ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หลักสมาธิ

๒ ส.ค. ๒๕๕๒

 

หลักสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานนี้เขามาถามตรงนี้ ในเว็บไซต์ เขาเอานี่มาออกด้วย แล้วแบบว่าเขาถามกันเยอะมากว่าเมื่อไหร่เว็บไซต์เราจะเสร็จสักที เขาถามลูกศิษย์มาไง แล้วมันยังไม่เสร็จ เขาก็เลยถามมา เขาภาวนาไปแล้วมันไปเห็นอะไรแล้วมันตกใจมาก ตกใจจนแบบว่าหวั่นไหวหมดเลย จนแบบตัวเองไม่กล้าปฏิบัติเลย พุทโธ พุทโธ ไป แล้วไปเจอเข้าไง แล้วมันก็ไม่มีคนแก้ เขาก็ถามมาว่าเมื่อไหร่เว็บไซต์หลวงพ่อจะเสร็จสักที บอกเออมึงใจเย็นๆ นะ กูก็รีบอยู่แล้วแหละ เขาจะถามมาไง อันนี้มันมาเจอ เมื่อวานเขาถามมาอย่างนี้เหมือนกัน

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาปฏิบัติ มันผ่านประสบการณ์ มันต้องใช้ความรู้สึกของเรา หลวงปู่มั่นเวลาท่านปฏิบัติมา สิ่งที่เกิดขึ้นมา มันจะผ่านมาเยอะมาก ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เข้าไป เราบอกเลยว่าเราไม่รับประกันว่าการปฏิบัติพุทโธจะถูกหมด แต่การปฏิบัติ พุทโธ หรือการทำสมาธิ มันจะเข้าไปสู่ข้อเท็จจริง ฉะนั้นพอเราเข้าไปสู่ข้อเท็จจริงแล้ว มันจะเกิดปัญหาโต้ตอบมาเยอะมาก

เหมือนเด็ก เด็กๆ ลูกหลานเรา มันหัดกินข้าว เด็กโตขึ้นมามันต้องกินนม พอเราจะป้อนอาหารมัน มันจะมีแรงต่อต้าน แล้วอาหารให้เด็กกิน อาหารควรเป็นอย่างไร จิตของเรามันไม่เคยสัมผัสอะไรเลย มันอยู่กับสามัญสำนึกตลอดเวลา มันอยู่กับความคิดโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราไปศึกษาธรรมะกัน มันก็เอาสามัญสำนึกไปศึกษาธรรมะกัน มันไม่เคยได้อาหารที่รสแปลกหรืออาหารที่มันตรงข้ามกับสามัญสำนึกอันนี้เลย

พอเรากำหนด พุทโธ พุทโธ พุทโธ เข้าไป พอจิตมันเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลง มันเหมือนมันได้ลิ้มรส เด็กมันต่อต้านหมด ใครป้อนอาหารเด็ก แล้วเด็กมันจะกิน บอกหนูจะกินข้าว หนูกินข้าว แล้วหนูจะกินอย่างดีเลย มีที่ไหนมีบ้าง เด็กทุกคนเลยพ่อแม่ป้อนลูกมามันจะต่อต้าน ทั้งๆ ที่พ่อแม่ให้อาหารเด็ก ให้อาหารลูกเรา เราปรารถนาอะไรแต่ผลของเด็ก เด็กมันโดยสามัญสำนึกของมัน มันจะกินแต่นม เพราะกินนมมันดื่ม มันสะดวกของมัน มันพอใจของมัน

ความคิดโดยสามัญสำนึกของพวกเรา มันเป็นอย่างนี้ พอ พุทโธ พุทโธไป มันทำไม่ได้หรอก อย่างที่โยมพูด เห็นไหม ที่ปัญหาเมื่อกี้ว่า พุทโธ พุทโธแล้ว มันหายไป พุทโธไม่ได้ พุทโธต่างๆ แล้วเราก็คิดกันไง กิเลสมันหลอกเห็นไหม มันหลอกว่าทำไมมันคิด ทำไมมันฟุ้งซ่าน แล้วเราก็พยายามจะไม่ให้มันคิด ไม่อยากให้มันฟุ้งซ่าน แล้วเราก็ตามความคิดไป โดนหลอกไปแล้ว

เพราะอะไร เพราะถ้าเราตามความคิดไปแล้ว มันไปกับความคิดแล้วใช่ไหม พอเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอเรามีความคิด เราก็ตามความคิดไป มันมีอยู่ ๒ ประเด็น ที่ เวลาเราสอนนะ สมาธิอบรมปัญญา หรือปัญญาอบรมสมาธิ มันมีอยู่ ๒ ประเด็น

ประเด็นหนึ่ง สมาธิอบรมปัญญา คือ พุทโธ พุทโธ พุทโธ คือสมาธิอบรมปัญญา มันจะพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนเราจะเกิดสมาธิ พอเกิดสมาธิแล้วมันจะเกิดปัญญาไปข้างหน้า แต่ตัวสมาธิไม่เป็นปัญญา มันจะเกิดปัญญาไปข้างหน้า

ปัญญาอันนี้เป็นปัญญาในศาสนา เพราะว่าศาสนาพุทธ ปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขาร กองสังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วมันพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันคิดอยู่ มันเป็นความคิดโดยสามัญสำนึกเป็นความคิดของเราอยู่แล้ว แล้วถ้าเกิดปัญญา พอจิตมันสงบใช่ไหม มันเกิดปัญญาไปข้างหน้า คือ ปัญญามันรอบรู้ความคิดไง ปัญญารอบรู้ในความคิด ปัญญาที่มันเหนือกว่าความคิดปกติเรา

แต่ความจริงในปัจจุบันนี้ เรามีความคิดปกติเราใช่ไหม ความคิดคืออะไร สังขารคือสังขาร ร่างกายกับสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สังขารในพระพุทธศาสนา สังขารคือความคิด สังขารคือความฟุ้งซ่าน นี่คือสังขาร แล้วถ้าปัญญา ปัญญาที่มันรอบรู้ คือปัญญารอบรู้ในความคิด รอบรู้ในกองสังขาร เราคิด เราสงสัย เราปรุง เราแต่ง เราเซ่อ เราไม่เข้าใจ เราไม่รู้อะไรเลย ปัญญามันจะเข้ามาแทงทะลุอันนี้ แล้วสิ่งที่มันจะแทงทะลุอันนี้มันเกิดจากอะไร

มันต้องเกิดจากสมาธิก่อน สมาธิคืออะไร คือสมาธิเราหัดยิงปืนเห็นไหม มันจะมีเป้า ไอ้เป้ายิงปืน มันจะมีกี่คะแนน มี ๕ คะแนน ๑๐ คะแนนเห็นไหม ถ้าเรามีสมาธินั่นคือตัวเป้า ถ้าเราไม่มีสมาธิ เรายิงปืนไปบนอากาศ เวลาเขาแข่งขันยิงปืนเห็นไหม เขาต้องยิงปืนเข้าเป้าได้กี่แต้ม แล้วเขานับตามคะแนนนั้น แต่ถ้าเราแข่งขัน เรายิง ไม่ใช่เป้าบินมันก็มีเป้า ทุกอย่างมีเป้าหมด แต่ถ้าเรายิงบนอากาศเราได้คะแนนไหม

ความคิดของเรามันคิดโดยธรรมชาติของมัน แต่ถ้ามันจิตสงบนั้นคือเป้า เป้าคืออะไร เป้าคือฐีติจิต คือสถานที่เริ่มต้นของความคิด คือสิ่งที่เกิดจากทุกอย่างเกิดจากตรงนี้ เกิดจากเป้า แล้วเวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา เวลาปัญญาเพราะมันเกิดเป้า มันมีเป้าใช่ไหม เพราะมันสงบก่อนมันถึงมีเป้า พอมีเป้ามันเกิดปัญญาเห็นไหม ปัญญาที่เกิดจากสมาธิ มันจะเกิดมา แต่ในปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ ปัจจุบันนี้ปัญญายังไม่เกิด มันเป็นสามัญสำนึกเป็นความคิดเราเป็นธรรมชาติ

เขาบอกว่า ธรรมะเป็นธรรมชาติ เราดูถูกมากเลย ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ ความคิดเป็นธรรมชาติ ความคิดที่เกิดดับนี้เป็นธรรมชาติอันหนึ่งไหม เราควบคุมมันได้ไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมาเรื่องอนิจจัง เรื่องสภาวะเป็นธรรมชาติหมด มันเป็นธรรมชาติของมัน มันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราไปอยู่กับมันเราได้อะไร แต่ถ้ามันสงบแล้วเห็นไหม พอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว พอจิตสงบ นี้พุทโธ พุทโธ พุทโธ โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น พุทโธนะ

