ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แก้กรรม

๖ เม.ย. ๒๕๕๒

 

แก้กรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาล่ะ เวลามาที่นี่เห็นไหม เราเห็นนะ เวลาทานข้าวกันแล้ว เก็บล้างนี่ การเก็บล้าง มันก็เหมือนกับเราอยู่บ้านทำครัว แต่ถ้าเป็นที่อื่นนะ อย่างครูบาอาจารย์ ท่านมีคนเก็บล้างให้ก็มี เราคิดว่าเราทำให้ก็ได้ เราหาคนมาล้างถ้วยล้างจานนี่ไม่ยากเลย แต่เราไม่อยากทำ เราอยากให้มันเป็นความจริงไง คือให้เผชิญกับความจริง

เหมือนพระนี่นะ ทำไมหลวงปู่มั่น ท่านให้พระฉันมือ ให้พระฉันมือนี่ พระธุดงค์ไป พระที่ฉันมือนะ โดยสังคมทั่วไปนี่ เขาบอกว่ามันไม่สวยงาม มารยาทไม่สวยงาม ถ้าได้ฉันช้อน ฉันอะไรนี่ ในทางโลกเขามองว่าเป็นอย่างนั้น

แต่หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ในวินัยนะ ทุกคนไปหา เพราะพวกเรานี่ปัญญาชน เวลาครูบาอาจารย์ไปทำอะไรนี่ เราจะไปค้นในตำราว่า มันผิดอะไร มันเป็นอาบัติอะไร ทีนี้มันเป็นอาบัติอะไรนี่ มันเป็นมหาปเทส ๔ คือสมัยพุทธกาลยังไม่มีช้อน ในสมัยพุทธกาลและสมัยโบราณ คนอินเดียนี่ เขา ในปัจจุบันนี่เขายังกินด้วยมือกันเลย

พอช้อนนี่ โบราณเรียกบ่วง ช้อนนี่นะ มันเข้ามาสมัย ร.๔ สมัยที่ว่าพวกยุโรปเข้ามา พอเข้ามาในวินัยมันไม่มีเห็นไหม ภิกษุฉันด้วยมือ ไม่โยนคำข้าวเข้าปาก ไม่อ้าปากไว้รอ เห็นไหม ในเสขิยวัตรไง

ทีนี้ พอหลวงปู่มั่นท่านวินัยเป็นอย่างนั้นแล้ว คราวนี้กฎหมายมันไม่มี พอกฎหมายมันไม่มี พอเรามาทำมันขึ้นมา มันไม่มีอะไรรองรับไง พอไม่มีอะไรมารองรับ พระก็พยายามจะหาเหตุผลกัน ก็เลยร้อยแปดพันเก้า ก็เลยเหตุผลใครเหตุผลมัน ก็เลยเละกันไป ก็เลยแบบว่า ฟังไปฟังมา เลยแบบว่าไม่มีเหตุผล

ถ้าพูดมากๆ ไปนี่ เพราะคนพูดนี่วุฒิภาวะไม่มี วุฒิภาวะของคนที่หาเรื่องเหตุผลอย่างนี้ วุฒิภาวะมันต่ำ พอต่ำนี่ อธิบายเหตุผลมา เหตุผลนี่ฟังไม่ขึ้น แต่หลวงปู่มั่นท่านพูดอย่างนี้ มันเป็นธรรม เป็นธรรมหมายถึงว่า เราฉันช้อนนี่ มันกิริยามารยาท ทางโลกเขามองว่าดี แต่ประสาเรานี่ ท่านบอกว่า มันเหมือนกับเรารังเกียจ

เหมือนพวกเราเกลียดตัวกินไข่ เหมือนอาหารนี่มันสกปรกใช่ไหม แต่ถ้าคำว่า ธรรม ท่านบอกว่า พระฉันช้อนนี่ ท่านบอกกรรมฐานขุนนาง คำว่าขุนนางคือผู้ดี แต่ถ้าเราเป็นปรกติธรรมดา เราฉันด้วยมือ สิ่งใดก็แล้วแต่ เราหยิบจับด้วยตัวของเราเอง

อย่างเช่น ปฏิสังขาโย เราพิจารณาอาหารก่อนฉัน การพิจารณาอาหารนี่ เพราะว่า ถ้าพิจารณาอาหารนะอย่างเช่น เราอยากภาวนากันเป็น เราอยากภาวนาดี ทุกคนอยากดีไปหมดเลย แต่เวลาเราจะเผชิญ จะไปฝึกฝนตัวเองนี่ เรากลับคิดว่าสิ่งนี้คือความลำบาก อย่างเช่นการปฏิสังขาโยนี่ ปฏิสังขาโยต้องพิจารณาก่อนค่อยฉัน ถ้าพระไม่พิจารณาฉันเลย เป็นอาบัติทุกกฎ

เพราะการพิจารณา อย่างเช่นอาหาร บางอย่างเราเห็นแล้วมันน่ากิน บางอย่างเห็นแล้วนี่ เราไม่เคยเห็นหรือ อาหารที่แบบว่าคนละวัฒนธรรม เราเห็นแล้วเราเหมือนจะปฏิเสธเลย

ทีนี้การพิจารณาอาหารนี่ก็เหมือนกัน เพราะของนี่มันของเสีย ของที่เราโยนลงไปในบาตร เราพิจารณาว่าร่างกายนี่มันได้อาหารอย่างไร พิจารณาไปมันเกิดปัญญา ครูบาอาจารย์นี่พิจารณาไป จนตัวข้าวนี่ เมล็ดข้าวเป็นตัวหนอนเลย เพราะจิตสมาธิดีๆ การพิจารณาอาหารนี่ มันเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกร่างกาย ฝึกสมอง ฝึกตัวเราเองนี่มหาศาลเลย

ทีนี้ ด้วยมารยาทสังคมใช่ไหม ฉันช้อนไง เอาช้อนมานี่ ด้วยความนี่ มันเหมือนกับว่า เราควรจะได้ประโยชน์ เรากลับไม่ได้ประโยชน์ในทางธรรมะ แต่เราไปได้ประโยชน์กับสังคมที่เขาว่าสวยงาม แต่ถ้าเราเอามือนี่นะ เราฉันด้วยมือนี่ ไม่ใช่พระขุนนาง เราหยิบเราจับนี่ เรารับรู้ แม้แต่ปฏิสังขาโย มันก็อย่าง ยังหยิบจับ ยังกลิ่น ยังอะไรต่างๆ มันมี นี่มันเป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้น พอเราพูดถึงการมาเก็บมาล้างนี่ อันนี้มันเหมือนกับความเสมอภาค มีลูกศิษย์เยอะมากเลย พูดให้เราได้ยินนะ อยู่บ้านไม่เคยล้างถ้วยล้างจานแล้วกันแหละ มาที่นี่ต้องล้างถ้วยล้างจาน อยู่บ้านไม่เคยทำเลยล่ะ อยู่บ้านได้แต่กินแล้วก็ลุกไป ให้คนอื่นเก็บล้างให้ พูดเลยนะ เยอะมากมาที่นี่ บอกว่า กินเสร็จต้องล้างถ้วยล้างจาน แล้วเขาพูดเหมือนกับสะท้อนใจนะ บอกเกิดมาไม่เคยทำเลย

เห็นไหมมันได้ประโยชน์ตรงนี้ไง คนที่ไม่เคยทำก็ได้ทำ มันเป็นความเสมอภาค แต่บางทีดูแล้วมันวุ่นวาย ความวุ่นวาย ความเข้าไปแล้วกังวลนี่ นี่มันก็มี ในการงานสิ่งต่างๆ นี่มันต้องมีบ้าง แต่อนาคตในการที่เราจะพัฒนาไป มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถึงกาลเวลาแล้วนี่เรา ไอ้อย่างเขานี่ มันข้อวัตรปฏิบัตินี่ เราเปลี่ยนแปลงได้

เราหาคนสัก ๒-๓ คนมาช่วยเก็บล้างนี่ เราว่าเราทำได้ เพียงแต่ ตอนนี้เราคิดว่า เราได้ประโยชน์ตรงนี้มากกว่า เราได้ประโยชน์น้ำใจของคน ให้คนนี่ได้สะเทือนใจ คำว่าสะเทือนใจ คือสะเทือนกิเลสนะ การภาวนานี่ การกระเทือนใจนี่ กระเทือนกิเลสนะ

อย่างตอนเช้าที่เราพูดไปเห็นไหม พวกนี้มันเป็นอย่างนี้มานาน เราเอ็ดมานาน เราเอ็ดมานานนี่ เราจะยกขึ้นมาให้เห็นว่า ความเคยชินของใจ นี่ไงธาตุ เข้ากันโดยธาตุ คำว่าธาตุคือนิสัย ถ้าภาษาโลกว่าสันดาน สันดานของใครสันดานของมัน แล้วพอเป็นสันดานของเรานี่ สันดานของเรา เราทำจนคุ้นชิน จนเป็นพฤติกรรม

พอเป็นพฤติกรรม พอทำสิ่งใดแล้วนี่ มันไม่เห็นความผิดความถูก เพราะมันเป็นความคุ้นชิน คำว่าคุ้นชิน เราคุ้นเคยกับมัน เราทำทุกวัน เราทำต่อเนื่อง ทำจนไม่เห็นว่า มันเป็นความผิดความถูก เห็นไหม แล้วเราพยายามบอกๆ เวลาเผลอก็ลงอย่างนี้ทุกทีเลย คือเผลอ ตอนเช้าคือเผลอ กำลังออกรส กำลังออกรสเลย เลยเล่นเลย เพราะอย่างที่เห็นกัน

เราพูดเรื่องนี้ปั๊บ เราจะเทียบกลับมาเรื่องกรรมไง เห็นไหม เขามาถามเรื่องกรรม ว่ากรรมนี่ ถ้ากรรมนะ เหมือนกับเรานุ่งผ้า แล้วเราเปลี่ยนเสื้อผ้า เราทำได้อย่างนั้น ใครไม่อยากทำบ้าง เรานุ่งเสื้อผ้าเห็นไหม เราเปลี่ยน เปลี่ยนเสื้อผ้ามันก็เปลี่ยนแล้ว แล้วกรรมมันเป็นอย่างนั้นไหม

นี่คำนั้นมันเป็นอย่างนั้น ถ้ากรรมมันเป็นอย่างนั้นนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ จะไปปรินิพพาน เดินข้ามห้วยเห็นไหม พระอานนท์ไปด้วย

“อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน เราขอน้ำฉัน”

พระอานนท์นี่ เป็นผู้ที่รักองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก เห็นน้ำ เกวียนมันพึ่งผ่านไป น้ำมันขุ่น กลับมาเลยไปเห็นน้ำมันขุ่นไม่อยากให้พระพุทธเจ้าฉัน กลับมาขอร้องบอกว่า

“ข้าพระองค์ เกวียนมันพึ่งผ่านไป น้ำมันขุ่นมากเลย ขอให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดทนไปฉันเอาข้างหน้า ข้างหน้ายังมีลำห้วยอีก”

เพราะพระนี่ เดินธุดงค์ จนพื้นที่นี่จะชำนาญมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“อานนท์ เรากระหายเหลือเกิน ตักมาเถิด เรากระหายเหลือเกิน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ต้องการฉันใช่ไหม นี่พระอานนท์ก็ทนไม่ได้ ไปยืนพิรี้พิไรนะ ว่าจะตักน้ำหรือไม่ตักนี่ เพราะว่าพระธุดงค์นะ มันไม่มีอุปกรณ์ จะใช้บาตรนะ พอจะเอาบาตรตัก เฉพาะที่จะตักนี่ใส ใสนี่ใสด้วยอำนาจวาสนาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตักเฉพาะตรงนั้นขึ้นมา เพราะมันจะใสเฉพาะส่วน แล้วตักน้ำใสนั้นมาถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วพอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉัน พอฉันแล้วนี่ พระอานนท์นั่งดูด้วยความปลื้มใจไง นี่มันปลื้มใจพร้อมกับความคิดในหัวใจนะ เพราะว่าน้ำมันขุ่น ไม่อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันเลยเพราะว่าเคารพรักมาก แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เรากระหายเหลือเกิน” ก็ด้วยความจำเป็นก็เข้าไปตัก พอตักด้วยบารมีตรงนั้นก็ใส

พระอานนท์ พระโสดาบันนะ ยังสงสัยเลย ก็เลยถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“มันเป็นความมหัศจรรย์เหลือเกิน สิ่งใดสิ่งหนึ่งมันไม่เคยมี มันก็มีมันก็เป็นแล้ว น้ำมันขุ่นๆ อยู่ พอจะตักอยู่ๆ มันใสขึ้นมาได้อย่างไร”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิบายว่า

“ที่มันใสนี่เป็นเพราะบารมีธรรม แต่สิ่งที่มันขุ่น เพราะมันเป็นกรรมของเรา”

นี่ไง เข้ากรรมแล้ว กรรมของเรา สมัยเป็นพระโพธิสัตว์นะ เป็นพ่อค้าโคต่าง ไปกับเกวียน กองคาราวานนะ เวลาไปไหน โบราณเขาไปเป็นกองคาราวาน แล้วพอมันลงน้ำไปเห็นไหม โค สัตว์มันก็จะลากเกวียนไป แต่เกวียนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นพระโพธิสัตว์มันอยู่ข้างหลังไง พอไปนี่น้ำมันขุ่นใช่ไหม โค สัตว์ เวลาลงไปในน้ำ มันหิว มันก็อยากกิน นี่พระพุทธเจ้าคิดอย่างนี้ คิดว่าก็น้ำมันขุ่น ก็รักสัตว์ตัว รักมาก ก็อยากให้มันไปกินน้ำข้างหน้า ก็ดึงไว้ นี่กรรมอันนั้นนะ

เวลาเรื่องกรรมนี่ กรรมนี่มันเป็นเรื่องของสิ่งที่มันเป็นไป แล้วการจะแก้ การจะแก้นี่มันมี ดูอย่างพระโมคคัลลานะสิ พระโมคคัลลานะ เขาจะมาทุบตีนี่ เหาะหนีถึง ๓ หนนะ เหาะหนี เหาะหนี จะหนีไง ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์นะ สุดท้ายมาพิจารณาว่า นี่มันเป็นเพราะอะไรเขาถึงจะมาทุบตีเรา เป็นเพราะกรรมเก่า เป็นเพราะเคยทำลายแม่ไว้ แต่เวลาทำลายนี่ก็เป็นกรรมอันหนึ่ง

แต่ในปัจจุบันนี่ ปัจจุบันที่พระโมคคัลลานะมาประพฤติปฏิบัติ จนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เศษของกรรมมันมีไง สอุปาทิเสสนิพพาน ดูสิ ดูอย่างหลวงปู่กงมา ก็รถชนกันตาย ยิ่งหลวงปู่จวนอย่างนี้ อาจารย์สิงห์ทองอย่างนี้ มาเครื่องบินตกตาย พระอรหันต์นะ พวกเราเชื่อมั่นกันว่าเป็นพระอรหันต์นะ แล้วเวลาเผาแล้ว เป็นพระธาตุหมดเลย ทำไมมาเครื่องบินตกล่ะ

นี่เราจะบอกว่ามันคนละส่วนกันไง กรรมที่มันเกิดขึ้นมานี่เห็นไหม กรรมที่มันเกิดขึ้นมาก็เป็นกรรมอันนั้น แล้วเราจะมาแก้ โดยความเข้าใจของเรามันเป็นไปไม่ได้หรอก เราจะบอกว่า ที่เราทำมาแล้ว กรรมคือสิ่งที่เราทำมาแล้วนี่ เราต้องมีกรรมดีมาเยอะมาก ถ้าไม่มีกรรมดีมาเยอะมาก เราไม่ได้มานั่งเป็นมนุษย์อยู่นี่

แล้วพอเรามีกรรมดีอยู่แล้ว สิ่งที่มันเป็นปัจจุบันนี่ เรามาพบพุทธศาสนา นี่งานของใจ การภาวนาคืองานของใจนะ เวลาฝ่ายบริหารนี่นะ เวลาเขาบริหารมาก เขาเครียดมากเลย งานสมอง ผู้บริหารนี่งานสมองนะ แต่ภาคปฏิบัตินี่มันเป็นงานของใจ

ถ้างานของใจ นี่ใจมันแก้ใจ ถ้ามันจบกันที่ใจแล้ว ไอ้ข้างนอกนี่มันเป็นเรื่องธรรมดาไง ดูพระอรหันต์สิ นี่พระอรหันต์บางองค์นะ บางองค์เวลาตาย ตายเรียบง่ายก็มี ตายโดยอุบัติเหตุก็มี นี่ มันเศษของกรรมไง สอุปาทิเสสนิพพาน เศษส่วนคือร่างกายอันนี้

ทีนี้การแก้กรรมอย่างนั้น การแก้กรรมนี่ เหมือนที่พูดตอนเช้านี่ มันก็เป็นเรื่องของการถือผีไปเลย การอ้อนวอนนะ การทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ถ้าศาสนาพุทธสอนอย่างนั้น มันก็กลายเป็นศาสนาผีไปเลย ตั้งศาลขึ้นมา แล้วอ้อนวอนกันไปเอง

ทีนี้เราเป็นชาวพุทธ แล้วเรามาสอนกันอย่างนี้ นี่ยังดีนะเป็นคฤหัสถ์สอน ถ้าเป็นพระสอน อะไรสอน มันน่าคิดนะ ดูอย่างพระเห็นไหม ไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าวนะ ให้เชื่อในพระธรรม แม้แต่พระหมอดูนี่ ทำผิดแล้ว พระรักษาโรคนี่ ผิดหมดล่ะ ผิดตรงไหนรู้ไหม ผิดตรงที่วิชาที่เราทำนี่ มันเป็นสังคมสงเคราะห์ใช่ไหม

ถ้าทางโลกเห็นว่ามันเป็นประโยชน์กับโลก นี่ในทางโลกเป็นใหญ่นะ บอกเลยนี่ พระนี่เห็นไหม เมื่อก่อนนี้วัดนี่ โรงพยาบาลก็อยู่ในวัด โรงเรียนก็อยู่ในวัด ทุกอย่างอยู่ในวัดหมดล่ะ เพราะวิชาการทั้งหมด ไปอยู่ที่พระหมด พระเป็นคนสอน

โบราณนะ ทางโลกเขาจะบอกเลยนะ เมื่อก่อนนี่ วัดกับบ้านนี่ บวรไง วัดบ้านจะอยู่ด้วยกัน สนิทคุ้นเคยกันมาก เดี๋ยวนี้พอแยกวัดออกจากบ้าน แยกวัดกับโรงเรียนออกจากกัน โรงเรียนก็แยกออกไป นี่การศึกษาของนักเรียนก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ไอ้สมัยสังคมมันยังโบราณอยู่ มันก็เป็นไปได้

แต่ในปัจจุบันนี้ ทางวิชาการมันไปแล้วเห็นไหม มันก็ต้องยอมรับอันนี้ นี้พูดถึงความเห็นของโลก แต่ถ้าความเห็นของธรรมนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ติรัจฉานวิชา ติรัจฉานไม่ใช่เดรัจฉาน “ติรัจฉานหมายถึงว่าการศึกษาที่ไม่ใช่หลักธรรม” การศึกษาที่ไม่ใช่หลักธรรม

เพราะในครั้งพุทธกาลนะ พระธุดงค์กันไปมา พระธุดงค์ออก แล้วจะกลับมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด นี่ธุดงค์ไปนะ พอพระเรานี่ธุดงค์ไปมันจะไปเห็นอาชีพไง อาชีพของหมู่บ้าน อาชีพของต่างตำบล ก็มาคุยกัน ว่าที่โน่นมันเป็นอย่างนั้น ที่นี่มันเป็นอย่างนี้ นี่พระพุทธเจ้าติเตียนตลอด นี่ติรัจฉานวิชา

ติรัจฉานวิชาหมายถึงว่า ไม่ได้คุยกันเรื่องมรรคผลนิพพาน ทีนี้เวลาพระปฏิบัตินี่ ให้คุยกันในสัลเลขธรรม ๑๐ สัลเลขธรรมคือความมักน้อยสันโดษ คือความฝักใฝ่ในการปฏิบัติ พระจะคุยกันเรื่องนี้เรื่องเดียว คือเหมือนกับเรามีเป้าหมายใช่ไหม เป้าหมายของเราบวชมาแล้วนี่ ถึงซึ่งนิพพาน

