ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฤทธิ์กับธรรม

๑๙ เม.ย. ๒๕๕๒

 

ฤทธิ์กับธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม เทศน์วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพูดถึงเรื่องศาสนา ถ้าพูดถึงโดยทั่วไป เขาก็ดูความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องฤทธิ์เรื่องเดช เห็นไหม เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ แล้วเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ มันมีมาตั้งแต่สมัยสงคราม เราชาวพุทธ สงครามเห็นไหม ครูบาอาจารย์ เขาต้องทำสิ่งที่ว่ามันเป็นอะไรนะ เขาเรียกคงกระพันนะ เพื่อประโยชน์กับประเทศชาติ

แล้วเวลาออกศึก เห็นไหม ภิกษุเวลาเขาออกศึก ภิกษุห้ามไปดู ภิกษุห้ามเข้าไปในกองทัพ เป็นอาบัติหมดนะ แต่ทำไมเวลาของเรา เวลาพวกทหารจะออกรบ ทำไมให้พระพรมน้ำมนต์ เวลาพูดถึงธรรม เรื่องศาสนานะ พระพรมน้ำมนต์ เห็นไหม เวลากลับจากสงครามมา พระก็พรมน้ำมนต์อีก

แล้วเวลาพระสอนนะ ปาณาติปาตาฯ อย่าฆ่ากัน อย่าทำลายกัน แล้วเขารบทัพจับศึกกลับมา ทำไมพระไปพรมน้ำมนต์ให้ คือเหมือนกับเห็นดีเห็นงามด้วย แต่ความจริงมันไม่ใช่ มันเหมือนคนมาถาม ทุกคนจะถามมากเลย ว่าอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เป็นกรรมไหม เป็นกรรมไหม มันเป็นเรื่องสุดวิสัยนะ เพราะในร่างกายเรา มันก็มีเชื้อโรค

ครูบาอาจารย์บางองค์ เห็นไหม ท่านก็ยังไม่ยอมรักษา ท่านบอกมันก็มีชีวิต แต่สำหรับของเรา นี่มันเป็นเชื้อโรค ถ้าเรากำจัดเชื้อโรคแล้ว ร่างกายเราจะแข็งแรง แล้วเราจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มันเกี่ยวเนื่องกันนะ อย่างสมอง อย่างร่างกายกับจิตใจ ถ้าไม่มีจิตใจนะ สมองนี่คิดไม่ได้หรอก

แต่ทางวิทยาศาสตร์บอกนะ คนนี่คิดด้วยสมอง ทุกอย่างจำด้วยสมอง สมองนี่มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่สมอง ถ้าไม่มีหัวใจ คิดไม่ได้หรอก เวลาภาวนาไป จิตสงบหมดเลยนะ จิตนิ่งหมดเลยนะ ทำไมความรู้สึกมันมี ความรู้สึกมันมี แล้วเวลาคนนอนหลับ ทำไมสติมันไม่รู้สึกตัวล่ะ คนนอนหลับ

แต่นั่งสมาธิ สมาธิกับการนอนหลับมันต่างกัน ถ้าสมาธินะ เวลาสมาธิไป เรานั่งสมาธิไป สติจะรู้ตัวตลอดเวลา แล้วสมาธิ จากเริ่มขณิกะ อุปจาร เป็นสมาธิ ขั้นของอุปจาร มันจะรู้นิมิต มันจะเห็นต่างๆ มันก็เหมือนกับการนอนแล้วฝัน นอนแล้วฝันกับนั่งสมาธิต่างกัน

ถ้าคนไม่เคยภาวนา ตรงนี้แยกไม่ถูกหรอก อะไรผิดอะไรถูก แล้วพอมันอัปปนาสมาธิ มันสักแต่ว่ารู้เลยล่ะ แต่มันก็รู้ของมันอยู่เห็นไหม เวลาจิตกับกาย เพราะมันเข้ากับมหายาน มหายานบอกว่าเวลาถอดจิตๆ เหมือนปอกกล้วย เปลือกกล้วยกับกล้วยไม่ใช่อันเดียวกัน กายกับจิต เวลาถอดจิต มันจะถอดได้

ย้อนกลับมาที่ปาณาติปาตาฯ การฆ่าสัตว์เป็นปาจิตตีย์ การฆ่าสัตว์เป็นบาป ศีล ๕ เขาห้ามแล้ว พระก็ห้ามหมด แต่เวลาเราออกศึก ออกสงคราม มันเท่ากับรักษาศาสนา อย่างเช่นกรณีของหลวงตา เห็นไหม เวลาพระเขาพูดกันนะว่า เราทำบุญกุศลใช่ไหมเราก็สร้างบุญ บริจาคเงินเพื่อสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร นี่เป็นบุญ แต่โบสถ์วิหารมันตั้งอยู่บนอะไร มันตั้งอยู่บนแผ่นดิน

เวลาหลวงตาท่านกู้ชาติ พระบอกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์! ไม่ใช่กิจของสงฆ์! ไม่ใช่กิจของสงฆ์! โบสถ์วิหารมันตั้งอยู่บนไหน มนุษย์อยู่บนอะไร มนุษย์อยู่บนแผ่นดิน นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ทหารออกรบ ทหารออกรบ ถ้าไม่มีชาติ ศาสนามันอยู่ตรงไหน

ถ้ามันออกทำศึกสงคราม มันก็เท่ากับปกป้องศาสนา ถ้าไม่มีอาณาจักร พุทธจักรมันตั้งอยู่บนอะไร แล้วออกไปปกป้องๆ ออกไปดู ออกไปปกป้อง ปกป้องศาสนา ทีนี้ปกป้องศาสนาข้าศึก เห็นไหม สงครามชอบธรรม กับสงครามไม่ชอบธรรม การกระทำมันมีชอบ ไม่ชอบ มิจฉากับสัมมา ถ้าสงครามที่เป็นชอบธรรม อันนั้นถูกต้อง แต่สงครามที่ไม่ชอบธรรม ไปรุกรานเขา เป็นสงครามไม่ชอบธรรม

ฉะนั้น ไม่ชอบธรรมมันก็อยู่ที่หัวหน้าใช่ไหม เวลาเราสร้าง เราพูดกัน เวลาพระ ทำบุญได้บุญ ทำบุญต้องทำบุญๆ มันทำบุญของใคร ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับต้องรับด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ เห็นไหม เวลาสร้าง สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างสิ่งต่างๆ ก็แล้วแต่ ผลที่สุดนะ

หลวงตาพูดประจำเลย

“ถ้าไม่ได้ภาวนา ถึงที่สุดแล้วต้องไปภาวนา ถ้าไม่ภาวนา พ้นทุกข์ไปไม่ได้ มันไม่มีที่สิ้นสุด”

บุญนี้อันละเอียด อยู่ที่การภาวนาอย่างเดียว แล้วการภาวนา ใครเป็นคนทำ เราเป็นคนทำทั้งนั้น ฉะนั้น ย้อนกลับไป เห็นไหม เวลาสงคราม เรื่องฤทธิ์เรื่องเดช

ในสมัยสงครามโลกนะ เวลาพวกสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิด เวลาทิ้งระเบิด ทำไมพวกโบสถ์พวกวิหารไม่โดน เห็นไหม ฤทธิ์ไอ้พวกนี้มันเรื่องธรรมดานะ ดูโบสถ์วิหารเราสิ ทำไมยังมีเทพารักษ์รักษาล่ะ ทำไมเทวดารักษาล่ะ ไอ้พวกเทวดารักษาพวกนี้เพราะอะไร เพราะเขาก็ศรัทธาในศาสนา ในเมื่อเขาศรัทธาในศาสนา เขาปกป้องไง เรื่องอย่างนี้มันมี

แต่ถ้าเวลาพระเรา เห็นไหม เวลาพระเราประพฤติปฏิบัติ เรื่องนี้ในหัวใจ เห็นไหม เรื่องใจการแก้กิเลสมันสำคัญกว่า พอแก้กิเลสสำคัญกว่า อย่างหลวงปู่มั่น อย่างครูบาอาจารย์ เห็นไหม ทำไมเทวดาอินทร์พรหมมาฟังเทศน์ล่ะ มาฟังเทศน์ อริยสัจมันละเอียดกว่านั้นนะ แต่! แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันมีสายบุญสายกรรม

พอสายบุญสายกรรม การกระทำ มันมีสิ่งนี้รองรับ ถ้าสิ่งนี้รองรับ ทำบุญกุศล สิ่งนี้ได้ เราได้ของเรา ได้คุณงามความดีของเรา แล้วนี่ไง กลิ่นของศีลหอมทวนลม คุณงามความดีของเรามันหอมทวนลม ทำเพื่อคุณงามความดี เห็นไหม คนดีผีคุ้มๆ สิ่งที่ผีคุ้ม สิ่งนั้นคุ้มด้วย คุณงามความดีคุ้มด้วย

เทวดาพวกนี้ เขาคุ้มครองได้ แต่การคุ้มครองของเทวดา เห็นไหม คนดี ไม่ใช่ว่าคุ้มครองโดยวิทยาศาสตร์ ที่ว่า ต้องเคารพเทวดา ทุกอย่างเทวดา เวลาเทวดานี่นะ มันมีเทวดานุสติ เวลาคำบริกรรม คิดถึงเทวดา คิดอะไรต่างๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะดูพระนันทะสิ พระนันทะ เวลาแต่งงานแล้ว เห็นไหม พระพุทธเจ้าเอามาบวช พอบวชก็คิดถึงคู่ครองตลอดเวลา

ทีนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า

“เธอดูนะ ดูภรรยาไว้นะ” แล้วก็พาไปดูเทวดา ไปดูเทวดา เห็นไหม

“เทวดาสวยไหม”

“โอ๊ย สวยกว่าใครตั้งเยอะเลย”

“อยากได้ไหม”

“อยากได้”

“อยากได้พุทโธสิ”

พุทโธๆๆ เห็นไหม พุทโธๆๆ จนเป็นพระอรหันต์เลย ไปเอาเทวดาไหม ไม่เอา นี่ไง เทวดานุสติ แม้แต่เอาเทวดาเป็นนิมิตไง เป็นคำบริกรรม เห็นไหม เป็นคำบริกรรม ถึงที่สุดแล้ว มันละเอียดเข้ามา แล้วละเอียดเข้ามาจนจิตมันสงบได้ จิตสงบ สิ่งที่อริยสัจ อริยสัจมันเหนือกว่า

คำว่าเหนือกว่า ศาสนาพุทธเหนือกว่านั้น แต่โลกเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้มีอยู่ ตามวัดวาอาราม เห็นไหม มีเทพารักษ์ ปั้นเป็นรูปต่างๆ ไว้เฝ้า ไว้ปกป้องดูแล อันนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ถ้าเรื่องของธรรมนะ ถึงที่สุดทุกคนต้องดับขันธ์ไปข้างหน้าเด็ดขาด

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องปรินิพพาน

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตคืนนี้ก็ต้องนิพพาน แม้แต่ตถาคตยังต้องจากสิ่งนั้นไป”

