อุบายปฏิบัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้ค่อยยังชั่ว พรุ่งนี้เป็นวันพระแล้วจะมีเทศน์ รอบเช้า และก็พระอุโบสถรอบบ่าย แล้วหัวค่ำก็เทศน์อีกรอบ และจะมีรอบมิดไนท์อีกหนึ่งรอบ เทศน์พรุ่งนี้ ๔ รอบ ๕ รอบ แล้วมันเจ็บระบมไปหมดเลย แล้วเวลามารยาททางสังคม ทำไมพระกรรมฐานถึง ไม่สำรวมเลย แล้วยิ่งเวลาเขาไปฟังเทศน์หลวงตานะเขาเอ็ดและว่า พระอะไรวะ ขากถุย ขากถุย แต่เวลาฟังหลวงตาพูดนะ เวลาท่านจะเทศน์ ท่านบอกว่า เสลดมันติดคอ มันพูดไม่ออกเสลดนี้เหนียวไปหมดเลย
เพราะท่านพูดมาตั้งแต่หนุ่มๆ จนเดี๋ยวนี้อายุ ๙๖ ปี ครูทำงานนะ ๖๐ ปีก็เกษียณแล้ว พระ ๙๖ ปีแล้วยังเทศน์อยู่วันหนึ่งหลายรอบ แต่เวลาคนไปฟังแล้วนะ พระอะไรวะขากถุย ขากถุย โอ๊ย ! ฟังแล้วสะเทือนใจ เราคิดกันแต่ประสาเรา ต้องมีมารยาทสังคม ต้องเรียบร้อย แต่ไม่คิดหรอกว่า ชีวิตมหาบุรุษคนหนึ่งนะ เวลาเทศน์ คำว่า มหาบุรุษนะ เวลาประพฤติปฏิบัติ กว่าจะผ่านกิเลส และเอาชนะตัวเองได้ มันไม่ใช่ของง่าย
แต่ก็ผ่านมาได้เห็นไหม ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกว่า ท่านเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ เวลาท่านเจ้าคุณจูมมีอะไรปั๊บ! ท่านจะนิมนต์หลวงตาไปเทศน์ เทศน์ให้คนที่มาทอดผ้าป่าฟัง แต่ถ้าวันไหนหลวงตาไม่ว่าง ท่านก็ไปนิมนต์หลวงปู่ฝั้นมาเทศน์แทน
ท่านเจ้าคุณจูมมาพูดกับหลวงตา บอกว่า โอ๊ย เรารำคาญน่าดูเลยนะ กว่าจะพูดแต่ละคำ แต่ละคำมันช้า แต่หลวงตาไหลพรืด พรืด คนฟังแล้วมันติดใจ มหาบุรุษหมายถึงว่า ถ้ามันออกมาจากใจ มันจะเป็นอย่างนั้น แล้วเราอยู่กับท่านมานะ เราอยู่กับหลวงตามา อยู่กับครูบาอาจารย์มา ถ้าท่านเป็นธรรม ดูสังเกตได้จากการมาวัดเรานี้จะเห็นว่าเราอยู่คนเดียว ทำไมพระเราไม่ออกมารับแขก ทำไมพระเราไม่ออกมาช่วยเหลืออะไรล่ะ
เราอยู่กับหลวงตามาเป็นอย่างนี้ ท่านบอกเลยนะเวลาอยู่กับท่านที่วัด ท่านบอกว่า ท่านพิจารณาดูแล้ว มันไม่มีใครทำหน้าที่แทนท่านได้ เหมือนกับเวลาไปโรงพยาบาล เวลาคนไข้เข้ามาในโรงพยาบาล คนที่จะตรวจคนไข้ได้ก็คือหมอ หน้าที่ของหมอคือ ตรวจคนไข้ วินิจฉัยโรค หน้าที่ของครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาพูดถึงธรรมะ กับอาการของจิต และความเป็นไป มันต้องเป็นคนที่ปฏิบัติมา มันถึงเป็นผู้ที่วินิจฉัยได้ ฉะนั้นถ้าคนไม่เป็น หมอก็บอกว่าให้ภารโรงมันช่วยตรวจไปก่อน ช่วยตรวจไปก่อน แต่ว่ามันเสียที่คนไข้ เพราะไม่รู้ว่าตรวจไปมันถูกหรือผิด
นี่ก็เหมือนกัน เวลาคุยธรรมะ พูดออกไปแล้วไม่รู้มันถูกหรือผิด ฉะนั้นเวลา ท่านบอกว่า ไม่มีใครทำหน้าที่แทนท่านได้ ท่านจะต้องเป็นผู้วินิจฉัยเอง ถ้าวันไหนรับแขกมากจะเหนื่อยมาก แล้วมีคนมาหาท่านบอกว่าให้กลับไปก่อน เราไม่ไหวแล้ว เรา แบบว่า มันจะป่วยเป็นไข้ ให้กลับไปก่อน แล้วพอท่านพูดบอกให้กลับไปก่อน ถ้าเราเป็นคนไข้ใช่ไหม เรามาจากที่ไกล เราก็จะบอกว่า อู้ฮู้ ! มาตั้งไกลทำไมรับแขกแค่นี้ก็ไม่ได้ รับคือแบบว่า ให้คุยกันซักหน่อยหนึ่ง ท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่าให้กลับไปก่อน เพราะอะไร เพราะเราไม่ไหวแล้ว แต่เขายังมีโอกาสกลับมาได้อีก
ถ้าเราไม่ไหวแล้ว แต่เราก็ยังทำหน้าที่ต่อไป ท่านพูดอย่างนี้เองนะ บอกว่าอายุขัยมันก็จะสั้นลง ผลประโยชน์ของโลกมันก็จะน้อยลง แต่คำว่ากลับไปแล้ว มันกลับมาใหม่ได้ แต่คนเราถ้าตายแล้วมันฟื้นไม่ได้นะ ทีนี้คนไม่คิดตรงนี้ คนไม่คิดว่า ถ้าท่านสมบุกสมบันเกินไป อายุขัยมันก็สั้นลง แต่ถ้าเรากลับไปก่อน เรายังมีโอกาสมาได้ใช่ไหม ถ้าคิดแบบเราว่า โอ๊ย ! มาตั้งไกลใช่ไหม คิดแต่มุมมองของตัวเอง โอ๊ยมาตั้ง แหม เป็นพันๆ กิโล แล้วทำไมรับหน่อยไม่ได้
แต่สำหรับท่าน ท่านรับมาเยอะแล้ว นี่พูดถึงกิริยามารยาทภายนอก แต่ถ้าเป็นประสาเรานะ ใครจะพูดดีขนาดไหนก็แล้วแต่นะ ถ้าไม่มีเนื้อหาสาระเราฟังแล้ว เราว่ามันเสียเวลา แล้วอย่างนี้ พวกเรามันเสียค่าใช้จ่าย ดูสิ เทศน์มาแล้วอัดเทปไว้ อัดซีดีไว้ แล้วเราแจกไป เสียค่าไฟ เสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เสียไปหมดเลย แล้วเนื้อหาสาระมีไหม แต่มารยาทสังคมสวยงามมาก แต่เนื้อหาสาระไม่มีอะไรเลย
แต่ถ้าพูดถึงท่านนะเพราะอะไร เพราะท่านพยายามทำ ถ้าคนคิดเป็น ท่านพูดบ่อย หลวงตาท่านจะพูดบ่อย ท่านบอกว่า ไอ้คนแก่ทางโลกเขามีอย่างนี้ ยิ่งของเก่าจะไม่ชอบ แต่เวลาธรรมะเห็นไหม ยิ่งแก่ ยิ่งใช้งานดี นี้คือ ประสบการณ์ไง อันนี้พูดถึงกิริยามารยาท แล้วเราก็คิดว่ามันจะต้องมี เราถึงพูดไว้ไม่อย่างนั้นคนเขาจะมอง ถ้าคนมาใหม่ไม่เข้าใจนะ โอ้โฮ ! เขาร่ำลือว่าอาจารย์เป็นคนดี มาแล้วนักเลงนี่หว่า ไม่เห็นพระอยู่ไหนเลย เห็นแต่นักเลง
มันไม่ใช่ มันเป็นความบริสุทธิ์ใจ มันออกมาแบบสุภาพบุรุษที่พูดจริง ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้นะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ให้ลูบหน้าปะจมูก คนดีต้องชื่นชมว่าคนดี คนไม่ดีต้องบอกว่าคนไม่ดี คนดีควรยกย่อง ต้องยกย่องตามความเป็นจริง คนไหนไม่ดี ต้องกดไว้เพื่อทำสังคมให้ดีงาม แต่พอมาเป็นมารยาทสังคมแล้ว ทำอะไรไม่ได้เลย
ฉะนั้น ๑ เราจะมีนิสัยเป็นอย่างนี้ ๒ อ่านพระไตรปิฎกมาทุกข้อ พระไตรปิฎก เวลาเราอ่านไปนะ จุดสรุปของพระไตรปิฎก ควรข่มคนที่ควรข่ม ก็คือ ว่าควรส่งเสริมคนที่ควรส่งเสริม ในการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธ ที่ไม่ได้ผลเพราะการปฏิบัติไม่เสมอต้นเสมอปลาย แต่ในพระไตรปิฎกเขียนว่า ไม่สม่ำเสมอ
การปฏิบัติของพวกเรา ที่มันลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ เพราะการปฏิบัติของเรา ไม่เสมอต้นเสมอปลาย ถ้าคนเสมอต้นเสมอปลาย มันก็เข้ากับธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้ามีคน ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม อย่างมาก ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี แต่อย่างพวกเราเห็นไหม ไปอ่านประวัติดูสิ ทุกคนบวชมาตั้งแต่เด็กๆ ปฏิบัติมา ๔๐ปี ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้อะไรเลย ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี
