ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กุศล-อกุศล

๙ ก.พ. ๒๕๕๒

 

กุศล - อกุศล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราปฏิบัติกันน่ะ เราศึกษากันน่ะ มันก็หลากหลายใช่ไหม? แล้วเวลาฟังเทศน์เรานี่ เวลาเทศน์เรานี่ มันจะทิ่มเข้าหัวใจเลย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ มารยาทสังคมนี่ เวลาเราอยู่ด้วยกัน เราอย่าพูดสะเทือนใจกัน ต้องให้เกรงใจกัน แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ ต้องทิ่มเข้าไปตรงนั้น อย่าเกรงใจ

ทางโลกลูบหน้าปะจมูก มีความเกรงใจกัน พูดเพื่อสังคม เห็นไหม เพราะพูดเพื่อสังคมนี่สิ เราไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอกผิดบอกถูกกัน พวกเราก็เลยลูบๆ คลำๆ กันอยู่ เห็นไหม แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นนี่นะ ถ้าใครมีความคิดเห็นไหม ท่านบอกกับหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ฝั้น เวลาท่านเทศน์น่ะ

“ให้ช่วยจับขโมยให้ผมที เวลาผมเทศน์นี่ ผมจับขโมยไม่ได้”

จับขโมยคือขโมยความคิดไง เวลาจิตมันคิดออกนอกลู่นอกทาง เวลาเทศน์อยู่นี่ แล้วพอเทศน์อยู่มันทำงานอยู่ เหมือนมือเราทำงานอยู่ มือเราไม่ว่าง เวลาถ้าหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ฝั้นอยู่ ท่านบอกว่า “ท่านช่วยจับขโมยให้ผมด้วย”

แล้วหลวงปู่ชอบท่านจะนั่งฟังเทศน์ไปด้วย เวลาคนไหนคิดนะ “อะแฮ่ม” ไอ้คนคิดมันสะดุ้งเลย นั่นน่ะ เห็นไหม มันต้องพุ่งเข้าไปที่นั่น การเทศน์นี่นะ มันพูดให้เราสะเทือนใจ เวลาเราฟังเทศน์ แล้วเทศน์นี่มันทิ่มเข้าถึงหัวใจเรา จะขนพองหมดเลยนะ ความรู้สึกนี่มันแผ่ซ่านเลยนะ

อย่างนี้นะมันถึงแก้กิเลส คนฟังเทศน์แล้วสะเทือนใจ คนนั้นมีโอกาส ไม่ใช่ฟังเทศน์กันนะ ฟังเทศน์เอาบุญไง ประเพณีภาคกลางเรา ฟังเทศน์เอาบุญ เวลาเทศน์ เทศน์นะอ่านหนังสือใบลานกัน ไอ้นั่นก็พนมมือนั่งสัปหงก ผงก ผงกอย่างนั้นน่ะ บอกว่า “ได้บุญ ได้บุญ” การฟังเทศน์นะ ฟังเทศน์นี่แสนยาก เพราะในสมัยโบราณนะ มันไม่มีตำรา นี่พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ๓๐๐ ปี สังคายนาครั้งที่ ๒ ถึงได้พิมพ์เป็นตัวอักษรมา พิมพ์ในใบลานมา

แต่เดิมนะ มันไม่มีหนังสือ คนจะเทศน์ต้องเทศน์ออกมาจากใจ ทีนี้คนที่ไม่มี ไม่มีวุฒิภาวะนี่ มันจะไปเทศน์อะไร พอเทศน์ออกไปนี่มันก็พูดซ้ำๆ ซากๆ เราเบื่อตายห่าเลย แต่คนมันมีอยู่ในใจนี่ มันพูดที่ไหนมันก็พูดได้ใช่ไหม? นี่ไง การฟังเทศน์มันถึงแสนยาก การฟังเทศน์นะ แสนยากเลย นี่เราฟังแต่เสียง เสียงทางโลกกัน เห็นไหม ติฉินนินทานี่เราฟังกันโดยธรรมชาติ แต่ฟังธรรมนี่แสนยากมากเลย แต่เราบอก ฟังธรรมแสนยากได้อย่างไร? เดี๋ยวนี้วิทยุเปิดอยู่ทุกวันเลย

เราไม่ได้คิดถึงที่มาไง ที่มาของเราเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนา เราเกิดมาด้วย ด้วยในประเทศอันสมควร ในประเทศอันประเสริฐ เราถึงได้ฟังเทศน์กัน ไปดูที่อื่นเขาได้ฟังเทศน์อย่างนี้ไหม? ทีนี้พอเราอย่างนี้ปั๊บ เราบอก นี่ฟังเทศน์ว่าแสนยาก มันแสนยากเพราะเราไม่ปฏิบัตินะ มันไม่ปฏิบัติเราถึงไม่รู้จริง อย่างเช่นเมื่อกี้เขาถามน่ะ เพราะอะไรรู้ไหม? เราเข้าใจ เมื่อกี้เขาถามเราเข้าใจเลย

เขาถามว่า “การปฏิบัตินี่ มันต้องมีกุศลจิตใช่ไหมมันถึงแก้กิเลสได้?”

นี่ไง เราใส่เปรี้ยงเลย กุศลจิตของเด็กน่ะนะ มันอยากอยู่สุขสบายของมัน แล้วก็เป็นกุศลจิตของมันนะ เด็กเราน่ะ ใครมีลูกนะ ลูกเราไม่อ้อนเนอะ ลูกเราเลี้ยงง่ายเนอะ อู้ฮู เราว่าเด็กดีมากๆ เลย เห็นไหม กุศลจิตของเด็ก กุศลจิตของพ่อแม่ เพราะพ่อแม่บอกลูกเราดี แล้วลูกเราดีแล้วนี่ มันจะนอนกิน นั่งกินนอนกินตลอดชีวิตได้ไหม? มันต้องโตขึ้นมาไหม?

เราจะบอกกุศลจิตขึ้นมานี่ มันจะพัฒนาไง กุศลจิตน่ะ กุศลจิตของใคร กุศลจิตมันมีกี่ขั้นตอน มรรค ๔ ผล ๔ กุศลจิตของโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค มันคนละกุศลจิตนะ เพราะกุศลจิตมันคนละอัน มันคนละอันตรงไหน? ตรงที่ว่า พระโสดาบันนะ โสดาปัตติมรรค เวลามันชำระกิเลสแล้วนี่ เป็นโสดาปัตติผล จบแล้ว

เริ่มต้นใหม่เป็น สกิทาคามรรค พอเป็น สกิทาคาผล จบแล้ว จะเป็นอนาคามรรค แล้วอนาคามรรค มันอยู่ที่ไหน? เพราะอนาคามรรคนี่ มันเป็นมหาสติ มหาปัญญาแล้ว ถ้าเป็นสติปัญญานี่ โสดาบัน สกิทาคา สติปัญญานี่ยังก้าว ยังทันกิเลสได้ แต่ถ้าเป็นอนาคานี่ ไม่ทันละ เพราะมันจะไวมาก กิเลสมันจะละเอียดมาก สติปัญญานี่ตามกิเลสตัวนี้ไม่เจอ หากิเลสอย่างนี้ไม่ได้ ถ้ามันจะไปหากิเลสอย่างนี้ได้ มันต้องเป็นมหาสติ มหาปัญญา

