วิธีรู้หนัง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ไอ้นี่ หนังสือนี่มันเข้ากับเมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้มีโยม โยมเขาพาลูกมาหลายคน แล้วเขาบอกว่าลูกๆ เขานี่เขาพาเข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก พาเข้ามาวัดมาตั้งแต่เด็ก แล้วอยากจะให้เขาเข้าวัดอย่างนี้ ทำไมเด็กมันไม่ค่อยสนใจ เพราะลูกตอนนี้ ลูกเขาเป็นวัยรุ่นแล้ว
เราบอกความดีของคนมันมีตั้งหลายอย่าง ไอ้แค่เอาเข้าวัดได้นี่ก็ว่าเก่งแล้ว แต่จะให้ปฏิบัติเลยนี่.. เพราะเหมือนวัยรุ่นน่ะ เด็กพอวัยรุ่น มันก็อยาก ชีวิตมันยังอีกยาวไกลใช่ไหม ในชีวิตนี้มันก็อยากจะประสบสิ่งที่มันยังไม่ได้ทดสอบ มันก็อยากทดสอบมัน ประสาวัยรุ่นนั่นน่ะ แล้วบอกให้วัยรุ่นปฏิบัติๆ
การปฏิบัติมันแสนยาก ความดีนะ ความดีในทางเรา ทำดี-ทำชั่ว ความดี ศีลธรรม จริยธรรมนี่เป็นความดีอันหนึ่ง แต่ในการปฏิบัตินี่นะ มันต้องเป็นความดีที่ลึกกว่านั้นนะ หมายถึงว่าความดีที่ลึกกว่านั้น หมายถึงว่ามันมั่นคงไง เวลาเรามั่นคง เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันแรงเสียดสีแรงเสียดทานเยอะมาก แค่มาวัดนี่ไปถามไอ้พวกที่ไปวัด พวกมีปัญหาทั้งนั้นน่ะ ถ้าคนไม่มีปัญหา มันต้องมีสุขสบายทางโลกสิ.. โลกคิดกันอย่างนั้นไง ไอ้คนไปวัดนี่เป็นคนที่มีปัญหา
ไอ้แค่เราจะมาวัด เขาก็ยังบอกว่า พวกนี้มันพวกคนที่มีปัญหา ขนาดแรงเสียดสีจากข้างนอกนะ แล้วเรา แรงเสียดสีจากข้างในล่ะ แรงเสียดสีจากข้างใน
ทุกๆ คนก็อยากจะมีความสุข แล้วความสุขของโลก กามคุณ ๕ รูป รส กลิ่น เสียง ก็เท่านั้นน่ะ ในโลกที่เขาเสพกันอยู่น่ะ รูป รส กลิ่น เสียง นั้นน่ะ เป็นกามคุณของเขา เขามีความสุขด้วยการเสพ แต่นี่กามคุณ ๕ การดำรงเผ่าพันธุ์ของสังคม ของสัตว์โลก
แต่ถ้ามันเป็นพรหมจรรย์ล่ะ เราประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์กัน พรหมจรรย์ เวลาเรากินอาหาร เราดื่มน้ำ น้ำมันรสชาติเอร็ดอร่อยนะ แต่น้ำใส น้ำสะอาด น้ำจืด ที่ว่ามันไม่มีโทษ น้ำฝนน่ะ น้ำฝน น้ำที่ดี ธรรมะมันเป็นน้ำจืด น้ำจืดที่ไม่มีโทษกับร่างกาย ไม่มีโทษกับอะไรเลย มีประโยชน์อย่างเดียวเลย มีประโยชน์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย อย่างน้ำ น้ำบริสุทธิ์ อย่างคน แม้แต่ยานี่นะ ถ้าเราไม่กินยาเลย เราดื่มน้ำมากๆ น้ำเข้าไปชำระของเสียในร่างกายได้ น้ำนี่
ทีนี้คำว่า น้ำ พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนธรรมะไง ทีนี้ดื่มน้ำเรามีรสชาติอะไร? จืด แต่ถ้าคนมีวุฒิภาวะ คนโตขึ้นมา ดื่มน้ำมันเป็นประโยชน์ จะเข้าใจน้ำว่ามีประโยชน์มากขนาดไหน แล้วแสวงหาอย่างนั้น ดูทางที่เขาขาดแคลนน้ำดื่มนะ เขาไม่เคยได้น้ำดื่มใส น้ำสะอาดเลย โอ้โฮ.. เห็นน้ำสะอาดนี่เขากราบไหว้เลยล่ะ นี่ความดีของโลกไง ความดีของโลกมันดีอย่างนั้น
แล้วคิดว่า ทำไมลูกไม่สนใจ ทำไมลูกไม่สนใจ นี่มันก็ไปวิตกวิจาร คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ในเมื่อเด็กมันยังมีชีวิตอยู่ สังคมมันก็อยากลองไปภาษาเด็กนั่นน่ะ แล้วถ้าเด็กจะเข้ามาเลยน่ะ เด็กบางคน อย่างเช่นบวชมาตั้งแต่เณร บวชมาตั้งแต่เณรในวงกรรมฐานเรานะ เวลาเณรมาอยู่วัด เราต้องฝึกหัดให้นิสัย เพราะเณรก็คือเด็กนั่นน่ะ แต่ถ้าเด็กมันมีวาสนานะ เด็กมันมีความมุ่งมั่นของมันนะ เด็กคนนี้จะไปได้ดีเลย
ดูสามเณรราหุลสิ สามเณรราหุลนะ นางพิมพาให้ขอสมบัติกับพ่อ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นพ่อด้วย แล้วจะให้สมบัติอะไร เพราะนางพิมพากับพ่อนี่ต้องการขอสิทธิในการครองราชย์ไง จะเป็นกษัตริย์ไง แล้วเราจะให้ลูกเราเป็นกษัตริย์ เพราะสิทธิ เพราะว่าพระพุทธเจ้าจะเป็นกษัตริย์ผู้ที่สืบทอดมาก็เจ้าชายสิทธัตถะ ทีนี้เจ้าชายสิทธัตถะออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ผู้ที่สืบทอดก็สามเณรราหุล
ทีนี้ราหุลมาขอสมบัติ ถ้าคิดทางโลกก็ต้องให้สมบัติลูกเป็นกษัตริย์สิ ท่านก็นั่งคิดเลย ถ้าให้ไปก็เป็นสมบัติทางโลก แล้วถ้าลูก ถ้าให้อริยทรัพย์ล่ะ ถึงบอกให้พระสารีบุตรบวชให้เลย บวชเป็นเณร พอบวชเป็นเณรมาปฏิบัติ สามเณรราหุลสำเร็จตั้งแต่เป็นเณร เป็นเณรอรหันต์นะ
พอเณรอรหันต์ เวลาธุดงค์ไป พระเลือกที่ก่อนใช่ไหม เป็นเณรอรหันต์นะ ไม่มีกุฏิอยู่ไง ก็ไปอยู่ในส้วม พระพุทธเจ้าเข้าส้วมไปเจอสามเณรราหุลในส้วม ก็มาถามพระสารีบุตรตอนเช้าขึ้นมาก็มาประชุมสงฆ์
สารีบุตรเธอรู้ไหมว่าลูกศิษย์ของเธอ สัทธิวิหาริกของเธอ เณรของเธอ ไปนอนที่ไหน
ไม่รู้
ไปนอนอยู่ในส้วม
ในส้วมเพราะอะไร เพราะทำตามธรรมวินัย พระเวลาเราแจกของกันก็ต้องพระเถระลงมาก่อนถึงภิกษุก่อน พอหมดจากภิกษุไปก็ถึงสามเณร พอถึงสามเณรปั๊บก็ถึงคฤหัสถ์ ทีนี้พอสามเณรถึงสามเณรเป็นพระอรหันต์ก็แล้วแต่ พระอรหันต์เป็นคุณสมบัติส่วนตน เป็นคุณสมบัติจากภายใน แต่การปกครอง ปกครองด้วยธรรมวินัย ปกครองด้วยธรรมวินัยใช่ไหม คือตามธรรมวินัยนี่ไม่มีสิทธ์ ทั้งๆที่เป็นพระอรหันต์นะ แต่พระที่เป็นพระปุถุชน ทีนี้พระวินัยธรรมวินัยเหมือนเป็นกติกา ต้องตามกติกานั้น
จะบอกว่า
๑. เป็นพระอรหันต์ ตัวเองเป็นพระอรหันต์ด้วย
๒. เป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงด้วย โดยสายเลือดด้วย ไม่ถือสิทธิ์อะไรเลย ไม่ถือสิทธิ์เลย ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ที่ไหนเลย จนพระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรน่ะ
สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้ทรัพย์ อริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายใน ทรัพย์อันนี้มันคนเห็นได้ยาก แล้วคนที่จะมาปฏิบัติ เพราะอะไร เพราะสามเณรราหุลนะ กับกัณหา-ชาลีไง เวลาพระเวชสันดรให้กัณหา-ชาลีไปใช่ไหม กัณหาหรือชาลีนี่ล่ะ ผู้ชายยอมรับ แต่ผู้หญิงแบบว่าคิดในใจว่า พ่อรังเกียจ พ่อให้ พอเป็นพระพุทธเจ้า เลยเกิดมาเป็นสามเณรราหุล ผู้หญิงไปเกิดเป็นนางอุบลวรรณา นางอุบลวรรณาก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่เกิดออกไป นางอุบลวรรณาเป็นภิกษุณีนะ เป็นผู้เลิศทางมีฤทธิ์ที่สุด แต่เดิมเป็นกัณหา-ชาลีคู่นี้ นี่พูดถึงอดีตชาติ นี่พระพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎก
ทีนี้ถ้าพูดถึงเป็นพระอรหันต์แล้ว ทรัพย์อันละเอียด คนที่จะเข้าไปหาได้มันหาได้ยาก ทีนี้หาได้ยาก เวลาทำขึ้นมา สังคมเขาปรารถนาดี แต่ปรารถนาดีนี้แบบทางโลกไง
ทีนี้ ย้อนกลับมาที่หนังสือ หนังสือนี่ก็เป็นความปรารถนาดี พอปรารถนาดีเขาก็อยากอำนวยความสะดวกไง อำนวยความสะดวกว่า.. อย่างพวกเราเวลาปฏิบัติขึ้นไปอยากเห็นอสุภะ ต้องไปป่าช้า มันลำบาก ก็พิมพ์หนังสือมาให้เลย พิมพ์มาให้เลย การที่ไปป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้า ไปให้เห็นซากศพ เป็นอสุภะ.. มันไปเห็นนะ ถ้าจิตของเราไม่มั่นคง จิตของเราไม่หวั่นไหวนะ
เพราะพระพุทธเจ้าสอนขนาดนี้นะ นี่เรื่องจริงนะ พระที่จะไปเที่ยวป่าช้าต้องให้ดูซากศพเก่าๆ ก่อน ถ้าไปดูซากศพใหม่ๆ นะ ดูสิ ไปดูซากศพ ไปเที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพ เพื่อจะให้เป็นอสุภะน่ะ มันเป็นสุภะ อย่างไปเจอผู้หญิงตายใหม่ๆ อย่างนี้ มันไปดูแล้วมันไม่เป็นอสุภะนะ มันเป็นสุภะนะ มันเป็นสุภะ มันเป็นความสวยงามด้วย พระอารมณ์แปรปรวนได้เหมือนกัน ฉะนั้น ต้องตั้งจิตให้ดี ตั้งจิตให้ดีแล้วไปมองให้เป็นอสุภะ ถ้าจิตมันเป็นอสุภะ มันจะเป็นอสุภะ แล้วอย่างกรณีเข้าไปเที่ยวป่าช้านี่มันต้องเป็นจิตไง นี่พูดถึงข้อเท็จจริงที่พระพุทธเจ้าให้ไปดู แล้วสอนด้วย
ทีนี้ไอ้รูปนี้มา แล้วเขาไปพิมพ์มาให้ มันเป็นทางปริยัติไง ปริยัติเวลาเขาแจกหนังสือกัน เห็นไหม เวลาโยมเข้ามาที่นี่ เขาบอกว่าเขาพิมพ์พวกตำราของหนังสือพระไตรปิฎกมาให้เราแจก
ไม่! ไม่แจก!
