คณะศรัทธาเช้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาพูดโดยทั่วๆ ไป คนเราเวลาจะประพฤติปฏิบัติ มันก็คิดว่าปฏิบัติมันจะเป็นปฏิบัติเลย มันเหมือนกันนะทุกคนคิดอย่างนี้ เราก็คิดอย่างนี้มาก่อนไง สิ่งที่เราพูดนะ เวลาเราพูด เราพูดถึงญาติโยมเราก็เป็น ตอนบวชพรรษาแรกนะ เพราะว่าอะไรรู้ไหม เราตั้งใจว่าบวชเราจะบวชตลอดชีวิต เราตั้งใจเลยนะ ทุกอย่างเราจะทำเป็นของเราเองหมด คือว่ามัน ประสาเราว่าตระหนี่ ตระหนี่ในบุญไง
ทีนี้พอไป ไปที่เจ้าอาวาสนั้น เขาก็มีลูกศิษย์ของเขา มันเป็นสาธารณสุขจังหวัด เขามาเขาก็อยากให้ทางนู้นทำบุญ ไอ้เราก็ไม่ยอม เพราะเราจะเอาบริขารเป็นของเราหมดเลย มันตระหนี่ของมันเองนะ แล้วทีนี้เพราะผู้ใหญ่เขาทำให้ใช่ไหม พอทำให้ปั๊บ เวลาเอากลดกางไว้แล้วนอน มันมองกลดอันนั้นแล้วมันเจ็บ มันเจ็บ มันเจ็บ อู้ฮู มันเจ็บมากนะ กว่ามันจะคลายได้ กว่ามันจะคลายได้
ทุกคนมันจะตระหนี่ คือว่าเราตั้งเป้าว่าอะไรเป็นความดี เราก็จะเอาความดีอันนั้น ไม่รู้ว่าความดีอันนั้นถูกหรือผิดยังไม่รู้เลยล่ะ แม้แต่พระก็เป็น ถ้ายังภาวนาไม่เป็น มันจะตั้งเป้าผิดหมด
ทีนี้พอตั้งเป้าผิดหมด เราสงสารนะ มีพวกโยมมาจากกรุงเทพฯ บางทีเราไม่มีเวลา บางทีเราพูดออกไปแล้วนะเรามาคิด มาคิดย้อนหลังแล้วเราสงสารเขามาก มันมีเด็กๆ มาใช่ไหม มาถามเรื่องภาวนา พอเรื่องภาวนาเสร็จปั๊บ เราบอกอย่างนี้มันจะผิด อย่างนี้ผิด อย่างนี้ผิดอย่างนี้ แล้วอย่างนี้มันจะถูกอย่างนี้อย่างนี้ มันจะผิดได้อย่างไรล่ะ? ก็ตำรามันบอกอย่างนี้
คือเอกสารไง ไปอ่านหนังสือไง แล้วหนังสือบอกอย่างนี้ ก็เชื่อว่าหนังสือบอกอย่างนี้ถูกไง แต่เวลาเราช็อตเขา โทษนะเราพูดอย่างนั้นเลย หนังสือนี้ใครเขียนล่ะ? คนเขียนหนังสือยังไม่รู้ แล้วหนังสือออกมา มันจะถูกได้อย่างไรล่ะ? แต่พวกเราเข้าใจกันว่าหนังสือหรือตำรามันจะถูก
ในทางวิชาการนะ ในทางวิชาการเขาจะถือพระไตรปิฎก ฎีกา อรรถกถา แล้วอย่างพระที่เขียน เขาถือว่ามันเป็นสาวกภาษิต มันจะมีค่าตามไป ทางวิชาการเวลาเขาอ้าง อ้างอิงไง เขาจะอ้างในพระไตรปิฎกก่อน แล้วก็อ้างฎีกา อรรถกถา อรรถกถามันเขียนสักประมาณ ๒๐๐ ปีหรือ ๓๐๐ ปี มันเขียนที่ลังกาไง แล้วพอเขียนที่ลังกานะ แล้วพอพวกนี้อเล็กซานเดอร์ตีเข้าไปนะ พวกมุสลิมตีเข้าไปในอินเดีย เผาหมดเลย พอเผาหมดเลยมันก็กลายเป็นพวกนี้กลับขึ้นมาใหม่
เมื่อก่อนเป็นพุทธศาสนาหมดเลย เรามองภาพว่าอินเดียเป็นพุทธศาสนาหมดเลย สิ่งก่อสร้าง พระเจ้าอโศกสร้างไว้ ๘๔,๐๐๐ วัด พระเจ้าอโศกสร้างไว้มหาศาลเลย รุ่งเรืองมาก
เราย้อนกลับมาดูที่บุโรพุทโธ ที่อินโดฯ บุโรพุทโธที่อินโดฯ เมื่อก่อนแถวนี้ศาสนาพุทธรุ่งเรืองก่อนนะ แล้วพออิสลามเข้ามา หมดเลย พอหมดเลย ในอินเดียก็เหมือนกัน ในอินเดียพออิสลามเข้าไปเผาหมด พอเผาหมดเลยศาสนาหมด แล้วพอเผาหมดปั๊บ ฮินดูกับมุสลิมกลับเข้ามา แล้วกลับเข้ามาศาสนาพุทธไม่มีหรอก
ทีนี้พอศาสนาพุทธไม่มีปั๊บ มันจะรื้อฟื้น รื้อฟื้นจากต้นขั้วนะ เขาก็มาแปลเอาจากที่ลังกา จากฎีกา จากฎีกาแล้วรื้อค้นกลับเข้าไปไง รื้อค้นกลับไปเป็นตำรา แล้วอย่างในอินเดีย ในอินเดียอย่างที่ ไอ้พวกสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ที่ตรัสรู้ ที่ปรินิพพาน อังกฤษมารื้อ อังกฤษมาขุดนะเว้ย พวกทางยุโรปเขาชอบทางประวัติศาสตร์ไง เขามาขุดมารื้อค้นนะ แต่ แต่ถ้าอังกฤษเขาไม่มาขุดนะ อังกฤษเขาไม่มาขุดอันนี้ ใคร..เขาต่างศาสนาเขาจะทำให้เราไหม?
นี้พอเราคิด เพราะเพื่อนเป็นพระฝรั่ง ...ที่อยู่บ้านตาด เป็นคนพูดกับเราเอง บอกว่าไอ้ห่ากูจะบวชนะต้อง ๔ ประเทศแน่ะ เขาอยู่อเมริกา เขาศึกษาอ่านตำรา ก็อยากบวช อยากบวชก็ไปบวชที่อินเดีย สมัยนั้นอินเดียพระยังไม่มีมาก บวชได้แค่เณร เพราะมันไม่ครบสงฆ์ พอบวชได้แค่เณร เขาอยากบวชพระ พระที่นั่นบอกถ้าอยากบวชพระต้องไปบวชที่ลังกา เขาก็มาบวชที่ลังกา บวชที่ลังกาเสร็จเป็นพระขึ้นมา อยากปฏิบัติ ถ้าอยากปฏิบัติ ลังกาก็บอกว่า ลังกาการปฏิบัติเขาไม่เข้มข้น เขาเลยบอกว่าถ้าอยากปฏิบัติต้องมาเมืองไทย พอมาเมืองไทย สยามวงศ์ ลังกาวงศ์ สยามวงศ์เป็นมหานิกาย เขาอยากจะปฏิบัติกับหลวงตา เขาไปญัตติที่วัดบวรฯ ๔ ประเทศ
เวลาเราคนอ่าน อ่านตำราแล้วเราก็จะพุ่งเป้าไปที่กำเนิด คือที่อินเดีย พอพุ่งเป้าไปที่กำเนิด ใช่ที่อินเดียกำเนิด กำเนิดศาสนา แต่มันหมดยุคไปแล้ว แล้วตอนนี้ ตอนนี้ดูสิ อย่างพวกพระเรา ในอินเดียนะถ้าอย่างฝ่ายมหายานมาเขาก็ไปสร้างวัดเป็นมหายาน ที่อินเดียมันจะมีวัดเยอะ วัดสายไหนวัดจากประเทศไหน วัดจากประเทศไทย จะมีโบสถ์ทรงของประเทศไทย วัดของพม่า วัดของพม่าก็มาออกเป็นแบบ แบบไทยใหญ่ แบบมุก แบบลดชั้น
