ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เริ่มต้นอย่างไร

๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

เริ่มต้นอย่างไร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเริ่มที่เรานี่แหละ มันต้องเริ่มตั้งแต่ที่เราก่อน แบบว่าเริ่มต้นตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้วนี้ ประชาชนจะรู้ได้ด้วยอะไร ประชาชนเขาไม่รู้เรื่องอะไรใช่ไหม ทีนี้พอประชาชนไม่รู้เรื่องอะไร เวลาพระพุทธเจ้าจะสอน ท่านจะเริ่มเผยแผ่ศาสนาเห็นไหม พอจะเผยแผ่ศาสนานี้ท่านต้องคิด ท่านจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านยังมองเลยว่าจะเอาใครไปได้บ้าง ขนาดพอตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วยังทอดอาลัย เพราะอะไร

เพราะปัญญาของท่านคือโลกุตตรปัญญา มันไม่ใช่ปัญญาแบบพวกเรา ปัญญาแบบพวกเรานี้คือปัญญาวิชาชีพใช่ไหม ปัญญา คือ สิ่งที่เราแสวงหาเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย เห็นไหม นี่ปัญญาของเรา ดูสิกฎหมาย รัฐศาสตร์หรืออะไรก็แล้วแต่อาชีพของแต่ละคน อันนี้มันไม่ใช่ปัญญาฆ่ากิเลสนะ

ทีนี้ถ้าไม่เป็นปัญญาฆ่ากิเลส แล้วท่านจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านจะเอาพวกเราให้พ้นจากกิเลสไปได้นี้ท่านจะคิดอย่างไร ฉะนั้นท่านจะวางแผนอย่างไร เห็นไหม ก็เริ่มที่เรื่องทำทานก่อน เรื่องการที่เราเสียสละขึ้นมา ถ้าไม่เสียสละขึ้นมา เหมือนมือเราสกปรกไปหมดเลย แล้วพอจะไปจับอะไรมันก็สกปรกไปหมดล่ะ แล้วยิ่งถ้ามือเรามีสารพิษนะ ถ้าไปจับอาหารมาใส่ปาก เราก็จะมีสารพิษติดเข้ามาในตัว เขาถึงให้เสียสละ คือเพื่อเตรียมใจให้พร้อมไง คือจะทำมือเราให้สะอาด

มีทาน มีศีล ต้องมีทานมีศีลเพราะอะไร มีศีลนะ สมมุติถ้าเราจะทำสมาธิ ถ้าเราไม่มีศีลใช่ไหม พอจิตเราสงบขึ้นมา ถ้าเราเคยมีความผูกพันกับใคร จิตนี้มันจะไปทำลายเขาได้ ศีล ๕ ปานาติปาตานี้คือไม่ทำลายใคร ปานาติปาตาคือการฆ่าสัตว์ แต่ไม่ใช่หรอก ปานาติปาตานี้ ถ้าเราคิดร้ายมุ่งร้ายนี้มันก็เป็นปานาของจิต มโนกรรมไง

มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม ทีนี้พอกรรมมันเกิดแล้ว ถ้าเราถือศีลเป็นพื้นฐานใช่ไหม พอจิตเราสงบเข้ามาแล้วเราไม่ทำลายเขา จิตมันไม่ออกไง สมาธิมันถึงมีมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ทีนี้พอมีศีลมีสมาธิมันถึงเกิดปัญญา พระพุทธเจ้าต้องวางรากฐานนะว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์อย่างไร อย่างถ้าเราชวนกันมานี้ก็จะมาแล้ว อันนี้มาด้วยมนุษย์นะ แต่เวลาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ มันไม่ใช่ว่าจะไปเอาที่ตัวร่างกายมาอย่างนี้ แต่มันเอาที่หัวใจ ถ้าจะเอาที่หัวใจ แล้วหัวใจคิดอย่างไร หัวใจมีพื้นฐานไหม หัวใจมึงพร้อมหรือยัง ถ้าหัวใจยังไม่พร้อมนะ ท่านก็รอเวลา ถ้าหัวใจพร้อม พร้อมที่ไหน พร้อมที่เราได้สร้างบุญกุศล ที่เราสนใจไง

คนถามกันบ่อยว่า “พวกเรานี้มีบารมีไหม”

ถ้าไม่มีบารมีเราจะไม่อยากไปวัดนะ แต่ถ้าเราไม่มีบารมี แล้วมาชวนไปวัดมันจะรู้สึกหงุดหงิด แต่ถ้าชวนไปวัดแล้วเรามีความสนใจขึ้นมา เห็นไหม บารมีเกิด มีศรัทธาไหม ถ้ามีศรัทธาขึ้นมามันจะสนใจเห็นไหม พอสนใจขึ้นมาแล้วเราเสียสละปั๊บ เหมือนน้ำสกปรก ความรู้สึกของเรานี้มันสกปรกหมด ถ้าน้ำสกปรกมันใช้ประโยชน์ไม่ได้ ต้องรีไซเคิลให้มันสะอาดใช่ไหม พอรีไซเคิลให้สะอาด การเสียสละทานนี้มันจะมีการสละออก

ของที่ได้มาทำไมทุกคนจะไม่อยากเป็นเจ้าของ ทำไมจะไม่ให้มันมาเป็นของเราล่ะ แล้วเราสละทำไม แล้วเวลาเสียสละนะ แบงก์ในธนาคารมันได้อะไรขึ้นมา มันเสียสละไหม เพราะแบงก์มันไม่มีชีวิต แต่เจ้าของแบงก์เป็นผู้เสียสละ เจ้าของสิ่งของนั้น ทีนี้พอเจ้าของสิ่งนั้นเพราะอะไร เราจะบอกว่า “คำว่ารีไซเคิลหัวใจเห็นไหม” เพราะมันเสียสละออกไป เวลาทำบุญใหม่ๆ มันได้เปิดออกไปไหม มันเปิดความคิดเราออกไปไหม

นี่ล่ะทาน แล้วเราก็รักษาศีล จากนั้นเราจะมาภาวนา ทีนี้พอเราจะมาภาวนานะภาวนาจะเริ่มต้นอย่างไร เริ่มต้นที่ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์สอนเลยว่า “ต้องทำให้จิตสงบเข้ามาก่อน พยายามทำจิตให้สงบเข้ามา” ถ้าทำจิตสงบเข้ามาแล้ว ศีล สมาธิ

แต่ในปัจจุบันนี้มันยุคดาวเทียม เขาบอกไม่ต้องทำสมาธิ เขาบอกว่าให้ใช้ปัญญาไปเลย แล้วทุกคนก็เชื่อเนาะ เอ้อ..ก็กูคิดนี้กูก็ว่าเป็นปัญญาแล้วไง แต่ปัญญาอย่างนี้เขาเรียกว่า โลกียปัญญา

ปัญญาพระพุทธเจ้าแบ่งไว้ ๓ ระดับ การศึกษาเล่าเรียนนี้เรียกว่า “สุตมยปัญญา” การศึกษาทางวิชาการนี้เรียกว่า “สุตมยปัญญา”

“จินตมยปัญญา” ถ้าไม่มีจินตนาการ ไม่มีสมาธิ จินตนาการของพวกเรามันเป็นจินตนาการโดยที่ว่า จินตนาการโดยตัวตนของเรา แต่ถ้าจินตนาการในสมาธิ พอมันมีสมาธิขึ้นมาแล้วจินตนาการ จิตมันจะมหัศจรรย์มหาศาลเลย แต่ก็แก้กิเลสไม่ได้ต้องภาวนามยปัญญา

ทีนี้ตัวภาวนามยปัญญามันจะเกิดได้อย่างไร ตัวภาวนามยปัญญามันไม่ใช่ปัญญาอย่างนี้ เราแบ่งแยกเลย “ปัญญาจากสมอง-ปัญญาจากจิต” ทางการแพทย์บอกว่า ปัญญาที่คนคิดจากสมองใช่ไหม เราบอกใช่ คนคิดคิดจากสมอง แต่ธรรมะคิดจากสมองไม่ได้ ธรรมะต้องคิดจากหัวใจ เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ เราจะบอกว่า หัวใจนี้พลังงานนี้ เวลามันส่งพลังงานมาถึงสมอง เพราะสมองมันเก็บข้อมูลอยู่ ที่เขาบอกว่า สมองก้อนเล็กก้อนใหญ่จะมีความฉลาด ไอน์สไตน์มันตายไปแล้ว มันก็ยังไม่ได้ไปไหนเลย จะฉลาดขนาดไหนมันก็ตกอยู่ในนรก

สมองโดยธรรมชาติมันคิดเองไม่ได้หรอก สมองนี้เป็นสสารนะ เป็นวัตถุ มันคิดไม่ได้ ต้องมีพลังงานต้องมีตัวจิตเข้าไป มันเกี่ยวเนื่องกัน ทีนี้พอจิตเราสงบเข้ามา เราทำความสงบของจิตเข้ามา เพราะจิตต้องสงบเข้ามาก่อน มันจะหดตัวเข้ามานะ คนนั่งสมาธิจะรู้ เวลาจิตมันสงบเข้ามา มันหดเข้ามาจนไม่รับรู้ร่างกายเลย บางคนจิตมันหดเข้ามาจนเป็นตัวของมันเอง

แล้วความคิดจากจิต จิตมันจะคิดได้อย่างไร ในเมื่อจิตมันไม่มีสมอง สมองคิด คนคิดกับจิตที่มันเกิดตาย มันมีที่ว่าบารมีธรรม พระโพธิสัตว์ ทำไมพระพุทธเจ้ารู้ว่าอดีตชาติท่านเป็นพระเวสสันดรล่ะ เป็นทศชาติ ๑๐ ชาติ มันมาจากไหน จิตที่มันคิดมันเป็นปัจจุบันนะ ไม่ใช่คิดอย่างพวกเรานี้ มันเป็นภาวนามยปัญญา จิตมันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามาแล้วมันเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม

พอเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะโดยข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น พอเป็นอย่างนั้นปั๊บ แล้วจิตมันเข้าไปเห็นมันจะเกิดมีพลังงาน ถ้าเกิดมีสมาธิขึ้นมาแล้วมันจะเกิดเป็นไตรลักษณ์ มันจะแปรสภาพ มันจะแปรปรวน ถ้าเราไปเห็นสิ่งที่มันแปรปรวน เราไปเอ๊อะ! เข้า เราก็จะปล่อย ปล่อย ปล่อย นี่ปัญญาที่แก้กิเลสมันเป็นอย่างนั้น

ทีนี้วกกลับมาว่า แล้วจะเริ่มภาวนาอย่างไร การภาวนานะถ้าโดยครูบาอาจารย์ท่านสอน หลวงปู่มั่นจะสอนว่า “ให้กำหนดพุทโธๆ” เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นกำปั้นทุบดิน คือ กำปั้นทุบมันลงดินแน่นอนอยู่แล้ว โลกทั้งโลกมึงจะทุบแล้วไม่โดนเหรอวะ

จิตทั้งดวงของเรา แล้วมานึกพุทโธๆ มันก็จะย้อนกลับมาที่ใจ เพราะถ้าโดยพลังงานธรรมชาติ เอ็งลองคิดสิ ถ้าคิดถึงบ้านเดี๋ยวนี้ มันก็ไปบ้าน รถวิ่งตั้งกี่ชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน มึงคิดไปบ้าน วิ่งไปกลับนะคิดถึงบ้านวันละร้อยกว่ารอบหรือจะกี่รอบมันก็คิดได้หมดเลย จิตมันไปเห็นไหม ทีนี้ถ้าเราคิดพุทโธล่ะ ถ้าเราคิดถึงบ้านนี่มันวิ่งไปวิ่งกลับเห็นไหม

