เพราะไม่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
การฟังธรรมมีโอกาสน้อย เพราะชีวิตเรามันสั้นนัก เกิดมา ๘๐ ปีก็ตายไป ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๕๔๓ ปีแล้ว อายุขัยเราแค่ ๑๐๐ ปี เราต้องดับไปตามอายุขัยของเรา ฉะนั้น โอกาสของเรา ธรรมะนี้ ๕,๐๐๐ ปี โอกาสของธรรมนี้ ๕,๐๐๐ ปี โอกาสของเรา ๑๐๐ ปีเท่านั้นเอง ตั้งใจฟังธรรมนะ ตั้งใจฟังธรรม ธรรมคือสัจจะความจริง ได้มาด้วยความแสนยากโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์จะมาเป็นพระพุทธเจ้า ยังออกปฏิบัติธรรมค้นหาอยู่อีก ๖ ปีนะ ค้นหาแบบอุกฤษฏ์เต็มที่เลย กว่าจะได้ธรรมมา ถึงว่าธรรมนี้ประเสริฐมาก
เป็นเพราะเราไม่รู้กัน เพราะไม่รู้ นี่เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความไม่รู้ เห็นไหม ไม่รู้คืออวิชชา ความไม่รู้นี้ทำให้เกิดตายๆ มาตลอด เพราะความไม่รู้เป็นตัวสำคัญที่สุดที่พาให้เกิดตายๆ มา การเกิด เห็นไหม เพราะมันไม่รู้มันถึงไปเกิด จิตปฏิสนธิวิญญาณนั้นไม่รู้เรื่องเลย รู้เฉยๆ รู้แต่ว่าไปเกิด ไปเกิดในที่ต่างๆ กัน สูงๆ ต่ำๆ เห็นไหม
คนเราเกิดมาเป็นคนเพราะว่าสร้างบุญกุศลมา สร้างกรรมดีมา กรรมนี้พาเกิด กรรมพาเกิดต่างหาก เห็นไหม ผู้ไม่รู้นั้นไปเกิดโดยกรรมนั้นเป็นผู้ที่พาไป นี่มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมเท่านั้นพาให้เราไปเกิด แดนเกิดของเราเป็นแดนเกิดมนุษย์ แดนเกิดในเทวดา แดนเกิดในพรหม แดนเกิดในเปรตอสุรกาย นั่นน่ะ เพราะความไม่รู้พาไป มันสักแต่รู้เฉยๆ แล้วก็อาศัยบารมี กรรมนั้นพาไป
บุญกุศลพามานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบารมีมา ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นไหม นั่นก็ผู้ไม่รู้ยังพาเกิดอยู่ พาเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ยังหลงใหลอยู่ในกามคุณ ๕ ทั้งหมด พระเจ้าสุทโธทนะพยายามจะเอาไว้ให้เป็นจักรพรรดิ ปรนเปรอด้วยกามคุณ ๕ เพื่อจะให้เพลิดเพลินไป เห็นไหม แต่ก็ยังมีอำนาจวาสนาบารมีสั่งสมมา ยังได้ออกบวชมาแสวงหาความหลุดพ้นออกไป นั่นน่ะ ยังเป็นผู้ที่เพราะไม่รู้พาเกิดอยู่ เพราะไม่รู้พาเกิด เพราะไม่รู้พาไป
เราเกิดมาเราก็ไม่รู้ ปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติธรรมแบบไม่รู้ ฟังมาไง ฟังมา ตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาธรรม ศึกษามา เพราะสิ่งที่ไม่รู้มันเป็นเราอยู่โดยธรรมชาติของมัน ในใจนี้เป็นผู้ที่ไม่รู้ นี่มันไม่รู้ ความไม่รู้ อะไรเข้ามาก็ต้องปฏิเสธไปก่อน เหมือนตาบอดตาใส มองไปก็เห็นสักแต่ว่าเห็น เห็นไปด้วยอำนาจของสิ่งที่เห็นในปัจจุบันนั้นครอบคลุมอยู่
อำนาจของมนุษย์ เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไง เกิดเป็นมนุษย์นี้ได้ขันธ์ ๕ มา ขันธ์ ๕ นั้นเป็นผู้ที่ทำให้รู้ขอบเขตของขันธ์ ๕ ในสังขาร ในการปรุงการแต่งที่เราปรุงแต่งได้ขนาดไหน ในสัญญา ในวิญญาณรับรู้อารมณ์ อารมณ์ของขันธ์ ๕ รับรู้ขนาดนั้น แต่ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สะสมบุญญาธิการมาขนาดไหน นั่นน่ะ อยู่ในเนื้อในของจิตนั้น อยู่ที่ในสิ่งที่ว่าไม่รู้ปกปิดอยู่
แต่ถ้าผู้ไม่รู้เปิดออกกลายเป็นผู้รู้ขึ้นมา เห็นไหม จาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นปัจจยาการออกมา เป็นสิ่งที่ผิดทั้งหมดเลย แล้วพอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดออก เปิดเป็นผู้รู้ขึ้นมา นี่วิชชา าณํ อุทปาทิ ปญฺา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ มันสว่างกระจ่างแจ้ง ความสว่างกระจ่างแจ้งของสิ่งที่ว่าปกปิดอยู่ นั่นถึงเป็นผู้รู้จริง รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราศึกษาด้วยความไม่รู้มันก็มืด คลำไปไง ล้มลุกคลุกคลานในการประพฤติปฏิบัตินะ ล้มลุกคลุกคลานไปก็พยายามฝืนไปๆ อันนั้นยังมีวาสนา
นี่ล้มลุกคลุกคลานไปเพราะความที่มันไม่รู้ คนที่ไม่รู้เหมือนคนตาบอดคลำทางไป มันน่าสมเพชเวทนาขนาดไหน แต่ในสัจจะความจริงนั้นไม่ใช่คนตาบอด เราตาใสๆ เรารู้ เราอวดรู้ เราว่าเรารู้อยู่นะ มนุษย์นี่รู้เห็น เห็นด้วยปัญญา ปัญญานี้รู้มาก มีปัญญาศึกษาเล่าเรียนมาเป็นความรู้ของเรา จินตนาการออกไปขนาดไหนเป็นปัญญา ปัญญานั้นเป็นความรู้ข้างใน เห็นไหม ตาเห็นก็ว่ารู้ หูฟังก็ว่าได้ยิน แต่อันนั้นฟังมา ผู้ที่ไม่รู้อยู่ในหัวใจมันปกปิดไว้ รู้ในขอบเขตแค่นี้เอง เหมือนตาบอดตาใส คนตาบอดเขาตาบอดจริงๆ เขาคลำไปเพราะเขาไม่เห็น แต่ตาบอดตาใสนี่เห็นอยู่ แต่ไม่รู้ไง ผู้ไม่รู้ปกปิดไว้ ผู้ที่ไม่รู้ นี่อวิชชาปกปิดใจของเราไว้ เราก็ศึกษาไปอย่างนั้น ทำไปอย่างนั้น ล้มลุกคลุกคลานไป
แต่ความเชื่อไง เชื่อในปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อในปัญญาที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก้าวเดินตามไป นั้นมีที่พึ่งที่อาศัย ในที่พึ่งที่เกาะเกี่ยวออกไป ในที่พึ่งที่อาศัยเราก้าวเดินไป ถ้าเราไม่เชื่อธรรม ไม่เชื่อศีล ไม่เชื่อสมาธิ ไม่เชื่อว่า ศีล สมาธิ ปัญญา สามารถชำระกิเลสได้ เราจะมีแก่ใจหรือ แก่ใจคือกำลังใจไง ถ้ามีกำลังใจนะ เวลาใครพูดถึงมรรคผลนิพพานว่า มันเป็นของสุดวิสัย มันเหนือโอกาสที่เราจะจับต้องได้ มันสุดวิสัยพวกเราจะทำได้
มันจะสุดวิสัยไปไหน ในเมื่อมีหัวใจ ผู้ที่ไม่รู้มันมืดดำอยู่ในใจก็จริงอยู่ แต่เวลาเรากำหนดพุทโธๆ เข้าไปที่หัวใจ พุทโธมันอยู่ที่ไหน? พุทโธมันอยู่ที่ใจ เห็นไหม กำหนดพุทโธๆ ขึ้นมา เรากำหนดขึ้นมามันก็เป็นพุทโธขึ้นมาที่ใจเรา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มืดบอดคลำไปก่อน เพราะอะไร เพราะมันยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ใจนี้ยังไม่เป็นพุทโธโดยสัจจะความจริง อาศัยว่ากำหนดพุทโธๆ ไปก่อน อาศัยกำหนดไป พุทโธๆ เหมือนไม้เท้าคนตาบอดคลำทางไป พุทโธๆ เหมือนไม้เท้าที่คอยเขี่ยทางว่าไปถูกหรือไปผิด นี่คนตาบอดคลำทางไป แต่มีไม้เท้าคอยชี้ไปข้างหน้าว่าเป็นหลุมเป็นบ่อไหม เป็นที่จะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานไหม นี่เหมือนกัน ถ้าเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีศรัทธาอยู่ เรากำหนดพุทโธๆๆ เหมือนไม้เท้าคลำทางไปๆ ถึงบอกเหมือนคนตาบอดไง
แต่ถ้าพุทโธๆ จนพุทโธกับใจเป็นเนื้อเดียวกัน พุทโธๆ เรากำหนดพุทโธ นี่เราเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหนึ่ง เรายังยึดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธคุณ เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงหนึ่ง เราถึงเชื่อมั่นแล้วเรากำหนดพุทโธ ทำจริงได้จริง กำหนดพุทโธจริงๆ พุทโธๆ จนมันเป็นเนื้อเดียวกันกับใจ จนพุทโธหายไป ใจนี้เป็นพุทโธขึ้นมา สว่างไสวขึ้นมานะ
จากคนที่ล้มลุกคลุกคลาน ผู้ที่ไม่รู้ปกคลุมไว้ มันจะเปิดออกให้เรารู้บ้าง ถ้ารู้เข้าไปๆ นี่วิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า ปฐมยาม เข้าบุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่ไง มันยืนยันกันว่าถ้าผู้ไม่รู้มีอยู่ มันพาเกิดพาตาย ผู้ไม่รู้ไปเกิดเป็นเทวดาก็มีขันธ์ ๔ เทวดาไม่มีร่างกายเหมือนมนุษย์เรา แต่มีกายทิพย์ของเขา นั่นน่ะ เขาก็มีความสุขไปของเขา เห็นไหม ความสุขอันนั้นก็ทำให้เพลิดเพลินไปในความสุขอันนั้น ก็ใช้ชีวิตหมดไปชีวิตหนึ่งด้วยความเพลิดเพลินในภพของเทวดา มีความเพลิดเพลินไปในภพของพรหม เห็นไหม ผู้ที่ไม่รู้พาเกิด แล้วผู้ไม่รู้ยังไปเกิดอยู่ตรงนั้น แล้วก็เพลิดเพลินอยู่ตรงนั้นไป นี่มันมืดบอดขนาดนั้นน่ะ อวิชชามันปิดหัวใจของคน มันปิดมืดบอดขนาดนั้น มันปิดหัวใจของเทวดา ของอินทร์ ของพรหม ของสรรพสัตว์ใน ๓ แดนโลกธาตุนี้ หมุนไปตายเกิดตามแต่วัฏวน ตามกระแสของกรรม
