ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ประวัติหลวงปู่มั่น

๑๑ ม.ค. ๒๕๕๒

ประวัติหลวงปู่มั่น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต


ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

จะพูดเรื่องนี้แหละ เพราะเมื่อวานเขาเอาอันนี้มาให้ แล้วเขาพูดถึงเห็นไหม บอกญาติพี่น้องจะไปซื้อหนังสืออ่าน เขาจะไปซื้อหนังสืออ่าน แล้วคนที่เอารูปนี้มาให้ บอกว่า หนังสือของหลวงตาทำไมไม่อ่านล่ะ? ทำไมไปซื้อหนังสือธรรมะนี้มาอ่าน หนังสือธรรมะนี่นะคนเขียน วุฒิภาวะคนเขียนมันเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ

แต่ดูสิ เราเห็นสภาพแบบนี้เราก็คิดถึงหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ตื้อท่านอยู่บนเขานะ ท่านไปเทศน์สอนลูกศิษย์แล้วท่านก็เดินลงจากเขามา พอเดินลงจากเขามาท่านระลึกได้ว่าท่านพูดผิดอยู่คำหนึ่ง ท่านเดินขึ้นเขาไปนะ ไปบอกลูกศิษย์บอกคำพูดคำนั้นน่ะผิด ลูกศิษย์ก็เคารพมากไง บอกหลวงปู่

“หลวงปู่มาบอกเมื่อไหร่ก็ได้ ทำไมต้องขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง เหนื่อยน่ะ”

“ไม่ได้ ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวท่านไปบอกคนอื่น”

เพราะทิ้งช่วงไปพอละข้อมูลไปใช่ไหม ข้อมูลนี้ก็ต้องกระจายออกไป ผิดหนึ่งผิดสองผิดสามผิดสี่ ท่านไม่ยอม ท่านขึ้นไป นี่พูดถึงหลวงปู่ตื้อนะ นี่หลวงปู่ตื้อท่านทำเป็นตัวอย่าง

แล้วพอมาเจอ ตอนที่หลวงตาท่านเขียนหนังสือ จริงๆ หลวงตานี่นะถ้าเป็นพระองค์อื่นนะ เขาจะถือทิฐิมาก เป็นองค์อื่นนะเพราะอะไร? เพราะเป็นที่ไว้วางใจของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเอาผ้าห่มมาบังสุกุลให้ หลวงปู่มั่นเอาอาหารใส่บาตรให้

องค์อื่นนะจะบอกว่าหลวงปู่มั่นให้ผ้าไตร หลวงปู่มั่นให้นู่น จะไปโฆษณาทั้งนั้นน่ะ แต่มันไม่เป็นความจริง แต่ของหลวงตานี่นะหลวงปู่มั่นทำให้จริงๆ แล้วท่านไม่เคยพูดเลย เงียบ เพิ่งมาเปิดเอาตอนช่วงหลังๆ ช่วงหลังคือว่าหมายถึงว่าท่านมีศักยภาพ เหนือสิ่งที่ท่านพูดแล้ว เหนือสิ่งที่ท่านพูดนะท่านถึงเอาสิ่งนี้พูดออกมา แต่พวกเรานี่มันไม่มีใช่ไหม

แล้วบอกว่าถ้าเป็นคนอื่นนะ จะเขียนด้วยความเห็นของตัวก็ได้ เพราะตัวเองเป็นที่ไว้วางใจของหลวงปู่มั่นใช่ไหม แล้วหลวงปู่มั่นก็เป็นคนถามด้วยว่า “หมู่คณะเคยคิดไหม ว่าจะทำอะไรบ้าง?” เพราะอะไร? เพราะเราสอนไว้มากไง คืออยากจะให้เขียนหนังสือ แล้วท่านก็บอกว่า “ท่านคิดอยู่” คือท่านพูดถึงตามโลกนะ ท่านมีสิทธิ์หลายๆ ประเด็นมาก

ประเด็นหนึ่งคือเป็นที่ไว้วางใจ ประเด็นหนึ่งคือเป็นผู้ที่รับปาก คือหลวงปู่มั่นพูด แล้วท่านเป็นคนตอบหลวงปู่มั่นว่า “คิดอยู่ๆ แล้วจะเขียน” คือว่า เหมือนกับเรารับลิขสิทธิ์มาหมดเลย แต่เวลาท่านเขียนขึ้นมา ท่านพูดเองนะ เวลาท่านเล่าให้หมู่ฟังน่ะ บอกว่าเริ่มต้นตั้งแต่หลวงปู่มั่นมา ท่านก็ค้นคว้าหาข้อมูล

แล้วตอนที่ท่านอยู่ที่เชียงใหม่ หลวงตาท่านก็อยู่ที่วัดเจดีย์หลวงเหมือนกัน แต่ไม่ได้ออกปฏิบัติใช่ไหม ก็จับให้พรรษาชนพรรษาน่ะ คือจำพรรษา พรรษานี้ใครจำพรรษากับหลวงปู่มั่นก็ไปหาข้อมูลจากองค์นั้น แล้วได้มาแล้วก็ยังมาตรวจทานมาอะไร เขียนออกมา แล้วบางอย่างข้อมูลบางอย่าง ท่านไม่ให้ออกมา

ดูอย่างเช่น เช่นที่ว่าหลวงปู่มั่นโดนจับที่อุบลฯ เห็นไหม ที่โดนจับที่อุบลฯ ที่โดนตรวจใบสุทธิใบอะไร เพราะอันนี้มันอยู่ในรูปปั้นดินเผาที่เจดีย์หลวงปู่ฝั้นน่ะ มีนะที่ว่าเจ้าคณะจังหวัดไปจับ จับอะไรนี่ ที่รูปจิตรกรรมฝาผนัง เนี่ย มี เพราะเรื่องนี้มันก็เป็นเรื่องพื้นๆ

แต่ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ “สิ่งใดมันเขียนแล้วมันกระทบกระเทือนกันสิ่งนั้นไม่ดี สิ่งใดเขียนแล้วสมานกันเพื่อความสามัคคี เพื่อหมู่คณะเพื่อความเป็นไปของสังคม สิ่งนั้นดี”

ดูถึงวุฒิภาวะของผู้ที่ทำคุณประโยชน์สิ

๑. ตัวเองไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

๒. สิ่งใดถึงเป็นความจริงแต่มันกระทบกระเทือนคนอื่นก็ไม่เอามาเขียน

แล้วเขียนออกมามันเป็นประโยชน์มาก แต่หนังสือประวัติหลวงปู่มั่น เราถึงบอกประวัติหลวงปู่มั่นถ้าเอามาให้เรานะ เราจะดูนามปากกา นามปากกาคือคนเขียนไง ถ้าคนเขียนหลวงตาท่านพูดอย่างนี้บอกว่า “ถ้าไม่รู้เขียนไม่ได้” ถ้าเราไม่รู้ไม่รู้สภาวะที่มันเป็นไป เราจะอธิบายได้อย่างไร?

แล้วมันก็มีนะ มันเข้ากับไอ้นี่ เข้ากับรำลึกวันวานเห็นไหม รำลึกวันวานบอกว่าหลวงปู่มั่น เห็นไหม สำเร็จที่ถ้ำสาริกา อะไรต่ออะไร แล้วก็อ้าง อ้างว่าหลวงปู่มั่น พิจารณาปฏิจจสมุปบาท แต่ของหลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านกำหนดดูว่าเจ้าคุณอุบาลีใช่ไหม เจ้าคุณอุบาลีพิจารณาปฏิจจสมุปบาทที่วัดบรมนิวาสฯ เนี่ย เห็นไหม ในข้อเท็จจริง

หลวงปู่มั่นจิตท่านรวม แล้วท่านกำหนดจิตไปดูเจ้าคุณอุบาลีพิจารณาปฏิจจสมุปบาท แต่คนอื่นไปเขียนว่า หลวงปู่มั่นพิจารณาปฏิจจสมุปบาทที่นั่น คนมันไม่เข้าใจไง เพราะอะไร? เพราะว่าพวกอย่างนี้ มันเหมือนกับเรา ในการศึกษามันเป็นระดับใช่ไหม? จากประถม จากมัธยม จากอุดมศึกษา จากปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก

การปฏิบัติก็เหมือนกัน ขั้นของพื้นฐานแล้วขั้นของสติ ขั้นของโสดาบัน ขั้นของสกิทา ขั้นของอนาคา มันเป็นพื้นฐานมันคนละระดับ ทีนี้ปัญญาระดับอย่างไร มันใช้คนละระดับ ถ้าไม่รู้ ตรงนี้มันแยกไม่ถูก มันแบ่งแยกไม่ถูกว่าสเต็ปมันเป็นอย่างไร? ขึ้นพื้นฐานมันเป็นอย่างไร? เพราะเราไม่รู้นี่ไงไม่รู้เขียนไม่ได้

ถ้าเขียนมันจะสับสนตรงนี้ไง คือเอาปลายมาเป็นต้น เอาต้นมาเป็นปลายมันพลิกกลับพลิกกัน แต่ถ้ามันเป็นธรรมดา มันต้องขึ้นจากต้นไป จากต้นมันขึ้นไปๆ มันก็สูงไป นี่มันไม่เป็นน่ะ ถ้าคนไม่รู้เขียนไม่ได้

ทั้งๆ ที่รู้นะ เห็นอย่างนี้แล้วมันซึ้งใจ มันซึ้งใจที่ว่า หมู่คณะเคารพผู้ใหญ่ เคารพสิ่งที่ครูบาอาจารย์ไปศึกษามา แล้วมันเขียนออกมามันเป็นประโยชน์หมดนะ เวลามันอ่าน อ่านจะเป็นประโยชน์มาก แล้วเป็นประโยชน์ขณะที่ปฏิบัติไปมันยังมีไอ้นี่ อย่างแบบว่าประสบการณ์อย่างที่ไปอยู่ในป่าแล้วเห็นอะไร? พบอะไร? ท่านเอามาเป็นธรรมะเห็นไหม

เวลาเขียนออกมาเป็นธรรมะ เพราะอะไร? เพราะท่านเอาความรู้สึกของท่าน เวลาท่านอยู่ในป่า ไปประสบการณ์อะไรขึ้นมามันซึ้งใจขนาดไหน? เขียนออกมาแล้วเราอ่าน แต่ถ้าเป็นสำนวนอื่น มันเขียนแบบว่า ถ้าพูดถึงที่มามันก็ลอย เราดูแล้ว เราดูแล้ว แล้วยิ่งมาตอนหลังๆ นี่เห็นไหม ตอนหลังๆ ที่ว่าจะไปดัดแปลงแก้ไข ต่อไปนี้มันจะมีปัญหา ปัญหาตรงนี้

