ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะศรัทธาเช้า

๒ ม.ค. ๒๕๕๒

 

คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พวกนี้ เราเข้าวัดกันที่ภาคกลาง เวลาภาคกลางไปวัดนี่ ในวัดเขาก็ทำพิธีกรรมของเขาไป สังเกตได้ไหมเราไปวัดนี่ ไอ้พระก็สวดไป ไอ้ชาวบ้านก็ อิโล้งโคล้งเคล้ง อู้ฮู ไอ้นู่นก็ผลุบผลับ มั่วไปหมดเลยไง แต่ถ้าไปวัดปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้น

หลวงตา เวลาในศาลานี่ ถ้าเป็นพระป่าท่านบอกว่าไม่นิ่งไม่เทศน์ เวลามีพระป่ากำลังถวายปัจจัย ท่านบอกว่าไม่เทศน์ แต่เวลาเทศน์ท่านจะบอกว่า

“หยุด หยุด หยุด หยุด” ทุกคนจะหยุดหมด พอหยุดหมดแล้วก็จะฟังเทศน์ เพราะจะเทศน์มันต้องนิ่งไง

แต่ภาคกลางไม่เป็นอย่างนั้น ภาคกลางนี่ พระก็อ่านหนังสือไปสิ มันจะเป็นอะไรก็ไม่เป็นไรใช่ไหม เพราะว่าอ่านหนังสือ หนังสือมันไม่หาย เพราะหนังสือมันเปิดเป็นหน้าใช่ไหม แต่เวลาเทศน์นี่มันออกมาจากความรู้สึก เวลาเสียงมันปั๊บนี่ มันออกปั๊บนี่ ความรู้สึกมันไปนี่ มันเหมือนกับเรานี่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ พอมันสะดุดปั๊บมันคิดเรื่องใหม่ คิดเรื่องใหม่ มันไม่ต่อเนื่อง

ฉะนั้นเวลาเทศน์นี่ เวลาเทศน์ต้องนิ่ง ใครอย่ามามีเสียงเลย ต้องเงียบหมด ถ้าเงียบหมด คิดดูสิ เทศน์มันเทศน์ไป แต่เวลามันอย่างอื่นกระทบปั๊บ มันก็ออกรู้อันนั้นใช่ไหม ฉะนั้นถ้าไม่นิ่งไม่เทศน์ แล้วถ้าเทศน์แล้วมันอยู่ที่ประสบการณ์ด้วย ประสบการณ์เวลาเทศน์ เวลาท่านออกไทยช่วยไทยนี่ ออกสงเคราะห์โลกนี่ เวลาเทศน์ไปมันจะมีรถเข้ารถออกนี่ ท่านก็ต้องเทศน์ไป มันแกงหม้อใหญ่

แกงหม้อใหญ่นี่มันเทศน์จากความคิด ความคิดคืออะไร? ความคิดคือสังขารคือข้อมูล เทศน์ตามสังขาร สังขารคืออะไร? สังขารคือการที่เราศึกษาทางวิชาการมา ก็จับหลักวิชาการนั้น แล้วพูดอธิบายวิชาการนั้นไป อย่างศีลเป็นอย่างนั้น สมาธิเป็นอย่างนั้นว่าไป แต่มันไม่ออกจากใจ ถ้าออกจากใจนี่มันไม่ได้ออกจากความคิด มันไปของมันเลย มันเป็นเรื่องของมันไปเลย เห็นไหมเวลาเทศน์มันจะเป็นไปอย่างนั้น

นี่เวลาถ้าไปวัดนี่มันถึงอย่างนั้น เวลาเรามีกิจกรรมก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาจะเทศน์ปั๊บ ต้องหยุด ไม่อย่างนั้นไอ้เทศน์นี่มันไม่เป็นไป แล้วมันแบบว่ามันก็เป็นยำไง ไม่เป็นเรื่องเป็นราว มันจะยำมันอย่างนั้นแหละ เรื่องมันร้อยแปด เพราะว่าจิตมันไม่ได้ออกมาเพื่อจะเทศน์ นี่ถ้ารู้ประเพณีปั๊บนี่มันจะไปเลย มันจะเกรงใจ ถึงเวลา ดูสิเวลาเด็กมานี่เราจะเมตตาเด็กมาก เราจะแจกยาคูลท์แจกทุกอย่างเลย แต่เวลาเทศน์นะ กูต้องเนรเทศออกนอกศาลาไปเลย เนรเทศมันออกไปก่อน

ผลประโยชน์ของเขา ผลประโยชน์ของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เขาต้องการเนื้อธรรม เด็กมันต้องการยาคูลท์ ผลประโยชน์มันขัดกัน ทีนี้พอผลประโยชน์ขัดกันปั๊บ เราต้องเอาเด็กออกไปข้างนอกก่อน แล้วพอเทศน์จบแล้ว อ้าว เข้ามาได้ กูแจกยาคูลท์ต่อ นี่เวลาทำงานมันต้องมีอย่างนั้น

แล้วเราเป็นผู้ใหญ่ เราไม่โทษเด็กเลยนะ เราจะโทษคนที่เอามา อย่างเช่นเราเอาลูกมาวัดนี่ดีมากๆ เพราะให้เขามาสัมผัส เพราะต่อไปนะทางสุภาษิต ลิเก เรือเมล์ ตำรวจ พวกนี้ไม่น่าคบเพราะว่าเขาผ่านสังคมมาเยอะ ไม่น่าไว้ใจ แล้วเดี๋ยวนี้มีนะ ลิเก เรือเมล์ ตำรวจ แล้วพระด้วย พระต่อท้าย

มันเขียนแซวในหนังสือพิมพ์ เราไปเจอไง ลิเก เรือเมล์ ตำรวจ พวกเราเขียนไว้ว่าไม่น่าไว้วางใจ แล้วก็พระด้วย เดี๋ยวนี้เขามีพระต่อท้าย ฉะนั้นพออย่างนั้นปั๊บนี่ พอเราไปเจอพระกันอย่างนั้นปั๊บนี่ เราจะห่างเหินจากศาสนา ฉะนั้นถ้าเอามาสัมผัสอย่างนี้ปั๊บนี่ มีเด็กมากหรือมีคนมาก เด็กมาที่นี่มาก มาถึงนี่พ่อแม่บอกจะพาลูกไปวัด แต่มีข้อต่อรอง พอไปวัดเสร็จแล้วจะไปเที่ยวต่อไง

แล้วทีนี้พอจะต่อรอง พยายามจะน้อมนำลูกมาวัด พอมาวัดบอกว่า “แม่ แม่เมื่อไหร่จะพาหนูไปวัดสักทีล่ะ” มันคงคิดว่าออกจากนี่ไปต้องไปวัดอีกไง เพราะวัดที่นี่มันไม่มีโบสถ์ไม่มีวิหาร ไม่มีวัตถุ มันไม่รู้ว่าวัดคืออะไรไง อย่างนี้ไม่ใช่วัด

นี่เวลาคนเขามาที่นี่นะเขาจะผ่านไปผ่านมา เขาไม่กล้าเข้า เขาว่านี่สวนใครไม่รู้ พวกที่เขามาจากกรุงเทพฯ ไม่กล้าเข้าเลย ปิดประตูไว้มันจะผ่านไปผ่านมา พอเข้ามาแล้ว ผลหลงตั้งหลายรอบแน่ะ ผมก็ผ่านไปผ่านมาอยู่นี่แหละ ไม่กล้าเข้านึกว่าสวน รุกขมูลไง มันเป็นสวน

นี่เด็กมันมา เวลาเด็กมันมานี่มันไม่เข้าใจ ทีนี้เราพาเด็กมาวัดนี่ให้มันสัมผัส แล้วพอเด็กมา หลายคนมากว่า พระอย่างนี้ก็มีไง ไม่ใช่พระอย่างนั้น เย็นๆ นี่มาจากกรุงเทพฯเยอะมาก เวลาเราพูดถึงการทำบุญนี่เขาบอกว่า พวกหนูนะไม่เคยใส่บาตรมาหลายสิบปีแล้ว บางคนบอกว่าไม่เคยทำบุญเลย เพราะเขาทำใจไม่ได้ เพราะเขาอยู่กรุงเทพฯ เขาเห็นพระอย่างนั้นเขาทำใจไม่ได้

เราก็บอกเขา บอกว่า ทำไมเอ็งไม่ทำบุญกับพระพุทธเจ้าล่ะ ของเรานี่เราถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเราก็ทำบุญกับพระที่นี่ไป คือเราฝากไปเฉยๆ ไง ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่มีโอกาสนะ เขาบอกว่าทำใจไม่ได้ เขาทำทานดีกว่า คือเสียสละไปทำทาน คือว่าทำพวกมูลนิธิดีกว่า เขาไม่ยอมทำบุญกับพระ เขารับพระไม่ได้ แล้วพอเด็กมันไปเห็นพระอย่างนั้นๆ ไง นี่ไงให้มันมาเห็น แล้วมันเข้าใจ

แต่ถ้าไปอย่างนั้น อย่างที่เขาพูดกัน พระก็ลูกชาวบ้านไง เวลาเขาพูดกันนี่พระก็ลูกชาวบ้าน กราบพระก็กราบลูกชาวบ้าน เราบอกไม่จริงไง ไม่จริง ถ้าเป็นพระอย่างเรานะ ไม่จริง เวลาบวชปั๊บนี่เป็นพุทธบุตรแล้ว บวชนี่เป็นลูกพระพุทธเจ้าแล้ว พอบวชแล้วนี่มันจริงตามสมมุติ เพราะอุปัชฌาย์ยกขึ้นมาเข้าหมู่แล้ว เป็นพระจริง ถ้าเป็นลูกชาวบ้านก็ต้องสึกออกไป ถ้าสึกไปนี่เป็นลูกชาวบ้าน

ถ้าเป็นพระ ทีนี้เป็นพระนี่พระมีวินัยไง ๗ ชั่วโคตร พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พระขอได้ ว่าลูกชาวบ้านไง นี่พ่อแม่ปู่ย่าตายายขอได้ ขอได้ ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ขอ สิ่งที่ได้มาเป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ แต่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย นี่ขอได้ เพราะสายเลือด นี่ไงเป็นญาติของศาสนาไง เวลาลูกบวช ลูกบวชนี่ลูกเข้าไปอยู่ในศาสนานี่ คิดถึงลูกนะ นี่คิดถึงลูก ลูกเราเป็นพระ

นี่สายเลือดมันเข้าไปอยู่ในศาสนา นี้สายเลือดเข้าไปอยู่ในศาสนานี่ สายเลือดนั้นก็ขอได้ ขอ ๗ ชั่วโคตรได้ แต่คนอื่นขอไม่ได้ นี่พูดถึงถ้าเด็กมันเข้ามานี่ ถ้ามันได้สัมผัส วันหลังมันจะเลือกเอง มันจะรู้เอง มีเยอะมากนะเวลามาอยู่กับเรานี่ แล้วออกไปนี่ เอ๊ะทำไมพระทำอย่างนั้นล่ะ? ทำไมพระทำอย่างนี้ล่ะ? มันไม่เห็นว่าพวกเราทำไง เอ๊ะ พระทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ? พระทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ?

