ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตที่สูงหรือต่ำ

๒๕ เม.ย. ๒๕๕๒

 

จิตที่สูงหรือต่ำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพูดธรรมะ ธรรมะของครูบาอาจารย์ ท่านจะดู แบบที่เวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม ท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาคุยกันเรื่องส่วนตัวนะ เรื่องความเป็นอยู่นะ พ่อแม่จะรักลูกมาก จะเอ็นดูลูกมาก จะถนอมรักษาลูกมาก แต่เวลาพูดธรรมะนะ ไม่ได้ อย่างลูกเรา ถ้าเราเลี้ยงดูแล ถ้ามันทำผิด ถ้าเราปล่อยไว้ ลูกเราจะนิสัยเสีย

ฉะนั้น ถ้าผิดพลาดอะไร พ่อแม่ต้องบังคับ ต้องดูแล แต่ถ้าความเป็นอยู่ มันเอ็นดูได้ พูดภาษาทางโลก เราพูดด้วยความเอ็นดู เห็นไหม เวลาเราวิสาสะกัน หรือเราปฏิสันถารกัน เราจะห่วงใยกัน เราจะถามอะไรๆ เราจะคอยดูแลกัน

แต่พูดถึงธรรมะนะ เวลาพูดถึงการปฏิบัติ มันต้องพูดความจริงเลย พอพูดความจริง ตรงนี้ มันต้องแบ่ง เวลาเราวิสาสะกัน ความเป็นอยู่ของเรา เราคุ้นเคยกันได้ แต่ธรรมะไม่ได้ เวลาพูดถึงธรรมะแล้ว มันต้องถูกผิด ถูกคือถูก ผิดคือผิด อันนี้พอถูกผิด ถูกคือถูก ผิดคือผิด ทีนี้ครูบาอาจารย์ของเรา อย่างนั้นปั๊บ เราตีความผิดกันไง

เราไปตีค่าว่าอาจารย์เรา แบบว่าโกรธมาก อารมณ์รุนแรงมาก เราไปตีค่าตรงนั้นปั๊บ เราตีค่าเป็นโลกไป แต่ถ้าเราตีค่า เรารู้จักค่านะ เราว่า ท่านรักเรา ท่านปรารถนาดีกับเรา ถ้าเราตีค่าอย่างนั้นได้ขึ้นมา เราจะได้โอกาสมากเลย เราจะบอกว่าเวลาฟังธรรมไง แล้วเวลาครูบาอาจารย์ ท่านเวลาพูดแสดงธรรมะ เห็นไหม

ถ้าพูดถึงนะ พวกเรา นักปฏิบัติ พูดธรรมะนี่เข้าใจได้นะ แต่ถ้าพูดถึงโดยทั่วไป ไปพูดธรรมะอย่างที่เราพูด เขาไปฟังไม่รู้เรื่องหรอก เขาฟังไม่รู้เรื่อง แล้วเขาจะว่า พูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เราเคย มาอยู่ที่โพธารามใหม่ๆ เขามาทำบุญกัน พวกโยม เราก็พูดธรรมะอย่างนี้ เขาถามเราเลย เมื่อไหร่หลวงพ่อจะเทศน์สักทีหนึ่ง เมื่อไหร่หลวงพ่อจะเทศน์สักที คือเขาหาว่าเราไม่ได้เทศน์ คือเราพูดเล่นกับเขาไง หาว่าเป็นวิสาสะ แล้วเมื่อไหร่จะเทศน์สักที

ถ้าเมื่อไหร่จะเทศน์ ก่อนเทศน์ก็ต้อง นะโมตัสสะฯ ใช่ไหม ต้องพรหมาจะโลกาฯ ใช่ไหม เพราะประเพณีของเขา นี่ความเห็นของเขา แต่พอเขามาอยู่สักพักหนึ่ง พอเขารู้ขึ้นไป เวลาเราพูด โธ่ อยู่บ้านตาดนะ เราอยู่กับอาจารย์ ท่านบอกว่าเวลาเทศน์นะ ไม่ใช่ว่าจะได้เทศน์ แสดงธรรมนั่งเทศน์หรอก

“แค่สบตานี่เทศน์กัณฑ์หนึ่ง”

แค่สบตา เพราะเวลาสบตา ท่านหันมามองปั๊บ ทีแรกเราก็ไม่เข้าใจ สบตามันเป็นยังไงถึงเทศน์กัณฑ์หนึ่ง

แต่พอเราอยู่เข้าไป โดนเข้าหลายทีถึงรู้ พอสบตาคือเราผิดไง ถ้าทำอะไรผิดปั๊บ ท่านจ้องมองเลย แสดงว่าเราผิดแล้ว แล้วเวลาหลวงตา หลวงตา ถ้าท่านเพ่งมองเราอย่างนั้น เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองไปเลย ผิดอะไรวะ ผิดอะไร ต้องผิดแล้ว ท่านบอก สบตานั่นน่ะเทศน์กัณฑ์หนึ่งแล้วนะ

ทีนี้ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาพวกเราปฏิบัติ เวลาปฏิบัติ เวลาแสดงธรรม เวลาพวกโยมมา พวกโยมมีวุฒิภาวะแค่ไหน พวกโยมมีวุฒิภาวะแค่ไหน เวลาพูดถึงเรื่องพื้นฐาน เห็นไหม เรื่องพื้นฐาน การทำความสงบอย่างนี้ แค่ทำความสงบ

เราไปฟังเทศน์พระองค์หนึ่ง เขาพูดเลยนะ เขาบอกว่าพระไตรปิฎกอยู่ที่ใจ พระไตรปิฎกอยู่ที่ใจ แค่จิตสงบ อ่านพระไตรปิฎกได้แล้ว เขาพูดอย่างนั้นนะ สำหรับเรานะ ไม่ใช่! จิตสงบมันจะอ่านพระไตรปิฎกได้อย่างไร? จิตสงบก็เหมือนกับเรานอนหลับ เรานอนพักผ่อนขึ้นมา เราแข็งแรงขึ้นมา เราจะรู้อะไร จิตสงบรู้ไม่ได้หรอก

พูดถึง ผู้ที่อ่านพระไตรปิฎกนะ ที่จะรู้เข้าใจพระไตรปิฎกนะ พระไตรปิฎกอยู่ที่ใจ คือจิตจริงๆ แต่ต้องคนรู้แจ้ง เพราะการรู้แจ้งนั่นน่ะ การรู้แจ้งคือการค้นคว้าใจ มันจะค้นเข้าไป พระไตรปิฎกมันอยู่ที่ใจทั้งนั้น แต่การอยู่ที่ใจ เพราะใจมันมีการกระทำไง มันกระทำมันถึงรู้เรื่องการกระทำ แต่จริงๆ แล้วนะ ถ้าจิตสงบ มันก็คือแค่สงบนั่นน่ะ

ทีนี้ย้อนกลับมาที่เรา ย้อนกลับมาที่เรา เห็นไหม ที่เขาพูดกัน เวลาเขามา เขาพูด เขาบอกว่าเขาไปหา พวกนั้นเขาบอก ไปหาแล้ว เขามี เขาบอกนะ เวลาไปหาอาจารย์เขา อาจารย์เขาบอก กดจิตเกินไป เกร็งจิตเกินไป เขาบอกว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ เลย เป็นอย่างนั้นจริงๆ เลย

แล้วพอเขาปล่อยแล้ว ใจเขาก็สบาย เขาคิดว่าเขาทำถูกนะ แต่สำหรับเรา เราเศร้ามากนะ เราเศร้ามากเลย เพราะว่า ปัญญาวิมุตตินะ เวลาเราใช้ปัญญาไล่ความคิดเข้าไป เวลาปัญญามันปล่อยๆ มันปล่อยอย่างนั้น สมาธิมันเป็นอย่างนั้น มันปล่อยอย่างนั้น แต่มีสติตามรู้ทัน ตามรู้ความรู้สึกเราทัน

พอตามความรู้สึกบ่อยครั้งเข้า พอบ่อยครั้งเข้า รูปรสกลิ่นเสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ความคิด รูปไง รูป เห็นไหม รูปจับภาพได้ รูป รส เห็นไหมรส กลิ่น เสียง สิ่งนี้มันเร้าใจตลอด แล้วถ้าเราควบคุมใจได้ มันจะตัด มันจะห่างจากรูป รส กลิ่น เสียง ความคิดมันจะเกิดได้ยาก กัลยาณปุถุชน มันควบคุมจิตได้ สมาธิโดยปัญญา

สมาธิโดยปัญญาคือรักษาจิตได้ สมาธิโดยบริกรรมพุทโธๆ มันจะลึกกว่า มันต่างกัน พุทโธๆๆ เวลาจิตมันลง มันลงนะ จิตมันลงๆ บางทีมันปล่อยเฉยๆ นะ ขณิกะ แล้วพอมันลง คำว่าลงนะ มันเป็นบางคนนะ พุทโธ เห็นไหม มันเป็นบางคนนะ บางคนมันเหมือนตกจากที่สูง บางคนมันตกจากที่สูงเลย บางคนการลงนี่มันมีรส มีความรับรู้สึก

ฉะนั้น พอพุทโธๆ พอมันสงบเข้ามา บางทีมันเหมือนเรารับรู้ลมพัดสิ เวลาลมพัดนี่ ความเย็น เห็นไหม แล้วความร้อน เขาเรียกส่งออก จิตมันออกมารับรู้ เวลามันหดสั้นเข้ามา เห็นไหม หดสั้นเข้ามา บางทีลมพัดมา แต่เราตั้งใจ ใจนิ่งๆ ลมพัดมันส่วนลมพัด ความรู้สึกผิวหนังกับความรู้สึกเรา เห็นไหม

จิตเวลาพุทโธๆ เวลาพุทโธ มันหดเข้ามาเป็นความรู้สึกเกิดจากภายใน ความรู้สึกจากภายนอกอันหนึ่ง ความรู้สึกจากภายในอีกอันหนึ่ง ถ้ามันสงบ พุทโธๆ จนมันตัด ความรู้สึกจากภายนอกขาดเลย! มันเป็นตัวของมันเอง มันลึกซึ้ง กับปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา สมาธิมันมีคุณภาพต่างกัน คุณภาพของสมาธิมันต่างกัน

ทีนี้ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ พุทโธ เห็นไหม พอจิตมันสงบเข้ามา มันปล่อย หดสั้นเข้ามาๆ สิ่งที่หดสั้น หดเข้ามาเป็นตัวของมันเอง แล้วมันมีกำลังของตัวของมันเอง พุทโธๆๆ แล้วถ้ามันพุทโธจนมันละเอียดเข้าไปนะ มันจะตกจากที่สูง หรือมันจะมีความรับรู้สิ่งใด มันจะโยกคลอนอย่างไร จิตมันจะมีอาการแผ่ซ่านออกรับรู้อย่างไร เห็นแสง เห็นต่างๆ ขึ้นมา

เห็นแสง เห็นแสงคือส่งออกแล้ว ผู้ใดเป็นคนเห็น ถ้าเห็นแสงปั๊บ มันต้องกลับมาที่ผู้รู้ มันจะปล่อยสิ่งที่รับรู้หมด ถ้าเป็นคำบริกรรมพุทโธๆ เวลาจิตมันสงบ มันจะรู้อย่างนี้มาก แต่ถ้าเป็นปัญญานะ ไม่ค่อยมีอะไร ปัญญานี่มันจะวางเฉยๆ วางความคิด ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะวางความคิด วางความคิดๆ พอวางความคิด มันก็จะเป็นตัวมันเอง วางความคิดเฉยๆ

ทีนี้พอวางปุ๊บมันก็จับอีก วางก็จับอีก วางความคิดเดี๋ยวเดียวก็คิดอีก แป๊ปเดียวคิดไปๆ ไล่ไป ไล่ไป ปัญญาอบรมสมาธิเหมือนกับมันวางความคิดเฉยๆ แล้ววางความคิดเฉยๆ จนมันคุมได้นะ พอคุมได้ มันออกรู้ นั่นน่ะออกรู้ ออกรู้นี่สำคัญมากนะ แต่คนเห็นตรงนี้ได้ยาก แต่เวลาพูด ทุกคนไปเทียบเคียง บอกว่าทุกคนเหมือนหมดเลย

