วิสัยจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ธรรมะ ธรรมถ้ามีอยู่ เราตั้งใจฟัง ถึงจะไม่เข้าใจอย่างไรมันก็เป็นกระแสไง ธรรมเป็นของละเอียดอ่อนมาก เข้าถึงจิตได้ ชำระกิเลสได้นะ วิสัยของจิตไง
วิสัยของจิต วิสัยคือเป็นไปได้ วิสัยของจิต จิตนี้เกิดตาย เกิดตายมากี่ภพกี่ชาติไม่มีต้นไม่มีปลาย วิสัยของจิตเกิดไปเวลาพุทธันดร ช่วงที่ไม่มีศาสนา เห็นไหม เวลาไม่มีศาสนานี่ธรรมะไม่มี มันก็เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนั้นน่ะ
พุทธวิสัย วิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอจินไตย อจินไตย ๔ พุทธวิสัย เพราะเป็นพุทธวิสัย เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ศาสนาก็ไม่มีอยู่ ศาสนาไม่มี ธรรมก็ต้องไม่มีสิ ไม่มีก็อยู่เพลิดเพลินกันไป สมัยที่โลกเจริญรุ่งเรืองเพราะว่าบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างมา สร้างมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ต้องมีบุญบารมีมาก เกิดมาในตระกูลที่ว่ามั่งคั่งถึงได้เป็นกษัตริย์ มีสิ่งควรให้เพลิดเพลินอยู่ในโลกนั้น
พุทธวิสัยทำให้ได้ฉุกคิด เห็นไหม ฉุกคิดหาทางออกไง หาทางออกจากโลกของเขามา หาทางออกจากโลกมา ธรรมก็ไม่มี ออกมาแล้วต้องไปทนทุกข์ทรมานอยู่ ๖ ปี คิดดูสิ ออก ๖ ปีน่ะ ที่ไหนมีดีไปศึกษาหมด เห็นไหม ที่ไหนเขาว่ามีของดี ครูบาอาจารย์ที่ไหนดีไปศึกษามาหมด ศึกษาขนาดไหนมันก็ไปไม่ได้เพราะว่ามันยังไม่ถึงธรรม นั่นน่ะ ธรรมละเอียดอ่อนขนาดนั้น
ลัทธิต่างๆ เขาว่าเขาเป็นศาสดาสอนหมู่สัตว์อยู่ เข้าไปศึกษากับเขามา ได้ความสงบร่มเย็นมาขนาดไหน เห็นไหม ความสงบมีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่โดยดั้งเดิมที่ว่าเขาสอนกันอยู่แล้วก็ไปเรียนกับเขามา...มันก็ไม่ได้ เพราะความสงบมันก็สงบเฉยๆ นั่นน่ะ พุทธวิสัย เป็นผู้ที่ค้นคว้าเอง มันละเอียดอ่อนขนาดที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหารขนาดไหนนะ อดอาหารเพื่อจะให้เห็นธรรม อดอาหารเพื่อคิดว่าขณะที่ไม่มีอยู่ ความคิดมันต้องทดลองทดสอบไปตลอด ทดสอบไปว่าทางไหนที่เป็นอุกฤษฏ์ที่จะเข้าให้ถึงชำระกิเลสในใจของตัวเองให้ได้ พยายามจะทำให้ได้เลย แล้วมันก็ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ลงมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาสมัยนั้นยังไม่มี
คำว่า อุกฤษฏ์ ในลัทธิต่างๆ ใครทำได้อุกฤษฏ์กว่าคนนั้นก็ว่าเก่งกว่า คนทำนี่น่าเชื่อถือกว่า...มองกันไปด้วยการคาดการเดา การด้นการเดา การคาดการหมาย ใจที่มันปล่อยวาง ใจที่มันเข้าไปคาดมันหมาย มันอิ่มใจ มันพอใจ มันก็ปล่อยวาง ความปล่อยวางอันนั้นก็ปล่อยวางอยู่ในวิสัยอันนั้น มันไม่ใช่พ้นออกไปได้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ลองมาทุกอย่างที่ว่าอุกฤษฏ์ ในพระไตรปิฎกว่าไว้ ถ้าในการกระทำที่ว่าอุกฤษฏ์ที่สุด ไม่มีใครทำได้เสมอพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำมากที่สุด แต่มันก็ไม่พ้นไปได้ ตรงมัชฌิมาปฏิปทาต่างหากถึงจะพ้นไปได้
มัชฌิมาปฏิปทา ย้อนกลับมาด้วยพิจารณาปฏิจจสมุปบาทในหัวใจ เกิดดับอยู่ที่ใจ ใจเห็นไหม ใจเท่าที่ว่าพิจารณาเข้ามาแล้ว เข้ามาย้อนกลับเข้ามาดู ตั้งแต่บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันอยู่ในเปลือกของใจนั้นก่อน บุพเพนิวาสานุสติญาณสาวไปสาวไปก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่หมายถึงว่ามันไม่ใช่ชำระกิเลส มันรู้ไปรู้ไปอยู่ ย้อนกลับมาจุตูปปาตญาณก็เห็นสัตว์เกิด ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด นี่วิสัยที่มันเป็นมันเป็นอยู่อย่างนั้น วิสัยของจิตที่เกิดตายอยู่ไม่มีต้นและไม่มีปลายไปตลอดมาไป ไปตลอดไป จนว่าอาสวักขยญาณเข้ามาถึง อาสวักขยญาณเข้ามาชำระใจของตัว อาสวักขยญาณ อาสวะสิ้นไปจากใจนั้น ญาณกำจัดอาสวะขาดออกไปจากใจ มัชฌิมาปฏิปทาท่ามกลางหัวใจ เห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา ท่ามกลาง ชำระกิเลสได้ทั้งหมด
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระได้ทั้งหมดแล้วพุทธวิสัยครอบไปทั้งหมด เป็นอจินไตยที่ว่าไม่มีใครสามารถจะหยั่งรู้ความเป็นไปของวิสัยอย่างนี้ได้เลย ใหญ่มาก แปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่ว่าคาดเดาเอาไม่ได้ทั้งหมด ถึงว่าเป็นเรื่องของอจินไตยเลย
เพราะมีอันนี้ ธรรมะถึงได้เกิดขึ้น ถึงได้ไปสอนปัญจวัคคีย์ เห็นไหม เสวยวิมุตติสุขอยู่ก่อนแล้วค่อยไปสอนปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์เตรียมพร้อมอยู่ ภาชนะเตรียมพร้อมไว้แล้ว แต่ยังไม่มีใครสามารถเปิดภาชนะได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเปิดภาชนะให้อัญญาโกณฑัญญะดวงตาเห็นธรรมก่อน อัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม นั่นน่ะ สาวกวิสัยเกิดขึ้นนะ สาวกะ เห็นไหม สาวกวิสัยผู้ได้ฟังธรรม นั่นพุทธวิสัย สาวกวิสัย
แต่วิสัยของจิตที่มันเป็นไปเป็นเรา วิสัยของจิตที่มันเป็นกิเลสอยู่เต็มๆ ตัว มันเกิดตายอย่างไรในวัฏวน ในวัฏฏะที่เป็นไปอยู่ เพราะวิสัยของกิเลส ถ้าไม่มีธรรมะเข้ามาจับ มันจะไม่รู้ถูกรู้ผิดไง มันก็เป็นไปตามอำนาจวาสนาของใจที่เกิดดับ เกิดดับนั้นไป
เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ทุกข์อยู่ในภพของมนุษย์ จะแสวงหาทางออกก็แสวงหาทางออกไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราเกิดมาท่ามกลางศาสนานะ ยุคทองเลย ยุคทอง ยุคปฏิบัตินี่ยุคทองมาก เหมือนแร่ทองคำ แร่ทองคำทั้งกระแสแร่ทองคำเลย แต่ใจเราเป็นก้อนกรวดอยู่ในทองคำนั้นน่ะ ใจของเราอยู่เป็นก้อนกรวดอยู่ในกระแสแร่ทองคำนั้น ทองคำนั้นก็เป็นทองคำ กรวด คือนิสัย คือหัวใจของเราก็เป็นกรวดเป็นทรายอยู่อย่างนั้นน่ะ
เพราะมันมีความชำระใจ มันไม่เข้าถึงธรรม มันเป็นสาวกะไม่ได้ สาวกวิสัยไม่ได้ เป็นวิสัยของจิตพร้อมกับกิเลสไป นี่ต้องดูตรงนี้ไง ให้เทียบกลับมาดูการเกิดและการตายของเรา ดูจริตนิสัยของเราไง การเกิดการตายคือความเกิดความตายของอารมณ์ความขุ่นข้องหมองใจไง ขุ่นข้องหมองใจเกิด ๑ อารมณ์ก็เกิดแล้ว เห็นไหม ความเกิดมา ๑ อารมณ์ ความเกิดเกิดแล้วเกิดขึ้นกับใจ ดับก็ดับไป อันนี้ก็วนเวียนอยู่นะ
เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง แล้วมาเกิดมาเป็นมนุษย์ ความเกิดๆ ดับๆ ในความรู้สึกของใจนั้นก็เกิดซ้อนๆ เกิดซับเข้าไปที่ใจของเรา ใจของเราเกิดซับเกิดซ้อน เกิดซับเกิดซ้อนแล้วเกิดอะไรขึ้นมาล่ะ? สิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ทำให้ใจนี้กดถ่วง?
