เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒o พ.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ผลมันเกิดอยู่นั่น ผลมันเห็นอยู่นั่นน่ะ ถ้าผลมันเห็นอยู่อย่างนี้ใช่ไหม เขาบอกว่า แล้วทำไมเขาสอนอย่างนี้ เขาบอกว่านี่มันเป็นวิปัสสนา เราวิปัสสนานี้เป็นวิปัสสนาเพราะว่าเขาพูดเองว่าเป็นวิปัสสนา แต่ความจริงมันเป็นวิปัสสนาจริงหรือเปล่าล่ะ

ถ้าเป็นวิปัสสนาจริง ผลของมัน ผู้ที่ปฏิบัติมันก็ต้องเป็นพระอริยบุคคลสิ แล้วถามเขากลับว่า “แล้วอาจารย์เอ็งเป็นพระอริยบุคคลหรือเปล่า”

“ไม่เป็น”

แต่เวลาอาจารย์เขาบอกว่านี่คือวิปัสสนา เราบอก มันเป็นวิปัสสนาไปไม่ได้ ถ้ามันวิปัสสนาไป เราอยู่กับหลวงตานะ ตอนที่หลวงตาบอกว่า ตอนคุยกันนะ ตอนฉลองกรุง ๒๐๐ ปี แล้วทำสังคายนากัน แล้วพวกปริยัติ พวกที่เขาทำสังคายนา เขาจะตัดออกนะ เขาบอกว่าสุตมยปัญญานี่ตีความหมายออก จินตมยปัญญาก็ตีความหมายออก ไอ้ภาวนามยปัญญาตีความหมายไม่ออก สงสัยมันจะเกินมา จะตัดตรงนี้ทิ้งนะ

หลวงตาท่านบอกว่า “อันนี้หัวใจของศาสนาเลย” ถ้าหัวใจของศาสนา ภาวนามยปัญญามันเกิดจากการภาวนา ถ้าเกิดจากการภาวนาแล้วมันจะให้เขียนออกมาเป็นตำราที่ว่าเขาเขียนกัน ถ้ามันเป็นภาวนามยปัญญาเขียนออกมาอย่างนั้น มันก็เป็นจินตมยปัญญา มันออกมาอย่างนั้นไง แล้วเขาบอกว่า “นั้นเป็นปัญญา นั้นเป็นปัญญา” ปัญญาอย่างนั้นเราบอกว่า ถ้าเป็นปัญญานะ พูดให้ชัดเจนนะ อย่างนั้นควายมันกินหญ้า มันทำถูกต้องของมัน มันก็เป็นปัญญาของมัน เป็นมรรคของมันใช่ไหม

มันไม่ใช่ มันเป็นสถานะไง แล้วย้อนกลับมาที่เรา ย้อนกลับมาที่เรานะ ถ้าเรามีวุฒิภาวะ ถ้าเรามีวาสนาบารมีนะ พวกเรามีวาสนาบารมี การแสดงธรรมออกมาอย่างนั้น เราจะมีความคิด มีความเปรียบเทียบไง มันจะเป็นอย่างนั้นจริงไหม มันจะเป็นจริงไหม ทำไมเราไม่มีปัญญาเปรียบเทียบล่ะ ถ้าเรามีปัญญาเปรียบเทียบ คนจะมากขนาดไหน กระแสขนาดไหนก็แล้วแต่ เดี๋ยวนี้มันเป็นกระแสไป ถ้าเป็นกระแสไป เป็นสภาวะแบบนั้น ว่าอย่างนั้นเป็นวิปัสสนาๆ

เป็นวิปัสสนา ทำกันมาเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ทำมาขนาดนั้น แล้วผลมันให้มาแม้แต่คนเดียวไหม? ไม่มีแม้แต่คนเดียวเลย แต่ในการคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง ถ้าการคิดแบบวิทยาศาสตร์บอกว่า ปัญญาคือความคิดอย่างนี้ ความคิดนี่ใช้ปัญญา นี่คือปัญญาแล้ว แต่ปัญญาของเขานี้เป็นปัญญาทางโลกไง

