เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ธ.ค. ๒๕๔๗

 

เทศเช้า วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เริ่มต้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก่อน ยังไม่มีกฎหมาย พอไม่มีกฎหมาย เวลาไปฉัน ไปเก็บมะม่วงที่สวนของคหบดี แล้วเขาติเตียนไง พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติเรื่องน้ำปานะ บัญญัติครั้งแรก บัญญัติน้ำปานะ ๘ ชนิด น้ำมะม่วง อะไรนี่ ๘ ชนิด อัฏฐบาน อัฏฐะ คือ ๘ ไง น้ำ ๘ ชนิด พอน้ำ ๘ ชนิด ต่อไปนี่ผลไม้มันมีมาก พอผลไม้มีมาก มันก็ขยายไปเรื่อยๆ คำว่า “กรอง” ไม่ได้กรอง ๘ ชั้นหรือกรองชั้นเดียว กรองไม่ให้มีกาก คำว่า “มีกาก” ถ้ามีกากเป็นอามิส กากคืออาหารไง เวลาไม่ให้เป็นอาหาร

ฉะนั้น กรองกี่ชั้นก็แล้วแต่ นี่เราตีความ เราต้องกรอง ๘ ชั้น หนึ่ง ต้องมีน้ำผลไม้ ๘ ชนิด หนึ่ง ถึงจะเป็นน้ำอัฏฐบาน นอกนั้นไม่เป็นน้ำอัฏฐบาน น้ำอัฏฐบาน น้ำปานะนี่มันเป็นน้ำผลไม้สดเก็บไว้ชั่วคราว คือว่าตั้งแต่บ่าย บ่ายถึงค่ำ ให้ได้เพียงในวันเดียว เพราะถ้าเก็บไว้ มันจะหมักเป็นเมรัย แต่ถ้าน้ำต้มสุก อย่างเช่นที่ว่าเราเอามาถวายกันนี้ อย่างเช่น น้ำผลไม้กระป๋องนี่มันสุก ถ้าน้ำสุกแล้ว ไม่ใช่น้ำปานะ น้ำปานะ เพราะมันหมักแล้วมันเป็นเมรัยต่างหาก แต่ถ้าน้ำต้มสุกแล้วถือว่าเป็นสัตตาหกาลิก คือได้ ๗ วันไง ถ้ามีส่วนผสมของน้ำตาล นี่วินัยมันเป็นไปเรื่อย แล้วโลกมันเจริญมาเรื่อยๆ นะ แล้วเราจะวินิจฉัยกันอย่างไร ถึงว่า ถ้าเราเข้าใจแล้ว สิ่งนี้มันเป็นวินัยใช่ไหม แล้วเจตนาเราทำให้บริสุทธิ์

ภิกษุ เวลายา สิ่งที่เป็นส่วนผสม ถ้ามันมีน้ำผึ้ง ถ้าภิกษุผสมเอง เช่น เราเอาสมุนไพรมา แล้วเราผสมด้วยน้ำผึ้ง เราตีได้ ๗ วัน แต่ถ้าเป็นส่วนผสมที่เราซื้อมาจากตลาด ที่ว่าเขาถวายมา เราตีตลอดชีวิตนะ เพราะถือว่าเป็นยา

ถ้าถือว่าเป็นยา นี่มันเป็นความกังวลสองชั้น กังวลหนึ่งคือกังวลของคฤหัสถ์ผู้ที่อุปัฏฐากพระนี่จะทำอย่างไหนให้ถูกต้อง แล้วกังวลของพระ พระนี่เข้มงวดกว่า ถ้าพระเข้มงวดกว่า ถ้าพระผสมเอง พระทำเองได้ ๗ วัน เพราะอะไร เพราะพระจับอยู่กับมือใช่ไหม นี่น้ำผึ้ง น้ำผึ้งนี้อายุมันสั้น กาลิกระคนไง ถ้าน้ำผึ้งนี่ได้ ๗ วัน แต่ถ้าเป็นสมุนไพรนี่เป็นยาตลอดชีวิต แต่สิ่งที่ตลอดชีวิต กับ ๗ วัน มาผสมกัน ให้นับอายุสั้นไง ให้นับอายุได้ ๗ วันนั้น สิ่งที่เป็นสมุนไพรนี่มันตลอดชีวิต เพราะมันเป็นยา เช่น เกลืออย่างนี้ นี่ตลอดไป นี้เป็นวินัยนะ อันนี้ถ้าเราทำ เรามีเจตนา บางทีความพลั้งเผลอ ความอะไร มันเป็นไป

