เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ ต.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานเด็กมันถาม เด็กมันถามว่า “แก้ทุกข์อย่างไร” ถ้าแก้ทุกข์อย่างไร เด็กๆ แก้ทุกข์ เห็นไหม เวลาเราหิวข้าว เรากินข้าวเราก็อิ่ม หิวข้าวเราก็ทุกข์ ถ้าแก้ทุกข์อย่างนี้มันแก้ทุกข์แบบโลก แต่มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ต้นเหตุมันคือใจใช่ไหม ทุกข์ เห็นไหม ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่ได้กำจัดที่เหตุมันนะ มันก็ยังอยู่อย่างสภาวะแบบนั้น แต่เราบรรเทาไง บรรเทาทุกข์ได้นะ บรรเทาเพื่อว่าเวลามันต้องการสิ่งใดก็บรรเทาไป นี่บรรเทานะ

แต่ถ้าพูดถึงมันมีกิเลส เวลามันมีกิเลสมันยึดติด เห็นไหม อย่างเช่น อาหารแค่เพื่อยังชีวิต แต่ถ้ามีกิเลส มันมีความต้องการของมัน มันก็ต้องเอาของมันที่พอใจของมัน

นี่เหมือนกัน แล้วก็ถามอีกว่า “เวลาคิดใช้สมองคิดหรือใช้หัวใจคิด”

ถ้าเป็นสมองคิดมันเป็นเรื่องของสุตมยปัญญาคือการศึกษาเล่าเรียน เห็นไหม เราศึกษา นักวิชาการ การศึกษามันเกิดจากความคิด ความคิดสถิติที่จำไว้ๆ สมองจะรับรู้อย่างนั้น มันเกี่ยวเนื่องกันบ้าง แต่ถ้าหลักความจริงแล้ว ถ้าเวลาภาวนามยปัญญามันเกิดจากใจ เกิดจากใจนะ ถ้าเป็นสมองนี่ เวลาเราผ่าตัดสมอง เห็นไหม สมองเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราผ่าตัดสมองได้ ถ้าเราผ่าตัดสมองได้ เราอยากเป็นพระอรหันต์ เราก็สร้างสมองให้มันมากขึ้น ทำให้สมองมันจำได้มาก ให้มันเกิดวิชาการที่ทำให้มันชำระกิเลสได้

มันเป็นไปไม่ได้ เพราะสมองมันเป็นศูนย์ประสาทควบคุมร่างกาย เวลาเราเส้นเลือดในสมองแตก มันควบคุมร่างกายไม่ได้ ปากพูดไม่ถนัด เห็นไหม สิ่งที่พูดไม่ถนัด ประสาท มันเป็นศูนย์รวมของประสาท แต่มันเป็นการสุตมยปัญญา ถ้าพูดถึงการสุตมยปัญญา ไม่มีหัวใจเลย คนตายแล้วมันก็ศึกษาไม่ได้ สิ่งที่ว่าคนเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์มันก็ศึกษาไม่ได้ เห็นไหม

มันเกี่ยวเนื่องกันบ้าง ความที่เกี่ยวเนื่องกันมันถึงว่ามีหยาบมีละเอียดไง

ถึงบอก ตอบเขาไม่ได้ ตอบเขาไม่ได้เพราะมันเป็นสังคมวงกว้าง ถ้าสังคมวงกว้างบอกจุดใดจุดหนึ่ง ถ้าบอกจุดใดจุดหนึ่งไปจะยึดจุดนั้น เห็นไหม นี่กิเลสมันเป็นแบบนั้น ถ้าบอกว่าจุดใดมันจะยึดของมันเลยว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น เห็นไหม

เวลาภาวนากันเราก็ตั้งเป้าใช่ไหม ว่าเราตั้งเป้าอย่างนั้น มรรคสามัคคีจะเป็นอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนี้แล้วมันจะติดขัดของมัน ถ้าเราทำของเราตามปกติ ตามปกตินะ เราอยากในเหตุ คืออยากสร้างเหตุ เห็นไหม เวลาทุกข์ เพราะเราไม่ได้ทำที่เหตุมัน เราไม่ได้กำจัดที่เหตุคือหัวใจ คือกิเลสในหัวใจ เราจะกำจัดทุกข์ไม่ได้ เราบรรเทาทุกข์ไปไง นี่ตัณหาความทะยานอยากมันมีความต้องการของมัน มันเสพสุขของมันแล้วมันก็พอใจของมัน อันนี้เป็นความทุกข์ประสาโลก มันเป็นสมมุติไง

