การพิจารณาจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาคนเขาฟังเทศน์หลวงตา แล้วเขาไปบ่นพระอะไรไม่รู้ ขากถุย ขากถุย แต่ไม่คิดถึงนะที่คนเทศน์แล้วกิเลสมันติดคอนี่ มันทรมานแค่ไหนนะ ท่าน ๙๐ กว่าแล้วนะ แล้วพยายามพูดให้ฟัง ไอ้คนฟังก็จะให้มารยาทสวยงามไง พระอะไรไม่รู้ขากถุย.. ขากถุย..
ขากถุยแต่มีเสียงออกยังยอดน่ะ ถ้าขากแล้วเสียงไม่ออกมึงจะตาย ไอ้พวกเรา ไอ้คนที่จะฟังมันไม่คิดถึงหรอกว่าคนที่พูดลงทุนลงแรงขนาดไหน แต่ทีนี้อย่างพวกเราเสียงปิ๊งๆ แล้วมาพูด เสียงปิ๊งๆ เพราะมันไม่ได้พูดอะไรเลย เสียงก็ดีสิ แต่พระนี่นะลากซี่โครงมากี่สิบปีแล้ว จะให้เสียงปิ๊งๆ อย่างพวกเอ็ง มันไม่ได้คิดกันนะ
ไอ้คนปากอยากจะดี แต่ไม่ได้คิด เขามาพูดให้ฟังเยอะไง เวลาใครเขามานินทาหลวงตาให้ฟังนะ แหม..มันขุ่นใจนะ แต่เก็บไว้ข้างใน เดี๋ยวกลัวไม่ได้ยินนะ ก็พูดมาสิ พูดให้หมด พระอะไรวะ พูดไปขากถุย ขากถุย มันไม่รู้หรอกว่ามันมาพูดให้ใครฟัง ไอ้เราก็ทนฟังนะ ทนฟังแล้วก็ถามอีก อ้าวทำไม่ล่ะ? ทำไม? ถามหาเหตุผลไง
มารยาทผู้ดีมันก็จริงอยู่ แต่มึงจะหาพระอย่างนี้มึงจะไปหาที่ไหน แล้วตอนนี้สงสัยมันกงกรรมกงเกวียนไง ระบมหมดเลย เสียงแหบหมด
เอานี้ก่อนเลย เอาปัญหาก่อนเลย
ถาม : โยมนั่งสมาธิมาประมาณ ๖ ปี ใช้พุทโธบ้าง ดูลมบ้าง แต่จิตไม่ค่อยสงบเท่าที่ควร ถ้าไม่ง่วงก็จะมีความคิดฟุ้งซ่านไปโน้นไปนี่ แต่ก็พยายามปฏิบัติเกือบทุกวัน เมื่อช่วงปีใหม่หลวงพ่อแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มเขียว หัวข้อการพิจารณาจิต ดังนั้นวันนี้จึงขอความเมตตาให้หลวงพ่ออธิบายวิธีการพิจารณาจิตด้วย
หลังจากกลับจากวัดแล้ว โยมก็เลยปฏิบัติโดยดูอารมณ์ความรู้สึก ดูกาย ดูใจตัวเองทั้งวัน ประจำวัน เวลานั่งสมาธิ วิธีนี้คือการพิจารณาจิตโดยการดูอารมณ์ความรู้สึกตัวเองใช่ไหมคะ? เพราะโยมเห็นกิเลสตัวเองชัดกว่าเมื่อก่อนนี้ เช่น เวลาเราโกรธ ไม่พอใจอะไรเราก็จะเห็นความโกรธทัน ไม่ระเบิดออกมา ซักพักความโกรธก็หายไป
มันจะใช่เราข่มไว้หรือเปล่า? แต่ใจไม่เต้นตุ๊บตั๊บอย่างเมื่อก่อน จะเห็นกิเลส เห็นอารมณ์ต่างๆ สลับไปมา เห็นความเกิดดับตามที่หลวงพ่อบอก เดี๋ยวนี้ทำให้เหมือนอยู่กับตัวเองมากขึ้น โยมขอรบกวนหลวงพ่อโปรดให้คำแนะนำ เพื่อโยมจะได้น้อมนำปฏิบัติ เพื่อให้ถูกต้องตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ : พูดถึงนะ ปัญหานี้เราไม่ต้องตอบเลย เพราะในปัญหานี้ มันตอบจบหมดแล้ว เมื่อก่อนเรากำหนด พุทโธ... พุทโธ... มันง่วง มันมีความฟุ้งซ่าน แล้วหลวงพ่อแนะนำให้ดูการพิจารณาจิต หนังสือปลูกดอกบัว แล้วคำตอบก็ตอบนะ เดี๋ยวนี้ดีขึ้น เห็นไหม คำตอบนี่มันบอกแล้วว่ามันพัฒนาขึ้น มันดีขึ้น
มันพัฒนาขึ้นดีขึ้น คำตอบตอบแล้ว แต่บอกว่าให้แนะนำด้วยเพื่อพิจารณาต่อไป การพิจารณาจิตนี่นะ เมื่อก่อนเราไปอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ ใครมาก็ดูจิตๆ เพราะพวกอภิธรรมดูนามรูป หลวงปู่เจี๊ยะปฏิเสธว่าผิดหมดเลย แล้วหลวงพ่อจันทร์เรียนนี้มา
จันทร์เรียนพูดมาคำเดียวดูจิตนี่แก้กิเลสได้ไหม?
หลวงปู่จันทร์เรียน ไม่ได้ครับ
เออ... ใช่
คนเป็นกับคนเป็นเขาคุยกันคำเดียวเท่านั้นน่ะ อันนี้คำเดียวมันก็จบใช่ไหม
แต่ทีนี้พอเรามากำหนดดูจิต กำหนดนามรูป เราพูดไปนะ แล้วมีพระเราเอง แต่เราไล่ออกไปแล้ว เขาไปแนะนำ บอกว่าจิตเราเป็นพุทธะอยู่แล้ว ไม่ต้องมากำหนดพุทโธ ดูเฉยๆ มันเป็นสมาธิเอง กูไล่ออกไปเลย ไล่ออกจากวัดเลย แล้วก็อ้างไง อ้างบอกว่า ไม่เชื่อให้ไปฟังเทศน์หลวงตานะ
เวลาใครอ้างธรรมะนี่จะอ้างหลวงตาทั้งนั้นเลย บอกหลวงตาท่านพูดในธรรมะ ที่ว่าท่านดูจิต ทีนี้พอบอกว่าดูจิต ท่านก็ดูจิต บอกไปฟังสิหลวงตาก็พูด เขาไปฟังเทศน์หลวงตานะ เขาก็บอกเรา เออจริงหลวงตาพูดว่ะ
หลวงตาก็พูดนะ แต่คนมันโง่ หลวงตาท่านพูดในแง่ลบ!
