ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บุญหล่นทับ

๑๗ ม.ค. ๒๕๕๒

บุญหล่นทับ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : ว่าไป เออ

โยม ๑ : กายเราอยู่นั่นนะ หลวงพ่อ พูดไม่ค่อยจะถูก

หลวงพ่อ : ไม่เป็นไร เท่าที่ทำได้เพราะเราเรียกชื่อถูกแต่กลับผิด ถ้าเราเรียกประสาที่เราทำนี่กลับถูก มะพร้าวยิ่งแก่ยิ่งมันยิ่งห้าวเขายิ่งคั้น มันยิ่งดีเห็นไหม เราค่อยๆ พูด ค่อยๆ พูด มันแยกอย่างไร? มันจับอย่างไรที่มันแยกธาตุแยกขันธ์ พอจิตมันสงบไปแล้วมันเห็น เวลาเห็นเห็นอย่างไร? แล้วจิตมันแยกอย่างไร?

โยม ๑ : จิตมันก็แยก แยกไปนะ มันเห็น มันเห็นทีนะ เห็นนานแล้วนะ เห็นนานแล้วก็ในร่างกายเรานี้มันไม่มีเลยนะ มันว่างไปหมดมันว่างโล่ง ทีนี้ก็แล้วมันก็หายไปอีกนะ หายไปอีก นาน ก็เอาใหม่ ก็ทำไปๆ ก็อย่างนี้ก็เกิดมันก็เกิดขึ้น

หลวงพ่อ : เกิดขึ้น เกิดเห็นอย่างไร? ตอนเห็นพอเกิดแล้วเห็นอย่างไร? เกิดที่เกิดขึ้นมาน่ะ พอเกิดโล่งเราก็ไม่เห็นอะไรเลยใช่ไหม? พอมันเกิดขึ้นมาเราก็เห็นใช่ไหม เห็นอย่างไร?

โยม ๑ : มันก็เห็นว่า อืม..

หลวงพ่อ : เป็นเนื้อเป็นหนัง

โยม ๑ : เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นขาเป็นอะไรเราอย่างนี้ แล้วมันก็แดงอย่างนี้นะ เราก็แยกไอ้นั่นเป็นไอ้นั่น ไอ้นี่เป็นไอ้นี่ เราก็แยกไป

หลวงพ่อ : แล้วมันก็ปล่อยอีก ว่างอีก ว่างอีกไหม?

โยม ๑ : แล้วมันก็ว่าง แล้วทีนี้เราก็ดูขันธ์ ดูทุกข์ ดูขันธ์ ดูสัญญา วิญญาณอะไรแล้วก็ดูเรื่อยไปนะ แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ไป ต่อไปๆ เราก็ เราก็ว่าเห็น กายก็

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ของเรา

โยม ๑ : ไม่ใช่ของเรา ใจก็ไม่ใช่กาย อะไรก็ เราก็ว่าไปนั่น

หลวงพ่อ : ว่าไป เออ

โยม ๑ : ไอ้ที่เขาเรียก ก็พูดไม่ค่อยจะถูก

หลวงพ่อ : ดี ทำมาอย่างนี้น่ะถูก

โยม ๑ : แล้วก็ทีนี้เดี๋ยวนี้ดูจิตจะดูกาย ดูจิตดูกายอยู่นะ เพราะว่ามันดูกายเรานี่นะ ในใจเรานี่นะโล่งเลยในนี้ มันโล่ง แล้วมันกระจายขึ้นไป กระจายขึ้นไป สว่าง ทีนี้มันจะเป็นอย่างไร?

หลวงพ่อ : มันก็ เพิ่งเป็นสุดท้ายเพิ่งเป็นเมื่อ ๒-๓ วันนี้ด้วยเนาะ

โยม ๑ : เป็นมาสัก สัก ๒๐ วันได้แล้วนี่ คราวนั้นโยมมาจะถามก็ยังไม่กล้า

หลวงพ่อ : ดี ดี ถ้ามันเป็นมาเก่าใช่ไหม ปฏิบัติมากี่ปีแล้วนี่?

โยม ๑ : ปฏิบัติมานานแล้ว

หลวงพ่อ : แล้วทำไมเพิ่งมาเป็นตอนนี้ล่ะ? พอดีตอนสมดุล เนาะมันพอดี

โยม ๑ : มันก็เป็นเพราะว่าได้ฟังของหลวงตาบ้างอะไรบ้างก็เกิดเรื่อยมา

หลวงพ่อ : ดี ดีมากๆ เราจะบอกว่าถูก ถูกมาตลอดเห็นไหม แต่คำว่าถูก เห็นไหม ถูกของเด็ก ถูกของวัยรุ่น ถูกของผู้ใหญ่ ถูกของผู้คงแก่เรียน ความถูกมันมีตั้งหลายระดับชั้น จะบอกผิดไม่ใช่ ถูก แต่ถูกแบบเด็ก เด็กว่านอนสอนง่าย เด็กที่ดีๆ มันก็ดีประสาเด็ก จะดีอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ เพราะโตขึ้นมาต้องทำมาหากิน มึงจะมาเลี้ยงง่ายๆ อย่างนี้ตลอดไม่ได้ โตขึ้นมาต้องหาอยู่หากิน ต้องฉลาด

พอฉลาดขึ้นมาแล้ววัยรุ่นมันได้มันทำงานใหม่ พอมันมีเงินใช้สอย มันก็เตลิดเปิดเปิงมันก็จะใช้ชีวิตของมันฟุ่มเฟือยของมัน มันก็ไม่ถูกอีกล่ะ มันก็ต้องรู้จักออมต้องรู้จักเก็บ เพราะ อนาคตเราจะไปอีกไกล เห็นไหม มันพัฒนาเป็นชั้นๆ เข้าไป ที่ว่าถูกนี่ถูก เห็นไหม เราพิจารณาไป ถ้าพูดถึงยังไม่มีใครพูดอะไรนี่ ถูกหมดเลย

แต่พอมีคนบอกขึ้นมาให้ทำถูกขึ้นมา เดี๋ยวจะเริ่มเป็นกรอบละ แล้วมันจะไปขัดแย้งกับตัวเอง ทีนี้ปล่อยเป็นธรรมชาตินี่แหละ แล้วตั้งสติไว้สำคัญที่สติ เราตั้งสติไว้ สิ่งใดที่เกิดเห็นไหม สิ่งใดที่เกิดพอจิตมันสงบแล้วมันว่าง มันว่างเพราะมันว่างถึงมาเห็น แต่ถ้าเขาเห็นทั่วๆ ไปมันไม่ว่างแล้วมันมาเห็นเลย เห็นไหม

โยม ๑ : แล้วอย่างนี้มันไม่หายเหรอ ไอ้ตัว ไอ้ที่จิตนะมันจะแว็บ แว็บ แว็บนะ เขาเรียกอะไร? เขาเรียกอะไร? อารมณ์ อารมณ์ของจิตน่ะ

หลวงพ่อ : นั่น ตรงนี้น่ะ อย่างตรงนี้มันคุมยาก เพราะตรงนี้มันคุมยาก ที่ว่าถูกนี่นะ เวลาถูก เด็กใช่ไหม มันมาแล้วให้มันเล่นตามสบายมัน โอ๊ย มันสบายมาก มันแว็บๆ นี่มันเด็กๆ ไง มันเคยคิดเป็นธรรมชาติของมันไง ทีนี้การปฏิบัติ การปฏิบัติถ้าจะให้มันดีกว่านั้นเห็นไหม แว็บนี่มันเป็นธรรมชาติของมัน มันมี

จุดไฟนี่มันต้องอุ่นมันต้องร้อน จุดไฟเราต้องผิงไฟ จุดไฟโดยที่ไม่ให้ไฟมันร้อนทำอย่างไร? ตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้นะ มันจะแว็บอย่างไร? ปล่อยมันไปแล้วตั้งสติไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะไม่แว็บเลย พอไม่แว็บปั๊บมันจะนิ่ง พอมันนิ่งสักพักหนึ่งมันนิ่งดีๆ ขึ้นมา การเห็นกายจะดีกว่านี้อีกน่ะ