สมมุติคือว่าเวลาต้องการสิ่งใด อยากได้สิ่งใด สิ่งนั้นมีคุณค่า โลกเขาเล่นอะไรกันตอนนั้นจะมีราคามาก พอเขาหายเล่นกัน เห็นไหม อย่างเช่นพวกสมุนไพร พวกสิ่งต่างๆ เวลาเขาเล่นกัน อย่างพวกพืช เขาเล่นสิ่งใด เขาทำสิ่งใดได้ การตลาดเขาทำติดได้ขึ้นมา สิ่งนั้นจะมีราคาขึ้นมา พอหาย การตลาดก็หายไป จะไม่มีราคาเลย ทิ้งๆ ขว้างๆ จนไม่มีราคานะ

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อถ้าจิตมันต้องการสิ่งใด สนองมันทีแรกมันก็มีความสุขของมัน นี่สิ่งนี้บรรเทากันไป โลกบรรเทากันได้ขนาดนี้ นี่เป็นสมมุติกับสมมุติ สมมุติก็เกิดดับ สิ่งที่เกิดดับของชั่วคราว ชั่วคราวทั้งหมด นี่บรรเทาทุกข์ ถ้าเริ่มต้นบรรเทาทุกข์อย่างนี้บรรเทาทุกข์ไปได้

แต่เวลากำจัดกิเลส เวลาพระอดอาหาร เวลาพระเราพยายามประพฤติปฏิบัติ ทำไมมันต้องทำขนาดนั้น เราต้องการความสุข แล้วทำไมต้องไปทำเอาความทุกข์นั้นมาแบกหามล่ะ ทำไมอดอาหาร ทำไมอดนอน ทำไมทำความเพียรขนาดนั้น ไม่ใช่ความทุกข์หรือ เห็นไหม ถ้ามองทางโลก ในการประพฤติปฏิบัติก็ว่าสิ่งนี้จะเป็นความทุกข์ เราจึงต้องการหนีจากทุกข์แล้วทำไมเราต้องไปทุกข์อย่างนั้นล่ะ เราจะหนีจากทุกข์ เราต้องมีความสุขมาปรนเปรอเราสิ เราถึงจะมีความสุข

ไม่ใช่ เพราะในการฆ่ากิเลส เห็นไหม เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วยตามธรรมดาปวดหัวตัวร้อนกินยาก็หาย ไม่กินก็หายใช่ไหม เวลาเราเป็นโรคร้าย เราต้องทำการผ่าตัดนะ เวลาการผ่าตัดมันเจ็บ ต้องไปผ่าทำไมล่ะ ทำไมเราผ่าร่างกายของเรา เราเปิดแผลทำไม? เปิดแผลเพื่อจะเข้าไปตัดสิ่งที่เป็นเนื้อร้ายออกมาจากร่างกาย เปิดแผลทำไมล่ะ การเปิดแผลนั้นไม่เป็นการเจ็บปวดหรือ

การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน การอดนอนผ่อนอาหาร การเร่งความเพียร การเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก เดินจงกรมจนเต็มที่นะ นั่งขนาดไหนแล้วแต่ เห็นไหม นี่มันการผ่าตัดใจ เพราะมันบังคับใจของตัวเอง ใจของตัวเองต้องการความสุข ใจของตัวเองไม่ต้องการปรารถนาสิ่งนี้ ใจของตัวเองต้องการความสะดวกสบาย ใจของตัวเองมันต้องการไปทั้งหมดเลย

เราฝืนมัน เราฝืน เราฝืนตัวเองเท่ากับเราฝืนกิเลส แต่เราไม่กล้าฝืนตัวเอง ถ้าฝืนตัวเองนี่เราบอกมันเป็นความทุกข์ของเรา เป็นความทุกข์ของเรา เห็นไหม ทั้งๆ ที่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ปัญญามันก้าวเดินออกไปนั้นมันเป็นการบีบบี้กับกิเลสนะ มรรคญาณกำลังทำลายกิเลส มรรคญาณกำลังต่อสู้กับกิเลส อันนั้นเป็นสิ่งที่กำลังจะได้เสียนะ อันนั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ว่าครูบาอาจารย์วางแนวทางขึ้นมา ถ้าไม่มีคนชี้นำมันจะไม่กล้าทำอย่างนี้ไง มันทำไม่ได้เพราะว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์ มันเข่าอ่อนนะ พอเจออะไรนักก็ทุกข์ เกิดมาก็ทุกข์อยู่แล้ว ทำตรงนี้ก็ทุกข์อยู่แล้ว บวชแล้วเพื่อจะมาเอาความสุขแล้วทำไมต้องมาทุกข์อีก

ความเป็นทุกข์อันนั้นทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์นะ ทุกข์เหมือนการผ่าตัด เราจะเปิดแผลขนาดไหน เปิดแผลของใจ แล้วเปิดแผลให้ได้ด้วย ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เปิดแผลไม่เป็นอีกต่างหาก เพราะไม่รู้จะเปิดตรงไหน มันไม่มีสถานที่ ไม่มีแผลให้เปิด เห็นไหม ถึงต้องทำความสงบของใจ ต้องเน้นว่าทำความสงบของใจ เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธินี่เราจะไปทำงานที่ไหน