เราพุทโธนี้เป็นพุทธานุสสติ แล้วพุทโธคือใคร พุทโธคือผู้รู้ พุทโธคือความรู้สึกของเรา พุทโธๆ พุทโธๆ เข้ามานี้มันจะมีจุดยืนไง มีคำบริกรรมนะ ถ้าไม่มีคำบริกรรม ถ้าพูดถึงคำว่าพุทโธ เราเขียนหนังสือไว้ว่าพุทโธ หรือเราพูดในคอมพิวเตอร์ เขียนพุทโธเยอะๆ แล้วกด มันก็ออกมาจนหมด แต่ไม่มีใครได้ประโยชน์ เพราะจิตไม่ได้บริกรรม มันจะเป็นพุทโธก็ต่อเมื่อเราคิดจริงไหม เราระลึกขึ้นมามันถึงมีใช่ไหม ถ้าไม่ระลึกพุทโธๆก็อยู่นอกโลกนู้นล่ะ ไอ้เราก็คือเรา คนละเรื่องกันเลย

เรากำหนดพุทโธๆ ถ้าผู้บวชใหม่หรือปฏิบัติใหม่ก็พุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้านึกถึง “พุท” ลมหายใจออกนึกถึง “โธ” เพราะอะไร เพราะมันเป็นรูปธรรมไง ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นอานาปานสติ มันเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ กำหนดลมเข้าลมออก ลมเข้าจิตเราก็อยู่กับลม (ทำท่าหายใจ) เห็นไหม มันสำคัญที่จิตอย่างเดียว สำคัญที่ใจเราอย่างเดียว

ใจเรานี้มันเหมือนเป็นพลังงาน มันเป็นนามธรรมที่มันออกไปโดยธรรมชาติที่มันส่งออก แล้วโดยสามัญสำนึกโดยข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้มาตลอด แต่พระพุทธเจ้าสร้างวิธีการขึ้นมา คือจะรวมพลังงานที่มันส่งออกไป สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด แล้วมันอยู่นิ่งได้จะเป็นกำลังมากที่สุด

ทีนี้ความคิดมันเคลื่อนที่ ความคิดคิดเคลื่อนที่ครอบจักรวาลไปหมดเลยเกลี้ยงเลย ตัวเองเลยกลวงไง ไม่มีอะไรเลย ทั้งๆ ที่มันมีดีอยู่มากเลย แต่เราไปเห็นความสำคัญกันที่ “โอ้ย..ไม่ได้หรอก พรุ่งนี้ต้องทำงาน” เราไปเห็นกับอาชีพไปหมดเลย มันไม่ได้เห็นความดีกับใจเลยไง ทุกคนไปหลงกันตรงนั้นว่า เราจะทำไม่ได้ ทุกอย่างมันไม่ได้หมด

แต่ถ้าเรามีคุณค่าปั๊บ เรารู้อย่างนี้ปั๊บ หน้าที่การงานก็ทำ เพราะคนเกิดมาก็ต้องทำหน้าที่การงาน แต่หัวใจของเราถ้าใจมันสบาย ถ้าใจมันดีขึ้นมานะ โอ้โฮงานก็คล่องแคล่วไม่เครียด งานก็ดี ถ้าข้างในดีทุกอย่างจะดีไปหมดเลย แต่นี่ข้างในมันไม่ดี พอไม่ดีก็ฟาดงวงฟาดงาไปหมดเลย แล้วก็จะบอกว่า นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดีตลอดไป เห็นไหม

แต่ถ้าเราเห็นคุณค่าปั๊บ งานก็ทำของมัน ถึงเวลาก็ทำงาน พอเสร็จจากงานหรือมีเวลาปั๊บ เราก็กลับมาดูใจเรา ก็พุทโธๆ คำบริกรรมมันเกิดขึ้นมา พุทโธๆ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” หรือไม่ต้องลมหายใจเลยนึกพุทโธอย่างเดียว พุทโธๆ เอาเลย พุทโธๆ นึกเอาท่องเอา พื้นฐานมันเป็นอย่างนี้ ต้องทำจิตใจให้สงบเข้ามาก่อน

เราพูดซะยาวเลย เพราะอะไร เพราะถ้าบอกว่า ให้กำหนดพุทโธเลย พุทโธแล้วเด็กเล่นขายของเหรอ พุทโธๆ ก็เด็กเล่นขายของ ก็มึงคิดว่าเล่นขายของ มันก็เล่นขายของไง ถ้ามึงเห็นจริงมึงเข้าใจจริง มึงก็จะได้ของจริงไง คือคนเราไม่จริงจังตั้งแต่เริ่มต้น ไม่จับให้มั่นคั้นให้ตาย เอาให้จริงไง เราเหลาะแหละมาตลอด เราก็จะได้เหลาะแหละไปตลอด แต่ถ้าเราตั้งใจจริงแล้วเราจับให้มั่นคั้นให้ตาย ของมีอยู่ในอกเรา แต่ทำไมเราหาไม่เจอ ความรู้สึกอยู่กับเรานี่ทำไมมันทำความสงบไม่ได้ อ้าว..ก็ของมันมีอยู่กับเรานะ แล้วทำไมมึงทำไม่ได้ล่ะ

กิเลสมันร้ายไหม ของๆ เราแท้ๆ อยู่กลางหัวอกแท้ๆ เลย เวลาไปหาข้างนอกมันยังไปหาได้เลย แล้วของอยู่ในนี้มันหาไม่เจอนะ เวลาคนตายจิตมันจะหดเข้ามาแล้วหลุดออกเลย มันจะหดสั้นเข้ามา แต่พอจิตปกตินี้มันจะแผ่ซ่านออกไปรับรู้หมดเลย เห็นไหม เวลาคนจะตายมันจะหดเข้ามาหดเข้ามาในตัวจิต มันมีจริงๆ

ถ้ามันมีจริงๆ นะ ดูศพ โดยสามัญสำนึกเวลาศพคนตาย ๓ วัน ๔ วันก็จะเน่า แต่เพราะว่ามันมีพลังงานตัวนี้มันเผาผลาญอยู่ ไม่เน่าเพราะอะไร เพราะมีตัวจิตนี้ มีพลังงานมันเผาผลาญตัวเราอยู่ โดยธรรมชาติร่างกายนี้ถ้าจิตออกปั๊บมันก็เน่า เป็นธรรมดาของมันเลย แล้วเวลาจิตเราสงบเข้ามาแล้วเราเห็นกาย มันแปลกตรงนี้ไง จิตมันก็อยู่ มันก็เผาผลาญของมันอยู่นะ แต่เวลาจิตสงบไปเห็นกาย จิตเห็นกาย ไม่ใช่ตาเห็นกาย ตาเห็นกายแบบพวกหมอมันผ่าอยู่ทุกวันเลย แต่ไม่เคยเห็นกายเพราะมันเห็นส่งออก มันเห็นด้วยตาเนื้อ

แต่ถ้าจิตเห็นกาย จิตสงบก่อน ตัวจิตสำคัญมาก พอจิตสงบก่อน ถ้ามันเห็นกายถ้ามีวาสนาเห็นไหม อุคคหนิมิต วิภาคะ ถ้าเห็นกายนะ ขยายส่วน แยกส่วน ทำลายมัน ทำลายมัน ทำลายมัน “โอ๊ะ!” มันเห็นจากจิต นี่ล่ะวิภาคะ การขยายส่วนแยกส่วน มันเป็นไตรลักษณ์ พอเป็นไตรลักษณ์มันจะสะเทือน ใครเห็น จิตเห็น จิตที่มันยึดมั่นถือมั่น มันมีอุปทานของมัน

โดยจิตใต้สำนึกนี้ทุกคนก็จะคิดว่าเราเป็นเราหมดแหละ เราเกิดมาก็คือเราใช่ไหม แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ใช่ เราเกิดมาไม่ใช่เรา” แต่มันก็ยังว่าเป็นเราน่า เพราะพอมันไปเห็นเข้า มันไปเห็นโดยจิต เห็นจากข้อมูลมันคลายที่นั่นไง เราถึงบอกว่ากิเลสมันแก้กันที่จิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก ไม่ใช่แก้กันที่สามัญสำนึก สามัญสำนึกหรือสัญชาตญาณ

เราศึกษาธรรมะว่า “พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ใช่เรา ตายแล้วก็ตาย” ก็นกแก้วนกขุนทอง มันท่องได้หมด มันรู้ไปหมด แต่จิตใต้สำนึกของมันล่ะ ตัวกิเลสล่ะ มันปล่อยไหม มันไม่ปล่อยหรอก แต่ถ้าพอมันไปเห็นเข้าเห็นไหม สุตมยปัญญา การศึกษา จินตมยปัญญา แล้วภาวนามยปัญญา จิตมันสงบแล้วมันเห็น ต้องจิตเห็น

หลวงปู่เจี๊ยะพูดกับพวกอภิธรรมที่ไปหาท่านบ่อยๆ แล้วเราก็อยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ “วิปัสสนาอย่างไรล่ะ?” “ก็นามรูปสิคะ” “พิจารณาอย่างไร?” “ก็นามรูปสิคะ” แล้วท่านก็บอกว่า “เฮ้ย มันไม่ใช่นะเว้ย มันต้องเอาจิตวิปัสสนา พิจารณานามรูปสิคะนี้ใครเป็นคนพิจารณาล่ะ ใครเป็นคนทำล่ะ” พิจารณานามรูปสิคะ ก็คือนึกเอาไง สามัญสำนึกไง พิจารณานามรูปสิคะ ก็เหมือนเราฝันเอาน่ะสิว่าเราเป็นเศรษฐีร้อยล้านเลย เราฝันเอาสิ แล้วมันเป็นไหมล่ะ มึงจะบ้าเหรอ กูมีเงินร้อยล้าน ก็กูมีสิคะ แล้วเงินกูมีหรือเปล่าล่ะ กูไม่มีเพราะว่ากูไม่ได้ทำ แล้วเงินกูจะเอามาจากไหนล่ะ ถ้ากูจะมีเงินกูก็ต้องลงทุนลงแรง เราต้องทำงาน เวลาเราทำของเราขึ้นมามันก็จะมี

ตัวจิตมันทำ ตัวจิตมันรู้ เราเรียกว่า “พันธุกรรมทางจิต” หมายถึงว่า จริตนิสัยของคนนี้สร้างมาหลากหลายแตกต่างกัน พันธุกรรมนี้ไม่เหมือนกันนะ ถ้าพันธุกรรมที่เหมือนกัน ลูกเรานี้ต้องได้ดั่งใจเราหมดเลย ลูกเราแต่ละครอบครัว ลูกเรามีหลายคนแต่ทำไมมันไม่เหมือนกันล่ะ ก็เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน

พันธุกรรมของเขา ถ้าโดยร่างกาย ดีเอ็นเอหรือกรรมพันธุ์นี้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าตรวจจะเหมือนเปี๊ยบหมดเลย แต่ความรู้สึกมันตรวจไม่ได้ จิตมันตรวจไม่ได้ เพราะจิตมันเป็นของมันเอง เลี้ยงลูกเราเลี้ยงได้แต่กาย ใจเราเลี้ยงเขาไม่ได้ แต่ธรรมะเลี้ยงได้หมดเลย เลี้ยงทั้งกายและทั้งใจด้วย

พันธุกรรมมันไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน การกำหนดพุทโธนี้ถ้ามันตรงจริตนิสัยมันก็ได้ แต่ถ้าเป็นพุทธจริต การกำหนดพุทไปแล้วปัญญามันจะบอกเลยว่าไม่เห็นมีอะไรเลย มันไม่มีเหตุมีผลไง พอไม่มีเหตุมีผล “ปัญญาอบรมสมาธิ” เราจะสอนว่าปัญญาอบรมสมาธิให้ใช้ความคิดไป แต่ความคิดนี้โดยธรรมชาติของมัน เราลองคิดสิว่าเราเคยทุกข์มาไหม ทุกคนเคยร้องไห้มาทั้งนั้น แล้วเดี๋ยวนี้มันหายไปไหนล่ะ