เราศึกษา เห็นศาสนา เห็นไหม สิ่งที่มีคุณสมบัติจากข้างนอก คุณสมบัติจากข้างนอกนะ สิ่งที่เราจับต้องได้ แล้วก็สิ่งที่เป็นคุณสมบัติจากข้างใน สิ่งที่เป็นคุณสมบัติจากข้างในคือเรื่องอริยสัจ สิ่งนี้เป็นคุณสมบัติ เห็นไหม แล้วเรารื้อค้นหาให้เจอ ถ้าเรารื้อค้นหาให้เจอนะ เราคนมีหลักมีเกณฑ์ คนมีหลักมีเกณฑ์นะ จิตใจเราถนอมรักษา

เวลากลัวผีๆ เวลาพูดเป็นปรมัตถธรรม กลัวผีๆ ผีในร่างกายเรา ต้องดูแลรักษา จิตใจของเรา ผีตัวนี้สำคัญมาก ถ้าผีตัวนี้เราเลี้ยงดี เลี้ยงด้วยพุทโธๆ เราเลี้ยงผีดี รักษาผีบ้านผีเรือน ผีป่าไม่เข้ามาอาศัย ผีบ้านผีเรือนไม่แน่นหนามั่นคง ผีป่ามันจะมาอาศัยนะ

ดูผีป่าสิ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเข้ามาอาศัยในตัวเรา แล้วผีป่าเข้ามาอาศัย เราทุกข์ร้อนไหม แต่ถ้าผีบ้านมันดีนะ ผีป่าเข้ามาไม่ได้นะ เราพุทโธๆ ของเรานะ ผีบ้านมั่นคง ผีป่าจะเข้ามารุกรานเราไม่ได้เลย สิ่งนี้มันพิสูจน์ได้ด้วยเรานะ ถ้าเราพิสูจน์ไม่ได้ ศาสนามันจะมั่นคงมาอย่างนี้ได้อย่างไร

ศาสนามั่นคงมา มั่นคงมาเพราะเวลาสัจจะความจริง เห็นไหม จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าใจดวงนั้นไม่มีเลย เห็นไหม จะเอาอะไรไปใส่สู่ใจคนอื่น ใจคนอื่นมันก็เอาแต่ทฤษฎี เห็นไหม เอาทฤษฎี เอาแต่เปลือก ฤทธิ์เดชต่างๆ มันอภิญญาหก สิ่งที่เป็นอภิญญา มันเป็นเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช

เรื่องฤทธิ์เกิดจากอะไร เกิดจากฌานสมาบัติ เกิดจากจิต จิตที่มันมีหลักมีเกณฑ์ จิตมีหลักมีเกณฑ์ในฌานสมาบัตินะ แล้วออกฤทธิ์ออกเดชนั้นได้ แล้วมันอยู่ที่อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล อำนาจวาสนาบางคนทำได้ดี ดูพระอรหันต์สิ ระลึกอดีตชาติได้แสนชาติ หมื่นชาติ พันชาติ ร้อยชาติ สิบชาติ ไม่ระลึกเลย คือไม่สงสัยไม่ระลึกเลย สิ่งนี้ไม่ระลึกเลย เห็นไหม สุกขวิปัสสโก สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันสิ้นกิเลสไป แต่ไม่สงสัยสิ่งใดทั้งสิ้น

แต่บางที ก่อนสิ้นกิเลส มันจะเข้าไปชำระล้างๆ แล้วแต่ว่าคนบ้านหลังใหญ่ คือคนมีความรู้ความเห็นมาก มันต้องชำระล้างได้มาก พอชำระล้างมาก วิธีการมันรู้มาก มันสำคัญเป็นประโยชน์ ประโยชน์กับใจดวงนั้นมาก แต่ชำระล้างบ้านเรากระต๊อบห้องหอ ทำกระต๊อบห้องหอให้เราสะอาด อยู่ร่มเย็นเป็นสุข เราพอแล้ว เห็นไหม จริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน

ทีนี้ จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไป สิ่งที่จะเข้าไปแก้จริตนิสัยกับใจดวงนั้นก็ไม่เหมือนกัน วิธีการไม่เหมือนกัน มีครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นกิเลสไปโดยสุกขวิปัสสโก สิ้นไปโดยความสะอาดปกติ เห็นไหม นี่ไง วิธีการหรือการกระทำ ที่จิตมันแก้ไข มันไม่ได้ประสบการณ์ไม่มาก

แต่ถ้าประสบการณ์มาก จิตคึกคะนอง มันจะมีร้อยแปดพันเก้า ปัญหาร้อยแปดเลย เวลามันสงบแล้วมันพุ่งออกเลย มันสงบแล้วมันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น มันเป็น ถ้าอย่างนั้น พอมันสงบขึ้นมานะ มันเหมือนเรา เราหาเงินหาทองมาใช้ พอมีเงินมีทอง เราคุมใจเราไม่ได้ เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหมด แล้วก็หามา มันก็แปลกนะ หาได้ตลอดนะ แล้วก็ใช้จ่ายตลอดนะ มันก็อยู่แค่นั้น

แต่ถ้าเราหามาแล้ว หาเงินมาแล้วนะ เราไม่ใช้จ่าย เราเก็บหอมรอมริบ เงินมันจะมากขึ้นๆ พอเงินมากขึ้น เงินนี้พอซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์ได้ เห็นไหม พอจิตใจมันตั้งมั่นคงขึ้น พอมั่นคงขึ้น มันออกรู้ มันออกรู้เราจะรู้เลยนะ มันไม่เหมือนกับเราใช้จ่าย เหมือนเราซื้อของ ซื้อของโดยดาษๆ ทั่วไปมันก็มีอยู่ แต่ของที่มีคุณค่า มันต้องมีเงินจำนวนมาก เงินจำนวนมาก

จิตถ้ามันมั่นคง จิตมีหลักมีเกณฑ์ จิตที่มันไปรู้ มันไปเห็นเข้า มันไม่เห็นแบบดาษ ดาษๆ ดูสิ ดูอย่างสมองคิดได้ ปัญญาคิดได้ วิทยาศาสตร์ เห็นไหม ดูสิ ดูอย่างเครื่องวัดคลื่นหัวใจสิ ขนาดคลื่นหัวใจมันยังวัดได้เลยว่าคลื่นหัวใจมันสม่ำเสมอไหม หัวใจเต้นแรงไหม หัวใจมีปัญหาไหม

วิทยาศาสตร์ยังจับได้เลย ดาษๆ มันมีอยู่แล้ว มันพิสูจน์ได้อย่างนั้น แล้วเราก็รู้ระดับนั้น ศาสนามันจะมีประโยชน์อะไร แต่ถ้าจิตมันลึกกว่านั้นนะ มันลึกกว่านั้น มันเห็นของมัน มันจับต้องของมันนะ “อารมณ์ความรู้สึกเป็นวัตถุอันหนึ่ง เป็นวัตถุที่จับต้องได้” เหมือนกับคอมพิวเตอร์คลื่นหัวใจที่มันจับได้เลย คลื่นหัวใจที่มันจับได้ เพราะมันเป็นพลังงานของมัน

แต่เวลาสติปัญญาเราจับ ดูสิ เวลาสติปัญญาของเรา สมาธิเรามันมีหลักมีเกณฑ์ขนาดไหน สามารถเข้าไปจับความรู้สึกเราได้ สามารถเข้าไปจับความคิดเราได้ สามารถเข้าไปจับสิ่งที่เป็นจิตออกเป็นนามธรรม ออกมาวิปัสสนาได้ ออกมาใคร่ครวญได้ เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ถ้าคนภาวนาเป็น จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าคนภาวนาไม่เป็น มันจะเอาหลักเอาเกณฑ์มาจากไหน มันจะเอาอะไรไปจับ เอาสิ่งใดมาเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้ามันจับไม่ได้ มันจะเอามาทำความสะอาดได้อย่างไร

เหมือนกับคนที่มันลักของเราไป มันขโมยสิ่งของเราไป เรารู้อยู่ เห็นไหม โดยการข่าวรู้ว่าไอ้คนนี้มันเอา แต่ไม่มีหลักฐาน นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า รู้ไปหมด เกิดมาต้องตาย กายกับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน กายไม่ใช่เรา พูดแต่ปากจ้อยๆๆ เลยนะ

แล้วพอพูดอย่างนั้นปั๊บ แล้วกิริยามารยาท เห็นไหม รักษากิริยามารยาทสิ่งนั้น เพราะว่าเป็นคนดี แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ความจริงหมายถึงว่ามันซึ้งใจ อย่างที่สิ่งที่มันซึ้งใจมันสะเทือนใจ พอซึ้งใจ มันพูดออกมาจากหัวใจ ไม่ใช่พูดออกมา เรียบๆ ร้อยๆ ไอ้พูดอย่างนั้นมันพูดจากกิริยามารยาท มันเป็นพิธีกรรมเฉยๆ แต่ถ้ามันพูดออกมาจากใจนะ มันกินใจมาก เห็นไหม

ถ้ามันสะเทือนใจแล้วมันพุ่งเลย พุ่งเลย เพราะสิ่งนี้มันสะเทือนใจมาก ถ้ามันสะเทือนใจมาก นั่นเป็น ความจริงต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าความจริงเป็นอย่างนั้น มันออกมาอย่างนั้น รสชาติมันจะมีออกมา ถ้าเราทำของเราได้ มันถึงว่ามีคุณค่านะ เทวดา อินทร์ พรหม ที่เขามาหา มาฟังธรรมๆ

มันฟังธรรมนะ มันมีสถานะเลย สถานะเขาไม่มีร่างกายบีบคั้น อย่างเช่น เขาไม่มีร่างกาย เขาไม่มีเหงื่อมีไคลนะ หลวงปู่เจี๊ยะพูดบ่อย เวลาท่านเตือนลูกศิษย์นะ “เฮ้ย สวรรค์ไม่มีตลาดนะมึง” หลวงปู่เจี๊ยะพูดคำนี้ประจำ เราได้ยินบ่อยมากเลย เฮ้ย สวรรค์ไม่มีตลาดนะ คือสวรรค์ไม่มีอาหารอย่างนี้ให้เราซื้อขายนะ สวรรค์ไม่มีตลาด ไอ้เรานี่มีตลาดนะ เวลาถึงก็ซื้อของในตลาดได้ เวลาหิวก็ไปซื้อ แต่สวรรค์ไม่มี สวรรค์ไม่มีตลาด

สวรรค์มันเป็นทิพย์ มันเป็นสมบัติส่วนตน ของใครของมัน ขาดอย่างไรเป็นอย่างนั้น พอมันหมดจากแสง หมดจากสมบัติตัว นั่นคืออายุขัยหมด เริ่มเฉา เห็นไหม พอเริ่มเฉา หมดแล้ว อาหารไม่มีแล้ว อาหารไม่มีแล้ว คนไม่มีหากิน ก็ต้องตายเป็นธรรมดา สิ่งนี้มันเป็นไป

แต่นี่เพราะว่าเทวดา อินทร์ พรหม เขาไม่มีร่างกาย เขาไม่มีเหงื่อมีไคล เขาไม่ต้องมาทุกข์ร้อนเหมือนเรา แต่เรานี่มันมีร่างกาย เวลาเดือดร้อนขึ้นมาก็มีเหงื่อมีไคล มีความทุกข์ มีความร้อนทั้งนั้น ไอ้นี่มันบีบคั้น มันเตือนเราตลอดเวลานะ ถ้ามันเตือนตลอดเวลา เห็นไหม โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ เห็นไหม เจ็บไข้ได้ป่วย ปวดขบก็ขยับมันก็หาย