หลวงตาจะบอกเลยนะ พอ “พุท” มันคิดไปรอบโลกแล้วค่อยกลับมา “โธ” ไง “พุท” ก็คิดไปรอบโลกเลย แล้วก็ “โธ” ไปอีกรอบโลกหนึ่ง แล้วก็ “พุท” ก็อีกรอบโลกหนึ่ง นี่ไงโดยธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น เพราะโดยธรรมชาติไฟ จุดเทียน เราจุดกองไฟ ไฟมันต้องเผาผลาญ มันต้องให้ความร้อน ความคิดเหมือนไฟ พลังงานมันส่งออกตลอด ความคิดโดยธรรมชาติของมันมีอยู่แล้ว มันไม่มีได้อย่างไร ถ้ามันไม่มีแล้วทำไมมันเกิดดับล่ะ มันเกิดดับเพราะอะไร เพราะมันให้ข้อมูลไง ความคิดคือตัวจิตใช่ไหม

ความคิดคือข้อมูล ข้อมูลคิดเรื่องอะไรล่ะ เรื่องนั้นมันให้ผลกับเรา มันมีของมันแล้ว พลังงานมันส่งออกตลอดโดยธรรมชาติของมัน แล้วเรามาพุทโธ พุทโธ เรานึกพุทโธ มันก็เป็นพลังอันหนึ่ง เรานึกพุทโธ แต่มันยังแลบออกเห็นไหม แล้วสิ่งที่แลบออก เรานึกพุทโธ เราไม่อยากให้มันคิด แต่เวลามันแลบออกมา มันชอบคิด เพราะอะไร เพราะมันเป็นรสชาติของจิต พุทโธนี่เป็นธรรมะมันไม่เอา มันค้านไง พอ พุทโธนี่เบื่อมากเลย พุทโธ พุทโธ จะหลับแล้ว

แต่ถ้าได้คิด แหม ชอบใจ ก็โดยธรรมชาติของมัน ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ธรรมชาติของมัน แล้วเราฝืนไง หลวงตาบอกต้องฝืน ต้องฝืน ต้องสู้ ต้องทน นี่พอเรามานึกพุทโธ พุทโธ มันจะแลบมันจะคิดไปใช่ไหม มันจะคิดไปโดยธรรมชาติของมัน

ทีนี้ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราตามความคิดไป ถูก แต่เราใช้สมาธิอบรมปัญญา ขณะที่เราใช้สมาธิอบรมปัญญาเราต้องการความสงบ เราตามไปไม่ได้

ถ้าเราตามไปก็เหมือนมันแลบใช่ไหม เหมือนเรารักษาโรค เราให้ยาตัวเราเอง นี้ยามีผลข้างเคียง ยามีผลข้างเคียง เราจะเอาผลข้างเคียงนี้หรือเราจะเอายาที่รักษาโรคนี้ พุทโธ พุทโธ มันเป็นตัวหลัก ทีนี้พอพุทโธเป็นตัวหลักมันจะแลบ พอมีความคิดมันจะคิดออกไป นี้พอเราคิดออกไป เราบอกทำไมมันถึงคิด เราก็จะหยุดความคิดไง แล้วพุทโธมึงหายไปไหนล่ะ พุทโธมึงหายไปไหนล่ะ ก็มึงคิดตามไปละ แต่ถ้าเราจะฝืนนะ เรากลับมาที่พุทโธไม่ต้องตามความคิดไป เพราะความคิดมันเกิดจากจิต

ถ้าเราพุทโธกลับมาที่จิต ความคิดมันอยู่ที่ไหน แต่เราไม่เข้าใจ เราทิ้งฐานไง ทิ้งที่เริ่มต้นของความคิด ความคิดเกิดจากจิต เราทิ้งจิตแต่เราจะเอาความคิดไง เราจะตามความคิดไป ความคิดเกิดทำไม ฟุ้งซ่านเกิดทำไม มันจะไล่ความคิดไป แล้วมึงทิ้งบ้านมึงเหรอ ทิ้งฐีติจิตไง ทิ้งตัวภพไว้เลยแล้วออกไปที่ความคิด

แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธเกิดจากอะไร เห็นไหมความคิดเกิดจากจิต พุทโธก็เกิดจากจิต พุทโธก็เป็นความคิดอันหนึ่ง ธรรมชาติมันเป็นความคิด ธรรมชาติของความคิดมันเกิดดับ แต่ความคิดเกิดดับเป็นธรรมชาติ เป็นสามัญสำนึกของมนุษย์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติธรรมมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ว่าการเอาชนะตนเองทำด้วยวิธีการใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกให้บริกรรมคำว่า พุทโธ พุทโธขึ้นมาเห็นไหม เปลี่ยนจากความคิดในธรรมชาติของมัน ไปคิดในพุทโธ คิดในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พอคิดในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวธรรมมันกล่อม หลวงตาจะบอกว่าธรรมะมันกล่อมใจ กล่อมใจ พุทโธ มันจะกล่อม กล่อมจนแบบว่าความคิดมันธรรมดามันคิดออกไป พลังงานมันส่งออกไป

พอเราคิด พุทโธ พุทโธเห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเป็นธรรมเหมือนกล่อมเด็กเลยนะเรากล่อมเด็ก โอ๋ โอ๋ ร้องเพลงกล่อมเด็กนะ เด็กมันก็หลับ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันกล่อมใจ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แต่ใหม่ๆ เด็กมันไม่ชอบ เด็กถ้ามันง่วงเอง มันจะหลับปุ๋ยไปเลย แต่เด็กถ้ามันจะเล่น พ่อแม่จับให้นอนมันจะต่อต้านมาก

เวลาจิตจะให้มันสงบ มันก็ไม่สงบนะ เวลาเราไม่ทำนะ มันก็เกิดดับเป็นธรรมชาติของมัน คือ มันก็ต้องผ่อนคลายในตัวมันเอง แต่ผ่อนคลายโดยสามัญสำนึก ผ่อนคลายโดยโลก เราไม่ได้อะไรเลยล่ะ

แต่พอเราตั้งสติไปกับพุทโธ พุทโธ เวลาเราควบคุมมัน เวลามันสงบเข้ามา เราจะรู้ทันมันเห็นไหม เราจะรู้ทันเลย พุทโธ พุทโธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา นี่เป็นผลของสมาธินะ แต่เวลาเขาบอกว่าทำฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌานน่ะมันผิด ฌานนะมันมีก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฤๅษีชีไพรเขาทำฌานกัน เพราะเขาทำฌานไง เพราะฌานมันส่งออก เหมือนเราพร้อมเลย ปืน อาวุธ เขาเอาไว้ป้องกันตัว แต่อาวุธเราเอามาทำร้ายตัวเราเอง

ฌานมันเป็นการส่งออก เพราะมันส่งออก อาวุธถ้าเอามาป้องกันตัวเอามาทำประโยชน์มันทำได้ แต่ถ้าเราเป็นคนใช้ไม่เป็น อาวุธนะ ปืนนะ เขาจะเอาเก็บไว้ในบ้าน เก็บไว้ให้พ้นมือเด็ก เพราะเด็กมันไม่รู้ มันเอาไปเล่น เดี๋ยวมันจะไปทำร้ายคนอื่น ฌานก็เหมือนกันมันส่งออก พอมันส่งออกมันเป็นอันตราย เพราะเราควบคุมมันไม่เป็น แต่ถ้าควบคุมเป็น มันเป็นประโยชน์นะ

ฉะนั้นพอเป็นประโยชน์ ปืนเห็นไหม เจ้าหน้าที่เขาต้องใช้ปืน เขาเอาไปประกอบอาชีพของเขา ฌานสมาบัติถ้าคนมีสติ คนควบคุมมันเป็น มันเป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าคนใช้มันไม่เป็น พระพุทธเจ้าถึงว่ามันเป็นดาบสองคม

เหมือนเช่นการอดอาหาร พระพุทธเจ้าอดอาหารมา ๔๙ วัน และพระพุทธเจ้าบอกบัญญัติไว้เลยนะว่า ห้ามอดอาหารเพราะอะไร เพราะการอดอาหารนะ มันทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดกำลังมาก พวกครูบาอาจารย์เลยอดอาหาร มันทำให้ร่างกายนี่เบา ทำให้ธาตุขันธ์มันไม่ทับจิต การภาวนามันจะง่าย

แต่ถ้าเราโง่ นึกว่าการอดอาหารมันเป็นประโยชน์นะ อดจนตายก็ตายเปล่าไง การอดอาหารมันเป็นอุบาย มันเป็นเครื่องมือที่จะทำให้จิตนี่เข้าสมาธิได้ง่าย ปัญญาเกิดขึ้นได้ง่าย มันเป็นเครื่องมือ มันเป็นอุบายการส่งเสริมเท่านั้น แล้วมันจะเกิดการกระทำต่อไป

