ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะ ก.ฟ.ผ.

๗ ธ.ค. ๒๕๕๑

 

คณะ ก.ฟ.ผ.
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราโต้แย้งกับพวกที่สอนประพฤติปฏิบัติว่าใช้ปัญญาไปเลยๆ ใช้ปัญญากันๆ มันใช้ปัญญามันเป็นสามัญสำนึกไง มันเป็นความรู้ของเรา มันเป็นธรรมไหม? เป็น เพราะเราตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้าใช่ไหม เราตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า เราพูดถึง เราซาบซึ้งไหม ซาบซึ้งอยู่ แต่มันสมบัติเขา มันไม่ใช่ของเรา แต่ถ้าเป็นของเรามันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าของเรา มันจะมีพื้นฐานของมัน มันเป็นปัญญาคนละปัญญา

ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากเรา มันแทงทะลุหมดนะ มันเข้าใจเอง มันรู้เอง มันซาบซึ้งเอง มันเป็น นี่ไง ธรรมะส่วนบุคคลที่เราเน้นประจำว่าผู้ที่จะบรรลุธรรม มันจะเป็นธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะของเราเอง แต่อาศัยครูบาอาจารย์คอยประคองมา แต่ถ้าอาศัยของครูบาอาจารย์มาเป็นของเราไม่ได้หรอก อย่างไรก็ไม่ได้ มันต้องเป็นของเราเกิดขึ้นมาเอง ทีนี้ของเราเกิดขึ้นมาเอง มันพูดกับเขาไม่รู้เรื่องหรอก เราพูด เป้าหมายของเราอย่างหนึ่ง เขาจะตีความหมายของเขาไปอีกอย่างหนึ่ง เขาตีความหมายด้วยโลก

หลวงตาท่านพูดบ่อยว่าสมมุติมีเท่านี้ สมมุติโลกที่เขาอยู่กันมันมีเท่านี้ไง ก็สื่อกันด้วยสามัญสำนึก แต่ความเห็นของเราที่เราจะสื่อมันลึกกว่านี้ แต่ใช้คำพูดเดียวกัน พอเป็นคำพูดเดียวกัน ดูสิ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อ้าว! ก็เข้าใจแล้ว เกสาก็ผมไง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เห็นๆ ทุกวัน ก็เข้าใจ เข้าใจอะไร เข้าใจอย่างนี้มันก็เหมือนกับพวกที่เขาดูแลตัวเขาเอง

แต่ความเข้าใจ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา เป็นได้ทั้งสมถะคือเราเอามาท่องบ่นเป็นคำบริกรรม มันเป็นสมถะ ที่เราคิดกันมันเป็นสมถะไง คือเราเข้าใจแล้วเราก็ปล่อยวางเข้ามา เราเข้าใจเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันก็สิ่งที่เราไปยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ พอมันปล่อยเข้ามาเป็นสมถะ เพราะอะไร เพราะจิตเรามันเป็นสามัญสำนึกอยู่ มันยังไม่มีพื้นฐานของสมาธิ มันเป็นสามัญสำนึกใช่ไหม เป็นสัญชาตญาณที่เราตรึก เราไตร่ตรองในผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันก็หดสั้นเข้ามา คือมันปล่อยวาง นี่เป็นสมถะ

พอมันปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า มันก็มีฐานของมัน มันมีสมาธิของมันเป็นพื้นฐานของมัน พื้นฐานเพราะอะไร เพราะมันปล่อยวางเข้ามา ตัวตนมันจะน้อยลง ถ้าเราเข้าใจธรรมะ ดูสิ ธรรมะ ตัวตนเราจะน้อยลง แต่พอมันมีพื้นฐานแล้ว ปัญญาที่เกิดขึ้น พอปัญญาที่เกิดขึ้นมันจะลึกซึ้งกว่า มันจะลึกซึ้งกว่า พอลึกซึ้งกว่า มันลึกซึ้งกว่า มันแทงเข้ามาข้างในใจของเรา เพราะเหมือนอาจารย์ท่านพูด หลวงตาท่านบอกบ่อย อย่างพวกเรานี่เด็กมันซน หยิบนู่นหยิบนี่ตลอด พ่อแม่จะคอยดีเด็กไว้ อย่าซนสิ อย่าซนสิ ใจเรามันซน มันยึดมั่นถือมั่นไปหมดไง มันติดนั่นติดนี่ ติดนั่นติดนี่ใช่ไหม ธรรมะมันจะมาตบมือเราออก

ทีนี้เราไปหยิบมัน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันเป็นเอามือไปหยิบ คือเราไปคิด เราไปดู แต่เวลามันเป็นขึ้นมาโดยตัวมันเอง มันคนละเรื่องกัน ถ้าคนภาวนา คนเข้าถึงจุดนี้แล้ว ถ้าพูดเท่านี้ปั๊บ จะซึ้งใจมาก มันปัญญาคนละปัญญากันไง

เราพูดนะ พูดบ่อยมาก มันเป็นมิติ มันเป็นมิติ มันเป็นมิติคนละมิติเลย แต่เราเข้าใจในมิตินี้ไง บอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ มิตินี้ โสดาบันเป็นมิติหนึ่ง สกิทาคามีเป็นอีกมิติหนึ่ง อนาคามีเป็นอีกมิติหนึ่ง อรหันต์เป็นอีกมิติหนึ่ง เพราะอะไร เพราะมรรค ๔ ผล ๔ มรรคมันคนละมรรค แต่เวลาในมรรคก็คือมรรค ๘ เหมือนกัน ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ ทุกอย่างปัญญาชอบเหมือนกัน แต่มันคนละมิติ แล้วมันมหัศจรรย์เข้าไปอีกชั้นหนึ่ง อีกชั้นหนึ่ง คือหมายถึงว่า ขิปปาภิญญา ผู้ที่ทะลุทีเดียว ๔ ขั้นตอน อย่างพระพุทธเจ้านั่งทีเดียวทะลุหมดเลย เป็นพระอรหันต์เลย แต่ถ้าอย่างพวกเรากระเสือกกระสน มันคนละมิติ มิติหนึ่งก็ปัญญา โสดาบันอย่างหนึ่ง สกิทาคามีอย่างหนึ่ง อนาคามีอย่างหนึ่ง มรรค ๘ เหมือนกัน แต่มันลึกซึ้งหยาบละเอียดต่างกันมาก

ฉะนั้น เวลาพูดไป คนที่เวลาพูดถึงมรรคของโสดาบันมันก็พูดได้แค่นั้นน่ะ ผู้ที่ผ่านแล้วเข้าใจเลย แล้วบอกว่าให้ต่อไป เขาคิดว่าถ้าคนไม่ติด มันก็ต่อไปได้ ถ้าคนติดก็คิดว่านี่คือสิ้นกระบวนการของมันแล้ว

นี่มันเป็นมิติๆ เลยนะ มันเป็นความหยาบละเอียดที่ต่างกันมาก ที่บอกว่า พอมา เรามา เมื่อก่อนเราตรึกในธรรม เราก็ว่า โอ้โฮ! ธรรมะพระพุทธเจ้าสุดยอดมากๆ เวลามันเกิดกับเรา เอ๊อะ! อีกคนละเรื่องเลย ทีนี้เราก็เข้าใจนะ บอกละเอียดๆ...เออ! ละเอียดขนาดไหนเดี๋ยวเอ็งจะรู้ มันละเอียดไปจนพูดไม่ได้เลย จนขั้นสุดท้ายมันไม่ใช่ปัญญา มันไม่ใช่สังขารปรุง มันไม่ใช่ปัญญาคิด มันเป็นการซึมซับ มันเป็นญาณ มันเหมือนซึมซับไป มันละเอียดมาก มันขยับจนเป็นความคิดไม่ได้เลย เพราะเป็นความคิด เครื่องมือมันหยาบไง ของที่มันหยาบ มันใช้ของหยาบๆ มันละเอียดกว่านั้นไง พอละเอียดกว่านั้นปั๊บ เครื่องมือมันหยาบ

อย่างเครื่องมือการช่าง ในเมื่อมันคนละเบอร์กัน มันไขกันไม่ได้หรอก มันใหญ่มันเล็กต่างกัน มันต้องพอดีมันๆๆ ทีนี้งานละเอียดมันต้องมรรคละเอียดเข้าไป ทีนี้พอทำอย่างนี้ปั๊บ พอทำได้แล้ว เราจะบอกว่า การทำ พอทำได้แล้ว พอกลับบ้านไป เราจะรักษาตรงนี้ไว้ได้ยาก

ในหลักซุนวู การตีเมืองนี้แสนยาก แต่การตีเมืองได้แล้วครองเมืองนั้นยากกว่า

การทำสมาธินี้แสนยาก แต่รักษาสมาธิไว้อยู่กับเรายากกว่า การรักษาเอาไว้นี่ยากมากนะ แล้วถ้าไม่รักษาเอาไว้ การปฏิบัติที่ไม่ได้ผล ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย คือการปฏิบัติไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย คือการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ จิตอย่างนี้ปั๊บ เราต้องรักษาระดับของมัน แล้วต้องพยายามรักษามันให้มันเจริญไปเรื่อยๆ เจริญไปเรื่อยๆ อย่าให้มันถอย

ทีนี้การปฏิบัติมันมาได้ถึงจุดหนึ่งแล้วมันก็จะเสื่อม มันจะเสื่อม หมายถึงว่า เหตุเราไม่พอ การรักษาของเรา แต่เวลาพระเรา เวลาพระปฏิบัติ ทำไมพระปฏิบัติเกร็งนัก เคร่งนัก ก็ต้องการรักษาตรงนี้ไง เพราะเราออกไปพูดสักคำหนึ่ง พอเราพูดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ไป เราจะกลับไปคิดเลย เราพูดไปแล้วเขาจะฟังเราไหม เขาจะติฉินนินทาเราไหม เห็นไหม คำพูดแม้แต่คำเดียวมันจะให้ผลลบกับความรู้สึกเราทันที ถ้าเราแยกจากคู่สนทนานั้นไป ว่าคำพูดนี้มันพูดไปแล้วเขาจะฟังเราไหม ฟังแล้วเขาจะติฉินนินทาไหม มันเป็นผลลบทั้งหมดเลย เขาถึงพยายามจะรักษา รักษาอยู่ในข้อวัตร จำเป็นเท่านั้นถึงจะพูด จำเป็นเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นจะไม่พูด เพราะพูดออกไปแล้วมันมีผลข้างเคียงตลอดไป ทีนี้การปฏิบัติมันต้องรักษาตรงนี้ไง

เวลาไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านถึงให้ต่างคนต่างอยู่ อย่าคลุกคลี ยิ่งไม่คลุกคลี เวลาปฏิบัติไม่คลุกคลีหรอก แต่เวลาความคิดมันถึงกันได้ ถ้าความคิดถึงกันได้ มันเรื่องของเขา เราปฏิบัติของเรา ความรักษา การตีเมืองแสนยาก แต่การครองเมืองยากกว่า การปฏิบัตินี้แสนยาก แต่การสืบต่อ การรักษาไว้ ฉะนั้น มันต้องค่อยๆ มันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน

เวลาปฏิบัติเราห่วงตรงนี้ แม้แต่ทำมันก็ยากอยู่แล้ว แล้วจะทำให้มันต่อเนื่อง เหมือนอาหาร อาหารที่ไหนเขาว่าอร่อย เอร็ดอร่อยมาก ไปกินชามแรก แหม! อร่อยจริงๆ นะ เที่ยวสองเที่ยวสามชักจืดแล้ว

การปฏิบัติของเรามันทำได้ พอต่อๆ ไป เราจะต้องเข้มขึ้น เราจะต้องลงทุนมากขึ้น เราจะต้องมีความเพียรนานขึ้น เราจะต้องตั้งสติให้ดีขึ้น แล้วต่อเนื่องไปๆๆ จนถึงที่สุด เข้าเส้นชัย ถ้าไม่ถึงที่สุด ไปสัก ๗๐-๘๐ เมตร วิ่ง ๑๐๐ เมตรไปซัก ๗๐ เมตร ๘๐ เมตรปั๊บ มันถอยกรูดๆๆ กลับมาเริ่มต้นที่เมตรแรก

อ้าว! เวลานั่งสมาธิขึ้นเมตรแรกไหม แต่รักษาใจเราไปเรื่อยๆ จนมันชำนาญ พอมันชำนาญ มันรักษาไว้ได้ ตรงนี้มันต้องค่อยๆ ประสาเรา คำว่า “ค่อยๆ ” หมายถึงว่า ถ้าเราจะวิตกวิจารณ์กับมันเกินไปนัก มันเหมือนกับว่าของที่ยังไม่มาถึง เราไปวิตกวิจารณ์ มันก็ทำให้จิตเสื่อมได้เหมือนกัน ฉะนั้น เราจะตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ เอาจิตเราอยู่กับปัจจุบัน รักษามันไป

จะเสื่อมต่อหน้าก็เสื่อม จะเสื่อมต่อหน้า สมาธิเป็นอนิจจัง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะของปัญญา ดูสิ เราคิดได้รอบหนึ่งจบแล้ว มันจบไปแล้วล่ะ ถ้าจบไปแล้วกิเลสมันยังไม่ขาด หรือกิเลสมันยังมีอยู่ เขาเรียกว่าตทังคปหาน เราเข้าใจในสัจธรรม ปล่อยรอบหนึ่ง แต่เชื้อไขนั้นยังมีอยู่ พอเชื้อไขนี้ยังมีอยู่ พอเชื้อไขนี้มันจบไปแล้วรอบหนึ่งมันก็แสดงตัวได้ กิเลสนี้ฉลาดมาก ถ้าเรามีกำลัง เรามีความรู้ มันจะหลบซ่อน มันหลบซ่อนนะ ไม่ใช่ขาด จำไว้ แต่เราเข้าใจว่าพอมันไม่มีอะไรเลย ว่าง นึกว่าพระอรหันต์นะ นั่นคือกิเลสมันฉลาดกว่าเรา มันฉลาดกว่าเราคือมันซ่อนตัวไง มันซ่อนตัวมันนะ มันรู้ว่ากำลังเรามากแล้ว เรามีความจงใจแล้ว มันไม่ทำให้เราหงุดหงิด มันไม่ทำให้เราฟุ้งซ่าน มันไม่ทำให้เราทุกข์ยากหรอก มันแอบซ่อนเลย เราก็นึกว่า แหม! ว่าง ไม่มีอะไรเลยนะ ไม่เห็นอะไรเลยนะ เดี๋ยวพอจิตมันเริ่มถอยนะ ไม่มีแล้วทำไมมันรำคาญขึ้นมาแล้วล่ะ แหม! เมื่อวานภาวนาได้ วันนี้ภาวนาไม่ได้ แค่นี้มันก็ฟ้องแล้ว เพราะมันหงุดหงิดแล้ว

ทีนี้พอมันหงุดหงิด มันเป็นประสบการณ์ แล้วเราจะรักษาตรงนี้ เวลาปฏิบัติมันจะรักษาตรงนี้ รักษา หมายถึงว่า มันจะมีอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ มันดี เราก็พอใจมัน ถ้ามันไม่ดี มันไม่ดีเพราะเหตุใด ไม่ดีแล้วไม่ใช่ว่าไม่ดีแล้วเราไป พอกิเลสมันแสดงตัวปั๊บ มันมีกำลังมากกว่าเราแล้ว แล้วเราจะแพ้มัน เพราะอะไร เพราะมันแสดงตัวปั๊บ พอมันไม่ดี เราก็โทษตัวเองไง เป็นเพราะไอ้นั่น เป็นเพราะไอ้นั่น นี่ไง เสียท่าแล้ว เป็นเพราะไอ้นั่น เป็นเพราะไอ้นั่น เพราะอะไร พอเป็นเพราะไอ้นั่นปั๊บ มันก็ไม่จี้ไปที่กิเลสใช่ไหม เพราะอะไร เพราะกิเลส ความที่มันขัดข้องใจเรานี่ แต่มันเป็นเพราะไอ้นั่น เป็นเพราะไอ้นั่น เป้าหมายเปลี่ยนแล้ว กิเลสมันเอาตัวมันมาปะทะเราก่อนนะ แล้วมันให้เราไปทะเลาะกับคนอื่น แล้วมันก็อยู่กับใจเรา

ฉะนั้น เราต้องอยู่เฉยๆ อยู่นิ่งๆ เราอยู่นิ่งๆ กับเราแล้วดูมัน เราจะไม่ไปวิตกกังวลกับเรื่องข้างนอก ต้องเผชิญกับมันเลย เผชิญกับสิ่งที่มันไม่พอใจ อะไรที่มันเป็นอย่างนั้น แล้วหาเหตุหาผล หาเหตุหาผลปั๊บ ความเพียรเราก็ทำของเราไป รักษาตรงนี้ไว้ ถ้ารักษาตรงนี้ไว้นะ เพราะระดับของใจมันรู้ คนทำเป็น

สวะอยู่ในน้ำ น้ำน้อยมันก็ต่ำ น้ำมากมันก็ขึ้นสูง คนภาวนาดีหรือไม่ดีขนาดไหน กิเลสมันอยู่บนการภาวนานั้น จำไว้ ไม่ใช่ว่าพอเราภาวนาดี เราดีกว่าคนอื่น กิเลสมันต้องตายแล้ว มันนอนใจไง เราชนะ เราเริ่มเป็นฝ่ายรุกแล้ว เดี๋ยวกิเลสมันจะตายต่อหน้าเรา คนส่วนใหญ่คิดอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะอย่างเราภาวนา เราเริ่มต้นภาวนา เสียงมันจะอึกทึกครึกโครมนิดหน่อย หรือคนจะมากระทบกระเทือนเรา เราก็ทำใจได้นะ เวลาจิตมันหมุนตลอดเวลา จิตที่ปัญญามันเต็มที่ เสียงอะไรแกร๊กหนึ่งมันก็สะเทือนใจ มันโกรธมากเลยล่ะ

ภาวนาหยาบๆ เวลาคนภาวนา คนไม่เข้าใจว่าไปวัดไปวาทุกวันเลย ทำไมขี้โกรธ อะไรกระทบกระทั่งไม่ได้

มันเหมือนเรา พอจิตเราดีขึ้นมา ชวนมันดี มันรับรู้เสียงได้หมด อะไรมันจะได้ยินหมด แล้วมันคิดมุมกลับไง มุมกลับ หมายถึงว่า เราทำความดี เราต้องการความสงัด ทำไมเกิดสิ่งนั้น นี่มันไปโทษเขา แต่ในอีกทางหนึ่งเขาก็ไม่รู้เรื่อง เขาก็ไม่รู้ตัวเขานะ คนทำเขาไม่รู้ตัวเขาหรอก เขาทำโดยธรรมชาติของเขา เสียงที่เกิดขึ้นมากระทบปั๊บ ๒ คน คนที่ทำคนหนึ่งเขาไม่รู้เรื่องของเขา เขาคิดว่าไม่เป็นไร แต่ไอ้คนที่ภาวนาอีกคนหนึ่งกระเทือนใจ แล้วพอกระเทือนใจ มันก็ไปโทษตรงนั้น

