ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

มาตรวัดใจ

๒๒ ก.พ. ๒๕๕๒

 

มาตรวัดใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาใครมาปรึกษาเรื่องส่วนตัว เราจะพูดแบบว่าพูดเข้าใจ คือพูดดีว่าอย่างนั้นเถอะ แต่เวลาเทศน์ธรรมะ เราจะแรง มันเหมือนคนละคนเลยล่ะ เพราะอะไรนะ เพราะมันจะพูดความจริง มันจะพูดเอาใจกันไม่ได้ มันเป็นความจริง แต่เวลาใครทุกข์เป็นส่วนตัวมาน่ะ แหม จะลูบหน้าลูบหลังเลยล่ะ เวลาปลอบใจนี่ แหม แต่เวลาเอาจริงทำไมไม่เหมือนเมื่อกี้นี้วะ

เวลาเอาจริงมันพูดความจริงนะ เวลาพูดความจริงเห็นไหม เพราะใครมาจะถาม ทุกคนมาถามว่า “ปฏิบัตินี่ กลัวผิด กลัวผิด”ไง ทำไมการปฏิบัติจะผิด แล้วเขาจะพูดนะ พูดอย่างนี้ พูดไปแล้วมันเหมือนกับเราพูดท้าทายหรือเราพูดลบการประพฤติปฏิบัติเลย เราจะบอกว่า

“การปฏิบัติที่ปฏิบัติกันทั้งหมดที่คนเริ่มต้นปฏิบัติน่ะ ผิดหมด ผิดหมด”

จะพูดคำนี้ตลอดเลยว่าผิดหมด มันผิดเพราะอะไร? มันผิดเพราะเรามีอวิชชา มันผิดเพราะความทำ กระทำผิดของเรา มันไม่ใช่ไปผิดที่ธรรมะพระพุทธเจ้าหรอก มันผิดที่เรา เพราะเราไม่รู้ใช่ไหม เหมือนเด็กมันไม่เข้าใจ ทำไปแล้วมันจะถูก-เท็จ จริงไหม

อย่างเราปฏิบัติกัน ศึกษาธรรมะให้ ๙ ประโยคด้วย ๙ ประโยคนี่แต่งธรรมะได้นะ แล้วให้มาปฏิบัติสิ มันจะถูกไหม? ไม่ถูกหรอก ธรรมะพระพุทธเจ้าน่ะถูก แต่ไอ้คนปฏิบัติ เพราะเราทำไม่เป็นใช่ไหม มันจะถูกได้อย่างไร มันก็ผิด เราถึงบอกว่า

“การปฏิบัติ ทุกคนที่เริ่มหัดปฏิบัติ ผิดหมด ผิดหมด”

กำหนดพุทโธก็ผิด อะไรก็ผิด อย่างเมื่อวานเขามา เขาบอกเขาถาม “ถูกไหม” เราว่าอย่างนี้นะ เราบอก เห็นไหม ว่าในการปฏิบัติ ทุกอย่างนี่ผิดหมด แต่ของเรานี่นะก็ผิดเหมือนกัน พุทโธ เราบอกว่าพุทโธก็เป็นสมมุติ ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นสมมุติ มันเป็นสมมุติทั้งหมด การปฏิบัติ นามรูป ยุบหนอพองหนอ ทุกอย่างเป็นสมมุติหมด แล้วผิดหมดเลย แล้วถ้าผิดแล้ว เราสร้างนะ เราสร้างธรรมะไง คือเราสร้างภาพ มันจะผิดต่อๆ ต่อไป เห็นไหม ว่างๆ มันจะผิดต่อๆ ต่อไป

เพราะเราเริ่มต้นผิด แล้วชี้ไปในทางที่ผิดมันจะถูกได้อย่างไร? แต่เราเริ่มต้นผิด พุทโธก็ผิด แต่พุทโธ เห็นไหม เริ่มต้นนะ เราปฏิบัติ เอาความผิด หนามยอกเอาหนามบ่ง สิ่งที่เกิดมาจากใจ มันเป็นสมมุติ ความคิดนามรูป ความคิดอะไร มันเป็นสมมุติ แต่ไอ้ที่สมมุติ ถ้าเราปล่อยไปมันก็จะออกไปข้างนอกหมด คือว่ากระแส มันไปตามกระแสหมด แต่เรากำหนดพุทโธๆๆๆ เห็นไหม

พุทโธนี่เป็นอะไร? เป็นพุทธานุสติ พุทโธนึกขึ้นมาหรือเปล่า แล้วไหนว่าไม่เป็นสมมุติ นึกพุทนึกโธนี่นึกขึ้นมาหรือเปล่า? ก็นึกขึ้นมาเหมือนกัน แต่นึกขึ้นมาด้วยจิตที่เราเกาะคำบริกรรมไง คำว่าพุทโธๆ เป็นสมมุติไหม เป็นคำนึกไหม? เป็น เป็นของโกหกไหม เป็น โกหกทั้งนั้นน่ะ แต่เราตั้งใจ ตั้งใจให้เป็นความจริง เห็นไหม

อย่างพระนี่บวชแล้ว นี่เป็นพระจริงหรือยัง? นี่ก็พระโกหก พระสมมุติไง บวชขึ้นมาเป็นสมมุติสงฆ์ เป็นพระโดยสมมุติ แต่สมมุติในสิ่งที่มีกฎหมายรองรับ สมมุติโยมโกนหัวแล้วห่มผ้าเหลืองโดนจับ แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ แต่ของเรานี่สมมุติเหมือนกัน แต่เพราะเราไปบวชในโบสถ์ เราบวชอุปัชฌาย์ เราบวชโดยกฎหมายรองรับ สมมุติที่มีกฎหมายรองรับ จริงตามสมมุติ

แต่ถ้าปฏิบัติขึ้นไปแล้ว ดูสิ ดูอย่างพระอัญญาโกณฑัญญะ เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักร อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ นั่นน่ะพระจริง ไม่ใช่สมมุติแล้ว เพราะบรรลุธรรมแล้ว อย่างเรานี่สมมุติ ชีวิตนี้ก็สมมุติ แต่ถ้าพูดถึง ถ้าปฏิบัติจริง มันเป็นความจริง แล้วนี่เท่ากับเป็นความจริง ฉะนั้น ปฏิบัติผิดไหม? ผิด แต่ผิดเราก็รู้ว่าผิดไง

“ทุกคนปฏิบัติมันจะไม่มีวันถูกหรอก มันจะผิดมาก่อน” แต่ผิดขนาดไหนนะ ผิด ผิด แต่พระพุทธเจ้าวางสมมุติบัญญัติไว้ให้เราก้าวเดิน สมมุติบัญญัตินี่พระพุทธเจ้าวางให้เราก้าวไปสู่สัจจะความจริง ไม่ต้องไปวิตกกังวลไง เราจะพูดเลย เวลาศึกษามา ปัญญานี่ทุกคนมีปัญญาหมด ปัญญาดีนัก แล้วเวลาใช้ปัญญาทางโลก เห็นไหม ปัญญาดีนัก

ปัญญาอย่างนี้ เวลามาปฏิบัติยิ่งงงนะ เวลาปฏิบัติงงนักละ ไหนว่าฉลาด ไหนว่ารู้ไง พอมาพุทโธทำไมงงล่ะ ยิ่งปฏิบัติ ปัญญาอบรมสมาธิ งงหมดเลย ไหนว่ารู้ไง ไหนว่ามีปัญญามากไง ก็ไอ้ปัญญามากๆ ปัญญาท่วมหัวไง เอาตัวไม่รอดไง แล้วเวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติจริงๆ นะ ท่านบอกว่าเวลาปฏิบัติ ต้องสมมุติตัวเองว่าให้โง่ที่สุดเลย ให้โง่ที่สุดเลย เหมือนกับคนที่ไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วกำหนดพุทโธไป โลกนี้มีเฉพาะเรา โลกนี้ไม่มีเลย มีแต่เราอย่างเดียว พุทโธๆ ไป แล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมา

แต่เพราะเราไปคิด เราไปสร้างภาพกัน มันก็เลยยิ่งไม่เป็นความจริง อย่าไปคิดว่ามันจะผิดจะถูก ไม่ต้องไปคิดตรงนั้น คิดว่าความตั้งใจของเราว่าความตั้งใจของเรา เราทำไป มันสัมผัสที่จิต จิตนี่สัมผัสแล้วมันจะรู้ตามความจริงของมัน ถ้ารู้ไปตามความจริงของมัน ผิดถูกเราจะรู้แล้ว ถ้าผิดนะ สังเกตไหมเวลาปฏิบัติ เราจะมีความสงสัย นี่รากฐานของความผิด ถ้ายังสงสัยอยู่ ยังไม่เข้าใจอยู่ นั่นล่ะผิดร้อยเปอร์เซ็นต์เลย

