ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คณะบอม

๒๒ เม.ย. ๒๕๕๒

 

คณะบอม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม ๑ : โยมดูมันลอยไปลอยมา ทีนี้ลูกก็จัดการโดยการเพ่งมันขึ้นมา เพ่งมันขึ้นมาก็คือ ดูจนมันดับไปเลยเจ้าค่ะ ดับไปเลยลูกก็เลยจ่อไปที่จิตไปเรื่อยๆ และก็จะเห็นอาการยิบๆ ยับๆ อยู่ที่จิตน่ะค่ะ แล้วลูกก็จ่อไปอีก มันก็จะเกิดอาการวาบๆ ขึ้นที่จิตนั้น เหมือนกับว่าจิตมันมีการส่งออกๆ ไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันก็จะลึกเข้าไปเรื่อยๆ เจ้าค่ะ จากนั้นพอมันรู้สึกว่าจิตสบาย ลูกก็กำหนดไปที่ลมหายใจต่อไปอีก ทีนี้ไอ้ความคิดก็หายไปหมดเลย ถูกต้องไหมเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ถูกต้อง! แล้วความคิดหายหมดเลย แล้วเรารู้อะไรอยู่

โยม ๑ : รู้กำหนดอยู่ที่จิตอย่างเดียวเจ้าค่ะ (ใช่) แล้วก็กำหนดบริกรรม ลมหายใจต่อไปเรื่อยๆ แล้วลูกก็ค่อยมาจัดการย่อขยายทรง ทำลายอีกทีหนึ่งเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : ใช่! ย้อนไปย้อนกลับนะ ย้อนไปย้อนกลับๆ ย้อนไปย้อนกลับๆ พอย้อนไปย้อนกลับ ถ้าเราจะกำหนดให้มัน ถ้าพูดถึงมันส่งออก บางทีนี่นะ มันมีคนภาวนาเยอะมาก มาอยู่ที่วัดนี่ แล้วพอดีบางทีนะแปลกนะ ผู้หญิงนี่ หลายคนมากเลย เขาจะมีความรู้พิเศษ จะรู้อะไร รู้แบบว่า มีเทวดา มีเห็นภาพ รู้วาระจิต รู้ไปหมดเลย แล้วความจริงรู้อย่างนี้ปั๊บ ทุกคนจะมีรสชาติ

คือว่ามันจะรู้สึกว่ามีอะไรที่ว่าเรารู้ เราภาวนาแล้วเรารู้ เราได้รู้อะไร มันเหมือนกับเรามีการศึกษา พอเราไปอ่านตำรา หรือมีการศึกษาแล้ว เราจะมีปัญญา มันจะติด ติดว่านี่คือ เป็นธรรมะไง แล้วเราก็พยายามจะทำอย่างนี้

คือว่า ย้อนกลับมาให้ได้ คือย้อนกลับมาๆ พอย้อนกลับมาแล้วนี่ ถ้าภาพชัดเจนเราจะยกแม่ชีแก้ว แม่ชีแก้วนี่ก่อนที่จะเจอหลวงตา ภาวนานี่จะรู้ไปหมดเลย รู้อะไรปั๊บ นี่ ถือว่าได้ภาวนา ถ้าวันไหนอยู่เฉยๆ นี่ เหมือนกับไม่ได้ภาวนา จนหลวงตาบอกว่า

“ออกบ้างก็ได้ๆ ให้หยุดบังคับอะไรก็ได้”

คือเริ่มต้นเห็นไหม จะบอกว่าให้บังคับไปเลยน่ะ มันไม่ไหว

“จะส่งออกบ้างก็ได้ แต่บังคับไว้บ้างได้ไหม”

“ไม่ได้! อะไรก็ไม่ได้”

พอสุดท้ายไม่ได้ ก็ไล่ลงเลย พอไล่ลงปั๊บ จะเข้าตรงนี้ พอไล่ลงปั๊บนี่ เวลามันส่งออกนี่ มันไปรับรู้สิ่งต่างๆ มันบอกว่า ถ้ามันไม่ได้ออกไปรับรู้นี่ มันก็เหมือนกับไม่ได้ภาวนา เหมือนเรานี่ไม่ได้คุย ไม่ได้รับรู้เรื่องสิ่งใด เหมือนเราไม่รู้อะไรเลย เราต้องไปรับรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้ขึ้นมา โอ้! อันนี้ เรารู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ มีความสบายใจ

นี่พอโดนหลวงตาเอ็ด หลวงตาไล่ปั๊บนี่ เขาบอกว่า ถ้าเราจะเชื่อท่าน เราก็ลองซิ ลองแล้วกำหนดพุทโธๆ พุทโธไว้ พอจิตมันลง พอจิตมันลงก็เห็นตัวเองนั่งอยู่ หลวงตาเดินมาเลย “ ในนิมิตๆ ” เอาดาบมาถึงฟันเลย อันนี้ตัวท่านเองนะ ฟันๆ ฟัน นี่ธรรมมันเกิด

คำว่าหลวงตาเข้ามาฟันนี่ ภาพอย่างนี้ มันสร้างไม่ได้ สิ่งที่เป็นนิมิตนี่เราไม่สามารถสร้างภาพได้ว่า เราต้องการภาพอะไร มันไม่มีอุปาทานไง มันเกิดเองโดยธรรมชาติ มันเกิดเองโดยสัจธรรม

พอเข้ามาฟันปั๊บนี่ เราไม่เคยคาดหมายว่าเราจะเห็นภาพอะไร เราจะรู้อะไร เหมือนกับเรานี่ เรานั่งคุยกันอย่างนี้ สมมุติเรานั่งคุยกันอย่างนี้ เดี๋ยวพอเราขับรถกลับไป เราต้องระวังตัวให้ดีเลยนะ มันจะเกิดอุบัติเหตุ เราก็จะระวังตัว นี่เราระวังตัวเราก็รับรู้

แต่ถ้าโดยปกติมันเกิดอะไรขึ้นมาโดย เกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้านี่ เราไม่ได้ระวังตัว ไม่ได้อะไรนี่ มันจะตื่นเต้นมาก มันจะมีความรับรู้ที่แปลกประหลาดกว่าที่เราตั้งใจไว้ นี้พอเรากำหนด พุทโธๆ พุทโธๆ ไปนี่ พอมันลง เห็นภาพหลวงตามาฟันนะ

เราจะบอกว่า ความรู้สึกของใจที่มันเห็นน่ะ ใจที่มันปล่อยนะ มันต่างจากที่เราคาด มันต่างจากที่เราสร้างสถานการณ์ไว้ เหตุมันเป็นปัจจุบัน พออย่างนั้นปั๊บนี่ อารมณ์ความรู้สึกนี่ มันจะต่างกันเยอะมาก พออารมณ์ความรู้สึกมันต่างกันเยอะมาก

เนี่ยอารมณ์ความรู้สึกมันต่างกัน อ๋อ! นี่ถูกทาง พอถูกทางแล้ว ขึ้นไปกราบท่าน เห็นไหม พอขึ้นไปกราบหลวงตานี่ หลวงตาก็สอนต่อ อีกปีกว่าก็สำเร็จเลย

จะย้อนกลับมาที่นี่ แล้วตอนนี้เรากำหนดเข้ามาๆ อันนี้ เราพัก พักเพื่ออะไร พักเพื่อไม่ให้ใจมันใช้พลังงานออกไป แล้วเวลาพอมันสงบดีแล้วนี่ เราค่อยออกมาๆ ออกมาพิจารณากาย ออกมาพิจารณสิ่งต่างๆ ที่ออกมารับรู้น่ะ ทำอยู่อย่างนี้ หลักของมันทำอยู่อย่างนี้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราบอกไว้นะโดยสามัญสำนึกของพวกเรานี่ ทุกคนน่ะเคยผ่านนรก ผ่านสวรรค์มา จิตทุกดวงเคยผ่านมา

ถ้าบอกถึงผีนี่ กลัวทุกคน จิตใต้สำนึกของทุกคนกลัวผีหมด จิตใต้สำนึกพวกเรานี่ พูดถึงนรกหรือสวรรค์นี่เราคาดหมายได้ แต่ถ้าบอกว่า โสดาบัน สกิทาคา อนาคา พระอรหันต์นี่ คาดหมายไม่ได้ เพราะจิตไม่เคยไป

พอมันคาดหมายไม่ได้ เวลาทำอะไรขึ้นมานี่ หน้าที่ของเราคือเราฝึกฝน เรามีการกระทำ ถึงที่สุดให้มันเป็นของมันเอง ทำอย่างนี้ ถูก! กำหนดจิตเข้ามา คือว่าต้องให้เข้ามาเป็นตัวเราให้ได้ เข้ามาเป็นพลังงานโดยสากล พลังงานโดยธรรมชาติของมัน แล้วถ้ามันเข้าไปเห็นสิ่งใด รับรู้สิ่งใด บางทีพอเรากำหนดพุทโธ หรือกำหนดสิ่งใด จิต ให้มันนิ่งไปหมด มันไม่มีอะไร มันอยู่นิ่งแล้ว พอมันมีกำลังแล้วนี่ ออก! หาเลย ออกทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างอื่นไปไม่ได้

ย้อนกลับมาๆ ทีนี้ สมมุติว่าเรานี่นะ เป็นลูกศิษย์ครูพักลักจำ เราได้จำของครูบาอาจารย์มา ทีนี้เราก็จะมาสอนโยม (หัวเราะ) สมมุติว่าจะมาสอนโยม เราก็ต้องสอนบอกเลยนะ บอกว่าให้ทำจิตให้สงบเข้ามา แล้วพิจารณากาย ออกมาพิจารณากาย พอพิจารณากายไปแล้วนี่ มันจะเต็ม

เราฟังมา ลูกศิษย์ที่มาถามนี่ เขาไปอยู่กับครูพักลักจำกันเยอะ แล้วเขามาหาเรา พวกพระนี่ บอกว่าเขาทำจิตสงบแล้ว อาจารย์ก็บอกว่าให้พิจารณากาย เขาก็ทำพิจารณากาย พอพิจารณากายไปแล้วนี่ มันจะมีการปล่อย เราจะเห็นว่าเราจะปล่อย พอพิจารณากายไปแล้วจะปล่อยกาย

