เทศน์บนศาลา

ธรรมวินัย

๑๙ ก.พ. ๒๕๔๓

 

ธรรมวินัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันมาฆบูชาเป็นวันที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นวันมงคลสำหรับชีวิตเราเลยล่ะ เป็นวันมงคลสำหรับชีวิตเรา ชีวิตที่เกิดมา เห็นไหม เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนามีทรัพย์สมบัติมหาศาลที่จะให้เราได้ตักตวงมาเป็นมงคลกับชีวิตเรา นั้นยืนยันความเป็นจริงว่าพระอรหันต์ ๑,๒๕o องค์ เห็นไหม มากขนาดไหน ๑,๒๕o องค์ ทำสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไปเลย ได้ฟังธรรม ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง ใจนั้นเป็นธรรมจริงๆ

“ธรรมและวินัย” ทำไมสมัยพุทธกาลธรรมและวินัย วินัยยังไม่ได้บัญญัติทำไมมีพระสำเร็จเป็นพระอรหันต์มากมายเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ไปนี่สำเร็จเป็น ๕๐๐ เป็น ๑,๐๐๐...เป็น ๕๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ เป็นขนาดนั้นนะ พระอรหันต์นี่มากมาย มากมายเพราะว่าเกิดในสหชาติมีบุญกุศลร่วมมา ได้ฟังธรรมของจริง ได้ฟังธรรมจริงจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ความเชื่อมันปักใจ ความดูดดื่มมันปักใจ ความปักใจอันนั้นถึงว่าใจมันก็ตามกับธรรมนั้นไป

“ธรรมและวินัย” เห็นไหม จนต่อมาๆ พระสงฆ์มากขึ้น กรอบกติกาของวินัยถึงเริ่มเกิดขึ้น วินัยสูงขึ้นเพราะว่ามีคนมากขึ้นใช่ไหม วินัยเกิดขึ้น มีคนมากขึ้น มีพระบวชมากขึ้น ทำความผิดพลาดในศาสนามันก็มีมากขึ้น มีเหตุแล้วถึงบัญญัติวินัยขึ้นมา

ต้องมีเหตุ ไม่มีเหตุ...องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้นมาก่อน

นี่วินัย วินัยขึ้นมาเพื่อ...วินัยคือกฎระเบียบ วินัยนี้ไม่ได้ฆ่าคน วินัยนี้ไม่ใช่ทำลายใคร วินัย เห็นไหม วินัยไม่ได้ทำลายใคร เราถือธรรมวินัยกัน เรากลัว เรากลัวมาก กลัวแต่วินัย...จะผิดอย่างนั้น จะผิดอย่างนั้น ผิดจนเราคิดฟุ้งซ่านไปเลยนะ

ธรรมและวินัยนี้เพื่อให้อยู่สุขอยู่สบายไง ให้สงฆ์ผู้แก้ไขได้ยาก คนที่ว่าไม่ยอมแก้ไขให้อยู่ในกรอบ ผู้ที่อยู่ดี ใจที่เป็นธรรมขึ้นมาจะได้มีความสุขในศาสนา...เพื่อตรงนั้น ไม่ใช่เพื่อทำให้เราเป็นกังวล นี่เพราะทำให้มีธรรมและวินัย “ธรรมและวินัย” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ธรรมนี้ประเสริฐ ธรรมนี้เป็นของกว้างขวางอยู่แล้ว แต่วินัยนี้เพื่อจะให้อยู่ในกรอบอยู่ในระเบียบ เห็นไหม แล้วอีกอย่างหนึ่งก็เป็นการอนุเคราะห์กับพระภิกษุสงฆ์ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติให้อยู่มีกรอบมีขอบของใจ

“มโนกรรม” การทำกรรมไง การทำกรรมถ้าทำถูกเป็นบุญกุศล ถ้าทำแล้วมันผิดพลาดไป เจตนาหรือไม่เจตนามันก็เป็นความผิด ความผิดอันนั้นปลงอาบัติได้ ทำให้ล่วงไปได้ ทำให้แบบว่าเริ่มต้นใหม่ได้ เริ่มต้นทำความดีได้ นั่นเพื่อประโยชน์อันนั้น วินัยเพื่ออันนั้น แล้วอันนั้นมันเป็นในเมื่อมีการกระทำ แต่ในหัวใจ มโนกรรมมันคิด เห็นไหม ความคิดอันนี้เราไม่สามารถที่จะบังคับได้ “มโนกรรม”

ศีลมันมีศีลภายนอก ศีลภายใน “อธิศีล” ศีลคือความว่าศีลปกติของใจ เห็นไหม ศีล ถ้าใจปกติ ร่างกายปกติอย่างนี้ เรานั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ไม่ได้ผิดศีลเลย เมื่อก่อนจะมานั่งนี้ทำอะไรผิดพลาดมาก็แล้วแต่ แต่อันนั้นมันเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันอยู่นี้ไม่มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นเพราะเรานั่งสงบเสงี่ยมอยู่ในท่าเราภาวนาอยู่ นี่ไม่มี...หมด

กิเลสมันก็จะออก “กิเลส” คือความเคยใจ ความเคยใจมันก็จะว่าเมื่อนั้นผิดเมื่อนั้น มันจะมาทำลายปัจจุบันนี้ นี่วินัยฆ่าคน วินัยทำลาย...วินัยพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้เพื่อจะทำลายใคร เพื่ออนุเคราะห์แก่อนุชนรุ่นหลัง อนุเคราะห์กุลบุตรสุดท้ายภายหลังพวกเรานี้ทั้งนั้นเลย นั้นถึงว่าวางอันนั้นไว้ อย่าให้กิเลสไปเอาธรรมและวินัยมาเชือดความเป็นคุณงามความดีของเราเองไง

เชือดคือทำลาย ความทำลายมันก็ฟุ้งซ่านไป เห็นไหม ความฟุ้งซ่าน ความคิดของเราออกไปมันทำให้เรา...ทั้งๆ ที่ว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ “ธรรมและวินัย” เมื่อถ้าไม่มีสิ่งนี้อยู่ ผู้ที่ปฏิบัติพ้นไปๆ นั้นก่อนครั้งพุทธกาล แต่พอตอนช่วงหลังมามีบัญญัติขึ้นมาก็ต้องเอาอันนี้ไง ยิ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว

“ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ”

“ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของอนุชนรุ่นหลังที่จะสืบต่อไป”

นี่กรอบอันนั้นถึงต้องถือ มันอนุเคราะห์ได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งว่า

“ถ้าคำไหนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วเราฝืนเป็นอาบัติทันที” กรรมก็เกิดขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ความที่ว่าเราทำความผิดพลาดอันนั้น แล้วทำผิดวินัยมันก็เป็นอาบัติด้วย แล้วเป็นกรรมอีกด้วย อันนี้ถ้ามันทำไม่ได้เพราะว่าเรายังมีกิเลสอยู่ ความผิดพลาด ความพลั้งเผลอนี้มันเป็นปกติ...ธรรมใหญ่กว่า ธรรมคือการให้อภัยตัวเองไง

การให้อภัยตัวเราเอง เห็นไหม การให้อภัยคนอื่น เราให้อภัยคนอื่น ให้อภัยตัวเองด้วย ความที่ผิดพลาดไปแล้วให้อภัยกับตัวมันเอง ตัวเราเองจะอภัยไป อภัยไป ความอภัยไปเริ่มต้นใหม่ ความเริ่มต้นทำใหม่นี้ สิ่งนี้ การให้อภัยคนอื่นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะว่าเราสามารถให้ความที่ว่าตระหนี่ถี่เหนียว ความติดข้องของใจเราให้อภัยได้ แล้วตัวเราเองทำไมเราไม่ให้อภัยตัวเราเองล่ะ

ความให้อภัยนี้เป็นอริยทรัพย์อันหนึ่ง เห็นไหม นี่ถ้าเข้าใจตรงนี้ ธรรมและวินัยเป็นประโยชน์ วินัยนั้นเป็นประโยชน์สำหรับเราขึ้นมาเลย ถึงว่าเป็นประโยชน์ของเรา เราก็ย้อนกลับเข้ามา

“ทำไมสมัยพุทธกาลสำเร็จไป ลุไปขนาดนั้น แล้วทำไมสมัยเรา เราก็ไม่ใช่คนหรือ?”

เราก็เป็นคนๆ หนึ่งนะ ถึงว่าเราเป็นนักบวชด้วย เพื่อประพฤติปฏิบัติ มันต้องย้อนกลับมาว่าถ้าสมัยนั้นคนก็ทำได้เหมือนกัน สมัยเราทำไม่ได้ ทำไมเราทำไม่ถึงจุดนั้นได้

ดูสิ อันนั้นมันเป็นธรรมแล้ว วินัยนี้บังคับเป็นกรอบไว้ ธรรมนี้เป็นสิ่งที่กว้างขวางมาก ธรรมนี้ให้โอกาส ให้เสรีภาพ ให้ความจินตนาการ ให้ความคิด ให้ทุกๆ อย่างเพราะเป็นธรรม ธรรมคือการค้นคว้าออกมาให้เป็นความจริงขึ้นมาเกิดขึ้นจากในหัวใจ

ความคิดไง “ความคิด” ปัญญานี่พุ่งไปได้หมด ทุกความคิดที่มันจะพุ่งออกไป นี่ธรรมมันกว้างขวางขนาดนั้น ธรรมเป็นสิ่งที่ภายใน ธรรมในขณะก้าวเดิน กับธรรมที่ถึงที่สุดแล้วก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ธรรมขณะก้าวเดินที่จะต้องพิสูจน์กัน เห็นไหม ความพิสูจน์สอดส่อง ความกำหนดใจให้อยู่ในความสงบของเราเข้ามา อันนั้นก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นธรรมอันหนึ่ง พิสูจน์เข้าไป

ความคิดของเรา เราว่าเรามีปัญญามาก เรามีความคิดมาก ความคิดออกไปหาเหตุหาผล หาเหตุหาผลเพื่อมาให้เรายอมรับไง ใจมันไม่ยอมรับเพราะใจมันดื้อด้าน ใจมันดื้อด้านกับธรรม ใจมันเคยชินกับอารมณ์ของตัวเอง คนเกิดมาพร้อมกับกิเลสพาเกิดทุกๆ คน กิเลสนี่พาให้หัวใจดวงที่มันเป็นอยู่ในหัวใจเรานี่มันมีกิเลสอยู่ มันมีความเคยใจอยู่

ความเคยใจคือความพอใจของมัน สิ่งที่มันพอใจมันว่าสิ่งนั้นถูกต้อง สิ่งใดที่ขัดข้องกับใจของตัวเอง มันว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ทั้งๆ ที่ว่าถ้าเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ถูก ถ้าสิ่งที่พอใจมันว่าอันนี้ถูก แต่พอทำออกไปแล้วกลับให้ผลมาเป็นความทุกข์ร้อนคือการคิด พอความคิดมันเกิดความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านอันนั้นนี่ให้ผลเป็นอะไร ให้ผลเป็นความทุกข์

ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นธรรมล่ะ ธรรมอันนี้กิเลสมันไม่ยอมรับ ใหม่ๆ ไม่ยอมรับเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จืดชืด มันเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ไม่เคยกินไง สิ่งที่ไม่เคยกิน อย่างเช่น วินัย วินัยคือการบังคับให้ใจนี้เป็นปกติ

อธิศีล ศีลนอก ศีลใน อธิศีล ศีลคือความปกติของใจ ใจถ้ามีศีลโดยปกติแล้วมันอยู่โดยเกิดดับในตัวมันเอง แต่มันไม่ปกติเพราะมันเกิดดับ เสวยอารมณ์ไง เสวยอารมณ์เหมือนไฟป่า ไฟไหม้ป่ามันจะเผาทุกๆ อย่างที่มันเชื้อของไฟ เผาออกไป เผาออกไป อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากใจก็เหมือนกัน มันเสวยขึ้นมา มันกินทั้งหมด กินเข้าไปนึกว่ากินก็คือเสวยอารมณ์ มันเสวยก็เป็นเนื้อเดียวกันกับความคิดที่มันเป็นเชื้อนั้น กับตัวใจที่ไม่ปกตินี่มันเสวยกัน คือมันเหมือนกระดาษซับซึมเข้าไป ซึมเข้าไป พอซึมเข้าไปให้ผลเป็นอะไร ให้ผลเป็นความฟุ้งซ่านของใจ เพราะใจนี้ไม่เป็นอิสระของตัวเอง มีสิ่งเข้ามาครอบครอง มีสิ่งเข้ามาปกคลุมหุ้มห่อแล้ว อารมณ์มาหุ้มห่อใจของตัวเอง