แต่ของเราไม่ได้ ไม่ได้เพราะว่า ถือกฎหมายเล่มเดียวกัน พระไตรปิฎกตู้เดียวกัน พระพุทธเจ้าสั่งมาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกไว้อย่างนี้ ภิกษุห้ามพรากของเขียว ภิกษุห้ามจับต้องเงินและทอง ภิกษุจับต้องเงินและทอง สิ่งที่รับเงินและทองนี่ เงินและทองนี่ สิ่งที่จับปั๊บ ตัวเองเป็นปาจิตตีย์ ของที่ได้มาเป็นนิสสัคคีย์ ต้องเสียสละคือต้องโยนทิ้ง โยนทิ้งโดยไม่ให้รู้ที่ตก เงินนี่ถ้าจับนะต้องให้หมู่สงฆ์นี่ปาทิ้ง แล้วถึงปลงอาบัติได้ ถ้าไม่ปาทิ้ง ปลงอาบัติไม่ตก

เงินทองนี่หยิบไม่ได้ มันไม่มีใครพูดนะ มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แต่พอมาอย่างนี้ปั๊บนี่ พอเขาอนุโลมกันมา อนุโลมกันมา นี่ไง นาๆ สังวาส คือการถือศีลต่างกัน กฎหมายถือต่างกัน เขาเรียกนาๆ สังวาส นาๆ สังวาสห้ามอยู่ด้วยกัน ห้ามกินด้วยกัน ห้ามนอนด้วยกัน แต่ถ้าเป็นสังวาสเดียวกัน สมานสังวาส ได้

เหตุนี้เกิดมาจากพระพุทธเจ้า มีภิกษุธรรมถึกเข้าส้วม แล้วเทน้ำในขัน เทไม่หมดเหลือไว้ก้นขัน วินัยธรคือพวกธรรมวินัย พวกปริยัติเขาไปเห็นเข้า ไปเห็นเข้าก็บอกว่านี่เป็นอาบัติ ธรรมถึกบอกว่าถ้าเป็นอาบัติผมจะปลงอาบัติ แต่ผมไม่มีเจตนานะ วินัยธรบอกถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นอาบัติ พอไม่เป็นอาบัติก็ออกไปใช่ไหม ออกไปก็ไปบอกลูกศิษย์ บอกธรรมถึกนี่โง่มากเลย ดีแต่สอนคนอื่น เทศน์เก่งนัก แต่ไอ้วินัยแค่นี้ก็ไม่รู้ เป็นอาบัติก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ

อ้าว แล้วทีนี้ลูกศิษย์ก็พูดต่อไป พอพูดต่อไปนี่ พวกธรรมถึกก็บอกว่า อ้าว ก็บอกถ้าเป็นอาบัติก็จะปลงอาบัติ ก็เขาว่าไม่เป็นเอง พอบอกว่าไม่เป็นแล้วก็มาปรับอาบัติ นี่แสดงว่าเขาพูดมุสา ก็ปรับอาบัติอีก ต่างฝ่ายต่างปรับอาบัติ ก็เลยเกิดการแตกแยก เกิดการวิวาทกัน พระพุทธเจ้ามาห้าม ห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง พระพุทธเจ้าเลยหนีเข้าป่าไง

พระพุทธเจ้ามาห้ามนะ ถ้าเธอถือวินัยต่างกัน เธอมีความเห็นต่างกัน จะเป็นนาๆ สังวาส ถ้าเป็นนาๆ สังวาส จะห้ามนอนด้วยกัน จะห้ามกินด้วยกัน ห้ามทุกอย่างเลย แล้วก็หนีไปป่า พอไปในป่าพระนั้นก็ยังทะเลาะกัน ยังไม่ยอม

พอไม่ยอมปั๊บนี่ ไปอยู่ในป่าที่ช้างมาอุปัฏฐากนั่นล่ะ จนสุดท้ายแล้วชาวบ้านไม่ยอมใส่บาตร บอกว่าพวกนี้ แบบทำให้พระพุทธเจ้าต้องหนีเข้าป่า เขาอยากจะใส่บาตรพระพุทธเจ้า ก็เลยงดไม่ใส่บาตรพระพวกนั้น พระพวกนั้นก็เลยต้องไปง้อพระพุทธเจ้ากลับมา พอพระพุทธเจ้ากลับมา พระพุทธเจ้าก็เทศน์ เทศน์แล้วเป็นพระอรหันต์กันหมดเลย

ที่พูดนี่ไม่ใช่พูดเอาเอง มันเป็นธรรมวินัยอยู่ในพระไตรปิฎก แต่พระเรานี่ทุกคนก็รู้ ยิ่งเรียนนี่ทุกคนต้องเรียนหมด พระทุกองค์ต้องเรียนนะ แล้วเรียนแล้วต้องรู้ เป็นมหาเป็นพระครูเป็นอะไรกันนี่ พัดใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย แต่กฎหมายมึงเหยียบไปทำไม หลวงตาพูดเจ็บ

“เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป เหยียบหัวธรรมวินัยไป”

แล้วไปสอนชาวบ้านนะ เทศน์สอนเขานะ แต่เหยียบหัวธรรมวินัยไป นี้ครูบาอาจารย์เรานี่มารื้อฟื้นไง พระจอมเกล้ามารื้อฟื้น รื้อฟื้นเรื่องให้ถือตามตัวอักษร ให้ถือตามความเป็นจริง แล้วเราก็ถือตามๆ กันมา ทีนี้ถือตามๆ กันมาปั๊บนี่ ทีนี้มันก็มาแล้วมาตรงนี้ มาตรงที่แบบว่า ถ้าเราทำดีด้วยกัน อย่างพระมหานิกายที่เขาปฏิบัติ เขาปฏิบัติดีก็เยอะแยะเลย แล้วจะมาลงอุโบสถร่วมกัน แล้วไปถามหลวงตา

ตอนที่เราอยู่กับหลวงตานะ ท่านบอกว่า แล้วอุปัชฌาย์เขาล่ะ? เหมือนที่มานั่นล่ะ เกิดมาจากอะไรล่ะ?

คือว่าใช่อยู่เราทำดีอยู่ แต่ที่มา ที่มานี่มันยังมีปัญหาอยู่ ก็เลยต้องนี่เป็นอย่างนี้มา นี่พูดถึงเป็นอย่างนี้ปั๊บนี่ นี่พูดถึงธรรมวินัยนะ แต่ถ้าเราเข้ามาสัมผัสนี่เราจะรู้พระ แล้วบอกเลย ไม่ใช่ว่าธรรมยุตดีหมด หรือมหานิกายดีหมด ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนไม่ดีปนกัน อย่าเอาชื่อมาอวด อย่าเอาธรรมยุต เอามหานิกายมาโม้ มันอยู่ที่พฤติกรรมของพระ พฤติกรรมของคนๆ นั้น

ธรรมยุตดีก็มี เลวก็มี มหานิกายดีก็มี เลวก็มี ในสังคมทุกสังคมจะมีคนดีคนเลวปนกัน อย่าไปเอายี่ห้อ อย่าไปเอานี่มาเป็นตัวขัดขวางความดีและความเจริญ ไม่เป็น ต่างคนต่างทำความดี มันจะเป็นดีทั้งนั้นแหละ เราทำความดีไป แล้วความดีมันจะตอบสนองมาที่เรา แต่ที่พูดนี่พูดให้เห็นถึงธรรมวินัยคือกฎหมาย แล้วพวกเรานี่อยู่ใต้กฎหมาย เราทำอยู่ในกรอบของกฎหมายนี่เราจะดีทุกคน

ไม่ใช่พูดว่าไปเพ่งโทษใคร ไม่พูด แต่พูดให้เห็นเป็นเนื้อหาสาระแล้วเราทำตามนั้น นี่แล้วเวลามาดูสิมาวัดนี่ มีคนมาพูดมากนะ เวลามาถามเรานี่ ทำไมพระที่นี่ต้องฉันเร็วล่ะ? ทำไมพระที่นี่ต้อง.. แบบว่าเขาสงสารพระไง แต่ความจริงไม่ใช่ นี่คือการฝึกนะ

นี่ทางโลก เวลาพวกโยมเขามาหาเรา เวลาเขาพูดเขาพูดเล่นไง พูดเล่นกัน “หลวงพ่อ เดี๋ยวนี้เขาฉันโต๊ะจีนกันแล้ว” เดี๋ยวนี้เขาทำกันสะดวกสบายไปหมดเลยนะ เราฟังแล้วนะเราเศร้าใจล่ะ แต่ทางโลกเขาพูดแล้วเขามีศักยภาพนะ อย่างของเราเห็นไหม ทุกอย่าง อาหาร ปฏิสังขาโยนี่ ภาชนะเดียว ทุกอย่างมันรวมลงมาแล้วนี่

ขนาดเวลาใส่ในบาตรแล้วนะ ถ้าเอาช้อนมาฉันหลวงปู่มั่นท่านยังบอกเลย

“พระขุนนาง พระขุนนาง”