แต่ถ้าไปเจอความจริงนะ ผลัวะ! เอ๊อะ มันไม่มีทางออกนอกทางได้เลย เอ๊อะๆ พอเอ๊อะ ขึ้นมานี่อธิบายไม่ได้ แต่เวลาเราปฏิบัติไปนะ มาถึงมาพูดกัน เป็นคุ้งเป็นแควเลย อย่างนั้นๆ นั่นล่ะ ผิดทั้งนั้นน่ะ ผิดทั้งนั้น เพราะมันอธิบายของมัน มันอธิบายของมัน ปัญญาเรามีไง ถ้าปัญญามันมี เราคิดประสาเรา มันก็จะได้อย่างนั้น

ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติ มันอยู่ที่จริตนิสัย เราทำนะ เวลามาส่วนใหญ่แล้วถ้ามาปรึกษาเรา เราจะสอนจากต้นเหตุของเขา ดูสิ เห็นไหม เวลาน้ำสูง น้ำลึกน้ำตื้น สายบัวมันจะบอก สายบัวนี่ดึงขึ้นมาจะรู้ เห็นสายบัว สายบัวสั้น สายบัวยาว จะรู้ว่าน้ำลึกหรือน้ำตื้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันนี่ เวลาเราพูดอธิบายออกมา เวลาเราถามปัญหา นั่นน่ะสายบัว มันจะบอกเลยว่าใจของคน มันอยู่ในชีวิตไหน

เวลาปฏิบัติไปนี่ บางคนชอบพุทโธ บางคนพุทโธไม่ลง บางคนใช้ปัญญาก็ไม่ได้ นั่นน่ะสายบัว สายบัวมันวัดความลึกความตื้นของน้ำ ในการปฏิบัติของเรา ไอ้คำถามของเรา มันจะวัดถึงหัวใจของเราว่า มันลึกมันตื้น มันหยาบมันละเอียด ทีนี้พอมันหยาบมันละเอียด มันอยู่ที่สายบัวใช่ไหม สายบัวมันบอกถึงระดับของน้ำ คำถามของเรามันบอกถึงจริตนิสัย

ทีนี้บอกถึงจริตนิสัยแล้ว สายบัวสั้น สายบัวยาว แต่ละคนไม่เท่ากัน ทีนี้เวลาอธิบายถึงธรรมะ อธิบายแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วสายบัวของเรายาว เราต้องการให้สายบัวของเราสั้น สายบัวที่เหลือทำอย่างไร? นี่เหมือนกันเวลาฟัง เวลาตอบปัญหาไง ปัญหา เวลาเอาซีดีไปฟัง ซีดีนี่นะมันตอบหลากหลาย สิ่งใดที่เราจับประโยชน์ ที่มันฟังแล้วมันเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งนั้นเอามาใช้ประโยชน์ สิ่งใดที่เราฟังแล้วมันไม่เข้าใจ หรือว่ามันไม่ตรงกับจริตของเรา อย่าไปสนใจ

แต่ถ้าเป็นพวกเรา พอมันได้ฟังแล้ว เราคิดว่าเรามีปัญญาไง ฟังแล้วนี่จะต้องขบปัญหาให้แตกทุกๆ คำพูด จะต้องถกปัญหาให้หมดไง เพื่อเอาปัญญาไง เพื่อเอาปัญญา เราก็ไปถก นี้สายบัวสั้นสายบัวยาว อ้าว แล้วสายบัวที่สั้นมันหยั่งไม่ถึง สายบัวที่ยาวมันหยั่งในน้ำได้ลึกกว่า ทีนี้คำถาม เวลาเขาถามมานี่เราก็ตอบ ตอบถึงปัญหาที่ว่า ในความลึกของน้ำ นี่สายบัวเราสั้น พอมันหยั่งไปแล้วมันไม่ถึง แล้วเราทำอย่างไร?

ก็ทำให้เราเกิดความงงไง เกิดความลังเลไง เอ๊ะ เราปฏิบัติผิดหรือเปล่า เริ่มเสียแล้ว เอ๊ะ ปฏิบัติผิดหรือเปล่า มันเข้ากิเลสเราไง กิเลสของเรามันจะปฏิเสธอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน แล้วพอมันมีเหตุนั้นมารองรับไง ว่า เอ๊ะ เราปฏิบัติผิดหรือเปล่า ก็สายบัวเราสั้น มันไม่มีความจำเป็นจะต้องไปวัดระดับน้ำอย่างนั้น ถ้าไม่มีการวัดระดับน้ำอย่างนั้น เราก็ทำของเราไปสิ น้ำตื้นน้ำลึกต่างๆ มันใช้ประโยชน์ต่างๆ กันนะ

ดูสิ ดูปลา ปลาน้ำลึก เห็นไหม มันต้องอยู่ประสามัน ปลาน้ำลึก ปลาตัวใหญ่ มันอยู่ในน้ำลึก นั่นก็ปลาตัวใหญ่ เขาทำสร้างวาสนามา ไอ้ของเราปลาซิวปลาสร้อย เราอยู่ที่ไหนได้ เราก็อยู่ของเราแล้ว เราอยู่ของเรานี่ อาหารการกินของเรา เราก็เก็บอาหารการกินของเรา คือปฏิบัติ มันก็เหมือนปลาเล็กปลาใหญ่ก็แล้วแต่ เวลาเขากินอาหารของเขา มื้อหนึ่ง มื้อหนึ่ง เขากินของเขามื้อหนึ่ง

เราปฏิบัติของเรา วงรอบหนึ่ง จิตสงบได้รอบหนึ่ง นั่นก็เรื่องของเรา เราไม่ต้องไปยุ่งเรื่องของใครไง เราต้องยุ่งเรื่องของใจเรา ใจของเราเวลาทุกข์ ทุกข์ที่ใจเรา จริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน แต่ถึงที่สุดแล้วนะ ใจเหมือนใจนะ คือใจมันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเกิดตายทุกคน มันจะเกิดจะตายกันอยู่อย่างนี้ใจของเรา แล้วถ้าเราปฏิบัติแล้ว ถ้ามันพ้นไปเห็นไหม ดูสิ พระอรหันต์สิ สุกขวิปัสสโก เห็นไหม เตวิชโช เห็นไหม

พระอรหันต์เป็นพระอรหันต์แล้ว สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน ยังอำนาจวาสนาไม่เท่ากันเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอุบาลีเป็นผู้ที่จำเรื่องวินัยไง ถามขึ้นมาในวงสงฆ์ “พระพุทธเจ้าไม่ได้นิพพานไปแล้วเหรอ” ตายไปแล้วเหรอ พูดประสาเรานี่ พระอนุรุทธะได้เอตทัคคะในทางรู้วาระจิตไง “ยัง” ก็นั่งคุยกันอยู่นี่

“ยัง พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน” ขณะนี้พระพุทธเจ้ากำลังเข้า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ รูปฌาน อรูปฌานอยู่ เห็นไหม พระอรหันต์เหมือนกัน พระอุบาลีเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า? ได้เอตทัคคะทางทรงจำวินัย แล้วพระอนุรุทธะก็ได้เอตทัคคะ ได้อรหันต์เหมือนกัน ทำไมพระอรหันต์อีกองค์หนึ่งไม่รู้ถามพระอรหันต์อีกองค์หนึ่ง?