ใจที่กดถ่วงเห็นไหม ใจที่กดถ่วงที่มันคิดแล้ว คิดอยากหาทางออก คิดอยากหาทางหลุดพ้น คิดหาทาง แต่ทำมันก็ไม่ทำได้อย่างที่คิดไง ถึงว่ามันทำไม่ได้ลงตรงที่ใจนั้น ทำความสงบของใจก็ทำความสงบของใจขึ้นมาไม่ได้ ใจมันไม่สงบขึ้นไป มันไม่สงบเพราะเราทำอย่างไรถึงไม่สงบ ความไม่สงบมันอยู่ที่ความฟุ้งซ่านใช่ไหม สิ่งที่ตรงข้ามกับความสงบคือความฟุ้งซ่านของจิต
ร่างกายนี้ปกติได้ ของที่เป็นวัตถุคิดว่าทำได้ยากกลับทำได้ง่าย สงบจิตสงบใจ สงบร่างกายได้แต่ใจมันไม่สงบ มันยังคิดฟุ้งไปๆ คิดออกไปๆ นั่นน่ะ มันก็เกิดดับเหมือนกัน ขณะที่ว่ามันทุกข์ร้อนอยู่มันก็เกิดดับๆ อารมณ์ที่เกิดดับในใจนั้นก็เกิดดับอยู่ในใจ อารมณ์อย่างนั้นเราก็ทำไป เราว่าเราไม่รู้ ขณะนี้ปัจจุบันเรารู้ รู้ถึงธรรม
ศีล สมาธิ ปัญญา การมักน้อยการสันโดษของสิ่งภายนอก แต่มันไม่มักน้อยไม่สันโดษในหัวใจสิ ในหัวใจมันมักมากอยากใหญ่ มันกว้านมาในหัวใจ เพราะว่าสิ่งที่เป็นหัวใจมันกระดิกคิดแต่ธรรมชาติอันนั้น มันคิดแล้วมันพิลึก มันประหลาด มันคิดได้ มันหมุนไป มันมีกระแสสืบต่อตลอดเวลา จนเราไม่สามารถยับยั้งได้
เวลาเราทำงานด้วยร่างกาย ถ้ามันเหนื่อยนักเรายังหยุดได้ ไม่หยุดมันก็หมดแรงที่จะทำต่อไป มันหมดแรงจนมันล้ามันไปไม่ได้ แต่หัวใจมันล้ามันก็หยุดไม่เป็น มันหยุดไม่ได้ความทุกข์ของใจ ความฟุ้งซ่านของใจมันหยุดไม่ได้ มันเกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เรายับยั้งมันไม่ได้ ยับยั้งมันไม่ได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บอกว่า ให้มีความสงบของใจ คือเอาสมาธิ กรรมฐาน ๔o ห้อง อาหารของใจที่จะให้ใจมันสงบได้ขึ้นไป เอาให้ใจนี้ได้ดื่มกินอันนี้ไง พุทโธ พุทโธ พุทโธ ธัมโม ธัมโม สังโฆ สังโฆ...ซ้อนเข้าไปที่ใจนั้น ซ้อนขึ้นมา มันต้องมีสติสัมปชัญญะนึกขึ้นมา สติสัมปชัญญะพอเรานึกขึ้นมา เรานึกขึ้นมา สติสัมปชัญญะนึกขึ้นมา ใจนั้นก็จะเปิดกว้าง
นึกถึงพุทโธ นึกคำว่า พุทโธ ขึ้นมามันก็สะเทือนหัวใจ ใหม่ๆ ทำขึ้นมามันยังงงอยู่ นึกขึ้นมาแล้วมันก็ไม่มีคุณค่าไง ความไม่มีคุณค่าเพราะว่ามันทำได้ลูบๆ คลำๆ ความลูบคลำมันเข้าไม่ถึงเนื้อของใจ ใหม่ๆ ก็เป็นการลูบคลำกันไปก่อนเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เรื่องของการชำระกิเลส เห็นไหม ฟังอยู่มันมีความอิ่มอกอิ่มใจนะ เราจะชำระกิเลส เราจะสามารถข้ามพ้นไปได้ เราเป็นผู้ที่ว่าเป็นอาชาไนยไง แต่เวลาเข้าไปสัมผัสจริงๆ มันลูบๆ คลำๆ อยู่ ใจมันลูบๆ คลำๆ อยู่กับสิ่งนั้น สิ่งที่ลูบๆ คลำๆ อยู่มันถึงไม่ซึ้งใจ ความไม่ซึ้งใจไม่เห็นคุณค่า การกระทำมันถึงว่าความสงบถึงเกิดขึ้นไม่ได้
นั่นน่ะ มันก็ดูวิสัยสิ สิ่งต่อต้านวิสัยของใจ ใจนี้มันต่อต้านสิ่งใด สิ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นสิ่งที่ดีเราจะให้กินสิ่งที่ว่าเป็นอาหารเป็นธรรมไง เป็นธรรมารส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง แต่ทำไมใจของเราว่าสิ่งนั้นกำหนดขึ้นมาไม่ได้ อาหารที่เป็นคุณทำไมไม่กิน แต่อาหารที่เป็นโทษมันจะกว้านกินมาโดยธรรมชาติของมัน
อันนั้น วิสัยของใจ ใจที่มีกิเลสอยู่เป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติของมัน
ความเคยใจ ใจนี้เคยตัวมาแต่ดั้งแต่เดิม กิเลสสะสมเข้าไปที่ใจขนาดไหน อำนาจวาสนาบารมีของแต่ละบุคคล การเกิดและการตาย การยึดมั่นถือมั่นของใจต่างกัน นี่วิสัยถึงต่างกัน การวิสัยของใจต่างกัน การประพฤติปฏิบัติถึงไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันหมายถึงว่าการกำหนด ความมาก ความน้อย ความหนักหน่วง เบาขนาดไหนที่ว่ากำหนดให้ใจอยู่ การทรมานตนของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน กำหนดอานาปานสติเหมือนกันก็แล้วแต่ แต่เวลาสงบสงบไม่เหมือนกัน เวลาจะเข้าก็เข้าไม่เหมือนกัน นี่วิสัยของมัน มันสะสมมา ความสะสมมามันต้องสิ่งที่ว่าเข้าไปพอดีกับสิ่งที่ใจมันสะสมมา เห็นไหม มันถึงต้องขวนขวายไง
การถากการถาง ต้นไม้ต้นซุงล้มมาทั้งต้น เราจะใช้ประโยชน์ยังใช้ไม่ได้ หัวใจที่ว่านักปฏิบัติอยู่ หัวใจมันสมควรแก่การงานหรือยัง หัวใจของเราซุงทั้งท่อน ซุงทั้งท่อนจะทำอะไร ยัดเข้าไปในอะไรก็ไม่ได้ ยกขึ้นขื่อขึ้นแปรก็ไม่ได้...ล้ม บ้านเรือนนั้นสร้างขึ้นมาไม่ได้หรอก เอาซุงไปวางไว้ข้างบน มันจะล้มครืนไปพร้อมกับความเสียหายของบ้านเรือนหลังนั้น
นี่เหมือนกัน ใจที่มันยังไม่มีความสงบร่มเย็นของใจขึ้นมา เราจะให้มันเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา มันมีความคิดอยากได้ประโยชน์ ความคิดอยากที่จะประพฤติปฏิบัติ ความคิดที่จะแสวงหาทางออก...เป็นความคิด แต่มันเป็นซุงทั้งท่อน หัวใจยังเป็นซุงทั้งท่อน หัวใจยังไม่เป็นไป ถึงว่าต้องเริ่มถากเริ่มถางใจของเราให้สมควรแก่การงานไง
จิตที่สงบนี้ควรแก่การงาน ทำอย่างไรให้มันสงบเข้ามา สงบเข้ามา เอาอาหารของใจอันนี้เข้าไปพยายามทำใจให้สงบให้ได้ ทำใจสงบให้ได้ต้องตั้งสมาธิตั้งมั่นให้ได้ สติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา สติสัมปชัญญะพร้อมต้องระลึกรู้ ต้องระลึกรู้เข้ามาเรื่อยๆ เพราะถ้าสติระลึกอยู่ งานนั้นเป็นงาน
เราถากถางต้นไม้ก็เหมือนกัน ถ้ามีสติอยู่ คมของขวานของอะไรมันจะไปถึงเนื้อไม้นั้น เผลอมันก็ฟันเอามือเราเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน สติ ถ้าตั้งมั่นอยู่กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธไปเป็นงาน ถ้าเผลอไปมันก็ฟันเรา ฟันเราตรงไหน ฟันเราตรงว่ามันพลัดพรากออกไป แล้วมันก็ฟันเราที่ว่าเราทำแล้วไม่เห็นได้ผลเลย นี่สิ่งที่เป็นประโยชน์มันจะทำให้เราเป็นโทษ เป็นโทษหมายถึงทำให้เราอ่อนอกอ่อนใจ เราอ่อนอกอ่อนใจล้มไปในการประพฤติปฏิบัตินั้น
ในการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องเป็นอาชาไนยไง ความเข้มแข็งของสัตว์ที่เป็นอาชาไนย สัตว์ปกติอะไรมันก็ดื่มต้องกินโดยทั่วไป สัตว์ทั่วๆ ไปมันก็ใช้ชีวิตของมันตามประสาของสัตว์ แต่สัตว์อาชาไนยนั้นมันเลือกอาหารไง นี้ใจของเราเหมือนกัน ธรรมารสนี้สุดยอด ธรรมารสนี้สามารถทำให้ชำระกิเลสได้ ธรรมารส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง แต่ทำไมกำหนดพุทโธขึ้นมา ธรรมารสนี้มันรสชาติมันเข้าไม่ถึงใจล่ะ นั่นน่ะ มันต้องโทษใจเราแล้ว โทษกิเลสในหัวใจว่ามันคัดค้านกับความเป็นจริงอย่างไร
สิ่งนั้นเป็นจริงอยู่ สิ่งนั้นควรจะเป็นประโยชน์กับใจ สิ่งนั้นควรเป็นประโยชน์แต่มันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่เป็นประโยชน์เพราะว่ากิเลสในใจมันเคยใจกับกินอาหารที่ว่ามันพอใจที่ว่าได้รสได้ชาติของที่มันอยากกิน รสชาติที่กินเข้าไปแล้วมันก็ให้แต่ความเร่าร้อนๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้นไง จิตนี้เสวยอารมณ์เป็นอาหาร
เวลาอารมณ์เกิดขึ้นมา เราทุกข์ร้อนขึ้นมา อารมณ์มันมาจากไหน เราเป็นคนเดิมนั่นแหละ คิดดี คิดดีมันก็ทำให้เรามีความร่มเย็น คิดถึงความเร่าร้อน คิดถึงสิ่งที่เป็นอกุศลขึ้นมามันก็ให้ความเร่าร้อน คนๆ เดิมนั้นแหละ แต่อารมณ์ก็อารมณ์ของเรา มันมาจากไหน อารมณ์ถึงจรมาไง แล้วมันกินอยู่สิ่งนั้นน่ะ พอมันกินอยู่สิ่งนั้น มันก็เคยใจของมันอยู่อย่างนั้น เคยใจอยู่อย่างนั้น มันเข้ากับกิเลสได้ กิเลสเข้ากับสิ่งที่ว่าอยู่ในหัวใจของเรา เข้ากับความเร่าร้อน เข้ากับความอกุศลไง กิเลสมันเข้าอยู่ เห็นไหม ความเคยใจของมัน
ในใจนั้นมีกิเลสอยู่ เวลาคิดออกไปก็คิดแต่กิเลสผลักไสออกไป กิเลสมันมีอำนาจอยู่แล้ว หนึ่งในหัวใจของเราที่ปกครองโลก แล้วในโลกียะ ในโลกียารมณ์มันก็เหมือนกัน บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียงภายนอกนี้เป็นบ่วงของมาร แล้วมารมันอยู่ที่ไหน บ่วงล่อของมาร ใจก็กินสิ่งนั้นเข้ามา กินสิ่งนั้นเข้ามา แล้วพอธรรมารสเข้าไปนี่มันจืดไง มันจืดมันชืดมันไม่มีรสชาติเจ็บแสบปวดร้อนเหมือนอารมณ์โลกเขา อารมณ์โลกเขามันเจ็บแสบปวดร้อน แต่มันพอใจกินเพราะว่าอะไร เพราะมันสมกับอารมณ์ของกิเลส มันพอใจกันไป มันก็ก้าวเดินกันไป
นั่นน่ะ วิสัยของจิตโดยธรรมชาติของมัน วิสัยของจิตที่มีกิเลสอยู่เป็นอย่างนั้น
มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพิสูจน์ได้ไง นั่นน่ะ วิสัยของจิต