ขุนนางผู้ดี ขุนนางคือว่าผู้ที่ลืมตัว ลืมตัวคือลืมโทษภัยในวัฏฏะสงสาร แต่เวลาเราใส่บาตรแล้วนี่ เราอยากฉันอะไรมือต้องจับต้องต้องนี่ มือจับต้อง อยากฉันกะปิ แต่ก็ไม่อยากให้มือเลอะกะปิ ต้องเอานู้นมาตักใส่ปาก ปากมันก็เลอะทั้งนั้นแหละ

เราไปหยิบไปต้องนี่เราสัมผัสหมดไง พอเราสัมผัสหมดเราจะรู้เลยว่ามันเป็นอย่างไร? แล้วมันเป็นอย่างไร? ฉันไปแล้วนี่ มันปฏิสังขาโยนี่มันแค่ดำรงชีวิตเท่านั้นแหละ คือเรารังเกียจมัน อยากกินมันแต่รังเกียจมันนะ กลัวกลิ่นมัน แต่ไปกินมันทำไม? แต่คนที่เห็นภัยในวัฏฏะสงสารใช่ไหม ของนี่มันเยียวยาธาตุขันธ์นะ

มันเยียวยากระเพาะเรา เยียวยาสิ่งนี้เท่านั้นแหละ นี่มันมีสติสตัง มีสติเขาให้ฝึกอย่างนั้น คือฉันแบบคนที่มีสติ ฉันแบบคนที่เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ไม่ใช่ฉันเพื่อความสุขเพลิดเพลิน ไม่ใช่ฉันเพื่อเอร็ดอร่อย ไม่ใช่

ทีนี้พอเขาฉันอย่างนั้นปั๊บเขาก็มีสติ เขาก็พยายามตั้งสติของเขา เขาก็ฉันของเขา เราก็ดูเหมือน โอ๊ย เกร็ง อุ้ย รีบด่วน อุ้ย ชีวิตนี้เครียด ชีวิตนี้ไม่มีความสุขเลยนะ แต่ความจริงเขามีสตินะ เขาฝึกของเขานะ แต่ไอ้เรานี่ไปสงสารไง นี่พวกนี้พวกไปเห็นคนอื่นแล้วสงสารคนอื่น แต่ความจริงนี่เราเองเราเอาทัศนคติของเราไปสงสารเขา เราเอาทัศนคติของเราใช่ไหมว่าเราคิดว่า ถ้ากินกันสบายๆ แล้วมันจะมีความสุข

กินกันสบายๆ นะ พอเสร็จแล้วนะ พอไปนั่งสมาธินะก็ไปนั่งหลับกันสบายๆ นี่ หัวถึงสัปหงกชนกัน เขาไปห่วงตรงนั้น เขาถึงได้ผ่อนอาหาร ฉะนั้นสิ่งที่ตามมานี่ เราอยู่กับหลวงตามาก่อน หลวงตาเวลาท่านเทศน์นี่ ท่านบอกว่า ทุกอย่างนี่ท่านกันให้ได้หมดเลย ท่านเป็นหัวหน้าท่านจะกันให้ คือว่าทุกอย่างท่านจะดูแลให้ เพื่อจะไม่ให้พวกโลกธรรมนี่เข้าไปกระเทือนกับพระของท่าน

“เว้นไว้ข้อเดียวเท่านั้นล่ะที่ผมทำไม่ได้” เรื่องอาหารตอนเช้านี่ ท่านบอกว่าท่านทำให้ไม่ได้ ท่านกันให้ไม่ได้ ท่านบอกว่าต้องให้พระนี่ตั้งสติเอง เพราะอะไรรู้ไหม? ท่านบอกว่ามันเป็นศรัทธาของเขา มันเป็นผลประโยชน์ของคฤหัสถ์ เป็นผลประโยชน์ของโยมเขา โยมเขานี่เนื้อนาบุญของโลกใช่ไหม? เขามาเสียสละของเขานี่ คือเขาได้ผลประโยชน์ของเขา มันเป็นผลประโยชน์ของเขา แล้วเราจะไปปิดกั้นของเขานี่มันไม่ได้

ฉะนั้นเวลาเขามานี่ พระต้องมีสตินะ เวลาท่านเทศน์สอนพระนี่ท่านเตือน เตือนตลอดว่า ทุกอย่างนี่ผมกั้นให้ได้เลย อย่างเช่นคนจะมาหนวกหูในวัด คนจะมาส่งเสียงในวัดนี่ ท่านจะไล่ออกเลย แล้วจะไม่ให้คนเข้าไปเดินในเขตของสงฆ์ ท่านจะปิดกั้นให้ได้หมด คือว่าให้พระนี่สะดวกในการภาวนา เว้นไว้ข้อเดียวนั่นล่ะที่ผมทำให้ไม่ได้

“เรื่องเขามาใส่บาตรนี่ เรื่องอาหารตามมานี่” ท่านบอกว่ามันเป็นผลประโยชน์ของเขา ถ้าเราไม่ให้เขามา เขาก็ไม่ได้ทำบุญ แล้วมันเป็นบุญของเขา เขาเจตนาของเขา ฉะนั้นเวลาเขามานี่ให้มีสตินะ อย่าตายนะ อย่าตาย กินจนตายไง นู้นก็ดี นี่ก็ดีนะ สะสมเข้าไปนะ กระเพาะแตก

นี่ท่านเตือนมาประจำ ทีนี้เราเคยอยู่กับท่านมาท่านเตือนมาประจำ พอเตือนประจำ พอเราไปอยู่โพธารามใหม่ๆ พวกนี้ เราจะตักอะไรนี่ไม่ยอมเลยล่ะ มันเป็นทัศนคติของคฤหัสถ์ นี่ไงโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ปัญญาของใคร? ปัญญาของโลกก็อย่างหนึ่ง ปัญญาของธรรมก็อย่างหนึ่ง มันคนละเรื่องกันนะ แต่มันอยู่ด้วยกันเพราะคนเหมือนกัน มนุษย์เหมือนกัน พระก็มาจากมนุษย์ มันต้องอยู่ด้วยกัน แต่เป้าหมายมันต่างกัน การกระทำมันต่างกัน

ทีนี้พอเราไปนี่ เราอย่าเอาทัศนคติของเรานะ ความคิดนี่ หลวงตาท่านพูดบ่อย คนโง่อย่าไปฟังมัน จริงๆ นะ เขาคิดด้วยเรื่องของมนุษย์นี่ ประสาธรรมะโง่หมด คิดแบบโง่ๆ แล้วเอาความคิดโง่ๆ นี่บังคับให้พระโง่ แต่พระมันไม่โง่ไง พระมันฉลาด พระมันจะเอาตัวรอดนี่ แต่มันต้องอาศัยอาหารเหมือนกัน จะเอาความคิดเราโง่ๆ บังคับเขาให้โง่เหมือนกูไง แต่พระเขาจะไปของเขา

ทีนี้เขาไปของเขานี่มันจะตัดขาดกันไม่ได้ ตัดขาดกันไม่ได้เพราะอะไร? เพราะพระก็ยังต้องฉันข้าวอยู่ เพราะมันต้องฉันอยู่ แต่ฉันแบบผู้ฉลาด ฉันแบบผู้ฉลาดคือต้องพิจารณาไง มันต้องมีขอบเขต ขอบเขตของโยม ขอบเขตของพระ

เวลาเข้าไปนี่พระก็มาถามเรานี่ ทางอีสานนี่ เขาเรียกว่าเคารพในสถานที่ พอเข้าวัดปั๊บเงียบ ไปอีสานสิ เข้าไปนี่แล้วเจอพระจะหลบหลีก วัฒนธรรมของเขา นี้วัฒนธรรมภาคกลางไม่เป็นอย่างนั้น วัฒนธรรมทางภาคกลางนี่ เราศึกษามาหมดล่ะ วัฒนธรรมทางนี้มันเป็นเกจิอาจารย์ ไม่ใช่สุปฏิปันโน

สุปฏิปันโนนี่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเข้าถึงสัจธรรม เกจิอาจารย์นี่คุณวิเศษ ทำฌานขึ้นมาแล้วเพ่ง เพ่งวัตถุสิ่งของให้มีฤทธิ์มีเดช แล้วว่าพุทธคุณๆ แล้วเอาสิ่งนี้ไง ไอ้นี่มันเป็นแบบฤทธิ์เดชนี่ มันเป็นฌานโลกีย์ มันไม่เข้าสัจธรรมเลย ทีนี้พอไม่เข้าสัจธรรมนี่มันก็ถือฤทธิ์ถือเดชใช่ไหม

ดูสิ เวลาขึ้นป้ายนะจะเข้าสมาบัตินะ โอ๋ย จะมาใส่บาตร ตักบาตรทำบุญกัน ไอ้ของครูบาอาจารย์เราทำสมาธิอยู่ในป่า ไม่ต้องไปอวดใครเลย แล้วมันทำของมันขึ้นมาเพื่ออะไร? เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้กับกิเลสไง

เนี่ย นี้วัฒนธรรมมันต่างกัน พอวัฒนธรรมมันต่างกันนี่ เราเข้าไปในสถานที่นะ สถานที่คืออะไร? สถานที่คืออาราม อารามิก อารามิกเราเข้าไปนี่ เราเคารพไหม ถ้าเราเคารพใจเราเปิดแล้ว เพราะความเคารพนะ เขาเรียกลงใจ ถ้าใจลงนะฟังธรรมะซึ้งมาก ถ้าใจกระด้าง กูรู้กูแน่ มึงเทศน์มาสิกูจะจับผิดมึง มึงเทศน์มา มึงพูดออกมาสิ ผิดทั้งนั้นล่ะ เพราะกูรู้ กูรู้ แต่ถ้าใจมันลงนะฟังธรรม สัจธรรม

