ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วิสาขบูชา

๘ พ.ค. ๒๕๕๒

 

วิสาขบูชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาฟังเทศน์ เห็นไหม ถ้าฟังเทศน์ส่วนใหญ่ ฟังเทศน์ส่วนรวม มันมีคนทั่วไป เวลาคนพูดก็ต้องพูดให้เขาเข้าใจได้ทั่วถึงกัน แล้วเวลาพวกโยมเข้ามาใหม่ๆ เวลาเข้ามาฟังเทศน์นะ ในโพธาราม เขาเบื่อมาก หลวงพ่อพูดอะไรก็นิพพานๆ หนูอยากรวย ทำอย่างไรมันถึงรวย

เขาก็คิด คิดกันแค่นั้นไง ไม่ต้องการนิพพาน ต้องการไปแค่สวรรค์ ต้องการทำแล้วประสบความสำเร็จ เขาคิดของเขาอย่างนั้นนะ เวลาคิดโดยกิเลส คิดกันอย่างนี้ คิดว่าทำบุญแล้วต้องได้บุญ แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วจะเข้าใจ จะเข้าใจว่าคนมันจะได้บุญ คนทำบุญจะได้บุญ มันต้องมีพื้นฐานมา ไม่มีพื้นฐานมาเลย

อย่างเช่น พวกเรานี่ไม่ได้เปิดธนาคารไว้ ในธนาคารเรานี่ไม่มีตัวเลขอะไรเลย เราจะไปเบิกธนาคารได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ แต่ทีนี้เราไม่ได้ฝากธนาคารมาเลยในปัจจุบันนี้ เห็นทำบุญก็จะเบิกเลย จะเบิกเลย คือว่าจะทำบุญแล้วต้องได้บุญเลย ทำบุญแล้วได้บุญจริงๆ

แต่เวลาคนจะไปเปิดบัญชีธนาคารมันต้องมีเอกสารไปใช่ไหม มันต้องมีหลักฐานไปเขาถึงเปิดบัญชีได้ ถ้าคนๆ นั้นไม่มีหลักฐานเลย ไม่มีเอกสารใดๆ เลย ไปเปิดบัญชีธนาคาร ใครเขาจะให้เปิด

จิตของคนที่มาเกิด! จิตของคนที่มาเกิดถ้าทำคุณงามความดีมา มีพื้นฐานมา เขามีหลักฐานของเขามา เขามีพื้นฐานของเขามา พอทำสิ่งใดปั๊บ มันจะเป็นบุญตอบสนองทบทวีคูณเข้าไป แต่ถ้าจิตใจของเรามันเป็นตัวแดงมา เอกสารของเราไม่ถูกต้องมา เอกสารไม่ถูกต้องมา เราต้องเดินเรื่อง ต้องทำเรื่อง จนให้เอกสารของเราเป็นถูกต้องตามกฎหมาย แล้วเราถึงจะไปเปิดบัญชีได้

ในการทำบุญก็เหมือนกัน ในการทำบุญมา พวกเราน่ะมันมีบาปมา มีสิ่งต่างๆ ที่ถ่วงเรามา พอทำสิ่งนี้ไป ทำให้เราดีขึ้นเยอะเลย ถ้าไม่ทำให้เราดีขึ้น เราไม่ทำไป เราจะมีความทุกข์มากกว่านี้ มีความทุกข์มากกว่านี้นะ

แต่พอเราทำแล้ว มันก็ไปถมไง ไปถมสิ่งที่เป็นที่น้ำท่วม ที่อะไร ในพื้นที่ในใจของเรา เห็นไหม เราได้ทำตรงนั้นปั๊บ แล้วพอมันเป็นปัจจุบัน ทำไมไม่ตอบสนองล่ะ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว การทำนั้นได้หมด ต้องได้ เพียงแต่พื้นที่เราต่ำ พื้นที่เราสูง พื้นที่เราเป็นอย่างไร

ถ้าพื้นที่เราต่ำนะ เราถมไป ถมหายๆ นะ แล้วเมื่อไหร่มันจะเต็มสักทีล่ะ ก็เราทำมา เราทำมา แต่ถ้าพื้นที่เราสูงนะ พื้นที่เราเป็นที่ดอนนะ ถมหน่อยเดียวปรับพื้นที่ได้เลย เขาทำบุญของเขาน่ะ นี่ไงบุญ เขาบอกทุกคนจะเกี่ยงกันนะ ทำไมคนนี้ทำบุญแล้วเขาได้บุญ โอ๊ย คนนั้นก็ถูกรางวัลที่หนึ่ง คนนี้ถูกรางวัลที่หนึ่ง เราไม่ถูกสักที

อันนี้มันเป็นลาภของเขานะ ดูสิทางกฎหมายนะ ลาภไม่ควรได้ ลาภที่ไม่ควรได้ ลาภที่ควรได้ ตามกฎหมายยังมีสิทธิเลยนะ ลาภที่ได้มาแล้วเป็นโทษ ลาภที่ได้มาแล้วเป็นคุณ เห็นไหม ลาภที่ได้มากับลาภที่ไม่ได้มา มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องไม่ถูกต้อง

ทีนี้ในปัจจุบันนะ ทำดี ทำดีของเรา ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เราทำดีอยู่แล้ว เป็นความดีแน่นอน บุญกุศล เห็นไหม อย่างเช่นวันนี้ วันนี้เรามาทำบุญ ทุกคน มันเป็นจุดยืนไง ทุกคนเป็นชาวพุทธใช่ไหม แล้วชาวพุทธ จริงๆ นะ เราไม่ได้เรียกร้องให้คนมาศรัทธา เรียกร้องให้คนมาทำบุญนะ ไม่ใช่เรียกร้อง แต่มันเป็นข้อเท็จจริง

เวลาเราพูด ในวงการพระ พระเขาบอกให้ทำบุญๆ ก็พระเป็นคนได้ เช่นตอนเช้ามันได้ไหม มันเป็นภาระนะ มันเป็นภาระจนเกินกว่าเหตุ แต่มันเป็นสิทธิของเขาเพราะเราอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านป้องกันทุกอย่างให้พระนี้ปฏิบัติ แต่ท่านพูดกับพระ เว้นไว้อย่างเดียวที่ผมป้องกันให้ไม่ได้ คือตอนเช้าเขามาใส่บาตร

ท่านบอกว่าท่านป้องกันให้ไม่ได้ เพราะมันเป็นสิทธิของเขา สิทธิของคนที่เขามีศรัทธา เขามีความเชื่อของเขา เขาจะเอาบุญของเขา เราจะไปห้ามไม่ให้เขาทำบุญนะ มันเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อสิทธิของเขา เขาจะมาทำบุญ เราจะไปห้ามเขาไม่ให้มา เป็นไปไม่ได้

ในเมื่อสิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้แล้ว มันต้องเป็นความฉลาดของพระแล้ว ว่าพระเวลาเขามาทำบุญ เราจะรับเขาอย่างไร ปฏิคาหกไง ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ ถ้าผู้รับเป็นผู้บริสุทธิ์ เราจะรับของเขาด้วยวิธีการอย่างไร ด้วยความเห็นสมเหตุสมผล เป็นประโยชน์ของเขาอย่างใด

แต่ถ้าเราจะไปห้ามเขาเลยไม่ได้เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดถึงทำบุญๆ บุญมันเป็นการเสียสละนะ การเสียสละ ผู้ให้กับผู้รับ ผู้ให้มันมีบุญกุศล มันชื่นใจมากกว่าผู้รับ แต่ในเมื่อพระ พระนี่เป็นผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ไม่มีอาชีพ พอไม่มีอาชีพ มันถึงมีการทำบุญไง

เวลาครูบาอาจารย์บอกนะ มีศาสนาพุทธศาสนาเดียวที่มีการทำบุญ ศาสนาอื่นไม่มี ไม่มีเพราะอะไร เพราะไม่มีภิกษุ ไม่มีสงฆ์ ไม่มีศาสนาไง มีพระ มีในพุทธศาสนานี่มีพระ พอมีพระขึ้นมา มีการทำบุญ ศาสนาอื่นไม่มีการทำบุญ แต่เขาพูดของเขาไป

ยิ่งศาสนาอื่นนะ เขาใช้หักเงินกันเฉยๆ เอาเงินมาหมุนเวียนกันเฉยๆ ไม่มีการทำบุญ แต่เขาเข้าใจเห็นไหม เวลาบอก เป็นธรรมๆ ทุกศาสนาว่าเป็นธรรมหมด แต่ธรรมของใคร ย้อนกลับมา วันวิสาขะ ประชุมๆ กันอยู่นี่ เห็นไหม

เขามา เมื่อวานก็มา พวกโยมเขามานั่งเสียใจว่า

“หลวงพ่อ ผมเห็นพระนะ ให้ฤๅษีทำพิธี แล้วไปนั่งยกมือไหว้กันน่ะ ผมสลดสังเวชมากเลย”

ทั้งๆที่เขาเป็นคฤหัสถ์นะ แล้วเราเป็นพระเห็นไหม ถ้าเป็นพระไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร

นี่ไง ที่เราบอกเห็นไหม เพราะว่าลัทธินี่ ลัทธิแนวนี้ นิกายต่างๆ มันมาจากไหน ดูอย่างว่าเซนๆ ว่าเซนมาจากไหน ไอ้อย่างสว่างโพลง ไอ้ลัดสั้นมาจากไหน มาจากสังฆราชที่ ๖ ที่ ๗ ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงโพธิธรรม โพธิธรรมมาจากพระกัสสปะ พระกัสสปะมาจากไหน พระกัสสปะก็มาจากพระพุทธเจ้านั่นน่ะ เพราะเซนเขาถือว่าพระกัสสปะเป็นต้นสายนะ

เพราะในพระพุทธเจ้า เวลาท่านเทศน์ท่านชูดอกไม้ดอกหนึ่ง พอชูดอกไม้ดอกหนึ่ง พระสารีบุตรไม่เข้าใจ ทุกคนก็ไม่เข้าใจ แต่พระกัสสปะยิ้ม ยิ้มเข้าใจว่า เพราะชูดอกไม้ขึ้นมา ดอกไม้ก็อนิจจังไง มันเป็นเทศน์กัณฑ์หนึ่ง เขาถือว่าพระกัสสปะเป็นต้นสาย

ทีนี้พระกัสสปะเป็นลูกศิษย์ใคร พระกัสสปะก็เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พระกัสสปะตรัสรู้เองได้อย่างไร พระกัสสปะตรัสรู้มาจากพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าเป็นคนสอน แล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไร พระพุทธเจ้าสอนพุทโธไง! พระพุทธเจ้าสอนพุทโธ!

แล้วอย่างในปัจจุบันนี้ อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ อย่างหลวงปู่ดูลย์เป็นพระอรหันต์ไหม เรายอมรับหลวงปู่ดูลย์เป็นพระอรหันต์ แล้วหลวงปู่ดูลย์ฝึกมาจากใคร ก็ฝึกมาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่ดูลย์ลูกศิษย์ใคร เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นสอนอะไร สอนพุทโธ นี่ต้นขั้ว

ถ้าเราจับต้นขั้วจับที่มาถูกนะ ไอ้ที่แตกออกมาแล้ว มันก็แตกเป็นนิกายไป เป็นความเห็น เป็นมุมมองไป มันเป็นมุมมองไป แล้วพอมุมมองอันนั้นขึ้นมาแล้ว ถ้าเราย้อนกลับไป ไปที่ไหน ก็พุทโธทั้งนั้น มาจากพุทโธ มาจากพระพุทธเจ้า แล้วในประชุมสงฆ์ๆ กันนี้ ประชุมอะไร ประชุมทางวิชาการ ประชุมทางวิชาการแล้วได้อะไรขึ้นมา

พระพุทธเจ้าประชุมกับใคร พระพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา พระพุทธเจ้าประชุมกับใคร พระพุทธเจ้าสอนไว้นะ ไม่ให้คลุกคลี ให้หลีกเร้น ให้หลีกเร้นไม่ให้คลุกคลี ให้ค้นคว้าหาตัวเองขึ้นมาให้ได้ แล้วนี่ไปทำอะไรกัน นี่ไงเราบอกผู้นำ ถ้าผู้นำที่ดีนะ

ดูสิ วิสาขะ สมัยตั้งแต่สมเด็จญาณฯ เห็นไหม ท่ามกลางสนามหลวง ท่ามกลางพุทธมณฑล มีแต่คนนั่งสมาธิ เป็นพรืดไปหมดเลย เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร มันอยู่ที่ผู้นำน่ะ! ผู้นำ! ผู้นำน่ะ! ถ้าผู้นำที่ดี ศาสนาสอนอะไร แล้วตัวศาสนาอยู่ที่ไหน ตัวศาสนาเห็นไหม ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันมีความรู้สึกไง ตัวศาสนานี่

ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย สิ่งที่สัมผัสศาสนาได้คือความรู้สึก คือหัวใจของเรา กระดาษมันเปื้อนหมึก กระดาษมันจะเขียนเป็นตำราอะไรก็ได้ แล้วเราประชุมกันๆ ประชุมอะไรกัน ประชุม ทางวิชาการ มันเป็นวาระนะ เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ปริยัติมันก็เหมือนพวกเรานี่ พวกเรานี่มีการศึกษามา ตอนที่เราศึกษากันน่ะ นั่นน่ะปริยัติ แล้วตอนนี้จะมานั่งศึกษาอยู่ได้ไหม ตอนนี้ต้องทำมาหากินใช่ไหม ตอนนี้ต้องมีหน้าที่การงานใช่ไหม ปริยัติแล้วต้องปฏิบัติ นี่ปริยัติแล้วปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติไม่เป็น ปริยัติตั้งแต่เกิดจนตายนะ คือเกิดมาก็เรียนหนังสือ เรียนจนตายมันก็ยังเรียนอยู่นั่น มันไม่ทำงาน

คนไม่ทำงานจะมีกินไหม คนไม่ทำงานมีอาชีพไหม นี่ก็เหมือนกัน การประชุมน่ะมันเป็นปริยัติ มันเป็นการศึกษาทางวิชาการ แล้วปฏิบัติทำอะไรกัน แล้วเวลาเราปฏิบัติแล้วเราไปห่วงปริยัติได้อย่างไร ทีนี้พอปฏิบัติไปแล้ว อย่างที่พูดเมื่อกี้ อย่างที่ว่าฤๅษีชีไพร เขามาสวดมนต์ พระต้องมาเคารพ

ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เราเป็นพระเห็นไหม เราเป็นพระ เราทำอะไรผิดพลาดอะไรขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติ พุทโธๆๆ มึงหลอกตัวเอง เมื่อกี้ทำอย่างนั้นยังผิดอยู่เลย มันเกิดนิวรณ์ มันเกิดความลังเลสงสัย มันเกิดในหัวใจ ถ้าความลังเลสงสัยมันเกิดขึ้นมาในใจ มันจะปฏิบัติได้อย่างไร

การปฏิบัติ เห็นไหม ศีลต้องบริสุทธิ์ ถ้าศีลบริสุทธิ์ขึ้นมา เพราะศีลนี่ ทุกคนบอกมา ศีลไม่ต้องอะไรก็ได้ ปฏิบัติไปเลย ถ้ามันปฏิบัติไปเลย ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา จิตมีกำลังขึ้นมา มันไม่มีศีลควบคุม มันจะทำอะไรโดยอำนาจของกิเลสหมดเลย แต่ถ้ามีศีลขึ้นมานะ

ปาณาติปาตานี่สำคัญมาก ไม่รังแกใครทั้งสิ้น ไม่รังแกแม้แต่ตัวเอง ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนใครเลยนะ ปาณาติปาตา ไม่ทำร้ายใคร ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำอะไรต่างๆ แล้วไอ้สัตว์ตัวนี้สำคัญที่สุดเลย สัตตะผู้ข้อง ในหัวใจเรานี่เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง แล้วสัตตะพวกนี้มันข้อง มันข้องในตัวมันเอง ถ้าสัตตะตัวนี้ไม่ข้องนะ สัตตะตัวนี้มันต้องเอาตัวมันรอดได้

สัตตะ สัตว์ผู้ข้อง โปรดสัตว์ๆ น่ะโปรดตัวเอง ถ้าสัตว์ตัวนี้มันเอาตัวมันพ้นได้ เห็นไหม ถ้าสัตว์ตัวนี้มันเอาตัวมันพ้นได้ เอาตัวมันให้มันไม่เบียดเบียนใครได้ เห็นไหม นี่ไง ศีล ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าตัวศีลมันตัวปกติของใจ ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมา ดูสิ แม้แต่ตัวเองยังไม่เบียดเบียนตัวเอง แล้วเป็นสมาธิขึ้นมา มันจะเป็นสัมมาไหม มันสมควรแก่การงานไหม

แต่ถ้าเราไม่บริสุทธิ์นะ ศีลมันไม่บริสุทธิ์ใช่ไหม พอเป็นสมาธิขึ้นมา ก็สมาธิของกู โอ๊ย กอดแน่นเลยนะ โอ้โฮ กูแน่ กูวิเศษ กูเป็นผู้มีอุตริมนุสธรรม ธรรมเหนือโลกไง รู้โน่นรู้นี่ ไร้สาระมากเลย แต่ถ้ามันไม่เบียดเบียนตัวเอง เห็นไหม สมาธิ

พระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน แล้วพระสงฆ์นี่นั่งล้อมเต็มไปหมดเลย พระสงฆ์นั่งล้อมพระพุทธเจ้าหมดนะ แล้วพระสงฆ์ที่นั่งล้อมพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ แล้วเป็นเอตทัคคะ เป็นเลิศ เลิศทุกๆ ทางเลย พระอุบาลีเป็นคนถาม พระอุบาลีเป็นผู้ทรงวินัยนะ เป็นพระอรหันต์นะ เป็นผู้ทรงวินัย ถามขึ้นมาท่ามกลางสงฆ์ว่า

“พระพุทธเจ้านี่ไม่ใช่ปรินิพพานไปแล้วหรือ เห็นนอนเฉยๆ อยู่นี่”

พระอนุรุทธะ เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แล้วพระอนุรุทธะได้เอตทัคคะในทางรู้จิต บอก “ไม่ใช่! ปัจจุบันพระพุทธเจ้ายังเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เข้าอากาสานัญจายตนะ” เข้าสมาบัติ เห็นไหม แล้วถอยกลับมา