นี่จะบอกว่า เวลาน้ำขึ้น สวะมันก็ขึ้นตาม เราภาวนาดี เราภาวนาดี เราตั้งใจทำ ทำไมเขามากวนเรา ทำไมเขามากระทบกระเทือนเรา...นั่น มันออกไปทางนั้น เห็นไหม เวลากิเลสมันออกไง ถ้าอย่างนั้น เราต้องไม่เบียดเบียน ต้องใจเรา ทีนี้เสียงเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อก่อนทำไมเราทนได้ล่ะ ทำไมเมื่อก่อนเราไม่เห็นโทษของมันล่ะ

เมื่อก่อนไม่เห็นโทษของมันเพราะว่าเรายังไม่เข้าใจว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด แต่ในปัจจุบันนี้เราเข้าใจ เราแยกถูกแยกผิดแล้ว เราแยกถูกแยกผิดเป็นแล้ว แต่แยกถูกแยกผิดเป็น มันก็มีนอกมีใน มีใกล้มีไกล นั่นมันอยู่ข้างนอก เขาทำของเขาข้างนอก แล้วของข้างในเรา เราไปรับรู้เขาทำไม เราไปได้ยินมันทำไม เราไปยึดมันมาทำลายเราทำไม นั่นมันเป็นเพราะเขาไม่รู้ เหมือนเด็ก ดูสิ เด็กมันไร้เดียงสา มันก็เล่นประสามันใช่ไหม เขาไม่รู้เรื่องนะ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรทำแล้ว แต่ถ้าเขาภาวนาเป็นขึ้นมา คนที่ทำ พอเขาภาวนาเป็นขึ้นมาเขาจะรู้เลย

ทีนี้คนภาวนาเป็นเขาจะสงวนตรงนี้มาก ความสงัด ความกระทบกระเทือนกัน สงวนมากเลย มันไม่รู้ว่าใครจะได้ตรงไหน ใครควรจะเป็นอย่างไร เขาถึงจะไม่เดินผ่านกัน เขาถึงไม่อะไร เพราะเราให้โอกาสเขา เราให้โอกาสกับทุกๆ คนนะ แล้วเราทำอะไรของเรา เรารักษาใจของเรา นี่มันเป็นไป

เราเปรียบเหมือนงาน เราทำงานกัน งานหยาบๆ ข้อวัตรปฏิบัตินี่งานหยาบๆ แล้วงานอันละเอียดล่ะ งานละเอียดมันในใจ งานมันจะหยาบอย่างนี้ไม่ได้นะ เรามาทำบุญกุศลกัน เรามาสร้างบุญกุศลกัน แล้วเราจะอยู่อย่างนี้ตลอดไปไหม ข้อวัตรก็เหมือนกัน ดูพระทำข้อวัตร ทำข้อวัตรแล้วจะอยู่กับข้อวัตรอย่างนั้นหรือ ข้อวัตรมันเป็นเครื่องอยู่ คนเราธรรมดาทุกคนร่างกายมันขับของเสียมาตลอดเวลา ก็ต้องทำความสะอาดของมัน แล้วหัวใจล่ะ หัวใจมันก็มีของเสียเหมือนกัน มันมีความโลภ ความโกรธ ความหลง เราจะเข้าไปถึงหัวใจของเราไหม พองานละเอียดเข้ามา พองานละเอียดเข้ามา งานหยาบๆ ครูบาอาจารย์เราท่านถึงบอกให้ทำข้อวัตร แต่ไม่ให้ทำงานทางโลก งานก่อสร้าง งานต่างๆ ไม่ให้ทำ แต่ให้ทำงานข้อวัตร ข้อวัตรต้องทำเพราะว่ามันเป็นการผ่อนคลายอิริยาบถไง มันเป็นการผ่อนคลายอิริยาบถของเรา เวลาเรากวาดลานวัดมันเป็นการผ่อนคลายอิริยาบถด้วย มันได้หลายๆ อย่าง แต่ถ้าไปทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นวัตถุขึ้นมา มันมีผลงานขึ้นมา แล้วกิเลสมันเข้าตรงนี้ไง เพราะอะไร เพราะมันมีผลงานไง มันเป็นชิ้นเป็นอันไง แต่เอ็งเดินจงกรมทั้งปีทั้งชาติ เอ็งจะไม่มีผลงานอวดใครเลย สูญเปล่า แต่เรารู้

เดินจงกรม เดินจงกรมเดินไปเถอะ เดินไปอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครเขามาถ่ายรูปไว้ ถ้าไม่ถ่ายรูปไว้ เรามีผลงานอะไร แต่ใจเรารู้นะ แต่เราไปก่อสร้างสิ่งที่เป็นวัตถุอันใด เรามีผลงานนะ มันมีผลงานขึ้นมา มันจับต้องได้ มันก็อยากทำ อยากทำ อยากออก ทีแรกก็ทำแก้รำคาญ พอทำไปทำมา ไม่ทำไม่ได้ รำคาญ พอทำไป รำคาญ มันก็เป็นหมาขี้เรื้อนนะ หมาขี้เรื้อนมันคัน มันทนไม่ไหว ถ้าคนทำอะไรบ่อยครั้งเข้ามันจะเป็นความเคยชิน

นี่งานอย่างหยาบๆ ไม่ใช่ว่าการทำงาน งานต้องดูด้วยว่างานไหนสมควรไม่สมควร ถ้าสมควรมันก็ควรทำ ไม่สมควรเราก็ไม่ควรทำๆ นี่งานอย่างหยาบ แล้วงานอย่างละเอียดล่ะ เราก็มาดูใจเรา ถ้าใจเรามันพัฒนาขึ้น มันจะพัฒนาของมันขึ้นมาเรื่อยๆ ต้องดูตรงนี้ การปฏิบัติ ทำไมพระพุทธเจ้าบอกให้กรรมฐาน ๔๐ ห้อง แต่ละคน ๔๐ ห้อง แล้วเวลาครูบาอาจารย์เราสอนบอกว่าทำไมต้องภาวนาพุทโธ

ถาม : เวลาภาวนาอยู่ในที่เปลี่ยวคนเดียวให้ภาวนาพุทโธดีกว่าคำภาวนาอื่นๆ ความเข้าใจของผมถูกต้องหรือเปล่า ขอความเมตตาตอบ อธิบายให้เข้าใจ

หลวงพ่อ : มันเข้าใจ คำว่า “พุทโธๆ” คำภาวนามันเป็นจริตนิสัย แต่ครูบาอาจารย์จะสอนพุทโธ เพราะถ้าครูบาอาจารย์ เหมือนกับพระพุทธเจ้า เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้แล้ว พุทโธมันมีผลตอบสนองเยอะมาก เพราะเรานึกคำว่า “พุทโธ” ถ้าออกมาจากใจนะ ผีสางเทวดาเขาจะอนุโมทนากับเรา เพราะว่าทุกคนเขาก็เคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ ธัมโม สังโฆ สิ่งนี้มันกระเทือนกัน เพราะอยู่ในพระไตรปิฎกนะ พวกจตุโลกบาลทั้ง ๔ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าใครถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขาจะดูแลให้ เขาจะไม่ให้ผีไปหลอกไปลวงได้ เขาไปอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเลยนะ พวกท้าวจตุโลกบาล พวกเทวดาเขาอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ คือพระพุทธเจ้าเราเป็นสิ่งที่เคารพบูชาของในวัฏฏะนี้ แล้วเรานึกถึงพุทโธ ทั้งๆ ที่ภาวนาไม่เป็น เรานึกถึงพุทโธ เรามีผู้คุ้มครองแล้ว

แต่นี่คนเขาไม่คิดกันตรงนั้นไง ทำไมต้องพุทโธ อย่างอื่นไม่ได้

ได้ ขี้ๆๆ ก็ได้ คำบริกรรมขี้ๆๆ นิพพานอยู่ในขี้ นิพพานอยู่ในสัตว์ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาพูดธรรมะไป เราพูดบ่อยนะ ถ้าเวลาเราพูดธรรมะไป เวลาเราพูดธรรมะ สิ่งนี้เป็นความจริง แต่พอโยมฟังธรรมะ เรายึดมั่น เอาไปพูดต่อไปนี่ไม่จริงแล้ว เพราะอะไร เพราะมันเป็นอัตตาไง มันเป็นอันเดียวไง มันเป็นหนึ่งเดียวไง แต่ธรรมะมันไม่ใช่หนึ่งเดียว ธรรมะนี้มันรอบตัวไง

ธรรมะนี้มันรอบตัว หมายถึงว่า อธิบายในแง่มุมใดก็ได้ ไม่ใช่อธิบายในแง่มุมนี้แง่มุมเดียวใช่ไหม การพิจารณากาย การพิจารณากายไม่เห็นกายก็ได้ การพิจารณากายของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ กำลังของจิตมันไม่เท่ากัน มันไม่ใช่ตายตัวนะ ธรรมะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมๆ สภาวธรรมจริงๆ

ทีนี้พอเราพูดไปปั๊บ คนที่เป็นปุถุชน เราจะยึดเป็นวิทยาศาสตร์ไง ต้องเป็นอย่างนี้ อาจารย์พูดอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ พอต้องอย่างนี้ ไปพูดต่อปั๊บ ผิด ผิดตรงนั้นไง ผิดตรงที่ว่าต้องเป็นอย่างนี้ไง ทีนี้พอประเด็นของครูบาอาจารย์ท่านเป็นของท่าน มันเป็นจริตนิสัย คำว่า “พุทโธๆ” เพราะมันเป็นพุทธานุสติ มันเป็นกรรมฐานข้อแรกเลย ถ้าว่าคำว่า “พุทโธ” ถูกต้องไหม ใช่ ถ้าเราตั้งใจแล้วพุทโธได้ ทีนี้เพียงแต่ว่า ถ้าจริตนิสัย พุทโธนะ ภาวนาพุทโธเป็นคำบริกรรมมันต้องเป็นสัทธาจริต คือเราต้องเชื่อ คำว่า “พุทโธ” ถ้าจิตเราหยาบ เราเด็กเกินไป คือวุฒิภาวะเราเด็ก ทำไมต้องพุทโธ พุทโธมันคืออะไร แล้วพุทโธมีความหมายอะไร เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราเข้าไม่ถึงไง

แต่ถ้าเป็นหลวงตาท่านพูดนะ พุทโธสะเทือน ๓ โลกธาตุ เพราะใจเราเป็นพุทโธแล้ว พุทโธก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สะเทือน ๓ โลกธาตุ เราบริกรรมพุทโธคำเดียวสะเทือน ๓ โลกธาตุ เพราะเทวดา อินทร์ พรหมทั้งหมดเขารู้จักพุทโธ แล้วเราเป็นคนใฝ่ดี เหมือนเด็กที่มันดี ผู้ใหญ่จะเอ็นดูเด็กไหม ในเมื่อเราระลึกพุทโธ มันเอ็นดูเด็กไหม แต่เราไม่เข้าใจไง เพราะเราไม่เข้าใจ เราถึงไม่เห็นคุณค่าของมัน

เหมือนการกราบพระ ถ้าเรากราบพระโดยวิทยาศาสตร์ โดยความคิดเด็กวัยรุ่นจะคิดมาก เอ๊! เราไปกราบพระปลกๆ เขาทำอะไร เพราะเขาไม่รู้ประเพณีวัฒนธรรมใช่ไหม “อ้าว! ทำไมต้องมากราบทองเหลืองล่ะ ทองเหลืองมันหล่อขึ้นมา มากราบอะไรกันทองเหลือง” นี่คิดแบบอวดฉลาด

แต่ถ้าคิดแบบครูบาอาจารย์ของเรา รูปเคารพมันเป็นสิ่งสมมุติขึ้นมา เรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านมีบุญคุณกับเรามหาศาล ท่านรื้อค้นของท่านขึ้นมา แล้วท่านสร้างบารมีกว่าจะรื้อค้นได้ แล้วท่านวางธรรมะไว้ แล้วสาวกสังฆะที่เขาไปปฏิบัติถึงธรรมะนั้นเป็นแก้วสารพัดนึก เรากราบถึงบุญคุณ กตัญญูกตเวที เราไม่ได้กราบทองเหลือง

ย้อนกลับมาที่พุทโธ เราไปค้นคำว่า “พุทโธ” หาค่ามัน มันอยู่ที่ไหน ค่าพุทโธมันอยู่ที่ไหน นึกว่ามันไม่มีความจำเป็นไง แต่ถ้าคนเข้าใจ เห็นไหม นี่คือนามขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราระลึกถึง ระลึกถึงคำนี้ ใจเรามั่นคง

เราเที่ยวป่ามาเยอะ เราไปกับพระนะ พระที่พรรษามากกว่า บางทีตกเย็นมาปั๊บ ปลงอาบัติแล้ว ทีแรกใหม่ๆ เราออกธุดงค์ เราไม่เข้าใจ เพราะประสบการณ์เราไม่มีไง แต่เขาธุดงค์มาแล้ว เขาเข้าป่ามาแล้ว ถ้าศีลเขาไม่บริสุทธิ์ เขาจะเผชิญกับสิ่งที่ไม่เห็น เขาคงพบมา ตกเย็น มาแล้ว เพราะต่างคนต่างอยู่ มันห่างกันไง แต่เขาจะเข้ามาปลงอาบัติ เขาปลงอาบัติคือเขาไม่แน่ใจตัวเขาเอง แล้วเราพรรษาเดียว พอได้พรรษาเดียว ออกพรรษาแล้วออกธุดงค์เลย พอไปเที่ยวป่าๆ ไป มันถึงเข้าใจ พอมันเข้าใจแล้วมันได้สิ่งนี้มา

นี่เหมือนกัน เวลาสอนก็ท่องพุทโธ พุทโธมันสะเทือน มันสะเทือนมาก ทีนี้เพียงแต่ว่าพอมันเป็นประเพณีวัฒนธรรมของพวกเรา พอเราเคารพบูชา นิพพานสุดเอื้อม คือว่าพระอริยบุคคล ศาสนาพุทธ เขาบอกว่าศาสนาพุทธติเตียนก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้...ไม่ใช่ ศาสนาอื่นที่ไม่ได้ ศาสนาพุทธนี้ได้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา พระพุทธเจ้าสอนให้กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่เราพูด ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์พูด ไม่ให้เชื่อใครพูดหมดเลย ไม่ให้เชื่อแม้แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มันคำนวณแล้วมันจะลงได้ ไม่ให้เชื่อหมดนะ ให้เชื่อสิ่งที่การกระทำ สิ่งที่เราได้สัมผัส ให้เชื่อสิ่งที่สัมผัส จิตเราสัมผัสได้ขนาดไหน ให้เชื่อปัจจัตตังไง สันทิฏฐิโก ให้เชื่อที่นั่น ไม่ให้เชื่อใครเลย ฉะนั้นจะบอกว่าศาสนาพุทธบังคับได้อย่างไร

แต่เวลาติเตียน สมมุติว่ามีพระองค์หนึ่งเป็นพระที่ว่าเป็นของจริง เป็นพระอริยเจ้า แต่พฤติกรรมของท่านบางอย่าง เราดู เราขัดตา เห็นไหม ถ้าเราไม่เชื่อ มันไม่เห็นมีอะไรเลย แต่คนเรา คำว่า “ติเตียน” มันต้องหาเหตุหาผลไง “ทำไมพระองค์นี้เป็นอย่างนั้น” นี่เหตุผล ไอ้เหตุผลนั่นล่ะเป็นกรรม เราต้องเหตุหาผล หาเหตุผลมันก็ลบหลู่ กรรมมันเกิดตรงนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้เชื่อเลย พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา เห็นพราหมณ์ที่เดินสวนมา เดินสวนกันครั้งแรกเลย เห็นพระพุทธเจ้านี้น่าเคารพมาก ถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้านี้ไปศึกษามาจากใคร

พระพุทธเจ้าบอกว่า เราตรัสรู้เองโดยชอบ

มันสั่นหัวบรื้อ! มันไม่เชื่อเลย มันเดินหนีไปเลย มันไม่เชื่อ เดินสวนพระพุทธเจ้าไป ถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตอบแล้วยังไม่เชื่อเลย ไม่เชื่อมันก็สิทธิของเขา แต่ถ้าเป็นคนเชื่อเคารพศรัทธา เขาจะเคารพบูชาของเขา เคารพบูชาของเขามันก็มีโอกาสของเขาไง

ทีนี้คำว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา” ปัญญาของเรา ปัญญามันอย่างที่ว่า ปัญญาที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ ปัญญาแค่เขาสนใจในศาสนา แล้วเขาเข้ามาเห็นพฤติกรรม ไปวัด ไปเห็นวัด ไปวัดแล้วเห็นข้อวัตรในวัด ไปเห็นวัดมันอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เขาเกิดศรัทธาขึ้นมา แล้วเขาค้นคว้าขึ้นมา แล้วมันจะพัฒนาขึ้นไป มันจะพัฒนาของมันขึ้นไปนะ ศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาของเรา ประสาเราเลย มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาของกิเลส แต่นี่มันมีกิเลส มันจะไปปฏิเสธไม่ได้

ใจเราเหมือนเหรียญ เหรียญมันมีสองด้าน เหรียญมีสองด้านหมด ความคิดเรามีธรรมกับกิเลสมันอยู่มาด้วยกันตลอดเวลา ธรรม ธรรมหมายถึงสภาวะของใจ ทุกคนมีจิตวิญญาณ จิตวิญญาณตัวนี้ถ้ามันทำให้สะอาดแล้ว วิมุติสุขเกิดที่นี่ ทุกคนมีสิทธิไง แต่ส่วนใหญ่แล้วเหรียญด้านหนึ่งคือกิเลสมันมีกำลังมากกว่าตลอด มันมีกำลังมากกว่านะ ถ้าไม่มีเหรียญใช่ไหม มันไม่มีเหรียญ ไม่มีภวาสวะ ไม่มีสิ่งที่รับผลบุญและบาป คนทำบาปแล้วมันจะไม่ได้รับผลของบาปไง คนทำบาปมันก็ได้รับผลของบาป เพราะเหรียญด้านหนึ่งมันได้ทำออกไป ผลที่ตอบสนองมามันออกจากเหรียญนั้นใช่ไหม ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นออกจากใจดวงนั้นใช่ไหม แล้วใจดวงนั้นมันทำดี สิ่งที่ทำดี ผลที่ตอบสนองมันก็มาถึงที่เหรียญด้านนั้นใช่ไหม นี่คือตัวภวาสวะ คือตัวภพ คือตัวใจ ตัวนี้มันไม่เคยตาย มันไม่เคยตาย มันเกิดมันตาย พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ถ้าภพชาติมันขาดสูญกัน พระโพธิสัตว์จะสร้างบารมีไม่ได้ เพราะพระโพธิสัตว์เกิดแต่ละชาติๆ มันต้องขาดช่วงกัน มันจะมาต่อเนื่องกันมาได้อย่างไร พระเวสสันดรกับเจ้าชายสิทธัตถะมันต่อเนื่องมันมาอย่างไร ในเมื่อมันเกิดกันคนละชาติ ชาติหนึ่งเป็นพระเวสสันดร อีกชาติหนึ่งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วผลของพระโพธิสัตว์มันต่อมาอย่างไร นี่ไง คือเหรียญอันนั้นน่ะ เหรียญนั้น ใจดวงนั้นน่ะ ใจดวงนั้นมันมีอยู่

นี่ไง ถึงบอกว่าสิทธิเสมอภาคของคนมีเท่ากัน เพียงแต่ว่าเหรียญด้านใด ด้านกิเลสหรือด้านธรรมมันมีกำลังมากกว่า ด้านกิเลสมีกำลังมันก็ดึงไป แล้วสิ่งนี้นะ เหรียญนี้มันตายตัว แต่ความคิดเรามันมีตลอดเวลา ความคิดเรามันมีอยู่ตลอด กิเลสกับธรรมอยู่กับใจเรา