ใครแสดงธรรมนะ เวลาพูดออกมานี่ธรรมะพระพุทธเจ้า ปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรม แต่พูดผิด พูดแต่ชื่อมัน ไม่มีเนื้อหาสาระออกมา แต่ถ้าเป็นสัจธรรม มันพูดออกมาจากเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระไง ความรู้ ความรู้ความเข้าใจ ซึ้งต่างกันเยอะมาก แล้วใจมันลงนะ พอใจมันลงมันสะเทือนใจนะ เวลาพูดถึงนี่มันพูดถึงเราทั้งนั้นล่ะ มันพูดถึงความเป็นไปของเรา แล้วสะเทือนใจมาก

เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์นะ เจ้าคุณอุบาลีพูดเลยล่ะ

“โอ้ หลวงปู่มั่นนี่เทศน์นะ เทศน์เรื่องใกล้ๆ ตัวเรานี่ เรื่องที่เราเหยียบย่ำกันอยู่ทุกวันนี่ เรื่องเรานี่ เรื่องนอน ตื่นนอน เรื่องกิน เรื่องหลับ เรื่องตัวเรานี่แหละ แต่เราไปฟังที่อื่นก็เฉยๆ นะ แต่พอทำไมหลวงปู่มั่นเทศน์ อู้ฮู ทำไมมันฟังแล้วมันกินใจ”

แล้วมันไปเทศน์เรื่องอะไร? ไปเทศน์เรื่องบนสวรรค์ เรื่องนอกโลกที่ไหน มันก็เทศน์เรื่องเรานี่ เรื่องมนุษย์นี่ เรื่องกิเลสนี่ แต่ทำไมเราฟังคนอื่นเขาเทศน์ทำไมไม่ดูดดื่มล่ะ ก็มันไม่ได้ออกมาจากใจไง มันออกมาจากตำราไง เอาหนังสือมาอ่านกันไง

เวลาเอาหนังสือมาอ่านก็ขึ้น หนังสือนี่เปิดเลย อ่านไปเถอะอ่านยังไงก็ได้ พออ่านปั๊บนี่มันจะเสียงกระทบกระเทือนขนาดไหนนะ หนังสือมันไม่หายหรอก มึงจะพูดอะไรไปกูก็อ่านตามหนังสือนี่ แต่ถ้าเทศน์ออกมาจากใจ ไม่ใช่ มันเทศน์ออกมาจากความรู้สึก เทศน์ออกมาจากจิตที่มันเป็นนี่ แล้วจิตมันเป็น มันเป็นเรื่องราวไป มันเป็นเรื่องราวไป มันระดับของมัน นี่พื้นฐาน

เวลาปฏิบัติเห็นไหม ธรรมะละเอียดมาก ระดับพื้นฐานของใจ ใจมันจะพัฒนาขึ้นมาอย่างไร ใจมันพัฒนาขึ้นมานี่มันต้อง มีอะไรเป็นเครื่องดำเนิน ข้อวัตรปฏิบัติเป็นอย่างไร? สิ่งต่างๆ นี่มันฝึกมาหมดนะ พระเราทำนี่ดูสิ วัจกุฎีวัตร แม้แต่เข้าห้องน้ำ เข้าส้วมนี่ยังมีข้อวัตรเลย เข้าถูกเข้าผิด เข้าผิดเป็นอาบัติ นี่ดำเนินอยู่นี่ เดินไปเดินมานี่มีสติไหม ไม่มีสตินี่ศพเดินได้ เหมือนศพเดินไปเดินมา พระไม่ใช่ศพ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนี่ มองทีเดียวก็รู้เลย

เหม่อ เดินไม่มีความรู้สึก วิญญาณไม่มีไง เดินลอยหมดเลย ทีนี้การเดินอย่างนั้น ถ้าไปเดินอย่างนั้นครูบาอาจารย์เอาตายเลย

ท่านมาทำไม? ท่านมาที่นี่มาทำไม? ท่านมาประพฤติปฏิบัติใช่ไหม? ทำไมท่านไม่มีหูไม่มีตา ทำไมท่านไม่รู้จักตัวเอง ฉะนั้นจะมาปฏิบัติ ปฏิบัติทำไม? ปฏิบัติจับผิดคนอื่นไง คอยมองเลยไอ้นู้นผิด ไอ้นี่ผิด ไอ้นั่นผิด ไอ้นั่นไม่ดี มันไม่มีใครดีสักคนหนึ่งเลย กูดีคนเดียว

ปฏิบัติอย่างนี้เหรอ? ปฏิบัติแบบไฟไง เอาไฟมาเผาตัวไง แต่ที่ปฏิบัติแบบเรา จับผิดเรา ธรรมวินัยจับผิดที่นี่ จะรู้ที่นี่ แล้วเห็นที่นี่ แล้วนั่นมันเรื่องของเขา โลกทัศน์นอก โลกทัศน์ใน นั่นมันเรื่องของเขา นี่มันเรื่องของเรา ถ้าเรื่องของเรานี่นะ เรื่องของเราเราต้องรักษาใจเรา ถ้ารักษาใจเราก็ผลประโยชน์ของเรา เพราะไอ้จิตตัวนี้มันเกิดมันตาย ไอ้เรื่องของเขา เกิดตายมันก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

แต่เวลาถ้ามัน ทีนี้มันเป็นแล้วนะ มันเห็นหมดเลย เพราะ เพราะใจคือใจ ใจเหมือนกัน แต่ใจต่างกัน ต่างกันด้วยวุฒิภาวะ ต่างกันด้วยความเป็นไป นิสัยของคนหลากหลายมาก การประพฤติปฏิบัติมันถึงหลากหลายมาก สิ่งที่หลากหลายนี่มันเกิดมาจากไหนล่ะ ก็เกิดมาจากอดีต เกิดมาจากการกระทำมาทั้งนั้นแหละ

มันไม่เกิดมาลอยๆ นะ มีอะไรลอยมา เราไม่ศึกษามาไม่เรียนมา เราจะมีความรู้ได้อย่างไร? ถ้าเราเรียนมาแล้วนี่ ความรู้ของคนที่เรียนมาเท่าระดับเดียวกัน ทำไมความรู้ไม่เท่ากัน บางคนเรียนมาเหมือนกันทำไมเขาแตกฉานมาก ทำไมเราเรียนมาแล้วทำไมเราไม่เข้าใจ ทำไมเราเรียนมาแล้วเราเป็นปานกลาง

นี่ มันมาจากไหน? มันมีที่มาที่ไปนะ ศาสนานี่ ศาสนาพุทธนี่ศาสนาแห่งปัญญา แล้วเคลียร์มาก จะบอกเลยว่ามันมาจากไหน? จิตวิญญาณนี่ที่เกิด ปฏิสนธิจิตมาเกิดนี่มันเกิดมาจากไหน? เกิดในปัจจุบันนี้ทำอะไรกันอยู่ แล้วถ้าปัจจุบันทำดีไม่ดีนี่ ข้างหน้ามันจะไปอย่างไร? มันชัดเจน มันชัดเจน นี้มันชัดเจนในวัฏฏะนะ

แล้วถ้ามันลึกเข้าไปนี่มันต้องไปล้าง ล้างคือว่าเข้าไปทำอวิชชานี่ ทำสิ่งที่มันเป็นมารนี่ ในหัวใจนี่ เป็นตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยนี่ มันจะล้างอย่างไร? มันล้างของมันแล้วมันสะอาดอย่างไร? มันทำอย่างไรมันถึงจะสะอาด มันต้องทำ ถ้ามันทำแล้วนี่มันจะเห็นประโยชน์ที่ข้อวัตรนี่ ไอ้ที่ทำแล้วนี่ เช้าขึ้นมาเห็นไหม ตี ๓ มาแล้ว มาทำข้อวัตร ทำทำไม? ตื่นขึ้นมาแล้วภาวนา อย่านอน ตื่นขึ้นมานี่ มาทำข้อวัตรเสร็จแล้วนี่ ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จแล้วนี่เดินจงกรม รอเวลาออกไปบิณฑบาต ถ้าไปบิณฑบาตกลับมานี่ นี่ไปภาวนาต่อแล้ว

นี่มันทำของมัน มันต้องทำกันเพราะอะไร? เพราะสิ่งที่ข้อวัตรปฏิบัตินี่มันเป็นการฝึกใจ มันวิวัฒนาการไง วิวัฒนาการใจ เพราะใจ ใจเอาอะไรไปวิวัฒนาการมัน ศึกษาเรียนมา เรียนมาก็สัญญา แต่วิวัฒนาการของมัน มันทำพลังงานของมัน มันทำความสงบของมัน มันปัญญาของมัน มันพัฒนาการของมัน แล้วพัฒนาการของมัน มันเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากการควบคุม อะไรควบคุมมัน? ก็ข้อวัตรนี่ไง ถ้าไม่อย่างนั้นมันแถไง มันไปตามความพอใจของมัน

แต่นี่มันแถไปไม่ได้นะ แถไปมันเจอข้อวัตรกั้นไว้ไง ต้องทำไอ้นี่ ต้องทำไอ้นี่ มันคุมไว้ไง นี่เครื่องอยู่ จิตมันก็มีเครื่องอยู่ เครื่องอยู่มันก็พัฒนาการของมันไป แต่พอคนไม่เคยภาวนาหรือภาวนาไม่ได้ มันเห็นเป็นของเล็กน้อยไง เห็นเป็นของที่ไม่มีความจำเป็น ของที่ไม่ต้องทำ แล้วอยู่สบายๆ สบายๆ ก็ขอนไม้ไง ก็นอนแช่นั่นเป็นขอนไม้เหรอ คน ไม่ใช่ขอนไม้ มันต้องพัฒนาการของมัน ข้อวัตรปฏิบัตินี่มันสำคัญตรงนี้

ข้อวัตรปฏิบัตินี่มันเป็นเครื่องดำเนิน ที่มันส่งใจไปนี่ อย่างเราไปนี่ เราเดินทางมันต้องมีอาศัยถนน จะไปไหนต้องอาศัยถนน ต้องอาศัยหนทางไป นี่ข้อวัตรปฏิบัติก็อาศัยจากจิตนี่มันพัฒนาการไป ตามข้อวัตรปฏิบัติเข้าไปนี่ มันจะถึงที่สุดมันจะละเอียดเข้าไป ครูบาอาจารย์ท่านถึงได้รักมาก เพราะเมื่อก่อนมันไม่มีตรงนี้ นี่คือเทคโนโลยี นี่คือสิ่งที่การกระทำเข้ามา ถ้าไม่มีตรงนี้ปั๊บนี่มันก็ภาวนากันลอยๆ ใช่ไหม ไอ้คนนั้นก็ทำอย่างหนึ่ง ไอ้คนนี้ก็ทำอย่างหนึ่ง ก็ต่างคนก็ต่างทำของมันไป แล้วไปไหนกัน?

