูสิ เส้นเลือดแตก ซ้ายหรือขวามันจะควบคุมไม่ได้เห็นไหม

แล้วสมองส่วนลึกสมองส่วนตื้นที่ใช้ความคิด ความคิดถ้าเราเผลอมันไม่คิดเห็นไหม ความคิดจริงๆ มันเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกจิตใจนี้มาก แต่เราเป็นมนุษย์ มนุษย์ก็มีสมองใช่ไหม สิ่งที่พลังงานนี้มันถึงเกี่ยวเนื่องกัน มันต้องอาศัยกัน มันต้องมีพลังงานสมองถึงคิดได้ แล้วเราใช้ส่วนนี้คิดใช้ส่วนนี้ หาผลประโยชน์กันไง มันเลยปัญญาจากสมอง

ปัญญาจากสมองมันมาจากไหน? มันมาจากจิต จิตพลังงานที่ส่งออกไปที่สมอง สมองรับรู้อายตนะมันถึงทำงานเห็นไหม พอทำงานขึ้นไป เราจะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ไกลจากใจมาก ใจคือใจ นี่ตัวใจ ถ้าเรากำหนดพุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันจะสงบมาจากความคิดจากสมองเข้ามา สมองมันจะหยุดทำงานเห็นไหม แล้วมันจะหดสั้นเข้าไปถึงตัวความรู้สึกคือตัวใจ

พอถึงตัวใจ ตัวใจนี่คือตัวสมาธิ ตัวสมาธิมันออกวิปัสสนามันถึงจะเป็นโลกุตรปัญญา ที่ปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการหรือปัญญาที่แก้กิเลสได้ แต่เราไปใช้ปัญญาของกิเลสคือปัญญาความคิดปัญญาสมอง

ปัญญาสมองดูสิ ปัญญาสมองนี่นะ มันเกิดใจเห็นไหมพลังงาน กว่ามันจะเคลื่อนตัวไปสู่สมองสมองมีพลังงานแล้วมันเกิดการทำงานขึ้นมาแล้ว มันถึงออกคิดด้วยสถิติ ด้วยข้อมูล ด้วยความจำ ทางวิชาการที่เราศึกษามา เราก็รู้ แล้วเดี๋ยวเราก็ลืม พอลืมเสร็จแล้ว มันก็มีหนังสือใช่ไหม? เราก็ไปเปิดใช่ไหม? ทบทวนๆๆ ทำไมมันจำไม่ได้ล่ะ แต่ถ้ามันเป็นโลกุตรปัญญา ปัญญาฆ่ากิเลส อริยสัจ ถ้ากิเลสมันขาดไปแล้ว

ตำราในพระไตรปิฎก มันก็เป็นทฤษฎี แต่สันทิฏฐิโก สิ่งที่เป็นจริงในหัวใจ ไม่ใช่สมองเป็นหัวใจเห็นไหม พระอรหันต์ไม่ลืมในอะไร? พระอรหันต์ไม่ลืมในอริยสัจ สัจจะความจริงพระอรหันต์ไม่ลืม พระอรหันต์ลืมอะไร? พระอรหันต์ลืมในสมมุติบัญญัติ สมมุติมันเกิดจากสมอง ข้อมูลน่ะ

เช่น ถนนสายนี้เพชรเกษม เขียนว่าเพชรเกษม นี่เป็นข้อมูลหรือยัง เราจำหรือยัง ถนนสายนี้เพชรเกษม แล้วเขาบอกถนนนี้ยกเลิกเปลี่ยนเป็นถนนพหลโยธิน สมมุติเปลี่ยนแล้วพระอรหันต์ลืมไหม พระอรหันต์ลืมในสมมุติบัญญัติ นี่ไงที่ว่าพระอรหันต์สวดมนต์ผิดได้ไหม? ได้ บัญญัติพระอรหันต์สวดมนต์ผิดได้นะ เพราะมันเป็นปัญญาสมองมันเป็นความคิด

แต่พระอรหันต์ไม่ลืมในอะไร? พระอรหันต์ไม่ลืมในอริยสัจคือจิตที่มันเป็นไง จิตที่มันเป็น จิตที่มันชำระกิเลส ตัวจิตมันเป็น ไม่ใช่ปัญญาสมองเป็นสัจจะธรรมตลอดไป สัจจะที่ความรู้สึกนี้ ไม่ใช่สัจจะที่สมองนี้ เวลาพระอรหันต์พ้นจากกิเลสแล้ว สิ่งนั้นมันเป็นสมมุติ สมมุติบัญญัติไม่มีผลนะ นี่ไง ที่ว่าเป็นอะไรนะที่ไม่เป็นอาบัติ “ปาปมุต”