แต่ถ้าย้อนกลับมา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วความเสมอต้นเสมอปลาย แต่ไอ้นี่มันดีอยู่พักเดียว เวลาตั้งใจจริงแล้วนะ หักโหมอยู่สักพักหนึ่ง เวลาถอดใจแล้ว ตีแปลงเลย กรรมฐานม้วนเสื่อ แต่ถ้าคนมีวาสนา มันจะยืนระยะ ยืนระยะนะ ยืนให้ได้ แล้วทำไปเรื่อยๆ เว้นระยะ เพราะการกระทำทุกคน มันจะมีถูกมีผิด การประพฤติปฏิบัติจะให้ทุกคนถูกหมดเลยไม่มี
แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีแรก ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกแสวงหาอยู่ ๖ ปีนั้นผิดหมด ถ้าถูกมันต้องเข้าทาง ไม่เข้าทางเลย ขนาดอาฬารดาบส รับประกันเลย ตอนท่านไปได้สมาบัติ อาฬารดาบสบอกว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เสมอเรา เห็นไหม อย่างพวกเราไม่ต้องให้ใครการันตีหรอก ตัวเราเองก็จะยกให้ตัวเอง แบบว่าคูณสองด้วย
แต่มีคนการันตีนะ อาฬารดาบส บอกเลยว่าเสมอเรา เจ้าชายสิทธัตถะบอก ไม่เอา ไม่เอาเพราะอะไร เพราะมันเป็นณานสมาบัติ แล้วออกมาค้นคว้าเอง ตั้งแต่คืนเพ็ญเดือน ๖ เห็นไหม ถ้าเรานั่งคืนนี้ไม่ตรัสรู้ เราจะไม่ลุกจากที่นั่งเลย แล้วย้อนกลับมาที่อานาปานสติ เราจะบอกว่าผิดหมดเลย เพราะอะไรรู้ไหม ๖ ปีนั้นผิดหมดเลย เพราะมันยังไม่มีของจริง ความจริงยังไม่มีแล้วมันจะถูกได้อย่างไร ความจริงมันเกิดที่ไหน ความจริงมันเกิดจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในเมื่อความจริงยังไม่มี คนที่ทำถูกมันจะมีไหม ในเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ธรรมะยังไม่มี แล้วคนที่ปฏิบัติอยู่มันจะถูกได้อย่างไร เพราะความจริงยังไม่มี ขณะที่พระพุทธเจ้าแสวงหาอยู่นั้น เพราะใจก็โดนกิเลสปกคลุมอยู่ มันไม่ใช่ความจริง แสวงหาอยู่ ๖ ปีก็ยังผิด แล้วเราปฏิบัติจะไม่ผิดเลยหรือ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันจะมีผิดขนาดไหนแล้ว เราก็แก้ไขของเราไป เวลาจะแก้ไขได้
ทีนี้ย้อนกลับมาที่เรื่องการปฏิบัติของเรา เวลาเราปฏิบัตินะ ทำไมปฏิบัติไปแล้ว มันควบคุมตัวเองไม่ได้ เราต้องทำจริงแล้วเลือกค้นคว้า เลือกหาช่องทาง เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้อง คำว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เห็นไหม แล้วก็ ธรรมารมณ์ ธรรมานุสติ
ธรรม ธรรมคืออะไร เราไปมองธรรมะเห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติ ลมพัดใบไม้ไหวเป็นธรรมชาติ ถ้าใจคนมีธรรมเป็นธรรมชาติ ธรรมารมณ์ก็คือ ความรู้สึก ความคิด เพราะตัวใจเป็นพลังงานเฉยๆ แล้วเมื่อมันคิด มันจะกระทบอะไร ความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ ความรู้สึกดีไม่ดี นั่นคือสภาวธรรม ลมพัดเห็นไหม ดูสิ แดดออกเห็นไหม มีแผงโซล่าเซลล์มารับแดด เห็นไหม
ความคิดที่มันเจ็บปวด ธรรมารมณ์คือ ธรรมะ ธรรมะคือ สิ่งที่มากระทบ แล้วมันเกิด ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก นั่นคือ การจับความคิด แล้วเรามีปัญญาไล่ไป ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกกระทบเห็นไหม มโน มิงปิ นิพพินทะติ มโนคือ ตัวใจในอาทิตย์ มโน มิงปิ นิพพินทะติ มโน น่าเบื่อหน่ายในหัวใจ ในพลังงาน มโนสัมผัส มโนสัมผัสกับขันธ์ กับความรู้สึกมาสัมผัสกัน
มโน สัมผัสเสปิ นิพพินทะติ ผลเกิดจากความสัมผัส ผลเกิดจากอารมณ์ นิพพินทะติ คือความน่าเบื่อหน่าย ถ้ามาไล่ไปมันจะเห็น สภาวธรรม สภาวะที่ธรรมกระทบ ถ้ามันเกิดขึ้นมานี้คือ ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วเวลาทำขึ้นไป เวลาที่ว่า ทำไมฟุ้งซ่าน คำว่าฟุ้งซ่านนะ มันต้องจับมาแล้วเราจับที่หัวใจ มันเหมือนกับสสาร แล้วเอามาวิเคราะห์กัน แต่พวกเราวิเคราะห์ไม่เป็น
จับเอาความรู้สึก เอาหัวใจที่เป็นพลังงานนี้ เป็นสสารมาวิเคราะห์เลย ทำไมบางคนเชื่อคนง่าย ทำไมบางคนอารมณ์ขี้โกรธ ทำไมบางคนโลเล เราจะบอกว่า คุณภาพของจิตเรามันเกิดมันตาย พอมันเกิดมันตาย เหมือนกับเราเป็นพ่อแม่ เรามีลูก ๓ คน ลูก ๓ คนนี้ความคิดไม่เหมือนกันซักคนหนึ่ง เพราะอะไร เพราะว่าจิตนี้เป็นของเขา
ทีนี้พอเราบอกว่าเราฟุ้งซ่านใช่ไหม เราฟุ้งซ่านแล้วมันเป็นความรู้สึกของเราคนเดียวนะ ถ้าไปปรึกษาเพื่อน ปรึกษาใครก็แล้วแต่ เขาจะไม่มีความรู้สึกเหมือนเรา บางที อารมณ์ที่เกิดขึ้นมันอาจจะเหมือนกันได้ แต่ทุกคนจะไม่มีความรู้สึกเหมือนกัน ทีนี้พอมีความรู้สึกเหมือนกัน กับคนที่ไม่มีความรู้สึกเหมือนกัน แล้วสิ่งที่เป็นเหมือนกับเราเป็นโรค แต่ถ้าเราเป็นโรคคนละโรค แล้วเราจะเอายาชนิดเดียวกันรักษาหายไหม โรคใครก็โรคมัน
ทีนี้เวลาเราปฏิบัติ ถ้าเราเป็นคนฟุ้งซ่าน เรามีความคิดเกิดขึ้น เราต้องตั้งสติ แล้วใช้ปัญญาคิด ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธไม่ค่อยได้ พุทโธนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกศรัทธาจริต ศรัทธาจริตมันจะมีเป้าหมาย มันมีหลักมีเกณฑ์อยู่ในเป้าหมายนั้นคือว่า ความคิดมันจะไม่ฟุ้งซ่าน มันจะไม่ค่อยแตก ถ้ามันเชื่อ แล้ว พุทโธ พุทโธ มันสงบได้ง่าย แต่ว่าถ้าเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นของพวกปัญญาชน พวกที่มีปัญญามาก เวลาพุทโธ จิตใต้สำนึกมันจะค้าน และบอกว่าไม่มีเหตุผล มันจะหาเหตุผลตอบสนองมัน ถ้าจะหาเหตุผลตอบสนอง มันต้องหาเหตุผล คือปัญญา ธรรมารมณ์