เวลาเป็นโลกนะ คิดดีก็เป็นบุญกุศล คิดบาปก็เป็นบาปอกุศล คิดชั่วเป็นบาปอกุศล เวลาปฏิบัติขึ้นมา ทำดี ทำดีก็เป็นธรรม เวลามันถดถอย เวลามันทำดี เวลามันเป็นสมาธิขึ้นมา หรือทำปัญญาเกิดขึ้นมามันเป็นธรรม แล้วเป็นธรรมมันจะเป็นตลอดไปไหมล่ะ เดี๋ยวมันก็เป็นกิเลส กิเลสเพราะอะไร กิเลสเพราะพอมันใช้พลังงานหมดแล้ว พลังงานมันใช้ไป เวลามันมีสมาธิ มันพิจารณาอะไรมันทะลุปรุโปร่งไปหมดเลย แต่พอสมาธิมันเสื่อมนะ พอสมาธิมันเสื่อม มันคิดเหมือนกัน แต่มันไม่ไป มันยื้อกัน

นี่ตรงนี้ เวลาถ้ามันมีสมาธิหนุน ปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหา หมายถึงว่า เราพิจารณาปัญหา กาย เวทนา จิต ธรรม เกสา โลมา ขา ทันตา ตโจ มันจะคิดพิจารณาแล้วมันจะเข้าใจ มันจะทะลุ มันจะปล่อยพับ! พับ! พับ! มันซึ้งมาก มันสนุกครึกครื้นนะ แล้วก็นึกว่า โอ้โฮ! เราทำงานเก่ง ทำไปเรื่อยๆ พอทำไปเรื่อยๆ สมาธิ พลังงานมันใช้ไปเรื่อยๆ สมาธิมันอ่อนลง พอคิดไป เกสา เกสามันก็เหมือนเกสานะ ผมมันก็เหมือนกับผมนั่นน่ะ ผมเขาก็เหมือนกับผมเรา มันไปไม่รอด มันยังยันกันอยู่อย่างนั้นน่ะ มันไปไม่รอด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันขาดสมาธิ เพราะมันขาดกำลัง ต้องหยุด หยุดเลย แล้วกลับมาพุทโธ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนมันไม่หยุด ก็เคยทำได้ มันจะคิดอย่างนี้ กิเลสมันจะคิดอย่างนี้ ก็ของเคยทำได้ วันนี้ทำไมไม่ได้ แล้วจะเอาให้ได้ ยิ่งฝืนไปมันก็ยิ่งอ่อนลง ยิ่งฝืนไปมันก็ยิ่งอ่อนลง แล้วเราก็ไม่รู้ ทำไมเป็นอย่างนี้ ก็เคยทำได้ๆ

ครูบาอาจารย์ท่านเจอประสบการณ์อย่างนี้มา ถ้าอย่างนี้ปั๊บ ต้องหยุดเลย กลับมาสร้างกำลัง กลับมาสร้างกำลัง กลับมาพุทโธเลย สมถะกับวิปัสสนามันจะเดินไปด้วยกัน ถึงที่สุดแล้วถ้าคนภาวนาเป็นนะ ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ เพราะสิ่งนี้มันจังหวะที่เราใช้อะไรเท่านั้นเอง แต่ขณะที่เรายังไม่เป็น มันจะเป็นวิปัสสนาไปเลย มันไม่ใช่

เราจะบอกว่าสิ่งที่ในการประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาของปุถุชน มันเป็นปัญญาจากเรา มันไม่ใช่เป็นปัญญาจากสมาธิ ถ้าเป็นปัญญาจากสมาธิมันไม่มีตัวตน

มานะ ทิฏฐิ อหังการ ทำให้เป็นสมาธิไม่ได้ แล้วทุกคนมีมานะ มีทิฏฐิ มีอหังการ ข้ารู้ ข้าแน่ ข้าสุดยอด ไอ้สุดยอดนี่ย้อนมาฆ่าเรา ฆ่าเราเพราะอะไร เพราะเราคืออะไร เราคืออวิชชา เราคือกิเลส เราคิดโดยเรา คิดโดยกิเลส คิดโดยมุมมองของเรา คิดโดยความเห็นของเรา เส้นผมบังภูเขา ธรรมะพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่เราคิด เราใช้ปัญญาเรา แต่ถ้าเส้นผมไม่บังภูเขา มันคิดโดยข้อเท็จจริง เพราะมานะ อหังการ มันสงบลง สมาธิมีผลอย่างนี้นะ ความสงบ สมถะมีผลมาก แต่เขาไม่เข้าใจกัน แล้วเขาพูดกันโดยสามัญสำนึกว่า ทำสมถะไม่เกิดปัญญา ไม่เป็นประโยชน์ แล้วมันก็ไปเน้นกัน ไปเน้นกันตรงที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ก็เลยคล้ายว่าใช้ปัญญา

ปัญญาโจร ปัญญาบัณฑิต มันคนละปัญญานะ ปัญญาโจรคิดแต่ประโยชน์ของตัว ปัญญาโจรคิดแต่ปล้นคิดแต่ชิง ปัญญาของบัณฑิต ปัญญาของนักปราชญ์ เขาคิดแต่สังคม คิดแต่ความเจริญของสังคม เขาไม่คิดถึงตัวเขานะ แล้วปัญญาของใคร

นี่ไง พอตรงนั้นมันหมุน เพราะอะไร เพราะใจเรามันเป็นโจร อวิชชามันเป็นโจร เกิดมาเป็นเรายังไม่รู้จักเรา เราสบประมาทบ่อยนะ เวลาใครมาเวลา พอพูดถึงธรรมะนะ เราบอกรู้ไปหมดเลย แต่ตัวเองไม่รู้จักตัวเอง เรายังไม่รู้จักเราเลย ถ้ารู้จักเรานะ เอ๊อะ! มันสงบเข้ามาไง รู้จักเรา ต้องมีเราก่อน ไม่มีเรา ใครจะเป็นคนออกไปทำงาน ใครจะเป็นคนออกไปแก้ไข ไม่มีจิต ไม่มีสมาธิ ตัวจิตคือตัวสมาธิ ตัวสมาธิคือตัวจิต ตัวจิตไม่ออกไปทำงาน ไม่ออกไปแก้ไข แล้วใครจะเป็นคนแก้ไข ไม่มีคนออกไปแก้ไข ไม่มีคนออกไปทำงาน ไม่มีคนออกไปรื้อค้น แล้วใครจะได้ผลประโยชน์ ใครจะเป็นคนเสียผลประโยชน์

ไม่มีใครได้ไม่มีใครเสียเลย เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครเป็นคนริเริ่มทำงาน

เราถึงบอกบ่อย การทำสมาธิ การทำหลักการเข้ามาเหมือนจดทะเบียนบริษัท เหมือนเปิดบัญชี เราไม่มีบัญชี ไม่มีหมายเลขบัญชี โอนเข้าโอนออกไม่ได้นะ เรามีหมายเลขบัญชี เราจะโอนให้ใคร เราจะรับผลประโยชน์จากใครก็ได้ ในเมื่อจิตมันสงบแล้วออกวิปัสสนา มันจะได้ผลประโยชน์ของมัน ไอ้นี่ปฏิเสธบัญชี ปฏิเสธทุกอย่างเลย บอกว่าทำอย่างนี้แล้วเป็นความอยาก เป็นอัตตา เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้...มันเส้นผมบังภูเขา แล้วมันจะไม่ได้ประโยชน์ มันทำไปก็สักแต่ว่าทำอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราทำ ใครจะติใครจะเตียนนะ ครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อย เขาว่า มันก็เป็นที่เขาว่าใช่ไหม แต่เราเป็นที่แบบที่เขาว่าหรือเปล่าล่ะ เราทุกข์อยู่เต็มหัวอก เขาบอกคนนี้เป็นพระอรหันต์ แล้วมันหันจริงไหมล่ะ ก็ทุกข์เต็มหัวอกเราอยู่ เรารู้ ก็เขาว่า เขาว่า เขาส่งเสริมขึ้นมาเอง แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ แล้วถ้าสมมุติ มุมกลับ ถ้าเรามันจริง ถ้าของเรามันมีความจริงอยู่ เขาจะว่าอย่างไรมันก็เรื่องของเขา ก็ความจริงก็คือความจริงในอกเรา ใครจะรู้อะไรกับเรา

ปัจจุบันนี้ในการประพฤติปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะอะไรรู้ไหม เพราะส่วนใหญ่พวกเรา เพราะเราส่งเสริมใช่ไหม รัฐบาลส่งเสริม กระแสสังคมส่งเสริม ส่งเสริมว่าศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธนี้จะล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ พวกเราก็อยากประพฤติปฏิบัติกัน กระแสสังคมมันเกิดขึ้นมา พอกระแสสังคมมันเกิดขึ้นมา มันก็อยากประพฤติปฏิบัติไป นี่กระแสสังคม แต่ในหมู่สังคมนั้นคือมนุษย์มันรู้จริงหรือยัง พอมันรู้จริง แล้วเราเอาอะไรไปวินิจฉัยว่าใครผิดใครถูก มันก็เหยื่อหมดเลยไง

เราถึงพูดบ่อย ๙๙ เปอร์เซ็นต์ของชาวพุทธ เราสงสารมากนะ สงสารมากเพราะอะไร เพราะคนไม่รู้จริงมันสอน พอมันสอนไปมันสะเปะสะปะ ก็ตัวเองยังไม่รู้จักตัวมันเอง มันจะสอนได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีบัญชี มันไม่มีทะเบียน มันไม่มีอะไรเลย แล้วมันรับผิดชอบอะไรล่ะ มันจะไปรับผิดชอบอะไร แต่ถ้ามีขึ้นมา เราจะโต้แย้งได้

เมื่อ ๒ วันนี้เขาก็มา เขาบอกว่า ทุกคนจะอ้างหลวงตาว่าหลวงตาบัวพูดอย่างนี้ ไม่เชื่อไปฟังในเทปสิ ในเทปของหลวงตา ในเทศน์มีอย่างนี้ตลอดไป

เราก็บอก อืม! เขาพูดถึงประเด็นขึ้นมา อย่างเช่นดูจิต เขาบอกหลวงตาก็พูดอยู่ ไม่เชื่อไปฟังในเทปสิ

แล้วเราก็ได้ยินนะ ได้ยินบ่อยมาก หลวงตาบอกว่า เมื่อก่อนปฏิบัติ แล้วท่านกำหนดไว้ที่จิตเฉยๆ มันก็ทำสมาธิได้อยู่ ได้ แต่พอทำๆ ไปแล้วมันเสื่อม เสื่อมเพราะไปทำกลดหลังเดียว เพราะกำหนดจิตไว้ แล้วพอมันเสื่อมแล้วพยายามรักษา ทิ้งกลดเลย พยายามเร่งความเพียรใหญ่ มันก็ขึ้นมา ๒-๓ วัน มันก็ไหลลง มันรักษาไว้ไม่ได้ เอ๊ะ! เป็นเพราะเหตุใดๆ หาเหตุผลเพราะอะไร เพราะไม่มีจุดยืนใช่ไหม คนเราไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักการ มันทำได้อยู่ อย่างเรา เราก็ทำดีได้อยู่ แต่ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะเราไม่มีข้อมูลแท้ของเรา ทีนี้พอมากำหนด อย่างนี้มันขาดอะไร ต้องขาดคำบริกรรม ถึงได้มาใช้คำบริกรรมอยู่ ๓ วันแรก อกแทบระเบิด

คำนี้ฟังให้ดีนะ “๓ วันแรก อกแทบระเบิด” เพราะอะไร เพราะมันเคยกำหนดจิตไว้เฉยๆ มันสบาย แล้วพอให้มากำหนดพุทโธ มันไม่ยอมทำ หัวใจแทบระเบิด อัดอั้นตันใจ บังคับมันอยู่ ๓ วัน เกือบเป็นเกือบตาย

แล้วปัจจุบันนี้กำหนดไว้เฉยๆ ดูจิตๆๆ มันสบายใช่ไหม แล้วพอไปทำแล้วสบายไหม สบาย โอ๋ย! ว่าง สบาย ก็นี่ไง รู้ธรรมแล้ว เห็นธรรมแล้ว แล้วถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญาใคร่ครวญเรา เราก็ไปตามเขา นี่ไง กระแส แล้วเราเป็นใคร เรามีอะไรที่ไปวัดคุณภาพของมัน

แต่หลวงตาท่านทำแล้ว แล้วพอท่านกำหนด ท่านบอก ๓ วันแรก อกแทบระเบิด ตอนนี้คำว่า “หลวงตา ๓ วันแรก อกแทบระเบิด” เพราะท่านมีบารมี เพราะดูบุญญาธิการของท่าน ท่านมีบารมีของท่านนะ เพราะคำว่า “คนมีบารมี” มันจะมีเชาวน์ปัญญา มีปฏิภาณ อะไรผิดอะไรถูก มันจะแยกมันจะแยะ แล้วมันจะหาเหตุหาผล มันจะเอาตัวเราให้รอดได้

แต่พวกเราไม่มีเชาวน์ไม่มีปัญญา ไม่ฉุกคิด ไม่ฉุกคิดว่าถูกหรือผิด แต่เชื่อตามกระแส ถ้ามันไม่ดี ทำไมคนสนใจมากนัก เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน แต่ไม่ได้คิดเลยนะ ประชากรโลก ๖ พันกว่าล้าน แล้วเขาสนใจในศาสนากี่คน ๖ พันกว่าล้านมันบอกว่าถูก แล้วคนที่บอกว่าผิดมันมีกี่คน นับหัวได้เลย แล้วเชื่อใคร จะเชื่อ ๖ พันกว่าล้านหรือจะเชื่อความจริง นี่ไง เพราะเราไม่มีหลักเกณฑ์ใช่ไหม เราก็ไปกับเขาหมด เพราะเราไม่มีวุฒิภาวะ

แต่หลวงตา ครูบาอาจารย์ท่านมีตรงนี้ ท่านถึงหาเหตุหาผลว่ามันถูกหรือผิดอย่างไร แล้วหาเหตุหาผล อย่างนั้นนะ ๓ วันแรกยังอกแทบระเบิดเลย แล้วอย่างพวกเรา อย่างพวกเราถ้าเชื่อตามเขาไปแล้วทำจนเป็นความคุ้นเคย แล้วจะพลิกใจนะ รากเลือด รากเลือด เพราะมันไม่มา พอมันจะทำปั๊บ มันก็ลงตรงนั้นน่ะ มันเหมือนทางน้ำ ทางน้ำ ร่องน้ำ น้ำพอมันรวมแล้วมันต้องลงร่องน้ำอยู่ตลอดไป จิตมันเคยทำ แล้วเราจะฝืนมัน เราจะฝืนมัน เราถึงอดนอนผ่อนอาหาร ต้องสู้มันๆ ต้องต่อสู้กับมัน ในเมื่อเราทำผิดมา เหมือนติดยาเสพติดแล้วไม่ได้เสพ มันลงแดง จิตมันเคยทำมาจนเคยตัว แล้วมันลงแดง เวลามันจะพลิกขึ้นมามันต้องต่อสู้มาก แล้วถ้าไม่ต่อสู้มาก็เสพยาเสพติดไง จะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เสพแล้วก็ โอ้โฮ! สวรรค์นี้ของเรานะ โอ้โฮ! เสพยาเสพติด โอ้โฮ! เสพแล้วมีความสุขมาก...ไม่เคยเสพนะ มันเวลาไม่ได้เสพมันก็ลงแดง ดูจิตไปสิ ดูไป

เพราะลูกศิษย์เวลาเขามาหา เขาพูดอยู่ เขาบอกว่าทางนู้นทุกคนเวลาที่เขาปฏิบัติเขาก็อ้างหลวงตาทุกคนว่าหลวงตาพูดอย่างนั้นจริงๆ แล้วเราไปฟังในเทปมันก็มีจริงๆ แต่มันเศร้าใจตรงนี้ไง เศร้าใจตรงที่ว่าคนไม่สามารถแยกแยะว่าท่านพูดเปรียบเทียบในแง่ถูกหรือแง่ผิด ท่านเปรียบเทียบในแง่ผิดว่าเราเคยกำหนดจิต เราเคยดูจิต แล้วมันเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๕ เดือน จนเราถ้ามันเสื่อมอีกจะฆ่าตัวตายเลยล่ะ แล้วเรามากำหนดพุทโธ คำบริกรรม แล้วมันถึงฟื้นมา นี่ท่านเปรียบเทียบในแง่ลบ ในแง่มันผิด แต่ทำไมวุฒิภาวะของเรา ทำไมเราไม่เข้าใจการเปรียบเทียบของท่านล่ะ ทำไมบอกว่าท่านพูดแล้วมันถูกล่ะ

เพราะเวลาพระเขาอ้างกัน แล้วลูกศิษย์มาอ้างกับเรา เราฟังแล้วเรางงเลยนะ มันก็ฟังด้วยกัน มันก็เทปม้วนเดียวกัน มันก็เป็นคำพูดเดียวกัน ทำไมมันตีความหมายกับเราไปคนละเรื่องเลย

ทีนี้เราก็มาใคร่ครวญ อืม! มันก็เป็นกรรมของสัตว์ ในเมื่อเป็นปัญญาเขาได้แค่นั้น ปัญญาของเขาทำได้แค่นี้ นี่ไง เราถึงบอก วุฒิภาวะ คำนี้พูดบ่อยมาก เพราะเราจะดูกันสูงต่ำดำขาว แต่สำหรับเรานะ เราดูตรงนี้ เราดูตรงที่จิตเข้มแข็งอ่อนแอ พูดแล้วเข้าใจไม่เข้าใจ

เวลาเราพูดกับโยม พูดมากเลย โยมมาหา บางทีเถียงมาก จนเถียงมาก ทิฏฐิเขาแข็งมากเลย เราจะบอกว่า เฮ้ย! กูขี้เกียจสีซอว่ะ เราจะบอกว่ามึงน่ะควาย แต่จะพูดไปก็น่าเกลียด กูขี้เกียจสีซอว่ะ มันจะเอาสีข้างเข้าถู พูดอย่างไรมันก็เอาสีข้างเข้าถู มันไม่ฟัง ก็เลยบอกว่า เออ! เราขี้เกียจสีซอ เลิกเถอะ คือว่าจะหยุดไง ไม่สีซอแล้ว

ของอย่างนี้มันมีโดยธรรมชาติ มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าสอนไว้ ถ้าสอนไม่ได้ เราฆ่าทิ้ง การฆ่าของพระพุทธเจ้าคือท่านไม่พูดด้วย คือเสียเวลา เราพูดไป โทษนะ สีซอนี่แหละ คือพูดไป คนดื้อแพร่งเขาไม่ฟัง เราก็นั่งพูดไป ไม่รู้ใครโง่ใครฉลาดเนาะ ฉะนั้น ถ้าเจออย่างนั้น พระพุทธเจ้าจะไม่พูดด้วย ท่านจะชักสะพาน การชักสะพานหมายถึงการฆ่าทิ้ง คือเขาจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว เราไม่คุยกับเขา เขาเสียประโยชน์ไปเลย นั่นมันก็เรื่องของเขา มันกรรมของสัตว์ ไม่สามารถที่จะรื้อขนได้หมดหรอก แล้วในปัจจุบันใครมาก็เป็นอย่างนั้น

