ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

มุมมอง - ความจริง

๒๗ มี.ค. ๒๕๕๓

 

มุมมอง – ความจริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาถามมาในเว็บไซต์ ว่ามีคณะแพทย์จากศิริราชไปดูแลหลวงตา แล้วก็ไปกราบหลวงปู่ลี ไปกราบหลวงปู่ลีเสร็จแล้ว เขาก็บอกว่าเขาก็เอาหนังสือไปแจกหลวงปู่ลีเป็นตั้งๆ เลย แล้วก็บอกว่าพระพวกนี้ คณะหมอนี่เขาก็เป็นฝ่ายปริยัติไง เอาหนังสือมาหลายเล่มมาก หนังสือของเขานี่โต้แย้งมาตลอด โต้แย้งองค์นั้นๆ มาเห็นไหม สุดท้ายแล้วก็มาวิจารณ์เรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา แย้งมาเรื่อย นี่เป็นหนังสือของเขานะ

เป็นหนังสือของเขาแจกหลายเล่มมาก แล้วหลวงปู่ลีก็ให้พวกลูกศิษย์ เขาถามมา พอเขาถามมาเสร็จแล้ว ที่เราพูดลัดๆ นี่คือเราไม่อยากเอ่ยชื่อใคร คือไม่ต้องการให้เป็นประเด็นขึ้นมา แต่ก็พูดถึงว่า เขาบอกว่านิพพานน่ะต้องเป็นอนัตตา ฉะนั้นไอ้กรณีอย่างนี้ หนังสือนี่เราดูหมดแล้วแหละ นี่ถ้าเขาไม่รู้ให้ไปดูนิพพานก็คือนิพพาน เราก็ตอบไปแล้วนิพพานคือนิพพาน

สุดท้ายแล้วนะ ทั้งๆ ที่มันเป็นประเด็น ประเด็นในหัวใจของเรามันตรงนี้ เขาบอกว่าหนังสือนี่เขาก็ดูมาแล้ว ตอนท้ายเขาว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ส่วนต่างๆ ของวิญญาณ มันเป็นส่วนต่างคือวิญญาณ และท่านอาจจะยืดยาวไป เขาโต้ว่าผิด

ทีนี้คำที่เราเอาเป็นประเด็นขึ้นมา “อันที่จริงก็ผิดใช่ไหมคะ” พออ่านหนังสือเขาไปแล้วก็ถามมา “อันที่จริงก็ผิดใช่ไหมคะ”  นี่แสดงว่าตัวเองคล้อยตามเขาไปเห็นไหม เวลาถามเข้ามา หนังสือที่เขาเอามาแจกให้หลวงปู่ลี หลวงปู่ลีก็ให้ลูกศิษย์อ่าน ลูกศิษย์ก็อ่านของเขาไปเรื่อยๆ สุดท้ายพออ่านหนังสือจบแล้ว ก็ว่า “อันที่จริงก็ผิดใช่ไหมคะ”  แสดงว่าคนอ่านแล้วมันคล้อยตามไปนะ อันที่จริงหนังสือผิดครับ หนังสือผิด หนังสือผิด อันที่จริงนิพพานก็คือนิพพาน ยืนยันว่านิพพานก็คือนิพพาน

เขาบอกว่านิพพานก็คืออนัตตา อ้างไปหมดนะ อ้างถึงเจ้าของหนังสือ อ้างถึงที่มาเห็นไหม แต่เขาไม่ได้พูดถึงตัวเขา มีหมดล่ะ โต้แย้งใคร แต่เราไม่อยากจะเอ่ยชื่อออกไป

อันนี้เพียงแต่ว่า “อันที่จริงก็ผิดใช่ไหมคะ”  ทั้งๆ ที่เรากรรมฐานนะ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ได้หลักไม่ได้เกณฑ์ก็เป็นอย่างนี้

ฉะนั้นคำว่า นิพพานคือนิพพาน เป็นคำที่หลวงตาท่านยืนยันอยู่แล้ว ทีนี้เพียงแต่เขาบอกว่านิพพานต้องเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาเพราะเป็นความเห็นของเขา พอเป็นความเห็นของเขาก็อ้างมาหมด เพราะในหนังสือเขาเขียนมา เขาจะอ้างว่า ........นี่ไม่ได้พูด เขาอ้างว่า......... บอกว่า ถ้านิพพานคือนิพพาน นิพพานเป็นของเรา ถ้านิพพานเป็นของเรา เราคือตัวตน

ฉะนั้น เพราะหนังสือที่ว่า พระไทยไม่ใช่เราไม่ใช่เขา เขาอ้างอย่างนี้ อ้างบอกว่า ในบาลี………บอกว่า ถ้านิพพานเป็นเรา พระกรรมฐานที่ปฏิบัติกันมาทั้งชีวิตนี้ ถึงไม่ได้มรรคได้ผล เพราะมัวแต่ไปโอ้โลมปฏิโลม ไปเอานิพพานเป็นเรา คือเรากับนิพพาน ไปแบบว่า ไปคลุกคลีกันจนไม่เห็นมรรคผลไง ในหนังสือเขาว่าอย่างนี้บอกว่า เพราะว่านิพพานเป็นเรา เราเป็นนิพพาน เพราะถ้านิพพานคือนิพพาน คือนิพพานเป็นเรา

แต่ถ้านิพพานสักแต่ว่านิพพาน ถึงจะถูกเห็นไหม เขาบอกว่า นิพพานต้องเป็นสักแต่ว่านิพพาน นี่ในหนังสือเราดูหมดแล้วล่ะ เพราะนิพพานเป็นเรา นิพพานกับเรา เรากับนิพพานก็เลยเป็นอันเดียวกัน เพราะมีเราก็มีกิเลสใช่ไหม นิพพานก็มีกิเลส ก็เลยไปคลุกคลีกัน เขาบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไว้ในพระไตรปิฎกว่า ที่ผิดเพราะผิดด้วยเหตุนี้ ถ้ามันผิดเพราะเหตุนี้ เพราะถ้านิพพานเป็นเรา เราเป็นนิพพานมันผิด แต่ถ้านิพพานคือนิพพานน่ะ มันไม่ผิด

ถ้านิพพานเป็นเรา เราเป็นนิพพานน่ะ ผิด ผิดเพราะอะไร เพราะมันมีตัวตนใช่ไหม มีเราใช่ไหม เพราะเราอ่านว่านิพพานเป็นเราใช่ไหม นี่เราจะบอกว่ามันเป็นมุมมองกับข้อเท็จจริง ถ้าเป็นมุมมองว่า นิพพานเป็นเรา เราเป็นนิพพานเพราะอะไร เพราะเราปุถุชน หรือ เราเป็นปริยัติ หรือผู้ที่ศึกษา มันต้องมีเราเป็นคนศึกษาใช่ไหม วิชาการอะไรก็แล้วแต่ เด็กคนไหนก็แล้วแต่จะศึกษาต้องมีตัวเด็ก มีตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง มีจิตเป็นศูนย์กลาง มีความรับรู้เป็นศูนย์กลาง ไอ้ความรับรู้ มันไปรับรู้ขึ้นมานะ นิพพานถึงเป็นเรา เราถึงเป็นนิพพาน