พอนิพพานแล้วนี่ สิ่งใด ทางวิชาการใด ที่จะส่งเข้าไปถึงนิพพาน ให้คุยกันเรื่องนี้ ให้ศึกษาเฉพาะเรื่องนี้ ถ้าศึกษาเรื่องอื่น ติรัจฉานวิชา คือวิชาทำให้เนิ่นช้า ติรัจฉานวิชาหมายถึงว่า ให้เรา เหมือนกับเรา เรานี่ เราตั้งเป้า แล้วเราพยายามทำ เราไม่ถึงเป้าไง ตรงนี้ นี่พระพุทธเจ้าติเตียนมากในพระไตรปิฎก

แล้วมาสมัยหลวงปู่มั่นไง สมัยหลวงปู่มั่นถ้าพระที่ปฏิบัติ เรื่องนี้มาก ย้อนกลับไปที่หลวงตาสิ หลวงตาท่านจะไม่มีงานมีการอะไรเลย นี่ ในวัดหลวงตาท่านจะบอกว่า “เราสงวนรักษาพระมาก เรารักพระมาก เราจะไม่ให้พระทำงานเลย” ถ้าเราคิดทางโลกนะ ถ้าไม่ให้พระทำงานอะไรเลย พระก็ไม่มีผลงานอะไรเลย ไม่ให้พระทำงานทางโลกไง ไม่ให้พระทำงานก่อสร้าง ไม่ให้พระทำงานที่เป็นผลทางโลก แต่ให้พระทำงานในวิชาชีพของพระ

วิชาชีพเลย วิชาชีพของพระ เวลาบวชกับพระอุปัชฌาย์เห็นไหม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่อนุโลมปฏิโลม ให้พิจารณาย้อนหน้าไปกลับ แล้วอุปัชฌาย์องค์ไหนไม่บอกงานอย่างนี้ การบวชพระนั้นไม่สำเร็จ บอกกรรมฐาน ๕ บอกรุกขมูล แล้วพอพระบวชออกมาแล้วนี่ มันอยู่ที่พระฝักใฝ่ อยู่ที่พระตั้งเป้าอย่างไร

คือถ้าพระจะเป็นฝ่ายปกครองเห็นไหม คันถธุระ วิปัสสนาธุระ นี่พระพุทธเจ้าให้ศึกษา นี้พอศึกษานี่ คันถธุระ นี่ก็ไปศึกษาเรื่องธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า แล้วเอาสิ่งนี้มาปกครองสงฆ์ มาปกครองชาวบ้าน แต่ถ้าวิปัสสนาธุระนี่ ปกครองตัวเอง เอาตัวเองให้รอด

ทีนี้เอาตัวเองให้รอด นี่เข้ามาตรงนี้แล้ว เข้ามาตรงที่ว่า กิเลสนี่ละเอียดนัก กิเลสนี่ร้ายนัก แม้แต่เราเข้มแข็งขนาดไหนก็แล้วแต่นะ การเข้มแข็งอย่างนั้น มันมีมรรคหยาบ มรรคอย่างกลาง มรรคอย่างละเอียด มรรคอย่างละเอียดสุด เราทำดีที่สุดแล้วนี่ ถ้าเราไม่ปล่อยความดีของเรา เราจะพัฒนาขึ้นไปสูงไม่ได้

แล้วพอสูงขึ้นไปติดในความดีของเราแล้ว ความดีที่ละเอียดกว่านี้ มันยังมีต่อไปเรื่อยๆ ทีนี้ถ้าเราไปยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราไปยึดมั่นในความรู้สิ่งใดอะไร เราไปยึดตรงนั้นปั๊บ มันไปไม่รอดนะ มันไปไม่ได้ ถ้ามันไปไม่ได้นี่ ในการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมานี่ มรรค ๔ ผล ๔ มันจะเห็นวิกฤติ

คำว่าวิกฤติคือ คือวิกฤติการในหัวใจ ในการปฏิบัติมันจะมีวิกฤติของมันมหาศาลเลย วิกฤติอย่างเช่น เราไปรู้ไปเห็นอะไรเข้ามานี่ เราไปรู้ไปเห็นนะ นี่เห็นจริงไม่จริง แต่ความเห็นนั้นไม่เคยจริงเลย ไม่จริงเลย เพราะมันไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นกิริยา มันเป็นวิธีการ ไม่ใช่ธรรมหรอก

สิ่งที่เราทำอยู่นั่นเป็นสมมุติบัญญัติทั้งหมด! สมมุติบัญญัติทั้งหมดเลย! ถึงที่สุดแล้วถึงเป็นธรรม พอเป็นธรรมแล้ว ไม่ใช่สมมุติบัญญัติที่เราทำกันอยู่นี่ แต่ต้องอาศัยสมมุติบัญญัตินี่ เพื่อเข้าไปหาความจริง ทีนี้ถ้าอาศัยสมมุติบัญญัติเข้าไปหาความจริงนี่ เวลาเราทำสมมุติ สติก็เป็นสมมุติ สมาธิก็เป็นสมมุติ ถ้าสติ สมาธิทุกอย่างเป็นความจริงนะ มันต้องอยู่กับนิพพานสิ มันต้องอยู่กับนิพพาน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับขันธ์เห็นไหม นอนสีหไสยาสน์ แล้วเข้า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ เห็นไหม มาเข้าสมาบัติ ทำไมธรรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเข้าสมาบัติ มาเข้าสมาธิล่ะ สมาธิถึงไม่ใช่ธรรมอันนั้นนะ ธรรมอันนั้นเป็นธรรมอันนั้น ธรรมธาตุเป็นส่วนธรรมธาตุ

แต่เวลามาเข้า เวลามาเข้าเห็นไหม แล้วสิ่งนี้ทิ้งหมด พอทิ้งหมดแล้วมันถึงจะเป็นความจริง ถ้าจะทิ้งหมดแล้วเข้าไปถึงความจริง วิธีการที่จะเข้าไปทิ้งมัน นี่มันเป็นการกระทำ มันละเอียดกว่าความเห็นไง มันละเอียดกว่า สิ่งที่ว่ากรรม กรรมนี่มันให้ผลเป็นอำนาจวาสนาบารมีนะ กรรมนี่นะ เราทำบ่อยครั้งเข้าเห็นไหม อย่างนี้ย้ำคิดย้ำทำ ทำบ่อยๆ ครั้งเข้ามันจะเป็นนิสัย พอเป็นนิสัยมันจะเป็นความเคยชิน

ทีนี้ เราก็เปลี่ยนแปลงมัน ถึงเวลาพระบวชใหม่ นี่พระบวชใหม่ โทษของพระบวชใหม่คือทนได้ยาก ทนคำสอน ทนอะไรต่างๆ ได้ยาก พระบวชใหม่คือนิสัยของคฤหัสถ์ นิสัยของฆราวาสไง นิสัยของสังคมไง พอเข้ามาเป็นพระนี่ เขาเรียก “สมณสารูป”

“สมณสารูป” ในการที่พระบวชเข้ามาแล้วนี่ จะต้องมาเปลี่ยนแปลงนิสัย ต้องขอนิสัยครูบาอาจารย์ พอขอนิสัยนี่มันเปลี่ยนแปลงตรงนี้ พอเปลี่ยนแปลงเข้าไป มันเป็นความคุ้นชิน มันเป็นความเคยชินในชีวิตของพระ พอในชีวิตของพระนี่ พระดำรงชีวิตอย่างไร

มารยาทสังคมนะ เสขิยวัตรนี่ ทั้งหมดเลย เวลาจะดื่ม จะกิน ต้องนั่งลงต้องอะไร ถ้าฝืนเป็นอาบัติ ทุกกฎๆ ทุกกฎๆ หมดเลย แล้วพอเป็นอาบัติขึ้นมานี่ เวลาปฏิบัติขึ้นมา คำว่าอาบัติ อาบัติคือความเศร้าหมอง อาบัติคือความผิดพลาดในหัวใจ แล้วเราจะมาหลอกตัวเองได้อย่างไร

นี่พอมันหลอกตัวเองนี่เห็นไหม เวลาบวชขึ้นมาแล้วนี่มันต้องฝึกนิสัย พอฝึกนิสัยขึ้นมา นี่ข้อวัตรปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นไปนี่ พ้นนิสัย พ้นนิสัยก็เหมือนเราเตรียมความพร้อม พอเตรียมความพร้อมขึ้นมานี่ พอเราบวชขึ้นมา ทุกคนเวลาบวชใหม่ๆ บางทีบวชขึ้นมา นั่งสมาธิหรือทำอะไรนี่ได้ดี ได้ดีเพราะอะไร เพราะอิ่มบุญมา เหมือนเราไปชุ่มชื่นกับสิ่งใด เหมือนเราแห้งแล้ง แล้วเราได้รับความชุ่มชื้นไปปฏิบัติ มันจะดีอยู่พักหนึ่ง

แต่พอไปๆ นะ พอกิเลสมันเริ่มรู้ตัว กิเลสนี่มันเหมือนสวะ สวะมันอยู่ในน้ำนี่ ถ้าน้ำมันลดนะ สวะนั้นก็อยู่ต่ำ พอน้ำจำนวนมากขึ้น มันจะยกสวะนี้ขึ้นมา กิเลสของคนนะ เห็นไหมดูสิ เราจะมีการศึกษาสูงขนาดไหนก็แล้วแต่ กิเลสเหมือนสวะอยู่บนความคิด ความเห็นของเรานี่ มันสูงขึ้นมาด้วย

ในการปฏิบัติของพระก็เหมือนกัน ถ้าเวลาจิตมันดี ปฏิบัติมันดีนี่ ทุกอย่างดีหมดล่ะ กิเลสมันก็อยู่ในนั้น มันสูงขึ้นมากับน้ำนั้น เราจะชุ่มชื่นขนาดไหน เราจะมีจุดยืนขนาดไหน กิเลสมันก็ขึ้นมาด้วย แล้วถ้าเวลาสมาธิเราเสื่อม ทุกอย่างมันเสื่อมนะ พอกิเลสมันได้ช่องนะ โอ้โฮ มันทำลายเราน่าดูเลยล่ะ มันจะทุกข์มาก มันทำลายเรานะ พอเราขัดขืนในหัวใจนี่ มันจะทุกข์มากเลย