เพราะอะไรรู้ไหม เพราะหนังสือพระไตรปิฎกเรามีในตู้เรามีอยู่แล้ว ทุกอย่างเรามีอยู่แล้ว พอมีอยู่แล้ว มันตัดความกังวล ตัดความสัมพันธ์ เขาเรียกการคลุกคลี ถ้ามีการคลุกคลีกัน มีการมั่วสุมกันอยู่อย่างนี้ เรื่องภาวนานะเก็บใส่ลิ้นชักเลย เรื่องภาวนาเปิดลิ้นชัก เก็บใส่ไว้ก่อน เอ็งอยู่ในลิ้นชัก กูจะคลุกคลี กูจะพูด กูจะคุย กูจะจัดการ กูจะบริหาร คนโน้นมาจะจัดการอย่างนี้.. ไอ้การปฏิบัติเก็บลิ้นชักปิดไว้เลย แต่ถ้าเราตัดปัญหา.. ตัดปัญหา.. ตัดปัญหา.. เพราะสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากใจ สิ่งนี้มันเป็นความจริงจากใจ แล้วอย่าให้เรานอนใจ
เราไม่ได้คัดค้านการพิมพ์หนังสือนะ เราไม่ได้คัดค้านเรื่องปริยัตินะ เรื่องปริยัติมันเป็นเวลาที่เราศึกษา เราต้องควรศึกษาให้เข้าใจ แต่เวลาปฏิบัติแล้ว เราติดข้อง เราไม่เข้าใจ หรือเรามีความกังวลว่าเราเจอสิ่งใดแล้ว เราไปรื้อค้นเป็นครั้งเป็นคราว เพื่อปลดไอ้ความกังวลในใจนี่ เพื่อปลดเปลื้องไอ้หัวใจที่มันสงสัย อย่างนี้เห็นด้วย
แต่ถ้าเรา อย่างเราจะปฏิบัติ เราก็คิด อย่างเช่นเรา เราก็อยากจะให้คนรู้จักเหมือนกัน อ้าว.. ทำอย่างไรจะให้รู้จักล่ะ กูก็ไปรื้อค้นเอาในตำราไง แล้วกูก็เรียบเรียงมาไง แล้วกูก็ไปพิมพ์หนังสือ พระสงบพิมพ์หนังสืออสุภะแจก! ให้แหม.. ลั่นทั่วประเทศเลย อยากดัง มึงอยากได้อสุภะ มึงก็นั่งภาวนาสิ พอมึงภาวนาให้มันเป็นขึ้นมาแล้ว ใครมานี่มึงแก้ได้ทั้งนั้นน่ะ อสุภะเป็นอย่างไร อสุภะความจริงเป็นอย่างไร
อาหารที่เราจะทำกินกัน มันเป็นอาหารเป็นจานมา มันเป็นอาหารสดๆ ที่กินได้ แต่เมนูอาหารน่ะ มันเป็นเมนูที่เขาพิมพ์มาเป็นตัวอย่างว่าให้สั่งอาหารอย่างนี้ๆ มึงกินได้ไหม หนังสืออสุภะมันเป็นเมนูน่ะ มันเป็นอย่างนี้ มึงจะเอามาทำไม ถ้ามึงจะเอามา เอาอาหารสดๆ มาให้กูกินสิ แล้วอาหารสดๆ มันเกิดขึ้นไม่ได้หรอกถ้าเราไม่ภาวนาขึ้นมา เราทำจิตของเราขึ้นมา แล้วภาวนาขึ้นมา นี่พระกรรมฐานไง
ปริยัติ.. เมนูอาหารจำเป็นไหม ถ้าไม่มีเมนูอาหารเลย เราจะไม่รู้เลยว่านี่เขาเรียกชื่อว่าอะไร ใช่ไหม แกงส้ม เอ๊ะ.. แกงส้มเป็นอย่างไรว่ะ แกงส้มเราก็ไปทำอย่างนี้ แกงส้มเอ็งกับแกงส้มกูไม่เหมือนกันนะ อ้าว.. ถ้าแกงส้มเป็นอย่างนี้ แกงส้มอย่างนี้ ทีนี้เมนูอาหารเขาไว้บอกว่า นี่แกงส้ม นี่แกงเผ็ด นี่ๆ แกงอะไร ก็รู้แล้วก็รู้แล้วสิ แล้วเราจะกินแกงส้ม เราจะกินอาหาร เราไม่ได้กินที่เมนู แล้วเมนูเอามายุ่งด้วยทำไม ปริยัติมันเรื่องของปริยัติ มันเรื่องชื่อของมัน สื่อความหมายของมัน รับรู้กันไว้ แต่ถ้าจริงๆ แล้ว เมนูมันกินไม่ได้ หนังสือมันกินไม่ได้ หนังสือไม่เป็นอสุภะ
อสุภะ คือจิตมันเป็น จิตที่สงบแล้วน่ะ มันน้อมไปเห็น โอ้โฮ.. มันแทงหัวใจนะ หัวใจนี่มันติดข้อง หัวใจนี้มัน.. เวลาภาวนาไป พอพิจารณาไปว่างๆ ทำอะไรไม่ได้เลยน่ะ พิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่นะ มือเราสกปรกใช่ไหม เราเอามือลงล้างในน้ำ มือเราสะอาด เรารู้ไหมว่ามือเราสะอาด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสิ่งที่สกปรกมันติดที่มือเรานี่มันโดนน้ำล้างออกไป จิตที่เวลาเราพิจารณาอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันปล่อยไปๆ นี่สมถะ
สมถะ คือมือของเรานี่มันสกปรก สกปรกคือความคิดของเรา ความคิดที่มันฟุ้งซ่านมันอยู่กับเรา เราล้างมือแล้วมือเราก็สะอาด คำว่า ล้างมือ มันก็ออกไปโดยธรรมชาติ แต่เชื้อโรค ในมือเราเป็นแผล ในมือเรามีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ในมือ เราได้รักษามันหรือยัง เวลาเราพิจารณาไปใช่ไหม พิจารณา ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาตรึกในธรรมนี่มันจะปล่อย.. ปล่อยนี่ สมถะทั้งนั้นน่ะ การปล่อยนี่คือสมถะนะ
ปัญญาอบรมสมาธิ ไอ้ว่า ปล่อยว่างๆ คำว่า ปล่อยว่าง มันทำ มันล้างมือ มันสะอาด มันปล่อยว่าง สมถะทั้งหมดน่ะ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่พอมันว่างแล้ว แล้วมือเราสะอาด มือเราสกปรก เราหยิบพวกดินโคลนมันติดมือมา เราจะเห็นเนื้อเราไหม พอเราล้างมือเราสะอาด นี่มือนะ อ้าว แผลอยู่ตรงนี้เนาะ ดินมันออกไปแล้วก็เห็นแผลน่ะ รอยบาดอยู่นี่ ตรงนี้แผลเลย มีดบาดเข้าเส้นเลือดเลยนะ ต้องต่อเส้นเลือดแล้ว.. มันเห็นหมดน่ะ
จิตพอล้างมือมันสะอาดแล้ว แล้วมันเข้ามาดูจิต ดูอาการของจิต ดูความคิด ความคิดที่เกิดจากจิต เวลามันสกปรกนี่นะ มือเราสกปรก มันโดนดินโคลน มันโดนสิ่งปฏิกูล มันเหม็น ความคิดที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันคิดแล้วมันทุกข์ พอล้างสะอาดไปแล้ว พอล้างสะอาด พอทุกอย่างสะอาด มือสะอาดแล้ว กลิ่นไม่มี ทุกอย่างไม่มี แต่บาดแผลหรือสิ่งที่อยู่ในมือของเรา นี่มันเป็นเชื้อโรค
จิตของเรา แม้แต่ว่างๆ ว่างๆ เพราะทำไม ไอ้คนที่มาถามมันว่างๆ หมดน่ะ แต่มีอยู่อันหนึ่งนะ คือมันสงสัย มันว่างๆ แล้วมันสงสัย ว่างๆ มันมีความสุขอย่างหยาบๆ แต่มันมีความอึดอัดขัดข้องละเอียด ว่างๆ นี่ มันมีความอึดอัดขัดข้องลึกๆ อยู่ ข้างใน เพราะมันว่างๆ แล้วมันไปไหนไม่ถูก มันว่างๆ แล้วมันก็แบบว่าขยับไม่ได้
มือมันล้างสะอาดมา แต่มันมีบาดแผล มันมีเชื้อโรคอยู่ ไอ้ความที่เชื้อโรค มือนี่นะ พอเชื้อโรค ถ้ามันมีสติปัญญา มันจะรู้เลยว่านี่แผลอะไร จะรักษาอย่างไร นี่ควรทำอย่างไร เหมือนกัน ถ้าจิตนะ มันปล่อยวาง มันเป็นสมาธิแล้ว เวลามือมันล้างจากสิ่งที่สกปรกมา สิ่งที่สกปรกมันมีกลิ่น มันมีสิ่งที่ติดกับมือมา เวลาจิตเราฟุ้งซ่าน จิตเราคับข้องหมองใจในความเป็นทุกข์นี่ โดยความคิด โดยปุถุชน เวลามันปล่อยเข้ามา เห็นไหม สิ่งที่มันหลุดออกไปมันก็รู้ มันเห็นมันรู้ของมัน มันรู้ของมันเพราะมันสะอาด
