ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รักษาจิต

๒๑ มี.ค. ๒๕๕๓

 

รักษาจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


เวลาฟังธรรมมันไม่ได้คิด ถ้าฟังธรรมคิดแล้วเอามาย้อนตัวเองจะได้ประโยชน์ ฟังธรรมไง อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนเห็นไหม ไปเดินทางไกลมา เอาแต่ปุ๋ยมา แบกมามีแต่ขี้ ปุ๋ยคือปุ๋ยคอก เวลาเดินมาถึงกลางทางเห็นไหม มาเจอเหล็ก ไม่กล้าทิ้งปุ๋ยไว้เพราะกูแบกมาไกล แต่เพื่อนมา ๒ คน คนหนึ่งก็ทิ้งปุ๋ยเลยเอาเหล็ก ไปเจอข้างหน้าเจอเงิน ก็ทิ้งเหล็กเอาเงินเลย พอไปข้างหน้าเจอทอง ทิ้งเงินเอาทองเลย กลับถึงบ้านก็เอาทองไปฝากภรรยาเขา

แต่เพื่อนอีกคนหนึ่งนะ เดินมาแต่ไกลเลย กลับไปถึงบ้านเอาอะไรไปฝากภรรยารู้ไหม ปุ๋ยขี้ไง นี่ก็เหมือนกันเวลาทำงาน บางอย่างมันต้องทิ้งเป็นชั้นๆ ขึ้นมา คือว่าอะไรหยาบๆ เราก็ต้องปล่อยได้ ไอ้นี่กอดยึดตายเลย แล้วอีกคนบอกให้ปล่อย ให้ปล่อย ปล่อยคืองานข้างหน้ามันยังมีอีกใช่ไหม อ้าว แบกปุ๋ยคอกมา พอไปข้างหน้าเจอเหล็ก เหล็กมีคุณค่ากว่าปุ๋ย ก็ทิ้งเอาเหล็ก มันเป็นประโยชน์ได้ สมัยก่อนยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็กมันจะเป็นประโยชน์มาก พอไปข้างหน้าไปเจอเงินเห็นไหม คุณค่าของเงินมันดีกว่าเหล็ก ก็ต้องทิ้งเหล็กซะ ไปข้างหน้าไปเจอทองคำ เงินมันจะมีค่ากว่าทองคำได้อย่างไร ก็ต้องทิ้งเงินซะ

นี่ การทำงานของจิตมันต้องปล่อยวางอย่างนี้ ไม่ใช่แบกปุ๋ยมาตั้งแต่เริ่มต้นเลย แล้วก็จะเอาปุ๋ยไปถึงที่สุดเลย แล้วมันก็พูดกันไม่รู้เรื่อง มันแบกปุ๋ยอยู่ แล้วไม่ยอมทิ้งปุ๋ยนี่ความคิดคนมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้ความคิดคนเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันถึงได้เข้าถึงธรรมะไม่ได้ย้อนกลับมา เวลาครูบาอาจารย์เรานี่ เห็นไหม เวลาเขาบอกว่าจะไปที่ไหนก็แล้วแต่ ครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์ทุกองค์ แม้แต่พระพุทธเจ้าด้วย บอกว่าให้ดูจิต รักษาจิต ให้ดูจิตรักษาจิต แต่คำว่าดูจิตรักษาจิต ไม่ใช่ว่าไปดูความคิด ไม่ใช่เข้าไปตะครุบจิต ไม่ใช่ มันไม่มีให้ตะครุบ มันไม่มีหรอก

การดูจิต รักษาจิตก็นี่ไง การรักษาจิตของเราก็คือการทำทานนี่แหละ การทำทาน การถือศีล การภาวนานี้มันจะเข้าไปสู่จิต เพราะอะไร เพราะทุกอย่างมันเกิดมาจากจิต คนเราเกิดมาจากความคิด ปฏิสนธิจิต คนเกิดเป็นมนุษย์นี้ก็เกิดจากจิต จิตเป็นนามธรรม มาเกิดเป็นมนุษย์ มาเกิดในไข่มาเกิดในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ เห็นไหม จิตนี้เกิดเป็นโอปปาติกะ เกิดเป็นเทวดาทำไมจิตไปเกิด แล้วเทวดาไม่ใช่จิตหรือ เทวดาเป็นนามธรรม แต่เพราะจิตนี่ไปเกิดเป็นภพ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนะ เป็นเทวดาก็ไม่เห็นจิตนะ เป็นเทวดาก็ไม่ได้รักษาจิตนะ

ใครคนใดคนหนึ่งทำบุญกุศลแล้วไปเกิดเป็นเทวดา แล้วมีสถานะเป็นเทวดา พอเทวดาเขาใช้อายุขัยของเทวดานั้นไป อายุขัยของเทวดานั้น ขณะที่มันเป็นรูปของเทวดา มันเป็นภพของเทวดา ไม่เห็นจิตตัวเองเหมือนกัน ไม่มี เพราะจิตไปเกิด ปฏิสนธิจิต นี้เป็นนามธรรม ไปเกิดในสถานะไหนเห็นไหม ไปเกิดเป็นเทวดา เทวดาเป็นนามธรรม เทวดารูปเป็นทิพย์ ไม่มีรูปกาย แล้วนั่นเป็นจิตหรือเปล่า ไม่ใช่ ไปเกิดเป็นพรหม ไปเกิดเป็นจิตหรือเปล่า เป็นพรหม พรหมก็ไม่เห็นจิตนะ พรหมก็ไม่เห็นจิตหรอก นี่ก็เหมือนกัน ทีนี้พอเกิดเป็นมนุษย์ บอกว่าให้รักษาจิต กูก็คิดเลย โอ้โฮ จิตเป็นอย่างนั้นนะ จิตเป็นอย่างนี้นะ มันก็สร้างภาพหลอกไง ความคิดเป็นจิตไง อะไรเป็นจิตนี่ โอ้โฮ รักษาจิต ดูจิต