มันย้อนกลับไปอีกช่วงหนึ่งเลยล่ะ ช่วงที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นออกประพฤติปฏิบัติ แรงต้านมันขนาดไหน นี่มันเพราะอำนาจวาสนานะ อำนาจวาสนาของหลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา พอหลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นออกไปปฏิบัติ โอ๋ย! เห็นห่มผ้าสีกรักๆ เขาวิ่งหนีกันเลยล่ะ เขากลัว เขาว่าเป็นพวกปอบพวกผีนะ

แล้วพอเดี๋ยวนี้ขึ้นมา เราเทียบสิ ดูผ้าห่มของพระป่ากับผ้าห่มของวัดบ้าน โดยปกติเมื่อก่อนมันจะตัดกันมากขนาดไหน แต่ในปัจจุบันนี้เราเคยชินต่างหาก เพราะเราเห็นจนเคยตา สีกรักนี่เราเห็นเป็นสีธรรมดา เราถึงมองว่าเมื่อก่อนสีกรักไม่มีเลย มีแต่สีเหลืองๆ อย่างนั้นน่ะ แล้วมีพระที่มาห่มสีกรัก มันจะตัดกับเขามากไหม พอมันตัด สังคมมันยังไม่มีใครยอมรับไง มันก็มีแรงต้านมาก จนขนาดว่าหลวงปู่มั่นหนีจากอุบลฯ มา เพราะเขาไม่ให้ใส่บาตร หลวงปู่มั่นหนีจากอุบลฯ มาอยู่สกลฯ เขายังสั่งมาไม่ให้ใส่บาตร พระ ๒ องค์นี้ไม่ให้ใส่บาตร ไม่ให้ทำอะไรเลย แล้วต่อสู้มาจนสังคมยอมรับ มันต้องมีบารมีนะ ต้องมีบารมี เราต้องจริง พิสูจน์ขึ้นมาด้วยชีวิตชีวิตหนึ่งเลยล่ะ

แล้วพอปัจจุบันนี้ เมื่อก่อนเวลาท่านทำก็ไปต่อต้าน ไม่เห็นด้วย แต่พอตลาดมันติดขึ้นมา เอาแต่ผลประโยชน์นะ เราถึงว่าพวกนี้เอาเปรียบ แก่นของศาสนาคือครูบาอาจารย์ของเรา คือครูบาอาจารย์ของเราทำจริง รู้จริง มันเป็นประโยชน์กับศาสนา แก่นของศาสนา กระพี้ของศาสนา เปลือกของศาสนา ศาสนามันปกคลุมไปด้วยสิ่งใด แล้วครูบาอาจารย์ของเราเป็นแก่น ศาสนานี้เป็นแก่นเพราะอะไร เพราะสังคมเชื่อถือใช่ไหม พอสังคมเชื่อถือ ลาภสักการะมันก็เกิดตามมา แล้วพอลาภสักการะเกิดตามมา เขามองที่ลาภสักการะ เขาไม่ได้มองที่คุณธรรม แค่ทำตัวให้เหมือน เวลาพูด พูดธรรมะพระพุทธเจ้า แต่ใจรู้ไหม

ทุกอย่างนะ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ทุกอย่างเกิดที่ใจ ถ้าใจมันเป็นคุณธรรม ใจเป็นความดีแล้ว มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทางเด็ดขาด เพราะอะไร เพราะเสวยอารมณ์ ธรรมธาตุ ตัวนิพพาน ตัวธรรมธาตุ มันเป็นวิมุติสุข มันอยู่โดยเอกเทศของมัน ทีนี้คนที่ยังมีชีวิตอยู่มันมี แม้แต่พระอรหันต์ สอุปาทิเสสนิพพาน ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ถ้าเป็นพระอรหันต์ สิ่งที่เหลืออยู่คือชีวิต ชีวิตนี้คือเศษส่วนแล้ว

อย่างเรา เราเป็นปุถุชน คนเรากิเลสมันครอบงำ เราจะทำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยตัณหาของเรา เราทำสิ่งใดด้วยตัณหาความทะยานอยาก เราทำด้วยอิสรภาพของเรา แต่พอมันพิจารณาไปๆ ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด มันตัดเป็นชั้นไป โสดาบันตัดเข้าไป สกิทาคามีตัดเข้าไป อนาคามีตัดเข้าไป ถึงที่สุดแล้วตัวมันเป็นจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันทำลายตัวมันเอง พอทำลายตัวมันเองปั๊บ เป็นธรรมธาตุแล้ว จิตไม่มี พระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้ามีจิตคือมีภพ

แต่เวลาพูดกับเด็ก ถ้าบอกว่าไม่มีจิต เดี๋ยวเด็กมันร้องไห้ มันไม่รับรู้ ก็ต้องบอกว่าจิตพระอรหันต์ แต่ถ้าจะพูดกันธรรมะจริงๆ พระอรหันต์ไม่มีจิต เพราะจิตมันโดนทำลายลงแล้ว ในอนัตตลักขณสูตร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา เวลาอนัตตลักขณสูตร พระพุทธเจ้าเทศน์อนัตตลักขณสูตร “รูปนี้เป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา”

“เป็นอนัตตาครับ”

“เป็นจริงหรือไม่จริง”

“เป็นไม่จริงครับ”

“มันทุกข์หรือมันสุข”

“มันทุกข์”

“ทิ้งไม่ทิ้ง”

“ทิ้ง”

ทิ้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วว่าถึงที่สุด พอมันทิ้งมาก็มาเป็นตัวมัน

แต่ในอาทิตตปริยายสูตร มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ สิ่งที่มโนคือตัวใจ ทิ้งขันธ์ ๕ มาแล้วต้องมาทิ้งใจ มาทิ้งตัวจิต พอทิ้งมโน มโนคือจิต ถ้าทิ้งแล้ว มันทำลายแล้วมันถึงเป็นพระอรหันต์ ทีนี้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว ชีวิตที่เหลือ ชีวิตที่เหลือ ชีวิตเรา ความคิด หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า ถ้าธรรมธาตุเวลาออกมาคิด ท่านบอกว่าเหมือนแบกซุงเลย เหมือนแบกซุงแบกไม้ เพราะมันหนัก

เราจะบอกว่า จิตที่เป็นธรรมธาตุมันสะอาดบริสุทธิ์ ขณะที่มันจะออกมาคิดมันมีสติพร้อม สติเป็นอัตโนมัติ ทีนี้ถ้าจิตที่มันสะอาดบริสุทธิ์ โทษนะ มันจะคิดชั่วไม่ได้ไง เพราะความอกุศลมันชั่ว เหมือนกับเราหยิบไฟ มันจะหยิบได้อย่างไร ขนาดความคิดที่เราจะคิด ท่านยังบอกว่าเหมือนกับต้องไปแบกท่อนซุงเลย มันหนักน่ะ ความคิด จะบอกว่าจิตนี้สติมันเป็นอัตโนมัติ เพราะขณะที่มันจะคิดมันต้องกระเพื่อม พลังงานนี้มันขยับ พอขยับออกมามันถึงออกมาเป็นความคิดไง ทีนี้พอขยับ มันรู้สึกตัว สติมันพร้อม

ทีนี้เวลาท่านพูดว่าข้างนอกท่านจำนู่นไม่ได้ ท่านจำนี่ไม่ได้ มันเป็นความคิดไง มันไม่ใช่ตัวธรรม ไม่ใช่ตัวธรรมธาตุ มันเป็นความคิด ทีนี้ท่านต้องออกมาคิด ต้องออกมา ข้อมูลอันนี้มันขันธ์เสื่อมๆ แต่ตัวธรรมะไม่มีเสื่อม มันเป็นคงที่ของมันตลอดเวลา เพราะจิตนี้ไม่มีวัย คนอายุ ๘๐-๙๐ มันแก่หรือยัง มันแก่แต่ร่างกาย โอยแต่ร่างกายนะ แต่หัวใจไม่มีโอย มันไม่อยากตาย มันอยากอยู่อีกร้อยปี

ขณะที่มันออกมา ชีวิตที่เหลือ หมายถึงว่า สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ เป็นสัญชาตญาณ แต่ของเราปุถุชนมันสติ สติไม่ใช่จิต ถ้าสติเป็นจิต มรรค ๘ มีสติด้วย มีมหาสติด้วย สติอัตโนมัติด้วย สติเกิดจากจิต แต่ไม่ใช่จิต เพราะตัวจิตมันมีอยู่โดยธรรมชาติ แต่มันโดนครอบงำไว้ด้วยมารมันครอบงำไว้ ครอบงำไว้มันก็ใช้ชีวิตแบบเป็นไปตามสัญชาตญาณ แล้วเรามาศึกษา ศึกษาข้อมูลโดยวิทยาศาสตร์ มันก็จำไว้โดยสมอง มันไม่ได้จำไว้ที่จิต

ทีนี้พอมันจะออกมา พอมันจะสร้าง เราถึงต้องฝึกสติ ต้องตั้งสติ ระลึกรู้ พุทโธครั้งแรก สติเต็มเลย เดี๋ยวพุทโธๆ อ่อนไป ก็ฟื้นตลอด ฝึกสติๆ เพราะสติมันอยู่ในมรรค สติมันอยู่ในมรรค ๘ สติอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรม เพราะเราสร้างสติ เราฝึกสติขึ้นมา พอเรามีสติขึ้นมา ทุกอย่างยับยั้งได้หมด ทุกอย่างยับยั้งด้วยสติ ความคิด ความคิดความวิตกกังวลทุกอย่างมันขาดสติ มันคิด

พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นคำสุดท้ายนะ เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ตอนจะนิพพาน ภิกษุนั่งอยู่เต็มเลย “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” ความประมาทเลินเล่อ สติตรงข้ามกับความประมาท ถ้ามีสติปั๊บ สติมันจะสร้างขึ้นมา เราสร้างขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มรรค ๘ สติของพระโสดาบันเป็นสติปัญญา สติของพระสกิทาคามี มรรคในสกิทาคามีเป็นสติปัญญา พอสติปัญญา กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส แยกหมด ในมุตโตทัย หลวงปู่มั่นพิจารณาไปแล้วมันจะละ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง คือมันปล่อยหมด ปล่อยจิตนี้เป็นอิสรภาพหมดเลย ทีนี้พออิสรภาพนั้นมันเข้าไปถึง จิตมันละเอียดเข้าไป ทีนี้มันจะจับตรงนี้ ของที่ละเอียด ที่ว่าละเอียดๆ พอสิ่งที่ละเอียด สติไปจับไม่ได้แล้ว สติมันแบบว่ากำลังมันน้อยกว่ากิเลสนัก สตินี้กำลังน้อยกว่ากิเลสนะ กิเลสที่ละเอียด สติปัญญาโดยกำลังของเราเข้าไปจับมันไม่ได้ คือว่าไม่มีความสามารถจะเข้าไปเห็นกิเลส เห็นกามได้ สิ่งที่จะเข้าไปเห็นกามได้ต้องเป็นมหาสติ

สติ มหาสติ มันเปรียบเทียบเหมือนกับฟุตบอล ฟุตบอลที่เขาเตะลูกโทษ ฟรีคิกเขาเตะ ๒ จังหวะใช่ไหม แต่ลูกโทษหน้าจุดโทษนั่นน่ะเตะ ๒ จังหวะ หมายถึงว่า มันเป็นความคิด มันสืบต่อ มันกระเพื่อมเข้ามาถึงจิต มันรับรู้กัน แต่ขณะที่เตะลูกโทษมันจังหวะเดียว ขณะที่มันตัดขันธ์เข้ามาเรื่อยๆ จนถึงอันละเอียด กามราคะมันอยู่ใกล้จิต ฉะนั้น สิ่งที่จะเข้าไปจับมัน มันถึงจับได้ยาก มันจะต้องฝึกสติเพราะเป็นพระสกิทาคามี มันมีสติปัญญาเป็นพื้นฐาน พอมีพื้นฐาน มันจะฝึกขึ้นไป มันจะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา พอเป็นมหาสติ-มหาปัญญาเข้าไปจับ พอจับจิตได้ คือจับกายได้ อสุภะเกิดที่นี่

เวลาเขาแจกอสุภะกัน เขาบอกพิจารณาอสุภะๆ เราไม่ฟังเลยนะ

การพิจารณาเริ่มต้นเป็นการพิจารณากาย พิจารณากายจนกายนี้เป็นไตรลักษณ์ พิจารณากายเห็นกายตามความเป็นจริง กายแยกจากเรา แยกจากจิต กายกับจิต กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นั่นเป็นพระโสดาบัน

พระสกิทาคามีก็เหมือนกัน กายอย่างละเอียด พิจารณากายสู่สภาพเดิมของเขา พอจับกามราคะนี้ได้มันจะเป็นอสุภะ เป็นอสุภะเพราะอะไร เป็นอสุภะ เปรียบเทียบเหมือนเรา ดูสิ คนตายไปแล้วกี่วันมันจะเน่า ทุกอย่างมันจะเป็นธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ขณะปัจจุบันมันเห็นปัจจุบัน ปัจจุบันคือจิตเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่เคลื่อนออกไป เป็นปัจจุบัน พอเป็นปัจจุบันปั๊บ เพราะอะไร เพราะมันเป็นมหาสติ-มหาปัญญา มันมีสมาธิเป็นฐานของมัน เพราะมันไม่เคลื่อนไหว มันเป็นปัจจุบันตลอด พอมันเห็นขึ้นมา พอมันเห็นขึ้นมาด้วยสภาวธรรม อสุภะมันเยิ้ม มันจะเป็นอย่างไร มันจะแปรสภาพของมัน นั่นอสุภะมันเป็นขั้นของพระอนาคามี พระอนาคามีเท่านั้น นี่พระสกิทาคามีเป็นอนาคามิมรรค

ถ้าอนาคามิมรรคมันเห็นอสุภะ เพราะถ้ามันผ่านตรงนี้ไปปั๊บ มันทำลายตรงนี้ปั๊บ ทำลายตรงนี้ปั๊บ พอทำลายกามราคะ ทำลายอสุภะปั๊บ ถ้าเป็นธรรมะ เราเห็นเป็นอสุภะ แต่ถ้ามันเป็นกิเลส มันเห็นเป็นสุภะ เห็นเป็นของสวยงามกับของไม่น่าสวยงาม ถ้าเป็นโดยสามัญสำนึกของเรา เราเห็นเป็นของสวยงาม มันชอบของสวยงาม ทีนี้พอมันพิจารณาไปบ่อยครั้งเข้า ด้วยกำลังของมันที่มันโต้แย้งกัน พอเป็นอสุภะปั๊บ มันก็ปล่อยๆ ปล่อยจนกิเลสมันหลบ มันก็บอกหมดเลย เห็นไหม ในเทศน์ของหลวงตาท่านบอกว่ามันเงียบหมดเลย มันไม่มีเหตุมีผล ท่านบอกอย่างนี้ไม่เอา

ฟังไว้นะ คนมีปัญญา คนมีพื้นฐาน หายไปโดยเฉยๆ อย่างนี้ไม่เอา แล้วกิเลสมันฉลาด มันก็นิ่ง ไม่แสดงตัวเลย ท่านถึงเอาสุภะ เอาสุภะ เอาสุภะ หมายถึงว่า เอาความชอบใจ คนเราเกิดมาแต่ละคน ความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาสิ่งที่เรารักที่สุด ชอบที่สุด ดีที่สุด เอามาแปะไว้ที่จิต เอารูปนั้นมาแนบไว้ที่ใจ สองวันสามวันมันก็ไม่แสดงตัวนะ จนหลายวันเข้ามันขยับ มันไหวตัว ไหนว่าไม่มีไง ไหนว่าไม่มี นี่การปฏิบัติเวลาเข้าไป กิเลสมันจะลึกซึ้ง มันจะหลบซ่อน

ไม่ใช่ใครมาก็ว่างๆ ว่างๆ...ฟังแล้วปวดหัว ว่างๆ ว่างๆ มึงทำอะไรกันมา ทำอะไรกันมา ว่างๆ ทำอะไรกันมา ไม่ทำอะไรกันมาเลย มาว่างๆ ว่างๆ มันไร้สาระ เวลามันพิจารณา พอมันจับได้แล้ว ขนาดพิจารณาอสุภะจนกิเลสมันหลบซ่อน พอมันเจอแล้วยังต้องขุดคุ้ยทำกันต่อไป มันชำนาญขึ้นไปเรื่อยๆ ชำนาญเรื่อยๆ พอชำนาญ สายบังคับบัญชามันจะสั้นเข้าๆ คือมันจะเห็นเร็วขึ้นๆๆ จนถึงที่สุดมันเข้ามาถึงแนบเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วคว่ำไปเลย จบ นี่ไง พอหมดไปแล้ว จิตเดิมแท้ พอจิตเดิมแท้มันผ่องใส แล้วมันทำลายที่นี่ ต้องมาทำลายที่นี่อีกทีหนึ่ง

ทีนี้การทำลายที่นี่ แต่เดิมมันเป็นปัญญา ปัญญาที่เราคิดกัน แต่มีสมาธิรองรับ แต่พอถึงตรงนี้ คิดไม่ได้แล้ว ถ้าคิดเป็นอุทธัจจะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อุทธัจจะ การคิด การคิดออกเป็นการเคลื่อนออกจากตัวเอง ตัวจิตอยู่นี่ เวลาคิด คิดที่ไหน ใครเป็นคนคิด จิตเป็นคนคิดเคลื่อนออกมาทันที แล้วจะกลับไปที่ตัวมันได้อย่างไร

ไม่เคยภาวนาไม่รู้หรอก แล้วจะไปโม้ขนาดไหนนะ ไปเจอคนรู้จริง กลิ้งทันทีเลยล่ะ ฉะนั้น พระปฏิบัติเขาถึงกลัวคนรู้จริง คนรู้จริงตรวจสอบได้ เช็คได้ เพราะเคยผ่านมาแล้ว คนไม่รู้จริงพูดแต่ปาก ซัดทีเดียวก็ล้ม ไปไม่รอดหรอก

ทีนี้เพียงแต่ว่าสังคมเรามันไปเชื่อถือกันแต่สภาพสังคมไง ไปเชื่อแต่กิริยาภายนอกไง ไปเชื่อกันตรงนั้น ทีนี้มันเชื่อเพราะอะไร เพราะเขาพูดธรรมะใช่ไหม ใช่ แต่เราไม่มีอะไรวัด เราไม่มีอะไรสามารถจะวัดได้ว่าถูกหรือผิด เพราะเขาพูดธรรมะจริงๆ ไปเปิดพระไตรปิฎกก็ได้ เป็นธรรมะไหม เป็น แต่ธรรมะใคร ธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วเอ็งรู้หรือยัง ก็งงๆ อยู่นี่แหละ พูดไปก็งงไป แต่ก็พูด นี่มันไม่ปฏิบัติมันถึงเป็นอย่างนั้น