แต่ถ้ามีสตินะ เป็นประโยชน์หมดเลย แล้วสิ่งนี้มีอยู่กับเรา ของมีอยู่กับเรา แต่โดยสัญชาตญาณ เราอยู่กับมันโดยคุ้นชิน เราถึงไม่เห็นประโยชน์กับมัน แต่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เดี๋ยวอสุภะๆ ไปเที่ยวป่าช้าๆ ป่าช้าก็ไปดูซากศพ ถ้าจิตไม่สงบก็ไม่เห็นอสุภะ ถ้าจิตสงบเห็นไหม มองอสุภะนั้น หลับตาลง ภาพนั้นติดตามา นั่นน่ะเห็นอสุภะ ถ้าไปดูด้วยสายตา แล้วหลับตาลง มันไม่เห็น ต้องทำจิตให้สงบมากกว่านั้น

หลับตาลง อสุภะมันเกิดที่จิตเห็น อสุภะไม่ใช่ซากศพ เราไปตีกันว่าอสุภะเป็นซากศพ เป็นซากศพ อสุภะคือจิตเห็น เห็นเป็นภาพจากจิต นั่นถึงว่าเป็นอสุภะ เพราะเห็นอย่างนั้นปั๊บ แล้วมันสะเทือนหัวใจ

เช่น เราเจ็บไข้ได้ป่วย กับคนไม่เจ็บต่างกันไหม เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เราปกติ เราก็ปกติ แต่เราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา มันสะเทือนเราแล้ว เพราะมันบีบคั้นเราแล้ว จิตไปเห็นอสุภะ อสุภะนั่นคือธรรม ถ้าจิตไม่สงบ จิตไม่มีหลักเกณฑ์จะเห็นอสุภะนั้นไม่ได้ จิตมันสงบขึ้นมา ไปเห็นอสุภะนั้น อสุภะนั้นคือสัจธรรม สัจธรรมเพราะอะไร สัจธรรมเพราะจิตมันสงบ จิตมันสงบ มันเป็นธรรมขึ้นมา

ถ้าจิตไม่สงบมันเคลื่อนไหว ดูสิ ดูอย่างวิทยุ อย่างทีวี เห็นไหม ดูคลื่นวิทยุสิ มันเข้ามาๆ มันรับคลื่นมา เห็นไหม ออกไปเป็นเสียง ทีวีก็เหมือนกัน คลื่นเป็นเสียง ความรู้สึกของจิตที่มันไม่สงบมันหมุนไปเหมือนคลื่นทีวี เหมือนคลื่นวิทยุ มันเป็นสิ่งที่รับรู้ไง มันเป็นการรับรู้กันเฉยๆ จิตที่ปกติเป็นอย่างนั้น พอจิตมันหยุด คลื่นวิทยุที่เป็นเสียงเห็นไหม

วิทยุเขาสื่อความหมายต่อกัน โดยธรรมชาติมันก็หมุนอยู่ธรรมชาติของมัน พอมันหยุดขึ้นมา มันไม่ใช่สื่อความหมาย มันทวนกระแสกลับ เพราะจิตมันเห็นเป็นอสุภะ เห็นอสุภะเพราะอะไร เห็นอสุภะว่าสิ่งนั้นมันเป็นความจริงอยู่แล้ว แต่จิตของเรามันหมุนไป เห็นไหม หมุนไป เป็นเรื่องธรรมดา พอซากศพเป็นอย่างนี้ มันก็ต้องเน่าเป็นธรรมดา วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้

เพราะธรรมดาสิ่งนั้น มันถึงเวลาแล้วมันก็ต้องย่อยสลาย มันด้วยจุลินทรีย์ต่างๆ มันก็กัดกร่อน มันก็เป็นไป เห็นไหม ดูกิเลสมันหาทางออกสิ กิเลสมันหาทางออกโดยที่ว่าไม่ให้เห็นคุณค่าของธรรมไง ถ้าเห็นคุณค่าของธรรม เห็นไหม อันนั้นมันเป็นความจริงโดยวิทยาศาสตร์ แต่มันต้องใช้กาลเวลา มันต้องใช้เวลาย่อยสลาย แต่ถ้าจิตมันสงบ มันเป็นปัจจุบัน

คนที่เป็นปัจจุบันนะ เหมือนของอยู่ในมือ แล้วมันหายไปเหมือนเล่นกล เหมือนเล่นกลนะ แต่นี่เป็นความจริงนะ เป็นความจริงที่เราเห็นเอง มันสะเทือนหัวใจของเราเอง พอสะเทือนหัวใจ นี่ไง ที่ว่าธรรมเกิดๆ ธรรมมันเกิดสภาวะแบบนั้น แล้วธรรมเพราะอะไร เพราะจิตมันหยุด จิตมันนิ่ง มันไม่ไหลไปแบบคลื่น จิตมันนิ่ง มันไม่ไหลไปแบบคลื่น ถ้ามันไหลไปแบบคลื่น มันก็เป็นสมมุติไป นี่ไง อนิจจังไง

พอเป็นอนิจจัง เห็นไหม สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันเป็นโดยตัวมันเอง แต่ไม่มีเจ้าของรับรู้ แต่พอจิตเราสงบ เราเป็นเจ้าของ นี่ไง ธรรมเกิดๆ ธรรมนี่เป็นส่วนบุคคลไง ส่วนบุคคลเพราะเป็นใจของเรา ใจของเราเป็นผู้รู้ ใจของเราเป็นผู้เห็น ใช่ไหม ใจเราทุกข์เราก็ทุกข์ ใจเราหยุดเราก็หยุด ใจของเรานี่เป็นผู้เป็นทุกข์เป็นร้อน

เวลามันสงบเข้ามา มันเห็นของมัน มันก็ถอน ถอนรากถอนโคน ถอนรากถอนโคนคืออะไร ถอนรากถอนโคนคืออุปาทานที่มันปักเสียบอยู่ในใจไง อวิชชามันเป็นอนุสัย อนุสัยมันนอนเนื่องมากับใจ ความคิดของเราทั้งหมดมันมีอนุสัย มีกิเลสบวกมาตลอด

เวลาเราไปศึกษาธรรมะ ฟังธรรมอยู่นี่ ถ้าจิตมันตั้งมั่น จิตมันดี อนุสัยมันไม่มาด้วย มันเป็นธรรม จิตมันฟังธรรมแล้วขนลุกขนพองนะ แต่ถ้าอนุสัยมาด้วยนะ เสียงอยู่ข้างนอก ไอ้ตัวตนเรา อีโก้ มันไม่รับรู้ เห็นไหม มันไม่เข้ากัน เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตไม่สงบ จิตไม่ตั้งมั่น ไปดูซากศพ โอ๊ย ซากศพนี่นะ มันเป็นซากศพของคนตาย เห็นไหม มันเป็นซากศพของคนตาย แต่ถ้าจิตมันสงบนะ มันเห็นจากจิตของเรา พอจิตเรามันเห็นนะ ซากศพมันอยู่ข้างนอก ภาพอสุภะมันอยู่กับเรา นี่ ธรรมมันเกิดอย่างนี้ อสุภะมันเกิดอย่างนี้

ถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้นมา มันสะเทือนไหม มันถอนไหม มันถอนหัวใจเรานะ ฤทธิ์เดชจากข้างนอกนะ อภิญญาแก้กิเลสไม่ได้ สัจธรรมนะ อริยสัจ มันแก้กิเลสได้ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ วิธีการดับทุกข์มันต้องถูกต้อง ถ้าวิธีการดับทุกข์ไม่ถูกต้อง เห็นไหม เหมือนกับเราไปดูหนังสารคดี เรารู้ไปหมด แต่เราไม่ได้สร้างหนังสารคดี

ในการประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลนะ เราจะเป็นผู้ถ่ายทำ เราเป็นผู้กำหนดเลย กำหนด สติ เห็นไหม เป็นผู้กำหนด เป็นผู้ถ่ายทำ หนังสารคดีนั่นเราเป็นคนถ่ายทำเอง แล้วเรา พอถ่ายทำเสร็จแล้ว เราไปดูภาพ เห็นไหม ภาพถ่ายทำนั้นมันสวยขนาดไหน ภาพถ่ายทำนั้นเป็นผลจากการที่เราถ่ายทำนะ

แต่ถ้าเราไปดูหนังสารคดี เราไปดูคนอื่นเขาถ่ายทำ เห็นไหม ธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมือนหนังสารคดี รู้ไปหมด เขามาฉายให้ดู เขามาแสดงให้ดู รู้ไปหมดเลย แต่เราไม่รู้ว่าถ่ายทำที่ไหน ถ่ายทำอย่างไร มันเลยแก้กิเลสของเราไม่ได้

แต่ถ้าเราถ่ายทำเอง เรารู้เอง เห็นไหม เรานั่งสมาธิ เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันทุกข์ยากขนาดไหน แล้วมันสำเร็จเป็นผลประโยชน์กับเราขึ้นมา ได้ประโยชน์ขึ้นมา นี่ไงวาสนา วาสนาของเรานะ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา

แล้วพุทธศาสนา เราก็ดูสิ ดูสิสังคม ไอ้สังคมน่ะมันประเพณีวัฒนธรรม บนตู้พระไตรปิฎกนะ พระไตรปิฎกนั้นก็เป็นกิริยาธรรมที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ขณะที่สมัยโบราณ ตั้งแต่เกิดสงคราม เขาทำศึกสงครามกัน ตำรานี่โดนเผาไฟทิ้งหมด เพิ่งมารวมได้เมื่อสมัย ร.๕ นี่เอง

พอสมัย ร.๕ ขึ้นมา หนังสือพระไตรปิฎกนี่มาจากสมัยพุทธกาลเหรอ สองพันกว่าปีเหรอ มันขาดช่วงไปกี่รอบแล้วล่ะ แล้วเรารื้อค้นกันขึ้นมา แต่ถ้าขณะที่ปัจจุบัน เห็นไหม ถ้าจิตเราเป็น เห็นไหม นี่ไง ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะของเรา ธรรมมันเกิดๆ จิตมันตั้งมั่น จิตมันมีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้ แล้วมันจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์อย่างนี้ มันต้องมีเหตุมีผล มีเหตุมีผล มีการกระทำมา จิตมีการกระทำมา มันทำของมันมา

ถ้าทำของมันมา เห็นไหม กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา ถ้าทำความดีมา ทำดี ดีของใคร ดีของสมถะนะ ในปัจจุบันนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติกัน ด้วยปัญญาชน ด้วยความเห็นของเรา วิปัสสนา ต้องใช้ปัญญาสายตรง ปัญญาไปเลย ปัญญานี่ อนุสัยมันมาด้วย อนุสัยมันนอนเนื่องมากับจิตตลอดเวลา ใช้ปัญญาขนาดไหน มันก็ปัญญาของกิเลสทั้งหมด ปัญญาของปุถุชนเรานี่ กิเลสใช้ทั้งหมดเลย ปัญญาของกิเลสไม่ใช่ปัญญาของธรรม

ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกต้องทำจิตใจให้สงบขึ้นมาก่อน พอจิตสงบขึ้นมา นั่นน่ะ อนุสัย อนุสัยมันต้องนอนเนื่อง ที่มันนอนเนื่องมากับใจ ใช่ไหม มันต้องหยุด มันต้องผ่อนคลายลง ถ้ามันไม่ผ่อนคลายลง จิตสงบไม่ได้ จิตสงบคือตัวตนเรา อวิชชานี่มันสงบตัวลงชั่วคราว แล้วเราออกวิปัสสนา การวิปัสสนาไปแล้ว ก็ใช้ปัญญาไป ปัญญาที่ใช้ออกมาบ่อยครั้งเข้า

พอสมถะ คือสมาธิมันเสื่อมลง อนุสัยมันออกมาด้วย ออกมาด้วยเห็นไหม มันก็เป็นสัญญา พอสัญญาต้องกลับมาทำความสงบอีก กลับมาทำความสงบอีก ความสงบถึงสำคัญตรงนี้ไง

“ความสงบแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีความสงบ ปัญญาเกิดไม่ได้”

ปัญญาที่เกิดจากสัญชาตญาณ มันเป็นปัญญาของกิเลสทั้งหมด ทีนี้ปัญญาของกิเลสทั้งหมดนะ พอเราเข้าใจ เห็นไหม ดูสิ สิ่งที่เกิดขึ้นมา ที่เราเห็น เป็นสิ่งมหัศจรรย์ เราก็ว่าสิ่งนั้นมันเป็นมหัศจรรย์จนเหลือล้นนะ มันเป็นบุญเป็นกรรมนะ มันเป็นวาระนะ มันเป็นบุญเป็นกรรม ดูสิพระโมคคัลลานะ เห็นไหม ฤทธิ์ขนาดไหน พระโมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก โจรมาทุบนี่เหาะหนีๆ ตลอด

แล้วเวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ตอนมาอยู่กับพราหมณ์ ตอนที่ข้าวยากหมากแพง

“ข้าพเจ้าขอเอาพระ จะไปบิณฑบาตที่ทวีปอื่น”

“พระพุทธเจ้าบอกจะไปอย่างไร เพราะพระพวกนี้เหาะไม่ได้”

“ข้าพเจ้าจะจับมือต่อๆ กันไป”

มีฤทธิ์ขนาดว่าจะให้พระจับมือต่อกันแล้วจับตัวเองเหาะพาไปบิณฑบาตทวีปอื่นได้เลย พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต

“ไม่อย่างนั้นจะพลิกง้วนดินขึ้นมา”

จะบอกว่ามีฤทธิ์ขนาดนั้น ฤทธิ์มีมากเลย แต่ถึงคราวกรรม เห็นไหม เหาะหนีถึง ๒ หน หนที่ ๓ พอกรรมมันถึงวาระ ปล่อยให้เขาทุบจนแหลก จนแหลกเสร็จแล้วนะ ใช้ฤทธิ์เนรมิตร่างขึ้นมาให้เป็นปกติ ไปลาพระพุทธเจ้า ลาพระพุทธเจ้าเสร็จแล้วกลับมา คายฤทธิ์ออก แหลกเหมือนอย่างเดิม

เวลาวาระของกรรม คนเราจะมีฤทธิ์มีเดชขนาดไหน มันมีอายุขัย สิ่งนั้นมีอายุขัย คนเรามันต้อง ถึงเวลาแล้วมันต้องตายเป็นธรรมดา แต่ในปัจจุบันนี้จะเป็นประโยชน์ไหม ถ้าปัจจุบันจะเป็นประโยชน์ อย่างพระกัสสะปะ เห็นไหม พระกัสสะปะนี่อายุ ๘๐ เท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

บวชเมื่อแก่ แต่บวชเมื่อแก่แล้ว ยิ่งภาวนามาก เอาจริงเอาจังมาก ถือธุดงควัตรตลอดเวลา จนเป็นพระอรหันต์แล้วนะ พระอรหันต์ถือธุดงค์ เห็นไหม ใช้ผ้าบังสุกุล เก็บเอาตามที่เขาทิ้ง ปักชุนถึงเจ็ดชั้น เจ็ดชั้น คนอายุ ๘๐ มันก็หนักใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถามเลย

“กัสสะปะ เธอทำไปทำไม เพราะอะไร”

เพราะพระกัสสะปะก็เป็นพระอรหันต์แล้วน่ะ

“ข้าพเจ้าจะทำไว้เพื่อเป็นอนุชนรุ่นหลังได้มีคติ มีแบบอย่าง”

เพื่ออนุชนรุ่นหลัง ไม่ใช่ตัวของพระกัสสะปะเอง เห็นไหม ทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง พระอรหันต์ทั้งนั้นนะ สิ่งที่ทำ ทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ได้เป็นคติ ได้เป็นแบบอย่าง มันทำเพื่อเป็นตัวอย่าง เห็นไหม

ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาจะชำระกิเลสขึ้นมา มันมีเหตุมีผล มีการกระทำของเราขึ้นมา ทำเพื่อใจของเรา ศาสนามันมีเหตุมีผล แล้วมีหลักมีเกณฑ์มาก ทีนี้พอมีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้ใช่ไหม สิ่งที่ต่างๆ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ จะบอกว่าฤทธิ์เดชโดยพระองค์นั้นก็มี ฤทธิ์เดชโดยที่ว่าสิ่งที่เทวดาอินทร์พรหม ที่มาช่วยดูแลรักษาปกป้องก็มี ฤทธิ์เดชมันมีตั้งหลายชั้น

แต่ฤทธิ์เดชอย่างนั้น เห็นไหม ดูพระอาทิตย์สิ พระอาทิตย์หยุด พระอาทิตย์ขึ้นตกเป็นธรรมดาหนึ่ง พระอาทิตย์ตกสว่างกลางวันกลางคืนหนึ่ง พระอาทิตย์บังโดยเมฆหนึ่ง พระอาทิตย์โดยฤทธิ์ของเทวดาหนึ่ง บังโดยฤทธิ์เทวดาได้ ในพระไตรปิฎกมีมาก

สามเณรของพระสารีบุตร เห็นไหม บิณฑบาตไปกับพระสารีบุตร แต่ขณะที่บิณฑบาตไป จิตมันหมุนเพราะปัญญามันมี เห็นไหม เห็นเขาชักน้ำเข้านา เห็นพวกนายช่างคันศรเขาดัดคันศรให้ตรง ความคิดมันเกิดนะ ปัญญามันเกิดเลย ถามพระสารีบุตร “น้ำมันมีชีวิตไหม” “น้ำไม่มีชีวิต”

“น้ำไม่มีชีวิต เขายังทดน้ำเข้านา ทดเข้ามา สิ่งที่ไม่มีชีวิต คนที่มีปัญญา เอามันมาใช้สอยเป็นประโยชน์ได้ แล้วสิ่งที่มีชีวิตในหัวใจเรามันเป็นประโยชน์ไหม”

เห็นอย่างนั้นปั๊บ มันกระทบเข้ามาในหัวใจนะ บอกพระสารีบุตร เพราะถือบาตรพระสารีบุตรไปบิณฑบาตใช่ไหม ให้บาตรพระสารีบุตรไป ขอกลับก่อน กลับมาก็มาใช้ปัญญาทบทวน ทบทวนสิ่งที่เห็น เพราะมันกระทบแล้ว จิตมันหมุน ปัญญามันหมุนแล้ว หมุนก็กลับ กลับมาในกุฏิ มานั่งภาวนา

พระสารีบุตรไปบิณฑบาตนะ บิณฑบาตกลับมาแล้ว จะเอาอาหารมาฝากสามเณรด้วย มาฝากลูกศิษย์ด้วย พระพุทธเจ้ารู้ว่าสามเณรปัญญากำลังหมุนอยู่ ถ้าพระสารีบุตรเข้าไป ปัญญานี้มันจะหยุด เพราะออกมาข้างนอก พระพุทธเจ้าจะไปบอกว่า สารีบุตรเธออย่าเข้าไปก็ไม่พูด เพราะพูดออกไปแล้ว มันเจาะจงเกินไป

พระพุทธเจ้าก็มาดักหน้าไง ดักหน้ามาทักพระสารีบุตร ถามปัญหาธรรม ให้พระสารีบุตรตอบ พระสารีบุตร โดยครูบาอาจารย์ก็เคารพใช่ไหม เคารพพระพุทธเจ้า ก็ต้องตอบไปทีละคำจนกว่าพระพุทธเจ้าจะหยุด

พอพระพุทธเจ้าถามปัญหาพระสารีบุตรไปเรื่อย สามเณรก็ใช้ปัญญาพิจารณาของสามเณรไปเรื่อย จนถึงที่สุด สามเณรพิจารณา จนถึงที่สุดกิเลสขาด เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย พระพุทธเจ้าก็ปล่อย ปล่อยเลย แบบว่าพูดกับพระสารีบุตรจนจบ พระสารีบุตรก็เอาอาหารนั้นเข้าไปให้สามเณร

พอสามเณรฉันอาหารเสร็จ เห็นไหม พอฉันอาหารเสร็จปั๊บ หยุดด้วยฤทธิ์ทั้งหมด พระอาทิตย์ตกไปบ่ายสองโมงโน่น แต่ตอนที่สามเณรฉันยังไม่เพลน่ะ ด้วยฤทธิ์ๆ

ด้วยฤทธิ์นี่ในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก พระสารีบุตรมีโรคประจำตัว โรคท้องร่วง พระสารีบุตรมีโรคประจำตัวตลอดเวลา

เวลาถ้าไม่ได้ยาคูจะเป็นโรคถ่ายท้อง พระสารีบุตรถึงเวลาจะไปนิพพาน เห็นไหม ถ่ายเป็นเลือดตลอดเวลา โรคถ่ายท้อง เป็นโรคท้องเสีย พระโมคคัลลานะไปเยี่ยมพระสารีบุตร

“เป็นอะไร”

“มีโรคประจำตัว”

“แล้วโรคประจำตัวนี่แก้ด้วยวิธีใด”

“ถ้าเวลาจะหายนะ ต้องได้ข้าวยาคู”

พระโมคคัลลานะดลใจเทวดา เทวดาก็ดลใจญาติโยม ญาติโยมก็มีความ ดลใจใช่ไหม ดลใจก็ทำให้ตัวเองอยากทำ อยากทำข้าวยาคูถวาย สุดท้ายตอนเช้าก็ถาม ทำข้าวยาคูถวายพระสารีบุตร พระสารีบุตรไม่ยอมฉัน พระโมคคัลลานะก็ถาม

“ทำไมถึงไม่ฉัน”

“มันไม่บริสุทธิ์ มันเป็นการดลใจ”

ด้วยฤทธิ์ของพระโมคคัลลานะ ทำได้ แต่ทำอย่างนี้มันเป็นของชั่วคราว แต่ถ้าการชำระกิเลสจะเป็นของจริงนะ การชำระกิเลสเป็นของจริง เวลาสภาคกรรม กรรมของสังคม สังคมนี้มีกรรมร่วมกัน เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม มีปากมีท้องเหมือนกัน

เกิดมานี่เจอสังคม สังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข เราจะมีความสุขมาก สังคมที่มีความกระทบกระเทือนกัน มันกระเทือนกันไปหมดเลย แต่ในเมื่อถ้ามีผู้มีบุญมาเกิด เห็นไหม บุญมาเกิด ครูบาอาจารย์เราแต่ละองค์ที่เป็นผู้มีบุญมาเกิด เวลาประพฤติปฏิบัติ