ออกรู้หมายถึงว่า จิต! ตัวพลังงานเห็นความคิด เห็นความคิดตัวเองเลย ความคิดกับเราไม่ใช่อันเดียวกัน เราเห็นความคิดเรา ถ้าเราเห็นความคิดเรา นั่นน่ะจิตเห็นอาการของจิต หลวงปู่ดูลย์ท่านเน้นตรงนี้มาก

“ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต นั้นจะเป็นวิปัสสนา ถ้าจิตไม่เห็นอาการของจิต วิปัสสนาไม่ได้”

เหมือนเราเป็นเจ้าหนี้ เราไม่เจอลูกหนี้ เราจะเรียกหนี้คืนจากใครไม่ได้เลย ไม่ได้ ทีนี้คำว่าลูกหนี้นะ อาการของจิต เพราะอะไร เพราะความคิดเรา ความคิดความยึดมั่นเรา ความรู้ต่างๆ สัญญาข้อมูล มันอยู่ที่ความคิดหมด ตัวจิตมันไม่มีข้อมูลนี้หรอก แต่ทีนี้ความคิดมันมีข้อมูลใช่ไหม

ข้อมูลหมายถึงว่า เราเป็นหนี้ เราเป็นเจ้าหนี้ เราเป็นลูกหนี้ เห็นไหม เราเป็นเจ้าของ มันยึดตรงนั้นหมด มันไม่ยึด พลังงานเฉยๆ ทีนี้พอจิตเห็นอาการของจิต เห็นความยึดไง เห็นจิตที่ไปยึด เห็นไหม พอจับตรงนั้นปั๊บ มันจะมีอารมณ์ความรู้สึก

ถ้าเป็นเจ้าหนี้ก็ดีใจ ถ้าเป็นลูกหนี้ก็เสียใจ เห็นไหม มันไปทุกข์ที่ความคิด ถ้าเราไปทุกข์ที่ความคิด แล้วแยกแยะตรงความคิด เพราะความคิดกับข้อเท็จจริงก็ยังต่างกันนะ เราเป็นลูกหนี้ ลูกหนี้ต่อเมื่อเราออกไปใช้หนี้ แต่ขณะความคิด มันเป็นความคิดเฉยๆ เพราะมันยึด พิจารณาตรงนั้นมันถึงเป็นวิปัสสนา

แล้วเขามาพูด เห็นไหม เขาบอกว่า เวลาจิตเขาเกร็ง แล้วเขาไปหาอาจารย์เขา อาจารย์เขาบอกว่า เพราะเกร็งจิต เขาบอก เป็นอย่างนั้นจริงๆ เลย เขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วเขาก็ทำตาม บอกว่าที่เขาเชื่อ เชื่อเพราะตรงนี้ไง เพราะเวลาเขาไปเขาบอกว่า จิต มันกดจิตเกินไป ถ่วงจิตเกินไป เกร็งจิตเกินไป ต้องปล่อยตามธรรมดา

พอปล่อยตามธรรมดาแล้ว เราก็ย้อนกลับ ถ้าปล่อยธรรมดาแล้ว มันก็เหมือนเด็กเรานี่ไง ปล่อยไปธรรมดา แต่ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะมีสติ ถ้าไม่มีสตินะ ดูจิตไม่มีสติ มันจะหยุดความคิดไม่ได้ ความคิดที่มีหยุดได้เพราะสติ สติทันปั๊บ เวลาเราไล่ความคิดไป ถ้าสติทันนะ เอ๊อะ หยุดเลย แต่ถ้าเราคิดเพลินไปกับเรานะ หยุดไม่ได้หรอก เพราะมันขาดสติ มันจะแปรความคิดตลอด

ตัวสติมันจะรู้ทัน แล้วมันจะหยุด หยุดๆ หยุดนี่มันหยุดเฉยๆ หยุดนี่เหมือนกับไฟฟ้าไง พลังไฟฟ้า ปิดไฟดับไฟ พอปิดไฟดับไฟ มันก็ปิดดับๆ มันเป็นกระแสไฟฟ้า แต่ถ้ามันมีปัญญาไล่เข้าไปไง เรารู้จักไฟฟ้า ไฟฟ้ามาอย่างไร มาจากที่ไหน

ถ้ามันมีปัญญา ปัญญามันตามความคิดไป ใครเป็นคนคิด สุดท้ายแล้วนะ เรานี่โง่ เรานี่คิดเอง เราฟุ้งซ่านเอง เราไม่เข้าใจตัวเราเอง แต่พอปัญญามันเห็นเท่าทันความคิดนะ เรานี่เป็นหนี้ เราทุกข์มากเลย แต่พอปัญญามันไล่ความคิดเราทันนะ ไล่ความคิดเราทันนะ เป็นหนี้ มันเป็นที่ความคิดเรา แต่ความคิดมันไม่ใช่ ความคิดนี้ไปยึด ความคิดไม่เป็นหนี้นะ ความคิดไม่เป็นหนี้หรอก แต่ความคิดไปรู้ว่าเราเป็นหนี้

แล้วความคิดนี้ก็คิดหาทางออก คิดทุกข์ไง ความคิดเป็นหนี้ใคร ความคิดเราเป็นหนี้ใคร ความคิดเรา ความคิดเราไม่เป็นหนี้ใครนะ ความคิดเรานี่มันเป็นขันธ์ ๕ มันเป็นนามธรรม นามธรรมจับไปขังคุกได้ไหม นามธรรมจับไปทำโทษได้ไหม เราจับความคิดเราไปทำโทษได้ไหม? ไม่ได้ เราต้องจับตัวเราไปทำโทษ จริงๆ ความคิดไม่เป็นหนี้ใครหรอก ไม่เป็นทุกข์กับใครทั้งสิ้น แต่มันทุกข์

มันทุกข์เพราะว่าเราหลงไง เราไม่เข้าใจตัวเราเองไง ความคิดก็ไปยึดว่าเป็นตัวเรา ยึดที่เราว่าเป็นหนี้ใคร เราไปทำสัญญาไว้กับใคร ไปกู้หนี้ยืมสินใคร แล้วไปจำตรงนั้นไม่ได้ มันเป็นหนี้ที่เราไปทำสัญญากันโน่น ไม่ได้หนี้ที่ความคิด

ทีนี้พอถ้าสติมันตามทัน ปัญญามันตามทัน ไอ้เป็นหนี้ไม่เป็นหนี้ มันเป็นเรื่องของที่เราสร้างปัญหาขึ้นมา แต่ความคิดนี่มันเป็นอิสรภาพได้ ถ้าสติมันทัน เห็นไหม มันปล่อยได้ มันปล่อยที่ความคิดเรานี่ พอปล่อยปั๊บ เราก็จะมีความสุขชั่วคราว มันไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่หนี้ก็อยู่ที่สัญญาโน่นน่ะ เขียนสัญญาไว้ กู้หนี้เป็นเงินเท่าไร ยังอยู่ที่นั่น

แต่ถ้าเข้าใจ ตามทันความคิด ความคิดมันปลอดหนี้ได้ นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญานี่มันทันความคิดเรา ความคิดมันปล่อยวางได้ชั่วคราว ปล่อยที่ความคิด แต่เรายังไม่ได้แก้ไขปัญหาข้อเท็จจริงที่เป็นหนี้เป็นสิน ยังไม่ใช้หนี้กัน อันนั้นมันออกไปข้างนอก มันถึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม ถ้าปัญญามันทันไง เราเป็นอิสรภาพของเราได้ ถ้าปัญญาทัน นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ดู ถ้าดูเฉยๆ มันไม่ได้ใช้ปัญญาความคิดไง

เวลาเขาพูดนะ เขาบอกเขานี่ เวลาเขาทำตามที่อาจารย์เขาบอก กดจิตเกินไป เกร็งจิตเกินไป พอปล่อยแล้วมันก็ว่าง มันก็สบาย เราจะบอกว่ามันไม่ใช่สมาธิไง มันสบายด้วยการปฏิเสธ ความสบายด้วยการไม่รับรู้สิ่งใดเลย มันสบายอย่างไร

แต่ถ้ามันรู้ทันอย่างนี้ปุ๊บ มันรู้ทันความคิดใช่ไหม รู้ความคิด ความคิดเกิดมันก็ดับ พอดับแล้วมันก็รู้เท่าใช่ไหม แต่นี่เป็นหนี้อยู่ข้างนอก นี่เป็นเรื่องข้างนอก พอเราเข้าใจปั๊บ เราไม่เครียด เราไม่วิตกกังวลปั๊บ เราจะไปจัดการเรื่องหนี้เราได้ เราจะไม่มีทิฐิ เราจะเข้าไปหาเจ้าหนี้เลย บอกกูไม่มี จะใช้อย่างไรก็ว่ากันไป ก็จบ

แต่ทีแรกไม่กล้า เพราะอะไรเพราะเรากังวลตัวเราเองไง เรากลัวเขาจะไม่ให้ เรากลัวเขาจะไม่เป็น เรากลัวไปหมดเลย เราก็ไม่กล้าพูดอะไรเลย แต่พอเราเข้าใจตัวเราหมดแล้วนะ คือมันรับสภาพไง ถ้าพูดตกลงได้ เขาตกลงเคลียร์ปัญหากันได้ เราจะใช้เท่าไรก็ใช้กันไป ถ้าตกลงกันไม่ได้ เขาตกลงกันไม่ได้ เราก็หาทางออกใหม่

คือมันกล้าจะเผชิญปัญหาความจริงไง คือเราไม่ติดตัวเราๆ ข้างนอกเราไม่ติดเลย แต่ส่วนใหญ่เราติดตัวเราก่อน เราวิตกกังวลตัวเราก่อน เราก็ไปติดข้างนอกก่อน กลัวจะไม่ได้อย่างที่เราคิด แต่เราไปเจรจาแล้ว มันจะได้อย่างที่เราคิดไม่ได้ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม

เราจะบอกว่า ถ้ามันเป็นอิสระจริง มันเป็นสมาธิจริงๆ มันไม่เป็นว่างๆ สบายๆ อย่างนั้นหรอก สบายๆ อย่างนั้น มันไม่เข้าองค์ประกอบของสมาธิ มันไม่เข้าองค์ประกอบของความจิตว่าง จิตว่างมันต้อง อย่างที่ว่า เห็นไหม จิตว่าง มีสติ เราไปรู้ว่าว่าง เราเข้าใจว่าว่าง เราถึงบอก เราพูดกับโยมประจำ เวลาใครมา

ถ้าพูดถึงว่าจิตเป็นสมาธิ มีกำลังไหม เราจะใช้คำนี้ คำว่ามีกำลังไหม ถ้ามีกำลัง

“ถ้าจิตมันว่าง มันเป็นสมาธิจริง มันจะมีกำลังของมัน กำลังของมันมันทำประโยชน์ได้”

แต่ของพวกเรา จิตว่างไปแล้ว ว่างๆ อากาศไง เหมือนลม เหมือนอากาศพัดไปพัดมา ไม่ได้อะไรเลย เราอยากรู้ว่าศาสนาพุทธสอนอย่างนี้เหรอ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้เหรอ? ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอย่างนี้เหรอ? ไม่เป็นๆ

ถ้าทำสมาธิขึ้นมา อย่างน้อย ทำสมาธิขึ้นมา ดูสิ สมาธิมีกำลัง เห็นไหม เขาไปทำคุณไสยกัน กำลังสมาธิทั้งนั้น มีสมาธิ เห็นไหม ดูสิ สมัยคนโบราณ ถือเคร่งไง พวกถือขลัง เห็นไหม เวลาถือของขลัง จะฟันไม่เข้า ยิงไม่ออกเลย เพราะอะไร เพราะจิตของเขาเข้มแข็ง