แต่ถ้าฝ่ายปฏิบัติใช่ไหม เขาต้องทำจิตให้สงบเข้ามาก่อน เขาต้องทำลายจิตเข้ามาเรื่อยๆ จิตของเขาจะพิจารณากายเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จะปล่อยสักกายทิฏฐิ กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลงเห็นไหม แล้วก็ไปปฏิบัติ กามราคะเห็นไหม แล้วพูดเข้ามาถึงตัวจิต ตัวจิตก็ทำลายจิตหมดแล้วเห็นไหม นิพพานถึงไม่ใช่เป็นเรา นิพพานเป็นเราไม่ได้ นิพพานคือนิพพานไง ถ้านิพพานคือนิพพาน คือมันไม่มีเรา

ฉะนั้นถ้าบอกว่า นิพพานเป็นเรา เราเป็นนิพพาน ผู้ที่ปฏิบัติอยู่ถึงว่าไม่ได้นิพพาน เพราะว่าไปคลุกคลีอยู่กับนิพพาน นิพพานที่ถูกต้อง คือนิพพานต้องเป็นสักแต่ว่านิพพาน นี่ไง!!

ถ้านิพพานเป็นคำว่าสักแต่ว่านิพพานอันนี้ผิด! ผิดเพราะอะไร เพราะว่านิพพานไปอยู่อีกที่หนึ่ง เพราะมันสักแต่ว่าใช่ไหม ไม่ใช่เราใช่ไหม เราเอาของไปตั้งไว้ที่หนึ่ง แล้วเราเป็นผู้ดูอีกที่หนึ่ง ไอ้ผู้ดู ไอ้ผู้ที่รู้สักแต่ว่านิพพานนี่ไง

ไอ้คำว่านิพพานเป็นเรา เขาว่าผิด เพราะนิพพานเป็นเรา เราไปคลุกคลีกับนิพพาน แต่ถ้านิพพานเป็นสักแต่ว่านิพพาน เขาว่าถูก

นี่ไง หนังสือเขาเขียนอย่างนี้จริงๆ เขาบอกว่าถ้าจะถูกต้องคือ นิพพานต้องเป็นสักแต่ว่านิพพาน ฉะนั้นพระที่ปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติมากันจนแก่จนเฒ่า เราไม่อยากอ่านคำนี้เลยนะ แต่เราจะอ่านคำนี้ เพราะคำนี้มันเหมือนกับว่าเขาเหน็บแนมไง เขาเอาหนังสือมาให้ หนังสือ......... เพราะว่าในหนังสือเขาบอกแล้วว่า ผู้ที่ปฏิบัติ พระป่าที่ปฏิบัติ ไม่ได้มรรคได้ผล เพราะมัวแต่ไปว่านิพพานเป็นเรา เราเป็นนิพพาน หมายถึงว่า ไปรักษากิเลสไว้ไง ปฏิบัติโดยกิเลส รักษากิเลสไว้

แต่เขาไม่เข้าใจว่าที่ผู้ปฏิบัติจริง รู้จริง ปฏิบัติจนทำลายกิเลสมามหาศาลเลย ฉะนั้นนิพพานถึงเป็นนิพพาน เพราะอะไร เพราะนิพพานไม่ใช่เรา แต่! แต่อาศัยผู้ที่รู้จริงเป็นผู้พูดออกมา คำว่า “พูดออกมา” นี้เป็นกิริยา ไม่ใช่ตัวจริง หลวงตาจะบอกว่า ธรรมธาตุสื่อออกมาไม่ได้ วิมุตติสื่อออกมาไม่ได้ มันต้องเสวยอารมณ์ เสวยไง เสวยความรู้สึก ธรรมธาตุเป็นอันหนึ่ง แต่พออยากจะสื่อความหมาย มันต้องออกมาที่ข้อมูล ออกมาที่ตัว มโนมิงฺปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ

มโน คือทำลายแล้ว จิตโดนทำลายแล้ว ตัวพลังงานโดยทำลายหมดแล้ว ถึงจะเป็นนิพพานได้ ฉะนั้น มโนมิงฺปิ นิพฺพินฺทติ มโนสัมผัส ตัวจิตก็โดนทำลายไปแล้ว ผลของการสัมผัสก็โดนทำลายไปแล้ว มันถึงเป็นธรรมธาตุ ถึงเป็นนิพพานคือนิพพาน นิพพานก็คือตัวมันไม่มีอะไรทั้งสิ้น

แต่ในเมื่อ สอุปาทิเสสนิพพาน คือถ้ายังมีชีวิตอยู่มันต้องเสวยอารมณ์ “เสวย” เห็นไหม นี่ไงถึงบอกว่า อาหาร ๔ ในวัฏฏะ กวฬิงการาหาร อาหารคำข้าว วิญญาณาหาร คือ ความรู้สึกของเทวดา อินทร์ พรหม ผัสสาหารเป็นของพรหม วิญญาณาหารของพวกเทวดา วิญญาณาหาร ผัสสาหาร มโนเจตนาหาร อาหารในวัฏฏะ วัฏฏะยังมีอยู่สื่อสัมพันธ์มาได้ ความสื่อสัมพันธ์มานี้ ถึงบอกว่า พูดแทนนิพพานไง นิพพานพูดไม่ได้ สิ่งใดก็พูดไม่ได้

นิพพานไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นิพพาน ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น แต่ไม่มีใครพูดถึงนิพพานอย่างนั้น แต่พอบอกว่า นิพพานสักแต่ว่านิพพาน เขาถึงว่าเป็นอนัตตา เขาพยามจะพูดถึงอนัตตา ว่านิพพานนี่คืออนัตตา ถ้านิพพานคืออนัตตาปั๊บนะ เพราะอนัตตาเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นิพพานเป็นสักแต่ว่านิพพานเพราะอะไร เพราะตัวเองไม่ได้ปฏิบัติ เห็นไหม เราจะบอกว่า มุมมอง ทัศนคติ ในเมื่อมีเรา มีจิต มีความรับรู้สึก นักวิชาการหรือการศึกษาต่างๆ เราต้องเอาจิตเราไปศึกษาเอาข้อมูล ศึกษาคือความจำ ความจำ สุตมยปัญญา คือ การศึกษาวิชาการ การจำมาทั้งหมด นี่คือ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา คือ การจินตนาการ แต่ภาวนามยปัญญามันเกิดไม่ได้ ถ้ามันเกิดได้มันจะมาลบล้างกิเลส ลบล้างความยึดมั่นถือมั่นของจิต จิตนี้ตัวยึดมั่นถือมั่นโดนทำลาย พอโดนทำลายตัวนี้ไปแล้ว มันจะรู้ผิดไปได้อย่างไร นี่คือความจริง

แต่มุมมองคือ ความจำ ถ้ามุมมองความจำที่สื่อออกมาเป็นทางวิชาการ นี่คือความจำทั้งหมด ความจำทั้งหมดมาจากไหน ก็จำมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ไปยึดคำว่าอนัตตา เพราะอะไร เพราะตัวเองไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ตัวเองไม่รู้จริง ตัวเองรู้จำ ถ้ารู้จำนะคลาดเคลื่อนไปจากธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีใครจะมีความสามารถให้มันคลาดเคลื่อนไปจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