ที่ว่าเป็นปาปมุตไง ปาปมุตถ้าคนทำตรงนี้เป็นนะ ปาปมุตคือไม่เป็นอาบัติ แต่ในทางวิชาการเขาบอกว่า ปาปมุตคือไม่ทำผิดอาบัติ ไม่ทำผิดอาบัติ ทำผิดเป็นอาบัติใช่ไหม? ถ้าทำผิดนี่เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เป็นปาปมุต แต่ถ้าเป็นความจริงแล้ว มันไม่เป็นอาบัติ เพราะมันไม่เป็น มันไม่มีเจตนา มันไม่มีการกระทำ มันเป็นกิริยาเฉยๆ ใจนี่เป็นกิริยาเฉยๆ มันถึงเป็นปาปมุต

นี่อาบัติปาจิตตีย์ก็ ถ้าอย่างนั้นปาปมุตหมายถึงไม่ทำผิด เราถามเลยพระพุทธเจ้านะ เดินเผยแผ่ศาสนามา ๔๕ ปี พระพุทธเจ้าเคยได้เหยียบสัตว์ตายบ้างไหม? มันต้องมีเป็นธรรมดา เป็นอาบัติไหม? เป็นไหม? ปาปมุตคือไม่เป็นอาบัติเพราะมันไม่มี ไม่มีสิ่งต่างๆ ในหัวใจแล้ว แต่ไปตีความกันผิดเพราะอะไร? เพราะไม่เป็นอาบัติ

พระอานนท์ เวลาองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว สงฆ์ปรับพระอานนท์ ๒ ข้อ

ข้อ ๑. คือไม่นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้

ข้อ๒. ขณะที่พระอานนท์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ผ้าอาบวางอยู่แล้วพระอานนท์เผลอไปเหยียบ พระเห็นไง แต่พระอานนท์ไม่ได้ตั้งใจ แล้วพระฝังใจอยู่ บอกปรับอาบัติ ๒ ข้อ

ข้อหนึ่งคือเหยียบผ้าของพระพุทธเจ้า ข้อสองคือไม่นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ที่พระพุทธเจ้าให้นิมนต์ไว้ ๑๖ หน

พระอานนท์บอกว่า “ผมไม่มีอาบัติเลยเพราะผมไม่มีเจตนา ผมไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ตั้งใจทำเลย แต่เพื่อความสงบของหมู่สงฆ์ผมยอมปลงอาบัติ”

พระอานนท์บอกผมยอมทำนะ พูดถึงฟังธรรมเป็นไม่เป็น เราค่อยๆ คิดไป ค่อยทำใจไป แล้วมันจะคิด เราจะบอกว่าเวลาโลกนี่ คิดกันนะว่าครูบาอาจารย์เราเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ของเราธรรมะบริสุทธิ์ ทำไมไม่เอาธรรมะของครูบาอาจารย์เราเผยแผ่ไปให้โลกเข้าใจ ทุกคนคิดกันอย่างนี้นะ แต่มันทำไม่ได้

เพราะสิ่งที่หลวงตาท่านทำอยู่ท่านก็เผยแผ่ธรรมของท่านอยู่แล้ว แต่โลกมันรับไม่ไหว โลกมันรับไม่เป็น โลกนี่รับได้แต่ของสมมุติ ของที่เป็นตรรกะ ของที่เป็นนิยายธรรมะ ถ้านิยายธรรมะเขียนมานะ เราไปอ่านกันนะ “หลวงพ่อเล่มนั้นก็ดี เล่มนี้ก็ดี” เราเห็นหนังสือแล้วปวดหัวทุกทีเลย ปวดหัวมาก “หลวงพ่อเล่มนั้นก็ดี เล่มนี้ก็ดี” นั่นเขาเขียนเอาสตางค์กันนะ เขาเขียนแล้วก็ให้สำนักพิมพ์ พิมพ์แล้วก็ขาย โอย แล้วเราก็ไปซื้อนะ เล่มนั้นก็ดี เล่มนี้ก็ดี มันนิยายธรรมะ

แต่เวลาธรรมะของหลวงตา ธรรมะครูบาอาจารย์ของเรา มันเป็นธรรมแท้ๆ ธรรมะเหนือโลกไง พอเราอ่านไปแล้วนะ งง “เอ๊ะ ท่านว่าอะไรไม่เห็นเข้าใจเลย โอ๊ย ไม่มันเลย โอ๊ย ไม่ดีเลย” แต่ถ้าเป็นนิยายนะ โอ๊ยมัน

วุฒิภาวะของโลกเป็นอย่างนี้ แล้วจะเอาธรรมะที่สะอาดบริสุทธิ์มาเผยแผ่ ครูบาอาจารย์เรา ท่านก็พยายามอยู่ นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วนะ ท่านท้อใจเลย เอ๊ะ จะสอนได้อย่างไร? เขาจะรู้กับเราได้อย่างไร? พูดไป พูดเรื่องเดียวกัน มันตีความเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เราพูดอย่างนี้เราดีความไปอีกเรื่องหนึ่งเลย เพราะมันเข้าไม่ถึงเข้าไม่ได้