แล้วพอมันคิดถึงความทุกข์ร้อน คิดถึงสิ่งที่มันพอใจไป มันพอใจจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนั้น จะทำก็ร้อนแล้วเพราะความคิดจะมาอย่างนี้อย่างไม่ได้ที่เราคิด จะได้-ไม่ได้มันเป็นวิตกกังวล ความเป็นวิตกกังวลให้กระเพื่อมไปหมดเลย แล้วมันจะเอาความสงบสุขมาจากไหน

ความไม่สงบของใจมันก็ไม่เป็นปกติ ความไม่เป็นปกติมันก็พุ่งออกไป พุ่งออกไป พุ่งออกไป นี่ไงถึงว่ามันไม่เป็นอธิศีลไง จิตถึงไม่เป็นปกติไง จิตไม่เป็นปกติ จิตก็ไม่ตั้งมั่นไง จิตปกติจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นนั้นคือควรแก่การงาน

งานของโลกเขา ความคิดของโลกเขา เขาคิดขนาดไหน ทางวิทยาศาสตร์คิดกันเป็นชั่วอายุคนนะ จากอายุคนๆ หนึ่งคิดค้นไว้ไม่สำเร็จ คนต่อไปใช้คนนั้นคิดค้นต่อไป คิดค้นต่อไป ความคิดค้นนั้นใช้ชีวิตเป็นช่วงชีวิตหนึ่งๆ สืบต่อกันมาถึงได้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งเทคโนโลยีที่เรามาใช้กันเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา บางอย่างใช้กี่ช่วงชีวิตคนคิดขึ้นมา นั้นเป็นวัตถุ คิดขึ้นมาขนาดไหนมันก็เป็นวัตถุ วัตถุที่ว่าอำนวยความสะดวกให้กับร่างกายได้

แต่ละความอำนวยความสะดวกให้กับใจ ให้ใจได้ก้าวเดินออกไปจากปกติที่ใจมันเป็นอยู่นี่ ใจที่เป็นอยู่นี้มันมีแต่ความรุ่มร้อน มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงโดยอยู่แล้วว่าการเกิดนี้เกิดมา ชาติปิ ทุกฺขา เห็นไหม ความเกิดมีชาติ มีความทุกข์เกิดขึ้นทันทีเลย ชาติเป็นอันที่ว่ามีชาติเกิดขึ้น ชาติถึงรองรับทุกๆ อย่าง การมีหัวใจเกิดเป็นมนุษย์รองรับทุกๆ อย่างที่มันจะเหยียบย่ำทำลายหัวใจดวงนี้ไง ถึงว่าสิ่งที่ไม่เป็นทุกข์...เป็นไปไม่ได้ หัวใจนี้ไม่มีทุกข์เป็นไปไม่ได้เลย หัวใจนี้เป็นทุกข์โดยสัจจะความจริงของมันอยู่แล้ว

นี่ถ้าเราทำใจของเราให้สงบ มันตั้งมั่น ใจตั้งมั่นมันถึงจะความก้าวเดินของใจมันถึงจะมีความก้าวเดินออกไปได้ไง ความคิดที่เราคิด เห็นไหม นักวิทยาศาสตร์คิดทดลองกันมาเป็นชั่วชีวิตคน อันนั้นเรื่องของเขาเพราะว่ามันเป็นเรื่องของโลก มันก็สืบต่อกันมา สืบต่อกันมา

แต่ธรรมที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สัมผัสอันนั้นแล้ว วันนี้เป็นวันมาฆบูชาด้วย ที่พระสงฆ์ ๑,๒๕o องค์เป็นพระอรหันต์ด้วยเอหิภิกขุนะ คือเกิดขึ้นมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าไง พระพุทธเจ้าเป็นผู้เปล่งวาจาให้บวช เหมือนลูกในไส้ที่ว่าไปทำคุณงามความดีก็สำเร็จลุล่วงหมด ไม่มีสิ่งใดๆ เจืออยู่ในหัวใจเลย นี่กลับมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มาเยี่ยมมาเยียน นั่นน่ะ สะอาดบริสุทธิ์หมดเลย

แล้วเราล่ะ ในหัวใจเราเป็นอย่างไร? ถ้าหัวใจเรามันไม่มีที่พึ่งมันก็เกาะเกี่ยวตรงนี้เป็นกำลังใจไง ถ้าใจเราอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใจเราไม่มีความมุมานะ ใจเราไม่ก้าวเดิน ใจเรานะ ฟังสิ กำลังใจเกิดขึ้นมาจากเราให้กำลังใจเราเองนะ ให้กำลังใจ ให้เกาะเกี่ยว ถ้าไม่มีกำลังใจเราก็เกาะเกี่ยวครูบาอาจารย์ เกาะเกี่ยวดวงธรรมนั้นเข้ามาหาเรา เกาะเกี่ยวดวงธรรมนั้น ดวงธรรมนั้นยังไปได้

“คนเหมือนกัน สัจจะเหมือนกัน ทุกข์เหมือนกัน ทุกข์ครั้งพุทธกาลก็เป็นทุกข์เหมือนกันทุกข์ในปัจจุบันนี้ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ความทุกข์นี้เป็นนามธรรม”

ความเจริญของโลกสมัยพุทธกาลกับสมัยนี้มันเจริญต่างกัน นั้นเป็นเรื่องของโลกที่ว่านักวิทยาศาสตร์อำนวยความสะดวกให้ไง อำนวยความสะดวกให้ก็รวมศูนย์ของการอำนาจอยู่ที่ใครปกครองได้ มันก็มีอำนาจเรื่องของโลกๆ เข้ามาปนนั่นน่ะ เรื่องของโลกนั้นเราคิดแล้วปล่อยมันวางไว้

ความคิดก็เหมือนกัน ถ้ามันคิดแล้วมันเทียบโลกเข้ามาก็ให้ดูตรงนั้นไง ให้ดูที่ว่าสิ่งใดใครควบคุมอยู่ มันรวมศูนย์ที่นั่น คนนั้นมีอำนาจ สิ่งใดในหัวใจที่เราไม่สามารถแยกออกมาจากกิเลสได้ เราก็ไม่มีอำนาจที่เราจะออกไปหาทางธรรมได้...รวมศูนย์อยู่ที่กิเลสนั้นหมดเลย กิเลสมันรวมศูนย์อยู่แล้วมันหลอกใช้ๆ หลอกนะ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ

เราเกิดมาเรามีพ่อมีแม่ เราอาศัยพ่อแม่อยู่ มีบ้านมีเรือน กิเลสมันเกิดมา มันเกิดจากฐีติจิต อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาเกิดจากฐีติจิต เกิดจากความคิด เกิดจากจิต เกิดอยู่ในหัวใจนั้น แล้วมันก็รวมศูนย์อำนาจอยู่นั้น ควบคุมทั้งหมดเลย ควบคุมใจอยู่ทั้งหมด เห็นไหม ถ้าเทียบด้วยปัญญาอย่างนี้มันจะเป็นปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันให้เห็นไง ให้เห็นโทษ ให้เห็นภัย เห็นโทษเห็นภัยของการสืบต่อของความสืบต่อของโลกเขา เขาควบคุมแล้วเขาก็ปกครอง เขาก็บีบบี้สีไฟ เราก็ต้องซ่กๆ หาของ หาสิ่งหาเงินหาทองไปแลกเปลี่ยนมาเพื่ออำนวยความสะดวก มันว่าอำนวยความสะดวกไง

ความสะดวกนั้นมันอำนวยสิ่งที่เกินไป กิเลสมันพาเกินไป ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น เห็นไหม ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยนี้อาศัยให้ชีวิตนี้สืบต่อมา ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยสิ่งนั้นอำนวยความสะดวก อำนวยความสะดวกแล้วให้มันมีแต่เวลาว่างนะ พอมันเกิดมีเวลาเหลือเฟือขึ้นมามันก็อมทุกข์ ว้าเหว่...ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ทางออก มันไม่ใช่ มันไม่มีทางออก

ทางออกนี้ ทางออกคือผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มันเกิดขึ้นจากรวมศูนย์ที่ใจ

ใจนี้รวมศูนย์ไว้ด้วยมหาอำนาจของเรานะ

ชนะตนคนเดียวนี้ประเสริฐสุด ชนะใดอื่นแสนกองทัพหลายคณะไหนเกิดแต่เวรแต่มารขึ้นมาตลอด แต่ถ้าชนะตนเอง เห็นไหม เพราะอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่เรา อำนาจอยู่ที่เรา อยู่ในหัวใจของเรา แต่เราไม่เห็น

เราเอง คำว่า “เรา” เรานี้ก็เป็นเกิดจากว่ามันให้ทำแล้ว มันรวมศูนย์อยู่ภายใน อยู่เป็นนามธรรม แล้วเราก็อยู่ใต้อำนาจของมัน คิดออกไปเท่าไรก็เป็นกิเลสพาคิด พอกิเลสพาคิดไป นี่นักวิทยาศาสตร์คิดไง เราก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นจินตมยปัญญา...จินตมยปัญญาของเราก็คิดออกไป ความคิดออกไปนี่จิตมันสงบได้ ความสงบของจิตนี่ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาหมุนออกไป เห็นไหม กำหนดพุทโธ พุทโธนั่นก็เป็นความทำสมาธิขึ้นมาเพื่อจิตสงบขึ้นมา จิตสงบขึ้นมาแล้วมันมีพื้นฐาน มีพื้นฐานมีความตั้งมั่น นั่นน่ะ ตั้งมั่นควรแก่การงาน

ความคิดนี่ก็เหมือนกัน คิดด้วยปัญญาออกไป นี่คิดด้วยปัญญาเพราะว่าเรามีความคิด มันเกิดดับ เกิดดับ เราเพียงแต่พลิกแพลงใช้ไง จากเดิมกิเลสมันพาใช้ตลอดเลย กิเลสมันพาใช้ กิเลสเป็นเจ้าวัฏจักร อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่มัน มันใช้ชีวิต ใช้พลังงาน ใช้เวลาที่เราเกิดตาย เกิดตาย เวลาที่เกิดจากชีวิตหนึ่งๆ เวลาล่วงไปๆ มันใช้อยู่ทุกวันเวลา มันควบคุมตลอดเวลา เพราะมันอาศัยอันนี้เป็นบ้านเรือนของมัน

ที่อยู่อาศัยของกิเลสคือหัวใจของคน หัวใจทุกๆ ดวงใจที่มันหมุนเวียนอยู่ นั่นน่ะ เพราะฉะนั้นมันถึงได้สงวนรักษาไว้ แล้วถึงใช้เราเป็นมัน “มัน” คือว่าออกมาแล้วเป็นความคิดของเราออกไปๆ มันก็วนเวียนอยู่นั่น ความวนเวียนอยู่นั่น เห็นไหม มันไม่ใช่ก้าวเดิน มันเป็นเล่ห์เหลี่ยมการหลอกของกิเลสอันหนึ่งที่อยู่ในหัวใจของเรา เราก็ก้าวเดินออกไป ก้าวเดินออกไป คิดว่าอันนี้ไง ว่าอันนี้มันเป็นภาวนามยปัญญา อันนี้เป็นจินตมยปัญญา

จินตมยปัญญานี้ ความฉลาดของโลกเขา สิ่งที่ความฉลาดของโลกเขา มันเป็นประโยชน์ขึ้นมาให้เขาได้ทรัพย์สมบัติขึ้นมา ความฉลาดของเรา เราว่าเราได้ทรัพย์สมบัติขึ้นมากลับแห้งผากเพราะกิเลสมันหลอกใช้ไง กิเลสมันหลอกใช้ มันจะหลอกใช้ว่าคิดออกไปเป็นโลก ความคิดที่ออกไปเป็นโลก เห็นไหม โลกียะ โลกียารมณ์ อารมณ์เกิดขึ้นเกิดดับ เกิดดับ ความเกิดดับนั้นเป็นตัวมันเองอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แล้วเราเข้าไปแค่สอดรู้ความเกิดดับนั้นเท่านั้น พอสอดรู้ความเกิดดับ มันก็เกิดดับพร้อมกันไป มันเห็นความเกิดดับนั้น มันก็เลยอัศจรรย์ความเกิดดับของตัวเอง อัศจรรย์ความเกิดดับเพราะว่าเราสอดรู้ ความสอดรู้นี่เราเข้าไปเพราะว่ามันเป็นจินตะ คือการใคร่ครวญมา แล้วก็เป็นปัญญาเหมือนกัน แต่เป็น “จินตมยปัญญา” แล้วมันก็สงบวางลง มันว่างออกไป ความว่างออกไปอันนี้ไง นี่ไง คือจิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นแล้วมันต้องใคร่ครวญต่อไป