ถ้ามันคลาดเคลื่อนจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ตัวเองเข้าใจว่าตัวเองจะผิดไปจากนั้น นี่คือมุมมอง แต่ถ้าความจริงมันปฏิบัติเข้าไปแล้ว จิตมันต้องสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้ว จิตสงบมาอย่างไร แล้วจิตมันทำปฏิกิริยาของมันอย่างไร ถ้าจิตมันทำปฏิกิริยาของมันตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว นั่นคือความจริง

ฉะนั้น มันเป็นมุมมอง ที่ว่าสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา เพราะถ้านิพพานเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าต้องบอกว่านิพพานเป็นอนัตตา ใครก็ไปถามพุทธเจ้ามากเลยว่า นิพพานเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าไม่พูดเลย ไม่พูดถึงนิพพานเป็นอย่างไร เพราะถ้าไปถึงจุดนั้นแล้ว มันจะเหมือนกันใช่ไหม

ฉะนั้น ทางวิชาการ ทางปริยัติ เขาบอกว่านิพพานเป็นอนัตตา ถ้านิพพานเป็นอนัตตาก็เอานิพพานไปตั้งไว้ไง เหมือนอย่างเรานั่งอยู่ที่นี่ใช่ไหม กรุงเทพอยู่ที่กรุงเทพ แล้วก็พูดตามกันไปอย่างนั้นล่ะ แล้วก็เอาแผนที่มากางดูกัน อ๋อ กรุงเทพนะ สนามหลวงนะพระราชวังอยู่ตรงนั้นนะ ศาลฎีกาอยู่ที่นั่น เราจะวิจารณ์ไปทั้งปีทั้งชาติเลย แต่เราไม่เข้าไปถึงจุดนั้นเลย

ทีนี้พอไม่เข้าไปถึงจุดนั้น นี่ไง นิพพานเอาไปตั้งไว้ กรุงเทพไปตั้งไว้ที่กรุงเทพ เราไม่เข้าไปเลย นิพพานเราไปตั้งไว้เลยเพราะอะไร เพราะว่านิพพานเป็นสิ่งที่สุดเอื้อม เพราะว่าถ้าทางวิชาการแล้วจะไม่กล้าเข้าไปสัมผัสกับกรุงเทพเลย ไม่เข้าไปสัมผัสนิพพานเลย แต่ถ้าพูดถึงวิชาการ วิชาการคืออะไร วิชาการคือธรรมะพระพุทธเจ้าไง

พอธรรมะพระพุทธเจ้า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นิพพานต้องเป็นอนัตตา ไม่ใช่! ไม่ใช่เพราะทางวิชาการว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา คำว่าอนัตตามันแปรสภาพ มันเป็นไตรลักษณะ อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา มันเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจังเห็นไหม

อนิจจังกับอนัตตาแตกต่างกันอย่างไร อนิจจังคือความไม่เที่ยงของมัน มันแปรสภาพของมัน สิ่งใดแปรสภาพสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เพราะความทุกข์มันยังแปรปรวน ความทุกข์นี้เป็นความรู้สึกนะ สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด วัตถุสิ่งของ หรือความรู้สึกนี่เป็นอนิจจังทั้งหมด พอเป็นอนิจจัง มันแปรสภาพ มันเป็นทุกข์ ความทุกข์ก็เป็นอนัตตา เพราะความทุกข์ไม่เป็นความจริง แล้วที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ล่ะ

ถ้าเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อนัตตาคือมันแปรปรวน ความทุกข์หรือความสุขของเรามันจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นนิพพานได้ไหม ถ้าบอกนิพพานเป็นอนัตตา อนัตตามันก็แปรปรวนน่ะสิ นิพพานก็แปรปรวนน่ะสิ

แต่ถ้านิพพานเป็นนิพพานล่ะ แล้วนิพพานเป็นนิพพานเป็นอย่างไรล่ะ ฉะนั้นมันถึงเป็นมุมมอง มุมมองของปริยัติ มุมมองของทางวิชาการ เขาจะมีมุมมองอย่างนั้น ฉะนั้นที่ว่า นิพพานก็คือนิพพาน นิพพานมันตรงตัวของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นมุมมองเห็นไหม พอเป็นมุมมองปั๊บมันก็ขยายความ

นิพพานของคนมีกิเลสนะ นิพพานคือความสงบเย็นนะ นิพพานเป็นความว่างนะ ก็ว่ากันไป มันเป็นมุมมองเห็นไหม

มุมมองคือทัศนคติ! ทัศนคติของคนมีได้หลากหลาย ความรู้สึกความมุมมองมันมีได้หลากหลาย มีได้ทุกอย่าง ทีนี้ความมุมมองมันจบไหม มันไม่จบใช่ไหม ทัศนคติไม่มีวันจบ แล้วแต่ใครจะตีความ ใครจะเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน จิตหยาบ-ละเอียด ความรับรู้ของจิตมันมากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้าเป็นความจริง มันอันเดียวกัน ไม่ใช่ทัศนคติ เป็นความจริง ความจริงคือความจริง แล้วความจริงนั้นมันแปลกด้วย ความจริงมันแปลกเห็นไหมดูสิ เรานะคนทุกข์คนเข็ญเข็ญใจหรือเศรษฐีกุฎุมพีขนาดไหน ถ้ามีเงินหนึ่งบาทก็แบงก์บาทเหมือนกัน แบงก์บาทเหมือนกันนะ ฉันเป็นขอทานได้มาหนึ่งบาทก็คือเงินหนึ่งบาท เศรษฐี มหาเศรษฐีหาเงินมาหนึ่งบาทก็คือหนึ่งบาท เห็นไหม มันไม่มีสูงไม่มีต่ำไง ขอทานมีเงินบาทหนึ่งก็ค่าของเงินบาทหนึ่ง เศรษฐีมีเงินบาทหนึ่งก็ค่าของเงินบาทหนึ่ง

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ทุกข์จนเข็ญใจ อำนาจวาสนาบารมี คนทุกข์คนยาก เศรษฐี พระมหากษัตริย์ออกมาบวช เวลาปฏิบัติไปเข้าไปถึงที่สุดแล้วมันเหมือนกันไง มันเหมือนค่าของเงินที่มันมีค่าเท่ากัน ค่าของเงินมีค่าเท่ากัน แต่เงินมีค่าเห็นไหม เศรษฐีมีเงินหนึ่งบาท เงินหนึ่งบาทนั้นทุกคนนับหน้าถือตานะ แต่ขอทานมีเงินหนึ่งบาทสังคมไม่นับหน้าถือตานะ เพราะคนๆ นี้ได้เงินจากการขอทานมา อันนี้มันเป็นภาวะสังคม ความมุมมองของสังคม เป็นอำนาจวาสนาบารมี

แต่เราพูดถึงค่าของมัน ค่าของขอทานมันมีเงินบาทหนึ่งก็คือบาทหนึ่ง ค่าของเศรษฐีมีเงินบาทหนึ่งก็คือเงินบาทหนึ่ง การภาวนาถ้าจิตมันสงบเข้าไป ก็มีค่าเท่ากัน เพียงแต่สงบมากสงบน้อย เศรษฐีมีเงินบาทหนึ่ง โอ้โฮ บอกคนนี้เศรษฐีนะมีเงินบาทหนึ่ง ไปไหนมีแต่คนยกมือไหว้ ขอทานมีเงินบาทหนึ่งไปไหนไม่มีใครมองเลย