เรายังไม่สามารถยกวิสัยของเราขึ้นได้ไง สาวกะวิสัยฟังไง ฟังแล้วประพฤติปฏิบัติตาม ฟังแล้วเชื่อมั่น ศรัทธาความเชื่อเกิดขึ้น ความเชื่อมั่น เห็นไหม สัตว์อาชาไนย ความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นมันก็มั่นคงสิ ความมั่นคงของใจ จะได้หรือไม่ได้ กำหนดพุทโธ พุทโธ จะเข้าถึงใจหรือไม่เข้า จะเข้าถึงใจ ใจจะหยิบต้องสืบต่อได้นาน พุทโธ พุทโธ สืบต่อได้นาน ความสงบก็ยาวนานขึ้นไป พุทโธชั่วครั้งชั่วคราวแล้วล้มไปๆ ความไม่เคยต้องเป็นอย่างนั้นก่อน ใครทำงานครั้งแรกจะประสบความสำเร็จเป็นไปได้น้อย จะว่าเป็นไปไม่ได้เลยก็มี นี่วิสัยของจิตถึงไม่เหมือนกัน
คนสร้างบุญบารมีมามาก ครูบาอาจารย์บางองค์โกนผมเข้าไป ผมตกไปเป็นพระโสดาบันขึ้นมาทันที ผมตก ผมที่ตกออกไป ความสลดสังเวชของใจเกิดขึ้น ผมตกจากศีรษะลงมา มันก็แปรปรวนโดยสภาพธรรมดา แล้วเราก็เคยตัดผมกันมาทุกวันๆ เราก็ไม่เคยเห็นสภาพแบบนั้น เขาก็ไม่เคยเห็นสภาพแบบนั้น เพราะใจมันไม่เป็นกลาง ใจยังไม่พร้อม
ถ้าใจมันพร้อมขึ้นมา สิ่งที่ตกมาจากศีรษะลงมาเห็นอยู่ข้างหน้า ผม พิจารณานี่มันสลดสังเวช ความสลดสังเวช เห็นไหม ธรรมมันเกิดไง ธรรมที่เกิดขึ้น นั่นน่ะ ใจกับธรรมเป็นอันเดียวกัน ใจกับธรรมนี่เสวยเป็นธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วมันคายมันสำรอกออก สำรอกกิเลสออก นั่นน่ะ สาวกะวิสัย สาวกวิสัยไง เป็นสาวกวิสัยขึ้นมาใจมันก็ต่างไปจากปุถุชน ใจต่างไปจากวิสัยธรรมดา
วิสัยของจิตธรรมดาที่มันเป็นไป วิสัยของจิตคือวิสัยของกิเลส กิเลสมันผลักไสไป เราว่าเราอยากเป็นคนดี เราอยากจะเป็นคนดี อยากจะเป็นคนที่ว่าประเสริฐเลอเลิศ แต่เราไม่สามารถชนะใจเราได้เลย เราสามารถชนะคนรอบข้างเราได้หมดนะ เราขอร้อง เราไหว้วานได้ เราบังคับบัญชาได้เป็นครั้งเป็นคราว เรายังบังคับบัญชาขอร้องไหว้วานกันได้ แต่หัวใจเป็นของเราเอง ทำไมเราเอาไว้ในอำนาจของเราไม่ได้ล่ะ เราเอาไว้ในอำนาจของเราไม่ได้ นั่นน่ะ กิเลสมันเป็นอย่างนั้น กิเลสมันอยู่ในใจอยู่แล้ว กิเลสมันเป็นโดยธรรมชาติ กิเลสไม่เคยมีเหตุผลกับใคร กิเลสมันเป็นเจ้าใหญ่นายโตอยู่บนหัวใจของสัตว์โลกทุกๆ ดวง
แล้วเราชำระกิเลส งานของศาสนาสำคัญตรงนี้ สำคัญที่ว่าเอาชนะตนไง เอาชนะเรานี่แหละ ถ้าชนะเราแล้วประเสริฐสุด ประเสริฐมากเลย ไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน ชนะคนอื่นหมื่นแสนสร้างเวรสร้างกรรม สร้างเวรสร้างกรรม...ฟังสิ เรามากำจัดเวรกำจัดกรรมนะ การแก้ไขกรรมด้วยวิธีวิปัสสนานี้เท่านั้น กรรมไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทางอื่นเลย ทำคุณงามความดีสะสม กรรมดีมันต้องให้ผลมากขึ้น กรรมดีให้ผล เห็นไหม
กรรมชั่วให้ผลในทางที่ตกทุกข์ได้ยาก ถึงจะมีอยู่ในปัจจุบันนี้มันก็ให้ความเร่าร้อนกับใจ มันปิดตัวเองไว้ไม่ได้ไง กรรมชั่วมันต้องให้ผลถึงความเร่าร้อน แล้วมันตายไปจะไปไหนถ้ามันเกิดความเร่าร้อนของใจ ใจนี้เร่าร้อน ใจนี้เหมือนกดถ่วง มันหนักอยู่ในหัวใจ ความหนักหน่วงในหัวใจ ใจนี้มันหนัก มันหลุดออกไปมันต้องลงที่ต่ำแน่นอน ถ้าใจนี้เบาล่ะ เราสร้างแต่คุณงามความดี ใครจะว่าขนาดไหนก็แล้วแต่ เราสร้างของเรา มันต้องอยู่ที่ใจของเรา เรารู้ไง ใครจะไม่รู้ เรารู้ เรา เห็นไหม เรารู้ วิสัยของมัน มันรู้ตัวมันเองตลอดเวลา
แต่วิสัยของมัน มันมีอำนาจอันหนึ่งเหนือไง มันมีอำนาจอันหนึ่งเหนือกว่าความรู้อันนี้ อำนาจนั้นคือกิเลส ถึงต้องทำความสงบเข้ามาให้เห็นธรรมอันนั้น ธรรมารสเข้ามาๆ นี่ใจมันเปลี่ยนไปจากปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลสเป็นกัลยาณชนไง ผู้ที่เป็นกัลยาณชนเห็นบ่วงของมาร บ่วงของมารนี้ทำให้เราเสวยอารมณ์ไปโดยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ บ่วงของมารไง บ่วงของมารเหมือนอารมณ์ที่มันสืบต่อ ที่มันฟุ้งซ่านอยู่นี้เพราะมันสืบต่อ จิตนี้เสวยอารมณ์ไปโดยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไปกับเขาตลอด
มีบ่วง เหยียบบ่วงอยู่ในบ่วง บ่วงมันดึงกระชากลากไปก็ไม่รู้สึกตัว ไม่เห็นบ่วงของมาร เป็นปุถุชนคนหนา หนาเพราะว่ามันแยกแยะสิ่งใดไม่ได้เลย ไปกับเขาตลอด ไปกับเขาตลอด เขาก็คือเรานะ เขาคือใจนี่แหละ ไปกับความคิด ไปกับอารมณ์ความยึดมั่นถือมั่นในใจไปตลอด ไปตลอดเลย
พยายามแยกแยะ คือให้มันยับยั้งชั่งใจได้ พุทโธ พุทโธให้มันยืนขึ้นมาให้ได้จนมันตั้งมั่น พอมันตั้งมั่นขึ้นมา ความสุขเกิดขึ้นจากความตั้งมั่นนะ ความสุขเกิดขึ้นคือว่าคนเราเคยกระหายมาก เคยเร่าร้อนมาก แล้วสงบเย็น ความสุขเกิดขึ้นจากจิตนี้ตั้งมั่นนี้ มันก็มีความสุขให้เราได้ดื่มกิน ดื่มกินนะ ใจนี้สัมผัสเป็นอารมณ์เข้าไป มันไม่มีใครบอก มันเป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะใจดวงนั้น
ใจดวงนั้นเร่าร้อนก็รู้เร่าร้อน แบกไฟอยู่กองหนึ่ง สลัดไฟออกไปจากบนบ่าของตัว ทำไมจะไม่รู้ว่าไฟร้อนๆ เราได้สลัดออกไปแล้ว มันร่มเย็นขึ้นมา นี่มันเย็นขึ้นจากภายใน เย็นขึ้นตั้งมั่นขึ้น ความสุขเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ความสุขเกิดขึ้นเรื่อยๆ จากที่ว่ามีแต่ความทุกข์เผาผลาญใจ ความทุกข์นี้เผาผลาญใจ เผาผลาญมาตลอด ความสุขนี้เกิดขึ้น วิสัยของใจมันสัมผัสเอง มันไม่ต้องมีใครบอกใครสอน วิสัยคือต้องเปลี่ยนไป
คนรู้แจ้งเห็นจริงตามความข้อเท็จจริง เห็นโทษของการเป็นโทษ ถ้าเห็นโทษแล้วมันต้องสลัดโทษ กำอยู่ในมือคิดว่าเป็นปลา เห็นว่าเป็นงู งูกับปลาต่างกันไหม ปลาไม่ทำโทษเรา ปลาเป็นอาหารเราได้ เราจับไว้เป็นประโยชน์กับเรา เราจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ถ้างูจับไว้มันก็กัดเรา มันจะกัดเราโดยเป็นอาหารหรือมีเขากินกันอยู่ก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นอาหารมันก็ไม่สมควร นั่นน่ะ เห็นว่างูต้องสลัดทิ้ง
นี่ก็เหมือนกัน ใจในเมื่อมันเห็นโทษ เห็นโทษของว่า อ๋อ! มันฟุ้งซ่านเพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่มี กินอารมณ์นะ รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัสธรรมารมณ์ทั้งหมด อายตนะทั้ง ๖ กระทบกับรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก นั่นน่ะ บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมารที่ใจมันไปกับเขา พอไปกับเขามันก็ไม่มีความสงบขึ้นมา
พอมันสลัดออกเป็นกัลยาณชน กัลยาณชนคือผู้ที่ไม่ไปตามอารมณ์ของโลกเขา มันเป็นเอกเทศของมันต่างหากแล้ว นี่กัลยาณชน จิตมันประเสริฐขึ้นมา เห็นโทษของการฟุ้งซ่าน พอจิตมันสงบขึ้นมามันก็ต้องย้อนกลับมาเข้ามาดูไง เข้ามาดูอะไร ดูกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะกิเลสมันอยู่บนหัวใจใช่ไหม หัวใจอาศัยร่างกายนี้อยู่ มันสืบต่อกันได้ระหว่างกายกับจิต
กายกับจิต จิตนี้อาศัยอยู่ในร่างกายแล้วยึดกายนี้เป็นเรา ความยึดมั่นถือมั่นของใจตนไง จิตมันยึดตัวมันเองก็ยึดว่าตัวเป็นมัน มันคือว่าจิตตัวเรานี่ตัวตนใหญ่ที่สุด ตัวตนนี้เป็นพื้นฐาน เป็นภวาสวะ เป็นสิ่งแรกที่เกิดขึ้นจากความคิดทั้งหมด สิ่งที่เป็นว่าฟุ้งซ่านๆ เมื่อก่อนที่ไม่เคยเห็นเลย พอสงบเข้ามามันก็เป็นหนึ่ง จากที่มันฟุ้งซ่านออกไปนะ
สิ่งใดๆ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดมาทำให้ใจนี้ฟุ้งซ่านได้เลย ใจดวงนั้นต่างหากออกไปเอาเขา ใจดวงนั้นต่างหากหมุนออกไปหาเขา ใจดวงนั้นมันโง่ มันไม่เข้าใจ พอใจมันเข้าใจมันปล่อยวางเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว เป็นกัลยาณชนแล้ว ทีนี้พอมันมีความสุขขึ้นมา ความสุขนี้มันเป็นสัมมาสมาธิ จิตนี้ตั้งมั่นแล้ว ยิ่งตั้งมั่นมันก็มั่นพร้อมกับกิเลส กิเลสที่อยู่ในวิสัยของจิตนั้นมันก็ตั้งมั่นขึ้นมาด้วย
แต่ในเมื่อเราฟังธรรมอยู่ ธรรมว่าความสงบอันนั้นเป็นความสุขชั่วคราว กับความสุขที่ยั่งยืน มันก็มีความสิ่งที่ควรแสวงหา เห็นไหม ความสุขชั่วคราวคือเกิดๆ ดับๆ ความเป็นสมาธินี้มันก็เป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายแปรสภาพตลอด ธรรมทั้งหลาย... ธรรมทั้งหลายยังแปรสภาพอยู่ จิตนี้สงบอยู่มันก็เสื่อมไปโดยธรรมชาติของมัน
เราอุตส่าห์สร้างสมขึ้นมา ซุงทั้งท่อนอุตส่าห์ถากอุตส่าห์ถางขึ้นมาจนเป็นไม้หน้า ๓ หน้า ๔ นะ เป็นไม้ควรแก่การงานที่ว่าเราจะไปสร้างเรือนขึ้นมา เราจะปล่อยให้ปลวกกินไปหรือจะให้มันผุพังไปอย่างนั้นโดยเปล่าประโยชน์เหรอ เสียพลังงานของเราไปเปล่าๆ โดยใช่ประโยชน์ใช่ไหม
จิตนี้อุตส่าห์ถากอุตส่าห์ถางจนเป็นไม้ที่ควรแก่การงาน ไม้ที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นเหมือนกับไม้ที่ควรแก่การงาน ควรประกอบขึ้นมาเป็นบ้านเป็นเรือนสิ ประกอบขึ้นมาเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาจิตนี้ก็มีที่อาศัยใช่ไหม การประกอบเป็นบ้านเป็นเรือนสร้างธรรมขึ้นมาในหัวใจไง สร้างธรรมขึ้นมาให้ใจนี้ได้อยู่ที่กินได้อยู่ที่พักพึ่งพิงพึ่งอาศัยไง