“ควรแก่การงาน” ถ้าควรแก่การงานอันนี้ ธรรมจะเกิดจริง ตัวธรรมจริงๆ จะเกิดขึ้นมาจากตัวอำนาจรวมศูนย์นั้น...อำนาจรวมศูนย์นั้นมันครอบคลุมอยู่ มันถึงไม่ยอมปล่อย ความไม่ยอมปล่อยแล้วมันออกมาเป็นมันกับเรา-เรากับมัน การเคลื่อนไหวกันอยู่ตลอดเวลานี้มันก็เป็นการวนเวียนอยู่นั่น ความวนเวียนอยู่นั่นมันจะอาศัยให้ภพชาติเราอีกภพชาติหนึ่งเป็นขี้ข้ามัน มันจะคลุมไปอีกภพชาติหนึ่งโดยที่เราไม่รู้ตัว

นี่ถึงว่าปัญญาไง ใครว่ามีปัญญา ปัญญาที่มันจะส่งเสริมให้เราเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาหรือปัญญาทำลายตัวเอง นี่ไง ปัญญาที่มันทำลายตัวเองโดยมันไม่รู้ตัว ทำลายคือทำลายโอกาส ทำลายเวลา ทำลายทุกๆ อย่าง ทำลายถึงว่าเราหลงออกไปออกนอกลู่นอกทาง เป็นไปได้ถ้ามันออกให้ละเอียดลึกเข้ากว่านั้น พลิกแพลงออกมาให้เป็นรูปทรงต่างๆ ของจิต

ความเห็นของจิตมันจะเห็นเป็นนิมิต เห็นเป็นภาพต่างๆ เป็นรูปทรงของมัน รูปทรงของมันเป็นอย่างไรก็ได้ เพราะสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมแล้วมีกระแสของอำนาจรวมศูนย์ อำนาจรวมศูนย์นั้นมีอำนาจมาก จะพลิกแพลงออกไป ความพลิกแพลงออกไปแล้วเราสืบต่อ เราเข้าไปรู้จังหวะ เห็นไหม ความเห็นต่อนั้นๆ คือเราเข้าไปขั้นตอนของการเกิดดับนั้น เราก็เห็นอาการแบบนั้น อันนี้เราเข้าไปควบคุมด้วย

นั่นไง มันถึงว่าต้องค้นคว้าออกมาให้เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากภาวนาไม่ใช่จินตมยปัญญาแบบนักวิทยาศาสตร์เขา เห็นไหม นักวิทยาศาสตร์เขาใช้ชั่วชีวิตสืบต่อๆ กันมานะ...เราจะใช้ชีวิตเราสืบต่อไปวันหนึ่งๆ วันหนึ่งคืนหนึ่งล่วงไป วันหนึ่งคืนหนึ่งล่วงไป ไม่ถามตัวเองว่าชีวิตนี้จะดับเมื่อไรหรือ การนึกถึงมรณานุสติมันก็เศร้าใจแล้ว

“ความเศร้าใจ” เห็นไหม ถามเอาความตายนี้เข้าไปแนบกับใจ ใจมันก็มีความเศร้า มันก็อยากตื่นตัวขึ้นมา ความตื่นตัวขึ้นมาเพื่อจะพ้นจากการตายก่อนไง การตายด้วยการหมดอายุ กับการตายด้วยอำนาจรวมศูนย์นั้นมันตายลงไปจากใจเป็นส่วนๆๆ เข้าไป หรือถึงที่สุดถอนมันทั้งหมดจากอำนาจรวมศูนย์นั้นเป็นธรรมทั้งแท่งเหมือนกับพระอรหันต์ ๑,๒๕o องค์นั่นน่ะ

นี่ใจมันเป็นไปได้ ถ้าก้าวเดินตามธรรม ตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ตามธรรมของอำนาจรวมศูนย์ที่อ่อยเหยื่อเราไง ให้เรากิน ให้เราใช้ด้วยความคิด ด้วยการที่ว่าให้อยู่ในอำนาจของอำนาจรวมศูนย์นั้น อำนาจรวมศูนย์นั้นให้ใช้ได้แค่นี้ ให้ใช้ได้แค่เราหายใจไม่ตายคามือเขาไง คามือเขาคือทุกข์จนตาย ทุกข์จนไม่มีทางไป

แต่นี้ให้มีความสุข ให้มีความเห็น ให้มีความว่าง ความถูกใจ ความพอใจ เห็นไหม อ่อยไปให้กินเหยื่อไปวันหนึ่งๆ เท่านั้นเอง ความกินเหยื่อไปวันหนึ่งๆ ของที่ว่าเป็นความสุขที่เราคิด มันเป็นความสุขส่วนหนึ่ง มันเป็นความเห็นส่วนหนึ่ง เห็นไหม มันเป็นธรรมไหม?

“ธรรม” ธรรมเป็นปัจจัตตัง เป็นอกาลิโก เกิดขึ้นกังวานขึ้นกลางหัวใจที่อำนาจรวมศูนย์นั้นมันพ้นจากการควบคุมออกไปเป็นชั้นๆๆ เห็นไหม การควบคุมเป็นชั้นๆ เพราะมันมีอยู่เนื้อของจิต เนื้อของจิตต้องจับตัวจิตขึ้นมา จับตัวจิตหรือผู้พิจารณากายก็จับกายขึ้นมา การจับกายขึ้นมานั่นน่ะมีเครื่องมือแล้ว การกำหนดด้วยปัญญานี่หาเครื่องมือเท่านั้น

“สุภัททะ เธออย่าถามให้เนิ่นช้าไปเลย ในศาสนาไหนไม่มีมรรค ในศาสนานั้นจะไม่มีผล”

มรรคโคคือทางอันเอก ทางอันเอกนี้เป็นเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือเข้าไปจับอาการของใจ สิ่งใดจะไปจับ ใจแก้ใจ จิตแก้จิตไง ความเห็นของสิ่งที่ว่าเป็นเครื่องมือมันไม่มี ความเห็นที่เป็นเครื่องมือเข้าไปจับใจมันยังหาไม่ได้ ความหาไม่ได้เอาอะไรไปจับ มันก็เป็นสิ่งที่ว่าเกิดดับที่เห็นเป็นขั้นตอนไปนั่นน่ะ อันนั้นมันเป็นตัวมันออกไป เห็นไหม นี่กำหนดเข้ามา กำหนดเข้ามา จนจิตมันสงบเข้ามาจนจิตนี้เวิ้งว้าง จิตนี้ตั้งมั่น แล้วต้องใคร่ครวญด้วยการค้นคว้าไง การหาคือว่าหาอำนาจ หาคำสั่ง หาคำสั่งที่ว่าศูนย์กลางอำนาจสั่งออกมาให้มารคือเรา ให้ทำให้คิดมันทำอย่างไร มันคิดอย่างไร

ถ้าเราเห็นคำสั่ง เราเห็นวิธีการของการหลุดออกมาจากหัวใจ ออกมาจากศูนย์กลางอำนาจนั้น เราก็สามารถเป็นกระแสย้อนกลับได้ เห็นไหม เพราะสิ่งที่คิด สิ่งที่ออกมามันแย็บออกมาจากศูนย์กลางของอำนาจนั้น มันต้องแย็บออกที่นั้นเพราะมันต้องมีที่เกิด

สิ่งใดๆ ในโลกนี้ สิ่งใดๆ ในจักรวาลนี้ สิ่งใดๆ ๓ โลกธาตุนี้ไม่มีเกิดขึ้นมาแบบลอยๆ ต้องมีเหตุมีผล มันต้องมีเหตุมันถึงออกมาเป็นผล เป็นความทุกข์ในหัวใจเรา ถ้ามันไม่มีเหตุ มันมาจากไหน มันจะลอยฟ้ามาจากไหน สิ่งที่ลอยฟ้ามา มันก็ต้องลอยไปสิ ลมมันลอยมามันต้องลอยไป มันจะให้อะไรกับเรา แต่มันก็ให้ความปั่นป่วนถ้ามันรวมตัวกัน นี่ก็เหมือนกัน เราต้องเห็นเหตุ ความเห็นเหตุนี่ไง คือการหาตัวจิตไง หาตัวจิตคือหาตัวศูนย์อำนาจนั้น

จิตมันเป็นนามธรรม อารมณ์นี้ก็เป็นนามธรรม แต่ถ้ามีอารมณ์อยู่ มันไม่สืบต่อ มันตั้งมั่นไม่ได้ แต่ความสืบต่อนะ ถึงเป็นนามธรรมมันก็ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นนี้แล้วมันถึงควรแก่การงาน เอื้อมเข้าไป เอื้อมเข้าไปด้วยดำริ การงานชอบ ชอบในการค้นคว้าเหตุผลที่มันอยู่อำนาจเหนือเรา เราไม่มีสิ่งใดๆ จะต่อต้านได้เลย ต้องคารวะ ต้องนอบน้อมต่อสิ่งนั้นตลอดเวลาไป

แล้วถ้าเรามีสิ่งนี้เข้ามา เราค้นคว้าเข้ามา เราจะหันกลับเข้าไปสิ่งที่มีอำนาจ คิดว่าสิ่งนี้เป็นความสุข คิดว่าสิ่งนี้ทำแล้วจะให้ผลประสบความสำเร็จ คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าดีเลิศมีคุณค่า เพราะเราเป็นนักบวช เราปฏิบัติธรรม “เราคิดว่า เราคิดว่า...” แล้วเวลามันให้ผลมามันไม่ใช่อย่างที่ว่าเลย มันไม่ใช่เลย

ฉะนั้น ถึงไม่เชื่อ ถึงไม่ฟัง ถึงต้องแข็งข้อกับศูนย์กลางอำนาจนี้ไง ถึงต้องการเอาหัวใจที่ว่าดำริ เห็นไหม ความดำริชอบ งานชอบ งานการค้นคว้า งานการสาวเข้าไปหาเหตุ จนจับเหตุได้ จับเหตุได้ก็เห็นตัวจิต เห็นตัวจิตคือเห็นฐานของมันเลย ด้วยมรรคอริยสัจจัง พอจับได้แล้วอันนี้ไง โอ้โฮ! แต่เก่าไม่เคยเห็น ได้แต่เดินตามมันต้อยๆๆๆ แต่บัดนี้ได้เห็นขึ้นมาแล้ว

สิ่งที่เห็นนี้เองมันหมุนเวียนไป ถึงเข้าไปถึงเหตุได้ ก็ต้องพิจารณาไปสิ พิจารณาดู “พิจารณา” การพิจารณานี้คืองาน การพิจารณาไม่ใช่การดูเฉยๆ การเพ่งเฉยๆ การพิจารณาคือการแยกแยะเพราะคนที่ทำงานเป็นไง คนที่ทำงานเป็นภาวนาเป็น เห็นไหม คนที่ทำงานเป็นคล่องงาน คนที่มีหลักฐานของใจ ใจตั้งมั่นแล้วใจเป็นพลังงาน ตัวพลังงานนั้นมันสามารถแยกได้ สามารถจะแยกตัวจิตได้ ตัวความคิด ตัวอารมณ์ที่คิดออกมา แต่เดิมเป็นขี้ข้า ถือว่ามันเกิดดับ มันเกิดดับโดยว่าเราเห็นความเกิดดับของมันแล้วเห็นช่องของมัน แล้วเราไปตามจินตมยปัญญา นั่นมันเป็นการเกิดดับโดยธรรมชาติของมัน เพียงแต่เราสอดรู้เท่านั้น

แต่คราวนี้ไม่ใช่ คราวนี้เป็นการแยกแยะ เป็นการมีอำนาจเหนือกว่า อำนาจของธรรมเกิดขึ้น อำนาจของฝ่ายปัญญา อำนาจของมรรคเกิดแล้ว อำนาจของมรรคเกิดแล้วจับแล้วแยกออกได้ ความแยกออกอันนี้ไง แยกออกไป แยกออกไป แยกออกไปว่า