จิตของคนเวลามันสงบขึ้นมา อำนาจวาสนาของมัน มันสงบมากสงบน้อยแค่ไหน ดูสิ ความสงบของคน เศรษฐีมีเงินบาทหนึ่งนะ เขาก็หมุนเงินของเขา เขามีเงินของเขาบาทหนึ่งนี่เขาใช้ประโยชน์ได้มหาศาลเลย ขอทานมีเงินบาทหนึ่งจะไปซื้อข้าวปลาอาหารกิน ซื้อบาทหนึ่งก็หมด คือใช้เงินได้รอบเดียว ใช้เงินเท่านั้น

นี่ก็เหมือนกันพอจิตมันสงบเข้ามา จิตของคนถ้ามันมีอำนาจวาสนา มันใช้ของมันเป็น มันใช้ของมันได้ มันใช้พัฒนาการของมันได้ มันเพิ่มค่าของมัน แต่ถ้าเรามีเงินของเราแล้วเราเพิ่มค่าไม่เป็น พอสงบเข้าไปมันก็เสื่อมหมดๆ เห็นไหม เวลาปฏิบัติเข้าไปมันทุกข์ยากอย่างนี้ พูดถึงว่าเวลาปฏิบัติเข้าไปมันแตกต่างกัน แต่พอไปถึงจุดหนึ่ง เห็นไหม เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคามี มีค่าเท่ากัน

พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลที่ว่าฉันข้าวไม่อิ่มๆ กับพระสีวลีนี่เป็นผู้มีลาภมากที่สุดเลย ไปไหนขนาดพระพุทธเจ้ายังต้องเอาพระสีวลีไปด้วย เอาไปด้วยเพราะอะไร เพราะเขาเป็นเศรษฐีกุฎุมพี คือเขาเป็นเศรษฐีมาแต่ดั้งเดิมของเขา เขาสร้างของเขามา เศรษฐีไปอยู่ที่ไหนนะ ดูสิ คนมีชื่อเสียง คนมีคุณธรรมไปที่ไหนนะ ชาวบ้านก็รักก็ศรัทธา โอ้ ถ้าหมู่คณะนี้มานะ เปิดประตูบ้านทิ้งไว้ได้เลยนะ รับประกันได้ว่าของไม่หาย เข้ามาแล้วหมู่บ้านเราจะมีความสุข นี่ไง แต่ไอ้พวกมีชื่อเสียงเป็นหัวขโมยมานะ จะเข้ามาในหมู่บ้านนะ ตีเกราะเลย เฮ้ยเฝ้ายามๆ ไอ้พวกนี้มาเดี๋ยวของหาย นี่ไง อำนาจวาสนาบารมีเหมือนกัน

พูดถึงพระสีวลี ท่านสร้างของท่านมา ไปไหนมีแต่คนนับหน้าถือตา พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าไปไหนต้องเอาพระสีวลีไปด้วย พระอรหันต์องค์หนึ่ง บิณฑบาตไม่เคยอิ่มเลย ฉันข้าวไม่ได้เลย นี่เป็นพระอรหันต์นะ ไปบิณฑบาตข้างหน้า เขาก็มองไม่เห็นซะ พระไปด้วยกันบอก อย่างนั้นถ้าไปข้างหน้ามองไม่เห็น ให้ไปข้างหลัง แล้วพอใส่บาตรไปแล้วข้าวหมด เขาสับเพราะเขามองไม่เห็นไง นี่ไงคนทุกข์คนเข็ญใจ

คนทุกข์คนเข็ญใจเวลาปฏิบัติไป มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาที่ปฏิบัติขึ้นมา ถ้าปฏิบัติขึ้นมา เศรษฐีปฏิบัติหรือคนทุกข์จนปฏิบัติ มันก็ปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าปฏิบัติเหมือนกันเวลาถึงที่สุด นี่ข้อเท็จจริง มันไม่ใช่มุมมองหรอก ทีนี้พอข้อเท็จจริงมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ดูสิ พระโสดาบัน พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหันต์ พระโสดาบันกับพระโสดาบันจะรู้ได้เหมือนกัน คุยได้เหมือนกัน คำว่าคุยคือสื่อสาร สื่อสารตามภูมิของโสดาบัน มันจะไม่แตกต่างกันเลย ภูมิของสกิทาคา ภูมิของอนาคา ภูมิของพระอรหันต์ ในระดับภูมิเดียวกันนะ จะพูดเหมือนกันแล้วรับรู้ได้

เราเป็นชาวอำเภอโพธาราม เราจะไปอยู่เมืองนอกเมืองนา จะไปอยู่บนก้อนเมฆใต้บาดาลนะ คนโพธารามมาคุยกันถึงโพธารามจะชัดเจนมากเลย เฮ้ยเอ็งเกิดที่ไหน เกิดตรงไหน เกิดถนนอะไร จะรู้หมดเลย พระโสดาบันคุยกับพระโสดาบันจะคุยอย่างไรก็รู้เหมือนกัน จะร่ำรวยทุกข์จนอย่างไรก็เหมือนกัน สกิทาคาก็เหมือนกัน อนาคาก็เหมือนกัน พระอรหันต์ก็เหมือนกัน เว้นไว้แต่ เราเกิดโพธารามแต่เกิดคนละยุคคนละสมัย เขาเกิดโพธารามเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว เรามาเกิดโพธารามเมื่อปีนี้ แล้วไปคุยกันนะ คุยกัน เอ๊ะ โพธารามเหมือนกัน แต่ทำไมคุยไม่เหมือนกัน นี่ไง

ถ้าพูดถึงพระโสดาบันกับพระสกิทาคาคุยกัน ความลึกตื้นมันแตกต่างกัน พระโสดาบันกับพระอนาคาคุยกัน พระโสดาบันจะรู้เท่าพระอนาคาไม่ได้ พระโสดาบันคุยกับพระอรหันต์ พระอรอันต์ก็ลึกซึ้งแตกต่างกว่า เหมือนกับคนที่เกิดโพธาราม แต่เกิดเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว กับเกิดในพ.ศ.นี้ เกิดแตกต่างกัน ความรับรู้สิ่งต่างๆ มันแตกต่างกันพระอริยบุคคลแต่ละชั้นแต่ละภูมิมันแตกต่างกัน แต่มันก็เป็นความจริงเหมือนกัน เกิดในที่เดียวกัน เกิดในธรรมเหมือนกัน