นี่เราจะบอกจริตนิสัยไง แม้จะสิ้นกิเลสแล้ว มันยังหลากหลายในความชำนาญของแต่ละบุคคล แต่! แต่ปลาเล็กปลาใหญ่ไง กินอิ่มท้องเหมือนกัน ชีวิตมีความสุขเหมือนกัน ทีนี้ถ้ามันคิดอย่างนี้แล้ว ไม่ต้องไปวิตกวิจารณ์ไง ส่วนใหญ่นะจะได้รับปัญหาอย่างนี้ตลอด ภาวนาผิดไหม? ๆ มันไม่ใช่ภาวนาผิดไหม ภาวนาไม่มีจุดเริ่มต้น ถ้าภาวนามีจุดเริ่มต้นนะ ใครเริ่มจุดเริ่มต้น ดูในวงการภาวนา เขาบอกว่าภาวนาเป็นหรือภาวนาไม่เป็น

ถ้าภาวนาเป็นแล้วนี่นะ ภาวนาเป็นมันเหมือนกับการแข่งขันกีฬา เรามีสิทธิแข่งในกีฬาประเภทนั้น เพราะเราต้องมีคะแนน มีแต้มพอใช่ไหม แล้วทีนี้ พอแข่งปั๊บมันก็มีการแพ้มีการชนะแล้ว ถ้าทีมของเราไม่ดี มันก็แพ้ แข่งเพื่อแพ้ไง แข่งเพื่อให้คะแนนเขา เพื่อจะให้เขาคัดออกไง จุดเริ่มต้นหมายถึงได้แข่ง นี่ก็เหมือนกัน ในการภาวนา ถ้ามีจุดเริ่มต้น อย่างที่ว่า พอจุดเริ่มต้น อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าสายบัวสั้นสายบัวยาวมาแล้ว

คนถามปัญหานี่ ท่านบอกเลย ภาวนาแล้วเป็นอย่างนี้ๆๆ นี่จุดเริ่มต้น แต่เรายังไม่มีกันเลย กลัวผิดๆๆ อะไรกลัวผิดเลย กลัวผิดคือจิตมันไม่เคยสงบ จิตไม่เคยมีรากฐาน จิตไม่เคยเป็นไป แต่ถ้าจิตมีรากฐาน มีความเป็นไป เห็นไหม มันเหมือนกับจุดสตาร์ท จุดเริ่มต้นมีแล้ว พอจุดเริ่มต้นมีนี่ง่าย พระมาเยอะ มาถามเลย เวลาพระมา พระวัดเทพศิรินทร์เขาจะมากันเยอะ มากันทีสิบกว่าองค์ เราจะอบรมก่อน

พออบรมเสร็จปั๊บ เขาจะถามเลย เพราะเราจะพูดถึงหลากหลาย ถึงวิธีการ แล้วก็บอกมาสิว่าเดี๋ยวมันจะปฏิบัติผิด เราบอกว่า เอ็งไปปฏิบัติก่อนสิ ให้มีตุ๊กตาขึ้นมาหนึ่งตัว แล้วเราก็จะมาบอกว่าตุ๊กตานี่มันควรจะแก้ไขอย่างไร ตอนนี้ไม่มีตุ๊กตาเลย คือไม่มีสมมุติอะไรที่เราจะพูดกันเลย เห็นไหม ไม่มีจุดเริ่มต้น พอไม่มีจุดเริ่มต้น เราก็จะบอกว่าไอ้นั่นก็ผิด ไอ้นี่ก็ผิด แล้วเราจะเริ่มต้นกันตรงไหน?

ในการที่ปฏิบัติ มาก็มาอย่างนี้ มันจะมาทุกคนเลยบอกว่า “ปฏิบัติจะผิดอย่างไรๆ ?” มันยังไม่มีอะไรจะผิดเลย มันยังไม่มีอะไรผิดเลย คือยังไม่มีอะไรผิดเลย เหมือนเรานี่ เราไม่เป็นโรคอะไรเลย หมอขอยาๆ อ้าว ก็เราไม่เป็นอะไร หมอจะให้ยาอะไรวะ ปฏิบัติพวกเราเป็นอย่างนี้หมด ยังไม่เป็นอะไรกันเลย ยังไม่มีอะไรเป็นพื้นฐานเลย ยังไม่ได้ปฏิบัติเลย ตรงนี้ยังไม่เป็นอะไรกันเลยนะ

อ้าว แล้วจะเอายาอะไร? แล้วจะแก้อะไรกัน แต่ทุกคนกลัว ทุกคนกลัว ว่าในการปฏิบัติเรามันจะไม่มีจุดสตาร์ท ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ เริ่มต้นนะ โดยพื้นฐาน โดยการทำงานของพวกเรา โดยทำงานบนดิน บนพื้นฐาน ก็กำหนดพุทโธก่อน ทีนี้พอคนทำงานไปแล้วเห็นไหม เวลาวิชาชีพของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน วิชาชีพของแต่ละบุคคล เขาไปทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ กัน

เวลาจิตเราภาวนาไป พุทโธๆ เราก็เริ่มต้นจากพื้นฐาน ถ้ามันทำได้ เออ หน้าที่กับอาชีพเรา มันไปได้คล่องตัว แต่ถ้าทำไม่ได้ เห็นไหม ทำไม่ได้มีนะ เพราะทำไม่ได้ พุทโธ พุทโธ พุทธจริตไม่ได้ เครียด แล้วทำไม่ได้ พุทโธๆ นี่ส่วนใหญ่แล้วเป็นศรัทธาจริต ศรัทธาจริตคือมีความเชื่อมั่น

ดูสิ เราไปทางอีสาน เห็นไหม พระหรือผู้ที่บวชใหม่ อีสาน ไปดูประเพณีเขาสิ เจอพระนี่เขาจะนั่งลงข้างทางเลย เขาจะไม่เดินสวนพระเลย เขาจะให้พระไปก่อน นี่คือ “ศรัทธาจริต” ด้วยความมั่นคงของเขา พระนะ ถ้าพระนี่เห็นพระ พระจะทำผิดทำถูก เขาจะยกเว้นให้ก่อน แต่ผู้ที่ ผู้เฒ่าผู้แก่ เขามีวิธีการนะ

อย่างเช่นเราเป็นพระที่ปฏิบัติไม่ดี ไปอยู่ในบ้านเขา เขาจะนิมนต์ให้ออกเลย เขานิมนต์ไปเหมือนกัน เขาก็ไม่เอา แต่เขาก็เคารพของเขา นี่เราบอก ศรัทธาจริต ศรัทธาจริตเขาจะมีหลักเกณฑ์ของเขา เขาจะเคารพบูชาของเขา มีความมั่นคงของเขา ทีนี้เขากำหนดพุทโธๆ นี่มันเป็นไปได้ แต่พุทธจริต พวกเรานี่ อืม พระทำไมไม่ทำอาชีพล่ะ? พระทำไมไม่ทำการค้าล่ะ? พวกเราก็คิดประสาเราใช่ไหม

คือ พวกเราต้องหาเหตุผลไง พุทธจริต พวกปัญญาชน พุทโธๆ ไม่ลงหรอก มันมีความคิดโต้แย้งอยู่ ทำไมเป็นอย่างนั้น? ๆๆ มันไม่ฟังหรอก ทำไมต้องพุทโธ? ทำไมถึงต้องพุทโธ? แล้วพุทโธทำไม แล้วพุทโธเพื่ออะไร ทำไมต้องพุทโธด้วย มันจะมีความโต้แย้งไง อย่างนี้เขาเรียกว่าสักแต่ว่าทำ ถ้าพุทโธก็สักแต่ว่าพุทโธ ก็ปากก็ว่าพุทโธไง แต่กูสงสัย มันพุทโธที่ปาก มันไม่ได้พุทโธออกมาจากหัวใจ

แล้วเวลาครูบาอาจารย์ บอกว่าพุทโธนี่ป้องกันผีได้ พุทโธนี่ป้องกันได้หมดเลย แล้วเราก็ผีหลอก ก็พุทโธๆ ผีก็ยังหลอกอยู่ ไม่เห็นหายเลย อ้าว ก็มึงพุทโธที่ปาก ปากมันไม่เห็นผีนะ ใจมันเห็นผี เวลาใจมันเห็นผี ใจมันไม่มีพุทโธ มันก็เห็นผี แต่ถ้าใจมันพุทโธนะ ใจเป็นพุทโธขึ้นมา ผีมาไม่ได้ เพราะพุทโธเป็นผู้เห็นผี

นี้ใจมันเป็นพุทโธเสียเอง ใจเป็นผู้เห็นผี ทีนี้ใจมันเป็นพุทโธ ใจมันไปเห็นผีได้อย่างไร? แล้วผีที่ไหนมันกล้ามายุ่งกับพุทโธ นี่ไง เพราะเราจริงๆ ก็ย้อนกลับมาไอ้สายบัวตื้น สายบัวลึกนี่แหละ จริงๆ มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้นจริงๆ แต่เป็นเพราะเราลังเลสงสัยเอง เราลังเลสงสัยของเราเอง เราว่าเราเป็นผู้ที่มีปัญญาซะเอง

แต่ปัญญาอย่างนี้มันเป็นโลกียปัญญา ถ้าเป็นโลกียปัญญา เห็นไหม แต่ถ้ามันจะเป็นโลกุตตรปัญญามันต้องอย่างนี้ ใช้ปัญญาไล่ความคิดไป ไล่ความคิดไปๆ ความคิดนั้นหยุดได้ ถ้าความคิดหยุดได้ นั่นน่ะ น้ำตื้นน้ำลึก มันจะเห็นมันจะหยั่งรากลงถึงใจ ถ้าหยั่งรากลงถึงใจ เห็นไหม ใจเป็นคนเห็นพุทโธใช่ไหม? ใจเป็นคนนึกพุทโธ ใจเป็นคนเห็นผี ใจมันเห็นทุกอย่าง