ถ้าปัญหาตรงนี้ปั๊บนะ ต่อไปธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือธรรมะของครูบาอาจารย์มันจะเป็นประเด็นหนึ่ง มันเหมือนกับผู้ชนะสิบทิศเลย บุเรงนองมีไหม? มี แล้วกูก็เขียนเต็มที่เลยนะ ผู้ชนะสิบทิศเห็นไหม นิยายอิงประวัติศาสตร์

ถ้าพูดถึงคนอื่นเขียนมันก็เขียนธรรมะอิงนิยาย อิงนิยายคืออิงความเห็นของตัวไง เพราะมันอิงความเห็นของตัว มันไปแล้วเราไปอ่านนะ แล้วเราเองน่ะ เราเองน่ะเสียหาย เราเองน่ะออกนอกลู่นอกทาง แต่ถ้าเราอ่านอย่างนี้ปั๊บ มันเป็นหลักเกณฑ์เลย มันเป็นหลักฐานเลย หลักเกณฑ์แล้วเราทำตามนั้น เราทำตามนั้นแล้วมันจะเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ไม่เป็น ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร? เพราะว่าหลวงปู่มั่นหลวงปู่ชอบ เวลาท่านสวดมนต์นะ หลวงปู่ชอบสวดมนต์อยู่ที่ถ้ำที่เพชรบูรณ์น่ะ ท่านสวดเบาๆ เห็นไหม พอสวดเบาๆ เวลาท่านจะธุดงค์ไป เทวดามาขอร้องไม่ให้ไป บอกว่าเวลาหลวงปู่ชอบสวดมนต์มันกังวานไปหมดเลย กังวานไปทั่ว

แล้วหลวงตาท่านก็ถามหลวงปู่ชอบว่ากังวานไปทั่ว หลวงปู่ชอบสวดมนต์ออกเสียงดังขนาดไหน? ท่านก็บอกว่าท่านก็ออกนึกในใจนี่แหละ เพราะอยู่คนเดียวเราตะโกนเราก็บ้านะสิ แต่มันกระเทือนไปทั่ว นี่คุณสมบัติของท่าน คุณสมบัติของหลวงปู่มั่น คุณสมบัติของหลวงปู่ชอบ คุณสมบัติไง

แล้วคุณสมบัติของพระอรหันต์นี่บางองค์มันไม่เหมือนกัน ทีนี้พอไม่เหมือนกัน เราจะปฏิบัติแล้วจะให้เหมือนอย่างนั้นน่ะมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราทำเราเอานั่นเป็นหลักเกณฑ์ อย่างเช่นที่มหายานเขาติเตียนเถรวาทบอกว่าท่องจำๆ เขาบอกท่องจำมันไม่เกิดปัญญา แต่การท่องจำ ท่องจำคือทฤษฎีคือขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเราทำตามนั้นมันซึ้งถึงนิพพานนะ ถึงนิพพานถึงที่สุดเลย แต่ถ้าเราไปคิดของเรากันเอง อาจริยวาท อาจริยวาทคือเชื่อตามครูบาอาจารย์ไง พอเชื่อตามครูบาอาจารย์ไปเห็นไหม อาจารย์สอนอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น พออาจารย์สอนไป ไปถูกทางไหม? ถ้าไปไม่ถูกทาง นิพพานเป็นอย่างไร? นิพพานก็เป็นความเห็นของตัว

บอกว่ามหายานคือรื้อสัตว์ขนสัตว์ พวกเราเถรวาท พวกนี้เห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวนะ เห็นแก่ตัวถ้าทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งทุกข์เห็นไหมมันสอนได้จริง แต่ถ้าเป็นอาจริยวาทมันทำตามความเชื่อ ดูสิ นิพพานนะยังมีพุทธเกษตรอีก นิพพานยังมีชนชั้นนะ นิพพานทางพุทธเกษตรทางฟากตะวันตกเหนือกว่านิพพาน

แล้วนี่นิพพานเห็นไหม ดูสิ ที่เขามาหาหลวงตาเห็นไหม ด็อกเตอร์อะไรที่มาจากมาเลเซียน่ะ เขาเป็นมหายานมาก่อน เขามีความเชื่อฝังหัว บอกว่าพระอรหันต์กลับมาเกิดได้ พระอรหันต์กลับมาเกิดได้ หลวงตาบอก “เป็นไปไม่ได้” พอหลวงตาพูดไป เขาช็อกเลยนะเรื่องที่ว่าพระอรหันต์กลับมาเกิดได้อีก

ถ้าพระอรหันต์กลับมาเกิดได้อีก พระอรหันต์กับปุถุชนก็เหมือนกันนะสิ พระอรหันต์กลับมาเกิดอีกไม่ได้ กลับมาเกิดอีกไม่ได้ พระอรหันต์สิ้นกิเลสไปแล้วมันไม่มีภพไม่มีชาติไม่มีเชื้อไขอะไรมาเกิด แต่พระอรหันต์มาอนุโมทนากับผู้ที่ปฏิบัติได้ไหม? ถ้าไม่ได้ ในประวัติหลวงปู่มั่น ทำไมพระพุทธเจ้า ทำไมพระอรหันต์มาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่นล่ะ

พระอรหันต์มีอยู่ ไอ้คำว่ามีอยู่นี่ มีอยู่ในพระอรหันต์มีอยู่แบบวิมุตติ มันไม่ใช่มีอยู่แล้วจะแสดง มันแสดงออกอย่างเรานี้มันเป็นเรื่องสุดวิสัย แต่ แต่สมมุติถ้าเราเข้าสมาธิ เราเข้าสมาธินะ แล้วเราใช้ปัญญาของเรา เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะจิตของเรามันไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกปัจจุบันนี้ มันเหมือนกับเราเข้าสมาธิ เห็นไหม

มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนคือใจ มโนวิญฺญาเณปิ มโนสัญเจตนาหาร มโนสัญเจตนาหารนะ อาหาร ๔ อาหารคือคำข้าว เราเอาข้าวมาตั้งโดยสามัญสำนึก แม้แต่เอาอาหารมาตั้งให้สัตว์ สัตว์ยังกินเลย เพราะสัตว์มันรู้นี้คืออาหารของมัน วิญญาณาหาร ในเทวดา อินทร์พรหม ก็สืบต่อกัน ด้วยสามัญสำนึกของเขา ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร มโน มโน มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนเราทำลายมโนคือทำลายใจหมดแล้ว

ถ้าใคร เราถึงบอกว่าพระอรหันต์ไม่มีจิต พระอรหันต์ไม่มีใจนะ ถ้าพระอรหันต์มีใจ ใจนั้นคือตัวภพ ถ้าทำลายตัวภพทำลายตัวรากฐานนั่นคือพระอรหันต์ ทีนี้พระอรหันต์ไม่มี แต่ สอุปาทิเสสนิพพาน สิ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ เรากำหนดจิตเข้าไปนั่นคือตัวมโน คือตัวจิต คือตัวสมาธิ พระอรหันต์สื่อเข้ามา สื่อเข้ามาเห็นไหม สื่อเข้ามา

พอสื่อเข้ามา นั่นแหละสัมผัสกันได้ มันเป็นความสัมผัสในวัฏฏะ เพราะวัฏฏะมันยังมีอยู่ นี้พระอรหันต์มีอยู่ แต่มีแบบพระอรหันต์ ไม่มีแบบจินตนาการไง ไม่มีแบบนิยายไง เขียนกันไปแบบนิยาย มันไม่เคยเห็น มันไม่รู้ นี่ไม่รู้เขียนไม่ได้ ไม่รู้ตอบปัญหาไม่ได้ แต่เขาก็ตอบเขาก็ทำกันนะ แล้วทำให้มันเสียหาย เสียหายมาก เสียหาย เรายืนยันกันด้วยทางทฤษฎีน่ะ

สิ่งที่ทฤษฎีน่ะ เวลาเขียนออกไปมันเขียนผิด มันออกไปผิด ของเขานะในรำลึกวันวานเห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกเลยว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตรัสรู้แล้วนะ อย่างที่เขาเทศน์กันน่ะ ตรัสรู้แล้วก็ยังไม่เข้าใจว่าตรัสรู้ ต้องกำหนด หมายถึงว่าตรัสรู้แล้วหรือก่อนจะตรัสรู้นี่ ตอนที่ลอยถาดไป เป็นพระอนาคา

พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้เป็นพระอนาคาได้อย่างไร? ในคำที่เขาพิมพ์กันออกมาน่ะ มันขัดแย้งกับข้อเท็จจริง พอมันขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ตอนนี้นะครูบาอาจารย์เรายังอยู่เวลาโต้แย้งออกมาครูบาอาจารย์เรายังอยู่นะ ถ้าต่อไปนะมันเหมือนกับประสาเรานะ เอกสารทางหนังสือทางหลักฐาน มันจะมาถอนรากเหง้าพวกเราเอง รากเหง้าพวกเรา จะโดนถอนหมดเลย โดนถอนว่าพระกรรมฐานนี่ซื่อบื้อ พระกรรมฐานนี่หลวงปู่มั่นสอนผิดๆ อย่างนี้หรือ

เมื่อก่อนเราวิตกกังวลกับเรื่องนี้มากว่าเอกสารที่เราทำกันมันจะมาถอนโคน ถอนรากถอนโคนพวกเรากันเอง ว่าพวกเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เอาความเห็นแปลกๆ ประหลาดมาถอนรากถอนเหง้าของเรา แล้วเราก็อยากจะให้มันถูกต้องไง เราพยายามเสนอขึ้นไปที่หลวงตา หลวงตาบอกว่า “ขี้น่ะมันเหม็น อย่าไปคุ้ยมัน ถ้าขี้ไม่คุ้ยมัน กลิ่นมันก็จะจางไปเอง ยิ่งไปคุ้ยมันมันก็ยิ่งเหม็น” ยิ่งเขาเขียนผิด รากเหง้านี่มันผิด ยิ่งเราไปพูดมันก็ยิ่งกระจายไปเพราะมันเป็นทิฐิ มันเป็นมานะเห็นไหม