คน สัตว์ สร้างกรรมขึ้นมาเพราะว่ามันพอใจจะสร้างกรรมขึ้นมา เพราะมันแสวงหามาเพื่อมันไง เพื่อเราๆ ความว่าเป็นเพื่อเรามันแสวงหาออกมา แสวงหาถูกหรือแสวงหาผิด อันนั้นสิ่งที่ไม่รู้มันปกปิดไว้ ปกปิดไว้ หมายถึงว่า มันไม่เข้าใจว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป ความอยากได้ อยากตะเกียกตะกายอยากได้มา มันต้องแสวงหามา ถ้าสิ่งที่แสวงหามาด้วยคุณประโยชน์ คือว่าตามสัจจะตามความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงเป็นคุณงามความดี อันนั้นเป็นมรรค ความที่เป็นมรรคอยู่นั้น เพราะคนเรามีบุญกุศลสร้างมา และมีบาปอกุศลติดมาในหัวใจ คนเราถึงเกิดมาลุ่มๆ ดอนๆ ไง มนุษย์เกิดมานี้ลุ่มๆ ดอนๆ ทุกข์ๆ ยากๆ อยู่เหมือนกัน ในเทวดาเขาก็เหมือนกัน ในอินทร์ ในพรหม เหมือนกันหมด เขามีความสุขอยู่ สุขของเขาสุขเพราะเป็นทิพย์สมบัติ แต่ในเมื่อเวลาเขาสิ้นอายุขัยของเขา เขาก็ต้องตายไป
คนเรา การเกิดและการตายนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คนเราเกิดแล้วไม่อยากตาย เห็นไหม ทุกคนเกิดแล้วไม่อยากตาย ยิ่งเกิดดี ยิ่งสถานะสูง ยิ่งอยากจะยึดถือสถานะของตัวให้อยู่ได้นานขึ้นไป เวลาจะดับขันธ์ เวลาจะตายไป ความเศร้าโศกอันนั้นว่าจะไปไหน แล้วเวลามันอยู่ในสถานะที่สูง อยู่ในสถานะที่ว่าเราเป็นคนที่สูงศักดิ์ มันจะลืมเนื้อลืมตัว ความลืมเนื้อลืมตัวจะสร้างอะไรล่ะ? ก็สร้างแต่สิ่งที่เบียดเบียนตนไว้ สร้างแต่บาปอกุศลไป แล้วเกิดขึ้นมาจะเกิดอย่างนั้นไหม เหมือนกับเรายิงปืนขึ้นไป ยิงพลุขึ้นไปบนท้องฟ้า สูงจนสุดท้องฟ้าแล้วถึงตกลงมา ในชีวิตเราก็เหมือนกัน เราใช้คุณงามความดี ใช้บุญกุศลไป หมดจากบุญกุศลแล้วไปไหน
โตเทยยพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล เป็นเศรษฐี เป็นคหบดี มีสมบัติมาก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบิณฑบาตยังไม่ยอม ยังตระหนี่ ยังไม่อยากให้ จนเวลาตายไปแล้ว พระพุทธเจ้าบอกว่า โตเทยยพราหมณ์นี้ไปเกิดเป็นสุนัขมาเฝ้าสมบัติของตัว นั่นน่ะ เพราะมีสมบัติมาก หาสมบัติมาแล้ว ความผูกพันในสมบัตินั้นมันให้โทษในความผูกพันของใจ แต่ในเมื่อเราหาสมบัติมาแล้วเราคิดว่าเป็นสมบัติ เป็นคุณประโยชน์กับเรา แล้วเรารักษาไว้เพื่อเราๆ...เพื่อเรา มันเพื่อร่างกาย เพื่อภพชีวิตของมนุษย์ที่เราเกิดมา ๑๐๐ ปีอย่างมากนี้เท่านั้น สมบัติพัสถานจะมีประโยชน์ตรงนี้ ตรงที่ได้ใช้ได้สอย แล้วตรงที่ได้ใช้แล้วเป็นคุณประโยชน์ ได้จาคะ ได้สละออกไป เพื่อบุญกุศล ออกไป ไปเกิดเป็นเทวดา ไปเกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม
ในการสละทานออกไป มีผู้ให้และผู้รับ หัวใจนั้นเป็นผู้สละออก หัวใจนี่ ผู้ที่ไม่รู้ทำคุณงามความดีก็ได้ ผู้ที่ไม่รู้ทำบาปอกุศลก็ได้ ผู้ที่ไม่รู้เพราะยังไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง ไม่เห็นสัจธรรมตามความเป็นจริง มันเป็นสิ่งที่ว่าอวิชชาปกคลุมอยู่ คือผู้ไม่รู้ทำไป ผู้ไม่รู้ชี้นำเรา เราเดินตามผู้ที่ไม่รู้อยู่ตลอดเวลา เห็นไหม
นั่นน่ะ โตเทยยพราหมณ์ เพราะว่าใจของเขาผูกพัน เขาพอใจสิ่งนั้น เวลาเขาดับขันธ์ เขาอุบัติเดี๋ยวนั้น เกิด เห็นไหม เหมือนกับเราเหมือนกัน มนุษย์เกิดตายๆ ในมนุษย์สมบัตินี้ก็มี มนุษย์ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์เป็นเทวดาก็มี มนุษย์เราเกิดมาตายแล้วไปเกิดในสิ่งที่ต่ำๆ ก็มี นี่มันอยู่ที่จังหวะการเกิด จังหวะที่ว่าเราควรจะทำอะไรให้เป็นเครื่องดำเนินของเราในหัวใจของเรา
เกิดตายๆ การเกิดและการตายนี้ เกิดตายๆ ทุกดวงใจ ทุกๆ ดวงใจเกิดตายเพราะวนเวียนในวัฏวนตลอดไป ไม่มีวันที่สิ้นสุด ในบุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนยันได้ ยืนยันได้เพราะก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นี้ ปฐมยาม กำหนดอานาปานสติเข้าไป จนเข้าไปถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ กำหนดดูย้อนหลังออกไป ชีวิตนี้ยาวไกลนัก เกิดๆ ดับๆ มา มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีต้นไม่มีปลาย นี่การเกิดตายของดวงใจ ดวงใจดวงเดียวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ
อันนี้ก็เหมือนกัน ดวงใจของเราที่เกิดเป็นเรานี้ มันมีการเกิดการตายทุกๆ ดวงใจสะสมมา แล้วก็เกิดมาจนเป็นเราเดี๋ยวนี้ไง นี่ผู้ไม่รู้พาเกิดมาเป็นเราจนเดี๋ยวนี้ แล้วเกิดเป็นเราแล้วเกิดในท่ามกลางพระพุทธศาสนา เห็นไหม ถึงชี้แบ่งว่า วิชชากับอวิชชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไว้แล้ววางไว้เป็นธรรมให้พวกเราก้าวเดินตามไง เราศึกษา เราเชื่อมั่น พอศึกษา สิ่งที่ไม่รู้อยู่นี่มันทำให้เราปฏิบัติไม่ได้ผล สิ่งที่ไม่รู้ไง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ในหัวใจของเรา มันปกปิดใจของเราไว้ ในการประพฤติปฏิบัติ เราศึกษามา สุตมยปัญญา คือตำรา คือองค์ศาสดา ธรรมและวินัย พระไตรปิฎก นี้แทนองค์ศาสดาของเรา เราศึกษาพระไตรปิฎกมาเป็นสุตมยปัญญา เป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง ถูกต้องตามหลักสัจจะความเป็นจริง แต่ผู้ไม่รู้ในหัวใจนี้มันรับรู้โดยความรับรู้อันนี้ มันไม่รู้จริง ถ้ามันรู้จริงตามสัจจะจริง ความรู้ก็จริง สิ่งที่ศึกษามาก็จริง สิ่งที่จริงกับจริงเข้ากันแล้วมันต้องสมกับความเป็นจริง เห็นไหม แต่ของเรามันสมจริง จริงตามความเป็นจริงที่เราควรปรารถนาได้ไหมล่ะ
เราปรารถนาอยากจะเห็นธรรม มีดวงตาเห็นธรรม ให้เห็นธรรมนะ ให้พ้นทุกข์ออกไปเป็นขั้นเป็นตอนออกไป นี่เราปรารถนากัน แต่ไอ้ผู้ที่ปกปิดไว้ในหัวใจของเรามันก็ปกปิดไว้ นี่กิเลสไง ผู้ไม่รู้คืออวิชชา อวิชชาคือกิเลส กิเลสก็พยายามจะรักษาสถานะของมันเอาไว้ไง แก่นของกิเลสนะ ยางเหนียวในหัวใจพาเราเกิดพาเราตายมาตลอดไป แล้วจะอาศัยหัวใจนี้ตลอดไป ที่อยู่ของกิเลสคือหัวใจของสัตว์โลกทั้งหลายที่เป็นที่อยู่ของเขา แล้วหัวใจของสัตว์โลกจะมาศึกษาธรรม จะมาเปิดออกไป พ้นออกไปจากอำนาจของกิเลส กิเลสต้องต่อต้าน
ฉะนั้น ศึกษามา กิเลสของเราก็เข้าไปแบ่งแยก คือว่าผลักไสให้ผิดไปจากทฤษฎีสัจจะความจริงที่เราศึกษามา สุตมยปัญญา ทฤษฎีคือความจริงตามแผนที่พระไตรปิฎกนั้นถูกต้อง แต่ในการสร้างขึ้นมาให้เป็นของเรา อันนั้นเป็นปริยัติ ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนมา ถ้าไม่มีแผนที่ ไม่มีปริยัติก็ไม่มีปฏิบัติ ไม่มีปฏิบัติก็ไม่มีปฏิเวธ ปฏิเวธคือความรู้แจ้ง เห็นไหม มันถึงว่า ภาคปฏิบัติมา ผู้รู้ของเรามันไม่เปิดขึ้นมา เพราะผู้ไม่รู้มันปกปิดไว้
ผู้ไม่รู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็โดนปกปิดไว้โดยอวิชชาเหมือนกัน แต่เพราะว่าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ไม่ได้ผล จนมาตั้งต้นทำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เพราะมาตั้งต้นทำเองด้วยอานาปานสติ ปฐมยามนี้ได้บุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วย้อนกลับ นี่ไปแล้วไม่ได้ผล ดึงกลับมา แล้วพยายามย้อนกลับไป ถึงมัชฌิมยาม จุตูปปาตญาณ เข้าไปเห็นว่าดวงใจทุกดวงตายแล้วไปเกิดที่ไหน นี่เห็นการเกิดของดวงใจต่างๆ ว่าจะไปเกิดที่ไหน มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด
ทุกดวงใจต้องเกิดหมด ตายแล้วต้องเกิดทั้งหมด เกิดแล้วก็ต้องตายทั้งหมดเลย เห็นไหม มันถึงน่าเศร้าใจ มันน่าเศร้าใจว่ามันปิดตาเราไว้ เราไม่ใช่ว่าเกิดเป็นมนุษย์แล้วเราว่าชาตินี้เรามีความทุกข์...นี่มันเกิดตายๆ มาตลอด ในการเกิดตายโดยความไม่รู้นี้พาไป สิ่งที่ไม่รู้มันถึงเป็นเรื่องใหญ่โตมาก มันพาเราเกิดพาเราตายมา แล้วพอมาปฏิบัติเข้าไป มันก็ยังต่อต้านขึ้นมาอีก เพื่อรักษาสถานที่อยู่ของเขาไว้
เข้าไปจุตูปปาตญาณ เห็นการเกิดและการตายไป จนชักกลับเข้ามา เกิดอาสวักขยญาณก่อนรุ่งอรุณขึ้น นี่ได้อาสวักขยญาณขึ้นมา เปิดออกหมด ถึงรู้จริงไง อวิชชานี้ถึงได้ขาดออกไปจากใจ เป็นไก่ตัวแรกที่กะเทาะเปลือกไข่ออกมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นพระอรหันต์องค์แรกของโลก พ้นออกไปจากกิเลสทั้งหมด ถึงเชื่อปัญญาคุณ ปัญญาอันที่ว่าท่านเจาะฟองไข่คืออวิชชา ออกไปจากผู้ไม่รู้ที่ปกปิดไว้ เป็นผู้รู้ขึ้นมา เป็นวิชชาขึ้นมา เป็นที่พึ่งที่อาศัยของหมู่สัตว์ทั้งหลาย นั่นน่ะ เสวยวิมุตติสุขจนพอสมควรแล้วถึงได้ออกมาเผยแผ่ศาสนา จนมาถึงเราปัจจุบันนี้ เราก็จะก้าวเดินตามนั้นไป
ถึงว่า อันนั้นวางไว้ เผยแผ่มานี้เป็นปริยัติ แล้วเราต้องปฏิบัติใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาดวงใจ เอามรรคผลนิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ตรัสรู้ สั่งสอนอยู่ ๔๕ ปี จนปรินิพพานไป ก็เป็นดวงใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคผลนิพพานของดวงใจทุกดวงใจที่ประพฤติปฏิบัติก็มีอยู่ ถ้ามีผู้รู้ มีพุทโธอยู่ที่หัวใจ ทุกดวงใจมีโอกาสหมด เพราะมีหัวใจเหมือนกัน นี่ผู้ที่ปฏิบัติ
ทีนี้เราศึกษามา ผู้ที่ไม่รู้คืออวิชชา ศึกษามามันก็มาแบ่ง คือว่าความลังเลสงสัย ความไม่เชื่อจริง ความไม่เชื่อมั่น ว่ามรรคผลจะหมดกาลหมดเวลาไป ก็หัวใจของเรา ทุกข์ก็ของเรา ความสุขจะเกิดขึ้นก็ต้องเป็นของเรา การประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องเราประพฤติปฏิบัติ เราเท่านั้นเป็นคนเอาใจของเราไป ใจของเราถ้าเข้าถึงธรรมก็ใจของเราเป็นผู้ถึงธรรม
ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระอัครสาวกที่ดับขันธปรินิพพานไป ก็เป็นดวงใจดวงนั้นดับขันธปรินิพพานไป เป็นการยืนยัน เป็นพยานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์จริง พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นพยานยืนยันกันมาๆ พูดภาษาเดียวกันมา เป็นภาษาธรรมที่เข้าใจกัน มองตาก็เข้าใจว่านิพพานคืออะไร แล้วมีพยานยืนยัน แล้วดับขันธ์แต่ละพระองค์ๆ ไป เป็นสมบัติส่วนตนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับอัครสาวกที่ปรินิพพานไป
นั่นน่ะ มันมีจริง แต่กิเลสมันคัดค้านไง มันไม่รู้แล้วมันก็ปฏิเสธ นี่มันไม่รู้แล้วไม่รู้เปล่านะ มันหลอกเราอีกต่างหากนะ แล้วแย็บขึ้นมา ความเห็นของเราอยากประพฤติปฏิบัติ เราศึกษามาในภาคปริยัติ เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราแย็บขึ้นมา เราศึกษามา นี่วิชชาเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม เหมือนกับฟ้าแลบ สิ่งที่ปกปิดไว้ก็ปกปิดอีกว่ามรรคผลนิพพานหมดกาลหมดเวลา หมดเวลาแล้วเราจะทำไปเหนื่อยเปล่า นั่นอันหนึ่ง กว่าเราจะต่อสู้มา นี่ล้มลุกคลุกคลาน หมายถึง ใจมันล้มลุกคลุกคลาน ใจไม่ก้าวเดินไปตามสัจจะความเป็นจริง ไม่ก้าวเดินตามนั้น ถึงก้าวเดินไปมันก็มีสิ่งนี้ปกคลุมไปตลอด มันต้องพยายามแยกแยะออกไปๆ แยกของเราออกไป
นี่ไง ถึงบอกว่า มันต้องเห็นโทษของเราคนเดียว โทษในหัวใจของเรา โทษคือกิเลสของเราเท่านั้นที่มันต่อต้านขัดขวางสิ่งที่จะเป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าเข้าประพฤติจริงนะ ท่องพุทโธๆ พุทโธจริงๆ แต่เราทำไม่จริง เราทำไม่จริงหนึ่ง ความลังเลสงสัยสิ่งที่ปกปิดในใจเอาไว้อีกหนึ่ง แล้วพอเราท้อถอยขึ้นมา มันลุกขึ้นมา สิ่งใดมีกำลังมากกว่า อีกฝ่ายหนึ่งต้องอ่อนแอลง ระหว่างธรรมกับกิเลสในหัวใจของเรา ถ้าธรรมเจริญขึ้น กิเลสจะยุบยอบลง ถ้ากิเลสเจริญขึ้น ธรรมจะอ่อนแอลง
ทีนี้ความลังเลสงสัยมากขึ้น การประพฤติปฏิบัติไปมีแต่อุปสรรคขัดขวางมากขึ้น ท้อถอยอ่อนแอ ท้อถอยน้อยเนื้อต่ำใจ เห็นไหม ธรรมก็อ่อนไปๆ กิเลสใหญ่ในหัวใจมาก เห็นไหม มันหลอกว่าเรามีความเห็นถูกต้องอยู่พักหนึ่ง เดี๋ยวก็ปิดอีก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ผู้ไม่รู้มันก็ปกปิดใจไปเรื่อยๆ
นี่เรามาชำระสิ่งที่ไม่รู้ออกจากใจเท่านั้น สิ่งที่ไม่รู้ในใจของเรา เราว่าเรารู้ๆ อยู่นี่ ผิดหมด เพราะความรู้อันนี้เป็นความรู้จำมา สิ่งที่เราจำมามันเป็นความจำมา ของยืมมามันไม่ใช่ของเรา ของของเรามันต้องเกิดขึ้นจากภายใน ของของเราต้องทำความสงบของใจเราขึ้นมา ทำให้ใจมีความสงบขึ้นมาแล้วมันค่อยแบ่งแยกออกไประหว่างกิเลสกับธรรม แล้วมันจะก้าวเดินออกไป
แต่ถ้าเราจำมามันเป็นสัญญาทั้งหมด สิ่งที่เป็นสัญญา มันเหมือนกับของที่มันสำเร็จรูป เราเอาเข้ามาเป็นชิ้นเป็นอัน มันเข้ากับใจไม่ได้ ใจนี้เป็นนามธรรม เราต้องสร้างขึ้นมาจากรากแก้วรากฝอย เราต้องเติบโต ต้นไม้จะเติบโตขึ้นมาจากต้นที่เราเพาะเราชำขึ้นมา เติบโตขนาดไหนมันต้องเติบโตไปโดยธรรมชาติ มีอาหาร มีน้ำ มีอะไรของมันไปตามธรรมชาติของมัน
หัวใจในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน มันต้องก้าวเดินไปตามจังหวะของใจที่ควรจะเป็นไป การศึกษามา ถึงบอกมันเป็นสัญญา มันเป็นของสำเร็จรูป มันเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นของที่ท่านวางไว้เป็นแผนที่ดำเนิน ถึงว่านั่นน่ะคือปริยัติ
ปฏิบัติคือการที่เราสร้างของเราขึ้นมา สร้างใจของเราขึ้นมา สร้างความสงบของเราขึ้นมา สร้างขึ้นมา จากเพาะชำขึ้นมาในใจของเรานั่นน่ะ เพื่อให้สิ่งที่ว่าไม่รู้ๆ มันพลิกออกมาเป็นผู้รู้ขึ้นมาซะ ผู้รู้คือวิชชาขึ้นมา ออกมา มันต้องปอกเปลือกออกมา มันโดนปกคลุมไว้มากหลายชั้นนะ พอไปเกิดเป็นเรา เป็นมนุษย์ มนุษย์มีกายกับใจ จะพึ่งพาอาศัยกันก็เกาะ กลัวว่าร่างกายจะเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องพยายามจะทะนุถนอมร่างกายนี้ให้เข้มแข็ง เกิดมาแล้วต้องให้ร่างกายเข้มแข็ง ต้องให้พอใจของเรา เราถึงหาอะไรส่งเสริมมันตลอด นี่เรื่องของกาย
เรื่องของใจเราก็ศึกษามา ก็ศึกษาเล่าเรียน เข้าโรงเรียนมา นี่วิชาชีพเพื่อจะหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไป อันนี้มันเป็นวิชาชีพ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมา มันต้องมีโดยสถานะของมนุษย์ ในเมื่อเป็นมนุษย์มันมีอย่างนี้ มันก็ต้องใช้อย่างนั้นไป แต่ในเมื่อศึกษามาแล้ว เล่าเรียนแล้ว หรือทำงานมา ได้ผลประโยชน์มา มันก็แค่อาศัยไป มันพ้นทุกข์ไปได้ไหม จนถึงกับออกประพฤติปฏิบัติ นักบวชออกบวช สละออกมาทั้งหมด ก็มีผู้ที่เคยเป็นฝ่ายพลาธิการส่งเสียมา เขาก็หวังเพื่อที่จะให้ผู้ประพฤติปฏิบัติมีธรรมแล้วมาคอยชี้นำทาง นั่นน่ะ ผู้ประพฤติปฏิบัติมันก็อยู่ส่วนหนึ่ง เป็นผู้ที่มีทางอันกว้างขวาง ภิกษุเป็นผู้ที่มีเวลาประพฤติปฏิบัติอย่างเดียว แต่ในเมื่อเป็นฆราวาส มีเวลาประพฤติปฏิบัติ ทางมันแคบกว่า แต่เราก็หาเวลาออกมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะให้เข้าถึงธรรมให้ได้เหมือนกัน เพราะมีดวงใจเหมือนกัน