ธรรมะ คือ อะไร ธรรมะมันอยู่ที่ไหน สิ่งที่เกิดขึ้นพระพุทธเจ้าท่านสอนเป็นสัจจะความจริงเป็นไปได้ไหม เราใช้ปัญญาไล่ความคิด แล้วสติตามไป มันจะมีเหตุมีผล เพราะโดยสัจจะความจริง เป็นความคิดที่มากระตุ้นเรา หรือถ้าเรามีอารมณ์ความรู้สึก อย่างเช่น เราไปเห็นสิ่งใดที่มันถูกใจ มันจะคิดรุนแรงมาก แต่สิ่งใดบางครั้งมันก็คิดไม่รุนแรง ถ้ามีสติตามไปมันจะเห็นเหตุเห็นผล
เห็นเหตุเห็นผลหมายถึงว่าความคิดทำลายเราเอง ส่วนใหญ่เราจะบอกว่า ที่เราอยู่กันนี้ มีแต่คนทำร้ายเรา แต่ไม่มีใครคิดเลยนะ ความคิดเราทำร้ายเราเอง เพราะเราคิดผิด ทีนี้เอาความคิดที่ถูกเข้าไป เพราะความคิดมันเกิดดับ แล้วนี่จะเข้านามรูปด้วย ความคิดมันเกิดดับ แต่ตัวจิตไม่ดับนะ
ถ้าตัวจิตดับเราก็ตาย ถ้าจิตยังมีอยู่จิตไม่มีดับ แต่ความคิดนี้เกิดดับ แต่ตัวจิตไม่เคยดับ ถ้าตัวจิตดับคือ คนตาย เรายังไม่ตาย มันจะดับไปได้อย่างไร ไม่มีดับหรอก แต่มันไปดับที่ความคิด ทีนี้ถ้าเรามีสติตามไปเห็นไหม มันเกิดดับ ความคิดมันเกิด แล้วมันจะรุนแรง มันเห็นโทษของมัน ถ้าไม่เห็นโทษนะ พอคิดได้รอบหนึ่งใช่ไหม มันก็เป็นรสชาติที่เข้มข้น และมันก็ให้ผลกับหัวใจเจ็บแสบมาก และพอมาใช้กาลเวลาให้มันสมาน มันก็ดีขึ้น พอดีขึ้นมานะประเดี๋ยวเวลาผ่านไปก็คิดใหม่อีกครั้ง เห็นไหม กาลเวลาสมานได้ แต่ข้อมูลมันยังมีอยู่ มันคิดซ้ำคิดซาก แล้วมันจะเจ็บจากวันนี้ไปจนวันตาย
สิ่งใดที่ฝังใจ มันจะเจ็บตั้งแต่วันที่มันรู้จนวันตาย มันจะคิดอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าปัญญามันเข้ามาเห็น มันจะเห็นโทษของมันและจะถามตัวเอง เพราะเราเคยเป็นมาก่อนแล้ว นี้คือ ธรรมะ ไม่ใช่คำหยาบเวลามันทันตามความคิด มันจะถามตัวเองว่า มึงบ้าหรือ เวลาที่มันจะคิดนะ มึงบ้าหรือ เพราะฉะนั้นมันไม่กล้าคิด มันหยุดเลยล่ะ เวลามันจะคิด มันจะด่าตัวเอง แล้วเราก็จะไปเห็นโทษใช่ไหมว่าคนอื่นทำร้ายเรา ความจริงก็คือ เราทำร้ายตัวเราเอง
แต่นั่นเป็นกิเลส ที่เป็นความคิดที่ดีนะ วิชชา- อวิชชา คือความคิดของกิเลส วิชชา คือความคิดของธรรม ธรรมะพระพุทธเจ้า คิดถูกกับคิดผิด มันจะลบล้างกัน แล้วผลที่เกิดขึ้นมาคือ จะปล่อยเห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วมันก็จะเห็นถูกเห็นผิด บ่อยครั้งเข้าแล้วจริงๆ พอมันคล่องตัว ใหม่ๆ มันจะทำได้แบบเคอะๆ เขินๆ ทำด้วยความไม่สะดวก แต่พอเราทำบ่อยครั้งเข้า มันก็จะคล่องตัว พอคล่องตัวขึ้นมา มันจะเริ่มคิดได้ ฮ้า ! หยุดเลยนะ มีสติขนาดว่าทันความคิด แล้วจะไม่คิดอีกเลย
อย่างนี้บ่อยครั้งเข้า มันจะเป็นสมาธิได้ แล้วเป็นสมาธิจริงๆ เป็นสมาธิที่มีเหตุมีผล ควบคุมได้ นี่เป็นสมาธินะ เราจะพูดบ่อยเลยว่า โลกุตตรธรรม ธรรมะที่มันเกิดขึ้นมา เราบริหารจัดการได้ จะบอกว่าเกิดจากเราก็คือ เกิดจากกิเลสเราบริหารจัดการคือ ความคล่องตัว พอมันมีความคล่องตัว ปัญญามันจะหมุนบ่อยครั้งเข้า มันก็จะปล่อยๆ แล้วยิ่งปล่อยเท่าไหร่ มันเหมือนกับงานที่เราทำแล้วชำนาญขึ้นเรื่อยๆ
แล้วพอมันจะทำใหม่ ธรรมจักรเกิดขึ้นแล้ว จักรคือ ธรรมจักร ธรรมจักรนี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาสังกัปโป งานชอบ เพียรชอบ เห็นชอบ ธรรมจักร คือมรรค ๘ ที่มันหมุนในหัวใจเรา นั่นคือธรรมจักร มันจะหมุน มันจะเคลื่อนตัวออก แล้วมันจะเข้ามาชำระล้างกิเลสจากภายใน ถ้าปัญญามันเกิด มันจะเป็นขั้นเป็นตอนไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าเวลามีคนมาถามถึงเรื่องปัญญา ปั๊บ ! คำพูดมันจะบอกเลยว่า คนนี้อยู่ในสเต็ปใดของการปฏิบัติ
ว่างๆ ว่างๆ แสดงว่ายังไม่เคยทำอะไรเลย ถ้าคนเคยทำอะไรแล้วมันจะเริ่มสงบเข้ามา สงบเข้ามา แล้วหัดออกใช้ปัญญา ถ้าออกใช้ปัญญามันก็ฟังออกอีก ปัญญาที่ว่าก็จะเป็นโลกียปัญญาคือ ปัญญาอบรมสมาธิ เป็นการใช้ปัญญา ปัญญาจะหาเหตุและผล ให้จิตมันปล่อย แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา เมื่อจิตเราปล่อยแล้ว มันสะอาด แล้วมันจะไปเห็นกาย เวทนา จิตธรรม โดยจิตเห็น จะไม่พูดแบบนั้น
เหมือนคนที่มาครั้งแรก ใครมาที่นี่ครั้งแรกนะ จะพูดเลย โอ้โฮ ! หลงไปที่นู่น แล้วก็ย้อนกลับมา ถ้าคนมาที่นี่บ่อยครั้งก็จะไม่หลงนะ คนที่มาบ่อยครั้งยิ่งมาครั้ง ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ๓ เห็นไหม พอยิ่งสนิทคุ้นเคยนะ คนที่สนิทคุ้นเคยกับเราเขาจะพูดอย่างนี้ ถ้าวันไหนหลวงพ่อเรียบร้อย พูดนิ่มๆ นะไม่มันส์เลย ถ้าวันไหนโมโห แล้วรุนแรงนะ วันนั้นมันส์น่าดูเลย
มันจะกลับกัน อย่างเมื่อกี้ที่พูดเริ่มต้น ว่าทำไมกิริยามารยาทไม่สวยงาม คนที่มาที่นี่บ่อยๆ นะ ถ้าวันไหนเราออกเต็มที่เลยนะ เขาจะพอใจมาก ถ้าวันไหนนุ่มนิ่ม เขาบอกว่าเสียเวลา มันจะกลับกันนะ คำพูดที่มีคนมาถาม มันจะบอกหมด ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน เพียงแต่ว่าเราเป็นอาจารย์ เราจะไม่พูดออกไป แต่เราจะรู้วุฒิภาวะว่าคนนี้อยู่ระดับไหน แล้วถ้าจะพูดให้มันเสริมต่อ เหมือนเราให้ยา พอยาหมดชุดนี้แล้ว เราควรจะต่อยาอย่างไรต่อไป เขาถึงจะพัฒนาของเขาเองได้
แล้วพอเวลาถึงที่สุด หรือจิตมันพัฒนาไปแล้ว พอถึงตอนนั้นนะ เราจะกราบด้วยหัวใจ ดูอย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านถึงธรรมนะ ท่านจะกราบพระพุทธเจ้าด้วยหัวใจ การกราบด้วยหัวใจนี้ มันจะนุ่มนวล และดูสวยงามมาก แต่ถ้าพวกเราใหม่ๆ ไป เห็นไหม กราบเป็นพิธี ไปถึงก็กราบปั๊บๆ ๆ มันเหมือนกับหุ่นยนต์ เพราะมันไม่มีหัวใจบวกเข้ามาด้วย แต่ถ้ามีธรรมมันจะมีหัวใจบวกเข้ามาด้วย มันกราบจากความซาบซึ้ง กราบอย่างเห็นคุณ เพราะมันลึกลับ มันมหัศจรรย์มาก
แล้วถ้าไม่มีใครบอก ไม่มีใครชี้ทาง เราจะทำได้อย่างไร เราเห็นอะไรมานะ พระพุทธเจ้าผ่านไปแล้ว ครูบาอาจารย์ที่รู้จริง ท่านผ่านไปแล้ว ฉะนั้นพอเรายิ่งไปรู้ไปเห็นนะ มันจะกราบจากหัวใจบวก และจะกราบด้วยความซาบซึ้ง แต่ถ้าเรามองในด้านทางโลก ก็อย่างที่ว่าล่ะ ถ้าใครมาเก่าๆ แล้วจะบอกว่า ถ้าวันไหนไม่แรง จะไม่มันส์ คำว่ามันส์นะ เห็นไหม หลวงตาท่านพูด เวลาคุยธรรมะกันเห็นไหม พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู แต่หัวใจมันด้าน พอหัวใจมันด้านแล้ว มันก็หน้าด้าน พอมันหน้าด้านแล้วมันก็ทำผิด