นี่ไง เราจะบอกว่า นิพพานของพระพุทธเจ้า แล้วนิพพานพระพุทธเจ้ามาเข้า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไอ้ทุติยฌาน ตติยฌาน กับนิพพานอันเดียวกันหรือเปล่า สมาธิกับจิต จิตที่เป็นสมาธินี่ สมาธินี่เป็นความสงบของใจ แล้วตัวจิตมันเป็นอะไร ตัวจิตน่ะ

แล้วสมาธิมันถึงเกิดดับไง สมาธิมันถึงเกิดแล้ว มันเกิดขึ้นมา แล้วมันมาที่ใจใช่ไหม แล้วมันเป็นอนิจจัง มันก็เสื่อมเป็นธรรมดา สมาธินี่ สมาธิเกิดที่จิต แล้วมันก็เสื่อมไป แล้วจิตเสื่อมไปไหม ความรู้สึกของเราเสื่อมไปไหม ความรู้สึกของเราอยู่โดยปกติ ใช่ไหม แต่มันเร่าร้อนไง แต่พอมีสมาธิขึ้นมา มันอบอุ่นเห็นไหม เพราะมันร่มเย็น

แต่ว่าสมาธิเสื่อมไป จิตมันก็ยังอยู่ เห็นไหม เพราะทำจิตให้มันสงบ อย่างในวัฏฏะๆ สิ่งที่ไม่เบียดเบียนตน เห็นไหม ถ้ามันไม่เบียดเบียนตน มันก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ถ้าไม่เบียดเบียนผู้อื่น นี่ไง ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวศีลนี่สำคัญมาก แต่คนมองข้ามหมดนะ เพราะตัวศีล คำว่าศีลนี่คือความปกติของใจ

ถ้าใจมันไม่เบียดเบียนคนอื่น มันไม่ทำลายคนอื่น มันไม่ทำลาย คำว่าทำลายของมันคือคิดเฉยๆ นี่แหละ มโนกรรมนี่ คิดทำลาย คิดเบียดเบียน ตัวคิดเบียดเบียนมันทำให้ความเป็นสมาธิของเรานี่บิดเบือน มันไม่เป็นกลางไง แต่ถ้าเราไม่เคยคิดจะทำลายใครเลย ไม่เคยยึดมั่นในตัวเลย ไม่กลัวสิ่งใดเลย พอมันเกิดขึ้นมา มันก็เป็นสัจธรรมของมัน มันเป็นสัมมาสมาธิไง

เป็นสัมมาสมาธิแล้วสติมันพร้อมไง นี่ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเวลาเห็นฤๅษีชีไพรเขาเข้าสมาธิ นั่นสมาธิของเขานะ พวกฤๅษีชีไพรเขาเข้าสมาธิ เขาว่าเขาได้สมาธิ เขาว่าสมาธิเขา เขารู้ของเขา เขาทำ เขาถือมงคลตื่นข่าวของเขา ไอ้นั่นมัน มันถือของเขา เพราะเขาไม่ใช่สัมมาสมาธิแบบในพุทธศาสนา

พุทธศาสนา ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวสมาธิจะเป็นตัวทำให้พวกเรากลับมาเป็น กลับมาถึงจุดยืนของตัวเอง แล้วนี่ พอจุดยืนของตัวเอง ตัวเองจะพัฒนาไปอย่างไร ถ้าตัวเองยังไม่พัฒนาไป มันถึงสำคัญว่าต้องกลับมาตรงนี้ ถ้ากลับมาตรงนี้ได้ มันจะเป็นโลกุตตรธรรม มันจะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นมาโดยที่ไม่มีตัวเราบวก เห็นไหม มันถึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

แต่สิ่งที่มันเกิดมา ที่บอกว่านี่ เห็นไหม ที่ทำต่างๆ มันเป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญาเพราะอะไร โลกียปัญญาเพราะมันเกิดจากเรา เกิดจากความคิด เกิดจากฐานความคิดทั้งหมดเลย เกิดจากโลก เกิดจากสัตตะ เกิดจากผู้ข้อง อ้าว กูก็มีสมาธิ กูก็มีปัญญา กูก็มีนิพพาน กูมีทุกอย่างเลยนะ แต่กูไม่มี

เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป มันเป็นอนิจจัง มันไม่ใช่ตัวจิต ไม่ใช่ตัวจิตเป็น มันเป็นตัวความคิดเป็น ตัวความคิดเป็น เห็นไหม แล้วพอไปสร้างกัน มันก็เหมือนในปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้เราไปวัด เห็นไหม ถ้าวัดไหนสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์นะ โอ้โฮ วัดไหนนะดูมหัศจรรรย์ โอ้โฮ วัดนี้สุดยอดๆ ทางโลกเขาสร้างได้ดีกว่านี้อีก

แต่เรื่องจิตไม่มีใครรู้ เรื่องจิตนี่นะมันมีแต่ครูบาอาจารย์ของเรา ผู้รู้กับผู้รู้นี่จะถึงกัน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมานี่มันเป็นโลกียะ มันเป็นเหมือนกับไอ้สิ่งที่เป็นวัตถุที่จับต้องได้ แล้วเราไปตื่นเต้นกันเพราะเราเอาความคิดกับความคิดจับกัน เอาความคิดกับความคิดสื่อสัมพันธ์กัน เอาความคิดเอาสัญชาตญาณคุยกัน

แต่ถ้าเป็นธรรมะนะเอาความรู้สึก สมาธิไม่เคยเกิดขึ้น คนพูดสมาธิผิดหมด จิตดวงใดไม่เคยสัมผัสสมาธินะ พูดเรื่องสมาธิ ๑๐๐ ครั้งก็ผิด ๑๐๐ ครั้ง เพราะเขาไม่รู้ไม่เคยเห็น ถ้าเขาไม่เคยมีปัญญา พูดเรื่องปัญญา ๑๐๐ ครั้งก็ผิด ๑๐๐ ครั้ง แต่ถ้าคนที่เป็นนะ เขาเป็นสมาธิในหัวใจ พูดกี่ครั้งก็ถูกทุกครั้ง

ย้อนกลับมาเวลาพูดธรรมะ เวลาสอน สิ่งที่ทำกันอยู่ รู้ทางวิชาการ แต่ไม่รู้โดยปัจจัตตัง ไม่รู้โดยสัมผัสของจิต รู้ทางวิชาการท่วมหัว พูดผิดหมด! ผิดหมด! พระพุทธเจ้าบอกโปฐิละ โปฐิละเป็นคนที่ เป็นปริยัติที่สอนทางวิชาการ จำตำราได้เยอะมาก แล้วสอนจนลูกศิษย์นี่ล้อมหน้าล้อมหลังเต็มไปหมดเลย พูดนี่ไม่ผิดจากพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าพูดคำไหน โปฐิละพูดได้คำเดียวกันเลย ถูกต้อง เปี๊ยะ! พูดได้เหมือนพระพุทธเจ้าหมดเลย

พระพุทธเจ้าบอกว่า “โปฐิละ ใบลานเปล่า โปฐิละ ความรู้เเปล่า โปฐิละ ความเห็นเธอเปล่าๆ ไม่มีอะไรเลย” ก็จำมา จำมาเปี๊ยะ จนโปฐิละเสียใจมาก เอ๊ะ เราก็ทำคุณงามความดีมาขนาดนี้ เผยแผ่ศาสนามาขนาดนี้ ไปไหนมีแต่คนนับหน้าถือตามาก โอ้โฮ ลูกศิษย์ลูกหา สอนไว้มากมายขนาดนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าไม่เคยชมเราเลย

พระพุทธเจ้าไม่เห็นคุณงามความดีเราแม้แต่นิดเดียว พระพุทธเจ้ามีแต่ติเราตลอดเวลา คิดไปมีแต่ความเสียใจ ถ้าอย่างนั้นเราต้องปฏิบัติไง ทิ้งเลยนะ ทิ้งสถานะที่เป็นหัวหน้าสอนเขา ไปหาปฏิบัติกับพระป่า ไปปฏิบัติตั้งแต่หัวหน้า เห็นไหม ไปปฏิบัติกับสำนักปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติน่ะ วัดนั้น พระอรหันต์หมดเลย

หัวหน้าก็บอก “โอ๊ย ไม่ได้หรอก ท่านอาจารย์มีชื่อเสียงมาก พระพุทธเจ้าพูดอย่างไร ท่านอาจารย์พูดเหมือนพระพุทธเจ้าหมดเลย กระผมนี่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ผมไม่มีวาสนาหรอก” ก็ปัดไปเรื่อย บอกผมไม่มีวาสนา ไปองค์รองไป องค์รองก็ปัดไปเรื่อย จนถึงสามเณรน้อย มันก็น่าทึ่งน่ะ ตั้งแต่หัวหน้าจนสามเณรน้อยเป็นพระอรหันต์หมดทั้งวัดเลย