แต่พอมันสะอาดแล้วมันทำต่อไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะตัวจิตมันไม่รู้จักตัวมันเอง ถ้าตัวจิตไม่รู้จักตัวมันเอง เราก็ต้องพิจารณาบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. พอมันปล่อยมาบ่อยครั้งเข้า เราล้างมือบ่อยครั้งเข้า ครั้งแรกไม่เห็นไม่รู้ ก็ล้าง เดี๋ยวออกมาก็เลอะอีก เพราะว่าสิ่งที่เป็นวัตถุ ล้างเสร็จแล้วมือสะอาดตลอดไปเลย แต่ความคิดเรานี่มันมีความคิดเกิดดับตลอดเวลา คิดแล้วเดี๋ยวก็ดับ ดับแล้วก็คิดอีก คิดแล้วก็ดับ คือว่าความสกปรกอันนี้ล้างไม่ขาดหรอก คือมันสะอาดชั่วคราวไง คือมันปล่อยวางชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เป็นอีก เพราะเดี๋ยวมันก็สกปรกอีก พอสกปรกอีก เราก็ใช้ปัญญาอีก มันก็ปล่อยอีกๆ
การปล่อยอีกอย่างนี้ มันจะทำให้ที่ว่า ว่างๆ ว่างๆ ที่มันทำอะไรไม่เป็นนี่ มันรู้ตัวมันขึ้นมา รู้ตัวมันขึ้นมาเพราะอะไร เพราะล้างมือครั้งแรก มันมีความรู้สึกอันหนึ่ง ล้างมือครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ครั้งที่ ๕ ครั้งที่ ๖ ครั้งที่ ๗ เห็นไหม ล้างบ่อยๆ ครั้งเข้า มันล้างบ่อยครั้งเข้า สติมันต้องดีขึ้นสิ ความสติที่ต้องดีขึ้น ไอ้ความว่างของเรา มันมีควบคุมที่ดีขึ้น พอที่ดีขึ้น พอเราล้างบ่อยครั้งเข้า เพราะเราล้างบ่อยใช่ไหม มันจะเริ่มเห็นบาดแผลใช่ไหม เพราะมันล้างบ่อยครั้งเข้า พอมันล้างไปแล้ว มือมันสะอาดแล้ว ถ้ามันมีแผลอยู่ แผลโดนน้ำ มันก็ต้องมีความแสบ มันต้องมีความรู้สึกเป็นธรรมดา เพราะมันเป็นแผล
นี่ก็เหมือนกัน พอมันปล่อยว่างๆ ว่างๆ ไอ้ความอึดอัดขัดข้องลึกๆ นั้นน่ะคือกิเลส แล้วมองไม่เห็น มองไม่รู้ ทีนี้พอมันล้างบ่อยๆๆ มันรู้มันเห็นขึ้นมา เห็นไหม มันจะรู้มันจะเห็นขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเราได้ล้างบ่อยครั้งเข้า คือแผลนี่มันโดนน้ำ มันแสบ แต่ใหม่ๆ มันกลิ่นเหม็นมันแรงกว่า กลิ่นเหม็นมันเหม็นมาก ไม่พอใจมาก พอมันล้างไป โอ้.. กลิ่นหลุดไปแล้วเว้ย สบายใจ ว่าง.. ว่าง..
แต่พอมันล้างบ่อยครั้งเข้า ล้างบ่อยครั้งเข้า พอมันปล่อยแล้ว กลิ่นเหม็นมันหมดจนมันคุ้นเคย อ้าว.. พอมันว่างแล้ว ความรู้สึกต่อไป อ้อ.. มันแสบ อ้อ.. มันมีแผล อ้อๆๆ นั่นแหละมันเห็น เห็นกิเลส วิปัสสนามันจะเกิดตรงนี้ไง
ไม่ใช่ว่ามันปล่อยวางแล้ว มันว่างแล้ว มันจะทำยังไงต่อไป ทำยังไงต่อไป
พูดอย่างไรก็ไม่รู้ เวลาพูดนี่นะ มันจะพูดเป็นอุบาย ถ้าพูดตรงๆ กิเลสมันก็พาหลบหลีกไปซะ ถ้าพูดเป็นอุบาย มันจะทำให้เราค้นหาตัวเอง พอค้นหาตัวเอง มันจับต้องตัวเอง พอจับต้องตัวเอง นี่ตรงนี้จะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคือว่ามันจะใคร่ครวญ ทำความสะอาดตัวมันจากข้างใน
เห็นไหมว่า โลกียะ กับ โลกุตตระ
โลกียะ มือเราสกปรกล้างมือไป โลกมันก็รู้กัน ฤๅษีชีไพรก็ทำได้ ใครก็ทำอย่างนี้ ความสงบนี่ใครๆ ก็ทำได้ เพราะการทำอย่างนี้มันโดยธรรมชาติมีอยู่แล้ว ทำความสงบของใจ ทำสมาธิ มีมาก่อนสมัยพุทธกาล เรื่องฤๅษีชีไพรเหาะเหินเดินฟ้าได้หมด ระลึกอดีตชาติได้หมด แต่ศาสนาพุทธ พุทธศาสนามารู้ตรงมือนี้มีแผล พอมันปล่อยเข้ามาแล้ว พอปล่อยเข้ามาแล้ว พอปล่อยบ่อยครั้งๆ เข้ามันติดไง มันติด แล้วถ้าเกิดเข้าฌานสมาบัติ มันชำนาญการมาก มันเหาะเหินเดินฟ้า มันเป็นฌานโลกีย์น่ะ โอ้โฮ.. มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ของจิตที่เป็นขณะนั้นนะ มหัศจรรย์ของปุถุชน มหัศจรรย์ของจิตที่มันไม่เคยเป็น
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบารมีมา มันถึงเห็นว่าความมหัศจรรย์นี่มันเป็นอนิจจัง ความมหัศจรรย์นี่มันเหมือนพลังงาน พลังงานถ้าใช้ไปแล้วพลังงานอะไรคงที่มันไม่มี พอมันเสื่อมมันก็ต้องถอย ถ้ามันหมดไปก็ต้องสร้างพลังงานใหม่ สร้างพลังงานตลอดเวลา ก็ต้องทำความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ เพื่อรักษาความคงที่ของพลังงานอันนี้
ถ้าพลังงานอันนี้คงที่ปั๊บ มันก็จะรู้เห็นโดยฌานโลกีย์ ถ้าพลังงานอันนี้มันด้อยลง ความรู้นั้นจะไม่มั่นคง จะไม่ชัดเจน เห็นไหม เจ้าชายสิทธัตถะเห็นตรงนี้ไง พอเห็นตรงนี้ปั๊บถึงไม่เอา ถึงได้มาวิปัสสนา วิปัสสนาก็มาชำระบาดแผล ทำบาดแผลจนหาสนิทดีแล้ว ถึงไปปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เอาสิ่งนี้มาสอน เอาสิ่งนี้มาแก้ไข
แต่ว่าเวลาเราทำขึ้นมา โดยสามัญสำนึก เพราะเรามีกิเลส ทั้งๆ ที่เราเป็นชาวพุทธ พุทธศาสนาเขามีอยู่ แต่มันก็ปล่อยวางแบบฌานโลกีย์ แบบสมถะที่ปล่อยวาง.. ปล่อยวางๆๆ แล้ววุฒิภาวะ.. ปล่อยวางแล้วนี่ มันก็ปล่อยแล้ว
นี่เหมือนกันเลย คำพูดนี่เหมือนกันเลย เพราะคำพูดนี่เป็นสมมุติ สมมุติที่สื่อความหมายกันมีเท่านี้ แต่ความจริงความสมมุติเขาสื่อมาเพื่อจะให้เรารู้อีกชั้นหนึ่ง ลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง แต่เรารู้ลึกเข้าไปไม่ได้ เพราะเรารู้แค่นี้ แล้วมันเป็นความมหัศจรรย์ของเรา มันเป็นจิตของเราที่รับรู้ได้แค่นี้
แต่ถ้าพัฒนาเข้าไป จิตเข้าไป มันจะไปเห็นนะ ถ้าเห็นอย่างนี้ มันทำไป เหมือนกัน พิจารณากายเห็นกาย อสุภะนะ อสุภะ พิจารณากายครั้งแรกมันไม่ใช่อสุภะหรอก อสุภะนี่ อย่างเช่น หนังสือ หนังสือมันจะมีประโยชน์กับพวกโยม เพราะธรรมดา เพศตรงข้าม มันเป็นข้าศึกต่อกัน ในพรหมจรรย์ เพศตรงข้ามเป็นข้าศึกต่อกัน ทีนี้ข้าศึกอันนี้มันเป็นข้าศึกของพรหมจรรย์ แต่ไม่เป็นข้าศึกกับทางโลกใช่ไหม เพราะทางโลก เพราะธรรมดาของมัน มันมีอยู่แล้ว ก็เอาอสุภะเอามาดู เพื่อจะยับยั้งตรงนี้ไง ถ้ายับยั้งก็ยับยั้งทางโลกเขา ถ้าเขามีสติของเขา เขาดูนี้ก็เพื่อประโยชน์ของเขา ประโยชน์ของโยมเขา แต่มันประโยชน์ของโยมเขาคือประโยชน์แค่เบรก เบรกให้หัวใจมันไม่ไหลตามอารมณ์ความรู้สึกความนึกคิดนั้นไป
เอาอันนี้มาเบรกมันไว้ เบรกเฉยๆ ไม่ใช่ความจริง มันก็เหมือนโคลนตมที่อยู่ในมือที่ล้างออกไปเท่านั้นเองน่ะ มันไม่เป็นความจริงหรอก เพราะความจริงมันจะเห็นตรงนี้ได้ มันลึกกว่านั้นอีก เพราะจิต.. อสุภะต้องเป็นอนาคามรรค พระโสดาบันก็ยังไม่ได้เป็น พระสกิทาคามีก็ยังไม่ได้เป็น แล้วจะเป็นอสุภะได้อย่างไร?