อันนี้พูดถึงเวลาชีวิตที่เหลืออยู่นะ มันมหัศจรรย์มาก เวลาสิ่งที่เหลืออยู่ คิดดูสิ พวกเราเกิดมาต้องตายหมด ถ้าเราตายไป มันตายไป ตายไปพร้อมขันธ์ ๕ เพราะจิตนี้มันยังดิบๆ อยู่ ปฏิสนธิจิตดิบๆ อยู่ มันมีอะไร มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นเปลือก เป็นเปลือกของจิตไปทุกภพทุกชาติ ทีนี้ในเปลือกมันมีสัญญาข้อมูล ในชีวิตนี้เราทำทรัพย์สมบัติไว้แค่ไหน เรามีผลประโยชน์หรือมีโทษแค่ไหน สัญญาข้อมูลนี้มันเปลือก เปลือกของจิต อาการของจิตมันจะไปกับจิต

ทีนี้พอเราตายไปมันถึงกระวนกระวายไง คนตายเป็นความทุกข์มันกระวนกระวายนะ เพราะข้อมูลที่มันสะสมอยู่ที่จิตนั้นน่ะมันแสดงออก เขาเรียกกรรมนิมิต เวลาคนทำสิ่งใดไว้ แล้วเวลาจะตาย มันวิตกวิจารณ์ถึงตรงนั้นน่ะ มันจะแสดงออก เหมือนความลับที่เราซ่อนเร้นไว้ แล้วถึงเวลาแล้วมันแสดงออกมา เราจะร้อนไหม

แต่ถ้าคนที่ไปดี คนตายด้วยความสงบ ความนิ่ง เห็นไหม ข้อมูลที่ถูก ข้อมูลที่ดี คือเขาทำคุณงามความดีไว้ในสัญญา ในข้อมูลนั้นน่ะ มันอยู่กับจิต มันเตรียมพร้อมที่จะไป เพราะมันถึงที่สุดแล้วมันเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ทุกคนจะฝ่าฝืนไม่ได้ เหมือนเราจนตรอกแล้ว ถึงข้อเท็จจริงแล้ว ถึงเวลาแล้วมันต้องเป็นไปอย่างนั้น เรายอมรับความจริงตามอย่างนั้นไป แล้วมันมีเสบียงไป

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ตายนะ หรือพระโสดาบันตาย พระโสดาบันก็มีสติแล้ว พอพระโสดาบันมันจะตาย มันกระเทือนขั้วหัวใจ เพราะเวลาตาย จิตนี้เป็นคนตาย จิตนี้ออกจากร่าง ร่างกายก็เท่าเดิมนี่แหละ แต่จิตนี้ออกจากร่าง พอออกจากร่าง มันจะถอนตัวมันออกจากร่าง พอมันจะถอนตัวออกจากร่าง มันต้องมีอาการใช่ไหม มันต้องมีเตรียมตัวที่จะตาย พูดภาษาว่า ถ้าคำว่า “เตรียมตัวจะตาย” คือคนที่มีสติ คนที่รู้นะ

ถ้าคนไม่มีสติ มันไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น มันไหวไป มันถึงตายไปพร้อมกับความกระวนกระวาย กรรมนิมิต แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันขึ้นมาปั๊บ พอมันกระเทือน มันจะตาย มันกระเทือนถึงจิต เพราะจิตมันเข้าใจอยู่แล้วว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คืออะไร ขันธ์ ๕ มีสัญญาอยู่ด้วย ฉะนั้น พระโสดาบันเท่านั้นถึงปิดกั้นอบายภูมิไง เพราะเป็นพระโสดาบันใช่ไหม มันพร้อมไง เพราะเรามีข้อมูลที่ดี เราก็ออกไปในทางที่ดี พระโสดาบันเท่านั้นที่ไม่ตกอบายภูมิ คือไม่ตกนรก

แต่ถ้าเป็นปุถุชนอยู่นะ ทุกคน เหรียญมันมีสองด้าน ในหัวใจเรามีดีและชั่ว ทีนี้ทำดีไว้มหาศาลเลย แต่เวลาจะออกจากร่างไปคิดถึงข้อมูลชั่ว เหมือนเราออกจากบ้าน เราออกจากบ้านด้วยชุดอะไร ถ้าเราออกจากบ้าน เราเป็นข้าราชการ เราแต่งชุดข้าราชการ เราก็ไปทำงาน เราแต่งชุดไปรเวทจะไปเที่ยว เราก็ไปเที่ยว เราคนเดียวเป็นได้ทั้งเจ้าหน้าที่ เป็นได้หมดเลย เป็นได้เพราะอะไร เพราะเราออกมา เครื่องแบบมันบอก อาการของจิตที่มันอยู่กับจิตมันจะออกไปอย่างนั้น แล้วถ้ามันคิดอย่างนั้นปั๊บ มันก็ตกนรกไปก่อน ไปหมกไหม้ในอเวจีจนหมดกรรมนั้น เพราะอะไร

เพราะพระเทวทัตตกนรกอเวจี แล้วเพราะเคยทำฌานสมาบัติได้ อยู่กับพระพุทธเจ้ามา พระเทวทัตพ้นจากนรกขึ้นมาจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะในจิตดวงหนึ่งมันมีดีและชั่ว ฉะนั้น เวลาโบราณเราถึงสอนว่าคนเราใกล้ตายให้คิดถึงพระๆ ให้คิดถึงสิ่งที่ดีๆ คือออกจากบ้านแต่งตัวให้ดีแล้วไปที่ดี แต่งตัวที่ดีนะ แต่เรารู้อย่างไร เราไม่รู้อะไรเลยเพราะเราไม่ได้ฝึก

แต่ถ้าเป็นตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปจะตายก็รู้แล้ว จะตายนี่มันกระเพื่อม ใจมันรับรู้ มันกระเพื่อม แล้วมันพร้อมที่จะไป แล้วไปในแง่ที่ดี แต่ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ ตั้งสติไว้ให้ดี แต่พอตั้งสติอย่างที่ว่า ข้อมูลมันจะออก เราเอง เรารับรู้ข้อมูลเอง มันจะเป็นสภาวะอย่างนั้นเอง

พูดถึงปัญญาไง เวลามันเป็นไป จิตมันเป็นไปนะ

ถาม : ความโลภ ความโกรธ ความหลง ปฏิบัติภาวนาแล้วอะไรจะดับไปก่อนคะ

หลวงพ่อ : ความโลภ ความโกรธ ความหลง ปฏิบัติไปก่อน มันจะดับพร้อมกัน เกิดพร้อมกัน ไม่มีอะไรดับก่อนหน้าก่อนหลัง แต่มันเป็นเพราะความชอบ ถ้าโทสจริต ความโกรธมันจะเกิดก่อน มันจะโกรธง่าย แล้วเราก็ดับความโกรธ แต่ในความโกรธนั้นมันก็มีความหลง ในความโกรธนั้นก็มีความโลภ ถ้าเราไม่โลภ มันก็ไม่โกรธ เพราะเราโลภในโกรธไง

ทีนี้เราโลภในโกรธ อ้าว! งง อ้าว! โลภ หมายถึงว่า ตัวตน โลภ อยากได้ เวลาโกรธ อยากโกรธไหม อยากคือโลภไง

หลง หลงเพราะเราไม่เข้าใจว่าโกรธมันผิดใช่ไหม เราถึงหลงไป ถึงได้โกรธ ถ้าหลง หลงดับก่อน หลง เราเข้าใจผิด พอเราเข้าใจผิดมันก็มีความโกรธ มีต่างๆ พอมันชัดขึ้นมา ความหลงหายมันก็หาย

เราจะบอกว่า มันจะเกิดดับพร้อมกันแหละ เพียงแต่มันเป็นจริตนิสัยอะไรเด่น คนโทสจริตมันก็โกรธเด่น คนโลภจริตก็หลงเด่น จิตคนไม่เหมือนกัน ทีนี้มันไม่เหมือนกันปั๊บ มันก็เป็นอารมณ์แต่ละอาการ บางทีเราไม่ได้โกรธ แต่มันเข้าใจผิด มันก็ดับก่อน เราจะไปแยกให้บอกว่า สิ่งนี้มันเหมือนมือ ในมือ นิ้วทั้ง ๕ นิ้ว อะไรเกิดก่อน อะไรดับก่อน มันก็มีเหมือนกันหมด

นี่พูดถึงกรรมฐานนะ คิดถึงว่า เพราะจิตหนึ่งเดียว เข้าถึงฐานแล้วมันอันเดียวกัน แต่ถ้าพูดถึงปริยัติ พูดถึงอภิธรรม จิตร้อยแปดดวงเอามานั่งเถียงกันสิ อะไรเกิดก่อน อะไรดับก่อน ก็เงานี่ไง เงาคนไหนสั้นกว่า เงาใครยาวกว่าล่ะ เงา

แต่กลับไปที่ตัวแล้วก็เราคนเดียว เราเท่านั้น เงามันเกิดจากเรา เราทำรูปแบบใด เงาก็เกิดอย่างนั้น นี่ไง กรรมฐานเราทำอย่างนี้ไง เพราะเข้าไปถึงของจริงเลย

ในโลภ ในโกรธ ในหลง ปฏิบัติภาวนาไปแล้วอะไรเกิดก่อนอะไรดับก่อน

ไอ้เกิดก่อนดับก่อน เวลาเราปฏิบัติไปอะไรดับก่อน อะไรเกิดก่อน อะไรเกิดก่อน ดับก่อน มันเป็นปัญญา เห็นเหตุแห่งเกิดและดับ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ คนที่ปฏิบัติเป็น พระสารีบุตรไปฟังพระอัสสชิ พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนให้ไปดับที่เหตุนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ดับที่เกิดดับนะ พระพุทธเจ้าสอนให้ไปดับที่เหตุที่เกิดดับ เหตุอะไรที่ทำให้มันเกิดมันดับล่ะ

แต่สอนทั่วไปนะ มันเกิดมันดับ ทุกอย่างดูเกิดดูดับ ดูเกิดดูดับ

กูก็ดู พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกไง เปิดไฟทุกวัน เกิดดับ เดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็ไม่โกรธอยู่นี่ เกิดดับ แล้วมันมาจากไหนล่ะ เกิดดับมันมาจากไหน ทีนี้พอเราทำความสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา เราก็ไปรื้อค้น ทำไมมันถึงสงบ ทำไมมันถึงไม่สงบ มันไม่สงบเพราะมันฟุ้งซ่าน เพราะมันมีเหตุอะไรล่ะ แล้วก็ไปคิดโทษนะ นู่นเขาว่าเรา นี่เขาว่าเรา...ไม่ใช่หรอก มึงโง่ แต่เวลาเขาชม ทำไมชอบล่ะ เหตุผลไง ถ้าเรารักษาใจเราได้ มันสงบเข้ามา เดี๋ยวพอมันละเอียดเข้าไปมันจะเห็นไปเรื่อยๆ

ความโลภ ความโกรธ ความหลง คนจะตัดขาดได้ พระอนาคามีเท่านั้น พระโสดาบันยังไม่ได้เลย พระโสดาบัน นางวิสาขามีลูกมากและมีหลานมาก แล้วมีหลานคนหนึ่งสนิทกันมาก มาเป็นคนทำบุญแทน แล้วคนนั้นตายไป พอตาย พระโสดาบันนะ หลานตาย ร้องไห้ไปหาพระพุทธเจ้า เพราะไปทำบุญทุกวันไง

พระพุทธเจ้าถาม “วิสาขาร้องไห้ทำไม”

“หลานมันตาย หลานตาย”

พระพุทธเจ้ารู้ว่าเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าตอบง่ายๆ เลย “วิสาขา ถ้าในโลกนี้เขาเป็นหลานเธอหมด เธอต้องไม่ร้องไห้ตลอดเวลาหรือ” เพราะคนมันเกิดมันตายอยู่ทุกเวลาใช่ไหม สติกลับมาเลย จบ นี่ไง หลานตายยังเสียใจยังร้องไห้

พระอานนท์เกาะประตู เกาะหน้าต่างไว้ พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ไปยืนร้องไห้อยู่นั่น พระพุทธเจ้าถามพระ “ภิกษุทั้งหลาย อานนท์หายไปไหน อานนท์หายไปไหน”

“พระอานนท์ไปเกาะอยู่กลอนประตูนั้นแล้วร้องไห้อยู่พะยะค่ะ”

“ภิกษุทั้งหลาย ไปตามอานนท์มา ไปตามอานนท์มา อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็ต้องตายในคืนนี้ เธอร้องไห้เสียใจไปทำไม เธอร้องไห้เสียใจไปทำไม”

“เสียใจ เป็นพระโสดาบันอยู่ ยังต้องการคนชี้นำอยู่ เป็นพระโสดาบันอยู่ กิเลสมันอยู่ในตัวมันยังมีอยู่ แล้วพระพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แล้วใครจะสอน”

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ เธอได้ทำคุณประโยชน์กับเราไว้มาก ผู้ที่อุปัฏฐากเรา แม้แต่พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็ไม่เท่ากับพระอานนท์ พระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากที่ประเสริฐที่สุด ในพระพุทธเจ้าทุกๆ องค์มีผู้อุปัฏฐากก็ไม่มีใครเกินพระอานนท์ไปได้ เธอได้ทำบุญกุศลไว้มาก เรานิพพานไปแล้ว ๓ เดือนข้างหน้าจะมีสังคายนา เธอจะเป็นพระอรหันต์” นี่พยากรณ์ไว้เลย

นี่ร้องไห้ ฉะนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง พระอนาคามีเท่านั้น เพราะอะไร เพราะพระอนาคามีจะไปติดกามราคะปฏิฆะ ปฏิฆะๆ กามราคะปฏิฆะ ผิดใจไง ผิดความพอใจของตัว โกรธหมด กามราคะเกิดจากอะไร เกิดจากปฏิฆะ หญิงหรือชายรักชอบพอกันต่างๆ กันไป เพราะคนไม่เหมือนกันใช่ไหม คนหนึ่งชอบอย่างหนึ่ง คนหนึ่งชอบอย่างหนึ่ง เอาหญิงเอาชายที่เราไม่ชอบมาให้เรา เราก็ไม่รับ ไม่รับ ไม่ชอบ ไม่พอใจ เออ! ถ้าเป็นหญิงที่เราชอบ อืม! ชอบ ทำไมมีหญิงชอบและไม่ชอบล่ะ นี่ไง ถ้าเราตัดข้อมูลนี้หมด มันไม่มีแล้ว ไม่มีข้อมูลอันนี้แล้ว พอไม่มีข้อมูลอันนี้ มันก็จะไม่โกรธ มันจะไม่โกรธ มันตัดความโกรธอันนั้นได้

ฉะนั้น ถึงบอกว่า ไอ้อย่างนี้เราพูดกันว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง เราภาวนาไป ถ้ามันใช้ปัญญาได้ ปัญญาอย่างเราอย่างหยาบๆ เราพยายามจะดูมัน คือว่าพยายาม ทุกคนจะบอกว่าเป็นคนโทสะแล้วจะทำอย่างไรได้

เราจะบอกว่า โทสะ ตรงข้ามมันคือเมตตา เราไปพิจารณาตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา เราพยายามมีความเมตตา เมตตาไว้ เพราะอะไรรู้ไหม พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วนะ คนเราเกิดมาไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกันมา ไม่มี การเกิดการตาย ภพชาติมันซับซ้อนมาก พ่อแม่ลูกผลัดกันเป็นนะ ชาตินี้เป็นลูกเป็นพ่อเป็นแม่กัน อีกชาติหนึ่งก็กลับ หมุนกันไปหมุนกันมา รู้หรือไม่รู้ล่ะ แล้วจะบอกมันไม่มี มันไม่ใช่หรอก ไม่อย่างนั้นมันจะมีอะไรผูกพันกันมาล่ะ

ถาม : จะพิจารณาอะไรให้ดับความหลงได้เจ้าคะ เอาแบบง่ายๆ ในปัญญาของผู้ที่ปฏิบัติ

หลวงพ่อ : จะดับความหลง ดับความหลง พูดประสาเราเลย ตรงนี้แล้วปั๊บ มันต้องเป็นจากพื้นฐาน เวลาพระพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ จะมองเลยว่าคนนี้ปฏิบัติอย่างไร ควรจะมาอย่างไร ทีนี้ประสาเรานะ คนเราเกิดมาแล้วมันทุกข์ไง อย่างเราเป็นคนหลง เป็นคนหลง เป็นคนที่ปัญญาน้อย ไปเจอใครชักนำก็ไปกับเขาหมด แล้วพอเสียไปแล้วก็มาเสียใจทีหลัง ทำไมเป็นอย่างนั้นทุกทีเลย เป็นอย่างนั้นทุกทีเลย แล้วทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ

เราจะบอกว่า เชาวน์ปัญญาของคน ปฏิภาณไหวพริบของคนมันเกิดจากการกระทำมา สายพันธุกรรมของจิต เวลาเกิดมาศึกษาธรรมะแล้วทุกคนอยากเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะ อยากเป็นคนดีหมด แล้วทำไมมันเป็นไปไม่ได้ล่ะ ทีนี้ปัจจุบันแก้อย่างไร

พูดประสาเรานะ พูดถึงพระทั่วไปเขาต้องแก้ทางทฤษฏีไง ถ้ามันโกรธก็แผ่เมตตา ถ้ามันหลง เราก็ภาวนา ภาวนานี่เกิดปัญญา แล้วเราจะไม่หลง ให้เกิดปัญญาขึ้นมา แต่ความอย่างนี้ จริตนิสัยมันมาจากการกระทำของเรา เราคิดเราทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัยหมด ถ้าเราไม่อยากให้ใจเราไม่ดี เราก็ต้องฝืนมัน ต้องต่อสู้กับมัน พอต่อสู้กับมัน ดัดแปลงมัน มันจะดีขึ้นมาได้เรื่อยๆ ทีนี้ดีขึ้นมา มันดีขึ้นมา ต้องพัฒนาขึ้นมา

เราจะบอกว่า เราให้กำลังใจทุกๆ คนเวลาภาวนาว่าอย่าเสียใจ อย่าเสียใจ อย่าน้อยใจ เรามีเท่านี้ ต้นทุนเรามาเท่านี้ เพราะเราทำมาเท่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคือการกระทำของเราทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดลอยมา ไม่มีใครทำให้เราดีและชั่วได้ จะดีและชั่ว เราทำมา เราทำมาทั้งนั้น

จริงๆ นะ เราไม่เคยน้อยใจเสียใจกับใครเลย ใครจะด่าใครจะว่า ใครจะอะไร เชิญ เชิญ ตามสบาย ไม่เคยคิดน้อยใจเสียใจกับใครนะ ใครทำอะไรก็ โทษนะ เรื่องของมึง กูไม่เกี่ยว แล้วของเราอยู่ที่นี่ กูดูแลใจกู เราจะทำใจเราให้ได้ เราจะเอาเราให้ได้ มันเป็นเรื่องของเรา ทีนี้เป็นเรื่องของเราปั๊บ เรามีต้นทุนเท่าไรล่ะ เรามีต้นทุนทางไหนล่ะ

ถ้าเป็นสัทธาจริต เราก็มุมานะของเรา นี่ดีมากนะ มีศรัทธามีความเชื่อ มันหันกลับมา เพราะในศาสนานี้เราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ได้ออกรบอย่างนี้เหยียบแผ่นดินผิดเลยล่ะ แล้วเราสนใจขึ้นมา สมบัติอันนั้นมันแทนกันได้

สมบัติ กรมประชาสงเคราะห์เขาช่วยเหลือได้ น้ำท่วม เอามาแจกเลยล่ะ แต่ความสุขความทุกข์ ใครมาช่วยเรา เราเท่านั้นที่จะช่วยเรานะ ฉะนั้น ไม่ต้องเสียใจ ไอ้ความหลงๆ พวกนี้มันเป็นที่เราสร้างมา เราสร้างมาๆ