ที่ว่าถูกเห็นไหมเราบอกว่าถูก ที่ทำมานี่ถูก แต่ถูกอย่างนี้นะมันจะวนๆ อยู่อย่างนี้ มันไม่พัฒนาไง ถ้าจะพัฒนาขึ้นไปต้องบังคับตัวเรา ต้องบังคับให้จิตนิ่งกว่านี้ พอจะบังคับจิตให้นิ่งกว่านี้นะ แหม มาหาหลวงพ่อทีไรลำบากทุกทีเลย มาหาหลวงพ่อทีไรยุ่งทุกทีเลย ถ้าไปภาวนากันเองง่าย ก็มันไม่ยอมโตไง มันยังเป็นเด็กๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เราจะบังคับให้มันโตขึ้นมาน่ะ เอาละยุ่งแล้ว

ทีนี้เราจะบอกว่าเวลามาหาเรามันเดือดร้อนไปหมดเลย เวลาภาวนากันเองมันสะดวกสบาย สะดวกสบายเพราะมันปล่อยตามสัญญาอารมณ์มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ นี่มีบุญ มันได้มาเพราะประสาเราบุญหล่นทับ บุญมันหล่นทับ แล้วพอจะจริงขึ้นมานะ บุญหล่นทับก็เหมือนเราถูกหวย มันไม่มีที่มาที่ไปไง อยู่ดีๆ กูได้เงินก้อนหนึ่ง ไอ้นี่ภาวนา ภาวนามันก็ว่าง ว่าง ว่างได้ “บุญหล่นทับ”

แต่นี่เราจะทำมาหากินแล้วไม่ใช่บุญหล่นทับแล้วกูจะหาแล้วหาอยู่หากินต้องหาเงินแล้ว เป็นเรื่องแล้ว เป็นเรื่องแล้ว ไม่ใช่บุญหล่นทับแล้ว ทีนี้คำว่าเป็นเรื่องนี่ประสาเราพูดนะ เพราะโยมเราก็จะพูดตรงนี้แหละตรงที่มันแว็บๆ มันแว็บๆ ออกมา มันแว็บ มันธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้ พอธรรมชาติเป็นอย่างนี้ปั๊บ ถ้าธรรมะ ธรรมะมันเหนือธรรมชาติอันนี้ ก็ตั้งสติ โยมกำหนดพุทโธหรือกำหนดอะไร?

โยม ๑ : พุทโธ

หลวงพ่อ : พุทโธ ถ้ามันแว็บ แว็บดึงกลับพุทโธ เพราะยัง คนนี่มันมี ๒ ประเภทนะ ดี ดีที่รู้ว่ามันแว็บ บางคนบอกไม่ใช่นี้เป็นธรรมะ มันออก

โยม ๑ : บางทีมันก็ผ่องใส ไอ้ผ่องใส มันเป็น เขาเรียกอะไร หลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ธรรมชาติของมัน

โยม ๑ : อวิชชาเหรอ

หลวงพ่อ : เออ อวิชชา เออ ใช่ ว่าไป (หัวเราะ)

โยม : (หัวเราะ)

หลวงพ่อ : จิตผ่องใสจิตเดิมแท้ไง

โยม ๑ : เรียกไม่ค่อยถูก เรียก..

หลวงพ่อ : ไม่ต้อง ไม่ถูกนี่ถูก คือว่าภาคปฏิบัติมันรู้ตามความเป็นจริง แล้วถ้าเป็นภาคปริยัติต้องเรียกชื่อให้มันถูก ต้องพูดให้สละสลวย มันเหมือนผู้ดี คุยกันประสาผู้ดี มันเลยไม่จริงใจต่อกันไง พูดประสา ประสามารยาทสังคม พูดเพื่อไม่ให้สะเทือนใจกัน ประสาผู้ดี แต่ประสาเราประสาสื่อความหมายกันน่ะ ไม่ต้องผู้ดี มึง-กูนี่แหละ ชัดๆ นี่แหละ แต่ประสาผู้ดีต้องท่าน ต้องคุณ แต่ถ้ามาหาเรานะ “มึง”

โยม ๑ : เรียกยาก

หลวงพ่อ : มัน เอาเท่าที่รู้ ทีนี้อย่างนี้ถ้าพูดถึงเราพุทโธไว้ ถ้ามันแว็บเราพุทโธไปเรื่อย ถ้าแว็บนี่นะ เหมือนเงินเราเปรียบเหมือนเงิน เงินถ้าเราสะสมเงินจะมากขึ้นเรื่อยๆ เงินเราสะสมแล้วใช้จ่ายไปด้วย สะสมแล้วใช้จ่ายไปด้วย เงินก็ไม่มากสักทีหนึ่ง มันแว็บคือมันใช้จ่าย มันแว็บคือมันส่งออก ที่มันคิดออกไปน่ะมันแว็บๆ ไป น้ำตักใส่ตุ่มแล้วมันรั่ว รั่วตลอด ถ้าเราปิดรูไว้ให้ได้ ใส่ตุ่ม ตุ่มมันจะเต็ม

พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ มันจะแว็บ แว็บนี่ช่างมัน เพราะเรายังไม่ชำนาญ

๑.ไม่ชำนาญ ๒.ไม่เห็นผลคุณค่าไง

ถ้าเห็นคุณค่านะ พอแว็บ แว็บทีไรเหมือนกับมึง ก็แบบว่าไม่แข็งแรงสักทีไง แว็บทีหนึ่งก็หายไปเลย ตอนหลังมันแว็บ มันก็จะไม่ให้ไปแล้ว เราจะรู้ไงว่าแว็บคือทำให้เราเสียกำลัง พอรู้ว่าเสียกำลังปั๊บเรารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เราจะตั้งใจ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าผิดหรือถูก แว็บก็คือธรรมดาแล้วไม่แว็บมันเหนื่อยน่ะ แว็บก็ดีๆ น่ะ อ้าว แว็บก็ปล่อยแว็บ แต่เราไม่รู้ว่า ดี นั่นน่ะคือทำให้เราไม่มีกำลัง แต่ถ้าเราเหนื่อยเราดึงไว้บังคับไว้ ใหม่ๆ จะบังคับไว้ก่อน แต่พอบังคับจนชำนาญแล้วนะ ไม่ใช่บังคับแล้วมันเป็นธรรมชาติ

โยม ๑ : โอ้ ภาวนาไปแล้วใช่ปะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็ว่า มันก็ไม่หาย มันก็แว็บอยู่อย่างนั้น

หลวงพ่อ : ไม่หาย นี่ไงมันดี เวลามันปล่อยวาง เวลาถ้ามันสมดุลมันจะว่างหมดเลย แล้วเราจะเอาอีกเห็นไหม มา ทุกขัง อนัตตา แล้วมันก็ไม่หาย ไม่หายเพราะอะไร? เพราะมันไม่ปล่อยจริงไง ไอ้ปล่อยนั้นมันบุญหล่นทับนะ การปฏิบัติน่ะมันมีบุญหล่นทับ แล้วเราเรียกว่าไอ้นี่ส้มหล่นไง ส้มหล่นคนมีนะ

เวลาส้มหล่น ทีนี้คนไม่เข้าใจนึกว่าส้มหล่นน่ะเป็นธรรม ส้มหล่นนั้นไม่ใช่ธรรมนะ ส้มหล่นนั้นเป็นอาการของใจ อริยสัจไม่เป็นอย่างนั้น อริยสัจเราก็เหมือนทำงานนี่แหละ ช่างไม้น่ะต้องไสต้องถากต้องไสจนกว่าไม้มันจะตรง ไม่ตรงก็เล็งแล้วไสอีก จิตพิจารณาแล้วปล่อยขณะนั้น จิตมันก็ปล่อยทีหนึ่งก็เล็งทีหนึ่ง

