ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ด้วยความไม่รู้

๑ มี.ค. ๒๕๕๓

 

ด้วยความไม่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม – ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


พูดถึงหลักการภาวนา ถ้าหลักการภาวนานี่เราภาวนาแล้วเราจะมีความสงสัย ความสงสัยมันเป็นพื้นฐานของเราอยู่แล้วใช่ไหม ฉะนั้นกิเลสมันไม่มีเหตุผลอะไรกับเรานะ เราต่างหากหาเหตุผลหาธรรมะเข้าไป เพื่อให้กิเลสมันยอมรับปล่อยให้เรามีอิสรภาพบ้าง แต่กิเลสมันไม่มีเหตุผล ฉะนั้นถ้าไม่มีเหตุผลเหมือนเรานี้เป็นเด็ก ดูสิ อย่างถ้าเป็นผู้ใหญ่เราทำผิดทำถูกผู้ใหญ่อธิบายเหตุผลเรายอมรับใช่ไหม แต่เด็กนี่นะ ดูพ่อแม่สิ ถ้าเด็กเราเล็กๆนี่อธิบายเหตุผลจนเป็นคุ้งเป็นแควนะ “ก็หนูจะเอาง่ะ” ก็หนูจะเอามันไม่มีเหตุผลหรอก ดูความไร้เดียงสาของเด็กมันเป็นอย่างนั้น

กิเลสก็เหมือนกันเอ็งอธิบายให้มันฟังสิ เอ็งหาผลมาโต้แย้งมันสิ เอ็งหาเหตุผลมาเถอะหาเหตุผลมายังไงแต่เราชอบน่ะ เอ็งหาเหตุผลมาให้เท่าไหร่ “ก็จะรักง่ะก็จะเอาง่ะ” และเอาไม่อยู่หรอก ฉะนั้นจึงบอกว่าคำว่า พุทโธ พุทโธนี่ กิเลสมันไม่มีเหตุผล ในเมื่อกิเลสไม่มีเหตุผล แล้วผู้ปฏิบัติใหม่นี่จิตใจเราก็เหมือนเด็กอ่อน จิตใจเราก็พึ่งจะหัดเดิน เราจะเอาเหตุผลอะไรไปอธิบายให้จิตใจเรายอมรับ ฉะนั้นไม่ต้องไปอธิบายให้มันฟัง พุทโธ พุทโธเนี่ยคำบริกรรมนี่เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึก เปลี่ยนจากเราคิดสิ่งต่างๆ เราอยู่กับภาวะสิ่งต่างๆของมัน ให้มาอยู่กับพุทโธ พุทโธ

พุทโธ พุทโธนี่คือ พุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสติเราไปเกาะพุทโธไว้ ไม่ต้องเอาเหตุผลไปอธิบายกับมันหรอก เว้นไว้แต่... ต้องพูดเป็น ๒ ประเด็นเลย เว้นไว้แต่เราเป็นคนที่มีบารมีที่เขาเรียกว่าพุทธจริต ปัญญาจริต ปัญญาจริตนี้ให้พุทโธ พุทโธ คำว่าพุทโธ พุทโธ เข้าไปนี่มันก็ไม่ยอมรับอีก ถ้าพุทโธไม่ยอมรับก็นี่ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” มันใช้ปัญญาไล่ไป ปัญญาไล่ความคิดไป งงไหม โดยสามัญสำนึกคือความคิดของเราใช่ไหม เราก็มีสติปัญญาตามความคิดเราไป ความคิดมันเป็นจริงอย่างที่เราคิดไหม ที่เราคิดคิดขึ้นมานี่ไม่จริงสักอย่างเลย

ถ้าไม่จริงสักอย่าง พอมันทันปั๊บมันก็หยุด นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าคำบริกรรมนะ โดยสามัญสำนึกนี่พุทโธอย่างเดียว ไม่ต้องเอาเหตุผลไปอ้างกับมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไปเลย นี้คำว่าพุทโธนี่คือพุทธานุสติ

จากจิตเสวยอารมณ์ จิตนี้คือพลังงาน ตัวจิตแท้ๆคือตัวพลังงาน ความคิดมันทำให้พลังงานนี้แสดงตัว ถ้าไม่มีความคิดพลังงานแสดงตัวที่ไหน พลังงานคือตัวจิตคือตัวธาตุรู้ความคิดคือขันธ์ ๕ ความคิดน่ะถ้าเราไม่มีความคิดเราไม่คิดนะตัวเราอยู่ไหน บางทีเรามีความสบายใจ เราปล่อยหมดเลยเราว่างๆสบายๆนี่ ความคิดไม่มีนะ เป็นสมาธิหรือเปล่า ไม่เป็น ไม่เป็นหรอกมันเป็นความเหม่อลอย มันเหมือนกับรถปลดเกียร์ว่างไงเราติดเครื่องบึ้นๆเหยียบยังไงมันก็ไม่ไปหรอก แต่ถ้าเข้าเกียร์นะพอเหยียบรถก็พุ่งเลย นี่คือจิตเสวยอารมณ์

เราถึงบอกว่าจิตนี้คือพลังงาน ความคิดนี่เป็นสัญชาตญาณ ทีนี้เมื่อความคิดเป็นสัญชาตญาณพอมันเสวยอารมณ์ก็เหมือนระหว่างที่รถมันไม่ใช่เกียร์ว่าง รถเกียร์ว่างนะติดเครื่องปั๊บมันทดเกียร์แล้ว มันจะส่งพลังงานไปที่เพลาส่งพลังงานไปที่ล้อมันจะหมุนไป นี่ไงความคิดของเรามันจะหมุนอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ทีนี้พุทโธ พุทโธเนี่ยพลังงานมันก็หมุน พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันปลดได้ไง พอมันปลดได้ มันก็ว่างได้ ความว่างนั้นคือสัมมาสมาธิ

ฉะนั้นถึงบอกว่า คำว่าเปลี่ยนอารมณ์นี่มันธรรมชาติของมัน มันคิดของมันอยู่อย่างนั้น แต่เราไม่มีกำลัง เราไม่สามารถจะยับยั้งมันได้ใช่ไหม เราเลยเปลี่ยนอารมณ์เปลี่ยนมาพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไง เราไปเปลี่ยนปั๊บพุทโธเป็นวิตกวิจารใช่ไหม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตกวิจารนึกมา พุทโธเป็นคนนึกนะ โอ้ย ถ้าพุทโธนะพุทโธเป็นสมาธิ เราเขียนพุทโธไว้เลยเขียนพุทโธไว้ที่บ้านเลย พุทโธเรามีอยู่แล้วเพราะเราเขียนไว้แล้ว มันเป็นไหม ไม่เป็น เพราะไม่มีใครนึก ไม่มีใครเป็นเจ้าของพุทโธนั้นเพราะเราเขียนแปะไว้ข้างฝาบ้าน แต่ถ้านึกพุทโธเนี่ยใครเป็นคนนึก จิตเป็นคนนึกขึ้นมา จิตเราเป็นคนนึกขึ้นมา รากฐานของเรานึกขึ้นมา พุทโธ พุทโธ พุทโธเนี่ย เห็นไหมถึงบอกมันไม่ถอนรากถอนโคนไง

ทีนี้ถ้าพุทโ ธ พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ เห็นไหม

ประเด็น: เขาถึงบอกว่าคำที่ว่า.. ต้องนึกพุทโธคือการดูจิตเป็นหลัก พุทโธเป็นตัวรองเท่านั้นเอง พุทโธให้รู้ทันจิต จิตเป็นไงให้รู้ไว้ไม่ใช่พุทโธเพื่อให้จิตนิ่ง ของคุณพุทโธแล้วน้อมจิตไปสู่ความนิ่งมากเกินไป

หลวงพ่อ: ถ้าไม่พุทโธให้จิตนิ่งแล้วพุทโธทำไม ก็พุทโธเพื่อให้จิตนิ่ง นี่พุทโธ ถ้าจิตมันนิ่งของมันใช่ไหม นิ่งพุทโธ พุทโธ พุทโธเนี่ยหลวงตาบอกว่าพุทโธนะมันเป็นอารมณ์สอง อารมณ์สองคือ…พลังงานคือเราหนึ่ง พุทโธคือเรานึกขึ้นเป็นสอง

ในความคิดกับเรามันเป็นสัญญาอารมณ์เป็นของคู่ โดยธรรมชาติของคนเป็นของคู่เพราะเป็นพลังงานอยู่แล้วใช่ไหม แล้วเราก็พยายามเปลี่ยนความคิดเป็นพุทโธ พุทโธ ถ้าความคิดนี้เป็นคู่ พุทโธ พุทโธเป็นของคู่ มันยังหยาบอยู่ไง พุทโธ พุทโธเนี่ย เขาบอกว่าไม่ใช่พุทโธเพื่อให้จิตนิ่ง พุทโธเนี่ยเป็นของคู่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่เป็นชื่อนะ พุทโธ พุทโธ บ่อยๆเข้ามันจะมีอาการเปลี่ยนแปลง ตามธรรมดาโดยธรรมชาติของมันพอมีการเปลี่ยนแปลงเห็นไหม คือความรับรู้ของมันต่างๆ ความคิดกับพลังงานมันไปด้วยกัน พอไปด้วยกันมีตัณหาทะยานอยาก มันก็คิดแต่ความพอใจของมัน

ทีนี้พุทโธ พุทโธนี่มันเป็นพุทธานุสติ พลังงานนี่มันอยู่กับพุทโธแล้วตัณหาทะยานอยากมันจะดิ้นล่ะ มันจะดิ้นไปตามความคิดของมัน มันจะดิ้นไปตามอารมณ์ของมันแล้วมันไปไม่ได้ใช่ไหม พอมันไปไม่ได้นี่มันโดนควบคุม พอพุทโธ ไปเรื่อยๆมันจะเกิดอาการเห็นไหม พอพุทโธ ทุกคนจะเกิดอาการเบา เกิดอาการเคลิ้ม อาการที่มันจะเกิดนี่เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลง แล้วไปตกใจอะไร มันจะเปลี่ยนอย่างไรมันก็ธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของพุทโธ พุทโธ เพราะอะไรเพราะระยะสั้นของมันจะหดเข้ามานะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนมันละเอียดเข้ามา จนมันเป็นพลังงาน เป็นพลังงานนี่มันนึกพุทโธไม่ได้แล้ว จากของคู่มาเป็นหนึ่ง หนึ่งนี่มันนึกพุทโธไม่ได้ นั่นแหละคือสมาธิ มันนึกไม่ได้ พอนึกไม่ได้ปั๊บอยู่กับสมาธิพักหนึ่งพอมันคลายออกไปมันก็คิดได้ ถ้ามันเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวนี่มันไม่มีการกระทบ ไม่มีการรับรู้กันมันจะมีความคิดไหม ความคิดกับจิตมันเป็นอันเดียวกันแล้ว แต่มันจะเป็นอันเดียวได้เพราะเหตุใด เป็นอันเดียวกันได้เพราะการบริหารของเราไง

การบริหารสติที่มันนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธที่เราทำกันอยู่นี่ ทีนี้นะมันเป็นไปได้ยาก แต่โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น คำว่าพุทโธนี่ก็เพื่อให้จิตนิ่ง พอจิตถ้ามันจะนิ่ง นิ่งเป็นหนึ่งสมาธิคือหนึ่ง ปกติเราเป็นสอง ปกติพวกเรานี่มีความคิดกับความรู้สึก เราไม่คิดเลยนี่มีความรู้สึกไหม มี พอมีความรู้สึกขึ้นมานี่ความรู้สึกคือตัวพลังงานของจิต แล้วความคิดมันคืออะไร ความคิดคือสามัญสำนึกคือ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ของเรามันมีอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งนี้มันคือธรรมชาตินะ นี่ไม่ใช่กิเลสนะ แต่กิเลสตัณหาทะยานอยากมันยุตรงนี้ไง มันคอยสอดแทรกตรงนี้ไง ให้ความคิดมันบรรเจิดไปเลยนะ โอ้ อยากได้เงิน ๕๐๐ ล้าน ชาตินี้เกิดมาจะเป็นเศรษฐีนะ บรรเจิดเลยนะ ยิ่งภาวนานะกูนะกูจะเป็นพระอรหันต์ แล้วหันไปไหน หันลงนรกไง เพราะมันไม่มีพื้นฐานเลยไง มันไม่มีพื้นฐานอะไรรองรับเลย มึงเอาอะไรไปรองรับความคิดมึง มึงมีความรู้ได้อย่างไร