เราพูดบ่อย เวลาเห็นข่าว เห็นเขาตกทองกัน มันคิดทีไรมันอยากจะเขกหัวไอ้นั่นนะ ก็สร้อยอยู่ในคอ มึงถอดให้เขาทำไมล่ะ มึงถอดให้เขาทำไม ก็สร้อยอยู่ในคอ มึงถอดให้เขาทำไม เขาเอาเส้นใหญ่มาตกไว้ข้างหน้า เห็นแล้วมันอยากได้ แล้วอยาก อยากอะไร สร้อยอยู่ในคอแท้ๆ ถอดให้เขา มันน่าเขกหัว มันเป็นไปได้อย่างไรล่ะ นี่ไง เพราะมันเป็นพื้นฐาน ถ้าเราคิดประสาเรา ไม่มีหรอก ไม่มีใครเขามาให้เราหรอก ไม่มีหรอก เราต้องใช้ปัญญาเรา เราอย่าไปเชื่อใคร

แล้วพอมันมาปฏิบัติมันก็ตรงนี้ ปฏิบัติง่าย ปฏิบัติยาก ปฏิบัติง่าย ปฏิบัติยาก ก็อย่างเรานี่ไง เวลาโยมมาทุกข์ยากกันอยู่นี่ ทำบุญกุศล อาบเหงื่อต่างน้ำเป็นอะไรล่ะ แล้วภาพที่ทำมาแล้วมันจะฝังใจไป นี่อำนาจวาสนา

บารมีของคนนะ มันมีสมัยพุทธกาล มันมีกษัตริย์องค์หนึ่งอยากทำบุญมาก แต่เป็นกษัตริย์ไม่มีเวลา ก็ให้ทหารใส่บาตร ให้ทาสใส่บาตร ทาสมันก็ใส่บาตรทุกวัน อาหารนั้นเป็นของกษัตริย์นะ กษัตริย์ให้ใส่บาตร แต่ทาสนั้นไม่ใช่ของเราเลย ไม่ใช่ของของเราเลยนะ แต่เราเวลาใส่บาตร เขามีความปลื้มใจ เขามีศรัทธามาก อู้ฮู! ศรัทธา ทำด้วยความเต็มใจ ใส่บาตรทุกวัน ตายไปทั้งคู่ กษัตริย์นั้นไปเกิดเป็นเทวดานั่งอยู่คนเดียว ไม่มีใครเลย ไอ้ทาสนั้นไปเกิดบนสวรรค์ชั้นเดียวกันเลยนะ บริษัทบริวารล้อมเต็มไปหมดเลย นี่ค่าของใจ ค่าของความเมตตา ศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาอันนั้น ทำด้วยศรัทธา ทั้งๆ ที่ข้าวปลาอาหารไม่ใช่ของเรานะ

เวลาเราทำกัน เวลาเราทุกข์ยาก ใจทำด้วยมีความเชื่อมั่น ทำด้วยความศรัทธา ศรัทธาตัวนี้ ตัวศรัทธา ตัวใจเราทำ วิวัฒนาการของใจมันเกิดที่นี่ แล้วมันเข้มแข็งขึ้นมา ดูสิ ต้นไม้เราปลูกไว้ หลวงตาท่านพูดอยู่ เวลาท่านไปวัดอุดมสมพร มะพร้าวต้นนี้เราปลูกไว้ มะพร้าวต้นนี้เราปลูกไว้ ต้นนู่น สูงขนาดนู้น มะพร้าวต้นนี้เราปลูกไว้ นี่เราทำของเราไว้ แล้วบุญกุศลมันชัดเจน ต้นไม้เวลามันร่มเย็นขึ้นมา ทุกคนมานั่งพักอยู่โคนต้นไม้ ทุกคนจะมานอนพักเอาความร่มเย็นจากมัน แล้วความร่มเย็นอันนี้ใครเป็นคนสร้าง เวลาเขาถวายบาตรพระนี้เหมือนสร้างห้องแถวนะ เพราะเวลาใส่บาตรพระ พระบิณฑบาตทุกวัน เวลาเราสร้างห้องแถว เราเก็บได้ทุกวันเลย ถ้าคนรู้จักทำ รู้จัก มันจะเกิดขึ้นมาของมันนะ

ทีนี้จะพิจารณาอะไรก่อนถึงจะดับ

ปัญญา กำหนดสมาธิ ถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราเน้นปัญญาอบรมสมาธิเพราะว่าพุทธจริต ปัญญาชนมีการศึกษา พุทโธเฉยๆ เอาไม่อยู่ พุทโธเฉยๆ นี้ พุทโธๆๆ ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นสัทธาจริต คนที่มีศรัทธาเขามีความเชื่อมั่น พุทโธๆๆ ด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความมุมานะ สงบได้แน่นอน แต่ส่วนใหญ่พวกเราพุทโธๆๆ จริงหรือ พุทโธแล้วมันได้อะไรวะ มันจะมีตรงนี้โต้แย้งบ่อย พอโต้แย้งบ่อย สักแต่ว่าทำไง ทำอยู่ แต่ทำไม่มั่นคง ทำไม่เต็มไม้เต็มมือ ทำลูบๆ คลำๆ มันก็เลยเจริญแล้วดี ดีแล้วเจริญ เอ๊! ทำไมภาวนาแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่ได้ ไม่ได้เพราะนี่ไง

เราถึงบอกว่าถ้าอย่างนี้แล้วเราให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือใช้ปัญญาไปเลย ถ้ามันสงสัยก็ใคร่ครวญไปเลย แล้วสติตามไปๆๆ โดยธรรมชาติของความคิดเรามันเกิดดับ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าเกิดดับ ทุกอย่างเกิดดับหมด แต่ไม่มีเหตุมีผล แต่ถ้าเราใช้ปัญญาตามความคิดไป มันมีเหตุมีผลไง คิดอย่างนี้แล้วเจ็บ คิดอย่างนี้แล้วเหนื่อย คิดอย่างนี้แล้วทุกข์ แล้วคิดทำไม อ้าว! ถ้าไม่คิด ทำไมถึงไม่คิดล่ะ ทำไมคิดไม่ได้ล่ะ มันเห็นโทษเห็นภัย มันก็พยายามจะยับยั้ง ยับยั้งไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ แต่เพราะธรรมะนี้เข้าไปแยกแยะ แยกแยะด้วยสติแล้วเข้าไปยับยั้ง ยับยั้งบ่อยๆ ครั้งเข้าจนเห็นเหตุเห็นผล เห็นเหตุผลปั๊บ พอมันเห็นเหตุเห็นผลมันก็เข้าใจแล้วมันจะคุมได้ คุมได้ด้วยธรรมะ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ทำได้เด็ดขาด ใครจะบอกทำไม่ได้มันเรื่องของเขา คนทำได้มันทำมาแล้ว

แล้วสุดท้ายเขาอ้างว่า ที่เขาคัดค้าน เขาบอกหลวงตาสอนอีกอย่างหนึ่ง

แล้วทำไมหลวงตามีหนังสือปัญญาอบรมสมาธิล่ะ หลวงตาเขียนเป็นเล่มๆ เลยนะมึง อาจารย์องค์เดียวกัน แต่มันอ้างต่างกัน มันเอามาอ้างถูกๆ ผิดๆ

ถาม : เอกัคคตารมณ์มีอาการเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกับสมาธิ

หลวงพ่อ : เอกัคคตารมณ์คือสมาธิ สมาธิคือเอกัคคตารมณ์ สมาธิทำไมมีขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ในสมาธินั้นมีหยาบมีละเอียดต่างๆ กันไป เอกัคคตารมณ์คือเอกัคคตารมณ์ในรูปฌาน อรูปฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ

รูปฌาน อรูปฌาน ฌาน ๔ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

จตุตถฌานนี่แหละเอกัคคตารมณ์ เอกัคคตารมณ์คือจิตตั้งมั่น คือสมาธิที่ตั้งมั่น อันนี้เป็นเรื่องของฌานนะ หลวงตาท่านบอกว่า ฌานๆ ฌานๆ อย่ามาพูดกับเรานะ มันเป็นชานอ้อย เพราะตัวฌานจะทำให้เราไขว้เขว

แต่ถ้าเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น เราทำสมาธิ พุทโธๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาชัดเจนมาก ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ คือว่าพอเราปัญญาไล่ทันปั๊บ มันจะหยุด หยุดนั่นคือสมาธิแล้วนะ แต่มันแป๊บเดียว เดี๋ยวคิดต่อแล้วๆ มันคิดต่อ แล้วพอเราเอาปัญญาไล่เข้าไปเรื่อยๆ ความหยุดนี้มันจะหยุดนานขึ้น พอมันหยุดปั๊บ ระยะมันหยุดนาน นี่ไง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ เพราะอะไร เพราะมันหยุด พอมันหยุด หยุดกับคิด ความหยุด จิตมันหยุด พอจิตมันหยุด เวลาคิด ใครพาคิด ใหม่ๆ เราจะไม่เห็นความหยุดคิด

เราเปรียบบ่อย ส้ม เปลือกส้ม เวลาเราหยิบเข้าไป โดยสามัญสำนึกเราหยิบส้ม หยิบส้มโดนเปลือกส้ม ยกส้มมาทั้งใบคือเปลือกส้ม แต่เนื้อส้มมันอยู่ในส้ม เวลาเราเข้าสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราหยิบที่เปลือกส้ม แต่ขณะที่จิตสงบเข้าไปแล้ว แล้วเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่นแล้ว มันออกจากเนื้อส้ม เนื้อส้มมันออกมาสัมผัสกับเปลือกส้ม พอเนื้อส้มสัมผัสกับเปลือกส้ม เนื้อส้มคือความรู้สึก คือจิตเราไง ความคิดไม่ใช่จิตใช่ไหม พอเข้ามาเป็นสมาธิ จิตเข้ามา มันปล่อยจากเนื้อ มันปอกเปลือกส้มเข้าไปเป็นตัวมัน เวลามันออกมากระทบกับเปลือกส้ม เนื้อส้มกระทบกับเปลือกส้ม ความรู้สึกกระทบกับความคิด นี่มันจะเป็นวิปัสสนาขึ้นมา

แต่ขณะปัจจุบันเข้าไป มันเข้าไป เราเข้าไป ปัญญาอบรมสมาธิ เขาเรียกว่าทวนกระแสเข้าไป เราทวนกระแสเข้าไป แต่ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างนี้ เราไม่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันไปตามกระแส ความคิดสามัญสำนึกเราไปตามกระแส สามัญสำนึกความคิดของเรา ความคิดเป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม มันเป็นไปตามกระแสไง พลังงานที่มันส่งออกไง แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิคือเราพยายามจะใช้ปัญญาสวนมันกลับเข้าไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้สติปัญญาไล่ต้อนกลับไปสู่จิตหนึ่งเดียวจากความคิด ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด มันจะย้อนกลับเข้าไป พอย้อนกลับเข้าไป มันบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะตั้งมั่น ตั้งมั่น หมายถึงว่า จิตมันปล่อยวางเข้ามาเป็นตัวของมันอิสระ ตั้งมั่น แล้วตั้งมั่น

หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ ท่านบอกว่า ทำความสงบบ่อยๆ ทำความสงบบ่อยๆ จนเป็นสมาธิ สมาธิคือจิตตั้งมั่น ทำความสงบบ่อยๆ แต่เราคิดว่าความสงบ ทำสมาธินั้นคือสมาธิ แต่ถ้ามันสงบบ่อยๆ บ่อยๆ สงบบ่อยๆ พอมันปล่อยบ่อยๆ เข้า บ่อยเข้า บ่อยครั้งเข้า จนบ่อยครั้งเข้า หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าชำนาญในวสี

สมาธิ ทุกคนบอกทำสมาธิแล้วสมาธิเสื่อม

เราบอกว่า สมาธิเสื่อมเพราะเราไปอยากได้สมาธิ เราอยากรักษาสมาธิ รักษาเท่าไรก็เสื่อม แต่ถ้าเราไปกำหนดที่พุทโธ เราชำนาญ ชำนาญในเหตุ ถีบสมาธิไป สมาธิมันก็ไม่ไป เหมือนกับเราตักน้ำใส่ตุ่มตลอดเวลา น้ำจะพร่องจากตุ่มไหม ถ้าเราตั้งสติแล้วเรากำหนดพุทโธให้สติเราพร้อมอยู่นี่ เราชำนาญในวสี สมาธิมันจะเสื่อมไหม แต่นี่ไม่รู้จัก มันจะไปเอาผลของมันไง สมาธิเป็นผลของการปฏิบัติ ทีนี้เราไปเอาที่ผล แล้วเหตุมันไม่พอ ผลจะหยุดไหม เราจุดไฟไว้ ถ้าหมดเชื้อไฟ ไฟจะดับไหม เราทำเหตุให้เป็นสมาธิ แล้วเชื้อมันหมด เหตุมันหมด มันจะดับไหม มันจะเปลี่ยนไหม

สมาธิมันอยู่โดยตัวมันเองไม่ได้นะ เพราะสมาธิเราสร้างขึ้นมา มันจะอยู่คงที่ของมันไม่ได้หรอก เพราะสมาธิเกิดจากการกระทำของเรา ทีนี้พอเกิดจากการกระทำของเรา พอเป็นสมาธิแล้ว เรามีกำลังแล้ว มันถึงว่าถ้าเรารีบออกวิปัสสนาหรือออกมาใช้ประโยชน์ คือว่าเราเอามันมาใช้ประโยชน์

ตัวสมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ เกิดปัญญาไม่ได้ ปัญญาที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นโลกียปัญญาทั้งหมด เพราะมรรค ๗ ไม่มี มันต้องเป็นมรรค ๘ มรรค ๘ มีสัมมาสมาธิ ตัวสัมมาสมาธิทำให้ปัญญานี้เป็นโลกุตตรปัญญา เป็นธรรม ถ้าไม่มีสมาธิ เป็นโลกียปัญญา เป็นกิเลส มีตัวสมาธิมาแบ่งแยกระหว่างโลกกับธรรม ระหว่างกิเลสกับธรรม สมาธิตัวเดียว อย่างอื่นไม่มี มันถึงอยู่ในมรรค ๘ มรรค ๘ ต้องมีสัมมาสมาธิ ขาดสมาธิไม่ได้ ถ้าขาดสมาธิ เป็นมิจฉามรรค

เวลามรรค ๘ เลี้ยงชีพชอบ เราคิดว่าประกอบสัมมาอาชีวะชอบ...ไม่ใช่ นั่นเป็นมรรคของคฤหัสถ์ มรรคของโสดาบันไม่ใช่อย่างนั้น มรรคของโสดาบันเป็นธรรมจักร เป็นงานชอบ เพียรชอบจากภายใน เป็นจักรที่มันหมุนอยู่ข้างในนี้ เป็นปัญญาญาณ เพราะมีการปฏิบัติไง

เอกัคคตารมณ์กับสมาธิมันต่างกันอย่างไร

เอกัคคตารมณ์มันเป็นชื่อเรียกไง เรียกว่าจิตตั้งมั่น จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ มันเป็นชื่อ แต่ถ้าไม่มีจิตตั้งมั่น เอกัคคตารมณ์มันก็ไม่มี ทีนี้เพียงแต่ว่า คำว่า “เอกัคคตารมณ์” จิตตั้งมั่น มันจะให้เห็นว่าถ้าจิตตั้งมั่น คือถ้าเราทำอะไรแล้ว หรือเราวิปัสสนาแล้ว เราพยายามใช้ปัญญาแล้ว มันยังรวนเร มันยังไม่ได้ผล ให้ย้อนกลับมาที่นี่ ให้ย้อนกลับมาคือว่า คำว่า “จิตตั้งมั่น” คือเราพยายามปักเสาให้เสามั่นคง เหมือนเราสร้างบ้านสร้างเรือน ถ้าเสาทุกอย่างมั่นคง บ้านเราจะสร้างได้มั่นคงใช่ไหม ถ้าเราหมั่นรีบทำ เสาเราไม่ตรง เสาเราไม่ดี สร้างบ้านขึ้นมา บ้านก็เอียง บ้านก็ไม่เต็มที่

ถึงว่า คำว่า “จิตตั้งมั่น” ก็ให้จิตมันมั่นคง แต่มันจะตั้งมั่นได้ก็เกิดจากสมาธิ เกิดจากการกระทำ มันเป็นผลของมัน ถ้าพอมันมั่นคง ความมั่นคงนี้ไปทำอะไรมันก็แน่นอน ถ้าพูดถึงว่าจิตเป็นเอกัคคตารมณ์แล้ว ถ้าตั้งมั่นแล้วเราไม่ทำมัน เสาก็ตั้งอยู่เฉยๆ แล้วเดี๋ยวมันก็เอนเอียงเป็นธรรมดา

นี่เอกัคคตารมณ์กับจิตตั้งมั่นมันต่างกันอย่างไร

ถาม : ที่หลวงพ่อบอกว่าเสียงของพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ เป็นพลังงาน แล้วเสียงของคนอื่นเป็นพลังงานด้วยหรือไม่

หลวงพ่อ : มีอยู่หมดล่ะ ของนั้นมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราไปจับต้องมัน อดีตอนาคตไง เสียงนั้นมีอยู่ มีอยู่หมด แบบของเรามีอยู่มันก็ไม่มีคุณค่า เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะมันมีมากกว่านั้น เพราะเสียงนกเสียงกาล่ะ ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว สัตว์ ประสาทสัมผัสของสัตว์มันดีกว่าเราเยอะมาก ประสาทสัมผัสของสัตว์แต่ละชนิดมันมีเด่นกันคนละชนิด แต่พวกเราพวกมนุษย์

ฉะนั้น เสียงที่มีอยู่ ใช่ เสียงนั้นมีอยู่แล้ว ประสาเรานะ เพราะเสียงที่มีอยู่ แต่เราพิสูจน์ไม่ได้ จนครูบาอาจารย์ของเราทำสังคายนาแล้วได้พิมพ์เป็นตัวอักษรมาเป็นบาลี เอาตรงนี้ คือเราต้องมาศึกษาสิ่งที่เราเริ่มต้นสัมผัสได้ถูกต้อง จับต้องได้

เพราะเสียงอย่างนี้นะ ถ้าพูดอย่างนี้ เวลาเข้าสมาบัติ อภิญญา ๖ รู้เสียง ได้ยินเสียง มันไปได้หมดล่ะ มันไปได้หมดนะ ถ้าอย่างนี้แล้ว ไอ้ของอย่างนี้แม้แต่ไม่ใช่พระอริยบุคคล อภิญญานี้ปุถุชนก็ทำได้นะ อภิญญา ปุถุชนก็ทำได้ ระลึกอดีตชาติ ปุถุชนก็ทำได้

กาฬเทวิลก่อนที่ว่าทายพระพุทธเจ้า ระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ แล้วอยากพ้นทุกข์มาก แต่ไม่มีคนสอน เพราะสร้างบุญมาไม่พอ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเกิด ดีใจมาก ลงมาจากพรหมเลย มนุษย์ขึ้นไปอยู่บนพรหมได้ ลงมาจากพรหม พอลงมาจากพรหม เป็นเพื่อนกับพระเจ้าสุทโธทนะ ให้พระเจ้าสุทโธทนะเอาเจ้าชายสิทธัทถะออกมาให้เห็น เพราะว่าเขาเป็นพราหมณ์ เขาจะรู้ไตรเพท เขาจะท่องเรื่องลักษณะของพระพุทธเจ้าไง ลักษณะ ๓๒ ไง พอเห็นปั๊บ พระพุทธเจ้าแน่นอน ดีใจมากเลย เพราะตัวเองทำฌานสมาบัติได้ ระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ การเกิด ๔๐ หน ระลึกได้หมดเลย แต่ไม่สามารถรื้อค้นปัญญาชำระล้างกิเลสได้ นี่รู้ขนาดนั้น