แต่นี้กิเลสมันยังมีอยู่ มันไม่ยอมให้ทำ สิ่งที่ขัดที่ขวางอยู่นั้นคือกิเลสในใจของเรา
ความที่ว่าเป็นตัวตน ๑ ตัวตนคือเราคือกิเลส ตัวเรานี่แหละ ตัวเราที่ยังมีกิเลสอยู่ ถึงจะสงบอยู่กิเลสมันก็อยู่ในนั้น น้ำใสต้องเห็นตัวปลา น้ำใสๆ จะเห็นตัวปลา น้ำขุ่นอยู่ไม่เห็นตัวปลา จิตนี้ฟุ้งซ่านอยู่นี้ก็ไม่เคยเห็นสิ่งใดเลย แม้แต่เราก็ไม่เคยเห็น ตัวตนที่ว่าเป็นเรานี้ก็ไม่เคยเห็น มันขุ่นมัวไปหมดเพราะน้ำไม่เคยสะอาด พอจิตมันสงบเข้ามา น้ำมันสะอาดเข้ามา เห็นไหม จิตมันสงบเข้ามา สงบเข้ามา มันจะใสมันจะสว่าง มันจะเวิ้งว้างขนาดไหน มันเป็นอำนาจของจิต อำนาจของจิตนี้เป็นไปได้ทั้งหมด จะสว่างขนาดไหน จะเวิ้งว้างขนาดไหน จะว่างขนาดไหน กิเลสมันอยู่ในนั้น เห็นไหม น้ำใสถึงเห็นตัวปลา
แต่ น้ำใสเห็นตัวปลา นี้เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นสิ่งที่ยกตัวอย่างไง เป็นบุคลาธิษฐานที่ว่า น้ำใสจะเห็นตัวปลา เพื่อจะให้เรามั่นใจว่าจิตสงบใสสว่างขนาดไหนกิเลสมันอยู่ที่นั่น เห็นไหม ถึงต้องยกขึ้นวิปัสสนา ความที่ยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในตัวตนนั้นน่ะ ในตัวตนที่ว่าจะชำระตน เพราะตัวตนถ้าเป็นสิ่งที่การงานหรือสิ่งที่เริ่มต้น ตัวตนมีถึงเป็นสิ่งที่เริ่มต้นทำงานได้
แต่ธรรมละเอียดอ่อนลึกซึ้งกว่านั้น ตัวตนนี้เป็นสิ่งที่เริ่มต้นในความคิดที่ว่าฝักใฝ่กับกิเลสเพราะอะไร เพราะว่าตัวตนนั้นคือตัวกิเลส กิเลสต้องคิดเข้าข้างตัวเองตลอดเวลา พอเราย้อนกลับเข้าไปเห็นไหม เวลาวิปัสสนามันยากตรงนี้ไง ยากตรงกิเลสบังเงาไง
กิเลสบังเงา เห็นไหม กิเลสอาศัยแนบไปกับการทำงานนั้นไง แนบไปเพราะตัวของเขาเป็นกิเลส ในหัวใจนี้เป็นกิเลสอยู่แล้ว งานที่ออกมานั้นกิเลสต้องมีส่วนแบ่งออกมาตลอดเวลา การทำงานเข้าไป วิปัสสนาในกายกับจิต มันก็จะตามออกไปว่ารู้แล้ว รู้ตามความเข้าใจนั้น มันก็จะปล่อย ปล่อยเหมือนกันนะ พอปล่อยมันก็จะเวิ้งว้างว่างเหมือนกัน ความว่างเหมือนกันอันนั้น เห็นไหม ว่างจากสมาธิอย่างหนึ่ง พอมาว่างจากความปล่อยอันนี้ก็ว่าอันนี้เป็นการปล่อยวางๆ นั่นน่ะ กิเลสมันบังเงาไปตลอด
ในขณะที่วิปัสสนา ยกขึ้น ระหว่างวิปัสสนากาย วิปัสสนากายหมายถึงจับกายขึ้นมาตั้งแล้ววิปัสสนาเพราะใจตั้งมั่น ใจควรแก่การงาน ไม้ที่วางอยู่พยายามประกอบขึ้นมาให้เป็นบ้านเป็นเรือนให้ได้ ดูกายก็ต้องดูกาย มันตรงกันข้ามกับงานของโลก งานของโลก การประกอบขึ้นมานี้เป็นรูปเป็นร่างเป็นผลงาน
งานของธรรมคือการทำลาย ทำลายทั้งหมด ทำลายอาการของความยึดมั่นถือมั่นของใจ ทำลายตัวกายที่ว่าใจนี้ไปยึดกายเป็นเรา ทำลายทั้งหมด การทำลายเท่าไรยิ่งสะอาดขนาดนั้น ยิ่งทำลายยิ่งสะอาดเพราะเนื้อของจิตเป็นนามธรรม เนื้อของจิตนี้หลุดออกไป สิ่งที่หลุดออกไปคือความยึดมั่นถือมั่น เป็นอุปาทานยึดมั่นในใจ แต่ตัวใจมันจะสะอาดขึ้นมาจากการที่ว่าการยึดมั่นถือมั่นนี้หลุดออกไป หลุดออกไป
กิเลสไม่เคยถอย ความท้อถอยของกิเลส ความที่ว่าจะปล่อยให้เราเป็นอิสระของกิเลสเป็นไปไม่ได้ กิเลสนี้ยึดจิตมาเป็นที่อยู่อาศัยเกิดตายๆ ตามวิสัยที่จิตนี้เกิดตายมา ตามอำนาจวาสนาบารมีมา ไม่มีต้นไม่มีปลาย
บ้านเรือนของเขา ที่อยู่ของเขา แล้วเขาจะปล่อยวางยอมแพ้ธรรมที่ว่าเราเชื่อในธรรม เราเกิดมามีอำนาจวาสนา เกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา เกิดมาแล้วยังได้ประพฤติปฏิบัติเพื่อจะพ้นจากกิเลส เห็นไหม พ้นจากมัน แล้วเอาอำนาจของธรรมที่ว่าเราสร้างสมขึ้นมาด้วยบุญญาบารมีของเรา ด้วยบุญญาบารมีของผู้ที่การกระทำเกิดขึ้นมาเป็นมรรคอริยสัจจัง
มรรคโค ทางอันเอก ทางที่จะพ้นจากกิเลส เกิดขึ้นจากสัตว์อาชาไนย เห็นไหม สัตว์อาชาไนยที่สร้างสมบารมีขึ้นมาแล้วสร้างสมขึ้นมา สร้างจิตนี้จนตั้งมั่นขึ้นมาจนเป็นที่ว่ายกขึ้นควรแก่การงานซ้ำเข้าไปในวิปัสสนาญาณอันนั้น นั่นน่ะ เกิดขึ้นจากเรา
ธรรมเราสร้างขึ้นมา ธรรมในหัวใจนี้เป็นคนสร้างขึ้นมา แต่ธรรมอันนี้ยังเป็นธรรมกิริยาอยู่ เป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา เห็นไหม ยังเกิดดับๆ ในการสะสมที่เราก่อร่างสร้างขึ้นมา เหมือนกับสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมา สร้างขึ้นมาเป็นวัตถุ เป็นมรรคะที่เข้าไปทำลาย เป็นเครื่องมือ เห็นไหม ธรรมอันนี้สร้างขึ้นมาแล้วให้มรรคสามัคคีไง มรรคะนี้รวมตัวแล้วเข้าไปสมุจเฉทฯ ทำลายอวิชชา ทำลายสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ นั่นน่ะ มรรคอันนี้ถึงว่าเป็นเครื่องมือ เป็นธรรมาวุธ เป็นอาวุธของธรรมแท้
ธรรมแท้ยังซ่อนอยู่ ยังอยู่ในเนื้อของใจ ใจนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดตายๆ วิสัยของใจไม่เคยบุบสลาย การเกิดและการตายเวียนว่ายตายเกิดมากี่ภพกี่ชาติอยู่ ใจนี้ก็เวียนตายเวียนเกิด ตายนี้มันเพียงแต่เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ แต่ตัวหัวใจนี้ไม่เคยตาย ไปเสวยในเทวดา เสวยในพรหม เสวยเป็นมนุษย์ปุถุชน เสวยเป็นสัตว์นรก ใจนี่หมุนเวียนไปตลอด นั่นน่ะ ตัวนี้มันถึงเข้ากับที่ว่าตัวธรรมแท้มันอยู่บนเนื้อของใจ
แต่กิเลสมันปกคลุมใจอยู่ เป็นอนุสัยนอนเนื่องตามใจไป อนุสัยเห็นไหม กิเลสนุสัย ภวานุสัย อวิชชานุสัย อนุสัยนี้นอนตามมาๆ แล้วเราเข้าไปวิปัสสนาสิ่งที่นอนเนื่องมากับใจอยู่ตลอด สิ่งที่เกาะคลุมใจอยู่ตลอด นั่นน่ะ ถึงเป็นผู้ขัดขวาง การขัดขวาง การทำลาย การเบี่ยงเบนประเด็นในวิปัสสนา เบี่ยงเบนประเด็นให้เราเห็นผิดไง ความเห็นผิดของเรามันไม่ลงมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าลงมัชฌิมาปฏิปทา มันธรรมาวุธนี้พร้อม นิ่ง มัชฌิมาเข้าระหว่างตรงจุดศูนย์กลางของกิเลส มันต้องทำลายตรงนั้นได้สิ
การทำลายกิเลส ทำลายบ้านเรือนนี้ มันถึงว่ายิ่งทำลายยิ่งสะอาด ยิ่งสะอาด
งานของธรรมเป็นงานเข้าไปวิปัสสนาเพื่อจะทำลายล้างสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น งานของโลกเขาคืองานการก่อภพ ก่อขึ้นมาให้เป็นสิ่งนั้นขึ้นไป การก่อบ้านก่อเรือนขึ้นมา งานคนละงาน แต่ทำแล้วสิ ผลก็ต่างกัน ผลของงานของโลกเขาก็เป็นงานของโลกเขา ผลงานของธรรมสิ หลุดออกไป กิเลสนี้หลุดออกไป ในการยึดมั่นถือมั่นระหว่างกายกับใจหลุดออกไป กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย จิตนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต สักกายทิฏฐิจะหลุดออกไป ความหลุดออกไปเกิดขึ้นมาจากวิปัสสนาญาณอันนี้ เห็นไหมหลุดออกไป ใจก็เวิ้งว้างออกไปไม่มีตัวตน
ตัวตนที่ว่าเป็นเรา จิตนี้เป็นเรา เรานี้เป็นจิต ทุกข์นี้เป็นเรา เรานี้เป็นทุกข์ แยกออกจากกัน ความแยกออกจากกัน ความเป็นอิสระที่ไม่มีตัวตน ฟังสิ มันไม่มีตัวตนแล้วใครเป็นคนรับล่ะ นั่นน่ะ วิสัยของใจเป็นผู้รับไง วิสัยของใจ ใจที่กายเป็นสาวกะวิสัย
อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ
รู้สภาวธรรมนี้ไง สภาวธรรมนี้เข้าไปในหัวใจนั้น หัวใจนั้นรู้สภาวธรรม รู้โดยสักแต่ว่ารู้นะ ถ้ามันยึดมั่นถือมั่น มันรู้อันนั้นมันก็ถือว่าเป็นตัวตนขึ้นมา
เวลาขณะที่ปล่อย ใจจะปล่อยอย่างนั้น ปล่อยออกไปเลย พอปล่อยออกไปเลย เพราะมันวิปัสสนามาบ่อยเข้า มันขาด พอขาดขึ้นมา สภาวะอยู่อย่างนั้นรออยู่พักหนึ่ง พักหนึ่งหมายถึงว่ามันจะเสวยอารมณ์ เสวยความสุขอันนั้น ใจเสวยความสุขอันนั้น ความสุขที่ว่าจิตตั้งมั่นๆ เราเสวยมาที่ว่าจิตตั้งมั่น กับความฟุ้งซ่านเราก็เห็น เห็นอันนั้นขึ้นมาเราเคยเสวย เราเคยดื่มเคยกินมา แต่พอมาเสวยอันนี้ มันต่างกันออกไป ต่างกันออกไปเพราะใจมันสะอาดขึ้น
กิเลสที่อยู่ในหัวใจที่ผลักไสให้ใจนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏวนย่นระยะเข้ามา จากที่ไม่มีต้นไม่มีปลาย การเกิดการตายของวิสัยของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นต้องเกิดตายๆ ในวัฏฏะนั้นโดยธรรมชาติของมัน ในวัฏวนนั้นต้องวนไป แต่ถ้าถึงเห็นธรรมอย่างนี้แล้ว วัฏวนนั้นสั้นเข้า อย่างมากแค่ ๗ ชาติเท่านั้น อย่างมากยังต้องวนไป
แต่ในเมื่อเสวยธรรมแล้ว รู้สึกธรรมแล้ว ชาตินี้ก็เป็นเอกพีชีได้ คือพ้นจากชาติเดียวก็ได้ อย่างพระอานนท์เป็นพระโสดาบันก็พ้นไปจากชาตินั้น ทำต่อเนื่องขึ้นไปไง ทำต่อเนื่องขึ้นไปเพื่อจะพ้นออกไปให้ได้ไง นี่จิตมันพ้นไปได้ วิสัยของใจแปรสภาพได้
วิสัยของใจ เป็นวิสัยที่ว่าวิสัยของกิเลสคลุมอยู่ กิเลสคลุมหัวใจอยู่ กิเลสนั้นก็หลุดสลายออกไปจากใจด้วยธรรมาวุธขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่...