จนสามเณรน้อย พระอาจารย์บอกว่า “สามเณรน้อย เธอก็ลองดูหน่อยสิ อาจจะสอนได้” นั่นน่ะ มีความรู้ขนาดนั้นนะ ความรู้ ความรู้ในทางปริยัติกับปฏิบัตินะ มันคนละเรื่อง ไม่เหมือนกันหรอก ไม่ใช่อันเดียวกัน เราไปศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามาทั้งหมด มันก็คือการไปศึกษาทางวิชาการ ไม่ใช่! เพราะถ้ามันศึกษาทางวิชาการแล้วจบนะ พระเรานี่เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว แต่ศึกษาทางวิชาการมาขนาดไหนนะ มันเป็นดาบสองคม

ดาบสองคม พอศึกษามาแล้วเรารู้ เหมือนกับที่ทางโลกเขาเรียก “เลี่ยงบาลี” ยิ่งรู้มากยิ่งเลี่ยงมาก นักกฎหมาย เวลามันจะโกงแนบเนียนมาก นักกฎหมายมันรู้กฎหมายหมด เวลามันทำอะไร ถูกต้องตามกฎหมายหมดเลย โกงมึงหมดตัวเลย ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องถูกต้องตามศีลธรรมด้วย ศีลธรรมจริยธรรม เพราะว่าถูกต้องตามกฎหมาย แล้วต้องถูกต้องตามศีลธรรม ไม่ใช่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วผิดศีลธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย แต่โกงหมดทั้งบริษัทเลย โกงทั้งโคตรเลย เพราะถ้าปริยัติ มันทำอย่างไร มันก็รู้เป็นความจริงไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เราบอกประจำนะ พระไตรปิฎกนี่เหมือนตำราทำกับข้าว ตำราทำอาหาร แล้วหนังสือตำราทำอาหาร เราเคยเห็นอาหารที่มันไหลออกมาจากหนังสือไหม ไม่มีหรอก ไม่มี เราอ่านหนังสือแล้วเราต้องไปหาวัตถุดิบมาเข้าครัวทำอาหารออกมา มันถึงจะมีอาหาร ตำราทำอาหาร ไม่เคยมีอาหารออกมาแม้แต่หยดเดียว

พระไตรปิฏกทั้งตู้จะไม่มีธรรมะไหลออกมาแม้แต่หยดเดียวเลย มันเป็นตำรา แต่คนที่จะทำนี่ศึกษาตำรามาแล้ว ต้องไปหาวัตถุดิบหมด แล้ววัตถุดิบทางการปฏิบัติไม่เหมือนวัตถุดิบทางโลกด้วย ทางโลก เห็นไหม ดูสิ ทางวิชาการ เราจะสร้างบ้าน เราสั่งวัตถุดิบได้หมดเลย สติสั่งที่ไหน สมาธิสั่งที่ไหน ปัญญาสั่งที่ไหน ไม่มีขาย มันต้องหามาจากจิตหมดเลย

ตำราทำอาหารนะเขายังไปซื้อวัตถุดิบที่ตลาดได้ สั่งมา มีเงินจ่ายได้หมดเลย แต่ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ จะไม่มีซื้อขายในท้องตลาด ตำราทำอาหารนี่ละเอียดไปอีกชั้นหนึ่งนะ แล้วไปยึดมันอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทีนี้เป็นไปไม่ได้ เราต้องพยายามหาของเราขึ้นมา

สิ่งที่ศึกษามาแล้วไม่ต้องไปก้อปปี้ด้วย ในทางปฏิบัติที่ปฏิบัติเป็นพิธีกรรม พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นเลยนะ เขียนเป็นกรอบไว้อย่างนั้นเลยนะ แล้วเดินตามกรอบนั้น หลวงตาตอนที่ไปวัดนรนาถฯ เห็นไหม สมเด็จวัดนรนาถฯ บอก ดูสิ ให้หลวงตาดูปฏิจจสมุปบาท “ไม่ดูๆ” เพราะคนปฏิบัติเป็น โธ่ มันพูดแล้วมันซึ้ง มันไม่เป็นอย่างนี้หรอก

อันนี้มันเป็นวิชาการของพระพุทธเจ้า พุทธวิสัยนะ แล้วก็สาวกสาวกวิสัยนี่ เราเห็นอวิชชา จะไม่มีทางเห็นได้อย่างนั้นเลย ทางวิชาการท่านละเอียดมาก เหมือนกับไอน์สไตน์ บอกทฤษฎีสัมพันธ์ไว้ แล้วเราก็มานั่งพิจารณาเรื่องทฤษฎีสัมพันธ์กัน แล้วเราจะเห็นรู้ทันไหม

เรารู้ทันทางวิชาการ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ ปัจจยาการ มันสาย มันสืบต่อกัน เพราะมีเหตุนี้ถึงมีต่อๆ ไป ๑๓ ห่วงโซ่ แต่เวลามันเกิดจริงๆ มันพรึ่บๆๆ มันไม่เห็นหรอก ไม่เหมือน คนรู้จริงนะ อันนี้มันเป็นพุทธวิสัย มันเป็นวิญญาณของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้านี่ละเอียดอ่อนมาก พระพุทธเจ้าเข้าใจหมด พระพุทธเจ้าทำทางวิชาการไว้ละเอียดอ่อนมาก แต่ไอ้พวกเรานี่ไอ้พวกสาวก สาวกะ เป็นไปไม่ได้หรอก ให้รู้เห็นก็สุดยอดแล้ว แล้วรู้เห็นไม่เป็นอย่างนั้นด้วย ท่านถึงบอกไม่ดู ไม่ดู ไม่ดูหรอก ถ้าดูไปแล้วนะไปพูดนะ ไปพูดทางวิชาการ ทางวิชาการก็เถียง เพราะอะไร ก็พวกโปฐิละไง

พระพุทธเจ้าพูดคำไหน พูดคำเดียวกับพระพุทธเจ้าเลย แต่พระพุทธเจ้ารู้จริง พระพุทธเจ้าพูดเพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา พระพุทธเจ้าเป็นผู้สอน พระพุทธเจ้าพูดคำไหน ถูกต้องตามคำนั้น นี่คนรู้จริง โปฐิละพูดเหมือนกันทุกคำเลย ใบลานเปล่า หัวโล้นเปล่าๆ บวชเปล่าๆ รู้เปล่าๆ จำเปล่าๆ คำเดียวกันนั่นน่ะ

แล้วในปัจจุบัน ปริยัติเป็นอย่างนั้น ถ่ายทอดมาได้หมดเลย จำมาได้หมดเลย แต่ความจริงไม่ได้เกิดขึ้นมาจากหัวใจเลย ถ้าเกิดขึ้นจากหัวใจนะ มันเหมือนคอมพิวเตอร์น่ะ มันเปลี่ยนโปรแกรม เปลี่ยนความคิดของคน เปลี่ยนพฤติกรรมของจิต พฤติกรรมของจิต ความรู้สึกของจิตเปลี่ยนแปลงหมดเลย!

เปลี่ยนแปลงหมดเลยจากอวิชชา จากสิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยาก เปลี่ยนเป็นวิชา เปลี่ยนเป็นธรรม ถ้ามันเข้าไปถึงตรงนั้นมันเปลี่ยนแปลงหมด เปลี่ยนแปลงหัวใจ เปลี่ยนแปลงทุกๆ อย่าง เปลี่ยนแปลงเป็นสะอาดบริสุทธิ์หมดเลย แล้วถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วนะ มันถือว่ามันคนละเรื่องกันเลย มันคนละเรื่องเลย!

พูดเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันสักอย่างหนึ่ง นี่พูดถึงเห็นไหม เขาตื่นเต้นกัน วันนี้วันวิสาขบูชา ยิ่งฝรั่งนะ ยิ่งทางสหประชาชาติเข้ามายกย่องนะ จริงๆ นะ เวลาเขายกย่องเราก็สาธุ มันก็เป็นคุณงามความดีของศาสนาเรา แต่สำหรับเรานะ เราไม่สนเลย เราไม่สน เราไม่เห็นคุณค่าใดๆ เลย เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา

ไอ้พวกนั้นมันเป็นพวกปุถุชน มันเป็นพวกนอกลัทธิด้วย แล้วมึงมายกย่อง มึงยกย่องด้วยอะไรวะ มึงยกย่องพระพุทธเจ้าด้วยอะไร ก็มึงก็ยกย่องด้วยคุณงามความดีไง ทำความดีไว้ในโลกไง ก็ทำทางวิชาการ แต่ในหัวใจลึกๆ มึงเข้าถึงพระพุทธเจ้ากูไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่พวกเราตื่นเต้นนะ โอ้โฮ สหประชาชาติเขาเห็นเป็นวันสำคัญนะ โอ้โฮๆๆ

มันสำคัญตั้งแต่วันพระพุทธเจ้าตรัสรู้ มันสำคัญที่เป็นศาสดาของเรามาสองพันกว่าปีแล้ว มันสำคัญมาในคุณงามความดี ในข้อเท็จจริงของใจพระพุทธเจ้า มันไม่ได้สำคัญจากคนมายกย่องหรอก ถ้ามันไม่สำคัญจากคนมายกย่อง เราเป็นเจ้าของศาสนา เราเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว ทำไมต้องให้คนมาให้ค่าว่าดีหรือชั่ว ความดีความชั่วมันเกิดจากความรู้สึกของพวกเรา