แล้วพอใจมันขึ้นมา เราก็ใช้ปัญญาของเรา นี่ไง สิ่งที่พวกเราทำกันอยู่ที่ไม่ได้ผล คำว่าสักแต่ว่าทำ มันไม่ได้ทำมาจากใจ มันไม่มีสติ มันไม่ตั้งใจทำ เวลาบอก เพราะงานทางอาชีพ งานทางโลกเขาทำกันอย่างนั้น งานทางอาชีพทางโลกเขาทำความคิดนะ ในวิชาชีพ เขาใช้ปัญญาของตัว มันออกมาจากที่นั่น ทำงานกันอย่างนั้น แต่พอมันภาวนาก็จะใช้ความเคยชินอย่างนั้นมาปฏิบัติไง

ถ้าใช้ความเคยชินอย่างนั้นมาปฏิบัติ มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาจากความคิด มันไม่ได้ปัญญาเกิดจากใจ แล้วเขาบอกพอปฏิบัติไป โอ้โฮ ศึกษาธรรมะ เข้าใจธรรมะ รู้ธรรมหมด ปากเปียกปากแฉะนะ แล้วก็บอก “จริงๆ มันว่างหมดเลย โอ้โฮ มันว่าง มันใส" กิเลส อุปกิเลส เวลาเราทุกข์เรายากอยู่นี่ จิตใจเราเศร้าหมอง จิตใจเราแบกความทุกข์ไว้ จิตใจมันอั้นตู้ มันมืดครึ้มไปเลย

แต่พอมันศึกษาธรรมะ ไปอ่านธรรมะ มันสว่าง มันปล่อยวาง เราว่า โอ้โฮ นี่เป็นธรรมะ กิเลส อุปกิเลสไง กิเลสอย่างหยาบๆ ในใจไง พอมันใสขึ้นมามันเป็นกิเลสอย่างละเอียดไง เป็นอุปกิเลสนะ แล้วเราก็คิดว่าเป็นธรรมะไง เราคิดว่า แต่มันเป็นธรรมะไหม เราจะบอกว่า เรื่องจิตใจของคนนี่นะมันมหัศจรรย์มาก มันทำของมันได้

แล้วพอมันเป็นอย่างนั้นปั๊บ เราไปศึกษาธรรมะนี่เพราะเราเหมือนกับเราไม่เคยประสบการณ์ เราไม่เคยประสบการณ์อย่างนั้น พอเรามาอ่านหนังสือปั๊บ เราก็เข้าใจว่าธรรมะนี่คือสว่าง ว่าง เห็นไหม พอจิตมันเป็นขึ้นมา มันก็ว่าเหมือนกัน เราก็ว่าเหมือนกัน เพราะอะไร?

เพราะเราไม่มีครูบาอาจารย์ เราไม่เคยผ่านประสบการณ์ของจิตมา พอเราไปเห็น เพราะว่าจิตของเราไม่มีวุฒิภาวะ จิตของเราอ่อนแอ พอไปเห็นไปอ่านปั๊บเราตีความเข้าข้างตัวเอง แล้วจิตมันก็สร้างภาพให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ แล้วเราว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมะ แล้วเดี๋ยวก็เสื่อมหมดเลย พอเสื่อมขึ้นมา มรรคผลไม่มีแล้วล่ะ หมดกาลหมดสมัยแล้ว มันเป็นไปไม่ได้แล้ว มันก็คิดของมันไป เห็นไหม

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันไม่เป็นอย่างนั้น แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านผ่านประสบการณ์ของท่านมา ท่านจะบอกว่า ซ้ำเข้าไป ซ้ำ จะบอกว่า เวลาทุกคนปฏิบัติไป เหมือนกินข้าวคำแรกเลยนะ สำรับมาตั้ง เราตักข้าวคำแรกใส่ปาก อร่อยไหม แล้วอิ่มหรือยัง แล้วกินกี่คำมันถึงจะอิ่มท้อง การปฏิบัติเข้าไปครั้งแรก เหมือนกินข้าวคำแรกเลย แล้วมันก็ว่าอิ่มแล้ว แล้วถ้าหยุดกินไป น่าเสียดายอาหารในสำรับนั้นนะ

เพราะมันทั้งสำรับเลยเพื่อกินให้เราอิ่มหนำสำราญ กินแค่คำเดียวเท่านั้น เพราะมันไม่รู้รสไง จิตก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติเข้าไป มันไปสัมผัส มันไปสัมผัส แต่อิ่มหรือยัง ถ้าไม่อิ่มนะ เสียดายอาหารในจานนะ เสียดายอาหารในสำรับ แล้วเสียดายว่าถ้าเอ็งลุกไปแล้วนะ เอ็งจะหาสำรับไม่เจอ คือเวลามันเสื่อมไง เวลาเราเห็น โอ๊ย ว่าง สว่างหมดเลยนะ นึกว่าธรรมะนะ ชะล่าใจไง แล้วมันต้องเสื่อมเป็นธรรมดา

กินข้าวคำแรกมันจะอิ่มไหม? ไม่อิ่ม เดี๋ยวก็หิวอีกใช่ไหม? แล้วหิวไม่หิวธรรมดานะ คนไม่เคยกินอะไรเลย ได้แต่จินตนาการ ไอ้เราเคยได้กินข้าวสักคำสองคำน่ะ โอ้โฮ มันอร่อยเนอะ พอมันอร่อยปั๊บ จิตเสื่อมนะ มันจะคิดถึงความสัมผัสของใจที่เคยว่าง เคยเป็นไป แล้วมันโหยหา พอมันโหยหา มันเกิดตัณหาซ้อนตัณหา คนที่จิตเสื่อม ปฏิบัติยากกว่าคนที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติอีก

เวลาจิตเราเสื่อมไปปฏิบัติ ยิ่งยากเข้าไปอีก เวลาปฏิบัติไปมันมีขั้น มีแง่มุมของมันไง ทีนี้พอพูดอย่างนี้ปั๊บ เดี๋ยวก็ยิ่งกลัวกันไปใหญ่ ถึงบอกว่าไม่ต้องไปกลัวมัน ตั้งใจทำไป ถ้าเราปฏิบัติไป สิ่งที่มันจะผิดหรือไม่ผิด มันอยู่ที่เรา เราพิสูจน์ได้ เริ่มต้นนะ มันจะพิสูจน์ไม่เป็น

พิสูจน์ไม่เป็นหมายถึงว่าเห็นอะไรเชื่อหมด เห็นอะไรเป็นอะไร เชื่อตามที่เห็น เชื่อตามที่เป็นนั่นน่ะ แต่ความเห็นความเป็น ผิดทั้งหมดเลย เวลาหลวงปู่มั่น ท่านพิจารณาของท่านทีแรก ท่านออกปฏิบัติใหม่ๆ ท่านพิจารณากายเหมือนกัน แล้วพอพิจารณากายไปแล้ว พิจารณาไปถึงปั๊บ มันไปไม่ได้ มันไปถึงทางที่ตันหมดเลย เห็นไหม

ทำไมไปไม่ได้? เห็นกายเหมือนกัน แต่ทำไมไปไม่ได้? สุดท้ายแล้ว ท่านมาพิจารณาของท่านเอง อ๋อ ท่านปรารถนาพุทธภูมิไง พอท่านมาลาพุทธภูมิของท่าน แล้วท่านก็พิจารณากายเหมือนเดิมนั่นแหละ แล้วท่านพิจารณากายเหมือนเดิม มันผ่าน มันเลาะ มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ท่านบอก เออ อย่างนี้ถูก ท่านพูดกับตัวท่านเองนะ เออ อย่างนี้ถูก

ไปถามใคร? เพราะหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นน่ะ มี แต่มีแบบพวกเราไปศึกษากับครูบาอาจารย์ที่เป็นปริยัติ เขาจะแนะนำเราทางวิชาการได้ สมัยนั้นพระมีอยู่ใช่ไหม? หลวงปู่มั่นเป็นพระบวชใหม่ใช่ไหม? ก็ต้องไปศึกษากับพระผู้ใหญ่ คือพระที่มีอายุพรรษามากกว่า ทีนี้พระที่มีอายุพรรษามากกว่า เขาไม่ปฏิบัติ เขาจะแนะนำเราเรื่องอะไร? เขาก็แนะเราเรื่องตำราไง เราปฏิบัติไม่เป็น มาถามเราสิ กูตอบได้หมด กูจะเปิดหนังสือตอบพวกมึง กูเปิดได้หมด