คำว่ารักษาจิต ดูจิตนี่นะ มันเป็นการรักษาตั้งแต่.. เห็นไหม ตามโลกเขาบอกว่า ตาเป็นหน้าต่างของใจ จะดูความคิดคน ก็ดูสายตาเขา ในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านดูความประพฤติ ดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นท่านจะวัดใจ ดูจิตของลูกศิษย์เห็นไหม ท่านตัดสบง ๕ ขันฑ์ แล้วให้พระคนละขันฑ์ ไปเย็บสบงมา แล้วเอาสบงนี้มาต่อกัน หลวงตาบอกท่านได้รับขันฑ์หนึ่ง ได้รับขันฑ์หนึ่งปั๊บ ท่านบอกว่า ท่านรู้ทันไง ท่านบอกว่า หลวงปู่มั่น ท่านจะดูความประพฤติ ดูจิตของคน ดูความละเอียด ความหยาบของผู้ประพฤตินั้น หลวงตาท่านบอกว่ามีความสามารถเท่าไหร่ ใส่เต็ม ๑๒๐ เลย ไม่ใช่เต็ม ๑๐๐ นะ เขาใส่กันแค่เต็ม ๑๐๐ นะ หลวงตาบอกท่านใส่ ๑๒๐ เลย

เพราะท่านรู้ว่าหลวงปู่มั่น ท่านจะดูจิต ดูใจของลูกศิษย์ท่าน ท่านก็ตัดผ้าแล้วก็แจกไปคนละขันฑ์ ให้ไปเย็บล้มกระดูกไง แล้วก็มาต่อกันเป็นสบงของท่าน ท่านให้ไป ๕ องค์ ก็แบบว่าลูกศิษย์ ๕ องค์นี้มีแต่นิสัยดีๆ นิสัยละเอียดอ่อน แต่จะดูว่าใครละเอียดกว่าใครไง หลวงตาบอกว่าท่านใส่ ๑๒๐ เลย เย็บทีละฝีเข็มเลย แล้วเวลาไปต่อกันนะ ท่านบอกของท่านเป็นที่ ๑

ดูจิตไปดูที่ไหน ดูที่สบงนี่หรือ ดูจิตดูที่พฤติกรรมของคนนี่หรือ แล้วนี่เห็นไหม หลวงปู่มั่นเวลาดูจิตดูใจของลูกศิษย์ ท่านดูจากพฤติกรรมความประพฤติของคนนั้น นี่รักษาจิต ดูจิต เขาดูจิตมาตั้งแต่พฤติกรรม ความประพฤติ ความคิด การแสดงออก เนี่ยดูจิต นี่ดูจิตแบบโลกๆ ไง แต่ถ้าดูจิต รักษาจิตเห็นไหม ดูสิ พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านจะสอนนะเล็งญาณ พุทธกิจ ๕ เช้า เล็งญาณ ดูจิตเหมือนกันเล็งญาณเลยว่าความรู้สึก ความนึกคิดของคนนี่มันเป็นอย่างไร

คนมีความรู้สึกนึกคิดแตกต่างกันไป ถ้าคนมีความรู้สึกนึกคิดนะเขาอยากจะเอาตัวเขาพ้นด้วย แล้วเขาก็มีอำนาจวาสนา เพราะว่าอำนาจวาสนาเห็นไหม อำนาจวาสนาของเขานี่คือปฏิภาณ อำนาจวาสนาของคนนะ มีสติปัญญามีปฎิภาณไหวพริบ ถ้ามีอะไร สังเกตได้ไหม เหตุการณ์เกิดขึ้นมาเหตุการณ์หนึ่ง มุมมองแต่ละคนไม่เหมือนกัน มุมมองคนหนึ่งสะเทือนใจมาก มุมมองคนหนึ่งบอก แหม สะใจสมน้ำหน้ามัน เห็นไหม มุมมองคนมันแตกต่างกัน เพราะอำนาจวาสนาที่มันสร้างมาแตกต่างกัน

ถ้าหัวใจที่ประเสริฐนะ เห็นเขาได้ทุกข์ได้ยากนี่มันสลดใจนะ ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว ชีวิตของคนเป็นแบบนี้ เขาเกิดมาเขาก็มีความสุขของเขา แล้วก็มีความล้มลุก คลุกคลานของเขา เราก็จะไปประสบสถานการณ์ เหตุการณ์อย่างนี้ไหม ชีวิตจะเป็นอย่างนี้นะ เราย้อนกลับมานี่จนถึงวันนี้ การเกิดเป็นทุกข์นะ ถ้ามีอำนาจวาสนาบารมีนี้ มันจะเป็นแบบนี้ เห็นไหมที่เขาว่าโลกนี้มันเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ

ถ้าใจเป็นธรรม มันมองเป็นธรรม พอมองเป็นธรรมปั๊บมันแคนนอน คำว่าแคนนอนคืออะไร คนแกะเทปบอก แคนนอนคืออะไรหลวงพ่อ แคนนอนคือมันย้อนกลับ เห็นไหม คนแกะเทปเขาบอกว่าแคนนอนมันคืออะไร เพราะเขาผู้หญิงไง เขาไม่เคยเล่นสนุ๊ก แต่ผู้ชายบอกแคนนอน แคนนอนคือมันย้อนกลับ เห็นไหม ดูหนังดูละครแล้วมันจะย้อนกลับมาดูเรา มาดูเรา เนี่ยเวลาพูด มันพูดไปไวๆ มันย้อนกลับมา ถ้ามันมีปฏิภาณไหวพริบ มันจะย้อนกลับมา มันสะท้อนกลับมา