นี่ถ้าเป็นมหาสติ มหาปัญญานะ ถ้าเป็นมหาสติ มหาปัญญานะ ก็ไล่เข้าไปๆ ถ้าเป็นพระอนาคา พระอนาคานี่ว่างหมดละ พอว่างหมดแล้วนี่ ว่างหมดก็เป็นพระอรหันต์ใช่ไหม? ว่างหมดมันจะมีอะไรอีก? ก็มันว่างหมดแล้วน่ะ มันจะมีอะไร? ก็มันว่างแล้วน่ะ จับอะไรไม่ได้น่ะ นี่ไงที่พระพุทธเจ้าบอกว่า

“โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง”

เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง พวกเราก็จินตนาการให้โลกนี้ว่าง เราเป็นพระอรหันต์หมดละ นั่งอยู่นี่เป็นพระอรหันต์หมดเลย เพราะว่าโลกนี้ว่างหมดแล้ว

“เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอน อัตตานุทิฏฐิ”

กลับมาถอนไอ้คนรู้ว่าว่าง ไอ้คนรู้ว่าว่าง ความว่างข้างนอกกับความว่างข้างใน กลับมาถอนคนรู้ว่าว่าง แต่ไอ้ที่กลับมาถอนนี่ กลับมาไม่ได้ เพราะธรรมชาติ พลังงานมันส่งออกหมด พลังงานที่ย้อนกลับไม่มี เพราะเรารู้ว่าว่าง เราปล่อยว่างหมดแล้ว ว่างหมดแล้ว นี่ไง นี่ถ้าเป็นมรรคญาณ มรรคญาณที่กุศลจิตมันเยอะมาก

ฉะนั้นเวลาปฏิบัตินี่ เวลาปฏิบัติใช่ไหม? เวลาคนถามปัญหานี่ มันฟ้องมาตั้ง ตั้งแต่คนถามนั่นน่ะ ปัญหาน่ะมันบอกถึงวุฒิภาวะเรานะ ว่าวุฒิภาวะเรามีแค่ไหน? เพราะรู้แค่ไหนพูดได้แค่นั้น? ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ เวลาออกมาจากผู้เทศน์นี่ ฟังออก ฟังออกเลยครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะ ท่านจะไปฟังอาจารย์เทศน์

อาจารย์คนไหนก็แล้วแต่เทศน์ ไปฟังเลย แล้วจะรู้เลยว่า อาจารย์องค์นี้ในอกในหัวใจนี่มีธรรมหรือไม่มีธรรม ถ้าไม่มีธรรมนะ “น้ำท่วมทุ่ง น้ำท่วมทุ่งเลยน่ะ มีแต่น้ำโจ้ก น้ำ ไม่มีเนื้อหาสาระเลย”

แต่ไอ้คนฟังนะ อู้ฮู สุดยอดเลยนะ เพราะน้ำท่วมทุ่งนี่มันเป็นน้ำใช่ไหม? ภาชนะอะไรตักก็ได้ เพราะมันเป็นของเหลว เพราะใจมันจินตนาการได้น่ะ นี่มันเป็นตรรกะไง พูดธรรมะนะ อู้ฮู เข้าใจ อู้ฮู สุดยอด “น้ำท่วมทุ่ง ไม่มีแก่นสาร ไม่มีอะไรเลย”

แต่ถ้ามีนะ มันมีแก่นสารนะ ไม่ใช่น้ำท่วมทุ่ง มันมีเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระนี่มันออกมาจากใจนั้นน่ะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดเห็นไหม เวลาเทศน์ธรรมะออกไปนี่ ไม่ใช่เสียงเฉยๆ นะ มันมีเนื้อธรรมออกมาด้วย เนื้อธรรมนี่ออกมากับเสียงนั้น เสียงมันจะบอกหมดเลย แต่ถ้ามันพูดออกมาน้ำท่วมทุ่งน่ะ น้ำท่วมทุ่งมันไม่มีเนื้อหาสาระ

เนื้อหาสาระคืออะไร? โสดาปัตติมรรคเป็นอย่างไร? โสดาปัตติผลเป็นอย่างไร? โสดาปัตติมรรค ปัตติผลนี่ เราฟังเยอะมาก ใครๆ ก็บอกว่า นี่เป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันนะ เวลาบอกพิจารณากาย พิจารณากายไปเรื่อย พิจารณาต่างๆ ไปเรื่อย สรุปลง ยกเข้าอริยสัจ สรุปลง ยกขึ้นตำราหมดเลย ไม่สรุปลงที่มึงบอก เป็นโสดาบันน่ะ มึงต้องสรุปได้

เป็นโสดาบันอย่างไร? เป็นสกิทาคาอย่างไร? เป็นอนาคาอย่างไร? เป็นพระอรหันต์อย่างไร? ถ้าสรุปไม่ได้ มึงไม่เคยเห็น ถ้าสรุปได้ มันต้องสรุปลงตรงนั้น แล้วสรุปตรงนั้นน่ะ นี่ที่พระเขาทันกัน เขาทันกันตรงนี้ไง สรุปผิด สรุปถูก

ถ้าสรุปผิด ก็คือผิด มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาปัญญา ถ้าสรุปถูก ถูก ถ้าถูก เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์เรานี่ เวลาไป ธมฺมสากจฺฉา จะไม่แตกต่างกันเลย จะมาแนวทางไหน? มันก็ลงอันเดียวกัน ลงที่เดียวกัน จะไม่ต่างกันเลย ไม่มีแตกต่าง ถ้ามีแตกต่างนะ ต้องมีผิด องค์หนึ่ง ระหว่าง ๒ องค์ที่คุยกัน ต้องผิดองค์หนึ่ง

แต่ถ้าเป็นธรรมะจริงๆ นะ ไม่มีแตกต่าง จะลงอันเดียวกันหมด นี่ไง ถึงบอกนี่สรุปถูก มันจะถูก แต่ถ้าเราสรุป เราว่าถูก เราว่าถูก “ผิดละ” ถ้าเราว่า “ผิด” ต้องเป็นสัจธรรม ไม่ใช่เราว่า

มันเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วพูดถูกจริงๆ นี่ไงถึงบอกว่า ถ้าพูดอย่างนี้นะ พูดบอกว่า “จิตต้องเป็นกุศลนะ” แล้วเราถึงจะปฏิบัติ ให้ถูกต้องนะ กุศลคืออะไรล่ะ? กุศลของเด็กมันก็สร้างความรู้สึกเป็นกุศลอย่างนั้น กุศลของผู้ใหญ่ ก็สร้างความรู้สึกเป็นอย่างนั้น เราก็สร้างความรู้สึกได้หมดน่ะ เราสร้างเลยนะ นี่กุศลของพระโสดาบัน กุศลของพระสกิทาคา กุศลของพระอนาคา

เราสร้าง ไม่ใช่ความจริง ถ้าเป็นความจริง เราไม่ต้องสร้าง อกุปปธรรม อกุปปธรรม เป็นอฐานะ ที่มันจะแปรสภาพ เพชรคือเพชร เพชรเป็นพลอยไม่ได้ พลอยคือพลอย มันต่างอันต่างจริงของมัน แต่ละระดับของมัน มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉะนั้น คำว่าต้องมีกุศลก่อนเป็นอะไรไม่ต้องพูดอย่างนั้น ถ้าพูดอย่างนั้น เหมือนกับเราตั้งลำน่ะ พอเราตั้งลำเราเกร็งไปหมดเลย เราเกร็งปั๊บ เราต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น