อ้าว มันกระจายออกไป ถ้าเราย้อนกลับไป มันมาสายใคร มาวัฒนธรรมของใคร ถ้าเราเข้าใจ เราสืบค้นเข้าไปอย่างนี้ปั๊บ เราก็จะย้อนกลับมาที่ตำรา มันก็เหมือนกัน ตำราที่เราอ่านเราอ่าน ยกเว้นพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกนี่นะ มันมีสังคายนาอยู่หนหนึ่ง อยู่ที่เชียงใหม่ สมัยเชียงใหม่นี้เป็นประเทศราช เชียงใหม่ก็มีสังคายนา แต่ในสังคมเขาไม่ยอมรับ ในสังคมไม่ยอมรับ พอสังคายนา แบบทางวิชาการพวกเรามันวิชาการมันไม่ถึงนะ ดูของเรา ๒,๕๐๐ เขาสังคายนา สังคายนาคือว่าเรียบเรียง เอานี้มาเรียบเรียง เอาตำรามาเรียบเรียงมาทำจัดหมวดหมู่
แต่ความจริงสังคายนาเขาต้องสังคายนาที่พระ เพราะสังคายนาถึงทิฐิของพระไง พระมีความเห็นถูกความเห็นผิดไง ถ้าพระมีความเห็นผิด อย่างในสมัยพระเจ้าตาก พระเจ้าตากเวลามีพระสมัยอยุธยา พระมันมีหลายแขนงมา พอถึงสมัยพระเจ้าตาก พอกู้ชาติเสร็จ สังคายนาพระ สังคายนาพระเลย
พระพูดถึงอริยสัจ พูดถึงสัจจะความจริงถูกไหม? ถ้าไม่ถูกให้สึก ให้สึกเลย
เพราะทิฐิมันแยกแล้ว ทิฐิ ความเห็นมันแตกแขนงไปแล้ว ถ้าไม่เห็น อริยสัจคืออะไร? ถ้าบอกอริยสัจถูกให้อยู่ ถ้าอริยสัจผิดจับสึก จับสึกเลย
สังคายนามันต้องสังคายนาที่ตัวพระด้วย แต่เราไปร้อยกรอง เราไปจัดหมวดหมู่ หมวดหมู่ตำราไง แล้วทีนี้พอจัดหมวดหมู่ตำราขึ้นมา พอพระถือตำราต่างกัน ถือวินัยต่างกัน ก็เป็นนานาสังวาส ...เขาบอกเลยล่ะ บอกไอ้พวกท่องจำ ไอ้พวกเถรวาทท่องจำ แต่สำหรับเรานะ เราค้านเต็มที่เลย ถ้าท่องจำแล้วเอ็งทำได้อย่างท่องจำนะ พระอรหันต์นะเว้ย พระอรหันต์ แต่นี่เอ็งไม่ท่องจำ เอ็งไม่ทำตามศาสดา
ในโลกนี้ใครจะมีปัญญาเท่าพระพุทธเจ้า แต่เวลาบอก พอแตกแขนงไปมันก็เป็นปัญญาพวกเรา หางอึ่งทั้งนั้นล่ะ ต่างคนต่างหางอึ่ง แล้วเอาหางอึ่งกับหางอึ่งมาอวดกันไง แล้วตำราก็ตำราหางอึ่งใช่ไหม อ้าวก็เขียนไปด้วยความเห็นของตัว
นี่ไง ว่าว่างๆ ว่างๆ สิ่งที่ทำว่าง ใช่ ธรรมะนี่นะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ บอกภาษาสมมุติมันมีน้อย เวลาพูดถึงนิพพานก็พูดเปรียบเทียบให้เป็นความว่าง แต่ความว่างของใครล่ะ? ความว่างของใคร? แล้วพอพูดถึงความว่างอย่างนั้นใช่ไหม ดูสิอย่างเมื่อวานพูดไง ว่าความว่างกับอุเบกขาเป็นอันเดียวกันได้ไหม มันก็เหมือนกับนิพพานกับอนัตตาเป็นอันเดียวกันได้ไหม อนัตตานะมันกระบวนการของมัน
ศีล อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณ์กระบวนการของมันที่จะทำให้ใจผ่านกระบวนการนี้ไปแล้ว ไปถึงผล แล้วทำไมบอกว่านิพพานเป็นอนัตตาล่ะ อนัตตาเป็นกระบวนการนะ เป็นกระบวนการของจิต ที่มันด้วยการกระทำของเรามันจะเปลี่ยนแปลง การที่มันเปลี่ยนแปลง ผลของมันคือนิพพาน แล้วจะบอกนิพพานเป็นอนัตตาได้อย่างไร?
นี่ก็เหมือนกัน อุเบกขากับความว่างเป็นเหมือนกันได้ไหม? อุเบกขาก็คือมีอยู่ อุเบกขานั่นคือการที่ว่าเราจุดยืน เหมือนกับจุดยืนอุเบกขา ไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง อุเบกขา ปล่อยวางมา แล้วมันจะเป็นความว่างได้อย่างไร? อ้าวความว่าง แล้วความว่างของใคร? เพราะมัน ในความว่างหรือในศาสนา มันมีอยู่ ๒ ประเด็นมาตลอด สัมมากับมิจฉา สัมมากับมิจฉาตลอด สัมมาคือถูก มิจฉาคือผิด
สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ สัมมาสติ มิจฉาสติ ปัญญา สัมมาทิฐิคือปัญญาถูกกับปัญญาผิด ไม่ใช่ว่าปัญญาๆๆ ปัญญาจะถูกนะ ปัญญาก็มีสัมมา มีมิจฉาเหมือนกัน แล้วถ้าเกิดปัญญาเราเป็นมิจฉา ดูอย่างพระพุทธเจ้ากับเทวทัตสิ พระพุทธเจ้ากับเทวทัตเป็นพี่น้องกันนะ เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน คือตระกูลเดียวกันมาก่อน ศักยภาพทุกอย่าง เสมอกันมาตลอดเลย แต่ทำไมข้างหนึ่งทำไมไปสุดโต่งเลย แต่พระพุทธเจ้าทำไมมาถูกสุดโต่งเลย
นี่มันมีสัมมา-มิจฉามาตลอด ทีนี้มีสัมมา-มิจฉามาตลอด ตำราหรือวิชาการที่ออกมา มันต้องดูตรงนี้ด้วย เพราะเราอ่านมาเยอะ เราก็อ่านนะ เช่น ถ้าพระองค์ใดมีชื่อเสียงขึ้นมาแล้วเขียนตำรามาเราจะดูก่อน แต่ถ้าเราดูโดยหลักการแล้วผิดแล้วนะ เราจะไม่ดูอีกเลย เราดูว่ามันผิด พอมันผิดปั๊บจะไม่จับหนังสือพวกนี้อีกเลย เพราะต้นขั้วมันผิด แล้วมาดูที่ไหน? ดูโดยหลักการ หลักการที่ไหน? หลักการ ศีล สมาธิ ปัญญา เขาพูดถูกไหม เพราะอะไร?
เพราะพระบางองค์ที่มาพูด ใหม่ๆ ฮือฮามากเลยนะ บอกใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย ไม่ต้องสมาธิ เพราะพระพุทธเจ้าก็สอนปัญญาไปเลย อ้างธัมมจักฯ ว่าในธัมมจักฯ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ทำสมาธิ ในธัมมจักฯ เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนเธอไม่ควรเสพ ทางสองส่วนเธอไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ให้มัชฌิมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธิ แต่ลืมไป ลืมไปว่า ปัญจวัคคีย์ อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ทำสมาธิหรือเปล่า?
