ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เรื่องสัญญา

๒๔ ม.ค. ๒๕๕๒

 

สัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้าพูดอย่างนี้นะ เมื่อก่อนเวลาเราพูดอะไรไปนี่ ทุกคนจะเพ่งโทษเรานะ จะเพ่งโทษเรื่องอสุภะๆ นี่ เขาบอกว่าพิจารณาอสุภะ ที่พิมพ์หนังสืออสุภะกัน เราไม่เห็นด้วยเลย มันสัญญาทั้งนั้น ที่พิมพ์หนังสืออสุภะมาแจกกัน มันเป็นความปรารถนาดีของโลก โลกเขาปรารถนาดี อยากจะช่วยพระปฏิบัติไง

ถ้าเราปฏิบัติ เราก็ต้องมีเวลาไปเที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพใช่ไหม เราบริการไง ไปพิมพ์หนังสืออสุภะกัน แล้วมาแจกพระไง พอหนังสือมาแจกพระ จะให้พิจารณาเป็นอสุภะ ไม่เป็นหรอก.. เป็นกระดาษ เป็นภาพกระดาษ ไม่เป็นอสุภะหรอก ถ้าเป็นมันอสุภะ นะ มันต้องจิตสงบ

จิตสงบ จิตเห็นกาย ถึงจะเป็นอสุภะ แล้วจิตเห็นกายนะ ถ้าจิตเห็นกายครั้งแรกนี่ ครั้งแรกที่เห็นกายนะ มันจะเป็นเห็นกาย คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่มันไปเห็นกาย ถ้าพิจารณาไปขั้นที่ ๒ มันจะไปเห็นกายเหมือนกัน แต่กายอยู่ในสภาวะเดิม แล้วขั้นที่ ๓ ถึงเห็นอสุภะ ถ้าเห็นอสุภะนะ จิตมันเห็น ถ้าเห็นอสุภะมันถึงจะเห็น

การเห็นอสุภะนี่ จิตมันเห็น ไม่ใช่สัญญาเห็น ตอนนี้มันเป็นสัญญานะ เรานี่เป็นสัญญา เป็นความคิดไง นี่ความคิด เวลาเราคิดแล้วนี่ ทำไมมัน... โธ่.. นี่พูดเอาเปรียบเทียบนะ พูดถึงไปเห็นภาพนี้มา เพราะมันมีตะกอน

เหมือนเราอ่านหนังสือนี่ ถ้าหนังสือเราไม่เคยอ่าน เราจะไม่มีข้อมูลในหัวเลยใช่ไหม ถ้าหน้าไหนเราได้อ่านหนังสือข้อมูลนั้นแล้ว ข้อมูลจะฝังในสมองเรา ถ้าฝังในสมองเรา บางทีเราก็ลืม บางทีเราก็คิดได้

ทีนี้เราอ่านหนังสือมาแล้วนี่ เดี๋ยวเราก็ลืม เดี๋ยวเราก็คิดได้ ถ้ามันลืมแล้ว หนังสือเราไปเปิด มันก็ไปทวน มันก็ไปจำได้ ถ้าหนังสือเราไม่เคยอ่านเลย เราจะมีข้อมูลขึ้นมาได้อย่างไร? จิตมันเหมือนกับสมอง มันรู้สิ่งใด มันเห็นสิ่งใด มันจะซับลงที่จิต ถ้าไม่ซับลงที่จิตนะ..

พระโพธิสัตว์ สร้างแต่คุณงามความดี มันซับลงที่จิตไง นี่พันธุกรรมทางจิต ที่เราบอกการตัดแต่งพันธุกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี่ ความดีความชั่วมันตัดแต่งจิตนั้นมา มันแต่งจิตนั้นมา ทีนี้คือการแต่งจิตนั้นมา ที่มันซับมานี่ทำไมมันเป็นอย่างนั้น? มันเป็นอย่างนั้นเพราะมันเป็นขันธ์ ขันธ์ ๕ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ

สัญญานี่มันเป็นธรรมชาติของมัน แต่สัญญานี่ไม่ใช่จิต สัญญานี่ไม่ใช่จิตนะ ถ้าสัญญาเห็นกับจิตเห็นมันคนละเรื่อง สัญญานี่ไม่ใช่จิต รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ถ้าสัญญาเป็นจิต เราอ่านอะไรแล้วเราจะไม่ลืมเลย เรารับรู้ข้อมูลอะไรแล้วเราจะไม่ลืมเลย

ทำไมเราลืม? เพราะสัญญานี่มันอนิจจัง แต่จิตไม่ใช่อนิจจัง นี่งงไหม? จิตนี่มันมีอยู่ใช่ไหม? พลังงานความรู้สึกเรามีอยู่ตลอดเวลา แต่พลังงานตัวนี้มันพลังงานเฉยๆ พูดถึงมันไม่ใช่สัญญา แต่มันก็มีความรู้สึกของมัน เพราะอะไร? เพราะถ้าเป็นอวิชชานะ “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ” นี่มันเป็นปฏิสนธิจิตไง

ปฏิสนธิจิตตัวนี้ไปแก้กิเลสที่ตัวนี้ แต่ขณะที่เราไปรู้ไปเห็น สิ่งที่ไปรู้ไปเห็นขึ้นมานี้ ทำไมมันเกิดล่ะ? ก็มันมีข้อมูล พอมันมีข้อมูล นี่ถ้าปฏิบัตินะ ถ้าไม่เข้าไปที่สมาธิ ไปปฏิบัติตรงนี้ เพราะเราคิดกันแบบวิทยาศาสตร์ไง ว่าเราใช้ความคิดคือปัญญา นี้ความคิดเป็นปัญญานี่ ความคิดของเรานี่ ปัญญามันหลายระดับชั้นใช่ไหม?

ปัญญาเห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา แต่ถ้าเราแบ่งชัดเจนเลย โลกียปัญญา กับ โลกุตรปัญญา โลกียปัญญานี่ ปัญญาทางวิทยาศาสตร์ ปัญญาจากสมอง สมองมันก็เป็นความคิดอันนี้เหมือนกัน นี่ปัญญาจากสมอง แต่ตัวจิตนี่ ถ้ามันมีคุณภาพ มันจะเก็บข้อมูลได้ดี อย่างเช่นเรานี่ ถ้าจิตเราคุณภาพมันไม่ดี บางอย่างเราจำไม่ค่อยได้ดี เราจำไม่ค่อยได้ สิ่งใดที่มันดูดดื่มไง นี่ขนาดเห็นเฉพาะข้อมูลอย่างนี้นะ แต่ถ้าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นะ เพศตรงข้ามนี่สำคัญมาก

หญิงกับชายนี่ เห็นอะไรที่สะกิดใจนี่ มันทิ่มเข้าหัวใจเลยนะ ระหว่างเพศตรงข้ามนี่ หญิงชอบชาย ชายชอบหญิงนี่ แล้วมันฝังใจมาก ความฝังใจมากนี่กามราคะ นี่มันต้องไปถอนตรงนี้ มันต้องไปรื้อตรงนี้ออก ถ้าไปรื้อตรงนี้ออกมันถึงจะจบ

นี่ทำไมมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เลย ทั้งที่เราดูถูกวิทยาศาสตร์ เราดูถูกวิทยาศาสตร์หมายถึงว่า วิทยาศาสตร์นี่มันเป็นกรอบ แต่ธรรมะนี่มันหลากหลาย ธรรมะมันต้องเป็นต้นทุน มันต้องเป็นพื้นฐานของจิตก่อน

พอพื้นฐานของจิตนี่ จิตของคน จริตไม่เท่ากัน พอจริตไม่เท่ากัน คุณสมบัติ สมาธิก็ไม่เท่ากัน ปัญญาก็ไม่เท่ากัน ขิปปาภิญญานี่ปฏิบัติครั้งเดียวก็เป็นพระอรหันต์เลย อย่างเวไนยสัตว์ปฏิบัติเกือบเป็นเกือบตาย ต้องถูไถไปเกือบเป็นเกือบตายเลย มันไม่เท่ากัน