ถ้าบางคนถือแล้วเขาไม่เข้มแข็ง จิตเขา สมาธิเขาไม่ดี เห็นไหม ไปได้เครื่องรางของขลังมาจากมืออาจารย์ทั้งคู่เลย อีกคนๆ หนึ่งเหนียวมากเลย อีกคนๆ หนึ่งนะปานกลาง หรือคนๆ หนึ่งไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะตัวเขาเอง เพราะใจของเขาเองไม่มั่นคง นี่ไงกำลังของสมาธิ กำลังของสัจจะนี่มันจะทำให้จิตมีกำลัง แล้วจิตนี่มันเป็นประโยชน์มากเลย

แล้วปัจจุบันพระพุทธเจ้าสอนถึงสมาธิ ถึงความว่าง ทุกคนน่ะ ว่างๆ ว่างๆ ขอนไม้มันก็ว่าง อากาศมันก็ว่าง จริงๆ เราฟังอย่างนี้นะ ประสาเรา ใจเรานี่มันคัดค้าน คัดค้านตรงไหนรู้ไหม เหมือนเรา พวกเราไปทำมาหากิน เราได้ธนบัตร เราได้แบงก์ของจริง เราใช้สอยได้นะ

ไอ้นี่ไปได้กระดาษมาแผ่นหนึ่ง บอกว่าแบงก์ ว่างๆ ว่างๆ แล้วใช้สอยไม่ได้ไง เราได้แบงก์ปลอมกันมา ไปได้กระดาษมาคนละใบ ไปถึงเขาก็ให้กระดาษใบหนึ่ง เอากระดาษไปใบ บอกว่างๆ ว่างๆ แล้วกระดาษใบนี้ใช้จ่ายในท้องตลาดไม่ได้

แต่ถ้าทำสมาธิขึ้นมา ใครก็มีสิทธิที่จะทำได้ ทุกคนมีงานทำหมด จะได้เงินมาคนละเท่าไร เงินนั้นบาท ๒ บาทก็ใช้ได้ตามกฎหมาย ถ้าสมาธิ มันต้องเป็นอย่างนั้น ใครมาน่ะ จริงๆ นะถือแบงก์ปลอมกันมา หลวงพ่อ นี่อะไร ก็กระดาษไง ว่างๆ ว่างๆ มันไม่เป็นประโยชน์

ทีนี้พอเราจะทำความจริงขึ้นมา เห็นไหม จะเข้าตรงนี้แล้ว เวลาพุทโธมันยาก มันต้องยากสิ เราทำงานขึ้นมาเพราะอะไร ทำงานขึ้นมา กว่าจะได้สตางค์ มันต้องยาก เพราะมันเป็นความจริง แต่ทำอย่างนั้น ประสาเรานะ มันทำ โทษนะ ถ้าความรู้สึกเรานะ ทำพวกเราให้ห่างจากศาสนาออกไป ให้ห่างจากศาสนานะ

เรามีแต่ปฏิบัติเพื่อจะเข้าใกล้ศาสนา

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ผู้ใดเห็นธรรม เห็นไหม ผู้ได้สัมผัสธรรม มันเข้าใกล้ศาสนา เข้าใกล้พระพุทธเจ้า ไอ้นี่มันห่างศาสนาไปเรื่อยๆ ไง ยิ่งทำยิ่งไม่รู้ ยิ่งทำยิ่งงง ศาสนาสอนอย่างนี้เหรอ ยิ่งทำยิ่งไกลพระพุทธเจ้า ยิ่งปฏิบัติยิ่งไกลพระพุทธเจ้าออกไป เขามีแต่ยิ่งทำแล้วใกล้พระพุทธเจ้าเข้ามา ที่เราไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นด้วยตรงนี้ ไม่เห็นด้วยอย่างมากเลย แต่นี่เพียงแต่ว่ามันไม่มีใครพูดได้ เอาตรงนี้ก่อนเลย

ถาม : นั่งสมาธิแบบพุทโธๆ สลับกับนั่งกับคิดถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามคำแนะนำของหลวงพ่อ พอนั่งมาถึงจุดหนึ่ง นั่งไม่ได้เพราะขาชามาก ต้องทนต่อไปหรือ

หลวงพ่อ : ขาชามาก วันนี้ถามเป็นคนที่สอง เมื่อวานก็ถามคนหนึ่ง ขาชามาแล้ว ขาชานี่นะ เวลาเวทนามันเกิด ทำอย่างนี้น่ะถูกแล้ว นั่งสมาธิกำหนดพุทโธๆ ขนาดพุทโธเมื่อวานเราพูดกับเขา เราบอกเลย เวลาเราพุทโธ พุทโธไปไม่ได้ แล้วพุทโธ มันไม่มีใครอธิบาย

โดยธรรมชาติของจิตพวกเรานี่มันมีความตระหนี่ มันมีกิเลสในหัวใจ พอมีกิเลสในหัวใจปั๊บ มันก็ทำให้เราฟุ้งซ่าน เราคิด เราวิตกกังวล ทีนี้คำว่าพุทโธๆ เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนเอง พุทโธนี่พุทธานุสติ พระพุทธเจ้าสอน มันเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้องเห็นไหม

“พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ”

พุทโธๆ นี่พุทโธ พุทโธนุสติ พุทโธ สติตั้งในพุทโธ พุทโธๆ ในเมื่อจิตใจของเรามันมีของเสีย เหมือนน้ำเสียก็ต้องรีไซเคิลน้ำให้น้ำสะอาด พุทโธๆ คำบริกรรม พุทโธๆ มันเหมือนกับเรารีไซเคิลใจเรา เราทำความสะอาดใจเรา ถ้าใจเราอยู่เฉยๆ มันจะอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก อยู่กับความคิดเราตลอดเวลา พุทโธๆๆๆๆ เห็นไหม เหมือนกับเราเปลี่ยนแปลงความคิด

ความคิดเรา เราคิดถึงพุทโธๆ มันจะรีไซเคิล คือมันอัดอ๊อกซิเจน มันทำใจให้เราดีขึ้นมา พุทโธๆๆๆๆๆ มันทำให้เรา แบบว่าเปลี่ยนแปลง จากความคิดเดิมที่มันคิดร้อยแปด ให้มันคิดอยู่กับพุทโธ ถ้ามันไม่คิด หรือมันไม่ยอมคิด มันก็เป็นว่า มันคุ้นชิน ความคิดเดิมของใจ จิตใจมันคุ้นชิน มันก็ชอบ มันมีอารมณ์ มันก็ชอบของมัน มันไม่ยอมคิดหรอก

ถ้าไม่ยอมคิด เราก็ต้องตั้งใจ เราต้องตั้งสติ ตั้งใจ บังคับให้คิด เห็นไหม พุทโธๆ ไป แล้วสลับกับความคิดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถูกต้อง ร่างกาย เห็นไหม มันเป็น เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ หรือส่วนอื่นใดของร่างกายก็แล้วแต่

มรณานุสติ ระลึกถึงความตาย ระลึกถึงร่างกาย คือความคิด ระลึกถึงสิ่งใด มันจะอยู่ตรงนั้น เพราะเหมือนเล่นเทนนิส เห็นไหม คนฝึกหัดเทนนิส คนเล่นอยู่คนเดียว เขาจะตีลูกเทนนิสเข้ากำแพง ลูกเทนนิสก็จะกระดอนกลับมา แล้วเขาก็ตีเข้าไปอีก พุทโธๆ หรือคิดถึงกาย ความคิดมันก็มาจบที่กาย แล้วมันก็ย้อนกลับไปที่จิตเรา

ความรู้สึกมันพุ่งออกไป เราจะคิดถึงเรื่องอะไรล่ะ พอคิดเรื่องอะไรปั๊บ ความคิดมันก็ปะทะกันตรงนั้น แล้วมันก็กลับมาที่เรา เห็นไหม คิดถึงเรื่องอะไร ถูกต้อง มันก็เหมือน พุทโธๆ มันก็รีไซเคิลของมัน มันหมุนในตัวมันเอง เรานึกถึงสิ่งใดมันก็สะท้อนกลับๆ พุทโธๆ นี่สะท้อนกลับๆๆๆ สะท้อนกลับ กลับไปหาเรา ทำอย่างนี้ถูกต้อง!

แล้วพอนั่งมาถึงจุดหนึ่ง เห็นไหม นั่งไม่ได้ นั่งได้ เพราะขามันชา ขามันชานี่ สมมุติเรานั่ง เห็นไหม เรานั่ง เรานั่งนะ จิตนี่มันตกไปเห็นไหม ทเวเม ภิกขะเว ทาง ๒ ส่วนที่ภิกษุไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค คือมันทุกข์ กามสุขัลลิกานุโยค คือมันสุข

นี่ไง สุขกับทุกข์ มันพอใจ ตั้งใจ สดชื่น นั่งใหม่ๆ ยังไม่มีอะไรรบกวนก็ แหม ดีมาก พุทโธๆๆ แต่พอมันชักเจ็บปวดขึ้นมา มันก็แบบพุทโธนี่มันเจ็บ เจ็บมาก เห็นไหม เหมือนกับทาง ๒ ส่วนที่ภิกษุไม่ควรเสพ ให้เสพทางสายกลาง ทางสายกลาง ถ้ามันพุทโธๆ จนจิตมันลง เห็นไหม มันก็มาทางสายกลาง

แต่ถ้าจิตมันยังไม่ลง เห็นไหม เพียงแต่กำลังมันมี พอกำลังมันมี มันจะชา ชานี่เขาเรียกว่าสักแต่ว่า เห็นไหม สักแต่ว่า จิตมันไม่.. เหมือนมือเลย จับของไม่เต็มไม้เต็มมือ ถ้าจับของเต็มมือนะ เราจับไปที่ไฟก็ร้อน จับไปที่น้ำแข็งมันก็เย็น จับไปที่ไฟก็ทุกข์ จับไปที่น้ำแข็งมันก็สุข

ทีนี้พอมันจับตรงกลาง มันไม่สุข มันไม่ทุกข์ มันชาๆ ชาๆ นี่จิตมันเริ่มปล่อยแล้วนะ ทีนี้ถ้าพอชาแล้ว เราไม่เข้าใจใช่ไหมว่าชา ชาไม่ต้องตกใจ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปอีก พุทโธไปอีก อย่าสักแต่ว่าไง ถ้าพุทโธชา เหมือนฟุตบอล ๐ : ๐ เสมอไง ๑: ๑ เสมอ คือเสมอไง ระหว่างธรรมะของเรา ที่เรากำหนดพุทโธขึ้นมา กับกิเลส มันยันกัน ชาอย่างนั้น พอชาอย่างนั้นปั๊บ มันเสมอ จะว่าเสียก็ไม่เสีย จะว่าได้ก็ไม่ได้ นี่ทางการแข่งขันนะ

“แต่ถ้าทางการปฏิบัติ ได้! ได้อย่างเดียว! ”

“ได้” หมายถึงว่าถ้าเราปกติธรรมดาเรานี่ เราก็จะเจ็บจะปวดไปกับมัน จะพอใจไม่พอใจไปกับมัน แต่พอชา เหมือนกับจิตมันรับรู้ มันยอมรับแล้ว มันยอมรับส่วนหนึ่ง ยอมรับว่ามันไม่ออกรู้ เพราะด้วยคำบริกรรม ด้วยการกระทำของเรา เดี๋ยวจะว่าอุเบกขา มันต้องไม่รับรู้อะไร เหมือนกับอุเบกขา ชานี่เหมือนอุเบกขา มันอยู่ในระดับกึ่งกลาง

กึ่งกลางว่าจะไปทางไหน ถ้าจะไปทางปวดก็ปวด ไปทางลงสมาธิก็หายไปเลย เพราะลงสมาธินี่ วูบ! หายเลย แต่ถ้ามันยังไม่ลง เห็นไหม มันกึ่งไง ขณะนี้มันกึ่งอยู่ ถ้ากึ่งอยู่จะทำอย่างไรต่อไป กึ่งก็ เราตักน้ำมาได้ครึ่งตุ่มแล้ว เราต้องตักเพิ่มมาให้เต็มตุ่ม นี่ไง พอถึงชาปั๊บ มันกึ่งกลางแล้ว