พอเจอเจ้าชายสิทธัทถะนี้ โอ้โฮ! ดีใจมากเลย จะมีคนสอนเราแล้ว แล้วก็เสียใจไปพร้อมกัน ร้องไห้ด้วย จนพระเจ้าสุทโธทนะเอาไปเก็บแล้วถาม เพราะเป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนกันมาก่อน ถามว่า “ดีใจเพราะอะไร”

“ดีใจมากเลยๆ นี่พระพุทธเจ้าแน่นอน”

“แล้วเสียใจล่ะ”

“เสียใจเพราะเราต้องตายก่อน” นี่รู้กำหนดวันตายของตัว ชีวิตเราจะสั้นกว่า เราไม่ได้ พอไม่ได้ น่าเสียดาย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระพุทธเจ้าเรา ๕,๐๐๐ ปี ตรัสรู้แล้วอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี พอเขาเกิดไป เพราะทำอย่างนั้นไปเกิดบนพรหมแน่นอน เพราะเข้าสมาบัติ จิตเป็นหนึ่งเดียว เวลาเข้าสมาบัติเป็นหนึ่งก็ไปเกิดเป็นพรหม อายุขัยของพรหมมันกี่หมื่นปี จะมาเกิดอีกทีหนึ่งศาสนานี้ก็หมดไปแล้วนะ ๕,๐๐๐ ปี ในวัฏฏะที่การเกิดการตายมันหมุนไปเวียนมา แล้วจะเกิดที่ไหนกัน

ฉะนั้นถึงบอกว่า เสียงนี้มีอยู่ มันเป็นเรื่องของโลกๆ จะบอกว่ามันเป็นเรื่องโลก ไม่ตื่นเต้น แล้วไม่ต้องการให้เอามาคิดให้มันรกสมอง ว่าอย่างนั้นเลย เอาเรื่องนี้ พลังงานจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้อยู่แล้ว

ถาม : คนที่อยู่ในเมืองลับแล จริงๆ แล้วเป็นเพียงวิญญาณใช่หรือไม่

หลวงพ่อ : ทำไมขี้สงสัยนักล่ะ เป็นวิญญาณหมด วิญญาณนี้เป็นหนึ่งเดียว เวลาเกิดในภพชาติใด มันก็จะเป็นอย่างนั้น เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ ความดีความเลวของเราทั้งหมดมันรวมอยู่ที่ใจเราหมดนะ มันสะสมอยู่ที่นี่ เวลาเรามาสร้างต่อ แล้วเราตายไป ไปเกิดเป็นอะไร มันก็ความดีความเลวก็จะไป ใจดวงนี้ก็ไปเกิดอยู่ที่นั่น

ลับแล พวกลับแล ดูอย่างเช่นในประวัติหลวงปู่มั่น ที่หลวงปู่มั่นบอกว่าเห็นพวกผีอพยพกัน ทำไมผีอพยพมีเกวียนมีสุ่มมีไหเหมือนมนุษย์เราเลย แล้วเราก็สงสัย เอ๊ะ! ผีต้องใช้สุ่มต้องใช้ไหอย่างนี้ด้วยหรือ ในเมื่อมนุษย์ต้องกิน ผีก็กินวิญญาณาหาร ทำไมต้องมีสุ่มมีไหอย่างนี้ล่ะ ถามผี

ผีก็บอกว่า ไม่ต้องหรอก ผีก็ใช้ชีวิตประจำวันของผีนี่แหละ แต่ในเมื่อมันกรรม ตายมาอย่างนี้ ชีวิตอย่างนี้ ตายมาอย่างนี้ เราก็ได้มาอย่างนี้ มันก็ติดเราไป เหมือนกับติดไปเป็นเครื่องประดับเฉยๆ ไม่ได้ใช้หรอก เพราะชีวิตนั้นมันไม่ได้ใช้อย่างนี้

ลับแลก็เหมือนกัน ลับแลมันก็เป็นสิ่งที่ว่าเขาสร้างของเขามา เขาสร้างของเขามา เขาพอใจของเขานะ เวลาเราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติกัน เราก็อยากว่า เห็นได้ข่าวว่า ศึกษาว่าเทวดามีความสุข เราก็อยากเกิดเป็นเทวดา เราก็อยากเกิดเป็นพรหม แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีปัญญาเขาไม่ต้องการนะ เพราะทุกภพทุกชาติมันก็สุขก็ทุกข์เหมือนกัน ไม่มีภพชาติใดดีกว่ากัน เลวกว่ากัน ต่ำกว่ากันเลย เพราะชีวิตนี้ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ไปเกิดเป็นเทวดามันแค่ความดำรงอยู่เลี้ยงชีพ วิญญาณาหารเป็นทิพย์ แต่ก็เกิดก็ตาย ต้องเกิดต้องตายเหมือนกัน

การดำรงอยู่ เราดำรงอยู่โดยเทวดา เราไปเกิดเป็นเทวดา เราก็ดำรงชีวิตอย่างนี้ แต่หัวใจเราทุกข์ไหม ทำไมเทวดารบกันล่ะ ทำไมเทวดาต้องเศร้าหมองล่ะ ไปอยู่บนพรหมเป็นหนึ่งเดียว สัมผัส ผัสสาหาร มันก็ไปอยู่นั่นน่ะ อยู่บนพรหมอย่างนั้นน่ะ ถ้าผู้ที่ปฏิบัติไม่เห็นความต่างของการเกิดในวัฏฏะเลย เว้นไว้แต่นรก นรกมันเผาลนตลอด มันทุกข์อยู่ตลอดไง ก็นั่นการดำรงชีวิตของเขา

ดูเปรตนะ พระโมคคัลลานะลงจากเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตลอยมาแล้วขนร่วงหลุดออกไป พอขนร่วงหลุดออกไปก็กลายเป็นหอกหลาวทิ่มกลับมา ร้องโอดโอยอยู่อย่างนั้น เห็นแล้วก็ยิ้มๆ พระไปด้วย เพราะพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มองเห็น แต่พระที่ตามไปไม่เห็น ลูกศิษย์มองไม่เห็น ก็ถามพระโมคคัลลานะว่า “ยิ้มทำไม”

พอมันเห็นแล้วแบบว่ามันธรรมสังเวชไง ก็บอกว่า “เราไม่พูด เราจะพูดต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

พอไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระก็ถามขึ้นมาบอกว่า “พระโมคคัลลานะยิ้มตอนนั้นที่ลงจากเขาคิชฌกูฏด้วยเหตุใด”

พระโมคคัลลานะบอกว่า “เกล้ากระผมเห็นเปรตมันลอยมาในอากาศ แล้วขนของมันหลุดออกไปแล้วก็กลายเป็นหอกเป็นหลาวทิ่มเข้ามาที่ตัว ทุกข์มาก โอดโอยอยู่อย่างนั้น ก็เจ็บอยู่อย่างนั้นน่ะ”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “โอ๋! เราเห็นหมดตลอด แต่เราไม่พูด เพราะมันไม่มีพยาน พอพูดออกไปแล้วคนติเตียน” นี่คำพูดของผู้มีสติ ถ้าพูดออกไป สิ่งที่เราไม่รู้ไม่เห็นด้วย เราก็จะบอกว่า โทษนะ พระพุทธเจ้าติงต๊องอย่างนี้ได้อย่างไร เราก็ติเตียนแล้ว ก็เป็นกรรมแล้ว พระพุทธเจ้าถึงไม่พูด พระพุทธเจ้าไม่พูดสิ่งที่คนอื่นเห็นไม่ได้ แต่บัดนี้เราพูดเพราะพระโมคคัลลานะได้เห็น แล้วก็พูดต่อเลย กรรม เหตุเพราะกรรมไปทำอะไรไว้ๆ ถึงมาเป็นอย่างนั้น ในนรกก็เป็นอย่างนี้ ในนรกนะ ไฟในนรกอเวจีมันจะเผา เผาจนมอดละลายไปหมดเลย สุดท้ายแล้วก็ขึ้นมาเป็นเราอย่างเก่า แล้วก็เผา แล้วก็ขึ้นมาเป็นอย่างเก่า มันไม่ตาย จิตมันไม่ตาย ร้องโอดโอยอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ไม่ตาย ไม่หมดกรรม ไม่ตาย

อย่างของเรา ร่างกายพอเราทนบาดแผลไม่ไหว เราก็ต้องตายใช่ไหม แต่นี่มันสลายขนาดไหนมันก็ไม่ตาย กรรมนี้ไม่ให้มันตาย ถ้าตกนรกไปมันเป็นอย่างนั้น มันถึงว่าเราไม่อยากไป แต่ก็ดำรงชีวิตของเขา

เราถึงบอกว่าเรื่องนี้ถ้าปฏิบัติไปแล้ว ถ้าเราสงสัยอยู่ เราแก้กิเลสไม่ได้ เราบอกนะ จะไปนรกสวรรค์ทุกอย่างนี้มันต้องมีตั๋ว เรามีตั๋วนะ จะไปเครื่องบินต้องมีตั๋วเครื่องบิน เราถึงขึ้นเครื่องบินได้ ถ้าเราฉีกตั๋วนั้นแล้วเราจะไปไหนได้

กรรมดีและกรรมชั่ว เรารู้ของเราเอง เราทำของเราเอง ถ้าเราละ เราตัดขาดแล้ว เราจะไปไหน เราไม่ไปไหนอีกแล้ว ไม่เกิดอีกแล้ว ไม่ไปไหนอีกแล้ว การเกิดและการตายเพราะบุญกุศล บาปอกุศลพาเกิดพาตาย ในการประพฤติปฏิบัติเรามาล้างกันที่นี่ไง เรามาล้างกันที่นี่ เราฉีกให้หมด

สวรรค์ในอก นรกในใจ คือบาปอกุศล บุญกุศล สวรรค์เป็นภพเป็นชาติ นรกที่เป็นสถานที่ มันรองรับจิตที่เวียนตายเวียนเกิด เราถึงเทียบเคียงบ่อยว่า ในวัฏฏะนี้เปรียบเหมือนป้ายรถเมล์ ชีวิตเราเปรียบเหมือนรถเมล์ รถเมล์จะจอดป้ายไหนล่ะ จิตนี้จะไปเกิดในภพชาติใดล่ะ แล้วรถเมล์มันต้องวิ่งไปจอดตามป้าย รถเมล์ไม่มีป้าย มันจะไปจอดที่ไหนล่ะ ภพชาติถ้าไม่มี จิตมันจะไปอยู่ที่ไหนล่ะ บุญกุศล บาปอกุศล เวลาจิตนี้มันทำแล้วมันจะให้ผลที่ไหนล่ะ แล้วเรามาแก้ไขหมด ดับหมด ทำลายหมด

ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นจิตวิญญาณ ใช่แน่นอน จะบอกว่าสัมภเวสีก็จะเถียงอีกล่ะ เพราะสัมภเวสี สถานที่อยู่นี้มันเป็นที่แล้ว แล้วไปสงสัยมันทำไม มันไม่เกี่ยวอะไรกับเรา ไฟบนศีรษะ เราต้องดับไฟบนศีรษะให้ได้ ตอนนี้ทุกข์อยู่กับเรา ถ้าไปสนใจเรื่องอย่างนี้มันชักให้เราออกนอก เสียเวลาไง อย่างน้อยยังมีครูบาอาจารย์นะ

๑. ไม่ให้เสียเวลาเปล่า

๒. ไม่ให้หลงทาง

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ถ้าใครคิดสงสัยปั๊บ เดินจงกรมมันก็จะไตร่ตรอง มันจะตรึกขึ้นมา มันจะใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะเราเคยสงสัย ตอนเราปฏิบัติไปสูงขึ้นไปแล้ว มันจะไปอีกมันไม่กล้าไป มันบอกว่าอยู่ที่นี่มันมีพรรคมีพวก มีพ่อมีแม่ แล้วถ้าปฏิบัติไปมันหลุดไปอยู่คนเดียว จะไปอยู่กับใคร นี่มันห่วงขนาดนี้ มันไม่ยอมไป เพราะมันคิดว่าถ้าเราไป เหมือนกับเราไปอยู่คนเดียว ถ้าจิตมันปฏิบัติแล้วมันหลุดออกไป ไปเป็นหนึ่งเดียว แล้วมันจะมีพ่อมีแม่ที่ไหน มันกลัวไม่มีพวก มันก็ติด

พอติด เดินจงกรมอยู่หลายวัน มันขึ้นเลยนะ สาวเลย จิตนี้มาจากไหน จิตนี้มาจากไหน ชาติปัจจุบันนี้ พ่อแม่นี้ แล้วชาติก่อนล่ะ แล้วชาติต่อไปมันมาจากไหน มันมาจากไหนๆๆ โอ้โฮ! สาวๆๆ เข้าไปเลย จนถึงที่สุด ถึงที่สุดเลย ตั้งแต่เริ่มต้นปฐมเลย เป็นอย่างนั้นนะ อ๋อ! พอมันสาวเข้าไป เพื่ออะไร เพื่อทำลายไอ้ความวิตกกังวลของใจไง พอมันทำลายหมด มันเข้าใจหมด เออ! ภาวนาต่อได้ ไม่อย่างนั้นมันไม่ไปนะ พอมันจะภาวนา มันว้าเหว่ มันกลัว มันกลัวไม่มีเพื่อน

เราเป็นมา ถ้ามีความสงสัยในอะไร เข้าทางจงกรมปั๊บ มันก็จะมีเรื่องนั้นขึ้นมา ทีนี้มันก็ต้องเคลียร์ ถ้าใครมีความสงสัยต้องเคลียร์ออกให้หมด พอเคลียร์หมดแล้วมันภาวนาไปมันก็เป็นแบบว่าเป็นข้อเท็จจริง เป็นเนื้อหาสาระ แต่ถ้ามีอะไรเข้ามาปั๊บ ต้องใช้ปัญญา

เวลาปฏิบัติ หลวงปู่ลี ไปถามท่าน เห็นอะไรท่านบอกว่าให้กำหนดจิตถามเลย เห็นภพเห็นชาติ ให้กำหนดจิตถาม เวลาเราไปถามท่านใช่ไหมว่าเราเห็น นั่นคืออะไร

ท่านบอกว่า ทำจิตให้สงบแล้วกำหนดถามมัน เอาจิตนี้กำหนดถามเลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร

แต่มันก็เป็นวาสนาของคนแต่ละคนไป เวลาภาวนาไป เวลาเราพูดออกมา นี่อริยสัจ โดยมรรคญาณเป็นอย่างนี้ มรรค ๔ ผล ๔ แต่เวลาปฏิบัติไป ในโสดาบันมันก็หลากหลาย แต่ละคนมันหลากหลายมาก จริตของคนไม่เหมือนกัน มุมมองการพบการเห็นจะไม่เหมือนกันเลย ไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนะ ถูกอยู่คนเดียว นอกนั้นผิดหมด มันก็อปปี้กันมา

การปฏิบัติไปจะไม่มีใครเหมือนใครเลย แต่ไม่พ้นจากอริยสัจ สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ไม่เหมือนกันเลย พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านอย่าง ไม่เหมือนกันเลย แต่อยู่ในอริยสัจทั้งหมด

ฉะนั้น เวลาพูดธรรมะ เราจะพูดบ่อย เวลาธรรมะ เราจะพูดถึงวิทยานิพนธ์ของครูบาอาจารย์ อย่างของหลวงปู่ขาวนี่เม็ดข้าว ของหลวงตาเรา จุดและต่อมของจิต หลวงปู่บัว ขางคานกิเลส หลวงปู่เจี๊ยะ กายละเอียด กายหมดเลย วิทยานิพนธ์จะไม่เหมือนกันนะ ถ้าวิทยานิพนธ์เหมือนกัน ผิดองค์หนึ่ง ผิดองค์หนึ่ง

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติแล้วไม่ต้องไปพยายามให้เหมือนใคร ให้ทำตามข้อเท็จจริงของตัว พยายามทำอริยสัจแล้วให้ขึ้นมาเป็นสมบัติของเรา สมบัติของเรา แก้กิเลสเรา ข้าวในหม้อเรา เราหุงเอง เรากินเอง ข้าวในหม้อเขา อาศัยเขากินไง ขอเขากินหน่อยหนึ่ง ไม่มีจะกิน ขอกินหน่อยหนึ่ง นี่ก็ไม่ใช่ข้าวเรานะ

ฉะนั้น การปฏิบัติแล้วไม่ต้องไปคิดเปรียบเทียบ เวลาของครูบาอาจารย์ท่านฟังเทศน์ ฟังเทศน์สำคัญมากนะ เพราะฟังเทศน์เหมือนการชี้ทาง เข็มทิศ เทศน์นี้เปรียบเหมือนเข็มทิศ แล้วเราเดินตาม เราเดินเอง เทศน์นี้เป็นเข็มทิศ แต่ขณะที่ปฏิบัติ เราเป็นผู้ย่างก้าว เราเป็นผู้เข้าไปถึง ฉะนั้น คำเทศน์ไม่ใช่ว่าฟังไม่ได้ พอบอกว่าไม่ให้เชื่อ ไม่ให้ฟังเลย ฟังเทศน์ ปฏิเสธหมดเลย

ฟังเทศน์มันเหมือนกับลูกกระสุนนำไปก่อน แล้วเราตามไปๆ ขณะที่เราตามไป เรารู้เราเห็นทั้งหมด คำเทศน์นี้ แต่ลูกกระสุนนั้นไม่ใช่เรา ลูกกระสุนต่างๆ ไม่ใช่เรา ยิงปืนออกไป ลูกกระสุนนั้น คำเทศน์ของครูบาอาจารย์นำไป แล้วเราตามไปๆ เพราะการตามไป มันประสบการณ์เราหมด เราทำเองหมด เราจะรู้เองเห็นเอง ทำของเรา

ฉะนั้น ถ้ามันสงสัยมันก็ต้องรื้อ ต้องรื้อ เพราะเราเคยเป็นมาเยอะ เรานี่แหละ ถ้าใครไม่มีเหตุมีผลหรือพูดไม่จริงนะ มันโต้เถียง ไม่ยอมนะ เราไม่ยอมใครหรอก มันไม่ยอม ไม่ยอมในนี้ไง มันต้องหาเหตุหาผล ถ้าเหตุผลเราดีกว่า เยอะมากนะ ครูบาอาจารย์ที่เราไปอยู่ด้วย พอเรามีเหตุผลที่เหนือกว่า เราวางไว้ แล้วเรารับเป็นครูบาอาจารย์เรา เพราะเราเคยไปอาศัยอยู่กับท่าน แต่เรื่องคุณธรรม เราไม่ฟังเลยล่ะ เราไม่สนเลย เพราะเรามีเหตุผลที่เหนือกว่า เรามีเหตุผลที่ดีกว่า