ฉะนั้น ถ้าเวลาปฏิบัติขึ้นมานี่ เราต้องพยายามรักษาให้ชำนาญในการรักษาในเหตุในผลนะ ถ้าชำนาญในเหตุในผลนะ นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องกรรมเป็นเรื่องกรรมนะ ทีนี้การแก้กรรมๆ ของเขานี่ การแก้กรรมทางโลก การแก้กรรมที่เขาทำกันนะ มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ

ดูสิ เราดูข่าวเห็นไหม นี่แก้ไปแก้มา บางคนหมดไปหกล้าน บางคนหมดไปห้าล้าน สี่ล้าน สามล้าน แล้วแต่ มันจะไม่ถึงที่สุด เพราะเราไม่เชื่อถึงความบริสุทธิ์ใจตรงนี้ไง ถึงที่สุดแล้วนะต้องโอนเป็นทรัพย์สินมาให้เราก่อน

เหมือนกับมีเขาไปหาพระกันนะ อยากปฏิบัติดีไหม ถ้าอยากปฏิบัติดีนะ นี่ สีลัพพตปรามาสคือการลูบคลำ ถ้าเรามีสมบัติอยู่กับเรา เราจะกังวลมัน ต้องโอนไปให้ไว้ส่วนกลาง โอนไปให้ใครนี่ เขามีอย่างนี้กันเยอะนะ ทีนี้พอเราเข้าไปนี่ ด้วยความที่จิตใจที่มันใสสะอาดของเรานี่ เราไปเชื่อเขา นี่ เริ่มต้นก็ไม่เห็นเสียอะไรเลย เขาดูคนนะ คนว่าเชื่อง่ายหรือเชื่อไม่ง่าย ถ้าเชื่อง่ายเข้าไป มันจะถลำเข้าไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้เชื่อง่าย เขาก็ทำเฉพาะของเขาแค่นั้น

กรรมคือการกระทำนะ กรรมคือเราทำดีทำชั่ว จะต้องให้ใครมาแก้ให้ถ้ามันเป็นสิ่งที่แก้ให้จริง อย่างหลวงตาท่านพูด ถ้าพูดถึง กุสลาธัมมา อกุสลาธัมานี่ จะทำให้ทุกคนไปสวรรค์หมดนะ เราไม่ต้องทำอะไรกันเลยนะ มาให้บวชหลวงตาไว้องค์หนึ่ง เวลาใครตายก็กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันแก้กรรมได้ใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็ตั้งคนแก้กรรมไว้สักคนหนึ่ง ใครมาก็แก้กรรมให้เขาหมดเลยไง คนนั้นก็ไม่มีกรรมเลย แล้วมันเป็นไปได้ไหม อ้าว เราตั้งเลย ตั้งคณะกรรมการแก้กรรมประจำหมู่บ้าน แล้วแก้ของคนในหมู่บ้านนี้ทั้งหมด ประชาชนในหมู่บ้านนี้จะไม่มีกรรมเลย มันเป็นไปไม่ได้! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้!

ฉะนั้น เราก็มีศาสนาอยู่แล้ว เราก็มีความเชื่ออยู่แล้ว ทำไมเราต้องไปเชื่อเขา แต่ทีนี้มันเป็นการสื่อสารมวลชนเนาะ เขาออกมาเป็นการประชาสัมพันธ์ แล้วพวกเราก็ไปเชื่อ เพราะว่าอะไร เพราะความเชื่อ โดยพวกเราส่วนใหญ่แล้วนี่เห็นไหม มันมีนะพวกเข้ามาเผยแผ่ในเมืองไทยนี่ เขาจะบอก เขาเผยแผ่ในลัทธิของเขา มันไปไม่รอดหรอก แต่เขาบอกว่า อันนี้นะมาจากพุทธ เป็นนิกายหนึ่ง หรือเป็นความเห็นหนึ่งของพุทธ

โอ้โฮ ชาวพุทธเชื่อเลย ถ้าอ้างว่าพุทธนะเสร็จทันทีเลย ทีนี้คำว่า “แก้กรรม” นี่ คำว่ากรรมนี่มันอยู่ในศาสนาพุทธด้วยไง พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำ แต่การแก้กรรมของพระพุทธเจ้านี่ อยู่ที่เราทำดีทำชั่ว

ทีนี้สิ่งที่มันเกิดขึ้นมากับเรานี่ กรรมมันมีอดีตเห็นไหม กรรมจากการสร้างมาจากอดีต กรรมในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันนี้มันจะทำให้เรา.. อนาคตนี่ ถ้าเราไปสู่อนาคตบุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่อดีต ถ้าอดีตที่ดีเห็นไหม พระพุทธเจ้านี่สร้างอดีตที่ดีมาก ชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดร

เวลามาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วนี่ ด้วยสามัญสำนึกของโลก พระเจ้าสุทโธทนะก็อยากจะให้เป็น จักรพรรดิ สังคมทุกสังคม ครอบครัวทั้งครอบครัวก็ต้องการให้ พระพุทธเจ้าเป็นจักรพรรดิทั้งนั้นล่ะ แต่เพราะสร้างกรรมมาดี เพราะสร้างกรรมมา

เพราะชาติสุดท้าย จะมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ให้คนแก่เข้ามาในสังคมนั้นเลย จะไม่มีเด็ก ไม่มีคนแก่มาให้เห็น จนเจ้าชายสิทธัตถะไปเที่ยวสวนเห็นไหม ยมทูตมาแปลงกายเป็นเด็ก เด็กเกิดใหม่ เป็นวัยรุ่น เป็นคนแก่ เป็นคนเจ็บ เป็นคนตาย

เจ้าชายสิทธัตถะถามพวกมหาดเล็กนะ มีอย่างนี้ด้วยเหรอ นี่อะไร นี่เด็กคนเกิดใหม่ นี่อะไร นี่คนแก่ นี่อะไร นี่คนเจ็บ นี่อะไร นี่คนตาย พยายามปิดกั้นเห็นไหม พยายามปิดกั้น แต่เพราะกรรมดี กรรมดีมันส่งเสริม ตอนนั้นเจ้าชายสิทธัตถะยังไม่ได้ออกจากราชวัง เจ้าชายสิทธัตถะยังไม่ได้ปฏิบัติ ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นปัญญาของปุถุชน ปัญญาของสามัญชน

ปัญญาของสามัญชนนะ แต่มีกรรมดีหนุน กรรมที่ดีหนุนเห็นไหม โดยสามัญสำนึก ใครก็ต้องการให้เป็นจักรพรรดิ แล้วทุกอย่างพร้อม เพราะไปศึกษามาแล้ว ไปเรียนมาแล้ว เรียนมาเพื่อจะเป็นจักรพรรดิ อยู่แล้ว แต่เพราะกรรมดีมันหนุนเห็นไหม พอกรรมดีมันหนุนนะ “ออก”

คิดดูเป็นจักรพรรดิมันก็เสวยสุขแต่ในทางโลก แต่เวลาออกบวชไปแล้ว ๖ ปีนี่ ไปทุกข์ทรมานอยู่ในกลางป่า อยู่เป็นจักรพรรดิ เสวยแต่ความสุข ไปทรมานอยู่กลางป่า เป็นใครจะไป แต่พอไปแล้ว พอไปปฏิบัติขึ้นมา พอตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว อันนี้มีคุณค่ามากกว่า มีคุณค่ามากกว่าจักรพรรดิมาก

เพราะกษัตริย์ในสมัยพุทธกาลมาบวชเหมือนกัน แล้วเวลามาบวชเสร็จแล้วนี่ สำเร็จเป็นพระอรหันต์เห็นไหม “สุขหนอ สุขหนอ” มันเปรียบเทียบกันไง เปรียบเทียบกับสมบัติจักรพรรดิที่จะได้ข้างหน้า กับเปรียบเทียบสุขของพระพุทธเจ้า แต่กษัตริย์ที่บอกว่าสุขหนอ สุขหนอนี่

จนพระที่อยู่ด้วยกันนี่ หาว่ากษัตริย์นี่ คิดถึงราชบัลลังก์ คงอาลัยอาวรณ์ บ่นแต่สุขหนอ สุขหนอ เหมือนเราพูดประชดกันนะ สุขหนอ สุขหนอ พระไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็นิมนต์ พระองค์นั้นเข้ามาถามว่า

“เธอพูดอย่างนี้จริงเหรอ ว่าสุขหนอ สุขหนอ นี่จริงเหรอ”

“จริงครับ”

“เหตุผลทำไมเธอบอกว่า สุขหนอ สุขหนอล่ะ”

“สุขจริงๆ อยู่โคนไม้นี่สุขจริงๆ สุขเพราะใจมันโล่งโปร่งสบาย มันไม่ต้องแบกรับภาระ มันอยู่กับปัจจุบัน”

ที่เราบอกว่า “มันเป็นหนึ่งเดียวไง ไม่มีวินาทีข้างหน้า และไม่มีวินาทีอดีต มันเป็นหนึ่งตลอด ปัจจุบันตลอด สุขมาก วิมุตติสุข”

แต่เมื่อก่อนเป็นกษัตริย์ แล้วเราก็มาคิดถึงปัจจุบันสิ ถ้าเป็นกษัตริย์นี่ มันมีการชิงอำนาจไหม มีการแย่งอำนาจไหม การปกครองต้องใช้ปัญญาไหม การบริหารจัดการต้องใช้ปัญญาไหม มันมีแต่ความกังวลไง มันมีแต่ความทุกข์มาก เป็นกษัตริย์นี่ทุกข์มาก แต่ในสังคมโลกนี่ว่า กษัตริย์นี้มีความสุข กษัตริย์นี่เป็นผู้ปกครองจะน่าชื่นชมมาก นี่ความเห็นของเรา

“แต่พอปฏิบัติแล้วนี่ พอชำระกิเลสหมดมัน สุขหนอ สุขหนอ”

นี้เวลาเจ้าชายสิทธัตถะ สิ่งที่บุญกุศลสร้างมา กรรมดีสร้างมา นี่กรรมดีมันให้ผลอย่างนี้ กรรมดีมันให้ผลขนาดที่ว่า ให้เรามีโอกาสเรามีโอกาสนะ เรามีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ เรามีโอกาสที่จะได้พ้นจากทุกข์

อย่างเช่นเราเกิดมานี่ อย่างปัจจุบันนี้ เราเกิดมามีกรรมดีไหม กรรมดีมหาศาลเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพวกเราเกิดมาแล้วนี่ เราได้อ่านประวัติหลวงปู่มั่น พวกเราลูกศิษย์กรรมฐานนี่ เราได้อ่านประวัติหลวงปู่มั่นกันมาแล้ว ประวัติหลวงปู่มั่น ท่านรื้อค้นของท่านขึ้นมาเอง ท่านรื้อค้นของท่าน จนท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านวางทางหลักวิชาการไว้ให้เราศึกษานี่ เรามีบุญไหม

