เรื่องเวทนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
หลวงพ่อ : แล้วโยมทำอย่างไร? โยมได้ทำบ้างหรือยัง?
โยม : ก็เวลามันปวดขึ้นมาอย่างนี้ พอเขาบอกว่าให้ไล่ไปแล้วถามว่าใครปวด ปวดตรงไหนอะไรอย่างนี้ก็ใช้เหตุผลไล่ไป พอไล่ไปถ้าเกิดมันเวทนาแรงๆ มันจะดึง ดึงเราลงไปเลย ถึงแม้บางทีพุทโธนี่มันก็ดึงไม่กลับ
หลวงพ่อ : นี่ไง เวลาพูดโดยทฤษฎี โดยทฤษฎีว่าการพิจารณาเวทนา การพิจารณาเวทนา เห็นไหม ไอ้ตรงนี้เราจะพูดหลักให้ฟังก่อนนะ ให้เปรียบเทียบให้เห็นภาพ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา นี้ยกตัวอย่างที่เวทนานี่ก็เหมือนกัน เวทนานี่เป็นได้ทั้งสมถะเป็นได้ทั้งวิปัสสนา เห็นไหม
ทีนี้มันจะเจอ เราจะพูดให้โยมเห็นภาพไง แต่ถ้าทำให้เราพิจารณาเวทนาแล้วมันดึงเราไป เวทนานี่นะ เวทนานี่มันเกิดโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมมันเกิด ทีนี้โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ การนั่งหรือการคงที่อยู่นี่มันต้องเกิดเวทนาแน่นอน เพราะว่ามันเกิดการรับรู้ แต่โดยสัญชาตญาณเราขยับ เราเปลี่ยนอิริยาบถกัน เห็นไหม มันก็หายไปโดยธรรมชาติ เพราะว่าเราโดยสัญชาตญาณมันเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวก็คือการเปลี่ยนแปลงตลอด เราก็เลยเห็นว่าเวทนาเป็นเรื่องที่มันไม่เกิดไม่มี ธรรมดามันมีของมันอยู่ ฉะนั้น พอเวลาเราจะเริ่มปฏิบัติกัน ทีนี้การจะสู้กับเวทนา มันก็ต้องเข้าตรงนี้ก่อนว่า เวทนานี่เป็นได้ทั้งสมถะเป็นได้ทั้งวิปัสสนา ถ้าเป็นได้ทั้งสมถะ
คำว่าเป็นสมถะ การสู้กับเวทนา อย่างพวกเรา คำว่าสมถะมันเหมือน เราจะดูคุณภาพของจิตก่อนนะ จิตปุถุชนเรานี่เป็นปุถุชน ปุถุชนมันเหมือนกับจิตที่ไม่มีหลักเกณฑ์ มันเจอสิ่งใดมันก็รับรู้ไปตลอด ปุถุชน กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนเหมือนกับทำสมาธิได้แล้ว พอทำสมาธิได้แล้วมันไม่ใช่จิตหิวโหยเหมือนกับจิตปกติปุถุชนเรา อย่างปุถุชนเราอยากรู้อยากเห็นอยากรับรู้ไปหมด
แต่ถ้ากัลยาณปุถุชน จิตเป็นสมาธิ มันรู้เลยว่าถ้าออกไปนี่ทุกข์ มันจะเข้ามาสงบ ทีนี้เข้ามาสงบนี่ โดยสงบแล้ว ถ้ามันมีหลักนะ มีหลักหมายถึงว่ามันสงบ หลวงตาบอกทำสมาธิบ่อยๆ ทำความสงบบ่อยๆ ครั้งเข้าจนจิตเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วมีกำลัง ถ้ามีกำลังจะออกไปพิจารณาที่เวทนาอย่างที่โยมพูดเมื่อกี้นี้
ถ้าเรา จิตเราสงบ เรามีหลักเกณฑ์แล้ว เราย้อนไปที่เวทนา ที่ว่าเวทนาเกิดจากอะไร? จิตมันสงบ จิตมันมีพื้นฐานเหมือนผู้ใหญ่ ของอะไรมันก็ยกขึ้นได้ทั้งนั้น ทีนี้ถ้าเวทนาเกิดจากอะไร? เวทนามันเกิดจากอะไร? เกิดจากเอ็น ขน ผม จากหนังจากกระดูก มันไม่มีหรอก แล้วไม่มีแล้วเวทนามันเกิดจากอะไร? ก็เกิดจากจิตไปยึด ถ้ามันเห็นปั๊บมันก็ปล่อย นี่คือวิปัสสนา
แต่เวลาที่เรามีเวทนาแล้วเราไปกำหนดดูมันเลย จิตเรายังเป็นปุถุชน จิตเราไม่มีกำลังไง พอจิตไม่มีกำลังก็อย่างที่โยมพูดนั่นน่ะ ผลของมันคือ มันดึงเราไปเลย เห็นไหม เพราะผลของมันคือว่าเราไม่มีกำลังพอ เหมือนเรายกของขึ้นมา ถ้ากำลังเราดี เรายกของขึ้นลอยจากพื้นได้ แต่น้ำหนักของของมันมากกว่าเรา เรายก มันจะดึงเราลงไปพื้นต่างหาก
โยม : ถ้าสมมุติว่าเข้าสมาธิไปก่อน แล้วก็ มันก็ไม่มีเวทนาสิ
หลวงพ่อ : เข้าไปพักก่อนไง ถ้าเราเข้าไปพักสมาธิบ่อยๆ จนจิตมีกำลัง เห็นไหม พอจิตมีกำลังขึ้นมา เราออกมาดูเวทนา เห็นไหม ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ
โยม : มันต้องคลายออกมานิดหนึ่ง มันถึงจะมีเวทนาเกิดขึ้น
หลวงพ่อ : ใช่ ถ้ามันคลายออกมาหนึ่ง สอง อย่างถ้าพูดถึงถ้าบางทีเราเข้าไปที่สงบ แต่จิตยังไม่สงบมันเกิดเวทนาก่อน เห็นไหม ทีนี้จิตไม่สงบเวทนามันกวนก่อน เพราะการทำความสงบของใจ จิตเรายังไม่ทันสงบเวทนามันเกิดก่อน ทีนี้เราต้องตั้งสติให้ดี พุทโธๆๆ ถ้าเราไปอยู่ที่พุทโธนะ โดยข้อเท็จจริง จิตมันรู้ได้หนึ่งเดียวโดยข้อเท็จจริง
แต่โดยกิเลสโดยสามัญสำนึก เวลาเราคิดอะไรมันจะคิดซ้อนได้ เพราะอะไร? เพราะคำว่าคิดซ้อนนี่ไม่ชัดเจน อย่างเด็กเห็นไหม เด็กที่มันเวลาเรียนหนังสือ มันอ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจ เพราะอะไร? เพราะว่าจิตมันรับรู้เยอะ มันแบบมันเครียด ถ้าเราวางหนังสือก่อน กลับมาทำความสงบของใจ คือปล่อยให้จิตมันปลอดโปร่ง ค่อยไปอ่านหนังสือมันจะเข้าใจ เห็นไหม
ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ ทำอะไรมันจะเข้าใจ มันจะเป็นหนึ่ง เพราะเป็นหนึ่ง อ่านแล้วเข้าใจ เห็นไหม มันหนึ่ง แต่ถ้าเรารับรู้เยอะ เครียดด้วย กลัวไม่ทันเพื่อน กลัวทุกอย่างหมดเลย ถ้าไปอ่านหนังสือ เห็นไหม มันรับรู้หลายเรื่อง เห็นไหม
กรณีเดียวกัน กรณีที่ว่าจิตมันยังพุทโธๆ ไม่ได้ เพราะเวทนามันเกิด พุทโธๆๆๆๆๆ จริงๆ เลยนะ ถ้ามันไปอยู่กับพุทโธนะ เวทนาดับหมด อันนี้เรียกว่าขันติธรรมไม่ใช่วิปัสสนา ทีนี้เวทนา คำว่าต่อสู้กับเวทนามันต้องดูพื้นฐาน แล้วอย่างที่พูด บางทีเราพิจารณาเวทนาทำไมมันปล่อย ทำไมมันดี อันนั้นน่ะการปฏิบัติ ขนาดของเรามีอยู่แล้วเขามาถาม เราจะบอกว่า ส้มหล่น บุญหล่นทับไง
บางทีจิตเราสมดุล จิตเราดีๆ พิจารณาเวทนามันปล่อยได้นะ มันส้มหล่นบุญหล่นทับ เหมือนเราได้รางวัล เห็นไหม เราได้รางวัล เราแทงหวยเราได้รางวัล เราไม่ได้ไปทำอาชีพ ถ้าทำอาชีพเราต้องลงทุนลงแรง วิปัสสนาคือการลงทุนลงแรง ไอ้บุญหล่นทับเหมือนรางวัล ธรรมะมอบให้ ติ๊ง! ทีหนึ่งนะ โอ้โฮ ว่างทีหนึ่ง อย่างนี้มันมี
โยม : แล้วอย่างประเภทที่ว่าทนไปเรื่อยๆ จนแบบมันระเบิดแล้วก็หายไปเองอย่างนั้นมีไหม?
หลวงพ่อ : อันนั้นเราไม่มีสติเราไม่ได้ควบคุม ทนไปเรื่อยๆ พอทนไปเรื่อยๆ ถึงที่สุด นั่นน่ะบุญหล่นทับเหมือนกัน ทนไปเรื่อยๆ บางทีก็ทนไม่ไหว ทีนี้คำว่าทนไปเรื่อยๆ เห็นไหม มันไม่ได้ใช้ปัญญา แต่ถ้ากำลังเราไม่มีเราก็ใช้ปัญญาไม่ไหว เพราะมันเจ็บมันเลยทนเอา ทนเอาเหมือนกับอดกลั้น แต่ถ้าใช้ปัญญาเราจะมีความพร้อม ปัญญามันจะหมุนเข้าไปตรงนั้น เห็นไหม
ทีนี้คำว่าหมุนไปตรงนั้น โดยหลักอย่างที่เราคุยกัน โดยหลัก เนื้อเจ็บไม่ได้ เอ็นเจ็บไม่ได้ หนังเจ็บไม่ได้ ทุกอย่างเจ็บไม่ได้ แต่เวลาคิดอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ทันหรอก กิเลสมันเร็วกว่านี้ มันรู้ทันเราไง มันต้องเป็นปัจจุบันธรรม คำว่าปัจจุบันธรรมจิตมันจะต้องมีหลักให้ดีก่อน นี่ไง เราถึงว่าทำไมเราถึงต้องทำความสงบ ทำไมถึงจิตต้องมีหลักเกณฑ์
ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าตัวมันสมาธิไม่เกิดอย่างที่โยมทำนี่แหละ เดี๋ยวมันก็ดึงไปเดี๋ยวก็อะไร แล้วประสาเรานะ มันเหมือนกับเขาเรียกว่าสุกก่อนห่ามไง เหมือนคนนี่ยังไม่พร้อมในการทำงานแล้วลงไปทำงานก่อนไง เหมือนการศึกษานะ คนจบการศึกษาดูจากการศึกษา เห็นไหม วุฒิแค่นี้ก็ทำงานได้เท่านี้ พอได้ตำแหน่งสูงขึ้นมา คนที่มีวุฒิที่สูงกว่าก็ได้ก่อน
แล้วถ้าเราจะเอาตำแหน่งที่ดีขึ้นเราต้องไปต่อวุฒิ จิตก็เหมือนกัน จิตถ้าฐานมันไม่ดีใจมันไม่แน่น เวลาทำไปใหม่ๆ มันก็ดูเหมือนมีงาน เหมือนเรานี่ เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ทุกคนเด็กทำงานใหม่ได้เงินเดือนได้อะไรก็ โอ้โฮ กูคิดว่าอยู่ได้แล้ว แต่พอเราเติบโตขึ้นมา อ้าว เสียดาย เสียดาย ทุกคนมาเสียดายทีหลังหมด
แต่ถ้าพื้นฐานเราดี วุฒิเราดี เวลาเราทำอะไรไป ตำแหน่งเราดี ทุกอย่างเราดี มันไปได้หมดล่ะ ที่พูดนี้พูดถึงให้เห็นหลักว่า ไม่ใช่การพิจารณาเวทนาคือการพิจารณาโดยตรง เราถึงพูดบ่อยมาก กาย เวทนา จิต ธรรม จิตเห็นถึงเป็นวิปัสสนา จิตเห็น จิตคือความสงบ จิตสงบเห็น แล้ววิปัสสนาถึงกาย เวทนา จิต ธรรม
กาย เวทนา จิต จิตเห็นจิตน่ะ มันต้องจิตเห็น มันไม่ใช่สามัญสำนึกหรือสัญญาเห็น อย่างพวกเรานี่มันแบบ แบบกำปั้นทุบดินไง นั่งเฉยๆ เวทนามันก็เกิดอยู่แล้ว แต่มันเกิดโดยสามัญสำนึก เห็นไหม เกิดโดยสิ่งที่มีอยู่ ทีนี้จิตมันสงบนะ มันสงบเวลามันทำอะไรมันรักษาใจมันสงบเข้ามานี่มันว่าง มันปล่อยมันได้แล้ว แล้วออกมานี่ก็ออกมาทำงาน ออกมาดูเวทนา หลวงตาท่านบอกท่านนั่งตลอดรุ่ง
ถ้าวันไหนปัญญามันดี สติมันเข้มแข็งดี วันนั้นเวลาลุกขึ้นมาจะไม่บอบช้ำเลย ลุกขึ้นมาเดินไปได้เลย เหมือนกับไม่เคยนั่งเลย แต่ถ้าวันไหนนะจิตมันไม่ดี มันต้องต่อสู้กัน บางทีนั่งตั้งแต่หัวค่ำ ตั้งแต่หกโมงเย็น ห้าทุ่มหกทุ่มเที่ยงคืน คิดดูสิ ๖-๗ ชั่วโมงมันยังไม่ลงเลย ต้องต่อสู้กับมันเต็มที่ คือท่านก็ตั้งสัจจะ ท่านไม่มีวันลุก แต่มันก็ต่อสู้กัน กิเลสมันรุนแรง ท่านบอกว่าวันนั้นบอบช้ำมาก ร่างกายบอบช้ำมาก แต่ก็ลง มันไม่ลงไม่ได้ ไม่ลงมันอยู่ไม่ได้