อย่างเช่นโยม โยมเป็นมนุษย์อยู่แล้ว เราจะบอกว่าให้โยมทำตัวเป็นมนุษย์ก่อนแล้วค่อยปฏิบัติ ได้ไหม? เพราะโยมเป็นมนุษย์อยู่แล้ว นี่ก็เหมือนกัน เขาทำสมาธิโดยพื้นฐานเขาอยู่แล้วไง เขามีสมาธิโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะเขาปฏิบัติมา ๖ ปี อุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามา ๖ ปี มีสมาธิพร้อม และมีสมาธิมาก่อนหน้านั้นด้วย
พระอัญญาโกณฑัญญะพวกนี้เป็นพราหมณ์นะ เป็นพราหมณ์ที่เป็นผู้ที่พยากรณ์เจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะพอเกิดขึ้นมา พวกพราหมณ์ พวกนี้เขาถือแบบเหมือนฤๅษีไง เขาทำของเขาอยู่แล้ว สมัยนั้นทุกคนเขาทำของเขาอยู่แล้ว เขาทำของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ ดูสิกาฬเทวิล พอพระพุทธเจ้าเกิด พวกพราหมณ์ทั้ง ๘ พยากรณ์ก่อน ถ้าได้ออกบวชจะเป็นศาสดา ถ้าไม่ได้ออกบวชจะเป็นจักรพรรดิ
ทีนี้กาฬเทวิลอยู่บนสวรรค์ อยู่บนพรหม ที่ลงมา นั่นก็เหมือนการมาดู ทั้งดีใจทั้งเสียใจ แล้วบอกว่าคนที่สามารถเอาร่างกายไปอยู่บนพรหมได้ เราเชื่อไหมล่ะ? เราเชื่อไหมว่ามนุษย์นี้ขึ้นไปนอนบนพรหมได้ ฤๅษีชีไพรทำได้ ทำไมเหาะเหินเดินฟ้าได้ สมัยพุทธกาลนะถ้าทำอย่างนี้ได้นะมันเป็นข้อเท็จจริง เพราะ เพราะไม่มีเทคโนโลยี เดี๋ยวนี้ ๑๘ มงกุฎมันเยอะ ๑๘ มงกุฎมันเยอะมันสร้างภาพได้
ดูสิ ดูภาพบนท้องฟ้า พอยิงเลเซอร์ขึ้นไป โอ้โฮ เป็นภาพเลย เดี๋ยวนี้ๆ เชื่อไม่ได้ เดี๋ยวนี้เป็นการกระทำของ พิสูจน์ด้วยตัวเอง พิสูจน์ด้วยอาจารย์องค์ไหนเขาอยากพิสูจน์ คือเราจะปฏิบัติ แล้วอยากรู้จริงหรือไม่จริง เราทดสอบเราเองไงว่าเป็นคำสอนพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่จริง เราจะรู้เอง จะเหาะไม่เหาะเราจะเป็นได้ แล้วทำของเราได้เอง
แต่สมัยพุทธกาลต้องทำได้จริงหมด เพราะทำไม่ได้จริง ดูสิดูในวินัย มีประชาชนคนหนึ่ง ประชาชนเขาบอกว่า ขนาดสมัยพุทธกาลนะ เขาเสียใจมากว่าพระอรหันต์ไม่มีแล้ว เพราะพระทำตัวกันไม่ดี อยากรู้ว่ามีพระอรหันต์หรือเปล่า? ก็เอาไม้จันทน์มากลึงเป็นบาตร แล้วเอาไม้ไผ่ ๒ ลำต่อขึ้นไป แล้วเอาบาตรไม้จันทน์ไปแขวนไว้ แล้วประกาศ ถ้ามีพระอรหันต์จริง ขอให้เหาะมาเอาบาตรไม้จันทน์นี้ ถ้ามีพระอรหันต์จริงนะ แล้วก็รอ รอ ไม่มีใครมาเอาบาตรไม้จันทน์สักที เสียใจมาก เสียใจว่าพระอรหันต์ไม่มี พระอรหันต์หมดไปจากโลกแล้ว
ทีนี้พระโมคคัลลานะกับลูกศิษย์บิณฑบาตไปทุกวัน พระโมคคัลลานะบอกลูกศิษย์บอกเหาะขึ้นไปเอาสิ ลูกศิษย์พระโมคคัลลานะบอก อาจารย์เหาะขึ้นไปเอาสิ ต่างคนต่างอ้างให้เหาะขึ้นไปเอา ทีนี้ไอ้พวกเดียรถีย์ มันอยากได้ อยากอวดดี มันก็มา มันนัดกับลูกศิษย์มันมา บอกว่าเราจะไปหาเศรษฐีคนนี้ แล้วเราก็ทำท่าว่าจะเหาะขึ้นไปเอาบาตรนะ แล้วเอ็งก็ทำเป็นห้ามว่าอย่า อย่า อย่า เพราะว่ามันของแค่นี้ มันของเล็กน้อย อย่า อย่า อย่า
มาหลอกอย่างนี้หลายที เศรษฐีนี้ไม่ฟัง พอยิ่งไม่ฟังปั๊บ เศรษฐีนี้ก็ยิ่งประจานใหญ่เลย บอกว่าไม่มีแล้ว ไม่มี พระอรหันต์ไม่มี พอไม่มีปั๊บ สุดท้ายแล้วนะ ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะเหาะ เหาะเลย เหาะขึ้นไปนะ แล้วฉวยหยิบบาตรนั้นเหาะลงมา โอ้โฮ เศรษฐีนั้นปลื้มใจดีใจมากเลย ทีนี้คนก็ฮือฮาใหญ่เลยนะ ว่าพระโมคคัลลานะกับลูกศิษย์นี้เหาะได้ ทีนี้พอจะมาบิณฑบาตนะ ไปบิณฑบาตนะไม่ให้ ไม่ใส่บาตร ต้องเหาะก่อน เหาะแล้วถึงใส่บาตร
ข่าวมันร่ำลือไปถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประชุมสงฆ์ แล้วบอกว่า เอ็ดพระโมคคัลลานะกับลูกศิษย์ไง บอกว่าของแค่นี้ ทำไมไปอวดอุตริมนุษยธรรมเพื่อของเล็กน้อยไง ให้เอาบาตรไม้จันทน์นั้นมาบด บดทิ้งเลย แล้วก็บัญญัติไว้ว่าห้ามทำไง ห้ามทำเพราะการอวดอุตริมนุษยธรรม ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ห้ามไว้นะ ศาสนาจะเสื่อมเร็ว เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะคนจะใส่บาตรแต่พระเหาะได้ ถ้าพระไม่เหาะวันไหนพระไม่ได้กินข้าว
ฉะนั้นศาสนามันถึงจะไม่มีพระ ท่านถึงได้บัญญัติไว้ ห้าม แต่ แต่ทำได้กันเยอะ ทำได้กันเยอะ หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง อยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว ที่ถ้ำกลองเพล หลวงปู่ขาวนั่งหน้า แล้วก็มีองค์หนึ่ง แล้วก็มีหลวงปู่เจี๊ยะ มีฝรั่งเป็นนักบินของอเมริกา นักบินของไอ้กันที่มันขับเครื่องบินไปทิ้งที่เวียดนาม มันขึ้นที่อุดรฯ ขึ้นทั้งวัน ทีนี้พอมันขึ้นไปมันไปเห็นพระ เห็นพระอยู่บนนั้น แล้วทีนี้เขาก็มีแฟน แฟนเป็นคนพื้นที่ไง มีแฟนที่อุดรฯ เขาก็ให้แฟนพาไปตามวัด
นี่หลวงปู่เจี๊ยะเล่าเองเลย พอเขาไป ไปวัดนั้น ชี้ให้ดู พระป่าเราฉันข้าวพร้อมกันในศาลาไง ไปถึงวัดนี้ก็ไม่ใช่ ไปถึงวัดนั้นก็ไม่ใช่ เพราะว่าเขาเห็นไง ฝรั่ง นักบินมันเห็นชัดๆ เลยล่ะ มันจำพระองค์นั้นได้ ทีนี้พอพาไปวัดถ้ำกลองเพล พอมันเข้าไปในถ้ำกลองเพลมันชี้เลย
นี่ๆๆๆ องค์นี้ๆๆ ชี้ไปที่หลวงปู่ขาวเลย องค์นี้ องค์นี้เหาะ องค์นี้เห็น เห็นชัดๆ เลย องค์นี้ องค์นี้
หลวงปู่เจี๊ยะท่านนั่งฟังนะ หลวงปู่เจี๊ยะนี้ฉลาด หูผึ่งเลยนะ นั่งฟังเลยนะ นั่งฟังว่าฝรั่งมาพูดอย่างไรไง ท่านถึงมาพูดไง
อู้ฮู เห็นเลยเหาะอย่างนั้นๆ เห็นเลย แล้วภรรยาเขาก็ฟังด้วย พระก็ฟังกัน หลวงปู่เจี๊ยะท่านเฉย ท่านนั่งเก็บข้อมูล แล้วพอตกกลางคืน ตกเย็น หลวงปู่ขาวอยู่ที่กุฎ หลวงปู่เจี๊ยะท่านไปทำข้อวัตรไง
ครูจารย์ ครูจารย์เหาะได้อี่หลีบ่?
เหาะโว้ย เหาะได้
แล้วครูจารย์เฮ็ดอย่างไรล่ะ? ท่านก็อธิบายถึงการเหาะให้ฟัง
แล้วปัจจุบันนี้ครูจารย์ยังเฮ็ดได้อยู่บ่ล่ะ?