นี่พื้นฐานเฉยๆนะจิตเดิมแท้ไง ฐีติจิตทุกคนต้องกลับไปที่จิต เห็นไหมเราใช้คำว่าถ้าคนสร้างบริษัทต้องจดทะเบียนบริษัท คนจะทำธุรกิจเขาต้องมีบัญชี แล้วถ้าเราเปิดบัญชีได้ถ้าใครเปิดบัญชีได้มันจะมีการโอนเข้าโอนออกในผลประโยชน์ของเรา ถ้าเราเปิดบัญชีไม่ได้มันจะโอนอะไรเข้ามา เอ็งเข้าสู่จิตไม่ได้ เอ็งเข้าสู่ขั้วของเอ็งไม่ได้แล้วเอ็งจะทำอะไร สินค้าส่งมาส่งมาเลยเดี๋ยวกูโอนเงินให้แต่เอ็งไม่มีบัญชีใช่ไหม กูก็โอนเข้ากระเป๋ากูเองนี่ไงส่งสินค้ามาเลยส่งมาเอ็งไม่มีบัญชีใช่ไหม เดี๋ยวโอนให้เซ็นต์ให้หมดเลยเซ็นต์เข้าบัญชีกูนี่ไง เอ็งได้อะไรละ เอ็งก็เสียเปล่า

ถ้าเราไม่เข้าสู่จิตของเรา ผลประโยชน์นี้ตกอยู่กับใคร ความเป็นจริงบุญกุศลตกอยู่กับใคร ฉะนั้นที่พุทโธ พุทโธไปเนี่ย แหม… พุทโธนี้เพื่อไม่ให้จิตนิ่ง ถ้าจิตนิ่งมันนิ่งเกินไป แล้วครั้งต่อไป ไม่ต้องรอ เขาบอกว่าต้องดูกายไหม ไม่ต้องดูหรอกให้พุทโธๆพอจิตอยู่กับความนิ่ง อย่าให้แอบไปคิด ถ้าแอบไปคิดมันจะนิ่งได้อย่างไร ไอ้อย่างนี้มันเป็นโวหารมันเหมือนยาขอบเลย ยาขอบที่เขียนผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะสิบทิศนี่มันมีเกร็ดประวัติศาสตร์นะโว้ย มันมีเกร็ดประวัติศาสตร์มันมีใช่ไหม เขียนเลยผู้ชนะสิบทิศ โอ๋.. อ่านกันติดกันทั้งบ้านทั้งเมืองเลย

นี่ก็เหมือนกันจิตแอบคิด จิตเพ่ง จิตรู้นี่มันนิยายธรรมะนะ เขียนนิยายไว้เรื่องหนึ่ง โอ้โฮ มันแบบว่าติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง จิตแอบคิดเอ็งรู้แล้วหรือว่าจิตอยู่ไหน จิตอยู่ไหนสิ่งที่คิดมันคืออะไร นี่ไงถ้ากรณีอย่างนี้มันฟ้องถึงว่าจิตยังไม่เคยสงบ แต่เวลาพูดนะ…

ประเด็น: อย่างอันนี้ เรื่องของพุทโธก็เหมือนกัน เรื่องของอานาปานสติก็เหมือนกัน พอถึงแล้วนะ ดูจิตด้วยอานาปานสติ แต่เดิมเราอานาปานสติ สติกับจิตเราไหลไปอยู่ที่ลม มันเลยไปสงบอยู่ที่ลม เราต้องเปลี่ยนใหม่ทำอานาปานสติแล้วเราต้องเห็นกาย เราเห็นร่างกายหายใจเรื่อยไป เราลืมตานั่ง นั่งดูร่างกายที่หายใจไป

หลวงพ่อ: นี่มันผิดนะ มันผิดที่ไหนรู้ไหม มันผิดว่าแต่เดิมเราทำอานาปานสติแล้วมันไหลไปอยู่ที่ลมเห็นไหม มันไปสงบอยู่ที่ลม ลมมันสงบได้ไหม จิตไปอยู่ที่ลมแล้วลมสงบได้ไหม งั้นกูเอาจิตไปฝากไว้ที่ไหนก็ได้ เดี๋ยวกูเอาจิตเข้าตู้เซฟ แล้วกูจะไขให้มันสงบอยู่ในตู้เซฟนั่นนะ เพราะมันไปอยู่ที่ลมไง อานาปานสติเห็นไหม คำบริกรรมคำเกาะนี่จิตมันไปเกาะไว้เป็นที่พักอาศัย อย่างเด็กหัดเดินเขาก็มีราวให้เด็กเกาะให้หัดเดินใช่ไหม เราจะเอาราวหรือเราจะเดิน เราเดินไม่ได้เราก็อาศัยราวนั่นเกาะเดินไป แต่พอเราเดินได้เราก็ทิ้งราวนั้นเพราะราวนี่เหมือนเราจ๊อกกิ้งเหมือนเราเดินบนสะพาน เดินอยู่กับที่แต่สะพานมันหมุนไปให้เหมือนกับเราเดิน นี่ก็เหมือนกันสะพานมันให้เราหัดเดิน

อานาปานสติกับคำว่าพุทโธ พุทโธก็เหมือนกัน พุทโธ อานาปานสติกรรมฐาน ๔๐ ห้อง มันเป็นที่เกาะของจิตทั้งนั้น ทำเพื่อให้จิตสงบ ไม่ได้ทำเพื่อราวนั้น ไม่ได้ทำเพื่อพุทโธ ไม่ได้ทำเพื่ออานาปานสติ ไม่ได้ทำเพื่ออะไรเลย ทำเพื่อจิตสงบแต่มันเป็นอุบายเป็นกรรมวิธีที่พระพุทธเจ้าสอนหลักการไว้ให้เราเอาอันนี้เป็นที่ฝึกหัด ฝึกหัดเพื่อผลตอบสนองมาให้เราได้รับความสงบ แล้วพอจิตเราได้รับความสงบจิตเราก็จะใช้ปัญญาต่อไป เราจะได้พัฒนาไป มันเป็นผลประโยชน์ของจิตเรา แต่นั่นคือวิธีการไงเห็นไหม

เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก เวลามีแพมีเรือมาถึงท่าถึงฝั่ง แล้วถ้าไม่ทิ้งเรือทิ้งแพรเอ็งก็ขึ้นฝั่งไม่ได้ เรือแพเราอาศัยไปใช่ไหม คำบริกรรมอานาปานสติ พุทโธ นี่เครื่องอาศัยทั้งนั้นเนี่ยพุทโธๆๆเพื่อให้จิตสงบไง แต่นี่มาบอกพุทโธนะจิตนิ่งเกินไป จิตมันจะนิ่งเกินไป ต้องให้คิดไปด้วยอย่าพุทโธอย่างเดียว โอ้… กูปวดหัวเลยนะ กูงง เพราะเราพุทโธก็เพื่อไม่ให้มันแส่ส่ายใช่ไหม แต่พอเราพุทโธไปแล้วเนี่ยก็บอกว่าต้องคิดไปด้วย เพราะมันจะนิ่งเกินไป ก็เราหนีสิ่งนั้นมา เราหนีความคิดที่มันแส่ส่าย มันคือความฟุ้งซ่านเราหนีสิ่งต่างๆนั้นมา มาเพื่อความสงบ แล้วทำไมเวลาพุทโธ พุทโธแล้วบอกว่ามันนิ่งเกินไปต้องออกใช้ความคิดอีก นี่นะแสดงถึงประสาเรานะ สมุฏฐานของโรคก็ไม่รู้ อะไรคือโรคก็ยังไม่รู้เลย อะไรเป็นสิ่งที่เราจะแก้ไข อะไรคือสิ่งที่เราจะปรารถนา นี่ก็พูดไปเรื่อยเปื่อยผู้ชนะสิบทิศเนี่ย

แล้วพอมากำหนดลมเห็นไหม จิตมันไปสงบอยู่ที่ลม แล้วลมสงบได้หรือ ถ้าสงบได้กูก็เอาใจกูไปวางที่ไหนให้มันสงบก็ได้ เรากำหนดไปเรื่อยๆ พวกนี้ไม่เคยทำ ถ้าทำกำหนดอานาปานสติกำหนดลมนี่มันจะละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ลมเนี่ยละเอียดละเอียดเพราะอะไรรู้ไหม ละเอียดเพราะจิตเราละเอียด ถ้าจิตเราหยาบเราจะรู้ความหยาบหยาบพอจิตเราละเอียดเข้าไป เราจะรู้ความละเอียดเข้าไป ใครรู้ลมไม่รู้ตัวหรอกจิตเนี่ยรู้ เห็นไหมเขาบอกเขาทำสติปัฏฐาน๔ เหมือนกัน เราบอก ไม่มีหรอก สติปัฏฐาน๔ที่เขาทำไม่มีหรอก สติปัฏฐาน๔ ต้องจิตรู้จิตเห็นนี่ที่เขาเห็นอสุภะ เห็นอะไรต่างๆ

การปฏิบัตินะถ้าจิตไม่สงบ ไม่ออกรู้ ไม่เป็นการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัตินี้กลับมาชำระจิตอย่างเดียว จิตตัวนี้มันต้องเป็นพื้นฐานให้ได้ก่อน เห็นไหมครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องให้ได้สมาธิก่อน ได้หลักได้เกณฑ์ก่อนแล้วค่อยออกไปทำงาน ฉะนั้นพอกำหนดลมเนี่ยเห็นไหม มันสงบอยู่ที่ลม พอสงบอยู่ที่ลมนี่ทำอย่างนี้มันผิดอีกละต้องหายใจ ต้องหายใจต้องลืมตาต้องดูกาย โธ่… เวร ความสงบจริงๆยังไม่รู้จัก เราถึงพูดตลอดว่าสงบเนี่ยเขาไม่รู้หรอกเขาไม่รู้จักสมาธิ ถ้าเขารู้จักสมาธินะ คำพูดที่ปล่อยไก่อย่างนี้จะไม่พูดออกมา

สมาธิเขายังไม่รู้จักนะ โธ่..ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกนะ ผลของสมาธินะ สมาธินี่จะให้เรามีที่พึ่งอาศัยได้

ประเด็น: เนี่ยทำใจไป ทวนกำลังไปโดยสติปัญญาให้มันว่องไวขึ้นเรื่อยๆ ให้รู้ชัดอะไรแอบแฝงเข้ามาก็ต้องรู้ สติระลึกปั๊บปัญญาจะส่อง ส่องเข้าไปขาดสะบั้นหมดเลย

หลวงพ่อ: อะไรแอบแฝงเข้ามา กิเลสแอบแฝงเข้ามาจากไหน กิเลสนะมันอยู่ในหัวใจเรา มันแสดงออกมาจากข้างใน รูป รส กลิ่น เสียงไม่ใช่บ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช่ทั้งสิ้น อะไรก็แล้วแต่ทองคำก็ไม่ใช่กิเลสนะ ทองคำเงินทองเป็นกิเลส กระดาษเป็นกิเลสไหม ข้างนอกนี่ไม่มีอะไรเป็นกิเลสเลย ไม่มีเลย ใจเราต่างหากมันอยู่ข้างใน เราไปติดมันต่างหาก อะไรแอบแฝงเข้ามา ไม่มี มันเกิดจากภายใน

สิ่งนี้เป็นของยั่วเย้าของยุแหย่ เป็นสิ่งเร้าเท่านั้นเอง ถ้าสิ่งเร้านี่เรามีอยู่แล้วใช่ไหม พอเจอสิ่งเร้ามันก็ขึ้นนะสิ แต่ถ้าเราไม่มีนี่สิ่งเร้าจะเร้าแค่ไหนก็เร้าไปสิ ไม่เกี่ยวอะไรกับกูนะ แต่เรามีจากภายในนะ นี่เขาบอกว่ากิเลสมันแอบแฝงเข้ามา ถ้าปัญญาส่องเข้าไปขาดสะบั้นหมดเลย ขาดหมดเลย นี่ไงเพราะอะไรรู้ไหม ก็เพราะมันแอบแฝงเข้ามา มันขาดได้มันรับรู้ได้ใช่ไหม มันอยู่ข้างนอกใช่ไหม มันขาดได้แล้วข้างในมึงขาดหรือเปล่าล่ะ ข้างในมึงเห็นหรือเปล่า สิ่งเร้าสิ่งต่างๆถ้าเรามี…

อย่างพระเราเนี่ยพระป่าเห็นไหม เข้าป่าเข้าเขาเพื่ออะไร ไปอยู่คนเดียวไงในสถานที่วิเวกเห็นไหม กายวิเวก จิตวิเวก มันต้องวิเวก หลบเข้ามาให้วิเวก เพราะถ้าไม่วิเวกเราก็แย่อยู่แล้วใช่ไหม เราไปเจอสิ่งเร้าเราก็ไปหมดเลยใช่ไหม เราเข้าไปควบคุมตัวเราไว้ก่อน ควบคุมเราฝึกหัดตัวเราไว้ก่อน นี่พระพุทธเจ้าให้เราเห็นอย่างนั้นให้รับรู้อย่างนั้น เขามาให้ดูนะ เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ยอมรับพุทโธ เราดูแล้วมันก็ปวดหัวนะ ปวดหัวเพราะคำพูดอย่างนี้นะ คำพูดคำสอนอย่างนี้แล้วเราปฏิบัติตามความเชื่ออย่างนี้ พอตามความเชื่อนี้ปั๊บเราก็ว่าเราปฏิบัติกันถูกแล้วไง เอ้า เขาไม่ให้ดูจิตเขาให้พุทโธ เราก็พุทโธกันแล้วนะ แล้วท่านยังตามมาว่าอะไรเราอีก เราพุทโธแล้ว เอ้า มันก็ถูกแล้ว พุทโธแล้วไง เอ้าแล้วยังตามมาว่ากันอีก