เราอยู่บ้านตาด เวลาทำน้ำปานะ เวลาเราคนกัน ต้องให้เณรทำหรือว่าเราทำ วินัยมันตัดเป็นสองส่วนไง ส่วนหนึ่ง สมมุติว่าเราได้ส้มมา เราคั้นในช่วงเช้า เราไปฉันตอนบ่ายได้ เพราะตอนเช้ามันเป็นอาหารใช่ไหม ส้มมันมีกาก กากคืออาหาร แต่ถ้าเลยเพลไป เราคั้นไม่ได้แล้ว เพราะเราคั้น เราไปจับตอนเพล เพราะมันเป็นอาหาร ถ้าเราไปจับ มันเป็นสิ่งที่ว่ากาลิกมันข้าม ถ้าเราไปคั้นตอนบ่ายนี่ไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นอาหาร แต่ถ้าเณรนี่ทำได้ ถ้าพระทำได้ ทำได้ช่วงเช้า เพราะมันเป็นกาลของอาหาร แต่ถ้าเป็นกาลบ่าย ถ้าเณรคั้น เราฉันได้ตลอด แต่ถ้าพระทำ ทำได้แต่ตอนเช้า

กฎหมายมันไปตลอด มันไม่ตายตัว ถ้าเราไปถือตายตัวนี่เราผิดนะ อันนี้เป็นวินัย แต่ธรรมกว้างขวางกว่านั้นนะ เวลามีปัญหาขึ้นมา เราจะไปถามหลวงตาว่าวินิจฉัยเป็นอย่างไร เพราะกฎหมายมันตายตัว แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือมันเกิดขึ้นตลอด

ท่านวินิจฉัยอย่างนี้ ท่านวินิจฉัยบอกว่า ไม่ให้ไปบำรุงปอบ สิ่งใดที่มันไม่จำเป็น ไม่ต้องไปฉันมัน ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับมัน อาหารแค่ตกบาตร แค่ฉันตอนเช้า แล้วเราดำรงชีวิตเพื่อประพฤติปฏิบัตินี่พอแล้ว สิ่งนั้นเป็นการที่ว่าเยียวยาไง เวลาคนเราเยียวยา คือว่าเวลามันเพลีย มันเหนื่อยนะ ไอ้เรื่องน้ำปานะก็เป็นเท่านั้น แต่ถ้าเป็นขณะที่เราเป็นนักรบ เรากำลังจะรบอยู่ “ไม่ไปบำรุงปอบ” ปอบคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง

ถ้าเรา เห็นไหม ตอนเช้าขึ้นมาเราก็ถวายพระ เราถวายพระเรื่องอาหารใช่ไหม ตอนบ่ายเราก็จะไปถวายน้ำปานะ สิ่งที่เป็นบุญกุศลของโยม ไม่ว่ากันนะ เป็นบุญกุศลเพราะอยู่ที่เจตนา อยู่ที่ว่าใจใครสูงใครต่ำ ถ้าใจใครสูงใครต่ำ เห็นไหม ความที่ว่าการสละออกต่างกัน แต่ถ้าเป็นธรรม มันก็ต้องวางสิ่งนั้นไว้ อันนี้เป็นเรื่องของวินัย