อสุภะนี่นะ มันแก้กามราคะ ถ้ากามราคะ อสุภะแก้กามราคะ ถ้าถึงตอนนั้นนะ..
ความจริงความเป็นของมันนะ อื้อหืม.. ไม่อยากจะพูด ถ้าพูดแล้วนะ มันเหมือนกับทำให้พวกเรา เด็กๆ แล้วไปแบกก้อนหินใหญ่ๆ ขนาดการปฏิบัติธรรมดานี่ยังไม่สู้เลย แล้วพอไปเจออย่างนั้นน่ะ เพราะถ้าไปถึงกามราคะ มันจะเป็นกามราคะโดยตัวมันเองตลอดเวลา ขณะที่อนาคามีเข้าไปนี่ ตัวของจิตมันเป็นกามฉันทะ แล้วมันพอใจในกามราคะ ตัวมันเองเป็นกามราคะ
ไม่อย่างนั้น ทำไมหลวงปู่จวนท่านจะต้อง.. เวลาท่านเดินจงกรมต้องเอากระดูกช้างแขวนคอ แล้วทำไมท่านต้องเคี้ยวหมากแล้วปล่อยให้มันไหลลงมาตลอดเวลา ปล่อยให้น้ำหมากนี่ไหลลงมาเลยนะ ให้เห็นจากภาพภายนอก แต่ตัวจิตตัวที่มันหมุนอยู่นี่มันอยู่ข้างใน แต่จากข้างในมันก็ต่อสู้เต็มที่ จากภาพภายนอก มันก็ให้เห็นเป็นความสกปรกโสมม มันเห็น คือใช้กำลังจากข้างนอกข้างในประสานกันเลยล่ะ เวลาผู้ที่เข้าไปเจอของจริงน่ะ มันมีเทคนิคของแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน หลวงปู่จวนท่านทำอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านทำมา ถึงตรงนั้นนะ มันเป็นกามราคะเลย
ไอ้นี่ เราพูดว่า กามราคะ ใช่ไหม ดูสิ เราพูดด้วยคำพูดนี่คือวจีกรรม คำพูด นี่กามราคะ เราพูดด้วยมารยาทสังคม แต่จิตเราคิดอะไร จิตเราคิดอะไร? คำพูดพูดออกมา จิตมันคิดอะไร มารยาทเราคิดอะไร แต่ถ้ามันเป็นอสุภะนะ จิตมันเป็นเอง มันไม่มีคำพูด มันไม่มีจังหวะสองไง มันเป็นหนึ่งเดียวตลอด คือจิตมันเป็นมหาสติ-มหาปัญญา มันจะหมุนของมันตลอดเวลา ถ้าเป็นอสุภะ เห็นไหม
ดูสิ ที่ว่าหลวงตาท่านพิจารณาอสุภะ จากข้างนอก มันพิจารณาอสุภะจากข้างนอก จิตมันกำลังมันมีมาก พิจารณาอสุภะ พิจารณาสิ่งที่มันจับต้องได้ มันเป็นนิมิต มันความเห็นของจิตเป็นอสุภะ เป็นพวกโครงสร้างของร่ายกายแต่ละชิ้น แต่ละรอบ แล้วมันแปรสภาพ มันเป็นอสุภะ มันหยาด มันเยิ้ม มันอะไร พอมันพิจารณาบ่อยครั้งเข้า มันชำนาญเข้ามันก็ปล่อย.. ปล่อย.. จิตนี้ก็เป็นอิสระ เพราะจิตมันเห็นอสุภะ มันพิจารณาแล้วมันปล่อย ปล่อยแล้วมันก็อิสระ อิสระแล้วเดี๋ยวก็เกิดอีก ปล่อย.. อิสระ..
จากที่ว่ามันพิจารณาไม่ชำนาญการ พอมันชำนาญการมันจะเร็วขึ้นมาก แต่ละรอบมันจะเร็วขึ้น.. เร็วขึ้น.. เร็วขึ้น.. พอเร็วขึ้น ระยะห่างมันจะใกล้ขึ้น.. ใกล้ขึ้น.. สายการบังคับบัญชานะ พลังงานมันจะเข้ามาสั้นขึ้น.. สั้นขึ้น.. สั้นขึ้น.. สั้นขึ้น.. สั้นขึ้นจนมันเป็นตัวจิตเลย มันเข้ามาใกล้ชิดจนเป็นตัวมันเอง พอมันเป็นตัวมันเอง เพราะอะไร เพราะถ้าเราคิดถึงอสุภะ เราต้องมี จิตเราต้องมีความพอใจ เราถึงคิดถึงเพศตรงข้าม เพราะออกมามันเป็นกามราคะ
แต่ถ้าเวลามันหดสั้นเข้ามานี่ มันจะคิดถึงตัวมันเอง ถ้ามันคิด จิตกับสิ่งที่เห็น มันเป็นสองใช่ไหม แล้วเวลาชำระกิเลส มันต้องถอนที่จิต ถอนที่ตัวใจ ไม่ใช่ถอนสิ่งที่เห็น สิ่งที่เห็นน่ะเราเห็นภาพ ภาพมันเป็นกิเลสไหม? อสุภะมันเป็นกิเลสไหม? ทุกอย่างเป็นกิเลสไหม? มันไม่มีกิเลสเลย ความที่เป็นกิเลสมันอยู่ที่ใจ พอมันพิจารณาเข้ามามันก็สั้นเข้ามา.. สั้นเข้ามา.. สั้นเข้ามา.. จนถึงตัวมันเอง
ท่านบอกพอเข้ามานี่มันปล่อยหมดนะ มันปล่อยหมดก็.. เอ๊ะ.. พอมันพิจารณาอสุภะ มันวางๆ วาง วางถึงที่สุดเห็นไหม เพราะมันดูภาพข้างนอก ว่างหมดเลย ท่านบอก ไม่เอา.. ไม่มีเหตุผล ท่านถึงเอาสุภะ เอาสิ่งที่มันพอใจ ตรงข้ามกับอสุภะ เอาสุภะ เอาสิ่งที่สวยงาม เอามาแนบกับจิตไว้
ไม่ใช่ความคิดของเรานะ ที่เป็น มันปล่อยวางแล้ว กิเลสมันหลอกขนาดนี้ เอาสุภะ เอาสิ่งที่เห็น.. สิ่งที่มันพิจารณาอสุภะแล้ว จนปล่อยแล้ว ไม่มีเหตุผล ไม่เอา เอาสุภะมาแนบ เอามาแนบคือว่า พยายามดึงให้เข้ามาให้มันอยู่กับใจ ให้มันสัมผัสกัน ให้มันสัมผัสกัน ให้มันเสวย ให้มันคลุกคลีกัน พอมันคลุกคลีกันๆ เพราะใจนี่มันมีกิเลสอยู่แล้ว เหมือนขั้วบวกขั้วลบ ถ้ามันเข้าหากัน มันก็ต้อง สปาร์กเป็นพลังงานอยู่แล้ว พอเข้ามาถึงจนมันแสดงตัวออกมา อ้อ.. อยู่นี่เอง แล้วพิจารณาซ้ำเข้าไป มันก็ชำนาญขึ้นๆ เข้ามา ไปถึงที่ตัวมัน แล้วทำลายที่ตัวมัน ระเบิดที่ตัวมัน นี่พูดถึงอสุภะ
เราเห็นโทษของมันไง เราเห็นว่าถ้าอสุภะ ความเป็นจริงของอสุภะมันยังต่อสู้กันอีกยาวไกล แต่นี่เราถือหนังสือมา เวลา.. อย่าพูดถึงหนังสืออย่างนี้เลยนะ นี่พยานของเรา ไอ้โตมันอยู่นี่ ตอนที่เราสร้างวัดใหม่ๆ นะ มันไม่มีตู้พระไตรปิฎก เพราะมันหาซื้อ มันแบบว่าซื้ออย่างนี้ไม่ได้ แล้วพอหลวงตามาที่โพธาราม เราก็ซื้อตู้พระไตรปิฎก หลวงตาท่านมาเห็นน่ะ ไอ้หมาขี้เรื้อน! เกาไม่ถูกที่คัน ไอ้ที่คันน่ะไม่เกา ไอ้ที่ไม่คันน่ะดันเกา ขนาดพระไตรปิฎกนะ ท่านยังว่าเป็นของข้างนอกเลยน่ะ หลวงตานี่ สังเกตได้ไหม ซื้อพระไตรปิฎกไปถวายหลวงตา หลวงตาจะรับไหม ท่านบอก มันเป็นของข้างนอก
ขนาดพระไตรปิฎกนะ ไม่ใช่หนังสืออสุภะ หนังสืออสุภะนี่มันต่ำกว่าพระไตรปิฎกกี่เท่า พระไตรปิฎกบอกถึงวิธีการ บอกถึงการปฏิบัติ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พูดถึงการชำระกิเลส หนังสืออสุภะนี่มันมีอะไร มันมีแค่ภาพซากศพ แม้แต่หนังสือพระไตรปิฎก
มาเจอทีไรนะ.. เราซื้อมาไว้ที่โพธารามไง เพราะว่าเวลาปฏิบัติแล้ว.. สงสารพระ เอามาตั้งไว้ ถ้าพระมันขัดข้องหมองใจ หรือพระมีความข้องใจก็มาเปิดได้ แต่หนังสือพระไตรปิฎกเราดูมาแล้ว ๒ รอบ พอท่านมา เพราะท่านมาที่โพธาราม ท่านจะมาเห็น ของเราจะไม่มีอะไรเลย เพราะรู้ เพราะอยู่กับท่านมาน่ะ
ท่านพูดกับเรานะ หงบ.. อยู่กับเรามาได้อะไร?