ถ้าจะเป็นภาวนามยปัญญามันต้องเกิดสัมมาสมาธิเด็ดขาด ถ้าไม่เกิดสัมมาสมาธิ มันจะเกิดโลกุตรธรรมไปไม่ได้ มันจะเกิดเป็นโลกียธรรม นี่เราบอกว่า อย่างนี้มันย้อนกลับไปนะ ย้อนกลับไปที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์สร้างบารมีมา ๑๖ อสงไขย แสนมหากัป สร้างมา ๘ อสงไขย ๔ อสงไขย แล้วพระอริยบุคคล พระอรหันต์นี้สร้างมาแสนกัป มันถึงจะเป็นพระอรหันต์ได้

นี่มันเป็นวุฒิภาวะของใจไง มันเป็นบารมี มันเป็นวุฒิ แล้วมันฟังอย่างนั้น มันถึงว่าศาสนา เราถึงว่ามีแก่น มีกระพี้ มีเปลือก ถ้าเราได้แค่เปลือก เราเข้าได้แค่เปลือก เพราะเรารับรู้ได้แค่เปลือกไง เราเห็นกระแสอย่างนั้น ยอมรับอย่างนั้น เราก็ยอมรับไปแล้ว เราไม่มีความโต้แย้งในใจเลย ถ้าเรามีความโต้แย้งในใจนะ ขณะที่ว่าปัญหาอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้ เช่น ปัจจุบันนี้พูดถึง ถ้าเถรสมาคม เห็นไหม เป็นสมเด็จนะ เป็นชั้นธรรม ชั้นพรหมทั้งหมดเลย แล้วอ่านพระไตรปิฎกมาทั้งหมดเลย ถ้าประชุมกัน ถ้าพระองค์ไหนสอนผิดสอนถูก มันสามารถวินิจฉัยได้ สามารถวินิจฉัยได้เลย

เคยมีเลขาของสมเด็จเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนะ มีการเสนอ ทางฝ่ายเราเสนอว่า ในเมื่อพระสอนนี้สอนไปคนละทาง อย่างกรรมฐานเราว่านรกสวรรค์มี แต่ทางฝ่ายนั้นเขาบอกนรกสวรรค์ไม่มี นรกสวรรค์นี้เขียนเสือให้วัวกลัว สิ่งต่างๆ แล้วทางสมเด็จเราบอกให้เอามตินี้เข้าในที่ประชุมของเถรสมาคม เขาบอก ไม่ต้อง ให้สอนใครสอนมัน

เห็นไหม ทั้งๆ ที่สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ไหม ถ้ามันเข้าไปในเถรสมาคมใช่ไหม แล้วออกเป็นกฎออกมาว่า ถ้าพระองค์ไหนบอกว่านรกสวรรค์ไม่มี แล้วยกกลับ ย้อนกลับไปในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกเป็นเล่มๆ นะ เทวดา เห็นไหม อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ที่ทำบุญกุศลมหาศาลเลย แต่ถึงคราวเวลาตกทุกข์ได้ยาก จนแบบว่าสมบัติที่ฝังไว้ในดิน เมื่อก่อนมันไม่มีธนาคาร เขาจะฝังไว้ในดิน เวลาน้ำมา มันจะพัดทองคำไป แล้วฐานะยากจนลง

เทวดาอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านไง “เห็นไหม บอกแล้ว ทำบุญจนหมดเนื้อหมดตัว นี่ทำบุญ เห็นไหม”

จนอนาถบิณฑิกเศรษฐีไล่เทวดานั้นออกไป แม้แต่เทวดา ใจยังต่ำกว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี เห็นไหม อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพระอริยบุคคล

เทวดาอย่างนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกมหาศาลเลย เป็นเล่มๆ เลย แต่เขาบอกว่านรกสวรรค์ไม่มี เทวดาไม่มีไง แล้วเวลาจะเอาเข้าไปประชุมในเถรสมาคม นี่มันถึงบอกว่ามันเป็นยุคเป็นสมัย ถ้าเป็นยุคเป็นสมัยนะ ถ้าเป็นนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่ดีนะ เวลาเป็นสุภาพบุรุษ ถ้าเอาเข้าไปในเถรสมาคม เถรสมาคมต้องวินิจฉัยสิว่าพระองค์ไหนสอนอย่างไร มันผิดพระไตรปิฎกไหม มันผิดอย่างไร นี่มันเป็นการกล่าวตู่พุทธพจน์นะ