มันทุกข์มานะแล้วพอกาลเวลาผ่านไป มันก็สมานให้ความทุกข์เราจางลงไปบ้างใช่ไหม เราจะบอกว่าความคิดนี้ ธรรมดามันก็เกิดดับ แต่เราไม่เคยตั้งใจ ไม่เคยเอาสติไปรับรู้มัน มันเกิดโดยธรรมชาติของมัน ทั้งๆ ที่ทุกข์แทบเป็นแทบตาย มันก็ต้องจางลงไปเป็นธรรมดา โดยข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ แต่มันไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้รู้ผู้เห็นไง

เหมือนกับสมบัติ ดูสิ ดูอย่างแก้วแหวนเงินทองมันเป็นแร่ธาตุ เพชรนิลจินดามันอยู่ในดิน คนไปขุดมันขึ้นมา แล้วเอามาเจียระไนเอามาใช้ใช่ไหม ความรู้สึกความคิดของเรา มันมีอยู่กับเราทั้งนั้นเลยล่ะ แต่มันก็ใช้ไปโดยสามัญสำนึกแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา พอจิตเราสงบเข้ามาไง แล้วเราไปรู้ไปเห็นเข้า พอทีนี้ความคิดที่มันเกิดดับ จะคิดดีขนาดไหนหรือจะคิดชั่ว สุดท้ายแล้วมันต้องดับ แต่เราไม่เคยได้ประโยชน์จากมัน

พอเราตั้งสติตามมันไป พอมันคิดอะไรเราก็ตามความคิดไป ถึงที่สุดแล้วพอเราตามความคิดไป ธรรมดามันก็เกิดไปตามธรรมชาติของมันนะ เหมือนกับพลังงาน พอใช้ไปแล้วมันก็ต้องหมดเป็นธรรมดา พอเราตามไปดู พลังงานมันไม่ยอมหมด มันยิ่งคิดใหญ่เลย เพราะเราตามไปรู้มันไง จะไปดูมันมันก็ยากขึ้น แต่เราตามมันไปเพราะอะไร เพราะกิเลสนี้ถ้าไม่ทำอะไรนะ ไม่ไปค้นคว้ามัน มันก็อยู่ไปตามของมัน แต่พอเราจะสู้กับมันนะมันจะเล่นแง่ มันจะมีช่องมีข้อปลีกย่อยหลอกเราจนหัวปั่นเลยล่ะ

ก็ไหนว่ามันจะหยุด ไม่เห็นหยุดซักที อ้าว..ก็ไม่หยุด ถ้ามึงอยากให้มันหยุดมันก็ไม่หยุดน่ะสิ ถ้ามึงเผลอมันก็หยุด

ทีนี้ถ้าเผลอมันไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าเอาสติตามไปมันจะเห็น พอเราเห็นมันหยุดปั๊บ “เฮ่ย..ความคิดเป็นอย่างนี้เหรอวะ เฮ่ย..ความคิดมันก็อยู่ได้ อ้าว..เมื่อก่อนทำไมเราไม่เห็นอย่างนี้ล่ะ” ถ้าเรารู้เราทัน พอครั้งหนึ่งได้ครั้งสองได้แล้ว เพราะมันหยุดนั่นคือสมาธิแล้ว คือมันปล่อยแล้ว แต่แป๊บเดียว พอปล่อยปั๊บหนึ่งแล้วคิดต่อเลย เราก็ตามมันไป จนเราเห็นเหตุเห็นผลนะ เพราะเราตามอย่างนี้มาจนถึงที่สุด

ความคิดนี้มันเกิดจากอะไร ความคิดมันเกิดจากแรงกระตุ้น รูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่กระตุ้นเห็นไหม เราพูดบ่อยมากเลย รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ดูสิมันกระตุ้นให้เราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ สัญญาข้อมูลคิดไปเรื่อย มันล่อเป็นบ่วงล่อเราออกไป เป็นพวงดอกไม้ที่เอาไว้บูชา คิดนู้นดี เป็นอย่างนู้นดี อย่างนี้ดี

ทีนี้พอปัญญาเราเห็น ใช่ ความคิด ข้อมูลคนมีชีวิต มีปฏิภาณ เพื่อจะดำรงชีวิตทางโลก ธรรมดามันก็ต้องมี ความคิดอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาคิดที่เราจะให้มันสงบ เวลาเราจะควบคุมมัน มันทำไม่ได้ ฉะนั้นพอเราทำไม่ได้ปั๊บ เราเลยเห็นโทษใช่ไหม หน้าที่การงานเราก็ทำแล้ว แต่เราจะให้มันสงบ เราก็ต้องทำได้ด้วย พอทำได้ด้วยมันเห็นเหตุเห็นผลเห็นโทษไง ไม่ใช่ว่าเราจะไปปิดตายความคิดมัน เพียงแต่เราเห็นเหมือนกับสวิตซ์ไฟฟ้าเลย กูปิดก็ได้ กูเปิดก็ได้ กูคิดก็ได้ กูไม่คิดก็ได้ ถ้ามันคุมได้หมดแล้ว

พอทำอย่างนี้ปั๊บ นี่แหละปัญญาอบรมสมาธิ ที่เขาบอกว่าใช้ปัญญาๆ กัน คนไม่เคยภาวนา ก็เหมือนกับเราไม่ใช่ช่างไฟ เราก็เดินไฟไม่เป็น เราทำอะไรไม่เป็น แต่ถ้าคนเป็นช่างไฟเขาจะเดินไฟเป็น จะวางรากฐานเป็นหมดเลย คนภาวนาเป็นมันจะเห็นว่าจิตนี้มันทำงานอย่างไร มันออกไปรับรู้อย่างไร ทีนี้พอสังคมโลกเขาบอกว่า “ใช้ปัญญาอย่างนี้แล้วเป็นวิปัสสนา” อื้อฮือมันก็เหมือนบอกว่ามันเอาสายไฟฟ้ามาเดินไฟให้เรา มันก็เอามากองไว้หน้าบ้านเรา แล้วมันกลับ มันบอกว่าต่อเสร็จแล้วไง ก็มันยังไม่ทำอะไรเลย แล้วจะมาบอกว่าวิปัสสนาอะไรของมึง

นี่ก็เหมือนกัน เพราะความคิดมันเกิดดับ พอความคิดมันเกิดดับแล้วมันเห็นการเกิดดับอย่างนี้ แล้วมันปล่อยเข้ามา แล้วเราไล่เข้าไป สายไฟเอาไปทิ้งไว้หน้าบ้านก็ไม่ถูก ต้องเอามาเก็บไว้ก่อน เก็บไว้รอจะเดินสายใช่ไหม แล้วพอจิตสงบเข้ามา เราก็รักษาให้มันมั่นคงขึ้นมา พอมั่นคงขึ้นมาปั๊บนี่คือกัลยาณปุถุชน แล้วถ้าเราได้สายไฟ เราวัดคำนวณแล้วเราจะเดินสายไฟ นั่นล่ะมันเดินโสดาปัตติมรรค คือมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

พอเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราก็ต่อเสร็จ เราก็ทำของเราได้หมด กระบวนการของมันเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาเขาพูดกันนั้นมันไม่เข้ากระบวนการเลย พอมันไม่เข้ากระบวนการของจิตเลย เราก็งง เอ้ย..แล้วมันรู้จักจิตได้อย่างไรวะ ถ้ามึงไม่รู้จักจิต มันก็เหมือนกับเรา เราไม่รู้จักคนผิด เราไม่รู้จักคนไข้ แล้วเราจะไปรักษาใครล่ะ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา แล้วกูไม่รู้ว่ากูเป็นไข้ แล้วใครจะกินยาล่ะ แล้วใครจะรักษา

แต่ถ้ามันรู้ขึ้นมาเห็นไหม รู้ขึ้นมาคือมีสติ ตัวสติ ตัวจิต ที่มันออกมาทำ แล้วย้อนกลับมา มันต้องมีการกระทำก่อน ถ้าไม่มีการกระทำอะไรเลย แล้วเรานึกเอา เราอยากรวยอะไรก็นึกเอา มึงก็รวยกูก็รวย ก็รวยทั้งนั้นล่ะ รวยบ้า กูไม่เห็นมีใครรวยซักคนหนึ่ง แต่ถ้ามันทำอยู่นะ จะคิดหรือไม่คิดแต่กูก็มีตังค์ แล้วเราทำของเราไป

นี้พูดถึงการกระทำเห็นไหม เราพูดอย่างนี้เพียงแต่จะบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน ๔๐ ห้อง เราก็จะบอกว่าการกระทำ ๔๐ วิธีการนี้มันถูกต้อง ฉะนั้นกำหนดพุทโธก็ได้หรือจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ นี่พื้นฐานไง เพียงแต่ให้เราตั้งใจก่อนว่าเรามีพื้นฐาน เราเข้าใจแล้วเราจะทำต่อไป ไอ้ที่ว่ากำหนดเห็นไหม เราจะบอกว่ากำหนดคำบริกรรมอะไรก็ได้ถ้ามันสงบได้ แล้วเขาบอกว่าเขาคิดนามรูป ทำไมมันสงบไม่ได้ล่ะ มันไม่ใช่สงบไม่ได้ แต่มันเป็นการที่เขาคิดว่า สิ่งนี้คือวิปัสสนา เขาไม่ได้คิดว่านี่คือสมถะ

หลวงตาพูดบ่อยมากเลย เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา เป็นได้สมถะเหมือนพวกเราคิดเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจเป็นคำบริกรรมไง ผลของมันก็คือสงบ แต่เราเข้าใจผิดใช่ไหม เราไปคิดว่าเป็นวิปัสสนา มันก็เลยไม่มีสติ เหมือนกับถ้าเราทำธุรกิจแล้วเราเก็บเงินมาเข้าเซฟ มันก็เป็นของเราใช่ไหม อันนี้เขาบอกว่าจ่ายตังค์แล้ว แต่กูไม่เอา กูเอาทิ้งไว้นั่นล่ะ ลมมันก็พัดไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาไม่คิดว่าเป็นสมถะ เขาก็ไม่มีสติ เขาไม่เก็บเข้าเซฟไง คือเขาไม่เก็บเงินเป็นของเรา มันขาดเราไง มันขาดจิต มันก็เลยว่างๆว่างๆ ตัวจิตนี้เป็นตัวพลังงาน ไม่ได้ว่าง แต่มันสร้างความคิดนามรูปให้ว่าง มันก็เลยไปว่างอยู่นู้น ไอ้ตัวเองก็ว่างๆว่างๆ เอ๊ะอยู่นั่นล่ะ คือเป้าหมายผิด

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ต้นคด ปลายก็คด”

เจตนาความคิดเราผิด แล้วก็บอกว่า อ้าว..นี่นามรูปนะ วิปัสสนาสายตรงนะ ก็เอ็งเข้าใจว่าเป็นสายตรงไง แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่

เพราะว่าการปฏิบัติหลักๆ พระพุทธเจ้าสอนเห็นไหม พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาไล่เข้าไป แต่เจโตวิมุตตินี่เขาใช้คำบริกรรม มันเหมือนกับกำปั้นทุบดิน คำบริกรรมมันเกิด เพียงแต่ถ้าสติดี มันก็จะอยู่กับเรา ถ้าสติไม่ดีมันก็พุทโธหายไปแล้ว แว็บๆ เราก็ต้องพุทโธไวๆ แต่ถ้าวันไหนอารมณ์ดีก็พุทโธพอประมาณ

ตอบเหมือนไม่ได้ตอบเลยเนาะ

คณะโยม : (หัวเราะ)

โยม : ถ้าเรานั่งกราบพระเสร็จแล้วเราจะเริ่มวิปัสสนาปุ๊บ เราก็ท่องพุทโธไปได้เลย โดยไม่ต้องสวดมนต์อย่างอื่นเลย