พอไม่เท่ากัน คุณภาพของจิตไม่เท่ากัน สมาธิก็ไม่เท่ากัน ปัญญาก็ไม่เท่ากัน สิ่งที่ไม่เท่ากัน เวลาปฏิบัติไปไอ้ความที่ไม่เท่ากัน ความไม่เท่ากันแต่ละดวงจิตนี่เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะต้นทุนของคนมาไม่เหมือนกัน

แต่ถ้าเราคิดอย่างวิทยาศาสตร์ คนมันก็เท่ากับคน ประชาธิปไตยไง คนละหนึ่งเสียงๆ คนละหนึ่งเสียงจริงหรือเปล่า? คนละหนึ่งเสียงนี่ เวลาไอ้พวกกเฬวราก มันจะยก มันต้องมองหัวหน้ายกหรือเปล่าวะ เออ ยก กูยกตาม ไม่ยกกูก็ไม่ยก หนึ่งเสียงเท่ากันหรือ? หนึ่งเสียงต้องคอยดูวิปนะ มันยกไม่ยก สั่งยกหรือเปล่า หนึ่งเสียงเท่ากัน มันพยายามพูดให้เป็นเสรีภาพ แต่มันเป็นไปไม่ได้!

พระอรหันต์เท่านั้นคือเสรีภาพ ภราดรภาพคือพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าพระอรหันต์เท่ากัน นี่เท่ากันหมดเลย แต่ต่ำกว่านั้นมันเป็นไปไม่ได้! แต่พวกเราพยายามจะ ทางโลกพยายามจะคิดให้เป็นไง นี่เป็นกรอบไง สวมให้มันเป็นอย่างนั้นไง แต่มันไม่เป็น นี่เวลาเราคิดธรรมะ กันก็คิดอย่างนี้

คิดธรรมะกันก็คิดประสาอย่างนั้น วิทยาศาสตร์เวลาอธิบายนะ อธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เราเห็นภาพ แต่เวลาปฏิบัตินะ ต้องเป็นธรรม ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ต้องเป็นธรรม เป็นธรรมคือมันสมดุลของมัน มันสมดุลของจิต จิตมันสมดุลของมัน แล้วมีกำลังของมัน ปัญญาของมัน และสมดุลของมัน พอสมดุลของมันแล้วมันจะรวมพั้บ! ทีเดียวนะ “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” เวลามันจะขาดแว็บ แว็บเดียวเลย

แต่ เหมือนกับเราทำธุรกิจนี่ แค่เซ็นสัญญาหรือส่งสินค้าก็จบ แต่สินค้านั้นกว่าจะหามานี่ แล้วสินค้านั้นกว่าจะผลิตขึ้นมาเป็นสินค้าได้นี่ เกือบเป็นเกือบตายนะ เราต้องขอใบอนุญาตสร้างโรงงานนะ ต้องหาวัตถุดิบมาสร้าง สร้างออกมาเป็นสินค้า แล้วไปเสนอขาย พอมันยื่นส่งก็จบ ส่งแว็บ! เก็บตังค์ก็จบแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัตินี่เกือบเป็นเกือบตาย ตั้งสติ ต้องฝึกฝน แต่เวลาขาดนี่ แว็บ! แว็บเดียวเลย แต่พอจะแว็บเท่านั้นนะ เราต้องสร้างฐาน นี่ไงที่บอกว่า มหายานถึงบอกว่า เซน แค่ก้าวข้ามธรณีประตูนี่ แล้วก็ทางลัด ทางลัดนี่ คนไปเชื่อกันนะ

ทางลัดนะ กว่ามึงจะลัดได้นี่ แค่เอ็งเข้าวัด ไม่เข้าวัดเท่านั้นล่ะ ถ้าเป็นทางลัดนี่ ทำไมประชาชน ชาวพุทธนี่มีเข้าวัดกี่คน? แล้วเข้าวัดมาแล้ว มาปฏิบัติกี่คน? แล้วใครจะลัดใครล่ะ? ไม่ต้องมาทางลัด เขายังไม่สนใจศาสนาเลย แต่เวลาไปบอกกันนี่ ทางนี้ทางลัด ลัดลงนรก!

แต่ถ้าเป็นความจริงนี่ เพราะกว่ามหายานที่เขาจะทางลัด ดูอย่างเว่ยหลาง เขาภาวนาขนาดไหน? เขานั่งที ๗ วัน ๗ คืน แต่เวลาคำพูด มันเป็นโวหารคำพูดนะ คำพูดเพื่อไม่ให้เราไปยึดติด ให้เราอยู่กับปัจจุบัน คำพูดๆ นี่ให้เราให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปยึดติด อย่าไปคาดหมาย อย่าไปห่วงใย ให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันนะ ของที่อยู่กับปัจจุบันแล้วมันจะได้ผลไง

แต่พวกเรานี่ก็ยังว่า โอ้โห นิพพาน อยู่โน่น.. แล้วก็ข้ามกันไปไง นี่การข้ามกันไปนี่ มันเป็นโวหารให้ใจเราปกติเท่านั้นเอง แต่ไอ้เรื่องการลงทุนลงแรงเหมือนกันหมด ถ้ามันเป็นไปได้จริงนะ พระพุทธเจ้าสอนแล้ว ไม่มีใครเก่งกว่าพระพุทธเจ้าหรอก พุทธปัญญานี่ ปัญญาพระพุทธเจ้าสุดยอด แล้วปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์

แล้วเวลาคุยกันไง คนนั้นมารื้อได้วิชาใหม่ คนนี้มารื้อได้วิชาใหม่ เราฟังแล้ว.. ประสาเรานะ ดูถูกพระพุทธเจ้ามาก พระพุทธเจ้านี่ ใครบ้างจะมีปัญญาเท่ากับพระพุทธเจ้า ในโลกนี้ แล้วอะไรนะ.. “อาจารย์องค์นี้ได้รื้อค้นวิชาใหม่ขึ้นมา วิชานี้พระพุทธเจ้าเคยรื้อค้นขึ้นมาแล้วหายไป”

มันจะหายไปไหน? มันไม่มีเลย เพียงแต่สายตรงนี่ ปฏิบัติตามจริงนี่ นี่มรรคญาณ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเขาถึง ถึงได้หมดเลย

สิ่งที่มันเป็นจริงๆ แล้วมันตื่นเต้น อย่างเช่นสมาธินี่ ใครมานะ “ว่าง.. ว่าง..” เราบอกไม่ว่าง อย่างเมื่อวานกลับไปนี่ เขามาพูด เมื่อวานนามรูปเหมือนกัน เมื่อวานนี่นามรูปนะ จะกลับแล้วค่อยมาพูดไง กำหนดอย่างนั้นๆ

เราบอก “ผิดหมดล่ะ ผิดหมด”

“ทำไมถึงผิดล่ะ?”

“เอ็งรู้ว่าว่างใช่ไหม?”