เราก็เฉยนะ
ท่านตบอกเลย (เสียงตบอก) อยู่กับเรามาได้ไอ้นี่.. ได้หัวใจ
อยู่กับเรามาได้อะไร? ท่านถามเลยนะ
ได้อะไรล่ะ ได้วัตถุเหรอ ได้ชื่อเสียงเหรอ เอ็งได้อะไร?
ท่านถาม หงบ.. อยู่กับเราได้อะไร?
เราไม่ตอบ เรานั่งเฉยๆ
ท่านตบหัวอกของท่านเองน่ะ ได้หัวใจ ได้ไอ้นี่
คือว่ามันได้คุณธรรม ไม่ใช่ได้อะไรเลย ท่านพูดกับเราที่บ้านตาดนะ
แล้วพอมาเจอหนังสือพระไตรปิฎกไง หมาขี้เรือน! ที่คันแล้วไม่เกา ไปเกาที่ไม่คัน
ฉะนั้น หนังสือที่พิมพ์ๆ กันนี่มันแอบพิมพ์ มันแอบทำ เราจะบอกว่า ถ้าพูดถึงนะ ถ้าเราจะบริสุทธิ์ใจ เราก็ต้องทำกันต่อหน้า เพราะเอารูปท่าน เอาชื่อเสียงของท่าน เอามาขายกินกันน่ะ มาถึงเรา เราไม่เอานะ เราไม่เห็นด้วย แล้วเราไม่รับ เพราะว่าสิ่งนี้ถ้ามันรับไปแล้ว มันทำให้พวกเราเนิ่นช้า
จริงๆ แล้วน่ะ จะยังไงต้องปฏิบัติ เข้าทางจงกรม เข้าทางจงกรมเลย นั่งสมาธิภาวนาไป มันจะเป็นอะไร ให้มันเป็นไป จิตมันต้องสงบเข้ามาก่อน พอจิตสงบเข้ามาก่อน แล้วออกพิจารณากาย พิจารณากายเป็นไตรลักษณ์ พิจารณากายจนเห็นกายสู่สภาวะเดิม นี่สักกายทิฏฐิ นั่นคือโสดาบัน โสดาบันไม่ใช่อสุภะ พิจารณาซ้ำเข้าไป พิจารณาซ้ำเข้าไปนะ ถ้ามันปล่อยขาดเลย นั่นน่ะ กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส นั่นน่ะ พระสกิทาคามี แล้วถ้าตามเข้าไปเห็นกายอีก นั่นน่ะ จะเป็นอสุภะ เพราะว่าหลวงตาท่านติดอยู่ตรงนี้ ๕ ปี แล้วพอติดอยู่ตรงนี้ ๕ ปี แล้วหลวงปู่มั่นท่านชักออกมา ท่านดึงออกมา ให้พิจารณา พอพิจารณาไปท่านเจออสุภะไง เจออสุภะเต็มที่เลย นี่มันพิจารณาเข้าไป พอถึงที่สุดแล้วขึ้นไปถามท่านตลอดไป นี่พูดถึงอสุภะไง
แล้วนี่เป็นห่วงกัน มันก็คิดแบบนี้ เห็นหนังสืออสุภะ แล้วก็คิดถึงเมื่อวานที่พวกโยมเขามาน่ะ ลูก ๓ คน มาถามว่า ลูกเขาเป็นคนดีหมดทุกคนน่ะ แต่ทำไมลูกไม่ค่อยเอา ไม่สนใจเรื่องการภาวนา เราบอก ลูกมันยังเป็นเด็ก มันก็เหมือนพ่อแม่แหละ พ่อแม่เมื่อก่อนก็ไม่ได้ภาวนาเท่าไรหรอก แต่ตอนนี้พ่อแม่เริ่มอายุมากเข้า พ่อแม่ก็จะมาภาวนา
ก็อยากให้ลูกภาวนาไง คือเราก็อยากให้มันเหมือนกันน่ะ เราบอกว่า ความดีมันมีมากนะ ความดีในการทำความดี เด็กของเรา ลูกของเราน่ะ ทำมาหากินอยู่กับสิ่งที่ดี ก็เป็นดีอันหนึ่ง ดีทางโลก แต่ถ้าเขาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันเป็นดีที่เขาจะเอาตัวรอดได้ นั่นก็เป็นอีกดีหนึ่ง อันนี้มันอยู่ที่สิทธิ ชีวิตของเขา ถ้าเขาเห็นดีเห็นงามด้วย มันก็เป็นประโยชน์ใช่ไหม นี่พูดถึงพ่อแม่ที่ดีก็คิดอย่างนั้น พ่อแม่ที่เขาคิดทางโลกนะ เวลาลูกจะมาวัด เขาอยากจะดึงกลับเลยล่ะ แต่ถ้าพ่อแม่ที่เปิดโอกาสให้ มันก็อยู่ที่ว่าพื้นฐานน่ะ
ถาม : เมื่อเวลาอยู่ทางโลก การปฏิบัติภาวนาทำได้ยากกว่า ถ้าต้องการหลุดพ้น ต้องสละทุกอย่างแล้วบวชหรือไม่ ขอความกรุณาเท่านี้.. ชี้แจงค่ะ..
หลวงพ่อ : ถ้าอยู่ทางโลกน่ะ มันมีนะ ทางโลกที่พาหิยะฟังเทศน์หนเดียวใช่ไหม อยู่ทางโลกมันก็ต้องแบบว่า ประสาเรา พระนี่นะเวลาปฏิบัติก็ลงทุนลงแรงไปตามเนื้อผ้า แต่ถ้าอยู่ทางโลก เวลาจะปฏิบัติเพื่อจะหลุดพ้น ต้องลงทุนลงแรงมากกว่าพระนะ มากกว่าพระ เพราะพระปฏิบัติ พระนี่เป็นสมณสารูป เป็นพระโดยข้อเท็จจริง สังคมเขายอมรับ
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติก็พระก็ต้องปฏิบัติเป็นธรรมดา แต่ถ้าทางโลก โลกเขาต้องทำมาหากิน พอทำมาหากินเป็นหน้าที่หนึ่ง เวลาปฏิบัติขึ้นมา นี่เป็นหน้าที่ที่ ๒ เห็นไหม ที่ว่าต้องลงทุนเป็น ๒ เท่า ก็เท่า ๑ คือการดำรงชีวิตใช่ไหม อีกทางหนึ่งก็เป็นทางที่จะหลุดพ้น ถ้าจะบอกว่าได้ไหม...ได้
แต่กรณีอย่างนี้นะ มันมีอยู่ ที่ลูกศิษย์มาหาคนหนึ่ง เขาบอกเขาอยู่ทางเชียงใหม่ มีสำนักหนึ่งเขาจะให้ปฏิบัติ ทุกคนอยากจะเป็นพระโสดาบัน ถ้าสมบัติส่วนตน มีไม่ได้ ต้องโอนเข้าสู่ส่วนกลางหมด นี่ถ้ามันไป โดนหลอกทันทีเลย คือมีเงินเท่าไร มีสมบัติเท่าไร ต้องโอนเข้าส่วนกลาง จะได้เป็นพระโสดาบัน เพราะเขาตีความกันไง ไม่ติดในทรัพย์สมบัติไง ไม่ติดในกายไง
เราจะพูดอย่างนี้ออกมา เพราะคำว่า ถ้าเราอยากหลุดพ้นมาก อยู่ทางโลกปฏิบัติอย่างไร ถ้าต้องการหลุดพ้น?