ไม้นี่คดไหม? ปลายคดต้นคดดัดมัน ดัดเสร็จแล้วต้องถาก ถากเสร็จแล้วต้องไถ พิจารณาไป ปล่อยขนาดไหนก็ต้องซ้ำแล้ว ซ้ำแล้ว ซ้ำแล้ว ซ้ำแล้วอยู่อย่างนี้ จนกว่าไม้นั้นจะตรงเด๊ะ พอแนบเข้าไปกับบ้านเพลี๊ยะตรงแป๊ะ แนบเข้าไปอริยสัจนี่ อันเดียวกัน อันเดียวกัน อันเดียวกันเลย แต่ถ้ายังไม่ใช่มันยังคด ยังงอ แนบเข้าไปแล้ว โอ้โฮ โก่ง บาน มันไม่ใช่อริยสัจไง แนบกับอริยสัจแล้วไม่เห็นเหมือนเลยวะ ทำไมมันโก่งแท้วะ

โยม ๑ : แต่ว่าใจสงบอิง

หลวงพ่อ : นี่ขนาดแค่มันปล่อยเฉยๆ นะ แล้วมันปล่อยบ่อย ปล่อยบ่อยๆ พอปล่อยบ่อยๆ เข้าไป เดี๋ยวถ้ามันจริงแล้วนะ อย่างที่พูดตอนเช้ามันเป็นอฐานะที่มันจะแปรสภาพ นี่ขนาดชั่วคราวมันยังขนาดนี้เลย แล้วถ้ามันว่างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาล่ะ คิดดูว่ามันสุขขนาดไหน แล้วจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? ทำอย่างนั้นได้ก็ต้องย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่ว่า ที่ทำมาถูกหมด

ทีนี้ทำมาถูกหมดนี่ บุญหล่นทับมันเป็นได้เป็นครั้งเป็นชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าเราทำจริงของเรานะ เราบังคับเอง มันปล่อยเป็นคราว คราวๆ คือเหมือนเราทำงานเป็นชั้น ชั้นๆ ขึ้นไปเลย เหมือนงานเราเสร็จทีละชิ้นๆๆ เลย คือบังคับได้หมดเพราะเราชำนาญ แต่นี้มันไม่ชำนาญใช่ไหม แล้วแต่บุญมันจะโปรดไง แล้วแต่มันจะว่างไง แล้วแต่อำนาจวาสนามันจะโปรดใช่ไหม ไม่ใช่เราทำเอง

แต่ถ้าวิปัสสนาจริงๆ แล้ว เราทำเองเลย วันๆ หนึ่งนี่นะ มันจะปล่อยทีเป็นสิบหนร้อยหนเลย เวลาเราทำอยู่ ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อยเดี๋ยวมันมาอีกก็ซ้ำอีกๆๆ หลวงตาตอบคำนี้ประจำแต่คนไม่เข้าใจ เวลาคนไปถามปัญหาถูกไหม ถูก แต่ต้องซ้ำอีก หลวงตาจะซ้ำอย่างนี้เลย ซ้ำอีกๆ หลวงตาจะตอบอย่างนี้ตลอด

คำว่าซ้ำอีกคือว่าประสาเราทำกับข้าวสุกหนหนึ่ง คราวหน้าก็ต้องทำให้สุกอีก เข้าไปทำให้สุกอีกจนกว่าจะชำนาญไง ซ้ำๆๆ ไอ้ซ้ำ อันนี้เขาว่าถูกไหม? ถูก ถูกแล้วทำไมต้องซ้ำล่ะ อ้าว ถูก ถูกก็เหมือนเราซื้อกับข้าวถุงน่ะ ซื้อมาถุงหนึ่งถูกไหม? ถูก กินอิ่มไหม? อิ่ม แล้วหมดแล้ว ต้องซื้อถุงใหม่ กับข้าวแต่ละถุงๆ ถุงหนึ่งกินมื้อเดียวก็หมดแล้วถูกไหม? ถูก กับข้าวถุงกินได้ไหม? ได้ แล้วกินหมดแล้วทำอย่างไร? มื้อหน้ากินอะไร? มื้อหน้ากิน ยังไม่จบ

โยม ๑ : ต้องทำต่อ

หลวงพ่อ : เออ

โยม ๑ : แล้วไอ้ว่างกับสมาธิมันอันเดียวกันไหม?

หลวงพ่อ : ไม่ เราใช้คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ไอ้นี่ว่าง ว่างเพราะปัญญา สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิมันมี ๒ อย่าง ว่างด้วยสมาธิ ไอ้นี่ว่างด้วยปัญญา ปัญญาทำให้ว่าง แต่มันปัญญาทำให้ว่าง ว่างไปเรื่อยๆ เราถึงถามว่าเวลาเห็นกายเห็นอย่างไร? เวลาเห็น พวกเห็น เห็นกายมันสะเทือนใจไหม?

โยม ๑ : เห็นกายเรานี่นะ

หลวงพ่อ : เออ เวลาเห็นกระดูก เห็นขา เห็นปอดนี่มันสะเทือนหัวใจไหม? สะเทือนโครมครามเลยไหม?

โยม ๑ : ไม่โครมคราม

หลวงพ่อ : ไม่ เห็นไหม นี่กายนอก วัดผลได้เลย ถ้ากายนอกนะเห็นกายนอก เห็นกายนอกคือว่าเราเห็นกายขึ้นมามันไม่สะเทือนถึงอุปาทานไง มันไม่สะเทือนถึงอวิชชาเพราะมันเห็นโดยสัญญา เห็นโดยข้อมูล นี่อย่างนี้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ว่างด้วยปัญญา แล้วปัญญามันจะว่างเข้ามาเรื่อยๆ ว่างเข้ามาเรื่อยๆ ว่างเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงตัวมันเอง แล้วถ้าตัวมันเองเห็นกายอีกทีนะ โอ้โฮ

เกียเฮงมาหาเราน่ะเห็นไหม เราไปสอนคนหนึ่งๆ มาอายุ ๘๐ กว่าแล้ว เป็นลูกศิษย์พุทธทาส เขาฟังวิทยุพุทธทาสทุกวัน แล้วเขามาหาเรา เขาบอกว่า ไม่มีตัวกูของกู ไม่ใช่ของกู เราก็ปล่อยเพราะคนเป็นคหบดีใหญ่ จนพอถึงวันหนึ่งได้เวลาเราจะเอานะ ไม่มีตัวกูของกูอย่างนี้นะอยู่ที่โรงพยาบาลศรีธัญญาทั้งนั้นเลย โรงพยาบาลศรีธัญญามันไม่มีตัวกูของกูอย่างนี้

โอ้โฮ แกโกรธนะ แกโกรธจนตัวมือไม้สั่น มือไม้สั่นหมดเลย แกโกรธมาก แล้วให้ทำอย่างไร? ให้ทำอย่างไร? ให้ทำอย่างไร? เราบอกว่าทำจิตให้สงบเข้ามา ทำจิตให้สงบเข้ามานะ ทำจิตให้สงบเข้ามา แล้วถ้าพิจารณากายมันจะเห็นกาย แล้วแกก็ไปทำของแกนะ พอจิตสงบเข้ามาวันนั้นแกมาพูดตลอด แกมาพูดกับเราให้เรายอมรับความเห็นของเขาไง ว่าเขามีธรรมะ

เขาบอกไม่ใช่ตัวกูของกูคือว่าเขาปล่อยวางได้หมดแล้ว คือว่าเหมือนเขามีธรรมะในหัวใจ เราก็ปล่อยจนถึงเวลา เราบอกไอ้ที่ไม่มีตัวของกูอย่างนี้นี่นะอยู่ที่โรงพยาบาลศรีธัญญากันหมดเลย เพราะอะไร? เพราะไม่มีสติไง เหมือนคนบ้า

