เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ พ.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ ดูวันพระนะ เวลาวันพระ ประเพณีนี่ เมื่อคืนมีงานเสียงดังมาก ประเพณีของเขา ถ้าไม่ทำ ไม่ทำตามประเพณีมันก็เหมือนด้อยค่า ไม่เสมอหน้าสังคม สังคมต้องทำกันอย่างนั้น ต้องให้เสมอกันในสังคม ประเพณีเป็นอย่างนั้น

ดูสิ รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญของเมืองไทยนี่ดีมากเลย เขียนไว้เป็นตัวอักษรนะ เป็นตัวกฎหมายเลย แต่บังคับใช้ ไม่บังคับใช้โดยสมบูรณ์ อย่างทางยุโรปเขา อย่างเช่นประเทศอังกฤษ รัฐธรรมนูญเขา เขาไม่มีตัวอักษรนะ เป็นประเพณีไง ทำตามๆ กันมา แต่ผิดจากประเพณีนั้นเขายอมรับไม่ได้ ไม่มีตัวอักษรบังคับนะ

นี่ประเพณีเป็นแบบนั้น ประเพณีคือการทำต่อเนื่องกันมา ซับซ้อนกันมา แต่ในกาลามสูตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดนะ ไม่ให้เชื่อๆ ประเพณีมันเป็นเรื่องของโลกๆ ว่าให้เราเป็นอยู่กันด้วยความสงบสุขในสังคมนั้น สังคมนั้นสงบสุขเพราะอะไร เพราะประเพณีเกิดจากจินตนาการความตรึกของผู้ที่ว่าเป็นนักปราชญ์ เห็นไหม ประเพณี แล้วครูบาอาจารย์ศึกษาจากพระไตรปิฎกมาก็ทำตามๆ กันมาเป็นประเพณี จนยอมรับกันเป็นประเพณี

สิ่งที่เป็นประเพณีเป็นเรื่องจากภายนอก แต่เวลาพระไตรปิฎกนี่เป็นหลัก เป็นกลาง ทุกศาสนา ทุกชาติ ทุกภาษา อ่านพระไตรปิฎก เวลาแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี แปลเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาเยอรมัน แปลเป็นภาษาไทย แปลเป็นภาษาต่างๆ นี่ต่างคนต่างอ่านพระไตรปิฎก แต่หลักของพระไตรปิฎกนี่ใครอ่านออกไหม

ดูอย่างเช่นเขาสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ นี่อ่านข่าวแล้วคิด คิดแล้วมันสังเวช สังเวชว่าจ้างเขาออกแบบนี่เป็นพันๆ ล้าน หลายๆ พันล้าน แล้วก็มีการก่อสร้าง เวลาก่อสร้างเสร็จ จ้างเขาออกแบบนะ แล้วก็จ้างเขาอ่าน เพราะอ่านไม่ออก อ่านแบบไม่ออกนะ พอหมดเวลาของเขา ก่อสร้างไปไม่ได้ ทำไมสร้างไม่ได้? เพราะอ่านแบบไม่ออก ไปจ้างเขาอีก ๒๐๐ ล้านบาท มาอ่านแบบนั้น

พระไตรปิฎก นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้เพื่ออะไร วางธรรมเข้ามาจับหัวใจไง เราว่าเราจบเปรียญ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคนะ อ่านพระไตรปิฎกทะลุปรุโปร่งหมดเลย เข้าใจพระไตรปิฎกหมดเลย แต่ไม่ได้ชำระกิเลสแม้แต่นิดเดียวเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่วางนะ วางธรรมไว้ลึกลับกว่านั้น ลึกลับ เราอ่านภาษา เห็นไหม เราอ่านภาษาออก เราตีความออก ตีความออกประสาเราไง แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ให้ลึกเข้ามา

เขาว่า “ทำไมพระปฏิบัติต้องชอบพูดว่า กายนอก กายใน กายในกาย พูดมาจากไหน กายมันก็อันเดียวกันนี่แหละ นี่คือกาย ทำไมมีกายนอก กายใน”

กายนอก กายในสิ เพราะอะไร เพราะมรรคหยาบ มรรคละเอียด

ดูสิ ดูอย่างที่ว่าพื้นฐานเราดี ถ้าเราเรียนอนุบาลมาดี พื้นฐานเราดี เราเรียนสูงขึ้นไปนี่เราจะมีหลักเกณฑ์ของเรา ถ้าพื้นฐานเราไม่ดีล่ะ พื้นฐานเราไม่ดี เวลาขึ้นไป เหมือนการสร้างตึกเลย ถ้าสร้างตึกเราไม่ลงเข็ม ที่ดินอ่อนนะมันจะล้มได้ เราห่วงแต่การสร้างตึก เราต้องการให้ตึกเราสวยงาม เราจะทาสีตึกของเราให้มีความสวยงาม แต่เราไม่ดูรากฐานของตึกเลย เราไม่ดูเสาเข็มที่ฝังไปในดินเลย