โดยข้อเท็จจริง น้ำมันขับรถมานี่ต้องหมดแน่นอน โดยข้อเท็จจริงเราเติมน้ำมันไปเต็มถัง เราขับไปนี่น้ำมันต้องหมดเด็ดขาด ถ้าไม่เติมน้ำมันนะ น้ำมันต้องหมดเด็ดขาด ในการทำงานของจิตในอารมณ์ความรู้สึกของจิต ในวงรอบหนึ่งมันต้องหยุดแน่นอน ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง แต่เพราะความเจ็บปวดมันกระตุ้นรุนแรง เราเองสู้ไม่ไหวแพ้ทุกที
แต่ท่านต่อสู้ไปเพราะท่านนั่งทีหนึ่ง ๑๒ ชั่วโมง เพราะตั้งแต่หกโมงเย็นไปถึงหกโมงเช้าตลอดรุ่ง การนั่งของท่านบางวันลงถึง ๒ หน ๓ หน แต่ถ้าวันไหนมันไม่ลงแล้วแบบว่า คำว่ามันไม่ลงหมายถึงว่า กิเลสมัน ปัญญาเราไม่ทันกันไง ความคิดของเรามันไม่สมดุล มันออกหน้าบ้างอยู่หลังบ้าง คือไม่ทันกัน
ท่านบอกว่า แต่ท่านก็สู้ไปเรื่อยพิจารณาไปเรื่อย ถึงที่สุดแล้วนะ บางทีนะ ๕ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงค่อยลง วันนั้นนะบอบช้ำมาก เวลาพอรุ่งเช้าขึ้นมาแล้ว ท่านบอกท่านลุกเลย เคยลุกเลยแล้วมันล้ม คนไม่ภาวนาจะไม่รู้นะ พอภาวนา ท่านบอกพอออกมาแล้ว พอจิตมันเข้าไปเหมือนกับตะกอนในแก้วมันนอนก้น แล้วเวลาเราจะรู้สึกตัว เราขยับตัว ตะกอนมันจะออกมา
นี่การเข้าสมาธิออกสมาธิจะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เข้า-ออกแบบประตู เข้า-ออกแบบความรู้สึกนี่มันหดเข้าไปในฐานของจิต แล้วเวลามันจะออก มันขยับตัว คือมันมีความรู้สึกออกมา มีความรู้สึกออกมา พอออกมาเป็นปกติแล้วนี่ ท่านบอกว่าบางทีเคยลุกแล้วล้มเลย เพราะร่างกายมันบอบช้ำ คือว่ามันกระทบกับเวทนานี้รุนแรง
ท่านบอกต้องจับขาก่อนแล้วยืดออกไป จับขาสองขายืดออกไป แล้วนั่งพักหนึ่งให้เลือดลมมันเดินก่อน ให้ความรู้สึกมันกลับมา ถ้าลุกมันชา เพราะจิตมันไม่รับแล้ว มันแยกออกจากมันอยู่คนละส่วน ความรู้สึกมันอยู่อันหนึ่ง ร่างกายนี้มันอยู่อันใดอันหนึ่ง พอแยกออกไปแล้วปล่อยให้เลือดลมมันเดินก่อน มันเริ่มจากชาแล้วเราก็จับขาเรามีความรู้สึกไหม พอมีความรู้สึก ความรู้สึกมันแผ่ซ่านออกมาโดยปกติมันค่อยลุกเดินได้
โยม : แล้วที่ว่าเป็นสมาธิแล้วลุกได้เลยนี่ ทำไม มันต่างกันอย่างไร?
หลวงพ่อ : ต่างกัน ต่างกัน ท่านบอกว่าอย่างนี้ไง ท่านบอกว่าร่างกายบอบช้ำกับร่างกายไม่บอบช้ำไง คำว่าร่างกายบอบช้ำนี่เพราะว่าความรู้สึกของเรามันแบบว่ามันความเวทนามันเกิดมันกล้า ใช่ไหม เวทนามันกล้าคือความรู้สึกคือจิตมันยึดมาก เหมือนเรา (โทษนะ) เหมือนเรากินอาหารมากกินอาหารน้อย
กินอาหารมากทำให้ท้องอืด เพราะอาหารมัน กระเพาะมันจุอาหารมาก ถ้าเรากินอาหารน้อยในกระเพาะอาหารก็มีอาหารน้อย การต่อสู้ของจิตกับการต่อสู้ของเวทนา เวทนามันมาก เวทนามันมาก เวทนามันนาน พอเวทนามันนาน เวทนามันเผา ความเจ็บปวดมันแผดเผา จิตมันแผดเผากายว่างั้นเลย
โยม : ถ้าเกิดว่ามันเป็นที่จิตนี่
หลวงพ่อ : ใช่
โยม : ร่างกายมันก็ คือนั่งมันก็นั่งท่าเดิมเหมือนเดิมทุกวัน แล้วทำไมมันอยู่ที่จิตมันไม่ได้อยู่ที่กาย
หลวงพ่อ : ใช่ ไม่อยู่ ผลของมันไง หนึ่งมันอยู่ที่จิต พอจิตมันหดเข้ามาแล้วมันจะเหมือนกัน คือลงเหมือนกัน คือมันปล่อยเหมือนกัน แต่การปล่อยอันหนึ่ง มันกว่าจะปล่อยได้มันต่อสู้มานาน เหมือนกับเช่นเราจะเจาะเลือด เห็นไหม เราต้องเอายางรัด เห็นไหม ให้เลือดมันคั่งเราถึงดูดออกมาได้ เห็นไหม ทีนี้มันรัดเยอะรัดนานกับรัดไม่นาน
การต่อสู้ของจิต เพราะขณะที่ คำว่านาน เห็นไหม เขาต่อสู้อยู่นี่มันปวด อาการปวดมันแผดเผาไหม? พอแผดเผา ท่านบอกท่านทำอย่างนี้มา มันมีประสบการณ์อย่างนี้เยอะ แล้วบางทีนะท่านพูดขนาดนี้ ไอ้เราฟังกันแล้วเราฟังกันแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ท่านบอกบางทีมันนั่งนะ มันเจ็บปวดมาก เหมือนกับว่าเอาไฟทั้งกองมาสุมใส่เรา เรานั่งอยู่ท่ามกลางไฟสุม มันปวดขนาดนั้นเวลามันปวดสุดๆ นี่เห็นไหม บางวันมันลงง่าย บางวันมันลงยาก