ถ้าเป็นการกล่าวตู่พุทธพจน์ ในพระไตรปิฎก ในวินัยนะ ให้พระตั้งเป็นสังฆกรรม แล้วสวดญัตติให้เขาเปลี่ยนความเห็น ถ้าเขาไม่เปลี่ยนความเห็น จบที่สามจบลง พระองค์นั้นจะเป็นสังฆาทิเสส เพราะกล่าวตู่พุทธพจน์ กล่าวตู่บิดเบือนพระไตรปิฎก เห็นไหม ถ้าบิดเบือนพระไตรปิฎก ถ้าพระสวดนะ นี่เป็นสังฆาทิเสสเลย

แล้วเวลาประชุมกัน เขาบอกไม่ต้อง สอนใครสอนมัน เห็นไหม

สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ มันถึงน่าสลดสังเวชว่าตำรามันมีอยู่แล้ว นี่พระไตรปิฎก มันอยู่โต้งๆ เปิดเมื่อไหร่ก็เจอเมื่อนั้น เห็นไหม แล้วพูดถึงพระที่จะเป็นผู้ปกครอง สิ่งที่มันต้องปกครองอย่างนั้น แล้วนี่เป็นแก่นไง เป็นหลักของศาสนาพุทธ เป็นแก่นของการปกครองสงฆ์ในประเทศไทยเรา

แล้วเวลาชาวบ้านเห็นว่าที่นั่นเขาสอนกันอย่างนี้ “พิจารณาอย่างนี้เป็นวิปัสสนา พิจารณาอย่างนี้เป็นวิปัสสนา”

ถ้าเป็นวิปัสสนา ความเห็นของเราเป็นวิปัสสนา เห็นไหม นักวิทยาศาสตร์เขาก็เป็นวิปัสสนาของเขา เขาต้องชำระกิเลสของเขาได้สิ ทำไมเขาชำระกิเลสของเขาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าถ้ามันคิดขนาดไหน มันจินตนาการขนาดไหน มันปล่อยอารมณ์ความรู้สึกเข้ามา มันก็ว่างๆ อย่างนั้นล่ะ ความว่างๆ อย่างนั้น นี่สัญญาอารมณ์ ใจมันเกาะ มันปล่อยอันหนึ่ง มันไปจับอันหนึ่ง ถ้ามันปล่อย ปล่อยสิ่งที่เป็นทุกข์ ปล่อยสัญญาอารมณ์ที่มันแบกรับภาระที่มันเป็นทุกข์ เห็นไหม สิ่งที่เป็นทุกข์

เราบอกเขาเลย ในอภิธรรม ไม่ได้คัดค้านพระอภิธรรมนะ เพราะอภิธรรมนี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต แต่เขาว่าให้มันเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นทฤษฎีออกมา แต่ขณะที่เราเข้าไปอ่านเห็นไหม จิตร้อยดวง จิตร้อยแปดดวง เราบอกว่า ดวงหนึ่ง มันบอกว่ามาจากบ้าน ยังไม่ถึงประตูเลย ดวงหนึ่งบอก ลงจากรถ ยังไม่ปิดประตูรถเลย

นี่มันเกิดจากความรู้สึกดวงเดียว ดวงเดียวคือปัจจุบันนี้ ถ้าเราย้อนกลับมาปัจจุบัน ปัจจุบันเรานั่งอยู่ที่ศาลานี้ ความคิดที่ย้อนไปถึงบ้าน ความคิดที่ย้อนไป มันเป็นความย้อนไป มันเป็นการส่งออกไป สิ่งที่ส่งออกไป ปัจจุบันนี้มันเหลือแต่ตัวไง หมายถึงว่า เราเป็นเจ้าของบ้าน แต่เราไม่เฝ้าบ้านของเรา ใจเราส่งออกไปบ้าน เวลามาวัด ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า มาวัดให้มาทั้งตัวนะ แล้วเอาหัวใจมาด้วย ไม่ใช่มาทั้งตัว ใจไว้ที่บ้าน คือมันคิดถึงบ้านไง ประตูก็ยังไม่ได้ปิด สุนัขก็ยังไม่ได้เก็บไว้ เห็นไหม คิดไปร้อยแปด ถ้าคิดไปร้อยแปดนี่มันส่งออกไปอย่างนี้ อย่างนี้ฟังเทศน์ไม่รู้เรื่องหรอก