ดูสังคมไทยเรา สังคมไทย ถ้าไม่มีหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นนะ สังคมไทยก็ถือพุทธศาสนาเป็นประเพณี เป็นประเพณีเฉยๆ ทำบุญกันเป็นประเพณี แต่เวลาหลวงปู่มั่นหลวงปู่เสาร์นะ แล้วหลวงปู่มั่นเวลาท่านฝืนกระแสสังคม เห็นไหม ฝืนกระแสสังคม เวลากองทัพธรรมเคลื่อนมาจากอุบลฯ เคลื่อนมาจากสกลฯ เข้ามาขอนแก่น เห็นไหม “กองทัพธรรม”

กองทัพธรรม สมัยนั้น ศาสนาอยู่แต่ในวัด ศาสนามันไม่ออกไปในสังคม เห็นไหม สังคมภายนอกเขาถือผีถือสางกัน ถือผีถือสางกัน เขาอ้อนวอน เพราะคนเราทุกคนมันไม่มีที่พึ่ง ก็ต้องหาสิ่งใดเป็นที่พึ่ง กองทัพธรรมมาปราบการถือผีถือสาง พอถือผีถือสาง ทุกคนเห็นกัน ที่ว่าถือศีล ถือศีลถืออริยสัจ ทำคุณงามความดีกัน ให้ทำคุณงามความดี

แล้วเราเกิดมา เราเกิดมารุ่นภายหลัง เราเห็นอยู่แล้วไง เราก็คิด อย่างนี้มันสืบต่อมา ศาสนามีเจริญแล้วเสื่อมเป็นครั้งเป็นคราวนะ เวลาผู้มีบุญมาเกิด สิ่งที่ผู้มีบุญมาเกิดทำให้สังคมนั้นร่มเย็นเป็นสุข ดูสังคมรอบๆ เมืองไทยสิ สังคมของเขามีแต่การเข่นฆ่ากันมาตลอด เป็นชาวพุทธด้วยกันนี่แหละ แต่ทำไมสังคมไทยไม่ค่อยมีเรื่องอย่างนี้

ถ้ามีเรื่องอย่างนี้ คือเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นมา เป็นครั้งเป็นคราวขึ้นมา มันก็แก้ไขวิกฤตินั้นไปได้ แก้ไขวิกฤตินั้นเพราะมันมีคนมีบุญในสังคม สังคมน่ะ คนมีบุญมันมี

เวลาในสมัยพุทธกาลนะ ถ้าใครมีบุญนะ เวลากษัตริย์ สมณะชีพราหมณ์ อยู่ในหลักในเกณฑ์ ฤดูกาล ฝนตกต้องตามฤดูกาล ถ้าการกระทำ เกษตรกรรมอะไรต่างๆ มันจะเจริญ มันจะสมบูรณ์ เป็นสิ่งที่ดี แล้วเราไปเกิดเอาข้าวยากหมากแพงนะ ย้ายเมืองกันทุกข์ยากมาก มันอยู่ที่การเกิดการตายของสังคมเรานะ

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สิ่งที่เป็นบุญกุศล สิ่งที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในศาสนา ทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข มันมีคุณค่ามากกว่าแก้วแหวนเงินทองมากนะ เราไปตื่นกันนะ เรื่องแก้วแหวนเงินทอง เห็นไหม เพื่อจะแข่งกับเขา แข่งกับเขานะ แรงฉุดแรงกระชาก แรงฉุดกระชาก กระแสของโลก มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

แต่ถ้าอย่างมัชฌิมาปฏิปทา เศรษฐกิจพอเพียง เห็นไหม เราก็ไปกับเขา มันจะเจริญขนาดไหน เราก็ไม่ตื่นไปกับเขา ถึงเวลาเขาตกทุกข์ได้ยาก เราก็ไม่ตกทุกข์ได้ยากไปมากว่าเขา หลักศาสนานี่สอนให้มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง

ทางสายกลางไม่ใช่ต้องให้จนเสมอกัน ทางสายกลางของคน คนที่มีศักยภาพเป็นคนที่มีบุญ ทางสายกลางของเขา เขาเป็นเศรษฐี เศรษฐีด้วยทางสายกลาง คือเขาเป็นเศรษฐีด้วย ไม่ทุกข์ด้วย ถ้าไม่ใช่ทางสายกลางนะ เป็นเศรษฐีแล้วก็ยังพยายามต้องการจะแสวงหานะ มันสุดโต่ง สุดโต่งทำให้ใจของเขาทุกข์ร้อน

แต่ถ้าเขามัชฌิมาปฏิปทาในบุญกุศลของเขา เขาสร้างให้เป็นเศรษฐีของเขา เป็นเศรษฐีด้วย ไม่ทุกข์ด้วย อย่างเราเหมือนกัน เรามีปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าหัวใจของเรามีจุด มีความมั่นคงของเรา เห็นไหม สิ่งนั้นเป็นอาศัยจากภายนอก ถ้าอาศัยจากภายนอก เห็นไหม ทางสายกลางของเรา ทางสายกลางของเรา เศรษฐกิจพอเพียงของเรา

เศรษฐกิจพอเพียง มันไม่ใช่ว่าพอเพียงแล้วจะให้เสมอกันหมด มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะกรรม กรรมของคนไม่เท่ากัน คนทำความดีความชั่วมาไม่เหมือนกัน แล้วจะให้เหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ คนที่ทำคุณงามความดีมา คนมีบุญมา มีอำนาจวาสนา กดแค่ไหน เขาก็มีวาสนาอยู่อย่างนั้น วาสนาของเขากดไม่ได้ กดไม่ลง มันจะต้องเชิดชู มันต้องเป็นไปของเขา วาสนาของเรา เราคนทุกข์ คนเข็ญใจ เราไม่มีของเรา แล้วเราพยายามจะให้มีแบบนั้น มันก็ทุกข์เหมือนกัน

คนมีขนาดไหน เศรษฐกิจพอเพียง มัชฌิมาปฏิปทา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน หลักศาสนาพุทธเรา เห็นไหม เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เชิงพุทธว่าพุทธะ ก็ตื่นตัวขึ้นมา ยอมรับสัจจะความจริง ขยันหมั่นเพียร

บางคน เห็นไหม ดูสิ ดูในบริษัทหรือในองค์กรหนึ่ง เห็นไหม ผู้ที่เป็นหัวหน้า นั่งบนโต๊ะนะ เขาได้เงินเดือนมากกว่าเรา เพราะเขาบริหารจัดการ เขารับผิดชอบ ไอ้เราทำงาน เห็นไหม ระดับกลาง ระดับล่าง ทำงานโดยออกกำลังมากกว่า เงินเดือนน้อยกว่า เงินเดือนน้อยกว่าเพราะอะไร เพราะเราทำของเรา

แต่ข้างบนเขาบริหารจัดการอยู่ เขารับผิดชอบหมดนะ ความรับผิดชอบมันไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ผลตอบสนองมันก็ไม่เหมือนกัน ทีนี้พอไม่เหมือนกัน เราเข้าใจตรงนี้ ถ้าเรามีประสบการณ์ขึ้นมา เราตั้งบริษัทของเรา เราบริหารของเรา เราจัดการของเรา เราก็เป็นผู้บริหารได้ มันเป็นกาลเทศะไง

ดูสิ ทำไมเราเกิดมาเป็นเด็ก แล้วเราเกิดมาเป็นผู้ใหญ่ล่ะ พอเราแก่เฒ่าชราขึ้นมา ประสบการณ์เราเยอะแล้ว ถ้าประสบการณ์เราด้วย แล้วเรามีบุญกุศลของเราด้วย แต่มันเป็นบางคนนะ บางคนมีประสบการณ์ด้วย แต่รักความสงบ พอเพียงของเขา เห็นไหม จิตใจของคนไม่เท่ากัน เรื่องจากข้างนอก เรื่องจากข้างในนะ ฤทธิ์เดชข้างนอก

ฤทธิ์เดชข้างนอก มันเป็นของอนิจจัง ดูสิ เวลาคนเขาทำคุณไสยกัน หรือเขาทำพวกเครื่องรางของขลัง ถ้าจิตใจเขาดีนะ รุ่นนั้นจะดีมาก แต่ถ้าจิตใจของเขา เวลาจิตใจของเขา สมาธิไม่ดีว่าอย่างนั้นเลย ถ้าสมาธิไม่ดี กำลังไม่ดี ของออกมาแล้ว คุณภาพมันไม่ดี นี่คุณภาพจากข้างนอก

พระพุทธเจ้าสอนว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก เราจงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเถิด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนขึ้นมานะ

“เราจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งใดเป็นที่พึ่งเลย”

ธรรมคือข้อเท็จจริงของชีวิต นี่ไง เกิดมาจากไหน เรานี่มาจากไหน ปัจจุบันนี้เราอยู่ที่ไหน แล้วอนาคตเราจะไปไหน เห็นไหม ถ้าเรารู้จริงแล้ว จิตมันสงบแล้ว จิตมันเป็นหลักเกณฑ์แล้ว เรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด พระอรหันต์ จิตนี้เป็นหนึ่งเดียว ปัจจุบันตลอด ไม่มีวินาทีข้างหน้า และไม่มีวินาทีที่ผ่านมา เป็นปัจจุบันตลอด เป็นธรรมทั้งแท่ง เอโก ธัมโม ธรรมที่เป็นหนึ่งเดียว

โลกนี้ไม่มีหนึ่งเดียวนะ มืดคู่กับสว่าง สุขคู่กับทุกข์ ธรรมเป็นของคู่ไง แต่ถึงที่สุดแล้ว เอโก ธัมโม ธรรมเป็นหนึ่งเดียว ธรรมธาตุ ถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้แล้ว อยู่กับปัจจุบัน เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แต่ถ้าธรรมของเรา มันยังไม่ถึงกับหนึ่งเดียว เห็นไหม

ถ้ามันมีธรรม เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะเห็นนะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา เห็นไหม เป็นพระโสดาบัน พระโสดาบัน เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นเป็นธรรมดา ความคิดความทุกข์ความร้อน มันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วมันก็จะดับเป็นธรรมดา มันเหลือจิตไง มันยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมด

กิเลสที่อย่างละเอียดในหัวใจมันยังเป็นอดีตอนาคตอยู่ แต่ความเห็นการเกิดการดับในความคิด มันเป็นปัจจุบัน แต่สิ่งที่เห็น ผู้เห็น ผู้รู้ มันยังไม่สิ้นสุด เห็นไหม ละเอียดเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถึงที่สุด มันทำลายตัวมันเองนะ พอทำลายตัวเอง อาสะเวหิ อาสวะสิ้นไป จิตตานิ จิตตานิ วิมุจจิงสูติ ตัวจิตมันเป็นตัวนิพพาน ไม่ใช่ตัวจิตเข้านิพพาน ตัวจิตทำลายภวาสวะ ทำลายจิตทั้งหมด ทำลายสิ่งที่จับต้องได้ทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดๆ ที่เป็นสมมุติเลย

