เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ ต.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพูดธรรมะ ธรรมะเป็นความเสมอภาค ธรรมะ เห็นไหม เราเรียกร้องความเป็นธรรมกัน เราจะเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะความเป็นธรรม เวลาเราเสียเปรียบนี่เราเรียกร้องความเป็นธรรม แต่เราเวลาเราได้เปรียบ เราจะไม่เรียกร้องความเป็นธรรมเลย เพราะว่าเราเป็นผู้ได้ไง ถ้าเราเป็นผู้ได้ เราคิดว่าเราเป็นผู้ได้ แต่ธรรมะไม่เป็นอย่างนั้นนะ

ไฟ อยู่ในที่ลับก็ร้อน อยู่ในที่แจ้งก็ร้อน ไฟคือร้อนหมด กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี่เป็นสัจธรรมความจริงนะ แล้วเราเชื่อมั่นมาก ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แล้วทำดี ธรรมะย่อมคุ้มครองอีกต่างหาก ผู้ที่รักษาศีลนะ มีศีล ศีลย่อมปกครองผู้นั้น ปกครองผู้นั้นเพราะอะไรล่ะ เพราะเราไม่ได้ละเมิดเขา เราไม่ได้ทำลายเขา สิ่งที่เราไม่ได้ละเมิดเขาเลย เราไม่ทำลายเขาเลยนี่ สิ่งนี้มันเป็นคุณธรรมของเรา

แล้วเวลาสิ่งที่ว่าเราไปเสียเปรียบเขานี่ ไอ้เรื่องนั้นมันเป็นเรื่องของโลกใช่ไหม ฟังสิว่าเรื่องของโลก เรื่องของโลกให้เป็นความเสมอภาค เป็นไปไม่ได้ อย่างเช่นเขาบอกไปวัดป่า ไปดูพระป่านี่นะให้ดูส้วมใช่ไหม ส้วมนี่จะสะอาดมาก ส้วมสะอาดต่างๆ แล้วเวลาถ้าเราเป็นปุถุชน เราเป็นคฤหัสถ์ การทำความสะอาดส้วมนี่มันเป็นเรื่องของกรรมกร เป็นเรื่องของคนชั้นต่ำ แล้วทำไมเราต้องไปทำอย่างนั้น

ถ้าเราอยู่คนเดียวล่ะ เราเป็นเจ้าอาวาสอยู่คนเดียว เราทำได้ทั้งหมดล่ะ สิ่งที่เราทำได้หมด เห็นไหม คือว่าเราทำได้ทั้งหมด เหมือนกับเรายืนอยู่บนขาของตัวเอง แต่ถ้าเราทำไม่ได้ล่ะ ถ้าเราทำไม่ได้ เราว่าเป็นทางโลก โลกเขามีสูงมีต่ำไง แต่ธรรมไม่มีสูงไม่มีต่ำ เวลาข้อวัตรปฏิปทา เวลาไปในวัด เวลาไปทางโลกเขา อยู่บ้านนะ ถ้าลูกคนไหนดี ครอบครัวนี้เด็กดี ให้ดูพ่อดูแม่ พ่อแม่เขาสั่งสอนลูกเขาดี ลูกเขาถึงเป็นคนดี

แต่พ่อแม่เขาเป็นคนดีนะ เขาพยายามสั่งสอนลูกเขา แต่ลูกเขาเกเรโดยนิสัยของเขานี่ พ่อแม่ดีขนาดไหนก็เอาไม่อยู่ แต่ในประเพณีเขาก็ว่ากัน ถ้าลูกคนนั้นนิสัยดี พ่อแม่เขาเลี้ยงของเขามาดี ไปวัดก็เหมือนกัน ไปวัดน่ะ ถ้าเข้าไปในวัดให้ดูเณรน้อย ให้ดูพระเล็กเณรน้อย ถ้าพระเล็กเณรน้อยเขามีระเบียบมีวินัยของเขา ความเป็นอยู่ของเขานี่สมบูรณ์ของเขา นั่นล่ะเจ้าอาวาสพอใช้ได้ แต่ถ้าไปถึงวัดแล้วน่ะ เณรน้อยเขาโดนทิ้งโดนขว้าง สิ่งใดโดนทิ้งโดนขว้าง นี่มันเป็นความรับผิดชอบ โลกเขาดูกันออก