การสะท้อนกลับมาอย่างนี้ เวลาเข้าไปดูป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้า ก็เหตุนี้ไง พอบอกไปดูป่าช้า ทำไมมันไม่มีชีวิต มันเป็นซากศพ ไปดูแล้วได้ประโยชน์อะไร ไปดูให้มันสลดสังเวชไง ไปดูเพื่อเราไง ไปดูเพื่อให้ภาพมันย้อนกลับมาหาเราไง ดูอะไรก็แล้วแต่ ดูหนังดูละคร ย้อนมาดูตัวไง อันนี้มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากอำนาจวาสนาของคน ถ้าคนมันมีวาสนา เห็นไหม รักษาใจ รักษาใจนี่ เขารักษากันอย่างนี้

แหม ดูจิต ดูจิต กูจะตะครุบจิต จิตมันอยู่ไหน จิตมันอยู่ไหน คือมันเป็นความเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็บอกให้เรารักษาจิต รักษาจิต เพราะจิตนี้สำคัญที่สุด ควรรู้ว่าจิตนี้สำคัญขนาดไหน เพราะจิตปฏิสนธิจิตนี่มันไปเกิด ดูสิ ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม

มาฟังเทศน์พระพุทธเจ้านี่ มันมาอย่างไร เขายังไม่รู้ตัวของเขาเลย เขาไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขาไม่รู้นะว่ามันมาอย่างไร มันไปอย่างไร มันมีมากนะไปเกิดเป็นเทวดา ในพระไตรปิฎกไง บอกว่ามีความสุขมาก มีความสุข ความสุขนี้ได้จากใครมา อ๋อ ได้จากพระพุทธเจ้า ได้จากการทำบุญกุศล แล้วระลึกถึงบุญถึงคุณนะ นี่มันก็รู้ว่ามีบุญกุศลมานะ แต่ไม่รู้จักตัวนะ ไม่รู้หรอกว่าจิตมันเป็นอย่างไร แล้วไอ้ที่มานี้ ได้บุญกุศลมา แล้วไอ้ตัวมันอยู่ไหน หาไม่เจอหรอก ถ้าหาเจอนะ การดูจิตหรือการรักษาจิตนี่ ก็รักษาให้มันพัฒนาขึ้นมา

ถ้ามันพัฒนาขึ้นมาแล้ว เรากำหนดพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธินี้ เวลาจิตเป็นสมาธินี่ “ อื้อ ” นั่นน่ะตัวจิต ตัวจิตคือตัวสมาธิ แล้วถ้าไม่มีตัวสมาธินี่เราไม่รู้จิตหรอก ตัวจิตคือตัวต้นขั้ว บริษัทจดทะเบียน หรือว่าจดทะเบียนบัญชีต่างๆ ถ้าเราไม่มีต้นขั้ว ไม่มีทะเบียน ผลประโยชน์ตอบรับมันไม่มี ผลประโยชน์ตอบรับเข้าบัญชี มันจะเข้าอย่างไร ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำแบบสักแต่ว่าทำ ทำๆ แต่ว่าไม่ทำ มันทำอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็มีผลตอบสนอง เพราะว่ามันมาจากใจเหมือนกัน แต่มันไม่รู้เรื่องไง มันไม่รู้ของมันหรอก แต่ถ้าเรารู้ของเรานะ เราพัฒนาของเรานี้ เรารักษาจิตเรามาตั้งแต่เริ่มต้น รักษาจิตมาตามตั้งแต่ครูบาอาจารย์ท่านสอน มีสติ มีศีลนี่คือรักษาจิต รักษาจิตเพราะอะไร เพราะเราควบคุมมันก่อนไง เพราะความคิดของเรานี้มันแส่ส่าย ความคิดของเรานี้มันมีตัณหาทะยานอยากไปตามอำนาจของมัน มันไปโดยแรงแบบควายตู้เลย มันไปประสามันเลย

แล้วมันก็ว่า เราถูกต้องทุกอย่าง ดีงามทั้งนั้น แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้พุทโธ พุทโธ ถ้ามันสลัดเข้ามานี่เห็นไหม มันไม่ไปอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้นทั้งหมดไง อารมณ์ความรู้สึก จิตมีอารมณ์เป็นอาหาร จิตมีความคิดเป็นอาหาร ความรู้สึกมันมีความคิดเป็นอาหาร มันแสดงออกด้วยความคิดนั้น มันยึดความคิดนั้น เวลาเราโลภ เราโกรธ เราหลง เราโกรธขึ้นมานี่ เราผูกกับความโกรธ จิตมันผูกกับความโกรธ แล้วมันแสดงอาการความโกรธไป จนอารมณ์รุนแรงไป จนทำร้ายใครก็ได้ ใช่ไหม

จิตมันเป็นอิสระของมัน จิตมันเป็นจิตนะ แต่เราโกรธใคร เราอาฆาตมาดร้ายใคร ความอาฆาตมาดร้ายไม่ใช่จิต แต่จิตไปคบกับมัน จิตไปคบกับอารมณ์ความรู้สึก ความอาฆาตมาดร้ายนั้น ความอาฆาตมาดร้ายนั้นมันเอาจิตนี้ไปทำลายคนอื่น ไปฆ่า ไปแกงเขานะ พอฆ่าแกงเขาเสร็จ ไอ้อารมณ์ความรู้สึกนั้น มันสะใจไปแล้ว มันก็หายไป ไอ้ตัวจิตที่มันแบบว่ามันอาศัยเขา มันไปคบกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นไปทำร้ายเขา กรรมการกระทำนั้นมันก็ตกอยู่กับจิต

เห็นไหม ตัวจิตมันเป็นธรรมชาติของมันอยู่ แต่มันไปคบ มันไปผูกพันกับอารมณ์ความรู้สึก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภความโกรธนี้มันก็ฉุดกระชากลากจิตไปทำลายคนอื่น ไปทำลายทุกๆ อย่างเลย ทีนี้เรามีสติรักษามัน เรารักษามันเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิใช้อะไรต่างๆ มันก็ไม่ไปคบ ไม่ไปผูกกับความโกรธ ความโลภ ความหลง ที่มันหลง หลงเพราะอะไร เพราะไม่มีสติปัญญา ถ้าไม่มีสติปัญญานี่ความหลง หลงเพราะอะไร หลงเพราะเราไม่รู้ว่าเหตุผลที่เป็นจริงเป็นอย่างไร เราก็หลงไปกับมัน