ใช่ เขาฟังมาจากวิทยุ แล้วพอเราสอนปั๊บแกมีวาสนา แกไปเริ่มทำของแก แกบอก พวกผู้เฒ่าเช้าขึ้นมาไม่มีงานทำ แกนั่งภาวนาทั้งวันๆ เลย พอจิตมันสงบแล้วไปเห็นกาย เห็นหัวกะโหลก เห็นทีหนึ่งแกสะดุ้ง ขนนี้พองหมดเลย แล้วตกใจมาก หายไป แล้วเห็นอีกทีหนึ่ง ขณะที่เห็นน่ะเห็นถึง ๓ รอบ พอ ๓ รอบปั๊บ เพราะแกจะมาหาเราทุกวัน เพราะวันนั้นแกถือ

แกมาหาเรานี่ แกจะชงกาแฟมาให้ทุกวัน แกชอบมาคุยกับเรา เหมือนคนแก่ไม่มีเพื่อนคุยน่ะ พอบ่ายๆ ก็มาแล้ว บ่ายโมงได้เวลาฉันน้ำร้อนมาแล้ว ถือกาแฟมาถ้วยหนึ่ง วันที่มาหาเรานะมือไม้สั่นหมดเลย กาแฟกระฉอกเลย (เอ้อเหอ เอ้อเหอ)

“โอ้โฮ เห็นกาย เห็นกายนะ เห็นกาย มันจะกล้าก็ไม่กล้า มันจะกลัวก็ไม่กลัว แต่ อู้ฮู อู้ฮู”

เรารู้นี่ เราถึงบอกว่า “ถ้าจะไม่มีตัวกูของกูมันจะต้องเห็นกูก่อน แล้วกำจัดไอ้ตัวกูนี่ก่อน มันถึงจะไม่เห็นตัวกูของกู”

ไอ้นี่ไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลยก็บอกไม่ใช่กูไม่ใช่ของกู มึงจะบ้าเหรอ ตั้งแต่นั้นมานะ โอ้โฮ แกชื่นใจมาก แกเป็นคนทิฐินะ แกเป็นคหบดีแกเป็นเพื่อนกับ ป.พิบูลสงคราม

โยม ๒ : แล้วตัวทิฐิเขาแก้อย่างไร?

หลวงพ่อ : ก็ตัวทิฐิ แกก็ทิฐิกับเรา แกก็ไม่มองเราแกเห็นเราเป็นพระเด็กๆ น่ะ ก็แก แกเป็นเพื่อนกับไอ้พวกขุน ไอ้นั่นน่ะ แกเข้าไปหา ป.พิบูลสงคราม จากไอ้นี่ จาก ปฐมโพธิ์แก้ว แกเป็นเพื่อนกับปฐมโพธิ์แก้วคนโพธาราม แล้วปฐมโพธิ์แก้วเป็นรัฐมนตรีคมนาคม แกเป็นเพื่อนกับ ป.พิบูลสงคราม เป็นเพื่อนกับ ผิน แกเป็นเพื่อนกับระดับนั้น แล้วกูเป็นใครล่ะไอ้ห่า แกก็ไปฟังพุทธทาสน่ะสิ แล้วก็ยึดติดว่าแกมีไง

นี่พูดถึงถ้าเห็นน่ะ ถ้าเห็นอย่างนั้นเลย ถือกาแฟมาน่ะเราเห็นเลยนะ เพราะธรรมดาน่ะ พระส่งมันยังบอกเลย พระบุญส่งน่ะ บอกว่า เออ มึงมาอยู่นี่เพื่อมาเอาเขาเลยน่ะ เพราะแกคิดว่าแกมีคุณธรรมของแกน่ะ แล้วพอแกมาเห็นจริงๆ เข้าน่ะ โอ้โฮ โอ้โฮ คนระดับนี้นะ คนระดับนี้พูดนะ “โอ้โฮ โอ้โฮ จะกล้าก็ไม่ใช่กล้า จะกลัวก็ไม่ใช่กลัว” แต่โอ้โฮ โอ้โฮ เวลาไปเห็นอย่างนั้นจริงๆ น่ะ

ถ้าเห็นกายให้ซ้ำเข้าไป เห็นนี่ไม่ผิด เราถึงบอกว่าถูกไง อย่าเสียใจอย่าตกใจเนาะ เรานักปฏิบัติเนาะ ค่อยๆ ทำไป สิ่งที่เห็นน่ะกายนอกหมายถึง ส้ม เปลือกส้ม เปลือกส้มนี้คือสัญญา เปลือกส้มคือความคิด ความเห็นด้วยข้อมูลมันเห็นอย่างหนึ่ง ความเห็นจากใจจะเห็นได้อีกอย่างหนึ่ง แต่

โยม ๒ : มันเห็นไม่ลึกหรือครับ หรือว่าอย่างไร?

หลวงพ่อ : ใช่ เห็นไม่ลึก มันเห็นแต่ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ มันเห็น เห็นของมันอย่างหนึ่งแต่เห็นปั๊บ เราพิจารณาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ มันก็จะละเอียดไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ละเอียดไปเรื่อยๆ จนถึงจิตมันเห็น ถ้าจิตมันเห็นนะ พอจิตมันเห็นนะ โอ้โฮ มันสะเทือน สะเทือนถึงตัวอุปาทาน ตัวอนุสัยที่ฝังอยู่ที่จิตน่ะมันได้สะเทือน

พอสะเทือนขึ้นมา วิปัสสนาไป มันจะปล่อยตรงนี้ ให้ซ้ำไป บอกว่าถูกไหม? ถูก (โทษนะ) ถ้าพระไม่เป็นหรือพระจะเอาแต่วิทยาศาสตร์ เอาข้อวิทยาศาสตร์พิสูจน์กันด้วยค่าของเคมีจะบอกว่าผิดเลย ผิดไปเลย ผิดเพราะไปเห็นที่เปลือกใช่ไหม? ต้องเห็นข้างใน แต่มันถูก พูดเหมือนกับหลวงตาว่าน่ะจับปลายเชือกสาวไปถึงได้ตัวโค จับเชือก ปลายเชือกผูกโคไว้ใช่ไหม? สาวไปต้องถึงตัวโค นี่เห็นจากอาการก็คือมันออกมาจากใจ ถ้าสาวเข้าไปมันก็ถึงตัวนี้เหมือนกัน มันต้อง เทคนิคมันเป็นอย่างนี้ วิธีการมันเป็นอย่างนี้

โยม ๒ : ถ้าปัญญามันก็จะค่อยๆ เข้าไปเหรอครับ?

หลวงพ่อ : ไม่ ไม่ ไม่ มันละเอียดเข้าไปเอง เป็นชั้นๆ เข้าไป แล้วพอเรามาถึง แต่นี้คนเราที่มันพลาดกัน มันพลาดตรงนี้ไง มันพลาดตรงที่ไปเห็นปั๊บ แล้วมันพิจารณา พิจารณาไปแล้วปล่อย ถ้าไปที่พระภาวนาไม่เป็นนะ โสดาบันเด็ดขาดเลย เพราะพิจารณากายแล้วปล่อยกายแล้ว เนาะ ปล่อยหมดเลยว่างโล่งเลยเนาะ ใสหมดเลยเนาะ ถ้าเป็นพระที่ไม่มีวุฒิภาวะนะ โสดาบัน โสดาบัน พิจารณากายแล้วปล่อยกายแล้ว ว่างหมดเลย โล่งหมดเลย แล้วจริงไหม จริงได้ด้วย ปล่อยจริงๆ