ถ้าอยากจะหลุดพ้นมาก จนเราตั้งเป้าว่าเราจะหลุดพ้นอยู่อย่างเดียว แล้วเราพยายามหาเป้านี้ที่จะลงไปให้ได้ ถ้าไปเจอสำนักไหนบอกว่า มาหาฉัน แล้วฉันทำให้ได้นะ เรียบร้อย (หัวเราะ) เรียบร้อย เสร็จเลย ถ้ามีสำนักไหนอันหนึ่งนะ อยากหลุดพ้นมากใช่ไหม มาทำตามที่บอกนี่หลุดพ้นแน่นอนเลย...หมดตัวนะ หมดตัว
การหลุดพ้น มันหลุดพ้นที่ใจ มันไม่ได้หลุดพ้นอยู่ที่ข้างนอก ทีนี้การหลุดพ้นอยู่ที่ใจ เราหลุดพ้น เราก็รู้ว่าหลุดพ้น เราไม่หลุดพ้น เราก็รู้ว่าเราไม่หลุดพ้น เราเป็นคนรู้เอง ฉะนั้น วิธีปฏิบัติขึ้นมา เราถึงจะต้องตั้งใจทำของเรา ตั้งใจทำ ทำเป็น ๒ เท่า เพราะ ๒ เท่า เพราะว่าหน้าที่การงาน เว้นไว้แต่.. ไม่เว้นไว้แต่หรอก.. มี แต่ประสาเรา มันมีแต่น้อย.. เนอะ
อย่างกรณีที่เชียงใหม่ ทีแรกกลุ่มเบ้อเร่อเลยนะ ปฏิบัติน่ะ แล้วก็ลาออกไปเลย ลาออกไปเลย เหลือ ๓-๔ คน ลาออกไปเรื่อย แต่เขาปฏิบัติได้จริง เพราะเขาทำกันจริง ถ้าเราจะเอาจริง ต้องทำอย่างนั้น
๑. ต้องทำอย่างนั้น
๒. ถ้าเราแบ่งแยก แบ่งเวลาให้ถูกไง แบ่งเวลาให้ถูก หน้าที่การงานก็ทำงาน ถ้าทำงานนะ
ถ้าเป็นเรานะ ถ้าเป็นเรานะ ถ้าเราหาเงินหาทองพอ พอสมควรกับการดำรงชีวิตในชาตินี้ ถ้าเราคิดว่าเราอยู่เรากิน ปัจจัยเครื่องอาศัย เราจะอยู่เรากินโดยที่เราประหยัดมัธยัสถ์ ถ้าชีวิตนี้เราพอกินนะ ถ้าใจเรามั่นคงจริงนะ เราสละเลย แล้วเราปฏิบัติ เราปฏิบัติเลย ปฏิบัติในเพศฆราวาสก็ได้ จะปฏิบัติในเพศที่นักบวชก็ได้ ถ้าเราจะเอาจริงนะ
ทีนี้ คำว่า จริง มันมี สังเกตได้ไหม เราดูข่าว มันจะมีพวกนักแสดง พวกอาชีพศิลปินนี่เยอะมากเลย เวลาเขาไปบวชปั๊บนี่ โอ้โฮ.. ไม่สึก พวกแม่ชีนะ พวกดารามาบวชเป็นแม่ชีน่ะ จะไม่สึก จะหลุดพ้นไปเลย พออยู่ไปสัก ๕ ปี ๑๐ ปี นะ พอบวชมาแล้ว มาศึกษาศาสนา ศาสนาต้องบอกว่าต้องให้เป็นประโยชน์กับสังคม คือจะหาทางสึกว่างั้นเถอะ พอ ๕ ปี ๑๐ ปี ใจมันพลิกไง พอภาวนาไปไม่ได้แล้ว มันจะหาทางสึก แต่มันจะหาทางลงน่ะ บวชมาแล้วนี่นะ ศาสนาสอนว่าให้รับผิดชอบสังคม ต้องสึกออกไปเพื่อไปช่วยสังคม
ใจของคนนะ มันไม่แน่นอน แต่ถ้ามันแน่นอนนะ เราปฏิบัติให้จริงจัง ถ้าจริงจังนะ จิตเราได้สัมผัส จิตเราได้รับรู้นะ จิตมันสัมผัสนะ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของสมาธิธรรม ถ้าคนไม่เข้าใจทำไมติดว่าสมาธินี่เป็นนิพพานได้
รสของกามโลกก็ติด รสของกามเป็นรสที่ติดข้องกันมากที่สุด ถ้ารสของธรรมไม่เหนือรสของกาม มันจะข้ามกามราคะขึ้นไปได้อย่างไร ทิ้งกามราคะไปแล้ว มันยังไปเจอตอของจิต
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ความผ่องใส ความสว่างไสว ความเฉา ความเหงา มันไปอยู่กับตัวมันเองน่ะ ตัวมันเองเดี๋ยวผ่องใส เดี๋ยวเศร้าหมอง เดี๋ยว.. ตัวนั้นไม่ใช่กามแล้วนะ มันผ่านจากกามไปแล้วนะ พลังงานเฉยๆ ตัวจิต ธรรมชาติ เดี๋ยวมันก็สว่าง เดี๋ยวมันก็ผ่องใส เดี๋ยวมันก็เฉาของมัน แต่เฉาเล็กน้อยอยู่อย่างนั้นน่ะ นี่มันเป็นของมันอยู่โดยธรรมชาติของมันนะ ไปทิ้งตัวนั้นน่ะมันถึงจะสิ้นจากกิเลส สิ้นจากภพ ตัวนี้ตัวภพ นี่เราถึงพูดว่า พระอรหันต์ไม่มีจิต ตัวนี้ตัวจิต คือตัวรับรู้ ตัวข้อมูล ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตตัวที่มาเกิด ตัวนี้ตัวมาเกิด เพราะอะไร เพราะถ้าตายตรงนี้ไปไปเกิดเป็นพรหม มันยังไปเกิดอยู่น่ะ
ถ้ามันปรารถนา เราปรารถนา เราก็พยายามตั้งใจทำ ตั้งใจทำของเรา เราจะบอกว่าต้องเสียสละทั้งหมด ออกมาบวชอย่างเดียว ที่ไม่บวชเป็นพระอรหันต์ก็มี ที่บวชเป็นพระอรหันต์ก็มี ที่บวชแล้วไม่ปฏิบัติ ที่บวชแล้วทำตัวเลวทรามก็มี มันก็อยู่ที่เรา เราจะเอาจริงขนาดไหน ถ้าเราเอาจริงนะ เราก็หาทาง หาทางของเรา ถ้าหาทางของเราก็เป็นไปได้ คำถามนี่ก็มีแค่ที่ว่า จะต้องบวชหรือไม่ต้องบวช ไม่บวชก็ปฏิบัติ หลายคนไม่บวชเขาก็ถึง เข้ามรรคผลได้ บวชแล้วก็เข้าได้ ทั้งสองประเภท เข้าได้ก็มี เข้าไม่ถึงก็มี มันก็เป็นที่เราตั้งใจ
เราเห็นที่หลวงตานะ บางคนไปขอลาออกจากราชการมาบวช ท่านก็ให้ บางคนไปขอลาออกจากข้าราชการมาบวช ท่านไม่ให้ ท่านบอกให้อยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วภาวนาไป เพราะถ้าลาออกจากราชการมาบวชแล้ว แล้วถึงเวลาบวชไปแล้ว.. ไม่มีปัญหาหรอกถ้าทำไปได้ แต่ถ้าใจมันไปท้อถอยข้างหน้าล่ะ เราก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ถ้ามันจะสึกออกไป ถ้ามันไม่สึกออกไปนะ มันก็ดันไปให้ได้ มันก็ไปได้
มันก็เหมือนกับเรา ดูสิ ของเรา น้องๆ นั่งอยู่นั่นน่ะ ตอนบวชทุบหม้อข้าวเลย ทุบหม้อข้าวเลยนะ ที่ดินทุกๆ อย่างโอนลอยหมด คือเราจะบวชนี่เราทุบหม้อข้าวเลยล่ะ สมบัติมีทั้งหมดแจกหมด แจกเสร็จแล้วนะ ที่ดินอะไรนี่โอนลอยไว้ให้หมดเลย โอนลอย โอนให้เขาหมด โอนให้เขาหมด ทุกอย่างโอนให้หมด คือว่ามึงกลับมาไม่ได้ สมบัติมึงไม่มีแม้แต่สลึงเดียว มึงไม่มีอะไรเหลือเลยล่ะ เราออกบวชนี่เราทุบหม้อข้าวเลยนะ.. ไม่กลับ! ไม่หันกลับมาอีกแล้ว
แล้วพอไปแล้วนะ.. เมื่อวานโยมเขามา เล่าให้เขาฟังน่ะ บอกว่าพอบวชไปพรรษา ๑ พรรษา ๒ โอ้โฮ.. มันเสื่อมน่ะ ทุกข์.. ถอยก็ไม่ได้ ไปหน้าก็ไม่ได้ มันไม่มีใครสอนน่ะ ไปถามใคร ใครก็ตอบไม่ได้ ไปไหนมาสามวาสองศอก ทุกข์ฉิบหายเลย! พอดีธุดงค์ไป แบกกลดไปเรื่อย ถอยก็ถอยไม่ได้ ไปข้างหน้าก็ไปไม่รอดเพราะไม่มีใครบอก
จนไปเจอหลวงปู่จวน อวิชชาอย่างหยาบมึงสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางมึงยังไม่เห็นมัน อวิชชาอย่างละเอียดยิ่งเยอะแยะเลย พอเขาบอกเป้าหมายให้เราเดินได้ เห็นไหม พออวิชชาอย่างหยาบสงบตัวลง คือยังมีทางเดินไปได้อีก มันก็เลยลุยเข้าไปอีก พอลุยเข้าไป อยู่ที่นั่นน่ะที่ภูวัว-ภูทอก มันได้ผลเลย ได้หนึ่งเลย ได้เลย พอได้เลย เครื่องบินตกอีก โอ้โฮ.. เข้าบ้านตาดอย่างเดียว บางทีมันไปมันต้องอาศัยความเข้มแข็ง อาศัยความเข้มแข็ง อาศัยความจริงจัง อาศัยความต่อเนื่อง
เข้มแข็ง เราเห็นไหม ลูกศิษย์เราเข้มแข็งเยอะแยะเลย โอ้โฮ.. เข้มแข็งมาก ปฏิบัติเดินจงกรมยิ่งกว่าเราอีกนะ แต่มันไปไม่ได้ เพราะมันไม่ต่อเนื่อง เราเข้มแข็งแล้ว เราดันอย่างเดียวเลย ดันไปอย่างนี้ เวลามันปล่อยนะ พิจารณาไปแล้วปล่อย.. ปล่อย.. ปล่อยขนาดไหนก็ทำ ปล่อยแล้วก็คือเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันต้องซ้ำอีกๆๆๆๆ เพราะมันเคยเจริญแล้วเสื่อมไง พอเจริญแล้วเสื่อมแล้ว พอมันเคยคิดว่าดี เห็นไหม มันไม่เป็นความจริง คำว่า คิดว่าดี หมายถึงว่าเราภาวนาแล้วว่าดีที่สุดของเรา โอ้โฮ.. ว่างหมดเลยนะ ก็คิดว่า อื้ม.. มันดีแล้วไง แล้วพอดีแล้วรักษาไม่เป็น มันก็หมดน่ะ พอหมดแล้ว พอมันก็เป็นอย่างนี้ ๒-๓ เที่ยว ตั้งแต่นั้นมันก็เข็ด
พอเข็ดขึ้นมา พอพิจารณา ดีขนาดไหนนะ ไม่ปล่อย ดีขนาดไหนก็ดันมันไป ดีแล้วก็ดันไปอีก ดันไปๆๆๆๆ ดันไปถึงที่สุดนะ คือดันไปแบบว่าไม่มีเป้าหมาย ไม่มีสิ่งใดรองรับ ดันไปแบบตามข้อเท็จจริง ดันไปๆๆ ถึงที่สุดมันขาดพั้บ ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ รู้เองเห็นเองนะ มันประกาศกลางหัวใจเลย พิจารณาไปมันปล่อย ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ พึ๊บ แยกออกหมดเลย พอถึงตรงนั้นปั๊บ อ้อ! มันคิดในใจเลยนะ ตั้งแต่นี้ไป เอาตัวรอดได้แล้ว เอาตัวรอดได้แล้ว
แล้วพอดีเครื่องบินตกด้วย ขนาดเอาตัวรอดได้แล้วนะ ต้องเข้าบ้านตาดเลย เวลาพูดถึงพระอานนท์ พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพาน พระอานนท์ยืนร้องไห้ ไปยืนเกาะประตูอยู่ ร้องไห้เลยว่า เราเป็นแค่โสดาบัน ยังต้องการมีคนสอนอยู่ พระพุทธเจ้าก็จะนิพพานแล้ว เสียใจนะ พระโสดาบันยังยืนร้องไห้เลย อาจารย์ พระพุทธเจ้าตายไปแล้วจะไม่มีคนสอน นี่ความรู้สึกอย่างนั้น เวลาเครื่องบินตก โอ้โฮ.. ประสาเราเลย มึงไม่มีทางไปแล้วล่ะ มึงต้องไป.. คิดประสาเราเลยนะ แล้วเข้า พอเข้าไปมันก็ไปต่อสู้กันมา
