เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ ธ.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทำไมมันต้องมีวันพระด้วยล่ะ เมื่อก่อน สังคมไทยเราหยุดวันพระนะ หยุดวันพระวันโกนเพราะอะไร เพราะสังคมเมื่อก่อนนั้นอยู่กันเอกเทศ มันไม่เป็นสากล แล้วพอเป็นสากลเราก็มาหยุดวันเสาร์วันอาทิตย์กัน เราไม่หยุดวันพระ ถ้าธรรมดา วันควรหยุดน่ะวันพระวันโกน วันโกนพระเตรียมตัว เตรียมอาหารกัน วันพระไปทำบุญใส่บาตร ไปทำบุญใส่บาตรทำไม ทำไมต้องไปทำบุญใส่บาตรด้วย ทำบุญใส่บาตรกับผู้มีศีลผู้ทรงธรรม

เวลาเราไม่เห็นภัยนะ เห็นไหม วัดไม่เหมือนบ้าน อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย วัดไม่เหมือนบ้าน บ้านไม่เหมือนวัด เหมือนกันไม่ได้ ถ้าเหมือนกันแล้วจะไหว้กันทำไม เหมือนกันแล้วเอาอาหารไปส่งท่านทำไม ทำไมต้องไปทำบุญล่ะ? ไม่เหมือนกันเพราะท่านมีศีล ท่านประกาศตนว่าเป็นสมณะ เป็นสมณะคือความสงบจากภายนอกก่อนแล้วพยายามหาความสงบจากภายใน ถ้าหาความสงบจากภายใน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางไว้แล้วไง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้หมุนเคลื่อนไป ให้ทำบุญกุศล

คฤหัสถ์ออกทำสัมมาอาชีวะ นี่สิ่งนี้แสวงหามาไม่มีเวลาที่จะมาค้นคว้าหาความสงบ ไม่เป็นสมณะ คือจิตไม่เป็นสมณะ จิตมันคิดออกไปข้างนอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงว่าให้ภิกษุ อัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก เป็นเนื้อนาบุญของโลก เราทำบุญกุศลเพื่อตรงนี้ไง มันถึงจะเห็นภัยกันนะ

ถ้าเหมือนกันอยู่ด้วยกันจะอำนวยความสะดวกให้พระ พระต้องมีความอำนวยสะดวก เห็นเวลาทำข้อวัตรกันแล้วมันเป็นความลำบาก ก็จะมาอำนวยความสะดวก...อำนวยความสะดวกให้กิเลสหรือ เห็นไหม เวลาเรามาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ยังไม่ได้สร้างอะไรเลย แม้แต่เอา ไม้มาเพื่อจะสร้างกุฏินะ หลวงตาท่านบอกเลย “เอาไว้นอนหรือ เอาไว้นอนหรือ” ท่านจะไม่ให้เห็นการนอนใจเลย ท่านจะให้ตื่นตัวตลอดเวลา

การตื่นตัว การตื่นตัวการเห็นภัยของเรา การขับเคลื่อนไป การตื่นตัว เราจะออกมีความตื่นตัว แต่โลกเขาจะว่าไม่สวยงาม นั้นเป็นเรื่องของปากสกปรก คนมีปากสกปรก ความคิดสกปรกของเขาคือคิดแบบโลกนี่ เขาจะบอก เราเอาอันนั้นเป็นใหญ่ไม่ได้

ธรรมเหนือโลก คือเหนือโลกเหนือสงสาร เราต้องมีความตื่นตัว เราเห็นภัยไง เวลาเห็นภัย เห็นสัตว์ไหม เวลากวางมันหลบเสือนะ มันเข้าไปในพุ่มไม้ มันหลบในพุ่มไม้ มันว่ามันปลอดภัย แล้วมันก็แทะเล็มพุ่มไม้นั้น แทะเล็มพุ่มไม้จนเสือเห็นตัวมัน จนเสือเห็นตัวมัน เสือก็เข้าไปจับมันเอามากินได้ นี่ก็เหมือนกัน เรามาจากโลกนะ เราอยู่ในสังคม เรามาจากโลก เราอยู่กับเรื่องอำนวยความสะดวกมาตลอด แล้วเราจะเข้าไปออกประพฤติปฏิบัติ เราจะไปอยู่ป่า เราไปอยู่สำนักปฏิบัติ สำนักปฏิบัติเขามีข้อวัตรกติกาของเขานะ