พอเข้าไม่ถึงเข้าไม่ได้ เราถึงต้องฝึก แล้วเราต้องทำความสงบของใจ พยายามทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามานะ มันจะเข้าใจเรื่องต่างๆ ดีขึ้น แล้วพอฟังได้แล้วนะจะย้อนกลับไป ทุกคนที่นั่งอยู่นี่จะบอก เพราะคนที่นั่งอยู่นี่เมื่อก่อนก็เป็นผู้ที่มาใหม่ เห็นไหม เวลาพูดอะไรก็ไม่เข้าใจทั้งนั้น แล้วเราทำอะไรก็ไม่เข้าใจนะ แล้วต่อต้านด้วย

พอเขาอยู่นานไปแล้วเขาได้ปรับปรุงตัวเขานะ เขาย้อนกลับไปความคิดเดิมๆ นี่อายนะ อายมากเลย ทำไมเราคิดไม่เป็นไม่รู้ ทำไมเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้ นี่ไง วุฒิภาวะของใจ เวลามันพัฒนาไปแล้วนะมันจะพัฒนาไปอีกอย่างหนึ่งเลย แต่ที่ยังไม่พัฒนานะมันจะไปยึดติด ยึดติดกับความเห็นของเราว่าถูกต้อง แล้วพยายามอ้าง อ้างว่าพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนี้ ทำไมครูบาอาจารย์องค์นั้นทำอย่างนั้นล่ะ? ทำไมครูบาอาจารย์องค์นี้ทำอย่างนี้ล่ะ?

ครูบาอาจารย์นะเราก็ต้องดู กาลเวลาพิสูจน์คนนะ ศีลนี่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราอยู่ด้วยกันนานๆ นะ ไม่ใช่อยู่กันวันสองวัน พระองค์นี้ดีๆ ศีลนี่มันต้องอยู่กันนานๆ พออยู่นานมันจะเห็นหมด ธรรมะจะรู้ได้ตอนพูด หลวงตาท่านบอก พระเราที่ไม่ค่อยกล้าเทศน์ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเวลาเทศน์ มันเทศน์จากความรู้สึก เหมือนผ่าหน้าอกเอาเปิดให้เขาดู แล้วมันพูดออกไปแล้วเขาจับได้หมด แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ธรรมะออกมาเวลาแสดงธรรม พูดออกมาเขารู้หมด แต่คำว่ารู้หมดนะ พวกเราถ้าวุฒิภาวะไม่ถึงก็ไม่รู้

ในปัจจุบัน เทศน์เยอะมาก ที่เขาฟังกันแล้วว่าดีๆ นะ เราฟังแล้ว อื้อ มันขัดแย้ง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ จะไม่ขัดแย้งกัน มันมีแต่ว่าหยาบละเอียดมันจะส่งเสริมกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป แต่ถ้าเราไม่ส่งเสริมเป็นชั้นๆ ขึ้นไปนะ มันขัดแย้งกันนะ ต้องผิดคนหนึ่ง ธรรมะมันจะไม่มีขัดแย้งกันเลย มันจะไปในแนวทางเดียวกันหมด

ถ้าขัดแย้งกัน เริ่มต้นผิด หลวงปู่มั่นบอกไว้แล้วนะ ขึ้นต้นผิดมันจะไปถูกได้อย่างไร? ขึ้นต้นคด ปลายต้องคดเด็ดขาด ขึ้นคดปลายจะตรงได้อย่างไร?

ศีล พื้นฐานมันดีมันจะไปได้ นี่พูดถึงฟังธรรมเป็นไม่เป็น มันเป็นที่เราด้วยหนึ่ง สองเวลาฟังเทศน์มันเป็นจริตนิสัยด้วย ถ้าเป็นศรัทธาจริต เห็นไหม ศรัทธาจริต ส่วนใหญ่จะไปทางฤทธิ์ เป็นเจโตวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาเห็นไหม เป็นพุทธจริต ถ้าเป็นปัญญามันจะต้องใช้เหตุและผล ถ้าใช้เหตุและผลมันก็มีปัญญาของมัน ใคร่ครวญของมัน มันโต้แย้งว่าอย่างนั้นเลย

แต่ถ้าเป็นศรัทธาจริต มันจะมีความเชื่อ เพราะศรัทธาจริต พุทโธ พุทโธ มันจะสงบไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นศรัทธาจริตนะ มันมีความมุ่งมั่น ถ้าเป็นพุทธจริตคือพวกปัญญา ปัญญาชน มันไม่มีเหตุมีผล พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้ แต่เพราะเราสงสัย เพราะเราลังเล