เราต้องเป็นอย่างนั้น ผิดแล้ว เพราะ! เพราะในการปฏิบัตินี่ มันไม่มีสูตรตายตัว จริตนิสัยของคนมาต่างกัน จริตนิสัยของคนมาต่างกันนะ การกระทำคนไม่เหมือนกัน รสชาติของอาหารน่ะ ในสำรับเดียวกัน คนก็ยังติ ยังชมต่างๆ กันไป จิตที่มันจะสงบนี่ พุทโธก็แตกต่างกัน พุทโธบางคน พุทโธแล้วสงบได้ง่าย บางคนพุทโธแล้วสงบได้ยาก

ไม่ต้องบางคน เราคนเดียวนี่แหละ บางทีทำสงบได้ง่าย บางทีทำสงบได้ยาก บางทีทำแล้ว คราวนี้แทบไม่ได้อะไรเลย บางทียังไม่ทันพุทโธเลย มันจะลงแล้ว

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นน่ะ? จิตมันไม่เหมือนกันเห็นไหม ถ้าเกิดปัญญา ปัญญาแต่ละขั้นตอนน่ะ มันก็ไม่เหมือนกัน ปัญญาเวลาพิจารณาแต่ละครั้งน่ะ ถ้าปัญญาคราวนี้เราพิจารณาแล้ว มันลงได้ดีมาก ติดใจ ติดใจดูดดื่มมาก คราวหน้าตั้งลมอย่างนี้เลยนะ เสร็จ มันเป็นสัญญา มันเป็นสัญญาละ ไม่ได้ มันต้องเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันเลย ปัจจุบันที่มันเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น เป็นเดี๋ยวนั้น แล้วชำระเดี๋ยวนั้น

ถ้าปัจจุบันเป็นเดี๋ยวนั้น แล้วอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลล่ะ นี่จะเป็นกุศล เป็นอกุศลน่ะ เราทำเสร็จแล้ว แล้วเราค่อยออกมาคิดว่า อย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก เพื่อการทำต่อไปไง การทำต่อไปเราต้องทำปัจจุบันอันนั้น ทำปัจจุบันอันนั้น มันถึงจะเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันอันนั้น อันนั้นคือมันผ่านมาแล้ว นี่ไง อดีต อนาคตตลอดนะ

ในการปฏิบัติ ถ้าเป็นพระกรรมฐาน พระกรรมฐานที่ครูบาอาจารย์จะสอนนี่ มันต้องสอนด้วยความเป็นจริง ไม่ต้องไปติด ปริยัตินะ เวลาปฏิบัติเห็นไหม หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น “มหานะ” หลวงปู่มั่นท่านพูดด้วยข้อเท็จจริงน่ะ คนพูดด้วยความจริงนี่มันซึ้งใจมาก ท่านพูดอย่างนี้

ท่านบอกว่า “ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ บูชาไว้บนหัว บูชาไว้เหนือหัวเลย ไม่ใช่ดูถูกเหยียดหยาม แต่ในขณะที่ยังไม่จำเป็นนะ ความรู้นี่ ให้วิชาที่เรียนมานี่ ทฤษฎีที่เรียนมา ให้ใส่ลิ้นชักไว้ แล้วปิดกุญแจ ลั่นกุญแจไว้ด้วย เพราะ” (นี่คำพูดเห็นไหม มันฟังง่าย แล้วฟังแล้วถ้าเข้าใจจะซึ้งมาก)

“ถ้าปฏิบัติไปน่ะ มันจะมาเตะ มาถีบกัน”

เวลาเราปฏิบัตินี่นะมันจะเทียบเคียง เวลาเป็นอะไร น่าจะเป็นอย่างนั้น นี่จะเป็นอย่างนี้ คือเราชักนำไปก่อน ฉะนั้นเวลาปฏิบัตินี่ เขาจะบอกว่า “ให้ปฏิบัติแบบคนโง่” เวลาปฏิบัตินะ ปฏิบัติแบบคนโง่ แบบไม่รู้อะไรเลย โลกนี้เหมือนไม่มี สิ่งที่ศึกษามาเหมือนไม่มี ให้อยู่กับเรา ปัจจุบันอันเดียว ต้องทำอย่างนี้ เหมือนคนโง่ เหมือนคนโง่ ฟังสิ แต่โคตรฉลาดเลย แต่คนฉลาดมากเลยนะ โคตรโง่เลย เพราะคิดไง คิดเหยียบย่ำ เหมือนเราคิดนี่ มันก็เหมือนกับเราเอาเท้านี่เหยียบตัวเราเอง

เวลาเราใช้ปัญญา ที่เราว่าเราฉลาดๆ นี่ แต่เหมือนคนโง่นี่ เราหยุดมันไง เราปัดเท้าเราออก เราไม่ให้เท้าเราเหยียบเราเอง คือไม่ให้ความคิดมันเกิด โคตรยากเลย นี่ถ้าทำอย่างนี้ได้ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านเวลาสอน ท่านสอนเรื่องทำความสงบก่อน

เรื่องทำความสงบเพราะอะไร? เพราะโดยพื้นฐานชาวพุทธนะ ชาวพุทธสมัยพุทธกาลนี่ ชาวพุทธมีสมาธิอยู่แล้วด้วย เพราะชาวพุทธก็ฝึกหัดกันอยู่ แต่ในปัจจุบันนี้ เราเป็นเรื่องโลกหมด เราเป็นโลกกันหมด เวลาความคิด ความคิดแบบโลกหมดเลย ทีนี้เวลาเราคิดถึงธรรมะ เราก็เอาโลกไปเทียบ

นี่น่ะปัญญาชน ปัญญาชนไง นี่เดี๋ยวนี้โลกเจริญๆ ไง เจริญด้วยสัญญาไง เจริญด้วยความคิดไง ไม่ใช่ จริงๆ แล้วนะ ถ้าพูดถึงทางโลกนะ สิ่งที่เราคิดกันอยู่นี่ ต้องเรียกค่าลิขสิทธิ์ให้หมดเลย ใครคิดต้องจ่ายตังค์กูมา เพราะคิดปัญญาพระพุทธเจ้าน่ะ มึงคิดปัญญาพระพุทธเจ้านะมึง แล้วบอกมึงฉลาดๆ มึงขี้โกง

มึงเอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาแล้วไม่จ่ายตังค์ด้วย ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ด้วย แล้วก็บอกฉลาดๆ นี่ปัญญาชน ปัญญาชนไง แหม เก่งมาก ไม่รู้ว่าขโมยมาทั้งนั้นน่ะ ขโมยธรรมะพระพุทธเจ้ามา แล้วตัวเองน่ะขโมยตำราเขามา แล้วก็ว่าตัวเองรู้ มันเอาอะไรไปรู้

ทีนี้ถ้าพูดถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนะ ท่านเมตตามาก ท่านบอกว่านะ “วิปัสสนาธุระ คันถธุระ” คันถธุระนี่พวกการปกครองต้องการศึกษา คันถธุระ การปกครองนี่ มันต้องรู้ตามตำรา รู้ตามข้อเท็จจริงทางโลกเขา แต่การปกครองนะ โปฐิละ ใบลานเปล่า ใบลานเปล่าๆ ความรู้เปล่าๆ จำมาเปล่าๆ ทุกข์อยู่เต็มหัวใจ

ต้องมีวิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระนี่ วางคันถธุระ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เอามาโม้ๆๆ กันอยู่นี้น่ะ นั่นน่ะลิขสิทธิ์พระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ เพราะ! เพราะพูดธรรมะแบบวิทยาศาสตร์ พูดธรรมะแบบวิทยาศาสตร์ คือพูดตายตัว ทฤษฎีตายตัว ตรงตัว ทฤษฎีตายตัวตรงตัวนี่ คือคนภาวนาไม่เป็น ถ้าคนภาวนาเป็นนะ ทฤษฎีนั้น มันอยู่ที่เหตุผล อยู่ที่ปัจจัย เหตุและปัจจัยนี่ ทฤษฎีนั้นอาจจะคลาดเคลื่อนได้ อาจจะคลาดเคลื่อนได้