นี่ก็เหมือนกัน หลวงปู่มั่นก็ไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ตอบตามตำรา ฉะนั้นเวลาท่านปฏิบัติของท่านขึ้นมา ท่านต้องเอาประสบการณ์ของท่านพิสูจน์ เวลาผิดขึ้นมา ปฏิบัติพิจารณากายเข้าไป มันปล่อยวางเข้าไป ออกมาแล้วมันก็เป็นปกติ

จิตใจที่มันเร่าร้อนก็ยังเร่าร้อน จิตใจที่มันหงุดหงิด มันก็ยังหงุดหงิด แล้วปฏิบัติแล้วทำไมเป็นอย่างนี้? อย่างนี้ไม่ใช่ทาง นี่คนมีปัญญาเห็นไหม อย่างนี้ไม่ถูก

อย่างนี้ไม่ถูก แล้วทำอย่างไรมันถึงจะถูกล่ะ? ก็ค้นหา ค้นหามาด้วยตัวเอง เพราะตอนนั้นไม่มีใครผู้ปฏิบัติที่ปฏิบัติได้ ไม่มีผู้ปฏิบัติได้ ไปปรึกษาใคร? ไปปรึกษาหลวงปู่เสาร์ เพราะหลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์นะ พอไปปรึกษาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์บอกว่า

“โอ้ ท่านมั่นนี่มีปัญญาเยอะ เราไม่เข้าใจ เราไม่รู้”

อาจารย์ก็ตอบไม่ได้ นี่ไง เวลาถึงได้มาพิสูจน์เอง เราจะบอกโยมว่า “เวลาปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก จริงๆ ในใจเรารู้อยู่แล้ว ๕๐ เปอร์เซ็นต์” เพราะเราสงสัย ขนาดมันจะว่างขนาดไหนนะ คิดว่ามันเป็นธรรม จะเป็นโสดาบัน จะเป็นนิพพานแล้วแต่ อีกใจหนึ่งก็ อื้มๆ มันจริงหรือเปล่า? มันมีในจิตใจเรา มันยับยั้งชั่งใจ มันแปลกใจอยู่ นี่ไง ตรงนี้ต้องถือว่าผิดเลย แต่เราจะไม่ยอมถือว่าผิดกัน เราจะคิดว่ามันเป็นไปได้ แล้วทำไปๆ

ทีนี้พอหลวงปู่มั่นท่านพิสูจน์ของท่านเห็นไหม เวลาปฏิบัติไปแล้ว พิจารณาไปแล้ว ออกมามันก็ยังเหมือนเดิม “อย่างนี้ไม่ใช่ๆ” ไปลาพุทธภูมิ เวลาลาพุทธภูมิ พวกเรานะ ถ้าลากันไม่เป็น เราก็จุดธูปจุดเทียนลากันนี่ ไม่ใช่ ทำจิตสงบเข้ามา ทำจิตให้สงบเข้ามา แล้วไปลากันในสมาธินั้น ไปลากันที่ก้นบึ้งของใจ ไปตัดกันที่นั่น พอตัดกันที่นั่นแล้วเรามาปฏิบัติเห็นไหม พอมาพิจารณากายไปอีกทีหนึ่ง ไปตัดที่นั่น ความที่เรา สิ่งที่สร้างมา บุญกุศล ทำดีทำชั่วมา มันสะสมลงที่ใจหมด

สิ่งที่มีความดีความชั่วมันจะสะสมที่นั่น แล้วเราทำจิตสงบที่นั่น แล้วไปลากันที่นั่น พอลาที่นั่นปั๊บ พอกลับไปพิจารณากายใหม่ พิจารณากายเหมือนกัน พอพิจารณากายไปแล้วมันรู้สึกมันสลดสังเวช มันรู้สึกว่ามันสะเทือนหัวใจ มันรู้สึกว่ามันถอดถอน เห็นไหม เวลาออกมาจากสมาธิมา “อื้ม อย่างนี้ถูกทางๆ”

คติธรรมอันนี้เราเอามาใช้กับตัวเองสิ เวลาเราปฏิบัติเข้าไปจิตเรามันมีความคิดอย่างไร? มันมีความตกผลึกในใจไหมว่าเรายังสงสัยไหม? ถ้ามันยังมีความสงสัยอยู่ เราตั้งใจทำของเราเข้าไปๆ ถ้ามันยังสงสัยอยู่ ตั้งสติให้ได้แล้วปลดเปลื้องในใจของตัว ทำเข้าไป มันจะรู้ของมันเอง แต่ทีนี้พอเรา จริงๆ แล้ว เราก็สงสัยอยู่ แล้วจะไปถามใคร? จะให้ทุกคนยอมรับไง

ทีนี้ทุกคนยอมรับ ถ้าเป็นอาจารย์ที่เป็น เห็นไหม อาจารย์ที่เป็นนะจะรับฟัง ไม่รับและไม่ปฏิเสธ ถ้ารับ คนฟังนั้นก็จะชะล่าใจ จะมั่นใจในทางที่ผิดเรื่อยๆ ไป ถ้าปฏิเสธ ปฏิเสธจะเกิดทิฐิมานะ ทิฐิมานะในความเห็นว่าตัวเห็น ตัวรู้ ตัวสัมผัส แล้วอาจารย์มาปฏิเสธ มันจะเกิดทิฐิมานะ ว่าสิ่งนี้ถูก ทั้งๆ ที่มันเห็นว่าผิด มันควรจะปล่อยวางได้เร็ว เห็นไหม

เวลาฟังแล้ว จะปฏิเสธก็ไม่ควรปฏิเสธ จะรับก็ไม่รับ รับฟังๆๆ แล้วพยายามยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เขาได้คิด ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เขาได้คิด ถ้าเขาได้คิด เหมือนโจทย์ ถ้าเราตั้งโจทย์อันหนึ่ง กับโจทย์ของเขา แล้วเกิด เขาเกิดได้ไปทดสอบ ว่าโจทย์ของใครมันจะลึกซึ้งกว่า โจทย์ของใครมันจะได้ประโยชน์กว่า นี่ไง ปัจจัตตังไง จิตที่เห็น จิตที่เป็น มันจะเห็นจะเป็นของมันใช่ไหม แล้วถ้าจิตที่เห็น จิตที่เป็น แล้วจิตที่เขาไม่เห็น เขาไม่เป็นล่ะ เหมือนกับพ่อแม่กับลูกเลย

มีพ่อแม่คนไหนบ้างไม่รักลูก แล้วพ่อแม่คนไหนบ้างที่จะสั่งสอนลูก แล้วลูกมันจะเชื่อฟัง ลูกมันจะค้านเลย จิตก็เหมือนกัน มันเหมือนลูก มันจะดื้อของมันอยู่ในหัวใจอย่างนั้น มันจะดื้อของมันอยู่อย่างนั้น ธรรมะเหมือนพ่อแม่ ธรรมะนี่ต้องการให้เป็นสิ่งที่ดี แต่เด็กมันจะเถียงของมันไปเรื่อยๆๆ ในหัวใจเรามีกิเลสเป็นอย่างนั้น ปฏิบัติก็เป็นอย่างนั้นใช่ไหม ทีนี้ไอ้เรื่องเด็ก เรื่องพ่อแม่ มันเป็นเรื่องธรรมดา

เพราะเด็ก พ่อแม่ ถึงเวลาแล้วเขาต้องโตขึ้นมา เขาต้องรู้ แต่กิเลสมันไม่มีวันโต มันจะเป็นอยู่อย่างนั้น มันไม่โตขึ้นมา แต่ถ้าธรรมะเราปฏิบัติ ธรรมะมันโตขึ้นมา พอธรรมะมันโตขึ้นมา เราจะรู้เลยอะไรผิดอะไรถูก ถ้ารู้อะไรผิดอะไรถูก ตอนนั้นเราค่อยๆ มันจะเห็นผิด มันจะปล่อย มันจะปล่อย แล้วพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องให้มากขึ้นๆๆ มันจะเข้าถึงรากของจิต เข้าถึงสายบัวหยั่งถึงดิน ถ้าถึงพื้นดินเห็นไหม มันเหมือนครูบาอาจารย์ท่านพูด ในดินถ้าจะไปขุดน้ำ แหล่งน้ำตื้น แหล่งน้ำลึก ใครขุดได้ตื้นได้ลึกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติของคน ปฏิบัติยากปฏิบัติง่ายมันเป็นสมบัติส่วนตนนะ มันเป็นจริต มันเป็นนิสัย ถ้ามันเป็นจริตนิสัย เราต้องทำของเรา เวลาทำบุญกุศล เวลาเราสร้างคุณงามความดี ตรงนี้มันไปวัดกันตรงนั้นไง วัดกันที่ว่าใครทำง่ายทำยาก ใครทำแล้วจะมีอะไรรองรับ เรายังว่าพวกเรานี่มัน เรามีครูบาอาจารย์นะ

ทีนี้ครูบาอาจารย์น่ะ ใช่ไหม เป็นบุคคลสาธารณะ มันเป็นที่เราน่ะ เราจะเชื่อฟังท่านไหม? เราจะเอาเหตุผลมาเป็นประโยชน์กับเราไหม? ตรงนี้สำคัญ ครูบาอาจารย์ ดูสิ เดี๋ยวนี้ เทป หนังสือเยอะแยะไปหมดเลย แล้วเราศึกษามันจะเป็นประโยชน์กับเราไหม? ครูบาอาจารย์มี แล้วเราเชื่อได้มากขนาดไหน คือจริตนิสัยมันตรงไหม? ความเป็นไปของเรายอมรับไหม?