ก่อนที่จะดีกว่า ไม่ใช่ดีกว่าด้วยเราเข้าข้างตัวนะ เราต้องไปหาท่าน แล้วคุยกับท่าน ธมฺมสากจฺฉา ต้องได้คุยกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วถ้าท่านรับเหตุรับผล มันก็ดีไป ถ้าท่านไม่รับเหตุรับผล แต่ท่านเป็นอาจารย์ ท่านตะแบงออก หรือท่านไม่ฟัง เราก็เก็บไว้ในใจ เราจะบอกว่าอาจารย์ของเรา แต่เหตุผลเราดีกว่า

เยอะ เราไปอยู่ด้วยมาเยอะ เราปฏิบัติมาจากคนที่ไม่เป็นมาด้วยกัน แต่พอมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา อาจารย์เราสอนไม่ถูกหรือสอนให้มันผิดพลาด เราจะไปหาอาจารย์ที่ถูก แล้วถ้าอาจารย์องค์ไหนตอบเราหรือชี้นำเราได้ เราจะเคารพ แล้วเราทำต่อไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติมาอย่างนี้ เราถึงได้พูดไง เวลาเราพูดกับพวกโยม องค์นั้นใช่ ไม่ใช่ ใช่ ไม่ใช่ ก็เพราะเราไปอยู่กับท่านมา มันปฏิบัติมาด้วยกัน ใช่ ไม่ใช่ มันรู้หมดล่ะ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่จริง ท่านจะสอนเราได้

ฉะนั้น เวลามันตรึก เพราะมันมีความสงสัยก็ต้องรื้อค้นกันเอาเอง

อากาศดีแล้ว ใครมีอะไรต่อไปไหม

ปฏิบัติไปนะ เวลาปัญญามันเกิดแต่ละชั้นแต่ละตอน ถ้าพูดถึงขณะที่ไป เมื่อก่อนเราปฏิบัติใหม่ๆ เวลาเราฟังเทศน์หลวงตา บางอย่างหลวงตาฟังมา อย่างเทศน์ ถ้าเรารู้แล้วเราจะเข้าใจหมดเลย แล้วบางทีเราติด เราหลงไง เราหลง แล้วหลวงตาเทศน์อยู่ เอ๊! ทำไมเราไม่รู้ เอ๊! ทำไมเราไม่เข้าใจ มันจะ เอ๊! ตลอด แล้วตอนนั้นพอดีมันหลงนะ เวลามันหลง มันคิดว่าตัวเองจบสิ้นแล้วเหมือนกัน แล้วทำไมเราไม่รู้เหมือนท่านล่ะ มันคาใจอยู่นะ มันคาอยู่ แต่มันก็ทิฏฐิว่าเหมือนกัน ทิฏฐิอยู่อย่างนั้นแหละ พอไปอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะกระทืบเอา กระทืบเอาถึงได้ออก พอออกแล้ว พอมาปฏิบัติแล้ว เดี๋ยวนี้หลวงตาพูดอะไรเข้าใจหมดเลย

เราจะบอกว่า ขณะที่เราปฏิบัติขึ้นไป เรารู้ได้แค่สิ่งที่เรารู้ นี่ไง สิ่งที่เหนือกว่า เราไม่รู้หรอก พอเราไม่รู้ปั๊บ เหมือนกับท่านบอกโจทย์มา เราไม่เข้าใจนะ แต่ถ้าเราเข้าใจ ท่านบอกโจทย์มาอย่างไร เรามีคำตอบพร้อม พอมันปฏิบัติไปแล้ว หลวงตาท่านจะพูดอะไรขั้นไหน ตรงไหน ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านบอกว่าเมื่อก่อนจิตท่านเสื่อมตลอดเวลา อย่างที่ว่าจิตเสื่อมๆ แล้วเวลาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านนั่งตลอดรุ่ง พอตลอดรุ่งปั๊บ ที่นั่งตลอดรุ่งเพราะอะไร เพราะมันเวทนามาก ท่านผ่านเวทนา พอผ่านเวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นรับประกัน เออ! มาถูกทางแล้ว นั่นน่ะ ท่านบอกว่าเกาะติด คำว่า “เกาะติด” นี่โสดาบันนะ เกาะติด เกาะได้แล้ว ท่านพูดแค่นี้ เราจับได้หมดเลย เกาะได้ เกาะติด ตั้งแต่นี้ไปไม่มีเสื่อม

แล้วก็พิจารณาต่อไป นั่งตลอดรุ่งเลยล่ะ พอพิจารณาต่อไป นั่งต่อไป มันแยก ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ แล้วมันเปิดหมด มันปล่อยหมด จิตนี้ราบหมดเลย พอขึ้นไปหาท่าน หลวงปู่มั่นชม ชมไปเรื่อย ทีนี้พอไป หลวงปู่มั่นก็เห็นว่ามันจะแบบว่าทรมานร่างกายจนเกินไป ถึงบอกว่า ม้า ฝึกม้าอย่างไร พอฝึกม้าอย่างไรปั๊บ แล้วพอขึ้นไปถามตรงนี้ ตรงที่แบบว่าพอจิตรวมใหญ่ โดยสมาธิอัปปนาสมาธิ หดเข้ามา สักแต่ว่าหมดเลย เพราะมันปฏิบัติมาอย่างนี้ไง มันถึงว่ารู้ถึงคนที่ปฏิบัติ เวลามันเข้าไปสัมผัสอะไรมันจะเข้าใจว่าอย่างไรไง

พอจิตมันรวมใหญ่ จิตมันแบบว่าอัปปนาสมาธิหรือปัญญาอบรมสมาธิมันหดเข้ามาๆ ตั้งแต่ขณิกะคือมันเริ่มสงบเข้ามา อุปจาระมันสงบแล้วมันจะรู้ได้ คืออุปจารสมาธิ เสียงยังได้ยินอยู่ สัมผัสผิวหนังรับรู้หมด แต่จิตนิ่งอยู่นะ แต่พอมันเข้าไป พอมันเข้าไปถึงอัปปนาปั๊บ มันหดเข้าไปถึงตัวมันเองหมด หดเข้าไปตัวเอง หมายถึงว่า จิตนี้อยู่ในร่างกายเรานี่แหละ แต่มันหดเป็นอิสรภาพ มันไม่รับรู้สัมผัสใดๆ เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่รู้อะไรเลย ไม่รับรู้อะไรเลย หดเข้ามาเลย นี่รวมใหญ่

ทีนี้พอนั่งตลอดรุ่ง พอนั่งตลอดรุ่งพิจารณา พอจิต ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันก็รวมใหญ่ พอรวมใหญ่ปั๊บ มีความสุขมากนะ แล้วท่านก็ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นไง บอกว่าจะเอาอย่างนี้อีก ทำอย่างไร ให้หลวงปู่มั่นแนะนำ

หลวงปู่มั่นบอกว่า “มันจะบ้าหรือ”

คำว่า “จะบ้าหรือ” คือว่ามันเป็นได้หนเดียว ขณะที่กิเลสขาดมันขาดได้หนเดียว

ขณะที่เราวิปัสสนากัน เราวิปัสสนากัน เวลาเราใช้ปัญญามันจะปล่อยได้บ่อยๆ เขาเรียกตทังคปหาน คือเราใช้ปัญญาฝึกฝน เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันจะปล่อย ปล่อยหมดเลย ว่างหมดเลย แต่กิเลสมันไม่ขาด หมายถึงว่า สังโยชน์มันไม่ขาด เขาเรียกว่าตทังคปหาน มันปล่อยชั่วคราว

แต่ขณะที่วิปัสสนาซ้ำเข้าไปๆ ถึงที่สุดของกระบวนการของมัน มันสมุจเฉทปหาน คือมันขาด พอสังโยชน์ขาดแล้ว สังโยชน์คือกิเลสมันขาด พอมันขาดไปแล้ว มันขาดไปคือมันตายไปแล้วมันจะฟื้นได้ไหม มันฟื้นไม่ได้ ฉะนั้น สมุจเฉทปหานมันมีได้หนเดียว ทีนี้พอมันหนเดียว มันขาดไปแล้ว ทีนี้คนที่ปฏิบัติกัน ขณะที่เราเดินขึ้นที่สูง เราจะไม่รู้ใช่ไหม ก็อยากได้อีก ก็ไปขออุบายจากหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นบอกว่า “บ้าหรือ มันก็เป็นได้หนเดียว”

คำว่า “เป็นไปได้หนเดียว” กับการประพฤติปฏิบัติของเรา ก็เข้าใจว่านี่คือนิพพาน ติดอยู่ ๕ ปี ติดอยู่ ๕ ปี เพราะอะไร เพราะเวลาเราไปถาม เราไปถามเรื่องว่าจะเอาอีก แต่จะเอาอีก ขั้นนี้มันมีแค่นี้ แต่ขั้นต่อไปมีอยู่ แต่พอบอกแค่หนเดียวก็ โอ้โฮ! กิเลสนี้ละเอียดมากเลย มันหลอก หลอกท่านหัวปั่นเลย แล้วพออย่างนั้นปั๊บ หลวงปู่มั่นก็รอๆ

นี่เวลาสอนคน เราศึกษาอย่างนี้แล้วเราฟังอย่างนี้ เราถึงเวลาจะสอนใคร เราถึง อื้อหืม! อื้อหืม! สงสารคนฟัง ฟังไม่ดีก็ติดนะ ฟังไม่ดี เข้าข้างตัวเองนะ แล้วเวลาจะพูดให้คนฟัง ให้เขารู้อย่างไร สมควรอย่างไร แล้วอย่างที่พูดเมื่อกี้ วุฒิภาวะ ถ้าเป็นปุถุชนมันก็วิทยาศาสตร์ไง ทุกอย่างคือหนึ่งเดียว วิทยาศาสตร์คือวิทยาศาสตร์ แต่ธรรมะ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ มันลึกลับซับซ้อน โอ้โฮ! ธรรมเหนือโลกไม่ใช่ธรรมวิทยาศาสตร์ ธรรมวิทยาศาสตร์มันคือกรอบ คือสิ่งที่ตายตัว แต่กิเลสไม่เป็นอย่างนั้น กิเลสมันลึกลับซับซ้อนกว่านั้นเยอะนัก

เวลา ๑. ตัวเองก็เป็นมา ตัวเองก็ติดมาเยอะ เวลาเราพูดถึงว่าพระองค์นั้นก็ติด พระองค์นี้ก็ติด ลูกศิษย์จะบอก “หลวงพ่อพูดแต่ว่าแต่เขา หลวงพ่อไม่เคยบอกตัวเองเลยล่ะ”

บอกว่า ถ้ากูพูดเรื่องติดๆ กูนี่นะ ๓ ปีกูพูดไม่จบนะมึง เพราะเราติดเอง เรารู้เอง กูรู้ว่ากูหลงไปไหน แล้วกูกลับมากูรู้เลยว่ากูเตลิดไปไหน แล้วกูดึงกลับ แต่ขณะที่เราพูดๆ เราก็พูดอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้เอ่ยชื่อเท่านั้นแหละ ไอ้ที่กูพูดๆ ก็กูหลงทั้งนั้นแหละ เพราะเราหลงมา เราติดมา เรารู้มา แต่เราไม่ใช่เอ่ยว่า แหม! กูหลงอย่างนั้นๆ มันจะเป็นพระเอกเกินไป

ถ้าเราไม่หลงมาก่อน เราไม่ผิดพลาดมาก่อน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนหลงคนผิดพลาดเป็นอย่างไร เราหลงมาเยอะนะ หลงมาเยอะมาก ใครไม่หลง ไม่มี ถึงได้บอกว่าใครไม่หลง ไม่มี เราหลงมาเยอะมาก แต่มันดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่งที่ว่าหลงขนาดไหนมันจะจับหลักไว้ คือยังภาวนาต่อไปเรื่อยๆ

ส่วนใหญ่เวลาคนหลง คนเข้าใจว่าเสร็จแล้วเขาจะทิ้งเลยไง คือว่าเขาจะหยุดภาวนา คิดว่านี่เป็นผลแล้ว แต่ขณะที่เราหลงขนาดไหนนะ มันดีตรงนี้ ดีที่ว่ามันไม่ทิ้งการภาวนาตลอดไป พอรู้ว่าหลง รู้ว่าหลงปั๊บ มันจะเดินหน้า เดินหน้าในทันทีเลย เดินหน้าในทันทีเลย เวลามันรู้ว่าผิดปั๊บ มันจะหาเหตุ เหมือนกับเรา เรือไม่มีหางเสือมันไปเคว้งคว้างอยู่ในทะเล พอมันจับทิศทางได้ มันไปแล้ว แต่ถ้ายังจับทิศทางไม่ได้ มันก็ยังหมุนเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลนั่นน่ะ หมุนอยู่อย่างนั้นน่ะ มันจะไม่มีหางเสือ มันก็วนรอบอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่พอจับทิศทางได้ จับดาวได้นะ ดาวเหนือ ดาวใต้ จับได้ ไปแล้วๆ ออกแล้ว

มันดีตรงนี้ ดีตรงที่ไม่ทิ้งการภาวนา เราสังเกตตัวเราเอง แต่เวลาฟังคนที่ปฏิบัติๆ มา เคยดีๆ มาพักหนึ่งแล้วมันทิ้ง พอบอกให้ทำอีกก็ โห! ทุกคนจะร้อง โห! เลย เพราะทุกคนรู้ว่ามันทำไม่ง่าย แต่เราดีอย่างตรงนี้ เราสังเกตเราเอง เพราะเราชอบมาก เราชอบอ่านประวัติครูบาอาจารย์ เพราะในประวัติครูบาอาจารย์มันจะมีประสบการณ์ชีวิตชีวิตหนึ่ง แล้วเราเอามาใคร่ครวญ เราดูตาม แล้วเรามีหลัก เราจะรู้ว่าขั้นตอนมันเป็นอย่างไร อะไรผิดอะไรถูก รู้หมดเลย เพราะขั้นตอนที่เราเป็น แล้วมันเทียบกันได้ เทียบกันได้

ฉะนั้นถึงบอก ใหม่ๆ ฟังหลวงตาเข้าใจข้างล่าง พอข้างบน งงเหมือนกันนะ งงไปหมดเลย แต่ตอนหลังใครพูดอะไรมาจับได้หมด เวลาพูดมา บางคนบอกว่าเป็นพระอรหันต์

กูบอกว่าอย่างมากก็โสดาบัน อย่างมากเลย เพราะว่าเขาพูดแบบเขา อย่างมากนะ แต่ถ้าเราซักแล้วถ้าไม่มีก็จบเลยล่ะ เพราะมันถามแล้วตอบไม่ได้ ไม่เคยเข้าประตู มันหาประตูไม่เจอ มันนึกว่าหน้าต่างเป็นประตู มันโดดเข้าหน้าต่าง ไม่ใช่ประตู บอกให้เข้าประตู มันขึ้นไปบนหลังคา แล้วมันโดดจากหลังคา ก็ไม่ใช่

นี่ไง ที่บอกว่ามหายาน แค่ก้าวข้ามพ้นธรณีประตู แค่ข้ามพ้นธรณี นี่พระอรหันต์ของเขา ก็คำพูดเพื่อให้พวกเราเห็นว่าเรามีโอกาส เราทำได้ มหายานเขาจะบอกว่าให้เราเป็นปัจจุบัน

แต่ถ้าในกรรมฐานเรา ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แผลบๆๆ เลย เวลาจิตมันจะเป็นไป แค่นั้นแหละ แป๊บ! จบเลย แต่กว่าจะเป็นสิ โอ้โฮ!

เราพูดบ่อย ทางการก่อสร้างมีพิมพ์เขียว เวลาต้องการวัสดุ เราสั่งจากร้านได้หมด เวลาเราปฏิบัตินะ ศีล สมาธิ ปัญญาไม่มีขาย สมาธิก็ต้องสร้างเอง ทุกอย่างต้องสร้างเอง เหมือนกับเราจะก่อสร้าง แล้ววัสดุทั้งหมดเราต้องสร้างขึ้นมาเอง สติปัญญา สติก็ต้องสร้างขึ้น สั่ง ไม่มี ไม่รู้จะสั่งร้านไหนมาส่ง ปัญญาก็ไม่มี ทุกอย่างไม่มี ตำรามีอยู่ แต่วัตถุดิบไม่มี การปฏิบัติถึงต้องสร้างหมด

เราจะก่อสร้าง เราต้องไปสร้างโรงโม่หินก่อน เราต้องไปสร้างโรงปูนก่อน เราต้องไปสร้าง แล้วต้องเอามาประกอบเป็นการก่อสร้าง แต่ตลาดมันมี สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ เราต้องสร้างเองหมดเลย สติต้องฝึก เริ่มต้นฝึกสติก่อน สร้างโรงงานก่อน ทุกอย่างขึ้นมา สร้างโรงงาน ๘ โรง โรงงาน ๘ โรงขึ้นมาแล้วเราก็ค่อยมาผสม ค่อยเข้ามาบริหารจัดการให้ออกมา มรรคสามัคคีรวมตัวแล้วสมุจเฉทปหาน ขาด แล้วจะไปขั้นที่ ๒ ต้องไปสร้างอีก ๘ โรงงาน เพราะมันมรรคคนละมรรค ไม่ใช่มรรคเดียวกัน

โอ้โฮ! เคยสมบุกสมบันมา เคยทำมา หัวหกก้นขวิดมา แล้วจะมาทำกันง่ายๆ ทำกันผลุบๆ ผลับๆ แล้วบอกว่าเป็นขั้นนั้นขั้นนี้ เราไม่เชื่อ เราไม่เคยเชื่อเลย แต่ถ้าคนทำจริงมา เหมือนคนประกอบธุรกิจมา เขาทำการค้ามาใหญ่โต เขาสมบุกสมบันมา การค้าของเขาตกทุกข์ได้ยาก ขึ้นๆ ลงๆ มาขนาดไหน

ปฏิบัติเราก็เหมือนกัน กว่าจะฝึกสมาธิมา กว่าจะฝึกปัญญามา เราเองหกล้มก้นขวิดมาขนาดไหน แล้วมาพูดเอาเรียบๆ ง่ายๆ ว่าทำได้ๆ...ความจำ วิปัสสนึกทั้งนั้นน่ะ มันเป็นวิปัสสนึก ถ้าเป็นขิปปาภิญญาที่ทำง่าย ตรัสรู้ง่าย ก็ต้องพูดแบบพระพุทธเจ้า จะยากจะง่าย เขาต้องพูดถูก พูดเหมือนกัน มรรคมีอันเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว ไม่มีสอง มีหนึ่งเดียว ไม่มีสอง

ทีนี้พอเราไป มันมีหนึ่งเดียว เราถึงต้องขวนขวาย ปลาเป็นต้องว่ายทวนน้ำ มันจะทุกข์ยากขนาดไหนก็ต้องว่ายขึ้นไป ปลาตายลอยตามน้ำ สบายๆ ก็สบายสิ น้ำไหลไป ลอยคอไปกับน้ำ ไอ้ทวนกระแสคือปลาเป็น เวลาปลาเป็นมันจะว่ายไปวางไข่ มันต้องโดดน้ำ มันต้องทวนขึ้นไป เราจะแก้กิเลส เราต้องทวนเข้าไปหาจิตเรา เข้าไปหา เอาลูกเสือต้องเข้าถ้ำเสือ จะชำระกิเลสต้องเข้าไปต่อสู้กับมัน ต้องเอาให้ได้ อันนี้ถึงจะเป็นปฏิบัติจริง เอวัง