แต่เรื่องของธรรม เห็นไหม เราดูสิ กรุงศรีอยุธยาเสียมาสองครั้งสามครั้ง เสียเพราะอะไร เห็นไหม ถ้ากรุงศรีอยุธยามีความสามัคคีนะ เวลาน้ำท่วมมา ข้าศึกอยู่ไม่ได้หรอก ทัพต้องแตกไป ทำไมไปเปิดให้เขาเข้ามาล่ะ สิ่งที่ไปเปิดให้เข้ามา เห็นไหม เพราะขาดความสามัคคี เห็นไหม นี้คือธรรม ถ้าสิ่งนี้เป็นธรรม นี้คือความเห็นภายนอกนะ สังคมก็เป็นแบบนั้น เรามองสังคมแบบนั้นแล้วเราวางไว้ตามความเป็นจริงนะ สังคมเป็นแบบนั้น เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ ในเมื่อเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แล้วก็เรื่องกรรมของสัตว์ คือเรื่องของเขาไง เขาทำกรรมชั่วก็เรื่องของเขา กรรมดีก็เรื่องของเขา แต่ผู้มีหน้าที่ ผู้ที่เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องดูแล นั่นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม

แต่สิ่งนี้มันเป็นเรื่องภายนอก ถ้าเราไปแบกโลก เราจะตาย แต่ถ้าเราย้อนกลับเข้ามา ความขัดแย้ง ความไม่สามัคคีภายในไง ถ้ากิเลสภายในหัวใจ สิ่งที่เกิดขึ้น ดูนะ ไฟฟ้า สิ่งที่ไฟฟ้า ถ้าขั้วบวกขั้วลบไม่มี ไฟฟ้าจะทำงานได้ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งที่มันขัดแย้งในหัวใจ ถ้าไม่มีความขัดแย้งในหัวใจ มันจะมีอารมณ์ความรู้สึกไหม อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด เห็นไหม มันเป็นความไม่สามัคคีจากภายใน ความไม่สามัคคีจากใจของเราไง นี่สภาวธรรมจะย้อนกลับเข้ามาตรงนี้ วินัยนี้เป็นกรอบนะ เหมือนรั้ว รั้วนี้ขอบๆ ไว้ ถ้ารู้ว่าสิ่งนี้เราไม่ล่วงละเมิดมัน เราก็มีความอบอุ่น ถ้าเราล่วงละเมิด รั้วเรานี่ รั้วเราไม่มีเลย เวลาคนขโมย โจรขโมยเข้ามาจะเข้ามาถึงบ้านเราได้เลย จะขโมยของได้เลย

เรามีศีล แล้วเรามีสมาธิไหม ถ้ามีศีล แล้วสมาธิคือความยับยั้งของใจ ยับยั้งของใจเพราะเหตุใด เพราะจิตใจมันสามัคคีกัน มันรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ ถ้าจิตใจมันขัดแย้งกัน มันโต้แย้งกัน มันจะเกิดความฟุ้งซ่าน มันจะเกิดอารมณ์สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาจากหัวใจ นี้มันเป็นสภาวธรรม ถ้าสภาวธรรมอย่างนี้เกิดขึ้นมา เราต้องย้อนกลับมา สิ่งที่ว่ามันเป็นหยาบๆ เราก็ดูหยาบๆ ถ้ามันละเอียดขึ้นมา เราก็ดูละเอียดขึ้นมา สิ่งนี้เราปล่อยไว้ เรารับรู้ เห็นไหม ถึงบอกมรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง ความคิดหยาบๆ ความคิดของภายนอกเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าความคิดเราละเอียดขึ้นมา มันก็จะย้อนกลับเข้ามาภายใน

แล้วปัญญาล่ะ เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่ชำระกิเลสอยู่ที่ไหน ถ้าปัญญาชำระกิเลสยังไม่เกิดขึ้นมา ปัญญาที่เราเกิดขึ้นมาเป็นปัญญาการขัดแย้งนะ ถ้ามีความขัดแย้ง มีตัวตน มีเราอยู่ มีความคิดออกไป ถ้าเป็นมิจฉา มันเป็นความฟุ้งซ่านออกไป ถ้าเป็นสัมมา มันเป็นศรัทธาความเชื่อไง ถ้าเป็นศรัทธาความเชื่อ มันเป็นจินตมยปัญญา จินตมยปัญญามันใคร่ครวญเข้ามา ให้เราควบคุมใจของเรา เห็นไหม