ฌานก็เหมือนกัน นี้เขาบอกว่าฌาน ๒ ผิดอย่างโน้นผิดอย่างนี้ มันก็ผิดอยู่แล้ว เพราะคนโง่มันใช้ไม่เป็น ถ้าคนมันใช้เป็นมันก็ทำได้ แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ที่เราทำความสงบอันนี้ อันนี้มันไม่มีโทษเลย มันไม่มีโทษเลย มันจะมีโทษต่อเมื่อเราหลง หลงว่าพอจิตมันสงบแล้ว เราคิดว่ามันเป็นคุณธรรมหรือมันเกิดอะไรขึ้นมา เราเกิดว่าเป็นปัญญา เราหลงเอง เราไม่เข้าใจของมันเอง เราไม่เข้าใจผลของสมาธินี้เอง ว่าสมาธินี้ผลมันเป็นอย่างไร อันนี้มันโทษในตัวมันเอง

เรากำหนดพุทโธ พุทโธ มันต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน ตอนนี้เราไปคิดกันเอาเองไง ว่าเวลาความคิดมันเกิด เวลามันฟุ้งซ่านขึ้นมา เราจะตามความคิดของเราออกไป เราจะไปดับมันไง เราจะไปดับมัน แต่เชื้อมันต้นเหตุเราไม่ได้จัดการ ดับไม่ได้

ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันจะคิดอย่างไรนะ เริ่มต้นนะ เราไม่ต้องตามความคิดไป เราอยู่กับพุทโธ ถ้าอยู่กับพุทโธ ความคิดหายหมด แต่เพราะเราอยู่สักแต่ว่านึกพุทโธ แต่ความคิดมันออกไปอยู่ข้างนอก โดยธรรมชาติจิตนี้คิดได้หนึ่งเดียว มือกำของได้ชิ้นเดียว ถ้ากำของเต็มมือจะกำได้ชิ้นเดียว แต่ทำไมมันคิดซ้อนกัน เพราะมันไวไง

ธรรมชาติถ้าจิตมันกำพุทโธอยู่ มันอยู่กับพุทโธ มันจะไปคิดเรื่องอื่นได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้เลย แต่เพราะมันเร็วมันไวเห็นไหม มันก็แลบออกไป นี่นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันกำพุทโธแล้ว ความคิดไม่มี แต่ถ้ามันมีความคิด มันอยู่กับพุทโธ โดยสักแต่ว่า แต่ความคิดอยู่ข้างนอก แล้วเวลาปฏิบัติไปมันเกิดอาการ

อย่างเมื่อวานนี้เห็นไหมเขาบอกเกิดอาการ เกิดการกระทำ อันนี้เพราะมันเกิดอาการ เหมือนคนจะเข้าบ้าน จิตนี้ เราจะพุทโธ พุทโธ เพื่อกลับสู่สถานะเดิมของจิต กลับสู่บ้านของจิต กลับสู่ตัวของเรา นี้พอเราจะเข้าสู่ตัวของเราใครจะเปิดประตูบ้านล่ะ ประตูบ้านถ้าเป็นบานเลื่อน เปิดมันก็เบาๆ

ประตูบ้านของเรา ถ้าเป็นประตูบ้านบานใหญ่เปิดมันจะมีลมกระโชกออกมา เราเปิดประตูบ้าน เราจะตกใจไหม อาการของจิตที่มันจะเข้าบ้าน มันจะมีอาการของมัน ถ้าพุทโธ พุทโธ บางทีสงบไปเรื่อยๆ สงบไปเฉยๆ ก็มี สงบแล้วมันวูบวาบขนาดไหนก็มี สิ่งนี้มันมีอาการของมัน

แล้วถ้ามันจะเครียด บางทีมันจะเครียด มันจะมีอาการจุกเสียดที่ไหนก็แล้วแต่ไม่ต้องไปวิตกกังวล ไม่ต้องวิตกกังวล อยู่เฉยๆ พุทโธ ไปเรื่อยๆ เพราะความวิตกกังวลอันนี้มันเกิดจากมาร มารมันจะพยายามให้จิตเราออกรับรู้ สิ่งใดที่เกิดขึ้นมันจะทำให้จิตไปรับรู้มัน

แล้วพอจิตมันจะสงบ มันก็จะแสดงอาการให้เรารับรู้หลายๆ เรื่อง พยายามจะให้เราออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ ถ้าเราตามการรับรู้ออกไป คิดดูสิจิตสงบ เปรียบเหมือนกับว่าแก้วน้ำมันมีตะกอนเห็นไหม ตะกอนจะนอนก้น แล้วการรับรู้ มันจะกวนให้ตะกอนนี้ขุ่นอยู่ตลอดเวลา

จิตที่มันจะสงบ อาการของมันที่มันแบบตะกอนมันจะลงสู่ก้นแก้ว เพราะจิตสงบเหมือนหินทับหญ้า เหมือนน้ำที่ขุ่นแล้วมันสะอาด จิตของเรามันคิดอยู่ มันคิดอยู่ มันจะสงบตัวของมัน พอสงบตัวของมัน อาการของมันจะตึงที่นั่น จะรับรู้ที่นี่จากสิ่งต่างๆ แล้วมันจะเป็นธรรมชาติของจิตนะ

ธรรมชาติของยางเหนียว สิ่งใดที่เกิดขึ้นขณะจิตที่มันกำลังจะสงบ มันเกิดความชัดเจน มันจะเกิดความดูดดื่ม มันจะเกิดความฝังใจ พอเกิดความฝังใจปั๊บ จิตพอเกิดสภาวะรับรู้อย่างนั้นปั๊บ ครั้งแรกมันจะฝังใจ พอครั้งที่สองภาวนามานะ มันจะลงอยู่ร่องนี้ เราใช้อาการอย่างนี้ เวลาเราว่าอาการอย่างนี้ คืออาการแผ่นเสียงตกร่อง

แผ่นเสียงที่เราเล่นอยู่ เวลามันเกิดร่องแล้ว เราเปิดมาถึงร่องที่มันตกร่อง มันก็จะซ้ำอยู่ตรงนั้นจะไม่ไปไหน จิตของเราพอออกรับรู้สิ่งใด อย่างเช่นว่า มันคิด มันรับรู้สิ่งต่างๆ อาการรับรู้ พออาการรับรู้เห็นไหม

โดยปัจจุบันเราอยากจำได้นะ เวลาเราทำทางวิชาการ โอ้โฮ เราทำอะไรเราอยากจะจำแม่นๆ ลืมทุกทีเลย อะไรที่ไม่อยากจะจำ ทำไมมันเกิดจำแม่นล่ะ นี่มันเป็นเรื่องสัญชาตญาณนะ แต่เวลาจิตมันสงบเข้าไป มันเหมือน ดูสิ เขาไรท์ซีดีเห็นไหม ซีดีเปล่าๆ ทำไมเขาไรท์ซีดีได้ล่ะ จิตของเรามันสะอาด พอสิ่งใดซีดี มันไรท์เข้าไป มันจะไปอยู่ในเนื้อซีดีเลย

จิตของเราเวลาที่มันเกิดอาการที่มันจะลงของมัน แล้วไปรับรู้สิ่งใดมันฝังใจไหม มันฝังเข้าไปที่ใจเลย แล้วแผ่นเสียงตกร่อง พอเล่นซีดีไปนะเสียงที่เราบันทึกไว้มันจะออกมา

จิตที่มันรับรู้อาการโคลง อาการไหว อาการจุก อาการต่างๆ ซีดีได้บันทึกไว้แล้ว จิตมันได้บันทึกไว้แล้ว พอจิตมันบันทึกไว้แล้ว พอถึงตรงนั้นปั๊บอาการนั้นแสดงออกมาทุกทีเลย พออาการแสดงออกมาเห็นไหม มันเป็นตัณหาซ้อนตัณหา คือธรรมชาติของจิตมันก็รับ มันก็มีความอยากรู้ มีความอยากคิดอยู่แล้ว แล้วมันมีข้อมูล คือมันซับอยู่แล้ว ถึงจุดนั้นมันแสดงออกอีก แล้วพอแสดงออกมันก็ชัดอีก ชัดอีกก็อยากรู้อีก อยากรู้อีกก็คิดอีก มันก็เลยติดตรงนี้ไง

วิธีแก้นะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นะเฉยๆ เหมือนแผ่นเสียงที่มันตกร่อง เราพยายามเล่นให้แผ่นเสียงมันเสมอกัน ให้มันเข้าไปได้ ให้มันผ่านไปได้ อาการโคลง อาการไหว อาการต่างๆ ไม่ต้องไปรับรู้มัน! ไม่ต้องรับรู้มัน! เว้นไว้อย่างเดียว เวลาโคลงแรงๆ มันจะล้ม มันจะล้มลุกนะ จริงๆ แล้วขืนได้ เราขืนเฉยๆ ก็ได้

แต่การขืน จิตมันต้องมีหลักนิดหน่อย ถ้าจิตยังไม่มีหลัก เวลาอาการโคลง อาการไหว มันเป็นอาการได้ เวลาจิตมันจะลงเห็นไหม เวลาจิตเหมือนน้ำกระเพื่อม ความรับรู้ เหมือนอาการสั่นไหว มันมี