ทฤษฎีเป็นทฤษฎีใช่ไหม การกระทำของเรานี่ ค่าของมันเห็นไหม ค่าของมันน่ะ ดูจิตที่มันเข้มแข็ง จิตที่กระด้าง จิตที่อ่อน ความอ่อนแอ ความนิ่มนวลน่ะ คือวัสดุนั้นน่ะมันแข็ง หรือวัสดุนั้นมันอ่อน เราควรใช้เครื่องมืออะไรเข้าไปทำลายวัสดุนั้น นี่ก็เหมือนกัน มรรคหรือสมาธินี่ มันเข้มมันอ่อน ปัญญามันจะเข้มแข็ง มันมีรายละเอียดที่การปฏิบัติอีกหลากหลายมาก มันไม่ได้คงที่ตายตัวหรอก

สิ่งที่คงที่ตายตัวเหมือนวิทยาศาสตร์นั้นน่ะ มันผิดตรงนั้นน่ะ ผิดตรงที่ มึงวางไว้เป็นวิทยาศาสตร์คงที่ตายตัวนั้นน่ะ แล้วกิเลสมันก็หัวเราะนะ เหมือนกับเรานี่ เห็นไหม เวลามันเจอข้าศึกน่ะ เขาถือปืนมาน่ะ ทะเล่อทะล่าเข้ามาเลย เรายิ้มเลยนะ เพราะเราหลบอย่างไรก็ได้ใช่ไหม? คนเรามันถือสูตรทฤษฎีตายตัวมาอย่างนั้นน่ะ กิเลสมันยิ้มเลยนะ มันจะหลบช่องไหนก็ได้ มันจะนั่งลงนะ แล้วเอาไม้ตีหน้าแข้งมึงก็ได้ เพราะเราตายตัวเข้าไปไง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันมีเทคนิค มันมีการกระทำนี่อีกหลายหลากมาก อีกหลายหลากมาก เพราะกิเลสนี้ กิเลสนะ มันอยู่หลังความคิดเรา เวลาพระพุทธเจ้าเยาะเย้ยกิเลสนะ

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดจากจิตของเราไม่ได้อีกเลย”

ความคิด ดำริ เกิดจากความดำริของเรา ก่อนคิดนะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” เวลาพลังงานน่ะมันแค่ขยับตัวเท่านั้นน่ะ กิเลสมันครอบงำมาแล้ว แล้วที่เราตรึกธรรมะ เราใช้ปัญญากันน่ะ กิเลสทั้งนั้น กิเลสมันครอบงำมาหมด แม้แต่ท่องบ่นธรรมะของพระพุทธเจ้าก็คือกิเลส กิเลสมันท่องบ่นน่ะ เราถึงต้องทำความสงบเข้าไปไง

ทำให้จิตสงบน่ะ สงบคืออะไร? สงบคือตัวตนมันสงบตัวลง คือเรานี่สงบลง พอสงบลงปั๊บนี่มันเปิดช่องว่าง เปิดให้โอกาสธรรมะได้ผุด เปิดให้โอกาสให้เราได้มีการกระทำ แต่ถ้าเป็นเรานี่ มันไม่เปิดโอกาสไง จะมีปฏิกิริยาอย่างไร? ก็คือเราทั้งหมด จะมีการกระทำทั้งหมด ก็กิเลสทั้งหมด เพราะกิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา

พอทุกอย่างเป็นเรา เราทำไปนี้กิเลสใช่ไหม? กิเลสล้วนๆ เลย แต่ถ้าสงบตัวลง พอสงบตัวลงนี่ ทุกคนน่ะเวลาปฏิบัติ ไม่กล้า ไม่ยอม ไม่กล้าสงบตัวลง เพราะสงบแล้วนี่เดี๋ยวจะควบคุมไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่รู้ เดี๋ยวเราจะขาดทุน

พอมันสงบตัวลงนะ มันสักแต่ว่ารู้ ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเราสงบไม่ได้ สงบคือตัวตนเรา คือทิฐิเรามันสงบลง มันเป็นพลังงานตัวมัน พลังงานบริสุทธิ์ ตัวพลังงานบริสุทธิ์น่ะ คือสมาธิ “เพราะจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส” ไอ้ตัวผ่องใส ไอ้พลังงานบริสุทธิ์น่ะคืออวิชชา คือตัวอวิชชา แต่ขณะที่ตัวอวิชชานี้ถ้ามันเกิด มันก็เกิดในปัจจุบัน เกิดในธรรมชาติของมัน เพราะว่ามันเป็นพลังงานเฉยๆ

พลังงานนะ พลังงานไม่ใช่ความคิด เพราะพลังงานนี้พอมันเสวยอารมณ์ มันก็เป็นความคิด ความคิดมันเป็นความคิดออกมา แล้วพอความคิดออกมาเห็นไหม พลังงานเฉยๆ กับความคิดเห็นไหม มันเป็นอดีต อนาคตไง พลังงานนี่พอมันแสดงตัวปั๊บมันเป็นความคิด มันเป็นอนาคตไปแล้ว มันคิดออกไปแล้ว มันเป็นอดีต อนาคต มันถึงไม่เป็นปัจจุบันไง

แต่ถ้ามันเป็นพลังงานเฉยๆ พลังงานบริสุทธิ์ นี่มันเป็นปัจจุบัน แล้วถ้าปัญญาปัจจุบัน ปัจจุบัน ปัจจุบันคือไม่มีอดีต อนาคต ไม่มีการไม่เสวย ไม่เสวยน่ะกิเลสมันไม่แสดงตัว

แล้วถ้าเกิดพลังงานอันนี้ ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา นี่ไงปัจจุบันธรรม แล้วมันก็อยู่ไม่ได้นานด้วย พอมันเป็นสมาธิปั๊บ เวลาเราวิปัสสนาไปนี่ ประเดี๋ยวพลังงานนี่มันจะอ่อนตัวลง พอมันอ่อนตัวลง คือว่าตัวตนเราก็มากขึ้นมา สมาธิมันก็เสื่อมไง สมาธิอ่อนค่าลงปั๊บนี่ ทิฐิมานะความเห็นเราบวกละ พอบวกปั๊บคือสัญญาละ อันนี้ออกมาก็เป็นกิเลสละ นี่กิเลสพาใช้หมดเลย

มันถึงต้องทำความสงบเข้ามา ทำความสงบเข้ามา นี่โดยข้อเท็จจริงการกระทำนี้ ใครทำได้ ใครรู้ได้ มันก็รู้ธรรมจริงๆ นี่แหละ ทีนี้ในปัจจุบันนี้ ไอ้คนสอน มันสอนให้ท่องจำ เราก็ท่องจำมาสิ กุศล อกุศล มันก็มั่วกันไปหมดเลย โจรนะมันจะปล้นนี่มันว่าเป็นกุศลนะ ก็มันเป็นโจร โจรวางแผนกันปล้นนี่เป็นกุศลไหม? สำหรับโจรน่ะ เป็นกุศล

แล้วของเราเป็นกุศลหรืออกุศลล่ะ? ไปถามว่ากุศลของใคร? อ้าว โจรมันจะปล้นใช่ไหม? วางแผนปล้นนี่ ในวงในหมู่ของโจรนี่มันเป็นกุศลหรืออกุศลของมัน? เป็นกุศล

นี่ไง จิตเป็นกุศลถึงจะเป็นมรรค โจรมันปล้น มันก็เป็นกุศลของมัน แต่ นี่เวลาท่องจำมา มันเป็นอย่างนั้นน่ะ แต่พระพุทธเจ้าพูดถูกไหม? ถูก มันถูกที่ไหน? ถูกที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พูดไว้ถูก เพราะอะไร?