ทีนี้พอปล่อยกายปั๊บก็จะกลับมาถามอาจารย์ต่อ ว่าพิจารณากายแล้ว ทีนี้ครูพักลักจำนี่ มันจำได้แค่นี้ พอมันจำได้แค่นี้มันพูดต่อไม่ได้ บอกจิตสงบแล้วพิจารณากาย ทุกคนจะพูดอย่างนี้หมด ทำจิตให้สงบเข้ามาแล้วพิจารณากายๆ พอพิจารณากายไปแล้ว พอทำไปแล้วมันจะมีประเด็นละ มันจะมีปัญหาขึ้นมาละ

พิจารณากายแล้ว ปล่อยกายแล้ว ทำอย่างไรต่อ ก็พิจารณากายซิๆ แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ ถ้าครูพักลักจำน่ะ มันจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้านะ เพราะพระมาถามนี่ จะเป็นอย่างนี้เยอะมาก แล้วเราก็ถามพระกลับ ก็ถามเขาซิว่า “พิจารณาอย่างไร” นี่แล้วพิจารณากายน่ะ พิจารณาอย่างไรล่ะ

โยม ๑ : แต่ท่านอาจารย์คะ สิ่งนี้เขาไม่ได้สอนอย่างท่านอาจารย์เลยนะคะ ท่านอาจารย์อื่นท่านจะสอนว่า

โยม ๒ : พอดีแม่ชีเขามาว่าวิธีอะค่ะ

โยม ๑ : วิธีของเขาค่ะ แต่ท่านไม่ชี้โป้งๆ อย่างท่านอาจารย์ ท่านจะสอนว่า “ใครมองว่าน้ำ น้ำก็ไม่ใช่น้ำ ดินก็ไม่ใช่ดิน ใครไปมองว่ามันแล้วใครเป็นตัวหมาย” อย่างนี้คือ ก็เลยจับหลักไม่ได้ แม่ชีก็เลยไม่ค่อยเชื่อ ก็เลยจับหลักไม่ค่อยได้เท่าไร

หลวงพ่อ : เขาไปเชื่อกันเอง เราฟังอย่างนี้ เรารู้

โยม ๓ : เข้าใจยาก

หลวงพ่อ : ฮึ!

โยม ๑ : แต่ท่านอาจารย์คะ เมื่อกี้ท่านอาจารย์ชี้โป้งมาเลยนะค่ะ ทำอย่างนี้ๆ

โยม ๓ : ท่านอาจารย์เทศน์ก็บอกไม่ฟัง

โยม ๒ : แม่ชีก็ถามเราเหมือนกัน เข้าใจไหม อะไรไหม เขาบอก เขาฟังแล้วจิตเบิกบานไปตั้งหลายวัน บอมบอกไม่เข้าใจ ไม่เหมือนท่านอาจารย์สอน

หลวงพ่อ : ฮึ! เราจะบอกว่าอย่างนั้น พวกนี้นะมันมีผิดมา ผิดมาเพราะอะไรรู้ไหม ผิดมาเพราะว่าหลักธรรมะมันเป็นอย่างนั้น แต่ครูพักลักจำนี่ มันจะสร้างภาพให้เหมือน เหมือนกับทางมหายานนี่ มหายานพูดกันอย่างนั้น แบบว่าอะไรนะ เวลาเราพูดเขาก็งงนะ เราบอกว่า ในมหายานนะ ในมหายานนะเขาบอกว่า “เจอพุทธะให้ฆ่าพุทธะก่อน ถ้าไม่ฆ่าพุทธะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้” แล้วจะเจอพุทธะอย่างไรล่ะ อะไรคือพุทธะล่ะ

แต่เวลาเราอธิบายนะ เวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม เวลาจิตท่านว่างหมดเลย ท่านพิจารณาไปนี่ “โอ้โฮ! ภูเขาทะลุไปหมดเลย จิตทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้” ฟังว่า จิตเราทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ ทีนี้ หลวงตาท่าน พูดนะ ว่าธรรมะนี่กลัวว่า หลวงตาจะหลง ธรรมะนี่ผุดขึ้นมาเลย

“ไอ้ความสว่างไสว ไอ้ความผ่องใส ทุกอย่างนี่ มันเกิดจากจุดและต่อมของจิต”

จุดและต่อมของจิตนั้นคือพุทธะ นั่นน่ะ พอพุทธะปั๊บ เจอพุทธะให้ฆ่าพุทธะก่อน เห็นไหม มหายานน่ะ เขาพูดถูกนะ แต่พวกเรามันไม่เข้าใจว่า มันไม่เคยเห็นพุทธะ มันไม่รู้ว่าพุทธะอยู่ที่ไหน มันไม่รู้อะไรเลย เพราะมันไม่รู้จักตัวเองเลย

นี่ย้อนกลับมาตรงที่เมื่อกี้นี้ที่บอกว่า น้ำก็สักแต่ว่า ทุกอย่างเป็นสักแต่ว่า คำสอนอย่างนี้ ผิด! มันผิดที่ไหนล่ะ ผิดเพราะว่า ครูพักลักจำ คำว่า “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” อย่างที่อาจารย์เขาสอน อาจารย์เขาพูดอยู่ อาจารย์ของเขานั้นแหละ ผมสักแต่ว่าผม ขน ผมนั้นน่ะเป็นอริยสัจ เราบอกว่า ไม่ใช่เป็นอริยสัจหรอก

ถ้าเป็นอริยสัจนะ แผงค้าสัตว์น่ะ แผงค้าหมู ค้าวัวน่ะ มันก็มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เหมือนกัน มันก็มีเนื้อ มีกระดูก มันก็ต้องเป็นอริยสัจสิ มันไม่เป็นหรอก มันเป็นอริยสัจต่อเมื่อจิตเห็น ไอ้อย่างที่ว่า สักแต่ว่าๆ นี่ เราบอก มันจะเป็นสักแต่ว่าได้ ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์

พระอรหันต์ร่างกายทุกอย่าง มันเป็นสมมุติหมด มันเป็นสักแต่ว่า เพราะใจมันปล่อย แต่พวกเราใจยังไม่ปล่อย มันจะเป็นสักแต่ว่าได้อย่างไร เปล่า! มันจะเป็นสักแต่ว่าต่อเมื่อพระอรหันต์พูด แต่มันจะไม่เป็นสักแต่ว่าเลยอย่างพวกเรา ถ้าเป็นสักแต่ว่านะ เด็กๆ เกิดมานี่มันก็ต้องไม่ติดสิ เด็กๆ เกิดมา เด็กๆ ทารกนี่มันไม่ได้ดั่งใจ มันจะร้องไห้ มันจะตีโพยตีพาย มันสักแต่ว่าตรงไหน แล้วพอเราโตขึ้นมานี่ เราไปศึกษาธรรมะมา แล้วเราเข้าใจว่ามันเป็นสักแต่ว่าๆ แล้วเราก็เป็นสักแต่ว่า

คือว่ามันเป็นแบบว่า ซื้อก่อนขาย สุกก่อนห่ามไง มันไม่เป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริง คนเป็นจริงต้องสอนอย่างนี้ จริงตามสมมุติ เราเกิดมานี่ ร่างกายเป็นเราทุกอย่างเป็นเรา เป็นเราจริงๆ แต่มันชั่วคราวๆ โดยสัจธรรม แต่เป็นจริงอย่างเรา ถ้าชั่วคราวทำไมเราปล่อยไม่ได้ มันปล่อยไม่ได้หรอก

โยม ๑ : ใช่ หนูก็นึกอยู่ในใจว่า ก็รู้อยู่ว่านะคะ ว่าใจ มันเป็นตัวเอง แต่ว่ามันปล่อยไม่ได้

หลวงพ่อ : มันปล่อยไม่ได้!

โยม ๑ : เพราะว่ามันยังไม่เห็น

หลวงพ่อ : ถ้ามันเห็นนะมันจะเป็น ปริยัติ ปฏิบัติทำไม อย่างที่เขาพูดกัน เหมือนปริยัติ เราถึงบอก เราพูดบ่อยว่ามันเป็นปริยัติในปฏิบัติ มันเป็นปริยัติในปฏิบัติ ก็มันจำในการปฏิบัติไง มันเอาเรื่องปฏิบัติมาจำกัน มันถึงไม่ใช่! มันไม่ใช่หรอก คำว่า “สักแต่ว่า” นี่นะ เวลาเราพิจารณาของเรา เขาไม่สักแต่ว่า เราเทศน์ไว้กัณฑ์หนึ่ง เห็นไหม บอกว่าไม่ใช่สักแต่ว่า สักแต่ว่าไม่ใช่ สักแต่ว่าไม่ได้ มันต้องจริง เป็นเราจริงๆ แล้วเข้าไปรู้ตามความเป็นจริง แล้วปล่อยจริงๆ มันถึงจะไม่ใช่เรา

แต่นี้พอคนครูพักลักจำ มันไม่ได้เห็นการกระทำมา เพราะเราฟังพวกนี้มาหลายองค์ เขาจะพูดอย่างนี้ เขาจะเทศน์อย่างนี้ เขาจะบอกว่า พิจารณากายๆ เมื่อถึงที่สุดแล้วให้ปล่อยกาย แต่เขาไม่รู้ว่าปล่อยอย่างไร

นี่ไง หลวงตาพูด หลวงตาบอกว่า “ไม่รู้ถามไม่ได้ ไม่รู้ตอบไม่ได้ ไม่รู้ถามไม่ได้” ท่านไปคุยกับหลวงปู่แหวนไง ถ้าไม่รู้จะเอาอะไรมาถาม ถ้าไม่เป็นไม่รู้จะเอาอะไรมาตอบ ฉะนั้นสิ่งที่เขาพูดมานี่ มันก็เหมือนกับ มันก็ไปศึกษามาจากตำรามา สักแต่ว่าๆ