ทีนี้การวิปัสสนา เราถึงได้พูดบ่อยมากว่าในการปฏิบัติ ผู้ที่ได้ผลไม่มีใครทำแล้วเหมือนกันเลย เพราะเวลามันปล่อย มันปล่อยไม่เหมือนกันหรอก พิจารณากายเหมือนกันแต่ผลตอบสนองไม่เหมือนกัน เหมือนหมอรักษาคนไข้ รักษาคนไข้ ทำฟันทุกวัน ดัดฟันคนไข้เหมือนกันไหม? ไม่เหมือนสักคนใช่ไหม? อาการไม่เหมือนกันหรอก แต่มันก็คือทำฟันนั่นแหละ พิจารณาก็เหมือนกัน ทำจบแล้วก็คือเสร็จทำเสร็จหมดคือคนไข้หาย ทำเสร็จแล้วพิจารณาเสร็จแล้วคือสิ้นกิเลสเหมือนกัน แต่วิธีการไม่เหมือนกันสักคน
โยม : แล้วเวทนาแต่ละอย่าง สมมุติผ่านอันหนึ่งแล้ว มันก็ยังมีอีกๆ มีอีกเรื่อยๆ คือมันไม่มีทางหมด
หลวงพ่อ : เวทนามันเกิดดับ ทีนี้เวทนามันเกิดดับ การต่อสู้กับเวทนารอบหนึ่ง มันปล่อยแล้วรอบหนึ่ง มันปล่อย เห็นไหม คำว่าปล่อยนี่ตังคปหาน มันปล่อยเหมือนมันทำงานน่ะ เรายังไม่ชำนาญแล้วทำงาน ทำอย่างนี้มันประสบความสำเร็จ ถ้าคราวหน้ามา ตัวอย่างนี้คือคนไข้เป็นอย่างนี้เหมือนกัน เราทำ ได้ทำรอบที่สองเราจะทำได้สะดวกขึ้นเร็วขึ้นคล่องตัวขึ้น ซ้ำๆๆๆๆๆ จนถึงที่สุดนะ
วันหลังถ้าคนไข้มาอย่างนี้ เห็นอาการรู้เลย จัดการได้เลย ก็ยังไม่จบ จนถึงที่สุด จนปล่อยแล้ว ขาดแล้ว มันถึงจะ ตอนนี้นะ เวทนานะ หลวงตาท่านพูด เห็นไหม เวลาท่านถึงที่สุดแล้ว เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนาขาดหมด ท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นไง บอกว่านั่งตลอดรุ่งเลย มันเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น เวทนาปล่อยหมดเลย หลวงปู่มั่นท่านฟังจนจบ
เออ ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว โสดาบัน
ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว ต่อไปนี้ให้ขยันหมั่นเพียร คนเรานี่เกิดในอัตภาพหนึ่งเท่านั้น
คนเรานี่เกิดในอัตภาพนั้นมันไม่เกิดซ้ำๆ ซากๆ หรอก แล้วทำแล้วนี่มันจบ เห็นไหม มันจบมันอย่างที่ว่า เวทนามันจะขาดไหม ที่โยมถามนี่ เวทนานี่มันกิเลสมันขาด แต่เวทนามันก็เป็นธรรมขาติของมัน มันขาดที่สังโยชน์มันไม่ได้ขาดที่เวทนา พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า เห็นไหม อานนท์เรากระหายน้ำเหลือเกิน อานนท์ตักน้ำมาเถิด
พระอานนท์เห็นว่าเกวียนเพิ่งผ่านน้ำนี้ไป น้ำมันขุ่น ขอพระพุทธเจ้าจงไปฉันข้างหน้าเถิด ข้างหน้าจะมีธารน้ำที่ใสสะอาด นี่เกวียนเพิ่งผ่านไป
อานนท์ เรากระหายเหลือเกินตักมาเถิด ความหิวกระหายเป็นเวทนาไหม พระอรหันต์ก็มีนะ เวทนานี่มันขาดที่ความรู้สึกของใจ ถ้าเวทนาขาด พระอรหันต์ ร่างกายต้องมึนชาหมด จับหยิบมือก็เจ็บ พระอรหันต์ก็รู้ว่าเจ็บว่าปวดใช่ไหม? เราจะบอกว่าเวทนาขาดมีไม่ได้ขาดสูญ มันขาดที่กิเลส
ทีนี้พอกิเลสมันขาดไปแล้ว อย่างเราเราเข้าใจเรื่องนี้หมดแล้วเราจะสงสัยมันไหม นี่ไง ตรงที่นั้นแหละที่ธรรมะเกิดตรงนั้น มันไม่ได้เกิดที่เวทนา มันเกิดที่สังโยชน์ขาด สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกาย พวกเรานี่จิตใต้สำนึกมันเห็นผิด สมองนี่เห็นถูก สมองมันรู้แต่รู้โดยวิทยาศาสตร์ แต่ไม่รู้โดยธรรม
แต่ถ้าไปถอน สัจธรรมมันไปถอนที่จิต ที่จิตใต้สำนึก ทีนี้การสู้เวทนา ถ้ามันสู้กับเวทนาถ้ามันสู้ได้ ถ้ามันอย่างที่ว่าถ้ามันจะดึงไป อย่างนี้เราทำคู่กับเวทนา ถูก เราจะใช้คำว่า เวทนานอก เวทนาใน เวทนานอก มันก็เป็นเวทนาสามัญสำนึกของเรา เวทนาใน โยมนั่งอย่างนี้ โยมไม่เจ็บเลย โยมเสียใจดีใจนี่มีไหม เวทนาจิตไง
เวทนาจิตไม่ต้องทำอะไรเลยมันก็ขุ่นใจมันก็ไม่พอใจ ทีนี้ถ้ามันขาดแล้วมันรู้ที่นี่ เห็นสรรพสิ่งมันเป็นเรื่องปกติ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้เอง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายดับไปเป็นธรรมดา ธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น มึงต่างหากโง่ไปยุ่งกับมัน ถ้ามันฉลาดแล้ว รถน้ำมันหมดเราจะไปเสียใจอะไรกับมัน ก็ไปหาน้ำมันมาเติมใช่ไหม แต่ถ้าเป็นเด็กๆ มันไม่ยอมนะ มันจะไปให้ได้ น้ำมันหมดมันไม่ยอมรับรู้ว่าน้ำมันหมดไม่หมด
ถ้าจิตมันรู้แจ้งแล้วกิเลสมันขาดแล้วมันเข้าใจหมด มันปล่อยหมด แต่ความรู้สึกอันนั้นมีอยู่ ไอ้ความรู้สึกเวทนามีอยู่ มี มีทั้งนั้นน่ะ นี้แล้วบางคนว่า มี เคยมีพระไปคุยกับเราไง เมื่อก่อนนี่กลัวมาก แล้วไปอยู่ในที่เปลี่ยว วิเวก จนความกลัวนั้นหายไปเป็นพระอนาคา บอกไม่ใช่ พระอนาคาเขาถอนกามราคะ