ความสงสัยเรามันเป็นตัณหาซ้อนตัณหา มันเป็นการโต้แย้งจิตให้สงบเข้ามาไม่ได้ ทีนี้ถ้าจิตสงบไม่ได้มันต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิขนาดไหนนะ มันก็ต้องมีพักบ้าง มีพักมีความเห็นของมันต่างๆ นะ สิ่งนี้พอทำไปมันจะเกื้อหนุนกัน มันจะเป็นไปทางใดทางหนึ่งโดยสุดโต่ง เหมือนกับทางเลือกมันมีเยอะมาก เราจะหาทางเลือกนั้น แล้วเราพยายามเอาเราเข้าไปสัมผัส

ถ้าใจเข้าสัมผัสนะ จิตมันสงบขึ้นมาแล้วนะ อย่างที่เขาพูดๆ กันโยมจะรู้เลยล่ะ ที่บอก ว่างๆ ว่างๆ มันเหตุผลของมันนะ เช่นเรามีอารมณ์ความรู้สึกอยู่ เราไปดูหนังดูละครเห็นไหม เราจะเพลินกับอารมณ์ใหม่ นี่ก็เหมือนกัน ความคิดเรามีอยู่แล้วใช่ไหม? เราทุกข์กันอยู่แล้วนะ เราก็ไปกำหนดนามรูปๆ

แล้วกำหนดนามรูปขึ้นมามันก็เป็นอารมณ์ใหม่ แล้วอารมณ์ใหม่เราก็จะบอกว่านี่เป็นปัญญา นี้เป็นปัญญาวิมุตติ นี้เป็นปัญญาสายตรง ทั้งๆ ที่เป็นกิเลส เป็นกิเลสเพราะอะไร? เพราะมันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากกิเลส มันไม่ใช่ปัญญาเลย ที่ว่าผิด เวลาเราพูดนะคำบริกรรมนี่

อย่างเช่นพระมาถาม บอกเวลาหลวงพ่อพูดว่า “หลวงปู่เจี๊ยะท่านถามพระว่าคำบริกรรมว่า ขี้ ขี้ ขี้ มันยังสงบได้เลย” แล้วนี่กำหนดยุบหนอพองหนอ กำหนดนามรูป มันทำไมเป็นสมาธิไม่ได้ล่ะ? เราบอกว่าถ้ามันตั้งเป้าว่าทำสมาธิ เห็นไหมหลวงตาท่านบอกว่า “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นได้ทั้งสมถะคือสมาธิ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา”

ถ้าเราตั้งเป้าว่าเป็นสมาธิจิตมันจะเป็นสมาธิเข้ามาแต่เราไปตั้งเป้าว่าเป็นวิปัสสนา เห็นไหมเวลาครูบาอาจารย์สอน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นวิปัสสนา แต่ใจเรามันยังไม่มีสมาธิมันเป็นโลก มันเป็นโลกถ้ามันตามไปทัน ถ้าสติทันผลของมันคือสมถะ

แต่เมื่อเราตั้งเป้าผิด เราปฏิเสธว่านี่เป็นวิปัสสนา พอวิปัสสนา วิปัสสนาหมายถึงว่า มันชำระล้างให้ใจสะอาดมันชำระล้างกิเลสไป พอมันรู้ทันมันก็จะปล่อยพอปล่อยแล้วนี่คือผลของการวิปัสสนาเห็นไหม ผลของการขาดวิปัสสนามันก็ขาดสติ พอขาดสติมันก็เป็นมิจฉา พอมิจฉาปั๊บ มันก็เกิดไม่มีกำลังขึ้นมา เหมือนกับเงิน ถ้าเป็นสมบัติของเราในบัญชีของเรา เราสามารถเซ็นจ่ายได้ใช่ไหม?

แต่ถ้าไม่ใช่เงินของเรา เราเห็นเงิน เงินไม่ใช่ของเรา เรามีสิทธิสั่งจ่ายไหม? เราไม่มีสิทธิสั่งจ่ายนอกบัญชีเรานะแต่เรามีสิทธิสั่งจ่ายเงินในบัญชีเราจริงไหม? เงินในบัญชีเราคือจิตของเราคือสมาธิของเราคือความรู้สึกของเรา ถ้าความรู้สึกของเรามันมีกำลังขึ้นมาเห็นไหม มันออกวิปัสสนาขึ้นมา มันจะเป็นวิปัสสนา หมายถึงว่าเงินของเรา เราสั่งจ่ายแล้ว เราจะได้ผลตอบแทนมา