ที่เรามาทำบุญกันอยู่นี้เพราะเหตุใด เพราะเราปรารถนาบุญ เราปรารถนาความสุข เราปรารถนาความสุขนะ ถ้าปรารถนาความสุข ทำไมเราไม่นอนอยู่บ้านเฉยๆ ให้มีความสุขล่ะ

การนอนอยู่บ้านเฉยๆ มันก็เป็นการที่ไม่มีการกระทำเลย สิ่งที่ไม่มีกระทำ เห็นไหม “พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวางเราก็ปล่อยวางแล้ว เราก็ปล่อยวางแล้ว เราก็ว่างแล้ว เราก็ไม่มีความเดือดร้อน”...นั้นความคิดของกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันดึงให้เราไม่ก้าวหน้าไง สิ่งที่เราไม่ก้าวหน้า เห็นไหม

เราเจริญก้าวหน้า ถ้าเรามีบุญกุศล เราเกิดมา คนเกิดมามีบุญกุศลมันจะมีอำนาจวาสนา มันจะมีโอกาส มันทำอะไรประสบความสำเร็จ อันนี้มันจะมีส่วนมาก แต่คนเราเกิดมาเหมือนกัน ทำเหมือนกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีความผิดพลาดมีอะไร สิ่งนี้คือโอกาส คือกรรมไง กรรมนี่มันไปได้จังหวะและโอกาส เราสังเกตได้ไหม สำนักงานสำนักงานหนึ่ง เวลาหัวหน้าขึ้นมา หัวหน้าคนหนึ่งนิสัยจะต่างกัน แล้วเราไปประสบตรงนั้น เห็นไหม มีคนมาบ่นให้ฟังมาก ทำไมหัวหน้าเป็นอย่างนั้น ทำไมหัวหน้าเป็นอย่างนั้น มาบ่นให้ฟังมาก

เราบอก นี่กรรม กรรมของโยมไง ทำไมโยมไปเจอเขาล่ะ โยมไปเจอสภาวะแบบนี้ทำไมล่ะ ถ้าเจอสภาวะแบบดี โยมไปเจอคนดีล่ะ แล้วเวลาปฏิเสธ ปฏิเสธบุญไง “บุญไม่มี ไม่มีผล ทำบุญแล้วไม่ได้ผล” แต่เวลาทุกข์ มันมาบ่นทำไมล่ะ บ่นเพราะสภาวะมันส่งมาไง มันขัดแย้งมันไง ถ้าคนมีบุญเกิด สภาวะจะดีไปหมดเลย ถ้าคนบาป บาปอกุศลเกิดขึ้นมา โลกก็เป็นแบบนั้น แต่เดี๋ยวนี้โลกมันสร้างสรรค์ได้ มันทำได้ มันจัดฉากได้ มันว่าเป็นคนดีหมดน่ะ...ดี ดีเฉพาะหน้าฉาก แต่ในหัวใจขุ่นมัว ในหัวใจมีแต่ความทุกร้อน ในหัวใจมีแต่ความสะสมถึงการเอารัดเอาเปรียบกัน นี่ความขัดแย้ง ไม่สามัคคีในหัวใจ ไม่เป็นธรรม

ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม เริ่มจากศีลบริสุทธิ์ขึ้นมา การกระทำที่ว่า นับตั้งแต่ธรรมวินัยขึ้นมา เราต้องให้มันบริสุทธิ์เข้ามา เพราะบริสุทธิ์เข้ามา มันไม่เกิดนิวรณธรรมไง เราต้องถากถางเข้ามาให้ไม่เกิดนิวรณธรรม เราไม่ลังเลสงสัยในใจของเราไง ถ้าเราลังเลสงสัย เราไปนั่งในกุฏิ เราภาวนาคนเดียว มันคิดจากภายใน ความลับไม่มีในโลกตรงนี้ ตรงที่ใครทำ ใครรู้ เราเป็นคนทำเอง ทำกับมือ แล้วบอกว่าไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นอาบัติ มันเป็นไปได้อย่างไร เราทำกับมือ แล้วเราจะหลอกตัวเองได้อย่างไร ยิ่งปฏิบัติเข้าไป มันยิ่งมีความขัดแย้งจากภายใน เห็นไหม แต่ถ้าเราทำ เราปลงอาบัติซะ ในความผิดพลาดของมนุษย์ทุกคนต้องมีความผิดพลาด เราปลงอาบัติซะ สิ่งที่ล่วงมา เพราะเราขาดสติ เราปลงอาบัติซะ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติเข้าไป เห็นไหม

สิ่งที่เป็นอาบัติก็วางไว้แล้ว ปัจจุบันนี้เราก็จะสร้างปัจจุบันนี้ขึ้นมา ไม่ให้มีความขัดแย้งไง ให้ใจนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ ใจนี้เป็นหนึ่งเดียว แล้วทำสัมมาสมาธิขึ้นมา แล้วถ้ามีวาสนา ถ้ามีวาสนา มันจะคิดว่าสิ่งนี้คือนิพพานไง จิตสงบนี้ ว่างนี้เป็นนิพพาน...ไม่ใช่ ว่างนิพพาน ก้อนหินก็นิพพานสิ นิพพานไม่อยู่ในก้อนหิน ไม่อยู่บนภูเขาเลากา ไม่ได้อยู่บนก้อนเมฆ ไม่อยู่กับสิ่งใดเลย สิ่งใดๆ นั้นมันก็ไม่มีสัญชาตญาณของมัน ไม่มีชีวิต มันก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันก็ว่างของมัน ว่างอย่างนี้เป็นว่างแบบก้อนหิน ว่างแบบไม่มีชีวิตหรือ

แต่ถ้ามันเกิดมีวาสนา ย้อนกลับไป กาย เวทนา จิต ธรรม วิปัสสนาเกิดตรงนี้ต่างหาก ปัญญาที่เกิดขึ้นอย่างนี้เป็นปัญญาจากภาวนามยปัญญา สิ่งที่โลกนี้ไม่มี คนที่เห็นภาวนามยปัญญาตามความเป็นจริงนี้ต้องเป็นพระโสดาบันอย่างต่ำ เห็นไหม แล้วปุถุชนอย่างเราจะเห็นได้อย่างไร ถ้าปุถุชนเราเห็นไม่ได้ เราถึงต้องสร้างทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ออกประพฤติปฏิบัติกันเพื่อจะสร้างสมบารมีอันนี้ไง

ถ้าบารมีอันนี้เกิดขึ้นมา ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมาไม่ได้ ศาสตราจารย์ต่างๆ ปัญญาอย่างเขานี้เป็นปัญญาแบบปรัชญา ตรรกะ อย่างนี้ฆ่ากิเลสไม่ได้ ปัญญาอย่างนี้ฆ่ากิเลสไม่ได้ เหมือนกับเครื่องมืออย่างหนึ่งจะไปใช้กับสิ่งอีกอย่างหนึ่ง ยาคนละชนิด รักษาโรคคนละชนิด เป็นไปไม่ได้ บรรเทาได้ ถ้าเราไม่มียาเลย ยาอย่างอื่นบรรเทา บรรเทาได้ แต่รักษาโรคนั้นไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อปัญญาเราไม่เกิด ภาวนามยปัญญายังไม่เกิด เราใช้จินตมยปัญญา มันก็ปล่อยวางเหมือนกัน มันบรรเทาได้ มันบรรเทาให้ปล่อยวาง ว่างๆ ว่างๆ อย่างนั้นแหละ แต่มันไม่สมุจเฉทปหาน มันไม่สามารถชำระกิเลสออกไปได้ เห็นไหม