สิ่งใดเป็นสังขารที่ปรุง ที่แต่ง

สิ่งใดเป็นเวทนาพอใจ-ไม่พอใจ อารมณ์ที่เกิดขึ้นพอใจ อารมณ์ที่เกิดขึ้นที่มันเป็นสิ่งที่พอใจ...พอใจ สิ่งที่ไม่พอใจ...ไม่พอใจ

“ความขุ่นมัวของใจ” อารมณ์ๆ หนึ่งยังแบ่งเป็นความพอใจหรือไม่พอใจเป็นครั้งช่วงตอนไปตลอดเวลา นี่ไงย้อนกลับ ย้อนกลับให้เห็นอารมณ์ที่เกิดดับ อารมณ์ที่สุข-ทุกข์นี่ไง ความสุขความทุกข์ ความพอใจ-ไม่พอใจ อันนี้เป็นเวทนา เห็นไหม เกิดจากอะไร เกิดจากความไม่รู้ เพราะมันเกิดแล้วโดยธรรมชาติของมัน มันไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันหมุนโดยสิ่งนี้ขันธ์ ๕ มันมีโดยสัจจะความจริง

ขันธ์ ๕ นี่เห็นไหม มีขันธ์ ๕ ในมนุษย์ มนุษย์มีขันธ์ ๕ มันหมุนด้วยสัจจะความจริง แล้วก็ศูนย์อำนาจนั้นก็ขับเคลื่อนไป ศูนย์กลางอำนาจมันขับเคลื่อนสิ่งนี้เท่านั้นเอง แต่ด้วยธรรมจักรอันนี้หมุนเข้าไป หมุนสาวกลับ “สาวกลับ” ความสาวกลับเข้าไป เราต้องเริ่มต้นสาวกลับ เราเริ่มต้นจับขึ้นไป พอเริ่มต้นสาวหมุนเข้าไป หมุนปัญญาย้อนกลับ พอย้อนกลับขึ้นไปมันก็ต้องทำงานต่อสู้กัน

ถ้ากำลังเราไม่พอ สิ่งนั้นอารมณ์นั้นจะหมุนทับเรามาเลย มันเป็นอารมณ์ไหลออกมา เราก็มีความอ่อนด้อย มีความเสียใจ มีความน้อยใจเพราะเราแพ้มา ความแพ้คือว่าเราคิดไม่ออก เราเข้าไปแล้วโดนอำนาจที่รุนแรงกว่าต่อต้านออกมา

แต่ถ้าเรากำหนดกลับมานะ กลับมากำหนดพุทโธก็ได้ กลับมาใช้ปัญญาควบคุมใจตัวเองไง ให้กำลังใจ เห็นไหม “ปัญญาควบคุมตัวเอง” หมายถึงว่าสิ่งนั้นมันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นแล้วเราไม่ไปยุ่งกับมัน อำนาจมันเหนือกว่า เรามาดูที่ใจของเรา ใจที่มันเกิดดับนี้สืบต่อให้สิ่งนี้มันยืนขึ้นมาได้ไง ปัญญามันหมุนมา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

สิ่งนี้เป็นอะไร แต่ถ้ามันคิดไม่ทันก็กำหนด “พุทโธ” ได้ พุทโธก็ได้ พุทโธ พุทธานุสสติ จนจิตกับพุทโธเป็นเนื้อเดียวกัน “จิตกับพุทโธเป็นเนื้อเดียวกัน” คำว่าพุทโธก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย เรานึกพุทโธ พุทโธ พุทโธในใจน่ะ นึกตลอดเวลา นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธนึกได้ นี่คืออาการที่ว่ามารกับศูนย์กลางอำนาจไง

ศูนย์กลางอำนาจคือว่าธรรมชาติมีอยู่แล้ว ความรู้สึก แล้วความกำหนดพุทโธ พุทโธ คำนึกว่าพุทโธขึ้นมาเป็นคำนึก มันถึงว่าไม่ใช่อันเดียวกัน จนกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนคำว่า “พุทโธ” กับ “ใจ” มันแนบเป็นอันเดียวกัน มันจะนึกพุทโธไม่ออก สิ่งที่เป็นใจเป็นใจล้วนๆ ไง นี่สมาธิธรรม นี่จิตตั้งมั่น

ถ้ามีที่พื้นฐานขึ้นมาก็หันกลับมาวิปัสสนาใหม่ วิปัสสนาคือการต่อสู้แยกออก แยกสิ่งที่ว่าเป็นขันธ์ ๕ สิ่งใดเป็นรูปของจิตคืออารมณ์ที่เป็นก้อนๆ นี่รูปของจิต สิ่งใดที่เป็นเวทนา สิ่งใดที่เป็นสังขารปรุงแต่ง สิ่งใดที่เป็นสัญญาที่มันซับซ้อนขึ้นมา นี่จี้เข้าไปดู พอจี้เข้าไปดู จี้เข้าไปดู ดูแล้วแยกออก ดูแล้วแยกออก แยกออก ดูนี่มันจับเป็นกองๆ ได้ มันจะตื่นเต้นมากนะ ตื่นเต้น

เราว่าเมื่อก่อนเราไม่เคย เราเป็นคนแพ้ มันเป็นทางเดินของมัน มันเป็นทางเดินคือว่าอารมณ์มันหมุนออกไปตลอด เราไม่รู้เรื่องเลย ทีนี้พอเราเข้าไปจับแล้ว จับได้มันก็มีอารมณ์อันหนึ่ง อารมณ์คือความรู้ทันไง อารมณ์คือว่า “เอ้อ! เราก็เป็นผู้ที่ทำได้” อันนี้มีความสุขอันหนึ่ง แล้วยังแยกอีก จับแล้วแยกมันออก แยกมันออก คราวนี้แยกอย่างนี้ คราวหน้าแยกอย่างนั้น แยกออกไป แยกออกไป ความแยกออกๆ เห็นไหม พอแยกออกอารมณ์ก็ไปไม่ได้ อารมณ์มันหมุนไปไม่ได้ไง มันโดนคัดแล้ว

แต่เดิมเป็นไปไม่ได้เลย มันไหลไปโดยธรรมชาติของมัน แต่เดี๋ยวนี้มันมาไม่ได้แล้ว เพราะปัญญานี้หมุนเข้าไป ปัญญาอันนี้มันหมุนเข้าไป มันมีเราก่อน ใหม่ๆ เราจะแยก ความไม่ชำนาญ เห็นไหม คำว่า “เรา” หมายถึงว่าเราต่อสู้ด้วย เราร่วมในสนามรบนั้นด้วย เราด้วย จิตนี่ตั้งมั่นด้วย มันต้องเป็นอย่างนี้ไปก่อน พอเป็นอย่างนี้ไปก่อน ต่อสู้ไปเรื่อย ต่อสู้ไปเรื่อย ความชำนาญ มันจะแยกออก แยกพั้บๆๆ ความชำนาญนี้แยกเร็วมาก แยกเร็วมาก ความชำนาญนี่ชำนาญจนไม่มีเรา ฟังนะ “จนไม่มีเรา” ถ้ามีเราอยู่นี้มรรคไม่สามัคคี มรรคะไม่สามัคคีหรอก

เราหมุนไปเรื่อยๆ ให้เป็นภาวนามยปัญญา เป็นธรรมจักร ธรรมนี้เป็นกลาง ปัญญานี้เป็นปัญญากลาง เป็นปัญญาของธรรม เป็นปัญญาของมรรคอริยสัจจัง เป็นปัญญาของอริยสัจไม่ใช่ปัญญาของเรา ปัญญาของเราเสริมเข้าไปเฉยๆ ตั้งแต่ทีแรกแล้วพอหมุนไปๆ มันจะแยกออก นี่ไม่ใช่เราด้วย

ถ้ายังเป็นเราอยู่ เราเข้าไปอยู่ในวงงานนั้น เพราะเรามีความคิด เรามี มันจะไม่สามัคคี มรรคะไม่สามัคคีมันก็ไม่สมประกอบของมัน เห็นไหม ทำไมทำได้ล่ะ นี่ภาวนามยปัญญาเกิด ธรรมจะเกิดต้องเกิดจากอันนี้ไง ธรรมจะเกิดจากความเป็นจริงอันนี้ พอเกิดจากความเป็นจริงอันนี้ หมุนเข้าไป หมุนเข้าไป

“เนื้อของจิต” เห็นไหม ศูนย์กลางอำนาจ เพราะมันจับได้ มันต่อสู้กันบนพื้นบนเวทีอันนั้นแล้วยืนอยู่บนเวทีของจิตเลย ยืนอยู่บนภวาสวะอันนั้นเลย ภาวะที่ฐานตั้งออกมาจากอารมณ์ต่อสู้กัน การต่อสู้กันตลอด ต่อสู้กันมีแพ้มีชนะตลอดไป มีแพ้มีชนะ ไม่ชนะตลอดแล้วก็ไม่แพ้ตลอด แต่ต้องมีความเข้มแข็ง มีความอดทน

มีความเข้มแข็ง เห็นไหม เราจะก้าวเดินไปเพราะชีวิตนี้เป็นทุกข์นัก การเกิดการตายนี้ยิ่งทุกข์ใหญ่เลย ชีวิตนี้เพราะว่าการเกิดการตายยังเกิดลุ่มๆ ดอนๆ เห็นไหม แล้วเราจะชำระการเกิดการตายมันจะเป็นงานลูบๆ คลำๆ ได้อย่างไร?

งานมันก็ต้องงานแบบเอาความเป็นความตายเอาตายเข้าแลก เพราะเกิดตายเหมือนกัน การทุ่มความเพียรก็ทุ่มเอาตายแลกเลย เพราะถ้าไม่ทุ่มเอาตายแลก กิเลสมันก็เอาตายหลอก กิเลสมันเอาตายหลอกนะ ถึงที่สุดแล้วนะ “เดี๋ยวจะเป็น เดี๋ยวจะตายนะ เดี๋ยวจะง่อยเปลี้ยเสียขานะ นั่งแล้วจะลุกไม่ได้นะ ลุกไปเดี๋ยวเดินไม่เป็น” มันก็เอาตายมาหลอกเหมือนกัน

ถ้ามันเอาตายมาหลอก เราก็เอาตายเข้าใส่มัน เอาตายเข้าใส่ เอาตายเข้าใส่ ตายก็ตาย เป็นก็เป็น ไม่เกี่ยว ถ้าเราตายกิเลสมันชนะไป แต่ถ้ากิเลสตาย เราก็พ้นจากการตายอีกแล้ว จะพ้นจากการตาย นี่ปัญญาต้องขนาดนั้น เห็นไหม ทุ่มกันทั้งตัว ความทุ่ม ทุ่มๆ จริงๆ ทุ่มแบบสุดขั้วหัวใจ นี่ไง การทุ่มแบบสุดขั้วหัวใจมันถึงจะเป็นว่าไม่ใช่เราไง

ถ้าเป็นเราอยู่กล้าทุ่มอย่างนั้นเหรอ เอาคำว่า “ตาย” เข้ามามันก็เอนเอียงแล้ว มันก็เอนเอียง เห็นไหม นี่หมุนเข้าไป หมุนเข้าไป นี่ธรรมจักรเป็นแบบนี้ ธรรมจักร ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากเรา สาวเข้าไป สาวเข้าไป ความสาวเข้าไป หมุนไปเรื่อย หมุนไปเรื่อย หมุนเข้าไป ขาด ปล่อยโล่ง ขาด ปล่อยโล่ง นี่คนมันก็ต้องมีสุขขึ้นมาเหมือนกัน ความขาด ปล่อยโล่ง ใจนี้ว่างมาก ว่างอันนี้ว่างจากการทำงานเอาความตายเข้าแลกนะ

วิริยะอุตสาหะ มรรคเห็นไหม ความเพียรชอบ ความดำริชอบ งานชอบ สมาธิชอบ สติสัมปชัญญะชอบด้วยนะ สติสัมปชัญญะสำคัญมาก พอชอบ ทุกอย่างมันชอบ กลืนลงตัวกันพอดี บาลานซ์กันเต็มที่ สมานกันเต็มที่นะ มันก็ปล่อยหมดนะ มันปล่อยผลัวะ จิตเป็นจิต กายเป็นกาย ทุกข์เป็นทุกข์ พิจารณากายอยู่ กายก็เป็นกาย ขันธ์ก็เป็นขันธ์นะ สักกายทิฏฐิ ๒o มันจะหลุดออกผลัวะ