เวลาคนไข้ เห็นไหม เราจะผ่าตัด เราต้องเข้าห้องผ่าตัด ต้องฆ่าเชื้อทั้งหมดนะ สิ่งที่จะเอามาผ่าตัดก็ต้องฆ่าเชื้อ นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรามีตัณหาความทะยานอยาก เราทำด้วยความอยาก มันมีเชื้อของกิเลสอยู่ เชื้อมันจะแพร่นะ เวลาประพฤติปฏิบัติมันไม่สมใจปรารถนา แล้วมันก็จินตนาการของมันไปตามความพอใจของมัน เห็นไหม สิ่งนั้นเป็นเชื้อ เชื้อจนว่าการภาวนาไปจนถึงกับทำให้เสียจริตนิสัยได้ สิ่งนั้นเป็นเชื้อ เราถึงต้องทำความสงบ ต้องฆ่าเชื้อให้ได้ ถ้าฆ่าเชื้อได้คือจิตมันสงบเข้ามา สงบจากความฟุ้งซ่าน สงบจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม มันเป็นอิสระตัวมันเองชั่วคราวๆ

เพราะสิ่งนี้ จากความสงบ จากความบังคับเข้ามา ให้มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา แล้วธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของพลังงานมันขยายตัวตลอด พลังงานของมันมันเคลื่อนตัวตลอด นี่ก็เหมือนกัน ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของสมาธิมันขยายตัวตลอด สิ่งที่ขยายตัวแล้วกิเลสมันเข้าไปเสริมพลังของมัน มันจะไปฟุ้งซ่านมหาศาลเลย เราใช้สติ เราใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าควบคุมมันเข้ามา ควบคุมเข้ามามันสงบชั่วคราว สงบชั่วคราว เห็นไหม แล้วต้องพยายามหมั่นฝึกหมั่นฝนอย่างนี้ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา ถ้ามันตั้งมั่นขึ้นมา นั่นคือการฆ่าเชื้อ ถ้าการฆ่าเชื้อนี่มันไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากเข้ามาทำให้เชื้อนั้นขยายเป็นสิ่งที่ว่าเป็นเชื้อโรคออกมาได้ แล้วเราถึงจะผ่าตัดตรงนี้ไง นี่ห้องผ่าตัดเราอบเชื้อเราฆ่าเชื้อเพราะอันนี้

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราพยายามบังคับมาให้มันเป็นสัมมาสมาธิให้ได้ เป็นสัมมาสมาธิให้ได้ นี่เข้าห้องผ่าตัดไม่มีหมอ ใครเป็นคนผ่าตัด มีหมอ ไม่มีเครื่องมือ ใครเป็นคนผ่าตัด นี่ก็เหมือนกัน ถ้าความดำริชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ มันไม่เกิดขึ้นมา ชอบในอะไรล่ะ? ชอบในจิตนี้ตั้งมั่น จิต เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปบิณฑบาต พราหมณ์เขาบอกว่า “สมณะไถนากินเองสิ ทำไมสมณะต้องมาขอ สมณะเป็นขอทานเหรอ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ท่านไถอยู่ตลอดเวลา สตินี้เป็นผาล ปัญญาเป็นแอก ไถลงไปที่ร่างกาย ไถลงไปที่จิตใจนะ เทศน์สอนแสดงธรรมต่อพราหมณ์ พราหมณ์ศรัทธามาก จากที่ว่า “สมณะไถนากินเองสิ สมณะมาขอทำไม” จนพอเปิดตา เห็นไหม อยากจะใส่บาตรมากเพราะศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธอันนั้นไงว่า สมณะ ประเพณีของสังฆะ ไม่ขอด้วยการออกเสียง มันเป็นวณิพก

ภิกขาจาร คือว่าเราไปด้วยปลีแข้ง เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เป็นสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะ เพราะถ้าผู้ที่เขามีศรัทธาความเชื่อ เขาจะมีศรัทธาความเชื่อ เขาใส่บาตรด้วยเจตนาของเขา เขาปรารถนาบุญของเขานะ เขาปรารถนา มันเป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เห็นไหม ถ้าเราไปกินร้านอาหาร เราต้องจ่ายเงินจ่ายทอง นั่นมันเป็นสิทธิของเรา นั้นมันเป็นการธุรกิจ มันเป็นการเอารัดเอาเปรียบกัน มันไม่บริสุทธิ์หรอก