ย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมากรรมของสัตว์ มันเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของวุฒิภาวะ สังคมมันมีหลายหลาก แล้วสังคมอย่างนี้ มันก็ทำให้กดให้สิ่งนี้ต่ำลง แล้วเราเองสังคมเขาก็สังคมเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่เราไม่สามารถบัญชาการสังคมทั้งหมดได้ นี่สังคมมันเป็นอย่างนั้นเห็นไหม

แล้วนี่ออกมาเห็นเขาทำกันน่ะมันเหมือนกับว่าทั้งๆ ที่รู้ เพราะมีอยู่นะ มีอยู่ในรำลึกวันวานน่ะ เขาเขียนใช่ไหมว่าเขาเป็นพระพรรษา ๒ แล้วไปขอ ไปขอหลวงปู่มั่น ไปขอเป็นผู้สร้างกุฏิหลวงปู่มั่น เขาเขียนเองนะเราอ่าน แหม พระ ๒ พรรษามีความกล้าหาญ กล้าขึ้นไปขอหลวงปู่มั่นสร้างกุฏิ

แต่พอมาถึงประวัติที่หลวงตาเขียน หลวงตาท่านเล่าบอกว่ากุฏิหลวงปู่มั่นนั่นน่ะ ผู้ที่ขึ้นไปขอคือหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นขึ้นไปขอหลายรอบ ไปอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนอีกจนหลวงปู่มั่นยังไงก็ไม่ให้ พอไม่ให้ปั๊บหลวงปู่ฝั้นท่านใช้อุบาย บอกว่าหลวงปู่มั่นเป็นที่เคารพบูชาของสังคมของชาวหนองผือ ชาวหนองผือขอสร้างกุฏิไว้เป็นที่ระลึกถึง

นี่ไงใช้อุบายนะว่าเป็นที่เคารพบูชา ก็อยากจะสร้างสิ่งที่เป็น เพื่อพักอาศัยของหลวงปู่มั่นด้วย แล้วก็สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชาวหนองผือด้วย ท่านถึงเงียบๆ ท่านไม่ได้อนุญาตนะ ท่านนิ่งๆ ท่านนิ่งๆ หลวงปู่ฝั้นก็สร้างเลย

คนที่จะขึ้นไปสัมผัสกับหลวงปู่มั่นมันไม่ใช่ว่าขี้ครอกอย่างพวกเราจะเข้าไปได้หรอก มันต้องคนมีปฏิภาณต้องคนมีปัญญาแล้วต้องคนมีสติ เพราะ เพราะท่านจะไล่ หลวงปู่มั่นหรือหลวงตาลองเข้าไปถามปัญหาสิ ลองเข้าไปคุยด้วยสิ ท่านจะถามกลับทันทีเลย ทำไม เหตุใด ทำไมถึงทำอย่างนั้น? แล้วทำไมถึงจะต้องทำ? ต้องตอบให้ได้

ถ้าตอบไม่ได้เราไม่มีปัญญาท่านไล่เลย คนจะขึ้นไปหา แต่ในหนังสือเขาเขียนของเขาอย่างนั้น พอเขาเขียนแล้วเราอ่านแล้วเราไปเห็นว่าเขาเขียนประวัติหลวงปู่มั่นกันเพื่อมาเชิดชูตัวเขา แต่ครูบาอาจารย์ของเราเขียนประวัติของหลวงปู่มั่นเพื่อเชิดชูสังฆะ เชิดชูสิ่งที่เป็นครูบาอาจารย์เราไว้ให้เป็นรากเหง้า เป็นที่พึ่ง เป็นที่เกาะยึดเหนี่ยวของพวกเรา

ถ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยวของพวกเรามันต้องเขียนให้เป็นข้อเท็จจริงเพราะ เพราะสังคมมันหลากหลายนะ วุฒิภาวะของใจของแต่ละบุคคลมันหลากหลายมาก แล้วพวกหลากหลายเขาเข้ามาศึกษา มันจะมีมุมมองแตกต่างกันมากถ้าของเราไม่จริง ของเราไม่จริง ของเราไม่หนักแน่นมั่นคงเขาจะมีข้อโต้แย้ง

คำว่าข้อโต้แย้งนี่สำคัญมากนะ ถ้าเขามีข้อโต้แย้ง เขาโต้แย้งมา ถ้าเขาโต้แย้งมานี่เพราะทิฐิมานะของเขา ถ้าแล้วของจริงข้อโต้แย้งนี้ต้องผิด ถ้าข้อโต้แย้งต้องผิดวันเวลามันจะพิสูจน์กัน ถ้าวันเวลาพิสูจน์กัน เวลาถึงเวลาน่ะวุฒิภาวะ อย่างเรา เรายังมีความเห็นผิดอยู่ เรายึดทิฐิมานะเราว่าเราถูก เราก็ยังยืนกระต่ายขาเดียวไป

แต่ถ้าเราปฏิบัติไป ปฏิบัติไปหรือเราใช้ปัญญาของเราไป สักวันหนึ่งเราจะ อ๋อ.. แล้วมันสะเทือนใจ มันจะก้มลงกราบ กราบ กราบ กราบ กราบอย่างนั้นเลยล่ะ แต่ถ้าใจมันยังแข็งอยู่นะ ใจมันยังทิฐิอยู่นะมันว่ามันถูกไปตลอด อย่างนั้นแหละข้อเท็จจริงอันนี้มันถึงต้องมั่นคงไง แล้วให้เขาพิสูจน์ให้เขาพิสูจน์มา ใครว่ามีแนวความคิดดีๆ ใครว่ามีทิฐิมานะ ที่มีปัญญาดีๆ ให้มันพิสูจน์มา ความจริงคือความจริง

แล้วความจริงเราจะบอกว่า ไม่ใช่เราเขียนตามความเป็นจริงแล้วจะไม่มีใครติเตียนนะ ถึงเป็นความจริงแต่วุฒิภาวะของเขาไม่ถึง เขาไม่สามารถรู้ความจริงนั้นได้ ถ้าเขาไม่สามารถรู้ความจริงนั้นได้ เขาบอกความจริงนั้นไม่มี ความจริงนั้นไม่มี ความจริงนั้นไม่เป็นความจริง

แต่วันใดวันหนึ่งถ้าเขาปฏิบัติไปถึงความจริงอันนั้นนะ เขาจะก้มลงกราบนะ เขาจะก้มลงกราบเลย เพราะอะไร? เพราะมันไปสัมผัสแล้ว มันเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ด้วยใจของเราที่ปฏิบัติไป มันเถียงไม่ขึ้น มันเถียงไม่ขึ้นแล้วมันซึ้งใจด้วย มันจะย้อนกลับมาเพราะอะไร? เพราะมันเป็นใจของเราที่ไม่มีการโต้เถียง ความคิดมันยังโต้เถียงนะ ถ้าใจสัมผัสมันจะโต้เถียงกับใคร

เหมือนกับเราเอาหัวชนภูเขาแล้วเรายอมรับว่าภูเขามันมีไหม ในเมื่อเราเอาหัวไปชนภูเขาแล้วภูเขามันมีอยู่แล้ว เพราะความเห็นผิดเราเองเราว่าภูเขามันไม่มี พอมีแล้วมันจะก้มลงกราบซึ้งใจมากนะ ถ้าเป็นความจริงมันเป็นอย่างนั้น

เราถึงเห็นครูบาอาจารย์ท่านทำ ท่านทำเพื่อใคร? ท่านทำเพื่อลูกหลาน เหมือนพระกัสสปะเลย พระกัสสปะเป็นพระอรหันต์ถือธุดงควัตรตลอดเวลา จนพระพุทธเจ้าถาม

“กัสสปะเธอก็มีอายุปานเรา ๘๐ ปีเหมือนกัน ก็เป็นพระอรหันต์แล้วทำไมต้องถือธุดงควัตรล่ะ?”

พระกัสสปะบอก “ข้าพเจ้าไม่ได้ถือเพื่อข้าพเจ้าเลย”

เพราะเป็นพระอรหันต์มันหมดความสงสัยหมดแล้ว มันหมดสิ้นในทิฐิมานะหมดสิ้นหมดแล้วใจมันพ้นไปแล้ว

“แต่ข้าพเจ้าทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้มีคติแบบอย่าง ได้มีคติเป็นตัวอย่างได้มีชื่อที่ประพฤติปฏิบัติ”

ท่านทำเพื่อใคร? ทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง พระกัสสปะบอกทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังนะ ครูบาอาจารย์เราทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ทำเพื่อคนประพฤติปฏิบัติมันมีแนวทางของมันมา จะผิดจะถูกไม่ฟังเสียงโลก ไม่ฟังเสียงสังคม เพราะสังคมน่ะมันสังคมของกิเลส สังคมของโลก สังคมของความเห็นแก่ตัว สังคมของทิฐิมานะ สังคมของคนเอารัดเอาเปรียบ

สังคมคือสังคม ไม่ฟัง ไม่ฟัง เอาหลักธรรมเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง แล้วใครเข้าถึงธรรมล่ะ แล้วธรรมมันมาจากไหน? ธรรมมาจากไหน? ทั้งๆ ที่ท่านหลวงตาน่ะใจท่านเป็นธรรมอยู่แล้วนะ ทำไมท่านเขียนแล้วเพราะอะไร? เพราะมุมมองไง มุมมองถึงเป็นธรรม

เป็นธรรมของหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบท่านประสบการณ์ของท่านก็อย่างหนึ่ง ธรรมของหลวงปู่ขาวประสบการณ์ของท่านก็อีกอย่างหนึ่ง ธรรมของหลวงปู่พรหม ธรรมของหลวงตา ธรรมของหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านไปถามหมดนะ ท่านไปถามหมดแล้วท่านเขียนให้ด้วย เขียน ถามเสร็จแล้วก็อัดเทปมา อัดเทปมา ก็เขียนเป็นต้นฉบับแล้วก็ไปให้ตรวจทาน ถูกไหม ถูกไหม ถูกแล้วท่านก็มาทำต่อ

แล้วตอนพิมพ์ครั้งแรก มันพิมพ์ลงในศรีสัปดาห์แล้วท่านสั่งเลย สั่งไอ้พวกตรวจบรู๊พ บอกว่า “ห้ามแก้ไข ห้ามแก้ไข ห้ามดัดแปลงทุกอย่าง ไม่ต้องตรวจพิมพ์ไปตามนั้นเลย” เพราะอะไร? นี้เป็นสิ่งที่กลั่นกรองมาจากพระอรหันต์เป็นสิบๆ องค์แล้ว