ท่านบอกเราดูจิตมา แล้วจิตมันเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน เพราะเราดูจิต เรากำหนดจิตไว้เฉยๆ กับที่จิต แล้วจิตเราเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน แล้วทำอย่างไรก็เอาขึ้นมาไม่ได้ แล้วท่านก็พิจารณาของท่านเอง ว่าจะแก้ไขอย่างไร ท่านมาแก้ไข ท่านมาคิดของท่านเอง เออ สงสัยไม่มีคำบริกรรม ท่านถึงมากำหนดคำบริกรรม
๓ วันแรกอกแทบระเบิด เพราะมันเคย กำหนดผู้รู้ไว้กับจิตเฉยๆ ท่านกำหนดจิตไว้เฉยๆ ทำสมาธิได้ไหม? ได้ ท่านบอกทำได้นะ เมื่อก่อนท่านทำได้ แล้วพอนานไปนานไป เหมือนเราไม่มีจุดยืน ท่านบอกเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา มันจะดีอยู่วันสองวัน แล้วก็กลิ้งทับเราไปเลย มันจะดีอยู่วันสองวันแล้วก็หายหมด หายหมด.. อย่างนั้นนะ
ท่านบอก ท่านดูจิตมานะ ท่านดูจิตมาแล้วจิตท่านเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน ทุกข์มาก แล้วบอกเลยนะ กำหนดแล้วถ้าจิตมันเสื่อมอีกนะ เหมือนกับพระสมัยโบราณเลย พระสมัยโบราณเวลาจิตเสื่อม เอามีดเชือดคอเลย ท่านบอกถ้าจิตเราเสื่อมอีกทีเราต้องตายอยู่ไม่ได้เลย พอจิตเราเสื่อมอย่างนี้เราต้องตาย พอเราต้องตายปั๊บ คิดดูสิสละชีวิตแล้ว คนมันทุกข์มาก มันก็ต้องมีสติใช่ไหม? ต้องมีความรอบคอบใช่ไหม? เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเราตาย เราสละชีวิตเลย
ไปกำหนด พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... อยู่ ๓ วัน ๓ วันแรกท่านบอกอกแทบระเบิด เพราะมันเคยตัว เราปล่อยให้มันอยู่เฉยๆ ปล่อยให้มันสบายๆ เคย สุดท้ายแล้วนะ ท่านบอกกำหนดพุทโธ... พุทโธ... จนจิตมันสงบได้ ท่านบอก อ๋อ.. มันขาดคำว่าพุทโธนี่เอง มันขาดคำบริกรรมนี่เอง
ถ้ามันมีคำบริกรรมนะ มันมีจุดยืนใช่ไหม? อย่างเช่นเรา เรามีบริษัท บริษัทมันผลิตดอกออกผลมาให้เรา ถ้าเรารักษาบริษัท ดอกผลจะออกมาตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีบริษัท เหมือนเราถูกรางวัล เราได้รางวัลมา มันต้องมีบริษัทไหม? มันต้องมีธุรกิจหาตังค์ไหม? ไม่ต้องใช่ไหม?
เราได้รางวัล เขาตบรางวัลให้ เราได้รางวัลมา มันไม่มีธุรกิจ แต่ถ้าเรามีธุรกิจ เงินจะไหลมาทุกวัน จะมีโอกาสตลอดไป พุทโธนี่คือธุรกิจไง มันมีเหตุมีผล เรากำหนดจิตไว้เฉยๆ มันมีอะไรตอบสนองมัน มันไม่มีอะไรตอบสนองมันนะ แล้วเวลาเสื่อมจะไปแก้กันอย่างไร? มันไม่มีที่มาที่ไป มันหลักลอย แต่ถ้าพุทโธ... พุทโธ... มันมีหลักมันมา
พระแนะนำโยม บอกว่า ไม่ต้องกำหนดพุทโธ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะจิตของคนเรามันเป็นพุทโธอยู่แล้ว
ใช่.. ทุกคนจิตเป็นพุทธะอยู่แล้ว แต่พุทธะมันโดนครอบงำด้วยมาร พุทธะมันโดนกิเลสครอบงำอยู่ พุทธะคือชีวิตเราไง แล้วทำไมชีวิตเราจะทุกข์ล่ะ? ทุกข์มันครอบงำชีวิตเราอยู่ พุทธะคือต้นทุน คือจิตของเรา คือพื้นฐานของเรา แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปกคลุมเราอยู่
แล้วจะบอกว่าเรามีอยู่แล้วโดยไม่ทำอะไรเลย เราก็แนะนำ นี่ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยไง เอ้า..เราก็มีจิต เราเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะเรามีพุทธะ เรามีหัวใจอยู่แล้ว เรามีธาตุรู้อยู่แล้ว เราเป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วมันเป็นไหม? ไม่เป็นหรอก ไม่เป็นเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันครอบงำอยู่
คำว่าของมันมีอยู่ ถ้ามันไม่มีอยู่เราเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ พระจะปฏิบัติสิ้นกิเลสไม่ได้ เพราะไม่มีใครเป็นผู้รับผล ตัวจิตเป็นผู้รับผล แต่ตัวจิตตอนนี้มันโดนอวิชชาครอบงำอยู่ ตัวกิเลสตัวมาร เราต้องพยายามต่อสู้ แล้วทำลายมารออกไป
ถ้าทำลายมารออกไป จิตที่มีอยู่แล้วมันก็สะอาด นี่ไงมันถึงเป็นพระอรหันต์ได้ไง ถ้าเราไม่มีจิตกันเลยเราเป็นพระอรหันต์ไม่ได้หรอก ใครเป็นคนรับผลพระอรหันต์? ใครเป็นคนรับผลนั้น? ก็คือจิตเราไปรับผลนั้น แล้วปัจจุบันนี้จิตเรารับผลนั้นได้ไหม? ไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร? ไม่ได้เพราะมันมีกิเลสนี่ไง แล้วก็บอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย แล้วก็อยู่เฉยๆ เพราะจิตมันมีพุทโธอยู่แล้ว จิตมันมีอยู่แล้ว พุทธะมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรอยู่เฉยๆ จะเป็นสมาธิ ส้นตีนน่ะ มันเป็นไปไม่ได้!
พอมันเป็นไปไม่ได้ ทีนี้เราจะย้อนกลับมาที่นี่ เมื่อก่อนเรากำหนดพุทโธ ๖ ปีมันทุกข์ยาก ๖ ปีทำสักแต่ว่าทำ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์คอยเร่งเร้านะ คอยกระตุ้น เห็นไหมพุทโธนี่นะเขาบอกว่ากำหนดดูจิต กำหนดอะไรต่างๆ รู้ว่าว่าง ผิดหมดนะ!
รู้ว่าว่าง จิตคือเราผู้รู้ แล้วเราไปรู้อารมณ์ว่าง มันเป็นสมาธิไหม? มันเป็นการสร้างภาพ มันเป็นสัญญา แต่ถ้า พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ เราดูในตำราสิ พุทโธมันอยู่ในหนังสือนะ มันอยู่ในอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วคนไปกำหนดพุทโธขึ้นมา มันถึงเป็นพุทโธใช่ไหม เราจะบอกว่าพุทโธใครกำหนด? พุทโธ จิตกำหนดนะ เราต้องนึกพุทโธ... พุทโธ... ถึงจะมีกับเราใช่ไหม?