เวลาเราพูดเรื่องอย่างนี้ แม้แต่จิตมันจะสงบมันยังมีอุปสรรค มีการกระทำ มีการประคอง ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าสมาธิ ออกสมาธิ สมาธิจริงๆ มันเป็นแบบนี้ ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ มันเป็นแบบนี้ แต่ที่เขาทำกัน เขาไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ความคิดตรรกะคิดกันไป แล้วก็สำเร็จกันไปกี่ขั้นกี่ตอน มันเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ แต่ถ้าการกระทำของเราจิตมันต้องสงบ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติเป็นนะ คนที่ภาวนาเป็นจะบอกว่าต้องทำจิตให้สงบก่อน

เพราะจิตสงบเราพูดบ่อย ถ้าปัญญาในพระพุทธศาสนา มันเป็นปัญญาคนละมิติ ในปัญญาสามัญสำนึกนี้ ปัญญาในสามัญสำนึกมันเป็นสุตมยปัญญา มันเป็นการก๊อบปี้ เป็นการศึกษา ก๊อบปี้เห็นไหม ดูทางวิชาการทั้งหมดล่ะ เราทำวิจัยทั้งหมด มันต่อยอดจากทางวิชาการที่เขามีแล้วทั้งนั้น มันก๊อบปี้มาทั้งนั้น มันไม่เกิดจากการกระทำของตัวเองขึ้นมาเลย แล้วพอจิตมันสงบขึ้นมานะ มันไม่มี มันก๊อบปี้ไม่ได้ มันก๊อบปี้ไม่ได้เพราะถ้ามันก๊อบปี้มันเป็นสัญญาหมด ถ้าสัญญามันเป็นสามัญสำนึก

แต่พอจิตมันสงบเข้าไปมันว่างหมด มันจะไปก๊อบปี้ใคร ปัญญาที่จะเกิดขึ้นมามันต้องเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำ ปัญญาเกิดจากการทำวิจัยของจิตดวงนั้น เราถึงบอกว่าธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะที่เราพูดกันเป็นธรรมะสาธารณะ เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมือนกับเราใช้ ดูสิเราสร้างบ้านสร้างเรือน เราต้องมีถนนหนทางเข้าไปในบ้านของเรา เราตัดถนนของเรา เข้าเนื้อที่ของเราเข้าไปสู่บ้านของเรา แต่เราอยู่กับสาธารณะเห็นไหม มันมีถนนหลวง เราใช้ถนนของสาธารณะ

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสาธารณะ ถนนส่วนบุคคลกับถนนสาธารณะอันไหนดีกว่ากัน ถนนสาธารณะดีกว่าเพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแล มีงบประมาณมันจะคอยดูแล ถนนจะเรียบเลย ถนนของเรานะเสียก็ต้องซ่อมเอง เวลาทำอะไรเราก็ต้องดูแลเอง แล้วไม่มีใครมาช่วยดูแล

ธรรมะส่วนบุคคล เวลามันเกิด วิปัสสนาญาณมันเกิดของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน วิทยานิพนธ์ไม่มีการซ้อนกัน การปฏิบัติธรรม เราถึงบอกไงว่าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาแต่ละองค์ท่านจะมีวิทยานิพนธ์ของท่าน

อย่างเช่นหลวงปู่ขาวเห็นไหม เวลาของท่านสุดท้ายจะเห็นว่าท่านเปรียบเทียบจิตท่านเหมือนเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวถ้าตกสู่ท้องนามันจะเกิดอีก เมล็ดข้าวถ้าไปสี เมล็ดข้าวถ้าเอาไปหุงแล้วเมล็ดข้าวนี้จะเกิดอีกไม่ได้

ครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่ประพฤติปฏิบัติจะมีวิทยานิพนธ์ หมายถึงว่าการเข้าไปสู่กระบวนการ การจับจิต การแก้ไขจิต มันจะมีกระบวนการของมันแต่ละบุคคล ไม่มีซ้อนกัน ถ้าซ้อนกันสองคน ต้องมีผิดคนหนึ่ง ถูกคนหนึ่ง การซ้อนกันไม่มีถูกหมด แต่คนถูกคือคนที่ทำจริงนั้นถูก แต่คนที่ได้ฟังมาแล้วเอาไปปฏิบัติก็ยังผิด

อย่างหลวงตาท่านพูดอยู่ ท่านบอกว่าของท่านกับหลวงปู่คำดีเหมือนกันอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงที่หลวงตาท่านกลัวเสือท่านบอกว่า เสือมันมีขนเราก็มี เสือมีหนังเราก็มี เสือมีกระดูกเราก็มี มีทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย พอมันแก้ไขจบเห็นไหม จิตท่านลงหมดเลย ท่านบอกหลวงปู่คำดีก็ใช้อย่างนี้เหมือนกัน แต่คนละกาลคนละเวลา เพราะหลวงปู่คำดีท่านใช้มาก่อน ท่านใช้อย่างนี้ เสือมีกระดูกเราก็มี เวลาอยู่ในป่ามันกลัวไง อันนี้เป็นแค่ปัญญาไล่ต้อนกิเลสออกจากใจเป็นบางส่วนเท่านั้น

ฉะนั้นเวลาจิตมันจะสงบมันมีอาการของมัน ไอ้สิ่งที่มันซับแล้ว มันรับรู้แล้วมันจะฝังใจ แล้วมันเป็นโทษนะ การปฏิบัติมันมีอุปสรรค อย่างเช่น ปกติเรานั่งปกติ นั่งปกติก็ไม่เห็นมีอะไรเลย นั่งธรรมดานะคุยกันทั้งวันก็ไม่เป็นไรนะ เวลานั่งภาวนาพอกลืนน้ำลายอึ้ก พอนั่งไปก็อึ้กอยู่นั่นแหละ จะกลืนอย่างไรล่ะ แล้วทำไมมันกลืนล่ะ แล้วกว่าจะทำอย่างนี้ให้หาย มันก็ต้องชั่วคราว นี้ขนาดน้ำลายนะ

เราแก้มาเยอะ ลูกศิษย์นะเยอะมากเลย เวลานั่งถึงจุดหนึ่งเหงื่อจะแตกพลั่กเลย แล้วพอนั่งถึงจุดนั้นเหงื่อก็จะแตกพลั่กเลย พอเหงื่อแตกพลั่ก มันก็จะเกิดอาการหงุดหงิด เกิดอาการออก

แล้วพอนั่งไปบางคนจะมีอาการ อาการที่เราเกิดขึ้น มันจะจุก มันจะเสียด มันจะอะไรก็แล้วแต่นะ ถ้าเป็นทางการแพทย์ ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ต้องรักษา แต่ในการปฏิบัติ ตรงนี้ในทางปฏิบัติ มันไม่มีอะไรเกิดกับเราหรอก มันเกิดจากความมันแบบอุปาทาน เกิดจากจิตที่มันรับรู้ เวทนานี้นะ เวทนาจริงๆ มันไม่มี เวทนาตามปรมัตถ์นะ เวทนาจริงๆ มันไม่มี เวทนานี้ไม่มีหรอก

แต่เพราะจิตมันไปรับรู้ เพราะอุปาทานเกิดจากจิต จิตมันไปรับรู้ เวลาคนนั่งอยู่นานๆ แล้วมันเพลินไปกับอารมณ์อย่างอื่น เวทนาไม่เกิดหรอก แต่พอจิตมันรับรู้นะ อู้ฮู้ นั่งมานานแล้วนะ มันจะปวดนะ มันปวดพรวดขึ้นมาเลยเห็นไหม ใครเป็นคนบอกมัน

เรานั่งอยู่ ๕ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง เราคุยกันเพลินนะ เราไม่รู้หรอก พอเรานึกได้นะ เฮ้ย เรานั่งมา ๕ ชั่วโมงแล้วนะ มันคงจะปวดนะ ปวดมันโผล่ขึ้นมาพรวดเลยเห็นไหม มันมาจากไหนล่ะ มันมาจากไหน

เวทนาเกิดจากความหลงของจิตนะ เวทนาเกิดจากความหลงของจิต เพราะเรื่องแร่ธาตุต่างๆ เขาไม่มีความรู้สึก เขาอยู่ของเขาขนาดไหน เขาจะไม่มีอารมณ์ความรู้สึกของเขา จิตของเราต่างหากล่ะ มันไปรับรู้

ถ้ามันไล่เข้ามานะ เวทนาสักแต่ว่าเวทนา มันเฉยอยู่ ถ้าเวทนามันปล่อยนะ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมาได้มันต้องมีสมาธิ เวลานั่งสมาธิ เริ่มต้นปฏิบัติจะปฏิบัติอย่างไร เริ่มต้นปฏิบัติ การสอน เวลาเริ่มต้นปฏิบัติเห็นไหม เช้าๆ แจกยาคูลท์ เด็กๆ มันมาวัดได้ยาคูลท์มันดีใจมากนะ