นี่ก็เหมือนกัน ทาน ศีล ภาวนา ทานว่าเป็นของหยาบๆ ของง่ายๆ นี่แหละ ทานนี่ แต่ทานนี่คือการฝึก ฝึกฝนใจ ถ้ามีการให้ทาน มีการให้ประเพณีวัฒนธรรม มีการให้ทาน นี่ทำได้ มีการให้ทาน นี่พื้นฐานไง ถ้ามีพื้นฐานอันนี้ ความให้อภัยกัน ความเห็นอกเห็นใจกันมันจะเกิดขึ้น ถ้าความเห็นใจนี่ พื้นฐาน นี่เข็มปักลงไปในหัวใจ

ถ้ามีเข็มปักลงไปในหัวใจ เวลาเราทำบุญกุศล คนศรัทธานี่ศรัทธามากนะ ทำด้วยความเมตตา ทำด้วยความเคารพ ทำด้วยความเคารพนะ เวลาเราไปให้เขา ให้ทานนี่เราเป็นผู้ให้ เราต้องมีศักยภาพมาก ใครก็ต้องเยินยอเรา เห็นไหม ทางโลกเวลาเราไปบริจาคทาน เขาจะต้อนรับ เขาจะทำอย่างดีเลย นี่ให้ทาน เขามีศักยภาพของเขา

แต่เวลาให้ด้วยความเคารพ ไปหาครูบาอาจารย์นี่เราคลานเข้าไปนะ ทั้งๆ ที่เราไปให้นะ เรามีศรัทธามาก เราทำด้วยความเคารพไง ด้วยความเคารพนี่หัวใจมันต่างกัน ต่างกันตรงนี้ บุญกุศลต่างกันตรงนี้ ต่างกัน เห็นไหม

ประเพณีวัฒนธรรมเดี๋ยวนี้เวลาให้ทานกันต้องมีบัตร มีหางบัตรนะ มีหางบัตรเพื่อจะไปจับรางวัลกัน มีการล่อมีการอะไรเพื่อจะไปทำทานกัน นี่บุญมันก็น้อยลง เพราะอะไร เพราะเราศรัทธา ความเปิดของใจมันไม่เหมือนกัน ความเปิดของใจ เห็นไหม เราทำบุญเพื่อสนุกสนาน ทำบุญเพื่อจะได้จับหางบัตร เพื่อจะได้รางวัล

แต่ด้วยความเคารพ เราเคารพเพราะเรามีศรัทธา เราเปิดใจทั้งหมดเลย ถ้าไป ใจเราเปิดมากขนาดไหน เจตนาอันนี้มันพาให้ใจดวงนี้ไปเกิดดีที่สุด เพราะอะไร เพราะมันเปิดกว้าง ความอิ่มเอมของมันจะมีมหาศาลเลย นี่ด้วยความเคารพ

เราไปทำบุญในวัดเดียวกัน เราดูสิ ศรัทธาถ้าเขามีศรัทธาความเชื่อจากหัวใจของเขา เขาทำแล้วเขาจะมีความสุข แต่คนที่ทำแต่เป็นเหตุผลที่ว่าเห็นเขาทำก็ทำตามเขา มันไม่เข้าถึงหัวใจไง ความสุขมันก็น้อยกว่าเขา เห็นไหม นี่แค่เริ่มเสาเข็มนะ เสาเข็มคือพื้นฐานของใจ ถ้าพื้นฐานของใจอันนี้ยังมี ถ้ามีศรัทธา มีความเชื่อ มันเคารพ มันอ่านพระไตรปิฎกมันก็อ่านไปอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่มีความเชื่อนี่อ่าน “พระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหรือเปล่า พระพุทธเจ้านี่มีตัวตนหรือเปล่า” คิดกันขนาดนั้นนะ

ทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ทางวิชาการเขาเจริญมาก เขาทำวิจัยศาสนา นี่ทำวิจัยศาสนา เขาวิจัยนี่ ทางวิชาการจะวิจัยขนาดไหนก็ได้ จะวิเคราะห์ขนาดไหนก็ได้ แล้วเอากิเลสเข้าไปจับไง “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่โดนปฏิวัติมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกจากพระราชวังเพราะว่าโดนเขาขับไส”