ในสมัยพระพุทธกาลมีโยมไปเยี่ยมพระ ไปถึง ว่าพระอยู่ไหน เงียบกันหมดเลย พระบอกว่าให้เคาะระฆังสิ พอเคาะระฆังแล้วพระต่างองค์ก็ต่างมา ต่างองค์ต่างมาประชุมกันที่ศาลา โยมก็โอภาปราศรัยกับพระ เห็นว่าทำไมพระท่านไม่พูดเลย พระท่านเฉย พูดคำถามคำ พระนี้คงทะเลาะกัน พระนี้โกรธกัน เห็นไหม ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “พระองค์นั้นทะเลาะกันหมดเลย เขาคุยกัน เขาไม่มีความคลุกคลีกัน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกว่า “นั่นน่ะถูกต้อง เพราะเขาเห็นภัย”

เรามีขวานคนละเล่ม คือปาก ปากเหมือนขวานคนละเล่มเที่ยวถากเที่ยวถางกัน เที่ยวถากถางกันคือเวลาเราพูดติฉินนินทามันไปตลอด พระเขามาสงบ เขามารักษาของเขา มันทำความถูกต้องของเขา นี่ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ นี่วัดไม่เหมือนบ้านอย่างนี้ วัดต้องการความสงบ ต้องการความสงัด เพื่อจะค้นคว้าหาสมณะจากภายใน

สมณะจากภายนอกนี่สมมุตินะ เราบวชเป็นพระเป็นเจ้าเป็นสมมุติขึ้นมา สมมุติจริงตามสมมุตินะ เพราะถ้าไม่จริงตามสมมุติเขาจับนะ แต่งกายเลียนพระสงฆ์ก็ไม่ได้นะ มันเป็นกฎหมายอาญานะ ต้องทำจริงตามสมมุติแล้วก็มีกฎหมายรองรับด้วย แล้วธรรมวินัยก็รองรับด้วย นี่เป็นสมมุติ สมมุติว่าเพราะบวชได้สึกได้ มีความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าเราหาสมณะจากภายในขึ้นมา ถ้าเราเห็นภัยอย่างนั้นขึ้นมา เราจะไม่เป็นกวางที่จะไปแทะเล็มพุ่มไม้ที่เราไปหลบภัยหรอก สิ่งที่เราไปหลบภัย เราจะไปแทะเล็มสิ่งนั้นไม่ได้

เวลาเราเป็นผู้ใหญ่ เราสอนเด็ก เด็กมันจะมีความเห็นเหมือนเราไหม? เด็กจะไม่มีความเห็นเหมือนเราเลย มันจะมีความคึกคะนอง ความอยากเล่นของเด็กเขา นั่นเป็นเด็กๆ นี่ความเห็นของเราเข้าใจไว้เลยว่าถ้าเราเข้าไปในวัดปฏิบัติ ความคิดเรานี่เด็กๆ เพราะอะไร เพราะเราอยู่ในสังคมโลก เวลาบอกว่าฉันมีอายุมาก ฉันเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เฒ่าผู้แก่มันสะสมอะไรไว้ในหัวใจล่ะ

เพราะสังคมเวลาอยู่ในโลกมันรับรู้ มันต้องทันสังคม ต้องทันเขา ทันเขา สิ่งนี้มันสะสมมาในใจ นี่คือเชื้อโรคนะ นี้คือสิ่งที่ไปสะสมในหัวใจนะ แล้วเวลาเราจะมาทำความสงบ ที่ว่าเด็กอ่อน เด็กที่มันไม่เข้าใจ มันก็อ่อน มันก็ไร้วุฒิภาวะ เวลาคนเข้มแข็ง คนเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ มันก็ไปสะสมเรื่องของทิฏฐิในความเป็นโลกมหาศาล แล้วเข้าไปในวัด เห็นไหม “วัดต้องทำอย่างนั้น วัดต้องเป็นอย่างนี้” นี่ความเห็นตนจะเข้าไปบริหารจัดการวัดไง วัดของเขา วัดปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว

เรื่องของโลก ที่ว่าปากสกปรกเขาจะพูดร้อยคำพันคำ...ไม่ฟัง ไม่สนใจ แต่ปากขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราต้องฟัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว สัลเลขธรรม ๑๐ พูดแต่ความมักน้อย พูดแต่เรื่องการชำระกิเลส เพราะเราจะชำระกิเลส เพราะเรามีความทุกข์ แล้วมีความทุกข์ ความต่างของวัดกับบ้านต่างกันตรงนี้ ถ้าเราไปเห็นความต่างอันนั้น เราต้องปรับตัวเราเข้าหาสู่ความต่างอันนั้นสิ ทำไมเราไปโน้มน้าวเอาความต่างอันนั้นมาให้เป็นโลกล่ะ นั่นก็โลกเป็นใหญ่สิ

ถ้าโลกเป็นใหญ่ เห็นไหม ถ้าโลกเป็นใหญ่ธรรมก็ไม่มีความหมายเลย ธรรมก็เกิดขึ้นมาไม่ได้เลย พระก็เหมือนโยม โยมก็เหมือนพระ วัดก็เหมือนบ้าน บ้านก็เหมือนวัด สิ่งนี้เหมือนกันไม่ได้ ถ้าสิ่งนี้เหมือนกันไป มันไม่มีที่สูงที่ต่ำ ทำไมเวลาเรามีลูกมีหลาน ทำไมเราอยากให้ลูกหลานเคารพเราล่ะ ทำไมเราถึงอยากให้ลูกหลานเชื่อฟังเราล่ะ นี่ลูกหลานไม่เชื่อฟังเพราะพ่อแม่เหมือนเรา พ่อแม่ของเรามันเป็นคฤหัสถ์เหมือนกัน แล้วพระถ้าไปเหมือนโลกมันก็เป็นอย่างนั้น แล้วไปเทศนาว่าการใครจะฟังล่ะ

เวลาเทศนาว่าการสอนเขา เสร็จแล้วก็ไปขอนะ หลวงตาท่านบอกว่าไม่ให้ไปเบียดเบียนไง เขาได้ ๕ ได้ ๑๐ มา เขาอยากทำบุญกุศล เขาก็ต้องมาถวายพระ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ของเขา สิ่งที่ดีที่สุดคือถวายพระ แล้วพระเราฉันอาหารของเขาได้ปัจจัย ๔ จากโยมเขาทำบุญกุศล ยังจะไปเบียดเบียนเขา เห็นไหม เวลาคุยเวลาเทศนาว่าการเขา แล้วก็ไปเบียดเบียนเขา ก็ไปกวนเขา พระกวนบ้านกวนเมืองไง ถ้าพระกวนบ้านกวนเมืองอย่างนั้นต่างหากมันถึงว่าวัดเหมือนบ้าน บ้านเหมือนวัด

ถ้าเราจะไม่ให้วัดเหมือนบ้าน บ้านเหมือนวัด เรา ตัวเราเองสำคัญ ตัวเราเองสำคัญเพราะเราเข้าไปเป็นสังคมหนึ่งในวัดนั้น ถ้าเราเข้าไปสังคมในวัดนั้น เราต้องเจียมตัวของเรานะ ถ้าเราไม่เจียมตัวของเรา ทำไมเราไปวัดท่านล่ะ ทำไมเราไปปฏิบัติกับท่านล่ะ ถ้าเราไปปฏิบัติกับท่าน ถ้าเราดีแล้วทำไมเราไม่ปฏิบัติที่บ้านเราล่ะ? เพราะเราปฏิบัติที่บ้านเราไม่ได้ เราจะไม่รู้อะไรเลย