โยม ๑ : มันไม่มีอะไรเลย

หลวงพ่อ : ใช่ มันไม่มีอะไรมันปล่อยหมด ทีนี้ถ้าอย่างเป็น มันไม่มีอะไรเวลามันปล่อย มันได้ปล่อยอะไรไปบ้าง? คือมันปล่อยเฉยๆ เหมือนกับล้างถ้วยล้างจาน ปล่อยเฉยๆ แต่ถ้าเป็นโสดาบันนะ เวลาปล่อยมันถอนสังโยชน์ ถอนอุปาทานที่ใจไปด้วย สักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ ทิฐิ ตัวทิฐิคือตัวความเห็น สักกายทิฐิคือทิฐิที่เห็นผิด ถ้ามันปล่อยมันปล่อยตัวนี้ ถ้าตัวที่เห็นผิดมันไปเห็นถูกแล้ว ความลูบคลำสีลัพพตปรามาสจะมีได้อย่างไร? วิจิกิจฉาตัวสงสัยจะมีได้อย่างไร? ตัวสงสัยจะมีได้อย่างไร? ในเมื่อมันรู้จริงเห็นจริง มันปล่อยไปแล้วมันจะสงสัยได้อย่างไร? เพราะสักกายทิฏฐิตัวนี้หลุดเท่านั้นน่ะ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ไม่ต้องพูดถึงมัน

แล้ววันนั้นที่หมอเขามาถาม แล้วสีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาส พวกเราสีลัพพตปรามาสบอกเป็นหมดเลย ผู้ที่ปฏิบัติเป็นหมดเลย เพราะลูบคลำหมด คนที่ปฏิบัติแล้วไม่สีลัพพตปรามาสมีตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป โสดาบันนี่ไม่สีลัพพตปรามาสแล้ว เพราะมันจริงแล้ว แต่ต่ำกว่าโสดาบันนะ สีลัพพตปรามาสหมดเลย หมดเลย ผิดหมดเลย

โยม ๑ : ก็เข้าใจ ใจมัน พอมันสว่างที่ใจแล้ว เหมือนกับกายเรานี้ไม่มีเลย หมดเลย

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๑ : หายไปหมดเลย

หลวงพ่อ : เห็นไหม ถ้าพูดอย่างนี้นะ ถ้าคนไม่เป็นก็งง เวลามันไม่มีที่ใจ มันหมดเลย มันปล่อยหมดเลย

โยม ๑ : ใจมันสว่าง เหมือนไอ้นี่ไม่มีละ ไม่มีตัวเลยนะ มันสว่าง

หลวงพ่อ : ถ้าไม่มีวุฒิภาวะนะ โสดาบันเด็ดขาดเลย เพราะมันไม่มีอะไร มันว่างหมดแล้ว ไม่มี ไม่มีกิเลสเลย แต่ถ้าปฏิบัติเป็นเห็นไหม แม้แต่สมาธิยังปล่อยกายได้เลย อัปปนาสมาธิ พุทโธๆๆ เข้าไปนี่ ขณิกะ อุปจาระ อัปปนาสมาธิ สักแต่ว่า มันถอนหมดเลย มันทิ้งกายเลย มันสักแต่ว่าอยู่จิตล้วนๆ เลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันไม่รับรู้

อัปปนาสมาธินี่นะ รูป รส กลิ่น เสียง ตา หู จมูก ลิ้น กาย รับสภาพอะไรไม่ได้เลย สักแต่ว่ารู้นะ เรายังบอกเลย ถ้าพูดถึงเข้าอัปปนาสมาธินี่ แล้วเกิดถ้าเขาจะเอาปืนมายิงหรือรถจะชน ตายเปล่าเลย เพราะมันไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น มันอยู่ตัวมันเองไง มันอยู่ข้างใน

โยม ๒ : อ้าว แล้วมันจะไปไหนล่ะ

หลวงพ่อ : มันอยู่ข้างใน มันไม่มีอะไรอยู่แล้ว ฉะนั้นมันไม่รับรู้มันอยู่ของมัน นี่ไงมันปล่อยกายหมดไง

โยม : อย่างนี้ไปพรหม

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าตายก็เป็นพรหม แต่นี้มันไม่ตายสิ ประสาเรารถชนไม่ได้ ทีนี้เราเปรียบเทียบไง เพราะมีคนเคยมาหาเราไง เขาบอกว่าเขาไปนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ ฟ้าผ่าเขายังไม่รู้เรื่องเลย เพราะจิตเขาเป็นสมาธิแล้วเขาว่าอันนั้นผิด แล้วเขาก็มาพิจารณานามรูปอะไรของเขานี่ บ้าบอคอแตกไป แล้วมาถามเราว่าเขาได้ขั้นไหน กูบอกมึงได้ขั้นบ้า ถ้ามึงจะไม่ได้ขั้นบ้ามึงต้องกลับมาตรงนี้ กลับมาตรงที่โคนต้นไม้มึงนั่นแหละ

คือจิตมันเป็นสมาธิไง ทีนี้พอจิตมันเป็นสมาธิคนไม่เป็นคนไม่เข้าใจก็ไม่รู้ ถ้าพูดถึงนะ ถ้าไม่มีหลักนะ ฟังอย่างนี้แล้วเพราะอะไร เพราะมันเอาไปเทียบในตำราไง ตำราอธิบายว่าอย่างนี้ ตำราอธิบายไว้แต่อธิบายไว้ที่เป็นผล แต่มันคนไม่เป็นมันไม่มีค่าเปรียบเทียบไง ถ้าค่าเปรียบเทียบเราเคยเป็นใช่ไหม เราเคยหลงเราเคยพลาดมาไง

เราเคยพลาดมาปั๊บ อย่างนี้ อย่างนี้ ปล่อย อย่างนี้พูดถึงพอปล่อยแล้วเขาเรียก ตทังคปหาน มันมีตทังคปหานกับสมุจเฉทปหาน ตทังคปหานคือประหารชั่วคราว คือการปล่อยวางชั่วคราว เหมือนเรากินข้าวอิ่มแล้ว อิ่มชั่วคราวแต่เดี๋ยวก็หิวอีก แต่ถ้าเป็นสมุจเฉทปหานนะกูไม่กินอีกเลย คงที่

ฉะนั้น ถูก แต่ต้องขยันไปเรื่อยๆ แล้วทำไปอย่างนี้ พุทโธไว้ พุทโธไว้ ไอ้อย่างที่เวลาจะเห็นกายนี่มันไม่เห็น ไม่เห็นเพราะอะไร? เพราะอยากเห็น เราพุทโธไว้ พุทโธไว้ ถ้ามันจะแยกออกก็ดึงกลับมา พอดึงกลับมานะพอมันดีขึ้นมาปั๊บ เดี๋ยวก็จะเห็นอีกรอบหนึ่ง พอมันดีไง พอจิตสมดุลจะเห็นทันทีเลย

แล้วพอเห็นปั๊บ แหม ดีเว้ย จะเอาอีกนะ ก็ไม่ได้อยู่พักหนึ่ง จนกว่ามันจะไม่เอาแล้ว ไม่เอาเดี๋ยวก็ดีอีก ก็เห็นอีก แล้วเราลองตรงนี้ ลองที่ว่าถ้าเอ็งทำอย่างนี้มันจะเห็นอย่างนี้ ถ้าเอ็งคุมจิตอย่างนี้เอ็งจะเห็นอย่างนี้ แล้วเราจะเลือกทางไหนล่ะ คนเรานี่มันจะผิดมาก่อน ผิดมาก่อนจนเข็ดไง

อ๋อ ถ้ากูทำอย่างนี้ปั๊บนะกูลากเลือดทุกทีเลย ถ้ากูทำอย่างนี้นะกูพอไปได้ แล้วมึงจะไปทางไหนน่ะ มันก็ยังมาตรงนี้ แล้วพอมาตรงนี้ปั๊บ ทำไปเรื่อยก็ดีไปเรื่อย ดีไปเรื่อย ดีไปเรื่อย ดีไปเรื่อย จนถึงที่สุดนะขาด ขาดอย่างไรมันก็เห็น อ๋อ อย่างนี้เอง โสดาบันอย่างนี้เอง สกิทาอย่างนี้เอง อนาคาอย่างนี้เอง แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันจะเป็นอย่างนี้ก่อนทุกคน แล้วจะถูไถกันไปอย่างนี้