ก็ไปยึดมั่นถือมั่นเห็นไหม มีปัญญาอบรมมันเข้ามา ปล่อยมันเข้ามา เห็นไหม ถ้าปล่อยให้มันเข้ามานี่เขารักษาจิตกันอย่างนี้ เขาดูจิตกันอย่างนี้ ไม่ใช่ดูจิตว่า กูดูมึงไป มึงดูกูมา ดูไปดูมา เอ้อ สวัสดีเราเป็นเพื่อนกัน ไม่มีหรอก ไม่มี ไอ้ที่ว่าดูกันไปดูกันมา สวัสดีกันแล้วก็ เออ จบกันที่นี่นะ โอ้โฮ มันปล่อยวาง มันรู้แจ้ง ไม่มี ไม่มีหรอก

แต่นี่การดู การรู้รักษา เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์หลวงตา จะบอกว่า ครูบาอาจารย์เขาบอกให้ดูจิต ดูจิต รักษาจิต ใครๆ ก็ว่าต้องรักษาจิต ใช่ รักษาจิต แต่วิธีการรักษา วิธีการทำนี่มันหลากหลาย มันยังมีการกระทำของมันมา ไม่ใช่ว่า ดูจิตแล้ววิ่งไปตะครุบมันเลย บอกให้รักษา กูก็จับเชือกมัดกับต้นเสาไว้เลย กูจะไม่ไปไหนเลย มันไม่ใช่ เราจะจับเรานี่ไปมัดกับต้นเสาไม่ได้ เพราะเรามีหน้าที่รับผิดชอบ เรามีครอบครัว มีญาติมีวงศ์มีตระกูล

ดูหลวงตาสิ หลวงตาท่านบอกว่าท่านนั่งตลอดรุ่ง จะมีอะไรจะมาทำให้ท่านลุกจากที่นั่งไปไม่ได้เลย เว้นไว้ข้อเดียว ถ้าหมู่คณะมีปัญหา หมู่คณะคือพระด้วยกันในวัด ใครเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านจะลุกได้ กับหลวงปู่มั่นเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นลุกได้ เห็นไหม คนเรานี้มันมีหน้าที่รับผิดชอบ คนเรามันมีความรับผิดชอบของคน จะผูกมัดไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันไม่ได้หรอก เห็นไหม เรามีหน้าที่รับผิดชอบ แต่ความรับผิดชอบนั้นก็รับผิดชอบโดยจิตนี่แหละ

ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตนารับผิดชอบ มันจะเอาเราไปทำหน้าที่นั้นได้อย่างไร การไปทำหน้าที่อย่างนั้น เห็นไหม มันทำหน้าที่ไปด้วยความรับผิดชอบ ด้วยชีวิตของเรา แต่ทีนี้ ถ้าเรามีปัญญาของเราเห็นไหม การรักษาก็รักษาดูแลอย่างนี้เข้ามา ถ้ารักษาดูแลเข้ามานะ แม้แต่อยู่ในหมู่คณะ ในพระด้วยกันอยู่ในหมู่คณะ เราเป็นคฤหัสถ์ เราอยู่ในบ้านของเรา เรารักษาของเราเห็นไหม เรามีครอบครัวของเรา เราก็ดูแลของเรา แต่เราก็รักษาจิตของเราไปด้วย

รักษาจิตเราไปด้วยคือว่าสิ่งใดเกิดขึ้นมานี้ นี่อันนี้มันเป็นเวรเป็นกรรม มันเป็นสายบุญสายกรรม การเกิดมาร่วมกันนี้ มันมีสายบุญสายกรรมมา ถ้าเขามีกรรมดีกับเรามา เขาจะทำสิ่งใดที่ตอบสนองที่ถูกต้อง ชอบธรรม แล้วเราก็มีความสุขใจ แต่ถ้ามันมีสายบุญสายกรรมที่เป็นบาปเป็นกรรมกันมา เขาก็จะเอาแต่ใจตัว เอาแต่ใจของเขา แล้วเขาจะทำตามแต่ความรู้สึกของเขา แล้วความรู้สึกของเขานี่ เขาก็ทำความถูกต้องของเขา แต่เรานี่ไม่ถูกใจเรา เราก็มีความเจ็บช้ำน้ำใจ เห็นไหม เราก็ดูแลรักษา รักษาเพราะนี่มันเป็นเรื่องเป็นบุญเป็นเวรเป็นกรรมมาในครอบครัวของเรา เราก็เปลี่ยนแปลงแก้ไข นี่ไง แต่ถ้าเราไม่รักษาจิตนะ สิ่งใดที่เกิดขึ้น ถ้าถูกใจเราก็ โอ้โฮ รักจนแบบว่าเป็นเราเลยนะ โอ้โฮ ทะนุถนอม เวลาเขาทำอะไรให้เราเจ็บช้ำน้ำใจนะ ก็โกรธซะ แหม มันผลักไปซะ เห็นไหม นี่คือการไม่รักษาใจ

ผลอันที่เกิดขึ้นมานี่ มันจะทำมาให้ผลตอบสนองกับจิตนี้ เจ็บช้ำน้ำใจนัก แต่ถ้าเรารักษาใจแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมา มันก็เกิดขึ้นมาอย่างนั้นแหละ เพราะมันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม แต่เรารักษาใจเรา เราก็ไม่เจ็บช้ำน้ำใจ หรือไปผูกรักจนเราต้องไปร่วมกับเขา เพราะมันเป็น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จิตของบุคคลใด ก็เป็นของบุคคลนั้น กรรมของบุคคลใด ก็เป็นของบุคคลนั้น ใครทำดีก็ได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว

แต่การกระทำนี้ เราเกิดมาในวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ ผลของการเกิดร่วมของการที่ตอบสนองกันมานี่ มันจะมีผลกันมาตลอดไป ผลอย่างนี้มันก็จะมีบวกมีลบ และจะมีอย่างนี้ตลอดไปไม่มีวันที่จะสิ้นสุด เพราะการเกิดและการตาย มันไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เราให้รักษาจิต รักษาจิต ก็ดูจิตเรา ไม่ให้จิตเรานี้ไปดูดดื่มหรือไปมีความผูกพันกับวัฏฏะจนเกินกว่าเหตุ

แต่มันก็ต้องเกิด มันก็ต้องเป็นไปอย่างนี้ มันก็ต้องเกิดไปตามความรับผิดชอบอย่างนี้เป็นธรรมดา มันเป็นเรื่องจริง ผลของวัฏฏะมันเป็นเรื่องจริงๆ เรื่องจริงๆ เพราะมันมีผลจริงๆ มันมีการกระทำมาจริงๆ มีขั้วบวกขั้วลบผลักกันมาอย่างนี้จริงๆ แต่ธรรมะนี้มาแก้ไข ถ้ามาแก้ไขแล้วเราก็รักษาจิตมาตั้งแต่ข้างนอก รักษาจิตมาตั้งแต่ รักษาจิต ดูจิตมานี่ เรารักษาหมายถึงว่า เรารักษาตัวเรา ไม่ให้ไปผูกพัน มันมีผลไหม มีผล มีผลเพราะว่าดูจริตนิสัยสิ ความชอบ ความดูดดื่มของเรานี่มันมีผลไหม มันมีผลทั้งนั้นน่ะ

แต่ความมีผลอย่างนี้ ถ้าเรามีปัญญา มีผล แต่เราก็รับรู้ แต่เราก็ไม่เลยเถิดไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน มันก็แบ่งแยก เห็นไหม มันก็ปล่อยวางเข้ามา ให้ตัวเองนี้ดีขึ้นๆ ดีขึ้นมา เห็นไหม พอตัวเองดีขึ้นมานี่ มันเป็นอิสระ ความที่เป็นอิสระ ดูนะพลังงานนี่ ดูไดสิ ดูไดดูพลังงานที่มันเกิด หม้อแปลงต่างๆ ที่มันผลิตพลังงานไฟฟ้าขึ้นมา มันทำงานของมันในตัวของมันนะ แล้วมันส่งผลพลังงานนั้นออกมา

จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราดูจิต รักษาจิต จนพลังงานนี่เห็นไหม มันไม่พ่วงกัน ไม่พ่วงกันจนแบบว่า พลังงานที่มีกำลังมากกว่า กับพลังที่มีน้อยกว่า มันจะฉุดกัน ลากกัน จนมันไม่เป็นอิสระกันไปทั้งหมดเลย แต่ถ้าเรารักษาของเรา เราดูแลของเรานี่ จนพลังงานของเรา คือจิตของเรา มันอิสระอยู่ในตัวของเรา นี่ไง สัมมาสมาธิไง

ความที่เป็นอิสระของเราเห็นไหม ความเป็นอิสระของเรานี้ เราจะทำสิ่งใด เราจะทำได้ง่ายขึ้นไหม เราจะมีโอกาสรักษา ซ่อมแซม แก้ไข พลังงานของเราได้ไหม มันจะมีโอกาสแก้ไข ซ่อมแซมพลังงานของเราให้มันดีขึ้น ดีขึ้นโดยใช้ปัญญา เห็นไหม นี่การรักษาจิต เขารักษาจิตกันอย่างนี้ การดูจิต รักษาจิต ที่ว่ารักษาจิต เพราะมีคำอ้างว่า อาจารย์องค์ไหนก็บอกให้ดูจิต รักษาจิตทั้งนั้น ไอ้นี่ก็ดูจิต ดูจิต มันจะผิดตรงไหนล่ะ ก็ผิดตรงที่จะไปตะครุบจิต มันไม่มีให้ตะครุบ ตะครุบไม่ได้หรอก จิตนี้เป็นนามธรรม เอาวัตถุสิ่งของไปควบคุมมัน เอาอะไรไปควบคุมมัน สิ่งที่มีชีวิต เวลาออกจากร่างไป วิญญาณมันไปที่ไหน

ในสมัยพุทธกาล กษัตริย์ไม่เชื่อว่ามีการเกิดและการตาย เอานักโทษประหาร เอามาประหาร เอาแก้วครอบไว้ แล้วให้คนนั่งเฝ้า ว่าวิญญาณมันออกจากร่างนี้อย่างไร ไม่มี ไม่เชื่อนะ เอานักโทษประหารเลย สั่งนักโทษประหารว่า ถ้าตกนรกเอ็งต้องมาบอกด้วย ถ้าไปสวรรค์ เอ็งก็ต้องมาบอกด้วย เอานักโทษประหาร ประหาร ฆ่าอยู่อย่างนั้น แล้วก็ไปบอกว่านรก สวรรค์ไม่มี นรก สวรรค์ไม่มี

จนสุดท้ายแล้ว พระอะไรจำไม่ได้ พอมันถึงที่สุดแล้ว ก็มาแก้ไง แก้จนบอกว่า สิ่งที่เขาตกนรก มันก็เหมือนคนติดคุก จะออกมาไม่ได้ เวลาคนไปขึ้นสวรรค์ สวรรค์มันเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม เวลาลงมาเมืองมนุษย์นี่ก็เหมือนกับลงมาในฐานส้วม เขาก็ไม่ลงมา พูดเหตุผลจนเขาเชื่อ พอเขาเชื่อเสร็จแล้ว กษัตริย์องค์นี้ก็เชื่อ เปลี่ยนทิฏฐิ พอเปลี่ยนทิฏฐิก็บอกว่า ให้ประกาศสิ บอกว่าตัวเองมีทิฏฐิ มีความเห็นถูกในพระพุทธศาสนาแล้ว เขาบอกว่าเขาประกาศไม่ได้หรอก เพราะเขาถืออย่างนี้มานาน นี่อยู่ในพระไตรปิฎก