เราจะบอกว่า ใครเกิดร่วมกับพระพุทธเจ้า คนนั้นมีบุญมาก พระพุทธเจ้าจะสอนให้พ้นจากทุกข์เลย นี้เราก็เกิดร่วมกับ กึ่งพุทธกาลที่ศาสนาเจริญอีกหนหนึ่ง เรามีบุญไหม นี่กรรมดีมันส่งเสริมเรามาแล้ว ถ้ากรรมดีมันส่งเสริมเรามาแล้ว เราเอากรรมดีนี้สร้างกรรมดีต่อไป กรรมดีของเราเห็นไหม เราเชื่อในหลักของศาสนา เราเชื่อในการกระทำของเรา เราเชื่อในการนั่งสมาธิภาวนา

แต่ถ้าเราเชื่อเรื่องกรรมที่เขาแก้กรรมนะ มันแก้กรรมอะไร มันเหมือนไหว้เจ้า เห็นไหมไปไหว้เจ้านี่ ตั้งศาลขึ้นมา เอาของไปไหว้เจ้า แล้วก็เอากลับมา เอากลับมากินกัน แล้วก็มีความสุข ก็พอใจว่าได้อ้อนวอนแล้ว

แก้กรรมก็เหมือนกัน ดูแก้กรรมนี่เขาทำอะไรกัน เขาก็เอาเครื่องเซ่นนี่ไปเซ่นใช่ไหม แก้กรรมอย่างนั้นๆ แล้วแก้อะไร แล้วเขาได้แก้ความคิดเขาหรือยัง เขาได้แก้แรงขับอวิชชาในใจเขาหรือยัง นี้แก้กรรมอย่างนั้นมันมีประโยชน์อะไร มันไม่มีประโยชน์อะไร สิ่งใดที่มีโทษมาก มีประโยชน์นิดเดียว ประโยชน์น้อย พระพุทธเจ้าไม่สอน

ประโยชน์ของมันนะ นี่ประโยชน์ของการปกครอง ดูสิ ดูในราชสำนักเห็นไหม พิธีพราหมณ์เห็นไหม พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอะไรนี่ อันนี้มันเป็นพิธีพราหมณ์ที่ในราชสำนักไว้ปกครอง เห็นไหม พิธีที่ไว้ปกครอง ให้สังคมอยู่ในหลักในเกณฑ์ สังคมมีรากวัฒนธรรม อันนั้นเป็นเรื่องของโลก

แต่ถ้าเรื่องของเรา เรื่องของศาสนาพุทธนี่ ศาสนาพุทธเรื่องของการชำระกิเลสนี่ กรรมมันให้ผลมาแล้ว กรรมมันสร้างผลมาแล้ว ทีนี้พอกรรมดีสร้างเรามาแล้วนี่ เราจะทำเข้าถึงหลักของศาสนาไหม ถ้าเราเข้าไม่ถึงหลักของศาสนา เราไปเชื่อกรรมอย่างนั้น เราก็แก้กรรมกันอยู่อย่างนั้นล่ะ

ถ้าแก้กรรมกันอยู่อย่างนั้นแล้วเราได้อะไร ก็เวียนตายเวียนเกิดเห็นไหม เนี่ยจะบอกว่า “การแก้กรรมจริงๆ แล้วคือการนั่งสมาธิภาวนา” เพราะมันเป็นงานอันละเอียดนะ ครูบาอาจารย์ท่านพูดอยู่มากเลยว่า

“เราทำบุญกุศลขนาดไหน เราสร้างบุญมามากขนาดไหน ถ้าเราไม่ภาวนานะ บุญมันก็เป็นบุญอามิสที่จะทำให้เราเกิดดี เกิดชั่ว ให้เรามีโอกาส แต่ในหัวใจนะมันอมทุกข์ตลอดเวลา”

ถ้าชีวิตของเรายังเวียนอยู่ในวัฏฏะ หัวใจเรานี่มันจะอมทุกข์อยู่ มันจะมีความทุกข์นี่เจือปนมาด้วยตลอดเวลา แต่ถ้าเราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม เราแก้กรรมด้วยการนั่งสมาธิภาวนา

ถ้านั่งสมาธิภาวนาปั๊บนี่ โลกเขาเห็นว่า เป็นการที่ว่าไม่ปรารถนาความสุข ทรมานตน ไง อัตตกิลมถานุโยคไง แต่มันเป็นการทรมานกิเลส ทรมานให้กิเลสนี่มันเบาตัวลง มันเบาลงจริงๆ นะ เบาลงจริงๆ ที่ไหน เพราะกิเลสนี่มันเหมือนกับคน ๒ คนทะเลาะกัน ใครที่มีกำลังมากกว่าคนนั้นชนะใช่ไหม กิเลสมันชนะเราตลอดเวลาเลย แล้วเวลาเรานั่งสมาธิภาวนา กิเลสมันก็เอาความเวทนา เอาความวิตกกังวล มาต่อรองกับเรา แล้วเราแพ้ตลอดๆ แพ้ตลอดนะ

นั่งสมาธินี่ เวลามันเจ็บปวดขึ้นมา มันมีปัญหาขึ้นมา เราก็ลุก เราก็..นี่เห็นไหมคน ๒ คนทะเลาะกันระหว่างกิเลสกับธรรมมันทะเลาะกัน มันต่อสู้ขัดแย้งกัน แล้วเรานี่ หัวใจมันเป็นภพ เป็นผู้รับรู้นี่ แต่เวลาเราปฏิบัติไปนี่ เราแพ้กิเลสตลอด แพ้กิเลสตลอด เห็นไหม เราถึงไม่เห็นผลประโยชน์ใช่ไหม แต่ถ้าวันไหน วันไหนในการประพฤติปฏิบัติของเรานี่ เราได้ชนะกิเลส จิตมันสงบ จิตมันปล่อย จิตมันวางขึ้นมานี่เห็นไหม นี่สิ่งนี้มันทำให้เรามั่นใจ นี่ไงแก้กรรมไง

แก้กรรมคือการแก้กิเลสที่มีอำนาจเหนือเรา มันได้เห็นเหตุผลที่ขัด ที่โต้แย้งตรงข้ามกับมันได้แล้ว คือธรรมะที่มันเกิดขึ้นมาในใจเรานี่ มันมีหลักมีเกณฑ์แล้ว เราเห็นเอง เรารู้เองเห็นไหม พอเรารู้เองเห็นเอง นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก สิ่งที่รู้เองเห็นเองขึ้นมาในหัวใจนี่ ไม่ต้องฟังใครมา มันจะมั่นคงไหม

มันมั่นคงมาก แต่มั่นคงขนาดไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่เราทำจิตสงบได้ เรามีหลักมีเกณฑ์ได้ขึ้นมา พวกเรายังโลเลอยู่ เพราะอะไร เพราะจิตใจเรายังอ่อนแอ คำว่าอ่อนแอนี่คือวุฒิภาวะมันยังไม่พัฒนาขึ้นไป สูงขึ้นไป จนเป็นพระโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา ขึ้นไปนี่ มันพัฒนาขึ้นไปแล้วนี่ เรื่องที่พูดนี่ เป็นเรื่องเล็กน้อยเลย มันเรื่องของเด็กๆ เหมือนเด็กๆ นี่ ฝึกหัดเลย พอมันโตขึ้นไปปั๊บมันเห็น

แต่นี่เหมือนกับเราฝึกหัดใหม่อยู่ ขณะที่มันสงบขึ้นมา มันต่อรองกัน ระหว่างคน ๒ คนทะเลาะกัน ระหว่างกิเลสกับธรรมทะเลาะกัน แล้วมันสงบครั้งหนึ่งๆ นี่ พอสงบแล้วมันก็มั่นใจอยู่ แต่มั่นใจอยู่พอปฏิบัติไปนี่ก็อยากได้ อยากเป็นอยากอะไร ก็ยังวิตกกังวลอยู่ วิตกกังวลอยู่นี่มารมันก็ยังหลอกไป

ทั้งๆ ที่ของเคยได้ลิ้มรสนะ จิตสงบนี่ ได้ลิ้มรสของความสงบ เวลาปัญญาเกิดขึ้นมา ใช้ปัญญาแต่ละหนแต่ละครั้ง มันปล่อยวางขึ้นมา ได้ลิ้มรสของปัญญา ปัญญามันพิจารณามันปล่อยวางขึ้นมา รสของสมาธิธรรม รสของปัญญาธรรม รสของมันคือมันปล่อยวางที่ลึกซึ้งกว่า มันปล่อยวางที่มากกว่า แล้วได้รสอันนี้ รสอันนี้มันจะตอกย้ำ ตอกย้ำให้ใจเรานี้มั่นคง

พอมั่นคงขึ้นไป เราก็ต้องพยายามแสวงหา พยายามกระทำของเราขึ้นมา นี่ไง พยายามกระทำเห็นไหม แก้กรรม การแก้กรรมนี่ แก้โดยการกระทำของเรา กรรมคือการกระทำ แล้วเราทำดีนี่ แล้วกรรมของเรา มันเป็นกรรม กรรมเป็นงานของใจ งานของใจคืองานวิปัสสนา คืองานภาวนา

ทุกคนนะ เห็นพระ ว่าพระนี่สะดวกสบาย พระนี่ไม่ได้ทำการทำงาน เห็นพระเดินจงกรม เห็นพระนั่งสมาธิภาวนานี่ งานของใจนะ เหนื่อยมาก ภาวนาแต่ละรอบออกมานี่ หอบเลยนะ เหนื่อยสุดๆ เลยนะ มันต้องใช้กำลังมหาศาลเลย แล้วยังต้องใช้สติ ใช้สมาธิ แต่เรามองกันนะ เรามองกันว่าพระนี่ไม่ทำงาน ไม่อาบเหงื่อต่างน้ำแบบเรา

อาบเหงื่อต่างน้ำ นี่มันงานของโลก แต่งานการนั่งสมาธิภาวนา งานการชำระกิเลส มันเป็นงานภายใน นี่ แก้กรรมแก้อย่างนี้