หลวงพ่อ : ได้

โยม : ได้ใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ได้

โยม : ฆราวาสทั่วไปบางทีอาจจะสวดมนต์ไม่เป็น หรือว่าสวดมนต์อย่างอื่นไม่เป็น

หลวงพ่อ : ไม่ต้องเลย เพราะคำสวดมนต์นี้มันก็เหมือนกับคำบริกรรม บางทีการสวดมนต์ก็ทำให้จิตใจสงบได้ ทีนี้คำสวดมนต์ คือ คำสรรเสริญพุทธคุณ เพราะว่าคำสวดมนต์มันก็มาจากพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าเป็นภาษาบาลี แล้วเราก็เอามาสวด สวดเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต ก็ว่ากันไป

ทีนี้พอเราสวดมนต์ใช่ไหม จิตเราก็ส่งออก แต่ถ้าเราจะภาวนา เราก็หยุดเลย พุทโธๆ นี่หลับหมด มันเหมือนกับพระโปฐิละที่ว่าไปหาสามเณร แล้วสามเณรสอนเขาบอกว่า ร่างกายเหมือนจอมปลวก มีทวารอยู่ ๖ ทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ท่านบอกปิดให้หมด ๖ ทวาร เหลือไว้ทวารเดียวคือใจ แล้วคอยจับเหี้ยตัวนั้น เหี้ยคือกิเลสของเราไง คอยจับใจเรา ตั้งใจพุทโธๆ กูจะคอยตะครุบมึงให้ได้เลย เหี้ยตัวไหนก็จะจับให้ได้เลย พอจับมับ โอ้ย..สมาธิเกิดเลยล่ะ

โยม : แล้วผมมันอยู่ที่ไหน

หลวงพ่อ : เวลาเราสวดมนต์มันก็เปิดทวารหมดเลย ทีนี้เราก็ดับหมดใช่ไหม ปิดเลยตา หู จมูก ลิ้น เปิดใจไว้ พุทโธๆ นี่คือจับเหี้ย จะเอาให้ได้ เหี้ยตัวนี้อยู่กลางอก กูจะจับมันให้ได้

นี่คือคำสอนพระพุทธเจ้านะ มีอยู่ในพระไตรปิฎก เราไม่ได้พูดเอง เดี๋ยวจะหาว่าเราพูดรุนแรง กำหนดเลย พุทโธๆ ปิดตา ปิดหมด เหลือไว้ช่องหนึ่ง พุทโธๆๆ มึงโผล่มาสิ มึงโผล่ออกมา ตะครุบหัวเลยล่ะ แต่มันไม่โผล่ซักที พอมันรู้มันหลบใหญ่ มันให้ง่วงนอนก่อน แล้วเดี๋ยวมันค่อยโผล่

โยม : เวลานั่งแล้วจิตฟุ้งไปทางอื่น ก็ให้เราดึงกลับมาใช่ไหม

หลวงพ่อ : ดึงได้ไหมล่ะ ถ้าสติดีจะดึงได้ ถ้าสมมุติว่าจิตเรากำหนดพุทโธแล้วมันส่งออก เราก็ดึงไปดึงมาอยู่

โยม : พอเผลอมันก็ออกอีกใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้ามันละเอียดนะ พุทโธๆๆ พอพุทโธมันแรง แล้วพุทโธมันอยู่กับพุทโธ มันก็จะไม่ออกเลย แต่ขณะที่ออกนี่แสดงว่าพุทโธเบาแล้ว พุทโธไม่มีแล้วมันไปแล้ว

โยม : ใช่

หลวงพ่อ : พุทโธมันไปแล้ว เพราะอะไรรู้ไหม เหมือนเรากำของเราไว้ มือเรากำอยู่ มันจะทำอะไรได้ไหม ถ้าจิตเราอยู่กับพุทโธๆ มันก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ มันคิดไม่ได้หรอก แต่ทำไมมันคิดล่ะ เพราะอะไร ก็เพราะจิตมันเร็วมากไง ไอ้กำพุทโธนั่นก็กำหลวมๆ แล้วกูก็คิดอย่างอื่นด้วย

โยม : มันไปก่อนเลย

หลวงพ่อ : มันไปก่อน แต่เราจะบอกว่า ถ้าเรามัวแต่ดึงกันอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องหยาบเกินไป ถ้าเราจริงจัง พุทโธๆๆ กำให้แน่น ถ้ามันพุทโธนี่ เพราะเราจะบอกว่าเวลามันเป็นสมาธินะ โอ้โฮ..มันมีกำลัง เราจะบอกว่าถ้าเป็นสมาธิมันจะมีความสุข มันจะมีแรงอัด อย่างเช่นพลังงาน เราอัดไว้ในสิ่งใด มันก็จะมีกำลังของมันใช่ไหม แต่ถ้าเราไม่มีสติ แรงอัดมันก็ไม่มี มันกระจายหมด

เวลาความคิดเราคิดออกไปมันไปหมดเลย ทีนี้เรามากำหนดพุทโธๆ ก็เหมือนกับเรามีภาชนะที่จะบรรจุพลังงานตัวนี้เอาไว้ให้ได้ ปิดพลังงานนี้ให้มันอยู่กับเรา พุทโธๆ แล้วถ้าภาชนะมันมากขึ้น คิดดูว่าแรงอัดมันจะมากขึ้นมาขนาดไหน ที่ว่าสิ่งที่เร็วที่สุดแล้วมันหยุดนิ่ง ถ้าหยุดนิ่งปั๊บมันจะ อู้ฮู.. สมาธิจริงๆ แล้วนะมันสุขมาก แต่ไอ้ที่เขาโม้ๆกันน่ะ กูก็ไม่รู้ว่าสมาธิของใคร บ้า

เดี๋ยวนี้สมาธิมันยังไม่รู้กันเลย แล้วพอไม่รู้ก็กลับบอกว่า “สมาธิไม่ต้องทำ ใช้ปัญญาไปเลย” มึงจะบ้า เพราะอะไร เพราะว่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์และครูบาอาจารย์เราทำขึ้นมาจนสังคมเขายอมรับ พอเขายอมรับขึ้นมา ไอ้พระทั่วไปก็จะมาบอกว่า “เออ..ก็สอนอย่างนี้ไปเลย” แล้วทำไมเมื่อก่อนมึงไม่สอนล่ะ

เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเมื่อก่อนนั้น หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ออกปฏิบัติ เราจะชอบศึกษาเรื่องนี้ หลวงปู่เสาร์เวลาไปนะท่านมีแม่ชีและมีเณรด้วย โอ้โฮ ชาวบ้านเขาถากถางนะ “จะไปตั้งครอบครัวกันที่ไหน” เพราะเขาไม่เชื่อกันไง

ก่อนที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านจะวางรากฐานศาสนาไว้ เขาไม่เชื่อกันแล้ว เขาคิดว่าพระจะอยู่กันแบบประสาสามัญของเขานั่น เขาจะบอกว่า มรรค ผล นิพพาน มันไม่มีหรอก แล้วท่านมาขวนขวาย แล้วท่านเอาชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างให้เขาดู แล้วสั่งสอนลูกศิษย์ขึ้นมา จนสังคมเชื่อถือกันมา แล้วเอ็งก็มาสอนว่า “ใช้ปัญญาเลย” เพิ่งบวชเมื่อวานนี้เอง ก็สอนปัญญาสายตรงอีกแล้ว เพิ่งบวชมาเมื่อวานนี้

โยม : ได้กี่ขั้นนะ

หลวงพ่อ : เขาไม่ได้คิดหรอกว่า ครูบาอาจารย์เราได้สร้างหลักฐานไว้แล้ว แล้วพอเขามาทำล่ะ คิดดูสิกว่าความเชื่อของสังคมมันจะตกผลึก จนเชื่อว่ามรรค ผล นิพพานนี่พอจะมีช่องทาง แล้วอีกคนหนึ่งก็มาพูดให้ตกทะเลไปเลย

ที่บางทีเราพูดโต้แย้ง เราจะพูดกับพวกนี้บ่อยว่า เราก็พูดตอนช่วงวัยทำงานนี่แหละ พอกูแก่ขึ้นมา กูคงพูดไม่ไหวแล้วล่ะ ถ้าสังคมจะเป็นอย่างนั้น มันก็เรื่องของสังคมแล้ว กูก็ไม่รู้แล้ว แต่ตอนนี้เพราะเราอยู่ในวงใน แล้วเราได้เห็นอย่างนี้มาเยอะไง พอเห็นอย่างนี้มาเยอะแล้ว พอเวลาพูดเราจะแบ่งเลยล่ะ ปัญญาอย่างไรเป็นประโยชน์ ปัญญาอย่างไรไม่เป็นประโยชน์ ปัญญาอย่างเรานี้ ปัญญาจริงๆ เห็นไหม พลังงานมันเผาผลาญตัวมันเอง

ดูสิคนโทสจริตเวลาเครียด เห็นไหม ความเครียดเผาผลาญร่างกายเรานะ ทุกอย่างมันต้องเผาผลาญตัวมันเอง แล้วมึงจะใช้ประโยชน์อย่างไรกับมัน พูดถึงถ้าทำความสงบของใจแล้ว มันคือพลังงานสะอาด พลังงานไม่สะอาด คือ พลังงานที่เราพอใจไม่พอใจ คือพลังงานที่มันเป็นกิเลส มันต้องเอามาป้อนเหยื่อวันยังค่ำ แต่ถ้าพลังงานสะอาดมันไม่มีเหยื่อ มันไม่มีทุกสิ่ง มันเป็นธรรม เราถึงบอกว่ามันเป็นสัจธรรม

อย่างคนภาวนานะ โอ้ย..ไม่อยากเห็นกายเลย กลัวผี กลัวผี แล้วเราก็บอกว่า เฮ้ย..มันไม่ใช่นะมึง ผีมันเป็นจิตวิญญาณนะ ไอ้กายนี่มันเป็นแค่วัตถุไง แล้วถ้าจิตไม่สงบ จิตไม่นิ่งก็ไม่มีวันเห็น เห็นไม่ได้หรอก การเห็นกายนี่เหมือนกับเราไปเจอไดโนเสาร์ แล้วเดี๋ยวนี้ใครเห็นไดโนเสาร์ได้ไหม เจอแต่ฟอสซิลของมัน ไดโนเสาร์เราไม่เคยเจอหรอก เพราะมันตายไปแล้ว มันสูญพันธุ์ไปแล้ว

แต่เวลาจิตสงบ เวลาเห็นกายนี่มันคือไดโนเสาร์ หมายถึงว่าสิ่งนี้มันอยู่ในรากเหง้า มันสะสมมา จิตของเรานี้การเกิดและการตายไม่มีต้นไม่มีปลาย เป็นล้านๆๆๆ ชาติ แล้วกิเลสมันสะสมมาอยู่อย่างนี้เป็นล้านๆๆๆ ชาติ แล้วเราไปเห็นมัน พอเห็นมันจะสะดุ้งเลยนะ มันไม่ใช่เห็นได้ง่ายๆหรอก อย่างที่เขาบอกว่า เห็นกายๆ นั่นมันก็ขี้โม้ทั้งนั้น เพราะคนภาวนามามันรู้สิว่า กว่าจะเห็นกายนี่มันลงทุนลงแรงมาขนาดไหน ไอ้นี่พอมา ก็บอกว่า เห็นกาย..เห็นกาย.. วิปัสสนึกไง นึกเอาเอง เห็นนึกไง

พอมันเห็นกายนะ ถ้ามันเห็นจริงแล้วมันจะกระเทือน เหมือนเราเร่าร้อนมามาก แล้วเราได้ความร่มเย็น มันต่างกันเยอะ ความเร่าร้อนของใจ เราร้อนมามาก แล้วมาได้ความชุ่มเย็น มันแตกต่างกันมากเลย