ถ้าพุทโธ ถูก มันก็คือ ถูก แต่นี่ พอพุทโธแล้ว เนี่ยพุทโธมันจะนิ่งเกินไป ต้องให้ใช้ความคิด ไอ้ใช้ความคิดนี่นะมันเป็นอีกวาระหนึ่ง วาระที่ทำความสงบของใจ พวกเราเนี่ยจะวิตกกังวลว่าเมื่อจิตสงบแล้ว แล้วเราจะได้วิปัสสนาเมื่อไหร่ คำว่าจิตสงบแล้วเนี่ยสงบมาก สงบน้อยเราใช้ปัญญาได้แล้ว เพราะปัญญาอย่างนี้คือปัญญาใคร่ครวญไตร่ตรอง ให้จิตนี่มันได้ประสบการณ์ของมัน แล้วพอกลับมาพุทโธเนี่ย คนทำงานเป็นคนมีประสบการณ์มันจะเลือกคัดแยก มันจะเลือกของมัน มันจะแยกของมัน อันนี้ถูกอันนี้ผิด พอพุทโธไปเรื่อยๆมันจะละเอียดไปเรื่อยๆแล้วปัญญามันจะละเอียดซ้ำไป ถ้าจิตละเอียดปัญญาก็จะละเอียดไปเรื่อยๆ พอปัญญาละเอียดไปเรื่อยๆ พอปัญญามันถึงที่สุดมันจะรู้เลยว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร

เราทำอาหาร อาหารที่มันประกอบสำเร็จนี่เราจะรู้ไหม ถ้ามันไม่สำเร็จเป็นอาหารขึ้นมา มันก็บูดก็เน่าก็เสียหายไป แต่ถ้าเป็นอาหารขึ้นมา มันก็จะเป็น นี่ก็เหมือนกันมันใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้ามีสมาธิเป็นพื้นฐานเข้าไปเนี่ย มันรับรู้รสนะ รสของสมาธิธรรม รสของปัญญาธรรมแตกต่างกัน เรานี่แหละรู้ ถ้าอย่างนั้นแล้วการฝึกปัญญานี่มันต้องฝึก สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ ถ้าสมาธิเกิดปัญญาได้ฤๅษีชีไพรเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว แต่ไม่มีสมาธิก็เป็นโลกียปัญญา เป็นนิยายธรรมะนี่ไง นิยายธรรมะมีที่อ้างอิง อย่างสามก๊กเขาก็มีข้อเท็จจริงในแผ่นดินจีน ผู้ชนะสิบทิศมันก็มีรัฐ แว่นแคว้นในสมัยโบราณที่มีการแย่งชิงพื้นที่กันอยู่ มันก็มีความจริง มีสิ่งที่พิสูจน์ได้มันเป็นเกร็ดไง แต่เขาก็มาเขียนนิยายให้มันขยายความไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกันนิยายธรรมะนี่ มีธรรมะของพระพุทธเจ้าไง มึงรุมกูมาสิ นิยายธรรมะใช่ไหม นิยายเกร็ดประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มีนะไปดูสิ อโยธยาก็มี เมืองแปรก็มี ที่ไหนก็มีนะแล้วผิดตรงไหนละ นี่เหมือนกันพอบอกว่าผิด จะผิดได้ไง พุทธพจน์ พุทธพจน์ผิดได้ไง ผิดได้ไง ไอ้พวกนี้ก็เหยื่อไง ผิดที่ไหนก็พระพุทธเจ้าบอกนะ เอ้าพุทธพจน์บอกอย่างนี้แล้วทำไมละ นิยายธรรมะไง แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงเราเองเราจะรู้ของเรา นี่เมื่อวานเขาเอามาให้บอกว่าพุทโธแล้วเนี่ยแต่พุทโธแล้วก็ยังออกนอกลู่นอกทาง พุทโธแล้วก็ไปโทษพุทโธ อานาปานสติก็ไปสงบอยู่ที่ลม ลมมันจะสงบได้อย่างไร… สงบมันก็สงบอยู่ที่จิตเรานะ ลมมันสงบไม่ได้หรอก ลมก็คือลม ลมมีชีวิตหรือ (หัวเราะ) เวรกรรม ที่พูดนี่ให้เห็นว่าเขาไม่รู้จริงๆ

เวลาเราบอกว่าเขาไม่รู้นะ ทุกคนจะไม่เชื่อ แล้วบอกว่าหลวงพ่อรู้ได้ไงว่าเขาไม่รู้ เขาไม่รู้ก็เขาพูดอย่างนี้ไง เขาพูดผิดๆ ถูกๆอย่างนี้ไง แต่ไม่มีใครเข้าใจว่าผิดถูกตรงไหน แล้วยิ่งอธิบายไปถึงผลนะ เวลาพูดถึงผลนะ เพราะอะไรรู้ไหมเพราะนิยายธรรมะใช่ไหม หลวงตาพูดอย่างนี้ใช่ไหมทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติคือไม่มี ถ้าเป็นความจริงนะอย่างโยมเข้ามาในศาลานี่โยมขึ้นบันไดมากี่ขั้น โยมเหาะเข้ามาหรือ อัตโนมัติคือเหาะเข้ามาไง แล้วใครบ้างที่ไม่ขึ้นบันไดมา แล้วบันไดที่ศาลามีกี่ขั้น เอ้ามึงก็เดินบันไดขึ้นมาบอกบันไดไม่มี บันไดเป็นอัตโนมัติ มึงบ้าหรือ เออ ถ้ามึงเหาะเข้ามา ใช่ อัตโนมัติ คำว่าอัตโนมัติของเราเนี่ย ของคนเนี่ยบันไดเนี่ยเดินทุกวันเลย หลับตาก็เดินได้ อัตโนมัติคือความคล่องชำนาญต่างหากล่ะ ไม่ใช่อัตโนมัติคือไม่มี เนี่ยเวลาปัญญาจะเกิดโดยอัตโนมัติ

เขาใช้คำอัตโนมัติเพราะอะไรรู้ไหม เพราะอธิบายไม่ได้ เพราะไม่เคยขึ้นบันได กูก็เลยล่ออัตโนมัติเลย อัตโนมัติเพราะอะไรรู้ไหมเพราะหลวงตาก็พูดว่าอัตโนมัติไง แต่คำว่าอัตโนมัติของหลวงตานะ ท่านบอกว่าปัญญานะ มันจะหมุนเร็วมากชำนาญมาก แม้แต่ฉันอาหารอยู่เนี่ย ตักอาหารใส่บาตรแล้ว มือนี้ฉันอาหารอยู่ ปัญญามันจะหมุนของมันตลอดเวลา เวลาเราจะกินข้าวนี่มันจะอยู่กับรสของอาหารเลย แต่เวลาปัญญามันหมุนแล้วเห็นไหม หมุนโดยอัตโนมัติ สิ่งที่ชำนาญมากขนาดฉันอาหารนะ ปัญญามันไม่ฉันด้วยนะ ปากนี่ฉันอาหาร ไปฟังเทศน์หลวงตาสิ ปากนี่จะฉันอาหารนะปัญญามันหมุนติ้วๆๆมันไม่ได้ฉันกับเรานะ

นี่อัตโนมัติเป็นอย่างนั้น(หัวเราะ) ไม่ใช่อัตโนมัติคือไม่มี อัตโนมัติเพราะอธิบายไม่เป็นเพราะไม่มีประสบการณ์ไง ไม่รู้ ถ้ารู้ไม่พูดอย่างนี้หรอก ทีนี้มันเพียงแต่เป็นนิยายใช่ไหม มันมีที่อ้างอิงใช่ไหม ก็หลวงตาว่าอัตโนมัติแล้วไม่เชื่อเราหรือ ถ้าไม่เชื่อดูสิแต่หลวงตาพูดนะ แต่หลวงตาท่านพูดจากประสบการณ์จริงของท่าน ฉะนั้นถึงบอกว่าเราฟังแล้วเรารู้เพราะคำพูดมันไม่มีเหตุผลรองรับไง ถ้ามีเหตุผลรองรับ มันจะเป็นขั้นเป็นตอนมันขึ้นไป เนี่ยปัญญาก็ไม่เป็น แม้แต่ทำความสงบก็ไม่เป็น วิปัสสนาก็ไม่เป็น สมถะก็ไม่เป็น เป็นไม่พูดอย่างนี้ ฉะนั้นเพียงแต่ไอ้เรื่องเป็นไม่เป็นอย่างที่พูดตอนเช้าเนี่ยมันคือข้อเท็จจริง

แต่เรื่องการสร้างศรัทธาเห็นไหม พระเราบวชมาแล้วแค่ความดำรงชีวิตของเราอยู่ใน สมณสารูป พวกญาติโยมเขาเห็นเขาก็ศรัทธาแล้ว เขาศรัทธาความสำรวมระวังของพระ เขาศรัทธาขึ้นมาเห็นไหม ภิกษุทำให้ศรัทธาใครตกร่วงเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ญาติโยมเนี่ยศรัทธาในพระพุทธศาสนา แล้วเราทำตัวเราให้เป็นที่น่ารังเกียจ พอทำตัวน่ารังเกียจที่เขาศรัทธา ศาสนาอยู่พอเขาเห็นการกระทำของเราแล้ว ทำให้เขาเสื่อมศรัทธาศาสนาเห็นไหม เราเป็นอาบัติปาจิตตีย์ วินัยพระพุทธเจ้าเขียนไว้ทุกข้อเลยเพื่อข่มคนหน้าด้าน เพื่อให้สังคมเราอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข แล้วก็ที่เขาไม่เชื่อถือไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้เชื่อถือศรัทธา ที่เชื่อถือศรัทธาแล้วให้ศรัทธามั่นคงขึ้นไป ธรรมวินัยพระพุทธเจ้าบัญญัติทุกข้อเขียนไว้อย่างนี้ตลอดเลยแล้วเวลาเขาเจริญศรัทธาเนี่ย ถูกไหม ถูก ถ้าให้ศรัทธานะแต่ศรัทธาแล้วต้องให้ไปในทางที่ถูก พื้นฐานเห็นไหม บอกว่าเนี่ยพื้นฐานใครสอนก็ได้ เดี๋ยวเวลาผิดพลาดขึ้นมาค่อยไปแก้ข้างบนถ้าพื้นฐานผิดมันก็ผิดกันไปหมดแหละ

ฉะนั้นที่พูดเนี่ยไม่ได้จะไปขัดแย้งที่ว่า เขาก็ทำดีนะมีศรัทธาคนมหาศาลเลย แต่บอกว่าไอ้เรื่องศรัทธานะ ยอมรับ ทีนี้ศรัทธาทั่วไปนี่เขาก็แค่ศรัทธานั้น แต่เวลาพูดถึงธรรมะแล้วนี่ ถ้าพูดถึงธรรมะมันผิดไม่ได้ ถ้ามันผิดมันชี้ออกไปนอกลู่นอกทางเลยแล้วปฏิบัติไปนะเหมือนเห็นไหม ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ หลวงตาพูดประจำ หนึ่งทำให้เราติดทำให้เราเสียเวลาๆแล้วถึงกับให้เราหลุดไปได้เลย ถ้ามันผิดจากช่องทางไป แต่ถ้ามันถูกกับช่องทางนี่นะ… แล้วจะอ้างว่าจริตนิสัย จริตนิสัยก็เข้าใจ ถ้าจริตนิสัยก็ทำไปเลย ถ้าจริตนิสัยเห็นไหมพระพุทธเจ้าถึงบอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง จริตนิสัยกรรมฐาน ๔๐ ห้องนะ ถึงที่สุดแล้วประตูของมรรคผลมีอันเดียวจะเดินมาแนวทางไหนก็แล้วแต่ ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติจะมีจริตนิสัยอย่างไรก็แล้วแต่ เวลาลงแล้วเห็นไหมเวลาลงแล้วมันขาดแล้วเนี่ยมันเป็นอันเดียวกัน เพราะมันเป็นอริยสัจอันเดียวกัน

แตกต่างจากกันไม่ได้ เดินมาหลายช่องทางแต่ประตูถึงที่หมายอันเดียวกัน เนี่ยมันวัดได้มันตรวจสอบได้ทั้งนั้นนะ ฉะนั้นมันถึงเข้าใจได้ไง หลวงตายังบอกเห็นไหมจิตของเรามีกิเลสไหม มี ถ้าเราชำระใจกิเลสของเราหมดแล้ว ใจดวงอื่นเราเข้าใจได้ไหม นี่ไงจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจเขาใจเราน่ะ ทุกคนปรารถนาความสุขเกลียดความทุกข์ทั้งนั้นเลย แล้วทุกคนก็ปรารถนาอย่างนี้ทุกคนทำอย่างนี้แล้วจะได้ไม่ได้นั่นอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เราดูนะ วันนี้ขอสัก ๒-๓ ข้อ เดี๋ยวมันจะไปไม่ได้นะ