ถ้าเราสั่งจ่ายเงิน ใช้จ่ายเงินนั้นไป เงินนั้นจะได้ผลตอบแทนกลับมา ถ้าเราไม่สั่งจ่ายเงินไปไม่มีผลตอบแทนมา ฉะนั้นมีสติ พุทโธ พุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเรารู้อยู่ใช่ไหม? ว่านี้เป็นความสงบ นี่คือสติ นี่คือสมาธิมันสงบเข้ามาก็เหมือนกับในบัญชีของเรา เราจะสั่งจ่ายยังไงก็ได้ แต่ถ้าบอกว่านี่เป็นวิปัสสนาสายตรงไม่มีบัญชี วิปัสสนาสายตรงมันหายไปเลย ว่างไปหมดเลย แล้วมาก็ว่างๆ เหมือนคนไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีบัญชี ไม่มีจุดยืน

ถ้าคนไม่มีบัญชี เราจะสั่งจ่ายเงินที่ไหน เราเริ่มทำงานกันที่ไหน แล้วก็บอกนี่ก็ว่างๆ ว่างๆ นี่ไงมันผิดตรงนี้ไง มันผิดตรงที่ตั้งเป้าผิด แต่ถ้าพูดถึงเราตั้งเป้าถูกนะ เราตั้งสติของเรา จะกำหนดอะไรก็ได้ ขี้ ขี้ ขี้ ยังได้เลย พุทโธก็ได้ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเขาปฏิเสธ ปฏิเสธความสงบ ปฏิเสธสมาธิก่อน

คือความเข้าใจผิดว่าสมาธินี่แก้กิเลสไม่ได้ ถ้าเป็นปัญญาถึงจะแก้กิเลสได้ แต่เราคิดกลับหมดเลยนะปัญญาที่คิดกันอยู่นั้นแก้กิเลสไม่ได้เพราะมันเป็นปัญญาของกิเลสมันต้องมีสมาธิก่อน พอมีสมาธิ สมาธิเกิดได้อย่างไร? สมาธิทำให้จิตเราสงบ พอจิตเราสงบขึ้นมา สงบนี่ก็มหัศจรรย์แล้ว พอสงบรู้ว่าสงบ หลวงตาพูดอย่างนี้เลยล่ะว่า

“ถ้าจิตคนเราสงบนี่พออยู่พอกิน ถ้ามีสมาธิแม้ถ้าสมาธิไม่พออยู่พอกิน พระที่ปฏิบัติจะไม่หลงว่าสมาธินี่เป็นนิพพาน”

เวลาเราปฏิบัติ พุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไป แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมา เราจะหลงอย่างเช่น คนเห็นนิมิตแล้วพิจารณากายปล่อยกายแล้วเป็นพระโสดาบัน เป็นอะไรนี่ ไม่เป็นเลย เพราะอะไร? เพราะเขาหลงของเขา

แต่ถ้ามันไอ้หลงหรือไม่หลงนี่นะมันเป็นเรื่องสุดวิสัย คำว่าสุดวิสัยหมายถึงว่า เราเป็นคนหัดฝึกงานแล้วทำงานไม่ผิดเลยไม่มี มันต้องมีผิดบ้าง ทีนี้พอมีผิดบ้าง มันต้องมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ คอยแนะนำสั่งสอนกัน เราจะบอกว่าปฏิบัติ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วจะไม่มีความผิดพลาดเลย ไม่ใช่ ก็มีผิด เพราะ เพราะเรามีกิเลสไง เพราะเรามีความมุ่งหมายผิด มันก็มีผิดบ้าง

แต่ความผิดนี้มันก็ผิดโดยข้อเท็จจริง ผิดโดยการกระทำที่ซึ่งหน้าเรา แต่ไม่ใช่ผิดตั้งแต่เราตั้งเป้าผิดเราปฏิเสธว่าผิดตั้งแต่ทีแรกเลยว่านี่เป็นวิปัสสนาสายตรงก็ว่ากันไปนะ มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญากิเลส เวลาอธิบาย อธิบายอย่างนี้ แต่ถ้าเราทำของเรานะ เราทำของเรา ผิด-ถูก มันต้องตามข้อเท็จจริงนั้น สิ่งที่เท่าเทียมฟังธรรมเป็นกับฟังธรรมไม่เป็น ฟังธรรมเป็นไม่เป็นแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป

พระโสดาบันจะเข้าใจธรรมของขั้นพระโสดาบัน พระสกิทาจะเข้าใจธรรมขั้นของพระสกิทาแล้วพอพระอนาคาพูดให้พระสกิทาฟังพระสกิทาก็จะไม่เข้าใจเรื่องของพระอนาคา ถ้าถึงพระอนาคา พระอนาคาจะไม่เข้าใจถึงธรรมของพระอรหันต์ จะบอกว่าความผิดความถูกกิเลสหยาบละเอียดมันก็มีผิดมีถูกขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรู้แจ้ง มันจะไม่มีอะไรผิดเลย