เอ็งรู้ว่าว่าง แต่ตัวรู้ กับตัวว่างมันคนละตัว เพราะเรารู้ว่าว่าง แต่ตัวเราไม่ว่าง เรามีความคิด ความคิดไม่ใช่เรา เราคิดว่ามันว่าง ใครเป็นคนคิด? ใครเป็นคนว่าง? เป็น ๒ หลวงตาจะบอกเลย พุทโธกับผู้รู้ เป็น ๒ แต่ถ้า พุทโธ.. พุทโธ.. พุทโธไป จนพุทโธเป็นเรา พุทโธไม่ได้เลย นั้นคือว่าง

เราว่าง ไม่ใช่รู้ว่าว่าง ตัวรู้กับตัวว่างคนละตัว แล้วเป็นอย่างนี้หมด “ว่างๆ.. ว่างๆ..” ตัวรู้ไง เรารู้ว่าว่าง เป็น ๒ เรารู้ว่าว่าง แต่ถ้าเป็นสมาธิ เราว่าง.. เราว่าง.. “เรา” ว่าง ไม่ใช่รู้ว่าง พออธิบายปั๊บเขาเข้าใจ

แล้วปัญญา ปัญญาก็ผิดหมด ปัญญาที่คิด ปัญญานี้ผิดหมด เพราะพอเราอธิบายจบ เขาบอกใช่ ถ้าปัญญาอย่างนี้มันเข้าไม่ถึงตัวกิเลส เพราะปัญญาอย่างนี้เป็นโลกียปัญญา ปัญญาจากเรา ปัญญาจากผู้รู้ ปัญญาจากกิเลส ปัญญาจากภพ ปัญญาจากพื้นฐาน

ปืน ยิงออกไปจากปืนนะ กระสุนนี้ไม่มีตัวปืนยิงออกไปไม่ได้ ลูกกระสุนนี่บรรจุแล้วยิงออกไปจากปืน ความคิดยิงออกไปจากจิต ไม่มีตัวจิต ไม่มีฐีติจิต ไม่มีตัวภพ ความคิดเกิดได้อย่างไร? ความคิดเกิดบนอากาศเหรอ? ความคิดเกิดจากที่ไหน? ความคิดเกิดจากภพ ภวาสวะ เกิดจากฐานของความคิด

นี่ไงตัวที่ฐานความคิด นี่คือตัวภพ คือตัวปฏิสนธิจิต ตัวปฏิสนธิจิตนี่มันเกิดตายเกิดตายมา พอมันเกิดตายเกิดตายมา ทำดีทำชั่วมันซับลงที่นี่ มันซับลงที่จิต จิตของคนเลยมีจริตนิสัยที่หลากหลาย ที่แตกต่างกัน มนุษย์ทุกคนเหมือนลายนิ้วมือเลย

ลายนิ้วมือของคน จะไม่เหมือนกันสักคนเดียว ความคิดของคนจะไม่เหมือนกันสักคนเดียว! ไม่เหมือนกัน! ไม่มีเหมือนกันเลย เพราะแม้แต่ไข่ใบเดียวกัน คู่แฝดออกมา ยังไม่เหมือนกันเลย แล้วถ้ามันไม่เหมือนกันนี่ มันจะภาวนาให้เหมือนกันจะเป็นไปได้อย่างไร? ในเมื่อมันไม่เหมือนกัน โจทย์มันไม่เหมือนกัน ทุกอย่างไม่เหมือนกัน แล้วจะให้ไปแก้โจทย์อันนั้นให้ได้เหมือนกัน เป็นไปได้ไหม?

แต่เวลาพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจนี่ อริยสัจอันเดียวกัน อริยสัจนี้มี ๑ เดียว แต่คำว่า ๑ เดียวนี่มันมีหลากหลายมาก หลากหลายด้วยความถนัดของคนแต่ละคนไง แต่สูตรมันเป็นอย่างนี้ แต่สูตรอย่างนี้นะ ใครทำขนาดไหนก็แล้วแต่นะ จะไม่ได้กว้างขวางหรือมีความรู้เท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาทำบุญนะ ในพระไตรปิฎกเห็นไหม ทำบุญที่จะได้บุญที่สุดคือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รองลงมาคือ พระปัจเจกพระพุทธเจ้า รองลงมาคือพระอัครสาวก รองลงมาถึงสาวก รองลงมาถึงพระอรหันต์ พระอนาคา

แล้วก็พระอรหันต์ สาวกกับพระอรหันต์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าก็พระอรหันต์ พระอัครสาวกก็พระอรหันต์ ทำไมได้บุญไม่เท่ากัน? เพราะพระอัครสาวก พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรไง อัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวานี่ต้องปรารถนาเหมือนพระพุทธเจ้า คนที่ปรารถนานี่เขาต้องสร้างบุญมากกว่า คือเขาต้องสร้างฐานของเขา คือใหญ่กว่า บุญที่ทำไปถึงไม่เท่ากัน

พระปัจเจกพระพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าต่างกันตรงไหน? พระอรหันต์เหมือนกัน นี่ตั้งแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวก หรือสาวกนี่ คือความสะอาดบริสุทธิ์เท่ากันหมดเลย เท่ากัน! เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระอัครสาวกก็พระอรหันต์ พระสาวก พระสาวกะก็พระอรหันต์

แต่ทำบุญ ในพระไตรปิฎกพูดไว้ชัดๆ เลย ทำบุญกับพระพุทธเจ้าได้บุญมากที่สุด พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ที่ ๒ อัครสาวกได้ที่ ๓ เห็นไหม แล้วทำไมมันไม่เท่ากันล่ะ? ไม่เท่ากันเพราะฐานไง ฐานที่ทำมันใหญ่กว่า พุทธเจ้านี่สร้าง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พระปัจเจกพุทธเจ้าก็สร้างน้อยกว่า คือฐานมันใหญ่กว่า คือค่าตอบแทน ดอกเบี้ยมากไง ดอกเบี้ย ๑๒ เปอร์เซ็นต์ กับเปอร์เซ็นต์เดียวไง

ในเมื่อดอกเบี้ยมากกว่าใช่ไหม พระพุทธเจ้าให้ ๑๒ พระปัจเจกพุทธเจ้าให้ ๑๐ นี่มันต่างกันตรงนี้ไง มันต่างเพราะฐานของท่านมากกว่า ทุนหรือทุกอย่างมันใหญ่กว่า ถ้าอย่างนี้เวลาที่ว่า เห็นแล้วทำไมมันมา เราเห็นแล้วทำไมมันเกิดภาพ

ก็ฝันไง เวลาฝันนี่มาจากไหน? ก็ข้อมูลของใจนี่มันออกมา บางทีเราฝัน เราเคยเห็นสภาพแบบนี้ๆ เราฝันออกมา แล้วบางทีเราไม่เคยเห็นเลย เราไม่เคยเห็นแล้วฝันได้อย่างไร? เราไม่เคยเห็นสิ่งนี้ มันฝันเอามาจากไหน? ข้อมูลเดิมมันมี นี่ไงเวลาจิตมันสงบ ไอ้ฝันนี่นะ กับเวลาเข้าสมาธินี่ เวลาระลึกอดีตชาติได้นี่ อดีตชาตินี่เรื่องปกตินะ

เวลาจิตเรามันสงบปุ๊บนี่ มันไปถึงฐานข้อมูล ฐานข้อมูล จิตนี่พอสักพักนี่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์มันอยู่ในโปรแกรมมันใช่ไหม? ไอ้ตัวจิตนี่มันเหมือนกัน แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เผาไฟทิ้งจบเลยนะ ทำลายมันมันก็จบข้อมูลนี่ ทำลายข้อมูลก็เสียหมดเลย แต่จิตนี่ไม่ มันเป็นนามธรรม ที่มึงจะย่อยสลายมันไม่ได้เลย เพราะมึงไม่เจอตัวมัน มึงไม่เคยเห็นมันนะ มึงจะเอาอะไรไปย่อยสลายมัน? จะเอาอะไรไปทำลายมัน?