แล้วอย่างนี้เราฟังพระพูดมาเยอะไง โสดาบัน โสดาบันของเขา อย่างนี้เขาถือเป็นโสดาบันแล้ว แต่ความจริงมันถ้าเป็นเขาเรียกว่า ศรัทธา อจลศรัทธา ปุถุชน กัลยาณปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชนเดินโสดาปัตติมรรค ขณะที่เดินโสดาปัตติมรรคมันยัง การเห็นกายนี่ เดินโสดาปัตติมรรค ถ้าจิตไม่เห็นกายไม่ใช่โสดาปัตติมรรค จิตเห็นกายเป็นอติธรรม วิปัสสนาคือโสดาปัตติมรรค แล้วมันยังเสื่อมได้ เสื่อมได้เพราะโสดาปัตติมรรค ไม่ใช่โสดาปัตติผล ถ้ามันเสื่อมมาลงมาก็ปุถุชน ถูก ถูก

โยม ๑ : แล้วทำยังไงอีกล่ะนี่

หลวงพ่อ : ต้องขยันนะ สติไง พุทโธ พุทโธ แล้วคุมมันให้ดี ตอนนี้นะโยมเห็นเขาเย็บจักรไหม คนเย็บจักรนี่เขาต้อง โอ้โฮ ฝีจักรมันจะตก ตอนนี้นะเหมือนจิตเราเป็นอย่างนี้แล้วนี่ เราต้องระวังมันแล้ว เหมือนคนเย็บจักร เหมือนคนสอยเข็ม ดูสอยเข็มสิให้เข็มมันเข้า จิตก็เหมือนกันตอนนี้ โยมกำลังจะสอยเข็ม จิตมันกำลังจะเข้าที่ โยมต้องตั้งใจไง พุทโธ ตั้งสติให้ดีๆ สอยเข็มน่ะ ถ้าด้ายมันทะลุเข็มไปก็ โอ้โฮ โยมจะสบายเลยตอนนี้

นี่ก็เหมือนกันถ้าจิตมันเข้านะ ตั้งใจ ไม่มีใครทำให้ได้ ต้องตั้งใจ นี่เราประกันเลย ประกันว่าเดินมาถูกทาง นี่คือพื้นฐานเราพูดไว้บ่อยมากเลย รื้อแล้วสร้าง ขณะที่ปรับพื้นที่ทุกคนไม่คิดว่าเราการสร้างบ้านต้องปรับพื้นที่ ต้องเท ต้องเท ต้องฝังเข็มต้องเทคานคอดิน ทุกคนคิดว่าปลูกคือเอาบ้านไปตั้งไว้บนดิน บนเลน แล้วพอเวลาภาวนาไปปั๊บ วิปัสสนา วิปัสสนา มันจะเอาบ้านไปตั้งไว้ที่นี่ ที่ปากน้ำนู่นน่ะ สมุทรปราการนู่นน่ะ ไอ้เลนน่ะ เอาบ้านไปตั้งไว้ เดี๋ยวบ้านก็คว่ำ

ทีนี้ไอ้ตรงโคน ไอ้เข็มน่ะ กับไอ้คานคอดิน ลงทุนตรงนี้ไม่มีใครคิดถึงมัน รื้อแล้วสร้างไง เราซื้อบ้านเราไปซื้อที่ เราจะปรับทับสร้างใหม่ เราต้องปรับพื้นที่มัน ปรับพื้นที่มันก็ลงทุนลงแรงนี่ไง แล้วถ้ามันปรับพื้นที่จนมันว่างหมด อย่างที่ว่า ว่างๆ นั่นล่ะพื้นที่ พอที่จะขึ้นโครงสร้าง รื้อแล้วสร้างนะ แต่ไอ้ตอนรื้อนี่มันไม่ได้คิดว่ามันรื้อ มันคิดว่ามันสร้าง แล้วมันคิดว่ามันสร้างเสร็จแล้ว เราคิดว่ามันไม่มีอะไรเลย แล้วมันก็คว่ำไปนั่นล่ะ ภาวนาไง ล้มกลิ้งล้มหงายอยู่นั่นน่ะ

นี่ปรับพื้นที่รื้อแล้วสร้าง ถูก แต่ต้องภาวนาไปพอพูดอย่างนี้ไปพระเห็นไหม บอกถูกให้ซ้ำ มันเอาไปอ้างเลย กูให้อนาคาเลยนะ โอ้โฮ

โยม : (หัวเราะ)

หลวงพ่อ : ไอ้จะบอกว่าผิดแล้ว มันก็ไม่มีกำลังใจ ไอ้จะบอกว่าถูกมันก็บอกกูให้อนาคา กูก็เลยคาคอกูอยู่นี่ แหม เอาขื่อคากูไว้เลยนะ โอ๊ย กูต้องไปรับคนโน้น รับคนนี้ ไอ้จะบอกว่าผิดมันก็หมดกำลังใจ ต้องบอกว่า ถูก แต่ต้องขยัน ถูก ถูกทางแล้ว ขยันหมั่นเพียร สู้มัน แล้วมันจะพัฒนาขึ้นไปแล้วถ้ามันเป็นแล้วนะกูไม่ต้องการันตีเลย คนเป็นรู้เอง ผลัวะ! โอ้โฮ อย่างนี้เลยนะ โอ้โฮ ใช่ ใช่ ใช่ ถ้าใช่นะ ผลัวะ!

แต่ถ้าไม่ใช่นะ น่าจะ หรือว่า แบบนี้ไม่ใช่ เฮ้ย กูเป็นแล้ว กูเป็นพระอรหันต์แล้ว กูเป็นพระอรหันต์แล้ว อย่างนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วนะ มันจะบ้าไอ้นั่นมันจะบ้า ใกล้บ้าแล้ว แต่ถ้ามัน ผลัวะ! โอ้โฮ พูดไม่ออกเลยน่ะ

โยม ๒ : ต้อง ผลัวะ! ทุกคนหรือเปล่าครับ?

หลวงพ่อ : ต้องทุกคน ไอ้ที่ไม่ต้อง มันนั่น เดี๋ยวดูมันเสื่อมก็แล้วกัน ถ้า ผลัวะ! โอ้โฮ พูดอะไรไม่ออกเลยล่ะ นั่นน่ะของจริง แล้วพอออกมาแล้วอธิบายได้หมดเลยนะ สังโยชน์ขาดอย่างไร? ถอนอะไรไปบ้าง? ตัวไหนขาด? ตัวไหนอยู่? ตัวไหนเป็นอย่างไร? ยถาภูตัง ญาณทัสสนะเกิดหมด ยถาภูตัง กิเลสขาด เกิดญาณทัสสนะรู้ว่าขาดแล้ว ไม่เป็นพูดไม่ถูกหรอก แล้วถ้ามันพูดมานะมันอยู่ในสังคมที่ไม่มีใครจริงไง

ทำไมทุกคนไม่กล้าเข้าหาหลวงตาเพราะอะไรรู้ไหม? เพราะกลัวหลวงตาซักไง ไอ้ที่ไม่กล้าเข้าไปหาหลวงตา เฉียดไปเฉียดมาเพราะอะไรรู้ไหม? พูดมา พูดมา ตายเลยล่ะ

โยม ๒ : ซักอย่างเดียวเลยหรือครับ?