เพราะมรรคคะไม่สามัคคี ภาวนามยปัญญาไม่เกิดตามความเป็นจริงของอาสวักขยญาณ ถ้าอาสวักขยญาณเกิดขึ้นมา มันทำลายอย่างนี้ เห็นไหม พอทำลายตัวตนอันนี้ ถ้าตัวตนอันนี้มันทำลายออกไปเพราะความเห็นผิด ตัวตนคือเรา เราคือตัวตน เรามีไฟฟ้าขั้วลบขั้วบวก หรือขั้วลบอยู่ในหัวใจเป็นพื้นฐาน แล้วสิ่งกระทบออกมา ขั้วบวกและขั้วลบอันนี้มันทำปฏิกิริยากัน อารมณ์มันก็เกิดขึ้นมา แล้วเราทำลายขั้วของเราทั้งหมดแล้ว โลกเป็นโลก เห็นไหม โลกจะเป็นสภาวะแบบใด โลกมันจะหมุนไปเป็นแบบใด มันไม่มีไฟฟ้าสถิตที่จะไปรับรู้อันนั้น เห็นไหม รับรู้นะ ให้มันเกิดอารมณ์นะ แต่มีตา มีหูอยู่ มันเกิด มี ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ธาตุขันธ์ยังมีอยู่ ความรู้สึกยังมีอยู่ รับรู้ได้ รับรู้ในฐานะที่รับรู้แล้วปล่อยวางไง ไม่ใช่รับรู้ในฐานะของกิเลสไง ถ้าในฐานะของกิเลส รับรู้โดยความยึดมั่น รับรู้โดยเราไม่มีสติสัมปชัญญะ ในเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นมา มันก็เป็นไปตามอารมณ์อันนั้นไง

แต่ถ้ามีสติ เราทำลายตัวตนนี้แล้ว มันรับรู้โดยวางไว้ เหมือนกับน้ำบนใบบัว มันไม่สามารถเข้าไปในใจอันนั้นได้ นี้คือสภาวธรรมไง สภาวธรรมนี้เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เกิดขึ้นมาจากการจงใจอย่างนี้ เกิดขึ้นมาจากการกระทำอย่างนี้ นี้คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความสามัคคีจากภายนอก ความสามัคคีจากภายใน

นี่มองโลกแล้วย้อนกลับมาที่ตัวเรา โลกคือจักรวาลนะ ในหัวใจของเราคือจักกรวาล เพราะจักกรวาลนี้เกิดดับ เห็นไหม ดูสิ ตั้งแต่อยุธยามา สุโขทัยมา ดูความเป็นไปนะ ถ้ามีสามัคคีเมื่อไหร่ โลกนี้จะเจริญ มีความสุข ถ้ามีความขัดแย้งเมื่อไหร่ ถ้ามีการโต้แย้งเมื่อไหร่ ถ้ามีการทำลายกันเมื่อไหร่ มันจะมีความทุกข์ทั้งหมด เห็นไหม นั้นเป็นเรื่องภายนอก แล้วหัวใจล่ะ มันโต้แย้งไหม มันขัดแย้งไหม มันเป็นไปไหม นี่จะย้อนกลับมาภายใน นี่คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนทำลายกิเลสแล้ว ตนนี้ประเสริฐที่สุด

การชนะสงครามขนาดไหน ไม่มีความหมายเลย เพราะสงครามมันเกิดตลอดไป สงครามนี้ศึกสงบไป เดี๋ยวก็ต้องมีข้างหน้า ต้องมีอีกแน่นอน แต่ถ้าชำระกิเลสในหัวใจ สงครามที่ทำลายตัวตนหมดแล้ว อันนี้ประเสริฐสุด อันนี้ไม่มีการกำเริบอีก แล้วไม่สร้างเวรสร้างกรรมให้ใครเลย เอวัง