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ตรัสรู้ธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ววางเป็นทฤษฎีไว้ เพียงแต่นะ นี่ทฤษฎีวางไว้ แต่ใจที่รู้ออกมานี่มันให้ค่า นี่ไง พระไตรปิฎกถึงถูกหมด แต่คนไปอ่านมันผิดหมด ผิดหมด

คนอ่านพระไตรปิฎกยิ่งอ่านยิ่งงง ยิ่งมีปัญญา ยิ่งรู้เข้าไปนะ เหมือนเราน่ะเขาเรียก “ติดดี” นี่เวลาเราทำผิดสิ่งที่ไม่ดี ทุกคนจะพูดได้ใช่ไหม? ว่าสิ่งนี้ไม่ดีควรละใช่ไหม? แต่ถ้าเราทำความดีแล้วนี่ เราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แล้วเราจะละอย่างไรล่ะ? เราจะบอกว่า “ถ้าอ่านพระไตรปิฎกแล้วเข้าใจ นี่ติดดี” ติดดี เพราะสิ่งนี้เป็นสัจธรรม สัจธรรมคือธรรมะเป็นธรรมชาติไง ธรรมะเป็นธรรมชาติ

ธรรมะเป็นธรรมชาติต่อเมื่อใจของคนมีคุณงามความดี มองสิ่งใดแล้วเป็นประโยชน์ ถ้าเราจิตใจเราเศร้าหมอง จิตใจเราคับแค้นนะ เห็นธรรมชาตินี่อึดอัดมาก ทำไมฝนแล้ง? ทำไมน้ำท่วม? มันตีอกชกตัว ธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ แต่กูทุกข์ฉิบหายเลย แต่ถ้าใจเราดีนะ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะของเรามันเหนือธรรมชาตินะ

ธรรมชาติคือการเกิดและการตาย สุข ทุกข์นี่ก็เป็นธรรมชาติ มันแปรสภาพ แต่ถ้าธรรมนี่นะ เราปฏิบัติแล้ว มันหลุดพ้นไปแล้วนี่ รู้ข้อเท็จจริง แล้ววางมันไว้ตามความเป็นจริง แล้วมันหลุดออกมา สิ่งที่เป็นธรรมแล้วนี่ กลับไปมองธรรมะ เออ ใช่ มันเป็นอย่างนี้เอง มันจะหมุนไป มันเป็นวาระนะ

มันเป็นวาระ เป็นวาระๆ วาระหมายถึงว่า ดูสิ เมื่อก่อนนั้นน่ะ สภาพแวดล้อมจะดีมาก ป่าเขาจะดีมาก มนุษย์มีน้อย เดี๋ยวนี้มนุษย์มีมาก พอมนุษย์มีมากนี่ ทรัพยากรต้องใช้ไปมาก เผาผลาญไปมาก โลกก็ร้อน พอโลกร้อนถึงจุดหนึ่งนะ เดี๋ยวโลกก็ตีกลับ มันจะปรับสภาพของมัน นี่เขาบอกว่าน้ำท่วมโลก น้ำท่วมโลก เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อ เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า อีก ๕,๐๐๐ ปี

ศาสนานี้อยู่อีก ๕,๐๐๐ ปีนะ แต่ตอนนี้โลกจะเสื่อมไปเรื่อยๆ เสื่อมไปเรื่อยๆ เพราะว่าอะไร? เพราะทรัพยากรจะโดนผลาญไปเรื่อยๆ เพราะ! เพราะมนุษย์มันเยอะ มันต้องใช้ทรัพยากรโดยธรรมชาติ คือการอยู่การกินนี้ มันต้องใช้ทรัพยากรไป มันจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทีนี้ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็ต้องหาสิ่งนี้มาเพื่อเพิ่มปัจจัย ๔ มันก็ต้องผลาญทรัพยากรไปเป็นธรรมดา พอการผลาญทรัพยากรไปเป็นธรรมดา ถึงเวลาแล้วมันก็เกิดอุทกภัยเห็นไหม พวกวาตภัยนี่เราเชื่อ ถึงจุดหนึ่งแล้วนี่มันจะเกิดวาตภัย สึนามินี่มันจะเกิด แผ่นดินไหวต้องเกิดเด็ดขาด แต่ที่ว่าน้ำท่วมโลกนี่ เป็นไปไม่ได้ เพราะ! เพราะโลกนี้เป็นอจินไตย อจินไตย ๔

พุทธวิสัย โลก กรรม ฌาน อจินไตยคือมันจะมีของมันอย่างนี้ตลอดไป แต่มันจะปรับสภาพ เพราะมันเป็นสหชาติ คือว่าการเกิดร่วมของพระพุทธเจ้า การเกิดร่วมกัน การเกิดต่างๆ กันไป นี่ที่นั่งอยู่นี้ คนเกิดมานี่กี่รอบแล้ว? แล้วก็เกิดในปัจจุบันนี้ แล้วก็จะเวียนไปอีก เราสร้างกันไว้เอง เห็นไหม เราพูดกันนะ ว่าเราจะส่งโลกนี้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง ให้มันดีขึ้น แต่ไม่รู้หรอกว่า อนุชนรุ่นหลังก็คือเราที่จะไปเกิดนี่

ดูยายกั้งสิ ยายกั้งไปเกิดในท้องของหลานเห็นไหม เราคิดว่าเราจะส่งโลกนี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ก็ส่งให้กูเองนี่แหละ แต่กูไปเกิดดักหน้านู่นไง แล้วกูก็จะทุกข์ไปข้างหน้านู่นน่ะ นี่มันจะเวียนตายเวียนเกิดไง แต่ใครรู้บ้างว่าเคยเกิดมากี่ชาติละ? ใครรู้บ้างว่าใครเกิดมากี่ชาติแล้ว? แต่ถ้าเป็นธรรมนะ กี่ชาติหรือมากน้อยเท่าไรนี่ พันธุกรรมทางจิต การเกิดแล้วทำสิ่งที่ดีๆ นี่ มันจะเป็นสิ่งที่ มุมมองที่ดี ความคิดที่ดี เชาวน์ปัญญาที่ดี

พระโพธิสัตว์ มี ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยนี่ พันธุกรรมทางจิตที่ดี เด็ก ยังไงมันก็คิดดี มันดีมาจากใจ ถ้าเด็กมันคิด มันเป็นธรรมชาติของมันนะ พ่อแม่นี่ทุกข์มาก ทุกข์เพราะอะไรรู้ไหม? ทุกข์เพราะกรรม มันสายบุญสายกรรมไง มันเกิดเป็นวาระ ผลัดกันเกิดนะ ผลัดกันเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูก ผลัดกันไป ผลัดกันมา แต่เราจะเข้าใจไม่เข้าใจ อีกเรื่องหนึ่ง