ถาม : ปฏิบัติถูกหรือไม่ ผมเริ่มหัดปฏิบัติมานาน ๑ ปี วันละประมาณชั่วโมงมีปัญหาสงสัย

๑. วิธีแรกผมภาวนาพุทโธแล้วรู้สึกเคลิ้มเบาๆคือ พุทโธถี่ยิบจนมีความรู้สึกวูบ (คล้ายๆว่าเปลือกตามันปิดสนิทเรื่อยๆ ทั้งที่จริงมันก็ปิดสนิทอยู่แล้ว) ปัญหาคือวิธีนี้พอเคลิ้มไปเรื่อยๆแล้วมักจะกลัวและหลับหรือวิตกภวังค์ครับ เห็นท่านอาจารย์บอกว่าแก้ยาก ผมก็เลยเลิกแล้วทำวิธีที่๒.คือผมเพ่งมากให้รู้สึกแนบไปกับคำบริกรรมพุทโธ มากกว่าเดิมแบบแนบสนิทเลยครับ ชัดๆแบบท่านอาจารย์สอน ทีนี้มันก็ไม่ง่วงครับแล้วก็ยิ่งพุทโธชัดๆ เด่นขึ้นมาเท่าไหร่ ผมก็ไม่อยากสูดลมหายใจเข้าออกอีก เพราะรู้สึกว่าเวลาลมหายใจเข้าแล้ว อัดคำบริกรรมเข้าไปมันรู้สึกชัดดีครับ แต่พอจังหวะที่จะหายใจออกแล้วหายใจเข้าใหม่ เหมือนมันต้องหยุดพุทโธแล้วก็หายใจเข้าออก (ถ้าไม่ยอมหยุดพุทโธร่างกายมันจะไม่ยอมหายใจครับ) แล้ววิธีนี้เวลานั่งจะรู้สึกเกร็งตัว อยากเรียนถามคือผมทำถูกบ้างหรือไม่ครับ มีข้อบกพร่องอย่างไรควรปรับปรุง

๒. ผมเคยนอนภาวนาก่อนนอน มีครั้งหนึ่งทำไปได้ไม่นานรู้สึกเหมือนมีเลือดลมในศีรษะหมุนติ้วควงอยู่ในกะโหลก แต่ก็พยายามบังคับยึดคำบริกรรมไว้ไม่ให้ตกใจ สักพักที่หูผมได้ยินเสียงต่างๆมากมายแล้วรู้สึกว่า ถ้าเพ่งว่าอยากได้ยินอะไรมันจะได้ยินเฉพาะเสียงนั้นเลยครับ ตกใจมากแต่ก็จำได้ว่าหลวงตาสอนว่า ให้อยู่กับคำบริกรรมเป็นอะไรก็ช่างมัน จึงท่องคำบริกรรมนั้น ซึ่งก็ท่องได้ ก็เกิดอาการประหลาดขึ้นอีก ผมมองเห็นได้ทั้งที่ยังหลับตาอยู่ มองเห็นห้องนอนผมทั้งห้องเลย ผมก็ท่องคำบริกรรมอีก จนครั้งสุดท้ายมันเป็นแสงสว่างสีเหลือง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย พักหนึ่งก็ลืมตาขึ้นมาเองไม่ได้กระตุกหรือสะดุ้งตื่น ผมแน่ใจว่าไม่ใช่นอนหลับแล้วก็ลืมตาธรรมดา พอลืมตาแล้วผมนึกในใจขนลุกตลอดเลยว่า โฮ้ เอากูถึงขนาดนี้เลยหรือ กราบขออภัยครับที่ผมพูดกับตัวเองอย่างนี้จริงๆ และหลังจากนั้นมาผมไม่กล้าทำอะไรอีกเลย เพราะแค่ยินเสียงผมก็เชื่อแล้วว่ามันมีอยู่จริงๆนะ จึงอยากกราบเรียนถามว่านี้เป็นอาการส้มหล่นหรือไม่ครับ เวลาเขาเป็นกันเป็นแบบนี้กันใช่หรือไม่ครับ อาการเช่นนี้พอจะเรียกว่าสมาธิ (อุปจาระ) ได้หรือไม่ครับ หากเป็นส้มหล่นจริงก็เป็นกำลังให้แก่ผมมาก แต่ถ้าไม่ใช่ผมก็จะเร่งความเพียรมากขึ้นไปครับ ขอบพระคุณครับ

หลวงพ่อ: เห็นไหม เวลามันพุทโธ เห็นที่ว่าเวลามันทำไปนี่สิ่งที่เป็นไปสิ่งที่เราพูดเมื่อกี้มันเป็นไปเห็นไหม ๒. เวลาผมเพ่ง เพ่งไปนี่มันรู้สึกดีขึ้นทุกอย่างดีขึ้น คำว่าดีขึ้นนะเราจะรู้เอง เช่นเราดื่มน้ำ ความสดชื่นต่างๆ มันจะมีนะ จิตใจมันได้สัมผัส ถ้าเป็นสมาธิ ถ้าปฏิบัติมันต้องเป็นอย่างนี้ จะผิดจะถูกไม่เป็นไร เพียงแต่ว่าเวลาผิดเวลาถูกนี่โยมฟังนิยายธรรมะกัน มันดีอย่างเดียวเท่านั้นนะ โยมปล่อยวางทุกๆ อย่างหมดเลยแล้วทำอยู่สภาวะแบบนี้ มันก็ทำให้ปลอดโปร่งโล่งเนี่ย แล้วก็ว่ามันก็ถูกต้องมันก็สบายแต่พอเรามาพุทโธหรือเราทำด้วยตัวเราเอง เราไม่มีใครคอยการันตีไง เราก็เลยเคร่งเครียด เราก็เลยวิตกกังวล พุทโธก็หงุดหงิดทำอะไรมันก็ไปไม่ได้สักอย่างเลย ทำอะไรก็รู้สึกว่าอั้นตู้ไปหมดเลยไม่มีช่องทางไปหมดเลย แต่ถ้าเรามาดูเฉยๆแล้วก็บอก คราวนี้ ใช่ คราวนี้ ถูก สบายนะ

เหมือนเราเอาของเก็บๆไว้โดยไม่ต้องรับผิดชอบมัน มันก็สบายนะสิ แต่ถ้ามันสบายแล้วมันเป็นความจริงไหมล่ะ แต่ถ้ามันทำจริงๆอย่างนี้ เราจะบอกว่าเวลาเราปฏิบัติกันนะใครพุทโธ ใครกำหนดลมหายใจ ใครใช้อะไรต่างๆ ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ต้องพุทโธก็ได้ ไม่ต้องกำหนดลมหายใจก็ได้ ใช้สติตามความคิดไปแล้วถ้ามันทัน มันหยุดของมันเอง แล้วเรานี่สัมผัสจับต้องเองนะ อึ๊ อึ๊ นี่ไงที่มันเป็นเห็นไหม มันเด่นชัดมันรู้มันเด่นชัด คำว่ารู้มันเด่นชัดนี่ตัวเองสัมผัสไง ปัจจัตตังมันต้องปัจจัตตัง มันต้องจิตเราสัมผัสเรารู้กับเราเราทำของเรา เราเป็นของเรา

มันจะเป็นอย่างนี้เนี่ยเด็กหัดเดิน เด็กหัดจะตั้งไข่มันจะยืนได้ มันจะเดินได้ ให้มันยืนขึ้นมา ถ้ายืนขึ้นมาล้มก็คือล้ม ล้มก็ไม่เป็นไร ล้มก็ลุกขึ้นเดินใหม่ ล้มก็ลุกขึ้นยืนมันจะเป็นอะไรไป คนหัดมันก็มีผิดทั้งนั้นนะ พุทธเจ้า ๖ ปีนะ

นี้พอมันเป็นไปนะ มันจะเป็นของมันเข้ามาเรื่อยๆ มันจะเป็นของมันเข้ามาเห็นไหม พอจิตมันมีความที่ว่ามันหมุนติ้วมันอะไรๆ นะ เวลาเกิดปีตินะมันมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ พอเกิดปีตินะพอนั่งๆไปพุทโธ พุทโธไปนะ พุทโธ พุทโธ เนี่ยพอมันเริ่ม.. จิตนี่มันมีการเปลี่ยนแปลง จิตปกติคือสามัญสำนึก จิตจะเข้าสมาธินี่มันจะว่างมันจะสบายขึ้น พอมันสบายขึ้น มันเกิดปีตินะ มันจะเกิดความว่างเหมือนในร่างกายนี่มันเป็นสุญญากาศ บางทีร่างกายนี่เป็นสุญญากาศนะ มีแต่ผิวหนังเลย นี่ปีติแล้วปีตินี้มันเป็นไปได้ร้อยแปดมันเป็นไปได้ทุกๆอย่างนะแล้วมันเป็นได้โดยที่เราไม่คาดหมาย พอมันเป็นขึ้นมานี่ เราบอกโอ้.. ร่างกายมันจะเป็นสุญญากาศเลยนะ เราก็รอแต่สุญญากาศมันก็ไปเกิดเป็นอย่างอื่นล่ะ พอเกิดอย่างอื่น งงอีกนะทำไมเกิดอย่างนี้ ทำไมเกิดอย่างโน้นล่ะ แล้วทำไมมันเกิดอย่างนี้ละ มันจะเป็นอย่างนี้

เราจะบอกว่าที่อาการศีรษะหมุนติ้วๆเนี่ย มันเกิดมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนี่ทำถูกนะ เขาบอกว่าเขาจำหลวงตาได้ ว่าหลวงตาบอกว่าให้อยู่กับคำบริกรรมอยู่กับพุทโธ หลวงตาจะสอนว่าอยู่กับพุทโธอยู่กับผู้รู้จะไม่เสีย ถ้าเราไม่อยู่กับพุทโธไม่อยู่กับผู้รู้นะ พอเราไปรู้อะไรเข้านะ หมุนติ้วๆใช่ไหม โทษนะ กูจะติ้วกับมึงนะ กูจะหมุนไปด้วยนะ เดี๋ยวมันจะหมุนไปหมุนไป ตกทะเลไปเลยนะ มึงอยากรู้อะไรไปอยู่กับมันนะ เดี๋ยวมันจะพามึงไปเลย หลวงตาท่านบอก ท่านเคยทำนะนั่งสงบไปมันเห็นเหมือนไฟตะไลพุ่งขึ้นมา ตอนนั้นท่านมีสติแล้วท่านลองนะตามแสงสว่างไป ท่านบอกแสงสว่างจะพุ่งไปเรื่อยๆ พุ่งไปเรื่อยๆ ท่านก็ตามไปเรื่อยๆ ตามไปจนไม่สิ้นสุดนะ สุดท้ายท่านบอกไม่เอาแล้วโว้ย ทิ้ง กลับมาพุทโธ นี่ ถ้าเราตามไปมันจะออก ถ้ามันหมุนติ้ว ถ้าเราไปอยู่กับการหมุน การหมุนมันจะแกว่ง เหวี่ยงเราออกไปเลยมันจะเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเราอยู่กับพุทโธมันจะเหวี่ยงอะไรก็ให้มันเหวี่ยงไป เหมือนเด็กๆ นะ เราจะจับให้มันอยู่สงบอยู่นิ่งๆ มันจะอึดอัดของมัน มันจะแสดงออกของมัน จิตเราพยายามจะทำให้มันนิ่ง พยายามสร้างพลังงานให้มันเห็นไหม จิตมันเคยเป็นอิสรภาพ จิตมันเคยดิ้นรน จิตมันเคยมีอำนาจเหนือเรา ฟังสิ จิตมีอำนาจเหนือเราทั้งๆที่จิตของเราแล้วมันมีอำนาจเหนือเราได้ยังไง จิตนี่ของเรา จิตนี้เป็นเราแต่มีอำนาจเหนือเรา เพราะมันมีกิเลส แล้วกิเลสนี้ก็สร้างภาพเหยียบย่ำตัวจิตนั่นละ จิตจับจิต จิตแก้จิต จิตกระทืบจิตอยู่นั่นละแล้วเราทำอะไรมันไม่ได้เลยนะ แต่พอเราตั้งสติขึ้นมาเห็นไหม มันจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา มันจะเกิดอาการอย่างนี้นี่ยังไม่เข้า…

วิตก วิจาร ปีตินะ แล้วเข้าสุขเข้าสมาธิมันจะเข้าไปเรื่อยๆ มันมีอาการเปลี่ยนแปลง นี้พอมันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ตรงนี้ถ้าไม่เป็นพูดไม่ถูกไง

คำว่าพูดนะ โทษนะ ประสาเราเนี่ย ผีเจาะปาก อยากพูดไปอย่างนั้นน่ะ ไปถามหลวงตาหลวงตาไม่พูดหรอกเพราะอาการอย่างนี้มันก็เหมือนกับ.. เช่นเราจะทำขนมปังเห็นไหม เราตีแป้งเห็นไหมกว่าแป้งมันจะใช้ทำขนมปังได้นี่ แป้งนี่เวลาเราหมักแป้งเราทำอะไรนี่ จิตก็เหมือนกันจิตมันจะนวดนะ กว่าจิตมันจะ… พระพุทธเจ้าสอนนะมันเปรียบเทียบเหมือนกับการปั้นโอ่งปั้นไห ต้องเตรียมดินให้ดี ยิ่งถ้าดินดีดินละเอียดนี่โอ่งไหเครื่องปั้นดินเผาจะสวยงามมากเลย