คือว่าที่เหาะได้เหาะอย่างไร? ทำอย่างไรถึงเหาะ แล้วเหาะในปัจจุบันยังทำได้อยู่ไหม? ท่านบอกว่า
บ่ เฒ่าว่ะเฒ่า
คือพลังงานมันน้อยลง มันแก่ มันต้องใช้ตรงนี้ไง
มันทำได้ ที่เราพูดให้ฟังอย่างนี้นะ เราจะยืนยันว่ามันมีจริง มันทำได้จริง แต่คนที่ทำได้เขาไม่อวด คนที่ทำไม่ได้ชอบอวด ดูสิทางเชียงใหม่ทางอะไร เขาจะเข้าสมาบัติเขาจะขึ้นคัตเอ้าท์กัน พระองค์นั้นจะเข้าสมาบัติอย่างนั้น พระองค์นี้ เราไม่เชื่อ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะคนที่จะเหาะ คนที่จะทำได้นะมันต้อง ประสาเรา เราทำสมาธิยากไหม เวลาทำสมาธิเราต้องอยู่ในที่สงัดไหม ถ้าเราจะทำสมาธิเราต้องสงัด เราต้องมีศีลใช่ไหม? เราถึงมาทำสมาธิได้ง่ายๆ
สมาธิได้ง่ายๆ สมาธิเป็นพื้นฐานไง ถ้ามีสมาธิมีกำลังแล้วมันเหาะได้ ถ้าเรากำหนดสมาบัติมันจะเหาะได้ นี้แล้วเขาจัดงาน พอเขาจัดงานเครื่องขยายเสียงเต็มวัดไปหมดเลย คนจะเพ่นพ่านไปหมดเลย เอ็งคิดว่าเขาจะทำได้ง่ายไหม แล้วเขาทำ พูดถึงถ้าเขาทำได้จริง เขาทำด้วย อุตริมนุษยธรรมมาแลกกับกระดาษ แลกกับแบงก์เหรอ แต่ครูบาอาจารย์เราเหาะได้เยอะนะ หลวงปู่ขาวชัดๆ เลย แล้วในหมู่คณะก็ว่า หลวงปู่ขาว หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชอบ ได้ทั้งนั้น เพราะเราฟังมา
ตอนที่หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวน ธุดงค์มากับหลวงปู่มั่นที่ถ้ำเชียงดาว แล้วหลวงตาท่านเขียนหนังสือเรื่องประวัติของหลวงปู่มั่น ท่านจะไปหาครูบาอาจารย์ เก็บข้อมูลตรงนี้เยอะมาก แล้วหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า ในประวัติหลวงปู่มั่นเราเขียนแค่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เขียนเต็มร้อยไม่ได้ ถ้าเขียนเต็มร้อยไป โลกเขาว่ามันจะเหลือเชื่อจนเกินไปไง ท่านเขียนพอแค่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ บางอย่างที่แบบว่าโลกเขาจะคิดมาก ท่านไม่ใส่ลงไป
ฉะนั้นเราได้ยินมาจากลูกศิษย์ท่านอีกทีหนึ่งบอกว่า หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวนท่านเล่าให้ฟัง ว่าตอนที่อยู่กับหลวงปู่มั่น อยู่ที่ถ้ำเชียงดาวบนเขานั่น แล้วหลวงปู่มั่นก็ให้หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ขาวลงไปตักน้ำ ที่ถ้ำเชียงดาว ตักน้ำขึ้นมา ท่านบอกสมัยนั้นมันไม่มีอะไร ก็ใช้กระบอก ใช้กระบอกทะลวงไปใช่ไหม แล้วก็สะพายขึ้น หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ขาวก็ลงมาตักน้ำที่ตีนเขา เอาขึ้นไปใช้ไง พอลงมาท่านหันขึ้นไป หลวงปู่มั่นลงมาเลยล่ะ เหาะลงมาเลย เห็นชัดๆ เห็นกันหมดนะ
แต่หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านพูดว่า สมัยที่หลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านฝึกพระ เฉพาะพระอย่างเดียว ปรมัตถจิต ท่านรู้วาระจิตหมด ท่านคุมหมด ท่านเต็มที่เลย แล้วพอออกมาสังคมแล้ว มันทำอย่างนั้นไม่ได้ มันทำอย่างนั้นเกินไปมันเหมือนกับว่ามันเป็นสังคมที่กว้างไง มันออกไปมันดูไม่งามไง
แต่หลวงตาท่านบอก สมัยที่หลวงปู่มั่นอยู่ที่เชียงใหม่นะ เพราะมันอยู่ในป่า แล้วก็มีแต่พระกับพระ ทีนี้พระเข้าไป ลูกศิษย์กับอาจารย์อยู่กันตัวต่อตัว ทำไมมันจะทำอะไรไม่ได้ มันทำได้เต็มที่เลย ยิ่งทำลูกศิษย์ยิ่งกลัว ลูกศิษย์ยิ่งกลัว ลูกศิษย์ต้องคุมใจตัว ออกไม่ได้เลย ออกเดี๋ยวหลวงปู่มั่นตะปบเอา มันก็ต้องเกร็งเต็มที่เลย มันถึงได้คุณภาพของพระมาเยอะไง
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าอีกล่ะ เวลาท่านไปจับเส้น กับหลวงปู่มั่น
ครูจารย์ ท่านเรียกครูจารย์
ครูจารย์ อภิญญา ๖ รู้วาระจิต รู้วาระจิตใช่ไหม เหาะเหินเดินฟ้า หูทิพย์ตาทิพย์ มันแก้กิเลสได้บ่
บ่ แก้กิเลสไม่ได้
ถ้าแก้กิเลสไม่ได้แล้วครูจารย์เฮ็ดหยัง เฮ็ดทำไม คือว่าทำทำไม
อ้าว ก็ทำเอาไว้เป็นเครื่องมือสอนคนไง
ธรรมะเป็นอันหนึ่งนะ ธรรมะมันละเอียดเกินไปจนพวกเรารู้ได้ยาก แต่ถ้าอาศัยเครื่องมือ อาศัยที่เรารู้จิต มันคิดอะไรเราคอยกระตุ้น
เห็นไหม เอาไว้เป็นเครื่องมือสอนคนนะ ตัวมันเองมันเจริญแล้วเสื่อม ตัวมันเองมันไม่คงที่ เหมือนชีวิตเรา เกิดมาอยู่ชั่วคราวก็ต้องตายไป กำลังเรามีมากขนาดไหนมันก็ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา เหมือนนักกีฬา ถ้าซ้อมดีกำลังมันก็จะดี ไอ้นี่ก็เหมือนกันเข้าสมาธิสมาบัติ ซ้อมอยู่ดีๆ ซ้อมอยู่ประจำมันจะเข้าได้ง่าย แล้วกำลังมันจะมี มันจะทำได้ดั่งใจ
แต่ถ้าตรงนี้มันเสื่อมค่าลง อย่างที่หลวงปู่เจี๊ยะถามหลวงปู่ขาวไง
แล้วปัจจุบันนี้ยังเฮ็ดได้อยู่บ่
ท่านพูดตรงๆ เลยนะ บ่
ทำไมล่ะ
ก็มันเฒ่าแล้วเว้ย มันเฒ่าแล้ว
มันเฒ่า คือมันแก่แล้ว แต่ตอนที่ยังมีกำลังอยู่ อย่างนี้ส่วนใหญ่พระกรรมฐานเรา จะลอง จะทำ ถ้าไม่ทำมันสงสัย มันสงสัยว่าตำราพูดไว้จริงหรือเปล่า? แล้วพอตำราพูดไว้จริงปั๊บมันก็จะลอง พอลองแล้ว พอทำได้แล้วมันก็จบ แล้วพอจบอย่างนี้ปั๊บนะ สังเกตพระที่ทำแล้ว จะพูดเรื่องนี้ฉะฉานมาก มันพิสูจน์ได้ คือของที่พิสูจน์มาแล้ว ทำมาแล้ว
ในเมื่อพิสูจน์มาแล้ว ทำมาแล้วมันจะไปกลัวอะไร มันไม่ได้โกหก ก็ทำได้จริงๆ พอทำได้จริงๆ แล้ว สิ่งที่ทำได้จริงมันเป็นประโยชน์ไหม? อย่างที่ว่ามันเป็นประโยชน์กับการสอนคนไง แต่ตัวมันเองตัวมันเองนะ สมมุติถ้าเราเรายังมีกิเลสอยู่ใช่ไหมเราก็อยากจะลอง พอลองเสร็จแล้วเราก็ติด พอติดแล้วก็ไปไม่รอด แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมนะ ท่านลอง ลองเสร็จแล้วท่านก็วางไว้ ท่านไม่ติด คือไม่ติดคือไม่อยาก คือไม่อยากทำ ไม่อยากเอามาเป็นกังวลใจ แต่ถ้าเราไม่มีนะ พอทำแล้วมันติด มันติดนะ