อันนี้เป็นความจริงนะ นี่พูดถึงความจริงมันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่านิพพานเป็นอนัตตาหรือเป็นอัตตา คำว่าเป็นอนัตตาหรืออัตตา เวลาเราพูดขึ้นมา เห็นไหมว่า ปรมัตถ์ พระป่าพูดถึงธรรมะ เขาบอกว่าพูดอย่างนี้ผิด มันไม่ผิด มันไม่ผิดเพราะว่าอะไร เพราะปริยัตินี่มันพูดถึงทางวิชาการ อย่างเช่น นักศึกษา นักเรียนแพทย์ นักเรียนแพทย์เห็นไหม เวลาร่ำเรียนขึ้นมา การศึกษานี่เราต้องศึกษาใช่ไหม พอศึกษาเสร็จแล้วเราต้องมาฝึกงานใช่ไหม พอฝึกงานขึ้นมาเราทำเป็นไม่เป็น มันยังมีเฉพาะทางอีกใช่ไหม ว่าเฉพาะทางจะมีความชำนาญในทางไหน ทางวิชาการนี้ก็เหมือนกัน ทางวิชาการมันไม่ได้เสร็จทางวิชาการ มันเป็นทัศนคติ

ทัศนคติหมายความว่า เราจะปรับปรุงทัศนคติ ปรับปรุงความรู้ คือปัญญาไง ทางโลกบอกว่าปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้โลก ทำให้ประเทศชาติเจริญ ปัญญาเท่านั้น การเจริญการเสื่อม เสื่อมเพราะปัญญา การศึกษานี่ก็เป็นปัญญา ศึกษาขึ้นมาแล้วเพื่อเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทีนี้ในภาคปฏิบัติเห็นไหม กรรมฐานเวลาเราจะศึกษา ศึกษาในอะไร ศึกษาใน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถ้าศึกษาทางวิชาการ ศึกษามาเพื่อให้เรารู้แนวทาง

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กิเลสมันติดอยู่แค่นี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทำให้ทัศนคติของคนมันเบี่ยงเบนไป เรานี่เป็นคนดีมหาศาลเลย สังเกตได้ไหมว่า เด็กของเรานี่เป็นคนดีๆ ทั้งนั้นเลย เวลาเข้าไปในสังคม สังคมกลืนไปหมดเลยเพราะเหตุใด นี่ไง เขาเป็นคนดีนะ จริตนิสัยเขาเป็นคนดี แต่เขาเข้าไปในสังคม เขาทนแรงกระแสของสังคมไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเห็นไหม นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเลย แต่เวลามาปฏิบัติล่ะ การปฏิบัตินี่คือข้อเท็จจริงไง เข้าไปในกระแสของกิเลสไง เข้าไปในกระแสของความรู้จริงไง ศึกษามานะ ท่องได้หมดล่ะ นักกฎหมายมันเก่งกว่าเรานะ นักกฎหมายนี่มันท่องกฎหมายได้ทั้งนั้นเลยล่ะ แต่นักกฎหมายทุกสังคมมีคนดีและคนเลว

ถ้าเป็นคนดีนะ วิชาชีพนั้นจะเป็นประโยชน์กับเขา แต่ถ้าเป็นคนเลวนะวิชาชีพนั้นเอามาเป็นประโยชน์กับเขา การศึกษามา พระพุทธเจ้าศึกษามาเพื่อให้ประพฤติปฏิบัติ การศึกษาไม่ใช่ของเสียหาย แต่การศึกษามาเป็นทางวิชาการ แล้วความจริงมันเกิดขึ้นมาได้ไหม ความจริงข้อเท็จจริงที่จะเป็นของเราขึ้นมา อันนั้นเป็นความจริง ไม่ใช่มุมมอง การศึกษาเป็นมุมมองนะ พอศึกษาแล้วมีมุมมองขึ้นมานะ มุมมองนั้นไม่ใช่มุมมองธรรมดา มุมมองดึงฟ้าต่ำ

ทีแรกการศึกษา มาศึกษาเพื่อประพฤติปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา ทีนี้พอศึกษาขึ้นมาก็เป็นอึ่งอ่าง อึ่งอ่างว่าตัวเองรู้จริงขึ้นมา พอคนจะพูดอะไรที่สูงกว่านั้น ก็ไปดึงลงมาไง ศึกษามาเพื่อดึงฟ้าต่ำ เขาศึกษามาเพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติสูงขึ้นไป ไม่ได้ศึกษาแล้วมาดึงฟ้าต่ำไว้ ใครปฏิบัติออกนอกลู่นอกทางความเห็นของตัว คนนั้นผิด! นิพพานต้องเป็นอนัตตา เพราะมันจะพ้นอนัตตาไปได้อย่างไร มันต้องเป็นอนัตตาสิ ก็สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

อนัตตานี่เหมือนการหุงข้าว ระหว่างข้าวที่มันจะสุกนั่นแหละอนัตตา มันแปรปรวนของมัน แล้วอนัตตากับข้าวสุกเป็นอันเดียวกันไหม เวลาเราหุงข้าว ระหว่างข้าวที่มันจะสุก มันจะแปรสภาพของมัน เมล็ดข้าวโดนความร้อนมันแปรสภาพแล้วมันจะสุก นี่ไง การแปรสภาพ ข้าวสุกแล้วเป็นอนัตตาไหม มันเป็นอนัตตาอีกไหม

นี่ก็เหมือนกัน ขณะจิตที่จะประพฤติปฏิบัติ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตานี่นะ พระปฏิบัติแม้แต่มุมมอง ทัศนคติเขายังรู้ได้เลย แล้วคนที่รู้จริงมันต้องผ่านกระบวนการอย่างนั้นมา กระบวนการอนัตตานี่นะจิตมันต้องผ่านมา ถ้าจิตนี้ไม่ผ่านกระบวนการอนัตตามา จิตนี้จะเป็นอริยภูมิไม่ได้ จิตนี้จะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์ไม่ได้

ถ้าจิตนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการของมรรคญาณ ของความเป็นอนัตตามา สิ่งที่เป็นอนัตตา ถ้าจิตไม่ได้ผ่านกระบวนการนั้นมา แล้วมันผ่านกระบวนการของข้าว กระบวนการของความร้อนที่จะทำอาหารให้สุก เราผ่านมาแท้ๆ เลย แล้วเราจะปฏิเสธได้อย่างไร เราเป็นพ่อครัวแม่ครัวใหญ่ เราทำอาหารให้สุกขึ้นมาเราจะปฏิเสธความร้อนได้อย่างไร พระปฏิบัติมาใครบ้างที่จะปฏิเสธอนัตตา ไม่มีใครที่ปฏิเสธอนัตตาหรอก

แต่กระบวนการของอนัตตา มันเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะส่งผลให้ถึงอันนั้นฉะนั้นผลอันนั้นจะกลับมาเป็นกระบวนการอย่างนี้ไม่ได้ นี่มันคนละขั้นตอน เห็นไหม ทัศนคติกับความจริงไง ถ้าความจริงเราไปถึงจุดหมายแล้ว

นิพพานไม่ใช่อนัตตา นิพพานคือนิพพาน นิพพานไม่ใช่สักแต่ว่า ถ้านิพพานสักแต่ว่า นิพพานแบ่งเป็นสอง คือ มีนิพพาน กับ มีสักแต่ว่า นิพพานเป็นสอง ไม่ได้!นิพพานมันคือนิพพาน

นาย ก ก็คือนาย ก นาย ก ก็เป็นนาย ข ด้วยไง นาย ก กับนาย ข ก็เป็นคู่กัน เพราะนิพพานเป็นสักแต่ว่าไง มันไม่ใช่!   นาย ก ก็คือนาย ก นาย ข ก็คือนาย ข นิพพานก็คือนิพพาน สักแต่ว่าก็คือสักแต่ว่า ไม่เกี่ยวกัน!