...สมบัติของเรา ธรรมอันนี้เป็นสมบัติของเรา ถ้าเราวางธรรมไว้มัชฌิมา วางธรรมได้เข้ากลางระหว่างกลางหัวใจ ชำระกิเลสได้ ก็เป็นผลงานของเรา จากว่าอาวุธก็เป็นอาวุธของเรา เราสร้างขึ้นมา ทางของใครทำไว้ มรรค ๔ ผล ๔ การมรรคสามัคคีรวมครั้งหนึ่งชำระกิเลสได้ครั้งหนึ่ง จากส่งไประหว่างเหตุกับผล เหตุกับผล มรรคก็ ๔ ผลก็ ๔...มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ออกไป นั่นน่ะ เหตุเกิดขึ้นจากใจดวงนั้นสร้างขึ้นมา แล้วใช้ก็ต้องใช้หมดไป
เพราะมันเป็นวิปปยุต สัมปยุต เห็นไหม สัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคายออกมาระหว่างกิเลส ธรรมกับกิเลสทำปฏิกิริยากันอยู่ในหัวใจนั้นตลอดไป นั่นน่ะ ใช้ได้หนเดียวไง อาวุธนี้ใช้ได้หนเดียว มันก็ต้องรวมตัวกันออกไป รวมตัวกันออกไปหมด นี่ถึงต้องสร้างขึ้นมา เราสร้างเหตุ ของก็ของเรา ผลก็ต้องเป็นผลของใจดวงนั้น
ผู้ใดปฏิบัติธรรมอยู่ สมควรแก่ธรรม ธรรมะจะไม่ขาดจากโลกนี้เลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ไง พระอานนท์เข้าไปถามว่า
เมื่อไร ยุคใดจะหมดกาลหมดเวลาของที่ว่าพระอรหันต์จะไม่เกิดขึ้นในโลกนี้
ไม่มี ไม่มีเลยนะ ที่ว่า ๕,๐๐๐ ปีนี้ก็พูดถึงว่าคนไม่เชื่อเฉยๆ ศาสนาจะเสื่อม เสื่อมเพราะคน การประพฤติปฏิบัติจะเข้าไม่ถึงเพราะคนเข้าไม่ถึง ทำไม่ถึง ถ้า ๕,๐๐๐ ปีนี้เป็นสิ่งที่ว่าหมดยุค ๕,๐๐๐ ปีแล้วพระศรีอริยเมตไตรยมาจะตรัสรู้ได้อย่างไร...มันเป็นไปไม่ได้ หมด ๕,๐๐๐ ปีไปแล้วนะ หมดศาสนาไป ถึงยุคคราวหนึ่งแล้วพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ต่อไป
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แม้แต่ศาสนาไม่มี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็จะมาตรัสรู้ไปเรื่อยๆ ผู้นั้นปฏิบัติถึง
อันนี้ก็ต้องย้อนกลับมาเราไง ย้อนกลับมาเรา ถ้าเรามีความมั่นใจ เหตุเกิดเกิดเพราะเรา เราสร้างกันขึ้นมา เราสร้างของเราขึ้นมาเอง เราสร้างของเราขึ้นมา ถ้าเราไม่สร้างขึ้นมา มันก็วิสัยของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นสร้างขึ้นมาก็ลุ่มๆ ดอนๆ ความเกิดความตายในวัฏวนนี้ก็ลุ่มๆ ดอนๆ มันสูงๆ ต่ำๆ มันไม่มีคงที่หรอก มันเป็นไปไม่ได้
มันมีดวงใจดวงนั้น ดวงใจดวงที่เกิดๆ ตายๆ นี่มันน่าสงสาร แล้วปัจจุบันนี้มันก็เกิดเป็นเรา แล้วเราไม่สงสารตัวเราเอง เราไม่เคยสงสารตัวเราเอง เราสงสารคนนู้นคนนี้ สงสารไปหมดนะ ถ้าเราสงสารตัวเราเอง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี การประพฤติปฏิบัตินี้ต้องเห็นผลภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีที่เราสม่ำเสมอในการประพฤติปฏิบัติ เราขาดด้วยความปฏิบัติสม่ำเสมอไง เวลาอุกฤษฏ์ เวลาทำรุนแรงทำแบบว่าทำแรงเราก็ทำอยู่พักหนึ่ง เดี๋ยวเราก็อ่อนไปๆ เราไม่เคยทำให้สืบต่อ ในการประพฤติปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลายแล้วทำไปต่อเนื่อง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีต้องเป็นผลขึ้นมา เป็นผลขึ้นมานะ
แล้วยังมีคนชี้นำด้วย มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำอยู่ ต้องมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ มันก็เห็นผล แต่มันต้องแก้สงสัยไปทีละเปาะ เวลาจิตสงสัยขึ้นมา สิ่งใดๆ ในหัวใจมันจะเกิดต้านทานขึ้นมาด้วยกิเลสอวิชชามันหลอกขึ้นมา เห็นไหม ในที่ว่าในการวิปัสสนาอยู่มันก็หลอก มันแนบไป มันกิเลสบังเงาอาศัยความที่วิปัสสนานี้ไปตลอด แล้วบังเงาไปตลอด บังเงาคือความคิดความเห็นเปลี่ยนไป ความคิดว่าเดินหน้ามันไม่เป็นปัจจุบัน อดีตอนาคตไง คือว่าข้างหน้านี้จะเป็นความว่าง ไปอย่างนี้จะเป็นความว่างแล้วมันว่างไว้ก่อน
ใจนี้พิลึก มันมหัศจรรย์จริงๆ แม้แต่ความยึดมั่นถือมั่น พอผ่านเข้าไป ผ่านออกไปแล้วย้อนกลับมาอีกมันถึงจะเห็นความพิลึกของใจ แต่ใหม่ๆ นี้ไม่ใช่ความพิลึก มันมีแต่ความทุกข์ยาก มีแต่ความต้องกระเสือกกระสน มันมืด ๘ ด้าน มันปิดไว้หมดเลย เห็นไหม แม้แต่ผ่านดวงตาเห็นธรรมผ่านเข้ามาชั้นหนึ่งแล้วจะวิปัสสนาต่อไปก็ยังต้องขุดคุ้ยค้นคว้าหาเหตุหาผลเลย
ในเมื่อตนโดนทำลายไปแล้วส่วนหนึ่ง ตนเห็นไหม กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย ตัวตนในกายไม่มี ในสักกายทิฏฐิเพราะมันยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาในกายนั้น กายกับใจยึดมั่นถือมั่นกันเป็นเราเป็นของเรายึดมั่นถือมั่น แล้วมันปล่อยวางจนไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เป็นเราแล้ว เราควรจะทำงานได้ง่ายขึ้นไป เห็นไหม มันควรจะทำงานได้ง่าย ทำไมมันไม่ง่าย? ไม่ง่ายเพราะยังไม่เห็นเหตุไง
อย่างที่เราวิปัสสนาอยู่ ใจเราตั้งมั่นขึ้นมาก่อนใช่ไหม เป็นบ้านเป็นเรือน เราถากถางท่อนซุงจนกลายเป็นไม้ประกอบเป็นเรือนขึ้นมา อันนั้นก็เหมือนกัน เราขึ้นไปประกอบขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนแล้วชั้นต่อไปล่ะ นั่นน่ะ มันถึงต้องหาเหตุหาผล
ไม้ที่ใช้ไปชั้นแรกมันก็ใช้ไปหมดแล้ว มรรคอริยสัจจัง มรรครวมตัวไปมันก็หมด ความดำริชอบ ความเห็นชอบในกาย ความดำริชอบ ความเห็นชอบในกายใน ในกายชั้นในไง กายในกายไง กายชั้นนอกมันหมดไป แต่ความยึดมั่นถือมั่นอุปาทานในกายภายในหมายถึงว่ามันยังติดพันในกายนั้นอยู่ กายกับใจนี่
ถ้าวิปัสสนาไป จับเห็นกายนั้นได้ จับกายนั้น มันจะจับได้ง่ายเพราะมันสะเทือนกันอยู่เป็นอยู่ว่าสติปัญญายังใช้ได้อยู่ พอวิปัสสนาไป กายกับใจมันแยกออกจากกัน ความแยกออกจากกันอันนี้ อุปาทานในกายถึงไม่มี พออุปาทานของกายไม่มี มันก็เหลือกามราคะ-ปฏิฆะมันจะอ่อนตัวลง ความอ่อนตัวลงกามราคะกับปฏิฆะ จิตมันก็เวิ้งออกไปเพราะมันหลุดออกจากกาย กายนี้เป็นตัวเสริมไง
ถ้าคนไม่มีร่างกายมีแต่ความคิด เห็นไหม ความคิดเฉยๆ มันคิดแต่ให้เหตุให้ความเผาใจ แต่มันไปทำอะไรเขาไม่ได้เพราะว่าเหมือนกับเราร่างกายนี้ก้าวเดินไปไม่ได้ เราเป็นคนที่ว่าเป็นโรคเป็นภัยอยู่ เราลุกจากเตียงไปไม่ได้ เราก็มีแต่ความคิดของเราเฉยๆ
เวลากายมันขาดออกไป ขาดออกไป มันจะเหลือแต่ใจ พอใจมันเหลือแต่ใจเฉยๆ แต่ในมุมกลับกัน คนที่ก้าวเดินไปได้ ความหงุดหงิดจะไม่มี คนป่วยไข้อยู่เฉพาะนอนอยู่บนเตียง ลุกเดินไม่ได้ จะเรียกร้องแต่ความสนใจ จะมีแต่ความอึดอัดขัดข้องใจเพราะคิดแล้วทำไม่ได้ นี่เหมือนกัน เวลาใจมันปล่อยกายออกไปแล้ว ระหว่างกายกับจิตแยกออกจากกัน...แล้วใจล่ะ ตัวใจล่ะ ตัวใจมันก็ต้องอุ่นกินอยู่ในความคิดของมัน แต่เราไม่เห็น สิ่งที่เราไม่เห็นเพราะว่ามันเป็นเรา ดูสิ ในดวงตาของเรา เราจะมองในดวงตาของเราเห็นไหม เราต้องใช้กระจกส่อง มันจะย้อนกลับมา
อันนี้ก็เหมือนกัน เราต้องใช้ธรรมะไง ธรรมะพยายามหา ธรรม ธรรมคือเหตุการณ์ค้นคว้า เหตุค้นคว้าขึ้นไปจะยกขึ้นวิปัสสนาได้ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานต้องเดินไปคู่กัน ความทำใจให้สงบ พอจิตนี้สงบ จิตนี้ก็มีหลักมีเกณฑ์ควรแก่การงาน คนที่มีกำลัง งานก็ทำได้ง่าย คนที่เมื่อยล้า คนที่อ่อนแอ คนที่ยกของไม่ไหวทำอะไรไม่ได้เลยจะทำงานนั้นได้ไหม จิตที่ไม่มีพลังงานก็เหมือนกัน ถึงต้องกลับมาที่สมถะตลอด
สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป มรรค ๔ ผล ๔ นี้ต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน สัมมาสมาธิต้องมีทุกขั้นตอนไป เพราะสัมมาสมาธินี่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป มันเหมือนน้ำในแก้ว เห็นไหม ทำมากขนาดไหน สัมมาสมาธิ สมาธิความเป็นสมถะนี้ก็อยู่ขนาดนั้นน่ะ ความเวิ้งว้าง ความสุขใจอยู่แค่นั้น แล้วก็จะเสื่อมสภาพไป เสื่อมสภาพไป
แต่ถ้าวิปัสสนาไปแล้วมันไม่เสื่อมสภาพ มันจะเป็นอกุปปธรรมขาดเป็นชั้นๆๆ เข้าไป อกุปปธรรมกับกุปปธรรมนี้ต่างกัน กุปปธรรม ธรรมที่แปรสภาพอยู่ เราต้องสร้างขึ้นมาเป็นบาทเป็นฐาน ถ้าไม่มีบาทไม่มีฐานของกุปปธรรมแล้ว อกุปปธรรมนี้มาจากไหน