แต่ถ้ามันมาจากใจ แล้วใจไม่ด้าน กุศล อกุศลเกิดจากหัวใจทั้งหมด คนทำดีทำชั่ว ถ้าใจไม่คิด จะเอาอะไรไปทำ คิดชั่ว มันก็เอามือนี้แหละไปทำชั่ว คิดดี มันก็เอามือนี้ไปทำดี ถ้าหัวใจมันดี หัวใจไม่ด้าน มันจะเสียหายได้อย่างไร ทีนี้พูดถึงจริต เวลาบอกว่า ทำไมมันฟุ้งซ่าน ถ้าเราฟุ้งซ่านนะ เวลาคนโทสจริต เขาว่าต้องให้แผ่เมตตา เห็นไหม กามวิตกให้คิดถึงอสุภะ โทสจริตให้แผ่เมตตา
อย่างพวกเราที่มีโทสจริต ให้เราตั้งสติ แล้วเราแก้ไขไป แล้วอย่างที่ว่าปฏิบัติอย่างไร ให้ดูผลลัพธ์ คนที่ปฏิบัตินะ ให้ดูผลลัพธ์ ถ้าเราเอาพุทโธๆ ๆ เอาจริงเอาจังเลย มันได้ไหม ถ้าไม่ได้เปลี่ยน แล้วการปฏิบัติทุกวิธีการเราอย่าปฏิเสธ เราพูดบ่อยมาก พระพุทธเจ้าท่านเปิดกรรมฐาน ๔๐ ห้อง คือเราเข้าหาความสงบได้ ๔๐ วิธีการ แล้วจะมีพระองค์ใดองค์หนึ่งบอกว่า อย่างอื่นไม่ดี ของฉันดีที่สุด ของเราดีที่สุด ไม่ถูกเพราะพระพุทธเจ้าพระองค์ท่านมีปัญญาดีกว่าเราทุกๆ คน พระพุทธเจ้าจะมีปัญญามากกว่าพวกเรามาก แล้วก็เปิดไว้ ๔๐ ห้อง
ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติโดยที่ว่าใช้พุทโธก็ได้ ใช้ลมหายใจเข้าออกก็ได้ เห็นไหม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ แต่คนที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งทุกวัน มันจะชินชา แล้วมันก็จะเบื่อหน่าย อาการที่จะปฏิบัติทางอื่นหรือ วิธีการปฏิบัติทางอื่น เราเอาไว้ใช้เวลาเราเปลี่ยนแปลงคือ ว่าเราเปลี่ยนแปลง
เปลี่ยนแปลงหมายถึงว่า ปฏิบัติแล้ว พอมันคุ้นเคย กิเลสมันก็จะมาหลอก เราก็เปลี่ยน เขาเรียกว่า อุบาย การปฏิบัติต้องมีอุบายนะ เราทำอะไรซ้ำซาก ดูสิ คนที่เขาเป็นพวกทุจริตเวลาเขาเดินทาง เขาไปทางหนึ่ง แต่เขาจะไม่กลับทางเดิมนะ เขาจะกลับทางใหม่ เพราะกลับทางเดิมเขากลัวคนดักทำร้ายเขา
แต่พอเราทำซ้ำซาก กิเลสมันดักรอทำร้ายเรา แล้วพอเราแบบว่ามันชินชา มันไม่ดูดดื่ม การปฏิบัติมันจะไม่ได้ผล ฉะนั้นเราจะมีอุบายเปลี่ยนแปลงบ้าง วิธีที่เราจะเปลี่ยนแปลง คำว่า อุบาย อุบายที่ว่าเปลี่ยนวิธีการบ้าง เหมือนกับไม่ให้มันจืด ไม่ให้มันชินชา เปลี่ยนอย่างนั้นด้วย จึงบอกว่า สิ่งนี้เราเอามาไว้เป็นการปฏิบัติของเรา เอาไว้เป็นทางออกของเรา เวลาปฏิบัติแล้วมันคุ้นชิน มันไม่อยากทำ นี้คือ อุบาย
การปฏิบัติเมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นมาเราจะรู้เอง เหมือนกินข้าวเมื่อกี้นี้ ใครกินอะไรลงไปในท้อง ก็รู้ว่าเรากินอะไรลงไป ในการปฏิบัติ แล้วจิตมันดีขึ้นไหม ถ้ามันไม่ดีขึ้น เราย้อนกลับมา แล้วตรงนี้พูดไว้เลยนะ ส่วนใหญ่แล้วจะพูดให้เห็น เปรียบเทียบให้คนปฏิบัติแล้ว ไม่ต้องกังวล เวลาผู้ที่ปฏิบัติใหม่จะมาหาทุกคนเลย หลวงพ่อ ที่นี่กินข้าววันละกี่หน บอกหนเดียว โอ๊ย ! อย่างนี้เป็นโรคกระเพาะ เราจะบอกว่า ถ้าเป็นโรคกระเพาะ ให้ไปโรงพยาบาลนะ ไปดูสิ คนที่เป็นโรคกระเพาะ เป็นนักบวชหรือเป็นคฤหัสถ์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคฤหัสถ์หมดเลย นักบวชที่เป็นโรคกระเพาะนี้มีเท่าไหร่ เป็นโรคกระเพาะเพราะอะไร เพราะโรคเครียด ไม่ใช่เป็นโรคกระเพาะเพราะไม่ได้กินข้าว แต่เพราะเราคิดกันไปเองว่า ถ้ากินมื้อเดียว เดี๋ยวเป็นโรคกระเพาะ อันนี้อย่างที่ ๑
๒ ก็แบบว่า มื้อเดียวอะไรไม่ได้ ทุกอย่างอะไรไม่ได้ แล้วตอนนี้ย้อนกลับนะ มีลูกศิษย์จะมาหาที่นี่บ่อย แล้วเวลาปฏิบัติ เขาบอกว่าปฏิบัติมานานแล้ว ไม่เห็นได้อะไรเลย ปฏิบัติแล้วมันไม่ค่อยได้ เราบอกว่า เวลาพวกเราปฏิบัติกันนะ เราคิดถึงผลทั้งนั้นเลย เราจะเอาแต่ผลของมัน ผลของการปฏิบัติ แต่เราไม่เคยคิดกันเลยว่า ผลนี้มันมาแต่เหตุ เพราะเราไม่คิดถึงว่า เราทำเหตุถูกหรือเหตุผิดกันเลย เราก็ถามกลับว่า วันหนึ่งกินข้าวกี่หน ๓ หน ๔ หน กินข้าวเย็นแล้วยังกินข้าวกลางคืนอีกนะ มีข้าวต้มอีก แล้วนั่งภาวนา
เราบอกเลยนะ ในกระเพาะอาหาร มันมีอาหาร เวลาเราไปนั่งนะ กระเพาะอาหารมันก็จะทำงาน เราก็อยากจะมีความสงบเห็นไหม เราบอกว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกให้ถือศีล ๘ ล่ะ ศีล ๘ เขาไม่กินข้าวเย็นนะ เพราะอะไร เรากินมื้อเช้า มื้อเที่ยงใช่ไหม แล้วข้าวเย็นเราไม่กินเพราะอะไร เพราะเวลาเราไปปฏิบัติ ธาตุขันธ์มันไปกดทับ พอพูดอย่างนี้ไปปั๊บนะ เขาก็เห็นด้วย พอเห็นด้วยนะ เขาก็เริ่มไม่กินข้าวเย็น พยายามหักห้าม และปฏิบัติ จะกลับมาบอกทุกคนเลยนะ หลวงพ่อ ดีขึ้นเยอะมากเลย ๑ ไม่ง่วงนอน ๒ ไม่นั่งหลับ
ในเรื่องของตรงนี้เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ เราต้องกินข้าว ๓ มื้อ ๔ มื้อ พอเราขาดมื้อใดไป ๑ อาหารนี้นะทำไมพระฉันมื้อเดียว บางคนฉันมื้อเดียวอ้วนตุ้บเลย ฉันมื้อเดียวกับกิน ๓ มื้อนะ ฉันมื้อเดียวก็กินมากหน่อยนะ เพราะว่ามันก็กระเพาะอาหารเหมือนกัน เรากิน ๓ มื้อ เรากินเหมือนแมวดมๆ เอาวันหนึ่ง ๓ มื้อ ๔ มื้อ มันกินด้วยอุปาทาน
ถ้าเรากินข้าวมื้อเดียวหรือกินน้อยลงนะ ธาตุขันธ์ไม่กดทับ เวลานั่งภาวนาง่ายขึ้น แต่พูดถึงธรรมดาหิวไหม มันหิวโดยอุปาทาน จริงๆ มันไม่หิวหรอก มันหิวโดยอุปาทาน การกินที่มื้อ ๒ มื้อ มันอยู่ที่อุปาทานนะ เราคุ้นเคยเอง ความเคยชินของเรา กินข้าววันละ ๓ มื้อ พอมาตัดมื้อใดมื้อหนึ่งขึ้นมา มันเริ่มกังวลละ
แต่ความกังวลนั่นคือ การปฏิบัติดีนะ ถ้าเราฝืนกับมันไปได้ แต่เวลาครูบาอาจารย์บอกว่า เวลาอดอาหารไปนะ หิวไหม หิว อดอาหารแล้วไม่หิวโกหก แต่หิวเห็นไหม หิวมันเป็นเรื่องของกระเพาะ แล้วเป็นความรู้สึกที่รับรู้ว่าหิว แต่เวลาเราภาวนาไป พอจิตมันสงบนะ หายหมดเลย รวมหมดเลย