ในเมื่อเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา สมาธิไม่แบ่งแยกหญิงหรือชาย ไม่แบ่งว่านักบวชหรือคฤหัสถ์ สมาธิคือสมาธิ การประพฤติปฏิบัติถึงมีค่าเท่ากัน ทำได้เหมือนกัน แต่นักบวชนี้มีโอกาสมากกว่า ไปได้ก่อน คือว่าจังหวะและโอกาสของเรามีมากกว่า ก็ทุ่มกันไปเพื่อทำขึ้นมาให้เกิดขึ้นจากใจของตัว
ทีนี้ว่า ฝ่ายสนับสนุนอยากจะได้ผลของเราด้วย เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติของเรา ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติของเรา เราก็ต้องมีส่วนได้ของเรา ถึงว่า เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน เป็นอกาลิโก อยู่ที่หัวใจของเราไง หัวใจของเราปัจจุบันนี้ถ้าได้ ได้เดี๋ยวนี้ ในวินาทีนั้น ในนาทีนั้น ในชั่วโมงนั้น เห็นไหม ในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตรสำเร็จที่ไหน ในตำราบอกไว้นะ พระโมคคัลลานะสำเร็จที่ไหนๆ นี่เป็นข่าวของคนอื่น เป็นอกาลิโกของดวงใจดวงนั้น แล้วอกาลิโกของดวงใจของเราล่ะ
มันไม่มีกาลไม่มีเวลา ถ้ายังมีลมหายใจเข้า มีลมหายใจออกอยู่ เราตามลมหายใจเข้า-ลมหายใจออกอยู่ เรายังมีโอกาสอยู่ของเราตลอดไป ถ้าเรามีโอกาสของเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องก้าวเดินของเราตลอดไป เราก้าวเดินของเราได้ นี่ข่าวของเราจะเกิดขึ้น ข่าวของเรา หมายถึงว่า เราจะเข้าไปรู้จริงตามความเป็นจริงของเราไง
ข่าวบุญข่าวกุศล ข่าวข้างนอกเขาบอกข่าวกัน เราตามข่าวเข้าไป เราไปสร้างบุญกุศลกับเขา อันนั้นเป็นเปลือก แต่ถ้าบุญกุศลเกิดขึ้นที่ใจ ทำทานร้อยหนพันหนเท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดปัญญาขึ้นมาหนหนึ่ง นี่ปัญญาตัวนี้เกิดขึ้นมาเพื่อชำระกิเลส เพื่อชำระสิ่งที่ไม่รู้ ผู้ไม่รู้นั้น เพราะสิ่งที่ไม่รู้ปกปิดไว้
สิ่งที่รู้ ทางนั้นก็เปิดขึ้นๆ ทางนี้เปิดออก เปิดออกมันก็เห็นช่องทางไป พอจิตนั้นสงบเข้าไปๆ มันถึงมีความสุขขึ้นมา พอความสุขของจิตเกิดขึ้นมา จิตตั้งมั่น เพราะมีฐานตั้งมั่น พอฐานตั้งมั่น นี่ดวงตาเปิดขึ้น เปิดขึ้น หมายถึงว่า ส่องทาง เห็นทางออกไง จิตตั้งมั่นมันทางออกตรงไหน? ทางออกเพราะความเข้าไปยึด ความเข้าไปสัมผัสเอง พอความเข้าไปสัมผัสเอง มันเป็นการบอกกล่าวเรา บอกกล่าวว่ามรรคผลมีจริง
ในเมื่อเราสัมผัสสมาธิธรรมอันนั้น ความสุขเกิดขึ้น แต่ก่อนได้ยินแต่เขาว่าๆ ความสุขจะเป็นอย่างนั้นๆ พอจิตนี้สงบ มันจะปล่อย มันจะเวิ้งว้างนะ เวิ้งว้างไปพักหนึ่ง แล้วมันก็จะแปรสภาพไป เพราะว่าสมาธินี้เป็นเหมือนกับน้ำเต็มแก้ว หินทับหญ้าไว้ ถึงจุดหนึ่งแล้วมันต้องแปรสภาพไป สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้แปรสภาพไปตลอด ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ธรรมสิ่งนี้เราพยายามสร้างของเราขึ้นมาเป็นสมาธิธรรม พอสมาธิธรรมเกิดขึ้น เราได้สัมผัส มีความสุขขึ้นมา มันจะเสื่อมสภาพไปโดยธรรมดาของมัน เราพยายามทำซ้ำ ทำซ้ำเข้าไปบ่อยๆ ซ้ำเข้าไป ทำสมาธิเข้าบ่อยๆ จิตนั้นสงบมากๆ เข้า จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น ถึงเป็นสัมมาสมาธิ นั่นน่ะ เปิดออกมาเพื่อจะให้ทางออกไง
สิ่งที่ไม่รู้ข้างนอกนั้นคือสิ่งที่ไม่รู้ข้างนอก แต่เราว่าเรารู้ เรารู้นั้นมันเป็นสมมุติสัจจะ เพราะมันอาศัยได้ชั่วคราว มันอาศัยไม่ได้ตลอดไป แต่เราเข้าใจว่าเป็นของเรา เรายึดมั่นถือมั่น เราอยากให้ชีวิตเรายืนยาวตลอดไป ไม่มีการเกิดและการตาย แต่มันเป็นของชั่วคราว มันถึงเป็นของไม่มีคุณค่า แต่พอใจสัมผัสกับความสุขเข้าไป นี่คุณค่าของใจเกิดขึ้น
การเกิดและการตายนี้ หัวใจไปเกิดและไปตาย ไม่ใช่มนุษย์ไปเกิดแล้วไปตายนะ มนุษย์เรามันทิ้งแต่ร่างกายไว้ มันไม่เอาร่างกายไป ร่างกายเหม็นเน่า ต้องเผาไฟทิ้ง แต่หัวใจนี้ก็ไปเกิดไปตายต่อไป แต่พอจิตนี้สงบเข้ามา มันมีทางออกจากทางเดิม ทางเดิมคือสิ่งที่ไม่รู้พาเกิดพาตายไปตลอด แต่เดี๋ยวนี้มันมีอาหารใหม่เกิดขึ้นแล้ว คือสมาธิธรรม จิตนี้สัมผัสกับสมาธิธรรม มันมีอาหารใหม่คือว่ามันมีทางแยกออกไป
แต่เดิมนั้นเราหมุนไปตามกรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นแดนเกิด เห็นไหม เราหมุนตามวัฏฏะไป พอจิตนั้นสงบเข้าไปๆ มันยึดได้ มันไม่ไหลตามกรรมนั้นไป มันสัมผัสแล้วมันมีความสุขขึ้นมา ความสุขอันนี้มันก็ตั้งขึ้นมาๆ นี่มันมีผล ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือว่า เราเชื่อมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีจริง เราได้สัมผัสจริงขึ้นมา สอง เราเริ่มมีศาสตราอาวุธที่จะเริ่มทำลายไอ้กิเลสๆ ในหัวใจเรา นี่เราเริ่มมีศาสตราวุธนะ
แต่เดิมเราเป็นผู้แพ้ เราโดนสิ่งที่ไม่รู้นี้ขับไสแล้วก้าวเดินตามไป เอาสิ่งที่จูงจมูกแล้วเดินตามต้อยๆ ความคิดสิ่งใดเกิดขึ้น เชื่อหมดๆ เราต้องเชื่อตัวเราเองตลอดเลย แต่เราไม่เคยคิดเลยว่าเราคิดผิด เราคิดไม่สมตามความเป็นจริง เราศึกษาธรรมมาแล้วเราก็คาดเราก็หมาย มันก็ไม่สมความเป็นจริงอีก เห็นไหม ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ว่าทำตามนั้นแล้วจะได้ผลๆ แล้วเราทำก็ไม่ได้ผล เพราะมันมีการคาดการหมายเข้าไปอยู่ในการประพฤติปฏิบัตินั้นไง การประพฤติปฏิบัติมันต้องประพฤติปฏิบัติโดยสัจจะความจริง
สัจจะ หมายถึงว่า หน้าที่เราคือเติมฟืนเข้าไปในเตาไฟ น้ำจะเดือดหรือไม่เดือดมันอยู่ที่ความร้อนนี้จะได้จังหวะของน้ำเดือดนั้นไหม ถ้าฟืนอ่อน มันไม่ถึง มันก็ไม่ได้ แต่ในเมื่อเราเติมฟืนเข้าไป เราใส่ไฟ เราจุดไฟขึ้นมา ใส่ฟืนเข้าไป น้ำต้องเดือดเด็ดขาด แต่นี่พอจุดไฟปั๊บจะให้น้ำเดือดเลย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะการคาดการหมาย เราอยากให้มันสำเร็จตามความมุ่งหมายให้ได้สมใจเรา เราอยากให้น้ำเดือดตามแต่เราต้องการ
นี่ก็เหมือนกัน การคาดการหมายในการประพฤติปฏิบัติ เราก็คาดหมายเหมือนกันว่าปฏิบัติธรรมแล้วจะได้ผลอย่างนั้นๆๆ เห็นไหม การคาดหมายผลนั้นเป็นตัณหาซ้อนตัณหา เป็นสมุทัยซ้อนสมุทัย นี่สมุทัยซ้อนเข้ามา มันทำให้การประพฤติปฏิบัติยากขึ้น มันต้องวางใจให้เป็นกลาง แล้วก้าวเดินไปตามสิ่งที่เห็นนั้น สิ่งที่เห็นนั้นคือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิว่างเข้าไป พอว่างเข้าไป ตั้งมั่น ตั้งมั่นแล้วค้นหา ค้นหา คือว่า พยายามให้สมาธินั้นดูกายหรือดูใจ แต่ส่วนใหญ่จะดูกาย ต้องดูกาย ถ้าไม่ดูกาย มันไม่สามารถกำจัดหรือทำลายสิ่งที่ไม่รู้นั้นได้ เพราะไม่รู้นั้นมันปกปิดไว้ เพราะไม่รู้นี้ เพราะไม่รู้แล้วก็ยึด เห็นไหม
เพราะไม่รู้แล้วหนึ่ง ไม่รู้คือความไม่รู้ แต่มันว่ามันรู้ รู้นี้คืออวิชชา อวิชชาคือรู้อย่างนี้ รู้แบบไม่รู้ รู้ในตัวเองว่าตัวเองมีคุณค่าเป็นชีวะ เป็นชีวิต เป็นจิต แต่ไม่รู้สัจจะความจริงมันก็เลยยึดไง ยึดในเรื่องของกาย ยึดทุกอย่างที่มันจะอาศัยได้ ทีนี้ตัวของจิตเองอาศัยตัวเองไม่ได้ จิตอยู่โดยตัวเองไม่ได้ เห็นไหม ต้องเสวยภพ ภพเป็นมนุษย์ ภพเป็นเทวดา ภพเป็นอินทร์ เป็นพรหม ต้องเสวยอันนั้น พอเสวยออกไปแล้วมันก็ยึดภพ เสวยภพใดก็ยึดภพนั้น อันนี้เสวยเป็นมนุษย์ก็ยึดมนุษย์ ยึดความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีอะไร? มนุษย์มีกายกับใจ มนุษย์นี้รักษากายมาก เพราะทุกคนไม่เคยเห็นใจ สัตว์เกิดมาไม่เคยเห็นใจของตัวเอง ไม่รู้ว่าใจเป็นอย่างไร แต่พอจิตสงบขึ้นมา จิตนี้ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ ย้อนกลับมา...