ถ้าพวกเราเป็นหัวใจที่มีคุณค่ามีความดี เราจะเชิดชูศาสดาของเรา เราจะเชิดชูศาสนาของเรา ด้วยหัวใจของเรา ไม่ต้องให้ใครมาบอก ทำไมต้องให้คนอื่นมาบอกว่าของเราเป็นของดี แล้วพวกเราไม่เห็นคุณงามความดีกันเลยเหรอ เราเห็นเขาตื่นเต้นกันนะ โอ๊ย สหประชาชาติให้เป็นวันสำคัญนะ สหประชาชาติ มันเป็นวันสำคัญมาสองพันกว่าปีแล้ว

พวกมึงมันตาบอดกันเองแล้วพอคนอื่นตื่นมึงก็ตื่นตามเขา แล้วพอเขาหายตื่น เดี๋ยวมึงก็ไม่เอาอีกแล้ว แต่มันพวกเรา เราชาวพุทธ ยิ่งครูบาอาจารย์เรานี่ หลวงปู่มั่นนะ หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ซึ้งมากนะ

“ไปซื้อยามาน่ะ มันมีตราพระ ท่านบอก วางกับพื้นท่านวางไม่ได้เลย หลวงปู่มั่นรีบเอาไว้บนที่สูงเลย ท่านบอกว่ามันเป็นรูปเคารพ ถ้าเป็นรูปเคารพนะ เป็นรูปพระ รูปอะไร ท่านจะเชิดชูมากหลวงปู่มั่น”

“เหมือนหนังสือ หนังสือนี่ท่านเคารพมาก เพราะหนังสือมันเป็นการสื่อธรรมะได้ อักษรทุกตัว จะเป็นภาษาอะไรก็แล้วแต่ ท่านจะไม่ไว้ที่ต่ำ ท่านจะไว้ที่สูง เพราะอักษรนี่มันสื่อธรรมะของพระพุทธเจ้าได้”

สิ่งใดที่สื่อธรรมะของพระพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นจะเคารพบูชา เทิดไว้บนหัว หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง หนังสือถือมา หลวงปู่มั่นเอ็ดเอาเลย

“เจี๊ยะ เจี๊ยะถือหนังสืออย่างไร”

“ก็ถืออย่างนี้ ถืออย่างนี้ๆ” แล้วมันนึกว่าสูงแล้วนะ

ท่านยังเอ็ดเลยนะ หนังสือน่ะไม่ให้ดูถูก มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ ชาวพุทธเห็นไหม กตัญญูกตเวทีจะมี จะเชิดชูเรื่องสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่เดี๋ยวนี้ประชาธิปไตย สิทธิเสมอภาค อะไรก็ได้ เรื่องเสมอภาค เสรีภาพ เสรีภาพเอาคนโง่เป็นผู้นำไง เสรีภาพพากันไปตายไง แต่เวลาคนที่มีคุณงามความดี เราไม่คิดถึงไม่เชิดชูคนนั้นเลย

เราไม่เห็นคนที่มีคุณงามความดีเขาทำเพื่อประโยชน์เห็นไหม เขาทำเพื่อสังคม เขาทำต่างๆ สังคมไทยมันสังคมพุทธ มันจากหัวใจที่สืบต่อกันมาแต่เดี๋ยวนี้เพราะเราไปศึกษาแล้วเราไปตื่นเต้นกับทางวิชาการกันมากเกินไป

เพราะฉะนั้นพอพูดถึงเรื่องนี้ เราก็พูดนะ เวลาบอกว่าสหประชาชาติเขายกย่องวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เราก็พูดอยู่ เวลาพูด พูดให้คนที่มันไม่สนใจเลยบอกว่าของเรามีคุณค่า แต่เรามาเห็นไอ้พวกพระตื่น เรารับไม่ได้ โอ้โฮ สหประชาชาติเขาให้ความสำคัญนะ แล้วมึงเคยให้ความสำคัญไหม! มึงเคยให้ความสำคัญไหม! มึงเป็นพระ มึงบวชมา หัวโล้นๆ ด้วย มึงเคยให้ความสำคัญไหม!

พอฝรั่งมันพูดหน่อย ตื่นใหญ่เลย แต่ถ้าทางโลกเราเห็นด้วยนะ ทางโลก เพราะว่ามันมีความสำคัญ ให้พวกเราเข้ามาค้นคว้า ให้พวกเราเข้ามาถึงศาสนา แต่พระเรามันเป็นศากยบุตร พุทธชิโนรส เป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชมาเพราะเห็นภัยในวัฏสงสาร มันควรจะลึกซึ้งกว่านั้น

มันควรจะได้เนื้อหาสาระมากกว่านั้น ไม่ใช่ว่าให้คฤหัสถ์ ให้ฆราวาสเขามาชี้นำ ชี้นำอย่างนั้นแสดงว่าพระนี่ต่ำกว่าโลกนะ พระนี่ต่ำกว่าโลกมาก ถ้าพระเราเป็นพระที่ดี พระเราที่มีหลักมีเกณฑ์ มันจะเอาตัวรอดได้แล้วมันจะเป็น เอาตัวรอดมันเห็นอะไรเป็นโทษ เห็นอะไรเป็นคุณ เวลาหลวงปู่มั่นสอน เห็นไหม ดีใดที่ไม่มีโทษๆ เห็นไหม ดีที่ล้วนๆ ดีบริสุทธิ์ แต่ดีที่มีโทษ มันเจือปนด้วยหมดใช่ไหม

ถาม : ขอถามปัญหาการครองเรือน การให้อภัย คนที่ทำความผิดควรให้อภัยแค่ ๓ ครั้งเท่านั้นใช่ไหมครับ ถ้าเกินกว่านั้นแล้ว คนที่ทำความผิดจะเกิดการย่ามใจใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : การครองเรือน เราครองเรือน พระพุทธเจ้าสอนถึงการครองเรือน เวลาพูดถึงการครองเรือน เวลาปู่ย่าตายายให้ศีลให้พรกัน เห็นไหม ให้ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร ให้ครอบครัวมีความสุข อันนี้ก็ให้พรกันด้วยทางโลก แต่ด้วยทางธรรมการครองเรือน เพราะผู้ที่ปฏิบัติ เพราะในศาสนาพุทธนี่ย้ำเรื่องหัวใจเป็นที่ตั้ง หัวใจ สุขทุกข์มันอยู่ที่ใจ

การครองเรือนคือการครองใจ อย่างเช่นพระเรานี่ ก็เป็นการครองเรือนอย่างหนึ่ง คือการครองหัวใจตัวเอง การครองเรือน ถ้าจิตเป็นสมาธิ ครองให้มันบริสุทธิ์ ให้มันสะอาดบริสุทธิ์ให้ได้ แต่การครองเรือนของโลก เห็นไหม การครองเรือนของเรา ดูสิ อย่างในหัวใจของเรามันยังทุกข์ยากอยู่เลย แล้วเรามีคู่สมรสเห็นไหม ระหว่างหญิงกับชาย เราก็ต้องเอา เห็นไหม

เวลาทางกฎหมายต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันนะ โดยทางนิติกรรมก็ต้องเซ็นร่วมกันนะ ๒ คนเป็นบุคคลคนเดียวกัน ในเมื่อ ๒ คนเป็นบุคคลคนเดียวกัน เราจะถือหัวใจที่อยู่ด้วยกัน เรื่องนี้มีความสำคัญมากยิ่งกว่าใกล้ชิดกัน ความเกรงใจไม่มี เวลาเพื่อนมา โอ้ เกรงใจเพื่อนน่าดูเลยนะ เวลาสามีภรรยาในบ้าน ไม่เป็นไรๆ ไอ้สามีภรรยามันโกรธมากนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะต่างคนต่างหวังพึ่งกัน

พอคนต่างคนต่างหวังพึ่งกัน ก็คิดว่าเขาจะเกรงใจเรา เราปรารถนาว่าเขาจะรักเรา เราจะรักเขา พอจะรักเขา เราก็อยากจะให้เขาทำสิ่งที่ดีๆ กับเรา แต่ไอ้คนที่ใกล้ชิดเราบอกว่าไม่เป็นไร ทำอะไรก็ได้ มันยิ่งน้อยใจไง การครองเรือนคือการครองใจ นี่พูดถึงการครองเรือน

การให้อภัย การให้อภัยไม่ใช่การให้แค่ ๓ ครั้ง การให้อภัยคือการให้ทุกๆ ครั้ง การให้อภัยนี่ต้องการให้อภัยทุกๆ ครั้ง ถ้าเป็นการให้อภัยนะ ให้อภัยแล้ว สมมุติว่าคนนี้คนทำผิด เราให้อภัยเขา แต่ถ้ามีเวลา จนถ้ามีเวลาที่จะคุยกันได้ คือต่างคนต่างสำนึก คือต่างคนต่างหัวใจเปิดแล้วคุยกันได้ เราต้องให้อภัยแล้ว

แต่เมื่อให้อภัยแล้ว ก็ให้อภัยแล้วก็แล้วกันไปเลย ให้อภัยแล้วสิ่งใดที่ผิดที่ถูก เรามาคุยกันทีหลังไง คือคุยด้วยเหตุผล อย่างขณะที่มันมีความผิดพลาด มันมีอารมณ์โกรธต่อกัน พูดกันแล้วมันจะบานปลาย แล้วเราก็เฉยซะ แต่เวลาใจเย็นๆ แล้วก็มาคุยกันนะ อย่างนี้มันไม่ดีนะ อย่างนี้มันไม่ดีนะ ไม่ใช่การให้อภัยแล้วก็ให้อภัยเฉยๆ นี่มัน คนไม่เข้าใจไง