เห็นไหม แม้แต่สมัยพุทธกาล สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กษัตริย์เขาก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่าจิตนี้มันมีเกิดมีตาย มีออกจากร่าง เวลาไปนรกสวรรค์ เรื่องวัฏฏะ เขาไม่เชื่อ ความไม่เชื่อของเขา นี่เห็นไหม เพราะความไม่เชื่อของเขา เขาพยายามพิสูจน์กันด้วยหลักฐาน เขาพยายามพิสูจน์กันทางวิทยาศาสตร์เลย แต่เขาพิสูจน์ไม่ได้ แต่เวลาพระไปคุยแก้ไขกับเขา มาพูดถึงธรรมะ ธรรมะด้วยเหตุด้วยผล เพราะเขาอยากพิสูจน์อยู่แล้ว เขายอมรับของเขา

ในปัจจุบันนี้ ที่ว่าเรารักษาจิต ดูจิตน่ะ เรารักษาจิต ดูจิต เพราะเราเอาปัญญาของเราทางวิทยาศาสตร์นี่ ไปจับว่าดูจิตก็คือดูมันอย่างนี้ ความคิดดูความคิดนี่ แล้วมาบอกว่ามันหยุดไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีหรอก ปรัชญานะ ตรรกะเนี่ย เขาพิสูจน์เรื่องอย่างนี้มานานแล้ว ยิ่งพิสูจน์ขนาดไหน มันก็ยิ่งขยายความไปเรื่อย เพราะมันเปรียบเทียบไง ตรรกะคือใช้ปัญญาใคร่ครวญ และปัญญาอย่างนี้ มันตรรกะมันไปเรื่อย เพราะว่าจิตมันไม่สงบ ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ ถ้ามันเกิดตรรกะจากจิตที่มันสงบ มันจะย้อนกลับ ย้อนกลับมาจับต้อง

ความจับต้องนะ จิตเห็นอาการของจิต มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ถ้าจิตเห็นอาการของจิต เนี่ยวิปัสสนาเห็นไหม ตอนนี้เขาแก้มาอีกแล้วนะ บอกว่า ไม่ใช่เซน ไม่ใช่เซนหรอก มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ เซนเป็นเซนต่างหาก แล้วนี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะอะไรรู้ไหม ถ้าออกไปเซน พูดด้วยผลของการปฏิบัติ บุคคลคนนี้ปฏิบัติไม่เป็น ถ้าปฏิบัติไม่เป็น พูดถึงผลการปฏิบัตินะ มันจะเป็นเงื่อนตายตลอด เงื่อนตายคือผูกมัดตัวเอง

แต่ถ้าพูดถึงปริยัติ พูดถึงสติปัฏฐาน ๔ พูดถึงเถรวาท มันมีพระไตรปิฎกเป็นที่แอบอ้าง แล้วอ้างพระไตรปิฎก แล้วพระไตรปิฎกนี้ มันก็เป็นสูตรทฤษฏี ที่ต่างคนต่างจะตีความ แต่ถ้าไปบอกถึงผลนี่ ถ้าพูดถึงผลเมื่อไหร่ ตายเมื่อนั้นไง ถึงบอกว่าตอนนี้พลิกกลับมาแล้วว่า ไม่ใช่มหายาน ไม่ใช่เซน เซนเป็นอีกอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ พอพูดอย่างนี้รู้แล้วว่า ถ้ามันพูดถึงผล ผลก็อยู่ตรงนี้ไง ตรงที่ว่า ถ้าจิตมันสงบ แล้วจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต เพราะอาการของจิตคือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นไหมเพราะอะไร เพราะพระอรหันต์

เวลาพระอรหันต์ เห็นไหม ขันธ์ ๕ เป็นภาระ สอุปาทิเสสนิพพาน สิ่งที่เป็นภาระ ขันธ์ ๕ เป็นภาระ เพราะพระอรหันต์ก็มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่ธรรมธาตุ มันทำให้อวิชชา ให้กิเลสมันหมดไปจากพลังงานอันนี้ พลังอันนี้ มันถึงเป็นพลังงานที่พูดเป็นสมมุติไม่ได้ สิ่งที่พูดเป็นสมมุติไม่ได้ แต่มันเหลือ เหลือคือความคิดไง เหลือความคิดรูป เป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ความคิดนี้ยังสื่อกันได้ ความคิดที่สื่อได้นี้ แต่ตัวพลังงานนี้ ไม่ใช่ความคิด เพราะตัวพลังงานไม่ใช่ความคิด เห็นไหม ตัวพลังงานไม่ใช่ความคิด ถ้าอันนี้เป็นผลของผู้ที่ปฏิบัติได้จริง ตามความเป็นจริงแล้ว เพราะการปฏิบัติได้ตามเป็นจริง ตั้งแต่ดูจิต รักษาจิต จนจิตแก้ไขจิต จิตแก้ไขจิต จิตใช้ปัญญา วิปัสสนาจนจิตนี้พ้นออกไปเป็นพระอรหันต์ จบสิ้นกระบวนการของมันไป

แต่สำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเห็นไหม พอจิตมันสงบขึ้นมานี่ จิตเห็นอาการของจิต เราจะยืนยันตรงนี้ให้เห็นว่า จิตเห็นอาการของจิต อาการของจิตไม่ใช่จิต ตัวจิตเป็นตัวพลังงาน ตัวความคิดไม่ใช่จิต ถ้าตัวความคิดเป็นจิต เวลาพระอรหันต์นิพพาน เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต ขันธ์ ๕ เป็นภาระ เห็นไหม ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี่ เพราะอะไร เพราะพระอรหันต์ยังสื่อสารกับสามัญชน พระอรหันต์ยังสื่อสารกับลูกศิษย์ลูกหาได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสื่อสาร ยังพูดได้ ยังมีข้อมูลในหัวใจที่มาสื่อกับสังคมได้ การสื่อกับสังคมนั้นเป็นข้อมูลไหม เป็นสัญญาความจำไหม เป็นสังขารไหม