เหมือนเราได้กินอะไรอร่อยเราก็อยากกินเรื่อยๆ ไง เดี๋ยวก็เสร็จ ลองไว้เพื่อรู้ รู้เสร็จแล้วเอามาสอนคนเท่านั้นล่ะ ไม่ใช่ลองเอาไว้เพื่อมันจะอวดใคร เพราะมันลองแล้ว คือสมบัติมันไม่ใช่ของเราไง มันอนิจจัง คือมันต้องใช้กำลัง มันต้องใช้กำลังของจิต แล้วมันเป็นไป แล้วกำลังมันเบาลง ดู ทำไมพระพุทธเจ้าเวลานิพพาน ทำไมเข้าสมาบัติล่ะ ฉะนั้นสมาบัติถึงไม่ใช่นิพพานไง
พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเราใช่ไหม แต่วันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพาน พระนั่งเฝ้ากันเต็มเลย แล้วพระอรหันต์ทั้งหมดเลย แต่ละองค์ไม่เหมือนกันทีนี้พอแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน พระอรหันต์ก็ถามขึ้นมา อ้าว นี่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วเหรอ ก็เห็นเงียบๆ ไง พระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะได้เอตทัคคะการรู้จิต พระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก พระโมคคัลลานะเป็นผู้ที่มีฤทธิ์มาก
ทีนี้พระอนุรุทธะเก่งทางนี้ พอเก่งทางนี้ คนเก่งก็เหมือนนกบินได้ เหมือนปลาอยู่ในน้ำ คนเก่งหมายถึงว่าคนโดยปกติ คือปกติก็รู้อยู่ตลอดเวลา แต่อย่างพวกเราไม่เก่ง แต่ทำได้ไหม ได้ ตั้งใจ ตั้งใจแล้วทำอย่างนั้นได้ แต่มันต้องอย่างที่ว่า อย่างที่หลวงปู่ขาวว่า ต้องมีกำลัง ต้องตั้งใจ แล้วทำขึ้นมาแล้วพิสูจน์ได้ แต่ขณะที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ทุกคนนั่งเฝ้ากันอยู่ ทุกคนก็กังวลตรงนั้นอยู่ใช่ไหม พอถามขึ้นมา พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพานเหรอ เห็นเงียบๆ อยู่นั่น
พระอนุรุทธะบอกยัง ขณะนี้พระพุทธเจ้ากำลังเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน อากาสานัญจายตนะ เข้าไปแล้วก็ถอยกลับ เข้าไปแล้วถอยกลับ แล้วพอถึงระหว่างรูปฌาน อรูปฌาน พระพุทธเจ้านิพพานตรงนั้นเลย พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
บัดนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอนุรุทธะบอก ตามจิตได้ตลอดเวลา เห็นหมดเลย แล้วบอกได้ถูกต้องหมดเลย
มันเป็นความถนัด ถ้าความถนัดมันเหมือนปกติ มันเรื่องธรรมดา ธรรมดาของบุคคลคนนั้น อันนี้มันเป็นสิ่งที่สร้างมา การธรรมดาคือนิสัยใจคอ แต่ไอ้เรื่องกิเลส จะธรรมดาขนาดไหน คนจะมีความคิดอย่างไหน ต้องแก้กิเลสให้ได้ก่อน ถ้าแก้กิเลสไม่ได้นะ มันทำแล้วมันชอบ มันทำแล้วมันติด พอมันติดนะมันไปข้างหน้าอีกไม่ได้ ติด
เวลาภาวนา เวลาติดจะรู้เลยว่าติด ติดอย่างไร? ไอ้อย่างพวกเรามันไม่ได้ภาวนาไม่ได้ติด มันสร้างภาพ สิ่งที่เป็นที่เขาคุยกัน ที่เขามาอวดกัน ที่เขาทำกัน เรารู้ แล้วเราเห็นครูบาอาจารย์เราทำมา แต่ครูบาอาจารย์ของเราทำ ทำเพื่อยืนยันไง อย่างพวกเรา ทุกคนคิดเลย ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เรายืนยันนะ เอ๊ะ เฮ้ย มรรคผลนิพพานมีหรือเปล่าวะ? เฮ้ย มันจะทำได้จริงเหรอวะ เฮ้ย เฮ้ย มันเฮ้ยทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านทำมาแล้ว มันจะเฮ้ยได้อย่างไร? ก็กูทำมากับมือเว้ย ก็ของกูทำมา เพียงแต่จะมาอวดไม่มาอวดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ทีนี้มัน สิ่งที่ทำมา แล้วทีนี้พอทำมา มันทำมาแล้วมันเข้าใจ แล้วมันเอาไว้ตามความเป็นจริง แต่ดูเขาทำกัน เริ่มต้นมันผิดหมดเลย โธ่ ครูบาอาจารย์เราพูดนะ เอาเงินมากองเท่าภูเขาเลย มันยังเทียบค่าของธรรมะไม่ได้เลย แต่นี่เขาไปหาเศษเงินกันไง ถ้าเมื่อหัวใจมึงต่ำต้อยขนาดนั้นนะ มึงยังติดในค่าของเงิน ติดในค่าของการสรรเสริญในโลกธรรม ๘ มึงจะเอาธรรมะมาจากไหนวะ?
คือว่าธรรมะของพวกเรามันมีคุณค่าสูงส่งมาก สูงส่งจนพ้นไปจากค่าที่เขาให้ค่าทางโลกกัน เขาถึงไม่มองตรงนี้หรอก เขาไม่มามองตรงนี้นะ ย้อนกลับมาที่ว่า เวลาเราว่าตำราสอน ตำราสอน ตำรามันผิดมาตั้งแต่ต้น มันผิดมันไม่ใช่ผิด หนังสือเวลาเขามาให้เรา เขามาวาง เดี๋ยวนี้หนังสือนะ เขาจะไม่กล้าให้เรานะ เขาจะมาวางไว้ที่บนโต๊ะนั่นล่ะ แล้วกลับไป พอโยมกลับไปแล้วจะเห็นหนังสือ ๒-๓ กอง
เราต้องเอามาดูก่อนว่านามปากกาของใคร เราแค่ดูแค่นามปากกา ดูคนเขียนเท่านั้นแหละ เราไม่ดูเนื้อหาสาระหรอก ดูคนเขียนมันรู้กัน เพราะมันดูมาหมดแล้วไง มันรู้เขารู้เรา เห็นคนเขียน ใครเขียนเท่านั้นนะ เข้าเตาหมด เข้าเตาหมด เราเผาทิ้งเลย เพราะ เพราะตำรามันผิด แผนที่มันผิด เราให้คนอื่นไม่ได้ ถ้าเราให้ใครไป เขาจะบอกว่า เราเห็นชอบด้วย เขาเชื่อเพราะให้จากเรา
เพราะกรณีอย่างนี้ไง หนังสือที่เขาเขียนกันแล้ว เขาถึงพยายามไปแจกกันที่สวนแสงธรรม พยายามไปแจกกันที่บ้านตาด เพราะเขาต้องการเครดิตของครูบาอาจารย์ยืนยันว่า สิ่งที่เขาพูดเขาเขียนถูกต้อง แต่ถ้าเป็นหนังสือที่เป็นของคุณงามความดี มันทำไมไม่แจกเองล่ะ ของจริงคือจริง แจกที่ไหน ให้ที่ไหน มันก็เป็นความจริง แต่ทำไมต้องไปขอร้องไปแจกในนามของคนอื่นล่ะ
อ้าว ถ้าจริงก็แจกกันไป ก็ดูกันไป ถ้าของจริงคนต้องเชื่อถือ คนต้องอยากได้ คนต้องวิ่งแสวงหา ที่เรากังวลจริงๆ นะเรากังวลตรงนี้มาก กังวลตรงที่ตำราผิด ไม่ใช่คนสอนผิดนะ ตำราผิดเลย ตำราผิดแล้วมันจะไปไหนล่ะ?
เมื่อวาน ...และพี่น้องเขามา แล้วเขามาพูดทำนองนี้ บอกว่า...มันอ่านหนังสือมาก ไม่เชื่อใครเลย เราบอกใช่ ตอนที่มันบวชมันก็เอาหนังสือมาให้เราเยอะแยะเลย เพราะมันเอาไว้มาก มาถึงเราคัดแต่ของครูบาอาจารย์เราไว้ นอกนั้นเราบอกว่า อันนี้กูไม่เอา ไม่เอา เขาบอกเขาไม่เอา เขาถวาย เขาให้หมด ให้หมดกูก็เผาทิ้งหมด เราบอกทำไมเอาหนังสืออย่างนี้มาอ่านได้ หนังสือธรรมะที่ซื้อท้องตลาด เราไม่เอาไว้เลยนะ