ถ้าเราไม่นึกพุทโธ พุทโธอยู่ที่ไหน? พุทโธมันอยู่ในตำรา แล้วพอจิตกำหนดพุทโธ จิตเป็นคนกำหนด พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... มันจะว่างไม่ว่าง ธรรมดามันจะคิดฟุ้งซ่านมันคิดของมัน ธรรมชาติของมัน เราคิดถึงพุทโธ เห็นไหมเป็นคำบริกรรม
พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... แล้วพุทโธมันจะหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามาจนมันเป็นตัวพุทโธเอง นี้คือสมาธิ คือตัวมันว่าง ไม่ใช่รู้ว่าว่าง! คนที่รู้ว่าว่างนะ เหมือนเราเห็นภาพ เราไปดูงานของคนอื่นกับเราทำงานเสร็จ คนละเรื่องใช่ไหม? ตัวความคิดคือตัวอาการของใจ ไม่ใช่ใจ
ตัวกำหนดพุทโธ ธรรมชาติของมันคือความคิด และเราบังคับความคิดให้เป็นพุทโธ ถ้าธรรมชาติเป็นความคิด มันเป็นร่องน้ำ ร่องน้ำที่จิตมันเป็นธรรมชาติของมัน แล้วเราบังคับร่องน้ำใหม่ คือให้มันลงร่องน้ำทางตรงนี้ พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... แล้วตาน้ำมันมาจากไหน? ตาน้ำมันมาจากภวาสวะ มาจากจิต คือกำหนดระลึกเจตนาที่ออกไป มันมาจากจิต พุทโธ... พุทโธ... ธรรมดาถ้ามันคิดไปมันมีรสชาติใช่ไหม? เอ็งคิดถึงเรื่องเจ็บปวดสิ เอ็งคิดถึงเรื่องที่มันเสียใจ เอ็งจะเสียใจตลอดไป นี่ไงมันก็ออก ใช่ไหม?
ทีนี้คิดพุทโธมันไม่มีรสชาติ มันจืดสนิท มันเป็นธรรม พุทโธ... พุทโธ... พอพุทโธ มันไม่มีรสชาติที่ให้จิตมีความสนใจ ออกไปเกี่ยวกับเรื่องภายนอก พุทโธ... พุทโธ... พลังงานที่มันเอากองไง เหมือนเราร่อนทราย ทรายจะละเอียดขึ้น ทีนี้พอ พุทโธ... พุทโธ... จิตมันโดนพุทโธ เป็นผนังบังคับไว้ พุทโธมันจะหดสั้นเข้ามาพุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... มันลงได้ยาก
ทีนี้กำหนดพุทโธมันยาก ยากเพราะอะไร? ยากเพราะมันเป็นความจริง แต่เวลาเรานึกถึงความคิดของเรา มันง่ายเพราะอะไร? ง่ายเพราะมันเป็นสัญญาอารมณ์ ร่องน้ำเดิมไง ร่องน้ำเดิมที่จิตมันเคยใช้อยู่ มันก็ไปง่ายใช่ไหม? แต่เรากำหนดพุทโธ... พุทโธ... เราเปลี่ยนร่องน้ำใหม่ เปลี่ยนความคิดใหม่ เปลี่ยนทุกอย่างใหม่ แต่จิตกิเลสไม่ชอบ
พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... จนกว่ามันจะถึงตัวมันเอง พอถึงตัวมันเองนะ ไม่ใช่ว่างนะ มันพูดไม่ได้ ก็ตัวมันว่าง ก็ตัวมันว่างมันจะพูดอะไร แต่ถ้ารู้ว่าว่าง ผู้รู้คือจิต รู้อารมณ์ว่าง แล้วนักปฏิบัติเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้หมดเลย ว่างๆ... ว่างๆ...
ว่างๆ ใครบอก?
แต่ถ้าเป็นสมาธินะ ว่างครับ
ว่างอย่างไร?
ถ้าเป็นสมาธิมันจะพูดสมาธิถูก แต่ว่างๆ... ว่างๆ... ก็เหมือนเราทำความสะอาดในห้องเราว่าง ทำความสะอาดห้องสะอาด แต่ตัวเรายืนขวางห้องอยู่ แต่ถ้าเป็นอย่างโมฆราช มันเป็นเรื่องของวิปัสสนานะ นี่พูดถึงขั้นเป็นสมาธิเขาเป็นอย่างนี้ เพราะตัวเองมันไม่ว่าง
ทีนี้ขณะกำหนดพุทโธ ทำนี่นะมันไม่จริง ถ้าทำจริงนะพุทโธ... พุทโธ... ตั้งสติไว้ เว้นไว้แต่มันเป็นจริตนิสัย เพราะเรากำหนดพุทโธมาเยอะ ๒ ๓ ปีแรกกำหนดพุทโธตลอด มันดี แต่ดีแล้วมันก็เสื่อมไป จนเราเองเราก็ท้อใจนะ ท้อใจมาก ทำไงดี ทำไงดี เพราะว่าโดยสามัญสำนึก ก็นึกว่าต้องกำหนดพุทโธ ให้จิตสงบ แล้วพิจารณากายไง
แล้วพิจารณากาย เราอยู่โพธาราม โพธารามเขามีเก็บศพไร้ญาติ เราไปเก็บศพไร้ญาติ ลอยแม่น้ำแม่กลองใหม่ๆ สดๆ เลย เอาขึ้นไปให้เน่าใช่ไหม เขาก็รูด รูดเอากระดูก เอาเนื้อไปเผาแล้วเอากระดูกไปเก็บ เราก็อยู่ในเหตุการณ์ตลอด เราก็เอาอารมณ์นั้นมาคิด มันก็ดีวันสองวันนะ แหม...จิตใจนี่ตื่นเต้นนะ พอ ๓ ๔ มันก็จืดอีกแล้ว แหม...ทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมเราไปไหนไม่รอดเลย
ก็เลยมาใช้ความคิดนี่ ใช้ความคิดมันเลยย้อนกลับมา โยมก็ปฏิบัติโดยดูอารมณ์ความรู้สึก ดูกายดูใจ ไอ้อย่างนี้นะไม่ใช่วิปัสสนา ไอ้นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่ยังไม่ใช่การพิจารณาจิต นี้เป็นการพิจารณาอาการของจิตอยู่ การพิจารณาอาการของจิต การพิจารณาความคิด ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกที่เราพูดเมื่อกี้นี่ ว่าว่างๆ เรารู้ว่าว่าง
อันนี้ก็เหมือนกัน เรารู้ว่าคิด เรารู้เห็นไหม เราดูกายดูจิต ดูกายใครเป็นคนดู? ดูจิตใครเป็นคนดู เราดูใช่ไหม? ทีนี้พอเราดูแล้ว รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นอาการของใจ แล้วมันก็เป็นบ่วงของมาร แล้วมารก็เอามาล่อ เอารูป รส กลิ่น เสียง เอามาล่อใจ ใจก็ตื่นเต้นก็กินเหยื่อ กินเหยื่อก็คิดไป ก็ฟุ้งซ่านไป ก็ทุกข์ไป
ทีนี้เราก็ย้อนกลับ เราก็ดูกาย ดูจิต ดูอารมณ์ อารมณ์ให้โทษนะ นี่ไงหลวงตาพูดซึ้งมากนะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา ถ้าจิตใจเราหยาบอยู่ แล้วพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วมันเป็นสมถะ เพราะมันปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางอารมณ์ไง อารมณ์ความรู้สึกมันติดในรูป รส กลิ่น เสียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าจิตปุถุชนมันเป็นสมถะ แต่ถ้าใครตัดรูปรสกลิ่นเสียงได้แล้ว จิตนี้เป็นกัลยาณปุถุชน ถ้ามันเดินโสดาปัตติมรรค คือเห็นรูป รส กลิ่น เสียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นสมถะ คือจิตปกติ จิตเราจิตสามัญชน เพราะมันเห็นแล้วมันสลดสังเวช มันหดเข้ามาเป็นตัวมันเอง แล้วพอจิตสงบแล้วมันออกไปเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังใหม่ มันจะเป็นวิปัสสนา ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา
แต่อภิธรรมเขาไม่พูดอย่างนี้ เขาพูดว่า ถ้าสิ่งใดเป็นสมถะ ก็เป็นสมถะไปเลย วิปัสสนาก็วิปัสสนาไปเลย แต่ถ้าเป็นกรรมฐานนะ ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ ถ้าในวิปัสสนาไม่มีสมาธิมันเป็นวิปัสสนาไม่ได้ เพียงแต่เรามาพูดกันเป็นสเต็ป แยกแยะให้เห็นการกระทำ แต่ความจริง มันก็เหมือนอาหารในช้อนหนึ่ง มันก็มีรสชาติครบของมัน เพียงแต่วุฒิภาวะของจิตของใครจะสูง แล้วทำได้มากน้อยแค่ไหน
นี่ในการที่ว่า มาดู ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มาดูกายดูจิต อันนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะรูป รส กลิ่น เสียงมันทำให้จิตใจเราหวั่นไหว ทำให้จิตใจเราคิด จิตใจเราหวั่นไหวนะ แต่เดิมเราคิดโดยที่เราไม่รู้ตัวนะ เราคิด เรามีความรู้สึก เราไปกับความคิดเราตลอดเลย ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด เราเป็นความคิดหมดเลย แล้วความคิดเป็นเรานะ สะใจด้วย เราคิดดีคิดชั่ว เราคิดเป็นอารมณ์ความรู้สึกของเรา
แต่พอมีสติเข้ามาแยกแยะ ความคิดไม่ใช่เรา อ้าว ความคิดมันเกิดทำไมล่ะ? ความคิดมันเกิดมันกระชากหัวใจเราไปล่ะ? นี่ไงเหตุที่มันจะเป็นสมถะ เหตุที่มันจะปล่อย เพราะเหตุเห็นทุกข์ เหตุเห็นโทษของมัน คนเห็นโทษถึงจะเห็นคุณนะ ถ้าเห็นโทษแล้วจะเห็นคุณของมันเลยนะ คุณของอารมณ์นี่ ถ้าอารมณ์มันไม่ทำให้เรากระเพื่อม อารมณ์ไม่ทำให้เราโกรธ มันก็เป็นเรา เราก็ไปกับมันใช่ไหม นี่คือโทษของมัน
แต่ถ้าเราไม่มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ เราไม่มีสัญชาตญาณอย่างนี้ เราจะเป็นมนุษย์ได้ไหม? มนุษย์ไม่มีความคิดเหรอ? มนุษย์ไม่มีอารมณ์เหรอ? มนุษย์มันมี นี่ไงอริยทรัพย์ ของมันมีอยู่ แต่ถ้าจิตสงบแล้วจิตไปเห็น วิปัสสนาเกิดตรงนี้
การศึกษานอกกาย นอกจิต คนๆ นั้นจะสำเร็จไม่ได้ ผู้ที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จิตของเราจะต้องเห็นกายเห็นจิตของเรา แล้วจิตที่เห็นกายเห็นจิต มันต้องเป็นอะไร? เห็นไหมตัวที่จิตเห็นนี้คือเนื้อส้ม กายคือเปลือกส้ม ความคิดเป็นเปลือกส้มนะ ความคิดนี้คือกาย เพราะอะไรนะ? เพราะกายมันคิดไม่ได้ แต่ที่เราคิดเรื่องกาย ค่าของคำว่ากายมาจากไหน? ขันธ์ ๕ ไง
ขันธ์ ๕ ก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่พระโสดาบัน สักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิถ้าพิจารณากายมันทิ้งกาย แต่พิจารณาจิต มันทิ้งอาการความยึดกาย ขันธ์ ๕ นี้คือกาย ความคิดนี้คือกาย เพราะความคิดมันให้ค่าเรื่องกายได้
อย่างเรานี่เห็นไหมให้ค่าเลย ค่าว่ากาย มีคุณค่าขนาดไหน? กายมันมีมากน้อยขนาดไหน? สิ่งที่มันพิจารณาดูกายดูจิตอยู่นี้ มันยังเป็นมันเป็นเรื่องของกาย มันต้องหดสั้นเข้ามาก่อน คือตัวมันต้องเป็นอิสระก่อน ถ้าตัวมันไม่เป็นอิสระ มันจะเป็นโลกียปัญญา เราพูดคำนี้เราจะยับยั้งไว้ก่อนนะ
ทุกคนการปฏิบัติเริ่มต้น ทุกคน! เป็นโลกียปัญญาทั้งหมด ไม่มีใครมีโลกุตรปัญญาเลย เพราะการเกิดของเรา สถานะของมนุษย์มันเป็นโลก ความยึดติดของกิเลสมันเป็นโลก ความคิดโดยโลก ฉะนั้นความคิดโดยโลก เกลือจิ้มเกลือไง เอาจิตแก้จิต เอาสิ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วใช้วิปัสสนา ใช้ปัญญาไล่เข้าไป ให้จิตมันสงบเข้ามา แล้วเอาจิตแก้จิต
ฉะนั้นทุกคนที่คิดขึ้นมา ใช้ปัญญาเริ่มต้น เป็นโลกียปัญญาทั้งหมด! ไม่มีใครคิดขึ้นมาเป็นโลกุตรปัญญาเลย ไม่มี! ไม่มี! ในโลกนี้ไม่มี ในโลกนี้ถ้าใครใช้ความคิด จะเป็นโลกียปัญญาทั้งหมด แต่เรารู้จักโลกียปัญญานี่คือจุดสตาร์ท จุดเริ่มต้นที่เราจะทำ
ถ้าเราปฏิเสธตรงนี้ บอกว่าความคิดเป็นเรื่องโลก ความคิดมันเป็นเรื่องความอยาก ความคิดมันเป็นเรื่องกิเลส เราคิดไม่ได้เลย แล้วจะปฏิบัติกันตรงไหน? เราจะเริ่มต้นกันตรงไหน? เราต้องยอมรับความจริงก่อน เราต้องทำความเข้าใจกับความจริงก่อนว่าเริ่มต้นของเรา เราเกิดเป็นมนุษย์นี้อริยทรัพย์ ทรัพย์อันนี้เกิดขึ้นมาด้วยบุญกุศล แล้วความคิดเกิดขึ้นมา อริยทรัพย์ก็เกิดจากมนุษย์นี่ไง
แต่ถ้าไม่มีธรรมะของพระพุทธเจ้า เราจะแยกตรงนี้ไม่ได้ ถ้าเราแยกตรงนี้ได้ เราถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถึงใช้ปัญญาไล่เข้าไป พอไล่เข้าไปเห็นไหม เช่น เวลาเราโกรธ ไม่พอใจอะไร เราก็จะเห็นความโกรธ ทันความโกรธ ถ้าทำไปแล้วมันเป็นอย่างนี้โดยข้อเท็จจริงเลย เราจะบอกว่าเวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ตามความคิดไป ความคิดโดยธรรมชาติของมัน มันเหมือนพลังงาน มันเกิดดับอยู่แล้ว มันคิดไปถึงที่สุดแล้วมันต้องดับ
แต่เมื่อก่อนมันดับไปโดยที่เราไม่รู้ไง โกรธจนพอใจ โกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยงแล้วนะ แล้วมันก็ดับไป ก็ยังไม่รู้นะ เดี๋ยวโกรธใหม่ จะรอโกรธรอบ ๒ ไง เดี๋ยวจะโกรธใหม่ แต่ถ้าพอปัญญามันทันไปปั๊ป พอเห็นความโกรธดับ อือ...ไม่มีใครทำร้ายเราเลย เราทำร้ายตัวเองนะ เราก็โกรธเองใช่ไหม? เราก็เริ่มคิดเองใช่ไหม? แล้วเราก็โกรธเอง แล้วความโกรธก็จบไป แล้วเราก็จะโกรธใหม่ ใครทำร้ายใคร?