มันมีแต่ซับๆๆ เข้าไปนั่นล่ะ นี้พอเราย้อนไปนะ มันถึงไม่มีต้นมีปลาย มันกี่แสนชาติ กี่ล้านชาติ เวลามันฝันไง ถ้าฝัน คำว่าฝันนี่ มันมาจากข้อมูลเราทั้งนั้น มันมาจากขันธ์ ๕ หลวงตาใช้คำว่า “ฝันดิบฝันสุ”ก ฝันดิบก็ความคิดเราปกติ นี่ฝันดิบ ฝันดิบๆ กัน ฝันสุกก็นอนหลับไง ฝัน... ความคิดอันเดียวกัน แต่อยู่ในระหว่างหลับหรือตื่นเท่านั้นเอง ตื่นนี่ฝันดิบ หลับนี่ฝันสุก

ก็ความฝัน ความฝันมันก็ข้อมูลจากใจ อันนี้โดยวิทยาศาสตร์เลย มันเป็นอย่างนี้ แล้วแก้ไขกันไม่ได้ เพียงแต่วิธีการที่เราปฏิบัติเท่านั้นเอง คำว่าแก้ไขไม่ได้คือ มันจะเป็นอย่างนี้ไป นี่คือวิทยาศาสตร์ทางจิตที่มันจะก้าวเดิน วิทยาศาสตร์คือวัฏฏะ วิทยาศาสตร์คือสิ่งที่พิสูจน์ได้ ที่มันหมุนเวียนไป เห็นไหมที่เราบอกว่า ธรรมะเหนือธรรมชาตินี่ไง

ธรรมะเหนือธรรมชาติเพราะอะไร? เพราะว่าความฝัน เวียนตายเวียนเกิดนี่เป็นธรรมชาตินะ นี่วิถีจิตที่มันเคลื่อนไปนี่คือธรรมชาตินะ คือมันเป็นธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทางจิตที่มันต้องเป็นไปอย่างนี้ แล้วเราอยู่กับวิทยาศาสตร์ทางจิตที่มันแปรเปลี่ยนอย่างนี้ แล้วเราจะพ้นออกจากมันได้อย่างไร?

นี้การจะพ้นออกจากมัน เราต้องเหนือมันใช่ไหม? เหนือธรรมชาติ พอเหนือธรรมชาติ จิตนี้มันทำลายสิ่งที่เวียนไปนี่ แล้วมันทำลายตัวมันเองออกไป อันนี้มันถึงเหนือธรรมชาติ ธรรมะคือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ เราก็จะเวียนตายเวียนเกิดกันไปอย่างนี้ เราก็จะเวียนไปตามระบบมัน เพราะมันเป็นระบบของมัน

สิ่งที่มันเป็นไปนะ มันมาเพื่อจะให้เราพ้น อย่างนี้ อย่างที่ว่าธรรมวินัยนี่ ธรรมวินัยนี่มันเป็นสมมุติบัญญัติ เวลาวิมุตติไปแล้วนี่ มันไม่ใช่สมมุติบัญญัติ ไม่ใช่กฎหมาย มันเหนือสัจธรรมนะ ธรรมและวินัยมันเป็นวิธีการ ผลของมันที่เราจะพ้นออกไป แล้วมันจะพ้นออกไป มันจะจบจากกระบวนการนี้ไป

ถ้าจบกระบวนการไปนี่ธรรมแท้ๆ ธรรมแท้ๆ นี่คงที่ “อฐานะ” เป็นอฐานะ ไม่เป็นอย่างนั้น อันนี้อย่างที่มันเป็นนี่ เวลาเราซับเข้าไปแล้ว แล้วมันแสดงตัวออกมานี่ เราไปทึ่ง นี่ยังดีนะ ทึ่งเพราะอะไร? เพราะเรานี่นักปฏิบัติ มันเห็นไง มันเหมือนกับ เราศึกษาข้อมูลอยู่ แล้วเราไปรื้อข้อมูลขึ้นมา เห็นแล้วมันตื่นตาตื่นใจ

แต่ถ้าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นะ มันก็เป็นอย่างนี้ แต่มันเป็นพลังงาน มันเป็นสัญชาตญาณ ที่มันจะต้องแสดงตัวออกมาอย่างนี้ คือกระบวนการของจิตมันเป็นอย่างนี้ เราก็ใช้กันไปอย่างนี้ นี่ไงมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความคิดอยู่ในขันธ์ ๕ ขันธ์ก็หมุนอย่างนี้ มันก็ตื่นเต้น มันก็ใช้ไปโดยธรรมชาติของมัน ของมีอยู่ไง

แต่พระพุทธเจ้าสอนให้ทวนกระแส คือเอาตัวมันจับตัวมันเอง เอาตัวมันเองตั้ง แล้วเอาตัวมันเองจับตัวมัน พอจับตัวมันแล้วมันก็เห็น เอ๊อะ! ทึ่งมากทึ่งมาก พอทึ่งเข้าไปนะ มันยังละเอียดไปเรื่อยๆ นะ มันจะละเอียดไปอีกเยอะเลย เอาตัวมันเองย้อนจับตัวมันเอง ศึกษาเรานี่สำคัญที่สุดเลย ถ้าใครค้นคว้าตัวเอง ศึกษากระบวนการของธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ จบนะ จบ

แต่ถ้าไปศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไม่จบล่ะ เพราะมันอะไร? เพราะมันเป็นทฤษฎี มันเป็นวิชาการ แต่เราไม่เห็นตัวจริง ขณะที่เราทำสมาธินี่ เราทำความสงบนี่ เราเห็นตัวจริง เราเห็นความเป็นจริง เหมือนอาหารเลย ทำวิจัยไปเถอะ อาหารอะไรมีคุณค่าขนาดไหน ก็เท่านั้น แต่ถ้าวันไหนกูตักใส่ปากก็จบแล้ว ตักใส่ปากแล้วนี่จบเลย ตักใส่ปากก็ตัวเราเองไง

มีคุณค่ามากนะ ธรรมะนี่มีคุณค่ามาก เพียงแต่ว่า อย่างเมื่อวานเราคุยกับเขานี่ เราสงสารมากนะ เราคุยกับเขาเลย บอกว่าให้โยมไปปฏิบัติเถอะ แล้วโยมไปหาครูบาอาจารย์ทั่วไปเถอะ โยมจะไม่ได้ยินอย่างนี้หรอก เพราะเราเข้าใจนะ เหมือนกับเราไปห้องเรียน อาจารย์สอนกับเรานี่ อ่านทฤษฎีเดียวกัน คืออ่านจากตำราเหมือนกัน พวกเขาเข้าใจกันนะ นักเรียนกับลูกศิษย์นี่คุยกัน รู้เรื่อง รู้เรื่องดีมากเลย ก็ได้เท่านั้นล่ะ เพราะมันไม่มีใครรู้จริง

ถ้ารู้จริงไม่พูดตามตำรา พูดที่ความรู้สึก แล้วเอาความรู้สึกนี้ออกมาตีแผ่ ผิดอย่างนี้ ถูกอย่างนี้ พูดตามตำราถูกไหม? ถูก แต่ตำราพุทธเจ้า พูดทางทฤษฎีนี่ มันถูกตามวิชาการไหม? ถูก แต่มันเป็นสุตมยปัญญา มึงจะไม่ได้อะไรเลย มึงไม่ได้อะไรเลย

แต่ถ้ามาพูดกับคนรู้จริงนะ ท่านจะให้วางตำรานั้นแล้วทำความสงบขึ้นมา คือตำราส่วนตำรา ข้อมูลที่กูรู้ของกูคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ตำรา ถ้ามีอาจารย์อย่างนี้ จะชี้ถูกชี้ผิด แล้วเราจะเห็นถูกเห็นผิด

แต่ถ้าไม่มีอาจารย์อย่างนี้นะ เราจะคุยกันที่ตำรา แล้วเวลาปฏิบัติมา โยนตำราเลย นี่ไงถูก ใช่.. ถูก แค่นั้นล่ะ แล้วก็นอนกอดกันอยู่นั่นล่ะ ไปไม่รอด บอกเลยตำรามันว่าอย่างนี้ แล้วปฏิบัติมันใช่เลยนี่ ว่างๆ นี่ไงโยนไป ใช่

แต่พอมาหาเรานะ “จิตรู้ว่าว่าง ตัวเองไม่ว่าง” เหมือนกับค่าทางวิทยาศาสตร์เลย เรารู้ทางทฤษฎีเลย แต่ตัวจริงมันไม่มี ไม่มีของจริงเลย ไม่มีความจริงเลย ถ้ามีความจริงขึ้นมา ตัวเองจะเป็นความจริง ความจริงอันนี้เกิดขึ้นมา แล้วความจริงอย่างนี้มันต้องมี... ถ้าไม่มีคนรู้จริงมันจะแยกความจริงกับความปลอมได้ยังไง