เรานะในสังคม เห็นเด็กไหม เห็นสังคมไหม คนทำงานมีใครบ้างที่ทำงานไม่ผิดพลาด คนทำงานมันมีผิดพลาดทั้งนั้น ฉะนั้นในพระไตรปิฏกที่เขาบอกว่า พระพุทธเจ้าติเตียนพระที่บอกว่า นิพพานเป็นเรานี่นะ ในวงการปฏิบัติจะรู้เลยว่า การปฏิบัตินี่เหมือนนักกีฬา หรือเหมือนกับวิชาชีพอะไรก็แล้วแต่ พอเราไปศึกษาทางวิชาชีพนั้น เราจะมีความผิดพลาด การเริ่มต้น การฝึกหัด การฝึกงาน หมอที่เพิ่งออกมาเป็นหมอฝึกหัด มือไม้สั่นนะ เรียนหมอจบขึ้นมา ผ่าตัดครั้งแรกมือสั่นเลยล่ะ กลัวมาก

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อผู้ที่ปฏิบัติความผิดพลาดมันมี พอความผิดพลาดมันมีพระพุทธเจ้าก็ต้องเตือนเป็นธรรมดา ทีนี้พอบอกว่าพระพุทธเจ้าเทศน์ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าพูดกับใคร พระพุทธเจ้ากับถึงคฤหัสถ์ก็อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าพูดกับพระสารีบุตรนี่ไม่ได้เลยนะ พระสารีบุตรเวลาคุยกับพระพุทธเจ้า เพราะพระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะ เป็นผู้ที่มีปัญญามากรองจากพระพุทธเจ้า ไปดูสิเวลาที่พระพุทธเจ้าพูดกับพระสารีบุตร “สารีบุตรเธอว่านี้คืออะไร สารีบุตรเธอว่านี้เป็นอย่างไร”

เวลาพระสารีบุตรกับพระพุทธเจ้าคุยกันนะ มันจะเป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ เลยเพราะว่า นี่คือมือขวา นี่คือผู้ที่มีปัญญามาก แต่เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับคฤหัสถ์ จะพูดอนุปุพพิกถา เรื่องทาน พูดเรื่องเคารพผู้ใหญ่ พูดให้เคารพพ่อแม่ เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับใคร จะพูดการตามประพฤติปฏิบัติเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าพูดถึงว่านิพพานเป็นเรา เราเป็นนิพพาน เราจะบอกว่า ถ้าพระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้ ในวงผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจได้ เข้าใจได้หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติมันมีความผิดของมัน

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติขึ้นมา ขณะนั้นที่เราปฏิบัติยังไม่ถึงนิพพาน แต่เราเข้าใจว่าเป็นนิพพาน เราก็ไปกอดไว้ไง นิพพานเป็นเรา.. มันธรรมดา ใครไม่เคยปฏิบัติ ใครว่าไม่มีการผิดพลาด คนทำงานไม่ผิดไม่มี พระปฏิบัติก็ผิดมาทุกองค์ พระพุทธเจ้ายังผิดอยู่ ๖ ปี ฉะนั้นบอกนิพพานคือนิพพาน เวลาพระพุทธเจ้าพูด เวลาพระพุทธเจ้าแก้พระที่มันปฏิบัติผิด แก้ให้ถูก ก็เท่านั้น

แล้วมันจะเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดเป็นหลักตายตัว แล้วจะเอาที่ว่า นิพพานเป็นเรา เราเป็นนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ากอดไว้ กบเฒ่าเฝ้ากอบัว จะบอกว่า กบเฒ่าเฝ้ากอบัวจะกอดนิพพานอยู่นี่ เวลาพระพุทธเจ้าพูดถึงผู้ที่ผิดแล้วแก้ให้ถูก มันก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าแก้ไขพระปฏิบัติ มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติถูกพระพุทธเจ้าพูดไหมล่ะเออ ถ้าบอกไม่ใช่กบเฒ่าล่ะ กบหนุ่มๆ ใต้กอบัวนี่ มันจะมีอย่างนี้ไหมล่ะ แล้วว่ากบเฒ่าเฝ้ากอบัวนะ แล้วถ้ากบหนุ่มๆ แล้วมันได้บัวมานี่พระพุทธเจ้าจะติไหม เอ้า แล้วกบหนุ่มๆ มันนั่งอยู่บนดอกบัว พระพุทธเจ้าก็สาธุน่ะสิ มันจะเป็นอะไรไป

ฉะนั้น เวลาคำพูดที่พระพุทธเจ้าท่านพูดเทศน์สอน เห็นไหม พระพุทธเจ้าพูดที่ไหน พูดกับใคร เราต้องดูบุคคลที่พระพุทธเจ้าสนทนาด้วย ว่าพระพุทธเจ้าสนทนากับพระสารีบุตร สนทนากับผู้มีคุณธรรม พระพุทธเจ้าสนทนากับพราหมณ์ พราหมณ์เห็นไหม ดูสุภัททะสิ สุภัททะไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะนิพพานอยู่แล้ว ไปถามเลยว่าศาสนาไหนก็ว่าดีไปหมดเลย แล้วพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธออย่าถามให้มากไปเลย ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ”

คำว่าไม่มีรอยเท้าบนอากาศ นั่นคือเหตุคือผลนะ ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ ถ้าไม่มีเหตุคือไม่มีผล อากาศนี่รอยเท้าไม่มี สมัยโบราณทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ เขาพูดกันด้วยภาษาพื้นบ้าน รอยเท้ามันก็อยู่บนพื้นทั้งนั้น ที่ไหนมีดินและดินมันเปียกด้วย รอยเท้าจะชัดเจนมาก ถ้าเท้าเราเลอะที่ไหนรอยเท้ามันก็มี รอยเท้ามันอยู่บนดินใช่ไหม รอยเท้าไปอยู่บนอากาศได้อย่างไร

บนอากาศ คือเป็นความเพ้อเจ้อ ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผล มันก็คืออากาศ สุภัททะเธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ คำพูดด้วยความเพ้อเจ้อนั้นไม่มี มันต้องมีเหตุมีผล ทีนี้เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับใคร พูดเพื่อเหตุเพื่อผลอย่างไร

ฉะนั้นจะบอกว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าหรือกฎหมาย หรือวินัย มันถูกต้องหมด แต่ในขณะที่พระพุทธเจ้าพูด ในพระไตรปิฎกมันจะมีนิยามด้วย อย่างเช่นวินัยข้อนี้ เวลาบัญญัติวินัยขึ้นมาใครเป็นคนทำผิด ผิดเพราะเหตุใด แล้วพระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยบัญญัติเพื่อสิ่งใด มันมีนิยามก่อนว่า เพราะเหตุใดถึงบัญญัติกฎหมายข้อนี้ พอบัญญัติกฎหมายข้อนี้เสร็จแล้ว มันจะมีท้ายกฎหมายว่า มันเป็นอาบัติหรืออนาบัติ