ออกผลัวะอันนี้ เห็นไหม ธรรมนี้มีอยู่ดั้งเดิม ธรรมมีอยู่ดั้งเดิม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อกาลิโกนะ เป็นอกาลิโก เป็นสิ่งไม่มีกาล ไม่มีเวลา มีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมนี้มีอยู่แล้ว” เพียงแต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารู้มาเห็นเข้าเฉยๆ นี้ก็เหมือนกัน มันต้องธรรมประสิทธิ์ประสาทตามหลักความเป็นจริง เพราะมันจริงในตัวมันเองไง อริยสัจจะเข้าไป ออกมาจากอริยสัจ นี่มีดวงตาเห็นธรรม พอมีดวงตาเห็นธรรมมันก็ปลื้มใจสิ ธรรมในพระอรหันต์ ๑,๒๕o องค์ที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้า กับในหัวใจเรามีดวงตาเห็นเฉยๆ พอมีดวงตาเห็นธรรมก็จะก้าวเดินเข้าไปตรงนั้นไง จะก้าวเดินไปตรงนั้นก็หมุนอีก ต้องหมุนอีก นี่งาน

งานการที่ว่าเราจะเริ่มเข้าหาว่าจิตที่มันปล่อยออกมา นั่นน่ะ จิตที่มันปล่อยจากอารมณ์ความรู้สึกอันนั้นน่ะ มันปล่อยออกไปแล้ว แยกออกไปเลย ขันธ์นี่แยกออกไป กระเด็นออกไปไกลเลย คนละทวีปเลย หลุดออกไปเลย แล้วมันมีความสุขมาขนาดนี้มันยืนยันค้ำประกันกันอยู่แล้ว

แล้วสิ่งที่ว่ามันเป็นอุปาทานอยู่ในกาย มันเป็นอุปาทานอย่างไรต่อไป ความเป็นอุปาทานนะ มันละออกมา กายนี่ไม่ใช่เราอยู่แล้ว เห็นขาดออกไปเลย แต่อุปาทานที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่มันไม่รู้ ผู้ที่การก้าวเดิน ธรรมของผู้ที่ก้าวเดินกับธรรมแท้ไม่เหมือนกัน ธรรมของผู้ที่ก้าวเดินเพราะธรรมเป็นธรรมคู่ บุรุษ ๘ จำพวก “ธรรม ๔ คู่ บุรุษ ๘ จำพวก” นี่ต้องหา

“การค้นคว้า การหา” การหาคือว่าการหาอาการของใจ อารมณ์ของใจมันขาดไปแล้วมันขาดออกไป นั่นมันหยาบๆ แต่ความสิ่งที่ว่ามันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป ความละเอียดเข้าไปมันยิ่งละเอียดเข้าไป ความละเอียดเข้าไป เครื่องมือที่จะเข้าไปจับมันต้องละเอียดขึ้น

ความละเอียดขึ้นไปของเครื่องมือนั้น แต่เพราะคนเป็นแล้ว ความตั้งใจมันก็ตั้งใจ สติสัมปชัญญะพร้อมขึ้นไป พร้อมขึ้นไป สติต้องตลอดเวลา สติจดจ่ออยู่ จดจ่อนี้เป็นสติ เห็นไหม ความจดจ่อถึงจะเห็นผล ความไม่จดจ่อมันก็ไปเรื่อย อย่างเช่น ไฟฉายส่องไปต้นไม้ต่างๆ ส่องไปแต่ละต้นไม่เหมือนกัน การเคลื่อนออกไปภาพต่างกัน ภาพต่างกัน ภาพต่างกัน ไม่จดจ่อ

ความจดจ่อ สติพร้อม จดจ่อเข้าไป ความจดจ่อ เห็นเห็นไหม ความเห็นเพราะความจดจ่อเข้าไปเห็นเฉยๆ ความเห็นอันนั้นน่ะ ความเห็นมันก็สะเทือนหัวใจ แค่ความเห็นนะ เพราะเราคนไม่รู้แล้วมารู้ คนไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีความบกพร่อง แล้วมารู้ว่าตัวเองมีความบกพร่อง ยอมรับความบกพร่องของตัวเอง คนๆ นั้นต้องประเสริฐสิ เห็นไหม การให้อภัยตัวเองคือการให้ความเริ่มต้น

การจดจ่อหาเหตุหาการหางานจะมาทำ หางานที่จะก้าวเดินออกไป ก้าวเดินนะ เหมือนไฟได้เชื้อไง เพราะมีดวงตาเห็นธรรม เหมือนไฟได้เชื้อ ลองได้เผาป่าไปแล้วมันจะเผาไปตลอด อันนั้นถ้าเราไม่อย่างนั้นแล้วเราจะไม่ค้นคว้าเลยเหรอ เผาออกไป เห็นไหม เวลามันเผาป่าไป ช่วงที่เขาทำกันไฟป่าไว้ เขาจะตัดช่วงขาดออกจากกัน มันสืบต่อไปไม่ได้ เพราะมันไปถึงตรงช่วงที่มันขาดตอน มันจะสืบต่อไป เราจะทำอย่างไรให้มันข้ามไปเผาสิ่งฝั่งตรงนู้น ฝั่งหนึ่งออกไป

นี่ก็ต้องหาเชื้ออันนี้ หาเชื้อที่ว่าอุปาทานในกาย มันเป็นอุปาทานอยู่ใน...นี่ดูไป พิจารณาอุปาทานในกาย พิจารณานะ มันก็เป็นขันธ์เหมือนกัน มันเป็นขันธ์ มันเป็นความคิด มันเป็นความเกาะเกี่ยวอยู่ในกายนั้น วิปัสสนาไง ถ้าเจอนะ พอเจอก็วิปัสสนา วิปัสสนาหมายถึงว่าแยกออกไป แยกออกไป เห็นไหม ไปเกาะเกี่ยวกับกายนั้นอย่างไรอีก?

ในเมื่อมันสละกายไปแล้วมันต้องขาดออกไปสิ มีส่วนเกาะเกี่ยวอยู่ได้อย่างไร ความเกาะเกี่ยวอันนี้มันเพราะว่าถ้าผ่านตรงนี้ สังโยชน์มันไม่ขาดไง มันไม่มีสังโยชน์มาขาดอีก แต่มันมีสังโยชน์ที่จะอ่อนลง กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนลง เห็นไหม ความที่กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนลง กับความเกาะเกี่ยว เห็นไหม มันถึงว่าจี้เข้าไปตรงนี้ไง พอจี้เข้าไป จี้เข้าไป ความจี้นี้จี้เข้าไปเป็นการเจาะจงที่จะทำงานที่จะไม่ให้พลาดจากงาน แต่เวลาหมุนด้วยปัญญามันต้องพิจารณาไป พิจารณา ความเป็นพิจารณาว่ามันทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ถ้าพิจารณากาย ปล่อยกายมาด้วยความเป็นไตรลักษณ์ออกแล้วปล่อยกายออกมา กายที่เป็นไตรลักษณ์มันปล่อยออกมา เห็นไหม เป็นไตรลักษณ์ กายนี้เป็นไตรลักษณ์ กายนี้มันเป็นกายมันแปรสภาพ มันไม่มีความเป็นจริง เราเกาะอยู่ เรายึดมั่นถือมั่นอยู่จะให้เป็นของเรา มันไม่เป็นตามความจริง มันปล่อย

แต่ถ้าพิจารณาตรงนี้ พิจารณาซ้ำเข้าไป พิจารณาตรงนี้ซ้ำเข้าไป เวลามันพอคลายตัวออก เห็นไหม กายนี้ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ คือกายมันหายวับ แปรสภาพออกขาดออกไปจากใจเลย ความขาดออกไปของกายกับจิตอย่างนี้ ความขาดออกไปนี่แยกออกชัด

ความแยกออกชัดนี้กายเป็นกาย จิตเป็นจิต สังโยชน์อ่อนตัวลง กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนตัวลงเฉยๆ อ่อนตัวลงเพราะว่ามันแยกออก ความที่มันเกี่ยวเนื่องกันมันไม่มี มันแยกออก “จิตนี้เป็นกระจกใส กายนี้เป็นโพธิ” แยกออกไปจากกัน นี่กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนลงตามหลักธรรมว่าอ่อนลง อ่อนลงเพราะว่าเรามันแยกแล้ว มันปล่อย มันเห็น มันอยู่ห่างกัน อยู่คนละฝั่งเลย เห็นไหม แม่น้ำคนละฝั่ง อยู่คนละฝั่ง นี่ถ้าเป็นผลตรงนี้

แต่ถ้าการก้าวเดินต่อไป มันไม่ใช่อ่อนลง มันกลับจะรุนแรงขึ้น เพราะสิ่งที่เราค้นคว้าอยู่นี้ เราค้นคว้าอยู่แต่กรอบภายนอก แต่ถ้าเราไปค้นคว้าสิ่งที่เป็นเนื้อใน เป็นเนื้อ สิ่งที่เป็นเนื้อ ความบริสุทธิ์ของมัน มันจะมีมากกว่า ความบริสุทธิ์ของมัน มันจะให้ผลที่รุนแรงมากกว่า

ถ้าเข้าไปในวงของกามจะรุนแรงมหาศาล การวิปัสสนาไม่มีช่วงไหนจะรุนแรงหรือทรมานเท่าตรงนั้นเลย นี่มันเป็นธรรมชาติของจิต มันเป็นธรรมชาติของใจทุกๆ ดวง มันเป็นธรรมชาติไง ความเป็นไปนี่มันเป็นโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

ทำไมเทวดาเขาถึงเสพกามกันล่ะ?...เขาเป็นเทวดา เขายังเสพกามกันเพราะเขามีดวงจิต เขามีความรู้สึก ใจนั้นมีอยู่ ในของเทวดาก็มีกามภพเหมือนกัน กามภพนั้นเทวดาเขายังเสพกามกัน ความเสพกามนะ เขาไม่มีกายทำไมเขาเสพได้

แล้วเรามีทั้งกายมีทั้งจิต จิตมันถึงว่าตัวมันเองมันถึงเป็นกามจริงๆ ไง ความเป็นกามของใจตัวนั้น มันถึงว่าออกมามันจะรุนแรงเพราะถ้าเข้าไปเจอ แต่ความเจออันนี้มันจะเจอด้วยความยากขึ้นไปเพราะว่ากายกับใจแยกออกจากกัน เห็นไหม แต่ก่อนเราเผาป่าไปมันสืบไป เวลามันเผาป่าไปเจอฝ่ายตรงข้าม เจอทางเขากันไฟไว้ ทำหาเชื้อต่อเข้าไป มันก็ต่อเข้าไปได้ แต่คราวนี้มันเผาป่าไปมันเจอแม่น้ำขวางหน้าเลย แม่น้ำที่ขวางหน้าอยู่ ไฟมันจะผ่านน้ำไปได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน การจะค้นคว้าหาหลักของจิตล้วนๆ ตัวนี้ ถ้าพิจารณาจิตนะ ถ้าพิจารณากายก็ว่าคิดอย่างไรจะให้หัวใจยกตัวใจตัวกายขึ้นมาให้เห็นได้ไง เพราะเป็นกายใน กายนอกนี่เรานึกก็เห็นทันทีเลย นึกก็เห็นทันทีเลย แต่ถ้ากายใน...เพราะมันต้องขึ้นรูปมาจากจิตตัวนั้น จิตนั้นมันถึงจะเป็นกายของจิตได้ไง ถ้ากายของจิต จิตตัวนั้นมันก็เป็นกายได้เพราะจิตมันซ้อนอยู่ในกาย

แต่การจะหาตรงนั้น พลังงานของใจมันพอไหม เพราะว่าเดิมมาเราวิปัสสนามา เห็นไหม ธรรมและวินัย เราอาศัยธรรมและวินัยเข้ามาตลอด “ธรรมและวินัย” ธรรมและวินัยเข้ามา ธรรมและวินัยคือเชื่อไง เชื่อและปกป้องให้จิตเป็นสัมมาสมาธิ จิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้ควรแก่การงานมันก็เป็นมรรค สติปัญญาเป็นมรรค