นี่ในตำรามีอย่างนั้น มีว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสละราชสมบัติออกมา สละออกมา หนีออกมา”...หนี ไม่ใช่หนีเพราะโดนเขาขับไล่ หนีเพราะหนีความผูกพันของใจของตัวเอง ใจของตัวเองนี่ ราหุลเกิดแล้ว ไม่กล้าเข้าไปมองเลย ถ้าไปมองราหุล นี่มันจะออกไม่ได้ เพราะความผูกพันกับลูก มันจะรักมาก ลูกเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้นะ แล้วเราจะสละออกไป หัวใจมันหาเหตุหาผลมาพอสมควรแล้ว แล้วลูกเกิดนี่ไม่กล้าเข้าไปมอง หนี หนีเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันจะยึดใจดวงนี้ให้ติดกับราชวังนั้นให้ออกมาไม่ได้ หนีเพราะหนีความรู้สึกของตัวเอง ไม่ใช่หนีเพราะเขาขับไสไล่ส่ง

เห็นไหม ถ้าคนไม่พิจารณา ถ้าคนไม่เข้าใจเรื่องของกิเลส เรื่องของความทุกข์ความสุขในหัวใจจะไม่เข้าใจสิ่งใดเลย จะเห็นแต่ว่าเรื่องของโลก เห็นแต่เรื่องของวัตถุ เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของสิ่งต่างๆ นี่มันเป็นเรื่องความหยาบๆ

แล้วพอมันละเอียดเข้ามา นี่อ่านพระไตรปิฎกออกไหม ถ้าอ่านพระไตรปิฎกออก อริยสัจจะเข้ามาตรงนี้ เข้ามาตรงที่ว่าใจจะย้อนกลับเข้ามาถึงอริยสัจ “ทุกข์” ทุกคนบ่นว่า “ทุกข์ ทุกข์” ทุกคนบ่นหมดเลย แต่เรากล้าพูดได้ว่าไม่มีใครเคยเห็นทุกข์แม้แต่คนเดียว เห็นแต่เวลากิเลสมันขับไสใจของมันนะ มันบีบบี้สีไฟหัวใจแล้วนะ มันขับมันถ่ายไว้ในหัวใจแล้วมันก็ไปแล้ว มันเป็นอดีต อนาคตไปแล้ว แล้วเราค่อยไปรำพึงรำพันว่าทุกข์มากๆ นี่เพราะเราไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เราถึงไม่เห็นทุกข์ เราเห็นแต่สิ่งที่ว่าทุกข์มันขับถ่ายทิ้งไว้ด้วยความไม่พอใจ เพราะจิตมันกระทบมันมีความคิดเกิดขึ้น เราคิดถึงใคร เราผูกพันใคร ความคิดเกิดขึ้นมา นี่มันถ่ายแล้ว พอมันถ่ายแล้วเป็นอารมณ์ความรู้สึก เราก็ไปเอาอารมณ์ความรู้สึกนี่มาเป็นความทุกข์ เราไปเอาอาการของทุกข์ เอาวิบากของผลของมันมาเป็นทุกข์ของเราไง เราถึงไม่เห็นทุกข์ เราถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา

การอ่านพระไตรปิฎกอ่านไม่ออกเพราะเหตุนี้ เหตุเพราะว่าไม่เคยไปเห็นอาการของใจของตัวเอง ไม่เคยเห็นการขับไสของกิเลสที่มันขับไสในหัวใจของเรา มันบีบบี้สีไฟในใจของเราเอง แล้วสัตว์โลกเป็นอย่างนี้ทั้งหมด ดวงใจที่เกิดเป็นมนุษย์ทั้งหมด เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม มีกิเลสบีบบี้สีไฟอยู่ทุกดวงใจ ทุกดวงใจที่เกิดในวัฏฏะนี้จะต้องมีอวิชชาอยู่ในใต้กฎของมารทั้งนั้น อยู่ในใต้กฎของพญามาร เจ้าวัฏฏะนี้มันควบคุมอยู่ทั้งหมด แล้วเวลาอ่านพระไตรปิฎกมันก็เอาอย่างนี้อ่าน มันถึงอ่านไม่ออก อ่านไม่ออกหรอก อ่านไม่ออก อ่านไม่เข้าใจ

ถ้าอ่านไม่ออก อ่านไม่เข้าใจ ก็ตีความกันไป แล้วไม่สะเทือนใจ ถ้ามันสะเทือนใจ พระที่บวชเข้ามาแล้วศึกษานี่จะไม่ประพฤติตนเหลวไหลอย่างนี้หรอก เพราะอะไร เพราะมันกลัวกรรม มันกลัวเหตุ มันกลัวกรรม บาปอกุศล มันกลัวตกนรก กลัวตกอเวจีของมัน

แต่นี่เพราะมันอ่านไม่ออก พอมันอ่านไม่ออกมันก็ไม่สะเทือนใจ อ่านจบ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ก็ทำตามกิเลสไง กิเลสขับไสไป นี่ถึงว่าอ่านไม่ออกเพราะเหตุนี้ อ่านไม่ออกเพราะการกระทำนั้นมันฟ้อง มันฟ้องว่าอ่านพระไตรปิฎกไม่ออก อ่านไม่ออกมันถึงไม่ซึ้งใจในหัวใจ แล้วมันไม่สามารถเข้ามาชำระกิเลส เข้ามาต้านทานความต้องการตัณหาความทะยานอยากของใจ