ความเห็นเรามีมหาศาล เราจะรู้เรื่องไปหมดเลย ปรัชญาเรื่องของทางวิทยาศาสตร์จะรู้ไปหมดเลย...รู้ขนาดไหน ดูทางวิทยาศาสตร์เขาจะไปพิสูจน์ เขาจะไปจักรวาล เขาจะไปดวงอังคาร เขาจะไปศึกษาต่างๆ แต่สวรรค์อยู่ไหนก็ไม่รู้ วุฒิภาวะของใจที่ภพอยู่ไหนก็ไม่รู้ สิ่งที่รู้ไปหมดยกเว้นไม่รู้แต่เรื่องของตัวเอง

นี่ก็เหมือนกัน เข้าไปในวัดรู้ไปหมด ทุกอย่างรู้ไปหมด แต่ไม่เห็นตัวเองเข้าไปกวนวัดเขา ไม่เห็นตัวเองเข้าไปแล้วไปทำลายข้อวัตรปฏิบัติของเขา “ที่นี้ก็สงบนะ วัดนี้ก็ดีมากเลย แหม! สงบมากเลย” ไอ้คนพูดอย่างนี้ นี่คนที่จะเข้าไปทำลายในวัดนั้น เพราะอะไร เพราะสงบก็เที่ยวไปดูเขา เที่ยวไปกวนเขา เขาสงบของเขา เขาอยู่ของเขาเฉยๆ อย่างนั้น เราก็ต้องสงบของเราสิ ถ้าเราสงบของเรา เห็นไหม จะเข้าไปในวัดปฏิบัตินั้น ถ้าวัดปฏิบัติ ถึงต้องเคารพกติกานั้นไง

ประเพณีทางอีสานเขาให้เคารพสถานที่ เรานักวิทยาศาสตร์ไป “ทำไมต้องเคารพด้วยล่ะ” ในศาลาโรงธรรม ในทางจงกรมของครูบาอาจารย์ เขาจะไม่ก้าวล่วงนะ แม้แต่เป็นทิพย์นะ เขายังไม่กล้าก้าวล่วงเลย เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ เวลาเขาถาม หลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่มูเซอ แล้วเทวดาไปฟังธรรมหลวงปู่มั่นมาก หลวงปู่มั่นก็สงสัยว่าเทวดามาได้อย่างไร มาได้อย่างไร มาฟังธรรมขององค์หลวงปู่มั่น

เทวดาบอกว่าไม่ต้องพูดหรอก จิตดวงไหนแล้วแต่ที่อยู่ในโลก มันมีสว่าง เหมือนกับในที่มืดแล้วมีไฟดวงหนึ่งสว่างกระจ่างแจ้งอยู่อย่างนั้นน่ะ ใจของครูบาอาจารย์ที่มีธรรมมีสภาวะแบบนั้น แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหม เขายังไม่กล้าก้าวล่วงผ่านทางจงกรมของครูบาอาจารย์เลย เขาเคารพของเขา นี่แล้วเขามาฟังธรรมไง สิ่งที่ฟังธรรมของหลวงปู่มั่นเพราะหลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติเข้ามาจากภายใน เกิดขึ้นมาจากการนั่งสมาธิ การภาวนา

นี่ปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาใคร ค้นหาพระพุทธเจ้าที่ไหน? ค้นหาพระพุทธเจ้าที่ใจของเรา พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ ผู้รู้ ความรู้สึกคือผู้รู้ ผู้รู้คือสสาร คือธาตุความจริงของใจ สสารความจริงของใจ ธาตุรู้ที่มีชีวิต เราค้นคว้าหามัน แต่ตัวนี้มันเป็นตัวพลังงานแล้วมันขับเคลื่อนออกไปเป็นนามรูป เป็นสิ่งที่เป็นความคิด สิ่งที่เป็นความคิดนามรูปมันก็ส่งออก พอส่งออกเราก็เข้าไป