อย่างพวกมึงน่ะมีอะไร? ใครจะมาแก้ไข ใครจะมาแก้ไขความเห็นของพระอรหันต์เป็นสิบๆ องค์ ทำอย่างนี้ทำเพื่อใคร? ทำเพื่อใคร? แล้วหนังสืออย่างนี้มันมาแล้วเราถึงเห็นนะ ประวัติหลวงปู่มั่นเล่มเล็กน่ะ แก้ไขเรียบเรียงน่ะ แหม พอเห็นแล้วอยากจะเผาทิ้งเลยนะ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้พระอรหันต์เป็นสิบๆ องค์น่ะ จัดการมาเสร็จแล้วน่ะมึงมาแก้ไขเรียบเรียงมึงเป็นใคร

เราไม่กล้าคิดอย่างนี้นะว่าพวกเราจะมีมุมมองอย่างนี้ได้ จะมีความคิดอย่างนี้ได้ ความคิดอย่างนี้ เพราะหลวงตาท่านกลั่นกรองมาขนาดไหน ท่านกลั่นกรองของท่านมาแล้วนะแล้วยังมีครูบาอาจารย์คอยกรองอีกชั้นน่ะ แล้วออกมาเป็น โธ่ เรื่องของกิเลสมันไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ เรื่องของกิเลสนี่มันเรื่องความยึดมั่น เรื่องทิฐิมานะไม่ธรรมดาหรอก

แล้วทิฐิพระ พระที่บวชมาแล้ว แล้ว ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษา ๓๐ พรรษา ทำคุณงามความดีในสังคมของพระคือโลกสมมุติได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณ ทิฐิมันจะขนาดไหน พระป่าเราไปบวชมากี่พรรษาก็แล้วแต่ ประพฤติปฏิบัติมา เป็นพระบ้านนอก เป็นพระไม่มีหัวโขน พูดออกมามันด้วยสัจธรรมอันนั้นไปแทงหัวใจเขา เขาก็ฟังอยู่

แต่ฟังแล้วมันก็เกิดว่ากูแน่กว่ามึง มึงไม่มีศักยภาพรองรับมึงจะมาสอนกูไม่ได้ นี้เราต้องพิสูจน์ไง สิ่งที่ออกมาเป็นต้นแบบ ออกมาเป็นที่ยึดเกี่ยวของสังคมมันถึงต้องชัดเจน แล้วมันประสาเรานะ อย่างถ้าหลวงตาท่านยังอยู่ มาสิ ตอบ แย้งมา แย้งมาว่ามันผิดถูกตรงไหน ท่านสามารถยังโต้แย้งได้ แต่ท่านล่วงไปแล้วนะ

เรามองโลกอย่างนี้ ฉะนั้นพอเราเห็นตำราเห็นคนเขียนหนังสือมา เมื่อก่อนนั้น โอ้โฮ แรงกว่านี้นะ เห็นอะไรมานี่ไม่ได้ ฟิวส์ขาดเลย พอดีหลวงตาท่านเหยียบมาไง ท่านกระทืบมา ขี้มันเหม็นน่ะ อย่าไปคุ้ยมัน คือไปคุ้ย ไปคุ้ยคือไปโต้แย้ง มันทำให้สังคมเริ่มมีความสนใจ คนยิ่งจะไปสนใจข้อมูลของเขา โลกมันเป็นอย่างนี้

อย่างเช่นมันมีประเด็นอะไรขึ้นมามันมีการโต้แย้งกัน ทุกคนอยากศึกษาใช่ไหม? แต่ถ้า มันผิดมานะมันก็กรรมของสัตว์ ถ้าสัตว์คนไหน สัตว์ตัวไหนมันเชื่ออย่างนั้น เราก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึงเขามีความเห็นต่างและต้องการคำยืนยัน เออ คุยกันได้ มีความเห็นต่างนะแล้วอยากยืนยันว่า มันถูกต้องชัดเจนอย่างไร มาคุยกันได้

คือเขามีมุมมองแล้ว เขาเปิดแล้วใจเปิด ใจเขาเริ่มยอมรับมันคุยกันได้ แต่ถ้าใจเขาไม่ยอมรับ ใจเขาไม่ยอมรับด้วยแล้วเขายึดของเขา แล้วเราไปพูดน่ะ มันก็ เห็นไหม

เมื่อก่อนนะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้เราเอามาใช้บ่อยว่าโรคตาแดงน่ะเห็นใครดีไม่ได้ อิจฉาเขาหมดเลย โรคตาแดงเห็นใครได้ดีไม่ได้มันตาแดงแล้ว ทีนี้พอเราไปว่าเขาเราคิดว่าเราจะทำประโยชน์น่ะเขาก็ว่าเราตาแดงไง เขาว่าอิจฉาเขา เขามองกลับนะ เขาไม่มองว่าเราจะให้ข้อมูล เราจะพูดมาเพื่อ เราจะพูดกันเพื่อสื่อสารกันด้วยข้อมูล แต่เขาบอกว่าอิจฉา

อิจฉาเพราะอะไร? อิจฉาเพราะข้อมูลเราเหนือกว่าไง อิจฉาเพราะเราคุยด้วยข้อมูลแล้วเรากินดิบเลย กินดิบเลย เหตุกับผลรวมลงเป็นธรรม เพราะกรณีอย่างนี้มันสะเทือนใจ ไปเห็นปั๊บนี่มันอยากได้มาก เพราะหลวงตาท่านพูดเล่าให้ฟังหลายๆ อย่าง แล้วเราออกมาในสังคมนี้แล้วหนังสือมันจะออกมา ออกมา แล้วคิดแบบเรานะ ไม่คิดแบบโยม

คิดแบบเรานี่ หนังสือของหลวงตา หนังสือหลวงตานะ หลวงตานี่นะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาอย่างเช่นมูลนิธิหลวงปู่มั่น เขาถวายหลวงตานะ หลวงตารับไว้เพื่อพระเจ็บไข้ได้ป่วยมานะ นี่ใครเป็นคนสร้าง ก็หลวงตาเป็นคนสร้าง ศักยภาพของพระกรรมฐาน ถ้าหลวงตาไม่มีหนังสือหลวงปู่มั่นมา ไม่มีหนังสือปฏิปทามา เขาจะมีหลักเกณฑ์อะไร?

หลวงตาสร้างหลักสร้างเกณฑ์มาตลอดเลย พอสังคมเชื่อถือแล้ว ของเขานะรำลึกวันวานเราไปดูเบื้องหลังน่ะ เบื้องหลังเขาเคยพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ แล้วแจกไม่มีใครเอา เพราะแจกในนามปากกาเขาไม่มีใครสนใจ สุดท้ายแล้วเขาวางแผนกันวางแผนกันน่ะให้พิมพ์ใหม่แล้วให้พิมพ์ในนามของมูลนิธิหลวงปู่มั่น แม้แต่พิมพ์ก็ยังต้องอิงหลวงปู่มั่น พิมพ์ในนามมูลนิธิหลวงปู่มั่น แล้วโทษนะ พิมพ์เสร็จแล้วนะ เอาไปแจกที่สวนแสงธรรม เศร้าไหม

พิมพ์เสร็จแล้วเอาไปแจกที่สวนแสงธรรม นั่นคือว่า ประสาเราว่าเขาไม่มีศักยภาพเลยก็อิงทั้งหมดเลยนะ พิมพ์เสร็จแล้วไปแจกที่สวนแสงธรรม ตอนนี้นะหนังสือใครก็แล้วแต่นะพิมพ์เสร็จแล้วต้องไปแจกที่สวนแสงธรรมหรือไม่ก็ต้องผ่านมือหลวงตา ไปเอาสักเล่มหนึ่งนะให้หลวงตาดูก่อน เสร็จแล้วนะถ้าหลวงตาท่านตามเกณฑ์ไว้นะ เป็นจุดขายเลย หนังสือนี้หลวงตารับประกัน เวรกรรม เวรกรรม อ้าว แล้วทำไมไม่มีศักยภาพกันเลยเหรอ

พูดถึงนะคนที่ทำดีมันจะเป็นคุณงามความดีนะ ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อศักยภาพ ทำเพื่อลูกหลานนะ เพราะคนที่ปฏิบัติน่าสงสารมากนะ ถ้าใครปฏิบัติลองปฏิบัติดูสิ นั่งสมาธิแล้วก็เกือบเป็นเกือบตาย เกิดปัญญาขึ้นมาน่ะก็เป็นปัญญากิเลสบวก ปัญญาที่มีกิเลสบวกนะ เมื่อคืนเราเทศน์ เราเทศน์เรื่องนี้เลยนะ

เราเทศน์ถึงว่าปัญญานี่ ปัญญาศีลสิกขา เทศน์เมื่อคืนนั้นไตรสิกขา ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา แล้วสิ่งที่เขาประพฤติปฏิบัติกันเป็นศีลสิกขา ศีลสิกขาเพราะอะไร? เพราะศีลมันเป็นศีลที่มีข้อวัตร ศีลวัตร ศีลวัตร ศีลคือข้อวัตรปฏิบัติ ทีนี้พอข้อวัตรปฏิบัติเขาปฏิบัติกัน เขาว่าอันนั้นเป็นปัญญา มันปัญญาของขั้นศีลสิกขาไม่ใช่ปัญญา

พอศีลสิกขาเราพูดเลยบอกว่าในครอบครัวกรรมฐาน หลวงตาท่านพูดบ่อยว่าถ้าหลวงปู่มั่นท่านเทศน์น่ะ ท่านเทศน์ถึงความสงบก่อน ท่านเทศน์ความสงบแล้วขึ้นปัญญาเลย ทีนี้พอเทศน์ถึงความสงบ สงบใช่ไหมเพราะอะไร? เพราะศีลสิกขาพวกเรามีอยู่แล้วไง

พระปฏิบัตินะ พระปฏิบัติข้อวัตรมันเข้มงวด ดูอยู่กับหลวงปู่มั่นทุกอย่างผิดจะผิดทันทีเลย ทีนี้พอมันผิดทันทีศีลสิกขาเราพร้อม คือพวกเรามันพร้อมกำลังมันพร้อม เหมือนนักกีฬามันฝึกมันซ้อมอยู่ตลอดเวลา พอนักกีฬามันซ้อมอยู่ตลอดเวลาร่างกายมันแข็งแรง เทคนิคมันมีอยู่แล้ว มันขึ้นแข่งได้เลย