แต่มันเร่าร้อนมานะ แล้วมันก็บอกว่ากูเย็น ก็มึงยังร้อนอยู่นั่นเลย ก็เหมือนกัน ที่เขาบอกว่า เห็นกายๆ นี่เราไม่เชื่อเลยนะ ไม่เชื่อด้วย แล้วสมเพชด้วย สมเพชว่าของจริงมีอยู่ ครูบาอาจารย์มีอยู่ โทษนะ ทำไมพวกมึงโง่ชิบหายเลย แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นความคิดจากข้างใน กรรมของสัตว์ไง สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม มุมมองเขาเป็นอย่างนั้น ถ้าไปบอกเขานะ เขาจะว่าเราอิจฉา เขาจะทำดีแล้วมาอิจฉาตาร้อนเขา เออ..ก็เรื่องของมึงแหละเว้ย กูไม่อิจฉามึงหรอก มึงจะไปไหนก็ไปเถอะ

โยม๒ : ฝ่ายธรรมค่ะ แต่ว่ายังไม่ลงมือเต็มที่ซะทีค่ะพระอาจารย์

โยม : เพิ่งศึกษาครับ เพิ่งเริ่ม เพิ่งเริ่ม แล้วก็มีความสงสัย ก็เลยลองมากราบเรียนถามหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : เพราะหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ไง การทำบุญกุศลนี้มันเป็นอามิส เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน แล้วมีคนมากราบพระพุทธเจ้ามากเลย พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์เธอบอกเขาเถิด ให้ปฏิบัติบูชาเถิด อย่าไปอามิสบูชาเลย” อามิสบูชามันเป็นเรื่องทั่วไป เห็นไหม การปฏิบัติบูชาเพราะอะไร นี่คือคนรู้พูดไง ให้มีการปฏิบัติบูชาเพราะการปฏิบัตินั้นมันได้ผลจริง มันได้สัมผัสจริง ส่วนการอามิสบูชามันก็เหมือนอ้อนวอน เอาดอกไม้ธูปเทียนไปอ้อนวอน คือแบบว่าตั้งเป้าว่ากูจะทำไง แต่ไม่ทำซักทีหนึ่ง แต่ถ้าจงปฏิบัติบูชาเถิด ก็ทำเลย พอทำเลยเราจะย้อนมาตรงนี้ไง ตรงที่ว่าประสาเราเลยนะ เราพูดแล้ว เราไม่ได้เสียอะไรกับโยม แต่ถ้าใครทำหรือไม่ทำ วันนี้หมดไปก็คือหมดไปแล้ว

เขาพูดนะ เขาบอกว่า “วันพระไม่ได้มีหนเดียวหรอก” พูดแบบนักเลงใช่ไหม มึงทำกู เดี๋ยวพรุ่งนี้พระหน้า กูจะทำมึงนะ แต่เราจะบอกว่าวันพระมีหนเดียว เพราะวันพระนั้นคือมันผ่านไปแล้ว เวลาในการดำรงชีวิตของเราก็ผ่านไปแล้ว วันพระหน้าก็เป็นวันพระใหม่ วันพระไม่มีสองหรอก วันพระก็คือวันพระ แล้วเวลามันล่วงไปแล้ว ไปเอาคืนได้ไหม ชีวิตเราก็เป็นอย่างนี้ รับรองว่าตายหมด เราด้วย แล้วเวลาหมดไปแล้วมึงจะมาภาวนาตอนไหน ถ้าคิดได้อย่างนี้แล้วมันแบบว่ามันจริงจัง มันเอา ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่เอาหรอก

อย่างเวลาเราสอน เขาบอกว่ามรณานุสสติ คือ การกำหนดความตาย บางคนกำหนดแล้วดีนะ โอ้โฮ ความตาย เพราะถ้าเรามันแบบฟุ้งซ่านมาก พอกำหนดมันก็หยุดใช่ไหม แต่บางคนบอกว่า “หลวงพ่อไม่ได้หรอก กำหนดแล้วเฉา ชีวิตมันจะไม่เอาอะไรเลย”

เห็นไหม จริตคนไม่เหมือนกัน บางคนกำหนดแล้วดี มันก็คึกคักมาก เวลามันจะฟุ้งมาก แล้วบอกว่า มึงตาย เออ..มันหยุดได้นะ แต่บางคนพอไปบอกว่า ตายๆๆๆ นี่มันทำงานไม่เป็นเลย ขาอ่อนเดินไม่ได้เลย

นี่ไงถึงมี ๔๐ วิธีการ กิเลสของคนมันไม่เหมือนกัน พันธุกรรมทางจิตตัดแต่งมาไม่เหมือนกัน ผลไม้คนละชนิด ปลูกมาแล้วของใครของมัน มึงมะม่วง กูส้ม ปลูกมาแล้วจะให้ผลไม้เหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้

มันต้องเป็นปัจจุบันธรรมตลอด ผู้ที่ปฏิบัตินะมันไม่มีสูตรสำเร็จ เราพูดบ่อยว่า “พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านวิธีการ” ทั้งๆ ที่พิจารณากายเหมือนกันหมด แต่ก็ไม่เหมือนกันเลย

ไม่เหมือนกันตรงไหน ไม่เหมือนกันตรงน้ำหนักไง อย่างเช่นเราพิจารณากาย ๕ หน เราสำเร็จแล้ว แต่ไอ้นี่พิจารณาเป็นล้านๆ หนก็ยังไม่ไปซักที แล้วมันจะเท่ากันได้อย่างไร เพราะอะไร เพราะว่าเชื้อไข คือว่าสิ่งที่จำกัดของเรามันอยู่ตื้น แต่อีกองค์หนึ่ง อู้ฮู มันอยู่ลึกมากเลย มึงก็ต้องลงทุนลึกหน่อย ไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันหรอก

ความคิดความนึกของทุกคนก็ไม่เหมือนกัน เอาสำรับมาตั้งไว้สิ กินข้าวด้วยกัน ไอ้นี่บอกว่าอร่อยมากเลย แต่ไอ้นั่นบอกว่าเผ็ดมากเลย ไม่เอาไหนเลย สำรับเดียวกันมันยังเถียงกัน จะตีกันตายเพราะสำรับนี้เลย แล้วจะมาบอกว่าให้มันเท่ากัน ข้าวกินด้วยกัน มันยังทะเลาะกันเลย แล้วเวลาปฏิบัติจะบอกว่า “ต้องเหมือนกัน ต้องอย่างนั้น” มันก็กลายเป็นสูตรสำเร็จ

หลวงตาถึงบอกว่า อย่างพวกนามรูป พวกอะไรนี้มันเป็นพิธีการ เหมือนกองทัพเลยเห็นไหม ซ้ายหันขวาหัน เวลาเขาเดินจงกรมกัน เห็นไหม เป็นกองทัพ โอ๊ย..จั๊กกะจี้ มันจะเป็นไปได้อย่างไร หันไปทางซ้ายก็เจอ หันไปทางขวาก็เจอ แล้วกูก็มาภาวนา คนภาวนามันจะรู้ ไม่ใช่ฝึกทหารนะเว้ย เขาจะมาภาวนากัน ไอ้บ้า ฝึกกันเป็นทหารไปเลยนะ แหม.. เดินเป็นแถวเลย จี้มาก

แต่คนก็อยากไปนะ เพราะทุกคนจะบอกว่า “ไปวัดแล้วสบาย”

มันสบายแล้วมันควรจะได้มากกว่านี้ไหม เมื่อก่อนบางคนบอกว่า “ไปวัดดีกว่าไปบาร์” แต่กูจะบอกว่าไปบาร์ดีกว่า เพราะไปบาร์มันก็หมดแค่เงิน แต่ถ้าไปวัดแล้วโดนหลอกนะ หมดเนื้อหมดตัวเลยล่ะ กูไปบาร์ดีกว่า พูดง่ายด้วย ถ้าไปวัดแล้วมันไปในสิ่งที่ถูกต้อง มันก็ดีใช่ไหม

แต่ถ้าเราไปวัดแล้วอุดมคติมันเปลี่ยนไปเลยนะ เวลาลูกศิษย์มาใหม่ๆ เราจะถามว่ามาจากไหน ถ้ามาจากวัดนั้นๆ เราจะถามว่าไปอยู่กี่ปีแล้ว ถ้า ๕ ปีมันยังไม่เข้าลึก จะแก้ได้ง่ายหน่อย แต่ถ้า ๑๐ ปีนี่ยากหน่อย แล้วถ้า ๒๐ ปีนี่แหมกว่ากูจะล้างได้ เราจะบอกว่าเขาโดนล้างสมองมา แล้วเราจะล้างสมองกลับอย่างไร

ไม่ใช่ของง่ายนะ หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “แก้จิตนี้แก้ยากมาก” อย่างถ้าเราไปอยู่คุ้นเคยกับเขามา แล้วฝังใจมา “อาจารย์กู ใครพูดอะไร กูไม่ฟังเลยล่ะ” แล้วกูจะแก้มันอย่างไร

ไม่ใช่ของง่ายนะ แหม..เรื่องใจ คนภาวนามันจะรู้หมดนะ แล้วเวลานั่งอยู่ อย่างเวลาพวกนามรูปมา มันมาร้องไห้ที่นี่เยอะมาก เมื่อ ๒ วันนี้เขามาเล่าให้ฟัง โยมคนหนึ่ง เขาก็รักพ่อเขา รักตระกูลเขา เขาก็เอาเทปหลวงตา เอาเทปครูบาอาจารย์ไปให้พ่อฟังหมดเลย แต่พ่อไม่ฟังไง เขาบอกว่า บังเอิญ เขาเอาเทปเราไปให้พ่อเขาฟัง เขามาหาเรานะ “หลวงพ่อ หนูนะเอาเทปหลวงตา เทปครูบาอาจารย์ไปให้พ่อฟัง พ่อไม่ฟัง แต่มาฟังของหลวงพ่อ”

เขาอยากให้พ่อเขาภาวนาไง นี่เราจะพูดตรงนี้ เสร็จแล้วพี่ชายเขาอยู่ด้วย พี่ชายเขาก็ได้ยินบ้างบ่อยๆ เขายังเป็นพื้นเพเดิมอยู่ แต่พอมันเอาซีดีไปเยอะ ไปกระตุ้นหัวใจเขา พอคนมันพลิกนะ ร้องไห้เลยล่ะ คือว่าเขามีทิฐิไง เขาปฏิบัติอีกแนวทางหนึ่งไง พอมาฟังเทปเรานะร้องไห้เลยล่ะ ร้องไห้ว่าตัวเองเสียเวลามา ๒๐-๓๐ ปี ร้องไห้เลยนะ พอมาเห็นคุณค่าปั๊บ เพราะน้องสาวเขามาเล่าให้ฟังเอง บอกว่าเดี๋ยวนี้พี่ชายเขานะ เอาซีดีเราไปปั๊มแจกใหญ่เลย

เพราะมันไปเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแนวคิดเลย การแก้จิตคือแก้ที่ใจดำ แก้ที่ก้นบึ้งของใจ ไอ้ที่ศึกษากัน สุตมยปัญญา มันก็แก้ที่สิ่งแวดล้อม “เรียนหนังสือนะ เป็นคนดีนะ”

เราถึงบอกว่า “ศีลธรรม จริยธรรมไม่ใช่ธรรม”

ศีลธรรม จริยธรรม มันเป็นการตกผลึกของใจที่แสดงออกจากตัวใจ ตัวใจคือตัวธรรม ถ้ามันลงถึงตัวธรรม ลงถึงตัวใจ เห็นไหม นี่ล่ะธรรมธาตุ