แต่พระออกบิณฑบาตด้วยลำปลีแข้งของตัวเอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะเดินไปบิณฑบาตไม่ปรารถนาของใครทั้งสิ้น ออกไปดำรงชีวิตด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้เป็นบิณฑบาต นี่พุทธประเพณี ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช้าออกบิณฑบาต บิณฑบาต เห็นไหม ถ้าคนเขามีเจตนาของเขา เขาต้องการบุญกุศลของเขา เป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง นี่สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพอย่างนี้ ไม่ให้เลี้ยงชีพด้วยการออกเสียง ไม่ให้เลี้ยงชีพ มันเป็นวณิพก มันไม่เป็นภิกขาจารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มันเป็นความสุขเท่าไร เข้ามาขนาดนี้ เห็นไหม นี่จิตมันสะอาดเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาจากภายใน ย้อนกลับเข้ามาจากภายใน ถ้าย้อนกลับเข้ามาจากภายใน นี่สิ่งที่ความเป็นไปไง มันจะย้อนกลับเข้ามา นี่แก้ที่เหตุ ถ้าเราบรรเทาทุกข์ เห็นไหม ต้องการสิ่งใด อย่างเด็กนี่ให้เขาสมความปรารถนา เขาต้องการสิ่งใดให้เขา เขาจะมีความสุขของเขา เห็นไหม

“แก้ทุกข์อย่างไร” แก้ทุกข์อย่างไรมันแก้ทุกข์ต้องแก้ทุกข์ของใคร

ดูอย่างนางวิสาขาสิ เป็นพระโสดาบันนะ เวลาหลานของตัวเองตายนี่ร้องไห้มาหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พระโสดาบัน เห็นไหม ทุกข์ของพระโสดาบัน ทุกข์ของพระสกิทาคามี ทุกข์ของพระอนาคามี เห็นไหม พระอนาคามีก็มีทุกข์อันละเอียดในหัวใจฝังอยู่ในหัวใจอันนั้น เพราะมันไม่พ้น ไม่ได้กำจัดเหตุ ไม่ได้กำจัดอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ออกไปจากหัวใจ ไม่ได้ถอนรากแก้วของอวิชชาออกจากจิต นั้นมันยังมีความทุกข์ มีความเศร้าหมอง มีความผ่องใส นี่ทุกข์อย่างนี้มันเป็นทุกข์อันละเอียดที่ว่า ถ้าเป็นทางเราว่า “พระอนาคามีมีทุกข์หรือ พระอนาคามีเขาจะมีความสุข เราอยากเป็นพระอนาคามีความสุขมาก ทำไมมีความทุกข์อย่างนั้นล่ะ”

ความทุกข์เพราะว่าสิ่งที่มันปักเสียบในหัวใจมันยังมีอยู่ แต่ถ้าถอนสิ่งนี้ออกมา เห็นไหม นี่การแก้ทุกข์ต้องแก้ที่เหตุ เหตุคือมโน มโนคือตัวจิต เห็นไหม มโนนี้คือมันสัมผัสกัน เห็นไหม พอสัมผัสกัน จิตออกไป มันเคลื่อนไหวออกไป นี่แก้ตรงนี้ นี่คือการแก้ทุกข์ ถ้าแก้ที่เหตุ แก้ด้วยวิธีการใด? แก้ด้วยวิธีการอริยมรรค มรรคที่เกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา นี่คือแก้ทุกข์จริง เห็นไหม

ความคิดของโลกมันเป็นความคิดอย่างหนึ่ง สิ่งนี้อาศัยเกื้อกูลกันอยู่ ถ้าธรรมะอย่างหยาบเห็นไหม หลวงตาบอก แกงหม้อใหญ่มันก็ต้องเป็นสภาวะแบบนั้น จะชี้ไปจุดใดจุดหนึ่งแล้วมันก็ว่าเอาสิ่งนี้เป็นบรรทัดฐาน แล้วมันก็จะขัดขวางกันไป

“มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” เห็นไหม โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรคมันเป็นมรรคหยาบๆ มรรคละเอียดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันอยู่ที่บุคคล อยู่ที่สถานที่ อยู่ที่กาลเวลาที่ควรจะเอายาแบบนั้นใช้กับโรคอะไร

เราเป็นโรคแบบเล็กน้อย เราจะไปใช้ยาที่ว่ามันรุนแรง ก็เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม เราเป็นโรคที่รุนแรง เราจะใช้ยาแดงทา มันก็ไม่หายใช่ไหม มันถึงว่าตั้งแต่เริ่มต้นขึ้นไป เรามีศรัทธาความเชื่อ เราก็ศรัทธาความเชื่อของเราไปก่อน บรรเทาทุกข์ของเราไปก่อน แล้วพยายามหายาให้ได้ ฆ่าเชื่อของเราให้ได้แล้ว แล้วพอฆ่าเชื้อแล้วมันบริสุทธิ์แล้ว เราก็หาทางวิธีการที่จะกำจัดเหตุออกไปจากใจได้ นั้นคือแก้ทุกข์โดยสมบูรณ์ เอวัง