แต่นี้มันไม่ใช่สติปัญญา การก้าวเดินตรงนี้มันต้องเป็นมหาสติ ฟังสิ มันไม่ใช่สติ มันเป็น “มหาสติ” มันต้องละเอียดอ่อนกว่านั้น “มหาสติ-มหาปัญญา” ถ้ามีมหาสติ-มหาปัญญา แล้วจิตที่มันเป็นสติ เป็นปัญญาอยู่นี่ เราจะถอยล่วงเข้าไปแล้วว่าเราจะเข้าถึงเนื้อของมัน มันเป็นเครื่องมือคนละอย่างมันจะเข้ากันได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นสติ มันเป็นปัญญาหยาบๆ เป็นสติปัญญาที่ว่าเขาใช้กันอยู่อย่างนั้น ที่ว่ามองใช้ได้

แต่ตัวนี้มันต้องเป็นมหาสติ-มหาปัญญา มันละเอียดขึ้นไปขนาดนั้นนะ เราถึงต้องสร้างไง สร้างจนใจเวิ้งว้าง ใจว่างขนาดไหน นี่ความเวิ้งว้างนั้นมันเพิ่งเริ่มก่อตัว ความก่อตัวของใจอันนี้ไง ความก่อตัวของเครื่องมือไง ความก่อตัวของมรรคไง ความก่อตัวของสัมมาสมาธิของขั้นตอนนี้ สัมมาสมาธิมันก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ สัมมาสมาธิของขั้นตอนที่ว่าเป็นมหาสติ-มหาปัญญานี้มันต้องก่อตัวขึ้นไป ก่อตัวขึ้นไป การก่อตัวขึ้นไปมันก็พิจารณาเข้าไปเรื่อยๆ การพิจารณาเข้าไป ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นกำหนดพุทโธ พุทโธก็กำหนดเข้าไป กำหนดเข้าไป กำหนดเข้าไปแล้วเวิ้งว้างจนจับต้องอะไรไม่ได้เลย ความจับต้องอะไรไม่ได้เลย มันก็ต้องใช้กาลใช้เวลา

แล้วอีกอย่างหนึ่ง เวลาผ่านไปตรงนี้มันเข้าใจ ส่วนใหญ่แล้วคนจะเข้าใจตรงนี้เพราะมันจับต้องอะไรไม่ได้ ความจับต้องอะไรไม่ได้มันก็ไม่มีอะไรเลย ความไม่มีอะไรเลย ความจับไม่มีอะไร ส่วนใหญ่จะนอนจม ไม่มี ไม่มีหรอกที่ว่าจะผ่านไปโดยสวัสดิภาพถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ แล้วคอยจังหวะไง คอยจังหวะ คอยบอกโอกาส โอกาสว่า มันควรจะ ควรจะไหม ควรหรือยัง มันควรจะเป็นอย่างนั้นหรือยัง

ถ้ายังไม่ควรนะ ความที่เป็นพื้นฐานขึ้นมา พื้นฐานมันจะวางขึ้นมาได้อย่างไร พื้นฐานขึ้นมา เห็นไหม เหมือนนั่งร้าน เราสร้างตึกสร้างร้าน ชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ชั้น ๔ ขึ้นไป แล้วสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป จะส่งไม้ขึ้นไปทำมันก็ยากเพราะของมันอยู่ในที่สูง จะต่อขึ้นไป จะผูกจะมัดมันก็ยาก แล้วการทำงานเราก็อยู่ข้างบนทำงาน

เราทำงาน จิตนี้ทำงาน จิตนี้ใคร่ครวญไป เพราะว่ามันรู้อยู่ว่าถ้ามีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ว่ายังต้องไปต่อไป แต่ไอ้ศูนย์กลางของอำนาจนั้น ศูนย์กลางคือความคิดมันเป็นเรา เป็นอวิชชา เป็นศูนย์กลางของอำนาจอยู่ในหัวใจ มันก็ต้องอันนี้ “ความหลอก” ความหลอกไง

เราทำความเพียรอยู่ เราเข้าใจว่าเราทำนั่งสมาธิเดินจงกรมอยู่จะเป็นความเพียรได้บริสุทธิ์...ไม่ใช่ ไม่ใช่ ความเพียรบริสุทธิ์หมายถึงว่าเราเชื่อมั่นในวันมาฆะนี้ เราเชื่อมั่นในพระอรหันต์ ๑,๒๕o องค์ว่าเป็นไปได้ เป็นไปได้ ทำได้จริง เป็นไปได้ เป็นที่พึ่งของเรา นี่เราเชื่อมั่นแล้วก็ก้าวเดิน พยายามฝืนเดิน ฝืนทนเข้าไป

แต่สิ่งนั้นก็ว่าต้องครอบงำไว้ ถ้าครอบงำตรงนี้ไว้ เขายังมีอำนาจอยู่ในที่อยู่อาศัยของเราได้ เห็นไหม มันยังมีอำนาจอยู่ ยังใช้อำนาจนั้นอยู่ แล้วใครจะยอมปล่อยง่ายๆ ไม่มีทางที่ใครจะปล่อยได้ง่ายๆ นี่มันยากตรงนั้นไง ยากตรงที่ว่ากิเลสมันปิดตา มันไม่ใช่ยากหรอก ไม่ใช่ยากว่าเราไม่มีวาสนา ไม่ใช่ยากด้วยธรรม มันยากเพราะกิเลสปิดตาเท่านั้น

พอกิเลสปิดตา ใจพัฒนาขึ้นมาจากเดิมเป็นความเวิ้งว้าง มันก็ตื่นเต้นตรงนั้นไง ตื่นเต้นตรงนั้น จนต้องพยายามดูเข้ามา ดูจิตเข้าไป มันมีความรู้สึก พอความเปลี่ยนแปลง เพราะธรรมชาติของมัน สรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรคงที่ สรรพสิ่งใดๆ ธรรมชาตินี้ไม่มีคงที่ การเกิดจะไวขนาดไหนมันก็ต้องแวบให้เห็นไง แวบให้เห็นให้สะกิดใจได้ ความสะกิดใจได้ นี่มันเยิ้มมาเฉยๆ

ถ้าจับได้ไง นี่ไงจดจ่อ ความใคร่ครวญจดจ่อถ้าเพราะเครื่องมือพร้อมแล้วจดจ่อเข้าไป นี่ไงถึงว่าเดิน เดินๆๆๆ มรรคา ความเป็นมรรคา ต้องเดินมรรคอย่างเดียว “มรรคา” มรรคนี้อาศัยจากหัวใจ อาศัยจากเราก้าวเดินไป มันต้องค้นคว้าก่อน มันต้องหาจุดของศูนย์กลางอำนาจนั้น หาจุดที่ว่ามันออกมาจากเป็นคำสั่งจนเป็นการงานของมัน

ถ้าเจอตรงนั้นตื่นเต้นมาก เพราะมันแวบออกมา สิ่งที่ว่าเราค้นหามาเที่ยวตั้งแต่อดีตชาติไม่รู้ว่าการตายการเกิดนี้สะสมมาในหัวใจนี้ มันสะสมมาไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วไม่มีใครเคยเห็น แต่คราวนี้เราเห็นเรา เราเป็นคนเห็นเพราะเราเดินมรรคอยู่ เราเป็นคนเห็น เราก็ต้องมีความตื่นเต้น ความสุขอันนี้ ทางโลกเขาจะเกิดสมบัติขนาดไหน เขาจะดีใจขนาดไหนมันเรื่องของเขา แต่เขาก็ตื่นเต้นของเขามหาศาล ยิ่งเขามีมากขนาดไหน เขาก็ยิ่งไม่มีวันพอ

ไอ้ทางนี้มันเป็นทางธรรม ทางธรรมที่เราเข้าไปเจอนี่ขนพองสยองเกล้าขนาดไหน มันแบบว่าจนพูดไม่ถูก จนถึงว่ามันปลื้มอกปลื้มใจ มันขนาดนั้นนะ บางทีบางองค์ถึงกับน้ำตาไหลพรากเลย น้ำตานี่ไหลพรากๆ เพราะน้ำตานี้มันจะน้ำตาชำระภพชำระชาติ

ถ้าตรงนี้ผ่าน กามภพมันจะขาด มันจะขาดตรงนี้ กามภพที่เป็นเทวดาที่เขาเสวยกามกันอยู่ เขามีแต่ดวงใจ เขาก็ยังเสวยกามกันอยู่ ถ้าเราจับต้องได้ เทวดาเขายังเพลินอยู่นะ เขามีความสุข เขาเพลินของเขา นั่นมันเรื่องของเขา มันตัวใครตัวมัน นี่ตัวของเราจะเอาพ้น จะตัดออกจากใจให้ได้ จะทำลายศูนย์กลางอำนาจในหัวใจนี้ให้ได้ไง จะเข้าถึงธรรม ให้ถึงธรรมแท้ๆ ให้ได้

นี่พอมันจับได้ ความตื่นเต้น ความสุข ความพอใจมันประดังมาพร้อมกัน มีความสุขมาก การทำงานประสบความสำเร็จขั้นตอนหนึ่ง ขั้นตอนหนึ่งนี้เป็นการเสวยสุข มันจะเวิ้งว้าง มันจะเบา พอใจ อาศัยสุขนี้เป็นเครื่องดำเนินไป เห็นไหม มันไม่มีทุกข์อย่างเดียวหรอก ไม่ใช่ว่ามีแต่ทุกข์ เราจะทุกข์ๆๆ เขาว่าทุกข์นี้ พวกเรามีแต่วิ่งเข้าหาทุกข์...มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงสิ่งที่ต้องเผชิญหน้า

สิ่งที่ต้องเผชิญหน้าเราไม่หลีกเลี่ยง ถ้าเราหลีกเลี่ยง เราก็ไม่ใช่นักรบ ถ้าเราไม่ใช่นักรบ เราจะฆ่ากิเลสได้อย่างไร การฆ่ากิเลส เห็นไหม นักรบนี้มันเป็นนักรบจากภายในไง หัวใจนี้เป็นนักรบ หัวใจนี้เป็นพุทธชิโนรส เป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธชิโนรสนะ ศากยบุตร บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเป็นถึงกษัตริย์ เป็นนักรบ แล้วทิ้งจากการรบภายนอกมารบท่ามกลางหัวใจ มา รบอยู่ภายใน ความรบอยู่ภายใน กำลังใจ ศาสตราวุธของธรรม ธรรมจักรอยู่ในหัวใจ ใครๆ ก็สร้างขึ้นมาได้ มันเป็นสมบัติกลางที่ว่านั่นน่ะ เป็นสมบัติกลางแล้วใครจะค้นคว้า ใครจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา

รูปรส รูปภายใน รูปของใจมันจะวิเศษ มันเป็นธรรมขึ้นมา มันอยู่ภายในไม่มีใครเห็นหรอก รูปรส รูปร่างภายนอกเราเห็นกัน คนนั้นง่อยเปลี้ยเสียขา คนนั้นมีอำนาจวาสนา นี่รูปร่างภายนอกอันนั้นมันเปรียบเทียบกัน...มองไม่รู้ แล้วง่อยเปลี้ยเสียขาขนาดไหนถ้าหัวใจเขาสำเร็จได้ เขาสำเร็จได้หมด เพราะ “ใจ” ใจนี้มันต่อเนื่องถึงกัน

นี่ไง นักรบมันถึงรบภายใน ความรบภายใน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางศาสตราทั้งหมด แล้วออกมาหาโมกขธรรม แล้วสำเร็จไปก่อน แล้วเราล่ะ เราออกมา เราประพฤติปฏิบัติ เราต้องการชำระกิเลสของใจของเราให้ได้ มันก็ต้องมีกำลังใจ กำลังใจเสริมขึ้นมา เสริมขึ้นมา สู้ไปตลอด

ความต่อสู้ งานใดๆ เราก็เคยประสบความสำเร็จ แต่งานนี้ทำไมเราทำไม่ได้ เราก็คนๆ หนึ่ง คนๆ หนึ่งนะ แล้วเป็นนักบวชอีกต่างหากด้วย นักบวชนี่เป็นนักรบที่เข้าเผชิญสงครามไง เหมือนกับผู้ที่ออกแนวหน้าไง ผู้ที่ออกแนวหน้า ๑ ผู้ที่ได้ผ่านสงคราม ๑ เขาได้ออกแนวหน้าแต่ยังไม่ได้เจอสงครามจริง เป็นสงครามสมมุติ