แต่เวลาว่าเป็นทางโลกมีสูงมีต่ำ ว่าคนนั้นมีสูง คนนี้มีต่ำ...สูงต่ำไม่สำคัญ สำคัญแต่ว่าเราเกิดมานี่เรามีความสุขของเราไหม ถ้าเรามีความสุขของเรา เราเกิดมานี่เราต้องหาโอกาสของเรา เวลาเราขับรถไปนี่ หรือเราประสบอุบัติเหตุ มันแว็บเดียวนะ กรรมเวลาให้ผลนี่มันให้ผลแปลกประหลาดมหัศจรรย์มาก เราตั้งใจ เราตั้งสติขนาดไหน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานนะ “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” ความประมาทนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายแล้วว่าเราไม่ให้ประมาท ขนาดเราไม่ประมาทขนาดไหน เรารักษาสติของเราขนาดไหน เวลาเราประสบอุบัติเหตุเราก็ประสบอุบัติเหตุ เราอยู่เฉยๆ นะ เราขับรถไปบนถนน เขามาชนเรามันก็สภาวกรรม เราไม่ประมาทขนาดไหนแต่เรื่องของโลกมันเป็นสภาวกรรม กรรมมันให้ผลขนาดนั้นนะ ถ้าถึงเวลากรรมมันให้ผลนี่มันเรื่องของการสุดวิสัย แต่การสุดวิสัยนี้ไม่ใช่ยอมจำนนนะ

เวลาไปวัดนะ ถ้าวัดไหนบอกว่าต้องยอมรับสภาวกรรม ยอมรับกรรมนี่จะไม่ไปวัดนั้น ไม่ไปวัดนั้น นี่เห็นว่าเป็นความยอมจำนน...ไม่ใช่ยอมจำนน สิ่งนี้มันเป็นสุดวิสัย ทำไมผู้บริหารถึงจะต้องมีพรหมวิหาร ๔ ล่ะ สิ่งที่มีพรหมวิหาร ๔ เพราะมันเรื่องของความสุดวิสัย มันเป็นไปไม่ได้ พรหมวิหาร ๔ คืออุเบกขาไง สิ่งที่อุเบกขา เพราะถ้าเราไม่อุเบกขานี่เราจะแบกโลก แล้วเราจะทุกข์ของเรามาก ทุกข์จนวันตายนะ เพราะเราต้องการให้เป็นสภาวะแบบนั้น มันเป็นไปไม่ได้

คนเกิดมาแล้วต้องตายทั้งหมด สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งที่เป็นอนิจจังนี่มันเป็นเรื่องของศีลธรรมจริยธรรมในหัวใจของเรา แต่ในเมื่อเราเป็นผู้บริหารเราก็ต้องบริหารสิ่งนั้น คอนโทรลสิ่งนั้น บังคับสิ่งนั้น ทำให้สิ่งนั้นไปถึงเป้าหมายของเราให้ได้ เห็นไหม นี่เรื่องของโลกเรื่องการอยู่อาศัย เรื่องความเป็นไปของโลกไง

สิ่งที่เป็นของโลก เห็นไหม โลกถึงเป็นเรื่องส่วนหนึ่ง ธรรมเป็นเรื่องส่วนหนึ่ง จะเอามาผูกพันกันไม่ได้ ถ้าเอาเรื่องของโลก เอาเรื่องของธรรมมาผูกกันนะ เราจะก้าวเดินไปไม่ได้เลย เพราะอะไร มันต้องมีจากมรรคหยาบ มรรคละเอียด

เวลาพูดกันเรื่องของปัญญา ทุกคนว่าตัวเองมีปัญญา มีความเข้าใจทั้งหมดเลย แต่ปัญญาอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัติในหัวใจจะคิดหัวเราะเลยนะ เพราะอะไร เพราะปัญญาอย่างนี้มันไม่ใช่ปัญญาชำระกิเลสหรอก ปัญญาอย่างนี้เป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลกเขา แต่ก็ต้องคุยกันตรงนี้ ต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ไง