แต่พวกเราอย่างนี้จะให้ไปแข่งกีฬา มึงจะเล่นอะไรล่ะ ไปเล่นบอลนะวิ่งอ้าปากเลยน่ะ หอบซี่โครงวิ่งไม่ทันเขาน่ะ จะไปเล่นอะไรก็เล่นไม่ได้เพราะไม่ได้ฝึกมา ฉะนั้นก่อนจะเล่นมันต้องลงซ้อมก่อนลงให้ร่างกายแข็งแรงก่อน ทีนี้พอพระ ครอบครัวกรรมฐานสิ่งที่เป็นศีลสิกขามันสมบูรณ์อยู่แล้ว

หลวงตาหรือหลวงปู่มั่นเวลาเทศน์ เทศน์ความสงบเลย เทศน์สมาธิเลย เทศน์ตั้งแต่สมาธิขึ้นไป เขาก็ไปตีความว่าสมาธิไม่สำคัญเพราะเขาคิดว่าสมาธิแล้วถึงมีปัญญาไง เขาถึงเอาว่าการปฏิบัตินั้นคือการใช้ปัญญาแล้วไง แต่เขาไม่เข้าใจว่านั่นเป็นปัญญาของขั้นศีล ไม่ใช่ยังไม่เป็นขั้นสมาธิเลย ขั้นของศีลเป็นขั้นพื้นฐานใช่ไหม

เพราะกรรมฐานเราสิ่งนี้มันมีโดยเป็นพื้นฐาน คือมีเป็นสิ่งปกติอยู่แล้ว พอสิ่งนี้เป็นปกติอยู่แล้วเวลาเทศน์ก็เทศน์สมาธิเลย เทศน์ทำใจให้สงบเข้ามาเลย เขากลับบอกว่าสงบ จิตสงบหรือทำสมาธิไม่มีประโยชน์ เขาบอกต้องใช้ปัญญา แต่ปัญญามันยังไม่เกิด แล้วปัญญาในขั้นของศีลสิกขา (พูดย้ำให้ฟังอีกรอบหนึ่ง เมื่อคืนไม่ได้ฟังมานั่งหลับ)

ปัญญาของขั้นศีลสิกขา แล้วขั้นของสมาธิแล้วถึงเกิดปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญาในขั้นพระพุทธศาสนาคือโลกุตรปัญญา ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากสมอง ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากข้อมูลที่เราคิดกันอยู่นี่ มันเป็นปัญญาจากจิต ปัญญาจากจิตเกิดอย่างไร? ปัญญาจากจิตเกิดอย่างไร? เกิดจากสิ่งพื้นฐานที่เป็นสมาธิ

สมาธิแล้วมันเกิดตรงนั้นขึ้นมาแล้วมันเกิดปัญญา ปัญญาในปัจจุบันเพราะมันเกิดเดี๋ยวนั้น เกิดเดี๋ยวนั้น มันไม่มี ไม่มีระยะห่าง ปัญญาสมองนี่มันมีระยะห่างเพราะความคิดมันต้องมามันต้องมีพลังงานก่อน พลังงานเข้ามาที่สมองเห็นไหม มันเป็นอนาคตไปแล้ว แต่มันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ ในเมื่อมนุษย์นี่มันมีกายกับใจ มันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์

ทีนี้มนุษย์มันคิดอย่างนี้ปั๊บ มนุษย์คิดอย่างนี้มันก็เลยว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา ปัญญา เราเมื่อคืนอธิบายให้ชัดเจนเลยว่า ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาของขั้นศีลสิกขา แล้วทำสมาธิสิกขา แล้วถึงปัญญาสิกขา ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะมันด้วยความเข้าใจ จะว่าเข้าใจผิดมันก็ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องที่กิเลสครอบงำน่ะ

มันเป็นเรื่องว่ากิเลสครอบงำพวกเรา แล้วเรามีอวิชชามีกิเลสครอบงำอยู่ แล้วไปศึกษาธรรมะก็คิดว่าศึกษาธรรมะด้วยความเข้าใจของตัว มันไม่เข้าใจตามหลักความเป็นจริงน่ะ แล้วทีนี้พอไม่เข้าใจตามหลักความเป็นจริงมันไม่มีพระที่รู้จริง ที่อย่างหลวงตาว่า

พระบอกที่หลวงตาบอก “ต้องผู้รู้จริงถึงเขียนได้ ถึงอธิบายได้ ถึงจัดการได้” นี่ถ้าผู้รู้ไม่จริงปัญญาเป็นปัญญาของใคร? ปัญญาอะไร? โอ้ เมื่อคืนพูดเจ็บนะ สัตว์มันก็มีปัญญา ดูสินกแก้วนกขุนทองมันพูดได้ ปัญญาของสัตว์ ไอ้นี่ปัญญาของเราปัญญาของสัตว์มนุษย์ มันไม่ใช่โลกุตรปัญญา เป็นปัญญาไหม? ใช่ หมามันก็มีปัญญานะ

ดูสิหมาแสนรู้มันไล่ มันต้อนวัวต้อนควายได้หมา มันไล่ควายเข้าคอกได้นะ มันมีปัญญาไหม เอาปัญญาอย่างนั้นมาแก้กิเลสกันเหรอ เทียบให้เห็นชัดๆ เลยว่าปัญญาของสัตว์ แต่เอามาศึกษาธรรมะกันนะ

ถาม : ที่ท่านอาจารย์เทศน์เมื่อคืนนะเรื่องศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายขั้นตอนอีกครั้งด้วย

หลวงพ่อ : อธิบายอย่างไรมันก็ไม่ชัดเจนเหมือนเมื่อคืน เมื่อคืนมัน เวลาเราพูดมันเป็นประเด็นใช่ไหม? ประเด็นมันเกิด มันเป็นประเด็นๆ ไป แต่เวลาเทศน์ เวลาเทศน์ ครูบาอาจารย์ท่านจะเทศน์เห็นไหม อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านว่านะ หลวงปู่มั่นหรือหลวงตาเทศน์เหมือนเครื่องบิน เครื่องบินน่ะมันแท็กซี่ก่อน แล้วมันจะขึ้นมันจะเหินขึ้นไป

เวลาเทศน์น่ะ เวลาจะเทศน์แต่ละกัณฑ์มันต้องปรับพื้นที่ เมื่อคืนจะพูดตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตมรรค อรหัตผล เราพูดกับพระบ่อย ผล ๔ โสดาปัตติผล สกิทาคาผล อนาคาผล อรหัตผล ทำไมมันไม่เป็นนิพพานล่ะ ผล ๔ ทำไมไม่เป็นนิพพาน มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ใช่ไหม

ผล ๔ ทำไมไม่ใช่นิพพาน? อรหัตมรรค อรหัตผล ถ้าคนไม่ปฏิบัติก็ไม่เข้าใจ เพราะอะไรนะ ผล ๔ ผล ๔ กินข้าวอิ่มสี่ครั้งไง กินนี้คือเหตุ อิ่มนี้คือผล กินนี้คือเหตุ อิ่มนี้คือผล กินนี้คือเหตุ อิ่มนี้คือผล กินนี้คือเหตุ อิ่มนี้คือผล อิ่มอยู่กับเราไหม? เราอธิบายเรื่องอิ่มเรื่องหิวได้ใช่ไหม? เรื่องอิ่มเรื่องหิวอธิบายได้หรือเปล่า? อธิบายได้ เรื่องผลไง

อรหัตผล ผลของอรหัตผลมันเกิดอย่างไร? อรหัตผลเห็นไหม เพราะมันยังอธิบายได้ไง อรหัตมรรค อรหัตผล ผล ๔ อธิบายได้ โสดาปัตติผลมันก็มีกิเลสอยู่ เพราะมีไหม ตัวธรรมที่พูดตอนเช้านี่ตัวธรรม ตัวธรรมว่ามีตัวตนของมันอยู่ ตัวธรรม ใครเป็นตัวธรรม ตัวธรรมคือโสดาปัตติผล ตัวธรรมคือสกิทาคาผล ตัวธรรมคืออนาคาผล ตัวธรรมคืออรหัตผล อรหัตผลน่ะ

ทีนี้ถ้ามันนิพพาน ๑ นิพพาน ๑ เห็นไหม อรหัตมรรค อรหัตผล เราเอามือหยิบของไปเราเอามือหยิบของไป จับของขึ้นมา เรารู้ไหมว่าจับของขึ้นมา เราปล่อยของหรือยัง นี่มรรคมันรวมตัวเข้าไป เรายื่นมือไปหยิบของขึ้นมา เรากำของขึ้นมายกของขึ้นมาเห็นไหม เราวางของนั้นเราปล่อยมือออกมา มันมีของมีมือไหม? มี อธิบายได้ไง

ผลของมันคือเราหยิบขึ้นมานี้คือเราสัมปยุตเข้าไป วิปยุตคลายออกมา มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม เราคลายออกมาสิ่งที่เราคลายออกมา นี่มือกับของมันมีใช่ไหม พอมันวางเสร็จมันวางจบไปแล้วมันทำลายตัวมันหมดเห็นไหม พอมันหมด มันออกไป มันหลุดออกไป นี่ไงนิพพาน ๑ ไง มันจะไม่มีของไม่มืออีกแล้ว เพราะของกับมือมันเป็นความตกผลึกอยู่ในตัวเราใช่ไหม? เพราะความรู้สึก

แต่จิตที่มันรับรู้จิตที่มันทำของมัน จิตที่มันเป็นพลังงานเห็นไหม ที่บอกว่า จิต สมองคิดเองไม่ได้ สมองต้องมีพลังงานตัวนี้ พลังงานเหมือนไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ตัวรับ แต่ไฟฟ้ามันหมองไปด้วย มันมีอวิชชาครอบงำ มันมีอวิชชาครอบงำ แต่ขณะที่เราทำลาย อรหัตมรรค อรหัตผล ตัวไฟฟ้ามันได้ทำลายให้มันสะอาดด้วย แล้วมันคลายตัวมันออกไป มันเป็นธรรมธาตุที่ว่าธรรมธาตุเห็นไหม

วิมุตติเป็นธรรมธาตุ ธรรมธาตุ นี่ไงที่บอกว่า หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่าร่างกายมันจะเป็นอย่างไรมันจะเตะมันจะถีบกันมันเป็นเรื่องของร่างกาย เรื่องหัวใจนั้นมันพ้นออกไปเห็นไหม เรื่องร่างกายมันจะเตะมันจะถีบกัน ท่านบอกเวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วยร่างกายมันจะเตะมันจะถีบกัน

ทีนี้ร่างกายมันจะเตะมันจะถีบกันคนที่รับรู้ร่างกายจะเตะจะถีบคือหัวใจใช่ไหม? ถ้าร่างกายมันจะเตะถีบกันถ้ามันมีผู้รับรู้ มันจะรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่สบาย มันแบบว่ามันเป็นไข้เป็นไอ รู้ได้อย่างไร?