เราจะพูดว่า การปฏิบัติ เราหวังแต่ผลกัน แต่เราไม่ได้ไปดูที่เหตุ ดูที่การกระทำ ดูที่การตั้งสติ เพราะเราเคยปฏิบัติมา ตอนที่เราปฏิบัติรุนแรงนะ เวลาวันไหนถ้ามีการปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล เราจะย้อนดูตัวเอง ย้อนไปวันนั้น เช่น เราเอาตั้งแต่ตื่นนอน ตื่นนอนคิดเรื่องอะไร บิณฑบาตไปเจออะไรบ้าง กลับมาถึงแล้วจัดอะไรใส่บาตร แล้วฉันอะไรเป็นคำแรก ฉันวันนี้ ฉันอะไรไปกี่คำ ฉันเสร็จแล้วล้างบาตร
ตั้งแต่ตื่นนอนมาจนปฏิบัติ มันมีอะไรกระทบเราบ้าง คิดอย่างนั้นเลยนะ แล้ว ทำไมมันถึงไม่ลง ไม่ลงปั๊บ เราปฏิบัติมีอยู่พรรษาหนึ่ง กินข้าววันละคำ คำเดียว เราเป็นคนทำมาเอง อยู่อีสานข้าวเหนียวปั้นไว้เป็นคำข้าว คำเดียวนะแล้วเอาไว้ที่ก้นบาตร พอไปอยู่บ้านนอก มันก็บิณฑบาตได้อะไรมา เขาก็แกงโฮะใส่รวมกันหมด แล้วก็เอาน้ำหยอดใส่ข้าวเหนียว แล้วก็เลื่อนอาหารเลยไป พอพระเขาเริ่มฉัน เราก็ข้าวคำเดียว ทำอยู่อย่างนี้ ๓-๔ เดือน
เดินบิณฑบาตไปเดินแทบไม่ไหว เดินไปเซไป แต่ใจอย่างที่หลวงตาท่านว่า เวลาไปบิณฑบาตนะ มันจะหกล้มคลุกคลาน แต่หัวใจมันเหมือนกับติดปีกบิน พอมันลงทุนลงแรงไปแล้ว คือสิ่งที่เราบอกโยมนะ เราได้ทดสอบมาหมดแล้ว เราได้ทำมาแล้ว หิวไหม หิว แต่หัวใจชื่นบานกับร่างกายหิว มันคุ้มค่า มันเกินค่าอีก
จนขณะนี้ เมื่อเราบวชพรรษาแรกนะ เราบวชแล้วเราไม่นอนเลย พอไม่นอน จนมันเป็นปกติ เราคิดในใจนะ ว่าชาตินี้เราจะไม่นอนตลอดชีวิต ตอนนั้นคิดอย่างนั้นจริงๆ เพราะไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด ท่านหักเราต่อหน้าโยมอย่างนี้ เวลาโยมมา ท่านบอกว่า พระที่มันถือธุดงค์มันเลิกแล้ว เราพูดไม่ออกเลย เราก็เลยจำเป็นต้องเลิก ไม่อย่างนั้นนะเพราะมันไม่นอนจนมันอยู่ตัว
พอเวลาที่เราไม่เคยทำ คนไม่นอนอยู่ได้ไหม โดยวิทยาศาสตร์ว่าจะอยู่ไม่ได้ แต่ความจริงอยู่ได้ มันเหมือนกับเวลาเข้าฌานสมาบัตินี้ พวกเราเวลาเข้าฌานสมาบัติ แล้วนั่งอยู่ ๗ วัน ๗ คืน ทุกคนจะถามคำนี้ ไม่ปัสสาวะหรือ คนไม่เคยทำนะ เวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธ หรือเวลาเรากำหนดลมหายใจเข้าไป ลมมันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนลมหายใจไม่มีใช่ไหม มันเหมือนกับเราไม่ได้หายใจ
เวลาจิตมันรวมหมด ไม่มีอะไรเลย เวลาเข้าฌานสมาบัติ มันหยุดหมด มันเหมือนไม่มีอะไรเลย สมมุติว่าในกระเพาะ อยู่อย่างไรมันอยู่อย่างนั้นเลย มันไม่มีอะไรเพิ่มขึ้น และไม่มีลดลง แล้วมันจะไปทำอะไร สบายๆ ทำได้สบายเลย
เวลาภาวนาไปมันจะรู้เรื่องอย่างนั้น แต่เวลาคนเราไม่รู้ เราจะถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเรา ว่า ๗ วัน ๗ คืน ไม่ลุกเลยหรือ ไม่ลุก มันจะลุกได้อย่างไรล่ะ เพราะจิตมันไม่ได้ออกมา จิตมันไม่ได้ออกมาเป็นปุถุชนอย่างเรา อารมณ์ของปุถุชนอย่างเรา คือ จิตออกมารับรู้ ในอวัยวะทุกอย่าง มันก็ทำงานโดยปกติ พอจิตมันหดตัวเข้าไป กายกับจิตมันแยกออกจากกัน ตัวจิตมันอยู่โดยเอกเทศ กายมันก็หยุดหมด มันอยู่ของมันอย่างนั้น กี่วันก็ได้
นี่แค่เรื่องสมาธินะ พูดอย่างนี้ปั๊บ ทุกคนจะบอกว่า โอ้โฮ ! มันมหัศจรรย์ เห้อ ! ไม่หรอก พอเราเริ่มวิปัสสนาไปนะ มหัศจรรย์กว่านี้หลายร้อยเท่านัก ทำไมพระพุทธเจ้าบอกว่า เวลาตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว ทอดอาลัยว่าจะสอนได้อย่างไร คือมุมมองพวกเรา เวลาพูดอะไรแล้ว เราจะคิดแบบวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คืออย่างนั้นใช่ไหม แต่ธรรมะมันเหนือวิทยาศาสตร์ ปรมัตถธรรม
แล้วพอเหนือวิทยาศาสตร์ปั๊บ เวลาเราพูด ทุกคนบอกว่าจะต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่ ทำอย่างที่เราพูด เราพูดโดยเป็นหลัก เป็นหลักหมายถึงว่า ใครเคยผ่านประสบการณ์อย่างไรมา ก็เอาประสบการณ์ของตนเองเป็นตัวตั้ง แต่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามขึ้นมา มันอยู่ที่จริตนิสัยของเขา อยู่กับจริตนิสัยของเขาใช่ไหม แต่คำว่าตัวตั้งคือถูกนะ
คำว่าตัวตั้งหมายถึงว่า คนที่ทำเป็นแล้ว อย่างพวกนักวิทยาศาสตร์ เขาได้ทดสอบทางวิทยาศาสตร์แล้ว เขาทำของเขาได้ แล้วผู้ที่จะมาเรียน มาทำวิทยาศาสตร์ เขาจะทดสอบแบบวิทยาศาสตร์ เขาจะทำต่อยอดได้ดีกว่าก็ได้ เมื่อเขาทดสอบแล้ว เขาจะเห็นทฤษฏีที่เพิ่มขึ้นมา ที่ดีกว่าก็ได้
จิตที่เป็นแล้ว เหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจสูตร สูตรวิทยาศาสตร์ของตน ที่ตัวเองทดสอบแล้ว และได้ทำวิจัยแล้ว แล้วพูดเป็นตัวตั้ง แล้วผู้ที่จะมาปฏิบัติ มันก็เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ฝึกหัด นักวิทยาศาสตร์ฝึกหัด ก็ต้องมาฝึกหัดตามทฤษฎีนี้ ที่ทดสอบแล้ว จะเป็นอย่างนี้ก็ได้ จะดีกว่านี้ก็ได้ คำว่าดีกว่านี้คือ อำนาจวาสนา บารมีของเขาเอง คือเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น แต่ถ้าเขาทดสอบทางวิทยาศาสตร์ จนเขาเสนอเป็นหลักการทางวิชาการ จนนักวิทยาศาสตร์ยอมรับ นั่นคือ ผลงานของเขา
ฉะนั้น จิตของผู้ที่ปฏิบัติทุกๆ คน มันถึงไม่เหมือนกัน ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่เป็นแล้ว สอนได้ สอนได้หมายถึงว่า บอกให้กระทำได้ แต่การกระทำของจิตแต่ละดวง เวลาสำเร็จแล้ว เวลาเป็นไปแล้ว ต้องเป็นสมบัติของเขา คือนักวิทยาศาสตร์แต่ละคน ต้องมีผลงานของตัวเองทุกๆ คน ถ้าสมมุติว่ายังไม่มีผลงานที่ทางวิทยาศาสตร์ยอมรับ เขาจะไม่ยอมรับว่าเอ็งเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เอ็งเป็นนักจำ ที่เป็นผู้ฝึกงาน
แต่ถ้าเราทำงานของเราจนจบขึ้นมา นี้คือผลงานทางวิทยาศาสตร์ทางจิต เห็นไหม วิทยาศาสตร์ทางจิตคือว่า ต้องปล่อยให้เป็นอำนาจวาสนา ของแต่ละดวง ไม่ใช่จะยึดหลักว่าจะต้องเป็นแบบนั้น เป็นแบบนั้น