อย่างเช่น เช่นนามปากกาของพวกที่เขาเขียนเป็นอาชีพเขา ถ้าธรรมะเขาเป็นความจริง เขาสึกออกไปทำไม ทำไมเขาเป็นพระเขาสึกจากพระไป แล้วไปเขียนหนังสือขายกัน อ้าว แล้วถ้าธรรมะมันถูก ทำไมมึงไม่อยู่ในเพศของพระล่ะ อ้าว คิดสิ อ้าว โยมอยากบวชพระนะ อยากประพฤติปฏิบัติกัน ไอ้เขาเป็นพระเขาสึกออกไป แล้วเขียนตำราขาย อ้าว คิดกลับสิ
เราไม่เอาเลยนะ เราไม่เอา เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมันเป็นตรรกะของเขา เพราะมันเป็นความเห็นของเขา เพราะมันเป็นมุมมองของเขา มันไม่ตรงกับความจริง เพราะถ้าเป็นมุมมองของเขา มุมมองของเขา พอเขาเขียนออกมามันเขียนไปตามนั้น แล้วมันเป็นกรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์เพราะอะไร? เพราะเป็นตรรกะของเขา เขาเขียนของเขา ไอ้เราก็มีตรรกะ คือเราตีความออกไง
เราจะพูดบ่อยนะ พวกพระอ่านหนังสือออก อ่านพระไตรปิฎกออก แต่อ่านความหมายในพระไตรปิฎกไม่ออก อ่านหนังสือออก แต่อ่านเนื้อความเนื้อหาสาระไม่ออก อ่านไม่รู้เรื่อง มันก็เหมือนกัน มุมกลับเลย มุมกลับเวลาเขาเขียนตำรา เราอ่านหนังสือออก แล้วเข้าใจ คือรู้ความ พอเข้าใจ เข้าใจมันเป็นอะไร? เข้าใจมันเป็นความเห็นของเรา แล้วความเห็นของเรามันเข้าถึงธรรมหรือยัง
มันเป็นไปไม่ได้ มันถึงได้ย้อนมาที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านจบมหา ท่านพูดเองนะ ท่านเป็นมหา พอเป็นมหา พระไตรปิฎกท่านเรียงความได้ ท่านรู้หมด แต่ท่านก็ยังสงสัยมรรคผลนิพพาน ท่านถึงปฏิญาณตนขึ้นมาว่า
ถ้ามีคนใดคนหนึ่งเป็นคนชี้นำบอกว่ามรรคผลนิพพานได้จริง เราจะเอาคนนั้นเป็นอาจารย์
ท่านก็ไปหาหลวงปู่มั่น พอหลวงปู่มั่นเทศน์ให้ฟังจนเข้าใจแล้ว หลวงปู่มั่นขอไว้อย่างหนึ่ง ขอบอกว่า
วิชาการที่เรียนมาแล้ว ธรรมะของพระพุทธเจ้าสาธุ เทิดทูนไว้บนหัว ไม่มีใครกล้าเหยียบย่ำธรรมพระพุทธเจ้าหรอก แต่ แต่ในเมื่อเรายังมีกิเลสอยู่ เรามีความชอบความไม่ชอบในใจของเราอยู่ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติโดยที่ไม่เอาความรู้ทั้งหมดเทิดไว้บนหัวก่อน ไอ้ความรู้ที่เราเรียนมามันจะมาเตะมาถีบกัน
คือมันจะมาเป็นหนามยอก คือมันจะมาเป็นการสร้างภาพ คือมันจะชักนำให้เราออกนอกลู่นอกทาง ท่านถึงบอกว่า ให้เอาความรู้ของเราทั้งหมด ใส่ในลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้อย่าให้มันออกมา แล้วเวลาเราปฏิบัติ ตามข้อเท็จจริง คือถ้าจิตสงบก็คือสงบ ถ้าจิตไม่สงบก็คือไม่สงบ ถ้าจิตมันจะเกิดขึ้นมาอย่างไร ก็ให้มันเป็นข้อเท็จจริง อย่าเอาตำรามาเป็นเชื้อเป็นนำให้มันดึง ดึงให้มันไปเห็นตามตำรานั้น
ในเมื่อเรามีข้อมูลในตำรานั้น มันสร้างภาพได้หมดเลย โอ้โฮ นิพพานแจ๋ว แจ๋วเลย แต่มันจะจริงหรือเปล่าล่ะ? ทีนี้พอคนมันปฏิบัติกันอย่างนี้ มันคาดหมายนิพพานได้ใช่ไหม พอมันคาดหมาย เป็นจินตนาการของเขาใช่ไหม พอเป็นจินตนาการของเขา เสร็จปั๊บเขารู้แล้วใช่ไหม ตำราเขียนออกมาเลย เขียนหนังสือออกมาเลย เพราะเขาคาดได้ พอเขาเขียนออกมาปั๊บ เราก็อ่านเข้าใจ เพราะอะไร? เพราะเขาคาดเอา เราก็คาดเอา มันจะต่างกันตรงไหน ไม่ต่างกันเลย
เราวิตกกังวลตรงนี้มาก ตรงที่ว่าตำราผิด แล้วเวลาสอนใคร บอกใคร เขาจะบอกว่าเราตะแบง เราไม่ยอมรับความจริงทางโลก ทำไมไม่ยอมรับเอกสาร เราเศร้าใจ เพราะว่าทำไมรู้ไหม? เพราะว่าเราเคยรับเอกสารนี้มาแล้ว แล้วเราก็หลงผิดมาแล้ว เราก็ยอมรับเอกสารนี้ ปฏิบัติไปนะ อวิชชาดับหมดต้องเป็นพระอรหันต์ เข้าสมาธิปั๊บดับหมดเลย เอ๊ะก็แล้วกูไม่เป็นพระอรหันต์ล่ะ? เข้าสมาธิได้แล้วมันไม่มีอะไรเลยนะ นิ่งอยู่อย่างนั้นล่ะ เราก็ตีความว่ากูเป็นพระอรหันต์ ติดอย่างนี้อยู่ ๒ ปี
จิตสงบแล้ว มันกิเลส พอกิเลสเราใช่ไหม อวิชชาดับ อวิชชาไม่มีต้องเป็นพระอรหันต์ ความคิดเราไง เชื่อตามตำราไง ทุกข์อยู่ ๒ ปีนะ เอ๊ะเราก็ทำได้แล้ว ทำไมผลมันไม่เกิดอย่างที่มันเป็นจริงล่ะ ก็เรารู้อยู่ เรารู้อยู่นะ เพราะเราทุกข์ เวลาเข้าสมาธิก็เออว่าง สบายอยู่พักหนึ่ง พอออกมาก็ทุกข์อีกแล้ว ไปหาใครก็ตอบไม่ได้ ไปหาพระองค์ไหนก็ตอบไม่ได้
พอไปเจอหลวงปู่จวน อวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบลง อวิชชาอย่างกลางในหัวใจของท่านยังเยอะแยะเลย อวิชชาอย่างละเอียดในหัวใจท่าน กองพะเนินเทินทึกเลย โอ้โฮ มันแทงใจ เออใช่ ใช่ พอใช่แล้วนะ เอาละ พอใช่ปั๊บมันหันกลับ มาทำต่อ พอทำต่อ พอทำต่อจริงๆ มันไม่อยู่กับที่แล้ว มันเริ่มรุก เริ่มรุก เริ่มรุก มันได้ประโยชน์แล้ว
พอเริ่มรุกนะ เริ่มรุกคือว่า ดับขนาดไหนก็ยังลุยเข้าไป ลุยเข้าไป ลุยเข้าไป ต่อสู้เข้าไป ตั้งแต่นั้นมานั่นล่ะ คือว่าเราจะไม่อยู่กับที่แล้วเรียกร้องเอาผล มันจะรุกเข้าไปเรื่อยๆ สงบขนาดไหน เดี๋ยวก็ทำความสงบให้มันลึกเข้าไปอีก ลึกเข้าไปอีก มันจะลึกเข้าไปเรื่อยๆ
เราถึงได้เทศน์บ่อยมากว่าแนวดิ่ง แนวกว้าง พวกเราจะรู้ในแนวราบ แนวราบเราเข้าใจได้หมด แต่แนวดิ่ง แนวดิ่งในหัวใจเรา แนวดิ่งคือว่าจิตใต้สำนึก ถ้าแนวดิ่งมันต้องทำความสงบ ถ้าไม่มีความสงบมันเข้าแนวดิ่งเราไม่ได้ มันจะไปได้แนวราบ แนวราบความคิดจากสมองไง
ทีนี้พอจิตมัน พอแนวราบมันหดเข้ามา มันก็เฉยอยู่ แต่มันลงแนวดิ่งไม่ได้ แล้วแนวดิ่งเรา ในอวิชชามันอยู่ในจิตไง ความอุปาทานมันอยู่ในภพ อยู่ในฐานของใจ มันเลยรุกเข้าไป รุกเข้าไป ตั้งแต่นั้นมานะในการปฏิบัตินะ ไม่ยอมอยู่กับที่ รุก รุก รุก รุก รุก รุกอย่างเดียว คือทำเข้าไปตลอด ไม่อยู่กับที่ รุกอย่างเดียว รุกอย่างเดียว รุกอย่างเดียว คือมันจะปล่อยขนาดไหนนะ ก็ยังรุกเข้าไป มันจะปล่อยขนาดไหน ไม่เคยเชื่อ ไม่เคยเชื่อความปล่อยวางของใจ
ตั้งแต่นั้นมานะ เวลาปฏิบัติเราไม่เคยเชื่อเลยว่าปล่อยแล้วมันจะเป็นมรรคเป็นผล มันจะปล่อยขนาดไหนก็ยังทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แล้วพอไปถึงที่สุด โอ้โฮ พอมันปล่อยจริงนะ พั้บ! พอมันขาดแล้ว มันไม่มีแล้ว มันรุกอย่างไรก็ไม่ได้มันไม่มี คำว่าไม่มีนะมันเป็นผลต่าง ผลต่างจากที่เราเคยปล่อยบ่อยๆ เราเคยปล่อย เราปล่อยบ่อยๆ มันปล่อยขนาดไหนก็แล้วแต่ พอมันขาด พั้บ! มันไม่มีอะไรจะปล่อย มันไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเลย
ความต่าง พอความต่าง อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านพูด ว่าถึงจุดนั้นปั๊บ พอจริงขึ้นมาแล้ว จริงคือจริง พอผลต่างมัน เออ อันนี้ใช่ แล้วไม่มีการคลอนแคลน ไม่เหมือนสมาธิ ไม่เหมือนการปล่อยวางที่มันยังมีขึ้นมีลงอยู่ ถึงตรงนี้ปั๊บจบเลย พอจบเลย ๆ นี้รู้เฉพาะตน ไม่ต้องมีใครมาให้ค่า รู้เฉพาะตน แต่เดิมที่มันหดเข้ามา หดเข้ามาในแนวราบ อืม อืม แล้วในปัจจุบัน ที่เราพูดอยู่ ก็มันเป็นอย่างนี้ ที่ปฏิบัติกันมันเป็นแนวราบ แล้วมันรับรู้กันได้ มันสื่อสารกันได้ แล้วมันเข้าใจกันได้
ถึงมันจะมา ถึงสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญาไม่มีใครเคยเห็น ใครเคยเห็น เคยพูดเรื่องภาวนามยปัญญาได้จริง องค์นั้นอย่างน้อยต้องเป็นโสดาบันขึ้น เพราะพอมันสรุปทีหนึ่ง มันลงทีหนึ่ง ครั้งนั้นมันได้หนเดียวไง มันได้หนเดียว เพราะเวลามันขาด คนที่หายก็หายหนเดียวใช่ไหม คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะหายกี่หนล่ะ ก็หายก็คือหาย นี่ก็เหมือนกัน พอกิเลสขาดก็คือขาดไง มันไม่มีสอง ขณะขาดนี่ ครั้งเดียว
ย้อนกลับมามหายาน สว่างโพลง สว่างโพลง เหมือนกับการก้าวข้ามธรณีประตู เหมือนกัน ของครูบาอาจารย์เรานะ ช้างกระดิกหูงูแลบลิ้นไง แต่กว่าที่มันจะถึงหนเดียว อย่างที่ว่ามันหดเข้ามาในแนวราบ บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า แล้วมันก็ลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนแนวดิ่ง จนถึงที่สุดปั๊บ จบ
กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ โสดาบัน สกิทาคา อนาคา หนเดียว หนเดียว หนเดียวทั้งนั้นแหละ เป็นสกิทาคาหนหนึ่ง อนาคาหนหนึ่ง แต่ แต่ผลของความลึก ผลของการชำระกิเลสไม่เหมือนกันเลย โสดาบันมันชำระสังโยชน์ ๓ ตัวอย่างหนึ่ง สกิทาคามีมันไม่ใช่โจทย์อันนี้ไง มันเป็นโจทย์ที่กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง อนาคาไปละกามราคะได้หมดเลย คือเป้าก็ต่างกัน ผลก็ต่างกัน ไม่ใช่อันเดียวกัน มันถึงเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ไง
โสดาบัน สักกายทิฐิ ความเห็นผิดในกาย สกิทาคากามราคา ปฏิฆะอ่อนลง อนาคา กามราคะปฏิฆะขาด ความโลภ ความโกรธ ความหลงขาดเลย จิตผ่องใส ผ่องใสอย่างนั้นน่ะ หลวงตาท่านว่านะ จิตเดิมแท้ผ่องใส มองทะลุไปหมดเลย คิดว่านี้เป็นธรรมไง พอมาประพฤติปฏิบัติ ความว่างผ่องใสนั้นเป็นกองขี้ควายไง กองขี้ควายเลย พอมันผ่องใส เพราะผ่องใสคู่กับเศร้าหมอง ผ่องใสอยู่ด้วยตนเองไม่ได้ สิ่งใดที่มันมีอยู่มันอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ มันต้องแปรสภาพตลอด ถึงที่สุดปั๊บ
ไง โจทย์ต่างกัน เป้าหมายต่างกัน ผลตอบรับต่างกัน มรรค ๔ ผล ๔ ทีนี้ในแนวราบ มันจะบอกว่าคือการปล่อย คือว่างๆ ว่างๆ แล้วว่างของใครล่ะ? ว่างของโสดาบันก็อยากหนึ่ง ว่างของสกิทาคาก็อย่างหนึ่ง ว่างของพระอนาคาก็อย่างหนึ่ง ว่างของพระอรหันต์ก็อย่างหนึ่ง เราถึงบอกว่าความว่างของอริยภูมิมันมีระดับของมัน แล้วความว่างของพวกเรา ความว่างที่เขาพูด มันวัดระดับได้ไหม? มันพูดคำเดียวว่าว่าง มันถึงว่ามันมีมิจฉา สัมมานะ
ไม่มีคำถามจะจบนะ วันนี้ออก ออกสุดๆ เลยล่ะ เพราะ เพราะพูดถึง พูดถึงที่ไอ้ว่ามีปัญญาแล้วจะทำอย่างไร? โธ่ มาถามแล้วสงสาร สงสารมาก แต่คำว่าสงสารดีอย่างหนึ่งคือเขากล้าถามไง คือเขามีมุมมองอย่างนี้ใช่ไหม เขากล้าพูดไง แต่เขามากระซิบนะ เขามากระซิบเลย ผมมีปัญญามาก ผมอ่านหนังสือมามาก ผมศึกษามาก แล้วให้ผมทำอย่างไรล่ะ? เขาพูดเองไงว่าปัญญาเขามาก แล้วเขาไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเวลาคิดออกไป คิดธรรมะก็คิดจากเราทั้งหมดเลย
อันนี้สรุปง่ายนิดเดียวเลยนะ อยู่ในนี้หรือเปล่า วันนั้นที่เขาบอกว่า ที่เมื่อวานเขามาเหมือนกัน เขาบอกว่า เขาอ้างว่าใบไม้ในกำมือไง คำสอนแค่นี้ก็นิพพานได้ไง โอ้โฮ เราฟังนะ เพราะเขาอ้างผิด คำว่าอ้างผิดเพราะอะไรรู้ไหม? เพราะใบไม้ในกำมือในพระไตรปิฎก ท่านบอกว่า ในพระไตรปิฎกเหมือนใบไม้ในกำมือท่าน แต่ข้อเท็จจริงมันเหมือนใบไม้ในป่า
ท่านจะบอกว่าความจริงมันยังกว้างขวางกว่านี้ไง แต่เขาพูดกลับ เขาบอกว่า แค่ใบไม้ในกำมือก็พอแล้ว ก็ปฏิบัติได้แล้ว แค่นี้ก็นิพพานได้ไง เราบอกเลยว่าพูดผิด ถ้าให้กูพูดนะไม่ต้องหรอก คำพูดคำเดียว พุทโธคำเดียวนี่นิพพานได้ อย่าว่าใบไม้ในกำมือเลย กูคำเดียวแท้ๆ นี่แหละ นิพพาน พุทโธคำเดียวเลย เงียบเลยนะ
เขาบอกว่าใบไม้ในกำมือ ความจริงความหมายมันตีคนละแง่ไง ความหมายมันย้อนกลับไง ความหมายคำนี้นะพระพุทธเจ้าบอกว่า ความจริง สัจธรรมหรือการกระทำมันเหมือนใบไม้ในป่า คือมันกว้างขวางกว่านี้ มันมีหลากหลายกว่านี้เยอะมาก แต่ถ้าพูดไปมากเกินไป ปัญญาพวกเรามันทึบ มันจะฟั่นเฟือนได้ ท่านเอารวบรัดมา เหมือนพระไตรปิฎกทั้งตู้ สมเด็จสมณะเจ้า ท่านเขียนออกมาเป็นนวโกวาทเล่มเดียว นวโกวาทย่อความพระไตรปิฎกนะ
นวโกวาท ทั้งตู้นั่น สมเด็จสมณะเจ้าท่านย่อมาเหลือเล่มเดียว แล้วให้เราท่องกันง่ายๆ ไง นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นั่นแหละพระไตรปิฎกทั้งเล่มเลย แล้วคนมีปัญญาย่อส่วนมา ให้พวกเราปัญญาทึบๆ ไอ้โง่ๆ อ่านง่ายๆ นี่ไงใบไม้ในกำมือ ท่านเปรียบเทียบถึงข้อเท็จจริงมันเหมือนใบไม้ในป่า แต่เขาพลิกกลับ เขาบอกคำสอนแค่นี้ก็พอ แค่นี้ก็คือนิพพาน ถ้าแค่นี้นิพพานเราบอกว่า อย่างนั้นพุทโธกูคำเดียวก็นิพพาน พุทโธมึงทำไปสิ นิพพานแน่นอน แล้วมึงทำจริงหรือเปล่าล่ะ?