อย่างนั้นเป็นสกิทา สกิทาก็ไม่ใช่ สกิทามันแยกกายและจิตทำปกติ อย่างนั้นเป็นโสดาบัน โสดาบันก็ไม่ใช่ เพราะโสดาบันมันสักกายทิฏฐิ คือเขาเข้าใจผิด มี เคยมีพระเป็นอย่างนี้นะ เคยกลัวอย่างเต็มที่แล้วหายกลัวก็นึกว่ามีมรรคมีผลแล้ว ไม่ใช่ ความกลัวความกล้ามันเกิดดับได้นะ แต่ถ้ากิเลสมันขาดแล้วนะ ความกลัวความกล้าเป็นอาการของใจไม่ใช่ใจ มันจะเกิดอีกไม่ได้เลย มันจะเกิดได้แต่ธรรมชาติของมัน คือเวทนากายเวทนาจิต แต่ไม่ใช่ตัวธรรมะ ตัวธรรมะมันพ้นจากเวทนากายและเวทนาจิตนะ
โยม : แล้วอย่างสมมุติว่าถ้าเกิดเป็นพระอรหันต์แล้ว นั่ง ๗ วัน ๗ คืนก็ไม่มีปัญหา เพราะจิตไม่ไปเสวยอารมณ์แล้ว
หลวงพ่อ : มี ถ้าพูดถึงถ้าไม่ได้ตั้งใจนั่ง ไม่ต้องพระอรหันต์หรอก ปุถุชนนี่ เข้าฌานสมาบัติ เข้านิโรธสมาบัติ
โยม : ก็ ถ้าไม่เข้าฌาน
หลวงพ่อ : อ้าว ไม่เข้าฌาน ว่าไป
โยม : ก็ต้องนั่งธรรมดาอย่างนี้
หลวงพ่อ : ใช่
โยม : นั่งเฉยๆ ห้ามเข้าฌาน ถ้าเข้าฌานนี่ก็ไม่รับรู้
หลวงพ่อ : ใช่ นั่นน่ะ จะพูดตรงนี้ไง อ้าว ว่าไป
โยม : ไม่ แล้วอย่างนี้ จิตก็ไม่ได้ไปรับรู้ แยกได้ แต่ถ้าคนธรรมดานี่ต้องเข้าฌานถึงจะไป
หลวงพ่อ : ใช่ ดูหลวงตาสิ หลวงตาท่านพูดเลย เห็นไหม เวลาท่าน เข่าท่านเสื่อม อายุ ๙๖ ตอนเข่าเสื่อมมันปวดมากนะ ไอ้เข่ามึงจะปวดมึงปวดไปเถอะกูจะเทศน์เว้ย เห็นไหม คนเรานี่เข่าปวดมาก แล้วยังเทศน์ ปากเทศน์ มันรับรู้ไหม ถ้าไม่รับมันจะบอกไหมว่ามันเจ็บ ท่านปวดหัวเข่า แต่ท่านก็พูดเวลาท่านเทศน์ไปนะ เข่าปวดนะ เข่าปวดก็ปวดไปเถอะเราจะเทศน์ จิตมันแยก
เทศน์นี่สำคัญมากนะ อย่างเช่นเราสัมมนาทางวิชาการ เราต้องอธิบายใช่ไหม แล้วอาการที่มันปวดอยู่นี่มันดึงความรู้สึกเราไป เราอธิบายชัดเจนไหม การเทศน์มันเทศน์ออกมาจากใจนะ ธรรมะมันไหลออกไป แล้วอาการปวดมันจะดึงความรู้สึกเราไปไหม การเทศน์ปฏิบัติมันเทศน์ออกมาจากความรู้สึก ไม่ได้เทศน์ออกมาจากข้อมูล
ถ้าอย่างปริยัติไม่ต้องกลัว ปวดก็ไม่เป็นไรอ่านหนังสือ ปวดก็ปวด ปวดขนาดไหนตัวหนังสือมันก็ไม่หนี ตัวหนังสืออักษรมันไม่หนีไปไหนหรอกมันอยู่ในกระดาษ แต่เวลาเราปวดเวลาเราคิดเรื่องอะไรนี่ ความปวดมันดึงออก แวบ! หายแล้ว
โยม : แล้วอย่างสมมุติว่านั่งไปอย่างนี้นานๆ ไม่ลุก นั่งได้อย่างนี้ แล้วการที่เรานั่งพักธรรมดา เซลล์ตายอะไรพวกนี้ การที่ว่ากิเลสมันขาดมันทำให้ตรงนี้มันไม่มีผลต่อร่างกายหรือครับ
หลวงพ่อ : มีส่วน ความจริงการนั่ง เซลล์นี่มันก็สร้างตัวใหม่ได้เหมือนกันใช่ไหม? ทีนี้ไอ้การนั่ง เพราะเมื่อก่อนเราไม่เข้าใจนะ ลูกศิษย์หมอเหมือนกัน เวลาเราเป็นตาปลาเรานั่งทับนี่ แล้วเขามาหาเรา หมอเขาบอกว่า หลวงพ่อ ๔๐ นาทีเซลล์มันก็ตายแล้ว นั่งทับนี่ ๔๐ นาทีเท่านั้นน่ะ แล้วเรานั่งกันที ๖-๗ ชั่วโมง เขาว่า ๔๐ นาที เซลล์ผิวหนังก็ตายแล้ว
อันนี้อย่างนี้ พูดถึงประสาเรา มันก็ตายโดยธรรมชาติของมันใช่ไหม? เราจะนั่งไม่นั่งมันก็ตายอยู่แล้ว เพราะการเกิดมานี่ ถึงที่สุดแล้วชีวิตก็ต้องตายเป็นธรรมดา แต่ตายโดยที่ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไป แต่ถ้าเรามานั่งเพื่อหาเหตุหาผล เราไม่ใช่นั่ง เราจะบอกนะ คนพระเขานึกว่าไปอยู่ป่านี่เป็นคุณสมบัติใช่ไหม? เราบอกว่าไปอยู่ป่าเป็นคุณสมบัตินะ สัตว์ป่ามันเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว
นี่ถ้านั่งโดยซื่อบื้อ นั่งโดยที่ไม่ใช้ปัญญา มันไม่เกิดประโยชน์ นั่ง เห็นไหม มรรค ๘ ดำริชอบ ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ อย่างนั้นถ้าพอถึงว่าอย่างที่ว่า พอเซลล์มันจะตายมันจะเป็นอะไร มันจะบอกว่าไม่มีเลยมันก็ไม่ใช่ แต่มันก็ไม่รุนแรงเหมือนกับปุถุชน ปุถุชนนี่นะเวลาอะไรเกิดขึ้นมันมีความวิตกวิจารณ์ มันไปรับรู้ เครียดไง มันทำให้มันไปส่งเสริม
หลวงตาท่านยังบอกเลยนะ ถ้าเป็นปุถุชน มีอะไรเกิดขึ้นมานะ เลือดลมจะสูบฉีด อย่างเช่นเวลาเราโกรธ เห็นไหม เราจะมีอาการ เลือดนี่มันจะพุ่งเลย แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ มันก็รับรู้แต่เลือดไม่พุ่ง รับรู้นะ เพราะมัน เรดาร์มันมีอยู่ คือขันธ์ ๕ มันมีอยู่ สัญชาตญาณของมนุษย์มันมีอยู่ รับรู้ แต่รับรู้แล้วมันรู้ทันหมด คราวนี้เป็นอย่างนี้มันก็ย้อนไปที่เซลล์ไง