แต่ถ้ามีข้อวัตรนี่มันยันไว้แล้ว ถนนนี่ถ้ามึงไปถนนนี่มันถึงปลายทางแน่นอน ปลายทางนี่มันต้องถึงปลายทางนั้นเด็ดขาด มันไปไหนไม่ได้หรอกเพราะถนนบังคับไป แต่นี่มันไม่เดิน ขึ้นถนนไปแล้วก็นอนอยู่บนถนนนั้นล่ะ มันไม่ไปต่อ ถ้ามันไปต่อ เวลานี่พระมาอยู่นี่บ่อยมาก เวลาซ้อนผ้าออกบิณฑบาตเขาถามว่า ทำไปเพื่ออะไร? เราบอกทำไปก็เพื่อเอาเหงื่อไง เหงื่อ เวลาบิณฑบาตกลับมานี่เหงื่อโชกเลย เพราะทำไม? เขาไม่ซ้อนผ้า เขาจะใช้ห่มจีวรออกไปบิณฑบาตไง

แต่ของเรานี่พระป่า มันเป็นอริยะประเพณี ซ้อนสังฆา จีวร สบง เพราะนี่ผ้า ๓ ผืน ซ้อนออกบิณฑบาต พระพุทธเจ้า พระป่าทำอย่างนี้ เพราะเราธุดงค์ไปนี่ ผ้านี่เราทิ้งไว้ เราไม่มีกุฏิใช่ไหม เราไปอยู่โคนต้นไม้นี่ มันหายได้ มันหายได้ด้วย แล้วมันเป็นธรรมวินัย แล้วเราฝึกสติด้วย

ถ้าเราซ้อนผ้าไปนี่ นี้ซ้อนผ้าไป ๓ ชั้นใช่ไหม อากาศร้อนใช่ไหม เดินไปกลับมานี่เหงื่อโชกเลย มันถาม หลวงพ่อซ้อนทำไมล่ะ? ซ้อนผ้านี่ซ้อนทำไม? ซ้อนเอาเหงื่อ เอาเหงื่อ

แต่ความจริงไม่ใช่ ความจริงนี่มันซ้อนดัดกิเลสไง มันขี้เกียจ มันอยากสบาย แล้วมันดู กลับดูไม่สวยงาม สังเกตได้โยมไปดูในเมืองนะ เวลาเขาบิณฑบาตเขาห่มผ้าจีวร สังเกตเวลารถวิ่งสวนมานี่ จีวรมันจะปลิว ปลิวหมดเลย แต่ถ้าเราห่มสังฆา สังฆานี่ผ้ามันหนัก มัน ๒ ชั้น เวลารถวิ่งไปวิ่งมานะ ผ้าเราหนา มันไม่เวิบวาบๆ ไปแบบเขา

เรื่องนี้เพราะเราอยู่ที่โพธาราม จนโยมที่เขามาใส่บาตรนี่ เขามาถามเราเอง

“หลวงพ่อ ทำไมพวกพระหลวงพ่อบิณฑบาตนี่ ดูมันดูสวยงาม ทำไมดูผ้าเผ้อมัน ผมเห็นพวกพระทั่วไปนะ โอ๋ย ผ้ามันเปิด ลมพัดปลิวว่อนไปหมดเลย ทำไมพระหลวงพ่อไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย”

เขาพูดเฉยๆ แต่เราอธิบายให้เขาฟังไม่ได้ เขาถามเวลาเราไปบิณฑบาต นี่เราถึงเห็นอานิสงส์ไง อานิสงส์ซ้อนผ้านี่ ซ้อนผ้าเพราะพระพุทธเจ้าก่อนที่จะบัญญัตินะ สมัยก่อนนะเราธุดงค์ไม่มีผ้าห่มนะ ไม่มีผ้าห่มนี่มีผ้า ๓ ผืน ไปไหนก็แล้วแต่นี่ ไปไหนก็มีเท่านี้

พระพุทธเจ้าทดสอบก่อน ห่มผ้าจีวรชั้นหนึ่ง กันหนาว พอหายหนาวไหม ๒ ชั้นยังไม่หายหนาว ๓ ชั้น ถึงบัญญัติว่า สังฆาฏิ ๒ ชั้น แล้วผ้าจีวรชั้นหนึ่ง เวลาออกบิณฑบาตนี่ห่มผ้า ๓ ชั้น แล้วถ้าเป็นหน้าร้อน เพราะเรามันไม่ใช่เมืองหนาว มันหน้าร้อน ได้อะไร? ได้เหงื่อ ได้เหงื่อ

แต่ถ้าเป็นเมืองหนาวนะ ไม่พอ เพราะพระเราไปอยู่เยอรมันไง บอก โอ้โฮ หนาวฉิบหาย เวลาเพื่อนไปเยอรมันมามันหิมะตกไง หนาวมาก อยู่กันแต่ในกุฏิไม่ออกไปไหนเลย ถ้าหนาวอย่างนั้นปั๊บนี่มันก็เอาผ้านั้นซ้อนไป

นี้สมัยพระพุทธเจ้าทำไว้อย่างนี้ นี่สิ่งนี้พระพุทธเจ้าเป็นคนบัญญัติไว้ มันมีอยู่แล้ว มันเป็นอย่างนั้น ถ้ามันเป็นธรรมวินัยใช่ไหม นี่ฤดูกาล เวลาเขามาอยู่เมืองไทย เขายังบอกเลย เมืองไทยนี่เหมือน บอก เดี๋ยวนี้มีนะ เราได้ฟังข่าวบ่อย เขาบอกพระพุทธเจ้าเกิดที่เมืองไทย โอ้ มีพระคิดกันอย่างนั้นเพราะอะไร? มันคงหลงไง เพราะที่เมืองไทยมี ๓ ฤดูตามพระไตรปิฎกใช่ไหม มีฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน มีต้นสมอ มีมะขามป้อม มีทุกอย่างเลย เขาก็คิดว่าพระพุทธเจ้าเกิดที่นี่ (หัวเราะ)

ทำไมพวกนี้คิดแปลกๆ เนาะ เพราะตามประวัติศาสตร์มันก็ชัดเจนอยู่แล้วนี่ มีพระคิดอย่างนี้เยอะนะ แล้วเขียนตำราออกมา นี่ไงศาสนาเรียวแหลม ทั้งๆ ที่เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ เรื่องทางประวัติศาสตร์ไอ้เรื่องพวกนี้มันพิสูจน์ได้ ขนาดของพิสูจน์ได้อย่างนี้มันยังเถียงกันนะ

แล้วคิดดูสิว่าจิตนี่มันเป็นเรื่องนามธรรม ความรู้สึกนี่เป็นนามธรรมนี่ มันจะคิดกันอย่างไร? มันจะทำกันอย่างไร?

คิดกันแปลกๆ คิดเห็นแก่ตัว คิดเห็นแค่ฤดูกาล เห็นแค่ในพระไตรปิฎกใช่ไหม ตำราเขียนไว้อย่างนั้น ในพระไตรปิฎกเขียนอย่างนั้น แล้วดูสภาพความเป็นไป ทีนี้พอความเป็นไป นี่ดูสิ ดูอย่างทางยุโรปที่ว่าศาสนาจะเจริญ จะเจริญนี่ มันไปนี่มันไปได้แค่นั้นล่ะ มันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้เพราะอะไร? มันไปไม่ได้เพราะมันไม่ได้ออกมาจาก..

เหมือนมวยไทยนี่ มวยไทยต้องคนไทยนะ จะศิลปะมวยไทยนี่ทำได้ดีมาก ฝรั่งมาเล่นมวยไทย มันก็เล่นได้ไหม ได้ แต่มันไม่เหมือนเรานะ เรามาจากเด็กๆ เนาะ นี่ศิลปะมวยไทยนี่เราจะเข้าถึงเนื้อหาสาระมากกว่า

ฝรั่งพวกนี้ พวกฝรั่งเขามาฝึกกับเรานี่ เขามีทางวิชาการเขาดี เขาไม่ค่อยเชื่อ เวลาทำสมาธินี่ สมาธิเป็นสมาธิจริงหรือเปล่า? แล้วไปถึงสมาธิแล้วมันจะปล่อยให้สมาธิเสื่อม จะพิสูจน์ไง คือว่าต้องพิสูจน์ ต้องจัดการก่อน แล้วมันพิสูจน์ไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้เพราะอะไร? เพราะใจมันหยาบ ใจมันเข้าไม่ถึง แต่ของพวกเรานี่ พวกเรามันออกมาจากรากหญ้า ยิ้มสยาม ยิ้มออกมาจากใจ สิ่งต่างๆ นี่มันออกมาจากหัวใจ

ศีล ประเพณี วัฒนธรรม ฝรั่งมานี่เขาได้ทางวิชาการ ได้แต่เปลือก แล้วมันก็เป็นประเพณีวัฒนธรรมเท่านั้นแหละ แต่ของเราถ้าเราทำกันจริงนะ มันมาจากหัวใจเลย มาจากราก เพราะอะไร? เพราะการภาวนาเป็นเรื่องของใจทั้งหมด ทีนี้ถ้ามันเจริญมันก็เจริญ ก็นี่เราจะพูดบ่อย ศีลธรรม จริยธรรมไม่ใช่ธรรม ศีลธรรมประเพณี วัฒนธรรมนี่มันเป็นการแสดงออกของใจเท่านั้นแหละ แต่มันเข้าถึงใจไม่ได้ เราถึงมีความกล้าหาญว่านี่