ธาตุคือเศษส่วน คือธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือธาตุไง มันเป็นภาระเป็นหน้าที่ต้องแบกรับ แล้วจิตตัวธรรมมันอยู่ข้างนอก ทีนี้เวลาเราจะเทศน์เห็นไหม นี้เสวยอารมณ์มันรับรู้ออกมา มันออกเสวยอารมณ์มา ออกมามันก็เป็นขันธ์ ๕ เป็นความรับรู้เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วอธิบายออกไป จิตมันกระเพื่อมออกมาไง อยู่ในตัวมันเองมันจะหลงได้อย่างไร? มันจะหลงได้อย่างไร? มันจะผิดพลาดได้อย่างไร?

แต่เวลามันผิดพลาดมันออกมา คำว่าออกมามันคือข้อมูลแล้ว ออกมาคือขันธ์ ๕ คือสัญญา สัญญาเห็นไหม สัญญา อย่างเช่นที่ว่าเราไป เราหยิบนั่นถูกหยิบนี่ผิด มันผิดเพราะอะไร?เพราะข้อมูลสัญญาสมมุติมันเปลี่ยนแปลงได้ สมมุตินี่เปลี่ยนแปลงได้ สมมุติคำพูดไง คำพูดมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดใช่ไหม?

คำพูดมันมีคำศัพท์ใหม่ๆ ตลอดเวลา แล้วศัพท์ใหม่ ให้คนโบราณมาฟังเด็กพวกนี้พูดนะงงตายเลย เด็กเดี๋ยวนี้มันพูดกันเอง คนโบราณบอกมันพูดอะไรกันวะ เพราะสมมุติไง สมมุติมันเปลี่ยนแปลงตลอดใช่ไหม? แล้วเราเป็นคนโบราณแล้วเรามาฟังเด็กพูดเราเข้าใจไหม?

ทีนี้พระอรหันต์หลงในตรงนี้ไง หลงคือว่าไม่เข้าใจคำพูดเขาพูดอะไรกัน เขาพูดอะไรกันนี่ไม่รู้นะ นี่หลงในสมมุติบัญญัติ พระอรหันต์หลงในสมมุติบัญญัติ คำว่าหลง คำว่าหลงนี่คือสิ่งที่ผิดพลาด แต่จะไม่พูดคำว่าหลง พูดคำว่าไม่เข้าใจดีกว่า พระอรหันต์ไม่เข้าใจในสมมุติเขาสมมุติขึ้นมาใหม่ๆ ไม่เข้าใจ แต่ไม่ใช่หลงเพราะมันไม่มีโทษ มันไม่มีโทษมีภัยกับจิตมันไปหลงทำไม?

มันไม่หลงไปกับเขาแต่มันไม่รู้ไง ไม่เข้าใจกับเขาสื่อเขาไม่รู้เรื่อง มันถึงเวลาเห็นไหม ที่เวลาเขาพูดกันน่ะว่าครูบาอาจารย์เวลาเราพูดนะ ยิ่งภาษาไทยโบราณเขียนเป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วเวลาผู้ใหญ่พูดมันเป็นภาษาโบราณไง แต่ในปัจจุบันถ้าพูดเป็นภาษาปัจจุบันนะ แต่เดี๋ยวก็ตกรุ่นตกยุค อย่างเราพูดตอนนี้เข้าใจนะ ต่อไปข้างหน้าเด็กรุ่นใหม่มาฟังนะเราเป็นสัตว์โบราณเลย เพราะมีแต่ศัพท์เก่าๆ แต่อันนี้มันเป็นอย่างนั้นอยู่

อันนี้พูดถึงว่าถ้าอธิบายน่ะ มันอธิบายแล้วต้องอธิบายซ้ำมันก็ต้องเทศน์อีกกัณฑ์หนึ่งนะสิ ให้อธิบายศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา เมื่อคืนตั้งใจเทศน์ไปแล้ว เมื่อคืนตั้งใจเทศน์ไปแล้ว (รอฟังเทป รอฟังเทป) เพราะเมื่อคืนเวลามันเดินจงกรมแล้วมันขึ้น พอมันขึ้นมันก็เก็บไว้มาเทศน์ไง อย่างเมื่อคืนน่ะไล่ไปเรื่อยๆ นะ

ขนาดเราเทศน์เองเมื่อคืนยังเจ็บนะ ไม่ เราก็มนุษย์ใช่ไหม? ปัญญาอย่างนี้ปัญญาสัตว์ โอ้โฮ ด่าเจ็บ คือว่าให้มันทิ้งไง ให้มันทิ้งให้มันขวนขวายให้มันพัฒนา พูดเพื่อเหตุนั้นนะ ไม่ใช่ดูถูกเหยียดหยามนะ พูดเพื่อให้เห็นว่า อันนี้มันเป็นปัญญาใช่ไหม? ใช่

สัตว์มันก็มี ปุถุชนน่ะก็สัตว์มนุษย์น่ะ ความคิดอย่างนี้เราบอกว่ามิติอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้มันแก้กิเลสไม่ได้ มันเป็นปัญญาแบบก็อปปี้ มันไปศึกษาข้อมูลของพระพุทธเจ้า มันคิดขึ้นมาเองน่ะมันไม่ใช่ปัญญาของเราหรอก มันเป็นต้นทุนของพระพุทธเจ้า แต่พอจิตสงบขึ้นไปมันจะเป็นต้นทุนของเรา มันจะเกิดในปัจจุบันของเรา

เราอธิบายเหมือนกันเมื่อคืนอธิบายใช่ไหม ว่าถ้ามันเป็นอสุภะ มันเป็นกายทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ? ทำไมมันถึงเรียกว่าปัญญาล่ะ? ทีนี้เราคิดว่าเวลาพิจารณากายไปเห็นไหม เวลาจิตมันสงบปั๊บแล้วมันเห็นกายขึ้นมา แล้วมันพิจารณากายให้กายมันแปรสภาพไป พอแปรสภาพ เออะ! เออะ! เห็นไหม มันแปรสภาพไปทำไมมัน เออะ! ล่ะ เออะ! เพราะอะไร?

เพราะมันเป็นปัจจุบัน มันเกิดจากใจ ใจมันติดใช่ไหม? พอมันสะเทือนปั๊บมันก็ปล่อย ปล่อย มัน เออะ! แต่ถ้าเป็นปัญญาสิกขานี่ พิจารณากาย ก็นึกภาพกายขึ้นมานะ มันก็เป็นจิตกับกาย มันไม่ใช่เห็นจากจิตมันเห็นจากสัญญา มันมีระยะห่างไง เหมือนเรานั่งอยู่นี่ เราเห็นข้อมูลต่างๆ เห็นไหม มันอยู่ข้างนอก

แล้วก็พิจารณาให้มันแปรสภาพไป มันก็แปรให้เราเห็นมันสร้างภาพ เราก็เห็น เออ กายมันก็แปรสภาพไปแล้ว อ้าว แล้วใครเป็นอะไรล่ะ? อ้าว แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ? ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่เคยภาวนาไม่รู้หรอก แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ มันเหมือนเราเอาไฟเผามือเราน่ะ เหมือนเราจุดไฟเผาตัวเองน่ะ เวลาจะจุดไฟเผาตัวเองเราจะร้อนไหม? ตายนะ

นี่ก็เหมือนกันเวลากิเลสมันอยู่กับเราแล้วเราพิจารณาไปมันเหมือนเราจุดไฟเผาตัวเองนะ คือมันเหตุมันเกิดกับเรา โอ๊ะ! โอ๊ะ! มันเกิดที่ใจเลย มันถอดถอนกันที่นั่นเลย นี่ปัญญาเกิดจากจิต จิตภาวนาไม่ใช่ปัญญาเกิดจากสังขารเกิดจากความคิด เกิดจากความคิดมันอยู่ไกลไง ความคิดไม่ใช่จิต

อ้าว จุดไฟอยู่นู่นน่ะ อ้าว เห็นไหม ที่ในคนพ้นโลก ในอะไรนะ เขาว่า คนตายแล้วเกิดน่ะ เขาบอกว่ามันมีหนู หนูนา เจ้าของนาเขาเผานาใช่ไหม แล้วหนูนี้มันตายมันอาฆาต มันก็ไปรออยู่ที่ยมบาล รอจิตนี้มา ทีนี้พอเจ้าของนาตายไปเจ้าของนานี้เป็นคนมีศีลธรรม เขามีศีลธรรม เขาทำดีตลอด

ทีนี้พอพอตายไป พอตายปั๊บเขาก็ดูบัญชีใช่ไหม เขาว่าไอ้นี่ต้องไปสวรรค์ ไอ้หนูนั้นมันค้านบอกไม่ได้ ไม่ได้ ก็มันเผาผม มันเผาผม มันจะดีได้อย่างไรก็มันทำลาย มันฆ่าผม มันฆ่าผม จิตนี้มันค้านนะ เขาฆ่าอย่างไรล่ะ? อ้าว ก็เขาเผานาแล้วเขาเผานาผมก็ตาย แล้วเขาบอกว่าทำไมถึงเผาเขาเผาอย่างไรล่ะ? ชาวนาเขามีศีลธรรมใช่ไหม? ก่อนนี้คนโบราณไง ก่อนเขาจะเผานาเผาซังข้าวเขาจะบอกก่อน