พอมันเห็นโทษนะ สติตามมาล่ะ สติมันจะฟื้นมา เห็นไหมมันทันความโกรธแล้ว แล้วเวลาเราโกรธไปมันก็จะเป็นอย่างนี้ นี่ไงตามไปเรื่อยๆ ตามไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้ถูกแล้วตามไปเรื่อยๆ พอตามไปเรื่อยๆ ปั๊บ มันเห็นบ่อยครั้งเข้า ชำนาญเข้า เดี๋ยวมันจะขาด
คำว่าขาดนะ รูปไม่ใช่เรา เราไม่ใช่รูป ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด นี่กัลยาณปุถุชนเห็นไหม ความคิดไม่ใช่เรา รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันจะขาดไปเลย! พอขาดไปเลย ความคิดเราจะคุมพลังงานตัวนี้ง่ายขึ้นแล้ว พอคุมพลังงานตัวนี้ง่ายขึ้นแล้ว มันจะน้อมไปเห็นความคิดใหม่
ถ้าเห็นความคิดนี่นะ มันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนเลย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะตัวมันเองมันโง่ มันจะเริ่มคิด มันก็ไม่รู้ คิดออกไปแล้วก็ไม่รู้ แต่พอจิตมันสงบนะ มันจะคิด เอ๊อะ! โปธิละไปหาสามเณรน้อย สามเณรน้อยบอกว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนกับจอมปลวก มันมีรูอยู่ ๖ รูให้ปิด ๕ รูนั้น เหลือไว้รู ๑
ปิดตา จมูก หู ลิ้น กาย เปิดใจไว้ เหี้ยมันจะออกจากตรงนั้นแหละ เหี้ย! ตัวมารมันจะออกจากตรงนั้น นี่ก็เหมือนกัน พอเราตามเข้าไปเห็นโกรธทุกอย่าง มันโกรธนะ แล้วใครเป็นคนโกรธล่ะ? นี่ไงเราทำร้ายตัวเราเองไง ปิดหมด ปิดตา จมูก หู ลิ้น กาย ความคิดที่มันโผล่ออกมาจากใจ พอมันโผล่ปั๊บจับหมับ! อ๋อ...เหี้ยตัวใหญ่อยู่นี่
พอจับได้ปั๊บ วิปัสสนาเกิดแล้ว เรารู้จักเริ่มต้นแห่งความคิดไง ความคิดมันเกิดมาได้อย่างไร? จรวดยิงออกไปจากฐาน ความคิดถ้าไม่มีจุดเริ่มต้น มันจะเริ่มคิดมาจากตรงไหน? ถ้าใครเห็นจุดเริ่มต้นของความคิด เราจะจับตัวความคิดได้ แล้วเราจะแยกแยะได้ แยกแยะไง ความคิดประกอบไปด้วยอะไร? รูป รส กลิ่น เสียง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกได้ ถ้าแยกไปจะเป็นวิปัสสนาแล้ว นี่การพิจารณาจิต ถ้าแยกอย่างนี้เป็นการพิจารณา
เห็นไหม เวลาเขาดูจิตๆ กัน เขาบอกว่า เหมือนเรา เราเวลาพูดเหมือนดูจิตเลย เราบอก ไม่เหมือน ดูจิตคือมันเพ่ง มันเพ่งดูเฉยๆ แต่ของเราใช้คำว่าพิจารณาจิต วันนั้นพวกแม่ชีมา เขาบอกเขาดูจิตดีมากๆ เลย เราบอกไม่ใช่! ไม่ใช่ดู ให้พิจารณามัน กราบเลย กราบใหญ่ หลวงพ่อได้แล้ว หลวงพ่อได้แล้ว คือเขาดูกันมาเฉยๆไง แต่เขาไม่ได้ดูแบบพวกเราดู ดูแบบผู้บริหารน่ะ ดูแบบค้นคว้าหาเหตุผล
แต่ถ้าบอกดูแบบค้นคว้าหาเหตุผล เขาบอกไม่สงบแล้ว จิตไม่สงบ เพราะเราไปค้นคว้าไง แต่มันไม่คิดหรอกว่า ความคิดมันไม่ใช่น้ำ กวนให้มันขุ่น ความคิดเป็นความคิด ความคิดมันไล่กัน เราใช้คำว่าพิจารณา คำนี้หลวงปู่เจี๊ยะถามหลวงพ่อจันทร์เรียน เพราะสมัยนั้นเราอยู่นั่น หลวงพ่อจันทร์เรียนลงมาหาหลวงปู่เจี๊ยะบ่อย
แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเวลาต้อนใครนะ ใครตอบไม่ได้หรอก ทีนี้เจอหลวงพ่อจันทร์เรียนมาไง
จันทร์เรียน! คำเดียวนะ ตอบคำเดียว ดูจิตแก้กิเลสได้-ไม่ได้?
หลวงพ่อจันทร์เรียนบอก ไม่ได้ครับ
ท่านตบเลย เออใช่! เออใช่!