โธ่ ศาสนพิธีนี่ใครจะทำไม่เป็น เอามาถึงเอาอาหารมาตั้งให้หมดเลย แล้วก็กล่าวคำถวาย กราบพระครึ่งวัน แมลงวันมันไข่จนมันจะฟักตัวแล้ว มันยังไม่ได้ประเคนของนะ ไอ้พระก็สวดพาหุงฯ ไปอีกครึ่งวัน กว่าจะได้ใส่บาตรอีก ๒ วัน ๗ วันไม่ได้กินข้าว เราไม่เอา ประเพณีที่ไหนๆ ใครก็ทำได้

ไอ้ของอย่างนี้เราอ่านออกนะ อย่างเช่นเรานี่ เรานี่ข้างในกลวงหมด ไม่มีอะไรเลย แต่อยากดัง จะพูดธรรมะก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวมันจะขายขี้เท่อ กูต้องเอาพิธีกรรมเยอะๆ มาถึงแล้วเอ็งจะเข้าวัดมานะ เอ็งต้องจอดรถข้างนอก แล้วเข้ามานะเอ็งต้องเคารพสถานที่นะ เอ็งต้องคลานมาก่อน พอคลานมาถึงนี่นะ กว่าเอ็งจะมาตั้งอาหารนะ เอ็งค่อยมาขอศีล เอ็งขอศีลเสร็จแล้วนะ เอ็งต้องกล่าวคำถวาย พิธีกรรมเอ็งเหนื่อยหมดแล้ว เอ็งเหนื่อยเต็มที่แล้ว กูฉันข้าวจบ จบ นี่ได้บุญแล้ว

ไปที่ไหนทำอย่างนี้กันทั้งนั้นล่ะ มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม มันจะเสียหายเหรอถ้าคนใช้ คนใช้มันเป็นมันก็เป็นความดีสอนเด็ก ให้เด็กรู้จักทำ ให้รู้จักศาสนา แต่ไอ้พระนี่ พระเราเป็นผู้นำใช่ไหม เราต้องสอนให้หัวใจเขานี่เข้าถึงสัจธรรม ไอ้สิ่งนี้เราก็รู้อยู่ เราก็ทำมาทุกวันแล้ว นี่ประเพณีทุกๆ คน เขาก็ทำกันอยู่ทุกวัน แล้วมึงพุทโธหรือยัง? เอาใจของเรานี่เอาไว้หรือยัง?

สิ่งที่เราทำอยู่นี่ นี่เวลาทำบุญเสร็จต้องกรวดน้ำไหม? อ้าว กรวดน้ำสิ เด็กๆ นี่พามาต้องกรวดน้ำ เพราะว่าเด็กมันโลเล พอกรวดน้ำ พอเอาน้ำมากรวดนี่ ก็ดูที่น้ำ ให้มันเพ่งที่น้ำ ให้ใจมันนิ่ง มันจะได้อุทิศส่วนกุศลได้มาก แล้วเวลากรวดน้ำก็เอาน้ำมาคนละแก้ว คนละแก้ว น้ำเต็มศาลาเลย กรวดเสร็จไม่รู้จะเอาน้ำไปทิ้งที่ไหน วุ่นวายไปหมดเลย

แล้วพระป่าล่ะต้องกรวดน้ำไหม? ต้อง กรวดน้ำใจไง เวลาพระให้พรมึงก็คิดเอาสิ น้ำใจนี่ดีกว่าน้ำธรรมชาติอีก น้ำธรรมชาตินี่เขาก็เพื่อจะให้เล็งมาที่น้ำใจ น้ำธรรมชาตินี่เขาให้เล็งมาที่น้ำใจนะ ไม่ใช่เอามาเป็นที่ดูเฉยๆ แต่เป้าหมายเขาก็อยู่ที่ใจ ให้ใจเพ่งที่น้ำ ใจมันจะได้นิ่ง แล้วเราก็ฝึกขึ้นมาแล้ว ใจเรานิ่งแล้ว มันจะอาศัยน้ำธรรมชาติทำไม? น้ำใจมึงมีเหนือค่าน้ำธรรมชาติอีกล้านๆๆ เท่า

นี่เวลาเราทำบุญกันมานี่ พอเราทำบุญมาเราก็ถวาย ถวายเสร็จแล้วก็ให้พร ให้พรก็อุทิศส่วนกุศลไปสิ ไอ้โง่ ไม่ได้กรวดน้ำมันไม่ได้บุญน่ะ มันยังโง่อยู่ แต่เดิมคนมันยังโง่อยู่ แล้วมันก็ต้องโง่ๆๆๆ ไป มันไม่พัฒนา ถ้าคนมันรู้จักพัฒนาแล้วนี่ มันจะเอาน้ำใจมัน มันจะทิ้งความโง่มันขึ้นมาเรื่อยๆ ความโง่มันทิ้งไปๆ แล้วมันก็พัฒนาขึ้นมา แล้วมันจะซึ้งใจพระพุทธเจ้ามาก เพราะพระพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ขึ้นมาอยู่ที่โคนต้นโพธิ์

มีโบสถ์สักหลังหนึ่งไหม? พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมานี่ มันมีศาสนวัตถุเริ่มขึ้นมาบ้างหรือยัง? บาตรเบิดมันอยู่ที่ไหน ไม่มีอะไรเลย พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรเลยนะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาไม่มีอะไรเลย อยู่โคนต้นโพธิ์ อยู่โคนไม้ แล้วพิธีกรรมมันมาทีหลัง

ทีนี้นี่มันย้อนกลับไง พอพิธีกรรมมาทีหลังดันไปติดพิธีหมด ไม่ได้คิดถึงโคนต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เลย ไม่ได้คิดถึงหัวใจเลย ไม่ได้คิดถึงการกระทำเลย แล้วก็มานี่พิธีๆ นี่เวลาสอนนี่สอนปรมัตนะ ศาสนาพุทธสอนอย่างนี้นะ มึงไปดูโรงเจสิ โรงเจเขาทำดีกว่ามึงอีก

นี่ไม่ได้ว่านะ เพียงแต่ว่าเราให้เห็นภาพไง ให้เห็นภาพว่าใจนี่มันจะไปเกาะอะไร? ใจเรานี่จะติดอะไร? พอบอกว่าถ้าใจเรานี่ ครูบาอาจารย์ไม่มีหลักนี่จะสอนอย่างนี้ไม่ได้ พูดได้หมดล่ะ อันนี้นะคุณค่ามัน ๕ เปอร์เซ็นต์ อันนี้คุณค่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๑๕,๒๐,๒๕,๓๐ นี่คุณค่าของมันมีเท่านี้ แล้วคุณค่าของหลับตาแล้วพุทโธ พุทโธนี่ คุณค่าของมัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วเอาไหมล่ะ? แล้วเอาแล้วเอาได้หรือเปล่า? แล้วจะเอาคุณค่าอะไร?

ในศาสนานี้นะ หลวงตาท่านพูด

“ในศาสนานี้เหมือนกับห้างสรรพสินค้า”

เอ็งเข้าไปในห้างสิ ลานตาเลยนะ โอ้โฮ เต็มไปหมดเลย แล้วมึงจะเอาอะไรล่ะ? มึงจะเอาอะไร? นี่เกิดเป็นชาวพุทธแล้วเราจะเอาอะไร? ทีนี้พอจะเอาอะไรนี่ ไอ้ของทั่วไปในห้างมันเยอะไปหมดใช่ไหม ไอ้พวกเพชรนิลจินดานี่เขาไปไว้ในตู้ เขาไปเก็บไว้ เพราะมันมีราคาใช่ไหม มันต้องขึ้นไป มันต้องเข้าไปลึกใช่ไหม

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกของใจมันลึกซึ้ง เราจะเข้าไปเอามันนี่ เราต้องลงทุนลงแรง เราต้องรู้จักคุณค่า ไม่ใช่ไปห้างสรรพสินค้า ไปเห็นอะไรก็จะเอาๆ ไม่รู้จักว่าเพชรนิลจินดามันอยู่ข้างหน้า เขาเก็บเอาไว้ที่ในที่ปลอดภัย แล้วเราจะเข้าไปเอามัน เราต้องมีวิธีการเข้าไป

นี่ก็เหมือนกัน เราจะเข้าไป เราเข้าถึงสัจธรรม เราต้องตั้งใจของเรา สิ่งที่มันเห็นๆ อยู่นี่มันเป็นหญ้าปากคอก ความเป็นอยู่นี่มันเป็นหญ้าปากคอก มันเป็นสิ่งที่เราจะเข้าแสวงหา แล้วถ้าเราก็ต้องปล่อยมันเข้ามา เรียนรู้ ไม่ใช่ไม่รู้นะ ถ้าไม่เรียนรู้ไม่เข้าใจนี่ เวลาไปพูดกับใครนี่ เฮ้ย ทำไมพวกเอ็งสอนกันอย่างนี้วะ? ทำไมศีลก็ไม่ให้? ทำไมนู้นก็ไม่ทำ ไอ้นี่ก็ เราต้องเรียนรู้ และอธิบายได้ เข้าใจได้

หลวงปู่ฝั้นท่านพูดชัดเจน ศีล ๕ คือมนุษย์นี่ ศีรษะ ๑ แขน ๒ เท้า ๒ ศีล ๕ ศีล ๕ คือแขน ๒ ขา ๒ หัว ๑ ศีล ๕ ศีล ๕ คือเรื่องของมนุษย์ไง ไอ้นี่ไปขอกัน ขอนั้นมันเหมือนกับเราปาฐกถานั่นล่ะ ไปขอไง พระเป็นพยาน ขอศีล อาราธนาศีล ศีลมันเกิดได้ ๓ วิธีการ อาราธนาคือการขอเอา วิรัต วิรัตศีล ศีลที่เกิดจากเราวิรัต เราตั้งใจเอง ไม่ต้องขอใคร