มันเหมือนกับที่เขามาให้เรามาจากชลบุรี เขามีหนังสือมาให้น่ะ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติคือธรรมะ เราบอกเลย เวลาเด็กมันโกรธนี่นะ เด็กไร้เดียงสา ลูกเราเล็กๆ นะ เวลามันโกรธ มันกระฟัดกระเฟียด มันน่าเอ็นดูเนอะ นั่นก็เป็นธรรมชาติ อย่างนั้นโกรธมันก็เป็นธรรมะนะสิ มันก็เป็นธรรมชาติ มันก็เหมือนกับสักแต่ว่าเนี่ย

คือมันไปพูดก่อนไง อย่างโยมนี่มีสตางค์มีเงินมีทองให้ลูกมัน สักแต่ว่าได้ แต่ลูกนี่มันทำอะไรไม่เป็น มันแบมือขอ มันสักแต่ว่าได้อย่างไร ไม่มีทางหรอก เราฟังมาตลอด แล้วบังเอิญด้วย เขามากันที่นี่ เขาก็บอกเลย ลูกศิษย์เขามาที่นี่ เขาบอกว่า อย่างที่เขาเห็นทางเดียวกัน มันก็เป็นทางเดียวกันจริงๆ แล้วเขาก็บอกว่า เขาเห็นเหมือนกันแล้วทำไมเราไม่เห็นด้วย บอกไม่เห็นด้วยหรอก เห็นด้วยไม่ได้ เราจะบอกว่า คนที่มุมมองมันเหมือนกันนี่ มันจะไปทางเดียวกัน

นี่น้ำกับน้ำมัน เรานี่มุมมองอย่างนี้ เราไม่เห็นด้วย เราไม่เคยเห็นด้วยเลย สักแต่ว่าไม่ได้ ถ้าสักแต่ว่านะ เหมือนกับเด็กมันโตขึ้นมา มันจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย มันจะไม่ทำอะไรเลย เด็กมันจะโตขึ้นมาไม่ได้

เด็กนี่มันจะโตขึ้นมาได้มันต้องให้มีการศึกษา ต้องให้มันฝึกงาน มันรู้จริงทำจริง จนชำนาญการแล้ว มันจะเข้าใจแล้วมันถึงจะเพียงสักแต่ว่า มันทำจนชำนาญหมดแล้ว

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ : ไม่ได้! นี่ ถ้าครูพักลักจำนี่ มันถึงว่า มันสอนต่างกัน เพราะไอ้คำสอนอย่างนี้เราเจอมาเยอะ แล้วพอเจอมาเยอะปั๊บนี่ มันเหมือนกับเราทำให้เด็กของเรานี่ มันแบบว่า มันไม่มีพื้นฐาน แล้วทิ้งพื้นฐาน

ไม่อย่างนั้นจะพูดทำไมว่า “พุทโธ” นี่ไม่มีประโยชน์ สมาธิไม่ต้องทำ เพราะเขาคิดอย่างนั้นกันไง เขารวบรัดตัดตอน พอรวบรัดตัดตอนไปแล้ว คิดว่าจะเป็นความจริงนะ เรากล้าพูดนะ ในใจลึกๆ ของเขาทุกคน ที่เขาสอน เขาก็สงสัย ในใจเองก็สงสัย ถ้าในใจไม่สงสัยนี่ คำพูดกับธรรมะ อย่างที่หลวงตาท่านพูด เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกเลย

“ต้อง! เป็นอย่างนั้นๆ ต้อง! เป็นอย่างนั้นๆ ”

แต่นี่ที่เขาพูดนะ สองแง่สามง่ามตลอด

โยม ๒ : ไม่มีเลย! ไม่มีเห็น..อย่างที่หลวงตาบอก ต้องอย่างนั้นๆ

หลวงพ่อ : ต้อง! อย่างนั้นทั้งนั้น อันนี้ใครจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่เขา เพราะหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอก

“ใจของเรารักษาใจของเรา เราพิสูจน์ได้ที่ใจของเรา”

พิสูจน์ได้ตรงไหน เวลาพิจารณาไปแล้ว รสของมันอย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ แม่ชีแก้ว ขณะที่ออกรู้นี่ รู้ด้วยสามัญสำนึกของเรา ถ้าได้ออกรู้ ออกเห็น เทวดา ออกเห็นภูตผีปีศาจนี่ เหมือนกับเราออกไปรู้ มันสดชื่นนะ มันมีว่า แหม เราภาวนามีรสชาติ แต่พอหลวงตาไม่ให้ออกนี่ มันไม่ดี มันไม่มีรสชาติ แต่! แต่พอมันเข้าไปถึงอริยสัจ มันเข้าไปถึงมรรคญาณแล้วนี่ มันละกิเลส มันจะต่างกันมหาศาลเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำแล้ว สิ่งที่ สันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก คือความรู้ของใจเรานี่ มันฟ้อง! หลวงปู่มั่น ก่อนที่ท่านจะลาพุทธภูมิ พิจารณากายเหมือนกัน ออกมาแล้วนี่ปกติ ออกมาแล้วนี่ธรรมดา มันไม่ใช่ๆ พอไม่ใช่นี่ เพราะท่านสร้างของท่านมาเอง พอไม่ใช่ปั๊บ ท่านก็ทบทวน เป็นเพราะเหตุใด

อ้อ! เป็นเพราะว่าเราปรารถนาพุทธภูมิไว้ ทำจิตสงบเข้ามาแล้วก็ไปลาตรงนั้น พอลาตรงนั้นเสร็จปั๊บ จิตสงบเข้ามาก็พิจารณากายเหมือนกัน พิจารณากายเข้าไปแล้ว มันปล่อย พอออกมาแล้วนี่ มันเหมือนกับเราได้ชำระล้างความสกปรก คือใจมันเบาต่างกัน

เพราะว่าเวลาอดีตหลวงปู่มั่งองค์เดียวกันนั้นแหละ ก่อนที่จะลาพุทธภูมิก็พิจารณากายเหมือนกัน พิจารณาเข้าไปแล้วนี่ พอถึงหนึ่งไปถึงทางตัน ไปถึงแล้วมันไม่ปล่อย อยู่อย่างนั้น มันคาอยู่อย่างนั้น พุทธภูมิมันเป็นอย่างนั้น พุทธภูมินี่ได้ฌานโลกีย์ ทำอย่างไร พอออกมาแล้วมันก็ปกติ เหมือนเรานี่ อาบน้ำชำระล้างแล้วเหงื่อก็ออกเหมือนเดิม มันไม่สะอาดสักที

โยม ๓ : แต่บารมีท่านเยอะ ใช่ไหมครับหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ถ้าคนไม่มีบารมีจะไม่มีวุฒิภาวะอย่างนี้ ถ้าบารมีไม่ถึงนะมันจะติด แล้วแก้ไขตัวเองไม่ได้ คนที่จะแก้ไขตัวเองได้ มันต้องมี เพราะว่า คำว่า “แก้ไขตัวเองได้” อย่างพวกเรานี่ ภาวนาไปแล้ว เราเชื่อตัวเราเองไหม เราไปรู้ไปเห็น เราจะเชื่อไหม ใครมันจะยอมตรวจสอบตัวเอง ใครมันจะยอมพลิกแพลงความคิดของตัวเอง คนที่จะมีความคิดอย่างนี้ได้ เราจะเทียบหลวงปู่มั่นกับพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าไปอยู่กับอาฬารดาบส อาฬารดาบสเป็นอาจารย์ เจ้าชายสิทธัตถะได้สมาบัติ ๘ เหมือนเรา เป็นอาจารย์สอนในสำนักนี้ เรารับประกันเลย มีความรู้เสมออาจารย์เลย เจ้าชายสิทธัตถะบอกว่า “ไม่เอาๆ” เพราะออกมาแล้วก็ปกติ หลวงปู่มั่น ท่านพิจารณากายแล้ว เพราะตำรามันมีแล้ว สังคมในศาสนาพุทธ มันมีอยู่แล้ว กึ่งพุทธกาลพิจารณากายเหมือนกันตามตำราเปี๊ยะ จิตสงบก็พิจารณากายก็พิจารณาแล้ว ออกมาแล้วมันไม่เห็นได้อะไร พอลาพุทธภูมิแล้วพอพิจารณาเข้าไปมันคนละเรื่องเลย

แล้วนี่ย้อนกลับมาตรงที่พิจารณากายๆ เราฟังมาเยอะ แล้วพระมาหาเยอะ พิจารณากายๆ แล้วมาถามว่าพิจารณาอย่างไร บางทีมานะพิจารณากาย ก็ยื้อกันอยู่นี่

“ทำอย่างไรต่อ” “ทิ้งเลย กลับไป พุทโธ”

“แค่นี้เหรอ” “เออ ก็แค่นี้”

คือจิตบางทีเราละล้าละลังเกินไป เราไปอยู่กับงานจนเกินไป เราก็คิดว่านี่มันถูกทาง ถูกทางหลวงตาท่านบอกนะ “ถูกทาง ถ้าไม่ได้พักเอ็งทำงานนะ เอ็งเหนื่อยตายเลย” แล้วเอ็งจะไม่ได้ผล ถึงมันจะกลับมาพุทโธนี่มันจะเสียเวลา แต่เสียเวลาเพื่อความสดชื่น เพื่อกำลัง ก็ต้องยอมเสีย หลวงตาพูดประจำ คนเป็นพูดอะไรมันถูกหมด คนไม่เป็นพูดอะไรผิดหมด ผิดหมด!