เราพุทโธไล่เข้าไป พุทโธซ้ำเข้าไป ไล่เข้าไป พุทโธปั๊บ อยู่กับพุทโธ มันจะชาอย่างไร ย้อนกลับมาที่จิต พอพ้นจากตรงนี้ไปนะ ลงหมดเลย หายหมด ความชาความรู้สึกหายหมด แต่จิตรู้ๆ อยู่นะ จิตชัดเจนมาก นั่นคือสมาธิ แล้วพอเป็นสมาธิแล้วเราค่อยออกมา แล้วเป็นสมาธิอย่างนี้นะ พอจิตมันเป็นสมาธิแล้ว เราจะรู้เลย รู้หมายถึงว่า อย่างที่เราพูดว่ามีกำลังๆ

“คนที่นอนหลับลึกๆ ตื่นขึ้นมาจะมีกำลังมาก จะสดชื่นมาก”

คนนอนนะ สักแต่ว่าหลับ นอนทุกคนน่ะ หลับ เช้าขึ้นมาก็งัวเงียๆ มันไม่สดชื่น เห็นไหม อย่างที่เขาทำกันน่ะ เช้าขึ้นมาตื่นนะ นอนก็นอน เช้าขึ้นมา ตื่นขึ้นมา ก็ยังสัปหงกอยู่น่ะ แต่ถ้าคนนอนหลับลึกๆ นะ เช้าขึ้นมา ตื่นขึ้นมา สดชื่นมาก ทำงานได้เลย

ถ้าพุทโธๆ มันลง ออกจากสมาธิ มันจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามีกำลัง กำลังคืออย่างนั้น กำลังคือจิตมันมีกำลังของมัน แต่ถ้ามันไม่มีกำลังนะ มันทำไปเรื่อยๆ ต้องพุทโธให้ชัดๆ ขึ้นไป พุทโธให้ชัดเจนขึ้นมา พุทโธให้ชัดเจนขึ้นมา อันนี้อันหนึ่ง

ถาม : ๑. อาการที่จิตคิดนึกไป เป็นสมมุติที่จิตเป็นผู้สร้างขึ้น ทุกข์จึงเกิดขึ้น เพราะจิตเป็นตัวเหตุ สร้างขึ้นแล้ว เพลินในโอกาส เพลินไปในอารมณ์ หมุนไปตามกระแสความคิดเรื่องนั้นๆ

หลวงพ่อ : ทีนี้ถ้าคนไม่ปฏิบัติธรรม มันก็จะไม่รู้เรื่องอย่างนี้เลย ถ้าคนที่ปฏิบัติธรรม พอรู้เรื่องอย่างนี้ปั๊บ มันก็หยุด นี่เห็นไหม อาการที่จิตนึกคิดไปเอง อาการที่จิตนึกคิดไปเอง ถ้าจิตเราตามไปทัน เห็นไหม นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิ อาการที่จิตนึกคิดไปเอง สร้างสมมุติขึ้นมา มันเป็นสมมุติ ถ้าคำว่าสมมุติ ถ้าพูดถึง เราจะเอามาเป็นเหตุผล ว่ามันเป็นสมมุติ แต่ขณะที่เวลาปฏิบัติไปแล้ว มันมีข้อโต้แย้งมหาศาลเลย ถ้าเป็นสมมุติ เห็นไหม

เหมือนกับเราเป็นหนี้ แล้วเราบอกเราใช้หนี้แล้ว เราปฏิเสธการเป็นหนี้ได้ไหม เรายังไม่ได้ใช้ เราปฏิเสธการเป็นหนี้ไม่ได้ คำว่าเป็นสมมุติ ใช่ มันเป็นสมมุติ แต่สมมุติมันมีอยู่จริง ถ้าสมมุติมีอยู่จริงนี้ อาการที่จิตสร้างขึ้น อาการที่จิตนึกขึ้นออกไป มันสมมุติขึ้นมา มันเป็นผู้สร้างขึ้น ใครเป็นผู้สร้าง

ถ้าพูดถึงว่า มันเห็นแว็บ มันปล่อยวาง มันปล่อยวางความรู้สึกต่างๆ แล้ว นี่คือปล่อยวาง นี่คือสมถะ ทีนี้สมถะนี่ถ้าจะทำต่อไป เห็นไหม ใครเป็นผู้สร้าง มันสร้างมาจากไหน สมมุติ ใครเป็นคนสร้าง สมมุติมันมีอยู่ ถ้าสมมุติมีอยู่เพราะมันมีจิต ใช่ไหม จิตถึงรับรู้

อย่างความคิด ถ้าคิดขึ้นมา ใครเป็นคนเจ้าของความคิด ความคิดมันไม่มีเจ้าของ สมมุติ มันเกิดดับ แต่เพราะมันสมมุติ อย่างเรา เราเป็นคนกลุ่มน้อยอยู่บนภูเขา เราไม่เคยเห็นทะเลเลย เรานึกอย่างไร เราก็ไม่รู้จักทะเลหรอก แต่คนที่เขาเป็นชาวเลนะ เขาคิดถึงทะเลนะ เขาเข้าใจเรื่องของทะเลหมด แต่เขาก็ไม่เข้าใจเรื่องบนภูเขานะ

นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอก คนชนกลุ่มน้อยอยู่บนภูเขา กับชาวเล มีความคิดต่างกันไหม?

พื้นฐานของความคิดเขาต่างกัน เพราะอะไร เพราะภูมิประเทศที่เขาอยู่มันแตกต่างกัน ทีนี้คน จิตที่มันสร้างบุญสร้างกรรมมา จิตที่มันสร้างบุญสร้างกรรม มันหลากหลายต่างกันมา สมมุติที่เกิดขึ้นมา มันมาจากไหน พอสมมุติอันหนึ่ง คนหนึ่งคิดไปอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งคิดอีกอย่างหนึ่ง

แต่ถ้ามันจะเป็นข้อเท็จจริง เป็นชาวเล ภูมิอากาศเขาอยู่ทางทะเล เขาก็ต้องหาเหตุหาผลว่า มันทุกข์อย่างไร มันสุขอย่างไร มันมีเหตุผลอะไร มันถึงมีปัญญาไล่เข้าไป จนถึงที่สุด ถึงเหตุถึงผล แล้วมันต้องไปละกันที่ใจ มันไม่ใช่ละกันที่ความคิด

อาการสร้างขึ้น สิ่งที่สร้างขึ้น มันเหมือนเป้าหลอก ความคิด เห็นไหม ความคิดมันคิดขึ้นมา มันทุกข์ มันสร้างขึ้นมา เราเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เป็นสมมุติ แล้วเราปล่อยไปแล้ว มันก็ปล่อยไปแล้ว แล้วมีอะไร เหลืออะไร ครูบาอาจารย์ที่ภาวนาเป็นนะ เวลาพิจารณากายหรือพิจารณาจิต ทิ้งไปแล้ว ใครเป็นคนทิ้ง ทิ้งแล้วมันเหลืออะไร แต่ถ้าเป็นธรรมะ ธรรมะเป็นธรรมชาติไง ทุกอย่างเกิดขึ้นดับไปๆ ก็ขี้ลอยน้ำไง คือมันไม่เข้าถึงตัวตน ไม่เข้าถึงกิเลส มันไม่เข้าถึงหลักตัวนั้น

ถาม : ๒. ผู้ดูเข้าไปรู้จำนั้นเป็นสมมุติ เป็นตัวก่อทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วสลายไป บังคับบัญชาไม่ได้ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ถึงสัญญาสร้างรูป สังขารปรุง ทุกข์สุขเกิดขึ้น วิญญาณรับรู้ ยินดียินร้ายเกิดขึ้น เป็นเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้อาศัยกันและเกิดขึ้น มีกิเลสมายาคอยหลอกล่อให้ทางไปทางหนึ่ง จิตเป็นผู้รู้ ความชัดความคิดต่างๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความคิดอย่างนี้ สงสัย รู้ตามกันไปอย่างนี้ ข้อสองยาวเนอะ (ต้องมีสัมปชัญญะ รู้สึกตัวอยู่ โดยตลอดเวลา จากนี้ไปแล้ว คิดถึง เกิดขึ้น เป็นเรื่องของกิเลส มารเอาทุกข์เข้าไป)

๓. ผู้รู้เข้าไปรู้ว่ามันเป็นตัวผู้รู้ รู้นี่เรื่องสมมุติ ก่อให้เกิดความรำคาญ เป็นตัวทุกข์เหมือนกัน ความคิดนึกต่างๆ เลยเถิดกันหมด เดินอยู่อย่างนี้กับจิต รู้อยู่ด้วยอาการ มีสัมปชัญญะ รู้อยู่ตลอดเวลา มีสติรู้

๔. เป็นสสารของจิต ปลอดโปร่งสบาย อยู่กับทางรู้ เคลื่อนไหวบ้าง เลยไม่ได้วิธี มีสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้อยู่ตลอดเวลา โลกอธิบายเหตุต่างๆ ก็รู้ อยากสร้างให้เป็นประโยชน์

คำถามอะไรดี อยากถามว่า

๑. นี่คือรังของอวิชชาใช่หรือไม่

๒.สองและนี่ใช่มรรคญาณที่เข้าไปตามหาความเป็นจริงเพื่อที่จะทำลายจิตอวิชชาใช่หรือไม่

หลวงพ่อ : คำถามนี่ถูก ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ เขียนมา เป็นสิ่งที่รู้ เป็นสิ่งที่รู้ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันจะสงบเข้ามา แล้วถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่เกิดขึ้นนี่ ฟังได้หมดเลย แต่ถ้าเป็นวิปัสสนา เวลาจิตมันจับขึ้น เวลาจิตมันออกรู้ที่ว่า มันจับได้ หนึ่ง อยากถามว่านี่คือรวงรังของอวิชชาใช่หรือไม่ มันใช่หมด มันใช่หมดตั้งแต่ส้ม-เปลือกส้ม ความคิดทั้งหมด ความรู้สึกเราทั้งหมดเกิดจากอวิชชาอย่างเดียว

หลวงตาเวลาพิจารณาของท่าน เห็นไหม ท่านบอกว่า เวลาท่านพิจารณาของท่าน ว่างหมดเลย โลกนี้ว่างหมดเลย แสงสว่างใจนี้ใสหมดเลย

ทีนี้พออยู่อย่างนั้นปั๊บ ท่านก็มีความมหัศจรรย์ คนเราปฏิบัติ เหมือนกับเราแสวงหาสมบัติ พอได้ทรัพย์สมบัติมา ทุกคนต้องตื่นเต้นหมด ทีนี้พอจิตของท่านเป็นอย่างนั้นปั๊บ ท่านสว่างหมดเลยนะ มองภูเขาไปทะลุหมดเลยนะ ท่านบอกว่า ท่านมีความรำพึงขึ้นมาในใจนะ

“เอ๊ะ จิตของคนทำไมมหัศจรรย์ขนาดนี้ จิตของคน จิตของเรา จิตผู้ปฏิบัติ ทำไมมหัศจรรย์ขนาดนี้”

มันมองทะลุภูเขาได้ มันรู้ไปหมดเลย เห็นไหม ท่านพูดนะว่าท่านมีความสุขอยู่อย่างนี้ เดินจงกรมอยู่ ท่านบอกธรรมะมาเตือน ธรรมะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมมาเตือนไง ธรรมคือความคิดมันเกิดขึ้นมาเลย แสงสว่างทั้งหมด สิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดจากจุดละต่อมๆ ฐีติจิต

เพราะฉะนั้นจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ใช่อวิชชาไหม?