นี่ไง ความกตัญญูกตเวที นี่คือบุพเพนิวาสานุสติญาณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ย้อนอดีตชาติ ถ้าไม่อย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นพระเวสสันดร พระเวสสันดรเป็นใคร พระเวสสันดรกับเจ้าชายสิทธัตถะ เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร? พระเวสสันดรกับเตมีย์ใบ้ หรือพระสุวรรณสาม เกี่ยวดองกันอย่างไร? มันเกี่ยวดองกันมาอย่างไร? แล้วเราบอกว่าไม่มีๆ ไม่มีนี่มันปากพูดนะ เพราะมันมีอย่างนั้น มันถึงปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของจิตให้มันดีขึ้น หรือให้มันเลวลง

เลวลงนะ มันจะคิดแต่เรื่องพาลน่ะ อย่างเรานี่ถ้าเป็นคนพาล คิดแต่เขารังแกเราทั้งนั้นน่ะ ใครก็ทำเราเสียหายทั้งนั้น เราจะไม่เห็นว่าเราผิดเลย เราจะมองว่า คนอื่นทำกูๆ คนอื่นทำกูทั้งนั้นน่ะ แต่ไอ้กูทำกูนี่มันไม่รู้ แต่ถ้าเรา เราแก้ไขที่เรานี่นะ แก้ไขที่กูนี่ แก้ไขที่เราหมด มันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ ไม่รู้ว่าใครทำใครก่อน? ไม่รู้ว่าใครทำกับใครมา แต่ถ้ามาแก้ที่เรานะ จบที่เรา แพ้เป็นพระ นี่แพ้เป็นพระ

แพ้ แพ้ความทะยานอยาก แต่เป็นพระ พระประเสริฐ ประเสริฐเพราะชนะตัวเรา แล้วเราไม่ได้ไปทำลายคนอื่น แต่ถ้าเราแพ้เรานะ พอเราแพ้เรา เราทำลายคนอื่นเขาหมดเลย เราจะทำลายคนอื่นทั้งนั้นน่ะ จะเอาตัวรอดให้ได้เลย แล้วไม่รอด เพราะว่ามันสร้างกรรมต่อไป

แต่ถ้ามันแพ้เรานี่ แพ้เป็นพระ แพ้เป็นพระ เขามองว่าแพ้ มองว่าเสียเปรียบ ได้เปรียบ ผู้ให้ ผู้ให้ดีกว่าผู้รับ ผู้ให้นะให้ด้วยความสุข ผู้ให้มีความสุขมาก ผู้รับนี่นะ อย่างเรานี่เป็นคนทุกข์คนจนนะ เวลาเขาให้เสื้อผ้าเรามานี่ อู้หู มันงามไปหมดเลยนะ ใส่สูทเชียวนะ เวลาตายไปเราก็ใส่สูทไป คนที่ให้เขาตายมาปั๊บนะ สูทเราจะหลุดไปอยู่กับคนนั้นเลย เพราะไม่ใช่ของเรา

เวลาทำบุญเห็นไหม นี่ทำบุญ เราเป็นคนทำบุญ เราหามาทำบุญ บุญของเรา แต่คนที่เขาไม่มีเงินมีทอง เขาอยากทำบุญด้วย เขาอนุโมทนาด้วย อนุโมทนาบุญนะ นี่น่ะบุญของเขา เขาเป็นคนทำน่ะ แต่เราอนุโมทนานี่เราได้เหมือนกัน แต่เวลาไปแล้ว เห็นไหม นี่บารมี บารมีของเราเอาเป็นบริษัทบริวารไง มันเป็นข้อเท็จจริงทั้งนั้นน่ะ เราอาศัยน่ะ เราอาศัยเขา อาศัยเขาทำบุญ แล้วเราอนุโมทนาไปกับเขา แต่เราก็ได้บุญ เราก็ทำ แต่เราไม่ได้ลงทุนลงแรง

ถ้าเราลงทุนลงแรงนี่เป็นของเรา อันนี้มันเรื่องระดับของทานนะ ระดับของทานนี่มัน ประสาเรานี่ นี่ไง กรรมเป็นอจินไตย กรรมเป็นอจินไตย อจินไตยคือว่า มันผลัดกันมานี่ ผลัดกันนำมา ผลัดกันเป็นผู้นำ ผลัดกันเป็นผู้ตาม ผลัดกันมา พ่อกับแม่นี่ พ่อแม่กับลูกนี่ พ่อแม่นี่เป็นผู้ชี้นำทั้งนั้นน่ะ ลูกตามพ่อแม่ แล้วไอ้ลูกก็จะเป็นพ่อแม่ไป แล้วไอ้หลานมาเกิดก็จะตามพ่อแม่ นี่มันก็ชี้นำกันมา นี่ไง มันจะหมุนกันไปอย่างนี้ หมุนไปอย่างนี้ แล้วใครเป็นพ่อใครเป็นแม่ล่ะ?

มันเป็นไปตามวัยนะ วัยเราเป็นเด็กนี่ วัยเรามีความสุขมาก ยิ่งเล็กยิ่งมีอำนาจ ร้องไห้ขึ้นมานี่พ่อแม่ต้องวิ่งมาเลย “หนูจะเอาอะไร จะเอาตังค์ในกระเป๋าน่ะ จะเอาตังค์ไปซื้อขนม” ควักหมดเลย ควักหมดเลย โตขึ้นมาน่ะ อำนาจก็น้อยลง น้อยลง แล้วต่อไปมันก็จะเป็นขี้ข้าเขาอีก มันก็จะต้องควักให้ลูกมันต่อไป นี่น่ะมันก็หมุนมาอย่างนี้ ของเราสร้างขึ้นไว้ในโลกนี้แหละ แล้วเราก็กลับมาใช้ของเราเอง ไม่รู้ตัว ไม่มีใครรู้ตัวหรอก

แต่มันสร้างขึ้นมานี่ มันสร้างสมบัติไว้กับโลก แต่มันจะได้บุญที่ใจ ใจเป็นบุญเป็นกุศล ใจเป็นบุญเป็นกุศลนี่นะ มันจะมองโลก มองสิ่งต่างๆ แล้ว มันจะกลับมาแก้ที่หัวใจ ถ้าใจไม่เป็นกุศลนะ มันมองโลก แล้วมันกลับมาเหยียบย่ำตัวเอง เหมือนกับที่เขาเรียกว่า เด็กที่ต่อต้านสังคมน่ะ มันจะทำลายสังคม เห็นไหม

แต่คนที่ดีนะมันจะทำลายตัวมัน มันไม่ทำลายสังคมนะ มันจะทำลายทิฐิมานะในใจมัน แล้วเวลามันทำลายทิฐิมานะในใจของมันนะ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจของเรานะ ถ้าเราลองแก้ไขได้แล้วนะ ใจของทุกดวงใจเป็นอย่างนี้หมด เป็นอย่างนี้หมด

จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง มันเป็นเรื่องของใจ ที่การกระทำของใจ ถ้าใจเข้าใจแล้วนะ แต่ถ้าใจไม่เข้าใจนะ มันพูดออกไปนะ ผิดหมดน่ะ แล้วพอมันผิดหมด มันเสียดายอย่างเดียว เสียดายอย่างพวกเราน่ะ พวกเรานี่ พวกเราที่ภาวนาไม่เป็น มันเป็นตรรกะ ตรรกะคือสมมุติ แล้วถ้าคนพูดสมมุติมานี่ เพราะเรา มันเป็นสมมุติด้วยกัน มันเข้ากันได้ไง

ธรรมะสมมุตินี่ ธรรมะนิยาย ธรรมะที่แต่งขึ้นมาเหมือนนิยายนี่ เราอ่านแล้วซึ้งมาก แต่ถ้าธรรมะจริงๆ ที่ข้ามจริงๆ นะ เราอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ต้องปีนบันได ปีนบันไดอ่านแล้วก็ยังอ่านแล้วก็ยังงง เอ๊ะ! ท่านพูดเรื่องอะไร? เอ๊ะ! ท่านพูดไม่เข้าใจเลยน่ะ