ไอ้นี่เรายืนยัน ไอ้สักแต่ว่านี่ คำว่า “สักแต่ว่านี่” จะทำให้คนภาวนาเสีย หลวงตาจะบอกเลยนะว่า “ต้องทุ่มเทไปทั้งจิต ต้องเข้มแข็งเป็นเอกภาพ ทำอะไรต้องทำจริง” ทีนี้พอสักแต่ว่า นี่มันกึ่งๆ สักแต่ว่านี่ จะทำให้การภาวนานี่ สักแต่ว่านี่ ก็ ๕๐: ๕๐

โยม ๑ : เหมือนปฏิเสธมาตั้งแต่แรกแล้ว

หลวงพ่อ : ใช่! ใช่! ๕๐: ๕๐ ไง ทำก็ทำให้เต็มไม้เต็มมือ เออ มันก็สักแต่ว่า เราก็รู้แล้วมันก็สักแต่ว่า แต่ก็ต้องภาวนาไป ภาวนาไปให้เห็นว่ามันมีการกระทำ พอทำเสร็จแล้วนะ มันก็เหมือนว่า ๕๐: ๕๐ ตั้งแต่เริ่มต้น แต่เราไม่สักแต่ว่าเลย นี่น้ำอะไร เปิดกินเลย อ้อ กินแล้วก็ อ้อ! รู้แล้วว่านี่น้ำอะไร เออ สักแต่ว่าๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ มันต้องพูดอย่างนี้นะ มันไม่ได้เป็นที่ลูกศิษย์หรอก มันเป็นที่อาจารย์ ก็มีมุมมองอย่างนี้ อาจารย์เขาสอนมาอย่างนี้ อาจารย์ของเขาก็สอนมาอย่างนี้

โยม ๑ : แล้วอย่างนี้ ท่านอาจารย์คะ บางที อย่างแม่ชีเขาบอกว่า เขาจะดูอารมณ์การเกิดดับของอารมณ์นะค่ะ พออารมณ์เกิดขึ้น ก็จ่อไปที่มัน มันก็จะดับ เกิดขึ้นแล้วก็ดับ บางทีก็ดูความฟุ้งซ่านของจิต ดูแล้วก็ไม่ไปต่อมันน่ะค่ะ ดูแล้วก็ดับ ดูแล้วก็ดับอย่างนี้น่ะค่ะ

หลวงพ่อ : มันก็เข้ามาที่สักแต่ว่านี่ไง

โยม ๑ : ก็เหมือนกันใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่! เข้ามาสักแต่ว่าเพราะอะไร ดู เพราะมันต้องดับอยู่แล้ว เรานั่งกันอยู่นี่ พระอาทิตย์ขึ้นแล้วพระอาทิตย์มันจะตกไหม แน่นอน พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ต้องตกอยู่แล้ว โดยธรรมชาติของมัน ความคิดเกิดขึ้น มันก็ดับโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราได้อะไร

โยม ๑ : เหมือนเล่นปัดไปปัดมาใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : มันไม่ได้อะไรหรอก

โยม ๓ : มันไม่ได้แก้ต้นเหตุ

โยม ๑ : มันไม่ได้แก้จุดเหตุ มันต้องมีเหตุใช่ไหม เดี๋ยวมีอาจารย์ต่างๆ...

หลวงพ่อ : ใช่! เพราะมันไปปฏิเสธตรงนี้ไง มันไปปฏิเสธที่ผู้กระทำไง เขาไปปฏิเสธที่ผู้กระทำ ถ้าผู้กระทำ ผู้กระทำต้องผิดใช่ไหม ฐีติจิต จิตต้องสงบก่อน ถ้าจิตสงบก่อน จิตมันออกรู้ พอจิตออกรู้นี่นะ โทษนะ เหมือนกับเราทำธุรกิจน่ะ เราทำธุรกิจนี่ เราไม่สามารถบังคับลูกค้าเราได้หรอก ลูกค้านี่ ถ้าสินค้าเราดี ทุกอย่างเราดี เขาสามารถเขาต้องรับสินค้าเราเอง

แต่ถ้าสินค้าเราห่วย เราทำไปแล้วสินค้าเราไม่เอาไหน เขาจะเอาเราไหม คือเราไม่สามารถบังคับได้ว่าธุรกิจต้องเป็นเหมือนที่เราคาดหมายตลอดไป มันจะมีคราวดี คราวไม่ดี อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราดี พื้นฐานเราดี สติเราดี พิจารณาไปมันจะปล่อย มันจะเป็นไป แล้วคราวหน้าจะทำอย่างนี้อีกไม่ได้แล้ว นี่ สักแต่ว่าไหม มันจะสำเร็จรูปไหม ดูไปก็ปล่อยเอง (หัวเราะ)

โยม ๑ : แล้วจะเถียงกับความนึกคิดตัวเองว่าหมู “หมูก็ไม่ใช่หมู แล้วใครว่าเป็นหมู” อะไรอย่างนี้ เหมือนกับเถียงกับความคิดตัวเอง

หลวงพ่อ : เฮอะ!

โยม ๓ : ดูแล้วไม่เข้าใจ

หลวงพ่อ : เฮอะ! อันนี้คือโวหาร นี่โยมต้องคิดอย่างนี้นะ เพราะเราอยู่ในสังคมนี้นะ เราอยู่ในสังคมนักปฏิบัติ แล้วเวลาใครมาจากไหน เราจะถามว่า “มาจากไหน” ถ้ามาจากไหนนี่ หัวหน้าเขาเป็นอย่างไร ในสังคมจะเป็นอย่างนั้น ลูกศิษย์เราเป็นพระนะ อยู่ในสังคมๆ หนึ่ง เขาใช้ปัญญาทำอย่างนั้นตลอด เขาบอกว่า ที่วัดเขาเนี่ย เขาจะนั่งคุยธรรมะกันอย่างนี้ แล้วจะตั้งประเด็นขึ้นมา คือเหมือนกับเราตั้งโจทย์ขึ้นมา ตั้งปัญหาขึ้นมา แล้วใครคิด ขบปัญหานั้นแตก โสดาบัน

ถ้าเราคิดปัญหาแล้วขบแตก สกิทา พอคิดอีก เหมือนกับเราตั้งปัญหาขึ้นมา แล้วใครปิ๊งปัญหานั้นขึ้นมาไง ได้ขั้นหนึ่งนะ แล้วพระองค์นี้นะ พออย่างนั้นปั๊บ ในสังคมเขายอมรับ เขาก็มั่นใจ อาจารย์เขายอมรับ ในหมู่คณะก็ยอมรับ แล้วเขาก็ว่าง เขาสบายใจ เพราะเขาอยู่ในสังคมเดียวกัน กระแสเดียวกัน เขาจะมีความสุขของเขามาก เขามั่นใจ

นี่เขามาหาเรานะ เขาบอก เขามั่นใจมากว่า เขานี่มั่นคงแล้ว จิตใจเขามั่นคงแล้ว เขาก็ไปสร้างวัดกัน สุดท้ายมันเสื่อมหมด พอมันเสื่อมหมดปั๊บ เขามีการศึกษานะ เขากลับมาย้อนดูในสังคมเขา เพราะสังคมเขาไม่ถูก อาจารย์เขาก็ต้องไม่ถูกด้วย เขาถึงมาหาเรา

เราก็บอกว่า มันไม่ถูกตั้งแต่เริ่มต้นแล้วล่ะ แต่เมื่อก่อนพวกเอ็งไม่เข้าใจ แล้วเขาก็ถามคำถามมาว่า จะให้ทำอย่างไรต่อไป เราบอกว่าถ้าจะทำนะก็ต้องกลับมาทำความสงบ กำหนด พุทโธให้ได้ ให้จิตสงบก่อนมันถึงจะเป็นข้อเท็จจริง มันจะเป็นความจริง

เขาก็พยายามอยู่ แต่เขาลำบากมาก ฉะนั้น การกระทำของพวกเรานี่ มันลงไม้ลงมือจริงๆ น่ะ มันลำบากมาก ยิ่งในสังคมนะ เขาบอกว่า ทำไมต้องไปทำให้มันลำบาก ไปทำอย่างนั้นมันก็สำเร็จได้

คำว่าสำเร็จได้ของเขา แต่ความจริงมันไม่มี พอความจริงมันไม่มีแล้วสังคมของเขาเป็นอย่างนั้น โยมไปเถียงขนาดไหนนะ ก็ตายเปล่า ไม้ซีกไปงัดไม้ซุง เพราะส่วนใหญ่ของเขา เขามีความเห็นอย่างนั้น แล้วเขาพยายามจะทำให้ความเห็นของเขานี่ถูกด้วย ด้วยการเข้าไปหาหลวงตา

ถามปัญหาหลวงตาไปข้างๆ คู ให้หลวงตาตอบว่า “ใช่หรือไม่ใช่” เท่านั้น แล้วพอหลวงตาบอกว่า “ใช่” ก็บอกว่า “นี่ไงหลวงตายังรับรองเลย”

แต่หลวงตาท่านพูดบ่อย เพราะหลวงตาท่านว่า พวกนี้มีเยอะมาก แล้วมาหาเรา เขาบอกหลวงตาก็พูดอยู่ หลวงตาท่านดูจิตเหมือนกัน เราก็บอก “ใช่” หลวงตาท่านก็ดูจิตเหมือนกัน แต่ท่านบอกว่า ท่านดูจิต เพราะดูจิตอย่างนี้มา จิตท่านถึงเสื่อมไป ปีกับ ๖ เดือน ก่อนที่ท่านมาจักราช ท่านก็ดูจิต

เพราะการปฏิบัติใหม่ คนยังไม่รู้เรื่องก็ดูจิตนี่แหละ แบบรักษาจิตนี่ รักษาจิตยังไงมันก็เจอสงบได้ แล้วพอตอนหลังไปทำกลดหลังหนึ่ง มันก็เสื่อมหมดเลย พอเสื่อมแล้ว ท่านบอกว่า ไปทำอย่างไรมันก็ไม่ขึ้น สุดท้ายท่านมาพิจารณาตัวเอง นี่คนมีวาสนา พิจารณาตัวเองว่ามันเสื่อมเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

พอดีหลวงปู่มั่น ไปงานเผาศพหลวงปู่เสาร์ ทิ้งให้ท่านอยู่คนเดียว ที่บ้านโคก ท่านบอก แล้วท่านพิจารณาว่า ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ อ้อ! มันคงขาดคำบริกรรม เห็นไหม ท่านก็บริกรรมพุทโธๆ ๓ วันแรกอกแทบระเบิด พอบริกรรมจนพุทโธอยู่กับจิตแล้ว ตั้งแต่นั้นมาไม่เสื่อมอีกเลย