สิ่งใดๆ ที่เป็นสมมุติ เป็นที่กล่าวขาน เป็นที่เจาะจงว่าเป็นอะไร ไม่มีเลย มันถึงเป็นวิมุตติ มันไม่มีอะไรที่เป็นสมมุติได้เลย มันเป็นวิมุตติ คือว่าอธิบายเป็นสมมุติไม่ได้เลย นั่นน่ะคือเอโก ธัมโม เพราะมันไม่มีสอง แต่ถ้าอธิบายสิ่งต่างๆ มันเป็นสองหมด เห็นไหม ถ้ามันเป็นหนึ่งเดียว อันนั้นมันเกิดมาจากเรา

ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ฤทธิ์จากธรรมะ ฤทธิ์จากอริยสัจ ฤทธิ์จากอริยสัจเกิดจากเรานะ ฤทธิ์จากข้างนอกมี แล้วมันก็เป็นบุญเป็นกรรมด้วย คนเป็นบุญเป็นกรรม เห็นไหม คนดีผีคุ้ม ปกป้องคนดี แล้วคนที่ไปช่วยเหลือเจือจาน เห็นไหม

ดูสิ เวลาคนที่เป็นผู้รักษาความปลอดภัย เขาเอาชีวิตเขาปกป้องให้เราเลยนะ มันเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากน้ำใจใช่ไหม เวลาเราดูแลรักษา เขาจะโดนเอาตัวเราปกป้องเลย ถ้าอย่างนี้ย้อนกลับไป พระเวสสันดร เห็นไหม พระเวสสันดร เวลาเขามาขอกัณหาชาลี เขาขอลูกนี่ เขาไม่ได้ขอเรา ขอเสร็จแล้วเขาตีต่อหน้าด้วย เจ็บปวดมากนะ เจ็บปวดหัวใจมาก

ถ้าหัวใจเรามั่นคง เห็นไหม เราเสียสละได้หมดเลย ผู้ที่เสียสละแล้วมันได้มาทุกอย่างนะ ดูสิ ดูพระกัสสะปะกับช้าง เห็นไหม ช้างที่ ศพพระกัสสะปะยังอยู่ในเขาที่ปิดอยู่ รอช้างนี่ก่อน ถึงแล้วต้องมาเผาพร้อมกัน มีกรรมร่วมกันมา มีกรรมร่วมกันมา หัวใจมันเปิด มันให้หมดนะ ถ้าไม่มีกรรมร่วมกันมานะ มันมองสิ่งใดมันขัดแย้งกันไปหมด นี่บุญกุศลนะ ทำไมหัวใจเรามันคิดเหมือนกันล่ะ ทำไมหัวใจเรามันมองปัญหาเหมือนกัน หัวใจเราลงด้วยกัน อันนี้มันเป็นประโยชน์มาก ฤทธิ์จากข้างนอก

ทีนี้ใครมีปัญหายังสงสัยอะไรว่ามา มีอะไรไหม

โยม ๑ : จะถามหลวงพ่อว่า พอปัญญาในตัวสมาธินี่ มัน..(เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ปัญญาอบรมสมาธิ โดยหลักทีแรก ในพระไตรปิฎก เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ว่าต้องมีสมาธิก่อนถึงจะมีปัญญา มีสมาธิก่อนถึงจะมีปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเจโตวิมุตติ เราก็ต้องทำความสงบของใจแล้วจะเป็นปัญญา ทีนี้พอเป็นปัญญาขึ้นมา พอมันเป็นปัญญาใช่ไหม โดยหลักมันเป็นอย่างนั้น

พระไตรปิฎก เห็นไหม พระไตรปิฎกจะพูดไว้เป็นหลัก แต่วิธีการมันหลากหลาย มันหลากหลายคือว่า มันมีเหตุการณ์ที่จะต้องสามารถจะทำได้มากกว่านั้น ทีนี้พอมาปัญญาอบรมสมาธิ เพราะกว่าเราจะเป็นสมาธิ เห็นไหม แล้วตั้งแต่เริ่มต้นเลย ถ้าเป็นปริยัติเขาบอกเลยนะ ถือศีล ๕ ต้องมีปัญญา ถ้าคนไม่มีปัญญาถือศีล ๕ ศีล ๕ ผิด ถือศีล ๕ ก็ต้องมีปัญญา

ทีนี้ปัญญาตัวนี้มันเป็นปัญญา โลกียปัญญา ปัญญาของสามัญสำนึกไง มันไม่ใช่ปัญญาในศาสนา ปัญญาในศาสนา ท่านแบ่งปัญญาไว้เป็น ๓ ส่วน สุตมยปัญญาคือการศึกษา การศึกษานี่คือสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา

หลักจริงๆ เวลาในศาสนา หลักของศาสนาจริงๆ คือ ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนาล้วนๆ ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากการวิจัย ปัญญาเกิดจากการภาวนา ภาวนามยปัญญา

ถ้าภาวนามยปัญญา อันนี้คือเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าเน้นถึงเรื่องปัญญา จะเน้นถึงตรงนี้ แต่ตรงนี้มันจะเกิดได้ขึ้นมา มันต้องมีพื้นฐานขึ้นมา เห็นไหม พวกเราต้องเรียนปริยัติ สุตมยปัญญา ต้องมีการศึกษาก่อน ถ้าไม่มีการศึกษาก่อน การปฏิบัติแล้วเราจะปฏิบัติไม่ถูกต้อง นั่นเป็นสุตมยปัญญา

พอเราไปศึกษาปุ๊บ เราก็ว่าเรามีปัญญาแล้ว ถ้ามันมีปัญญาปุ๊บ การศึกษา ศึกษามาเพื่อเป็นความรู้ของเรา ทีนี้ความรู้ของเรา เรามาใช้ความรู้ไตร่ตรองในความรู้ของเรา เป็นจินตมยปัญญา มันไตร่ตรองขึ้นมาเป็นจินตมยปัญญา เห็นไหม

แล้วจินตมยปัญญา คำว่าไตร่ตรอง จิตมันสงบหรือยัง การไตร่ตรอง ความคิดไง ไตร่ตรองในธรรมะ ในสิ่งที่เราศึกษามา นี่ไง ไตร่ตรอง นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะการไตร่ตรองแล้ว ผลของมันคือตอบความสนอง คือความฟุ้งซ่านในใจ ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่าน ความขัดแย้ง คือความไม่ลงตัวในหัวใจ นั่นน่ะ จิตมันไม่ตั้งมั่น ไม่เป็นสมาธิ

พอเราใช้ปัญญาไล่เข้ามา ไล่เข้ามา มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ใช่! พอปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป ทีนี้พอปัญญาอบรมสมาธิ ทุกคนจะถามมาก แล้วเราจะตอบบ่อย บอกว่าจิตต้องสงบก่อนแล้วค่อยถึงใช้ปัญญาๆ

ปัญญาใช้ได้ การใช้นี่หลวงตาท่านบอกว่ามันต้องฝึกอบรม ปัญญาจะไม่เกิดเอง ถ้าปัญญาจะเกิดเอง เราเอาของมาตั้งไว้ แล้วบอกให้เป็นเอง เป็นไปไม่ได้หรอก ของทุกอย่างจะเคลื่อนที่ เราต้องจับต้องฉวย เราต้องขนย้าย ของวางอยู่แล้วจะให้เคลื่อนที่เอง เป็นไปไม่ได้ ของที่วางอยู่ที่ไหน เราต้อง เราจะเคลื่อนที่ไปไหน เราต้องเคลื่อนที่ของเรา เราต้องจับให้เข้าที่ มันจะเข้าที่ของเรา

ปัญญาถ้าเรายังไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการเคลื่อนย้าย ไม่มีการกระทำ มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร อันนี้พอปัญญาที่มันเกิดขึ้นมา เราจะบอกว่า คำว่าปัญญา เราไปตีความกันเองว่าปัญญาคือใช้สมอง ปัญญาคือความคิด ปัญญาคือสิ่งที่เราคิดขึ้นมา คือใช้ปัญญา ไม่ใช่!

เราไปคุยกลับมา มีอาจารย์ฝ่ายที่เขาใช้ปัญญาๆ เขาบอกเขาใช้ปัญญา ปัญญาแล้วนี่เราฟังออก พวกเรานี่เราคุยกับเด็ก เด็กมันบอกว่ามันมีความรู้ เรารู้เลยเด็กมีความรู้ขนาดไหนจริงไหม ถ้าเราคุยกับเด็ก เหมือนกัน ถ้าพูดถึงคนว่าใช้ปัญญา ปัญญา ปัญญาในตรรกะ พูดก็รู้

แล้วถ้าปัญญาที่มันไปประสบเอง มันจะพูดออกมาเป็นตรรกะไม่ได้เลย พูดเทียบเคียงเฉยๆ แต่คนฟังรู้ คนฟังรู้เพราะปัญญามันไล่เข้ามา ไล่เข้ามา ทุกคนบอกว่าใช้ปัญญาแล้วมันปล่อยวาง มันโล่ง นั่นล่ะ ปัญญาอบรมสมาธิ

ปัญญาที่ใช้กันอยู่นี่ เราบอกปัญญาที่ในวงปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ แม้แต่นามรูปก็เหมือนกัน เพราะกำหนดนามเห็นนาม เห็นรูป เห็นนาม เห็นรูป เห็นนาม เห็นรูป ใครเป็นคนเห็น ปกติเรานี่ทุกคนพอปฏิบัติปั๊บ กำหนดนามรูปเลย กำหนดนามรูปเรามีกิเลสไหม ที่เรากำหนดนามรูปกันอยู่นี่ เรามีอวิชชาไหม มีทั้งนั้น

พอเห็นนามรูป เห็นโดยอะไร ก็เห็นโดยอวิชชาไง เห็นโดยกิเลสไง ถ้าเห็นโดยกิเลสปั๊บ กิเลสมันเห็นนาม เห็นรูป มันก็ปล่อยมา ปล่อยมา ทีนี้คำว่าปล่อยมา คำว่าปล่อยมา ถ้ามีสตินะ มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่เพราะความหลงผิด หลงผิดว่านี่เป็นวิปัสสนา พอมันปล่อยวางก็คิดว่าเป็นธรรม มันเลยเป็นมิจฉาสมาธิไง คือเป็นสมาธิ แต่ขาดสติ ขาดสติ ขาดเจ้าของ สมาธิก็เลยเป็นสมาธิลอยลม สมาธิคือเป็นสมาธิสาธารณะ ไม่ใช่สมาธิของเรา

แต่ถ้าเรามีสติ เราเป็นคนกระทำ ดูสิ เราทำกิจกรรมใดก็แล้วแต่ เราทำของเรา ใครเป็นคนทำ เราทำใช่ไหม แต่เราร่วมกันทำกิจกรรมกับเขา แล้วเราไม่รับรู้อะไรเลย งานนั้นเป็นของใคร งานนั้นเป็นของส่วนรวม พอเราใช้ปัญญาของเราเข้าไป ปัญญาของเราเข้าไป เห็นไหม เราทำปัญญาแล้ว เราบอกมันปล่อยวางแล้ว ปล่อยวางๆ แล้วใครปล่อยวาง ไม่รู้ รู้แต่ว่างๆ ว่างๆ ขาดสติ พอขาดสติ นี่ไง มิจฉาสมาธิ มิจฉา มิจฉาคือผิด