...ยึดเพราะไม่รู้ ทุกข์มันตามมาเพราะอะไร เพราะมันแบ่งแยกแล้วมันคาดมันหมาย มันไม่สมความมุ่งหมายของใจตลอดเวลา ใจคาดใจหมาย ใจต้องการให้สิ่งนั้นอยู่ในอำนาจของเราตลอด เห็นไหม ในความยึดมั่นถือมั่นนี้ใหญ่มาก กิเลสนี้ใหญ่มาก แม้แต่ยึดแค่ร่างกายนี้เท่านั้นนะ มันก็ยังยึดแล้วต้องการ พอพลัดพรากจากไป แปรสภาพไปก็มีความอาลัยอาวรณ์อยากจะให้กลับมา กาลเวลาเราไม่อยากให้ล่วงเลยไปเลยนะ อยากจะให้อยู่คงที่ตลอดไป แต่เวลาไม่พอใจ อยากจะผลักไสให้ไปไวๆ สิ่งใดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาอยากให้หายไวๆ แต่สิ่งที่มันแปรสภาพไปโดยอายุขัยนี่ไม่ยอม นั่นน่ะ มันยึด แล้วมันก็หลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่มันหลงไปมันให้ค่าอะไรขึ้นมา? มันให้แต่ความทุกข์นะ แต่พอใจ เห็นไหม นี่เพราะมันไม่รู้ มันพอใจนะ ถ้าได้คิดเรื่องของกิเลส แหม! มันพอใจ ยึดแล้วมันพอใจว่าสิ่งนั้นสมกับเราที่เราได้ยึดได้ถือ
แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา พิจารณากาย ดูกายขึ้นมา ดูกาย ตั้งกายขึ้นมา กายที่เห็นขึ้นมาโดยสัจจะความจริง เห็นแล้วมันจะสะเทือนหัวใจ ความสะเทือนหัวใจอันนั้นมันเป็นสัจจะความจริง มันสะเทือนมา สะเทือนมาก็ตั้งไว้ๆ ตั้งกายนั้นไว้แล้วให้ดูความแปรสภาพของกายนั้น ความแปรสภาพของก้อนเนื้อนั้น ก้อนเนื้อนั้นมันต้องแปรสภาพไปโดยความจริงของมัน
ความจริงเขาแปรสภาพอยู่แล้ว ทุกกาลเวลา เพราะคนเกิดมาต้องตายโดยธรรมชาติของมันเลย แต่เพราะไอ้ความไม่รู้ก็ยึดจะไม่ให้เป็นไปหนึ่ง แล้วก็ยังหลงความเป็นอันนั้นหนึ่ง ความที่แปรไปนี้มันไม่เห็น พอเราตั้งไว้ ตั้งสัมมาสมาธิ จับกายได้ มรรคมันจะเดินไป หนึ่ง งานชอบ เห็นไหม มรรคอริยสัจจังมันมี ๘ มรรคคือองค์ ๘ ความที่จะก้าวเดินไปได้ ความดำริชอบ ดำริในสิ่งที่มันหลงใหล มันยึดมั่นถือมั่น ดำรินั้นปัญญามันเกิดขึ้น ความยึดมั่นถือมั่น ดูตรงนั้น งานชอบ ความเพียรชอบ เพียรในสิ่งที่จะออกนั้นชอบ สติสำคัญมาก สติชอบ สมาธิชอบ นี่หมุนไป ดูความแปรสภาพอันนั้นไป อันนี้จะแปรสภาพ
ความแปรสภาพถ้าเห็นเดี๋ยวนั้น เพราะมันไม่มีมิติ ไม่มีกาลไม่มีเวลา มันจะเร็วมาก แต่อาศัยว่าสัมมาสมาธิเข้าจับต้องไว้ มันจะแปรสภาพออกไป การแปรสภาพให้เห็นขณะนั้น ความสลดสังเวชเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ความสลดสังเวชเกิดขึ้นพร้อมกันในอริยสัจอันเดียวกันนั้น นั่นน่ะ ความเห็นจริงอันนี้มันจะปล่อย ความปล่อยมันจะสลดสังเวชเข้ามา ปล่อยเลยนะ ความปล่อย ปล่อยตรงไหน
ปล่อยเพราะมันเห็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้ สิ่งที่เรายึดไว้ว่าเป็นของเรา กายนี้เป็นของเราโดยสิ่งที่ว่ามันไม่รู้แล้วยึด ยึดแล้วหลง หลงแล้วก็ถือว่าเป็นของตน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา แต่พอมันแปรสภาพไป มันเห็นว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่เราจะดึงไว้ให้คงสภาวะนั้น นี่ปัญญามันเกิด มันเกิดตรงนี้ มันเกิดที่เห็นสภาวะที่มันแปรสภาพไป แล้วสิ่งที่สุดวิสัยที่จะเป็นไปได้ นี่ปัญญามันเกิด พอมันเกิดขึ้นมามันก็ปล่อยๆ พอปล่อยมันก็ว่างออกมา จิตสงบเข้ามาเรื่อย จิตสงบลึกเข้ามาอีก เพราะอะไร เพราะเป็นการวิปัสสนา วิปัสสนาคือการทำการทำงาน งานเสร็จวงรอบหนึ่งมันจะปล่อยเข้ามามากกว่าความสงบที่ว่าเรามีทางแยกออกไป เป็นทางที่เราเข้าไปสัมผัสกับสมาธิธรรม อันนี้เป็นสมาธิที่เกิดขึ้นจากการปล่อยการวิปัสสนาวงรอบหนึ่ง มันละเอียดอ่อนเข้ามา เห็นไหม มีความสุขมาก ความสุขอันนี้เป็นสุขที่เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติ เป็นความสุขแท้ๆ ความสุขจริงจะมีได้บนหัวใจของเรานี้เอง ความสุขจะมีได้เพราะความสงบวงรอบหนึ่ง
แต่เดิมหลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งนั้นไง หลงใหลไปว่าสิ่งนั้นเป็นเรา สิ่งนั้นเป็นของเรา พอหลงก็ยึด ยึดมั่นถือมั่น ตัวตนเกิดขึ้น แต่พอมันสุดวิสัย มันปล่อย คนแบกของ ภาระหนักมาก คนไม่เคยปล่อยวางภาระตั้งแต่กี่ภพกี่ชาติ แบกมาตลอด จะเสวยภพไหนก็ยึดภพนั้นไว้ตลอด แล้วได้สละสิ่งนั้นออกไป ทำไมจะไม่โล่ง ไม่มีความสุขมหาศาล สุขนี้เกิดขึ้นมาจากภาคปฏิบัติ สุขนี้เป็นสุขจริงๆ นี่สุขที่เกิดขึ้นมาจากกลางหัวใจที่ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน
สุขมันเกิดขึ้นมาก็พักไป พักอยู่ในความสุขนั้นพักหนึ่ง พอพักออกมาแล้วต้องออกมา เห็นไหม ถ้าผู้ที่ไม่รู้มันจะบอกว่าอันนี้เป็นงานที่สมควรแล้ว มันจะมีสิ่งหนึ่งพาให้หลงใหลไป เราก็ไม่ยอมรับสิ่งนั้น เพราะอวิชชากับวิชชา เห็นไหม ถ้าสิ่งที่มีกำลังเหนือขึ้นมา อีกฝ่ายหนึ่งต้องยุบยอบลงไป วิปัสสนาเกิดขึ้นมาวงรอบหนึ่ง อวิชชา สิ่งที่ไม่รู้มันยอมแพ้ไปชั่วคราว มันก็ปล่อยวางไป ต้องซ้ำเข้าไปอีก วิปัสสนาซ้ำเข้าไป ยกขึ้นมา ตั้งขึ้นมาให้ได้ ตั้งขึ้นมาแล้วดูความแปรสภาพไป
ถ้ามันแปรสภาพไม่เป็นไป เรากำหนดให้แปรสภาพ ให้มันแหลก ให้กลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ นั่นคือกำลังของสมาธิไม่พอ ถ้ากำลังของสมาธิไม่พอ สิ่งที่แปรสภาพนี้มันจะเป็นไปไม่ได้ มันจะขัดมันจะขวาง มันจะไม่ไปตามความเป็นที่ว่าเราให้เป็นไป เห็นไหม เราต้องกลับเข้ามาพักในสมาธิ
ถ้ากลับมาพักในสมาธิแล้วกำหนดขึ้นมาเป็นกายใหม่ พิจารณาใหม่ ถ้ามันแปรสภาพให้เราเห็นจริง นั่นคือกำลังของสมาธิพอ ถ้ากำลังของสมาธิพอ มรรค ๘ ก็เคลื่อนไปได้จังหวะ เห็นไหม ถ้ากำลังของสมาธิไม่พอคือขาดกำลัง คนขาดกำลัง กำลังนี้ถ้าขับเคลื่อนไปไม่ได้ ปัญญามันก็ขับเคลื่อนไปไม่ไหว เพราะมันเป็นเรื่องของใจ เรื่องของนามธรรม เรื่องของนามธรรมมันต้องหมุนไปเป็นวงรอบ ธรรมจักรจะเกิดขึ้นต้องหมุนไปเป็นวงรอบอย่างนั้นออกไป
นั่นน่ะ หมุนออกมาก็ดูกายอีก กายแปรสภาพไหม ถ้าแปรสภาพ การให้แปรสภาพได้ กำหนดจิตขึ้นมาให้ดี ความเพ่งที่มันแปรสภาพไป นั่นน่ะ แยกกายนี้ด้วยสมาธิธรรม แยกกายด้วยการวิปัสสนา เห็นไหม แต่ถ้าแยกกายด้วยการใคร่ครวญ กายนี้เป็นกายเนื้อ เอ็นเป็นเอ็น หนังเป็นหนัง กระดูกเป็นกระดูก อันนั้นเป็นการแยกด้วยปัญญาอีกกรณีหนึ่ง
มันอยู่ที่ว่าเวลาเราเดินด้วยปัญญา ฟังนะ เวลาเรายกปัญญาขึ้นเดิน ปัญญานี้มันกว้างขวางมาก มันจะเอาแง่ใดของความคิดมาเริ่มต้นก็ได้ เพราะมีสมาธิขึ้นไป นี่ปัญญาถึงไม่มีขอบเขตไง ขอบเขตของปัญญาไม่มี
ถ้าขอบเขตของปัญญาไม่มี เราทำตามที่มันกว้างเกินไป เราหมุนออกกว้างเกินไป ตามที่ปัญญาหมุนออกไป มันมีผู้ที่ไม่รู้อยู่ในใจเราด้วย นี่แง่นี้ก็ต้องคิด สิ่งที่ไม่รู้อยู่ในใจมันก็ต้องพาออกไปในแง่ที่มันให้ออกนอกลู่นอกทาง ในวิปัสสนานั้นกิเลสมันยังมีอำนาจอยู่ มันยังมีพลังงานที่จะต่อต้านอยู่ การต่อต้านของกิเลสคือมันจะทำงานของเราให้ไขว้เขวไป ทำงานที่จะให้ลงมัชฌิมาปฏิปทา คือว่า ให้กายนี้แปรสภาพให้เห็นตามสัจจะความเป็นจริงนี้มันไขว้เขวไป
มันถึงว่า ปัญญากว้างขวาง เราใช้แง่ใดก็ได้ แต่ใช้เป็นแง่เป็นกระทงไป คือว่าเป็นจังหวะๆ ไป ถ้าพิจารณาเป็นการแยกแยะ นั่นคือปัญญาแยกแยะออกมา ทั้งปัญญาพิจารณาไปด้วย กับถ้าการแยกแยะด้วยการพิจารณากายด้วยการเห็นการแปรสภาพ อันนี้ก็เป็นวิปัสสนาอันหนึ่ง เป็นวิปัสสนาด้วยฤทธิ์ ฤทธิ์คืออำนาจของสมาธิมากกว่า มันแปรสภาพให้เห็น พอแปรสภาพให้เห็น มันสุดวิสัยที่จะหยุดได้ นี่มันสลดมันสังเวช มันอ้อยสร้อย มันจะมีความหลุดออกไปจากใจ นี่มันจะเห็นอันนี้เกิดขึ้น แล้วพอหลุดออกไปมันจะมีความสุขมาก นี่ความสุขในการเห็นจริงไง