แต่พอเราเป็นปุถุชนเราฟังแล้วสิ่งที่ฟังเข้าใจแล้ว คำว่าเข้าใจคืออะไรรู้ไหม ฟังธรรมแล้วเข้าใจ คือฟังธรรมแล้วนี่มันมีประเด็น ประเด็นว่ามีถูกมีผิดในใจเรา มีช่องทางในการประพฤติปฏิบัติมีโอกาสในการกระทำ นี่คือฟังธรรมเป็น ฟังธรรมเป็นหมายถึงว่า เราไปหาทฤษฎีหาสมบัติมาเป็นอาวุธเป็นการต่อสู้กับกิเลสของเรา

แต่ถ้าเราฟังแล้ว เราไม่เข้าใจเลย เราจะจับอะไรไม่ได้เลย เราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ฟังแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ถ้าฟังธรรมเป็นมันต้องฟังแล้วได้ประโยชน์ ฟังแล้วกลับไปสิไปคิด ที่เราพูดอยู่นี่เดี๋ยวไปทำงานไปนั่งคิดเลย ที่เราพูดอยู่เนี่ยมีคำไหนบ้างที่ผิด? แล้วมีคำไหนบ้างที่ถูก? แล้วมีคำไหนบ้างที่มันแทงใจเรา? มีคำไหนบ้างที่เราควรจะไปไตร่ตรอง? แล้วควรจะหาช่องทางพิสูจน์แล้วเดี๋ยวกลับมาเอาชนะเราเดี๋ยวเย็นๆ นี้มาเลย

อันนี้พูดถึงฟังธรรมเป็นไม่เป็น มันเป็นมาแต่ไหนแต่ไร โธ่ เราอยู่บ้านตาดนะ พวกโยมมาเนี่ยไปถามหลวงตา

“หลวงตาคะ หลวงตาคะ เวทนาคืออะไรคะ”

ท่านก็โยนไม้ให้อันหนึ่งเลย บอกเอาไม้นี่ตีตัวเองสิ ตีแล้วจะรู้เลยว่าเวทนาคืออะไร? ถ้ามันอธิบายมันก็ยืดเยื้อเห็นไหม เวทนาคือสุขกับทุกข์ใช่ไหม เจ็บกับไม่เจ็บนี่ไงตีไปมันก็เจ็บ ตอบแบบพระป่า “เวทนาคืออะไรคะ” ท่านก็โยนไม้ให้เลย “อ้าว ลองดูแล้วตีตัวเองนะ” ความเจ็บก็คือเวทนา

แต่ถ้าอธิบายนะ สุขเวทนาทุกขเวทนา ขี่ช้างจับตั๊กแตน ว่าไปเถอะเหนื่อยมาก นี่คือว่าไม่เป็นไง แม้แต่ศัพท์ ไอ้โตมาใหม่ๆ บอกว่าเทศน์อะไรก็เทศน์ไปเรื่อยเฉื่อยเลย ไม่อธิบายศัพท์ล่ะ เวทนาคือ.. รูปคือความคิด เวทนาคือ.. โอ้โฮ ไอ้นี่มันอะไรนะ ธรรมะวันอาทิตย์ ศึกษาศัพท์กันก่อนไง เป็นไม่เป็นอยู่ตรงนี้ด้วย นี่ไงที่ว่าเป็นปัจเจกพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้า เขาบอกสอนไม่เป็น ไม่ใช่หรอก สอนเป็น สอนตามความรู้ของตัว แต่พระพุทธเจ้า ท่านวางศัพท์ไว้นี่ไง พระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างกันตรงนี้ ตรงนี้พระพุทธเจ้าสอนได้ พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าด้วยกัน แต่รู้ด้วยความรู้สึกของตัว รู้ด้วยปัญญาของตัว อธิบายได้ด้วยความรู้สึกของตัว แต่พระพุทธเจ้าท่านทำเป็นทางวิชาการเลย บัญญัติศัพท์หมด บัญญัติเป็นศัพท์เลยนะ เวทนาเห็นไหม

อายตนะ สมาธิ บัญญัติศัพท์ แล้วจำนวน การกระทำเป็นอย่างนั้น แล้วเราเลยมีช่องทางปฏิบัติมา พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ต่างกันตรงนี้ ถ้าเราปฏิบัติไป เราจะเข้าใจอย่างนี้หมดเพราะพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ก็คือพระอรหันต์เหมือนกันหมด

พระอรหันต์จะต้องรู้เรื่องของจิตครบวงจรทั้งหมด ถ้าไม่รู้เรื่องของจิตครบวงจรจิตมันยังเกิด ในอนาคาไง อย่างหยาบมาก็เกิดกามภพ อรูปภพเห็นไหม แล้วมันไม่เกิดอย่างไร? มันเกิดอย่างไร? ทำไมจิตถึงต้องไปเกิด แล้วทำไมจิตถึงไม่ไปเกิด มันไม่ไปเกิดมันขาดอะไรไปมันถึงไม่ไปเกิด?