“แก้กรรมนี่ คำว่าแก้กรรมในศาสนาของเรานี่ คือการนั่งสมาธิภาวนา”

แต่แก้กรรมข้างนอก จะบอกว่าการแก้กรรมอย่างนั้น คือการหาผลประโยชน์ทั้งสิ้น แล้วเราชาวพุทธ เราไม่ต้องไปเชื่อ แล้วเราไม่ได้เชื่อ พวกเราไม่เชื่อ แต่! แต่สังคมเนาะ แล้วออกสื่อไปเนาะ ถ้าออกสื่อไปนี่ ธรรมดาในประเทศที่เจริญแล้วเวลามีสื่อสารกันนี่เขาจะสื่อสาร ๒ ด้าน ไอ้นี่สื่อสารด้านเดียว คนรับรู้ได้ด้านเดียว

พอรับรู้ด้านเดียวนี่ พอรับรู้ไอ้นี่ก็รับรู้กันไป แต่ถ้ามันสื่อ ๒ ด้าน แต่! มันก็น่าคิดนะ เพราะบางทีนี่ ลูกศิษย์มาหาเราเหมือนกัน จะมาถามปัญหานี่ เราก็ตอบปัญหา แต่เวลาออกไปนี่มัน เวลาออกไปข้างนอกเห็นไหม เราพูดถึงพวกสื่อสารมวลชนนี่ เขาจะไปสัมภาษณ์พระที่ให้สัมภาษณ์บ่อยๆ พอที่ให้สัมภาษณ์ออกมา เราฟังดูแล้วนะ มันไม่มีเนื้อหาสาระเลย

เราก็คุยกับพวกโยมนี่ เขาบอกว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละหลวงพ่อ เพราะเวลาพวกนักข่าวมาสัมภาษณ์พระ พวกเราก็ไม่ให้ข่าวเขา เขามาแล้วเขาไม่ได้ข่าวไป แต่ถ้าไปสัมภาษณ์พระพวกนั้น ไปทีไรมันได้ข่าวทุกทีไง ทีนี้ข่าว มันได้เนื้อหาสาระ

แต่ไปหาครูบาอาจารย์ เช่นไปหาหลวงตาสิ ท่านไล่ออกจากวัดเลย นี่พอไปสัมภาษณ์ เราจะไปหาข้อมูลที่จริง ข้อมูลที่จริง มันก็ไม่ได้สื่อออกมา แล้วเวลาไปสัมภาษณ์พระ พระที่ให้สัมภาษณ์บ่อยๆ มันก็มีกึ๋นแค่นั้นล่ะ กึ๋นแค่นั้นคือ ร่างกายนี่เป็นสมมุติสงฆ์ เป็นพระโดยสมมุตินะ

ถ้าพระโดยสมมุตินี่ งานของใจ ใจของเขานี่ ยังไม่ได้ลิ้มรสของภาวนามยปัญญา ไม่ได้ลิ้มรสของปัญญาไง รสของสมาธิธรรม รสของสมถธรรม รสของสมาธิ รสของปัญญา ปัญญาที่มันใคร่ครวญขึ้นไปแล้วนี่ มันจะตทังคปหาน มันปล่อยอย่างไร รสของสมุจเฉทปหาน เวลากิเลสมันขาด ขาดอย่างไร

ถ้ามันมีสิ่งนี้ มันเอาสิ่งนี้เทียบเคียงได้ไง แต่พระที่เขาให้สัมภาษณ์ออกมานี่ เขาเข้าไม่ถึงตรงนี้ไง ถ้าเข้าไม่ถึงตรงนี้ปั๊บ เขาก็เหมือนกับใช้ปัญญาสมอง ก็เหมือนกับโลกที่เขาคิดกันนั่นล่ะ คือวุฒิภาวะเขามีแค่นั้น เขาให้สัมภาษณ์นี่ เขาให้สัมภาษณ์โดยข้อมูลที่เขารู้แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้น

แต่ถ้าพระครูบาอาจารย์ของเรานี่พูดออกไป ถ้าพูดออกไปนี่ พอพูดออกไปมันเป็นภาระ เราเข้าใจตรงนี้นะ เวลาเราให้สัมภาษณ์ ให้ข่าวออกไป หรือเราให้ความมุมมองตรงข้ามไป เขาจะบอกว่า อย่างนั้นต้องแสดงให้ดู อย่างนั้นต้องทำให้เห็น ไอ้ตรงนี้มันเป็นภาระ ต้องทำให้เห็นนะ ทำให้เห็นมันก็ธรรมะไง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นนามธรรมที่อยู่ในหัวใจของครูบาอาจารย์

มันจะแสดงได้เหมือนพระพุทธเจ้านี่ พระไตรปิฎกนี่มันเป็นวิธีการ ที่ออกมาจากใจที่เป็นธรรม ธรรมธาตุ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบอกวิธีการมา ก็จดจารึกกันไว้เป็นพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกนี่เป็นวิธีการนะ เป็นเหตุเป็นผลจะเข้าไปสู่ตัวใจ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกถึง.. ในพระไตรปิฎกว่า นิพพานคืออะไร บอกแต่วิธีการเข้าหานิพพาน นี่ถ้าเราพูดออกไปแล้ว จะให้ทำให้เห็น คือจะเอาสิ่งที่วิมุตติ สิ่งที่เป็นสัจธรรมอันจริง เอามาตีแผ่นี่มันบอกได้แค่เทียบเคียงไง

เราถึงพูดบ่อยว่า ถ้าผู้ที่รู้ มีคุณธรรมจริง พูดร้อยคำ ก็ถูกร้อยคำ เพราะท่านเทียบเคียงออกมาจากใจที่เป็นธรรม แต่ผู้ที่สมมุติสงฆ์อย่างพวกเรานี่ อย่างเรานี่สมมุติสงฆ์ พูดออกมานี่ผิดร้อยคำ เพราะเราพูดจาก สิ่งที่เทียบเคียงออกมาแล้วนี่ แล้วเราเอามาเป็นเหตุเป็นผล อธิบายออกมาอีกชั้นหนึ่ง มันเลยคลาดเคลื่อนออกมา

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม เวลาท่านเทศนาว่าการ เวลาท่านสอนพวกเรา ท่านจะดูเห็นไหม คำว่าดู เหมือนดูวุฒิภาวะ เราปฏิบัติมา อย่างคนที่ทำสมาธิอยู่ สงสัยเรื่องสมาธิ เราจะพูดกันได้แค่สมถะแค่นั้นล่ะ ถ้าพูดเลยกว่านี้ไป เขาไม่รู้แล้ว แต่ถ้าพูดเรื่องสมถะนี่ สิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่เขาแสวงหา วิธีการเห็นไหม

จิตเวลาภาวนาไปนี่ เวลากำหนดพุทโธๆ พุทโธๆ ไปนี่ มันจะตกภวังค์มันจะหายวูบไป พอพุทโธๆ พุทโธๆ ไปนี่ บางทีมันก็หายไปเลย มันหลับไปเลย ถ้าพูดเรื่องอย่างนี้ อธิบายเรื่องอย่างนี้ ตรงนี้จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าพูดสูงเกินไปไม่ได้ประโยชน์แล้ว

ฉะนั้นผู้ที่รับ ถ้าทางโลกนี่ ทางโลกอธิบายให้เขาฟังด้วยเชาว์นะ ด้วยเชาว์ปัญญา ด้วยวาสนาด้วยบารมี ด้วยกรรมดีของเขามีมานี่ พูดอธิบายนี่ เขาอาจจะเข้าใจได้ แต่! คำว่าเข้าใจได้ก็เข้าใจจากสมมุติ เข้าใจจากวุฒิภาวะของเขา

เพราะลูกศิษย์เรา เรามีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง เป็นอาจารย์หมอ เป็นอาจารย์หมอนี่มาบวชอยู่กับเรา แล้วเขาอยากพ้นทุกข์มาก แล้วเขาจะให้เราอธิบายให้เขาฟัง บอกหลวงพ่อพูดไปเลย หลวงพ่อพูดไป แล้วเขาก็นั่งหลับตาเลยนะ ฟังที่เราอธิบายเรื่องจิต

“ความคิดไม่ใช่จิต จิตกับความคิดคนละส่วนกัน แต่เกี่ยวเนื่องกันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เป็นสมบัติของชาติสมมุติ เวลาถึงที่สุดแล้วนี่ ถ้าจิต ถ้าความคิดมันสงบตัวลงเห็นไหม มันเป็นพลังงาน ถึงเป็นสมาธิ แล้วสมาธิสงบตัวแล้วนี่ มันออกวิปัสสนาของมันเป็นขั้นเป็นตอน”

เขาให้เราอธิบายนะ แล้วรอบแรกพอฟังจบ หลวงพ่อขออีกทีหนึ่ง เราก็อธิบายซ้ำอีกทีหนึ่ง เขาเห็นภาพได้ ลูกศิษย์นี่ พวกนี้ พวกเป็นอาจารย์หมอ พวกนี้ ด็อกเตอร์ ศาสตราจารย์นี่ พวก ด็อกเตอร์ พวกอะไรนี่ เขามีการศึกษามา กระบวนการความคิด เขาสามารถเรียบเรียง จัดกระบวนการความคิด

ด็อกเตอร์ พวกศาสตราจารย์นี่ ความคิดของเขา เขาจับได้ เขาเรียบเรียงความคิดอย่างนี้ได้ แต่เขาจะรู้จริงไม่ได้ เพราะ! เพราะสิ่งนี้ก็เป็นแรงงานสมองเหมือนกัน แต่เขาสามารถ อย่างพวกเรานี่มันสับสนไง จับต้นชนปลายนี่ รู้ตรงนี้ เราเรียงลำดับ เราเรียงกระบวนการของมันไม่ได้ต่อเนื่อง แต่ถ้าคนมีการศึกษาที่เขาฝึกของเขามา เขามีความชำนาญของเขา เขาจะเรียงกระบวนการ เกี่ยวเนื่องกันเหมือนลูกโซ่ มันจะเข้าใจได้

เราถึงบอกว่า ถ้าพระที่ท่านอธิบาย ใช้วุฒิภาวะท่านอธิบายนี่ มีความเข้าใจได้ ความเข้าใจได้ ความเข้าใจเห็นไหม กับความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งมันรู้แจ้งในความจริงนั่นมันอีกส่วนหนึ่ง ความเข้าใจเป็นอีกส่วนหนึ่งเห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะเทศน์สอน ท่านจะดูตรงนี้ด้วย ดูว่านี่ควรพูดแค่ไหน ควรพูดอย่างไร