นี่พูดถึงความเข้มแข็งว่าจะต้องบวชหรือไม่ต้องบวชนะ
ถาม : เมื่อจิตสงบแล้ว กำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ต้องกำหนดไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับพุทโธ ระยะเวลาต่อเนื่อง.. ต้องทำอย่างไรต่อไปในระยะต่อไป
หลวงพ่อ : เมื่อจิตสงบแล้ว กำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
กำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าจิตสงบแล้วนะ มันกำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กำหนดนี่กำหนดไปเรื่อยๆ ใช่ไหม เมื่อจิตสงบแล้วถ้ากำหนดได้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนไว้ว่าเวลาเรากำหนดจิตเราเข้าไปตามข้อกระดูก ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่ แล้วก็มาข้อมือทางซ้าย-ทางขวา ขึ้นไปศีรษะแล้วลงมา นี่ก็คือกำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
กำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไอ้นี่มันเป็นกรรมฐาน ๕ แต่อุบายของหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านกำหนดตามข้อกระดูก มันก็เหมือนกำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ท่านพูดอย่างนี้ ถ้าจิตของเรามันไปตามข้อกระดูกที่เรากำหนด (เรากำหนดคือเราสร้างภาพไง เรานึกภาพข้อกระดูกเรา) แล้วจิตมันเดินอยู่ตามข้อกระดูก แสดงว่าจิตมันดี จิตมันเป็นสมาธิ มันถึงจะอยู่ในข้อกระดูก มันไม่แฉลบออกได้ ถ้าจิตมันแฉลบออกจากสิ่งที่เรากำหนดไว้ นี่สมาธิเราไม่ดี พอกำหนดจนจิตมันสงบ จิตมันใส จิตมันสงบ การเห็นข้อกระดูก พิจารณากาย มันไม่เห็นเป็นข้อกระดูกอย่างนี้
คำว่า กำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง คำว่า กำหนด คือกำหนดดู กำหนดเพ่ง กำหนดอย่างนี้มันก็เป็นสมถะ ทำต่อเนื่องกันไปเรื่อย กำหนดเห็นโดยที่เรา.. เหมือนกับสามัญสำนึกใช่ไหม อย่างเช่นกระดูกเราก็นึกภาพกระดูกออกจริงไหม เราเห็นภาพกระดูกสักอย่าง กำหนดอย่างนี้มันเป็นเหมือนคำบริกรรม
แต่พอจิตมันสงบขึ้นมา ทำต่อไป ทำอย่างไรต่อไป พอกำหนดไป พอจิตมันสงบดีขึ้น การเห็นข้อมือนี่มันเห็นโดยจิต มันไม่ใช่เห็นโดยการกำหนดนะ กำหนดแล้วเรากำหนดให้เห็น แต่ถ้ามันเห็นน่ะ มันเห็นโดยที่มัน.. คำว่า กำหนด เรามีข้อมูลไง เราต้องการเห็นสิ่งภาพสิ่งใดที่เราต้องการ เรากำหนดให้ดูเห็นภาพนั้น แต่ถ้ามันเห็นเองล่ะ พอจิตมันสงบมันเห็นเหมือนกัน แต่ภาพที่เห็นมันไม่ใช่การกำหนดไง การกำหนดคือเราควบคุม
แต่ถ้ามันเป็นธรรม เป็นธรรมนี่เราควบคุมมันไม่ได้ มันจะเป็นตามข้อเท็จจริง! ตามข้อเท็จจริง ตามอำนาจวาสนาของจิต อำนาจวาสนาของจิตของแต่ละบุคคล เห็นไหม บางคนพอจิตสงบขึ้นมา เห็นโครงสร้างของร่างกาย บางคนจิตสงบเห็นเส้นผม เห็นกระดูก เห็นกะโหลกศีรษะ เห็นตับ เห็นไต เห็นปอด เห็นอวัยวะแต่ละส่วนๆ แต่ละชิ้น
มันไม่ใช่.. ถ้าเรากำหนด ผมก็คือผม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรากำหนดมันก็ต้องเป็นภาพสิ่งที่เรามีโปรแกรมอยู่แล้ว การมีโปรแกรมอยู่แล้ว ก็เหมือนเราศึกษาปริยัติ ธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วเราปฏิบัติไป ทุกคนเลยนะ กลัวผิด กลัวผิด กลัวผิดธรรม มันเป็นกรอบไง คำว่า กรอบ มันไม่ใช่จิตแล้วนะ จิตสร้างภาพแล้ว การกำหนดนี่จิตกำหนด
แต่พอจิตมันสงบแล้ว นี่ไม่ใช่กำหนด มันเป็นสัจธรรม มันเห็นเอง จากที่อาศัยการกำหนดขึ้นมาน่ะถูก อาศัยการกำหนดขึ้นมาก่อน หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดบ่อย พิจารณา ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นสมถะ มันยังไม่เป็นวิปัสสนาหรอก เอาจิตเดินในกาย หมุนไป มันเป็นสมถะ คือถ้ามันอยู่ในกายได้มันไม่ออก แสดงว่ามันเป็นสมถะ คือมันเป็นสมาธิ คือมันตั้งมั่น
แต่ถ้ามันเดินในกาย มันเดินไม่ได้ มันเดินแล้วมันไม่ไป ภาพมันไม่เห็นไง
๒. มันแฉลบ มันไม่ยอมอยู่ นั่นน่ะ มันไม่มั่นคง
ความมั่นคงนั้นคือสมถะ ความมั่นคงนั้นคือสมาธินะ เดินในกายนี่เป็นสมาธิ พิจารณากายนี่เป็นสมาธิ ฉะนั้น พิจารณากาย เพราะคำว่า พิจารณากาย มันก็เหมือนกับกำหนดพุทโธ พุทโธๆๆ ก็ภาพนึก พุทโธเรานึกขึ้นมานะ พุทโธๆ พุทโธๆๆๆๆ จนพุทโธกับจิตเป็นอันเดียวกันนึกไม่ออกเลย เอ๊อะๆ เอ๊อะๆ เรานึกไม่ได้เลย นั่นน่ะสมาธิ
แต่ยังนึกพุทโธได้ ต้องนึก แต่เรา พุทโธๆๆ.. แล้ว มันว่างๆ ว่างๆ.. เรายังว่างๆ อยู่เลย เรานึกพุทโธได้ แต่เราไม่นึก ไม่นึกเพราะอะไร เพราะนึกมันสะเพร่า มันสะเพร่าเพราะมันคิดว่าไม่นึกนี่คือจิตที่เป็นสมาธิ ถ้านึกแล้วจิตมันหยาบ ทั้งๆ ที่จิตมันยังไม่ละเอียดพอ เพราะมันยังนึกได้ เหมือนอาหาร เราทำแล้วมันยังไม่สุก เราคิดว่าสุก แต่มันยังดิบๆ สุกๆ อยู่ ก็เลยคาอยู่ ดิบๆ สุกๆ สุกๆ ดิบๆ.. ว่างๆ ว่างๆ.. แต่มันไม่สุกจริงกินไม่ได้ เพราะมันยังนึกได้ แต่ไม่นึก ด้วยความสะเพร่า .. สะเพร่า.. เราใช้คำว่า สะเพร่า นะ
แต่ถ้าพูดภาษากิเลสนะ มันหลอก กิเลสมันหลอก มันไม่ให้เข้าไปอีก ถ้ามันยังนึกได้ ถ้ามันยังว่างๆ อยู่นะ ถ้ายังนึกพุทโธได้ จิตนั้นยังไม่เข้าถึงฐีติจิต มันยังไม่เข้าถึงที่ พุทโธๆๆๆๆๆ เราพยายามนึกพุทโธเลยนะ พุทโธ แล้วมันทึ่งนะ พุทโธๆ เอ้า.. พุทโธมันหายไปน่ะ ฮึ้ย.. ทำไมพุทโธไม่ได้ อย่างนี้จริงๆ นะ ถ้าพุทโธมันหายนะ เรายังงงเลยน่ะ พุทโธๆๆ อยู่ มันหายไปเลย มันนึกพุทโธไม่ได้ แต่ตัวมันยังมีอยู่นะ นี่แหละคือสมาธิ
แต่นี่ พุทโธๆๆๆ.. ว่าง! ว่างแล้ว
เวลาเราจะถามเขา เราต้องบอกว่า สมมุติว่านึกพุทโธจะนึกได้ไหม?
ได้ค่ะ
รู้ตัวอยู่ รู้ๆ อยู่นี่นะ จะบอกให้ นี่ไม่นึกพุทโธเอง มันนึกไม่ได้ เขาจะเถียงมาร้อยแปดเลย เราจะใช้อุบาย สมมุติว่าถ้าจะนึกพุทโธนี่นึกได้ไหม
ได้ค่ะ
ร้อยทั้งร้อย ได้ทุกคนน่ะ มันไม่เข้าถึงไง พวกเราโดนกิเลสหลอก
ในการพิจารณากายก็เหมือนกัน เพราะการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันก็เอามาเป็นเหมือนกับคำบริกรรม คือเราอาศัยจิตออกไปพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง คือออกไปทำความสะอาดมัน เหมือนกับของที่เราเก็บไว้ เราเอาออกจากตู้มา เอามาทำความสะอาด ของที่มันอยู่ในหัวใจนี่มันสกปรก แล้วเราทำความสะอาดมันไม่ได้ เรากำหนดพุทโธ กำหนดกระแส กำหนดความรู้สึกออกมาที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราดึงสิ่งที่ความคิดความอ่านของเราออกมาอยู่ที่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วใช้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทำความสะอาดมัน
พอทำความสะอาดมัน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาไปเรื่อย.. พิจารณาไปเรื่อย.. มันก็ออกมาหมุนเวียน เหมือนตู้ซักผ้าเลย มันปั่นน่ะ มันหมุน จิต ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง.. มันก็หมุน จิตออกมาทำความสะอาดมัน ตู้ซักผ้ามันปั่นขึ้นมานะ เสื้อผ้ามันก็จะโดนแรงเหวี่ยง ทำความสะอาดได้ จิตมันออกมา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ
เราถึงบอก วันนี้พูดให้ชัดเจนว่า ถ้าจิตสงบแล้วถึงใช้ปัญญาได้ แต่ถ้าจิตยังไม่สงบก็ใช้ปัญญาได้ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ
แต่เราจะบอกว่า จิตถ้าไม่สงบ ถ้ามาใช้ปัญญา มันเป็นโลกียปัญญา
นี้เราพูดเพื่อเป็น.. จิตผ่องใสแล้ว จะเห็นอวิชชา น้ำใสแล้วจะเห็นปลา นี่เหมือนกัน ถ้าน้ำใสจะเห็นปลา แล้วพอน้ำใสแล้วมันเห็นปลาที่ไหน เวลาจิตมันว่างจิตมันสงบแล้วไม่เห็นกาย ไม่เห็นอะไรเลย มันต้องรื้อค้น มันต้องรื้อค้นเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน พูดว่า จิต ถ้ามันเป็นโลกียปัญญา-โลกุตตรปัญญา..