อกุปปธรรมนี้มาจากกุปปธรรมที่เข้าไปประหัตประหารกัน กุปปธรรมที่สร้างสมขึ้นมา มรรคอริยสัจจัง ทางอันเอกนี่เราต้องสร้างสมขึ้นมา ความสร้างสมขึ้นมานี้เป็นเรื่องของใจทั้งหมด สิ่งที่พูดนี้เพื่อให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาให้เห็นชัด แต่จริงๆ แล้วเป็นนามธรรมคือเรื่องของใจที่มันก้าวเดินออกไป
ความคิด ความคิดของเราคิดอยู่ปัจจุบันนี้เป็นโลกียะ เราคิดโดยของเรา มันไม่เป็นงานหรอก ความคิดปุถุชนที่คิดอยู่มันคิดเป็นเรื่องของโลก ความคิดเหมือนกัน แต่สมถกรรมฐานเข้ามาแยกความคิดนี้ออก แยกความคิดไง แยกความคิดให้เป็นเอก เอกหมายถึงว่ามันจะว่างๆๆ แล้วความคิดใหม่เกิดขึ้น เห็นไหม อันนั้นถึงเป็นปัญญา
ปัญญาคือความคิดเหมือนกัน แต่ความคิดที่มีสมาธินี้แยกระหว่างเรากับใจนี้ให้ออกจากกัน คือคิดด้วยความเห็นแก่ตัว คิดด้วยข้อมูลเดิม สัญญาของเรา คนมีการศึกษาวิชาชีพของคนแต่ละบุคคลต่างๆ ขึ้นมาอย่างไรก็แล้วแต่ ความคิดต้องเอาภูมิหลังเอาวิชาชีพนั่นเข้าไปจับ คิดแบบนี้ๆๆ นักวิชาการก็คิดแบบนี้ พวกนายแพทย์ก็คิดแบบนี้ คิดแบบภูมิหลังของตัวเข้าไปจับ เห็นไหม นี่ความคิดต่างๆ ถึงเป็นโลกียะ
โลกียะคือความคิดตามภูมิหลัง ความคิดตามสัญญา ความคิดของเรา กิเลสต้องเป็นอย่างนั้น กิเลสจะขาดอย่างนั้น กิเลสมันจะสิ้นสุดไปเพราะว่าเป็นอย่างนั้นๆ เห็นไหม นี่กิเลสขาดไม่ได้เลย เป็นไปไม่ได้เลย กิเลสจะขาดไปด้วยความด้นเดา ความคาดความหมายด้วยโลกียะแบบนี้
แต่ถ้าเป็นปัญญาขึ้นมา กิเลสนี้จับขึ้นมาตั้ง กายกับจิต...กาย เวทนา จิต ธรรม เวทนาก็เหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เวทนาเกิดขึ้นมา จับกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นตัวตั้ง ตัวตั้งหมายถึงเป็นโจทย์ เป็นโจทย์แล้วให้โจทย์นี้ลอยตัวไว้ แล้วเราวิปัสสนาเข้าไปด้วยความเป็นจริงไง คือว่าให้โจทย์นี้หมุนไป ดูความแปรสภาพของกายกับจิตนั้น ดูความแปรสภาพในปัจจุบันในขณะเหตุนั้น ขณะที่เหตุที่เป็นไป แล้วปัญญานี้เฝ้าดูอยู่ ปัญญานี้ใคร่ครวญและเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา
ปัญญาคือว่าความเห็นของใจ ถ้าคนวิปัสสนาเป็นจะเข้าใจตรงนี้ เข้าใจเพราะมันเห็น รู้เห็นแจ้งชัดในตาภายใน ตาของธรรมได้เปิดแล้วไง ตาของธรรมได้เปิดแล้ว วิสัยของใจได้อ้าแล้ว วิสัยของใจได้หงายขึ้นมาแล้ว วิสัยของใจจะเปลี่ยนจากวิสัยของกิเลสที่ปกคลุมอยู่ไง วิสัยของใจจะเอาตัวรอดได้ มันจะเห็นภาพชัด เห็นกายก็เห็นกายจากภายในตั้งมั่นอยู่ เห็นจิตก็เห็นอาการของจิต เห็นเป็นขันธ์ เห็นเป็นนามธรรม แต่แยกแยะส่วนสัดได้ แยกแยะส่วนสัด ส่วนสัดหมายถึงว่าความรวมตัวแล้วเป็นอารมณ์ออกไป นี่ส่วนผสมของใจ
ใจนี้ไม่เกิดดับโดยไม่มีเหตุมีผล สิ่งใดๆ ในโลกนี้ไม่เคยไม่มีเหตุไม่มีผล ยิ่งศาสนาพุทธเรานี้ยิ่งศาสนาของเหตุผล ยิ่งวิปัสสนาญาณ อาสวักขยญาณ อาสวะเกิดขึ้นมาจากใจ
อาสวักขยญาณเข้าไปชำระล้างถึงสิ่งที่เกิดเป็นส่วนผสมของความคิด ส่วนผสมต่างๆ ที่มันเกิด-ดับ เกิด-ดับในกระแสวิสัยของจิตดวงนั้น
จิตดวงนั้นมีเกิดมีตายมีพื้นฐานของความคิด มีเชื้อ มีชีวิต มีธาตุรู้ไง ธาตุที่มีพลังงานในตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา แต่ตัวมันเองมีพลังงานด้วย สร้างพลังงานเผาผลาญทำลายตัวเองด้วย แต่ตัวเองทำลายตัวเองไม่ได้เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิต พลังงานที่มีชีวิตที่ไม่มีตัวตนที่เป็นนามธรรมที่ขับเคลื่อนให้กระแสจิตดวงนี้ตายเกิดๆ มาทุกภพทุกชาติไม่มีต้นไม่มีปลาย
แล้วเวลาพลังงานของธรรมเกิดขึ้นจากที่เราสร้างขึ้นมา นี่ถึงว่าเป็นปัญญาไง ปัญญาต้องเป็นปัญญาในธรรมนี้ไม่ใช่ปัญญาของเรา เราเอาปัญญาของเรา ส่วนใหญ่นี่เอาปัญญาภูมิหลัง กิเลสมันบังเงาในการวิปัสสนา กิเลสบังเงา ฟังนะ กิเลสบังเงา เราว่าเราทำความดีไง เราทำความดีเราก็ยึดความดีเพราะเราทำ พอคนอื่นเขาว่าเราทำไม่ดี เราก็ว่าเราทำดี เราจะไปขัดข้องหมองใจ เห็นไหม นี่ขนาดเรื่องภายนอก
แต่เรื่องภายในเวลาธรรมมันหมุนไป กิเลสมันก็อาศัยตามอันนั้นไป ถึงว่าเป็นการบังเงา ถ้าบังเงาแล้วความคิดนี้ไม่บริสุทธิ์ ความคิดนี้ไม่วิสุทธิ์ ความคิดไม่วิสุทธิ์มันก็ทำให้ความเป็นสะอาดเป็นไปไม่ได้ ความที่ไม่สะอาดที่มันแปรสภาพแล้วมันจะเห็นตามความเป็นจริงแล้วลงตัว ความลงตัวเห็นความเป็นจริงแล้วปล่อยวางนั่นคือสมุจเฉทปหาน นี่ชำระกิเลสต้องชำระอย่างนั้น
แต่ถ้าความกิเลสบังเงาเข้าไปด้วย มันเป็นตทังคปหาน เป็นตทังคะฯ คือความรู้เท่า เพราะกิเลสมันคาดมันหมาย มันเบี่ยงเบนไปในอดีตอนาคต พอเบี่ยงเบนไปในอดีตคือว่าความหมายไปข้างหน้ากับอนาคต เห็นไหม ความเป็นอนาคตข้างหน้า กับอดีตข้างหลังคือการเปรียบเทียบ กับยื่นไปอนาคตข้างหน้า แล้วพอใจมันรวมตัวเข้าไปมันก็จะปล่อยวางได้เหมือนกัน ความปล่อยวางนี้เป็นตทังคปหาน
ความปล่อยวางที่เป็นตทังคปหานมันจะปล่อยวางเฉยๆ ไม่พร้อมกับความหลุดขาดออกไปโดยสมุจเฉทฯ ของกิเลสไง ของกิเลสคือของสังโยชน์ สังโยชน์ ความยึดมั่นถือมั่นระหว่างกายกับจิตที่มันผูกมัดกันอยู่ ถ้าเป็นตทังคปหานมันจะปล่อยวางเฉยๆ แต่ไม่เห็นสิ่งที่หลุดออกไปจากใจ
แต่ถ้าเป็นสมุจเฉทปหานมันจะเห็นสิ่งที่หลุดออกไปจากใจ
สิ่งที่หลุดออกไปพร้อมๆ กับความเบาของใจที่เวิ้งว้างออกมา นั่นคือปัญญา
ปัญญาโลก-ปัญญาธรรม ปัญญาที่จะเกิดขึ้นจากวิสัยที่ว่าง่อยเปลี้ยเสียขานี่แหละ
ว่าเข้มแข็ง ว่าเราใจนี้เข้มแข็งมาก หัวใจนี้เข้มแข็ง ยอด เป็นอาชาไนย เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ นั่นมันความเสกสรรปั้นยอ เราเสกสรรปั้นยอว่าเราเป็นคนที่ว่าฉลาดรอบรู้ไง แต่เวลากิเลสมันออกมากับความเสกสรรปั้นยอนั้น เราก็ล้มไปโดยไม่รู้สึกตัว ความล้มไปวัดกันได้ที่ว่ามันทำออกไปแล้ว เวลาคุณค่าผลงานที่ย้อนกลับมาหาเราไง ผลงานที่ย้อนกลับมาหาเรามันต้องเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติคือเกิดขึ้นจากสัจจะความจริง ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นจากว่าปัญญาของเรา โครงการของเรา ความมั่นหมายของเราต้องระดับนั้นๆ แล้วมันจะเสร็จไปตามโครงการนั้น อันนี้คือ คาด ความคาดไม่ได้
ความคาดความหมายนี้ อดีตอนาคต เอามาใช้ไม่ได้ในวงปฏิบัติ ในวงปฏิบัติต้องให้สิ่งนั้นสืบต่อไป ก้าวเดินเนื่องออกไปโดยธรรมชาติของมัน ถึงว่า ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เห็นไหม แล้วแต่ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีหน้าที่ของเราคือประพฤติปฏิบัติ คือสร้างสมขึ้นมา สะสมขึ้นมา มรรคะนี่ให้มันคงที่ พลังงานนี้ให้มันอยู่ตัว พลังงานคือสัมมาสมาธินี้คือตัวพลังงาน
ปัญญาคือความดำริ ความเห็น งานคืองานในกายในจิต ความเพียรล่ะ ความเพียรชอบ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การงานชอบ สติสัมปชัญญะชอบ ถ้าสติสัมปชัญญะเผลอไผลไป ความเผลอไผล เห็นไหม เพราะสติก็ต้องระลึกรู้ขึ้นมา ตัวสติระลึกรู้ขึ้นมามันก็หายไป ระลึกรู้ขึ้นหายไป ความระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา สติสัมปชัญญะจะพร้อมไป
แล้วจากสติ มหาสติ จากปัญญาเป็นมหาปัญญา เป็นปัญญาญาณหมุนเข้าไป อาสวักขยญาณ มันถึงว่าถ้าเป็นปัญญาญาณแล้วมันถึงจะแก้วิสัยของใจตัวนี้ได้ไง วิสัยของกิเลสให้มันเป็นสาวกะวิสัย สาวกะวิสัยเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ไปเหมือนกับพุทธวิสัย พุทธวิสัย ที่กว้างขวางที่พ้นจากกิเลสออกไป สาวกะวิสัย ตั้งแต่พระสารีบุตรลงมา สาวกผู้ได้ยินได้ฟังแล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นไป
แต่วิสัยของใจที่มีกิเลสอยู่สะสมอยู่ มันต่อต้านมาแล้วเราเป็นดวงหนึ่งในวิสัยนั้น เพราะเราเป็นชาวพุทธ รู้หลักวิธีการจากการครูบาอาจารย์สั่งสอนมา รู้หลักวิชาการจากการเราศึกษาเล่าเรียนมา รู้หลักวิชาการจากการเราประพฤติปฏิบัติมา ลุ่มๆ ดอนๆ มันไม่เป็นผลงานขึ้นมาจากเรา