ความสื่อ สื่อกับสังคมเห็นไหม เพราะสังคมต้องสื่อสารกัน มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไว้สื่อสาร เพราะมันเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์คือภพ ภพเป็นมนุษย์ เราทำสิ่งใดที่เป็นวัตถุขึ้นมา เป็นสิ่งใด สิ่งใดคือรูป รูปเป็นสิ่งนั้น แต่ขบวนการของมันนั้น เห็นไหม ที่พลังงานนั้นอีกอันหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน พอเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ มันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในเมื่อจิตมันสะอาดไปแล้ว ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันยังอยู่ไง เรามีวัตถุอยู่ชิ้นหนึ่ง วัตถุชิ้นนี้มันยังใช้งานได้อยู่ วัตถุชิ้นนี้ มนุษย์คนหนึ่ง เกิดมามีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนวัตถุอันหนึ่ง เนี่ยตัวจิต ตัวพลังงานนี้ เวลามันสิ้นกิเลสไปแล้ว แต่วัตถุชิ้นนี้ยังมีอยู่ไง พอมีอยู่ นี่ สะ คือเศษ เศษที่เหลืออยู่ในภพมนุษย์ไง เศษที่เหลืออยู่ในภพมนุษย์ มันเลยสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันได้ไง

นี่ไง เวลาผู้ที่สิ้นกิเลสไปแล้ว มันถึงสื่อสาร คือพระไตรปิฎกเคลื่อนที่ได้ไง ฉะนั้นถึงบอกว่า จิตเห็นอาการของจิต พูดมาตั้งเยิ่นยาวเนี่ยนะ ก็เพราะกันไว้ ไม่ให้เขาบอกว่า มันก็เหมือนกันอีกล่ะ พูดกันไว้ว่า จิตเห็นอาการของจิต มันเป็นกระบวนการของมัน ไม่ใช่ใครจะคิดขึ้นมาได้เอง มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ปฏิสนธิจิตมาเกิดในมนุษย์ มันถึงมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แล้วตัวพลังงานนี้ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เห็นไหม พรหมมีขันธ์เดียว ตัวจิตปฏิสนธิจิตตัวพลังงานนี้มันไปเกิด เห็นไหม ตัวพลังงานนี้มันมีของมันอยู่ เห็นไหม ดูจิต รักษาจิตในภพใดชาติใด ดูจิต รักษาจิตในการวิปัสสนาญาณของมัน เห็นไหม พอจิตเห็นอาการของจิต มันมีของมัน แต่เพราะไม่รู้ไม่เห็น เพราะคนมันไม่รู้ไม่เห็น มันถึงไม่รู้ว่าจิตเห็นอาการของจิตอย่างไร

แล้วบอกว่าจิตหยุดไม่ได้ ความคิดหยุดไม่ได้นี่ เพราะความคิดมันเป็นขันธ์ ๕ ทำไมรถนี่นะ มันใส่เกียร์วิ่งมา รถวิ่งมาตั้งแต่ไหนก็แล้วแต่ พอรถมันปลดเกียร์ว่าง ทำไมรถมันปลดเกียร์ว่างได้ล่ะ ความคิดนี่นะ จิต อาการของจิตมันเป็นเฟืองเกียร์ เกียร์มันทดอยู่ต่อกัน ถ้ามันปลดว่าง ทำไมมันปลดว่างไม่ได้ ถ้ามันปลดว่างได้ มันจะมีความคิดได้อย่างไร เขาบอกว่าความคิดหยุดไม่ได้ หยุดไม่ได้นี้ รถนี่ปลดเกียร์ว่างไม่ได้หรือ รถในโลกนี้คันไหนบ้างที่ไม่มีเกียร์ว่าง มันมีเกียร์ว่างทั้งนั้นล่ะ รถคันไหนบ้างที่ว่ามันไม่มีทดเกียร์ให้มันวิ่งไป นี่ก็เหมือนกัน เวลาความคิด ที่ความคิดเกิดขึ้นน่ะ รถมันเข้าเกียร์แล้ว ความคิดมันหมุนไป แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นมา มันปลดเกียร์ว่างหมดเลย ทำไมมันจะหยุดไม่ได้ ทำไมความคิดจะหยุดไม่ได้

ความคิดหยุดได้ แต่หยุดเป็นเกียร์ว่างแล้วมันก็เท่านั้นล่ะ เกียร์ว่างคือการพักผ่อน การว่างคือสัมมาสมาธิ แต่การจะก้าวเดินไป ก็ต้องใส่เกียร์อีก เพราะฉะนั้นปัญญามันถึงมีโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญาเกิดขึ้น เห็นไหม โลกุตตรปัญญาเกิดขึ้น มันจะเป็นปัญญาถอดถอน โลกียปัญญานี่ ปัญญาเกิดจากตัณหาทะยานอยาก ปัญญาเกิดจากการแสวงหา ปัญญาเกิดจากความต้องการ ปัญญาเกิดจากที่เรานี่คือปัญญาของตัณหาความทะยานอยาก ปัญญาของกิเลส

อย่างเช่นปฏิบัติธรรมนี้ อยากเป็นพระอรหันต์ อยากจะสิ้นกิเลส อยากหมดเลย นี่ปัญญากิเลสหมดเลย แต่ถ้าหมุนไปทำไป จนมันคล่องตัวของมัน เห็นไหม มันเต็มที่ของมันแล้ว ถ้ามันเห็นโทษของมันไง เพราะผู้ปฏิบัติทุกคนวิปัสสนาหนหนึ่ง ก็ โอ้โฮ มีความสุขมาก อยากได้มาก อยากได้มาก อยากได้มากมันจะลากไปจนเหนื่อย เกือบเป็นเกือบตายนะ