แล้วความนึกความคิดเห็นไหม ศีลธรรม จริยธรรม ดูสิ ดูประเพณีวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาเห็นไหม มันมาจากไหน มันมาจากการตกผลึกของใจใช่ไหม ศีลธรรม จริยธรรมไม่ใช่ธรรม ตัวธรรมคือตัวธรรม ทีนี้ตัวธรรมอยู่ไหน แล้วพอเขาคุยกัน เขาก็คุยกันแค่ศีลธรรมนะ “โอ้โฮ มาทำบุญแล้วได้บุญ” มันก็บุญอยู่อย่างนั้นล่ะ มันก็บินไปนะ อยู่อย่างนั้นล่ะ แล้วเราจะไปทำอย่างไร ประสาเราจะทำอย่างไรให้เจาะลึกเข้าไปถึงความรู้สึก ถ้าไม่เจาะลึกเข้าไปที่ใจ มันก็แก้กิเลสไม่ได้

เหมือนบ้านเราสกปรกและมีปัญหามากเลย ถ้าเรานั่งอยู่ที่นี่แล้วเราจะไปแก้ไขปัญหาที่บ้านเราได้อย่างไร เราต้องกลับบ้าน เข้าไปในบ้านนั้น แล้วไปทำความสะอาดในบ้านนั้น ใจต้องเข้าสมาธิไป ต้องเข้าไปถึงหัวใจ คือว่าไปแก้ไขกันที่ในหัวใจนั้น

แล้วเขาก็มาบอกว่า สมาธิไม่จำเป็น ไม่จำเป็นเพราะมึงไม่เคยภาวนา

เราไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วย หมอไม่จำเป็นนะ แต่วันไหนมันจะตาย อู้ฮู วิ่งหาหมอเลย จำเป็นแล้วนะ ก็ไหนบอกว่าไม่จำเป็นไง ไม่จำเป็นเพราะมึงยังไม่ทำน่ะสิ

เวลาเขามาเราจะบอกเลยว่าบางทีเรารู้เลย ส่วนใหญ่จะโดนล้างสมองมา ถ้าเขาไปปฏิบัติมาแล้ว เราก็ต้องล้างสมองกลับนะ ต้องพูดด้วยเหตุด้วยผล เทียบเคียงให้เห็นชัดเลยว่าถูกหรือผิด ต้องให้เขารู้จักผิดรู้จักถูก แล้วเขาจะเปลี่ยนแปลง ถ้ายังไม่รู้จักถูกรู้จักผิดนะ เขาก็จะตะบี้ตะบันอยู่อย่างนั้น ก็เหมือนเรา ถ้าเป้าหมายผิดก็ทำงานผิด มันก็ลงทุนนะ เดินจนเท้าเลือดโชกเลย มันก็เดินอยู่อย่างนั้นล่ะ เพราะมันไม่ย้อนกลับมา ถ้ามันย้อนกลับมาถึงจะเป็นประโยชน์

ฉะนั้นถึงบอกว่ามันจะเจออย่างนี้ เวลาเขามานี่ส่วนใหญ่เราสงสาร เอ็งภาวนาเพื่ออะไร ถ้าภาวนาเพื่อเป็นความสุข เพื่อเป็นชาวพุทธก็จบแล้วแค่นี้ แต่ถ้าบอกว่าภาวนาเพื่อเอามรรคผล เออ..อย่างนั้นเอ็งผิดหมด ต้องเริ่มต้นใหม่ เพราะสิ่งที่เอ็งได้มา เอ็งกำหนดแล้วมันว่างใช่ไหม ใช่ แล้วภาวนาต่อไปได้ไหม นั่นล่ะมิจฉาสมาธิ ว่างไม่ว่าง ว่างมากี่ปีแล้ว ๕๐ ปีแล้วก็ยังว่างอยู่อย่างนั้นใช่ไหม เออ..ว่างก็ว่างไป

จริงๆ ว่างๆว่างๆ สบายๆ ไง แล้วก็บอกว่า “ปฏิบัติแล้วสบาย พระป่านี่อัตตกิลมถานุโยค ทำอะไรก็ผิด ต้องอดอาหาร ต้องอะไร ดูวุ่นวายไปหมดเลย” แล้วเมื่อกี้เขามาก็ถาม ทำไมต้องอดอาหาร อดอาหารเพื่ออะไร

แล้วเราบอกว่า อดอาหารนี้มันไม่ฆ่ากิเลสหรอก อดอาหารฆ่ากิเลสไม่ได้ ถ้าอดอาหารฆ่ากิเลสได้นะ แอฟริกาจะเป็นพระอรหันต์หมดเลย เพราะมันไม่มีจะกิน แต่การอดอาหารมันเป็นเครื่องเสริม ทุกคนนั่งสมาธิแล้วจะนั่งหลับหมด มันหลับเพราะอะไร

โยม : เพราะอิ่ม

หลวงพ่อ : เอ้อ..ก็ผ่อนมันสิ ทำไมถึงมีศีล ๘ เพราะศีล ๘ ตอนเย็นจะไม่กินข้าว เพราะเวลากินข้าวในกระเพาะอาหารมันมีอาหาร พอมากำหนดพุทโธๆ จะให้ดีนะ ไอ้ท้องเราก็ย่อยใหญ่เลยนะ แล้วมันจะไปเอาพุทโธมาจากไหนล่ะ

มีศีล ๘ เห็นไหม มีศีล ๑๐ มีศีล ๒๒๗ มีธุดงควัตร คือ ฉันมื้อเดียว ศีลคือไม่ฉันในวิกาล แต่พอถือธุดงควัตร ถือหนึ่งเดียว เอกาถือหนึ่งเดียว ฉันมื้อเดียว พอฉันมื้อเดียวมันยังหลับอีก ถ้าหลับอีกก็ผ่อน บางคนผ่อนมันก็อดอาหาร พออดอาหารไปแล้ว คนอดอาหารจะรู้เลยนะ อู้ฮู พออดอาหารปั๊บ ร่างกายมันไม่มีอาหารใช่ไหม มันก็โล่ง หิวไหม ท้องร้องจ้อกๆ เลย ก็หิว แต่เรามีเป้าหมายที่จะเอาความดีมากกว่านั้น เราก็ต้องต่อสู้ แล้วพอท้องมันร้อง มันหิว มันไม่มีอะไรจะกินเลย ทีนี้มันจะนั่งหลับไหมล่ะ นั่งอยู่นั่นน่ะ หิวก็หิว แต่จิตมันก็ดี

การอดอาหาร พระพุทธเจ้าฉลาดมาก ถ้าบอกว่าการอดอาหารนี้ดีนะ พระก็จะพากันอดอาหารตายหมดเลยล่ะ เพราะมันไม่รู้ พระพุทธเจ้าถึงห้ามไว้ก่อน พระพุทธเจ้าห้าม ใครอดอาหารเพื่อมาโม้มาอวด เราตถาคตห้าม เป็นอาบัติทุกกฎหมด แต่ถ้าใครอดอาหารมาเพื่อเป็นวิธีการในการภาวนา เราตถาคตอนุญาต ท่านห้ามไว้ แล้วท่านก็อนุญาตอยู่

แต่ที่นี้พวกที่มันพูดๆ ไอ้คนขี้เกียจ ไอ้คนไม่อยากทำ มันก็บอกว่า พระพุทธเจ้าห้าม พระพุทธเจ้าห้าม เห็นไหม แต่ตรงที่พระพุทธเจ้าให้ทำ มันไม่บอกไง มันบอกแต่พระพุทธเจ้าห้าม แต่ตรงที่พระพุทธเจ้าอนุญาต มันไม่พูดถึง เพราะอะไร เพราะพูดถึงแล้วกูต้องทำด้วยไง กูไม่อยากทำ กูไม่กล้าทำ

เราบอกเลยว่า การกินนะแก้กิเลสไม่ได้หรอก เพราะการกิน พอเข้าปากไปมันก็ถ่ายออกก้นไป ไม่ได้อยู่กับเราอีกไง แต่กิเลสมันอยู่ที่ใจ แต่มันเป็นอุบาย มันเป็นเครื่องเสริม ยุทธวิธีที่จะเข้าไปกำจัดมัน แล้วคนไม่ต้องการยุทธวิธี ไม่ต้องการอะไรเลย อยากฆ่าเขาแต่อาวุธก็ไม่มี อยากจับโจรนะแต่ไม่มีอะไรเลยจะไปจับมัน มันก็จะถีบเอาหน้าหงาย

แต่ถ้าเราจะจับมันนะ กูต้องมีอาวุธพร้อม ผ่อนอาหาร ตั้งสติให้ดี แล้วเข้าไปสู้มัน ถ้าล้ม ล้มแล้วก็เอาใหม่ ล้มแล้วก็เอาใหม่ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะถ้าเราจะไปแสวงหาสิ่งใด เราไปแสวงหาจากข้างนอกได้ แต่ถ้าเราแสวงหาใจ มันอยู่ข้างใน เสืออยู่ในถ้ำเสือ เราจะจับเสือ แล้วเราจะเข้าถ้ำเสือ เสือมันก็ตะปบเอา

นี่ก็เหมือนกัน เราจะเอาจิต เราจะเอาสมาธิ เอาปัญญาของเรา เราต้องเข้าไปถ้ำเสือ แล้วกิเลสมันอยู่ในนั้น มันก็สู้มึงน่ะสิ “เดี๋ยวจะตายนะ อู้ฮู ภาวนาอย่างนี้ไม่มีใครเขาทำกันหรอก มึงเก่งอยู่คนเดียว มึงทำมากเกินไปแล้ว” เราก็ล้มเลย พูดถึงถ้ามันภาวนาไปแล้ว ตอนภาวนาเรื่องอย่างนี้มันจะเกิดมาก แล้วมันจะสนุกมาก มันจะเกิดจากข้างใน ปัญญามันจะเกิด แล้วเวลาฟังเขาพูดๆ กัน

หลวงตาท่านพูดอยู่ ครูบาอาจารย์ท่านพูดอยู่ ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ๕ ปี ๑๐ ปีจะรู้เลยว่าคนนี้ทำถูกหรือไม่ถูก ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่ออ้าปาก ถ้าอ้าปากพูดออกมาแล้วมันมีแต่สัญญา มันมีแต่ข้อมูล ไอ้นี่มันคือข้อมูลความจำ ฟังแล้วจะหลับ แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ แล้วออกมาจากใจนะ โอ้โฮ! นี่ล่ะธรรมรู้ได้ต่อเมื่ออ้าปาก แสดงธรรมมาเถอะ เทศน์มาเถอะ บางคนเทศน์ออกไป มันปล่อยไก่เป็นเล้าๆ เลย ก็ยังไม่รู้ตัวว่ากูปล่อยไก่นะมึง ปล่อยไก่ออกไป มันปล่อยไก่ทุกวันเลยนะเสือกไม่รู้ เพราะใจมันบอด บางทีฟังเทศน์แล้วเราเบื่อมากเลย บางทีเราไม่ฟังเลย ปิดทิ้งเลย ใจมันบอดแล้วยังมาสอนให้คนอื่นบอดอีก ใครมีปัญหาก็ว่ามา

โยม : พระอาจารย์คะ ถ้าพิจารณากายที่เหมาะสมจริงๆ แล้ว ที่ได้กำลังจริงๆ แล้วต้องเข้าอุปจารสมาธิก่อนไหมคะ

หลวงพ่อ : ไม่ การพิจารณากายมันอยู่ที่ความชำนาญ เหมือนกับเราหัดฝึกงาน จิตเราจะต้องสงบก่อน ใหม่ๆ มันต้องมีพื้นฐาน มันต้องทำให้ดี แต่พอเราชำนาญแล้ว เราจะรู้จังหวะ เราจะทำให้จิตสงบก็ได้ พอเราทำจิตสงบแล้วเราออกวิปัสสนา ออกไปดูกาย

ทีนี้ถ้ามันไปดูกาย ถ้ามันเห็นกายโดยความชัดเจน เหมือนถ้าเรามีกำลังดี เราจะสู้ได้หมด แต่ถ้าร่างกายเราอ่อนแอ กำลังเราไม่พอ ยกของหนักไม่ไหว อยู่ที่ตรงนี้ ถ้าเราพิจารณากาย พิจารณาไปแล้วมันขยายส่วนแยกส่วน แล้วมันปล่อยได้ อันนั้นให้ทำไปเลย

พอทำไปปั๊บ พอพิจารณากาย เห็นกาย ขยายส่วน ถ้าจิตมันดีนะ พั้บ! แยก ขยาย วิภาคะไง อุคคหนิมิต วิภาคะ คือ ขยายส่วนแยกส่วน ขยายไปเป็นไตรลักษณ์ปั๊บพลิกไปเลย มันจะพลิกไปเลยแล้วมันก็ปล่อยๆ แต่ถ้ามันบอกว่าขยายส่วน ขยายส่วน ขยายแล้วมันไม่ไป รู้เลยว่าจิตนี้กำลังไม่พอแล้ว เพราะการขยายส่วน ในสมาธิเวลาเราพิจารณานะ ตั้งกาย แล้วรำพึงในกายให้เป็นอย่างนั้น.. ให้เป็นอย่างนั้น..