ไอ้จะบอกว่ามันไม่เป็นอะไรเลย มันเสื่อมเป็นธรรมดาอยู่แล้วไง โดยอายุขัยมันก็เป็นธรรมชาติของมันใช่ไหม ทีนี้มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเราไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ แต่พอเรามาปฏิบัติมันต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เราเอามาเป็นประโยชน์ คือว่าเราจะต้อง เหมือนกับกล้องจุลทรรศน์เราต้องส่องต้องดู ต้องเข้าใจว่ามันมีเชื้ออะไร? มันเป็นอะไร? ให้มันเข้าใจจริงแล้วมันปล่อยได้ จะบอกว่ามันไม่ตายเลยมันก็ไม่ใช่ แต่จะบอกว่ามันจะตายหรือว่ามันจะเป็นแบบว่าทำให้เสียหายมันก็ไม่ใช่
โยม : มันเหมือนกับว่าถ้ามันเป็นสมาธิ อย่างสมมุติว่านั่งแล้วปวดขา ถ้ามันเป็นสมาธิมันเหมือนกับมันไม่ได้รู้สึกอะไรเลย พอลุกปั๊บมันก็เหมือนกับเลือดลมมันปกติ ไม่ต้องมานั่งรอว่าค่อยๆ ซ่า ค่อยๆ ซ่า
หลวงพ่อ : ใช่ๆ ก็บอกแล้วว่าถ้ามันลงง่ายไง ถ้ามันลงง่ายลงดีก็เป็นอย่างนั้น นี่ผลของมัน นี่ไง การประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันดีแล้วทุกอย่างดีหมด
โยม : แล้วมันสมมุติว่าจะอธิบายทางการแพทย์ได้อย่างไร?
หลวงพ่อ : อ๋อ
โยม : สมมุติว่าอย่างเรานั่งทับอย่างนี้ใช่ไหม? ที่เขาบอกว่านั่งแล้วมันขาชาเพราะว่าเลือดลมมันไม่ดี แต่พอนั่งเป็นสมาธิมันก็นั่งอยู่ท่าเดียว
หลวงพ่อ : ใช่
โยม : เลือดลมมันก็เดินดีเหมือนกับปกติ
หลวงพ่อ : ตัวจิตไง ไอ้นี่มันจะเข้าตรงนี้ มันจะเข้าแบบว่า อย่างที่เขาถามโยมบ่อยว่า ทำไมอย่างเช่น เราเข้าฌานสมาบัติอย่างนี้นะ นี่เปรียบเทียบไม่ได้ว่าอะไร พอเข้าฌานสมาบัติ ทุกคนถามว่านั่ง ๗ วัน ๗ คืนได้อย่างไร? อย่างเช่นพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าสมาบัติ เห็นไหม เขาบอกว่า ๗ วัน ๗ คืน อย่างปกติเรา เราต้องปัสสาวะอุจจาระไง มันไม่เข้าใจ แต่ว่ามันจะเข้าถึงเลือดลมนี่ไง
เวลาเราเข้าฌานสมาบัติหลายๆ วัน พอเราเข้าปั๊บอวัยวะทุกส่วนเซลล์มันหยุดนิ่ง มันหยุดหมด เช่นกระเพาะปัสสาวะมันมีน้ำอยู่แค่นี้ ก็อยู่แค่นี้เพราะมันไม่ทำงาน มันหยุดได้ เหมือนลมหายใจนี่ อานาปานสติลมหายใจ เราต้องหายใจตลอดเวลา ถ้าหายใจๆ พอเข้าอัปปนาสมาธินี่มันจะหยุดหมด มันหยุดหมดเลย แต่จริงๆ มันมี มันหายใจอยู่แต่มันไม่ทำงาน มันหายใจของมันอยู่ ข้างในมันละเอียดมาก นี่ย้อนกลับมาที่เลือดลม
โยม : เหมือนกับมันเป็นลมละเอียด
หลวงพ่อ : ใช่
โยม : ซ่านเข้าไปถึงแล้ว
หลวงพ่อ : ใช่ จริงๆ แล้วทางการแพทย์นี่หายใจทางจมูกใช่ไหม แต่ถ้าทางปฏิบัตินะ ผิวหนังก็หายใจได้นะ แต่ทีนี้มันหายใจได้อยู่แล้ว มันเข้าทางผิวหนังได้ ทุกอย่างเข้าได้หมด แต่ทีนี้ถ้ามันเข้ามาอย่างนี้ปั๊บ มันอยู่ที่จิต ถ้ามันเป็นที่สมาธิ สมาธิมันดี เวลาเราพูดธรรมะ (โทษนะ) เมื่อก่อนนี้เราจะพูดกระทบมากบอกว่า ไอ้พวกวิทยาศาสตร์กูดูถูกฉิบหาย นี่ไง ตรงนี้ไง
เพราะมันต้องพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ไง ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้แต่จิตมันละเอียดกว่า ทางวิทยาศาสตร์ไม่มีค่าปรมัตถ์ คือไม่มีค่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มี ๙๙.๙๙ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มี ในโลกนี้ไม่มี แต่ปรมัตถ์มี ถ้าไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะฆ่ากิเลสไม่ได้ ต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย มีจุดจุดศูนย์อะไรไม่ได้หมดทั้งสิ้น กิเลสอยู่ตรงนั้น กิเลสมันจะแวบอยู่ตรงนั้น
อันนี้มันถึงเป็นสันทิฏฐิโกไง มันถึงเป็นพระที่รู้จริง พระที่ปฏิบัติจริง เนี่ย มีหลักดี ทีนี้มีหลักดีมันก็เป็นความรู้สึกเฉพาะตน ใช่ไหม นี่เอามาอธิบาย ประสาเรา เหมือนกับทางไอน์สไตน์มันสร้างเครื่องมือไม่ได้สมัยนั้นมันก็ยังจินตนาการอยู่ ตอนนี้โลกมันเจริญขึ้นมามันก็พยายามสร้างเครื่องมือทดลอง นี่ก็เหมือนกัน เครื่องมือที่จะมาพิสูจน์มันอยู่ที่นี่เว้ย มันอยู่ที่คนทำ