เป็นแบบนั้นคือหลัก คือตัวตั้งต้น แล้วเราปฏิบัติของเรา เอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง แล้วเราใช้พลังงานของเรา ใช้ทุกอย่างของเรา กลับมาที่จริตนิสัย เวลาเราสอนนะ เวลาเราจะฝึกกับใคร เราจะดูตรงนี้ ดูตรงจริตนิสัย อย่างเช่นว่า เราเป็นคนภาคไหน เราอยู่กับหลวงตานะ อยู่ภาคอีสาน เวลาเราเข้าเวรกัน จัดอาหารให้โยมกิน เวลามีคนมาจะถามว่าโยมนี้มาจากไหน จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ คนละจังหวัดใช่ไหม
แล้วพวกเราที่เป็นพระ เป็นคนจัดอาหารให้ใช่ไหม ถ้าเป็นจังหวัดทางภาคอีสาน จะจัดข้าวเหนียวให้ แล้วอาหารข้าวเหนียวก็พวกลาบ ถ้าเกิดเป็นคนภาคกลาง จะจัดข้าวเจ้าให้ อาหารก็ต้องเป็นของภาคกลางอย่างนั้นๆ เราอยู่บ้านตาดนะ แม้แต่คนเข้ามา อาหารเขากินยังไม่เหมือนกันเลย มีคนจัดอาหารให้ แต่เดี๋ยวนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว เพราะเราดูในถ่ายทอดสด เพราะคนมันล้นเหลือ พอจัดแล้วก็วางๆ
เมื่อก่อนนะ พอมาใช่ไหม อยู่กุฏิไหนละ กุฏินั้นมีกี่คน ๓ คน ๔ คน กุฏินั้น ๒ คน จัดแล้วต้องยกอาหารไปให้ที่นั่นๆ มันคนละภาค มันไม่เหมือนกัน นี่พูดถึงแม้แต่อาหารการกิน แม้แต่ภูมิภาค ยังไม่เหมือนกันเลย แล้วเวลาภาวนาจะให้เหมือนกัน มันเป็นไปได้อย่างไร
ฉะนั้น เวลาที่ไปหาครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้นะ เราจะบอกว่า อาจารย์องค์นั้นสอนผิด สังเกตได้ไหม หลวงตา หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา จะบอกว่า ต้องเอาอย่างนี้อันเดียว เคยพูดอย่างนี้ไหม แต่ทุกคนจะบอกว่า หลวงตาจะพูดอย่างนี้บ่อยมากว่า เราชอบพุทโธ เราเลยบอกให้กำหนดเอาพุทโธ แล้วอย่างประสาเรานะ ถ้าเราสอนเราก็สอนพุทโธก่อน เพราะพุทโธเป็นพุทธานุสติ เราเป็นชาวพุทธ เราต้องเคารพศาสดาของเรา
ศาสดาของเราคือ พุทธะ ฉะนั้นเวลาเราสอน เราจะสอนให้พุทโธก่อนเลย แต่ถ้าใครทำไม่ได้ นั่นเราค่อยเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าสอนนะ เพราะเราซื่อสัตย์กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา ฉะนั้นเราถึงบอกว่าให้พุทโธก่อน พุทโธคือพุทธะ คือเจ้าของศาสนา คือศาสดาของเรา และเป็นคนรื้อค้นศาสนานี้ขึ้นมา แต่ถ้าอำนาจวาสนาของเรามันไม่มี เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราก็ทำอย่างอื่น
อย่างเรา เรากำหนดพุทโธมาก่อน ๒-๓ ปีแรก แล้วเราทำไม่ได้จริงๆ ก็เราทำไม่ได้ เราทำพุทโธไม่ได้นะ ทำพุทโธอยู่ ๒-๓ ปี ไม่ลง จนเรามาใช้ปัญญา ในปลูกดอกบัวที่ใจ การพิจารณาจิตนั่นคือ วิทยานิพนธ์ของเราคือ เราทำอย่างนั้นมาเลย อยู่กับหลวงตา ใช้ปัญญามาตลอด จนมาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า กูไม่เชื่อมึงหรอก ถ้ามึงจะได้จริงมันต้องพุทโธ
เพียงแต่เราปฏิบัติได้แล้ว เพราะหลวงตาท่านใช้ปัญญาของท่านมา คือครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ความถนัดไม่เหมือนกัน แม้ไม้มวยไทยแต่ละครู มันจะไม่ซ้ำรอยกัน หลวงตาท่านถนัดทางใช้ปัญญามาก ทีนี้พอหลวงปู่เจี๊ยะท่านถนัดพุทโธมาก ท่านก็บอกว่า เราต้องพุทโธด้วย เราก็เลยมาพุทโธทีหลัง
ทีหลังหมายความว่า คนเราทำงานเป็นแล้ว จะไปทำงานอย่างอื่นมันง่ายขึ้นมา แต่ถ้าคนทำงานยังไม่เป็น ไปทำงานอย่างอื่น ก็จะทำไม่ได้เลย แต่ถ้าคนทำงานเป็นแล้ว พอทำงานอย่างอื่นบ้าง เพื่อเอามาทดสอบกัน ทำได้เราได้กับตัวเราเอง จะบอกว่าพุทโธ เราก็สอนพุทโธ แต่เราทำพุทโธ พุทโธเริ่มต้นไม่ได้ผล จนเรามาใช้ปัญญาอบรมสมาธิได้ผลแล้ว เราก็ค่อยกลับไปพุทโธทีหลัง
เรากลับไปพุทโธเพื่ออะไร เพื่อทดสอบว่าคำสอนอย่างนี้ ทำได้จริงไหม เราทดสอบมาพอเราทำได้แล้ว เราทดสอบหมด อย่างเช่น มโนมยิทธิว่ากำหนด เข้าฌานสมาบัติ มโนมยิทธินี้เข้าฌานสมาบัติ เพราะมโนมยิทธิ คือตัวฤทธิ์ ถ้ามีมโนมยิทธิด้วยความชำนาญ จะเข้าสมาบัติได้ตลอดเวลา ชำนาญมาก
ถ้าน้อมใจนี้ไปวิปัสสนา ชั่วเคี้ยวหมากแหลก เป็นพระอรหันต์ได้ แล้วทำได้ไหม ประสาเรานะ ไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร ไม่ได้เพราะเวลาเข้าฌานสมาบัติแล้วมันไปติดในฌานสมาบัติว่านิพพาน ทุกคนติดหมด มันติด เพราะว่ามันเป็นความมหัศจรรย์ ดูสิ เราทำสมาธิยังแสนยากเลย ฌานสมาบัตินะ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เวลารูปฌาน อรูปฌานเวลามันขึ้นแต่ละก้าว มันขึ้น มันไปแต่ละฌาน มันจะละเอียดอ่อนมาก มันจะมีความสุข คือสมาธิใช่ไหม ปฐมฌาน ก็สมาธิ ทุติยฌาน ก็เป็นสมาธิ จตุตถฌาน ก็เป็นสมาธิ เห็นไหม มันเป็นสมาธิที่ลึกๆ ลึกขึ้นไป แล้วอากาสานัญจายตนะ มันเป็นอรูปฌาน อุ้ย ! มันมหัศจรรย์มาก พอยิ่งมหัศจรรย์มากแล้ว มันเวิ้งว้างมาก
เราจะบอกว่า รูปฌาน อรูปฌานนี้ มันคนละขั้นตอน แบบว่ามันสงบอยู่แล้วใช่ไหม แล้วมันสงบดีขึ้นไปอีก และสมาธิลึกเข้าไปแล้ว ว่างเข้าไปอีก ใครบ้างจะไม่คิดว่าตรงนี้มันเป็นนิพพาน เพราะเมื่อเป็นสมาธิแล้วใช่ไหม แล้วมันมีลึกกว่าสมาธิอีก สมาธิยังจะมีลึกเข้าไป ลึกเข้าไปอีก มันก็เวิ้งว้างเข้าไปอีก มันติด เพราะอะไร เพราะเราเอง ถ้าเราเป็นผู้ปฏิบัติ เหมือนเราเป็นนักเรียน เราอ่านตำราหรือเราฝึกอะไร เราว่าเราทำถูก
นี้ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติไป เราว่าเราทำถูกไหม เราว่าเราเป็นนิพพานได้ไหม ได้ ติดหมด ทีนี้ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เมื่อมีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ท่านรู้จักอารมณ์อย่างนี้ ท่านตรวจสอบของท่านได้ ดูสิ อย่างเช่น หลวงตานี้ ท่านเล่าประจำ ตอนอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านติดสมาธิอยู่ ๕ ปี เวลาหลวงปู่มั่นถาม มหาจิตเป็นอย่างไร เป็นสมาธิดีครับ ดีครับ
ติดอยู่ ๕ ปี พอถึง ๕ ปี มันแบบว่า จิตที่มันมีพื้นฐานแน่น พอถึงเวลาควรที่จะแก้ไขได้ ท่านก็บอกว่า มหาจิตเป็นอย่างไร ดีครับ ดีบ้าอะไรล่ะ ท่านก็ใส่เลย ดีบ้าอะไร พอดีบ้าอะไรนะ มหาท่านเถียงนะ เพราะท่านติดใช่ไหม ท่านก็เข้าใจว่าอันนี้คือนิพพาน ถ้าสมาธิมันผิด ทำไมในพระไตรปิฎกเขียนไว้ว่า ให้เป็นสัมมาสมาธิ