นี้พอจิตมีการปั้นมีการนวด มันจะมีอาการร้อยแปดนะ แล้วนี่ถึงบอกว่าผีเจาะปากไง ใครมาเราก็อธิบายหมดแหละ ดินมันเป็นอย่างนี้นะ ดินเอ็งเป็นดินดานนะ ไอ้ดินนี้มันดินขาวนะ ดินมันไม่เหมือนกันนะความตั้งใจนวดก็ไม่เหมือนกัน ส่วนผสมมันก็ไม่เหมือนกัน แล้วจะให้มันเหมือนกันได้ยังไงล่ะ อย่างนั้นแล้วครูบาอาจารย์ท่านถึงไม่พูดถึงตรงนี้ ท่านถึงบอกให้ตั้งใจทำไป ท่านมาพูดถึงคุณภาพของมันเลยคือจิตสงบไม่สงบ ถ้าจิตสงบคือดินเอ็งนวดเสร็จ แล้วจะปั้นโอ่งปั้นไหกันแล้ว ฉะนั้นแต่ขณะที่เราจะนวดดินเนี่ย โอ้โฮ แล้วมันจะเป็นไป ไม่ต้องไปตื่นเต้น มันจะเป็นอะไรให้มันเป็นไป พิสูจน์กัน มันเป็นของเรานะเงินในกระเป๋าเรานี่มีคุณค่าที่สุดเลย เงินในธนาคารนี่มันเงินของชาวบ้าน

อะไรก็ได้ขอให้เป็นความเห็นความรู้ของเรา สิ่งที่มาเกิดกับเราความจริงของเรานี่คือเงินของเรา นี่คือบัญชีของเรา มีเงินเท่าไหร่นี่เป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นนี่ มีอาการเปลี่ยนแปลงมีสติอยู่กับพุทโธอยู่กับผู้รู้นะมันจะพัฒนาจะไม่เสียเลย แต่ถ้าไปตกใจตื่นเต้นไปกับมันนะ โอ๋..เนี่ยผีเข้าแล้ว โอ้ย..ทำอย่างนี้นะมันจะเกิดนิมิตมันจะเสียหายแล้ว เวลาเราทำกิจการ การค้าต่างๆกว่าเราจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้เนี่ยมันง่ายไหม ทุกอย่างนะจะทำอะไรมันไม่ใช่ของง่ายหรอก นี่พอทำอะไรขึ้นมาก็คิดว่าเหมือนกับพ่อแม่ให้ตังค์เลย แบมือขอเลย มาถึงก็แบมือขอเลย ขอสมาธิขอปัญญา แล้วเขาก็ยัดให้ใส่มือมาเลย ทำแล้วมันจะไม่เสียหาย ไม่มีหรอก ไม่มี เราต้องทำของเราขึ้นมานะ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้ นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้สิ่งนี้เป็นส้มหล่นไหม มันไม่ใช่ส้มหล่นไม่ถึงกับส้มหล่น เพราะอะไรเราทำมาตั้งแต่ต้น นี่ถ้าบอกส้มหล่นผมก็มีกำลังใจขึ้นมา มีกำลังขึ้นมาเนี่ยเวลาทำถูกต้องมันจะมีผลตอบสนองอย่างนี้ เวลาทำถูกต้องเหมือนกันแต่กิเลสมันมีแรงต้าน กิเลสมันตื่นแล้วเนี่ยเราภาวนานะมากกว่านี้ ๒ เท่า ก็ยังไม่ลงเลย แต่ถ้าเราภาวนาอย่างนี้ลงนะ แสดงว่ามันสมดุล กิเลสมันเปิดทางให้ ใช้คำว่ากิเลสมันเปิดทางให้เลย เพราะกิเลสมันยังไม่ได้ฆ่าอะไร

แต่ถ้าเราทำไปบ่อยๆครั้งเข้า เกิดความชำนาญนี่ กิเลสมันจะขวางขนาดไหนนะ เราชำนาญในวสีนะ เขาจะเอาเครื่องกีดขวางมากีดขวางขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่เรามีเครื่องมือพร้อมเลย มึงจะเอาอะไรมากีดขวางกู กูจะเอาแทรกเตอร์ดันมึงเลยเนี่ยดันมันไปเลย มึงจะขวางกูยังไงก็ไม่ได้ จนมันไม่มีสิทธิขวางเพราะเครื่องมือกูพร้อมหมดแล้ว เครื่องมือคืออะไรเครื่องมือคือสติ เครื่องมือคือคำบริกรรม เครื่องมือคือความพร้อม มึงจะเอาอะไรขวางกูเนี่ยกูผ่านไปได้ตลอด นี่คือชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออกเพราะกิเลสนะเรายังไม่ได้ฆ่ามัน ทำความสงบนะ ยังไม่ได้ฆ่ากิเลสหรอก ไม่ได้ฆ่ากิเลสเลย แต่เอาความพร้อมมีถนนหนทางเพื่อจะเข้าไปฆ่ากิเลส ถ้าทำได้ถึงขนาดนี้นะนี่เป็นความชำนาญ เห็นไหม

ชำนาญในวสีนี่ทำได้ ฉะนั้นสิ่งที่กำลังปฏิบัตินี่มันเป็นคราวที่ว่า ถ้าเราทำได้ง่ายทำได้ดีมันก็ได้ง่ายได้ดี ถ้ามีอุปสรรคขึ้นมาก็ไม่ท้อถอยเดี๋ยวก็ง่ายเดี๋ยวก็ยาก อาหารเรากินมื้อแรกอร่อยมากพอมื้อสองมื้อสามนี่มันจืดชืดแล้วมันก็ไม่อยากกินอีกเลย แต่เราก็ต้องกินกันตลอดไปการภาวนานี่มันจะต้องพยายามทำอย่างนี้ต่อไป ถึงว่า ถูกต้องแล้ว ก็ให้ทำอย่างนี้ต่อไป พุทโธพุทโธกำหนดลมหายใจก็ได้ พุทโธ พุทโธก็ได้ ถ้ามันเบื่อหน่าย มันเครียด มันทำอย่างนี้ทุกวันๆแล้ว.. มีคนถามบ่อยมากเลยว่า หลวงพ่อภาวนาอย่างนี้แล้วไม่เบื่อหรือ เดินจงกรมทุกวันๆ เดินอยู่กับที่น่ะ ไม่เซ็งหรือ มันจะเบื่อไหมละ มันจะเบื่อหรือไม่เบื่อนะมันอยู่ที่เรา ทำไมจะไม่เบื่อ แต่มันมีอันหนึ่งนะที่ไม่เบื่อ อันที่มันมีผลตอบรับเนี่ย ถ้าจิตมันสงบนะถ้าจิตสงบปั๊บนะ มันขยันไปปีหนึ่ง ปีนี้คึกคักมากเลย ถ้ามันไม่สงบปีนี้ไม่สงบเลยนะ โอ๋ย คอตกเลยนะ แต่พอสงบปั๊บเนี่ย โอ้ ชื่นใจไปได้อีกปีหนึ่ง

แต่นี่พูดถึงว่าเวลาทำความสงบนะ แต่ถ้าขั้นของปัญญา มันหมุนแล้วนะปัญญามันต่อเนื่องตลอดไม่ใช่ปีนะ เวลาถ้าปัญญามันหมุนแล้วเนี่ย ในใจเรานี่กำหนดได้เลยว่า เราจะเอามรรคผลวันนั้นวันนั้น คือมันคาดหมายได้ว่า จะได้วันนั้นๆเลย แต่มันยังไม่ได้อย่างนั้นแต่มันคาดหมายได้เลย แต่ถ้ามันยังไม่ได้อย่างนี้มันไม่กล้าคาดหมายนะ คาดหมายได้เลยว่ากิเลสมันต้องตายวันนั้นวันนั้นเลยนะ เพราะมันมีงานของมัน

ถ้ามีงานของมันอย่างนี้ หลวงตาพูดบ่อยเห็นไหมทำไมเดินจนฝ่าเท้าแตกได้ ก็จิตมันหมุนอยู่ข้างใน เดินจนผิวหนังเนี่ยบางจนเลือดซิบๆเลย แต่มันทำได้ ทำได้เพราะมันหมุนอยู่ข้างใน มันจะเอาของมันให้ได้ หลวงตาใช้คำว่า ถ้าไฟมันจุดติดแล้วนะมีเชื้ออยู่มันจะไหม้จนหมดแต่ขยะเปียกนี่จุดโคตรยากเลย แต่ขยะเปียกเนี่ย แต่ต้องจุดให้ติด ความเพียรของเราเห็นไหม แล้วถ้าตรงนี้ได้นะ มันจะรู้ว่าขั้นไหนต้องรั้งไว้ คำว่าต้องรั้งไว้เนี่ย ถึงที่สุดแล้วต้องรั้งไว้ ไม่รั้งไว้มันจะพุ่งใส่งานตลอดเวลา จิตนี่มันจะพุ่งใส่งานตลอดเวลา ต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ ต้องรั้งไว้เลย

ถ้ามันสงบมีกำลังแล้วนะ พอปล่อยพุทโธมันก็จะพุ่งใส่งานเลย แต่ถ้ามันทำได้เนื้องานแล้วนะ แต่ถ้ายังไม่ได้มันก็เป็นอย่างนี้ เดินคอตกอยู่นี่ จะเดินคอตกอย่างไรก็ต้องเดิน ต้องสู้ มันเป็นผลงานของเรานะ เป็นมาทุกคน เราถึงพูดบ่อยนะเวลาเห็นพวกโยมมาปฏิบัติ นี่ ดูแดดอย่างนี้สิ แล้วเดินกลางแดด เราเจอพวกลูกศิษย์เราหลายคนนะแดดอย่างนี้ มันก็เอาผ้าห่มผ้าม้วนตัวมัน แล้วมันก็เดินตากแดด เราก็นั่งดูอยู่นี่เดินอยู่อย่างนี้ทั้งวันทั้งวัน มันก็เดินอยู่อย่างนี้แล้วเขาก็ได้ผลของเขานะ คำว่าเดินอย่างนี้นะมันมีจุดมุ่งหมายไง คือเรามีเป้าหมายมีจุดมุ่งหมายแล้ว เห็นทางแล้ว มันจะเอา.. แต่พวกเรานี่ไม่มีเป้าหมายไม่มีจุดมุ่งหมายไม่มีอะไรเลยนะ พอเจอแดดก็ขอพักไว้ก่อนขอเป็นตอนเย็น เอาตอนเย็นได้ไหม เอาไว้ตอนเย็นนะแล้วพอถึงตอนเย็นนะ พรุ่งนี้ดีกว่า พรุ่งนี้ดีกว่าแล้ว

ค่อยๆทำไป เป็นทุกคน ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ทุกดวงใจเป็นอย่างนี้ ใครบ้างเจออุปสรรคแล้วไม่คอตก ทุกคนคอตกหมดนะแล้วพระพุทธเจ้าไม่มีคนบอกไม่มีคนชี้ทางนะหลวงตานี่ท่านเคารพหลวงปู่มั่นก็ตรงที่หลวงปู่มั่นนะ ตอนที่ท่านออกประพฤติปฏิบัติใหม่ๆกับหลวงปู่เสาร์มันปรึกษาใครไม่ได้ แล้วเวลาออกค้นคว้านะสมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านอยากให้หลวงปู่มั่นเป็นเจ้าอาวาส อยากให้หลวงปู่มั่นเป็นฝ่ายปกครองที่ไหนก็ตั้งตำแหน่งให้ คิดดูสิฝ่ายปกครองเขาต้องการพระที่น่าเชื่อถือมาปกครองดูแลสำนัก ปกครองเพื่อความเจริญของพุทธศาสนา

นี่ความเห็นของสังคม แต่หลวงปู่มั่นท่านต้องการเอาตัวของท่านให้ได้ก่อน ท่านจะได้เอาคุณธรรมของท่านมาเผื่อแผ่คนอื่นได้ ท่านโดนบีบคั้นทั้งจากสังคม โดนบีบคั้นทั้งจากกิเลสตัวเองจากภายใน โดนบีบคั้นทุกอย่างเลย ท่านยังแสวงหาของท่าน พยายามของท่านจนเอาตัวรอดได้ แล้วเรานี่หลวงปู่มั่นนี่ใช้ปฏักเลยนะคอยจี้กันอยู่ตลอด เรายังทำกันไม่ได้ นี่ครูบาอาจารย์เทศน์นะเปิดวิทยุก็ได้ยินแล้ว หลวงตา ๒๔ ชั่วโมง เสียงธรรมนี่เปิดอยู่ก็ได้ยิน ๒๔ ชั่วโมงแล้ว มีคนสอนตลอดเวลาเลย เราเองนี่ถ้าคิดว่าตรงนี้เป็นมหาวิทยาลัย เป็นสำนักศึกษานะ เรามีที่ศึกษาแล้วเรียบร้อยเลย สมัยโบราณไม่มีวิทยาลัยไม่มีอะไรเลย เอ็งต้องมุ่งเอาเองทำเอาเอง