เริ่มต้นเราจะปฏิบัติเหมือนเด็กอ่อน คนจะมีอายุมากอายุน้อยไม่สำคัญ สำคัญเพราะยังไม่เคยปฏิบัติ พอจะมาปฏิบัติ เริ่มต้น จิตนี้เป็นนามธรรม ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าให้ลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” เพราะเหตุใด เพราะสิ่งที่ว่าจิตนี้เป็นนามธรรม ที่เราจะจับต้อง เราจะพิสูจน์ด้วยตัวเอง ด้วยผลงานของเรายากมาก

แต่ถ้าไปพูดธรรมะของพระพุทธเจ้าปากเปียกปากแฉะเลย จิตนี้เป็นนามธรรม ร่างกายนี้เป็นธาตุวัตถุ แหม มันตอบ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอกมันตอบธรรมะถูกหมดนะ แต่มันไม่เห็นตัวจริงนะ

นี้พอเราจะเอาความจริงของเราใช่ไหม เวลาลมหายใจเข้านึก “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” เพราะลมหายใจกับความกระทบมันเป็นรูปธรรมที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุด จิตนี้เป็นนามธรรม เราพยายามสร้างความเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อจะให้เราจับต้องกับมัน ฝึกซ้อมกับจิต เพื่อให้จิตนี้เข้าที่

พอฝึกซ้อมไปกับจิต การฝึกซ้อมจิต ดูสิ นักกีฬาการฝึกซ้อมใหม่ๆ เห็นไหม เริ่มต้นเทคนิคของการฝึกซ้อม เขาต้องให้ออกกำลังกายก่อน แล้วเทคนิคการเล่นของเขา เขาจะฝึกซ้อมจากเบสิกพื้นฐานเท่านั้นน่ะ จิตก็เหมือนกัน พุทโธลมหายใจเข้าและลมหายใจออก มันเป็นแค่พื้นฐาน

แต่พอมันจะละเอียดเข้าไปนะ ความที่เป็นขั้นพื้นฐาน มันจะเป็น ถ้าเราจะฝึกต่อไปให้ละเอียดกว่านั้นนะ พื้นฐานเรารับรู้ไว้เป็นข้อมูลใช่ไหม แต่ในการกระทำของเราครั้งต่อไป มันต้องมีความฉับไว มีความคล่องตัวมากกว่านั้น เทคนิคของเราจะพัฒนาขึ้นไป

ทีนี้จิตของเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ลมหายใจเข้าออก มันเป็นพื้นฐาน พอจิตเรามันจะพัฒนาขึ้นไป พอมันหน่วงกันเห็นไหม มันจะเกิดอาการตกภวังค์ มันจะเกิดอาการที่ว่าเข้าไม่ได้ ฉะนั้นพอเกิดอาการอย่างนี้ปั๊บ เบสิกขั้นพื้นฐานนะเราต้องทิ้ง

ฉะนั้นพอถึงตรงนี้ปั๊บเราต้องกำหนดลมหายใจอย่างเดียวเห็นไหม กำหนดลมหายใจอย่างเดียว ทิ้งพุทโธไป กำหนดลมหายใจเฉยๆ อานาปานสติ กำหนดลมจับลมอันเดียวหรือไม่ก็พุทโธอันเดียว ทิ้งลมไป พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไวๆ เพราะอะไร

เพราะจิตมันจะเริ่มละเอียดเข้า แล้วมันไปจับอยู่กับของที่หยาบ มันจะละเอียดเข้าไปไม่ได้ มันจะหน่วงกัน พอมันจะหน่วงกัน กำหนดลมหายใจเข้า “พุท” ลมหายใจออกนึก “โธ” ปฏิบัติไปนี่หลับหมด หลับหมดเลยเพราะมันหน่วงกัน แล้วเราจะไม่หลับแก้อย่างไร เราต้องทิ้งอันใดอันหนึ่งเอาลมก็ได้ เอาพุทโธก็ได้

เพราะเวลาพุทโธมันจะหลับใช่ไหม เราพุทโธ “พุท” เข้า ออก “โธ” มันหน่วงใช่ไหม พอจิตเราละเอียดเข้าใช่ไหม มันพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไวๆ ก็ได้ ถ้าอารมณ์มันดี พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าวันไหนจิตมันดีนะพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันมีกระทบพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าวันไหนอารมณ์มันแรงนะพุทโธๆ ๆ ๆ

มีคนพูดมากว่าเวลากำหนดพุทโธแล้ว มันไม่ออกพุทโธนะ มันออกโธ โธ โธ โธ เขานึกว่าผิดอีกนะ มันไม่ผิดนะ มันไม่ผิด เพราะมันละเอียดเข้าไป ถ้ายังมีสติมีความรับรู้อยู่ถูกต้องหมด

เราถึงพูดกับ พระมาหาเราองค์หนึ่ง บอกว่าในวงการพระของเขา เขาบอกว่ากำหนดลมหายใจ ลมหายใจต้องหายโดยข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนั้น แต่เวลาเขามาหาเรา เราค้าน เราบอกว่าลมหายใจหายไม่ได้ ลมหายใจต้องอยู่กับเราตลอดไป ถ้าเขายึดคำนี้ อยู่กับลมหายใจตลอดไป ถึงที่สุดแล้วตามข้อเท็จจริง พอมันละเอียดเข้าไปเป็น อัปปนาสมาธิแล้วมันดับหมด ลมหายใจก็ดับ ทุกอย่างก็ดับ

แต่ถ้าบอกว่าลมหายใจมันต้องหาย เราจะสร้างอาการหายกันหมดเลย พอลมหายใจเข้านะ ลมหายใจเราก็จะค่อยๆ จางลง จางลง จนลมหายใจหายไป แต่จริงๆ มันมีแต่เพราะมันหายไป เพราะความรู้สึกปฏิเสธ มันไม่ได้หายไปด้วยตามข้อเท็จจริง

แต่ถ้ากำหนดลมหายใจ กำหนดไปเรื่อยๆ ลมหายใจจะละเอียดเข้า ละเอียดเข้า จนจิตมันละเอียดไปมันไม่รับรู้ลมหายใจเลย แต่ลมหายใจมีของมันอยู่โดยธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น แต่เพราะเขาบอกในทางการปฏิบัติ เขาบอกว่าลมหายใจต้องหาย พอลมหายใจต้องหายปั๊บ เราก็จะให้มันจางลง จางลง จนมันหายไป จนจิตไม่เข้าสมาธิ คือกึ่งหมด

พุทโธ ก็เหมือนกัน ถ้าโดยสามัญสำนึกครูบาอาจารย์บอก พุทโธ พุทโธ จนพุทโธหาย พวกเราก็ไปสร้างอาการหาย พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วลืมไปเลย แล้วก็นั่งอยู่เป็นหัวตออยู่ ไม่ลงหรอก เป็นหัวตออยู่อย่างนี้ มันไม่ลงหรอก

แต่ถ้าเราบอก พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ห้ามหาย พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วตามข้อเท็จจริงของมัน มันพุทโธไม่ได้ ถึงที่สุดพอจิตมันละเอียดเข้าไป มันนึกอะไรไม่ออก มันเป็นเนื้อของจิตล้วนๆ มันเป็นตัวของมัน มันจะนึกอย่างไรก็นึกไม่ได้ แต่มันรู้ตัวมันอยู่ นี้คืออัปปนาสมาธิ ตัวมันน่ะ ถึงมันจะละเอียดขนาดไหนต้องเกาะไว้อย่าทิ้ง

ถ้าเกาะไว้แล้วทิ้ง เราเปรียบเหมือนการวิ่ง ๑๐๐ เมตร เขาวิ่งเข้าเส้นชัย ๑๐๐ เมตร เราวิ่งแล้วเหนื่อยใช่ไหม ๕๐ เมตรเราก็หยุดแล้วก็เริ่มต้นใหม่ก็สตาร์ทใหม่ แต่ถ้าคนที่ฉลาดนะมันจะเหนื่อยมันจะทุกข์ขนาดไหน พยายามวิ่งเข้าไปถึงเส้นชัย ๑๐๐ เมตร ถึง ๑๐๐ เมตรจบ คือ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ดันไปอย่างนี้ ดันเข้าถึง ๑๐๐ เมตร พอถึงผ่าน ๑๐๐ เมตรไปคือสมาธิ แต่ถ้าเราดันไป ๘๐ เมตร เออ หยุดก่อน หยุดก่อน เลิกก่อน พอจะเอาใหม่ โน่น สตาร์ทอีกแล้ว พอขึ้นมา ๙๐ เมตร กลับไปสตาร์ทอีกแล้ว มันไม่เข้าไง

พุทโธ พุทโธจับไว้ จับตรงนี้ไว้ จับไว้แล้วพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเป็นเอง มันเป็นเอง ถ้ามันจะหาย มันหายโดยข้อเท็จจริงที่มันจะหายของมันเอง แต่คำว่าหายของมันเองคือมันหายของมันนะ แต่นี่เรา