ทีนี้ของเขา เขาบอกว่า เขาดูจิตเหมือนกัน เขาพยายามสร้าง สร้างเป็นเอกสาร พิมพ์หนังสือกันว่ายอมรับ ว่าเหมือนกัน ทุกคนน่ะอ้างหลวงตา แต่คำว่าอ้างของเขานี่ เขาอ้างมาว่า “หลวงตาบอกว่า ถูก” แต่เราก็ฟังคำพูดของหลวงตาเหมือนกัน เราบอก หลวงตาท่านยกเป็นประเด็นว่าท่านเคยผิดมา ท่านเคยผิดมา ท่านเคยดูจิต แล้วท่านผิดมา

แต่ไอ้พวกที่มันอ้างบอกว่าท่านก็เคยดูจิตมา ก็ดูจิตมาแล้วมันเสื่อมไปไง นี่เพราะเวลาลูกศิษย์มา เวลาโยมเข้ามานี่ มีพระสอนอย่างนี้เยอะมาก เขาบอกไม่เชื่อไปฟังซิ หลวงตาท่านก็พูดอย่างนี้

เราบอก ใช่! หลวงตาท่านพูดอยู่ แต่ท่านพูดในแง่ประเด็นว่าท่านเคยผิดพลาดมา แต่ไอ้พวกนั้นบอกว่าท่านเคยทำ ก็ถูก แล้วพออย่างนั้นปั๊บนะ เราจะแยกมันตรงไหนล่ะ แล้วหลวงตานี่ท่านเป็นราชาแห่งสงฆ์ ท่านจะไม่ชี้ถูกชี้ผิด แยกใครผิด

ท่านจะบอกให้ดูใจของตัว ท่านจะให้ทุกคนรู้เอง คือว่า พูดไปแล้วเหมือนกับมันฆ่าไง ฆ่าลูกศิษย์เป็นกลุ่มๆ ไปไง แล้วตอนนี้มันจะเข้าไปอย่างนี้เยอะ อย่างนี้เยอะเพราะอะไร เพราะมันเป็นตรรกะ อย่างนี้ สักแต่ว่านี่ ซื๊ดซ๊าดเลย

ถ้าใครพูดว่าเป็นมรรคญาณนี่ถูกหมดเลย แล้วเข้าใจหมดเลย แล้วมันเยอะ มันเยอะมาก เพราะว่ามันเป็นตรรกะ มันพูดได้ อย่างเช่นนะ อย่างเช่นวันที่เราพูดนะ อย่างที่เขามา ลูกศิษย์มา เขาก็บอกว่า เขามาคุยธรรมะกัน แล้วเขาก็ถามไปเรื่อย เราก็พูดกับเขานะ

“ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกู คือ กู”

ไม่ของกู ไม่ใช่ตัวกู ทุกคนก็ทึ่งเลยนะ เออจริงนะ ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกู แต่มันลืมไปว่า ใครพูด ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกู เออ แล้วใครพูดล่ะ แล้วใครรู้ล่ะ ก็ กูไง พูดแค่นี้นะ “พอๆ พอๆ หลวงพ่อ พอๆ พอแล้ว ผมได้แล้วๆ” กลับเลยนะ

โยม ๑ : (หัวเราะ) เขาเพิ่งจะได้ใช่ปะ

หลวงพ่อ : เขาได้เลย เขาจับได้เลยนะ มาจากกระบี่ นี่เหมือนกัน ดูจิตๆ ดูจิต ดูจิตมาเรื่อย มาจากกระบี่เลยนะ ฟังซีดีนี่ อุตส่าห์ตีรถมาเลย เราบอกนะ พูดอยู่ตั้งนานแน่ะ พอถึงที่เขาจะได้นะ เราบอกว่า

“เฮ้ย! เขาไม่ใช่ดูจิตนะ เขาพิจารณาจิต พิจารณาจิต”

ปิ๊ง! เลย ได้แล้วๆ ดูอยู่ กสิณดูอยู่ เพ่งอยู่ ดูจิตอยู่ กับพิจารณา ดูกับพิจารณามันต่างกัน ดูจิตกับพิจารณาจิต พิจารณาหาเหตุหาผล แยกแยะมัน จับความคิดแล้วพิจารณาหาเหตุหาผล พิจารณาแยกแยะ นั่นคือปัญญา ถ้าดูนี่มันเป็นกสิณ มันเพ่ง ได้แล้วๆ เหมือนกัน โอ๊ย กราบแล้วกราบอีกนะ มาจากกระบี่ กลับเลย

เปล่า ถ้าเราพูดอย่างนี้มันแบบว่า เอาไฟเผาเลย มันจี้เลย มันรับรู้ร้อนเย็น เย็นร้อนอ่อนแข็ง มันจับต้องได้มันจะมีเหตุมีผล แต่ถ้าพูดอย่างนั้น พูดอย่างเขานี่ มันไม่มีอะไรกระทบไง สักแต่ว่า มาปฏิบัติ แล้วมันเยอะ

โยม ๑ : (เสียงพูดไม่ชัดเจน) ....อย่างที่อาจารย์สอนเพ่งกาย โอ้โฮ เพ่งเหนื่อยมากเลยค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าการทำงานเหนื่อย หลวงตา ท่านพูดเลย ถ้าทำธุรกิจ ทำงานทางโลกว่าทุกข์ยากลำบากอย่าเพิ่งพูดนะ นี่ไง อย่าเพิ่งพูดนะว่า เหนื่อย ว่ายาก อย่าเพิ่งพูด ยังไม่ได้ภาวนา ถ้าภาวนาจะรู้ว่าเหนื่อยยากขนาดไหน ทำงานตามหน้าที่แล้วเหนื่อยยากไหม ท่านจะบอกเลย งานอย่างนั้นน่ะ งานเด็กๆ

มาภาวนา แล้วพอภาวนาปั๊บ พอเข้ามาอย่างนี้ปั๊บ เขาก็ไม่เอากัน เขาบอก อัตตกิลมถานุโยค เหนื่อย ลำบาก จะเอาสบายๆ นี่ไง แบบว่าเรียบง่าย ลัดสั้น ลงนรกหมด

โยม ๓ : ดูจิตสบาย ดูเฉยๆ ไม่ต้องทำ

โยม ๑ : ปัดไปปัดมา ดูเกิดดูดับ ดูว่า เอ้ย ทำไมมันง่ายจัง

หลวงพ่อ : มันไม่มีอาจารย์จริงไง ถ้าอาจารย์จริงนะ อย่างเช่น หลวงปู่กงมาท่านก็จริงนะ หลวงปู่กงมาก็จริง หลวงปู่ฝั้นก็จริง ครูบาอาจารย์ที่จริงน่ะ จริงนี่นะ มันได้ถากถางมันได้ทำลายกิเลสมา มันลงทุนลงแรงมาจริงๆ แต่ถ้ามันไม่จริง ไปอยู่กับครูบาอาจารย์เหมือนกัน ก็ทำเหมือนกัน เหมือนกับลูกเราน่ะ บางคนทำหน้าที่การงานดีมาก แต่บางคนมันไม่เอาไหนเลย นี่ก็เหมือนกัน ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่จริงอยู่แต่ตัวเองทำจริงไม่ได้

ดูอย่างเว่ยหล่างซิ เว่ยหล่างตอนที่สังฆราชองค์ที่ ๕ เขาจะให้ตำแหน่ง เขาก็บอกว่า ให้พระทุกองค์ในวัดนี่ให้แสดงโศลก คือแสดงวุฒิภาวะออกมา ชิงเชามันก็เขียนเลย มันเขียนหนังสือได้ใช่ไหม “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวันๆ แล้วฝุ่นมันจะเกาะอะไร”

เว่ยหล่าง นี่มันไม่รู้เรื่องอะไรเลย อ่านหนังสือก็ไม่เป็น เขามาถามว่า เขาเขียนอะไรกันน่ะ เขาเขียนหนังสือ โศลก สังฆราชให้เขียน เขาเขียนว่าไง อ่านให้ผมฟังสิ “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดทุกวันๆ แล้วฝุ่นมันจะเกาะอะไร”

เว่ยหล่างก็บอกว่า เขียนให้ผมบ้างๆ ของผมก็มี อ้าว ให้เขียนว่าไงล่ะ “กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มี แล้วฝุ่นมันจะเกาะอะไรล่ะ” (หัวเราะ) เห็นไหม วุฒิภาวะคนมันต่างกันละ

พอสังฆราชเข้ามาแล้วถามว่า “นี่ใครเขียน” เว่ยหล่างเขียน ให้เอารองเท้าลบเลย เพราะถ้าบอกอันนี้ถูก มันจะอิจฉาตาร้อนกัน แล้วท่านก็ไปหาเว่ยหล่างไง “กายไม่มี จิตไม่มี ทุกอย่างไม่มี ว่างอยู่ แล้วใครรู้ว่าว่างล่ะ”

สังฆราชยังไปสอนเลยนะ ไปสอนต่อ ไอ้รู้ว่าว่างน่ะ ที่ว่าไม่มีๆ มีทั้งนั้นล่ะ สุดท้ายไปแก้ตรงนั้นเสร็จแล้วก็ให้บริขารไปเลย กลายเป็นสังฆราชองค์ที่ ๕ องค์ที่ ๖ ไปเลย มันมีเหตุมีผล

เราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ แล้วเราเข้าไม่ถึง เราเข้าไม่ถึง เราได้แค่ตื้นๆ แล้วก็พูดกันเห็นไหม กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวันๆ มึงก็หมั่นเช็ดไปซิทั้งชาติ มึงก็เช็ดอยู่นั้นแหละ แต่เขาก็ฮือฮากัน เห็นไหม ไปอยู่กับครูบาอาจารย์แต่ถ้าวุฒิภาวะเราไม่ถึง มันไม่ได้อะไรขึ้นมา แล้วออกมามันเสียหายหมด

ฉะนั้นอย่างครูบาอาจารย์เราทุกองค์นี่ เขาก็ผ่านครูบาอาจารย์กันมา แล้วเวลามีไม่มีมันอยู่ที่ตรงนี้นะ คำพูด นี่ ไม่มีมันพูดไม่ถูก