เราถึงมองว่า พวกเรานี่มีวาสนานะ เราเกิดมาเจอครูเจออาจารย์นะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ พูดไม่รู้เรื่องหรอก พูดตามตำรานี่เราฟังกันได้ เราเข้าใจนะ มันเหมือนกับเราจำตำราได้ เหมือนคนเรียนจบมา ไม่เคยฝึกงานแล้วทำงานไม่เป็น เรียนจบทางทฤษฎี แต่ทำงานไม่เป็น แต่ถ้าทำงานเป็นนะ การทำงาน ทฤษฎีก็คือทฤษฎี ถูกต้อง แต่การทำงานของเรานี่ มันจะมีทางที่ว่าทำงานแล้วยังมีอุปสรรค หรือวิธีการแก้ไขในเหตุการณ์เฉพาะหน้า ยังอีกเยอะแยะเลย

นี่พูดถึงทฤษฎีนะ พระพุทธเจ้าวางไว้นะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หลวงตาท่านพูดบ่อย วางไว้แค่ให้พวกเราพอยึดปฏิบัติได้ แค่เล็กน้อย แล้วความจริงล่ะ ความจริงก็ย้อนกลับมาที่จิตเรานี่ไง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีความรู้จริงนะ เรื่องวิถีจิตนี่ไม่มีใครรู้หรอก แล้ววิถีจิตอย่างที่ว่า สอนคนคนหนึ่งนะ สอนเฉพาะคนนี้ เป็นของคนคนนี้ ไอ้คนที่นั่งอยู่ฟังด้วยกันนะ แล้วเอาของคนคนนี้ไปทำนะ ผิดหมดอีกเหมือนกัน! ผิดอีก!

เวลาเราพูด เห็นไหมเราพูดทางวิชาการบ่อย เราพูดอย่างนี้ เราบอกเราพูดธรรมะนี่ถูกไหม? ถูก แต่ถ้าพอเราพูดจบนี่ผิดแล้ว ผิดเพราะอะไร? เพราะสิ่งที่เอ็งจำนี่มันคือสัญญาทั้งหมด เราพูดนี่ เรามั่นใจว่าถูก แต่พอเอ็งไปพูดต่อนะ ผิด! ผิดเพราะเอ็งจำไป มันไม่เป็นความจริงของเอ็ง และเอ็งเข้าถึงความจริงไม่ได้ เอ็งพูดเป็นสูตรตายตัว อันที่เอ็งได้ยินมาไง

ถึงเวลาเราพูดธรรมะนี่บ่อย บอกเราพูดนี่ เรายืนยันคำพูดเราทุกคำเลยนะ แต่ถ้าเอ็งเอาไปพูดข้างนอกนี่ผิดหมดเลย เพราะมีลูกศิษย์หลายคนมาก หลวงพ่อพูดมาสิ พูดมาให้เข้าใจ เพื่อเขาจะได้อธิบายให้คนอื่นฟังอีก บอกเป็นไปไม่ได้! เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร? เพราะคนที่เอ็งจะไปพูดด้วยนี่ จริตนิสัยเขาไม่ได้สงสัยแบบนี้

อย่างคนที่ภาวนาอย่างนี้ เขาสงสัยอย่างนี้อยู่ เราอธิบายให้คนนี้ฟัง แต่คนอื่นเขาไม่มีพื้นฐานตรงนี้ไง คือเขาภาวนามาไม่ถึงตรงนี้ หรือเขาภาวนาแล้ว เขาไม่ต้องการตรงนี้ เขาต้องการอีกแขนงหนึ่ง แล้วเราเอาแขนงนี้ไปตอบเขานี่ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

เอ็งจำคำพูดกูไปพูดนี่ ผิดหมดเลย! แต่กูว่า กูพูดถูก กูยืนยันว่ากูพูดถูก เพราะมาหาเราปั๊บนี่ แต่ละคนถ้าเขามีมุมมอง เราจะแก้ไขเขาไปทีละคน ทีละคนไง ยืนยันที่พูดถูกเพราะว่า ถ้าเกิดคนคนนี้นะ เขาสั่งอาหารเหมือนกัน แต่เขาต้องการอาหารที่รสเข้มกว่า หรือต้องการอาหารรสที่จางกว่า เราจะเจือจาง หรือเราจะเติมให้รสเข้มข้นได้ เห็นไหม มันถูกตรงนี้ไง

มันถูกตรงที่เราสามารถเคลียร์ หรือสามารถแก้ไขเขาได้ทีละคนๆ มันถูกตรงนี้ ถูกตรงตามข้อเท็จจริงที่มันจะทำให้มันถูก แต่ของเรา ถ้าเราจำไป มันจะเคลียร์ให้มันถูกได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นสูตรสำเร็จมา แล้วเขาต้องการให้แก่กว่า หรืออ่อนกว่านี่ อื้ม.. กูก็ทำไม่ถูกเหมือนกันล่ะ กูทำไม่เป็น นี่ไงมันผิดตรงนี้เห็นไหม

นี่ไงถึงว่า ถ้าเราไม่เจอคนรู้จริงนะ เวลาเราพูดนี่สงสาร สงสารมากๆ ถ้ารู้จริง มันแก้ไขได้ ก็เหมือนเรานี่ หนังสือนี้กูเขียนเอง บอกผิดสิ กูแก้เดี๋ยวนี้เลย แต่ถ้าเราไปเอาหนังสือเขามานี่ เขาบอกผิด ผิดก็ไม่รู้ว่ามันจะแก้ยังไง ก็มันเป็นอย่างนี้จะแก้ยังไง แต่ถ้ามันเป็นหนังสือของเราใช่ไหม หนังสือของเรานี่เราเขียนเอง บรรทัดนี้ผิด เราจะตัดมันทิ้งเลยก็ยังได้ เพราะเราเป็นเจ้าของ เราเป็นคนคิดเองใช่ไหม ถ้าบรรทัดนี้ผิด ลบบรรทัดนี้ออกเลย แต่ถ้าบรรทัดนี้ผิดแก้ไขได้

ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่จิตที่มันเป็น มันแก่-อ่อนไง บางทีอย่างที่เขามาวันนี้ เขาบอกเลย เขาพุทโธไม่ดี แต่เขาชอบลมมาก พุทโธแค่ไหนก็ไปลงที่ลม เราบอก “ถูก” เพราะลม อานาปานสติกับพุทธานุสสติเห็นไหม มันเป็นคนละแนวทาง ใช้ได้เหมือนกัน

ถ้าพุทโธ พุทโธ อยู่นี่ พอเขาบอกกำหนดลมนี่ผิดละ ไม่ใช่ กำหนดลมเป็น “อานาปานสติ” กำหนดพุทโธเป็น “พุทธานุสสติ” ธรรมโมเป็น “ธรรมมานุสสติ” สังโฆ เป็น “สังฆานุสสติ” อนุสติ ๑๐ อะไรก็ได้ ต้องมี มีเพื่อให้จิตเกาะ จิตนี่เป็นนามธรรม

ถ้ามีสิ่งที่แสดงตัวที่มันเกาะได้ มันจะแสดงตัวมันออกมา สิ่งที่แสดงตัวออกมาต้องมีที่เกาะ ไม่มีที่เกาะนี่จิตนี้เป็นนามธรรม แล้วมันจะเจือจางไป พลังงานส่งออกหมด แล้วมันจะเริ่มต้น เริ่มต้นเข้มแข็งขึ้นมาเมื่อไหร่? เริ่มต้นมันจะมีตัวตนขึ้นมาเมื่อไหร่? มันไม่มี มันถึงต้องมีมีคำบริกรรม หรือมีสิ่งเกาะ จิตต้องมีที่เกาะก่อน พอเกาะเข้ามาจนมันถึงตัวมันเองเห็นไหม เกาะจนไม่เกาะอะไรเลย ตัวเองว่าง แต่เกาะอยู่ สิ่งที่เกาะเข้าใจว่าว่าง แล้วตัวเองเกาะเขาอยู่ ว่างได้อย่างไร