ถ้าฟังเทศน์รู้เรื่องนะ มันต้องเอาใจมาด้วย คือเราพร้อมอยู่เสมอ เห็นไหม แล้วเราพร้อมเสมอ เรานั่งอยู่นี่ เวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรมออกมา เรานั่งอยู่เฉยๆ เสียงนี้จะกระทบเรา เพราะมันมีเจ้าเรือน มันมีจิตที่รองรับอย่างนี้ไง จิตรองรับอย่างนี้มันจะซับเข้าไปในหัวใจดวงนี้ไง เห็นไหม เวลาเราทุกข์ เราทุกข์ที่ไหน? ทุกข์ที่ใจ เวลาความคิดเกิดเกิดที่ไหน? เกิดจากใจ เห็นไหม

นี่ความคิดเกิดจากใจ กิเลสเกิดจากใจ ถ้าหัวใจนี้อยู่กับเรา มันจะรับสิ่งนี้ เห็นไหม รับสิ่งนี้ แล้ววิปัสสนาก็เหมือนกัน ถ้าว่าย้อนกลับเข้าไป ย้อนกลับเข้าไป ความคิดอย่างนี้เป็นสุตมยปัญญา การศึกษา เห็นไหม การศึกษาจากครูบาอาจารย์นี้เป็นสุตมยปัญญา เราไปใคร่ครวญของเรา เราเดินจงกรมของเรา เราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา นี่จินตมยปัญญา มันยังไม่เกิดภาวนามยปัญญาหรอก

ถ้ามันเกิดภาวนามยปัญญา นั่นคือวิปัสสนา ถ้ายังไม่เกิดภาวนามยปัญญา มันเป็นการกำหนดเฉยๆ ไง กำหนดเพื่อจะให้มันปล่อยวางเข้ามา...ขนาดไหนมันก็เป็นสมถะ เพราะในสมถะนี้ เห็นไหม เขาบอกว่ากำหนดพุทโธ หรือกำหนดทำสมาธินี่ไม่มีปัญญา แต่เวลาอภิธรรมนะ ญาณที่ ๙ ของเขาเป็นสมถะ ฉะนั้น ญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๘ นี้เป็นโมฆะ เพราะเราทำสมถะ เรากำหนดพุทโธๆ นี่ทำสมถะ ถ้าจิตเราสงบ เราได้ญาณที่ ๙ ของเขา เราได้ญาณที่ ๙ ของเขานะ เพราะญาณที่ ๙ เขาเป็นสมถะใช่ไหม เขาบอกว่าสมถะนี้ไม่มีประโยชน์ แต่ไปไว้ที่ญาณที่ ๙ ทำไม

เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าบอกว่ามรรคไม่มีสัมมาสมาธิ มรรค ๘ เห็นไหม ถ้ามรรค ๘ หมายถึงภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากหัวใจ ธรรมจักรมันเคลื่อนออกไป มันถึงจะชำระกิเลสได้ วิปัสสนามันจะเกิดอย่างนี้ แล้วมันเกิดตามข้อเท็จจริงไง มันก็ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล เหมือนหลวงตาว่า “ในลัทธิศาสนาต่างๆ ศาสดาเป็นผู้มีกิเลส ถ้าศาสดาเป็นผู้มีกิเลส กิเลสตัวนั้นมันใช้ความคิดของกิเลสนั้นอ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์เท่านั้น แล้วครูบาอาจารย์เราอยู่ในหมู่คณะเรา เราเชื่อมั่นกันว่าครูบาอาจารย์เราสิ้นสุดแห่งทุกข์ ในเมื่อครูบาอาจารย์ท่านสิ้นสุดแห่งทุกข์ การชี้ไปในเรื่องของใจมันจะถูกต้องชัดเจนมาก ถ้าถูกต้องชัดเจนมาก การวิปัสสนามันจะเกิดสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะชำระกิเลสได้จริง แล้วเวลาครูบาอาจารย์เรา เวลาดับขันธ์ไป เผามาเป็นพระธาตุ เป็นพระธาตุ เป็นพระธาตุตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมาเลย

สิ่งนี้ต่างหากมันจะเป็นวิปัสสนา แล้วโอกาสอย่างนี้มันจะเกิดเมื่อไหร่ เพราะอะไร เพราะถ้าเราไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ชี้นำมา แล้วครูบาอาจารย์เคาะกิเลสนะ ครูบาอาจารย์ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลจะไม่มีความอาฆาตบาดหมางกับใครหรอก แต่ในเมื่อกิเลสมันรุนแรง ในเมื่อความทิฏฐิมานะของใจนั้นรุนแรง สิ่งที่รุนแรงมันก็ต้องใช้สิ่งที่รุนแรง เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม ไปโรงพยาบาล ฉีดยา ใช้ยารักษาก็หาย ถ้าคนที่เป็นโรคที่ต้องผ่าตัด เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตที่มันรุนแรง ครูบาอาจารย์ต้องแรงกว่า แรงกว่าเพื่อให้มันยอมรับ

เวลาหลวงตาท่านบอก แสดงธรรมนี้แทงใจดำเขา ต้องแทงใจดำเขาเพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ ต้องพูดแทงใจดำเพื่อให้กิเลสมันสะเทือน ถ้ากิเลสมันสะเทือน มันจะยอมรับของมัน ถ้ายอมรับ นั่นล่ะคือการแก้กิเลส การพูดแสดงสะเทือนกิเลส แต่ทางโลกบอกว่านี่เป็นการหยาบ เป็นสิ่งที่พูดหยาบ เป็นผู้ที่พูดแล้วไม่รักษาศักดิ์ศรีกัน รักษาศักดิ์ศรีกันแล้วก็เกิดตายๆ ในโลกใช่ไหม แต่ถ้าเราพูดสะเทือนกิเลส สะเทือนใจดำ แทงเข้าไปในกิเลส เห็นไหม ถ้าเรามีโอกาสอย่างนี้ เราจะมีโอกาสนะ

ถ้าครูบาอาจารย์เราล่วงไปๆ พระไตรปิฎกว่าใครไม่เป็นนะ พระไตรปิฎกเป็นหนังสือ เราเปิดอ่านขนาดไหนก็ว่าเราไม่ได้ แล้วเราก็ภูมิใจว่าเราเข้าใจพระไตรปิฎก เราภูมิใจ กิเลสมันก็ภูมิใจ กิเลสมันใช้ปัญญาของเราอ่านพระไตรปิฎก แล้วมันก็ภูมิใจของมัน เห็นไหม ไม่มีใครติเตียนเรา ไม่มีใครกล่าวตู่เรา ไม่มีใครว่าเรา เราภูมิใจมาก แล้วเราก็จะอยู่ในกระแส เราก็จะวนไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสจะขับไสไป นี้คือวาสนานะ

ถ้าวาสนา ครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ ยังชี้นำเราได้ นี่แทงใจดำเรามา เราจะสะเทือนหัวใจมาก แต่ถ้าครูบาอาจารย์ไม่มี มันก็ต้องถึงเวลาก็ต้องค้นคว้าเอาจากพระไตรปิฎก ถ้าค้นคว้าเอาจากพระไตรปิฎก เราก็ภูมิใจของเรา เพราะพระไตรปิฎกไม่แทงใจดำเรา เว้นไว้แต่เราอ่านเข้าไปแล้วซึ้งใจมาตราไหน ซึ้งใจข้อวรรคไหน ซึ้งใจธรรมข้อไหนไง อย่างนี้ต่างหากมันถึงว่ากิเลสมันเห็นแก่ตัวไง เพราะพระไตรปิฎกมันไม่มีชีวิต ธรรมเป็นกิริยาของธรรม

หลวงตาบอกว่า ธรรมคือใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจของครูบาอาจารย์ ความรู้สึกอันนั้นคือตัวธรรม แล้วกิริยาคือการเคลื่อนไหวออกไป พระไตรปิฎกมันเป็นกิริยาของธรรมเท่านั้น พระไตรปิฎกชี้เข้ามาที่หัวใจไง