แต่เวลาเทศน์อย่างนี้ เวลาเราเทศน์อยู่นี่ เห็นไหมส่วนใหญ่เราเทศน์ มันจะเริ่มตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไปเลย แล้วก็ขึ้นไปถึงที่สุด จะให้เห็นไง ให้เห็นว่ามรรคผลนิพพาน คือในศาสนาเรานี่ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้บ่อยมาก ในศาสนาพุทธเรานี่เปรียบเหมือนห้างสรรพสินค้า เราเข้าไปในห้างสรรพสินค้า เด็กเข้าไปมันอยากได้ของเล่น ผู้ใหญ่เข้าไป ก็อยากได้เครื่องใช้ไม้สอยของเขา ผู้หญิงเข้าไปก็อยากได้เพชรนิลจินดา ใช่ไหม

ในห้างสรรพสินค้านั้น มีทุกอย่างให้หมดเลย แล้วเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้านี่ ใครชอบสิ่งใด ใครมีกำลัง ใครมีเงินทองสามารถแลกเปลี่ยนสินค้านั้นออกมาได้ ในศาสนานี่ มันมีจริต มีนิสัย มีความเห็น เยอะแยะไปหมดเลย ฉะนั้นเวลาเราอธิบายเห็นไหม เราอธิบายเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป อธิบายให้เห็นว่ามันหลากหลาย มันหลากหลายก็ย้อนกลับมาที่เราอีกละ

ถ้ามันหลากหลายแล้วนี่ เราควรใช้อย่างใด เราเห็นสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่มันเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์กับเรานะ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านสอนนะ

“ให้ดูใจเรา ให้ดูใจเรา เรื่องของสังคม เรื่องของหมู่คณะ เรื่องของผู้ที่ปฏิบัติ มันเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเรา คือเรื่องความชำระกิเลสของเรา”

นี้เรื่องของเรา เรื่องของเราจิตของเราสงบไหม จิตเราเกิดปัญญาไหม นี้คือประโยชน์ของเรา ทีนี้ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน จริตนิสัยที่เข้ากับธรรมะนี่ แต่โดยธรรมชาติพวกเรานี่ เราจะบอกว่ากลัวนะ เราจะกลัวผิด เราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ แล้วถ้าพระองค์อื่น หรือใครพูดผิด ขัดแย้งกับเรานะ เราจะรีบวิ่งไปหาเลย แล้วของฉัน ฉันยังไม่มีอย่างนี้ ฉันจะผิดหรือเปล่า เพราะฉันยังไม่มีอย่างนั้นไง แต่ความจริงแล้ว มันเป็นเรื่องของเขา

เรื่องของเรานะ ผู้รู้สติเราดีไหม จิตเราสงบไหม เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีการทำความสงบต้อง ๔๐ วิธี แล้วสิ่งที่มาทำกับเรานี่ เรามีความถนัด ความถนัดความสะดวกของเรา ถ้าทำแล้วมันสะดวก มันมีประโยชน์กับเรา มันถูกอยู่แล้ว แต่จิตใต้สำนึก กิเลสเรานี่ มันกลัวผิด

ถ้าเราไปทำถูกแล้วนะ กิเลสมันจะขัดแย้งให้เราไปเอาสิ่งที่ผิด พอไปเอาสิ่งใดที่ผิดมานะ อืม อันนี้สะดวก อันนี้สบาย เพราะกิเลสมันหลอกแล้ว แล้วกิเลสกับสิ่งที่ผิดพลาดนี่มันเข้ากันได้ดี เพราะมันเอาเหยื่อที่ผิดหลอกเราแล้ว แล้วเราก็กินเหยื่อแล้ว แล้วเราก็ออกนอกลู่นอกทางนะ อันนี้สบาย อันนี้สบาย

ถ้าอันไหนผิดนะกิเลสมันส่งเสริมเลย ถ้าอันไหนถูกนะ เราจะเกิดความลังเล เอ๊ะ! เอ๊ะ! ตลอด เห็นไหม กิเลสกับธรรม มันขัดแย้งกันมาตลอด แล้วกิเลสมันกลัวธรรม มันกลัวสติสัมปชัญญะของเรา มันกลัวการตรวจสอบของเรา

การตรวจสอบของเรานะ ตรวจสอบการกระทำนี่ตรวจสอบเราให้ดี ตรวจสอบตรงไหน ตรวจสอบที่ว่าจิตเราดีไหม เราทำแล้วมันพัฒนาขึ้นไหม ถ้ามันพัฒนาขึ้นไป พัฒนาขึ้นไปนี่ “คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร” เราจะพ้นทุกข์ด้วยความขยันหมั่นเพียรของเรา

แล้วความขยันหมั่นเพียรของเรานะเวลาจิตมันสงบขึ้นมานี่ มันมีปีติ มันขนพองสยองเกล้า มันมีความดูดดื่ม หัวใจพองโต ตัวเราตัวใหญ่ พอทำไปๆ นี่ มันน้อยลงๆ ก็ว่าเราผิด ไม่ใช่ ความคุ้นชิน เจอครั้งแรก เห็นครั้งแรกมันจะดูดดื่มมาก

เห็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ มันเห็นเหมือนกัน แต่ความเห็นนั้นมันไม่ตื่นเต้น จิตใจมันมีอยู่ เราก็ไปเข้าใจผิดกันว่า เราเสื่อม เราทำผิดทาง แต่ถ้ามันทำขึ้นไปนี่ เดี๋ยวมันก็กลับมาอีกเห็นไหม สิ่งใดเราเห็นครั้งแรก เราได้สัมผัสครั้งแรก มันจะตื่นเต้น มันจะมีรสชาติมาก

ความสัมผัสครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ นี่ เราสัมผัสบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า ไอ้รสชาติอย่างนี้มันไม่มี พอมันไม่มีนะ แต่จิตมันนิ่งไหม จิตมันสงบไหม เรารู้ของเราเอง วันนี้สบายไหม วันนี้จิตภาวนาแล้วมันโล่งมันโปร่งไหม ถ้ามันโปร่งขึ้นมาพรุ่งนี้ทำซ้ำๆ ทำซ้ำแล้วเก็บสะสม เก็บสะสม สะสมขึ้นไปจนชำนาญขึ้นไปนะ มันตั้งมั่น

พอตั้งมั่นขึ้นมานี่ คำว่าตั้งมั่น คนตั้งมั่นนะ เวลาทำสมาธิขึ้นมาแล้ว ออกจากสมาธิไปนี่ อะไรกระทบเรา เรายังตั้งมั่นเลย อะไรกระทบเข้ามานี่ จิตใจจะมั่นคง จะไม่ค่อยคิดมาก เพราะมันมีตั้งมั่น แต่พอจิตมันเริ่มเสื่อมลงๆ นี่ อะไรกระทบปั๊บมันจะไปกับเขา นี่ขณะที่จิตตั้งมั่นนะ

แต่ถ้าเราทำสมาธิบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า พอจิตตั้งมั่น พออะไรกระทบขึ้นมานี่ มันแยกแยะ มันแยกแยะนะแต่เดิมนี่สิ่งใดกระทบมันแยกแยะไม่เป็น มันแยกแยะไม่ได้ แต่พอจิตมันตั้งมั่น มันแยกแยะได้ อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควร อะไรไม่ควร พอเริ่มแยกแยะนี่เห็นไหม จิตมันพัฒนาการขึ้นไปแล้ว แยกแยะบ่อยครั้งเข้า จนจับได้

จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกความคิดนั่นล่ะ ธรรมารมณ์ มันจับได้ มันวิปัสสนาได้ มันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ถ้าจับได้เห็นได้ การจับได้เห็นได้นะ มันจะฟ้องในหัวใจของเรา พอจับได้เห็นได้ มันเริ่มแยก เริ่มแยะ นั่นล่ะคือปัญญา นั่นคือวิปัสสนา

แต่ถ้ายังไม่ถึงวิปัสสนานี่ มันต้องมีพื้นฐานขึ้นไป จากความสงบของใจนี่ขึ้นไป จากการกระทำของเรานี่ขึ้นไป การกระทำของเรานี่แหละ ไม่ต้องไปวิตกกังวล แล้วไม่ต้องไปยึดวิทยาศาสตร์ เราพูดตรงนี้บ่อย ย้ำตรงนี้บ่อยเลยว่า

“ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เหนือวิทยาศาสตร์! เหนือวิทยาศาสตร์!”

วิทยาศาสตร์เป็นกฎทฤษฎี ที่เป็นกฎตายตัว แล้วเราไปยึดกฎตายตัวนี่ เรากินอาหารครั้งแรกที่รสชาติดีมาก แล้วเรากินซ้ำๆ เข้าทุกวันนะ อาหารนั้นจะอร่อยไหม รสมันคืออันเดิม สูตรการทำก็สูตรเดิม ทำไมลิ้นเราให้ค่า เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดีล่ะ

ถ้าเราทดสอบกันทางวิทยาศาสตร์ ค่านี่เห็นไหม เราให้ค่าเหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมด ค่าอร่อยต้องอยู่คงที่สิ ทำไมค่าของความอร่อยมันไม่คงที่ล่ะ เดี๋ยวอร่อยเดี๋ยวไม่อร่อยเห็นไหม

ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน ในปัจจุบันธรรมนะ เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี มันดีไม่ดีเพราะกิเลส เพราะความเห็นของเราบวกเห็นไหม เราถึงต้องอยู่กับปัจจุบัน ดีก็พิจารณาความดี ไม่ดีก็พิจารณาความไม่ดี มันพอใจไม่พอใจ พิจารณามันตลอดเวลา ยิ่งพิจารณาขนาดไหน ค่าของธรรมมันจะเหนือขึ้นๆ เหนือขึ้นๆ จนถึงที่สุดมันทิ้งได้หมดล่ะ มันจะไม่คงที่ตลอดไป การคงที่เหมือนกันตลอดไปนั้นคือสัญญาทั้งหมด

แต่ถ้ามันเปลี่ยนแปลงเห็นไหม ดูสิ ใจมันดีขึ้น อย่างพิจารณาเห็นกายนี่ เห็นกายครั้งนี้นะ มันก็อีกล่ะ เมื่อวานก็มาถามเหมือนกัน พิจารณากาย จนเห็นกายแล้ว แล้วเห็นกายแล้วนี่ พอพิจารณาไปมันจะเห็นอย่างอื่นไป กายที่ละเอียดขึ้นไป บอก ไม่ใช่!