เวลาเขาบอก อิทธิบาท ๔ จิตตะ วิมังสา จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ ทำไมของแค่นี้หรือ อยู่อีกกัปก็อยู่ได้ บอก “จริง” ถ้าผู้ใดประพฤติอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้เพราะอะไร เพราะเขาเข้าไปเห็นพื้นฐานของความคิดตัวนี้ เขาเห็นจิตของเขาจริงๆ ผู้ที่เห็นอย่างนั้นต้องเป็นผู้มีธรรมแบบหลวงปู่มั่น ถึงจะทำอิทธิบาท ๔ ได้

ไอ้ของเรามันเข้าถึงนามรูป เข้าถึงเปลือกไง เราถึงบอกว่าพวกเราเหมือนกับอารมณ์ความรู้สึก เหมือนเปลือกส้ม เรากินเราเสพแต่เปลือกส้มที่ขมๆ นั้นไง เปลือกส้มที่ขมๆ เวลาเรามีความทุกข์ เรามีความโศก เรามีความรัก เรามีความอาลัยอาวรณ์ เรามีความโกรธ นี่เปลือกส้มทั้งนั้นเลย รสของมันขม สิ่งที่รสของมันขมเพราะมันเป็นเปลือกของส้ม ไม่ใช่เนื้อของส้ม มันไม่เข้าถึงใจได้ แล้วเราจะไปเห็นอิทธิบาท ๔ ที่ไหนล่ะ เพราะเราไม่เห็นใจของเรา เราเห็นแต่เปลือกของส้ม เราเห็นแต่เปลือกของใจ อาการของใจที่เกิดดับ นี่สมมุติ โลกมันเป็นอย่างนี้ไง

แขกที่จรมาคืออาการของใจ มันเกิดดับๆ เกิดดับโดยธรรมชาติของใจ แล้วเราก็เสวยแต่สิ่งที่เกิดดับนี้ แล้วบอกว่า “เรามีอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔” ไกลกับหลักความจริงมหาศาลเลย อิทธิบาท ๔ คือมันปอกเปลือกไง มันปอกขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิไม่มี ความอุปาทานก็ไม่มี กามราคะมันก็ไม่มี เพราะกามราคะก็เป็นเปลือกของส้ม เป็นความพอใจของโลกเขา แล้วเราปอกเปลือกสิ่งนี้เข้าไป เข้าไปถึงตัวใจ แล้วก็ทำลายตัวใจตัวนั้น ใจที่มันมีดีดดิ้น มันหลบหลีก หลบความควบคุม

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่อวิชชาคือความดีดดิ้นของใจตัวนี้ ถ้ามันยังมีอวิชชาอยู่ พระอนาคามีไปเกิดบนพรหมจะไม่เห็นใจของตัวเอง จะไม่เห็นอิทธิบาท ๔ จะควบคุมอิทธิบาท ๔ ไม่ได้ เพราะยังต้องหลง หลงไปเกิดบนพรหม หลงไปเกิดตามอาการของใจที่มันเป็นไป

แต่ถ้าเราจับดูอาการของใจตัวนี้ได้ นี่เห็นใจ แล้วถ้าเกิดวิปัสสนาญาณเข้าไปทำลายใจตัวนี้ขึ้นมา นี่มันพลิกใจตัวนี้ขึ้นมา พอพลิกใจตัวนี้ขึ้นมา จิตมันว่างหมด สติของเราลุ่มๆ ดอนๆ เกิดๆ ดับๆ นะ เดี๋ยวก็พุทโธขึ้นมาก็ชัดเจนนะ สติเกิดๆ ดับๆ กับใจดวงนี้นะ แต่เวลาเข้าไปถึงตัวจิตนะ จิตกับสติเป็นอันเดียวกัน เพราะมันเป็นอัตโนมัติ เหมือนเครื่องมือที่อัตโนมัติเวลามันขยับ ขยับพร้อมกันใช่ไหม จิตมันเสวยอารมณ์ มันมีความรู้สึก สติจะพร้อมออกมาตลอดเลย พร้อมออกมาในอริยสัจนะ แต่ไม่ได้พร้อมออกมาทางโลก นี่พระอรหันต์ถึงหลงได้ หลงในบัญญัติ หลงในบทสวด