การให้อภัยเป็นทาน อภัยทานมีอยู่แล้ว อภัยเป็นบุญอันหนึ่ง การให้อภัยทาน การให้แค่ ๓ ครั้งมันมีความคิดกันอย่างนั้น เราให้อภัยทุกครั้ง ให้อภัยทุกครั้ง ไม่ใช่ ๓ ครั้งตลอดไป แต่ นี่ไง แต่ ตรงนี้สำคัญเลยล่ะ แต่มันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์ที่มันหยาบ พูดล้านครั้งมันก็ไม่รู้ สัตว์ที่มันละเอียด แค่บอกเป็นสัญลักษณ์ มันก็รู้ได้

อย่างเช่นเขาจะมาพูดกับเรา เรานั่งเฉย ไม่ยอมพูดด้วย เขารู้ว่าเราโกรธแล้ว เขาจะหาเหตุผลว่าเราโกรธเพราะอะไร เห็นไหม แค่สัญลักษณ์นี่นะ เขากลับตัวได้นะ แต่ถ้ามันหยาบ พูดตั้งล้านครั้งมันก็กลับไม่ได้ เราจะบอกว่าการให้อภัย ไอ้เรื่องการให้อภัยแล้ว คนจะเป็นคนดีหมด มันไม่ใช่ การให้อภัยมันเป็นบุญของเราเอง

การให้อภัยคือเราเห็นใจเรามีคุณค่า ถ้าเราให้อภัยนะ ในหัวใจนี่ หลวงตาสอนมาก เวลาเรานี่ เวลามานี่ เราไปฟ้องท่านบ่อยเมื่อก่อนนี้ บอกไอ้นั่นเป็นอย่างนั้นนะ เป็นอย่างนั้น ท่านอัดเราเลย “ใจมึงไม่ดู ใจมึงน่ะ” ท่านบอกว่า

“ให้เราดูใจเรา ใจของเรา ดูใจของเรา ไอ้นั่นมันเรื่องของเขา ไอ้เรื่องที่คนที่มันผิดพลาดๆ น่ะมันเรื่องของเขา เขาทำผิดทำถูก มันเป็นกรรมของเขา ไอ้ใจของเรานี่”

พอท่านทิ่มเราอย่างนั้น เออ แล้วพอเราทำอะไรเราก็ เฮ้อ มันสบายใจกว่าเยอะเลย เมื่อก่อนพอใครทำอะไรนะ โอ้ มันผิดนะ โอ้ มันจะลำบากนะ โอ้ มันจะเสียหายไปโน่นเลยนะ โอ๊ย ชาติไทยนี่พังแน่ๆ เลย โอ๊ย มันทุกข์น่าดู มันแบกประเทศไว้ไง พอมา เรื่องของเขา เราก็รักษาของเรานะ มันทิ้งประเทศไทยเลยนะ โอ้ กูสบายฉิบหาย กูไม่ต้องแบกประเทศไทยไว้บนบ่าอีกเลย

ท่านเอ็ดเอา คำว่าเอ็ดเอาแล้วเรามาคิดเอาทีหลัง คนเรานี่นะ ถ้าเขาเป็นคนดี เราพูดกับเขานี่เข้าใจง่าย แต่ถ้าเขาเป็น เขาเรียกว่าเป็นโดยธาตุ ถ้าทุกๆ คนนะเวลาเราให้อภัยแล้วเราพูดให้เขาเข้าใจได้ แล้วเขากลับตัวได้นะ โลกนี้พระอรหันต์หมดทั้งโลกเลย

เวลาภาวนา พวกนี้มันใช้ภาวนา เวลาภาวนาไปนี่เราไปเห็นสมาธิ หรือจิตเราเป็นไป มันจะเกิดทิฏฐิ มันจะยึดความเห็นของตัว แล้วมีใครมาบอกปั๊บ มันจะต่อต้าน ยิ่งมีใครบอกว่าผิดมันจะยึดเป็นทิฏฐิ ยึดวัตถุ ฉะนั้นเวลาจะสอนคน จะสอนให้เขาละทิฎฐิที่เขาผิดของเขานี่ เราจะต้องมีอุบาย เรามีอุบายว่า ลองดูสิ อย่างนี้ดีกว่าอย่างนี้ไหม อย่างนี้ดีกว่าอย่างนั้น

เราจะบอกว่าสิ่งที่เขารู้เขาเห็นนี่ผิด นี่นะ เป็นการทำร้ายลูกศิษย์ เป็นการทำร้ายเขาเลย เพราะเขาจะยึดทันทีเลย อย่างเช่นเราไปรู้ไปเห็นอะไรปั๊บ แล้วใครบอกของเราไม่ดี ไม่ดีได้อย่างไร ของฉัน มันจะหาเหตุผลหนุนเลย หนุนว่าของเราดีที่สุดไง แล้วมันจะเข้าไปกอดไว้แน่นเลย เวลาภาวนานะ ทิฎฐินี่สำคัญมาก

ครูบาอาจารย์ เวลาท่านจะสอน ท่านจะสอนนะ อ้าว พุทโธก่อน พุทโธ ลองทำอย่างนั้นก่อน แล้วให้มาเปรียบเทียบกัน เหมือนกับเรา เราไปจับของที่ร้อนที่เย็น อุณหภูมิมันต่างกัน ความรู้มันต่างกัน ความคิดคนก็เหมือนกัน ความคิดของคน ความเห็นของคน แล้วมันเป็นธาตุ เป็นเรื่องของกรรม

ความรู้ของคนความเห็นของคน ยิ่งไปเกิดทิฏฐินะ ยิ่งไปรู้อะไรเข้า มันยึดของมันนะ มันยิ่งยึดของมัน แล้วเราบอกว่าจะให้มันเป็น เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของกรรมไง เรื่องมุมมอง เรื่องทิฏฐิ เรื่องความเห็น เรื่องต่างๆ มันไม่ใช่พูดแล้วจะ โอ๊ย ถ้ามันบอกว่าเหมือนทางเรียนหนังสือ พอครูบอกว่าให้คะแนนไง ถ้าผิดไม่ให้คะแนน แล้วถูกให้คะแนนนะ อู๊ย พระอรหันต์เต็มประเทศไทยเลย

คนไม่เคยภาวนาจะไม่รู้เรื่องจิต ไม่รู้เรื่องจิต ไม่รู้เรื่องทิฎฐิมานะ ไม่รู้เรื่องกิเลส กิเลสในใจนี่สำคัญมาก มันรู้ผิดนะ มันจะยึดว่าถูก พอรู้ถูกมันบอกไม่ใช่ บางทีนะถ้ามันหมดเวรหมดกรรม พอหมดเวรหมดกรรม คนที่เห็นผิดมันจะเปลี่ยนความเห็นเลย อันนี้การให้อภัย เราบอกว่าต้องให้อภัยทุกเที่ยวไป เพราะมันไม่ใช่ว่าให้อภัยกี่ครั้งๆ แล้วเขาจะกลับใจได้

ดูสังเกตได้ไหม พ่อแม่บางคน เสียใจกับลูกมาก จนพ่อแม่ตายไปแล้วนะ ลูกค่อยมาได้คิดทีหลังก็เยอะแยะเลย เห็นไหม ในครอบครัวเรา พ่อแม่บางคนเสียใจกับลูกมาก จนกว่าพ่อแม่จะตายไปแล้วนะ บางทีลูกยังได้คิดก็มี บางทียังไม่ได้คิดตลอดไปเลย ไอ้นี่มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมนะ

เรื่องการให้อภัย เป็นเรื่องปัจจุบันธรรม แต่ก่อนที่จะถึงปัจจุบันธรรม เรานี่กัมมะพันธุ เห็นไหม กรรมมันเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ไอ้กรรมเก่ากรรมใหม่ มันจะไฟท์กันมาเยอะมาก ถ้าเป็นกรรมดี มันจะมาเกื้อหนุนกัน อภิชาตบุตร บุตรที่ดีจะมาส่งเสริม จะมาทำให้ดีขึ้น บุตรที่มาทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ มันก็มี นี่พูดถึงการอภัยไง

เราอภัยแค่ ๓ หนใช่ไหม ถ้ามากกว่านั้นเขาจะย่ามใจ ไอ้การย่ามใจไม่ย่ามใจ ถ้าย่ามใจ ถ้าคนเขาชั่วนะ พอเขารังแกเราได้ หรือเขาทำกับเราได้ เขาคิดว่าเขาทำได้นะ เขาย่ามใจกับเรานะ เขาไปทำกับคนอื่นนะ เดี๋ยวเขาก็โดนคนอื่นจัดการ ไม่มีทางหรอกที่เขาย่ามใจแล้วเขาจะได้ประโยชน์ตลอดไป ไม่มีหรอก ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว

แต่ทำไมเขาต้องมาทำกับเราล่ะ ทำไมเขาต้องมาทำกับเรา แล้วเราจะต้องให้เขาทำ แล้วเขาต้องไปทำกับคนอื่นต่อ ที่เขามาทำกับเรา มันก็ต้องมี สังเกตได้ไหม เวลาเราอยู่ในสังคม บางคนจะถูกชะตากับเรามาก บางคนจะแบบ มองแล้วนี่มันไม่ถูกชะตาเราเลย เห็นไหม นี่กรรมเก่ากรรมใหม่นะ

บางทีเราเห็นอะไรนะ อื้ม เห็นกันทีเดียว แหม คนนี้มันดูแล้วมัน โทษนะ เราเคยลองมากับตัวเราเอง คนไหนที่เราว่าดีนะ แล้วเราไปดีกับเขานะ เขาจะร้ายกับเรา เราเจอมาบ่อย ไอ้คนที่ว่าคนนี้ไม่ดีเลย คนร้ายนะ เวลาเราอยู่เฉยๆ เขาดีกับเรามากเลย เขาช่วยเหลือเราอะไรเรา

บางทีเราเที่ยวไปธุดงค์ไป เจอพระบางองค์ เออ องค์นี้ดีมากนะ องค์นี้น่าจะเป็นพระดีนะ เดี๋ยวเหอะ เจ็บน่าดูเลย เจ็บมาก แปลก กับเรานี่ เราโดนกับตัวเรา ทำกับตัวเราเองนะ คนอื่นไม่รู้ คนไหนที่ว่าเป็นคนดีๆ ว่าดีๆ นะ เวลามันออกลายมา ยุ่งน่าดูเลย ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ ความสัมผัสของเรา อืม อันนี้น่าจะดี น่าจะเข้าท่า

มันถึงบอกว่าคนที่มีกิเลสอยู่ มันยังพลิกแพลงได้ตลอดเวลา กิเลสของคนมันเอาแน่ไม่ได้ มันถึงคราว ถึงเวลาของมัน มันเปลี่ยนแปลงของมัน อันนี้เขาว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำดีแล้วไม่เห็นได้ดีเลย ทำดี แต่กรรมเก่ากรรมใหม่ไง

ดูสิ พระพุทธเจ้าบอก บุพเพนิวาสานุสสติญาณ เวลาย้อนอดีตชาติไป ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่สิ้นสุดเลย แล้วกรรมชาติไหน กรรมชาติไหนที่มันมาให้ผลในปัจจุบันนี้ กรรมชาติไหน แล้วกรรมอย่างนี้มันมีมาก ฉะนั้น ไอ้นี่เราเอามาพูด ไม่ใช่พูดให้โยมไขว้เขวนะ

ไอ้ที่เราพูดนี่ เราพูดเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นฐาน เป็นข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่มันจะมาในปัจจุบัน มันมีที่มาหลากหลาย แล้วเราควบคุมตรงนี้ไม่ได้ สิ่งที่มันจะมาถึงปัจจุบันนี้ มันมีที่มาแตกต่าง มุมมองมันหลากหลายมาก แล้วพอมาถึงปัจจุบันนี้ เราอยู่กับธรรมะของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันทำดี แล้วทำ ถ้าตอบสนองไปแล้วมันเป็นสิ่งที่ตอบสนองมาว่าดีก็คือดี

ถ้ามันตอบสนองมาโดยตอบสนองมาสิ่งที่เป็นมุมมองที่ตรงข้าม อื้ม มันก็เวรกรรม คือเราจะไปเรียกร้อง ไปหวังผล เรานี่เจ็บสองท่า เจ็บสองเท่าเพราะอะไร เพราะในปัจจุบันที่เป็นข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันเป็นมุมมองที่ว่าเราทำดีไปแล้วเขาตอบสนองมาในทางที่ไม่ดีอยู่แล้ว อันนั้นมันเป็นข้อเท็จจริง

ถ้าเราข้าใจเรื่องกรรม เราปล่อย มันก็จบกันไป แต่ถ้าเราบอกว่าสิ่งนี้มันเป็น เราทำดีแล้วไม่ได้ดี เห็นไหม เจ็บสองเท่า ข้อเท็จจริงมันเจ็บอยู่แล้ว แล้วจะพยายามปรับเปลี่ยนให้ข้อเท็จจริงนั้น สิ่งที่เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างที่เราปรารถนา เจ็บเป็นหนที่สองไง เห็นไหม เจ็บสองชั้นสามชั้น เวลามันเจ็บแล้ว โอ้โฮ ศึกษาศาสนา ศาสนา ทำดีต้องได้ดี ทำแล้วก็ไม่ได้ดี เจ็บสองชั้นสามชั้น กลับไปโทษศาสนาอีก ศาสนานี่สอนผิด ศาสนาสอนแล้วไม่ได้ดี ไปเลยนะ

เราพูดบ่อย หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ หลวงตาท่านบอกว่าให้ทำดี ถ้าใครทำดีแล้วไม่ได้ดี จะพาไปฟ้องพระพุทธเจ้า หลวงตาพูดอย่างนั้น แต่สำหรับเรา ของเรา เมื่อก่อนมันเคยคิดไง บอกว่าจับโกหกพระพุทธเจ้าไง ทำดีต้องได้ดี ถ้าไม่ดี พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น เพราะเราฝืนมาก เมื่อก่อนนะ อย่างที่ว่า มันจะลำบากขนาดไหน ถ้าเห็นว่ามันเป็นความดีที่มันไม่มีอะไรแอบแฝง เราทำของเราเรื่อยไปอย่างนั้น แล้วเดี่ยวนี้มันตอบสนองมา เห็นไหม

เดี๋ยวนี้มันตอบสนองมา เพราะเมื่อก่อน เราก็ยืนหลักนี้ เพราะเรายืนหลักนี้มาตั้งนานว่าทำต้องอยู่ในศีลในธรรม แนวทางที่ถูกต้อง ทีนี้พอทำไปแล้วสังคมเขาไม่เห็นด้วย มันตีกลับมาแรงมากๆ แต่เราก็ไม่เคยท้อถอยเลย เพราะเราคิดว่า จะจับโกหกพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าบอกทำดีต้องได้ดี แล้วเราทำดีขนาดนี้ แล้วมันจะได้อย่างไร

แล้วผลตอบสนองมา เห็นไหม คือจุดยืนเราไม่เคยเปลี่ยน จุดยืนมาตั้งแต่ต้นเราไม่เคยเปลี่ยน คือทำดีก็คือดี ใครจะด่า ใครจะว่า ใครจะเพ่งโทษ ใครจะด่าขนาดไหนเรื่องของมึง เรื่องของมึง ไม่เคยสนใจเลยนะ จริงๆ ในหัวใจนี้ไม่เคยสนใจเลย เราถือว่าเป็นมุมมองไง คือมันคนละมุมมอง คนละทัศนคติกับเรา

เรามีทัศนคติอันหนึ่ง ที่ยึดมั่นถือมั่นกับหลักธรรมพระพุทธเจ้า เราถือว่าเราทำในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เรายึดมั่นถือมั่นกับหลักธรรมนี้ แล้วเขาจะมีมุมมองอย่างไรนั้นมันสิทธิของเขา แล้วเราไม่เอนเอียงไปกับใคร ไม่สน เรายึดหลักนี้มาตลอดนะ แต่เหนื่อยไหม เหนื่อย เหนื่อยเพราะอะไรรู้ไหม มันเหนื่อยเพราะเหมือนกับว่าเราคิด เราทำความดีก่อนที่สังคมจะยอมรับ

คือว่าสังคมยังไม่เห็นว่าดี แต่เราทำดีนำหน้าไปนะ เหนื่อยฉิบหาย คือไม่ได้อะไรเลย เหมือนกับทำดีอยู่บนอากาศ มันไม่มีอะไรรองรับ แต่พอถึงเวลาพั้บ เพราะเดี๋ยวนี้มีพระมาพูดให้ฟังบ่อย เพราะคนโน้นเขาว่าหลวงพ่อว่าอย่างนั้น หลวงพ่อว่าอย่างนี้ คือเอาชื่อเราไปว่า

เมื่อก่อนนี้ชื่อเรานี่ก็ไม่มีใครกล้าพูดถึงเลย เพราะพูดถึงแล้วมันจะเป็นโทษกับเขา เดี๋ยวนี้เขาเอาชื่อเราไปอ้างกันแล้วล่ะ แต่เราก็ยังเป็นคนเดิม ยังนั่งอยู่อย่างนี้ ยังไม่เคยไปไหน ยังไม่ไปไหน เหมือนเดิม เหมือนเดิม คือไม่ไปไหนทั้งสิ้น ไม่ออกไปยุ่งกับใคร ทำดีเพื่อดี แล้วความดีอันนี้ การให้อภัยเราต้องให้อภัยเขาตลอดไป

เพียงแต่ให้อภัยแล้ว ถ้าเขายังไม่เข้าใจ อย่างเช่นเด็กอย่างนี้ เราให้อภัยเขาถึง ๓-๔ หนแล้ว เขาไม่เข้าใจเราก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง เราไม่ใช่ว่าอภัยแค่ ๓ หน แล้วไม่ใช่จะไม่ให้อภัยอีกเลย ถ้าเป็นลูกหลานของเรานะ มันจะเก มันจะเป็นอย่างไรนะ เขาเรียกว่าสายเลือด เป็นญาติกันทางสายเลือด

เรายังบอกว่าธรรมะนี่พูดแล้วสำคัญมากนะ เป็นญาติกันทางสายเลือด กับเป็นญาติกันโดยธรรม คนไปมาหาสู่กัน คนรักกัน มันคุ้นเคยกัน มันช่วยเหลือเจือจานกันมากกว่าญาติอีก ญาติกันทางสายเลือด มันเป็นทางสายเลือด แต่คนคุ้นเคยกัน คนที่ช่วยเหลือเจือจานกัน นั่นน่ะ เขาสนิทกันยิ่งกว่าญาติ เป็นญาติกันโดยธรรม

ฉะนั้นถ้าเป็นลูกหลานของเรา ถ้าเกิดเราสอนแล้วเขาแก้ไขไม่ได้ มันเป็นสายเลือดไง เราก็ต้องดูแลกันไป เป็นกรรมน่ะ ไม่อย่างนั้นกรรมตัวนี้ กรรมที่ว่าเวลาทำกรรมแล้วกรรมให้ผลนะ บางทีเราทำอะไรกันกับชาตินี้ เราคิดว่าทำแล้วก็แล้วกันไปไง แต่เวลาไปเกิดกันนะ ส่วนใหญ่แล้วจะไปเกิดเป็นลูกเป็นเต้ากันนี่แหละ เป็นลูกเป็นเต้า เป็นคน..