ในสมาธิเขาบอกว่ามันคิดไม่ได้ นั่นคือคนไม่เคยเป็น สมาธิ-ปัญญา ถ้าสมาธิคิดไม่ได้ ปัญญาจะเกิดจากสมาธิได้อย่างไร คิดในสมาธิไม่ได้หรืออ ก็รำพึงไง มันคนเป็นโว้ย! ไม่ใช่คนตาย ทำไมจะคิดไม่ได้ แต่คิดในสมาธิ นี่ล่ะภาวนามยปัญญา ถ้ามันรำพึงแล้วมันเป็นไป กายมันก็แยกส่วนขยายส่วน นั่นล่ะใส่ไปเลย ใส่ไปเลย ใส่ไป เพราะอะไรรู้ไหม เพราะการวิปัสสนามันไม่ใช่ทำทีเดียวแล้วจบ

มีคนไปถามหลวงตาบ่อย แล้วหลวงตาบอกว่าให้ซ้ำ คำว่า “ให้ซ้ำ” คือว่ามันยังไปได้อีก ในทางลึกคือในจิตใต้สำนึก ในทางลึกมันยังมีข้อมูลของมันอยู่ ที่เรายังไม่ได้ดึงออกมากำจัด มันจะต้องวิปัสสนาไป พอวิปัสสนาไปมันก็เหมือนเราดึงข้อมูล ถ้าสงสัยใช่ไหม ก็ดึงความสงสัย เอ้อ..เข้าใจ เอ้อ..เข้าใจ เอ้อ..เข้าใจ แต่มันยังมีสิ่งที่ลึกกว่านั้น จะต้องซ้ำเข้าไป.. ซ้ำเข้าไป.. จนจนมันล้างเกลี้ยงหมดนะ พึ่บ! กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขาดพั้บ!

ซ้ำไป ซ้ำไป ซ้ำไปเลย

โยม : ตอนนี้ลูกรู้สึกว่าจิตเข้าอุปจารสมาธิได้ง่ายมากเลยค่ะ แล้วพอเข้าไปปุ๊บ พอไปทำงานปุ๊บมันก็จะเริ่มมีอาการ เดี๋ยวก็วูบ เดี๋ยวก็วืบ บางทีก็แบบจิตมันนิ่งไปเลย ๒ ชั่วโมง แบบไม่รับรู้อะไรเลย

หลวงพ่อ : อุปจารสมาธิ ถ้าพูดถึงนะ ผลของสมาธิ เกิดจากเรากำหนดพุทโธ แต่ถ้าเราวิปัสสนา เราใช้พิจารณากายไปแล้วนะ ผลของความว่างเกิดจากปัญญา รสชาติของสมาธิ กับรสชาติของวิปัสสนามันต่างกัน รสชาติของสมาธิ มันเหมือนสมมุติว่าเราร่างกายสกปรก เราอาบน้ำเราก็สะอาด แต่เดี๋ยวก็สกปรกอีก เพราะมันจะต้องขับเหงื่อออกมาเป็นธรรมดา

สมาธินี้ก็เหมือนเราสกปรกใช่ไหม แล้วเราก็อาบน้ำให้สะอาด เดี๋ยวมันก็ออกมาอีก แต่ถ้าเป็นวิปัสสนานะ มันทำความสะอาดเพราะว่า คำว่า สมาธิกับปัญญา ปัญญามันเข้าไปชะล้างข้างในด้วย เหงื่อไคลมันจะน้อยลง ทุกอย่างน้อยลง พอมันสะอาดแล้วมันสะอาดนาน

ฉะนั้นจะบอกว่า ถ้ามันสงบ หรือมันอะไรนี่ก็ย้อนกลับมา บางทีมีคนมาถามบ่อยว่า “ตอนนี้กำหนดพุทโธๆ ไปแล้วมันเฉยเลย.. เฉยเลย..จะให้ทำอย่างไร”

เพราะเราสงสารใช่ไหม เราก็บอกว่า ถ้าเฉยเลยให้อยู่กับมันก่อน คือความสุข อยู่กับมันก่อน แต่ถ้าเป็นความจริงมันจะอยู่ไม่ได้ เพราะคำว่าเฉยนี้คือมันกึ่งๆ มัน ๕๐-๕๐ มันไม่เข้าถึงสมาธิ ถ้าเข้าถึงสมาธินะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าเข้าถึงที่สุดนะ รู้ตลอด มีสติตลอด วื้ดเข้าไปเลยนะ ถึงที่สุด พอถึงอัปปนานะ มันหดตัวเข้ามา จนความรู้สึกของผิวกาย ความรู้สึกของอายตนะนี่ดับหมด แต่มันไม่ดับหรอกนะมันยังรู้อยู่

นี่ล่ะผลของมัน มันจะรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ากึ่งๆ นี่คือมันยังไม่เข้ามา ถ้าไม่เข้ามาปั๊บแล้วมันทำไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไรรู้ไหม ไม่ได้เพราะกิเลสมันหลอกแล้ว มันขี้เกียจ จริงๆ คือมันขี้เกียจแต่เราไม่รู้ เราก็ว่ามันว่างๆ แล้วทำอะไรไม่ได้เลย เราต้องรอขนาดนี้เลย บางทีนะ เราจะถามว่า สมมุติว่านึกพุทโธได้ไหม ได้ค่ะ แล้วมันว่างจริงหรือเปล่าล่ะ ก็มึงไม่นึกเองไง

แต่ถ้ามันกึ่งๆอย่างนี้ปั๊บ เราต้องอัดพุทโธเข้าไปเลย ต้องมีพุทโธๆๆๆ ถ้าพุทโธปั๊บ พุทโธนี้มันจะเป็นกระดานหก เพราะพุทโธๆ คือคำบริกรรม เพราะจิตมันว่างๆ อยู่ใช่ไหม เหมือนกับของที่มันอัดแน่นอยู่ แล้วเราขยายมันออก คือแบบว่าให้อากาศมันผ่านได้ คือเราขยายออกมาแล้ว กำหนดพุทโธปั๊บ มันก็กระเทือนไง อย่างของที่มันอยู่เฉยๆใช่ไหม พอเราพุทโธปั๊บ มันก็ขยับตัว เห็นไหม พอขยับตัวมันก็จะละเอียดเข้าไปได้อีกพุทโธๆ แต่ถ้ามันบอกว่ากึ่งๆ มันว่างๆ นี่คือมันไม่ยอมทำงาน

นี่คือทิฐิอันหนึ่ง มันต้องทำต่อไป คือว่าถ้าเราพุทโธไปอีก หรือว่าเราทำให้มันสงบเข้าไปอีก มันจะมีกำลังมากกว่านี้ไง พอมีกำลังมากกว่านี้ปั๊บ มันละเอียดมากกว่านี้ พอมันออกไปพิจารณากาย มันก็จะได้ผลลึกเข้าไปอีก

โยม : พอดีว่าลูกกำหนดไป พอรู้สึกว่าจิตมันมีอาการวูบแล้ว แต่ว่าตัวมันก็เริ่มไม่รู้สึกแล้ว แต่ว่ามันยังคิดได้อยู่ค่ะ

หลวงพ่อ : ได้

โยม : ลูกก็เริ่มพิจารณาเลย

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : แล้วตอนที่เริ่มพิจารณาตอนนั้นคือไม่ได้ทำสมาธิให้ลึกเข้าไปอีก แต่ว่าพอมันพิจารณาได้ก็พิจารณาเลย

หลวงพ่อ : ไม่ต้อง

โยม : แล้วจิตจะมีอาการรู้สึกว่า อย่างตอนนี้พิจารณาได้ดี พอจิตมันมีการพิจารณาไปแล้วปุ๊บ มันก็จะมีการวืบขึ้นมา แล้วพอคลายออกมา ลูกก็พิจารณาต่ออีก

หลวงพ่อ : อย่างที่เมื่อกี้เราบอกว่า พันธุกรรมทางจิตของคนแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ทีนี้ถ้ามันจะวูบมันก็วูบ ถ้าไม่วูบก็ไม่เป็นไร ถ้ามันวูบเมื่อใด การวูบมันเป็นอาการ เหมือนกับสมาธิ บางทีมันจะลงนะ ความละเอียดหรือความลึกต่างกัน บางทีสมาธิมันจะวูบลงก็มี บางทีมันสงบไปเฉยๆ ก็มี เห็นไหมมันหลากหลาย

โดยข้อเท็จจริง เวลาใครปฏิบัติแต่ละคน เวลาเราตอบปัญหาคนนี้ก็คือข้อเท็จจริงของเขาของคนนี้ แล้วคนอื่นก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงของคนอื่น ถ้าบอกว่าตอบคนนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะไปเอาตาม เหมือนเห็นเขากินไอ้นี่อร่อย แล้วพอเราไปกิน กูกินไม่อร่อยเลย เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจะวูบมันจะอะไร ถ้าสติมีอยู่นะไม่มีเสียเลย มันจะวูบก็วูบไปกับมัน มึงจะไปไหนกูไปกับมึง บางทีมันหลอกนะ มึงตายแล้วนะ อ้าว..ตาย กูขอดูตายก่อน

โอ้โฮ กิเลสมันร้อยแปด ร้อยสันพันคม ถ้ามันจะวูบก็วูบไปกับมัน อยู่ไปกับมัน ถ้าไม่วูบก็ไม่เป็นไร เราจะบอกว่าไม่ต้องวูบทุกทีไป ถ้ามันแบบว่าเราไปคิดว่าวูบนี้ดี พอมันไม่วูบ อ้าว..ทำไมไม่วูบซักทีวะ ทำไมไม่วูบ ก็ผิดอีกล่ะ

โยม : แล้วถ้าเกิดว่าถ้าอยู่ในอารมณ์อาการอันนั้นแล้วพิจารณาได้ดีตรงนั้น เราก็ใช้ความคิดพิจารณาอยู่ตรงนั้นเลยใช่ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ใช่ พอจิตมันดีแล้ว คำว่า “ดีแล้ว” คือเราเคยเห็นกาย แล้วพิจารณากายไปแล้วปล่อยทีหนึ่งนะ เราทำตรงนั้นอีกซ้ำๆๆๆ หมายถึงว่ามันพิจารณาไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราทำงานอะไรซักอย่างหนึ่ง ทำให้มันชำนาญ พอมีความชำนาญปั๊บ เดี๋ยวมันจะคล่องตัว

นี่ไงเวลาทำสมาธิ หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า “ชำนาญในวสี ชำนาญในเหตุ ชำนาญในการเข้าการออก แล้วสมาธิจะไม่เสื่อมเลย”