สวดมนต์นี่พระอรหันต์สวดผิดได้ สิ่งต่างๆ ที่เป็นบัญญัติเป็นสมมุตินี่ผิดได้ เพราะอะไร ความรู้สึกอันนั้นมันเคลื่อนแล้ว มันเสวยแล้วมันถึงออกมาเป็นเปลือกของส้ม สิ่งที่เปลือกของส้มมันเป็นสัญญา มันเกิดดับได้ มันมีความหลงได้ แต่อริยสัจในหัวใจนี้ไม่มีวันหลง นี่สติมันถึงสมบูรณ์ สติสมบูรณ์ความพร้อมสมบูรณ์ นี่คืออิทธิบาท ๔ จิตตะควบคุมจิตอยู่

เวลาคนตายจิตมันเคลื่อนออกจากกาย เวลาคนจะตายจิตมันจะเคลื่อนออกไป ทิ้งร่างกายนี้ไว้ แต่จิตดวงนี้ถ้ามันจะเคลื่อนออกไป เห็นไหม จิตตะ วิมังสา ก็เราดูมันอยู่ ถ้ากูไม่เคลื่อนออกมันจะตายได้อย่างไรล่ะ มันตายไม่ได้ เว้นไว้แต่บ้านเรือนมันไม่เอา บ้านเรือนมันอยู่ไม่ได้แล้ว บ้านเรือนมันชำรุดแล้ว มันปล่อยให้ตายไป เพราะอะไร

เพราะ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เป็นภาระอย่างยิ่ง ความคิดก็เป็นภาระ ความทุกข์อย่างนี้เป็นภาระ สิ่งที่เป็นภาระรุกรังใครอยากแบกหามนัก ถ้าจิตนี้ไม่ต้องการแบกหามสิ่งใดมันก็ทิ้ง ทิ้งอย่างนี้มันทิ้งร่างกาย แต่จิตมันไม่มีตายไง นี่ผู้ใดมีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ จะอยู่กี่ร้อยปีกี่พันชาติก็อยู่ได้ถ้าอยู่ได้ ถ้าร่างกายมันจริงนะ แต่ถ้าร่างกายมันชำรุดทรุดโทรมใครจะไปอยู่ล่ะ มันเจ็บปวด มันทุกข์มันทรมาน ใครจะอยากอยู่ล่ะ? มันก็อยากจะตายอีกต่างหาก

แต่การเกิดและการตายมีคุณค่าเท่ากัน เพราะจิตดวงนี้มันไม่มีตาย ตั้งแต่อวิชชา ทำลายพญามารไปแล้ว จิตดวงนี้ไม่มีตายเลย จิตนี้ธรรมชาติของมัน มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีอยู่ แต่โดนอวิชชาทำให้มันสกปรกออกไป แล้วเราก็จะทุกข์ไปกับมัน

แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ นี่ถึงต้องไปวัด วัดไม่เหมือนบ้าน บ้านไม่เหมือนวัด ถ้าเราจะเข้าไปถึงตรงนี้ได้ เราต้องเคารพกติกาของวัดนั้น เราต้องเคารพกติกาปฏิปทาของพระกรรมฐานนะ พระกรรมฐาน นี่ธุดงควัตร

สิ่งที่ถือธุดงค์วัตร ศีลในศีล ถือบิณฑบาตมื้อเดี่ยวต่างๆ ฉันมื้อเดียว อาสนะเดียว นี่เป็นธุดงควัตร มันเป็นศีลในศีล เพราะสิ่งนี้มันเป็นการขัดเกลากิเลส แต่เรามาเราก็อยากอำนวยความสะดวก เราก็อยากสะดวก ถ้าอยากสะดวก ดูสิ กรมประชาสงเคราะห์เขาดูแลคนผู้มีอายุ ผู้มีอายุนี่ นี่เป็นบุญกุศลไหม? เป็นบุญกุศลนะ เราดูแลรักษากันเป็นบุญกุศล แต่นี้เป็นกรมประชาสงเคราะห์นะ คนเฒ่าคนแก่ บ้านพักคนชรา