เวลาหลวงตาท่านพูด เวลามันเกิดมามานี่เป็นกำนัน มันร้องปั๊บ พ่อแม่ต้องวิ่งเข้าหาทันทีเลย ลูกเล็กๆ นี่มันร้องไม่ได้เลย พ่อแม่นี่ยิ่งกว่าขี้ข้า พอมันโตขึ้นมาหน่อยมันเป็นผู้ใหญ่บ้าน คือความสำคัญมันน้อยลงแล้ว พอมันเล็กๆ นี่เป็นกำนันนะ มันสั่งทุกคนได้หมดเลย ร้องไห้นี่ทุกคนต้องควักสตางค์ให้หมดเลย

พอมันโตขึ้นมาหน่อยหนึ่ง มันลดจากกำนันเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว เพราะความสำคัญมันน้อยลง อันนี้พอโตขึ้นมา นี่ไง นี่ เวลากรรมให้ผลน่ะ แต่ถ้ามาส่งเสริม อภิชาตบุตร คือบุตรดีกว่าพ่อกับแม่ ก็มี บุตรที่มาทำให้พ่อแม่เจ็บช้ำน้ำใจก็มี สายบุญสายกรรม กรรมมันให้ผลอย่างนี้ แต่เวลาเราทำกันนี่ เรา โอ๊ย ไม่เป็นไรๆ

ไอ้ไม่เป็นไรนั่นแหละ เดี๋ยวมันจะมาเกิดเป็นข้างๆ กัน แล้วจะรู้ กรรมให้ผล กรรมเป็นอจินไตย แล้วบอกถ้าให้ผล บอกมาสิชาติไหน ชาติไหนก็ชาติไหน มันไฟท์กันมา ชาติไหนเป็นอย่างไร เป็นแสนๆ ล้านๆๆๆๆ ชาติ แล้วมึงจะเอาชาติไหนๆ วิทยาศาสตร์จะบอกเลย ก็ต้องบอกสิชาติไหน ไปทำอะไร เราเคยเป็นอะไรกันมา

จะเอาวิทยาศาสตร์อยู่เรื่อยเลย เอาธรรมสิ เอาธรรม แต่มี ถ้าไม่มีมานะ เราพูด พูดถึงพันธุกรรมทางจิต จิตของคน ความมุมมองของคน การกระทำของคน มันหลากหลายมาก แล้วเวลาพระพุทธเจ้าท่านวางธรรมวินัยไว้ เวลาอาจาริยวัตร อาคันตุกะวัตร ถ้าผู้ที่มาอาศัยอยู่ ให้มาดูนิสัยกัน ๗ วัน ถ้าอยู่แล้วถ้าเข้ากันไม่ได้ ก็ไม่ต้องขอนิสัย ให้แยกกันไป

แต่ถ้าจะอยู่ด้วยกัน ล่วงราตรีที่ ๗ ไม่ขอนิสัยเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ต้องขอนิสัย ทีนี้ถ้านิสัยมันเข้ากันไม่ได้ เห็นไหม ท่านบอกให้ดูกัน ๖ คืน ถ้านิสัยเข้ากันไม่ได้ให้เก็บของออกไป อย่าไปอยู่กับท่าน เพราะถ้าราตรีที่ ๗ เป็นอาบัติแล้ว

พระพุทธเจ้าเปิดกว้างนะ ไม่ใช่ว่ามาต้องบังคับ มึงต้องเป็นลูกศิษย์กู กูต้องเป็นอาจารย์มึง ไม่ใช่ ให้ทดสอบกัน ให้ดูกัน ให้มีมุมมอง ให้เสมอกัน ให้ความเห็นเข้ากันได้ไหม ถ้าเข้ากันได้ให้ขอนิสัย ให้เป็นลูกศิษย์ เป็นครูบาอาจารย์กัน

ถ้ามาแล้วมันไฟท์กัน ความเห็นมุมมองมันไม่ตรงกัน ให้ไปหาอาจารย์เอาใหม่ เพราะพระพุทธเจ้ารู้ถึงเรื่องเวรเรื่องกรรม โอ๊ย ถ้าพระอรหันต์ไม่รู้เรื่องนี้ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ พระอรหันต์จะเข้าใจเรื่องอย่างนี้หมด เรื่องอย่างนี้จะเข้าใจหมดเลย ฉะนั้น ทางโลก พันธุกรรมทางการพืช เราเอามาเป็นตัวอย่างเพราะมันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

เราถึงบอกว่าพันธุกรรมทางจิต พันธุกรรมทางจิต บุญกุศลนี่ไปตัดแต่งมัน เราเกิดมา เราตัดแต่งพันธุกรรมของเรา เราทำคุณความดี พันธุกรรมมันจะตัดแต่งไป เพราะมันตัดแต่งความรู้สึกไง ทำดีมีความสุข ความดี มันไปตัดแต่งพันธุกรรม มันสร้างสม มันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แล้วมันทำไป บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า เห็นไหม มันได้บุญกุศล ได้คุณงามความดี นี่ พันธุกรรมทางจิต

มันได้ผลเยอะมากนะ ทีนี้เพียงแต่คนเราจริงจังไหม ทำด้วยความจริงจังไหม ถ้าทำด้วยความจริงจังนะ มันจะให้ผลได้เต็มที่เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วนะ จะทำจริงจังก็อาย เขาว่ากูเป็นคนโง่ จะทำบุญก็แอบทำ โอ๊ย มันจะได้ผล มันกลับอาย กลับไม่กล้าทำ เวลามันจะทุกข์ขึ้นมา โอ้โฮ มันกอดเลย เวลาความดีล่ะมันไม่เอา นี่กิเลสมันเป็นอย่างนั้นน่ะ

ฉะนั้น ไอ้เรื่องอย่างนี้นะ เพราะเราพูดอย่างนี้ บอกว่าการให้อภัยกันแล้ว คนเรามีโอกาสขนาดไหน มันอยู่ที่เรา เพราะพอพูดอย่างนี้นะ เราจะเปรียบเทียบ เวลาเราคิดถึงหลวงตา หลวงตานี่ท่านอยู่จุดสุดยอดของพวกพระเรานะ แล้วเวลาใครทำอะไรกับท่าน ท่านให้อภัยตลอดมา

แล้วประสาเรานี่ คนทำร้ายเราเราเจ็บไหม แล้วเวลาท่านโดนอย่างนั้นตลอดมา ท่านก็เฉย ท่านก็ยิ้ม บางทียิ้มด้วยนะ อีกแล้วเหรอ ยิ้ม ไม่รู้เรื่องนะ ไอ้จนบางทีเราโกรธแทนเลยนะ เราโกรธฉิบหายเลย ท่านยังไม่สนเลย นี่ไง การให้อภัยเกิน ๓ ครั้งอีก ให้อภัยมาทั้งชีวิต แล้วมันก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น

มันก็เหมือนกับว่ามันเป็นอยู่อย่างนั้น นิสัยเขาเป็นอย่างนั้นก็คืออย่างนั้น แก้ยากมาก ไอ้อย่างพวกเรา นี่พูดถึง เวลาพูดถึงพันธุกรรมทางจิตอะไรต่างๆ แล้ว ต้องย้อนกลับมาดูที่เรา แก้ไขที่ใจเรานะ ใจเราก็เป็นจิตดวงหนึ่ง ใจเราก็เป็นสัตว์ในโลกตัวหนึ่ง แล้วเราต้องแก้ไข เอาธรรมะมากล่อมเกลาแล้วแก้ไขใจเรา

ฟังธรรมแล้วเอาประโยชน์กับเรา เรื่องของเขา คือเขากินอิ่ม เขานอนอุ่น เขามีความสุข เขามีความทุกข์มันก็เรื่องของเขา ไอ้ใจเรา กินอิ่มนอนอุ่น มีสุขมีทุกข์ก็เรื่องของใจเรา

ฉะนั้นหน้าที่เราก็รักษาที่ใจเรา แก้ที่ใจเรา ประเสริฐที่สุด เอวัง