เขาจะเอาไม้เคาะจะเผานานะ สัตว์ที่นี่ออกไปเราจะเผานานะ จะเผานา เขาจะเผาข้าวเขาเผาซังข้าว ไปนะ ไปนะ เขาเคาะเขาบอกแล้วไง แล้วเขาก็เผา ทีนี้ไอ้นี่มันดื้อเองมันไม่ไปมันก็ตายมันก็ไปแค้นใช่ไหม? แล้วก็ถามว่าเขาทำอย่างไร? ก็เขาเผานาแล้วผมตาย เขาก็ถามกลับเลยเจ้าของนา เจ้าของนาบอกว่าเขาเผาจริงๆ แต่ก่อนเผาก็ได้บอกแล้ว

เอาแก้แค้น เอาแก้แค้น ก็ไปเอาฟางข้าวมากองไว้แล้วก็เอาจิตวิญญาณของเจ้าของนาขึ้นไปยืนอยู่บนนั้น แล้วก็ให้หนูมันจะจุดไฟเผาแล้วก่อนเผาก็บอกว่าเราจะเผาฟางอันนี้นะ ให้เจ้าของนาลุกออกไป แล้วพอหนูมันจะเผาฟางแล้วนะ มันก็บอกมันจะเผาฟางนี้แล้วนะ เจ้าของนาก็ลงจากฟางนา มันก็จุดเผาฟางหญ้านั้นไป ก็จบ มันก็มีอย่างนี้เห็นไหม นี่ทิฐิ คนมีศีลมีธรรม เขาก็ทำของเขา

พวกเราเวลาเราพูดถึงเรื่องอย่างนี้เรื่องศีลเรื่องธรรม เรื่องทำดีทำชั่วยึดติดไง ทำอะไรไม่ได้เลย เราเจตนาสิเราตั้งใจทำความดี ไอ้เรื่องที่มันมีสิ่งกระทบมันกระเทือนกันมันมีบ้างทั้งนั้นน่ะ แต่เราตั้งใจทำความดีไง แล้วมันพาลของมันเองน่ะ แล้วพอมันไปมันก็จะรอ แล้วพอถึง เขากางบัญชีแล้ว ไอ้นี่ต้องไปสวรรค์ เป็นคนมีศีลมีธรรม ทำแต่คุณงามความดีแต่อาชีพเขาก็ทำนา

ทีนี้พออย่างนั้นปั๊บไอ้นี่มันไม่ยอม มันไม่ยอม ไม่ยอมนี่เป็นความคิดใช่ไหม เป็นความคิดส่วนตัวของมัน พอไม่ยอม เหตุมันเกิดอย่างไร? เขาก็ให้แก้ตามเหตุนั้น มันก็ได้ทำได้เผาฟางกองหนึ่ง แล้วมันก็สบายใจก็ได้เผาแล้ว แต่ก็เผาแล้วเขาก็ลงจากฟางเขาก็ไม่เป็นไรแต่มันน่ะเขาบอกให้หนีมันไม่หนีน่ะ มันก็ว่าบ้านมัน รูของมัน ก็บ้านของมันใช่ไหม หนูนาน่ะมันก็ว่าบ้านมัน ไอ้นี่ก็ นี่เจ้าของนาก็นาของเขา

ทิฐินะ ความเห็นของคนก็เห็นกันไปยึดกันไป จริงไม่จริงไม่รู้ แล้ววุฒิภาวะอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้ ความเห็นของเราอย่างนี้แล้วเราคิดอย่างไร? อ่านธรรมะกันปฏิบัติกัน ปฏิบัติกันน่ะเอาสีข้างเข้าถูน่ะ กูถูก กูถูก กูถูก ถูกไหน ถูกลง ถ้าถูกอย่างนั้นเป็นสมาธิ ถูกทำไมไม่มีปัญญา ถูกอย่างนั้นทำไมแก้กิเลสไม่ได้ ตรงนี้ไม่คิดนะ

เราปฏิบัติอยู่เราคิดเรื่องนี้มาก พูดบ่อยมากตอนเราปฏิบัติใหม่ๆ เราได้หนังสือธรรมะชุดเตรียมพร้อมปี ๒๑ (๒๕๒๑) ตั้งแต่ท่านพิมพ์ครั้งแรกไง แล้วตอนนั้นภาวนายังไม่เป็น เราคิดเราเชื่อมั่นของเราเองว่าธรรมะชุดเตรียมพร้อมพระอรหันต์เป็นคนพูดอย่างที่หนังสือที่ว่าเขียนหนังสือนี่แหละ พระอรหันต์เป็นคนพูด พระอรหันต์เป็นคนมีมุมมองของพระอรหันต์ แล้วเรานี่ปฏิบัติเราจะเข้าใจไหม? เราก็อ่านวันละหน้านะ

อ่านเสร็จแล้ว มุมมองของพระอรหันต์ แล้วเราจะยกระดับ ยกความคิดของเราให้เข้าใจในเนื้อหาสาระนั้น เข้าทางจงกรม อ่านวันละหน้าแล้วเข้าทางจงกรม เข้าทางจงกรม เดินจงกรมอยู่อย่างนั้นน่ะ ท่านพูดเรื่องอะไร? ท่านมีมุมมองอย่างไร? เราจะเห็นหนึ่งละ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาเราไล่มาตลอดนะ ตอนปฏิบัติใหม่ๆ

ตอนปฏิบัติใหม่ๆ มันก็เหมือนเรานี่ เหมือนเอาเราจับทิ้งกลางทะเลทรายให้กลับเอง ไม่รู้จะกลับทางไหนนะ มันเวิ้งว้างไปหมด มองไปทางไหนไม่รู้จะไปทางไหน ปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้กันนะ เวลานั่งสมาธิจะไปไหนกัน? จะทำอย่างไรกัน? แล้วมึงจะไปไหนวะ? มันไปไม่ถูกพอไปไม่ถูก ธรรมชุดเตรียมพร้อม อ่านเข็มทิศ นี่เข็มทิศ ทำเข็มมุ่งท่านว่าอย่างนี้แล้วเรามีมุมมองอย่างไร? เราเริ่มต้นมาจากอย่างนี้นะ เริ่มต้นเอาเต็มที่ เต็มที่เลย แล้วมัน พอตอนมันมีหลักมีเกณฑ์แล้วนี่ พอมันเริ่มได้ที่ว่ามัน พ.ศ. ๒๓ (๒๕๒๓) ที่ว่าเครื่องบินตกน่ะมันได้หลักแล้ว พอได้หลักปั๊บ

นี่พูดเมื่อคืนเห็นไหมว่าภาวนาเป็นหรือภาวนาไม่เป็น ถ้าคำว่าภาวนาเป็นมันจะเห็นศีล สมาธิ ปัญญา เพราะคำว่าภาวนาเป็นมันจะเป็นโลกุตรปัญญา พอเห็นโลกุตรปัญญาไปแล้วมันจะก้าวเดินได้แล้ว คนภาวนาเป็นนี่นะ เหมือนนักกีฬา ถ้าเราเป็นนักกีฬาที่เรามีความชำนาญให้เราลงแข่งเมื่อไหร่ก็ได้ พอเราลงแข่งเมื่อไหร่ก็ได้

แต่นี้การออกกำลังกายก็คือทำสมาธิ ถ้าทำสมาธิดีลงแข่งเมื่อไหร่ก็ได้ ภาวนาเป็นปั๊บมันชำนาญ มันไปได้แล้วเขาเรียกภาวนาเป็น แต่ถ้าภาวนายังไม่เป็นมันจับต้นชนปลายไม่ถูก คนภาวนาไม่เป็นมันยังเคว้งคว้างอยู่ แต่ถ้าภาวนาเป็นมันเหมือนเราเข้ากระแสแล้ว เราจับทางได้แล้ว เราไปได้แล้ว ภาวนาเป็น ถ้าคำว่าภาวนาเป็นคือว่าเริ่มต้นถูกไปได้ถูก ถ้าภาวนาไม่เป็นยังเริ่มต้นไม่ได้

ภาวนาเป็นหรือภาวนาไม่เป็น ในวงกรรมฐานเขาคุยกันอย่างนั้น แต่นี่เราเป็นโลกกัน แล้วเดี๋ยวนี้กรรมฐานคนสังคมเข้าไปเยอะมาก พอศัพท์อะไรมา ทุกคนจะบอกเลยว่าผ่านกาย ผ่านกายเป็นพระโสดาบันเหมือนกับเราเดินผ่านมหาวิทยาลัยน่ะ เดินผ่านมหาวิทยาลัยแล้วบอกกูจบแล้ว เป็นไปได้อย่างไร? เราไม่ได้เรียนใช่ไหม เราเดินผ่านมหาวิทยาลัยแล้วบอก เฮ้ย กูจบปริญญาตรี มึงก็พูดของมึงไป นี่ก็เหมือนกันพิจารณากาย ผ่านกาย ผ่านกาย ผ่านกายมันต้องมีเหตุมีผล เหตุผลมันจะเป็นของมันขึ้นมานะ เราตั้งใจ

เห็นปัญหามานึกว่าจะเป็นปัญหาใหม่จะตอบปัญหา ดันมันเป็นของเก่าเมื่อคืนนี้ ถ้าเมื่อคืนไม่ได้เทศน์ก็ไม่มีปัญหานี้ขึ้นมา ปัญหานี้เกิดเพราะฟังเทศน์เมื่อคืน เห็นไหม เทศน์เพื่อให้เคลียร์ให้เข้าใจ อันนี้ยิ่งเทศน์จบยิ่งสงสัย มันเขียนนี่ก็มาถามปัญหาเลย (หัวเราะ) เขาเทศน์ เทศน์ให้เข้าใจนะ ไม่ได้เทศน์ให้ งง แต่งงนะ งง

วันนั้นพูดน่ะ เรื่องฟังเทศน์เป็น เพราะคำนี้เราไปเจอที่วัดบ้านตาด หลวงตาท่านเทศน์ให้พวกทหารฟัง แล้วทหารมันฟังไม่เป็น นี่ไงเราไปฟังเทศน์กันเราไม่รู้นะ เราไปฟังเทศน์กันเรานึกว่าฟังเทศน์แล้ว ฟังเทศน์เป็นหมายถึงว่าฟังแล้วมันเก็บข้อมูลได้ไง ถ้าฟังเทศน์ไม่เป็นมันไม่มีเก็บข้อมูล ถ้าเก็บข้อมูลเราจะรู้ใช่ไหม แล้วเก็บข้อมูลเหมือนลายแทงเลย พอเราได้ลายแทง โอ้โฮ เราจะตื่นตาตื่นใจไหม แต่ฟังเสร็จแล้วก็มืดบอดไม่รู้อะไรเลย ไม่เก็บอะไรมาเลย นี่ฟังเทศน์ไม่เป็น