ต้องเห็นจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เห็นจริงตั้งแต่ขั้นตอนขึ้นไป ไอ้ใจผู้ที่ปฏิบัติก็ต้องเห็นจริงตามหลักสัจจะอันนี้ขึ้นมาเหมือนกัน ถึงว่า ใจดวงใดก็แล้วแต่เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเอง ผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใด คือว่ามีหัวใจที่ปฏิบัติเป็นของตัวเอง สัจจะความจริงอันนี้มันถึงจะซับไปที่ใจ สิ่งที่ไม่รู้ในใจมันก็เปิดออก นี่เปิดออกขั้นตอนหนึ่ง
ถ้าวิปัสสนาไป หมุนแปรสภาพไป พอแปรสภาพไป ปล่อยออกไปๆ ปล่อยจนขาดออกไป ความขาดออกไปเป็นความสุดวิสัยที่จะเหนี่ยวรั้งไว้ในการยึดมั่นถือมั่น มันสุดวิสัยที่มันจะยึดไว้ มันต้องปล่อย ปล่อยออกไป มันจะหลุดออกไป จิตนี้แยกออกไป จิตนี้เป็นจิต กายนี้เป็นกาย ทุกข์นี้เป็นทุกข์ เวทนาเป็นเวทนา เวทนานี้คือทุกข์ ทุกขเวทนานี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง มันจะหลุดออกไปเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเราวิปัสสนาออกไปตามสัจจะความจริงแล้ว กายต้องหลุดออกไปส่วนหนึ่ง เวทนาต้องหลุดออกไปส่วนหนึ่ง จิตนี้หลุดออกไปส่วนหนึ่ง นี่จิตเป็นจิต เวทนาเป็นเวทนา เพราะเวทนาเป็นทุกข์ แล้วกายนี้ก็ต้องเป็นกาย แยกออกจากกัน พอแยกออกจากกัน อันนี้คือสัจจะความจริง สัจจะความจริงคือกายกับจิตนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้มีกายกับใจขึ้นมา มันยึดมั่นถือมั่นเป็นอันเดียวกัน เพราะเป็นธรรมชาติของภพมนุษย์นี้ ภพของมนุษย์คือมนุษย์มีกายกับใจที่สมานเป็นเนื้อเดียวกัน
แต่ในหลักสัจธรรม ในอริยสัจธรรม กายกับใจนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เราถึงได้กายของมนุษย์นี้มา แต่ใจนี้มันเกิดตายๆ สิ่งที่ไม่รู้พาเกิดพาตาย ถ้าไปเกิดในภพอื่นก็ไม่ใช่กายนี้ แต่เป็นกายทิพย์ เป็นพรหมไป เห็นไหม เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็เป็นกายของสัตว์เดรัจฉาน แต่เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เราถึงมีกายกับใจ กายกับใจนี้มันอาศัยอยู่ด้วยกันแค่ภพภพหนึ่งเท่านั้น แล้วผู้ที่วิปัสสนาเห็นกายกับจิตนี้แยกออกจากกันโดยปัจจุบันด้วยสัจจะความจริง เห็นไหม ไม่ใช่ว่าให้มันตายแล้วค่อยแยกออกจากกัน
เราเห็นสัจจะความเป็นจริงขณะที่นั่งวิปัสสนาอยู่นั้น กายนี้แยกออกไป เวทนาคือการให้ค่า คือมีความทุกข์-ความสุข เห็นไหม เวลามีความสุขมันก็พอใจ มีความพอใจมันก็ว่าเป็นความสุข แต่ความจริงคือความสุขไม่มี เวลาทุกข์ขึ้นมานี้เจ็บปวดแสบร้อนมาก นี่ความยึดมั่นถือมั่นมันมีอยู่ ถ้ามันรวมกันมันก็เป็นความจริงของสมมุติว่าเกิดเป็นมนุษย์ แต่เพราะธรรมนี้เอามาแยกออก วิปัสสนาใจดวงนั้น ดวงที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงนั้น มันจะแยกออกจากกัน
พอแยกออกจากกัน นี่ไง ถึงว่า สังโยชน์ ๓ ตัวนี้จะหลุดออกไป สังโยชน์คือเครื่องร้อยรัดสิ่งนี้ไว้เป็นเนื้อเดียวกัน สักกายทิฏฐิ ๒๐ จะหลุดออกไป ความลังเลสงสัย สิ่งที่ความจริงนี้ เพราะมันไม่รู้มันถึงยึด เพราะมันลังเลสงสัยมันถึงยึด พอมันยึดมันก็เป็นเนื้อเดียวกัน พอสักกายทิฏฐิแตกออกไปแล้ว ความลังเลสงสัยก็ไม่มี สีลัพพตปรามาสมันจะเอามาจากไหน การจะลูบคลำเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ มันไม่ลูบคลำ มันเห็นจริงด้วย พอเห็นจริงขึ้นมา เพราะวิชชาเกิดขึ้นส่วนหนึ่ง แต่วิชชาเกิดขึ้นก็ยังเวียนตายเวียนเกิดอยู่
ผู้ไม่รู้พาเกิดพาตายนี้อยู่ในวัฏวนไม่มีที่สิ้นสุด แต่พอผู้ที่รู้มีส่วนเข้ามา การเวียนตายเวียนเกิดนี้ในผู้ที่ละสังโยชน์ ๓ ตัวแล้ว ก็ยังเวียนตายเวียนเกิดใน ๗ ชาตินี้เท่านั้น เอกพีซี คือว่า การทำให้ผู้รู้นี้สว่างกระจ่างแจ้งเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อาสวักขยญาณทำลายออกหมด นี่ตายในชาตินั้นก็ต้องทำต่อไป การทำต่อไปก็พิจารณากายกับใจนั้นน่ะ สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากายซ้ำ ถ้าพิจารณากาย ตั้งกายขึ้นมา
สิ่งที่วิปัสสนาขึ้นมานี้ ที่เห็นสัจจะความเป็นจริงในอริยสัจนี้ มันเป็นวงรอบหนึ่งที่วางไว้ตามความเป็นจริงแล้ว เพราะผู้รู้จริงเห็นจริงไม่แบก คนรู้จริงเห็นจริงจะวางไว้ตามความเป็นจริง แต่ถ้ารู้ไม่จริง รู้ด้วยสัญญา รู้แล้วยึด เห็นไหม เพราะรู้แล้วยึดมันถึงทุกข์มาก ถึงได้เป็นผู้ไม่รู้ ล้มลุกคลุกคลานมา แต่พอเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง แล้ววางไว้ตามความเป็นจริง จิตนี้ก็ปล่อยวางขึ้นมาขั้นตอนหนึ่ง จิตนี้เกาะติดอยู่ในธรรมส่วนหนึ่งแล้ว พอจิตมีพื้นฐานขึ้นมา ทำความสงบให้ลึกเข้าไปอีก พอลึกเข้าไปแล้วยกขึ้นวิปัสสนาต่อ วิปัสสนาในกายนั้นน่ะ
ในเมื่อว่ากายนี้ได้สละออกไปจากใจด้วยกันแล้ว ทำไมพิจารณากายซ้ำ
กายนอก กายใน กายในกาย กายของจิตนี้อยู่ด้วยกัน เห็นไหม พิจารณากายภายใน มันยกขึ้นมาเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย อย่างนี้พิจารณาได้ การพิจารณากายนี้คือกายส่วนละเอียดไง กายส่วนหยาบก็เป็นกายที่ว่าเห็นขึ้นมาในนิมิต เห็นขึ้นมาเป็นรูปเป็นภาพของจิต นี่วิปัสสนาไป กายส่วนละเอียดขึ้นมามันก็ละเอียดเข้าไป จิตนี้ละเอียดเข้าไป กายนี้ก็ละเอียดเข้าไป เรายกกายตั้งขึ้นมาพิจารณา การพิจารณากายก็ดูความแปรสภาพเหมือนกัน แต่ความละเอียด จังหวะมันต่างกัน ต่างกันตรงที่ว่าส่วนข้างนอกนี้มันยึดเพราะมันไม่รู้ มันปล่อยไป แต่ส่วนในนี้มันหลงใหลในอุปาทานที่ยึดกายนั้น เพราะอะไร เพราะมันมีที่เกาะที่เกี่ยว วิปัสสนาไป ให้แยกออกว่า ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ แยกส่วนผสมของกายนี้ไง
แต่เดิมนี้จิตยึดกายใช่ไหม จิตนี้กับกายนี้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะเป็นภพของมนุษย์ แต่พอหลุดออกไปแล้วจิตนี้ไปพักที่ไหนล่ะ จิตที่มันละกายออกมาแล้ว จิตนี้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะจิตนี้ เราเป็นมนุษย์อยู่ ผู้ปฏิบัตินี้ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์คนหนึ่งก็ต้องมีกายกับใจ ในเมื่อใจมันปล่อยกายแล้วมันพักที่ไหน? มันก็พักอยู่ในกายที่ลึกเข้าไปอีกส่วนหนึ่งในกายนี้ไง พิจารณากายนี้ซ้ำเข้าไป แยกออกมา ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ถ้ามันแยกออกจากกันได้ จิตมันจะถอนออกมา ถอนออกจากกาย ถ้าถอนออกมา กายกับใจนี้จะแยกออกจากกันอีกส่วนหนึ่ง เพราะว่าไปพักอยู่ในนั้น นี่วิปัสสนาไป วิปัสสนานี้ต้องยกขึ้นด้วยความดำริชอบ
กิเลสไม่ใช่ว่ามีแค่ชั้นเดียวนะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นปู่ของกิเลส แล้วลูกของกิเลส แล้วหลานของกิเลสล่ะ ไอ้สิ่งที่เราพิจารณาอยู่ข้างล่าง เรื่องของกายนี้แค่เรื่องลูกหลานของกิเลสเท่านั้นนะ ผู้ที่ไม่รู้มันปิดบังมาเป็นชั้นๆ ตอนๆ มันต้องลอกเข้าไปเป็นชั้นๆ ตอนๆ เข้าไป ย้อนกลับเข้าไปให้ผู้รู้นั้นเป็นวิชชาขึ้นมาให้ได้ นี่ย้อนกลับมา
เมื่อมีกิเลสอยู่ กิเลสก็ต้องต่อสู้ในการประพฤติปฏิบัติตลอดไป ในการประพฤติปฏิบัติที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ กิเลสมันก็ต้องทำให้เราไขว้เขวตลอดเวลา ในการวิปัสสนาถึงมีลุ่มๆ ดอนๆ ตรงนี้ไง ตรงที่ว่ามันจะไม่สมความมุ่งมั่นปรารถนาของเราทุกครั้งทุกตอนไป มันจะมีการต่อสู้ มีการบิดเบือนให้เราได้พลาดพลั้งไป
สิ่งของที่เราจัดเป็นระเบียบ เรายังวางเป็นชั้นเป็นตอน มันยังไม่เข้าที่เข้าทางได้สมใจเรา แล้วสิ่งที่ว่าเราจัดระบบของใจ ความคิด ด้วยวิปัสสนาญาณเข้าไป มันละเอียดเข้าไปขนาดไหน ในวันนี้วิปัสสนาอย่างนี้ได้ผลขึ้นมา พรุ่งนี้จะจับเข้าไปในแง่มุมอย่างเก่า นี่อวิชชามันอยู่ข้างใน สิ่งที่ไม่รู้อยู่ข้างใน มันจะหลอกลวงทันทีว่าต้องเป็นอย่างนั้นๆ แล้วมันจะเอาหมอนไปนอนรออยู่ข้างหน้า คือว่าวิปัสสนาเข้าไปสมความปรารถนาของมัน คือว่าจบส่วนหนึ่งของเขา อันนั้นคือหลอก