สมาธิยังพูดผิดเลย.. สมาธิยังไม่เป็นสมาธิจริงเลย.. ถ้าเป็นสมาธิจริงขึ้นมานี่ พอเป็นสมาธิจริงขึ้นมานี่ เกิดปัญญา อันนั้นถึงจะเป็นโลกุตรปัญญา ปัญญาอันนั้นถึงเป็นปัญญาฆ่ากิเลส ปัญญาที่เราใช้กันอยู่นี้ ไม่ใช่ปัญญาฆ่ากิเลส เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะผลของการปฏิบัติ ของการกระทำทุกอย่าง ผลของมันคือ สมถะทั้งหมด ทุกคนทำงาน หรือทุกคนเคลื่อนไหวแล้วต้องหยุด ไม่หยุดจะอยู่ได้อย่างไร จิตที่มันเคลื่อนไหว จิตที่มันคิดอยู่ ถึงที่สุดแล้วมันต้องหยุด

เอ็งจะภาวนา หรือไม่ภาวนา มันต้องหยุด เพียงแต่ถ้าเอ็งไม่ภาวนาหยุด เอ็งไม่รู้ตัวว่าหยุด แต่ถ้าเอ็งมีสติควบคุมอยู่นี่ มันหยุด! นี้ผลของการกระทำ ผลของการเคลื่อนไหวทั้งหมด ผลของมันคือสมถะทั้งหมด เว้นไว้แต่เป็นมิจฉาหรือเป็นสัมมา ถ้าไม่มีสติไม่มีความเข้าใจ หยุดโดยที่ไม่ได้อะไรเลยไง

โดยธรรมชาติของมันเกิดดับทั้งนั้นล่ะ แต่เกิดดับไม่มีสติ เกิดดับโดยที่ไม่มีเจ้าของ เกิดดับที่ไม่มีใครดูแลมัน แต่พอมาปฏิบัติ มีผู้ดูแล สติเป็นผู้ดูแล ถ้ามีผู้ดูแลอยู่นี่ ถ้ามันเกิดดับมันหยุด เรารู้ เหมือนเรานี่ไม่รู้ว่าเราเป็นโรคเป็นภัย เราสบายใจมากเลย พอเรารู้ว่าเราเป็นโรค เราสะอึกเลยนะ ตกใจเลย นี่เหมือนกัน ถ้ามีสติมันเห็น มันมีสติเห็นว่าหยุด พอเห็นว่าจิตนี้มันหยุด พอมันเห็นมันก็ตกใจ ความตกใจนั้นคือ “ธรรมสังเวช”

ความตกใจ ความเอะใจ ความระลึกรู้ นี่ผลคือมันรู้ตัวไง คนเรานี่นะ ถ้าไม่รู้ตัวเองถูกหรือตัวเองผิดนี่ จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย คนเรานี่ถ้ารู้ว่าตัวเองถูกหรือตัวเองผิด คนๆ นั้นจะแก้ไขตัวเองได้ ในเมื่อจิตมันเห็นการเกิดดับ เห็นแล้วมันมีสติ เห็นแล้วมันเกิดธรรมสังเวช อื้อ...คนเป็นอย่างนี้เอง ชีวิตเป็นอย่างนี้เองนะ

เราถึงบอกว่า สัญชาติไทย สัญชาติเราแก้ได้ที่ไหน? ทุกอย่างมันแก้ได้ที่ไหน? มันแก้ไม่ได้หรอก แต่ถ้ามาถึงตรงนี้ปั๊บ นี่! แก้ภพแก้ชาติแก้ที่นี่ แก้ที่มันรู้ตัวมันนี่ ถ้าไม่รู้ถึงตัวมันเองเอาอะไรไปแก้ ไปแก้ที่ทะเบียนบ้าน ไปแก้ที่ความคิด ไปแก้ที่สัญญาไง

โอ้โหแล้วสัญญานี่ ถ้าความคิดของเราในภพชาตินี้ ในชาตินี้เราเห็นอะไร ประสบอะไรมานี่ มันจะฝังใจ ความฝันใจนี่มันฝังใจชาติหนึ่ง ความฝังใจชาติหนึ่งนี่ แล้วความฝังใจชาตินี้ กับชาติที่แล้วมา กับชาติต่อไปนี่ มันจะสืบเนื่องกันอย่างไร สัญญาคือข้อมูล ที่เราพบเห็นนี่ มันสัญญา แต่สัญญานี่มันเป็นสัญญาอย่างหยาบ สัญญาที่เราได้พบในชาตินี้

ทีนี้คนจะตาย คนจะตายนี่มันจะหดสั้นเข้ามา หดเข้ามานะ เพราะสมองคิดไม่ได้ สมองนี่คิดไม่ได้หรอก สมองนี่เป็นสสาร สมองจะคิดได้ต้องมีพลังงาน พลังงานคือตัวจิต สมองนี่มันคิดเองไม่ได้หรอก คนเรานี่มันต้องมีจิต จิตนามธรรม จิตวิญญาณกับสมองเกี่ยวเนื่องกัน

การเกี่ยวเนื่องกันเห็นไหม พลังงานตัวนี้มันสืบต่อมา เหมือนพลังงานมันสืบต่อมา นี้พอเวลามันสืบต่อมานี่ ไปทำอะไรขึ้นมานี่ด้วยความคิดต่างๆ มันไปทำอะไรขึ้นมานี่ มันก็จำที่สมองในชาตินี้ใช่ไหม? แต่เวลาจะตายนี่มันจะหดสั้นเข้ามา

มันเหมือนเปลือกส้มกับส้ม ตัวเปลือกส้มนี้ได้สถานะของชาตินี้ เวลามันหดเข้ามาที่ตัวเนื้อส้ม ตัวเนื้อส้มคือตัวภพ มันเป็นข้อมูลในชาตินี้ ตั้งแต่เกิดจนตายนี่ เราทำอะไรเราจะจำ ชาตินี้เราทบทวนจะรู้ได้ แต่เราจะทบทวนถึงชาติที่แล้วนี่ ทบทวนไม่ได้

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้าไปเห็นไหม พอเราทำสมาธินี่ จิตมันสงบเข้าไป จิตสงบมันต้องหดจากเปลือกเข้าไปที่เนื้อ เปลือกนี่คือสัญชาตญาณ คือความรู้ในปัจจุบัน พอหดตัวเข้าไปถึงตัวเนื้อ คือตัวจิต ตัวจิตมันเคยเกิดเคยตาย มันมีชาติที่แล้วอยู่ มันจะเห็นอดีตชาติได้

ทีนี้ในปัจจุบันนี่ อดีตชาติกับชาตินี้ ถ้าในทางวิทยาศาสตร์มันคนละเรื่องกัน แต่ในทางธรรมะมันเกี่ยวเนื่องกัน มันเกี่ยวเนื่องกันเพราะว่าสิ่งที่อยู่ในเนื้อจิตนี่มันเป็นอำนาจวาสนา มันเป็นบารมี เป็นเชาว์ปัญญา เป็นพันธุกรรมของจิต ทีนี้ปฏิบัติง่าย ปฏิบัติยากมันอยู่ตรงนั้น นี่มันจะแสดงตัว เพราะขณะที่เกิดในชาติปัจจุบันนี่ ไอ้เปลือกนี่คือ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันเป็นปัจจุบัน เวลามันจะตายนี่มันหดสั้น