แล้วเดี๋ยวนี้มันดูจิตกันหมดเลย มันไม่มีใครมาอธิบายอย่างนี้ไง ว่าการดูจิตนะมันเป็นกสิณ มันเป็นการเพ่งใช่ไหม? มันเป็นกสิณ แต่อันนี้มันเป็นการพิจารณา
ปัญญาอบรมสมาธิ ที่หลวงตาเขียนเป็นหนังสือเป็นเล่มเลยว่า ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่... ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ มันจะเป็นโลกียะคือความคิดแบบตัวตน ความคิดของกิเลส แต่ต้องอาศัยความคิดของกิเลสแก้กิเลส คือแก้ให้มันสงบก่อน ต้องอาศัยความคิดที่ฟุ้งซ่าน คิดเอาความฟุ้งซ่านต่อสู้กับความคิด จนความคิดฟุ้งซ่านนั้นสงบตัวลง เป็นศีล สมาธิ พอเกิดสมาธิ
สมาธิคืออะไร สมาธิคือกดตัวตนของเรา กดความเห็น กดอารมณ์ความรู้สึกของเรา ถ้ามันสงบลง นั่นคือตัวสมาธิ ที่ว่าว่าง ตัวเราว่าง กดตัวตน กดตัวเราว่าง พอกดตัวเราว่าง ความคิดไม่มีเราบวก
สิ่งที่ภาวนาไปแล้วไม่เป็นวิปัสสนาเพราะความคิดเราบวก ธรรมของพระพุทธเจ้าถูกต้อง แต่พวกเราจินตนาการกัน ต้องการให้เป็นอย่างที่เราหวัง ต้องการให้เป็นว่า เราปฏิบัติแล้วเป็นมรรคแล้ว ต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว เพราะปล่อยวางแล้ว ทั้งๆ ที่ปล่อยวาง กิเลสมันสวมรอย กิเลสมันบังเงานะ บางทีภาวนามันเปลี่ยนมุมนะ เปลี่ยนมุมให้ว่างเลย ว่าง... ว่างเพื่ออะไร? ว่างเพื่อรักษาสถานะของกิเลสไว้ มันไม่ได้ว่างโดยสัจธรรม
ถ้าว่างโดยสัจธรรมนะ มันจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มรรคสามัคคีรวมตัวกัน เหมือนที่บอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีค่าความสุข ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ค่าความรู้สึกของวิทยาศาสตร์ไม่มี ๙๙.๙๙ แต่ถ้าธรรมะนะค่าความรู้สึกของมัน ปรมัตถธรรม มันจะรวมตัวหมดแล้วมันล้างหมดเลย ถ้ามันไม่ล้างหมดเลยนะมันเป็นพระโสดาบันไม่ได้ เป็นสกิทาไม่ได้ เป็นอนาคาไม่ได้ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
ค่าของปรมัตถธรรมจะสะอาดบริสุทธิ์ มรรคสามัคคีรวมตัว พั้บ! ทำลายหมดเลย ทำลายหมดเลย! สะอาดบริสุทธิ์เลย แต่วิทยาศาสตร์ไม่มี วิทยาศาสตร์ไม่มี วิทยาศาสตร์ถึงบอกว่าค่าความสุขของวิทยาศาสตร์ไม่มี แต่ค่าความสุขของปรมัตถธรรมมี แล้วทำได้ด้วย พิสูจน์ได้ ต้องพิสูจน์ขึ้นมา ถ้าทำขึ้นมาแล้วมันไม่เหมือนกัน ทำแบบนี้ถูกต้องแล้ว เพราะแต่ก่อนเรากำหนดพุทโธ พุทโธนี้เป็นพุทธานุสติ
เรากำหนดพุทโธ... พุทโธ... พุทโธ... เหมือนกับเราต้องการความสงบด้วยนาโน เทคโนโลยีนาโน คือจิตพุทโธ... พุทโธ... ให้มันซ้อนกันขึ้นมาจนมันยืนได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นอีกกรณีหนึ่ง
เราต้องจำไว้นะ เวลาเราทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่าให้มั่วกัน ถ้าพุทโธก็พุทโธไปเลย พุทโธ ไม่ต้องทำอะไรอยู่แล้ว เพราะคำว่าพุทโธคือพุทธะ เราระลึกถึงพุทโธ เราจะเข้าหาตัวเราเอง พุทโธ... พุทโธ... ไม่ต้องใช้ความคิด พุทโธ... พุทโธ... ไปเลย
แต่ถ้าใช้ความคิด ปล่อยพุทโธเลย มันคนละงานกัน งานมันคนละแผนก งานมันคนละแขนงกัน แต่หาต้นทุนเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเราใช้ปัญญา เราจะให้ปัญญามันคิดเลย แล้วสติตามความคิด เวลามันคิด สติตามมันไป
พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเห็นไหม พิจารณาสังขารความคิด พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาท สติที่จี้ไปคือความไม่ประมาท ถ้าไม่มีประมาทแล้วตามไป ต้องตะครุบได้แน่นอน จับปลายเชือกนะ แล้วปลายเชือกอีกด้าน ๑ ผูกวัวไว้ เราจับปลายเชือก สาวไปต้องถึงตัววัวแน่นอน
ความคิดมันเกิดจากไหน? ความคิดมันเกิดมาจากใจ ถ้าเราจับตัวความรู้สึก ความคิดได้แล้วสาวไปจะถึงตัวใจไหม? แน่นอน เพียงแต่เราสาวกันไม่ถึง เราไม่สาวไปเอง
ถาม : การเกิดดับ หลวงพ่อบอกเดี๋ยวนี้ ในเมื่ออยู่กับตัวเองมากขึ้น โยมรบกวนให้หลวงพ่อโปรดให้คำแนะนำเพื่อโยมจะได้นำไปปฏิบัติเพื่อให้ถูกต้อง
หลวงพ่อ : นำไปปฏิบัตินี่.. เราพูดไว้อย่างนี้นะ โดยค่าเวลาปฏิบัติ โดยค่าของการสะสมมา เวลาเราพูดถึงการปฏิบัติทุกคน ที่นั่งอยู่ตรงนี้ทุกคนนะ สมมุติโยมที่นั่งนี่ทุกคนเป็นพระอรหันต์หมดเลย เวลาปฏิบัติไปเป็นพระอรหันต์หมดเลย แล้วโยมมาคุยกันเรื่องปฏิบัติจะไม่เหมือนกันเลย แล้วไม่รู้ว่าใครถูกใครผิดนะ แต่ตอบถึงผลถูกนั่นคือถูก