หลวงตาพูดอย่างนี้นะ พุทโธกับจิตมันเป็นอารมณ์สอง ความรู้สึกเราเป็นหนึ่ง เรานึกพุทโธเป็นสอง ในสามัญสำนึกของพวกเราทุกคนมันเป็นอารมณ์สองหมด ไม่มีอารมณ์หนึ่ง ความคิดเกิดจากจิต ความคิดเกิดจากเรา ความคิดไม่ใช่เรานะ บางทีเราคิดเรื่องหนึ่งแต่เราก็มีความกังวลอีกเรื่องหนึ่ง จิตเรามีความกังวลอยู่นะ แต่เราคิดอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้เรานึกพุทโธมาก็เป็นสองโดยธรรมชาติมันเป็นแบบนี้ไง

โลกนี้เป็นของคู่ สุขคู่กับทุกข์ ดีคู่กับชั่ว ทุกอย่างเป็นของคู่หมด ความคิดมันก็เป็นของคู่ มันคู่ขึ้นมาจากจิต ทีนี้มันคิดดีคิดชั่วมันเป็นอารมณ์เดียวนี่ แต่มันคิดมาจากจิต นี่เรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไปเรื่อยๆ มันละเอียดเข้าไป จนมันเป็นอันหนึ่งเดียว มันเป็นอารมณ์หนึ่งเดียว มันคิดอะไรไม่ได้ นี่คือสมาธิ สมาธิคือตัวจิตที่มันคิดอะไรไม่ออกมันคิดไม่ได้ แต่ไม่ใช่คนซื่อบื้อนะ นี่ตัวของมันจะเป็นอย่างนี้ นี่ขั้นของสมาธินะ มันยังไม่ได้ใช้ปัญญาอะไรเลย

แล้วมันมีอยู่ปัญญาอบรมสมาธิ หรือสมาธิอบรมปัญญา ถ้ามันอบรมแล้ว อย่างที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดไล่ความคิดไป ความคิดเกิดดับ เราถึงบอกว่าความคิดเกิดดับ ที่เขาบอกเห็นจิต เห็นจิต เราไม่เคยเชื่อเลย เพราะความเห็นความคิดเกิดดับยังไม่เห็นจิต อารมณ์สองใช่ไหม

จิตคือความรู้สึกกับความคิด พอเราดูความคิด ความคิดมันก็ดับ ความคิดมันดับ แต่จิตมันอยู่ไหน พอดับแล้วมันหาจิตไม่เจอ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ เราไล่ความคิดไป พอความคิดมันดับ เพราะมันไล่ความคิด คำว่าไล่ความคิดนะ คำว่าไล่ความคิดมันมีอะไรไล่ ถ้าไม่มีสติเราจะตามความคิดเราได้ไหม ไล่ความคิดไปมันมีสติกับมีปัญญา

สติปัญญามันเกิดจากไหน มันเกิดจากจิต ความคิดก็เกิดจากจิต แต่ความคิดเป็นอารมณ์สองที่เกิดจากจิต เกิดจากจิตโดยกิเลส เวลามันเกิดดับ เวลาเราทุกข์เรายากเราคิดมากแล้วเราทุกข์ยาก พอทุกข์หายไปแล้ว ความคิดหายไปทุกข์อยู่ไหน ทุกข์ก็ไปกองอยู่ที่จิต เวลาเราคิดเรื่องไม่พอใจ คิดสิใครด่าเรา ใครติเตียนเรา เราคิดสิ แล้วความคิดมันดับไปนะ ความทุกข์อยู่ที่ไหนล่ะ ความทุกข์ไม่อยู่ที่ความคิดนะ ความทุกข์มากองอยู่ที่จิตนะ ทีนี้เวลามันคิด โดยสามัญสำนึก โดยธรรมชาติของมนุษย์

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไง ปัญญาอบรมสมาธิคือปัญญาวิมุตติของพระสารีบุตร สมาธิอบรมปัญญา คือ พุทโธ พุทโธของพระโมคคัลลานะ การปฏิบัติในพุทธศาสนามันมีอยู่สองแนวทางหลักๆ คือสมาธิอบรมปัญญา กับ ปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเป็นปัญญาวิมุตติในแนวทางของพระสารีบุตร ถ้าสมาธิอบรมปัญญาโดยฤทธิ์ โดยกำลังมันเป็นสายของพระโมคคัลลานะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเป็นทางเดินของเจโตวิมุตติเป็นของพระโมคคัลลานะ

ถ้าปัญญาวิมุตติมันเป็นแนวทางปัญญาของพระสารีบุตร เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะมีสติ มีความรู้สึก มันมีกระแสออกจากจิตไง เพราะเราต้องสร้าง เราต้องสร้างสติ เราต้องมีเครื่องมือ เข้าไปทันความคิดเห็นไหม ถึงว่าใช้คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่ดูจิต

การดูจิต มันใช้ความคิดดูความคิด มันก็ดับไปที่นั่น แต่เพราะดับที่นั่นปั๊บ มันก็เป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร เพราะมันไม่รู้ตัวมันเองไง พอดับแล้วก็เออดับ เออ เออติด เออดับ แล้วมึงอยู่ไหนไม่รู้ ไม่รู้

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันมีกระแสเพราะมีสติ คำว่าปัญญาอบรมสมาธิเวลาความคิดมันคิดแล้ว มีปัญญาตามความคิด ปัญญานี้เกิดมาจากไหน ถ้าความคิดมันเกิดโดยธรรมชาติ เกิดโดยสามัญสำนึกเกิดโดยธรรมชาติของความคิด แต่เพราะเราตั้งสติ เราสร้างปัญญาเพื่อจะตามความคิด พอเราตามความคิดไป ความคิดมันดับ พอความคิดมันดับ ใครเป็นคนไล่มันให้มันดับ สติปัญญามันเห็นไหม สติปัญญามันเกิดจากไหน เกิดจากจิต ผลงานนี้เป็นผลงานของใคร ผลงานของจิต ผลงานของจิต

นี่เมื่อจิตมันมีผลงานของมันเห็นไหม จิตมันมีผลงานของมัน ความรู้สึกเวลาผลตอบสนองของมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่จิต พอได้สติตามไป เราถึงค้านอภิธรรมเห็นไหม อภิธรรมบอกว่าสภาวธรรมที่เกิดเป็นปัจจุบัน มันไม่มีอารมณ์นะ มันเป็นสภาวธรรมที่เป็นปัจจุบัน ไอ้ที่มีอารมณ์นั้นมันเป็นกิเลส ไม่มีทาง

ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันทันมันดับหมด ความคิดที่ไม่มีสภาวะ เป็นปัจจุบันธรรมมันอยู่ที่ไหน สภาวะที่เป็นปัจจุบันธรรมที่มันเกิดในปัจจุบัน มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ไหน โม้ทั้งนั้นล่ะ

ทีนี้พอสติมันทัน มันดับหมด มันดับใครเป็นคนสร้างให้มันดับ จิตมันมีกำลังกว่าสติ ปัญญามันทำให้มันดับ พอดับมันก็เหลือจิต อึ๊ก รู้เลยว่า เออ ความคิดดับ เรายังอยู่ เดี๋ยวก็คิดอีก ไล่ไป คิดอีก ไล่ไป พอไล่ไปเรื่อยๆ ตัวหยุดมันจะเริ่มขยายตัวมากขึ้น พอขยายมากขึ้นนี่คือสมาธิไง นี่คือจิตตั้งมั่นไง จนจิตตั้งมั่น จิตมีกำลังพอ พอจิตมีกำลังพอความคิดที่เกิดจากจิตมันเกิดได้อย่างไร

ถ้าจิตเห็นอาการของจิตตามที่หลวงปู่ดูลย์สอน หลวงปู่ดูลย์สอนได้ ดูจิตจนจิตตั้งมั่น แล้วจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิตแล้วใช้ปัญญาฆ่ามัน ฆ่ามัน หลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้

ฉะนั้นขณะดูจิตเห็นจิตนะ มันก็เหมือนพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิกับสมาธิอบรมปัญญา มันไม่มีอะไรต่างกันเลย คือมันทำให้จิตสงบเหมือนกัน เพียงแต่มีสติหรือเปล่า ถ้ามีสติเข้าไปตามข้อเท็จจริงแล้วน่ะ มันก็เหมือนกัน

แต่ที่เขาทำอยู่เราบอกว่าผิดหมด ผิดหมดเพราะคำพูดของเขามันฟ้องถึงผิด เพราะเขาไปดูกันที่ความเกิดดับของความคิดไง เขาถึงไม่เห็นตัวจิต ถ้าเขาเห็นตัวจิตเหมือนน้ำมันเบนซิน เราเข้าปั๊มไหน มันก็เติมก็เบนซินเหมือนกันหมด มึงไปเติมน้ำมารถมึงพังนะมึง