เหมือนเรากินอาหารเลย ไม่ใส่น้ำปลาก็ไม่เค็ม ใส่น้ำปลาก็เค็ม ใส่น้ำตาลก็หวาน แล้วถ้ามันขาดน้ำตาล มันก็ไม่หวาน มันไม่มีน้ำปลามันก็ไม่เค็ม จิตมันไม่มีกรรม ไม่มีการกระทำมันเป็นอย่างไร? จะดึงตัวใดออก มันวิปัสสนามันจะเห็นชัดเจนอย่างนี้หมด เข้าใจหมด ถ้าไม่เข้าใจ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้

ถ้าไม่เข้าใจ วงรอบของจิตทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะจิตมันมีแรงขับ มันยังเกิดอีก แต่พอไปทำถึงแรงขับนั้นมันหมดสิ้นหมด มันเป็นแรงขับที่สะอาดมันจะไปอีกไม่ได้เลย แต่มีอยู่ พระอรหันต์มีอยู่อย่างไร? ถ้ามันรู้จริงอย่างนั้น พอรู้จริงอย่างนี้ มันก็มีหลักเกณฑ์ของมันใช่ไหม?

แล้วถ้ามีพระมาสอน สอนบอกว่า ไม่ใส่น้ำปลาเลย แต่อาหารเค็มน่าดูเลย เอ มันไม่บ้าก็เราบ้าเว้ย มันต้องมีบ้าคนหนึ่งแน่ๆ เลย แต่ก็สอนกันอย่างนั้นนะ มันไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ไง นี่พูดถึงฟังธรรมเป็นไม่เป็นนะ แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้วมันยังมีแรงต้านอีกเยอะนะ แรงต้านเราเอง พอแรงต้านเราเองแล้วมันก็ย้อนกลับมา

พูดถึงเวลาเราทำไปแล้วเราจะเสียใจกัน แต่ถ้าแรงต้านไม่ต้องไปเสียใจเลย แรงต้านหรือแรงไม่ต้าน เขาเรียกบารมี มันอยู่ที่การกระทำ จิตของคนถ้ามันทำมาดีนะ มันจะมีแรงส่ง ถ้าจิตของคนทำมาระดับนั้น นี่ก็ดีแล้ว ดีแล้วหมายถึงว่าเรามีศรัทธา หมายถึงเรามีความสนใจ มีการแสวงหาอยู่ แต่เราทำได้ไม่ได้มันอยู่ที่กำลังของเรา

เหมือนร่างกาย ร่างกายของคน ถ้ามีกำลังมากกว่า แข็งแรงมากกว่าจะยกของได้มากกว่า ร่างกายของเราอ่อนแอกว่าก็ยกของได้น้อยกว่า จิตอ่อนแอ จิตเข้มแข็ง จิตมีวุฒิภาวะมันทำได้มากกว่าน้อยกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะ เพราะเราทำมากันเองไง ไม่มีใครทำให้ ไม่มี จิตมันเป็นเองไง สร้างมาอย่างนี้ไง มันถึงโทษใครไม่ได้

ธรรมะของพระพุทธเจ้าถึงว่า เป็นเรื่องส่วนของเราเอง เราทำของเราเองทั้งหมด มันถึงทำ เวลามันเกิดสิ่งใดขึ้นมา มันย้อนกลับมาดู แล้วมันขยันหมั่นเพียร มันสร้างได้หมด เราบอกว่าถ้าเราไม่มีกำลังแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรมาเลยเหรอ เราทำมาแล้ว แต่ทำมาแค่นี้ เพื่อประโยชน์แค่นี้

จะให้ถามปัญหา ไม่ถามปัญหา จบแล้ว เพราะเราจะไว้รอบเย็น เพียงแต่ปูพื้น ปูพื้น

แล้วนี่จำคำพูดเรา มันสะเทือนใจไหม? มันสะกิดใจให้เราได้คิดไหม? ฟังเทศน์ สะกิดใจ ให้เราได้คิด พอได้คิด เราก็ตั้งเป้า ตั้งเป้าแล้วก็ขวนขวาย แล้วขวนขวายธรรมแล้วมันจะได้ประโยชน์ไม่ได้ประโยชน์ เวลาเราปฏิบัตินะ พอมันมีผลๆ ทั้งๆ ที่เราก็เชื่อเราเต็มที่นะ

แต่เราแบบว่าประสาเรา เราต้องการความจริง เราจะขึ้นไปหาอาจารย์อีก รายงานท่าน “ผมทำแล้วเป็นอย่างนั้นครับ เป็นอย่างนั้นครับ เป็นอย่างนั้นครับ จริงหรือเปล่าครับ”