หนึ่ง เวลาเราเป็นคฤหัสถ์ เราออกประพฤติปฏิบัติ เรามีศรัทธามีความเชื่อ เพราะอะไร เพราะเวลาเรื่องของชีวิตเป็นไปมันก็จะเป็นลุ่มๆ ดอนๆ อย่างนี้ แล้วมันทำให้เราเบื่อหน่าย สิ่งที่เบื่อหน่าย แล้วเวลาเบื่อหน่ายเราต้องเจอสภาพนี้อีก เราต้องการไหม ถ้าเราไม่ต้องการเจอสภาพนี้อีก มันจะมีสิ่งใดแก้ไขล่ะ ถ้ามีสิ่งใดแก้ไขนี่เราก็จะออกประพฤติปฏิบัติ ออกประพฤติปฏิบัติเพื่อเข้ามาแก้ชำระจิตใจอันนี้ไง

ถ้าชำระจิตใจอันนี้ นี่ปัญญาอย่างโลก ปัญญาอย่างที่ว่านี่ สิ่งที่เราคิดอยู่นี่คืออะไรล่ะ ที่ว่าเราเห็นสภาวะเราเบื่อหน่าย สิ่งที่เบื่อหน่าย มันก็คือปัญญานี้แหละ แต่ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาศรัทธาทางโลก เป็นโลกียปัญญา แล้วเราทำความสงบของใจ นี่เราตั้งใจ เรามีสติมาก เราพยายามประพฤติปฏิบัติ ทำไมมันไม่เป็นไปตามที่เราหวังล่ะ? มันไม่เป็นไปตามที่เราหวังเพราะมันฟุ้งซ่าน มันเป็นไป

ทำไมเรามีปัญญามาก เราตั้งใจมาก ทำไมเอาไว้ไม่อยู่ล่ะ? เพราะสติเราไม่พอ พอสติเราพอ สติเราดีขึ้น เป็นสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ มันจะละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป สิ่งที่เป็นชั้นๆ เข้าไป นี่ปัญญาอย่างที่ว่ามันจะเริ่มการชำระกิเลสมันจะเกิดตรงนั้นไง

จากปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส คือไม่สามารถควบคุมใจของตัวเองได้ ปุถุชน สิ่งที่กระทบแล้วมันไปหมด เพราะอะไร เพราะมันเหมือนไม้ดิบๆ ไง ไม้ดิบคือจิตใจธรรมชาติของเรานี่ เราต้องทันคน เราต้องรับรู้สิ่งต่างๆ สิ่งที่มากระทบแล้วเราต้องวิจัยออกได้ วิเคราะห์ออกได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร นี่คือว่าเราอยู่ในโลกเราต้องทันเขาทั้งหมด

เวลาเรามาทำความสงบนี่มันไม่มีใครมาพูดกับเราเลยล่ะ เรานั่งอยู่เฉยๆ นี่ หัวใจมันไปเอาแต่อดีตอนาคตตั้งแต่เมื่อไหร่ เอามากว้านมาใส่หัวใจนะ มันฟุ้งซ่านไปหมดเลย มันเอาไว้ไม่อยู่ แล้วปัญญาอย่างนั้นจะเอาความคิดอันนี้ไว้ได้ไหมล่ะ? มันเอาไม่ได้ เอาไม่ได้นี่มันต้องมีสติขึ้นมาให้มากขึ้นๆ มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ปัญญามันจะละเอียดเข้าไป

นี่มันถึงว่า ปัญญาอย่างหยาบๆ ก็มี ปัญญาอย่างกลาง ปัญญาอย่างละเอียด ปัญญาอย่างละเอียดสุด เวลาจะชำระกิเลส ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเห็นความเป็นไปของปัญญาที่มันพัฒนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม นี่การเลี้ยงใจนะ

ความเป็นเสมอภาคทางโลก นี่เราเลี้ยง ไปวัดไหนให้ดูเณรน้อย ให้ดูพระอยู่ในวัดนี่มีความอบอุ่นไหม มีความเป็นไปได้ไหม ถ้าเป็นไปได้นี่หัวหน้ามีธรรม ถ้าหัวหน้าไม่มีธรรม เห็นไหม ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงทั้งนั้นเลย ลำเอียงเพราะอะไร ลำเอียงเพราะว่าให้เขามาเป็นฐานให้ตัวยืนขึ้นไปไง ตัวเองต้องมีฐานยืนขึ้นไป