ถ้าคิดอย่างนี้แล้วโยมมีกำลังใจไหม ทำไมไม่คิดอย่างนี้ล่ะ แล้วคิดเอาแต่สบาย สบายจนจะเด็ดออกจากต้นเลยไง จะเอานิพพานจะเด็ดเอาจากต้นเลย อันนี้ถูกแล้ว แล้วทำต่อไปเรื่อยๆ

นี่ หลวงตาก็เป็น หลวงตาใช้คำว่า ฝันดิบฝันสุก ฝันดิบๆเนี่ยตอนนี้แหละความคิดของเรานี่คือฝันดิบๆ พอไปนอนหลับแล้วนี่คือฝันสุก นอนฝันจริงๆ ความคิดเพ้อเจ้อคือความฝันความเพ้อฝันในการดำรงชีวิต ความเพ้อฝันขณะนอนหลับนี่ท่านบอกว่าฝันสุกฝันดิบ คนเรานี่มันมีแต่ฝันสุกฝันดิบตลอดเวลา นิมิตก็เหมือนกันคำว่านิมิตนี่นะ เราจะใช้คำว่าพันธุกรรมทางจิต เหมือนกับเมล็ดพันธุ์พืช ปลูกทุเรียนก็คือทุเรียน ปลูกส้มก็คือส้ม ข้าวก็คือข้าว มังคุดก็คือมังคุด เราได้เมล็ดพันธุ์อย่างใดปลูกลงไปแล้ว ถ้ามันดินน้ำอากาศดีทุกอย่างต้องเกิดเป็นผลไม้ชิ้นนั้นแน่นอน

จิตของคนที่มันสร้างมา ถ้ามันสร้างกรรมอย่างนั้นมา นี่ภาวนาอะไรก็เกิดนิมิต ถ้าจิตมันจะเป็นนิมิตมึงห้ามยังไงก็ไม่ได้ อย่างไรก็เป็นนิมิต แต่สำหรับเรานะเราเป็นก้อนกรวดเราไม่ได้เป็นเมล็ดพันธุ์พืชปลูกที่ไหนก็ไม่ขึ้น เพราะมันไม่ใช่เมล็ดพันธุ์พืช เข้าใจผิดว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ แต่ความจริงเป็นดินเป็นกรวดเห็นไหม คือจิตถ้ามันไม่เป็นนิมิตนะ มึงจะบังคับให้เป็นนิมิตก็ไม่มี โอ๋ยคนนู้นก็เห็นนิมิตคนนี้ก็เห็นร้อยแปดเลยนะ กูก็อยากเห็นบ้างหลวงพ่อนั่งมา ๑๐ ปีไม่เคยเห็นสักที เอ้า ก็มึงเป็นก้อนกรวดมึงจะเห็นอะไรล่ะ มันเป็นไปได้โดยพันธุกรรมทางจิต นี้พอมันเป็นขึ้นมาแล้วนี่ที่ว่าต้องแก้ ต้องแก้หมายถึงว่า ก็ดูสิ นิมิตคืออะไร เวลาเห็นนะเห็นอะไรจริงหรือไม่จริง คือสอนตัวเองนี่ สิ่งที่เห็นน่ะมันไม่จริง เห็นจริงไหมเห็นจริงฝันอยู่นี่ คิดไหมคนไม่คิดได้ไหม บังคับความคิดไว้หมดเลยไม่ให้คิดได้ไหม เป็นไปไม่ได้

แล้วถ้ามันคิดขึ้นมาละ เอ้า คิดก็คิด ก็รู้ทันความคิดไง นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเห็นนี่จริงไหม นี่มันไม่จริง ไม่จริงแล้วไปวิตกทำไม เห็นก็เห็นสิ พอจิตมันปล่อยนะเราเองที่เราแก้ตัวเราเองเนี่ย เมื่อก่อนนะนิมิตเนี่ยมีภาค ๑ ภาค ๒ ภาค ๓ ภาค ๔ ก็เข้าใจนะคนปฏิบัติใหม่เราเห็นใจมาก เพราะเราปฏิบัติใหม่ ตอนปฏิบัติใหม่นี่คือทางเดินของเราไงคือเข้าไปเผชิญกับความจริง ทีนี้พอเข้าเผชิญกับความจริงมันก็เกิดนิมิตไปหมดเลย นิมิตใช่ไหม พอเกิดนิมิตปั๊บเราก็ไปเทียบกับธรรมะของพระพุทธเจ้าละ อ้อ..เห็นนิมิตอย่างนั้นเห็นกายใช่ไหม เห็นกายพิจารณากายก็ปล่อยวางก็เป็นโสดาบัน สกิทา อนาคาใช่ไหม เห็นกายรอบหนึ่งปล่อยวางรอบหนึ่งก็เป็นโสดาบันเพราะขบวนการมันจบน่ะ ทางกฎหมายเห็นไหม ทุกอย่างมันมีองค์ประกอบของมันครบหมดละ เอ้าขึ้นศาล ศาลก็ต้องตัดสินสิ ผิดถูกก็ตามนั้นนะ นี่ก็เหมือนกัน ขบวนการมันมีครบ แต่เป็นจริงหรือเปล่าล่ะ ไม่จริง นี่พอทำอย่างนั้นปั๊บพิจารณาของเราไป เพราะเราพิจารณาของเราอย่างนี้ ที่เราแก้เราไง เราถึงบอกว่าเราสงสาร สงสารเพราะประสบการณ์เราเป็นอย่างนี้ไง พอเสร็จแล้วมันก็เริ่มสงสัย พอสงสัยขึ้นมา

เราบวชใหม่ๆ เราไม่ยอมอ่านหนังสืออย่างอื่นเลย เว้นไว้แต่ประวัติครูบาอาจารย์ เพราะประวัติครูบาอาจารย์คือประสบการณ์ตรง ไปอ่าน ประวัติของหลวงปู่เทสก์กับประวัติของหลวงปู่หลุย องค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๗ ปี องค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๑ ปี ๑๗ กับ๑๑ โอ้โฮ ขนหัวเนี่ยตั้งเลย มันกลัวตัวเองจะติดไง พอเริ่มกลัวว่าตัวเองจะติด ตั้งแต่วันนั้นมานะ ยังไม่มีไปปรึกษาใครไม่ได้ เพราะปฏิบัติใหม่นะมันแก้ไปด้วยตัวเอง มันไปหาครูบาอาจารย์ ไปบอกท่านส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ท่านไม่เป็นนะ โยมไปพูดกับครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นนะ โยมจะเสียมาก

เราเคยไปถามครูบาอาจารย์บ่อย ภาวนาแบบนี้เป็นไงครับ ไปไหนมา ๓ วา ๒ ศอก ถามอย่างหนึ่งแม่งตอบอีกอย่างหนึ่ง เจออย่างนี้มาจนปวดหัว เราพูดบ่อยมาก เราเจอครูบาอาจารย์เราไปถามปัญหา ถ้าโยมยังภาวนาไม่มีพื้นฐานเนี่ยเราไม่มีพื้นฐานไม่มีองค์ความรู้เราเนี่ยเราไปถามคนอื่น คนอื่นตอบอะไรมาเราก็เชื่อ แต่ถ้าเรามีองค์ความรู้ของเรานะเราไปถามคนอื่น คนอื่นตอบมาผิดกับองค์ความรู้ของเรานะ มันขัดแย้งกันนะ เราภาวนาจนมีพื้นฐานจิตสงบบ้างมันมีนิมิตบ้าง มันรับรู้อะไรเยอะแยะไปหมดแล้ว ไปถามองค์โน้นก็ตอบไปไหนมา ๓ วา ๒ ศอก จนไปเจอหลวงปู่จวนไง อวิชชาอย่างหยาบๆมันสงบตัวลง สงบได้ อวิชชาอย่างกลางมึงไม่เคยเห็นมัน อื้อ มันจริงวะ อวิชชาอย่างละเอียดในหัวใจของท่านนะอีกมหาศาลเลย ล้มตึงเลยเออ..จริง เห็นไหม

แต่ถ้าคนตอบไม่เป็นนะ มันไม่ยอมรับนะ พอท่านพูดอย่างนี้ปั๊บ เราย้อนกลับหมดย้อนกลับขึ้นมาเอาจริงเอาจังไง ตอนนั้นพอมันติดนิมิตปั๊บพอพิสูจน์อย่างนี้แล้ว พอพิสูจน์แล้วมันไม่ใช่ เราตอนนั้นยังไม่ได้ไปหาหลวงปู่จวน เราไม่ได้ขึ้นไปอีสานใช่ไหม เราก็บอกกับตัวเองว่าก่อนจะนั่งภาวนานิมิตไม่เอา นิมิตไม่เอานะตั้งสัจจะเลยว่าถ้าเกิดสิ่งใดขึ้นกำหนดพุทโธไว้ เฉยๆไม่ยอมรับรู้ แล้วพอภาวนาจนจิตสงบแล้วมันก็ยังรู้อีกละ มันมาเพราะนิมิตมันเคยมีอยู่แล้ว ร่องน้ำใช่ไหม ความชำนาญของมัน มันก็มาตามธรรมชาติของมัน พอมาปั๊บข้างในก็ปฏิเสธอีก ปฏิเสธมันก็เริ่มหายไป จางไป จางไป จนตอนหลังไม่มีนิมิตอีกเลย

เราแก้เรามาแล้วนะ เราแก้ได้ ปฏิเสธตลอดปฏิเสธก่อนนั่ง พอนั่งแล้วมาก็ปฏิเสธอะไรมาก็ปฏิเสธ ไม่เอา! ไม่เอา! ไม่เอาอย่างเดียวเลย แล้วไม่ใช่เอาทิ้งเปล่านะ ไม่เอาแล้วอยู่กับ พุทโธ พุทโธชัดๆๆ จากที่จิตออกรู้ พอมันไม่เอามันก็สงวนตัวมันเอง ไม่มีตัวมันเอง กำลังในตัวมันเองก็เกิดขึ้น ทำมาหมดแล้ว แล้วลึกกว่านี้เยอะ ยังต้องไปอีกไกลเลย แล้วมันก็เป็นอย่างนี้แล้วพอเราปฏิบัติแล้ว เราก็มาฟังพวกอภิธรรม เขาว่า พวกพุทโธ พุทโธ นี่จะเกิดนิมิต อภิธรรมมาหาเราเยอะแยะเลยที่เกิดนิมิตน่ะ กำหนดนามรูปเนี่ยมาหาเราเยอะแยะเลย หลวงพ่อมันมีนิมิตมันมีก็คือมีนะ มึงจะกระดกอะไรมันก็มี มันเป็นที่พันธุกรรมทางจิต มันเป็นที่จิตนั้นแต่มันเป็นแล้วมันแก้หรือเปล่า

โทษนะ พูดแล้วโยมจะเสียใจ พวกโยมนี่มีโรคภัยไข้เจ็บทั้งนั้นเลยโรคชราเป็นโรคโดยธรรมชาติของมันเลย เอ้า แล้วจะแก้อย่างไรล่ะ ทุกคนเห็นไหม นั่งอยู่นี่ต้องแก่ทุกคนเลย แล้วมึงจะแก้อย่างไรล่ะ เอ้าก็จิตมันมีนะ มึงแก้ให้ได้สิ ก็มันต้องแก่ ก็แก้ให้ได้สิ มันต้องแก้ไม่ใช่ว่าโอ้ย..กูต้องแก่ใช่ไหม เลิกแก่เลิกๆ เลิกจริงรึเปล่าล่ะ มึงก็ต้องแก่อยู่วันยังค่ำ ถ้าเกิดนิมิตมันมีนิมิตจะแก้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเอ็งมีนิมิตเอ็งผิด เอ็งเป็นนิมิตเอ็งเสีย เอ้า เอ็งต้องแก่หมดเลย เอ้า ถ้าแก่อย่างนี้แล้วเสีย เอ็งเป็นคนไม่ดีใช่ไหม เอ็งแก่เนี่ยมันมีของมันก็ต้องแก้ของมัน พอแก้ได้แล้วนะ มันจะพัฒนาของมันไป

นี่พูดถึงว่า ถ้ามันรู้มันเห็น คนภาวนานะถ้าเจอครูบาอาจารย์ไม่เป็น เวลาบอกมันเห็นนู้นเห็นนี่นะ เลิกเถอะสู้ไม่ได้แล้วละ ผิดหมดแล้วละ ผิดถูกมันก็อยู่ที่มันจะเป็นไป ค่อยๆแก้ไปนี่เห็นแล้วสงสาร ถ้ามาหาเราหรืออยู่กับเรานะ พุทโธไปเรื่อยๆตั้งสติให้ดี แก้ได้ แล้วต้องแก้ได้เดี๋ยวมึงไปได้ แต่ถ้าจิตมันอ่อนแอมันไม่ยอมแก้พอไปเห็นแล้วเข่าอ่อนไง อย่างที่เราทำกันง่ายๆเนี่ยที่มันง่ายๆนี่ทำให้เข่าอ่อน เข่าอ่อนหมายถึงว่า เราไม่เข้มแข็ง เราไม่เข้มแข็งเราไม่มีกำลังของเราเราจะควบคุมตัวเองไม่ได้