ถ้าเป็นผลงานขึ้นมาจากเรา นี่ไง ผลงานขึ้นมาจากเรา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนั้นเกิดจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นก็ได้ดื่มกินธรรมารสไง ธรรมารสชนะซึ่งรสทั้งปวง เห็นไหม ธรรมารส รสใดๆ ในโลกนี้ที่ว่าเป็นรสสืบยอดเยี่ยมของรสชาติในโลกนี้ เทียบไม่ได้กับวิมุตติรส นี่อยู่ในพระไตรปิฎก
บุรุษไม่มีใครประเสริฐที่สุดเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาของเรา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นครูเป็นอาจารย์ของเราที่เราจะยึดถือ เห็นไหม ทุ่มไปทั้ง ๖ ปี ๖ ปีทุ่มลงไปเลย ทั้งๆ ทุ่มทั้งชีวิต ถ้ากิเลสอยู่ที่ไหนทุ่มเข้าไป กิเลสอยู่ที่ไหน คือความสงวน ความรักษาไว้ นี่ไง กิเลสไงอยู่ที่ไหน ความสงวนรักษา
ความพิร่ำรำพันนั้นคือเรื่องของกิเลส
ธรรมจะทุ่มเข้าไปที่ตรงนั้น ที่ตรงที่จะสงวนรักษา ยิ่งทำลายเท่าไรยิ่งสะอาด ยิ่งทำลายเท่าไร นามธรรมนี้ไม่มีการบุบสลาย ไม่มีการดับขันธ์ทำลายไป นามธรรมนี้ไง แต่มันสกปรกไปเพราะด้วยอนุสัยตลอด อนุสัยทั้ง ๓ ที่ปกคลุมใจนี้อยู่ นั่นทุ่มเข้าทำลายตรงที่ว่าสงวนรักษานั้นก็ทำลายสิ่งนี้ไง สิ่งที่อยู่ในนามธรรมนั้น นามธรรมนี้นามธรรมสกปรก จิตที่มีกิเลสอยู่นี้ กิเลสปกครองใจอยู่ ใจนั้นสกปรก
แต่ถ้าทำลายถึงจนสะอาดขึ้นมา จิตนี้มันถึงเข้าได้กับนิพพานไง นิพพานมีอยู่ นิพพานคงที่ แต่เราปฏิบัติอยู่นี้มันไม่คงที่ มันลุ่มๆ ดอนๆ แต่มันมีตัวจิตนี้อยู่ ตัวจิต เห็นไหม
อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป
จิตฺตานิ จิตตานี่ตัวจิต
วิมุจฺจิง สูติ จิตนี้เป็นผู้รับผลของวิมุตติทั้งหมด
จิตนี้ไง นาย ก. นาย ข. นี่สมมุตินะ พระ ก. พระ ข. นี่ก็สมมุติ...ไม่มี พระ ก. ก็คือพระ ก. แต่ใจของพระ ก. ต่างหากนั้นเข้าถึงวิมุตตินั้น นาย ก. นั้นก็คือนาย ก. แต่นาย ก. ไม่ใช่ในวิมุตตินั้นนี่ นาย ก. นั้นก็เป็นนาย ก. แต่ใจของนาย ก. นั้นเป็นผู้วิมุตตินั้นหมด เห็นไหม เป็นผู้ที่เข้าวิมุตตินั้น รสของวิมุตติชนะซึ่งรสทั้งปวง นั่นน่ะ มันก็เป็นสาวกะวิสัยล่ะสิ สาวกะวิสัยเกิดขึ้นมาจากกิเลสวิสัยในวัฏจักรที่เราหมุนๆ เวียนๆ อยู่ ให้มันเทียบมาที่ใจ ให้อยู่วิสัยของใจ วิสัยของใจมีอยู่ ใจมีอยู่ ใจนี้ต้องเข้าถึงธรรมได้
เราก็เป็นคนที่มีหัวใจอยู่ สมมุตินี้ไว้สื่อกันในโลกของเรา ภาษาธรรมคือภาษาของใจ เวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรมกับพวกเทวดา พระพุทธเจ้าแสดงธรรมกับเทวดา ใช้อะไรไปแสดงธรรมกับเทวดา พวกเทวดา พวกพรหมมาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เทศน์ทีในสมัยพุทธกาลสำเร็จมรรคผลไปเป็นพันเป็นหมื่นตลอดเวลา นั่นภาษาอะไร?
ภาษาของใจ ภาษาใจ-ภาษาธรรม ภาษาธรรมคือภาษาที่เราปฏิบัติอยู่ในหัวใจนี้ เก็บสงวนท่าทีทั้งหมดของกายไว้ทั้งหมดเพื่อให้ใจแสดงตัวออกมา เคลื่อนไหวไปตลอด ใจไม่เคยสงบ อาศัยความฟุ้งซ่านของร่างกายนี้ไปด้วย
การเดินจงกรมต้องสำรวมระวังเข้ามา เอามือขวาทับมือซ้าย ให้ขาก้าวเดินออกไป ขาก้าวเดินไป ในการประพฤติปฏิบัติ ในอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน การเดินจงกรมนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะมันอาศัยเวลาเรานั่งเมื่อยขึ้นมา ยังต้องสำรวมกิริยาเอาไว้เพื่อไม่ให้ใจออกไป แตกออกไป ไม่ให้สติ...มันไปตามความรู้สึกนั้น...สำรวมเข้ามา
แต่เวลาเท้าเดินทำไมไม่สำรวมล่ะ เท้าต้องปล่อยเดินไปเพราะเป็นอิริยาบถ ๔ ถ้านั่งอยู่ตลอดเวลาแล้วร่างกายนี้ทนสภาวะนั้นไม่ไหว ให้เดินจงกรม พอเดินจงกรมขึ้นมา ก้าวเท้าไป ก้าวเท้าไป ก้าวไป ก้าวไปจนเป็นสัญชาตญาณ ขานั้นเท้านั้นก้าวไปโดยสัญชาตญาณ หัวใจนั้นอยู่ในร่างกายนั้น มือนั้นไม่ให้แกว่งไป แล้วตั้งสติสัมปชัญญะไว้ นี่มันลงเป็นสมาธิไป
แม้แต่เท้าที่ก้าวเดินอยู่ออกไป เท้าที่ก้าวเดินอยู่ ใจนี้สงบขึ้นมาได้ นี่ความสงบในทางจงกรม ในการเดินจงกรม เห็นไหม ถึงบอกว่าร่างกายนี้เป็นร่างกายนี้ หัวใจเท่านั้น ทุกกิริยาหมดสำคัญที่ใจ ใจสำคัญที่สุด ถ้าใจสำคัญที่สุดแล้วร่างกายนี่ปล่อยทิ้งไปเหรอ เป็นอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นที่อยู่ของใจ
เราเกิดเป็นมนุษย์นี่วิสัยของใจที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์นี้มีกายกับใจถึงมีทุกข์กับสุข เทวดามีแต่ความสุข เห็นไหม เขาก็เพลิดเพลินในความสุขของเขา ในนรกในเปรตผี เขาจะมีแต่ความทุกข์ ในอเวจีเขามีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเร่าร้อน เขาก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเขาอยู่ในความเร่าร้อน เขาอยากจะพ้นจากภัยนั้น อยู่ที่ความสุขก็เพลิดเพลินอยู่กับความสุขนั้น
แต่มนุษย์สมบัติมีร่างกายมา ร่างกายนี้โดนทำลายไปด้วยธาตุไฟของเราเองโดยธรรมชาติ แถมยังชีวิตนี้ต้องสิ้นไปโดยธรรมชาติของมัน ร่างกายนี้แค่อายุขัยหนึ่ง แล้วในอายุขัยหนึ่งเราจะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ เพราะว่ามันมีความเหมือนกับหนังหน้าไฟ ร่างกายนี้เหมือนหนังหน้าไฟไง ลนไฟอยู่ตลอดเวลา ไฟต้องเผาผลาญไป เราต้องตายโดยธรรมชาติต่อไปแน่นอน เราเกิดมาเราต้องตายโดยธรรมชาติเลย แล้วใจยังเกิดดับๆ ตลอดไป
พอมันต้องตายโดยธรรมชาตินี้ เราถึงว่าดูความแปรปรวนไปก่อน ปัญญาธรรมจะเห็นความแปรปรวนในปัจจุบันธรรม มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์มากเรื่องธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แปลกประหลาดมาก ถ้าจิตสงบเห็นกายนี้แปรสภาพต่อหน้าเดี๋ยวนั้นๆ แต่ในสัจจะ ในสมมุติโลกเขานี้มันต้องแปรสภาพในเมื่อเน่าเปื่อยไปโดยธรรมดา เห็นไหม ร่างกายนี้เจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้หมอเยียวยาไว้ตลอดเวลา เพื่อจะดึงไว้ให้มันนานที่สุด
แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินี้ทำไมไม่เพิ่มพลังงานเข้าไป สะสมเข้าไป ทำลายให้ตรงนี้มันผ่านพ้นไปได้ก่อน ใจมันสลัดตั้งแต่ตอนนี้นะ พอใจมันสลัดออกไปแล้วมันก็อยู่ด้วยกันเหมือนเดิม แต่ต่างกัน...เราปกตินี่มันยึดไปหมดเลย สิ่งใดที่แปรสภาพไป จะสร้างความเสียอกเสียใจให้กับใจนี้มาก ร่างกายที่แปรสภาพไป จะทำให้ใจนี้ไหวไปหมดเลย
แต่ผู้ที่มีธรรมขึ้นมาแล้วนะ ร่างกายแปรสภาพออกไป มันจะยิ่งซึ้ง ซึ้งมากๆ! เพราะมันแสดงความจริงตั้งแต่ขณะที่เห็นภายในแล้ว มันปล่อยตั้งแต่ตอนนั้น มันปล่อยออกไปแล้วว่ากายนี้ไม่ใช่เรา มันยังมาแสดงให้เห็นอีกหรือ นี่มันแสดงเป็นการพยานยืนยันกันไงว่าร่างกายนี้ต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา
แต่ในเมื่อเราไปเห็นไว้ก่อนแล้ว พอมันเป็นพยานหลักฐานมายืนยัน ก็เหมือนกับเรามีแผนที่ แล้วเราเดินเข้าไปเจอสมบัติในแผนที่นั้น ทำไมมันไม่เชื่อว่าแผนที่นี้เยี่ยม ซึ่งแผนที่นั้นก็เชื่อได้ในการประพฤติปฏิบัตินี้มันก็เชื่อได้ ในการแปรสภาพที่เห็นอยู่ภายนอกมันก็เห็นอีกชั้นหนึ่ง นั่นน่ะ ความซึ้งจะเกิดขึ้น อันนี้เป็นธรรมสังเวช
การเศร้าโศก การทุกข์ยากเสียใจของปุถุชนเราอย่างหนึ่ง การปลงธรรมสังเวชของพระกัสสปะที่พุทธองค์ปรินิพพาน แล้วพระกัสสปะไปถวายพระเพลิง นั่นน่ะ ปลงธรรมสังเวชว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องปรินิพพานไปโดยธรรมดา มันขนาดที่ว่าองค์ศาสดาเป็นผู้ชี้ทางแล้วนะ ยังต้องปรินิพพานโดยธรรมดาเลย นี่มันถึงสะเทือนหัวใจมาก
แล้วขนาดว่าพวกเราเป็นผู้ก้าวเดินตาม เป็นสาวกะวิสัย พุทธวิสัยนี้มหัศจรรย์มาก ความรอบรู้ในโลกธาตุนี้รู้ไปหมด เทศน์สั่งสอนได้แม้แต่ ๓ โลกธาตุ เทศน์สอนทั้งพรหม เทศน์สอนทั้งเทวดานะ เทศน์สอนทั้งมนุษย์ ยังเป็นที่พึ่งของพวกพญานาค พวกอะไรทั้งหมดเลย...ยังต้องดับไปเป็นธรรมดา
แล้วอย่างพวกเรา พวกที่ปฏิบัติมันจะอยู่ได้อย่างไร มันก็ต้องดับเป็นธรรมดา แต่ก่อนดับไปขอให้เป็นสาวกะวิสัยก่อน ขอให้ถึงซึ่งธรรมนั้น เราก็จะก้าวพ้นไปที่ว่าไม่ต้องไปเวียนตายเวียนเกิดอีก...ถ้าทำได้ ทำได้ต้องทำ แล้วทำได้จริงๆ ในเมื่อมีใจอยู่