ในเรื่องของโลกจิตวิทยาอยู่แล้ว จิตวิทยา เวลาถึงที่สุดแล้วทุกคนอยากมีชื่อเสียง ทุกคนอยากให้เขานับหน้าถือตา ทุกคนอยากๆๆ อยากเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมดเลย แต่ทุกคนไม่สามารถไม่มีความอยากเข้ามาชำระกิเลส ทุกคนไม่มีความอยากเข้ามาดูความเปลี่ยนแปลงของใจ ทุกคนไม่อยากเข้ามาดูความดิ้นๆ ของใจ

เห็นไหม ความดิ้นของใจ ถ้าใจมันหมดความรักความผูกพัน สิ่งนี้เป็นความรักความผูกพันนะ หมด ชำระกิเลสออกไปทั้งหมดด้วยปัญญาญาณจากภายใน มันจะเกิดความเมตตาไง ถ้ามีความเมตตานี่สั่งสอนสัตว์โลก เป็นที่อยู่ของสัตว์โลก ไม่เบียดเบียนตนก่อน ถ้ายังเบียดเบียนตนก่อน มีความลำเอียงในตัวเองก่อน มีความรักความผูกพัน ความอาลัยอาวรณ์ในตัวเองก่อน มันจะลำเอียงไปตามสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าไม่ลำเอียงสภาวะแบบนั้น เห็นไหม มันสมควร นี่ถึงเป็นธรรมแล้ว มันสมควรไหม สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีความละเอียดอ่อน ควรจะให้ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะได้ทำงานชิ้นนี้ สิ่งนี้เป็นความหยาบควรจะให้คนนี้ทำงานชิ้นนี้ เห็นไหม เวลาอย่างนี้ไม่ใช่ความลำเอียง มันเป็นความว่ารู้จักการบริหาร รู้จักการจัดการให้เข้ากับสมประโยชน์กับสิ่งนั้น ถ้าเข้าสมกับสิ่งนั้น อันนี้เป็นธรรม

สิ่งที่เป็นธรรมนะ แต่โลกมันจะติมันจะเตียนไปทั้งหมดเลย แล้วปัญญาอย่างหยาบ ปัญญาอย่างกลางก็ไม่เข้าใจ เวลาเทศนาว่าการนะ ปัญญาคือความคิดเรานี่แหละ นี่ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับทุกข์...มันดับไปไหน พอมันปล่อยวางแล้วมันมีความอาลัยอาวรณ์อยู่ภายใน มันมีความเฉา ความผ่องใสอยู่ในหัวใจ ความนี้มันยังอยู่ในหัวใจ มันเป็นไปไม่ได้ ปัญญาอย่างนี้ชำระกิเลสไม่ได้ แต่ปัญญาอย่างนี้เป็นการสร้างศรัทธาได้

การสร้างศรัทธาสร้างความเชื่อของเราให้เรามีหลักความเชื่อของเรา มีความเป็นผู้ที่มีมานะอดทน ความเพียรชอบ ถ้าเรามีความเพียรชอบขึ้นมา พอเราพัฒนาเข้าไปเห็นความเป็นไป มันจะเห็นปัญญาจากภายใน ปัญญาจากภายในมันจะควบคุมความคิดได้แล้ว สิ่งที่ควบคุมความคิดได้ สิ่งที่เป็นความคิดนี่มันอนิจจัง สิ่งที่อนิจจังนี่ถ้าปัญญามันทันนะ ถ้าไม่ทัน อนิจจังก็เป็นอนิจจังสิ แต่สัญญานี่มันก็คิดไปร้อยแปดแล้ว อนิจจังก็เอามาช่วยไม่ทันหรอก อนิจจังก็มาเหนี่ยวรั้งความคิดนี้ไม่อยู่หรอก เพราะอะไร เพราะกิเลสมันขับไสออกไปก่อน พลังงานมันพุ่งออกไปแล้ว มันใช้ออกไปแล้ว แต่ถ้าเราใช้ฝึกฝนเข้ามานี่ มันถึงว่าเป็นประสบการณ์ของตัวไง