แต่ถ้าเราไปบอกว่ารักษาสมาธิไว้ จะเสื่อมหมด เพราะไปรักษาที่ผลของมัน แต่ถ้าทำงานคือเราอยู่ที่เหตุของมัน แล้วผลมันจะไปไหน เรารักษาเหตุและผล สมาธินี่ถีบมันยังไม่ไปเลย ถ้าเรารักษาเหตุไว้ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ธรรมทั้งหลายมาจากข้อมูลอันนี้

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันวิปัสสนามันทำได้แล้วมันปล่อย ขออย่างเดียวให้ซ้ำไปเรื่อยๆ เห็นไหม เราพูดบ่อยนะ ถ้าเราเข้าซอยบ้านเราถูก เราจะเข้าไปถึงบ้านเรา ถ้าเราอยู่ถนนใหญ่ เราเข้าซอยไม่ถูกนะ นึกว่าซอยนี้บ้านเรานะ เข้าไปนะหาไม่เจอทุกที เข้าซอยไหนทุกซอยเลย แต่จะไม่เห็นบ้านตัว แต่ถ้าเข้าซอยบ้านเราถูก ถึงก้นซอยต้องถึงบ้านเรา วิปัสสนาถูก ทำสมาธิที่ถูก มันจะไม่ไปไหนหรอก มันจะพุ่งเข้าไปที่ฐีติจิต พุ่งเข้าไปที่ภวาสวะ ที่ภพ ถ้ามันพุ่งเข้าไปที่จิตแล้วไปทำลายที่จิตแล้ว คูหาของมัน เสือในถ้ำนั้นต้องโดนทำลายแน่นอน

โยม : ครั้งที่แล้วที่มากราบท่านอาจารย์ ที่ว่าตอนนั้นนะคะ แล้วท่านอาจารย์บอกให้กระตุ้น ลูกกลับไปก็ไปกระตุ้น อย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่าให้เอากระดูกผูกคอ

หลวงพ่อ : นั่น บางทีกิเลสมันฉลาดกว่าเราไง พอธรรมะมันเกิดปั๊บ มันรีบหลบเลย หลบเข้าไปอยู่ในใจเลย เอ้ย..หมดแล้วหมดแล้ว แล้วเราก็เชื่อนะ ถ้าไม่มีวาสนามันจะเชื่อ พอมันเชื่อปั๊บ คำว่า “หมดแล้ว” เราก็จะชะล่าใจ พอชะล่าใจแล้วจิตก็จะเสื่อม พอเสื่อมปั๊บมันโผล่ออกมานะ คราวนี้มันขย้ำเลย มันขี่คอเราเลย

อู้ กิเลสนะ ถ้าเราสู้มันไม่ได้นะก็เป็นอย่างนี้ ภาวนานี่มันกระทืบทุกวันเลย พอสู้มันได้แล้ว พอสู้มันได้นะ ไม่ใช่มันจะยอมแพ้นะ มันหลบก่อน หลบให้เราเผลอ หลบให้เราชะล่าใจ พอเราชะล่าใจพอมันเสื่อมแล้วนะ อันนี้คราวมันแล้วนะ จิตเสื่อมไง โอ้ย..

ทุกคนมีหมด ถ้าบอกว่าเป็นเราแล้วเราจะไม่กล้าทำอะไรเลย ความคิดเป็นเรา เราเป็นคนดี ทุกอย่างดีหมดเลย โอ้โฮ กิเลสมันกินสบายเลย แต่ถ้าบอกว่าไม่ใช่เรา กิเลสเกิดดับ เราคือเป้าหมายที่เป็นความดีของเรา กูจะสู้กับมึง กว่าจะสู้กับมันได้นะ เราต้องตั้งใจและสู้จริงๆ แล้วมันจะได้ แล้วถ้ามันทำแล้ว ถ้ามันสุดวิสัย ไม่ได้ก็คือได้ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว ภพชาติจะสั้นเข้ามา

ทำไมพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ไปฟังเทศน์สัญชัยมา ไปฟังเทศน์พระอัสสชิ แล้วไปชวนสัญชัยมาบวช เห็นไหม พอพระพุทธเจ้าเห็นนะ “อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาเรามาแล้ว” ยังไม่ได้บวชพระเลยนะ พอบวชเสร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ตั้งให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา พระเขาติเตียน ในพระไตรปิฎกนะ พระเขาบอกว่าพระพุทธเจ้าลำเอียง ทำไมไม่ตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก ทำไมไปตั้งพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ใช่ ตั้งตามเนื้อผ้า ตั้งตามสิ่งที่เขาสร้างมา เขาปรารถนามา” เพราะเขาปรารถนามาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายนะ เขาต้องสร้างบุญญาบารมีมาต่างกัน พระพุทธเจ้าต้องสร้างเป็นพระโพธิสัตว์มา สร้างบารมีมามากกว่า บารมีมากกว่าหมายถึงว่า เกิดตายมากกว่าเราแสนๆๆ ชาติเลย ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เห็นไหม อัครสาวกเขาต้องมีมากกว่า ทีนี้พอมีมากกว่า มันก็สร้างได้มากกว่า จิตมันมีกำลังได้มากกว่า นี่ไงที่บอกว่า แต่ละองค์แต่ละการกระทำมันไม่เหมือนกันตรงนี้ไง คือว่าของๆเขา คือพระพุทธเจ้าไม่ได้ทำอะไร พระพุทธเจ้าตั้งตามที่เขาทำมา แต่โลกบอกว่า พระพุทธเจ้าลำเอียง

ย้อนกลับมาที่การปฏิบัติ มันก็เป็นของใครของมัน ก็เขาทำมาอย่างนี้ เขาสร้างของเขามาอย่างนี้ แล้วเราจะไปบิดเบือน ถ้าพูดถึงเขาทำมาอย่างนี้แล้วเราไปบิดเบือนนะ มันก็ไม่เข้าถึงข้อมูลของเขาเหมือนกัน

แล้วเวลามาหาเรา เวลาตอบใครเหมือนไม่ได้ตอบ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะกูเปิดหลายๆ ช่องเลยนะ มึงจะเข้าช่องไหนก็ได้ ถ้ากูไปบอกช่องใดช่องหนึ่งนะ เดี๋ยวมันไปขัดตรงนี้ มันไปขัดที่ว่าเขาควรจะเข้าช่องนี้ ทีนี้เวลามาหาเรา เราจะเปิดหลากหลายเลยเห็นไหม จะบอกว่าช่องนี้ก็ได้ มึงเลือกเลยจะเข้าช่องไหนก็ได้

 

โยม : การที่บอกว่าซ้ำเข้าไป.. ซ้ำเข้าไป..ที่ผมฟังอยู่เรื่อยๆ นี่หมายถึง ซ้ำพุทโธเข้าไปใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ใช่ ต้องซ้ำ ทุกคนต้องซ้ำ ทุกคนต้องทำต่อเนื่อง ไอ้นี่ก็เหมือนกันเวลาพิจารณาเราต้องซ้ำเข้าไป เพราะที่เราไม่ซ้ำเข้าไปคือว่า เราทำได้อีกขนาดไหนแล้วเราก็หยุดไง พอหยุดเดี๋ยวกิเลสมันก็กระทืบเอา แต่ถ้าดีขนาดไหนนะ ซ้ำเข้าไปนะ สิ่งที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ วันนี้ดี ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พอซ้ำเข้าไปจะเป็น ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ซ้ำเข้าไปดี ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ซ้ำเข้าไป ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ตูม สมุจเฉทปหาน ขาด

กี่ร้อยล้านต่อหนึ่ง กี่พันล้านต่อหนึ่ง ทีนี้พอมันทำได้แล้วมัน โอ้โฮ ถ้าทำได้แล้ว พอมันเป็นความจริงนะ มันเป็นธรรมแท้ๆ ที่ถามว่าศาสนาพุทธมันอยู่ที่ไหน ศาสนธรรมคำสั่งสอน พระพุทธเจ้าก็นิพพานไปแล้ว สาวกก็นิพพานไปแล้ว แต่ตัวธรรมยังอยู่ พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้ธรรมอันนี้ แล้วถ้าเราปฏิบัติไปมันก็ถึงธรรมอันนี้ ศาสนาอยู่ที่นี่

ศาสนา คือ ข้อเท็จจริง ธรรมที่จริงๆ อันนี้ ไอ้นี่มันบุคคล ไอ้ทำอย่างนี้มันคือพิธี ศาสนวัตถุ พวกนี้ย่อยสลายหมด อนิจจังหมด ไม่มีอะไรคงที่เลย ตัวธรรมเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี ชั่วคราวหมด มันไม่มีอะไรคงที่ ของคงที่ไม่มี แต่ถ้านิพพาน ถ้าโสดาบันปั๊บ คงที่ส่วนหนึ่งแล้ว เพราะ ๗ ชาติ สกิทาคามีก็คงที่ อนาคามีไม่เกิดในกามภพแล้ว นู้นเกิดเป็นพรหมไปเลย เพราะยังมีอะไร ยังมีภพอยู่ มีความรู้สึกอยู่ แต่ถ้าพระอรหันต์ไม่มี ทำลายหมด

อาสะเวหิ จิตตานิ วิมุจจิงสูติ ตัวจิตนี้เขาบอกว่าเข้านิพพานอย่างไร เข้าไม่ได้นิพพานเข้าไม่ได้ นิพพานเป็นได้แต่เข้าไม่ได้ เพราะเข้าไปคือมีตัวตนเข้าไป เป็นไปไม่ได้ นิพพานจะเอาอะไรเข้าไป เอาเข้าไปก็เป็นทิฐิ แต่นิพพานเป็นได้ เข้าไม่ได้เป็นได้ ตัวจิตเป็น งงไหมล่ะ

 

โยม : ลูกว่าถ้าแยกจิตนี้ออกจากความคิดได้ อย่างที่พระอาจารย์เคยสอนการแยก ลูกว่ามันจะเข้าสมาธิได้ง่ายมากเลย ถ้าแยกได้

หลวงพ่อ : มันอยู่ที่จริตไง ถ้าแยกได้ ถ้าแยกได้ ดูจิตได้ มันเป็นการปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ พุทโธๆ จนตัวจิตมันจะเป็นโดยตัวของมันเอง มันจะหดเข้ามาโดยตัวของมันเอง ถ้าหดเข้ามาโดยตัวของมันเองก็คือตัวจิต ตัวจิตคือตัวสมาธิ เราจะบอกว่าตัวสมาธิคือออฟฟิศ คนทำงานต้องมีสถานที่ทำงาน ถ้าจิตสงบคือที่ทำงานของจิต ถ้าจิตไม่สงบเข้ามาเราจะไปทำงานที่ไหน นักกีฬายังมีสนามซ้อมเลยนะเว้ย แล้วมึงจะสู้กับกิเลส มึงจะสู้กันตรงไหน ถ้ามึงจะจับกิเลสมึงจับกันที่ไหน ถ้าจิตมันไม่หดเข้ามาที่ตัวมัน กิเลสมันอยู่ที่นี่ ถ้ามึงจะเอาลูกเสือมึงต้องเข้าถ้ำเสือ ถ้ามึงไม่เข้าถ้ำเสือมึงไม่เห็นลูกเสือหรอก แล้วก็ว่างๆว่างๆ กูว่ามึงบ้า เราไม่เข้าถ้ำเสือแล้วเราจะเจอลูกเสือเหรอ ถ้าเราไม่เข้าสมาธิ จิตเราไม่สงบเข้ามา มันทำงานกันตรงไหนล่ะ

ความคิดมาจากไหน ความคิดมาจากฐาน คือจากภพ จรวดยิงออกไปจากฐาน ความคิดออกไปจากจิต แล้วจิตมันเป็นอะไร จิตมันเป็นพลังงานเฉยๆ นะ ความคิดไม่ใช่จิต ถ้าสงบปั๊บ มันก็เข้าไปที่ตัวจิต สมาธิคือตัวจิต ฐีติจิต แล้วชำระล้างเป็นชั้นๆ เข้าไป

จบหรือยังล่ะ