หลอก หมายถึงว่า อวิชชา หรือการวิปัสสนาไปมันจะไม่เป็นผลจริง มันไม่เป็นผลอย่างที่ว่ามันเป็นสัจจะความจริง มันเป็นผลของการคาดการหมาย การคาดการหมายนั้นเข้าไปแล้วมันก็เข้าไปเวิ้งว้างได้ แต่มันไม่ขาด นั่นน่ะ เราต้องถอยกลับมาที่สัมมาสมาธิ ย้อนกลับมาพักที่ความสุขของเรา แล้ววิปัสสนาใหม่ ต้องต่อสู้ไปทุกแง่มุมของการวิปัสสนา วิปัสสนาต้องใช้ปัญญามาก ต้องใช้ความละเอียดอ่อน
จากข้างนอกออกมา ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่สิ่งที่ไม่รู้ขึ้นมา จนเชื่อมั่นขึ้นมา วิปัสสนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงนี้ ความละเอียดอ่อนของใจมันก็ต้องละเอียดอ่อน ความประณีตของใจ ความเคยของใจ ใจที่เราเคยก้าวเดินไป การก้าวเดินไปมันตะลุมบอนอยู่ที่กลางหัวใจเวลาวิปัสสนา เราคิดว่าไม่มีงานทำ แต่มันจะมีงานมหาศาลเลย เก้าอี้ดนตรีกลางหัวใจ กิเลสกับธรรมแบ่งกัน แย่งกันนั่ง มันจะต่อสู้กัน งานของพระนี่มหาศาล เวลาหลับตาวิปัสสนานะ มันวางใจไม่ได้เลย งานนี้มีมากอยู่ทุกวินาทีที่มันจะเคลื่อนไหวไป นี่ถึงว่ามันละเอียดอ่อนขนาดนั้น
เวลาเราทำขึ้นมา พอถึงเวลาวิปัสสนาเข้าไปๆ มันถึงจะละเอียดอ่อนขนาดนั้น เราต้องพยายามใคร่ครวญเข้าไปๆ พอใคร่ครวญเข้าไป สติก็พร้อม ปัญญาก็พร้อม มันก็ต้องเห็นความบกพร่องสิ ความบกพร่องที่วิปัสสนาเข้าไปแล้วมันผิดตรงไหน มันวิปัสสนาเข้าไป หมายถึงว่า ใจมันไม่เป็นไปตามนั้น มันแยกออกไม่ได้ น้ำไม่เป็นน้ำ ดินไม่เป็นดิน ลมไม่เป็นลม ไฟไม่เป็นไฟ มันมองไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นเนื้อเดียวกันไปหมด เห็นเป็นก้อนของเนื้อ เห็นเป็นกระดูก เห็นเป็นโครงกระดูก เห็นอะไรก็แล้วแต่ มันไม่เป็นอย่างนั้น
พอกลับมาพัก กลับมาแยกใหม่ กลับมาพัก แล้วใช้แง่มุมใหม่ๆ ปัญญาต้องหมุนไปๆ มันปล่อยได้นะ พอมันปล่อยออกไป มันก็พักอยู่ชั่วคราว มันต้องปล่อยหลายทีเหมือนกันกว่าจะขาด เพราะว่าแก่นของกิเลส ความยึดของมันเคยยึดกันไว้ พอเวลามันแยกออกจากกัน เหมือนกระแสน้ำ ตัดกระแสน้ำออกไปมันก็เข้ามาชนกันใหม่ ตัดกระแสน้ำออกไปมันก็เข้ามาชนกันใหม่ ตัดจนกว่ากระแสน้ำจะขาดออกไป
หัวใจกับกายนี้มันยึดกันมาโดยกิเลส กิเลสนี้มันเป็นแก่นของกิเลส มันเหนียวมาก มันยึดกันมา วิปัสสนาไปมันก็จะปล่อยๆ จะปล่อยจนกว่ามันจะขาดออกไป พอมันขาดออกไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต อุปาทานที่มันยึดไว้มันไม่มีแล้ว พอมันไม่มี มันปล่อยไปหมด นี่กามราคะ-ปฏิฆะอ่อนไปเฉยๆ วิปัสสนาเข้าไป เห็นไหม อ่อนไปเฉยๆ นี่จะมีความสุขนะ เวิ้งว้าง เดินไปไหนเหมือนไม่ได้เดิน ตัวนี้จะเบามาก เบามาก นี่ความสุขเกิดขึ้นในวิปัสสนา เป็นผู้รู้ขึ้นมาเรื่อยๆ
จากผู้ที่ไม่รู้ เราแก้ไข เราทำอยู่นี้คือเราแก้ไขสิ่งที่ไม่รู้ให้มันรู้ขึ้นมา ให้มันรู้ขึ้นมาที่กลางหัวใจของเรา เห็นไหม พอรู้ขึ้นมาๆ จากสติ พอเป็นมหาสติ เราต้องสร้างขึ้นมา ตรงไหนถึงจะเป็นสติล่ะ ตรงไหนถึงจะเป็นมหาสติล่ะ
นี่จะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา ก็ช่วงที่ว่ากายกับใจนี้แยกออกจากกันโดยอิสรภาพแล้ว แต่กาย กายในกาย กายของใจนี้เป็นกามทั้งหมด แต่การจะจับตัวของใจที่ให้มันเป็นกายจะจับอย่างไร นี่มันถึงต้องใช้มหาสติ คำว่า มหาสติ ต้องเพิ่มขึ้นมา เพิ่มสติขึ้นมาให้มากขึ้นไปๆ มรรคถึงละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ
มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม มรรคหยาบๆ ก็เป็นมรรคหยาบๆ อยู่ข้างล่างนี้ พอยกสูงขึ้นไป มรรคจะละเอียดขึ้นไป จากสติกลายเป็นมหาสติ จากปัญญากลายเป็นมหาปัญญา นี่มันพัฒนาขึ้นไป จากเด็กน้อยๆ ความคิดของเด็กก็อีกส่วนหนึ่ง พอพัฒนาตัวเองเป็นผู้ใหญ่ ความคิดของเด็กมันหายไปไหนล่ะ ทำไมเดี๋ยวนี้เป็นผู้ใหญ่รู้เท่าทันคนล่ะ ความรู้เท่าทันคนเพราะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มีประสบการณ์ของชีวิต
ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ก้าวเดิน ทำสัมมาสมาธิเข้ามา นั้นคือการเป็นเด็กน้อย เราพัฒนาใจของเราขึ้นมาเรื่อยๆ ใจเราพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ มันก็ก้าวเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนสร้างมรรคสร้างผลขึ้นมา สร้างมรรคขึ้นมา ชำระใจขึ้นมา ชำระอวิชชาจนเป็นวิชชาขึ้นมาเรื่อยๆ จากในหัวใจเข้าไปเรื่อยๆ มันก็สร้างเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา จากสติก็เป็นมหาสติสิ จากปัญญาก็เป็นมหาปัญญา เห็นไหม จากปัญญาเล็กน้อยนี่แหละ กลายเป็นมหาปัญญาขึ้นมาได้ จากสติที่ล้มลุกคลุกคลานก็ตั้งเป็นมหาสติขึ้นมาได้ การเป็นมหาสติ-มหาปัญญานี่ยกขึ้นเป็นมรรคอริยสัจจังขึ้นมาได้ ถ้าไม่ยกขึ้นเป็นมรรคอริยสัจจัง มันก็จะไม่ยกขึ้นเป็นวิปัสสนาขึ้นมาอีก
วิปัสสนาและสมถะ แล้ววิปัสสนาเป็นชั้นๆ เข้าไป ถ้ามีการก้าวเดิน วิปัสสนากับสมถะก้าวเดินสองเท้าขึ้นไป คนมีสองขาก้าวเดินออกไปสมส่วน คนมีขาเดียวกระโดดไปๆ เห็นไหม จะมีสมถะ จะวิปัสสนาอย่างเดียว อย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนคนก้าวกระโดดไป มันจะเป็นไปไม่ได้ในภาคปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นโลกของเขาสมมุติกันมันเป็นไปได้ เพราะมันเป็นโลกสมมุติ
แต่สัจจะความจริงมันเป็นไปไม่ได้เพราะมันสามัคคีกันไม่ได้ มันกระเทือน เห็นไหม เราแค่ทำสมาธิ แค่เราคิดอะไรรุนแรงขึ้นมามันยังกระเพื่อมออกมาเลย ถ้าคิดอะไร พุทโธนิ่มๆ เข้าไป ปล่อยวางเข้าไปเรื่อยๆ จนสนิทเข้าไป พอเราคิดอะไรรุนแรงขึ้นมามันจะถอนออกมาทันทีเลย อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อวิปัสสนามันหมุนเข้าไปๆ มันต้องใช้สมถะเข้าไปเป็นพื้นฐานเข้าไป นี่มหาสติ-มหาปัญญามันเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว มันยกเข้าไปแล้ว มันถึงจะเข้าไปจับกายของจิตได้ไง การจับกายของจิตได้นั้นคืออสุภะ-อสุภัง อสุภะคือกามราคะอยู่ที่กลางหัวใจนั่นน่ะ
เขาว่า ประพฤติปฏิบัติจะละโกรธ ละโลภ ละหลงนะ ใครก็อยากจะละโกรธ ละโลภ ละหลง ใครก็ละได้นะ แค่ทำความสงบเข้าไปก็ละได้แล้วความโกรธ เมื่อก่อนเคยโกรธมาก ก็เคยละได้แล้ว
อันนั้นมันเป็นการกด หินทับหญ้าไว้เฉยๆ ไง มันจะละโกรธ ละโลภ ละหลงได้มันต้องมาละไอ้ตรงกามราคะนี้ต่างหากล่ะ กามราคะนี้มันเป็นความเพลิดเพลิน มันเพลิดเพลินในตัวมันเอง เห็นไหม แต่เดิมว่าสิ่งที่ไม่รู้นี้เป็นอวิชชา อวิชชา สิ่งที่ไม่รู้ มันไม่รู้โดยธรรมชาติเฉยๆ มันพาเกิดพาตาย แต่มันเกิดตายตรงนี้ มันเกิดตายกันตรงกามราคะนี้ไง ตรงกามราคะนี้มันยึดมั่นถือมั่นให้ดวงใจทำลายกันตลอดเวลา ไม่ทำลายดวงใจคนอื่นมันก็ทำลายดวงใจมันเอง ดวงใจของมันเองทำลายดวงใจของมันเอง เพราะอะไร เพราะมันหลงใหลในตัวมันเอง มันหลงใหลได้ปลื้ม มันไปปกคลุมสิ่งที่ไม่รู้อีกชั้นหนึ่งไง สิ่งที่รุนแรงที่สุด โลกนี้ ในกามภพนี้มีความรุนแรง มีความลุ่มๆ ดอนๆ คือมีความผูกพยาบาทอาฆาตกัน มันก็อยู่ตรงนี้ไง เพราะมันโลภ มันโกรธ มันหลง โลภ โกรธ หลงอยู่ที่กามราคะทั้งหมด ถ้าวิปัสสนากามราคะนี้ขาดไป เห็นไหม กามราคะ-ปฏิฆะขาด เวลาขาดนะ กามราคะก็ขาด ปฏิฆะคือความผูกโกรธก็ขาด
นี่ความโกรธ โกรธเพราะอะไร โกรธเพราะหลงในสิ่งนี้ โกรธเพราะโดนแย่งสิ่งนี้