ถ้าเราควบคุมตัวเองได้เราจะพัฒนาตัวเองไปได้ แล้วจะพัฒนาไปตามข้อเท็จจริง นี่ถ้ามันเจออย่างนั้น ถ้าเดินจงกรมไม่มี พุทโธนี่แก้ได้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเนี่ยโดยธรรมชาติของมันเนี่ยจิตหนึ่ง จิตหนึ่งแล้วมันซ้อนได้ไง พุทโธซ้อนเนี่ยจิตหนึ่ง พุทโธ พุทโธ พุทโธเนี่ยจิตหนึ่ง จิตหนึ่งเพราะอะไรเพราะว่ามันนึกพุทโธจริงแล้วมันหนึ่ง นี่มันนึกแต่พุทโธที่ปากไงปากนึกพุทโธ แต่ใจแม่งคิดไปเรื่องอื่นไง คำว่าพุทโธซ้อนนี่มันซ้อนได้มันคิดได้ ถ้าพุทโธ พุทโธ มันไม่พุทโธด้วย พุทโธคิดถึงบ้านพุทโธแล้วมันไปโน่นไปนี่ พุทโธชัดๆ ถ้าพุทโธอย่างนี้มึงไม่จริงนะ มึงพุทโธแต่ปากนะ คำนี้ถ้าเราไม่เคยจับได้ ถ้าไม่เคยจับได้เราก็แก้ตรงนี้ไม่จบ

ถ้าจับได้นะ ไหนว่าจะว่าพุทโธไงแล้วทำไมปากว่าพุทโธแต่ใจคิดไปเรื่องอื่น เอ้ามันก็ไม่ได้คิดมาจากใจ ถ้าไม่คิดมาจากใจพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนนะ พระพุทธเจ้าบอกให้นึกพุทโธ พุทโธ ออกมาจากใจ พอพุทโธกับใจเข้าไปเป็นอันหนึ่งเดียวกันแล้วจึงเป็นสมาธิ ไอ้นี่ใจก็คิดไปแต่เรื่องของกิเลสตัณหาทะยานอยากเลย แต่มาพุทโธแต่ปาก อันนี้มันสักแต่ว่า สักแต่ว่าจะทำ สักแต่ว่าจะเอามรรคเอาผล แต่ทำด้วยกิเลสตัณหาทะยานอยาก ทำด้วยไม่จริงจังเห็นไหมด่ามันเข้าไปสิ ด่าตัวเองเนี่ยประเสริฐที่สุด ตัวเองนะด่าตัวเองเก่งที่สุดนะ อย่าไปด่าคนอื่นนะให้ด่าตัวเอง เลวมาก เลวมาก เลวที่สุดๆเลย ทำแล้วไม่ได้ผลเนี่ยไม่จริงไม่จังเนี่ย

เราเตือนตัวเอง ด่าคือการเตือนตัวเอง การฟื้นฟูตัวเองด้วยการติเตียนตัวเองพระพุทธเจ้าว่าการหาความผิดพลาดของเรานี่ประเสริฐที่สุด แล้วพอมันทำได้ เดี๋ยวมันจะรู้ของมัน

ถาม: อันนี้ยาวมากเลย เอาหน่อยนะ อันนี้ดี วันนี้ผมขอนำเรื่องที่เกิดขึ้นมาเองแบบที่ผมเป็น วิปัสสนูกิเลสหรือไม่ครับ ที่จริงจะยกสติขึ้นก็คงถูกต้อง ว่าเรียนปรุงแต่ง อย่างน้อยจิตสงบ สนใจอยู่กับกายแทน เรื่องคือว่าผมเคยพิจารณาเหตุของอารมณ์แล้วผมก็เห็นว่าอารมณ์อย่างหนึ่งก็คือดวงตา ที่เห็นรูป เมื่อการเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น พูดด้วยดวงตาอย่างเดียวนะครับ แต่ที่จริงพิจารณาทางหู ลิ้น กายก็มีแล้วผมพิจารณาต่อไปว่า สิ่งที่เห็นนี้เป็นจริงอย่างที่เป็น หรือไม่ตรงนี้เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ ก็ได้ความรู้ว่า สิ่งที่มีชีวิตแต่ละอย่างในโลกไม่เหมือนกัน แม้แต่มนุษย์ผู้ชายผู้หญิงก็เห็นไม่เหมือนกัน ผมก็พิจารณาอย่างนี้มาเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน บางครั้งเกิดคำถามกับตัวเองว่า ของที่ว่าสวยงาม เพชร พลอยที่เขาชอบนี้เขาชอบอะไร ในเพชรพลอย พิจารณาไปเห็นว่าของชอบก็แทบจะไม่มีสาระ คือชอบแสงเงาของมัน ชอบที่สะท้อนแสงได้หลายสี ก็นึกถึงแมงเม่ารู้สึกสมเพชเองว่า เราชอบของแค่แสงเงานี้เอง แล้วพิจารณาอย่างอื่นที่ตาเห็นอีกเช่น ผมของสตรีที่ยาวดำเป็นเงา ผมของสตรีที่แห้งเสีย มันก็ของอย่างเดียวกัน คือชอบเงาสะท้อนแสงดี พิจารณาอีกที่รถยนต์ก็เห็นความสวยงามเห็นความเงางามนั่นเอง สมเพช

หลวงพ่อ: นี่พูดถึงปัญญาเขาไล่มาเรื่อยๆ

ถาม: แล้วอย่างกายทวารทั้ง ๖ นี้ เราเห็นรูปที่แท้จริงในโลกไม่ได้เลยนี่นะ ความโลภ โกรธ หลง เพราะสิ่งที่เห็นนี้โดยที่ไม่รู้เลยว่า รูปทั้งหลายไม่จริงเลย เกิดว่ารู้รูปก็ไม่จริง หลังจากนั้นวันนี้ผมก็ได้รู้เรื่องของขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วพิจารณาอีกว่าเห็นเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ว่า รูปก็มีแต่ไม่จริง สิ่งที่เกิดจากรูปมันจะจริงหรือ แล้วเราควรจะยึดสิ่งนี้จริงหรือไม่

วันหนึ่งขณะที่ผมเดินซื้อของอยู่ ผมเห็นว่าจิตมันปรุงแต่งอยู่ในการเคลื่อนไหวของร่างกายนี้จนเหมือนกับว่ามันไปรู้เองโดยไม่ได้ตั้งใจกำหนด การก้าวเท้าการเดินการยืน หรือการกระทำตามร่างกายต่างๆ ตอนที่เป็นแบบนี้ใหม่ๆ ผมก็สงสัยนึกถามตัวเองก็ได้คำตอบ จิตนี้มันลดการปรุงแต่งลง ทั้งหลายเหลืออยู่ระดับหนึ่ง จิตมันรู้รูปไม่เป็นความจริง ตอนนั้นยังไม่รู้จักคำว่า วิปัสสนูกิเลส ผมก็มีความรู้สึกยินดีเพราะรู้สึกว่าการปฏิบัติของผมมีผล นั่นคือผลของการนั่งสมาธินานหลายปีและเริ่มหัดเดินจงกรมมาได้ปีกว่า เกิดการกำหนดรู้การก้าวเท้าครับ

พอผมรู้สึกยินดีกับการรู้สติปัญญาได้นี้ไม่กี่วัน ผมก็อ่านเจอเรื่อง วิปัสสนูกิเลสทำให้เกิดความสงสัย ที่ผมเป็นอยู่นี้เข้าข่าย วิปัสสนูกิเลสหรือไม่ครับ เพราะถ้าเป็นวิปัสสนูกิเลสผมก็จะพยายามเลิกกำหนดรูปทั้งหลายแต่ไม่รู้จะเลิกได้ง่ายหรือไม่ครับ รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำผมด้วยครับ

หลวงพ่อ: อันนี้หมายถึงว่าเขาเข้าใจว่าเป็น วิปัสสนูกิเลส เวลาเขารู้ทันจิตใจของตัวเองแล้วว่าเป็น วิปัสสนูกิเลส ไม่ใช่ของแค่นี้มันผิวเผินมาก วิปัสสนูกิเลสเนี่ยนะ มันเกิดจากความสงบ พอความสงบวิปัสสนาเข้าไปแล้ว วิปัสสนูกิเลสยังอยู่อีกยาวไกลเลย วิปัสสนูกิเลส อุปกิเลส ๑๖ ความว่าง โอภาส ความแจ่มใส วิปัสสนูมันอยู่ที่นู้นนะ อันนี้ไม่ใช่วิปัสสนูอันนี้มันแค่ความเห็น ความเห็นพื้นฐานไงอันนี้มันเป็นวงของสมถะ มันเป็นวงของสมาธิไง เป็นวงของเราตามความคิดทันเอง ความคิดเรายังไม่เกิดความว่างเลย ความคิดเรายังไม่เกิดสมาธิ ความคิดเรายังไม่เคยใช้ปัญญาใดๆเลย วิปัสสนูไปเกิดตรงที่ว่า วิปัสสนูกิเลสคือจิตสงบ จิตสงบจิตมีกำลังของมัน แล้วมันติดในความว่างของมัน ติดในแสงสว่างของมัน ติดในความเห็น นี่มันได้แสงสว่างหรือยัง ยังไม่ได้แสงสว่างใดๆเลยมันไม่ใช่ วิปัสสนูกิเลส ถ้าบอกวิปัสสนูกิเลสเนี่ยมันเหมือนกับเราให้คะแนนตัวเองมากเกินไปไง ไม่ใช่วิปัสสนูกิเลส

ถ้าอย่างนี้นะ มันเป็นไปได้อย่างสูง ก็เป็นแค่ปัญญาอบรมสมาธิ มีครูบาอาจารย์ท่านสอนเยอะมาก ท่านสอนว่าการใช้ปัญญาอย่างนี้คือมรรคคือการเดินมรรค ใช้ทวนกระแสใช้ปัญญาตัดตอนกิเลส เราฟังดูแล้วนะปัญญาที่ใช้ ใช้กันอยู่เนี่ยคือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิคือว่าเรามีความข้องใจในสิ่งใด ปัญญาจะไล่ตามสิ่งนั้นไป แล้วมันปลดเปลื้องสิ่งที่อยู่ในใจออกหมดเท่านั้น แล้วพอมันปลดเปลื้องความข้องใจออกหมด เหมือนขบปัญหาไงคือเรามีปัญหาไงมีปมอะไรในใจอยู่ มีอะไรฝังใจอยู่ สติปัญญามาไล่ความคิดนี้ไปนะ พอมันปลดปมนี้ออกนะ โห่…โล่ง นึกว่าเป็นพระอรหันต์ ใครๆก็นึกว่าเป็นพระอรหันต์หมดเลย โอ้..ว่าง แหม… สงบสุขรู้เท่าทัน ไม่รู้ว่าใครรู้เท่าทันใคร กิเลสมันหลอกอีกละ กิเลสอย่างละเอียดมันหลอกเห็นไหม

นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี่ มันอยู่ในขั้นของสมถะ คือปลดเกียร์ว่าง รถนี่นะถ้าไม่ปลดเกียร์ว่างติดเครื่องไม่ได้ ถ้าติดเครื่องนะพอติดเครื่องรถมันออกทันที รถปลดเกียร์ว่าง พอเกียร์ว่างแล้วถึงติดเครื่อง ติดเครื่องเสร็จแล้วเนี่ยสมาธิ ถ้าไม่ใส่เกียร์รถก็ออกไม่ได้ ถ้าในเกียร์ก็ติดเครื่องไม่ได้ ถ้าติดเครื่องแล้วไม่ใส่เกียร์ก็ไปไม่ได้ นี่จิตของคนการปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ พูดถึงถ้าเราจิตเราไม่สงบเนี่ย จิตมันไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีกำลัง เป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลกๆทั้งนั้นนะ ฉะนั้นเรามีปมในใจเราใช้ปัญญาของเราเข้าไป นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาปลดเกียร์ว่าง คำว่าปลดเกียร์ว่างนะ ทางปริยัติเราดูหนังสือมาเยอะ ที่เขาพูดกันนะ กิเลสมีเพราะยึด ถ้ามันรู้เท่าก็จบ นิยายธรรมะเขาพูดอย่างนี้ตลอด เพราะมันยึดถึงเป็นกิเลสไง นิพพานมันมีอยู่แล้วไง เดินสะดุดนิพพานหัวทิ่มเลย เพราะจิตมันมีนิพพานอยู่แล้ว พอเข้าไปรู้เท่าก็จบไง