ใช่! ใช่ทั้งหมดเลย เพราะถ้าพูดอย่างนี้นะ เรื่องของโลก เรื่องของดวงจันทร์ เรื่องของดวงอาทิตย์ มันเป็นเรื่องของวัตถุนะ เรื่องสสาร เรื่องของเขานะ ความรู้สึกของโลก นี่ความรู้สึกของมนุษย์ทุกๆ คน มันก็ของใครของมันใช่ไหม ความรู้สึกของเรา ใจเรานี่สำคัญมากนะ ใจของเราเกิดตายๆ มาเยอะมาก พอเกิดตายๆ มาเยอะมาก มันสะสมความดีความชั่วไว้ในใจเยอะมาก แล้วตัวฐีติจิต ตัวภพ นั่นน่ะคือตัวอวิชชา

มนุษย์คนหนึ่ง มันมีจิตดวงหนึ่ง จิตดวงหนึ่งดวงนี้มันเวียนตายเวียนเกิดมา ลึกลับซับซ้อนมามหาศาลมาก”

"ในธรรมขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า คนเราคนเดียว จิตดวงหนึ่ง เกิดตายๆ เอามานับแล้ว ไม่มีต้นไม่มีปลาย เหมือนกับ ถ้าเรากิดมาคนหนึ่ง เราเป็นเรา เราเป็นพระสงบ เกิดมาเป็นเราคนหนึ่ง แล้วเราตายไป ซากศพพระสงบก็กองไว้นี่ แล้วเราก็เกิดอีก เหมือนซากศพของเรานี่กองล้นโลกเลย ล้นเลย ล้นนี่นะมันเป็นสถานะที่เกิดเป็นพระสงบ เกิดเป็นพระ ก. พระ ข. ไปนะ แต่จิตเป็นดวงเก่านะ จิตดวงเดียวนั้นน่ะ

ทีนี้คำว่าจิตดวงเดียว เป็นอวิชชาไหม มันเป็นอวิชชา เราจะบอกว่า มันอยู่ที่เราทั้งหมด อวิชชา ถ้าเราไม่มีตัวอวิชชา ไม่มีตัวจิต เราจะไม่มีความคิด เราจะไม่มีสุขมีทุกข์ ไม่มีอารมณ์ความวิตกกังวล ไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเกิดจากตัวจิต ทีนี้ทุกอย่างเกิดจากตัวจิต แล้วถามมาทั้งหมด เป็นความคิดไหม สติสัมปชัญญะ เห็นไหม

อย่างพูดเมื่อวานนี้ เราพูดเหมือนเราระลึกไปเรื่อยๆ เนอะ เมื่อก่อนก็บอกว่าพระไตรปิฎก ปลวกมันกินทั้งหมดเลย ปลวกมันยังไม่รู้เรื่องเลย ตอนนี้บอกว่าพระไตรปิฎกเป็นสมมุติ สมมุติจริงๆ พระไตรปิฎกมันเกิดมาจากใจขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เทศนาว่าการ เทศน์ไง เวลาเทศน์ออกมา มันเป็นคำเทศน์ ออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ ตัวจริงๆ ตัวธรรมมันอยู่ที่ใจขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ไอ้ตัวที่เทศน์ออกมามันเป็นสมมุติ คือเทศน์ออกมาจากใจพระพุทธเจ้า มันเป็นคำพูด สิ่งที่เขียนถามมาทั้งหมดมันเกิดจากใคร ถ้าไม่ได้เกิดจากใจ ถ้าไม่มีตัวใจมันคิดมาได้ไหม?

สติสัมปชัญญะมันจะเป็นสติ มันจะเป็นอวิชชา ที่พูดมาทั้งหมดใครเป็นคนพูด มันพูดออกมาจากใจ แล้วตัวใจนั้นคือตัวอวิชชา มันถึงต้องย้อนกลับไป ไม่ใช่เวลามันคิดออกไป มันพูดออกไปแล้ว มันพูดโดยอวิชชา จิตมันเป็นอวิชชา เป็นอย่างนั้นๆ

อวิชชาเปรียบเหมือนเสือโคร่ง เราก็เอาแล้ว เสือโคร่งอยู่ไหน เสือโคร่งตัวใหญ่เท่าไร มันจะไปหาอวิชชาไง หาไม่เจอหรอก เพราะอวิชชามันคิดแล้ว อวิชชามันสร้างภาพแล้ว ว่าอวิชชาจะเป็นอย่างนั้นๆ ใช่ไหม เราก็จะตามหาอวิชชาไง

อวิชชามันหลอก มันสร้างว่าสิ่งที่เป็นไม่ดีเอาไว้ ว่าความคิดเป็นสิ่งที่ไม่ดี อกุศล ความคิดไม่ดี ความคิดเป็นบาปอกุศล นั่นคือตัวอวิชชา แต่ไม่ดูที่ความคิดแล้ว ไอ้ตัวคิดนี่ตัวต้นเหตุ ไอ้ความคิดที่คิดออกไปจากตัวคิด ตัวคิดคือตัวภพ ตัวคิดคือตัวใจ

พอมันคิดขึ้นไป อันนั้นเป็นเงา เราต้องย้อนจากนั้นเข้าไปหาตัวจิตต่างหาก เราต้องย้อนกลับไปหาตัวจิต ไม่ใช่พอมีความคิดปั๊บ มีความคิดขึ้นมาใช่ไหม แล้วบอกสติสัมปชัญญะไปลบล้างกัน คือมันเอาความคิดกับความคิดลบล้างกัน คือเอาเงา เอาเงาต่อสู้กัน

ถ้าเอาเงาต่อสู้กันมันออกข้างนอก เราคิด เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราคิดอะไรก็แล้วแต่ เราคิดแล้วให้มันหยุด พอหยุดแล้ว สิ่งที่รู้ ความรู้สึก นั่นคือตัวจิต ถ้ามันหยุดปั๊บ เราย้อนกลับไปที่จิต ตั้งสติไว้ กลับไปที่จิต

พอกลับไปที่จิต นั่นน่ะ ย้อนกลับไปเรื่อย มันจะละเอียดไปเรื่อย แต่ถ้ามันเป็นความคิด แล้วเราไล่ตะครุบความคิดไป ไม่มีทาง เรียกส่งออก ส่งออกไง

ปัญญาอบรมสมาธิ ธรรมของพระพุทธเจ้ามีอยู่ข้อหนึ่ง ประเด็นมาก ทวนกระแส ความคิดคือไปตามกระแส ความคิดไปตามกระแสเพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ทีนี้ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนบอกว่าปัญญาอบรมสมาธิ คือปัญญาไล่ตามความคิด ย้อนกลับ ย้อนกลับไปหาตัวพลังงาน ตัวพลังงานคือตัวจิตไง แล้วตัวจิตคือตัวอวิชชา เพราะอวิชชานี่มันอยู่ที่จิต อยู่ที่ภพ

ทีนี้ตัวอวิชชา เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร เห็นไหม

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

เธอเกิดจากความดำรินะ เราดำริ ไม่ใช่ความคิดนะ พอดำริปั๊บ มันคิดออกไปข้างนอก แล้วเราไปตะครุบเงา ไม่เจอ มันจะเป็นสติสัมปชัญญะ มันจะเป็นปัญญา

ปัญญานี่นะ ถ้าเราใช้บ่อย ไม่มีสมาธิ มันจะเป็นสัญญา สังขารความคิดนี่คิดมากๆ เข้าไปนะ ถ้าไม่มีสมาธินะ มันก็เป็นมาร มันเป็นสังขารธมาร แต่ถ้ามีสมาธิ มันจะเป็นปัญญา มันอยู่ที่สมาธิ

ฉะนั้น ข้อการปฏิบัติมันถึงจะต้องใช้ปัญญา ใช้ปัญญา ปัญญาคือสติ อย่างที่ว่า สติสัมปชัญญะมันคืออะไร สัมปชัญญะนะ มันเกิดขณะที่เราคิด เวลาเราคิดเรื่องต่างๆ คิดเรื่องธรรม พอเกิดสัมปชัญญะมันสะดุด อึ๊ก! มันก็หยุด นั่นคือตัวสัมปชัญญะ

แต่บอกว่าสัมปชัญญะมันเป็นอาการอยางนั้นๆ นั้นเป็นกิริยาแล้ว เป็นคำอนุมาน แต่ตัวสัมปชัญญะคือตัวที่ อึ๊ก! เห็นไหม เราบอก “สมาธิ” เห็นไหม ส.เสือ ม.ม้า สระ อา ธ.ธง สระ อิ นั้นชื่อสมาธิ

สมาธิคือความอิ่มใจ สมาธิคือความสุข สมาธิคือความตั้งมั่น ตัวของสมาธิคือความรับรู้ พอเราออกมาแล้ว เรามาอธิบายกัน หรือเราออกจากสมาธิ ออกจากการวิปัสสนา ออกจากการภาวนามา เราจะไปถามครูบาอาจารย์ว่าเราทำอย่างนั้นๆ ถูกไหม มันเป็นอดีตอนาคตไปแล้ว

ตัวของสัมปชัญญะ ตัวสติสัมปชัญญะคือตัวที่ระลึกรู้แล้วมันหยุดได้ พอหยุดได้ นั่น เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าบอกชื่อ บอกไว้ว่า สติสัมปชัญญะ สติคือความระลึกรู้อยู่ สัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม สติสัมปชัญญะ

มีสติ หยุดมัน สัมปชัญญะ คือการรู้สึกตัว แล้วมันรู้ตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะ มันจะทำอะไรจะไม่ผิดพลาดเลย ตัวนั้นตัวอวิชชาใช่ไหม? ใช่!

ถามว่านี่คือตัวอวิชชาใช่หรือไม่ ถ้าจะบอกว่า ถ้าให้มันชัดๆ นะ มันยังเป็นลูกหลานของอวิชชา อวิชชาคือพ่อ คือพญามาร เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร นางตัณหา นางอรดี เห็นไหม ลูกของมาร มาฟ้อนรำให้พระพุทธเจ้า

พ่อนี่ พญามารนี่คอตกเลย นี่เป็นบุคลาธิษฐานนะ เวลามารแพ้แล้ว ไม่มีที่อยู่ในใจพระพุทธเจ้า คอตก พอคอตกขึ้นมา ลูกสาวมา เห็นไหม ลูกสาวถามพ่อ “พ่อเสียใจทำไม” “เสียใจพระพุทธเจ้ารอดพ้นจากมือเราไปแล้ว”

ลูกสาวบอก “พ่อๆ อย่าเสียใจ เดี๋ยวลูกจะไปหลอกมาเอง” ก็เป็นนางตัณหา นางอรดี ความโลภ ความโกรธ ความหลงไง มันฟ้อนมันรำ ฟ้อนรำให้พระพุทธเจ้า ให้พระพุทธเจ้ารับรู้นะ พระพุทธเจ้าไม่สนเลย

มารเอย เห็นไหม เรือนยอดของความโลภความโกรธ เรือนสามหลัง เรือนยอดของเรือนสามหลังเราจะหักโค่นแล้ว สิ่งนี้จะมายั่วยวนเราไม่ได้ มันมีมาร มีลูกสาว เห็นไหม มีลูก มีหลาน มีเหลน ของพญามาร

ฉะนั้น สิ่งที่เราทำกันอยู่นี่ แค่ลูกหลานมารนะ ยังไม่ใช่อวิชชาหรอก แต่มันเป็นสายบังคับบัญชามาจากอวิชชานั้นแหละ แต่มันเป็นอวิชชาตัวเด็กๆ ไง อวิชชาตัวเล็กๆ เอ็งยังไม่เจออวิชชาตัวใหญ่ๆ หรอก เจออวิชชาตัวใหญ่แล้วมึงจะรู้จัก อวิชชาตัวสุดท้ายนะ พญามาร คือความอาลัยอาวรณ์

เราเคยพลัดพรากไหม ดูอย่างเวลาที่เวลาเราคิดถึงกัน “ทุกข์อันละเอียดนะ” แค่ความอาลัยอาวรณ์ ความอาลัยอาวรณ์ แต่ทุกข์หยาบๆ เห็นไหม ความทุกข์ ความร้อน ความทุกข์มาก

แต่ความคิดถึงกัน อันนี้ตัวละเอียดมาก แค่คิดถึงกันนี่นะ แค่ใจใฝ่คิดถึงกัน นี่แหละ! นี่แหละ! มันเหมือนกับไม่ใช่ความทุกข์เลย แต่มันเป็นความทุกข์ที่ละเอียด

“แค่อาลัยอาวรณ์นะ นั่นน่ะคือตัวมาร”

แต่ถ้าเป็นความทุกข์หยาบๆ นะ โอ้โฮ เป็นทุกข์ร้อน ทุกข์เสียใจนะ หลานมัน เหลนมัน

ถาม : ๒.และนี่ใช่มรรคญาณที่เข้าไปตามความเป็นจริง เพื่อจะได้ทำลายที่อวิชชาใช่หรือไม่?