พิจารณากายนะ เห็นกระดูก เห็นโครงสร้างเรา หรือเห็นอวัยวะเราอันใดอันหนึ่งนี่ พิจารณาเห็นครั้งนี้มันจะเป็นอย่างนี้ เห็นครั้งต่อไป มันจะหมุนเวียนไป มันเป็นปัจจุบัน ถ้าเห็นซ้ำนี่ ถ้ามันซ้ำเป็นธรรมดา ก็เป็นธรรมดาไป พอเห็นกายปั๊บนี่ ถ้าจิตมันดีมันตรงนี้ มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่จิตมันดี

ถ้าจิตมันดี จิตมันมีกำลังนี่ การเห็นนั้น เห็นไหม อย่างเช่น เห็นกระดูก ครั้งนี้เห็นเป็นกระดูกเลย กระดูกธรรมดา ครั้งต่อไปจิตมันดีขึ้น กระดูกจะใส กระดูกเรืองแสง เห็นไหมเห็นกระดูกเหมือนกัน แต่กระดูกนั้นนะ มันค่าของสมาธิดี ความเห็นนั้นจะชัดเจน ความเห็นนั้นจะคงที่ จะเปลี่ยนแปลง มันอยู่ที่จิต จิตตัวนี้ ตัวค่าของสมาธินี่มันเหมือนกับกำลังของเรานี่

คนที่มีกำลังมากเห็นไหม ของหนักนี่ยกมือเดียวนะ คนที่กำลังน้อยนะ สองมือสามมือ ทั้งบ่าแบกนี่ยังไม่ขึ้นเลย นี่ค่าของจิต มันเป็นกำลังไง มันมีฐาน มันพิจารณาของมันไป จะบอกว่า การเห็นนี่มันหลากหลาย ไม่ใช่เห็น เห็น ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ วิทยาศาสตร์ไง เห็นต้องพัฒนาขึ้นไป เห็น ๑ ๒ ๓ กลับมา ๐ เลย เพราะมันเสื่อม ก็ขึ้นใหม่ ลงใหม่ ขึ้นใหม่ ลงใหม่ ฝึกอยู่อย่างนี้ ชำนาญในวสี

ฝึกจนชำนาญ จนสิ่งที่มันเป็นไปใช่ไหม จนเรา เราเองนี่ฝึก คนชำนาญ เหมือนแม่ครัว แม่ครัวนี่ ถ้าแม่ครัวชำนาญนะ อะไรมามันพลิกแพลงทำจนสำเร็จได้ทั้งนั้นล่ะ ฝึกจนชำนาญ เหมือนแม่ครัวเลย ชำนาญมาก เรื่องการทำอาหารชำนาญมาก

นี่ฝึกใช้สมาธิ ใช้สติ ใช้ปัญญาจนชำนาญมาก ชำนาญมาก ชำนาญถึงที่สุดแล้วนี่มันมีความชำนาญเห็นไหม มันควบคุมได้ พัฒนาการได้ทั้งหมด ถึงที่สุดแล้ว มันรวมตัว ขาด! การแก้กรรมอย่างนี้นะ มันไม่ทันเราแล้ว

เวลาอย่างในสมัยพุทธกาลเห็นไหม พระที่พิจารณาเจริญแล้วเสื่อมๆ พิจารณาจนถึง ๗ หน ทนไม่ไหวเอามีดเชือดคอตัวเองตาย มีดเชือดคอนะเลือดมันพุ่งออกไปทันที พอเลือดพุ่งนะ มีวาสนา ก็พิจารณาเลือด ย้อนกลับมาพิจารณากาย สำเร็จเป็นพระอรหันต์เดี๋ยวนั้นเลย พออรหันต์เดี๋ยวนั้นปั๊บ ก็นิพพานเดี๋ยวนั้น เพราะเอามีดเชือดคอมันก็ตายเดี๋ยวนั้น มารตามหาเห็นไหม มารตามหาจนแบบว่าฝุ่นฟุ้งไปหมดเลย

พระพุทธเจ้าบอก “มาร เธอไม่ต้องหาหรอก เธอหาลูกศิษย์เราไม่เจอหรอก ไม่เจอ เพราะลูกศิษย์ของเรานี่ พ้นจากมารแล้ว”

ถ้าเราปฏิบัติ นี่ไงพ้นจากกรรมไง ถ้าพ้นนี่ตามหาเราไม่เจอหรอก ตามหาจิตไม่เจอ แต่ถ้ายังมีชีวิตอยู่นะ มันเจอที่เศษส่วนของกรรมนี่ไง อย่างพระพุทธเจ้านี่ สอุปาทิเสสนิพพาน กับอนุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ มีร่างกาย มีสถานที่ที่กระทบได้ แต่พระอรหันต์ที่ตายแล้วปั๊บนี่ เห็นไหม

เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพานเห็นไหม “เราฉันอาหารของนางสุชาดา เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน” กิเลสนิพพาน กิเลสตายไปจากใจ ขันธ์ ๕ ยังมีอยู่ “พอฉันอาหารของนายจุนทะ เราถึงซึ่งขันธนิพพาน”

สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีธาตุขันธ์อยู่ ธาตุขันธ์ ธาตุ ๔ คือร่างกาย ขันธ์ ๕ คือความคิด แต่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ที่สะอาดบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ พอพระอรหันต์สิ้นชีวิต ถึงซึ่งขันธนิพพาน ขันธ์คือความคิดไง ความคิดนี่ขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ สลัดทิ้ง นี่กรรมมันจะตามทันต่อเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้

เพราะสภาพร่างกายนี่ มันเป็นของที่ได้มาด้วยกรรม เพราะเรามีกรรม เราถึงมีการเกิด แล้วเราถึงมีการกระทำ ถึงที่สุดแล้วนี่ จิตใจเป็นพระอรหันต์ พ้นไปแล้ว แต่ยังมีร่างกายอยู่ ถึงเป็นพระอรหันต์ที่มีชีวิต สอุปาทิเสสนิพพาน แต่พอสิ้นชีวิตปั๊บ นี่อนุปาทิเสสนิพพาน หมดไป กรรมตามไม่ทันตั้งแต่มีชีวิตอยู่ แต่กรรมตามร่างกายนี้ทัน

ดูพระองคุลิมาลสิ พระองคุลิมาลนะ ฆ่าเขา ๙๙๙ ศพ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอามาบวชแล้วเป็นพระอรหันต์นะ ไปบิณฑบาตที่ไหนนะ เขายิงนกนะ ลูกนั้นก็ต้องมาตกใส่หัวพระองคุลิมาล เขาจะทะเลาะเบาะแว้งอะไรกัน จะตีกัน จะพลาดมาโดนองคุลิมาล พระองคุลิมาลไปบิณฑบาตวันไหน กลับมาจะมีเลือดกลับมาทุกวันเลย ก็น้อยใจนะ

พูดอย่างนี้มันจะสะเทือนใจเนาะ พระอรหันต์จะน้อยใจได้อย่างไร น้อยใจนะ มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอก “นี่ดูสิ นี่เป็นอย่างนี้ตลอดเลย” พระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ใช่ไหม พระพุทธเจ้าบอกว่า “องคุลิมาล เธอฆ่าเขา ตายตกทั้งชีวิตนะ สิ่งที่เขาทำมานี่ มันแค่เศษกรรม”

พระองคุลิมาลนี่น้อยใจนะ ไปบิณฑบาตกลับมา เลือดซกกลับมาเลยทุกวัน กรรมไง เพราะมันแรง แรงเพราะอะไร เพราะพระองคุลิมาลนี่เป็นพระอรหันต์แล้ว ชาติสุดท้ายแล้ว ถ้ากรรมนั้นมันตามไม่ทัน จะไม่ได้อีกแล้ว ถ้าพระองคุลิมาลนิพพานปุ๊บนะ เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน คือไม่ทันแล้ว คือไม่มีอะไรเลย

แต่ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่เห็นไหม เขาทำอะไรก็จะมาตกใส่ ตกใส่ นี่เศษกรรม สอุปาทิเสสนิพพาน นี่เศษเหลือทิ้ง นั่นก็เศษกรรม

“แล้วถ้าเราปฏิบัติ นี่พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ สอนแก้กรรมที่นี่ สอนแก้กรรมที่เราแก้ไขของเรา”

“ไอ้กรรมอันนั้นอย่าไปเชื่อ ไม่ต้องไปเชื่อ”

พูดถึงในความคิดเรานะ ไปแก้กรรมอย่างที่เขาไปแก้กันนั่นนะ แล้วเราอยู่บ้านนะ ในห้องพระนี่ “กราบถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงครูบาอาจารย์เรานะ เราว่าได้บุญมากกว่าเยอะเลย แก้กรรมได้ดีกว่าด้วย”

เรานั่งอยู่ในห้องพระเรานะ “กราบถึงครูบาอาจารย์เรานะ แล้วนั่งพุทโธๆ พุทโธๆ นะ โอ้โฮ แก้กรรมได้เยอะกว่านั้นมากนักเลย”

ฉะนั้นไม่ต้องไปเชื่อ “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เรียบง่าย มีเหตุมีผล”

แต่ว่าพุทธมามกะของเรา ชาวพุทธเรานี่ มันไปถือผีกันมาก อ่อนแอมาก เวลาเขาพูดขึ้นมาเราก็ไปเชื่อเขา มันก็เลยน่าเห็นใจว่า ชาวพุทธเราไม่น่าเป็นอย่างนั้น แต่ก็เพราะเขาเป็นอย่างนั้น ความจริงนะ สำนักพุทธศาสนานะ พุทธศาสนาเนาะ ต้องตรวจสอบนะ

ถ้าเขามีกันอย่างนั้น พุทธศาสนา สำนักพุทธนะ จะต้องดูแล ทำอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าทำอย่างนี้ไป แล้วอะไรเป็นพุทธล่ะ อะไรเป็นศาสนาล่ะ พุทธศาสนาก็คือธรรมะไง ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นคือตัวศาสนา ศาสนธรรมตัวธรรม ตัวศาสนบุคคลมันเป็นความคิด วันนี้พูดเท่านี้ล่ะเนาะ เอวัง