ถ้ายอมรับถึงจะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วถ้ายอมรับขึ้นมา อย่างที่ว่า ครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องไหม? ถ้าครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง นั่นก็เป็นเรื่องของท่าน จริตไม่ตรงกับเราก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่ถูกต้อง จริตของเราที่ดี ปัญญาของเราที่ดีเราควรทำอย่างไร? ตรงนี้ ย้อนกลับมาปัจจัตตัง ปัจจัตตังคือความสัมผัสของใจ ใจมันสัมผัส ใจมันจะรับรู้นะ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ทีนี้ถ้าปฏิบัติแล้วไม่ต้องไปห่วงถูกหรือผิด แต่ถ้ามันปฏิบัติโดยธรรมดามันก็ผิด เราจะบอกว่าผิดอยู่แล้ว แต่ผิดมันก็ต้องยอมรับผิด มันเป็นประสบการณ์ไง มันถึงว่ามันเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คำว่าปริยัติมันตัดช่วงกัน ปริยัติคือการศึกษา พอศึกษาแล้ว ความศึกษานั้นมันถูกไหม ก็ผิดหมดนี่ไง ปริยัติมันตัดช่วงกัน คือมันเป็นตอนหนึ่งของมัน พอปริยัติแล้วมันเป็นทฤษฎีที่เราจะต้องหาแนวทาง แล้วปฏิบัติมันตัดช่วงกับปริยัติ

ถ้ามันไม่ตัดช่วงกัน มันต้องเอาปริยัติมาเป็นพื้นฐานเลย พอพื้นฐานเลย มันก็มาหลอกตัวเอง มันมาหลอกตัวเองทันทีเลยนะ เห็นไหมที่หลวงปู่มั่นบอกกับหลวงตา ธรรมะของพระพุทธเจ้ายกใส่เทิดทูนไว้บนศีรษะ เทิดทูนไว้บนหัวเลย แต่ให้เก็บไว้ในลิ้นชักก่อน คือเก็บไว้อย่าให้ออกมาใช้ก่อน อย่ามาคิดมันก่อน ถ้าเอาออกมาใช้มันจะเตะมันจะถีบ คำว่ามันเตะมันถีบ เพราะว่าปริยัติมันเป็นอันหนึ่งใช่ไหม?

ทฤษฎีมันเป็นอันหนึ่ง ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นอันหนึ่ง แต่ความรู้สึกเราเป็นอีกอันหนึ่ง เวลาเราปฏิบัติไป ความรู้เราเป็นอีกอันหนึ่ง ความรู้สึกเรากับทฤษฎี มันจะขัดแย้งกันบ้าง ใหม่ๆ มันจะลงตัวกันไม่ได้หรอก มันยังไม่สมดุลของมัน แต่ถ้าเราปฏิบัติไปถึง ปฏิบัติไปๆ จนจิตเรามันเป็นธรรมขึ้นมา ทฤษฎีนั้นเป็นธรรมพระพุทธเจ้าใช่ไหม? แล้วข้อเท็จจริงของเรามันก็เป็นธรรมของเราใช่ไหม?

ธรรมกับธรรมมันจะขัดแย้งกันได้อย่างไร? มันก็พอดี มันก็ลงตัวกันเพี๊ยะๆๆ คือทางพระพุทธเจ้าไม่ผิดเลย ทฤษฎีไม่ผิดเลยนะ มันผิดเพราะกิเลสของเรา มันข้ามขั้นตอน ขั้นตอนของปริยัตินี่ ปริยัติแล้วจะปฏิเวธเลยไง คือปริยัติแล้วจะเข้าใจเลย คือปริยัติแล้วจะบรรลุธรรมเลย ทีนี้ปริยัติแล้วมันก็เป็นขั้นตอนหนึ่งใช่ไหม? มันตัดตอนของมัน ทีนี้ก็ต้องปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วมันถึงเป็นปฏิเวธ ปฏิเวธคือความรู้จริงไง มันเป็นคนละขั้นตอนกัน

แต่พวกเรานี่ชอบยำ ชอบยำให้มันมาผสมกันไง นี่ไงที่หลวงปู่มั่นท่านบอก มันเตะมันถีบกันเพราะเราไปยำมันไง เราไปยำมัน นี่ทฤษฎีเราเรียนมาแล้ว มันต้องเป็นอย่างนั้นๆ นี่ไง แล้วทุกคนก็กลัวนะ ปฏิบัติผิด แล้วโดยธรรมะจะว่าอย่างนั้นนะ ทุกคนต้องมีการศึกษาก่อน ทุกคนต้องมีการศึกษาเพราะกลัวปฏิบัติผิด ต้องเรียนก่อน เรียนแล้วปฏิบัติ

ทีนี้เราก็ย้อนกลับมาในวงกรรมฐาน ในวงกรรมฐานนะ ผู้ที่เรียนมาแล้วปฏิบัติได้จริงมีพระมหาปิ่น น้องหลวงปู่สิงห์ หลวงตามหาบัว แล้วก็มหาเขียน เราก็เห็นเท่านี้ องค์อื่นเราไม่เห็นเลย ที่เรียนแล้วปฏิบัติแล้วถึงนะ แล้วมาย้อนกลับมาที่ปฏิบัติสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ชอบ เรียนอะไรมา?

ครูบาอาจารย์เราที่ปฏิบัติกรรมฐานเรียนอะไรมา? มีทฤษฎีได้แค่ไหน? มีทฤษฎีก็หลวงปู่มั่นสอนทั้งนั้นล่ะ ไม่ใช่เราโต้แย้งสังคมนะ สังคมเราต้องเรียนก่อนแล้วค่อยปฏิบัติ แต่เรียน เราน่ะตอนปฏิบัติใหม่ๆ นะ ไปอยู่ในป่า ไปเจอมหาอุดร ๙ ประโยค มาจากวัดบวรฯ ไปเจออยู่ในป่า ไปคุยกันถูกใจ “หงบเว้ย มึงต้องเรียนก่อน” เขาจับเราไปมัดไว้ที่วัดบวรฯ เลย จะให้เรียนให้ได้เลย เราก็หาทางออก บิดไปบิดมา ถึงเวลาแล้ว ปิ๊ดๆ ออกเลย เพราะเรากลัวไง

คำว่ากลัวเพราะเราพรรษาแรก บวชพรรษาแรก อ่านประวัติหลวงปู่หลุย กับหลวงปู่เทสก์ องค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๑ ปี องค์หนึ่งติดสมาธิ ๑๗ ปี ๑๑ ปีเสียไปเปล่าๆ อีกองค์หนึ่งเสียไป ๑๗ ปี ในอัตโนประวัติ หลวงปู่เทสก์ไปอ่าน กับหลวงปู่หลุย ๒ องค์นี่จำไม่ได้ มันกลับกัน ๑๑ กับ ๑๗ แต่ติดทั้งคู่ ๑๗ ปี อ่านแล้วกลัวมาก กลัวเวลามันจะเสียเปล่า แล้วเราบวชแล้วเราก็พยายามจะเอาจริง กลัวเวลามันจะ มันล่วงเลยไป

ถ้าอายุพรรษามันมากขึ้น แล้วปฏิบัติไม่ได้ กลัวใจมันด้านไง ถ้าใจมันด้านแล้วมันเอาไม่อยู่ ฉะนั้นถึงต้องเร่ง แล้วประสาเรามันเชื่อมั่นอย่างหนึ่ง เรามีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่า มีครูมีอาจารย์ ถ้าเราผิดพลาดขนาดไหน เหมือนเราเป็นคนป่วย อย่างไรๆ ก็มีหมอ หมอรอตัดสายอยู่ มันมีความเชื่อมั่นตรงนี้ มันถึงลุยเต็มที่ อย่างพวกเราเจ็บไข้ได้ป่วย เข้าโรงพยาบาล หมอต้องรักษาเราได้