ความพอใจ ฉันทะคือความคิด ความดำริของเรา ใครขัดก็ขัดใจแล้ว แค่พูดเสนอความเห็นออกไป ใครขัดความเห็นมันก็ไม่พอใจแล้ว ความไม่พอใจที่ว่าเขาขัดความเห็นของเรา นี่ความผูกโกรธเกิดขึ้น ความผูกโกรธ ความโกรธ โกรธจากตรงนี้ นั่นน่ะ ถ้าพิจารณา จับกายตรงนี้ได้ มันเป็นอสุภะ-อสุภัง ความที่มันเป็นอสุภะ-อสุภัง เพราะมันเป็นกามราคะ มันเป็นสิ่งที่สกปรก มันผูกโกรธ มันหลงในตัวมันเอง มันหลงใหลได้ปลื้มในตัวมันเอง มันโกรธในตัวมันเอง มันดื่มกิน มันใช้ตัวมันเอง ที่ว่าเกิดสงครามใหญ่เพื่อจะปกปิดใจ เห็นไหม ใจตัวเองนี้เป็นพลังงานเฉยๆ สงครามการเกิดขึ้น ในการปะทะปะทังกันอยู่ที่ตรงนี้ทั้งหมด สิ่งนี้รุนแรงที่สุดในการประพฤติปฏิบัติ
ในการประพฤติปฏิบัติ เรื่องที่รุนแรงที่สุดคือเรื่องของกามราคะ เรื่องของการข้ามภพข้ามชาติตรงนี้ไง เพราะถ้าตรงนี้ขาดแล้ว กามภพไม่เกิด เทวดาไม่เกิด เกิดเป็นพรหมอย่างเดียว เกิดเป็นพรหมแล้วก็ไปเลย เห็นไหม จะทำลายตรงนี้ มันถึงว่า สิ่งที่จะทำลายยาก ถึงต้องเป็นมหาสติ-มหาปัญญาถึงจะจับต้องได้นะ
การจะทำลายเขาต้องจับเชื้อของเขาได้ หมอจะรักษาโรคได้ต้องวิเคราะห์ว่าโรคนั้นเกิดจากเหตุใด ถ้าจับว่าโรคนี้เกิดจากเหตุใด ถึงจะชำระโรคนั้นได้ ถ้าไม่รู้ว่าเหตุเกิดจากโรคใด รักษาอย่างไร วิเคราะห์โรคอย่างไรก็วิเคราะห์ไม่ออก เห็นไหม ถ้าไม่สามารถจับใจตัวนี้ได้ ไม่สามารถจับกายของใจตัวนี้ได้ ก็ไม่สามารถสาวไปหาเหตุได้ ถ้าจับกายตัวนี้ได้ มันจะสาวไปหาเหตุ พอสาวไปหาเหตุ สงครามใหญ่เกิดมหาศาลเลย นี่จับตัวนี้ จับกายนี้ จับกายนี้เป็นอสุภะ-อสุภัง ความเป็นอสุภะ-อสุภัง นี้รุนแรง พอรุนแรง หมุนเข้าไป ทำลายกันๆ
เขาทำลายเรา คือกิเลสเป็นฝ่ายชนะ เราก็แพ้ เราแพ้นะ เราแพ้ หมายถึงว่า เราสู้ไม่ได้เลย การต่อสู้นี้รุนแรงมาก สู้ไม่ได้ ถอยมาๆ ต้องมาสร้างสมดุลของใจขึ้นมา สร้างสมาธิขึ้นมา สร้างฐานที่มั่นขึ้นมาแล้วก็เข้าไปต่อสู้ใหม่ มีแพ้มีชนะกันตลอดไป จนทำลายขาดออกไป จนสรุปแล้วนะ สรุปว่าทำลายขาดหลุดออกไปเลย เวิ้งว้างออกไป เป็นกามราคะหลุดออกไป ใจว่างหมดเลย ต่อไปนี้เป็นเรือนว่าง เป็นผู้ไม่มีเรือน พ้นออกจากเรือน นี่ไง ตัวนี้ถึงจะเป็นตัวที่ว่า ผู้ไม่รู้จริง
ตัวที่ไม่รู้จริงคือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ผู้ไม่รู้เป็นต้นเหตุใหญ่ เราวิปัสสนากันมาอยู่นี้ เพราะเราว่าตัวไม่รู้นี้พาเกิดพาตาย ขณะที่ว่าทำลายจนสิ่งที่ปกคลุมผู้ไม่รู้นี้ออกไปทั้งหมด ผู้ที่ไม่รู้นี้อยู่เก้อๆ เขินๆ นะ แล้วการจับตัวเก้อๆ เขินๆ มาทำให้เป็นผู้รู้ ต้องทำสิ่งที่ไม่รู้ที่พาเกิดพาตายนี้เป็นผู้รู้ขึ้นมา การจับผู้ที่ไม่รู้นี้ก็แสนยาก จับผู้ไม่รู้พิจารณาจนเป็นผู้รู้ ผู้ที่ไม่รู้พลิกเป็นผู้รู้ขึ้นมา พอเป็นผู้รู้ขึ้นมาเท่านั้นล่ะ การเกิดการตายนี้สิ้นสุดกัน เห็นไหม
จากสิ่งที่ผู้ไม่รู้พาเกิดพาตายไปตลอดนะ พาเกิดพาตาย เราก็เกิดตายมา เราเกิดมานี้ตายจากผู้ที่ไม่รู้ อวิชชาไม่รู้พาเราเกิดมาเป็นปัจจุบันนี้ เรามาประพฤติปฏิบัติ เราก็ก้าวเดินตามผู้ที่ไม่รู้นี้พาชักนำก้าวเดินพาเราออกไป สิ่งที่ว่าจะเป็นผลมันลากอยู่ข้างหลัง มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แล้วก็เป็นผลไม่ได้ เพราะสิ่งที่ไม่รู้นั้นอยู่หน้า
เราต้องพยายามใคร่ครวญ ใช้สติ ใช้สัมปชัญญะ พยายามก่อกำลังขึ้นมา ให้กำลังใจตัวเองขึ้นมา เพื่อจะให้สิ่งที่ไม่รู้นี้เปิดโอกาสให้เราได้ทำบ้าง ให้เรามีโอกาสได้หายใจบ้าง ไม่ใช่จูงจมูกเรา ชักเราจนเลือดสาดขนาดไหน จนเท้าเราก้าวเดินสิ่งที่ชักนำไปไม่ทัน สิ่งที่ชักนำนี้ชักนำไปตลอดนะ ก้าวเดินไม่ทันจนตัวขาดแขนขาด ล้มลุกคลุกคลานไป เห็นไหม อันนั้นคือสิ่งที่ไม่รู้พาเราไป ดูสิ เวลาโลกเขาตื่นกัน เขาตื่นกันขนาดไหน เวลาเขาตื่นทอง ตื่นสมบัติ เขาตื่นกันมาก ตื่นแล้วก็พยายามแสวงหากัน เบียดเสียดยัดเยียดเพื่อจะไปเอาสิ่งที่เห็นซึ่งๆ หน้า ถ้าไม่ได้ซึ่งๆ หน้า ก็ใช้เล่ห์ใช้กล นั่นน่ะ มันไม่รู้ทั้งนั้นเลย แล้วมันก็พาไป
แต่ถ้าผู้รู้เห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ เราก็ใช้ประโยชน์ สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ก็วางไว้ตามความจริง คือผู้รู้นี้จะนิ่งไง ไม่ตื่นไปกับเขา สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ ถึงว่า ให้ผู้รู้นี้มีโอกาส มีโอกาสได้คิด ได้วิตกวิจารณ์ขึ้นมาบ้าง ถ้าผู้รู้นี้มีโอกาสวิตกวิจารณ์ขึ้นมาบ้าง นี่ไง ธรรมมีอำนาจขึ้นมา ไอ้ผู้ที่ไม่รู้ในหัวใจมันก็ต้องยุบยอบลง
ในหัวใจเรามีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้นเอง มีกิเลสกับธรรม ถ้าปกติแล้ว ธรรมแทบไม่มีเลย ใหม่ๆ นี้กิเลสล้วนๆ เลย กิเลสทั้งนั้น ไม่มีธรรมขึ้นมาเลย ถ้าเราสร้างธรรมขึ้นมา นั่นล่ะผู้รู้จะเกิดขึ้นได้ๆ กิเลสจะปล่อยขึ้นมาให้ผู้รู้ได้ขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว แล้วเราก็ก้าวเดินไปๆ ก้าวเดินไปจนถึงที่สุดนี้ได้ อันนั้นเป็นอาชาไนย เป็นบุรุษ-เป็นสตรีอาชาไนย จะเข้าถึงตรงนี้ให้ได้ มันไม่สุดวิสัยในหัวใจของเรานะ
ในเมื่อเรามีหัวใจอยู่ หัวใจนี้มันเป็นพลังงานที่เกิดที่ตาย เป็นสิ่งเดียวที่เกิดที่ตายในภพนะ แต่จริงๆ ในตัวมันเองไม่เคยตาย จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้แสวงหาที่เกิดไปตลอดเวลา พระปฏิบัติเข้าไปจนถึงที่จุดหนึ่งแล้ว จิตที่ไม่เคยตายนี้มันจะเข้าไปสัมผัสกับผู้รู้ สิ่งที่เป็นจริง เห็นไหม ผู้รู้ที่เราพิจารณาเข้าไปจนถึงที่สุดนี้ เป็นผู้รู้ เป็นวิชชาขึ้นมา ถ้าถึงวิชชาขึ้นมาแล้ว เป็น เอโก ธมฺโม ขึ้นมาแล้ว มันสมานเป็นเนื้อเดียวกัน
จิตนี้ไม่เคยตาย ธรรมะนี้ ของนี้เป็นของประเสริฐที่สุดที่ไม่หมุนเวียนใน ๓ โลกธาตุอีกแล้ว แล้วมันเข้าไปสัมผัสเป็นเนื้อเดียวกัน มันเข้าไปสัมผัสกัน เป็นอันเดียวกัน พอเป็นอันเดียวกัน มันถึงมีที่อยู่ใหม่ จากวัฏวนที่เกิดที่ตาย เกิดๆ ดับๆ ตามแต่กรรมที่จะพาไป เห็นไหม กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เกิดๆ ดับๆ จะไปอยู่อีกสถานะหนึ่ง สถานะระหว่างธรรมกับผู้รู้นี้เป็นเนื้อเดียวกัน จิตนี้ถึงไม่เคยตายไง แต่ถ้าไม่เคยตายอย่างเรา มันเกิดมันตายนี่มันแสนทุกข์ กับประพฤติปฏิบัติทุกข์ยากแสนเข็ญขนาดไหนก็ทุ่มทั้งชีวิต มันมีคุณค่ามากกว่า
เรามาหลงระเริงในชีวิตนี้มากมายนัก หลงอยู่ในชีวิตนี้ หลงวุ่นวายอยู่ในชีวิตนี้ แล้วก็ตายไป แล้วก็ไปเกิดใหม่ ไปเกิดในสถานะไหนก็ยังไม่รู้เลย จะเจอธรรมหรือไม่เจอธรรมก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราทุ่มทั้งชีวิตนะ มันต้องได้ผลขึ้นมา เพราะอะไร เพราะว่า เราทำจริง สัจจะอันนี้มีอยู่จริง กาลเวลาไม่สามารถกั้นมรรคผลนิพพานได้ กาลเวลาไม่สามารถกั้นได้ มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง เพียงแต่เราทำไม่จริง หนึ่ง ถึงทำจริงขึ้นมา แต่ครูบาอาจารย์สอนไม่ตรงหลัก หนึ่ง
๑. ครูบาอาจารย์สอน
๒. เราประพฤติปฏิบัติเข้าไปตลอดเวลา
ถ้าครูบาอาจารย์นั้นสอนผิด มันก็จะผิดจากหลักความจริงของเรา ในเมื่อเราปฏิบัติขึ้นมา หลักความจริงเรามีในหัวใจขึ้นมาแล้ว ถ้าครูบาอาจารย์องค์ไหนชี้นำในหลักของเราให้ก้าวเดินไปได้ ครูบาอาจารย์องค์นั้นก็เป็นครูบาอาจารย์ของเราได้ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่สามารถชี้สิ่งที่สูงขึ้นมาจากที่เราก้าวเดินขึ้นมา จะเป็นครูบาอาจารย์ของเราได้อย่างไร
ครูบาอาจารย์ก็มีอยู่ที่สามารถชี้เรื่องใจของเราให้สูงขึ้นๆ คือเราประพฤติปฏิบัติขนาดไหนก็แล้วแต่ ครูบาอาจารย์ยังชี้นำใจของเราให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดไป นั่นคือครูบาอาจารย์ของเรามี ใจเรามี