อาบัติ ถ้าทำครบองค์ประกอบนี้ถึงเป็นอาบัติ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบนี้เป็นอนาบัติ คือไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นอาบัติ เป็นอนาบัติ ครบองค์ประกอบอย่างเช่น ที่ว่าศีลขาดๆ อันนี้อย่างหนึ่ง ศีลด่างศีลพร้อยอย่างหนึ่ง ศีลขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ ก็กระบวนการมันไม่เป็นอย่างนั้นมันจะขาดได้อย่างไร เราไม่มีเจตนา เราไม่รู้เรื่อง เราเดินผ่านไป เหยียบไปโดยที่เราไม่เห็น ปาณาติปาตา ฆ่าสัตว์ให้ตกล่วง แต่เราไม่รู้แต่ไม่เห็น

เราไม่รู้ไม่เห็นเราเดินไป นี่ศีลขาดไหม ไอ้เราก็ว่าศีลขาด พอเหยียบมดตายไป โอ้โฮย ศีลขาด ศีลขาด ถ้าเราตั้งใจนะ ขาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้ตั้งใจ กรรมของสัตว์มันมีนะ ในวัฏสงสารมันไม่ใช่มีแต่สิ่งดีงามอย่างนี้ตลอดไปหรอก เพราะคนเรามันสร้างเวรสร้างกรรมมา พอสร้างเวรสร้างกรรมมันก็มีเวรมีกรรมต่อกัน วาระของเวรของกรรมมันมาถึง มันต้องเป็นสภาวะแบบนั้น เราจะหลีกเร้นแค่ไหนมันก็เป็นอย่างนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้นแล้วเราก็อโหสิกรรมต่อกัน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้ามีการจองเวรจองกรรม ไม่มีจบนะ เราไม่ได้จองเวรจองกรรม

แต่กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีข้อเท็จจริง ในเมื่อข้อเท็จจริงว่า เขาว่านิพพานเป็นอนัตตามันก็เรื่องของเขา มันเป็นมุมมอง เป็นทัศนคติ แต่ในกรรมฐานของเรา นิพพานคือนิพพาน นิพพานโดยข้อเท็จจริง โดยการปฏิบัติ นิพพานก็คือนิพพาน จะทำไม! เออ นิพพานคือนิพพาน!

มันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นการทำจริงๆ นิพพานคือนิพพาน! ไม่ใช่อนัตตา ไม่ใช่!!

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คำว่าอนัตตาคือสภาวะที่ส่งขึ้นมา เหมือนการทำงาน เหมือนการศึกษา มันยังไม่จบกระบวนการของมัน นั่นคืออนัตตา ดูสิเวลาสร้างบ้าน สร้างตึกสูงขึ้นไป เขาต้องมีนั่งร้านขึ้นไป นั่งร้านเขาเอาไว้ทำไม สร้างโดยไม่ต้องมีนั่งร้าน อะไรก็ยกตั้งๆๆ ขึ้นไปเลย มันก็พังน่ะสิ เขาก็ต้องมีนั่งร้านของเขาขึ้นมา แล้วพอสร้างบ้านเสร็จนะ เขาก็รื้อนั่งร้านทิ้ง แล้วทำไมไม่เอานั่งร้านไว้ล่ะ ถ้าไม่มีนั่งร้านนะ บ้านตึกสูงจะขึ้นมาไม่ได้เลย พอสร้างตึกเสร็จเขาก็รื้อนั่งร้านทิ้งหมดเลย

อนัตตาคือนั่งร้านนั้น อนัตตาคือนั่งร้านนั้น

พระปฏิบัติไม่ปฏิเสธอนัตตา แต่ผลของมันไม่ใช่อนัตตา ผลของมันคือผล ฉะนั้นนิพพานไม่ใช่อนัตตา แต่ไม่มีอนัตตาก็มานิพพานไม่ได้ ไม่มีอนัตตามานิพพานไม่ได้!  มาถึงนิพพานแล้วก็ไม่กลับไปสู่อนัตตาเด็ดขาด ไม่กลับไปสู่อนัตตาเด็ดขาด! ถ้ายังเป็นอนัตตาอยู่ มันก็ไม่มีผลไง ปฏิบัติไปก็วนไปวนกลับอยู่นั่น หมุนไปหมุนมาอยู่นั่นล่ะ ไม่มีอนัตตาหรอก มันก็อยู่อย่างนั้น นี่มันความเห็นของเขา ไอ้ที่พูดก็เพราะ “อันที่จริงก็ผิดใช่ไหมคะ” อันนี้แหมมันสะเทือนใจมาก

“อันที่จริงก็ผิดใช่ไหมคะ” เวลาถามมา เขาเห็นผิดนะ เขาเอาหนังสือมาแจกนะ โอ้โฮ หนังสือนี่เขาพูดถึงว่า เขาเหน็บแนมหลวงตาเขาว่างั้น เราอ่านหมดแล้วแหละ แล้วเราก็พูดไปแล้ว แต่วันนี้มาพูดอีกรอบหนึ่ง ว่ามันเป็นมุมมองของปริยัติ มันเป็นมุมมองของมนุษย์ ในเมื่อมนุษย์มันไม่มั่นใจในตัวมันเอง มนุษย์ไม่รู้ที่มาที่ไปของเรา เราไม่รู้ที่เกิดที่ตาย รู้แต่ว่าเกิดจากท้องแม่ แล้วเวลาตายก็ไปตายอยู่ที่ห้องไอซียู มนุษย์มันรู้อยู่แค่นั้นไง

มนุษย์นี่มันไม่รู้ที่มาที่ไปของมัน เวลามันศึกษาธรรมะขึ้นมา มันถึงไม่มั่นใจในตัวมันไง มันถึงว่านิพพานต้องเป็นอนัตตา เพราะอนัตตามันอธิบายได้ แต่ถ้าเป็น นิพพานคือนิพพาน มันไม่มี แต่ถ้าผู้ที่รู้จริงผู้ที่ปฏิบัติ เขามีนิพพานในใจของเขา ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ มันบอกเข้าทางกูแล้วแหละ เพราะนิพพานเป็นเรานี่ล่ะ เราพูดผิดไม่ได้เลย คำพูดทุกคำนี่เขาจะเอาไปนั่งส่องกล้อง

ทีนี้คนรู้จริง นิพพานเขาปฏิบัติของเขาไปแล้ว มันถึงอันนั้นแล้วมันรู้จริงของมัน รู้จริงเพราะเหตุใด ถ้าไม่รู้จริงนะจะไม่รู้ว่าจิตนี้เกิดมาจากไหน เวลาพูดมันมีคนแย้งบ่อย เวลาบอกว่า จิตนี้คงที่ จิตนี้มีของมัน จิตนี้มันแปรปรวน จิตมี จิตไม่เคยตาย แล้วเขาก็บอกว่าถ้าจิตไม่เคยตาย มันก็เข้าฮินดู จิตเป็นอาตมัน ก็อัตตาไง