เวลาเขาถาม แล้วทางนู้นเขาแบบว่าอ้าง อ้างเพื่อจะให้พวกเราจำนน จำนนกับเหตุผลที่ผิดๆ นี่ไง คือเอ็งไม่ต้องคิด เอ็งไม่ต้องหาเหตุผลมาโต้แย้ง เอ็งเชื่อกูแล้วจะไปนิพพาน แล้วพอถึงที่สุดเวลาปฏิบัติไปนะ กึ่งพุทธกาลไม่มีมรรคผลนิพพาน อ้าว ก็มึงสอนนิพพานแล้วทำไมบอกไม่มีนิพพานล่ะ? คำสอนของเขาก็ขัดแย้งกันเอง แต่ของครูบาอาจารย์เรามันจะไปเป็นตอนๆ มันจะต่อเนื่องกันไป แต่ต่อเนื่องมันต้องการกระทำที่เราเหน็ดเหนื่อยกัน
จริงๆ เวลาปฏิบัติแล้วน่าสงสารนะ เราก็สงสาร คนมาปฏิบัติมันจะ อื้อฮือ จับพลัดจับผลู จับพลัดจับผลูจะได้จะไม่ได้ มันหันซ้ายหันขวา แล้วใครบ้างไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าทำกันข้อเท็จจริงมันจะเป็นอย่างนี้ แต่เวลาเขาไปสร้างเป็นรูปแบบขึ้นมา นะ ติดห้องแอร์เลยนะ แล้วกำหนดเป็นพร้อมกันเลยนะ เป็นกองทหารเลย เดินไปเดินมากันอยู่อย่างนั้นล่ะ
มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน? แล้วครูบาอาจารย์ที่ทำ อย่างหลวงปู่มั่นที่ว่าอยู่เชียงใหม่ ท่านเข้มงวดกับลูกศิษย์ขนาดไหน? แล้วหลวงปู่มั่นท่านพูดประจำ ต้นคดปลายตรงไม่มี ฉะนั้นท่านบอกว่าพื้นฐานสำคัญที่สุด หลวงตาท่านเล่าบ่อย เวลาเล่าถึงหลวงตาจะน้ำตาร่วงเลยล่ะ เวลาหลวงตาท่านพรรษามากขึ้นมาแล้ว แล้วท่านเป็นมหาท่านเป็นหัวหน้า ท่านจะพูดเลย
มหา มหาพรรษาเยอะแล้ว ไม่ต้องมาหรอก ให้พระเด็กๆ มันเข้ามา เดี๋ยวมันจะไม่มีข้อวัตรติดหัวมันไป
ข้อวัตรคือวิชาการ ข้อวัตรคืออาวุธที่เราจะควบคุมตัวเรา ข้อวัตร คือศีลธรรม จะได้ติดหัวมันไป ติดหัวคือว่าติดสมอง ติดเป็นนิสัย เราจะได้เอาสิ่งนั้นมาควบคุมตัวเรา ข้อวัตรปฏิบัติมันจะทำให้เราพัฒนา นั่นล่ะ ท่านห่วงขนาดนี้นะ คือว่าท่านเป็นหัวหน้า ท่านเป็นคนมารื้อค้น แล้วท่านวางหลักการ วางหลักการในการอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ให้นับให้ขอนิสัย ให้ทำจริงทำจัง เพื่อจะส่งต่อๆ กันมา
โอ้โฮ ท่านคาดท่านหวังของท่านมากนะ เพื่อจะให้ศาสนามันฟื้นฟูขึ้นมา แต่เดี๋ยวนี้เราไปทำกันตามความชอบใจ สุกก่อนห่าม ไปชิงสุกก่อนห่าม ไม่ทำตามปูพื้นฐานเราขึ้น ทีนี้พอคนปูพื้นฐานเราขึ้นก็บอกว่าช้า เสียเวลา เอาทางลัดทางลัด เราถึงบอกว่าลัดลงนรกไง ลัดลงนรกเลยล่ะ เอาแต่ตามใจตัวมันจะได้ประโยชน์อะไร? แต่ถ้าเราศึกษาของเราตามขั้นตอนขึ้นไป มันก็จะเป็นอย่างนั้นไง แล้วถ้ามันรู้จริงขึ้นมา มันก็จะเป็นความจริงใช่ไหม?
แล้วขณะปฏิบัติ คนปฏิบัติ เหมือนทำธุรกิจ ใครบ้างที่ทำธุรกิจแล้วมันจะได้มาโดยลอยๆ ทุกคนต้องลงทุนลงแรง ทุกคนต้องเข้าใจการตลาด ทุกคนต้องมีปฏิภาณไหวพริบ คนนั้นถึงจะประสบความสำเร็จ การปฏิบัติเหมือนกัน เราพูดบ่อย ธรรมะส่วนบุคคล สมาธิของเราก็เป็นสมาธิของเรา ปัญญาของเราก็เป็นปัญญาของเรา ความรู้สึกของเราก็เป็นความรู้สึกของเรา มันส่วนตัว เราถึงบอกว่าธรรมะเหนือธรรมชาติไง
อันนี้ไปมองนู้น ลมพัดเป็นธรรมชาติ ใบไม้ตกก็เป็นธรรมชาติ พระเขาดูใบไม้ตกเขาย้อนกลับไง เห็นใบไม้หลุดจากขั้ว โอ้โฮ ชีวิตก็เป็นอย่างนั้น เป็นธรรมเพราะเหตุนี้ เป็นธรรมเพราะเราเห็นใบไม้ตกแล้วเราคิด ไอ้ใบไม้ตกมันจะเป็นธรรมไปได้อย่างไร? ใบไม้มันจะลุกขึ้นมาเป็นชีวิตที่ไหนล่ะ? แต่เวลาเราเห็นใบไม้ตกแล้วเราคิดไง
ดูสิใบไม้แก่แล้วมันก็หลุดจากขั้ว ชีวิตของมนุษย์พอแก่ขึ้นมาก็ต้องตายไป ธรรมมันเกิดตรงนี้ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติเพราะใจคนเป็นธรรม มันเห็นธรรมชาติ มันเป็นสัจธรรมแล้วมันเศร้าสลดใจ แต่ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา ทำไมพวกนายพรานเขาไปโค่นต้นไม้กันล่ะ ธรรมชาติทำไมไปโค่นเอามาเป็นสมบัติของตัวล่ะ ทำไมไม่สะเทือนใจล่ะ
นี่ไงมันถึงว่าธรรมะส่วนบุคคล พูดบ่อย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป ก็เอาแต่สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป พระสารีบุตรปรินิพพานไป ก็เอาแต่สมบัติของพระสารีบุตรไป
ของเรา เราตายไปก็เอากิเลสเราไป ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาเรามีธรรม เราก็เอาธรรมของเราไป ของใครล่ะ? ของใคร? ของส่วนบุคคลไง ส่วนบุคคลมันถึงเป็นสมบัติของเราไง สมาธิก็เป็นสมาธิเรา ปัญญาก็ปัญญาเรา ทำจริงก็ได้จริงขึ้นมา
ทีนี้พอทำจริงขึ้นมามันถึงต้องสู้ ต้องหมั่นเพียร งานข้างนอกมันยังหนักหนาขนาดนี้ งานเอาชนะตนเองต้องสู้ นี่ยังคิดไง โอ้ บวชไปพักผ่อน ไปสบายๆ มันสบายอย่างไร? มันจะสู้มันจะสบายอย่างไรล่ะ? มันจะสู้ มันไม่สู้ไง ทีนี้พอสู้ขึ้นมาก็ทุกข์ เวลาทุกข์ก็ธรรมดา จริงๆ ดูหลวงตาสิ ท่านห่วงท่านอาลัยอาวรณ์ ห่วงอยากให้ทุกคนสะดวก แต่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าสะดวกสบายเกินไปมันชำระกิเลสไม่ได้ ท่านถึงต้องให้ทุกข์ แต่ท่านก็ดูอยู่ข้างหลังไง ท่านไม่พูดนะ
บางทีมองเห็นพวกลูกศิษย์ทำอุกฤษฏ์ มันก็สะเทือนใจนะ แต่ แต่นี่ก็คือทาง ทีนี้มันเป็นทางขึ้นมา มันก็ต้องอุกฤษฏ์อย่างนี้ ต้องสู้อย่างนี้ แล้วถ้ามีคนอย่างนี้ขึ้นมา มันจะมีโอกาส มันจะเข้าถึง ไม่ใช่เห็นอุกฤษฏ์ขึ้นมาแล้วจะสะใจ ไม่ใช่นะ มันก็สังเวชอยู่ แต่มันเป็นช่องทางไง มันเป็นช่องทางที่เราต้องทำกันไง มันไม่มีทางอื่นไง เอาชนะตนเอง เอาชนะความคิด เอาชนะหัวใจ แล้วมันจะเอาช่องทางไหนชนะมันล่ะ ถ้าไม่เอาตัวมันชนะมัน
ถ้าจะเอาตัวมันชนะมันก็ต้องมีสติ ต้องมีความอดทน มีความอดทน มีปัญญา มีความใคร่ครวญว่ามันเฉไหม มันออกนอกทางไหม มันเป็นอย่างไรไหม มีครูบาอาจารย์ต้องคอยสอบถาม นี้จะเป็นโอกาสของเรานะ ไม่ใช่ว่าซาดิสก์นะ หลอกให้คนมาทุกข์มายาก เฮ้ย มาเถอะมาตากแดดตากฝน ไม่ใช่ ไม่ใช่ ถ้ามีทางอื่นดีกว่านี้นะ ถ้าติดห้องแอร์ทำให้ได้ กูจะติดแอร์ให้หมดเลย ติดแอร์เสร็จแล้วเป็นพระอรหันต์หมดเลย กูจะลงทุนให้ มันก็ไม่ใช่ มันเป็นไปไม่ได้ไง
เอ็งจะเทศน์บ้างเหรอ เอาเนอะ เอวัง เอวัง