แต่เวลานักปราชญ์ราชบัณฑิตเขาตั้งพระไตรปิฎกขึ้นมา แล้วเขาวิเคราะห์พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนั้นเป็นแผนที่ชี้เข้ามา แผนที่ชี้เข้าไปที่ใจ โอปนยิโก เห็นไหม ย้อนกลับเข้ามาดูใจๆ อ่านขึ้นมาเพื่อย้อนถึงใจ แล้วตัวใจจริงๆ ความรู้สึกมันออกมาเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพียงแต่เขียนกิริยาของมันไว้ เหมือนกับเงา แล้วเราก็ไปตื่นเงา ตะครุบเงากัน ตะครุบบอก “นี่ธรรม นี่ธรรม”

นี้มันเป็นเงา จับเงามันให้ได้ จับเชือกให้ได้แล้วสาวไปหาตัวโค ถ้าจับเชือกโคได้ แล้วสาวไปที่ตัวโค แล้วเจอใจของเรา ถ้าใจของเราสงบเข้ามา สาวเข้าไปถึงใจของเรา แล้ววิปัสสนาขึ้นมา มันจะเป็นธรรมของมันขึ้นมา เป็นปัจจัตตัง เห็นไหม “อานนท์ เธออย่าถามให้มากไปเลย ถ้ายังมีผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พระอรหันต์จะไม่ว่างจากโลกนี้เลย”

โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ จะไม่ว่างจากผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จะไม่ว่างจากตามความเป็นจริง แต่ต้องจริงอย่างนี้นะ แต่ถ้าผู้ใดก็อปปี้ๆๆ คือจำมาๆ แล้วก็เข้ามาจินตนาการ นี่มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาถึงแปลกมหัศจรรย์มาก ถึงว่าโลกนี้ไม่มีใครเคยเห็นนะ ถ้าใครเคยเห็นภาวนามยปัญญาโดยสัจจะข้อเท็จจริง อย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบัน เพราะมรรคสามัคคีนั่นล่ะคือความสมดุลของภาวนามยปัญญา การที่เราใช้ปัญญาวิปัสสนาขึ้นมา มันยังถูไถอยู่ เพราะมรรคไม่สามัคคีไง มรรคสามัคคี วิปัสสนาไป คือใช้ปัญญาใคร่ครวญไป ด้วยแรงของสมาธิหนุน มันจะปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวาง การปล่อยวางนั้นมีความสุขมาก แล้วติดมาก พระเราเสื่อมตรงนี้มาก เวลาวิปัสสนาไปเห็นผลของมันแล้ว ก็บอกว่า “นี่ผลของมันๆ”

ผลของมัน มันว่างจริงๆ มันปล่อยจริงๆ แต่มันปล่อยอย่างนี้ กิเลสมันซุกตัวอยู่ กิเลสมันไม่ตาย ฆ่ามันไม่ได้ไง แต่ถ้าถึงที่สุด วิปัสสนามันมรรคสามัคคี มันสมุจเฉทปหาน กิเลสมันขาดออกไป สังโยชน์มันขาดออกไป เหมือนกับหมอเขาไปพลิกศพกิเลส พลิกศพๆๆ พิสูจน์ศพเลย เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะสังโยชน์มันขาดออกไป เห็นมันหลุดออกไปเลย ดั่งแขนขาดนะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส หลุดออกไปจากใจ หลุดออกไปจากใจ นี่ศพของกิเลสมันหลุดออกไป เห็นการพลิกศพ เห็นการใคร่ครวญของมัน อันนี้ต่างหากมันถึงจะเป็นสิ่งที่อกุปปธรรม แล้วเจริญอย่างนี้ไม่มีวันเสื่อมไง

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สมาธิเกิดขึ้นมาก็เสื่อม ปัญญาจะมีมากมายขนาดไหนเดี๋ยวก็ลืม เพราะมันเกิดจากสัญญา เกิดจากความจำ สิ่งนี้ต้องทบทวนตลอดเวลา อย่างนี้มันอยู่ใต้กฎของ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะเป็นอนัตตา เห็นไหม แต่เวลาเข้าเป็นสมุจเฉทปหานแล้วมันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคือพ้นจาก สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมที่ไม่เสื่อมนี้มีอยู่ มีอยู่ คือโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผลต่างหาก สิ่งนี้จะไม่เสื่อม ไม่แปรสภาพเลย แต่ในใจของเรามันโลเล มันเป็นอนิจจัง เราก็เป็นความทุกข์อยู่ตลอดไป แล้วมันเป็นภาวนามยปัญญาไปตรงไหน มันเป็นวิปัสสนาไปตรงไหน