แต่ถ้าเป็นสมมุตินะ เป็นนิยายนะ สุดยอด สุดยอด สุดยอดจากใจที่เป็นสมมุติเราไง ใจเราเป็นสมมุติใช่ไหม? ใจเรารู้ได้แค่นี้ไง เพราะอันนี้ไง เราถึงไม่ทันพระที่หลอกเรากันไง พวกเราถึงไม่ทันพระที่หลอกเรากันไง ทีนี้พระกับพระน่ะ เขากลัวพระที่รู้จริง เพราะพูดคำไหน ผิดคำนั้น เขากลัวกันตรงนี้ ฉะนั้น นี่เพราะเราถึงแสวงหาครู หาอาจารย์นะ เราเป็นอย่างโยมมาก่อน เรานี่โดนหลอกมาเยอะ เรานี่โดนหลอกมา แล้วโดนหลอกมาแล้วเราก็แก้ไขปรับปรุง แก้ไขปรับปรุง แก้ไขปรับปรุง จนรู้ว่าอะไรหลอก อะไรไม่หลอก

มันถึงเข้าใจไง บางทีพูดนี่ เราเทศน์ไว้กัณฑ์หนึ่ง เขาไปฟังแล้วก็มาบอกว่าหลวงพ่อสุดยอดเลย “ธรรมะเสมือนจริง” พูดนี่เหมือนจริงเปี๊ยบเลย แต่ไม่จริงสักคำ “ธรรมะเสมือนจริง” พูดนี่เหมือนจริงเลยแหละ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเราคิดไม่ถึงไง คำพูดนี่ เรานี่ พระนี่ เวลาเราเตือนพระ พระยังบอกเลย พระยังไม่เข้าใจนะ เขาบอกว่า “เขาว่าเราเข้าใจผิดนะ เขาบอกอาจารย์น่ะเข้าใจผิด เขาไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้นน่ะ เขาพูดหมายความว่าอย่างนี้”

คำพูดนี่ มันพูดเป็นหน้าฉาก หลังฉากน่ะเขาต้องการอะไร? เอ็งไม่รู้หรอก แล้วเอ็งเห็นเขาพูดหน้าฉาก เอ็งไปฟังหน้าฉาก แล้วว่ากูเข้าใจผิด ไม่รู้ว่าใครหลอกใคร เพราะเราเป็นอย่างนี้กันนะ เราถึงไม่ทัน ฉะนั้นเวลาพูดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ปั๊บนี่โยมก็ต้องปีนบันไดละ แล้วคิดดู แล้วมองโยมอยู่บนบันไดนะ อยู่ที่สูง แล้วมองลงมาที่ต่ำสิ พอมองลงมาที่ต่ำแล้วเราจะดำรงชีวิตอย่างไร? เพราะโลกเป็นอย่างนั้นกันหมดไง เพราะเราขึ้นที่สูงแล้วนี่ มองลงมาที่ต่ำ ที่ต่ำมันเป็นสมมุติหมดเลย

ทีนี้เราถึงบอกว่า เรามองไปที่สูง เราอยู่ที่สูงแล้ว เราไม่ได้ทำตัวเราให้ไปอยู่ที่สูง เราต้องทำตัวเราให้ต่ำ เพราะเราต้องอยู่ในสังคม เราจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ เราจะแปลกแยกจากสังคมมาไม่ได้ เราจะอยู่สังคมนั้น แต่เราต้องยกใจของเราไว้เป็นใจของเราสิ อย่าให้เป็นเหยื่อของใคร ไม่ใช่ว่าเราสูงแล้วนะ จะเอาไม้ค้ำถ่อไว้ เดินไปไหนจะเดินบนหัวคน ไม่ใช่นะ สูงแล้วไม่ใช่สูงอยู่บนหัวคน สูงอยู่ในหัวใจเรานี่ แต่เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราไม่ต้องสูงแล้วไปอยู่บนหัวของใคร

นี่ธรรมะเห็นไหม มันเป็นอย่างนี้ “สูงสุดสู่สามัญ” เป็นพระธรรมดาๆ เหมือนไม่มีอะไรนะ เหมือนไม่รู้ ถ้ามองจริงๆ เหมือนโง่ด้วย เพราะไม่แข่งขันกับสังคม ไม่แย่งชิงอะไรกับใครทั้งสิ้น เหมือนคนโง่ แต่จริงๆ คือฉลาด ฉลาดในตัวเองไง ฉลาดในตัวเองว่าเห็นสิ่งนั้นเป็นพิษเป็นภัย สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยเราจะไม่เอาเข้ามาใกล้ตัวเรา

แต่ถ้ามันโง่นะ มันเห็นมานะ นี่โมฆบุรุษ ตายเพราะลาภ ตายเพราะเหยื่อ โมฆบุรุษ เห็นเหยื่อก็งับ งับ งับเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมนะ เหยื่อก็คือเหยื่อ ปลาต้องกินนะ เราเกิดมานี่ ทุกคนเห็นไหม พระนี่ จะดีขนาดไหนก็ต้องบิณฑบาต พระขนาดไหนก็ต้องฉัน ปัจจัย ๔ นี่มันต้องดำรงชีวิตทั้งนั้นน่ะ แต่ดำรงชีวิตโดยธรรมไง คือมันเป็นโดยธรรม ไม่ใช่เสแสร้ง ไม่หลอกลวง ไม่ต้มตุ๋น มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นจริตนิสัยของเขา

หลวงตา อยู่กับหลวงตานะ ท่านพูด ตอนอยู่กับท่านใหม่ๆ เมื่อก่อนยังไม่เป็นอย่างนี้ ท่านบอกว่า อย่างอื่นน่ะท่านป้องกันให้ได้หมด คนชอบเข้ามายุ่ง เข้ามากวนพระท่านจะกันให้หมดเลย ไม่ให้มีกิจนิมนต์ ไม่ให้อะไรทั้งสิ้น ไม่ให้โยมเข้าไปกวนในที่ปฏิบัติ

แต่มีอยู่ปัญหาเดียวที่ผมแก้ให้ไม่ได้ ไม่ได้จริงๆ คืออาหาร เช้าขึ้นมาเขามาใส่บาตรเต็มศาลานี่ กองเป็นถาดๆ เลยอย่างนี้ ท่านบอกว่า

“มันเป็นเจตนาของเขา เขาอยากได้บุญของเขา มันเป็นสิทธิของเขา เพราะว่าคนเขาจะทำบุญ เขาอยากได้บุญน่ะ มันเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ ผมกันให้ไม่ได้”

พระต้องมีปัญญา พระที่รับต้องฉลาด รับแล้วนี่จะฉันมากฉันน้อยอยู่ที่เรา แต่สิ่งที่มาแล้วนี่ มันเป็นผลเจตนาที่ดีของเขา ท่านกันให้ไม่ได้ คือเขาจะมาทำบุญ จะไล่เขากลับไม่ได้ แต่พระต้องฉลาด พระต้องหมั่นรู้จักรักษาตัวเอง พระไม่ใช่เห็นของมาก เห็นของดี แล้วจมไปกับมัน