ฟังเทศน์เป็นนะ ครูบาอาจารย์ท่านพูด มันจะได้คำสองคำนะ นี่ไงที่หลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเทศน์ นิพพานนี่หยิบเอาอย่างนี้เลยล่ะ หยิบเอาได้เลย เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์มันจะเปิดเลยนะ โอ้โฮ นิพพานนี่หยิบเอาได้เลยนะ พอเทศน์จบหมับฟ้านี่ปิดเลย แล้วคนเป็นคนเป็นอธิบาย ฟังเทศน์เป็นถ้าฟังเทศน์เป็นมันจะได้ข้อมูลแล้วทุกคนจะชอบมาก

เหมือนเรา เราภาวนาเราอั้นตู้ ทำอะไรก็ไปไม่รอด นี่พอฟังเทศน์มันเหมือนกับคนจูง เหมือนจูงจิต เราภาวนาไปท่านจะจูงไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ไม่เห็นเหมือนคนตาบอดใช่ไหม ท่านอธิบายทางไง ถนนสายนั้นข้ามตรงนั้น ข้ามสะพานนั้น ถึงหักเลี้ยว ท่านพูดไปนะเราก็นั่งภาวนาไปภาวนาไป เหมือนจูงกันนะ ฟังเทศน์เป็น

ทีนี้คนฟังเทศน์เป็น เวลาฟังเทศน์นี่ แหม อย่างน้อยๆ ก็ได้ดูแผนที่ทีหนึ่งน่ะ ได้เปิดลายแทงดูกันรอบหนึ่งมันก็ยังเห็นลายแทงนะ แต่ถ้าไม่ ถ้าคนเทศน์ไม่เป็นคนเทศน์ก็ไม่รู้มันไม่มีลายแทง เอากระดาษเปล่าๆ น่ะ เอากระดาษมาโชว์กัน มันไม่มีแผนที่ไม่มีลายแทง มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ฟังเทศน์เป็น

ทีนี้มันก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ไอ้นี่ในธรรมะไง การฟังธรรมอานิสงส์ของมันเห็นไหม สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วไม่เคยได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังแล้วก็ได้ตอกย้ำ ตอกย้ำเกิดความเข้าใจ ข้อที่สี่เกิดความเข้าใจ เก็บข้อมูล ข้อที่ห้าคือมันเข้าใจแล้วมันก็สว่างโพลง ใจผ่องใส นี่การฟังเทศน์ถือว่าเป็นอานิสงส์มาก

แต่ประเพณีเห็นไหม ประเพณี เราก็คนภาคกลางนะขึ้นไปอีสานครั้งแรกๆ น่ะ มันน้อยใจ ทำไมภาคกลางพระมันไม่เป็นอย่างนี้วะ ทำไมพระปฏิบัติมันไม่มีนะ ก็ไปศึกษา ศึกษาปั๊บ อ๋อ ภาคกลางเกิดจากวัดบวรฯ วัดบวรฯ นี้เป็นธรรมยุตก่อน แล้วมันก็เผยแผ่มาตามแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางประกง

ที่ไหนมีแหล่งมีแม่น้ำ สมัยก่อนการคมนาคม แม่น้ำ ทางรถไฟ จะมีธรรมยุต ที่ไหนไม่มี จะไม่มีธรรมยุต เพราะว่าอะไร เพราะอำนาจรัฐ ไปด้วยอำนาจรัฐไง เพราะธรรมยุตเกาะอำนาจรัฐกระจายไป ทีนี้พอไปทางอุดงอุดรฯ มันไม่มี เพราะธรรมยุตนี่มันไปมีอยู่ที่อุบลฯ เพราะอุบลฯ มีทางรถไฟ วัดสุปัฏ วัดศรีทอง นี่เป็นธรรมยุตมาก่อน หลวงปู่มั่นท่านบวชที่นั่นไง บวชที่นั่นปั๊บ หลวงปู่มั่นเผยแผ่ไป แถวสกลนครนี่ไม่มี

หลวงปู่ฝั้นนี่เป็นมหานิกายมาก่อน หลวงปู่ขาวนี่เป็นมหานิกายมาก่อน พวกนี้เป็นมหานิกายหมดญัตติหมด พอญัตติเปลี่ยนวัดสร้างวัดขึ้นมา สร้างวัดโดยภาคปฏิบัติเวลาสร้างวัดก็สร้างวัดป่าอย่างนี้เลย แต่ของพวกเรามันสร้างเป็นวัดบ้านกันหมด ถึงไปดูประเพณีวัฒนธรรมนะ ไปดูประเพณีนะ อ๋อๆ แต่ก่อนไปนะมันน้อยใจนึกว่าพระคือพระไง แล้วก็คิดว่าพระนี่ก็ต้องมาจากทิศจากแหล่งเดียวกัน มันไม่ใช่

มหานิกายมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า ธรรมยุตมาเกิดสมัยพระจอมเกล้าฯ นี่เอง ฉะนั้นก่อนหน้านั้นไม่มีธรรมยุต ไม่มี มีสมัยพระจอมเกล้าฯ ฉะนั้นมันชั่วอายุ ๒๐๐ ปี สองร้อยกว่าปี ธรรมยุตเพิ่งฉลอง ๒๐๐ ปี เมื่อเร็วๆ นี้เอง ฉะนั้นเวลา ๒๐๐ ปี กับเวลาเมืองไทยมี ๗๐๐ ปีตั้งแต่สมัยสุโขทัย ฉะนั้นพื้นฐานเดิมมันเป็นมหานิกายหมดไง

มหานิกายก็เหมือนกับบวชวัดบ้าน ประเพณีกันหมดไง แล้วเพิ่งมา มาเกิดตรงนี้ เพิ่งมาเกิดตรงนี้เพิ่งมาเป็น ทีนี้พอเป็นอย่างนั้นปั๊บมันก็เลยแบบว่าความน้อยใจก็หายไป คือมันเป็นประวัติศาสตร์ มันเป็นข้อมูล มันเป็นเรื่องจริงของสังคมไง สังคมมันเปลี่ยนแปลงไป ทีนี้ทางฝ่ายภาคอีสานเพราะหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ทั้งนั้นล่ะ เมื่อก่อนธรรมยุตน้อยมากนะ

แล้วย้อนกลับมาเรื่อง เรื่องสังฆราช เพราะเมื่อก่อนธรรมยุตมันมีแค่ขยิบมือเดียว แต่เพราะหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น หลวงตาบอกว่าหลวงปู่มั่นไปธุดงค์ที่ไหน ไปปักกลดที่ไหน ที่นั่นเป็นวัดหมดในภาคอีสาน หลวงปู่มั่นเคยปักกลดที่ไหนที่นั่นจะเป็นวัดเป็นวัดเป็นวัด หลวงปู่มั่นสร้างเครือข่ายมหาศาลเลย

หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นสร้างเครือข่าย สร้างธรรมยุตให้เข้มแข็งขึ้นมา จากเมื่อก่อนมีแค่ขยิบมือเดียวนะ เดี๋ยวนี้จำนวนวัดสูสี แล้วคุณภาพของพระอีกด้วย ฉะนั้นพอคุณภาพของพระ คนทำบุญใครไม่อยากทำบุญแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี ฉะนั้นมันก็เลยมีการขีดวง มีการอะไรที่ออกมาเป็นน่ะ มันมาจากตรงนั้นด้วย

เห็นไหม เมื่อกี้บอกว่าหลวงตาท่านบอกว่าสิ่งใดพูดแล้วขัดแย้งกันไม่เป็นประโยชน์ แต่นี่ไม่ได้พูดให้ขัดแย้ง นี่พูดถึงที่มาที่ไปที่ความน้อยใจไงที่เคยคิด ที่เคยคิดขึ้นไป ทำไมสังคมเขาเป็นอย่างนั้น? ทำไมสังคมเราเป็นอย่างนี้? แล้วพอมันปฏิบัติไปมันถึงเข้าใจอีก ว่าสังคม สังคมเกจิอาจารย์ เกจิอาจารย์เขาทำจิตสงบกันเขาทำฌานโลกีย์

ทำฌานโลกีย์ก็เพ่งของเพ่งพวกพุทธคุณ ใส่เข้าไปในกระเบื้องแล้วเอามาเป็นคุณ ผลงานของพระ แต่ถ้าเป็นพระป่า สุปฏิปันโน อุชุญายสามีจิ คือปฏิบัติตรงต่อธรรมวินัยเพื่อชำระกิเลสไง เข็มมุ่งเป้าหมายมันแตกกัน มันแตกต่างกัน เพราะเข็มมุ่งเป้าหมายอันนั้นมันมีผู้รู้จริงคอยชี้นำมันถึงเป็นไปได้ เข็มมุ่งของภาคกลางเรามันไม่มีใครรู้จริง

บอกนิพพาน นิพพานคืออะไร? ออกไปไหน ไปไม่ถูก แต่ถ้าทำจิตสงบนะแล้วเพ่งของ เออ ทำได้ ปั๊มดินขึ้นมาเป็นพระพุทธรูปนะ ทำไมจะปั๊มไม่ได้ ปั้มได้ คือสิ่งนี้มันทำได้ไง มันอยู่ที่คุณภาพของผู้นำไง คุณภาพผู้นำมีเท่านี้ คุณภาพผู้นำทำได้อย่างนี้ แล้วเราเกิดในสังคมอย่างนี้ แล้วพอเราไปอยู่อีกสังคมหนึ่ง ไปเห็นสังคมหนึ่งแล้วมันได้ตื่นตาตื่นใจ

โอ้เราศึกษามากนะ เรื่องนี้พยายามศึกษาพยายามค้นคว้า เพราะเรารู้อยู่ว่า เรารู้อยู่ว่าเราจะต้องกลับมาที่นี่ไง เรารู้อยู่ว่าเราจะต้องกลับมา กลับมา กลับมาบ้านเรา เรื่องนี้เราศึกษาไว้เยอะ แล้วศึกษาแล้วประสาเรามันเห็นข้อเท็จจริง

เหนื่อยแล้ว มีอะไรก็ว่าต่อ ไม่มีจบเนาะ เอวัง