เราจะบอกตรงนี้ไงว่า น้ำขุ่นๆ น้ำขุ่นอยู่นี่ มันก็มีปลา ถ้าน้ำขุ่นอยู่น่ะ คนมีแหมันก็ทอดปลาได้ แต่น้ำใสมันก็ยิ่งทอดได้ง่ายกว่า จิตถ้ามันสงบขึ้นมา เหมือนน้ำใสก็เห็นปลาได้ชัดเจน มันก็ทำอะไรได้ง่าย ถ้าจิตมันยังไม่ใส มันขุ่นอยู่ ขุ่นอยู่ก็ใช้ปัญญาได้ แต่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิไง มันเป็นสมถะ
จะเป็นสมถะ-เป็นวิปัสสนา มันก็ไม่เสียหายน่ะ มันจะเป็นสมถะ-มันเป็นวิปัสสนา ก็คือเรา เราหิวข้าว เราก็กินใช่ไหม หิวน้ำเราก็กินน้ำ ก็อิ่มน่ะ นี่เหมือนกันในเมื่อเรายังหิวอยู่ มันจะเป็นสมถะหรือจะเป็นวิปัสสนา มันก็คือเราน่ะ มันจะเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน แต่เราภาวนาเราไปเรื่อยๆ เราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จิตให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็ถูกต้องน่ะ
แต่นี่เราไปเอาตำรามาขึงไว้ก่อนไง อันนี้เป็นสมถะ.. ไม่เอา.. มันช้า.. จะเอาวิปัสสนา แล้วมันวิปัสสนาไม่ได้น่ะ ก็วุฒิภาวะของมึงมันต้องสมถะน่ะ ก็วุฒิภาวะของมึงมันเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ยอมรับวุฒิภาวะของตัว มันจะไปเอาวิปัสสนา มันก็เลยไม่ได้ทั้งสองฝ่ายไง ตัวเองก็เลยไม่ได้อะไรไง
มันจะเป็นอะไรนะ เหมือนของเราน่ะ หิวก็กิน พอกินเข้าไปแล้ว พอมันมีอาหารขึ้นมา มันจะอิ่ม มันจะมีความรู้สึก ก็เรารู้ทั้งนั้นน่ะ มันจะไปจำเป็นอะไรล่ะ ก็กระเพาะของเราน่ะ นี่ก็คือจิตของเรา มันจะเป็นอะไรก็ให้มันเป็นไป
เพียงแต่ว่าที่เราบอกว่า ที่เป็นสมถะ-เป็นวิปัสสนา ผลลัพธ์น่ะมันเป็นเราเหมือนกัน ผลลัพธ์ที่ว่าว่างๆ ว่างๆ นั้นน่ะ นั่นเป็นมิจฉาสมาธินะ แต่ถ้ามันเป็นว่างจริงนะ ว่างๆ ว่างๆ นั่นเป็นสมาธิ นั่นเป็นสมถะ แล้วมันยังไม่วิปัสสนา ถ้าเป็นวิปัสสนานะ มันจะไม่บอกว่างๆ มันจะบอกว่ามันใส่แผลอย่างไร มันใส่ยาอย่างไร มันรักษาโรคอย่างไร แล้วแผลนี่นะเนื้อมันเต็มขึ้นมาอย่างไร จากบาดแผลมันเป็นแผลลึกเลย แล้วพอรักษาไป เนื้อมันจะงอกขึ้นมา จนเป็นผิวหนังพอดีเต็มเปี๊ยะ นี่มันชัดเจนของมันอย่างนั้นนะ นี่มันถึงเป็นวิปัสสนา คือการรักษาทำให้มันกลับมาสภาพคงที่ สภาพที่ดีขึ้น แต่ถ้าสมถะ คนเจ็บคนป่วย ต้องพยายามให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อให้สดชื่นขึ้นมา เพื่อจะได้รักษาตัวเองขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับการรักษา
พูดถึงว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้ทำอย่างไรต่อไป
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เมื่อจิตสงบแล้วกำหนดไป แล้วถ้ามันกำหนดได้แล้วก็กำหนดไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ พุทโธ พุทโธ กับ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กับขันธ์ ๕ เหมือนกันหมด พุทโธนี่เป็นพุทธานุสติ เป็นคำบริกรรม ถ้าพูดถึงถ้าเป็นปัญญาสมาธิก็เป็นธรรมารมณ์ เพราะมันเป็นความรู้สึก เรานึกพุทโธๆ เห็นไหม เป็นอารมณ์ที่เป็นธรรมะ ธรรมารมณ์ พุทโธๆ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ มันจะสันทิฏฐิโก จิตมันจะรู้ เรานี่รู้เอง
ตอนนี้นะ เรามีความสงสัย เรามีความกังวล พอเราไปปฏิบัติปั๊บ พอจิตมันสงบขึ้นมาน่ะ เอ๊าะ! ความกังวลนั้นหายไป เห็นไหม ความกังวล ความสงสัยที่เราเคยสงสัยจะหายทันทีเลย นี่ก็เหมือนกัน พอเรากำหนดไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ มันสันทิฏฐิโก มันจะรู้อย่างนี้ มันจะลึกเข้าไป มันจะปล่อยวางเข้าไป ความปล่อยวาง มันมีหลายชนิดนะ
หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เวลาคนที่ภาวนา ฟังทีเดียวก็รู้ ท่านจะบอกเลย พูดมาเถอะ ฟังทีเดียวก็รู้ แต่เวลาเราไปถามครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่แล้วเขาถามแล้ว ทำไมอาจารย์ไม่ฟังหนูเลย อาจารย์ฟังให้จบก่อนสิ มันก็เหมือนเด็กๆ น่ะ มันพูดอย่างนี้มาตลอด พอฟังปั๊บรู้แล้ว ทีนี้บางทีเพื่อโอกาสเขาให้เขาพูดได้เต็มที่ แล้วค่อยๆ อธิบาย เพียงแต่เวลาเราจะน้อยไปเรื่อยๆ มันฟังทีเดียวมันก็ฟังออกนะ อันนี้อันหนึ่ง ทำไปๆ ด้วยความขยันของเรา
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง.. พุทโธก็ได้.. ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ได้ กำหนดไป.. กำหนดไป.. พอกำหนดจิต จิตมันเห็นจริงแล้วจับ ผมมันเป็นอย่างไร ผมมันประกอบไปด้วยสิ่งใด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นได้อย่างไร ถ้ามันเห็นนะ ขยายส่วน-แยกส่วน ขยายส่วน-แยกส่วนน่ะ ปัญญามันเกิด พอปัญญามันเกิด งานอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ
งานจากข้างนอกเราทำหน้าที่การงาน เราทำบุญกุศล ทำเพื่อเรา ถึงที่สุดแล้วนะ ต้องไปภาวนา การภาวนา เห็นไหม การภาวนาเป็นการฝึกปัญญา การภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราไม่มีสมาธิ ปัญญามันจะเกิดได้อย่างไร มันจะมีโอกาสภาวนาได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นสัญชาตญาณที่มันจะปล่อย นั้นมันเป็นแค่พื้นฐานของมนุษย์ แต่พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว เราใช้ปัญญาได้ขึ้นมา เห็นไหม ปัญญาอย่างนี้มันเกิดจากสติ เกิดจากสมาธิ แล้วมันมีปฏิภาณไหวพริบ พอออกมาดำรงชีวิตกับทางโลก เราจะเข้าใจอะไรดีขึ้นมากๆ เลย
ดูสิ เวลาคนฟุ้งซ่านน่ะ อ่านหนังสือก็ไม่เข้าใจ ทำอะไรก็เครียด แต่พอทำจิตสงบขึ้นมาแล้ว ความฟุ้งซ่านนั้นหายไป การทำหน้าที่การงานมันทำได้ เขาว่า สุขในงาน มันทำขยันหมั่นเพียรไง ทำให้เสร็จ.. ทำให้เสร็จ.. ทำให้เสร็จ.. เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของเรา.. เป็นหน้าที่ของเรา.. จิตใจมันไม่วอกแวกออกไปจากงาน ทำงานได้ชัดเจนขึ้น แล้วชีวิตของเรา ปฏิภาณไหวพริบมันจะดีขึ้น มันดีขึ้นนะ
ดูการศึกษานะ ถ้าจิตมันดี สมาธิมันดี สติดี การศึกษาเล่าเรียนมันไปได้ สิ่งที่เราศึกษาแล้วไม่เข้าใจ เราเครียด เราวิตกกังวล นี่มันขาดสติ-ขาดสมาธิ แล้วพอมีสติ มีสมาธิแล้ว เราเห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตามความเป็นจริง เราใช้ปัญญาแล้ว นี่ปัญญามันเกิด มันเกิดเป็นปฏิภาณ การภาวนาจะทำให้เกิดสติปัญญา
สติปัญญาเกิดจากการภาวนานะ สติปัญญาของพวกเรานี่เกิดจากการภาวนา เกิดจากรู้จักตน เกิดจากการพัฒนาหัวใจของตน แล้วมันรู้ทันน่ะ โธ่.. กิเลสของเราน่ะ ความจริงในหัวใจของเรา เรารู้ทันแล้ว แล้วข้างนอกทำไมจะรู้ทันไม่ได้.. เรารู้ทันได้ ใจเขาใจเรานะ อันนี้มันเป็นประโยชน์
เข้าใจ?
จบยัง เอวัง