คำนี้มันฟ้อง มันฟ้องถึงว่าวางเฉยไม่มีอะไรเลย ต่างคนต่างวางเฉยก็จบ แล้วจบจริงไหมล่ะ กูเป็นหนี้เอ็ง ๑๐๐ ล้านเลยนะ กูวางเฉย วางเฉยไม่จ่าย จบ ยอมไหมละ เป็นไปไม่ได้หรอก เอ้า กูเป็นหนี้เอ็งล้านหนึ่งแล้ววางเฉย รู้เท่าทั้งลูกหนี้ทั้งเจ้าหนี้ต่างรู้กัน แล้วต่างคนต่างเลิกกันไป ไม่มีหรอก ในโลกนี้ไม่มี มีแต่ว่า เป็นหนี้นะจ่ายมาไม่จ่ายจะยึดทรัพย์ โอ้..เพราะกิเลสมันยึดไง รู้เท่าก็จบไงไม่มีกิเลส กิเลสไม่อยู่แล้ว เพราะโง่ไปยึด มันสะอาดบริสุทธิ์ขนาดไหนจิตเดิมแท้นี้ผ่องใสจิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ใสสว่างหมดเลยล้วนๆเลยนั่นคือตัวอวิชชา ตัวจิตเดิมแท้คือกิเลส ถ้าไม่มีกิเลสมึงจะมาเกิดอีกทำไมมึงเสวยภพอีกไหมมึงจะไปอีกไหม มันบอกไม่ไป ไม่ไป ไม่ไปเพราะมันไม่รู้ไง ตอนนี้ไม่ไปไหนนั่งบนศาลาเนี่ยไม่ไปไหนเลย เดินออกศาลาไปสิร้อนฉิบหายเลย

เนี่ยมันอยู่มันก็ไม่ไป ไม่ไป ว่าง สบาย ไม่ไป จริงหรือเปล่าความเร็วของจิตเร็วกว่านี้อีก ฉะนั้นธรรมะที่เราอ่านของเขามาทั้งหมด เขาพูดแนวทางอย่างนี้ แนวทางอย่างนี้เขาเรียกโลกทัศน์ ถ้าแนวทางอย่างนี้มันหมายถึงว่าโลกทัศน์ของเขาเป็นอย่างไร ถ้าโลกทัศน์เป็นอย่างนี้ โลกทัศน์มันมาตื้นๆ ตื้นเกินไปวะ มันเป็นนิยายโว้ยไม่เป็นธรรมะหรอก ถ้าเป็นธรรมะมันจะขุดรากถอนโคนรากแก้วเลยถึงฐีติจิตเลย เข้าถึงกิเลสเลยแล้วมันถอนขึ้นมา ไม่ใช่ว่ารู้เท่านิพพานมันมีอยู่แล้วนะ เดินสะดุดกันหัวทิ่มเลย ไอ้พวกนี้โง่ นิพพานอยู่ข้างหน้าแม่งเดินไม่สะดุดซักที กูสะดุดตั้งกี่รอบแล้ว มึงยึดกันเองนะ โง่มาก ไปยึดกิเลส ไปยึดความคิด ปล่อยมันสิ ปล่อยมัน มันไม่มีอะไร เป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติ ไร้สาระ เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าธรรมะเป็นได้แค่นี้นะ พระพุทธเจ้าไม่ต้องสอนหรอก เขารู้ๆกันอยู่แล้ววิทยาศาสตร์เขาคิดได้ดีกว่านี้อีก แต่ธรรมะนี่เป็นภาคปริยัติ ภาคการศึกษาเป็นอย่างนี้ ปริยัติเป็นอย่างนี้ แต่ปฏิบัติไปแล้ว ลงทุนลงแรงในการถอดถอน ในการต่อสู้ไปอีกเรื่องหนึ่งแล้วไปอีกเรื่องหนึ่งนะ มันก็เป็นจริตนิสัยเป็นประสบการณ์ หลวงปู่ชอบก็เป็นแนวทางหนึ่งหลวงปู่คำดี หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่บัว หลวงปู่พรหม หลวงปู่ขาว แต่พิจารณากายเหมือนกัน เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เวลาท่านเทียบเห็นไหม หลวงตาพูดถึงหลวงปู่คำดีกับท่าน ท่านบอกว่าท่านไปอยู่ป่าใหม่ๆ หลวงตาเนี่ยกลัวเสือมาก พอกลัวเสือนะเสือมีขนไหม เราก็มีขน เสือมีหนังเราก็มีหนัง ท่านไล่ด้วยปัญญาอย่างนี้ ไล่จนจิตมันอาจหาญมากวิ่งเข้าหาเสือได้เลยนะ ถ้าจิตใจมันอาจหาญขนาดนี้นะ เข้าไปถึงเสือ เสือยังไม่กล้าแตะเลย เสือมันกลัวกำลังของจิตนั้น

ท่านบอกว่าไปคุยกับ หลวงปู่คำดี หลวงปู่คำดีก็ใช้อย่างนี้ เหมือนกัน แต่ คนละวาระเพราะหลวงปู่คำดีท่านพรรษามากกว่า ท่านอยู่ในป่าไง บอกว่าท่านก็ใช้ปัญญาอย่างนี้ ใช้เหมือนกันเลย เสือมีขนไหมเราก็มี เสือมีหนังเราก็มี เสือมีกระดูกเราก็มี เสือมีเลือดเราก็มี กูมีหมดนะ เสือมีกูก็มี หลวงปู่คำดีก็ใช้เหมือนกันแต่ไอ้เรื่องความคิด… สมัยก่อนมันยังไม่มีเอกสารใช่ไหม มันต่างคนต่าง… มันเหมือนกับว่า สมัยโบราณข่าวสารจะถึงกันมันกินเวลามาก สมัยโบราณครูบาอาจารย์ชื่อเสียงยังไม่มั่นคงยังไม่มีใครเอาอันนี้มาเป็นข้อมูลเป็นเอกสารให้คนอ่านแล้วไปจำไง ใช้เหมือนกันแต่คนละวาระ นี่พูดถึงเวลาใช้เหมือนกันนะ แต่การพิจารณากายเนี่ยหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดีเนี่ย หลวงปู่ฝั้นพิจารณากายเหมือนกันหมดเลย แต่คุณค่า น้ำหนัก การเห็นของกายแตกต่างกัน แตกต่างหมดเลย อย่างเช่นเราเนี่ยเราเรียนอะไรก็แล้วแต่ ในห้องของเราเรียนวิชาเดียวกันนั่นนะ ความรู้เท่ากันไหม ความถนัดเหมือนกันไหม ไม่เหมือนหรอก

แล้วการปฏิบัติจะเป็นอย่างนั้นไหม จริตนิสัยเป็นอย่างนี้แล้วปฏิบัตินะ วัดค่าเลยนะกำหนดอย่างนี้ ดูอย่างนี้ แล้วละกิเลสได้หมดเลย เอ็งว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่าวะ เอ็งว่าเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปได้ตรงนี้ไง ผู้ที่ปฏิบัติมันจะรู้ ขนาดเอาค่าของการเห็นกายหมดเลย แล้วเห็นกายแล้วมันจะเห็นอย่างไร หลวงปู่เจี๊ยะพูดนะอันนี้นะฟังให้ดีหลวงปู่เจี๊ยะบอกเลยนะ ให้กำหนดจิตนี้ไปตามข้อกระดูก ถ้าเอ็งอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ นี่เป็นสมถะกำหนดความรู้สึกเราอยู่ที่กระดูกแต่ละข้อ จากกระดูกนิ้วมือมาถึงฝ่ามือข้อมือข้อศอกถึงหัวไหล่ แล้วก็วนอยู่อย่างนี้ ถ้าวนอยู่อย่างนี้เป็นชั่วโมงๆได้ ท่านบอกนี่เป็นสมถะนะ คือจิตมันอยู่ไม่แลบออก มันจะอยู่ในการบังคับบัญชา มันอยู่ในควบคุมของเราเห็นไหม

นี่กำหนดพุทโธนี่แหละ ทำไมอย่างนี้เป็นสมาธิได้ล่ะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่าให้เดินอยู่ในกาย ท่านไม่ได้บอกให้พุทโธด้วย ทำไมพวกเราไม่ค้านล่ะ ก็มันเป็นความจริงไง ไอ้พุทโธหรือไม่พุทโธเนี่ยเราไม่ได้ค้านว่าใครดีหรือใครไม่ดี ค้านว่าผิดหรือถูกไง ถ้ามันถูกนะทำอะไรก็ถูก มันอยู่ที่ถูกหรือผิด ไม่ใช่อยู่ที่พุทโธหรือไม่พุทโธ หรืออยู่กับอะไร มันอยู่ที่ถูกหรือผิด ไม่ได้อยู่ที่คำบริกรรม ฉะนั้นพอท่านบอกเองไปฟังเทศน์ของหลวงปู่เจี๊ยะนี่มีเยอะแยะ ท่านบอกว่ากำหนดจิตนะให้มันอยู่ร่างกายเป็นชั่วโมงๆนะเนี่ยสมถะ พอสมถะปั๊บจิตมันเป็นสมถะแล้วเนี่ย โยมนะถ้าทุกคนจิตนะ เป็นคนดีทุกคนมีกำลังหมดเลย ทุกคนสดชื่นหมดเลย ทุกคนมีความสุขในใจจริงไหม แล้วมีความสุขอย่างนี้จะทำอะไรก็ได้จริงไหม พอจิตมันเป็นสมาธิมันอยู่เป็นชั่วโมงๆ แล้วเนี่ยแล้วมันเดินซ้ำไปเนี่ย พอจิตมันดีแล้วทุกอย่างมันดีแล้วเนี่ย พอมันเห็นกายขึ้นมาเห็นโดยจิตนะ วิปัสสนาเกิดแล้ว เพราะเห็นโดยจิตนะ เห็นข้อกระดูกก็เห็นแบบแตกต่าง แต่เราเห็นข้อกระดูกก็เห็นข้อกระดูกแบบทั่วไป เห็นไหมเพราะเราบังคับจิตให้มันเป็น มันก็เห็นโครงกระดูกอย่างนั้นไง ก็เห็นอย่างนั้น

แต่ถ้าจิตสงบนะโครงกระดูกมันเรืองแสง โครงกระดูกเรืองแสงได้ไหม ธรรมชาติโครงกระดูกเรืองแสงได้ไหม ไม่ได้ แต่พอจิตมันสงบแล้วนี่ เพราะกำลังของจิตมันทำให้โครงกระดูกเรืองแสงได้ วิภาคะได้ ขยายส่วนแยกส่วนได้ นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ วิปัสสนามันเกิดไปอีกสเต็บหนึ่งแล้ว การพิจารณาของมันนี่นะ พระกรรมฐานพิจารณากายเหมือนกันก็ไม่เหมือนกันหรอก ฉะนั้นการกระทำนี่ถึงบอกว่า เราเอาหลักเกณฑ์ของเราทำของเราให้ได้ ถ้าทำได้เป็นความจริงมันจะเป็นความจริง เราเอาผลประโยชน์ของเรา

ครูบาอาจารย์ก็เป็นเหมือนผู้ใหญ่ของเราเห็นไหม พระผู้น้อยพระผู้ใหญ่เราเคารพบูชากันมา แต่คุณธรรมในหัวใจมีจริงไม่มีจริงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง สังคมไทยสังคมของเรานี่เห็นไหม เราเป็นผู้น้อยเราเห็นผู้ใหญ่เนี่ยเราก็เคารพกันด้วยวุฒิภาวะเห็นไหม ท่านเป็นอาวุโสผู้เฒ่าผู้แก่เราก็ให้ออกเดินหน้าไปก่อน อะไรก็ให้ใช้ก่อน นี่ก็เป็นการเคารพบูชาของเรา เห็นไหมไม่ผิดอะไรเลย ไม่ผิดอะไรเลย แต่ตามข้อเท็จจริงที่เราจะทำเนี่ย ถ้าผู้ใหญ่ของเรามีความเป็นวุฒิภาวะที่สูงกว่าเรา นี่โอ้โฮสุดยอดเลย ถ้าผู้ใหญ่ของเราเนี่ยเป็นผู้ใหญ่แต่ร่างกายเห็นไหม แต่ความอาวุโสแต่ความรับรู้ของเรามีแค่นี้ แค่นี้ก็เคารพด้วยอาวุโส แต่ปัญญาความรู้ของเรามันเรื่องของเรา นี่มันมีคุณธรรมอีกชั้นหนึ่งไง ความเคารพบูชากันด้วยอาวุโสด้วยวัยวุฒิอย่างหนึ่ง การเคารพบูชาด้วยคุณวุฒิด้วยความเป็นจริงนี้อีกอย่างหนึ่ง เราก็ดูของเรา ถ้าเราเป็นคนที่มีสติปัญญาไม่มีใครผิด แต่ถ้าคุณธรรมมันไม่มีเราเฉไฉ ทำให้คุณธรรมนี่แบบว่าเข้ากันไม่ได้ เข้าไม่ได้หมายถึงว่าเป้าหมายมันไม่มี ล้มล้างความเป็นไปของผู้ที่จะเข้าถึงเป้าหมายนั้น เราเสียใจตรงนี้ ที่ออกมาพูด พูดเพราะเหตุนี้อย่างอื่นไม่มี ไม่อยากยุ่งกับใครทั้งสิ้นเอวัง