นี่ไง นี่ที่ว่าถ้าคนที่ฉลาด ผู้ที่เป็นจริง มันเป็นอย่างนี้ เพราะเรานี่ พวกเรา จริงๆ นะ เราพูดนี่ เราพูดแล้วเราสะท้อนใจ คือพยายามจะเปิด เปิดให้พวกเรานี่กว้างขวาง ให้ปัญญาของเรานี่กว้างขวาง ให้รู้จักเลือกเป็น แต่! แต่ก็กลัวมากเลย กลัวจะมาถมมาทับที่เรานี่ ต้องผลักๆ ไว้ด้วย ไม่เอา ไม่เอา คือเป็นภาระ ไม่ไหวนะ ไม่ไหวหรอก คนเยอะนี่ไม่ไหว แต่ก็อยากให้ทุกๆ คนฉลาด อยากให้ทุกๆ คนเอาตัวรอดให้ได้

แต่ถ้าเอาตัวรอดใช่ไหม? เหมือนกับเราต้องไปแบกหามน่ะ ไม่ไหวหรอก ไม่ไหว แต่นี่ ไอ้นี่ ความรู้ไม่ใช่แบกหามนี่ เราก็ศึกษาสิ แล้วเราเก็บไว้ เรารักษาไว้ แล้วเทียบเคียง เทียบเคียงแล้วต้องมีปัญญา แล้วดูของเรา นี่พูดถึงปฏิบัตินะ แล้วพูดถึงธรรมะ จะเข้าใจนะ เพราะเวลาหลวงตาท่านพูด เราเข้าใจหมดน่ะ ท่านไปฟังพระที่นั่น ท่านดูอย่างนั้นแล้วท่านจะเทียบมา เทียบมา จริงไม่จริงนี่ แล้วเก็บไว้ในใจ แล้วมาพูดกันเฉพาะ

เห็นไหม เวลาพูดท่านจะบอกว่า “วงใน วงกรรมฐาน วงธรรมยุติ” นี่ธรรมยุติทั้งหมดนะ ธรรมยุติก็มีปริยัติ ปฏิบัติ วงปฏิบัติ แล้ววงสายหลวงปู่มั่น แล้ววงใน จะพูดกันเฉพาะวง เฉพาะหมายถึงว่ารับรู้กันแค่นี้ แล้วถ้าวงนอกออกไปนี่ มันกระเทือนกัน อันนี้วงนอก วงในน่ะ มันก็อย่างนี้ วงกรรมฐาน เห็นไหม ท่านบอกว่าครอบครัวกรรมฐาน ครอบครัวของเรานี่ เพราะครอบครัวของเรามันก็อยู่ในครอบครัวของเรานี่ ถูกผิดก็ต้องบอกกัน

นี่ถ้าบอกออกไปข้างนอกนี่ มันก็อย่างว่าแหละ อย่างที่ว่าเห็นไหม แม้แต่ไก่ก็ยังมีชื่อ ไอ้นี่ก็สายใครสายมัน เดี๋ยวก็ไปฟัดกัน ทีนี้เวลาเรื่องสายนี่ มันก็แบบว่าเหมือนกับชาติตระกูล มันก็อีกเรื่องหนึ่งเนอะ แต่เราคุยกันด้วยเนื้อหาสาระสิ ข้อเท็จจริงนะ ไอ้ชาติตระกูลมันก็อย่างว่าน่ะ มีครูบาอาจารย์ มันก็ต้องว่าเราอาจารย์ลูกศิษย์ใคร มันก็ควรจะพูดน่ะ แต่ไอ้ข้อเท็จจริงมันอีกเรื่องหนึ่งเว้ย

แต่ไม่ใช่เอาครูบาอาจารย์มาปะทะกัน ไม่ใช่ นี่เวลาพูดมันมีหลายแง่ไง บอกเขาผิด เขาผิด เขาผิด มีแต่พวกเรานี่ถูก แต่หลวงปู่มั่นพูดไม่ได้พูดอย่างนั้นนะ อย่างหลวงตานี่ มีคนเขาไปหาหลวงตานะ และเขาอ่านหนังสือแล้วเขาไปกราบหลวงตาบอกว่า

“เขาดีใจมาก” เขาได้อ่านหนังสือลูกศิษย์สายพระอาจารย์มั่นนี่ แล้วเขาแบบว่า เขาฟื้น ศรัทธาเขาดีมาก ท่านกลัวมันจะเสียใจทีหลังไง ท่านพูดสวนเลย

“เราเชื่อมั่นว่า แม้แต่ในสายหลวงปู่มั่น ก็มีถูกมีผิดเหมือนกัน ไม่ใช่สายหลวงปู่มั่นแล้วจะถูกหมด ผิดก็มี”

ผิดนี่ความจริงมันไม่ได้ผิดเพราะวาสนาเขาไม่ดีนะ อย่างเราภาวนาไม่ได้ ภาวนาไม่ได้หมายถึงว่า พละกำลังมันไม่มี แบกของหนักไม่ได้ จิตที่พละ อินทรีย์มันไม่ถึงนี่ มันบรรลุธรรมไม่ได้

ไอ้อย่างนี้ก็ต้องสร้างบารมีไป ไอ้อย่างนี้ไม่ถือว่าผิด ไอ้นี่มันถือว่า เหมือนกับนักมวยคนละรุ่นอย่างนี้ กระดูกคนละเบอร์นี่มันปะทะกันไม่ไหวหรอก ถ้าเราสร้างของเรา จนกระดูกของเราเข้มแข็งขึ้นมา นี่เราสร้างอำนาจวาสนาขึ้นมา เราสร้างเราพยายามภาวนาขึ้นมา ให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา จนกระดูกมันเสมอกัน จนกระดูกเบอร์เราดีกว่านี่ กิเลสต้องล้มแน่นอน

ถ้าอย่างนี้แล้วมันสุดวิสัย ไอ้อย่างนี้อย่างหนึ่ง ไอ้ที่ว่าผิดนะ ไอ้ที่ว่าภาวนาเข้าไม่ถึงจุด มันก็อยู่ที่วาสนาบารมี ไอ้ที่ว่าผิดนี่ บางทีรู้ว่าผิดอยู่ ก็ยังตะแบง ไอ้อย่างนี้น่าเกลียด แล้วอย่างสุดวิสัย อย่างเรานี่ภาวนาไม่เป็น ภาวนาไม่ได้ เราก็ยังภาวนาอยู่นี่ อ้าว ก็มันเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไรล่ะ? อ้าว ก็เรา มันไม่ได้ก็คือไม่ได้ ก็ภาวนาไปนี่ ไม่ได้เดี๋ยวนี้ใช่ไหม? ก็ภาวนาสร้างบารมีไป เหมือนพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ก็สร้างบุญญาธิการไปเห็นไหม ก็ต้องทำกัน ไม่ใช่ไม่มีแล้วก็ถอยเลย ไม่มีก็ไม่ทำเลย มันก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ต้องสู้ แต่ถ้ามันมีอยู่นะ ผลัวะ! ผลัวะ! ผลัวะ! เพราะเราสังเกต อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตานี่

หลวงปู่เจี๊ยะ พรรษา ๒ นี่สกิทาคามีแล้ว พรรษา ๑ พรรษา ๒ ได้แล้ว หลวงตานี่ออกพรรษา ๗ ใช่ไหม? พรรษา ๙ ได้แล้ว พรรษา ๑๖ จบ ถ้ามีบารมีนะ มันจะ ผลัวะ! ผลัวะ! ผลัวะ! ไม่กี่พรรษาหรอก ไม่กี่ปีนี่ได้เลย แต่ถ้ายังถูไถไปนี่มันก็อีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงปฏิบัติเนอะ ไม่มีอะไรแล้วนี่ เอวัง