ฉะนั้นจะบอกว่าจะได้นำปฏิบัติต่อ ปฏิบัติต่อ ก็ทำอย่างที่ทำมาแล้ว ได้ยินไหมในเทศน์ของหลวงตา วิทยุหลวงตา เขาถามปัญหา หลวงตาจะบอกถูก ถูกแล้ว แล้วให้ทำอย่างนั้นต่อไป ได้ยินไหม? ได้ยินบ่อยๆ เลย หลวงตาจะบอกว่าถูกแล้ว แล้วให้ทำอย่างนั้นต่อไป
ทำอย่างนั้นต่อไปคือมันจะละเอียดไป เพราะการกระทำของเรา เราต้องการสาวเข้าไปหาตัวจิตใช่ไหม? สาวเข้าไปหาต้นทุนตัวนั้น ฉะนั้นถ้าจิตมันภาวนาถูกต้องแล้ว ให้ขยันทำ พอขยันทำปั๊บ แล้วไม่ต้องไปคาดหมายว่ามันจะเป็นอย่างที่เราเป็นนะ เพราะอย่างที่เราเป็น มันเป็นอดีตมาแล้ว
ในปัจจุบันนี้ถ้าเราทำน้อยกว่านั้น สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกอาจจะดีกว่านั้นด้วย มันอยู่ที่จังหวะ มันอยู่ที่ปัจจุบันธรรมที่มันจะเกิดขึ้น บางทีมันจะดีกว่านั้นอีก ลึกกว่านั้นอีก แล้วมีความสุขมากกว่านั้นอีก บางทีสงบเฉยๆ เพราะมันจะไม่เหมือนกัน เรากินอาหาร อาหารจากร้านเดียวกัน แต่รสชาติ บางวันเรากินแล้ววันนี้อาหารรสชาติดีมาก บางวันกินแล้วจืดๆ บางวันกินแล้วพอใจเห็นไหม
จะบอกว่า มันจะดีอย่างที่เราคาดหมายตลอดไปไม่ได้ บางทีมันดีกว่านี้อีก บางทีมันได้เท่านี้ บางทีมันได้น้อยกว่านี้ แต่ผลของมันคือมันปล่อยกิเลสหรือเปล่า? มันปล่อยมัน ปล่อยว่าง มันพอใจไหม? อันนั้นถูกต้อง มันอยู่ที่เราขยันนะ ๑ อยู่ที่เราขยัน เพราะเริ่มต้นนะ อ่าน เราเห็นแล้วว่ามันพัฒนามาจากพุทโธ ๖ ปี แล้วมาพิจารณาจิต มันดีขึ้นแล้ว แล้วเดี๋ยวนี้ทันหมด เข้าใจหมด นี่ขนาดเข้าใจนะ เข้าใจขนาดที่ว่านี่เป็นสมถะนะ
เข้าใจคือจิตมันสงบ จิตมันปล่อย พอจิตมันปล่อย มีพื้นฐานแล้วทำไปเรื่อยๆ พอมันสงบมันปล่อยแล้ว เพราะสิ่งที่มีอยู่ใช่ไหม เพราะคนไม่ตายต้องคิดตลอดไป แม้แต่พระอรหันต์ยังคิดเลย แต่คิดคิดแบบพระอรหันต์ จิตของพระอรหันต์คือธรรมธาตุ ความคิดคือเรื่องโลก เวลาพระอรหันต์จะสื่อกับโลกต้องใช้ความคิด ถ้าไม่ใช้ความคิดจะพูดออกมาได้อย่างไร? ที่พูดมา พูดมาจากอะไร? ถ้าใจไม่สั่งจะเอาอะไรมาพูด? พูดออกมามันเป็นความคิด ทีนี้ความคิด ความคิดที่มันสะอาด
นี่ก็เหมือนกัน พอเราตามความคิดไป ให้มันหยุดไปเรื่อยๆ มันจะสะอาดไปเรื่อยๆ แล้วมันมีอยู่จับให้ได้ จับให้ได้หมายถึงว่า ถ้ามันสงบแล้วใช่ไหม? สังเกตว่าความคิดมาจากไหน? มันเห็นชัดๆ นะ มันผุดออกมาจากใจอย่างไร มันจับได้ชัดเจนเลย เพราะสิ่งที่มันปักอยู่ มันปักอยู่ที่ใจ อุปาทานทิฏฐิความเห็นผิด ตอนนี้ธรรมะถูกแต่ทิฏฐิเราน่ะผิด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
ปากเรา เราว่าเราเข้าใจธรรมะกันนะ เราว่าเราเข้าใจ เรารู้ว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ปากว่า แต่ใจมันทิ้งจริงหรือเปล่า? แล้วพอมันผุดขึ้นมาจากตรงนั้นปั๊บ จับปั๊บ มันเริ่มต้นจากตรงนั้น พอจับปั๊บ เหมือนกับเราตรวจโรคในตัวเราเอง แล้วเราเห็นเชื้อโรค เราเป็นโรคอะไร เราแก้ตามโรคนั้น ถ้าจับได้ปั๊บนะ เราจับตรงนั้นแยก แยก แยก จะเห็นได้ชัดเจน แยกบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า
แยกบ่อยครั้งเข้า เริ่มปล่อยล่ะ ปล่อยมันจะว่าง มันจะสะอาดขึ้น การว่างโดยสมาธิกับการว่างโดยปัญญา รสชาติต่างกัน รู้ชัดเจนมาก แล้วเวลามันขาดนะ กิเลสขาดดังแขนขาด ถ้ากิเลสขาดไม่ต้องใครบอกเลยชัดเจนมาก แต่ในปัจจุบันนี่ มีแต่พระอริยบุคคลทั้งนั้นเลยนะ บอกว่าเป็นอย่างไรวะ ก็ไม่รู้ ไม่รู้เป็นพระอริยบุคคลได้อย่างไร? กูอยากรู้นัก
โยมมาจากบ้านกัน แล้วกินข้าวมาจากบ้านแล้วมาถามหลวงพ่อว่า หนูอิ่มหรือยัง หนูอิ่มหรือยัง เออ กูก็แปลกใจ พอดีปวดหัว ใครมาก็ หลวงพ่อ.. กินข้าวมาอิ่มหรือยัง อิ่มหรือยัง ก็เอ็งกินเองนะมึง แล้วจะมาถามเราได้อย่างไรวะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันขาดเหมือนเป็นไปจริงนะ เหมือนเรากินแล้วเราก็รู้จักอิ่มรู้จักอะไร แล้วรู้จักว่าทำไมถึงอิ่ม? อิ่มเพราะเหตุใด? มันรู้เห็นหมด มันละเอียดมากนะ
ยถาภูตัง กิเลสขาด พอขาดไปแล้ว เกิดญาณทัศนะว่ากิเลสขาดแล้ว เวลากิเลสมันขาดปั๊บ เหมือนเราจับไฟอยู่ เราทิ้งไฟไปเลย เรารู้ไหมเราทิ้งไฟไป พอทิ้งไฟเรารู้เลยว่าเราทิ้งไฟ ยถาภูตัง พอทิ้งไฟไปแล้ว ความร้อนมันไม่มีใช่ไหม? อยู่สบายไหม? เกิดญาณทัศนะไง โอ้ มือกูไม่ร้อนแล้วโว้ย ถ่านไม่มีในมือกูแล้ว แล้วยังมาถามเป็นอย่างไร? เป็นอย่างไร? งงนะ เวลาใครมานะ ใครปฏิบัติจะว่าเป็นพระอรหันต์ จะว่างหมด ไม่เป็นอะไรหรอก
ย้อนกลับ มาละกายอย่างไร? ยถาภูตัง ละอย่างไร? ละแล้วอารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างไร? ตอบไม่ได้หรอก! ที่หลวงตาท่านพูดไง ไม่รู้พูดไม่ได้ ไม่รู้ตอบไม่ได้ ไม่รู้เขียนไม่ได้ แต่ถ้ารู้จริงมันเป็นไป