คำว่า “สักแต่ว่านี่” เราฟังไม่ได้เลยนะเพราะว่าเขาพูด เขาอธิบายนี่ มันผิด นี่ผมก็สักแต่ว่า ขนก็สักแต่ว่า แล้วถามเขาซิว่าร้านตัดผมน่ะ ร้านตัดผมน่ะเนอะ เส้นผมมันกองมันเผาทิ้งน่ะ มันสักแต่ว่าไหมล่ะ มันคือขยะนั่นน่ะ เปล่ามันต้องจิตรู้ จิตเห็นไง เราถึงได้พูด พวกนั้นพวกที่เขาทำอสุภะ ที่หนังสือพิจารณาอสุภะ เราบอกว่ามันเป็นดาบสองคม หนังสืออสุภะนี่ที่เขาทำออกมาแจกกันน่ะ

โยม ๑ : อู้ย ไม่ได้ รู้สึก แต่ลูกก็ปฏิเสธได้แต่ในใจ

หลวงพ่อ : ใช่! ที่เขาทำเอามาแจกกันไง

โยม ๑ : ค่ะ เราว่ามันต้องเกิดจากข้างในสิ ทำเหมือนเครื่อง คอมฮีตเตอร์ที่มาปรับๆ ใช่ไหมเจ้าค่ะ

หลวงพ่อ : วันนั้นเขามาแจกที่นี่เหมือนกัน เขาฝากมาเล่มหนึ่ง เราบอกรับไม่ได้ เราไม่รับ ถ้ารับแล้วมันเหมือนกับเรา ดูน่ะมันดูได้หรอก แต่เพราะทุกคนภาวนาไม่เป็น พอภาวนาไม่เป็นทุกคนก็อยากจะช่วยเหลือกัน เราจะบอกว่าอะไรรู้ไหม คนตาบอดช่วยคนตาบอดนี่ มันทำให้พวกเราเสียเวลา ถ้าเราได้ขึ้นมาแล้วทำให้ประมาท เพราะว่าอะไร เพราะเราได้อสุภะมาแล้วใช่ไหม เราดู มันยิ่งคุ้นเคย มันยิ่งจืด แต่ถ้ามันได้จริงขึ้นมาจากภายในนี่ มันกระแทกกิเลสเลย ไอ้ได้กันมาอย่างนี้น่ะมันเป็นรูปแบบหมดแล้ว มันเป็นปริยัติหมด นี่มันยิ่งทำอย่างนี้นะ กรรมฐานเรายิ่งอ่อนแอ แล้วต่อไปก็มีแต่รูปแบบกันไปหมด เขามาแจก

โยม ๓ : พระ...ก็ไม่ใช่พระปฏิบัติ เขาชอบเล่นคอมฯ

หลวงพ่อ : ไอ้พวกนี้ มันรู้จักเรา มันไม่กล้า เข้ามาใกล้เรานี่แหยงหมด

โยม ๓ : เขาก็อยู่บ้าน เขาก็ทำคอมฯ เขารู้จักหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ถ้ามันมาเอาจริงเอาจังซะนะ บวชมาแล้ว มาเอาจริงเอาจังของเราดีกว่า

โยม ๓ : เขามีความรู้ เขาก็ทำคอมฯ ทำอะไร

โยม ๑ : พระอาจารย์คะ อย่างนี้ ถ้าลูกกำหนดอีกแบบหนึ่งนะเจ้าคะ ลูกกำหนดที่จิตเลยนะเจ้าคะ แล้วก็พอความคิดมันเกิดขึ้นมันลอยขึ้นมาปุ๊ปนี่ มันจะมีรูปอยู่ในความคิดใช่ไหมเจ้าคะ แล้วลูกก็เพ่งไปที่รูป จิตลูกจับความคิดขึ้นมานี่ บางทีมันจะเห็นชัด แล้วลูกก็เอามาเพ่งดู มาพิจารณาดูอย่างนี้ได้ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อ : ได้..

โยม ๑ : บางที เอามาดูปุ๊ปนี่ มันจะเกิดอาการสลายของมันเองเจ้าค่ะ สลายแล้วมันก็ค่อยๆ สลายลงไปกลายเป็นดิน แล้วมันเป็นของมันเองนะเจ้าคะ โดยที่ลูกยังไม่ได้แบบว่าย่อขยายอะไรเลย แล้วก็มันเป็นของมันเองปุ๊บ แล้วจิตก็ลง วู้บ! ลงไปแล้วจิตก็รวม วู้บ! ลงไปอย่างนี้

หลวงพ่อ : อืม แล้วเป็นกี่หน เป็นมากี่หนแล้ว

โยม ๑ : เป็นบ่อยเหมือนกันนะเจ้าคะ

หลวงพ่อ : นี่ถ้าเป็นใหม่ๆ นี่ดี ใหม่ๆ นี่ เป็นอุบายครั้งแรก ถ้าเป็นบ่อยนี่นะ เราจะบอกว่า ถ้ามันจับอยู่เฉยๆ นี่ มันคือว่าเราทำงาน ไอ้ วู้บ นั่นคือผลของงาน ทำงานนี่อย่างหนึ่ง ผลของงานอย่างหนึ่ง ผลคือความรับรู้ พอเราทำอย่างนี้ เรารู้ปั๊บนี่เราจับไว้เฉยๆ บางทีเราจับจิตนะ เราจับรูป จับความรู้สึกนี้ไว้ แล้วค้นมันเลย ในความรู้สึกนี่ แบบแยกว่า ในความรู้สึกนั้นประกอบด้วยอะไร ในความรู้สึกนี่มันประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ในเวทนานี่ ในรูปนี่ เรามีความรู้สึกใช่ไหมว่ารูปอะไร มีความรู้สึกอย่างไร เนี่ยมันคือเวทนา แล้วสัญญาล่ะ สัญญาที่ว่า มันรับรู้ว่าดีชั่ว รับรู้เวทนา สัญญามันเป็นอย่างไร สังขารปรุงอย่างไร จับนี่แยกด้วย ถ้าเราจับแยกขึ้นมานี่ ถ้าเราจับดูนะ มันก็เป็นปัญญาอันหนึ่ง

ถ้าจับดูอย่างนี้ มันก็เหมือนกับ เจโต เจโตคือว่า เราพิจารณาให้มันเป็นวิภาคะ ให้มันแยกขยายให้มันทำลาย ทีนี้แต่ถ้าใช้ปัญญานี่ มันจะจับขึ้นมาแบบแร่ธาตุ มันเป็นส่วนประกอบ ในส่วนประกอบของแร่ธาตุ ในส่วนประกอบของรูป ในส่วนประกอบของความคิด

ในความคิดของเรานี่มันมีส่วนประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในเวทนามันก็มีรูป ในรูปก็มีเวทนา มีสังขาร ถ้ามันยังไม่ปล่อยนะไล่เข้าไปอีกๆ ทำอย่างนี้สนุกมาก ถ้าจับรูปได้ๆ แล้วแยกมันๆ ถ้ามันดูอย่างนั้นมันก็ ถูก แต่นี่ประสาเรา

กินข้าวอยู่ ยังไม่ได้กินของหวาน ยังไม่ได้กินน้ำ มันยังไม่อิ่ม กินข้าวกินอิ่มแล้ว กินข้าวอื้อ! แล้ว แต่ของหวานยังไม่ได้กินเลยนะ มันเคยพิจารณาอย่างนี้ไง ถ้ามันพิจารณาไปก็เป็นของหวาน พิจารณาของหวานแล้วถ้ายังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ได้กินน้ำอีก เปลี่ยน อุบายเปลี่ยน แยกแยะเปลี่ยน

โอ้!กิเลส มัน ประสาเรานะกิเลสใคร กิเลสมัน กิเลสมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด กิเลสมีอ้อยสร้อย โอ้ บางทีมันอ้อยสร้อย พิจารณาเต็มที่แล้วนะ มันก็ยังหลบยังอ้อยสร้อยอยู่ มันยังไม่ถึงที่สุด ต้องตามเข้าไปๆๆ จับรูปๆ จับความรู้สึกนี่ จับที่มันเป็นรูปนี่ ไม่ใช่ให้มันดับ จับไว้เลยๆ ในรูปนี้มีอะไรบ้าง เวทนาดีชั่ว หรือว่าพอใจไม่พอใจ มันเป็นอย่างไร แล้วสิ่งที่รับรู้ว่ารูป มันมาจากไหน พอมันรับรู้ว่ามาจากไหน มันจะละเอียดเข้าไป เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสัญญาเห็นไหม มันไม่ใช่จิต กิเลสมันอยู่ที่จิต

ถ้าจับแล้วย้อนศรมันเข้าไป ย้อนศรมันเข้าไป เข้าไปทำลายถึงก้นบึ้งของใจให้ได้ กิเลสมันอยู่ที่อุปาทาน กิเลสมันอยู่ที่จิต แต่สิ่งที่ออกมามันแสดงตัวออกมาแล้ว เราจับแล้วพิจารณาแล้วย้อนศรมันกลับเข้าไป ทวนกระแส ธรรมะคือการทวนกระแส ทวนกระแสเข้าไปชำระล้าง ตามเข้าไป จับแล้วตามเข้าไป ใครจะพูดอย่างไรเรื่องของเขา แต่ผลในการปฏิบัติเรารู้ ใครจะพูดอย่างไรมันเรื่องของเขาเลย จับแล้ว ปัญญาไล่เข้าไป แยกเข้าไป ทำลายเข้าไป แยกเข้าไป ทำลายเข้าไป ใช้ได้ ไม่สักแต่ว่าหรอก

แต่พอมันไปจบแล้วซิ มันถึงจะเป็นสักแต่ว่า มันจะสักแต่ว่า ต่อเมื่อเราทำจบสิ้นกระบวนแล้วถึงเป็นสักแต่ว่า แต่ถ้ายังไม่ได้ทำนะ เป็นสักแต่ว่า ไม่มีทาง เป็นสักแต่ว่า เช่น เราซื้อของมาเก็บไว้ในบ้านของเราแล้ว วางอยู่ในตู้แล้ว เออ นี่ สักแต่ว่า มึงนอนอยู่ในตู้แล้ว แค่มึงยังไม่ได้เอามานอนในตู้นะ ยังไม่สักแต่ว่าหรอก

เพราะคนอื่นมันยังไปซื้อก่อนได้ มันยังหาไม่ได้ แต่ถ้าสิ้นกระบวนการ เอามาจับไว้แล้วใส่ เออ สักแต่ว่า แต่ถ้ายังไม่มาถึงที่เรานะ ต้องสู้ ต้องทำ คำสอนอย่างนั้นน่ะมันฟ้องถึง อย่างที่ว่า เขาทำแล้วประสาเรานะ หลวงตาท่านบอก ครูบาอาจารย์ท่านบอก

“อริยสัจมีหนึ่งเดียว! อริยสัจมีหนึ่งเดียว!”