สิ่งนี้มันใคร่ครวญได้ ถ้ามันอยู่ที่วุฒิภาวะ คืออำนาจวาสนาของใจ ถ้าใจมีอำนาจวาสนา มันจะมีแรง มีความฉุกคิดไง เวลาหลวงตาท่านเทศน์นะ ท่านบอกว่าให้ถามปัญหาตัวเองตลอด ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาทำไม ทุกข์นี้เป็นอย่างไร ทำประโยชน์แล้วได้ประโยชน์ไหม ความเป็นจริงของใจมีขนาดไหน ให้ถามปัญหาตัวเองตลอด ถ้าเราถามปัญหาตัวเองตลอด เราจะหาเหตุผลตลอดไป เราจะไม่เชื่อใครเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกาลามสูตรไว้ เห็นไหม

ไม่ให้เชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าเทศน์

ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์เราบอก

แต่เรามีศรัทธา ศรัทธาคือความเปิดของใจ ไม่ใช่เชื่อโดยงมงายไง พอครูบาอาจารย์พูดแล้วเราต้องจับมาตั้งประเด็น แล้วใคร่ครวญไป จริงไหม พระองค์นี้พูดอย่างนี้จริงไหม ครูบาอาจารย์องค์นี้พูดอย่างนี้จริงไหม ถ้าจริงหรือไม่จริง เราเอาใจเราเข้าปฏิบัติ เราเอาใจเราเข้าไปพิสูจน์

เพราะเราทำอย่างนี้มาตลอดนะ เราไปอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ ทฤษฎีของท่าน จริตนิสัยของท่านไม่เหมือนกัน เวลาท่านสอนอย่างนี้ เราลองว่าเป็นไปได้ไหมๆ เป็นไปได้อย่างท่านสอนเกือบทั้งนั้นเลยถ้าพบของจริงนะ ถ้าของไม่จริง ทำจนตายก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ผล เข้าอย่างนั้นไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นนิวรณธรรม มันปิดกั้นสิ่งที่จะเข้ามา มันเป็นไปไม่ได้

แต่ในเมื่อสังคมเป็นแบบนั้น วุฒิภาวะของใจอ่อน บารมีของใจอ่อน เขาก็เชื่อของเขาไป ถ้าเขาเชื่อของเขาไป เขาก็ปฏิบัติ เห็นไหม ถามว่าชาวพุทธปฏิบัติเพื่ออะไร? เพื่อความสุข...ถูกต้อง แต่ถ้าชาวพุทธปฏิบัติเพื่ออริยภูมิ ต้องเริ่มต้นเข้ามาสัมมาสมาธิ ต้องเข้ามาสติให้พร้อม แล้วเข้ามาวิปัสสนาให้เป็นตามข้อเท็จจริงของอริยสัจ ไม่ใช่ต้องเห็นทุกข์ไง เห็นทุกข์ เห็นอาการของจิต เพราะเวลาจับกิเลสได้นะ จับกาย เวทนา จิต ธรรมได้ มันจะสั่นไหวหัวใจมาก คนเคยเห็นกิเลส เคยจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้ จะสั่นไหวมาก

อันนี้เห็นกันเฉยๆ เห็นกันด้วยตาเนื้อ เห็นกันด้วยสามัญสำนึก แล้วก็เข้ามาคุยโม้กัน เสร็จแล้วนะ ถ้าสติไม่ทันก็หลุดออกไป น่าสลดสังเวชมาก เพราะสิ่งที่เขาเอามานั้นมันเป็นการยืนยันนะ แต่ในเมื่อความเชื่อเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น นี่ธรรม ที่เราจะมีวุฒิภาวะ ที่เราจะมีความเชื่อของใจ แล้วเราเชื่อครูบาอาจารย์หรือจะเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้พิจารณาเอา เอวัง