แต่วัดไม่ใช่ที่บ้านพักคนชรา ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติชราภาพ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “ผู้ใดอยากอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ปฏิบัติภิกษุผู้ป่วย” ผู้ป่วยผู้เฒ่าผู้แก่ เราจะดูแลรักษากัน แต่รักษาจากภายนอก แต่เราจะมานอนจมด้วยการที่ว่าเหมือนที่เป็นกรมประชาสงเคราะห์ไม่ได้ นี้เป็นความคิดของโลก โลกเป็นใหญ่ไม่ได้ ถ้าโลกเป็นใหญ่ วัดนี้จะเข้าไม่ถึงธรรม วัดนี้ก็เป็นเท่ากับกรมประชาสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์รัฐบาลเขาก็ดูแลอยู่แล้ว แต่วัดทั่วไปเขาเป็นเรื่องสังคม อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่วัดปฏิบัติต้องมีกติกาอย่างนี้ วัดปฏิบัติต้องมีครูบาอาจารย์คอยชี้ถูกชี้ผิดอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ผิดต้องผิด ทำอย่างนี้ถูกต้องถูก ถ้าทำสิ่งที่ผิดแล้วเอ็งจะเข้าหาธรรม เป็นไปไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา ในเมื่อศีลเป็นมิจฉา สมาธิก็เป็นมิจฉา ปัญญามันก็ปัญญาคดโกง ปัญญามหาโจร มหาโจรหลอกลวงแม้แต่ตัวเอง แล้วก็จะหลอกลวงโลกไปตลอด เห็นไหม มันถึงต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ครูบาอาจารย์ชี้นำตรงนี้ วัดปฏิบัติต้องเป็นวัดปฏิบัติ ต้องให้อยู่ในกติกานะ

ในเมื่อเราเข้าไปในวัดปฏิบัติ เราอยากเห็นวัดที่ไม่เหมือนบ้าน เราอยากชำระกิเลส เราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นชาวพุทธ แล้วเราก็แสวงหากัน แล้วเราเข้าไป เราไปทำตามกติกาเขา หรือจะไปรื้อกติกาเขา หรือจะไปทำลายกติกาเขา แล้วว่าอันนี้เป็นธรรม เป็นธรรม

โลกอย่าเอาเข้ามา จะเข้าไปวัดนะ อยู่กับหลวงตา ท่านบอกเลย ใครจะเข้าไปวัดต้องเอาเขี้ยวเอาเล็บปลดไว้ที่ปากประตูก่อน แล้วเข้าไปแล้วต้องถือตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วหลวงปู่มั่นเป็นผู้รื้อฟื้นขึ้นมา แล้วครูบาอาจารย์เราสืบต่อกันมา เราจะรักษาได้ไม่ได้อยู่ที่เรารักษา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานะ อุบาสก อุบาสิกาเป็นพลาธิการ เป็นหน่วยส่งเสริม เป็นหน่วยที่เห็นดีเห็นงามด้วย ถ้าเห็นดีเห็นงามก็ส่งเสริม ถ้าไม่เห็นดีเห็นงามเราก็ไม่ไปยุ่งกับเขา เราค้านไว้ในใจ สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยเราค้านไว้ในใจ แล้วเราไปศึกษาก่อน ถ้าเมื่อไหร่เรารู้นะ นี่วุฒิภาวะของใจ การพัฒนาของประเทศบางประเทศพัฒนาห่างกัน ๑๐ ปี ๒๐ ปี

เหมือนกัน ถ้าใจมันเข้าไปถึงจุดนั้น จะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจนะ ซึ้งในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก เหมือนกับสอนผู้ใหญ่ จิตวุฒิภาวะเรายังเด็กอยู่ เราว่าสิ่งนั้นมันไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ แต่เข้าไปถึงแล้ว นี่แหละมันจะเป็นความละเอียดอ่อน จะทำให้จิตนี้เข้าไปถึงอิทธิบาท ๔ ถึงจิตตะ วิมังสา แล้วควบคุมจิตตรงนี้ แล้วจะเห็นจิตดวงนี้ แล้วจะเห็นวิมุตติสุข เอวัง