ถูกต้อง อย่างนี้นะถูกต้องแล้ว เพียงแต่ว่าถูกต้องแบบว่าเราหาต้นทุน แล้วต้องขยันทำไปเรื่อยๆ เพราะในแผ่นนี้เขียนมาก็เห็นแล้ว พุทโธมา ๖ ปี เราทำมา ๖ ปีอยู่แล้ว แล้วนี่ทำมากี่เดือน? แล้วผลมันต่างอย่างไร? ตรงนี้ในการปฏิบัติ วัดผลกันอย่างนี้ ว่าจิตเราพัฒนาไหม? เราทำแล้วดีขึ้นไหม? ไม่ได้ทำอยู่อย่างนั้นไง
ดูสิเดินจงกรม ๒๐ ปี ๓๐ ปีก็เดินอยาทางเส้นนี้ ก็เดินอยู่อย่างนั้น แต่ใจมันดีขึ้นไหม? ถ้าใจไม่ดีขึ้นนะ เดินจงกรม ๒๐ ปีมันเป็นไปไม่ได้! เดินจงกรม ๕ วัน ๑๐ วันมันก็เบื่อแล้ว แล้วเดินเป็นปีๆ ถ้าคนเดินจงกรมอยู่กับที่เป็นปีๆได้ เป็น ๕ ปี ๑๐ ปีอยู่ได้ แสดงว่าหัวใจเขาต้องมีหลัก! เ
รานั่งอยู่เฉยๆ เรายังเบื่อเลย แล้วก็นั่งอยู่เฉยๆไม่ไปไหนเลย กายนั่งเฉยๆนะแต่ใจมันหมุนนะ ใจมันพัฒนาของ มันสนุกครึกครื้นของมัน มันรื่นเริง มันอาจหาญ มันเดินจงกรมด้วยหัวใจที่ผ่องแผ้ว เวลามันเดินไปมันก็เดินไปอย่างนั้น แล้วไอ้คนข้างนอกนะ เออ...เห็นมันเดินไปเดินมา ไม่เห็นทำอะไรเลย มึงก็เห็นแต่กายน่ะสิ แต่หัวใจเขาไปถึงไหนแล้วมึงรู้ไหม? หัวใจมันไปถึงไหนแล้ว
คนจะทำได้มันต้องมีหลักนะ ไม่อย่างนั้นล่ะเบื่อ นั่งสมาธิเรายังโอ้โห... คอตกเลยล่ะ แล้วมันนั่งอยู่นั่นทั้งวันๆ แล้วก็นั่งอยู่นั่นไม่ไปไหนเลย มันนั่งได้อย่างไร ไอ้คนนอกก็ โอ้ย ไอ้นี่ขี้เกียจ มึงไม่รู้นะว่าจะเอาจิตให้อยู่กับที่ได้อย่างนี้ มันทำยากขนาดไหน ยังดูถูกว่าขี้เกียจ กูจะไม่ขี้เกียจเหมือนมึง กูจะร่อนเหมือนมึงกูจะเที่ยวทั่วโลกเลย อย่างนั้นได้ ไอ้อยู่เฉยๆ นะมันอยู่ไม่ได้ อยู่เฉยๆ นี่แหละทำยากกว่าไอ้ร่อนไปวันทั้งวันนั่นน่ะ
ฉะนั้นเดินจงกรม เดินได้เป็นปีๆ ๑๐ ปี ๒๐ ปีเดินได้เพราะอะไร? เพราะใจมันพัฒนาขึ้น มันมีหลักเกณฑ์ของมันขึ้นมันถึงทำได้ ถ้ามันทำได้ขึ้นมา มันวัดผลกันที่นี่ เขาเรียกว่าใจสงบใจเย็น ถ้าใจมันร้อนนะ อย่างเรามีแต่ไฟ อยู่ก็ให้มันเผา เราเหยียบอยู่กับไฟไหวไหม? พองหมดน่ะสิ ถ้าใจมันเป็นไฟ มันเผาอยู่ตลอดเวลา
มึงจะอยู่ได้อย่างไร? เหอะไปแล้วมันต้องหาที่อ้างไง อ้างไปจนได้แหละ เหตุผลมันขนมาเลยเลย ไปเพื่อเหตุนั้นๆๆ เหตุผล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ไปได้หมด เวลามันจะไปนะ เหตุผลมันมาเป็นเล่มเกวียนเลย แต่เอาอยู่หรือเอาไม่อยู่ล่ะ เวลามันพัฒนา พัฒนาอย่างนี้นะ ใจของเรามันจะมีหลักมีเกณฑ์
ไปเพ่งไว้เฉยๆ มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นกระแส กระแสมันกำลังฮือฮา แล้วมันไม่ใช่ว่ามันฮือฮาธรรมดานะ มันฮือฮาอย่างนี้มากี่รอบแล้ว พอมีอาจารย์ใหม่ๆ ขึ้นมาองค์หนึ่ง ก็มาฮือฮากันรอบหนึ่ง แล้วก็เฉาเหงาไปแล้วเดี๋ยวก็จะมีรุ่นใหม่ นี่จำเหตุการณ์อันนี้ไว้นะ แล้วเรายังไม่ตาย เดี๋ยวจะมีอย่างนี้อีก จะมีอย่างนี้อีกหลายรอบ เพราะเหมือนการตลาด
ดูสิการตลาด ถ้าเราทำกระแส เราทำติดตลาดขึ้นมา มันก็ได้อีกรอบหนึ่ง แล้วพอมันจืดชืดเดี๋ยวก็ทำตลาดใหม่ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอมีผู้ปฏิบัติใหม่ มันก็มา... แต่มันไม่จริง ถ้ามันมีจริงมันจะมีเหตุมีผล แล้วมันพิสูจน์ได้ มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้นะ ฉะนั้นทุกคนจะมาพูดบ่อย ฟังที่เราพูด กลับไปฟังที่พวกดูจิตอธิบาย เขาบอกเหมือนกัน แต่เราฟังเราแปลกใจนะ มันคนละเรื่องเลย มันเหมือนกันได้อย่างไร กูก็งงฉิบหาย
สุดท้ายก็สรุปว่า มันเป็นที่วุฒิภาวะ วาสนาของคนเท่านั้น มันรู้ได้เท่านั้น เหมือนเด็ก เราให้เด็กมันเรียนรู้มากเกินไป เด็กมันรับไม่ไหวหรอก เด็กแจกยาคูลท์มันพอใจ เด็กได้ยาคูลท์พอ เออ เอ็งพอได้ยาคูลท์ออกไป เราผู้ใหญ่ต้องคุยกันอย่างนี้ แล้วนี่สังคมเป็นแค่นั้น เชื่อกันได้อย่างไร กูงงมากนะ พอคำพูดออกมา คำพูดที่เขาพูดออกมามันฟ้องหมดแล้ว มันฟ้องหมดเลย ถึงการกระทำว่ามันผิดหมด คำพูดคำเดียวนี่นะมันบอกเลย เ
หมือนเรา นักวิทยาศาสตร์พูดถึงทฤษฎีผิด เรารู้เลยคนนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์พูดคำผิดอย่างนี้ไม่ได้ นี่นักปฏิบัติ พูดผิดอย่างนี้ แล้วมันพูดออกมา แล้วทำไมสังคมเขาเชื่อได้วะ แสดงว่าวุฒิภาวะสังคมต่ำมาก ต่ำมาก.. ถ้าวิทยาศาสตร์สังคมมี อย่างนี้หลอกไม่ได้ คนอย่างนี้ คำพูดอย่างนี้จะหลอกสังคมไม่ได้ แต่นี่สังคมเชื่อถือกันมาก มันก็เป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์ กรรมของสังคม จะมีอะไรไหม? จะมีอะไรต่อ? ไม่มีอะไรต่อ เราเอาแค่นี้ เอวัง