แล้วมึงจะเอาเครื่องมืออะไรมาพิสูจน์ เครื่องมือพิสูจน์ก็พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วมรรค ๘ แล้วมรรค ๘ มึงจะไปสร้างที่ไหน สมาธิสร้างที่ไหน สติสร้างที่ไหน มันก็เลยเป็น เราพูดบ่อยว่าเป็นธรรมะส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นกับจิตของเรา แต่ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่ผ่านแล้ว กระบวนการผ่านแล้วก็สอนได้บอกได้แนะนำได้ แต่จะไปสร้างกระบวนการให้เป็นให้ลูกศิษย์ให้ทำตามอย่างนั้นไม่ได้ ต้องต่างคนต่างหาเอา
โยม : หลวงพ่อ แล้วอย่างมือใหม่ๆ อย่างนี้ แล้วหลวงพ่อจะแนะนำอย่างไรให้มันนั่งได้นานๆ
หลวงพ่อ : ต่อสู้ ขยัน
โยม : ก็ต้องขันติอย่างเดียวแหละพอเกิด
หลวงพ่อ : ใช่ ขันติก่อน ขันติเพื่อให้มันสงบไง ถ้าสงบปั๊บนะ พอจิตมันสงบ เหมือนเราน่ะ เรามีทุนมีเงินทุกอย่างพร้อม จะทำอะไรก็ได้ใช่ไหม ถ้าเอ็งไม่พร้อม เอ็งทำอะไรไปนะ ทำได้ ฟลุ๊กได้ ผลตอบได้
โยม : แต่มัน สงบมันก็อยู่ได้ช่วงแป๊บเดียว
หลวงพ่อ : เราพูดอย่างนี้เวลาเราพูดเรื่องนี้นะ ต่อไปความสงบของใจนี่ เราต้องการความสงบ แล้วเราจะรักษากันที่ความสงบให้ต่อเนื่อง เราบอกรักษาที่ผลนะ ที่วิบาก มันรักษาไม่ได้ จะรักษาสมาธินี่นะ เราทำอย่างไร? เหตุน่ะ กำหนดสติ พุทโธนั่นน่ะ ทำแต่ตรงนั่นน่ะ ไอ้สงบนี่นะ ถีบมันก็ไม่ไปจากเราหรอก ถีบมันทิ้งมันก็ไม่ไปจากเรา
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สงบเกิดจากอะไร? เกิดจากการนั่งสมาธิ ตรงนั้นน่ะ ถ้าทำตรงนั้นได้คล่องตัวนะ เราทำเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้น เขาเรียกชำนาญในวสี แต่นี่เราไม่ชำนาญในวสี นานๆ ฟลุ๊กๆ ได้ที ฟลุ๊กๆ ได้ที เพราะเราทำได้ช้า แล้วจิตนี่ นี่ไง ผลการภาวนา ถ้าจิตเรานี่นะ เราไม่ได้ทำต่อเนื่อง มันทำได้ทีหนึ่ง คราวหน้าทำยากขึ้นแล้ว แต่ถ้าเราทำต่อเนื่องๆๆ ตรงนี้มันจะรักษาได้มั่นคง
แล้ววิปัสสนาออกไปดูพิจารณาเวทนา สู้กันไปเลย สู้กันไป ถ้ามันปล่อย ปล่อยพั้บ! แล้วเดี๋ยวพอปล่อยมันคลายออกมา ถ้ามันสู้ไม่ไหว สู้ไม่ไหวกลับมาพุทโธ คนเดินสองเท้าไง สมถะวิปัสสนาจะไปคู่กัน แล้วมันจะต่อเนื่องๆ ถ้าเราขยันหมั่นเพียร ถึงที่สุดปั๊บขาดเลยแล้วจบแล้ว แต่ถ้าการกระทำ บ่อยครั้งๆ มัน ยิ่งทำไปนะ ยิ่งทำไปๆ ยิ่งมีอะไรตกค้างในใจ ยิ่งมีอะไร ต่อไปภาวนา มันต้องขยันหมั่นเพียร
โยม : แล้วอย่างเวลาเคยนั่งสมาธิต่อเนื่อง แล้วพอมือมันไปจับพวกเหล็กอะไรพวกนี้ แล้วมันช็อตเหมือนไฟฟ้าสถิต หลวงพ่อจะอธิบายได้อย่างไร?
หลวงพ่อ : ได้ ก็ดู ไอ้อย่างนี้นะมันเป็นที่บุคคลนะ ที่บุคคล ดูอย่างฝรั่ง เวลาจิตมันสงบมันงอเหล็ก เห็นไหม พลังจิต จิตนี้มีพลัง แล้วอย่างที่โยมพูดเมื่อกี้ ถ้าจิต มือเราไปจับเหล็ก ไฟฟ้าสถิตที่มันออกไป เพราะอย่างนี้ ความจริงไอ้ด๊อกเตอร์อะไรนี่นะ เวลาเขาพูดอธิบายธรรมะนี่ เราก็ค้านอยู่ เราไม่ค่อยเห็นด้วยหรอก เพราะเขาพูดเป็นวิทยาศาสตร์มากเกินไป
พอวิทยาศาสตร์มากเกินไปนี่มันไปติดเรื่องทางวิชาการ นี่เขาพูดอยู่คำหนึ่งที่เราเห็นด้วย ว่าคนจะเหาะได้ เขาพูดอย่างนี้ นี่ไง ไฟฟ้าสถิต เพราะคนจะเหาะได้ เขาให้อธิบายการเหาะของคนว่าเหาะได้อย่างไร? เขาบอกว่าขั้วบวกเจอขั้วบวกนี่มันจะผลักกัน ขั้วลบขั้วลบเจอกันมันจะผลักกัน จิตใจเรามันมีบวกลบ เห็นไหม ถ้าเราทำให้มันผลัก ผลักกับโลกนี่มันจะผลักออก มันผลักเราออกไปเลย อันนี้เขาอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์
แต่ไอ้นี่เวลาเราปฏิบัติกันตั้งโปรแกรมไว้ที่ใจจะเหาะแล้วเข้าสมาบัติไป พอพลังงานมันถึงปั๊บ ถึงตัวโปรแกรมนั้นปั๊บ มันไปเลย แต่ไอ้นี่มันก็เป็นฌานสมาบัติ
ทีนี้ไอ้ไฟฟ้าสถิตเราจะพูดอย่างนี้ ของอย่างนี้นี่นะมันเป็นจริตนิสัยของคน อย่างเช่นพระโมคคัลลานะพระสารีบุตรจะไม่เหมือนกัน ไอ้อย่างที่ไฟออกมาเป็นไฟฟ้าสถิตมันเป็นธาตุขันธ์ มันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของคนๆ นั้น แล้วไม่ใช่มีบ่อย เพราะขันธ์นั้นมันออกมานี่เราไม่รู้มันออกโดยธรรมชาติ เห็นไหม มันก็ออกมา มันเหมือนกับเขาเรียกว่า ธรรมเกิด เหมือนเรานั่งสมาธิ เรามีข้อสงสัยอะไรในหัวใจ พอจิตสงบปั๊บมันจะตอบโจทย์เลย เรียก ธรรมเกิด ทีนี้ไฟฟ้าสถิตมันมาเอง เห็นไหม
โยม : แล้วมันแก้อย่างไร?