ถ้าน้ำมันเบนซินเติมไว้ในเครื่องแล้ว ติดเครื่องเครื่องมันจะมีกำลังมาก มันจะเป็นธรรมชาติของมัน มันจะมีกำลังส่งของมัน ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะมีกำลังของมัน จิตสงบเข้ามา รถเราเติมน้ำมันเต็มถัง ติดเครื่องไปแล้วเครื่องมันจะเสียได้อย่างไร ถ้ารถเราเติมน้ำติดเครื่องเข้ามาก็พังกับพัง

นี่ไงมันถึงไม่เป็นความจริงไง ถ้าเป็นความจริงเพราะจิตมันมีกำลังของมัน ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป จิตมันดับ พอความคิดมันดับ ความคิดมันดับแป๊บเดียว คิดอีกแป๊บเดียว จิตที่เป็นนามธรรม แต่ถ้าพอจิตมันเป็นนามธรรมแล้ว มันสงบได้ จิตมันปล่อยวางได้ พอมันเห็นความคิด เขาเรียกว่า “จิตเสวยอารมณ์” จิตกับอาการของจิตไม่ใช่อันเดียวกัน พอมันจับได้ มันเห็นได้เพราะในอารมณ์นั้นมันมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันมีขันธ์ ๕

เวลาเราพูดให้เห็นภาพชัดๆ สอนเด็กๆ เราบอกความคิดเหมือนส้ม ส้มกับเปลือกส้มไง ธรรมชาติตัวจิตเห็นไหม ที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่าความคิดเป็นรูป ความรู้สึกเป็นรูป ความรู้สึกเป็นรูป ความคิดเป็นนาม ความรู้สึกเป็นรูป ความรู้สึกคือตัวจิต ความคิดคือเปลือกส้ม พุทโธ พุทโธ พุทโธมันก็ทะลุเปลือกส้มเข้าไป เพราะคำว่าพุทโธเป็นความคิด สัญญาคือพุทโธ พุทโธ สัญญา ความสังขาร คือความคิด ความปรุง ความแต่ง แต่งพุทโธ มันก็ทะลุเปลือกส้มนี้เข้าไป พอเข้าไปถึงตัวจิตมันก็คือสมาธิ

ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ปอกเปลือกขันธ์ ๕ เหมือนกัน มันเข้าสู่สมาธิเหมือนกัน โดยหลักมันเป็นแบบนี้ นี่โดยหลักโดยธรรมชาติของจิตเป็นแบบนี้เลย แล้วโดยธรรมชาติของจิตเป็นแบบนี้แล้ว พระพุทธเจ้าเอาธรรมชาติ เอาเรื่องของจิต เอาเรื่องของความรู้สึกอันนี้ แต่มันมีตัณหาความทะยานอยากที่มันครอบงำอยู่ มันก็ขับเคลื่อนไปตามเรื่องของตัณหาความทะยานอยาก แต่พอเราสร้าง เราทำจิตให้สงบ ตัณหาความทะยานอยากเห็นไหม เขาว่าหินทับหญ้า หินทับหญ้า ตัณหาความทะยานอยากมันต้องสงบตัวลง

ถ้าตัณหาความทะยานอยากมันไม่สงบตัวลง เกิดสมาธิไม่ได้ พอเกิดสมาธิตัณหาความทะยานอยากมันต้องสงบตัวลง มันก็เหมือนพลังงานธรรมชาติ คือ จิตที่เป็นสากล จิตที่เป็นกลาง จิตที่เป็นสมาธิเป็นสากล แล้วทางลัทธิต่างๆ เขาบอกนี่คือตัวธรรม แต่ถ้าเป็นหลักพุทธศาสนาไม่ใช่ นี้คือจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้นี้มันอุปกิเลสทั้งหมด ตัวนี้พอมันสงบแล้ว มันออกเห็นความคิดมันเห็นของมันเอง มันจับของมันเองได้ ถ้ามันจับไม่ได้ มันแก้กิเลสมันไม่ได้ ตัวจิตมันจะจับอาการของจิตได้ พอจับอาการของจิตได้แล้ว มันวิปัสสนาไปมันจะเกิดวิปัสสนาญาณ

แล้วที่พระพุทธเจ้าบอกกับหลานพระสารีบุตรว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอนั้นก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

ความคิดนี้เป็นวัตถุอันหนึ่งเลย ถ้าจิตมันละเอียดมันจับความคิดได้ มันเห็นเลย เป็นวัตถุเลย ถ้าไม่เป็นวัตถุมันจะมาแยกแยะไม่ได้ มันมาแยกแยะมันมาแยกออกนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกออกมาเป็นกองอย่างไร ความคิดมันแยกออกจากกันอย่างไร

ความคิดมันแยกออกเป็นส่วนผสมของความคิดเลย พลังงาน เราแยกออกพลังงาน ส่วนผสมของพลังงานมีอะไรบ้าง ความคิดมันแยกออกได้หมดเลย พอแยกออกส่วนผสมของความคิด ขันธ์ ๕ มันแยกออกจากกัน มันไม่รวมกัน มันเป็นรูปขึ้นมาไม่ได้ มันเป็นความคิดไม่ได้ ความคิดมันแยกออกเป็นกองหมด มันแยกความคิดออกกระจายออกหมด แล้วมันจะรวมตัวกันไม่ได้ ถ้ารวมตัวกันได้ความคิดไม่มี

มันก็ยังไม่สะอาด มันก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมันมีความปรารถนามีแรงปรารถนาโดยตัณหา มันก็เข้ามาคิดกันอีกตลอดไป ก็แยกไปเรื่อยๆ แยกไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดเห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็กองความคิด มันแยกออกจากกัน แยกออกจากกันนะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พระโสดาบันต้องเป็นอย่างนั้น

เมื่อวานเขาเอามาให้ออกมาจากเว็บไซต์เหมือนกัน อ่านเมื่อวานอ่านแล้วขำมาก เขาพูดถึงสติมาเลยนะนี่ตัวอาจารย์สอนเองเลยนะ ตัวอาจารย์เลยล่ะ

ประเด็น : ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ เพื่อให้คอยหัดรู้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของจิตในตัวเอง (เช่น จิตเกิดอะไรก็ให้รู้ทัน จิตเพ่ง จิตหนี จิตหัดรู้คอยรู้ จะนั่งก็ได้ จะเดินจงกรมก็ได้) เห็นซ้ำไปนานๆ สติจะเกิดเอง (อันนี้ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเลย สติจะเกิดเองไม่ได้) จิตเผลอแป๊บ สติก็เกิดเองเห็นไหม (ไม่ได้) สติเกิดจากจิตที่จำสภาวะได้ สติจะเป็นอนัตตาสั่งไม่ได้ มีเหตุสติก็เกิดเพราะจิตจำสภาวะได้ สติตัวจริงเกิด (ไม่มี) จิตจะโปร่ง ใจจะโปร่งเบา ใจจะตั้งมั่นอยู่ที่ตัว สัมมาสมาธิเกิดเลย สัมมาสมาธิเกิดเลยนะ

หลวงพ่อ : นี่สัมมาสมาธิมันลอยมาจากฟ้า

ประเด็น : สติเกิดจิตมีความสุข จิตที่มีความสุขทำให้สมาธิเกิดขึ้น สมาธิจะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา พอมีสติรู้สึกอยู่ที่กาย จิตตั้งมั่นมีสมาธิตั้งอยู่ที่กายนั้น ตั้งไปนานๆ รู้ไปบ่อยๆ ในที่สุดเราก็จะเห็นความเป็นจริงของกาย ปัญญาที่เกิด ปัญญาก็คือการเห็นตามความเป็นจริงของกายว่ากายเป็นทุกข์ เป็นวัตถุธาตุ จิตใจไม่เที่ยงบังคับไม่ได้ เห็นอนัตตา ดูกายใจ ในที่สุดเห็นว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา แล้วก็ได้โสดาบัน

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) แล้วก็ได้โสดาบัน นี่คำเทศน์ของเจ้าตัวเลย

เศร้าใจ! ก่อนหน้านั้นมันเป็นของลูกศิษย์ทั้งนั้นน่ะ ที่เอามาให้เราอ่าน แล้วเราก็บอก เฮ้ย กูไม่อยากเถียงกับลูกศิษย์ กูอยากเถียงกับเจ้าตัว ยิ่งอ่านเจ้าตัวเทศน์เองนะ มันโง่กว่าลูกศิษย์อีก ลูกศิษย์ยังพูดดีกว่านี้เยอะเลย ไอ้เวลาเขาออกมาเถียงกันดีกว่านี้อีก นี้เจ้าตัวเขาเองเลยนะ พระอาจารย์เองเลย เวรกรรม! นี้พอเรามาพูดถึงสมาธิ เวลาพูดอย่างนี้เห็นไหม มันเป็นเหมือนนิยาย เป็นเหมือนตรรกะที่เราคิดกัน นึกกันเอาเอง