ถ้าครูบาอาจารย์อย่างนั้นเจอเรานะ เราจะเถียงหัวชนฝาเลย คำว่า “เถียงหัวชนฝา” คือเราไม่เห็นด้วย อริยสัจต้องมี ๒ ละ ถ้ามี ๒ นี่ ไม่เขาผิดก็เราผิด แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันจะมี ๑ เดียว มันไม่มี ๒ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นนะ มาหาเรานะ รับประกันได้เลย เถียงหัวชนฝาเลย แล้วถ้าไม่เขาผิด ก็เราผิดล่ะ ต้องผิดคนหนึ่งเพราะมันเป็น ๒

โยม ๑ : เออ ลูกได้อาจารย์ ท่านอาจารย์ชี้โป้งๆ มาเลยแต่ละอันแบบว่า....

โยม ๒ : วันหลังเราไปคุยให้แม่ชีฟังดีกว่า มากราบท่านอาจารย์นี่ โอ้โฮ

โยม ๑ : ท่านอาจารย์ ท่านชี้เลยค่ะ

หลวงพ่อ : ไม่หรอก เขาเคยมา ๒ - ๓ รอบ เขาเคยมาแล้วไง แต่นี้เขามาแล้ว เราจับเลย พอโยมพูดเมื่อกี้ไง เราถึงจับได้ เพราะเขาเคยมาแล้ว แล้วเขาพยายามยืนกระต่ายขาเดียว เวลาเขาคุยกับเรานะ เขายืนกระต่ายขาเดียว ว่าให้เรารับว่า “ใช่หรือไม่ใช่เท่านั้น” แล้วเขาพยายามจะให้เรารับว่า “ใช่” แต่เราพูดกับเขาแล้วว่า “ไม่ใช่” ตรงนี้มันถึงเข้ากันไม่ได้

โยม ๒ : แล้วเขาก็ตีสมมุติแตกออกไป

หลวงพ่อ : นั้นล่ะเขาพูดของเขา

โยม ๑ : เขาถกกันเองไง เหมือนกับว่า ต้นไม้ก็ไม่ใช่ต้นไม้ หมูก็ไม่ใช่หมู คืออย่างนี้ใช่ไหม

หลวงพ่อ : ก็นี่ไงเราก็ตีแตกหมดแล้ว มันไปตีข้างนอก

โยม ๓ : ผมสังเกตดูผลของการปฏิบัตินะครับ ท่านอาจารย์ การกระทำนี่มันฟ้อง สังเกตดู(หัวเราะ)

หลวงพ่อ : ใช่ เขาเรียกพฤติกรรมไง เราบอกเวลาดูคนให้ดูพฤติกรรม ไอ้คำพูดมันอย่างหนึ่ง พฤติกรรม พฤติกรรมมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

โยม ๓ : ผมสังเกตดูการกระทำผมกระจ่างแต่ผมไม่พูด (หัวเราะ)

หลวงพ่อ : พฤติกรรม แล้วอย่างที่เราพูดเมื่อตะกี้นี้ มันน่าสงสารที่ว่า กระแสของเขา คือครูบาอาจารย์ของเขา ประสาเราว่า ครูบาอาจารย์เขามีวุฒิภาวะแค่นี้ พอครูบาอาจารย์มีวุฒิภาวะแค่นี้ปั๊บนี่ ใครแสดงออกแค่นี้นะ ครูบาอาจารย์เขาเห็นด้วย แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานี่ ท่านเห็นลึกกว่านี้

อย่างเช่น หลวงตา ท่านไปแก้หลวงปู่ฝั้น เราบวชใหม่ๆ นะเราปฏิบัตินะ เราก็ยังสงสัย เอ๊ะ ทำไมหลวงปู่ฝั้นท่านพูดอย่างนั้น พุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใสนี่ พุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใสเนี่ย หลวงตาท่านพูดละ “ความแสงสว่างคืออวิชชา” แล้วทำไมไม่มีใครไปแก้ ตอนนั้นเราเป็นทุกข์มากนะ

แล้วพอตอนหลัง หลวงตาท่านพูด ต้องไปแก้ ไปแก้ตอนไปงานเผาศพหลวงปู่กงมา ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ หลวงปู่ฝั้นท่านพักอยู่วัดป่าภูธรพิทักษ์ แล้วมาพักอยู่กับหลวงปู่ฝั้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ หลวงปู่ฝั้นก็เทศน์ พูดธรรมะกัน พอหลวงปู่ฝั้นท่านพูดถึงตรงนี้ปั๊บ หลวงตาท่านแก้เลย

“นึกว่าไปถึงไหนแล้ว มาตายอยู่ที่นี่ได้อย่างไร พุทโธมันผ่องใสได้อย่างไร”

อัดเลยไง ว่าลงไป หลวงปู่ฝั้นท่านไวน่ะ “รู้แล้วๆ รู้แล้วๆ” พอรู้แล้ว หลวงตาท่านก็หยุดละ รู้แล้ว ท่านก็ไปแก้ก่อน

นี่ไงเราบอกว่า ถ้าพูดถึงข้อเท็จจริงแล้วนี่ หลวงตาท่าน เวลามันหนึ่งเดียวนี่ ถ้ามันมีความเห็นต่าง มันเป็นสองไง มันเป็นไปไม่ได้ พอเป็นสองปั๊บ คำพูดมันฟ้องเห็นไหม “พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว”

หลวงตาท่านพูดในธรรมะชุดเตรียมพร้อมน่ะ “แสงสว่างคืออวิชชา”

ไปเปิดซิ ธรรมะเตรียมพร้อม แสงสว่างคืออวิชชา พุทโธผ่องใส ก็แสงสว่าง นั้นน่ะพุทธะ แต่ยังไม่ได้ฆ่าพุทธะ ยังไม่สิ้น ไม่เห็นพุทธะ หลวงปู่ฝั้นก็ติดตรงนี้ หลวงปู่คำดีก็ติดตรงนี้ หลวงปู่บัวก็ติดตรงนี้ ติดตรงนี้หมดเลย แล้วหลวงตาท่านไปเห็นไหมที่ว่า จิตผ่องใส สว่างไสวน่ะ ท่านบอกว่า ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่นะ ท่านจบเลย ทีนี้หลวงปู่มั่นไม่อยู่ ท่านหาเอง พอหาเองมันก็ฝังใจ ทีนี้พอไปฟังคนอื่น พอเป็นอย่างนี้ปั๊บนี่

อู้! กูเป็นมาแล้ว แล้วกูแก้ตัวเองมาแล้ว พอมันแก้ตัวเองมาแล้วใช่ไหม มันก็แก้คนอื่นได้ แล้วพอไปกระแสที่เป็นอย่างนั้นมา สักแต่ว่าๆ มันเป็นโวหาร มันเป็นคำพูดของกระแส แล้วมันเป็นธาตุขันธ์ คือธาตุอ่อน พวกคนที่ธาตุอ่อน มันต้องการปัญญา ต้องการความเรียบง่าย ความสะดวก แล้วมันก็พูดอย่างนั้นนะ ตีสมมุติแตกแล้ว คำนี้เขาพูดกับเราเหมือนกัน ไม่มีสมมุติ

โยม ๑ : เขาบอกจะมีครั้งเดียว เขาบอกว่ามีครั้งเดียว แล้วจะไม่มีอีก

โยม ๓ : ก็คิดว่าไปถามหลวงตาเหมือนกันครับ ผมก็อยู่ หลวงตาท่านก็บอก ก็ดีแล้วให้ปฏิบัติไป ท่านไม่ได้พูดอะไร

หลวงพ่อ : ไม่พูด! เพราะกรณีอย่างนี้เรา .....

โยม ๓ : ท่านไม่ทำร้ายจิตใจ

หลวงพ่อ : ใช่! เพราะว่าก่อนหน้านั้นนะ เขาคุยกัน เขาอยู่กับหลวงตามานานแล้วไม่ได้ แล้วไปอยู่กับองค์อื่น องค์อื่นเขาได้ไง ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ โทษนะ พวกลูกศิษย์ที่อยู่กับเรานี่หลายคนเลย บอกมาอยู่กับเรานี่ เหนื่อยก็เหนื่อย ทุกข์ก็ทุกข์ ไม่เห็นได้อะไรเลย ไปอยู่ที่อื่นดีกว่า ไปอยู่ที่อื่นนะ ไปอยู่ห้องแอร์ด้วย อยู่สุขสบายด้วย แล้วได้มรรคผลด้วย ทุกคนให้คะแนนหมดไง

อ้าว นี่ เขามาพูดที่นี่จริงๆ นะ เขาบอกมาอยู่กับเรานี่นะ ตากแดด ร้อน ไม่เห็นได้อะไรเลย เราก็บอก ถ้า เราจะทำอย่างนั้นนะเราทำให้ได้ โธ่! ห้องกระจกนะเราลงทุนไม่กี่สตางค์หรอก ติดแอร์ให้พวกมึงน่ะสบายมากเลย แต่มันไม่เป็นความจริง พอไม่เป็นความจริง

เมื่อ ๒ วันนี่ สงกรานต์นี่ พวกผู้บริหารเขามานี่ เขามาปฏิบัติ แล้วเขามาพูดกับเรา “หลวงพ่อทรมานมากเลย” พอทรมานมากเราก็บอก เราจับกิเลสมันขึงพืดน่ะ เพราะผู้บริหารเขาอยู่บ้านน่ะ เขาอยู่สุขสบายอยู่แล้ว แล้วพอมาอยู่ที่นี่ ชีวิตเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย พอชีวิตเขาปรับหน้ามือเป็นหลังมือปั๊บ กิเลสมันต้องโดนขังอยู่แล้ว มันทนไม่ไหวไง ถ้าเราไม่พูดอย่างนี้ปั๊บ เขาก็อ่อนแอ