ใจเท่านั้นเป็นผู้สัมผัสธรรม
พระไตรปิฎก ในตู้พระไตรปิฎกเป็นกระดาษพิมพ์ไว้ด้วยตัวหนังสือ กระดาษมีความรู้สึกไหม กระดาษกับตัวหนังสือมีความรู้สึกหรือ ผู้ที่ไปอ่านหนังสือนั้นแล้วขนลุกขนพองต่างหากนั่นคือตัวความรู้สึก อ่านพระไตรปิฎกไปขนลุกขนพอง ใครมันทำให้ขนลุกขนพอง เพราะหัวใจที่ไปเห็นสภาวะอย่างนั้น คำสอนอย่างนี้ใครเป็นคนสอนหนอ คำสอนอย่างนี้ใครรู้มาได้
นี่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา อยู่ในพระไตรปิฎก ธรรมและวินัยนี้จะเป็นศาสดาของผู้ที่ก้าวเดินตามไปตลอด แล้วไปเปิดดูทีไรก็ขนลุกขนพอง ขนลุกขนพอง หัวใจที่มันพองตัว สะเทือนถึงร่างกายจนขนลุกนั่นล่ะ นี่ตัวใจตัวนั้นจะเข้าถึงนิพพาน
ถ้าใจมีอยู่ ใจต้องทำได้ เรามีใจอยู่ หน้าที่การงานก็เป็นหน้าที่การงาน เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มันต้องมีปากมีท้องอย่างหนึ่ง นั้นเป็นปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย แต่หัวใจมันมีอะไรเป็นที่อาศัย ถ้าหัวใจมีธรรมเป็นที่อาศัยก็เข้าถึงเป็นสาวกะวิสัย วิสัยของจิตมันก็เปลี่ยนจากวิสัยปุถุชนขึ้นไปเรื่อยๆ เปลี่ยนมาได้ๆ เปลี่ยนมาได้จากมรรคอริยสัจจัง เปลี่ยนขึ้นมาจากตัวมันเอง เปลี่ยนขึ้นมาจากธรรมที่เราสร้างขึ้นมาในใจ
ใจแก้ใจ ใจคือเก้าอี้ดนตรีที่ว่าระหว่างกิเลสกับธรรมแย่งกันนั่งไง แย่งกันนั่งจนกว่าใจดวงนั้นธรรมทั้งหมด นั่งจนวิสุทธิว่างหมดเลย แต่มีอยู่ แล้วจะดื่มด่ำในใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะประเสริฐมาก ประเสริฐที่ว่ามันไม่มีทุจริตในใจดวงนั้น ใจดวงนั้นสะอาด ใจดวงนั้นมีแต่ความสุข
แล้วว่าใจดวงนั้น ใจดวงนั้น แล้วทำไมศาสนาเราทำไมยุ่งยาก ทำไมไปวุ่นวายกับโลกเขามาก อันนั้นเพราะว่าเขาปฏิบัติยังไม่ถึงไง เห็นไหม ปฏิบัติยังไม่ถึงมันก็ต้องมีเหตุ...วิสัยของใจไม่เหมือนกัน ถึงบางทีก็ยังเพื่อผลประโยชน์ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เพื่อจะให้พ้นจากกิเลส ธรรมและวินัยไม่ใช่เป็นศาสดาของเราเพื่อผลประโยชน์นี่นา ผลประโยชน์ของโลกของเขา ผลประโยชน์บีบเข้ามา ถ้าผลประโยชน์นั้นเกิดขึ้นมาจากธรรม เห็นไหม เกิดขึ้นมาจากสัจจะความจริง อันนั้นเป็นบารมีธรรม เกิดขึ้นมาควรเป็นประโยชน์แก่โลกก็ให้ประโยชน์กับโลกเขา นั่นน่ะ มันก็ไม่มีสิ่งที่ตกค้างในใจ ผลประโยชน์นั้นเกิดขึ้นมาจากการทุจริต
ผลประโยชน์นั้นเกิดขึ้นมาจากการไม่บริสุทธิ์ ผลประโยชน์เกิดขึ้น แต่กรรมจากดวงที่ไปทำผลประโยชน์อันนั้นมันต้องแบกไป วัฏฏะนี้ยังเป็นเครื่องดำเนินอยู่นะ ใจดวงที่ไปทำนั้นไม่นึกกลัวเหรอ ใจดวงที่ไปทำสร้างกรรมอย่างนั้นขึ้นมา
ธรรมและวินัยเพื่อความสะอาด เพื่อความบริสุทธิ์ของดวงใจของสาวกต่างๆ เป็นที่พึ่งที่อาศัย บ่อน้ำนี้ควรจะสะอาด ใครเข้ามาในบ่อน้ำนั้นจะใช้น้ำนั้นได้เป็นธรรมดา บ่อนั้นที่ไม่สะอาด ใครเข้ามามันก็ไม่อยากใช้น้ำในบ่อน้ำนั้น นี่ก็เหมือนกัน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาจากความบริสุทธิ์นั้นมันเป็นบารมีการสะสมมา มันต้องเป็นไป นี่กรรมไม่เหมือนกัน
แต่ถ้าผลประโยชน์นั้นไม่บริสุทธิ์ ทำมาด้วยการแสวงหาที่ผิดขึ้นมา ผลประโยชน์นั้นเป็นผลประโยชน์นั้น แต่กรรมที่เกิดจากตรงนั้นสิ ใจดวงที่สร้างต้องเป็นผู้รับสิ นั่นน่ะ โทษมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่าแล้วเป็นไป ใจดวงนั้นน่ะ ใจทุกๆ ดวงนี้กรรมอยู่กับใจดวงนั้น
กรรมดีให้ผลประเสริฐมหาศาล กรรมชั่วก็ให้ผลกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นทุกๆ ดวงที่สร้างขึ้นมา ถึงของใครสร้างเรื่องของเขา เรื่องของเราเราต้องสร้างใจของเรา เรื่องของเราเราต้องเชื่อธรรมและวินัย เห็นไหม องค์ศาสดาอยู่ในตู้ แล้วเราจะพยายามเปิดออกมาให้เข้าใจเราให้ได้
ไม่ใช่องค์ศาสดาอยู่ในตู้ แล้วเราก็ทำประสาของเราไป ทำประสาของเรามันจะไม่เข้าทางไง มันจะไม่ได้เข้าหลักความจริง มรรคอริยสัจจัง ให้สมุจเฉทปหาน ไม่ใช่มรรคของเรา มรรคของกิเลสแล้วตทังคปหาน เห็นไหม ว่างๆ ตทังคะฯ ของเรา ตทังคะฯ ของเรามันไม่มีสิ่งใดหลุดออกไปจากใจ มันรู้มันเห็น
แต่ถ้าตทังคปหานตามหลักมรรคอริยสัจจัง...เราไม่ต้องเชื่อเรา เราอย่างเชื่อเรา เรายังมีกิเลสอยู่เชื่อเราไม่ได้ ต้องเชื่อธรรมและวินัย เชื่อศาสดาของเราแล้วทำไปแบบคนโง่ๆ เซ่อๆ ก้าวเดินตามนั้นทำไป แล้วจะเป็นคนฉลาด
ถ้าเป็นคนฉลาดก่อนแล้วมันจะโง่ไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะมันคาดมันหมายไปเรื่อย แล้ว ตทังคปหานไปเรื่อย ตทังคปหานไปเรื่อย แล้วมันก็ไม่ได้ผลสิ ไม่ได้ผลเพราะเราว่าเราฉลาด เราไม่ยอมลงกับธรรมและวินัย
ถ้าเรายอมลงกับธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บนเหนือหัวเลย แล้วเดินตามนั้นไป เดินตามนั้นไป อย่าเอาเราเข้าไปบวก อย่าเอาความคิดเราเข้าไปสัมผัส เอาความคิดเราเข้าไปบวก พอบวกขึ้นไปเราว่าเราฉลาด เราเหนือธรรมอันนั้น
โง่ๆ แต่จะอวดตัวเก่งกว่าธรรมกับวินัยไง จะเหนืออำนาจธรรมและวินัย มันจะเป็นไปได้อย่างไร...ธรรมและวินัยนั้นใครเป็นคนค้นคว้ามา? ดูสิ พุทธวิสัย แล้วถ้าพูดถึงคนโง่ๆ นั้นทำสำเร็จขึ้นมา มันก็เป็นสาวกะวิสัย
พุทธวิสัย พุทธวิสัยนี้เป็นอจินไตย ๔ ที่ไม่สามารถคาดหมายได้เลย แล้วสิ่งที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้นใครเป็นคนสร้างมา แล้วเราจะมีวุฒิภาวะขนาดไหนที่จะไปดัดแปลง จะไปให้ลัดตอนลัดเข้าไปเพื่อจะถึงจุดหมายปลายทาง...มันเป็นไปไม่ได้ ถึงต้องยอมลงยอมโง่
ถ้ายอมลงยอมโง่กับธรรมและวินัย ผู้นั้นจะเอาตัวรอดได้ เอาตัวรอดนะ เอาตัวรอดจากอวิชชานะ เอาตัวรอดจากใจเรานี่แหละ ไม่ใช่เอาตัวรอดจากคนอื่น ไม่พ้นปากเหยี่ยวปากกา ตายหมด เกิดมานี่ตายหมดเลย แต่จะมีสาระคุณในใจไปหรือไม่มีเท่านั้นเอง เกิดมาตายหมด แล้วผู้ที่ปฏิบัติถึงแล้วเป็นสาวกะวิสัยตายแล้วไม่เกิดอีก นี่สำคัญ
เกิดมาตายหมด แล้วตายแล้วก็ต้องเกิดหมด มันยังเกิดอีกไปข้างหน้า แล้วขนาดปัจจุบันนี้ก็ยังบ่นทุกข์บ่นร้อนกัน แล้วโลกนี้ดูสิ ความนานไปๆ โลกมันจะร้อนไปเรื่อยๆ ไหม ร้อนไปเรื่อยๆ จนกว่า...ในธรรมวินัยเขาบอกไว้แล้วจนกว่าจะไปข้างหน้า ไปข้างหน้าจนหมดจนเหลืออยู่ ๑๐ ขวบ ๑๐ ปี ถึงกับสอยมะเขือกิน แล้วถึงฟื้นกลับมาใหม่ถึงย้อนกลับมาเป็น ๑๐๐,๐๐๐ ปีแล้วเหลือ ๘๐,๐๐๐ ปี พระศรีอริยเมตไตรยถึงจะมาตรัสรู้อีก เห็นไหม นี่อยู่ในธรรมวินัย ใครเป็นคนบอก นี่ถึงว่าพุทธวิสัย
พุทธวิสัยสิ่งที่คำนวณคำนึงไม่ได้ สิ่งที่คาดหมายไม่ได้ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ แล้วเราเองก็ไม่เชื่อกัน ๕,๐๐๐ ปีก็เชื่อ ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าแล้วเชื่อเรื่องอย่างนี้หมดเลย
โลกนี่หมุนเวียนไปไง โลกมันหมุนไป ความหมุนไปของโลกเขา เราก็เป็นโลกคนหนึ่ง เราจะพ้นจากโลกไปก็ตรงนี้ ร่างกายนี่หมุนไปกับโลกเขา แต่หัวใจมันจะออกไง ผู้ปฏิบัติถ้ามันได้สัมผัสกับธรรมจริงๆ มันจะออกในใจเรานั่นนะ แล้วไม่ต้องลงทุนด้วย ร่างกายกับจิตใจนี้ ๒ อย่างพอ
คนที่ยังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ ไม่ได้ลงทุนลงแรง...แรงต้องลง ลงทุนอย่างอื่นไม่ลง แรงต้องแรงของใจมากกว่า กำลังใจกัดเพชรขาด! กำลังของใจจะมากกว่ากำลังของกายมาก เราว่ากำลังของกายจะแรงเหรอ ไปเจอกำลังของใจสิ ทำไมทำความเพียรขึ้นมา ทุ่มเทกันขนาดที่ว่ารอดเป็นรอดตายไป นั่นน่ะ อำนาจของใจ ใจที่มีที่หมายนะ กับใจที่ไม่มีที่หมาย ใจที่ยังเด้นๆ ด้านๆ มันคนละใจ นี่เหมือนกัน เทียบมาที่ใจของเรานะ เทียบเข้ามาที่ใจของเรา ใจของผู้ที่ปฏิบัติ
ธรรมมันมีอยู่ มันเหมือนของที่มีอยู่ แล้วเราฟังธรรม ต้องฟังธรรมสิ่งนั้น สิ่งที่มีอยู่แล้วประเสริฐ กับเราคนตาบอด คนตาบอดเอาของที่ไม่เคยเห็นมาพูด (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)