หลวงพ่อ : อะโธ่! ธรรมะต้องซักอย่างนี้ ไอ้ที่ไม่กล้าเข้าไปหาหลวงตา ไม่กล้าเข้าไปหาหลวงตาก็เพราะตรงนี้ไง ตรงที่เข้าไปแล้ว แหม พอโดนซักขึ้นมาเหมือนขึ้นศาล ศาลซักแล้วน่ะตอบศาลไม่ได้ โธ่เอ๊ย ไม่กล้าขึ้นไปหาหลวงตาเพราะเดี๋ยวซักขึ้นมาแล้วต่อหน้าศาล ใช้เอกสารเท็จ แหม ติดคุกอีก

ทีนี้คนมองกันมองอีกเรื่องหนึ่ง โยมทำดีแล้วนะ โยมทำดี เพราะ ถ้าพูดออกมาจากข้อเท็จจริงไม่ต้องใช้ตำรา ไม่ต้องให้ใครมาพูด พูดถูกพูดผิดพูดออกมาตามที่เรารู้ ตามที่เรารู้ตามที่เราเห็นน่ะ แล้วครูบาอาจารย์จะแก้ตามนั้น อย่างที่โยมพูดน่ะถูกหมด ว่างหมดอะไรหมด แต่ แต่มันว่างอย่างที่ว่าน่ะ มันว่างที่โยมทำมันเยอะแต่โยมไม่ ไม่

เหมือนกับเราเป็นช่างน่ะเราจะขึ้นเสาเข็มนี่ เราต้องผูกเหล็กเราต้องตีแบบ เราต้องเทปูนน่ะ กว่ามันจะเป็นเสาขึ้นมาแต่ละต้น ไอ้ไม่ใช่ว่านั่งๆ เฮ้ย เสาขึ้น เสาขึ้น เสาขึ้น แล้วเสาไหนมันจะขึ้นมา ก็มึงไม่ผูกเหล็ก มึงไม่ตีแบบมึงไม่เทปูน นี่ก็เหมือนกัน เราจะปฏิบัติมันจะขึ้นมาเพราะเหตุความเพียรของเรา

โยม ๑ : เรียบเชย ไม่ค่อยโชว์

หลวงพ่อ : ใช่ ไม่เป็นไร มันเป็นไปได้เพราะเหตุความเพียรของเรา เราขยันเราหมั่นเพียร เราผูกเหล็ก เราตีแบบ เราเทปูน แล้วเราหล่อมันขึ้นมาเป็นเสาเป็นตอม่อของเรา มันจะสร้างพื้นฐานของเรา มันเกิดจากความเพียรนะ ไม่มีมาจากฟ้าหรอก ไม่มีหรอก เพราะอยู่ที่ไหนใครก็ทำให้ไม่ได้หรอก เราทำกันเอง เราสร้างของเราเอง ถูกต้อง อ้าว ว่ามา หมดแล้วใช่ไหม?

โยม ๓ : เมื่อกี้หลวงพ่อตอบแล้วค่ะ

หลวงพ่อ : ใช่

โยม ๓ : ที่ยายบอกว่ามันว่าง ที่หลวงพ่อบอกว่ามันว่างด้วยปัญญา แล้วทีนี้ถ้ามันว่างด้วยสมาธิล่ะคะ

หลวงพ่อ : ว่างด้วยสมาธิ ก็ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ มันหดเข้ามาเอง ถ้าว่างสมาธินี่นะ พอพุทโธเข้ามา พุทโธ พุทโธกำหนดอานาปานสติ พุทโธดิ่งตลอดเลยนะ ดิ่งขนาดไหน สติจะตามตลอดไม่มีแว็บเลย ถ้าแว็บนั่นน่ะออกข้างแล้ว ต้องขึ้นต้นใหม่แล้ว เวลามันเข้านะ ขณิกสมาธิว่างชั่วคราว อุปจาระเข้าไปเลย พอเข้าไปอุปจาระมันรู้มันเห็นนิมิตได้ มันออกได้ ถ้าปล่อยนี่ มันก็ได้แค่นี้

แต่ถ้ายังไม่ให้มันเป็น พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ มันจะเป็นอัปปนาเข้าไปเลย มันจะดิ่งเข้าไป ดิ่งเข้าไป ดิ่งเข้าไป โอ้โฮ ลึกมาก ถ้าเป็นพุทโธ เป็นเจโตวิมุตตินี่ สมาธิมันจะดิ่งเข้าไปเลยนะ คือว่ามันหดเข้าไปเรื่อยๆ มันเข้าไปเรื่อยๆ แล้วสติตามพร้อมหมด มันเห็นเหมือนส่องกล้องเลย ไม่มีแว็บ ไม่มี ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ถ้าแว็บนะ คือ คือขาดช่วง ถ้าแว็บหายเลย ตกภวังค์

โยม ๓ : หลวงพ่อแล้วอย่างที่ฟัง ที่ว่าพิจารณาความจริงมันก็เข้าไป เข้าไป เข้าไป เข้าไป

หลวงพ่อ : ใช่ ก็มันเข้ามาเหมือนกันไง มันก็พิจารณาแล้วมันปล่อยเข้า ปล่อยเข้ามา ก็เป็นตัวมันเองเข้ามาเหมือนกัน ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา แต่ทีนี้มันแปลกอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ เราอยู่กับหลวงปู่เจี้ยะมา หลวงปู่เจี้ยะท่านจะพุทโธอย่างเดียว หลวงตามาใช้ปัญญาอย่างนี้ มันหลายๆ องค์ไง

องค์หนึ่งก็คือ คือความชำนาญของแต่ละองค์ ผู้ชำนาญทางใดทางหนึ่งส่วนใหญ่จะสอนอย่างนั้น แล้วถ้าเป็นอย่างอื่นแล้วท่านไม่ค่อยฟัง เพราะมันเป็นความชำนาญของท่านใช่ไหม? อย่างเรานี้เป็นช่างไม้พูดเรื่องช่างเหล็กกูไม่ค่อยสนเพราะกูช่างไม้ทำไม อ้าว ช่างเหล็กก็ส่วนช่างเหล็ก กูช่างไม้น่ะ กูช่างไม้

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราไปหาครูบาอาจารย์จะเจอตรงนี้ไง พอไปพูดกับองค์ใดก็แล้วแต่ ท่านถนัดทางใดทางหนึ่ง ท่านจะยืนกระต่ายขานั้น ไอ้พูดไปก็ทำให้เรางงไป บังเอิญอย่างเรา อย่างที่ว่า ช่างเหล็กกูก็ได้ ช่างไม้กูก็ได้ ตักน้ำกูก็ได้เดี๋ยวกูตักน้ำให้มึงดู มันก็เลยอธิบายอย่างนี้ พออธิบายไป ทำให้คนโลเลเหมือนกันนะ เอ แล้วกูจะเอาอย่างไรล่ะ?

โยม ๒ : ไปไหนก็ไม่ไป

หลวงพ่อ : เออ เอ แล้วกูจะเอาอย่างไรวะ? ไอ้นี่ช่างไม้ก็ได้ช่างเหล็กก็ได้แล้วกูจะเป็นช่างอะไรดีล่ะ? มันก็มีผลเสียตรงนี้เหมือนกันเพราะเราสังเกตดู แต่ถ้าไปหาองค์ใดองค์หนึ่งท่านจะพูดทางเดียว ส่วนใหญ่แล้วองค์ใดองค์หนึ่งจะพูดเฉพาะทางชำนาญของท่าน เราเคยอยู่กับหลายๆ องค์มาแล้วสังเกตเอา

ทีนี้เพียงแต่ว่าอย่างนั้นปั๊บมันก็จะได้ สมมุติคนถนัดซ้ายอยู่กับองค์นี้สบายๆ เลย คนถนัดขวาไม่ถนัดแล้ว คนถนัดขวาอยู่กับองค์นี้ได้ นี้ไงเวลาไปหาครูบาอาจารย์มันจริตนิสัยไง ไอ้เรามาหาเรา เราถึงสงสารไง เราเลยเปิดหมดไง อะไรก็ได้ แล้วกูสอนได้ด้วย มึงมาสิกูบอกได้หมด เขาถึงแปลกใจไงเหมือน เพราะเขาเลยฟังเหมือนกับเรานี่โลเลไง เหมือนกับเรานี่ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย

เฮ้ย ซ้ายก็ถูกขวาก็ถูกแล้วถูกอะไรของมึงวะ ถูกเพราะมันถูกตามเนื้อหาสาระของมัน ถ้าผิดกูบอกผิดเลย ถ้าซ้ายผิดก็ว่าซ้ายผิด ซ้ายถูกก็ว่าซ้ายถูก ขวาผิดก็ว่าขวาผิดนี่ไง ปฏิบัติผิด ผิดเข้าไปผิดก็ได้ ซ้ายผิดก็ได้ใช่ไหม ทางซ้ายเขียนด้วยมือซ้ายแต่เขียนอักษรผิดไง ก็ผิด ปัญญาอบรมสมาธิผิดก็มี พุทโธ พุทโธผิดก็มี

อย่างพุทโธที่มาหาเรานี่เราบอกพุทโธผิดหมด เพราะอะไร? เพราะพุทโธตกภวังค์หมด พุทโธหายหมด พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วหลับไปเลย อ้าวทำไมล่ะ? อ้าว ก็มันละเอียดไง ถ้าพุทโธมันหยาบไง กูเลยดักหน้าไว้ มันมีพระมาไง เขาบอกพุทโธต้องหาย กูบอกไม่มีทางหาย หายไม่ได้ แต่จริงๆ คือมันหาย หายเพราะอัปปนาสมาธิแล้วมันจะหายของมันไปเอง

แต่พวกเราคิดว่าพุทโธต้องหาย พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หลับไปเลย คนมันเข้าใจผิดไง จริงๆ น่ะมันต้องหายแต่มันต้องหายด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่หายเพราะมึงคิด แต่เพราะเราไปเข้าใจว่าต้องหายใช่ไหม? เราก็เลยวางยาสลบตัวเองไง พุทโธ พุทโธ พุทโธ หายไปเลย แล้วไปไหน ก็ไปนรกไง

โยม ๑ : มันไม่มีสติเลยนั่น

หลวงพ่อ : ใช่ นี่พูดถูกไม่มีสติ เห็นไหม มันข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น แต่ต้องให้เป็นข้อเท็จจริงไง ทีนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริงมาพูดนะผิดหมดล่ะ เพราะคนทำไม่เป็นมันพูดก็ผิดแล้ว คนอ้าปากมันก็ผิดแล้วเพราะมันทำไม่เป็น ถ้ามันเป็นนะพูดอย่างไรมันก็ถูกหมด ฉะนั้นมันถึงว่ามันผิดกันตามข้อเท็จจริงแต่มันมาได้ทุกทาง

โยม ๓ : หลวงพ่อคะ แล้วอย่างวันนั้นคือคุยกับยายคนหนึ่ง เขาทุกข์แล้วเขาก็เลยภาวนาพุทโธ แล้วเขาพุทโธ พุทโธ แล้วเขาเดินจงกรมอย่างนี้ค่ะ แล้วพอมันได้ช่วงหนึ่งนี่ เขาบอกมัน ว้าบ มันว่างไปหมด กุฏิข้างหลังก็หาย

หลวงพ่อ : บุญหล่นทับ บุญหล่นทับ บุญหล่นทับ บุญหล่นทับ

โยม ๓: ไม่ หลวงพ่อ แล้วเขามองกุฏิข้างหลังยังหายไป

หลวงพ่อ : บุญหล่นทับ ได้ตอนนั้นถอนมาก็จบ

โยม ๓ : มันว่าง

หลวงพ่อ : ถอนมาก็จบ โธ่เอ๊ย นี่พวกเรา นักภาวนาส่วนมากเป็นแค่นี้ คือเป็นต่อเมื่อวิกฤติเป็นต่อเมื่อตัวเองจนตรอกแล้ว มันก็จะรวมสักทีหนึ่ง แล้วก็พลาดไป มันไม่ทำเหมือนพระที่ปฏิบัติมันต้องต่อเนื่องไง ต่อเนื่อง ความเสมอต้นเสมอปลาย แล้วว่างอย่างนั้นปั๊บ ต้องคุมให้ได้แล้วจะว่างอย่างนั้นตลอดไป ว่างตลอดไปปั๊บออกมาก็วิปัสสนาได้ อันนี้ว่างทีเดียวก็จบเลยเหมือนบุญหล่นทับเลย ถูก สามล้อถูกหวยไง พอได้เงินมาก็จ่ายเกลี้ยงเลย แล้วก็ไปถีบสามล้ออย่างเก่า พวกสามล้อถูกหวยน่ะ ว่าง โอ๊ย

โยม ๒ : แสดงว่า ถึงตรงนั้นแล้ว ก็นึกภาพตรงนั้นคือต่อ

หลวงพ่อ : ใช่ ตรงนั้นคือทุนเท่านั้นเอง สามล้อถูกหวย เอ็งได้สตางค์มาสตางค์ไปทำอะไรได้ สตางค์กินไม่ได้นะมึง แบงก์กินได้เหรอ แบงก์ต้องไปซื้ออาหาร ทีนี้พอเป็นสมาธิ สมาธิทำอะไรได้ สมาธิเป็นสมาธิ ปัญญาเกิดหรือยัง? หลงลงสมาธิ สมาธิก็คือทุน ไม่มีทุนก็ทำอะไรไม่ได้? ตัวทุนเองทำอะไรไม่ได้ ไม่มีทุนทำอะไรไม่ได้นะ ถึงมีทุนแล้วใช้ไม่เป็นก็ ทุน ทุนก็คือทุน กระดาษกินไม่ได้นะเว้ย เช็คแดกเข้าไปเลย ใบหนึ่งแสน สองแสน กินเข้าไปเลย

โยม ๒ : เปล่าครับ ถ้าเขาตายไปแล้วมีประโยชน์อะไรครับ?

หลวงพ่อ : ตายไปแล้วมันก็เป็นบุญ เป็นสิ่งที่ฝังลงไปในจิต แต่ในปัจจุบันสิ เราเอาปัจจุบันธรรมสิ ปัจจุบันธรรมคือปัจจุบันที่แก้กิเลสสิ แต่ถ้าเป็นสมาธิมันก็ มันก็ฝังใจก็บุญ

โยม ๒ : อย่างนี้ก็อยู่เหมือนเดิม

หลวงพ่อ : เหมือนเดิม เหมือนเดิม

โยม ๓ : อ้าว ที่หลวงพ่อบอกว่า ถ้าเกิดสมมุติออกมาแล้วก็หายไปเลย แต่ถ้าเกิดขณะที่เขาเป็นอยู่นี่เขามีจิตประคองไปได้ก็

หลวงพ่อ : แล้วประคองไปได้หรือเปล่าล่ะ? คำว่าบุญหล่นทับนี่ไม่มีสติ บุญหล่นทับมันเป็นผลของบุญไง แต่ถ้าเราปฏิบัติ กูลองผิดลองถูกมา มาถึงเหมือนกับเงินมากูจับประสาเรามึงคิดสิ เอาเงินล้านมาจับสิ มันตื่นเต้นไหม ก็อยาก แหม กูรวยน่ะ แต่ถ้าเราหามาเกือบตาย เงินล้านนี่เราต้องรักษาให้ดีนะ

เฮ้ย เงินล้านนี่ แหม กูลากเลือดเลย กูได้ล้านหนึ่งแล้วกูจะเอาล้านนี้ไปทำอะไร? เห็นไหม มันต่างกันไหม? บุญหล่นทับนี่มันไม่รู้ ล้านหนึ่งนี่โอ้โฮ กูล้านหนึ่งปลิวว่อนเลย แหม ไม่ถึงชั่วโมง เกลี้ยง แต่ถ้ากูหามาเกือบล้าน โอ้โฮ กูจะจ่ายสลึงหนึ่ง กูก็ไม่อยากจ่าย กูจะเก็บของกูอย่างดีกูรักษาของกูอย่างดี มันต่างกันตรงนี้ไง มันต่างกันเยอะแล้วมันอยู่ที่ประสบการณ์น่ะ

โยม ๑ : สานก็พบ

หลวงพ่อ : ได้ ทำไปอย่างนี้ ทำไปอีกเนาะ ทำไป จบแล้ว