พอทอดธุระ เฮ้อ ไม่เอาละ ก็ทำไปตามประสาเราไปนี่ละ มันได้อีกแล้ว นี่ไงถ้าปัญญาโลกๆ นี่มันจะลากเราไป ตัณหาทะยานอยากมันจะหมุน ลากเราไปตลอด แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเราจนเห็นโทษของมัน เห็นคุณค่าของมัน รู้เท่าทันมันนะ มันจะสมดุลของมัน นี่ไง มัชฌิมาปฏิปทา มันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้คือมันสมดุล สมดุลของสัมมาสมาธิ สมดุลของวิปัสสนาญาณ

ความสมดุลของมันนะ มีหยาบ มีละเอียด ความสมดุลมันมีมหาศาลเลย ความสมดุลเห็นไหม ดูเด็กๆ สิ เด็กๆ เห็นไหม พ่อแม่นะ ลูกอย่ากินอาหารรสจัดนะ อย่ากินเผ็ดนะ เพราะเดี๋ยวร่างกายมันจะไม่ดี เห็นไหม พอมันโตขึ้นมานี่ สมดุลของมันเห็นไหม เด็กมันก็กินอาหารอ่อน อาหารเด็กๆ เพราะร่างกายเขายังอ่อนแออยู่ พอโตขึ้นมาเห็นไหม กินอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ต้องกินอาหารที่ว่ามีรสชาติพอสมควรของตัว ยิ่งมีอายุมากขึ้นมาเห็นไหม ต้องกินอาหารเพื่อรักษาร่างกาย

นี่ก็เหมือนกัน จิตพอมันสมดุลของมัน มันสมดุลของมันในขั้นของสมาธิก็เหมือนเด็กๆ นี่ กินแต่อาหารอ่อน กินอาหารแต่รสที่ให้มีผลต่อร่างกายในทางที่ดี พอโตขึ้นมาเห็นไหม ร่างกายมันเติบโตจนถึงที่สุด มันไม่โตไปกว่านี้อีกละ ก็กินอาหารเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้นเอง นี่ก็เหมือนกัน พอวิปัสสนาญาณมันเกิด มันเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป

นี่ การรักษาจิต ไม่ใช่ว่ารักษาจิตแล้วก็บอกว่าต้องเพ่ง ต้องดูอยู่อย่างนั้น หรือต้องดูโดยปกติ นี่คิดโดยวิทยาศาสตร์ คิดโดยโลก คำพูดอย่างนี้เป็นคำพูดแบบโลกๆ ไม่ใช่พูดธรรมะ ถ้าธรรมะมันมีมรรคหยาบมรรคละเอียด ความละเอียดอ่อนของจิต มันวิวัฒนาการของมัน มันพัฒนาการของมัน เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

ความเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนี่ มันจะย้อนกลับมาทำลายมันเอง ฉะนั้นคำว่า อย่าอ้าง เขาจะอ้างบ่อยว่า ครูบาอาจารย์องค์ไหนก็สอนดูจิตทั้งนั้น แต่ดูจิตไปดูจิตมา เขาจะกลับมาสอนพุทโธแล้ว ไอ้เราจะกลับไปสอนดูจิต เพราะดูจิตมันก็มีผิดมีถูก พุทโธมันก็มีผิดมีถูก จะภาวนาอะไรก็แล้วแต่ ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ภาวนาทุกอย่างมันมีผิดมีถูกการว่าผิดถูกนี้คือพัฒนาการของมัน นี่คือการรักษาจิต การรักษาจิต ดูจิตนี่ รักษาจิต ดูจิต เพื่อประโยชน์เพื่อการภาวนา แต่ถ้าภาวนาไม่เป็น การรักษาจิต ดูจิต มันก็ผิด ถ้ามาพุทโธ พุทโธก็ผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะเราตะครุบเงา อยากได้มาก ทำสิ่งใดก็ว่าจะอยากได้ พอเริ่มภาวนาเป็นพิธีเท่านั้น เดินจงกรมเป็นพิธี นั่งพอเป็นพิธี จะเอามรรคเอาผลกัน แล้วก็บอกว่า โอ๋ย สว่าง โอ๋ย สงบ โอ๋ย ว่าง ว่างขนาดไหนนะ

บางทีเราจะพูดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระเลย ถ้าบอกว่า ว่างๆๆ อวกาศมันว่าง อากาศมันว่างอยู่แล้ว นี่มันดีกว่าเราอีก จุดธูปจุดเทียนกราบมันทุกวันเลย มึงไม่ทุกข์เลยนะอากาศเนอะ มึงว่างทั้งวันเลยว่ะ กูล่ะทุกข์ฉิบหายเลย อากาศแม่งไม่เคยทุกข์เลย เพราะมึงว่างอยู่ตลอดเวลา คนนั้นมาก็ว่าง คนนี้มาก็ว่าง ก็จุดธูปจุดเทียนกราบความว่างนี่ล่ะ กูกราบมึงทุกวันเลย มึงมีความสุข มึงไม่เคยทุกข์เลย กูนะทุกข์น่าดู

นี่มันพูดกันไปไง มันพูดไปโดยไม่มีเหตุมีผลรองรับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่ามันจะว่างนะ มันจะปล่อยวางได้อย่างไร มันปล่อยวางด้วยเหตุด้วยผล การรักษา รักษาดูแลมัน แล้วเวลามันว่างขึ้นมาแล้วนี่ มันมีว่างในขั้นของสมถะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ว่างในขั้นของวิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณมันก็มีหยาบ มีละเอียด มันมีชั้นมีตอนของมันเข้าไป นี่คนภาวนาเป็น มันจะทำ มันจะพูด ถูกต้องดีงามไปหมด ถ้าคนภาวนาไม่เป็น มันก็พูดผิดพลาด มีแต่ความผิดพลาดกันไปตลอด ฉะนั้น เราต้องพิสูจน์ด้วยตัวเราเอง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกสันทิฏฐิโก เพราะจิตมันสัมผัส จิตมันรับรู้ แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี้คือการรักษาจิตนะ เอวัง