หลวงพ่อ : มรรคญาณ มรรคมันมีหลายชั้นเนอะ เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ เวลาพูดถึง เวลาทางโลกเขาเข้าใจกัน เห็นไหม ว่ามรรค ๘ สัมมาอาชีวะคือการประกอบอาชีพชอบ มันมรรคของคฤหัสถ์ไง เราประกอบอาชีพชอบ เราก็บอกเลยนะ เวลาวัวควายมากินหญ้า มันประกอบอาชีพชอบไหม?

วัวควายมันกินหญ้า เห็นไหม มันประกอบอาชีพชอบ มันหากินของมัน ถ้าเราบอกว่าเราเลี้ยงชีพชอบ เราก็เป็นวัวเป็นควาย วัวควายมันยังหากินหญ้าเป็น ไอ้นี่ทำมาอาชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบ เห็นไหม คิดผิดคิดถูก ถ้าเป็นมรรคนะ ถ้าคิดผิด เห็นไหม คิดพยาบาท คิดอาฆาต คิดผูกโกรธ เลี้ยงชีพผิดเพราะ เพราะมันให้ผลเป็นทุกข์ในใจ

คิดในแง่ของเสียสละ คิดถึงเป็นบุญกุศล เห็นไหม นี่เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบนี่ใจของเราได้กินบุญกุศล เวลาเรามีความรื่นเริงอาจหาญ เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากภาวนา เห็นไหม เลี้ยงชีพถูก มันจะพาเราไปในทางที่ดี ผลของมัน เห็นไหม

เหมือนทางการแพทย์เลย การดำรงชีวิตของเรา เรากินอาหารดิบๆ สุกๆ เรากินอะไรตามความพอใจเรา แล้วเดี๋ยวเราจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เรากินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เราจะไม่มีความทุกข์ความยาก

จิตใจของเรานะ เรากินแต่เรื่องความโกรธ ความโลภ ความหลง เรากินแต่สิ่งที่ไม่ดี คบแต่เพื่อนที่ไม่ดี คบแต่อารมณ์ที่ไม่ดี จิตใจมันมีแต่หยาบไปเรื่อยๆ ถ้าจิตใจเราคิดแต่สิ่งที่ดีๆ เห็นไหม คิดแต่ดีๆ อาหารที่ดีๆ เห็นไหม จิตใจเรามันจะอ่อนโยน จิตใจเราจะดีขึ้น เพราะมันก็เจอแต่สิ่งที่ดีๆ

นี่ไง เลี้ยงชีพชอบ ถ้าเลี้ยงชีพทางโลก เห็นไหม มันเป็นมรรคของฆราวาส ถ้าของเราปฏิบัติ มรรคที่มันจะเกิดขึ้นมาในการปฏิบัติ เห็นไหม เวลาธรรมจักรที่มันหมุนๆ หลวงตาท่านพูด เวลาปัญญามันหมุน นั่นล่ะมรรคมันหมุน

ถ้ามรรคมันหมุนขึ้นมา คนมันจะหมุนได้ มันจะเห็นได้ ปัญญาที่เราคิดอยู่นี่ ที่เราไม่เห็นเพราะอะไรรู้ไหม ที่เราไม่เห็นเพราะปัญญากับเราเป็นอันเดียวกันไง เวลาเราคิด เรากับความคิดมันเป็นอันเดียวกัน มันหมุนไปหมดเลย แต่ถ้ามันจะเห็นนะ เพราะความคิดไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่เรา เห็นไหม เราเห็นความคิดเรา เพราะความคิดกับเรามันคนละเรื่องกัน

ถ้าเราอยู่กับตัวเรา มันมีความคิด เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต ความคิดไม่ใช่เรา พอมันหมุนไป เรารักษามันได้ ธรรมจักรมันหมุน หมุนไปทำไม หมุนเข้ามาทำลายตัวใจไง หมุนเข้ามาทำลายกิเลสตัณหาในหัวใจนี่ไง มันหมุนเข้ามาทำลาย มันทำลายบ่อยครั้งเข้า มันสะอาดบ่อยครั้งเข้า มันมีการกระทำ มันไม่มาลอยๆ หรอก

สิ่งที่บอกว่า เห็นไหม ที่พูดน่ะ มันลอยๆ ตั้งแต่ต้นนะ จิตหนัก จิตหน่วง จิตกด จิตอะไรก็ว่าไป ถ้าพูดอย่างนี้ มันก็เหมือนประสาเรา เราไปหาหมอนวด กดเส้น กดเส้นให้สบายไง เวลาเราเส้นพลิกใช่ไหม ไปหาหมอนวด หมอนวดกดเส้น ให้คลายไง ให้คลายตึงเครียด ให้คลาย ให้หย่อน เห็นไหม กดเส้น

จิตก็เหมือนกัน ปล่อยว่างๆ ว่างๆ มันไม่ใช่ เพราะมันไม่ใช่กดเส้น ไม่ใช่คลายเส้น คลายเส้นมันสบายใช่ไหม แต่จิตนี่มันเหมือนกับปุถุชน มันหยาบ ถ้ามันละเอียดเข้าไป จิตที่มันละเอียดเข้าไป มันคนละวุฒิภาวะ ถ้าไม่ใช่คนละวุฒิภาวะ ทำไมมีโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตตมรรค

มรรค ๔ มันต่างกันอย่างไร? มันละเอียดและหยาบต่างกันอย่างไร?

มรรคน่ะ ความคิดที่มัน.. ดูความคิดเราสิ ความคิดที่ ทุกคนจะมาหา เวลามีความคิด โอ๊ย ความคิดนี่ละเอียดมากๆ แล้วเวลามันละเอียดเข้าไป ทำไมมันเป็นปัญญา มหาปัญญา เป็นสติ มหาสติ มันจะละเอียดมากกว่านี้อีก

แต่มันจะละเอียดมากกว่านี้ต่อเมื่อจิตเรามันพัฒนาไปแล้ว พอจิตเรามันพัฒนาไปถึงระดับนั้น มันไม่ละเอียดไปกว่าสติปัญญาของเราหรอก สติปัญญาของเรา รับรู้ได้ด้วยความละเอียดอย่างนั้น แต่ขณะที่จิตเราหยาบ จิตเราเป็นปกติ เราจะรับรู้ความรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้

ในเมื่อเรารับรู้ความรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ แต่ธรรมะเวลาพูดถึงสติ ปัญญา มหาสติ มหาปัญญา ก็พูดถึงปัญญาเหมือนกัน เราก็ไปตีความกันว่าเหมือนกัน พวกเราถึงคิดว่า ปัญญาคือความคิดพวกเรานี่ไง โดยสามัญสำนึกทุกคนว่า ปัญญาก็คือความคิดเรานี่ไง

แต่ด้วยผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่! ไม่ใช่! ใครมาหาเรา เราจะบอกไม่ใช่ ไม่ใช่ ทั้งนั้นเลย มันไม่ใช่เพราะอะไร เพราะมันเป็นโลกียปัญญา ปัญญามันหยาบเพราะอะไร อย่างเช่นเราทำงานอะไรกันนี่ เรากลัวผิดหมดเลย ปัญญามันเกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ เกิดจากเรา

ทุกคนเวลามีปัญญาเกิดขึ้นมา กลัวจะลืม รีบจดเลย กลัวลืมมาก กลัวจะคิดไม่ได้ เพราะอะไร เรายึดมันไง มันเป็นเราไง เพราะเราไปยึดความหยาบไว้ เราไปยึดความคิดของเราไว้ เรากลัวว่าเราจะคิดไม่ได้อย่างนี้ มันเลยไม่ละเอียดเข้าไป

แต่พอเราคิด คือว่าความหยาบ เหมือนกับที่เขาร่อนทราย เวลาเขาร่อนทราย ทรายหยาบยังอยู่บนตะแกรง ทรายละเอียดมันจะหลุดจากตะแกรงนั้นไป ความคิดที่เราคิดอยู่นี่ ปัญญาอบรมสมาธิมันร่อน สิ่งที่ตกค้างไว้บนตะแกรงคือความคิดหยาบๆ คือความโลภ ความโกรธความหลง แต่สิ่งที่มันละเอียดลงไปมันเป็นตัวจิต ตัวความรู้อะไรต่างๆ มันละเอียดลงไป

พอละเอียดลงไป พอละเอียดลงไปปั๊บ มันเป็นจิตใช่ไหม จิตนี้มันมีพลังงานใช่ไหม ตัวจิตมันก็มีความคิดตลอดเวลา “สันตติ” มันคิดตลอดเวลา สิ่งที่หยาบๆ เราโดนร่อนไป โดนร่อนไปด้วยสติ ด้วยปัญญาของเรา พอมันละเอียดเข้าไป ความคิดมันก็ละเอียดไปอยู่อีกระดับหนึ่ง มรรคก็ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ เห็นไหม ตะแกรงที่ร่อนมันจะถี่เข้าไปเรื่อยๆ ความสิ่งที่หลุดไป มันจะละเอียดไปเรื่อยๆ ปัญญามันมีขั้นตอนอย่างนี้

ฉะนั้น เวลาเราคิดอะไรแล้ว เราใช้ปัญญาแล้ว อย่าไปวิตกกังวล ทิฐิมานะไง กอดไว้ กอดไว้เลย กลัวจะไม่รู้ กลัวจะลืม มันไม่ลืม แต่มันจะมีปัญญาที่ละเอียดกว่านี้ แต่ถ้ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คนที่ปิดความคิดของตัวเอง กลัวตัวเองศึกษาแล้วจะไม่รู้ กลัวตัวเองใช้ปัญญาแล้วไม่เป็น พยายามกอดไว้ เกิดทิฐิมานะอยู่ตรงนี้ ไม่พัฒนา

“ความคิดที่เกิดขึ้น คิดแล้วทิ้งให้หมด”

แล้วพอปัญญามันละเอียดเข้าไป มันจะมีความคิดที่ละเอียดกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ๆๆ แล้วจะบอกว่า โอ้โฮ ทุกคนมาบอก

“หลวงพ่อ โอ้โฮ ความคิดละเอียดมาก ละเอียดมาก”

“เออ เดี๋ยวมึงจะรู้”

เพราะมันจะละเอียดกว่านี้ มันละเอียดกว่านี้จริงๆ เวลาเราเปรียบเทียบนะ “ขันธ์กับจิต” ตัวขันธ์คือความคิดกับจิต มันเหมือนฟุตบอล โทษจังหวะสอง มันตั้งกำแพงได้ มันตั้งกำแพงมันป้องกันตัวเองได้ นี่เห็นไหม โทษจังหวะสอง เพราะความคิดกับจิต มันฝ่าความคิด

จิต พลังงาน กว่าจะมาถึงความคิด มันมีช่องว่างให้เรารู้ตัวได้ทัน แต่พอมันละเอียดเข้าไป เห็นไหม มันสั้นเข้ามา เห็นไหม มันเหมือนลูกโทษจังหวะเดียว ลูกโทษจังหวะเดียว ไม่มีกำแพงกั้นแล้ว ระหว่างผู้เตะกับประตู ต้องเผชิญหน้ากัน เวลาจิตละเอียดเข้าไปนะ ระหว่างขันธ์กับจิตข้างใน มันจะละเอียดยิ่งกว่านั้นอีก มันเป็นชั้นๆๆ เข้าไป

ถ้าไม่เป็นชั้นๆ เข้าไป ทำไมมีโสดาบัน มีสกิทา มีอนาคา พระอนาคามันใช้ต่อสู้กันอย่างไร มันถึงเข้าไปถึงตัวจิตนั้นได้ มันละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป “ฉะนั้นเวลาคิดแล้ว ทิ้งไปเลย เดี๋ยวความคิดใหม่มันจะไหลมาเอง”

ไม่ต้องไปห่วงว่าเรามีความคิด เรามีความเห็นอย่างนี้แล้ว เรายึดตรงนี้ไว้แล้ว มันจะเป็นธรรมอะไรขึ้นมา ทิ้งมันไป

ทำนาปีนี้ เก็บเกี่ยวปีนี้ได้ ใช้สอยปีนี้ ปีหน้าทำนาใหม่ ปีหน้าเพราะข้าวใช้ปีนี้ ปีหน้ามันเน่ามันเสีย ปีหน้าก็ใช้ข้าวใหม่ ปีต่อไปก็ใช้ข้าวใหม่ ต้องทำปัจจุบันตลอดไป ความคิดนี้อย่าไปคิด อดีต อนาคต เห็นไหม อดีตเป็นสัญญา สิ่งที่คิดมาแล้วเป็นสัญญาทั้งหมด

ถ้าพูดถึงนะ เราไปคิดถึงแต่อดีต เราจะมาอย่างนี้ไม่ได้ ดูอย่างองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ เป็นพระเวสสันดร แล้วมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ระหว่างเจ้าชายสิทธัตถะกับพระพุทธเจ้า ต่างกันอย่างไร?

พระพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ การเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดจากเจ้าชายสิทธัตถะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า การเกิดจากเจ้าชายสิทธัตถะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า การทำลายกิเลส ทำลายอวิชชาจากใจออกไป ไข่ฟองแรกๆ ถ้าเป็นห่วงสมบัติการเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ จะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้

พอเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าต่างกับเจ้าชายสิทธัตถะตรงไหน พอเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะกลับมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอีกไม่ได้แล้ว เพราะพระพุทธเจ้าสิ้นกิเลส เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เจ้าชายสิทธัตถะเป็นกษัตริย์ แล้วเปลี่ยนจากเจ้าชายสิทธัตถะไปเป็นพระพุทธเจ้าตรงไหน แล้วปัญญามันเกิด มันต้องเปลี่ยนแปลงไปสิ อย่าไปยึดมัน

ถ้าเราไปยึดมัน มันจะเปลี่ยนแปลงจากเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ นี่เหมือนกัน เราภาวนากันอยู่ เราไปภาวนา เราอยากเป็นพระโสดาบันไหม ถ้าอยากเป็น ยังมายึดความเห็นของตัวอยู่นี่ ไม่ได้เป็นหรอก

ความเห็นที่ทุกข์ ที่ความเห็นงงๆ อยู่นี่ ความเห็นที่งง เวลาปัญญามันเกิด มันงงๆ อยู่นี่ ใช้สติแล้วกลั่นกรองมัน กลั่นกรองความเห็นอย่างนี้ แล้วพอความเห็นอย่างนี้ การทิ้งคือการปล่อย การปล่อยนี่ไม่ขาดนะ แต่ถ้าสมุจเฉทปหาน มันขาด มันตัดขาด สังโยชน์มันจะขาด ถ้าสังโยชน์ขาด พระโสดาบัน แต่การปล่อย เขาเรียกตทังคปหาน

โดยธรรมชาติ ลมพัด ลมเกิดขึ้น ลมมันต้องหยุดเป็นธรรมดา ลมนี่จะไม่อยู่ตลอดไปหรอก แต่ลมมันเกิดบ่อยๆ มันก็เลยมีลมตลอดเวลา นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันปล่อยๆ มันปล่อย มันปล่อยแบบลมไง ลมนี่มันเกิดขึ้น แล้วมันก็พัดมา มันเป็นเรื่องธรรมดา

การปล่อยนี่นะ มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นความจริงของมนุษย์ มนุษย์นี่มีความคิดตลอดเวลา แล้วความคิดนี้มันก็หายเป็นธรรมดา ถ้ามนุษย์เรานี่คิดแล้วไม่เคยปล่อย มนุษย์นี่ทุกข์ตายเลย มนุษย์อยู่อย่างนี้ไม่ได้ มนุษย์นี่คิดบ่อยมาก ทุกข์บ่อยมากแล้วก็ปล่อยโดยธรรมชาติ แต่ไม่รู้ว่าปล่อย

แต่พอเรามาภาวนาขึ้นมา เราใช้ปัญญาของเรา เรารู้ว่าคิด เรารู้ว่าปล่อย พอรู้ว่าปล่อยก็ไปยึดอีก ยึดว่าปล่อยแล้ว นี่เขาเรียกว่าปล่อย การปล่อยก็ต้องขยันทำบ่อยครั้งเข้า ลมน่ะ เห็นไหม พิสูจน์กันได้ เดี๋ยวนี้พิสูจน์ได้เลย เพราะอากาศมันร้อนใช่ไหม อากาศมันยกขึ้นใช่ไหม ความเย็นมันก็ไหลมา มันก็เรื่องธรรมดา พอวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ เราก็เข้าใจได้

ธรรมะ พอเราก็เห็นตามสัจจะความจริง มันเข้าใจได้ มันปล่อยได้ มันปล่อยๆ มันปล่อยนี่มันเรื่องธรรมดา เพราะลมนี่ไม่มีที่สิ้นสุด

การลมพัดฤดูกาลมีที่สิ้นสุดไหม ฤดูกาล ตั้งแต่อดีตมา ปัจจุบัน อนาคตจะเป็นอย่างนี้ ธาตุมันจะหมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ธรรมะเป็นธรรมชาติ เราบอกไม่ใช่ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ ธรรมะเป็นธรรมชาติคือการเคลื่อนไหวไป แต่ธรรมะเหนือธรรมชาติสิ เพราะจิตที่มันรู้จริงแล้ว มันเป็นอกุปธรรม มันเหนือธรรมชาติ มันทิ้งหมดเลย สมุจเฉทปหาน มันขาด

ทีนี้คำว่าขาด จะขาดได้ต่อเมื่อเราใช้ปัญญาเราบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า แล้วมันปล่อย มันปล่อยบ่อยครั้งๆ ต้องขยันหมั่นเพียร เรารู้จักลม เราเข้าใจเรื่องลม แต่เราไม่สามารถรู้ด้วยความเป็นจริง จริงมันปล่อยไม่ได้ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของลมอยู่นี่

แต่ถ้าเรารู้จริงนะ ลมเป็นลม เราเป็นเรา ขาดกันเลย ถ้าจิตมันรู้ถึงความคิด มันพิจารณาได้จริงนะ มันจะขาด คำว่าจะขาดต้องทวนกระแสเข้าไป คือจิตสงบ ที่มันว่ามันเป็นอวิชชาไหม เป็นอะไรไหม เป็นทั้งนั้น แล้วปล่อย พอปล่อยแล้วตั้งสติให้เป็นปัจจุบัน เกิดขึ้นมา จับอีก พิจารณาอีก แล้วก็ปล่อย แล้วไม่ต้องพิสูจน์ เพราะเราเข้าใจ เห็นไหม

อยากรู้ อยากพิสูจน์ พิสูจน์ว่าเราจะเป็นอย่างนั้นอีกไหม เห็นไหม เราไปทดสอบ เราไปทดสอบ เราไปตั้งอาการ เราเจอบ่อยนะ นักปฏิบัติ เขามาบอกเรา เชื่อไหมว่าเขาไม่โกรธแล้ว ไม่เชื่อหลวงพ่อลองยั่วผมสิ เขาไม่โกรธหรอก เราก็รู้มึงก็ไม่โกรธอยู่แล้ว เพราะตั้งใจมาจะไม่โกรธใช่ไหม (หัวเราะ)

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังไปหาอยู่ ไม่เจอหรอก มีเยอะ มาหาเรานี่ ละกิเลสได้แล้ว ไม่เชื่อหลวงพ่อทดสอบผมสิ โอ้โฮ มันก็ทนได้ เราเอาไฟจี้ มันยังไม่เจ็บเลย ไม่เจ็บหรอก เพราะอะไร มันกลัว กลัวว่าจะไม่ได้มีคุณธรรมไง

เราจะบอกว่าการทดสอบแบบนี้ การทดสอบแบบโลก การทดสอบแบบภายนอก มันไม่ได้ทดสอบแบบจิตหรอก การทดสอบของธรรมนี่นะ เรารู้ของเราเอง การทดสอบ ถ้ากิเลสมันมีอยู่ มันมีอยู่ เราเป็นเชื้อ เราเป็นไข้อยู่ ไข้ต้องแสดงตัวแน่นอน

“ถ้าจิตเรามีกิเลสอยู่ มันต้องแสดงออกมา”

หลวงตาท่านพิจารณาของท่านนะ ท่านพิจารณาอสุภะ จนมันปล่อย ปล่อยมากเลย แล้วมันหายไปเฉยๆ นี่ไง มันปล่อยเฉยๆ

ท่านเป็นมหานะ ท่านบอก “ปล่อยอย่างนี้ไม่เอาๆ” ท่านก็เลยเอาสุภะ คือเอาสวย เอางาม เอาสิ่งที่กิเลสมันชอบมากเลยมาแนบไว้กับจิต แนบไว้เลย สมมุติเรามีความคิดใช่ไหม เราชอบคิดเรื่องดีๆ เรื่องสวยงาม มาอยู่กับความคิดเรา แนบไว้อย่างนี้ แล้วเดินจงกรมอยู่อย่างนี้ ๓ วัน

ทีแรกมันก็ขยับตัวเฉยๆ ขยับตัวมีความรู้สึกไง สมมุติเราปล่อยแล้ว เราก็ปฏิเสธ ไม่เอาอะไรเลย ว่าง ไม่รับรู้ แต่พอมันขยับ ขยับหมายถึงว่ามันรับรู้ มันตอบสนอง พอมันตอบสนอง นั่นแน่ นี่ไง ไหนว่าไม่มี พอไม่มีปั๊บ ท่านก็เอาความชอบใจมัดเข้าไปอีก มัดเข้าไปอีกๆ มันแสดงตัวออกมาเต็มที่เลย ไหนว่าไม่มีไง ไหนว่าปล่อยไง พอปล่อยปั๊บนะ ท่านก็เริ่มวิปัสสนา

ทั้งอสุภะ ทั้งสุภะ ทีแรกอสุภะเข้ามาก่อน เอาความไม่สวยไม่งามเข้ามา จนมันเบื่อหน่าย พอมันเบื่อหน่าย มันแอนตี้ มันไม่เอา ถ้าไม่เอา โดยทั่วไปเขาว่า พระอนาคา ท่านบอกรับไม่ได้ มันไม่มีขณะ มันไม่มีเหตุผล ท่านเลยเอาสุภะมาแนบไว้ พอแนบไว้มันแสดงตัว มันตอบสนอง

พอตอบสนอง ตอนนี้ภาวนาต่อไปก็เลยพิจารณาสุภะบ้าง อสุภะบ้าง ภาวนาแบบว่าอสุภะ คือว่าจิตมันเป็นอสุภะได้เพราะจิตมันสงบ พอจิตสงบมันมีกำลัง มีกำลัง พอพิจารณาให้จับภาพ จับพวกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้มันแปรเป็นอสุภะ คือให้มันแปรสภาพ ให้มันเป็นสิ่งที่ทำลายตัวมันเอง นี่เป็นอสุภะ แล้วพอมันปล่อยอย่างนี้

มันปล่อย หมายถึงว่ามันปล่อย จิตมันก็ว่างหมด แล้วก็เอาสุภะบ้าง คือเอาความสวยเอาความงาม เอาสุภะ คือว่าไม่ให้มันทำลายไง อย่างเช่น เห็นไหม รูปที่สวยงาม ให้คงที่ไว้ แล้วก็ให้มันเป็นความรู้สึกไว้ คนที่ภาวนามา เวลามันต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันมีชั้นเชิงของมัน