สมุจเฉทนี่ศีล ศีลเกิดจากพระโสดาบันขึ้นไปนี่ มันเป็นศีลโดยธรรมชาติ พระอริยบุคคลนี่มันเป็นศีลโดยธรรมชาติเลย ศีลที่เกิดกับใจ ใจเป็นศีลโดยธรรมชาติเลย แล้วมึงจะเอาศีลอะไรล่ะ? เอ็งจะขอ อ้อนวอนขอเอาเหรอ แต่ก็ต้องอ้อนวอนขอไปอย่างนี้ ขยับก้นไม่ได้ ขอศีล ขยับก้นเป็นต้องขอศีลนะ เปลี่ยนที่ต้องขอศีลทันทีเลย ศีลนี่ขาดแล้ว เอ็งลุกมานี่ศีลขาดแล้ว เปลี่ยนที่นี่พออยู่ที่ศาลาทำบุญเสร็จ ไปโบสถ์ไปขอศีลใหม่ ไปขอศีลอีก

คือว่าอาจารย์นี่มันไม่มีวุฒิภาวะ คือต้องมีแต่พิธีกรรม วันๆ หนึ่งอยู่แต่พิธีไง นั่งอยู่กับพิธีกันไปวันๆ หนึ่ง แล้วมันจะพัฒนาไปไหนล่ะ ฉะนั้นเราเข้าใจ ไม่ใช่ว่าปฏิเสธแล้วไม่ทำ เวลาจะทำ จะต้องทำก็ทำ แต่ถ้าไม่ทำนี่นะ เป็นศาสนพิธีถ้าไม่ทำ เราเข้าใจ เรามั่นใจแล้วได้หมด แล้วมีหมด ศีลมันเป็นมีอยู่กับเราอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องปกติเลย

ทีนี้พระพุทธเจ้าเพียงแต่ว่า พอบอกเรื่องศีล ศีลคืออย่างนี้ ศีล ๕ เป็นอย่างนี้ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นอย่างนี้ นี่ศีลเป็นอย่างนี้ นั่นเรามีอยู่ครบแล้วนะ ศีล ศีลคือวิรัตมันเกิดแล้วนี่ ศีลไม่มี ศีลมันคือความปกติของใจ มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ใจนี่ถ้าไม่ทำอะไรผิดเลย มันเป็นธรรมชาติของมัน มีศีลโดยธรรมชาติของมันเลย

แต่พวกเราไม่เป็นธรรมชาติ พวกเราเป็นสมมุติ วิตกกังวลไปหมดเลย วิตกกังวลในใจ ความวิตกกังวลในหัวใจมาก ก็เลยทำไปอย่างนั้นไง ต้องขอ ต้องกรอง ต้อง.. แล้วก็ไม่ได้อะไร เพราะมันไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเราทำจริงนะ พอศีล สมาธิ เกิดสมาธินี่ถ้าจิตสงบ โอ้โฮ สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาเกิดเป็นอย่างนี้ มันจะเกิดปัญญา เกิดเป็นความดีขึ้นมา เป็นของเรา เป็นของเราหมด

เนี่ย นี่พูดถึงความคิดของคน นี้เข้าไปวัดแล้วนี่ เราเป็นคฤหัสถ์ใช่ไหม ไปวัดนี่มีครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์นี่ท่านไม่มีความภูมิธรรมในหัวใจนี่ ท่านจะเป็นอาจารย์เราไม่ได้ เพราะเรามีวุฒิภาวะ ความรู้ที่เหนือกว่า เราจะยอมรับใครมาเป็นอาจารย์เรา นี้ถ้าเราไปวัดนี่ ถ้ามีอาจารย์ของเรานี่ ตรงนี้มันต้องให้อาจารย์เป็นคนนำ แล้วเราเป็นคนตาม แต่ถ้าเราเข้าไปวัดแล้ว เราเป็นคนนำให้อาจารย์ตามเรานี่ นี่มันย้อนศรไง โลกเป็นใหญ่ ต้องธรรมเป็นใหญ่นะ อย่าให้โลกเป็นใหญ่

ถ้าธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเป็นใหญ่มันจะธรรมเหนือโลก แล้วจะพาพวกเราพ้นจากโลก ถ้าเราเอาความคิดเรานี่ โลกเป็นใหญ่ โลกเป็นใหญ่ จะดึงธรรมลงมาเป็นโลกไง สอยมันลงมา สอยมันลงมา มาอยู่กับโลกนี่

อ้าว มีอะไรอีกไหม? มีอะไรอีกหรือเปล่า? ที่ไหน ที่ไหน เขาภาวนาไป เขาภาวนาไปแล้วก็มาถามว่า เขาจะให้เราตอบไง ให้เราตอบว่า นอนอยู่นี่มันเหมือนงูใหญ่ เขาคิดว่าเป็นพญานาคเลื้อยผ่านเขาไป ผ่านเขามา ผ่านเขาไปผ่านเขามา แต่เขาบอกว่าเขาไม่กลัว แล้วก็มาถามเราให้เรายืนยัน เราบอกว่ามันเป็นได้ทั้งนั้นล่ะ แล้วมัน เราถึงถามว่ามันเป็นกุฎไอ้ดาหรือเปล่า? แต่เขาบอกว่าเขาไม่กลัวนะ เพียงแต่เขานั่นอยู่ พูดอย่างนี้แล้วคนจะกลัว

ไม่มีหรอก เวลาเราพูดนะ เรื่องปกตินี่จิตวิญญาณมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ เวลาเราเทศน์นี่ เวลาที่ว่าเห็นนิมิต เห็นเปรตเห็นผีนี่มีไหม เราบอกว่าเปรตผีนี่ พวกเปรตพวกผี พวกเทวดาพวกอินทร์พวกพรหมนี่เขามีของเขา จิตวิญญาณนี่เขามีอยู่ แต่มิตินี่มันคนละมิติกัน เราจะมาเห็นเขาไม่ได้ แต่พอจิตเราสงบเข้าไปนี่ มันเป็นกลาง มันไม่มีมิติ มันจะเข้าที่ไหนก็ได้ พอจิตสงบนี่มันจะไปที่ไหนก็ได้ เห็นหมด

ถ้าจิตนี่มิติมันบังไว้ กาลเวลา ๒๔ ชั่วโมง ๑ วัน ของเขานี่ ๑ ปีของเราเป็น ๑ วัน ปีทิพย์ ๑ ปีของเรา ๓๗๕ วัน ๑ ปีของเทวดาอินทร์พรหมนี่ ปีทิพย์ของเขานี่ ๑๐๐ ปีของเรา เท่ากับเขา ๑ วัน แล้วคิดว่าคำว่าปีทิพย์นี่ นี้กาลเวลาที่มันต่างกัน นี่มิตีที่มันต่างกัน ต่างกันอย่างนี้ไง เราจะเห็นกันไม่ได้ มันคนละมิติกัน แต่พอจิตสงบหรือว่าถ้าจิตมันดีมันถึงเห็นได้

ทีนี้การเห็นนี่เราจะบอกว่า เห็นโดยอุปาทาน คือไม่ใช่จิตสงบ มันเห็นโดยที่มันเห็นเอง อย่างเช่นเราโดนผีหลอกนี่ โดนผีหลอก ดูสิ ผีก็มาหลอกเอาเลย อ้าว แล้วทำไมเราโดนผีหลอกล่ะ นิมิตนี่มันมาไม่ได้ แล้วผีมาได้อย่างไรล่ะ? อ้าว เขาบอกคนละมิติ แล้วผีมาหาเราได้อย่างไร? อ้าว ก็ผีมามันก็เป็นเรื่องของกรรมไง

สายบุญสายกรรมมันมาได้ อย่างเช่นเรามีกรรมกับใคร ใครมีปัญหาอะไรกับเรานี่ เขาจะมากันอย่างนั้น มันไม่ใช่มิติ แต่ขณะที่เราทำสมาธินี่ สมาธิของเราเป็นกลางนี่ เราเข้าไปหาเขา เราเป็นคนไปจัดการ นี่ที่เทศน์ที่สอน ที่สอนที่ว่าเขาเข้ามาดูแลเราไง

นี่เราจะบอกว่าสิ่งนี้มันมีอยู่ แต่เขาบอกเขาเห็นๆ เห็นนี่มันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งเป็นกรรม หรือสอง เขาจิตสงบ จิตเขาสงบเป็นสมาธิถึงเห็นสภาวะแบบนั้น แล้วที่จิตเขาไม่สงบแล้วเขาเข้าไปเห็นล่ะ นี่เขาบอกว่าเห็นๆ ถ้าอาจารย์มันต้องแยกแยะ มันเห็นโดยอะไร? เห็นโดยข้อเท็จจริงอย่างไร?

ฉะนั้นประสาเรานี่ไม่ต้องเห็น เขาก็มีอยู่แล้วใช่ไหม เราทำใจของเรา เรารักษาใจของเราให้จิตสงบของเรา แล้วเราแก้ไขใจของเรา อริยภูมิดีกว่า แล้วพออริยภูมิดีกว่า พอใจมันเป็นธรรมขึ้นมาแล้วนี่ มันเข้าใจเรื่องอย่างนี้หมดเลย เพราะ เพราะเราเคยเป็นหมด ในใจทุกดวงใจนี่มันมีข้อมูลอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะใจเราเคยเกิดเคยตายอยู่แล้ว

เราถึงพูดบ่อย เปรียบเทียบไง โยมคิดถึงสวรรค์สิ จินตนาการสวรรค์ได้ จินตนาการนรกได้ จินตนาการได้หมดเลยในวัฏฏะนี้ เพราะมันมีข้อมูลในนี้ แต่จินตนาการโสดาบันไม่ได้ จินตนาการสกิทาคา อนาคา พระอรหันต์ไม่ได้ จินตนาการไม่ได้ เพราะไม่เคยมี มันไม่มีข้อมูลในหัวใจ คือมันไม่มีเหตุ ไม่มีข้อมูลที่เราจะเอามาจินตนาการ จินตนาการไม่ออกไง