เราปฏิบัติ ถ้าผิดพลาดขึ้นมา ครูบาอาจารย์ต้องแก้ไขเราได้ เราถึงเร่งเต็มที่ เร่งเต็มที่เลย ผิดถูกอย่างไรวัดกัน แล้วเวลาขึ้นไปหาท่านก็นี่แหละ เพราะปากต่อปาก เถียงกันเต็มที่เลย แล้วเราได้ไม่ได้ แต่ของเรามันโดนอย่างนี้ อย่างที่ว่า เวลาประสบการณ์ของเราเองไง เวลาเถียงบางที ครูบาอาจารย์ท่านจะไม่ค่อยโต้เถียงเรา ส่วนใหญ่จะบอกว่า “ใช่ๆๆ”

แล้วพอเราปฏิบัติไปเอง “เฮ้ย มันไม่ใช่นี่หว่า” ทีแรกใหม่ๆ เอะ ใจนะ พอขึ้นไปถามท่านก็รับรอง “เออ อย่างนี้ถูกต้องแล้ว” แล้วพอปฏิบัติไป เฮอะ มันไม่ใช่ พอมันไม่ใช่ขึ้นมา มันก็เกิดความเอะใจ เอ๊ะ ทำไมอาจารย์โกหก? โอ้ ทีแรกมันคิดอย่างนั้นนะ เอ๊ะ ทำไมอาจารย์โกหก? ก็มันไม่ใช่ แล้วพอมันไม่ใช่ปั๊บ เราก็มาปฏิบัติซ้ำไง “โอ้ นี่เป็นอุบายของท่าน”

ถ้าท่านบอกว่า “ไม่ใช่ตอนนั้นนะ” เราจะเกิดทิฐิ ยึดความเห็นของเรามากไปกว่านี้ ถ้าเราเกิดทิฐิมากไปกว่านี้ การปฏิบัติของเราจะเสียเวลามากกว่านี้ อันนี้พอบางทีเราขึ้นไปหาท่าน คืนเดียวเท่านั้น เราได้เลย ไปหาหลวงตา ปี ๒๔ (๒๕๒๔) หรือไงนี่ ขึ้นไปถามท่าน ไปถามท่านว่าจิตมันปล่อยหมดแล้ว มันแยกแล้ว เหมือนกับกายกับจิตมันแยกออกจากกัน มันไม่มีอะไรเลย ขึ้นไปหาท่าน ไปหาท่าน มันไม่มีอะไรเลยนะ ไปถามว่า “จะทำอย่างไรต่อไป?”

เอ๊ะ ท่านก็บอกว่า “ใช่แล้ว ใช่แล้ว” ถ้าใช่แล้วท่านก็ไม่บอกเหตุผล ท่านไล่ลงมาเลย พอไล่ลงมาเลย พอลงมานี่ประมาณทุ่มหนึ่ง จะออกจากกุฏิหลวงตาประมาณทุ่มหนึ่ง ก็กลับมานั่งสมาธิที่ร้าน เสียใจๆๆๆ ท่านไล่ลงมาไง เสียใจๆ ทีนี้จิตเราว่ามันว่างแล้วนะ มันว่างแล้ว พอจิตมันว่างแล้ว ตอนที่เราขึ้นไปเราคิดว่าจิตมันว่างแล้ว

แล้วพอมานั่งอยู่นี่ประมาณทุ่มหนึ่ง จิตมันส่งออก เสียใจๆๆๆ เสียใจไปเรื่อยๆ สี่ทุ่ม ห้าทุ่มนะ ก็ยังเสียใจอยู่อย่างนั้น เพราะอารมณ์มันกำลังส่งออก พอมันได้สติ พั้บ!

“เสียใจคืออะไร? เสียใจเป็นเวทนาหรือเปล่า? เสียใจเป็นอะไร?”

พอจับเสียใจ พั้บ! จิตมันจับได้นะ จิตมันรู้ทันความคิดไง จิตมันจับเสียใจได้ พั้บ!

“เสียใจก็คือเวทนา แล้วไหนมึงบอกมึงว่างไง? ไหนเมื่อกี้มึงบอกว่าว่าง แล้วว่างทำไมมึงยังเสียใจ?”

แต่ตอนเสียใจทีแรกไม่รู้นะ ตอนเสียใจ ไอ้ว่างๆ มันก็อยู่ว่างๆ อย่างนั้น แต่ไอ้เสียใจมันก็คนละอันไง เสียใจๆๆๆ มันเสียฟอร์มตอนแรกว่าเสียฟอร์ม เสียใจๆ อยู่นั่นแหละ แต่ตอนขึ้นไป มันว่ามันว่างไง แล้วคิดดูสิ ทุ่มหนึ่งสองทุ่มสามทุ่มสี่ทุ่มห้าทุ่ม มันก็ยังเสียใจๆ อยู่อย่างนั้น มันจับไม่ได้ จิตมันยังไม่มีกำลังที่มันจะจับได้ มันก็ยังบ่นเสียใจๆ เหมือนนก บ่นเสียใจๆ อยู่ในใจ

พอมันได้สติ พั้บ! นะ มันจับเลย พั้บ!

“เสียใจคืออะไร? เสียใจคือเวทนา เวทนาคือความเสียใจคือทุกข์ใจ แล้วเมื่อกี้มึงบอกว่าว่างไง”

โอ้โฮ พอมันจับได้พั้บ! เท่านั้นแหละ โอ๊ว มันตื่นเต้นนะ จับได้พั้บ! มันก็เหมือนกับเราจับขโมยได้ จับตัวจิตได้ โอ้โฮ มันตื่นเต้นมากนะ ลุกขึ้นเลย ลุกขึ้นที่ร้าน

“กูจะกราบอาจารย์ร้อยหน กูจะกราบอาจารย์พันหน กูจะกราบอาจารย์หมื่นหน”

ถ้าเมื่อกี้บอกว่า “ไม่ใช่ กูจะเถียง” คราวนี้กูมาจับของกูได้เอง โอ้โฮ มันตื่นเต้น ตรงนี้นะที่ว่าหลวงตาท่านติดอยู่ ๕ ปี ติดตรงนี้ ๕ ปี แต่เราคืนเดียว มันด้วยสติไง เวลามันปฏิบัติไปมันจะ นี่ไง ความสัมผัสของใจ ถึงบอกว่าทีแรกคิด ทีแรก เพราะตรงนี้มันฝังใจเราไง ทีแรกมันลงมา ลงมาคิดนะ เสียใจๆ แล้วพอเวลาจับได้ ที่ว่าพอจับได้แล้ว มันเป็นเวทนา

ทีแรกอย่างนี้ ท่านบอกว่า “ใช่แล้วอย่างนี้ ท่านก็โกหกเราสิ” ก็นึกไม่ทันมันอยู่นี่ไง แต่พอมาจับได้ คิดว่าที่ท่านโกหกคำว่า ท่านโกหกนะ กับเวลาที่เราปฏิบัติ ที่เราจับได้ เวลามันยาวสั้นต่างกัน อันนี้คืออะไร อันนี้คืออุบายของอาจารย์สอนลูกศิษย์ใช่ไหม? อันนี้เป็นโกหกไหม? นี่ไง พวกเราถือศีลกันไง ศีล ๕ ไง ห้ามโกหก ว่าห้ามโกหกก็ต้องพูดตามความจริง

พอความจริง ไอ้นี่ปล้นมาๆ กล้าพูดไหม ใครบอกนี่คนไม่ดี กล้าพูดไหมว่าคนไม่ดี ก็ไม่กล้าต่อหน้าเขา เออ คนนี้เป็นคน.. พูดไม่ออกๆ มันเป็นอุบาย เป็นอุบายเพื่อจะให้เราพัฒนา หรือเพื่อให้เราเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงเข้าไปเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ไงครูบาอาจารย์ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ถ้าปฏิบัติ เล่ห์กลของกิเลสเยอะนัก

ทีนี้ปฏิบัติไป เริ่มต้นแต่พื้นฐาน มันก็ผิด แต่ผิดก็ไม่เป็นไร ผิดก็แก้ไข แล้วจิตมันจะดีขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา แล้วเวลาขึ้นไปนะ เล่ห์กลของกิเลสที่มันจะหลอกเราข้างในหัวใจนะ ยังอีกเยอะแยะ กิเลสของขั้นโสดาบัน มันกิเลสหยาบๆ แค่ความเห็นผิดเรื่องกาย มันก็เป็นกลอุบายของกิเลสอันหนึ่ง กิเลสของขั้นสกิทานะมันหลอกลวงก็อีกขั้นหนึ่ง กิเลสของขั้นอนาคา ขั้นกามราคะ มันหลอกลวงแนบเนียน ลึกซึ้งกว่าอีกระดับหนึ่ง