หดสั้นหมายถึงว่า มันจะทิ้ง เวลาเราตายนี่เห็นไหม ปุถุชนตายนี่มันตายไปพร้อมกับธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือสัญญา สัญญาว่าอะไร สังขารนี่ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ วิญญาณเพราะอะไรเพราะสมบัติทางโลกเราหาไว้แล้ว สมบัติในตระกูล สมบัติในครอบครัว สมบัติในความผูกพัน

เห็นไหมเวลาจะตายมันถึงได้ไหวมาก แต่เวลาพระอรหันต์จะตายนะ เพราะขันธ์ ๕ นี่มันขาดไปแล้ว มันขาดตั้งแต่โสดาบัน สกิทา อนาคา มันขาดไป พอมันขาดไปนี่ ขาดมี ถ้าขาดไม่มีนะ พระพุทธเจ้าจะจำสามเณรราหุลไม่ได้ จะจำนางพิมพาไม่ได้ ความจำนี่เป็นขันธ์ ๕ เห็นไหม สัญญาไง สัญญาความจำ แต่มันขาดไปแล้ว ขาดเพราะอะไร เพราะสังโยชน์มันร้อยไว้ สังโยชน์มันขาด

นี้พอมันขาดพระอรหันต์ พระอรหันต์ถึงในปัจจุบันนี่ มันอยู่แต่วิมุตติจิต เป็นธรรมธาตุ มันเป็นธรรมธาตุอยู่แล้ว แต่มันยังมีความจำอันนี้อยู่เพราะ เขาเรียกว่า “เศษส่วน” เศษที่เหลือ เวลาจะตายนี่เศษเราจะเอาไปไหม? มันขาดตั้งแต่กิเลสขาด แต่เพราะมันยังเป็นสิ่งที่มีอยู่เพราะเราเกิดในชาตินี้ มันก็ยังสืบต่อกันได้

ถ้าเราเป็นปุถุชนเห็นไหม มันมีเป็นขันธมาร ขันธมารนี่เพราะอะไร? เพราะเนื้อส้มกับเปลือกส้มมันอยู่ด้วยกัน ขันธ์ ๕ กับจิต มันอยู่ด้วยกัน เวลามันจะตาย พอมันตาย มันจะเขย่าไป เขย่าไป เพราะมันต้องทิ้งชาตินี้ พอทิ้งชาตินี้ปั๊บ ตายปั๊บ จิตออกจากร่าง ตัวจิตมันเอาข้อมูลอันนี้ไปด้วย กับอีกชาติหนึ่ง ไอ้ชาติปัจจุบันนี้ ก็ซับเข้าไปอีกชาติหนึ่ง มันซับเข้าไปอีกชาติหนึ่ง มันซับเข้าไป

ในตามตำรา บอกพระโสดาบันตัดขันธ์ ๕ ใช่ไหม? “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕” แต่ไปดูเรียงอริยภูมิของหลวงตาสิ เรียงภูมิธรรมของพระอริยเจ้า ท่านบอกเลยว่า ขันธ์ ๕ นี่นะ จะขาดต่อเมื่อที่เป็นพระอนาคา นี่เหมือนกันเวลาปฏิบัตินี่ มันจะปล่อยสังโยชน์ สักกายทิฏฐิปล่อยไป ปล่อยเป็นชั้นๆ ไป ถึงขั้นอนาคานี่ปล่อยหมด จิตล้วนๆ นี่ตัวอวิชชา จิตล้วนๆ

ตัวจิตล้วนๆ นี่คือตัวพลังงานนี่เห็นไหม ที่บอกว่าพลังงานกับสมอง ตัวจิตล้วนๆ ต้องทำลายจิตอีก พอทำลายจิตปั๊บ สิ่งที่ต่อกันไม่มีแล้ว พอสิ่งที่ต่อกันไม่มี มันก็เป็นธรรมธาตุ เป็นนิพพาน นิพพานที่ยังมีอยู่ในร่างของมนุษย์ไง นี้พอตาย เพราะมันขาดตรงนั้นแล้วใช่ไหม? เวลาตายนะ ตายก็คือตาย ตายโกหก ตายหลอกกัน มันไม่มีอะไรตาย ไม่มี ไม่มีการเกิดและการตายแล้ว

จิตนี้ไม่มีการเกิดและการตายแล้ว เพราะจิตนี้ได้ทำลายอวิชชา แรงขับที่มันจะมีค่า-ไม่มีค่า มันคงที่แล้ว ไม่มี

การเกิดและการตายนี่ มันเป็นวาระของเศษกรรม เศษส่วน สอุปาทิเสสนิพพาน เศษที่เหลือทิ้งมันไป แต่จิตนี้มันตั้งแต่จบ เวลาตายมันถึงไม่หวั่นไหว แต่เวลาเราตายนี่มันหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะข้อมูลสิ่งที่ผูกพัน

ทีนี้ถ้ามันเป็นปุถุชนอยู่นี่ สิ่งที่หวั่นไหวนี่มันหดตัวลง คือว่าทำดีทำชั่วไม่สูญไปไหน ไม่สลายไปที่ไหน มันจะอยู่ของมัน แล้วหดตัวมาอยู่ที่จิตหมด สิ่งดีก็ไปตัดแต่งพันธุกรรมให้มันดีขึ้น เป็นอำนาจวาสนา เป็นสิ่งที่ดีงาม แต่สิ่งที่ไม่ดีมันก็สะสมลงที่นั่น จนเป็นจริต จนเป็นนิสัย มันเป็นของใครของมัน

แล้วถ้ายังไม่ภาวนามันก็ยังงงไปเรื่อยๆ แม้แต่พระอนาคาก็ยังสงสัย เพราะไม่เห็นตรงนี้ ถ้าเห็นตรงนี้แล้วมันจบสิ้นกระบวนการแล้ว นี่สิ้นสุดกระบวนการของมัน มันจะจบตรงนี้ “จิตดวงหนึ่งสู่จิตดวงหนึ่ง” จิตคือศูนย์กลางของจักรวาล มันเกิดทุกภพทุกชาติ มันเวียนไปหมด แล้วมันดับที่นี่ มันทำลายที่นี่ ข้อมูลทำลายหมด จบ

แต่ถ้ายังไม่จบก็เป็นอย่างนี้ เห็นอะไรมาแล้ว หือ? มันแสดงออกได้ มันเก็บข้อมูลแล้ว สิ่งที่เห็นทั้งหมดมันจำ มันจำหมดแล้ว แล้วถ้าจำแล้วนี่ทางวิทยาศาสตร์เห็นไหม ทบทวนได้ แต่ธรรมะไม่ใช่ อริยสัจไม่ใช่จำ ที่บอกว่าหลวงตาท่านหลงเห็นไหม ท่านหลง ไม่หลง!

หลงหมายถึงข้อมูลอันนี้ ข้อมูลคือขันธ์ ๕ นี่ ขันธ์ ๕ มันเสื่อมสภาพได้ คือมันสุดสิ้นไปแล้ว แต่ขันธ์ ๕ นี่มันมีความสำคัญ เอาไว้สื่อกับโลก มันเป็นสัญชาตญาณการสื่อ สิ่งที่สื่อเหมือนคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์มันชำรุดได้ แต่ตัวพลังงาน ตัวไฟฟ้าไม่มีชำรุดหรอก นี่ไฟฟ้านะ แต่ตัวสัจธรรมไม่มีหลง! หลงไม่ได้ ไม่มีหลงหรอก

แต่ตัวสัจธรรมนี่มันสื่อกับสมมุติไม่ได้ เพราะสมมุติเขาสื่อกันที่เครื่องคอมพิวเตอร์ เขาไม่ได้สื่อกันที่สัจธรรมอันนี้ ตัวที่สัจธรรมอันนี้มันจะสื่อกับเขา มันต้องกระเพื่อม คือมันต้องออกไปที่ขันธ์ มันต้องออกมาพูดภาษาเดียวกันไง ภาษาโลก

พอมันออกมานี่ เครื่องมือมันทิ้งมาแล้วไง ถึงบอกไม่มีหลง สิ่งที่หลงพระอรหันต์ไม่มี แต่สิ่งสมมุติ พระอรหันต์หลงในอะไรได้? นี่พูดในมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ถามนาคเสน พระอรหันต์หลงในอะไร? หลงในสมมุติบัญญัติ พระอรหันต์ไม่หลงในอะไร? ไม่หลงในอริยสัจ ไม่หลงในตัวเอง แต่พระอรหันต์หลงในสมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติไง

สมมุติ เรานี่ชื่อ ก. แล้วเราแอบไปเปลี่ยนชื่อเป็น ข. คนที่ยังไม่รู้ว่าเราเปลี่ยนชื่อเป็น ข. เขาก็ต้องเรียกเราว่า ก. สมมุติมันเปลี่ยนได้ไง เราเปลี่ยนชื่อ เราชื่อนาย ก.เราเปลี่ยนชื่อเป็นนาย ข. แล้วคนที่เขารู้จักเราเดิมว่าเป็นนาย ก. เขาเจอเราเขาต้องเรียกนาย ก. อย่างเดิม ผิดแล้ว ผิดหรือยัง สมมุติผิดหรือยัง?