นี้เขามาถาม เขามาถามของเขา เขาจะให้ยืนยัน ประสาเขา เขาสัมผัสแต่เขาไม่รู้ว่าอะไร เขาจะให้เราตั้งชื่อให้ไง บอกว่าให้ชื่ออะไร? เราบอกว่ากูไม่ตั้ง ไม่ตั้งหรอก แต่เราบอกว่าไม่เป็นอะไร? เรารับประกันว่าไม่เป็นอะไร เพราะเขาก็พูดว่าเขาก็ไม่กลัว เพียงแต่ว่าเขาอยากรู้ เขาอยากรู้ว่าที่เป็นนี่ เขาบอกว่ามันเลื้อย เขาจินตนาการไปถึงพญานาคที่หลวงปู่มั่นไง ที่ว่าลงจากกุฏิแล้วมันใหญ่ มันเป็นเหมือนงูใหญ่ใช่ไหม

แล้วเขาก็ไม่แค่พูดถึงหลวงปู่มั่นนะ เขาพูดถึงอาจารย์สิงห์ทองด้วย บอกที่อาจารย์สิงห์ทองไปเห็น ไอ้ที่ว่าหลาน หลานอย่า อย่านะ เดี๋ยวจะมีญาติมาเยี่ยมไง ตัวใหญ่ๆ น่ะ งูใหญ่ๆ อู้ฮู

หลวงปู่ผาง หลวงปู่ผางนี่อาจารย์เสถียรที่เป็นอาจารย์เรามันคนละองค์กัน เขาเล่าให้ฟัง ไปด้วยกัน บอกหลวงปู่ผางเวลานั่งไปนี่จิตสงบ จิตสงบ เสียงนี่เหมือนรถไฟมาเลยนี่ วู้ วู้ วู้เลยนะ แล้วอยู่ในถ้ำไง แล้วมันโผล่ขึ้นมานี่ เราเปรียบเทียบไง ท่านบอกว่า เราสังเกตได้ไหมว่างูนี่ตานิดเดียว ท่านบอกที่มันโผล่มา งูนี่นะ ตาเท่ากับไข่ไก่เลย ถ้าตาเท่ากับไข่ไก่ หัวจะใหญ่ขนาดไหน มันอ้าปากนี่มันกินได้หมดเลย กลืนเกลี้ยงเลย นี่พญานาคมา มาอย่างนั้น แต่ทางวิทยาศาสตร์พูดเขาเชื่ออย่างหนึ่ง

ในวงกรรมฐานเรานี่ ครูบาอาจารย์เราที่สิ้นกิเลสนี่ เวลาพูดมานี่เราเชื่อมั่นกัน หลวงตาถึงบอกไง ว่าในครอบครัวกรรมฐาน เขาจะรู้ว่าพระองค์ไหนนี่มีวุฒิภาวะขนาดไหน เพราะในครอบครัวเดียวกัน คุยกัน อยู่ด้วยกัน สัมผัสกัน เหมือนในครอบครัวเรานี่ เราจะรู้นิสัยใจคอของกัน

นี่ก็เหมือนกัน ในครอบครัวกรรมฐานจะรู้ก่อน ว่าพระองค์ไหนนี่มีวุฒิภาวะแค่ไหน แล้วรับรู้แค่ไหน เพราะวุฒิภาวะนี่คือพูดจริงไง พูดออกมาแล้วนี่ ครูบาอาจารย์ของเราได้ฟังแล้ว มันเห็นตรงกัน แต่บางคนเห็นระดับนี้ คนนั้นพูดได้ต่ำกว่า คือวุฒิภาวะเขาต้องต่ำกว่า ต่ำกว่า เขาเลยเทียบบอกว่า คล้ายๆ อาจารย์สิงห์ทองไง ที่เห็นคุณหลานๆ งูจะมานั่น เขาบอกว่าเลื้อยผ่านกายเขาไป

ไม่หรอก มันเป็นเหมือนเรานี่เส้นเชือกนะ เวลามันผ่านกายเรานี่ ถ้าเราคิดว่าใหญ่นะ โอ้โฮ มันจะใหญ่มากเลย เส้นเชือกนี่ ก็เราว่าใหญ่มาก ใหญ่มาก โอ๋ย มันเลื้อยผ่านไป ผ่านมา ใหญ่มาก แต่มันเป็นความสัมผัสของเขา เรารับรู้แต่เราไม่พูดให้มันแบบว่าให้มันนั่นไป

จะบอกว่าของมันมีอยู่ แล้วนี่จิตวิญญาณนี่มันมีอยู่ ในแผ่นดินทุกตารางนิ้วมีคนเกิดและคนตาย เราอย่าไปตกใจ พระพุทธเจ้าบอกว่าเราเกิดมานั่งอยู่บนกองกระดูก เสพสุขอยู่บนกองกระดูก แล้วก็จะตายบนกองกระดูก ธาตุดินคือธาตุกองกระดูก ธาตุ ๔ นี่มันสลายลงแล้วคือดิน สิ่งที่เป็นดินไปนี่ นี่มันเป็นเรื่องของกองกระดูก นี่สิ่งนี้มันมีอยู่ แล้วเราจะไปตื่นเต้นอะไรกับมัน

จริงๆ แล้วนี่ของมันมีเป็นธรรมชาติอย่างนี้ แต่เพราะมิติ วุฒิภาวะของเราเป็นมนุษย์นี่ แล้วยิ่งนักวิทยาศาสตร์นี่คิดได้แค่นี้ล่ะ ถ้าไม่เป็นวิทยาศาสตร์กูไม่เชื่อไง ต้องคิดแบบวิทยาศาสตร์ ประสาเรานะโง่ฉิบหาย แต่เขาก็คิดของเขาอย่างนั้นไง แล้วมันก็เรื่องของเขา

ฉะนั้นเวลาคุยกับเรานี่ถ้าเวลา บางทีเขาคุยนี่เราเหนื่อยนะ ถ้าพอเวลาใครพูดถามธรรมะปั๊บ เวลาเราออกนี่ เงี่ยหูลงฟังแล้วกัน ต้องฟังเวลาออก วิทยาศาสตร์ไหนมาเถอะ มันจะอธิบายเลยล่ะ วิทยาศาสตร์เป็นสูตรสำเร็จอย่างนั้นๆๆ ธรรมะนี่ อนิจจัง ความเป็นอนิจจังของมันนี่

ดูอย่างลม ความเปลี่ยนแปลงของลม เขาว่าค่าของอากาศมันเปลี่ยนแปลง มันถึงมีลมขึ้นมานะ ลมนี่ เขาว่าค่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมันไหลเวียนใช่ไหม แล้วจิตนี่ ความรู้สึกนี่ นามธรรมนี่ที่มันไหลเวียนนี่ มันไหลเวียนมันเปลี่ยนแปลงของมันนี่ แล้วไหลเวียนนี้ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราควบคุมได้ ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมานี่ควบคุมได้ไหม?

นี่นาโนไง พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ นาโน พุทโธ พุทโธ พุทโธ สิ่งที่เล็กที่สุด ความรู้สึกที่เล็กที่สุด พุทโธซ้ำไปซ้ำไปนี่ จนมันทรงตัวขึ้นมาได้อย่างไร? แล้วมันจะเริ่มออกทำงานอย่างไร?

เมื่อวานเด็กกลับไปคนหนึ่ง ที่ว่าดูจิตมา แล้วเขาก็มาหาเรา เขาพยายามจะทำสมาธิให้ได้ แล้วเครียดมาก แล้วบอกว่า “ผมจะพยายามทำสมาธิให้ได้ แล้วผมจะมาหาหลวงพ่อ” ว่าสมาธิแค่ไหนแล้วออกวิปัสสนา คือจะทำเป็นวิทยาศาสตร์เลยล่ะ โอ้โฮ โทษนะเราคิดในใจนะ ไอ้นี่ตายแน่ๆ เลย คือมันเครียดไง มันไปสร้างกรอบไว้ไง สร้างกรอบแล้วต้องทำตามนั้น ทุกข์ตายห่าเลย

นี่เราถึงพยายามปลอบเขาปลอบเขา เพราะทำไม เขาไปทำดูจิตๆ กันแล้วมันสบายไง แล้วเราบอกว่าผิด อู้ฮู เถียง เถียงหัวชนฝาเลย แต่ตอนนี้พอเขากลับแล้วเขาจะมาเอาให้ได้ เขาจะพิสูจน์ไงว่าผิดถูกเป็นอย่างไรไง แล้วถ้าถูกมันต้องได้ผล แล้วเราบอก เราพูดประจำเลย เราเอาหัวค้ำประกันเลย ถูกแน่นอนถ้าทำอย่างนี้ เหมือนเรานี่ทำงานแล้วสิ้นเดือน เงินเดือนต้องออก แล้วเราถามกลับ เมื่อก่อนนี่เอ็งทำกันอยู่นี่ สิ้นเดือนนี่เอ็งไม่เคยมีเงินเดือนกันเลยนี่ เอ็งไม่สงสัยพวกเอ็งกันบ้างเลยเหรอ

เอ็งเคยสงสัยตัวเองไหม? ว่างๆ สบายๆ นี่ ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีอะไรเลยนี่ เอ็งไม่เคยได้อะไรกันมาเลย แล้วพอมาทำอย่างนี้ปั๊บนี่ มันเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ ถ้ามันเปลี่ยนแปลงแล้วนี่มันก็เหมือนว่าถูกแล้วใช่ไหม พอถูกแล้วมันต้องมีผล พอมีผลปั๊บมันต้องมีสมาธิ มันต้องเป็นสมาธิแล้วต้องเป็นปัญญา แล้วเป็นปัญญาต้อง อู้ฮู มันฝัน บรรเจิดเลย ฝันบรรเจิดมาก แล้วบอกด้วย บังคับด้วยนะว่าหลวงพ่อต้องสอนให้ได้ด้วย

เออ ได้แน่นอน สอนได้อยู่แล้ว แต่เอ็งทำได้หรือเปล่า? ไม่ใช่ทำได้หรือเปล่าหรอก เวลาทำๆ ไปแล้วนี่ถ้ามันเครียดมากอะไรมากนี่ เรากลัวหลุด เรากลัวหลุดเลยล่ะ นี้มันต้องปลอบใจ ต้องดึงกลับ ต้องให้พอเป็นไป แล้วให้ทำไปให้ได้ ถ้าเป็นไปได้มันก็เป็นไปได้

อ้าว พูดข้างในแล้วจบแล้วใช่ไหม เอวัง