กิเลสของขั้นอรหัตมรรคนะ ขั้นของภพ ขั้นของพื้นที่ ขั้นของตัวจิตเดิมแท้ มันหลอกจนหัวปั่นเลย คือเหมือนกับเราหาผู้ร้าย หาคนผิด แล้วต่อไป มันจะหลอกให้เรา หามันไม่เจอ มันจะพลิกแพลงให้เราหลงผิดๆ ถูกๆ ล้มลุกคลุกคลานอยู่ข้างในนะ เวลาปฏิบัติขึ้นไป มันเหมือนกับเรายืนไม่ได้ ยืนแล้วล้ม ล้มแล้วลุก ลุกแล้วนั่ง โอ้โฮ อยู่อย่างนั้น เวลาเราตั้งสติ แล้วเข้าไปต่อสู้กับกิเลส

ถ้าคนไม่ปฏิบัตินะ เวลาเขาพูดกันปฏิบัติง่ายๆ หรือว่าชุบมือเปิบ เราไม่เชื่อ เราไม่เคยเชื่อเลยนะ ปฏิบัติน่ะล้มลุกคลุกคลาน กว่าเราจะเจอเหตุการณ์อันหนึ่ง เจอเหตุผลหนึ่ง แล้วเราจะวินิจฉัยให้มันสรุปได้อันหนึ่ง เราไปเจอผู้ร้ายอีกคนหนึ่งที่มันลึกซึ้งกว่า แล้วกว่ามันจะสรุปได้ เหมือนกับขึ้นศาล

ดูสิ กี่ปี ๗ ปี ๘ ปีกว่าศาลฎีกาจะตัดสิน คดีหนึ่ง ๑๒ ปี ๑๕ ปี นี่ขนาดว่ามีเอกสารนะ เรียกมาดูเมื่อไหร่ก็ได้นะ แต่เวลาเป็นกิเลสมันไม่ใช่เอกสาร กิเลสมันเป็นความรู้สึก ธรรมะก็เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น เรียกเอกสารมา เรียกสติมา มันก็ไม่มา เรียกปัญญามา มันไม่เคยโผล่มาเลย แล้วจะไปต่อสู้กันนะ ตายห่า!

นี่ไง เวลาปฏิบัติมันมีข้างในลึกซึ้งมาก ฉะนั้นไอ้ที่ว่าพื้นฐานว่ามันจะผิดๆ น่ะ อย่าไปตกใจ อย่างที่เราว่า เรามั่นใจเราเพราะว่าเรามีหลวงตา สมัยอยู่ที่บ้านตาดนะ มันจะพูดกับตัวเองตลอด “เอ็งน่ะกลัวมากกลัวผิดกลัวพลาด กลัวทุกอย่างเลย ตอนนี้หมออยู่บนกุฏิ” หมอ หลวงตา คือท่านอยู่บนกุฏิไง มึงปฏิบัติมาสิ ท่านเปิดให้เราขึ้นหา ๒๔ ชั่วโมงเลย ผิดพลาดวิ่งขึ้นไปหาท่านเลยๆ

“เอาสิ แน่จริงเอาสิ เอาเข้าไป” นี่ก็เหมือนกัน กลัวผิดๆ ปฏิบัติมาสิ แล้วพอปฏิบัติมาแล้วผิด-ถูกนี่เวลาเริ่มต้นแล้ว พอเข้าถึงแล้ว มันแนะนำได้สบาย ถ้ามีตุ๊กตามานะ มีตุ๊กตามา เราจับมาคนละตัว แล้ววัดกันได้เลยนะ ใครสูงใครต่ำ ตุ๊กตาใครสวยไม่สวย ปฏิบัติก็เหมือนกัน จิตเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ จับมาเลย มาวัดกัน รู้กันเลย รู้ผิดรู้ถูก

อันนี้จับลมมาเลย ตุ๊กตาๆ ไอ้เราก็งง ตุ๊กตามึงไม่เห็นมีอะไรเลยวะ? แล้วกูจะพูดอย่างไรเนอะ? นี่ไง ผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ ก็ไม่มีอะไรเลย แล้วจะพูดกันอย่างไร? เขามีตุ๊กตามาตัวหนึ่ง ไอ้นี่เอามือเปล่ามา บอกนี่เป็นอย่างไร?ๆ แล้วก็เรากลัวผิดๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องกลัว จับตุ๊กตาให้ได้ จับประสบการณ์ของจิตไง จับสิ่งที่เราปฏิบัติ แล้วเอามาคุยกัน แล้วเอามาแก้ไขกัน ทำให้มันดี ทำให้มันถูกต้อง มันก็จะเป็นความดีขึ้นมา อย่าไปตกใจ

แล้วเวลาชีวิตทางโลก ชีวิตทางโลกนะมันเป็นเรื่องอย่างนี้ ทุกคนมีกายกับใจ ก็ต้องสมบุกสมบันกันไปอย่างนี้ แต่ในการปฏิบัติ เห็นไหม เรื่องของใจล้วนๆ นั่งสมาธิน่ะ นั่งเฉยๆ เอาใจของตัวให้ได้น่ะ อันนั้นมันเรื่องของนามธรรม งานที่ยากกว่า ทีนี้ออกมาแล้วนี้เรามีร่างกาย เราเดินไปไหน เราเคลื่อนไหว ก็จะมีร่างกายเคลื่อนไปใช่ไหม? แล้วต้องให้มีที่อยู่ที่อาศัยใช่ไหม? เราก็ทำของเราอย่างนี้ คือมันเป็นอย่างนี้ เราไม่ต้องไปทุกข์ร้อนกับมันจนเกินไป

ไอ้เรื่องทุกข์มันทุกข์ทุกคน ดูสิ เราไปบิณฑบาต กลับมาเหงื่อซ่กเลย เห็นไหม ทุกข์ไหม? เราบิณฑบาตกลับมา ดูสิ ทุกเช้าเลยเหงื่อเต็มเลย ทำไมเราไปบิณฑบาตล่ะ? อ้าว ก็นี่ เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราบิณฑบาตกลับมาก็ยังต้องอาบเหงื่อต่างน้ำเหมือนกัน แล้วโยมทำงานจะไม่เหนื่อยจะเป็นไปได้อย่างไร? ถ้าเราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดานะ เรามีสติสตังแล้วเราปฏิบัติของเรานะ อันนี้จะเป็นประโยชน์กับเรานะ

ถ้าเราไม่อ่อนแอ แล้วมีสติคิดสักหน่อยหนึ่ง มีสติยั้งคิด หน้าที่การงานทำไป ทุกข์เหมือนกัน คนอื่นทุกข์กว่าเราก็เยอะ ทุกข์กว่าเราแล้วนะเหมือนคนตาบอด เขาทุกข์กับเรานะ แล้วเขาไม่มีตา เขายังสะเปะสะปะไป เราทุกข์เหมือนกัน แต่เราลืมตา ลืมตาอันนั้นก็เป็นทุกข์ใช่ไหม? แล้วเราหาที่พึ่งไง เราหาทางออกไง เราไม่ใช่คนตาบอด ทุกข์แบบคนตาบอด ทุกข์แบบไม่มีทางออก เราทุกข์แบบคนตาดี แล้วเราจะหาทางออก มันทุกข์เหมือนกัน

แต่เราไม่ไปยึดมั่นมันจนมันมาเหยียบย่ำเราจนเกินไป นี่เรื่องทางโลก แล้วเรื่องทางธรรมก็นี่ สุดแต่อำนาจวาสนา แต่มีอำนาจวาสนา เห็นไหม เราก็ปฏิบัติ นั่งสมาธิภาวนาเพื่อสร้างบารมี ถึงไม่ถึงที่สุด มันก็ทำให้เรา ให้จิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ มีทางออก จิตใจเราเริ่มมีคุณค่า เห็นไหม

ดูสิ ดูค่าของเงินเห็นไหม เราบาทหนึ่ง เขาดอลลาร์ เรา ๓๕ - ๓๖ บาท เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใจมันมีคุณค่าขึ้นมา ดูอัตราแลกเปลี่ยนสิ มันยังต่างกันอย่างนั้นล่ะ บุญของเราไง บุญของเรามันมีคุณค่าขนาดไหน อัตราแลกเปลี่ยนมันต่างกันอย่างไร? แล้วเราคิดถึงตรงนี้ปั๊บเราจะมีสติของเรา แล้วเราจะไม่ทุกข์เกินไป ทุกข์เกินไปกับโลก

จะจบแล้วนะ ลงแล้ว เริ่มงงแล้ว ใครมีอะไรไหม ไม่มีอะไร พักก่อนเนาะ เอวัง