ถ้าสัมมา สัมมา เพราะเราเข้าใจกันแล้วใช่ไหม เราใช้ปัญญาไล่ของเราไป นี่ไง ปัญญา เห็นไหม จะคิดเรื่องใดจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ มีสติตามความคิดไป ความคิดมันคิดเรื่องดีเราก็ติด คิดเรื่องไม่ดีเราก็ทุกข์ เจ็บปวดนะ สิ่งนี้คิดแล้วคิดอีก วัดผล วัดผล คิดทำไม ใครเป็นคนคิด เห็นโทษไหม พอเห็นโทษ พอมันจะคิดอีก เหมือนจับไฟ

พอจิตมันจะคิดอีก โอ้โฮ สติมันทันนะ รู้ว่าคิดก็ทุกข์ มันก็ปล่อยๆ นี่ปล่อย สติมันเห็นมันรู้ เราเป็นคนจะไปหยิบไฟเอง แล้วเรายับยั้งไม่ให้หยิบ ไม่ให้จับไฟ เร็วขึ้น ทันขึ้น บ่อยครั้งเข้า นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่อะไรเลย ไม่ใช่วิปัสสนาเลย เพราะมันต้อง มือจะไปหยิบไฟร้อนทุกที สติมันทัน เพราะจิต พลังงาน

พลังงานไม่ใช่ความคิด พลังงานเป็นพลังงานเฉยๆ ตัวจิต พอเราความคิด ความคิดเกิดขึ้นมา เพราะต้องพลังงานนี้เสวยขันธ์ ๕ เสวยความคิด เสวยอารมณ์ พอเป็นความคิดมันก็เป็นความคิดไป พอมันทันขึ้นมา มันทันขึ้นมา มันหยุด หยุดนี่ยังไม่ใช่สมาธิ มันหยุดเฉยๆ

ถ้ามันทันบ่อยครั้งเข้าๆ จนจิตมันเห็นตัวมันเอง ตัวมันเองนี่ตั้งมั่นเลย เหมือนมือเรายับยั้ง มือเราได้ตั้งมั่นเลย ทีนี้พอมือเราเรียบร้อยหมด มือเราแข็งแรง มือเราสะอาดบริสุทธิ์แล้ว มือเราจะไปหยิบจับอะไร มือเราต้องหยิบจับอะไร เพราะจิตเราจะไปคิด เราเห็นทัน พอจิตมันจะคิด พอเห็นกระทบ มัน เอ๊อะ จิตเห็นอาการของจิต วิปัสสนาเกิดตรงนี้

โยม ๑ : มันจะเกิดช่วงที่ว่าเราใช้ เอ่อ ปัญญาดูอะไรทุกอย่าง ดูจนรู้ว่านี่คือสัญญา นี่คืออะไร คือช่วงนั้น คือจิตมันจะรู้ คือมันจะเกิดความตระหนักหรือไม่

หลวงพ่อ : ไม่ อันนี้ทฤษฎี เห็นไหม ฟังรู้ จะพูดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ถูกหมดแต่ผิด พูดถูกหมด นี่ไง ถ้าคนไม่มีหลักนะ ไปฟังธรรมะ เราก็จะบอกว่า โอ๊ย ถูกต้องๆ พูดอย่างนี้ถูกหมดเลยแต่ผิด เพราะพูดทางหลัก จิตเห็นอาการของจิต มันต้องเป็นอย่างนั้น แต่มันผิดเพราะอะไร มันผิดเพราะเราไม่เห็น จิตนี่ มือนี่ไม่จับไฟ มือไม่จับไฟๆ

เหมือนเด็ก ถ้ามือไปจับไฟ มันจับไฟด้วยเต็มมือเลย ร้องจ๊าก! เลย แต่ถ้าผู้ใหญ่มันรู้ว่าไฟ ใครจะเอามือไปจับถ่านแดงๆ มันไม่จับหรอก จิต เห็นไหม จิตถ้ามันรู้มันเห็น มันรู้ชัดเจน เหมือนถ้ามันรู้แล้ว มันจะไปจับอีกไม่ได้เลย

ทีนี้ถ้าจิตมันปล่อยแล้ว มันรู้จริงเห็นจริง ทีนี้พอมันเห็นแล้ว มันรู้แล้ว เห็นไหม มันจะเข้าไปจับ มันจับโดยผู้รู้ มันจะเป็นวิปัสสนา แต่เหมือนกับไฟ มันร้อน เวลามันจับ มันแสบมันร้อน กับเวลาเราพูด ไฟนี่มันร้อน แต่เราไม่รู้ เราจับทุกทีเลย เห็นไหม คำพูดมันฟ้อง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันไม่ได้ปล่อยมา เรายัง..

โธ่ เรากำถ่านแดงๆ นะ มันจะปาทิ้งเลยนะ มันปวดมันร้อน แต่ถ้าเป็นคำพูดนะ ไฟมันร้อนนะ เวลากำแล้วก็ทิ้งมันสิ กำอยู่กับมือ ยังไม่ได้ กิริยาที่เราทิ้งโดยสัญชาตญาณ กับที่เราอธิบายต่างกันไหม คำพูดเราออกมาอย่างนี้

ฉะนั้น เราต้องไล่ปัญญาเข้าไป ไล่ปัญญาเข้าไป พอปัญญาไล่เข้าไป ไล่ความคิดนี่ ไล่มันเข้าไปๆ แล้วดูมันหยุด ดูมันหยุดไง หยุดหมายถึงว่ามันปล่อย หยุดเฉยๆ เดี๋ยวคิดอีก หยุดเฉยๆ เดี๋ยวคิดอีก ไล่เข้าไปๆ อย่าขี้เกียจ ไล่เข้าไป แล้วเราจะรู้เอง เหนื่อยมาก บางทีเหงื่อออกเลยนะ เหงื่อนี่ซ่กเลย เวลาสู้กับความคิด แล้วเวลามันปล่อยบ่อยครั้งเข้า ชำนาญ ต้องอาศัยชำนาญ ขยันหมั่นเพียร

ถ้ามันเคยปล่อยหนหนึ่งแล้วขี้เกียจ มันเหมือนกับน้ำท่วม เวลาน้ำนี่นะมันท่วมแผ่นดิน เห็นไหม น้ำเอ่อขึ้นมา มันจะท่วมที่ดินเรา มีแต่น้ำไปหมดเลย เห็นไหม น้ำมันแห้ง นี่มันลดเราถึงเห็นแผ่นดินเรา เหมือนกัน เวลามันขี้เกียจ มันเหมือนน้ำท่วมเลย ไม่เห็นอะไรเลย จับอะไรไม่ได้เลย รอให้น้ำมันลดไง แล้วเมื่อไหร่มันจะลดล่ะ เพราะเราขี้เกียจ

ถ้าเราขยันนะ ขยันนี่มันเห็น เห็นน้ำขึ้นน้ำลง คือเวลาคิดเวลาไม่คิด เราเห็นหมด พอเราเห็นแผ่นดิน เห็นไหม เรามีโอกาสได้ทำอะไรบ้าง ปัญญาอบรมสมาธิ ฉะนั้น ในการที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์สอน อย่างมากที่เราฟังๆ นะ แค่ปัญญาอบรมสมาธิทั้งนั้นเลย แต่เขาไม่รู้ เขาไม่รู้เพราะอะไร เพราะเขาไม่เคยเห็น

ของที่เขาไม่รู้ไม่เห็น เขาพูดด้วยเต็มปากเต็มคำนะ แล้วไปบอกเขานะ เขาเถียงหัวชนฝาเลย แล้วมันน่าสงสาร น่าเห็นใจมาก แต่มันเป็นกรรมของสัตว์ เพราะสัตว์ไม่รู้ สัตว์ไม่เห็น พูดไปนะเหมือนคนตาบอดแล้วมันเถียง แต่ถ้าคนตาดีกับคนตาดีพูดกันนะชัดเจนมาก ปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันคือสมถะ คือปล่อยวาง

โยม ๑ : ไม่มีปัญญา ให้ปล่อยวาง

หลวงพ่อ : ใช่ ผลของมัน ปัญญาอบรมสมาธิ ผลของมันคือสมาธิ คือสมถะ ฉะนั้นผลของมันเป็นสมถะ เราจะพูดนะ การปฏิบัติทุกแนวทางทุกวิธีการ ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ฤๅษีชีไพร นั่นก็ทำสมถะ แต่เขาไม่รู้ตัวของเขา มันเลยเป็นมิจฉา

แล้วในปัจจุบันนี้ ธรรมะพระพุทธเจ้ามี แต่คนที่ไปปฏิบัติมันก็ยังปฏิบัติ เพราะโยมเอาอาหารกินข้าวเข้าไป ในท้องจะมีอาหารไหม ในท้องจะอิ่มไหม เป็นธรรมดา พอลงปฏิบัติแล้ว ผลของมันต้องเกิดเป็นสมถะเป็นธรรมดา แต่เพราะเราไปเคลมว่าเราเป็นชาวพุทธ เวลาใช้ปัญญาแล้วจะเป็นวิปัสสนา เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเข้าใจว่าเราเป็นชาวพุทธ เราใช้ปัญญาแล้วเป็นวิปัสสนา เราเข้าใจว่า แต่ความจริงไม่เป็น

ความจริงต้องศีล สมาธิ ปัญญา เพราะขาดสมาธิ เพราะไปปฏิเสธคำว่าสมถะ ว่าสมถะนี่มันไม่มีประโยชน์ สมถะนี่มันไม่ใช่ปัญญา พระพุทธเจ้าบอกว่าสมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ ก็ไปปฏิเสธมัน เราเปรียบเทียบนะ เราบอกข้าวสารนี่กินไม่ได้ เราปฏิเสธข้าวสาร แล้วจะมีข้าวสุกไหม เวลาข้าวสารบอกไม่เอา จะเอาข้าวสุก

แล้วไม่มีข้าวสารมันจะมีข้าวสุกได้ไหม ไปปฏิเสธสมถะ ไปปฏิเสธสมาธิ แล้วมันจะเกิดปัญญาได้ไหม ไม่ได้ แต่! แต่ปัญญาที่เขาเกิดอยู่นั้นเป็นโลกียปัญญา เป็นโลกียปัญญา ปัญญาของกิเลส ปัญญาของอวิชชา แต่ปัญญาอวิชชานี้ ไปตรึกในธรรมะของพระพุทธเจ้า มันก็คิดว่า นี่ไง ปรมัตถธรรม เวลาพุทธพจน์ ปรมัตถธรรม มันจะผิดตรงไหน

มันเป็นปรมัตถธรรมของพระพุทธเจ้า แต่มันเป็นกิเลสของเรา มันผิดตรงนี้ ถ้ามันผิดตรงนี้ปั๊บ พอมันผิดตรงนี้ปั๊บ เขาจะแก้ไขไหมล่ะ ถ้าเขาแก้ไข เขาต้องยอมรับว่า ศีล สมาธิ ต้องมีสมาธิ ต้องฝึกสมาธิ ต้องทำใจสงบ แต่เขาปฏิเสธความสงบอันนี้ บอกสมถะไม่มีประโยชน์ ต้องใช้ปัญญาไปเลย มันก็เหมือนกับปฏิเสธข้าวสาร บอกว่าข้าวสารไม่ต้องทำ ไม่ต้องทำนา ไม่ต้องทำข้าวเลย เดี๋ยวข้าวออกจากหม้อ