แล้วพอเรามานึกกันทำตามกัน แล้วเราก็ว่าเราได้ธรรมะกัน แล้วมันก็ง่าย มันก็คิดได้ คือมันเป็นปัญญาที่เราคิดกันเอง แล้วเราก็คิดตามทันกันได้ พอเราคิดตามทันกันได้ เราก็ว่าสิ่งนี้มันเป็นธรรมะที่มันสะดวก เราก็หวังพึ่งกัน แต่พอเราทำสมาธิ เราจะมาทำความสงบของใจ เพื่อให้เกิดปัญญาเกิดโลกุตตรธรรม เกิดจากการพ้นทุกข์ มันก็ยุ่งยากอย่างที่โยมทำกันอยู่

ครูบาอาจารย์ของเราเห็นโทษกันอย่างนี้ ท่านถึงพยายามจะวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ เพื่อให้พวกเราได้สำรวมได้ระวัง ได้ดูแลจิตของเรา อย่าให้มันแก่กล้าอย่าให้มันเข้มแข็งในทางกิเลส ในทางการฟุ้งซ่าน ในทางความคิดนั้น ให้เราได้สำรวมระวังเพื่อรักษามัน

หลวงตาท่านใช้คำว่าวัวผูกกับวัวปล่อย วัวผูกไว้ตั้งสติไว้ทั้งวัน ดูแลจิตไว้ทั้งวัน วัวเราผูกไว้ เวลาเราจะใช้งาน เราก็ไปแกะปลดเชือกมาใช้งานได้เลย วัวปล่อยเราเป็นวัวฝูงก็ปล่อยทิ้งเลี้ยงตามทุ่ง เวลาใช้งานมันนะ ต้องวิ่งไล่กวดมัน จับมัน แล้วค่อยเอามาใช้งาน

ข้อวัตรปฏิบัติในการดูแลในชีวิตประจำวันของเรา เหมือนเราตั้งสติไว้ มันผูกจิตเราไว้ ผูกจิตเราไว้กับธรรม ผูกจิตเราไว้กับพุทโธ จะอยู่ไหนก็อยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราก็ผูกมันไว้ ผูกความรู้สึกนี้ไว้กับหลัก แล้วพอถึงเวลาเราจะนั่งภาวนา ตกเย็นขึ้นมาเราทำงานเสร็จแล้ว เราจะภาวนา เราก็จับหลักมา เราก็พุทโธต่อได้เลย วันๆ เอาแต่ความคิดโลกๆ วันๆ ใช้ความคิดมันตามธรรมชาติของมัน เวลาถึงเวลาแล้วนะ ไปไล่วัวจากในป่านะ แล้วก็ลากมันมานะ จะจับมาผูกเชือกให้มันอยู่ มันก็เลยทุกข์ยากเห็นไหม

ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมา รู้จักจิต รู้จักกิเลส รู้จักทุกอย่าง แล้วท่านสมบุกสมบั่นมาในชีวิตมาก ท่านถึงพยายามแผ้วถางทางให้พวกเรา ให้พวกเรามีช่องทาง ใช่ ในการปฏิบัติมันทุกข์มันยาก ในการปฏิบัติมันแสนยาก แต่ท่านก็พยายามจะแผ้วถางทางให้พวกเรา

แล้วมันมีคนที่ไม่เคยเป็น ไม่เคยทำ เขาก็เลยบอกว่ามีทางสะดวก มีทางลัด มีทางอะไร เราก็จะตามเขาไป พ่อแม่เรานะปรารถนาดีกับเรา พยายามทำทางให้เราเดินให้สะดวกสบาย ไอ้เพื่อนฝูงเรามันมีความคิดเหมือนเราทั้งนั้น มันก็จะชวนเราไปเที่ยวเตร่เร่ร่อนไปทั้งวัน ทั้งวันทั้งนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกันความคิดปุถุชน ความคิดของพวกเรา มันก็เป็นความคิดปกติ แล้วก็ชักจูงกันไป ไอ้เราก็เชื่อนะ สังเกตได้ไหมวัยรุ่นชอบเชื่อเพื่อน พอเพื่อนพูดอะไร มันเชื่อทั้งนั้น ถ้าพ่อแม่พูดมันไม่ฟัง นี่เหมือนกันครูบาอาจารย์ของเราพูด มันยาก มันลำบาก แต่มันเป็นทางที่ไม่มีโทษไม่มีภัยนะ แต่ถ้าเราเชื่อเพื่อนเรา ให้เพื่อนเราจูงกันไปนะ พอไปหมดเงินหมดทองนะ มันจะไปนั่งกอดคอกันร้องไห้ เอาตัวไม่รอดไง

นี่พูดถึงว่าเราเปรียบเทียบกัน เราทำสมาธิ มันจะเกิดอาการต่างๆ เกิด! เกิดทั้งนั้น! เกิดทั้งนั้นเพราะอะไรรู้ไหม เกิดทั้งนั้นเพราะจิตมันเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึก แล้วมันมีจริต มีนิสัย มีเวร มีกรรม มีอะไรเยอะแยะไปหมดเลย แล้วมันของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน คนเกิดแต่ละคนเวลาทำไปไม่เหมือนกันสักคนนะ คนหนึ่งก็เกิดไปอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนด้วย เฉพาะคนๆ เดียว

อย่างเรา เราเกิดมาร้อยแปดนะ มันหลอกมาร้อยแปดเลย หลอกมาทุกอย่างเลย เดี๋ยวว่าจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวว่าจะเป็นอย่างนี้เดี๋ยวว่าสำเร็จแล้ว เดี๋ยวว่ารู้นั่น เดี๋ยวว่ารู้นี่ เวลารู้ก็ดีใจนะ แหม กูรู้แล้ว แหม เก่งมากเลย ธรรมะนี่แตกมากเลย คุยนี้จ้อเลยนะ แต่พอมันเสื่อมนะ เอ๊ะ ความรู้มันหายไปไหนล่ะ นึกอะไรก็ไม่ออกแล้วก็นั่งคอตกนะ นั่งคอตก มันเป็นอย่างนี้ เราก็เป็นมา มันเป็นมาอย่างนี้ทั้งนั้น

เวลาจิตมันดี มันปลอดโปร่งนะ โอ้โฮ ธรรมะมันแตกนะ อู๋ย สุดยอดเลย แหมวันนี้เก่งมากรู้ไปหมดเลย เวลามันเสื่อมนะ โอ้โฮ เมืองไทยทั้งเมืองไทยมันแคบเกินไป แบกบริขารไปนะ แล้วก็ดันมันไปนะ หาที่จะเอาใจให้อยู่ ทุกข์มาก

จิตเสื่อมนี่เราเดินทั่วประเทศไทย เดินธุดงค์ไปขึ้นเหนือไป จนบ่าเลือดซิบๆ เลย เวลามันเสื่อม มันไม่รู้จะไปพึ่งใคร ถอยหลังก็ไม่ได้ ไปข้างหน้าก็ไม่รู้จะไปทางไหน ไปข้างหน้าก็ทุกข์ ถอยก็ถอยไม่ได้ ดันไปอย่างนั้น ไปพักที่นั่นหน่อยหนึ่ง ไปพักที่นี่หน่อยหนึ่ง จนกว่ามันจะพ้นมาได้

เราก็เคยทุกข์มา แล้วเราเข้าใจถึงหัวอกของครูบาอาจารย์ เราอยู่กับครูบาอาจารย์เวลาท่านพูดอะไร เราซึ้งใจมากเพราะครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านอยากจะสร้างศาสนทายาท หลวงตาท่านพูดบ่อย หล่อพระหล่อสักแสนองค์ก็ได้ สร้างพระสักองค์หนึ่งเกือบเป็นเกือบตาย หล่ออย่างนี้จะหล่อแสนองค์ล้านองค์ เมื่อไหร่ก็ได้ หล่อพระจะหล่อเท่าไหร่ก็ได้

สร้างพระสักองค์หนึ่งเกือบเป็นเกือบตาย แล้วแต่สร้างพระได้สักองค์หนึ่งมันจะเป็นประโยชน์กับโลกมหาศาลเลย เพราะมันสามารถสร้างพระได้ต่อไปข้างหน้า สร้างพระหล่อพระแสนองค์ สร้างเสร็จแล้วก็คอยขัด คอยดูแลรักษา มันจะเศร้าหมอง

แต่พระในหัวใจถ้ามันสร้างขึ้นมาได้ แล้วครูบาอาจารย์ท่านจะสร้างอย่างนี้ ท่านทำกันมาอย่างนี้ ท่านทุกข์มายากมาอย่างนี้ แล้วถ้าทำอย่างที่สบายๆ อย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้! มันเป็นไปไม่ได้เลย!

ใครมีปัญหาอะไรไหม ให้พูดมานะ ถ้าไม่พูดมา จบ เอวัง