การฝึกฝนนี่เป็นสงครามสมมุติ การค้นคว้าขึ้นมาด้วยปัญญานี้ก็เป็นสงครามสมมุติ จนกว่าเราจดจ่อแล้วเราเจอข้าศึกจริง ความสุขอันนี้ ความสุขคือว่า คนรอดตายมาจากสงครามใช่ไหมถึงมีความสุข คนรอดตายออกไปจากสงครามนะ ต่อสู้ขึ้นมา ต่อสู้จนจับเชลยได้ไง ต่อสู้จนจับกามราคะในหัวใจได้ไง นี่มันถึงตื่นเต้นมาก...นี่แค่จับได้นะ

แล้วการต่อสู้ ทีนี้พอจับได้แล้วก็ต้องมาไต่สวนสิ ข้าศึกนี้จะมีสงครามอะไรอีก ต้องไต่สวนว่าสงครามที่เขาวางกับดับไว้ข้างหน้ามีอะไร นี่สงครามเรา กำลังเราพอไหม กำลังของข้าศึกนี้ใหญ่โตมากเพราะมันครอบวัฏจักร ครอบวัฏจักรนะ ๓ โลกธาตุ เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏจักรนี้ ในวัฏจักรมันจะใหญ่ขนาดไหนล่ะ? แล้วจิตนี้เป็นจิตดวงที่หมุนเวียนอยู่ในเป็นสิ่งเล็กๆ อันหนึ่งที่หมุนอยู่ในวัฏจักรนี้ สงครามนั่นน่ะ สงครามทำลายกามภพ สงครามทำลายภพชาติ แล้วข้าศึกมันจะจับมาแล้วมันจะยอมเราง่ายๆ เหรอ นี่ข้าศึกคือได้ตัวมาเฉยๆ

พอหมุนเข้าไปนะ รุนแรงมาก รุนแรงมหาศาล สงครามนี้สงครามใหญ่ เพราะว่าเราเผชิญหน้าไง แต่เดิมเราไม่เคยเผชิญหน้า เราแค่เป็นเบี้ย เป็นลูกน้อง คอยออกมาเป็นอารมณ์กามเท่านั้นเอง อารมณ์กามนี้เป็นอารมณ์เด็กๆ นะ เป็นอารมณ์ของเบี้ยที่ออกมาต่อสู้เท่านั้นเอง เห็นไหม เป็นขุนเป็นอะไรที่ว่าเป็นตัวเจ้าอำนาจนี้ เรายังไม่เคยไปเจอ

พอไปเจอตัวนี้ นี่มันถึงว่าไอ้ที่ว่าอารมณ์กามนั้นมันยังส่งออกมาเป็นกระแสออกมา ตัวนี้เป็นตัวเผชิญหน้า พอเข้าเผชิญหน้า เห็นไหม มันเป็นเดี๋ยวนั้นๆ เลย มันสงครามใหญ่มาก สงครามใหญ่ก็ต้องต่อสู้...อะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร มันจะหลอก หลอกมากเลย หลอกให้ว่าควรจะเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนี้ เห็นไหม เพราะมันละเอียดอ่อนมาก

ความละเอียดอ่อนอันนั้น เพราะใจเรามันเป็นมหาสติ-มหาปัญญาเหมือนกัน มหาสติ-มหาปัญญาก็หมุนเข้าไป หมุนเข้าไป ต่อสู้ล้มลุกคลุกคลาน แม้แต่ลมหายใจเข้า-ออกทุกอย่างมันต้องต่อสู้ตลอด เพราะว่าเป็นมันตลอดไง เป็นถึงตัวจริงของกามราคะอยู่แล้ว กามราคะเป็นตัวจริง มันเป็นตลอด จนไม่สามารถจะมองหน้าใครได้นะ ไม่สามารถจะมีเวลายั้งคิดได้เลย มันแวบออกตลอด แวบออกตลอด นี่สงครามตรงนี้ถึงรุนแรงในภาคปฏิบัติ ข้ามตรงนี้รุนแรงมาก

รุนแรงขนาดไหน มันเป็นทางที่ต้องเผชิญ ความที่ว่าต้องเผชิญหน้ากับกามนี้ไง เพราะว่าข้ามโอฆะ ข้ามกาม โอฆะ-โอกามนี้มันต้องชนเข้าไปเลย พอชนก็ไม่ได้ชนด้วยความโง่ๆ นะ ถ้าชนด้วยความโง่ๆ ก็เอาหัวชนภูเขาก็หัวแตก ชนเข้าไปต้องคอยแยกแยะ เพราะความชำนาญมันเริ่มมีมาจากพื้นฐาน แยกออกไป แยกออกไป สิ่งใดเป็น สิ่งใดเป็น เห็นไหม มันเกิดจากสิ่งใด สิ่งใดเป็น มันเกิดได้อย่างไร อารมณ์นี้มันเกิดได้อย่างไร

นี่ขันธ์ในมันเร็วมาก มันเป็นโทษจังหวะเดียว มันยิงจังหวะเดียวไม่ใช่โทษ ๒ จังหวะ แต่เดิมโทษ ๒ จังหวะ มันเคลื่อนออกมา นี่เราตัดทอนเข้าไปสั้นเข้าๆ นี่ที่บอกว่าไฟได้เชื้อไง เผาเข้าไปตลอด นี่มันเผาเข้าไปอย่างนี้ แต่เผาด้วยวิธีการแล้วยกข้ามขั้นตอนจากแม่น้ำเข้าไปเผาอีกฝั่งหนึ่งไง เรายกจิตของเราขึ้นถึงระดับที่ว่าเผาฝั่งนู้นได้ เผาเข้าไป เผาเข้าไป

ความเผาอันนี้มันเป็นบุคลาธิษฐาน แต่ความจริงมันต้องใช้ธรรมจักร จักรที่เป็นธรรมนี่หมุนเข้าไป เป็นบุคลาธิษฐานให้เราเห็นว่าความเผามันเป็นไปได้ ความเห็นว่าเป็นไปได้...ให้กำลังใจ แต่ตามหลักความจริงที่ว่าหมุนอยู่กลางหัวใจ มันต่อสู้กันครืนครานๆ ตลอดนะ ครืนครานตลอด ต่อสู้กันไง

ฝ่ายที่มันเป็นกามราคะมันจะให้เราแพ้ พอแพ้เราก็ต้องถอยทัพกลับมาที่ความสงบนั้น เพิ่มฐานไง เครื่องมือที่เข้าไปต่อสู้ เห็นไหม วนเข้าไป วนเข้าไป วนเข้าไป ถ้ามันแพ้ก็ถอยออกมา ถอยออกมาแล้วต้องตั้งฐานใหม่ ตั้งฐานใหม่เข้าไปแยกแยะๆ สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้เป็นอย่างไร สิ่งนั้นเป็นอย่างไร ขันธ์ใครเกิดก่อน สัญญาเกิดขึ้นมาอย่างไร สัญญามันเป็นแวบออกมา แวบออกมา ต่อสู้ไป...รุนแรงจนขนาดไหนมันก็ก้มหน้ากัดฟันสู้นะ กัดฟันสู้ จนมันขาดออก มันขาดออก มันขาดออกไปแล้วมันทันไง มันก็ปล่อยได้ชั่วคราว ปล่อยได้ชั่วคราวเหมือนกัน มันไม่ทีเดียวขาดหรอก

พอมันหลอกลวงขนาดไหน เราละเอียดอ่อนตามเข้าไป ตามเข้าไป มันปล่อยๆๆ มันปล่อยมันก็ว่างอยู่พักหนึ่ง ความว่างนี้ยิ่งเวิ้งว้างเข้าไปใหญ่ มันว่างไง ว่างแล้วให้ผิดให้ถูก เห็นไหม สุภะ-อสุภะ ความสวยเป็นภายในหัวใจ ความสวยคือว่าความพอใจ ความไม่สวยคือความโกรธ ราคัคคินา โทสัคคินาในหัวใจนั้น เห็นไหม โทสะ ความคิด ความกระด้างในใจมันก็มี ความอ้อยอิ่งของใจมันก็มี ความหลอกลวงที่มันยังอุ่นกินในใจมันก็มี นี่มันละเอียดอ่อนขนาดนั้นนะ

พอละเอียดอ่อนขนาดนั้น ดูไปๆๆ ดูด้วยปัญญาไม่ใช่ดูด้วยการเพ่ง ถ้าการเพ่งหมายถึงถอยมาพักพลังงานเท่านั้น ถ้าดูด้วยปัญญา ดูด้วยปัญญา ปัญญามันกดไว้ก็ต้องอ่อนตัวให้เรา เหมือนกับเราตรึงไว้ เราจับข้าศึกเราตรึงไว้ ไม่สามารถทำอะไรได้ มันก็มีปาก มีโต้เถียงเรา เห็นไหม โต้เถียงก็ดูสิ ดูคำพูดโต้เถียงนั้นมันผิดหรือถูกไง

นี่ความนึกของฝ่ายศูนย์อำนาจ มันจะนึก มันจะสั่งการออกมา นี่เป็นการต่อสู้กันไง เป็นอำนาจที่ความคิดออกมา เห็นไหม ธรรมจักรก็ต้องหมุนกลับเข้าไป หมุนกลับเข้าไปว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด สิ่งที่เคยคิดมันเคยคิดอย่างไร นี่มันแยกออกไป แยกออกไป จนมันปล่อยหลายครั้งเข้า หลายครั้งเข้า นี่ภาวนามยปัญญาเกิดตรงนี้ไง เกิดตรงที่ว่ามันชำนาญ

ภาวนามยปัญญามันเกิดที่เราส่งขึ้นไป ส่งขึ้นไป มันจะเกิดที่เราชำนาญ แล้วมันก็ปล่อยออกไป แยกออกไป แยกออกไปแล้วก็พิจารณาใหม่ แยกออกไป แยกออกไป เห็นไหม นี่ธรรมที่เป็นปัญญากลางไง มันจะขาดออกนะ ขาดออกไป ครืนขาดออกไปหมดเลย พอขาดออกไปคราวนี้ไม่มีอะไรเลย มันว่างจริงโดยสัจจะ มันไม่ใช่ว่าใครเป็นคนความว่างแล้ว อันนี้ใครว่าว่างก็ไม่ได้ มันว่างโดยตัวของมันเอง ว่างในตัวของมันเองเพราะขันธ์ทั้งหมด สิ่งที่เป็นเกี่ยวเนื่องกันแสดงตัวออกมาได้ทำลายลงหมดเกลี้ยง เห็นไหม ความทำลายสิ่งที่แสดงตัวออกทั้งหมดมันแสดงตัวอีกไม่ได้

ความแสดงตัวอีกไม่ได้จะไปเกิดในกามภพที่ไหน แสดงตัวเป็นเทวดาก็ไม่ได้ แสดงตัวเป็นอะไรก็ไม่ได้ ความที่แสดงตัวไม่มี ความแสดงตัวไม่มี ฟังสิ ว่า “ความแสดงตัวไม่มี” แล้วมันอยู่ได้อย่างไร มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น อยู่ของมัน

ตรงนี้มันถึงว่าเป็น “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ข้ามพ้นกิเลส”

ถ้าจิตเดิมแท้นี้ผ่องใสด้วยการทำลายกามราคะ จิตดวงนี้ถึงได้สัมผัสกับความผ่องใสจริง แต่เดิมมาไม่เคยสัมผัสความผ่องใสอันนี้เลย อันนี้มันถึงว่าเป็นความผ่องใสที่ว่าจะเป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส นั่นน่ะ ตรงนั้นถ้าไปถึงตรงนั้นแล้วมันก็จะหยุดพักอยู่ตรงนั้นอีกล่ะ จะนอนจมอยู่ที่ตรงนั้นอีกมหาศาลเลย นอนจมแน่ๆ เลย