สมาธิ เงินก็ซื้อไม่ได้ มรรคผลนิพพาน เงินก็ซื้อไม่ได้ สิ่งใดซื้อหาไม่ได้ ไหว้วานไม่ได้ อ้อนวอนไม่ได้ ขอไม่ได้ ใครเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าถึงใจดวงนั้น ใจดวงที่มีความทุกข์ร้อนอยู่นี้แหละ

ว่าดับทุกข์ๆ ไอ้ที่ดับทุกข์ดับที่ปาก มันก็ดับเงานั่นน่ะ ดับไม่ได้

ถ้าจะดับทุกข์มันต้องย้อนกลับเข้ามาเกิดภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นมา เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม พูดนี่ง่ายๆ แต่การเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นยากมาก เห็นยากเพราะอะไร เพราะมันเห็นจากตาของใจ ไม่ใช่เห็นจากตาสามัญสำนึกนี้ สามัญสำนึกนี้มันเห็นขึ้นไปมันเห็นเป็นเรื่องของโลกไง โลกก็ต้องอาศัยกัน สื่อความหมายกันอย่างนี้ นี่สมมุติโลก

แต่ถ้าเห็นจากภายในมันจะเห็นแล้วมันสะเทือนหัวใจ ใครเห็นกายมันจะสะเทือนกิเลสมาก สะเทือนไดโนเสาร์ที่มันนอนซบอยู่ในหัวใจนั้น ภวาสวะคือภพของใจ คือฐานของความคิด คือฐานของความเริ่มต้น คือจิตปฏิสนธิ จิตที่พาเกิดพาตายตัวนี้ ถ้าจิตใจดวงนี้มันเห็นกายสภาวะแบบนั้น มันจะทำให้หัวใจนี้สั่นไหว การสั่นไหวอันนั้นมันจะเป็นการยืนยันว่าเราเห็นกายจริง เห็นจิตจริง เห็นเวทนาจริง เห็นธรรมจริง

ถ้าเห็นธรรมจริงนะ วิปัสสนาจะเกิดขึ้น ภาวนามยปัญญาเกิดตรงนั้น จะเกิดการทำลายกันตรงนั้น จะเกิดภาวนาย้อนขึ้นไปทำลายจิตดวงนั้น แล้วจะปล่อยวางๆ ตลอดไป การปล่อยวางนี้ปล่อยวางโดยตทังคปหาน การปล่อยวางนี้ปล่อยวางโดยที่ว่าไม่มีเหตุไม่มีผล ปล่อยวางขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าคนเผลอมันจะหลุดออกไปข้างนอก ถ้าคนไม่เผลอจะย้อนกลับเข้ามาจากภายใน จะเข้าไปชำระบ่อยครั้งเข้าๆ จนสมุจเฉทปหาน

ตทังคปหานเป็นการปล่อยวางอย่างหนึ่ง เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่สมุจเฉทปหาน

ดั่งแขนขาด กิเลสขาดออกไปจากใจดั่งแขนขาด อย่างนี้ต่างหากถึงเป็นการชำระทุกข์

ความเสมอภาคตรงนี้เท่ากันหมด ทุกคนมีหัวใจหมด ทุกคนสละทานเพื่อมรรคผลอันนี้ เราพยายามชำระขึ้นไปเพื่ออันนี้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้าความสุขเกิดจากใจ ถึงที่สุดแล้วจะไม่เกิดไม่ตายนะ จิตนี้จะพ้นออกไปจากกิเลสนะ นี่ความเสมอภาคเสมอภาคตรงนี้

โลกมีสูงมีต่ำ การประพฤติปฏิบัติก็มีจริตนิสัยหยาบละเอียดต่างกัน แต่เวลาถึงที่สุดแล้วจะมีความเสมอกันด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องในหัวใจนั้น ความสุขอันอย่างยิ่งจะเกิดจากตรงนั้น จากการดำเนินชีวิต จากการประพฤติปฏิบัติของเรา จากการสละทาน ศีล ภาวนา เกิดขึ้นมาจากใจของเรา แล้วเราจะเป็นชาวพุทธแท้ เราจะเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อ้อนวอนเอา ไม่ขอจากใคร เพียงแต่ฟังครูบาอาจารย์ ให้ครูบาอาจารย์ชี้นำเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง แล้วเราจะก้าวเดินไปถึงเป้าหมายของเรา นี้คือเป้าหมายชีวิตของชาวพุทธเรา เอวัง