โยม ๑ : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ถ้ากำหนดพุทโธนี่เป็นสมาธิอบรมปัญญา มันมีปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา งงไหม ไม่ต้องงง ปัญญาอบรมสมาธิ หมายถึงเราใช้ความคิด ปัญญาชน ใช้ความคิดตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า แบบพระโมคคัลลานะ เวลาง่วงนอน เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ ให้เอาน้ำลูบหน้า ให้ตรึกในธรรม ให้ตรึกในธรรม ถ้าไม่ตรึกในธรรมแล้ว มันจะง่วงจะหาว มันจะง่วงนอน ตรึกให้มันตื่นตัว

ทีนี้ถ้าเราตรึกในธรรม เราใช้ปัญญา คือปัญญาอบรมสมาธิ คือว่าเอาปัญญาเรานี่ เหมือนกับเราร่อนทราย ร่อนทรายให้ทรายละเอียด เห็นไหม ปัญญาเรา ปัญญาของปุถุชนมันหยาบ เราก็ใช้ตรึกในธรรมะพระพุทธจ้า ธรรมะพระพุทธเจ้ามาร่อน ร่อนให้ความคิดเรามันละเอียดขึ้น มันเห็นลึกซึ้งขึ้น พอลึกซึ้งขึ้น มันละเอียดขึ้นมา มันก็เข้ามาเป็นตัวใจ ตัวละเอียด เห็นไหม นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิ

พุทโธๆๆ มันก็ร่อนเหมือนกัน พุทโธๆๆ เพราะเราก็ใช้คำว่าพุทโธ พุทโธคือคำบริกรรม ทีนี้ปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้ปัญญาหมุนเข้าไป มันก็ใช้ตะแกรงร่อน พุทโธๆๆ เราร่อนเราเอง พุทโธๆๆ เอาคำบริกรรมนี่ร่อน ไม่ต้องไปสงสัยเลย มันเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พูดถึงกรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐานคือฐานของใจ พุทโธนี่ลงสมาธิ

ทีนี้เวลาพุทโธๆ แล้วมันไม่ลง พุทโธแล้วมันปวดมันอะไรนี่ มันปวด ทีนี้เราก็ใช้อุบายสิ อุบายว่าเราก็พุทโธๆ แต่เวลามันปวดขึ้นมา พุทโธนี่เพื่อจะหลบเข้ามาให้จิตมันสงบ ทีนี้ถ้ามันปวดขึ้นมา ถ้าจิตมันมีหลักนะ พอปวด ปวดก็ดูปวด ทีนี้ถ้าจิตมันไม่มีหลัก พอปวดขึ้นมาก็ดูปวด ปวด ๒ เท่า ๓ เท่าเลย เพราะกำลังมันไม่พอ

เวลาพุทโธๆ เขาเรียกขันติธรรม พุทโธๆ นี่ไปเรียกความรู้สึกเรากลับมาที่ตัวเรา แต่ทีนี้ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันไม่ใช่ปวด ปัญญามันจะคิดตรึกในธรรม ตรึกในความคิด ไล่ไปเลย บางคนพุทโธไม่ได้ พุทโธนี่มันเหมือนต้องศรัทธาจริต คือมันต้องมีความเชื่อมั่น แต่ทีนี้พอเราจะพุทโธ พุทโธ มันจะจริงเหรอวะ พุทโธมันจะลงเหรอ พุทโธมันของตื้นๆ คือเราละล้าละลังเห็นไหม นี่ไง จริตของคน

ถ้าสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าคิด มันจะไม่ได้ผล การกระทำนี่มันต้องทุ่มไปทั้งตัวเลย ไอ้นี่มันอยู่ที่เราเลือก ไอ้นี่ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง หมายถึงว่า วิธีการทำ ๔๐ อย่าง วิธีการไง มันอยู่ที่จริตของคนไง ทีนี้คำว่าปัญญาอบรมสมาธิมัน หลวงตาท่านพูดอยู่ เพราะท่านบอกว่า เวลาท่านเขียนปัญญาอบรมสมาธิขึ้นไป พระก็บอกมันจะมีได้อย่างไร แต่พอเวลาอ่านไปแล้ว เพราะมันใช้ปัญญา

เราจะบอกอย่างนี้ เราโค่นต้นไม้ พุทโธๆ เราสับโคน พุทโธๆ เวลาล้มดังตึ้งเลยนะ เพราะอะไร พุทโธๆ พอจิตสงบมันจะลงลึกมาก ทีนี้เราจะโค่นต้นไม้ใช่ไหม เราไม่มีปัญญา เรามีมีด เราไปเลาะกิ่งมันก่อนไง เลาะทีละกิ่งๆๆ พอถึงโคน เห็นไหม มันตัด มันก็ล้มนิดเดียว เราเลาะกิ่งมา เราตัดมา เราไม่ได้ตัดที่โคน พุทโธๆ สับที่โคน โคนต้นเลย ต้นไม้จะล้มไปเลย แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ เลาะกิ่งทีละกิ่ง กิ่งเล็กกิ่งน้อย เลาะมาเรื่อย ตัดไปทีละกิ่ง พอถึงที่สุดแล้วก็ล้มโคนต้นไม้เหมือนกัน

โยม ๑ : แต่ต้องใช้เวลา ลำบากนิดหนึ่ง

หลวงพ่อ : ใช่ ฮึ! มันอยู่ที่จริตของคน ถ้าคนชำนาญนะ มันเลาะกิ่งมันได้เร็วกว่า ไปฟันที่โคน ฟันแล้วฟันเล่า มันไม่ลง ต้นไม้นี่มันตายตัว แต่กิเลสของคนไม่เหมือนกัน มันอยู่ที่จริตของคน ถ้าจริตของคนต้องใช้ปัญญานะ ไปพุทโธอยู่น่ะ พุทโธเอาไว้เวลาเราเลาะกิ่งแล้วมันเหนื่อย เราก็พักที่พุทโธ

พุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิเราเอามาเป็นผ่อนคลายเราได้ ทำได้ เพราะเรายืนยันว่าปัญญาอบรมสมาธิเป็นปัญญาวิมุตติ ทางพระสารีบุตร เจโตวิมุตติ พุทโธๆ เป็นทางพระโมคคัลลานะ ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ เพียงแต่ว่าผู้ที่ชี้สอน ผู้บอกนี่มันไปข้ามขั้นตอน ไปลัดขั้นตอน

ถ้าไปลัดขั้นตอน อาหารมันสุกไม่ได้ เราบอกพระไตรปิฎกเห็นไหม เหมือนตำราทำอาหาร พระไตรปิฎกไม่มีอาหารออกมาจากตำรา เราฝึกเราอ่านตำราแล้ว เราต้องไปทำอาหารในครัวของเรา นี่เหมือนกัน พระไตรปิฎกบอกไว้อย่างนั้น แล้วเราไปยึดพระไตรปิฎกกัน ว่าตำราอาหาร มันต้องมีออกมาจากตู้พระไตรปิฎก ไม่ใช่ๆ ตำราอาหารเกิดจากครัว เกิดจากหัวใจของเรา เกิดจากการกระทำของเรา ตำราอาหารจะเกิดที่นี่ คือ ความ ผลมันจะเกิดจากใจของเรา เราต้องทำของเรา

โยม ๒ : หลวงพ่อเจ้าขา อย่าง จะถามคำถาม อย่างกรณีคุณสนธิล่ะคะ สื่อบอกว่าปาฏิหาริย์ อยากให้หลวงพ่อขยายความคำว่า ปาฏิหาริย์ หน่อย

หลวงพ่อ : ปาฏิหาริย์ ก็มันมีปาฏิหาริย์ มันมีเยอะนะ คำว่าปาฏิหาริย์ เราจะบอกว่ากรณีนี้ เรา ถ้าพูดออกไป ประสาเรา เราจะย้อนไปที่วันที่ ๗ ตุลาฯ มันมีคนตายหลายคน แล้วถ้าพูดอย่างนั้นปั๊บ มาพูดถึงกรณีของสนธิ มันก็เหมือนกับว่ามันลักลั่นกันไง แต่กรณีของสนธิ มันมีปาฏิหาริย์มาก เพราะกรณีของสนธิคนเดียวนะ สนธิรอดตายๆ แต่ไม่มีใครเห็นเลยนะ ว่าสนธิรอดตายนี่ ชาติมันรอดด้วย ตรงนี้คนมองไม่ออก ที่สนธิรอดตาย ชาติมันรอดด้วย ถ้าสนธิเป็นอะไรไป ถ้าเกิดมีการปั่นป่วนขึ้นมาในชาติล่ะ

โยม ๒ : หลวงพ่อเจ้าขา แล้วถ้ามันจะตามฆ่ากันให้ตายอย่างนี้เหรอ

หลวงพ่อ : พอมันอย่างนี้ปั๊บ ทุกคนก็รู้แล้วใช่ไหม พอทุกคน ทุกคนรู้แล้ว กรณีของสนธิ มันเป็นกรณีเตือนใจพวกเราว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันเห็นผลชัดๆ ไง ว่าผู้ที่ทำดีแล้วมันได้ผลดีอย่างนี้ แล้วผลดีนี่มันเข้ามาคุ้มครอง ในประเทศไทยมีศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มีพระสยามเทวาธิราชปกป้องประเทศชาติ ฉะนั้น ผู้ที่ปกป้องประเทศ เห็นไหม ถ้าสนธิตายไปคนหนึ่ง ก็สนธิก็คือสนธิ เกี่ยวอะไรกันด้วยกับชาติล่ะ

แต่ถ้าสนธิเป็นอะไรไป ประชาชนไม่ยอม ประชาชนออกมา ปั่นป่วนขึ้นมา ประเทศชาติเป็นอย่างไร แต่ถ้าเวลาปกป้องขึ้นมา สนธิไม่เป็นอะไร เป็นอุบัติเหตุนิดหน่อย แต่พวกเรา เห็นไหม พวกเราก็พอใจ สังคมมันไม่ปั่นป่วนไง ปาฏิหาริย์ เราจะบอกปาฏิหาริย์อย่างที่ว่า ครูบาอาจารย์เรา อย่างที่ว่าเขาทำดี จะบอกเลยว่าธรรมะคุ้มครอง

ธรรมะคุ้มครองเขา แล้วคุ้มครองเขา เขามีคุณประโยชน์กับประเทศชาติไง คุ้มครองเขาก็เท่ากับคุ้มครองประเทศชาติ แต่ถ้าคุ้มครองประเทศชาติแล้ว สนธินี่ ถ้าเกิดแก่ชราภาพตายไป เห็นไหม แล้วประเทศชาติเป็นอะไรไหม ก็ไม่เป็นไร ก็มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ใช่ไหม

แต่ถ้าสนธิเป็นไปเพราะเหตุวิกฤติอย่างนี้ ความไม่พอใจของสังคมไง สังคมจะมีแรงต่อต้าน สังคมปั่นป่วน ประเทศชาติมันจะสะเทือนไหมล่ะ กรรมดีของเขาทำไว้ แล้วอย่างที่ว่าประเทศชาติมีสิ่งดีๆ คุ้มครองอยู่ เพราะว่าโดยหลักการ โดยวิทยาศาสตร์ เขาทำของเขา เขาก็ต้องประสบความสำเร็จ แต่มันไม่สำเร็จเนอะ