เราบอกนี่ เราจะต่อสู้กับกิเลส แล้วพอมาเจอสภาพแบบนี้ กิเลสมันโดนจับมาขังแล้ว มันจะดิ้นรนกลับไปที่สุขสบายของมัน นี่เพราะเราเคยสุขสบาย เราเชื่อมัน เราก็มองว่าที่นี่มันทุกข์มันยาก ที่นี่มันลำบาก อ้าว ก็จะมาหาตัวมันน่ะ ก็จะหาตัวมัน ก็นี่คือตัวมันน่ะ

โยม ๒ : โอ้โฮ ที่นี่ ต้องบอกว่าอย่าท้อนะ แต่ก่อนนี้โยมที่มาจากกรุงเทพฯ สมัยนู้นค่ะ เมื่อนึกถึงท่านอาจารย์ขึ้นมาแล้ว ยังอุตส่าห์ขังตัวเองไว้ ก็ยังนึกว่า โอ้โฮ เรานี่มันขังตัวเองเหมือนกันนะนี่ โอ้โฮ กิเลสมันยิ่งนะคะ มันจะไปทางโลก

หลวงพ่อ : นั่น ถ้าเรามีสติเห็นไหม ถ้ามีสติเราจะได้ประโยชน์ เราจะเห็นของมัน แต่ถ้าเราไม่มีสติ ห้องแอร์ โธ่! ห้างสรรพสินค้ามันจะทำได้ใหญ่กว่ามึงอีก มึงดูตึกสูงซิ มันจะติดนะ โอ้โฮ ส่วนกลางน่ะ ติดแอร์ ของอย่างนั้นใครก็หาได้ ใครก็ทำได้

โยม ๓ : ก็ย้อนกลับสิ ร้อนจนทนไม่ไหว แม่ชีๆ....(หัวเราะ)

หลวงพ่อ : ทำไมไม่สักแต่ว่า แล้วทำไมไม่ทำ มันสักที่ปากไง

โยม ๓ : ผมก็ว่า เมื่อกี้ผมเรียนท่านอาจารย์บอกว่า ผมดูการกระทำ ผมดูรู้ แต่ผมไม่พูดเอง ผมดูหมดนะท่านอาจารย์ ผมก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่ผมก็ดูพฤติกรรม

หลวงพ่อ : ใช่ มันอยู่ที่หลวงตา ครูบาอาจารย์เรานี่นะ เป็นธรรม คำว่าเป็นธรรม คือเป็นข้อเท็จจริง คือสัจธรรมเป็นของจริง และของจริงมันต้องอยู่ได้จริง แต่นี่โลก เขาสร้างมาสิ่งอำนวยความสะดวกน่ะ อันนั้นคือของปลอม คือสร้างขึ้นมาเป็นของปลอม แล้วคนเราก็ไปติดกันหมด มีลูกศิษย์มาที่นี่เยอะนะ แล้วเขาเข้ากรุงเทพฯ น่ะ เขาบอกเดี๋ยวนี้เขาไม่มาแล้วแหละ (ร้อน) เขาอยู่กรุงเทพฯ ดีกว่า มีห้องแอร์

โยม ๒ : เขาไม่รู้สึกว่าถ้าเขาจะตายไป เขาไม่ได้อะไรไป

หลวงพ่อ : ใช่! เราบอกว่า ดีสิ! ใครมาพูดกับเรานะ บางคนอยากจะพูด เพื่อจะให้เราอำนวยความสะดวกนะ เราบอก ไม่หรอก นี่เราจะบอกว่า ถ้าใจเราไม่จริงนะ เราไม่เห็นคุณเห็นโทษน่ะ เหมือนลูกเราน่ะ ถ้าเราจะให้เขาดีน่ะ เราต้องสอนให้เขาทำมาหากินให้เป็น ทีนี้การทำมาหากินให้เป็น มันต้องฝึก แล้วถ้าเราสงสารเขาแล้วเราบอกว่า เอ็งไม่ต้องทำมาหากิน กูจะเลี้ยงมึงตลอดชีวิต กูจะให้มึงตลอดไป เป็นไปได้อย่างไร การปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ให้เขาปฏิบัติให้เป็นขึ้นมานี่ เราจะมา โอ๋ แล้วทำให้ดีขึ้นมานี่ แล้วศาสนามันจะเหลืออะไร

โยม ๓ : เดินจงกรมหน่อยก็ร้อน อะไรก็ร้อน

หลวงพ่อ : ศาสนาจะไม่มีแล้ว แล้วถ้าไม่มีแล้ว ไหนว่าศาสนาเจริญล่ะ คือ มันคิดเอง จินตนาการเอง อยากได้ อยากดี แต่ไม่ลงทุนลงแรง ลงทุนลงแรง ก็ลงทุนไม่เป็น ลงทุนไม่ได้ แล้วเราพยายามรักษา เราพยายามดูแลให้ ทีนี้ดูแลให้แล้วนี่ อย่างที่ว่านี่ อยู่กับเราแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย เรารอให้มันได้ ถ้ามันได้จริงจะบอกว่ามันได้ของจริง ถ้ามันไม่ได้เราก็ต้องขวนขวาย เราต้องการให้ได้ของจริง ไม่ใช่ว่า เอ็งมา ทำไมจะไม่สงสาร ทำไมจะไม่เห็นใจ เอ็งมาอยู่วัด เห็นใจทั้งนั้นแหละ

โยม ๒ : ท่านอาจารย์เมตตา

หลวงพ่อ : เออ เพียงแต่ว่า มันได้ไม่ได้มันต้องเป็นข้อเท็จจริง

โยม ๒ : ดูท่านอาจารย์สร้างที่นี่ไว้ เห็นไหมคะ กุฏินี่ก็หรูแล้วนะคะ อาหาร...

โยม ๓ : ร้อนก็ไม่ได้ โดนแดดนิดก็ไม่ได้

หลวงพ่อ : อืม! มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นเพราะพระเรานี่ พระเราที่อยากได้ลาภสักการะ เขาคำนวณได้เห็นไหม ทางโลกเขาบริหารจัดการได้ เขาก็ไปทำ ทำที่อำนวยความสะดวก เพราะอะไร เพราะเขาไม่รู้จริง เขาอำนวยความสะดวก ทีนี้คนไปติดตรงนั้น คิดว่าตรงนี้พึ่งพาอาศัยได้ แต่มันไม่ใช่

อันนี้หมายถึงว่า ถ้าพระปฏิบัติ ไปดูที่บ้านตาดสิ เมื่อก่อนอย่างไร เดี๋ยวนี้ มันพัฒนาขึ้นเยอะ เพราะคนมันเยอะขึ้นใช่ไหม แต่โดยหลักก็เหมือนเดิมนั้นแหละ เมื่อก่อนอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็อย่างนั้น แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นคนที่ไม่มีหลักนะ เมื่อก่อนอยู่อย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้อยากให้คนเข้ามา ก็สร้างแฟลต สร้างอะไรไว้ซะหรูหราเลย ก็คนเต็มวัดเลยเพราะเอาใจเขา แต่นี้มันไม่ใช่ นี่ท่านอยู่ในจุดยืนของท่าน

โธ่! เวลาท่านบอกนะ ท่านสร้างให้ไม่ได้ ท่านสร้างขนาดไหนก็ไม่พอหรอก คนทั้งประเทศไทย ท่านพูดว่า “คนทั้งประเทศไทย” คนทั้งประเทศไทยน่ะ ๖๐ ล้านคนน่ะ มึงจะสร้างอะไรไปรองรับ ท่านก็ทำเฉพาะที่มีความจำเป็น พอมันเข้ามาแล้วมันมีความอึดอัด แบบว่า มีความคับแคบ เขาก็ต้องหาที่อยู่ของเขา เขาก็ต้องพยายามสับเปลี่ยนของเขา แต่เราจะไปสร้างทั้งหมดน่ะมันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นทางโลกเขาจะไปบริการให้ได้ไง มันก็โรงแรมน่ะ

โยม ๓ : หลวงตาทางเดินจงกรม ท่านยังไม่ให้มีหลังคาเลย ใช่ไหมครับท่านอาจารย์ ฟังวิทยุท่านบอก ท่านไม่ไห้มี

หลวงพ่อ : ไม่ให้มี แล้วไม่ให้มีเก้าอี้ ไม่ให้มีอะไร มันจะนั่งก่อน

โยม ๓ : ถึงฝนนี่มันจะตกทั้งวัน ท่านบอกว่า มันหยุดตกแล้วค่อยเดิน

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้ เราอยู่กับความจริง แล้วเราสู้กับความจริง แล้วความขัดข้องในใจเรา มันจะโดนออกมา แต่เวลามันขัดข้องปั๊บนี่ ดูสิ อย่างเช่น เราสร้างอะไรที่มันอำนวยความสะดวกน่ะ คนนี้มาถูกใจนะ คนหน้ามาบอกไม่ถูกใจ มันจะเปลี่ยนใหม่ ไอ้คนมาจะเปลี่ยนอีกแล้ว แล้วกูจะสร้างเอาใจใครว่ะ

โยม ๓ : ผมไม่ยอมให้ทำนะท่านอาจารย์ มาถึงมาเปลี่ยน ทำหลังคา บอกไม่ต้องทำ อยู่ไม่ได้ก็ไม่ต้องอยู่ ผมไม่ให้ทำ

โยม ๒ : วันนั้นท่านอาจารย์... อาจารย์ของแม่ชี ก็อยากจะมา มาเยี่ยม ทุกที่ค่ะ อาจารย์ก็เลยมา ครูบาท่านก็บอก มาทำไม อุ๊ย แม่ไปนิมนต์ท่านอาจารย์มาดีกว่า (หัวเราะ) ท่านอุตส่าห์เมตตามาแล้ว ก็จะทำอย่างไรได้ ก็เอาข้าวสารมาให้

หลวงพ่อ : ไม่หรอก มันเป็นทางออก (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)