แต่บางคนทำแล้วนะ ไปหาอาจารย์นะ ก็นั่งอยู่ไกลๆ นะ แล้วนึกเอาผมทำอย่างนี้ครับ แล้วอาจารย์ก็เทศน์นะ แล้วกลับบ้าน อาจารย์รับรองแล้วไง แล้วตัวเองก็ผิดไปหลงไป แบบว่าแถกไปเลือดซกเลย แต่ของเราไม่อย่างนั้นนะ เราขึ้นหาเลยล่ะ หลวงตานี่ขึ้นไปชนกันตัวต่อตัวเลย หลวงปู่เจี๊ยะนี่ชนหมด องค์ไหนที่มีครูบาอาจารย์ที่น่าไว้ใจนะขึ้นหาเลย

พูดประสาเรานะมันเป็นการดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่งคือทดสอบใจเราด้วย อีกอย่างหนึ่งเรามั่นใจเรามาก ทดสอบใจของอาจารย์ด้วย ว่าอาจารย์จริงหรือไม่จริง ไม่ใช่ทดสอบใจเรานะ ทดสอบใจอาจารย์ด้วย ถึงได้กล้าพูดอยู่นี่ไงว่า องค์นั้นไม่เป็น องค์นั้นไม่เป็น องค์นั้นไม่เป็น องค์นั้นไม่เป็น เพราะมันทดสอบมาแล้ว

ถ้าอาจารย์เป็น กูก็ผิด เวลาเราขึ้นเราทำอย่างนี้เลยนะ เวลาขึ้นไปหาท่าน ทั้งๆ ที่ความจริงคืออยากจะทดสอบตัวเอง เวลาเรามีการศึกษาเราต้องทดสอบความสามารถ ทดสอบ ทดสอบ เราจะขึ้นทดสอบตลอด เจอองค์ไหนก็แล้วแต่นะถ้าท่านเป็นธรรมนะ จะขึ้นทดสอบ บางองค์ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมหมายถึงว่าท่านไม่กล้าพูด แล้วเราไปทดสอบ

ท่านเหมือนอย่างที่ว่า เหมือนกับลองของไง โธ่ เราไปเจอหลวงปู่จวนครั้งแรก ท่านใส่มา จับไว้เลย พอไปอยู่ที่ไหน มันก็ต้องรู้ขนบธรรมเนียมด้วย คือไปอยู่ที่ไหน ถ้าเวลามันน้อย ยังไม่คุ้นเคย ก็อย่าเพิ่งพูด แต่มันเป็นบางองค์นะ ไปอยู่กับอาจารย์ถวิลที่ยางระหง ท่านป่วยหนักเสาะแสะเลยนะ เราก็เกรงใจ ไม่อยากเข้าไปใกล้ ก็ไปอยู่นั่น

จนวันไปลานะ ท่านมาอยู่นี่ทำไมไม่เข้ามา (โทษนะ) ไม่เข้ามาทดสอบ ไม่เข้ามาคุยธรรมะเลย ไอ้เราก็ว่าเห็นท่านป่วยหนัก ทีนี้อย่างประสาเรา ดูหลวงตาสิ ร่างกายขนาดไหนแต่หัวใจมันป่วยที่ไหน ตอนนั้นเราก็คิดว่าท่านป่วยหนัก พอเข้าไปทักถามท่าน ทำไมไม่เข้ามาคุยธรรมะเลย อย่างนั้นก็คุยเลย พอคุยเลย เราถนัดพิจารณาจิต เราก็อธิบายพิจารณาจิตนั่นเลย ท่านนั่งฟังเฉย เราก็มองดูปฏิกิริยา เหมือนกับว่าผิดหูผิดตา ไม่ฟังเลย

เราก็พลิกกลับเลย “ผมพิจารณากายครับ ตั้งกายเลย แล้วกายมันละลายอย่างนั้นครับ” เป็นชั้นๆ ขึ้นไปนะ “เออ เมื่อกี้ไม่พูดอย่างนี้นี่” ถึงว่ามันเที่ยวหาครูบาอาจารย์มา มันถึงว่า อ๋อ ความถนัดของแต่ละองค์มันไม่เหมือนกัน องค์หนึ่งถนัดไปอีกอย่างหนึ่งองค์หนึ่งถนัดไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วพูดถึงความไม่ถนัดคนที่ไม่เคยผ่านเขาก็ไม่ยอมรับ

บางทีไปเจอนะ เราจะขึ้นรายงานเลย เพื่อไม่ให้เสียเวลา เพื่อไม่ให้เราผิดพลาด ถ้าเรามีอะไรผิดพลาด ท่านจะได้แนะนำเรา เพื่อเราจะได้ขวนขวายต่อไป แต่ถ้ามันถูกด้วยแล้วมันก็ดีไป แล้วประสาเราเราคุยกับอาจารย์หลายองค์มาก ทีนี้มันก็เลย ประสาว่าก็เลยมั่นใจตัวเองพอสมควร แต่ตอนนี้ก็ยังให้ทดสอบอยู่นะ

ให้ไปทำงานเนาะ แล้วเดี๋ยวเย็นๆ มาทดสอบเนาะ เอวัง