ผิดนะ มันหาทางให้วิชาการมารองรับว่า มันเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสัมมาคือถูกต้อง แล้วหลวงปู่มั่นท่านตอบ นี่คนเป็นเห็นไหม ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้จริง ท่านหาเหตุผลมาลบล้าง ลบล้างให้จิตเรานี้เปลี่ยนแปลงได้
สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้านั้นอย่างหนึ่ง สัมมาสมาธิของผู้ที่ติดนั้นอย่างหนึ่ง เพราะสัมมาสมาธิของผู้ติด มันมีสมุทัย สมุทัยคือตัวความอยาก มีตัณหานะ ภวตัณหา วิภวตัณหา คือตัวสมุทัย ตัวสมาธิของเรามีตัณหานะ เรามีความพอใจในตัวมัน เรามีความพอใจในสมาธิและมีความผูกพันกับสมาธิ สมาธิของท่าน ถึงไม่ใช่สัมมา แต่เราก็คิดว่าสัมมา เพราะเราพอใจ ความถูกต้องของเรา เราก็สัมมาสิ แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเหนือกว่า ท่านบอกว่า สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง สัมมาสมาธิของท่านอย่างหนึ่ง มันไม่เหมือนกัน เถียงกันจนลงใจนะ
ถึงบอกว่ามโนมยิทธิ พูดถึง ว่าสิ่งที่เป็นทางวิชาการใช้ได้ไหม ได้ แต่ผู้ที่ปฏิบัติ มันต้องมีบารมีมาก ถ้าคนมีบารมีอย่างเช่นเรา อย่างใครก็แล้วแต่ เป็นเศรษฐี พวกโยมเป็นเศรษฐีพันล้าน ไอ้เงินร้อยล้าน พันล้าน มันเป็นเรื่องเล็กน้อยใช่ไหม เพราะโยมมีเงินเป็นหลายๆ พันล้าน แต่ถ้าอย่างเรา เราเป็นคนทุคตะเข็ญใจ ถ้ามีซัก ๑๐๐ บาทก็ว่าเยอะแล้ว อย่าว่าแต่ล้านเลย
ทีนี้พอเรามี เราเป็นคนทุคตะเข็ญใจ พอเราไปปฏิบัติปั๊บ เราติดไหม แต่ถ้าคนที่มีบารมี จิตมันมี ที่ว่าจิตมันมีสถานะ จิตมันมีกำลังของมันมาก มันจะมีมากหรือมีน้อย มันไม่ผูกมัด ไม่ตื่นเต้น ไม่ติด แต่ถ้าคนที่มีบารมีน้อยจะติด คนที่มีบารมีน้อยนะ ครูบาอาจารย์ที่จะสอนก็ต้องประคองไป ประคองไปจนกว่าจะแข็งแรง พอแข็งแรงก็บอกว่า อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด
แล้วถูกผิดมันจะคลายตัวออกมาอย่างไร มันจะทำอย่างไรให้จิตเราไม่ติดกับมัน แล้วปล่อยมันออกมาได้อย่างไร โอ๊ย ! มันต้องมีอุบายเยอะมาก คำนี้นะ เราถึงซึ้งในหลวงปู่มั่นมาก หลวงตาท่านเล่าให้ฟังเองว่า หลวงปู่มั่นตอนท่านจะนิพพาน ตอนท่านจะตายนะ ท่านพูดบ่อยบอกให้พระปฏิบัติมานะ การแก้จิตมันแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ให้ คือ ท่านอยากจะแก้ให้กับคนที่กำลังปฏิบัติ คือท่านทำมาสมบุกสมบันมารุนแรงมาก แล้วท่านก็ห่วงว่าคนที่ปฏิบัติ มันจะเจอเหตุการณ์อย่างท่านขึ้นมา
แล้วผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ถ้าเราตายไปแล้วแก้ยากนะ คนแก้จิตหายากนะ เราคิดถึงคำนี้ คนแก้จิต คนที่จะแก้เขาได้ จะต้องผ่านประสบการณ์มาก่อน แล้วแก้ไขตัวเองมาได้แล้ว ถึงจะไปแก้ให้คนอื่นได้ แล้วโยมลองคิดกลับมาในวงปฏิบัติของเรา ที่มาสอนๆ กันอยู่นี้ ใครแก้จิตมาได้แล้วบ้าง
สิ่งที่สอนๆ กันมา ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง แล้วเอามาสอนกัน ในเมื่อจิตของผู้สอน เขายังไม่รู้จัก เขายังไม่เคยเห็นจิตของเขา เขาจะไปแก้จิตใครได้ แล้วก็สอนกันไป สอนกันไป แล้วพวกเราก็เชื่อกันไป ปฏิบัติกันไป แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ในวงกรรมฐาน ไม่อยู่ในวงครูบาอาจารย์มานะ จะไม่ได้ฟังอย่างเรา
เมื่อตอนเราไปอีสาน เราสนใจเรื่องนี้มาก ไปอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ไหนก็จะไปทำข้อวัตร ไปนวดเส้น ไปสรงน้ำ ให้มีความสนิทคุ้นเคย แล้วเราจะถามๆ สิ่งที่พูดได้ยินแต่ให้เราถามมา คำว่าถามมา มันเป็นความจำ ไม่จริงหรอก ถามมาได้ทฤษฏีมา แล้วเรามาปฏิบัติพิสูจน์
พอพิสูจน์ได้มันซึ้งมาก ทฤษฏีมันก็มี เหตุมันก็มี แล้วเราทดสอบในใจของเรา พิจารณาในใจเรา มันก็เห็น การติด ติดอย่างไร การแก้ แก้อย่างไร แล้วมันแก้ของมันมาได้ มันถึงว่าแม้แต่จิตสงบ โดยพื้นฐาน เริ่มต้น หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ แล้วความคิดมันตรงกับเรา ท่านบอกว่า ในการปฏิบัติ มันจะมีความยากมากอยู่ ๒ ช่วง ช่วงแรกคือ ช่วงเริ่มต้น เพราะเริ่มต้นนั้น ไม้ดิบๆ แก้ยากมาก มันทำไม่เป็น กับช่วงสุดท้าย
เวลาจิตมันปล่อยมานะ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี พอมันปล่อยขันธ์ทั้งหมด พอปล่อยหมดปั๊บ มันเป็นตัวของมันเอง พอเป็นตัวของมันเองปั๊บ ช่วงนี้ยากมาก ยากเพราะอะไร เพราะมันปล่อยแล้ว มันจับอะไรไม่ได้ มันหาไม่เจอ ช่วงเริ่มต้นก็หาไม่เจอ หาอะไรก็หาไม่ได้ เพราะเราทำอะไรก็สับสนไปหมดเลย พอมันปล่อยหมดแล้วนะ จิตเดิมแท้นี้มันผ่องใส มันผ่องใส มันว่างไปหมดเลยนะ ก็หาไม่เจออีก มันปฏิบัติยากอยู่ ๒ ช่วง
ช่วงแรกคือเริ่มต้น และขั้นตอนสุดท้าย แต่พอเริ่มต้นได้แล้ว มันเดินไปได้เรื่อยๆ เพราะมันเป็นสายทางไป อย่างเราจับเชือก เราสาวเชือกมา จากเริ่มต้นมาถึงปลายเชือกได้ พอถึงปลายเชือก เชือกหมดแล้วทำอย่างไรต่อ ฉะนั้นเริ่มต้นมันยากหน่อยนะ เพราะมันยาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องของโลกกับธรรม ความคิดของพวกเรา ปัญญาของเราเป็นเรื่องของทางโลก โลกคือตัวตน โลกคือเรา คุยกันโดยทางโลก เราใช้คำว่าโลกียปัญญา โลกทัศน์
เห็นไหม คำว่าโลกทัศน์ แสดงวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์ของเรามันเกิดจากใจ แล้วความคิดของเราออกมาจากโลก ออกมาจากตัณหา ออกมาเป็นกิเลสทั้งหมดเลย ถึงต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป ให้โลกทัศน์นี้สะอาด พอโลกทัศน์สะอาด โลกทัศน์มันจะเป็นความจริงของมัน แล้วหัดฝึกปัญญาให้ได้ ปัญญาไม่ฝึกเกิดไม่ได้ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ ไม่มีสมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ปัญญาเกิดก็เป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากความสกปรก
แต่ถ้าเป็นสมาธิแล้วนะ ถ้าปัญญามันเกิด มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาเกิดจากโลกทัศน์ที่สะอาด มันจะเป็นโลกุตตรปัญญาที่เข้าไปชำระกิเลส ฉะนั้น สมาธิถึงสำคัญเห็นไหม เราถึงบอกว่าอย่างเราหัวใจเหมือนเด็กๆ เด็กๆ มันจะคลานไป แต่เราต้องยืนขึ้นมาให้ได้ การยืนคือสมาธิ คนเราถ้ายังไม่ยืน เดินไม่ได้ คิดแบบโลกๆ ไม่ต้องยืนก็ได้ ก็จะคลานไปอย่างนี้ คลานไปอย่างนี้ก็เป็นความคิดเรา วนเวียนอยู่อย่างนี้ ยืนไม่ได้หรอก ออกจากโลกไม่ได้ คลานก็คลานอยู่ในโลก คลานก็คลานอยู่ในวัฏฏะ ออกไม่ได้ แต่ถ้ายืนขึ้นมาได้ แล้วเริ่มเดินเห็นไหม วิ่งไปนะ เดี๋ยวเราจะเป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ จะสร้างกระสวยอวกาศ ยิงออกไปยังนอกโลกเลย ออกจากโลกนี้ได้
ต้องยืนขึ้นมาให้ได้ ทีนี้ความคิดของพวกเรา ความคิดแบบโลกคือ ต้องการมักง่าย ต้องการความสะดวก ถึงบอกไม่ต้องทำสมาธิ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ขั้นเริ่มต้นยากที่สุดคือ การทำสมาธิถ้าจิตสงบแล้ว เริ่มต้นเข้าไป โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล พอทำงานเป็นแล้วเหมือนช่าง ช่างคนไหนทำงานเป็นแล้วนะ งานช่าง หมูๆ แต่ถ้ายังทำงานไม่เป็น เมื่อฝึกงานจะจับผิดจับถูกนะ จับผิดจับถูกเลย นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราภาวนาเป็นแล้ว วิปัสสนาไป มันเป็นไปได้นะ มันเดินได้ล่ะ มันไปได้
แต่มันเป็นเรื่องนามธรรม มันจะรู้จริงจากครูบาอาจารย์ที่จริง เหมือนเราเป็นช่าง แล้วมีคนอื่นก็มาบอกว่าเป็นช่าง แล้วจะจับกุญแจมาซ่อมเครื่อง จับผิดจับถูกเราจะเชื่อเขาไหม ถ้าเป็นช่าง เขาจับเครื่องมือ เรารู้เลยเป็นช่างไม่เป็นช่าง วิปัสสนาก็เหมือนกัน พอพูดมารู้เลย ถ้าคนไม่เป็นพูดมาจะรู้ได้อย่างไร ถ้าเราเป็นช่างนะ เห็นลูกน้องมันจับเครื่องมือ โอ้โฮ ! ไอ้นี่เก่งเว้ย ! เวลาจับแหม ไอ้คนที่ไม่เป็นมันจับผิดจับถูก
เหมือนกันคนภาวนาพูดผิดพูดถูก ใช้ไม่ได้ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างนี้นะ ต้องหนึ่งเดียวเลยคือ ทำอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ แต่โลกคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ต้องเป็นอย่างนี้เด็ดขาด สติตั้งขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมาแล้ว มันต้องสรุปลง เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้
นี่พูดถึงการปฏิบัตินะ ไม่ต้องไปซีเรียสนะ หรือถ้าเราไปเกร็งแล้วไปอยากได้ มันก็เป็นตัณหาซ้อนตัณหา อภิธรรม ก็บอกว่า มีความอยากปฏิบัติไม่ได้ ไม่จริงหรอก ไม่จริง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะความอยากถ้าอยากโดยกิเลส มันเป็นเรื่องของกิเลส ถ้า อยากโดยมรรคเห็นไหม
ถ้าการทำความดี เหมือนที่โยมมาใส่บาตร โยมอยากมาไหม ไม่อยากมาได้ยังไง นี่ก็เหมือนกัน เราอยากจะพ้นทุกข์ เราเลยปฏิบัติ เราอยาก คืออยากในเหตุ อยากปฏิบัติ แต่อย่าไปอยากในผล สมมุติเรานั่งปฏิบัติ กูอยากเป็นพระโสดาบัน กูอยากเป็นพระโสดาบัน แหละ ตายห่าเลย ! ห้ามอยากเป็นพระโสดาบัน แต่อยากพุทโธ อยากพุทโธ ได้
ถ้าอยากเป็นพระโสดาบันนะ เพราะเราไปมีเป้าหมายอยู่นู่นแล้ว มันทิ้งราก ทิ้งฐาน ทิ้งเราเป็นคนทำ แต่ถ้าเราไปทำทุกวันๆ น้ำหยดลงหิน หินมันยังกร่อน อยากทำสิ อยากปฏิบัติเป็นมรรค หลวงตาบอกว่าเป็นมรรค อยากด้วยฉันทะ ไม่อยากด้วยกิเลส ฉันทะคือความพอใจ อยากในเหตุอย่างนี้ได้ แต่อภิธรรมบอกห้ามอยาก เราจะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คนเราเกิดมา คนมีกิเลส มันต้องมีความอยากทุกคน แต่อยากทำดี อย่าอยากเพ้อเจ้อ
อยากเพ้อเจ้อ อยากในผลนั้นผิด เพราะอยากแล้วมันกังวล อยากแล้วมันก็อยากจะถีบตัวขึ้นไป มันเป็นของโกหกหมดเลย แต่ถ้าเราอยากในการอยากเริ่มต้น อยากจะนับหนึ่ง หนึ่งๆ ๆ อยากพุทโธ พุทโธๆ อ้าว มันจะผิดให้มันรู้ไปสิ ถ้าผิดลองทำดู เดี๋ยวจะ ว่าได้ผล ถ้าได้ผลมันคือไม่ผิด พุทโธ พุทโธ พุทโธ อ้าว ลองสิ มันจะผิดตรงไหน
แต่อภิธรรมบอกผิดนะ อยากไม่ได้ ถ้าอยากไม่ได้กลับบ้านไป อย่ามา เพราะมาที่นี่มาด้วยความอยากทั้งนั้น เราอยากดี อยากพ้นทุกข์ อยากทำคุณงามความดี มันผิดตรงไหนวะ เออ! อยากดี แต่ไม่ทำเออ ! อันนั้นผิดนะ อยากทำดีอยากไปหมดเลย นั่นคือการอยากของกิเลส อยากแล้วไม่ได้ทำ ถ้าอยากทำไม่ผิด แต่อย่าไปอยากในผล อยากที่เหตุนั้น สร้างเหตุนั้น แล้วทำไป ทำไปเถอะจะรู้
คนไม่รู้ตีความพระไตรปิฎกผิดๆ แล้วก็สอนกันมาผิดๆ ถ้าคนทำไปแล้ว เราจะบอกเลยนะ พระอริยบุคคลแต่ละองค์ มันเหมือนพระไตรปิฎกเคลื่อนที่คือ พระไตรปิฎกที่พูดได้ พระไตรปิฎกที่เราพิมพ์กันมา เป็นพระไตรปิฎก เป็นสมุด เป็นหนังสือที่ไม่มีเสียง เอ่ยปากไม่ได้ ไม่มีชีวิต เราต้องศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้า แต่พระอริยบุคคลที่ท่านมีธรรมในหัวใจ มันเป็นธรรม แล้วพูดได้ สื่อสารได้
ครูบาอาจารย์ ถึงเป็นคุณประโยชน์ตรงนี้ เป็นพระไตรปิฎกที่มีชีวิต ที่สื่อสารกับเรา คุยกับเราได้ พระไตรปิฎกในตู้ พูดกับเราไม่ได้ เราต้องตีความเอง แต่พระไตรปิฎกของครูบาอาจารย์เรา เพราะรู้ธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
ธรรมในใจของครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมแท้ กับธรรมของพระพุทธเจ้า อันเดียวกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ถึงเป็นพระพุทธเจ้า มีรัตนะ ๒ พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นสงฆ์องค์แรกเพราะบรรลุธรรม ธรรมคือ ตัวกลาง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พระสงฆ์ศึกษาธรรมจนเข้าใจในเรื่องธรรม เพราะฉะนั้นธรรมะในใจอันนี้ มันถึงเป็นอันเดียวกันคือ ตู้พระไตรปิฎกที่มีชีวิต สื่อสารกับเราได้ เอวังยังล่ะ เอวัง