เพราะเราได้เปลี่ยนสมมุติใหม่แล้ว นี่สมมุติเปลี่ยนได้ไง แล้วพระอรหันต์ไม่หลงได้ไง? คือของที่มันเปลี่ยนแปลง ชื่อถนนนี่ เปลี่ยนชื่อถนนใหม่ แล้วกูจำได้ชื่อเก่า หลงได้ไหม? นี่สมมุติบัญญัติ พระอรหันต์หลงได้! แต่พระอรหันต์ไม่หลงในตัวเอง ไม่หลงในอริยสัจ

นี่พูดถึงขันธ์นะ พูดถึงสิ่งที่เป็นไป ถ้าภาวนาไป อย่างนี้สนุกมาก พอมันเริ่ม “ทำไมเป็นอย่างนี้... ทำไมเป็นอย่างนี้...” แล้วไล่ตามไป จิตนี่ไล่ตามไปนะ มันจะละเอียดไป มันจะเคลียร์กัน มันจะเห็นไปเลย แล้วพอมันเคลียร์ไปนี่ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างหยาบๆ ถ้ามันจบได้นะ มันปล่อยได้นะ “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕” ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เราเลยล่ะ เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันแยกกันเลย ขาด! โสดาบัน

ไล่เข้าไป ขันธ์ ๕ อุปาทานในขันธ์ ๕ ไม่มี ถอนอุปาทานนั้น สกิทา ถอนข้อมูลนะ กามราคะนี่กามเกิดได้จากข้อมูลนะ ความชอบ ตัวของใจมันเป็นกามฉันทะ คือมันพอใจในตัวมันเอง ความพอใจในตัวมันเองนี่ ตัวเองทุกคนต้องพอใจในตัวเอง ยิ่งตัวมีสมาธิมาก ยิ่งตัวมีพลังงานมาก จะพอใจตัวเองมาก นี้ความพอใจในตัวเองนี่มันก็มีข้อมูลของมันคือ ปฏิฆะ

สเป็ค! ผู้หญิงผู้ชายสังเกตได้ไหม คนชอบคนที่พอใจ บางคนบอก “เฮ้ย ทำไมมึงชอบคนนี้ได้วะ กูดูไม่ได้เลย ทำไมมึงชอบวะ” เห็นไหมนี่ปฏิฆะ กามราคะ-ปฏิฆะ ถ้าเขาชอบ เขาก็พอใจ ถ้าเขาไม่ชอบ เขาก็ไม่เอานะ เขาไม่ชอบเขาไม่เอา แต่ถ้าเขาชอบล่ะ นี่กามราคะ ปฏิฆะ ถ้าไม่ได้อย่างใจก็โทสะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดตรงนี้ เกิดจากตัวเองมีฉันทะ แล้วมีข้อมูล

ข้อมูลตัวนั้นเป็นตัวเร่ง ถ้าข้อมูลนั้นถูกกับความพอใจของตัว ตัวเร่ง ถ้าเร่งออกมาข้างนอกก็เป็นกามราคะ แต่ตัวมันเองก็เป็นกามฉันทะ แล้วไปทำลายตัวนี้ พอตัวนี้จบ ทำลายอันนี้เสร็จ ขันธ์อย่างละเอียดคือข้อมูล นี่สัญญา พอจบตรงนี้ก็ตัวมันเองล้วนๆ พลังงานเฉยๆ เหมือนไฟฟ้าเลย พลังงานเฉยๆ แต่ในพลังงานนั้นดูด ช็อกตายเลยนะ

พลังงานเฉยๆ ตัวนี้ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” จิตเดิมแท้ ตัวพลังงานเฉยๆ ไม่มีอะไรเลย จิตเดิมแท้คืออวิชชา ความผ่องใส ความสะอาดคือตัวพลังงาน พลังงานนี่คือตัวอวิชชา ตัวอวิชชาความทุกข์ของมันคือความเศร้าหมอง ความเฉา ความทุกข์อันละเอียด

ความทุกข์ของจิตคือมันทรงพลังงานไว้คงที่ไม่ได้ พลังงานมันเปลี่ยนแปลงตลอด ความใส ความสะอาด มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่คงที่ แต่เราไม่เข้าใจ พอเราไม่เข้าใจปั๊บ เราจะพยายามให้คงที่ พยายามจะให้คงที่เพื่ออะไร? เพื่อจะสวมรอยว่านี้คือนิพพานไง

นิพพานต้องว่าง แล้วมันไม่ว่าง มันกระเพื่อม มันกระเพื่อมโดยพลังงานเฉยๆ นะ ไม่มีทุกข์เลย ไม่มีทุกข์ ไม่มีอะไรเลย แต่มันกระเพื่อม มันไม่คงที่เท่านั้นเอง แล้วถ้าไล่เข้าไปแล้วจะเอาอะไรไล่ ถ้าไล่เข้าไปตัวนี้ตัวภพ นี่ตัวภวาสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ กิเลสสวะ ตัวภวาสวะเฉยๆ ตัวพลังงานเฉยๆ ตัวเราเฉยๆ ตัวความสะอาดนี่ ตัวผุดผ่องนี่แหละ คือตัวทุกข์ มันไม่คงที่ ไล่มันเข้าไป

ถ้าไล่เข้าไปจับตัวนี้ได้ พลิกคว่ำ จบเลย ไม่มีสว่าง ไม่มีไสว ไม่มีว่าง ไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่มี นี้คำว่า ว่าง ว่าง ว่าง มันเป็นสมมุติ สมมุติคุยกันว่านี่ว่าง แล้วว่างของใคร? คนไม่เป็นพูดไม่ได้ เราว่าง ว่างของพระโสดาบันนะ มันมีขอบเขตของมัน ว่างของพระสกิทาคา ก็พูดถูก ว่างของพระอนาคา ว่างของพระอรหันต์ มันคนละว่างนะ

ถ้าว่างของพระโสดาบันนี่ มันก็ว่างแค่นี้ๆ พูดถูก ว่างของพระสกิทาคา เขาก็พูดของเขาถูก ว่างของอนาคา เขาก็พูดของเขาถูก ว่างของพระอรหันต์ พูดต้องถูก แต่ถ้าไม่รู้พูดไม่ถูก พูดไม่ถูกหรอก นี่บอกว่าว่าง ว่าง ว่าง ก็ว่างไปนี่

มันพูดไปภาษาสมมุติไง สมมุติก็ว่าไป ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มันก็พูดกันได้ ถ้ามีครูบาอาจารย์ปั๊บท่านจะชี้นำ แล้วก็ดึงขึ้นมา จากข้อมูลนี่ล่ะ มันจะเห็นชัดนะ ถ้าปฏิบัติไปยิ่งชัดเข้าไปกว่านี้ เอาแค่นี้ก่อน เอวัง