หลวงพ่อ : ไม่ต้องแก้ มันหายไปเอง มันจะไม่มีตลอดไปหรอก
โยม : อย่างตอนนั้นผมเป็นแล้วก็ พอหยุดนั่งมันก็หาย
หลวงพ่อ : เออ มันก็หายไปเอง
โยม : แต่ถ้าไม่หยุดนั่ง จับอะไร คือจนไม่รู้จะทำอย่างไร ก็คือเลิกนั่งเลย
หลวงพ่อ : ไม่ต้องเลิกนั่ง กลับมาทำจิตให้สงบมันจะหายไปเอง เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะนี่พลังงานส่งออก ถ้าจิตมันหดตัวเข้ามามันจะไม่มี ตัวจิตนี่สำคัญมาก ทางการแพทย์นี่นะ ถ้าเราเครียด โรคภัยไข้เจ็บเกิดได้ทุกโรคเลย ถ้าเราขจัดความเครียด โรคภัยไม่มีเลย
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตมันส่งออก เหมือนกับพลังงานนี่มันจะมี ถ้าเรากำหนดจิตให้มันสงบ แล้วให้มันนิ่งตั้งสติไว้ให้ดีๆ มันหดเข้ามา เขาเรียกทวนกระแสไง ทวนกระแสกลับ คือพลังงานที่ส่งออก ความคิดเป็นพลังงานที่เร็วที่สุด เคลื่อนที่เร็วที่สุด เร็วกว่าแสง แล้วกำหนดสิ่งที่เร็วที่สุดให้มันคงที่ แต่นี่พอกำหนดแล้วมันออก อันนี้มันเป็นประสบการณ์จิตนะ เป็นประสบการณ์ แล้วตอนนี้ก็ไม่เป็นอีกแล้ว
โยม : ไม่เป็นแล้ว
หลวงพ่อ : มันเป็นไม่ได้อีกแล้วมันผ่านไปแล้ว เราถึงว่านี่มันเป็นอาการ ไอ้นี่มันเป็นวาสนาเป็นกรรมของแต่ละบุคคล ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะท่านจะสอนอย่างนี้ แล้วจะบอกถึงเหตุถึงผล เหมือนเราเป็นหมอ คนไข้มานี่โรคของแต่ละโรคไม่เหมือนกันหรอก ดูอย่างอหิวาต์ อหิวาต์เหมือนกันเลย แต่คนไข้มา เข้ามาไม่เหมือนกันนะ เพราะคนไข้มาบางคนอาการเพียบมาแล้ว บางคนก็ติดเชื้อ เห็นไหม เป็นโรคเดียวกัน
แต่ทำไมมาถึงหมอ อาการมันรุนแรงขนาดไหน? อาการมันเบาขนาดไหน? จะให้ยาไม่เหมือนกัน การปฏิบัติต้องเป็นแบบนี้ การปฏิบัติของคนมันไม่เหมือนกัน แล้วบอกเป็นสูตรสำเร็จมันเป็นไปไม่ได้ หลวงตาท่านถึงพูดบ่อยว่าต้องคนรู้จริง คนรู้จริง หมอจริงๆ ถึงจะวิเคราะห์วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง ถ้าเป็นหมอจำขึ้นมานี่ ก็ดูอาการมันก็คาดว่าหรือน่าจะเป็น
นี่ย้อนกลับมา ตรงที่โยมเป็นไง เราจะพูดคำนี้ออกมาเพื่อให้โยมไม่ต้องไปวิเคราะห์ ไม่ต้องไปสนใจกับใครทั้งสิ้น มันเป็นสมบัติส่วนตัวของโยม แล้วจะไม่มีใครเหมือนแล้วเราก็ไม่เหมือนใครด้วย ลายนิ้วมือนี่ไม่เหมือนใครเลย ลายนิ้วมือคนจะเหมือนกันเหรอ วาสนาของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน วาสนาการทำงานของจิตแต่ละคนเหมือนลายนิ้วมือ ไม่มีเหมือนกัน แล้วไม่ต้องไปหา
พอเราเป็นขึ้นมา ลายนิ้วมือเป็นอย่างนี้ แล้วไปหาคนอื่นว่ามันจะเป็นเหมือนกูหรือเปล่าวะ? เป็นเหมือนกูหรือเปล่าวะ? ไม่เจอหรอก แต่แก้ไขที่เรา แก้ไขที่เราทำที่เรา ถ้าตอนนั้นมันเป็นนะ เราตั้งสติไว้เลย ตั้งสติ พุทโธๆ ให้ชัดตั้งสติไว้ มันจะหดกลับเข้ามา มันจะหดกลับเข้ามาเอง ถ้ามันหดกลับเข้ามา เห็นไหม นี่ไง ทวนกระแส พลังงานอันนี้จะเข้าไปฆ่ากิเลส ทีนี้พอมันสงบเข้ามามันส่งออก มันผลักออก มันไม่สงบไม่ย้อนกลับ
ธรรมดาพวกนี้มันต้องย้อนกลับ แล้วสุขมากนะ ย้อนกลับนี่มันเหมือนกับข้างในมันอิ่มเต็ม เป็นสมาธินะ ว่างๆ ว่างๆ ไม่ใช่ ว่างๆ ไม่ใช่ พลังงาน ตัวความรู้สึกรู้ว่าว่าง ไอ้คำว่าจิตปล่อยหมดเลย ปล่อยหมดเลยบอกเลย มันว่างหมดเลย แต่ว่างอย่างนี้ว่างที่ตัวมัน ค่อยๆ ทำ นี่พูดถึงเหตุที่ผ่านมา เห็นไหม เหตุที่ผ่านมามันเป็นอย่างไร? เป็นอย่างไร? ถ้ามันมีครูบาอาจารย์มันก็จะแก้ไปเรื่อยๆ แล้วมันเป็นความจริงอย่างที่ว่า ของจริงทำยากฉิบหาย
(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)