เห็นไหม ตัณหาความทะยานอยากของใจนั้นคือสมุทัย สิ่งที่สมุทัยเกิดจากใจแล้วมันขับไสใจดวงนี้ออกไป นี่ตัวเหตุแห่งทุกข์ แล้วมันขับไสอยู่ในใจ แล้วใครไปเห็นทุกข์ล่ะ? ไม่มีใครเคยเห็นทุกข์ ถึงแก้เหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ ถึงทำถึงที่สุดของทุกข์ไม่ได้ ถึงไม่เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคถึงไม่เกิด ความเป็นไปของมันไม่เกิด สิ่งที่ไม่เกิดอย่างนี้มันจะไม่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา นี่ต้นไม้ในป่า ในป่ามันต้องมีต้นไม้ที่ว่าเป็นต้นไม้ที่ว่าต้นไม้แดงไม้ต่างๆ ไม้ประโยชน์บ้าง แต่ไม้เบญจพรรณก็มีมหาศาล เปลือกของต้นไม้จะรักษาต้นไม้นั้นไว้ นี่วางธรรมไว้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็อย่างนี้ไง เปลือกนะ เปลือกๆ ก่อน แล้วถ้าเปลือกนี้มันพัฒนาตัวของมันเอง มันจะเป็นกระพี้ มันจะเข้าไปถึงแก่น มันจะเข้าไปถึงหลักเกณฑ์ของศาสนา เห็นไหม นี่อ่านพระไตรปิฎกออกเป็นชั้นๆ เข้าไป

อ่านพระไตรปิฎกที่ไหน? การศึกษาเล่าเรียนอ่านพระไตรปิฎกจากตู้พระไตรปิฎก แต่การปฏิบัติ อ่านพระไตรปิฎกจากหัวใจ จากหัวใจนะ ทุกข์เกิดที่หัวใจ ตู้พระไตรปิฎกที่ในหัวใจนี้เปิดมันให้ออก ถ้าเปิดใจออกแล้วอ่านพระไตรปิฎกในหัวใจนั้นจะเข้าใจสัจธรรมอันนั้น

โอปนยิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม โอปนยิโก เรียกร้องเขามาดูหัวใจกูนี่ หัวใจของกูนี่ เรียกร้องเขาเข้ามาดู มันเป็นอย่างไร มันเป็นลักษณะอย่างไร มันเป็นไปอย่างไร เห็นไหม เรียกร้อง นี่คือตัวพระไตรปิฎกที่มีชีวิต พระไตรปิฎกที่มีชีวิต พระไตรปิฎกที่ขับเคลื่อนอยู่ พระไตรปิฎกทุกข์อยู่นี้ แล้วพระไตรปิฎกนี้จะสุขอยู่นี้ นี่อ่านพระไตรปิฎกออกอย่างนี้ การอ่านออกคืออ่านออกจากภาคปฏิบัติ นี่ปฏิบัติเข้ามาแล้วเข้าถึงหัวใจ

ประเพณีนี้เป็นเปลือกเป็นกระพี้นะ จะปฏิเสธมันก็ไม่ใช่ปฏิเสธมันหรอก นี่วันพระวันเจ้าทำบุญกุศลกัน เราก็ทำ ทานก็ทานไปกับเขา เพราะอะไร เพราะเราก็รักลูกเรา เราก็รักหลานเราใช่ไหม ลูกหลานเรามันจะได้โตขึ้นมา ลูกหลานเรามันจะได้มีหลักมีเกณฑ์ เราก็สอนลูกหลานเรา ก็ให้มีทาน มีศีลกันไป

แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราก็พยายามถือศีลของเราขึ้นมา เราพยายามปฏิบัติของเราขึ้นมา นี่เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็ต้องเอาบุญที่เป็นผู้ใหญ่สิ ทำไมเราเป็นผู้ใหญ่แล้วจะไปเอาบุญเด็กๆ ที่เด็กๆ มันเล่นกัน เด็กๆ มันเล่นกัน แค่ไอศกรีม แค่หลอกมันก็มีความสุขแล้ว อย่างเรานี่จะมีความสุขต้องมีเพชรนิลจินดา เราต้องหาเงินทองขึ้นมาถึงจะมีความสุข

อันนี้เราจะหาบุญอย่างนี้กัน ถ้าหาบุญอย่างนี้กัน เราเริ่มอ่านพระไตรปิฎกออกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ จากแกะอักษรออก จากผสมอักษรนั้นเป็น จากตีความนั้นออกแล้วจะอ่านพระไตรปิฎกจากหัวใจ เอวัง