การภาวนาของเราต้องมีอุบาย การทดสอบใจมันทดสอบอย่างนี้ ทดสอบกับสิ่งที่จิตใต้สำนึกมันชอบมันพอใจ เอาไปแหย่มัน เอาไปผูกมัดไว้กับอารมณ์ความรู้สึกของเรา ให้มันแสดงตัวออกมา นี่ไง การภาวนาขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเราภาวนาไปอย่างเดียว การภาวนามันเหมือนกับเด็กเลย เด็กทำความดีกับพ่อแม่ จะเอาคะแนนตลอดเวลา ดีหมด พ่อแม่ต้องให้อย่างเดียว แหม เก่ง เก่ง

เราภาวนา เราคิดว่าเราจะได้เก่ง เก่ง คือว่ากิเลสมันจะไม่สู้เรา เป็นไปไม่ได้หรอก ลูกเรากับพ่อแม่ เป็นสายบุญสายกรรม พ่อแม่ไม่รักลูกไม่มีหรอก ก็ต้องรักลูกเป็นธรรมดา ก็ต้องโอ๋ลูกเป็นธรรมดา แต่กิเลสนี่นะ มันเป็นเจ้ากรรมนายเวร มันไม่ใช่พ่อแม่ มันจะหลอกลวงเรา มันจะทำลายเรา พ่อแม่คนไหนก็แล้วแต่ ไม่ทำลายลูกหรอก พ่อแม่นี่รักลูกมาก รักของพ่อแม่ไม่มีโทษไม่มีภัย

แต่กิเลสมันไม่ใช่รัก มันต้องการไว้เป็นฐานที่อยู่ของมัน มันต้องการไว้เป็นที่อยู่อาศัยของมัน มันถึงได้หลอกลวงเรา หลอกลวงเราด้วยความรักไง รักเอ็งนะ ชอบเอ็งนะ เอ็งเป็นคนดีนะ หลอกเอ็งไว้เป็นขี้ข้ากูไง กิเลสมันหลอก เมตตานะ สงสารนะ สงสารแล้วกอดคอกันร้องไห้อยู่นี่ ไม่ต้องไปเกิดที่ไหน อยู่กับเรานี่แหละ ตายกันอยู่ที่นี่แหละ

นี่ไง ความรักของกิเลสไง เราถึงจะต้อง ทั้งสุภะ ทั้งอสุภะ ต้องตรวจสอบทดสอบนะ แล้วกิเลสนะ ไม่ใช่ใครหรอก คือทิฐิของเราเอง ไม่ต้องไปดูใคร ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านผ่านวิกฤติของท่านมา ท่านผ่านความเห็นจากภายในท่านมา ท่านต่อสู้กับตัวเองมา ท่านต่อสู้มา ท่านถึงได้ผ่านอย่างนี้มา

แต่เรา เราปฏิบัติแบบความเห็นของโลกไง ธรรมหน้าเดียว ไม่ทดสอบ หรือทดสอบก็ทดสอบแบบเรา ทดสอบแบบปัญญาของเรา ทดสอบแบบปัญญาของเรา เราเอาความรู้สึกเลย แนบไว้ที่ใจ แล้วถ้ามันแสดงตัวออกมา ถ้าไม่แสดงตัวออกมานะ มันก็เป็นวาสนาของคนนะ

ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติง่ายแต่รู้ยาก ปฏิบัติง่ายๆ แต่ใช้เวลานาน ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยากด้วย ใช้เวลานานด้วย ปฏิบัติยากรู้ง่าย ปฏิบัติด้วยความยาก แต่มันรู้ได้เร็ว รู้ได้ง่าย อย่างนี้มันเกิดจากอำนาจวาสนา มันเกิดจากประวัติศาสตร์ของเรา มันเกิดจากจิตที่เราเกิดเคยตายมาแต่อดีตชาติ

ดูสิ อดีตชาติ เห็นไหม บางคน ดูสิ หลวงปู่สิมท่านพูดไว้ ว่าท่านเคยเกิดในสมัยพระพุทธเจ้า ตอนที่พระพุทธเจ้าลงมาจากดาวดึงส์ หลวงปู่มั่น นี่หลวงปู่สิมพูดในประวัติหลวงปู่สิม ว่าหลวงปู่มั่นก็เป็นชนชั้นกลางในสมัยนั้นด้วย แล้วอย่างเช่นหลวงตา ที่แม่ชีแก้วบอกว่าเป็นพันธุละ ก็เป็นสมัยพระพุทธเจ้า

สิ่งที่ครูบาอาจารย์มาเกิด ท่านเคยเกิดมามหาศาล แล้วสมัยพระพุทธเจ้าท่านก็เกิดเป็นฆราวาสอยู่ในสมัยนั้น นี่หลวงปู่สิมพูด ในประวัติหลวงปู่สิมนะ ไปเปิดในหนังสือประวัติหลวงปู่สิมดูสิ นี่ที่ว่า สร้างบุญและวาสนามา การเกิดการตายอย่างนั้นมา มันถึงว่า ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก มันมาจากตรงนั้น มันมาจากการสร้างประวัติศาสตร์ การเกิดและการตาย

แต่เราบอกว่า ชาตินี้ชาติเดียว ไม่มี อดีตชาติไม่มี ชาติต่อไปก็ไม่มี เราก็พูดภาษาเราไป แต่ดูเราสิ ตั้งแต่เกิดมาจนป่านนี้ อายุเราเท่าไรแล้ว ดูพระบวชมา อายุพรรษาเพิ่มมากขึ้นแล้ว อายุขัยมากขึ้นมา ก็ธรรมชาติ คนอายุมาก ๑๐๐ ปี ร้อยกว่าปี ก็ต้องตายไป

แล้วนี่อายุเราขึ้นมานี่เราจะตายไหม แล้วตายแล้วไปไหน แล้วมานี่มาอย่างไร อันนี้มันเรื่องของวิทยาศาสตร์ เรื่องของวัฏฏะ เรื่องของโลกมนุษย์ เรื่องของโลกวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์กันด้วยวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่เราวิทยาศาสตร์ ด้วยจิตของเรา “วิทยาศาสตร์ทางจิต” วิทยาศาสตร์ทางจิตมันลบล้างข้อมูลในหัวใจ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ลบล้างข้อมูลอันนี้ ข้อมูลใจใจ สิ่งที่ความเป็นไปในใจ

กิเลสตัณหาทะยานอยากในหัวใจ แก้ไขกันที่นี่ ทำลายกันที่นี่ ศาสนามันลึกซึ้งอย่างนี้ แล้วเวลาไปสอนกันง่ายๆ ง่ายๆ ธรรมะเป็นธรรมดา ธรรมดาเป็นธรรมะ อ้าว กูเกิดมาก็เป็นธรรมดาอยู่แล้ว นั่งอยู่นี่ก็เป็นธรรมดา มันไม่มีหรอก มึงไม่มี เขาก็สรรมาพูดเนอะ

เรายังบอกว่า เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ธรรมดาวิมุตติไม่มี ธรรมดาวิมุตติไม่มี นั่งอยู่เฉยๆ แล้ววิมุตติ กูไม่เชื่อ ธรรมดาวิมุตติไม่มี แต่พูดกัน มันไปอิงธรรมะเฉยๆ พูดกันเป็นความเข้าใจ แต่ไปอิงกับธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วเราก็เชื่อกัน

แต่ต่อไปอย่างที่เราว่า ฆาตกรรม การทำฆาตกรรมสิ่งใดไว้ มันต้องทิ้งหลักฐานไว้ คนพูดสิ่งใดไว้ ทุกคนรู้หมด ใครทำสิ่งใดไว้ เวรกรรมทุกคนมีหมด ถึงเวลากรรมมันให้ผล ถึงปัจจุบันนี้ก็ให้ผลแล้ว ให้ผลตรงไหน ให้ผลตรงที่พูดไว้ ตัวเองก็รู้อยู่ว่าผิด แล้วพูดออกไป มันเผาลนใจ ถึงเวลาแล้วมันจะรู้ตัว ต้องรู้ตัว

อ้าว อย่างเราพูด เราพูดด้วยความที่เราไม่รู้ แล้วพอจิตใจ หรือว่าปัญญาของเรา มันรู้สิ่งที่ว่าเราพูดถูกหรือผิด คือเรายังจับโกหกเราได้เลยแล้วคนอื่นจะจับได้ไหม คนพูดนี่รู้ คนพูดนี่ พูดถูกพูดผิด คนพูดนี่รู้ แล้วเวลาพูดๆ ไป จะปีสองปีขึ้นไป เราพูดกันไป

ดูสิ ....มันเขียนนวนิยาย พอเขียนลึกๆ เข้าไป พอมันอ่านที่มันเริ่มหัดเขียน มันยังบอก โอ้โฮ ทำไมเขียนได้เลวขนาดนั้น เพราะหัดเขียนตั้งแต่ทีแรก พอมันหัดเขียนลึกๆ เข้าไป เห็นไหม ทำไมเขียนได้เลวขนาดนั้น นี่ก็เหมือนกัน สิ่งนั้นต้องรู้

ธรรมะไม่เป็นอย่างนั้น แต่ธรรมะมีประโยชน์มาก มีประโยชน์มันแก้ไขได้เลยล่ะ ไม่อย่างนั้นพวกเราจะอก เขาเรียกอะไรนะ อกช้ำตรมอยู่อย่างนี้ เห็นหน้าระรื่นอย่างนี้แหละ แต่อกช้ำตรม กลัดหนองอยู่นี่ ชีวิตเป็นอะไร ไม่รู้จะไปไหนกัน ในหัวใจกลัดหนองทั้งนั้น

แล้วหัวใจคิดดู ในใจคิดอะไรกันอยู่ ในใจมันจะไปไหนกันอยู่ แล้วธรรมะไปแก้ตรงนั้นได้ ธรรมะทำให้ตรงนั้นสะอาดบริสุทธิ์ได้ ทีนี้พอสะอาดบริสุทธิ์ แลกด้วยอะไร แลกด้วยเหงื่อไคลไง แลกด้วยตากแดดตากฝน แลกด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา

ถ้าไม่มีตบะธรรม ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีตบะธรรมไปแผดเผากิเลส จะเอาอะไรไปแผดเผามัน สิ่งที่ทำดีคือตบะธรรมนะ ไปแผดเผามัน ไปทำลายมัน ไปทำลายไอ้ความฟกช้ำดำเขียวในหัวใจ ไอ้ช้ำหนองอยู่นั่นน่ะ ตบะธรรมเข้าไปแผดเผามัน ให้มันหายจากฟกช้ำดำเขียว ให้มันเป็นปกติมา แล้วให้มันเข้มแข็งมา ให้มันต่อสู้กับกิเลสไป พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้

แต่พอสอนอย่างนี้ปั๊บ คนก็จะไม่กล้าทำไง ก็ต้องบอกทานก่อน ศีลก่อน

“ทาน ศีล เนกขัมมะ”

เพื่อให้ทุกคนเข้มแข็งก่อน เหมือนกับนักกีฬา ฝึกฝนให้ร่างกายเข้มแข็งก่อน พอร่างกายเข้มแข็งแล้วมาฝึกกีฬากัน เพื่อให้ความเข้มแข็ง เพื่อให้มีทักษะขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ให้ทานก่อน ถือศีลก่อน เพื่อให้มีตบะธรรม เรามาฝึกฝนขึ้นมาเพื่อให้เกิดทักษะขึ้นมา เพื่อให้พัฒนาใจขึ้นมา เพื่อไปแก้กิเลสขึ้นมา นี่พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้

ทีนี้พอพระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นปั๊บเราก็มาเลย ง่ายๆ ว่ากันง่ายๆ ง่ายๆ เราไม่ฝึกฝนร่างกายเราให้เข้มแข็งก่อนนะ ไปทำอะไรเราก็สู้ไม่ไหวหรอก

ดูสิ จิตใจเข้มแข็ง จิตใจเข้มแข็ง ที่ไหนก็ไปได้ ที่ไหนก็สู้ได้ ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งนะ อำนวยความสะดวกขนาดไหนมันก็ไม่สู้ แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ที่ไหนมันก็สู้ แล้วมันสู้ได้ แล้วมันทำได้

รำคาญไหม มีอะไรว่ามา เราพูดคนเดียวไง ว่ามา ไม่มีอะไร เอวังเนาะ