คำว่าจิตอาตมัน อาตมันคือมันคงที่ แต่ว่าจิตนี้มีอยู่ จิตนี้มีอยู่มันก็แปรสภาพ เพราะถ้าจิตมีอยู่ ถ้าเราใช้ปัญญาสักหน่อยหนึ่งนะ ถ้าบอกว่าจิตนี้ไม่มี อะไรต่างๆ ไม่มีนะ พระโพธิ์สัตว์มาไม่ได้ พระโพธิ์สัตว์ ๔ อสงไขย คำว่า ๔ อสงไขย บุญจะส่งเสริมกัน เหมือนนาโนมันทับซ้อนกันมา แล้วถ้ามันขาดช่วงมันจะมาได้อย่างไรล่ะ นาโน เห็นไหม จิตที่มันพัฒนาของมันขึ้นมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ถ้าชาติมันไม่ต่อเนื่อง มันไม่เป็นไป

นี่คำว่า จิตมันมีไง เขาบอกว่า พอจิตมันมีปั๊บ ก็ความเห็นทางวิทยาศาสตร์ไง ถ้ามันมีปั๊บมันก็เป็นอาตมัน เป็นฮินดูไปหมดเลย นี่ไงเวลาพูด คนที่มันไม่รู้จริงมันก็จะว่าไปเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วพูดโดยศักยภาพ กลัวเขาจะบอกว่าเรานี่เป็นคนโง่ไง ลองดูคนโบราณนี่โง่เง่าเต่าตุ่น คนโบราณนี่ไดโนเสาร์ คนโบราณเวลาจะทำนาก็ไหว้พระแม่โพสพ ถึงเวลาก็ลอยกระทงพระแม่คงคา

ตอนนี้ยูเอ็นมันบอกว่า มีวันน้ำแห่งโลกแล้วนะ มันจะมากราบน้ำกันยูเอ็นน่ะ ตอนนี้ยูเอ็นสหประชาชาติเขาจะกราบแม่น้ำแล้ว เขาจะกราบดินแล้ว เพราะสภาวะแวดล้อมโลกร้อนไง ตอนนี้วันโลกร้อนเขาจะมากราบดิน แต่เมื่อก่อนโบราณวัฒนธรรมของเรา ให้เคารพบูชาเห็นไหม เขาบอกว่าไอ้พวกนี้ไอ้พวกไดโนเสาร์ นี่ไงมุมมอง พอมันถึงเวลาแล้วพลิกกลับหมดนะ พอทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาก็มองเลยนะ คนแก่คนเฒ่าพวกนี้พวกตกยุค พวกนี้พวกไม่มีปัญญา โอย มากราบแผ่นดินได้อย่างไร แผ่นดินไปกราบมันทำไม เวลาวันลอยกระทงไง ไปเคารพทำไมแม่น้ำคงคา

ตอนนี้มีวันน้ำโลกแล้วนะ ตอนนี้สหประชาชาติกำหนดวันน้ำโลกแล้ว อีกหน่อยจะเกิดวันพระแม่โพสพแล้ว สหประชาชาติจะกำหนดวันมากราบ นี่เวลามุมมอง ทัศนคติของคนเห็นไหม แต่ความจริงมันอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นถ้าไม่มีหลักเกณฑ์อย่างนี้ เวลาบอกว่า นิพพานต้องเป็นอนัตตาเพราะอนัตตาเป็นทางวิชาการที่อธิบายได้ แต่ถ้านิพพานเป็นนิพพาน แล้วนิพพานเป็นอย่างไรล่ะ แต่นิพพานเป็นนิพพาน พระครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นนะยืนยันเลย “ภิกษุหมู่คณะปฏิบัติมานะ ปฏิบัติมา การแก้จิตนี่แก้ยากนะ ผู้เฒ่าตายไปแล้วจะไม่มีใครแก้” การแก้จิตนี้แก้ยากเห็นไหม การแก้จิตถ้าคนผ่านมามันจะซาบซึ้งขนาดนี้

หลวงตาเวลากราบพระพุทธเจ้านะ กราบด้วยหัวใจ พระพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร้ พระพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร รู้อย่างนี้รู้มาได้อย่างไร แล้วเวลาตัวเองเข้าไปรู้มันมหัศจรรย์ขนาดนั้น ความมหัศจรรย์อย่างนั้นถึงกราบบูชากันนะ เขากราบบูชากันด้วยหัวใจ กราบด้วยความเคารพศรัทธา ไม่ได้กราบด้วยมุมมอง

แต่ถ้ามุมมองนะ พอคนมาให้ข้อมูลใหม่นะ มีข้อมูลใหม่แล้วนะ เอ้ย พระพุทธเจ้าโกหก ผิดแล้ว พระพุทธเจ้าผิดนะ เวลาเชื่อพระพุทธเจ้าด้วยมุมมองแล้วโอ้โฮ เคารพมากนะ พอได้ข้อมูลใหม่นะ ไม่เอาแล้ว กูไม่เอาพระพุทธเจ้าแล้ว กูเปลี่ยนศาสนาเลยกูไปเข้ารีตแล้ว นั่นคือมุมมอง มันเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าความจริงมันถึงแล้วนะ จะบอก พระพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร

เวลาครูบาอาจารย์ท่านรำพึงรำพันขึ้นมานะ มันรำพึงรำพันขึ้นมาจากความรู้สึกนะ ฉะนั้นเวลาปฏิบัติขึ้นไป สิ่งที่หลวงปู่มั่นว่า “มันแก้ยากนะ มันแก้ยากนะ” คำว่าแก้ยาก กว่าจะสมบุกสมบั่นมา แต่ละบุคคลแต่ละองค์ที่สมบุกสมบั่นมาได้ขนาดนั้น ถึงยืนยันกันมา ถ้าครูบาอาจารย์เราพูดผิด มันผิดถึงต้นขั้วเลย เพราะต้นขั้วสอนกันมาแล้วแบบว่า การันตีว่างั้นเลย แล้วก็แก้กันมา แก้กันมา

นิพพานคือนิพพาน ถ้านิพพานเป็นอนัตตานี่นะ วันนี้ถึงบอกว่า มันเป็นมุมมองกับข้อเท็จจริง มุมมองกับความจริง ฉะนั้นมุมมองของเขา ถ้ามันเป็นมุมมองทางวิชาการนะ เราสาธุนะ ทางวิชาการถ้าเราได้ทำการวิจัย ยิ่งทำมากขนาดไหนวิชาการนั้นจะมั่นคง วิชาการนั้นจะแตกแขนงแยกไปเป็นทางวิชาการ เห็นด้วย แต่ถ้าวิชาการก็เป็นวิชาการไป

ฉะนั้น นิพพานคือนิพพานคือภาคปฏิบัติ แล้วถ้าจะบอกว่า นิพพานคือนิพพานผิด ก็ต้องบอกมาว่าผิดอย่างใด อย่างเช่น ที่บอกว่า นิพพานเป็นเรา ก็มีตัวตน ไม่มี ถ้ามีตัวตนจะเป็นนิพพานได้อย่างใด เพราะนิพพานมันเป็นนิพพาน เพียงแต่ว่า สอุปาทิเสสนิพพาน คือว่ากิเลสตายไปจากจิตของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ มนุษย์นั้นก็พูดแทนนิพพานเท่านั้นเอง

พูดแทนนิพพาน ไม่ใช่นิพพาน เอวัง