นี่มหาสติ-มหาปัญญา ขนาดมาแล้ว มาขนาดนั้นยังนอนจมอยู่ได้อย่างไร นอนจม จนกว่าว่าเราสร้างไว้เป็นอัตโนมัติขึ้นมา ใจเป็นอัตโนมัติขึ้นมา ทำใจให้เป็นอัตโนมัติขึ้นมา มันเป็นมรรคอย่างละเอียดแล้ว มรรคนี้อย่างละเอียด พอมรรคนี้อย่างละเอียด แต่เดิมที่มรรคนี้ไม่ยอมทำงาน แต่เดิม ฟังนะ แต่เดิมมรรคนี่จะทำงานไม่ได้เพราะความเข้าใจของศูนย์อำนาจมันบอกว่าไม่มีอะไร จบสิ้นกัน ความจบสิ้นกันทุกคนคิดว่าเสร็จงานแล้วก็จะเก็บเครื่องมือกลับหมด ถ้าสิ่งๆ นั้น โครงการนั้นจบแล้วคือการจบ นี่ศูนย์กลางอำนาจหรือว่าตัวนั้นจะมีเรื่องอย่างนี้ออกมาตลอดว่าตรงนี้เป็น ตรงนี้เป็นอย่างนั้นๆ มันสามารถสร้างสิ่งที่เหมือน ความเหมือนที่ว่าเหมือนกับสิ่งที่ว่าเป็นธรรมนี่มันสร้างได้หมดเลย เพราะมันเป็นวิชามาร

ความเป็นวิชามาร มันเป็นอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันเป็นตัวพญามาร มันเป็นตัวมารใหญ่ ตัวที่มารใหญ่มันจะพลิกขึ้นมา มันต้องทำการต่อต้านตลอด นี่มันถึงสร้างภาพออกมาให้เหมือน ความเหมือนว่าเป็นธรรมแท้ๆ แล้วเราก็จะเคลิบเคลิ้มตรงนั้น พอความเคลิบเคลิ้มตรงนั้นมันละเอียดอ่อนขนาดนั้น ถึงว่าจิตมันถึงผ่องใสไง ความผ่องใสมันก็เทียบได้กับความสะอาด เทียบได้กับความทุกๆ อย่าง แล้วมันก็ใสของมันจริงๆ นั่นน่ะ

แต่ถ้าความเอะใจเกิดขึ้น นี่สำคัญคือความเอะใจของใจดวงนี้ไง เราเคยอยู่ว่าเรานี่เป็นผู้ที่สะอาด พ้นจากทุกๆ อย่างแล้ว แล้วเราวันหนึ่งเราเคยเอะใจขึ้นมาว่า...ความเอะใจนี้คืออะไร? ความเอะใจนี้คือความลังเล ความสงสัย ความไม่จริง มันถึงได้เอะใจ ถึงได้เฉลียวใจ ความเฉลียวใจ ความเอะใจ ความที่ว่าลังเลสงสัย นี่มันถึงย้อนกลับไง พอการย้อนกลับนี้ถึงจะเกิดมรรคอย่างละเอียดขึ้นมาได้ไง เพราะอันนี้ ใจดวงนี้มันมีพื้นฐานของความว่างอยู่แล้ว มันเป็นจิตที่ผ่องใสอยู่แล้ว ถ้ามันย้อนกลับไปเดินมรรคอันนั้นไง นี่ถึงว่ามรรคขั้นสุดท้ายมันจะวนเข้าไป

พอจับมรรคนี้เดินเข้าไป จะเห็นความผ่องใสของตัวเอง อ๋อ! อ๋อ! เลยนะ อ๋อ! นี่เองคือตัวพญามาร ถ้าเห็นตัวพญามารก็พลิกคว่ำสิ คว่ำไปเลย คว่ำก็จบ พอจบนั้นก็เข้าถึงธรรมจริงๆ ขณะที่พลิก มรรค ๔ ผล ๔ ทำไมต้องมีอีก ๑ ข้างหน้านั่นน่ะ?

เพราะขณะที่พลิกอยู่นี้มันยังเป็นสมมุติอยู่ เห็นไหม มรรคที่เดินอยู่ มรรคที่ว่าเป็นลังเลสงสัยแล้วจับต้องได้ จับต้องได้แล้วพิจารณาอยู่ ความพิจารณาอยู่ นี่การส่งต่อไง การส่งต่อระหว่างมรรคที่ส่งต่อขึ้นไปเป็นผล ความที่เป็นผลนั้นก็ยังเป็นผล เห็นไหม ความที่เป็นผลนั้นเป็นบุคคล ๘ จำพวก จำพวกที่ ๘ ก็ยังเป็นผลอยู่ แล้วล่วงออกไปเป็นหนึ่งเดียวเลย ล่วงออกไปเป็นธรรมแท้ๆ ไง

เป็นธรรมแท้ๆ ที่ว่าพระอรหันต์ ๑,๒๕o องค์มาสโมสรสันนิบาตกันในวันมาฆบูชานี้ เราก็เคารพธรรมอันนั้น เคารพธรรมของพระอรหันต์ ๑,๒๕o องค์นี้ แล้วเราก็พยายามทำใจของเรา เพราะว่าใจในพระอรหันต์ ๑,๒๕o องค์นั้นเป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ใจของเราผู้ที่ปฏิบัติก็ต้องการความสุขเกิดขึ้นแล้วแต่ความสามารถของวาสนาบารมีของใจดวงนั้นที่จะก้าวถึง ใจที่มีอำนาจวาสนาที่พยายามจะก้าวให้ถึงธรรมอันนั้น อย่างน้อยก็ให้มีดวงตาเห็นธรรมเพื่อจะไม่ต้องได้ไปวนเวียนในวัฏจักรโดยที่ว่ามันไม่มีต้นไม่มีปลาย

ถ้ามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว เรามีโอกาสที่ว่า...วัฏจักร ๓ โลกธาตุที่ครอบงำใจของเราที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏจักรนั้น แล้วใจดวงนี้ ใจดวงเล็กๆ นี่แหละ แต่สามารถระเบิดกฎระเบียบของเจ้าวัฏจักรนี้ได้ทั้งหมด เห็นไหม นี่ไงถึงได้เวิ้งว้างครอบ ๓ โลกธาตุไง

จากที่ว่าจิตดวงนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสารนี้ เล็กๆ เท่านั้นน่ะ แต่ระเบิดถึงกับพญามารออกไปแล้ว มันเข้าใจใน ๓ โลกธาตุทั้งหมด ฟังสิ ความเข้าใจใน ๓ โลกธาตุ ความรู้ใน ๓ โลกธาตุ มันก็ทิ้ง ๓ โลกธาตุไว้อยู่ตามสภาวะของ ๓ โลกธาตุนั้น ใจดวงนี้ไม่กลับมาอยู่ในวงล้อมของ ๓ โลกธาตุนี้อีก มันถึงใหญ่กว่าไง มันถึงครอบ ๓ โลกธาตุนี้ไง

๓ โลกธาตุนี้ที่ว่าเมื่อก่อนนี้มีอำนาจเหนือเรา เป็นสงครามใหญ่ สงครามที่จะทำให้เราอยู่ในอำนาจของมัน เราได้ทำลายแล้ว เราคือผู้ที่เข้าถึงธรรมจริง

แต่สำหรับเราที่ยังเข้าไม่ถึงธรรมดวงนั้น เราก็มีหัวใจเหมือนกัน แล้วเราก็สร้างผลประโยชน์ของเรา สร้างวิธีการไง สร้างนะ สร้างวิธีการ สร้างเครื่องมือก่อน ต้องสร้างเครื่องมือก่อน มีเครื่องมือแล้วถึงเอาเครื่องมือนี้ มรรคอริยสัจจังนี้เข้าไปจับต้อง เข้าไปทำการทำงาน

งานผลประโยชน์เกิดขึ้นมาเท่าไร มันก็เป็นต้นทุนของเราเพิ่มขึ้นๆ ต้นทุนความทุนรอนเรามากขึ้นเท่าไร เราสามารถจับจ่ายใช้สอย เราสามารถซื้อมรรคซื้อผลด้วยการประพฤติปฏิบัตินะ ไม่ใช่ซื้อมรรคซื้อผลที่เราจะไปจ่ายตลาด ซื้อมรรคซื้อผลเพราะต้องซื้อต้องอยากได้ “อยาก” ความอยากนี้เป็นมรรคไง

ความอยากที่จะพ้นทุกข์ ความอยากที่จะทำความดี เห็นไหม เป็นกำลังใจ กำลังใจที่จะก้าวเดิน มันต้องมีความอยากเป็นพื้นฐาน ความอยากที่เป็นฝ่ายดี ถ้ามันไม่มีความอยากเป็นฝ่ายดี เริ่มต้นก็เป็นกิเลส เห็นไหม ไม่ให้อภัยตัวเอง ไม่ให้โอกาสตัวเอง...ให้อภัยคนอื่นเป็นให้อภัยคนอื่น ให้อภัยตัวเองก่อน อันนี้มันเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดยิบแย็บๆ ในหัวใจ แต่เป็นส่วนเล็กน้อย

แต่ถ้ามันก้าวเดินมรรคเข้าไปแล้ว สิ่งนี้ขับเคลื่อนมรรคออกไป สิ่งนี้ขับเคลื่อนวิธีการ ขับเคลื่อนเครื่องมือออกไป ก็ชำระกิเลส ชำระกิเลส...ต้องถึงฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง ต้องถึงฝั่ง ต้องถึงจุดหมายปลายทางของผู้ที่ปฏิบัติ จุดหมายปลายทางของวันมาฆบูชา

“มาฆบูชา” ธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ก่อนจะมีธรรมและวินัยนี้พระอรหันต์เกิดขึ้นมากมายเลย แล้วพอมีธรรมและมีวินัยออกมา ทำไมเอาธรรมและวินัยมาฆ่าตัวเองล่ะ ทำแล้วก็จะติดขัดไปหมด ความติดขัดของตัวเอง แล้วยังถ้าความติดขัดยังไม่ติดขัดเปล่านะ ยังเอาธรรมและวินัยนี้มาเป็นเครื่องขายกินไง เอาธรรมและวินัย เอาวินัยนี้กดขี่ เห็นไหม เอาธรรมและวินัยนี้กดขี่ คำว่า “กดขี่” คือเราขี่ไปขี่ธรรมและวินัยไป เอาธรรมเอาวินัยนี้กดขี่คนอื่นไป นี่มันถึงไม่สมประกอบ มันไม่เป็นจริง

ถ้าเราปล่อยให้ธรรมและวินัยนี้อิสระในความเป็นอิสระของธรรมและวินัย ธรรมวินัย เจตนาเราบริสุทธิ์ผุดผ่อง เราไม่เคยทำความผิดแม้แต่เล็กน้อย ถึงจะทำความผิดพลาดอันนั้นเป็นเพราะเราไม่รู้เท่า ความไม่รู้เท่าไม่มีเจตนาเป็นอาบัติก็ปลงเอา ถึงว่าปล่อยธรรมและวินัยไว้ให้เป็นตามความเป็นจริง เพราะเราพยายามตั้งใจของเรา ใจของเราตั้งใจแล้วประพฤติปฏิบัติไป เดินตามธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา เราไม่กดขี่ธรรมและวินัยด้วย แล้วเรายังเคารพกราบไหว้ธรรมและวินัยด้วย เราถึงได้บูชาธรรมของพระอรหันต์ ๑,๒๕o องค์ในวันนี้ไง ถึงเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริง

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมลงแล้วอยู่ในใจอันหนึ่งอันเดียวกัน

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วถึงตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้า

พระสงฆ์ก็พยายามฝึกปฏิบัติธรรม รู้ธรรมอันนั้นขึ้นมา เห็นไหม รู้ธรรมอันเดียวกัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ธรรมแล้วเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระสงฆ์ เห็นไหม สมมุติสงฆ์ ถ้าทำธรรมจนใจนี้เป็นธรรมทั้งดวง นี่ถึงว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็รวมอยู่ในใจเหมือนกัน ถึงเป็นหนึ่งเดียวไง

แต่ถ้าแยกออกมาก็ได้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นแก้วสารพัดนึกของเรา แต่ถ้าใจเป็นหนึ่งเดียวแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ที่ใจเหมือนกันหมดเลย

นี่ความเสมอภาคไง ความเสมอภาคของปัญญา

ถ้าคิดออกไปโลก...เป็นโลก

คิดออกมาเป็นธรรม...เป็นธรรม

ถ้ามีสมาธิมากั้นไว้...ถ้าสมาธิไม่พอ โลก-ความคิดมันเป็นอันเดียวกัน โลกหมดเลย มีสมาธิไง เครื่องมือเกิดขึ้น สมาธิมากั้นไว้ๆ เพราะพยายามดันเราออกไป ดันแรงดึงดูดของกิเลสออกไป เห็นไหม แรงดึงดูดเหมือนสนาม (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)